ฉบับที่ 132 วายุภักษ์สองเปอร์เซ็นต์

การให้กระทรวงการคลังโดยกองทุนวายุภักษ์ถือหุ้นปตท. ได้เพิ่มขึ้นอีก 2% เพื่อรัฐบาลจะได้ไม่ต้องมีหนี้สาธารณะของประเทศในสัดส่วนที่สูงเกินไป เพราะจะทำให้ปตท.และการบินไทยกลายเป็นบริษัทมหาชนเต็มตัวจะทำให้หนี้ของปตท.และการบินไทยไม่ต้องรวมเป็นหนี้ของภาครัฐอีกต่อไป ดูเผินๆ เหมือนน่าจะดีเพราะทำให้รัฐบาลไม่มีสัดส่วนหนี้สาธารณะที่สูงเกินไป ไม่ขอพูดเรื่องการบินไทยเพราะกิจการของการบินไทยปัจจุบันถือได้ว่ามีคู่แข่งอีกมากและเราผู้บริโภคยังสามารถนั่งรถทัวร์ รถไฟกันได้อยู่บ้าง แต่ปตท.ซึ่งผูกขาดกิจการก๊าซธรรมชาติอย่างครบวงจรและตอนนี้เริ่มมีสัดส่วนการเข้าไปดำเนินการในกิจการน้ำมันเพิ่มมากขึ้น การได้รับอภิสิทธิจากรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจมหาชน การรอนสิทธิ การเวนคืนในการประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ถึงแม้ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งให้ปตท. แบ่งแยกทรัพย์สินที่ใช้อำนาจมหาชน การรอนสิทธิ การเวนคืน โอนให้กับกระทรวงการคลังโดยมีมติคณะรัฐมนตรีให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องของทรัพย์สินที่จะคืนให้กับรัฐ โดยปตท.มีการคืนทรัพย์สินเพียง 16,176.22 ล้านบาทเท่านั้นและไม่ผ่านการตรวจสอบของ สตง. ซึ่ง สตง.ได้จัดทำรายงานและแจ้งว่าปตท.ต้องคืนทรัพย์สินทั้งหมด 52,393,180.37 ล้านบาท แถมปตท. ยังได้ใช้ประโยชน์ท่อก๊าซธรรมชาติแต่เพียงผู้เดียว โดยผู้เช่ารายนี้ยังได้นำ(ท่อก๊าซ) ซึ่งเป็นทรัพย์สินของรัฐที่เช่ามาตีมูลค่าใหม่(Revalue) ทำให้ปตท. คิดราคาค่าขนส่งก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น 2,000 ล้านบาท จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตโดย กฟผ. ก็ไม่ต้องคิดอะไรมากเพราะไม่เดือดร้อนสามารถนำมาเพิ่มในค่า FT ซึ่งเป็นภาระของผู้บริโภคโดยตรง และก็เช่นเดียวกันคณะรัฐมนตรี ยังได้มีมติบังคับให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตต้องซื้อก๊าซจากปตท. เพียงเจ้าเดียวทั้งๆ ที่ กฟผ. มีศักยภาพในการหาแหล่งก๊าซธรรมชาติหรือเชื้อเพลิงที่ราคาถูกได้ด้วยตนเอง ยังไม่รวมถึงการกำหนดราคาก๊าซธรรมชาติที่ไม่ใช้ต้นทุนที่แท้จริง เพราะต้นทุนเนื้อก๊าซ เป็นต้นทุนที่ขายให้การไฟฟ้า บวกกำไรค่าผ่านท่อและเนื้อก๊าซไปเบื้องต้น หรือแม้แต่มีข้าราชการระดับสูงในกระทรวงพลังงานช่วยล้วงเงินจากกองทุนน้ำมัน มาสนับสนุนการขาดทุนกำไรให้กับปตท. สภาพหัวเป็นมงกุฎท้ายเป็นมังกรของปตท. เมื่อถึงคราวอยากได้อภิสิทธิก็บอกว่าเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่เมื่อรัฐต้องการเข้าไปควบคุมหรือกำกับ ก็จะบอกว่าเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์รัฐเข้าไปแทรกแซงไม่ได้ ดังนั้นหากกองทุนวายุภักษ์จะซื้อหุ้นปตท.เพิ่มทำให้สัดส่วนการถือหุ้นรัฐลดลงไปเหลือที่ประมาณ 49% ปตท.ก็กลายเป็นบริษัทมหาชน ที่มีอำนาจในการผูกขาดกิจการก๊าซธรรมชาติและกิจการพลังงาน หากมองแบบเศรษฐกิจเสรีก็ต้องบอกว่า ให้ทำได้เลย อาจจะขายให้วายุภักษ์ได้มากกว่านี้ เพียงแต่ต้องมีเงื่อนไขให้บริษัทปตท. ต้องแบ่งแยกหรือคืนท่อก๊าซธรรมชาติที่เป็นกิจการผูกขาดให้กับรัฐ ก่อนขายหุ้นให้วายุภักษ์ หรือคืนทรัพย์สินของรัฐทั้งหมดตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ลองมาทายกันดูว่าปตท.จะเลือกเป็นรัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทมหาชนเต็มขั้นหากถูกเด็ดปีกการผูกขาดท่อก๊าซธรรมชาติ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 นิวเคลียร์ในประเทศเยอรมัน

เมื่อประมาณปี 2543 หรือ 12 ปีที่แล้วรัฐบาลเยอรมันได้ตั้งเป้าหมายที่จะให้ยกเลิกการใช้พลังงานนิวเคลียร์ภายใน 20 ปี(2563) ซึ่งทำให้กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ พากันยกย่องสรรเสริญ แต่ก็ต้องผิดหวังกันไปตาม ๆ กันเมื่อการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2552(2009) ที่ผ่านมาพรรคอนุรักษ์นิยมซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลในปัจจุบันได้มีนโยบายในการเลือกตั้งว่า จะขยายเวลาในการใช้พลังงานนิวเคลียร์ออกไปอีกไม่น้อยกว่า 20 ปี ซึ่งทำให้ไม่สามารถยกเลิกการใช้นิวเคลียร์ได้ตามเป้าหมายเดิม การเปลี่ยนนโยบาย(กลับคำพูด)ของพรรคอนุรักษ์นิยมในครั้งนี้ได้ทำให้เกิดการต่อต้านอย่างกว้างขวางในประเทศ เฉพาะเมืองเบอร์ลินอย่างเดียวมีคนมาชุมนุมไม่น้อยกว่า 200,000 คนและในเมืองสำคัญอื่น ๆ อีกหลายแสนคน และส่งผลให้พรรครัฐบาลแพ้การเลือกตั้งในรัฐที่เป็นฐานการผลิตรถยนต์ของเยอรมันซึ่งถือเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญ แต่เยอรมันก็โชคดีเมื่อเหตุการณ์นิวเคลียร์ระเบิดในเมืองฟูกูชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เป็นใจทำให้พรรคการเมืองส่วนใหญ่เห็นร่วมกันอีกครั้งในการยกเลิกการใช้นิวเคลียร์ และปิดโรงงานนิวเคลียร์ทันทีจำนวน 8 โรงภายใน 3 เดือน และตั้งเป้าหมายในการปิด 9 โรงที่เหลือภายในปี 2563(2020) รวมทั้งตั้งเป้าหมายในการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์เป็นประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ในปี 2563 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และชีวมวล แต่ที่สำคัญมีการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พลังงานและตั้งเป้าหมายในการลดการใช้พลังงานที่ชัดเจน หากย้อนกลับมาพิจารณากรณีของประเทศไทย จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยมีความพยายามในการนำพลังงานนิวเคลียร์เป็นส่วนหนึ่งของของแผนพลังงานแห่งชาติโดยเฉพาะแผนพลังงาน ปี 2020 โดยทุกแนวทางในการกำหนดรูปธรรมแผนมีพลังงานนิวเคลียร์เป็นส่วนหนึ่งของพลังงานโดยภาพรวม แต่ก็ถูกนโยบายยกเลิกไปชั่วคราวเมื่อเกิดเหตุการณ์ในประเทศญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ความพยายามจากภาคการผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่ยังกำหนดการให้ผลการตอบแทนตามการลงทุน(ROIC) และการลงทุนที่ดีที่สุดคือการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า พลังงานทางเลือก ประสิทธิภาพในการใช้พลังงานถูกกำหนดไว้เป็นเพียงการประชาสัมพันธ์ หรือแม้แต่ก่อนหน้านี้กฟผ.ได้นำทั้งกรรมการ พนักงาน สหภาพการไฟฟ้า และองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ มากมายที่เกี่ยวข้องไปดูงานทั้งที่ประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่น หากมีระดับหน่อยก็เลือกประเทศฝรั่งเศส ถึงแม้ในทางนโยบายพลังงานนิวเคลียร์ดูจะชะงักไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้ทำให้หยุดเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะแม้ในปัจจุบันคณะกรรมการพลังงานเขตก็เตรียมการกันไว้ให้คณะกรรมการทั้งประเทศไม่น้อยกว่า 140 คน ไปดูงานที่ประเทศจีนในกลางปีนี้ ถึงแม้หลายคนอาจจะภาคภูมิใจถึงความเข้มแข็ง ว่า โรงงานนิวเคลียร์ไม่สามารถจะสร้างได้ง่ายในประเทศไทย แต่ต้องไม่ลืมศึกษาบทเรียนจากเยอรมันที่นโยบายสามารถย้อนกลับได้ หากไม่มีการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนและหลักประกันเรื่องความมั่นคงของพลังงานควบคู่กันไป ความต่อเนื่องในการกำหนดเป้าหมายเป็นเรื่องสำคัญไม่ว่าจะเป็นด้านพลังงานหรือด้านไหนก็ตาม ประเทศไทยหากตรวจสอบให้ดีจะเห็นว่าความต่อเนื่องในการกำหนดเป้าหมายด้านเศรษฐกิจหรือผลประโยชน์ด้านพลังงานมักจะทำได้อย่างต่อเนื่อง เห็นได้ชัดจากรูปธรรมของผลประโยชน์เรื่องกาซ NGV และ LPG ในปัจจุบัน แต่ขณะที่นโยบายที่ดีถูกพัฒนาหรือทำให้ก้าวหน้าอย่างจำกัด และมักถูกผลประโยชน์แทรกแซง มีรูปธรรมหลายอย่างให้เห็นในปัจจุบัน เช่น ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นโยบายที่ดีจะยั่งยืนจะพัฒนาต่อเนื่องได้ เชื่อว่า คำตอบคงอยู่ที่ความตื่นตัวของคนหรือความเข้าใจที่มากพอของคนในสังคมในเรื่องนั้นๆ นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 130 ของขวัญปีใหม่

ข่าวการเตือนห้ามขายกระเช้าหมดอายุของตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับกับการคุ้มครองผู้บริโภค(บก.ปคบ) ทำให้คิดว่าปัญหาเรื่องกระเช้าหมดอายุในปัจจุบันน่าจะคลี่คลายลงไปได้มาก เพราะกลายเป็นวัฒนธรรมของทั้งหน่วยงานและผู้บริโภคที่ต้องออกมาเตือนและดูกันให้ดีทุกปีและรวมถึงการรณรงค์ไม่ให้เหล้าเป็นของขวัญ ผู้บริโภคทุกวันนี้ต้องเข้มงวดกับความไม่ถูกต้องไม่ตรงไปตรงมาเพราะจะทำให้ผู้ประกอบการต่างทำหน้าที่ของตนเอง ทำตามกฎหมาย และตัวอย่างที่เราเห็นกันจนกลายเป็นปัญหาซ้ำซาก ไม่ว่าเรื่องเล็กแต่สำคัญ เช่น ปัญหาสินค้าไม่มีฉลากภาษาไทย ห้างสรรพสินค้าจำหน่ายสินค้าหมดอายุ หรือเอาป้ายหมดอายุใหม่ทับสินค้าของเดิมที่หมดอายุ การไม่ขออนุญาตโฆษณายา อาหารหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แต่ยอมให้ถูกปรับเพราะค่าปรับไม่ถึง ๕,๐๐๐ บาทแถมเมื่อปรับแล้วยังอ้างได้ว่า บริษัทเก็บป้ายโฆษณาที่มีมากมายไม่ไหว แต่ตอนติดโฆษณาที่ผิดกฎหมายติดกันได้ทั่วบ้านทั่วเมือง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยอมเอื้อประโยชน์ให้กันไป จนชาวบ้านก็รู้สึกและรับรู้ว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา น่าเบื่อหน่าย แต่หากเราที่เป็นผู้บริโภควิเคราะห์ไปให้ดีก็จะพบว่า ที่บริษัทเหล่านี้ต้องโฆษณาเพราะยากที่เราอยากให้คนขายมีคุณธรรมในยุคการค้าเสรีปัจจุบัน แต่เขาต้องการให้เรารู้จักสินค้า เขาไม่มีวันบอกจุดอ่อนของสินค้า และหากเราไม่รู้กติกาว่าอะไรที่เขาสามารถโฆษณาได้บ้าง แบบไหนที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย โฆษณาเป็นเท็จและมักจะคิดว่ามีหน่วยงานช่วยดำเนินการ เช่น ในกลุ่มเครื่องดื่มบำรุงกำลังที่อย่างน้อยต้องมีคำเตือนว่าห้ามดื่มเกินวันละ 2 ขวดหรือห้ามชิงโชคแถมพก หรือผลิตภัณฑ์อาหารที่โฆษณาเป็นยาอ้างสรรพคุณรักษาโรคสารพัดทางเคเบิ้ลทีวี วิทยุชุมชนและกระแสหลัก ช่วยกับจับช่วยกันแฉ เราก็อาจจะมีปัญหาเหล่านี้น้อยลงแต่คงไม่สามารถคาดหวังว่าปัญหาจะหมดไป และหากเรารู้เท่าทันเขาจะหลอกเราได้น้อยลงหรือเอาเปรียบกันน้อยลง เหมือนอย่างเช่นที่เมื่อเรารู้ว่าบริษัทเก็บ 107 บาทไม่ได้หากขอใช้บริการโทรศัพท์เขาก็เก็บเราไม่ได้ ปีใหม่นี้ขอให้สมาชิกและผู้อ่านทุกคนมีความสุขและช่วยกันดูแลสุขภาพ ซึ่งเป็นของเราไม่ใช่ยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ช่วยทำให้ปัญหาผู้บริโภคกลายเป็นวัฒนธรรมของเราที่ต้องช่วยกันปกป้องดำเนินการช่วยกันจับ ช่วยกันแฉทำให้การละเมิดสิทธิกันน้อยลง เป็นปีแห่งการคุ้มครองผู้บริโภคและหวังว่าองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญมาตรา 61 จะเกิดขึ้นเพื่อมาช่วยสนับสนุนให้เราได้ข้อมูลที่เป็นจริงและร่วมมือกับเราในการทำให้เกิดเครือข่ายเฝ้าระวัง(แฉ)แห่งชาติเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 129 ครัวของโลก กำลังขาดอาหาร

ชั้นวางของที่ว่างเปล่า สินค้าที่ต้องการและจำเป็นหายไปจากชั้นวางของของห้างขนาดใหญ่ ร้านค้าขายแบบโมเดิร์นเทรด และประเภท 24 ชั่วโมงแทบทุกแห่งในภาวะน้ำท่วม แต่ขณะที่ร้านขายน้ำ ร้านอาหาร ตามตรอก ซอกซอยต่างๆ แข่งขันกันเสนอขายสินค้า บางคนมักจะคิดว่ากลุ่มพ่อค้าแม่ค้าหน้าเก่า หน้าใหม่เหล่านี้เอาเปรียบฉวยโอกาสขายของราคาแพง แต่ห้างขนาดใหญ่กลับได้รับความเห็นใจ ว่า เป็นเพราะผู้บริโภคถล่มซื้อกันจนหมด แต่หากเราฟังเรื่องราวของร้านเล็กๆ ที่พยายามในการเสาะหาสินค้าเพื่อให้ผู้บริโภคอย่างเราได้มีอาหารแล้วจะเห็นใจ ยอมรับพร้อมขอบคุณ บางคนขับรถไปซื้อไข่ ซื้อน้ำถึงจังหวัดเพชรบุรี เพื่อมาขายแถบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แต่ในทางกลับกันไม่เห็นความพยายามของห้างขนาดใหญ่หรือร้านค้า24 ชั่วโมงที่มีอยู่ทั่วบ้านทั่วเมือง เปลี่ยนที่ เสาะหาที่ใหม่ในการเก็บและกระจายสินค้าของตนเอง หลังจากที่เดิมน้ำท่วม โดยไม่ได้สนใจว่าผู้บริโภคจะมีอาหารหรือสิ่งของจำเป็นหรือไม่ เพราะภาระในการกระจายสินค้าในบ้านเราเป็นหน้าที่ของผู้ผลิตสินค้า นอกจากเป็นข่าวในการเสนอให้รัฐบาลต้องสนับสนุนการขนส่งและขอให้นำเข้าน้ำดื่มเข้ามาจากต่างประเทศ และรัฐบาลก็ทำทันทีภายใน 3 วัน เทคนิคการขายของของโมเดิร์นเทรดที่มากับความสะดวกสบาย โดยการขายราคาต่ำกว่าทุน ราคาถูกแต่จำกัดปริมาณการขาย คนซื้อ ขายราคาถูก 3-5 วัน แต่หลังจากนั้นราคาปกติ การมีสินค้ายี่ห้อห้างของตนเอง การทำลายผู้ผลิตในประเทศโดยการนำเข้า การผูกขาดการค้าแบบใหม่ ข้ออ้างเพื่อเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค แต่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการผลิตและความมั่นคงด้านอาหารของผู้บริโภค ได้สะท้อนข้อจำกัดในการเก็บ การสำรองสินค้า ลดต้นทุนในการดำเนินการ ไม่ได้หยิบยื่นมือเข้าไปแก้ปัญหาที่เกิดกับผู้บริโภค และไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในภาวะวิกฤติได้ นอกจากนี้การขยายตัวของกิจการไฮเปอร์มาร์เก็ต ฟู๊ดสโตร์  คอนวีเนี่ยนสโตร์ ที่เข้ามาแทนที่ตลาดสด ตลาดนัด แผงเนื้อสัตว์ และร้านขายของชำขนาดเล็กอย่างรวดเร็ว โดยขาดการควบคุมทำให้ผลผลิตจากระบบเกษตรและอาหารของเกษตรกรรายย่อยถูกจำกัดลงเป็นลำดับ และกระทบโดยตรงกับผู้บริโภค ระบบเศรษฐกิจ การกระจายสินค้า การผูกขาดทางการค้า ผ่านระบบการค้าแบบโมเดิร์นเทรด เมืองไทยที่หลายคนต้องการให้เป็นครัวของโลก เมื่อเจอวิกฤติน้ำ เราขาดอาหารและน้ำดื่ม ทำให้การเลือกที่จะพึ่งการค้าแบบใหม่แบบเดียวต่อไปไม่ได้  บทเรียนของการกระจาย(หรือควบคุม)อาหารในภาวะวิกฤติคือจุดเริ่มต้นที่จะต้องกลับมากำหนดอนาคตของสังคมว่าจะปล่อยให้อยู่ในมือของบริษัทหรือจะสนับสนุนให้ร้านค้าเล็กๆ ร้านชำ ตลาดสด ฯลฯ เพื่อนแท้แม้ยามยากจะเติบโตร่วมกันไปได้อย่างไร หวังว่าคงไม่ต้องรอพิสูจน์กันอีกในภัยพิบัติครั้งหน้า...

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 128 Occupy Wall street เจอน้ำท่วม

เดือนนี้ตั้งใจจะเขียนถึงกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ครอบครองวอลสตรีทหรือเอาวอลสตรีทของเราคืนมา(Occupy Wall street) ซึ่งเป็นกลุ่มที่น่าสนใจมาก ไม่มีผู้นำแต่มีดาราและผู้กำกับบางคนสนับสนุน เช่น ไมเคิล มัวร์ โดยมีมูลนิธิสื่อของแคนาดาที่เป็นผู้นำการรณรงค์หยุดซื้อ เป็นผู้เริ่มตั้งคำถาม แต่เจอเหตุการณ์น้ำท่วมที่สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนทั่วประเทศแล้วต้องเปลี่ยนใจ เขียนเรื่องอื่นไม่ได้นอกจากเรื่องน้ำท่วม เอาเป็นว่าติดหนี้เรื่องนี้ไว้ก่อน สองอาทิตย์ก่อนมีโอกาสไปเยี่ยมพี่ดำรงค์ ซึ่งเป็นผู้ประสานงานของศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดชัยนาท ซึ่งถูกน้ำท่วมนานนับเดือน พี่ดำรงค์ต้องอยู่ชั้นสองของบ้าน แต่ก็บอกพวกเราว่า พี่โชคดีที่น้ำยังไม่ท่วมถึงชั้นสองและเพิ่งจะทำห้องน้ำเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แถมกำลังใจยังเต็มเปี่ยมคอยช่วยเพื่อนบ้าน ทำหน้าที่ทำกับข้าว อาหารไปให้เพื่อนบ้านที่ไม่มีชั้นสองหรือไม่รู้จะทำอาหารได้อย่างไร แต่ดูเหมือนคนกรุงเทพฯ ที่น้ำยังไม่ท่วมจะเดือดร้อนมากกว่า เมื่อไปซื้อทรายแล้วทรายหมดหรือหากซื้อได้ก็ราคาแพงกว่าเดิมสองถึงสามเท่า ความโกรธเป็นทวีคูณเมื่อไปซื้อไข่ ข้าวสาร ของแห้งอาหารการกินทั้งหลายแล้วพบว่าของหมด ไม่มีเกลี้ยงชั้น เพราะคนก่อนหน้าเพิ่งจะเหมาไปหมด หรืออยากจะซื้อเรือไปบริจาคก็พบว่าหาไม่ได้ที่มีก็ราคาแพงมากหรือไม่มีใครขายให้เพราะถูกจองไว้หมดแล้วคงต้องแยกระหว่างการเตรียมความพร้อมกับการไม่คิดถึงคนอื่น ภาพการให้การช่วยเหลือที่ไม่ถึงคนท้ายซอยเพราะคนต้นซอยรับทุกรอบ แม้แต่ตัวคนเขียนเองยังถูกบังคับให้นำรถไปจอดที่อื่นเพราะทุกคนใจตุ๊มๆ ต่อมๆ ว่าน้ำจะท่วมบ้านหรือเปล่าและจะไม่มีเงินซ่อมรถยนต์จากน้ำ(ฮา++++) ทำให้นึกถึงภาพการนำเสนอเหตุการณ์ในประเทศญี่ปุ่นที่ทุกคนต่างชื่นชมการเข้าแถวรอรับความช่วยเหลือไม่มีบ่น เมื่อไปซื้อของก็คิดว่าจะมีคนหลังเรามาซื้ออีก หลายคนบอกว่าคนไทยเมื่อไปอยู่ต่างประเทศก็หยุดรถตรงทางม้าลายเป็นทุกคน แต่เมื่อขับรถเมืองไทยบีบแตรใส่คนเดินถนนที่ข้ามทางม้าลาย หลวงพี่ไพศาลให้คำแนะนำไว้อย่างน่าสนใจว่า การมองทุกอย่างแบบสัมพันธ์กันทำให้เราเดือดร้อนจากน้ำท่วมกันน้อยลง การคิดแบบเราเดือดร้อนน้อยกว่าคนอื่น ทำให้เราเห็นคนอื่นมากขึ้น ข่าวสารทั้งหลายอาจจะต้องหลบจากภาพคนรวยเสียสละน้ำตาไหล คนจนอนาถที่รอการช่วยเหลือ คนแย่งอาหารที่ดูแล้วหดหู่ หรือผู้ค้าที่ต่างเร่งขึ้นราคาของเพราะขายดีมีของน้อย ช่วยกันเปลี่ยนมาให้กำลังใจกัน ยอมให้กรุงเทพฯ น้ำท่วมบ้างแทนที่จะให้คนหลายสิบจังหวัดเดือดร้อนเพื่อคนกรุงเทพฯ กลุ่มเดียวน่าจะทำให้น้ำท่วมคราวนี้ทุกข์น้อยกันทุกคน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 127 รถยนต์คันแรก

น่าเสียดายที่พรรคเพื่อไทยต้องดูแลพรรคร่วมรัฐบาลและกระโจนเข้าสู่วงจรการสนับสนุนนโยบายเรื่องอุดหนุนคนซื้อรถยนต์คันแรกคนละ100,000บาท ทั้งๆ ที่ต้องบอกว่าเป็นนโยบายที่ไม่ควรสนับสนุนอย่างยิ่ง หากเปรียบเทียบกับนโยบายอื่นที่ควรจะต้องมีการดำเนินการ เช่น ปริญญาตรีใบแรกเรียนฟรี   เพราะทุกพรรคต่างมีนโยบายให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา แต่นักศึกษาเหล่านี้ต้องเสียดอกเบี้ยและกำลังถูกฟ้องดำเนินคดี หรืออย่างน้อยกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาควรจะปลอดดอกเบี้ยเหมือนที่เราลดภาษีให้กับคนซื้อรถยนต์คันแรกและบ้าน เจตจำนงทางการเมืองจึงต้องควรถูกจัดลำดับว่าอะไรสำคัญกว่าอะไร ดังที่แอนเดอร์ วิดค์แมน (Anders Wijkman) อดีตสมาชิกของรัฐสภายุโรป และปัจจุบันเป็นรองประธานของมูลนิธิ Tällberg ของประเทศสวีเดน ตลอดจนประชาชนจะเข้าไปมีส่วนร่วมได้อย่างไร ที่สำคัญสำหรับบริษัทรถยนต์ที่ได้ประโยชน์จากนโยบายนี้ หรือมีโอกาสจากนโยบายของรัฐบาล จะมีระบบให้มีการจ่ายภาษีให้รัฐเพิ่มขึ้นได้อย่างไร หรืออย่างน้อยบริษัทเหล่านี้ต้องสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการจ่ายค่าจ้างรายวันไม่น้อยกว่า 300 บาทกับลูกจ้างในบริษัทของตนเอง รวมทั้งไม่ย้อมแมวขายรถ รถที่จำหน่ายมีคุณภาพ มีความรับผิดชอบต่อลูกค้าเป็นพิเศษ เพราะได้ประโยชน์จากนโยบายในครั้งนี้ หรือแม้แต่การให้ข้อมูลลูกค้าที่ครบถ้วนในการผ่อนชำระ การค้ำประกัน หรือการให้บริการที่เกี่ยวข้อง   และที่สำคัญสำหรับคนซื้อรถ หวังว่าคนซื้อจะไม่เพียงไปดูหมอ ดูวันออกรถ ดูสีให้ถูกโฉลก เจิมรถจากพระชื่อดังตามวัดต่างๆ หรือนอนลงไปดูตรวจสอบใต้ท้องรถของตนเองเหมือนกับวิศวกร ลูบคลำรถดูว่าสีเรียบหรือไม่ หรือแม้แต่ดู ของแจกของแถมต่างๆ เป็นต้น แต่เมื่อต้องมาทำสัญญาซื้อขายไม่เคยดูต้องให้คนขายชี้ให้เซ็นตรงนี้ บริการหลังการขายไม่เคยสนใจ การผ่อนค่างวดว่าหากผิดพลาดจะถูกปรับอย่างไร หรือคนค้ำประกันรถยนต์ต้องมีความรับผิดอย่างไรหากคนซื้อรถไม่รับผิดชอบ ทั้งๆ ที่ควรจะเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับคนซื้อรถยนต์   หลายคนอาจจะตื่นเต้นและพออกพอใจกับนโยบายนี้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าความสุขสบายเป็นของคู่กับมนุษย์ คนจำนวนมากก็พอใจกับรถติดภายในรถของตนเองแทนที่จะคิดว่าตนเองจะเป็นคนแรกที่จะเลิกใช้รถ เพราะเชื่อว่า หากเราไม่ขับรถคนอื่นก็ขับ ดังที่หลวงพี่ไพศาลบอกไว้ว่าเป็นเพราะเราทุกคนคิดแบบนี้เลยทำให้รถติดอยู่ทุกวันในกรุงเทพมหานคร แต่หากเราคิดว่าเราจะเลิกขับรถ เราก็เริ่มต้นเป็นหนึ่งซึ่งมีค่ามากกว่าศูนย์เป็นอนันต์ แต่ก็ไม่ง่ายที่จะเป็นคนเริ่มต้น หรือหากเราทุกคนยอมลดความสบายขับรถกันวันคู่วันคี่ ก็จะสบายกันคนละวัน แต่ก็จะมีคนส่วนหนึ่งบอกว่าหลายบ้านก็จะซื้อรถทะเบียนต่างกันเพิ่มขึ้น   เป็นเพราะเราไม่เชื่อในความเปลี่ยนแปลงที่เราจะเป็นคนทำหรือดำเนินการ ฉลาดซื้อขอชวนให้ช่วยกันเป็นหนึ่งเพราะจะเกิดสิบ เกิดร้อยเกิดแสน ดังที่ฉลาดซื้อก็มีความมุ่งมั่นที่จะมีสมาชิกนับแสนคนมาหลายสิบปีแต่ก็ยังไม่สำเร็จในปัจจุบัน แต่คนทำฉลาดซื้อก็ยังมีจินตนาการและต้องขอให้สมาชิกช่วยกันหาสมาชิกไม่ใช่เพื่อฉลาดซื้อ แต่เชื่อว่าเพื่อพลังของผู้บริโภคทุกคน   รวมทั้งฉบับนี้ฉลาดซื้อขออนุญาตขึ้นราคาสำหรับผู้อ่านอีก 10 บาทเพื่อความอยู่รอดของฉลาดซื้อที่ขณะนี้ต้นทุนตกประมาณ 102 บาทของแต่ละฉบับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 126 10 อย่างที่จำเป็นต้องมีองค์การอิสระผู้บริโภค

 มีคนกล่าวขานกันมากขึ้นว่า สังคมไทยทำงานยากขึ้นทุกวัน กลไกต่างๆ ที่ว่าดีก็ไม่สามารถทำงานได้ กลไกที่ถูกพิสูจน์ว่ามีประสิทธิภาพในต่างประเทศก็ไม่ทำงาน เมื่อนำมาปรับใช้ในประเทศไทย แต่สังคมต้องเดินไปข้างหน้า ต้องมีความฝัน มีจินตนาการถึงสังคมที่ดีงาม สำหรับทุกคนกลไกที่กำลังจะเกิดแต่ยังไม่เกิดและเป็นกลไกสำคัญสำหรับผู้บริโภคคงหนีไม่พ้นองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระ มีความหวังและช่วยกันผลักดันกลไกนี้ ใครมีแนวคิดดีๆช่วยกันเสนอเข้ามา อย่างน้อยหากมีองค์กรนี้ควรทำ 10 อย่างที่สำคัญ1.คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง เห็นได้จากกรณีปัญหาของเครื่องดื่มรังนกสำเร็จรูปที่มีรังนกแห้งเพียง 1 เปอร์เซ็นต์แต่กลับใช้คำรังนกแท้ 100 % และอีกหลากหลายชนิดที่สร้างความสับสนทำให้ไม่มีข้อมูล ข้อเท็จจริงของสินค้านั้นๆ2.เป็นปากเป็นเสียงของผู้บริโภคในทุกกรณีที่มีการเอารัดเอาเปรียบ เช่น กรณีการขึ้นค่าโทลเวย์จาก 55 บาทเป็น 85 บาท โดยไม่ต้องขออนุญาตใครเพียงแต่ติดประกาศแจ้งผู้ใช้รถทราบภายใน 30 วัน3.ให้ความเห็นเพื่อให้มีการคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มขึ้น กรณีแร่ใยหินที่พบข้อมูลชัดเจนว่าทำให้เกิดมะเร็งเยื่อหุ้มปอด แต่ประเทศไทยมีเพียงมาตรการฉลากแทนที่จะยกเลิกการใช้อย่างที่ประเทศพัฒนาแล้วมีการดำเนินการ4.ตรวจสอบหน่วยงานของรัฐให้คุ้มครองผู้บริโภคเป็นหลักดูแลผู้ประกอบการเป็นรอง นับตั้งแต่เรามีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือเริ่มพัฒนาประเทศ ประเทศไทยยึดหลักการสนับสนุนภาคธุรกิจมาก   จนละเลยการคุ้มครองผู้คนในสังคมที่เป็นพลเมือง5.สนับสนุนให้ผู้บริโภครู้เท่าทันการบริโภค หากใครฟังวิทยุชุมชน ดูเคเบิ้ลทีวีหรือใช้โซเชียลมีเดียทั้งหลาย ก็จะเห็นว่าการโฆษณาที่เกินจริงเป็นเท็จเต็มบ้านเต็มเมือง กรณีป้าเช็ง น้ำผลไม้รักษาโรค ยาลดความอ้วน สินค้าความงาม อาหารเสริมอ้างสรรพคุณเป็นยารักษาโรค ทางที่ดีที่สุดที่จะจัดการสิ่งเหล่านี้คือ ข้อมูลความรู้และความเท่าทัน6.เป็นหน่วยสนับสนุนผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จ การคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แม้แต่อยากจะร้องเรียนปัญหาการละเมิดสิทธิก็ยากที่จะรู้ว่าต้องเดินไปที่ไหนโทรศัพท์สายด่วนเบอร์อะไร ยกตัวอย่างง่ายๆ หน่วยงานที่ทำเรื่องอาหารปลอดภัยมี 11 กระทรวง 13 หน่วยงาน7. สนับสนุนให้เกิดเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศอย่างน้อยทุกจังหวัด เพื่อสนับสนุนการทำงานขององค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและทำให้ผู้บริโภครู้เท่าทัน8. ใช้ความรู้ ใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ ในการพัฒนานโยบายและมาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และผลักดันให้บังคับใช้นโยบายและมาตรการที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค เช่น บริษัทมือถือห้ามกำหนดวันหมดอายุบัตรเติมเงิน(แต่ความเป็นจริงปัจจุบันไม่มีบริษัทไหนเลยที่ไม่ทำผิด)9. องค์กรนี้แตกต่างจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) และไม่ใช่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคหรือสมาคม หรือองค์กรผู้บริโภคจังหวัดต่างๆ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ดังนั้นไม่ใช่องค์กรพัฒนาเอกชน(NGOs) แต่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ10.การฟ้องคดีสาธารณะแทนผู้บริโภค เป็นสิ่งสุดท้ายที่สำคัญมากหลายกรณีหากเราใช้การฟ้องเพื่อให้หยุดการการดำเนินการการละเมิดสิทธิผู้บริโภคจะช่วยป้องกันปัญหาและรักษาผลประโยชน์ของสาธารณะได้อีกมาก เช่น การเก็บเงิน 107 บาท ของการไฟฟ้าหากค้างชำระค่าไฟฟ้า บัตรเติมเงินโทรศัพท์ที่วันหมดแต่ยังมีเงิน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 125 น้ำใจงามๆ

เดือนนี้ชีพจรอยู่ภาคกลางและภาคตะวันออก เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีโอกาสจัดฝึกอบรมอาสาสมัครผู้บริโภคจังหวัดตราด อาสาสมัครที่มาได้เสนอปัญหาให้ฟังหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค เช่น การกู้เงินกับสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารแล้วต้องถูกหักดอกเบี้ยล่วงหน้า การซื้อเครื่องกรองน้ำราคาผ่อนแล้วผู้ขายหนีหายจ้อยไปทั้งที่มีเงื่อนไขเปลี่ยนไส้กรองระยะ 6 เดือนแต่เงินผ่อนหมดในเดือนที่ 5 ซื้อมอเตอร์ไซค์ผ่อนแล้วหายบริษัทยังให้ผ่อนกุญแจรถอยู่ในปัจจุบัน มีอาชีพพนักงานรักษาความปลอดภัยทุกเดือนจะต้องจ่ายเงินเดือนละ 1,000 บาท แต่บริษัทอ้างว่าไม่ใช่เงินประกันสังคมเป็นเงินประกันตนที่จะได้คืนเมื่อลาออก เป็นต้น แต่ปัญหาที่ทุกคนทั้งห้องประชุมประสบเหมือนกัน คือ ราคาผลไม้ที่นับวันจะถูกลงไปเรื่อย ๆ ถึงแม้จะขนเอาไปทิ้งก็ไม่ได้ทำให้ราคาแพงขึ้นมา แถมเสียของ เงินที่ได้มาในจังหวัดตราด 32 ล้านในการประกันราคาก็ถูกนำไปซื้อตะกร้าใส่ผลไม้ซะเกือบ 28,000 ใบ ไม่มีใครรู้เลยว่าใช้เงินประกันราคาสินค้าเกษตรซื้อได้หรือไม่ แล้วประกันราคาสินค้าทำไมต้องซื้อตะกร้า ตะกร้าราคาแพงกว่าท้องตลาดหรือไม่ ผลประโยชน์ขัดแย้งมีหรือไม่ เงินที่จะใช้ประกันราคาสินค้าเกษตรให้กับเกษตรกรขณะนี้ยังไม่มีใครได้ซักบาท เป็นบทเรียนในการฝึกความเชี่ยวชาญของอาสาสมัครผู้บริโภคที่จะต้องช่วยกันหาทางแก้ปัญหาและติดตามเรื่องนี้ร่วมกันนอกเหนือจากปัญหาผู้บริโภคอื่นๆ ระหว่างทางกลับกรุงเทพ ฯ มีโอกาสซื้อผลไม้ตรงจากชาวสวนที่กำลังจะนำไปขาย ลองกองกิโลกรัมละ 20 บาท โดยไม่ต้องต่อรองเพราะคนซื้อก็รู้สึกว่าราคาถูกแล้ว คนขายก็รู้สึกว่าได้ราคาดี ขายเสร็จคุยให้ฟังว่า เป็นชาวสวนลำบากแถมทำงานหลังแทบหักกว่าจะได้เงิน พวกเราทั้งคณะได้รับการยืนยันรายได้จากชาวสวนอีกรอบ คุยไปคุยมาถูกคอแถมทั้งลองกองและสละมาให้เกือบเท่าจำนวนที่ซื้อ ทำให้คนซื้อรู้สึกผิดที่จ่ายเงินให้น้อยไป ฉลาดซื้อคงไม่บังอาจ ตอบคำถามเรื่องการประกันราคาหรือจำนำสินค้าเกษตรอันไหนดีกว่ากัน ถ้าพิจารณาดูจากข้อเสนอของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ที่เสนอไว้อย่างน่าสนใจว่า นโยบายที่ดี ควรเป็นนโยบายประกันรายได้เกษตรกร เช่น ประกันราคาผลผลิตการเกษตร การประกันความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ แต่ไม่มีพรรคไหนเสนอ อำนาจต่อรองเรื่องราคาสินค้าในเมืองไทยไม่ได้อยู่ทั้งในมือผู้บริโภคและเกษตรกรทั้งที่นักนักเศรษฐศาสตร์ก็มักจะบอกว่าเมื่อมีการแข่งขันผู้บริโภคจะได้ประโยชน์(จริงหรือ)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 124 ตัดสินใจกันแล้ว

ฤดูการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ หากให้คะแนนความน่าสนใจของนโยบายพรรคการเมืองต่างๆ ต้องบอกว่า สอบตกกันแทบทุกพรรค ไม่ว่าจะเป็นพรรคใหญ่ทั้งสองพรรค พรรคกลางพรรคเล็กหรือแม้แต่พรรคการเมืองใหม่ โดยเฉพาะนโยบายด้านสังคมที่ถูกให้ความสำคัญน้อยมาก หรือนโยบายที่จะช่วยลดความไม่เป็นธรรมความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม ภายใต้บรรยากาศปฏิรูปและปรองดอง นโยบายเป็นส่วน ๆ ตอน ๆ ทั้งที่หากย้อนไปในอดีต การใช้นโยบายในการหาเสียง หรือนโยบายด้านสุขภาพ เป็นจุดขายสำคัญที่ทำให้พรรคการเมืองชนะการเลือกตั้ง แต่ครั้งนี้ภาพนโยบายเด่นของพรรคการเมืองต่าง ๆ ในแต่ละด้านไม่ชัดเจน เน้นแข่งกันเรื่องปริมาณ ใครให้เงินค่าแรง เบี้ยผู้สูงอายุ มากกว่ากัน ใครทำรถไฟได้มากสาย ราคาถูกกว่ากัน ไม่มีนโยบายโดนใจ นโยบายที่สร้างหรือปฏิรูปประเทศ แม้แต่การปฏิรูปที่ดินที่ถูกเรียกร้องหลายกลุ่มและรวมถึงจากกลุ่มนปช. รูปธรรมที่เป็นนโยบายมีเพียงบางพรรคเรื่องโฉนดชุมชน หรือหากมองเรื่องสุขภาพที่ฉลาดซื้อเชี่ยวชาญ ก็ไม่มีอะไรที่ก้าวหน้านอกจากทำงานงานเดิมของเดิมให้ดีขึ้น บางพรรคกลับจะย้อนไปใช้ 30 บาทรักษาทุกโรค แต่ไม่เห็นการปฏิรูประบบบริการสุขภาพ ที่ยังเหลื่อมล้ำ ผู้ประกันตนในประกันสังคมไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลอีกต่อไป ประกาศให้ใช้บัตรประชาชนทุกคนทุกระบบ ทุกคนได้รับการรักษาแบบเดียวกันไม่ว่าจะมีระบบไหนจ่ายเงินให้ในการรับบริการ เรื่องนี้ถูกวิเคราะห์ว่า เป็นเพราะแต่ละกลุ่มมีแฟนเพลงของตนเองที่คนส่วนใหญ่ตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกใคร ไม่ต้องมีนโยบายหาลูกค้าเพิ่ม พรรคการเมืองคิดไม่ออกว่าจะเสนอนโยบายอะไร หรือประชาชนอย่างเราก็ชอบนโยบายแบบนี้หวือหวา แต่ไม่ได้แก้ปัญหา หรือสะท้อนว่ากระบวนการทำนโยบายของสังคมไทยกำลังตีบตัน ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการทำนโยบายเสนอภาคการเมืองกลายเป็นอดีต ไม่มีใครให้ความสนใจ ทุกคนสุขสบาย มีตำแหน่งมีฐานะ ไม่อยากวุ่นวายที่จะต้องปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลง เพราะจะเจ็บตัว ที่สำคัญมากกว่านั้นคงเป็นความกังวลจากการคาดการณ์ของหลายคนหลายกลุ่มว่า เลือกตั้งไปแล้ว จะสามารถตั้งรัฐบาลได้จริงหรือ จริงไม่จริงคงไม่ทราบเพราะยังมาไม่ถึง แต่ของจริงคือเรามีสิทธิลงคะแนนเลือกนักการเมือง เหมือนซื้อของที่ดีมีคุณภาพ เท่ากับว่าเราลงคะแนนเสียงให้กับแบบแผนการผลิตนักการเมือง เราอยากเห็นการเมืองไทยเป็นแบบไหนใช้สิทธิของเราเต็มที่ทั้ง สส.เขตและบัญชีรายชื่อ เพราะหนึ่งเสียงของเรามีความหมายเปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้ด้วยมือเรา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 เราจะก่ออิฐ สร้างโรงพยาบาล ต้องเห็นวิสัยทัศน์บริการสุขภาพ

เดือนที่ผ่านมามีโอกาสไปร่วมประชุมสมัชชาผู้บริโภคสากลที่ฮ่องกง  ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ องค์กรผู้บริโภคจากหลายประเทศทั่วโลก แต่ก็จุกเมื่อถูกตั้งคำถามว่า เป็นยังไงประเทศไทยได้ยินข่าวจากประเทศไทยทีไรแปลกๆ ทุกที คนถูกถามก็อึ้งตอบไม่ค่อยจะถูกแต่ก็ต้องอ้อมแอ้มๆ ตอบไป ว่า ประเทศไทยกำลังจะยุบสภา(ตอนนั้นยังไม่ยุบ) กำลังจะมีการเลือกตั้งใหม่เร็วๆ นี้หลายองค์กรได้เตรียมการเสนอนโยบายที่ทำงานมานานให้กับพรรคการเมือง อาจจะมีคนได้อ่านนโยบายของพรรคใหญ่สองพรรคที่แข่งขันกันบ้าง พรรคหนึ่งบอกว่าจะสนับสนุนนโยบายสามสิบบาท ซึ่งเคยเป็นนโยบายของตนเองและให้โรงพยาบาลเอกชนเข้าร่วมให้บริการมากขึ้น หารู้ไม่ว่าขณะนี้โรงพยาบาลเอกชนก็เข้าร่วมจำนวนไม่น้อย แต่ถ้าวิเคราะห์สาเหตุกันจะๆ ก็จะเห็นว่าที่เขาไม่ร่วมเพราะเขามีทางเลือกเพราะนโยบายของทั้งสองพรรคนั่นแหละที่ไปสนับสนุนให้เขาเป็นศูนย์กลางการแพทย์ของอาเซียหรือของโลก หรือเขายังมีระบบประกันสังคมให้เป็นที่ทำมาหากิน อำนาจต่อรองในการให้โรงพยาบาลเข้ามาให้บริการกับคนในระบบหลักประกันจึงเป็นเรื่องลมๆ แล้งๆส่วนพรรครัฐบาลปัจจุบันก็บอกว่าจะทำให้โรงพยาบาลตำบล(สถานีอนามัย) มีประสิทธิภาพมากขึ้นแต่ก็หลับหูหลับตา ไม่ดูว่าที่โรงพยาบาลอ้างขาดทุนไม่ใช่การขาดทุนจากการให้บริการ แต่เป็นเพราะนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่ปรับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นจนหมอทะเลาะกันเองเพราะได้แตกต่างกัน หรือการขยายให้แรงงานนอกระบบเข้ามาอยู่ในประกันสังคมมากขึ้น เพื่อจะได้มีสวัสดิการทางสังคมอื่นๆ ก็จะเห็นว่า แรงงานกลุ่มนี้รักษาฟรีกับบัตรทอง(แต่ขณะที่บังคับผู้ประกันตนให้จ่ายเงินเรื่องสุขภาพ)ไม่มีใครเห็นภาพใหญ่ว่าระบบบริการสุขภาพ มีความไม่เป็นธรรม แตกต่างเหลื่อมล้ำกันอยู่ ประกันสังคมเป็นกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายสตางค์สมทบสุขภาพของตนเอง แต่ยอมให้บ่ายเบี่ยงพูดไปเรื่อยว่า คนเสนอต้องการฮุบเงินของประกันสังคมหรือทำให้คนเป็นขอทาน เราต้องการให้พรรคการเมืองอธิบายมีนโยบายที่สอดคล้องกับปัญหา ระบบบริการ ความทุกข์ยากความไม่เป็นธรรมของคน ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตนต้องการให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบเรื่องสุขภาพทั้งหมดให้ผู้ประกันตนเช่นคนอื่นๆ ส่วนใครจะเป็นผู้บริหารหรือให้บริการก็ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเลือก มาดูกันว่าจะเป็นสปส. สปสช. อยู่กับใครแล้วประเทศจะได้ประโยชน์มากกว่ากัน หรือขึ้นอยู่กับว่าใครทำได้ดีกว่าใครนโยบายด้านสุขภาพ ต้องไม่ลืมเรื่องความทุกข์ของผู้ป่วยที่เสียหาย ความทุกข์ของแพทย์ที่ถูกฟ้องร้อง ต้องอธิบายและผลักดันให้เกิด พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข ทำให้ผู้ประกันตนได้รับความเป็นธรรมด้านสุขภาพเหมือนกับคนอื่นๆ หรือหากเราจะมีนโยบายเพียงการก่ออิฐ ก็ต้องเห็นว่า หากมีโรงพยาบาลหน้าตาจะเป็นอย่างไร แล้วก็ต้องรู้ว่านโยบายหรือวิสัยทัศน์ด้านสุขภาพควรเป็นอย่างไร ซึ่งจะไม่แตกต่างจากนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ จะก่ออิฐเทปูน แล้วทิ้งแบบเสาโทลเวย์ หรือจะก่ออิฐแล้วรู้ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลที่สวยงาม ให้บริการเป็นเลิศ และมีส่วนร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับชุมชนได้อย่างไร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 122 ครอบครัวฉลาดซื้อ ช่วยด้วย

หากใครสังเกตหรือมีโอกาสใช้เส้นทางด่วนจากบางนา-แจ้งวัฒนะ ช่วงบ่อนไก่ถึงถนนเพชรบุรี เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาจะเห็นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่สลับกับป้ายบอกทางสองถึงสามช่วงบนถนนทางด่วน เส้นนี้ นับว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่เพิ่งจะเกิดขึ้นซึ่งหากใช้ทางด่วนเป็นประจำก็จะเห็นว่า ป้ายโฆษณาบนถนนทางด่วนไม่เคยมีปรากฏมาก่อน หรือหากใครเคยเห็นก่อนหน้านี้ หรือมีเพิ่มเติมในทางด่วนเส้นไหนก็รบกวนให้แจ้งมาที่ฉลาดซื้อด้วยป้ายโฆษณาที่พบเห็นทั่วไปซึ่งมีเต็มบ้านเต็มเมือง มักอยู่บริเวณสองข้างทางของทางด่วนเป็นหลัก ทั้งมุมทั้งโค้ง ช่วงรถติด ช่วงจ่ายสตางค์ค่าทางด่วน ข้างอาคาร ตึก หรือป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ที่วันดีคืนดียามฝนพายุฟ้าคะนอง ก็อาจโชคดีหล่นมาทับให้เป็นข่าวกันอยู่เนือง ๆ ล่าสุดเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้ตรวจสอบพบป้ายผิดกฎหมาย แบ่งเป็นป้ายโฆษณาที่อยู่อาศัย ร้านค้า อาหาร 456 ป้าย และป้ายการเมือง 26 ป้าย โดยรวมทั้งหมดแล้ว พบป้ายที่ผิดกฎหมายเกือบ 700 ป้าย น่าเสียดายนะน่าจะบอกต่ออีกหน่อยว่า ป้ายโฆษณาที่อยู่อาศัย ร้านค้า ร้านอาหารอะไรบ้างที่มีป้ายผิดกฎหมายมากที่สุด เพราะแค่ป้ายยังรับผิดชอบไม่ได้ ผู้บริโภคเรา ๆ ไม่ควรจะอุดหนุนป้ายนอกจากทำให้เมืองขาดความงาม ซึ่งมีน้อยอยู่แล้ว ยังมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยให้กังวลกันอยู่เป็นประจำ แต่ป้ายบนถนนทางด่วนน่าจะมีความรุนแรงมากกว่า เพราะเกี่ยวข้องโดยตรงกับความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน หลายประเทศออกเป็นกฎหมายห้ามมีโฆษณาบนถนน เช่น ฮ่องกง เพราะจะบดบังป้ายบอกเส้นทางและทำให้การมองเห็นป้ายบอกเส้นทางในระยะกระชั้นชิดเกินไป ไม่ทันการณ์ และอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุ หรืออันตรายได้มากกว่ากติกาที่มีในต่างประเทศ เมื่อจะนำมาใช้หรือเป็นแบบอย่างในประเทศ ก็มักจะบอกว่า สังคมไทยไม่เหมือนกับเขา ซึ่งก็จริงเพราะไปมาก็หลายประเทศ ยังไม่เคยเห็นประเทศไหนเขามีป้ายโฆษณาบนถนน ยกเว้นข้างถนนซึ่งพี่ไทยเราก็มีมากมายจนละลานตา และทำให้มึนงงเส้นทาง เช่น ทางไปดอนหอยหลอดของจังหวัดสมุทรสงคราม แทนที่จะได้ดูบ้านเรือน สวนส้มโอ ต้นจาก และธรรมชาติสองฝั่งถนน กับพบมีแต่ป้ายโฆษณาร้านอาหารจนมองอย่างอื่นแทบไม่เห็นที่ต้องนำเรื่องนี้มาเล่าก็ต้องการให้เป็นกรณีตัวอย่างให้สมาชิกครอบครัวฉลาดซื้อ ไม่เครียดและคิดว่าการเป็นสมาชิกครอบครัวฉลาดซื้อไม่ยากส์ ทำได้ง่าย สนุก ทำได้เรื่อย ๆ หลายช่องทาง มีเรื่องแปลก ๆ เล่าให้ฟังกันมันส์ ๆ ได้ทุกวันหากไม่รู้สึกว่ามากไปสมาชิกของครอบครัวฉลาดซื้อ ต้องช่วยกันฝึกการเป็นช่าง(สังเกต) แต่ไม่ใช่ช่างเขาเถอะ และเมื่อเล่าฟังเอามันส์แล้ว ก็หาทางช่วยกันดำเนินการต่อให้ปัญหาเหล่านี้ถูกแก้ไข หรือทำให้เพื่อน คนในครอบครัว เท่าทันกับปัญหารูปแบบใหม่ ๆ หวังว่า จะช่วยกันแบ่งปันประสบการณ์ทั้งดีและร้ายให้เป็นครูกับตนเองและผู้บริโภค เพราะเพียงปัญหาป้ายโฆษณาบนทางด่วนก็คงจะยาก หากไม่มีใครเป็นเจ้าของ(ทุกข์)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 121 3 บาทต่อหัวประชากร

เดือนนี้เป็นทั้งเดือนที่มีความสำคัญและได้เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ลำบากใจได้ไม่น้อย วันที่ 15 มีนาคมของทุกปีเป็นวันคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคสากล(World Consumers' Rights Day) โดยปีนี้ให้ความสำคัญกับบริการทางการเงินที่จะต้องเป็นธรรมกับผู้บริโภค แต่หากย้อนกลับมายังสถานการณ์ในบ้านเราปีนี้เป็นปีที่กฎหมายกำหนดให้สถาบันการเงินมีความรับผิดที่จำกัด และจะรับประกันการฝากเงินเพียง 1 ล้านบาทเมื่อเดือนสิงหาคม 2545 ถึงแม้อาจจะเห็นว่าเป็นประเด็นของคนชั้นกลาง แต่โครงสร้างระบบการเงิน สถาบันการเงินทั้งธนาคารและไม่ใช่ธนาคาร เงินกู้ เงินฝาก เงินออม ในปัจจุบันนี่แหละที่ทำให้คนจนต้องเป็นหนี้ซ้ำซาก เป็นหนี้แล้วถูกทวงหนี้ไม่เป็นธรรม เหมือนอย่างที่อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ให้ข้อคิดไว้อย่างน่าสนใจว่า คนชั้นกลางไม่สนใจเรื่องการปฏิรูปที่ดินเพราะคิดว่าเป็นเรื่องคนจน แต่หารู้ไม่ว่า คอนโดหรือบ้านรูหนูที่ตัวเองอยู่ ไม่ควรจะแพงมหาโหดหรือไม่ควรจะต้องผ่อนทั้งชีวิตแบบนี้ แต่ที่เป็นแบบนั้นเพราะการถือครองที่ดินที่กระจุกตัว รวมทั้งที่ดินในการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เมื่อวันที่ 2 มีนาคมเกือบเป็นวันประวัติศาสตร์ของประเทศไทย เพราะรัฐสภาได้พิจารณาร่างกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญมาตรา 61 วาระ 2 และวาระ 3 ซึ่งเป็นกฎหมายที่กลุ่มองค์กรผู้บริโภครอคอยมาไม่น้อยกว่า 14 ปีพบรัฐมนตรีไม่น้อยกว่า 8 คน มีการจัดกิจกรรมทั้งสนับสนุนและคัดค้านนับร้อยครั้งทั่วประเทศ แต่ก็ต้องถอนกฎหมายฉบับนี้ออกไปเนื่องจากวิปรัฐบาลมีความเห็นที่แตกต่างกับกรรมาธิการเสียงข้างมากในการกำหนดงบประมาณให้เป็นอิสระโดยกำหนดไม่น้อยกว่า 5 บาทต่อหัวประชากร เมื่อพิจารณากฎหมายไปได้ถึงมาตรา 8 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ลงมติให้ถอนกฎหมายออกจากการพิจารณาของสภา และให้กรรมาธิการไปพิจารณาอีกรอบ สุดท้ายกรรมาธิการเสียงข้างมากก็สนับสนุนให้กำหนด 3 บาทต่อหัวประชากรเงิน 3 บาทต่อหัวประชากร ถึงแม้จะทำให้ผิดหวังที่เห็นคุณค่าของผู้บริโภคน้อยกว่าค่าขนมเด็ก แต่หากมองในแง่ดี ก็ต้องถือว่า ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและประชาชน ต่างมีหลักประกันด้วยกันทั้งสองฝ่าย เพราะหากองค์กรนี้ทำงานได้ไม่ดีเพราะยังไม่เห็นผลงานก็ไม่สิ้นเปลืองงบประมาณมากนัก แต่หากทำงานเข้าตากรรมการและไปขัดแข้งขัดขาใคร ถูกหมั่นไส้เพราะเล่นงานบริษัทพรรคพวกของตนเอง ก็ไม่สามารถตัดงบประมาณให้น้อยกว่า 3 บาทต่อหัวได้ แต่ 14 ปีที่รอคอยเราทุกคนคงอยากเห็นและฝากความหวังกับองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคนี้ ที่จะต้องเข้มแข็งทำให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง ทำงานพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เสนอความเห็นและผลักดันมาตรการที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคอย่างเต็มที่ รวมทั้งตรวจสอบการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคของหน่วยงานรัฐอย่างเข้มข้นผู้บริโภคหลายคนอาจจะคิดไม่ค่อยออก ว่าเราต้องมีส่วนช่วยอย่างไร หากมองแบบพุทธก็ต้องบอกว่าทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด ช่วยกันสร้างวัฒนธรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ใช่มีแต่ข่าวที่ผู้บริโภคเสียเปรียบและต้องยอมจำนน ดังที่บริษัทแม็คอินทอช (Apple) ได้ผลิตไอแพด (I Pad) 2 แต่คนที่ซื้อ I Pad 1 ก่อนสินค้าตัวนี้ออกสู่ตลาด 14 วันจากบริษัทหรือออนไลน์บริษัทจะคืนเงินให้คนละ 3,000 บาท แต่ Ipod studio เมืองไทยอ้างว่า ตัวเองเป็นเพียงตัวแทนจำหน่ายไม่ใช่บริษัทจัดจำหน่ายไม่สามารถคืนเงินให้ คำโฆษณาของบริษัทต้องถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา หากApple ไม่ถอนการเป็นตัวแทนจำหน่ายของ  Ipod studio เมืองไทย ก็ต้องมีนโยบายของบริษัทแบบเดียวกันในประเทศไทย เรื่องนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบ ขอยุให้ผู้ที่ซื้อในเมืองไทยทุกคนภายใน 14 วันไปฟ้องศาลคดีผู้บริโภค เรื่องนี้ทำง่าย ๆ ไม่ต้องจ่ายค่าวางศาล แถมขอให้ศาลปรับแบบลงโทษได้ถึงห้าเท่า ที่เอาเปรียบผู้บริโภคและไม่รับผิดชอบผู้บริโภคในเมืองไทย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 120 ทำไมเรา(โง่) จ่ายอยู่กลุ่มเดียว

เดือนที่ผ่านมาคงได้รับรู้ปัญหาของระบบประกันสังคมกันอยู่ไม่มากก็น้อย เพราะผู้ประกันตนถือเป็นกลุ่มเดียว(9.4 ล้านคน) ที่ต้องจ่ายสมทบค่ารักษาพยาบาลให้กับตนเอง จ่ายเงินแล้วสิทธิประโยชน์ยังน้อยกว่ากลุ่มอื่น ๆ ไม่จะเป็นสวัสดิการข้าราชการ หรือระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง) ในกรณีผู้ป่วยเรื้อรัง กว่าจะได้ใช้สิทธิผู้ประกันตน ก็ต้องผ่านการพิสูจน์จากสำนักงานว่า เป็นผู้ประกันตนหรือไม่ ทั้งๆ ที่ บางคนจ่ายเงินมาไม่น้อยกว่า 4 ปี ก่อนเก็บเงินก็ไม่เคยถูกถามว่าเป็นผู้ประกันตนหรือไม่ หรือหากจะคลอดบุตรได้ก็ต้องจ่ายสมทบเงินมาไม่น้อยกว่า 7 เดือน ทำให้ผู้หญิงวัยทำงานจำนวนมากไม่สามารถไปฝากท้องได้เพราะไม่มีเงินจ่ายและไม่สามารถใช้สิทธิใด ๆ ได้ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้สะท้อนระบบประกันสังคมว่าไม่ได้มองว่าเรื่องสุขภาพเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชน แต่เป็นสิ่งที่จะต้องจ่ายก่อนถึงจะได้สิทธินั้น ทั้งที่รัฐธรรมนูญก็กำหนดไว้ชัดเจนว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐานต้องยอมรับว่าเมื่อปี 2533 กฎหมายประกันสังคมก้าวหน้ามากในสังคมไทย แต่หากพิจารณาในปัจจุบันที่เรามีกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อปี 2545 ครอบคลุมคนไทยทั้งประเทศ ทำให้ผู้ประกันตนเป็นกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล เงินประมาณ 15,000 ล้านบาท ที่จ่ายสมทบทั้งลูกจ้างและนายจ้าง หากนำไปจ่ายเพิ่มสิทธิประโยชน์ชราภาพ หรือเป็นเงินออมของผู้ประกันก็น่าจะทำให้ผู้ประกันตนเมื่อสูงวัยพอจะมีคุณภาพชีวิตได้บ้าง ที่สำคัญทุกคนที่เป็นคนไทยมีความเท่าเทียมในการได้รับสวัสดิการขึ้นพื้นฐานจากประเทศ นอกจากนี้ยังเพิ่มประสิทธิภาพระบบหลักประกันสุขภาพ (60 ล้านคน) ให้สิทธิประโยชน์ของทุกคนเหมือนกัน และสร้างความเข้มแข็งของระบบประกันสังคมในระยะยาว ช่วยกันลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมด้วยของจริง ร่วมกันผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นจริง ด้วยการสมัครเป็นสมาชิกชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน และร่วมกิจกรรมได้ที่ Facebook ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 119 มาเป็นครอบครัวพิทักษ์สิทธิกันเถอะ

  สังคมไทยเป็นสังคมจำเลย ที่กล่าวเช่นนี้เพราะเห็นจากหลายกรณีที่เกิดขึ้น ที่เราจะต้องมองหาจำเลยว่าใครจะเป็นคนผิด เพื่อให้รู้สึก สบายใจ ว่าหาคนผิดได้หรือไม่งั้น ก็มีความกลัวว่าเราจะต้องไปเกี่ยวข้องด้วยและร่วมรับผิดชอบ เช่น การนำเสนอข่าวฟิล์มกับแอนนี่ หรือเรื่องรถตู้ชนบนโทลล์เวย์ และทุกๆ ปี เราจะเห็นการเสนอข่าวว่า ปีนี้มีคนกลับบ้านและไปเที่ยวต่างจังหวัดมาก เริ่มตั้งแต่รถติดมากจากกรุงเทพฯ ติดไปจนถึงนครสวรรค์ หรือข่าวว่าบริษัทขนส่งหรือการรถไฟจะเพิ่มเที่ยวให้สามารถกลับบ้านกันได้ทั้งหมด เห็นข่าวประเภทนี้กันมาหลายปี ดูซ้ำไปซ้ำมา หากจะโทษการเสนอข่าวก็ง่ายไป เราก็ต้องมีส่วนร่วมในการทำให้ข่าวที่เราดูกันตลอดเวลานั้น มีความน่าสนใจมากขึ้นด้วย ปีนี้ฉลาดซื้อตั้งใจที่จะชักชวนให้ช่วยกันปฏิบัติการนำเสนอข่าวด้วยตัวเอง ด้วยการเป็นสมาชิกครอบครัวพิทักษ์สิทธิ ซึ่งจะขอชักชวนคนไทยทั้งประเทศเข้าร่วมเป็นครอบครัวนี้ ที่จะเป็นเหมือนชุมชนของผู้บริโภคที่แข็งขัน มีพลังในเรื่องที่จะช่วยกันติดตามข่าวสาร หรือรายงานผลเหตุการณ์การละเมิดสิทธิ ราคาสินค้า หรือแจ้งเรื่องราวร้องทุกข์ผ่านสื่อที่รวดเร็วฉับไวภายในเครือข่าย ถือเป็นปฏิบัติการที่เราสร้างเองได้ และมีประโยชน์ต่อผู้บริโภค ปีนี้ฉลาดซื้อและทีม มพบ. พร้อมกับครอบครัวพิทักษ์สิทธิ เราจะมุ่งสู่วิสัยทัศน์ “สานพลัง เท่าทันโลก บริโภคอย่างสร้างสรรค์” ด้วยกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 118 จินตนาการ

ได้มีโอกาสตั้งสอบถามความเห็นเพื่อนฝูงใน Facebook ว่า ช่วยให้ความเห็นต่อการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคยอดเยี่ยมและยอดแย่ของรัฐบาลนี้มาสัก 3 อย่าง มีคนให้ความเห็นแตกต่างกันสะท้อนมุมมองของแต่ละกลุ่มในสังคมตั้งแต่ปัญหาความเดือดร้อนของผู้บริโภค เช่นข้าวของราคาแพงที่กระทบกับผู้บริโภคไม่ว่าจะเรื่องไข่ น้ำตาล มะพร้าว หรือรวมถึงปัญหาการผูกขาดสินค้า ปัญหาไม่ทำตามคำสัญญา(นโยบายของรัฐบาล)ที่บอกว่า ประชาชนต้องมาก่อน แต่เห็นได้จากหลายเรื่องประชาชนออกวิ่งแล้วแต่รัฐบาลยังไม่กล้าเดินแถมกลัวให้เห็นอีก เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ และที่เห็นเป็นปัญหาสำคัญของประเทศดูเหมือนจะปล่อยให้มีการโกงกันมากมาย ที่ชมรัฐบาลนี้กันมากเห็นจะได้แก่ การผ่านสภาผู้แทนราษฎรรับหลักการกฎหมายองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภคที่ร้องเพลงรอกันมา 13 ปี การชะลอไม่ขึ้นราคาก๊าซเพราะทราบดีว่า ควรแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่น การให้คณะทำงานปฏิรูปชุดต่างๆ ทำงานอย่างอิสระ แต่จะรับไปดำเนินการมากน้อยแค่ไหนอย่างไรเป็นเรื่องที่ต้องติดตามตรวจสอบกันต่อไปนับเป็นผลงานยอดเยี่ยมและยอดแย่ของรัฐบาลด้านการคุ้มครองผู้บริโภค แต่หากกลับมามองสถานการณ์รวมของผู้บริโภค ก็จะเห็นได้ว่า การใช้สิทธิของผู้บริโภคมากขึ้นจากการร้องเรียน มีคนเอาจริงเอาจังที่นำของหมดอายุไปคืนห้างพร้อมขอค่ารถ 500 บาท และบอกว่า “ผู้บริโภคไม่ได้มีหน้าที่ต้องเอาของหมดอายุมาคืน แต่ห้างมีหน้าที่ทำให้ของที่จำหน่ายไม่มีของหมดอายุ” น่าชื่นชมจริง ๆ เพราะหากเราทำกันทุกคนเมืองไทยไม่น่าจะมีของหมดอายุจำหน่ายให้ปวดหัวกันอย่างทุกวันนี้ปีใหม่นี้ขออำนวยพร ให้สมาชิกฉลาดซื้อและผู้อ่านทุกคน เริ่มต้นชีวิตที่งดงาม มีความรัก ความสุขกับการทำงาน ทำหน้าที่ของตนเองในฐานะผู้บริโภคอย่างเข้มแข็ง ไม่ท้อถอยต่ออุปสรรค ที่สำคัญร่วมกันสร้างจินตนาการ และเชื่อว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยให้เท่าทันโลก ไม่ฝากความหวังการทำให้สังคมดีไว้กับใครแต่ต้องทำร่วมกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 117 ขายตรงแบบไทย ๆ กับ สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น

กรณี ร้องเรียนที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ จากปัญหาการขายตรง ที่สำคัญได้แก่ การขายตรงที่เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ ขายตรงหลายชั้น ซึ่งผิดกฎหมาย นอกนั้นมักจะเป็นปัญหาสินค้าที่ได้รับไม่มีคุณภาพ ไม่เหมือนกับที่โฆษณาในทีวี สินค้าชำรุดบกพร่อง สินค้าราคาแพงมากกว่าท้องตลาดทั้งที่ตอนโฆษณาดูเหมือนราคาถูก มีของแถมมากมาย ผู้ บริโภคเรา ๆ ขาดความรู้ว่ามีสิทธิอะไรบ้างจากธุรกิจขายตรง เช่นไม่พอใจสินค้าสามารถคืนเงินได้ภายใน 7 วัน เพราะยังไม่ถือว่าเป็นการซื้อสินค้า ภาระในการส่งคืนสินค้าเป็นของผู้ขาย สุดท้ายเป็นปัญหาการให้บริการลูกค้าหลังการขายทั้งการคืนของ การคืนเงิน การเยียวยาความเสียหายให้กับลูกค้า เช่น หากสั่งซื้อสินค้ามักจะได้รับของภายใน 3 วัน และจ่ายเงินทันที แต่เมื่อคืนสินค้ามีเงื่อนไขคืนเงินล่าช้ายาวนานถึง 45 วันก็ นับเป็นธุรกิจขายตรงแบบไทย ๆ ที่มีปัญหากันมากในปัจจุบัน นอกเหนือจากประสิทธิภาพหรือคุณภาพของสินค้าเทคโนโลยีใหม่ที่ผู้บริโภครู้ได้ ลำบากว่ามีคุณภาพจริงหรือไม่ สินค้าที่มีเรื่องร้องเรียนมาก  เช่น อุปกรณ์ออกกำลังกาย(ไม่แข็งแรง) เครื่องดักหนู(ประสิทธิภาพ) อุปกรณ์ทำความสะอาด การขายตรงประกันภัยทางโทรศัพท์หลัก สำคัญของธุรกิจขายตรงคือ การลดต้นทุนการจัดจำหน่าย เพราะไม่มีร้านค้า แต่ผู้บริโภคก็ไม่มีโอกาสจับต้องสินค้า และในอนาคตการขายตรงจะถูกพัฒนาควบคู่กับระบบเทคโนโลยีมากขึ้นทั้งผ่านระบบ โทรศัพท์มือถือ ที่จะเห็นทั้งข้อความและรูป เรียกว่าขายตรงถึงตัวกันเลยทีเดียว โดยที่ไม่จำเป็นต้องเปิดโทรทัศน์ หรือใบแนะนำสินค้าขายตรงสุด ท้ายขอให้กำลังใจประชาชนที่เดือดร้อนประสบปัญหาน้ำท่วมทุกคน บางคนบอกว่า บ้านหายไปกับสายน้ำ  และไม่ไหลกลับ วัด กุฏิแม่ชีหายไปกับสายน้ำเช่นเดียวกัน หลายคนไม่มีบ้านอยู่ บ้านจมน้ำ เรือกสวนไร่นา เสียหายมากมาย จากเหตุน้ำท่วมในหลายจังหวัดของประเทศไทย  ทั้งภาคอีสานและภาคกลาง และกำลังประสบปัญหาในภาคใต้ แต่ได้เห็นน้ำใจงามมากมายกว่าสายน้ำเข้าช่วยเหลือ ท่ามกลางชีวิตทุกชีวิตที่เหลือต้องดำเนินต่อไปฉลาดซื้อและทีมของมูลนิธิ ฯ ทั้งหมด จะย้ายกลับไปทำงาน ณ อาคารสำนักงานเดิม ซอยวัฒนโยธิน ภายในวันที่ 22 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 116 (โปรดฟังอีกครั้ง) กฎหมายช่วยเยียวยา ไม่ได้ช่วยฟ้อง

การสนับสนุนของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยต่อกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหาย ได้ทำให้กลุ่มแพทย์ที่คัดค้านโกรธและเลือกใช้วิธีฟาดหัวฟาดหาง เช่น การตั้งคำถามต่อผู้พูดว่า เป็นการออกมาพูดเองของผู้อำนวยการโรงพยาบาลหรือเป็นมติของคณะแพทย์รามาธิบดี การพูดส่อเสียด ศาสตราจารย์นายแพทย์วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ การรุมกินโต๊ะนายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน (แต่เผอิญเป็นโต๊ะเหล็กเลยปากหักไปตาม ๆ กัน) การข่มขู่จะถอดถอนแพทย์ที่ออกมาสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ ไม่ว่าจะเป็นนายแพทย์วิชัย นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ ส่วนภาคประชาชนก็ได้รับรางวัลไปตามๆ กัน เช่น เอาเงินภาษีมาให้ผู้ผลักดันกฎหมายไปไปบริหารกองทุน มีผลประโยชน์แอบแฝง หรือแบบไม่ตรงไปตรงมา(ทั้งที่มีภาคประชาชน 3 คนจากจำนวนกรรมการ 17 คน และสำนักงานบริหารอยู่กับกระทรวงสาธารณสุข) เช่น เขียนด่าในเว็บไซต์ โทรศัพท์มาด่าที่บ้าน ขณะออกรายการโทรทัศน์ สนับสนุนกลุ่มประชาชนให้คัดค้านภาคประชาชนกันเอง เขียนป้ายด่าว่า หลอกผู้ติดเชื้อยังไม่พอจะมาหลอกผู้ป่วยต่อ เป็นต้น เรียกว่า ทำทุกวิถีทางทั้งที่ลับและที่แจ้ง นับไล่เรียงตั้งแต่การล็อบบี้นักการเมือง สื่อมวลชน นอกรอบหรือเป็นทางการ การใช้เครือข่ายทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน เครือข่ายผู้ป่วยที่เคยดูแลมีบุญคุณกัน น่าเสียดายที่พลังเหล่านี้ หากนำไปใช้ในทางที่ดีคงได้ประโยชน์มหาศาล แต่หากจะแยกแยะกลุ่มคัดค้านคงพอไล่เรียงได้ประมาณนี้ กลุ่มแรกผิดหวังเรื่องค่าตอบแทนที่กระทรวงสาธารณสุขให้เงินเดือนแพทย์ชนบทใกล้เคียงกับรพ.ศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป(ลึกๆ กลุ่มนี้เห็นด้วยกับกฎหมายเพราะเชื่อว่าช่วยหมอไม่ให้ถูกฟ้องแต่ก็มาอยู่ในกลุ่มวงคัดค้านเลยลำบาก) กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มแค้นฝังหุ่นระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ว่าอะไรก็คัดค้านหมดเพราะต้องการล้มระบบหลักประกันแถมไม่ชอบ NGO ทั้งจากเรื่องคอรัปชั่นในกระทรวงสาธารณสุขในอดีต หลักประกันสุขภาพ การหลอกลวงกรณี ยา V1 สำหรับผู้ติดเชื้อ กลุ่มที่สามนับว่าใหญ่และมีอิทธิพลมากคือ กลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่แอบข้างหลังในช่วงแรก และเปิดเผยตัวว่า  ให้ขยายมาตรา 41 (เพราะรพ.เอกชนจะได้ไม่ต้องจ่ายสมทบ) หรือเครือข่ายแพทย์รพ.รัฐที่ปัจจุบันทำนอกเวลารพ.เอกชน หรือแพทย์ที่มีคลินิกเอกชนของตนเอง ซึ่งกลุ่มนี้ขณะนี้เร่งผลักดันความร่วมมือรัฐและเอกชนในการให้เจ้าหน้าที่รัฐไปทำงานในรพ.เอกชนในเวลาราชการ(คิดได้ไง) ที่สรุปได้อย่างนี้เพราะร่างกฎหมายผู้ได้รับผลกระทบจากบริการสาธารณสุขของทีมนี้ เขียนไว้ไม่รวมสถานพยาบาลเอกชน แถมจริงหรือไม่ที่ผู้นำทีมวอคเอ้าท์ในวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา เป็นกรรมแพทยสมาคมที่เป็นเนื้อเดียวกันกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน  รองผู้อำนวยการรพ.บำรุงราษฎร์ หรือนายกสมาคมไทยคลินิกเอกชน นอกเหนือจากกลุ่มแค้นฝังหุ่น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 115 Easy Pass ผ่านทางอัตโนมัติ

ข้อมูลของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ระบุว่า ณ วันที่ 24 พฤษภาคม 2553 มีผู้ใช้ทางพิเศษสมัครใช้บัตร Easy Pass หรือระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ แล้วกว่า 110,000 บัตร ยังไม่นับรวมปัจจุบันที่เพิ่งจะเปิดให้บริการจำหน่ายบัตรเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2553 ที่ผ่านมา และให้บริการค่อนข้างเต็มรูปแบบโดยเฉพาะระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ไปเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีทั้งคนบ่นและร้องเรียนแบบเป็นทางการจำนวนไม่น้อย เรื่อง Easy Pass ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ว่า ทำให้รถติดเนื่องจากระบบ Easy Pass มีบริการไม่เพียงพอและล่าช้า ทำให้รถยนต์ส่วนมากยังต้องใช้ช่องจ่ายเงินสดทำให้เป็นปัญหาการจราจรของด่าน ชำระเงินแทบทุกแห่ง รองลงมาเป็นปัญหาเรื่องการเก็บค่ามัดจำบัตร Easy Pass จำนวน 1,000 บาทที่แพงเกินไปไม่สมเหตุผลต้นทุนของบัตร รวมถึงปัญหาเงินสำรองขั้นต่ำในการใช้บัตร Easy Pass ที่ต้องมีมูลค่าสูงถึง 200 บาท ประการสุดท้ายหลังจากมีระบบนี้ การทางพิเศษ ฯ ได้ยกเลิก ระบบคูปอง 45 บาท และ 55 บาท ซึ่งใช้แทนเงินสด ทำให้ผู้ใช้ทางต้องเตรียมเงินสดให้พอดี หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องเสียเวลารอเงินทอน ทำให้ใช้เวลาหรือล่าช้าเพิ่มขึ้น ซึ่งแทนที่จะค่อย ๆ เลิกใช้ระบบคูปองหลังจากที่รถจำนวนมากติดตั้งระบบอัตโนมัติแล้ว หรือสามารถมีอุปกรณ์บริการประชาชนได้อย่างเพียงพอและรวดเร็ว หลายคนเปรียบเทียบบัตร Easy Pass กับบัตรรถโดยสารไฟฟ้าบนดินและใต้ดิน ว่าน่าจะใช้ระบบแม่เหล็กในการอ่านบัตรแบบเดียวกัน ขณะที่บัตรรถไฟฟ้ามีค่ามัดจำบัตรเพียง 30 บาท แต่ บัตร Easy Pass สำหรับติดหน้ากระจกรถราคา 1,000 บาท และบัตรเติมเงิน (Smart pass) มีราคาขั้นต่ำ 200 บาท ก็นับว่าเป็นราคาที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคอยู่ดี ขอ ให้คณะกรรมการและผู้ว่าการทางพิเศษ ฯ ปรับปรุงปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นและโปรดให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภค ที่เป็นลูกค้าชั้นดีโดยไม่ต้องร้องขอ หรือลุกขึ้นมาฟ้องร้อง หรือเห็นว่าขณะนี้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกเพราะโทลเวย์ก็ราคามหาโหด คนประท้วงไม่ขึ้น จะทำอย่างไรก็ได้ หนีเสือปะจระเข้จริง ๆ ขออนุญาตแนะนำให้สมาชิกฉลาดซื้อได้รู้จัก พ.ท. ทวีสิน รักกตัญญู ที่เป็นผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และนางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการขนส่งจราจรในฐานะประธานกรรมการการทางพิเศษ ฯ และคณะกรรมการ ทั้งหมด ได้แก่ นายวินัย วิทวัสการเวช, นายวีระ เรืองสุขศรีวงศ์, น.ส. วลัยรัตน์ ศรีอรุณ, นายภูมิใจ อัตตะนันทน์, พลตำรวจเอก จุมพล มั่นหมาย, นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์, นายอรรถพล ใหญ่สว่าง, นายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา, พล.ต.ต จักรทิพย์ ชัยจินดา และพ.ท. ทวีสิน รักกตัญญู ฉลาดซื้อขอร่วมแสดงคดีความยินดีกับผู้ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยใช้พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคจำนวน 169 รายในปี รอบ 2 ปี ของการทดสอบการใช้กฎหมายเพื่อการคุ้มครองตนเอง และเพื่อให้ผู้ที่กังวลว่ามีการฟ้องร้องแพทย์มาก ก็อยากให้สบายใจ ว่า เฉพาะของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีคดีฟ้องร้องโรงพยาบาลเพียง 6 รายเท่านั้น จาก 169 ราย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 114 หมอเทวดาภาคสอง

หมอเทวดาภาคสอง "หมอไม่อ่านหรือหมอไม่ฟังคนอื่น" คงจำได้ว่าเคยเขียนถึงหมอฮัวโต๋ ซึ่งเป็นหมอคนแรกในประวัติศาสตร์จีนที่ รักษาคนไข้โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์วางยาสลบให้กับคนไข้ และพอคนไข้สลบไป หมอฮัวโต๋ก็จะจัดการผ่าตัดทันที นับว่าเป็นผู้บุกเบิกวงการแพทย์ในปัจจุบันก็ว่าได้ หากเปรียบเทียบหมอฮัวโต๋ กับหมอในเมืองไทย ก็คงเป็นแพทย์แผนปัจจุบันแต่น่าแปลกใจ ที่หมอปัจจุบันถูกทำให้กลัวโดยยังไม่รู้ ความจริง ถูกหลอกให้เชื่อทั้งที่ไม่เป็นความจริง ใครจะคิดว่าเกิดขึ้นกับแพทย์ การคัดค้านเพื่อให้ถอนร่างกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขออกจากการพิจารณาของรัฐสภา โดยแนวทางการคัดค้านเริ่มจากการทำให้กลัวว่าจะถูกฟ้อง แม้ว่าโดยหลักการแล้ว การฟ้องร้องทางคดีอาญาจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่ผู้เสียหายมีสิทธิใช้ ด้วยเป็นสิทธิทางกฎหมายของทุกคน     แต่การค้านเรื่องนี้ก็ไม่สำเร็จ เพราะมาตรา45 กำหนดให้กรณีผู้ให้บริการถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาฐานกระทำการโดยประมาท หากศาลเห็นว่าจำเลยกระทำผิดศาลสามารถนำข้อเท็จจริงต่างๆ ของจำเลยเกี่ยวกับประวัติพฤติการณ์แห่งคดี มาตรฐานทางวิชาชีพ การบรรเทาผลร้ายแห่งคดี การรู้สำนึกในความผิด การทำสัญญาประนีประนอมตามกฎหมายฯ มาพิจารณาประกอบ ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดหรือจะไม่ลงโทษเลยก็ได้  จะเห็นได้ว่าร่างกฎหมายดังกล่าวได้พยายามป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในด้านต่างๆ อย่างรอบคอบแต่ด้วยหลักการแก้ปัญหาเชิงบวก ไม่เพ่งโทษที่บุคคลเน้นความร่วมมือ และให้ความช่วยเหลือเยียวยากับผู้ที่เป็นเหยื่อความผิดพลาดของระบบ กฎหมายการชดเชยฯ จะเป็นระบบที่ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้เสียหายฯ ไม่ว่าผู้ป่วยหรือญาติ หันหน้าเข้าหากัน แทนการเผชิญหน้า เพราะโดยข้อเท็จจริงที่ปรากฏทั่วไปก็คือ การฟ้องร้องตามกฎหมายเป็นเรื่องที่  ชาวบ้านธรรมดาเข้าถึงได้ยาก "เพราะยุ่งยาก"  "เสียเวลานาน" และ "ได้ไม่คุ้มเสีย" ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้ "เน้นการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหาย ไม่เพ่งโทษบุคคลที่เกี่ยวข้อง" และ "ใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นครู" เมื่อใช้การขู่ว่าจะถูกฟ้องไม่สำเร็จ ก็กลับมาใช้เหตุผลองค์ประกอบกรรมการที่ไม่มีผู้ประกอบวิชาชีพ  "ทั้งที่" มีอยู่ถึง5 คนในร่างกฎหมายมาตรา 7 และจำนวน 2 คนในคณะอนุกรรมการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นในมาตรา 12จากจำนวน 5คนทั้งผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข (ดูรายละเอียดกฎหมายได้จาก http://library2.parliament.go.th/giventake/content_hr/d051253-05.pdf) หลังจากนั้นก็บอกว่าควรขยายกลไกการช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 ของพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ดูแล คนไข้บัตรทอง 47 ล้านคน (ผู้นำกลุ่มนี้เคยใส่ปลอกแขนดำคัดค้านมาตรา 41 เพราะบอกว่าจะฟ้องหมอมากขึ้น แต่ก็พบว่าไม่เป็นจริง) และที่สำคัญต้องเริ่มต้นแก้กฎหมายใหม่เข้าคณะรัฐมนตรี ไปกฤษฎีกาอีกประมาณ 11 เดือน ที่แพทยสภาแพทยสมาคม สมาคมคลินิกเอกชน มีส่วนร่วมมาโดยตลอดเห็นชอบโดยครม.อีกรอบ ก่อนเข้าสภา   "ที่เล่าอย่างนี้" อยากให้ "ช่วยกันคิด" ว่าสาเหตุของเรื่องนี้เป็นเพราะหมอ  "ไม่ทำตามกาลามสูตร ไม่อ่านกฎหมาย" แต่เชื่อจากการ ที่กลุ่มหมอด้วยกัน "เล่าให้ฟัง".... ถูกแพทยสภาที่เป็นเจ้าของโรงพยาบาลเอกชนหลอกเพราะไม่อยากร่วมจ่าย หรือเต็มใจให้หลอก ผิดหวังเรื่องค่าตอบแทนแพทย์โรงพยาบาลศูนย์ที่ได้น้อยกว่าโรงพยาบาลชุมชน หรือไม่ฟังคนอื่นที่ไม่ใช่แพทย์ หรือมาจากสาเหตุทั้งหมดที่พูดมา...

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 112-113 ควันหลงฟุตบอลโลก

ก่อนที่จะชวนคุยเรื่องฟุตบอลโลก สารีและทีมมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทุกคน ขอขอบพระคุณทุกท่าน และหน่วยงานต่างๆ ที่ให้กำลังใจ การช่วยเหลืออุปกรณ์สำนักงานและการให้ใช้อาคารสำนักงานฟรี ตลอดจนการสนับสนุนงบประมาณในการปรับปรุงอาคารสำนักงานมูลนิธิฯ ที่ได้รับผลกระทบถูกเพลิงไหม้จากเหตุการณ์ชุมนุมและการจลาจลเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้ต้องใช้งบประมาณในการปรับปรุงอาคารไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท  ปัจจุบันมูลนิธิ ฯ ได้รับบริจาคจำนวน 3 ล้านกว่าบาท อาคารหลังนี้ขนาด  1000 ตารางเมตร เป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์   ให้มูลนิธิฯ เช่าใช้ประโยชน์ระยะยาว 30 ปี ในราคา 8,000 บาทต่อเดือน โดยการประสานงานของอดีตท่านนายกอานันท์ ปันยารชุน และยังได้เป็นกำลังสำคัญในการช่วยระดมทุนในการปรับปรุงอาคารนี้เมื่อสองปีที่แล้วโดยใช้งบประมาณ 6 ล้านบาททั้งจากการระดมทุนและเงินสะสมของมูลนิธิ ฯไม่น้อยกว่า 17 ปี กำลังใจและการช่วยเหลือที่ได้รับ เป็นทั้งพลังและแรงผลักดันให้มูลนิธิฯ ต้องเดินหน้าอย่างเข้มแข็งและต่อสู้เรื่องคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเต็มที่ในทุกๆ ด้าน หวังว่าในอนาคตจะได้รับการสนับสนุนและมีส่วนร่วมในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน มาถึงเรื่องฟุตบอลโลก สิ่งทำให้ผิดหวังไม่ใช่การแข่งที่ไม่สนุก แต่การใช้สิทธิของเอกชนรุกรานบ้านเรือนที่ดูฟรีทีวีปกติ ทำให้คนไม่น้อยกว่า 1 ล้านครอบครัวที่มีจานดาวเทียมสีดำ ซึ่งส่วนใหญ่ที่ต้องมีเพราะดูทีวีปกติไม่ได้ ไม่ว่าบ้านอยู่ใกล้ตึกสูง อับสัญญาณ หรืออยู่อาศัยในอาคารชุดที่เขาจัดมีให้บริการ การละเมิดสิทธิผู้บริโภคครั้งนี้ มีเพียงคำอธิบายจากบริษัทอาร์เอส ว่า เป็นข้อตกลงกับฟีฟ่าไว้อย่างนั้น ไม่อย่างนั้นบริษัทจะถูกปรับ ผู้ถูกตัดสัญญาณไม่เคยเห็นสัญญา ไม่เคยรับทราบว่าจะถูกปรับเท่าใด การเสนอข่าวเรื่องนี้มีเพียงสองสามวัน แต่ไม่มีใครถามว่า บริษัทมีสิทธิอะไรในการไปทำสัญญาแล้วทำให้คนไม่น้อยกว่า 1 ล้านครอบครัวเสียเวลา เสียหายต้องซื้อหนวดกุ้งเพื่อดูทีวีและแถมไม่ชัด นอกจากนี้ บริษัทยังได้ผลประโยชน์ทางธุรกิจในการเก็บเงินจากร้านค้า ร้านอาหารที่มีการเปิดฟุตบอลโลกร้านละประมาณ 10,000 บาท ต่อหนึ่งเดือนที่มีฟุตบอลโลก ซึ่งมีเกือบ 2,000 ร้าน ร้านค้าส่วนใหญ่ก็จำยอม จ่ายเงินให้ เพราะไม่ต้องการเกิดปัญหาเรื่องตามจับ ข่มขู่ ทั้งๆ ที่เป็นการเปิดทีวีปกติที่ไม่ใช่เทปซีดีเฉพาะหรือดนตรีเพลงของบริษัทใด แถมยังได้เงินค่าลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดจากแต่ละช่อง ส่วนแบ่งโฆษณาจากฟรีทีวีในช่วงที่ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกแต่ละนัดอีกมากมายมหาศาล นี่เป็นเพียงผลประโยชน์เบื้องต้นที่ได้เห็นและบริษัทคุยให้ฟังว่าประมาณ 600 ล้านบาทเท่านั้นเอง เรื่องนี้ถูกตั้งคำถามน้อยมาก และเป็นเหตุให้ไม่ยอมเปิดเผยสัญญาที่ทำไว้กับฟีฟ่า แต่สามารถรุกรานสิทธิของคนเล็กคนน้อยได้เต็มบ้านเต็มเมือง กรณีนี้น่าจะมีการดำเนินการเพื่อเป็นบทเรียนให้กับผู้ที่จะได้ลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกในอีก 4 ปีข้างหน้า(ก็อาร์เอสอีกนั่นแหละ) มากๆ  ใครเป็นสมาชิกจานดำ ขอให้ช่วยกันคิดปฏิบัติการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคอีกรอบฉลาดซื้อ ฉบับที่แล้วได้เปิดเผยผลการสำรวจการเข้าถึงความรู้กับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ประเทศไทยติดอันดับ 10 ประเทศรั้งท้าย ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยมาก

อ่านเพิ่มเติม >