ฉบับที่ 111 GMOs Turn Around ผู้บริโภคตัดสินใจอย่างไร

ภาคธุรกิจการเกษตรจากหลายกลุ่ม ได้เข้าพบอดีตนายกอานันท์ ปันยารชุน ประธานกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เรื่ององค์การอิสระสิ่งแวดล้อม เพื่อยื่นหนังสือขอให้พิจารณาถอดถอน โครงการที่ 18 “การทำเกษตรกรรมเชิงการค้าเกี่ยวกับวัตถุดิบ การผลิตอาหารที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งมีชีวิตตัดต่อพันธุกรรม (GMO)” ออกจากบัญชีประเภทกิจการที่อาจก่อผลกระทบอย่างรุนแรงตาม ม.67 วรรค 2 แถมขู่ไว้ว่าหากยังไม่มีการถอดถอนหรือ เปลี่ยนแปลงใดๆทางกลุ่มจะดำเนินการเรียกร้องความเป็นธรรมต่อศาลปกครองต่อไป ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค เห็นจะเป็นว่า หากปล่อยให้ โครงการหรือกิจกรรมเกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมเชิงการค้าเกี่ยวกับ วัตถุดิบการผลิตอาหารที่เกี่ยวเนื่องกับ GMO (genetically modified) ไม่ต้องศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม(EIA)และสุขภาพ(HIA) ซึ่งแทนที่จะทำให้เกิดความชัดเจนทั้งสองฝ่าย จะทำให้เกิดความขัดแย้งทั้งกับเกษตรกร ชุมชน ผู้บริโภค และโอกาสที่โครงการเหล่านี้ จะหลุดลอด ปนเปื้อนกับพืชทั่วไป ย่อมเป็นไปได้ และมีหลักฐานเชิงประจักษ์ยืนยันมาแล้วกรณีการปนเปื้อนมะละกอจีเอ็มโอในหลายจังหวัด การอ้างว่า จีเอ็มโอ ปลอดภัย และไม่ต้องศึกษาผลกระทบดูจะฟังไม่ขึ้น เพราะความปลอดภัยของ GMO หากจะเถียงกัน คงจะไม่จบ เพราะยืนคนละมุมชัดเจน ต่างฝ่ายต่างมีข้อมูล บริษัทก็ทำงานวิจัยของตนเอง ถึงแม้จะมีนักวิชาการ (รับจ้าง) รับประกันเรื่องความปลอดภัย ว่าใช้สารเคมีน้อยลง แต่นักวิชาการอีกกลุ่มยืนยันการใช้สารเคมีไม่ลดลง แถมผูกขาดการใช้สารเคมีของบริษัทตนเองอีกต่างหาก ฟังอย่างนี้แล้วผู้บริโภคคงไม่กล้ายอมรับว่าปลอดภัยจริง เพราะทำไมบริษัทใหญ่ ๆ ถึงมีนโยบายไม่ใช้ผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอในยุโรป นี่ยังไม่นับรวมถึงปัญหาการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ ระบบทรัพย์สินทางปัญญา การทำลายความหลากหลายทางชีวภาพที่ยังไม่มีใครกล้าตอบเรื่องนี้ แม้แต่ล่าสุดต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา องค์กรผู้บริโภค (Consumers Union) ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กดดัน รัฐบาลโอบามาให้ยอมรับหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ  (CODEX) และเรื่องนี้มีคนอเมริกาสนับสนุนมากถึง 110,000 คน http://www.consumersunion.org/pdf/Codex-comm-ltr-0410.pdf.  นอกจากโอกาสในการปนเปื้อนหากไม่ทำการศึกษาให้ดีแล้ว ย่อมส่งผลต่อทางเลือกของผู้บริโภคที่น่าจะน้อยลงไปเรื่อย ๆ รวมทั้งละเมิดสิทธิในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง และสิทธิในการเลือกซื้อ ทำไมบริษัทธุรกิจการเกษตรเหล่านี้ จึงกลัวการทำ  HIA และ EIA ตามมาตรา 67 วรรค 2 แต่เลือกใช้การล๊อบบี้ จ้างนักวิชาการ มาตรการข่มขู่ หากแน่จริงและคิดว่าทำตามมาตรฐานสากลแล้วจะกลัวอะไรกับการทำ HIA หรือ EIA หรือที่แท้ไม่แน่จริงอย่างราคาคุย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 110 ก้าวให้พ้นความขัดแย้งและผลประโยชน์ทางการเมือง

ประเทศไทยมีความขัดแย้งทางการเมืองมากกว่าที่คิด เพราะไม่ว่าใครจะพูดจะเสนออะไรก็จะถูกจับเข้าพวกทั้งฝ่ายตัวเองและอีกฝ่ายโดยไม่สนใจเนื้อหาสาระ ข้อเท็จจริงที่กำลังคุยกัน หรือต่างอ้างข้อเท็จจริงที่เป็นของตนเอง เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายผู้ติดเชื้อ และเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ได้มีโอกาสเรียกร้องร่วมกันให้กระทรวงสาธารณสุข ปรับปรุงร่างกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ ให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบกฎหมายฉบับเป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระจากระทรวงสาธารณสุข เพราะกระทรวงสาธารณสุขมีโรงพยาบาลในสังกัดของตนเองเกือบพันแห่ง วันที่รณรงค์ร่วมกัน ได้มีผู้ร่วมกิจกรรมต่างดึงมือตบและตีนตบออกมาจากระเป๋าของตนเอง สะท้อนความร่วมมือของประชาชนที่พร้อมจะดำเนินการร่วมกันเมื่อเป็นปัญหาของประชาชน เราต่างเชื่อว่า ปัญหาของประชาชนที่แท้จริงไม่มีความขัดแย้ง ไม่มีแบ่งฝ่าย แต่รอการแก้ไขปัญหา เพราะขณะที่กรุงเทพ ฯ กำลังเลือดตกยางออก จังหวัดบุรีรัมย์ ก็ปรากฏข่าวชาวบ้านประท้วงการสร้างถนนผ่านที่ทำกิน ปัญหามาบตะพุดยังไม่มีทางออก องค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระยังไม่เกิด ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นทางนโยบายที่เข้มข้นในอดีตของรัฐบาลทักษิณ ปัญหาคอรัปชั่นในปัจจุบัน ปัญหาการบุกรุกที่สาธารณะของนายทุน การเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนและทำให้รัฐเสียหายมากมายและเป็นภาระผู้บริโภค โอกาสของคนจนในทางเศรษฐกิจ การเข้าถึงและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การแทรกแซงสื่อ ปัญหาหลายมาตรฐานแม้แต่เรื่องพื้นฐานของประชาชน เช่น การรักษาพยาบาล ต่างเป็นเรื่องจริงทั้งสิ้น เป็นต้น แต่เป็นปัญหาที่หยั่งรากลึก และประชาชนที่เป็นเพียงหมากทางการเมืองอย่างเราต้องอดทนและร่วมมือกันแก้และหาทางออกจากสิ่งเหล่านี้ และอาจจะไม่ได้มาจากคำตอบของความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังดำรงอยู่ในปัจจุบัน เพราะเป็นเพียงวาทะกรรมและการช่วงชิงผลประโยชน์การนำในทางการเมือง และเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองล้วน ๆ ดังนั้นผู้บริโภคต้องเชื่อมั่นในพลังของตนเองที่จะร่วมกันอย่างเข้มแข็งในการปฏิรูประบบและกลไกทางการเมือง ระบบภาษี ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ระบบสวัสดิการทางสังคม ระบบการศึกษา ระบบสุขภาพ เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 109 ถึงเวลามีองค์การอิสระผู้บริโภค

มีโอกาสไปประชุมที่เชียงใหม่ เรื่ององค์การอิสระผู้บริโภค ก้าวใหม่ของประชาชนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีผู้บริโภค แจ้งเบาะแสความร้ายกาจของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดเชียงใหม่ และเอาใบปลิวประกาศของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดเชียงใหม่ มาให้เป็นของขวัญในโอกาสไปร่วมงาน ประกาศของการไฟฟ้าฯ ฉบับนี้ เป็นประกาศเกี่ยวกับกรณีการชำระเงินค่าไฟฟ้าเกินกำหนดระยะเวลาการไฟฟ้า ฯ จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมชำระเกินกำหนดตามขนาดมิเตอร์ดังนี้ มิเตอร์แรงต่ำ 1 เฟส จำนวนเงิน   107.00 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)มิเตอร์แรงต่ำ 3 เฟส จำนวนเงิน  160.50 บาทจึงแจ้งมาเพื่อทราบ ... การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดเชียงใหม่ การประกาศเก็บค่าธรรมเนียม 107-160.50 บาทของการไฟฟ้าสามารถทำได้โดยไม่ต้องรับฟังความคิดเห็นของใคร เพียงแต่ส่งใบปลิวที่เห็นกันบ้างไม่เห็นบ้าง แต่ถือว่าเป็นการแจ้งให้ผู้ใช้ไฟได้รับทราบ ดูจะไม่แตกต่างต่างจากบริษัทดอนเมืองโทลล์เวย์ที่สามารถขึ้นราคาจาก 55 บาท เป็น 85 บาทเกือบ เป็นการขึ้นราคาเกือบ 50% ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากกรมทางหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(หรือหน่วยงานต่าง ๆ ) จะประกาศบังคับใช้อะไรก็ได้ โดยไม่มีกระบวนการรับฟังความเห็น และไม่สนใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภค ทั้งที่รัฐธรรมนูญมาตรา 61 ได้รับรองสิทธิเรื่องนี้ไว้ให้มีองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นต่อนโยบาย กฎหมาย กฎ และมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบการคุ้มครองผู้บริโภคของหน่วยงาน เพื่อให้ทุกคนร่วมกันเคารพสิทธิผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญ ขอถือโอกาสชักชวนให้สมาชิกและผู้อ่านนิตยสารฉลาดซื้อ ช่วยกันโทรศัพท์สายตรง ส่งเสียงถึงผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นายอดิศร เกียรติโชควิวัฒน์  (0-2589-3439) หรือจดหมาย โทรสารคัดค้านการออกประกาศฉบับนี้ (การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เลขที่ 200 ถนนงามวงค์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพ 10900 เบอร์โทรศัพท์ 02 589 0100-1 PEA callcenter 1129 /โทรสาร 02 589 4850-1) เพื่อแจ้งผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ว่าควรทำหน้าที่ของตนเองไม่ใช่ปล่อยปละละเลยให้สำนักงานการไฟฟ้าจังหวัดต่างๆ ออกประกาศที่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค เนื่องจาก สคบ. บังคับการไฟฟ้าให้แจ้งผู้บริโภคไม่น้อยกว่า 7 วันหากจะตัดไฟฟ้า แต่เมื่อมีประกาศฉบับนี้หากเลยกำหนดจ่ายเงินก็จะได้เงินค่าปรับทันที โดยไม่ต้องแจ้งผู้บริโภคตามข้อบังคับของ สคบ. นอกจากนี้ควรแจ้งผู้ว่าการไฟฟ้าฯ ควรปรับปรุงการสนับสนุนการจ่ายค่าบริการการใช้ไฟฟ้าให้กับผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่สนับสนุนค่าบริการเฉพาะผู้ใช้ไฟฟ้าที่จ่ายโดยหักบัญชีธนาคารหรือบัตรเครดิต (แถมได้ลด 1.5 %) แต่ขณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ไม่มีบัญชีธนาคาร ต้องรับภาระจ่ายค่าบริการ ณ จุดบริการชำระเงินและบางครั้งมากกว่าค่าไฟฟ้า หากรวมค่ารถโดยสาร ค่าเดินทางที่จะต้องมาจ่ายค่าไฟฟ้ากันในปัจจุบันจากเดิมที่มีบุคลากรจากการไฟฟ้าไปเก็บค่าไฟฟ้าถึงบ้าน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 108 ถึงเวลาแพทยสภาต้องมีคนนอก

ฟังเหตุผลของแพทยสภาที่รับรองหลักสูตรแพทยศาสตร์ ภาษาอังกฤษ อย่างเป็นเอกฉันท์โดยเห็นว่าเป็นหลักสูตรที่ก่อให้เกิดประโยชน์ และไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหาย หรือกระทบต่อการผลิตแพทย์ในหลักสูตรปกติ แล้วชวนให้หงุดหงิด เพราะไม่ว่าใช้สมองด้านไหนคิดก็จะต้องยอมรับว่ากระทบต่อการผลิตแพทย์ในหลักสูตรปกติแน่นอน เพราะอาจารย์หมอไม่ได้เพิ่มขึ้น ทุกอย่างเท่าเดิม แต่มีคนเรียนมากขึ้นแถมยังกำหนดให้ได้เรียนกับอาจารย์ตั้งแต่ระดับรองศาสตราจารย์ขึ้นไป นอกเหนือแน่ๆ คือคนที่เรียนต้องรวยเท่านั้น เพราะใช้เงินไม่น้อยกว่า 7 ล้านบาทในการเรียนแพทย์หลักสูตรนี้ ดังเหตุผลของอดีตรัฐมนตรีสาธารณสุขที่เขียนอีเมล์มาหาในเรื่องนี้ว่า “แม้แต่หลักสูตรภาคภาษาอังกฤษ ก็ทำให้ลูกคนรวยได้เปรียบคนอื่นมากขึ้นไปอีก เพราะคนรวยเท่านั้นที่จะเรียน รร.อินเตอร์ได้ พอมาสอบเข้าเรียนแพทย์ก็ไม่ต้องแข่งกันมากเหมือนหลักสูตรตามปกติเหมือนกับวิชาชีพอื่นๆ ที่เปิดไปแล้ว แม้จะระบุว่าต้องใช้ทุน เป็นคนไทย แต่ไม่ทราบหรือว่าตอนเรียนเสียค่าใช้จ่ายเป็นล้านต่อปี จะยอมใช้ทุนอีกสี่แสนนั้นเรื่องเล็กไม่ใช่หรือ หลังจากนั้นก็ไปทำงานรพ.เอกชนเพื่อโกยเงินต่อไป ทำเป็นไม่รู้หรือเปล่า แล้วภายหน้าไม่ทำให้แพทย์มีสองกลุ่ม คือแพทย์ลูกคนรวยและแพทย์ทั่วไป จะบอกว่าไม่ทำให้การผลิตแพทย์ปกติถูกกระทบก็ไม่น่าเชื่อ เพราะอาจารย์แพทย์มีจำกัด” แถมต่อท้ายมาว่า “ไม่อยากพูดเรื่องนี้อีกแล้ว” ต้องถามว่า แพทยสภาไม่รู้จริงหรือแกล้งไม่รู้แต่หากเป็นสำนวนของศาลก็ต้องบอกว่า เป็นเรื่องที่แพทยสภาต้องรู้หรือควรรู้ แต่หากพิจารณารูปตอนแถลงข่าวเรื่องนี้ก็จะไม่แปลกใจ เพราะในนั้นมีเพียงสองคนจากจำนวนเก้าคนที่ไม่ได้เป็นเจ้าของ ผู้บริหารหรือมีหุ้นจำนวนมากในโรงพยาบาลเอกชน ทำให้สัดส่วนกรรมการแพทยสภาในต่างประเทศให้ความสำคัญกับการมีบุคคลอื่นที่ไม่ใช่แพทย์ไปเป็นกรรมการมากขึ้น เช่น ประเทศนิวซีแลนด์แคนาดา อินโดนีเซีย ฮ่องกง ออสเตรเลีย ไอซ์แลนด์ มาลาวี และประเทศอังกฤษ มีบุคคลภายนอกมากถึง 50% เช่นเดียวกับสิงคโปร์ เพราะการตัดสินใจของแพทยสภา เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของสังคมกระทบต่อสาธารณะ เกี่ยวข้องกับบริการสาธารณสุขที่เป็นบริการจำเป็นพื้นฐานของทุกคน ดังนั้นจึงต้องโปร่งใส มีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ไม่มีผลประโยชน์ขัดแย้ง และมีผู้มีส่วนได้เสียร่วมพิจารณา เพราะการผลิตแพทย์หลักสูตรภาษาอังกฤษนี้ หากพูดกันใช้ชัดๆก็เหมือนการเตรียมการตอบสนองโรงพยาบาลเอกชนที่ต้องการเป็นศูนย์กลางการแพทย์ของอาเซียน(Medical Hub) นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 107 ขออภัยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

คณะบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ ขอขอบคุณสมาชิกที่ท้วงติงมาด้วยมิตรภาพ ถึงบทความที่กระทบต่อสิทธิผู้ป่วยในฉลาดซื้อฉบับที่ผ่านมา การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค เป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ คงจำกันได้ เมื่อแพทยสภาออกมาตรการให้แพทย์สามารถปฏิเสธไม่ดูแลผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉิน ฉลาดซื้อได้มีส่วนร่วมในการคัดค้าน เพราะเราเห็นว่า สิทธิผู้ป่วย ที่เป็นผู้บริโภค เป็นสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนควรให้การเคารพ คณะบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อและผู้เขียนไม่มีเจตนาที่จะให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ เราขอแสดงความรับผิดชอบและขออภัยผู้อ่านทุกท่าน ทั้งนี้ผู้เขียนได้ตัดสินใจยุติการเขีย­­­­­­นบทความในนิตยสารฉลาดซื้อ นิตยสารฉลาดซื้อ ขอขอบคุณสมาชิกที่มีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของนิตยสารด้วยกัน   บรรณาธิการ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 106 โฆษณาส่งท้ายปีใหม่

ป้ายราคาครึ่งกิโลที่แทบจะมองไม่เห็น เป็นกลยุทธการขายสินค้าในอดีต ถึงแม้จะยังพอมีให้เห็นอยู่บ้างในปัจจุบัน แต่ก็ดูจะกลายเป็นการส่งเสริมการขายที่ล้าหลังที่ผู้บริโภครับรู้และเท่าทันได้ไม่ยาก แต่กลยุทธที่ผู้บริโภคอาจจะยังตรวจสอบได้ยากก็คงจะเป็นสินค้าลดราคาต้อนรับเทศกาลต่างๆ ที่ดูเหมือนจะลดกันข้ามปีให้เห็นกันอยู่เสมอ  กลยุทธถัดมาก็คงเป็นเรื่องการโฆษณาชิงโชค การแจกของ เช่น ที่เห็นกันทุกวันคงจะเป็นการส่ง SMS ไปยังรายการข่าวต่างๆ ในโทรทัศน์ เพื่อแลกของมูลค่าเพียงเล็กน้อย แต่กลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญของรายการ และได้รับความนิยมไม่น้อยจากผู้ผลิตรายการ นิยมกันมากดูจะเป็นการแจกโทรศัพท์มือถือ แม้แต่น้ำขวดก็ส่งเสริมให้คนดื่มด้วยการชิงโชค ทั้งที่เราไม่ควรต้องซื้อน้ำดื่ม นำมาซึ่งการใช้เทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือขายตรงถึงตัวผู้บริโภคเป็นปัญหาสำคัญในกิจการโทรคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นการขายประกัน ส่งข่าว ดูดวง ชิงโชค โหลดเพลง เล่นเกมส์ หรือแม้แต่การนำไปใช้ในการหลอกลวงฉ้อโกงต่างๆ แต่ที่ทำให้สับสนและแอบโฆษณากันมากจนเป็นที่รำคาญในยุคปัจจุบัน คือ โฆษณาแฝง การวางสินค้าในรายการ การหยิบ การใช้สินค้า ไม่ว่าจะในละครซิทคอม ละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ นิตยสาร รายการข่าว ที่มีอิทธิพลมากในปัจจุบัน จนทำให้ขาดความงาม ศิลปะในรายการ และกระตุ้นการบริโภคที่เกินความจำเป็นของเด็ก เยาวชน  ถึงแม้มาตรา 61 ของรัฐธรรมนูญไทยฉบับปัจจุบัน จะกำหนดไว้ว่า สิทธิของบุคคล ซึ่งเป็นผู้บริโภค ย่อมได้รับการคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง และมีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค และกำหนดให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จนถึงปัจจุบัน รัฐสภาไทยก็ยังไม่สามารถออกกฎหมายฉบับนี้ได้สำเร็จ ทั้งที่ถูกกำหนดให้มีภายใน 1 ปี นับจากแถลงนโยบายต่อรัฐสภา รับรู้ปัญหา ได้บทเรียนและเรื่องราวดีๆ ที่สำคัญมีข้อมูลในการเลือกซื้อโดยไม่ต้องใช้โฆษณาของผู้บริโภคมาตลอดทั้งปีจากนิตยสารฉลาดซื้อ ก็ต้องช่วยกันสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเอง ครอบครัวและชุมชน เพราะชีวิตในปัจจุบันเลี้ยงลูกให้ดี เป็นคนดี ทำงานดี คงไม่เพียงพอหากต้องช่วยกันทำให้เพื่อนของลูกดี สังคมดีด้วยร่วมกัน นอกเหนือจากการซื้อรถที่ต้องดูหมอเพราะดูโฉลกสีรถ ก็คงต้องดูสัญญาผ่อนรถด้วยเช่นกัน (ฮา ๆๆ) สุดท้ายก่อนสิ้นปี ขออวยพรให้สมาชิก ผู้อ่านฉลาดซื้อและครอบครัวทุกคน มีความสุข ความสำเร็จ มีชีวิตที่ดีงามในปี 2553 รวมถึงมีความหวังและเชื่อร่วมกัน ว่า “เงินของเราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับตัวเรา ระบบเศรษฐกิจ การผลิต สังคม การเมืองและสิ่งแวดล้อม”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 105 กับดักความจริงกับงบโฆษณา

โตโยต้าเรียกคืนรถยนต์ครั้งใหญ่สุดในตลาดสหรัฐจำนวน 3.8 ล้านคัน หลังพบปัญหาเกี่ยวกับพรมปูพื้น ที่อาจขัดคันเร่ง ทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ (29 ก.ย. 2009) โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป จะเรียกคืนรถยนต์ "วิตซ์ "(Vitz) ประมาณ 82,00 คันในญี่ปุ่น หลังจากพบปัญหาขัดข้องที่สวิทช์หน้าต่างไฟฟ้าข้างคนขับ ซึ่งอาจทำให้เกิดไฟไหม้ได้( 21 ตุลาคม 2009) บริษัทร่วมทุนระหว่างตงเฟง มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ของจีน และนิสสัน มอเตอร์ส ของญี่ปุ่น เตรียมเรียกคืนรถเกือบ 52,000 คันในจีน เนื่องจากความบกพร่องเรื่องความปลอดภัยของระบบพวงมาลัย ขณะที่ก่อนหน้านี้เพียง 1 วัน "ฟอร์ด มอเตอร์" ก็เรียกคืนรถยนต์ 4.5 ล้านคัน จากระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ (cruise control) ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ บริษัท ฮอนด้า ประกาศเรียกคืนรถ 440,000 คัน ในสหรัฐ หลังจากพบข้อบกพร่อง ในถุงลมนิรภัย ที่อาจทำให้มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บ หากเกิดอุบัติเหตุ(1 ก.ค.) ฮอนด้า เรียกคืนรถเพิ่มเป็น 1.14 ล้านคันจากสหรัฐ แคนาดาและญี่ปุ่น หวังแก้ไขระบบส่งกำลัง และถังน้ำมัน บริษัทวอลโว่เรียกคืนรถครั้งที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท แม้ที่ผ่านมาจะมีรายงานอุบัติเหตุไฟไหม้รถ รวม 7 กรณี แต่จนถึงขณะนี้จะยังไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ การเรียกคืนรถของวอลโว่ครั้งนี้ เพื่อทำการติดตั้งระบบพัดลมระบายความร้อนให้กับลูกค้าใหม่โดยไม่คิดมูลค่า ด้านนางฉันทนา วัฒนารมย์ รองประธานฝ่ายการตลาด บริษัทวอลโว่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สำหรับรถวอลโว่ในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นรถที่นำชิ้นส่วนเข้ามาประกอบในประเทศไทย ปัญหาความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ข้างต้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ และพบตัวอย่างเกิดขึ้นบ่อยๆ ในต่างประเทศซึ่งมักจะปรากฏเป็นข่าวให้ได้รับรู้ในเมืองไทย แต่เราแทบจะไม่เห็นข่าวเหล่านี้เกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นเพราะรถยนต์ที่ผลิตในประเทศดี ไม่มีปัญหา หรือไม่เคยพบความชำรุดบกพร่องเลยหรือ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับผู้บริโภคคนเล็กคนน้อยในเรื่องนี้ กลับพบว่า หนังสือพิมพ์แทบทั้งหมด สถานีโทรทัศน์รายการข่าวต่างๆ ของแทบทุกช่องยกเว้น โทรทัศน์สาธารณะ (TPBS) ไม่สามารถเสนอข่าวได้เลย เพราะกลัวอิทธิพลของเอเจ็นซี่โฆษณาที่มีมากกว่าความเสียหายของผู้บริโภค ซึ่งส่งผลให้บริษัทรถยนต์ต่างๆ เลือกที่จะซื้อใจบริษัทโฆษณา หรือสถานีโทรทัศน์ แทนความรับผิดชอบของตนเองในฐานะผู้จำหน่ายรถยนต์ในประเทศไทย ความรับผิดชอบมีแบบจำกัด และผู้บริโภคต้องใช้กำลังมากมายกว่าจะรับผิดชอบต่อความชำรุดบกพร่องหรือความเสียหายกับผู้บริโภคที่สำคัญ ๆ หรือไม่อย่างนั้นผู้บริโภคต้องมีลูกบ้า ขับรถของตนเองติดป้ายประจานความเสียหาย ตระเวนไปทั่วบ้านทั่วเมือง หรือทุบรถให้เห็นเป็นขวัญตานักข่าว จึงจะเกิดความตื่นตัวของทั้งผู้ประกอบการและหน่วยงาน บอกว่าเราต้องมีกฎหมายมะนาว(Lemon Law) เมื่อข่าวนั้นเงียบหายไป การแก้ปัญหาในทางระบบ การมีมาตรการ การมีกฎหมายก็เงียบเข้ากลีบเมฆไปเช่นกัน สังคมทุนนิยมแบบไทยๆ มีกับดักความจริงกับงบโฆษณา แถมความไม่รู้ร้อนรู้หนาวของหน่วยงานต่อความเสียหายของคนเล็กคนน้อย และความเสียหายต่อรัฐ ผู้บริโภคอย่างเราต้องทำหน้าที่เป็นลูกแมกซ์ที่ติดไปในเครื่องถ่ายเอกสารแล้วทำให้เครื่องถ่ายเอกสารพัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 102 อาเซียนกับการคุ้มครองผู้บริโภค

ปีนี้หากไม่มีการล้มการประชุมที่พัทยาของผู้นำอาเซียน ประเทศไทยคงมีโอกาสจัดการประชุมเกี่ยวกับอาเซียนอีกหลายครั้ง ซึ่งครั้งล่าสุดเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ทำให้คนไทยเริ่มคุ้นเคยกับภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น อาจจะเนื่องมาจากการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร และผลการประชุมทั้งจากระดับผู้นำสูงสุดที่หัวหิน รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศที่ภูเก็ต และการประชุมที่เกี่ยวข้องกับอาเซียนเป็นระยะ แม้แต่ล่าสุดก็บอกว่าเราจะได้ประโยชน์จากการที่จะเปิดโอกาสให้สายการบินต่างๆ ในภูมิภาคนี้แข่งขันกันอย่างเสรี หรือนั่นคือการเปิดเสรีการบินนั่นเอง แต่แทบจะไม่รู้ผู้บริโภครู้เลยว่า สายการบินราคาถูกปัจจุบันมีนโยบายไม่รับผู้พิการที่ไม่สามารถเดินไปขึ้นได้ด้วยตนเอง หรือนอกจากนี้ยังจะมีพิมพ์เขียว หรือแผนการดำเนินงานที่ต้องการผลักดันให้ภูมิภาคอาเซียนเป็นหนึ่งเดียวมีอะไรอีกบ้าง หากย้อนไปเทียบเคียงกับสหภาพยุโรปก็ พบว่า สหภาพยุโรปได้มีสภาพตลาดเดียวด้านเศรษฐกิจของคน ๓๗๐ ล้านคน เมื่อ ๑๐ ปีที่ผ่านมา (๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๒) และใช้เงินสกุลเดียวหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปอีก ๓ ปี แต่ได้เตรียมการมาไม่น้อยกว่า ๕๗ ปีนับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ในการจัดตั้งประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้าแห่งยุโรป (European Coal and Steel Community-ECSC) ซึ่งมีสมาชิก ๖ ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมันนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และลักเซมเบิร์ก ภูมิภาคอาเซียนปัจจุบันมีประชากรไม่น้อยกว่า ๕๗๖ ล้านคน ได้เริ่มเรื่องนี้มานานถึง ๔๒ ปี (๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๐) โดยมีสมาชิก ๕ ประเทศร่วมลงนามในปฏิญญา ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย แต่สิ่งที่น่ายินดีและเกิดขึ้นแล้วในภูมิภาคอาเซียน คือ กลไกความร่วมมือขององค์กรผู้บริโภคในการพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ในนาม “สภาผู้บริโภคอาเซียน” (Southeast Asian Consumer Council) ซึ่งมี ๗ ประเทศร่วมมือกันในการก่อตั้ง ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน เวียตนาม และประเทศไทย โดยได้ตกลงที่จะร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคจากการเปิดการค้าเสรีในภูมิภาคนี้ถึง ๓ บริการที่สำคัญ ได้แก่ บริการสายการบิน การซื้อขายทางอินเตอร์เน็ต และบริการสาธารณสุข ในปี ๒๕๕๓ ที่จะถึงนี้ และล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาได้ร่วมกับสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และสหพันธ์ผู้บริโภคสากล (CI) จัดเวทีครั้งแรกในภูมิภาคนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม และได้มีข้อตกลงที่จะร่วมมือกันในการผลักดันให้เกิดมาตรฐานขั้นต่ำในการคุ้มครองผู้บริโภคของกิจการโทรคมนาคม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 101 ความรับผิดชอบแบบนี้มีมั้ย

บทบรรณาธิการโดยสารี อ๋องสมหวังsaree@consumerthai.org ใครเป็นแฟนพันธุ์แท้ฉลาดซื้อคงจำได้ว่าเคยเล่าให้ฟังถึงสาเหตุการไม่ขายอาหารดัดแปรพันธุกรรม(จีเอ็มโอ) ในประเทศอังกฤษ เนื่องมาจากผู้บริโภคที่ตั้งคำถามกับผู้จัดการของห้างมาร์ค แอนสเป็นเซอร์ว่า ทำไมห้างของคุณยังมีการจำหน่ายอาหารจีเอ็มโอทั้งๆ ที่ยังมีข้อถกเถียงเรื่องความปลอดภัย ผู้จัดการกล่าวขอบคุณผู้บริโภค หลังจากนั้นไม่นานห้างดังแห่งนี้ก็ประกาศนโยบายไม่ขายอาหารจีเอ็มโอในห้างสรรพสินค้าของตนเองเล่าเรื่องนี้ให้ใครฟังก็มักจะบอกว่า จริงหรือเปล่า กุเรื่องขึ้นมาเพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับห้างของตนเองหรือไม่ คนเล่าก็ได้แต่บอกเพียงว่า ก็ฟังเพื่อนจากองค์กรผู้บริโภคเล่าให้ฟังอีกที แต่ที่กำลังจะเล่าต่อไปนี้ได้มีโอกาสไป “เห็นมากับตา” และเกิดขึ้นกับตนเองไปถึงลอนดอนตอนเช้า ประมาณ 11 โมงหิวเล็กน้อยก็เกิดความคิดรวบมื้อเช้ากับมื้อกลางวันเข้าด้วยกันด้วยความประหยัด เดินหาร้านอาหารผ่านไปหลายร้านก็ยังไม่เปิดขายจนกว่าจะถึงเที่ยงตรง เลยตัดสินใจหยุดกินน้ำที่ร้านกรีนแอนส์บีน(Green & Bean) ซึ่งเป็นร้านอาหารเล็กๆ แถวสถานีรถไฟยูสตัน แต่เมื่อเข้าไปนั่งในร้านก็พบว่า เขาขายอาหารมังสวิรัติด้วย ซึ่งเปิดมาได้ซักประมาณ 4 ปี แล้ว เป็นร้านที่ราคาอาหารปานกลางไม่แพงมากนัก บุฟเฟ่ต์อาหารกลางวันตกราคาประมาณ 6.50 ปอนด์ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 350 บาท ระหว่างที่รอเวลาอาหารกลางวันด้วยการสั่งน้ำปั่นกินฆ่าเวลาก็ฉวยโอกาสสำรวจร้านอาหารพบว่า มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตระกูลถั่วขาย ที่น่าสนใจข้างกระป๋องของอาหารเสริมนี้ เขียนว่า “ GMO test Free” แต่เมื่ออ่านฉลากก็พบว่า อาหารเสริมชนิดนี้ทำจากถั่วจีเอ็มโอ เลยได้โอกาสบอกเจ้าของร้านว่า สินค้านี้ไม่ตรงไปตรงมา เพราะทำให้เราเข้าใจผิด คิดว่าไม่มีจีเอ็มโอ แต่จริงๆ วัตถุดิบมาจากจีเอ็มโอ แต่ตรวจจีเอ็มโอไม่เจอต่างหาก เจ้าของร้านขอบคุณและเก็บสินค้านั้นทันทีที่คุยกับเรา แถมโทรศัพท์ไปบอกคนจำหน่ายสินค้าว่าอาหารเสริมชนิดนี้ใช้ไม่ได้เพราะทำมาจากถั่วที่เป็นจีเอ็มโอ ความผิดพลาด ความบกพร่องเป็นเรื่องปกติ แต่ความรับผิดชอบแบบนี้ในร้านค้าบ้านเรามีมั้ย เจอของจริงเข้ากับตัวเองก็เป็นปลื้มไปนาน คุยทั้งที่อังกฤษ กลับมาเมืองไทยคุยกับทุกคน ยังไม่พอต้องเขียนมาคุยให้กับผู้อ่านทุกคนได้รับรู้เรื่องนี้และผลักดันเรื่องนี้ร่วมกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 99 สมาคมผู้ประกันตน ใครสนใจยกมือขึ้น

บทบรรณาธิการ โดย สารี อ๋องสมหวัง ถึงแม้ว่ารัฐบาลนี้จะทำให้ผู้ประกันตนประมาณ 10 ล้านคนได้ประโยชน์อย่างน้อยก็สองเรื่องที่สำคัญ เรื่องแรกที่ดำเนินการไปแล้ว เป็นมาตรการจ่ายเงิน 2,000 บาทให้กับผู้ประกันตนที่มีรายได้น้อยกว่า 15,000 บาท และที่เพิ่งจะมีผลเร็วๆ นี้ ก็ดูจะเป็นการลดการจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตนซึ่งทำให้เป็นที่ชอบอกชอบใจของผู้ประกันตนไม่น้อย แต่สิ่งที่ผู้ประกันตนส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้รับรู้หรือมั่นใจก็คือว่า เงินของตนเองที่สมทบหรือจ่ายเข้าไปในแต่เดือนสูงสุดประมาณ 750 บาทหรือปีละประมาณ 9,000 บาทถูกนำไปใช้ประโยชน์เพื่อผู้ประกันตนอย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน อย่างไร ยกตัวอย่างที่เพิ่งจะถูกวิจารณ์และยังไม่เป็นข่าวให้ได้รับรู้กันมากก็คือ การเพิ่มเงินค่าหัว (Capitation) ให้กับโรงพยาบาลที่ทำสัญญากับสำนักงานประกันสังคม โดยไม่มีเงื่อนไขให้โรงพยาบาลเหล่านั้นปรับปรุงเรื่องคุณภาพบริการ หรือมีสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ที่ต้องพูดถึงเรื่องนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะมูลนิธิ ฯ ได้รับข้อมูลคุณภาพของผู้ประกันตนที่ไปรับบริการโรงพยาบาลแล้วมีปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ เช่น เดือนที่แล้วก็ได้รับทราบสาเหตุการตายของคุณพ่อของน้องซึ่งเป็นอาสาสมัครของมูลนิธิฯ เนื่องจากใช้สิทธิประกันสังคมแล้วไม่ได้รับการดูแลในภาวะวิกฤตที่ดีพอ จนเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในที่สุด ครอบครัวผู้ตายมีความพยายามที่จะให้สำนักงานประกันสังคมเจรจาให้โรงพยาบาลรับผิดชอบ และหาทางปรับปรุงคุณภาพโรงพยาบาล แต่ความรับผิดชอบของโรงพยาบาลที่สำนักงานประกันสังคม บอกเพียงแต่ว่า โรงพยาบาลจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลที่ถูกส่งต่อรับการรักษา วิเคราะห์ไปถึงกลไกในการควบคุมคุณภาพของโรงพยาบาลในระบบประกันสังคม ผ่านคณะกรรมการแพทย์ ซึ่งทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน และวินิจฉัยคำร้องเรียนของผู้บริโภค และเสนอให้มีการดำเนินการกับโรงพยาบาล และหากมองไปถึงกลไกในระดับนโยบายหรือคณะกรรมการประกันสังคมที่ใช้ระบบไตรภาคีก็ไม่รู้จะมีความหวังได้มากน้อยแค่ไหน เพราะเพียงแค่สิทธิประโยชน์คนไข้ไตวายเรื้อรังยังมีปัญหาลุ่ม ๆ ดอน ๆ กลุ่มคนแรงงานนอกระบบที่ทำงานตามบ้าน ต้องการให้สำนักงานประกันสังคมคุ้มครองสิทธิประโยชน์อื่นที่นอกเหนือจากสุขภาพ มาหลายสิบปียังไม่มีความคืบหน้า เพราะเจ้าหน้าที่ประกันสังคมไม่เคยคิดว่าที่เขาอยู่ดีมีสุข เงินเดือนได้ขึ้นทุกปีถึงแม้ประเทศจะมีวิกฤตเศรษฐกิจ เพราะเงินของคนเล็กคนน้อยที่ทำให้สำนักงานอยู่ได้มาอย่างต่อเนื่อง ทางออกของเรื่องนี้ คงไม่ได้มีทางเดียว แต่เรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ ความร่วมมือในกลุ่มผู้ประกันตน ทวงสิทธิของตนเองมากขึ้น เพื่อให้ระบบมีการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้างให้ตอบสนองต่อผู้ประกันตนเพิ่มขึ้น ฉบับหน้าวารสารฉลาดซื้อขึ้นฉบับที่ 100 สมาชิกและผู้อ่านท่านใดมีคำแนะนำที่อยากให้มีการปรับปรุงหรือพัฒนาก็อยากให้แนะนำกันเข้ามาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการและความจำเป็นของสมาชิกเพิ่มขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 98 โอกาสแห่งความสุขที่หาได้ยาก

บทบรรณาธิการ โดย สารี อ๋องสมหวัง saree@consumerthai.org เดือนเมษายน เป็นเดือนที่มีความสำคัญของคนทำงานคุ้มครองผู้บริโภค เพราะวันที่ 30 เมษายนของทุกปี ถือเป็นวันคุ้มครองผู้บริโภคไทย ถึงแม้ปีนี้เราอาจจะไม่ค่อยมีบรรยากาศของการเฉลิมฉลองกันมากนักไม่ว่าจะทั้งสงกรานต์ที่ผ่านมา หรือวันคุ้มครองผู้บริโภค ด้วยเหตุความขัดแย้งและวิกฤติทางการเมือง รวมทั้งการจลาจลที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครและหลายหัวเมืองเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา  ปีนี้ต้องนับว่ามีความก้าวหน้าของเรื่องคุ้มครองผู้บริโภคในหลายประเด็น ไม่ว่าจะมีการบังคับใช้กฎหมายที่เอื้ออำนวยกับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคมากขึ้น เช่น พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค และพระราชบัญญัติความรับผิดต่อสินค้าที่ไม่ปลอดภัยซึ่งเพิ่งจะมีผลใช้บังคับไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และที่นับว่าเป็นความสำเร็จของผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคก็คงจะเป็นการยื่นรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 12,208 รายชื่อ ต่อนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาในการเสนอกฎหมายองค์การอิสระผู้บริโภคไปเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเช่นกัน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีโอกาสจัดงานเปิดบ้านใหม่เพื่อผู้บริโภคบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิที่หลายคนเรียกว่า อนุสาวรีย์กลางสมรภูมิ และในงานเดียวกันนี้ก็ได้ประกาศรายชื่อสินค้าและโฆษณายอดเยี่ยม ยอดแย่ ใครได้รับการลงคะแนนจากผู้บริโภคในครั้งนี้บ้าง น่าจะได้ทราบข่าวกันไปแล้ว บรรยากาศในงาน มีท่านอดีตนายกอานันท์ ปันยารชุน ให้เกียรติมาเป็นประธานในงาน อาจารย์ พี่ ๆ น้อง ๆ กัลยานมิตร เพื่อนสื่อมวลชน และเครือข่ายผู้บริโภคจากหลายจังหวัด แต่ประเด็นสุดท้ายในงาน ทุกคนต้องการคุยเรื่องเดียวกันว่า เราจะช่วยกันหาคำตอบจากการเมืองแบ่งสี เมื่อสังคมขาดความเชื่อถือต่อการเมืองในระบบ วิกฤตการเมืองครั้งนี้รอวันประทุจากทั้งความเชื่อที่แตกต่าง พื้นฐานความไม่เป็นธรรมทางสังคม การคอรัปชั่น นักการเมืองที่ฉ้อฉล ได้อย่างไร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 ทรัพย์สิน “หนึ่งแสนแปดหมื่นล้านบาท” เป็นของใคร

บทบรรณาธิการ โดย สารี อ๋องสมหวัง saree@consumerthai.org จากกรณีการฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดในการแปลงสภาพ ปตท. ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวก รวม ๕ คน ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๐ ให้แบ่งแยกทรัพย์สินของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ในส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมและอำนาจมหาชนของรัฐ จากปตท. คืนให้แก่รัฐนั้น ณ. วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๑ บริษัท ปตท. ได้แบ่งแยกทรัพย์สินคืนให้แก่แผ่นดิน มูลค่ารวมทั้งสิ้น ๑๖,๑๗๖.๒๒ ล้านบาท ประกอบด้วยที่ดินเวนคืน ๑.๔๒ ล้านบาท สิทธิการใช้ที่ดิน ๑,๑๒๔.๑๑ ล้านบาทและระบบท่อก๊าซธรรมชาติในที่ดินเวนคืนและที่ดินรอนสิทธิ ๓ โครงการอีก ๑๕,๐๕๐.๖๙ ล้านบาท ซึ่งการโอนคืนทรัพย์สินของปตท.จำนวนดังกล่าวไม่สอดคล้องกับการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) และได้แจ้งให้กับสำนักงานเลขาธิการศาลปกครองสูงสุด เลขาธิการคณะรัฐมนตรี บริษัทปตท. ว่า ยังต้องคืนทรัพย์สินเพิ่มเติมอีก ๓๒,๖๑๓ ล้านบาท โดยทั้งหมดเป็นทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยก่อนที่จะมีแปรรูปมาเป็นบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๔ จากการตรวจสอบเพิ่มเติมขององค์กรผู้บริโภค พบว่า ทรัพย์สินที่เกิดขึ้นหลังจากการแปรรูปบริษัทปตท.ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๔ นั้น ไม่มีการโอนคืนแต่อย่างใดซึ่งมีมูลค่าสูงถึง ๑๕๗,๑๐๒ ล้านบาท หากรวมทรัพย์สินทั้งสองกลุ่มนับว่าไม่น้อยกว่า ๑๘๙,๑๗๕ ล้านบาท ซึ่งทรัพย์สินเหล่านี้ต่างใช้อำนาจมหาชน การรอนสิทธิ การเวนคืน การใช้ที่ดินราชการ การใช้ที่สาธารณะ ซึ่งบริษัทปตท. จะต้องคืนให้แก่รัฐตามคำพิพากษาของศาลเช่นกัน นอกจากไม่มีใครสนใจทวงคืน นับตั้งแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ดูเหมือนจะร่วมมือกันไม่ปฏิบัติหน้าที่กันถ้วนหน้า จะให้ปตท.แจ้งคืนก็ดูจะผิดธรรมชาติ เพราะที่ผ่านมาทวงแล้วก็ยังคืนไม่ครบถ้วน แต่ที่น่าเจ็บใจบริษัทปตท. ได้เสนอขอคิดค่าผ่านท่อก๊าซเพิ่มเติมอีกทั้ง ๆที่อัตราที่เรียกเก็บอยู่ในปัจจุบันก็เป็นอัตราที่สูงเกินควรและเป็นภาระค่าไฟฟ้ากับประชาชนถึง ๓,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี กำลังจะนำท่อส่งก๊าซธรรมชาติเหล่านี้ ซึ่งไม่ใช่ทรัพย์สินของตนเองขึ้นค่าบริการผ่านท่อส่งก๊าซธรรมชาติ โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ทำหน้าที่เป็นตรายางชั้นดีให้ปตท. ขูดรีดผู้บริโภค ได้มีมติอนุมัติให้ปรับเพิ่มขึ้นจาก ๑๙.๗๔ บาทต่อล้านบีทียู เป็น ๒๑.๗๖ บาทต่อล้านบีทียู หรือปรับเพิ่มขึ้น ๒.๐๒ บาทต่อล้านบีทียู ส่งผลให้ประชาชนตาดำผู้ใช้ไฟต้องรับภาระค่าไฟฟ้า สูงถึง ๔,๕๐๐ ล้านบาทต่อปี ใครมีข้อเสนอดี ๆ ว่าเราจะสามารถนำทรัพย์สินของบริษัทปตท.คืนให้ครบ และคัดค้านการนำทรัพย์สินของเหล่านี้มาใช้ประโยชน์เพื่อผู้ถือหุ้น เพราะที่ผ่านมาไปยื่นให้ศาลปกครองสูงสุดไต่สวน ท่านก็มีคำสั่งว่าประชาชนไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจบังคับคดี แถลงข่าวว่าปตท.คืนทรัพย์สินไม่ครบก็ไม่ค่อยเป็นข่าว ไปยื่นหนังสือกระทรวงพลังงานว่า ห้ามขึ้นค่าบริการใช้ท่อก๊าซกับ รัฐมนตรีปลัดกระทรวงพลัง และกกพ. ก็เงียบ “ ทำอย่างไรกันดีประเทศไทย”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 93 - รางวัลผลิตภัณฑ์ ยอดเยี่ยม ยอดแย่

บทบรรณาธิการ / รางวัลผลิตภัณฑ์ ยอดเยี่ยม ยอดแย่โดย สารี อ๋องสมหวัง ความพยายามของหลายกลุ่มที่ไม่ได้ฝักใฝ่ฝ่ายใดที่ชัดเจนในสังคมที่ต้องการเห็นความคืบหน้าของการแก้ปัญหาในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักวิชาการที่เสนอให้รัฐบาลยุบสภา หรือลาออก กลุ่มสมานฉันท์ที่ต้องการใช้การเจรจาเพื่อหาทางออก กลุ่มผู้ไม่เอาสงครามกลางเมืองที่ได้สะท้อนมูลเหตุสำคัญทางการเมืองที่รอวันปะทุของสงครามกลางเมือง ไม่ว่าจะเป็นเหตุแห่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเดินหน้าต่อสู้และไม่ยอมรับการตัดสินของศาลจากอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร คุณภาพ จริยธรรม ภาวะตกต่ำของนักการเมืองที่กลุ่มคนดูหมดความอดทน การเคลื่อนตัวของกลุ่มคัดค้านทั้งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตย สื่อสารมวลชนของรัฐที่ยังไม่ได้ทำหน้าที่ วิทยุชุมชน เอเอสทีวี ความไม่มีประสิทธิภาพของรัฐในการบริหารจัดการ ไม่มีการกำกับดูแล ไม่มีการบริหารจัดการ  ได้แต่มีความหวังว่าเมื่อหนังสือฉลาดซื้อถึงมือผู้อ่าน คงไม่มีใครบาดเจ็บล้มตายจากความขัดแย้งทางการเมืองในครั้งนี้อีก ฉลาดซื้อได้ริเริ่มโครงการให้ผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภค ร่วมตัดสินและโหวตให้คะแนนกับผลิตภัณฑ์ บริการ โฆษณา ยอดเยี่ยมและยอดแย่ หลักเกณฑ์ในการส่งรายชื่อก็ไม่ยุ่งยาก เพียงแต่ใครคิดว่าในรอบปีที่ผ่านมา (2551) ถูกบริษัทไหนละเมิดสิทธิมากที่สุด และบริษัทที่ดูดีที่สุดในสายตาของเราทั้งผลิตภัณฑ์และบริการ รวมทั้งโฆษณาชิ้นไหนที่ชื่นชอบและดูแย่ที่สุดในสายตาคุณ แต่มีเกณฑ์สำคัญต้องเป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่มีวางขายทั่วประเทศ และโฆษณาเฉพาะโทรทัศน์เท่านั้น หวังว่าสมาชิกจะช่วยกันส่งชื่อกันเข้ามาให้มากนะคะ ถึงแม้ ช่วงนี้ข่าวสารอื่นๆ ที่สำคัญมักจะถูกให้ความสำคัญน้อย ไม่จะเป็นปัญหาด้านสังคมหรือเศรษฐกิจ เพราะแม้แต่วิกฤตการเงินซึ่งเกิดขึ้นเกือบทั่วโลก ก็ไม่ค่อยจะรู้สึกว่าเป็นปัญหามากนักในประเทศไทย สืบเนื่องจากปัญหาการเมืองยึดครองพื้นที่สาธารณะเป็นเวลานาน หรือเป็นเพราะว่าคนส่วนใหญ่ก็คิดว่าหากทำอะไรช่วงนี้ก็คงจะไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญ ดังนั้นการใช้สิทธิโหวตครั้งนี้มีความหมาย เพราะการเป็นการลงคะแนนทางตรงให้กับผู้ประกอบการ เหมือนกับประชาธิปไตยที่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต และต้องมีความหวังกับการเมืองทางตรงของภาคประชาชนที่ต้องทำให้มีเพิ่มมากขึ้นท่ามกลางความอับจนของการเมืองตัวแทน แต่ต้องบอกว่าห้ามโหวตการเมืองยอดแย่กันเข้ามานะ(ฮา)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 184 ร้องเรียนเรื่องนมถั่วเหลืองบูดก่อนวันหมดอายุ

กลับมาแล้วจ้ะ  หลังจากหายหน้าไปนาน เล่มนี้เราจะมาเรียนรู้วิธีการพิทักษ์สิทธิของเราเอง  เมื่อเจอสินค้าเสื่อมคุณภาพ(สินค้าเน่าเสียก่อนวันหมดอายุ)   โดยต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม  ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับ กรณีนมถั่วเหลืองชนิดยูเอชที เน่าเสียก่อนวันหมดอายุ(ตามที่ระบุไว้ที่กล่อง)   เอาล่ะเราก็ต้องตรวจสอบไล่เรียงเรื่องราวกันก่อน ได้ความว่าผู้ร้องได้ซื้อนมถั่วเหลืองยี่ห้อหนึ่งจากร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน  เพื่อนำไปแจกในงานศพญาติ  ก่อนซื้อได้ตรวจดูวันผลิตและวันหมดอายุแล้ว(ผลิตวันที่ 25 กุมภาพันธ์.59 หมดอายุ 25 ธันวาคม 59) ผู้ร้องซื้อสินค้าตอนต้นเดือนมีนาคม ห่างจากวันผลิตไม่ถึง 10 วัน จริงๆ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่หลังจากแจกจ่ายนมไปแล้ว   ปรากฏว่าแขกในงานที่ได้รับแจกนมกล่องไป ได้โทรมาต่อว่าผู้ร้อง ว่าแจกนมบูดไปให้เขากิน  ผู้ร้องจึงได้ไปตรวจสอบนม ที่เหลืออยู่ปรากฏว่าบูดเสียจริงทั้งแพ็กที่ซื้อมาจึงได้มาร้องเรียนที่สมาคมฯ   จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่า เรื่องนี้ไม่สามารถไปเอาผิดกับร้านสะดวกซื้อได้ เพราะไม่ได้จำหน่ายสินค้าหมดอายุ  จึงต้องนำเรื่องไปร้องเรียนที่บริษัทผู้ผลิต ซึ่งเหตุการณ์นี้สันนิษฐานได้ว่าน่าจะเกิดจากความบกพร่องในกระบวนการผลิต    ทางสมาคมฯ จึงได้แนะนำกับผู้ร้องให้ปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้  1. ผู้ร้องต้องกลับไปซื้อนมร้านเดิม วันเดือนปี ผลิตเดียวกัน(ซึ่งพบว่ายังมีจำหน่ายอยู่) มาเปิดพิสูจน์อีกครั้งว่าเน่าเสียเหมือนกันหมดหรือไม่ 2. ถ้าพบว่านมนั้นเน่าเสีย  ให้นำนมนั้นไปเป็นหลักฐานในการแจ้งความลงบันทึกประจำวันกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อเป็นหลักฐาน ซึ่งผลคือพบนมเน่าเสียทั้งหมด (อันที่จริงถ้าไม่พบที่ร้านอีกก็สามารถนำนมที่เหลืออยู่กับผู้ร้องไปแจ้งความได้) ผู้ร้องจึงได้ไปแจ้งความลงบันทึกตามคำแนะนำของสมาคมฯ จากนั้นสมาคมฯ ได้รวบรวมเอกสารหลักฐาน พร้อมส่งหนังสือร้องเรียนไปที่บริษัทผู้ผลิตนมยี่ห้อนั้น  ซึ่งทางบริษัทผู้ผลิตแสดงความรับผิดชอบต่อสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานของตน และได้ทำหนังสือมาขอโทษและแจ้งว่าบริษัทฯ ได้ตรวจสอบนมล็อตที่ถูกร้องเรียน ซึ่งพบว่า มีปัญหาเน่าเสียจริง อันเป็นผลจากกระบวนการขนส่งบริษัท และทางบริษัทฯ ได้เรียกเก็บนมล็อตนั้นออกจากตลาดแล้วทั้งหมด   จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการเจราจาความเสียหายของผู้ร้องเรียน  บริษัทเสนอชดเชยด้วยนมจำนวน 4 ลัง และขอให้เรื่องจบ   สมาคมฯ เห็นว่าไม่ค่อยเป็นธรรมกับผู้บริโภค และแจ้งบริษัทว่ากรณีร้องเรียนนี้ ผู้ร้องมิได้เสียหายแค่ซื้อสินค้ามาบริโภคเอง แต่มีการแจกจ่ายไปให้ผู้ร่วมงานศพ ทำให้เพื่อนบ้านในวงกว้าง เข้าใจผิด ทำให้ผู้ร้องเสียหายจากการถูกกล่าวหาว่าซื้อของเน่าเสียมาแจก  ทำให้เกิดความเสียหายทางด้านจิตใจ สมาคมฯในฐานะคนกลางในการไกล่เกลี่ย ได้เสนอการเยียวยาความเสียหายของผู้ร้อง 2 ข้อดังนี้ คือหนึ่งให้บริษัทเยียวยาความเสียหายของผู้ร้องเป็นจำนวนเงิน  20,000  บาท  สองให้บริษัททำหนังสือขอโทษ และสัญญาว่าจะระมัดระวังผลิตสินค้าให้มีคุณภาพมาตรฐานทุกชิ้นก่อนถึงมือผู้บริโภค  จากนั้นมีการลงนาม 3 ฝ่าย (บริษัทผู้ผลิต สมาคมฯ ผู้รับเรื่องร้องทุกข์ ผู้ร้องเรียนในฐานะผู้เสียหาย) ในข้อตกลง และแต่ละฝ่ายเก็บข้อตกลงไว้คนละฉบับ ซึ่งทางบริษัทยินดีปฏิบัติตามข้อเสนอ      

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 184 ค่าโดยสาร คิดราคาตามใจชอบ

แม้ปัจจุบันวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จะมีป้ายใหญ่ๆ กำหนดอัตราค่าโดยสารให้ผู้ใช้บริการตัดสินใจก่อนเรียก แต่ก็เป็นไปได้ยาก ที่เราจะเลือกใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างเจ้าเดิม หรือวินเดิมทุกครั้ง ทำให้ผู้โดยสารมีโอกาสในการเรียกวินเถื่อน ที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งอาจเรียกเก็บอัตราค่าบริการตามใจชอบ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณปาริชาตเล่าว่า ปกติเธอใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นประจำ โดยจะเรียกจากหน้าบ้าน ไปปากซอย ระยะทางประมาณ 600 เมตร ซึ่งทุกครั้งจะเสียค่าบริการราคา 10 บาท แต่ครั้งนี้เสีย 15 บาท เมื่อสอบถามว่าทำไมวันนี้ราคาแพงกว่าเดิม ก็ได้รับคำตอบว่า “คันอื่นผมไม่รู้ แต่รถผมเก็บราคานี้” จึงทำให้เธอรู้สึกว่า แม้จะเป็นเงินจำนวนไม่มากนัก แต่มอเตอร์ไซค์คันดังกล่าวกำลังเอาเปรียบลูกค้า ซึ่งเขาอาจทำแบบนี้กับลูกค้ารายอื่นๆ อีกก็ได้ เธอจึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพราะอยากรู้ว่าเหตุการณ์เช่นนี้ สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างไรบ้าง แนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับกรณีนี้แม้ผู้ร้องจะจำชื่อวินที่แปะไว้หลังเสื้อของคนขี่ได้ แต่เมื่อศูนย์ฯ ส่งจดหมายไปกรมการขนส่งทางบกกลับพบว่า กรมฯ ไม่สามารถติดตามผู้ขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างคันดังกล่าวได้ เนื่องจากในซอยนั้นมีหลายวิน และมีมอเตอร์ไซค์ที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ผู้ร้องจำต้องยุติการร้องเรียน ด้วยเหตุผลข้างต้น ทางศูนย์ฯ จึงขอแนะนำให้ผู้ใช้บริการว่า ไม่ควรจำเฉพาะป้ายวินอย่างเดียว แต่ควรจำหมายเลขทะเบียนรถคันที่เราขึ้นไว้ เพราะสามารถบอกได้ว่าผู้ที่ขับขี่เป็นใคร นอกจากนี้หากเราพบว่าการเรียกเก็บค่าบริการไม่มีความเป็นธรรม สามารถโทรศัพท์ไปร้องเรียนโดยตรงได้ที่กรมการขนส่งทางบก เบอร์ 1584

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 184 แพ้ครีม ร้องเรียนได้หรือไม่

“อยากบอกว่าครีมนี้ใช้แล้วหน้าขาวใสขึ้นจริง ปลอดภัยแน่นอน” นี่เป็นตัวอย่างคำโฆษณาที่แสนจะคุ้นหู ตามช่องเคเบิลทีวีและสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่ามีผู้บริโภคหลายคนที่หลงเชื่อซื้อครีมดังกล่าวมาใช้ แล้วมาค้นพบความจริงภายหลังว่าครีมไม่ปลอดภัยอย่างที่คิด ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสุนีย์ตัดสินใจซื้อครีมยี่ห้อหนึ่ง ที่โฆษณาผ่านทางเคเบิลทีวีมาบำรุงให้ผิวหน้าขาวใส เพราะเห็นว่าคนที่มาแนะนำครีมดังกล่าวมีผิวหน้าดีจริง เธอจึงเชื่อว่าหากใช้บ้างหน้าจะเด้งและดูดีขึ้นเหมือนกัน อย่างไรก็ตามเมื่อเธอใช้ครีมดังกล่าวกลับว่า มีอาการแพ้ บวมแดงและแสบคัน เธอจึงติดต่อไปยังผู้จัดจำหน่าย ซึ่งรับผิดชอบด้วยการคืนเงินค่าครีมให้ แต่ไม่เยียวยาค่ารักษาอื่นๆ ที่เรียกร้องไป ทำให้เธอร้องเรียนมาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหาแม้ผู้ร้องต้องการให้ศูนย์ฯ ช่วยเหลือ โดยให้ตรวจสอบว่าครีมดังกล่าวผสมสารที่อันตรายต่อใบหน้าหรือไม่ แต่เมื่อศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องส่งหลักฐานมาให้เพิ่มเติมคือ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวพร้อมรายละเอียดการโฆษณาต่างๆ หลักฐานการซื้อขาย และใบรับรองแพทย์ ที่สามารถยืนยันได้ว่าอาการแพ้ที่เกิดขึ้น เกิดจากการใช้ครีมดังกล่าวจริง ผู้ร้องก็แจ้งว่าเธอส่งครีมดังกล่าวคืนไปให้บริษัทแล้ว นอกจากนี้ไม่ได้ไปพบแพทย์ เพื่อรักษาอาการแพ้ แต่ซื้อยามาทาเอง ดังนั้นเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ทางศูนย์ฯ จึงไม่สามารถช่วยผู้ร้องต่อได้ เนื่องจากขาดหลักฐานที่มากพอ ศูนย์ฯ จึงขอฝากเตือนผู้ที่ซื้อครีมไม่ว่ายี่ห้อใดมาใช้ว่า ควรเก็บหลักฐานสำคัญดังที่กล่าวไว้ข้างต้นไว้ก่อน และหากพบว่าใช้แล้วมีอาการแพ้ ควรไปพบแพทย์ เพื่อให้วินิจฉัยอาการ และขอใบรับรองแพทย์มาเป็นหลักฐานยืนยัน นอกจากนี้ควรทดสอบการแพ้เบื้องต้นด้วยตัวเองทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้หน้าเสียโฉม ด้วยการทาครีมทิ้งไว้ในส่วนที่บอบบางของร่างกายอย่าง ใต้ท้องแขน หรือหลังใบหู ประมาณ 24 ชม. ซึ่งหากพบว่ามีผื่นแดงขึ้นหรือคัน แสดงว่าเราแพ้ และไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์นั้นต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 184 ระวังถูกล้วงข้อมูลส่วนตัว

ใครจะไปคิดว่าการบอกข้อมูลส่วนตัวทั่วๆ ไปกับบริษัทประกันภัย จะสามารถสร้างปัญหาหนักใจให้เราภายหลังได้ และเราควรจัดการปัญหานั้นอย่างไร ลองมาดูตัวอย่างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้กันคุณสุชาติถูกชักชวนให้ทำประกันทางโทรศัพท์จากบริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ซึ่งภายหลังฟังข้อเสนอต่างๆ เขาก็ไม่มีความประสงค์ที่จะทำประกันดังกล่าว อย่างไรก็ตามก่อนวางสายพนักงานก็พยายามสอบถามข้อมูลส่วนตัวทั่วๆ ไป เช่น ชื่อ ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ และแน่นอนเขาได้บอกไปตามความจริงทุกอย่าง เนื่องจากไม่คิดว่าจะเกิดปัญหาอะไร แต่ภายหลังได้รับกรมธรรม์ประกันภัย จึงรู้ว่าตัวเองถูกหลอกให้ทำประกันไปซะแล้ว เมื่อโทรศัพท์กลับไปสอบถามที่บริษัทดังกล่าวก็ได้รับการชี้แจงว่า บริษัทไม่ได้ไม่ได้หลอกผู้ร้องแต่อย่างใด เพราะผู้ร้องเป็นคนบอกข้อมูลส่วนตัวให้ทำประกันเอง ซึ่งมีหลักฐานเป็นคลิปเสียงการสนทนาในครั้งนั้นอีกด้วย เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้เขาจึงมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องยกเลิกประกันภัยทางโทรศัพท์ โดยส่งหนังสือยกเลิกสัญญา พร้อมหนังสือปฏิเสธการชำระหนี้ไปยังบริษัทประกันภัย และธนาคารเพื่อไม่ให้มีการเรียกเก็บเงิน หรือตัดเงินผ่านบัตรเครดิต ซึ่งต้องส่งภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์ประกันภัย ทั้งนี้สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มของหนังสือยกเลิกสัญญาดังกล่าวได้ที่เว็บไซต์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค http://www.consumerthai.org หรือโทรศัพท์มาขอคำแนะนำได้ที่เบอร์ 02 - 2483737 (จันทร์ – ศุกร์, 09.00 – 17.00 น.)นอกจากนี้สำหรับใครที่ไม่อยากเกิดปัญหาสมัครประกันแบบไม่รู้ตัว สามารถทำได้โดยการปฏิเสธอย่างชัดเจน หรือในกรณีที่สนใจข้อเสนอของประกันภัยนั้นๆ เราควรขอกรมธรรม์มาศึกษาก่อน และหากไม่แน่ใจรายละเอียดยิบย่อย สามารถโทรศัพท์สอบถามที่สายด่วนประกันภัย คปภ. ที่เบอร์ 1186 ได้เลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 184 หน้าเป็นแผล เพราะเลเซอร์

แม้ปัจจุบันสถานบริการความงามต่างๆ จะมีบริการกำจัดไฝหรือขี้แมลงวันด้วยแสงเลเซอร์ ซึ่งมักโฆษณาว่าเป็นวิธีที่สะดวก เห็นผลชัดเจนและราคาไม่สูงมากนัก แต่เราสามารถมั่นใจในความปลอดภัยได้จริงหรือ เหตุการณ์ไม่คาดฝันนี้เกิดขึ้นกับคุณดวงใจ เธอตกลงใช้บริการเลเซอร์ลบขี้แมลงวันบนใบหน้า ที่คลินิกแห่งหนึ่งในห้างสรรพสินค้าชั้นนำโดยคิดราคาเป็นคอร์สละ 16,500 บาท อย่างไรก็ตามระหว่างที่กำลังใช้บริการ เธอได้ยินพนักงานคุยกันว่า “เลเซอร์เครื่องนี้ไม่ดีเลย ไม่ยอมโฟกัสจุดบนผิวหน้า” ซึ่งเธอก็คิดว่าพนักงานจะหยุดใช้เครื่องดังกล่าว แต่เธอคิดผิด เพราะพนักงานยังคงใช้เครื่องเลเซอร์นั้นบริการเธอต่อไป ซึ่งภายหลังการยิงเลเซอร์ เธอก็รู้สึกร้อนผ่าวไปทั่วหน้า และพบว่ามีรอยแผลเป็นจุดแดงๆ ที่ทราบภายหลังว่า ไม่สามารถหายเองได้ เธอจึงร้องเรียนไปยังคลินิก เพื่อให้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่กลับได้รับคำตอบว่าให้มารักษากับทางคลินิก ซึ่งเธอไม่ยินดีกับข้อเสนอดังกล่าว เพราะไม่มั่นใจในมาตรฐานความปลอดภัยของคลินิกดังกล่าวอีกต่อไป ดังนั้นเธอจึงไปรักษาต่อที่สถาบันด้านผิวหนังด้วยตนเอง ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเงินกว่า 2 หมื่นบาท นอกจากนี้ยังต้องเลื่อนงานแต่งงานของตัวเองออกไปอีกด้วย แนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับกรณีนี้ผู้ร้องมีหลักฐานเป็นใบรับรองแพทย์ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้น มาจากการเข้ารับบริการเลเซอร์ขี้แมลงวันบนใบหน้า ซึ่งถือเป็นความประมาทเลินเล่อของแพทย์จากคลินิกดังกล่าว โดยทำให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายและจิตใจ ทั้งยังเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการรักษาแผลบนใบหน้า ที่เกิดจากความผิดพลาดในการรักษาอีกด้วย ศูนย์ฯ จึงส่งหนังสือเชิญให้ทั้ง 2 ฝ่ายมาเจรจา โดยผู้ร้องได้เสนอให้ทางคลินิกช่วยเยียวยาความเสียหาย ซึ่งภายหลังคลินิกก็ยินยอมช่วยเหลือผู้ร้อง ด้วยการคืนเงินค่าคอร์ส พร้อมชดเชยค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นจริง ค่ารักษาพยาบาลในอนาคต ค่าเสียเวลา และค่าทำขวัญ รวมเป็นเงิน 100,000 บาท ด้านผู้ร้องก็ยินดีรับข้อเสนอดังกล่าว และยุติการร้องเรียนไป  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 183 สคบ. เผยปี58 ยอดร้องเรียนศัลยกรรมความงามพุ่ง 100%

นพ.จักรพงษ์ ชุณหเสวี คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้บริการเสริมความงาม สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า นับตั้งแต่วันที่1 ม.ค. - 19 ต.ค. 2558  มีผู้มาร้องเรียนกรณีได้รับความเสียหายจากการใช้บริการสถานเสริมความงาม และศัลยกรรมความงามกับสคบ. จำนวน355 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่มีการร้องเรียน158 ราย โดยเมื่อนำมาวิเคราะห์พบว่าสามารถแบ่งประเภทความเสียหายจากคลินิกศัลยกรรม เสริมความงาม จำนวน81ราย ประเด็นการร้องเรียน คือจมูกเบี้ยว เอียง อักเสบ รูจมูกไม่เท่ากัน จมูกยุบ ซิลิโคนไม่ได้มาตรฐาน ทำตาสองชั้นผิดรูป หนังตาปิด ทำเต้านมไม่ได้ขนาดตามสัญญา เต้านมเอียง ไม่เป็นธรรมชาติ อักเสบ ปัญหาการดูดไขมัน เป็นต้นนพ.จักรพงษ์ กล่าวอีกว่า ประเด็นการร้องเรียนในสถานบริการเสริมความงามที่เป็นคลินิก และสปา ที่ไม่ใช่คลินิกศัลยกรรม 433 ราย ประเด็นที่ร้องเรียนคือ เกิดอาการแพ้ ผื่นแดง ผิวไหม้ ผิวหนังอักเสบ เป็นฝ้า กระ เพิ่มขึ้นหลังรับบริการยิงเลเซอร์ ทั้งนี้ หลังจากพิจารณาไกล่เกลี่ยพบปัญหาว่า เกิดจากพนักงานที่ให้บริการไม่มีความชำนาญ ผู้ประกอบกิจการไม่มีแพทย์ หรือ แพทย์เฉพาะทางอยู่ประจำ ให้บริการโดยตรงหรือแพทย์ให้คำปรึกษาเพียงสัปดาห์ละ1วัน เมื่อเกิดปัญหาพนักงานไม่สามารถแก้ปัญหาได้ การบริการไม่ตรงตามที่ตกลงกับพนักงาน เช่น จำนวนครั้ง หรือ ลักษณะคอร์สที่ใช้บริการ การทำหัตถการบางอย่างไม่ได้ทำกับแพทย์อย่างการทำเลเซอร์ สถานบริการปิดกิจการ และผู้ใช้บริการไม่สามารถยกเลิก หรือ ขอค่าสมัครคืนได้ เป็นต้น ทั้งนี้ สคบ.ได้ตักเตือน และให้มีการแก้ไขปรับปรุงให้มีคุณภาพตามที่กำหนด “เห็นได้ว่าปัญหาที่น่ากังวล คือ การเข้าไปใช้บริการคลินิกที่ไม่ใช่แพทย์จริงๆ หรือ เป็นแพทย์ที่แอบอ้างว่าเป็นแพทย์เฉพาะทางด้านนั้นๆ ซึ่งความจริงแล้วยังไม่ได้รับการรับรองจากแพทยสภา ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยในการใช้บริการสถานบริการเสริมความงาม ผู้ใช้บริการสามารถ ตรวจสอบรายชื่อแพทย์ ที่ได้รับการรับรองจากแพทยสภา ที่ http://tmc.or.th/check_md โดยกรอกชื่อนามสกุล และค้นหากก็จะทำให้ทราบว่าเป็นแพทย์จริงหรือไม่ เชี่ยวชาญตามที่ระบุไว้หรือไม่” นพ.จักรพงษ์ กล่าวที่มา : http://www.bangkokbiznews.com/mobile/view/news/676725  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 183 ค่าทำ(ตา)ไม่กี่บาท แต่ค่ารักษาเป็นแสน

การมีดวงตาที่สวยงามเป็นความฝันของใครหลายคน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการมีตาสองชั้น ทำให้การทำศัลยกรรมตาสองชั้นได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเราจะพบว่าการแพทย์ในปัจจุบันสามารถทำให้การศัลยกรรมดังกล่าว มีความปลอดภัย ไม่ยุ่งยากและราคาไม่แพงเท่าไรนัก อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกคนที่ทำศัลยกรรมแล้วจะสวยสมใจหรือปลอดภัยเสมอไป ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณธมลเข้ารับการผ่าตัดศัลยกรรมตาสองชั้นที่คลินิกย่านรามคำแหง โดยตกลงราคาค่าทำศัลยกรรมที่ 12,000 บาท ภายหลังทำเสร็จเรียบร้อยเธอก็เชื่อว่า อาการบวมหรือรอยช้ำต่างๆ น่าจะหายไปภายใน 2 - 3 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามเหตุการณ์กลับไม่เป็นไปตามที่เธอคิด หลังจากเวลาผ่านไป 2 เดือน ตาข้างขวาของเธอมีอาการปวดแสบ เหมือนมีอะไรบาดตาเวลากะพริบตา รู้สึกระคายเคือง มีน้ำตาไหลตลอดเวลา และบางครั้งถึงขั้นลืมตาไม่ขึ้น สู้แสงไม่ได้ในเวลากลางวัน เธอจึงไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่ากระจกตาดำของเธอเป็นแผล มีแคลเซียมที่เปลือกตาและต้องรักษาด้วยการขูดออกอย่างไรก็ตามแม้จะรักษาหลายครั้ง แต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น จนในที่สุดเมื่อผ่านไปประมาณ 7 เดือนนับจากวันที่ทำศัลยกรรมตาสองชั้น เธอก็ยังคงเข้ารับการรักษาดวงตาเช่นเดิม เพียงแต่พบข่าวใหม่ที่ไม่น่ายินดีว่า อาการเจ็บตาของเธอนั้นมีสาเหตุมาจาก ไหมที่ค้างอยู่ในเปลือกตาตั้งแต่ตอนทำศัลยกรรมตาสองชั้นนั่นเอง! แม้แพทย์จะผ่าตัดไหมดังกล่าวออกให้แล้ว แต่อาการระคายเคืองต่างๆ ก็ยังไม่หายเป็นปกติ ทำให้เธอยังคงต้องไปพบแพทย์อยู่เสมอ เธอจึงกลับไปร้องเรียนคลินิกเดิมที่เคยทำศัลยกรรมตาสองชั้นให้ ซึ่งได้รับการตอบกลับมาว่า อาการที่เกิดขึ้นกับเธอ ไม่เกี่ยวกับการทำศัลยกรรมตาสองชั้น เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้เธอจึงมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ เพราะเชื่อว่าสาเหตุดังกล่าวมาจากความไม่รอบคอบของแพทย์ที่ทำศัลยกรรมตาสองชั้นให้เธอแนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้แม้ผู้ร้องจะเสียเงินค่าทำศัลยกรรมตาสองชั้นในราคาที่ไม่แพงเท่าไรนัก แต่เธอได้แจงรายละเอียดค่ารักษา เพื่อให้ดวงตากลับมาดีเหมือนเดิมว่า เป็นจำนวนเงินมากกว่า 1 แสนบาทแล้ว นอกจากนี้ยังต้องเสียบุคลิกภาพ เพราะต้องก้มหน้าตลอดเวลา เนื่องจากดวงตาไม่ค่อยสู้แสงอีกด้วย ซึ่งภายหลังทางศูนย์พิทักษ์สิทธิได้รับเรื่องร้องเรียน ก็ได้ทำหนังสือเชิญแพทย์ดังกล่าวมาเจรจา ซึ่งผลจะอย่างไรทางศูนย์ฯ จะคอยติดตามเรื่องต่อไปทั้งนี้ข้อแนะนำเบื้องต้นสำหรับผู้ที่อยากทำศัลยกรรมไม่ว่าจะเป็นประเภทใดๆ ก็ตาม คือ การเลือกศัลยแพทย์ที่ได้การรับรอง โดยให้สังเกตง่ายๆ จากใบประกอบโรคศิลป์ที่มักจะติดไว้ในคลินิก และดูว่าชื่อแพทย์ที่ได้รับการรับรองนั้น ตรงกับคนที่มาทำศัลยกรรมให้เราหรือเปล่า รวมถึงเลือกวิธีการศัลยกรรมให้ปลอดภัย โดยคำนึงจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเราด้วยตรวจสอบรายชื่อศัลยกรรมตกแต่ง สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย    http://www.plasticsurgery.or.th/lst.php

อ่านเพิ่มเติม >