ฉบับที่ 174 “โปรดระวังเอกสารสำคัญของตัวเอง”

“นักศึกษาช้ำกลายเป็นผู้ค้ำประกันแบบไม่รู้เรื่อง แถมยังโดนทวงหนี้กว่า 150 ล้าน!!”นี่ไม่ใช่เรื่องระหว่างนักธุรกิจร้อยล้านคุยกัน แต่เป็นเรื่องระหว่างผู้ร้องที่เป็นนักศึกษาอายุ 20 ปีกับบริษัทประกันภัยชื่อดังอย่าง บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อผู้ร้องได้รับจดหมายขอให้ชำระหนี้ ของสำนักงานกฎหมายที่อ้างว่าทวงถามหนี้ให้กับบริษัทประกันภัยดังกล่าว เหตุเพราะต้องรับผิดชอบในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันให้กับตัวแทนขายประกันของบริษัทเนื้อหาในจดหมายอ้างว่าตัวแทนคนหนึ่งของบริษัทฯ ได้ชักชวนให้คนทำประกันภัย โดยเสนอผลตอบแทนสูงกว่าเงื่อนไขในกรมธรรม์ เป็นเหตุให้ผู้เอาประกันภัยจำนวนมากหลงเชื่อและตกลงทำประกันชีวิต อย่างไรก็ตามต่อมาผู้เอาประกันภัยเหล่านั้นได้ขอยกเลิกกรมธรรม์ ทำให้บริษัทฯ ต้องคืนเงินเบี้ยประกันให้กับผู้เอาประกันภัย และสูญเสียประโยชน์ที่ควรจะได้รับจากการนำเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตนั้นไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล นอกจากนี้ยังมีการจ่ายเงินค่าบำเหน็จ และผลประโยชน์อื่นๆ ที่ให้ตัวแทนดังกล่าวไปแล้ว รวมมูลค่าความเสียหายทั้งหมดเป็นจำนวนเงิน 159,924,536.12 บาท (หนึ่งร้อยห้าสิบเก้าล้านเก้าแสนสองหมื่นสี่พันห้าร้อยสามสิบหกบาทสิบสองสตางค์) ดังนั้นเพื่อเป็นการชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น บริษัทฯ จึงขอให้ผู้ร้องในฐานะที่เป็นผู้ค้ำประกันและตัวแทนดังกล่าว ร่วมกันชำระเงินที่บริษัทได้สูญเสียไปทั้งหมดข้างต้น พร้อมอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 นับตั้งแต่วันที่บริษัทฯ คืนเบี้ย!! แน่นอนว่าเงินจำนวนมากที่บริษัทเสียหายไปเทียบไม่ได้กับความตกใจของผู้ร้อง เพราะเขาไม่เคยรู้จักกับบุคคลตามสัญญาค้ำประกัน และไม่เคยเซ็นเอกสารหรือสัญญาใดๆ กับทางบริษัทฯ มากไปกว่านั้นด้วยวัยเพียง 20 ปีจะเป็นผู้ค้ำประกันให้กับตัวแทนดังกล่าวได้อย่างไร ซ้ำยังต้องมาโดนทวงนี้กว่า 150 ล้านทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้ก่อขึ้นอีก (แค่คิดก็ขนลุกแล้ว)แนวทางการแก้ไขปัญหาหลังจากผู้ร้องได้แจ้งเรื่องมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงได้แนะนำให้ไปแจ้งความบันทึกประจำวันไว้ก่อน จากนั้นก็ให้ทำหนังสือถึงบริษัท อลิอันซ์ อยุธยา เพื่อขอหนังสือสัญญาดังกล่าวมาให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งพบว่า สัญญาการค้ำประกันฉบับนั้นมีการปลอมแปลงเอกสารทุกจุดได้อย่างน่าตกใจ ไม่ว่าจะเป็นลายเซ็นของผู้ร้องหรือแม้กระทั่งลายนิ้วมือ ทางศูนย์ฯ จึงให้ผู้ร้องไปแจ้งความอีกครั้ง แต่เป็นการร้องทุกข์กล่าวโทษเรื่องการปลอมแปลงเอกสาร โดยระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนการพิสูจน์หลักฐานของตำรวจ สิ่งน่ากลัวสำหรับผู้บริโภคอย่างเราทุกคนก็คือ เอกสารสำคัญของเราสามารถถูกปลอมแปลงได้ตั้งแต่ต้นทาง และสามารถทำให้เรากลายเป็นหนี้จำนวนมากมายมหาศาลได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันปัญหา สิ่งที่เราควรทำนอกเหนือไปจากการระมัดระวังไม่ให้เอกสารสำคัญเหล่านั้นสูญหายแล้วก็คือ ในทุกครั้งที่มีการทำสัญญาใดๆ ควรเขียนหรือเซ็นกำกับไว้ว่าเอกสารนั้นใช้สำหรับทำอะไร หรือแสดงความประสงค์แบบเฉพาะเจาะจงทุกครั้ง เพื่อไม่ให้เอกสารของเราถูกนำไปใช้ต่อโดยผู้ไม่ประสงค์ดีนั่นเอง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 สัญญาต้องเป็นสัญญา”’

 สิ่งที่น่าปวดใจ เมื่อเราได้ตกลงทำนิติกรรมสัญญาใดๆ ไว้คือการที่อีกฝ่ายไม่ทำตามสัญญา ซึ่งจะนำมาสู่ความสูญเสียต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสียเงินสำหรับการฟ้องร้องคดีหากไม่สามารถไกล่เกลี่ยกันได้ หรือเสียเวลาหากคดีนั้นต้องใช้เวลานานกว่าจะได้ความเป็นธรรมกับผู้เสียหาย หรืออาจจะเสียใจหากคดีของเราถูกตีกลับมาพิจารณาใหม่เพราะฟ้องร้องคดีผิดประเภท!! ดังเช่นกรณีที่เกิดขึ้นต่อไปนี้สิ่งที่ผู้ร้องต้องการ เป็นเพียงการเช่าพื้นที่ขายของในโครงการ ตลาดน้ำสวนทวดจีบ กับบริษัท วัชรธร ที่ตั้งอยู่บริเวณถนนรังสิต-นครนายก ตำบลบึงยี่โถ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี  โดยผู้ร้องทั้ง 15 คนได้จ่ายเงินไปแล้วรวมกันมูลค่ากว่า 3 ล้านบาท ซึ่งทางบริษัทฯ ก็ได้มีกำหนดว่าจะส่งมอบพื้นที่ให้ผู้เช่าตั้งแต่เมื่อปลายปี 2554 อย่างไรก็ตามเมื่อถึงกำหนดเวลาก็ไม่มีการดำเนินงานแต่อย่างใดสิ่งที่บริษัทฯ ทำ มีเพียงการแจ้งขอเลื่อนส่งมอบพื้นที่ไปเป็นปลายปี 2555 และกำหนดใหม่ว่าโครงการจะเปิดต้นปี 2556 แน่นอนว่าการเลื่อนระยะเวลาการเปิดตลาดออกไปเรื่อยๆ ย่อมทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย เพราะเงินที่เสียไปแล้วไม่สามารถสร้างประโยชน์อะไรได้เลย อีกทั้งการที่บริษัทฯ มาแจ้งใหม่ว่าจะเปิดโครงการในต้นปี 2556 ทำให้ผู้ร้องเกิดความรู้สึกไม่เชื่อถือ เพราะเห็นว่าเป็นกำหนดการที่ไม่มีความชัดเจน ดังนั้นผู้ร้องจึงต้องการยกเลิกสัญญาและขอเงินคืน อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ก็ได้ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว ผู้ร้องจึงรวมตัวกันร้องเรียนต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เมื่อต้นปี 2555 ที่ผ่านมา  สิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อ สคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนคือ ช่วยดำเนินการไกล่เกลี่ยให้ผู้เสียหาย แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะบริษัทฯ จะคืนเงินด้วยการฝากขาย แต่ผู้ร้องต้องการให้คืนเงินในงวดเดียว ต่อมาเมื่อมีการนัดไกล่เกลี่ยอีกครั้ง ผู้ร้องก็พบว่าบริษัทฯ ได้มีการแอบเปลี่ยนข้อความในข้อเท็จจริงว่ายินยอมให้มีการฝากขาย ดังนั้นเมื่อตกลงกันไม่ได้ สคบ. จึงมีมติดำเนินคดีแพ่งกับบริษัทฯ แทนผู้ร้องเพื่อบังคับให้คืนเงิน คดีจึงเข้าสู่ชั้นศาลเมื่อกลางปี 2558 แม้เหตุการณ์ดูเหมือนว่ากำลังทำให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรม แต่ศาลอุทธรณ์กลับวินิจฉัยว่า คดีนี้ไม่ใช่คดีผู้บริโภคแต่เป็นคดีแพ่งทั่วไป ทำให้ สคบ.ไม่มีอำนาจในการฟ้องแทน และต้องกลับไปเริ่มฟ้องใหม่โดยการเปลี่ยนประเภทคดี!! แนวการการแก้ปัญหา    สิ่งที่เสียไปแล้ว คือเวลา 4 ปีที่รอศาลอุทธรณ์พิจารณาคดี เพียงเพื่อพบว่าฟ้องคดีผิดประเภท แม้ผู้บริโภคจะเสียใจ แต่สิ่งที่ยอมให้เสียไปอีกไม่ได้ก็คือสิทธิของเราเอง ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงแนะนำให้ผู้ร้องรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับหลักฐานต่างๆ ในการทำสัญญา คัดลอกคำตัดสินของศาล และตรวจสอบว่ายังมีการเปิดพื้นที่ให้เช่าในโครงการดังการดังกล่าวหรือไม่ รวมทั้งหากมีการเปิดพื้นที่จริง ปัจจุบันรายละเอียดของสัญญาเป็นอย่างไร นอกจากนี้ก็จะมีการนัดเจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้ประกอบการอีกครั้ง พร้อมหาช่องทางดำเนินการกฎหมายกับบริษัทฯ ซึ่งสำหรับกรณีนี้ยังไม่ต้องกลัวหมดอายุความ เพราะเป็นเรื่องของการผิดสัญญาที่มีอายุความ 10 ปี ทั้งนี้ก็ยังต้องรอคำตัดสินของศาลชั้นต้นอีกครั้งว่าจะยกฟ้องและให้ฟ้องใหม่ หรือให้แก้ฟ้องจากคดีผู้บริโภคเป็นคดีแพ่งทั่วไป โดยทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ก็จะติดตามคดีนี้ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 “เอ๊ะ ทำไมปลากระป๋องนี้ดูเหมือนมีพยาธิ”

เชื่อว่าใครหลายคนอาจติดใจในรสชาติปลากระป๋อง เพราะไม่ว่าจะนำไปใส่ในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ทำเป็นยำแซ่บ หรือกินคู่กับข้าวเปล่าร้อนๆ ก็อร่อยไปหมด ซึ่งหลักการสำคัญในการเลือกปลากกระป๋องมารับประทานก็เป็นเรื่องทั่วไป เช่น การดูวันเดือนปีที่ผลิต หมดอายุ กระป๋องอยู่ในสภาพดี อย่างไรก็ตามหากเราเลือกแล้วอย่างรอบคอบ แต่กลับพบว่าเมื่อเปิดมารับประทาน ปลากระป๋องนั้นมีสิ่งแปลกปลอม ที่ดูคล้ายกับพยาธิอยู่ด้วย เราจะทำอย่างไรคุณนกได้ซื้อปลากระป๋องยี่ห้อ อะยัม (AYAM) มารับประทาน จากห้างสรรพสินค้าเทสโกโลตัส สาขาปิ่นเกล้า ราคากระป๋องละ 32 บาท ซึ่งหลังจากรับประทานก็รู้สึกว่ารสชาติผิดปกติไปจากที่เคยกิน และเมื่อตรวจสอบปลาชิ้นนั้นดีๆ ก็พบสิ่งแปลกปลอมที่มีลักษณะเป็นเส้นๆ อยู่ในน้ำซอส จึงคาดเดาไปว่าเจ้าสิ่งนี้มันคือพยาธิแน่ๆ ถึงจุดนี้บางคนอาจจะนำไปทิ้งอย่างรวดเร็วด้วยความขยะแขยง แต่คุณนกผู้ร้องได้เก็บชิ้นส่วนที่น่าตกใจนั้นไว้ และนำมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อหาความเป็นธรรมแนวทางการแก้ไขปัญหาหลังจากศูนย์พิทักษ์สิทธ์ได้รับเรื่องร้องเรียน จึงส่งตัวอย่างที่ผู้ร้องนำมาให้กองตรวจสอบคุณภาพสินค้าประมง ช่วยตรวจสอบหาข้อเท็จจริงว่าใช่พยาธิหรือไม่ พร้อมเชิญทุกฝ่ายมาร่วมฟังผลการทดสอบ ซึ่งผลปรากฏว่า ตัวอย่างดังกล่าวไม่มีลักษณะที่บ่งชี้ว่าเป็นกลุ่มพยาธิ แต่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของกล้ามเนื้อปลาที่เปื่อยยุ่ยเท่านั้น พอได้ฟังอย่างนี้หลายฝ่ายต่างก็พากันโล่งใจ อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้ทางบริษัทผู้ผลิตก็ไม่ได้นิ่งเฉย โดยมีการชี้แจงเพิ่มเติมว่า ชิ้นเนื้อที่เปื่อยยุ่ยนั้นอาจเกิดจากคุณภาพและขนาดปลาแต่ละรอบที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งได้ประสานงานไปยังบริษัทใหญ่ที่ประเทศอินโดนีเซีย ให้ควบคุมดูแลปลาแต่ละรอบให้มีความสมบูรณ์เท่ากันมากขึ้น นอกจากนี้ยังชดเชยผู้ร้องด้วยปลากระป๋องใหม่อีกด้วย ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้เห็นผู้ผลิตไม่ละเลยเรื่องทุกข์ร้อนของผู้บริโภค ซึ่งต้องขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ และตัวผู้บริโภคเองที่ไม่ละเลยสิทธิของตัวเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 “จะตะคอกกันทำไม”

ทุกครั้งใช้บริการรถตู้สาธารณะ นอกจากจะคาดหวังให้เดินทางถึงที่หมายอย่างปลอดภัยแล้ว สิ่งหนึ่งที่ผู้โดยสารต้องการคือ กิริยามารยาทที่สุภาพของคนขับ ไม่ว่าจะเป็นการขับรถที่สุภาพ หรือแม้แต่การสนทนาอย่างสุภาพกับผู้โดยสาร เพราะนี่ถือเป็นคุณสมบัติขั้นพื้นฐานที่ผู้ให้บริการทั้งหลายพึงปฏิบัติเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ ผู้ร้องเรียนขึ้นรถตู้โดยสารสาธารณะ ที่วิ่งระหว่างคลองรั้ง-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และได้ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการทางสายตาอีกท่านหนึ่งด้วย โดยผู้พิการได้สอบถามเส้นทางขึ้นรถไฟฟ้า BTS สถานีที่ใกล้ที่สุด ซึ่งผู้ร้องอาสาจะพาไปส่ง ดังนั้นพอรถตู้มาถึงทางขึ้นสะพานสามเหลี่ยมดินแดง ผู้ร้องจึงบอกคนขับว่าขอลงป้ายประจำทาง โดยแจ้งความประสงค์ว่าจะพาผู้โดยสารรถตู้ที่เป็นผู้พิการทางสายตา ไปขึ้นบันไดเลื่อนตรงเกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยเพื่อขึ้นรถไฟฟ้า BTS อย่างไรก็ตามเมื่อคนขับรถตู้ได้ยินดังนั้นก็บอกว่า จอดไม่ได้เพราะเป็นเขตห้ามจอด ทำให้ผู้ร้องแจ้งว่าปกติที่โดยสารรถตู้มาอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สามารถลงบริเวณนี้ได้ พอได้ยินเช่นนั้นคนขับจึงแสดงอารมณ์โมโห และกล่าววาจาฉุนเฉียว เกรี้ยวกราดเสียงดังว่า “ถ้ากูจอดมึงจะเสียค่าปรับ 500 ให้กูใช่ไหม เป็นพ่อกูหรือจะมาบังคับกู” แม้ผู้ร้องจะพยายามอธิบายต่อไปว่าไม่ได้มีเจตนาบังคับ แต่ถ้าจอดตรงนี้ก็จะทำให้ผู้โดยสารที่เป็นผู้พิการทางสายตา ได้รับความสะดวกในการขึ้นรถไฟฟ้า อีกทั้งปกติรถตู้คันอื่นก็จอดบริเวณนี้จริงๆ แต่คนขับก็ไม่ได้รับฟังเหตุผลพร้อมกับพูดจาต่อว่า และท้าทายให้ผู้ร้องดำเนินการร้องเรียนกับหน่วยงานใดก็ได้ โดยแจ้งชื่อเล่นของตนเองให้อีกด้วย จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้ร้องเห็นว่าเป็นการกระทำและการให้บริการที่ไม่ดี ต่อผู้ร้องและผู้พิการทางสายตา รวมทั้งบุคคลอื่นๆ ภายในรถตู้ดังกล่าวด้วย จึงขอให้มีบทลงโทษต่อกรณีนี้ และมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหาเมื่อทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ได้รับเรื่อง จึงดำเนินการร้องเรียนไปยังอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เพื่อขอให้ตรวจสอบปัญหาดังกล่าว และพิจารณาดำเนินการลงโทษตาม พ.ร.บ.ขนส่งทางบก 2522 เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคและรักษาภาพพจน์ที่ดีขององค์กรหรือหน่วยงานต่อไป ซึ่งกรมการขนส่งทางบกก็ ได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง และพบว่าพนักงานขับรถคันดังกล่าวมีความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการบริการ โดยแสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพจริง เจ้าหน้าที่ฝ่ายเปรียบเทียบจึงได้มีการเรียกเจ้าของรถตู้มาตักเตือน พร้อมปรับเงินเป็นจำนวน 1,000 บาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 173 รถตู้ 100% ขับเร็วกว่ากฎหมายกำหนดจริงหรือ?

อุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะ  โดยเฉพาะ”รถตู้” ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างดีคือ  สะดวกสบาย  ออกตรงเวลา  ไม่แวะกลางทาง ถึงที่หมายในเวลาที่ชัดเจน รถตู้จึงได้รับความนิยมจากผู้ใช้บริการอย่างรวดเร็ว  ส่งผลให้วินรถตู้เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว สิ่งที่ตามอย่างเห็นได้ชัดคือ   อุบัติเหตุจากรถตู้โดยสารสาธารณะก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน   สมาคมผู้บริโภคภาคตะวันตก  จึงได้ทำการสุ่มสำรวจความพึงพอใจในการใช้บริการรถตู้ โดยสุ่มสำรวจจากผู้ใช้บริการทั้งหมด 26 วิน วินละ 10 คน  รวมเป็นจำนวนผู้ให้ข้อมูลทั้งหมด 260 คน พื้นที่สำรวจ 3 จังหวัด คือ  1.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (18 วิน ) 2.จังหวัดกาญจนบุรี (12 วิน)  3. สุพรรณบุรี (6 วิน)  เชื่อไหมว่า เราพบประเด็นที่น่าตกใจ จากคำถาม “ท่านเคยพบรถตู้ที่ท่านนั่งขับเร็วเกินกฎหมายกำหนดหรือไม่” คำตอบคือ  80% ของ 180 คน  (สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี) พบรถตู้ขับเร็วเกินกฎหมายกำหนด  และ 100%  ของ 180 คน (จังหวัดประจวบฯ)  ซึ่งผลสำรวจนี้ยังสอดคล้องกับข้อมูลสถิติของกรมการขนส่งทางบก   ที่แจ้งว่ารถตู้โดยสาธารณะจังหวัดประจวบฯ เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด โดยพื้นที่ที่มักจะเกิดอุบัติเหตุ คือบริเวณจังหวัดเพชรบุรี      แม้จำนวนผู้ใช้บริการที่สำรวจครั้งนี้จะมีจำนวนไม่มาก  แต่ผลการสำรวจครั้งนี้ ก็น่าจะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรจะต้องลุกขึ้นมาทำอะไรที่มากกว่าที่ทำอยู่ขณะนี้  เพราะผล 100% ที่ระบุว่า มีการขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด  บอกได้หลายมิติ  ทั้งความหย่อนยานของผู้มีหน้าที่ตรวจสอบ  และกำกับดูแล  และสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ  รวมถึงความรุนแรงของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น   เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และลดจำนวนอุบัติเหตุ   ต้องบอกว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องทำหน้าที่รวดเร็วขึ้น เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซาก  มิใช่ปล่อยให้ผู้บริโภคต้องเสี่ยงชีวิตทุกครั้งที่ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ  ที่ตามมาด้วยการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 173 “เมื่อรถใหม่ ไม่ใหม่อย่างที่คิด”

ปัญหารถยนต์ใหม่ป้ายแดงกลับมาอีกแล้ว หลังผู้บริโภคถอยมาได้สองวันแล้วขับไปเที่ยวต่างจังหวัดพร้อมครอบครัว แต่ดันเกิดอุบัติเหตุยางระเบิดเสียหลักบนทางด่วน เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บสาหัสทั้งครอบครัว หลังสอบถามไปยังบริษัทรถยนต์ดังกล่าว กลับปฏิเสธว่ารถยนต์มีปัญหา อ้างเป็นเพราะปัจจัยแวดล้อม แม้ผู้บริโภคจะมีทางเลือกมากมายในการซื้อสินค้าและใช้บริการต่างๆ แต่ความเสี่ยงในการเลือกซื้อสินค้าต่างๆ เหล่านั้นกลับไม่ได้ลดลงเท่าไรนัก เพราะ เราก็ไม่มีทางรู้ได้ว่า สินค้าที่เราเลือกไว้อย่างดีแล้วนั้น จะดีจริงตามที่เราคิดไว้หรือไม่ เนื่องจากสินค้าเหล่านั้นอาจมีความชำรุดบกพร่องอันเนื่องมาจากขาดการตรวจสอบคุณภาพจากผู้ผลิต หรือผ่านการตรวจสอบแต่ไม่พบข้อบกพร่องในขั้นตอนการผลิต ซึ่งผู้บริโภคไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีความชำรุดบกพร่อง หรือมีคุณภาพตามที่ได้ระบุไว้หรือไม่ รวมถึงการบริการต่างๆ ของผู้ประกอบการที่ไม่ได้เป็นไปตามสัญญา ล้วนส่งผลให้ผู้บริโภคตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ได้รับสินค้าที่ชำรุดบกพร่องหรือไม่เป็นไปตามโฆษณา เหมือนกรณีของคุณสุชาติที่เกือบได้รับอันตรายถึงชีวิตคุณสุชาติและภรรยาเข้ามาร้องเรียนหลังจากซื้อรถยนต์ใหม่ป้ายแดงยี่ห้อ เชฟโรเลต รุ่นสปิน (Chevrolet Spin) มาได้ 2 วัน แล้วเกิดอุบัติเหตุยางระเบิด ทำให้ทั้งครอบครัวที่โดยสารไปด้วยกันวันนั้นได้รับบาดเจ็บสาหัส โดยเมื่อทางบริษัทรถยนต์นำยางรถดังกล่าวไปตรวจสอบกลับพบว่า ยางไม่มีความผิดปกติใดๆ จึงปฏิเสธว่าสาเหตุไม่ได้เกิดจากยางรถยนต์ของบริษัท หากแต่เป็นเพราะปัจจัยภายนอกอื่นๆ มากกว่า เช่น ผู้ร้องขับรถยนต์ไปทับตะปูหรือก้อนหินขนาดใหญ่ ทั้งๆ ที่ในวันเกิดเหตุกำลังขับรถอยู่บนเส้นทางด่วนบูรพาวิถี ไม่มีก้อนหินใหญ่ใดๆ รวมทั้งอากาศปลอดโปร่ง ไม่มีปัจจัยใดที่ทำให้ยางระเบิดได้แน่นอน อย่างไรก็ตามหลังจากผู้ร้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล ก็ได้ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้นำยางรถยนต์ที่เหลือไปตรวจสอบ ซึ่งผลปรากฏว่ายางรถที่เหลือทั้ง 3 ล้อเป็นยางเก่าทั้งหมด ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงแนะนำให้ผู้ร้องติดต่อไปยังบริษัทประกันภัยและเจ้าหน้าฝ่ายขายของรถยนต์ (ไฟแนนซ์) เพื่อทำหนังสือยกเลิกสัญญาเช่าซื้อ หรือการจ่ายค่างวดรถยนต์ เพราะ ตั้งแต่เกิดเรื่องผู้ร้องก็ไม่ได้มีการใช้รถ แต่ว่าต้องจ่ายค่าเช่ามาเป็นระยะเวลา 2 เดือนแล้ว อย่างไรก็ตามไฟแนนซ์ก็ได้ปฏิเสธโดยอ้างว่าเป็นเพียงผู้ให้กู้ยืมเงินไม่เกี่ยวกับกับการซื้อรถยนต์ และไม่ยอมให้ยกเลิกเพียงแต่ให้ชะลอการจ่ายค่างวดแทน ต่อมาก็ได้แนะนำให้ผู้ร้องใช้ประกันภาคสมัครใจชั้น 1 คุ้มครองรถยนต์ที่เสียหาย โดยให้ช่วยตรวจสอบว่ารถยนต์มีความผิดปกติอย่างไรจึงทำให้เกิดอุบัติเหตุดังกล่าวขึ้นแนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับกรณีนี้นอกจากผู้ร้องจะได้เข้ามาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แล้ว ยังได้มีการดำเนินคดีฟ้องร้องต่อศาล โดยหลังจากการเจรจากับอัยการก็ได้ข้อเสนอ 2 ข้อดังนี้ 1. ให้ทางบริษัทรถยนต์ เชฟโรเลต รับรถคืนไปและช่วยเหลือเงินชดเชยค่างวดที่ผู้ร้องได้เสียไปก่อนหน้านี้ ได้แก่ ค่าดาวน์รถยนต์และค่าเช่าซื้อ พร้อมขอให้ผู้ร้องได้รับส่วนลดพิเศษสำหรับการซื้อรถยนต์ยี่ห้อ เชฟโรเลต คันใหม่ หรือ 2. ทางบริษัทรถยนต์ เชฟโรเลต และศูนย์บริการซ่อมรถคันดังกล่าวให้เหมือนเดิม พร้อมช่วยเยียวยาค่าเสียหายและค่าเช่าซื้อจนกว่ารถยนต์นั้นจะซ่อมเสร็จ และหารถยนต์คันใหม่ให้ผู้ร้องใช้งานจนกว่าจะได้รถยนต์คืนหลังจากบริษัทรถยนต์ เชฟโรเลต นำข้อเสนอกลับไปพิจารณาก็ได้แจ้งกับผู้ร้องว่า บริษัทประกันภัยรถยนต์ตกลงที่จะรับซื้อซากรถ และทางบริษัทรถยนต์ เชฟโรเลต จะให้การช่วยเหลือส่วนหนึ่งเพื่อให้ผู้ร้องขาดทุนน้อยลง ส่วนทางไฟแนนซ์ก็จะยกเว้นค่าเบี้ยปรับให้ ด้านฝ่ายผู้ร้องเมื่อเห็นว่าทุกฝ่ายมีความเต็มใจที่จะให้การช่วยเหลือ จึงตกลงรับข้อเสนอและยุติเรื่องแต่เพียงเท่านี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 173 “คอนโดมิเนียม...ฝันร้ายสไตล์คนเมือง”

ใครจะไปคิดว่าคอนโดมิเนียมหรูในฝัน จะกลายมาเป็นฝันร้ายที่ทำให้หลับไม่ได้ไปอีกนานคอนโดมิเนียม หรือ อาคารชุด ที่เราเรียกกันสั้นๆ ติดปากว่า “คอนโด” เป็นรูปแบบหนึ่งของที่อยู่อาศัยที่มีลักษณะเป็นห้องพักหลายๆ ห้องในอาคารเดียวกัน โดยปัจจุบันได้กลายเป็นทางเลือกยอดนิยมของผู้พักอาศัยยุคใหม่ส่วนใหญ่ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เพราะนอกจากคอนโดจะราคาถูกกว่าการซื้อที่ดินมาปลูกบ้านเองทั้งหลังแล้ว ยังสามารถเลือกทำเลที่เราต้องการมากที่สุดได้อีก เช่น ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า ห้างสรรพสินค้า หรือสถานที่ทำงาน นอกจากนี้ภายในคอนโดยังรายล้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ที่จอดรถ ฟิตเนส สระว่ายน้ำ และที่สำคัญคือภายในห้องพักล้วนตกแต่งไว้แล้วอย่างสวยงาม อย่างไรก็ตามการลงทุนเพื่อซื้อคอนโดจำเป็นต้องคิดอย่างรอบคอบ เพราะความสะดวกสบายเหล่านั้นย่อมมาพร้อมกับราคาที่สูง ซึ่งรับประกันไม่ได้ว่าราคากับคุณภาพตามโฆษณาจะไปในทางเดียวกัน หลายคนอาจได้คอนโดอย่างที่ฝันไว้แต่บางคนอาจได้ฝันร้ายมาแทน ดังเช่นกรณีของคุณปาริชาตคุณปาริชาต ซื้อคอนโดหรูทำเลดีราคากว่า 10 ล้านบาทแถวพัทยา จังหวัดชลบุรี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 แต่เมื่อปลายปี พ.ศ.2557 ที่ผ่านมา เธอพบว่าภายในห้องนอนใหญ่มีน้ำรั่วซึม จนทำให้ไม่สามารถพักอาศัยได้ตามปกติ หลังจากตรวจสอบแล้วก็พบว่า น้ำรั่วซึมดังกล่าวน่าจะเกิดจากฝนตกแล้วรั่วซึมเข้ามาในผนังอาคาร โดยทางคอนโดจะดำเนินการแก้ไขให้หลังจากนำเรื่องเข้าที่ประชุมก่อน ซึ่งอาจล่าช้าในการพิจารณาซ่อม เธอจึงตัดสินใจจ้างช่างซ่อมที่รับเหมาดูแลโครงการมาแก้ไข เพราะ หากรอไปเรื่อยๆ น้ำที่รั่วซึมก็ยิ่งทำให้ทรัพย์สินภายในห้องเสียหายเพิ่มขึ้น หลังจากการแก้ไขครั้งที่หนึ่งน้ำก็ยังคงรั่วซึมเหมือนเดิม ช่างจึงวิเคราะห์ว่าอาจเกิดจากห้องข้างบนที่ทำให้น้ำซึมลงมาและดำเนินการแก้ไขอีกครั้ง อย่างไรก็ตามก็ยังไม่สามารถหยุดน้ำรั่วซึมนี้ได้ ทำให้ช่างหมดหนทางแก้ไข และแนะนำให้เธอติดต่อไปยังนิติบุคคลของคอนโดเพื่อให้นำวิศวกรเข้ามาซ่อมแซม เมื่อคุณปาริชาตติดต่อไปยังนิติบุคคล ก็ปรากฏว่าไม่มีการตอบรับใดๆ ไม่ว่าจะเป็นทางโทรศัพท์หรืออีเมล์ เธอจึงตัดสินใจติดต่อไปยังกรรมการบริษัทของคอนโด ซึ่งหลังจากรับทราบปัญหาแล้วก็ยืนยันว่าจะดำเนินการแก้ไขให้เร็วที่สุด ทว่าจนปัจจุบันก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า และในที่สุดเมื่อนิติบุคคลรวมทั้งกรรมการดังกล่าววิเคราะห์สภาพปัญหาเรียบร้อยก็ปฏิเสธที่จะรับผิดชอบการดูแลแก้ไข โดยอ้างว่าน้ำรั่วซึมมีสาเหตุมาจากท่อที่ชำรุดภายในห้อง ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วพบว่ามาจากห้องชั้นบน ทำให้ไม่ใช่ปัญหาของส่วนกลาง แต่เป็นปัญหาของแต่ละห้องที่เจ้าของห้องนั้นๆ จะต้องรับผิดชอบเอง แนวทางการแก้ไขปัญหาจากกรณีของคุณปาริชาต สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ปัญหาหลังการโอนกรรมสิทธิ์ ซึ่งผู้บริโภคจำนวนมากมักเจอปัญหานี้ ไม่ว่าจะเป็นการชำรุดเสียหาย การสร้างผิดรูปแบบ หรือไม่มีสาธารณูปโภคตามสัญญาหากผู้บริโภคเรียกร้อง ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็มักเพิกเฉย จนทำให้ผู้บริโภคต้องฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามมาอีกมากมาย ดังนั้นเมื่อศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว จึงดำเนินการติดต่อทั้ง 2 ฝ่ายให้มาเจรจา ซึ่งปรากฏว่า นิติบุคคลของโครงการจะนำปัญหานี้เข้าที่ประชุมเพื่อหารือถึงแนวทางแก้ไข และการชดใช้ค่าเสียหาย แต่ทางกรรมการยังคงยืนยันที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบดังที่กล่าวอ้างไว้ และกล่าวถึงหลักการรับประกันว่า การประกันโครงสร้างมีกำหนด 5 ปี แต่ความเสียหายเกิดขึ้นภายในส่วนรับผิดชอบของผู้ร้องที่มีการรับประกัน 2 ปี ซึ่งเลยกำหนดการรับประกันแล้ว ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงมีการได้ชี้แจงว่า ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ในเรื่องของอายุการประกันภัยโครงสร้าง กำหนดไว้ 5 ปี และส่วนควบ 1 ปี แต่ถ้าเป็นอาคารชุด จะเพิ่มการรับประกันส่วนควบอีก 2 ปี ซึ่งหากพิจารณาจากปัญหาที่เกิดขึ้น การที่ท่อน้ำชำรุดหลังจากคุณปาริชาตได้ซื้อห้องชุดนั้นมาอยู่ ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าท่อน้ำนั้นชำรุดตั้งแต่แรกหรือเปล่า และเป็นท่อของส่วนกลางจริงหรือไม่ เพราะท่อน้ำอยู่ภายในผนัง นอกจากนี้ท่อน้ำดังกล่าวยังถือเป็นโครงสร้างของอาคารที่มีอายุการรับประกัน 5 ปีอีกด้วย อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ์และผู้ร้องจึงต้องติดตามต่อไปว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จะมีการชดใช้หรือรับผิดชอบเยียวยาความเสียหายอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 173 กลิ่นภายในห้องโดยสารสุดจะทน ใครต้องรับผิดชอบ

“กลิ่นรถใหม่” คงเกิดกับคนที่ซื้อรถป้ายแดงทั้งหลาย ได้กลิ่นแล้วอาจสร้างความมั่นใจได้ว่ารถนั้นใหม่จริง มิได้ย้อมแมวขายอย่างแน่นอน เพราะแกะกล่องออกมากลิ่นอุปกรณ์ต่างๆ ภายในรถ ทั้งเบาะรถยนต์ พวงมาลัย คอนโซล ฯลฯ ที่แกะพลาสติกออกจะได้กลิ่นที่เราเรียกกันว่า “กลิ่นของใหม่” อบอวลอยู่ ซึ่งพอใช้รถไปได้ซักพักก็จะหายไปเอง แต่รถยนต์ของคุณศิริลักษ์ กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะคุณศิริลักษ์ ผู้เป็นนางพยาบาลวิชาชีพ สัมผัสได้ถึงกลิ่นใหม่(พลาสติก) ของรถเชฟโรเลต ที่ซื้อและใช้งานมาเป็นปีแล้วแต่กลิ่นไม่หมดไปเสียที กลับมีแต่กลิ่นที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ชนิดที่ขับไปซักพักจะแสบตา แสบจมูก และเวียนหัว หน้ามืดตาลายกันเลยทีเดียว ต้องจอดทิ้งไว้ซักพักถึงจะขับต่อไปได้ ทนไม่ไหวจึงต้องเข้าศูนย์บริการเพื่อให้ตรวจสอบอาการ ช่างที่ศูนย์บริการ ก็บอกแต่เพียงว่า ปกติ น่าจะคิดไปเอง อ้าว ! เป็นงั้นไป คุณศิริลักษ์เลยจำต้องยอมเอามาใช้ต่อ แต่ยิ่งใช้ก็ยิ่งมีปัญหามากขึ้น เพราะเวลาที่ขับรถ ร่างกายจะรู้สึกอ่อนเพลีย และแสบจมูกมาก เวียนหัวจนไม่กล้าขับ เลยลองใช้บริการยืมรถยนต์ของเพื่อนมาใช้กลับพบว่าไม่เป็นอะไร ทั้งที่รถยนต์ของเพื่อนเป็นรุ่นเก่ากว่า นั่นย่อมแสดงว่า ไม่ได้คิดไปเองแน่ๆ ช้าไม่ได้แล้วต้องนำรถเข้าศูนย์บริการตรวจสอบอีกครั้ง คราวนี้ศูนย์ทำการตรวจสอบ และอ้างว่าเพื่อความสบายใจของลูกค้าก็จะเปลี่ยนอุปกรณ์ในรถยนต์ใหม่ทั้งหมด แต่เปลี่ยนแล้วกลิ่นภายในรถกลับไม่หายไป คุณศิริลักษ์เลยขอให้บริษัท เชฟโรเลตฯ เปลี่ยนรถยนต์ใหม่หรือเอารถคืนไป แต่บริษัทฯ ปฏิเสธอ้างว่าไม่เกี่ยวกับความปลอดภัย เปลี่ยนให้ไม่ได้และไม่มีนโยบายรับซื้อรถคืน เมื่อเห็นว่าไม่ได้เปลี่ยนแน่นอน และคงทนใช้รถยนต์ไม่ไหวแล้ว เลยต้องขอใช้อำนาจของศาลบังคับให้บริษัทรถและตัวแทนจำหน่ายรับผิดชอบแนวทางแก้ไขปัญหา คุณศิริลักษ์มาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ ภายหลังที่ฟ้องคดีบริษัทฯ ไปแล้ว แต่เนื่องจากศาลต้องการให้คุณศิริลักษ์ หาทนายเพื่อจักได้ช่วยเหลือคดี เธอจึงมาขอให้ช่วยจัดหาทนายความช่วยเหลือ เพราะเห็นว่ามูลนิธิฯ เคยฟ้องคดีรถยนต์มีกลิ่นยี่ห้อหนึ่งแล้วชนะ แต่คดีนี้ยากเย็นพอสมควรเนื่องจาก คุณศิริลักษ์ไปฟ้องคดีเอง โดยไม่เคยตรวจสอบกับกรมหรือหน่วยงานใดๆ เลย ทำให้ไม่มีพยานเอกสารใดๆ สนับสนุนการฟ้องเลย เมื่อศูนย์ฯ จัดหาทนายช่วยคดี และได้ประสานกับบริษัทเอกชนรายหนึ่งที่รับตรวจสอบมลพิษ เพื่อให้ผู้ร้องดำเนินการตรวจสอบห้องโดยสารรถยนต์ ซึ่งตรวจออกมาแล้วพบว่ามีค่าไฮโดรคาร์บอนในห้องโดยสารจริง จึงใช้ประกอบเป็นหลักฐานในการสืบพยาน แต่เนื่องจากการทดสอบนี้เป็นการทดสอบฝ่ายเดียว บริษัท เชฟฯ จึงไม่ยอมรับการทดสอบและเสนอศาลให้โจทก์นำรถพิพาทไปทดสอบที่กรมควบคุมมลพิษ เพราะเรื่องกลิ่นเป็นเรื่องที่กรมควบคุมมลพิษนั้นตรวจสอบได้ แต่กรมควบคุมมลพิษนั้นมีเกณฑ์มาตรฐานเฉพาะเรื่องท่อไอเสีย แต่กลับไม่มีมาตรฐานเรื่องกลิ่นในห้องโดยสารของรถยนต์ ว่าควรมีกลิ่นหรือไม่ อย่างไรเสีย บริษัท เชฟฯ ก็ช่วยประสานให้กรมควบคุมมลพิษช่วยดำเนินการตรวจสอบห้องโดยสารรถยนต์พิพาท โดยบริษัทฯ เสนอให้มีการทดสอบกับรถยนต์คันอื่นที่เป็นรุ่นเดียวกันเพื่อเปรียบเทียบ ซึ่งทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน  ต่อมาจึงมีการทดสอบเกิดขึ้นที่กรมควบคุมมลพิษ ผลการทดสอบพบว่ารถของคุณศิริลักษ์มีสารคาร์บอนิล จำพวกฟอร์มาดีไฮน์ ที่เป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนซึ่งเป็นก๊าซพิษมีกลิ่นเหม็น ในขณะที่รถยนต์อีกคันไม่พบ และเอกสารจากกรมควบคุมมลพิษ ก็มิได้ระบุว่าสารดังกล่าวเกิดได้อย่างไร ศาลจึงได้จัดตั้งคนกลางเพื่อหาข้อมูลเชิงวิชาการพบอีกว่า ก๊าซพิษดังกล่าว เมื่อเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ ทำให้เกิดอาการแสบตา แสบจมูก และ หากร่างกายได้รับก๊าซพิษนี้นานจะเกิดผลเสียต่อร่างกายซึ่งเป็นบ่อเกิดของโรคมะเร็ง อาการตามเอกสารทางวิชาการนั้นเหมือนอาการที่คุณศิริลักษ์เป็นทุกอย่างในขณะขับรถ ศาลจึงพิพากษาให้คุณศิริลักษ์ชนะคดีและให้บริษัท เชฟฯ และตัวแทนจำหน่ายรับผิดชอบ ซื้อรถคืนหรือให้ใช้ราคายนต์เป็นจำนวนเงินกว่า 900,000 บาท  คดีนี้บริษัทฯ คงกำลังอุทธรณ์ เรื่องของคุณศิริลักษ์ จึงเป็นตัวอย่างให้กับผู้บริโภครายอื่นที่เกิดปัญหาแล้วบ่นกันอย่างเดียว แต่ไม่เคยลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตัวเอง แล้วเอาเรื่องเวรกรรมมาเป็นข้ออ้าง ผู้บริโภคประเภทนี้ก็คงมีแต่คำว่า “เสีย” อย่างเดียว  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 172 บ้านมือสองกับค่าประกัน น้ำ ไฟฟ้า

ผู้บริโภคทั่วไปที่คิดจะซื้อบ้านมือสองควรรอบคอบและสังเกตสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ของงานสาธารณูปโภคพวกน้ำ และไฟฟ้า ด้วย สิ่งเล็กๆ นั้นคือ ค่าประกันการใช้น้ำและค่าประกันการใช้ไฟฟ้า เพราะอาจก่อปัญหาที่คุณคาดไม่ถึงได้ อย่างกรณีของคุณสาวิตรี เมื่อปี พ.ศ. 2551 ได้พบบ้านมือสองในทำเลและราคาที่ถูกใจมากๆ จึงได้ตกลงปลงใจซื้อบ้านตึกสองชั้นพร้อมที่ดิน จากผู้ขายและได้โอนกรรมสิทธิ์แล้วเสร็จในวันที่ 31 ตุลาคม 2551 และอยู่อาศัยมาด้วยความผาสุกเรื่อยมา จนต้นปี 2556 คุณสาวิตรีเพิ่งสังเกตเห็นว่า ใบแจ้งหนี้ค่าน้ำประปาและใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้า นั้นยังเป็นชื่อผู้ใช้น้ำคนเดิมคือเจ้าของบ้านคนเก่า คุณสาวิตรีจึงได้พยายามติดต่อการประปาส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคของพื้นที่ปทุมธานี เพื่อขอดำเนินการเปลี่ยนชื่อใหม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานทั้งสองให้คุณสาวิตรีจัดเตรียมเอกสารและหลักฐานของผู้ใช้น้ำ ของกรณีผู้โอนและผู้รับโอนเป็นบุคคลธรรมดามาประกอบการดำเนินเรื่อง แต่ว่าการซื้อบ้านของผู้ร้องนั้นได้ล่วงเลยมานานหลายปีแล้ว ผู้ร้องจึงไม่สามารถที่จะติดต่อกับผู้ขายบ้านหลังนี้ได้ จึงมาปรึกษากับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิว่าจะทำอย่างไรดี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงทำหนังสือเพื่อสอบถามและขอให้ทั้งสองหน่วยงานของรัฐช่วยเหลือผู้ร้อง การประปาส่วนภูมิภาค ปทุมธานี ได้ชี้แจงต่อกรณีนี้ว่า ตามระเบียบของการประปาส่วนภูมิภาค การโอนสิทธิในการใช้น้ำประปา หากมีการซื้อขายบ้านที่ติดตั้งประปาไว้แล้ว ผู้ใช้น้ำต้องแจ้งให้พนักงานประปาทราบและให้ผู้รับโอนมาลงนามในสัญญาใช้น้ำ โดยหลักฐานที่นำมาแสดง อาทิ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน , สำเนาทะเบียนบ้าน , ใบเสร็จเงินประกันค่าน้ำตัวจริง ,ใบเสร็จรับเงินค่าน้ำประปาครั้งสุดท้ายหรือสำเนา หากทั้งสองฝ่ายไม่สะดวกสามารถทำหนังสือมอบอำนาจให้กับญาติดำเนินการแทนได้ เป็นต้น บ้านของผู้ร้องนั้นเป็นอัตราค่าธรรมเนียมประกันการใช้น้ำ ขนาดมาตร 1/2 (นิ้ว) ค่าประกันการใช้น้ำ เป็นเงิน 535 บาท และการประปาฯ จะช่วยดำเนินการติดตามกับผู้ใช้น้ำเดิมเพื่อสอบถามว่าจะขอคืนเงินประกันการใช้น้ำหรือโอนเปลี่ยนให้กับผู้ร้องต่อไป แต่ในส่วนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคนั้น ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ไม่ได้รับคำตอบต่อกรณีร้องเรียนดังกล่าวนี้แต่อย่างใดในขณะเขียนเรื่องนี้ ซึ่งจะได้ติดตามผลให้กับคุณสาวิตรีต่อไป แต่เห็นว่าเรื่องนี้น่าจะมีประโยชน์สำหรับผู้ที่กำลังจะซื้อบ้านหรืออาคารมือสองจึงนำมาลงไว้เป็นกรณีศึกษา 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 172 ซื้อหมู่บ้านเล็ก เขารับประกันยังไง

ซื้อบ้านจัดสรรอยู่ แต่โครงการของบริษัทเล็กๆ เขาจะรับประกันอะไรให้บ้าง คนเรามี 2 สิ่งที่ตัดสินใจยากคือ "เลือกเมีย" กับ "เลือกบ้าน" เพราะมีผลกับชีวิตทั้งชีวิต เป็นคำถามมาสั้นๆ ง่ายๆ ที่ฝากมาในกระทู้รับเรื่องร้องเรียน เลยขอนำมาตอบไว้ที่นี้ด้วย แต่คำตอบจะต้องแยกตอบเป็น 3 คำตอบ (1) ซื้อบ้านจัดสรร (2) เจ้าของโครงการเป็นบริษัทเล็ก และ (3) การรับประกันหลังโอนประเด็นแรก คุณเจ้าของกระทู้บอกอยู่แล้วว่าตัดสินใจเลือกซื้อบ้านในโครงการจัดสรร นั่นหมายความว่าเราต้องการซื้อคุณภาพชีวิตในการอยู่อาศัย เพราะฉะนั้น ข้อแนะนำก็คือ ให้ตรวจสอบว่าโครงการจัดสรรดังกล่าว ขออนุญาตจัดสรรภายใต้กฎหมายจัดสรรที่ดินหรือเปล่า ตรวจสอบข้อมูลได้จากสำนักงานกรมที่ดิน ตัวอย่างเช่น ถ้าจะซื้อบ้านจัดสรรในเขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร เราก็สามารถไปขอตรวจสอบได้ที่สำนักงานที่ดินประจำเขตบึงกุ่มเหตุผลที่ต้องตรวจสอบก่อน เพราะกฎหมายจัดสรรบังคับให้บริษัทเจ้าของโครงการต้องจดทะเบียนจัดสรร เพื่อจะได้เข้ามาช่วยควบคุมว่า กรณีที่เป็นโครงการใหญ่ๆ จะต้องมีการลงทุน "พื้นที่ส่วนกลาง" ให้เหมาะสมกับจำนวนบ้าน เช่น ถ้ามีบ้าน 100 หลัง ถนนเมนควรจะกว้าง 16 เมตรไหม ถ้ามีบ้าน 500 หลัง ถนนเมนจะต้องกว้าง 20 เมตรหรือเปล่าหรือถ้าขออนุญาตจัดสรรอย่างถูกต้อง กฎหมายท่านจะบังคับไว้เลยว่า บ้านเดี่ยวจะต้องมีพื้นที่ 50 ตารางวาขึ้นไป บ้านแฝดจะต้องมีที่ดิน 35 ตารางวาขึ้นไป ทาวน์เฮาส์จะต้องมีที่ดินเริ่มต้น 18 ตารางวาขึ้นไป เป็นต้นกรณีที่โครงการที่เราซื้อ ไม่ได้มีการขออนุญาตจัดสรร แสดงว่าเขากำลังเลี่ยงกฎหมายจัดสรรอยู่ โดยพื้นฐานถ้าจำไม่ผิด กฎหมายจะกำหนดไว้ว่า ถ้าขอจัดสรรทำบ้านเดี่ยวตั้งแต่ 10 หลังขึ้นไปต้องขออนุญาตให้ถูกต้อง แต่ถ้าต่ำกว่า 10 หลังไม่ต้องขออนุญาตจัดสรรกลายเป็นช่องว่างให้มีการเลี่ยงกฎหมายจัดสรร เช่น อาจจะมี 40 หลัง แต่ใช้วิธีพัฒนาทีละไม่เกิน 10 หลัง โดยใช้ชื่อคนละบริษัท ทั้งๆ ที่เป็นหมู่บ้านเดียวกัน เป็นต้น ประเด็นที่สอง เรื่องของ "เจ้าของโครงการเป็นบริษัทเล็กๆ" สิ่งแรกที่ต้องคำนึงก่อนตัดสินใจวางเงินจองเงินดาวน์ และจ่ายเงินก้อนใหญ่เพื่อโอนกรรมสิทธิ์ สิ่งนั้นก็คือความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบการในที่นี้ ไม่ได้ฟันธงว่า เวลาเราพูดถึงความน่าเชื่อของผู้ประกอบการแล้ว จะต้องเป็นบริษัทใหญ่ๆ เป็นบริษัทมหาชนที่อยู่ในตลาดหุ้นเท่านั้น เรื่องนี้ไม่จริง เพราะมีบริษัทอสังหาริมทรัพย์ทุนหนาอีกตั้งหลายรายที่ไม่ยอมเข้าตลาดหุ้น เพราะฉะนั้นความน่าเชื่อของผู้ประกอบการจึงต้องมีองค์ประกอบอื่นเพิ่มเติมด้วยข้อแนะนำคือ เวลาดูความน่าเชื่อของผู้ประกอบการสำหรับหมู่บ้านจัดสรรที่เราจะไปเลือกซื้อนั้น นอกจากจะตรวจสอบจากใบอนุญาตจัดสรรแล้ว ควรจะมีการตรวจสอบจากข้อมูลข่าวสาร อย่างน้อยที่สุด เคยมีประวัติพัฒนาโครงการขายมาก่อนหรือไม่ ถ้าไม่เคย ธุรกิจดั้งเดิมเคยทำอะไรมาก่อนตัวอย่างเช่น ค่ายสยามกลการ ในปัจจุบันรุ่นทายาทธุรกิจเป็นคนรุ่นใหม่ ก็ให้ความนิยมหันมาลงทุนสร้างคอนโดฯ ขาย เป็นต้น กรณีแบบนี้เราค่อนข้างมั่นใจได้ว่ามีความเป็นมาตรฐานแน่นอน เพราะธุรกิจดั้งเดิมก็เป็นธุรกิจที่มีชื่อเสียงที่ดี ไม่ใช่ประเภทตีหัวเข้าบ้านประเด็นสุดท้าย "การรับประกันหลังโอนกรรมสิทธิ์" ก่อนอื่นต้องเข้าใจให้ตรงกันเสียก่อนว่า การรับประกันหลังโอน กฎหมายจำกัดขอบเขตความรับผิดชอบของบริษัทเจ้าของโครงการไว้ที่เป็นการรับประกันเรื่องตัวบ้านเป็นหลัก เช่น สร้างแล้วพังเร็วไหม อยู่แล้วอุ่นใจหรือเปล่าข้อแนะนำสำหรับการรับประกันตัวบ้านก็คือ ให้มุ่งเน้นความสำคัญไปที่การตรวจสอบคุณภาพก่อสร้างที่เป็น "โครงสร้างหลัก" ของตัวบ้าน เช่น เสา คาน ฯลฯ ส่วนผนังที่อาจจะมีรอยแตกลายงา ถือเป็นเรื่องปกติเพราะเกิดจากฝีมือฉาบปูนบ้าง โดดแดดบ้าง อะไรบ้าง หรือจะเป็นก๊อกเป็นสนิม น้ำรั่ว น้ำซึม เป็นเรื่องที่คุยกันได้ พวกนี้เรียกว่า "ส่วนควบของตัวบ้าน" ซึ่งกินความไปถึงประตู หน้าต่าง กรอบอลูมิเนียม บานเลื่อน ฯลฯ จิปาถะเยอะแยะไปหมดข้อแนะนำคือ ตรวจสอบด้วยการหาข้อมูลอ้างอิงว่า ถ้าเป็นกรณีหมู่บ้านใหญ่ๆ เขามีการรับประกันอะไรให้กับลูกค้าบ้าง แล้วนำมาเปรียบเทียบกัน อย่างน้อยที่สุด การรับประกันในจุดหลัก ๆ ก็ควรจะต้องมี แต่ถ้าหมู่บ้านเล็กๆ ไม่มีให้ ข้อแนะนำคือคุณไม่ควรจะรับโอน จนกว่าจะสามารถเคลียร์และทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะถ้าหากจำเป็นจะต้อง "ค้าความ" หรือมีการฟ้องร้องคดีกันขึ้นมาเมื่อไหร่ โอกาสของผู้บริโภคคือจะต้องมีหนังสือนิติกรรมที่เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น การดำเนินคดีในศาลจึงจะมีน้ำหนัก และทำให้เราไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบได้ในท้ายที่สุด 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 172 แท็กซี่ป้ายแดง

แท็กซี่ป้ายแดง รถในฝันของคนหาเช้ากินค่ำที่อยากมีรถแท็กซี่เป็นของตัวเอง ไม่ต้องไปเช่าสหกรณ์แท็กซี่ให้ต้องรำคาญใจ เพราะขับคนเดียวไม่มีใครมาเอี่ยวกับรายได้ อีกทั้งไม่ต้องยุ่งยากต้องไปส่งเมื่อหมดกะ หรือขับไปรถพัง คุณธีรศักดิ์ เลยตั้งใจเก็บหอมรอบริบน้ำพักน้ำแรงจากการขับแท็กซี่ เพื่อทำฝันให้เป็นจริง เมื่อขับรถแท็กซี่จนเหลือเงินเก็บมากพอ คุณธีรศักดิ์ จึงไปดาวน์รถยี่ห้อโตโยต้า ราคาแปดแสนกว่า เพื่อมาเป็นแท็กซี่ในฝัน หลังจากตกลงซื้อรถและทำไฟแนนท์กับบริษัทโตโยต้าลิสซิ่ง จำกัด กันเป็นที่เรียบร้อย จึงได้นัดแนะกันไปรับรถที่ศูนย์ตัวแทนจำหน่าย และด้วยความมั่นใจในแบรนดยี่ห้อดัง แกเลยไม่ได้เช็คสภาพในวันรับรถ รถใหม่ในฝันเมื่อนำไปขับใช้งานได้ 3 วัน คุณธีรศักดิ์พบว่า มีอาการพวงมาลัยหนัก ขับกินซ้าย ทำให้ต้องใช้แรงบังคับมากกว่าปกติ ทั้งเกียร์ก็มีเสียงดัง และเครื่องสั่นผิดปกติ ด้วยความผิดปกติดังกล่าว จึงนำรถเข้าศูนย์บริการตรวจสอบทันที ทางศูนย์ฯ แจ้งคุณธีรศักดิ์ว่า ไม่พบอาการผิดปกติ ส่วนอาการพวงมาลัยหนักน่าจะเพราะรถใหม่ จะทำการตั้งศูนย์ถ่วงล้อใหม่ให้ แต่เมื่อนำรถขับออกจากศูนย์ฯ ยังไม่ทันไร อาการยังเหมือนเดิม แต่พอไปเช็ค ช่างที่ศูนย์ฯ กลับบอกว่าปกติ เหตุการณ์นี้วนเวียนอยู่ 3 - 4 ครั้ง จนเริ่มขาดความมั่นใจ และพอได้ลองตรวจสอบรถจนละเอียดทุกซอกมุม กลับพบสิ่งที่ไม่คาดฝันหลายอย่าง เช่น สายเข็มขัดนิรภัยเปื่อยเหมือนของใช้แล้ว คอนโซลหน้าห่างกันจนปากกาแยงได้ ยิ่งตรวจยิ่งเจอ พอเอาไปแจ้งบริษัทฯ กลับบอกว่า “รถรุ่นนี้สเปคประมาณนี้แหละ” เฮ้อเห็นเป็นแบบนี้แล้ว ใครจะกล้าขับล่ะ ลำพังขับคนเดียวยังไม่เท่าไหร่ แต่รถคันนี้เป็นแท็กซี่ หากพาผู้โดยสารไปเกิดอุบัติเหตุจะทำไง เลยต้องจอดรถไว้ทั้งที่ผ่อนค่างวดไปแล้ว 2 งวด     คุณธีรศักดิ์จึงมาปรึกษากับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ซึ่งได้ให้คำแนะนำไปว่า ให้ลองเปลี่ยนศูนย์บริการซ่อมใหม่ในครั้งแรกก่อน เผื่อจะพบความผิดปกติอื่น พอลองเปลี่ยนไปใช้สาขาอื่น ก็ได้ผลเช่นเดียวกันบอกว่า เหมือนเดิมแหละซ่อมไม่หาย ศูนย์พิทักษ์ฯ ได้ปรึกษากับทีมนักวิชาการว่าศูนย์ฯ กับผู้ร้องสามารถนำรถไปตรวจสอบเองได้หรือไม่ จึงได้รับทราบว่าเมืองไทยยังไม่มีศูนย์ทดสอบรถยนต์ มีแต่บริษัทบางแห่งที่มีเครื่องมือในการทดสอบรถยนต์มือสอง เมื่อปรึกษากับคุณธีรศักดิ์ จึงขอนำรถไปตรวจสอบบ้างเผื่อเจอปัญหา(เพราะไปศูนย์ของบริษัทรถแล้วไม่เจอปัญหา) หลังการตรวจสอบพบว่า รถมีปัญหาเรื่องช่วงล่างผิดปกติจริงทำให้เกิดอาการอย่างที่เห็น คุณธีรศักดิ์เลยขอให้บริษัทที่ช่วยทดสอบรถให้ เขียนเป็นรายงานการตรวจว่ามีความผิดปกติเรื่องอะไรบ้างและขอให้ศูนย์พิทักษ์ฯ ช่วย ศูนย์พิทักษ์ฯ จึงได้เชิญบริษัท โตโยต้า ที่เป็นผู้ผลิตรถยนต์และให้บริการจำหน่าย พร้อมกับเชิญบริษัทโตโยต้าลิสซิ่งฯ ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อมาเจรจา แต่ในวันที่นัดหมายกลับมีเพียงบริษัทโตโยต้าลิสซิ่งฯ ที่ยอมมาเจรจาด้วย แต่ก็ตกลงกันไม่ได้ คุณธีรศักดิ์จึงขอความช่วยเหลือให้ศูนย์ฯ จัดหาทนายเพื่อดำเนินคดี ปัญหาและอุปสรรคคดีนี้ค่อนข้างพิเศษ มีความต่างจากคดีผู้บริโภคทั่วไป ด้วยเหตุผลดังนี้ แม้จะเป็นเรื่องซื้อรถยนต์ชำรุดบกพร่อง แต่ทว่าผู้ซื้อได้นำรถยนต์มาดัดแปลงเป็นแท็กซี่ พิจารณาแล้วอาจไม่เข้าข่ายผู้บริโภคที่ซื้อรถเพื่อใช้งานเอง ทางทีมศูนย์พิทักษ์ฯ และทีมทนายอาสา จึงไม่ฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค แต่ฟ้องเป็นคดีมโนสาเร่แทน เพราะเกรงว่า การซื้อรถมาดัดแปลงเป็นแท็กซี่จะไม่ใช่คดีผู้บริโภค ต่อมาเมื่อผู้พิพากษาได้เห็นเรื่องก็พิจารณาว่า น่าจะเป็นคดีผู้บริโภคได้ จึงส่งเรื่องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา แต่สุดท้ายศาลอุทธรณ์พิจารณาชัดเจนว่า ไม่ใช่คดีผู้บริโภคจริงๆ เพราะเป็นการนำรถยนต์มาหาประโยชน์ ดังนั้นภาระการพิสูจน์จึงตกเป็นของโจทก์ที่ต้องนำสืบพยานเอง แถมยังโชคไม่ดี บริษัทเอกชนที่เคยตรวจสอบรถให้คุณธีรศักดิ์มาปิดทำการ ทำให้ไม่มีทั้งพยานและเอกสารมายืนยันเอกสาร เมื่อเข้าตาจนแบบนี้ศูนย์ฯ จึงได้เชิญทีมนักวิชาการด้านยานยนต์มาช่วยทดสอบขับรถยนต์ข้างต้น แต่กลับไม่พบปัญหา หลักฐานจึงไม่พร้อมอีก ศูนย์พิทักษ์ฯ จึงคุยกับผู้ร้องว่าพยานหลักฐานเรามีน้อยและไม่แน่ใจว่าจะมีน้ำหนักหรือไม่ หากสามารถตกลงกันได้ในนัดเจรจาไกล่เกลี่ยก็จะเป็นการดีที่สุด แต่เมื่อเริ่มเจรจาใหม่ในชั้นศาล สุดท้ายก็ตกลงกันไมได้ เพราะผู้ร้องจะให้บริษัทรับซื้อรถคืนเท่านั้น ศาลจึงกำหนดสืบพยานและแต่ก็ยังอยากให้มีการเจรจากันอีกครั้ง และในวันนั้นเอง เผอิญมีกรรมการผู้จัดการซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของศูนย์บริการรถยนต์มาศาลด้วยตัวเอง ฝ่ายผู้บริโภคจึงขอเปิดการเจรจา โดยนัดหมายไปเจรจากันที่บริษัทโตโยต้าลิสซิ่งฯ สุดท้ายก็ตกลงกันได้ โดยทางบริษัท โตโยต้า จะขยายระยะเวลาการรับประกันให้อีก 1 ปีหรือ 20,000 กม และทำสัญญาเช่าซื้อใหม่ โดยเริ่มผ่อนค่างวดนับต่อจากค่างวดที่ชำระเดิม ส่วนอาการเสียที่เกิดขึ้น บริษัทฯ ได้ส่งไปซ่อมที่โตโยต้า สำนักงานใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจะแก้ไขให้จนสามารถใช้งานได้ตามปกติ นับว่าจบลงได้ดี เพราะหากจะต้องสู้กันต่อไปในชั้นศาลและมีการสืบพยาน คงต้องนั่งลุ้นกันยาวอีกหลายปี 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 171 “แชร์ลูกโซ่” ธุรกิจมอมเมาคนอยากรวย

ข่าวการจับกุมผู้บริหาร บ. ยูฟัน ในข้อหาฉ้อโกงประชาชน  เป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นถึง ปัญหาความอยากรวยของคนไทย  ซึ่งเป็นความฝันของคนส่วนใหญ่ จนบางครั้งลืมไปว่า สิ่งที่ฝันนั้นไม่ได้มาง่ายๆ อย่างที่คิด ความอยากรวย จึงเป็นช่องทางให้พวกมิจฉาชีพฉกฉวยโอกาสนำมาล่อลวงสุจริตชน  วิธีการที่นิยมคือ ใช้การนำเสนอการทำธุรกิจ ที่มีรูปแบบลักษณะการทำธุรกิจคล้ายกับธุรกิจเครือข่าย MLM ซึ่งย่อมาจากคำว่า Muti-level Marketing อาจใช้เรียกเป็นภาษาไทยว่าธุรกิจขายตรงแบบหลายชั้น ที่เรียกกันว่า “ธุรกิจเครือข่ายหรือ MLM” ซึ่งเป็นธุรกิจที่ถูกกฎหมาย“ธุรกิจเครือข่ายหรือ MLM”   คือ รูปแบบทางการตลาด  ที่ต้องการนำสินค้าจากผู้ผลิตสู่ผู้บริโภค ช่องทางที่ว่านี้ใช้บุคคลเป็นคนโฆษณาสินค้า บอกเล่าเรื่องราวของสินค้า นำเสนอสินค้า รวมทั้งชักชวนคนมาทำธุรกิจได้ด้วย   ลักษณะการทำธุรกิจมุ่งเน้นไปที่ให้ผู้บริโภคภักดีต่อสินค้าและสร้างรายได้ให้กับตัวเอง โดยมีลักษณะดังนี้ผู้ผลิต สินค้าที่นำมาขายในช่องทางธุรกิจเครือข่าย มีทั้งเจ้าของธุรกิจเครือข่ายผลิตเอง และ นำสินค้ามาจากผู้ผลิตสินค้ารายอื่น ๆ เข้ามาจำหน่าย ผู้จำหน่าย หรือ ตัวแทนธุรกิจ คือบุคคลทั่ว ๆ ไปที่สนใจจะมาร่วมธุรกิจ ซึ่งทำหน้าที่จำหน่ายสินค้า และชวนคนเข้ามาร่วมธุรกิจ ยิ่งจำหน่ายสินค้ามากเท่าไหร่ หรือสามารถชวนคนเข้ามาร่วมธุรกิจได้ การจ่ายผลตอบแทนก็จะได้มากตามลำดับขั้นของบริษัทเครือข่ายนั้น ๆ ผู้บริโภค คือปลายทางสุดท้ายที่ใช้สินค้า รวมทั้งผู้จำหน่ายเองก็ต้องเป็นผู้บริโภคด้วย รูปแบบการโฆษณาสินค้าจะใช้วิธีปากต่อปาก  มีเครื่องมือการเป็น โบชัวร์ แคทตาล็อคสินค้า และคู่มือการทำธุรกิจ โดยไม่ต้องผ่านการโฆษณาและพ่อค้าคนกลาง เหมือนกับการตลาดทั่วไป ลักษณะการทำธุรกิจแบบนี้เป็นที่น่าเชื่อถือ    จึงทำให้คนสนใจเข้ามาร่วมธุรกิจเครือข่ายจำนวนมาก เพราะเปิดโอกาสให้คนที่มีทุนน้อย ไม่มีประสบการณ์ด้านธุรกิจ คนที่อยากมีรายได้เสริมจากงานประจำ และยังเป็นธุรกิจที่ไม่มีความเสี่ยง ก็สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจที่สร้างรายได้จำนวนมาก เพียงเริ่มต้นจากการใช้สินค้าที่ดี และเมื่อเกิดความประทับใจในตัวสินค้าที่ใช้ ก็ทำการแนะนำบอกต่อให้คนที่รู้จักได้ใช้สินค้าที่ดีนั้นเหมือนกับตน  เราจะเห็นการทำธุรกิจประเภทนี้ประสบความสำเร็จ เช่น  แอมเวย์  กิฟฟารีน ฯลฯ ที่เปิดสาขามากมายเพื่อให้บริการสมาชิกและบุคคลทั่วไป การทำธุรกิจเครือข่าย หรือ MLM  จึงเป็นธุรกิจการตลาดแบบตรง  ซึ่งทุกบริษัทต้องมีการจดทะเบียนตามกฎหมาย ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)  ตาม พระราชบัญญัติขายตรงและการตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545         แต่ บ.ยูฟันฯ ใช้กลวิธีหลอกลวงประชาชน แบบ “แชร์ลูกโซ่” ใช้ผลประโยชน์เป็นตัวล่อ โดยไม่มีสินค้า  อ้างการทำธุรกิจนี้เป็นการลงทุน ซึ่งมีรูปแบบคล้ายกับธุรกิจเครือข่ายหรือ MLM    โดยการหาสมาชิกใหม่อยู่ตลอดเวลา เจ้าของบริษัทจะได้รับเงินค่าสมาชิก และนำเงินค่าสมัครสมาชิกใหม่บางส่วน มาให้ผลประโยชน์ตอบแทนกับสมาชิกเดิม  ทำให้สมาชิกหลงเชื่อว่าได้รับผลประโยชน์ และเจ้าของบริษัทมักจะใช้ผลประโยชน์หลอกล่อและทำให้หลงเชื่อว่า  หากมีการสมัครสมาชิกต่อจากตัวเอง ผลประโยชน์จะได้รับเพิ่มขึ้น  จึงทำให้มีการบอกต่อและชักชวน ญาติพี่น้อง เพื่อนและคนรู้จักมาลงทุน บางคนได้รับผลประโยชน์เพียงเล็กน้อย จะทำอย่างไรให้ได้เยอะๆ  ก็ใช้วิธีการขายทรัพย์สินของตัวเอง หรือนำไปจำนอง เพื่อมาสมัครสมาชิกต่อตัวเอง เพื่อให้ได้ผลประโยชน์  สุดท้ายเมื่อหมดคนที่ตัวเองรู้จัก  ไม่สามารถหาสมาชิกใหม่ได้  ก็จะไม่ได้รับผลประโยชน์ดังกล่าว  สุดท้ายผู้บริหารของบริษัทจะหนีหายไป หากไม่สามารถตรวจสอบได้  ก็จะกลับมาเปิดบริษัทเพื่อหลอกลวงต่อไปอีก  การกระทำของบริษัท ยูฟันฯ จึงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ขายตรงและการตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545     ที่ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและผู้ประกอบธุรกิจการตลาดแบบตรงดำเนินกิจการในลักษณะที่เป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจ  โดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าวซึ่งคำนวณจากผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น     ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี ปรับไม่เกินห้าแสนบาท          แต่หากความผิดนั้นเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชนมีอัตราโทษหนักกว่าประมวลกฎหมายอาญา คือ  ผู้กระทำความผิดเรื่อง เรื่องการฉ้อโกงประชาชน ได้ระวางโทษผู้กระทำความผิดไว้เพียง จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับแต่อัตราโทษของผู้กระทำความผิดที่เข้าข่าย ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 นี้ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5-10 ปี และปรับตั้งแต่ 500,000 บาท ถึง 1,000,000 บาท และยังมีการปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาท ตลอดเวลาที่ฝ่าฝืนอยู่ หากมีเจ้าทุกข์จำนวนมาก ความผิดต่างกรรมต่างวาระ ต้องติดคุกถึงชาติหน้าอย่างแน่นอนคงต้องเป็นบทเรียนกับผู้ที่อยากมีรายได้เสริม หรือการประกอบธุรกิจ ว่าต้องตรวจสอบกันให้ถี่ถ้วน คิดให้รอบคอบ   แม้จะมีกฎหมายช่วยเหลือ  แต่เงินที่ได้รับคืนคงไม่เท่ากับเงินที่เสียไป หรืออาจไม่ได้เงินคืนเลย ดังสุภาษิตที่ว่า “โลภมาก ลาภหาย”  นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 171 คนกันเองยิ่งต้องระวัง

 หลังเทศกาลสงกรานต์หมาดๆ   น้องวดี ตื่นตระหนกพบว่า เงินในบัญชีธนาคารที่มีสัญลักษณ์ใบโพธิ์  สาขาหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ของตน ได้ล่องหนโดยไม่ทราบสาเหตุมากถึง 35,000 บาท  สำหรับเด็กอายุเพียง 20 ปีมันเป็นเรื่องใหญ่มาก น้องรีบไปแจ้งความต่อสถานีตำรวจเจ้าของพื้นที่ แล้วก็ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรต่อ เพราะตำรวจไม่ได้บอกความคืบหน้าใดๆ  แม่ยาคุณแม่ของน้องวดีความร้อนใจมาก จึงโทรมาขอคำปรึกษาศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อให้ช่วยติดตามหาความจริงวันต่อมา เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ให้ผู้ร้องดำเนินการนำใบแจ้งความยื่นขอตรวจสอบจากธนาคาร จึงพบว่ามีการใช้บัตรเอทีเอ็ม กดเงินที่ตู้เอทีเอ็มหน้าตลาดธานินทร์ เชียงใหม่ จำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรก 15,000 บาทและครั้งที่สองอีก 20,000 บาท  ซึ่งตู้เอทีเอ็มตั้งอยู่บริเวณใกล้บ้านเสียด้วย  เมื่อทราบข้อมูลดังกล่าว  แม่ยาจึงได้ลองสอบถามผู้อาศัยในบ้านของตนเอง(สอบเค้น)  จนมาทราบในเวลาต่อมาว่า ผู้พักอาศัยภายในบ้านหรือคนใกล้ตัวนี่แหละ เป็นผู้นำบัตรเอทีเอ็มไปกดเงินสด 35,000 บาท    แม่ยาได้แจ้งต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า ไม่ติดใจที่ดำเนินการต่อแล้ว เพราะยังไงก็เป็นญาติกัน แนวทางแก้ไข  หากกรณีที่มีเงินในบัญชีธนาคารหายไป ผู้บริโภคต้องปฏิบัติดังนี้ 1. รีบดำเนินการแจ้งคอลเซ็นเตอร์ของธนาคารเจ้าของบัตร เพื่ออายัดการทำธุรกรรมต่างๆ 2. แจ้งความดำเนินคดีต่อสถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ เพื่อดำเนินการหาผู้กระทำความผิดและเป็นหลักฐาน 3. ทำหนังสือหรือจดหมายถึงธนาคารฯ เพื่อตรวจสอบว่าเงินหายไปได้อย่างไร เช่น มีผู้อื่นนำบัตรเอทีเอ็มไปกดเงิน เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 171 ถูกเอาเปรียบจากเจ้าของที่ดิน

           เมื่อประมาณปี 2555 ผู้บริโภคสมมติว่า ชื่อ คุณเอได้ทำการสืบทราบว่าจะมีการแบ่งขายที่ดินในบริเวณที่ติดกับที่ดินของมารดา คุณเอจึงต้องการซื้อที่ดินเพื่อจะนำมาก่อสร้างเป็นบ้านพักอาศัยกับครอบครัวคุณเอตัดสินใจขอซื้อที่ดิน จำนวนเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ ราคา 160,000 บาท ซึ่งที่ดินดังกล่าวได้รวมอยู่กับที่ดินแปลงใหญ่ ยังไม่ได้มีการรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ ซึ่งเจ้าของที่ดินสัญญาว่าถ้าซื้อแล้วไม่เกิน 1 ปีจะได้รับการแบ่งแยกและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิได้ทันที  ต่อมาผู้ร้องได้มีการตกลงต่อรองราคากับทางเจ้าของที่ดินโดนจะนำเงินสดมาชำระให้ทันทีแต่ขอลดราคาลงเหลือ 80,000 บาท ซึ่งเจ้าของที่ดินก็ตกลงตามนั้น ซึ่งได้มีการมอบเงินและมีการทำสัญญาไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดผู้ร้องได้บันทึกคลิปวีดีโอไว้เป็นหลักฐานด้วยในส่วนของการทำสัญญานั้น เจ้าของที่ดินขอไม่ให้มีการแก้ไขตัวเลขโดยอ้างว่ากลัวคนอื่นจะรู้ว่าตนเองขายที่ดินให้กับผู้ร้องถูกกว่าคนอื่น ๆ ทำให้เสียราคาได้  เมื่อตกลงกันแล้วก็มีการนัดวันโอนกรรมสิทธิ เจ้าของที่ดินได้โอนกรรมสิทธิให้แก่ผู้ซื้อเพียง 6 แปลง ไม่ครบตามสัญญา โดยที่ไม่แจ้งเหตุผล  หลังจากนั้นคุณเอก็ได้มีการติดต่อไปหลายครั้งให้โอนกรรมสิทธิให้โดยเสนอเงินเพิ่ม แต่เจ้าของที่ดินก็ยังไม่ยอมโอนให้ประวิงเวลามาโดยตลอดคุณเอเริ่มกังวลใจกลัวว่าเจ้าของที่ดินจะไม่โอนกรรมสิทธิให้ จึงได้ไปตรวจสอบที่สำนักงานที่ดิน และพบว่าที่ดินที่ซื้อนั้นเจ้าของที่ดินได้นำไปจำนองกับบุคคลภายนอกแล้วและต่อมาได้ทราบว่าได้นำไปขายฝากกับอีกคนหนึ่งเมื่อได้ทราบข้อเท็จจริงผู้ร้องจึงให้ทนายความมีจดหมายทวงถามให้เจ้าของที่ดินโอนกรรมสิทธิให้ ซึ่งจดหมายฉบับดังกล่าวเจ้าของที่ดินก็ได้รับแล้ว แต่ก็ยังปฎิเสธเหมือนเช่นเดิม เมื่อเลยเวลาที่กำหนดไว้แล้วจึงได้ตัดสินใจให้ทนายความฟ้องต่อศาล เมื่อขึ้นศาลแล้วได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความในชั้นศาล โดยเจ้าของที่ดินยอมที่จะไถ่ถอนสัญญาขายฝากให้ภายใน 2 ปี นับตั้งแต่เวลาที่ทำสัญญา ถ้าไม่ปฏิบัติตามสัญญาไม่ว่ากรณีใดๆ ถือว่าผิดสัญญายินยอมให้ทางผู้ร้องบังคับคดีได้ทันทีบัดนี้ได้เลยเวลาที่กำหนดไว้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว แต่เจ้าของที่ดินก็ยังไม่ยอมไปไถ่ถอน คุณเอจึงนำเรื่องมาขอปรึกษาว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป แนวทางการแก้ไข  ตามหลักกฎหมาย ถ้าได้มีการประนอมหนี้ในชั้นศาลแล้วฝ่ายที่ประนอมหนี้ผิดนัดไม่ยอมชำระหนี้หรือทำตามสัญญา ให้อีกฝ่ายหนึ่งสามารถบังคับคดีได้ทันทีโดยไม่ต้องฟ้องใหม่ ซึ่งคงต้องเสียเงินและเวลาอีกพอสมควร  ดังนั้นถ้าได้มีการตรวจสอบที่ดินที่เราสนใจต้องการซื้อก่อน ทั้งเรื่องกรรมสิทธิในที่ดิน เรื่องภาระผูกพันอย่างการติดจำนอง ฯลฯ ก็จะเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจ ไม่ให้มีผลยุ่งยากในระยะยาว  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 170 เกือบหยุดหายใจเพราะใบสั่งยาของแพทย์

เมื่อป่วยสิ่งที่คิดเป็นอันดับแรกคือไปหาหมอ  เพื่อให้หมอรักษาอาการป่วยให้ดีขึ้น  เช่นเดียวกับน้าสมัย(นามสมมุติ) อายุ 79 ปี ที่ป่วยหลายโรค ทั้งโรคหัวใจ  เบาหวาน  ความดัน  เรียกได้ว่าโรคมาเป็น ชุดๆ ตามอายุที่สูงขึ้น    น้าสมัยไปหาหมอ หมอก็เขียนใบสั่งยาให้ไปรับยาที่ห้องยา  โดยน้าสมัย ไม่รู้เลยว่าหมอสั่งยาอะไรมาให้กิน   เมื่อได้ยามาก็กินตามคำแนะนำของหมอทุกประการ   แม้มีอาการเหนื่อยง่ายมากขึ้น ก็ไม่ได้สงสัยอะไร  คิดว่าเป็นไปตามวัย  จนกระทั่งหมอโรคหัวใจนัดไปพบอีกครั้งที่โรงพยาบาล  จึงได้ทราบว่าหัวใจเต้นอ่อนมาก เพียง 20-30  ครั้งต่อนาที   หมอสั่งให้นอนโรงพยาบาลทันที  พร้อมบอกว่า เป็นภาวะอันตรายมาก  คนไข้พร้อมจะสิ้นลมได้ทุกเวลา โดยเฉพาะเวลานอนหลับลูกๆ ของน้าสมัย ทุกข์ใจกันมาก ต้องลางานมาดูแลพ่อ ต้องผลัดกันเฝ้าตลอดเวลา เพราะกลัวว่าพ่อจะนอนแล้วไม่ตื่น     แต่ไม่มีใครรู้ว่าสาเหตุที่ทำให้หัวใจเต้นอ่อนมากอะไร   จนกระทั่งหมอโรคหัวใจเรียกลูกๆ ของน้าสมัยเข้าไปพูดคุย  พร้อมแจ้งว่าที่หัวใจเต้นอ่อนสาเหตุเพราะ  ยารักษาความดันที่หมอสั่งให้กิน  ไปกดให้หัวใจเต้นช้าลง  บวกกับน้าสมัยอายุมาก ทำให้อาการเป็นมากขึ้น  หมอจะสั่งยาตัวใหม่ให้นะ เมื่อเปลี่ยนยาอาการของน้าสมัยดีขึ้นทันตาเห็น  สรุปว่าที่น้าสมัยเกือบตายเพราะยาที่หมอสั่งให้กินนั่นเอง สิ่งที่สงสัยคือ  คนไข้อายุเกือบ 80 ปี หมอจะสั่งยาให้ทำไมไม่ระมัดระวังมากกว่านี้   การสั่งยาผิดหรือยาแรงเกินไป  จากหมอที่รักษาก็อาจกลายเป็นฆาตกรได้ง่ายๆ เช่นกัน   เคสนี้ใช้สิทธิราชการ (ซึ่งมักได้ยามากกว่าสิทธิอื่นๆ) การจะเรียกร้องความเสียหายทำได้ทางเดียวคือ”ต้องฟ้อง”(ไม่เหมือนสิทธิในระบบหลักประกันที่มีกองทุนชดเชยความเสียหายที่เกิดจากการรักษาพยาบาล) ซึ่งส่วนใหญ่ก็ปล่อยเลยตามเลยไม่เรียกร้องอะไร   ที่เขียนเรื่องนี้เพราะต้องการให้ผู้บริโภคพึงระมัดระวัง  และสอบถามหมอมากขึ้น ”ก่อนรับยาต้องกล้าถาม” เพราะเมื่อเกิดอันตรายถึงชีวิต ก็ไม่อาจเยียวยาได้   ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยขอตัวท่านและคนใกล้ตัว โปรดระวังว่า  “ยา” มีคุณอนันต์ก็มีโทษมหันต์ เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 170 นับถอยหลัง 180 วัน พรบ.ทวงหนี้

จากปัญหาการร้องเรียนพฤติกรรมของเจ้าหนี้และคนที่ติดตามหนี้มีมากมาย  เช่น การข่มขู่  การประจาน  ทวงหนี้ไม่เป็นเวลา  ทวงหนี้กับญาติพี่น้อง  ฯลฯ  สร้างแรงกดดันให้ลูกหนี้  ทั้งหน่วยงานกำกับดูแล ก็ยังไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมการติดตามทวงถามหนี้ ได้    หลังจาก  คสช.ได้หยิบร่าง พ.ร.บ. ทวงถามหนี้ พ.ศ. ..   มาปัดฝุ่นใหม่  ส่งให้สภานิติบัญญัติไปแก้ไขร่างให้ครอบคลุมทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบเมื่อเดือนสิงหาคม 57     หลังจากที่รอคอยกันมาหลายปี   คงต้องนับถอยหลังจากวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2558   ไปอีก 180  วัน“พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558” จะมีผลบังคับใช้ควบคุมพฤติกรรมของเจ้าหนี้และคนติดตามทวงหนี้ ลูกหนี้ที่รอคอยกฎหมายฉบับนี้คงได้เฮ กันอย่างถ้วนหน้า  ที่จะเห็นคนติดตามทวงหนี้มีมารยาทดีขึ้น  วันนี้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว  เนื้อหาเป็นอย่างไร คงต้องมาดูกัน ว่าฝันของลูกหนีจะเป็นจริงหรือไม่เนื้อหาสาระสำคัญ ของ พ.ร.บ. ทวงถามหนี้  พ.ศ. 25581. ขอบเขตการใช้บังคับเจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้ให้สินเชื่อ ทั้งนี้ ไม่ว่าหนี้ดังกล่าวจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม และให้รวมถึง ผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ดังกล่าว ผู้รับมอบอำนาจช่วงในการทวงถามหนี้ ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ และ ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ให้สินเชื่อในการทวงหนี้2. กำหนดให้มีการจดทะเบียนของผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ต้องจดทะเบียนตามกฎหมาย  หากเป็นทนายความให้ดำเนินการจดทะเบียนได้ที่สภาทนายความ 3. การติดตามทวงถามหนี้ ห้ามผู้ทวงถามหนี้ติดต่อกับบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ลูกหนี้เพื่อการทวงถามหนี้เว้นแต่บุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้ การติดต่อกับบุคคลอื่น ให้กระทำได้เพื่อสอบถามหรือยืนยันข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้เท่านั้น โดยผู้ทวงถามหนี้ต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้(1) แจ้งให้ทราบชื่อตัว ชื่อสกุล และแสดงเจตนาว่าต้องการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้(2) ห้ามแจ้งถึงความเป็นหนี้ของลูกหนี้ เว้นแต่ในกรณีที่บุคคลอื่นนั้นเป็นสามี ภริยา บุพการี หรือผู้สืบสันดานของลูกหนี้ และบุคคลอื่นดังกล่าวได้สอบถามผู้ทวงถามหนี้ถึงสาเหตุของการติดต่อ ให้ผู้ทวงถามหนี้ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับหนี้ได้เท่าที่จำเป็นและตามความเหมาะสม(3) ห้ามใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมาย ในหนังสือ หรือในสื่ออื่นใดที่ใช้ในการติดต่อสอบถาม ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อทวงถามหนี้ของลูกหนี้(4) ห้ามติดต่อหรือแสดงตนที่ทำให้เข้าใจผิดเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้ หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้ การทวงถามหนี้ ให้ผู้ทวงถามหนี้ปฏิบัติดังต่อไปนี้(1) สถานที่ติดต่อ ในกรณีที่ติดต่อโดยบุคคลหรือทางไปรษณีย์ ให้ติดต่อตามสถานที่ที่ลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้ได้แจ้งให้เป็นสถานที่ติดต่อ ในกรณีที่บุคคลดังกล่าวไม่ได้แจ้งไว้ล่วงหน้าหรือสถานที่ที่ได้แจ้งไว้ไม่สามารถติดต่อได้ โดยผู้ทวงถามหนี้ได้พยายามติดต่อตามสมควรแล้ว ให้ติดต่อตามภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ หรือสถานที่ทำงานของบุคคลดังกล่าว หรือสถานที่อื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด(2) เวลาในการติดต่อ การติดต่อโดยบุคคล โทรศัพท์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ ประเภทอื่น ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ให้ติดต่อได้ตั้งแต่เวลา 08.00 นาฬิกา ถึงเวลา 20.00 นาฬิกาและในวันหยุดราชการ เวลา 08.00 นาฬิกา ถึงเวลา 18.00 นาฬิกา หากไม่สามารถติดต่อตามเวลาดังกล่าวได้หรือช่วงเวลาดังกล่าวไม่เหมาะสม ให้ติดต่อได้ในช่วงเวลาอื่นตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด(3) จำนวนครั้งที่ติดต่อ ในช่วงเวลาตาม (2) ให้ติดต่อตามจำนวนครั้งที่เหมาะสมและคณะกรรมการอาจประกาศกำหนดจำนวนครั้งด้วยก็ได้(4) ในกรณีที่เป็นผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ ผู้รับมอบอำนาจช่วงในการทวงถามหนี้ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ หรือผู้รับมอบอำนาจจากผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ให้ผู้ทวงถามหนี้แจ้งให้ทราบถึงชื่อตัวและชื่อสกุล หรือชื่อหน่วยงานของตนและของเจ้าหนี้ และจำนวนหนี้ และถ้าผู้รับมอบอำนาจดังกล่าวทวงถามหนี้ต่อหน้า ให้แสดงหลักฐานการมอบอำนาจให้ทวงถามหนี้ด้วย ในกรณีที่ผู้ทวงถามหนี้ขอรับชำระหนี้ ผู้ทวงถามหนี้ต้องแสดงหลักฐาน การรับมอบอำนาจให้รับชำระหนี้จากเจ้าหนี้ต่อลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้ด้วยและเมื่อลูกหนี้ได้ชำระหนี้แก่ผู้ทวงถามหนี้แล้ว ให้ผู้ทวงถามหนี้ออกหลักฐานการชำระหนี้แก่ลูกหนี้ด้วยหากลูกหนี้ได้ชำระหนี้แก่ผู้ทวงถามหนี้โดยสุจริต ให้ถือว่าเป็นการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้โดยชอบ ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ทวงถามหนี้จะได้รับมอบอำนาจให้รับชำระหนี้จากเจ้าหนี้หรือไม่ก็ตาม ห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะดังต่อไปนี้(1) การข่มขู่ การใช้ความรุนแรง หรือการกระทำอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น(2) การใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้หรือผู้อื่น(3) การแจ้งหรือเปิดเผยเกี่ยวกับความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้ เว้นแต่เป็นกรณีตามมาตรา 8 วรรคสอง (2)(4) การติดต่อลูกหนี้โดยไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใด ที่สื่อให้ทราบว่าเป็นการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เว้นแต่กรณีการบอกกล่าวบังคับจำนองด้วยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์ ซึ่งเจ้าหนี้ไม่สามารถติดต่อลูกหนี้โดยวิธีการอื่น หรือกรณีอื่นใดตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด(5) การใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมายในการติดต่อลูกหนี้ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อการทวงถามหนี้ เว้นแต่ชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้ไม่ได้สื่อให้ทราบได้ว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้(6) การทวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสมในลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดความใน (5) มิให้นำมาใช้บังคับกับการทวงถามหนี้เป็นหนังสือเพื่อจะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาล ห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะที่เป็นเท็จ หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดดังต่อไปนี้(1) การแสดงหรือการใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือเครื่องแบบที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นการกระทำของศาล เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ(2) การแสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าการทวงถามหนี้เป็นการกระทำโดยทนายความสำนักงานทนายความ หรือสำนักงานกฎหมาย(3) การแสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าจะถูกดำเนินคดี หรือจะถูกยึดหรืออายัดทรัพย์หรือเงินเดือน(4) การติดต่อหรือการแสดงตนให้เชื่อว่าผู้ทวงถามหนี้ดำเนินการให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิตหรือรับจ้างบริษัทข้อมูลเครดิตมาตรา 13 ห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะที่ไม่เป็นธรรมดังต่อไปนี้(1) การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ เกินกว่าอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนด(2) การเสนอหรือจูงใจให้ลูกหนี้ออกเช็คทั้งที่รู้อยู่ว่าลูกหนี้อยู่ในฐานะที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการดังต่อไปนี้(1) ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้(2) ทวงถามหนี้หรือสนับสนุนการทวงถามหนี้ซึ่งมิใช่ของตน เว้นแต่ในกรณีที่เป็นหนี้ของสามี ภริยา บุพการี หรือผู้สืบสันดานของตน หรือในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นมีอำนาจกระทำได้ตามกฎหมาย 4. การกำกับดูแลและตรวจสอบ คณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้” ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานกรรมการปลัดกระทรวงการคลังเป็นรองประธานกรรมการคนที่สองปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยนายกสภาทนายความ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งจำนวนไม่เกินห้าคนเป็นกรรมการ ให้อธิบดีกรมการปกครองเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้คณะกรรมการแต่งตั้งข้าราชการของกรมการปกครองสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งต้องมีความรูความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ในด้านการเงินการธนาคาร ด้านกฎหมายหรือด้านการคุ้มครองผู้บริโภค อย่างน้อยด้านละหนึ่งคน ทั้งนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการคุ้มครองผู้บริโภคนั้น ให้แต่งตั้งจากผู้แทนองค์กรพัฒนาภาคเอกชนในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปีและอาจได้รับแต่งตั้งใหม่อีกได้ แต่ห้ามอยู่ในตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระ คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ (1) ออกประกาศหรือคำสั่งเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ (2) ออกข้อบังคับกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนของคณะกรรมการตามมาตรา 27 และกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าว (3) พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งให้ชำระค่าปรับทางปกครองและคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ตามมาตรา 38 (4) กำหนดหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบและระยะเวลาการชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบ (5) เสนอแนะหรือให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ (6) เสนอแนะคณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการในการคุ้มครองหรือช่วยเหลือลูกหนี้ในด้านอื่น (7) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่มีกฎหมายกำหนดหรือตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย ให้มีคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัดประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ภายในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบดังต่อไปนี้ (1) พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนตามพระราชบัญญัตินี้ (2) สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนของผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ (3) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่คณะกรรมการ (4) รายงานการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการทุกสามเดือน (5) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการมอบหมาย ในการรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทวงถามหนี้ให้ที่ว่าการอำเภอและสถานีตำรวจ ให้ที่ทำการปกครองจังหวัดและกองบัญชาการตำรวจนครบาลมีอำนาจในเขตพื้นที่รับผิดชอบดังต่อไปนี้ (1) เป็นสำนักงานทะเบียนรับจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ (2) รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทวงถามหนี้เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัดหรือคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำกรุงเทพมหานครแล้วแต่กรณี (3) ติดตามสอดส่องพฤติการณ์ของผู้ทวงถามหนี้หรือกำกับดูแลการปฏิบัติของผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ (4) ประสานกับหน่วยงานของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลหรือตรวจสอบผู้ทวงถามหนี้หรือบุคคลอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้ (5) รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ และอบรมวิธีการทวงถามหนี้ที่ถูกต้องและเหมาะสม (6) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการ และคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัดหรือคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำกรุงเทพมหานครแล้วแต่กรณี มอบหมาย   5. บทกำหนดโทษ 5.1 โทษทางปกครอง คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัดมีอำนาจสั่งให้ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือปฏิบัติให้ถูกต้องหรือเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กำหนดหากผู้ทวงถามหนี้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง คณะกรรมการฯมีคำสั่งลงโทษปรับทางปกครองไม่เกินหนึ่งแสนบาท   5.2 โทษอาญา บุคคลใดใช้วาจาดูหมิ่น  เปิดเผยหนี้  ติดต่อกับลูกหนี้ด้วยจดหมายเปิดผนึก ไปรษณียบัตร โทรสาร หรือใช้สัญลักษณ์หรือชื่อทางธุรกิจบนซองจดหมาย  ที่สื่อให้ทราบว่าเป็นการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน    ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การแสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าการทวงถามหนี้เป็นการกระทำโดยทนายความ สำนักงานทนายความ หรือสำนักงานกฎหมายหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าจะถูกดำเนินคดี หรือจะถูกยึดหรืออายัดทรัพย์หรือเงินเดือน  หรือการแสดงตนให้เชื่อว่าผู้ทวงถามหนี้ดำเนินการให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิต หรือรับจ้างบริษัทข้อมูลเครดิต  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ บุคคลใดทำการข่มขู่ การใช้ความรุนแรง หรือการกระทำอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหาย แก่ร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น  หรือ การแสดงหรือการใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือเครื่องแบบที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นการกระทำของศาล เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เจ้าหน้าที่ของรัฐประกอบธุรกิจทวงถามหนี้   ทวงถามหนี้หรือสนับสนุนการทวงถามหนี้ซึ่งมิใช่ของตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ บุคคลใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคณะกรรมการ  มาให้ข้อเท็จจริง หรือส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับ การทวงถามหนี้มาเพื่อประกอบการพิจารณา  หรือมาให้ถ้อยคำ   แสดงข้อมูลหรือส่งสมุดบัญชี  เอกสาร ดวงตราหรือสิ่งอื่นอันเกี่ยวกับกิจการ สินทรัพย์ และหนี้สินของผู้ทวงถามหนี้     ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษอาญาตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการหรือไม่สั่งการ หรือการกระทำการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำของกรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการแทนนิติบุคคลนั้น บุคคลดังกล่าวต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เมื่อคณะกรรมการเปรียบเทียบได้ทำการเปรียบเทียบกรณีใด และผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนดแล้ว ให้ถือว่าคดีนั้นเป็นอันเลิกกัน  กฎหมายฉบับนี้ออกมามีเจตนาเพื่อควบคุมพฤติกรรม  ของผู้ทวงถามหนี้ เท่านั้น     มิได้ครอบคลุมเรื่องการชำระหนี้    ดังนั้นเมื่อลูกหนี้ไปกู้ยืมเงิน  ต้องมีหน้าที่ชำระหนี้ตามปกติ  หากลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้     เจ้าหนี้มิสิทธิที่จะดำเนินการฟ้องร้อง เรียกหนี้สินคืนได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 170 อันตรายจากการปรับปรุงพื้นที่ในห้างสรรพสินค้า

ห้างสรรพสินค้า แทบจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตปัจจุบัน ซึ่งก็มีเรื่องให้ต้องระวังมาก นอกจากจะระวังการซื้อสินค้าแล้ว การใช้บริการอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ลิฟต์  บันไดเลื่อน หรือแม้แต่ทางเดินปกติ ก็อาจเกิดอันตรายได้ เพราะห้างสรรพสินค้า เมื่อมีการจัดแสดงหรือจัดงานต่างๆ  เพื่อดึงดูดลูกค้า อาจต้องมีการปรับปรุงพื้นที่ให้บริการ ซึ่งทำให้แม้จะเดินในเส้นทางที่ใช้ตามปกติ ก็ยังอาจเกิดอันตรายและบาดเจ็บได้อย่างคาดไม่ถึงคุณดวงพรและครอบครัว ได้ไปใช้บริการที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในเขตบางแค  ปรากฏว่าระหว่างที่เดินหาร้านเพื่อรับประทานอาหาร คุณดวงพรพลาดเดินไปสะดุดกับรางรถทามิย่า ที่ห้างสรรพสินค้าได้ให้ร้านค้าเช่าพื้นที่เข้ามาจัดทำเป็นสนามแข่งรถทามิย่า โดยที่ห้างสรรพสินค้าเองไม่ได้กั้นเขต หรือปิดป้ายประกาศเตือนไว้แต่อย่างใด เป็นเหตุให้คุณดวงพร ซึ่งมีอายุมากแล้วและสายตาไม่ดี พลาดไปเดินสะดุดกับรางรถทามิย่านี้เข้า ในขณะที่กำลังมองหาสามี ซึ่งเดินตามมาทีหลังเพราะไปหาที่จอดรถอยู่ การสะดุดล้มครั้งนี้ เป็นเหตุให้กระดูกแขนร้าว 1 ข้าง  หัก 1 ข้าง  ขนาดต้องผ่าตัดใส่โลหะด้ามกระดูก และมีรอยแผลบวมช้ำที่เบ้าตาขวา หลังจากไปรับการรักษาพยาบาลแล้ว คุณดวงพรจึงมาทราบภายหลังว่า ทางห้างฯ จึงค่อยมีการจัดหาที่กั้น มากันพื้นที่ในบริเวณที่จัดวางรางรถทามิย่า แนวทางแก้ไข คุณดวงพรได้มาคุยกับทีมศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอคำปรึกษา โดยก่อนหน้านั้น ทางคุณดวงพร ได้มีเจรจาไกล่เกลี่ยกับทางห้างฯ แล้ว แต่ก็ได้รับการปฏิเสธว่า ไม่ได้เป็นความผิดของห้างฯ โดยบ่ายเบี่ยงว่า คุณดวงพรตั้งใจเดินข้ามเข้าไปเอง แล้วสะดุดรางล้มเอง ซึ่งกล้องวงจรปิดไม่สามารถจับภาพเอาไว้ได้ แต่ห้างฯ จะให้ความช่วยเหลือเป็นจำนวนเงิน 20,000 บาท ขณะที่คุณดวงพรต้องเสียค่ารักษาพยาบาลไปแล้วถึง  169,792 บาท และหลังออกจากโรงพยาบาลก็ยังต้องมีการรักษาตัวอย่างต่อเนื่องด้วย ทางคุณดวงพรต้องการให้ห้างฯ และผู้ประกอบการที่ดูแลพื้นที่การจัดวางรางรถทามิย่า ช่วยเรื่องค่ารักษาพยาบาล เป็นจำนวน 100,000 บาท และได้ยื่นข้อเสนอนี้เมื่อมีการเจรจาไกล่เกลี่ยร่วมกันที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ แต่ทางห้างฯ ยังคงยืนกราน ไม่ยินยอมช่วยเหลือในเงินจำนวนดังกล่าวเช่นเดิม  เมื่อทางห้างฯ ไม่ยินดีช่วยเหลือตามข้อเสนอ จึงอยู่ในระหว่างการพิจารณาว่า อาจต้องฟ้องร้องดำเนินคดีกันต่อไป เหตุเกิดในห้างสรรพสินค้าคราวนี้ อาจเทียบเคียงได้กับกรณีที่ผู้ร้องทุกข์รายหนึ่ง ซึ่งเดินตกร่องน้ำที่ไม่มีฝาปิดบริเวณห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง จนได้รับบาดเจ็บกระดูกข้อเท้าขวาหลุดและแตก เสียค่ารักษาและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องไปหลายบาท แต่ห้างฯ ปฏิเสธความรับผิดชอบเช่นเดียวกัน สุดท้ายจึงจบลงที่การฟ้องร้องเป็นคดีผู้บริโภคในครั้งนั้นศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ห้างสรรพสินค้าซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่ เป็นผู้ทำรางระบายน้ำรูปตัววีและเกาะกลางถนนเอง ควรจะทราบถึงความเป็นไปได้ในการที่จะเกิดอุบัติเหตุขึ้นแก่ผู้ที่เข้าไปใช้บริการห้างสรรพสินค้าในการเดินผ่านบริเวณที่เกิดเหตุ ห้างฯ ควรดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อป้องกันหรือบรรเทาอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากการเดินผ่านบริเวณที่เกิดเหตุ เช่น การติดไฟส่องสว่าง การติดป้ายเตือนให้ระมัดระวังในการเดินในพื้นต่างระดับที่ติดต่อกับรางระบายน้ำรูปตัววีที่ห้างฯ ทำขึ้น แต่ห้างฯ กลับไม่ได้กระทำการดังกล่าว เพิกเฉย ละเลยในการป้องกันหรือบรรเทาอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น การกระทำของห้างฯ จึงเป็นการกระทำโดยประมาท และละเมิดต่อโจทก์ ที่เดินผ่านบริเวณที่เกิดเหตุแล้วประสบอุบัติเหตุลื่นล้มจนได้รับบาดเจ็บ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากห้างฯ ได้ และศาลพิพากษาให้ห้างฯ จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลตามที่โจทก์ร้องขอ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 169 ถึงเวลาต้องปฏิรูปการเข้าถึงอาหารปลอดภัย

15 มีนาคม ของทุกปี  คือวันคุ้มครองผู้บริโภคสากล  เป็นวันที่ผู้บริโภคทั่วโลกลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐาน  จากการที่ถูกละเมิดสิทธิโดยผู้ประกอบการที่ไร้ธรรมาภิบาล  โดยรัฐบาลของแต่ละประเทศมีหน้าที่กำหนดนโยบายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคแท้จริงแล้ว  ประเทศไทยมีการพูดถึงสิทธิผู้บริโภคมาก่อนปี 2520  และผลักดันจนทำให้เกิด พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2522  โดยกำหนดสิทธิผู้บริโภคไว้ถึง 5 ประการ  คือ สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าและบริการ/สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกสินค้าและบริการ/สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา/สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ/สิทธิจะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย   (ยังมีสิทธิผู้บริโภคสากลอีก 3 ข้อ)และให้มี สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค  ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ  มาเป็นผู้กำกับดูแลงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศไทย  และมีการขยายงานคุ้มครองผู้บริโภค ออกไปอีกหลายหน่วยงานในแต่ละด้านแต่รัฐก็คือรัฐ งานทุกเรื่องเป็นไปอย่างล่าช้า   ไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมผู้ประกอบการที่ไร้จริยธรรม  แม้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค มีผลบังคับใช้มากว่า 35 ปีแต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองอย่างจริงจัง!งานสมัชชาผู้บริโภคที่จัดขึ้นวันที่ 15 มีนาคม ปีนี้   เน้นไปที่เรื่องการเข้าถึงอาหารปลอดภัย  เพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  จริงจังกับเรื่องอาหารปลอดภัยเพิ่มขึ้น  ไม่ใช่บริโภคอาหารตามที่โฆษณา เช่น  กินชาเขียว(น้ำตาลเยอะ)แล้วได้รถเบนซ์  กินเครื่องดื่มชูกำลังแล้ว ได้เงิน 10 ล้าน  คนก็ระดมกินกันมากมายเพื่อหวังรวย  มิได้กินเพื่อเป็นอาหาร  ยกตัวอย่าง เช่น บริษัทเครื่องดื่มชูกำลัง มักชอบไปจัดงานอีเว้น  ในต่างจังหวัดโดยมีสิ่งล่อใจ ด้วยของขวัญของรางวัล และเชิญดารานักร้องดังไปปรากฏตัว  แต่มีข้อแม้ใครจะเข้างานต้องมีฝาขวด 10 ฝา  บางคนก็เตรียมมาจากบ้าน  คนที่ไม่ได้เตรียมมาก็ซื้อได้เลยหน้างาน สิ่งที่น่าเศร้าใจที่สุดคือ เด็กประมาณ 11 ขวบ ยืนกินเครื่องดื่มชูกำลังตรงนั้นรวดเดียว 10 ขวด  เพียงแค่อยากเข้าไปสัมผัสใกล้ชิดกับดาราที่ชื่นชอบ  โดยที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีใครเสนอตัวเข้ามาเป็นเจ้าภาพจัดการ       ยังไม่รวมถึงการโฆษณาอาหารเสริม  ให้เข้าใจผิดว่าเป็นยารักษาโรค   การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพที่สำคัญ  มี  2 ส่วน ต้องมีการกำกับการโฆษณาอาหารมิให้เกิดการโฆษณาเกินจริง และใช้การพนันมาสร้างแรงจูงใจให้ซื้อสินค้า   ควบคุมความหวานในอาหาร และกำหนดห้ามดื่มเกินวันละ กี่ขวด   เพราะ “ปากคือประตูสู่โรคภัย”  ไม่ควบคุมวันนี้ อนาคตเด็กไทย  จะเป็น “คนอมโรค” ซึ่งจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจ  และความมั่นคงของประเทศ   ดังนั้นการทำให้ผู้บริโภคเท่าทัน!  ก่อนหยิบอะไรใส่ปากจึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง!  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 169 กรณีน้ำอัดลมระเบิดเป็นเหตุให้เจ็บตัว มาดูว่าเจ้าของบริษัทฯ ชี้แจงอย่างไร

จากกรณีนี้  ที่คุณณิชาพร ได้เข้ามาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค  ว่าบุตรชายได้รับบาดเจ็บสาหัสจากขวดแก้วน้ำอัดลมระเบิดใส่  จนตาซ้ายบอดสนิทใช้การไม่ได้นั้น (จากฉบับที่ 165 )หลังการรับเรื่องร้องเรียน ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้แนะนำให้คุณณิชาพรรวบรวมพยานหลักฐาน และนัดเจรจาไกล่เกลี่ยให้กับคุณณิชาพร กับบริษัทผู้ประกอบการน้ำอัดลมเอส ในวันที่ 23 มกราคม 2558  โดยภายหลังการเจรจาบริษัทผู้ประกอบการน้ำอัดลมเอส ได้ชี้แจงเป็นหนังสือถึงสาเหตุการแตกของผลิตภัณฑ์ให้กับศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ทราบ โดยผู้เขียนขอสรุปเนื้อหาสาระสำคัญให้ผู้อ่านได้ทราบทั่วกัน ดังนี้“จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเหตุให้เศษแก้วของขวดน้ำอัดลมกระเด็นเข้าที่คางและตาด้านซ้ายของผู้บาดเจ็บ ทั้งนี้ภายหลังเกิดเหตุ ผู้บาดเจ็บไม่ได้รักษาพยาบาลอย่างรวดเร็ว กล่าวคือ เกิดเหตุประมาณ 2.00 น. นายจ้างพาไปส่ง รพ. 3.00 น. แต่ได้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประมาณ 8.00 น.จากข้อเท็จจริงดังกล่าว บริษัทฯ ขอชี้แจงเพิ่มเติมว่า กระบวนการผลิตน้ำอัดลมของบริษัทฯ มีคุณภาพมาตรฐานและปลอดภัยกับผู้บริโภค มีมาตรการควบคุมคุณภาพในการผลิตที่เข้มงวดทุกขั้นตอน โดยกระบวนการผลิตด้วยระบบเครื่องจักรอัตโนมัติที่ทันสมัย มีการตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ตลอดถึงระบบการผลิตภายใต้ระบบคุณภาพและสุขลักษณะที่ดีในการผลิต GMP&HACCP ตามมาตรฐานสากล บรรจุภัณฑ์ขวดแก้วที่ใช้สำหรับน้ำอัดลมซึ่งมีแรงดันจากก๊าซภายในขวด สำหรับมาตรฐานการผลิตขวดประเภทนี้จะต้องมีความหนาและสามารถทนต่อแรงดันได้ โดยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรม (มอก) “ขวดแก้วสำหรับเครื่องดื่มประเภทอัดก๊าซ” การทดสอบความต้านทานต่อความดัน มาตรฐานที่ 229 ปอนด์/ตร.นิ้ว ซึ่งสำหรับขวดแก้วของบริษัทฯ มีมาตรฐานไม่ต่ำกว่า 253 ปอนด์/ตร.นิ้ว ออกแบบไว้มีค่าสูงกว่ามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่กำหนดไว้และสามารถทนแรงดันได้มากกว่า ซึ่งขณะบรรจุผลิตภัณฑ์มีความดันก๊าซในขวดเพียง 35-45 ปอนด์/ตร.นิ้ว ซึ่งขวดแก้วบรรจุน้ำอัดลมของบริษัทฯ สามารถทนแรงดันและมีความปลอดภัยเพียงพอสำหรับการนำไปใช้งานข้อชี้แจงดังกล่าว จึงสรุปได้ว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับผู้บาดเจ็บ ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติหรือความบกพร่องในกระบวนการผลิตของบริษัทแต่อย่างใด ”จากการชี้แจงของบริษัทฯ ชัดเจนมากกว่า บริษัทฯ ไม่ประสงค์จะเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดพลาดของบริษัทฯ  ส่วนที่ขวดแก้วน้ำอัดลมระเบิด จะเกิดจากอะไรก็สุดแต่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะคิดไปเอง  เพราะบริษัทฯ บอกไม่รับรู้ด้วยแล้ว       แล้วอย่างนี้ผู้บริโภคที่เสียหายจะขอความเป็นธรรมได้อย่างไรเห็นคำชี้แจงมาแบบนี้ ผู้เขียนคิดเอาเองว่า ต่อจากนี้ผู้อ่านทุกท่าน ผู้บริโภคทุกคนคงต้องมีความระมัดระวัง  และตระหนักถึงความไม่ปลอดภัยด้วยตนเองตลอดเวลา โดยเฉพาะเวลาจะดื่มน้ำอัดลมที่เป็นขวดแก้ว หรือแค่อยู่ใกล้ๆ น้ำอัดลมที่เป็นขวดแก้ว เพราะว่าสักวันอาจจะเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นได้ใครจะรู้  เนื่องจากไม่เคยมีคำเตือน ให้ระวัง หรือการแจ้งเตือนจากผู้ประกอบการถึงวิธีการป้องกันหรือการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้แต่อย่างใด  แน่นอนกรณีแบบนี้ไม่ใช่กรณีแรก แต่พอเกิดเหตุขึ้น ก็ไม่มีผู้ใดออกมาแสดงความรับผิดชอบเหมือนทุกครั้งไปต่อจากนี้คงต้องเป็นการตัดสินใจของคุณณิชาพร ผู้เสียหาย ว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร จะใช้สิทธิทางกฎหมายของผู้เสียหายฟ้องคดีหรือไม่อย่างไรทั้งนี้หากจะต้องฟ้องร้องเป็นคดีความกันจริง ผู้เขียนขอเสริมตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกัน เพื่อให้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณากันอีกซักนิดกรณีนี้ เข้าลักษณะการเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ตามนิยามความหมายตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 ที่หมายความว่า สินค้าที่ก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นได้ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุจากความบกพร่องในการผลิตหรือการออกแบบ หรือไมได้กำหนดวิธีใช้ วิธีเก็บรักษา คำเตือน หรือข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า หรือกำหนดไว้แต่ไม่ถูกต้องหรือไม่ชัดเจนตามสมควร ทั้งนี้โดยคำนึงถึงสภาพของสินค้า รวมทั้งลักษณะการใช้งาน และการเก็บรักษาตามปกติธรรมดาของสินค้าอันพึงคาดหมายได้ซึ่งตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 นี้ มีอายุความ 3 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหาย และสามารถเรียกร้องค่าเสียหายต่อจิตใจได้ด้วยดังนั้นกรณีนี้ผู้อ่านฉลาดซื้อจะต้องติดตามเสียงผู้บริโภคกันอย่างไม่คลาดสายตา เพราะหากเรื่องนี้ฟ้องเป็นคดีความและมีความคืบหน้าเมื่อไหร่ ผู้เขียนจะต้องนำมาขยายผลให้ท่านผู้อ่านรับทราบกันอย่างแน่นอน อย่าลืมติดตามกันนะครับ !!!อัพเดทล่าสุด 31 พ.ค. 60 ศาลแพ่งพิพากษาให้เครื่องดื่มน้ำอัดลม เอส จ่ายค่าเสียหายให้ผู้บริโภคกว่า 2 ล้านบาท หลังพิสูจน์พบว่ากระบวนการผลิตสินค้าไม่ปลอดภัย ผู้บริโภคเสนอให้เยียวยาผู้บริโภคทันทีจะเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการ31 พ.ค. 60 ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยผลการพิทักษ์สิทธิให้กับผู้บริโภค กรณีได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคว่าเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 57 ผู้บริโภคซึ่งเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ได้ทำงานพิเศษช่วงเย็นเป็นพนักงานร้านอาหารขณะนำขวดเครื่องดื่มน้ำอัดลมยี่ห้อดังกล่าวใส่ถาดไปเสิร์ฟให้ลูกค้าเกิดระเบิดขึ้น ทำให้เศษแก้วกระเด็นเข้าตาข้างซ้ายเป็นเหตุให้เลนส์ตาซ้ายแตกทำให้ตาบอด หลังการเกลี่ยไกล่ไม่ได้ผลจึงยื่นฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค โดยฟ้องตาม พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 เรียกค่าเสียหาย 10,897,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 บาท ต่อปี นับจากวันยื่นฟ้อง นั่นคือวันที่ 18 พ.ค. 58หลังการพิจารณาคดีศาลได้พิพากษาเมื่อวันที่ 8 ก.พ.60 ให้จ่ายค่าเสียหายจำนวน 1,430,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันเกิดเหตุไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยคิดดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้อง รวมทั้งชำระค่าสูญเสียความสามารถในการประกอบอาชีพทั้งปัจจุบันและอนาคตอีก 900,000 บาท โดยให้สงวนสิทธิ์ที่จะแก้ไขคำพิพากษาเกี่ยวกับค่าเสียหายอย่างอื่นที่ไม่ใช่ตัวเงิน รวมถึงค่ารักษาพยาบาลในอนาคตไว้จนกว่าจะรักษาเสร็จ ภายใน 5 ปี นับตั้งแต่มีคำพิพากษานายเฉลิมพงษ์ กลับดี ทนายความจากศูนย์ทนายอาสามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผู้รับผิดชอบคดีกล่าวว่า การยื่นฟ้องในคดีนี้ ภาระการพิสูจน์อยู่กับผู้ประกอบการ ที่จะต้องพิสูจน์ว่าสินค้าของตัวเองปลอดภัย“ในการสู้คดีนั้นสู้กันด้วยหลักวิชาการซึ่งพบว่าแม้จะมีการตรวจวัดแรงดันก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขวดน้ำอัดลม แต่มีการนำขวดเก่ากลับไปใช้ซ้ำ จะเลิกใช้ขวดที่ชำรุดก็ต่อเมื่อขวดชำรุดเห็นประจักษ์ ซึ่งขวดที่อาจมีการชำรุดเราจะมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นเลย รวมถึงการขนส่ง การนำไปแช่ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิแบบเชียบพลัน การถูกกระแทกเวลาขนส่ง ล้วนส่งผลต่อการชำรุดของขวด เมื่อพิสูจน์ไม่ได้ศาลจึงตัดสินว่าเป็นสินค้าไม่ปลอดภัย” นายเฉลิมพงษ์กล่าวนอกจากนี้ยังกล่าวเพิ่มเติมว่าเพื่อจะวิเคราะห์ได้รวดเร็วขึ้นผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากสินค้าไม่ปลอดภัยควรเก็บหลักฐานนั้นไว้ด้วย เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญได้พิสูจน์ รวมถึงหากมีบิลค่ารักษาพยาบาลต่างๆก็ควรเก็บไว้เพื่อใช้ประกอบการเรียกค่าชดเชยต่างๆได้นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าไม่เฉพาะผู้ประกอบการรายนี้เท่านั้น อยากให้รายอื่นๆตระหนักถึงเรื่องนี้ด้วย อยากให้มีกระบวนการเยียวยาผู้บริโภคที่รวดเร็วเพราะความเสียหายจากสินค้าอาจเกิดขึ้นได้“การได้รับความเสียหายจากสินค้าอาจจะเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วการชดเชยเยียวยาให้กับผู้บริโภคเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องชดเชยให้กับผู้บริโภค ไม่ต้องให้ผู้บริโภคฟ้องแล้วถึงจะเยียวยา ถ้าผู้ประกอบการตระหนักถึงจุดนี้น่าจะเป็นผลดีที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการใช้สินค้านั้นต่อไป และเป็นการยกระดับมาตรฐานสินค้าของตัวเองด้วย” นางนฤมลกล่าว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 169 ความคืบหน้ากรณี รถทัวร์ตกเหว แล้วหลอกให้ผู้เสียหายทำยอมรับเงิน

ความคืบหน้าหลังการฟ้องคดี จากเสียงผู้บริโภค ฉบับที่ 165 ตอน บริษัทประกัน หลอกผู้เสียหาย ทำยอมรับเงิน เหตุรถทัวร์ตกเหว ครับจากเหตุการณ์ ที่กลุ่มชาวบ้านผู้สูงอายุ จากหมู่บ้านแม่สะลาบและหมู่บ้านบุปผาราม ตำบลชมพู อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมกันเหมารถยนต์โดยสารรับจ้างจำนวน 3 คัน เพื่อไปทำบุญทอดกฐินที่วัดใหม่สามัคคีธรรม จังหวัดลำปาง ครั้นเมื่อทำบุญเสร็จแล้ว และกำลังเดินทางกลับจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อมาถึงบริเวณเส้นทางถนนสายพะเยา – วังเหนือ มุ่งหน้าไปยังอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นทางลาดลงเขา รถยนต์โดยสารคันที่ 2 ที่ขับรถมาด้วยความเร็ว ได้เสียหลัก ก่อนจะพุ่งใส่ราวสะพานเหล็กกั้นริมถนน ชนเข้ากับต้นไม้ใหญ่หักโค่น หลังคารถฉีกขาด รถพลิกคว่ำพุ่งดิ่งลงเหวลึก มีผู้เสียชีวิตทันที 22 คนและบาดเจ็บ 17 คน นั้นหลังเกิดเหตุ ตัวแทนบริษัทผู้ประกอบการรถยนต์โดยสารและตัวแทนบริษัทประกันภัยได้เข้าเยี่ยมดูแลผู้เสียหายทั้งหมดด้วยความปรารถนาดี พร้อมมอบของขวัญอันล้ำค่าที่ไม่ลืมเลือนให้กับผู้เสียหายที่บาดเจ็บและญาติผู้เสียชีวิตแต่ละราย ด้วยการจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทน พร้อมสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยที่ตัวแทนบริษัทประกันภัยดังกล่าวไม่ได้อธิบายถึงข้อเสียของการทำสัญญาประนีประนอมให้กับผู้เสียหายแต่อย่างใด ว่าเมื่อผู้เสียหายรับเงินและลงชื่อรับเงินไปแล้วจะเสียสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายต่างๆ เพิ่มเติมจากผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นคนขับ เจ้าของรถ หรือบริษัทประกันภัยทันทีจากกรณีดังกล่าว ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ร่วมกับ ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพจังหวัดเชียงใหม่ และมูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา ในการลงพื้นที่รวบรวมข้อเท็จจริงและให้ความช่วยเหลือทางคดีเพื่อเรียกร้องสิทธิที่ถูกละเมิดและถูกหลอกลวงจากข้อมูลของบริษัทประกันภัย จึงได้ยื่นฟ้องนายวิวัฒน์ โนชัย , ห้างหุ้นส่วนวีระพันธ์ทัวร์แอนด์ทราเวล , นายวีระพันธ์ เหลืองทอง , บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด มหาชน และ บริษัท สหมงคลประกันภัย จำกัด มหาชน เป็นคดีผู้บริโภค จำนวน 26 คดี ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2557 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ นัดพิจารณาคดีครั้งแรก ในวันที่ 23 ธันวาคม 2557   และ 16 มกราคม 2558  ตามลำดับ โดยในวันนัดดังกล่าวคู่ความทั้งหมดประกอบด้วยผู้เสียหายที่เป็นโจทก์ทั้ง 26 คดี และจำเลยทั้งห้ามาศาล เพื่อเจรจาไกล่เกลี่ย แต่คู่ความทั้งสองฝ่ายเจรจากันไม่ได้ เนื่องจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของรถแถลงต่อศาลว่าไม่มีเงินเพียงพอที่จะจ่ายตามที่โจทก์ทั้ง 26 คดีเรียกร้องได้ และให้เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 4 บริษัทประกันภัยให้จ่ายค่าเสียหายแทน  ส่วนจำเลยที่ 4 และที่ 5 ในฐานะบริษัทประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุ ก็ออกตัวชัดเจนว่าได้จ่ายเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้กับผู้เสียหายและทายาททั้งหมดแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องจ่ายเพิ่มให้อีกแต่อย่างใด  เมื่อคดีไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ ศาลจึงกำหนดให้นัดสืบพยานเพื่อไม่ให้คดีล่าช้าโดยศาลใช้กระบวนพิจารณาคดีแบบกลุ่ม คือ รวมทั้ง 26 คดีเป็นคดีเดียวกัน โดยให้สืบโจทก์แต่ละคดีให้เสร็จสิ้นก่อน ค่อยให้จำเลยทั้งห้าสืบแก้ แต่ในระหว่างการสืบพยานโจทก์  คู่ความทั้งสองฝ่ายได้เจรจาไกล่เกลี่ยกันโดยตลอดซึ่งภายหลังการสืบพยานโจทก์ได้ 10 วัน  จำเลยที่ 2 และ 3 เสนอเงื่อนไขการเจรจา ยินยอมชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้ง 26 คดี เป็นเงินจำนวนหนึ่ง และจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้รับประกันภัยภาคสมัครใจของรถยนต์คันเกิดเหตุ เสนอเงื่อนไขการเจรจา ช่วยเหลือชำระค่าเสียหายเพิ่มเติมให้กับโจทก์ที่บาดเจ็บตามการเรียกร้องของแต่ละคนอีกจำนวนหนึ่ง (สำหรับกรณีคนที่เสียชีวิตนั้น จำเลยที่ 4 ไม่ได้จ่ายเพิ่ม เนื่องจากเต็มวงเงินตามหน้ากรมธรรม์ประกันภัยแล้ว)  โจทก์ทั้ง 26 เห็นชอบด้วยกับเงื่อนไขของจำเลยดังกล่าว จึงยอมรับและยินยอมถอนฟ้องจำเลยทั้งหมดในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมาหลังคดีสิ้นสุด จำเลยที่ 3 เจ้าของรถ ได้แถลงต่อหน้าศาลแสดงความเสียใจและขออโหสิกรรมในความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด และผู้เสียหายทุกคนไม่ติดใจ ยินยอมอโหสิกรรมให้ตามที่จำเลยที่ 3 แถลง คดีจึงยุติลงด้วยดีบทสรุปของคดีนี้ หากมองถึงเรื่องจำนวนเงินที่โจทก์แต่ละคนได้รับแล้ว อาจจะไม่สมหวังเท่าใดนัก เหตุเพราะคดีนี้มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เรื่องจำนวนเงินค่าเสียหายไม่ใช่ประเด็นสำคัญสำหรับการฟ้องคดี  อาทิ เจ้าของรถไม่มีเงินเพราะเป็นผู้ประกอบการรายย่อย และผู้เสียหายเกือบทุกคนถูกบิดเบือนข้อมูลหลอกให้รับเงินทำสัญญาประนีประนอมยอมความแต่หากมองถึงเรื่องกระบวนการต่อสู้ของผู้เสียหายทุกคนที่ ร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจ ในการเรียกร้องสิทธิ รวมถึงขั้นตอนการฟ้องคดี ที่ชาวบ้านผู้เสียหายทั้งหมดได้เรียนรู้โดยตรง ในการเจรจาไกล่เกลี่ย และการรวมคดีเพื่อพิจารณาแบบกลุ่มนั้น ต้องถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงและที่สำคัญ ผู้เสียหายทุกคน รู้ตัวเองดีว่าโอกาสที่จะได้รับค่าเสียหายได้ยาก เพราะถูกสัญญาประนีประนอมยอมความปิดปากไว้แล้ว แต่ทุกคนก็ไม่ยอมแพ้ ไม่มีถอย พร้อมที่จะสู้ เพราะทุกคนต้องการปกป้องสิทธิของตนเอง ต้องการฟ้องคดีเพื่อให้เป็นประเด็นสาธารณะ  เป็นตัวอย่างให้กับจังหวัดเชียงใหม่เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการนำไปสู่การพัฒนามาตรฐานสัญญารถเช่าต่อไปกรณีนี้ ถือเป็นกรณีตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่งที่จะเป็นบทเรียนให้กับผู้บริโภครายอื่นๆ ได้เรียนรู้ได้ว่า อย่าเพิ่งยอมแพ้กับสิ่งที่ยังไม่เกิด แม้จะมีปัญหาและอุปสรรคขวางอยู่ข้างหน้า ขอให้เราได้เริ่ม รับรองมีทางออกแน่นอน...  

อ่านเพิ่มเติม >