ฉบับที่ 247 รู้เท่าทันหม้อหุงข้าวลดน้ำตาล

        ช่วงนี้กระแสโฆษณาหม้อหุงข้าวลดน้ำตาลกำลังมาแรงทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศจีน ญี่ปุ่น และประเทศต่างๆ ในเอเชียที่กินข้าวเป็นอาหารหลัก ข้าวเป็นอาหารประเภทแป้ง ซึ่งจะย่อยกลายเป็นน้ำตาล ดังนั้นกลุ่มผู้ที่เป็นเบาหวานและต้องการลดน้ำตาล จึงสนใจหม้อหุงข้าวลดน้ำตาลกันอย่างมากมาย เรามารู้เท่าทันกันเถอะ หม้อหุงข้าวลดน้ำตาลลดน้ำตาลคืออะไร         หม้อหุงข้าวลดน้ำตาลนั้นจะมีกระบวนการในการหุงที่แตกต่างกันกับหม้อหุงข้าวทั่วไป โดยมีการแยกน้ำที่ได้จากการหุงข้าวออกมาจากข้าว ทำให้ระดับน้ำตาลภายในข้าวลดลงได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์หลังจากข้าวสุกแล้ว ทำให้เข้ากับกระแสการต่อต้านน้ำตาล หม้อหุงข้าวลดน้ำตาลจึงได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในประเทศจีน จนสถาบันอาหารปักกิ่งต้องออกมาทำการทดลองว่า หม้อหุงข้าวลดน้ำตาลสามารถลดน้ำตาลได้ 70 เปอร์เซนต์จริงหรือไม่ หม้อหุงข้าวลดน้ำตาลช่วยลดน้ำตาลในข้าวได้จริงหรือไม่         ข้อมูลจากเว็บไซต์ใน Blogdits อ้างอิงข้อมูลจาก https://www.chinanews.com/cj/2020/10-31/9326997.shtml พบว่า กระบวนการทำงานของหม้อหุงข้าวลดน้ำตาลนั้น ไม่สามารถที่จะใช้ในการลดน้ำตาลภายในข้าวได้จริง เนื่องจากว่าภายในเมล็ดข้าวนั้นจะประกอบไปด้วย คาร์โบไฮเดรตซึ่งเป็นแป้งถึงร้อยละ 90 ของเมล็ดข้าว และร้อยละ 75 ของข้าวเป็นแป้ง โดยองค์ประกอบของแป้งเป็นพอลิแซคคาไรด์ที่เกิดจากกลูโคสจำนวนหลายพันโมเลกุลมาต่อกัน มีโครงสร้างเป็นทั้งแบบสายยาวและกิ่งก้านสาขา แป้งมีมากในพืชประเภทเมล็ดเช่นเมล็ดข้าวและพืชที่มีหัวหัว เมื่อแป้งถูกความร้อนจะกลายเป็นเด็กซ์ตริน ซึ่งเป็นสารที่มีรสหวานเล็กน้อยและมีสมบัติเหนียวแบบกาว ถ้ากินมากเกินไปจะทำให้อ้วนได้  ดังนั้นไม่ว่าจะโดนความร้อนหรือมีการแยกน้ำที่ใช้ในการต้มข้าวออกจากการหุงข้าวก็ตาม ก็ไม่สามารถที่จะทำการลดปริมาณน้ำตาลที่อยู่ภายในข้าวหรือเมล็ดข้าวได้อย่างมีนัยยะสำคัญและสามารถที่จะช่วยในการลดปริมาณน้ำตาลภายในข้าวได้จริงนั่นเอง         สถานีโทรทัศน์ของจีนยังรายงานผลการทดลองการเปรียบเทียบโดยการวัดระดับน้ำตาลภายในเลือดของอาสาสมัครที่กินข้าวที่หุงด้วยหม้อหุงข้าวธรรมดา กับ ข้าวที่หุงด้วยเครื่องหุงข้าวลดน้ำตาลพบว่า อาสาสมัครทั้งสองกลุ่ม มีระดับน้ำตาลที่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญการหุงข้าวที่แยกน้ำออกจากข้าว คล้ายกับการเช็ดข้าวแบบสมัยก่อน ซึ่งนำมาใช้กับการหุงข้าวแบบหม้อหุงข้าวลดน้ำตาล ซึ่งน้ำข้าวนั้นจะอุดมไปด้วย โพลิฟีนอล วิตามินบีคอมเพลกซ์ วิตามินอี เป็นต้น  โดยเฉพาะวิตามินบี จะสูญเสียไปได้ง่าย         การกินข้าวที่หุงข้าวแบบทิ้งน้ำข้าวเป็นเวลานาน จะต้องกินวิตามินรวมเสริม หรือกลุ่มวิตามินบี เพื่อทดแทนวิตามินที่สูญเสียไป         ยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันประสิทธิผลของการลดน้ำตาลในข้าวที่หุงด้วยหม้อหุงข้าวลดน้ำตาล         สรุป     ยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันประสิทธิผลการลดน้ำตาลของข้าวที่หุงด้วยหม้อหุงข้าวลดน้ำตาล              ฉบับหน้า จะพูดถึงการหุงข้าวอีกแบบหนึ่งที่เป็นการลดการดูดซึมแป้งหรือน้ำตาลในข้าวที่มีงานวิจัยรองรับ

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 245 ฤดูฝนและน้ำกัดเท้า

        ช่วงเวลาฤดูฝนปัญหาสำคัญอย่างยิ่งสำหรับทุกคน อากาศที่อับชื้น ความเฉอะแฉะของสภาพแวดล้อม และสภาพน้ำท่วมขังหลังฝนตก ซึ่งหากอยู่ในเส้นทางที่ต้องสัญจรเป็นประจำ จนไม่อาจหลีกเลี่ยงการเดินผ่านเส้นทางนั้นได้ การต้องเดินลุยน้ำที่มีขยะ สิ่งปฏิกูลหรือน้ำจากท่อระบายน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมเชื้อโรคมากมาย เท้าของเราก็มีโอกาสหรือความเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อโรคต่างๆ และอาจมีบางส่วนที่ซึมเข้าสู่ผิวหนัง (กรณีมีบาดแผล) หรืออาจเกิดการระคายเคืองต่อผิว และอาจเป็นสาเหตุของโรคผิวหนัง “น้ำกัดเท้า” อีกด้วย         ปกติโรคน้ำกัดเท้า ก็ไม่ได้ร้ายแรงมาก และสามารถรักษาให้หายได้ แต่มันเป็นโรคที่น่ากังวลใจในเรื่องที่เราต้องออกไปไหนมาไหนด้วยการใส่รองเท้า ยิ่งเป็นรองเท้าหุ้มส้นหรือรองเท้าผ้าใบที่คับแน่น อากาศไม่ค่อยระบาย อาการของโรคก็จะหายได้ช้าลง ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหากวนใจจากโรคเรามารู้จักและเรียนรู้วิธีป้องกันไว้ก่อนรู้ทันอาการน้ำกัดเท้า         สาเหตุ ภาวะนี้เกิดจากการระคายเคืองของผิวหนัง เนื่องจากความเปียกชื้นหรือเท้าแช่น้ำเป็นเวลานานซ้ำๆ ทำให้เท้าเปียกชื้นจนผิวหนังชั้นนอก เปื่อยและหลุดออกมา และทำให้แบคทีเรียหรือเชื้อราในน้ำเข้าไปอาศัยจนเกิดการระคายเคือง อาจตามมาด้วยผื่นผิวหนังอักเสบและมีผิวหนังลักษณะเปื่อยลอกเป็นขุย โดยเฉพาะที่บริเวณซอกนิ้วเท้า  อาจมีอาการผื่นแดง  แสบคันและอาจมีกลิ่นเหม็นไม่พึงประสงค์ตามมา           โรคน้ำกัดเท้าใน ระยะแรก อาจจะมีอาการเท้าเปื่อย ผิวเท้าลอก และเกิดอาการคันจนนำไปสู่การแกะและเกา ซึ่งอาการในระยะแรกยังไม่ได้รับการติดเชื้อ แต่มีอาการลักษณะเท้าเปื่อย แดง แสบ เกิดอาการคันนั้นเกิดจากการระคายเคือง นอกจากนี้พฤติกรรมการแกะและเกา อาจทำให้เกิดแผลถลอกจนนำไปสู่การติดเชื้อจากแผลเล็กๆ จนนำไปสู่ ระยะที่สอง  เป็นระยะที่เกิดการติดเชื้อแล้ว ซึ่งสาเหตุมาจากแผลถลอกจากอาการคันหรือการลอกของผิวหนังเปื่อยในระยะแรก ทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา โดยการติดเชื้อแบคทีเรียทำให้เกิดอาการอักเสบ บวมแดง ร้อน เป็นหนอง ปวดแผล ส่วนอาการติดเชื้อรามีลักษณะแดง คัน มีขุยขาว เปียกและเหม็น ผิวหนังจะเปื่อยเป็นสีขาว หากพบว่าเข้าข่ายอาการในระยะที่สองควรเข้าพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่ถูกวิธี สู้กับน้ำกัดเท้าอย่างไรดี        1.หลีกเลี่ยงการแช่น้ำเป็นเวลานาน หากลุยน้ำมาให้รีบทำความสะอาดเท้าด้วยสบู่และเช็ดให้แห้ง เพื่อลดการอับชื้น โดยเฉพาะบริเวณซอกเท้าหรือสามารถใช้ขี้ผึ้งหรือวาสลีนทาตามง่ามเท้า         2.ไม่ใส่ถุงเท้าที่อับชื้นและเปลี่ยนถุงเท้าทุกวันเพื่อลดการสะสมสิ่งสกปรก ควรใส่ถุงเท้าที่ผลิตมาจากเส้นใยธรรมชาติ และควรสวมรองเท้าที่เบาสบายเพื่อไม่ให้เกิดการอับชื้นบริเวณเท้า         3.บางครั้งการใช้ของร่วมกับผู้อื่นอาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคได้ เพราะสาเหตุหลักโรคนี้อาจเกิดจากเชื้อราและที่สามารถนำไปสู่การติดต่อจากการใช้ของร่วมกันได้ เพราะฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้ผ้าเช็ดตัว รองเท้าแตะ ถุงเท้าและอื่นๆ ที่เป็นการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่นทั้งทางตรงและทางอ้อม         4.หากมีอาการติดเชื้อระยะแรกควรงดการแกะและเกาในบริเวณผิวหนังที่มีอาการ เพราะอาจแพร่เชื้อได้         5.หากมีอาการมากหรืออาการในระยะที่สอง ควรปรึกษาและพบแพทย์เพื่อเข้าการรักษามากกว่าการรักษาด้วยตนเองเพื่อป้องกันรักษาผิดวิธีและเกิดการลุกลามที่มากกว่าเดิม         ทั้งนี้ การรักษาในระยะแรกสามารถที่จะซื้อยาทาและรักษาเองได้ตามอาการแต่ต้องปรึกษาเภสัชเพื่อการใช้ยาที่ถูกต้อง 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อเปิดผลทดสอบคุณสมบัติการกรองแบคทีเรียของเครื่องกรองน้ำ 3 ระบบ

        ฉลาดซื้อ และเครือข่ายผู้บริโภค เปิดเผยผลทดสอบคุณสมบัติการกรองแบคทีเรียของเครื่องกรองน้ำ 3 ระบบ( RO, UF, UV ) พบว่า เครื่องกรองน้ำบางยี่ห้อ ไม่สามารถกรองแบคทีเรียได้ ผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงเครื่องกรองน้ำที่ไม่สามารถกรองเชื้อแบคทีเรียได้ เพราะอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ อันจะนำไปสู่การติดเชื้อและเจ็บป่วยจากการบริโภคน้ำที่ไม่สะอาดต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน พร้อมเสนอ สมอ.ออกมาตรฐานบังคับ                                 วันนี้ ( 30 กรกฎาคม 2564 ) ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภคและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ แถลงผลทดสอบคุณสมบัติการกรองแบคทีเรียของเครื่องกรองน้ำ 3 ระบบ ( RO, UF, UV ) โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง นักวิชาการเครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้แทนศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ  กล่าวว่า  “ ปัจจุบันระบบการกรองน้ำที่ใช้กันแพร่หลาย และวางจำหน่ายในท้องตลาดมีอยู่ 3 ระบบ ได้แก่ ระบบ Reverse Osmosis (RO) ระบบ Ultra-Filter (UF) และ ระบบ UV (Ultra Violet) ซึ่งแต่ละระบบมีการทำงานที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับพื้นที่ใช้งาน รวมถึงความต้องการการใช้น้ำที่แตกต่างกันไป การทดสอบของศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ในครั้งนี้เน้นเลือกเครื่องกรองน้ำที่มีการเปิดเผย หรือเผยแพร่คุณสมบัติจากการโฆษณา จำนวน เครื่อง จาก 3 ระบบการกรอง  โดยสุ่มซื้อเก็บตัวอย่างเครื่องกรองน้ำที่มีจำหน่ายในท้องตลาด และจากเว็ปไซต์ห้างค้าปลีกออนไลน์ ในเดือนธันวาคม  พ.ศ. 2563 การทดสอบครั้งนี้ทดสอบประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรีย เพื่อเป็นแนวทางเบื้องต้นในการให้ข้อมูลกับผู้บริโภคเพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์         1.เครื่องกรองน้ำระบบ RO (Reverse Osmosis) จำนวน  11 ตัวอย่าง        2.เครื่องกรองน้ำระบบ Ultrafiltration (UF) จำนวน 8 ตัวอย่าง        3.เครื่องกรองน้ำระบบ Ultraviolet (UV) จำนวน 7 ตัวอย่าง การทดสอบประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียของเครื่องกรองน้ำระบบ RO มีรายละเอียด ดังนี้        เครื่องกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียมากกว่าร้อยละ 80 ได้แก่ Toshiba รุ่น TWP-N1890UK Stiebel Eltron รุ่นGlacier Filtex รุ่น FT 241 RO Aquatek รุ่น RO 150 GPD และ Mi รุ่น water purifier 1A         เครื่องกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรีย ร้อยละ 50 – 80 ได้แก่ Mazuma รุ่น RO PURE LI และ Pure รุ่น KT RO         เครื่องกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียน้อยกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ Treatton รุ่น RO 300 GPD และ Turboraรุ่น 5ROC-PRC         เครื่องกรองน้ำที่ไม่สามารถกรองแบบทีเรียได้ ได้แก่ Carina รุ่น  CA-5RO และ Pentair รุ่น GRO-50 System การทดสอบประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียของเครื่องกรองน้ำระบบ UF มีผลทดสอบ ดังนี้          เครื่องกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียมากกว่าร้อยละ 80 ได้แก่ Stiebel Eltron รุ่น Rain Plus และ Pure รุ่น DM 01         เครื่องกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรีย ร้อยละ 50 – 80 ได้แก่ Unipure รุ่น BLUE 20”(UF)         เครื่องกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียน้อยกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ Astina รุ่น AP401UF และ Aquatek รุ่น Silver UF         เครื่องกรองน้ำที่ไม่สามารถกรองแบคทีเรียได้ ได้แก่ Turbora รุ่น BUF-401N Filtex รุ่น FT-220 และ Mazuma  รุ่น AQ 50 UF  การทดสอบประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียของเครื่องกรองน้ำระบบ UV มีรายละเอียด ดังนี้        เครื่องกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียมากกว่าร้อยละ 80 ได้แก่ Mazuma รุ่น AQ-5F-UVS และ Amway รุ่น eSpring         เครื่องกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียน้อยกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ Pure รุ่น DM 01 UV และ Filtex รุ่น FT-229         เครื่องกรองน้ำที่ไม่สามารถกรองแบคทีเรียได้ ได้แก่ Turbora รุ่น 5PUVPRC Carina รุ่น CA-5UV และ Absolute รุ่น Ultraviolet & Ceramic        ผู้บริโภคสามารถใช้ผลการทดสอบประสิทธิภาพการกรองเชื้อแบคทีเรียของครื่องกรองน้ำ เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อเครื่องกรองน้ำที่เหมาะสมได้ อย่างไรก็ตามควรพิจารณาคุณสมบัติและ ประสิทธิภาพอื่นๆ  ของเครื่องกรองน้ำประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการกรองโลหะหนัก ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม และสารพิษอื่นๆ เช่น สารตกค้างจากยาฆ่าแมลง สารเคมีกำจัดวัชพืช ที่อาจปนเปื้อนมากับน้ำที่เราใช้สำหรับการบริโภคในครัวเรือนได้         ทั้งนี้ ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อมีข้อแนะนำว่า  ผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงเครื่องกรองน้ำที่ไม่สามารถกรองเชื้อแบคทีเรียได้ เพราะอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพและอนามัย อันจะนำไปสู่การติดเชื้อและเจ็บป่วยจากการบริโภคน้ำที่ไม่สะอาด ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน                                                                                                         โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า “ น้ำดื่มเป็นสิ่งจำเป็นต่อร่างกาย โดยผู้บริโภค ควรมีสิทธิเข้าถึงน้ำดื่มน้ำใช้ที่มีความสะอาด ปลอดภัยเพื่อสุขภาพที่ดี  การบริโภคน้ำจากแหล่งธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นน้ำฝน น้ำบาดาล หรือน้ำจากประปาอาจมีจุลินทรีย์เจือปนที่เป็นโทษต่อร่างกาย ประกอบกับน้ำประปานั้น แม้เป็นน้ำสะอาดที่สามารถนำมาอุปโภค บริโภคได้ตามที่การประปาประกาศ แต่กระบวนการส่งน้ำจากโรงกรองน้ำที่กว่าจะมาถึงท่อน้ำประปาแต่ละบ้านนั้นอาจจะมีสิ่งปลอมปนจากปัญหาท่อน้ำแตก ท่อน้ำบางช่วงเกิดตะกอนสะสมจนสกปรก หรือแม้แต่สิ่งสกปรกจากการซ่อมท่อน้ำได้เช่นกัน ดังนั้น การติดตั้งเครื่องกรองน้ำจึงกลายเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับใช้ภายในครัวเรือนเพื่อสร้างความอุ่นใจในการบริโภคน้ำให้มากขึ้น  แต่ในปัจจุบันนั้น  มาตรฐานของเครื่องกรองน้ำ ที่กำหนดโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. นั้น เป็นมาตรฐานทั่วไป ไม่ได้เป็นมาตรฐานบังคับ ทำให้มีเครื่องกรองน้ำที่ไม่ได้มาตรฐานวางจำหน่าย และผู้บริโภคก็ต้องเจอความเสี่ยงต่อสินค้าที่ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ผู้บริโภคที่ซื้อเครื่องกรองน้ำก็มุ่งหวังจะได้สินค้าที่ตัวช่วยเพื่อให้ได้บริโภคน้ำที่สะอาด ปลอดภัยมากขึ้น แต่ผู้บริโภคเองก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ขณะซื้อและหลังซื้อ ว่าเครื่องกรองน้ำตัวใดกรองเชื้อแบคทีเรียได้หรือไม่  อีกทั้งเครื่องกรองน้ำทุกวันนี้ เน้นทำโฆษณากับผู้บริโภคชวนเชื่อเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการกรองสิ่งเจือปนต่างๆ  ในเมื่อผู้บริโภคไม่สามารถตรวจสอบประสิทธิภาพของเครื่องกรองน้ำตามคำโฆษณาได้โดยง่าย จึงควรเป็นหน้าที่รัฐที่ต้องจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง ออกมาตรฐานเครื่องกรองน้ำ เป็นมาตรฐานบังคับเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคต่อสินค้าดังกล่าวด้วย  สภาองค์กรของผู้บริโภคในฐานะตัวแทนของผู้บริโภคเห็นว่า เพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ประเด็นเครื่องกรองน้ำเป็นสินค้าที่จำเป็นที่หน่วยงานรัฐควรมีการกำกับดูแลและยกระดับมาตรฐานของสินค้าให้สูงขึ้น สภาฯจะมีการทำข้อเสนอแนะนโยบายไปยัง สมอ. เพื่อติดตามการกำหนดมาตรฐานบังคับของเครื่องกรองน้ำเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคต่อไป         อ่านรายละเอียดผลทดสอบเพิ่มเติมได้ที่ ผลการทดสอบประสิทธิภาพการกรองแบคทีเรียของเครื่องกรองน้ำ (1) ระบบ RO https://www.chaladsue.com/article/3771 และ ผลการทดสอบประสิทธิภาพ การกรองแบคทีเรียของเครื่องกรองน้ำ (2) ระบบ UF และ ระบบ UV https://www.chaladsue.com/article/3772        ติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  ชนิษฎา โทรศัพท์ 0813563591

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 ผลการทดสอบประสิทธิภาพ การกรองแบคทีเรียของเครื่องกรองน้ำ (2) ระบบ UF และ ระบบ UV

การกรองแบคทีเรียของเครื่องกรองน้ำ (2) ระบบ UF และ ระบบ UV      น้ำดื่มเป็นสิ่งจำเป็นต่อร่างกาย โดยผู้บริโภคต้องเลือกน้ำดื่มน้ำใช้ที่มีความสะอาดเพื่อสุขภาพที่ดี  การบริโภคน้ำจากแหล่งธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นน้ำฝน น้ำบาดาล หรือน้ำจากประปาอาจมีจุลินทรีย์เจือปนที่เป็นโทษต่อร่างกาย เครื่องกรองน้ำจึงกลายเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับใช้ภายในครัวเรือน         ปัจจุบันระบบการกรองน้ำที่ใช้กันแพร่หลาย และวางจำหน่ายในท้องตลาดมีอยู่ 3 ระบบ ได้แก่ ระบบ Reverse Osmosis (RO) ระบบ Ultra-Filter (UF) และ ระบบ UV (Ultra Violet) ซึ่งแต่ละระบบมีการทำงานที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับพื้นที่ใช้งาน รวมถึงความต้องการการใช้น้ำที่แตกต่างกันไป        ต่อไปนี้คือ ผลการทดสอบ เครื่องกรองน้ำระบบ UF และ ระบบ UV  (วิธีการทดสอบเดียวกับการทดสอบเครื่องกรองน้ำระบบ RO ดูบทความก่อนหน้า)        ผลการทดสอบ : เครื่องกรองน้ำระบบ UF         การทดสอบประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียของเครื่องกรองน้ำระบบ UF มีผลทดสอบ ดังนี้               เครื่องกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียมากกว่าร้อยละ 80 ได้แก่ Stiebel Eltron รุ่น Rain Plus และ Pure รุ่น DM 01         เครื่องกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรีย ร้อยละ 50 – 80 ได้แก่ Unipure รุ่น BLUE 20”(UF)         เครื่องกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียน้อยกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ Astina รุ่น AP401UF และ Aquatek รุ่น Silver UF         เครื่องกรองน้ำที่ไม่สามารถกรองแบคทีเรียได้ ได้แก่ Turbora รุ่น BUF-401N Filtex รุ่น FT-220 และ Mazuma  รุ่น AQ 50 UF          ผลการทดสอบ : เครื่องกรองน้ำระบบ UV        การทดสอบประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียของเครื่องกรองน้ำระบบ UV มีรายละเอียด ดังนี้         เครื่องกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียมากกว่าร้อยละ 80 ได้แก่ Mazuma รุ่น AQ-5F-UVS และ Amway รุ่น eSpring         เครื่องกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียน้อยกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ Pure รุ่น DM 01 UV และ Filtex รุ่น FT-229         เครื่องกรองน้ำที่ไม่สามารถกรองแบคทีเรียได้ ได้แก่ Turbora รุ่น 5PUVPRC Carina รุ่น CA-5UV และ Absolute รุ่น Ultraviolet & Ceramic

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 ผลการทดสอบประสิทธิภาพการกรองแบคทีเรียของเครื่องกรองน้ำ (1) ระบบ RO

        น้ำดื่มเป็นสิ่งจำเป็นต่อร่างกาย โดยผู้บริโภคต้องเลือกน้ำดื่มน้ำใช้ที่มีความสะอาดเพื่อสุขภาพที่ดี  การบริโภคน้ำจากแหล่งธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นน้ำฝน น้ำบาดาล หรือน้ำจากประปาอาจมีจุลินทรีย์เจือปนที่เป็นโทษต่อร่างกาย เครื่องกรองน้ำจึงกลายเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับใช้ภายในครัวเรือน         ปัจจุบันระบบการกรองน้ำที่ใช้กันแพร่หลาย และวางจำหน่ายในท้องตลาดมีอยู่ 3 ระบบ ได้แก่ ระบบ Reverse Osmosis (RO) ระบบ Ultra-Filter (UF) และ ระบบ UV (Ultra Violet) ซึ่งแต่ละระบบมีการทำงานที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับพื้นที่ใช้งาน รวมถึงความต้องการการใช้น้ำที่แตกต่างกันไป         การทดสอบครั้งนี้ เป็นการนำเครื่องกรองน้ำที่มีจำหน่ายในท้องตลาดมา ทดสอบประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรีย เพื่อเป็นแนวทางเบื้องต้นในการให้ข้อมูลกับบริโภคเพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์โดยทำการสุ่มซื้อเครื่องกรองน้ำจากท้องตลาด และการสั่งซื้อทางออนไลน์ โดยเลือกเครื่องกรองน้ำจาก 3 ระบบ ได้แก่          1.เครื่องกรองน้ำระบบ RO (Reverse Osmosis) จำนวน  11 ตัวอย่าง        2.เครื่องกรองน้ำระบบ Ultrafiltration (UF) จำนวน 8 ตัวอย่าง        3.เครื่องกรองน้ำระบบ Ultraviolet (UV) จำนวน 7 ตัวอย่าง         ผู้บริโภคสามารถใช้ผลการทดสอบประสิทธิภาพการกรองเชื้อแบคทีเรียของครื่องกรองน้ำ สำหรับประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อเครื่องกรองน้ำที่เหมาะสมได้ อย่างไรก็ตามควรพิจารณาคุณสมบัติและ ประสิทธิภาพอื่นๆ ของเครื่องกรองน้ำประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการกรองโลหะหนัก ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม และสารพิษอื่นๆ เช่น สารตกค้างจากยาฆ่าแมลง สารเคมีกำจัดวัชพืช ที่อาจปนเปื้อนมากับน้ำที่เราใช้สำหรับการบริโภคในครัวเรือนได้        ข้อแนะนำ ผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงเครื่องกรองน้ำที่ไม่สามารถกรองเชื้อแบคทีเรียได้ เพราะอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพและอนามัย อันจะนำไปสู่การติดเชื้อและเจ็บป่วยจากการบริโภคน้ำที่ไม่สะอาด ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานๆ         ผลการทดสอบ : เครื่องกรองน้ำระบบ RO        การทดสอบประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียของเครื่องกรองน้ำระบบ RO มีรายละเอียด ดังนี้         เครื่องกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียมากกว่าร้อยละ 80 ได้แก่ Toshiba รุ่น TWP-N1890UK Stiebel Eltron รุ่น Glacier Filtex รุ่น FT 241 RO Aquatek รุ่น RO 150 GPD และ Mi รุ่น water purifier 1A         เครื่องกรองน้ำที่มีประสทธิภาพในการกรองแบคทีเรีย ร้อยละ 50 – 80 ได้แก่ Mazuma รุ่น RO PURE LI และ Pure รุ่น KT RO         เครื่องกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียน้อยกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ Treatton รุ่น RO 300 GPD และ Turbora รุ่น 5ROC-PRC         เครื่องกรองน้ำที่ไม่สามารถกรองแบบทีเรียได้ ได้แก่ Carina รุ่น  CA-5RO และ Pentair รุ่น GRO-50 System

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 การใช้ยาเพิ่มน้ำหนักดีจริงหรือ

        อยากเพิ่มน้ำหนัก อยากอ้วน แต่กินเท่าไรก็ไม่อ้วน ในเมื่อกินอาหารไม่อาจช่วยได้ กินยาช่วยเลยละกัน ทำแบบนี้ได้ไหม แล้วจะได้ผลจริงหรือเปล่า มันจะเป็นการแก้ปัญหาหรือสร้างปัญหากันนะ เรามาทำความรู้จักกับยาเพิ่มน้ำหนักกันเถอะ         ความหมาย         ยา  คือ สารทางธรรมชาติหรือสารเคมีที่ผ่านกรรมวิธีแล้วนำมาใช้งานให้ออกฤทธิ์ต่อร่างกาย เพื่อใช้ในการป้องกัน รักษา บำบัด หรือบรรเทาอาการของโรค ซึ่งจะแตกต่างในสรรพคุณและวิธีการใช้ ยาจะมีการทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่าและมีการตรวจสอบถึงผลกระทบที่จะตามมากับผู้ใช้อย่างละเอียดก่อนจะอนุญาตให้ใช้ในคน เพราะยาบางประเภทอาจจะรักษาอาการหรือรักษาโรคชนิดหนึ่งหาย แต่กลับไปทำลายระบบร่างกายส่วนอื่น และทำให้ต้องรักษาการป่วยของร่างกายที่เกิดจากการรับประทานยาตัวนั้นด้วย ถึงตรงนี้จะพบว่า ยานั้นผ่านการตรวจสอบค่อนข้างละเอียด หากใช้ถูกวิธีก็เกิดผลดี แต่ก็อันตรายถ้าใช้ไม่เหมาะสม แล้วยาช่วยเพิ่มน้ำหนักนั้นมีอยู่จริงไหม         ยาช่วยเจริญอาหารหรือที่มักเรียกกันว่า “ยาเพิ่มน้ำหนัก” ที่รู้จักกันในวงกว้าง คือ ยาไซโปรเฮปทาดีน (Cyproheptadine) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อการค้าว่า “เพอริแอคติน” (Periactin) และยาพิโซติเฟน (Pizotifen)         อันที่จริงสรรพคุณต้นฉบับนั้นเป็นยาแก้แพ้  แต่มีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการง่วงนอนและอื่นๆ โดยออกฤทธิ์กระตุ้นให้ร่างกายมีฮอร์โมนอินซูลินสูงขึ้น ทำให้ร่างกายมีน้ำตาลในเลือดต่ำ เมื่อน้ำตาลต่ำก็จะไปกระตุ้นที่ศูนย์ความหิวในสมอง จึงทำให้เกิดอาการหิวหรืออยากกินอาหารมากขึ้น บ่อยขึ้น จึงช่วยให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นในทางอ้อมได้          อย่างไรก็ตาม ยาเหล่านี้ก็จะมีผลข้างเคียงหลายอย่างในการใช้จึงต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือขอคำแนะนำก่อนใช้ยาจากเภสัชกร ส่วนขนาดและระยะเวลาที่เหมาะสมของการใช้ยาต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น หมายความว่า เราไม่ควรไปซื้อรับประทานเอง         ไม่กินยาได้ไหม         ปัญหาสุขภาพนั้น สิ่งแรกเลยที่ต้องจัดการคือ การค้นหาสาเหตุของปัญหา ถ้ามีรูปร่างผอมและดัชนีมวลกายน้อย เรี่ยวแรงไม่มี อาจเกิดได้จากสาเหตุหลายประการ เช่น กินอาหารไม่ถูกต้อง เป็นพันธุกรรม มีนิสัยการกินที่ผิด (เลือกกิน) หรืออาจมีปรสิตแอบอยู่ในตัว ฯลฯ จึงควรแก้ไขให้ถูกที่ โดยเริ่มจากพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายเพื่อวินิจฉัยว่าไม่ได้มีสาเหตุทางกายภาพ เช่น มีพยาธิ เป็นกรรมพันธุ์หรือโรคร้าย หากสาเหตุเกิดจากโรคต้องให้แพทย์รักษา แต่หากเป็นเรื่องของพฤติกรรมลองนำวิธีเหล่านี้ไปใช้ดู         ·     ปรับวิธีกินให้เหมือนกับคนอ้วน            1.กินเร็วหรือเคี้ยวอาหารเร็วขึ้น            2.เพิ่มมื้ออาหาร            3.งดดื่มน้ำระหว่างรับประทาน            4.กินอาหารที่ให้พลังงานสูง                  ·     กินให้ถูกหลักโภชนาการ            1.กินอาหารดีมีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่  ไม่เลือกกิน            2.เพิ่มสัดส่วนหรือเน้นอาหารกลุ่มโปรตีนและไขมันเพิ่มเติมในมื้ออาหาร เพื่อช่วยเสริมกล้ามเนื้อ เช่น อกไก่ โปรตีนจากปลา ไข่ ธัญพืช กะทิ ถั่วและเมล็ดพืชต่างๆ         ·     เพิ่มการออกกำลังกายอย่างถูกวิธี             ลองนำคำแนะนำข้างต้นนี้ไปปรับใช้ น่าจะช่วยเพิ่มน้ำหนักได้ แต่การเพิ่มน้ำหนักที่ดีต่อสุขภาพนั้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นได้เพียงชั่วข้ามคืนต้องทำไปเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ แล้วผลลัพธ์จะออกมาดี และแน่นอนว่าดีกว่าการกินยาช่วยเพิ่มน้ำหนัก เพราะนั่นเป็นเพียงการใช้เสริมเพื่อให้เกิดความอยากอาหารขึ้นเท่านั้น ผลข้างเคียงก็เยอะ จึงไม่ควรเป็นสิ่งยึดหลัก เอาเป็นแค่ทางเลือกก็พอหากจำเป็นจริงๆ           ยาเพิ่มน้ำหนัก หรือยาช่วยเจริญอาหาร        1. ยาต้านซีโรโทนิน  (serotonin antagonist)             1.1 ไซโปรเฮปทาดีน (Cyproheptadine) : เป็นยาแก้แพ้ที่รู้จักในชื่อการค้าว่า “เพอริแอคติน” (Periactin)  มีสรรพคุณต้านฤทธิ์ของสารฮิสตามีนที่ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ ต้านฤทธิ์ซีโรโทนิน และออกฤทธิ์กระตุ้นให้ร่างกายมีฮอร์โมนอินซูลินสูงขึ้น ทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำ เมื่อน้ำตาลต่ำก็จะไปกระตุ้นที่ศูนย์ความหิวในไฮโปทาลามัส (ส่วนหนึ่งของสมอง) ทำให้หิวหรืออยากกินอาหารมากขึ้น บ่อยขึ้น จึงช่วยให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นในทางอ้อมได้ แต่น้ำหนักตัวจะไม่เพิ่มและยังอาจลดลงด้วยซ้ำเมื่อหยุดยา              ผลข้างเคียง             - ง่วงนอนตอนกลางวัน จึงอาจกระทบต่อผลการเรียนหรือการทำงาน             - ทำให้เกิดอาการอยู่ไม่สุข พลุ่งพล่าน             - ยังยั้งการหลั่งฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโต (ถ้าใช้ในเด็กอาจทำให้เด็กตัวเตี้ย)             1.2 พิโซติเฟน (Pizotifen) : มีฤทธิ์และผลข้างเคียงคล้ายคลึงกับไซโปรเฮปทาดีน แต่มีราคาแพงกว่า         โดยทั่วไปแพทย์จะให้ใช้ยา 2 ชนิดนี้ ไม่นานเกิน 2 สัปดาห์ เพื่อเลี่ยงไม่ให้ไปรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ        2. ยากลุ่มคอร์ติโคสตีรอยด์และอะนาบอลิกฮอร์โมน             2.1 ยากลุ่มคอร์ติโคสตีรอยด์ : ผู้ขายยาบางรายมักผสมยานี้ลงใน “ยาชุด” หลายแบบ และโฆษณาว่าเป็นยาบำรุงร่างกายบ้าง ยาชุดเพิ่มความอ้วนบ้าง อันที่จริง ยากลุ่มนี้จัดว่าเป็น “ยาอันตราย” ห้ามซื้อขายโดยไม่มีใบสั่งแพทย์ เพราะมีผลข้างเคียงรุนแรงต่อผู้กินยาอย่างผิดวิธี ตัวยากลุ่มนี้ เช่น เพรดนิโซโลน (Prednisolone) เด็กซาเมทาโซน  ผลข้างเคียง             - กระดูกหยุดเจริญเติบโตในเด็ก และกระดูกผุในผู้ใหญ่             - ร่างกายบวมฉุจากการคั่งของเกลือและน้ำ ผู้ใช้ยาจึงหลงคิดว่าอ้วนขึ้น            - ภูมิต้านทานของร่างกายลดลง เกิดโรคติดเชื้อได้ง่าย             - อาจเป็นเบาหวานหรือแผลในกระเพาะอาหาร             - ถ้าใช้ต่อเนื่องนานๆ จะกดการทำงานของต่อมหมวกไต และเสพติดได้             - อาจเกิดสิว ซึ่งรักษายาก ผิวหนังบาง ผิวหนังแตกเป็นริ้วตามหน้าท้องและขาอ่อน         2.2 อะนาบอลิกฮอร์โมน : ยากลุ่มนี้ที่มีแพร่หลายในท้องตลาดคือ แอนโดเจน เป็นฮอร์โมนที่มีมากในเพศชาย มีฤทธิ์กระตุ้นการเจริญของกระดูกและกล้ามเนื้อ ทำให้มีลักษณะของเพศชาย เช่น เสียงห้าว มีหนวดขนขึ้นดกดำ อวัยวะเพศชายเจริญรวดเร็ว 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 รู้เท่าทันน้ำกระชายขาวป้องกันและรักษาโควิด-19

        ช่วงนี้คงไม่มีอะไรร้อนแรงเท่าน้ำกระชายขาวเพื่อการป้องกันและรักษาโควิด-19 มีการเผยแพร่ผลงานวิจัยของมหิดลว่า กระชาย (ขาว) สามารถป้องกันโควิด-19 ได้ จึงมีการเชียร์ให้กินกระชายและดื่มน้ำกระชายเพื่อป้องกันและรักษาโควิด-19 อย่างอย่างครึกโครมไม่แพ้ฟ้าทะลายโจร เรามารู้เท่าทันกันเถอะ กระชายขาวคืออะไร        กระชายขาวที่เรียกกันนี้ ก็คือกระชายหรือกระชายเหลือง กระชายเป็นพืชสมุนไพรที่คนไทยรู้จักดี และนำมาปรุงเป็นอาหาร เป็นส่วนผสมสำคัญในแกงป่าเพราะมีคุณสมบัติในการช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ได้ดี หรือใช้เป็นผักจิ้มได้โดยตรง         กระชาย มีสรรพคุณทางยามากมายจนได้ชื่อในวงการแพทย์แผนไทยว่าเป็น "โสมไทย" เนื่องจากกระชายกับโสมมีสรรพคุณในการบำรุงกำลังและเสริมสมรรถภาพทางเพศ ทั้งกระชายและโสมต่างสะสมอาหารที่ใช้เป็นยาอยู่ใต้ดิน และสามารถเรืองแสงในที่มืดได้เหมือนกันด้วย และเนื่องจากโสมมีรูปร่างคล้ายกับคน จึงเรียกโสมว่า "โสมคน" และเรียกกระชายว่า "นมกระชาย" เนื่องจากมีลักษณะคล้ายคลึงกับนมผู้หญิง   งานวิจัยที่ยืนยันสรรพคุณในการป้องกันโควิด-19         มีการตีพิมพ์งานวิจัยในวารสาร PubMed [1]     ว่า มีการศึกษาสมุนไพรไทย 122 ผลิตภัณฑ์ พบว่า สารสกัดกระชายและสารประกอบเคมีจากพืช panduratin A มีฤทธิ์ยับยั้ง SARS-CoV-2 การรักษาการติดเชื้อ  SARS-CoV-2  ด้วยสารสกัด  B. rotunda และ panduratin A ยับยั้งการติดเชื้อได้เป็นอย่างดี         โครงการวิจัยต้านเชื้อไวรัสโคโรนาจากสมุนไพรไทย เป็นความร่วมมือระหว่าง คณะวิทยาศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ หรือ TCELS ขณะนี้งานวิจัยกระชายขาวอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัยในคน การพัฒนาสารสกัดกระชายขาวเพื่อใช้เป็นยาสำหรับโรค COVID-19 จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี กระชายในท้องตลาดราคาสูงขึ้นมาก         จากการค้นพบสรรพคุณของกระชายดังกล่าว ทำให้ราคาหัวกระชายขาวเพิ่มสูงขึ้น จากปกติราคากิโลกรัมละ 30 บาท ราคาพุ่งขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 80 – 100 บาททีเดียว และบางตลาดถึงกับไม่พอขายเลย น้ำกระชายสามารถป้องกันและรักษาโควิด-19 ได้จริงหรือไม่        เป็นความชาญฉลาดของพ่อค้าแม่ขาย เพื่อให้สะดวกสำหรับผู้บริโภค ก็มีการนำกระชายมาทำเป็นน้ำกระชายดื่ม และใช้ความเชื่อเดิมว่า สารสกัดกระชายสามารถรักษาโควิด-19 ได้ การดื่มน้ำกระชายก็น่าจะมีผลในการรักษาและป้องกันโควิด-19 ได้เช่นเดียวกัน         น้ำกระชาย กระชายสามารถยับยั้ง รักษาโควิด-19 ในคนได้หรือไม่นั้น งานวิจัยยังไปไม่ถึงระดับนั้น อยู่ระหว่างการวิจัยในคนอยู่         เมื่อรักษาโควิด-19 ในหลอดทดลองได้ ก็น่าจะรักษาในคนได้เหมือนกัน         ไม่เป็นอย่างนั้น เพราะกระบวนการที่คนกินยาหรือสมุนไพรเข้าไป จะต้องผ่านการย่อยและดูดซึมเข้าไปในกระแสเลือด และค่อยไปสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย การย่อยและดูดซึมอาจทำให้ยาหรือสมุนไพรเปลี่ยนสภาพ และมีสรรพคุณเปลี่ยนไปจนไม่สามารถยับยั้งเชื้อไวรัสโควิด-19 เหมือนในหลอดทดลองก็ได้         สรุป  การกินกระชาย น้ำกระชาย อาจไม่สามารถยับยั้ง รักษา โควิด-19 ได้เหมือนในหลอดทดลอง แต่ก็ไม่มีอันตรายเพราะคนไทยกินกระชายเป็นอาหารตามปกติอยู่แล้ว และยังช่วยรักษาอาการท้องอืดท้องเฟ้อได้[1] Sci Rep. 2020 Nov 17;10(1):19963. doi: 10.1038/s41598-020-77003-3

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 243 สำรวจฉลากโภชนาการผลิตภัณฑ์คุกกี้เนย

        คุกกี้เนย หนึ่งในขนมยอดฮิตติดใจคนทุกวัย ด้วยรสชาติหวาน มัน หอม อร่อย ชิ้นพอดีคำ เคี้ยวกรุบกรอบเพลินเกินห้ามใจ หลายครั้งเราจึงเผลอกินเกินจำนวนหน่วยบริโภคที่แนะนำ (ตามฉลากโภชนาการ) คุ้กกี้เนยนั้น มีส่วนผสมหลักๆ คือ แป้ง เนย มาการีน น้ำตาลทราย นมผง ไข่ไก่ ผงฟู ปริมาณมากน้อยก็แล้วแต่สูตรความอร่อยของแต่ละยี่ห้อ อย่างไรก็ตามหลักๆ ก็คือของให้พลังงานสูง ดังนั้นหากกินคุกกี้เนยมากเกินไป อาจทำให้ได้รับพลังงาน รวมถึงโซเดียมเกินความต้องการในแต่ละวัน อาจก่อให้เกิดโรคจากพฤติกรรมการบริโภคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เบาหวาน ความดัน โรคอ้วน ไขมันในเส้นเลือดสูง โรคไต เป็นต้น         เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์คุกกี้เนย จำนวน 10   ตัวอย่าง ในช่วงเดือนมีนาคม 2564 มาเปรียบเทียบข้อมูลบนฉลากโภชนาการ(ปริมาณพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ) เพื่อนำเสนอไว้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ผลการสำรวจฉลากโภชนาการคุกกี้เนย         เมื่อพิจารณาฉลากโภชนาการของคุกกี้เนยทั้ง 10 ตัวอย่าง พบว่าค่ากลางจากฐานนิยมของปริมาณต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำคือ 30 กรัม หน่วยบริโภคที่มากที่สุดคือ 40 กรัม ได้แก่ คุกกี้กลิ่นเนย ตราโอกี้ คุกกี้ และ คุกกี้รสเนย เดนิช สไตล์ คุกกี้ หน่วยบริโภคที่น้อยที่สุดคือ 20 กรัม ได้แก่ คุกกี้รสเนย ตราซันเมอรี่         เมื่อเปรียบเทียบปริมาณพลังงานและไขมัน ต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำ พบว่า คุกกี้กลิ่นเนย ตราโอกี้ คุกกี้ มีมากที่สุด (พลังงาน 210 กิโลแคลอรี และไขมัน 11 กรัม) คุกกี้รสเนย ตราซันเมอรี่ มีน้อยที่สุด (พลังงาน 110 กิโลแคลอรี และไขมัน 6 กรัม) ส่วนปริมาณน้ำตาล มีมากที่สุด คือ 11 กรัม ได้แก่คุกกี้กลิ่นเนย ตราโอกี้ คุกกี้และคุกกี้รสเนย เดนิช สไตล์ คุกกี้  มีน้อยที่สุดคือ 5 กรัม ได้แก่คุกกี้รสเนย ตราซันเมอรี่  สำหรับปริมาณโซเดียมนั้น บัตเตอร์คุกกี้ สูตรเดนมาร์ก ตราบิสชิน มีมากที่สุด คือ 135 มิลลิกรัม และคุกกี้รสเนย เดนิช สไตล์ คุกกี้ มีน้อยที่สุด คือ 45 มิลลิกรัม ข้อสังเกต- เมื่อนำทั้ง 10 ตัวอย่างมาคำนวณในหน่วยบริโภคที่เท่ากันหรือใกล้เคียง (30 กรัม) พบว่า มีค่าพลังงานเฉลี่ยอยู่ที่ 150-165 กิโลแคลอรี- หากนำคุกกี้รสเนย ตราซันเมอรี่ มาลองคำนวณในหน่วยบริโภคที่ 30 กรัม พบว่ามีค่าพลังงานสูงที่สุดคือ 165 กิโลแคลอรี่- ใน 1 วัน ร่างกายเราต้องการพลังงานประมาณ 2,000 กิโลแคลอรี่ ปริมาณน้ำตาลสูงสุดไม่เกิน 40 กรัม ไขมันไม่เกิน 65 กรัม และโซเดียมไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัม ดังนั้น ถ้าเรากิน คุกกี้กลิ่นเนย ตราโอกี้ คุกกี้ เพลินจนหมดกระปุก (6 ชิ้น) เราจะได้ปริมาณน้ำตาลและไขมัน อย่างละ 66 กรัม ซึ่งเกินกว่าที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันแล้ว-เราไม่ควรบริโภคขนมขบเคี้ยวที่มีโซเดียมเกิน 200 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค หรือไม่เกินร้อยละ 10 ของปริมาณโซเดียมที่ควรได้รับต่อวัน ซึ่งพบว่าคุกกี้ทั้ง 10 ตัวอย่างมีปริมาณโซเดียมอยู่ในเกณฑ์นี้คือระหว่าง 45-135 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค-มีคุกกี้ 7 ยี่ห้อ ที่ระบุคำเตือนว่า “บริโภคแต่น้อยและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ” แสดงว่าผู้ผลิตส่วนใหญ่ก็ห่วงใยสุขภาพผู้บริโภคเช่นกัน แล้วผู้บริโภคใส่ใจสุขภาพตัวเองกันแค่ไหน ?คำแนะนำ-หยิบคุกกี้มาวางใส่จานไว้  1 ชิ้นใหญ่ หรือ 2-3 ชิ้นเล็ก แล้วปิดกล่องหรือมัดปากซองคุกกี้ไปเก็บไว้ไกลมือ เพราะถ้าไว้ใกล้มืออาจจะเผลอหยิบเข้าปากได้เรื่อยๆ-หากใครติดใจรสชาติและสัมผัสกรุบกรอบของคุกกี้ แต่กลัวอ้วน กลัวโรคต่างๆ ถามหา ก็ยังมีคุกกี้เพื่อสุขภาพ เช่น คุกกี้ธัญพืช คุกกี้ไข่ขาว มาเป็นทางเลือกในการลดแป้ง ลดน้ำตาล ลดโซเดียม ได้-ก่อนกินคุกกี้ควรพิจารณาฉลากโภชนาการแบบ GDA หรือ ฉลากหวาน มัน เค็ม เพื่อดูปริมาณที่ควรกินในแต่ละวัน เช่น ฉลากระบุว่าควรแบ่งกิน 2 ครั้ง หมายถึงเราไม่ควรกินหมดภายในวันเดียว แต่ควรแบ่งกิน 2 วัน หรือแบ่งกิน 2 คน จะได้ไม่เผลอกินมากจนเกิดภาวะโภชนาการเกินตามมา-ลองตั้งเงื่อนไขกับตัวเองว่าถ้าวันไหนกินคุกกี้เยอะเกิน จะต้องเบิร์นออกกำลังกายเผาผลาญพลังงานส่วนเกินออกไปซะ อย่างน้อยก็จะกินคุกกี้ให้อร่อยต่อไปได้โดยไม่ต้องกลัวอ้วนหรือรู้สึกผิดต่อตัวเองข้อมูลอ้างอิงhttps://www.thaihealth.or.thhttps://www.rama.mahidol.ac.th  https://www.matichon.co.th

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 กระแสต่างแดน

วิกผมขาดแคลน        ร้อยละ 70 ของสินค้าประเภทวิกผม/ผมปลอม ที่จำหน่ายในโลกนั้นมาจากจีน โดยแรงงานหลักๆ ที่ใช้คือแรงงานในเกาหลีเหนือที่ฝีมือดีเลิศแถมค่าจ้างยังถูกกว่าในจีนกว่าครึ่งกระบวนการนี้เริ่มจากการนำเข้าวัตถุดิบหลักซึ่งได้แก่ผมมนุษย์ จากอินเดียและเมียนมาร์ไปยังเมืองจีน จากนั้นส่งออกผมและตาข่ายสำหรับถักไปยังเกาหลีเหนือ แล้วผมปลอมที่ถักด้วยมือเสร็จแล้วจะถูกส่งกลับมาที่เมืองจีนอีกครั้งเพื่อทำความสะอาด บรรจุ และส่งไปขายในอเมริกาและกลุ่มประเทศอัฟริกันแต่การมาถึงของโควิด-19 ทำให้ทุกอย่างชะงักลง ก่อนหน้านั้นจีนส่ง “ผมดิบ” ไปเกาหลีเหนือเดือนละหลายตัน โดยมูลค่าของผมดิบที่จีนส่งไปในเดือนมกราคม ปี 2020 เท่ากับ 14,000,000 หยวน เดือนต่อมา มูลค่าดังกล่าวลดลงเหลือเพียง 452,000 หยวนหลังจากนั้นจีนปิดชายแดน จึงไม่มีการส่งเข้าไปอีกเลย วิกผมที่ผลิตหลังจากนั้นคือวิกที่ผลิตในจีน ซึ่งช่างผมรับรองว่าคุณภาพสู้แบบที่ทำในเกาหลีเหนือไม่ได้ แถมราคายังแพงขึ้นจนน่าตกใจด้วย อย่าเพิ่งรีบชม        อุตสาหกรรมเพชรออกมาตอบโต้แถลงการณ์ของ Pandora บริษัทเครื่องประดับรายใหญ่ของโลกสัญชาติเดนมาร์กที่ประกาศนโยบายใช้ “เพชรจากแล็บ” แทนเพชรที่ขุดจากเหมือง และจะผลิตโดยใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นหลักตัวแทนจากกลุ่มผู้ผลิตเครื่องประดับเพชรบอกว่า การกระทำดังกล่าวสร้างความเข้าใจผิดให้คนคิดว่าอุตสาหกรรมนี้คือผู้ร้าย และขอร้องให้ Pandora ถอนคำโฆษณาที่ชักชวนให้ผู้บริโภคสนับสนุน “ทางเลือกที่มีจริยธรรม”ปัจจุบันอุตสาหกรรมนี้จ้างานคนหลายสิบล้านคนทั่วโลก และหลายชุมชนในประเทศกำลังพัฒนาก็อยู่ได้เพราะรายได้จากการทำงานในเหมืองเพชร ที่สำคัญคือผู้ซื้อสามารถสืบกลับที่มาของเพชรได้ผู้บริหารบริษัท 77 DIAMONDS ร้านค้าเพชรออนไลน์เจ้าใหญ่ที่สุดในยุโรป บอกว่าการทำเหมืองเพชรแบบเอาเปรียบชาวบ้านเหมือนในหนัง Blood Diamond มันหมดไปนานแล้ว ทุกวันนี้แร่โลหะหายากที่ใช้กันอยู่ในโทรศัพท์มือถือ ยังมาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนยิ่งกว่าเพชรอีก เป้าหมายรีไซเคิล        สมาคมเครื่องดื่มในญี่ปุ่นตั้งเป้าหมายว่าจะรีไซเคิลขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่มให้ได้ถึงร้อยละ 50 ภายในปี ค.ศ. 2030 จากปัจจุบันที่ทำได้ร้อยละ 12.5   เขาวางแผนจะปรับปรุงปากถังขยะรีไซเคิลให้รับได้เฉพาะขวดพลาสติกเท่านั้น ปัญหาขณะนี้คือมีคนทิ้งขยะอื่นลงในถังที่มักตั้งอยู่ใกล้ๆ กับตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ ทำให้ขวดข้างในสกปรกเกินกว่าจะนำไปรีไซเคิล เครื่องล้างก็ยังไม่สามารถล้างขวดทีละใบได้ จากข้อมูลของเทศบาลไซตามะ ร้อยละ 16 ของขยะใน “ถังสำหรับขวดพลาสติก” ไม่ใช่ขวดพลาสติกปัจจุบันร้อยละ 76 ของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสำเร็จรูปในญี่ปุ่น เป็นเครื่องดื่มที่บรรจุในภาชนะพลาสติก  เรื่องนี้จึงเรื่องใหญ่และเป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิด “ความยั่งยืน”  อย่างไรก็ตามผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นมีการตื่นตัวมากในเรื่องนี้ สถิติในปี 2019 ระบุว่าร้อยละ 93 ของขวดพลาสติกที่ขายออกไป ถูกนำกลับมาใช้ใหม่กล่องอาหารต้องปลอดภัย        Arnika องค์กรพัฒนาเอกชนจากสาธารณรัฐเชค ร่วมกับอีก 6 องค์กรในยุโรป ได้ร่วมกันเก็บตัวอย่างภาชนะบรรจุอาหารแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อมาวิเคราะห์ทดสอบหาสาร PFAS ซึ่งมักถูกใช้เป็นสารเคลือบในภาชนะดังกล่าวเขาพบว่า 38 ตัวอย่างจาก 99 ตัวอย่าง (ร้อยละ 38) ที่เก็บจากภาชนะบรรจุอาหารที่ซื้อกลับบ้าน อาหารในซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านออนไลน์ มีการเคลือบด้วย PFAS เพื่อป้องกันการซึมเปื้อนของน้ำมันสารเคมีที่ว่านี้เป็นที่รู้กันว่าสลายตัวยาก สามารถปนเปื้อนในดิน น้ำ อากาศ และสะสมในห่วงโซ่อาหาร นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยยืนยันว่ามันสามารถก่อมะเร็ง ส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน ระบบสืบพันธุ์ และฮอร์โมนด้วยกลุ่มองค์กรดังกล่าวจึงเรียกร้องให้สหภาพยุโรปออกกฎหมายห้ามใช้สารดังกล่าวในภาชนะใส่อาหารโดยเร็ว ขณะนี้มีเพียงเดนมาร์กเท่านั้นที่ห้ามใช้สารนี้ไปเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2563 แหล่งน้ำของใคร        หุบเขาในภาคกลางของฝรั่งเศส เป็นแหล่งน้ำแร่ที่โด่งดังไปทั่วโลก แต่ชาวบ้านแถบนั้น รวมถึงนักปฐพีวิทยาหวั่นว่าจะการสูบน้ำแร่ขึ้นมามากเกินไปจะทำให้ทั้งภูมิภาคต้องเจอกับปัญหาขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ชาวบ้านวัย 69 คนหนึ่งที่อาศัยอยู่ใกล้กับบริษัทน้ำแร่ Volvic ที่มีบริษัท Danone เป็นเจ้าของ บอกว่าลำธารแถวบ้านเคยมีระดับน้ำสูงถึงเข่า แต่ทุกวันนี้ใกล้แห้งเหือดเต็มทน ในขณะที่เจ้าของบ่อเลี้ยงปลาแห่งหนึ่งในบริเวณดังกล่าวที่ต้องปิดกิจการเพราะน้ำไม่พอ ก็ยื่นฟ้องบริษัทแล้วด้วยตั้งแต่ปี 2014 รัฐบาลฝรั่งเศสอนุญาตให้ Danone ใช้น้ำได้ถึง 2.8 ล้านลิตรต่อปี หรือถ้าคิดเป็นขวดขนาดหนึ่งลิตร ก็เท่ากับ 2,800 ล้านขวด และขณะนี้บริษัทสามารถสูบน้ำขึ้นมาได้ถึง 89 ลิตรต่อวินาที แถมยังสูบได้ทั้งปี ไม่เว้นช่วงหน้าร้อนที่ความต้องการใช้น้ำของชาวบ้านก็เพิ่มขึ้นเช่นกันการขาดแคลนน้ำส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ บริเวณดังกล่าวไม่มีต้นไม้ขึ้นมานานแล้ว ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าความชื้นที่ลดลงนี้กำลังจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดทะเลทราย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 ใส่น้ำมันในข้าวสวยทำไมไม่บอก

        อาหารแช่เย็น แช่แข็งในร้านสะดวกซื้อนั้นเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะสะดวก ตอบโจทย์ชีวิตสำหรับคนที่ไม่ต้องการเสียเวลาไปกับการเตรียมอาหาร แต่กระนั้นสิ่งที่จะช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจได้ดีขึ้น ก็คือฉลากสินค้าที่ต้องครบถ้วนเพียงพอสำหรับการซื้อ ส่วนประกอบสำคัญต้องมีอะไรบ้างก็ต้องบอกให้หมดไม่ปิดบัง เพราะจะทำให้ผู้บริโภคเสียผลประโยชน์         คุณภูผาเป็นหนุ่มโสดรักสุขภาพ แต่ก็ไม่อยากหุงข้าวรับประทานเองสักเท่าไรเพราะไม่ค่อยสะดวก จึงเลือกซื้อข้าวสวยอีซี่โก ในร้านสะดวกซื้อชื่อดังมารับประทานเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นข้าวหอมมะลิหุงสุก ข้าวกล้องหอมมะลิ และข้าวไรซเบอรี่ผสมข้าวหอมมะลิ เพราะสะดวกเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเขา และเชื่อมั่นในตราสินค้าด้วยว่าคงไม่เอาเปรียบผู้บริโภค  อย่างไรก็ตามเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ภูผาได้เห็นข่าวบนสื่อออนไลน์ว่า ข้าวที่เขาซื้อประจำนั้นมีน้ำมันผสมอยู่ ซึ่งในฉลากอาหารก็ไม่ได้ระบุว่ามีน้ำมันเป็นส่วนผสม เขารู้สึกเหมือนถูกหลอก เพราะเขาไม่ต้องการร้บประทานข้าวที่ผสมน้ำมันเนื่องจากกลัวว่าจะกระทบกับสุขภาพ จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา        กรณีนี้มูลนิธิฯ ไม่เพียงได้รับเรื่องจากคุณภูผา ยังได้ร้บการร้องเรียนจากสมาชิกนิตยสารฉลาดซื้ออีกหลายท่านด้วย  จึงได้ทำหนังสือสอบถามไปยังบริษัท ซีพีแรม จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของตราผลิตภัณฑ์อีซี่โก เพื่อขอคำชี้แจ้งว่ามีการใช้น้ำมันเป็นส่วนผสมในการหุงข้าวจริงหรือไม่ และหากมีจริงดังปรากฎเป็นข่าวบริษัทควรดำเนินการเปลี่ยนแปลงฉลากให้เป็นฉลากสินค้าที่บอกข้อมูลที่ครบถ้วนต่อผู้บริโภคต่อมาทางบริษัท ซีพีแรมฯ ได้ชี้แจงต่อมูลนิธิฯ ว่า บริษัทฯ มีการเติมน้ำมัน ซึ่งเป็นน้ำมันรำข้าวจริงในผลิตภัณฑ์ โดยเป็นการเติมน้ำมันรำข้าวไปในปริมาณที่ใกล้เคียงกับน้ำมันตามธรรมชาติที่มีอยู่ในข้าว และเป็นสูตรเฉพาะของบริษัทที่ได้วิจัยมา ทั้งนี้เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาให้นานขึ้น โดยข้าวเมื่อทำให้เป็นอาหารแช่เย็น/แช่แข็ง การใช้น้ำมันรำข้าวจึงช่วยรักษาคุณภาพข้าวหลังแช่เย็น/แช่เยือกแข็ง ให้มีคุณภาพ เหนียว นุ่ม หนึบ และอร่อย ตลอดอายุการจัดเก็บจนถึงการบริโภค         ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค ทางบริษัทฯ จะดำเนินการเพิ่มข้อมูลว่าใส่น้ำมันรำข้าวไว้ในฉลากของผลิตภัณฑ์ข้าวแช่เย็น แช่แข็ง ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564         ดังนั้นผู้บริโภคทุกท่านโปรดอ่านฉลากสินค้าให้ถี่ถ้วนทุกครั้ง และหากพบข้อสังเกตใดที่สร้างความไม่มั่นใจ ควรสอบถามต่อบริษัทผู้ผลิตสินค้าโดยตรงหรือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยกันเฝ้าระวังไปด้วยกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 สรุปความเคลื่อนไหวเดือนเมษายน

คนไทยป่วยไบโพลาร์กว่าล้านคน        สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุ คนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตประมาณ 10 ล้านคน เป็นผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ถึง 1 ล้านคน แต่ทุกวันนี้สังคมไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค และมีผู้ป่วยเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่เข้ารับการรักษา         โรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์แปรปรวน หรือโรคอารมณ์สองขั้ว เกิดจากสารสื่อประสาทในสมองทำงานผิดปกติ และอาจเกิดในผู้ที่มีความเครียดสะสม ทำให้อาการเปลี่ยนแปลงไปจากนิสัยหรือบุคลิกเดิมของคนๆ นั้น ลักษณะอาการเด่นของโรคนี้คืออารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมาระหว่างช่วงที่อารมณ์ดีมากกว่าปกติ (mania หรือ hypomania) สลับกับอาการอารมณ์ซึมเศร้า (major depressive episode) หรืออาจมีอาการแมเนียเพียงอย่างเดียวก็ได้ โดยอาการในแต่ละช่วงอาจเป็นอยู่นานเป็นสัปดาห์ หรือหลายๆ เดือนก็ได้ ทั้งนี้ โรคไบโพลาร์จะเริ่มแสดงอาการเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น แต่คนไม่รู้ และคิดว่าเป็นเพียงอารมณ์แปรปรวนตามประสาวัยรุ่น หรือบางรายที่มีอารมณ์ซึมเศร้าเด่นกว่าแมเนีย จึงมักจะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคซึมเศร้า ทำให้เสียโอกาสในการวินิจฉัย         สำหรับแนวทางการรักษาโรคจิตเวช และโรคไบโพลาร์ อันเป็นที่ยอมรับแล้ว คือ วิธีรักษาด้วยการใช้ยา ร่วมกับการบําบัดทางจิตสังคม (Psychosocial therapy) และการบําบัดที่เน้นครอบครัว และการให้สุขภาพจิตศึกษาร่วมกับการรักษาด้วยยามีประสิทธิภาพในการช่วยลดความรุนแรงของอาการและป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำได้ดี รัฐบาลเตรียมกฎหมายควบคุมร้านจำหน่ายแก๊ส         รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงสถานที่เก็บรักษาก๊าซปิโตรเลียมเหลวประเภทร้านจำหน่าย พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ เพื่อเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยให้เหมาะสมกับสภาพการประกอบกิจการในปัจจุบัน ทั้งนี้ ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับที่ตั้ง แผนผัง รูปแบบ และลักษณะของสถานที่เก็บรักษาก๊าซปิโตรเลียมเหลวประเภทร้านจำหน่าย การเก็บรักษาและการจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลว ประกอบไปด้วย           - ห้ามตั้งร้านจำหน่ายถังก๊าซหุงต้มในอาคารชุด อาคารสรรพสินค้า อาคารแสดงสินค้า หรือสถานีบริการก๊าซปิโตรเลียมเหลว           - ร้านจำหน่ายที่อยู่ห่างจากอาคารอื่นไม่เกิน 6 เมตร ให้เก็บรักษาก๊าซปิโตรเลียมเหลวได้ไม่เกิน 2,400 ลิตร ถ้าอยู่ห่างจากอาคารอื่นเกิน 6 เมตรขึ้นไป ให้เก็บรักษาก๊าซปิโตรเลียมเหลวได้ไม่เกิน 12,000 ลิตร           - ร้านจำหน่ายลักษณะที่ 2 (ร้านจำหน่ายที่มีการเก็บก๊าซปิโตรเลียมเหลวเกิน 500 ลิตรขึ้นไป) ต้องมีระบบป้องกันและระงับอัคคีภัยแบบกระจายน้ำดับเพลิงที่สามารถฉีดน้ำครอบคลุมบริเวณที่เก็บถังก๊าซหุงต้มหรือกระป๋องก๊าซ        สำหรับร้านจำหน่ายที่ประกอบกิจการอยู่ก่อนที่กฎกระทรวงฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ให้ปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ภายใน 1 ปีนับตั้งแต่วันที่มีผลบังคับใช้ ขณะที่ร้านจำหน่ายที่ตั้งอยู่ในตึกแถวที่ประกอบกิจการอยู่ก่อนจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้มีกรรมสิทธิ์ในตึกแถวข้างเคียงที่มีผนังร่วมกัน  ผลตรวจน้ำมะพร้าวไม่พบยาฆ่าแมลงแต่โพแทสเซียมสูงผู้ป่วยโรคไตต้องระวัง         นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวเผยแพร่สรรพคุณของน้ำมะพร้าว ในการเพิ่มสมรรถภาพทางเพศของผู้ชาย และทำให้เกิดกระแสการบริโภคน้ำมะพร้าวนั้น กรมวิทยาศาสตร์ฯ โดย สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ได้ศึกษาคุณภาพและความปลอดภัยของน้ำมะพร้าวสดและน้ำมะพร้าวในภาชนะบรรจุปิดสนิท ชนิดละ 7 ตัวอย่าง โดยนำมะพร้าวสดเก็บจากร้านค้าในพื้นที่ จ.ราชบุรี จ.นนทบุรี จ.นครปฐม จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรสงคราม และ น้ำมะพร้าวในภาชนะบรรจุปิดสนิท 7 ยี่ห้อ เก็บจากร้านสะดวกซื้อหรือห้างสรรพสินค้า เพื่อตรวจวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ ได้แก่ แร่ธาตุ วิตามิน น้ำตาล ฮอร์โมน ความเป็นกรดด่าง และการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช         “ผลการตรวจวิเคราะห์ พบแคลเซียม แมกนีเซียม โซเดียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส แมงกานีส เหล็ก สังกะสี ซีลีเนียม และคลอไรด์ในน้ำมะพร้าวสดมากกว่าน้ำมะพร้าวในภาชนะบรรจุปิดสนิท โดยเฉพาะโพแทสเซียมและคลอไรด์ในปริมาณเฉลี่ย 133.81 – 215.20 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม พบวิตามิน บี 2 ในน้ำมะพร้าวสดน้อยกว่า 0.01 มิลลิกรัมต่อ 100 มิลลิลิตร แต่ตรวจไม่พบในน้ำมะพร้าวที่ผ่านการแปรรูป เนื่องจากวิตามิน บี 2 ละลายน้ำได้ดีและถูกแสงสว่างทำลายได้ง่าย และวิตามิน บี 3 ในปริมาณเฉลี่ย 0.04 – 0.1 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม เนื่องจากวิตามิน บี 3 ทนความร้อนและแสงสว่างได้ดีกว่า พบน้ำตาล 3 ชนิด ประกบด้วย กลูโคส ฟรุกโตส และซูโครส ในปริมาณเฉลี่ย 1.28 – 2.61 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร และพบฮอร์โมนเอสตราไดออล (estradiol) ซึ่งอยู่ในกลุ่มของเอสโตรเจน (estrogen) ทุกตัวอย่าง โดยมีปริมาณน้อยกว่า 1.0 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร และเทสโทสเตอโรน (testosterone) น้อยกว่า 0.2 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร สำหรับค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) พบอยู่ในช่วง 4.9 – 5.4 และตรวจไม่พบการตกค้างของสารเคมี กำจัดศัตรูพืชทุกตัวอย่าง” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าว         จากการศึกษาดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าน้ำมะพร้าวมีแร่ธาตุและเกลือแร่ในปริมาณสูง ส่วนน้ำตาลกลูโคส ฟรุกโตส และซูโครส ที่พบในน้ำมะพร้าวสด ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยพบว่า น้ำมะพร้าวสดจะมีกลูโคสสูงกว่าน้ำตาลชนิดอื่น (ประมาณร้อยละ 50 ของน้ำตาลทั้งหมด) และปริมาณน้ำตาลจะขึ้นอยู่กับอายุของลูกมะพร้าว โดยมะพร้าวอ่อน จะมีปริมาณน้ำตาลสูงกว่ามะพร้าวแก่ ส่วนน้ำมะพร้าวในภาชนะบรรจุปิดสนิทจะมีซูโครสสูง อาจเพราะมีการเติมน้ำตาลทรายในกระบวนการผลิตเพื่อปรุงแต่งรสชาติหรือเพิ่มความหวาน การบริโภคน้ำมะพร้าว 1 ผลหรือ 1 ขวด (ประมาณ 200 – 300 มิลลิลิตร) จะได้รับน้ำตาล 7-25 กรัม ซึ่งกรมอนามัยได้แนะนำว่า ควรบริโภคน้ำตาลไม่เกิน 32 กรัมต่อวัน ดังนั้น การบริโภคในปริมาณที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 1 ผลต่อวัน จะช่วยในการรักษาระดับน้ำตาลในกระแสเลือดได้ดี         “น้ำมะพร้าวจัดเป็นเครื่องดื่มที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง แต่ไม่เหมาะสำหรับคนที่เป็นโรคไตเสื่อม เพราะน้ำมะพร้าวจะไปกระตุ้นการขับปัสสาวะ ถ้าร่างกายขาดน้ำ คนที่เป็นโรคไตอาจจะหัวใจวายได้ และคนที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ถ้าร่างกายได้รับโพแทสเซียมมากเกินไป อาจสร้างปัญหาให้หัวใจ และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น ผู้บริโภคจึงควรบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม” นพ.ศุภกิจ กล่าว ศาลปกครองรับคำฟ้องมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กรณี กขค.         ศาลปกครองมีคำสั่งลงวันที่ 22 มีนาคม 2564 รับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอีก 36 องค์กรผู้บริโภค รวมถึงผู้บริโภคจากทั่วประเทศ กรณีคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีมติอนุมัติให้บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวล ลอปเม้นท์จำกัด ควบรวมกิจการกับ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส จำกัด ที่อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย        โดยที่ศาลปกครองมีคำสั่งให้พิจารณาโดยเร่งด่วน และสั่งให้ทำคำชี้แจง รวมถึงส่งเอกสารประกอบว่า​ หากไม่มีคำสั่งให้ชะลอหรือระงับตามคำสั่งทางปกครองในเหตุพิพาทไว้เป็นการชั่วคราวก่อน​นั้นจะเกิดความเสียหายและยากแก่การเยียวยาแก้ไขอย่างไร​         ทั้งนี้ ศาลได้เรียกบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และ บริษัท โลตัส สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัดเข้ามาเป็นคู่กรณีฝ่ายที่สาม โดยกำหนดให้บริษัท ซี.พี. ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัดเป็นผู้ร้องสอดที่ 1 และบริษัท โลตัส สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ร้องสอดที่ 2 (ซึ่ง บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท โลตัส สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564         ส่วนในกรณีที่ผู้ฟ้องคดีได้ร้องขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองหรือบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษานั้น ศาลขอให้ผู้ฟ้องจัดทำคำชี้แจง พร้อมเอกสารหลักฐานเพื่อยื่นต่อศาลภายใน 7 วัน หลังจากที่ได้รับหมาย

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 240 ผลทดสอบกระบอกน้ำเก็บอุณหภูมิ

        สายยืดอกพกแก้วมาทางนี้ ฉลาดซื้อมีผลทดสอบเปรียบเทียบกระบอกน้ำเก็บอุณหภูมิมาฝาก เราเลือกมา 23 รุ่น จากที่สมาชิกในยุโรปขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (International Consumer Research and Testing) ได้ทำไว้ในช่วงปลายปี 2020กระบอกน้ำเหล่านี้มีความจุระหว่าง 280 มล.ถึง 473 มล. สนนราคาตั้งแต่ 5 – 20 ยูโร จัดซื้อโดยองค์กรผู้บริโภคในออสเตรีย (Verein Fur Konsumenteninformation) สาธารณรัฐเชก (DTest) และเดนมาร์ก (Forbrugerraadet Taenk)         คะแนนในการทดสอบแบ่งออกเป็น 5 ด้านได้แก่        1.  ประสิทธิภาพ (ร้อยละ 60) คิดจากความสามารถในการรักษาอุณหภูมิน้ำร้อน/น้ำเย็น เมื่อเวลาผ่านไป 6, 12, และ 24 ชั่วโมง เมื่อวางกระบอกน้ำที่เติมน้ำร้อน/เย็น ปิดฝา แล้ววางไว้ที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส โดยทดสอบทั้งการเติมน้ำครึ่งกระบอก และเติมถึงขีดสูงสุดที่ระบุรวมถึงการป้องกันการรั่วซึมเมื่อเติมน้ำร้อยละ 75 แล้วปิดฝา คว่ำไว้ 10 นาที และทดสอบการรั่วซึมอีกครั้งหลังเปิด/ปิด 600 ครั้ง        2.  ความสะดวกในการใช้งาน (ร้อยละ 25) เช่น การเปิด/ปิดฝา เติม/เทน้ำ การทรงตัวของกระบอกเมื่อวางบนพื้นไม่เรียบ และความง่ายในการล้างทำความสะอาด        3.  รูปลักษณ์และการประกอบ (ร้อยละ 5) ดูจากการรอยเชื่อมต่อ สภาพภายนอกที่ดูสวยงาม มั่นคงแข็งแรง รับแรงเปิด/ปิดได้ดี        4.  ความทนทาน (ร้อยละ 5) ทดสอบด้วยการทิ้งกระบอกจากความสูง 80 ซม. ลงบนพื้นคอนกรีต 3 ครั้ง (ทิ้งแนวตรง 1 ครั้ง/ทิ้งด้านข้าง 2 ครั้ง) แล้วตรวจสอบความเสียหาย        5.  ความปลอดภัย (ร้อยละ 5) เป็นการตรวจหาการปนเปื้อนของสารประกอบกลุ่มโพลีไซคลิก อะโรเมติก ไฮโดรคาร์บอน (PAH)         เป็นอีกครั้งที่เราพบว่าของแพงไม่จำเป็นต้องดีและของดีก็ไม่จำเป็นต้องแพง รุ่นที่ได้คะแนนรวมสูงที่สุด (85 คะแนน) ในการทดสอบเปรียบเทียบครั้งนี้คือ Undersöka ของ Ikea ที่ราคาถูกที่สุดด้วย (ราคาในเมืองไทย 299 บาท ราคาที่ซื้อในยุโรป 5 ยูโร) ส่วน Contigo Autoseal West Loop ที่ราคาแพงที่สุดได้ไปเพียง 64 คะแนน         ·    ฉลาดซื้อมีสิทธิ์เผยแพร่ผลการทดสอบที่เราไม่ได้ลงทุนทำเองได้ เพราะเราเป็นสมาชิก ICRT ที่ร่วมลงขันปีละ 6,000 ยูโร หรือประมาณ 217,000 บาท หากมีงบประมาณพอ เราก็สามารถส่งตัวอย่างจากเมืองไทยไปให้เขาทดสอบ โดยรับผิดชอบจ่ายค่าทดสอบ เช่น กระบอกน้ำเก็บอุณหภูมิ ค่าทดสอบอยู่ที่ตัวอย่างละ 390 ยูโร (ประมาณ 14,000 บาท)          ·    เราเคยเสนอผลการทดสอบเปรียบเทียบขวดน้ำสุญญากาศ ขนาด 350-500 มล. จำนวน 12 ยี่ห้อที่เครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคได้ทำไว้ ในฉบับที่ 208 (ธันวาคม 2560) 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 240 กระแสต่างแดน

ช้าแต่ไม่ชัวร์        พาหนะไฟฟ้าขนาดมินิกำลังได้รับความนิยมมากในหมู่ผู้สูงอายุชาวจีนที่รู้สึกเป็นอิสระในการออกไปพบปะเพื่อนฝูง ไปโรงพยาบาล หรือไปซื้อของด้วยตัวเอง         ตัวเลือกและสนนราคาของพาหนะที่ว่านี้ก็ดึงดูดใจ มีตั้งแต่ที่หน้าตาเหมือนจักรยานสามล้อ (ราคาประมาณ 2,000 หยวน หรือ 9,300 บาท) ไปจนถึงแบบที่คล้ายรถจี๊ป (ราคา 10,000 หยวน หรือ 46,500 บาท) และด้วยความเร็วอันน้อยนิด จึงไม่ต้องจดทะเบียน         เนื่องจากยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานการผลิต ผู้ใช้จึงพบกับปัญหา “รถเสีย” บ่อยครั้ง  และตามกฎหมายจีน รถแบบนี้ไม่สามารถนำมาวิ่งบนถนนหรือในทางจักรยาน ใช้ได้เพียงในบริเวณพื้นที่ปิดหรือในอาคารเท่านั้น แต่คุณตาคุณยายไม่ทราบ เพราะคนขายบอกว่า “ไปได้ทุกที่”         เมืองใหญ่ๆ อย่างเซี่ยงไฮ้จึงมีมาตรการออกมารับมือ ด้วยการกำหนดให้ผู้ใช้รถแบบนี้มีใบขับขี่ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 และเตรียมประกาศมาตรฐานการผลิต การขาย การเก็บภาษี และการประกันด้วย    สโลว์แฟชัน        รายงานของ Changing Markets Foundation ระบุว่าอุตสาหกรรมแฟชันพึ่งพาเส้นใยสังเคราะห์ราคาถูก เช่น โพลีเอสเตอร์ เป็นหลักเพื่อผลิตเสื้อผ้าให้ได้ราคาถูกลง ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมามีการผลิตเส้นใยสังเคราะห์เพิ่มขึ้น 9 เท่า และมีการใช้น้ำมันถึง 350 ล้านบาเรล/ปี ในการผลิตเส้นใยดังกล่าว         องค์กรดังกล่าวเสนอให้วงการนี้เลิกพึ่งวัตถุดิบจากฟอสซิลและ “ลดความเร็ว” ในการปล่อยสินค้าออกสู่ตลาด เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิต ลดปริมาณขยะเสื้อผ้า และลดไมโครไฟเบอร์ (ที่ไหลลงสู่ทะเลปีละ 500,000 ตัน หรือเท่ากับขวดพลาสติก 50,000 ล้านใบ)            ปัจจุบันธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูปใช้พลังงานมากกว่าการขนส่งทางเรือและทางอากาศรวมกัน ร้อยละ 20 ของน้ำเสียจากอุตสาหกรรมก็มาจากการผลิตเสื้อผ้าที่เราสวมใส่         การรีไซเคิลเป็นสิ่งดี... แต่มันยังไม่เกิดขึ้นมากเท่าที่ควร ทุกวันนี้ร้อยละ 87 ของเสื้อผ้าทิ้งแล้วยังถูกนำไปเผา หรือฝังกลบ (ในอัตรา 1 คันรถขยะต่อ 1 วินาที)         สำหรับผู้บริโภคอย่างเรา สิ่งที่ทำได้เลยตอนนี้คือซื้อเสื้อผ้าให้น้อยลงและใช้ประโยชน์จากมันให้นานขึ้น  ยังดีไม่พอ        สมาชิกคณะกรรมการกำกับดูแลอาหารของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์โหวตยืนยันอีกครั้งว่าน้ำผลไม้ 100% จะไม่ได้ “ห้าดาว” โดยอัตโนมัติ แต่จะต้องพิจารณาจากปริมาณน้ำตาลที่แท้จริง เช่นเดียวกับเครื่องดื่มชนิดอื่นๆ เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม         เรื่องนี้ไม่ถูกใจอุตสาหกรรมน้ำผลไม้ซึ่งมีมูลค่าถึง 800 ล้านเหรียญแน่นอน เพราะน้ำผลไม้ 100% บางชนิดมีปริมาณน้ำตาลสูงจึงอาจได้เรตติ้งเพียงสองดาวครึ่ง ซึ่งน้อยกว่าดาวบนฉลากน้ำอัดลมอย่าง ไดเอทโค้ก ด้วยซ้ำ         อเล็กซานดรา โจนส์ นักวิจัยด้านกฎหมายและนโยบายอาหาร ประจำสถาบัน George Institute for Global Health บอกว่าสิ่งที่สังคมได้จากการตัดสินใจครั้งนี้คือความเข้าใจว่า “น้ำผลไม้” ไม่ได้ดีต่อสุขภาพเสมอไป และตามเกณฑ์ที่ใช้อยู่ปัจจุบัน มีเพียงน้ำเปล่าเท่านั้นที่จะได้ห้าดาว           ออสเตรเลียใช้ระบบ “ดาว” แสดงระดับความเป็นมิตรต่อสุขภาพบนฉลากอาหารมาตั้งแต่ปี 2557 อย่ากินน้องเลย         เทศบาลเมืองฮานอยออกมาเรียกร้อง (อีกครั้ง) ให้ผู้คนงดบริโภคเนื้อสุนัขและแมว เพื่อภาพพจน์ที่ “ศิวิไลซ์” ของเมืองหลวงประเทศเวียดนาม        สองปีก่อนรัฐบาลท้องถิ่นรณรงค์ให้งดการกระทำดังกล่าวตามข้อเรียกร้องของกลุ่มพิทักษ์สิทธิสัตว์ที่มองว่าเป็นการทารุณกรรม ทำให้คนฮานอยรุ่นใหม่เกิดการรับรู้และเปลี่ยนทัศนคติ ส่งผลให้ร้อยละ 30 ของร้านขายเนื้อสุนัขและแมวปิดตัวลง         แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าดีมานด์นี้จะหมดไป ปัจจุบันเวียดนามยังมีการบริโภคเนื้อสุนัขมากเป็นอันดับสองของโลกรองจากจีน แต่ละปีมีสุนัขประมาณห้าล้านตัวกลายเป็นอาหารของมนุษย์ แม้จะมีคำเตือนจากองค์การอนามัยโลกถึงอันตรายที่อาจเกิดจากการบริโภคเนื้อสุนัขก็ตาม          นอกจากนี้การค้าเนื้อสุนัขยังทำให้ความพยายามของเวียดนามในการควบคุมการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าและการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่สำหรับโรคดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จด้วย  ต้องมีที่มา         ศาลมิวนิกฟันธง ผักผลไม้ที่ขายออนไลน์ในเว็บ ”อเมซอนเฟรช” ต้องแสดงที่มาเช่นเดียวกับผักผลไม้ที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ต ตามกฎหมายของสหภาพยุโรป หากฝ่าฝืนมีค่าปรับ 250,000 ยูโร (9,000,000 บาท)        องค์กร Foodwatch ในเบอลิน ได้ฟ้องร้องขอคำตัดสินจากศาล หลังทดลองสั่งซื้อผัก/ผลไม้ เช่น ผักกาด มะเขือเทศ องุ่น แอปเปิ้ล และอโวคาโด ทางอเมซอนเฟรช แล้วพบเรื่องแปลก         ครั้งแรกที่ทดลองสั่งในปี 2017 เขาพบว่าไม่มีการระบุแหล่งที่มาของสินค้าบนเว็บ ส่วนครั้งที่สองในปี 2019 ทางเว็บแจ้งที่มาเอาไว้ แต่ผักผลไม้ที่ส่งมานั้นกลับถูกส่งมาจากที่อื่น         ทางอเมซอนให้เหตุผลว่าการใช้แหล่งที่มาเพียงแหล่งเดียวนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะจะไม่มีสินค้าจัดส่งให้กับลูกค้าสั่งซื้อไว้ล่วงหน้านานๆ ในกรณีที่สภาวะอากาศไม่เป็นใจหรือมีปัญหาระหว่างเก็บเกี่ยว และยังโต้แย้งด้วยว่ากฎหมายดังกล่าวใช้กับการผัก/ผลไม้ที่แพ็คขายส่งเท่านั้น         อย่างไรก็ตามเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ตอนนี้ทางร้านจึงรับออเดอร์ล่วงหน้าแค่ 3 วันเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 ความเครียดกับการบำบัดด้วยกลิ่น

        รู้ไหมว่า ความเครียดเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผิวหมอง ผิวอักเสบหรือแม้แต่ผิวหยาบกร้าน ดังนั้นนอกจากการบำรุงผิวพรรณด้วยครีมบำรุงต่างๆ แล้ว การขจัดความเครียดก็ส่งผลให้สุขภาพผิวดีขึ้นได้ด้วย ตั้งแต่โบราณกาลมาการใช้กลิ่นหรือการดมกลิ่น เป็นวิธีการหนึ่งที่ถูกนำมาใช้เพื่อช่วยบำบัดภาวะเครียดหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยบางอย่าง สวยอย่างฉลาดรวบรวมวิธีลดความเครียดด้วยศาสตร์สุคนธบำบัดมาฝาก         กลิ่นช่วยกระตุ้นความทรงจำขึ้นมาได้ ทำให้ระลึกถึงเหตุการณ์ ประสบการณ์ และสภาวะต่างๆ ที่เคยมีได้ดี บางคนอาจจำกลิ่นอาหารที่พ่อแม่เคยทำให้รับประทานสมัยเด็กได้ หรือกลิ่นของดินหลังฝนตกใหม่ๆ ทำให้หลายคนจดจำหรือระลึกถึงครั้งที่ยังอยู่อาศัยใกล้ชิดกับธรรมชาติป่าเขา ท้องนาท้องไร่ การนำธรรมชาติกลับมาสู่ชีวิตด้วย “กลิ่นจากธรรมชาติ” จึงทำให้เกิดภาวะผ่อนคลายหรือ “ความสุข” ขึ้นมาได้พืชพรรณต่างๆ นั้นสามารถสกัดเอาแก่นหรือ essence ออกมาได้ผ่านการทำเป็นน้ำมันหอมระเหย ซึ่งผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่า สามารถช่วยบรรเทาภาวะเครียด ลดความวิตกกังวล เพิ่มระดับความจำ หรือแม้แต่การบรรเทาอาการเจ็บปวดได้ เมื่อนำมาใช้อย่างถูกต้อง         วิธีการเลือกใช้น้ำมันหอมระเหย         1.เลือกผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ น้ำมันหอมระเหยจากธรรมชาติจะใช้คำว่า Pure Essential Oil ในขณะที่น้ำมันหอมระเหยสังเคราะห์จะใช้คำว่า Aromatic Oil FragranceOil หรือ Perfume Oil        2.หลีกเลี่ยงการกินหรือทาบริเวณปาก เนื่องจากน้ำมันหอมระเหยเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ภายนอก จึงไม่ควรกินหรือทาบริเวณเนื้อเยื่ออ่อนเด็ดขาด         3.ห้ามใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจส่งผลกับยาที่กิน (เสริมฤทธิ์หรือลดฤทธิ์ยา) และอาจเกิดการเสพติดซึ่งไม่ก่อให้เกิดผลดี        4.ไม่ควรใช้กับเด็กโดยเฉพาะทารกและเด็กวัยหัดเดิน และผู้ที่มีความเสี่ยงแพ้หรือไวต่อน้ำมันหอมระเหย         วิธีใช้น้ำมันหอมระเหย         มีหลายวิธีแต่ที่ได้รับความนิยม คือการใช้เครื่อง aroma diffuser หรือเครื่องพ่นไอน้ำ โดยผสมน้ำมันหอมระเหยลงไปในน้ำเพื่อให้ไอน้ำที่ออกมาเป็นตัวนำน้ำมันหอมระเหยออกมา ทำให้กลิ่นสามารถอยู่ในอากาศรอบตัวได้หลายชั่วโมงเหมาะกับการใช้ในห้องปิด         หรือการนำขวดใส่น้ำมันที่เสียบก้านไม้ โดยก้านไม้ด้านหนึ่งจุ่มอยู่ในน้ำมันที่ผสมแล้ว กลิ่นจะกระจายออกมาผ่านกิ่งไม้นี้ ซึ่งมีแบบสำเร็จรูปขายหรือทำเองง่ายๆ ด้วยการหา ขวดแก้วหรือเซรามิกที่มีขนาดพอเหมาะปากขวดแคบ กิ่งไม้แห้งที่ยาวสองเท่าของขวด  จากนั้นให้ผสมน้ำมันหอมระเหยกลิ่นที่ชอบร่วมกับน้ำมันที่จะใช้เป็นตัวนำ (น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก) ในสัดส่วนน้ำมันหอมระเหย 30% และน้ำมันตัวนำ 70% แล้วเทส่วนผสมลงในขวด ใส่ก้านไม้ลงไปรอประมาณ 2-3 ชั่วโมง ให้ก้านซึมซับน้ำมันไว้เต็มที่ จากนั้นกลับด้านก้านไม้ ให้ด้านที่ชุ่มน้ำมันอยู่ด้านบน กลับก้านไม้เมื่อกลิ่นจางลงหรืออาทิตย์ละครั้ง และอีกวิธีหนึ่งคือ การจุดเทียนหอม ทั้งนี้วิธีการขึ้นอยู่กับความสะดวกและไลฟ์สไตล์ส่วนบุคคล ซึ่งทั้งสามวิธีสามารถนำพากลิ่นให้ช่วยนำอารมณ์ ความรู้สึก และประสบการณ์แห่งป่าและธรรมชาติกลับมาสู่เรา รวมถึงทำให้เราได้รับประโยชน์จากสารสกัดต่าง ๆ จากพืชพรรณนานาชนิดได้อีกด้วย  แหล่งข้อมูล วิธีใช้น้ำมันหอมระเหยจาก “หนังสือเปิดใจให้ธรรมชาติ” หน้า 91-95

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 รู้เท่าทันเครื่องดื่มวิตามินและเกลือแร่ต่างๆ

        ช่วงนี้คงไม่มีอะไรมาแรงเท่าเครื่องดื่มผสมวิตามินและเกลือแร่ต่างๆ ที่โฆษณาขายกันอย่างครึกโครมว่าเพิ่มพลังและดีต่อสุขภาพ มีดารา ศิลปินชื่อดังที่มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ยี่ห้อต่างๆ จนฉุดยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งในและต่างประเทศเครื่องดื่มวิตามินและเกลือแร่ คืออะไร         บริษัทเครื่องดื่มสุขภาพกำลังเพิ่มการใส่วิตามินและเกลือแร่ลงไปในเครื่องดื่มน้ำผลไม้ น้ำดื่มสำหรับนักกีฬา และน้ำดื่มธรรมดา เนื่องจากผู้บริโภคที่รักสุขภาพเชื่อว่ามีประโยชน์กว่าการดื่มน้ำธรรมดา ทำให้เครื่องดื่มวิตามินและเกลือแร่เหล่านี้มีวางขายทั่วไปหมด ตั้งแต่ ในร้านสะดวกซื้อ ร้านขายของในปั๊มน้ำมัน ร้านขายของชำ จนถึงร้านอาหารข้างทางเครื่องดื่มวิตามินมีประโยชน์ต่อสุขภาพและปลอดภัยจริงหรือ         เครื่องดื่มวิตามินต่างๆ ที่ขายในท้องตลาด อาจมีวิตามินและสารอาหารที่ใส่เข้าไปในปริมาณน้อย บางชนิดก็ไม่มีความจำเป็น บางชนิดถ้าบริโภคในปริมาณมากและระยะยาวอาจเป็นอันตราย         “ปกติ เราได้รับวิตามินและแร่ธาตุตามธรรมชาติจากอาหาร หลายคนยังกินวิตามินเสริมเป็นประจำ นอกจากนี้ ยังมากินเครื่องดื่มวิตามินและเกลือแร่เพิ่มอีก ทำให้มีการบริโภควิตามินและแร่ธาตุมากเกินกว่าความจำเป็น” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ Mridul Datta จากภาควิชาโภชนาการ มหาวิทยาลัยเพอร์ดู กล่าว         ทุกวันนี้ งานศึกษาแสดงว่า ประชากรแต่ละคนได้รับวิตามินและแร่ธาตุในระดับที่สูง มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ใหญ่ในสหรัฐอเมริกาบริโภควิตามินรวมหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ขนมปัง อาหารหลายอย่าง มีการเพิ่มวิตามิน B, A และ D  ในประเทศไทยก็มีการการโฆษณานมผงยี่ห้อต่างๆ ว่ามีสารอาหารต่างๆ จำนวนมาก              วิตามินที่บริโภคในปริมาณมาก วิตามินบางชนิดละลายในน้ำได้ เช่น วิตามิน B และ C ซึ่งจะขับถ่ายออกทางปัสสาวะ แต่วิตามินที่ละลายในไขมัน เช่น A, D, E และ K จะสะสมในเนื้อเยื่อ และเกิดความเสี่ยง เพราะคงตัว ไม่ขับออกทางปัสสาวะ เมื่อบริโภคต่อเนื่อง จะเพิ่มปริมาณสูงขึ้นและมีผลต่อการทำงานของตับ ซึ่งต้องระวัง         งานศึกษาวิจัยขนาดใหญ่ที่ตีพิมพ์ใน JAMA  ปีค.ศ. 2009 ทำการศึกษาคลินิกใน ผู้ป่วยโรคหัวใจกว่า 6,000 ราย ซึ่งได้รับวิตามิน B หรือ ยาหลอกเป็นเวลากว่า 7 ปี พบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับกรดโฟลิคและ B12 มีอัตราการเสียชีวิตและมะเร็งสูงกว่า         ในปีค.ศ. 2012 การทบทวนการศึกษาทางคลินิกในประชากร 300,000 รายโดย Cochrane พบว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต้านอนุมูลอิสระ เช่น เบต้าแคโรทีน วิตามิน A, E เพิ่มอัตราการเสียชีวิต ในปีถัดมา หน่วยงานป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกาได้สรุปว่า “มีหลักฐานจำกัดที่ยืนยันว่า การบริโภควิตามินและแร่ธาตุสามารถป้องกันมะเร็งและโรคหัวใจได้”เครื่องสุขภาพมีผลเสียต่อสุขภาพหรือไม่         การทบทวนวรรณกรรมใน Cochrane library ปีค.ศ. 2019 พบว่า ปัญหาใหญ่ของเครื่องดื่มที่มีผลเสียต่อสุขภาพคือ กลุ่มเครื่องดื่มที่มีรสหวาน หรือมีน้ำตาลในปริมาณสูง ก่อให้เกิดโรคอ้วน ฟันผุ เบาหวาน และโรคหัวใจ         เครื่องดื่มวิตามินและเกลือแร่ที่ขายกันทั่วไป ส่วนใหญ่ผลิตโดยบริษัทเครื่องดื่มน้ำอัดลม หลายยี่ห้อจึงมีรสหวานเท่ากับหรือมากกว่าน้ำอัดลม ยกเว้นบางประเภทที่บอกว่าน้ำตาลเป็น 0 แต่ก็ใช้รสหวานจากน้ำตาลเทียม         ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มวิตามินหรือแร่ธาตุจึงมีโอกาสเป็นโรคอ้วน และอาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานและโรคหัวใจได้         สรุป     เครื่องดื่มวิตามินและเกลือแร่สามารถมีผลเสียต่อสุขภาพได้ จากวิตามิน แร่ธาตุ และน้ำตาล ที่บริโภคมากเกินจำเป็น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 ระวังผลิตภัณฑ์น้ำสมุนไพรสกัด สวม อย. ปลอม

        คุณอภิรักษ์เป็นคนที่รักสุขภาพ และมีความชอบพืชสมุนไพรและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรเป็นอย่างมาก มาวันหนึ่งคนรู้จักแถวบ้านคุณอภิรักษ์ได้เข้ามาแนะนำผลิตภัณฑ์น้ำสมุนไพรยี่ห้อหนึ่ง โดยโฆษณาสรรพคุณ แก้ปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอกตามร่างกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรง คุณอภิรักษ์ได้อ่านส่วนผสมและสรรพคุณต่าง ๆ บนฉลากสินค้า ก็เห็นว่ามีสมุนไพรหลายตัวที่น่าสนใจ ทั้งคนที่นำผลิตภัณฑ์มาเสนอขายยังเป็นคนที่รู้จักมักคุ้น และเคยได้ยินคนในละแวกบ้านกล่าวถึงกัน บนฉลากก็ยังมีเลข อย.รับรองอีกด้วย คุณอภิรักษ์จึงได้ซื้อน้ำสมุนไพรสกัดเอาไว้จำนวนหนึ่งเพื่อทดลองรับประทาน         ไม่กี่วันต่อมามีข่าวว่า เพื่อนบ้านจำนวนหนึ่งที่ดื่มผลิตภัณฑ์น้ำสมุนไพรสกัดดังกล่าว เกิดอาการคันและบวมตามร่างกายจนต้องทยอยกันเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล อีกทั้งเมื่อหน่วยงานนำตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไปตรวจสอบยังพบว่า ผลิตภัณฑ์มีการสวมเครื่องหมายเลข อย.ปลอมและมีสารสเตียรอยด์ปนเปื้อน นับเป็นโชคดีของคุณอภิรักษ์ที่ยังไม่ได้หยิบน้ำสมุนไพรสกัดยี่ห้อดังกล่าวมารับประทาน แต่อยากได้ความรับผิดชอบจากผู้ผลิตจึงโทรมาปรึกษา แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อมีการตรวจพบการปนเปื้อนของสารสเตียรอยด์ในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ถือว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (1) คือ อาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษตาม มาตรา 58 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ         นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่สามารถใช้คำโฆษณาในลักษณะเพื่อบรรเทา รักษา หรือแก้โรคต่าง ๆ ได้ เพราะไม่ใช่เวชภัณฑ์ยาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการรักษาโรค ในกรณีนี้ยังเข้าข่ายใช้คำโฆษณาหลอกลวงเกินจริง ซึ่งตาม มาตรา 40 ของ พ.ร.บ.อาหารฯ ยัง ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร อันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ซึ่งมีบทกำหนดโทษตาม มาตรา 70 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         แนะนำให้คุณอภิรักษ์นำสินค้าไปมอบให้ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดดำเนินการตามกฎหมาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 มัดรวมผลทดสอบอาหาร 2 ปีรวด คน "ฉลาดซื้อ" ต้องอ่าน

        “อาหาร” ก็เหมือน “ยา” การได้กินอาหารที่ดีมีคุณประโยชน์ร่างกายก็แข็งแรง ซึ่งแน่นอนว่าหาก “กายดี จิตก็ดี” ในทางกลับกันหากกินอาหารคุณภาพไม่ดี คุณประโยชน์ขาดๆ เกินๆ นอกจากจะไม่แฮปปี้ในการกินแล้วยังส่งผลให้สุขภาพแย่ลงด้วย โดยเฉพาะอาหารที่มีการผสมสารเคมีหรือวัตถุเจือปนอาหารต้องห้ามหรือมากเกินมาตรฐานอย่างสารกันบูด การปนเปื้อนโลหะหนักอย่างสารตะกั่ว หรือการปนเปื้อนสารพิษอันตราย อาทิ สารเคมีทางการเกษตร ทั้งยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลงต่างๆ แทนที่จะกินอาหารเป็นยา กลับกลายเป็น “ยาพิษ” ไปได้         ดังนั้นนอกจากการออกเกณฑ์มาตรฐานอาหารปลอดภัย โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่พยายามปรับปรุงอย่างเต็มกำลัง ซึ่งจะมีข้อห้ามและบทลงโทษเอาไว้อย่างชัดเจนแล้ว ก็อาจต้องยอมรับว่า อย.ยังด้อยเรื่องการทำงานเชิงรุก เรียกว่ายังไม่มากเพียงพอที่จะตามทันเล่ห์เหลี่ยมคนที่จ้องจะหาผลประโยชน์จากการผลิต “ผลิตภัณฑ์อาหาร” ที่ไม่ได้คุณภาพออกมา         “นิตยสารฉลาดซื้อ” โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) จึงเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งในการทำหน้าที่ตรวจสอบติดตามผลิตภัณฑ์อาหารที่วางจำหน่ายในท้องตลาดเมืองไทย เพื่อคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมให้คนไทยได้กินอาหารที่ดี มีประโยชน์จริงๆ ซึ่งต้องบอกว่าเรื่องนี้ “ฉลาดซื้อ” ติดตาม เกาะติดมานานหลายปี ช่วยจัดทำชุดข้อมูลข้อเท็จจริงส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำกับติดตามให้เกิดการแก้ไข และเพื่อการมีอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย         ในโอกาสสิ้นปี 2563 นี้ นิตยสารได้ทำการสรุปผลการตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้ดำเนินการตรวจสอบตั้งแต่ปี 2562 ถึง 2563 อะไรเด่น “ฉลาดซื้อ” มัดรวมเอาไว้ผ่านบทความชิ้นนี้ โดยแยกเป็นกลุ่ม 1. สารกันบูด 2. สารเคมีทางการเกษตร 3. เชื้อดื้อยา และ 4. ไขมันทรานส์         เริ่มกันที่ กลุ่มวัตถุกันเสีย หรือ สารกันบูด ทั้ง กรดซอร์บิก (Sorbic Acid) และ กรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) มีผลต่อการทำงานของตับ และไต ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมา นิตยสารฉลาดซื้อได้เก็บตัวอย่างมาทดสอบจำนวนมาก ดังนี้...         “โรตีสายไหม” สุดยอดของฝากจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งการตรวจสอบต้องแยกเป็น 2 ส่วนคือ 1.แผ่นแป้ง ซึ่งบูดง่าย อาจมีการใช้สารกันบูดเพื่อยืดอายุการใช้งาน 2.น้ำตาลสายไหม ทำจากน้ำตาล น้ำมันมะพร้าว แป้งสาลี และสีผสมอาหารสังเคราะห์ที่มากเกินไปก็ไม่ดีต่อสุขภาพ หลังจากที่เคยเก็บตัวอย่างเมื่อเดือนมี.ค. 2561 จำนวน 10 ตัวอย่าง พบ 4 ตัวอย่างผสมสารกันบูด ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้เข้ามาจัดการแล้ว แต่จากการเก็บตัวอย่างมาตรวจอีกครั้งในเดือนเม.ย.2562 จากตลาด 13 แห่งในพื้นที่ โดยเป็นโรตีสายไหมจากเจ้าเดิม 10 ตัวอย่าง และเจ้าใหม่อีก 3 ตัวอย่าง ผลทดสอบในแป้งโรตี มีการใช้สีผสมอาหารสังเคราะห์ตาร์ตราซีน (Tartrazine) เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด (สูงสุดไม่เกิน 50 มก./กก.) 2 ตัวอย่าง คือ 1.ร้านวรรณพร ตรวจพบ ตาร์ตราซีน 59.76 มก./กก. และ 2.ร้านประวีร์วัณณ์  ตรวจพบ ตาร์ตราซีน 57.41 มก./กก.         ขณะที่การทดสอบวัตถุกันเสียนั้น ในทุกตัวอย่างไม่พบกรดซอร์บิก แต่พบกรดเบนโซอิกในทุกตัวอย่าง แต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน (ไม่เกิน 1,000 มก./กก.) 7 ตัวอย่าง แต่มีอีก 6 ตัวอย่างที่พบกรดเบนโซอิกเกินค่ามาตรฐาน คือ 1. โรตีสายไหม ร้านเรือนไทย 2. ร้านไคโร น้องชายบังอิมรอน 3. ร้านบังหมัด 4.ร้านวริศรา โรตีสายไหม 5.ร้านบังเปีย อามีนะห์ แสงอรุณ และ 6.ร้านแม่ชูศรี (รายละเอียดในฉบับที่ 218) โดยมีอยู่ 2 ร้านที่ผลการทดสอบครั้งแรกเดือนมี.ค. 2561 (ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 205) และครั้งนี้พบเกินค่ามาตรฐานทั้ง 2 ครั้ง ร้านเอกชัย (B.AEK) และ ร้านศิลัคข บังอารีย์ แสงอรุณ เจ้าเก่า อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 218)            “เส้นขนมจีน” ซึ่งเป็นหนึ่งในอาหารยอดนิยม เป็นอาหารจำพวกแป้งสด จึงบูดเสียง่าย จึงพบการลักลอบในสารกันบูดเช่นเดียวกัน ซึ่งจากการทดสอบมาแล้ว 2 ครั้ง ในเดือน ก.พ. 2559 (ฉบับที่ 180) และในเดือนมิ.ย. 2560 (ฉบับที่ 196) พบว่ามีการการผสมสารกันบูดเกินมาตรฐานเกินครึ่งของกลุ่มตัวอย่างที่สุ่มเก็บมา         ล่าสุดเดือนพ.ค.2562 สุ่มเก็บมาอีก 31 ตัวอย่าง จากตลาดสดและห้างสรรพสินค้า ตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการแล้วไม่พบกรดซอร์บิกเลย แต่พบกรดเบนโซอิกในทุกตัวอย่าง และมี 2 ตัวอย่างที่พบเกินค่ามาตรฐาน 1.เส้นขนมจีน ยี่ห้อ หมื่นบูรพา จากตลาดคลองเตย พบในปริมาณ 1066.79 มก./กก.และ  2.เส้นขนมจีน ยี่ห้อ M&A บ้านขนมจีนปทุม จากตลาดสี่มุมเมือง พบในปริมาณ 1361.12 มก./กก.         อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตรวจพบว่าเส้นขนมจีนทุกตัวอย่างมีการปนเปื้อนกรดเบนโซอิก จึงสังเกตที่ฉลากบรรจุภัณฑ์เพิ่มเติมพบว่ามีเพียง 4 ตัวอย่างที่แสดงข้อมูลการใช้สารกันบูดหรือวัตถุกันเสีย ที่เหลือบางตัวอย่างมีเลขสารระบบของอย. บางตัวอย่างระบุไว้บนฉลากว่าปราศจากวัตถุกันเสีย ปราศจากสิ่งเจือปน  (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 219)         “น้ำพริกหนุ่ม” สำหรับการตรวจหาสารกันบูดในน้ำพริกหนุ่มนั้น โดยสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำพริกหนุ่มที่จำหน่ายในภาคเหนือ 17 ตัวอย่าง เมื่อเดือนมิ.ย. 2562 ผลการตรวจพบว่า 2 ตัวอย่างไม่มีสารกันบูดเลย ส่วนที่พบสารกันบูดแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน 8 ตัวอย่าง         และพบกรดเบนโซอิกเกินมาตรฐาน 7 ตัวอย่าง คือ 1.น้ำพริกหนุ่ม ร้านดำรงค์ จาก ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ พบ 890.32 มก./กก. 2.น้ำพริกหนุ่ม ล้านนา จาก ตลาดของฝากเด่นชัย จ.แพร่ พบ 1026.91 มก./กก. 3.น้ำพริกหนุ่ม นิชา (เจ๊หงษ์ น้ำพริกหนุ่ม) จาก ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ 1634.20 มก./กก. 4.น้ำพริกหนุ่ม เจ๊หงษ์ จาก ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ พบ 1968.85 มก./กก. 5.น้ำพริกหนุ่ม แม่ชไมพร จาก ตลาดสดอัศวิน ร้านสิริกรของฝาก จ.ลำปาง พบ 2231.82 มก./กก. 6.น้ำพริกหนุ่ม ยาใจ (รสเผ็ด) จาก ร้านขายของฝากสามแยกเด่นชัย จ.แพร่ พบ 3549.75 มก./กก. และ 7. น้ำพริกหนุ่ม อุมา จาก ตลาดสดแม่ต๋ำ จ.พะเยา พบ 5649.43 มก./กก. (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 221)         “กุนเชียง” ว่าด้วยเรื่องของกุนเชียงนั้น เมื่อเดือน ธ.ค.2562 “นิตยสารฉลาดซื้อ” ได้รับการสนับสนุนทีมอาสาสมัครจากเครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน ในการเก็บตัวอย่าง กุนเชียง 19 ตัวอย่าง แบ่งเป็นกุนเชียงหมู 9 ตัวอย่าง  กุนเชียงไก่ 5 ตัวอย่าง และกุนเชียงปลา 5 ตัวอย่าง มาตรวจสอบ ก็พบว่าทุกตัวอย่างมีความปลอดภัย ไม่มีวัตถุเจือปนอาหาร ไนไตรท์ ไนเตรท กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก เกินค่ามาตรฐาน หรือถ้าพบก็พบในปริมาณน้อยไม่เกินค่า ...(อ่านต่อได้ที่ฉลาดซื้อฉบับ 227)         มาต่อกันที่ “สลัดครีม” เมนูอาหารมื้อเบาๆ ที่มักพบสารกันบูดละไขมันนั้น จากการ สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ประเภทสลัดครีม 17 ตัวอย่าง จากร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้าในพื้นที่กรุงเทพฯ มาตรวจวิเคราะห์ พบ 1 ตัวอย่างมีสารกันบูด ทั้งกรดซอร์บิก และ กรดเบนโซอิก รวมกันเกินค่ามาตรฐาน คือ “American Classic Ranch” โดยพบกรดเบนโซอิก664.14 มก./กก. และพบกรดซอร์บิก 569.47 มก./กก. รวมแล้วทั้ง 2 ชนิดพบ 1,233.61 มก./กก. (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 232)         กลุ่มสารเคมีทางการเกษตร และโลหะหนัก ทั้งนี้ สิ่งแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย มีโลหะหนัก หรือการใช้สารเคมีในภาคเกษตรที่มีอยู่หลายร้อยชนิด เป็นความเสี่ยงอย่างสูงที่จะทำให้วัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหารนั้นมีการปนเปื้อนสารเหล่านี้ไปด้วย ดังนั้น ตลอดปี 2562-2563  “ฉลาดซื้อ” มีการเก็บตัวอย่างอาหารมาทดสอบหาการปนเปื้อน           โฟกัสไปที่ “น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ” เมื่อเดือน ก.พ.-มี.ค.2561 ได้ทำการเก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ 12 ตัวอย่าง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อตรวจหาปริมาณตะกั่วและแคดเมียม ผลการตรวจตะกั่ว พบว่าในน้ำปลาร้าทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 คือไม่เกิน 1 มก./ อาหาร 1 กก. ส่วนผลทดสอบแคดเมียม เนื่องจากไม่มีเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศ ฉบับที่ 98 จึงใช้เกณฑ์เทียบเคียงจากของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำปลาร้าของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม คือ แคดเมียมต้องน้อยกว่า 2 มก./กก.ก็พบว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มผช.ทุกตัวอย่าง           ต่อมาเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ 15 ตัวอย่าง โดยเป็นตัวอย่างในชื่อผลิตภัณฑ์เดิม 9 ตัวอย่าง และผลิตภัณฑ์ใหม่อีก 6 ตัวอย่าง ตรวจแล้วทุกอย่างอย่างผ่านเกณฑ์การทดสอบตะกั่ว และแคดเมียมทั้งหมด  แต่กลับตรวจพบสารกันบูดแต่ยังไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ซึ่งกรณีที่พบในปริมาณน้อย อาจจะเป็นไปได้ว่า กรดเบนโซอิกสามารถพบได้จากพืชพรรณหลายชนิดตามธรรมชาติ  (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 220)         ขณะที่ “ปลาสลิดตากแห้ง” ซึ่งเป็นอาหารที่แมลงวันชอบมาตอมและไข่ทิ้งไว้ ทำให้ดูไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งบางร้านใช้การขับไล่ตามปกติ แต่บางร้าน  อาจจะมีการใช้ยาฆ่าแมลงฉีดพ่น ดังที่เป็นข่าวเมื่อต้นปี 2560 ที่พบการใช้ ไดคลอโรไดฟีนิลไตรคลอโรอีเทน (Dichloro-diphenyl-trichloroethane หรือ ดีทีที) ดังนั้นเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อเดือน ก.ค. 2562 “ฉลาดซื้อ” จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างปลาสลิดตากแห้ง 19 ตัวอย่าง จากร้านค้าในตลาดสด ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้าทั่วไป และร้านค้าออนไลน์ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แต่ผลตรวจไม่พบว่ามีตัวอย่างใดปนเปื้อนยาฆ่าแมลงในกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต และในกลุ่มไพรีทรอยด์ แต่อย่างใด (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 235)         มาต่อกันที่ “น้ำปู” หรือ “น้ำปู๋” เป็นเครื่องปรุงรสของทางภาคเหนือ กลุ่มเดียวกับกะปิ ซึ่งจากการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์น้ำปูจำนวน 24 ตัวอย่าง จากตลาดในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ ระหว่างวันที่ 7-15 ก.ย. 2563 มาตรวจวิเคราะห์หาการตกค้างของพาราควอต พบสารพาราควอตในน้ำปู 33 % หรือ 1 ใน 3 ของตัวอย่างที่สุ่มตรวจ ค่าเฉลี่ยของการตกค้าง 0.04275 มก./กก.         โดยตัวอย่างที่พบปริมาณพาราควอตตกค้างมากที่สุด ได้แก่1.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ต.บ้านลา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง พบ 0.090 มก./กก. 2.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ต.ทุ่งฮั้ว อ.วังเหนือ จ.ลำปาง พบ 0.074 มก./กก. 3.น้ำปู ยี่ห้อน้ำปู๋แม่แจ่ม จาก ตลาดสดข่วงเปา ต.ข่วงเปา อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ พบ 0.046 มก./กก.  4.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ร้าน น.ส.นิตยา ต.แม่ยางฮ่อ อ.ร้องกวาง จ.แพร่ พบ 0.042 มก./กก. 5.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก บ้านป่าสัก ต.ศรีถ้อย อ.แม่ใจ จ.พะเยา พบ 0.040 มก./กก. 6.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ตลาดบ้านปางลาว ต.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย พบ 0.031 มก./กก. 7.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จากบ้านหนุน อ.ปง จ.พะเยา พบ 0.011 มก./กก. และ 8. น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ร้านป้าหวิน บ้านร่องกาศใต้ ต.ร่องกาศ อ.สูงเม่น จ.แพร่ พบ 0.006 มก./กก. (อ่านรายละเอียดได้ที่ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 235)         ส่วน “หมึกแห้ง” นั้น เมื่อเดือน ม.ค.2563 ฉลาดซื้อได้เก็บหมึกแห้ง 8 ตัวอย่าง  (ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 112-113 ปลาหมึกแห้ง ของดีแต่มีเสี่ยง) จากตลาดสดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งร้านค้าในต่างจังหวัด และห้างออนไลน์ รวม 13 ตัวอย่าง  ตรวจพบว่าทั้ง 13 ตัวอย่างมีการปนเปื้อนปรอทแต่ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด โดยตัวอย่างที่พบสูงสุดอยู่ที่ 0.042 มก./กก. เช่นเดียวกับผลการตรวจหาตะกั่วที่พบทั้ง 13 ตัวอย่างแต่ไม่เกินเกณฑ์ สูงสุด คือ 0.059 มก./กก. สำหรับการตรวจหาสารพิษจากเชื้อรา ( Aflatoxin B1, B2, G1, G2 และ Total Aflatoxin) ไม่พบในทุกตัวอย่าง  เช่นเดียวกับการตรวจหาการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์ ก็ไม่พบในทุกตัวอย่างเช่นกัน         อย่างไรก็ตาม เมื่อทำการตรวจหาแคดเมียม ก็พบทุกตัวอย่าง แต่มีอยู่ 7 ตัวอย่างที่เกินเกณฑ์มาตรฐาน คือ 1.หมึกแห้ง จาก ตลาดคลองเตย ไม่ระบุ ซ.1 ต้นโพธิ์ พบ 2.003  มก./กก. 2. หมึกแห้ง จาก จังหวัดระยอง ร้านโชคชัยการค้า พบ 2.393 มก./กก. 3. หมึกแห้ง จาก ร้านค้าออนไลน์ SHOPEE พบ 2.537  มก./กก. 4. หมึกแห้ง จาก ตลาดเยาวราช ร้าน ต.วัฒนาพาณิชย์ ตลาดเก่าเยาวราช พบ  3.006  มก./กก. 5. หมึกแห้ง จาก ตลาดมหาชัย ร้านศรีจันทร์ พบ  3.303  มก./กก. 6. หมึกแห้ง จาก จังหวัดตราด ร้านเจ๊อำนวย (ตรงข้าม รพ. จังหวัดตราด) พบ 3.432  มก./กก. และ 7. หมึกแห้ง จาก ตลาดปากน้ำสมุทรปราการ ร้านพี่น้อง (เจ๊เล็ก) พบ 3.872  มก./กก. ...(อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 230)         อีกหนึ่งตัวอย่างที่ฉลาดซื้อให้ความสำคัญคือ “ถั่วเหลือง” เป็นพืชที่พบการใช้สารเคมีอันตราย อย่างพาราควอต และไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส แต่ถูกผลักดันให้ยกเลิกการนำเข้า และใช้สารเคมีเหล่านี้ในประเทศไทย ทั้งนี้เมื่อฉลาดซื้อ เก็บตัวอย่างถั่วเหลืองทั้งแบบเต็มเม็ดและแบบผ่าซีก  3 ครั้ง ในวันที่ 29 พ.ย., 2 ธ.ค. และ 6 ธ.ค. 62  รวม 8 ตัวอย่าง จากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่มาทำการตรวจหาการปนเปื้อนสารเคมีทางการเกษตร         ทั้งนี้ผลตรวจสอบพบการตกค้างของไกลโฟเซต 5 ตัวอย่างแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน  ได้แก่ ถั่วเหลือง ตรา ไร่ทิพย์ พบ 0.53 มก./กก., ถั่วเหลืองซีก ตรา เอโร่ พบ 0.07 มก./กก., ถั่วเหลือง ตรา ด็อกเตอร์กรีน พบ 0.50 มก./กก., ถั่วเหลืองซีก ตรา โฮม เฟรช มาร์ท พบ 0.20 มก./กก., และถั่วเหลืองผ่าซีก ตรา แม็กกาแรต พบ 0.24 มก./กก. ส่วนอีก 3 ตัวอย่างไม่พบการตกค้างได้แก่ ถั่วเหลือง ตรา บิ๊กซี, ถั่วเหลิองออร์แกนิค ตรา โฮม เฟรช มาร์ท, และถั่วเหลืองซีก ตรา ท็อปส์        “แม้จะพบไกลโฟเซตไม่เกินค่ามาตรฐานอาหารสากล แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ หากมีการบริโภคในปริมาณที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากถั่วเหลืองที่ไม่ผ่านความร้อนสูงไม่ว่าจะเป็นน้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง เต้าหู้ ฟองเต้าหู้”...(อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 231)         สำหรับกลุ่ม “ไขมันทรานส์” ที่มักพบในขนม นมแนย นั้น และส่งผลกระทบกับสุขภาพของประชาชน ซึ่งล่าสุดทายอย.ประกาศห้ามมีในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ แล้วนั้น อย่างไรก็ตาม “ฉลาดซื้อ” ได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาตรวจสอบ และเผยแพร่ต่อประชาชนคือ         “เค้กเนย และชิฟฟ่อน” โดยมีการเก็บตัวอย่าง 16 ตัวอย่าง พบไขมันทรานส์ในปริมาณน้อยไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ที่กำหนดไว้ คือ ไม่เกิน 0.5 กรัม/หน่วยบริโภค ยกเว้นเค้กเนยของยี่ห้อ PonMaree Bakery (พรมารีย์ เบเกอรี่)  ที่พบไขมันทรานส์ที่ 0.61 กรัม ต่อ 1 หน่วยบริโภค (55 กรัม) ถือว่าสูงกว่ายี่ห้ออื่นๆ แต่เมื่อตรวจสอบที่ผลการวิเคราะห์ชนิดของกรดไขมันทรานส์ พบว่า ยี่ห้อนี้เขาจัดหนักจัดเต็มในสูตรเค้กเพราะใช้เนยแท้ หรือก็คือ ปริมาณกรดไขมันทรานส์ที่ตรวจพบนี้เป็นกรดไขมันทรานส์ธรรมชาติ จึงไม่ผิดกฎหมาย แต่อาจผิดต่อผู้ที่รักสุขภาพ ส่วนผลตรวจหาสารกันเสีย ก็พบเค้กเนยนั้นไม่พบกรดเบนโซอิก แต่กรดเบนโซอิกเล็กน้อยไม่เกินปริมาณที่กฎหมายกำหนดไว้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ..(อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 216)           การตรวจหาการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ และเชื้อดื้อยา        “ปลาทับทิมและเนื้อไก่ชำแหละ” ...เมื่อเดือนต.ค. 2563 “ฉลาดซื้อ” ลุยเก็บตัว “ปลาทับทิม” จากตลาดในเขตกรุงเทพฯ 11 แห่ง ตลาดและกระชังปลาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและอ่างทอง 4 แห่ง รวม 15 ตัวอย่าง ส่งตรวจพบว่ามี 14 ตัวอย่าง ไม่พบการตกค้างของยาปฏิชีวนะที่ส่งตรวจ มีเพียง 1 ตัวอย่าง จากตลาดคลองเตย พบ ยา Oxytetracycline ในปริมาณน้อยกว่า 5.00 ไมโครกรัม/กิโลกรัม (ไม่เกินมาตรฐาน)         ส่วน “เนื้อไก่ชำแหละ” ซึ่งได้เก็บมา 10 ตัวอย่าง ผลตรวจพบว่ามี 9 ตัวอย่าง ไม่พบการตกค้างของยาปฏิชีวนะที่ส่งตรวจ  มี 1 ตัวอย่าง จากเนื้อไก่ที่ซื้อจากตลาดเจ้าพรหม  พบยา Enrofloxacin (Endrofloxacin) ในปริมาณ 0.66 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ทั้งนี้ ยาดังกล่าวไม่ได้เป็นรายการยาในบัญชีแนบท้ายประกาศ แม้ อย. อนุญาตให้ใช้ได้แต่ต้องไม่พบการตกค้างเลย อาจถือเป็นความผิดตามมาตรา 60 โทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ของ พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522           มัดรวมไว้ตรงนี้ เผื่อว่าใครยังไม่ทราบว่าฉลาดซื้อได้เคยทำทดสอบด้านอาหารอะไรไว้บ้าง ก็น่าจะได้เป็นแนวทางในการค้นหารายละเอียดต่อไป และเราสัญญาว่า เราจะตามติดและเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพไม่ว่าจะเป็นอาหาร ยา เครื่องสำอาง ฯลฯ เพื่อให้ผู้บริโภคใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจ “ซื้อ” หรือ “ไม่ซื้อ” ในปี 2564 อย่างเข้มข้น แน่นอน 

อ่านเพิ่มเติม >