ฉบับที่ 121 ลูกค้า 3BB เจ็บแล้วอย่าแค่จำ

หากไม่ได้ใช้บริการและมีความเสียหาย ฟ้องคดีผู้บริโภค ดีที่สุดจากกรณีที่บริษัท ทริปเปิลทรี อินเทอร์เน็ต จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 3BB ได้ตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแล ทำให้ผู้ใช้บริการได้รับความเดือดร้อนทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 12,000 รายการกระทำของบริษัท ทริปเปิลทรีฯ ที่ยกเลิกการให้บริการมาตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมโดยไม่ได้แสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้บริการทั่วประเทศ ถือเป็นการกระทำที่ขาดจริยธรรมทางการค้าเป็นอย่างยิ่งที่สังคมควรร่วมกันประณามและมีมาตรการลงโทษ ที่สำคัญยังเป็นการกระทำผิดทั้งด้านสัญญาและการโฆษณา คือนอกจากจะไม่ให้บริการตามสัญญาทั้งๆ ที่มีการเรียกเก็บเงินค่าบริการไปแล้ว ยังมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคด้วยการโฆษณาโดยใช้ข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง ด้วยการใช้ข้อความว่า “ต้องได้ทุกที่ ทุกแห่ง... ทั่วประเทศ 6 MB” ถือเป็นการกระทำผิดต่อผู้บริโภคที่ชัดแจ้งเป็นอย่างยิ่ง แนวทางแก้ไขปัญหาในขณะที่กำลังรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหา แต่ขณะนี้พบว่าผู้ใช้บริการจำนวนมากที่ถูกระงับสัญญาณอินเทอร์เน็ตมาตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจต่างได้รับความเสียหายกันโดยถ้วนหน้า โดยที่ยังไม่มีการช่วยเหลือเยียวยาใดๆ จากผู้ให้บริการรายนี้เลย เห็นว่าผู้ใช้บริการควรมีมาตรการลงโทษบริษัท ทริปเปิ้ลทรีฯ ด้วยการใช้สิทธิฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ และสามารถเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริงเป็นรายวันได้อีกด้วย โดยสามารถฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคกับศาลยุติธรรมที่ประจำอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ที่ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนได้เลยเพราะถือว่าได้เกิดเหตุการผิดสัญญา ณ ที่จังหวัดนั้น โดยการยื่นฟ้องผู้บริโภคไม่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมใดๆ การฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคนั้น ผู้บริโภคสามารถไปยื่นฟ้องด้วยตนเองได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ทนายความในขั้นตอนยื่นฟ้องก็ได้ เพราะศาลทุกแห่งจะจัดให้มีเจ้าพนักงานคดีคอยให้ความช่วยเหลือแก่ผู้บริโภคที่ต้องการใช้สิทธิฟ้องร้องเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังอาจขอให้ศาลใช้วิธีการคุ้มครองชั่วคราวด้วยการให้มีการเปิดสัญญาณอินเทอร์เน็ตแก่ผู้ใช้บริการได้ และกรณีนี้น่าจะเข้าข่ายการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจที่มีเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคหรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย ผู้บริโภคที่ยื่นฟ้องสามารถขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นอีกได้“สำหรับผู้บริโภคที่มีความกังวลในการยื่นฟ้องด้วยตนเองสามารถติดต่อขอให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยเหลือดำเนินการได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายที่เบอร์โทรศัพท์ 02-2483734-7 หรือติดต่อที่ www.consumerthai.org”  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 114 ค่าโทรโผล่ที่ไอร์แลนด์

“ดิฉันโดนเรียกเก็บค่าบริการโทรทางไกลระหว่างประเทศไปประเทศไอร์แลนด์ 2 รอบบิลติด ทั้งที่ไม่มีคนรู้จักหรือเคยโทรออกไปประเทศนี้เลยค่ะ”คุณมนต์ชิตาลูกค้าทรูมูฟร้องทุกข์“ตอนที่ได้รับบิลแรกได้โทรกลับไปสอบถามที่คอลเซนเตอร์ เค้าบอกว่าตรวจสอบแล้วว่าเป็นเครื่องของเราโทรออกไป แต่เรายืนยันว่าไม่ได้โทรออกไปจริงๆ ให้ตรวจสอบอีกครั้ง เพราะเคยทำมือถือหาย ไม่รู้ว่าซิม เก่าโดนใช้หรือเปล่า แต่ถูกปฏิเสธทันที ว่าเป็นไปไม่ได้”“ดิฉันยุ่งๆ เลยไม่ได้ใส่ใจอะไรมาก พอบิลมาอีกครั้ง ก็มีโทรไปประเทศเดิม เบอร์เดิมอีก ดิฉันโมโหมาก โทรไปที่คอลเซนเตอร์ พนักงานถามว่า มือกดไปโดนรึเปล่าคะ หรือมีการโทรออกเองอัตโนมัติหรือเปล่าคะ”เจอคำถามแบบนั้นคุณมนต์ชิตาก็ได้แต่คิดใจว่า มือใครมันจะสามารถกดไปโดนเบอร์เดียวกันถึง 6 ครั้งในเวลาที่ต่างกัน และอีกอย่างก็ไม่มีเบอร์นี้บันทึกไว้อยู่ในเครื่อง ดังนั้นโทรศัพท์คงไม่มีทางโทรออกได้เองแน่“ดิฉันที่เป็นเจ้าของเครื่อง ยืนยันว่าไม่ได้โทร เขายังบอกว่าโทร ดิฉันเลยบอกว่าจะให้สาบานมั้ย เพราะไม่รู้ว่าจะบอกอย่างไรแล้ว เขายังถามต่ออีกว่า มีคนอื่นเอาไปใช้มั้ย คือวันๆ ได้แต่เลี้ยงลูกอยู่ในบ้าน ลูกอายุ 1 ขวบ 6 เดือน แถมยังไม่เคยมีเพื่อนอยู่ที่ประเทศไอร์แลนด์ หรือถ้าลูกเอาไปกดเล่น ก็คงจะไม่กดได้เบอร์เหมือนกันทุกครั้งใช่มั้ยคะ แล้วคงจะไม่รู้ว่าโทรไปต่างประเทศต้องเริ่มกดด้วย 006 แน่ๆ” เมื่อเซ็งสุดๆ กับผีคอลเซนเตอร์ คุณมนต์ชิตาจึงขอปิดบริการเบอร์มือถือเจ้าปัญหา แต่ผีคอลเซนเตอร์กลับโยกโย้เยกเย้แจ้งว่า จะต้องไปปิดที่ทรูชอปสาขาใดก็ได้ แต่บ้านของคุณมนต์ชิตาอยู่ต่างจังหวัด และไม่ได้อยู่ในอำเภอที่มีทรูชอป“แล้วดิฉันจะทำอย่างไรหล่ะคะ ถ้ารอบบิลหน้า มันมีโทรไปไอร์แลนด์อีก พวกพนักงานโง่ไม่สามารถตอบได้ จนดิฉันต้องบอกว่าทำไมไม่ระงับการโทรออกไปต่างประเทศให้ลูกค้า ถ้าเค้าบอกว่าไม่ได้โทร ทำไมพวกคุณไม่เสนอให้เค้าระงับสัญญาณโทรออกต่างประเทศ”“ดิฉันบอกพนักงานว่าดิฉันจะจ่ายแต่ยอดที่ดิฉันใช้จริง ที่ไม่ได้ใช้จะไม่จ่าย และตอนนี้มีจดหมายจากทนายมา ดิฉันควรทำอย่างไรคะ”แนวทางแก้ไขปัญหาตามกฎหมายโทรคมนาคมผู้บริโภคมีสิทธิปฏิเสธค่าใช้บริการที่ไม่ถูกต้องได้ แต่การแจ้งไปที่คอลเซนเตอร์มักไม่ค่อยได้เรื่องแถมยังทำให้รำคาญใจเสียอีก วิธีที่ได้ผลกว่าคือให้แจ้งเป็นหนังสือจะเป็นรูปของจดหมายลงทะเบียนไปรษณีย์ตอบรับหรืออีเมล์ก็ได้ส่งไปที่กรรมการผู้จัดการบริษัทผู้ให้บริการและให้จดหมายมีน้ำหนักมากขึ้นก็ให้สำเนาส่งมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคด้วยเมื่อส่งจดหมายออกไปแล้ว กฎหมายโทรคมนาคมจะบังคับให้เป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการโทรศัพท์ต้องดำเนินการตรวจสอบอย่างเป็นทางการครับ และกฎหมายโทรคมนาคมได้บังคับให้ผู้ให้บริการต้องมีคำชี้แจงกลับมาเป็นลายลักษณ์อักษรเช่นกัน ถ้าไม่ตอบมาภายใน 60 วัน ผู้ให้บริการโทรศัพท์จะหมดสิทธิ์ในการเรียกเก็บเงินที่มีปัญหากันอยู่ทันทีคุณมนต์ชิตาใช้วิธีเขียนเรื่องร้องเรียนไปที่ www.truemove.com ไม่นานมีพนักงานของทรูมูฟติดต่อกลับมา แจ้งว่ายินดีจะยกเว้นการเรียกเก็บเงินจำนวนที่ทักท้วงให้ แต่ขอให้เซ็นเอกสารที่มีใจความว่าผู้ร้องไม่ติดใจเอาความกับบริษัททรูมูฟอีกต่อไป คุณมนต์ชิตาเห็นว่ายอดเงินตรงกันจึงตกลงเซ็นยินยอมยุติเรื่องโดยไม่คิดเรียกร้องค่าเสียหายต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 105 รถไฟไหม้หลังเข้าศูนย์ซ่อม

คุณรัชตะ (นามสมมติ)ใช้รถยนต์ฮอนด้า แอคคอร์ด (V6) รุ่นปี 2003 มาได้ประมาณ 3 ปี 3 เดือน วิ่งประมาณ 113,XXX กิโลเมตรต่อมาในราว ๆ กลางเดือนกันยายน 2552 บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ได้มีจดหมายถึงคุณรัชตะรวมทั้งผู้ที่เป็นเจ้าของรถยนต์ฮอนด้า แอคคอร์ด (V6) รุ่นปี 2003 ถึง 2007 ว่าให้นำรถยนต์ฮอนด้ารุ่นดังกล่าวเข้ารับการเปลี่ยนท่อน้ำมันของระบบบังคับเลี้ยว เนื่องจากพบว่า ท่อน้ำมันระบบบังคับเลี้ยวเกิดเสื่อมสภาพ หลังจากผ่านการใช้งาน ส่งผลให้ระบบบังคับเลี้ยวทำงานผิดปกติและต้องใช้แรงในการหมุนเพิ่มขึ้นขณะหมุนพวงมาลัย โดยบริษัทฯ จะดำเนินการเปลี่ยนอะไหล่ชิ้นใหม่ที่ได้รับการปรับปรุงคุณภาพ(เพิ่มเติม) โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่ประการใดในวันพุธที่ 23 กันยายน 2552 คุณรัชตะได้นำรถเข้ารับบริการที่ศูนย์บริการฮอนด้าเอกอินทราฮอนด้า ออโตโมบิล เพื่อเปลี่ยนชุดลิ้นปีกผีเสื้อและเปลี่ยนท่อน้ำมันของระบบบังคับเลี้ยวตามที่บริษัทฮอนด้าแจ้ง และได้ไปรับรถออกมาในวันศุกร์ที่ 25 กันยายน 2552 คุณรัชตะได้เล่าถึงเหตุการณ์ระทึกขวัญในวันที่ไปรับรถที่เกือบเป็นวันมรณะของตนเองว่าผมรับรถออกมาเมื่อเวลาประมาณ 17.30 น. และขับขึ้นทางด่วนโยธินพัฒนา วิ่งแค่พักเดียว (ถึงประมาณแถวพระราม 9) ก็เกิดอาการพวงมาลัยหนัก/แข็ง (อาการแบบพวงมาลัยหมุนแทบไม่ไปจากระบบพาวเวอร์ไม่ทำงาน) จึงได้นำรถลงบริเวณคลองตันเพื่อวกขึ้นทางด่วนกลับไปศูนย์ฯ(เอกอินทราฮอนด้า ออโตโมบิล) หลังจากผ่านด่านเก็บเงินเพื่อขึ้นกลับไปศูนย์ดังกล่าวซักระยะ การจราจรเริ่มชะลอตัว เริ่มได้กลิ่นเหม็นไหม้ กลิ่นเหมือนการไหม้ของน้ำมันเครื่องโดนความร้อน ซึ่งในกรณีนี้น่าจะเป็นน้ำมันพาวเวอร์ที่รั่วฉีดไปทั่วห้องเครื่อง และเริ่มเห็นควันขาวซึ่งน่าจะเป็นควันจากน้ำมันพาวเวอร์โดนความร้อน ผมจึงได้โทรเข้าศูนย์ เพื่อสอบถามว่าจะทำอย่างไรดีศูนย์แนะนำให้จอดและให้รถลากของทางด่วนลากไปส่ง ผมจึงได้ขับตัดเข้าข้างทาง (บริเวณดังกล่าวเป็นทางบรรจบบนทางด่วน ช่วงพระราม 9) และจอดบริเวณตู้โทรศัพท์ ซึ่งระหว่างนั้นยังไม่ได้ลงจากรถเนื่องจากมีฝนพรำๆ ซึ่งตอนนั้นยังคุยอยู่กับศูนย์ฯ เพื่อขอเบอร์ทางด่วน และได้เบอร์ 1543 ของทางด่วนเพื่อโทรขอความช่วยเหลือระหว่างนั้นกลุ่มควันขาวเริ่มมากขึ้น เนื่องจากตอนนี้รถจอดนิ่งสนิทแล้ว ไม่มีลมพาควันออกไป และจึงเริ่มสังเกตเห็นเปลวเพลิงลุกขึ้นมาบริเวณระหว่างฝากระโปรงและกระจกบังลมหน้า (บริเวณช่องที่ปัดน้ำฝน) จึงได้ออกจากรถ โดยหลังจากนั้นเพลิงได้โหมไหม้จนไม่สามารถควบคุมได้ (เจ้าหน้าที่กู้ภัยทางด่วนใช้ถังดับเพลิงมือถือ หมดไป 4 ถัง) ซึ่งต้องรอรถน้ำของหน่วยกู้ภัยเพื่อเข้าระงับเหตุจึงสามารถควบคุมเพลิงได้ หลังเกิดเหตุ ซึ่งรถเสียหายบริเวณห้องเครื่องทั้งหมดและลามบริเวณส่วนหน้าของคนขับจากการถูกเพลิงไหม้ เจ้าหน้าที่การทางได้ให้เข้าลงบันทึกประจำวันที่ สน.ทางด่วน 1 เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายเสียหายของการทาง ประกอบด้วยค่าใช้จ่าย เติมสารดับเพลิง 4 ถัง, ค่ารถน้ำ 1 คัน, พื้นทางเสียหาย (เข้าใจว่าประกันเป็นผู้สำรองจ่าย) ภายหลังจากลงบันทึกประจำวันที่ สน. ทางด่วนแล้ว รถถูกลากไปรอที่ศูนย์เอกอินทราเพื่อรอการตรวจพิสูจน์ โดยได้นัดทำการตรวจสอบในวันจันทร์ ที่ 28 กันยายน 2552ทั้งนี้ผมโดยส่วนตัวมั่นใจว่าเป็นความผิดพลาดจากการเปลี่ยนท่อน้ำมันระบบบังคับเลี้ยว (ท่อ Hi Power) โดยเป็นข้อผิดพลาดจากการเปลี่ยน/ประกอบ หรือ ตัวอะไหล่ โดยมีข้อสังเกตจากการที่ศูนย์ขอเลื่อนการรับรถผม 1 วัน โดยแจ้งว่าเปลี่ยนท่อ Hi Power แล้วพวงมาลัยมันหนัก (ผมก็ไม่ได้ถามว่าที่บอกว่าหนักนี่คือหนักขึ้น หรือหนักขนาดไหน) โดยศูนย์แจ้งว่าขอไล่ลมและตรวจสอบทั้งระบบ นอกจากนี้ ก่อนที่จะเกิดเหตุเพลิงไหม้ อาการก็คือพวงมาลัยหนัก/แข็ง จากระบบพาวเวอร์นี้เองโดยในปัจจุบัน (3 ตุลาคม 2552) บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับทราบเรื่องแล้ว รวมทั้งได้ส่งพนักงานเพื่อเข้ามาตรวจสอบเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว (ตั้งแต่วันอังคารที่ 29 กันยายน 2552) แต่ไม่พบการสรุปสาเหตุของปัญหา หรือแนวทางการชดเชยค่าเสียหายแต่อย่างใด และมีข้อสังเกตว่า ศูนย์บริการ เอกอินทราฮอนด้า ออโตโมบิล จำกัด / บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อเหตุการณ์เท่าที่ควร และไม่ได้ดำเนินการเพื่อเร่งการสรุปสาเหตุ หรือพิจารณาการชดเชยแต่อย่างใด เนื่องจากตั้งแต่เกิดเรื่อง ผมจะต้องเป็นคนติดตามเกือบทั้งหมด ตั้งแต่นัดประกันเข้าตรวจสอบ, การแจ้งเรื่องให้ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะเจ้าของผลิตภัณฑ์เข้ามาร่วมตรวจสอบ, การเรียกร้องให้ได้มาซึ่งการชดเชยเบื้องต้น (ได้ขอรถชั่วคราวเพื่อสำรองใช้ 1 คัน) , และจากการติดตามจากเจ้าหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์ซึ่งเป็นผู้ดูแลปัญหานี้ (ติดตามวันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน 2552 และ ศุกร์ 2 กันยายน 2552) ก็ได้ความว่ายังไม่มีความคืบหน้าทั้งที่เป็นกรณีที่มีความรุนแรง รวมทั้งมีผู้ใช้รถรุ่นเดียวกันที่ถูกเรียกให้เข้าไปดำเนินการเปลี่ยนท่อดังกล่าวจำนวนมากสิ่งที่คุณรัชตะต้องการขอความช่วยเหลือคือต้องการให้เร่งการสรุป การชดเชยค่าเสียหาย รวมทั้งเป็นแกนหลักในการแนะนำถึงความสมเหตุสมผลของการชดเชยที่พึงจะได้รับ ทั้งการชดเชยต่อทรัพย์สิน การชดเชยต่อความไม่ปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการชดเชยอื่นๆ ที่พึงจะประเมินได้ตามสมควรแนวทางแก้ไขปัญหาคุณรัชตะร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในวันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม 2552 หลังจากที่รถไฟไหม้ได้ 1 อาทิตย์และพยายามตามเรื่องด้วยตนเอง จนในที่สุดได้มีหนังสือแจ้งจากคุณรัชตะว่าศูนย์บริการฮอนด้า (เอกอินทราฮอนด้า) ได้แสดงความรับผิดชอบในเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว คือ หนึ่ง ได้มีการจัดหารถยนต์สำรองใช้ระหว่างดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2552 สอง ศูนย์บริการฮอนด้าฯ แห่งนี้ได้ทำการชดเชยค่าเสียหายทั้งในส่วนของทรัพย์สินและค่าเสียหายอื่น ๆ ตามที่คุณรัชตะได้รียกร้อง โดยที่คุณรัชตะพึงพอใจต่อการดำเนินการดังกล่าวของศูนย์ฯ และไม่ติดใจเอาความหรือเรียกร้องอื่น ๆ เพิ่มเติมแต่อย่างใดสำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของรถยนต์ฮอนด้า แอคคอร์ด (V6) รุ่นปี 2003 ถึง 2007 และได้รับแจ้งให้ไปเปลี่ยนท่อน้ำมันของระบบบังคับเลี้ยว(เพิ่มเติม) หากสงสัยว่าอาจมีปัญหาเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนอะไหล่ ไม่ควรปล่อยให้ชักช้าเนิ่นนานไป รีบติดต่อศูนย์บริการโดยทันทีเป็นดีที่สุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 103 แม็กซ์เนต ของทีทีแอนด์ทีจ่ายเต็มเดือนแต่ใช้ได้แค่ครึ่งเดือน

สวัสดีค่ะ ดิฉันเปิดใช้บริการอินเทอร์เน็ตของ Maxnet หมายเลข 038-727-000 แต่ในทุกๆ เดือนจะเกิดปัญหาค่ะ“ทุกๆ เดือนจะเกิดปัญหาคืออินเทอร์เน็ตจะใช้ไม่ได้ประมาณ 2 อาทิตย์ จนมาถึงเดือนนี้(กรกฎาคม 2552) ทุกวัน ดิฉันโทรแจ้งทางศูนย์ เขาบอกดิฉันเดี๋ยวทางเราจะแจ้งช่างให้ไปดูแล แต่จนป่านนี้ยังไม่มีใครมาสนใจ แล้วทุกเดือนดิฉันเขียนเรื่องขอลดยอด แต่ใบแจ้งค่าใช้บริการยังคงเรียกเก็บในราคาเต็มคือ 1,166.30 บาท/เดือน การที่อินเทอร์เน็ตใช้ได้ 2 อาทิตย์แล้วปัญหาเกิด 2 อาทิตย์ ดิฉันไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ทำไมเขายังกล้าเก็บเงินกับลูกค้าอยู่อีก...”เป็นเนื้อหาจากจดหมายที่คุณอุไรส่งมาบอกเล่าเรื่องร้องเรียนในปัญหาอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ให้บริการโดยบริษัท ทีทีแอนด์ที ซับสไครเบอร์ เซอร์วิสเซส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด(มหาชน) เราได้รับจดหมายฉบับนี้ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยความอยากรู้ว่าบริการอินเทอร์เน็ตของแม็กซ์เนตเป็นอย่างไร จึงได้ท่องเข้าไป www.maxnet.co.th ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเจ้านี้ พบข้อความโฆษณาที่เกี่ยวกับคุณภาพของอินเตอร์เน็ตที่จัดให้บริการกับลูกค้าหลายจุด ตัวอย่าง“ทีทีแอนด์ทีรุกตลาดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เปิดตัวแคมเปญใหม่ "ติด Maxnet ติดสปีดให้ชีวิต" หวังเจาะ 3 กลุ่มเป้าหมายหลักทั้งนักเรียน คนวัยทำงาน และธุรกิจขนาดเล็ก หวังขยายฐานลูกค้าทั่วประเทศ ตั้งเป้าผู้ใช้บริการสิ้นปี 2549 ที่ 300,000 ราย และจะขยายเป็น 500,000 รายภายในปี 2550นายประจวบ ตันตินนท์ กรรมการ บริษัท ทีทีแอนด์ที ซับสไครเบอร์ เซอร์วิสเซส จำกัด บริษัทในเครือ บมจ. ทีทีแอนด์ทีกล่าวว่า "แนวคิดของการออกแคมเปญใหม่ "ติด Maxnet ติดสปีดให้ชีวิต" คือการทำอย่างไรให้กลุ่มเป้าหมายใช้เวลาได้อย่างคุ้มค่าที่สุด และสามารถทำงานให้สำเร็จลุล่วงได้ด้วยอินเทอร์เน็ตที่มีคุณภาพ ซึ่งบริษัทเชื่อมั่นว่าแม็กซ์เน็ตจะสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทุกกลุ่มได้อย่างลงตัว โดยเราได้นำเสนอผ่านภาพยนตร์โฆษณาชุด Run ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่าแม็กซ์เน็ตช่วยขจัดความล่าช้าและข้อจำกัดต่างๆ ของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างราบรื่น"ที่มา :ข่าวเด่น TT&T “TT&Tรุกเน็ตไฮสปีด ส่ง Maxnet เจาะกลุ่มผู้ใช้ทั่วประเทศ” วันที่ 10/11/2549แต่ไม่ว่าจะโฆษณาอย่างไร ไฮสปีดยี่ห้อนี้ก็ยังมีเงื่อนไขในการให้บริการไม่ต่างจากไฮสปีดยี่ห้ออื่น1. บริการ Hi Speed Internet เป็นบริการแบบแชร์สปีด ความเร็วที่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ใช้บริการในขณะนั้น (Non Guarantee Speed)2. ความเร็วในการเชื่อมต่อ คือ ความเร็วของคอมพิวเตอร์กับโครงข่ายของ ทีทีแอนด์ที ไม่ใช่ความเร็วในการดาวน์โหลดข้อมูล ความเร็วในการดาว์นโหลดที่แท้จริงอาจต่ำกว่าความเร็วสูงสุดในการเชื่อมต่อที่ผู้ใช้บริการเลือกไว้ โดยเฉพาะเว็บไซด์ที่อยู่ต่างประเทศ อาจมีผลมาจากหลายปัจจัย เช่น สภาพของคอมพิวเตอร์ สภาพและระยะทางของสายโทรศัพท์คู่สายภายในของผู้เช่า และการติดขัดของข้อมูลอินเทอร์เน็ต รวมถึงอุปกรณ์ Server และ Router ของเว็บไซด์ที่เข้าชม และปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายประการ ที่มา : ข้อควรรู้ http://www.maxnet.co.th/knowledge.phpคำถามคือว่าจะนำข้ออ้างดังกล่าวมาปฏิเสธความรับผิดชอบกับลูกค้าได้หรือไม่คำตอบคือ ไม่ได้ครับ เพราะว่าประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคม พ.ศ.2544 กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่า ผู้ให้บริการ(โทรคมนาคมทั้งหมด เช่น โทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์เคลื่อนที่ หรืออินเทอร์เน็ต) มีหน้าที่ต้องให้บริการโทรคมนาคมตามมาตรฐานและคุณภาพการให้บริการตามที่ได้โฆษณาหรือแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบ โดยมาตรฐานและคุณภาพ การให้บริการดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) ประกาศกำหนด ดังนั้นเกณฑ์คุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมจึงมิใช่เกณฑ์ที่ผู้ประกอบธุรกิจจะมานึกเอาตามใจชอบได้ส่วนกรณีที่เกิดเหตุขัดข้องขึ้นกับการให้บริการโทรคมนาคมของผู้ให้บริการจนทำให้ผู้ใช้บริการไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ กฎหมายฉบับเดียวกันกำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการที่จะต้องดำเนินการแก้ไขเพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถกลับมาใช้บริการได้โดยเร็ว และผู้ให้บริการไม่มีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการในช่วงเวลาที่เกิดเหตุขัดข้องดังกล่าวได้ เว้นแต่ผู้ให้บริการพิสูจน์ได้ว่าเหตุขัดข้องนั้นเกิดจากผู้ใช้บริการหากผู้ให้บริการยังคงเรียกเก็บค่าบริการอยู่ผู้ใช้บริการสามารถเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนที่เกิดขึ้นได้กับผู้ให้บริการหรือผ่านทางสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม โทร.สายด่วน 1200 หรือจะให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคเรียกค่าเสียหายและดอกเบี้ยด้วยก็ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 102 ตุ๋นออนไลน์

“ผมชื่อ พรชัย เตชะไพบูลย์ กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยครับ”คุณธัญชนก รู้สึกปลื้มสุดๆ ที่การเข้าเอ็มเอสเอ็นในวันนั้นทำให้มีโอกาสได้รู้จักกับนักการเมืองชื่อดังของพรรคการเมืองที่ชื่นชอบ และให้รู้สึกสงสารมากๆ ที่ทราบว่าเขาเป็นหนึ่งในนักการเมือง 111 รายที่ถูกห้ามเล่นการเมืองปกติแล้วคุณธัญชนกจะใช้บริการโปรแกรมรับ-ส่งข้อความทางอินเทอร์เน็ตหรือเอ็มเอสเอ็นโดยผ่านการเป็นสมาชิกกับเว็บไซต์ www.sanook.com ทำให้มีโอกาสสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนที่ไม่เคยรู้จักหน้าค่าตาอยู่เสมอ แต่ครั้งนี้ถือว่าพิเศษสุดเพราะผู้ที่อ้างว่าเป็นนายพรชัย เตชะไพบูลย์ ได้บอกว่าในวงคุยเอ็มเอสเอ็นขณะนั้น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ก็กำลังร่วมวงสนทนาอยู่ด้วย“เราคุยกันเรื่องการเมือง เรื่องหุ้น เขาบอกว่านอกจากจะเป็นนักการเมืองแล้ว ยังทำธุรกิจหลายประเภท เช่น ขายเสื้อผ้าส่งออก ทำธุรกิจรังนก และทำรีสอร์ทที่จังหวัดระยอง แต่ที่ทำให้เกิดรายได้เป็นกอบเป็นกำมาจากการเล่นหุ้น ปตท.เขาแนะนำให้เราซื้อหุ้น ปตท.กับเขา เขายกตัวอย่างว่าหากหุ้นราคา 1 บาทถ้าซื้อเราจะได้ค่าตอบแทนถึง 500 บาท และอ้างว่าคุณสุดารัตน์(เกยุราพันธุ์) ก็กำลังเล่นเอ็มเอสเอ็นกับเราด้วย ระหว่างนั้นก็พูดคุยกันเรื่องการเมืองกับเรื่องหุ้น ทำให้เราหลงเชื่อ”“เขาบอกห้ามเราบอกใคร เขาบอกว่าหุ้นนี้เป็นหุ้นนักการเมืองรู้กันเฉพาะวงในเท่านั้นถ้าบอกเขาต้องเดือดร้อนแน่” แค่ระยะเวลาการติดต่อเพียงแค่สองวันแต่ด้วยผลประโยชน์บังตาและคำพูดสำทับที่น่าเชื่อถือเหมือนได้คุยกับนักการเมืองจริงๆ ทำให้เหยื่ออย่างคุณธัญชนกเชื่ออย่างไม่สนิทใจและตกลงขอซื้อหุ้นจากนักการเมืองกำมะลอรายนี้ไป 100,000 หุ้นในราคา 750,000 บาท และโอนเงินเข้าบัญชีให้กับนักต้มตุ๋นรายนี้ในเวลาต่อมา “รอบแรกก็หลงเชื่อโอนไปให้ 50,000 บาท เขาบอกว่าเราต้องลงพอร์ต 3 ครั้ง เขาพูดจาน่าเชื่อถือมากๆ เราก็เชื่ออีก ต่อมาก็โอนเงินให้เขาเรื่อยเป็นครั้งๆ สองแสนห้า สองแสน ห้าหมื่น สองหมื่น เรื่อยมาทั้งหมดก็เจ็ดแสนกว่าได้ ระยะเวลาเพียงแค่สองอาทิตย์เท่านั้นแล้วก็เป็นเงินที่กู้เขาทั้งหมด เขาบอกว่าจะโอนเงินจากการขายได้ให้ในวันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม 2551 สุดท้ายก็เงียบไป”เมื่อสงสัยว่าจะถูกหลอก คุณธัญชนกจึงได้ค้นข้อมูลหาชื่อ “นายพรชัย เตชะไพบูลย์” ในโปรแกรม Google ทำให้พบชื่อนายพรชัย หรือคิม เจริญวัฒนาไพบูลย์ อายุ 40 ปี ซึ่งเคยถูกตำรวจจับกุมในข้อหาแอบอ้างชื่อคนดังฉ้อโกงประชาชนมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อประมาณ 8-9 ปีที่แล้ว เมื่อเทียบเคียงรูปการณ์ที่ตนเองประสบ...จึงตัดสินใจเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในทันทีผลการดำเนินการ บ่วงกรรมตามทันครับเพราะเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2551 เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถทำการจับกุมตัวนายพรชัย หรือคิม เจริญวัฒนาไพบูลย์ ได้พร้อมสมุดเงินฝากธนาคารต่างๆ ซึ่งมียอดเคลื่อนไหวในบัญชี มูลค่านับล้านบาท โดยสามารถจับกุมตัวได้ที่ด้านหน้าห้างสรรพสินค้าเซนจูรี่พลาซ่า ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิจากการสอบสวนเบื้องต้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบว่า นายพรชัยผู้ต้องหารายนี้จบการศึกษาแค่ระดับ ม.6 แต่ที่บ้านค่อนข้างมีฐานะเพราะเปิดกิจการขายผลไม้ และเสื้อผ้าย่านโบ๊เบ๊ จึงสามารถซื้อมือถือรุ่นแพง ๆ ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมาทำการหลอกลวงผู้เสียหายได้ โดยบางครั้งก็จะอาศัยเช่าชั่วโมงตามร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ลงมือก่อเหตุ ก่อนรายของคุณธัญชนกนั้น นายพรชัยเคยหลอกลวงผู้หญิงรายหนึ่งให้โอนเงินเข้าบัญชีเพื่อจ่ายค่าหุ้นมาแล้วกว่า 300,000 บาท แต่เมื่อผู้เสียหายจะเอาเรื่อง นายพรชัยจึงได้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากบิดา ให้พาทนายความนำเงินไปเคลียร์หนี้ให้จนผู้เสียหายยอมความแต่ครั้งนี้ หลังไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ คุณธัญชนกก็ได้มาร้องขอความช่วยเหลือด้านคดีความกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอีกทางหนึ่งด้วย และมูลนิธิฯ ได้จัดทนายความจากศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภคให้ความช่วยเหลือในทางคดี จนทำให้ผู้เสียหายได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีกับอัยการได้ท้ายที่สุดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2552 ศาลจังหวัดพระโขนงได้ตัดสินให้นายพรชัย เจริญวัฒนาไพบูลย์ มีความผิดฐานฉ้อโกงลงโทษจำคุก 7 ปี 6 เดือน แต่นายพรชัยให้การรับสารภาพ ศาลจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือโทษจำคุก 3 ปี 9 เดือน และให้จำเลยคืนเงิน 750,000 บาทแก่คุณธัญชนกด้วย  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 99 ทีโอที ยังเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์

เป็นเรื่องที่มีการร้องเรียนมานานแล้วว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์ค่ายต่างๆ จะสามารถเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ใหม่ได้หรือไม่หลังจากที่ผู้ใช้บริการค้างชำระค่าบริการตั้งแต่ 2 งวดขึ้นไป ทั้งๆ ที่เวลาเปิดบริการใช้ครั้งแรกไม่ยักมีการเรียกเก็บค่าต่อคู่สายแต่อย่างใด คุณจิรอร พนักงานขายประกันจากจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นเหยื่ออีกรายหนึ่งของผู้ให้บริการโทรศัพท์ที่มีการเรียกเก็บค่าต่อคู่สายใหม่หลังผิดนัดชำระค่าบริการเกิน 2 งวด คุณจิรอรขอเปิดใช้บริการโทรศัพท์บ้านมาตั้งแต่เป็นองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจนปัจจุบันกลายเป็นกับบริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) แต่ด้วยความที่มีภารกิจการงานมากมายในแต่ละวันทำให้เกิดอาการผัดวันประกันพรุ่งไม่มีโอกาสไปจ่ายค่าโทรศัพท์เสียที จนล่าช้าไปถึง 2 เดือน พอไม่จ่ายค่าโทรศัพท์เป็นเดือนที่สองก็เป็นเรื่องล่ะทีนี้ เพราะถูกทีโอทีตัดสัญญาณให้บริการโทรศัพท์ทันทีโดยไม่ต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้า คนขายประกันอย่างคุณจิรอรเลยต้องเดือดร้อนเป็นธรรมดาเพราะไม่มีโทรศัพท์ไว้ใช้งานติดต่อกับลูกค้า“ตายแล้วนี่ฉันลืมจ่ายค่าโทรศัพท์หรือเนี่ย” คุณจิรอรอุทานออกมาหลังจากใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โทรไปสอบถามถึงสาเหตุสัญญาณโทรศัพท์บ้านขาดหายไปหลายวัน“ก็ไม่ได้ตั้งใจจะไม่จ่ายเขาหรอกค่ะ แต่มันลืมจริง ๆ ก็ขอโทษขอโพยเขาไปและคิดว่าแค่จ่ายเงินค่าโทรศัพท์ที่ค้างอยู่เรื่องน่าจะจบและได้กลับมาใช้โทรศัพท์ใหม่ แต่ทางพนักงานเขาบอกว่าเราต้องจ่ายค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ใหม่ด้วยอีก 107 บาทรวมแวต เราก็เลยถามไปว่าการต่อสัญญาณโทรศัพท์ใหม่สมัยนี้เนี่ยมันยุ่งยากอะไรแค่ไหนถึงต้องเรียกค่าใช้จ่ายกันเป็นร้อย ตามจริงแล้วเงินค่ารักษาเลขหมายที่จ่ายให้ทุกๆ เดือนก็เกินพอแล้วมั้ง ก็ถามเขาไปอย่างนี้” “เขาบอกไงรู้ไหมคะ ยังไงก็ต้องจ่ายถ้าไม่จ่ายก็ไม่ต่อโทรศัพท์ให้ เจอมุขนี้เข้าเราก็เลยต้องจ่ายให้เขาไปด้วยความจำยอม แต่พอกลับมาถึงบ้านเปิดดูหนังสือพิมพ์เจอข่าวว่า กทช. ว่าเขาห้ามเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์แบบนี้ไปแล้ว เราก็เลยเป็นงงค่ะ อ้าว...แล้วทำไมทีโอทียังมาเรียกเก็บเงินกับเราอยู่ มันยังไงกัน” คุณจิรอรจึงร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือเรียกเงิน 107 บาทคืนจากทีโอทีแนวทางแก้ไขปัญหาข่าวที่คุณจิรอรได้อ่านคงเป็นข่าวนี้ครับ ...เมื่อวันที่ 12 มีนาคมทีผ่านมา (12 มี.ค. 2552) คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) ได้มีมติชี้ชัดในเรื่องการเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ หลังจากที่เรื่องนี้ยืดเยื้อมาระยะหนึ่ง โดย กทช. มีมติให้ทุกบริษัทงดเว้นการเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ในกรณีที่ผู้ใช้บริการผิดนัดหรือค้างชำระค่าบริการเป็นเวลา 2 เดือนมตินี้จะมีผลให้ผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคซึ่งถูกตัดบริการโทรออกเพราะชำระค่าบริการล่าช้า และเมื่อนำเงินไปชำระต้องถูกเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ใหม่เป็นจำนวน 107 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือในบางรายเรียกเก็บ 214 บาท ต่อไปนี้ผู้ให้บริการโทรศัพท์จะไม่สามารถทำเช่นนั้นได้อีก ไม่ว่าจะเป็นกรณีของโทรศัพท์บ้านหรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็ตาม มตินี้จะใช้บังคับทั้งกับ บมจ.ทีโอที บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส บจก.ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมิเดีย บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น บมจ.ทีทีแอนด์ที บจก.เอเซีย ไวร์เลส คอมมิวนิเคชั่นอย่างไรก็ดี แม้จะมีมติ กทช. ชี้ชัดออกมาอย่างนี้ ทางมูลนิธิฯ ก็ยังคงได้รับเรื่องร้องเรียนอยู่เป็นระยะๆ จากผู้บริโภคว่ายังคงถูกเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ใหม่ แม้ผู้บริโภคบางรายได้พยายามทักท้วงด้วยการอ้างถึงมตินี้แต่ก็ไม่เป็นผล พนักงานของผู้ให้บริการโทรศัพท์ตามสาขาต่าง ๆ ได้อ้างว่ายังไม่มีคำสั่งโดยตรงมาจากสำนักงานใหญ่ จึงต้องมีการเรียกเก็บไปก่อนข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภคที่ประสบปัญหาแบบนี้ คือให้จ่ายเงินค่าโทรศัพท์ที่ค้างชำระให้เรียบร้อย หากยังไม่มีการต่อสัญญาณโทรศัพท์ให้และมีการเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ใหม่ ผู้ใช้บริการควรเขียนเป็นหนังสือแจ้งถึงกรรมการผู้จัดการใหญ่ของผู้ให้บริการโทรศัพท์นั้นๆ ว่า ขอทักท้วงและปฏิเสธการเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ดังกล่าวเพราะเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนในมติของ กทช. และขอให้ผู้ให้บริการดำเนินการต่อสัญญาณโทรศัพท์โดยทันที ไม่เช่นนั้นจะถือว่าผู้ให้บริการผิดสัญญาการให้บริการ เราในฐานะผู้ใช้บริการมีสิทธิเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นได้เป็นรายวันเลยล่ะครับ จะเรียกร้องค่าเสียหายผ่านทางสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม(สบท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนของ กทช. ก็ได้ หรือจะเล่นลูกหนักฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคต่อศาลก็ได้ทั้งนั้นครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 ขอปิดใช้บริการมือถือ แต่ทำไมยังมีหนี้อยู่

“ซิมฟรีครับพี่ ซิมฟรี 1 ชั่วโมง จ่ายแค่ 5 นาที แถมนาทีละหกสลึง ถูกอย่างนี้มีที่ไหนครับพี่...” เสียงประกาศเชิญชวนของหนุ่มนักขายซิมมือถือ ร้องเรียกผู้คนที่เดินผ่านไปมาบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง คุณนิสาอยากรับขวัญลูกชายที่ไปเรียนอยู่ต่างประเทศและหยุดปิดเทอมกลับมาพักผ่อนที่เมืองไทยเป็นเวลา 1 เดือน จึงเดินเข้าไปยื่นบัตรประชาชนเพื่อขอรับซิมฟรี กะเอาไปให้ลูกชายใช้ระหว่างที่อยู่เมืองไทย ซึ่งเป็นซิมมือถือของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือเอไอเอส ตอนแรกคุณนิสาเข้าใจว่า เป็นซิมฟรี แต่เมื่อมาดูรายละเอียดแล้วถึงได้รู้ว่าตัวเองเสียค่าโง่ เพราะซิมตามโปรโมชั่นดังกล่าวจะต้องเสียค่าใช้จ่ายรายเดือนๆ ละ 99 บาท ส่วนค่าโทรนั้นคนขายซิมก็ดันพูดไม่หมด ก็เข้าใจว่าใช้ชั่วโมงหนึ่งจ่ายแค่ 5 นาทีเท่านั้น ทีนี้ล่ะฉันจะใช้โทรเท่าไหร่ก็ได้เพราะจ่ายแค่ 5 นาที นาทีละ 1.50 บาทเอง แต่ความจริงก็คือ โปรโมชั่นนี้เขาให้ส่วนลดเพียงแค่ 1 ชั่วโมงแรกที่เปิดใช้บริการเท่านั้นที่จะคิดค่าบริการเพียงแค่ 5 นาที แต่หลังจากชั่วโมงนั้นแล้วก็คิดค่าบริการนาทีละ 1.50 บาททุกๆ นาทีที่ใช้ ซึ่งก็ไม่ถือว่าเป็นอัตราค่าโทรที่ถูกนักเมื่อเปรียบเทียบกับโปรโมชั่นบางตัวที่คิดค่าโทรเพียงแค่นาทีละ 1 บาท หรือ 50 สตางค์ “อ๊ะ.. ไหน ๆ ก็ได้มาแล้วและก็ให้ลูกใช้แค่เดือนเดียว คงไม่เป็นไร” คุณนิสาคิดกับตัวเอง ก่อนที่จะนำซิมที่ได้มาให้ลูกชายเปิดใช้บริการ ซิมนี้ถูกเปิดใช้บริการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2551 และคุณนิสาได้ไปแจ้งขอปิดใช้บริการที่ศูนย์บริการในอีกเดือนถัดมาหลังจากที่ลูกชายเดินทางกลับไปต่างประเทศ โดยชำระค่าบริการที่ค้างจ่ายทั้งหมดให้กับพนักงาน เรื่องน่าจะจบไม่มีปัญหาอะไร แต่ปรากฏว่าต่อมาในเดือนเมษายน มีใบเรียกเก็บค่าบริการโทรมือถือหมายเลขที่ได้แจ้งปิดไปแล้วมาถึงคุณนิสาจำนวน 1,070.54 บาท คุณนิสาก็เป็นงง เพราะตั้งแต่วันที่แจ้งยกเลิกก็ไม่ได้ใช้บริการหมายเลขโทรศัพท์นั้นอีก แล้วจะมียอดหนี้มาได้อย่างไร จึงได้ติดต่อไปที่ศูนย์บริการ AIS Shop สาขาเดิมเพื่อขอตรวจสอบข้อมูลการใช้บริการตั้งแต่เดือนเมษายน ซึ่งพนักงานได้แจ้งว่าให้รอเอกสารการตรวจสอบภายใน 15 วัน แต่รอจนแล้วจนเล่าก็ไม่เห็นมีคำชี้แจงใดๆ กลับมา ซ้ำในเดือนพฤษภาคมยังมีบิลเรียกเก็บเงินอีก 95.34 บาท เมื่อไม่มีความชัดเจนคุณนิสาจึงไม่ได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้กับเอไอเอส  ทีนี้ล่ะครับงานเข้าครับงานเข้า...ปรากฏว่าในเดือนธันวาคม มีจดหมายทวงหนี้จากสำนักงานกฎหมาย เซนิท ลอว์ จำกัด แจ้งว่าคุณนิสายังมีหนี้ค้างกับ เอไอเอส อยู่ 1,165.88 บาท แถมยังมีข้อความในลักษณะข่มขู่คุกคามที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายอีก เช่น ขู่ว่าถ้าไม่ชำระหนี้ภายใน 48 ชั่วโมง จะถูกฟ้องดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด , จะส่งรายชื่อเข้าข้อมูลเครดิตกลาง จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมศาล ค่าทนายความ ดอกเบี้ยค้างชำระ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการออกหมายอายัดรายได้ และหมายบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์ออกขายทอดตลาด คุณนิสารู้สึกโกรธมากอะไรจะปานนั้น หนี้แค่พันกว่าบาท จะยึดทรัพย์กันเลยหรือ จึงได้ร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอคำปรึกษา แนวทางแก้ไขปัญหาบริการโทรศัพท์มือถือนั้น ถือเป็นบริการโทรคมนาคมประเภทหนึ่งที่อยู่ภายใต้กฎหมายประกอบกิจการโทรคมนาคมที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) เป็นผู้กำกับดูแล กรณีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาว่า ค่าบริการที่บริษัทมือถือเรียกเก็บมานั้นถูกต้องหรือไม่ ผู้ใช้บริการสามารถที่จะร้องเรียนโดยตรงได้กับบริษัทมือถือ และถือเป็นหน้าที่ของบริษัทที่จะต้องเป็นผู้พิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อยืนยันความถูกต้องในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมค่าบริการต่าง ๆ และจะต้องแจ้งข้อมูลให้กับผู้ใช้บริการทราบโดยเร็วแต่ต้องไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ผู้ใช้บริการมีคำขอ หากผู้ให้บริการไม่ดำเนินการตามระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าผู้ให้บริการสิ้นสิทธิในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการในจำนวนที่มีการโต้แย้งโดยทันที ข้อกฎหมายเขาเขียนไว้อย่างนั้นครับแต่ในทางปฏิบัติคนละเรื่องเลย ผู้ใช้บริการเขาอุตส่าห์ไปขอให้ตรวจสอบค่าบริการที่เรียกเก็บตั้งแต่เดือนเมษายน แต่บริษัทกลับแจ้งยอดหนี้เพิ่มและส่งจดหมายทวงหนี้ที่ไร้มารยาทมาให้อีก มูลนิธิฯ จึงได้ทำจดหมายร้องเรียนไปถึงเอไอเอสโดยทันที หลังจดหมายออกไปประมาณ 1 เดือน เอไอเอสถึงได้มีจดหมายตอบกลับแจ้งว่า ไม่พบเอกสารการขอยกเลิกการใช้บริการแต่อย่างใดในวันที่คุณนิสาไปแจ้งขอยกเลิก (แสดงว่าแจ้งไปแล้วแต่พนักงานไม่ยอมยกเลิกให้ ?) และหนี้ที่เรียกเก็บในเดือนเมษายนนั้นเป็นค่าบริการที่มีการใช้โทรจริง และเนื่องจากระบบข้อมูลยังคงเห็นว่าคุณนิสายังอยู่ในสถานะใช้บริการอยู่จึงมีค่ารายเดือนต่อมาอีก 1 เดือน เมื่อข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้เอไอเอสจึงดำเนินการมอบส่วนลดค่าใช้บริการให้จำนวน 783.72 บาท (รวมภาษี) จากยอดที่เรียกมาทั้งหมด 1,165.88 บาท ยังมียอดคงเหลืออีก 382.16 บาท ซึ่งคุณนิสาตรวจสอบแล้วเห็นว่าเป็นค่าโทรที่ลูกชายใช้จริงจึงยินดีที่จะจ่ายเงินส่วนนี้ให้ ปัญหาหนี้ค่าโทรจึงเป็นอันยุติ ข้อเตือนใจสำหรับคนใช้มือถือ ต้องจำไว้ว่ามือถือแบบจดทะเบียนเป็นบริการที่เข้าง่ายออกยากประเภทหนึ่ง หากคิดจะบอกเลิกสัญญาอย่าแจ้งทางวาจาเพียงอย่างเดียว ต้องมีเอกสารการบอกเลิกสัญญาลงลายมือชื่อเราให้ชัดเจนส่งถึงบริษัท ทำอย่างนี้จะไม่มีปัญหาในภายหลังครับ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 96 ถูกเรียกเก็บค่าน้ำผิดประเภท 8 ปี

ป้าจินตนา เป็นผู้เช่าบ้านหลังหนึ่งที่ถนนปางล้อนิคม ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน โดยเปิดบ้านทำเป็นร้านขายอาหารตามสั่งมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2543 หรือร่วม 8 ปีเศษเข้ามาแล้ว ตั้งแต่เปิดร้านอาหารมาก็แปลกใจตลอดว่าทำไมค่าน้ำถึงแพงจัง ใช้แค่ล้างจานชามอาจจะมากกว่าการใช้น้ำตามบ้านเรือนทั่วไปแต่ก็ไม่ได้มากมายอะไร แต่เมื่อเอาค่าน้ำของตัวเองไปเทียบกับเพื่อนบ้านแล้วก็ได้แต่สงสัยมาตลอดว่าทำไมค่าน้ำของตัวเองถึงสูงมาก แต่ก็ทนจ่ายมาตลอด จนมาถึงเดือนมิถุนายน 2551 ที่ผ่านมาก็ถึงจุดแตกหัก เมื่อได้รับใบแจ้งหนี้ค่าน้ำที่คาดว่าน่าจะถูกลงเพราะเป็นช่วงฤดูฝนไม่ต้องดูแลต้นไม้หน้าบ้านแต่ค่าน้ำกลับแพงกว่าเดิม ก้มดูรายละเอียดในใบแจ้งหนี้มันก็ไม่ได้บอกอะไรนอกจากจำนวนเงินค่าน้ำและ 373 ที่ระบุว่าเป็นประเภทการใช้น้ำ ดูแล้วก็ไม่เข้าใจ เพราะคำแนะนำที่อยู่ด้านหลังใบแจ้งหนี้ให้ความหมายสำหรับตัวเลขของประเภทผู้ใช้น้ำไว้ว่า 1= ที่อยู่อาศัย 2 = ราชการและธุรกิจขนาดเล็ก 3 = รัฐวิสาหกิจ อุตสาหกรรมและธุรกิจขนาดใหญ่ 4 = ประเภทพิเศษ ป้าจินตนาจึงถือใบแจ้งหนี้ไปถามกับเจ้าหน้าที่ที่เคาน์เตอร์รับเงินว่าเลข 373 นี่มันคืออะไร ได้รับคำตอบว่า เป็นการเรียกเก็บค่าน้ำประเภทธุรกิจขนาดใหญ่ ป้าจินตนาก็ตกใจเพราะที่ทำอยู่มันก็แค่ร้านอาหารตามสั่งอย่างเก่งก็แค่ธุรกิจขนาดย่อมเท่านั้นแหละ “ฉันก็ถามเขาไปว่า ใครเป็นคนตัดสินใจแทนเจ้าของบ้านว่าจะให้บ้านนั้นบ้านนี้ไปใช้น้ำประเภทไหน เพราะฉันไม่เคยมาแจ้งเปลี่ยนมาก่อน เข้าใจมาตลอดว่าตัวเองใช้น้ำประเภทบ้านอยู่ แต่เชื่อมั้ยคะ คำตอบที่ได้รับยิ่งทำฉันฉุนเฉียวมากขึ้น เพราะเขาบอกว่า คนจดมาตรน้ำเป็นคนจัดการ”  ป้าจินตนาเห็นว่ามันไม่ถูกต้อง จึงขอเปลี่ยนประเภทน้ำใช้ไปเป็นธุรกิจขนาดเล็กตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำ และขอเรียกร้องเงินค่าน้ำที่ได้จ่ายเกินไปกว่า 8 ปีคืน “ฉันเคยเข้าพบผู้จัดการแล้ว ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นผลเพราะบ่ายเบี่ยงไปมาบอกว่าไม่รู้จะทำยังไงได้ ไม่เคยเจอกรณีแบบนี้” ผลการช่วยเหลือของมูลนิธิฯหลังรับเรื่องร้องเรียน ในช่วงเดือนตุลาคม 2551 มูลนิธิฯ ได้ทำจดหมายส่งถึงผู้ว่าการประปาส่วนภูมิภาคและผู้จัดการสำนักงานประปาแม่ฮ่องสอน โดยมีข้อร้องเรียนอยู่ 2 เรื่องคือ 1.ให้ชดใช้ค่าเสียหายหากตรวจสอบพบแล้วว่าเป็นความผิดพลาดของการประปาแม่ฮ่องสอน 2. ห้แก้ไขหรือชี้แจงรายละเอียดของตัวเลขผู้ใช้น้ำแต่ละประเภทที่ทำให้ผู้ใช้น้ำเกิดความสับสน ปรากฏว่า สำนักงานประปาแม่ฮ่องสอนได้เรียกป้าจินตนาไปเจรจาโดยบอกว่าจะให้เจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเปลี่ยนประเภทผู้ใช้น้ำให้โดยพลการนั้นรับผิดชอบด้วยการจ่ายเงินคืนให้ 3,000 บาทและขอให้ยุติเรื่อง ป้าจินตนาไม่ยินยอมเพราะเข้าใจว่าความเสียหายเกิดขึ้นมาตั้ง 8 ปีแล้วค่าเสียหายน่าจะมากกว่านี้ เมื่อไม่เห็นถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหามูลนิธิฯ จึงต้องทำจดหมายถามย้ำไปอีกรอบ ทีนี้ได้เรื่องครับ การประปาส่วนภูมิภาคสำนักงานใหญ่ได้มีหนังสือชี้แจงถึงผลการดำเนินการตรวจสอบว่า สำนักงานประปาแม่ฮ่องสอน จัดประเภทผู้ใช้น้ำให้แก่ป้าจินตนาคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2546 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2551 (เดือนที่ป้าจินตนาทราบเรื่องและขอเปลี่ยนประเภทผู้ใช้น้ำเป็นประเภทธุรกิจขนาดเล็ก) ซึ่งตามข้อเท็จจริงจะต้องเรียกเก็บในประเภทที่ 2 ธุรกิจขนาดเล็ก รหัส 243 ที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่สำนักงานประปาแม่ฮ่องสอนได้เรียกเก็บเป็นประเภท 3 ธุรกิจขนาดใหญ่ รหัส 373 เนื่องจากเข้าใจว่า เป็นสถานบริการเพราะมีเครื่องเสียงไว้บริการให้ลูกค้าได้ร้องเพลง สรุปว่าป้าจินตนาถูกเรียกเก็บค่าน้ำผิดประเภทไป 5 ปี ซึ่งในขณะนี้การประปาส่วนภูมิภาคกำลังพิจารณาคำนวณค่าน้ำประปาที่เก็บเกินเพื่อคืนให้กับป้าจินตนาอยู่ ส่วนเรื่องตัวเลขรหัสแสดงประเภทผู้ใช้น้ำที่ทำให้ผู้บริโภคอาจเกิดความสับสนนั้น การประปาส่วนภูมิภาคได้ชี้แจงว่า ในด้านหน้าใบเสร็จจะเป็นเลขรหัสประเภทผู้ใช้น้ำแสดงไว้ 3 หลัก คือ หลักร้อย มีเลขรหัส 1 ถึง 4 หมายถึง ประเภทผู้ใช้น้ำว่าเป็นประเภทที่อยู่อาศัย ธุรกิจขนาดเล็ก ธุรกิจขนาดใหญ่ รหัสนี้ใช้สำหรับการคิดค่าน้ำประปาในอัตราที่ต่างกัน หลักสิบ มีเลขรหัส 1 ถึง 9 หมายถึง ประเภทผู้ใช้น้ำหลักเป็นการแสดงลักษณะการประกอบการของสถานที่ใช้น้ำ หลักหน่วย มีเลขรหัส 1 ถึง 9 หมายถึง ลำดับที่ในประเภทผู้ใช้น้ำย่อย ซึ่งแสดงรายละเอียดของลักษณะการใช้น้ำของสถานที่ประกอบการ ส่วนในด้านหลังใบเสร็จรับเงินนั้นจะบอกเฉพาะความหมายของเลขรหัสหลักร้อยว่าหมายถึงผู้ใช้น้ำประเภทใดเท่านั้น อ่านมาถึงตรงนี้แล้วจึงมาถึงบางอ้อ นี่ถ้าการประปาภูมิภาคไม่ชี้แจง ไม่ยอมบอกความหมายของเลขรหัสให้ได้ทราบกันนี่ ผู้บริโภคก็คงงมจ่ายค่าน้ำไปแบบไม่รู้ทิศรู้ทางแบบป้าจินตนากันเป็นแถวล่ะครับ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 96 สิทธิของคนใช้โทรศัพท์

เคยเขียนแต่เรื่องที่มีคนมาร้องทุกข์ วันนี้เลยจะคุยเรื่องวีรกรรมของคนเขียนเองบ้าง ในฐานะคนทำงานด้านการคุ้มครองสิทธิ และก็เป็นคนหนึ่งที่ตกเป็นทาสของเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ นั่นคือโทรศัพท์เคลื่อนที่(มือถือ) ซึ่งเป็นธุรกิจที่กำลังเบ่งบานสุดๆ ในประเทศไทย และทั่วโลก ที่น่าตกใจ(หลังจากอ่านบทความการวิจัย) ว่าวัยรุ่นไทยใช้โทรศัพท์มากที่สุดติดอันดับต้นๆของโลกและค่าใช้โทรศัพท์ มากกว่ากินข้าวปลาอาหารบวกเสื้อผ้าเสียอีก อุแม่เจ้า..อะไรจะขนาดน้านนน... ไม่เชื่อก็ไม่ได้ในเมื่อมีข้อมูลว่าประชากรในประไทยมีประมาณ 73 ล้านคน แต่พี่ท่าน..(ผู้ให้บริการ) ขายเบอร์โทรเคลื่อนที่ไปแล้วกว่า 75 ล้านเลขหมาย นั่นหมายความว่าต้องมีคนใช้โทรมากกว่า 1 เลขหมายอยู่หลายคนอย่างแน่นอน (อู้ฮู.....เงินมหาศาลเลย...) แต่ปัญหาของผู้บริโภคคือเรามีหน้าที่ แค่ซื้อ แค่ใช้และจ่ายเงินเท่านั้น โดยไม่ได้คิดถึงสิทธิหน้าที่ ที่พึงมีพึงได้ของผู้บริโภคเอง ผู้บริโภคเรามีหน้าที่เป็นผู้ยอมสยบแต่โดยดี ทั้งๆ ที่เราเป็นผู้จ่ายเงินเข้าระบบธุรกิจการสื่อสาร (ถ้าไม่มีเราเขาก็ไม่รวย) โดยไร้ซึ่งปากเสียง เช่น เขาบอกให้เราเสียเงินค่าต่อสัญญาณกรณีที่ผิดนัดชำระค่าโทรศัพท์ 107 บาท เราก็จ่าย เขากำหนดว่าเติมเงิน 200 บาท ใช้งานได้แค่ 30 วัน เติม 50 บาทใช้แค่ 3 วัน เราก็ยอม ช่างเป็นผู้จ่ายที่ว่าง่ายอย่างเหลือเชื่อ ใช้ๆ ไปก็มีบริการอื่นๆ ที่เราไม่ต้องการเข้ามาในเครื่องโทรศัพท์เรา แถมบอกอีกว่า ถ้าไม่เอาให้โทรกลับ (โทรกลับใครเสียเงิน)ไม่โทร ครบ 15 วันเขาก็คิดสตางค์เรา เราก็ยอม เคยถามตัวเองว่าทำไมเราต้องยอม หลายคนบอกว่าเราอยากใช้บริการเขาเราก็ต้องยอมซิ.. เมื่อผู้บริโภคว่าง่ายขนาดนั้น การโฆษณา โปรโมชั่นหลากหลาย สารพัดรูปแบบอกมาเป็นชุดๆ เลย เราก็ซื้อ เอาเปรียบหรือเปล่าเราไม่เคยรู้ รู้แต่เขาว่าดีเราก็ซื้อแล้วโดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของผู้ให้บริการ แต่ในฐานะคนจ่ายสตางค์ อย่างผู้เขียน ที่คิดเสมอว่าผู้จ่ายสตางค์(คือพระเจ้า คือผู้มีพระคุณของผู้ให้บริการ) มันต้องมีสิทธิบ้างซิ! เพราะจริงๆ มันก็เป็นสิทธิ และเมื่อเป็นสิทธิเราก็ต้องใช้ ดังนั้นกระบวนการร้องเรียนจึงเกิดขึ้น เริ่มที่ ร้องเรียนเรื่องการยกเลิกการใช้บริการยาก เหตุผลคือเวลาเราซื้อโทรศัพท์ ซื้อเลขหมาย(ซิม)จ่ายสตางค์ค่าใช้บริการ จ่ายที่ไหนก็ได้ จ่ายที่ศูนย์/ร้านสะดวกซื้อ/ไปรษณีย์ และอื่นๆอีกมากมาย เรียกว่าเรื่องจ่ายสตางค์ให้เขามันง่ายจริงๆ แต่เวลาเราจะเลิกใช้บริการมันก็ยากจริงๆ เหมือนไอ้ร้านต่างๆ ที่เราจ่ายสตางค์สะดวกน่ะ ยกเลิกการใช้บริการไม่ได้ เพราะเขาจะสร้างข้อแม้ไว้ให้เรายกเลิกได้ยากมาก คือหากอยู่สมุทรสงครามก็ต้องมายกเลิกที่ เซ็นทรัลพระราม 2 อยู่ลำปางต้องไปยกเลิกเชียงใหม่ เป็นต้น สรุปคือการยกเลิกการใช้บริการมีแต่ในหัวเมืองใหญ่ๆ เห็นไหม ช่องจ่ายสตางค์ ง่ายแสนง่าย ยกเลิกการจ่ายสตางค์ ยากแสนยากแค่ไหน ผู้เขียนร้องเรียนบริษัท ดีแทกซ์ ปรากฏว่าปัจจุบันผู้ใช้บริการของบริษัทนี้สามารถยกเลิกบริการได้แค่เพียงโทรศัพท์บอกก็สามารถยกเลิกได้เลย หรือการยัดเยียดบริการ(โฆษณาผ่านมือถือ) ทั้งๆ ที่เราไม่ต้องการ เช่น ส่งข่าวดูดวง ทายผลฟุตบอล คลิปท์ดารา ฯลฯ ที่สำคัญคือการที่ ส่งข่าวมาให้อ่าน แล้วบอกว่า ให้อ่านฟรี 15 วัน หากไม่ต้องการให้โทรกลับ ทำไมไม่เขียนว่าเอาให้โทรกลับ เพราะโทรกลับเราก็เสียสตางค์ พอไม่โทรกลับก็ถือโอกาสเก็บเงินรายเดือนเราเลย ผู้เขียนก็ร้องเรียนว่าไม่ต้องการรับการยัดเยียดบริการ ปรากฏว่า ปัจจุบันไม่มีข้อความยัดเยียดบริการส่งมาให้อีกเลย (3 เดือนแล้ว) หรือแม้แต่กรณีเราชำระค่าบริการไม่ตรงเวลา แล้วถูกเรียกเก็บค่าต่อสัญญาณ 107 บาท (ไม่รวมค่ารักษาเลขหมาย) ผู้เขียนได้อ่านประกาศของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กทช.) เขียนไว้ในมาตรฐานสัญญา สรุปว่าไม่น่าจะเรียกเก็บกรณีนี้ได้ เมื่อรู้ก็เลยลองร้องทุกข์ไปที่สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม(สบท.สายด่วน 1200) ผลสรุปมติ กทช.ตัดสินมาว่าให้คืนเงิน 107 บาท ให้ผู้เขียน และห้ามเก็บเงินค่าต่อสัญญาณ 107 บาท กับผู้อื่นอีกต่อไป (บริษัทกำลังดำเนินการอุทธรณ์คำตัดสินอยู่) และมีอีกหลายเรื่องที่ผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิและถูกเอาเปรียบอยู่จริงๆ เห็นไหมว่าเรามีสิทธิแต่ยังใช้มันไม่เป็น จึงเขียนมาเล่าสู่กันฟัง และเชิญชวนให้ผู้บริโภคลุกขึ้นมาช่วยกันปกป้องคุ้มครองสิทธิของตนเอง อย่าสยบยอมให้ใครมาละเมิดสิทธิและเอาเปรียบเราลุกขึ้นมาเถอะเพื่อร่วมสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคมเพื่ออนาคตของลูกหลานเรา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 172 ผลสำรวจความพึงพอใจต่อคุณภาพการบริการและความปลอดภัยรถโดยสารระหว่างจังหวัด

เมื่อเร็วๆ นี้ ฉลาดซื้อได้นำเสนอผลสำรวจความพึงพอใจในเรื่องของคุณภาพการบริการและความปลอดภัยในการใช้รถโดยสารประจำทางหรือรถเมล์ใน กทม.และปริมณฑล ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการสอบถามประชาชนคนที่ใช้จริง ทำให้เห็นหลายเรื่องหลายประเด็นที่ยังเป็นปัญหาในการใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาการรอรถ ที่มีถึง 41% ของตัวอย่างผู้ตอบแบบสอบถาม ที่ต้องทนรอรถนานถึง 16 – 30 นาที หรือเรื่องความสะดวกในการเดินทาง ที่พบว่ามีถึง 31% ที่ต้องต่อรถโดยสารมากกว่า 1 ต่อ จึงจะไปถึงจุดหมาย นอกจากนี้ยังพบว่ามีถึง 45% ที่เคยเจอปัญหารถโดยสารประจำทางรับ – ส่งผู้โดยสารนอกป้ายโดยผลสำรวจครั้งนี้จัดทำขึ้นโดย สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ซึ่งไม่ได้มีแค่รถโดยสารประจำทางในกทม.และปริมณฑลเท่านั้น แต่ยังมีผลสำรวจในส่วนของรถโดยสารสาธารณะที่วิ่งให้บริการระหว่างจังหวัด หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า รถบัส หรือ รถทัวร์ ลองมาดูกันสิว่าประชาชนที่ต้องเดินทางจากกทม.ไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศด้วยรถโดยสารสาธารณะ เขามีความรู้สึกอย่างไรในเรื่องของคุณภาพการบริการและความปลอดภัยข้อมูลเฉพาะของการสำรวจวิธีสำรวจ : สัมภาษณ์ผู้ใช้บริการรถโดยสารประจำทางระหว่างจังหวัด สถานที่สำรวจ : 1.สถานีขนส่งหมอชิต 2.สถานีขนส่งสายใต้ใหม่จำนวนกลุ่มตัวอย่าง : 413 ตัวอย่างช่วงเวลาที่ทำสำรวจ : 4 – 13 กุมภาพันธ์ 2558ข้อสรุปจากผลสำรวจ-เหตุผลในการเลือกเดินทางโดยรถประจำทางระหว่างจังหวัด พบว่า 70% เลือกเพราะความสะดวก และมีถึง 32% เลือกเพราะค่าใช้จ่ายถูก-จากผลสำรวจพบว่า มีผู้ใช้รถประจำทางระหว่างจังหวัดที่เป็นรถ 2 ชั้น ถึง 60% จากรถทั้งหมด-ผู้ใช้บริการรถประจำทางระหว่างจังหวัด ส่วนใหญ่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงจุดจอดรถรับ-ส่ง สูงกว่าความจำเป็น คือการเดินทางเพื่อเข้าสู่งสถานีขนส่งทั้ง หมอชิต และ สายใต้ใหม่ ยังมีบริการรถโดยสารสาธารณะอย่างรถเมล์ค่อนข้างน้อย ทำให้ผู้โดยสารต้องเลือกใช้บริการที่สะดวกกว่า อย่าง แท็กซี่ หรือ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งค่าใช้จ่ายสูงกว่า -ยิ่งเมื่อดูในจุดจอดหรือสถานีรับ - ส่งรถประจำทางระหว่างจังหวัดในพื้นที่ต่างจังหวัด ยิ่งถือว่าค่อนข้างเป็นปัญหา เพราะยังขาดระบบการเชื่อมต่อการเดินทางจากสถานีไปยังสถานที่ต่างๆ ทำให้ผู้โดยสารส่วนใหญ่ต้องใช้ รถยนต์ส่วนตัว เป็นหลัก-การเดินทางระหว่างจังหวัด มีจุดจอดรับ-ส่งหรือสถานีขนส่ง ที่มีความปลอดภัย สร้างความพึงพอใจให้ผู้ใช้บริการได้พอสมควร แต่จะต้องพัฒนาต่อไปในอนาคต-ผู้ใช้บริการรถประจำทางระหว่างจังหวัดที่เดินทางที่สถานีขนส่งหมอชิต รอรถน้อยกว่าการไปขึ้นรถที่สถานีขนส่งใต้ใหม่-รถประจำทางระหว่างจังหวัด ไม่มีการบรรทุกผู้โดยสารเกิน -ผู้โดยสารตระหนักถึงความปลอดภัยเมื่อเริ่มเดินทางระหว่างจังหวัด จากอัตราการคาดเข็มขัดที่สูงกว่าการเดินทางภายในจังหวัด-มีผู้โดยสารรถประจำทางระหว่างจังหวัดถึง 34% ที่ตอบว่าไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย โดยเหตุผลหลักคือ รู้สึกอึดอัด 76% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูง -การแจ้งให้คาดเข็มขัดนิรภัยจากพนักงานขับรถหรือพนักงานบนรถ มีผลต่ออัตราการคาดเข็มขัดนิรภัยของผู้โดยสาร                                          

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 พักหรูที่ไหน ได้ร่วมดูแลสังคม

ฉลาดซื้อ ฉบับนี้รีบชิงพาคุณเข้าโรงแรมก่อนใคร ... อย่าเพิ่งเข้าใจผิด ... เราจะพาคุณไปสำรวจระดับความรับผิดชอบต่อสังคมของเครือโรงแรมระดับโลก ในการสำรวจครั้งนี้องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ International Consumer Research & Testing (ICRT) ได้ส่งแบบสอบถามไปยังเครือโรงแรมทั้งหมด 10 แห่ง ได้แก่ เครือ ACCOR   BARCELO   CARLSON Worldwide    HILTON   IBEROSTAR   INTERCONTINENTAL   MARRIOTT   RIU    SOL MELÍA และ STARWOOD จากนั้นนำข้อมูลมาประมวลผลร่วมกับข้อมูลจากการสัมภาษณ์และการลงพื้นที่ของทีมสำรวจ และให้คะแนนตามหัวข้อต่อไปนี้   1. นโยบายการกำกับดูแลกิจการ ซึ่งรวมถึงระบบการจัดการเพื่อแสดงความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ  การปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศ การได้รับการรับรองจากองค์กรอิสระในเรื่องความยั่งยืน และการฝึกอบรมพนักงานในเรื่องดังกล่าวด้วย 2. การดูแลพนักงาน เช่น สภาพการทำงาน สิทธิแรงงาน เงินเดือน ชั่วโมงทำงาน นโยบายที่เป็นมิตรต่อพนักงานที่มีครอบครัวแล้ว โอกาสในการพัฒนาตนเอง ความมั่นคงในการจ้างงาน 3. ด้านเศรษฐกิจสังคม ได้แก่ นโยบายการจัดซื้อจัดจ้างอย่างมีจริยธรรม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ สนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน นโยบายด้านผลกระทบต่อสังคม 4. การดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่า รวมถึงการดูแลสระว่ายน้ำ การประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานหมุนเวียน การลดปริมาณขยะ ลดสารเคมีที่ใช้ในการซักผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอนฯลฯ รวมถึงการก่อสร้างที่ไม่ทำให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม การควบคุมการปล่อยคาร์บอน 5. ความเอาใจใส่ต่อลูกค้า เช่น มีทางลาดสำหรับผู้พิการ อุปกรณ์นำทางสำหรับผู้พิการทางสายตาและผู้พิการทางการได้ยิน เป็นต้น จัดอาหารเพื่อตอบสนองข้อจำกัดทางศาสนาหรือสุขภาพของลูกค้า  และการให้ความรู้กับแขกที่มาพักเรื่องความยั่งยืน 6. การให้ข้อมูลเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งวัดจากการให้ความร่วมมือในการสำรวจครั้งนี้ด้วยการตอบแบบสอบถาม ให้ผู้สำรวจได้เข้าไปสัมภาษณ์ที่สำนักงานใหญ่และที่โรงแรมในคาริบเบียน ยุโรปใต้ และประเทศไทย รวมถึงการเผยแพร่รายงานเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม --------------------------------------------------------------------------------- น้ำหนักในการให้คะแนน การดูแลสิ่งแวดล้อม     ร้อยละ 25การดูแลพนักงาน    ร้อยละ 20ด้านเศรษฐกิจสังคม    ร้อยละ 20ความเอาใจใส่ต่อลูกค้า    ร้อยละ 15นโยบายการกำกับดูแลกิจการ   ร้อยละ 10ข้อมูลเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม  ร้อยละ 10 --------------------------------------------------------------------------------- เครือโรงแรมเหล่านี้อย่างน้อย 5 แห่ง มีโรงแรมที่ตั้งอยู่ในบ้านเราแล้ว เช่น โรงแรม Novotel   Pullman   Mercure  Sofitel  ibis และ all seasons ในเครือ ACCOR โรงแรม Sheraton   Le Meridien   Westin   St.Regis และ Aloft ในเครือ STARWOODโรงแรม InterContinental   Holiday Inn และ Crowne Plaza ในเครือ INTERCONTINENTAL โรงแรม Radisson และ Park Plaza ในเครือ CARLSON Worldwideโรงแรม Conrad และ Hilton ในเครือ HILTON เป็นต้น --------------------------------------------------------------------------------- อันดับ 1  โรงแรมในเครือ Accor     คะแนนรวม 4จำนวนโรงแรม/ที่พักทั้งหมด 3,800 แห่ง ใน 90 ประเทศนโยบายการกำกับดูแลกิจการ    4การดูแลพนักงาน     4ด้านเศรษฐกิจสังคม    4การดูแลสิ่งแวดล้อม     5ความเอาใจใส่ต่อลูกค้า    4 ข้อมูลเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม   5   อันดับ 2  โรงแรมในเครือ Sol Melia     คะแนนรวม 4จำนวนโรงแรม/ที่พักทั้งหมด 350 แห่ง ใน 35 ประเทศนโยบายการกำกับดูแลกิจการ    3การดูแลพนักงาน     4ด้านเศรษฐกิจสังคม    4การดูแลสิ่งแวดล้อม     4ความเอาใจใส่ต่อลูกค้า    3ข้อมูลเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม   5     อันดับ 3  โรงแรมในเครือ Marriott     คะแนนรวม 4จำนวนโรงแรม/ที่พักทั้งหมด 3,600 แห่ง ใน 71 ประเทศนโยบายการกำกับดูแลกิจการ    3การดูแลพนักงาน     4ด้านเศรษฐกิจสังคม    4การดูแลสิ่งแวดล้อม     4ความเอาใจใส่ต่อลูกค้า    3 ข้อมูลเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม   5     อันดับ 4  โรงแรมในเครือ Carlson Worldwide    คะแนนรวม 4จำนวนโรงแรม/ที่พักทั้งหมด 1,070 แห่ง ใน 80 ประเทศนโยบายการกำกับดูแลกิจการ    3การดูแลพนักงาน     4ด้านเศรษฐกิจสังคม    4การดูแลสิ่งแวดล้อม     4ความเอาใจใส่ต่อลูกค้า    3ข้อมูลเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม   4     อันดับ 5  โรงแรมในเครือ InterContinental    คะแนนรวม 4จำนวนโรงแรม/ที่พักทั้งหมด 4,150 แห่ง ใน 100 ประเทศนโยบายการกำกับดูแลกิจการ    3การดูแลพนักงาน     5ด้านเศรษฐกิจสังคม    4การดูแลสิ่งแวดล้อม     3ความเอาใจใส่ต่อลูกค้า    2ข้อมูลเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม   5     อันดับ 6  โรงแรมในเครือ Starwood     คะแนนรวม 4จำนวนโรงแรม/ที่พักทั้งหมด 1,041 แห่ง ใน 100 ประเทศนโยบายการกำกับดูแลกิจการ    3การดูแลพนักงาน     4ด้านเศรษฐกิจสังคม    3การดูแลสิ่งแวดล้อม     5ความเอาใจใส่ต่อลูกค้า    2ข้อมูลเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม   4     อันดับ 7  โรงแรมในเครือ Barcelo     คะแนนรวม 3จำนวนโรงแรม/ที่พักทั้งหมด 186 แห่ง ใน 17 ประเทศนโยบายการกำกับดูแลกิจการ    3การดูแลพนักงาน     3ด้านเศรษฐกิจสังคม    3การดูแลสิ่งแวดล้อม     3ความเอาใจใส่ต่อลูกค้า    3ข้อมูลเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม   5   อันดับ 8  โรงแรมในเครือ Hilton     คะแนนรวม 3จำนวนโรงแรม/ที่พักทั้งหมด 540 แห่ง ใน 78 ประเทศนโยบายการกำกับดูแลกิจการ    3การดูแลพนักงาน     2ด้านเศรษฐกิจสังคม    2การดูแลสิ่งแวดล้อม     3ความเอาใจใส่ต่อลูกค้า    2ข้อมูลเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม   4     อันดับ 9  โรงแรมในเครือ Iberostar     คะแนนรวม 2จำนวนโรงแรม/ที่พักทั้งหมด 100 แห่ง ใน 16 ประเทศนโยบายการกำกับดูแลกิจการ    1การดูแลพนักงาน     1ด้านเศรษฐกิจสังคม    2การดูแลสิ่งแวดล้อม     2ความเอาใจใส่ต่อลูกค้า    2ข้อมูลเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม   4     อันดับ 10  โรงแรมในเครือ Riu     คะแนนรวม 1จำนวนโรงแรม/ที่พักทั้งหมด 100 แห่ง ใน 15 ประเทศนโยบายการกำกับดูแลกิจการ    1การดูแลพนักงาน     1ด้านเศรษฐกิจสังคม    1การดูแลสิ่งแวดล้อม     1ความเอาใจใส่ต่อลูกค้า    1ข้อมูลเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม   1

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 169 เอทีเอ็มแบบธรรมดา ธนาคารยังมีบริการไหม

เปิดหัวเรื่องมาแบบนี้ เพราะมีคำถามจากผู้บริโภคจำนวนหนึ่ง ที่จำเป็นต้องเปิดบัญชีธนาคารพร้อมกับทำบัตรเอทีเอ็ม เพื่อไว้อำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมต่างๆ แต่ปัญหาที่เป็นประสบการณ์ร่วมกันคือ ธนาคารมักเสนอบัตรเอทีเอ็มแบบที่มีลักษณะเป็นบัตรเดบิตไปด้วย(สามารถใช้บัตรรูดแทนเงินสดได้ตามจำนวนเงินที่มีในบัญชี) หรือไม่ก็เสนอบัตรที่มีการทำประกันภัยไปด้วย ทำให้ค่าธรรมเนียมในการทำบัตรพุ่งพรวดไปหลายร้อยบาท เรื่องนี้มิใช่เพิ่งมามีปัญหา แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้ว เวลามีการโวยวายผ่านสื่อขึ้นมาสักครั้ง ทุกธนาคารก็ให้คำตอบประมาณว่า ธนาคารไม่มีการบังคับ(แบบตรงๆ) ว่าทุกคนต้องทำบัตรเอทีเอ็มชนิดพิเศษ ผู้บริโภคสามารถทำบัตรเอทีเอ็มแบบธรรมดาๆ ได้ ซึ่งก็จริง แต่ในสถานการณ์จริง ผู้บริโภคมักถูกบังคับกลายๆ ให้ต้องเลือกทำบัตรเอทีเอ็มแบบพิเศษด้วยข้ออ้างประเภท “บัตรเอทีเอ็มธรรมดาหมด ต้องรอหลายอาทิตย์กว่าบัตรจะมา” หรือ “บัตรแบบนี้ดีกว่าเยอะ สามารถเบิกถอนได้คราวละมากๆ” เป็นต้น ผู้บริโภคหลายคนจึงเลือกเอาความสะดวก ไหนๆ ก็มาแล้ว ทำไปให้เสร็จๆ เพื่อไม่ต้องเสียเวลามาอีก จึงจำยอมทำไป ทั้งที่ไม่เต็มใจเท่าไหร่ เสียงบ่นเสียงครวญจึงเกิดขึ้นมากมาย เพราะค่าธรรมเนียมบัตรประเภทพิเศษนี้ จะวนเวียนมาอีกทุกๆ ปี ซึ่งเป็นเรื่องเกินความจำเป็น   ปัญหาการเปิดใช้บริการเอทีเอ็ม ปัญหาการเงินการธนาคารเป็นประเด็นหนึ่งที่ คณะกรรมการองค์การอิสระภาคประชาชน ให้ความสำคัญและในปี2557 ซึ่งเป็นปีแรกที่เริ่มทดลองทำหน้าที่ ได้มีการจัดทำข้อเสนอเพื่อการแก้ไขปัญหาที่ทางคณะกรรมการฯ มองว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน คือ 1.ยกเลิกการขายพ่วง บัตรเครดิต บัตรเอทีเอ็ม ร่วมกับการขายประกัน ข้อเสนอนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยทำหนังสือตอบว่า “ธนาคารแห่งประเทศไทย จะขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการ และออกประกาศ หรือกำหนดมาตรการบังคับ ห้ามการขายพ่วงบัตรเครดิต บัตรเอทีเอ็ม และประกันภัย ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย จะให้แยกแบบฟอร์มการสมัคร (แยกโต๊ะสำหรับการขายประกันโดยเฉพาะ) 2.ยกเลิกการบังคับ ทำบัตรเดบิตแทนบัตรเอทีเอ็มธรรมดา ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งว่า ได้ทำหนังสือถึงธนาคารต่างๆ เพื่อจัดการปัญหาการบังคับทำบัตรเดบิตแทนบัตรเอทีเอ็มแล้ว 3.ลดราคาค่าธรรมเนียมการโอนเงินข้ามเขต ข้อเสนอนี้ ในขั้นต้น ธนาคารแห่งประเทศไทยยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงินทางอินเตอร์เน็ตแล้ว(มีเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร) อย่างไรก็ตาม แม้มีการตอบรับเรื่องการจัดการแก้ไขปัญหา การบังคับทำบัตรเดบิตแทนเอทีเอ็มธรรมดา โดยธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว ก็ยังมีเสียงร้องเรียนมาจากฟากผู้บริโภคว่า ปัญหายังไม่หมดไป ธนาคารหลายแห่งยังมามุขเดิมๆ คือพยายามบ่ายเบี่ยงการทำบัตรเอทีเอ็มแบบธรรมดาๆ ของผู้บริโภค ดังนั้นในการประชุมคณะอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชนด้านการเงินและการธนาคาร  ครั้งที่ 5/2557 จึงมีมติให้ทดลองติดตามมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภคของธนาคารแห่งประเทศไทยว่า มีผลในทางปฏิบัติจริงหรือไม่ ในประเด็น 1) บัตรเอทีเอ็มธรรมดายังทำได้อยู่หรือไม่ 2) ค่าธรรมเนียมการทำบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิต ตรงกับที่ทางธนาคารแจ้งไปยังธนาคารแห่งประเทศไทยหรือไม่ ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยฉลาดซื้อขออาสาทดสอบเรื่องดังกล่าว   ขั้นตอนการทดสอบ 1.เราเลือกธนาคารเป้าหมาย 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงศรีอยุธยา โดยเลือกจาก 3 สาขาของแต่ละธนาคาร ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 2.จัดหาอาสาสมัครเพื่อไปทดลองเปิดบัญชีและทำบัตรเอทีเอ็ม โดยในการทดสอบอาสาสมัครจะบอกเพียงขอทำบัตรเอทีเอ็มเท่านั้นเพื่อดูการเสนอบริการของพนักงานว่ามีการให้ข้อมูลแบบใด เมื่อได้ข้อมูลแล้วจึงค่อยยืนยันว่าต้องการทำบัตรเอทีเอ็มแบบธรรมดาเท่านั้น เพื่อดูว่าพนักงานจะมีปฏิกิริยาอย่างไร และอาสาสมัครยังสามารถทำเฉพาะบัตรเอทีเอ็มธรรมดาได้หรือไม่ 3.ก่อนจะส่งอาสาสมัครไปเปิดบัญชี เราได้ตรวจสอบข้อมูลจากหน้าเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อดูข้อมูลเรื่องค่าธรรมเนียมการทำบัตรเอทีเอ็ม บัตรเดบิต ที่แต่ละธนาคารได้แจ้งไว้กับธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งพบว่า ธนาคารกรุงเทพ ได้ยกเลิกการให้บริการบัตรเอทีเอ็มแบบธรรมดาแล้ว มีเพียงบัตรเดบิต “บีเฟิร์ส” เท่านั้น     จากตารางจะเห็นว่า การทำบัตรเอทีเอ็ม 1 ใบ แบบธรรมดาจะเสียค่าธรรมเนียมแรกเข้า+รายปี ไม่เกิน 300 บาท เว้นธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งมีค่ารายปี 250 บาท+แรกเข้า 100 บาท รวมเป็นเงิน 350 บาท ข้อสังเกตคือ บัตรเอทีเอ็มธรรมดา ของธนาคารกสิกรไทย กรุงศรีฯ และไทยพาณิชย์จะมีค่าธรรมเนียมแรกเข้า+รายปี ไม่แตกต่างจากการทำบัตรเดบิตแบบธรรมดา เว้นของธนาคารกรุงไทยที่ค่าธรรมเนียมบัตรธรรมดาจะถูกกว่าบัตรเดบิต คือ บัตรเอทีเอ็มธรรมดา 230 บาท บัตรเดบิตธรรมดา 300 บาท         จากการทดลองสรุปว่า 12 สาขาของธนาคารเป้าหมาย ที่อาสาสมัครได้ทดลองเปิดบัญชีใหม่พร้อมทำบัตรเอทีเอ็ม พบว่า ไม่สามารถทำบัตรเอทีเอ็มแบบธรรมดาๆ ได้ ถึง 6 สาขา (50%) โดยธนาคารกสิกรไทยทำไม่ได้เลยทั้ง 3 สาขาที่อาสาสมัครได้ทดลองขอใช้บริการ รองลงมาคือ ธนาคารกรุงไทย ทำไม่ได้ 2 สาขา ไทยพาณิชย์ ทำไม่ได้ 1 สาขา(อ้างบัตรหมดเช่นกัน) ส่วนที่ต้องปรบมือให้ คือธนาคารกรุงศรีฯ อาสาสมัครของเราสามารถเปิดบัตรเอทีเอ็มแบบธรรมดาๆ ได้ทั้งสามสาขา   ฉลาดซื้อแนะ 1.ถ้าต้องการทำบัตรเอทีเอ็มแบบธรรมดาจริงๆ ขอให้ยืนยันกับทางพนักงานว่าต้องการทำบัตรเอทีเอ็มธรรมดาเท่านั้น ซึ่งค่าธรรมเนียมจะไม่เกิน 300 บาท เว้นธนาคารไทยพาณิชย์ 350 บาท 2.ระวังพนักงานเล่นกลกับท่าน กรณีที่บัตรเอทีเอ็มธรรมดาของธนาคารอาจมีหลายประเภท ท่านอาจได้ประเภทที่ค่าธรรมเนียมสูงแทนบัตรธรรมดาที่ค่าธรรมเนียมต่ำ  หรือได้เป็นบัตรเดบิตมาแบบงงๆ เพราะค่าธรรมเนียมเท่ากัน 3.โปรดเลือกบริการโดยคำนึงถึงความเสี่ยง ด้วยค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มกับบัตรเดบิต อาจไม่ได้มีราคาต่างกัน ท่านจึงอาจเลือกบัตรเดบิตเพื่อความสะดวก แต่การเลือกใช้บัตรเดบิตต้องคำนึงเรื่องความปลอดภัย เพราะบัตรเดบิตสามารถนำไปรูดซื้อสินค้าได้เช่นเดียวกับบัตรเครดิต เพียงแต่ไม่เกินยอดเงินในบัญชี ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงสูงในการสุญเงิน หากท่านทำบัตรสูญหายหรือถูกขโมยไปใช้ เพราะผู้ไม่หวังดีต่อท่านจะสามารถรูดซื้อสินค้าได้ง่ายๆ เพียงแค่ปลอมลายมือชื่อของท่านเวลาซื้อของเท่านั้น(ร้านค้าส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้พิจารณาเรื่องลายมือชื่อสักเท่าไร) ดังนั้นท่านอาจสูญเงินทั้งหมดในบัญชีไปได้ง่ายๆ 4.ถ้าพบปัญหาว่าไม่สามารถทำบัตรเอทีเอ็มแบบธรรมดาๆ ได้ เพราะการอ้างเรื่องบัตรหมด ท่านควรทำหนังสือร้องเรียนต่อธนาคารดังกล่าว โดยการส่งจดหมายถึงธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานใหญ่ของธนาคารนั้น เพื่อให้เกิดการปรับปรุงการให้บริการ ถ้าจะไม่มีบัตรแบบธรรมดาแล้ว ก็ควรประกาศยกเลิกไปอย่างเป็นทางการ  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า150 Point

ฉบับที่ 175 แบรนด์รองเท้าวิ่งกับความรับผิดชอบต่อสังคม

งานสำรวจขององค์กรผู้บริโภคพบว่า ประมาณร้อยละ 20 ของราคารองเท้ากีฬาแบรนด์ดังที่เราซื้อมา เป็นสิ่งที่เราจ่ายเป็น “ค่าแบรนด์” เพื่อแลกกับความมั่นใจว่าจะได้สินค้าที่มีคุณภาพ น่าเชื่อถือ และเป็นตัวแทนของความดีงามต่างๆ นานา หลายปีมานี้ “ความรับผิดชอบต่อสังคม” (Corporate Social Responsibility: CSR) ที่กำลังมาแรงก็เป็นอีกองค์ประกอบในการสร้างแบรนด์ของธุรกิจต่างๆ เพราะผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมผ่านสินค้า/บริการที่ตนเองเลือกซื้อด้วยเช่นกัน แต่การดำเนินงาน “หลังบ้าน” ของบริษัทก่อนจะได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการนั้นมีรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขนาดไหนยังไม่ค่อยมีใครทราบ การรับรู้เรื่อง CSR ในบ้านเราค่อนไปทางการ “คืนกำไรสู่สังคม” หรือ “อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” ผ่านการบริจาคเงิน สิ่งของ สร้างอาคาร หรือปลูกป่า ฯลฯ ที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านสื่อ เสียมากกว่าสมาชิกฉลาดซื้อไม่ต้องวิตกไป เรามี “เรื่องหลังบ้าน” มาฝากคุณเป็นประจำ คราวนี้เรามีผลสำรวจโดยนิตยสารขององค์กรผู้บริโภคเยอรมนี Stiftung Warentest ที่เจาะลึกเบื้องหลังการผลิตรองเท้าวิ่งรุ่นยอดนิยม 9 แบรนด์ที่ขายในเยอรมนี (สนนราคาตั้งแต่ 110 – 180 ยูโร หรือ 4,500 – 7,300 บาท) ด้วยการหาข้อมูล สัมภาษณ์ และเยี่ยมชมโรงงาน (ทั้งในส่วนของโรงงานผลิตพื้นรองเท้า โรงงานผลิตชิ้นส่วนอื่นๆ และโรงงานประกอบรองเท้า) ในช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อค้นหาแบรนด์ที่ให้ความสนใจกับสภาพการทำงานและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน ใส่ใจกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมพร้อมๆกับการดูแลผู้บริโภค และที่สำคัญคือใครมีความโปร่งใสในการดำเนินงานมากกว่ากัน แบรนด์ที่วิ่งนำหน้าเข้าเส้นชัยได้แก่ Brooks และที่ตามมาติดๆคือ Addidas  Reebok และ Salomon แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังได้คะแนนไปเพียง 3 ดาวเท่านั้น ส่วนแบรนด์ที่ถือว่าแพ้ฟาวล์ (เพราะไม่ให้ความร่วมมือในการสำรวจ) ได้แก่ Mizuno  New Balance  Nike  และ Saucony   ---------------------------------------------------------------------------------------------คะแนนรวม ความรับผิดชอบต่อสังคม 100 คะแนน คิดจาก นโยบายบริษัทด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการดูแลผู้บริโภค            ร้อยละ 15สภาพการทำงานและการรักษาสิ่งแวดล้อมในโรงงานประกอบตัวรองเท้า        ร้อยละ 25สภาพการทำงานและการรักษาสิ่งแวดล้อมในโรงงานผลิตพื้นรองเท้า        ร้อยละ 25สภาพการทำงานและการรักษาสิ่งแวดล้อมในโรงงานผลิตชิ้นส่วนอื่นๆ         ร้อยละ 25ความโปร่งใส                                 ร้อยละ 10•    นโยบายบริษัทในที่นี้หมายถึง แนวปฏิบัติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม การดูแลพนักงาน การฝึกอบรม การรักษาสิ่งแวดล้อม การจัดซื้อ มลภาวะที่เกิดขึ้นในการผลิตหรือมลภาวะจากตัวรองเท้า การติดต่อสื่อสารกับองค์กรไม่แสวงหากำไร และการให้บริการลูกค้า  •    สภาพการทำงานในโรงงานผลิตพื้นรองเท้าและส่วนประกอบอื่นๆ หมายถึง มาตรการขั้นต่ำด้านแรงงาน การส่งเสริมสุขภาพ ความปลอดภัยในการทำงาน การดูแลด้านสังคม สวัสดิการและเงินเดือน รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม•    ความโปร่งใส วัดจากความร่วมมือในการให้สัมภาษณ์ การอนุญาตให้ตรวจเยี่ยมโรงงาน และสัมภาษณ์พนักงาน                   ในบ้านเราการวิ่งออกกำลังกายกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น ดูได้จากยอดขายรองเท้าวิ่งที่เติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลจาก CRC SPORTS เดือนมีนาคม 2558 ระบุว่า ร้อยละ 60 ของตลาดอุปกรณ์กีฬามูลค่า 22,000 ล้านบาทของประเทศไทยเป็นตลาดรองเท้ากีฬา และการวิ่งออกกำลังกายมีแนวโน้มจะได้รับความนิยมสูงสุดในปีนี้ (ร่วมกับกีฬาอีก 3 ชนิด ได้แก่ จักรยาน ว่ายน้ำ และกอล์ฟ)-----------------------------------------------------มาวิ่งกันเถอะ ... มาวิ่งกันเถอะ•    สมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกา ระบุว่าการวิ่งออกกำลังกายสัปดาห์ละ 75 นาที สามารถลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจได้ •    การออกกำลังกายทุกชนิดล้วนดีต่อกระดูก นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนพบว่า ถ้าคุณวิ่งออกกำลังกายครั้งละ 12 -20 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้ง  ความหนาแน่นของกระดูกจะเพิ่มขึ้น•    การวิ่งสามารถช่วยลดความดันเลือดได้ดีกว่ายาหรือการควบคุมอาหาร •    งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันพบว่า หนูทดลองอายุมากที่ต้องวิ่งเป็นประจำ แสดงอาการสมองเสื่อมช้ากว่ากลุ่มที่ไม่ได้วิ่ง การวิ่งก็น่าจะช่วยชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์ในคนได้เช่นกัน  •    งานวิจัยจากโรด ไอแลนด์ คอลเลจ พบว่านอกจากจะทำให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้นแล้ว การวิ่งยังช่วยเพิ่มผลิตภาพและความคิดสร้างสรรค์ด้วย•    เมื่อคุณวิ่ง คุณจะใช้งานกระดูก 26 ชิ้น ข้อต่อ 33 ข้อ และเอ็นกระดูก 112 เส้น รวมถึงเครือข่ายเอ็นกล้ามเนื้อ ปลายประสาท และเส้นเลือด (นี่แค่เท้าอย่างเดียวนะ)•    ... ทั้งนี้ คุณต้องวิ่งอยู่ในทางสายกลางนะจ๊ะ คนที่วิ่งสัปดาห์ละ 20 -30 กิโลเมตรต่อสัปดาห์จะมีภูมิคุ้มกันโรคดีขึ้น ในขณะที่คนที่วิ่งสัปดาห์ละ 80 กิโลเมตร จะมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับระบบหายใจมากกว่าคนทั่วไป 2 เท่า •    โดยทั่วไปผู้ชายจะวิ่งได้เร็วกว่าผู้หญิง เพราะมีมวลกล้ามเนื้อและความจุปอดมากกว่า ปริมาณเทสโตสเตอโรนและฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดก็สูงกว่า แต่คุณผู้หญิงอย่าเพิ่งท้อ ... ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการออกกำลังกายด้วยการวิ่งจะเกิดขึ้นได้รวดเร็วและชัดเจนกว่าในผู้หญิง เช่น กล้ามเนื้อขาที่กระชับขึ้น หรือรอบเอวที่ลดลง  •    การสวมรองเท้าวิ่งราคาถูกช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการบาดเจ็บได้ ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเบิร์นซึ่งทำการวิเคราะห์นักวิ่งจำนวน 4,358 คน พบว่า คนที่ใช้รองเท้าราคาสูงกว่า 95 เหรียญ (ประมาณ 3,400 บาท) มีโอกาสบาดเจ็บเป็นสองเท่าของคนที่สวมรองเท้าวิ่งราคาไม่เกิน 40 เหรียญ (ประมาณ 1,400 บาท)  วารสาร Medicine & Science in Sports & Exercise ก็พบว่าผู้ที่ใส่รองเท้าที่มีฟีเจอร์แพรวพราว จะมีโอกาสได้รับบาดเจ็บมากขึ้น  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 132 รู้ทันสัญญาฟิตเนส

  อยากเสียเหงื่อให้กีฬา...แต่กลับต้องเสียน้ำตาให้บริการฟิตเนส คนที่ไม่เคยใช้บริการ ฟิตเนส คลับ คงจะสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงมีข่าวการร้องเรียนของคนที่ใช้บริการออกมาอยู่ตลอดเวลา หรือถ้าใครลองเสิร์ชข้อมูลเรื่องฟิตเนสในอินเตอร์เน็ตก็จะพบว่า มีคนมาบอกเล่าปัญหาต่างๆ ที่ได้เจอจากการใช้บริการฟิตเนสเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นปัญหาที่เกิดกับบรรดาฟิตเนส คลับชื่อดังที่เป็นแฟรนไชส์มาจากต่างประเทศทั้งสิ้น เรียกว่าสวนทางกับภาพลักษณ์ที่แสนจะหรูเลิศอลังการของความเป็นสถานบริการเพื่อสุขภาพราวฟ้ากับเหว ฉลาดซื้อเลยส่งทีมงานหน้าใส ไปนั่งฟังพนักงานขายหรือเซลล์ของฟิตเนส คลับ ชื่อดังแห่งหนึ่ง ทำให้ได้ข้อสรุปที่น่าสนใจ พร้อมๆ กับนึกชมตัวเองที่สามารถรอดพ้นจากพนักงานขายฝีมือขั้นเทพเหล่านั้นมาได้เรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับสถานบริการฟิตเนสปี 2554  จำนวน 32 เรื่อง แบ่งตามสถานบริการแต่ละแห่งได้ดังนี้ทรู ฟิตเนส  14  เรื่องแคลิฟอร์เนีย ว้าว  9 เรื่องฟิตเนส เฟิร์ส  7  เรื่องอื่นๆ   2 เรื่อง ปัญหาที่ร้องเข้ามาส่วนใหญ่เป็นเรื่องสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและปัญหาเรื่องการขอยกเลิกสัญญา ซึ่งมีการร้องเรียนเข้ามาถึง 29 เรื่องจากทั้งหมด 32 เรื่อง ส่วนปัญหาอื่นๆ ที่มีการร้องเรียนเข้ามาคือ ถูกนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ทางอื่นโดยไม่ขออนุญาต ปิดบริการไม่แจ้งล่วงหน้า และปัญหาด้านมาตรฐานการบริการ ที่มา ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  สำนักงานคณะกรรมคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลปัญหาของผู้บริโภคโดยตรง ก็เคยเก็บรวบรวมสถิติเรื่องร้องเรียนปัญหาจากการใช้บริการฟิตเนสเอาไว้เมื่อปี 2548 - 2551 มีเรื่องร้องเรียนเข้ามามากถึง 893 เรื่อง โดย แคลิฟอร์เนีย ว้าว นำมาเป็นอันดับ 1 ที่ 576 เรื่อง ลองลงมาคือ ทรู ฟิตเนส 180 เรื่อง และ ฟิตเนส เฟิร์ส 74 เรื่อง   ฟิตสมองก่อน ใช้ฟิตเนส ฟิตเนสเป็นบริการที่คนให้ความสนใจมาก เพราะฟิตเนส คลับ ต่างๆ จะมีบริการที่พร้อมสำหรับคนเมือง และมักตั้งอยู่ในย่านที่สะดวกในการเดินทาง โดยเฉพาะบรรดาฟิตเนส คลับที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นสาขามาจากต่างประเทศ จะมีบริการครบวงจร ตั้งแต่อุปกรณ์ออกกำลังกายแบบพื้นฐาน อย่าง ลู่วิ่งไฟฟ้า ที่ปั่นจักรยาน ไปจนถึงกิจกรรมพิเศษอื่นๆ อย่าง โยคะ เต้นรำ และอื่นๆ อีกเยอะแยะมากมาย ฉลาดซื้อสนับสนุนให้ทุกคนออกกำลังกาย เพราะอย่างที่ทุกคนรู้ดีว่าการออกกำลังกายมีประโยชน์และจำเป็นกับชีวิต ซึ่งการเลือกที่จะใช้บริการ ฟิตเนส คลับ ต่างๆ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือก แต่ภาพข่าวที่ปรากฏออกมาตามสื่อต่างๆ อาจทำให้ผู้บริโภคหวั่นๆ ว่าตัวเองจะกลายเป็นอีกคนหนึ่งหรือไม่ ที่ต้องปวดหัวจากบริการฟิตเนส ฉลาดซื้อได้ลองประมวลปัญหาที่เกิดจากการเข้าใช้บริการฟิตเนสแล้วพอจะสรุปได้ดังนี้ 1. ความไม่จริงใจของฟิตเนส คลับ ที่เน้นเพียงการเพิ่มยอดสมาชิกหนึ่งในเรื่องปวดสมองของผู้ได้รับความเสียหายที่ร้องเรียนเกี่ยวกับบริการฟิตเนส คือ เซลล์บอกอย่างแต่จริงๆ เป็นอีกอย่าง บรรดาคุณเซลล์ทั้งหลายจะเน้นอธิบายแต่ตัวเลขราคาค่าใช้จ่าย บริการที่จะได้ แต่ไม่ได้อธิบายถึงสิทธิการร้องขอเมื่อเกิดปัญหา รวมทั้งการสร้างสัญญาที่ผูกมัดมากเกินไป ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาในการใช้บริการ ตัวสัญญาที่ไม่เป็นธรรมนั่นเองที่เป็นตัวกดดันให้ผู้ใช้บริการที่เกิดปัญหาต้องออกไปร้องเรียนหน่อยงานต่างๆ และบางคนที่เจอปัญหาแล้วแต่ไม่ได้ไปร้องเรียน ก็ต้องกลายเป็นคนมีหนี้ มีภาระ ต้องยอมจ่ายเงินเป็นจำนวนมากเพื่อยุติปัญหา ทั้งที่ปัญหานั้นไม่ได้มาจากตัวผู้ที่ใช้บริการ 2. ผู้บริโภคใจไม่แข็งพอ เชื่อคนง่าย ในฐานะผู้ใช้บริการ ก่อนจะทำสัญญาก็ต้องมีหน้าที่ด้วยเช่นกัน เพราะอย่าลืมว่าในการทำสัญญาตกลงใช้บริการ ตัวเราเองก็ยินยอมที่จะเซ็นสัญญา การใช้บริการไม่ได้เกิดจากการบังคับขืนใจ (แต่อาจจะเกิดจากการถูกหว่านล้อมกดดัน) ทำให้เวลาที่ปัญหาเกิดขึ้น ฟิตเนส คลับ คู่กรณีจึงมักไม่ยินยอมจัดการในสิ่งที่เราร้องของไป เพราะเขาก็จะใช้ข้อได้เปรียบตรงที่เราได้ยินยอมทำสัญญากันไว้แล้ว ถือว่ารับรู้และยินยอมในเงื่อนไขต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้หากใครที่อยากจะไปสมัครใช้บริการที่ ฟิตเนส คลับ ไม่ว่าชื่อดังหรือไม่ดัง มีบริการที่ปั่นจักรยานเป็นร้อยตัวหรือไม่ถึงสิบตัวก็ตาม ต้องขอดูสัญญาก่อน ไม่งั้นไม่เซ็นชื่อ 3.ไม่ได้ศึกษาข้อมูลในสัญญาให้ดีการใช้บริการฟิตเนสเป็นอะไรที่มากกว่าเซลล์บอก ดังนั้นต้องขอเอกสารมาศึกษาก่อน โดยไล่ตั้งแต่ ค่าบริการ วิธีการชำระเงิน บริการที่จะได้รับ เงื่อนไขการยกเลิกสัญญา ระยะเวลาการเป็นสมาชิก ฯลฯ ต้องทำความเข้าใจให้ดี ให้ได้มากที่สุด ก่อนเซ็นสัญญา และที่สำคัญคือ ต้องพิจารณาจากสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น ไม่ใช่เป็นข้อตกลงที่มาจากคำพูดของพนักงานขาย เพราะหนึ่งในต้นเหตุของปัญหาก็มาจาก การที่ตัวพนักงานขายมักจะเสนอโปรโมชั่นและเงื่อนไขสุดพิเศษ เรียกว่าดีจนไม่มีที่ติ ยิ่งพอมาเทียบกับราคา ก็ยากที่จะหักห้ามใจ แต่ถ้ามาดูในใบสัญญาก็จะไม่เจอข้อความที่บอกถึงสิทธิพิเศษอย่างที่พนักงานโม้ให้เราฟังก่อนเซ็นสัญญา เช่น เรื่องการขอยกเลิกสัญญา ที่ว่าถ้ามีปัญหาสามารถมาขอยกเลิกสัญญาได้ตลอดเวลา แต่เอาเข้าจริงกลับทำไม่ได้เพราะในสัญญาจริงๆ ระบุว่าต้องเป็นสมาชิกไปอย่างน้อย 1 ปี ซึ่งถ้าเลือกตัดสินใจจากการฟังแต่สิ่งที่ได้ยินจากพนักงานขายที่มาทำสัญญาเพียงอย่างเดียว ผู้ใช้บริการอย่างเราก็จะเข้าใจผิด พออยากจะขอยกเลิกสัญญาเข้าจริงๆ ก็ทำไม่ได้ ข้อควรสังเกตในสัญญาฟิตเนส -เงื่อนไขในการยกเลิกสัญญา เพราะเรื่องนี้ถือเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ของคนที่ใช้บริการฟิตเนส ไม่รู้ว่าเป็นเพราะฟิตเนสห่วงใยสุขภาพของเราเป็นอย่างมากหรือเปล่าไม่แน่ใจ ตอนสมัครก็คะยั้นคะยอเราสุดฤทธิ์ ว่าให้มาออกกำลังกายเถอะ มาดูแลสุขภาพกันเถอะ พอตอนจะขอยกเลิกสัญญาก็ไม่ยอม บอกว่าทำไม่ได้ต้องใช้บริการให้ครบตามระยะเวลาขั้นต่ำที่ทำสัญญากันเอาไว้ เพราะฉะนั้นก่อนจะเซ็นสัญญาอย่าลืมพิจารณาให้ดีๆ ว่าการขอยกเลิกสัญญาสามารถทำได้หรือไม่ ระยะขั้นต่ำของสัญญาคือเท่าไหร่ ถ้าหากเกิดเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ไม่สามารถมาใช้บริการได้ต้องทำอย่างไรจึงจะยกเลิกสัญญาได้ แล้วเมื่อขอยกเลิกสัญญาแล้วมีเงื่อนไขในการขอรับเงินค่าธรรมเนียมต่างๆ คืนได้หรือไม่อย่างไร -เงื่อนไขในการตัดเงินอัตโนมัติจากบัตรเครดิตเป็นค่าบริการรายเดือน การหักเงินผ่านบัตรเครดิต เป็นวิธีที่ฟิตเนสชื่อดังทุกแห่งเลือกใช้ในการเก็บค่าบริการกับผู้ใช้บริการ ผู้บริโภคอาจมองว่าเป็นความสะดวก แต่ความจริงแล้วเป็นการการันตีให้กับผู้ให้บริการฟิตเนสว่า จะได้รับค่าบริการรายเดือนจากสมาชิกแน่นอน แม้สมาชิกคนนั้นอาจไม่ได้มาใช้บริการเลยสักครั้งในเดือนนั้นๆ สิ่งที่ผู้ใช้บริการควรรู้ก่อนเซ็นสัญญาคือ จำนวนเงินที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือน และระยะเวลาที่ต้องจ่าย วันที่ทำการตัดยอดในแต่ละเดือน รวมทั้งค่าปรับที่เกิดจากการผิดนัดชำระ -ความรับผิดต่ออาการบาดเจ็บที่เกิดจากใช้บริการ อาการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แล้วถ้าหากเกิดขึ้นขณะที่ใช้บริการฟิตเนสล่ะ ดังนั้นให้ดูในสัญญาว่าเรามีสิทธิได้รับการดูแลหรือเรียกร้องอะไรได้หรือไม่ ถึงแม้ฟิตเนสที่เราไปใช้บริการจะดูปลอดภัยหรือน่าเชื่อถือแค่ไหนก็ตาม ส่วนใหญ่พนักงานขายมักอ้างว่า ทางฟิตเนสมีทั้งบุคลากรและเครื่องมืออย่างดีและมีคุณภาพสำหรับดูแลเรื่องนี้ แต่ถ้าดูในสัญญาส่วนใหญ่จะระบุไว้ว่า สมาชิกจะไม่เรียกร้องความรับผิดชอบใดๆ ต่อทางฟิตเนส กรณีเกิดความบาดเจ็บไม่ว่าจะทางกายหรือทางใจ ไม่ว่ากรณีใดๆ ขณะใช้บริการในฟิตเนส หรือแม้แต่อาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า นอกจากนี้สมาชิกต้องรับประกันและรับรองตัวเองได้ว่า มีสุขภาพร่างกายที่พร้อมกับการออกกำลังกาย หรือได้ความเห็นชอบจากแพทย์มาแล้วก่อนที่จะมาใช้บริการของฟิตเนส -ความรับผิดชอบต่อทรัพย์สินของผู้ใช้บริการ ปกติฟิตเนสส่วนใหญ่จะมีบริการตู้ล็อคเกอร์ไว้สำหรับเก็บสิ่งของต่างๆ ให้กับสมาชิก แต่เรื่องของหายในฟิตเนสก็เคยเกิดขึ้นจนเป็นข่าวโด่งดังมาแล้ว ต้องดูให้ดีว่าฟิตเนสที่เราไปใช้บริการนั้นมีมาตรการในการดูแลทรัพย์สินของผู้ที่ไปใช้บริการอย่างไรบ้าง จะชดเชยเยียวยาแค่ไหน อย่างไร  ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่รับผิดชอบถ้าของหายไม่ว่าจะกรณีใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อ “ฉลาดซื้อ” ถูกชวนให้ไปทดลองใช้บริการฟิตเนส-ไม่รู้โชคดีหรือโชคร้าย เมื่อฉลาดซื้อได้รับโทรศัพท์จากฟิตเนสชื่อดังแห่งหนึ่งให้ไปทดลองใช้บริการฟรี เพราะทางฟิตเนสกำลังจะเปิดสาขาใหม่ จึงมีโปรโมชั่นดีๆ มานำเสนอเพียบ -พอไปถึงเราจึงได้รู้ว่า ที่บอกว่าให้มาทดลองใช้บริการฟรีนั้น ความจริงกลับไม่ได้ทดลองใช้บริการอะไรสักอย่าง เพราะพนักงานจะพาเราไปคุยเพื่อเปิดการขาย โดยจะถามเรื่องพฤติกรรมการออกกำลังกายของเรา มีการตรวจปริมาณไขมันและกล้ามเนื้อของเราด้วย -หลังจากนั้นก็จะเอาโปรโมชั่นมาเสนอ ซึ่งจะเริ่มต้นด้วยราคาที่สูงจนน่าตกใจ ก่อนจะค่อยๆ ลดลงมาโดยอ้างว่าเป็นสิทธิพิเศษนู่นนี่ ซึ่งราคาที่เสนอมาถ้าเรายังไม่พอใจ พนักงานก็จะลดให้เราได้อีก เพราะว่าเราเป็นคนพิเศษเลยได้รับสิทธิพิเศษอีก แต่เป็นเงื่อนไขที่ต้องตกลงทำสัญญากันในวันนี้เท่านี้ ถ้ามาสมัครวันอื่นจะไม่ได้ราคานี้ -ตลอดระยะเวลาที่พนักงานนำเสนอเรื่องราคา เราไม่มีโอกาสได้เห็นสัญญาใดๆ ทั้งสิ้น -แรกๆ พนักงานก็แสดงความห่วงใยสุขภาพของเราดี ที่อยากให้สมัครเพราะอยากให้มาออกกำลังกาย แต่พอเราเริ่มแสดงท่าทีว่าไม่สนใจสมัคร โดยให้เหตุผลไปว่ากลัวไม่มีเวลามาใช้บริการ สมัครไปแล้วอาจจะไม่คุ้มกับเงินที่ต้องเสีย พนักงานก็จะบอกในเชิงว่าให้สมัครทิ้งไว้ มีเวลาก็ค่อยมาเล่น ซึ่งถ้าคิดในแง่ของการออกกำลังกายให้ได้ประโยชน์จริงๆ ก็ควรออกให้ได้สม่ำเสมอ การมาออกกำลังกายตามสะดวกอย่างที่พนักงานบอกคงไม่ได้ประโยชน์เท่าไหร่ -เมื่อการเจรจาเพื่อให้สมัครสมาชิกดูแววแล้วจะไม่สำเร็จ พนักงานขายก็จะไปตามพนักงานมาอีกคน ซึ่งเป็นระดับตัวแม่ เพื่อเพิ่มระดับการเจรจา(กดดัน)ให้เข้มข้นขึ้นอีก -มาถึงตรงนี้การเจรจาเพื่อชักชวนของพนักงานขายเพื่อให้เราสมัครสมาชิกเริ่มมีความตึงเครียดมากขึ้น พนักงานขายจะใช้คำพูดทั้งอ้อนวอน หว่านล้อม บางครั้งก็เริ่มใช้คำพูดที่ไม่ค่อยเหมาะสม อย่างการพูดเหน็บแนม ประชดประชัน ดูหมิ่น เมื่อเริ่มเห็นว่าเรามีท่าทีว่า ยังไงก็ไม่สมัครแน่ๆ -แม้จะแสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่สมัครสมาชิกแน่ๆ แต่การจะปลีกตัวออกมาก็แสนยากเย็น เพราะพนักงานขายต้องการให้เราตกลงทำสัญญาให้ได้(ทำยอด) โปรโมชั่นต่างๆ จะเพิ่มมาเรื่อยๆ ปรับราคาลงมาเรื่อยๆ พูดคุยกับเราไปเรื่อยหวังว่าเราจะใจอ่อน ซึ่งก็คงมีหลายคนที่ต้องจำยอมตกลงสมัครสมาชิกไป ไม่ใช่เพราะอยากใช้บริการ แต่เพราะอยากตัดความรำคาญมากกว่า หรือไม่ก็ใจอ่อนกับตัวเลขค่าบริการ จากระดับหมื่นเหลือแค่ไม่กี่พัน ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้เลยว่าสมัครไปแล้วจะหาเวลามาใช้บริการได้หรือเปล่า วันนั้นฉลาดซื้อก็รอดตัวมาได้อย่างหวุดหวิด คำแนะนำง่ายๆ ที่อยากฝากไว้ก็คือ ถ้าไม่ได้มีความสนใจที่จะไปใช้บริการฟิตเนสตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ก็ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับบริการเหล่านี้จะดีที่สุด ไม่ว่าจะคำชวนแบบไหน ให้ไปทดลองใช้บริการฟรี ได้บัตรส่วนลด หรืออะไรก็แล้วแต่ เพราะถ้าเผลอไปทดลองตามคำชวนล่ะก็ ไม่ปวดหัวก็ต้องปวดใจ และเผลอๆ อาจต้องเสียทรัพย์ทั้งๆ ที่ไม่อยากเสียด้วย -------------------------------------------------------------------- “ฟิตเนสเป็นบริการควบคุมสัญญา” ฟิตเนสที่ดีต้องมีอะไรบ้าง1.สัญญาต้องเป็นข้อความภาษาไทย ขนาดตัวอักษรไม่เล็กกว่า 2 มิลลิเมตร มีจำนวนไม่เกินสิบเอ็ดตัวอักษรในหนึ่งนิ้ว 2.เงื่อนไขในสัญญาต้องมีรายละเอียดของขนาดสถานที่ให้บริการ จำนวนและประเภทของอุปกรณ์การออกกำลังกาย สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และการให้บริการอื่นๆ ตามที่ผู้ใช้บริการจะได้รับ 3.รายละเอียดแสดงอัตราค่าบริการ ค่าสมาชิก ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการใช้บริการ พร้อมทั้งวิธีการชำระและเงื่อนไขต่างๆ 4.วันเริ่มต้นและการสิ้นสุดการเป็นสมาชิก 5.เงื่อนไขที่นำไปสู่การบอกยกเลิกสัญญา ต้องมีการแสดงข้อความเฉพาะที่ทำให้เห็นได้ชัดเจน โดยต้องใช้ตัวอักษรสีแดง สีดำ หรือตัวเอียง เพื่อสามารถเห็นได้ชัดกว่าข้อความทั่วไป 6.ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญา ตามเงื่อนไขต่อไปนี้-ไม่มีอุปกรณ์หรือบริการตามที่บอกไว้ตามข้อตกลงในสัญญา หรืออุปกรณ์ชำรุดเสียหาย มีไม่เพียงพอต่อความต้องการต่อผู้ใช้บริการ โดยไม่มีการหามาทดแทนหรือทดแทนด้วยอุปกรณ์ที่มีคุณภาพต่ำกว่า-มีใบรับรองจากแพทย์ว่าไม่สามารถออกกำลังกายได้ เพราะอาจก่อให้เกิดผลเสียกับสุขภาพร่างกายหรือจิตใจ-ได้รับบาดเจ็บเนื่องจากการใช้บริการ อุปกรณ์ไม่ได้คุณภาพชำรุด ผู้ดูแลฝึกสอนไม่มีความชำนาญ 7.การคืนเงินให้กับผู้บริโภคหลังยกเลิกสัญญา ผู้ให้บริการต้องคืนตามจำนวนเงินที่เหลือจากค่าสมาชิกหรือตามระยะเวลาที่ยังไม่ได้ใช้บริการ ภายใน 30 วัน หลังจากยกเลิกสัญญา 8.ผู้บริโภคมีสิทธิในการโอนสิทธิความเป็นสมาชิกตามสัญญาให้กับบุคคลอื่นที่มีคุณสมบัติเป็นสมาชิกได้ โดยไม่จำเป็นต้องขอความยินยอมจากผู้ให้บริการ แต่ต้องมีการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรแก่ผู้ให้บริการ 9.หากมีการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าบริการในการต่อสัญญาใหม่หลังจากผู้บริโภคใช้บริการมาจนครบกำหนดสัญญา ผู้ให้บริการต้องทำหนังสือแจ้งให้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน ของการต่ออายุสมาชิกครั้งใหม่ 10.ห้ามกำหนดให้การต่ออายุสมาชิกเป็นไปแบบอัตโนมัติ 11.ห้ามกำหนดอายุสัญญาสมาชิกเกิน 1 ปี 12.ในสัญญาต้องห้ามมีข้อความที่แสดงถึงความไม่รับผิดชอบต่อผิดพลาดหรือเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการใช้บริการ ทั้งเรื่องการผิดสัญญาของผู้ให้บริการ อาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นจากการออกกำลังกาย และทรัพย์สินสูญหายภายในสถานที่ที่ให้บริการ--

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 178 กระแสต่างแดน

ผลิตภัณฑ์/บริการยอดแย่แห่งปี Shonkys 2015มาถึงปีที่ 10 แล้วสำหรับการประกาศผลรางวัลผลิตภัณฑ์/บริการยอดแย่แห่งปี 2015 โดยสมาคมคุ้มครองผู้บริโภคแห่งออสเตรเลียซึ่งเป็นผู้จัดพิมพ์นิตยสาร CHOICE รางวัลนี้ได้มาไม่ยาก คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเขาคัดเลือกจากสินค้าและบริการที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคอย่างหน้ามึน ตั้งแต่การกล่าวอ้างที่ไม่เป็นจริง ตัวสินค้า/บริการตกมาตรฐาน หรือการดำเนินงานโดยปราศจากความโปร่งใส เป็นต้น … มาดูกันเลยดีกว่า ว่าปีนี้ใครได้รางวัลนี้ไปเชยชมกันบ้าง   “บัตรเครดิตดอกเบี้ยต่ำ” (ที่ดอกเบี้ยสูงมาก) ผู้บริโภคพึงสังวร อย่าได้หลงเชื่อคำว่า “ดอกเบี้ยต่ำ” ของธนาคารรายใหญ่อย่าง National Australia Bank หรือ NAB เด็ดขาด ในภาพรวมนั้นอัตราดอกเบี้ยของออสเตรเลียลดลงจากร้อยละ 4.75 เมื่อ 4 ปีก่อน ลงมาเหลือเพียงร้อยละ 2 ในปัจจุบัน แต่พฤติกรรมของ NAB กลับสวนกระแส ใช้ช่วงชุลมุนเพิ่มอัตราดอกเบี้ยต่อปีของบัตรเครดิตจากร้อยละ 12.99 เป็นร้อยละ 13.99 จะว่าไปเขาก็สามารถทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย แต่มันสร้างความคับข้องใจให้กับผู้บริโภคนี่สิ ... อัตราดอกเบี้ย “ต่ำ” ของเขานี่มันต่ำยังไง เมื่อธนาคารเจ้าเล็กๆเขาคิดไม่เกินร้อยละ 10 คุณต้องทำใจนะ ถ้าอยากอยู่กับเจ้าใหญ่ที่ถือเป็นบิ๊กโฟร์ (อีก 3 ธนาคารได้แก่ Westpac Commonwealth Bank และ Australia and New Zealand Banking Group) เพราะเฉลี่ยแล้วดอกเบี้ยของหนี้จากบัตรเครดิตของธนาคารทั้ง 4 นี้ สูงถึงร้อยละ 18.98 เลยเชียว     หลอกคุณพ่อคุณแม่แน่นอนกว่า ขนมขบเคี้ยวที่คุณจะเลือกให้ลูกน้อยต้องมีความดีงามตามสมควรใช่หรือไม่ แล้วถ้าเรามีบิสกิตพร้อมตรา “รับรองโดยโรงอาหารของโรงเรียน” มันก็น่าจะไม่มีทางผิดพลาด ... รึเปล่า?!! ตราที่ว่านี้พบได้บนซองขนมไทนี่ เทดดี้ ของอาร์น็อต บริษัทอ้างว่าตรานี้จะช่วยให้พ่อแม่ตัดสินใจเลือกซื้อได้ง่ายขึ้น แต่คำถามคืออาร์น็อตไปได้การรับรองนี้จากที่ไหน? ไม่มีหลักฐานว่าโรงอาหารของโรงเรียนใดให้การรับรองที่ว่าเลย ที่มีแน่ๆ คือคำแนะนำเรื่องการจัดอาหารในโรงเรียนที่ระบุว่า ขนมทุกชนิดรวมถึงช็อคโกแล็ตชิพและขนมเคลือบช็อคโกแลตนั้นให้ถือว่าเป็นของหวาน ซึ่ง “ไม่แนะนำให้มีในเมนูอาหารของโรงเรียน” เรื่องนี้ถึงหูหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค ACCC แล้ว ล่าสุดอาร์น็อตประกาศว่าจะยกเลิก ตราประทับเก๊ๆ ดังกล่าวภายในกลางปี 2016   รีดเลือดกับปู เมื่อเงินไม่พอใช้ คนออสซี่บางคนเลือกใช้บริการบริษัทเงินกู้ แต่ค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และค่าโน่นนี่สารพัด มันไม่ช่วยกอบกู้สถานการณ์การเงินเอาเสียเลย ถ้าเรายืมเงิน 250 เหรียญ ระยะเวลายืม 2 สัปดาห์ เราจะต้องใช้คืนพร้อมดอกเบี้ยที่คิดเป็นอัตราร้อยละ 742 ต่อปี เอิ่ม ... แล้วจะกู้มาให้ปวดหัวทำไม โชคดีที่รัฐบาลประกาศห้ามการคิดดอกเบี้ยแบบนี้แล้ว ตั้งแต่มีนาคม 2013 เป็นต้นมาออสเตรเลียประกาศห้ามการให้กู้ในวงเงินไม่เกิน 2,000 เหรียญ ที่มีระยะเวลาจ่ายคืนภายใน 15 วัน และให้จำกัดค่าธรรมเนียมที่ไม่เกินร้อยละ 20 ของจำนวนเงินที่กู้ รวมถึงการคิดดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 4 ต่อเดือน แต่ผู้ประกอบการใช่จะยอมถอยไปง่ายๆ อัจริยะทางการเงินเหล่านี้หันมาให้กู้ 100 เหรียญ ในระยะเวลา 16 วัน ซึ่งเมื่อคำนวณดูแล้ว คุณยังต้องใช้คืนถึง 124 เหรียญ   ลูกบอลขยัน แต่มันไม่ช่วยขยี้CHOICE ฟันธง! ลูกบอลนาโนสมาร์ตที่อ้างว่าจะมา “ปฏิวัติวิธีซักผ้าของคุณ” และปลดแอกคุณจากเทคโนโลยีแสนโบราณอย่างผงซักฟอกและน้ำยาปรับผ้านุ่มนั้น ... มันไม่เวิร์คการทดสอบโดยห้องปฏิบัติการของ CHOICE พบว่า มันทำอะไรไม่ได้เลย ... ยิ่งกว่านั้น เมื่อเทียบกันแล้วเขาพบว่า ผ้าที่ซักด้วยเครื่องซักผ้าที่มีเพียงน้ำเปล่า ยังสะอาดกว่าตอนที่ใส่ลูกบอลราคา 50 เหรียญนี้ลงไปเสียอีก แล้วเจ้า “ไบโอเซรามิกส์” ในลูกบอลมันไปทำอะไรอยู่ที่ไหน ไม่มาปล่อยแสงอินฟราเรด หรือยิงประจุลบลดขนาดโมเลกุลของน้ำให้มันเล็กจนชอนไชไปจัดการคราบสกปรกในเนื้อผ้าได้ … ดังที่โฆษณา   เครื่องซักผ้าไฟแรงรู้กันหรือยัง ว่าเครื่องซักผ้าอาจทำให้ไฟไหม้บ้านได้ ก่อนซื้อย่าลืมตรวจสอบว่ารุ่นที่คุณสนใจนั้นอยู่ในรายชื่อที่ถูกเรียกคืนหรือเปล่า แต่ถ้าบริษัทไม่ยอมประกาศเรียกคืนสินค้า แล้วผู้บริโภคอย่างเราจะทำอย่างไร ที่แน่ๆ CHOICE ขอมอบรางวัลเยี่ยมแย่ให้กับซัมซุง โทษฐานที่อิดออดเป็นนานกว่าจะยอมเรียกคืนเครื่องซักผ้าฝาบนที่มีความเสี่ยงเกิดไฟไหม้จำนวน 144,000 เครื่องออกจากตลาดออสเตรเลีย จะว่าไม่รู้ก็คงไม่ใช่ นับถึงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เกิดปัญหากับเครื่องซักผ้าของซัมซุง 224 ครั้ง ในจำนวนนั้นบริษัทระบุว่าเป็นปัญหาไฟไหม้ถึง 76 ครั้ง ... เอิ่ม .. แต่เขากลับไม่ได้แจ้งต่อผู้บริโภคในช่องทางที่จะทำให้เกิดการรับรู้อย่างแพร่หลาย แถมยังผลักภาระค่าซ่อม ค่าอะไหล่กลับมาที่ผู้บริโภคอีกด้วย สุดท้าย หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค ACCC ใช้อำนาจบังคับให้บริษัทรับซื้อเครื่องซักผ้าไฟแรงพวกนั้นคืนไป   หนังที่ไม่ใช่หนังถ้าคุณดูแคตาล็อคเฟอร์นิเจอร์ของอิเกีย หมวด “เฟอร์นิเจอร์หนัง” คุณจะพบว่ามีไม่น้อยเลยที่ทำจากวัสดุโพลีเอสเตอร์หรือโพลียูรีเทน เฉลยนั้นมีอยู่เป็นตัวเล็กๆ ภายใต้หัวข้อ “ข้อมูลผลิตภัณฑ์” ตัวอย่างเช่น โซฟารุ่นหนึ่งระบุว่า “สินค้ารุ่นนี้ทำจากวัสดุผ้าเคลือบที่มีความทนทาน ที่มีรูปลักษณ์และผิวสัมผัสคล้ายหนัง” หลังจากได้ทราบว่าตนเองเข้าข่ายผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลยอดแย่ บริษัทก็ได้ปรับปรุงข้อมูลในเว็บไซต์ให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงแล้ว   มันต้องลดโค้กสิปีที่แล้ว โคคา โคลา ออสเตรเลีย มีกำไรลดลงจากสองปีก่อนหน้า ทำให้บริษัทต้องลงมือกอบกู้สถานการณ์โดยด่วน และนั่นอาจเป็นเหตุผลที่บริษัทเข้าไปเป็นผู้สนับสนุน “เครือข่ายความสมดุลในการใช้พลังงาน” Global Energy Balance Network (GEBN) ที่อุทิศตนเพื่อหยุดยั้งภาวะโรคอ้วน ... แต่ไม่ใช่ด้วยการทำให้ผู้คนเลิกนิสัยการกินที่ไม่ดี (เช่น บริโภคเครื่องดื่มรสหวานมากเกินไป) หรอกนะ เขารณรงค์เรื่องการใช้พลังงานให้สมดุลกับสิ่งที่บริโภคเข้าไป ทำนองว่ากินหวาน กินมากไม่เป็นไร แค่ต้องใช้แรงออกไปให้มากพอกันเป็นใช้ได้ เ พื่อเห็นแก่ “วิทยาศาสตร์” แบบเข้าข้างตัวเอง CHOICE เลยแจกรางวัลนี้ให้   กดไม่ลง พอเข้าใจได้ถ้าคุณจะทิ้งทิชชูเปียกสำหรับเด็กลงชักโครก เพราะฉลากของคลีเน็กซ์เขาระบุว่า “สามารถกดลงชักโครกได้” คือ ... คุณจะทิ้งก็ได้ แต่บอกเลยว่ามันไม่ได้เกิดมาเพื่อสิ่งนั้น และมันจะสร้างความขุ่นเคืองให้ช่างประปาแถวบ้านคุณมิใช่น้อย ทิชชูเปียกพวกนี้ นอกจากจะไม่เป็นมิตรต่อท่อน้ำทิ้งแล้ว มัยยังไม่เป็นมิตรกับผู้บริโภคที่เสียเงินซื้อสินค้าชนิดกดลงชักโครกได้ ที่ไม่ควรนำมากดลงชักโครก แล้วถ้าท่อเกิดตันขึ้นมา ใครจะเป็นคนจ่ายเงินค่าเรียกช่าง? คนออสซี่ส่วนใหญ่ก็ยังไม่รู้ว่าผลิตภัณฑ์พวกนี้ทำให้พวกเขาเสียเงินไม่ต่ำกว่า 15 ล้านเหรียญ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 164 กระแสต่างแดน

Shonky Award 2014 เข้าสู่ปีที่ 9 แล้วสำหรับรางวัลช้องค์กี้ หรือรางวัลผลิตภัณฑ์/บริการยอดแย่ประจำปี ที่องค์กรผู้บริโภคของออสเตรเลียจัดเป็นประจำตั้งแต่ปี 2006  มาดูกันว่าปีนี้มีใครได้รางวัลนี้ไปครอบครองให้อับอายกันบ้าง   Commonwealth Bank of Australia รายแรกคือธนาคารคอมมอนเวลท์ ที่ดำเนินธุรกิจได้แสบสันคันจิต ปีที่ผ่านมามีลูกค้าหลายพันคนเอาเงินฝากไปลงทุน โดยผ่านการแนะนำของเจ้าหน้าที่ธนาคาร แล้วก็ขาดทุนย่อยยับในที่สุด เมื่อทางการเข้ามาสอบสวนก็พบว่า เจ้าหน้าที่ของธนาคารที่ให้คำแนะนำเรื่องการลงทุนนั้นจงใจนำเสนอบริษัทที่ “ให้ผลกำไรดี” (จากการคำนวณแบบมึนๆ ของเขาหรือเธอ) เมื่อความจริงไม่ใช่อย่างนั้น ลูกค้าก็รับเคราะห์ไปเต็มๆ ในขณะที่คนที่แนะนำได้โบนัสไปเรียบร้อย เพื่อรักษาหน้าธนาคารรีบทำโฆษณาออกมาขอโทษลูกค้า แต่เบื้องหลังนั้นธนาคารยังคงแอบไปล็อบบี้คัดค้านการกำกับดูแลเรื่องการให้ข้อมูลการลงทุนกับผู้บริโภค ... แหม่ แต่ที่เด็ดสุดคือการออกมาแถลงผลประกอบการว่ามีกำไรถึง 8,000 ล้านเหรียญนี่สิ   Bankwest รายต่อไปเป็นธนาคารแบงค์เวสต์ ซึ่งอ้างว่าต้องการส่งเสริมให้เด็กรักการออม โครงการเงินฝากดอกเบี้ยสูงสำหรับเด็กจึงเกิดขึ้น โดยเด็กๆ มาฝากกันได้ด้วยเงินฝากขั้นต่ำเพียง 25 เหรียญต่อเดือน แต่ที่ไม่ได้บอกคืออัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5.75 นั้นจะใช้เฉพาะช่วง 12 เดือนแรก และถ้าเดือนไหนมีการถอนเงินออกมาใช้ อัตราดอกเบี้ยในเดือนนั้นก็จะหดเหลือร้อยละ 0.01 และในปีต่อไปถ้ามีเงินในบัญชีน้อยกว่า 3,000 เหรียญ เด็กก็จะได้ดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ธนาคารให้เหตุผลว่าทำแบบนี้เพื่อที่เด็กๆ จะได้ตื่นเต้น อยากเริ่มเก็บเงินใหม่ทุกปียังไงล่ะ องค์กรผู้บริโภคเขาแซวว่านี่ไม่ใช่การปลูกฝังนิสัยการออมให้เด็กแล้ว ... มันเป็นการสอนพวกเขาให้รู้จักเล่ห์เหลี่ยมของธนาคารมากกว่า   S-26 Gold ไหนๆ ก็พูดถึงเด็ก ขอแวะมาที่ผลิตภัณฑ์ช้องค์กี้รายต่อไป ได้แก่ เอส 26 โกลด์ นมผงสำหรับเด็กวัยหนึ่งขวบ/สองขวบขึ้นไป ที่อ้างซ้ำไปซ้ำมาในโฆษณาว่าช่วยให้ลูกน้อยของคุณได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วน นักโภชนาการให้คำแนะนำว่าเด็กอายุ 1 ขวบขึ้นไปที่มีสุขภาพดี ไม่จำเป็นต้องดื่มนมนี้ก็ได้ เพราะเป็นช่วงที่เด็กต้องลดการกินอาหารเหลว แล้วเริ่มหัดกินอาหารที่ต้องเคี้ยวตามพัฒนาการขั้นต่อไปของพวกเขา แต่แบรนด์นี้ก็ยังทำตลาดกับบรรดาพ่อแม่ที่กังวลว่าลูกจะ “ได้สารอาหารไม่ครบ” ต่อไป และยังเดินหน้ารังสรรค์ผลิตภัณฑ์สำหรับพ่อแม่เหล่านี้ออกมาอีกหลายตัวเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งในตลาดนมผงสำหรับเด็กในออสเตรเลีย ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 100 ล้านเหรียญ ... ผู้ปกครองก็เป็นเหยื่อโฆษณาไม่แพ้เด็กนะนี่   บิสกิต Tim Tam ตามด้วยขนมที่กินกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่อย่างบิสกิตทิมแทม คราวนี้บริษัทอาน็อทเปิดตัวทิมแทม “กลิ่นเนยถั่ว” เมื่อเปรียบเทียบข้อความและรูปประกอบบนบรรจุภัณฑ์ กับส่วนประกอบแล้วคุณอาจจะงงนิดหน่อย เพราะไม่มี “เนยถั่ว” อยู่ในรายการ มีแต่ผงปาปริกาและสีผสมอาหารสี “คาราเมล” แต่นั่นยังไม่หมด ด้วยราคาเดียวกันและขนาดที่เท่ากันกับทิมแทมรสดั้งเดิม ในซองของเจ้าทิมแทมรสใหม่นี้จะมีปริมาณขนมน้อยลงจากเดิม 35 กรัม หรือ 2 ชิ้นอีกด้วย...     ชุดว่ายน้ำ Kmart กินขนมแล้วมาออกกำลังกายกันบ้าง คนออสซี่ที่รักการไปเที่ยวชายหาดหรือไปว่ายน้ำในสระ อาจมีเรื่องตกตะลึงในซัมเมอร์นี้ ถ้าบังเอิญไปเลือกซื้อชุดว่ายน้ำที่ห้างเคมาร์ท ผู้บริโภคที่ดีต้องศึกษาคำแนะนำการใช้ผลิตภัณฑ์ก่อน แต่งานนี้เมื่ออ่านคำเตือนบนฉลากที่ด้านในของชุดแล้ว คุณอาจสงสัยว่ามันจะเกิดมาเป็นชุดว่ายน้ำทำไม ถ้าเขาเตือนให้คุณระวังเนื้อผ้าจะโปร่งแสงเมื่อโดนน้ำ ระวังไม่ให้เนื้อผ้าเสียดสีกับพื้นผิวขรุขระ ไม่ใส่ชุดลงในสระที่น้ำร้อน ไม่ให้ชุดสัมผัสสารเคมี เช่น ครีมกันแดด โอ้ .. ผลิตภัณฑ์อะไรจะใช้ยากขนาดนี้เนี่ย   Amazon Kindle Paper White ส่วนอันนี้ใช้ไม่ยากแต่อาจจะเชื่อยากนิดหน่อย เป็นใครก็ตื่นเต้นถ้ามีเครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่โฆษณาว่าสามารถใช้งานได้นานถึง 8 สัปดาห์ คุณคงแอบนึกในใจว่า อุแม่เจ้าเราคงจะอ่านจบไปหลายเล่ม แต่เดี๋ยวก่อนตัวหนังสือเล็กๆ ข้างล่างเขียนว่า “หมายถึงการใช้งานวันละ 30 นาที เป็นเวลา 8 สัปดาห์” อ้าว ... คิดสะระตะแล้วเมื่อชารจ์แบตฯจนเต็ม มันก็ใช้งานได้ 28 ชั่วโมง ไม่ต่างอะไรกับยี่ห้ออื่นๆ แหม ... อเมซอน ทำเนียนเชียวนะ เครื่องผสมอาหาร Thermomix เรื่องนี้ว่าด้วยความผิดหวังของสาวกเทอร์โมมิกซ์โดยแท้ ผลิตภัณฑ์รุ่น TM 31 เป็นที่นิยมกันในหมู่คุณพ่อบ้านแม่บ้านมานานแล้ว เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ประกอบอาหารที่สนองความต้องการได้ครบถ้วน ด้วยประสิทธิภาพที่น่าพอใจ ผู้คนจึงยอมทุ่มเงินเกือบ 2,000 เหรียญเพื่อจะได้เป็นเจ้าของอุปกรณ์ระดับเทพนี้สักตัว รุ่นนี้ขายดิบขายดีมานานกว่า 7 ปี และบริษัท Vorwerk ผู้ผลิตก็ไม่มีที่ท่าว่าจะทำรุ่นใหม่ออกมาเลย ข่าวรั่ว ภาพหลุด ก็ไม่มี แต่เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมาบริษัทนี้ก็เปิดตัวเจ้า TM 5 ออกมาในราคา 50 เหรียญซะอย่างนั้น!! แต่คงไม่มีใครแค้นเกินคนที่เพิ่งจะไปสั่งซื้อเจ้ารุ่นละพันกว่าเหรียญเอาไว้ (เพราะได้รับคำยืนยันจากผู้ขายว่าไม่มีรุ่นใหม่ออกมาแน่นอน)  และได้รับของไม่กี่วันก่อนของใหม่จะเปิดตัว สุดท้ายบริษัทยอมชดเชยด้วยการแจก/แถมให้กับลูกค้าที่ซื้อเครื่องรุ่น TM 31 หลังวันที่ 1 กรกฎาคม แต่ความเจ็บใจมันไม่หายไปง่ายๆ จากการโหวตของผู้บริโภค 1,041 คน มีถึง 530 คนที่โหวตให้เทอร์โมมิกซ์เป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าปวดใจที่สุดในปีที่ผ่านมา  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 100 กระแสต่างแดน

กระแสต่างแดนศศิวรรณ ปริญญาตร วัยรุ่นร้ายกว่ายุง?สวนสาธารณะในโตเกียวกำลังกำลังประสบปัญหาน่ากลุ้ม จากแกงค์วัยรุ่นที่ออกก่อกวนทำลายทรัพย์สินสาธารณะและสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับคนที่อาศัยอยู่ใกล้สวนเหล่านั้น เช่นสวนสาธารณะคิตาชิตาฮามา ในเขตอาดาจิทางเหนือของกรุงโตเกียว นั้นต้องพบกับการถูกวัยรุ่นที่คึกคะนองทำลาย ไม่ว่าจะซ่อมแซมใหม่สักกี่ครั้งก็ยังจะกลับมาทำลายซ้ำได้อีก แม้ว่าทางสวนจะแก้ปัญหาด้วยการจัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมาดูแลแล้วก็ตาม สุดท้ายทางเขตเลยตัดสินใจไปปรึกษาบริษัทจากอังกฤษที่เคยประดิษฐ์อุปกรณ์ไว้ป้องกันการจับกลุ่มเฮฮาของตามหน้าห้างสรรพสินค้ามาแล้ว แล้วก็ได้อุปกรณ์ Mosquito MK4 Anti-vandal system มาทดลองใช้ ฟังจากชื่ออาจเหมือนกับอุปกรณ์ไล่ยุงแต่ความจริงแล้วเขาทำขึ้นมาเพื่อปราบเด็กเฮี้ยนโดยเฉพาะ โดยเจ้าอุปกรณ์ที่ว่าซึ่งมีหน้าตาคล้ายสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ขนาด 10 เซนติเมตร จะปล่อยเสียงความถี่สูงขนาด 17 เมกะเฮิร์ทซ์ (ที่ว่ากันว่าจะมีแต่คนที่อายุต่ำกว่า 25 ปีเท่านั้นที่จะได้ยิน) ออกมาทุกวันในช่วงเวลาระหว่างเวลา 5 ทุ่มถึงตี 5 ด้วยระยะการทำงานของคลื่นเสียงที่ครอบคลุมพื้นที่ 40 เมตรทางสวนดังกล่าวหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเด็กเหล่านี้จะไม่มาจับกลุ่มเฮฮา เตะนี่ ทุบนั่น หรือแม้แต่จุดประทัดเล่นกันกลางดึกอีกต่อไป ยากูซ่าขาลงสมาชิกยากูซ่าตัวจริงทุกวันนี้ดูไม่น่าเกรงขามเหมือนในภาพยนตร์ที่เราเห็นอีกต่อไปแล้ว เรื่องนี้ข่าวจากหนังสือพิมพ์เจแปนไทม์ เขายืนยันมาปลายปีที่แล้วมีชายวัย 61 ปีถูกตำรวจจับข้อหารีดไถคุณแม่บ้านด้วยการขายของแล้วทอนเงินไม่ครบ เรื่องนี้ถ้าเป็นกรณีทั่วไปก็ไม่มีอะไรน่าสนใจ แต่ชายคนดังกล่าวเป็นสมุนยากูซ่า ซึ่งตามมาตรฐานยากูซ่าแล้วการหาเงินด้วยวิธีดังกล่าวออกจะน่าขำอยู่บ้างแต่นั่นเป็นแค่ตัวอย่างเดียว ข่าวเขาบอกว่ายากูซ่าทุกวันนี้รับแทบจะทุกงานที่ได้เงิน ตั้งแต่รับจ้างเข้าคิวซื้อตั๋วดูคอนเสิร์ต เป็นนายหน้าจัดหาภรรยาน้อย ช่วยหาลูกค้ามาเช่าบ้านหรือมาเที่ยวผับ และมีไม่น้อยที่เปลี่ยนไปหากินด้วยการขับแท็กซี่ในทางกลับกัน คนที่เป็นซาลารี่แมนหรือมนุษย์เงินเดือนกลับนิยมไปสมัครเป็นสมาชิกยากูซ่ามากขึ้น เพราะรายได้จากงานประจำนั้นไม่พอใช้ ซึ่งก็เข้าทางกันพอดี เพราะทางยากูซ่าก็หาคนรุ่นใหม่ๆ มาสืบทอดไม่ได้ ในขณะที่รุ่นเก่าก็อายุมากขึ้นกันทุกวัน ที่สำคัญมนุษย์เงินเดือนเหล่านี้มีรายได้ประจำมาเสียค่าสมาชิกอย่างสม่ำเสมอดีด้วย สรุปว่าการควบรวมกิจการระหว่างแก๊งค์ยากูซ่ากับซาลารี่แมน นี้เกิดขึ้นแล้ว แต่ไม่แน่ใจว่าเราควรดีใจหรือเสียใจดีนะนี่ เมื่ออาหารสุขภาพแย่กว่าอาหารขยะคุณพ่อคุณแม่ต้องเกิดอาการช็อคกันอีกครั้ง (หรืออาจจะชินแล้วก็ได้) เมื่อมีงานสำรวจที่พบว่า อาหารเสริมสำหรับเด็กนั้นมีน้ำตาลและไขมันอิ่มตัวมากกว่าขนมปังกรอบรสช็อคโกแล็ต หรือชีสเบอร์เกอร์เสียอีก โครงการรณรงค์เพื่ออาหารสำหรับเด็ก Children’s Food Campaign ได้ทำการสำรวจอาหารสำหรับเด็กทารกและเด็กวัยหัดเดินจำนวน 100 ชนิดที่โฆษณาว่าเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และพบว่ามีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่มีไขมัน น้ำตาล และเกลือไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานของอังกฤษขนมปังกรอบ Toddler's Own Mini Cheese Biscuits ที่ผลิตโดยบริษัท Heinz นั้นมีไขมันอิ่มตัวถึงร้อยละ 7.3 ซึ่งมากกว่าในชีสเบอร์เกอร์ที่ที่มีไขมันดังกล่าวร้อยละ 6.7 หรือ เช่น Farley’s Original Rusk มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบถึง 29 กรัม (มากกว่าในขนมปังรสช็อคโกแล็ตเสียอีก)แล้วบริษัทผู้ผลิตเหล่านี้มีปฏิกิริยาอย่างไรบ้าง ... บริษัท Cow and Gate ตัดสินใจเลิกผลิตขนมปังกรอบ ที่ถูกพบว่ามีไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบไปเลย ในขณะที่บริษัท Heinz นั้นยังยืนยันว่า นี่เป็นของชอบของเด็กๆ มากว่า 120 ปี สูตรดั้งเดิมของเขาจริงๆ มีทั้งวิตามินและเกลือแร่มากมาย (เอ่อ ... แล้วก็น้ำตาลด้วย) กูเกิ้ลโดนห้ามถ่ายหลายคนคงรู้จักบริการของกูเกิ้ลที่ชื่อว่า สตรีทวิว ว่ากันว่ามันดีกว่าการดูแผนที่ธรรมดามากมายนัก เพราะคุณสามารถคลิกซูมเข้าไปบนตำแหน่งที่ต้องการแล้วคุณก็จะเห็นภาพสองข้างถนน ราวกับว่าคุณกำลังเดินอยู่บนถนนสายนั้นเลยทีเดียวแต่ปัญหามันอยู่ตรงที่ เวลาที่กล้องหมุนได้ 360 องศาซึ่งติดอยู่บนหลังคารถของกูเกิ้ล เก็บภาพสองข้างถนนเข้าไป มันก็เก็บเอารูปคนที่เดินผ่านไปมาในย่านนั้นๆ ด้วย ถือเป็นการละเมิดสิทธิของคนเหล่านั้นเขาด้วยเช่นกันประเทศกรีกจึงตัดสินใจห้ามไม่ให้ยักษ์ใหญ่อย่างกูเกิ้ล (ที่เคยประกาศไว้ว่าจะขยายบริการให้ครอบคลุมยุโรป) เข้าไปเก็บภาพด้วยสตรีทวิว ทางกูเกิ้ลต่อรองว่าจะทำจุดเบลอๆ ลงบนหน้าคนหรือทะเบียนรถให้ แต่หน่วยงานที่ดูแลเรื่องการปกป้องข้อมูลข่าวสารได้ขอให้กูเกิ้ลตอบมาก่อนว่าจะเก็บภาพดังกล่าวไว้นานเท่าใด และจะแจ้งให้กับบุคคลในวิดีโอทราบด้วยวิธีใดว่าจะมีหน้าเขาอยู่ในนั้นเยอรมนีก็เป็นอีกประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับบริการดังกล่าว และจะยอมให้มีได้ก็ต่อเมื่อกูเกิ้ลสามารถพัฒนาเครื่องมือที่รับรองว่าจะไม่รุกล้ำความเป็นส่วนตัวขึ้นมาได้ในกรณีของญี่ปุ่นนั้น กูเกิ้ลต้องถ่ายใหม่ทั้งหมดโดยลดระดับความสูงของกล้องลงมา เนื่องจากกล้องที่ติดอยู่กับรถนั้นอยู่ในระดับที่สูงเกินไปจนเห็นเข้าไปในรั้วบ้านได้ ระวัง คุณอาจจ่ายทิปโดยไม่จำเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้าไปรับประทานอาหารในร้านต่างๆ ในเมืองเบอร์ลิน อาจยังไม่รู้ตัวว่าจ่ายเงินเกินจริง ทั้งนี้ก็เพราะว่าเขาจะปั๊มข้อความอย่าง “ยังไม่รวมค่าบริการ” หรือ “ยังไม่รวมทิป” เพิ่มในใบเสร็จสำหรับลูกค้าที่ไม่ได้พูดภาษาเยอรมันนั่นเองซึ่งฟังดูก็ไม่น่าจะแปลก แต่ที่เยอรมนีนั้นเขามีกฎหมายควบคุมงานบริการโรงแรมและร้านอาหาร ที่ระบุว่า “ราคา” นั้นได้รวมเอาทั้งภาษีและค่าบริการเอาไว้หมดแล้ว โดยปกติแล้วสิ่งที่คนเยอรมันนิยมทำคือการจ่ายเงินแบบปัดเศษไป ไม่รับเงินทอน หรือไม่ก็เพิ่มให้อีกประมาณร้อยละ 10 จากค่าอาหารและเครื่องดื่ม แต่นี่เป็นความสมัครใจของลูกค้านะ สเตฟานี่ เฮคเคล โฆษกสมาคมผู้ประกอบการโรงแรมและร้านอาหารแห่งเยอรมนีบอกว่า การเรียกร้องทิปจากลูกค้านั้นเป็นสิ่งที่ห้ามเด็ดขาดแต่เห็นได้ชัดว่ามีคนทำแล้วจริงๆ มีนักท่องเที่ยวจากฝรั่งเศสคนหนึ่ง เพิ่งมาเที่ยวได้สามวัน แกก็เจอกับใบเสร็จอย่างว่าเข้าไป 5 ใบ จากร้านอาหารต่างๆ กัน 5 ร้าน จนเขานึกว่าตัวเองตกข่าว และคิดเอาเองว่าสงสัยเยอรมนีคงจะเปลี่ยนกฎหมายไปใช้แบบอเมริกา ที่เป็นที่รู้กันว่าลูกค้าต้องให้ค่าบริการอย่างน้อยร้อยละ 15 นั่นเองทางเจ้าของร้านและบริกร ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เดี๋ยวนี้นักท่องเที่ยวไม่ค่อยจะให้ทิปเลย เลยต้องใช้วิธีนี้แหละในขณะที่สหพันธ์ผู้บริโภคแห่งเยอรมนีบอกว่า อย่างนี้เขาเรียกปล้นกันกลางวันแสกๆ นะพี่น้อง แต่การท่องเที่ยวแห่งเยอรมนี บอกว่ายังไม่เห็นมีใครมาร้องเรียนอย่างเป็นทางการ แต่ก็เริ่มเป็นห่วงว่าเรื่องนี้อาจทำให้เบอร์ลินเสียภาพพจน์ในหมู่นักท่องเที่ยวอยู่เหมือนกัน เอาเป็นว่าเรารู้กันไว้ ก่อนไปเที่ยวเบอร์ลินแล้วกัน ว่าค่าบริการต่างๆ ที่นั่นความจริงเขารวมไว้หมดแล้ว ไม่จำเป็นต้องจ่ายเพิ่มอีก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 167 ธุรกิจสถานบริการดูแลผู้สูงอายุ

จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ประเทศไทยเราได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ตัวชี้วัดก็คือ จำนวนประชากรสูงวัย(อายุ 60 ปีขึ้น) ณ ปัจจุบันมีมากกว่า 9 ล้านคน ซึ่งเกิน 10% ตามนิยามขององค์การสหประชาชาติ ที่ระบุว่า ประเทศใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกิน 10% หรืออายุ 65 ปี ขึ้นไปเกิน 7% ถือว่าประเทศนั้นก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สิ่งที่ตามมากับตัวเลขอายุที่มากขึ้น คือ ความเสื่อมถอยของร่างกาย ทั้งหูตาที่ฝ้าฟาง ข้อ กระดูกที่เปราะบาง ความกระฉับกระเฉงลดลง ไม่อาจเคลื่อนไหวได้ตามใจนึก อีกทั้งความเสื่อมถอยของร่างกายทำให้เป็นโรคได้ง่ายโดยเฉพาะกลุ่มโรคติดเชื้อ และถ้ายิ่งใช้ชีวิตแบบไม่ค่อยระวังตัว โรคเรื้อรังในกลุ่มหัวใจ เส้นเลือด ก็กลายเป็นโรคประจำตัวที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการทุพพลภาพหรือพิการได้มากที่สุด ระดับผู้สูงอายุไทยอาจแบ่งได้เป็นสามระดับ คือ กลุ่มสูงอายุวัยต้น 60-79 ปี วัยปลาย 80-99 ปี และกลุ่มอายุเกิน 100 ปีขึ้นไป  ซึ่งในช่วงวัยต้นร่างกายยังไม่เสื่อมถอยมาก ประกอบกับความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ ทำให้ยังสามารถทำงานได้ เป็นประโยชน์ทั้งกับครอบครัวและชุมชน แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ต้องเข้าสู่ระยะพักผ่อน งานการต่างๆ ที่เคยทำได้ ก็อาจไม่สามารถทำได้อีกและต้องการผู้ช่วยเหลือดูแลในบางกิจกรรม เช่น  การเดินทาง  การใช้ขนส่งสาธารณะ การใช้โทรศัพท์ การเข้าใช้ห้องสุขา การอาบน้ำ การประกอบอาหาร เป็นต้น และเมื่อเข้าสู่ภาวะพึ่งพิงมากที่สุด คือ ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ ต้องนอนติดเตียง ภาระทั้งหมดก็จะตกมาที่ผู้ดูแล ซึ่งสังคมไทยแต่เดิมมาก็ฝากไว้กับลูกหลาน หรือญาติพี่น้อง แต่สถานการณ์ปัจจุบันคือ ผู้สูงอายุส่วนหนึ่งไม่มีลูก ต้องอยู่ตามลำพัง และถึงแม้จะมีลูก พวกเขาเหล่านั้นก็มีภาระที่มากมายรอบด้าน อาจทั้งในฐานะของพ่อแม่ที่ต้องเลี้ยงดูลูกของตน ตลอดจนภาระในการทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ถ้าผู้สูงอายุต้องเข้าสู่ภาวะพึ่งพิงไม่ว่าจะมากหรือน้อย ใครจะเป็นผู้ดูแล?   สถานบริการดูแลผู้สูงอายุ จำนวนผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลไม่ว่าจะระดับมากหรือระดับน้อย ที่เพิ่มจำนวนสูงขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น ส่งผลให้มีความต้องการการดูแลในสถานบริการเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย แต่ปรากฏว่าภาครัฐยังไม่มีการจัดให้มีบริการที่ตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุกลุ่มนี้อย่างชัดเจน มีเพียงสถานสงเคราะห์คนชรา(บ้านพักคนชรา) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่ออุปการะผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาทุกข์ยากเดือดร้อนไม่มีผู้ดูแลหรือไม่ก็ไร้ที่อยู่อาศัยเท่านั้น ขณะที่สถานบริการดูแลผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ของภาคเอกชน ทั้งที่อยู่ในโรงพยาบาล หรือจดทะเบียนเป็นสถานพยาบาลสำหรับผู้ป่วยสูงอายุ หรือที่เราเรียกว่า เนอร์สซิ่งโฮม (Nursing Home) จะมีราคาค่าใช้จ่ายที่สูง และยังพบปัญหาในเรื่องของมาตรฐานการดูแลผู้สูงอายุที่ยังไม่มีมาตรฐานชัดเจนโดยตรง ตลอดจนอุปกรณ์การดูแลและสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่ไม่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ เช่นเรื่องแสงสว่าง พื้นผิวห้อง ทางลาด จำนวนผู้ดูแลที่ไม่พอต่อจำนวนผู้สูงอายุ เป็นต้น เนื่องจากยังไม่มีบริการการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาวในภาครัฐ  มีแต่การบริการโดยภาคเอกชน   แต่ด้วยการจดทะเบียนของสถานพยาบาลเอกชนของไทยนั้นมีหลายลักษณะมาก ทำให้เราไม่สามารถทราบจำนวนสถานบริการผู้สูงอายุที่แน่ชัดได้ อีกทั้งในการประกอบธุรกิจสถานดูแลผู้สูงอายุ ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนเป็นสถานพยาบาลก็ได้ แค่จดทะเบียนการค้าเท่านั้นก็สามารถดำเนินธุรกิจนี้ได้แล้ว ธุรกิจสถานบริการดูแลผู้สูงอายุ ธุรกิจสถานบริการดูแลผู้สูงอายุ อาจหมายถึง สถานบริการที่ไม่ใช่โรงพยาบาล แต่มีการให้บริการที่พำนัก บริการยาแก่ผู้สูงอายุที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างเป็นประจำ โดยทั่วไปจะครอบคลุม การให้บริการที่พักค้างคืน บริการอาหารการดูแลความสะอาดเสื้อผ้าและที่พัก ตลอดจนความสะอาดของร่างกาย พร้อมทั้งติดตามดูแลสุขภาพเบื้องต้นอย่างใกล้ชิด แต่ไม่ได้ให้การรักษาพยาบาล หากมีความเจ็บป่วยจะบริการนำส่งต่อแผนกคนไข้ของโรงพยาบาลใกล้เคียงเพื่อรับการรักษาพยาบาลต่อไป โดยอาจมีบริการเสริมอื่นๆ ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุได้มีกิจกรรมพิเศษ ที่ช่วยส่งเสริมให้ดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพทั้งร่างกายและจิตใจ แต่ถ้าการให้บริการเน้นการดูแลเพื่อการฟื้นฟูสภาพสำหรับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพาและทุพพลภาพช่วยเหลือตัวเองไม่ได้และต้องการบริการพยาบาลและยาเป็นประจำ จะจัดเป็น “สถานพยาบาล” ตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2547 และเป็นไปตามกฎกระทรวงว่าด้วยการประกอบกิจการสถานพยาบาล พ.ศ. 2545 อย่างไรก็ตามสถานการณ์ปัจจุบัน คือ การให้บริการในธุรกิจนี้จะมีลักษณะของการผสมผสาน  โดยที่ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสถานพยาบาลแม้จะให้บริการในลักษณะของการบริบาลผู้สูงอายุก็ตาม และสถานบริการดูแลผู้สูงอายุหลายแห่งแม้แต่จดทะเบียนการค้าก็ยังไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้อง ประเภทของการให้บริการ การบริการในสถานดูแลผู้สูงอายุในกลุ่มที่ไม่เน้นเรื่องการฟื้นฟูบำบัด ซึ่งผู้รับบริการส่วนใหญ่ไม่มีภาวะพึ่งพิง หรือพึ่งพิงไม่มาก ยังพอสามารถช่วยตัวเองได้ ส่วนใหญ่จะครอบคลุมการบริการหลักและมีการให้บริการเสริมเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายและดึงดูดใจลูกค้า ดังนี้   บริการหลัก บริการเสริม Ø บริการดูแลผู้สูงอายุด้านความเป็นอยู่ทั่วไป Ø บริการที่พักค้างคืน Ø บริการอาหาร 3 มื้อ และอาหารว่าง 2 มื้อ Ø ดูแลทำความสะอาดของร่างกาย Ø ดูแลทำความสะอาดเสื้อผ้า Ø ติดตามดูแลสุขภาพเบื้องต้นแต่ไม่ได้ให้การรักษาพยาบาล หากมีความเจ็บป่วย Ø จะบริการนำส่งต่อแผนกคนไข้ของโรงพยาบาลใกล้เคียง Ø กิจกรรมกายภาพบำบัดเบื้องต้น Ø กิจกรรมสันทนาการต่างๆ และกิจกรรมตามวัฒนธรรมประเพณี Ø บริการรถรับ-ส่งจากบ้าน Ø นำส่งผู้สูงอายุตามแพทย์นัด Ø ทัศนศึกษา Ø บริการด้านจิตใจ เช่น การจัดกิจกรรมทางศาสนา Ø บำบัดในรูปแบบพิเศษต่างๆ เช่น วารีบำบัด Ø บริการด้านความรู้ข่าวสารใหม่และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ Ø การบรรยายจากวิทยากรรับเชิญต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลในการดำเนินชีวิต Ø การบริการประสานงานกับองค์กรอื่นๆ เช่น การให้คำปรึกษาทางกฎหมาย และการฌาปนกิจ   สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงสูง เช่น เป็นผู้ป่วยอัมพาต ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ หรือผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องหรือพักฟื้นจากการเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล ลักษณะการให้บริการของสถานดูแลผู้สูงอายุกลุ่มนี้จะอยู่ในข่าย เนอร์สซิ่งโฮม ซึ่งบริการที่จัดให้ได้แก่ บริการบำบัดทางการแพทย์ เช่น บริการยา การตรวจวัดอุณหภูมิ ความดันโลหิต บริการให้อาหารทางสายยาง ดูดเสมหะ บริการกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูสภาพ การป้องกันแผลกดทับ ฯลฯ แต่ดังที่ได้กล่าวไป ส่วนใหญ่การให้บริการของสถานดูแลผู้สูงอายุในปัจจุบันจะมีลักษณะผสมผสาน จึงจำเป็นต้องเลือกให้เหมาะสมกับความต้องการในการเข้ารับบริการ   ค่าใช้จ่ายไม่ธรรมดา ผู้ที่เลือกใช้บริการในสถานดูแลผู้สูงอายุ ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นลูกหลานของผู้สูงอายุ บางทีผู้สูงอายุก็เป็นผู้เลือกใช้บริการสถานดูแลเหล่านี้ด้วยตนเอง ซึ่งแน่นอนว่าจำเป็นต้องมีความสามารถในการจ่ายพอสมควร ปกติราคาจะขึ้นอยู่กับบริการที่นำเสนอ ค่าบริการมีทั้งแบบรายวันและรายเดือน รวมทั้งเงินค้ำประกันหรือค่าประกันแรกเข้า(ส่วนนี้จะคืนเมื่อบอกเลิกใช้บริการ)   ในลักษณะรายวันค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 800-1000 บาท ส่วนรายเดือนประมาณ 10,000-25,000 บาท ทั้งนี้สถานบริการบางแห่ง ยังมีค่าบริการเสริมอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากค่าบริการปกติ เช่น การเฝ้าไข้เฉพาะบุคคล ค่ายานพาหนะรับส่งโดยกะทันหัน ค่ายาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ซึ่งโดยรวมแล้วอาจสูงถึง 30,000 บาท/เดือน จากการสำรวจหากเป็นสถานบริการดูแลผู้สูงอายุในโรงพยาบาลจะมีค่าใช้จ่ายสูงที่สุด เพราะได้รวมค่าแพทย์และพยาบาลเข้าไว้ด้วย ค่าใช้จ่ายตกอยู่ที่ประมาณเดือนละ 30,000-50,000 บาท และจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการบางท่านให้ความเห็นว่า การเรียกเก็บค่าบริการสูง ส่วนหนึ่งเพื่อป้องกันปัญหาการทิ้งผู้สูงอายุไว้กับสถานดูแล   มาตรฐานควบคุมและการคุ้มครองด้านบริการ กรณีสถานดูแลผู้สูงอายุในส่วนของเอกชน ยังไม่มีมาตรฐานกำกับที่ชัดเจน เว้นแต่ที่จดทะเบียนเป็นสถานพยาบาลสำหรับดูแลผู้สูงอายุ ตามกฎหมายสถานพยาบาล ที่มีกองการประกอบโรคศิลปะเป็นผู้กำกับดูแล นอกจากนี้ต้องบอกว่า ไม่มีองค์กรกำกับดูแลโดยตรง ทั้งในส่วนมาตรฐานการให้บริการ การกำกับดูแลและการขึ้นทะเบียน ดังนั้นหากเกิดปัญหาจากการใช้บริการ คงต้องดำเนินการร้องเรียนในเรื่องสัญญากับทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ถ้าสถานบริการดูแลผู้สูงอายุได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกองการประกอบโรคศิลปะ ก็สามารถร้องเรียนได้โดยตรง หรืออาจฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้โดยใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค   การเลือกสถานบริการดูแลผู้สูงอายุ สถานดูแลผู้สูงอายุที่ดำเนินการโดยภาคเอกชนนั้นมีค่าใช้จ่ายสูง ควรจัดให้เป็นทางเลือกหนึ่ง เพราะในการดูแลผู้สูงอายุ หากเป็นไปได้ การดูแลโดยคนในครอบครัวย่อมดีที่สุด แต่หากบางครั้งมีความจำเป็น เช่น ผู้สูงอายุจำเป็นต้องได้รับการดูแลตลอด 24 ชั่วโมง อาจพิจารณาเลือกจ้างผู้ดูแลพิเศษประจำบ้าน ซึ่งท่านสามารถดูแลต่อได้เมื่อผู้ดูแลกลับไป อีกทั้งผู้สูงอายุก็ได้อยู่ในบ้าน ซึ่งสร้างความอบอุ่นใจได้มากกว่า การเลือกสถานบริการดูแลผู้สูงอายุ ควรพิจารณาเรื่องทำเลที่ตั้ง ซึ่งควรจะใกล้บ้านและสะดวกในการเดินทาง สิ่งแวดล้อมรอบอาคารที่ให้บริการควรมีความสงบไม่พลุกพล่าน ไม่มีมลภาวะที่เป็นพิษ อีกทั้งควรพิจารณาในส่วนของอุปกรณ์เช่น เตียงนอน เครื่องมือแพทย์ การรักษาความสะอาดของสถานที่ ลักษณะทางกายภาพบางอย่างที่อาจไม่เหมาะกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ เช่น บันไดลาดชันเกินไป ประตูแคบไป ห้องน้ำสุขภาพภัณฑ์ต่างๆ   ควรได้รับการออกแบบให้เหมาะกับผู้สูงอายุ  ส่วนเรื่องราคาค่าบริการให้พิจารณาเปรียบเทียบกับการบริการที่จะได้รับ และระมัดระวังเรื่องค่าบริการเสริม ที่ไม่รวมอยู่ในค่าบริการปกติ และที่สำคัญอีกประการคือ ผู้ดูแลผู้สูงอายุ ควรเป็นผู้ที่ผ่านการอบรมเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันมีโรงเรียนสอนหลักสูตรดังกล่าวหลายแห่ง และควรมีจำนวนที่เหมาะสมกับผู้ใช้บริการ เพื่อให้สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึงอย่างมีคุณภาพ   แม้ว่าผู้สูงอายุจะไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่เหมือนในอดีต แต่ก็ถือว่าเป็นกลุ่มคนที่มีส่วนในการพัฒนาประเทศ ดังนั้นควรช่วยกันเรียกร้องและผลักดันให้รัฐได้เข้ามามีส่วนในการดำเนินงาน สถานดูแลผู้สูงอายุระยะยาวที่เป็นของรัฐ หรือหน่วยงานของชุมชน หรือในรูปแบบที่เหมาะสม ได้มาตรฐานและเป็นธรรมโดยถือเป็นสวัสดิการที่รัฐพึงมอบให้กับประชาชนกลุ่มสูงวัยที่ได้มีส่วนร่วมสร้างสังคมมา   ไทยสู่ยุค “คนชราเต็มเมือง” จี้รัฐกันเงินก้อนโตไว้ดูแล หมอแนะผู้สูงวัยตุนเงิน “3 ล้านบาท” ไว้รักษา 2 โรคยอดฮิต! ผู้จัดการออนไลน์ 6 กุมภาพันธ์ 2556 ประเทศไทยใกล้เข้าสู่ภาวะคนชราเต็มเมือง แพทย์ชี้โรคหัวใจ-มะเร็ง ผลาญงบดูแลสุขภาพผู้สูงอายุอ่วม แนะว่าที่ “คนแก่” ต้องเตรียมเงินค่ารักษาตัวโรคละ 1.5 ล้านบาท พร้อมเตรียมใจรับสภาพปัญหาขาดแคลนผู้ดูแลระดับวิกฤต “สิ่งที่รัฐบาลจะต้องรีบทำก็คือการส่งเสริมให้ประชาชนปรับเปลี่ยน วิถีชีวิตไปสู่แนวทางที่จะไม่เป็นโรคอย่างจริงจัง ซึ่งทำได้หลายระดับ ไม่เพียงแต่ให้ความรู้ในรูปแบบของข้อมูลเฉยๆ แต่รวมไปถึงการส่งเสริมทางสังคม เช่น จัดถนนหนทางให้คนขี่จักรยานได้โดยไม่มีรถมาชน เพื่อเป็นการส่งเสริมให้คนออกกำลังกายระหว่างเดินทางไปทำงาน เพราะตอนนี้โอกาสที่คนไทยจะได้ออกกำลังกายแทบจะเหลืออยู่อย่างเดียวคือ การเดินทางไปทำงาน” นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ แพทย์หัวหน้าศูนย์ตรวจสุขภาพ โรงพยาบาลพญาไท 2 แสดงทัศนะต่อบทบาทเชิงรุกที่รัฐบาลควรทำในการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของ ประเทศไทย ซึ่งเริ่มต้นมาระยะหนึ่งแล้ว โดยข้อมูลของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัยแล้ว   อีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะกลายเป็น “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” เมื่อมีสัดส่วนประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปเพิ่มสูงถึงร้อยละ 14 และต่อจากนั้นอีกไม่เกิน 10 ปี ไทยจะเป็น “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” ในปี พ.ศ. 2575 เมื่อประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 ประชากร 1 ใน 5 จะมีอายุสูงกว่า 65 ปี และประชากรครึ่งหนึ่งในประเทศไทยจะมีอายุสูงกว่า 43 ปี! อาจจะช้าเกินไปด้วยซ้ำที่ประเทศไทยเพิ่งมาตั้งคำถามกันว่า จะเกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้างเมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคผู้สูงวัยเต็มอัตรา ? นพ.สันต์กล่าวต่อว่า ทุกวันนี้แม้แต่ชาวไร่ชาวนาก็ไม่ได้ออกแรง ส่งผลให้ชาวไร่ชาวนามีอัตราการเป็นโรคกระดูกพรุน ซึ่งเป็นโรคของคนไม่ออกแรง สูงพอๆ กับคนที่อยู่ในเมือง เพราะชาวไร่ชาวนาในปัจจุบันกลายเป็นผู้จัดการท้องนาที่ไม่ต้องออกแรงเหมือนเดิม กิจกรรมการเกี่ยวข้าวไถนาล้วนแต่เป็นหน้าที่ของรถเกี่ยวรถไถที่ถูกจ้างมาแทน ที่แรงคน “ทำอย่างไรจะให้คนได้เดินทางไปทำงานพร้อมกับออกกำลังกายไปในตัว เป็นเรื่องที่ต้องทำในระดับรัฐบาล โดยอาจจะตั้งต้นด้วยเมืองเล็กๆ นำร่องขึ้นมาสักเมือง กำหนดถนนสำหรับคนเดินและขี่จักรยานโดยเฉพาะ แล้วค่อยๆ ขยายออกไป ในที่สุดคนก็จะได้ออกกำลังกาย เพราะอย่างไรเขาก็ต้องเดินทางไปทำงานอยู่แล้ว ทุกวันนี้บางคนเขาก็อยากเดินหรือขี่จักรยานไปทำงาน แต่ทำไม่ได้ เพราะกลัวถูกรถชน” ดังนั้นรัฐต้องส่งเสริมให้คนเริ่มรักษาสุขภาพตนเองตั้งแต่วันนี้ เพราะเมื่ออายุมากขึ้นคนจะเสี่ยงต่อ 3 กลุ่มโรควัยชราต่อไปนี้ 1. กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคกลุ่มหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง โรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง จากข้อมูลปัจจุบันคนไทยราว 55% มีปัจจัยเสี่ยงของโรคเหล่านี้ ทำให้คนไทยเกินครึ่งเสียชีวิตจากโรคกลุ่มนี้ 2. โรคสมองเสื่อม ซึ่งมากับคนอายุยืน 3. โรคซึมเศร้า ซึ่งตามมากับภาวะสมองเสื่อมและโรคเรื้อรัง และนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า “3 โรคนี้จะเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตของประเทศไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมคนชรา โดยเฉพาะ 2 โรคที่ค่ารักษาพยาบาลแพงกว่าเพื่อนคือ โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง เพราะทางการแพทย์ยังไม่รู้วิธีรักษา จึงต้องรักษาที่ปลายเหตุ ส่งผลให้เป็นกลุ่มโรคที่กินเงินมากที่สุด โดยสังเกตได้จากการลงทุนของโรงพยาบาลภาคเอกชนที่จะเน้นลงทุนในกลุ่มนี้ เพราะสามารถเก็บเงินได้มาก” นพ.สันต์บอกอีกว่า ต้นทุนค่ารักษาพยาบาล 2 โรคแพงในโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลรัฐไม่ต่างกันมากนัก ซึ่งค่ารักษาพยาบาลขั้นต้นของโรคมะเร็งในโรงพยาบาลเอกชนจะตกอยู่ที่ประมาณ 600,000 บาท ไม่นับรวมต้นทุนการดูแลเมื่อคนไข้ทุพพลภาพหรือเป็นผู้ป่วยเรื้อรังระยะสุด ท้าย ซึ่งในทางการแพทย์อาจจะหยุดให้การรักษา เมื่อถึงจุดที่รักษาแล้วคุณภาพชีวิตไม่ดีขึ้น ขณะที่ต้นทุนการรักษาโรคหัวใจ เฉพาะค่ารักษาขั้นต้นในโรงพยาบาลเอกชน จะมี 2 ชนิด คือ ชนิดที่จบลงโดยไม่ต้องผ่าตัด ค่ารักษาอยู่ที่ประมาณ 400,000 บาท และชนิดที่ต้องจบลงด้วยการผ่าตัดมีค่ารักษาประมาณ 800,000 บาท “นี่เป็นค่ารักษาขั้นต้นที่ยังไม่ได้นับรวมความยืดเยื้อเรื้อรังและ ค่าเสียโอกาสที่ทำงานไม่ได้ ดังนั้น ถัวเฉลี่ยแล้วโรค 2 กลุ่มนี้จะมีต้นทุนการรักษาขั้นต้น 6-8 แสนบาทต่อคนต่อโรคโดยประมาณ ไม่นับรวมภาวะทุพพลภาพที่เกี่ยวเนื่องจากโรค และการรักษาในฐานะผู้ป่วยที่สิ้นหวังระยะสุดท้าย ซึ่งการรักษาลุกลามจนเสียชีวิตก็ไม่น่าจะถูกกว่าการรักษาขั้นต้น โดยอาจจะมีค่าใช้จ่ายที่พอๆ กัน หรือมากกว่า ดังนั้นโดยประมาณแล้วจะต้องใช้เงินต่อโรค 1,500,000 บาทต่อการดูแลผู้ป่วย 1 คน” ในขณะที่โรคสมองเสื่อมกับโรคซึมเศร้า มีต้นทุนการรักษาไม่แพง แต่ต้นทุนที่แพงไม่แพ้กันคือต้นทุนในแง่ของคุณภาพชีวิต เพราะคนที่เป็น 2 โรคนี้ชีวิตจะไม่มีคุณภาพ ยิ่งไปกว่านั้นคือจะไปมีต้นทุนที่ผู้ดูแล ซึ่งโครงสร้างสังคมไทยในช่วง 10 ปีต่อจากนี้ยังมีผู้ดูแลเป็นคนในครอบครัวอยู่ แต่หลังจาก 10 ปีข้างหน้าไปแล้ว ยังไม่มีหลักฐานว่าใครจะเป็นผู้ดูแลคนชราเป็นที่คาดการณ์ว่าผู้ที่จะต้องทำหน้าที่ดูแลคงจะเป็นภาระของสังคม นั่นหมายความว่ารัฐอาจจะต้องจัดตั้ง Nursing Home ขึ้นมาดูแลคนสูงอายุที่ไม่มีใครเอา เพราะลูกไม่พอเลี้ยงดู จากขนาดครอบครัวที่เล็กลง และผู้สูงอายุส่วนหนึ่งไม่มีลูกหลาน เพราะฉะนั้นถึงจุดหนึ่งโรคในกลุ่มโรคชราเรื้อรังจะต้องตกเป็นภาระของสังคม โดยเริ่มต้นตั้งแต่เดี๋ยวนี้เป็นต้นไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 103 ที่ไหนคุณไปได้ คนพิการ(ควรจะ)ไปได้ด้วย

ที่ไหนคุณไปได้ คนพิการ(ควรจะ)ไปได้ด้วย           เปรียบเทียบการใช้ระบบขนส่งมวลชน สำหรับคนพิการ รถเมล์โอกาสที่ผู้พิการที่ใช้รถวีลแชร์จะได้ใช้บริการรถเมล์เป็นไปได้น้อยมาก เพราะรถเมล์บ้านเราไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เอื้อต่อการนำรถวีลแชร์เข้าไป และก็อย่างที่รู้กันว่าขนาดคนปกติยังเจอปัญหามากมายกับการใช้บริการรถเมล์ ดูแล้วจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างอันตรายที่ผู้พิการที่ใช้วีลแชร์จะเลือกใช้บริการรถเมล์คะแนนความน่าใช้ 0ความเป็นไปได้ในการใช้ 0ความปลอดภัย 0 รถไฟฟ้ารถไฟฟ้าเหมือนจะเป็นความหวังให้ผู้พิการที่ใช้วีลแชร์ แต่กลับกลายเป็นสร้างปัญหาซะมากกว่า เพราะ 25 สถานีของรถไฟฟ้าตอนนี้มีลิฟต์ให้ใช้แค่ 7 สถานี ซึ่งไม่สะดวกสำหรับผู้ใช้วีลแชร์ แถมบริเวณชานชาลาที่จะขึ้นไปในตัวรถไฟฟ้าก็มีช่องว่างที่กว้างเกินกว่าล้อรถวีลแชร์จะข้ามผ่านได้ จะเข้าไปในรถทีก็ต้องมีคนช่วยยกเข้าไป แถมเมื่อเข้าไปในรถแล้วก็ไม่มีตัวที่ช่วยล็อครถให้อยู่กลับที่ ซึ่งแบบนี้ถือว่าไม่ปลอดภัยคะแนนความน่าใช้ ความเป็นไปได้ในการใช้ ความปลอดภัย รถไฟฟ้าใต้ดินถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ใช้วีลแชร์ เพราะรถไฟฟ้าใต้ดินมีลิฟต์ไว้ให้บริการทุกสถานี และมีห้องน้ำผู้พิการในสถานีด้วย แต่ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่มาเปิดให้ถ้าอยากจะใช้บริการ ซึ่งก็อาจต้องเสียเวลารอบ้างนิดหน่อย อีกอย่างที่เป็นข้อดีของรถไฟฟ้าใต้ดินคือ ผู้พิการที่มีสมุดประจำตัวผู้พิการสามารถใช้รถไฟฟ้าใต้ดินได้ฟรี แต่ข้อจำกัดของรถไฟฟ้าใต้ดินก็คือเส้นทางการเดินทางยังไม่ทั่วถึงคะแนนความน่าใช้ ความเป็นไปได้ในการใช้ ความปลอดภัย รถแท็กซี่น่าจะเป็นทางเลือกที่ผู้พิการที่นั่งรถวีลแชร์ใช้มากที่สุด แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะการใช้บริการแท็กซี่ของผู้ใช้วีลแชร์ก็มีอุปสรรคหลายอย่าง ทั้งเรื่องราคาที่ค่อนข้างแพง แท็กซี่บางคันก็ปฏิเสธที่จะรับผู้พิการที่ใช้วีลแชร์ เพราะกลัวว่าจะต้องอุ้มผู้พิการขึ้นรถ ซึ่งจริงๆ แล้วผู้พิการสามารถพยุงตัวขึ้นรถเองได้ แต่บางครั้งก็อาจต้องการคนช่วยพับรถวีลแชร์เก็บให้ คะแนนความน่าใช้ ความเป็นไปได้ในการใช้ ความปลอดภัย รถตู้โดยสารเดี๋ยวนี้เราจะเห็นรถตู้โดยสารสาธารณะมีให้บริการเยอะแยะไปหมด ซึ่งช่วยเรื่องความสะดวกและประหยัดเวลา แม้ราคาจะแพงแต่ก็มีคนนิยมใช้กันเยอะ สำหรับผู้พิการที่ใช้วีลแชร์ก็มีสิทธิที่จะใช้เจ้ารถตู้พวกนี้เหมือนกันแต่อาจจะค่อนข้างลำบากสักหน่อย เพราะต้องมีคนช่วยอุ้มขึ้นรถ แถมรถตู้ส่วนมากไม่ค่อยรับผู้ที่ใช้วีลแชร์เพราะกลัวต้องเสียพื้นที่สำหรับเก็บรถวีลแชร์คะแนนความน่าใช้ ความเป็นไปได้ในการใช้ ความปลอดภัย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 103 ทางสำหรับคนพิการ สังคมไทยพร้อมแค่ไหน

“ความพิการ อาจบั่นทอนบางสิ่งบางอย่างในร่างกายของเราไป แต่ความพิการ ไม่อาจลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการใช้ชีวิตที่เราเคยมี”ความพิการ เกิดขึ้นกับคนเราได้หลายสาเหตุ ทั้งพิการมาตั้งแต่กำเนิด พิการเพราะความแก่ชรา พิการด้วยโรคภัยไข้เจ็บ และพิการเนื่องจากได้รับอุบัติเหตุ ซึ่งแน่นอนว่าการยอมรับในความพิการของตัวเองไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่ไม่ได้พิการมาตั้งแต่กำเนิด เพราะการจะทำใจยอมรับพร้อมกับปรับตัวให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ในขณะที่สภาวะร่างกายมีบางอย่างที่สูญเสียไปไม่ใช่เรื่องง่าย กำลังใจจากทั้งของตัวเองและคนรอบข้างคือแรงกระตุ้นสำคัญ ที่จะทำให้ผู้พิการกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติอีกครั้งเมื่อผู้พิการมีกำลังใจพร้อมที่จะกลับมาใช้ชีวิตในสังคม ทีนี้ก็เป็นหน้าที่ของสังคมว่ามีความพร้อมเพื่อผู้พิการแล้วหรือยัง?   เมื่อสังคมไม่พร้อม คนพิการก็ไม่กล้าฝันประสิทธิภาพในการดำเนินชีวิตเช่นคนปกติอาจถูกลดทอนลงไปเพราะความพิการ แต่ผู้พิการก็ยังต้องใช้ชีวิตประจำวันไม่ต่างจากคนปกติทั่วๆ ไป คนพิการยังคงต้องทำงาน ต้องตื่นแต่เช้าไปเจอรถติด ต้องไปซื้อของที่ตลาด ไปกินข้าว ไปเที่ยวกับเพื่อนกับครอบครัว หรือแม้แต่ไปดูหนัง ฟังเพลง ซึ่งกิจกรรมที่ว่ามาอาจเป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนทั่วไป เพราะจะไปไหนมาไหนก็มีทางให้เลือกมากมาย สะดวกบ้างไม่สะดวกก็ว่ากันไป แต่สำหรับคนพิการ การจะเดินทางไปไหนที มองหาตัวเลือกยากจริงๆ ยิ่งเป็นผู้พิการที่ใช้เก้าอี้รถเข็นหรือรถวีลแชร์ยิ่งมีปัญหาเวลาเดินทาง เพราะระบบขนส่งมวลชนบ้านเราไม่เอื้อต่อผู้พิการ ความจริงในบ้านเรามีข้อกำหนดหลายข้อ ที่มีเนื้อหาพูดถึงการดูแลและให้ความสำคัญกับผู้พิการ ไม่ว่าจะเป็น พรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 2550, พรบ.ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 และกฎกระทรวงเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพและคนชรา พ.ศ. 2548 ใจความสำคัญของข้อกำหนดเหล่านี้ต้องการบอกให้ทราบว่าคนพิการมีสิทธิในการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกจากสาธารณประโยชน์ต่างๆ ที่ทางภาครัฐมีหน้าที่จัดหามาให้ เช่นเดียวกันกับที่คนปกติได้รับ แต่เมื่อมองกลับมาในความเป็นจริง จะเห็นว่าผู้พิการยังคงถูกจำกัดสิทธิในหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องพื้นฐาน อย่างเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทาง ทั้งในส่วนของทางเท้า และระบบขนส่งมวลชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในการช่วยให้ผู้พิการสามารถออกมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติและอิสระ Universal Design – การออกแบบที่เป็นประโยชน์กับทุกคนในสังคมUniversal Design ไม่ได้เป็นแค่คำภาษาอังกฤษเท่ๆ แต่ว่าเป็นคำที่มีความหมาย ใช้ในการอธิบายแนวคิดการออกแบบทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม สถานที่ และสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เพื่อให้ทุกคนในสังคมใช้ประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่ให้ความแตกต่างของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ อายุ และรวมถึงความทุพพลภาพทางร่างกายมาเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงและใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ Universal Design จึงเป็นหลักการการออกแบบที่เอื้อต่อผู้พิการ ผู้สูงอายุ และยังรวมไปถึงกลุ่มผู้ป่วย เด็ก และผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ เพราะ Universal Design เป็นการออกแบบอาคารสถานที่ที่เน้น ให้ทุกอย่างสามารถใช้สอยได้โดยคนทุกกลุ่ม ใช้ง่าย มีความเสมอภาค ปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ ปลอดภัย พร้อมทั้งทุ่นแรงขณะใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ทางเดิน ประตูทางเข้า บันได้ขึ้นลง รวมไปถึงห้องน้ำ สิ่งที่ควรมีไว้ให้ผู้พิการป้าย – เป็นเครื่องมือพื้นฐานที่ช่วยให้ให้ผู้พิการไปไหนมาไหนหรือทำอะไรได้ด้วยตัวเอง ซึ่งจะต้องตั้งให้อยู่ในจุดที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน ทางลาด – มีประโยชน์และสำคัญอย่างมาก สำหรับทั้งผู้ที่ใช้วีลแชร์ ซึ่งเพื่อความปลอดภัย ควรมีความลาดอยู่ที่ 30 องศา (*กฎกระทรวงกำหนดไว้ไม่เกิน 45 องศา) ที่จอดรถ – ควรมีสัญลักษณ์แสดงให้ชัดเจนว่าเป็นที่จอดรถสำหรับคนพิการ และมีความกว้างพอสมควร ห้องน้ำ – พื้นภายนอกกับพื้นในห้องน้ำต้องมีระดับเท่ากัน หรือต่างระดับก็ต้องเป็นทางลาด ที่สำคัญประตูต้องเป็นบานเลื่อน ความกว้างต้องไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร และต้องติดปุ่มสัญญาณฉุกเฉินไว้ด้วย ประตู – ควรเป็นแบบเลื่อนเพราะใช้แรงน้อยกว่าประตูที่เป็นแบบผลัก ยิ่งที่เป็นระบบเซ็นเซอร์เปิด-ปิดอัตโนมัติก็จะยิ่งดีมาก ความกว้างของประตูควรไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร พื้นผิวต่างระดับ – มีประโยชน์สำหรับผู้พิการทางการมองเห็น ซึ่งควรให้มีพื้นผิวต่างสัมผัสไว้ตาม ทางขึ้น-ลงบันไดและทางลาด ด้านหน้า-หลังประตู และที่หน้าประตูห้องน้ำ ปัจจุบันสถานที่ต่างๆ พร้อมแค่ไหนสำหรับคนพิการสถานที่ราชการถ้าเป็นเมื่อก่อน สถานที่ราชการมักจะถูกสร้างเป็นอาคารสูงๆ เพราะอาจจะต้องการให้ดูโดดเด่นเป็นสง่า ซึ่งแน่นอนไม่มีทางลาดให้ใช้ แต่สมัยนี้สถานที่ราชการหลายๆ ที่ก็เริ่มมีการปรับปรุง และออกแบบให้เอื้อกับคนพิการมากขึ้น ซึ่งคนพิการก็ต้องการติดต่อเรื่องทางราชการไม่ต่างจากคนปกติ สถานศึกษาถ้าหากภาครัฐหรือคนที่มีอำนาจในการปรับปรุงสถานที่เพื่อคนพิการ อยากจะลงมือปรับปรุงสถานที่สักแห่ง เราขอแนะนำให้เริ่มที่สถานศึกษา สถานศึกษาในที่นี้หมายถึงสถานศึกษาทั่วๆ ไป ไม่ใช่ที่มีไว้ให้เฉพาะคนพิการ เพราะถ้ามีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการในสถานศึกษาทั่วไป นอกจากคนพิการจะได้มีโอกาสทางการศึกษาแล้ว พวกยังได้มีสิทธิได้ใช้ชีวิตในสังคมร่วมกับคนปกติ วัดกิจกรรมทางศาสนาส่วนใหญ่มักจะจัดกันในโบสถ์หรือไม่ก็บนศาลาวัด ซึ่งล้วนแล้วแต่ออกแบบให้เป็นอาคารสูง ซึ่งแน่นอนว่าเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งสำหรับผู้พิการที่อยากเข้าไปร่วมฟังเทศน์ฟังธรรม หากไม่ขอแรงให้คนอื่นช่วยพาขึ้นไป ก็ต้องยอมนั่งฟังเทศน์อยู่ข้างล่าง แถมบางครั้งผู้พิการยังถูกมองว่าความพิการเป็นเรื่องของบุญบาป ผู้พิการเลยมักถูกดูแคลนเวลาที่อยู่ในวัด ซึ่งความจริงการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อคนพิการในวัด นอกผู้พิการจะได้ใช้แล้ว บรรดาคนเฒ่าคนแก่ก็ได้ใช้ประโยชน์ตรงนี้ด้วย ตลาดบริเวณพื้นตามตลาดสดส่วนมากจะค่อนข้างเฉอะแฉะ ซึ่งเป็นอุปสรรคมากๆ สำหรับผู้พิการที่ใช้วีลแชร์ แถมในตลาดจะมีร่องน้ำอยู่ตามทางเดิน ถ้าหากรถวีลแชร์พลาดตกลงไปก็อาจเกิดอันตราย เรื่องความกว้างก็เป็นอีกปัญหาสำคัญที่สร้างความลำบากให้ผู้ที่ใช้วีลแชร์ เพราะตามตลาดส่วนมากผู้คนจะพลุกพล่าน ยิ่งตลาดดังๆ ถึงขนาดต้องเดินเบียดเสียดกันเลยทีเดียว ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ผู้พิการที่ใช้วีลแชร์ก็แทบจะหมดสิทธิ ธนาคารธนาคารส่วนใหญ่มักสร้างให้ดูยิ่งใหญ่อลังการ และชอบสร้างให้เป็นอาคารแบบยกสูง โดยทำชั้นล่างเป็นที่จอดรถ ซึ่งก็ต้องเดินขึ้นบันไดหลายขั้นกว่าจะถึงตัวธนาคาร แล้วแบบนี้ผู้พิการที่ใช้วีลแชร์จะมีโอกาสใช้ได้ยังไง แม้ธนาคารส่วนใหญ่จะได้คำชมเรื่องการบริการ พนักงานส่วนมากยินดีมาช่วยพาผู้พิการขึ้นไป แต่ผู้พิการก็อยากที่จะทำอะไรได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็มีธนาคารในห้างมาเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ก็อาจพอช่วยผู้พิการที่ใช้วีลแชร์ได้บ้างแต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด โรงภาพยนตร์ผู้พิการเสียค่าตั๋วชมภาพยนตร์เท่ากับคนปกติ แต่แทบไม่มีโอกาสได้เลือกที่นั่งในมุมที่อยากนั่ง เพราะเวลาผู้พิการวีลแชร์ไปดูหนังก็มักถูกจัดให้ไปนั่งอยู่ตรงที่ว่างริมสุดของแถว หรือไม่ก็ที่ว่างตรงกลางโรงภาพยนตร์ แถมในโรงหนังก็แทบไม่มีทางลาดไว้ให้ใช้ ขอขอบคุณ ผู้ให้ข้อมูล …รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ หน่วยวิจัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุและผู้พิการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 8 ปี กับชีวิตบนวีลแชร์ ที่ไม่มีคำว่ายอมแพ้ขวัญฤทัย สว่างศรีเจ้าหน้าที่องค์การคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค เมื่อต้องต่อสู้กับความพิการตอนที่ตัวเองประสบอุบัติเหตุใหม่ๆ ตอนนั้นเรียนอยู่ปี 4 ก็ทำใจไม่ได้ เพราะตอนนั้นทำอะไรก็ไม่ได้ กินข้าวเองก็ไม่ได้ จะเข้าห้องน้ำก็ทำไม่ได้ ได้แต่นอนอยู่เฉยๆ รู้สึกอายด้วยเพราะจะเจอแต่คำถามหรือคำพูดที่บั่นทอนจิตใจจากคนรอบข้าง จนเมื่อเรารู้สึกว่าไม่ได้แล้วนะ อยู่อย่างนี้ก็มีแต่รู้สึกแย่ รู้สึกหดหู่ ก็เลยตัดสินใจลองออกมาใช้ชีวิตคนเดียว แล้วก็โชคดีมาได้ทำงานที่องค์การคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค ก็ค่อยๆ เริ่มที่จะเรียนรู้การใช้ชีวิต แรกๆ เราจะไม่กล้าทำอะไรเลย ต้องรอให้คนอื่นมาช่วย เพราะเรายังมองไม่เห็นว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง จนเมื่อเราได้ลองกลับมาใช้ชีวิตอีกครั้งเราก็เริ่มเห็นว่า ถึงเราเป็นแบบนี้ก็ยังทำอะไรได้อีกหลายอย่าง ความพิการเหมือนตายแล้วเกิดใหม่ เราอาจต้องเริ่มต้นเรียนรู้อะไรใหม่หลายๆ อย่าง แต่อันดับแรกคือเราต้องไม่ยอมแพ้ให้กับความพิการ ชีวิตผู้พิการในสังคมไทยความพิการมีหลายประเภท คือพิการตั้งแต่กำเนิด กับพิการในภายหลัง ซึ่งผู้พิการภายหลังการยอมรับการปรับตัวเป็นเรื่องยาก แต่พอเริ่มยอมรับได้ในระดับหนึ่งก็คิดอยากกลับมาใช้ชีวิตในสังคม แต่ก็กับต้องมาท้ออีก เพราะสังคมกลับพิการยิ่งกว่า สิ่งที่เอื้อกับผู้พิการในสังคมหาได้ยากมาก ใจพร้อมแต่สังคมไม่พร้อม ไม่ว่าจะเป็นบันได ทางลาด ห้องน้ำ ไม่มี ซึ่งเราก็ต้องมาสู้มาทำให้เขาเห็นว่าเรามีตัวตน คนพิการพอมองเห็นสังคมเป็นอย่างนี้แล้วอาจจะท้อ แต่เราท้อไม่ได้ เพราะถ้าเราไม่ออกมาในสังคม สังคมก็จะไม่มีทางรู้ว่าเราต้องการอะไร สิ่งที่อยากเห็นในสังคมอยากให้มองถึงเรื่องการศึกษา ถ้าเราได้รับโอกาสในการศึกษา ก็ช่วยทำให้เรามีอาชีพ มีเงิน มาเลี้ยงดูตัวเองได้ พอเขามีเงินพอเขาก็อาจจะนำไปปรับปรุงทำทางลาดหรือทำห้องน้ำสำหรับคนพิการไว้ใช้เองที่บ้าน การศึกษาเป็นประตูไปสู่ชีวิต ซึ่งคนพิการสามารถเรียนอยู่ในโรงเรียนเดียวกับคนปกติได้ ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือ เพราะผู้พิการก็คือคนๆ หนึ่งที่อยู่ในสังคม ต้องการใช้ชีวิตไม่ต่างจากคนปกติทั่วไป ฝากถึงผู้พิการคนอื่นๆเราต้องพยายามออกมาในสังคมมากขึ้น เพื่อให้คนทั่วไปได้ทราบว่าคนพิการมีอยู่ในสังคม เราต้องการมีส่วนร่วมในสังคม ให้เขาเห็นว่าเราทำอะไร อย่างสถานที่ต่างๆ ที่เขาไม่ได้ทำสิ่งที่ควรมีให้คนพิการ เช่น ทางลาดตามสถานที่ราชการ หรือลิฟต์ในสถานีรถฟ้า เพราะเขาอาจจะมองว่าคนพิการที่ไหนจะมาใช้ เขาเลยไม่ยอมสร้างให้เรา เพราะฉะนั้นเราก็ควรต้องออกมาใช้ชีวิตในสังคม ให้เขาเห็นว่าเราต้องการตรงนี้นะ คุณควรจะมีทางลาดไว้นะ ประตูควรเป็นแบบเลื่อนนะ ห้องน้ำคนพิการต้องกว้างนะ ให้เขาเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อสังคม สร้างมาแล้วได้ใช้งาน คือถ้าเรารออย่างเดียวไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหนสิ่งเหล่านี้จะเกิด แต่ถ้าออกมาใช้ชีวิต ให้สังคมได้มองเห็นเรา แล้วหันมาให้ความสำคัญกับเรามากขึ้น เชื่อว่าสิ่งจำเป็นต่างๆ สำหรับคนพิการน่าจะเกิดขึ้นได้ อนาคตข้างหน้า (อาจจะ) มีให้ใช้-ลิฟท์ที่รถไฟฟ้า BTS ทุกสถานี ภายในปี 2554-สัญญาณไฟพูดได้ เพื่อช่วยผู้พิการทางสายตาเวลาข้ามถนน-ปรับปรุงทางเท้าใน กทม. โดยคำนึงถึงความสะดวกของผู้พิการเป็นหลัก-หากรถเมล์ NGV 4000 คันได้มีโอกาสมาวิ่งในบ้านเรา คนพิการก็มีสิทธิได้ใช้เจ้ารถเมล์พวกนี้ เพราะองค์กรคนพิการเรียกร้องให้รถเมล์ที่จะนำเข้ามาต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการด้วย เช่น พื้นชานต่ำ ราวจับ ที่ล็อคล้อรถวีลแชร์ โดยต้องมีอยู่ในรถเมล์ทุกสาย ครอบคลุมทุกเส้นทาง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point