ฉบับที่ 126 ดีใจจัง…คนข้างหลังก็บ้านเฮา

  “เมือง” เป็นคำที่มีความหมายหลายด้านด้วยกัน บ้างก็ว่าเมืองเป็นดินแดนแห่งความทันสมัยและความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ บ้างก็ว่าเมืองเป็นศูนย์รวมแห่งอารยธรรมอันล้ำยุคล้ำสมัย บ้างก็ว่าเมืองเป็นสถานที่แหล่งทำกินของคนจำนวนมากมายมหาศาล   แต่ที่แน่ๆ คำตอบอีกหนึ่งข้อของความเป็น “เมือง” ก็คือ พื้นที่ที่เต็มไปด้วยสภาวะแปลกแยกและสายสัมพันธ์อันเปราะบาง   กล่าวกันว่า นับแต่ปลายศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ผลพวงหลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป ทำให้เกิดเมืองใหญ่ๆ ขยายตัวออกไปอย่างมากมาย และเมื่อเมืองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ขยายตัว เมืองเหล่านั้นก็ต้องการแรงงานปริมาณมหาศาล ที่จะมาเป็นปัจจัยการผลิตทางเศรษฐกิจในทุกๆ ด้าน   ด้วยเหตุดังกล่าว เมืองต่างๆ จึงจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานจากต่างถิ่น โดยเฉพาะจากชนบท เพื่อเข้ามาหมุนฟันเฟืองการผลิตในสังคมเมือง อันเป็นที่มาของการอพยพย้ายถิ่นของผู้คนจากชายขอบ เข้าสู่ศูนย์กลางของเมืองใหญ่ จนทำให้เมืองยิ่งโตวันโตคืน แต่ชนบทก็ยิ่งโทรมลงๆ   ปรากฏการณ์เดียวกันนี้ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากกรณีของสังคมไทยเท่าใดนัก ภายหลังจากที่เมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพมหานครและอีกหลายๆ มุมเมืองขยายตัวขึ้นมา ชุมชนเมืองใหม่เหล่านี้ก็กลายเป็นแหล่งรองรับการอพยพของแรงงานพลัดถิ่น ที่ละทิ้งภาคชนบทเพื่อเข้ามาแสวงหาความเจริญก้าวหน้าในส่วนกลาง ริ้วรอยเช่นนี้ปรากฏอยู่ในโฆษณาโทรทัศน์ ที่โปรโมทขายเครือข่ายโทรศัพท์มือถือยี่ห้อหนึ่ง กับพรีเซ็นเตอร์ดาราหนุ่มที่เปิดตัวมาในฐานะลูกอีสานบ้านเฮาอย่าง คุณณเดชน์ คูกิมิยะ ฉากเริ่มต้นของโฆษณาเปิดด้วยเสียงดนตรีคลอเบาๆ ให้ความรู้สึกอ้างว้างเปล่าเปลี่ยว และมีเสียงลอยๆ ของคุณณเดชน์พูดขึ้นว่า “พวกเรามาตามหาความฝันในเมืองใหญ่ ฝันว่าลูกอีสานคนหนึ่งกำลังเติบโตขึ้น ฝันว่าจะทำให้ชีวิตคนในครอบครัวเราดีขึ้น ฝันที่เราจะได้เป็นในสิ่งที่ฝัน ฝันที่จะทำให้ฝันของใครอีกคนเป็นจริง...” ภาพที่ตัดขนานมากับเสียงคลอนั้นก็คือ ภาพมุมกว้างของเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร เป็นฉากรถยนต์ที่ติดโยงยาวกันเป็นแพ สลับกับรถยนต์อีกจำนวนหนึ่งที่แล่นผ่านไปมา มีผู้คนเดินขวักไขว่กันอยู่เต็มท้องถนน แต่ก็ดูเหมือนว่า จะเป็นท้องถนนที่ไม่มีใครสนใจใคร   จากนั้นก็มีภาพของคุณณเดชน์พระเอกหนุ่มเดินอยู่ท่ามกลางฝูงชนที่มากมาย แต่ก็ดูแปลกแยกขาดสายสัมพันธ์กับสัญจรชนคนอื่นๆ   ตัดสลับกับภาพของแม่ค้าส้มตำที่กำลังเว้าภาษาอีสานคุยโทรศัพท์อยู่ที่แผงส้มตำที่มีป้ายเขียนติดกระจกว่า “คิดฮอดบ้านเฮา” ภาพของโชเฟอร์แท็กซี่ที่เหม่อมองดูรูปถ่ายของเมียและลูกที่ติดไว้หน้ากระจกรถ มองเห็นกระจกหลังเป็นผู้โดยสารชายอีกคนที่คุยโทรศัพท์เว้าโลดด้วยภาษาถิ่นอีสานอีกเช่นกัน  คุณณเดชน์เดินทางมาพบกับคุณหมออีกคนหนึ่ง ซึ่งก็โทรศัพท์คุยภาษาถิ่นอีสานกับบิดาที่ต่างจังหวัด  ด้านนอกนั้น ผู้คนถ้าไม่ง่วนกับการคุยโทรศัพท์ ก็ยังคงเดินขวักไขว่กันเต็มตั้งแต่ท้องถนนถึงบนสะพานลอย ข้างทางมีทีวีจอยักษ์เป็นภาพ “นักล่าฝัน” ที่เข้ามาประกวดร้องเพลงใน กทม.  คุณณเดชน์แวะมาพักกินข้าวเที่ยงในร้านอาหารญี่ปุ่น แววตาของเขาดูฉงนสนเท่ห์ เขาจับตะเกียบคีบก้อนซูชิเอาไว้ในมือ ขณะที่เหม่อมองดูพ่อครัวกำลังคุยโทรศัพท์อย่างออกรสชาติเป็นภาษาอีสานด้วยเช่นกัน  ภาพตัดกลับมาที่รถไฟฟ้าบีทีเอสแล่นผ่านไป มีหนุ่มวินมอเตอร์ไซค์ยืนเปลี่ยวเหงาอยู่ใต้สถานีรถไฟฟ้า คนบางคนเหม่อลอยมองออกไปนอกสะพาน ขณะที่คุณณเดชน์ก็คงเดินต่อไปท่ามกลางชีวิตคนกรุงที่แสนจะเปลี่ยวเปล่าและแปลกแยกยิ่งนัก ก่อนที่จะมีคำพูดความในใจของคุณณเดชน์ที่กล่าวต่อไปว่า “พวกเราต้องไกลบ้าน ไกลพ่อแม่พี่น้อง แต่มีบางสิ่งที่ทำให้พวกเราไม่เคยไกลกัน...” และทันใดนั้น เสียงโทรศัพท์มือถือก็ดังขึ้น ปลายสายเป็นภาพเพื่อนชาวอีสานตะโกนมาทักทายคุณณเดชน์ด้วยสำเนียงเสียงภาษาถิ่นแบบคิดฮอดม่วนชื่น  ปิดท้ายโฆษณา คุณณเดชน์ก็เลยหยุดอยู่กลางท้องถนนที่แปลกแยก และยืนเซิ้งตามจังหวะหมอลำเสียงแคนที่ลอยมาจากแอ่งอารยธรรมอีสานบ้านเฮา ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ที่แม้หมู่เฮาจะอยู่ไกลกัน แต่ก็ช่วยขยับให้ทุกชีวิตในทุกภูมิภาคได้มาอยู่ใกล้ชิดกัน  นักทฤษฎีสังคมวิทยาบางกลุ่มเคยอธิบายไว้ว่า ไม่มีสังคมใดที่ผู้คนจะแปลกแยกระหว่างกันและกันมากเท่ากับสังคมแห่งความเป็น “เมือง” ยิ่งหากเป็น “เมืองหลวง” หรือที่ฝรั่งเรียกกันว่า “capital city” อันแปลว่า เมืองแห่งการระดมทุนทุกชนิดด้วยแล้ว อาการเปลี่ยวเหงา ว้าเหว่ หรือโหยหาสายสัมพันธ์บางอย่าง ก็จะยิ่งเข้มข้นขึ้นเป็นทวีคูณ กรุงเทพมหานครของเราก็คงไม่แตกต่างไปจากสัจธรรมข้างต้นเท่าใดนัก เพราะแม้ความเจริญและทุนทางเศรษฐกิจจะกระจุกตัวรวมศูนย์อยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้ แต่ทว่า กทม. ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่ “มีผู้คนอยู่รอบกาย เหมือนไม่มีไม่เห็นใคร...”  ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? ก็ในเมื่อจุดเริ่มต้นของเมืองเกิดจากการดูดซับทรัพยากรต่างๆ เข้าสู่ส่วนกลางแล้ว ผู้คนแบบร้อยพ่อพันแม่จากถ้วนทั่วทุกสารทิศก็จะมุ่งเข้าสู่การตามล่าหา “ความฝัน” กันในสังคมเมืองเป็นหลัก แบบเดียวกับที่คุณแม่ค้าส้มตำ คนขับรถแท็กซี่ คุณพี่วินมอเตอร์ไซค์ คุณนักร้องนักล่าฝัน พ่อครัวร้านซูชิ ไปจนถึงคุณณเดชน์พระเอกหนุ่ม ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มคนพลัดถิ่นที่เข้ามาแสวงหาโอกาสที่ดีขึ้นในชีวิตกันในเมืองหลวง  ด้วยเหตุดังกล่าว กรุงเทพมหานครจึงกลายเป็น “เมืองใหญ่” แต่ก็ “ไร้ราก” เพราะ “รกราก” ดั้งเดิมของผู้คนที่อพยพจากทั่วทุกทิศทุกภาคนั้น มีจุดกำเนิดมาแต่ชนบทมากกว่า เมื่อคนที่หยั่ง “รกราก” ในถิ่นอื่น ต้องจับพลัดจับผลูมาอยู่ในเมืองใหญ่ต่างถิ่นที่ “ไร้ราก” เช่นนี้ ก็ไม่น่าแปลกที่คุณณเดชน์และบรรดาตัวละครลูกอีสานใหญ่น้อยทั้งหมด จึงเกิดอาการ “lost in translation” หรืองุนงงสงสัยว่า “ฉันมาทำอะไรที่นี่” มาเดินขวักไขว่กันเต็มท้องถนนและสถานีรถไฟฟ้า แต่ก็ไม่มีใครสนใจใครกันเลย แต่มนุษย์ก็ยังเป็นมนุษย์ ที่มีความพยายามจะต่อเส้นสายสัมพันธ์ระหว่างกันอยู่ตลอด เพื่อสลายความแปลกแยกและว้าเหว่ในเมืองเปลี่ยวเหงา  ด้านหนึ่ง โทรศัพท์มือถืออาจจะทำให้ผู้คนในเมืองหลวงยิ่งแปลกแยกจากกันมากยิ่งขึ้น เพราะแม้จะอยู่บนถนนหรือบนรถไฟฟ้า ผู้คนเหล่านั้นก็คุยโทรศัพท์โดยยิ่งไม่ต้องสนใจคนรอบข้างได้มากขึ้น แต่อย่างน้อย พวกเขาก็อาจจะไม่ได้แปลกแยกไปกับบรรดาเพื่อนสนิทมิตรสหายหรือครอบครัวที่ยังอยู่ใน “รกราก” ของชนบทห่างไกล หากครั้งหนึ่งบรรดาคุณพี่โชเฟอร์แท็กซี่เคยติดสติ๊กเกอร์แสดงความรู้สึก “ดีใจจังคันข้างหลังก็เป็นลาว” แล้ว ทุกวันนี้เครือข่ายมือถือก็ช่วยให้คุณณเดชน์และบรรดาลูกอีสานใน กทม. ทั้งหลาย ได้รู้สึกว่า “ดีใจจังคนข้างหลังก็บ้านเฮา” เหมือนกัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 99 เปิดบ้านใหม่เพื่อผู้บริโภค

Who 99สุมาลี พะสิม /เรียบเรียง   งานคุ้มครองผู้บริโภคที่ใครๆ อยากเห็นวันที่ 26 เมษายน 2552 ที่ผ่านมามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ทุกคนมีสิทธิเล่มนี้จึงขอเก็บบรรยากาศมาฝากสมาชิกค่ะ พร้อมนำเสนอทรรศนะต่างๆ ของกัลยาณมิตรทั้งหลายมาฝากค่ะ       รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร“สิ่งที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทำนั้นก็คือว่าทำเรื่องคุณประโยชน์มาพอสมควร สิ่งที่จะต้องทำต่อไปก็คือต้องพยายามสร้างเครือข่ายคนที่จะมาคุ้มครองผู้บริโภคด้วยตัวเขาเองให้มากขึ้น กระจายตัวมากขึ้น แล้วก็จะมีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งอาศัยมูลนิธิฯ อย่างเดียวก็ค่อนข้างลำบากที่ต้องทำทุกเรื่องสำหรับการเปิดบ้านใหม่หลังนี้ก็ขอแสดงความยินดีด้วย อย่างน้อยก็คือว่าเราก็มีส่วนร่วมเล็กน้อยที่ร่วมระดมทุน “เดี่ยวไมโครโฟน” หาทุนให้มูลนิธิฯ ซึ่งจะทำให้เป็นที่ทำงานที่กว้างขวางต่อไป”   บุญยืน ศิริธรรม เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม“เราอยากให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขับเคลื่อนเรื่องการสนับสนุนเครือข่ายผู้บริโภคให้เข้มแข็งมากขึ้น สนับสนุนด้านข้อมูลและด้านอื่นๆ เพื่อที่จะทำให้ผู้บริโภคลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตัวเองได้ และผู้บริโภคจะเป็นอิสระมากขึ้น พ้นจากอุ้งมือของทุนนิยม ซึ่งเราเชื่อว่าการคุ้มครองผู้บริโภคนั้นไม่มีใครคุ้มครองผู้บริโภคได้ดีเท่ากับตัวของผู้บริโภค ต้องทำให้ตัวผู้บริโภคลุกขึ้นมาสู้ให้ได้มูลนิธิฯ ควรจะเป็นพี่เลี้ยงและเป็นสื่อกลางไม่ว่าเครือข่ายต้องการอะไรก็น่าจะให้ได้ และอยากให้ทำงานเชิงรุกไม่ใช่แค่ตั้งรับอยู่ในกรุงเทพฯ แต่อยากให้ลงไปที่พื้นที่และเชื่อมร้อยในพื้นที่ต่างๆ ด้วย โดยเฉพาะศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคส่วนหนึ่งรับเรื่องร้องเรียนก็จริง แต่ก็อีกด้านหนึ่งก็คือจะทำอย่างไรให้เกิดศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในทุกภูมิภาค เมื่อผู้บริโภคเดือดร้อนก็ประสานงานกับจังหวัดนั้นได้เลยโดยมีมูลนิธิเป็นผู้สนับสนุนข้อมูล”   นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผอ.สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม“สิ่งที่อยากให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทำต่อไปก็คือการประสานเครือข่าย นอกจากประสานงานเครือข่ายผู้บิรโภคแล้วก็อยากให้ประสานงานเครือข่ายข้อมูลที่ติดตามเรื่องเหล่านั้น ดังนั้นไม่ว่าเรื่องยากแค่ไหนเมื่อมีผู้เชี่ยวชาญแล้วก็จะสามารถแก้ไขได้ เพราะถ้ามีผู้เชี่ยวชาญ 1 คนเข้าใจ ประชาชนที่เหลือก็จะเข้าใจได้ และก็จะรวมเป็นพลังเพื่อการขับเคลื่อนต่อไปได้การเปิดบ้านใหม่ที่อนุสาวรีย์ชัยฯ จะทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่ายขึ้นเพราะเป็นจุดศูนย์กลางของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมูลนิธิฯ จะต้องทำหน้าที่ในการประสานงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่มากขึ้นทั้งให้ภาคประชาชน ภาครัฐ นักวิชาการ ให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น แล้วก็มีส่วนร่วมเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อน”   ณาตยา แวววีรคุปต์ สื่อมวลชน“มองในฐานะของความเป็นสื่อมวลชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคถือว่าเป็นศูนย์กลางของข้อมูลในเรื่องสิทธิผู้บริโภคและการใช้สิทธิของผู้บริโภค ซึ่งเป็นประโยชน์มากในการนำมาย่อยและเผยแพร่ต่อ ในการนำเสนอสิ่งต่างๆ ที่ถูกมองว่าเป็นปัญหาให้เห็นออกมาเป็นรูปธรรม และง่ายที่สื่อจะนำมาเผยแพร่ต่อ แต่ก็ไม่ใช่แค่ว่าจะนำเอาแค่เรื่องร้องเรียนมาเท่านั้น ยังมีความรู้ด้วย ยังมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความคิดในการคุ้มครองสิทธิต่อผู้บริโภคได้ด้วยตัววารสารฉลาดซื้อก็มีประโยชน์ค่ะ อ่านทุกเล่ม ต้องบอกว่าอ่านเกือบทุกหน้า ซึ่งหนังสือพยายามสะท้อนให้เราเห็นว่าการใช้สิทธิของผู้บริโภคไม่ใช่เรื่องไกลตัว จริงๆ แล้วมันเกี่ยวกับทุกคน แต่จะมีสักกี่คนที่ใช้สิทธิ พอเราได้เห็นเรื่องราวๆ ต่างๆ ที่ฉลาดซื้อนำมาเผยแพร่ ทำให้เราได้เห็นว่ายังมีคนลุกขึ้นมาทำเรื่องพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคไม่ใช่แค่กับตัวเองเท่านั้น แต่สิ่งที่เขาทำแล้วถูกนำมาเผยแพร่ต่อมันส่งผลต่อผู้บริโภคคนอื่นๆ ให้เกิดความเชื่อมั่นด้วยว่ามาใช้สิทธิเถอะนะถ้าหากว่าถูกละเมิด ไม่ต้องไปบ่นอย่างเดียวซึ่งฉลาดซื้อก็สื่อออกมาได้และง่ายในการทำความเข้าใจ แล้วก็เป็นฐานในการที่จะหยิบมาทำงานด้านสื่อต่อไปได้”   ดำรง พุฒตาล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร“ขอแสดงความยินดีกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคด้วยที่เปิดบ้านใหม่ใจกลางเมือง ผู้บริโภคจะได้มาร้องเรียนได้ง่ายขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายก็คงเพิ่มขึ้นแน่นอน สำหรับใครที่จะร่วมบริจาคให้กับมูลนิธินี้ก็เชิญได้ครับ แนวทางในการทำงานที่ทำอยู่ถือว่าถูกทางแล้วที่เปิดรับเรื่องร้องทุกข์ ทำหนังสือฉลาดซื้อซึ่งก็เป็นสื่อตัวหนึ่งที่มีประโยชน์ ผมเองก็เป็นแฟนคลับคนหนึ่งที่อ่าน แล้วก็ดึงบางส่วนไปเป็นข้อมูลให้กับหนังสือคู่สร้างคู่สมของผมด้วย ก็ฝากไว้ว่าให้ตามเรื่อง พ.ร.บ.องค์การอิสระผู้บริโภคต่อไป พอมี พ.ร.บ.ตัวนี้แล้วก็คิดว่าคงจะทำงานสะดวกขึ้น ช่วยเหลือคนได้เยอะขึ้น ขอให้กำลังใจทุกคนครับ” จอน อึ๊งภากรณ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร“มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเดินมาไกลแล้วนะ แต่ก็ต้องเดินต่อไปในการสร้างสังคมที่เป็นธรรมสำหรับประชาชนทุกส่วน และขอให้มูลนิธิฯ ทำงานต่อไปในการสร้างและเปลี่ยนแปลงสังคมไทย ในการปฏิรูปสังคม ในการสร้างระบบความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภคไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิบัตรยาที่ทำไปแล้ว ก็ขอให้ทำเพื่อความเป็นธรรมของผู้บริโภคต่อไม่ว่าจะเป็นเรื่องบัตรเครดิต เรื่องสิทธิต่างๆ ให้กับประเทศของเราต่อไป”   ปรีดา เตียสุวรรณ์ นักธุรกิจ“ทุกวันนี้เราอยู่ภายใต้ระบบทุนนิยมก็จำเป็นต้องมีองค์กรที่จะต้องคอยดูแล แต่ก็ไม่แปลกที่เราจะใช้กลไกของทุนนิยมเพื่อกำหนดผลงาน แต่ผลสุดท้ายของงานเราต้องหักตัวเองออกจากทุนนิยมเข้าสู่สังคมนิยมได้ก็โดยการนำเงินที่ได้มาบางส่วนให้องค์กรสาธารณะกุศลแบบผมทำ ที่เราจำเป็นต้องทำแบบนี้ก็เพราะเราอยู่ในระบบทุนนิยม อยากให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคลองพิจารณาสร้างผลกำไรขึ้นจากการปฏิบัติงานเพราะดูแล้วกำไรไม่ใช่สิ่งที่น่าเกลียดเพราะว่าถ้ามูลนิธิฯ สามารถลงไว้เป็นความเห็นขององค์กรว่า กำไรที่ได้มาจะมอบให้กับกิจการสาธารณะกุศล ไม่ได้แจกจ่ายให้พนักงาน เพราะว่าอะไรรู้ไหม เพราะว่าพอมีกำไรขึ้นก็จะมีการสร้างการวัดผลของการทำงานของแต่ละฝ่ายขึ้นมา ทำให้เกิดมีเป้าหมายขึ้นมา แต่ต้องกำหนดระยะกำไรที่เหมาะสมขึ้นมา แล้วกำไรที่ได้ก็ไม่ได้ไปไหนจะคืนกลับให้กับสังคมต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 183 อันตรายในบ้านลม

บ้านลม หรือเครื่องเล่นเป่าลม คือสถานที่โปรดของเด็กส่วนใหญ่ โดยเราจะเห็นบ้านลมที่มีตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถหาเล่นได้ตามตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า หรือตามงานต่างๆ และเรามักจะพาลูกหลานไปเล่น โดยลืมนึกถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น เด็กติดระหว่างช่องตัวตุ๊กตา หรือเด็กล้มแขนหักในบ้านลม ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น เราควรไปทวงความรับผิดชอบจากใครเหตุการณ์ไม่คาดคิดนี้เกิดขึ้นกับคุณปวีณา เมื่อเธอพาลูกๆ ไปเดินเล่นที่ห้างสรรพสินค้าซีคอน สแควร์ ซึ่งพบว่าในขณะนั้นมีการจัดกิจกรรมของบริษัทไทยประกันชีวิต โดยมีการนำบ้านลมมาตั้งให้เด็กเข้าไปเล่นได้ เพียงแค่ระบุข้อมูลส่วนตัวก็จะได้คูปองเข้าไป จากการชักชวนของพนักงาน เธอจึงให้ลูกๆ เข้าไปเล่น โดยเธอยืนเฝ้าอยู่ข้างนอก แต่สักพักเดียว เธอได้สังเกตว่า ลูกสาวของเธอได้ไถลตัวลงจากสไลเดอร์มานานแล้ว แต่ไม่เห็นวิ่งขึ้นมาเล่นอีกครั้งสักที จึงชะโงกหน้าเข้าไปดูและพบว่า ลูกสาวกำลังนอนร้องไห้อยู่ จึงรีบพาลูกออกมา ในตอนแรกเธอไม่ได้คิดว่าลูกสาวบาดเจ็บอะไร อย่างไรก็ตามลูกของเธอยังคงร้องไห้ไม่หยุด และเมื่อเธอสังเกตที่แขนลูกก็พบว่า มีอาการบวมอย่างเห็นได้ชัด จึงพาลูกสาวไปรักษาที่โรงพยาบาลทันที ซึ่งแพทย์ได้วินิจฉัยว่า ลูกสาวของเธอ ข้อศอกหักทั้ง 2 ข้าง ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดและใส่เหล็กดามกระดูก เธอจึงติดต่อกลับไปที่ห้างดังกล่าว เพราะต้องการให้มีการแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งทางห้างก็ได้ติดต่อเจ้าของกิจกรรมในวันงาน คือ บริษัทไทยประกันชีวิต เพื่อมาเจรจากับเธอ แต่ทางบริษัทฯ กลับชี้แจงว่า “ไม่ได้บังคับให้เด็กเล่นบ้านลม”  ผู้ปกครองจึงต้องช่วยดูแลความปลอดภัยบุตรหลานของท่านเอง เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ผู้ร้องจึงมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อหาข้อเท็จจริง ทางผู้ร้องได้ติดต่อไปที่ห้างอีกครั้งเพื่อขอดูกล้องวงจรปิด ซึ่งพบว่าเป็นภาพของเด็กใส่ชุดสีชมพู ปีนขึ้นมาตรงทางสไลด์แล้วโดนชนตกลงไปแล้วก็ปีนขึ้นมาใหม่ ทำให้ทางบริษัทอ้างว่าลูกสาวของเธอเล่นพิเรนทร์ จึงทำให้เกิดการบาดเจ็บดังกล่าวขึ้นเอง ดังนั้นจึงปฏิเสธข้อเสนอของผู้ร้องที่ต้องการให้มีการชดเชยค่าเสียหายจำนวน 70,000 บาท โดยจะรับผิดชอบเพียง 50,000 บาทเท่านั้น ภายหลังศูนย์ฯ ได้นัดให้ทั้งสองฝ่ายมาเจรจากันอีกครั้ง แต่ทางผู้ร้องได้แจ้งว่าจะดำเนินการฟ้องร้องคดีแทน อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้สิ่งที่น่าคิดคือ มาตรฐานด้านความปลอดภัยของเครื่องเล่นเด็กมีมากแค่ไหน  เพราะเราจะสังเกตได้ว่าบ้านลมเกือบจะทุกที่นั้น ไม่มีเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบดูแลอยู่ภายใน มีเพียงคนดูแลและผู้ปกครองที่รอดูอยู่ด้านนอกเท่านั้น นอกจากนี้เครื่องเล่นดังกล่าวยังไม่มีคำแนะนำในการเล่น หรือคำเตือนที่ระบุว่าเหมาะสำหรับเด็กอายุเท่าไร หรือกำหนดอายุของเด็กในการเล่นเลย ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็อาจจะเกิดการบ่ายเบี่ยงความรับผิดชอบเหมือนดังกรณีนี้นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 180 หมู่บ้านในแอ่งกระทะ

หลังเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 บ้านเรือนหลายหลังได้รับความเสียหายหนัก ผู้ประสบภัยบางรายตัดสินใจขายทิ้งบ้านมากกว่าซ่อมแซม แต่หากทั้งขายและซ่อมไม่ได้ เพราะเพิ่งรู้ความจริงทีหลังว่าบ้านอยู่ในพื้นที่ต่ำ ที่ต่อให้ซ่อมแล้วก็ยังต้องผจญกับปัญหาน้ำท่วมขังเช่นนี้ตลอดไป เราควรแก้ปัญหาอย่างไรดีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับผู้ร้อง ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มผู้เสียหายจำนวน 465 หลังคาเรือน จากโครงการ ศุภาลัย แกรนด์เลค (Suphalai Grand Lake Village) ที่มีมูลค่าการซื้อขายไม่ต่ำกว่าหลังคาเรือนละ 4 ล้านบาท โดยภายหลังน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 พวกเขาพบว่า เวลาฝนตกจะมีน้ำไหลซึมเข้ามาภายในโครงการตลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ เมื่อตรวจสอบจึงทราบว่าพื้นที่ของทั้งโครงการต่ำกว่าพื้นที่รอบนอก หรือเป็นแอ่งกระทะนั่นเอง ทำให้สามารถตอบโจทย์ได้ว่าทำไมทั้งๆ ที่มีรั้วกั้นน้ำ จึงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะรั้วดังกล่าวกลับสร้างในระดับเดียวกันกับพื้นที่รอบนอกภายหลังทางโครงการฯ ได้แก้ปัญหาด้วยการนำเครื่องสูบน้ำมาช่วยระบายน้ำออก แต่ก็ยังไม่สามารถระบายน้ำเสียออกจากหมู่บ้านได้ทันกับระดับน้ำขังที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แม้ผู้พักอาศัยจะแจ้งให้โครงการฯ เข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าวหลายครั้งแต่ก็ไม่สามารถทำได้ ชี้แจงเพียงว่า สาธารณูปโภคเป็นไปตามมาตรฐานและสามารถใช้งานได้อย่างปกติ ไม่มีความเสียหายหรือก่อให้เกิดปัญหาต่อการอยู่อาศัย โดยได้มีการแก้ปัญหาเรื่องที่ดินต่ำไว้แล้ว ด้วยการนำท่อน้ำ พีวีซี มาเจาะรูแล้วนำไปฝังดักน้ำตามแนวรั้วด้านหลังบ้านแต่ละหลัง และนำอิฐมอญมาก่อเป็นกระถางต้นไม้ด้านหลังบ้านแล้วใส่ดินในกระถางอย่างไรก็ตามผู้ร้องต้องการให้บริษัทฯ ดำเนินการซ่อมแซมรั้วของหมู่บ้านใหม่ หรือหาแนวทางเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาน้ำรั่วซึมเข้ามาภายในหมู่บ้านระยะยาว เนื่องจากบริษัทฯ ควรมีหน้าที่ส่งมอบสาธารณูปโภคที่ได้มาตรฐานให้กับผู้บริโภค จึงมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อขอคำแนะนำ แนวทางการแก้ไขปัญหากรณีนี้ผู้ร้องได้ทำสัญญาซื้อขายบ้านพร้อมที่ดินกับโครงการฯ โดยที่ไม่ทราบมาก่อนว่าโครงการฯ มีที่ดินสภาพต่ำกว่าพื้นที่รอบนอกหมู่บ้าน เพราะที่ดินดังกล่าวเคยเป็นบ่อเลี้ยงปลาเก่า และเมื่อมีการก่อสร้างก็ไม่ได้ถมที่ดินเพิ่มเติมให้เท่ากับพื้นที่รอบนอก ทำให้มีน้ำขังเวลาฝนตก โดยน้ำจะซึมผ่านใต้บ้านตลอดเวลา ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงแนะนำให้ผู้ร้องเก็บข้อมูลหลักฐานต่างๆ เพิ่มเติม เช่น รูปถ่ายสถานที่ และข้อพิสูจน์เรื่องพื้นที่ต่างระดับดังกล่าว ซึ่งขณะนี้เรื่องอยู่ในระหว่างการฟ้องคดี โดยศูนย์ฯ ยังคงติดตามความคืบหน้าต่อไปทั้งนี้ก่อนรับโอนบ้านเราควรศึกษาข้อมูลต่างๆ ให้รอบด้าน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการซื้อบ้านแล้วไม่ได้บ้านอย่างที่ฝันไว้ ดังนี้1. พิจารณารายรับรายจ่าย ของตัวเองว่ามีกำลังซื้อหรือผ่อนบ้านได้หรือไม่2. ศึกษาข้อมูลรายละเอียดโครงการ ที่ประกาศขายบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์ว่ามีความน่าเชื่อถือ หรือสามารถแก้ไขปัญหาได้หรือไม่3. ไปดูสถานที่จริง ว่าบ้านได้คุณภาพมาตรฐานหรือไม่ ไม่ควรดูตามโฆษณาหรือโบชัวร์อย่างเดียว4. ศึกษารายละเอียดของสัญญา การจองซื้อบ้าน การโอนกรรมสิทธิ์ หรือการให้ประโยชน์ตอบแทนที่ชัดเจน ซึ่งในสัญญาจองควรระบุว่า หากกู้ธนาคารไม่ผ่านสามารถขอเงินคืนทั้งหมดได้5. สัญญาการจะซื้อจะขาย ควรจะมีการรับประกันโครงสร้างหรือการรับประกันบ้าน6. อย่าหลงเชื่อคำโฆษณา หรือคำกล่าวอ้างของพนักงานขาย ที่เร่งให้โอนกรรมสิทธิ์ขณะที่บ้านยังไม่แล้วเสร็จ เพราะผู้ประกอบการอาจละทิ้งงานเพราะไม่มีข้อต่อรองแล้ว บางทีผู้ประกอบการอาจอ้างว่าจะมาซ่อมให้จนหมดอายุการรับประกันบ้านได้ ซึ่งอายุการรับประกันจะนับหนึ่งตั้งแต่วันที่โอนกรรมสิทธิ์ ควรระบุในสัญญาให้ชัดเจนว่าผู้ประกอบการต้องเข้ามาซ่อมแซมให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด7. การโอนกรรมสิทธิ์บ้าน หลังสร้างเสร็จแล้วผู้บริโภคต้องตรวจสอบว่า เป็นไปตามแปลนหรือข้อตกลงหรือไม่ หากยังจะผู้สร้างจะได้ปรับแก้ให้ตรงความต้องการที่ตกลงกันไว้8. ไม่ควรซื้อบ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ เพราะอาจเกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน9. ใช้สิทธิ์เมื่อเกิดปัญหา ทั้งหาข้อมูลเพิ่มเติมหรือปรึกษาได้ที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ ผ่านทางเว็บไซต์  http://www.consumerthai.org หรือโทรศัพท์ 02-2483737ที่มา: เว็บไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค. รู้ไว้ใช้สิทธิ์ก่อนซื้อบ้านต้องศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน. http://www.consumerthai.org

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 172 บ้านมือสองกับค่าประกัน น้ำ ไฟฟ้า

ผู้บริโภคทั่วไปที่คิดจะซื้อบ้านมือสองควรรอบคอบและสังเกตสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ของงานสาธารณูปโภคพวกน้ำ และไฟฟ้า ด้วย สิ่งเล็กๆ นั้นคือ ค่าประกันการใช้น้ำและค่าประกันการใช้ไฟฟ้า เพราะอาจก่อปัญหาที่คุณคาดไม่ถึงได้ อย่างกรณีของคุณสาวิตรี เมื่อปี พ.ศ. 2551 ได้พบบ้านมือสองในทำเลและราคาที่ถูกใจมากๆ จึงได้ตกลงปลงใจซื้อบ้านตึกสองชั้นพร้อมที่ดิน จากผู้ขายและได้โอนกรรมสิทธิ์แล้วเสร็จในวันที่ 31 ตุลาคม 2551 และอยู่อาศัยมาด้วยความผาสุกเรื่อยมา จนต้นปี 2556 คุณสาวิตรีเพิ่งสังเกตเห็นว่า ใบแจ้งหนี้ค่าน้ำประปาและใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้า นั้นยังเป็นชื่อผู้ใช้น้ำคนเดิมคือเจ้าของบ้านคนเก่า คุณสาวิตรีจึงได้พยายามติดต่อการประปาส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคของพื้นที่ปทุมธานี เพื่อขอดำเนินการเปลี่ยนชื่อใหม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานทั้งสองให้คุณสาวิตรีจัดเตรียมเอกสารและหลักฐานของผู้ใช้น้ำ ของกรณีผู้โอนและผู้รับโอนเป็นบุคคลธรรมดามาประกอบการดำเนินเรื่อง แต่ว่าการซื้อบ้านของผู้ร้องนั้นได้ล่วงเลยมานานหลายปีแล้ว ผู้ร้องจึงไม่สามารถที่จะติดต่อกับผู้ขายบ้านหลังนี้ได้ จึงมาปรึกษากับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิว่าจะทำอย่างไรดี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงทำหนังสือเพื่อสอบถามและขอให้ทั้งสองหน่วยงานของรัฐช่วยเหลือผู้ร้อง การประปาส่วนภูมิภาค ปทุมธานี ได้ชี้แจงต่อกรณีนี้ว่า ตามระเบียบของการประปาส่วนภูมิภาค การโอนสิทธิในการใช้น้ำประปา หากมีการซื้อขายบ้านที่ติดตั้งประปาไว้แล้ว ผู้ใช้น้ำต้องแจ้งให้พนักงานประปาทราบและให้ผู้รับโอนมาลงนามในสัญญาใช้น้ำ โดยหลักฐานที่นำมาแสดง อาทิ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน , สำเนาทะเบียนบ้าน , ใบเสร็จเงินประกันค่าน้ำตัวจริง ,ใบเสร็จรับเงินค่าน้ำประปาครั้งสุดท้ายหรือสำเนา หากทั้งสองฝ่ายไม่สะดวกสามารถทำหนังสือมอบอำนาจให้กับญาติดำเนินการแทนได้ เป็นต้น บ้านของผู้ร้องนั้นเป็นอัตราค่าธรรมเนียมประกันการใช้น้ำ ขนาดมาตร 1/2 (นิ้ว) ค่าประกันการใช้น้ำ เป็นเงิน 535 บาท และการประปาฯ จะช่วยดำเนินการติดตามกับผู้ใช้น้ำเดิมเพื่อสอบถามว่าจะขอคืนเงินประกันการใช้น้ำหรือโอนเปลี่ยนให้กับผู้ร้องต่อไป แต่ในส่วนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคนั้น ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ไม่ได้รับคำตอบต่อกรณีร้องเรียนดังกล่าวนี้แต่อย่างใดในขณะเขียนเรื่องนี้ ซึ่งจะได้ติดตามผลให้กับคุณสาวิตรีต่อไป แต่เห็นว่าเรื่องนี้น่าจะมีประโยชน์สำหรับผู้ที่กำลังจะซื้อบ้านหรืออาคารมือสองจึงนำมาลงไว้เป็นกรณีศึกษา 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 172 ซื้อหมู่บ้านเล็ก เขารับประกันยังไง

ซื้อบ้านจัดสรรอยู่ แต่โครงการของบริษัทเล็กๆ เขาจะรับประกันอะไรให้บ้าง คนเรามี 2 สิ่งที่ตัดสินใจยากคือ "เลือกเมีย" กับ "เลือกบ้าน" เพราะมีผลกับชีวิตทั้งชีวิต เป็นคำถามมาสั้นๆ ง่ายๆ ที่ฝากมาในกระทู้รับเรื่องร้องเรียน เลยขอนำมาตอบไว้ที่นี้ด้วย แต่คำตอบจะต้องแยกตอบเป็น 3 คำตอบ (1) ซื้อบ้านจัดสรร (2) เจ้าของโครงการเป็นบริษัทเล็ก และ (3) การรับประกันหลังโอนประเด็นแรก คุณเจ้าของกระทู้บอกอยู่แล้วว่าตัดสินใจเลือกซื้อบ้านในโครงการจัดสรร นั่นหมายความว่าเราต้องการซื้อคุณภาพชีวิตในการอยู่อาศัย เพราะฉะนั้น ข้อแนะนำก็คือ ให้ตรวจสอบว่าโครงการจัดสรรดังกล่าว ขออนุญาตจัดสรรภายใต้กฎหมายจัดสรรที่ดินหรือเปล่า ตรวจสอบข้อมูลได้จากสำนักงานกรมที่ดิน ตัวอย่างเช่น ถ้าจะซื้อบ้านจัดสรรในเขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร เราก็สามารถไปขอตรวจสอบได้ที่สำนักงานที่ดินประจำเขตบึงกุ่มเหตุผลที่ต้องตรวจสอบก่อน เพราะกฎหมายจัดสรรบังคับให้บริษัทเจ้าของโครงการต้องจดทะเบียนจัดสรร เพื่อจะได้เข้ามาช่วยควบคุมว่า กรณีที่เป็นโครงการใหญ่ๆ จะต้องมีการลงทุน "พื้นที่ส่วนกลาง" ให้เหมาะสมกับจำนวนบ้าน เช่น ถ้ามีบ้าน 100 หลัง ถนนเมนควรจะกว้าง 16 เมตรไหม ถ้ามีบ้าน 500 หลัง ถนนเมนจะต้องกว้าง 20 เมตรหรือเปล่าหรือถ้าขออนุญาตจัดสรรอย่างถูกต้อง กฎหมายท่านจะบังคับไว้เลยว่า บ้านเดี่ยวจะต้องมีพื้นที่ 50 ตารางวาขึ้นไป บ้านแฝดจะต้องมีที่ดิน 35 ตารางวาขึ้นไป ทาวน์เฮาส์จะต้องมีที่ดินเริ่มต้น 18 ตารางวาขึ้นไป เป็นต้นกรณีที่โครงการที่เราซื้อ ไม่ได้มีการขออนุญาตจัดสรร แสดงว่าเขากำลังเลี่ยงกฎหมายจัดสรรอยู่ โดยพื้นฐานถ้าจำไม่ผิด กฎหมายจะกำหนดไว้ว่า ถ้าขอจัดสรรทำบ้านเดี่ยวตั้งแต่ 10 หลังขึ้นไปต้องขออนุญาตให้ถูกต้อง แต่ถ้าต่ำกว่า 10 หลังไม่ต้องขออนุญาตจัดสรรกลายเป็นช่องว่างให้มีการเลี่ยงกฎหมายจัดสรร เช่น อาจจะมี 40 หลัง แต่ใช้วิธีพัฒนาทีละไม่เกิน 10 หลัง โดยใช้ชื่อคนละบริษัท ทั้งๆ ที่เป็นหมู่บ้านเดียวกัน เป็นต้น ประเด็นที่สอง เรื่องของ "เจ้าของโครงการเป็นบริษัทเล็กๆ" สิ่งแรกที่ต้องคำนึงก่อนตัดสินใจวางเงินจองเงินดาวน์ และจ่ายเงินก้อนใหญ่เพื่อโอนกรรมสิทธิ์ สิ่งนั้นก็คือความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบการในที่นี้ ไม่ได้ฟันธงว่า เวลาเราพูดถึงความน่าเชื่อของผู้ประกอบการแล้ว จะต้องเป็นบริษัทใหญ่ๆ เป็นบริษัทมหาชนที่อยู่ในตลาดหุ้นเท่านั้น เรื่องนี้ไม่จริง เพราะมีบริษัทอสังหาริมทรัพย์ทุนหนาอีกตั้งหลายรายที่ไม่ยอมเข้าตลาดหุ้น เพราะฉะนั้นความน่าเชื่อของผู้ประกอบการจึงต้องมีองค์ประกอบอื่นเพิ่มเติมด้วยข้อแนะนำคือ เวลาดูความน่าเชื่อของผู้ประกอบการสำหรับหมู่บ้านจัดสรรที่เราจะไปเลือกซื้อนั้น นอกจากจะตรวจสอบจากใบอนุญาตจัดสรรแล้ว ควรจะมีการตรวจสอบจากข้อมูลข่าวสาร อย่างน้อยที่สุด เคยมีประวัติพัฒนาโครงการขายมาก่อนหรือไม่ ถ้าไม่เคย ธุรกิจดั้งเดิมเคยทำอะไรมาก่อนตัวอย่างเช่น ค่ายสยามกลการ ในปัจจุบันรุ่นทายาทธุรกิจเป็นคนรุ่นใหม่ ก็ให้ความนิยมหันมาลงทุนสร้างคอนโดฯ ขาย เป็นต้น กรณีแบบนี้เราค่อนข้างมั่นใจได้ว่ามีความเป็นมาตรฐานแน่นอน เพราะธุรกิจดั้งเดิมก็เป็นธุรกิจที่มีชื่อเสียงที่ดี ไม่ใช่ประเภทตีหัวเข้าบ้านประเด็นสุดท้าย "การรับประกันหลังโอนกรรมสิทธิ์" ก่อนอื่นต้องเข้าใจให้ตรงกันเสียก่อนว่า การรับประกันหลังโอน กฎหมายจำกัดขอบเขตความรับผิดชอบของบริษัทเจ้าของโครงการไว้ที่เป็นการรับประกันเรื่องตัวบ้านเป็นหลัก เช่น สร้างแล้วพังเร็วไหม อยู่แล้วอุ่นใจหรือเปล่าข้อแนะนำสำหรับการรับประกันตัวบ้านก็คือ ให้มุ่งเน้นความสำคัญไปที่การตรวจสอบคุณภาพก่อสร้างที่เป็น "โครงสร้างหลัก" ของตัวบ้าน เช่น เสา คาน ฯลฯ ส่วนผนังที่อาจจะมีรอยแตกลายงา ถือเป็นเรื่องปกติเพราะเกิดจากฝีมือฉาบปูนบ้าง โดดแดดบ้าง อะไรบ้าง หรือจะเป็นก๊อกเป็นสนิม น้ำรั่ว น้ำซึม เป็นเรื่องที่คุยกันได้ พวกนี้เรียกว่า "ส่วนควบของตัวบ้าน" ซึ่งกินความไปถึงประตู หน้าต่าง กรอบอลูมิเนียม บานเลื่อน ฯลฯ จิปาถะเยอะแยะไปหมดข้อแนะนำคือ ตรวจสอบด้วยการหาข้อมูลอ้างอิงว่า ถ้าเป็นกรณีหมู่บ้านใหญ่ๆ เขามีการรับประกันอะไรให้กับลูกค้าบ้าง แล้วนำมาเปรียบเทียบกัน อย่างน้อยที่สุด การรับประกันในจุดหลัก ๆ ก็ควรจะต้องมี แต่ถ้าหมู่บ้านเล็กๆ ไม่มีให้ ข้อแนะนำคือคุณไม่ควรจะรับโอน จนกว่าจะสามารถเคลียร์และทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะถ้าหากจำเป็นจะต้อง "ค้าความ" หรือมีการฟ้องร้องคดีกันขึ้นมาเมื่อไหร่ โอกาสของผู้บริโภคคือจะต้องมีหนังสือนิติกรรมที่เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น การดำเนินคดีในศาลจึงจะมีน้ำหนัก และทำให้เราไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบได้ในท้ายที่สุด 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 158 เมื่อบ้านเอื้ออาทร ไม่อาทรต่อคนจน

สำหรับคนมีรายได้น้อย การอยากมีบ้านเป็นของตัวเองสักหลังหนึ่งคงไม่ใช่เรื่องง่าย  “ ฉัตร”  คือเป็นหนึ่งในนั้น แต่เธอเริ่มมีความหวัง เมื่อรัฐมี “โครงการบ้านเอื้ออาทร” ที่ตั้งขึ้นเพื่อจัดหาบ้านให้คนมีรายได้น้อยได้มีที่บ้านเป็นของตนเอง ต่อเมื่อเวลาผ่านไป เธอถึงรู้ว่า บ้านเอื้ออาทร นั้นไม่ได้อาทรต่อคนมีรายได้น้อยเลย…เมื่อเดือนมิถุนายน 2552 ฉัตรตัดสินใจเข้าทำสัญญาซื้อบ้านเดี่ยว 2 ชั้น โครงการเอื้ออาทรจังหวัดบุรีรัมย์ กับการเคหะแห่งชาติในราคา 390,000 บาท โดยมีเงื่อนไขที่ต้องทำสัญญากู้ยืมเงินกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ เพื่อนำมาชำระหนี้เป็นค่าซื้อบ้านให้แก่การเคหะฯ  โดยมีการเคหะฯ เป็นผู้ค้ำประกัน ตามสัญญาด้วยผ่อนมาปีกว่าเธอเริ่มผิดนัดบางงวด เพราะการเงินเริ่มยอบแยบ แต่เธอก็พยายามเก็บเงิน เพื่อไปชำระยอดที่ค้างชำระกับธนาคารให้ได้ โดยที่ธนาคารยังคงรับชำระเงินของผู้ร้องไว้ตามปกติเรื่อยมาจนเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2554 เมื่อเธอไปจ่ายค่างวดที่ธนาคารตามปกติ ธนาคารปฏิเสธรับเงินจากเธอ และแจ้งให้เธอทราบว่า บ้านที่เช่าซื้ออยู่ได้ถูกบอกเลิกสัญญา เพราะผิดนัดค้างชำระเกินกำหนด และการเคหะแห่งชาติได้มาซื้อคืนไปแล้ว โดยที่เธอไม่เคยได้รับหนังสือแจ้งเตือน หรือหนังสือบอกเลิกสัญญาใดๆ มาก่อนเลย “เราเลือกซื้อบ้านเอื้ออาทรกับการเคหะฯ เพราะเชื่อมั่นว่า การเคหะ ฯ จะดูแลเราที่เป็นคนมีรายได้น้อย ให้มีบ้านเป็นของตัวเองได้ เราขาดส่งบางงวดจริง แต่เราก็พยายามแก้ไขปัญหานี้มาตลอด เราไม่รู้ว่าทำไมอาคารสงเคราะห์ ถึงไม่แจ้งเตือนเราตามสัญญาก่อน  ทั้งที่ธนาคาร ธอส. ก็ยังรับเงินที่เราไปจ่ายทุกครั้ง แต่อยู่ดีๆ บอกว่าเราถูกบอกเลิกสัญญา บ้านถูกยึดคืนไปแล้ว มาบอกกันแบบนี้ เราจะทำยังไง  แล้วเราจะไปอยู่ที่ไหน ” นี่คือเสียงสะท้อนเล็กๆ ที่อยากให้หลายคนได้รับรู้.... แนวทางแก้ไขปัญหากรณีนี้ ฉัตร เธอเข้ามาร้องเรียนกับสมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่นและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอความช่วยเหลือ แต่ระหว่างร้องเรียน เธอก็ถูกฟ้องให้ตกเป็นจำเลยในคดีที่การเคหะแห่งชาติ ฟ้องขับไล่ให้ออกจากที่พักอาศัยเป็นคดีผู้บริโภคต่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์ด้วย“เราไม่รู้มาก่อนเลยว่า สัญญาที่เราทำกับการเคหะฯ และธนาคาร ธอส. จะเอาเปรียบเรามากขนาดนี้ นี่มันเอื้ออาทรจริงแน่เหรอ สัญญายิ่งกว่าบริษัทเอกชนซะอีก”กรณีนี้แม้ฉัตรจะผิดนัดชำระหนี้จนเป็นเหตุให้การเคหะฯ มีอ้างสิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาซื้อขายได้นั้น แต่ก็มีประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิผู้บริโภค การบอกเลิกสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมของการเคหะแห่งชาติและธนาคารอาคารสงเคราะห์อยู่ด้วยหลายรายการ มูลนิธิฯ จึงให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย เพื่อให้เป็นกรณีตัวอย่างให้กับผู้บริโภคที่เจอปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้หลังจากผู้บริโภคแพ้คดีในศาลชั้นต้น ต่อมาในวันที่ 30 กันยายน 2556 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้มีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ สรุปสาระสำคัญดังนี้ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้กู้ยืมเงินเพื่อให้ผู้บริโภคของสถาบันการเงินเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2544 ข้อ 3 (2) บัญญัติ ว่าการผิดสัญญาเรื่องใดของผู้กู้ที่ผู้ให้กู้มีสิทธิบอกเลิกสัญญา จะต้องเป็นข้อที่ผู้ให้กู้ระบุไว้เป็นการเฉพาะด้วยตัวอักษรสีแดง หรือตัวดำ หรือตัวเอน ที่เห็นเด่นชัดกว่าข้อความทั่วไปและก่อนการบอกเลิกสัญญาต้องแจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้กู้และควรกำหนดระยะเวลาอันสมควรให้ผู้กู้แก้ไขการผิดสัญญาหรือผิดเงื่อนไขดังกล่าวประกอบกับตามสัญญากู้ยืมเงินระหว่าง ฉัตร ผู้กู้ กับ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ผู้ให้กู้ ในข้อ 18 ระบุว่า “ในกรณีผู้กู้ผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ให้กู้มีสิทธิบอกเลิกสัญญา  ผู้ให้กู้จะแจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้กู้ให้ดำเนินการแก้ไขการผิดสัญญาดังกล่าวภายในระยะเวลาไม่เกิน 15 วัน หากผู้กู้ไม่ดำเนินการแก้ไขจนพ้นระยะเวลาที่ผู้ให้กู้กำหนด ผู้กู้ยินยอมให้ผู้ให้กู้เรียกให้ผู้กู้ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยที่ค้างชำระอยู่ทั้งหมดคืนได้ทันที”ธนาคารจึงต้องมีหนังสือแจ้งให้จำเลยผู้กู้ชำระหนี้ที่ค้างชำระภายในระยะเวลาที่กำหนดก่อนที่จะบอกเลิกสัญญา ธนาคารจึงจะมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าธนาคารได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยชำระหนี้ที่ค้างชำระภายในกำหนดก่อน มิฉะนั้นจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ธนาคารคงมีเพียงหนังสือขอให้ชำระหนี้ ซึ่งเป็นหนังสือแจ้งเตือนให้ลูกหนี้ชำระเงินตามปกติเท่านั้น ธนาคารจึงยังไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย อีกทั้งยังไม่สามารถเรียกให้การเคหะแห่งชาติมาซื้อทรัพย์คืนได้ด้วยพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ และให้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมบ้านเอื้ออาทรระหว่างโจทก์กับจำเลยยังมีผลบังคับใช้ต่อไป โดยให้จำเลยผ่อนชำระหนี้ตามสัญญากู้ระหว่างจำเลยกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ให้แก่โจทก์แทนธนาคารอาคารสงเคราะห์ นับแต่งวดที่ชำระครั้งสุดท้ายเป็นต้นไปคดีนี้ จึงจบลงที่ การเคหะแห่งชาติ ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คือให้ ฉัตร กลับเข้าไปทำสัญญาเดิมใหม่ได้โดยไม่มีเงื่อนไข !!  นับเป็นคดีตัวอย่าง ที่ถือว่าเป็นชัยชนะของผู้บริโภคอีกก้าวหนึ่ง ที่จะเป็นส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงระบบการคุ้มครองผู้บริโภคไทยได้แน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 137 บ้านถูกน้ำท่วม ไม่ใช้เน็ตแต่ถูกเรียกเก็บค่าบริการ

เป็นที่ทราบกันดีว่าที่อยู่อาศัยแถบอำเภอบางบัวทองต้องถูกน้ำท่วมอย่างหนัก แทบไม่มีใครอยู่อาศัยได้ ระบบสาธารณูปโภคต่างๆล่ม จึงมีการยกเว้นการเรียกเก็บค่าบริการไม่ให้ซ้ำเติมความทุกข์ของชาวบ้าน แต่ความดีแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับอินเทอร์เน็ตของทรูไลฟ์พลัส เพราะมีการร้องเรียนว่ายังเรียกเก็บค่าบริการต่อเนื่องเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นคุณชูชัยเป็นผู้บริโภครายหนึ่งที่ร้องเรียนมาว่า ตนและครอบครัวอยู่อาศัยในหมู่บ้านชื่อดังแห่งหนึ่งย่านถนนบางกรวยไทรน้อย อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี เมื่อน้ำท่วมใหญ่เข้าอำเภอบางบัวทองเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2554  ทำให้ไม่สามารถอยู่อาศัยในบ้านได้ จึงได้โทรแจ้งไปยังบริษัท ทรู ไลฟ์ พลัส จำกัดว่า บ้านถูกน้ำท่วมอยู่อาศัยไม่ได้จึงไม่สามารถใช้บริการอินเทอร์เน็ตของบริษัทได้ ขอให้บริษัทระงับการเรียกเก็บค่าบริการไว้ก่อนเสียงร้องขอของผู้บริโภคคงไร้ความหมาย เจตนารมณ์ของทรูไลฟ์พลัส คงไม่เปลี่ยนแปลงและมุ่งมั่นรักษาสโลแกนของตนไว้เหมือนเดิม “ชีวิตมีแต่บวก” ก็เลยมีการส่งใบแจ้งหนี้บวกเพิ่มให้คุณชูชัยเข้ามาทุกเดือน กลายเป็นหนี้สะสมทบติดต่อกันมาถึง  5 เดือนนับจากวันที่น้ำท่วมเข้าบางบัวทอง จนถึงวันที่ร้องเรียน คุณชูชัยก็ยังไม่สามารถเข้าอาศัยในบ้าน ของตัวเองได้เนื่องจากอยู่ระหว่างการซ่อมแซมต้องไปหาพักอาศัยในคอนโดแห่งหนึ่งแทน จึงร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหา เรื่องนี้ได้มีการร้องเรียนไปที่สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม(สบท.)ของ กสทช.อีกทางหนึ่งด้วย เราจึงได้สอบถามความคืบหน้าไปที่ สบท. ทราบว่าหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนแห่งนี้ได้มีหนังสือถึงบริษัท ทรู ไลฟ์ พลัสฯ เพื่อขอให้พิจารณายกเว้นการเรียกเก็บค่าบริการใช้อินเทอร์เน็ตในช่วงที่ผู้บริโภคไม่สามารถใช้งานได้เนื่องจากเหตุน้ำท่วมใหญ่ทรู ได้ปรับลดค่าบริการตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 2554 ถึงรอบเรียกเก็บในเดือนมีนาคม 2555 เป็นเงิน 3,700 กว่าบาทให้ และได้มีการเริ่มต้นคิดค่าใช้จ่ายกับผู้บริโภคอีกครั้ง สอบถามคุณชูชัยได้ความว่าตอนนี้ยังอาศัยอยู่ที่คอนโดยังไม่ได้กลับเข้าบ้านเพราะบ้านยังซ่อมไม่เสร็จ จึงอยากจะทำเรื่องยกเลิกการใช้บริการอินเทอร์เน็ตและขอเงินประกันกล่อง Router คืนไปเลย แต่กล่อง Router หายไปตอนน้ำท่วมหลังทราบความต้องการของผู้บริโภค ทรูจึงทำการยกเลิกบริการอินเทอร์เน็ต และแจ้งว่าค่าประกันกล่อง Router อยู่ในความรับผิดชอบของบริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) เรื่องนี้มีความสับสนอยู่สักพัก เพราะจริงๆแล้ว กล่อง Router นั้นไม่มีการทำประกัน แต่เป็นลักษณะของการซื้อขายอุปกรณ์เมื่อใช้อินเทอร์เน็ตครบ 1 ปี กล่อง Router จะตกเป็นของผู้บริโภค ส่วนเงินที่ติดตามทวงถามคืนนั้นเป็นค่าประกันหมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งห้ามมิให้มีการเรียกเก็บเงินในลักษณะนี้ จึงได้มีการติดตามทวงถามคืนจากทีโอทีรวมจำนวน 2 เลขหมาย และท้ายที่สุดได้คืนเป็นจำนวนเงินเลขหมายละ 3,000 บาท รวมเป็น 6,000 บาทเรื่องจึงเป็นอันยุติ สวัสดี  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 พฤกษา ยอมคืนเงินผู้บริโภค เหตุสร้างบ้านไม่ได้มาตรฐาน

สำหรับคนที่จะซื้อบ้านใหม่ ซ่อมบ้านใหม่ หลังภาวะน้ำท่วม บทเรียนของผู้บริโภคเรื่องนี้น่าสนใจทีเดียวเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2553 คุณภัทรวรรธน์ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินในโครงการบ้านพฤกษา 47/2 (เทพารักษ์-หนามแดง) จ.สมุทรปราการ กับบริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด(มหาชน)บ้านที่จะซื้อจากโครงการของพฤกษา เป็นทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้น หน้ากว้าง 5 เมตร ห้องริมไม่มีหน้าต่าง อยู่บนเนื้อที่ 16.20  ตารางวา ราคารวมทั้งสิ้น 909,000 บาทกลยุทธ์การขายบ้านราคาไม่ถึง 1 ล้านของพฤกษา เรียลเอสเตท มักจะล่อลูกค้าผู้มีรายได้ปานกลางไปถึงน้อยด้วยการคิดเงินจองเงินดาวน์ในอัตราที่ไม่สูง สำหรับโครงการบ้านพฤกษา 47/2 พฤกษาเรียลเอสเตทคิดค่าจองเพียง 3,499 บาท ส่วนเงินดาวน์คิด 36,000 บาทให้แบ่งจ่าย 8 งวด งวดละ 4,500 บาท เงินค่าบ้านก้อนใหญ่ที่เหลืออีก 869,500 บาท ให้ผู้บริโภคไปหากู้เงินจากธนาคารมาจ่ายในวันนัดโอนบ้านคุณภัทรวรรธน์ทำเรื่องติดต่อธนาคารและจ่ายเงินจองเงินดาวน์มาถึง 6 งวด โครงการได้นัดเข้าไปตรวจรับบ้านเพื่อเตรียมการโอนบ้าน คุณภัทรวรรธน์จึงมอบหมายให้บริษัทตรวจรับบ้านที่มีประสบการณ์เข้าไปตรวจสภาพการก่อสร้างบ้านผลการตรวจบ้านพบปัญหาจากการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานหลายจุด ดูไม่สมกับชื่อเสียงของโครงการฯ ที่หนักหนาสาหัสที่สุดตรงที่ผนังบ้าน ไม่แน่ใจว่าช่างตาเอียงตาเหล่แค่ไหน ถึงได้ก่ออิฐบิดเบี้ยวจนทำให้ผนังบ้านซึ่งเป็นส่วนรับน้ำหนักบ้านเอียงไม่ได้ฉากและเกิดรอยร้าวอย่างเห็นได้ชัด คุณภัทรวรรธน์ จึงได้แจ้งให้โครงการฯ ทราบ ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ช่างของโครงการฯ เสนอวิธีการแก้ไขแบบง่ายแสนง่าย ว่า จะซ่อมแซมให้ด้วยการฉาบปิดรอยร้าว และฉาบปูนเพิ่มเพื่อให้กำแพงได้ฉาก คุณภัทรวรรธน์จึงสอบถามไปที่บริษัทตรวจรับบ้านว่าปัญหาผนังบ้านเอียงไม่ได้ฉาก จะใช้วิธีฉาบปูนเพิ่มเข้าไปได้หรือเปล่า ได้รับคำตอบว่า ผนังบ้านที่เอียงอย่างเห็นได้ชัดขนาดนั้นเป็นส่วนรับน้ำหนักของตัวบ้าน ซึ่งจะเกิดอันตรายในอนาคตได้ หากไม่ดำเนินการรื้อและก่อผนังขึ้นใหม่คุณภัทรวรรธน์ ได้พยายามเรียกร้องให้โครงการฯ แก้ไขงานบ้านตามที่บริษัทตรวจรับบ้านให้คำแนะนำแล้ว แต่ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน ซ้ำยังกำชับให้จ่ายค่างวดที่เหลือต่ออีก ในขณะที่ธนาคารก็นัดวันเซ็นสัญญาใกล้เข้ามา จึงปรึกษามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า จะขอให้โครงการแก้ไขต้องทำอย่างไร และยังต้องจ่ายค่างวดให้ครบและต้องรับโอนบ้านหรือไม่ แนวทางแก้ไขปัญหาถ้าผู้บริโภคคนไหนทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านหรือว่าจ้างก่อสร้างบ้านใหม่ แล้วเรื่องเดินมาถึงจุดที่พบว่าสภาพการก่อสร้างมีปัญหา คิดจะใช้วิธีไม่จ่ายค่างวดที่เหลือ หรือไม่รับโอนบ้าน กะจะใช้เป็นเงื่อนไขกดดันหวังให้เจ้าของโครงการทำการซ่อมแซมแก้ไข ต้องระวังให้ดีเพราะผลีผลามทำไปโดยไม่รู้ขั้นตอนจะตกเป็นฝ่ายผิดสัญญาถูกฟ้องคดีบังคับให้ต้องจ่ายเงินตามสัญญาที่เหลือได้โดยที่บ้านก็ไม่ได้ซ่อม หรืออาจจะสูญบ้านทั้งหลังไปเลยก็ได้หากต้องการจะหยุดส่งค่างวดหรือไม่รับโอนบ้าน โดยไม่เป็นฝ่ายผิดสัญญาเสียเอง การมีหนังสือแจ้งถึงปัญหาเพื่อให้ดำเนินการแก้ไขตามกรอบระยะเวลาที่ได้กำหนดกันไว้ในสัญญาก่อนหน้า ส่งถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทเจ้าของโครงการไปทางแฟกซ์หรือจดหมายลงทะเบียนตอบรับ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้โดยเด็ดขาด อย่าใช้ปากเรียกร้องเพียงอย่างเดียว เพราะมีแต่ลมจับต้องอะไรมาเป็นหลักฐานยืนยันในภายหลังไม่ได้ยิ่งได้ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญมาประกอบถึงการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน ยิ่งทำให้เหตุผลของฝั่งผู้บริโภคมีน้ำหนักมากขึ้น และหากความชำรุดบกพร่องนั้นเกี่ยวกับโครงสร้างหลักของตัวบ้าน เมื่อพิจารณาแล้วว่าไม่อาจทำการแก้ไขได้ตามกำหนดระยะเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเรียกเงินที่ได้ชำระไปคืนทั้งหมดได้  โดยให้ทำเป็นหนังสือบอกเลิกสัญญาส่งไปทางแฟกซ์หรือจดหมายลงทะเบียนตอบรับก็ได้หลังจากได้รับคำแนะนำ คุณภัทรวรรธน์ไม่มั่นใจในคุณภาพการก่อสร้างบ้าน จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและขอเงินคืน ซึ่งบริษัทไม่ได้งอแงอิดออดแต่อย่างใด ยอมคืนเงินทั้งหมดให้ในเวลาไม่นานท้ายที่สุดของเรื่อง หวังว่าปัญหาของบ้านหลังนี้ บริษัทฯจะได้ทำการซ่อมแซมให้ถูกต้องตามหลักมาตรฐานการก่อสร้างที่ดีก่อนนำไปขายต่อให้ใคร อย่าให้เสียชื่อกันอีกรอบเพียงเพราะบ้านไม่ได้มาตรฐานเพียงแค่หลังเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 128 ใครกันแน่ที่เป็นคนผิดสัญญา

ปัญหาเรื่องว่าจ้างสร้างบ้านบนที่ดินของตัวเองหรือที่ดินในโครงการบ้านจัดสรร สิ่งที่ผู้บริโภคมักโดนกันบ่อยๆ คือ การถูกกล่าวหาจากบริษัทรับจ้างสร้างบ้านว่าเป็นฝ่ายผิดสัญญาและถูกริบเงินจองเงินมัดจำไป แต่ขอบอก...ปัญหาแบบนี้มีทางแก้ง่ายมาก ไม่อ่านเรื่องนี้เสียใจแน่ คุณอิศราได้ทำสัญญาจองสร้างบ้านกับบริษัทเพอร์เฟค บิลเดอร์ 2001 จำกัด โดยเซลล์ให้ข้อเสนอพิเศษเป็นส่วนลด 3% จากราคาบ้านตั้งแต่ 2 ล้านถึง 5 ล้าน แถมเดินท่อ PE และมีบริการกำจัดปลวกรับประกัน 3 ปี โดยต้องวางเงินจอง 50,000 บาทในวันทำสัญญา พร้อมกับชักชวนเพื่อนไปจองเพิ่มอีก 2 ราย ซึ่งก่อนวันทำสัญญาจองเซลล์ได้นำแบบบ้านคร่าวๆ มาให้ดู แต่จะต้องมีการเลือกแบบแปลนบ้านโดยละเอียดกันอีกครั้งคุณอิศราก็เหมือนผู้บริโภคทั่วไปที่ไม่ใส่ใจในรายละเอียดของสัญญาที่มีมากมายหลายหน้า แถมตัวหนังสือก็เล็กเสียจนมดตัวน้อยๆ ยังเดินแทรกไม่ได้ จึงทำให้ไม่รู้ว่าสัญญาที่ทำไปนั้นมีกับดักกินเงินจอง 50,000 บาทวางไว้อยู่ระหว่างที่ดูแบบแปลนบ้านอยู่นั้น ก็ใช้เวลาพอสมควร จนผ่านไป 2 เดือน คุณอิศราก็ได้รับการติดต่อจากบริษัทฯให้เข้าไปพูดคุยกัน โดยแจ้งว่าเซลล์ได้ลาออกแล้ว และไม่สามารถให้ส่วนลด 3% ได้ เนื่องจากคุณอิศราผิดสัญญาการจองสร้างบ้าน งง...บอกได้คำเดียวว่า งง นี่ฉันผิดสัญญาได้ไง บริษัทฯ จึงงัดข้อความในสัญญาขึ้นมาอ่านให้ฟังว่า “ผู้จองต้องทำการสรุปแบบและเข้าทำสัญญาจ้างกับบริษัทฯ ภายใน 30 วัน นับแต่วันจอง” กับอีกข้อบอกว่า“หากผู้จองได้วางเงินจองแล้ว แต่ไม่มีความประสงค์ที่จะทำสัญญาก่อสร้างบ้านกับบริษัทฯ ภายใน 30 วัน ผู้จองทราบดีว่า จะได้รับเพียงเอกสาร(ประกอบการขอจอง)จากทางบริษัทฯ เท่านั้น” สรุปง่ายๆ คือ สัญญาบังคับให้ผู้จองต้องรีบสรุปแบบและเข้าทำสัญญาภายใน 30 วัน หากพ้นกำหนดไปก็จะได้รับแต่เอกสารกลับบ้าน ส่วนเงินจอง 50,000 บาทโครงการขอริบเข้ากระเป๋า “สัญญาแบบนี้เป็นสัญญาไม่เป็นธรรม แบบแปลนบ้านยังไม่เสร็จสมบูรณ์ จะให้เข้าไปเซ็นสัญญาได้ไง” คุณอิศราโวย หลังจากนั้นจึงได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาและขอคืนเงินจอง ซึ่งบริษัทฯ ตกลงที่จะคืนเงินจองให้ แต่แจ้งว่าต้องมีการหักค่าใช้จ่ายบางส่วนออกไปเนื่องจากการทำงานและค่าภาษี เหลือเงินที่ต้องคืน 41,728 บาท และได้ออกเช็คให้ คุณอิศราใจเด็ด บอกไม่รับเงื่อนไขการคืนเงินแบบนี้ ต้องการให้บริษัทฯ คืนเต็มจำนวน 50,000 บาทเท่านั้น เพราะเพื่อนทั้งสองคนที่บอกเลิกสัญญาเหมือนกันก็ได้รับคืนเงินเต็มจำนวน จึงไม่เข้าใจว่าทำไมบริษัทฯ จึงมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเฉพาะตนเท่านั้นเมื่อคุยตกลงกันไม่ได้คุณอิศราจึงนำเรื่องมาร้องขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหา หัวใจของการแก้ปัญหาลักษณะนี้อยู่ที่การชิงทำหนังสือบอกเลิกสัญญา ใครทำก่อนย่อมได้เปรียบนิดๆเมื่อผู้บริโภคมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปแล้ว และบริษัทยอมคืนเงินให้แต่ขอกั๊กไว้ส่วนหนึ่งอ้างว่า มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นเป็นค่าภาษีกับค่าจ้างเหมา มูลนิธิฯ ก็อยากจะรู้ว่าเป็นความจริงมากน้อยแค่ไหน จึงได้มีหนังสือถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท เพอร์เฟค บิวเดอร์ฯ เชิญร่วมประชุมเพื่อเจรจาไกล่เกลี่ย หากบริษัทฯ มีค่าเสียหายเกิดขึ้นจริงก็จะได้ช่วยคุยให้ผู้บริโภคได้เข้าใจ แต่ความปรารถนาดีของมูลนิธิฯ ถูกบริษัทฯ ตอบปฏิเสธ โดยแจ้งถึงเงื่อนไขข้อสัญญาต่างๆ และกล่าวหาว่าผู้บริโภคเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่เร่งไม่รีบดูแบบแปลนบ้านให้เรียบร้อยภายใน 30 วัน บริษัทฯ ได้พยายามติดต่อผู้บริโภคไปหลายครั้ง แต่ติดต่อไม่ได้ จนเวลาล่วงมาได้ 2-3 เดือนถึงสามารถติดต่อได้ บริษัทฯ มีสิทธิริบเงินมัดจำได้เต็มสิทธิของกฎหมาย คำตอบแข็งทื่อมาแบบนี้ มูลนิธิฯ ก็จำเป็นต้องเตรียมจัดหนักเพื่อฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคเรียกค่าเสียหายให้กับผู้บริโภคทันที แต่ในระหว่างนั้นก็พยายามเจรจากับบริษัทฯ บอกว่าเหตุที่ล่าช้าไม่ได้เป็นเพราะความบกพร่องของผู้บริโภค แต่เป็นเพราะความล่าช้าของบริษัทเองที่ไม่แก้แบบแปลนบ้านให้สมบูรณ์เรียบร้อยทันเวลาให้บริษัทตรวจสอบและกลับไปพิจารณาให้ถ้วนถี่อีกครั้ง ส่วนคุณอิศรา เธอก็สุดยอดมาก เธอรู้จักกับเจ้าหน้าที่สรรพากร จึงขอให้ตรวจสอบว่า บริษัทฯ นี้มีการเสียภาษีเงินจองบ้านกันหรือไม่ ปรากฏว่าไม่มี และกรรมการผู้จัดการได้ถูกสรรพากรเรียกเข้าไปพูดคุยแล้ว เมื่อโดนบีบหลายทางเข้า และคงได้คิดว่าจะหวงทำไมกับเงินแค่ 8,000 กว่าบาท แล้วจะพาให้เสียหายไปมากขึ้น ท้ายสุดจึงยอมคายเงินจองให้ผู้บริโภคครบทั้ง 5 หมื่นบาท “ตลอดเวลาที่เกิดข้อขัดแย้งระหว่างดิฉันกับบริษัทฯ มูลนิธิฯได้ช่วยประสานทำความเข้าใจและให้ความช่วยเหลือดิฉันเป็นอย่างดียิ่ง ดิฉันจึงขอขอบคุณมูลนิธิฯ เป็นอย่างสูงในความอนุเคราะห์ครั้งนี้ ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิทั้งหลายในสากลโลก ได้โปรดดลบันดาลประทานพรให้เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิทุกท่านประสบแต่ความสุขสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผลในสิ่งอันพึงปรารถนาทุกประการ และขอให้มูลนิธิเป็นองค์กรที่เป็นที่พึ่งของผู้บริโภคที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมตลอดไป” เมื่อได้อ่านคำอวยพรนี้กันถ้วนหน้า บรรดาเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ในส่วนศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ต่างพากันก้มกราบรับพรด้วยความซาบซึ้งตื้นตัน พร้อมตั้งปณิธานไว้ในใจว่าสักวัน(บางคนขอเน้นวันที่ 1 กับวันที่ 16)  ขอให้สมปรารถนากับเขาบ้างสักครั้ง สาธุ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 127 แสนสิริแพ้คดีบ้านไม่ได้มาตรฐาน ชดใช้ค่าเสียหายกว่า 2 แสนบาท

 ที่มาที่ไปของเรื่องนี้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2548ในวันนั้น ด้วยความชื่นชมหลงใหลในแบบบ้านและคำโฆษณาของโครงการบ้านเศรษฐศิริ-รามอินทรา ซึ่งรับประกันคุณภาพด้วยชื่อเสียงของบริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน) คุณสุริยุ  และครอบครัวได้ตัดสินใจทำสัญญาซื้อบ้านหนึ่งหลังจากโครงการฯ ราคา 6,690,000 บาท พร้อมรับประกันการซ่อมแซม 1 ปีเมื่อรับโอนกรรมสิทธิบ้านกันเรียบร้อย คุณสุริยุก็ฮัมเพลง “บ้านคือวิมานของเรา” ขนข้าวของและพาสมาชิกครอบครัวเข้าพักอาศัยด้วยหัวใจอิ่มเอิบสมหวังแต่อยู่มาไม่นานสมาชิกของบ้านหลังนี้ก็ค่อยๆ พบว่า บ้านมีจุดชำรุดบกพร่องหลายแห่งผู้เสียหายได้พบว่า บ้านราคาเหยียบ 6.7 ล้านบาทหลังนี้มีความชำรุดบกพร่องหลายแห่งเวลาฝนตกหนักๆ น้ำรั่วเข้าห้องแม่บ้านทุกครั้ง ทำให้วอลเปเปอร์และเฟอร์นิเจอร์ในห้องได้รับความเสียหายเมื่อช่วยดูกันดีๆ พบว่าน้ำฝนรั่วเข้าทางวงกบประตูและหน้าต่าง ส่วนหลังคาด้านระเบียงบ้านชั้นล่างก็มีน้ำฝนรั่วซึม นอกจากนี้ยังมีการแตกร้าวของปูนตามผนังรอบตัวบ้าน ผนังบันไดและรั้วบ้าน มีการแตกร้าวของประตูห้องนอนและห้องน้ำ และยังพบว่าขนาดของประตูไม่มาตรฐานตามที่ใช้ในท้องตลาดต้องสั่งทำพิเศษ ส่วนชานบันไดชั้นสองช่างติดตั้งไม่ได้มาตรฐานเวลาเดินมีเสียงดังออดแอด พอขึ้นไปดูชั้นสอง พื้นชั้นสองปูด้วยไม้วีเนียร์ ปูไม่แน่นทำให้เวลาเดินพื้นจะยุบตัวลงและมีเสียงดัง ขณะที่ตามรายการวัสดุมาตรฐานท้ายสัญญาจะซื้อจะขายระบุว่าต้องเป็นพื้นไม้ปาร์เก้ แต่ที่เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดซึ่งมาพบในภายหลัง คือ มีการก่อสร้างบ้านผิดแบบแปลนจากที่ได้ทำสัญญาตกลงกัน จึงทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ที่ว่ามา เนื่องจากแบบแปลนบ้านไม่ตรงนั่นเอง คุณสุริยุ จึงได้แจ้งให้บริษัทฯ เข้ามาซ่อมแซมและแก้ไข ซึ่งบางแห่งก็สามารถซ่อมแซมได้  แต่บางแห่งซ่อมแซมแล้วอาการยังเป็นเหมือนเดิม คุณสุริยุได้แจ้งบริษัทฯ มาตลอดเพื่อให้ซ่อมแซมอาการชำรุดให้แล้วเสร็จ แต่บริษัทฯไม่ดำเนินการแก้ไข  และพยายามผัดวันประกันพรุ่งมาตลอดท้ายสุด จึงตัดสินใจนำเรื่องยื่นฟ้องบริษัท แสนสิริฯ เป็นคดีผู้บริโภคที่ศาลแขวงมีนบุรีด้วยตนเอง เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน  2552   ฐานผิดสัญญา เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน  258,448  บาท  และขอให้ศาลมีคำสั่งให้บริษัทฯ ต้องส่งมอบแปลนบ้านที่ถูกต้องให้ด้วย หรือหากส่งมอบไม่ได้ให้ชดใช้ราคาเป็นเงิน  20,000 บาทแทนฝ่ายบริษัทแสนสิริที่ตกเป็นจำเลย ได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีปฏิเสธความรับผิด โดยอ้างว่าการก่อสร้างเป็นไปตามแบบแปลนและยกเรื่องอายุรับประกันบ้านขึ้นต่อสู้ว่าการรับประกันการซ่อมเนื่องจากการก่อสร้างนั้นมีกำหนดระยะเวลาถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2549  เท่านั้น และยังอ้างว่าบ้านชำรุดบกพร่องเกิดจากการใช้งาน หรือการเสื่อมสภาพตามธรรมชาติของวัสดุซึ่งเจ้าของบ้านมีหน้าที่ต้องดูแลระมัดระวังและบำรุงรักษาในระหว่างการใช้งาน จึงขอปฏิเสธค่าเสียหายที่เรียกมา ขอชดใช้ค่าเสียหายเพียง 30,000 บาทศาลแขวงมีนบุรีได้นัดไกล่เกลี่ย 3 ครั้ง ในช่วงเดือน มกราคม , มีนาคม และ พฤษภาคม 2553  ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ ศาลจึงนัดสืบพยานจำเลยและสืบพยานโจทก์ในวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2554แม้การฟ้องคดีผู้บริโภค ผู้บริโภคจะสามารถฟ้องคดีด้วยตนเองได้โดยไม่ต้องใช้ทนายความ แต่เมื่อถึงขั้นที่ต้องพิจารณาคดีมีการสืบพยานกัน ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็ไปไม่เป็นเหมือนกัน คุณสุริยุจึงร้องมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องมาถึงขั้นนี้ จำเป็นต้องส่งผู้บริโภคให้ถึงฝั่ง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงต้องจัดหนักทนายความจากศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภคของมูลนิธิฯ ได้เข้าช่วยเหลือผู้บริโภครายนี้ในการพิจารณาคดี  และมีการสืบพยานเสร็จสิ้นในวันที่ 1 เมษายน 2554 วันที่ 26 พฤษภาคม 2554 คือวันประกาศชัยของผู้บริโภคศาลนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาตัดสินให้บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคเป็นเงิน 196,674.18 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันที่ฟ้องเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2552 จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ส่งมอบแบบแปลนที่ถูกต้องให้แก่ผู้บริโภค  หรือถ้าไม่ส่งมอบก็ให้ใช้ราคาค่าจ้างเขียนแบบแปลนใหม่แทนจำนวน  20,000  บาท  พร้อมให้บริษัทจ่ายค่าทนายความจำนวน 5,000 บาท แทนผู้บริโภคด้วย ถือเป็นคำพิพากษาที่ค่อนข้างจัดหนักเช่นกัน บริษัท แสนสิริ ในฐานะจำเลยไม่อุทธรณ์  ยอมชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้บริโภคทั้งหมดที่ศาลมีนบุรีในวันที่ 7 กันยายน 2554“รู้สึกพอใจคำพิพากษาอย่างมากที่ทำให้ผู้ประกอบการรู้ว่า  ไม่ควรเอาเปรียบผู้บริโภค  และคิดว่ากระบวนการทางกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้กับผู้บริโภคใช้สิทธิได้อย่างเต็มที่  และขอบคุณมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ให้ความช่วยเหลือด้านคดีโดยจัดหาทนายความให้  และสนับสนุนให้มีองค์กรที่เป็นประโยชน์ให้อยู่คู่กับผู้บริโภคต่อไป” คุณสุริยุกล่าวด้วยความซาบซึ้ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 124 กู้แบงค์ผ่าน แต่คุณภาพบ้านไม่ผ่าน อยากบอกเลิกสัญญาขอเงินค

  เป็นปัญหาเรื่องบ้านๆ ที่ฉีกไปอีกมุม แต่น่าสนใจไม่แพ้ในหลายเรื่องที่เคยนำเสนอไปคุณสุปราณี ส่งแฟกซ์ขอคำปรึกษามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเมื่อประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมาเธอเล่าว่า เมื่อประมาณวันที่ 27 พฤศจิกายน 2553 ได้เข้าไปดูตัวอย่างบ้านที่โครงการโฮมการ์เด้นวิลล์-บายพาส ของบริษัท อิมเมจ พร็อพเพอร์ตี้ ทู จำกัด ซึ่งตั้งสำนักงานขายอยู่ที่ถนนรัตนพิธาน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมาดูแบบบ้านตัวอย่าง เห็นรายการของแถมต่างๆ พิจารณาราคาบ้านและที่ดินตก 1.6 ล้าน แถมโครงการยังมีสัญญาที่มีเงื่อนไขว่า หากกู้ธนาคารไม่ผ่าน 90% ของราคาบ้านและที่ดิน โครงการยินดีคืนเงินจองเงินทำสัญญาให้ลูกค้าทันทีคุณสุปราณีเธอปิ๊งทันทีครับ เห็นสัญญาและเงื่อนไขแบบนี้ จึงตกลงวางเงินจองเงินทำสัญญารวม 40,000 บาทในวันนั้นทันทีคุณสุปราณี คงเป็นคนที่มีเครดิตดีมากในสายตาของธนาคาร เพราะผลการอนุมัติเงินกู้จากธนาคารผ่านเกิน 90% ของราคาบ้านและที่ดิน จึงโทรไปแจ้งโครงการเพื่อนัดโอนบ้านในช่วงบ่ายของวันที่ 27 มกราคม 2554 และไม่ลืมแจ้งกับโครงการว่าจะขอเข้าตรวจเช็คสภาพความเรียบร้อยของบ้านก่อนในช่วงเช้าของวันที่นัดหมายโอนบ้านการขอดูความเรียบร้อยของบ้านก่อนโอนถือเป็นความรอบคอบที่คุ้มค่ามาก ในวันที่ 25 มกราคมก่อนถึงวันโอนบ้าน 2 วัน คุณสุปราณีไปเซ็นสัญญาเงินกู้กับธนาคารเพื่อเตรียมจ่ายเช็คให้กับโครงการตามวันที่นัดไว้ แต่พอได้ไปดูสภาพบ้านในช่วงเช้าของวันโอน ก็ต้องร้องโอย...เพราะสภาพบ้านยังไม่เรียบร้อย ช่างไม่มีการเก็บงานและยังไม่ติดตั้งของแถมให้ตามเงื่อนไข ตัดสินใจเซย์โนไม่โอนบ้านทันที วันรุ่งขึ้นโทรศัพท์ไปแจ้งเซลล์ว่าขอยกเลิกไม่โอนบ้าน วันที่ 2 กุมภาพันธ์ เดินทางเข้าไปเซ็นเอกสารขอเงินค่าทำสัญญาคืน แต่พอถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ เซลล์โทรมาแจ้งว่าบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว และไม่คืนเงินทั้งหมดให้คุณสุปราณีจึงส่งเรื่องมาขอคำปรึกษาว่าจะทำอย่างไรดี เพราะเสียความรู้สึกไปตั้งแต่ทีแรกแล้วกับการดำเนินการของโครงการ แนวทางแก้ไขปัญหาการที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่สามารถสร้างบ้านให้เสร็จเรียบร้อยได้ในระยะเวลาที่กำหนดกันไว้ตามสัญญา แม้จะหลุดไปเพียงแค่วันหรือสองวัน ผู้บริโภคมีสิทธิใน 2 ทางเลือก คือ จะรับโอนบ้านหรือยืนยันบอกเลิกสัญญาขอเงินจองเงินทำสัญญาคืนก็ได้เข้าใจว่า คุณสุปราณี เธอคงไม่แน่ใจในคุณภาพบ้านว่าจะเรียบร้อยจริงหรือเปล่าตามที่เซลล์บอกมา และไม่อยากเสียเวลากับโครงการ จึงยืนยันเจตนาที่จะขอบอกเลิกสัญญาและขอเงินค่าทำสัญญาคืน เราจึงแนะนำให้ทำจดหมายบอกเลิกสัญญาขอเงินคืนแจ้งถึงกรรมการผู้จัดการฝั่งผู้ประกอบธุรกิจไปให้ชัดแจ้ง พร้อมเขียนท้ายจดหมายว่าสำเนาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยไม่ต้องไปส่งด้วยตัวเอง แต่ให้ใช้วิธีส่งเป็นจดหมายลงทะเบียนตอบรับไปไม่นาน...คุณสุปราณีก็ได้รับเงินคืนตามข้อเรียกร้องเป็นที่เรียบร้อย ถือเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับฝั่งผู้ประกอบธุรกิจว่า “สัญญาต้องเป็นสัญญา” ถ้าไม่รักษาสัญญากับผู้บริโภคที่มีความฉลาดขึ้น รับประกันว่าขายสินค้าไม่ได้แน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 124 เขียนจดหมายสองฉบับ ช่วยสร้างบ้านให้เสร็จได้

“เหนือกว่า...ด้วยประสบการณ์”สโลแกนรับจ้างสร้างบ้านของซีคอนโฮมที่ดำเนินการโดยบริษัท ซีคอน จำกัด น่าจะสร้างความประทับใจให้กับคนอยากมีบ้านหลังงามบนที่ดินของตัวเองหลายคน และสองแม่ลูกอย่างคุณชไมพรและคุณแม่เพียงพร ก็น่าจะรวมอยู่ในคนจำนวนนั้นด้วย ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2551 คุณชไมพรพร้อมคุณแม่ได้ไปทำสัญญารับเหมาก่อสร้างบ้านกับบริษัท ซีคอน จำกัด ให้สร้างบ้านหนึ่งหลังบนที่ดินของตัวเองเนื้อที่ 52 ตารางวาเศษ โดยซีคอนตกลงจะก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จภายใน 360 วัน คิดค่าวัสดุอุปกรณ์ ค่าแรง รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม เบ็ดเสร็จแล้วอยู่ที่ 5.1 ล้านบาทเศษๆสองแม่ลูกต้องวางเงินในวันทำสัญญาจำนวน 7 แสนบาทเศษ ส่วนที่เหลืออีก 4.3 ล้านบาท สัญญากันว่าจะแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ อีก 6 งวดตามความก้าวหน้าของเนื้องานก่อสร้าง และหากบริษัทฯ ทำงานไม่แล้วเสร็จตามกำหนดโดยที่มิใช่ความบกพร่องของผู้ว่าจ้าง หรือเหตุสุดวิสัย บริษัทฯ ยินยอมให้ปรับได้วันละ 1 พันบาทเศษต่อมาผู้รับเหมาก่อสร้างของบริษัทฯ ได้ทำการสร้างบ้าน และมีการชำระเงินตามงวดสัญญาเรื่อยมา แม้บางช่วงจะเจอปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงาน แต่บริษัทซีคอนก็ได้จัดหาผู้รับเหมารายใหม่มาดำเนินการแก้ไขและสร้างบ้านต่อไปได้ ต่อมาคุณชไมพรเริ่มพบปัญหาการก่อสร้างเกิดขึ้นในหลายๆ จุด ทั้งงานโครงสร้าง งานผนัง งานสี งานไม้ ที่มีรอยแยก รอยแตก รอยปูด รอยบวม เห็นแล้วให้กลุ้มใจ จึงต้องแจ้งให้บริษัททราบและให้ผู้รับเหมาแก้ไข ในขณะที่ผู้รับเหมาทำบ้านไปซ่อมไปนั้น บริษัทฯ ก็ร้องขอให้คุณแม่ของคุณชไมพรชำระค่างวดตามสัญญาเรื่อยมาจนถึงงวดที่ 6 งวดสุดท้าย คุณแม่ของคุณชไมพรก็เห็นใจผู้รับเหมาที่ต้องได้เงินไปจ่ายลูกน้อง จึงชำระเงินงวดที่ 6 แล้วเซ็นชื่อรับงานให้ไป โดยยังมีเงินค่างวดค้างอยู่อีก 26,900 บาท กะว่าจะจ่ายเมื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่แจ้งไปก่อนหน้านั้นให้เรียบร้อย ซึ่งต่อมาได้มีหนังสือมาจากบริษัทฯ แจ้งว่าแม้พ้นระยะเวลาการมอบบ้านไปแล้ว บริษัทฯ ยังยินดีที่จะแก้ไขงานให้เป็นกรณีพิเศษ แต่ปรากฏว่าแทนที่จะมีการแก้ไขงานให้เรียบร้อยกลับถูกบริษัทฯ ยื่นจดหมายทวงเงินที่ค้าง หากไม่จ่ายจะส่งเรื่องให้กฎหมายดำเนินการต่อไปพอคุณชไมพรได้รับจดหมายดังกล่าวก็ตกใจ รีบเดินทางมาปรึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทันที แนวทางแก้ไขปัญหาการว่าจ้างก่อสร้างบ้าน มักจะทำสัญญาแบ่งจ่ายเงินกันเป็นงวดๆ โดยใช้ความคืบหน้าของงานเป็นตัววัดผลว่าจะต้องจ่ายงวดต่อไปหรือไม่ ดังนั้นผู้ว่าจ้างจึงต้องติดตามความคืบหน้าของงานตามงวดสัญญาอย่างละเอียด หากพบว่างานส่วนไหนไม่เรียบร้อยจะต้องแจ้งรายละเอียดของปัญหาให้ผู้รับเหมาทราบและแก้ไขทันที โดยทำเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น เอกสารนี้จะใช้เป็นหลักฐานคุ้มครองผู้ว่าจ้างในกรณีที่ไม่ชำระเงินค่างวด และทำให้ผู้รับเหมาต้องดำเนินการก่อสร้างให้เรียบร้อยตามสัญญาเพื่อจะได้รับเงินค่างวดตามสัญญาต่อไปแม้คุณแม่คุณชไมพรจะเซ็นรับงานและชำระเงินงวดสุดท้ายไปส่วนหนึ่งแล้ว แต่เมื่องานยังไม่เรียบร้อยและยังมีหนังสือจากบริษัทฯ รับรองว่าจะแก้ไขงานให้เป็นกรณีพิเศษ เราจึงแนะนำให้คุณชไมพรทำหนังสือทักท้วงแจ้งไปที่บริษัทฯ เพื่อขอให้มาแก้ไขงานให้เรียบร้อยก่อนที่จะชำระเงินที่เหลือกันหลังได้รับคำแนะนำคุณชไมพรจึงได้ทำหนังสือทักท้วงทวงถามงานแก้ไขส่งไปที่บริษัทฯ ทันที ไม่นานเราก็ได้รับข่าวดีแจ้งจากคุณชไมพรว่า “วันนี้ผู้คุมงานมาพร้อมช่างเพื่อเก็บงานต่อค่ะ และบอกว่าจะมาอีกในวันอังคารหน้า คำแนะนำและร่างจดหมายฉบับนี้และฉบับก่อนหน้า ช่วยปกป้องสิทธิผู้บริโภคได้มากเลยค่ะ ขอบพระคุณมากๆ ค่ะ”ถามว่า ถ้าไม่มีการส่งจดหมายทักท้วงเอาแต่โวยวายกันทางโทรศัพท์ ใส่ด้วยอารมณ์ล้วนๆ ก็จะเข้าทางผู้รับเหมาทันทีว่า บ้านนั้นสร้างเสร็จเรียบร้อยได้มาตรฐานดีแล้วเพราะคุณชไมพรและคุณแม่ไม่ได้เขียนตอบจดหมายทักท้วงกลับมา กลายเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ที่ค้างอยู่ อย่างนี้บ้านก็ไม่ได้ซ่อม ตัวเองก็ถูกฟ้อง และเงินก็ต้องจ่ายเต็มๆในท้ายที่สุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 รถมือสองถูกปรับแก้ไมล์หลอกขายผู้บริโภค

คุณณัฐสุดา ได้ติดต่อซื้อรถยนต์มือสองยี่ห้อโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ รุ่นปี 2006 ผ่านทางเว็บไซต์ตลาดรถดอทคอม ผู้ประกาศขายรถคือนายณรงค์ศักดิ์ ลงโฆษณาว่าเป็นรถบ้านเจ้าของขายเอง และแจ้งว่ารถใช้งานวิ่งได้ระยะทางเพียงแค่ 75,000 กิโลเมตร “เมื่อดิฉันได้ไปดูสภาพรถ ปรากฏเลขไมล์ที่ระยะทางประมาณ 76,000 กิโลเมตร ก็ได้ต่อรองราคาจากราคาโฆษณา 820,000 บาท เหลือราคา 815,000 บาท” หลังจากนั้นคุณณัฐสุดาได้ติดต่อขอสินเชื่อจากไฟแนนซ์แห่งหนึ่ง จนสามารถทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับไฟแนนซ์ได้สำเร็จในเดือนตุลาคม 2553 และมีการรับมอบโอนกันเรียบร้อยที่ขนส่งทางบก กรุงเทพฯ คุณณัฐสุดาจึงนำรถกลับบ้าน ต่อมาในเดือนมกราคม 2554 รถมีปัญหาเร่งไม่ขึ้นและสัญญาณเตือนถอยหลังไม่ทำงาน คุณณัฐสุดาจึงนำรถไปเข้าศูนย์โตโยต้าที่จังหวัดปทุมธานี ช่างได้ทำการตรวจเช็คและมาแจ้งคุณณัฐสุดาว่า รถถูกปรับแก้ไมล์จากระยะทางจริงคือ 240,000 กิโลเมตร/ไมล์ และรถต้องทำการเปลี่ยนซ่อมหลายอย่าง ความลับของรถยนต์ที่ถูกเปิดเผยทำให้คุณณัฐสุดา ต้องจ่ายค่าซ่อมไปร่วม 2 หมื่นกว่าบาท คุณณัฐสุดาได้โทรศัพท์ติดต่อไปที่นายณรงค์ศักดิ์ผู้ขายรถ แต่นายณรงค์ศักดิ์ปฏิเสธความรับผิดชอบ คุณณัฐสุดาจึงต้องร้องเรียนมาขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในท้ายที่สุด แนวทางแก้ไขปัญหา มีหลักฐานค่าหนังคาเขา ว่ารถถูกปรับแก้ไมล์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงได้ให้คำแนะนำแก่คุณณัฐสุดาว่า สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นคดีผู้บริโภคได้ คุณณัฐสุดาบอกว่าจะลองให้โอกาสแก่ผู้ขายอีกสักครั้งเพื่อให้แสดงความรับผิดชอบ หากไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ จะใช้สิทธิฟ้องร้องอย่างแน่นอน พอคุณณัฐสุดาบอกว่าจะฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคและฟ้องเป็นคดีอาญาด้วยที่หลอกขายสินค้าแน่ๆ หากไม่รับผิดชอบ ทางผู้ขายจึงเสนอที่จะชดใช้เงินให้จำนวน 1 แสนบาท คุณณัฐสุดาจึงตกลงและได้รับเงินชดใช้ในความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นที่เรียบร้อยเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี่เอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 118 โอนบ้านแล้วเกือบปี กลับถูกฟ้องเรียกเงินจองเงินทำสัญญาย้อนหลัง

อย่างนี้ก็มีด้วย...โครงการบ้านเป็นฝ่ายบอกลดเงินจอง เงินทำสัญญาให้ ผู้บริโภคจึงตัดสินใจซื้อบ้าน จนมีการจ่ายเงินค่าบ้านค่าที่ดินและโอนรับบ้านกันเรียบร้อย แต่กลับถูกโครงการติดตามทวงหนี้ย้อนหลังอ้างยังได้เงินจองเงินทำสัญญาไม่ครบคุณศิริวรรณ ผู้บริโภคที่ประสบเหตุเล่าว่า เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2551 ได้ไปชมโครงการหมู่บ้านพร้อมพัฒน์ ในเครือแสนสิริของบริษัท อาณาวรรธน์ จำกัด โดยขอเข้าชมบ้านตัวอย่างของโครงการฯ โดยมีพนักงานขายพาชมบ้านตัวอย่างดิฉันได้สอบถามข้อมูลเงินจองและเงินทำสัญญา พนักงานขายบอกว่า เงินจอง 20,000 บาท และเงินทำสัญญา 50,000 บาท ดิฉันบอกจะมาดูใหม่อีกครั้ง พนักงานขายจึงบอกว่าถ้าจองภายในวันนั้น เงินจองจะลดเหลือ 10,000 บาท และเงินทำสัญญาเหลือ 40,000 บาท ดิฉันจึงได้ตัดสินใจวางเงินจองบ้าน ด้วยราคา 10,000 อีกประมาณ 2 เดือนไปจ่ายเงินทำสัญญา 40,000 บาท (ใบเสร็จออกรวม 50,000 บาท )จากนั้นได้ดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเรื่องให้ทางธนาคารพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ และจ่ายเงินก้อนสุดท้ายในวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ เมื่อถึงวันนัดโอนวันที่ 28 พฤศจิกายน 2551 คุณศิริวรรณได้ไปที่สำนักงานที่ดิน เพื่อทำธุรกรรมโอนกรรมสิทธิ์ และมีการส่งมอบโฉนดแลกเปลี่ยนกับเช็คด้วยจำนวนที่แจ้งไว้เป็นที่เรียบร้อย โดยพนักงานบริษัทฯ มิได้ท้วงติงถึงเรื่องเงินจองบ้านแต่อย่างใดหลังจากนั้นไม่เท่าไหร่ ประมาณเดือนมกราคม 2552 คุณศิริวรรณได้รับโทรศัพท์แจ้งให้จ่ายค่าเงินจอง และเงินทำสัญญาที่ยังค้างอยู่ จำนวนเงินรวม 20,000 บาท คุณศิริวรรณรู้สึกแปลกใจจึงปรึกษากันกับคนที่บ้านว่า เป็นมิจฉาชีพในคราบของพนักงานขายหรือเปล่า เนื่องจากบ้านมีการโอนกรรมสิทธิ์จากเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ เรียบร้อยแล้ว และยอดเงินดังกล่าว พนักงานขายของบริษัทฯ บอกว่าเป็นส่วนลด หากยังค้างชำระเงินจองจริง บริษัทฯ ต้องแจ้งมาในใบรายละเอียดค่าใช้จ่าย หรือไม่ยอมโอนกรรมสิทธิ์ให้ อย่างแน่นอน จากนั้นเรื่องก็หายเงียบไป จนถึงเดือนกรกฎาคม 2553 คุณศิริวรรณได้รับจดหมายแจ้งเตือน ขอให้ชำระหนี้จำนวนรวม 20,000 บาท ให้แก่ บริษัท อาณาวรรธน์ จำกัด ภายใน 7 วัน ซึ่งจดหมายดังกล่าวไม่มีข้อความแจ้งแหล่งที่มาของจดหมาย ไม่มีชื่อบริษัทฯ ไม่มีตราประทับและไม่มีที่อยู่ให้ติดต่อกลับ เป็นเพียงซองสีขาวเปล่าๆ มีเพียงเบอร์โทรศัพท์มือถือ( Mobile)ไว้ให้เท่านั้น คุณศิริวรรณเกรงว่าจะเป็นมิจฉาชีพสวมรอยจึงมิได้ติดต่อกลับไปจนถึงเดือนกันยายน 2553 บริษัท อาณาวรรธน์ได้ยื่นฟ้องคุณศิริวรรณเรื่องผิดสัญญาซื้อขายบ้านและที่ดิน เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 20,000 บาทเศษ คุณศิริวรรณไม่รู้จะทำอย่างไรจึงได้ร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหาหลังได้ตรวจสอบคำฟ้องของฝ่ายโจทก์คือ บริษัท อาณาวรรธน์ จำกัด แล้ว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงได้มอบหมายให้ศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภคเข้าช่วยเหลือผู้ร้องโดยทันที โดยทนายความอาสาได้เขียนคำให้การให้กับผู้บริโภคเพื่อนำไปยื่นต่อศาล ด้วยตนเองโดยคำให้การของผู้บริโภคได้ยืนยันว่า ผู้บริโภคได้จ่ายเงินจองเป็นจำนวน 10,000 บาท และเงินทำสัญญาจำนวน 40,000 บาทตามจำนวนที่ได้รับส่วนลดจากพนักงานขายของบริษัทฯ โดยจ่ายผ่านบัตรเครดิตและเช็คตามลำดับ และในวันที่ทำสัญญาเมื่อจ่ายเงินทำสัญญาไปเรียบร้อยแล้ว ทางโครงการยังมอบสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินของโครงการและในสัญญาได้ระบุอย่างชัดเจนว่าผู้บริโภคได้ชำระเงินจองและเงินทำสัญญาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในหนังสือสัญญาขายที่ดินก็ระบุว่าผู้บริโภคในฐานะผู้ซื้อได้ชำระและผู้ขายได้รับค่าที่ดินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงขอให้ศาลได้พิจารณายกฟ้อง  เมื่อเห็นคำให้การของฝ่ายผู้บริโภค ทนายความของผู้ประกอบธุรกิจจึงต้องขอเลื่อนนัดศาลออกไปเพื่อขอตั้งหลัก เพราะไม่คิดว่าผู้บริโภคจะแข็งข้อลุกขึ้นต่อสู้คดีได้ดังนั้น หากผู้บริโภครายใดเจอเหตุการณ์เช่นนี้ อย่าผลีผลามจ่ายเงินให้ผู้ประกอบธุรกิจ ควรตรวจสอบให้ถ้วนถี่และรีบติดต่อมาที่มูลนิธิฯ โดยทันที ผลของคดีนี้มีความคืบหน้าอย่างไร จะแจ้งให้ทราบเป็นบทเรียนโดยทั่วกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 118 ชาวบ้านร้องขี้ไก่เหม็น

แต่โดนนายทุนฟาร์มไก่ฟ้อง เรียกเงิน 2.3 ล้านฟาร์มไก่ขนาดยักษ์ ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 2.3 ล้านบาทกับชาวบ้าน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา รวม 27 รายฐานแจ้งเท็จและหมิ่นประมาท กล่าวหาฟาร์มมีขี้ไก่เหม็นสร้างเดือดร้อนรำคาญไม่หยุดหย่อนเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2553 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากตัวแทนชาวบ้านอำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ว่ามีชาวบ้านในเขตตำบลลาดกระทิงจำนวน 27 รายถูกบริษัท บุญแปด จำกัด ของ นายบุญยง ศรีไตรราศรี หนึ่งในกรรมการบริหารสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ ดำเนินคดีฟ้องร้องต่อศาลจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นคดีอาญาเกี่ยวเนื่องคดีแพ่ง ฐานความผิดคือแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและหมิ่นประมาท เรียกร้องค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 2,300,000 บาท โดยมีชาวบ้านจำนวน 26 รายถูกเรียกค่าเสียหายรายละ 50,000 บาท และอีกหนึ่งรายซึ่งเป็นแกนนำถูกเรียกค่าเสียหาย 1,000,000 บาท ขอให้มูลนิธิฯ ได้จัดทนายความอาสาเข้าช่วยเหลือในกระบวนการพิจารณาคดีด้วยจุดเริ่มต้นของปัญหา เกิดขึ้นเมื่อปี 2549 เมื่อบริษัท บุญแปด จำกัด ได้เข้ามาประกอบกิจการเลี้ยงไก่ไข่ในพื้นที่ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยได้รับใบอนุญาตจากองค์การบริหารส่วนตำบลลาดกระทิง(อบต.ลาดกระทิง) ให้ประกอบกิจการเลี้ยงไก่ จำนวน 2 โรงเรือน สามารถเลี้ยงไก่ไข่ได้ 100,000 ตัวกิจการเลี้ยงไก่นั้น ถือเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพที่ต้องควบคุมตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 แต่ปรากฏว่า อบต.ลาดกระทิงในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายฉบับนี้ กลับปล่อยปละละเลยให้บริษัท บุญแปดฯ เลี้ยงไก่ไข่เพิ่มขึ้นอีก 7 โรงรวมเป็นไก่ไข่ที่เลี้ยงโดยไม่ได้รับอนุญาตมากถึง 350,000 ตัว และยังละเมิดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสถานที่ตั้งที่จะต้องตั้งอยู่ห่างจากชุมชน วัด ศาสนสถาน โบราณสถาน สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล หรือสถานที่อื่นๆ ในระยะที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและไม่ก่อเหตุรำคาญต่อชุมชน แต่ปรากฏว่าฟาร์มไก่แห่งนี้ตั้งอยู่ติดกับสถานีอนามัยลาดกระทิง วัดลาดกระทิง รวมถึงโรงเรียนบ้านลาดกระทิงซึ่งสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยม 3 อันเป็นศูนย์กลางของชุมชนเพียงแค่รั้วกั้นชาวบ้านได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การประกอบกิจการฟาร์มไก่ของบริษัท บุญแปดฯ ทำให้ชาวบ้านไม่น้อยกว่า 250 หลังคาเรือนที่อยู่อาศัยโดยรอบฟาร์มไก่ภายในรัศมมี 1-2 กิโลเมตร ต่างได้รับความเดือดร้อนรำคาญจากกลิ่นขี้ไก่มาโดยตลอดมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ทิศทางลมจะพาไป ช่วงเวลาที่ผ่านมาชาวบ้านพยายามช่วยเหลือตัวเอง โดยในเดือนกรกฎาคม 2549 ชาวบ้านมีหนังสือร้องเรียนไปที่ อบต.ลาดกระทิงพร้อมทั้งได้ร้องเรียนไปยังกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกรมอนามัยโดยศูนย์อนามัยที่ 3 ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและแจ้งผลให้ชาวบ้านทราบว่า การประกอบกิจการฟาร์มไก่แห่งนี้ มีฝุ่นและมลพิษที่อาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพ อีกทั้งสถานประกอบกิจการยังตั้งอยู่ติดกับสถานีอนามัย อยู่ใกล้ชุมชน วัดและโรงเรียน ก่อให้เกิดเหตุรำคาญส่งผลกระทบต่อสุขภาพจริง จึงให้ อบต.ลาดกระทิง ดำเนินการแก้ไขเหตุรำคาญและควบคุมการประกอบกิจการฟาร์มไก่ดังกล่าวตามที่กฎหมายกำหนดแต่อบต.ลาดกระทิง ไม่สามารถบังคับให้บริษัท บุญแปดฯ แก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ยุติได้ อีกทั้งยังฝ่าฝืนคำสั่งของ อบต.ลาดกระทิง โดยนำไก่มาเลี้ยงเพิ่มในโรงเรือนอีก จนกระทั่งวันที่ 3 ธันวาคม 2551 อบต.ลาดกระทิง จึงมีคำสั่งไม่ต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการให้ แต่ฟาร์มไก่ยังคงประกอบกิจการต่อไป ขณะที่ชาวบ้านต้องคอยรับลมที่มีกลิ่นขี้ไก่ผสมอยู่แทบทุกวันต่อมาในเดือนมิถุนายน 2552 ชาวบ้านจึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองระยอง เพื่อขอให้มีคำสั่งให้ อบต.ลาดกระทิงปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายเพื่อระงับเหตุเดือดร้อนรำคาญ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2552ศาลปกครองระยองได้มีคำพิพากษาคดีให้ อบต.ลาดกระทิง ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ระงับเหตุรำคาญจากการเลี้ยงไก่ของบริษัทบุญแปดฯให้หมดสิ้นภายในกำหนด 30 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา พร้อมทั้งให้ อบต.ลาดกระทิง พิจารณาดำเนินคดีกับบริษัท บุญแปดฯกรณีมีการฝ่าฝืนคำสั่งที่ให้ปรับปรุงแก้ไขเหตุรำคาญโดยให้พิจารณาดำเนินคดีภายใน 15 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา กับให้ใช้อำนาจตามพ.ร.บ.การสาธารณสุขฯ เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีมีการนำไก่ไปเลี้ยงเพิ่มในโรงเรือนเลี้ยงไก่ภายในกำหนด 20 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา หากมีการฝ่าฝืนให้พิจารณาดำเนินคดีตามบทลงโทษที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การสาธารณสุขพ.ศ.2535หลังคำพิพากษาฯ อบต.ลาดกระทิงได้แจ้งให้บริษัท บุญแปดฯ แก้ไขปรับปรุงและระงับปัญหากลิ่นขี้ไก่เหม็นให้หมดสิ้นโดยลำดับ ต่อมาเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2553 ชาวบ้านได้รับหนังสือขอความร่วมมือให้ความเห็นจากอบต. โดยหนังสือดังกล่าวแจ้งว่า ผู้ประกอบได้มีการแก้ไขปรับปรุงและระงับเหตุรำคาญให้หมดสิ้นไปแล้ว จึงขอความเห็นจากชาวบ้านเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริงในปัจจุบันโดยมีชาวบ้านยินยอมให้ความเห็นกับ อบต.ลาดกระทิงจำนวน 27 ราย ซึ่งชาวบ้านทั้งหมดให้ความเห็นว่า ยังได้รับกลิ่นเหม็นอยู่ โดยมีอาการแสบจมูก เวียนศีรษะ คลื่นไส้อยากอาเจียน และหงุดหงิด รำคาญ อบต.ลาดกระทิงได้นำรายชื่อ ที่อยู่และความเห็นของชาวบ้านทั้งหมดแจ้งให้บริษัท บุญแปดรับทราบแทนที่บริษัท บุญแปดฯ จะนำข้อมูลที่ได้รับจากชาวบ้านไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขการประกอบกิจการของตัวเองให้ดีขึ้น กลับใช้เหตุดังกล่าวมาฟ้องร้องเอาผิดกับชาวบ้านทั้งคดีอาญาและแพ่งเรียกร้องค่าเสียหายรวมเป็นเงินกว่า 2.3 ล้านบาทและล่าสุดทราบว่า อบต.ลาดกระทิงถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 5 แสนบาทด้วยเช่นกัน แนวทางแก้ไขปัญหามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้มอบหมายให้ศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภคเข้าดำเนินการช่วยเหลือชาวบ้านในกระบวนการพิจารณาคดี และได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 พฤษจิกายน 2553 ที่ผ่านมา โดยมีชาวบ้านไปรวมฟังการพิจารณาคดีนับ 100 ราย ซึ่งในการเจรจาไกล่เกลี่ยนั้น ศาลได้สอบถามถึงสาเหตุที่บริษัทฯ ฟ้องร้องชาวบ้าน เมื่อได้ข้อเท็จจริงแล้วได้ให้ความเห็นว่า ชาวบ้านเดือดร้อนก็ต้องใช้สิทธิร้องเรียนไปที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแจ้งให้บริษัทฯ แก้ไขและบริษัทฯ รับทราบแล้วก็ควรจะมีการปรับปรุงแก้ไข ชาวบ้านได้ทำตามสิทธิที่ตัวเองมีไม่ได้แจ้งเท็จ อีกทั้งยังเป็นการดีที่จะทำให้บริษัทฯ มีการพัฒนาคุณภาพจึงควรมีการพูดคุยกับชาวบ้านมากกว่าฟ้องร้อง และศาลได้แจ้งให้บริษัทฯ ปรับปรุงการประกอบการของตนโดยมีระยะเวลาที่จะพิสูจน์ต่อจากนี้ และนัดเจรจาไกล่เกลี่ยกันใหม่โดยให้รวมทุกคดีในวันที่ 24 ธันวาคม 2553 เวลา 13.00 น.โดยผู้พิพากษาได้ฝากให้ทนายโจทก์และผู้รับมอบอำนาจฯ แจ้งแก่โจทก์ว่า หวังว่าโจทก์จะถอนฟ้องชาวบ้าน และนัดหน้าขอให้โจทก์เข้ามาด้วยตนเอง โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเป็นกลางมาพูดคุยกันจะดีกว่า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 111 ถูกโครงการบ้านจัดสรรไม่ยอมขายบ้านให้ อ้างเหตุ “กลัวลูกค้าป่วน”

คุณนิวัติ เดินทางมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แจ้งความประสงค์อยากขอความช่วยเหลือจากทนายความอาสาของมูลนิธิฯ เพื่อช่วยสู้คดีกับโครงการ “บ้านนนทกร”คุณนิวัติแจ้งว่า ตนถูกบริษัทท็อป บลิช จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการบ้านจัดสรรบ้านนนทกร บอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินโดยไม่ชอบ ทั้งที่ได้จ่ายเงินค่าจอง ค่าทำสัญญา และค่างวดแล้วจนครบถ้วนจำนวน 360,000 บาทเศษ เหลือแต่เงินค่าโอนบ้านอีกประมาณ 2.6 ล้านบาทที่ธนาคารอนุมัติสินเชื่อและได้มีการนัดวันโอนกันเรียบร้อยแล้ว แต่อยู่ดีๆ ไม่มีปี่มีขลุ่ย โครงการกลับโทรศัพท์แจ้งขอเลื่อนวันโอนไปอย่างไม่มีกำหนด และพอทำหนังสือสอบถามถึงกำหนดวันนัดโอนใหม่ โครงการกลับมีหนังสือบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินและแนบเช็คคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยกลับมาให้คุณนิวัติโดยทันทีก่อนเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว คุณนิวัติและภรรยาได้เข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินเนื้อที่ 42.5 ตารางวากับโครงการดังกล่าวในราคารวมทั้งสิ้น 2,990,000 บาท ซึ่งได้ทยอยจ่ายค่าจอง ค่าทำสัญญา ค่างวดตามสัญญา แต่ในระหว่างก่อสร้างบ้าน คุณนิวัติได้ขอให้ทางโครงการแก้ไขแบบรั้วกำแพงข้างบ้านจากรั้วทึบเป็นรั้วด้านบนโปร่งซึ่งทางโครงการได้ยอมแก้ไขให้ ต่อมาคุณนิวัติได้ทำหนังสือขอให้ทางโครงการพิจารณาแก้ไขแบบรั้วกำแพงด้านหลังบ้านให้เหมือนกับด้านข้างอีกครั้ง แต่คราวนี้โครงการมีหนังสือตอบปฏิเสธว่าไม่สามารถทำให้ได้พร้อมกับแจ้งว่ายินดีรับคืนบ้านและจะคืนเงินให้แก่คุณนิวัติคุณนิวัติรู้สึกฉุนเล็กๆ จึงทำหนังสือสอบถามถึงความชัดเจนในสัญญาว่าแค่ลูกค้าไม่ชอบแบบรั้วและขอเปลี่ยนแบบจะเป็นเหตุให้มีการคืนบ้านกันง่าย ๆ เลยหรือ หลังจากนั้นก็ไม่ได้ไปยุ่งกับเรื่องขอเปลี่ยนแบบรั้วอีก และรอให้ถึงวันนัดโอนเพื่อที่จะได้เข้าไปอยู่อาศัยในบ้านที่ซื้อเสียที แต่สุดท้ายได้ถูกโครงการปฏิเสธที่จะขายบ้านให้โดยให้เหตุผลว่าคุณนิวัติมีพฤติการณ์ส่อไปในทางที่จะทำให้ทัศนียภาพที่สวยงามของหมู่บ้านต้องเสียไปและจะมีผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัยรายอื่นและต่อโครงการโดยรวม“บริษัทจึงมีความจำเป็นที่จะต้องยับยั้งเหตุอันอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อโครงการทั้งในปัจจุบันและในอนาคต บริษัทจึงมีความจำเป็นสุดวิสัยที่จะต้องบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวกับท่าน โดยให้มีผลโดยทันทีในวันนี้...” คุณนิวัติอ่านเนื้อจดหมายบอกเลิกสัญญาจากบริษัทถึงกับอึ้ง คิดไม่ออกว่าตัวเองทำผิดอะไร แค่ขอแก้ไขแบบรั้วบ้านถึงกับต้องถูกบอกเลิกสัญญาไม่ขายไม่โอนบ้านให้ หลังจากนั้นคุณนิวัติจึงได้ยื่นเรื่องฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งบังคับให้บริษัทโอนบ้านให้ ปรากฏว่าบริษัทได้แจ้งต่อศาลว่าได้ขายบ้านในฝันของคุณนิวัติให้ลูกค้าคนอื่นไปเรียบร้อยแล้ว คุณนิวัติจึงต้องติดต่อขอสินเชื่อทำเรื่องซื้อบ้านใหม่จากอีกโครงการหนึ่งซึ่งมีราคาแพงกว่าและตั้งเรื่องฟ้องร้องใหม่เพื่อเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการถูกบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรมและมาขอให้มูลนิธิฯ ช่วยจัดทนายความอาสาช่วยเหลือต่อสู้คดีแนวทางแก้ไขปัญหามูลนิธิฯ ได้จัดทนายความอาสาเข้าสู้คดีให้กับคุณนิวัติ โดยที่คุณนิวัติเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง หลังการต่อสู้คดีในที่สุดศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาออกมาว่า บริษัทโครงการบ้านจัดสรรเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องคืนเงินที่รับไว้แล้วจากลูกค้าพร้อมดอกเบี้ยและต้องรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นคือค่าส่วนต่างของราคาบ้านที่คุณนิวัติต้องหาซื้อใหม่ โดยศาลชั้นต้นพิจารณาว่าบ้านที่คุณนิวัติซื้อจากโครงการบ้านนนทกรมีเนื้อที่ 42.5 ตารางวา ราคา 2,990,000 บาท คิดเป็นเงินตารางวาละ 70,352.94 บาท ส่วนบ้านที่คุณนิวัติไปซื้อใหม่มีเนื้อที่ 54 ตารางวา ราคา 4,690,000 บาท คิดเป็นตารางวาละ 86,851.85 บาท สูงกว่าราคาบ้านเดิมตารางวาละ 16,489.91 บาท แต่อย่างไรก็ดีหากโครงการบ้านจัดสรรไม่ผิดสัญญาคุณนิวัติก็จะได้บ้านในเนื้อที่เพียง 42.5 ตารางวา ดังนั้นเนื้อที่ส่วนที่เกินขึ้นจากการซื้อบ้านหลังใหม่จึงไม่ถือว่าเป็นความเสียหายที่คุณนิวัติได้รับ ศาลจึงพิจารณาเห็นว่าคุณนิวัติคงได้รับความเสียหายเฉพาะส่วนต่างของราคาที่ดิน 42.5 เป็นเงิน 701,203.67 บาท จึงพิพากษาให้โครงการบ้านจัดสรรชำระเงิน 701,203.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี หลังจากที่ใช้เวลาในการต่อสู้คดีประมาณ 5 เดือนเศษ ซึ่งขณะนี้คดีอยู่ในชั้นอุทธรณ์คาดว่าจะทราบผลตัดสินในเวลาไม่นานและถือเป็นข้อยุติตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 102 แม่บ้านดวงอับ ถูกแบงค์ฟ้องหนี้บัตรเครดิต

แทบเป็นลมล้มทั้งยืนเมื่อเห็นหมายศาลส่งมาถึงบ้านแจ้งให้ไปศาลในวันที่ 17 สิงหาคม 2552 และให้ชำระหนี้บัตรเครดิตให้กับธนาคารกรุงเทพ เป็นเงินสามหมื่นกว่าบาท“ได้รับเงินแค่เดือนละ 4-5 พันบาท จะเอาปัญญาที่ไหนไปใช้เงินเขา ที่สำคัญยังไม่รู้เลยว่าเคยไปทำบัตรเครดิตใบนี้ไว้ตอนไหน”คุณชิดชนก แม่บ้านทำความสะอาดอยู่ที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(สปก.) โอดครวญ“ก็เคยได้รับจดหมายทวงหนี้จากธนาคารมาก่อนเหมือนกัน เขาบอกว่าเราได้รับอนุมัติให้ใช้บัตรเครดิตของธนาคาร และก็มียอดหนี้แจ้งมาในจดหมาย เรากับสามีก็งงๆ เพราะบัตรเครดิตสักใบก็ไม่เคยเห็น ไม่เคยใช้แล้วจะมีหนี้ได้อย่างไร ไม่มีความรู้ทางข้อกฎหมายด้วยว่าจะต้องทำยังไงต่อไป คิดในแง่ดีไปว่าเขาอาจจะส่งผิดก็ไม่ได้สนใจอะไร”เมื่อไม่มีการทักท้วงใดๆ ออกไป ในที่สุดหมายฟ้องคดีจึงมาเกาะที่หน้าประตูบ้านทันที คราวนี้ทั้งบ้านเหมือนร้อนเป็นไฟอยู่เฉยกันไม่ได้ ต้องมานั่งตรวจเอกสารต่างๆ ที่แนบมากับหมายฟ้อง ก็มาสะดุดกับลายเซ็นชื่อของตัวเองในใบสมัครเป็นสมาชิกบัตรเครดิต“ไม่ใช่ลายเซ็นของเราแน่นอน” คุณชิดชนกยืนยัน”“คนอื่นอาจจะดูเหมือนมาก แต่เราเห็นแล้วบอกเลยว่าไม่ใช่ ส่วนรายละเอียดอย่างอื่น เช่น ยอมรับว่าชื่อ-นามสกุลเป็นของเรา เลขบัตรประชาชนก็เป็นของเรา แต่ที่อยู่บ้าน เบอร์โทรศัพท์ ไม่ใช่ เป็นบ้านใครเบอร์โทรศัพท์ใครก็ไม่รู้ มาดูชื่อสถานที่ทำงานก็ไม่ใช่บริษัทที่เราทำงานให้อยู่ แถมแจ้งรายได้ถึง 3 แสนบาทต่อปีอีก มันไม่ใช่ตัวเราเลยน่ะ เงินเดือนเราแค่ 4-5 พันเท่านั้น” หลังจากนั้นคุณชิดชนกจึงหอบหลักฐานประจำตัว หลักฐานตามสำนวนฟ้องคดีที่ได้รับมาโดยไม่ต้องการวิ่งไปหาธนาคารกรุงเทพ เพื่อปฏิเสธภาระหนี้ดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2552 แต่ด้วยความร้อนใจที่วันนัดของศาลใกล้เข้ามาเรื่อยๆ คุณชิดชนกจึงดิ้นรนไปร้องทุกข์กับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ได้รับเรื่องในเวลาต่อมาแนวทางแก้ไขปัญหา สำหรับผู้บริโภคที่โดนแจ็คพอตมีหนี้บัตรเครดิตทั้งที่ตัวเองไม่ได้เป็นเจ้าของบัตรหรือใช้บัตร ให้ใช้หลักทักท้วงและปฏิเสธโดยทันที ดังนี้ครับ1.เมื่อผู้บริโภคตรวจสอบพบว่าตนไม่ได้เป็นผู้เข้าทำสัญญาขอใช้บัตรเครดิตกับธนาคาร หรือไม่ได้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือบริการตามที่มีใบแจ้งหนี้มา ให้ทำหนังสือปฏิเสธสัญญาหรือรายการใช้จ่ายดังกล่าวโดยทันทีและส่งเป็นจดหมายลงทะเบียนตอบรับถึงธนาคารโดยทันที(การโทรไปที่ศูนย์บริการของผู้ประกอบธุรกิจมีข้อดีคือสะดวก ง่าย แต่ผู้บริโภคจะไม่มีหลักฐานไว้ยืนยันในภายหลัง)2.ถือเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต หรือธนาคารที่จะเป็นผู้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานประกอบการทำสัญญาว่ามีผู้ปลอมแปลงเอกสารและใช้เอกสารมาทำสัญญาหรือไม่3. หนี้ที่เกิดขึ้นถือเป็นหนี้เสียของธนาคารที่ธนาคารจะต้องติดตามดำเนินคดีเองกับผู้กระทำผิด มิใช่ผู้บริโภคในส่วนผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาของคุณชิดชนกได้รับการชี้แจงจากธนาคารกรุงเทพว่าหลังคุณชิดชนกมาแจ้งเรื่อง ธนาคารจึงได้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานการขอทำบัตรเครดิตและยอมรับว่าเป็นเอกสารที่ไม่เกี่ยวข้องกับคุณชิดชนกแต่ที่ช้าไปบ้างก็เพราะธนาคารต้องใช้เวลาตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ให้แน่ใจโดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 3 อาทิตย์ ท้ายที่สุดธนาคารยินยอมที่จะถอนฟ้องคุณชิดชนกในวันที่ศาลนัดโดยทันที แต่เพื่อความปลอดภัย... มูลนิธิฯ จึงได้จัดส่งเจ้าหน้าที่พร้อมทนายไปเป็นพี่เลี้ยงในวันขึ้นศาลด้วย หากธนาคารเกิดเปลี่ยนใจคุณชิดชนกจะสามารถต่อสู้คดีได้ทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 147 น้ำยาบ้วนปาก

  ที่ผ่านมาตลาดน้ำยาบ้วนปากมีมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยมีแบรนด์หรือผู้ผลิตอยู่ไม่กี่ราย แต่ถ้าดูจากโฆษณาที่ปรากฏในสื่อต่างๆ ณ ปัจจุบันต้องบอกว่า ดุเดือดเอาเรื่อง และมีผลิตภัณฑ์ออกมาหลากหลายชนิดมากจนสร้างความสับสนให้ผู้บริโภค ที่ไม่รู้ว่าจะเลือกใช้อะไรดี หรือไม่ต้องใช้ได้ไหม ฉลาดซื้อจึงอาสาพาไปสำรวจตลาดน้ำยาบ้วนปากกันสักครั้ง  เพื่อไว้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจ น้ำยาบ้วนปากจำเป็นหรือไม่จำเป็น ถ้านำคำถามเรื่อง จำเป็นไม่จำเป็น ไปถามทันตแพทย์ ก็จะได้คำตอบทั้งจำเป็นและไม่จำเป็น โดยมีปัจจัยเรื่องการดูแลสุขภาพช่องปากด้วยการแปรงฟันมาเป็นตัวตัดสิน กล่าวคือ หากคุณแปรงฟันได้ถูกวิธี ใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ น้ำยาบ้วนปากก็ไม่มีความจำเป็นอะไรเลย แต่ถ้าคุณจัดอยู่ในกลุ่มที่เสี่ยงต่อภาวะฟันผุ โรคเหงือกอักเสบและแปรงฟันไม่ค่อยถูกวิธี น้ำยาบ้วนปากก็เป็นอะไรที่ช่วยเสริมในการป้องกันปัญหาสุขภาพช่องปากได้บ้าง อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดปัญหาในช่องปาก ไม่ว่าจะฟันผุ เหงือกอักเสบ หรือมีกลิ่นปาก (ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้หลายคนหันมาใช้น้ำยาบ้วนปากนั้น) คุณต้องพบทันตแพทย์เพื่อรักษาอาการเหล่านั้นที่ต้นเหตุเสียก่อน เพราะน้ำยาบ้วนปากไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย หากไม่รักษาให้ถูกวิธี   ประเภทของน้ำยาบ้วนปาก การสำรวจตลาดทั่วไปจากห้างค้าปลีกและร้านสะดวกซื้อ ฉลาดซื้อพบผลิตภัณฑ์น้ำยาบ้วนปากหลากหลายมาก ซึ่งแบ่งประเภทออกมาได้ห้ากลุ่ม ดังนี้ 1) กลุ่มที่ช่วยกลบกลิ่นและสร้างความสดชื่นในช่องปากด้วยน้ำมันหอมระเหย  2) กลุ่มที่ผสมสารฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ร่วมกับฟลูออไรด์  3) กลุ่มที่ผสมสารเพื่อลดปัญหาในช่องปากบางประการ เช่น ลดการเสียวฟัน ลดคราบหินปูน(ฟันขาว) 4) กลุ่มสำหรับเด็ก และ 5) ครอบจักรวาล คือรวมกลุ่ม 1 – 3 ไว้ในขวดเดียวกัน   กลุ่มที่ช่วยกลบกลิ่นและสร้างความสดชื่นในช่องปากด้วยน้ำมันหอมระเหย กลิ่นหอมที่ได้จากน้ำยาบ้วนปากในกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่เป็นกลิ่นของน้ำมันหอมระเหย (Essential Oil)  ซึ่งไม่เพียงให้กลิ่นหอมและความรู้สึกเย็นสดชื่น ยังมีฤทธิ์ระงับการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ด้วย โดยน้ำมันหอมระเหยที่นิยมใช้ได้แก่ Methyl Salicylate, Thymol,  Menthol, Eucalyptol, Peppermint oil,  Clove oil(น้ำมันกานพลู) เป็นต้น น้ำยาบ้วนปากกลุ่มนี้ช่วยกลบกลิ่นปากได้ราว 2 - 3 ชั่วโมงหลังใช้(เนื่องจากน้ำมันหอมระเหยช่วยระงับการเจริญเติบโตของเชื้อโรค) แต่กลิ่นหอมที่เกิดจากน้ำยาบ้วนปากจะอยู่ได้ไม่นานประมาณ 20 นาทีก็จะจางไป เนื่องจากน้ำมันหอมระเหยจะออกฤทธิ์ได้ดีในแอลกอฮอล์ น้ำยาบ้วนปากกลุ่มนี้จึงผสมแอลกอฮอล์ในความเข้มข้นที่ 10 - 30 % ซึ่งทำให้เกิดภาวะแสบร้อนที่ไม่พึงประสงค์ หลายคนจึงใช้น้ำยาบ้วนปากได้ไม่นานเท่าที่คำแนะนำระบุ ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพลดลงไป  ปัจจุบันจึงมีสูตรไร้แอลกอฮอล์ออกมาเป็นทางเลือก ยาสีฟันในกลุ่มนี้ไม่มีผลในการลดภาวะฟันผุ   ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ ขนาด มล. ราคา(บาท) สารออกฤทธิ์สำคัญ ปริมาณการใช้ ครั้งละ มล./วินาที ราคาในการใช้/ครั้ง(บาท) มีแอลกอฮอล์ผสม ลิสเตอรีน เฟรช ซิทรัส   250 65 Eucalyptol Methyl Salicylate Thymol Menthol     20/30 5.20 มี ลิสเตอรีน คูลมินต์   250 65 Eucalyptol Methyl Salicylate Thymol Menthol   20/30 5.20 มี มายบาซิน คลูมินต์   250 51 Thymol Menthol Methyl Salicylate Eucalyptol Mentha viridis (spearmint) 15-20/30 4.08 มี มายบาซิน สูตรเข้มข้น(ผสมน้ำก่อนใช้) ออริจินอล   1000 98 Thymol Menthol Eucalyptol Methyl Salicylate   ผสมน้ำก่อนใช้หรือ ครั้งละ 4 ช้อนชา(20 ซีซี)/30 1.96 ไม่ระบุบนฉลาก* มายบาซิน รสชาเขียวผสมฝรั่ง สูตรโฟร์ ทเวนตี้โฟร์อาวส์   500 99 Thymol Menthol Eucalyptol   Guava Leaf,Green Tea, Aloe Vera Extracts 15-20/30 3.96 มี มายบาซิน เฟรช ออเร็นจ์   750 116 Thymol Eucalyptol Methyl Salicylate Menthol   Natural orange extract 15-20/30 3.09 ไม่ระบุบนฉลาก* ซิสเท็มมา บลูคาริบเบียน   250 54 Dipotassium Glycyrrhiznate(สารสกัดจากชะเอมเทศ)   mansaku extract     10/30 2.16 มี ซิสเท็มมา กรีนฟอเรสต์   250 54 Dipotassium Glycyrrhiznate(สารสกัดจากชะเอมเทศ)   mansaku extract   10/20 2.16 ไม่มี ซิสเท็มมา สูตร Quick care   500 100 Dipotassium Glycyrrhiznate(สารสกัดจากชะเอมเทศ)   mansaku extract   10/20 2 มี เทสโก้ น้ำยาบ้วนปาก คูลมินท์   250 46 Eucalyptol Methyl Salicylate Thymol Menthol   20/30 3.68 มี เดนทิสเต้   190 139 Menthol Eucalyptol เสจ(Sage Extract) น้ำมันกานพลู(Clove oil)   1 ฝา 7.3 (10 มล.) ไม่มี ดอกบัวคู่ สูตรกานพลู   250 75 Menthol น้ำมันกานพลู(Clove oil) เสจ(Sage Extract) สารสกัดจากชะเอมเทศ(Glycyrrhizic Acid) 15-20/30 6 ไม่มี   หมายเหตุ น้ำยาบ้วนปากที่มี Thymol (ไธมอล) เป็นองค์ประกอบ มักพบว่าเป็นชนิดที่มีแอลกอฮอล์ผสมในปริมาณค่อนข้างสูง (เพื่อช่วยในการละลายของไธมอลที่ละลายได้ไม่ดีในน้ำ)  จึงไม่ควรใช้บ่อยหรือในปริมาณมากกว่าที่กำหนด   และอย่าเผลอกลืนเพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อเมือกต่าง ๆ ได้   กลุ่มที่ผสมสารฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ร่วมกับฟลูออไรด์ การเติมสารฆ่าเชื้อหรือระงับเชื้อจุลินทรีย์ลงในน้ำยาบ้วนปากก็เพื่อลดจำนวนจุลินทรีย์ในปากลง เนื่องจากจุลินทรีย์ก่อให้เกิดกลิ่นปาก แต่ถ้าใช้ไม่ถูกต้องคือใช้ในระยะเวลาที่ไม่นานพอที่สารจะถูกดูดซับไว้ในช่องปาก ก็แทบไม่มีผลอะไรในการระงับเชื้อ ดังนั้นต้องใช้ให้ตรงตามคำแนะนำ ปัจจุบันสารฆ่าเชื้อหรือระงับเชื้อที่นิยมใช้  ได้แก่ กลุ่มน้ำมันหอมระเหย อย่าง ไธมอล หรือ เมนทอล  และกลุ่ม Quaternary ammonium salts  ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ได้ดีและไม่เป็นพิษ ในความเข้มข้นที่ใช้(ไม่เกิน 0.5%) ตัวที่ควรรู้จัก คือ  Cetylpyridinum chloride (เซธิลไพริดิเนียม คลอไรด์) น้ำยาบ้วนปากสูตรไร้แอลกอฮอล์ หรือที่โฆษณาว่า สดชื่นไม่แสบปาก จะนิยมใส่สาร  Cetylpyridinum chloride เพื่อช่วยในการฆ่าเชื้อ แทนการใช้กลุ่มน้ำมันหอมระเหยที่จะออกฤทธิ์ได้ไม่ดีหากไม่ใช้แอลกอฮอล์ในการทำละลาย ส่วนข้อเสียของ Cetylpyridinum chloride คือจะให้รสขมติดปาก ดังนั้นในการผลิตจึงต้องมีการใส่วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลเพื่อช่วยปรับรสชาติ สำหรับฟลูออไรด์ที่ผสมในน้ำยาบ้วนปาก จะมีผลในการป้องกันฟันผุได้จริง แต่ต้องใช้ให้ถูกต้อง คือ อมหรือกลั้วปากให้นานอย่างน้อย 1 นาที และไม่บ้วนน้ำตาม (เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพไม่ควรดื่มน้ำหรือกินอาหารหลังการบ้วนปากเป็นเวลา 30 นาทีด้วย) น้ำยาบ้วนปากผสมฟลูออไรด์ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ซึ่งเป็นคำเตือนที่ต้องระบุไว้บนฉลากสินค้า ปกติคนเราจะได้รับฟลูออไรด์จากน้ำดื่มและยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์อยู่แล้ว(เพราะเราแปรงฟันทุกวัน) การรับเพิ่มจากน้ำยาบ้วนปากก็มีข้อต้องระวังคือ หากรับฟลูออไรด์มากไป อาจเกิดปัญหาฟันตกกระได้ แต่สำหรับในคนที่เสี่ยงต่อการเกิดฟันผุได้ง่าย เช่น มีฟันผุเกิดขึ้นใหม่ทุกปี ต้องไปอุดฟันบ่อยๆ หรือคนที่กินขนมหวาน น้ำอัดลมมากๆ  การแปรงฟันโดยใช้ยาสีฟันฟลูออไรด์อย่างเดียวอาจไม่พอ ก็สามารถเพิ่มน้ำยาบ้วนปากที่ผสมฟลูออไรด์ได้ ผู้สูงอายุที่มีปัญหาเหงือกร่น การแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ร่วมกับการใช้น้ำยาบ้วนปากผสมฟลูออไรด์จะป้องกันฟันผุที่รากฟันได้ด้วยเช่นกัน ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ ขนาด มล. ราคา(บาท) สารออกฤทธิ์สำคัญ ปริมาณการใช้ ครั้งละ มล./วินาที ราคาในการใช้/ครั้ง(บาท) แอลกอฮอล์ ลิสเตอรีน (Listerine) ทีธ แอนด์ กัม โพรเทคชัน   250 71.50 Eucalyptol Methyl Salicylate Thymol Menthol Sodium fluoride 20/30 5.72 มี ลิสเตอรีน (Listerine) เนเชอรัล กรีนที   250 72 Eucalyptol Methyl Salicylate Thymol Menthol Camellia Sinensis(Green Tea) Sodium fluoride 20/30 5.76 ไม่มี คอลเกต พลักซ์ เฟรชที   250 61 Cetylpyridinum chloride Menthol Camellia Sinensis(Green Tea) Sodium fluoride 20/30 4.88 ไม่มี คอลเกต พลักซ์ เกลือสมุนไพร   250 65 Sodium Chloride Cetylpyridinum chloride Menthol Sodium fluoride 20/30 5.2 มี คอลเกต พลักซ์ ไอซ์   250 69 Cetylpyridinum chloride Sodium fluoride   20/30 5.52 ไม่มี คอลเกต พลักซ์ ฟรุ้ตตี้   250 65 Cetylpyridinum chloride Menthol Sodium fluoride       20/30 5.2 ไม่มี คอลเกต พลักซ์ เฟรชมินท์   250 65 Cetylpyridinum chloride Menthol Sodium fluoride       20/30 5.2 ไม่มี ฟลูโอคารีล 0% แอลกอฮอล์ พลัส ซีพีซี 500 95 Cetylpyridinum chloride   Sodium fluoride Sodium monofluorophosphate   10-15/30-60 1.9(10 มล.) ไม่มี ฟลูโอคารีล เอ็กซ์ตร้า เซ็นซิทีฟ พีเอช เฟอร์เฟค   500 105 Eucalyptol Methyl Salicylate Thymol   Sodium fluoride Sodium monofluorophosphate     10-15/60 2.1(10 มล.) มี ฟลูโอคารีล ออร์โธ 123   500 98.50 Cetylpyridinum chloride Sodium fluoride Sodium monofluorophosphate   10 -15/120     1.97(10 มล.) ไม่มี ออรัล บี โปรเฮลธ์ ทูธแอนด์กัมแคร์ เฟรชมิ้นต์ 350 99 Cetylpyridinum chloride Sodium fluoride   15/30 4.2 ไม่มี ออรัล บี โปรเฮลธ์ ทูธแอนด์กัมแคร์ สเปียร์มิ้นต์ 500 128 Cetylpyridinum chloride Sodium fluoride   15/30 3.84 ไม่มี ออรัลเมด ชัวร์มิ้นต์ คูล   480 98 Menthol Eucalyptol Methyl Salicylate Cetylpyridinum chloride Propolis Extract Sodium fluoride   1-2 ฝา 2.04(10 มล.) ไม่มี   3.กลุ่มที่ผสมสารเพื่อลดปัญหาในช่องปากบางประการ เช่น เสียวฟัน ลดคราบหินปูน(ฟันขาว) ในการสำรวจพบว่า น้ำยาบ้วนปากในกลุ่มที่ลดอาการเสียวฟัน จะใช้สาร Potassium Nitrate เป็นสารออกฤทธิ์สำคัญ ร่วมกับการใช้สารฆ่าเชื้อ ซึ่งช่วยบรรเทาอาการเสียวฟันได้ แต่ไม่ควรเพิกเฉยต่ออาการเสียวฟันซึ่งส่อให้เห็นว่าสุขภาพฟันกำลังมีปัญหา ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อรักษาที่ต้นเหตุด้วย ส่วนกลุ่มที่ลดคราบหินปูน และช่วยลดคราบต่างๆ ที่มาติดฟันจนดูเหมือนว่าช่วยทำให้ฟันขาวขึ้น นิยมใช้ สาร Zinc Chloride,  Zinc Lactate หรือ Zinc Citrate เป็นสารออกฤทธิ์สำคัญ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ ขนาด มล. ราคา(บาท) สารออกฤทธิ์สำคัญ ปริมาณการใช้ ครั้งละ มล./วินาที ราคาในการใช้/ครั้ง(บาท) แอลกอฮอล์ ลิสเตอรีน (Listerine) ไบรท์ & คลีน   250 71.50 Eucalyptol Methyl Salicylate Thymol Menthol Zinc Chloride   20/30 5.72 มี ลิสเตอรีน (Listerine) ทาร์ทาร์ โพรเทคชัน   250 71.50 Eucalyptol Methyl Salicylate Thymol Menthol Zinc Chloride   20/30 5.72 มี มายบาซิน สูตรทาร์ทาร์คอนโทรล 250 52 Thymol Methyl Salicylate Menthol Spearmint l Eucalyptol Zinc lactate   15-20/30 4.16 มี มายบาซิน สูตรไวท์ โพรเทคชั่น   500 86 Methyl Salicylate Eucalyptol Menthol spearmint peppermint Zinc lactate   15-20/30 3.44 ไม่มี คอลเกต พลักซ์ เนเชอรัล ไวท์   500 119 Tetrapotassium Pyrophosphate Zinc Citrate       20/30 4.76 มี ซิสเท็มมา มิดไนท์ แฟนตาซี   500 95 Dipotassium Glycyrrhiznate(สารสกัดจากชะเอมเทศ)   mansaku extract Zinc Lactate   10/20 1.9 มี ซิสเท็มมา มิดไนท์ พาราไดซ์   500 95 Dipotassium Glycyrrhiznate(สารสกัดจากชะเอมเทศ)   mansaku extract Zinc Lactate   10/20 1.9 มี เทสโก้ น้ำยาบ้วนปาก ทาร์ทาร์ โพรเทคชั่น   250 52 Eucalyptol Methyl Salicylate Thymol Menthol Zinc Chloride   20/30 4.16 มี อีโมฟอร์ม   240 98 Sodium chloride Potassium Nitrate   1 ฝาผสมน้ำครึ่งแก้ว บ้วนปากวันละ 1-3 ครั้ง 4.08(10 มล.) ไม่มี   4.น้ำยาบ้วนปากสำหรับเด็ก กลุ่มนี้ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันฟันผุสำหรับเด็ก สารออกฤทธิ์ตัวสำคัญจึงเป็น สารฟลูออไรด์ ซึ่งจะไม่มีสารฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ และไม่มีแอลกอฮอล์ผสม และเนื่องจากผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดปัจจุบันแทบไม่มีที่ผสมแต่เพียงฟลูออไรด์อย่างเดียวโดยไม่ผสมสารฆ่าเชื้อร่วมด้วย ดังนั้นหากไม่ต้องการใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีสารฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ ต้องการแต่ฟลูออไรด์เพื่อป้องกันฟันผุอย่างเดียว ก็สามารถเลือกใช้น้ำยาบ้วนปากในกลุ่มสำหรับเด็กได้ ห้ามใช้ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี และสำหรับเด็กที่ฟันผุมาก ผู้ปกครองอาจเสริมด้วยน้ำยาบ้วนปากสำหรับเด็กหลังการแปรงฟันได้ แต่ถ้าเด็กได้รับการดูแลสุขภาพช่องปากอย่างดีแล้ว น้ำยาบ้วนปากก็ไม่จำเป็น   ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ ขนาด มล. ราคา(บาท) สารออกฤทธิ์สำคัญ ปริมาณการใช้ ครั้งละ มล./วินาที ราคาในการใช้/ครั้ง(บาท) แอลกอฮอล์ ฟลูโอคารีล คิดส์ 6+ กรีน (เบนเท็น)   250 59 Sodium fluoride Sodium monofluorophosphate 10/60 2.36 ไม่มี ออรัลเมด คิด ทุตตี้ ฟรุตตี้   240 42.50 Sodium fluoride   Sodium monofluorophosphate 1 ฝา 0.04(10 มล.) ไม่มี   5.กลุ่มครอบจักรวาล(Total care) กลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า โทเทิล แคร์ คือดูแลหมดทุกสิ่งอย่าง ทั้งฆ่าเชื้อ ทำให้ปากสดชื่น ป้องกันฟันผุ ลดคราบหินปูน และลดเสียวฟัน ซึ่งไม่จำเป็นเท่าไหร่ ควรเลือกใช้ให้ตรงตามความต้องการดีกว่า ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ ขนาด มล. ราคา(บาท) สารออกฤทธิ์สำคัญ ปริมาณการใช้ ครั้งละ มล./วินาที ราคาในการใช้/ครั้ง(บาท) แอลกอฮอล์ เทสโก้ น้ำยาบ้วนปาก โทเทิล แคร์   250 61 Eucalyptol Methyl Salicylate Thymol Menthol Zinc Chloride Sodium fluoride ไม่มีคำเตือนว่ามีส่วนผสมของฟลูออไรด์ 20/30 4.88 มี มายบาซิน โททอล 15   500 99 Thymol Methyl Salicylate Menthol Eucalyptol Zinc lactate Sodium fluoride 15-20/30 3.96 มี ฟลูโอคารีล 40+เนเจอร์แคร์   500 105 Potassium Nitrate Sodium fluoride Sodium monofluorophosphate 10-15/60 2.1 มี คอลเกต เซนซิทีฟ โปรรีลีฟ   400 119 ส่วนผสมของอาร์จินีนและแคลเซียมคาร์บอเนต Sodium fluoride 20/30 5.95 มี ลิสเตอรีน (Listerine) โทเทิลแคร์ เซนซิทีฟ   250 83 Eucalyptol Methyl Salicylate Thymol Menthol Potassium Nitrate Sodium fluoride     20/30 6.64 มี   -------------------------------------------------------------------------------------------------------------   ที่มาของน้ำยาบ้วนปาก จากหนังสือพิมพ์ Periodontology 2000 กล่าวไว้ว่าน้ำยาบ้วนปากตัวแรกเกิดขึ้นที่ประเทศจีนประมาณ 2,700 ปีก่อนคริสตกาล ในยุคนั้นการรักษาปัญหากลิ่นปากเรื้อรังที่เกิดจากโรคเหงือกอักเสบ แพทย์ได้แนะนำให้กลั้วปากด้วยปัสสาวะเด็ก ที่กรีก ฮิปโปเครติส บิดาแห่งการแพทย์ แนะนำให้กลั้วปากด้วยส่วนผสมของเกลือ สารส้มและน้ำส้มสายชู ในคู่มือทันตกรรมที่มีชื่อเสียง ซึ่งตีพิมพ์ในประเทศเยอรมนีในปี ค.ศ. 1530 ได้เขียนถึงสิ่งที่ทำงานใกล้เคียงกับน้ำยาบ้วนปากในปัจจุบัน โดยระบุว่า “หลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ให้กลั้วปากด้วยไวน์หรือเบียร์เพื่อชะล้างสิ่งที่ติดฟันและทำให้ฟันผุ ผลิตกลิ่นเหม็นและทำลายฟัน” ย้อนไปปี ค.ศ. 1895 เมื่อ Joseph and Jordan Lambert นำของเหลวที่ช่วยกำจัดเชื้อโรคที่นำมาจากการผ่าตัดและไปผลิตเป็นน้ำยาบ้วนปาก การผสมผสานของ thymol, menthol, eucalyptol และ methyl salicylate จึงเกิดขึ้น นักธุรกิจคู่นี้ใช้ชื่อน้ำยาบ้วนปากว่า Listerine  และขายให้แก่ทันตแพทย์ในปีนั้นเอง “Listerine ถูกผลิตขึ้นในศตวรรษที่ 19 เพื่อฆ่าเชื้อโรค มันถูกกลั่นออกมาในรูปแบบของน้ำยาทำความสะอาดพื้นและรักษาโรคหนองใน” ที่มา  http://therabreaththailand.com/article10.php   -------------------------------------------------------------------------------------------------------------   แอลกอฮอล์ในน้ำยาบ้วนปาก เคยมีผู้สงสัยว่าน้ำยาบ้วนปากที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม อาจจะเป็นปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งในช่องปากหรือไม่ เพราะโรคมะเร็งในช่องปากปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ การสูบบุหรี่ รองลงมาคือ การดื่มแอลกอฮอล์มากๆ  ณ ปัจจุบันผลการวิจัยที่ออกมายังไม่สามารถฟันธงได้ เพราะผลการวิจัยก็มีทั้งที่ระบุว่าอาจเป็นปัจจัยเสี่ยง และระบุว่าไม่เป็นปัจจัยเสี่ยง ในประเทศไทยจึงยังไม่มีการสรุปในเรื่องนี้ แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องประชุมกันได้มีข้อแนะนำว่าสำหรับคนที่สูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งช่องปากอยู่แล้ว ไม่ควรใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีแอลกอฮอล์ผสม   ประสิทธิภาพในการลดกลิ่นปาก จากการศึกษาที่ผ่านมา พบว่า ประสิทธิภาพของน้ำยาบ้วนปากจะช่วยลดกลิ่นปากได้ชั่วคราว โดยจะควบคุมกลิ่นปากได้ประมาณ 3 ชั่วโมงเท่านั้น ไม่ใช่ใช้ตอนเช้าควบคุมได้ไปจนถึงเย็น เพราะฉะนั้นอาจใช้น้ำยาบ้วนปากได้เป็นครั้งคราวกรณีที่ต้องการความมั่นใจ แต่ถ้าจะใช้เพื่อระงับกลิ่นปาก ป้องกันไม่ให้มีกลิ่นปาก ควรที่จะป้องกันด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การทำความสะอาดลิ้น เพราะฝ้าขาวบนลิ้นเป็นสาเหตุสำคัญของกลิ่นปาก ขณะเดียวกันควรใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดซอกฟันทุกวัน ถ้ามีกลิ่นปากก็ต้องหาสาเหตุว่ามาจากตรงไหน เช่น ฟันผุ เป็นโรคเหงือก โรคระบบทางเดินอาหาร ทอนซิลอักเสบ หรือ ไซนัส ก็ควรแก้ที่ต้นเหตุจะดีกว่า เพราะน้ำยาบ้วนปากแค่ระงับกลิ่นปากชั่วคราวแต่ไม่ได้แก้ที่สาเหตุของการเกิดกลิ่นปาก   น้ำยาบ้วนปากกับเด็ก เด็กไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้น้ำยาบ้วนปาก โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ ไม่ควรใช้น้ำยาบ้วนปากเลยทุกประเภท ไม่ว่าจะมีแอลกอฮอล์หรือไม่มีแอลกอฮอล์ เพราะการควบคุมการกลืนยังไม่ดี ขณะที่บ้วนปากเด็กอาจกลืนกินน้ำยาบ้วนปากลงไปด้วย น้ำยาบ้วนปากที่มีแอลกอฮอล์ผสมจึงมีคำเตือนห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ความจริงน้ำยาบ้วนปากของเด็กมักจะใช้ชนิดที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ โดยผู้ปกครองจะซื้อให้เด็กใช้ในกรณีที่ลูกฟันผุมาก ๆ แต่อยากจะบอกว่าอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้ก็ได้หากให้เด็กแปรงฟันให้สะอาด ใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์   ข้อมูลจาก ทันตแพทย์หญิงนนทินี ตั้งเจริญดี ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มพัฒนาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านทันตสุขภาพ สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ที่มา http://202.183.204.137/km/?p=558

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 173 ตะกั่วในสีทาบ้าน “ผู้ผลิตไทยลดการใช้ตะกั่วลง” ตอน 2

ปี 2553 และ ปี 2556 ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศ* ได้สำรวจตลาดสีน้ำมันทาอาคาร และส่งตัวอย่างสีเพื่อวิเคราะห์หาปริมาณสารตะกั่ว พบว่า ผู้ผลิตสีน้ำมัน ยังมีการใช้ตะกั่วในการผลิตสี โดยเฉพาะสีโทนสดใส ค่อนข้างสูง จากจำนวนตัวอย่าง 120 ตัวอย่าง ในปี 2556 พบว่า ร้อยละ 93 ของกลุ่มตัวอย่างโทนสีสดใสมีตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐาน (100 ppm เป็นมาตรฐานแบบสมัครใจไม่ใช่มาตรฐานบังคับ) ในขณะที่ปริมาณตะกั่วในกลุ่มตัวอย่างโทนสีขาว พบว่า ร้อยละ 61 มีตะกั่วสูงเกินกว่า 100 ppm โดยทางนิตยสารฉลาดซื้อได้นำรายชื่อตัวอย่างสี ทั้ง 120 ตัวอย่างไว้ในฉบับที่ 151 กันยายน 2556    และในปี 2558 นี้ ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้สำรวจตลาดสีน้ำมันทาอาคารเป็นครั้งที่สาม เพื่อติดตามสถานการณ์ ซึ่งภาพรวมพบว่า เป็นข่าวดี มีผู้ผลิตสีจำนวน 1 ใน 3 ลดใช้สารตะกั่วในการผลิตสีแล้ว แต่ก็ยังมีบริษัทใหญ่บางแห่งผลิตสีแบบสองมาตรฐาน โดยเลิกใช้ในบางยี่ห้อ แต่ยังคงใช้ในบางยี่ห้อ     โดยฉลาดซื้อได้ลงรายชื่อผลิตภัณฑ์สีน้ำมันที่ตรวจพบ ปริมาณตะกั่วเกิน 100 ppm ในฉบับที่ 172 สำหรับฉบับนี้ จะนำเสนอรายชื่อผลิตภัณฑ์ที่พบปริมาณตะกั่วไม่เกิน 100 ppm โปรดตรวจดูรายชื่อได้ในหน้าถัดไป     ในส่วนเรื่องฉลากยังพบว่า บางผลิตภัณฑ์มีการหลอกลวงผู้บริโภคโดยระบุฉลากว่า ปราศจากตะกั่ว แต่ผลทดสอบกลับพบมีปริมาณตะกั่วสูงเกินค่ามาตรฐาน แนวโน้มที่ดีขึ้นของฉลากและปริมาณสารตะกั่วเมื่อฉบับที่ 151 กันยายน 2556 ฉลาดซื้อเคยลงข้อมูลเกี่ยวกับฉลากแสดงปริมาณสารตะกั่วไม่ตรงตามจริงว่า มีสีน้ำมัน 29 ตัวอย่างจาก 120 ตัวอย่างที่ติดฉลากปลอดสารตะกั่ว แต่เมื่อพิจารณาปริมาณตะกั่วที่ตรวจพบในตัวอย่างสีที่มีข้อความบนฉลากดังกล่าว พบว่า มีสีน้ำมัน 17 ตัวอย่างจาก 29 ตัวอย่าง ที่มีสารตะกั่วสูงเกินกว่า 100 ppm จึงเห็นได้ว่า ข้อมูลบนฉลากและปริมาณตะกั่วที่ตรวจพบไม่ตรงกัน ดังนั้นสำหรับฉบับนี้ฉลาดซื้อจะมาอัพเดตข้อมูลล่าสุดที่มูลนิธิบูรณะนิเวศได้ดำเนินการสำรวจอีกครั้งใน 2558 ผลการทดสอบฉลากแสดงปริมาณสารตะกั่วจากทั้งหมด 100 ตัวอย่าง พบว่ามี 26 ตัวอย่างที่แสดงฉลากโฆษณาว่า สีปลอดสารตะกั่ว ซึ่งเมื่อนำไปทดสอบแล้วปรากฏว่าพบปริมาณสารตะกั่วอยู่ระหว่าง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point