ฉบับที่ 210 เข้าถึงข้อมูลสิทธิประกันสังคม

เมื่อช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับเอกสารฉบับหนึ่งจากสำนักงานประกันสังคม เป็นเอกสารแจ้งรายละเอียดเงินสมทบกรณีชราภาพ ตั้งแต่ปีที่เริ่มทำงานจนถึงปัจจุบัน ซึ่งทำให้เกิดกระแสในสังคมเกี่ยวกับการตรวจสอบเงินสมทบว่า สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ที่ใดบ้าง  ฉบับนี้จึงขอมานำเสนอข้อมูลการเข้าตรวจสอบดังกล่าวให้ได้ทราบกันขอให้ความรู้สักนิดเกี่ยวกับสิทธิประกันสังคม โดยปกติการมีสิทธิประกันสังคมได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่ทำงานและเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 (ยังทำงานในสถานประกอบการ) หรือเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (ออกจากงานและยังส่งเงินประกันสังคมต่อ) แต่ปัจจุบันมีมาตรา 40 ขึ้นมาเพื่อรองรับประชาชนที่ต้องการมีสิทธิประกันสังคมในเรื่องการทดแทนการขาดรายได้ ทุพพลภาพ เงินชราภาพและกรณีเสียชีวิต แต่ใช้สิทธิการรักษาพยาบาลบัตรทอง 30 บาท         กลับมาที่เรื่องการเข้าถึงข้อมูลสิทธิประกันสังคมให้เข้าไปที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม                    ได้ทั้งทางคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน เริ่มต้นจากการคลิกสมัครสมาชิก โดยเว็บไซต์จะให้กรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน รหัสผ่านที่ตั้งขึ้น ชื่อนามสกุล เบอร์มือถือ วันเกิดและเมล จากนั้นระบบจะส่งรหัส OTP เข้าเบอร์มือถือที่ให้ไว้ และนำไปกรอกบนหน้าเว็บไซต์ คลิกยืนยัน  หลังจากนั้นให้กรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน และรหัสผ่านที่ตั้งขึ้น เพื่อเข้าสู่ระบบ ต่อจากนั้นผู้อ่านสามารถคลิกเข้าไปที่คำว่าผู้ประกันตน ซึ่งภายในจะมีข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประกันสังคม ดังนี้ ข้อมูลผู้ประกันตน ข้อมูลการส่งเงินสมทบ ยื่นแบบขอเปลี่ยนสถานพยาบาล ประวัติการเปลี่ยนแปลงสถานพยาบาล การใช้สิทธิประโยชน์ทดแทน การคำนวณเงินสงเคราะห์ชราภาพ และตรวจสอบข้อมูลใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ในข้อมูลผู้ประกันตน จะแจ้งข้อมูลชื่อนามสกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน สถานพยาบาลที่เลือกไว้ ในส่วนข้อมูลการส่งเงินสมทบ จะแสดงรายละเอียดงวดเงินสมทบ วันที่ชำระเงิน จำนวนเงินสมทบที่นำส่ง โดยจะมีข้อมูลแยกเป็นรายเดือน สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ทดแทน เป็นการแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับสิทธิที่ผู้ประกันตนเคยขอรับ อย่างเช่น กรณีการทำฟันที่จะเบิกได้ปีละ 900 บาท เป็นต้น ต่อไปเป็นการคำนวณเงินสงเคราะห์ชราภาพ จะเป็นรายละเอียดเงินสมทบของผู้ประกันตนและนายจ้างเป็นยอดรวมจำนวนเงินในแต่ละปี ซึ่งเป็นหัวข้อที่ทำให้ผู้ประกันตนรู้ว่าเงินออมที่จะได้รับเมื่อสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนมีจำนวนเท่าไร เรื่องการยื่นแบบขอเปลี่ยนสถานพยาบาล ก็จะใช้เมื่อต้องการเปลี่ยนแปลงสถานพยาบาล ซึ่งจะสอดคล้องกันกับเรื่องประวัติการเปลี่ยนแปลงสถานพยาบาล อันสุดท้ายคือเรื่องตรวจสอบข้อมูลใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ จะใช้สำหรับผู้ที่ต้องการใบเสร็จรับเงินโดยต้องสมัครขอรายละเอียดในเรื่องนี้ตามขั้นตอนต่อไป หลายคนอาจไม่เคยรู้รายละเอียดเกี่ยวกับการจ่ายเงินประกันสังคมของตนเองเลย หรืออาจไม่เคยเข้าใจว่าเมื่อสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนแล้วจะมีเงินจำนวนหนึ่งที่เป็นเงินสงเคราะห์ชราภาพหรือเงินออม ดังนั้นการได้รู้และเข้าถึงข้อมูลของตนเองถือว่าเป็นสิทธิและเป็นข้อดีสำหรับเราแม้ว่าคนไหนจะเคยทำงานเมื่อนานมาแล้ว และไม่ได้ทำงานมาหลายปี แต่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ซึ่งถือว่าสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน ก็สามารถติดต่อขอรับสิทธิเงินสงเคราะห์ชราภาพหรือเงินออมได้ที่สำนักงานประกันสังคมได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

นักวิจัยเผย มียาอีกหลายตัวที่ไม่ควรได้รับสิทธิบัตรอีก หลังศาลฎีกาชี้ขาด ถอนสิทธิบัตรยา ' วาลซาร์แทน '

            นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล นักวิจัยอิสระและรองประธานกลุ่มเอฟทีเอว็อทช์ เผยปมผู้ป่วยไทยเข้าไม่ถึงยา แม้อายุสิทธิบัตรของยานั้นจะสิ้นไปแล้ว เนื่องจากบริษัทยาใช้วิธีการที่เรียกว่า รูปแบบจดสิทธิบัตรไม่จบสิ้น(evergreen patent) สกัดบริษัทผู้ผลิตยาชื่อสามัญไทย            จากกรณีศาลฎีกาชี้ขาดสั่งถอนสิทธิบัตรการผลิตยาวาลซาร์แทน (Valsartan) ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง-โรคหัวใจ หลังต่อสู้เป็นคดีความยาวนาน 7 ปี เพราะยาดังกล่าวยื่นขอสิทธิบัตรกระบวนการผลิตยาเม็ด ซึ่งศาลพิจารณาว่า เหตุข้อมูลวิธีการผลิตนั้น ชัดเจนว่าไม่ใช่วิธีใหม่ เป็นเพียงการยื่นคุ้มครองกระบวนการผลิตยาเม็ดทั่วไปเท่านั้น ทุกคนที่มีความรู้ทางเภสัชกรรมก็สามารถทำได้ ซึ่งเรื่องนี้เปิดเผยโดยนายกสภาเภสัชกรรม ภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี เมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา           นางสาวกรรณิการ์ ให้ความเห็นว่า กรณียา  Varsantan เป็นเพียงหนึ่งคดีที่บริษัทยาชื่อสามัญชนะคดี แต่ตลอดระยะเวลาที่สู้คดีถูกบริษัทยาข้ามชาติส่งจดหมายไปแจ้งโรงพยาบาลต่างๆที่จัดซื้อยาชื่อสามัญราคาถูกที่มีคุณภาพทัดเทียมยาต้นแบบว่า อาจถูกดำเนินคดีและถูกเรียกร้องค่าเสียหายด้วย ทำให้โรงพยาบาลไม่กล้าซื้อ คนไข้เข้าไม่ถึงยา ยายังคงมีราคาแพง ระบบสุขภาพต้องแบกรับค่ายาที่ผิดปกติเหล่านี้เพราะเทคนิคการแสวงหากำไรบนชีวิตผู้ป่วย            "ดังนั้นที่ผ่านมา มีบริษัทยาชื่อสามัญไทยไม่กี่รายที่กล้าสู้คดี ซึ่งต้องชื่นชมในที่นี้คือ บ.สีลม ก่อนหน้านี้ บ.สยาม และ องค์การเภสัชกรรม ขอบคุณนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญที่ยอมเป็นพยานในคดีที่ใช้เวลาอย่างยาวนาน ชื่นชมความสามารถของบริษัทที่ปรึกษากฎหมายของ ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและศาลฎีกาของไทยที่พิพากษาคดีประวัติศาสตร์นี้ เช่นที่เมื่อ 10 กว่าปีก่อน เคยพิพากษาคดียาต้านไวรัส ddI ที่เป็นต้นแบบคำพิพากษาของโลกที่ชี้ว่า ผู้ป่วยสามารถร่วมฟ้องบริษัทยาในคดีทรัพย์สินทางปัญญาและอ้างปฏิญญาโดฮาว่าด้วยการสาธารณสุข ของความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ให้ตีความเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงยา"            จากงานวิจัยสิทธิบัตรที่เป็น evergreening ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พบว่า 70% สิทธิบัตรยาที่ออกไปแล้วนั้นไม่สมควรได้รับสิทธิบัตร และอีก 80% ของคำขอที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ไม่มีความใหม่ไม่มีนวัตกรรมที่สูงขึ้น ซึ่งหากคำขอสิทธิบัตรยาเหล่านี้ได้สิทธิบัตรจะเป็นภาระงบประมาณมากถึง 5000 ล้านบาทจากยาที่ขายดีเพียง 50 รายการเท่านั้น            “ที่ผ่านมาเมื่ออายุของสิทธิบัตรยาสิ้นสุดลง คือครบ 20 ปี อุตสาหกรรมยาของไทยจะผลิตยาชื่อสามัญมาแข่งขันได้ ซึ่งทำให้ลดการผูกขาดและราคายาถูกลง และสถานพยาบาลสามารถจัดหายาได้ในต้นทุนถูกลงเพื่อรักษาผู้ป่วยตามสิทธิหลักประกันที่สังกัด แต่กลับมาเจอบริษัทยามาขอขึ้นทะเบียนในลักษณะจดซ้ำซ้อน”             "รัฐบาล คสช.ควรศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะทุกวันนี้ รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ยังย้ำคิดย้ำทำว่าต้องออกคำสั่งคสช.ตามมาตรา 44 เพื่อจัดการคำขอสิทธิบัตรที่คั่งค้าง ถ้าทำเช่นนั้นก็เท่ากับปล่อยผีสิทธิบัตรยาที่ไร้คุณภาพ เป็นภาระกับประเทศ ขณะเดียวกัน กรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องนำคำพิพากษาไปปรับปรุงคณภาพการตรวจสอบสิทธิบัตร และแก้ไขร่างพระราชบัญญัติสิทธิบัตรให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น"            สำหรับคดีที่บริษัทยาข้ามชาติฟ้องบริษัทยาชือสามัญไทย มีอย่างน้อย 3 คดี คดีที่ 1.ยา Finasterine บ.MSD ฟ้อง บ.สยาม ฎีกา เมื่อ 2 ปีก่อน ไม่ชนะไม่แพ้ ศาลชี้ว่า บ.สยามใช้คนละวิธี ไม่ละเมิด คดีที่ 2.ยา Varsantan บ.Novartis ฟ้อง บ.สีลม ฎีกา 8 พ.ค. เพิกถอนสิทธิบัตร Novartis ไม่สมควรได้ 3. ยา Celecoxib บ. Pfizer ฟ้อง บ.แมคโครฟาร์ คดีอยู่ในศาลทรัพย์สินทางปัญญา ศาลชั้นต้น             นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่เครือข่ายผู้ป่วยร้องคัดต้านคำขอสิทธิบัตร อาทิ ยาสูตรผสมรวมเม็ดโซฟอสบูเวียร์และเลดิพาสเวียร์ ที่ใช้รักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งเข้าข่ายไม่ควรได้สิทธิบัตร เหตุเพราะไม่เข้าด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมายสิทธิบัตร คือ 1.ไม่อนุญาตให้จดสิทธิบัตรในเรื่องการบำบัดรักษา 2.การผสมยาสองชนิดรวมในเม็ดเดียวเป็นเทคโนโลยีธรรมดาๆ ที่เปิดเผยและทราบกันโดยทั่วไปในหมู่ผู้เชี่ยวชาญทางเภสัชกรรมอยู่แล้ว 3.ประสิทธิผลของการใช้ยาสองชนิดนี้ร่วมกันเป็นสิ่งที่ทราบกันดีอยู่แล้วในทางเภสัชกรรม ซึ่งในกฎหมายระบุว่าต้องก่อให้เกิด “ผลที่ไม่เป็นที่ประจักษ์โดยง่าย” จึงจะเข้าข่ายได้รับสิทธิบัตร             ทั้งนี้ บ่ายวันพฤหัสที่ 17 พ.ค.นี้แผนงานศูนย์วิชาการพัฒนาและเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) จะจัดเวทีเสวนาวิชาการที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อสรุปบทเรียนการต่อสู้สิทธิบัตรยาที่ไม่ชอบธรรมในประเทศไทยด้วย รายละเอียดติดต่อเพิ่มเติม กรรณิการ์ กิจติเวชกุล  (089-500-3217)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 204 ประกันชีวิตแบบออมทรัพย์

เพราะการทำประกันชีวิตมีมากมายหลายแบบ ซึ่งมีลักษณะความคุ้มครองและผลประโยชน์แตกต่างกันออกไป ผู้บริโภคจึงควรศึกษารายละเอียดของประกันให้ดีก่อนตัดสินใจ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณธนพรได้รับการเชิญชวนให้ทำประกัน จากพนักงานของบริษัทกรุงไทยแอกซ่าประกันชีวิต เธอจึงแจ้งความประสงค์ไปว่าต้องการทำประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ ซึ่งพนักงานได้ตอบกลับมาว่ามีประกันชีวิตที่มีลักษณะคล้ายการออมแบบที่เธอต้องการ โดยเมื่อครบ 5 ปีจะได้เงินคืนพร้อมดอกเบี้ย และที่สำคัญที่สุดคือลดเบี้ยประกันปีแรกอีก 10,000 บาท ทั้งนี้นอกจากข้อมูลที่ได้กล่าวไปเบื้องต้นแล้ว พนักงานได้แจ้งรายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเธอไม่ค่อยเข้าใจมากนัก แต่ก็ยินดีตกลงทำประกันดังกล่าว และตัดสินใจใช้บัตรเครดิตชำระค่าเบี้ยประกันไปจำนวน 40,000 บาทอย่างไรก็ตามเมื่อคุณธนพรถึงบ้าน และอ่านเอกสารการทำประกันที่ได้รับมากลับพบว่า ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่เธอต้องการ เพราะประกันดังกล่าวจะสามารถได้รับเงินออมต่อเมื่อผู้ทำประกันเสียชีวิตไปแล้วเท่านั้น ในขณะที่เธอต้องการเพียงแค่ออมทรัพย์ไว้และได้รับเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยในช่วงระยะเวลาที่กำหนด เพื่อเอาไว้เป็นค่าใช้จ่ายยามชราภาพ ดังนั้นเมื่อเหตุการณ์เป็นนี้ คุณธนพรจึงโทรศัพท์มายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำปรึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้เมื่อผู้ร้องพบว่ากรมธรรม์ไม่ตรงกับที่พูดคุยเอาไว้ หรือไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการก็สามารถยกเลิกประกันได้ภายในกำหนดเวลาและได้เงินค่าเบี้ยประกันคืนทั้งหมด ตามประกาศของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ที่กำหนดให้บอกเลิกสัญญาภายได้ใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ผู้เอาประกันภัยได้รับกรมธรรม์ประกันภัยจากบริษัท หรือมากกว่า 15 วัน ขึ้นกับแบบกรมธรรม์ประกันภัยที่มีการเสนอขาย ซึ่งภายหลังศูนย์ฯ ได้ช่วยผู้ร้องทำจดหมายยกเลิกสัญญา และจดหมายปฏิเสธการชำระหนี้ของบัตรเครดิต และเมื่อได้รับเงินคืนเรียบร้อย ผู้ร้องก็ยินดียุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 200 รู้จักกฎหมาย “ขายฝาก” เป็นสัญญาซื้อขายแบบหนึ่ง ไม่ใช่สัญญาประกันหนี้

ช่วงเดือนที่ผ่านมา หลายท่านคงได้ติดตามข่าวฆาตกรรมที่มีปมจากเหตุฝากขายที่ดิน ที่ชาวบ้านหลายคนบอกว่าโดนหลอกให้ขายฝากที่ดิน แล้วถูกเอาที่ดินไปขายต่อโดยไม่รู้เรื่อง  ดังนั้นวันนี้ เรามาทำความรู้จักเรื่องการทำสัญญาขายฝากให้มากขึ้นกันดีกว่า เพื่อให้ผู้บริโภคอย่างเราเท่าทันเรื่องการขายฝากมากขึ้นครับ ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การขายฝาก คืออะไร ต่างกับสัญญาจำนองอย่างไร ซึ่งหากไปดูข้อกฎหมายจะทราบว่า การทำสัญญาจำนอง คือการเอาทรัพย์ เช่น บ้าน ที่ดิน ไปเป็นหลักประกันในการชำระหนี้ กรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือบ้านยังเป็นของเราอยู่ไม่ได้โอนไป หากเราไม่ชำระหนี้เขาจะบังคับจำนองต้องลำบากไปฟ้องศาล ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์ แต่ถ้าทำเป็นสัญญาขายฝาก เหมือนเอาทรัพย์ไปขายและถ้าครบกำหนดก็ให้ซื้อคืนได้ ฉะนั้นกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือบ้านก็จะโอนไปด้วย หากเราผิดนัดชำระหนี้แค่วันเดียว ก็มีสิทธิจะเอาทรัพย์เราไปขายต่อหรือไปทำอะไรก็ได้เพราะกรรมสิทธิ์มันโอนมาแล้ว ไม่ต้องลำบากไปขอศาลด้วย ดังนั้นในมุมผู้ที่เดือดร้อนเงิน แล้วจะนำที่ดินหรือบ้านไปกู้เงิน จึงขอแนะนำว่าไม่ควรทำเป็นสัญญาขายฝากนะครับ เพราะโอกาสที่จะเสียทรัพย์สินจะมีสูงกว่าเพราะกรรมสิทธิ์โอนให้เขาไปตั้งแต่วันทำสัญญาแล้ว  เราจะเห็นว่า สัญญาขายฝากมีเรื่องของ “กำหนดเวลาไถ่ทรัพย์คืน” ไว้เป็นสาระสำคัญ ซึ่งหากไม่มาไถ่คืนตามกำหนดเวลาที่ตกลงไว้ก็จะเสียสิทธิไถ่ทรัพย์คืน และทำให้ทรัพย์สินที่ขายฝากนั้นตกเป็นของผู้รับฝากทันที  อย่างไรก็ตามระยะเวลาไถ่ทรัพย์อาจขยายเวลาได้  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18460/2557            การขยายกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากกฎหมายมิได้บังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพียงแต่อย่างน้อยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้รับไถ่ จึงจะบังคับกันได้ การไม่นำหนังสือหรือหลักฐานเป็นหนังสือไปจดทะเบียนหรือจดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ คงมีผลทำให้คู่สัญญาไม่อาจยกการขยายเวลาขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วเท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 496 วรรคสอง ดังนั้น การตกลงขยายกำหนดเวลาไถ่ตามหนังสือขอต่อสัญญาขายฝาก ซึ่งมีจำเลยที่ 1 ผู้รับไถ่ลงลายมือชื่อไว้ แม้มิได้นำไปจดทะเบียนหรือจดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 แม้ไม่ได้ลงลายมือชื่อ แต่การที่จำเลยที่ 2 รู้เห็นยินยอมในการกระทำของจำเลยที่ 1 กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เชิดจำเลยที่ 1 หรือยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการตกลงและทำหนังสือขยายกำหนดเวลาไถ่ให้แก่โจทก์ การลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับไถ่ด้วย หนังสือขยายกำหนดเวลาไถ่จึงมีผลผูกพันจำเลยทั้งสอง เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงโดยนำทรัพย์สินที่รับซื้อฝากไปขายก่อนครบกำหนดเวลาไถ่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ นอกจากนี้ ถ้ามีการกำหนดราคาไถ่ทรัพย์ที่สูงกว่าราคาแท้จริงที่ขายฝาก กฎหมายก็ให้ถือว่า ให้ไถ่กันตามราคาขายฝากที่แท้จริง และรวมประโยชน์ตอบแทนไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี เท่านั้น โดย “ราคาขายฝากที่แท้จริง” คือ ราคาที่ผู้ซื้อฝากได้ชำระราคาแก่ผู้ขายฝากในขณะทำสัญญากัน ซึ่งอาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าราคาทรัพย์สินที่แท้จริง  เช่น ราคาขายฝากบ้าน 300,000 บาท กำหนดเวลาไถ่ 3 ปี กำหนดสินไถ่ เป็นเงิน 500,000 บาท เช่นนี้ ถือว่ากำหนดไว้เกินร้อยละ 15 ต่อปี เนื่องจากเมื่อคิดประโยชน์ตอบแทนจะได้ 155,000 บาท เท่านั้น(ราคาขายฝากที่แท้จริง x ประโยชน์ตอบแทน ร้อยละ 15 x กำหนดเวลาไถ่) จึงได้เท่ากับ 455,000 บาทเท่านั้น ดังนั้นค่าสินไถ่ที่กำหนดไว้ 500,000 บาทจึงตกเป็นโมฆะ ใช้บังคับได้เพียงไม่เกินที่กฎหมายกำหนดกล่าวคือ ผู้มีสิทธิไถ่ย่อมชำระสินไถ่เพียง 455,000 บาท เท่านั้น     อีกทั้ง กฎหมายเขียนเรื่องประโยชน์ตอบแทนร้อยละ 15 ต่อปี  ทำให้บางคนเข้าใจว่าเป็นสัญญาประกันหนี้ เพราะมีลักษณะคล้ายดอกเบี้ยเงินกู้  แต่แท้จริงคือการทำสัญญาซื้อขายประเภทหนึ่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1265/2559       บันทึกเอกสารหมาย จ.4 มีข้อความสรุปว่า จำเลยได้รับขายฝากที่ดินพิพาท จำเลยยินดีจะทำสัญญาซื้อขายตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2555 ถึงวันที่ 26 มกราคม 2556 ตามสัญญาเดิมที่ทำไว้พร้อมดอกเบี้ย โดยบันทึกดังกล่าวมีการอ้างถึงสัญญาขายฝากฉบับเดิมที่ น. มารดาโจทก์ทำไว้ก่อนตาย ซึ่งหากเป็นการตกลงจะซื้อขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างกันใหม่ก็ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงสัญญาขายฝากฉบับเดิมไว้ ทั้งยังตกลงให้โจทก์ต้องชำระสินไถ่พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาขายฝากเดิมให้แก่จำเลยภายในวันที่ 26 มกราคม 2556 กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยขยายกำหนดเวลาไถ่ให้แก่โจทก์  โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้รับไถ่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 496 วรรคสอง แล้ว น. มารดาโจทก์ผู้ขายฝากและจำเลยผู้รับซื้อตกลงคิดดอกเบี้ยเดือนละ 12,000 บาท กรณีนี้จึงเป็นการกำหนดราคาสินไถ่หรือราคาขายฝากสูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี เมื่อราคาสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จึงต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 499 วรรคสอง ซึ่งกำหนดให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละ 15 ต่อปี ราคาสินไถ่ที่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 200 เงินประกันที่อยู่อาศัยยึดได้จริงหรือ?

หัวเมืองใหญ่ๆ นั้น ถือว่าเป็นสถานที่สำหรับคนต่างจังหวัดที่จะเข้ามาหางานทำ รวมทั้งนักศึกษาที่จะต้องเข้ามาศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ สิ่งที่ตามมาคือ ที่อยู่อาศัยในระหว่างการทำงานและการเรียน เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้ที่อยู่อาศัยถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วคนทำงานมักหาที่อยู่อาศัยแบบบ้านเช่าหรือห้องแบ่งให้เช่า ส่วนนักศึกษาก็จะอยู่อพาร์ตเม้นท์ หรือหอพัก หากพิจารณารายละเอียดก่อนที่จะเข้าไปอยู่อาศัย ส่วนใหญ่จะต้องมีการทำสัญญากับผู้ให้เช่า โดยผู้ให้เช่าจะเตรียมสัญญาสำเร็จรูปที่เป็นรูปแบบที่ใช้เหมือนกันทุกคนในที่อยู่อาศัยนั้น  โดยผู้เช่าไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงสัญญาได้เลย จึงเห็นได้ว่าผู้เช่าจะไม่ค่อยได้อ่านในรายละเอียดของสัญญาหรืออ่านแล้วแต่ก็ไม่ได้สงสัยแต่อย่างใด ประเด็นสำคัญของสัญญานั้นมีหลายข้อ แต่ข้อที่เป็นปัญหามากที่สุด คือเรื่องเงินประกัน ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจการให้เช่าที่อยู่อาศัยที่เรียกเก็บเงินประกันเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 ได้กำหนดคำว่า “ที่อยู่อาศัย” หมายถึง สถานที่ที่จัดขึ้นสำหรับการให้เช่าเพื่อเป็นที่พักอาศัย เช่น บ้าน อาคาร อาคารชุด อพาร์ตเม้นท์ หรือสถานที่พักอาศัยที่เรียกชื่ออย่างอื่น แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงสถานที่พักที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม และหอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก ดังนั้นเมื่อทำสัญญาเช่ากันแล้ว ผู้เช่าจะต้องชำระเงินค่าเช่าพร้อมเงินประกัน ซึ่งผู้ให้เช่าจะต้องจัดให้มีหลักฐานการรับเงินและมอบให้แก่ผู้เช่าในทันทีที่รับเงินประกัน โดยในหลักฐานการรับเงินที่ผู้ให้เช่าออกให้นั้น ต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน มีขนาดของตัวอักษรไม่เล็กกว่าสองมิลลิเมตร และจะต้องมีสาระสำคัญและเงื่อนไป ดังต่อไปนี้ 1. ชื่อและที่อยู่ของผู้ประกอบธุรกิจ และของผู้มีอำนาจออกหลักฐานการรับเงิน2. ชื่อและที่อยู่ของผู้เช่า3. ชื่อและสถานที่ตั้งของที่อยู่อาศัย4. กำหนดระยะเวลาที่อยู่อาศัย โดยระบุวันเริ่มต้นการเช่า และวันสิ้นสุดการเช่า(ถ้ามี)5. วัน เดือน ปี ที่รับเงินประกัน6. จำนวนเงินประกัน และข้อความว่า ผู้เช่ามีสิทธิได้รับเงินคืนเงินประกันทันทีเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาเช่าที่อยู่อาศัยหรือเมื่อสัญญาเช่าที่อยู่อาศัยเลิกกัน เว้นแต่กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจประสงค์จะตรวจสอบความเสียหายที่ผู้เช่าต้องรับผิดชอบ หากผู้เช่ามิได้ทำความเสียหาย ให้ผู้เช่ามีสิทธิได้รับเงินคืนประกันภายในเจ็ดวัน โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจรับภาระค่าใช้จ่ายในการนำส่งคืนเงินประกันนั้นตามวิธีการที่ผู้เช่าแจ้งให้ทราบซึ่งในเรื่องของเงินประกันนั้น มีประเด็นปัญหาเป็นที่ถกเถียงกันระหว่างผู้เช่าและผู้ให้เช่า ว่าควรจะหักได้เท่าไหร่จากความเสียหายอะไรบ้าง ตามกฎหมายนั้นกำหนดว่า ผู้เช่าจะต้องรับผิดในกรณีที่มีการทำของภายในห้องเช่าชำรุด เช่น ผ้าม่าน ประตู ตู้ เตียง ที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินของห้องเช่าหรือหอพัก อันเกิดจากความผิดของผู้เช่าเองหรือของบุคคลอื่นที่เช่าอยู่ด้วย แต่ผู้เช่าไม่ต้องรับผิดในกรณีเกิดความสกปรกที่เกิดจากจากใช้ห้องเช่าหรือหอพักนั้น แต่สำหรับค่าทำความสะอาดห้องนั้นจะเป็นไปตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ระหว่างผู้เช่าและผู้ให้เช่า ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว หลังจากผู้เช่าแจ้งย้ายออกแล้ว ผู้ให้เช่าจะจ้างแม่บ้านมาทำความสะอาด ซึ่งจะหักจากเงินประกันและในสัญญาเช่าก็ได้เขียนไว้เกี่ยวกับการย้ายเข้าและย้ายออก ถ้าผู้เช่าอ่านก่อนเซ็นสัญญาก็จะทราบ แต่ที่สำคัญคือ จำนวนเงินที่หักไว้เป็นค่าทำความสะอาดนั้น ควรจะเหมาะสมกับความเป็นจริง จึงจะถือว่าไม่เอาเปรียบผู้เช่า เช่น ค่าทำความสะอาดห้อง 200-500 บาท  แต่ที่อยู่อาศัยบางที่หักค่าทำความสะอาดจากเงินประกันเกือบทั้งหมด มีทั้งค่าทำความสะอาดห้อง ค่าเสียหายต่างๆ ซึ่งบางอย่างผู้เช่าไม่ได้เป็นคนทำชำรุด แต่เกิดจากการชำรุดก่อนหน้าที่จะเข้าอยู่ ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจการให้เช่าที่อยู่อาศัยที่เรียกเก็บเงินประกันเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 ไม่สามารถที่จะยึดเงินประกันทั้งหมดของผู้เช่าได้ดังนั้น ในการที่ผู้ให้เช่าจะหักเงินประกันอะไรได้บ้าง ต้องเป็นไปตามกฎหมายและหากมีการตกลงกันเป็นเงื่อนไขของการหักเงินประกันตามสัญญา ก็ควรเป็นไปตามความเหมาะสมของความเป็นจริง ซึ่งจะทำให้เกิดความยุติธรรมทั้งสองฝ่าย คงไม่ต้องถึงขนาดต้องมีการโพสต์ระบายในเฟชบุ๊กในกรณีที่มีการเอาเปรียบกันเกินไปครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 โดนหลอกให้ทำประกัน

แม้การทำประกันชีวิตจะมีข้อดีหลายประการ แต่ควรเกิดขึ้นจากความสมัครใจของผู้บริโภคแต่ละคน เพราะหากผู้บริโภคถูกหลอกให้ทำประกัน สามารถส่งผลให้บริษัทเสียชื่อเสียงจากการถูกฟ้องร้อง และสร้างความรู้สึกด้านลบให้กับผู้บริโภคได้ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้เมื่อปลายปี พ.ศ. 2555 คุณสุชาติต้องการทำบัญชีสะสมทรัพย์กับธนาคารกสิกรไทย ในจังหวัดนครราชสีมา เมื่อเขาแจ้งความประสงค์ พนักงานพร้อมผู้จัดการธนาคารในปีดังกล่าว ได้แนะนำว่า ถ้าออมเงินฝากกับธนาคารในวงเงินประมาณ 600,000 บาท จะได้รับบัตรเครดิต Wisdom พร้อมด้วยสิทธิพิเศษต่างๆ มากมาย ทำให้เขาตัดสินใจที่จะฝากเงินจำนวนดังกล่าว เพราะเห็นว่าได้สิทธิประโยชน์หลายอย่างของบัตรเครดิต และตกลงกรอกรายละเอียดพร้อมเซ็นชื่อลงในเอกสารต่างๆ โดยที่ไม่ได้ตรวจสอบก่อน เพราะมีความไว้เนื้อเชื่อใจกับพนักงานธนาคารอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามในอีก 2 ปีถัดมา คุณสุชาติต้องการนำเงินที่ฝากไว้ไปลงทุนทำธุรกิจ จึงไปแจ้งความประสงค์ขอปิดบัญชี แต่กลับพบว่าไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเงินทั้งหมดที่เขาฝากไว้นั้น เป็นการทำประกันชีวิตกับธนาคาร ซึ่งหากส่งเบี้ยประกันไม่ครบ 5 ปีตามเงื่อนไข เขาจะไม่ได้รับเงินคืนเมื่อถึงกำหนด เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณสุชาติจึงแจ้งไปว่า เขาไม่ทราบเรื่องการทำประกันชีวิตดังกล่าว เพราะหากทราบก่อนก็คงไม่ทำ และเขาไม่ยอมที่จะสูญเสียเงินที่ฝากไปแน่นอน เขาจึงไปร้องเรียนกับพนักงานที่เคยคุยกันไว้ แต่ก็ได้รับคำตอบว่าต้องจ่ายเบี้ยประกันให้ครบกำหนดก่อน ถึงจะได้รับเงินคืน มิฉะนั้นก็จะถูกริบเงินทั้งหมด ทำให้คุณสุชาติต้องเดินทางไปยังสำนักงานใหญ่ของบริษัทประกันชีวิต เพื่อร้องเรียนและขอรับเงินคืน แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้เช่นกัน เขาจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหาจากกรณีนี้ศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำให้ผู้ร้องทำหนังสือถึงธนาคารแห่งประเทศไทยและ คปภ. โดยให้ขอเงินคืนทั้งหมด ด้วยเหตุผลว่า ขณะที่ทำการฝากเงินนั้นผู้ร้องไม่ทราบว่าเป็นการทำประกัน เพราะพนักงานไม่ได้แจ้งรายละเอียดดังกล่าวให้ทราบก่อน ซึ่งที่ผ่านมามีผู้บริโภคหลายรายที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ และสามารถเรียกร้องเงินคืนได้ทั้งหมด แต่อาจเสียเวลาการดำเนินการสักหน่อย ดังนั้นก่อนตัดสินใจเซ็นชื่อหรือกรอกรายละเอียดส่วนตัวลงในเอกสารใดๆ ควรตรวจสอบให้ดีก่อน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 SSO Connect บัตรประกันสังคมอิเล็กทรอนิกส์

ฉบับนี้ขอเอาใจผู้อ่านที่ใช้บริการประกันสังคมกันสักหน่อย ทั้งผู้ทำงานและผู้ที่เคยทำงานที่ต้องใช้บริการประกันสังคม โดยปกติผู้ที่มีสิทธิการใช้ประกันสังคมจะได้รับบัตรประกันสังคมประจำตัวคนละใบ ซึ่งในบัตรจะระบุรายละเอียดชื่อผู้ถือบัตร เลขบัตรประชาชน สถานพยาบาล ระยะเวลาการหมดอายุของบัตร แต่ถ้าผู้ถือบัตรอยากทราบข้อมูลการส่งเงินสมทบ การใช้สิทธิประโยชน์ทดแทน เงินสงเคราะห์ชราภาพที่ตนส่งนั้นมีมูลค่าเท่าไรในปัจจุบัน สามารถเข้าตรวจสอบรายละเอียดได้ในเว็บไซต์ประกันสังคมโดยตรง แต่ทั้งนี้ต้องมีการสมัครเป็นสมาชิกในระบบดังกล่าวเสียก่อนจากนโยบายของรัฐบาลภายใต้สังคมยุคดิจิทัลไทยแลนด์ 4.0 ความนิยมในการใช้โซเชียลมีเดียในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ผ่านสมาร์ทโฟนที่เป็นไปอย่างแพร่หลาย  สำนักงานประกันสังคม ภายใต้กระทรวงแรงงาน จึงพัฒนาระบบและการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อเข้าถึงงานบริการของรัฐในรูปแบบของบัตรประกันสังคมออนไลน์ ที่สามารถใช้งานได้เสมือนกับบัตรประกันสังคมที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ล่าสุดสำนักงานประกันสังคมได้เปิดบริการออนไลน์ที่มีชื่อว่า SSO  Connect ซึ่งสามารถเข้าใช้บริการออนไลน์ได้ที่ ssoconnect.mywallet.co หรือดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น my SSO ได้ทั้งระบบ ios และ Andriod เมื่อเข้าไปที่ ssoconnect.mywallet.co ระบบจะให้กรอกเลขประจำตัวประชาชนและเบอร์โทรศัพท์ จากนั้นจะมีเงื่อนไขและข้อกำหนดการใช้บริการบัตร SSO  Connect ให้อ่านและกดยอมรับ ระบบจะบอกขั้นตอนและตัวอย่างในการปฏิบัติ เพื่อทำการดาวน์โหลดบัตรประกันสังคม ส่วนแอพพลิเคชั่น my SSO ก็จะมีให้ลงทะเบียนเพื่อใช้งานระบบเช่นกันภายในบัตรประกันสังคมอิเล็กทรอนิกส์ จะปรากฏชื่อผู้ประกันตน ยอดเงินการใช้สิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรม สิทธิสถานพยาบาล ยอดเงินสมทบทั้งหมด วันหมดอายุของบัตร โดยบัตรประกันสังคมอิเล็กทรอนิกส์จะใช้ได้เสมือนกับบัตรประกันสังคมที่ออกให้จากประกันสังคม นอกจากนี้บนบัตรประกันสังคมอิเล็กทรอนิกส์จะมีปุ่มสัญลักษณ์วงกลม i  ซึ่งจะมีรายละเอียดที่แตกต่างจากบนบัตรประกันสังคมอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ วันออกบัตร วันหมดอายุบัตร สิทธิประโยชน์ของคุณ ประวัติการส่งเงินสมทบและการเข้าถึงข้อมูลอื่นๆ โดยเมื่อคลิกเข้าสู่ระบบเพื่อดูข้อมูลสิทธิประโยชน์จะเชื่อมต่อไปที่หน้าเว็บไซต์ www.sso.go.th สำหรับบนแอพพลิเคชั่น my SSO จะมีเมนูข้อมูลส่วนตัว เงินสะสมชราภาพ เงินสมทบผู้ประกันตน ตรวจสอบสถานการณ์เบิกสิทธิประโยชน์ และเมนูสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมนอกจากนี้การบริการออนไลน์ SSO  Connect บนหน้าบัตรประกันสังคมอิเล็กทรอนิกส์จะอัพเดทข้อมูลอัตโนมัติเพื่อช่วยให้ผู้ประกันตนทราบข้อมูลปัจจุบันล่าสุด และถ้าเกิดมีข้อสงสัยการบริการออนไลน์ SSO  Connect ก็จะมีเบอร์ติดต่อ พร้อมกับเบอร์สายด่วนการใช้สิทธิการรักษาพยาบาลให้ผู้ประกันตนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้อีกด้วย  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนกรกฎาคม 2560“เก้าอี้ไฟฟ้าสถิต” รักษาโรคไม่ได้ใครที่กำลังคิดจะซื้อ “เก้าอี้ไฟฟ้าสถิต” เพราะเชื่อตามโฆษณาว่าสามารถรักษาโรคต่างๆ ได้ ขอให้เปลี่ยนความคิดเดี๋ยวนี้ เพราะล่าสุด อย. ออกมาให้ข้อมูลแล้วว่า อุปกรณ์เก้าอี้ไฟฟ้าสถิตย์ไม่ได้มีไว้เพื่อผลในการรักษาโรคแต่อย่างใด ซึ่งจากการตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีการขออนุญาตผลิตหรือนำเข้าอุปกรณ์บำบัดด้วยเก้าอี้ไฟฟ้าสถิตอุปกรณ์เก้าอี้ไฟฟ้าสถิตจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ที่ต้องขออนุญาต อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ อย. ซึ่ง อย.กำหนดวัตถุประสงค์การใช้งานอุปกรณ์ดังกล่าวไว้ว่าเพื่อเพิ่มการไหลเวียนโลหิตเฉพาะที่ชั่วคราว หรือผ่อนคลายกล้ามเนื้อเฉพาะที่ชั่วคราวเท่านั้น ไม่สามารถรักษาหรือบำบัดบรรเทาโรคได้ และต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด แต่ปัจจุบันกลับพบปัญหาการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เรื่องการรักษา บรรเทา และป้องกันโรคต่างๆ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด ส่งผลกระทบที่อาจทำให้ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยต้องสูญเสียโอกาสและเวลาในการรักษาโรคให้หายด้วยวิธีทางการแพทย์ที่ถูกต้อง รวมทั้งต้องเสียเงินในการซื้ออุปกรณ์ดังกล่าวโดยเปล่าประโยชน์อย.ได้กำหนดโทษการโฆษณาที่เป็นเท็จทำให้ผู้บริโภคเข้าใจของสินค้าในกลุ่มเครื่องมือแพทย์ คือจำคุกไปเกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ อะลูมิเนียมใส่อาหารได้ไม่ทำให้เป็นอัลไซเมอร์ในสื่อสังคมออนไลน์มีการส่งต่อเรื่องการใช้แผ่นอะลูมิเนียมฟอยล์ห่ออาหารที่มีความร้อน ว่าจะทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยอ้างว่าอะลูมิเนียมเมื่อโดนความร้อนจะละลายปนลงในอาหาร เมื่อบริโภคเข้าไปจะส่งผลต่อระบบสมอง ทำให้ความจำลดลงและเป็นสาเหตุของโรคอัลไซเมอร์ รวมทั้งจะทำลายแคลเซียมในร่างกายมีผลต่อกระดูก ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสร้างความกังวลให้กับผู้บริโภค จนกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ต้องออกมาชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องพร้อมด้วยผลการทดสอบ ยืนยันว่าอะลูมิเนียมที่ใช้ในการห่อหุ้มอาหารปลอดภัย และไม่ใช่ต้นเหตุของการเกิดโรคอัลไซเมอร์แต่อย่างใดสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ทำการตรวจวิเคราะห์การละลายออกมาของอะลูมิเนียมจากภาชนะที่ทำด้วยโลหะอะลูมิเนียม แบ่งเป็นภาชนะหุงต้ม จำนวน 22 ตัวอย่าง และแผ่นเปลวอะลูมิเนียม(ฟอยล์) 6 ตัวอย่าง โดยทำการทดสอบในภาวะที่สุดโต่ง ด้วยสารละลายกรดอะซิติก ที่อุณหภูมิน้ำเดือด 100 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 2 ชั่วโมง ผลการทดสอบพบว่า มีอะลูมิเนียมละลายจากภาชนะหุงต้ม ปริมาณที่พบอยู่ในช่วง 11-953 มิลลิกรัม/ลิตร และพบการละลายออกมาจากแผ่นเปลวอะลูมิเนียมทั้งหมด ปริมาณที่พบอยู่ในช่วง 483.6-1,032 มิลลิกรัม/ลิตร ส่วนการทดสอบถาดหลุมที่อุณหภูมิ 22 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 24 ชั่วโมง มีการละลายออกมาของอะลูมิเนียมจากถาดหลุมทั้ง 6 ตัวอย่าง ปริมาณที่พบน้อยกว่ามาก ซึ่งพบอยู่ในช่วง 0.5-14.1 มิลลิกรัม/ลิตรนอกจากนี้ยังมีการทดสอบเรื่องการละลายออกมาของอะลูมิเนียมลงสู่อาหาร 4 อย่าง คือ ข้าวสุก ผัดผัก ต้มยำ และยำวุ้นเส้น ที่ใส่ในถาดหลุมไว้เป็นเวลา 30 นาที เพื่อเลียนแบบการรับประทานอาหารโดยใช้ถาดหลุม พบว่า การละลายออกมาของอะลูมิเนียมมีน้อยมากๆ อยู่ในช่วง 0.047 - 0.928 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ที่สำคัญคือ การรับประทานอาหารที่อยู่ในภาชนะหรือห่อหุ้มด้วยอะลูมิเนียมฟอยล์ไม่ได้เป็นต้นเหตุของการเกิดโรคอัลไซเมอร์แต่อย่างใด ครีมกันแดดในบัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อผู้ป่วยเอสแอลอีเพราะผู้ป่วยโรคเอสแอลอี(SLE) มีความจำเป็นต้องใช้ครีมกันแดดอย่างสม่ำเสมอ  ซึ่งที่ผ่านมามูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก ได้จัดกิจกรรมระดมทุนเพื่อหาครีมกันแดดให้กับผู้ป่วยเหล่านี้ทุกปี ล่าสุดในงาน “แดดจ๋า อย่ารังแกหนู หนูเป็นโรคเอสแอลอี” จึงได้มีข้อเสนอที่อยากให้มีการเพิ่มครีมกันแดดเข้าไปอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติในระบบประกันสุขภาพของรัฐ เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยเอสแอลอี สามารถเข้าถึงครีมกันแดด ซึ่งถือเป็นเวชภัณฑ์สำหรับคนไข้ในกลุ่มนี้พญ.พรเพ็ญ อัครวัชรางกูร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคข้อและรูมาติซัม โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา สภากาชาดไทย ที่ปรึกษาชมรมคนต่อสู้โรคเอสแอลอี กล่าวว่า แดดในเมืองไทยแรงมาก ทำให้มีแนวโน้มที่คนไทยจะเป็นโรคเอสแอลอีอยู่แล้วถูกกระตุ้นให้เป็นเร็วมากขึ้น เวลาที่ผู้ป่วยอาการของโรคกำเริบ อาจจะต้องได้ยาขนานสูง บางคนได้สเตียรอยด์ หรือแรงกว่านั้น ทำให้มีผลกระทบหลายอย่าง เช่น ประจำเดือนไม่มา กระดูกพรุน หรือมีปัญหาเรื่องความสูงและความสมบูรณ์ของร่างกาย ดังนั้นตรงนี้จึงสำคัญมาก หากครีมกันแดดสามารถเบิกได้ในคนไข้ที่จำเป็นจะต้องใช้ เช่น ผู้ป่วยโรคเอสแอลอี จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้โรคเอสแอลอี (SLE) ย่อมาจากชื่อเต็มในภาษาอังกฤษว่า systemiclupus erythematosus เป็นโรคที่มีอาการเกิดขึ้นกับหลายระบบหรือหลายอวัยวะในร่างกาย ทั้ง ปวดบวมตามข้อ อาการต่อระบบไต ระบบเลือด และระบบประสาท เป็นต้น ซึ่งเกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงไป มีผลต่อเซลล์ของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ซึ่ง 1 ในปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยอาการกำเริบเกิดจากการที่ผิวหนังถูกแสงอัลตราไวโอเลต คัดค้านขยายสิทธิผู้ประกันตนจาก 55 ปี เป็น 60 ปีจากการที่สำนักงานประกันสังคมมีนโยบายที่จะขยายระยะเวลาการรับเงินชราภาพของผู้ประกันตนจากอายุ 55 ปี เป็น 60 ปี โดยให้เหตุผลว่า เพื่อสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้กับแรงงานที่อยู่ภายใต้สิทธิประกันสังคม ได้รับการดูแลคุ้มครองตามสิทธิต่อเนื่องจนถึงอายุ 60 ปีแต่ข้อเสนอดังกล่าวถูกคัดค้านจากองค์ตัวแทนกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ทั้งเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน และ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) โดยทั้ง 2 องค์กรเห็นตรงกันว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นลดทอนสิทธิมากกว่าสร้างประโยชน์ให้กับผู้ประกันตน การขยายระยะเวลาในการอยู่ภายใต้สิทธินั้น หากมีการนำมาใช้จริงก็ควรเป็นไปแบบสมัครใจ สำหรับประเด็นที่ว่าสำนักงานประกันสังคมต้องการที่จะสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับแรงงานในส่วนของผู้ประกันตน ด้วยการขยายระยะเวลาการรับเงินชราภาพของผู้ประกันตนจากอายุ 55 ปี เป็น 60 ปี เพราะสามารถใช้สิทธิต่างๆ ได้นานขึ้น องค์กรที่ออกมาแสดงความเห็นคัดค้านมองว่าเป็นคนละประเด็นกัน การยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความมั่นคงให้กับผู้ประกันตนสามารถทำได้ด้วยวิธีอื่นเตรียมทำมาตรฐานน้ำดื่มแห่งชาติกรมอนามัยเตรียมทำร่างมาตรฐานน้ำบริโภค ที่จะเป็น “มาตรฐานกลาง” ใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ เนื่องจากปัจจุบัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำบริโภคได้อ้างอิงเกณฑ์คุณภาพที่แตกต่างกัน อาทิ การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค อ้างอิงจากเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ใช้เกณฑ์คุณภาพน้ำบาดาลเพื่อการบริโภค และมาตรฐานการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการนพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวภายหลังเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ร่างมาตรฐานน้ำบริโภคประเทศไทย” ว่า ปัจจุบันมีการใช้สารเคมี สารฆ่าศัตรูพืชและสัตว์ และยากำจัดวัชพืชเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารเคมีลงสู่แหล่งน้ำที่ใช้ในการบริโภค ซึ่งจากการสำรวจและเฝ้าระวังคุณภาพน้ำบริโภคในประเทศของสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย โดยใช้เกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้ พบว่า ตั้งแต่ปี 2551 - 2559 น้ำบริโภคไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเฉลี่ย ร้อยละ 60 จำนวนนี้แบ่งเป็นมาตรฐานด้านกายภาพร้อยละ 30 เคมี ร้อยละ 15 และชีวภาพ ร้อยละ 70โดยกรมอนามัยจะเป็นแกนหลักในการจัดทำมาตรฐานคุณภาพน้ำบริโภคประเทศไทยร่วมกับภาคีเครือข่าย คณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา เพื่อช่วยกันยกระดับคุณภาพน้ำบริโภคของประเทศให้เป็นมาตรฐานกลางเพื่อหน่วยงานต่างๆ ได้ใช้เป็นเกณฑ์ในการควบคุมคุณภาพน้ำเพื่อการบริโภค ทั้ง น้ำประปา น้ำประปาภูเขา น้ำบ่อบาดาล น้ำผิวดิน และน้ำฝน

อ่านเพิ่มเติม >

รถถูกน้ำท่วมรถเคลมยังไง?

ตรวจดูความคุ้มครองของกรมธรรม์ขั้นตอนแรก ที่เป็นสิ่งสำคัญที่สุด คือ การตรวจดูความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันรถยนต์ภาคสมัครใจที่เราต่ออายุไว้ทุกปี  ว่าครอบคลุมความเสียหายที่เกิดจากภัยธรรมชาติด้วยหรือไม่  ซึ่งความคุ้มครองตัวรถที่เอาประกันภัยคือประกันชั้น 1ประกันชั้น 2+ บางแพคเกจประกันชั้น 3+ บางแพคเกจความคุ้มครองประกันแบ่งความเสียหายจากน้ำท่วมเป็นสองแบบคือ 1.การสูญเสียโดยสิ้นเชิงคือกรณี น้ำท่วมมิดคัน หรือ ท่วมเกินช่วยคอนโซลหน้า ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับทั้งห้องโดยสาร บริษัทประกันประเมิณว่า ไม่คุ้มที่จะซ่อมให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิม บริษัทประกันยินดีที่จะจ่ายเงิน 70-80% ของทุนประกันเพื่อเป็นการขอซื้อซากรถ2.ความเสียหายบางส่วนถ้ารถคันนั้นไม่เสียหายมากนัก สามารถซ่อมกลับมาใช้ได้ ประกันภัยก็จะตีเป็นลักษณะความเสียหายบางส่วน บริษัทประกันจะรับผิดชอบซ่อมแซมรถให้กลับมาใช้งานได้ปกติ โดยที่ประกันภัยนั้นจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดขั้นตอนการเคลมประกันจากน้ำท่วมเมื่อรถเราเจอน้ำท่วมขั้อนตอนการเคลม  โทรแจ้งประกันที่เราได้ทำประกันไว้  จากนั้นจะมีจ้าหน้าที่ประกันมาประเมิณความเสียหาย เมื่อประเมิณเสร็จแล้ว หากรถเราเสียหายบางส่วนก็รอใบเคลม แล้วนำไปเข้าอู่ซ่อม แต่ถ้ารถเสียหายทั้งคัน(เกินจะซ่อมแซม) ไม่สามารถนำมาใช้ใหม่ ผู้เอาประกันก็รอรับค่าเสียหายจากประกันที่จะซื้อซากรถที่ไม่สามารถใช้งานได้แล้ว  แต่มีบางกรณี ที่บริษัทประกันจะไม่รับผิดชอบเลยก็คือเราตั้งใจปล่อยให้น้ำท่วมรถหรือตั้งใจขับไป (ต้องพิสูจน์)ขับรถลุยน้ำ ทำอย่างไรให้ปลอดภัย1. สังเกตระดับน้ำว่าลึกขนาดไหน อาจมองจากขอบทางเดินถนน หรือ ถ้ามีรถคันอื่นขับผ่านถนนเส้นนั้นอยู่ ให้ลองกะดูจากสายตา หากคุณขับรถเก๋งคุณสามารถลุยน้ำได้หากระดับน้ำไม่เกิน 30 ซ.ม. ไม่อย่างนั้นอาจเครื่องดับ2. ปิดแอร์! เพราะเมื่อเปิดแอร์ พัดลมจะทำงานและพัดน้ำให้กระจายไปทั่วห้องเครื่อง น้ำนี้แหละทำให้เครื่องดับได้3. ขับช้าๆ ด้วยระดับความเร็วที่มั่นคง ใช้เกียร์ต่ำ คือเกียร์ 1-2 และรักษาอัตราเร่งไว้ให้ได้ประมาณ 1500-2000 รอบ ต่ำกว่านี้เครื่องอาจดับ สูงกว่านี้อาจจะดูดอากาศและน้ำเข้าเครื่องได้อีก สำหรับเกียร์ออโต้ ใช้เกียร์ L จำไว้ว่า ขับช้าๆ อย่าหยุด อย่าเร่งเร็ว4. การขับเร่งเครื่องอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่คนเดินถนนและผู้ใช้รถคนอื่นๆ ได้ โดยรถอาจลอยขึ้นจากถนนและทำให้คุณควบคุมรถไม่ได้ น้ำสกปรกอาจกระเด็นไปโดนคนเดินถนน และการเร่งเครื่องจะทำให้เครื่องเกิดความร้อน พอเครื่องเกิดความร้อน พัดลมใบพัดเพื่อระบายความร้อนทำงาน พอพัดลมทำงาน ก็จะพัดน้ำให้กระจายเต็มห้องเครื่องนั่นเอง5. เลี่ยงไม่ขับผ่านตรงที่มีสายไฟฟ้าจมลงไป เดี๋ยวไฟดูดนะครับ6. ดูว่ามีวัตถุอะไรลอยตามน้ำมาไหม เพราะมันอาจขวางหรือชนรถทำให้คุณขับต่อไปไม่ได้7. พยายามรักษาระยะห่างจากรถคันหน้า เพราะระบบเบรกแช่น้ำอยู่ ประสิทธิภาพจะต่ำลง8. หากเจอพื้นที่ที่มีน้ำไหล ลึกประมาณ 4 นิ้ว อย่าขับรถผ่านตรงนั้นเด็ดขาด เพราะคุณกับรถอาจโดนกวาดไปพร้อมกับสายน้ำได้9. หากเครื่องดับระหว่างอยู่กลางน้ำ อย่าสตาร์ทเครื่องเพราะเครื่องยนต์อาจได้รับความเสียหาย ให้โทรศัพท์ขอความช่วยเหลือหรือเรียกคนที่อยู่ภายนอกรถให้ช่วย และสุดท้าย10. เมื่อขับรถสวนกับรถอีกคันให้ลดความเร็วลง ไม่งั้นจะเป็นการทำคลื่นชนคลื่น ทำให้น้ำกระเด็นไปทำอันตรายต่ออุปกรณ์ภายในรถทั้งสองคันได้หลังพ้นพื้นที่ที่มีน้ำท่วม1. ให้ทดสอบเบรกโดยการขับช้าๆ และเบรกเป็นช่วงๆ เพื่อให้ผ้าเบรกแห้ง และดิสเบรกจะแห้งเร็วกว่าดรัมเบรก2. อย่าพึ่งดับเครื่องยนต์ทันที จอดทิ้งไว้โดยที่ยังสตาร์ทเครื่องไว้ซักครู่ เพื่อให้น้ำในท่อไอเสียระเหยออกไปให้หมด ซึ่งอาจจะมีไอออกมาจากท่อ นี่คือสิ่งปกติ หากคุณดับเครื่องทันที ท่อไอเสียอาจจะผุได้การดูแลรถหลังจากมีการลุยน้ำท่วม1. ล้างรถให้สะอาด ฉีดน้ำเข้าท้องรถ ล้อรถ กำจัดเศษหินดินทราย เศษหญ้า ใบไม้ เพราะอาจทำให้เกิดไฟไหม้ได้2. เปลี่ยนน้ำมันเกียร์ เพราะจะมีน้ำซึมเข้าไปในระบบเกียร์ทำให้พังได้3. เช็คลูกปืนล้อ เมื่อแช่น้ำนานอาจทำให้เกิดเสียงดัง4. ตรวจสอบพื้นพรมในรถ เปิดผ้ายาง รื้อพรม เพื่อป้องกันการติดเชื้อราในพรมและการเจริญเติบโตของเชื้อโรคต่างๆ5. ตรวจสอบระบบต่างๆ ให้อยู่ในความเรียบร้อย หากพบอะไรที่ผิดปกติให้นำรถเข้าศูนย์เช็คสภาพรถด่วนร้องเรียนเรื่องประกันภัยได้ที่ สายด่วน  1186  สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)     http://www.oic.or.thหรือ 022483737 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  ข้อมูลเพิ่มเติม  และขอบคุณข้อมูลhttp://www.consumerthai.orghttp://www.oic.or.th/th/consumer/news/releases/86321http://www.moneyguru.co.thhttp://www.moneyandbanking.co.thhttps://goo.gl/wjSgtihttps://goo.gl/GS76Mf

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 ประกันชีวิต (เพื่อผู้สูงอายุ) ศึกษาให้เข้าใจ ไม่ตกเป็นเหยื่อ

ก่อนหน้านี้เคยมีกรณีที่เป็นข่าวโด่งดังทั้งในหน้าหนังสือพิมพ์และบนสื่อสังคมออนไลน์ เกี่ยวกับปัญหาจากการซื้อ “ประกันผู้สูงอายุ” เนื่องจากมีผู้ทำประกันหลายรายถูกปฏิเสธจากบริษัทประกันในการจ่ายทุนเอาประกันหรือค่าสินไหมทดแทน โดยบริษัทแจ้งว่าผู้เอาประกันเสียชีวิตด้วยโรคร้ายแรงที่เจ็บป่วยเรื้อรังมาก่อนสมัครทำประกัน โดยจุดเริ่มต้นของปัญหาส่วนหนึ่งมาจากเรื่องของความไม่ตรงไปตรงมาและการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะคำโฆษณาในทำนองที่ว่า “สมัครได้ทันที ไม่ต้องตรวจสุขภาพ ไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพ เบี้ยประกันแค่วันละไม่กี่บาท” ทำให้ผู้เอาประกันตัดสินใจซื้อประกันทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ทำการศึกษาข้อมูลเงื่อนไขในกรมธรรม์ให้เข้าใจเพียงพอ ปัญหาที่เกิดขี้นทำให้บรรดาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไล่ตั้งแต่ สมาคมประกันชีวิตไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ต้องทำงานร่วมกันเพื่อหามาตรการในการจัดการปัญหา ควบคุมไม่ให้สัญญาประกันผู้สูงอายุเป็นไปในลักษณะเอาเปรียบผู้ทำประกัน ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้เกิดประกาศหลายฉบับที่ออกมาจัดการควบคุมประกันเพื่อผู้สูงอายุ ลองไปดูกันดีกว่าว่า จากนี้ไปหากจะทำประกันชีวิตเพื่อผู้สูงอายุจะต้องศึกษาข้อมูลตรงไหนบ้างเงื่อนไขที่ควรรู้ก่อนทำประกันผู้สูงอายุสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลควบคุมธุรกิจประกันภัย ได้ออกมาทำหน้าที่จัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ป้องกันไม่ให้ผู้ซื้อประกันถูกเอาเปรียบจากบริษัทประกัน โดยได้ออกข้อกำหนดที่จะมาควบคุมรูปแบบการทำประกันเพื่อผู้สูงอายุให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ซึ่งประกาศดังกล่าวมีชื่อว่า คำสั่งเรื่อง “ให้แก้ไขเพิ่มเติมแบบและข้อความกรมธรรม์ประกันชีวิตผู้สูงอายุของบริษัทประกันชีวิตและเอกสารประกอบ” ซึ่งประกาศฉบับนี้จะกำหนดรายละเอียดสำคัญที่ประกันชีวิตสำหรับผู้สูงอายุต้องมีเอาไว้ดังนี้1.เติมคำว่า (เพื่อผู้สูงอายุ) ต่อท้ายชื่อแบบประกันต้องมีการเพิ่มคำว่า (เพื่อผู้สูงอายุ) ต่อท้ายชื่อแบบและข้อความในกรมธรรม์ประกันชีวิตผู้สูงอายุ ใบคำขอเอาประกันชีวิต และเอกสารสรุปสาระสำคัญโดยย่อที่ใช้สำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตผู้สูงอายุ ซึ่งการกำหนดให้เพิ่มเติมคำว่า (เพื่อผู้สูงอายุ) ต่อท้ายชื่อของแบบประกัน ก็เพื่อให้ทั้งผู้ซื้อประกันและบริษัทฯ เข้าใจร่วมกันว่า ประกันฉบับนี้คือประกันเพื่อผู้สูงอายุ ข้อกำหนดต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องผลประโยชน์และความคุ้มครองจะต้องเป็นไปตามประกาศที่ทาง คปภ. กำหนด ทางบริษัทประกันไม่มีสิทธิใช้ข้ออ้างอื่นใดในการปฏิเสธหรือไม่ทำตามข้อกำหนดที่มีอยู่ในประกาศ2.อายุผู้ที่สามารถทำประกันชีวิตเพื่อผู้สูงอายุได้ต้องมากกว่า 50 ปีขึ้นไปอายุขั้นต่ำของผู้ที่สามารถเอาประกันภัยเพื่อผู้สูงอายุอยู่ที่ 50 ปีขึ้นไป จนถึง 70 หรือ 75 ปี ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัท โดยจะได้รับเงินทุนเอาประกันเมื่อผู้ทำประกันเสียชีวิต หรืออยู่ครบอายุสัญญาที่อายุ 90 ปี3. ไม่ต้องตรวจสุขภาพและไม่ต้องแถลงสุขภาพในใบคำขอเอาประกันชีวิตส่วนนี้คือจุดเด่นที่สุดของประกันชีวิตเพื่อผู้สูงอายุ เพราะเปิดโอกาสที่ผู้สูงอายุทุกคนสามารถทำประกันชีวิตเพื่อมีเงินไว้ใช้เมื่ออายุมากขึ้น หรือมีเงินก้อนไว้ให้ลูกหลานในวันที่จากไป ซึ่งการบังคับให้มีการกำหนดเรื่องการไม่ต้องตรวจสุขภาพและไม่ต้องแถลงสุขภาพในใบคำขอเอาประกันชีวิต ทำให้บริษัทประกันไม่สามารถเอาเรื่องการป่วยด้วยโรคเรื้อรังร้ายแรงก่อนทำประกันมาเป็นข้ออ้างในการปฏิเสธการจากเงินเอาประกันได้อีก4.ผู้เอาประกันเสียชีวิตก่อนครบ 2 ปี จะต้องได้เบี้ยประกันคืน พร้อมเงินเพิ่มร้อยละ 2หากผู้เอาประกันเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยภายใน 2 ปี นับแต่วันทำสัญญา บริษัทฯ จะคืนเบี้ยประกันที่ได้รับมาแล้วพร้อมเงินเพิ่มในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2 ตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันชีวิตให้แก่ผู้รับประโยชน์ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ที่ ร้อยละ 2 – 5 ตามแต่ละบริษัทฯ 5.ยกเลิกกรมธรรม์ได้ภายใน 15 วันต้องมีการระบุในสัญญาว่า ผู้เอาประกันภัยสามารถขอยกเลิกกรมธรรม์ประกันชีวิตได้ ภายใน 15 หรือ 30 วันแล้วแต่กรณี นับแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์ประกันชีวิตประกันผู้สูงอายุ ให้ผลประโยชน์แบบไหนจุดเด่นของ ประกันชีวิตผู้สูงอายุ ก็คือการเป็นทางเลือกให้กับผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคที่ไม่สามารถสมัครทำประกันแบบปกติทั่วไปได้ เพราะประกันชีวิตผู้สูงอายุ มาพร้อมเงื่อนไขที่ว่าไม่ต้องตรวจสุขภาพและก็ไม่ต้องแจ้งเรื่องสุขภาพลงในสัญญา ทำให้ผู้สูงอายุที่ต้องการมีเงินไว้ให้กับลูกหลานหรืออาจจะเก็บไว้ใช้เองยามแก่เฒ่า สามารถเลือกทำประกันเพื่อผู้สูงอายุได้แต่ทั้งนี้บริษัทประกันก็ได้มีการออกแบบมาไว้แล้ว โดยใน 2 ปีแรก หากผู้ทำประกันเสียชีวิตด้วยโรคร้ายแรง ก็ได้รับเพียงเงินจากเบี้ยประกันที่จ่ายมา บวกเงินเพิ่มที่ทางบริษัทประกันจะจ่ายให้อีกร้อยละ 2 ของเบี้ยประกันที่จ่ายมาแล้ว ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ไม่มาก เช่น ถ้าในช่วง 2 ปีก่อนเสียชีวิต ผู้ทำประกันจ่ายเบี้ยมาแล้วเป็นเงิน 4,000 บาท ก็จะได้เงินเพิ่มอีก ร้อยละ 2 ของเบี้ยประกันคือ 4,000 บาท หรือเท่ากับ 80 บาท รวมแล้วผู้รับผลประโยชน์ก็ได้เงินจำนวน 4,080 บาท ในกรณีที่เสียชีวิตจากโรคในช่วง 2 ปีแรกของการทำประกันส่วนการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในช่วง 2 ปีแรกของการทำประกัน จะได้รับผลประโยชน์เต็มจำนวนของเงินทุนเอาประกัน เช่นเดียวกับเมื่อทำประกันเข้าสู่ปีที่ 3 ก็จะได้รับเงินทุนเอาประกันเต็มวงเงินไม่ว่าเสียชีวิตจากอาการเจ็บป่วยจากโรคหรืออุบัติเหตุกรณีที่อยู่จนครบสัญญาประกันซึ่งส่วนใหญ่กำหนดไว้ที่อายุ 90 ปี ผู้เอาประกันก็จะได้รับเงินทุนเอาประกันเต็มวงเงินเช่นกันประกันชีวิตสูงวัย ไม่คุ้มครองเรื่องรักษาพยาบาลประกันชีวิตเพื่อผู้สูงอายุ จะเน้นที่การคุ้มครองในลักษณะประกันชีวิตเพียงอย่างเดียว ตามชื่อแบบประกัน คือจะให้ผลประโยชน์ก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิตหรืออยู่จนครบอายุสัญญาเท่านั้น ไม่ได้ให้ความคุ้มครองในส่วนของค่ารักษาพยาบาล หรือการจ่ายเงินปันผล แต่บริษัทประกันชีวิตหลายแห่งก็มีการขายสิทธิประโยชน์เหล่านี้เพิ่มเติมกับประกันชีวิตผู้สูงอายุ ซึ่งแน่นอนว่าในเงื่อนไขสัญญาของสิทธิอื่นๆ ที่เพิ่มเติมเข้ามาก็จะมีความแตกต่างไปจากเงื่อนไขสัญญาของประกันชีวิตเพื่อผู้สูงอายุทั่วไปรู้ให้ทันโฆษณาประกันชีวิตประเด็นหลักที่ทำให้ก่อนหน้านี้ “ประกันชีวิตเพื่อผู้สุงอายุ” ถูกมองว่าเป็นสัญญาที่เอาเปรียบผู้บริโภค ก็คือเรื่องของการโฆษณา ที่จงใจบอกเพียงแต่ผลประโยชน์สูงสุดที่จะได่รับ แต่กลับปกปิดเงื่อนไขสำคัญอย่างเกณฑ์ในการขอรับเงินคุ้มครอง แม้จะบอกว่าสมัครได้โดยไม่ต้องตรวจสุขภาพ แต่ก็กลับพบปัญหาเรื่องการปฏิเสธการจ่ายเงินทุนเอาประกันคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ.จึงต้องออกประกาศเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเป็นประกาศที่จะควบคุมเรื่องการโฆษณาขายประกันโดยเฉพาะ ซึ่งกำหนดที่บริษัทประกันต้องปฏิบัติในการโฆษณาขายประกันทุกประเภทมีดังนี้1.ข้อความที่โฆษณาต้องไม่เป็นเท็จหรือเกินความจริง2.ข้อความที่โฆษณาต้องไม่กำกวม มีความชัดเจน เข้าใจง่าย 3.ข้อความที่โฆษณาจะต้องไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยหรือการจ่ายเงินตามสัญญาประกันภัย4.ไม่ประมาณการผลตอบแทนที่จะได้รับ หรือไม่ประมาณการผลประกอบการธุรกิจผู้เสนอขาย เว้นแต่ กรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีการจ่ายปันผล, กรมธรรม์ประกันชีวิตควบการลงทุน และกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบยูนิเวอร์แซลไลฟ์ โดยกรมธรรม์ประกันชีวิตดังกล่าวต้องระบุแหล่งที่มาของสมมุติฐานที่ใช้อ้างอิง5.ในการโฆษณาที่ระบุว่า “ไม่ต้องตรวจสุขภาพ” จะต้องมีการระบุให้ชัดเจนด้วยว่าต้องแถลงเกี่ยวกับสุขภาพในใบคำขอเอาประกันภัยด้วยหรือไม่ หากมีการแถลงเกี่ยวกับสุขภาพ ต้องระบุเพิ่มด้วยว่าการแถลงสุขภาพเป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณารับประกันภัย หรือพิจารณาจ่ายเงินตามสัญญาประกันภัย6.ในกรณีที่มีการอ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือข้อมูลอื่นใด ต้องระบุแหล่งที่มาให้ชัดเจน ต้องไม่ตัดทอนข้อมูลดังกล่าว จนทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ และต้องมีข้อมูลดังกล่าว พร้อมให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้7.กรณีโฆษณาผ่านสื่อโฆษณาที่ใช้ข้อความ หรือภาพ ตัวอักษรของคำเตือนและคำอธิบายรายละเอียดต้องมีความคมชัด และอ่านได้ชัดเจน8.กรณีโฆษณาผ่านสื่อโฆษณาที่มีเฉพาะการใช้เสียง ต้องจัดให้มีการอ่านออกเสียง คำเตือน และคำอธิบายรายละเอียดที่สามารถฟังเข้าใจได้9.ให้มีการระบุคำเตือน โดยใช้ข้อความว่า “ผู้ซื้อควรทำความเข้าใจในรายละเอียดความคุ้มครองและเงื่อนไขก่อนตัดสินใจทำประกันภัยทุกครั้ง” หรือข้อความอื่นใดที่มีความหมายทำนองเดียวกัน10.ต้องระบุให้ชัดเจนว่าในการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านทางสื่อโฆษณาว่า กรมธรรม์ประกันภัยที่เสนอขายเป็นกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทใดที่มา : ประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านทางสือโฆษณาตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต พ.ศ. 2556

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนกุมภาพันธ์ 25601 เม.ย.ทำฟันประกันสังคมกับ รพ.รัฐไม่ต้องสำรองจ่าย 1 เมษายน 2560 นี้ ผู้ใช้สิทธิประกันสังคม สามารถเข้ารับบริการด้านทันตกรรมที่โรงพยาบาลรัฐ ทั้งโรงพยาบาลสังกัด สธ., สังกัดกระทรวงกลาโหม, สังกัดกทม. และ โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ ตามสิทธิ 900 บาท โดยไม่ต้องสำรองจ่าย ซึ่งเลื่อนจากเดิมที่วางกำหนดไว้วันที่ 1 ก.พ. เพื่อให้สถานพยาบาลแต่ละแห่งได้เตรียมความพร้อมในการให้บริการในส่วนของโรงพยาบาลเอกชน นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า ขณะนี้มีคลินิกทันตกรรมเอกชนที่เข้าร่วมแล้วกว่า 530 แห่ง และคาดว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะเพิ่มเป็น 800 แห่ง ทั้งนี้ก่อนรับบริการให้สังเกต “สติกเกอร์สัญลักษณ์ประกันสังคม” ที่จะติดไว้ที่คลินิกที่ร่วมโครงการ ซึ่งสามารถรับบริการโดยไม่ต้องสำรองจ่ายผู้ประกันตนที่พบปัญหาจากใช้บริการหรือพบคลินิกหรือสถานพยาบาลที่มีสติกเกอร์สัญลักษณ์ประกันสังคม แต่ยังมีการเรียกเก็บเงิน สามารถโทร.แจ้งเอาผิดได้ที่สวยด่วน สปส. โทร. 1506 คิดดอกเบี้ยเงินกู้โหด เจอโทษตามกฎหมายจากนี้ไปลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ ไม่ต้องกังวลเรื่องเจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยโหดอีกแล้ว เพราะล่าสุดได้มีการออกพระราชบัญญัติ ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 15 มกราคม 2560 ที่ผ่านมาสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ กำหนดให้ห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยปัจจุบันกฎหมายกำหนดห้ามคิดอัตราดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี หากกระทำความผิดจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่กำหนดโทษไว้ว่าจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 3 พันบาทนอกจากนี้ในกฎหมายฉบับนี้ยังมีการระบุว่า ห้ามกำหนดข้อความอันเป็นเท็จในเรื่องจำนวนเงินกู้หรือเรื่องอื่นๆ ไว้ในหลักฐานการกู้ยืมเพื่อปิดบังการเรียกดอกเบี้ยเกินอันตราที่กฎหมายกำหนด หรือมีการระบุว่าจะเรียกรับประโยชน์อย่างอื่นนอกจากดอกเบี้ย ไม่ว่าจะเป็นเงิน สิ่งของ หรือโดยวิธการอื่นใด จนเห็นได้ชัดว่าประโยชน์ที่ได้รับนั้นมากเกินสมควรตามเงื่อนไขแห่งการกู้ยืมเงินเส้นก๋วยเตี๋ยวใช้สารกันบูดน้อยลง แต่ยังเจอเกินค่ามาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมอนามัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ ได้ร่วมดำเนินงานภายใต้โครงการก๋วยเตี๋ยวอนามัย โดยหนึ่งในวัตถุประสงค์สำคัญของโครงการคือการควบคุมเรื่องการใช้ปริมาณวัตถุกันเสียโดยมีการสุ่มตรวจวิเคราะห์วัตถุกันเสียในเส้นก๋วยเตี๋ยวด้วยวิธีทางห้องปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2555 - 2559 จากจำนวนตัวอย่างทั้งหมด 370 ตัวอย่าง ตรวจพบการใช้วัตถุกันเสียเกินมาตรฐานกำหนด 71 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 19.2 โดยพบกรดเบนโซอิค ปริมาณที่พบอยู่ระหว่าง 10.6 - 3,995 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในเส้นก๋วยจั๊บ เส้นใหญ่ และเส้นผัดไทชนิดแห้ง ซึ่งค่ามาตรฐานที่อนุญาตให้พบคือไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ส่วนกรดซอร์บิค พบประมาณร้อยละ 3.1 ปริมาณที่พบอยู่ระหว่าง 102 - 414 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมเมื่อนำข้อมูลที่ได้มาเปรียบเทียบกับข้อมูลจากงานวิจัยในปี 2550 พบว่า จำนวนตัวอย่างที่ตรวจพบการใช้วัตถุกันเสียเกินมาตรฐานกำหนดลดลงจาก ร้อยละ 36 เหลือเพียง ร้อยละ 19.2 และปริมาณวัตถุกันเสียที่ตรวจพบสูงสุดลดลงจาก 17,250 เหลือเพียง 3,995 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แต่ก็ยังเกินกว่าค่ามาตรฐาน“เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” ชื่อนี้เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) เตรียมเปลี่ยนชื่อโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ เป็น “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” เพื่อให้มีความชัดเจนขึ้น แก้ปัญหาความเข้าใจผิด ของทั้งผู้ป่วย ญาติ และสถานพยาบาล ซึ่งที่ผ่านมามีกรณีร้องเรียนเรื่องสถานพยาบาลเรียกเก็บเงินจากการรักษาพยาบาลฉุกเฉินจำนวนไม่น้อยโดยการใช้คำว่า “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต” ก็เพื่อให้เข้าใจตรงกันว่า หมายถึงอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตระดับสีแดง ซึ่งสามารถเข้ารักษาได้ทุกที่ทุกสิทธิ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในช่วง 72 ชั่วโมงแรก ซึ่งหลักการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตสีแดงที่ กพฉ. กำหนด แบ่งเป็น 25 กลุ่มอาการ ดังนี้ 1.ปวดท้องบริเวณหลัง เชิงกราน และขาหนีบ 2.แพ้ยา แพ้อาหาร แพ้สัตว์ต่อย แอนาฟิแล็กซิส ปฏิกิริยาภูมิแพ้ 3.สัตว์กัด 4.เลือดออกโดยไม่ได้มีสาเหตุมาจากการบาดเจ็บ 5.หายใจลำบาก หายใจติดขัด 6.หัวใจหยุดเต้น 7.เจ็บแน่นทรวงอก หัวใจ มีปัญหาทางด้านหัวใจ 8.สำลัก อุดกั้นทางเดินหายใจ 9.เบาหวาน 10.ภาวะฉุกเฉินเหตุสิ่งแวดล้อม11.ปวดศีรษะ ภาวะผิดปกติทางตา หู คอ จมูก 12.คลุ้มคลั่ง ภาวะทางจิตประสาท อารมณ์ 13.พิษ รับยาเกินขนาด 14.มีครรภ์ คลอด นรีเวช 15.ชัก มีสัญญาณบอกเหตุการชัก 16.ป่วย อ่อนเพลีย อัมพาตเรื้อรัง ไม่ทราบสาเหตุจำเพาะ 17.อัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนแรง สูญเสียความรู้สึก ยืนหรือเดินไม่ได้เฉียบพลัน 18.ไม่รู้สติ ไม่ตอบสนอง หมดสติชั่ววูบ 19.เด็ก กุมารเวช 20.ถูกทำร้าย 21.ไหม้ ลวกเหตุความร้อน สารเคมี ไฟฟ้าช็อต 22.ตกน้ำ จมน้ำ บาดเจ็บทางน้ำ 23.พลัดตกหกล้ม อุบัติเหตุ เจ็บปวด 24.อุบัติเหตุยานยนต์ และ 25.อื่นๆ หากมีข้อสงสัยสามารถโทรสอบถามกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) โทร. 1669ชัดเจน!!! ห้ามใช้ “โคลิสติน” ในฟาร์มสัตว์หลังจากมีข่าวว่ามีการตรวจพบฟาร์มเลี้ยงหมูในหลายจังหวัดมีการใช้ยา “โคลิสติน” (Colistin) ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะชนิดรุนแรงที่ทั่วโลกกำลังเฝ้าระวัง เพราะทำให้เกิดการดื้อยาทั้งในคนและสัตว์เรื่องดังกล่าวสร้างความวิตกกังวลกับผู้บริโภคไม่น้อย กรมปศุสัตว์ที่มีหน้าที่จัดการดูแลปัญหานี้โดยตรงก็ไม่รอช้าเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ด้วยความรวดเร็ว โดยได้ออกคำสั่ง “เรื่อง การควบคุมการใช้ยา Colistin ในฟาร์ม” ส่งตรงถึง “นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย” ซึ่งมีสมาชิกทั่วประเทศกว่า 800 คน โดยเนื้อหาสำคัญในประกาศ คือการสั่งห้ามสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มสั่งหรือใช้ยาโคลิสตินผสมอาหารหรือละลายน้ำให้สัตว์กินโดยเด็ดขาด พร้อมทั้งให้สัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มต้องคัดกรองและตรวจสอบอาหารสัตว์สำเร็จรูปที่ใช้เลี้ยงสัตว์จะต้องไม่มียาโคลิสตินผสมอยู่ โดยให้มีการเก็บตัวอย่างอาหารสัตว์ส่งตรวจเพื่อพิสูจน์ทางห้องปฏิบัติการเป็นระยะแต่ก็ยังผ่อนปรนให้สามารถใช้ยาโคลิสตินได้ ในกรณีที่สัตว์ป่วยแล้วไม่มียาปฏิชีวนะชนิดใดใช้แล้วได้ผล“ยาโคลิสติน” เป็นยาปฏิชีวะที่นิยมใช้รักษาหมูท้องร่วงจากเชื้อแบคทีเรีย “อี.โคไล” แต่เมื่อปีที่แล้วมีข่าวว่าจีนพบหมูและคนดื้อยาโคลิสตินจากฟาร์มหมูชนิดข้ามสายพันธุ์ได้ หรือ “ยีนเอ็มซีอาร์-วัน” ที่สามารถส่งสายพันธุกรรมหรือเชื้อดื้อยาข้ามจากสัตว์มาสู่คน และยังถ่ายทอดไปยังเชื้อโรคตัวอื่นๆ ในร่างกายมนุษย์ได้อีกด้วย ขณะนี้มีรายงานการพบยีนดื้อยาตัวนี้ในมนุษย์ หมู และไก่ ช่วงปี 2010–2015 จำนวนทั้งสิ้น 16 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 ระยะเวลารับประกันสินค้า (ไม่) เป็นธรรม

บางครั้งระยะเวลาการรับประกันสินค้าก็ขึ้นอยู่กับการเจรจาระหว่างร้านค้ากับผู้โภค ซึ่งมักสร้างปัญหาได้หากผู้บริโภครู้สึกว่าระยะเวลารับประกันสินค้าดังกล่าวไม่มีความเป็นธรรม ดังเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้คุณสุชัยนำคอมพิวเตอร์ไปซ่อมที่ร้านแห่งหนึ่งในอำเภอหาดใหญ่ เนื่องจากการ์ดจอเสีย โดยหลังซ่อมเสร็จเรียบร้อยทางร้านแจ้งว่าจะรับประกันงานซ่อมให้ 3 เดือน ซึ่งเมื่อใกล้วันหมดอายุการรับประกัน (เหลืออีก 5 วัน) เขาพบว่าคอมพิวเตอร์เสียอีกครั้ง จึงนำกลับไปซ่อมที่ร้านเดิม โดยหลังซ่อมเสร็จเรียบร้อยทางร้านแจ้งว่าจะรับประกันงานซ่อมให้อีก แต่รับประกันเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น จึงทำให้ผู้ร้องสงสัยว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่ และส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ ชี้แจงว่าในกรณีการรับประกันสินค้าการซ่อมสินค้าของร้านค้าทั่วไป หากสินค้าชำรุดในขณะที่ยังอยู่ในระยะเวลาการรับประกัน ทางร้านก็ต้องซ่อมให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ในกรณีของผู้ร้องที่นำคอมพิวเตอร์ไปซ่อมอีกครั้งเพราะการ์ดจอเสีย โดยอีก 5 วันจะหมดระยะเวลาการรับประกันสินค้า ต้องพิจารณาว่าทางร้านซ่อมแซมให้อย่างไร ซึ่งหากเป็นการซ่อมการ์ดจออันเดิมจากครั้งแรก สามารถนับเวลาการรับประกันต่อจากเดิมที่เคยตกลงกันไว้ได้ แต่หากเป็นการเปลี่ยนการ์ดจอให้ใหม่ก็ต้องเริ่มนับระยะเวลาการรับประกันใหม่เช่นกัน เนื่องจากอะไหล่ของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์มีอายุการใช้งานที่จำกัดนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนธันวาคม 2559“ขนมควันทะลัก” กินได้แต่ต้องระวัง!!!“ขนมควันทะลัก” ที่กำลังเป็นที่พูดถึงในสื่อสังคมออนไลน์ โดยหลายคนตั้งข้อสงสัยว่า ขนมชนิดนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไอศกรีมแล้วมีการนำ “ไนโตรเจนเหลว” มาเทใส่ทำให้เกิดควันลอยกระจายขึ้นมา เมื่อตักขนมเข้าไปในปากก็จะเกิดควันลอยออกมา มีกระแสข่าวลือตามว่า ไนโตรเจนเหลวที่นำมาผสมในอาหาร เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะส่งผลเสียต่อร่างกาย รุนแรงถึงขั้นทำให้กระเพาะทะลุนายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ออกมาไขข้อข้องใจในเรื่องนี้ โดยอธิบายว่า ก๊าซไนโตรเจน เป็นก๊าซที่มีอยู่ในอากาศอยู่แล้ว แต่เมื่อนำมาบีบอัดด้วยแรงดันสูงทำให้ก๊าซชนิดนี้อยู่ในรูปของเหลวและมีอุณหภูมิติดลบถึง 196 องศาเซลเซียส เมื่อนำมาเทใส่ในอาหาร เช่น ไอศกรีม เจลลี่ หรือ ค็อกเทล จะทำให้เกิดเป็นควันลอยขึ้นมา ซึ่งการรับประทานไม่ได้ส่งผลรุนแรงต่อร่างกายถึงขั้นทำให้กระเพาะทะลุตามที่มีการแชร์กัน แต่ทั้งนี้ก็ยังมีข้อควรระวัง ไม่ควรรับประทานขณะที่ควันยังอยู่ในอาหาร เพราะอาจทำให้เกิดแผลในช่องปาก ไม่ควรสูดดม และสัมผัสกับไนโตรเจนเหลวโดยตรงเพราะอาจทำให้ผิวหนังที่สัมผัสเกิดรอยแผลหรือรอยไหม้ได้ใช้แอพฯในมือถือเช็คมาตรฐานรถฉุกเฉินรถพยาบาลหรือรถกู้ชีพฉุกเฉิน ถือเป็นหน่วยแรกที่ทำหน้าที่ดูแลช่วยเหลือผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บในเบื้องต้นก่อนที่จะนำส่งโรงพยาบาลต่อไป แต่ที่ผ่านมาก็มีเรื่องร้องเรียนถึงมาตรฐานของรถพยาบาลเข้ามายังสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ซึ่งรถพยาบาลฉุกเฉินทุกคันจะต้องผ่านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานจาก สพฉ. ก่อนจึงจะสามารถนำมาใช้เพื่อวิ่งรับ-ส่งผู้ป่วยล่าสุด สพฉ.ได้จัดทำแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือที่มีชื่อว่า “EMS Certified” เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบว่ารถพยาบาลหรือรถกู้ชีพฉุกเฉินคันไหนที่ผ่านการรับรองมาตรฐานแล้วบ้าง โดยสามารถตรวจสอบได้ง่ายๆ ดังนี้ 1. ถ่ายรูป คิวอาร์โค้ด ของรถปฏิบัติการฉุกเฉินหรือรถกู้ชีพฉุกเฉิน เพื่อนำมาสแกนในแอพพลิเคชั่น ว่าได้ผ่านการรับรองมาตรฐานจาก สพฉ. หรือไม่ และ 2. ตรวจสอบได้โดยการพิมพ์เลขทะเบียนรถ แล้วเลือกชื่อจังหวัดของรถคันนั้น ก็จะสามารถตรวจสอบได้ว่ารถปฏิบัติการฉุกเฉินหรือรถกู้ชีพฉุกเฉินคันดังกล่าวผ่านมาตรฐานหรือไม่ที่ผ่านมา สพฉ. ได้จัดให้มีการขึ้นทะเบียนและตรวจมาตรฐานรถกู้ชีพและรถพยาบาลเป็นประจำทุกปี โดยรถที่จะผ่านการรับรองมาตรฐานและหลักเกณฑ์ของระบบการแพทย์ฉุกเฉิน จะต้องเป็นรถตู้หรือรถกระบะบรรทุก ที่มีหลังคาสูงเพียงพอที่จะทำการฟื้นคืนชีพ (CPR) ได้สะดวก ภายนอกต้องมีการติดข้อความชื่อหน่วยปฏิบัติการ หมายเลขโทรศัพท์ 1669 แสดงตราสัญลักษณ์ของ สพฉ. และจะต้องติดแถบสะท้อนแสงด้านข้างรถตลอดแนว ส่วนภายในรถก็ต้องมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น อาทิ เฝือกคอชนิดแข็ง เฝือกดามแขน ขา มีอุปกรณ์ปฐมพยาบาลและทำแผลพื้นฐาน นอกจากนี้ต้องมีอุปกรณ์กู้ภัยเบื้องต้น เช่น ขวานขนาดใหญ่ เชือกคล้องตัว อุปกรณ์ยึดเหนี่ยว กรรไกรตัดเหล็กขนาดใหญ่ อุปกรณ์ดับเพลิงสพฉ.ให้ข้อมูลเสริมว่า มีรถปฏิบัติการกู้ชีพฉุกเฉินที่ผ่านการรับรองมาตรฐานแล้ว 8,704 คัน จากทั้งหมด 12,242 คัน ใน 77 จังหวัด หรือคิดเป็นร้อยละ 71 ยังมีบ้างในบางจังหวัดที่ยังไม่ได้ดำเนินการรับรอง แต่กำลังเร่งดำเนินการรับรองให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุดโดยผู้ที่ลักลอบติดสัญญาณไซเรนโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นรถปฏิบัติการฉุกเฉิน จะมีความผิด ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก 2522 มีโทษปรับ 500 บาท และหากตรวจพบจะต้องทำการยึดอุปกรณ์ไฟวับวาบ แต่หากมีการติดตั้งและเปิดสัญญาณไฟจะมีโทษปรับ 2,000-10,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับกรมอนามัยชู “พ.ร.บ.ควบคุมการตลาดนมผง” ส่งเสริมการบริโภคนมแม่กรมอนามัย ยืนยัน “พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดนมผงเพื่อปกป้องเด็กไทย” เป็นประโยชน์ต่อแม่และทารก ช่วยส่งเสริมเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะการให้เด็กรับประทานนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดต่อเนื่องจนถึงอายุ 2 ขวบเป็นอย่างน้อย ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ดีต่อสุขภาพของทั้งแม่และเด็ก นมผงเป็นเพียงทางเลือกสำหรับแม่ที่มีปัญหาเรื่องผลิตน้ำนมนพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าว “ข้อเท็จจริง ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดนมผงเพื่อปกป้องเด็กไทย” โดย พ.ร.บ.ฉบับนี้จะช่วยส่งเสริมให้เด็กไทยได้ดื่มนมแม่เพิ่มมากขึ้น และป้องกันการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กที่ผิดจริยธรรม เหตุที่ต้องห้ามการโฆษณาและการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 3 ปี นั้น เพราะปัจจุบัน พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 มีประกาศห้ามโฆษณานมสูตร 1 และสูตร 2 จนถึงอายุ 3 ปีอยู่แล้ว แม้จะมีความพยายามจากสมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็ก ที่ยื่นจดหมายถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เรียกร้องให้การควบคุมการส่งเสริมการตลาดของอาหารสำหรับทารกและเด็กหรือเพียงสูตรสำหรับเด็กอายุ 1 ปีเท่านั้นนพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และอดีตประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ธุรกิจนมผงออกนมมาหลายสูตรให้มีอายุที่คร่อมกัน เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย โดยปัจจุบันมีนมอยู่ 4 สูตร คือ สูตร 1 สำหรับทารกอายุ 0 - 12 เดือน สูตร 2 สำหรับ อายุ 6 เดือน - 3 ปี สูตร 3 สำหรับอายุ 1 ปีขึ้นไป และคนในครอบครัว และสูตร 4 สำหรับเด็กและทุกคนในครอบครัว โดยปัจจุบันห้ามโฆษณานมสูตร 1 และสูตร 2 ส่วนนมสูตร 3 โฆษณาได้ แต่ห้ามใช้เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี เป็นพรีเซนเตอร์ ซึ่งปัจจุบันเราจะเห็นโฆษณาที่พยายามส่งเสริมให้เด็กเล็กหันมากินนมผงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตลาดแบบลดแลกแจกแถม การเพิ่มสารอาหารต่างๆ ลงไป รวมทั้งการสื่อเรื่องราวที่ให้ความรู้สึกว่าเด็กที่กินนมผงจะมีความรู้ความฉลาดและร่าเริงกว่าเด็กทั่วไปข้าราชการค้านย้ายสิทธิรักษาพยาบาลให้บริษัทประกันจากการที่กระทรวงการคลังมีแนวคิดที่จะโอนย้ายระบบสิทธิดูแลค่ารักษาพยาบาลข้าราชการจากเดิมที่รัฐเป็นผู้ดูแล ไปให้บริษัทประกันเอกชนเข้ามาบริหารงานทั้งหมดแทน โดยให้เหตุผลว่าจะช่วยให้ระบบมีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดการรั่วไหลของงบประมาณ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวทำให้เกิดเสียงคัดค้านจากข้าราชการที่เกรงว่าการให้บริษัทประกันดูแลจะมองแต่เรื่องของผลกำไร ขาดทุน เป็นหลัก ซึ่งอาจทำให้ข้าราชการไม่ได้รับการดูแลตามสิทธิที่ตัวเองควรได้รับอย่างเต็มที่โดย เครือข่ายปฏิรูประบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ (คสร.) ได้แถลงคัดค้านกรณีดังกล่าว นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การโอนสิทธิไปให้บริษัทประกันเอกชนบริหารอาจจะเกิดปัญหาในเรื่องการใช้สิทธิ เหมือนที่เกิดขึ้นกับ พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถยนต์ พ.ศ.2535 ซึ่งให้บริษัทเอกชนมาบริหารกว่าร้อยละ 40 ซึ่งบ่อยครั้งที่เมื่อมีผู้ประสบภัยมาขอรับการเยียวยา มักจะพบปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายเงินชดเชยที่ทำได้ยาก มีความล่าช้า มีขั้นตอนยุ่งยาก ต้องมีการแจ้งความ ต้องมีบันทึกประจำวัน ผู้ประสบภัยจากรถหลายคนต้องเลี่ยงไปใช้สิทธิด้านอื่นทั้งจากสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิข้าราชการ หรือสิทธิประกันสังคม ที่มีขั้นตอนการเบิกจ่ายที่สะดวกกว่าปัจจุบันเงินที่ดูแลระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัวอยู่ที่ 7.2 หมื่นล้านบาท/ปี แน่นอนว่าเมื่อโอนย้ายไปให้บริษัทเอกชนดูแล งบประมาณจะต้องลดลงทันทีเพราะบริษัทจะกันเงินส่วนหนึ่งเป็นค่าบริหารจัดการ 10-25% ซึ่งเชื่อว่าน่าจะกระทบต้องการดูแลเรื่องสิทธิค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการไม่มากก็น้อย เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์มีการพัฒนามากขึ้น ซึ่งก็จำเป็นต้องใช้งบประมาณที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 188 ผลการทดสอบ smart phone สำหรับ การทำงานของ Navigator App

วารสาร  Test ได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพ app  ที่ทำใช้เป็น navigator เสมือนเป็นผู้ช่วยขับรถ บอกเส้นทางและสภาพการจราจร ในอนาคต Navi app เหล่านี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้คนขับรถได้มาก ลดเวลาการเดินทางที่เกิดจากการจราจรที่ติดขัด และช่วยให้ไม่ต้องเจอกับปัญหาการหลงทาง การทดสอบประสิทธิภาพดังกล่าวได้เปรียบเทียบ Navi app จำนวน 3 ยี่ห้อ คือ androidauto  Apple CarPlay และ MirrorLink โดยทดสอบกับรถยนต์ Seat Leon ปี 2016 ซึ่งเป็นรถยนต์ของค่าย Volkswagen ผลทดสอบเปรียบเทียบตามตาราง การป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลพฤติกรรมการขับรถเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ที่ไม่สามารถปกปิดเป็นความลับได้ และบริษัทรับประกันภัยสามารถทราบถึงข้อมูลการขับรถได้เช่นกัน ในปัจจุบันรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ติดตั้ง อุปกรณ์ที่เรียกว่า telematics box ที่สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลการขับรถของเราไว้ ซึ่งปัจจุบันยังเป็นการติดตั้งโดยความสมัครใจแต่ในปี 2018 รถใหม่ทุกคันต้องติดตั้งระบบส่งข้อมูลในกรณีฉุกเฉินเรียกว่าระบบ eCall อย่างไรก็ตามกฎหมายใหม่คงเป็นประเด็นทางการเมือง และเป็นข้อถกเถียงระหว่าง สิทธิส่วนบุคคลและความปลอดภัยในการจราจรยุคใหม่ ที่เรียกว่า ยุค mobility 4.0(ที่มา วารสาร Test ฉบับที่ 8/2016)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 185 น้ำซึมเข้าห้องพักทำของเสียหาย ใครรับผิดชอบ

ปัญหาน้ำรั่วซึมภายในห้องพัก นับเป็นเรื่องกวนใจผู้เช่าอย่างมาก เพราะสามารถทำให้ทรัพย์สินเสียหาย ซึ่งเราสามารถเรียกร้องให้ทางหอพักชดเชยค่าเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ ดังเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้คุณปาริชาตเช่าห้องพักอยู่แถวปิ่นเกล้า วันดีคืนดีมีน้ำสกปรกออกมาจากท่อน้ำทิ้งในห้องน้ำ และภายหลังได้ล้นเข้ามาจนถึงห้องนอน ทำให้ทรัพย์สินภายในห้องเสียหาย ซึ่งรวมๆ แล้วเป็นมูลค่ากว่า 8,000 บาท เธอจึงไปแจ้งเจ้าของห้องเช่าเพื่อให้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่เจ้าของก็บ่ายเบี่ยงไม่ยอมมาพบหน้า ทำให้เธอร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาภายหลังเจ้าของหอพักได้รับการติดต่อก็ยินดีที่จะรับผิดชอบ โดยรับปากว่าจะดำเนินการซ่อมแซมท่อน้ำและจะชดใช้ค่าเสียหายให้ 1,000 บาท ด้านผู้ร้องเห็นว่าเป็นจำนวนที่น้อยเกินไป ศูนย์ฯ จึงแนะนำให้ผู้ร้องเสนอจำนวนเงินที่ต้องการให้เจ้าของหอรับผิดชอบอย่างไรก็ตามเมื่อมีการเจรจาอีกครั้ง เจ้าของหอเสนอค่าชดเชยความเสียหายที่ราคา 2,000 บาท และแจ้งว่าหากผู้ร้องไม่พอใจสามารถย้ายออกได้และจะคืนเงินค่าประกันให้ ทำให้ผู้ร้องต้องยินยอมรับเงินจำนวนดังกล่าวไป เพราะเธอไม่ต้องการย้ายออก เนื่องจากหอพักดังกล่าวอยู่ใกล้ที่ทำงาน ทั้งนี้หากเจ้าของหอพักไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาหรือซ่อมแซมท่อน้ำดังกล่าว ผู้ร้องสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้ เพราะอาจเข้าข่ายความผิดตามหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ให้เช่า ตามมาตรา 550 ที่กำหนดให้ผู้ให้เช่าต้องรับผิดชอบในความชำรุดบกพร่องและจัดการซ่อมแซม ซึ่งไม่สามารถปัดภาระการซ่อมมาให้ผู้เช่าห้องได้ เพราะตามมาตรา 547 กำหนดให้ผู้เช่าเสียค่าใช้จ่ายเพื่อบำรุงรักษาตามปกติ และเพื่อซ่อมแซมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 185 ทันเล่ห์ประกันภัย

ต้องยอมรับว่าธุรกิจประกันภัย มีการแข่งขัน และแย่งชิงลูกค้ากันสูงมาก   หากการแข่งขันนั้น เป็นการแข่งขันกันด้านคุณภาพ  สื่อตรง มีธรรมาภิบาล คงเป็นความโชคดีของผู้บริโภค   และคงสร้างความตื่นตัวให้ผู้บริโภค มีความต้องการที่จะทำประกันมากขึ้น  แต่ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น จากข้อมูลเรื่องร้องเรียนปรากฏชัดว่า มีปัญหาเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก  เช่น ประกันภัยผู้สูงอายุ ที่ระบุว่า ไม่ต้องถามโรค  แต่พอพบว่า เมื่อป่วยเข้าจริง หลายรายกลับถูกบอกเลิกสัญญา โดยใช้ข้อกฎหมายว่าหากบริษัทเห็นว่ามีความเสี่ยง  บริษัทมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ รวมถึงเทคนิคต่างๆ ในการจ่ายคืนสินไหมล่าช้า ฯลฯ จนทำให้ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่เข็ดขยาดกับบริษัทประกันภัยล่าสุดได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคว่า  ถูกเชิญชวนให้จ่ายเงินซื้อประกันชีวิตเพิ่ม โดยไม่รู้ว่าถูกหลอกจ่ายเงินไปแล้ว ต่อมาภายหลังจึงเพิ่งนึกได้ว่าน่าจะถูกหลอก  เรื่องมีอยู่ว่า “คุณมา”(นามสมมุติ)ได้ซื้อประกันชีวิตกรณีอุบัติเหตุถึงแก่ชีวิต เบี้ยประกันปีละ 2,100 บาท(วงเงินประกัน 4 แสนบาท) จะได้เบี้ยประกันต่อเมื่อเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเท่านั้น  ต่อมาได้รับโทรศัพท์จากตัวแทนบริษัทประกันภัย  แจ้งว่ามีทางเลือกที่ดีกว่ามาให้  เพราะการซื้อประกันอุบัติเหตุนั้นหากไม่เกิดอุบัติเหตุ เงินก็จะสูญเปล่า พร้อมเชิญชวนให้ซื้อประกันแบบสะสมเป็นรายปี  เสียชีวิตจากเหตุใดก็จะได้สินไหมทันที โดยเพิ่มวงเงินประกันเป็น 6 แสนบาท แต่ต้องจ่ายเบี้ยประกันปีละ 14,000  บาท  ตอนถูกชวนไม่ทันคิดเลยตอบตกลงและจ่ายเงินไป   เมื่อได้กรมธรรม์จึงได้อ่านรายละเอียด ทำให้ทราบว่า กรณีจะได้เงินประกันจากเหตุใดก็ได้ตามที่เจ้าหน้าที่กล่าวอ้างแต่จะต้องเลย 2 ปีขึ้นไป หรือ  หากตายก่อนเวลา 2 ปี ก็ต้องตายจากอุบัติเหตุถึงจะได้สินไหมจากบริษัท  แต่ถ้าตายจากโรคทั่วไปบริษัทจะไม่จ่ายสินไหม  แต่จะคืนวงเงินที่ซื้อประกันไว้พร้อมดอกเบี้ย 10%  เมื่อคิดดูแล้ว จึงรู้ว่าเสียท่าบริษัทประกันภัย เพราะต้องจ่ายเงินซื้อประกันมากกว่าเก่าถึง 5 เท่า แต่การคุ้มครองเพิ่มเพียงเล็กน้อย   กระบวนการแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียนก็ดำเนินต่อไป  ที่เขียนมาเพื่อให้ข้อมูลกับผู้บริโภคว่า ก่อนตัดสินใจซื้อประกันฯ โปรดอ่านรายละเอียดในสัญญาให้รอบคอบ          

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 177 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนพฤศจิกายน 2558 “สีย้อมผ้า” ห้ามใช้สารก่อมะเร็งสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ หรือ สมอ. ออกมายืนยันแล้วว่า ในปีหน้าจะมีการประกาศมาตฐารบังคับ (มอก.) กับผลิตภัณฑ์ สีย้อมผ้า เนื่องจากที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนเป็นจำนวนมากว่าสีย้อมผ้าที่วางขายในประเทศไทยมีการใช้สาร “อโรมาติกส์” ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งหลายๆ ประเทศในแถบยุโรปได้มีการประกาศยกเลิกใช้สารดังกล่าวแล้ว เพราะหากผู้บริโภคสวมใส่เสื้อผ้าที่มีสารดังกล่าวอาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง โดยเฉพาะกับเด็กเล็กๆ ที่ยังมีผิวบอบบาง นอกจากนี้ยังเตรียมกำหนดมาตรฐานบังคับกับผลิตภัณฑ์สีประเภทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น สีน้ำมัน และ สีเคลือบแอลคีด ในด้านความปลอดภัยที่จะกำหนดคุณลักษณะเรื่องปริมาณโลหะหนัก อย่าง ตะกั่ว แคดเมียม ไม่ให้เกิน 100 พีพีเอ็ม เพราะสารโลหะหนักถือเป็นสารอันตรายที่มีผลเสียต่อการเจริญเติบโตของสมอง ซึ่งที่ผ่านมานิตยสารฉลาดซื้อเองก็เคยลงผลสำรวจว่า ยังพบการใช้สีน้ำมันที่มีส่วนประกอบของโลหะหนัก ทาอยู่ตามอาคารต่างๆ เครื่องเล่นสนาม และของเล่นเด็ก ซึ่งโลหะหนักจะพบได้ในสีที่มีเฉดสีสดๆ เช่น สีแดง สีเหลือง สีส้ม ซึ่งสีที่ทาไปนานๆ อาจจะมีการหลุดร่อนออกมา หากเด็กๆ มีการสัมผัสหรือนำเข้าปากก็จะเป็นอันตราย   เพิ่มโทษคนขายเครื่องสำอางอันตรายในช่วงที่ผ่านมามีข่าวเกี่ยวกับความไม่ปลอดภัยจากการใช้เครื่องสำอางเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเครื่องสำอางที่ผิดกฎหมาย ส่งผลเสียต่อผู้ใช้ทำให้เกิดแผลที่ผิวหนัง ทำให้ผู้ใช้เสียโฉม อย.พยายามจัดการปัญหาดังกล่าวมาตลอด โดยล่าสุดได้มีการปรับปรุง พระราชบัญญัติเครื่องสําอาง ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น พร้อมเพิ่มบทลงโทษสำหรับผู้ทำผิด พระราชบัญญัติเครื่องสําอาง พ.ศ. 2558 มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา โดยในส่วนของการคุ้มครองผู้บริโภค มีการกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องรายงานอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นจากการใช่เครื่องสำอาง และต้องมีมาตรการเรียกคืนเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยจากท้องตลาด และกำหนดให้มีด่านตรวจสอบเครื่องสำอางที่นำเข้ามาขายในประเทศ ที่สำคัญคือการเพิ่มบทลงโทษกับผู้กระทำผิด จากเดิมที่ผู้ขายผู้ผลิตเครื่องสำอางที่ผสมสารต้องห้ามจะต้องโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เพิ่มเป็นจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ยังให้อำนาจ อย. ในการกำกับดูแลเรื่องการโฆษณาเอาไว้ด้วย จากเดิมที่ต้องอ้างอิงกับ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ทำให้การตรวจสอบและจัดการปัญหาน่าจะรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น “คปภ.” จับมือ “ศาลยุติธรรม” พัฒนาระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านประกันภัยสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จับมือร่วมทำงานกับ สำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบการระงับข้อพิพาทด้านประกันภัยด้วยวิธีการเจรจาไกล่เกลี่ยและวิธีอนุญาโตตุลาการ ซึ่งจะทำให้ปัญหาถูกแก้ไขได้ในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ต้องนำไปเรื่องไปสู่ศาล ซึ่งใช้เวลานาน ถือเป็นผลดีกับทั้งผู้ซื้อประกันและบริษัทประกัน ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ด้านประกันภัยมีบริการอยู่มากมาย ซึ่ง คปภ. เองก็คาดการณ์ไว้ว่าในอนาคตข้างหน้าน่าจะมีปัญหาร้องเรียนจากผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น การนำระบบไกล่เกลี่ยมาใช้ในการระงับข้อพิพาทระหว่างบริษัทประกันภัยกับผู้เอาประกันภัยจะทำให้สามารถยุติข้อพิพาทได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณของคดีที่จะเข้าสู่ศาล โดยในแต่ละปีมีเรื่องฟ้องร้องด้านประกันภัยมาที่ คปภ. ประมาณ 12,000 เรื่อง โดยสามารถไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเสร็จสิ้นประมาณ 95% ในปี 2559 คปภ. จะทำงานในเชิงรุกในเรื่องของการระงับข้อพิพาทให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น มีกฎกติกาที่ชัดเจนและจะผลักดันให้มีการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้รับประกันภัยกับผู้เอาประกันภัยให้เกิดความเป็นธรรม โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ กินหลากหลายลดเสี่ยงมะเร็งลำไส้ หลังจากที่องค์การอนามัยโลกออกมาให้ข้อมูลว่า ผลิตภัณฑ์เนื้อแปรรูปและเนื้อแดงเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคมะเร็ง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเมื่อถูกนำมาเผยแพร่ในประเทศไทยก็ได้สร้างความตกใจให้กับผู้บริโภคจำนวนไม่น้อย รศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ออกมาให้ข้อมูลในเรื่องนี้ว่า ผู้บริโภคไม่ควรตื่นตระหนกกับข้อมูลดังกล่าว เนื่องจากเนื้อสัตว์ถือเป็นอาหารที่เราทานกันเป็นปกติ เนื้อสัตว์มีโปรตีนซึ่งให้ประโยชน์และจำเป็นต่อร่างกายของเรา ซึ่งผลวิจัยที่นำมาออกมาเผยแพร่นั้นเป็นผลวิจัยที่ได้จากห้องทดลอง แต่ในความเป็นจริงมนุษย์เราไม่ได้บริโภคเพียงแค่เนื้อสัตว์อย่างเดียว ข้อมูลที่ออกมาจึงเป็นเหมือนคำเตือนเพื่อสร้างความตระหนักในการบริโภคมากกว่าที่เป็นไปในลักษณะของการห้ามการบริโภคแบบเด็ดขาด รศ.ดร.วิสิฐ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งมีหลายประการ ไม่ใช่แค่การกินอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งแล้วจะเกิดโรคขึ้น โดยปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้เกิดมะเร็งลำไส้ เท่าที่มีหลักฐานคือ การบริโภคอาหารที่มีไฟเบอร์ หรือกากใยน้อย ซึ่งตามปกติต้องบริโภคให้ได้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม นอกจากนี้เราควรกินอาหารแต่พอดี ไม่เยอะหรือน้อยเกินไป  ออกกำลังกายสม่ำเสมอ มีกิจกรรมเคลื่อนไหวไม่ให้ลำไส้อยู่นิ่งๆ และต้องขับถ่ายให้เป็นปกติ ไม่ให้ลำไส้สะสมสารพิษ ทั้งหมดที่กล่าวมาคือสิ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ได้ ประกันสังคมเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคมปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนแล้ว ตามพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับใหม่ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นมีครอบคลุมหลายด้าน เช่น  กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย มีการเพิ่มค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตนในกรณีที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ จากเดิมที่มีสิทธิได้รับเฉพาะค่าตรวจวินิจฉัยโรค ค่าบำบัดทางการแพทย์ ค่ากินอยู่ และรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล ค่ายา และค่าเวชภัณฑ์ ค่ารถพยาบาล หรือค่าพาหนะรับส่งผู้ป่วย กรณีคลอดบุตร และ สงเคราะห์บุตร เพิ่มสิทธิให้ได้รับค่าคลอดบุตรไม่จำกัดจำนวนครั้ง  พร้อมได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงาน 90 วัน ไม่เกิน 2 ครั้ง สำหรับผู้ประกันตนหญิง จากเดิมที่มีสิทธิได้รับไม่เกิน 2 ครั้ง เงินสงเคราะห์การหยุดงาน 90 วัน กรณีสงเคราะห์บุตร ได้เพิ่มเป็นคราวละไม่เกิน 3 คน จากเดิมที่ได้รับคราวละไม่เกิน 2 คน สำหรับกรณีว่างงาน ก็มีการเพิ่มความคุ้มครองสิทธิประโยชน์ กรณีนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวเนื่องจากเหตุสุดวิสัยโดยยังไม่มีการเลิกจ้าง เช่น กรณีสถานประกอบการถูกน้ำท่วม จากเดิมที่ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเมื่อถูกเลิกจ้างหรือลาออกเท่านั้น ยังมีสิทธิประโยชน์อีกหลายด้านที่เพิ่มขึ้นในพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่ ผู้ประกันตนสามารถดูข้อมูลได้ที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน 1506

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 175 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2558“Eco Sticker” คู่มือคนซื้อรถยนต์ตั้งแต่ 1 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป รถยนต์ที่ผลิตขึ้นใหม่ทุกคันทั้งนำเข้าและผลิตเองในประเทศจะต้องติด “Eco Sticker” หรือป้ายแสดงข้อมูลรถยนต์ตามมาตรฐานสากล เพื่อให้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนซื้อรถยนต์ ข้อมูลที่แสดงอยู่บน Eco Sticker  จะบอกข้อมูลอัตราการใช้น้ำมันว่า มีปริมาณมากน้อยเพียงใด เรื่องของความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การสร้างมลพิษ และมาตรฐานเรื่องความปลอดภัยโดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานการเบรก ซึ่งอิงกับเกณฑ์ระดับสากล Eco Sticker จะควบคุมดูแลโดยกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงการคลัง เชื่อว่าการออกข้อกำหนดให้รถยนต์รุนใหม่ๆ ที่จะวางจำหน่ายในประเทศทุกคันต้องติดป้าย Eco Sticker จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้บริโภคในการมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ไว้สำหรับเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจซื้อรถยนต์สักคัน ส่วนทางฝั่งผู้ผลิตรถยนต์ก็จะพัฒนารถของตัวเองให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ผลิตรถยนต์ที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะต่อไปเชื่อว่านอกจากเรื่องสมรรถนะและความปลอดภัยแล้ว เรื่องของการประหยัดพลังงานและไม่ทำลายสภาพแวดล้อมจะเป็นอีกองค์ประกอบสำคัญที่ผู้บริโภคใช้เป็นข้อมูลก่อนตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์สักคัน “คีนัว” - “เมล็ดเชีย” คุณค่าทางอาหารเท่าธัญพืชไทยเพราะเดี๋ยวนี้คนไทยเรารักสุขภาพกันมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกินที่หลายๆ คนให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เรียกว่ามีอะไรใหม่ๆ มาที่เขาว่ากินแล้วดีต่อสุขภาพเป็นต้องหามาลองเพราะอยากจะมีสุขภาพดีอย่างที่เขาโฆษณาล่าสุดก็เกิดกระแสการบริโภค “คีนัว” และ “เมล็ดเชีย” ธัญพืชที่ว่ากันว่านำเข้ามากจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นประเทศแถบอเมริกาใต้ ซึ่งมีคุณค่าทางอาหารหลายอย่าง ทั้ง โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระ แม้จะฟังดูคุณค่าทางอาหารสูง แต่ว่าราคาที่ขายก็สูงด้วยเช่นกัน ซึ่ง ผศ.อาณดี นิติธรรมยง อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกมาเตือนคนไทยว่าอย่าตื่นตัวกับ ข้าวคีนัว และ เมล็ดเชีย มากกันจนเกินไป เพราะจริงๆ แล้วธัญพืชของไทยเราก็มีคุณค่าทางอาหารไม่ได้ด้อยไปกว่ากัน ไม่ว่าจะเป็น ลูกเดือย ถั่วแดง งา ข้าวไรซ์เบอรี่ ฯลฯ เพียงแต่หลายคนมองข้ามเพราะอาจจะมองว่าเป็นของที่อยู่ใกล้ตัวหาทานได้ทั่วไป ที่สำคัญคือราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับข้าวคีนัว และ เมล็ดเชีย ใครที่พอมีทุนทรัพย์อยากจะหามารับประทานก็ตามความสะดวก แต่ยังไงการทานอาหารให้ได้ประโยชน์สูงสุดก็คือการรับประทานอาหารให้หลากหลายครบทั้ง 5 หมู่ ลาขาด SMS กวนใจหลังจากที่ปล่อยให้บรรดา SMS ขายของ ชิงโชค ดูดวง เป็นปัญหากวนใจคนใช้โทรศัพท์มือถือมานานแสนนาน ในที่สุด กสทช. ก็ได้ฤกษ์ออกประกาศห้ามผู้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือทุกค่ายส่งข้อความโฆษณาที่สร้างความรำคาญหรือทำให้ต้องเสียค่าบริการเพิ่มกับผู้ใช้มือถือ นอกจากที่เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้บริการโดยข้อห้ามดังกล่าวถูกกำหนดไว้ในประกาศของ กสทช. เรื่อง “การกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม โดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควรหรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ พ.ศ. 2558” ซึ่งในประกาศฉบับนี้ยังมีข้อกำหนดอื่นๆ ที่ห้ามไม่ให้ค่ายผู้ให้บริการมือถือเอาเปรียบผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น ห้ามโฆษณาเกินจริง ห้ามกำหนดเงื่อนไขในการคิดค่าบริการที่ไม่เป็นธรรม จำกัดโอกาสการเลือกใช้บริการ ฯลฯ ซึ่งหากค่ายผู้บริการมือถือไม่ทำตามประกาศฉบับนี้จะมีโทษปรับทางปกครองสูงสุดถึง 5 ล้านบาท แล้วถ้ายังไม่ทำการแก้ไขก็จะมีโทษปรับอีกสูงสุดวันละ 1 แสนบาทโทลล์เวย์ต้องลดราคา หลังศาลบอกสัญญาไม่เป็นธรรมศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้มติที่ประชุมของคณะรัฐมนตรีปี 2549 และ 2550 ที่เห็นชอบให้แก้ไขสัญญาสัมปทานทางหลวง อนุญาตให้ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด เก็บค่าผ่านทางเพิ่มพร้อมทั้งขยายอายุสัมปทานเพิ่มอีก 27 ปี เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นธรรมและเอาเปรียบผู้บริโภค สร้างภาระให้กับประชาชน เพราะในสัญญาเอื้อให้ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด สามารถกำหนดราคาล่วง หน้า และขึ้นราคาได้โดยไม่ต้องขออนุญาต จากมติดังกล่าวของศาลปกครองกลาง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาล ดำเนินการออกคำสั่งบังคับให้ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด กลับไปใช้อัตราค่าผ่านทางเดิมก่อนแก้ไขสัญญา ที่ปรับเพิ่มขึ้นมา 5 – 15 บาท และให้เรียกเงินคืนเงินจากบริษัทที่สร้างภาระเกินสมควรกับผู้บริโภคจากการเรียกเก็บค่าผ่านทางเพิ่มจากมติที่ไม่ชอบดังกล่าวจำนวน  4 พันล้านบาท พร้อมขอให้รัฐบาลอย่าอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลาง เพราะศาลได้พิจารณาแล้วว่าการทำสัญญาระหว่างภาครัฐกับเอกชนครั้งนี้ เป็นสัญญาที่ทำให้ประเทศชาติเสียผลประโยชน์และสร้างภาระอย่างมากให้กับประชาชนสั่งถอดโฆษณา “ประกันสุขภาพสูงวัย” ทำผู้บริโภคเข้าใจผิดศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ให้ข้อมูลกับสื่อมวลชน ถึงความไม่ตรงไปตรงมาของการประกันสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งมีการโฆษณาเชิญชวนให้ซื้อประกันผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะทางทีวีเป็นจำนวนมาก ในโฆษณาจะให้ข้อมูลแค่ว่าสมัครได้โดยไม่ต้องตรวจสุขภาพ จ่ายเบี้ยประกันเฉลี่ยวันละไม่กี่บาท ได้ผลตอบแทนจากวงเงินประกันสูง แต่กลับพบปัญหาเมื่อไม่สามารถเรียกร้องค่าชดเชยจากการรักษาพยาบาล เนื่องจากบริษัทประกันอ้างว่า ผู้เอาประกันเป็นโรคร้ายแรงมาก่อนจะสมัครซื้อประกัน แถมยังมีการยกเลิกสัญญาประกันตามมาด้วย เพราะบริษัทประกันอ้างว่าผู้ซื้อประกันปกปิดข้อมูล ซึ่งถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างชัดเจน หลังจากที่เรื่องดังกล่าวถูกเผยแพร่ไปยังสื่อต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคตื่นตัวกับปัญหานี้เป็นอย่างมาก ทำให้สมาคมประกันชีวิตไทย ต้องออกมาประกาศให้บริษัทประกันชีวิตทุกบริษัทถอดโฆษณาขายประกันสำหรับผู้สูงอายุออกทั้งหมด แล้วให้ไปทำการปรับปรุงและเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงข้อความในโฆษณาให้มีความชัดเจน โดยต้องมีการแจ้งให้ผู้จะซื้อประกันทราบด้วยว่า ถ้าเกิดกรณีผู้ประกันเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยภายใน 2 ปีแรก บริษัทจะคืนเบี้ยประกันภัยพร้อมเงินเพิ่ม 2-5 เปอร์เซ็นต์ให้กับผู้เอาประกัน แต่ถ้าผ่านพ้นไปหลัง 2 ปีแล้วจะได้รับเงินคืนทั้งหมดตามทุนประกันที่ทำไว้กับบริษัทประกันชีวิต และต้องแจ้งเงื่อนไขในการทำประกันที่ว่าไม่ต้องตรวจสุขภาพนั้นมีเงื่อนไขอื่นแฝงอยู่หรือไม่ เช่นไม่จ่ายชดเชยกับโรคร้ายแรงบางโรคหรือมีเงื่อนไขในการจ่าย เพื่อไม่ให้เป็นปัญหากับผู้บริโภคในภายหลัง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว สิงหาคม 2558 กสทช. สั่งปรับดีแทคให้ลูกค้าใช้เน็ตฟรี 1 กิกะไบต์เมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้เกิดปัญหากับผู้ใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ “ดีแทค” บางส่วนในพื้นที่กรุงเทพฯ ไม่สามารถใช้บริการอินเทอร์เน็ตได้ เนื่องจากมีสัญญาณต่ำมาก ทำให้มีผู้ใช้บริการจำนวนมากแจ้งเรื่องร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งทาง กสทช. ได้เรียกผู้แทนของบริษัท ดีแทค เข้ามาชี้แจงถึงเหตุของปัญหาดังกล่าวพบว่า เกิดจากอุปกรณ์โครงข่ายบางส่วนของดีแทค ได้เกิดความขัดข้อง ทำให้เกิดผลกระทบต่อการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของผู้บริโภคราว 50,000 ราย     ทาง กสทช. ได้สั่งให้ดีแทคเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งทางดีแทคได้แจ้งว่าจะชดเชยผู้ใช้บริการ 50,000 รายที่ได้รับผลกระทบ โดยจะให้บริการอินเทอร์เน็ตเพิ่มฟรี จำนวน 1 กิกะไบต์ ในรอบบิลถัดไป    ใครที่เป็นผู้ใช้เครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือระบบดีแทคแล้วได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว หากไม่ได้รับจากชดเชยเยียวยาตามที่แจ้ง สามารถติดต่อสอบถามไปที่ ดีแทค คอล เซนเตอร์ โทร. 02-2027267 (โทรฟรี) หรือสายด่วน กสทช. 1200 ห้ามบรรจุภัณฑ์ทำไซต์ใหญ่ตบตาผู้บริโภคเดี๋ยวนี้มีผลิตภัณฑ์หลายชนิดหลายยี่ห้อที่ใช้บรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่เกินความจำเป็น ด้วยเหตุผลที่ตั้งใจจะตบตาผู้บริโภค ให้สินค้าตัวเองดูมีขนาดใหญ่น่าจะให้ปริมาณเยอะ แต่แท้จริงมีของอยู่ไม่ถึงครึ่งบรรจุภัณฑ์ แถมยังเป็นเพิ่มปริมาณขยะอีกต่างหาก ซึ่งปัญหานี้กำลังจะได้รับการแก้ไข หลังจากพบว่ามีร้องเรียนปัญหาด้งกล่าวเป็นจำนวนมากเข้ามายัง สำนักงานคณะกรรมคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. โดยมีการสำรวจสินค้าต่างๆ พบว่าสินค้ากลุ่มที่พบการใช้บรรจุภัณฑ์ใช้พื้นที่มากเกินความจำเป็น ได้แก่ ขนมขบเคี้ยว ยาสระผม น้ำยาล้างจาน ฯลฯ ซึ่งพบว่ามีพื้นที่ว่างเฉลี่ยถึง 15 - 35% แม้ว่าสินค้าที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์จะมีน้ำหนักหรือปริมาณที่ตรงกับที่ระบุไว้ด้านข้างบรรจุภัณฑ์ แต่การที่บรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดใหญ่เกินกว่าความเป็นจริงอาจทำให้ผู้บริโภคสับสน เพราะผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจซื้อสินค้าเหล่านั้น เพราะเห็นบรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดใหญ่ และคิดว่าปริมาณสินค้าด้านในจะมากใกล้เคียงกับขนาดบรรจุภัณฑ์โดยหลังจากนี้ สคบ. ตั้งใจที่จะออกเป็นข้อกำหนดหรือ พ.ร.บ. ควบคุมเรื่องนี้ให้ชัดเจน เพื่อจะได้เป็นช่วยผู้บริโภคไม่ให้เกิดความสับสน กระตุ้นให้ผู้ผลิตลดการใช้ทรัพยากรส่วนเกินและลดการเพิ่มปริมาณขยะ “ยากำจัดฝุ่นไร” เป็นยาอันตรายใช้ต้องระวังปัญหาเรื่องฝุ่นไรภายในบ้านถือเป็นเรื่องที่หลายๆ ครอบครัวกังวลและให้ความสำคัญ เพราะฝุ่นไรที่มักอยู่ตามที่นอน ผ้าม่าน อาจเป็นต้นเหตุของโรคภูมิแพ้ได้ ซึ่ง อย. ก็ออกมาให้คำแนะนำก่อนที่ผู้บริโภคจะหาซื้อผลินภัณฑ์ดังกล่าวมาใช้ โดยเฉพาะต้องไม่ลืมคำนึงถึงเรื่องของความปลอดภัย เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้กำจัดไรฝุ่นบ้านจัดเป็นวัตถุอันตรายในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 อาจจัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 หรือชนิดที่ 3  ขึ้นอยู่กับชนิดของสาระสำคัญที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ ซึ่งสารสำคัญในผลิตภัณฑ์กำจัดไรฝุ่นบ้านที่ขึ้นทะเบียนกับ อย. คือ น้ำมันกานพลู (Clove Oil) และน้ำมันอบเชย (Cinnamon Oil)สำหรับการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์กำจัดไรฝุ่นบ้านนั้น ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. และมีการแสดงเลขทะเบียน วอส. (วัตถุอันตราย ) ในกรอบเครื่องหมาย อย. ควรอ่านฉลากก่อนใช้และปฏิบัติตามคำแนะนำในฉลากอย่างเคร่งครัด ส่วนวิธีการใช้สําหรับที่นอน ฉีดผลิตภัณฑ์กําจัดไรฝุ่นให้ทั่วที่นอนแล้วใช้ผ้าห่มหรือพลาสติกคลุมทิ้งไว้อย่างน้อย 2 ชั่วโมง แล้วจึงเปิดผ้าคลุมออก ทิ้งไว้จนกลิ่นจางลงจึงใช้ได้ สําหรับผ้าห่ม หมอน ตุ๊กตา โซฟา ฉีดสเปรย์ให้สัมผัสโดยตรง ทิ้งไว้จนกลิ่นจางลงจึงใช้ได้ ระวังอย่าให้ละออง เข้าตา ปาก หรือจมูกเมื่อเสร็จจากการใช้แล้วต้องรีบล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้ง หากผู้บริโภคมีข้อสงสัยว่าผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายใดที่มีการขึ้นทะเบียนไว้กับ อย.หรือไม่ สามารถสืบค้นได้ที่เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th หัวข้อสืบค้นข้อมูลผลิตภัณฑ์ เลือกผลิตภัณฑ์วัตถุอันตราย และทะเบียนวัตถุอันตราย โดยสามารถค้นหาได้จากชื่อผลิตภัณฑ์ชื่อ สารสําคัญ และเลขทะเบียนวัตถุอันตราย “ประกันสังคม” สิทธิทันตกรรมแย่สุดเมื่อเทียบ 3 สิทธิทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เปิดเผยข้อมูลเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมของ 3 กองทุน คือ สวัสดิการข้าราชการ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) และประกันสังคม พบว่าแต่ละกองทุนมีการกำหนดสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมไว้ครอบคลุมไม่เท่ากัน โดยสิทธิประกันสังคมจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่ำที่สุด และกลุ่มที่เหมือนจะถูกเอารัดเอาเปรียบมากที่สุดด้วย เพราะเป็นกลุ่มเดียวที่ต้องร่วมจ่าย แต่สิทธิที่ได้รับการทำฟันน้อยมาก จำกัดเพียงแค่การถอนฟัน อุดฟัน การขูดหินน้ำลาย และใส่ฟันเทียมถอดได้ โดยมีเบิกจ่ายสูงสุดได้เพียงแค่ 600 บาทต่อปี และกำหนดให้เป็นการเบิกจ่ายจากการทำหัตถการ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 300 บาท ถือว่าน้อยมากและยุ่งยากขณะที่ระบบบัตรทองให้สิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมการทำหัตถกรรมเกือบทั้งหมด ตั้งแต่การขูดหินน้ำลาย อุดฟัน ถอนฟัน ผ่าฟันคุด ยกเว้นการรักษาคลองรากฟัน ไปจนถึงการใส่ฟันเทียม ซึ่งถือว่าดีกว่าประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการถือว่าให้การดูแลผู้ป่วยทันตกรรมดีที่สุด เพราะสิทธิประโยชน์ครอบคลุมหัตถการทันตกรรมทั้งหมด เพียงแต่จำกัดต้องทำเฉพาะในโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น ซึ่งบางแห่งมีคิวหนาแน่น เพราะต้องดูแลทั้งผู้ป่วยบัตรทองและข้าราชการทพ.อดิเรก ศรีวัฒนาวงษา นายก (สำรอง) ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ฝากข้อเสนอถึง สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ว่าควรปรับเพิ่มเพดานเบิกจ่ายในส่วนของทันตกรรมให้มากกว่าแค่ 600 บาท เพราะเป็นวงเงินที่น้อยเกินไป ทั้งนี้ในส่วนของผู้ประกันตนถือเป็นระบบประกันภาคบังคับ จึงควรได้รับการดูที่ดีและครอบคลุมมากกว่าที่จะผลักภาระให้ผู้ประกันตนยังต้องจ่ายเงินค่ารักษาดูแลตัวเองเพิ่มขึ้นอีกสายการบินโลว์คอสห้ามคิดค่าโดยสารเกิน 13 บาทต่อ กม.ปัจจุบันมีสายการบินต้นทุนต่ำ (low cost airline) เปิดให้บริการหลายสายการบิน  ซึ่งที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนจากการใช้บริการผ่านมายังกรมการบินผลเรือนและทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจำนวนไม่น้อย โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องโปรโมชั่นที่ไม่ตรงตามที่แจ้งไว้ในโฆษณา เช่นการจองที่นั่งแล้วพบว่าไม่มีที่นั่งตามที่จอง หรือการจำกัดจำนวนแต่ไม่ได้มีการแจ้งรายละเอียดไว้ว่าปัจจุบันเหลือที่นั่งเท่าไหร่ สามารถจองได้ถึงเมื่อไหร่ รวมทั้งเรื่องราคาที่ไม่ได้แจ้งราคาสุทธิจริงๆ ไว้ในโฆษณา ซึ่งจากนี้สายการบินต้นทุนต่ำจะต้องมีการแจ้งรายละเอียดต่างๆ ในการใช้บริการ เงื่อนไขต่างๆ ที่ต้องครบถ้วนชัดเจน ในทุกช่องทางการโฆษณาสำหรับการแข่งขันเรื่องราคา กรมการบินพลเรือนแจ้งว่ายังไม่พบปัญหาดังกล่าว ปัจจุบันได้กำหนดราคาขั้นสูงไว้ไม่ให้เกิน 13 บาทต่อกิโลเมตร (กม.) ส่วนราคาขั้นต่ำไม่ได้กำหนด  ซึ่งแต่ละสายการบินสามารถจัดโปรโมชั่นแข่งขันลดราคาได้ แต่ต้องไม่เป็นการดัมพ์ราคา หรือตัดราคาสายการบินอื่นจนแข่งขันไม่ได้ ปัจจุบันคาดว่าต้นทุนของสายการบินต้นทุนต่ำ กม.ละ 2-5 บาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 162 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนสิงหาคม 2557 คนไทยติดมือถือ โฮเทลส์ ดอทคอม เผยคนไทยติดมือถืออันดับ 1 จากกลุ่มตัวอย่างนักท่องเที่ยวจาก 28 ประเทศ ที่พกมือถือตลอดเวลาแม้แต่ไปพักร้อน โดยคนไทย โดย 6 ใน 10 ใช้เวลาไปกับการเช็กอีเมล์บนมือถือ และ 100% ใช้เพื่อเชื่อมต่อกับโลกโซเชียล         คลีนฟู้ด กู้ดเทสต์ ไม่ผ่านมาตรฐาน กรมอนามัย เผยร้านค้าที่เคยผ่านมาตรฐานโครงการคลีนฟู้ด กู้ดเทสต์ พลัส ล่าสุดไม่ผ่านเกณฑ์ถึงร้อยละ 27 เล็งยกระดับมาตรฐานร้านจำหน่ายอาหาร มอบป้าย Clean Food Good Taste Plus ให้ร้านอาหารไทยปลอดภัย สุขภาพดี ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 7 ข้อ สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค เกณฑ์มาตรฐานร้านอาหาร Clean Food Good Taste Plus มีดังนี้ 1. ต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานอาหารสะอาด รสชาติอร่อย 2. มีช้อนกลางสำหรับผู้บริโภค 3. มีอ่างล้างมือสำหรับผู้บริโภค 4.ส้วมในร้านอาหารผ่านเกณฑ์มาตรฐาน HAS (Healthy Accessibility Safety) และมีส้วมสำหรับผู้พิการ ที่รถเข็นสามารถเข้าถึงได้ 5. ผักสดปลอดสารพิษฆ่าแมลง 6. ผู้สัมผัสอาหารต้องผ่านการอบรมและมีบัตรประจำตัวผู้สัมผัสอาหาร และ 7. ใช้ถุงมือสัมผัสอาหาร   ยอดโรงเรียนกวดวิชาพุ่ง สะท้อนระบบการศึกษาที่มีต้นทุนสูง รายงานจากกระทรวงศึกษาธิการ พบผู้ประกอบการธุรกิจกวดวิชาโรงเรียนกวดวิชาและติวเตอร์อิสระรายใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีเฉพาะปี 2555 ประเทศไทยมีโรงเรียนกวดวิชา 2,005 แห่ง อยู่ในกรุงเทพฯ 460 แห่ง และภูมิภาค 1,545 แห่ง มีนักเรียนเรียนกวดวิชา 453,881 คน หรือ12% ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาทั้งหมด โดยมูลค่าการตลาดของธุรกิจกวดวิชา ปี 2556 ประมาณ 7,160 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2555 ที่มีมูลค่า 7,000 ล้านบาท และคาดว่าปี 2558 จะเติบโตไปสู่ 8,189 ล้านบาท เพิ่ม 5.4% ซึ่งการเติบโตนี้มีปัจจัยหนุนมาจากการเพิ่มราคาค่าเรียน และจำนวนนักเรียนที่เรียนกวดวิชาเพิ่มขึ้น นักเรียนส่วนใหญ่ต่างต้องการผลการเรียนที่ดีขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสในการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ส่งผลให้ต้นทุนการศึกษาสูง ผู้ปกครองเดือดร้อน นักเรียนเองก็แบกรับความทุกข์จากการเรียนทั้งในและนอกเวลา นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า “หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขอให้ ศธ.ลดเวลาเรียนลงจึงได้มอบหมายให้สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ไปวิเคราะห์แล้วและคาดว่าการปรับลดเวลาเรียนคงไม่ได้ปรับใหญ่เพราะชั่วโมงเรียนไปสัมพันธ์กับหน่วยกิตการเรียนการสอน ดังนั้นเบื้องต้นอาจปรับลดชั่วโมงเรียนในบางวิชาลง เช่น วิชาสังคมศึกษาที่มีการเรียนเรื่องประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมืองให้จัดการเรียนการสอนในรูปแบบของกิจกรรมแทน เป็นต้น     พบผู้ประกันตนเมินสิทธิฉุกเฉิน เหตุกลัว รพ.เก็บเงิน นพ.ถาวร สกุลพาณิชย์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ในฐานะที่ปรึกษาโครงการวิจัยเรื่อง "การบริหารจัดระบบบริการทางการแพทย์กรณีฉุกเฉินตามนโยบายบริหารจัดการร่วม สามกองทุน" ระบุ นโยบายการรักษาดังกล่าวมีการให้บริการที่รวดเร็ว รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน รวมทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชนไม่มีการปฏิเสธการรักษาคนไข้ตามมาตรฐานสากล ทำให้ผู้ประกันตนเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลเจ็บป่วยฉุกเฉินได้มากขึ้น แต่ปัญหาที่พบคือ ผู้ประกันตนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าจะใช้สิทธิได้ที่ใด และยังกังวลว่าโรงพยาบาลเอกชนจะไม่รับรักษา เนื่องจากเรื่องของค่ารักษาพยาบาล ซึ่งยังไม่มีการกำหนดในกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจนว่า ให้โรงพยาบาลที่ให้การรักษาเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลจากหน่วยงานใด ทำให้เกิดความสับสนในการจัดการค่าใช้จ่าย แม้โรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือไม่เก็บค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วย โดยไปเบิกจากกองทุนประกันสังคมผ่านหน่วยงานกลางของสำนักงานหลักประกันสุขภาพ แห่งชาติ (สปสช.) และมีโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งยังคงเรียกเก็บเงินค่ารักษาจากคนไข้ บางรายต้องกู้เงินมาจ่ายค่ารักษาจนเป็นหนี้สิน เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขกฎหมายนโยบายการรักษาเจ็บป่วยฉุกเฉิน เพื่อกำหนดการจัดการค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลให้ชัดเจน โดยห้ามโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่ให้การรักษาเรียกเก็บเงินจากคนไข้โดยเด็ดขาด "ส่วนการจ่ายค่ารักษาให้แก่โรงพยาบาลเอกชนนั้น ควรใช้อัตราเดียวกับที่กรมบัญชีกลางจ่ายให้แก่โรงเรียนแพทย์ และจ่ายเพิ่มเติมในส่วนของค่าตอบแทนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ โดยอัตราที่จ่ายนั้นพิจารณาตามความเหมาะสม ส่วน สปส.ควรจัดให้มีสายด่วนกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน แยกจากสายด่วนปกติและจัดให้พยาบาลซึ่งมีความรู้ด้านโรคต่างๆ มาเป็น Call Center" นพ.ถาวรกล่าว   คนพิการทวงคืนพื้นที่ ที่จอดรถห้างชื่อดัง ต้นเดือนที่ผ่านมามีการแชร์คลิปหนึ่งที่สร้างความฮือฮามากเรื่อง การทวงสิทธิที่จอดรถคนพิการในห้างดัง ในคลิปเป็นภาพชายหนุ่มพิการนั่งรถวีลแชร์ไปทวงถามพื้นที่จอดรถสำหรับคนพิการ ซึ่งกลายเป็นที่จอดรถพิเศษของลูกค้าวีไอพีของห้างไป ทั้งที่มีการระบุสัญลักษณ์คนพิการอย่างชัดเจน ชายหนุ่มพิการอธิบายว่า ลานจอดรถชั้นนี้ยังมีช่องจอดรถว่างอยู่พอสมควร แต่ทุกครั้งที่มาห้างแห่งนี้ พื้นที่จอดรถของคนพิการ มักมีรถเก๋งคันหรูจอดเต็มอยู่เสมอ ขณะที่ในคลิปวิดีโอยังเผยให้เห็นเจ้าหน้าที่หญิงคนหนึ่ง ซึ่งประจำลานจอดรถได้เข้ามาชี้แจง พร้อมกับอธิบายและขอโทษเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น ชายหนุ่มพิการก็ระบุว่าไม่ได้กล่าวโทษใดๆ เนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้น หากไม่ได้รับคำสั่งคงไม่เปิดให้รถเก๋งคันหรูเหล่านี้มาจอดในพื้นที่สำหรับคนพิการ พร้อมกับกล่าวว่าเจ้าของรถเหล่านี้ไม่มีจิตสำนึกและถ่ายภาพป้ายทะเบียนรถเอาไว้เป็นหลักฐาน หลังจากแชร์กันสนั่นและวิจารณ์กันไปจนทั่วโลกโซเชียล ท้ายที่สุด ห้างดังก็ต้องออกมาขอโทษและรับปากจะไม่ละเมิดสิทธิผู้พิการอีก     สารพิษตกค้างเพียบในผัก ผลไม้ แม้มีตรา Q การันตี ไทยแพน(เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลการสุ่มเก็บตัวอย่างผัก-ผลไม้ เพื่อหาสารเคมีตกค้างปี 2557 พบ ผัก-ผลไม้ที่ได้รับตรารับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร มีสารตกค้างสูงถึงร้อยละ 87.5 ซึ่งมากกว่าผัก-ผลไม้ ที่วางขายในตลาดทั่วไป นายพชร แกล้วกล้า ผู้ประสานงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยสุ่มเก็บตัวอย่างผัก-ผลไม้ จาก 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ สงขลา ขอนแก่น และยโสธร รวม 118 ตัวอย่าง พบว่าผักผลไม้เกือบครึ่งหนึ่ง คือร้อยละ 46.6 ของตัวอย่างที่สุ่มตรวจ มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างที่เกินมาตรฐาน MRL หรือปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดที่กำหนดไว้ใน มกอช. ด้านนางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานจากไทยแพน ระบุ หากจำแนกตามประเภทแหล่งจำหน่าย พบว่า ผักผลไม้ที่พบการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากที่สุด คือผักผลไม้ที่ได้ตรารับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร หรือ ตรารับรองมาตรฐาน "Q" พบการตกค้างมากถึงร้อยละ 87.5 และไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน MRL มากถึงร้อยละ 62.5 รองลงมาคือผักผลไม้ที่จำหน่ายในห้างค้าปลีก ส่วนแหล่งที่พบผักผลไม้เกินมาตรฐาน MRL น้อยที่สุดกลับเป็นตลาดทั่วไป โดยผลไม้ที่มีสารเคมีตกค้างมากที่สุด ได้แก่ ส้มสายน้ำผึ้ง รองลงมาคือ ฝรั่ง ส่วนที่พบสารตกค้างน้อยสุดคือ แตงโม ข้อสังเกตจากการทดสอบ พบว่า สารเคมีที่ตกค้างในผักผลไม้ทุกชนิด คือ คลอร์ไพริฟอสและไซเปอร์เมทริน รวมทั้งสารคาร์เบนดาซิม ที่พบตกค้างในส้ม แอปเปิ้ลและสตรอว์เบอร์รี่ นั้นสูงกว่าค่า MRL หลายเท่าตัว เพราะคาร์เบนดาซิม เป็นสารดูดซึมการตกค้างจะเข้าไปในเนื้อผลไม้และไม่สามารถกำจัดได้ด้วยการล้างน้ำ องค์กรผู้บริโภคและเครือข่ายเตือนภัยจึงมีข้อเสนอดังนี้  1.ให้ มกอช. ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ ปฏิรูปการออกเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร หรือ Q ให้เป็นที่พึ่งของผู้บริโภคได้จริง 2.ให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายเร่งจัดการปัญหาเรื่องการควบคุมการนำเข้าและจำหน่ายสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มที่มีอันตรายร้ายแรง และดูดซึมอย่างเข้มงวด โดยเปิดให้ทุกภาคส่วนเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ  และ 3.เร่งสร้างระบบเตือนภัยความปลอดภัยด้านอาหาร(Rapid Alert System for Food) ภายในปี 2558

อ่านเพิ่มเติม >