ฉบับที่ 169 การใช้สิทธิตามมาตรา 41 ในกฎหมายหลักประกันสุขภาพ

คุณหนึ่ง(นามสมมติ) ได้เข้ามาร้องเรียนกับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เนื่องจากกรณีการใช้สิทธิรักษาพยาบาล โดยเรื่องมีอยู่ว่า แม่ของคุณหนึ่ง เกิดอาการผิดปกติ โดยอาเจียนอย่างรุนแรงถึง  4 ครั้ง มีอาการอ่อนเพลีย อ่อนแรง พูดไม่ชัด ผู้ร้องจึงรีบนำส่งโรงพยาบาล แต่กว่าจะได้พบแพทย์ใช้เวลาร่วมชั่วโมง และเมื่อแพทย์ฟังอาการของคุณแม่ ที่คุณหนึ่งเล่า ก็สั่งจ่ายยาและให้กลับบ้านได้ โดยไม่ได้ตรวจร่างกายผู้ป่วยแต่อย่างใด แม้จะทักท้วงเพื่อขอให้ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลหรือให้น้ำเกลือ แต่ทางแพทย์ก็ปฏิเสธทั้งสองกรณีเมื่อกลับมาบ้านได้ประมาณ 2 ชั่วโมง ก็ต้องกลับไปที่โรงพยาบาลอีกครั้ง เพราะอาการอาเจียนยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ต้องเข้าห้องฉุกเฉินและแพทย์ได้ตรวจเลือดพบว่า มีเม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ แต่แพทย์ก็ไม่ได้ตรวจหาสาเหตุว่าอาเจียนเพราะเหตุใด ผู้ร้องปรึกษาว่าควรให้คนไข้นอนที่นี่ไหมเพื่อเฝ้าติดตามประเมินอาการคนไข้อย่างใกล้ชิดแต่แพทย์ปฏิเสธเป็นครั้งที่ 22 วัน ต่อมา คุณแม่อาการรุนแรงขึ้น จึงนำส่งโรงพยาบาลอีก แต่เช่นเดิม กว่าจะได้ตรวจเสียเวลามาก ผู้ป่วยเริ่มมีอาการแย่ลง มีไข้สูงแต่พยาบาลก็ไม่ทำอะไร แพทย์กลับมาดูอีกครั้งผู้ป่วยนอนหลับไม่รู้สึกตัวและไม่ตอบสนอง ในที่สุดต้องช่วยปั๊มหัวใจ แต่ไม่สำเร็จผู้ป่วยได้เสียชีวิต แนวทางแก้ไขปัญหา ในเบื้องต้นนั้น ได้แนะนำให้ทางผู้ร้องคือคุณหนึ่ง ร้องเรียนต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามมาตรา 41 ซึ่งว่าด้วยการเยียวยาความเสียหายเบื้องต้น ซึ่งผู้ร้องได้ทำการร้องเรียนและได้รับเงินชดเชยมาทั้งหมด 360,000 บาท แล้ว แต่ผู้ร้องเห็นว่า หากโรงพยาบาลมีการให้บริการที่ดีผู้ป่วยคงไม่เสียชีวิต จึงต้องการเรียกร้องค่าเสียหาย ซึ่งตอนนี้อยู่ในกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง หลักเกณฑ์พิจารณาความช่วยเหลือตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนดไว้ ดังนี้1. เสียชีวิต หรือทุพพลภาพอย่างถาวร หรือเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิตและมีผลกระทบรุนแรงต่อการดำรงชีพ จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ ตั้งแต่ 240,000 บาท แต่ไม่เกิน 400,000 บาท2. สูญเสียอวัยวะหรือพิการ ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต จ่ายเงินช่วยเหลือเบี้องต้นได้ ตั้งแต่ 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 240,000 บาท3. บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายเงินช่วยเหลือได้ไม่เกิน 100,000  บาทผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายที่เกิดจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการทายาทหรือผู้อุปการะ หรือหน่วยบริการที่ให้บริการ มีสิทธิยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ที่ สำนักงานสาขาของสำนักงานหลักประกันสุขภาพในจังหวัดนั้น หรือหน่วยรับเรื่องร้องเรียนตามมาตร 50 (5)การพิจารณาวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการจะต้องทำให้เสร็จโดยเร็ว ไม่เกิน 30 วัน นับตั้งแต่ได้รับคำร้องขอในกรณีที่ผู้รับบริการหรือทายาทหรือผู้อุปการะของบุคคลดังกล่าว ไม่เห็นด้วยกับผลการวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการที่สั่งจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นไม่เต็มตามอัตราที่กำหนดไว้ หรือ ไม่จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้ผู้นั้นมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ทั้งนี้ต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ได้รับทราบผลการวินิจฉัย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 165 บริษัทประกัน หลอกผู้เสียหายทำยอมรับเงิน เหตุรถทัวร์ตกเหว

เรื่องราวของอุบัติเหตุรถโดยสารมีให้เห็นกันแทบทุกวัน ไม่ว่าคุณจะเดินทางไปไหน ไปทำงาน ทำบุญ หรือจะไปที่ไหนก็แล้วแต่  ไม่ว่าจะเป็นรถตู้ รถแท็กซี่ รถเมล์ หรือรถทัวร์โดยสาร ก็เกิดกันได้ทุกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุ สิ่งที่ตามมาก็คือ มีผู้บาดเจ็บล้มตาย ความเสียหายเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินของคนที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ที่แย่กว่านั้นหากเป็นรถโดยสารที่เจ้าของรถหรือบริษัทประกันภัย ไม่มีความรับผิดชอบ หรือประวิงเวลาในการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ปัญหาดังกล่าว จะยิ่งทำให้ผู้ประสบเหตุได้รับความเดือดร้อนมากขึ้นทั้งนี้เมื่อเกิดเหตุขึ้น หน่วยงานแรกๆ ที่ต้องเข้าถึงตัวผู้เสียหายเพื่อจัดการเรื่องค่าสินไหมทดแทน คือ บริษัทประกันภัยที่รับทำประกันภัยไว้กับรถยนต์คันเกิดเหตุ(ประกันภัยภาคสมัครใจ)  ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า หากบาดเจ็บ ไม่ว่าเจ็บน้อยหรือเจ็บสาหัสมากแค่ไหน แต่ถ้าไม่ถึงกับตาย การได้ค่าสินไหมจากบริษัทประกันภัยนั้นจะเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะบริษัทประกันภัยมีเทคนิคมากมาย ที่จะจ่ายค่าสินไหมให้น้อยกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้น  ผู้เสียหายหลายรายบ่นกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯว่า “บางครั้งเวลาเจรจาค่าเสียหาย รู้สึกเหมือนตัวเองกำลังขอเงินเขาใช้ยังไงยังงั้น ทั้งที่เราเป็นคนเจ็บแท้ๆ แต่บริษัทประกันภัยกลับมาต่อรองเราครึ่งๆ เหมือนซื้อของกัน เขายังเห็นเราเป็นคนอยู่รึเปล่า อยากรู้จริงๆ”เมื่อผู้เสียหายต้องการมากเพราะเจ็บ แต่บริษัทประกันภัยต้องการจ่ายน้อยเพราะไม่อยากเสียเงินเยอะ  หลายรายจึงไม่สามารถตกลงกันได้ ขณะที่บางรายต้องจำยอมรับเงินเพียงบางส่วนเพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาล  และมีอีกหลายรายที่รู้ไม่ทันเกมของบริษัทประกัน ทำให้ต้องยอมรับค่าสินไหมทดแทนไปแบบ งงๆ มารู้ตัวอีกทีก็สายไปเสียแล้ว  และเรื่องราวต่อนี้ ก็เป็น 1 ในอีกหลายๆ เหตุการณ์ของความสูญเสียที่ไม่ได้เกิดเป็นเรื่องแรก แต่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกของอุบัติเหตุรถยนต์โดยสาร ที่รอวันแก้ไขอย่างจริงจังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง…. เช้ามืดวันที่  23 ตุลาคม 2556  เวลา 5.00 น.   กลุ่มชาวบ้านผู้สูงอายุจำนวนกว่า 120 คน จากหมู่บ้านแม่สะลาบและหมู่บ้านบุปผาราม ตำบลชมภู อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่  ได้ร่วมกันจ้างเหมารถยนต์รับจ้างจำนวน 3 คัน  เพื่อไปทำบุญทอดกฐินที่วัดใหม่สามัคคีธรรม บ้านวังเจริญ ตำบลวังแก้ว อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ครั้นเมื่อทำบุญทอดกฐินและท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆมาทั้งวันแล้ว ในเวลาประมาณ 18.00 น. ขณะที่คณะกำลังเดินทางกลับบ้านที่จังหวัดเชียงใหม่   โดยรถยนต์โดยสารทั้ง 3 คัน ขับเรียงกันมาตามเส้นทางถนนสายพะเยา-วังเหนือ มุ่งหน้าไปยังอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อรถยนต์ขับมาถึงบริเวณ หมู่ที่ 2 ตำบลวังทอง อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นทางโค้งลาดลงเขารถยนต์โดยสารคันแรกเริ่มมีอาการกระตุก คนขับรถจึงได้หยุดจอด และพูดคุยกับคนขับรถคันที่ 2 ที่ขับตามมาว่า รถเบรกมีปัญหาเอาไม่อยู่ ให้รถที่ตามมาแซงไปก่อน เมื่อรถที่ตามมาแซงล่วงหน้าไปแล้ว ผู้สูงอายุที่นั่งด้านหน้าติดกับคนขับได้ยินก็ถามคนขับว่าจอดรถทำไมรถมีปัญหาหรือเปล่า คนขับรถตอบว่าไม่มีอะไรก่อนจะออกตัวขับรถยนต์โดยสารต่อไปหลังจากรถออกไป 5 – 10 นาที โดยประมาณ ผู้สูงอายุที่นั่งในรถก็เริ่มรู้สึกว่ารถแล่นเร็วผิดปกติจนไม่สามารถควบคุมรถได้ และผู้โดยสารทางด้านท้ายรถเริ่มได้กลิ่นเหม็นน้ำมัน มีผู้โดยสารที่ไม่ได้นอนหลับ (ตอนหลังเสียชีวิต) ได้ตะโกนบอกให้คนขับจอดรถ แต่คนขับไม่ยอมจอด รถเริ่มส่ายไปมา ก่อนที่จะมีเสียงตะโกนว่ารถจะคว่ำแล้ว ไม่กี่อึดใจ รถก็พุ่งใส่ราวสะพานเหล็กกั้นริมถนน ชนเข้ากับต้นไม้ใหญ่หักโค่น หลังคารถฉีกขาด รถพลิกคว่ำพุ่งดิ่งลงเหวลึกด้านล่างประมาณ 100 เมตร มีผู้เสียชีวิตที่กระเด็นออกนอกรถและถูกร่างทับกันตายเป็นจำนวนมาก  หลังเกิดเหตุจึงทราบว่ามีผู้เสียชีวิต 22 คน และบาดเจ็บ 17 คน นับเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญของชาวอำเภอสารภี ที่หลายคนเป็นพี่น้อง ญาติ สามีภรรยา พ่อแม่และลูก ส่วนคนขับอาศัยช่วงชุลมุนกระโดดออกจากรถก่อนตกเหวเอาตัวรอดไปได้แต่เรื่องยังไม่จบ เคราะห์ซ้ำกรรมซัด ญาติพี่น้องล้มตายบาดเจ็บยังไม่พอ หลังเกิดเหตุ ผู้บาดเจ็บและญาติผู้เสียชีวิต ยังถูกเจ้าของรถปฏิเสธการชดเชยเยียวยา อ้างว่ารถมีคันเดียว ตอนนี้ไม่มีเงิน แถมยังถูกบริษัทรับประกันภัย บิดเบือน ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิทธิของผู้เสียหายในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน พูดง่ายๆ หลอกให้ทำสัญญายอมรับเงินบางส่วน หรือที่เรียกว่าสัญญาประนีประนอมยอม เพื่อเป็นค่าปิดคดีกับบริษัทรับประกันภัย นั่นหมายถึงว่า คนที่ลงชื่อในสัญญายอมรับเงินไปแล้ว จะไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายอื่นใดกับคู่กรณีได้อีก…..เจอแบบนี้เข้า ชาวบ้านก็ไปต่อไม่ถูก แทนที่หน่วยงานที่กำกับดูแลจะมาช่วยชี้แจงให้ได้รับความเป็นธรรม กลับร่วมมือกับผู้รับประกันภัย มากล่อมเรา หรือจะเรียกว่า หลอกให้เราลงชื่อยอมรับเงินซะงั้น   “มาถึงเขาก็บอกให้ป้าเซ็นชื่อ  ป้าก็ไม่รู้ว่าเซ็นอะไร เขาไม่ได้ให้อ่าน บอกให้ลงชื่อตรงนี้ๆๆๆ  ป้าถามว่าเป็นเงินอะไร เขาบอกว่าเป็นเงินชดเชย ไม่ใช่เงินค่าเสียหาย  ป้าเลยเซ็นชื่อรับเงินไป  แต่ตอนหลังถึงรู้ว่าที่เซ็นชื่อไปนั้น เป็นสัญญายอมความ ผู้เสียหายทุกคนเจอแบบเดียวกัน  ป้าจะเรียกร้องอะไรไม่ได้อีกแล้ว ถ้ารู้แบบนี้แต่แรก ป้าไม่เซ็นชื่อแน่ ป้าโดนหลอก !!!  ” เสียงสะท้อนจากคุณป้าที่รอดชีวิตอุบัติเหตุครั้งนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความตระหนักถึงความปลอดภัยและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นการซื่อสัตย์ต่อหน้าที่และการบังคับใช้กฎหมายที่จริงจัง รวมถึงการไม่ประกอบธุรกิจที่เอาเปรียบผู้บริโภคของผู้ประกอบการ  แต่นั่นก็อาจจะเป็นเพียงแค่ความฝัน หรือการเฝ้ารอแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ซึ่งกว่าจะถึงวันนั้นก็ไม่รู้ว่าจะมีการสูญเสียอีกกี่รายกรณีนี้จึงถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ควรจะต้องได้รับการเผยแพร่ ตักเตือนให้กับผู้บริโภคทุกคนได้รับรู้ว่า หากวันหนึ่งเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น แล้วมีการพูดคุยเจรจาเพื่อตกลงค่าสินไหมทดแทนกับคู่กรณี  ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของรถหรือบริษัทประกันภัย แล้วต้องมีการลงชื่อเซ็นเอกสารนั้น ผู้เสียหายต้องอ่านและดูเนื้อหาเอกสารให้ละเอียดชัดเจน หากมีข้อความทำนองว่า ถ้ารับเงินแล้วตกลงจะไม่เรียกร้องค่าเสียหายอื่นใดทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อผู้ที่เกี่ยวข้องอีกต่อไป....  ข้อความลักษณะนี้ ห้ามลงชื่อยอมรับเด็ดขาด !!! เพราะหากลงชื่อไปแล้ว ผู้เสียหายจะเสียสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติมทางแพ่งได้อีก  เมื่อรู้แบบนี้กันแล้ว ก็ช่วยกันบอกต่อกันไปนะครับ อย่างน้อยหากเราไม่สามารถหยุดเหตุความเสียหายให้เกิดขึ้นได้ แต่เราก็ยังรู้วิธีรับมือกับปัญหาที่จะตามมาได้ครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 162 เจ็บป่วยด้วยอุบัติเหตุกับการใช้สิทธิประกันสังคมตามมาตรา 33

 คุณมิว...แวะซื้อนมถั่วเหลืองชนิดขวดแก้ว ราคา 10 บาท  จากร้านสะดวกซื้อหน้าปากซอย  จำนวน 1 ขวด  เพื่อใช้กินแทนมื้อเย็น ระหว่างเดินชิลๆ เข้าห้องพัก ขณะที่เปิดประตูห้อง ถุงขวดนมถั่วเหลืองได้หลุดจากมือตกใส่เท้าอย่างแรง แรงขนาดนิ้วเท้าที่เพิ่งถอดรองเท้าออก โดนเศษแก้วบาดตรงบริเวณนิ้วโป้งจนเลือดไหลไม่หยุด  คุณมิวตกใจพยายามห้ามเลือด แต่ดูท่าจะเอาไม่อยู่เพราะเลือดไหลตลอดแม้ใช้สำลีพันแผลไว้ และรีบนั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างไปคลินิกใกล้หอพักเพื่อรักษาแผลคลินิกรักษาโรคทั่วไปที่คุณมิวพาตัวเองไปใช้บริการนั้น ตรงกระจกด้านหน้าคลินิกดังกล่าวได้ระบุไว้ว่ารับบัตรประกันชีวิตกรุงไทย, AIA  และอีกหลายบริษัทฯ  และรับสิทธิประกันสังคม  คุณมิวจึงเข้าไปเพื่อให้ทำแผลที่เลือดไหลไม่หยุด  เมื่อให้นางพยาบาลดูบัตรประกันชีวิต พยาบาลประจำคลินิกแจ้งว่า ไม่สามารถใช้ที่คลินิกได้ต้องไปรักษาที่ รพ.พระราม 9 ซึ่งเป็นรพ.เอกชนที่รับบัตรประกันชีวิตทุกชนิด พอสอบถามเรื่องสิทธิประกันสังคม ก็ทราบว่าคลินิกให้บริการเฉพาะบุคคลที่ใช้สิทธิที่ รพ.ตากสินทำไมชีวิตมันยุ่งยากนัก เลือดก็ไหลไม่หยุด แผลเริ่มปวด นางพยาบาลถามย้ำว่าจะล้างแผลที่นี่หรือจะนั่งรถไปที่ รพ.พระราม 9 หรือจะไปใช้สิทธิตาม รพ.ที่รองรับสิทธิของตนเอง  คุณมิวจึงตัดสินใจให้นางพยาบาลที่คลินิกทำแผล โดยยื่นความประสงค์ขอจ่ายเงินเอง เนื่องจากคงไม่สะดวกที่จะหอบเอาเท้าที่เลือดยังไหลไม่หยุดไปรักษาถึง รพ.พระราม 9 หรือ รพ.ราชวิถี แพทย์ที่รักษาคนไข้อยู่ในห้องอีกห้องได้เดินออกมาดูอาการพร้อมแจ้งให้นางพยาบาลฉีดยาบาดทะยักให้กับผู้ป่วยด้วย  พร้อมกำชับให้ดูแลความสะอาดไม่ให้แผลโดนน้ำ เมื่อทำแผลเสร็จแพทย์ได้เดินมาฉีดยากันบาดทะยักพร้อมให้นางพยาบาลแจ้งการเก็บค่ารักษาพร้อมค่ายา ซึ่งประกอบด้วย ยาแก้อักเสบ และยาพาราเซตามอล  อย่างละ 1 ถุง  ค่ายารวมทั้งหมด 800 บาท คุณมิวได้ขอใบรับรองแพทย์ พร้อมใบเสร็จรับเงิน ก่อนจ่ายค่ารักษา และใบนัดฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก อย่างไรก็ตาม คุณมิว ซึ่งเป็นผู้ประกันตนในสิทธิประกันสังคม ตามมาตรา 33 สิทธิ เพียงแต่สิทธิขึ้นอยู่ที่ รพ.ราชวิถี เมื่อไปเข้าคลินิกที่ไม่ได้รองรับสิทธิ    จึงจำเป็นต้องจ่ายเงินล่วงหน้าก่อน  ต่อมาเมื่อได้ทำเรื่องเบิกเงินคืนจากประกันสังคม เนื่องจากกรณีที่เกิดขึ้นเป็นอุบัติเหตุ ก็สามารถใช้สิทธิฉุกเฉินได้ตามที่กฎหมายประกันสังคมได้ระบุไว้   และได้รับเงินคืนครบตามจำนวนคือ 800 บาท โดยสำนักงานประกันสังคม โอนเงินผ่านทางธนาคาร ตามที่ระบุไว้ตอนที่ทำเรื่องเบิกเงินคืน แนวทางแก้ไขปัญหาจะพบว่า ผู้ประกันตนในสิทธิประกันสังคมไม่ได้รับความสะดวกในกรณีฉุกเฉินสักเท่าไร ถ้าไม่ใช่ รพ. ที่ระบุไว้ในบัตรหรือในเครือ ต้องออกเงินเองไปก่อน ต่อเมื่อทำเรื่องในภายหลังจึงจะได้รับเงินคืน ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้ เนื่องจากเป็นกรณีการเจ็บป่วยฉุกเฉิน  ให้ผู้ประกันตนนำใบเสร็จรับเงิน, ใบรับรองแพทย์ มาประกอบในการขอเงินคืน โดยแนะนำผู้ประกันตนไปยื่นแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนฯ (สปส.2-01/ม.40)  สามารถโหลดแบบฟอร์มได้ในเว็บไซต์ http://www.sso.go.th/wpr/uploads/uploadImages/file/2sps201.pdf แนบใบรับรองแพทย์ (ตัวจริง)(ถ่ายสำเนาเก็บไว้ 1 ชุด)  ,ใบเสร็จรับเงิน (ตัวจริง) (ถ่ายสำเนาเก็บไว้ 1 ชุด)   และเอกสารสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่นๆ ที่หน่วยงานราชการออกให้  และสำเนาเวชระเบียน (ถ้ามี) แนบไปด้วย แนบสำเนาหน้าบัญชีธนาคาร กรณีที่ให้สำนักงานประกันสังคมโอนเงินคืนทางธนาคาร ระบุแจ้งเบอร์โทรศัพท์ในใบข้อมูลให้ชัดเจน เพื่อสะดวกในการติดต่อประสาน ผู้ร้องสามารถยื่นเอกสารโดยส่งทางไปรษณีย์ไปยังสำนักงานประกันสังคมเขตตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ หรือนำเอกสารไปยื่นได้ด้วยตนเองได้เลย ประมาณ 2 อาทิตย์ จะมีหนังสือตอบกลับจากสำนักงานประกันสังคมกรณีอนุมัติเงินทดแทนกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 162 เป็น “หนี้” เพราะยกเลิกประกันชีวิต

ยกเลิกประกันชีวิต  แล้วมันเกี่ยวอะไรกับการเป็นหนี้     ฟังแล้วก็งง ไปตามกัน  ลองค่อยๆ ติดตามกันว่าเรื่องมันมีที่มาที่ไปอย่างไรตอนที่ลุงสายันต์ หอบกรมธรรม์ที่ลุงเก็บไว้ในซองจดหมายของบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต ตั้งแต่ปี 2553  มากางให้เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ดู แล้วก็โวยวายว่า   ลุงเป็นหนี้เพราะถูก บริษัทฯ หลอกให้จ่ายเบี้ยประกันชีวิตต่อแล้วลุงจะได้เงินคืนทั้งหมด   ลุงอุตส่าห์ไปกู้เงินเพื่อนมาจ่ายเบี้ยประกันทุกเดือนรวมแล้ว หมื่นเจ็ดพันกว่าบาท แต่จ่ายครบแล้วบริษัทฯ กลับเบี้ยวคืนเงินให้ลุงไม่ครบ   ลุงจะไปแจ้งความข้อหาหลอกลวง  เอ้า !  ไปกันใหญ่เสียงลุงดังมาก จนต้องบอกคุณลุงใจเย็นๆ แล้วค่อยๆ คุยกัน หลังจากปล่อยให้ลุงสงบ สติอารมณ์ สักพักเราซักถามลุงจึงรู้ว่าที่ลุงพูดเสียงดังๆ เพราะหูข้างซ้ายพิการไม่ได้ยิน  และนี่เป็นสาเหตุที่ลุงต้องไปขอยกเลิกสัญญากรมธรรม์กับบริษัทฯ  ความพิการทำให้ลุงไม่สามารถทำงานหาเงินส่งเบี้ยประกันชีวิตต่ออีกได้  แต่ตอนที่ลุงไปแจ้งบริษัทฯ  มันครบสองปีแล้ว  เจ้าหน้าที่ Call center บอกให้ลุงส่งเบี้ยประกันชีวิตต่ออีก 1  ปี เพื่อที่จะได้เงินคืนตามสิทธิ  ลุงคิดคำนวณแล้วว่า หากลุงส่งเบี้ยประกันเพิ่มอีกปี ลุงจะได้เงินคืนประมาณ ห้าหมื่นบาท  ลุงจึงไปกู้เงินเพื่อนมาส่งเบี้ยประกัน    แต่เมื่อครบกำหนด ลุงไปแจ้งยกเลิกกรมธรรม์  บริษัทฯ กลับคืนเงินให้ลุง เพียง 15,400 บาท  บอกว่าลุงมีสิทธิที่จะได้เงินคืนเท่านี้ลุงไม่ยอมจำนนง่ายๆ ไปร้องเรียนที่ คปภ. (คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย)  เจ้าหน้าที่เรียกบริษัทมาฯ ไกล่เกลี่ย  ทางตัวแทนบริษัทฯ  ก็บอกว่าจะเสนอบริษัทฯ เพิ่มเงินช่วยเหลือให้ลุงอีกสามพันกว่าบาท  ลุงเห็นว่าเจ้าหน้าที่ คปภ.เข้าข้างบริษัทฯ ก็เลยไม่ตกลง  ลุงจึงไปปรึกษาทนายความที่รู้จัก  “เขาบอกว่าลุงฟ้องชนะแน่” ลุงบอกว่าอย่างนั้น ฟังลุงเล่าแล้วซับซ้อนน่าดู    แต่พอมาตรวจสอบจากเอกสาร  เจ้าหน้าที่อย่างเราเลยถึงบาง “อ้อ”  ว่าเงินที่ลุงแกเข้าใจว่าต้องได้คืนนั้น  คือ เบี้ยประกันชีวิตที่ส่งมา 3 ปี ส่วนที่บริษัทฯ บอกว่าแกจะได้เงินตามสิทธินั้น เป็น “มูลค่าเงินสด”  ที่หากผู้เอาประกันบอกเลิกสัญญากรมธรรม์ ภายหลังส่งเบี้ยประกันไปแล้ว 2 ปี  จะมีสิทธิได้รับเงินคืน ที่เราเรียกกันว่า “ค่าเวนคืนกรมธรรม์”  ซึ่งจะมีระบุอยู่ในกรมธรรม์ว่า ในแต่ละปีมีมูลค่าเงินสดเท่าไร      เมื่อทราบสาเหตุจึงได้พยายามอธิบายให้ลุงทราบ  ซึ่งกว่าลุงจะเข้าใจเสียงแหบเสียงแห้งไปตามๆ กัน แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิได้เชิญตัวแทนบริษัทฯ  และลุงเข้ามาพูดคุยเรื่องนี้  ทนายที่เป็นตัวแทนบริษัทฯ ชี้แจงว่า (1) ลุงไปบอกเลิกสัญญาก่อนครบ 2  ปีเพียงเดือนเดียว   ดังนั้นเจ้าหน้าที่ Call center เห็นว่าหากยกเลิกก่อนลุงจะเสียสิทธิไม่ได้รับค่าเวนคืนกรมธรรม์ประมาณเจ็ดพันกว่าบาท  และเหลือเวลาไม่นาน จึงแนะนำให้ลุงส่งต่อ  แต่ไม่แน่ใจว่าขณะอธิบายลุงเข้าใจอย่างไร  (2) เมื่อลุงสายันต์ส่งเบี้ยประกันต่อมาเรื่อยๆ  แต่ลุงไม่ได้แจ้งยกเลิกสักที  บริษัทฯ จึงคิดว่าคงไม่ยกเลิกแล้ว  แต่ลุงมาแจ้งยกเลิกเมื่อครบปีที่ 3  และพอลุงทราบว่าได้เงินไม่ครบตามที่ลุงคิด  ลุงจึงไปร้องที่ คปภ. ตัวแทนบริษัทฯ จึงไปชี้แจงพร้อมทั้งเสนอเงินช่วยเหลือ  แต่ลุงปฏิเสธ  เพราะความเข้าใจผิดหลังจากทุกฝ่ายได้พูดคุยและเข้าใจตรงกันแล้ว  จึงตกลงกันที่ข้อยุติที่ว่า  บริษัทฯ จะคืนเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ในปีที่ 2  และเงินค่าเบี้ยประกันในปีที่ 3  ทั้งหมด  รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 24,712 บาท  วันที่ลุงมารับเช็คจากบริษัทฯ   ลุงบอกขอบคุณมูลนิธิฯ  มากมายที่ช่วยให้ลุงได้รับเงิน  ลุงจะได้มีเงินไปใช้หนี้เพื่อนที่ยืมมาซักทีข้อคิดจากเรื่องนี้คือ ผู้บริโภคพึงทราบว่า การซื้อประกันชีวิตต่างกับการฝากเงินออมทรัพย์ ตรงที่ว่าฝากเงินเท่าไร ถอนเงินเมื่อไรก็ได้ และจะได้เงินคืนเท่าที่ฝากพร้อมดอกเบี้ย   แต่หากทำประกันชีวิต เบี้ยประกันที่จ่ายไปจะไม่ได้คืน  และหากยกเลิกสัญญาก่อน 2 ปี จะไม่มีมูลค่าเงินสดเพื่อนำมาคำนวณ เงินค่าเวนคืนกรมธรรม์เลย  ดังนั้นต้องตัดสินใจให้ดีก่อนทำสัญญาประกันชีวิต

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 153 ทำบัตร ATM แต่ถูกยัดเยียดให้ซื้อประกันพ่วงด้วย

พอดีผู้เขียนได้รับคำปรึกษาของผู้บริโภคท่านหนึ่งจากจังหวัดอยุธยา  กรณีการถูกยัดเยียดขายประกัน  ก็เลยได้พูดคุยรายละเอียดกัน  จึงได้ทราบว่าเหตุเกิดจากคุณ อ๋อ(นามสมมุติ)มีความประสงค์จะทำบัตร ATM เพื่อความสะดวกด้านการเงิน   ก็เลยตัดสินใจเดินเข้าไปที่ ธนาคารกรุงไทย สาขาอยุธยา   และแจ้งความประสงค์ต่อพนักงานธนาคารพนักงานแจ้งข้อมูลว่า หากคุณอ๋อต้องการทำบัตรATM ในวันนี้  คุณอ๋อ ต้องซื้อประกันอุบัติเหตุพ่วงไปด้วย   คุณอ๋อบอกว่า “อ๋อ งง..มาก” เพราะความตั้งใจคือต้องการแค่บัตรเพื่อความสะดวก ทำไม! ต้องถูกบังคับให้ซื้อประกันด้วย  คุณอ๋อ จึงปฏิเสธพร้อมยืนยันว่าต้องการทำแค่บัตรATM อย่างเดียว   พนักงานจึงแจ้งว่าหากจะทำบัตร ATM   อย่างเดียว วันนี้ทำไม่ได้เพราะบัตรหมด เหลือแต่บัตรที่บวกประกันด้วย  หากยืนยันจะทำแค่ ATM  คุณอ๋อต้องมาใหม่วันหลัง   ตกลงวันนั้นคุณอ๋อต้องกลับบ้านมือเปล่า   แต่คุณอ๋อก็ยังไม่ละความพยายามที่จะทำ    เดินทางไปที่ธนาคารอีกหลายครั้ง  แต่ก็ได้คำตอบเดิม  คือบัตรหมด  ยังไม่มา  มีแต่บัตรที่พ่วงประกัน   สุดท้ายคุณอ๋อก็ไม่ได้ทำบัตรATMคำถามที่ตามมาก็คือ “เกิดอะไรขึ้นที่ธนาคาร” ที่เกิดเหตุนี้ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากปัจจุบันธนาคารหันมาทำธุรกิจประกันภัย  และการทำธุรกิจนี้ทำให้เกิดตัวชี้วัดกับพนักงาน  ว่าแต่ละคนต้องขายประกันได้กี่ราย   หรือไม่?  ที่เป็นสาเหตุของปัญหาที่เขียนไว้เบื้องต้น   หากเป็นจริง  คนที่เดือดร้อนคือผู้บริโภค ที่ถูกละเมิดสิทธิตาม พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค  ในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ   การที่ผู้บริโภคถูกผู้ให้บริการใช้เทคนิคยัดเยียดบริการผู้บริโภคโดยมิได้สมัครใจเยี่ยงนี้    คำถามที่ตามมาคือ ปัญหานี้ ใครมีหน้าที่ดูแลและควบคุม  เพราะปรากฏการณ์เช่นนี้   น่าจะไม่ได้เกิดที่ธนาคารใดธนาคารหนึ่ง  แต่เกิดขึ้นเกือบทุกธนาคารในประเทศไทย  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงหนีไม่พ้นธนาคารแห่งประเทศไทย  ที่ต้องออกกฎ ระเบียบมาควบคุมการให้บริการของธนาคาร  ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยให้ผู้บริโภคมาเผชิญชะตากรรมอย่างเช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ขณะนี้คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน  ได้เดินหน้าเรื่องนี้ อย่างเต็มกำลังโดยสรุปสถานการณ์ปัญหาพร้อมเสนอแนะวิธีแก้ไข ต่อธนาคารแห่งประเทศไทยไปเมื่อวันที่ 7  ตุลาคม 2556  ผู้บริโภคอย่างเราๆ คงต้องคอยเฝ้าระวังว่าปัญหาเหล่านี้จะถูกคลี่คลายหรือเพิ่ม  คนที่ให้ข้อมูลที่ดีที่สุดคือผู้บริโภคที่ประสบปัญหานั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 148 ซื้อประกันสุขภาพ แค่ป่วยครั้งเดียว ถูกบอกเลิกสัญญาแล้ว

เป็นที่ยอมรับกันว่าประเทศไทยประสบผลสำเร็จในด้านทั้งการคุมกำเนิด  การสาธารณสุข  จนส่งผลให้อัตราการเกิดใหม่ลดลง   และผู้สูงอายุ   อายุยืนมากขึ้น  จนทำให้หลายฝ่ายออกมาแสดงความกังวลเรื่องที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเมื่อมีผู้สูงอายุมากขึ้น สิ่งที่ตามมาด้วยคือ ธุรกิจเกี่ยวกับผู้สูงอายุ เติบโตอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะธุรกิจด้านการประกันสุขภาพ  เราๆ ท่านๆ ก็คงเห็นเหมือนกันว่ามีการโฆษณาเกี่ยวกับธุรกิจประกันสุขภาพมากมาย  โดยแต่ละบริษัทออกแบบโฆษณาเพื่อเรียกลูกค้ากันแบบหมัดต่อหมัด เช่น ประกันสุขภาพไม่ต้องตรวจสุขภาพ  วงเงินที่จะได้รับสูงขึ้น  มีการกำหนดเวลา  หากไม่เป็นโรคคืนเงินปีสุดท้าย  เป็นต้นฟังแล้วก็ดีนะ! ประกันไว้เมื่อเจ็บป่วยจะได้ไม่เดือดร้อนลูกหลาน   แต่เรื่องจริงไม่เป็นเช่นนั้น   มีกรณีร้องเรียนการประกันสุขภาพเข้ามาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคในภาคตะวันตก หลายเรื่องและเรื่องร้องเรียนคล้ายๆ กันคือ   ตอนจะซื้อประกันสะดวกมาก สามารถซื้อติดต่อกันได้ในหลายปี(หากยังไม่ป่วย)เหตุจะเกิดต่อเมื่อผู้ซื้อประกันเจ็บป่วยต้องเข้ารับการรักษาตัว(ซึ่งผู้สูงอายุเมื่ออายุสูงขึ้นก็ต้องป่วยมากขึ้น)และเมื่อเจ็บป่วยบริษัทประกันก็บริการจ่ายสินไหมค่ารักษาดีตามที่สัญญากำหนด  แต่...เหตุเกิดหลังจากนั้นคือ  หลังจากบริษัทจ่ายเงินค่ารักษาแล้ว ก็ตามมาด้วยเอกสารขอเลิกสัญญาการเอาประกันของผู้ซื้อประกัน  พร้อมข้อเสนอขอคืนเงินต้นที่ซื้อประกันในปีนั้นให้ทั้งหมด  ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน   ทำให้ผู้ซื้อประกันมีความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม  เพราะจ่ายเงินซื้อประกันไปฟรีๆหลายปีเพื่อต้องการการคุ้มครองยามเจ็บป่วย กลับถูกบอกเลิกสัญญาผู้เขียนได้มีโอกาสคุยกับ “ป้าประเทือง  พูลทั่วญาติ”  ก่อนจะคุยกันรู้เรื่องก็ได้เหนื่อย...กันเลยที่เดียว  คำพูดหนึ่งที่ป้าประเทืองพูดซ้ำหลายครั้งคือ  “ตอนนี้ใครมาชวนฉันซื้อประกัน ฉันจะด่ามันให้เจ๊ง..เลย.. ไม่เอาอีกแล้วประกันเนี่ย..มันเอาเปรียบ..ทีเงินเรามันจะเอา พอมันจะเสีย เสือก...บอกเลิกสัญญา” ดังนั้นเมื่อปัญหาคือบริษัทบอกเลิกสัญญา เมื่อผู้เอาประกันเริ่มเจ็บป่วย..    มันไม่น่าจะเป็นธรรม จึงลองหาข้อมูล  โดยโทรไปที่สายด่วน คปพ.(คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย) 1186   ก็ได้ข้อมูลมาว่า   การที่บริษัท บอกเลิกสัญญา กับผู้เอาประกันนั้น  ไม่ผิด บริษัทมีสิทธิบอกเลิกสัญญากับผู้ซื้อประกันได้ ทันทีที่บริษัทเห็นว่า “จะเกิดความเสี่ยงกับบริษัท”   โดยข้อกำหนดนี้เป็นไปตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ทั่วไปเขียนถึงตรงนี้ยิ่งรู้สึกรันทดใจ กับผู้ที่มาร้องเรียน   เพราะการโฆษณาไม่ได้บอกเหตุผลในการบอกเลิกสัญญา(มันผิด พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค  คือผู้บริโภคต้องได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน) แต่ปัจจุบัน  มีแต่การโฆษณาชักจูง เพียงอย่างเดียว  เรื่องนี้ผู้เขียนได้หารือนอกรอบกับเลขา สคบ.คนปัจจุบัน  ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง      ว่าการทำสัญญาในลักษณะนี้   เข้าข่ายสัญญาเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม หรือไม่  ทำอย่างไรผู้บริโภคจะไม่ถูกหลอกลวงเช่นปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 133 เก็บ 30 บาท บริการทางการแพทย์จะดีขึ้นจริงหรือ?

ขณะที่เขียนเรื่องนี้ข่าวหนังสือพิมพ์และเว็บไซด์กำลังมีการแลกเปลี่ยนเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพกันอย่างร้อนแรง(ในขณะที่ข่าวทีวีค่อนข้างเงียบ)  เกี่ยวกับที่รัฐบาลจะกลับมาเก็บ 30  บาท  เพื่อเอาชื่อ 30  บาทรักษาทุกโรคกลับคืนมาเป็นโลโก้ของพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง   ซึ่งผู้เขียนไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะเห็นว่าถึงไม่เก็บ30 บาท ชาวบ้านร้านตลาดเขาก็จำได้ว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เกิดขึ้นจากพรรคไทยรักไทย หรือพรรคเพื่อไทยในปัจจุบันผู้เขียนเป็นกรรมการใน สปสช. คนหนึ่งมีโอกาสได้รับฟังความคิดเห็นเรื่องนี้อย่างหลากหลายมีเหตุผลมากมายที่สนับสนุนให้เก็บ30 บาท แต่ละเหตุผลฟังแล้วปวดใจจริงๆ เช่น  บอกว่าต้องเก็บ 30 บาท เพื่อให้ชาวบ้านรู้จักคุณค่าของยาจะได้กินให้หมดไม่ทิ้งขว้าง   ไม่เก็บแล้วคนไข้มาหาหมอมาก เพราะเห็นว่าฟรี  เป็นต้น  และคนที่แสดงความคิดเห็นเหล่านั้น   ล้วนใช้สิทธิอื่นไม่ได้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเลยทั้งสิ้น  พวกเขาจึงไม่มีความเข้าใจจริงๆ ว่าการไปใช้สิทธิรักษาพยาบาลแต่ละครั้งของคนชนบทห่างไกลมันลำบากแค่ไหนผู้เขียนในฐานะคนใช้สิทธิหลักประกันฯ ตัวจริง(อยู่ต่างจังหวัด)   ฟังแล้วรู้สึกสะท้อนใจ นี่หรือคนที่เข้ามารับตำแหน่งคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ละความคิดเห็นบ่งบอกว่า ดูถูกชาวบ้านอย่างชัดเจนในนัยยะสำคัญคือ ชาวบ้านเห็นของฟรีแล้วจะมาใช้บริการอย่างไม่ยั้งคิด   ผู้เขียนถามหน่อยว่าโรงพยาบาลมันน่าเข้าไปเดินเล่นนักหรือ  ที่โรงพยาบาลมีแต่โรคภัยไข้เจ็บ บรรยากาศก็ชุลมุนวุ่นวาย   แถมจะไปหาหมอแต่ละครั้งต้องไปจองคิวตั้งแต่ตี3 ตี4 กว่าจะได้พบหมอ รอรับยาก็ปาเข้าไปค่อนวันกว่าจะกลับถึงบ้านก็เย็นพอดี วันที่มาหาหมอที่ต้องเสียแน่ๆ คือค่าเดินทาง และค่าแรงวันนั้นสำหรับคนหาชาวกินค่ำ การไปหาหมอแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายแน่นอน ดังนั้นคงไม่มีใครไปเพราะอยากได้แค่ยาฟรี   การเก็บ 30 บาท ยังจะไปเพิ่มความวุ่นวายตามมาอีกมาก เช่น มหาดไทยต้องไปดูว่าใครหนอที่จนจริง จะได้ยกเว้นการจ่ายและออกบัตรยกเว้นให้  คนไปหาหมอต้องพกบัตร 2 ใบ คือ 1. บัตรทอง  2. บัตรประชาชน  ในอดีตสมัยที่ยังเก็บ 30 บาท ผู้เขียนจำได้แม่นยำว่า ตอนไปหาหมอต้องพกบัตร 2 ใบนี้มาให้ครบ หากขาดใบหนึ่งใบใดไป นั่นหมายความว่าวันนั้นใช้สิทธิไม่ได้ต้องเสียเงินค่ารักษาพยาบาลเองทั้งหมด    จนมีการพัฒนาให้ใช้บัตรประชาชนใบเดียวยืนยันการใช้สิทธิได้ทันที ซึ่งนอกจากลดค่าใช้จ่ายการทำบัตรทองแล้วชาวบ้านก็ไม่ต้องรุงรังพกบัตรหลายใบอีกด้วยแต่เรื่องเก็บ 30  บาทยังคงไม่จบง่ายๆ เพราะ ฯพณฯ ท่านนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศในที่ประชุมคณะกรรมการ สปสช. ว่าหากจะเก็บ 30 บาทบริการต้องดีขึ้นกว่าเดิม หากยังไม่ดีขึ้นก็ยังไม่เก็บ   ขณะนี้รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องความเท่าเทียมของระบบสุขภาพทั้ง 3 ระบบมากกว่าขอส่งเสียงสรรเสริญ นายกฯ มาล่วงหน้าและขอเอาใจช่วยให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในเร็ววัน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 132 เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องรถในขณะอยู่ในประกันมีสิทธิเลือกยี่ห้อมั้ย?

ตอนกำลังเผชิญหน้าน้ำท่วมใหญ่ มีคำแนะนำมากมายเรื่องรถยนต์ หนึ่งในนั้นก็คือ กรณีการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ที่นักวิชาการด้านรถยนต์เขาแนะนำว่า หากน้ำท่วมรถไม่มาก แต่แช่น้ำอยู่นานก็ควรถ่ายน้ำมันเครื่องเสียเพื่อให้มั่นใจในการใช้รถต่อไปทีแรกได้ยินเรื่องนี้ก็ไม่ได้คิดอะไร เปลี่ยนก็เปลี่ยน  แต่เมื่อมีน้องคนหนึ่งโทรมาปรึกษาว่า  น้องเพิ่งซื้อรถยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิมาใช้ได้ประมาณหนึ่งปี   โดยในข้อสัญญาระบุว่ามีการประกันการใช้รถ ระยะทางจำนวน 150,000 กม.ในระยะเวลา 5 ปี  และฟรีค่าบริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องด้วย      ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รถยี่ห้อนี้ ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องกับศูนย์บริการของมิตซูเองเท่านั้น เพราะหากไปถ่ายที่อื่นหากเกิดอะไรขึ้นอาจเป็นเหตุให้บริษัทมิตซู  อ้างได้ว่าผู้ซื้อผิดกติกาของมิตซู และอาจถูกปฏิเสธการรับประกันดังกล่าวได้  ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาผู้ซื้อก็จะตัดสินใจไปถ่ายน้ำมันเครื่องที่ศูนย์ของมิตซู  (ประหยัดค่าจ้างถ่ายน้ำมันด้วย)น้องคนที่มาปรึกษามีบ้านอยู่ที่สมุทรสงครามสะดวกสุดก็จะถ่ายที่สมุทรสงคราม  แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ศูนย์มิตซูบิชิสมุทรสงคราม น้องบอกว่าไปถ่ายครั้งแรก เสียค่าใช้จ่ายไปเกือบ 3,000 บาท(ใช้น้ำมันเครื่องเชลล์) น้องก็เลยตรวจสอบสเป็กน้ำมันว่าใช้สเป็กไหน   และมีการไปเทียบราคาเพื่อจะได้ประหยัดในการถ่ายครั้งต่อไป(น้องเขาก็ฉลาดซื้อเหมือนกัน)  น้องบอกว่าน้องได้ซื้อน้ำมันเครื่องของ ปตท.ในสเป็กเดียวกัน  ซึ่งมีค่าใช้จ่ายราวๆ 1,300  บาทมาให้ศูนย์ฯ เปลี่ยนให้  แต่ศูนย์ฯ ปฏิเสธที่จะถ่ายให้บอกว่าศูนย์ฯ ขอสงวนสิทธิ ไม่ให้ลูกค้านำน้ำมันจากภายนอกเข้ามา  และอ้างว่าน้ำมันที่น้องซื้อมาเองไม่ดี  (อ้าวปตท.ว่าไง!) น้องก็ใช้สิทธิผู้บริโภค โดยการโทรหาบริษัทมิตซูส่วนกลางเพื่อสอบถามเรื่องการสงวนสิทธิของศูนย์บริการ ก็ได้รับคำตอบว่าการสงวนสิทธิไม่ใช่นโยบายของมิตซู  แต่เป็นนโยบายของแต่ละศูนย์ฯ เอง ศูนย์ฯ บอกว่างั้นก็ไปถ่ายศูนย์ฯ อื่นล่ะกัน  น้องก็บอกว่าบ้านอยู่ที่นี่ทำไมต้องเสียน้ำมันขับไปถ่ายจังหวัดอื่น  ศูนย์ฯ ก็จะยอมให้น้องคนเดียวเป็นกรณีพิเศษ  ซึ่งน้องได้ตอบปฏิเสธไปเพราะน้องบอกว่าที่น้องเรียกร้องสิทธิไม่ใช่แค่แก้ไขให้คนร้องคนเดียว  แต่ต้องปฏิบัติกับผู้ใช้บริการทุกคนอย่างเสมอภาพไม่ใช่เลือกปฏิบัติน้องถามอีกว่า...การที่ศูนย์ฯ สงวนสิทธิไม่ยอมให้ผู้บริโภคเลือกสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการ เป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคหรือไม่ ?      เอาละซิ !   คำถามนี้เป็นคำถามที่ท้าทายมาก.... เพราะการกระทำของศูนย์ฯ ผิด พรบ. คุ้มครองผู้บริโภคตามมาตรา 4  สิทธิผู้บริโภค อนุ 2 ผู้บริโภคมีสิทธิเลือกซื้อสินค้าและบริการ   ซึ่งชัดเจนว่าหรือศูนย์บริการมิตซู สมุทรสงคราม ออกระเบียบละเมิดกฎหมาย โดยใช้สัญญามาผูกมัดให้ผู้บริโภคต้องยินยอม  เรื่องนี้ผู้เขียนแนะนำให้น้องไปร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคสมุทรสงคราม(ซึ่งไม่น่าจะทำงานยาก) เพื่อให้เป็นกรณีตัวอย่างให้ผู้ประกอบการรายอื่นที่กำลังละเมิดสิทธิผู้บริโภคเช่นนี้อีก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 129 ออมสินปฏิเสธบังคับลูกค้ากู้เงินต้องทำประกัน

 คุณวิชัยบอกว่า ถูกธนาคารออมสินบังคับให้ทำประกันชีวิตเพื่อค้ำประกันเงินกู้สินเชื่อประเภทสวัสดิการ ถ้าไม่ทำประกันก็ไม่อนุมัติ และวงเงินประกันสูงมาก รายละเอียดเป็นอย่างไร มาติดตามกันครับคุณวิชัยบอกว่า ไปกู้ยืมเงินกับธนาคารออมสิน สาขาวังสะพุง จ.เลย เป็นจำนวนเงิน 2.8 ล้านบาท โดยมีที่ดินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ กำหนดชำระเงิน 17 ปี และธนาคารออมสินสาขาวังสะพุงให้ทำประกันชีวิตกับบริษัทอาคเนย์ประกันชีวิต จำกัด ค่าเบี้ยประกันเป็นเงิน 238,089.25 บาท และกับบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด ค่าเบี้ยประกันอีก 42,015.75 บาท รวมเบี้ยประกันทั้งสองบริษัทเป็นเงิน 280,105 บาท โดยต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันครั้งเดียวในวันทำสัญญากู้เงิน โดยให้ธนาคารเป็นผู้รับผลประโยชน์คุณวิชัยมีคำถามว่าเงินเบี้ยประกันตก 10% ของยอดเงินกู้ เมื่อชำระเงินกู้จนหมดตามสัญญาก็ไม่ได้คืน“ผมถือว่าผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างยิ่ง และสงสัยว่าธนาคารมีผลประโยชน์กับบริษัทประกันภัยหรือไม่” แนวทางแก้ไขปัญหา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้มีหนังสือสอบถามไปที่ท่านกรรมการผู้จัดการธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ไปเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2554 ผลปรากฏว่าเงียบไม่มีคำตอบ เลยทำหนังสือไปติดตามความคืบหน้าอีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2554 และได้พยายามติดต่อสอบถามทางโทรศัพท์อยู่หลายครั้ง ในที่สุดในวันที่ 7 กันยายน 2554 ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ จึงได้มีคำชี้แจงกลับมาอย่างเป็นทางการ บอกว่า... ฝ่ายวิเคราะห์สินเชื่อบุคคล ได้ตรวจสอบหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการให้สินเชื่อสวัสดิการสำหรับข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ในเรื่องการให้สินเชื่อบุคคล กรณีที่ผู้กู้ต้องการประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล และหรือประกันชีวิตเพื่อประกันสินเชื่อกับบริษัทผู้รับประกันที่ธนาคารกำหนด ให้รวมค่าเบี้ยประกันในจำนวนเงินให้กู้ได้ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริง แต่จำนวนเงินให้กู้รวมทั้งหมดต้องไม่เกินตามเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด และระยะเวลาเอาประกันต้องไม่เกินระยะเวลาชำระเงินกู้ตามสัญญา สำหรับค่าเบี้ยประกันชีวิตให้เป็นไปตามอัตราเบี้ยประกันของบริษัทผู้รับประกัน “จากรายละเอียดดังกล่าวพิจารณาได้ว่า ธนาคารฯ ไม่มีนโยบายเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินสินเชื่อสวัสดิการแก่ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พร้อมกับการทำประกันชีวิต เพียงแต่หากผู้กู้มีความประสงค์ต้องการประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล และหรือประกันชีวิตเพื่อประกันสินเชื่อกับบริษัทผู้รับประกันที่ธนาคารกำหนดให้รวมค่าเบี้ยประกันในจำนวนเงินให้กู้ได้เท่านั้น” เมื่อมีคำตอบชัดเจนแบบนี้ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จึงมีความเห็นว่า คุณวิชัยน่าจะสามารถเรียกเงิน 280,105 บาท ที่ถูกหักไปเป็นเบี้ยประกันภัยคืนจากบริษัทประกันภัยได้ เหตุผลสำคัญเพราะคุณวิชัยไม่ได้มีความประสงค์ที่จะทำประกันมาตั้งแต่แรกแล้ว และยังได้มีการทักท้วงทั้งทางวาจาและลายลักษณ์อักษรมาโดยตลอด แต่ที่ต้องทำไปเพราะถูกหว่านล้อมชักชวนจากพนักงานธนาคาร และยังไม่มีการให้ข้อมูลที่ครบถ้วน จนทำให้ลูกค้าเข้าใจว่า ถ้าไม่ทำประกันภัยจะทำให้ขอสินเชื่อไม่ได้ การเข้าทำสัญญาจึงดูเหมือนการถูกบังคับจิตใจกันกลายๆเมื่อมีคำยืนยันจากธนาคารออมสินเช่นนี้อีกก็สามารถใช้เป็นหลักฐานในการเจรจาบอกเลิกสัญญากับบริษัทประกันภัยได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 126 ถูกฟ้องศาลเพราะลิเบอร์ตี้ประกันภัยไม่ยอมจ่ายเงินให้คู่กรณี

คุณภูษิต หนุ่มวัย 39 ทำประกันภัยรถยนต์ประเภท 3 กับบริษัท ลิเบอร์ตี้ ประกันภัย จำกัด ซึ่งเขาไม่ทราบเลยว่าในขณะนั้นบริษัทประกันภัยรายนี้เริ่มมีภาวะการเงินที่ง่อนแง่น เหตุการณ์เริ่มขึ้นในวันที่ 4 มกราคม 2553 คุณภูษิตขับรถยนต์โตโยต้าคู่ใจไปทำธุระที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ จนเวลาเกือบ 2 ทุ่มจึงขับรถเพื่อจะออกจากห้าง ขณะที่ขับรถมาตามถนนภายในห้างสรรพสินค้าที่มีอยู่ 2 ช่องทางการจราจรเพื่อออกถนนใหญ่ มุ่งหน้าไปแยกประตูน้ำ ด้วยความใจร้อน คุณภูษิตนั้นขับอยู่ช่องทางด้านขวาขนาบคู่มากับรถเก๋งอีกคันหนึ่ง ซึ่งมีคุณสุมาลีขับอยู่โดยวิ่งไปในทิศทางที่จะออกจากห้างเหมือนกัน เมื่อรถทั้งสองคันแล่นมาถึงบริเวณทางออกถนนหน้าห้าง แทนที่คุณภูษิตจะยอมให้รถคันซ้ายเลี้ยวออกไปก่อน กลับขับรถตัดหน้ารถของคุณสุมาลีทันที ผลของการขับรถ “ปาด” กัน ทำให้รถยนต์ของคุณสุมาลีทั้งไฟหน้า กันชนและบังโคลนมีรอยครูด ได้รับความเสียหาย คุณสุมาลีนั้นทำประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 ไว้กับบริษัท ประกันคุ้มภัย จำกัด (มหาชน) จึงเรียกพนักงานของบริษัทประกันภัยมาจัดการปัญหา ซึ่งคุณภูษิตหลังจากตั้งสติได้ก็ยอมทำบันทึกยอมรับผิดที่ตนเองไปขับรถปาดหน้าคู่กรณีให้กับบริษัท ประกันคุ้มภัยฯ โดยเข้าใจว่า เดี๋ยวบริษัทลิเบอร์ตี้ จะรับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแทนตามสัญญาประกันภัยรถยนต์ประเภทที่ 3 ที่ได้ทำไว้ ปรากฏว่าหนึ่งปีให้หลัง วันที่ 4 มกราคม 2554 คุณภูษิตถูกบริษัทประกันคุ้มภัยฯ ซึ่งรับช่วงสิทธิมาจากคุณสุมาลี ในฐานะผู้เสียหายตัวจริงฟ้องเรียกค่าซ่อมรถที่ประกันคุ้มภัยฯ จ่ายซ่อมในฐานะผู้รับประกันเป็นเงินประมาณ 11,000 บาทเศษ พอโดนฟ้องอย่างนี้คุณภูษิตต้องรีบมาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร้องถามเสียงหลงว่า “ทำไมถึงทำกับผมได้” แนวทางแก้ไขปัญหา คุณภูษิตก็เหมือนลูกค้าลิเบอร์ตี้ประกันภัยอีกหลายราย ที่ไม่เคยทราบเลยว่าบริษัทประกันแห่งนี้มีปัญหาด้านการเงินไม่ต่างจากบริษัทสัมพันธ์ประกันภัย ซึ่งถูกสั่งปิดกิจการไปแล้ว เมื่อมีปัญหาด้านการเงินก็ไม่มีการบอกกับลูกค้า เอาแต่เงินเข้ากระเป๋ารับทำประกันอย่างเดียว แต่พอถึงเวลาเคลมไม่ยอมมาเคลมและปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมหลายรายที่ไม่รู้ช่องทางการร้องเรียน มูลนิธิฯ จึงได้แนะนำให้คุณภูษิตไปแจ้งเรื่องร้องเรียนกับสำนักงานส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยโดยตรง หลังจากนั้นไม่นานบริษัท ลิเบอร์ตี้ประกันภัย เมื่อได้รับเรื่องแล้วจึงได้ประสานกับทางฝ่ายกฎหมายของบริษัท ประกันคุ้มภัย เพื่อดำเนินการชดใช้ค่าสินไหมให้ เมื่อสองบริษัทประกันคุยกัน ท้ายที่สุดยอมยุติตกลงรับค่าสินไหมกันที่ 9,670 บาท จากที่ฟ้องมา 11,000 บาทเศษ และได้ทำการถอนฟ้องคุณภูษิตในท้ายที่สุด นับเป็นความรับผิดชอบของบริษัทประกันภัยชื่อดังที่ล่าช้าไปเป็นปี แต่ก็ยังดีที่มีความรับผิดชอบหลงเหลืออยู่บ้างทำให้คุณภูษิตรอดจากคำพิพากษาไปแบบหวุดหวิด สำหรับบริษัทลิเบอร์ตี้ประกันภัยนั้น กระทรวงการคลังได้ มีคำสั่ง ที่ 709 /2554 ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2554 ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ไปเป็นที่เรียบร้อยโรงเรียน คปภ.แล้ว เนื่องจากบริษัทฯ มีฐานะการเงินดำรงเงินกองทุนไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย โดยมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน ณ วันที่ 30 กันยายน 2552 จำนวน 65.78 ล้านบาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 121 เซลล์ขายประกัน “ไทยคาร์ดิฟ” ลวงผู้บริโภคทำประกันทางโทรศัพท์

ผู้บริโภคแฉตัวแทนประกันชีวิต “ไทยคาร์ดิฟ” ใช้เล่ห์ลวงล้วงข้อมูลส่วนตัวกลายเป็นการสมัครทำประกันภัยทางโทรศัพท์ ต้องเสียเวลาเสียค่าใช้จ่ายในการบอกเลิกการทำประกัน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภครายหนึ่งซึ่งขอสงวนนามได้แจ้งว่า ตนถูกบุคคลซึ่งอ้างตัวว่าเป็นตัวแทนประกันของบริษัทประกันภัย ไทยคาร์ดิฟ ประกันชีวิต จำกัด โทรฯ มาเชิญชวนให้ทำประกันภัย ผุ้บริโภครายนี้ได้ให้ข้อมูลว่า เหตุเกิดเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2554 เวลา 14.58 นาฬิกา ได้มีพนักงานโทรฯ เข้ามาเสนอการทำประกันภัยกับตน ในส่วนของประกันชีวิตกลุ่ม สำหรับลูกค้าแผนความคุ้มครอง AEON BETTER LIFE โดยขอบันทึกเสียงการสนทนาไว้ด้วย ซึ่งผู้บริโภคได้ปฏิเสธไปอย่างชัดเจนว่าไม่สนใจที่จะทำประกันภัยที่ทางพนักงานโทรฯ มาเสนอแทนที่ตัวแทนประกันจะยุติการสนทนาโดยทันที ตัวแทนประกันรายนี้กลับใช้เล่ห์ลวง แจ้งว่าให้ผู้บริโภคบอกข้อมูลเลขบัตรประชาชน และผู้รับผลประโยชน์เพื่อออกเอกสารส่งมาให้ดูก่อนเท่านั้น หากว่าได้รับเอกสารและอ่านแล้วไม่พึงพอใจที่จะทำประกันภัยผู้บริโภคก็เพียงฉีกเอกสารทิ้ง ไม่ต้องไปชำระเงินประกันภัยและจะไม่มีผลใดๆ กับตัวผู้บริโภค ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผู้บริโภคท่านนี้จึงบอกข้อมูลไป ในเวลาต่อมาก็ได้รับเอกสารจากทางบริษัทเป็นกรมธรรม์ประกันภัยที่ตนไม่ได้ต้องการตั้งแต่แรก ทำให้ต้องเสียเวลาเพื่อโทรศัพท์ยกเลิกการทำประกันภัยกับทางบริษัท และยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการแฟ็กซ์สำเนาบัตรประชาชนไปที่บริษัทเพื่อทำการยกเลิกและเป็นการยืนยันว่าไม่ประสงค์ที่จะทำประกันภัยกับทางบริษัท!!!!! แนวทางแก้ไขปัญหา ในปัญหาที่มีการร้องเรียนมาจากผู้บริโภครายนี้ มีข้อแนะนำคือ ในการเสนอขายประกันทางโทรศัพท์นั้นผู้บริโภคสามารถปฏิเสธการเจรจาได้ตลอดเวลา ซึ่งการเสนอขายประกันทางโทรศัพท์ เมื่อผู้บริโภคไม่ประสงค์จะทำประกันภัย ไม่ต้องการรับการติดต่อ ตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิตต้องยุติการสนทนาทันทีการที่ยังมีความพยายามเจรจาที่จะเสนอขายประกันต่อไปและใช้วิธีล่อลวงเพื่อให้ได้ข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภคในลักษณะนี้ถือเป็นการกระทำผิดต่อประกาศของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเสนอขายกรมธรรมประกันภัยผ่านทางโทรศัพท์ พ.ศ.2552 หากตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิต ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศนี้อาจเป็นเหตุให้นายทะเบียนมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิต หรือใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิตได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 119 ขอประกันสำหรับชาวประมงด้วยได้ไหม

เราๆ ท่านๆ คงจำกันได้กับเหตุการณ์วิปโยค น้ำท่วมหนักที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ(ขณะที่นั่งเขียนเรื่องนี้น้ำก็ยังท่วมภาคใต้อยู่) ทำให้มีผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนและเสียชีวิตจำนวนมาก   ซึ่งผู้เขียนก็รู้สึกสลดใจและเห็นใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ต่างอะไรกับท่านผู้อ่านและคนไทยทุกคน  และเราท่านก็คงเห็นเหมือนกันว่าหลังวิกฤติที่เกิดขึ้นต่อจากนี้คือมาตรการฟื้นฟูเยียวยา  ทั้งจากรัฐและเอกชน แต่ที่เป็นหลักจริงๆ หนี้ไม่พ้นรัฐ   ซึ่งมาตรการที่เห็นน้ำเห็นเนื้อที่สุดก็เห็นจะเป็น โครงการประกันรายได้เกษตรกร นั่นเองถึงแม้จะไม่ได้เท่าที่เสียหายแต่เกษตรกร ก็ยังพอเห็นทางรอดอยู่บ้าง ปัญหาคือเกษตรกรไม่ได้มีแค่ชาวไร่ชาวนาที่ปลูกต้นไม้เลี้ยงสัตว์เท่านั้น  แต่ยังมีกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่าเกษตรกรอีกกลุ่ม   แต่ไม่เคยมีชื่อในสารระบบเกษตรกรนั่นคือชาวประมง วันนี้ในฐานะที่ผู้เขียนก็เป็นชาวประมงคนหนึ่ง จึงอยากสะท้อน สิ่งที่ไม่มีใครมองเห็นนั่นคือความเดือดร้อนของ ชาวประมงพื้นบ้านและชายฝั่งขนาดเล็กในอ่าวไทย หลังเหตุการณ์น้ำท่วม(ทุกปี)เปล่า..เขาไม่ได้ถูกน้ำท่วม แต่เขาได้รับผลกระทบจากน้ำจืดจำนวนมหาศาลที่ถูกผลักดันลงทะเล  จนทะเลชายฝั่งในอ่าวไทย กลายเป็นทะเลน้ำกร่อย    เมื่อน้ำทะเลกร่อย(จืด)  กุ้ง,หอย,ปู,ปลา ก็อยู่ไม่ได้   ที่ไหนหนีได้ก็หนี หนีไม่ทันก็ตาย   ทำให้ชายฝั่งทั้งอ่าวไทยกลายเป็นทะเลร้าง...ชาวประมงชายฝั่งโดยเฉพาะบริเวณ สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ไม่สามารถทำมาหากินได้มากกว่า 3  เดือนที่สำคัญไม่มีอาชีพอื่นรองรับจ้า   หาปลาไม่ได้ก็ไม่มีกิน ต้องกู้หนี้ยืมสินเขาไปเพื่อเอาชีวิตให้รอด  โดยไม่มีหน่วยงานไหนพูดถึง แม้กระทั่งกรมประมงที่มีหน้าที่ดูแลโดยตรง   ขณะที่รัฐประกาศว่าใครเดือดร้อนให้ไปแจ้งขอความช่วยเหลือ   ชาวประมงเหล่านี้จะเอาอะไรไปแจ้ง  ในเมื่อหลักเกณฑ์ของการช่วยเหลือ ต้องบอกว่าความเสียหายนั้นกี่ไร่ เลี้ยงอะไร  เรือเสียหายมั้ย  เรือมีทะเบียนหรือเปล่า. มีใบอนุญาตทำประมงมั้ย ยิ่งเรือเล็กๆ ไม่มีที่จะเรียกร้องเลยสักข้อ ข้อแม้เหล่านี้ทำให้ชาวประมงกว่า 10,000  ลำ ต้องทนทุกข์โดยไม่สามารถร้องขอความช่วยเหลือใดๆ ได้  ผู้เขียนอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนมุมมองที่ว่าชาวประมงไม่ต้องลงทุนอะไร  เพียงไปกอบโกยจากทะอย่างเดียวเสียที   เพราะอาชีพประมงเป็นอาชีพที่เสี่ยงมาก   ออกทะเลไปแต่ละวัน ไม่รู้ว่าจะได้ปลาหรือไม่ได้  ขาดทุนได้กำไรไม่เคยรู้  แม้แต่จะได้มีชีวิตกลับเข้าฝั่งหรือเปล่าก็ยังไม่สามารถตอบได้ หากรัฐบาลและกระทรวงเกษตร ยังเห็นว่าชาวประมงก็เป็นกลุ่มคนที่ควรได้รับการดูแลฟื้นฟูเยียวยาก็น่าจะดี เราคงไม่อยากเห็นคนกลุ่มนี้ ต้องเลิกทำอาชีพประมงกันใช่มั้ย ถ้าเขาเลิกไปจริง เราจะเอาปลาที่ไหนมากินกันล่ะท่าน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 118 โกงกันเห็นๆ

มีผู้ซื้อประกันภัยมากกว่า 3 ราย ได้ทำหนังสือร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งมีมุมที่น่าสนใจมาก เขาบอกว่าที่เขาตัดสินใจยอมเสียเงินทำประกันภัยไว้ก็เพื่อประกันความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยที่เขาไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะเกิดหรือไม่เกิด(จ่ายเพื่อความสบายใจ) โดยเฉพาะการที่ยอมเสียเงินเพิ่มทำประกันภัยรถยนต์ ประเภทประกันชั้น 1   ที่ต้องเสียเงินมากกว่า 10,000 บาทเพราะเห็นว่าสิทธิประโยชน์ตามสัญญาในกรมธรรม์ มีวงเงินจ่ายความเสียหายแต่ละครั้ง 10 ล้านบาท หากมีผู้เสียชีวิตจ่ายในวงเงิน 500,000 หรือ 250,000 บาทต่อราย(แล้วแต่ตกลงกันในสัญญา) และยังมีวงเงินสำหรับประกันตัวในกรณีที่มีคดีความอีกด้วยนับว่าการจ่ายเงินของเขาเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เมื่อเกิดเหตุขึ้นบริษัทประกันจะได้มารับภาระแทนเขาตามสัญญาที่ทำไว้ คือ 1. เมื่อเกิดเหตุก็มีคนจ่ายเงินให้ 2.เมื่อมีคดีความก็มีคนดูแลแต่เหตุการณ์ไม่เป็นอย่างนั้น คนที่มาร้องเรียนเขาบอกกับเราว่าเขาตัดสินใจทำประกันไว้กับบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด     เพราะชอบที่โฆษณาที่ว่าเมื่อเกิดเหตุ   จะไปเร็ว เคลมเร็ว  แต่เมื่อเขาพลาดประสบเหตุเฉี่ยวชนคนตาย เขาต้องใช้เวลาโทรหาตัวแทนประกันนานมาก....  ต่างจากโฆษณาลิบลับ โทรไปที่บริษัทใหญ่ บริษัทฯ ก็ให้เบอร์สาขาโทรไปสาขา สาขาก็ให้เบอร์ตัวแทน  เรียกว่าเอาเข้าจริงที่โฆษณาไว้ก็ไม่จริง เพราะกว่าตัวแทนจะมาถึงก็เป็นชั่วโมงๆ(กว่าจะมาตำรวจลากรถไปไว้โรงพักแล้ว)เมื่อเขาต่อว่า ว่าไม่เห็นมาเร็วเหมือนโฆษณาเลย ก็ได้คำตอบจากตัวแทนว่า อ๋อนั่นเฉพาะในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัดไม่เร็วหรอกเพราะคดีเยอะ มีเจ้าหน้าที่น้อย(แล้วทำไมตอนโฆษณาไม่บอกว่าเฉพาะกรุงเทพฯ อย่างนี้มันหลอกลวงกันชัดๆ) เมื่อตัวแทนมาถึงก็จดๆ ถ่ายรูป แล้วตำรวจก็นัดเจรจากันอีกครั้งโดยมีการกำหนดวันเวลาไว้ชัดเจนเมื่อถึงวันนัดคู่กรณีมาพร้อมขาดเพียงตัวแทนบริษัทประกัน ตำรวจบอกให้มาคุยกันต่อหน้าตำรวจเลยจะเอาอย่างไรก็ว่ามา เขาบอกว่าเขางงมาก เพราะไม่รู้จะเจรจาอย่างไร เขาไม่รู้อะไรเลย จริงๆ หน้าที่เจรจาต้องเป็นหน้าที่ของประกัน เขาบอกว่าเขาพยายามโทรหาตัวแทนอยู่หลายครั้ง เริ่มจากคนที่เคยคุยไว้ครั้งแรกก็ได้คำตอบว่าไม่ได้อยู่จังหวัดนี้ย้ายไปจังหวัดอื่นแล้ว และให้เบอร์ตัวแทนคนใหม่มา เขาก็โทรหาอีก คนที่รับสายบอกว่าไม่รู้เรื่อง เขาก็พยายามโทรหาบริษัท บริษัทก็บอกเดี๋ยวจะติดต่อสาขาให้แล้วให้เบอร์สาขามา โทรหาสาขา สาขาก็บอกว่าเดี๋ยวจะส่งตัวแทนไป(เหตุการณ์คุ้นไหม) ซึ่งขณะนั้นเขาอยู่ในสภาพที่ถูกกดดันมาก คู่กรณีก็นั่งจ้องหน้า ตำรวจก็เร่งให้เจรจาเพราะมีคดีอื่นรออยู่ ตัวแทนประกันที่เขาหวังพึ่งก็ยังไม่มา เขาถามตัวเองว่าเขาเสียเงินทำประกันไปทำไม? เมื่อมีปัญหาแล้วพึ่งไม่ได้เมื่อมีการเจรจาจริงคู่กรณีได้เรียกร้อง 700,000 บาท   เขาบอกว่าเขาอุ่นใจ เพราะเขาทำ พรบ.ไว้ 2 ส่วน คือ พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถ วงเงินที่จ่ายกรณีเสียชีวิต 200,000 บาท และหน้ากรมธรรม์ชั้น1 อีก 500,000 บาท รวมแล้วก็พอดีเลย   ตัวแทนก็รับไปคุยกับบริษัทโดยนัดให้ตอบในนัดต่อไปเมื่อถึงวันนัดตัวแทนประกันบอกว่าบริษัทยอมจ่ายเพียง 300,000  บาท  “จะบ้าเหรอแค่ พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถ(พรบ.ภาคบังคับที่เขาจ่ายเงินไป 600 บาท)บริษัทก็ต้องจ่ายเต็ม 200,000 บาทแล้ว” เพราะฝ่ายเราเป็นฝ่ายผิด แต่ประกันชั้น 1 ที่เขาเสียเงินเกือบ 20,000 บาท  บริษัทจ่าย 100,000 เดียวเหรอแล้วก็ได้คำตอบจากตัวแทนว่าประกันของเขากำหนดวงเงินไว้เพียง 250,000 บาท “ทางบริษัทพิจารณาอนุมัติวงเงินเพียงเท่านี้ผมไม่มีอำนาจตัดสินใจ” เขาบอกอีกว่าเขาได้คุยกับคู่กรณีเรื่องวงเงิน คู่กรณีบอกว่าหากจ่าย 450,000  บาท เขาก็ยินดีจะจบเรื่องเขาก็ได้แจ้งตัวแทนบริษัทไป จากนั้นมีการนัดเจรจากันอีกหลายครั้ง ครั้งนึงบริษัทก็เพิ่มวงเงินทีละประมาณ 5,000 บาท บ้างไม่เพิ่มบ้าง (โอ้โห....เล่นใช้เล่ห์เหลี่ยมเพื่อหวังผลประโยชน์ของบริษัท บนความเดือดร้อนของทั้งผู้ซื้อประกันและผู้เสียหายอย่างนี้ก็แย่ซิ. โกงกันชัดๆ.)จนทำให้คู่กรณีไม่พอใจ และมายืนจ้องเขาแล้วบอกกับเขาว่า  “เอาลูกชั้นคืนมาชั้นไม่ได้อยากได้เงิน” ทั้งๆ ที่เรื่องควรจบได้หากบริษัทยอมจ่ายเงินตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ น้องที่ศูนย์ฯ บอกกับผู้เขียนว่าอย่างนี้แหละพี่ไปเจรจาต่อหน้าเจ้าหน้าที่คปภ. ก็ไม่ได้เรื่อง บริษัทก็ไม่ยอมจ่ายคปภ.ก็ไม่มีน้ำยาผู้เสียหายต้องฟ้องร้องเอง ท่านผู้อ่านรู้สึกเหมือนผู้เขียนไหมว่า ผู้บริโภคอย่างเราๆ ขาดที่พึ่งจริงๆ  ทั้งๆ ที่เรามีสำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแลและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย(คปภ.)ยังทำอะไรไม่ได้ น่าเหนื่อยใจจริงๆ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 117 ประกันภัยชั้น 1 กับรถเช่า

คุณอนุสรณ์(นามสมมติ) มีความจำเป็นที่จะต้องเช่ารถเพื่อพาญาติเดินทางไปต่างจังหวัดตอนไปติดต่อขอเช่ารถ หลังจากที่สอบถามราคาค่าเช่ารถจนเป็นที่พอใจแล้ว จึงสอบถามผู้ให้เช่าต่อไปว่า รถมีประกันชั้น 1 หรือไม่ ทางผู้ให้เช่าตอบว่า รถมีประกันชั้น 1ด้วยความคุ้นเคยในประกันภัยประเภทนี้ ทำให้คุณอนุสรณ์วางใจที่จะเช่ารถคันนั้นในทันที เพระคิดว่าประกันภัยประเภทนี้จะให้ความคุ้มครองทั้งหมดเมื่อรถเช่าเกิดอุบัติเหตุอีกหนึ่งวันต่อมารถคันที่เช่าก็เกิดอุบัติเหตุขึ้นจริงๆ เนื่องจากฝนตกถนนลื่นรถเบรกไม่อยู่ทำให้ไปชนกับรถอีกคันหนึ่ง คุณอนุสรณ์จึงโทรแจ้งเรียกประกันภัยมาเคลมค่าเสียหายทั้งรถเช่าและรถคู่กรณี  ซึ่งเจ้าหน้าที่เคลมประกันแจ้งให้คุณอนุสรณ์นำรถเข้าอู่ซ่อมของบริษัทประกันภัยวันรุ่งขึ้นด้วยความพาซื่อคุณอนุสรณ์จึงไปที่อู่ซ่อมของบริษัทประกัน พร้อมถือเอกสารการประกัน และ สัญญาเช่ารถติดไปด้วย เจ้าหน้าที่ประกันคว้าสัญญาเช่ารถไปถ่ายรูปทันทีคุณอนุสรณ์เริ่มเอะใจ ถามเจ้าหน้าที่ประกันว่าจะรับผิดชอบไหม ทำไมต้องถ่ายสัญญาเช่ารถด้วย และท่าทางเจ้าหน้าที่เริ่มมีพิรุธแต่ปากก็ยังบอกว่า ไม่ต้องห่วงประกันจะรับผิดชอบทั้งหมด หลังจากนั้นไม่กี่วัน  คุณอนุสรณ์ได้รับโทรศัพท์จากผู้ให้เช่ารถแจ้งว่า ประกันภัยปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหม คุณอนุสรณ์ต้องรับผิดชอบค่าซ่อมทั้งหมด เพราะทางประกันแจ้งว่า ประกันชั้น 1 ที่ทำไว้เป็นประเภทบุคคล ไม่ใช่ประกันชั้น 1 สำหรับรถเช่า“ผมจะทำไงดีครับ เพราะในสัญญาเช่ารถ เขียนไว้ว่า ถ้ารถเกิดอุบัติเหตุ ผู้เช่าต้องรับผิดชอบ แต่ผมเห็นว่ามีประกันชั้น 1 จึงยอมเช่า แต่ไม่รู้ว่าเป็นประกันส่วนบุคคล” คุณอนุสรณ์กล่าวแนวทางแก้ไขปัญหา เรื่องนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับผู้ที่มีความจำเป็นต้องติดต่อขอเช่ารถ ที่จะไม่ถามเพียงแค่ว่ารถคันที่เช่ามีประกันภัยหรือไม่เท่านั้น แต่จะต้องถามว่าประกันภัยของรถคันที่เช่านั้นเป็นประกันภัยประเภทรถยนต์ส่วนบุคคลหรือประกันภัยรถยนต์เชิงพาณิชย์ ให้ชัดเจน เนื่องจากการใช้รถยนต์ผิดประเภทถือเป็นการกระทำที่ผิดสัญญาประกันภัย และจะเป็นเหตุให้บริษัทประกันปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมได้มีข้อมูลจากบริษัทรถเช่าแห่งหนึ่งกล่าวว่า จริงๆ แล้วส่วนใหญ่จะเป็นฝรั่งที่ถามเกี่ยวกับประกัน คนไทยส่วนมากไม่ค่อยสนใจเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่จริงๆ เป็นเรื่องสำคัญมากในกรณีของคุณอนุสรณ์จึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบในอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้ เพราะผู้ให้เช่าไม่ได้มีการการปกปิดข้อมูลแต่อย่างใด เพียงแต่ผู้ให้เช่าเข้าใจเอาเองโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดังนั้น บรรดาค่าซ่อมรถ (ทั้งรถคันที่เช่า และคู่กรณี ค่าลากรถ (หากรถไม่สามารถขับเคลื่อนได้) หรือค่าเรียกร้องอื่นๆ หากคู่กรณีเรียกร้องจะต้องรับผิดชอบทั้งหมดทางออกพอมีอยู่บ้าง คือ ขอเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อขอให้ลดยอดหนี้ลงมา และหรือขอผ่อนชำระเป็นงวดๆไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 111 เมียเก่าอยากปลดกระดูก

การทำสัญญาค้ำประกันให้กับคนอื่น ตรงกับคำโบราณที่ว่า “เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง มีแต่เอากระดูกมาแขวนคอ” แม้ว่าคนที่เราค้ำประกันให้นั้นจะเป็นสามีหรือภรรยากันก็ตามคุณวรินบอกว่าได้ไปค้ำประกันรถยนต์ให้กับสามี โดยสามีไปทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์มาจากบริษัทไฟแนนซ์แห่งหนึ่ง แต่บุญวาสนาของสามีภรรยาคู่นี้นั้นแสนสั้นนัก หลังเช่าซื้อรถคันนี้ไม่ถึงปีคุณวรินได้หย่าขาดแยกทางจากสามี เหตุเพราะฝ่ายชายไปมีภรรยาใหม่“ตอนนี้สามีดิฉันยังส่งรถคันนี้อยู่ตลอดค่ะ แต่ที่กังวลก็คือเขาจะส่งไปได้ตลอดหรือเปล่าไม่รู้ เพราะยังเหลือค่างวดอีกตั้ง 5 ปีกว่าจะครบ”คุณวรินเธอปรึกษาว่า ตอนนี้ไม่อยากจะเป็นคนค้ำประกันรถยนต์ให้อดีตสามีอีกต่อไป เพราะไม่ได้มีความผูกพันกันเหมือนแต่ก่อน จะมีวิธีไหนบ้างที่จะยกเลิกการค้ำประกันรถยนต์ของอดีตสามีได้แนวทางแก้ไขปัญหาสัญญาค้ำประกัน คือการที่ไปทำสัญญากับเจ้าหนี้ว่าถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันจะชำระหนี้นั้นแทน ดังนั้นเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องหรือฟ้องให้ผู้ค้ำประกันรับผิดแทนได้ สัญญาค้ำประกัน ถ้าผู้ค้ำประกันไม่ต้องการรับผิดอะไร หรือต้องการจำกัดขอบเขตความรับผิดไว้เพียงใด ต้องระบุในสัญญาให้ชัดเจน เมื่อจำกัดความรับผิดไว้แล้วก็รับผิดเท่าที่จำกัดไว้ แต่สัญญาค้ำประกันส่วนใหญ่เป็นสัญญาสำเร็จรูป ซึ่งจะให้ผู้ค้ำประกันรับผิดเสมือนลูกหนี้ร่วมเมื่อลูกหนี้ผิดสัญญาต่อเจ้าหนี้ ไม่ชำระเงินหรือค่าเสียหายมากน้อยเพียงใด ผู้ค้ำประกันก็ต้องรับผิดจนสิ้นเชิงเช่นเดียวกับลูกหนี้ทุกอย่าง ไม่มีสิทธิเกี่ยงการยกเลิกหรือสิ้นสุดสัญญาค้ำประกันนั้นกฎหมายไม่ได้ให้สิทธิในการให้ผู้ค้ำประกันบอกเลิกสัญญาเองได้ทันที ยกเว้นกรณีที่ผู้ค้ำประกันถึงแก่ความตาย หรือศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด หรือเป็นบุคคลล้มละลาย หรือเป็นคนไร้ความสามารถ หรือเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ หากจะถอนค้ำประกันหรือเปลี่ยนตัวผู้ค้ำประกันคงต้องคุยกับอดีตสามีในฐานะลูกหนี้โดยตรงว่าจะขอเปลี่ยนคนค้ำประกันใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นภรรยาใหม่ก็ได้ เมื่อตกลงกันได้แล้วถึงจะพากันไปเจรจาตกลงกับไฟแนนซ์หรือเจ้าหนี้ว่าจะยินยอมตกลงด้วยหรือไม่ ซึ่งบริษัทไฟแนนซ์อาจมีสองทางเลือกคือยินยอมที่จะเปลี่ยนสัญญาให้ หรือที่พบโดยมากคือให้บุคคลที่เพิ่มเข้ามาทำสัญญาค้ำประกันพ่วงต่อท้ายไปอีกคนหนึ่งเลย ทั้งนี้เพื่อที่จะได้ช่วยกันกดดัน ควบคุมลูกหนี้ให้ชำระหนี้ต่อไปตามสัญญานั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 105 ฉันทนาถูกผีสวมสิทธิเบิกเงิน

เรื่องนี้เป็นเรื่องของลูกจ้างแรงงานโชคร้ายที่ถูกผีสวมสิทธิจนเกือบไม่ได้ใช้สิทธิประกันสังคมคุณกิตติมา สาวใหญ่วัย 48 ปี ทำงานอยู่ในโรงงานผลิตชุดชั้นในแห่งหนึ่ง และขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนกับโรงพยาบาลนวมินทร์ 2 ได้ร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา เห็นทางโรงพยาบาลแห่งนี้ขึ้นป้ายว่า บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกฟรี ตามโครงการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก 76 จังหวัดทั่วประเทศพอทำเรื่องลางานได้ในวันที่ 24 สิงหาคม 2552 จึงเดินทางไปที่โรงพยาบาลแห่งนี้ ตั้งใจจะไปใช้สิทธิตรวจรักษา แต่เมื่อเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลตรวจสอบข้อมูลในคอมพิวเตอร์พบว่า ตนได้ใช้สิทธิตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกไปแล้ว 2 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2551 และวันที่ 18 มีนาคม 2552 ซึ่งข้อมูลนี้ถูกบันทึกโดยโรงพยาบาลบางกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล ทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิรักษาฟรีได้สำหรับปี 2552คุณกิตติมา รู้สึกแปลกใจ และไม่ทราบว่า ทางโรงพยาบาลอ้างสิทธิของตนได้อย่างไร เพราะในปี 2552 ตนยังไม่ได้ไปตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเลย แต่ก็พอนึกขึ้นได้ว่า เมื่อปี 2551 โรงพยาบาลบางกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล มาออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตรวจมะเร็งปากมดลูกที่โรงงาน เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2551 ตนและเพื่อนร่วมงานหลายคนได้ใช้บริการ“ตอนนั้นเสียค่าใช้จ่าย 199 บาทด้วยค่ะ” คุณกิตติมาให้ข้อมูล แนวทางแก้ไขปัญหาอันว่าโครงการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก 76 จังหวัดทั่วประเทศนั้น มีที่มาจากการที่ในปัจจุบันโรคมะเร็งปากมดลูกเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของประเทศไทย เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ เพราะทำให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรบุคคลและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล การป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งปากมดลูกต้องมีการค้นหา โดยการตรวจหาเซลล์มะเร็งให้พบตั้งแต่อยู่ในระยะเริ่มแรกและในระยะก่อนเป็นมะเร็งซึ่งสามารถรักษาให้หายได้ และเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการรักษาในระยะลุกลาม และจากการศึกษาขององค์การอนามัยโลก ได้พบว่าการคัดกรองด้วยการทำ pap smear (ซึ่งเป็นวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกวิธีหนึ่ง) ในสตรีกลุ่มเป้าหมายอายุ 35,40,45,50,55,60ปี ทำให้ช่วยลดอัตราการเกิดและอัตราการตายจากโรคมะเร็งปากมดลูกได้ ดังนั้น สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดทำโครงการนี้ขึ้น โดยกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับบริการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจากโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย คือสตรีที่ใช้สิทธิประกันสังคม และสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) จะเป็นผู้จ่ายเงินชดเชยค่าบริการให้กับโรงพยาบาลแทน สำหรับการคัดกรองด้วยวิธี pap smear สปสช.จะทำการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการให้รายละ 250 บาท นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้มีโรงพยาบาลรัฐและเอกชนหลายแห่งเข้าร่วมโครงการนี้และทำให้แรงงานที่มีประกันตนกับสำนักงานประกันสังคมอย่างเช่นคุณกิตติมาก็ได้รับสิทธิตรวจรักษาฟรีด้วยแต่เมื่อคุณกิตติมาได้ให้ข้อเท็จจริงว่า ได้เคยตรวจมะเร็งปากมดลูกที่โรงงานกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของโรงพยาบาลบางกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2551 และยังเสียค่าใช้จ่าย 199 บาทด้วย ซ้ำเมื่อมาขอตรวจอีกครั้งในเดือนสิงหาคม 2552 กลับมีบันทึกข้อมูลของโรงพยาบาลบางกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนลว่าคุณกิตติมาได้ใช้บริการไปแล้วเมื่อ 18 มีนาคม 2552 อย่างนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องตรวจสอบให้ชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้นว่ามีใครไปแอบใช้สิทธิโดยที่เจ้าตัวไม่รู้หรือไม่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการ สปสช. เขตพื้นที่ 13 กรุงเทพมหานครเพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาลงโทษหน่วยบริการที่เบิกงบประมาณค่าใช้จ่ายเป็นเท็จ พร้อมแก้ไขปัญหาและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้บริโภคไปเมื่อ 14 กันยายน 2552 และในวันที่ 8 ตุลาคม 2552 สปสช. เขตพื้นที่ 13 ได้มีหนังสือตอบกลับมาว่า สำนักงานฯ ได้ประสานและทำหนังสือถึงคุณกิตติมาให้ไปรับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ที่โรงพยาบาลนวมินทร์ 2 ได้ตามสิทธิ โดยให้โรงพยาบาลนวมิทนร์ 2 เบิกชดเชยบริการกับสำนักงานฯ ได้ ส่วนปัญหาสำคัญคือเรื่องข้อเท็จจริงข้อมูลการเบิกจ่ายนั้น ขณะนี้สำนักงานฯ อยู่ในระหว่างการตรวจสอบการบริการอยู่  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 101 อพาร์ตเม้นท์อมเงินประกัน

คุณเจนรวี เป็นนักศึกษาของสถาบันราชภัฏจันทรเกษม ปีสุดท้าย เข้าทำสัญญาขอเช่าห้องพักกับเอกอาทิตย์อพาร์ตเม้นท์เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2551และสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 1 มีนาคม 2552ก็เหมือนกับนักศึกษาที่กำลังเดินหาหอพักทั่วไปล่ะครับไม่ค่อยได้อ่านสัญญากันหรอก เห็นมีห้องว่างให้เช่า ราคาห้องไม่แพงพอสู้ไหว ทิศทางลม ทำเล ความสะดวกปลอดภัยเหมาะสม มีเงินค่าเช่าห้องล่วงหน้าพร้อมเงินประกันก็คิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไรตกลงเซ็นสัญญาไป มันก็แค่เรื่องเช่าห้องพัก ...“ก็เห็นว่าเป็นสัญญาเช่าแค่ปีเดียวค่ะ กะว่าจะเช่าแค่นั้น พอครบปีเราเรียนจบรับปริญญาพอดี พอถึงตอนนั้นก็ไปขอคืนห้อง เอาเงินประกันคืนคงไม่มีอะไรวุ่นวาย วางเงินประกันไว้ 5,000 บาทค่ะ” คุณเจนรวีให้ข้อมูล ล่วงมาถึงเดือนกันยายน 2551 อพาร์ตเม้นท์แห่งนี้ได้ติดตั้งเคเบิลทีวีบริการให้กับผู้เช่าพักอาศัย โดยจะคิดค่าบริการเพิ่มจากค่าห้องอีกเดือนละ 200 บาท และได้จัดโปรโมชั่นให้ชมฟรี 4 เดือนแรกก่อนคิดค่าบริการจริง ๆ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นไป แต่หากผู้เช่าห้องรายใดมาทำการต่อสัญญาใหม่เพื่อยืนยันการเช่าพักอาศัยต่อ ทางอาร์ตเม้นท์จะยกเว้นค่าบริการเคเบิ้ลให้ตลอดอายุสัญญาฉบับใหม่รวมระยะเวลา 1 ปีคุณเจนระวีเล่าว่าตอนที่ผู้ดูแลอพาร์ตเม้นท์มาแจ้งรายละเอียดของโปรโมชั่นนี้ ตอนนั้นกำลังวุ่นอยู่กับการขยำขยี้เสื้อผ้าอยู่หลังห้องพอดี“เขาบอกว่าให้เอาสัญญาเช่าห้องมาให้เขา แล้วจะได้ส่วนลดค่าเคเบิ้ลทีวีเดือนละ 200 บาท เราอยากได้ก็เลยส่งสัญญาให้เขาไป หายไปสักอาทิตย์หนึ่งเขาก็เอาสัญญามาคืนให้ตอนนั้นจำไม่ได้ค่ะว่าเราได้เซ็นลายมือชื่ออะไรเพิ่มเติมไปหรือเปล่า และไม่ได้เอะใจหรอกค่ะว่ามีการแก้ไขวันเริ่มสัญญาเช่าห้องกันใหม่ ตอนที่รับสัญญาคืนเขาก็มาตอนที่เรากำลังซักผ้าอยู่พอดี” พอถึงเดือนกุมภาพันธ์จึงได้ไปติดต่อขอคืนห้องล่วงหน้าก่อนหมดสัญญาและขอคืนเงินประกันจำนวน 5,000 บาท แต่ทางอพาร์ตเม้นท์แจ้งว่าจะไม่คืนเงินประกันให้เนื่องจากคุณเจนรวีแจ้งการย้ายออกผิดเงื่อนไขเนื่องจากพักอาศัยยังไม่ครบ 12 เดือน“เราก็เถียงเขาใหญ่เลยค่ะว่าเราอยู่มาตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว จะออกในเดือนมีนาคมปีนี้ทำไมถึงไม่ครบ 12 เดือน แต่พอเขาให้เราเอาสัญญาขึ้นมาดูก็ตกใจค่ะ เพราะสัญญาที่เราถือไว้มันถูกแก้ไขวันเริ่มสัญญาใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม 2552 ซึ่งก็มีลายเซ็นของเราลงไว้เรียบร้อยเลย ตอนที่เราอยากได้เคเบิ้ลฟรี”คุณเจนรวีพยายามเจรจาต่อรองต่างๆ นานาแต่ท้ายที่สุดทางอพาร์ทเมนท์ยืนกระต่ายขาเดียว ให้คุณเจนรวีจ่ายค่าห้องและค่าใช้จ่ายที่ค้างอยู่ ส่วนเงินประกันขอยึด เมื่อไม่มีทางออกสุดท้ายจึงต้องมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนวทางแก้ไขปัญหาสาระสำคัญของสัญญาที่อพาร์ทเม้นท์ทำกับคุณเจนรวีและใช้เป็นเหตุในการริบเงินมัดจำได้กำหนดไว้ว่า ระยะเวลาการเช่าต้องไม่น้อยกว่า 12 เดือน ถ้าผู้เช่าบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนด ผู้ให้เช่าสามารถริบเงินที่ชำระไว้ทั้งหมด โดยผู้เช่าไม่มีสิทธิโต้แย้งหรือเรียกร้องใด ๆ ทั้งสิ้น ในส่วนของเงินค่าประกันห้องนั้นได้กำหนดว่า เงินค่าประกันห้องที่เหลือจากการหักค่าทำความเสียหายแล้ว จะคืนให้หลังจากที่ผู้เช่าได้ย้ายออกจากหอพักเป็นเวลา 30 วัน ....ซึ่งสัญญาลักษณะนี้หอพัก หรืออพาร์ทเม้นท์หลายแห่งได้ถ่ายแบบใช้เป็นเงื่อนไขเพื่องับเงินมัดจำค่าห้องของเด็กนักศึกษาจำนวนมากแต่เรื่องนี้มีทางออกครับ เนื่องจากคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ประกาศให้ธุรกิจการให้เช่าที่อยู่อาศัยที่เรียกเงินประกันเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน ประกาศนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550ดังนั้นสัญญาที่คุณเจนรวีทำใหม่กับอพาร์ตเม้นท์เมื่อ 1 มกราคม 2552 จึงต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของประกาศฉบับนี้ด้วย โดยในส่วนของเงินประกันตามประกาศฉบับนี้ สัญญาการเช่าที่พักอาศัยทุกฉบับจะต้องมีข้อความว่า ผู้เช่ามีสิทธิได้รับคืนเงินประกันทันทีเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาเช่าที่อยู่อาศัยหรือเมื่อสัญญาเช่าที่อยู่อาศัยเลิกกัน เว้นแต่กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจประสงค์จะตรวจสอบความเสียหายที่ผู้เช่าต้องรับผิดชอบ หากผู้เช่ามิได้ทำความเสียหาย ให้ผู้เช่ามีสิทธิได้รับคืนเงินประกันภายใน 7 วัน โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจรับภาระค่าใช้จ่ายในการนำส่งคืนเงินประกันนั้น ตามที่ผู้เช่าแจ้งให้ทราบ ดังนั้นจึงถือว่าสัญญาที่เอารัดเอาเปรียบผู้เช่าของอพาร์ตเม้นท์ในกรณีนี้จึงขัดต่อประกาศดังกล่าวและถือว่าไม่มีข้อความส่วนนี้ในสัญญา ดังนั้นผู้ให้เช่าห้องพักต้องคืนเงินค่ามัดจำให้กับผู้บริโภคโดยไม่มีเงื่อนไขครับ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 98 เพื่อนรัก เพื่อนร้ายหลอกเซ็นค้ำประกันเปล่า

การลงลายมือชื่อในหนังสือค้ำประกันเปล่า ไม่มีข้อความว่าค้ำประกันอะไร เพียงแค่ลงชื่ออย่างเดียว พร้อมแนบหลักฐานแสดงตน ถือเป็นความประมาทอย่างร้ายแรง และไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง คุณบุญเยี่ยม ได้รับการติดต่อจากเพื่อนรักว่า ให้ช่วยเซ็นค้ำประกันสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ให้หน่อยเพราะอยากจะได้รถยนต์โตโยต้าที่โชว์รูมราษฎร์บูรณะไว้ใช้สักคัน โดยจะเช่าซื้อผ่านทางบริษัท ลิสซิ่งกสิกรไทย ด้วยความรักเพื่อน กลัวเพื่อนจะเสียน้ำใจจึงตกปากรับคำและลงนามเป็นผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์ให้โดยไม่มีข้อความว่าเช่าซื้อรถอะไร จากบริษัทใด ซ้ำยังแนบหลักฐานแสดงตนเพื่อการค้ำประกันไว้ให้กับเพื่อนอีก ในขณะที่ฝั่งเพื่อนแทนที่จะเป็นผู้เช่าซื้อเองกลับให้น้องสาวของตนเป็นผู้ทำสัญญาเช่าซื้อ บริษัทลิสซิ่งกสิกรไทยอนุมัติผลการเช่าซื้อให้ แต่มีเงื่อนไขต้องวางเงินดาวน์จำนวน 10,000 บาทก่อน เพื่อนรักของคุณบุญเยี่ยมอยากได้รถแต่ไม่มีเงินสักบาท คิดจะใช้วิธีผ่อนค่างวดอย่างเดียว เลยต้องชวดรถโตโยต้าคันดังกล่าวไป หลังจากไม่ได้รถคันแรกแล้ว เพื่อนของคุณบุญเยี่ยมได้ใช้เอกสารค้ำประกันที่เซ็นต์ลอยๆ ไว้ ไปเที่ยวดูรถยนต์คันใหม่ที่โชว์รูมรถยนต์อีกแห่งหนึ่งบริเวณถนนกาญจนาภิเษก คราวนี้ขอจัดไฟแนนซ์ผ่านทางโตโยต้าลิสซิ่ง โดยใช้ชื่อและเอกสารของน้องสาวและของคุณบุญเยี่ยมเป็นผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันเหมือนเดิม ในครั้งนี้แม้ไม่มีข้อตกลงในการวางเงินดาวน์เหมือนครั้งแรก แต่ไฟแนนซ์ไม่ผ่าน คุณบุญเยี่ยมก็คิดว่า เพื่อนรักน่าจะรู้สภาพฐานะการเงินของน้องสาวและของตัวเองดีแล้วว่าไม่พร้อมที่จะมีรถใช้ และไม่คิดจะไปดูรถที่ไหนอีก และพันธะการค้ำประกันของตนจะหมดสิ้นลงไปด้วย แต่สิ่งที่คุณบุญเยี่ยมไม่ได้ทำก็คือ การขอเอกสารค้ำประกันคืนหรือยกเลิกหรือทำลายเอกสารดังกล่าวไป ปัญหาจึงเกิดขึ้นตามมา ประมาณเดือนกันยายน 2550 คุณบุญเยี่ยมต้องตกใจและรู้สึกสับสนเป็นอย่างมากที่ได้รับหนังสือค้ำประกันรถยนต์ยี่ห้อ เชฟโรเล็ต โคโลราโด้ 3.0LXCAB จาก บริษัท กสิกรไทยลิสซิ่ง ที่มีข้อความระบุว่าตนเป็นผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวให้กับน้องสาวของเพื่อนรัก เนื่องจากไม่เคยรับรู้เรื่องการเช่าซื้อรถยนต์คันล่าสุดนี้เลย จึงได้สอบถามไปยังเพื่อนรักทราบว่า รถยนต์เชฟโรเล็ตคันนี้ เพื่อนเป็นคนอยากได้ จึงได้ใช้ชื่อน้องสาวเป็นผู้ซื้อและใช้ชื่อผู้ร้องเป็นคนค้ำประกันเหมือนเดิมแต่ไม่ได้บอกกล่าวกันล่วงหน้า คุณบุญเยี่ยมคิดว่าเรื่องไม่ดีแน่ เพราะตนไม่ได้รับรู้เรื่องการซื้อขายรถยนต์คันนี้แม้แต่น้อย จึงได้ประสานไปยังฝ่ายกฎหมายของบริษัท กสิกรไทยลิสซิ่ง เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง และขอให้บริษัทฯ ติดตามรถยนต์คันดังกล่าวคืน แต่ก็สายไปเสียแล้วเมื่อปรากฎว่า ผู้เช่าซื้อถูกบอกเลิกสัญญาภายหลังค้างค่างวดเกินสามงวดติดต่อกัน และไฟแนนซ์สามารถติดตามรถคืนได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2551 และถูกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ที่ขาดอยู่ แต่ขายทอดตลาดแล้วเงินที่ได้ก็ยังไม่พอชำระหนี้ ทางบริษัท ลิสซิ่งกสิกรไทย จึงใช้สิทธิฟ้องร้องผู้เช่าซื้อคือน้องสาวของเพื่อนรักเป็นจำเลยที่ 1 ฐานผิดสัญญาเช่าซื้อ และคุณบุญเยี่ยมเป็นจำเลยที่ 2 ฐานผิดสัญญาค้ำประกัน ให้ร่วมกันรับผิดชอบในหนี้ที่เหลืออยู่จำนวน 434,800 บาท แนวทางแก้ไขปัญหาการลงลายมือชื่อในหนังสือค้ำประกันแม้จะไม่มีการกรอกข้อความใดๆ แต่เมื่อมีการนำไปใช้เข้าทำสัญญาการซื้อขายหรือเช่าซื้อพร้อมกับแนบสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรข้าราชการแล้วถือว่ามีผลทางกฎหมายทันที โดยที่ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดชอบในหนี้ที่เกิดขึ้นเสมือนลูกหนี้ร่วมตามที่สัญญาสำเร็จรูปส่วนใหญ่กำหนดไว้ ทั้งนี้เคยมีคำพิพากษาของศาลฎีกาไว้อย่างชัดเจน (ฎ.357/2548) ว่า ผู้ค้ำประกันไม่สามารถที่จะอ้างว่าผู้เช่าซื้อและพวกไปกรอกข้อความให้ผิดไปจากเจตนาของผู้ค้ำประกันมาเป็นประโยชน์เพื่อจะให้ผู้ค้ำประกันพ้นจากความรับผิดได้ เพราะถือว่าการกระทำในลักษณะดังกล่าวเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อซึ่งเป็นการยอมเสี่ยงภัยในการกระทำของตนเอง(ผู้ค้ำประกัน)อย่างร้ายแรง จึงต้องร่วมรับผิดกับผู้เช่าซื้อตามสัญญาค้ำประกันดังนั้นทางเลือกที่เหลือของคุณบุญเยี่ยม คือเป็นผู้ชี้เป้าให้เจ้าหนี้คือไฟแนนซ์ไปเรียกเก็บหนี้กับผู้เช่าซื้อให้ได้ หรือไม่ก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในหนี้ที่เกิดขึ้นแทนผู้เช่าซื้อแล้วจึงค่อยไปฟ้องไล่เบี้ยเอาในภายหลัง ดังนั้นที่ดีที่สุดสำหรับผู้บริโภคที่จะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้ ขอแนะนำว่าไม่ควรเข้าทำสัญญาค้ำประกันใดๆ โดยที่ตนไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียในทรัพย์สินตามสัญญานั้น และหากจะเข้าทำสัญญาค้ำประกันต้องพิจารณาให้รอบคอบว่า ผู้เช่าซื้อหรือผู้ซื้อสินค้านั้นมีความสามารถทางการเงินพอที่จะชำระค่าสินค้าจนลุล่วงหรือไม่ และสำคัญต้องคอยติดตามการชำระเงินค่างวดอย่างใกล้ชิดไม่ต่างอะไรกับผู้ขายสินค้าเช่นกัน หากปล่อยปละละเลยผู้ค้ำประกันไม่สามารถที่จะอ้างว่าผู้เช่าซื้อและพวกไปกรอกข้อความให้ผิดไปจากเจตนาของผู้ค้ำประกันได้หรือเซ็นชื่อทิ้งขว้างไปตามสัญญาซื้อขายต่างๆ มีสิทธิที่จะได้หนี้มาแขวนคอเหมือนกรณีนี้ก็เป็นได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 98 วาระสุดท้ายของสัมพันธ์ประกันภัย

ในช่วงปี สองปีที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนกรณีบริษัท สัมพันธ์ประกันภัย จำกัด ไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยและประชาชนเข้ามาที่มูลนิธิฯ เป็นจำนวนมากหลายร้อยราย และที่ร้องเรียนไปที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) อีกร่วม 9 พันกว่าราย คุณจินตนา เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความทุกข์ของผู้เอาประกันภัยกับบริษัทนี้ได้เป็นอย่างดี คุณจินตนาเล่าว่า ตนทำประกันภัยไว้กับบริษัทสัมพันธ์ประกันภัย และได้เกิดกรณีรถหายตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2549 ซึ่งจะต้องได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ได้ทำไว้กับบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งนี้ ตอนที่รถหายคุณจินตนายังต้องมีภาระส่งค่างวดกับบริษัทไฟแนนซ์ทิสโก้อยู่ ในขณะที่สัมพันธ์ประกันภัยได้ทำการเลื่อนจ่ายค่าสินไหมทดแทนมาเรื่อยๆ คุณจินตนาส่งค่างวดรถไปได้ประมาณ 6 เดือนจึงหยุดส่ง เพราะเห็นว่าสัมพันธ์ประกันภัยถูกกรมการประกันภัยสั่งให้ระงับการขายประกันชั่วคราวเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2550 ทำให้คุณจินตนากลายเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อกับไฟแนนซ์ทันทีหลังจากที่ไม่ได้ส่งค่างวดติดกัน 3 งวดและถูกบอกกล่าวเลิกสัญญาในเวลาต่อมา คุณจินตนาได้พยายามติดต่อไปทางทิสโก้ให้ตามเรื่องของทางสัมพันธ์ให้ “เพระคิดว่าให้ทางบริษัทใหญ่ตามเรื่องน่าจะดีกว่าเราตัวเล็กๆ ตามเรื่องเอง แต่ก็ไม่ได้ผลอะไรเกิดขึ้น” คุณจินตนาได้ไปแจ้งกับทางกรมการประกันภัยไว้อีกทางหนึ่งแต่ก็ไม่เกิดผลอะไร จนระยะหลังโทรไปที่กรมการประกันภัย กรมฯ ก็เลี่ยงมาตลอดอีกเช่นกัน ให้โทรมาตอนนั้นตอนนี้ แต่ก็ไม่ได้เรื่องอะไรเลย “ในที่สุดก็มีหมายศาลจากทางทิสโก้ ส่งมาให้เรา ซึ่งเราก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ไม่รู้เรื่องกฎหมายเลยค่ะ ได้แต่รอว่าเมื่อไหร่จะได้เงินจากสัมพันธ์ ทางเราไม่คิดที่จะได้ค่าสินไหมทั้งหมดอยู่แล้วค่ะ ขอแค่บางส่วนมาส่งให้ทิสโก้ก็พอแล้ว หมายศาลนัดให้ไปที่ศาลในเดือนมีนาคมนี้แล้วค่ะ ยังไม่รู้จะทำอย่างไรเลยค่ะ”  แนวทางการแก้ไขปัญหากรณีนี้แยกได้ 2 ประเด็น 1.คดีที่คุณจินตนาถูกไฟแนนซ์ฟ้อง เนื่องจากผิดสัญญาไม่ส่งค่างวดรถให้ครบตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ เฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค ได้เคยเขียนไว้ในฉลาดซื้อ ฉบับที่ 93 สรุปสั้น ๆ ว่า ไฟแนนซ์น่าจะฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค โดยอ้างข้อสัญญาว่า ถ้ารถที่เช่าซื้อสูญหายไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ หรือสุดวิสัย ผู้เช่าซื้อยินยอมรับผิดและยอมชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาจนครบ ขอให้ศาลบังคับให้ผู้เช่าซื้อรับผิดชอบชดใช้ค่าเช่าซื้อที่เหลืออยู่ ข้อตกลงเช่นนี้ศาลฎีกาตัดสินว่าใช้บังคับได้ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย แต่ถือเป็นการกำหนดเบี้ยปรับไว้ล่วงหน้าศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ โดยดูจากมูลค่าทรัพย์สิน เงินค่าเช่าซื้อที่ได้จ่ายไป และระยะเวลาที่ได้ใช้ประโยชน์จากรถที่หายไป ดังนั้นคุณจินตนาควรไปให้การต่อศาลถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและขอให้ศาลพิจารณาลดหย่อนค่าเสียหายที่ไฟแนนซ์เรียกร้อง แต่หากสัญญาเช่าซื้อที่ทำไม่มีข้อสัญญาที่ว่ามาข้างต้น ทางกฎหมายก็ถือว่าเมื่อรถที่เป็นทรัพย์สินที่เช่าซื้อ สูญหายไป สัญญาเช่าซื้อถือเป็นอันระงับไปด้วย ผู้เช่าซื้อไม่ต้องชำระเงินค่าเช่าซื้อหรือค่าเสียหายตั้งแต่งวดรถที่หายเป็นต้นไป ถ้าเป็นอย่างนี้คุณจินตนาก็คงจะเบาใจไปเปลาะหนึ่ง2. กรณีสัมพันธ์ประกันภัยไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2552 บริษัท สัมพันธ์ประกันภัย ได้ถูกกระทรวงการคลังสั่งปิดกิจการโดยเด็ดขาดแล้ว โดยมีมาตรการคุ้มครองประชาชนในฐานะเจ้าหน้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยให้ไปยื่นเรื่องขอรับชำระหนี้ต่อผู้ชำระบัญชี ของบริษัทสัมพันธ์ประกันภัย และกองทุนประกันวินาศภัย ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2552 โดยให้นำเอกสารต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนาเอกสาร จำนวน 2 ชุด ประกอบการยื่นด้วย คือ กรมธรรม์ประกันภัย บัตรประจำตัวประชาชน ใบเคลม ใบนัดชำหระหนี้ หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงถึงมูลหนี้ สำหรับส่วนกลางยื่นได้ 3 แห่ง คือ 1.ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) หรือกรมการประกันภัยเดิม กระทรวงพาณิชย์ สนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี 2. สำนักงาน คปภ. เขต 1 ซอยวิภาวดี 44 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร 3.สำนักงาน คปภ. เขต 2 ซอยรัชดาภิเษก 6 ถนนรัชดาภิเษก ท่าพระ แขวงบุคคโล เขตธนบุรี ส่วนต่างจังหวัดนั้นให้ยื่นได้ที่ สำนักงาน คปภ. ภาค และสำนักงาน คปภ. จังหวัดทั่วประเทศ (ยกเว้นจังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดลำพูน จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดนนทบุรี) หากคุณจินตนาได้ไปฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภคและมีคำพิพากษาออกมาแล้ว คำพิพากษาถือเป็นเอกสารที่รับรองถึงมูลหนี้ที่ชัดเจนที่สุดแล้ว นำไปยื่นขอรับชำระหนี้กับ คปภ. ได้เลย ไม่ต้องพิสูจน์อีก  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 ประกันภัยสินค้าใหม่ผ่านสายโทรศัพท์

เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ผู้เขียนกำลังจะตักข้าวใส่ปาก(มื้อเช้า) เสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้น(เล่นเอาสะดุ้ง) จึงวางช้อนลงหยิบโทรศัพท์ขึ้นมารับสายเพราะคิดว่าอาจมีเรื่องสำคัญ เมื่อรับสายจึงรู้ว่าเป็นการโทรมาเพื่อขายประกัน (โอ้ย..รำคาญจริงๆ) แต่ก็ทนฟังเพราะอยากรู้ว่าเขาจะให้ข้อมูลอะไรบ้าง โอ้ย..จะบอกให้นะ หากใครตัดสินใจฟังคำบรรยายสรรพคุณความดีงามของการประกันภัย ถ้าจิตไม่แข็งพอ ต้องตกหลุมทำประกันกับเขาแน่ๆ เสียงก็เพราะแล้วยังพูดหวานหว่านล้อมสารพัด แต่ผู้เขียนฟังแล้วรู้สึกว่ามันเป็นการให้ข้อมูลฝ่ายเดียวแล้วยังเป็นการละเมิดสิทธิ สิทธิส่วนบุคคลของเราชัดๆ เพราะเราไม่เคยแสดงความจำนงว่าต้องการซื้อประกัน แล้วมาเสนอขายเราทำไม นอกจากนั้นระหว่างสนทนายังบันทึกเสียงเราอีก นึกๆ แล้วก็ควันออกหู คนจะกินข้าว ดันดั้นๆๆๆๆ โทรมาขายของน่าเกลียดจริงไอ้ธุรกิจพรรค์นี้ ก็เลยตอบกลับไปว่า “ไม่สนใจแล้วอย่าโทรมาอีกเป็นอันขาดเดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน” (โทรมาจะด่าให้) หันกลับมาที่จานข้าวใหม่เสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้นอีก (ไงเนี่ย..ตกลงจะได้กินข้าวไหม) แต่เห็นเบอร์โทรแล้วแสนจะดีใจ เพราะเป็นเบอร์ของเพื่อน และเพื่อนคนนี้เราไม่ค่อยมีเวลาเจอกันซักเท่าไร เพราะต่างคนต่างมีงาน เมื่อเพื่อนโทรหาเราก็พร้อมจะคุย เพื่อนบอกว่าพอดีได้อ่านหนังสือฉลาดซื้อเมื่อเดือนที่แล้ว ในกรณีเสาไฟฟ้าบ้านลุงชุบ พอดีมีเรื่องจะขอปรึกษาเรื่อง การขายประกันทางโทรศัพท์หน่อยได้ไหม(ทำไมจะไม่ได้ช่วยเหลือผู้อื่นร้อยพันยังช่วยได้นี่เพื่อนเรานะทำไมจะช่วยไม่ได้) จากการพูดคุยก็ได้รายละเอียดว่า เมื่อต้นเดือนมกราคม ตัวเพื่อนและภรรยา(โทรคนละครั้งเพราะใช้โทรศัพท์คนละเบอร์) ได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่บริษัทประกันกรุงเทพประกันภัย จำกัด มาชักชวนให้ลงประกัน เพื่อนและภรรยาปฏิเสธไป แล้วก็คิดว่าคงไม่มีอะไรอีกแล้ว แต่เรื่องไม่เป็นเช่นนั้น ปรากฏว่าไปรษณีย์ได้นำจดหมายมาส่งวันที่ 26 มาราคม 2552 หัวจดหมายเป็นชื่อของบริษัทที่เคยโทรมาชวนให้เขาและภรรยาลงประกัน จึงรีบเปิดซองออกดูปรากฎว่า เป็นกรมธรรม์ประกันภัยระบุชื่อผู้เอาประกัน คือลูกสาวของเขาเอง และระบุวันคุ้มครอง วันที่ 23 มกราคม 2552 ด้วยความตกใจ จึงเรียกลูกสาวมาสอบถาม จึงได้ทราบว่าบริษัทประกันนอกจากจะโทรหาเขาและภรรยาแล้ว ยังโทรหาลูกสาวเขาอีก (อุแม่เจ้า นี่มันอะไรกันนี่มันเล่นโทรขายทั้งบ้านเลยหรือเนี่ย....) จึงถามลูกสาวว่าทำอย่างไรเขาถึงส่งกรมธรรม์มาให้ถึงบ้านได้ ลูกสาวก็บอกว่าก็ “เขาบอกว่าทำแล้วดีตั้งหลายอย่างก็เลยตอบตกลงเขาไป ก็ไม่รู้ว่าตกลงปากเปล่าทางโทรศัพท์นี่ จะเป็นจริงเป็นจังขนาดนี้” เพื่อนยังบอกต่ออีกว่าเมื่อเห็นว่าลูกสาวไม่ได้ลงนามในสัญญา สัญญากรมธรรม์ก็ไม่น่าจะมีผลอะไร เพราะการทำสัญญาต้องมีการลงนามทั้งสองฝ่ายหากขาดฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสัญญานั้นก็ไม่น่าจะสมบูรณ์ เมื่อคิดอย่างนั้นก็เลยปล่อยเรื่องไว้เฉยๆโดยไม่คิดว่าจะมีปัญหาอะไรตามมา แต่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วันเจ้าหน้าที่บริษัทประกันได้โทรติดต่อกลับมาหาลูกสาวเขาอีกพร้อมบอกให้ลูกสาวโอนเงินงวดแรกจำนวน 1,000 บาท (3 งวด)ไปยังบริษัท ลูกสาวได้ตอบไปว่า พ่อไม่ยอมให้ทำจึงขอยกเลิกการทำประกัน บริษัทตอบกลับมาว่ายกเลิกไม่ได้เพราะบริษัทได้ส่งกรมธรรม์มาให้แล้ว ตามคำยืนยันของลูกค้าที่ทางบริษัทได้บันทึกเสียงไว้ที่ตกลงไว้แล้วทางโทรศัพท์ และจากนั้นก็ได้รับโทรศัพท์ข่มขู่ว่าหากไม่จ่ายเงินบริษัทจะฟ้องเพราะถือว่าลูกค้าทำผิดสัญญา จึงได้โทรมาเพื่อขอคำปรึกษาว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ ต้องทำอย่างไรจึงจะสามารถยกเลิกการทำประกันได้ เมื่อได้รับรู้เรื่องราวทั้งหมดแล้ว จึงได้ส่งเรื่องไปยังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อให้ค้นหาข้อมูลเพื่อช่วยเหลือและตอบข้อหารือ ในเบื้องต้นศูนย์ฯ ได้แนะนำผู้ร้องไปว่า ถ้าผู้ซื้อไม่พอใจ ผู้บริโภคมีสิทธิปฏิเสธได้หรือบอกเลิกสัญญาได้ ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่ได้รับแจ้ง ดังนั้นเรามีสิทธิยกเลิกการเอาประกันได้ และไม่ต้องกลัวคำขู่ของบริษัทที่ขู่จะฟ้องร้อง แน่จริงก็ให้เขาฟ้องมาเลยศูนย์ฯ จะดำเนินการให้ไม่ต้องกลัวจากนั้นศูนย์ฯได้ดำเนินการสืบค้น พบว่าการที่บริษัทประกันโทรมาขายประกันผ่านโทรศัพท์ได้ เป็นเพราะคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ) กรมการประกันภัยเดิม ได้ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านทางโทรศัพท์ พ.ศ. 2551 จึงได้ข้อสรุปว่า คปภ. คือต้นเหตุของความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น เรื่องนี้ คปภ ต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นผู้ออกประกาศมาสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ซึ่งประชาชนสามารถใช้สิทธิตาม พรบ.วิธีพิจารณาความผู้บริโภคฟ้องบริษัทและ คปภ. ต่อศาลประจำจังหวัด ฐานที่ส่งเสริมให้บริษัทสร้างความเสียหายต่อจิตใจ และสร้างความเดือดร้อนรำคาญใจ รบกวนสิทธิส่วนบุคคล

อ่านเพิ่มเติม >