ฉลาดซื้อ พบยาอันตรายที่อาจเกิดผลข้างเคียงถึงชีวิต ในกาแฟสำเร็จรูปเพิ่มสมรรถภาพเพศชาย

        นิตยสารฉลาดซื้อ พบยาอันตรายที่ต้องควบคุมพิเศษ ซิลเดนาฟิลและทาเดลาฟิล ที่อาจเกิดผลข้างเคียงถึงชีวิต ในผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปเพิ่มสมรรถภาพเพศชาย โทษปรับสูงสุด 150,000 บาท         นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ และโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เปิดเผยผลตรวจวิเคราะห์ยาควบคุมพิเศษ โดยสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป ที่อ้างสรรพคุณช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ จำนวน 23 ตัวอย่าง จากร้านค้าทั่วไปและร้านค้าออนไลน์  ได้แก่ ร้านค้าทั่วไป พื้นที่จังหวัด สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส จำนวน 16 ตัวอย่าง  ร้านค้าทั่วไปในกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 2 ตัวอย่าง ร้านค้าออนไลน์ Lazada และ Shopee จำนวน 5 ตัวอย่าง ระหว่างเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2564         น.ส.มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ กล่าวว่า “ ในกลุ่มผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปเพิ่มสมรรถภาพทางเพศชาย ที่เราสุ่มสำรวจนั้น นำมาตรวจวิเคราะห์ยาควบคุมพิเศษ 3 ชนิด ได้แก่ ซิลเดนาฟิล (Sildenafil), ทาเดลาฟิล (Tadalafil) และวาร์เดนาฟิล (Vardenafil) พบ 7 ใน 23 ตัวอย่าง มีซิลเดนาฟิลและทาเดนาฟิล แต่ไม่พบสารวาร์เดนาฟิล แบ่งเป็นตรวจพบทั้งซิลเดนาฟิลและทาเดนาฟิล จำนวน 1 ตัวอย่าง ได้แก่ NATURAL HERBS COFFEE Kopi Jantan Tradisional สั่งซื้อจากร้านค้าทั่วไป ในตลาดกิมหยง อ.หาดใหญ่ สงขลา         และตรวจพบซิลเดนาฟิล อีกจำนวน 6 ตัวอย่าง ได้แก่ 1. KOPI JANTAN TRADISIONAL ENERGY COFFEE (กาแฟสมุนไพรธรรมชาติ) สั่งซื้อจากร้านค้าทั่วไป ในตลาดกิมหยง อ.หาดใหญ่ สงขลา 2. MA KHAW ม้าขาว คอฟฟี่ กาแฟปรุงสำเร็จชนิดผงผสม สูตรดั้งเดิม กลุ่มสหมั่งคั่ง สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์ Shopee 3. GOMAX COFFEE โกแม็กซ์ คอฟฟี่ กาแฟสำเร็จรูปชนิดผง สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์ Shopee 4. AAAAAAA KOPI JANTAN TRADISIONAL (เสือสิงโต) กาแฟสมุนไพรธรรมชาติ สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์ Lazada 5. KOPI PALING SEDAP 7 ดาว (ม้า 3 ตัว) สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์ Lazada 6. AAAAA Kopi Jantan Tradisional สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์ Shopee         จากเรื่องนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ส่งผลทดสอบให้ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ดำเนินการทางกฎหมายต่อไป โดยบทลงโทษของการพบสารปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปเพิ่มสมรรถภาพเพศชายนั้น กฎหมายให้ปรับสูงสุดที่ 150,000 บาท เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทย และมีซิลเดนาฟิล (Sildenafil) ทาเดลาฟิล (Tadalafil) และวาร์เดนาฟิล (Vardenafil) ซึ่งเป็นยาแผนปัจจุบันเป็นส่วนผสม ซึ่งถือว่าเป็น “อาหารไม่บริสุทธิ์” ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(1) ประกอบมาตรา 26(1) ต้องได้รับโทษตามมาตรา 58 คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรืออาจเข้าข่ายอาหารปลอมหากมีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงให้เกิดความเข้าใจผิด ตามมาตรา 25(2) ประกอบมาตรา 27(4) ต้องระวางโทษตามมาตรา 59 คือ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาท และเข้าข่ายมาตรา 40 ประกอบมาตรา 41 กรณีโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างเกินจริง มีโทษโฆษณาโดยฝ่าฝืนมาตรา 40 มีโทษตามมาตรา 70 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 41 มีโทษตามมาตรา 71 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท สำหรับกรณีของการโฆษณาขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ที่มีลักษณะหลอกลวงให้ผู้ซื้อหลงเชื่อและเข้าใจผิดในคุณสมบัติ หรือบรรยายสรรพคุณเกินจริงนั้น ระวังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายบนสื่อออนไลน์ ซึ่งหากตรวจสอบแล้วพบเป็นความผิดจริง อาจเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับดอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 14 (1) "อันเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่นำจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท"         ด้าน ภญ.ชโลม  เกตุจินดา ที่ปรึกษาเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ กล่าวว่า “จากข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ระบุว่า ซิลเดนาฟิล (Sildenafil), ทาเดลาฟิล (Tadalafil) และวาร์เดนาฟิล (Vardenafil) เป็นยากลุ่มที่ใช้รักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องใช้ใบสั่งของแพทย์ในการซื้อยาเท่านั้น เนื่องจากมีผลข้างเคียงสูง เช่น อาการปวดศีรษะ ตาลาย ความดันโลหิตต่ำเฉียบพลัน หัวใจเต้นผิดจังหวะ ผู้ที่มีโรคประจำตัว โรคตับและไต ความดัน เบาหวาน และโรคหัวใจ อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงจนถึงชีวิตได้”         นส.มะกรือซง สาแม คณะทำงานเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า “การเก็บตัวอย่างในพื้นที่นั้นเก็บจากการร้องเรียนของผู้บริโภคในพื้นที่ ซึ่งมีข้อมูลจากผู้บริโภคว่าได้รับประทานกาแฟผสมสมุนไพรและมีอาการมึนไป 2 วัน จึงได้ตรวจสอบไป 13 อำเภอ ซึ่งไม่ได้มีแค่ตัวเดียวแต่มีผลิตภัณฑ์ลักษณะนี้ 12 ตัวอย่าง เมื่อเก็บตรวจสอบไปเจอ 2 ตัวอย่างที่พบสาร ซึ่งภาพรวมเกี่ยวกับสินค้าในพื้นที่จำหน่วยโดยลักษณะมีรถนำมาฝากขายร้านค้าซึ่งไม่ได้เป็นของทางร้านค้าจำหน่ายเอง”         น.ส.จุฑา สังขชาติ    ผู้ประสานงาน เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ กล่าวถึงการทำงานเฝ้าระวังครั้งนี้ว่า “การที่เลือกสินค้าตัวนี้มาทดสอบเพราะอะไรเริ่มจากทางภาคใต้มีวัฒนธรรมการดื่มกาแฟเป็นที่นิยมมาก เนื่องจากวิถีชีวิตที่ต้องกรีดยางและต้องดื่มกาแฟตอนเช้า และจากการที่ได้ร่วมงานกับเครือข่ายนราธิวาส มีผลิตภัณฑ์ที่กาแฟลักษณะแบบนี้เป็นที่นิยมหลากหลายยี่ห้อมีลักษณะราคาแพงกว่ากาแฟทรีอินวันทั่วไป ซึ่งมีราคาแพงและเป็นที่นิยม เช่น 4 ซอง 100 บาท ซึ่งมีผู้บริโภคได้กินกาแฟประเภทนี้และหัวใจวาย จึงได้ตรวจสอบพบว่ามีผลิตภัณฑ์ลักษณะนี้ในหลายพื้นที่จังหวัด  ส่วนการทำงานในพื้นที่ต่อ ทางเราจะมีการเฝ้าระวังในพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่การทำงานร่วมกับ สสจ.นราธิวาส และจากการได้พูดคุย เราจะทำการเตือนภัยและให้ความรู้ไปยังผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคมีความรู้ความเข้าใจ และเรามองไปถึงการทำงานระยะยาวระหว่างคณะกรรมการไทยร่วมกับทางมาเลเซียในการเฝ้าระวังสินค้าชายแดน โดยจะผลักดันให้มีตัวแทนผู้บริโภคไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการแก้ไขปัญหามากยิ่งขึ้น และร่วมผลักดันในเชิงนโนบายต่อไป” ติดตามรายละเอียดผลการทดสอบได้ที่  https://www.chaladsue.com/article/3789 ประสานงานรายละเอียดได้ที่ : ชนิษฎา วิริยะประสาท โทรศัพท์ 081 356 3591  หรือ 086 765 9151

อ่านเพิ่มเติม >


ฉลาดซื้อตรวจเวย์โปรตีน พบบางยี่ห้อมีโปรตีนไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลาก

        ฉลาดซื้อ เผยผลทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเวย์โปรตีน ไม่พบสเตียรอยด์ แต่ทดสอบพบ 2 ตัวอย่างมีปริมาณโปรตีนไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลาก แนะผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงการทานเวย์โปรตีนที่มีส่วนผสมสเตียรอยด์มากเกินไปเพราะอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ          นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ดำเนินการทดสอบนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคให้ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน เพียงพอ และได้รับความปลอดภัยจากสินค้าหรือบริการ ตาม พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค โดยได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเวย์โปรตีน จำนวน 9 ตัวอย่าง จากร้านค้าทั่วไปและร้านค้าออนไลน์ ในช่วงเดือนมกราคม 2564 เพื่อทดสอบสารอนาบอลิกสเตียรอยด์ (Anabolic-Androgenic Steroids) ซึ่งเป็นยาที่นิยมกันในหมู่นักกีฬาเพาะกาย และทดสอบหาปริมาณโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ว่าเป็นไปตามการกล่าวอ้างบนฉลากหรือไม่          ผลสำรวจพบว่า ไม่พบสารอนาบอลิกสเตียรอยด์ (Anabolic-Androgenic Steroids) แต่พบโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ไม่ตรงตามฉลาก คือ น้อยกว่าร้อยละ 30 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเวย์โปรตีนไอโซเลท กลิ่นมอคค่า ยูไทม์ ทดสอบพบโปรตีนที่ 38.8 จากการกล่าวอ้างบนฉลากที่ 83.33 และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตราไดเอโดะ รสช็อกโกแลต ทดสอบพบโปรตีนที่ 26 จากการกล่าวอ้างบนฉลากที่ 62.5         จากผลสำรวจอาหารเสริมเวย์โปรตีนไม่ตรงตามการกล่าวอ้างบนฉลาก เข้าลักษณะอาหารปลอม กล่าวคือ อาหารที่มีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่น หรือในเรื่องสถานที่และประเทศที่ผลิต ตามมาตรา 27 (4) และอาหารที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องตามคุณภาพหรือมาตรฐานที่รัฐมนตรีประกาศ กําหนดตามมาตรา 6 (2) หรือ (3) ถึงขนาดจากผลวิเคราะห์ปรากฏว่า ส่วนประกอบที่เป็นคุณค่าทางอาหาร ขาดหรือเกินร้อยละ 30 จากเกณฑ์ต่ำสุดหรือสูงสุด หรือแตกต่างจากคุณภาพหรือมาตรฐานที่ระบุไว้จนทําให้เกิดโทษหรืออันตราย ตามมาตรา 27 (5) ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาท ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 อ่านผลการทดสอบเพิ่มเติมได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3716 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 รู้เท่าทันการนำผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาเป็นเครื่องดื่ม

        ทุกวันนี้ มีการนำผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา มาทำเป็นเครื่องดื่มที่จำหน่ายในร้านค้าทั่วไป โดยยึดความเชื่อของคนทั่วไปว่า เมื่อผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพและยามีประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว การดื่มเครื่องดื่มที่ใส่สิ่งเหล่านี้ย่อมดีต่อร่างกายเช่นเดียวกัน ทำให้ขายได้มากและขายง่ายกว่าการขายยาและผลิตภัณฑ์ มารู้เท่าทันกันเถอะ โค้กก็มีต้นกำเนิดจากยาแก้ท้องอืดท้อเฟ้อ         ประวัติของโค้ก หรือโคคา โคลา ถือกำเนิดโดยยนายจอร์น เอส เพมเบอร์ตัน นักผสมยาชาวอเมริกัน ทำออกมาเป็นไวน์โคคาออกขายในปีค.ศ. 1884 ใช้ชื่อยี่ห้อว่า “Pemberton’s French Wine Coca” แต่ในปีต่อมา มีการออกกฎหมายห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงเปลี่ยนไวน์โคคาเป็นแบบที่ไม่มีแอลกอฮอลล์ โดยคิดค้นดัดแปลงใช้สารจากใบโคคา มาผสมกับสารสกัดจากเมล็ดของผลโคลาพบว่ารสชาติดี และขายเป็นไซรับ ในฐานะยาบำรุงรักษาอาการจากโรคติดมอร์ฟีน โรคท้องอืดท้องเฟ้อ แก้อ่อนเพลีย และปวดหัว และมีขายในบาร์จ่ายโซดา แต่ผสมน้ำเปล่าไม่ได้ผสมโซดาแบบปัจจุบัน         เมื่อมีการผสมไซรัปของโคคา-โคลา เข้ากับโซดาแทนน้ำเปล่า คนที่ดื่มรู้สึกชื่นชอบ ติดใจ เกิดความนิยมมากขึ้นจนกลายเป็นเครื่องดื่มบรรจุสำเร็จในขวดและได้รับความนิยมไปทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน             นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการเปลี่ยนจากยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อมาเป็นเครื่องดื่ม และกลายเป็นเครื่องดื่มที่มียอดขายมากที่สุดในโลก การเปลี่ยนวิธีการขายยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพมาเป็นเครื่องดื่มในชีวิตประจำวัน         จริงๆ แล้ว การโฆษณาขายยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพก็มีให้เห็นทุกๆ วัน ทั้งในสื่อทีวี วิทยุ และสื่อออนไลน์ เช่น เราจะเห็นการโฆษณาขายถั่งเช่า เห็ด โสม รังนกนางแอ่น คอลลาเจน วิตามินต่างๆ และอื่นๆ อีกมากมาย ถ้าเป็นเรื่องสุขภาพ ก็มักจะเน้นกลุ่มผู้สูงอายุ ถ้าเป็นเรื่องความสวยความงาม ก็เน้นวัยรุ่น หนุ่มสาวจนถึงวัยผู้สูงอายุ         ดังนั้น ถ้าสามารถนำผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ ป้องกันความเสื่อม และอาจมีส่วนในการชะลอความเสื่อม มาบรรจุในเครื่องดื่มที่สามารถหาดื่มได้ในร้านค้าทั่วไป เพียงแค่เปิดขวดก็ดื่มได้ทันที พร้อมกับมีความเชื่อเป็นทุนเดิมอยู่แล้วว่า สิ่งต่างๆ ที่อยู่ในขวดดีต่อสุขภาพ น่าจะดีกว่าการดื่มน้ำเปล่า         ดังนั้น การดื่มเครื่องดื่มที่ผสมวิตามินต่างๆ ก็ได้ประโยชน์ต่อร่างกายและได้น้ำด้วย การดื่มเครื่องดื่มที่ใส่คอลลาเจนก็ทำให้ร่างกายได้รับคอลลาเจนจะได้ดูอ่อนเยาว์ ป้องกันความเสื่อมของข้อต่อ การดื่มนมที่ใส่แคลเซียมหรือวิตามินดีก็น่าจะดีกว่าการดื่มน้ำเปล่าหรือนมธรรมดา เป็นต้น ร่างกายอาจได้รับสารต่างๆ เกินความต้องการ         เมื่อเชื่อว่าเครื่องดื่มที่ใส่ผลิตภัณฑ์สุขภาพจะดีกว่าน้ำเปล่าจะทำให้การบริโภคเครื่องดื่มเหล่านี้มากขึ้นหรือแทนการดื่มน้ำเปล่า ซึ่งร่างกายควรดื่มน้ำเปล่าประมาณวันละ 1,500-2,000 มิลลิลิตร การดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้อาจเป็นภาระต่อไตในการปรับสมดุลแร่ธาตุในเลือด บางคนอาจได้รับน้ำตาลมากเกินไป         โดยสรุปแล้ว ร่างกายได้รับสารอาหาร วิตามิน และสารต่างๆ จากอาหารที่กินในแต่ละวันเพียงพอแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดื่มเครื่องดื่มที่ใส่ผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ เพราะอาจมีผลเสียต่อร่างกาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 ผลทดสอบ อนาบอลิกสเตียรอยด์ ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเวย์โปรตีน

        ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในกลุ่มตลาดฟิตเนสนั้นกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตามกระแสรักสุขภาพ เมื่อมองที่สถานบริการฟิตเนสก็จะพบว่ามีการเปิดสถานบริการกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้นกระจายไปในทุกจังหวัดทั่วประเทศ อีกทั้งผู้ใช้บริการมีหลากหลายกลุ่มอายุตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงผู้สูงวัย ทำให้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั้งวิตามิน เกลือแร่ รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมสร้างร่างกาย(เพิ่มมวลกล้ามเนื้อ) อย่าง “เวย์โปรตีน” ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นด้วย จากเดิมผลิตภัณฑ์เวย์โปรตีนที่เคยมีแต่สินค้านำเข้าและจำหน่ายเป็นถังหรือบรรจุภัณฑ์ใหญ่ๆ  ได้มีผู้ผลิตในประเทศหลายรายให้ความสนใจเข้ามาร่วมแข่งขันในผลิตภัณฑ์นี้มากขึ้น บรรจุภัณฑ์มีขนาดเล็กลง ช่องทางจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น และการเติบโตทางการตลาดที่สูงขึ้นทุกปี         จากผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมากขึ้นและช่องทางจำหน่ายที่เปิดกว้างมากขึ้น ทั้งในร้านค้า ร้านค้าออนไลน์ หรือแม้แต่ในสถานบริการฟิตเนส อาจทำให้ผลิตภัณฑ์เวย์โปรตีนบางส่วนไม่มีมาตรฐานหรือมีการปลอมปนผลิตภัณฑ์ยาเพื่อหวังผลในการเร่งสรรพคุณผลิตภัณฑ์ ซึ่งจากงานวิจัยของกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภูและเครือข่าย คบส.เขต 8 ได้ศึกษาไว้เมื่อปี 2563 นั้น พบว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเวย์โปรตีนจำนวน 20 ตัวอย่าง ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ร้อยละ 25 (จำนวน 5 ตัวอย่าง) มีการปลอมปนอนาบอลิกสเตียรอยด์ ทั้งในผลิตภัณฑ์ที่มีเลขสารบบอาหาร (เลข อย.) และไม่มีเลขสารบบอาหาร         ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สินค้าเสริมอาหารเวย์โปรตีน ทั้งในเรื่องมาตรฐาน การอวดอ้างคำโฆษณาหรืออาจมีการปลอมปนยาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผลิตภัณฑ์ นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงได้เก็บตัวอย่างเวย์โปรตีน จำนวน 9 ยี่ห้อ จากร้านค้าทั่วไปและทางออนไลน์ ในเดือนมกราคม 2564 เพื่อทดสอบหาสารอนาบอลิกสเตียรอยด์ (Anabolic-Androgenic Steroids) ซึ่งเป็นยาที่นิยมกันในหมู่นักกีฬาเพาะกาย และทดสอบหาปริมาณโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ว่าเป็นไปตามการกล่าวอ้างบนฉลากหรือไม่         สรุปผลทดสอบ        · การปลอมปน อนาบอลิกสเตียรอยด์  ผลทดสอบไม่พบทั้ง 9 ตัวอย่าง        · ทดสอบหาปริมาณโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ผลทดสอบพบว่า มี 2 ตัวอย่าง ที่มีโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ไม่ตรงตามที่แจ้งไว้บนฉลาก คือ น้อยกว่าร้อยละ 30 ได้แก่ (1) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เวย์โปรตีนไอโซเลท กลิ่นมอคค่า ยูไทม์ ทดสอบพบโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ที่ 38.8 จากการกล่าวอ้างบนฉลากที่ 83.33 และ (2) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตราไดเอโดะ รสช็อกโกแลต ทดสอบพบโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ที่ 26 จากการกล่าวอ้างบนฉลากที่ 62.5         พ.ร.บ.อาหาร 2510 มาตรา 27 (4) อาหารที่มีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่น หรือในเรื่องสถานที่และประเทศที่ผลิต  หากไม่เป็นไปตามนี้ ให้ถือว่า เป็นอาหารปลอม         มาตรา 27 (5) อาหารที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องตามคุณภาพหรือมาตรฐานที่รัฐมนตรีประกาศ กําหนดตามมาตรา 6(2) หรือ (3) ถึงขนาดจากผลวิเคราะห์ปรากฏว่า ส่วนประกอบที่เป็นคุณค่าทางอาหาร ขาดหรือเกินร้อยละสามสิบจากเกณฑ์ต่ําสุดหรือสูงสุด หรือแตกต่างจากคุณภาพหรือมาตรฐานที่ระบุไว้จน ทําให้เกิดโทษหรืออันตรายตารางผลทดสอบอนาบอลิกสเตียรอยด์และโปรตีนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเวย์โปรตีนเก็บตัวอย่างช่วงเดือน มกราคม 2564 ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 ระวังเข้ากลุ่มออนไลน์ จะได้คนแอบแฝง

        ยุคนี้ใครไม่มีสังคมในโลกออนไลน์ดูจะล้าสมัยไปแล้ว  หลายคนจึงมีทั้งเฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตราแกรม ทวิตเตอร์ กันมากมาย เมื่อใช้กันจนคล่อง ก็เริ่มมองหากลุ่มที่ชื่นชอบอะไรเหมือนๆ กัน รวมตัวกันเป็นกลุ่ม เป็นเพจ เป็นสังคมต่างๆ หลากหลาย เช่น กลุ่มศิลปะ กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มทำอาหาร แต่ที่น่าสนใจคือ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพต่างๆ เท่าที่เห็น มีทั้งกลุ่มผู้ป่วย กลุ่มออกกำลังกาย กลุ่มลดน้ำหนัก เป็นต้น         ผมลองเข้าไปสังเกตการณ์ในกลุ่มเหล่านี้ โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ พบว่าหลายคนที่เป็นสมาชิก มีทั้งที่ใช้ชื่อตัวตนชัดเจน และใช้ชื่อเป็นคำต่างๆ แทนชื่อจริง บรรยากาศการพูดคุยก็มักจะเป็นการช่วยเหลือแนะนำสิ่งต่างๆ ซึ่งกันและกัน ยิ่งสมาชิกเข้ามาพูดคุยกันบ่อยๆ สุดท้ายก็เกิดความสนิทสนมกัน ทั้งที่บางคนแทบไม่รู้จักกันในโลกแห่งความจริง แต่กลับสนิทสนมกันในโลกออนไลน์         หากลองติดตามอ่านเนื้อหาที่พูดคุยไปเรื่อยๆ แม้หัวข้อและเนื้อหาที่พูดคุยจะเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ แต่หากสังเกตดีๆ เราจะพบว่ามีสิ่งต่างๆ แอบแฝงมาแบบเนียนๆ เช่น ในกลุ่มผู้ป่วยก็มักจะมีสมาชิกบางคนมาบอกเล่าประสบการณ์ในการดูแลตัวเอง โดยใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ แล้วลงท้ายว่าได้ผล หายป่วยเป็นปลิดทิ้ง หรือทุเลาลงอย่างน่าอัศจรรย์ กลุ่มออกกำลังกาย ก็มักจะมีสมาชิกบางท่านเข้ามาแนะนำผลิตภัณฑ์สร้างกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะพวกเวย์โปรตีนมากมายหรือในกลุ่มลดน้ำหนัก ก็มักจะมีการนำภาพของตนเองช่วงก่อนปฏิบัติตัวและหลังปฏิบัติตัว ซึ่งมักจะเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างชัดเจน สุดท้ายก็ลงเอยด้วยการแนะนำผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าทำให้ตนเองมีหุ่นที่ดีขึ้น         เพื่อความปลอดภัย ไม่ให้พวกเราหลงใหลไปกับ สมาชิกที่แอบแฝงมาแนะนำผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีคำแนะนำดังนี้         1. อย่าเพิ่งเชื่อตัวตนที่เห็นในโลกออนไลน์ เพราะทุกวันนี้ตัวตนที่เห็นในโลกออนไลน์นั้น มีทั้งตัวจริง และตัวปลอมที่ใครก็สามารถอุปโลกน์ขึ้นมาก็ได้         2. อย่าเพิ่งเชื่อสิ่งที่สมาชิกเหล่านั้นพูด ไม่ว่าจะเป็นภาพรูปร่างที่แข็งแรงสมบูรณ์ เพราะสมัยนี้คอมพิวเตอร์สามารถประดิษฐ์ตกแต่งภาพให้ดูดีเสมอ ส่วนคำบอกเล่า ก็อย่าเพิ่งเชื่อว่าเป็นจริง เพราะในโลกออนไลน์ใครจะพิมพ์อย่างไรก็พิสูจน์ได้ยากว่าเป็นจริงหรือเท็จ         3. อย่าเพิ่งเชื่อว่าผลิตภัณฑ์นั้นได้ผล เพราะบรรดาผู้คนที่มาสนับสนุนผลิตภัณฑ์เหล่านั้น บางทีก็เป็นหน้าม้า ทำเป็นขบวนการ แบบที่เราจะเห็นอาชีพใหม่คือรับจ้างรีวิวสินค้าต่างๆ และภาพถ่ายสินค้าในกล่องกระดาษกองมหึมา ที่อ้างว่ากำลังส่งให้ลูกค้าก็อย่าเพิ่งเชื่อ กล่องจริงกล่องปลอมกล่องเปล่า โลกออนไลน์ทำได้หมด          4. อย่าเพิ่งเชื่อข้อความที่อ้างว่าผ่านการรับรองจาก อย.แล้ว แม้เราจะตรวจสอบจากทะเบียนข้อมูลแล้วก็ตาม เพราะปัจจุบันผู้ผลิตสามารถขออนุญาตออนไลน์ให้กับผลิตภัณฑ์ตนเองได้อย่างรวดเร็ว จนการตรวจสอบไล่ตามแทบไม่ทัน ทำให้ผู้ผลิตบางรายฉกฉวยโอกาสนี้ มาขอ อย.ออนไลน์ให้กับผลิตภัณฑ์ตนเอง โดยอาจจะแจ้งรายละเอียดไม่ตรงกับความเป็นจริง         5. ขอให้ท่องให้ขึ้นใจว่า ไม่มีผลิตภัณฑ์เทวดาใดๆในโลกนี้ ที่ใช้ได้ผลทันที ดีจนตะลึง หากมันดีจริง มันควรถูกนำไปใช้ในสถานพยาบาล ไม่ใช่มาโฆษณากันเยอะแยะ แต่ในสถานพยาบาลต่างๆ กลับไม่มีใครนำไปใช้เลย         6. สรุปสุดท้ายว่า ถ้าไม่แน่ใจ อย่าเสี่ยงมาใช้ ติดต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ เจ้าหน้าที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ให้ช่วยตรวจสอบและแนะนำจะปลอดภัยกว่า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 ตีแผ่อาหารเสริม "ถังเช่า" บำรุงร่างกายจริงหรือตัวเร่งตับ-ไตพัง

        “ถังเช่า” รุกคืบโฆษณาอ้างสรรพคุณ คนกิน “ตับ ไต” พัง “หมอลี่” ตีแผ่ที่มาถังเช่าดั้งเดิมได้จากซากหนอน ผิดกับอาหารเสริม ใช้การเพาะเห็ดสกัดถังเช่า คาดสรรพคุณต่างกัน  กสทช.-อย. ตรวจสอบพบโฆษณาอวดครึ่งหมื่นรายการ มพบ. จี้ออกเอกสารคำเตือนหวังเป็นข้อมูลตัดสินใจ “หมอยา” แนะหลักการกิน อยู่ ไม่ต้องฟอกไต             กรณีผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงนั้น มีปัญหามาอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย โดยเฉพาะในระยะหลังที่มีเทคโนโลยีการสื่อสารหลากหลายช่องทาง ทำให้การตรวจสอบติดตามเป็นไปได้อย่างยากลำบาก และตามหลังปัญหาอยู่มาก โดยที่เห็นชัดในขณะนี้คือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีสวนผสมของถังเช่า สารสกัดถังเช่า ที่มีอยู่เกลื่อนตามอินเทอร์เน็ต หรือแม้กระทั่งการโฆษณาผ่านสถานีโทรทัศน์ ทั้งในรูปแบบของการโฆษณาโดยตรงและการโฆษณาแฝง ทำให้ประชาชนซื้อหามารับประทานจำนวนมาก และก็พบว่ามีจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหาสุขภาพตามมา           เรื่องนี้ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) บอกว่า อันดับแรกตนขอให้ข้อมูล “ในฐานะแพทย์” ซึ่งจากข้อมูลดั้งเดิมของจีน “ถังเช่า” เป็นสิ่งมีชีวิต คือ ตัวหนอนที่เกิดขึ้นในภูเขา ที่ประเทศจีน ซึ่งเมื่อถึงฤดูหนาวจะมีเชื้อรา หรือว่าเห็ดไปเจริญงอกงามในตัวหนอนกลายเป็น “ซาก” คนจีนจึงบริโภคซากตัวหนอนและจากเชื้อราไปในคราวเดียวกัน ถือเป็นยาจีนอย่างหนึ่ง สรรพคุณในตำราแพทย์แผนจีนคือรักษาไอเรื้อรัง  บำรุงไต มีฤทธิ์ร้อน ใช้กับคนที่ร่างกายมีความเย็น ไม่ได้เหมาะกับคนทุกคน และระบุชัดเจนว่ามีผลกระทบกับการเกาะตัวของเลือด  ห้ามกินในคนที่ต้องผ่าตัด และยังมีผลในการลดระดับน้ำตาลในเลือด จึงห้ามกินในคนที่เป็นโรคเบาหวาน เป็นต้น         แต่ถังเช่าที่ขายในประเทศไทยไม่ได้มาจากตัวหนอน แต่มาจากการเอาเห็ดประเภทที่เป็นเชื้อราแบบเดียวกับที่อยู่ในตัวหนอน ซึ่งอาจจะเป็นคนละสายพันธุ์ แต่อยู่ในตระกูลเดียวกันมาเพาะและสกัดออกมา ซึ่งเมื่อเป็นการสกัด ก็จะไม่เหมือนกับถังเช่าดั้งเดิม          ดังนั้นการจะอวดอ้างว่าบำรุงไตได้หรือไม่เป็นประเด็นที่ต้องพิสูจน์ต่อไป แต่แน่นอนว่าเวลามีการนำอาหารเสริมเหล่านี้มาจำหน่ายและบริโภค ก็จะมีการติดตามผลข้างเคียงว่าจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง เช่นปี 2561 ที่รพ. เชียงราย มีอายุรแพทย์ด้านไตเตือนว่าการทานสมุนไพรรวมถึงถังเช่า อาจทำให้เกิดไตวายเพิ่มขึ้น และมีเภสัชกรทำการทดสอบพบว่าคนที่กินถังเช่าทำให้ค่าไตผิดปกติ แต่เมื่อหยุดกินค่าไตก็ดีขึ้น         “จึงยังไม่มีข้อมูลสรุปว่าเป็นพิษต่อไต หรือบำรุงไต แต่ก็เพียงพอที่จะเตือนผู้บริโภคว่าอาหารเสริมไม่กินก็ไม่เสียหายเพราะไม่ใช่อาหารหลัก แล้วกรณีถังเช่านั้น ไม่ได้ขาดสารอาหารอะไรทั้งสิ้น แต่เราไปทานเข้าไป ดังนั้นมีโอกาสเป็นไปได้ที่จะเกิดพิษหรือผลข้างเคียงได้ และหลักการกินในจีนไม่ได้กินตลอดชีวิต แต่กินเป็นช่วงเวลา เช่น กิน 1 เดือนแล้วหยุดกิน ไม่เคยมีคำแนะนำให้กินอาหารเสริมไปเรื่อยๆ จน 50-60 ปี แบบนี้ไม่ใช่ หลักการแพทย์แผนจีน ก็เหมือนของไทยก็คือบริโภคให้ครบหมู่ บริโภคให้ครบถ้วน ไม่ได้เหมาะกับคนทุกคน แต่ที่ไทยเวลาเอามาสกัดขายพูดอย่างกับว่าถังเช่าเป็นอาหารเสริมครอบจักรวาล”         นพ.ประวิทย์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ถ้าให้พูดในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลเรื่องการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเหล่านี้ก็ต้องบอกว่า ในภาพรวมประเทศไทยมี อย. ดูแลเรื่องอยู่ ส่วน กสทช.มีอำนาจในการดูแลเนื้อหาการโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ และวิทยุ เท่านั้น ซึ่งในแต่ละเรื่อง หาก อย.มีการยืนยันว่าเป็นโฆษณาเกินจริง ทางกสทช.ก็สั่งระงับโฆษณา หากฝ่าฝืนก็มีโทษปรับ แต่ถ้า อย. ไม่ยืนยัน กสทช. ไปสั่งก็จะมีปัญหาข้อกฎหมายทันที         ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการพบกลยุทธ์ในการโฆษณาของบริษัทเหล่านี้ โดยใช้โทรทัศน์ วิทยุ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นให้คนติดตามเท่านั้น เนื้อหาจึงไม่ค่อยมีอะไรที่ส่อไปในทางผิดกฎหมาย แต่จะเปิดทางให้คนไปติดตามช่องทางอื่น มีการโฆษณาโอ้อวด เกินจริง แต่กสทช.ดูแลไม่ถึง เช่น แพลตฟอร์มออนไลน์         ดังนั้นคำเตือนคือ 1 ถ้ามีใครกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารถังเช่าเป็นประจำและมีอาการผิดปกติ ให้แจ้งแพทย์ด้วยว่ามีอาการผิดปกติอะไร กินอะไรไปบ้าง เพราะในอดีตก็เคยมีการทำสารสกัดใบขี้เหล็ก หลังพบว่าใบขี้เหล็กมีสรรพคุณเป็นยายาระบาย แต่พอทำเป็นสารสกัดแล้วกินเข้าไปทำให้เกิดตับอักเสบ จึงนำมาสู่การถอนทะเบียน  ก็เช่นเดียวกับถังเช่าที่เดิมคือสมุนไพรที่ได้จากซากหนอน ไม่ใช่สารสกัดจากถังเช่า ดังนั้นสมุนไพรดั้งเดิมมีฤทธิ์อย่างหนึ่ง พอเป็นสารสกัดก็ให้ฤทธิ์อีกแบบหนึ่ง หากมีผลกระทบอะไรก็ให้แจ้งกับแพทย์ ซึ่งแพทย์จะแจ้งเตือนมาที่อย. ให้ตรวจสอบต่อไป ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าสารสกัดถั่งเช่าบำรุงสุขภาพจริงๆ แต่มีข้อจำกัด ว่ากระทบกับการทำงานของไตซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาต่อไป         “ในระหว่างนี้สิ่งที่ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้คือ หากยี่ห้อไหนโฆษณาว่าบำรุงไต ให้สงสัยไว้เลยว่าเป็นการโอ้อวด เพราะอาหารเสริมจริงๆ เป็นอาหารเสริมสุขภาพทั่วไป จะมาบอกว่าบำรุงเฉพาะส่วนไม่ได้ จะรักษาเฉพาะส่วนไม่ได้  ที่จริงควรจะมีคำเตือนด้วยว่าอาหารเสริมนี้ใครกินได้ ใครกินไม่ได้ ยิ่งคนที่สุขภาพไม่แข็งแรงยิ่งต้องระวัง ก่อนกินให้ถามตัวเองก่อนว่ากินเพื่ออะไร และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกินไปตลอดชีวิต”          ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่ามีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับถังเช่าขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกว่า 427 รายการ บางรายการเพิกถอนทะเบียนไปแล้วโดยที่ขึ้นทะเบียนนั้นมีทั้งถังเช่าสกัดอย่างเดียว ถังเช่าสกัดผสมอย่างอื่น เช่นผสมวิตามินซี ผสมโสม ผสมกาแฟ ผสมสมุนไพรอีกหลายประเภท หรือผสมผลไม้ เรียกว่ามีสารพัดที่มีถังเช่าไปผสมอยู่ ซึ่งคำถามต่อมาคือการที่ผสมสิ่งเหล่านี้จำนวนมาก แล้วมีการเสริมฤทธิ์ หรือว่าต้านฤทธิ์กันหรือไม่ หรือผลเป็นอย่างไร         อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิฯ ได้รับการสอบถามจากประชาชนจำนวนมากว่า “ถังเช่า” ที่มีการโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ จำนวนมากอยู่ในขณะนี้ สามารถเชื่อถือได้หรือไม่ มีสรรพคุณตามที่โฆษณาจริงหรือไม่ จริงๆ ก่อนหน้านี้ราวๆ ปี 2562 มีรายงานของ รศ.ดร.ภญ.มยุรี  มีกรณีผู้บริโภค 3 ราย ร้องเรียนว่ารับประทานถังเช่าและเกิดปัญหาว่ามีผลกระทบต่อการทำงานของไต โดยมี 1 คนเกิดปัญหาไตวายเรื้อรัง และปี 63 เจออีก 8 ราย ทั้งหมดรวมเป็น 11 ราย         ดังนั้น เมื่อมีรายงานว่ามีผลกระทบต่อการทำงานของไต ทางมูลนิธิฯ จึงอยากให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบเรื่องของการออกฤทธิ์ด้วย รวมถึงควรมีการเขียนคำเตือนบนฉลากผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคตัดสินใจ เพราะถ้าดูข้อมูลจะพบว่าที่ประเทศจีน จะรับประทานกันหน้าหนาว ในคนที่ต้องการฤทธิ์ร้อน และไม่ได้รับประทานทุกวัน แต่ที่โฆษณาในประเทศไทยกลับบอกว่าต้องทานทุกวันเพื่อบำรุงร่างกาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และขอให้ กสทช. พิจารณาเรื่องการลงโทษสื่อที่มีการโฆษณาเกินจริง หรือการโฆษณาแฝงเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคด้วย มีระยะเวลาในการโฆษณาผิดกฎหมายอยู่ โดยกสทช. อาจจะชวนดิจิทัลทีวีหรือสื่อต่างๆ มาทำข้อตกลงได้ไปในแนวทางการป้องปราม         น.ส.สารี ยังบอกอีกว่า ทั้งนี้หากผู้บริโภคซื้อผลิตภัณฑ์มาแล้ว พบว่าตัวเราเองไม่สามารถใช้ได้ เพราะมีโรคประจำตัวอยู่ สิ่งแรกคือถ้าสามารถคืนได้ก็ให้นำไปขอเงินคืน แต่หากคืนไม่ได้ก็ไม่แนะนำให้รับประทาน อย่างไรก็ตาม มีหลายคนอยากให้มูลนิธิฯ ช่วยฟ้องร้องคดีกรณีที่รับประทานแล้วเกิดปัญหาต่อตับและไต ซึ่งจริงๆ มีกฎหมายหลายตัวที่จะช่วยผู้บริโภค เช่น ว่าด้วยเรื่องสินค้าที่ไม่ปลอดภัยคือความรับผิดของบริษัท เมื่อมีสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ดังนั้นในส่วนนี้หากทางบริษัทไม่ได้เขียนคำเตือนไว้ในฉลากผลิตภัณฑ์ก็สามารถฟ้องร้องได้ แต่หากเขียนเอาไว้ชัดเจนว่าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมนั้นอาจจะส่งผลต่อการทำงานของไต ก็ถือว่าเตือนเราแล้วโอกาสที่ผู้บริโภคจะไปฟ้องคดีก็ลำบาก         “หลักที่ผู้บริโภคจะต้องคิดไว้คือเมื่อเป็นอาหารห้ามโฆษณาเป็นยา ถ้าโฆษณาว่ารักษาโรค บำรุง สิ่งต่างๆ จะผิดพ.ร.บ.อาหาร ทันที นี่คือหลักการเบื้องต้นที่ผู้บริโภคจะเอาไปใช้ได้เลย  ดังนั้น ผู้บริโภคอย่าเชื่ออะไรง่ายๆ สุขภาพของเราไม่ใช่เรื่องพวกนี้แน่นอน การมีสุขภาพดีมีอีกหลายเรื่องที่ควรทำไม่ว่าจะเป็นการกินอาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อนนอนหลับที่เพียงพอ และคุณภาพชีวิตโดยภาพรวมของเรา ไม่ใช่เรื่องของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไม่อย่างนั้นเราคงต้องอยู่กับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ออกมาจำนวนมาก”           ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ม.ค.  พลโท ดร. พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (.กสทช) เปิดเผย ว่า จากการที่ กสทช. ร่วมมือกับ อย. กระทรวงสาธารณสุข ในการจัดการปัญหาการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ ตั้งแต่กลางปี 2561 มีการพัฒนากระบวนการทำงานร่วมกัน ได้แก่ การบูรณาการบังคับใช้กฎหมาย โดย กสทช. ทำการตรวจสอบเฝ้าระวังการโฆษณาทางโทรทัศน์ และ อย. เป็นผู้วินิจฉัยข้อความการโฆษณานั้น ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และมีการขยายผลการดำเนินการไปยังส่วนภูมิภาค โดยได้รับความร่วมมือจาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ในการตรวจวินิจฉัยเนื้อความการโฆษณาทางสื่อวิทยุกระจายเสียง         ผลพบว่าสามารถตรวจจับการโฆษณาทางโทรทัศน์ดิจิตอลได้ 17 ราย 77 กรณีโฆษณา โทรทัศน์ดาวเทียม 90 ราย 190 กรณีโฆษณา และวิทยุ 2,150 ราย 4,058 กรณี        แบบที่พบว่ามีการโฆษณานั้น บางรายที่เคยโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโดยมีอาจารย์ภาษาจีนชื่อดังเป็นพรีเซนเตอร์ มีการใช้ตัวแสดงลักษณะคล้ายผู้ป่วยโรคเรื้อรัง นอนติดเตียง หรือไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้สะดวก แต่เมื่อรับประทานถั่งเช่าของอาจารย์ มีอาการดีขึ้น เดินได้ ลุกไปเข้าห้องน้ำเองได้ ใช้ยาแผนปัจจุบันน้อยลง หรือการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  เห็ดหลินจือโดยพรีเซนเตอร์นักแสดง-พิธีกรสาวสองพันปี          บ้างก็กล่าวอ้างว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในสมอง กล้ามเนื้ออ่อนแรง เมื่อรับประทานผลิตภัณฑ์แล้วจะมีอาการดีขึ้น ถึงขั้นปีนต้นไม้ และขี่จักรยานได้ เป็นการจัดฉากการโฆษณาลวงโลก ซึ่งเคยถูกจับดำเนินคดีแล้วแต่ก็กลับมาอีกครั้ง แต่ทำโดยผู้โฆษณารายใหม่ ซึ่งมีบุคคลในแวดวงบันเทิงเป็นพรีเซนเตอร์ จัดฉากลวงโลกแบบเดิม อ้างว่าผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าดังกล่าว สามารถรักษาได้สารพัดโรค เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต และโรคเรื้อรังต่างๆ มีนักแสดง แสดงเป็นผู้ป่วยอาการหนัก สภาพร่างกายทรุดโทรม แต่เมื่อรับประทานผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว กลับหายจากอาการป่วยได้อย่างมหัศจรรย์ ซึ่งไม่เป็นความจริง                 กสทช ไม่ได้นิ่งนอนใจ เมื่อการโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภคครั้งใหญ่กลับมา เราจะจับมือกับ อย. ให้แน่นกว่าเดิมและร่วมกันกวาดล้างการโฆษณาอีกครั้ง เพื่อกำจัดโฆษณาลวงโลกเหล่านี้ให้สิ้นซาก ผู้ประกอบกิจการเหล่านี้ขาดจิตสำนึก ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ประสงค์ต่อรายได้ และประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม แม้จะได้รับคำสั่งเตือนให้ระงับการโฆษณาไปแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง กสทช. จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ลงโทษโดยการปรับสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเป็นเงิน 5 แสนบาท ไปแล้ว 1 ราย         และมีอีก 2 ราย ที่ อย. วิจิฉัยมาแล้วว่าเป็นการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย และคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เตรียมเสนอต่อบอร์ด กสทช. เพื่อลงโทษปรับอีกรายละ 5 แสนบาท และนอกจากจะดำเนินการปรับสถานีโทรทัศน์แล้ว กสทช. จะส่งเรื่องไป อย. เพื่อดำเนินคดีกับพิธีกร พรีเซนเตอร์ และพิจารณาเกี่ยวกับการเพิกถอนทะเบียนตำรับอาหารด้วย เนื่องจากกฎหมายของ กสทช. ให้อำนาจ ในการกำกับดูแลผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์เท่านั้น มิได้ครอบคลุมถึงพิธีกร และเจ้าของผลิตภัณฑ์         “ค่าปรับของ กสทช. นั้นแพง กฎหมายกำหนดไว้สูงถึง ไม่เกิน 5 ล้านบาท  และปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 1 แสนบาท ไม่เพียงแค่สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเท่านั้นที่โดนลงโทษปรับ แต่ยังมีสถานีวิทยุอีก 2 ราย ที่โดนลงโทษปรับ รายละ 1 แสนบาท เนื่องจากมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริงซ้ำ ภายหลังได้รับคำสั่งเตือนด้วย อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า อัตราค่าปรับของ กสทช. นั้นสูง ยิ่งเป็นวิทยุรายเล็กๆ โดนปรับ ก็อาจส่งผลให้ยกเลิกการประกอบกิจการได้ มีข้อมูลว่า มีผู้ประกอบการวิทยุ ขอยกเลิกใบอนุญาตไปแล้วกว่า 260 ราย และนอกจากจะโดนปรับแล้ว ประวัติการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายเหล่านี้ จะถูกบันทึกไว้ เมื่อมาขอต่อใบอนุญาต จะถูกลดอายุใบอนุญาตลง อย่างในกรณีของวิทยุ จะเหลืออายุใบอนุญาตเพียง 6 เดือน ซึ่งขณะนี้มีสถานีถูกลดอายุใบอนุญาตไปแล้ว 150 ราย”         อย่างไรก็ตาม นอกจากการโฆษณาถั่งเช่าแล้ว ยังมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเกี่ยวกับดวงตา อ้างรักษาสารพัดโรคตา ทั้งโรคต้อทุกชนิด กระจกตาเสื่อม สายตาสั้น-ยาว ตาแห้ง  เคืองตา แสบตา บ้างอ้างว่าเพียงแค่รับประทานอาหารเสริมเหล่านี้แล้ว สายตากลับมาเป็นปกติ ไม่ต้องผ่าตัด มองเห็นได้ชัดเจน ในกรณีนี้ กสทช. ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ในการวินิจฉัยและให้ความเห็นเกี่ยวกับเนื้อความการโฆษณา จนนำไปสู่การลงโทษปรับสถานีวิทยุที่มีการโฆษณาในลักษณะนี้ ไปแล้ว 6 ราย รายละ 5 หมื่นบาท และอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเสนอปรับอีก 3 ราย         ด้าน ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการ อย.ระบุว่า ผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าที่ อย. อนุญาตมี 2 กลุ่ม คือ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร (ยาแผนโบราณ) และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีถั่งเช่าเป็นส่วนประกอบ เพื่อบำรุงร่างกายทั่วไป เสริมจากการรับประทานอาหารตามปกติ ดังนั้น การโฆษณาว่า ผลิตภัณฑ์จากถั่งเช่าสามารถรักษาสารพัดโรค ทั้งเสริมภูมิคุ้มกัน ลดระดับน้ำตาลในเลือด รักษาภูมิแพ้ เบาหวาน ไต ความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์ อัมพาต มะเร็ง เป็นต้น จึงเป็นการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต และโฆษณาโอ้อวดเกินจริง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         ในปี 2563 ที่ผ่านมา อย. ดำเนินคดีโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และผลิตภัณฑ์สุขภาพประเภทอื่น ทางสื่อต่าง ๆ 1,388 คดี ทั้งนี้ ในส่วนความร่วมมือในการจัดการปัญหาโฆษณาผิดกฎหมาย อย. จะเป็นผู้วินิจฉัยความผิดที่พบทางสื่อ และดำเนินคดีกับผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย หรือผู้ทำการโฆษณาตามกฎหมายที่ อย. รับผิดชอบ ส่วน กสทช. จะเป็นผู้ดำเนินการกับสถานีที่ออกอากาศตามกฎหมายที่ กสทช. รับผิดชอบ โดยตั้งแต่ปี 2561-2563 อย. ได้วินิจฉัยความผิดที่พบส่งให้ กสทช. ดำเนินการแล้ว 250 เรื่อง เป็นผลิตภัณฑ์จากถั่งเช่า 58 เรื่อง ซึ่งผู้โฆษณามักใช้จุดอ่อนของผู้ซื้อ นำเสนอภาพหรือคลิปวีดีโอสัมภาษณ์ผู้ป่วยให้ดูน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น จากที่เป็นผู้ป่วย ผู้ป่วยติดเตียง  เมื่อรับประทานผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าแล้วหายจากโรค สามารถกลับมาชีวิตได้เหมือนคนปกติ จึงขอเตือนไปยังผู้บริโภคโดยเฉพาะผู้ป่วย ผู้สูงอายุ อย่าหลงเชื่อโฆษณาเหล่านี้ เพราะนอกจากจะเสียเงินแล้ว ยังอาจทำให้โรคหรืออาการที่เป็นอยู่แย่ลง เสียโอกาสในการรักษา เนื่องจากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องโดยแพทย์ เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง         ขณะที่ รศ.ดร.ภญ.มยุรี ตั้งเกียรติกำจาย อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ระบุว่า ในการดูแลผู้ป่วยโรคตับ โรคไตนั้น พบว่าปัญหาหนึ่งที่เจอในปัจจุบัน คือผู้ป่วยมีการกินยาแก้ปวด ยาชุด ยาลูกกลอนที่ผสมสเตียรอยด์ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีการปลอมปม ใส่ยาต่างๆ ลงไป รวมถึงสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ใส่สมุนไพรที่ทำให้เกิดพิษต่อตับหรือไตได้ เช่น ที่เมืองไทยพบทั้งในน้ำมันกัญชา สารสกัดมะระขี้นก สารสกัดเห็ดหลินจือ หนานเฉาเหว่ย และถังเช่าที่พบความถี่มากขึ้น โดยพบว่ามีทั้งการกินมากเกินไป หรือกินหลายตัวที่มีพิษต่อตับหรือไตเหมือน ๆ กัน ทำให้เกิดปัญหา สมุนไพรบางชนิดตีกับยาบางตัว ทำให้ฤทธิ์ของยาเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ เป็นต้น ถัดมาคือคอลลาเจนที่มีการใช้เยอะในผู้สูงอายุและปัญหากำลังจะตามมา         ทั้งนี้ ส่วนใหญ่พบในกลุ่มผู้สูงอายุ ราวๆ 60 ปี ขึ้นไป และผู้ที่มีโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาโรคตับ โรคไต ส่วนประชาชนทั่วไปอายุน้อย 20 30 หรือ 40 ปีต้นๆ จะไม่ค่อยมีปัญหาอะไร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่ไม่มีโรคประจำตัวหรืออายุน้อย คิดว่าตัวเองแข็งแรงจะกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ซึ่งการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นจะต้องใช้ให้ถูกใช้ให้เป็น          รศ.ดร.ภญ.มยุรี บอกว่า หลักการกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารก็ต้องใช้ให้ถูก ใช้ให้เป็น คือใช้ 3 เดือนแล้วหยุด 1 เดือน ก็จะค่อนข้างปลอดภัย แต่จะกินของเหล่านี้ต้องดูว่ากินเพื่ออะไร มีงานวิจัยในคนรับรองหรือไม่ว่ามีประโยชน์หรือปลอดภัย แต่ถ้าบอกว่าอยากจะกินเพื่อความสบายใจ ไม่ได้หวังผลอะไร ในส่วนนี้ไม่น่าจะเป็นอะไร เพียงแต่ต้องกินตามที่ฉลากแนะนำ ไม่ควรกินเกินกว่านั้น และควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนกับทางอย.อย่างถูกต้อง ผู้ใช้ควรตรวจสอบเลขสารระบบให้ชัดว่าถูกต้องก่อนซื้อมาใช้         “อย่างไรก็ตาม กินแล้วต้องหยุด อย่ากินยาวเป็นปี โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ออกมาใหม่ๆ เพราะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารส่วนใหญ่ ไม่มีการทำวิจัย ว่ากิน 6 เดือน หรือ 1 ปี ผลจะเป็นอย่างไร โดยมากจะทำวิจัย 3 เดือน ดังนั้น จึงไม่มีข้อมูลความปลอดภัยระยะยาว”         อย่างไรก็ตาม จากการติดตามพบว่าผู้บริโภคในประเทศไทย รวมถึงทั่วโลก พบว่าส่วนหนึ่งที่นิยมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือสมุนไพรต่างๆ นั้น เนื่องจากมองว่าของที่มาจากธรรมชาติย่อมปลอดภัย ซึ่งต้องชี้แจงก่อนว่าเป็นความเชื่อที่ผิดเพราะไม่มีอะไรปลอดภัย 100% ยกตัวอย่าง ถ้ากินโปรตีนเยอะก็สามารถทำให้ไตวายได้ กินเกลือเยอะก็เป็นโรคไตได้         “หลักการง่ายๆ ขนาดอาหารที่กินกันทั่วไปนั้น ถ้ากินเกินพอดี เกินความต้องการของร่างกายก็เป็นอันตรายได้ ดังนั้นไม่ต้องพูดถึงผลิตภัณฑ์อะไรหลายอย่าง นี่คือหลักการเบื้องต้น เพราะฉะนั้นการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สมุนไพรต่างๆ ใช้ได้ แต่ต้องรู้วิธีใช้ให้ปลอดภัย สำหรับคนทั่วไป         คือ 1. เลือกผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนถูกต้อง ไม่มีการปนเปื้อนสารเคมีทางการเกษตร โลหะหนัก เชื้อรา เชื้อจุลชีพต่างๆ              2. เนื่องจากเราไม่ได้ใช้เพื่อการรักษาโรค แต่เพื่อเสริมอาหาร ซึ่งปกติเราก็ไม่ได้กินอาหารชนิดเดิมๆ ซ้ำๆ เพราะถ้ากินซ้ำๆ ก็จะได้สารอาหารเดิมๆ ดังนั้นให้กินสลับประเภทอาหาร บางคนปั่นน้ำผลไม้กิน ก็ปั่นอย่างเดิมทุกวัน อันตราย เพราะอาจมียาฆ่าแมลงปนอยู่ กินทุกวันก็จะได้ยาฆ่าแมลงนั้นทุกๆ วัน หรือพวกเกลือแร่บางอย่างอาจจะได้เยอะเกิน เพราะฉะนั้นวิธีการคือ ต้องสลับชนิดการกิน และกินในปริมาณปกติ ไม่มาก ไม่น้อยเกินไปในแต่ละวัน”         ด้าน น.ส.สถาพร อารักษ์วทนะ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า           “ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ ควรตรวจสอบกับเลขสารบบของอย. ให้แน่ชัด ถึงแม้ว่าจะพบปัญหาการปลอมเลขอย. แต่อย่างน้อย การที่เราตรวจสอบ และดูรายชื่อ หน้าตาผลิตภัณฑ์จากเว็บไซต์ของอย.ก่อน ก็น่าจะช่วยคัดกรอง และเป็นทางเลือกที่ทำให้เราอันตรายน้อยที่สุด”          ปัญหาหนึ่งของการตรวจสอบดูแลผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นมาจากช่องว่างของกฎหมาย ซึ่งก็คือ พ.ร.บ.อาหาร ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเกิดขึ้นทุกวัน และมีการโฆษณาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งทุกวันนี้ทำได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องผ่านเอเจนซี่แล้ว โดยผู้ทำผลิตภัณฑ์สามารถออกผลิตภัณฑ์แล้วสามารถโฆษณาได้เองผ่านสื่อโซเชียลมีเดียของตัวเอง ทำให้เกิดปัญหามากขึ้น         ในขณะกระบวนการร้องเรียนผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายไปยังหน่วยงานรัฐ ไม่ว่าจะเป็น อย. หรือหน่วยงานอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำกับดูแล ค่อนข้างยุ่งยาก ซับซ้อน ทำให้ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น เมื่อประชาชนโทรศัพท์เข้าไปแจ้งเบาะแส แล้วถูกขอหลักฐาน เอกสารการบันทึกเทปต่างๆ เพื่อให้หน่วยงานทำเนินการเปรียบเทียบต่อ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ทำให้ประชาชนรู้สึกยุ่งยาก ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรหาช่องทางากรมีส่วนร่วม ให้ประชาชนร่วมเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวัง แจ้งเบาะแสผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายโดยไม่ยุ่งยากซับซ้อนจนเกินไป เพื่อให้การแก้ไขปัญหาทันต่อสถานการณ์         ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ มูลนิธิฯ เคยเสนอเรื่องการให้รางวัลนำจับ และปัจจุบัน อย.เริ่มเปิดให้มีการเข้าถึงระบบฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพบ้างแล้ว แต่ยังไม่ทั้งหมด หรือจะมีวิธีการอะไรที่ อย.ไปบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นหรือไม่ เช่น ออกประกาศให้สาธารณชนรับทราบเลยว่าโฆษณาอะไรบ้างที่เป็นโฆษณาเข้าข่ายผิดกฎหมาย ทำไม่ได้ ประชาชนอย่าหลงเชื่อดาราอย่าไปรีวิว influencer ก็อย่าไปเชื่อมากนัก และแต่ละหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลก็มีการเชื่อมโยงระบบข้อมูลการเข้าถึงฐานข้อมูลของอย. ได้ซึ่งหากหน่วยงานสามารถคลิกเข้าไปดูได้ แล้วแต่ละหน่วยงานสามารถเรียกปรับได้เอง โดยไม่ต้องส่งเรื่องย้อนกลับไปที่อย.เพื่อวินิจฉัยก่อน อาทิ กรณีประชาชนไปร้องเรียนที่สถานีตำรวจ เมื่อก่อนถูกตำรวจไล่กลับมาให้ไปเคลียร์กันเอง แต่หากตำรวจสามารถคีย์ไปยังข้อมูลฐานระบบได้แล้วเรียกปรับได้เลย ตรงนี้ประชาชนก็มีส่วนร่วม เมื่อแจ้งหลักฐานเสร็จก็ให้รางวัลนำจับคิดว่าตรงนี้ก็จะช่วยได้ในระดับหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 Shonky Award 2020

        ประกาศรายชื่อแล้ว ผลิตภัณฑ์/บริการยอดแย่ประจำปี 2020 ในออสเตรเลีย โดยนิตยสารเพื่อผู้บริโภค CHOICE มาดูกันว่ามีใครบ้างที่สมควร (แต่ไม่อยาก) ได้รางวัลนี้    ·  รายแรกยกให้ “ฮาร์วี นอร์แมน” ห้างเครื่องใช้ไฟฟ้าเจ้าใหญ่ในออสเตรเลีย ที่จับมือกับ “ละติจูดไฟแนนซ์” ออกบัตรเครดิต นัยว่าเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้บริโภค   เขาอนุมัติบัตรโดยไม่ตรวจสอบรายได้หรือความสามารถในการใช้หนี้ แถมยังให้วงเงินสูงถึง12,000 เหรียญ (หรือประมาณ 270,000 บาท) โดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 21.99 ถึง 24.99 ต่อปี CHOICE คำนวนแล้วพบว่าถ้าผู้ใช้นำบัตรไปรูดปรื้ดใช้จ่าย 5,000 เหรียญ แล้วผ่อนชำระขั้นต่ำเดือนละ 100 เหรียญ (ร้อยละ 2) ก็จะผ่อนหมดใน 29 ปี 8 เดือน และจ่ายดอกเบี้ยไปทั้งหมด 12,909 เหรียญ ... ปัจจุบันเกือบร้อยละ 8 ของคนออสเตรเลียเป็นหนี้บัตรเครดิต    ·  ตามด้วย Revitalife ที่ทำการตลาดแบบอุกอาจไม่เกรงใจใคร เริ่มจากชักชวนให้ร่วมตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับสุขภาพทางอินเทอร์เน็ตหรือทางโทรศัพท์ จากนั้นก็เริ่มโทรไปขอนัดมาคุยปัญหาสุขภาพที่บ้าน คุยไปคุยมาก็ขายที่นอนที่อ้างว่าสามารถแก้ปัญหาการนอนแบบไม่มีคุณภาพได้  ราคาของที่นอน “อัจฉริยะ” นี้อยู่ระหว่าง 4,000 ถึง 8,000 เหรียญ    ถ้าจะขายว่าที่นอนนุ่มสบายก็ย่อมทำได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าที่นอนไม่สามารถ “บำบัดรักษา” ปัญหาการนอนไม่หลับ นอกจากนี้ผู้ขายยังระบุเงื่อนไขการเปลี่ยน ซ่อม หรือคืนเงิน ว่า “เป็นไปตามวิจารณญาณของทางบริษัท” ... มันใช่หรือ    ·  ส่วนรายนี้ก็ซุกราคาเหลือเกิน ผู้ให้บริการจัดงานศพ InvoCare Funerals ขายแพ็คเกจพิธีศพบนเว็บไซต์ ที่สนนราคาระหว่าง 2,400 – 5,600 เหรียญ โดยไม่ให้รายละเอียดว่ายอดที่เสนอขายนั้นประกอบด้วยค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง โทรถามก็ยังมุบมิบอ้อมค้อม ผู้บริโภคจึงไม่มีข้อมูลพอต่อการตัดสินใจ     ในที่สุดค่ายนี้ (ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดถึง 1 ใน 4) ก็ถูกคณะกรรมการเพื่อการค้าที่เป็นธรรมของนิวเซาท์เวลส์ บังคับให้แสดงรายละเอียดค่าบริการต่างๆ ในเว็บไซต์ ... บริษัทเขาก็แน่จริง แสดงข้อมูลเฉพาะบริการในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ที่เหลืออีก 5 รัฐ เขาก็ยังทำเนียน แจ้งราคารวมๆ เหมือนเดิม    ·  ยุคนี้อากาศสะอาดเป็นเรื่องใหญ่ ถึงออสเตรเลียจะไม่มีฝุ่นจิ๋วพีเอ็ม 2.5 แต่เขาก็มีไฟป่าอยู่เนืองๆ     การทดสอบเปรียบเทียบเครื่องฟอกอากาศโดย CHOICE พบว่าเครื่อง Green Tech Pure Air 500 ที่ขายในราคาคิดเป็นเงินไทยประมาณ 5,000 บาท นั้นประสิทธิภาพต่ำมาก กรองฝุ่น ควัน หรือสารระเหยไม่ได้เลย และทั้งๆ ที่โฆษณาว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตัวมันเองกลับใช้พลังงานเปลืองมาก เอาเป็นว่าจากคะแนนเต็มร้อย เจ้าตัวนี้ได้ไป 19 คะแนน ทีมทดสอบบอกว่า “เก็บออกจากตลาดไปเลยจะดีกว่า”     ·  พื้นสะอาดก็เรื่องใหญ่อีกเหมือนกัน เรื่องนี้อาจสะเทือนไปไกลเกินออสเตรเลีย เมื่อทีมทดสอบพบว่าน้ำยาทำความสะอาดพื้นที่ขายอยู่ในท้องตลาด 15 ยี่ห้อนั้น มีประสิทธิภาพในการทำความสะอาดพื้นไม่ต่างอะไรกับน้ำเปล่า! เพียงแต่พื้นบ้านของคุณอาจจะดูแวววาวและมีกลิ่นหอมเท่านั้น    CHOICE บอกว่าที่เป็นเช่นนั้นเพราะสารออกฤทธิ์ที่ผู้ผลิตใส่มาในผลิตภัณฑ์นั้นมันมีปริมาณน้อยเสียจนไม่เกิดผลใดๆ นั่นเอง ... เขาแนะนำให้ใช้น้ำเปล่าไปเลย ประหยัดเงินได้ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 4 เรื่องเล่า เฝ้าระวัง

เมื่อยุคโลกอยู่ใกล้กัน (แต่ตอนนี้ควรห่างกันสักพัก) ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เสี่ยงทั้งในและนอกประเทศ จึงเดินเข้าหาผู้บริโภคได้ไม่ยาก        1. น้องเภสัชกรจากจังหวัดนราธิวาสท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เธอพานักเรียน อย.น้อยไปเยี่ยมผู้ป่วยโรคเรื้อรังตามบ้าน เมื่อไปถึงบ้านคุณยายท่านหนึ่ง พบผลิตภัณฑ์สุขภาพชนิดหนึ่งในบ้าน ดูจากฉลากแล้วไม่มีภาษาไทย แต่เป็นฉลากภาษาอาหรับ จึงสอบถามได้ความว่า คุณยายมีเพื่อนไปแสวงบุญที่ต่างแดนแล้วซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดนี้กลับมาฝาก คุณยายคิดว่าน่าจะเป็นของดีเพราะเป็นของจากต่างประเทศและเมื่อรับประทานแล้วก็ได้ผลดี อาการปวดเมื่อยหายเร็วมาก น้องเภสัชกรสงสัยว่า ผลิตภัณฑ์นี้น่าจะมีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์จึงใช้ชุดทดสอบตรวจได้ผลว่าผลิตภัณฑ์จากต่างแดนนี้ มีส่วนผสมของสเตียรอยด์จริงๆ อย่างที่สงสัย จึงรีบแนะนำคุณยายให้หยุดรับประทาน และรีบดำเนินการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อันตรายในชุมชนนี้         2. ผู้บริโภคนำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมาแจ้งที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงคราม โดยให้ข้อมูลว่าตนซื้อเครื่องสำอางจากตลาดนัดแห่งหนึ่ง ผู้ขายชักชวนให้ซื้อแล้วจะได้คูปองชิงโชค ตนเห็นราคาถูก ตรวจสอบแล้วมีฉลากครบถ้วนจึงซื้อมา เมื่อถึงบ้านตรวจสอบที่เว็บของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พบว่าผลิตภัณฑ์นี้ถูกยกเลิกแล้ว จึงรีบนำมาแจ้งเจ้าหน้าที่พร้อมนำเอกสารหลักฐานต่างๆ มาให้ดูด้วย เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วพบว่าผลิตภัณฑ์นี้ผลิตที่จังหวัดจันทบุรี และมีตัวแทนจำหน่ายรายใหญ่ในจังหวัดเพชรบุรี จึงได้แจ้งเรื่องต่อไปยังจังหวัดจันทบุรีและเพชรบุรี เพื่อดำเนินการติดตามตรวจสอบต่อไป         3. เจ้าหน้าที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนึ่งเล่าให้ฟังว่า คุณแม่ของตนเห็นดาราชายสูงวัยเสียงนุ่มท่านหนึ่งโฆษณารับรองผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในโทรทัศน์และเฟซบุ๊ค อ้างว่ารับประทานเป็นประจำแล้วสุขภาพดี จึงตัดสินใจจะสั่งซื้อมารับประทาน ตนทราบเรื่องจึงรีบห้ามทัน เพราะสรรพคุณที่โฆษณานั้นโอ้อวดมากจนเกินจริง         4. น้องเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง เล่าให้ฟังว่ามีผู้ป่วยหญิงร่างท้วมเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลด้วยอาการแน่นหน้าอกหายใจไม่ออก จากการสอบถามข้อมูลเบื้องต้นได้ข้อมูลว่า ผู้ป่วยเห็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดนี้โฆษณาขายทางเฟซบุ๊ค มีเลข อย แล้ว จึงสั่งซื้อมารับประทาน หลังจากรับประทานไประยะหนึ่งเริ่มมีอาการดังกล่าวจึงรีบมาโรงพยาบาลตอนนี้ยังเหลืออยู่ 6 แคปซูล น้องเภสัชกรจึงรวบรวมหลักฐานต่างๆ เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป        จะเห็นว่าผลิตภัณฑ์เสี่ยงอันตรายเหล่านี้เข้าถึงผู้บริโภคได้ไม่ยาก แต่หากเจ้าหน้าที่รับทราบข้อมูลพร้อมได้รับเอกสารหรือหลักฐานต่างๆ ได้อย่างละเอียดและรวดเร็วแล้วก็สามารถจะจัดการผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้ทั้งระบบ ซึ่งจะเป็นผลดีเพราะมันจะได้ไม่ไปเสี่ยงในพื้นที่อื่นๆ ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 ผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายกับโฆษณาแฝงอีกปัญหาที่ยากจัดการ

        ย้อนกลับเมื่อช่วงเวลาเดียวกันนี้ของปี 2562 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เปิดเผยข้อมูลการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคทั่วประเทศกว่า 4,182 ราย ซึ่งครอบคลุมด้านการเงินการธนาคาร ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ด้านบริการสาธารณะ ด้านสินค้าและบริการทั่วไป ด้านสื่อและโทรคมนาคม ด้านที่อยู่อาศัย และด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข พบว่า         ปัญหาด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ รั้งแชมป์มีคนร้องเรียนมากที่สุด จำนวน 1,534 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 36.68 รองลงมา คือ ด้านบริการสาธารณะ ร้องเรียน 820 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 19.61 หมวดบริการสุขภาพและสาธารณสุข ร้องเรียน 703 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 16.81          โดยสภาพปัญหายังเป็นเรื่องเดิมๆ คือ “โฆษณา” พบว่ามีทั้งการโฆษณาอันเป็นเท็จหลอกลวง โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ทำให้เข้าใจผิดและหลงเชื่อ ผลิตภัณฑ์ไม่มีฉลากหรือไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่มีเครื่องหมาย อย. โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ที่อวดอ้างสรรพคุณสามารถรักษาโรคได้ ซึ่งช่องทางที่พบการโฆษณา คือทางโทรทัศน์และวิทยุชุมชน ซึ่งปัญหาเหล่านี้เมื่อได้ส่งถึงผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาก็ใช้ระยะเวลายาวนานมาก ในขณะที่ผลิตภัณฑ์เจ้าปัญหายังมีขายเกลื่อนท้องตลาดต่อไป            ข้างต้นนั้นคือข้อมูลเมื่อปีที่แล้วและเป็นข้อมูลการเอาเปรียบผู้บริโภคผ่านการโฆษณาแบบชัดเจน ยังไม่นับรวมในเรื่องของการโฆษณาแฝงในสื่อต่างๆ ซึ่งเรายังไม่ต้องไปพูดถึงว่าเป็นของจริงหรือหลอก แต่แค่ปล่อยให้มีการโฆษณาแฝงในรายการทั่วไปก็ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าถูกเอารัดเอาเปรียบ เพราะเราตั้งใจเข้ามาดูเนื้อหาในรายการ แต่กลับถูกยัดเยียดการโฆษณาขายสินค้าแบบเนียนบ้าง ไม่เนียนบ้าง ทำให้เสียอรรถรสในการรับชมรายการไปแล้ว         เกี่ยวกับเรื่องนี้ “ดร.ตรี บุญเจือ” ผอ.การส่วนไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและเลขานุการคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า ในแง่ของการกำกับเนื้อหาการโฆษณา ตามมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 กำหนดว่าการโฆษณาจะต้องไม่โป๊เปลือย ลามกอนาจาร เสื่อมศีลธรรมของประชาชนอย่างร้ายแรง ไม่ทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง         นอกจากนี้ยังมีการกำกับระยะเวลาในการโฆษณาทางสถานีโทรทัศน์ วิทยุ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกอัดโฆษณาจนเกิดเดือดร้อนรำคาญ แต่ก็ต้องยอมรับว่าอาจจะยังไม่ครอบคลุมไปถึงขั้นการดูแลโฆษณาแฝง         เหตุผลคือ “รูปแบบของการโฆษณา” ซึ่งขณะนี้ กสทช. ยังไม่ได้มีประกาศนิยามเรื่องของการโฆษณาแฝง แต่ที่ผ่านมามีความพยายามในการพูดถึงการออกประกาศในภาพรวม แต่อาจจะส่งผลกระทบต่อหลายๆ ส่วนเลยยังอยู่ในกระบวนการที่พิจารณาและศึกษาเพิ่มเติม         แต่ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีประกาศชัดเจนเกี่ยวกับข้อห้ามการโฆษณาแฝงที่ชัดเจนออกมา แต่ถามว่ายังคงกำกับดูแลอยู่ไหม ก็ยังทำอยู่ตามที่มีอำนาจ เช่น การกำกับเนื้อหาการออกอากาศจะต้องไม่เอาเปรียบผู้บริโภค ไม่หลอกลวงผู้บริโภค มีหลายครั้งที่เขาส่งผังรายการมาเป็นว่า รายการแต่มีการพูดถึงผลิตภัณฑ์สุขภาพ แล้วบอกสรรพคุณที่เกินจริงไปทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญ ก็สามารถกำกับดูแลและหาตรงนี้ได้ ถ้าเชิงสังคมอาจเรียกว่าสามารถทำได้ แต่ถ้าในเชิงกฎหมายเรียกว่าก็ยังไม่ได้มีประกาศห้ามไว้         ตอนนี้พยายามตรวจสอบและนำกฎหมายที่มีอยู่มาตรวจจับกันอยู่โดยทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เฝ้าระวังทั้งเนื้อ หารูปแบบ การพูดถึงสินค้า ว่ามีการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่ เกินจริงหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาก็พบว่าโฆษณาแฝงบางตัวมีการพูดถึงสรรพคุณ คุณประโยชน์ที่เกินจริงไป โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สุขภาพ จึงมีคำสั่งทางปกครองไปอยู่บ้าง บางรายถูกเรียกให้มาชี้แจง แจ้งเตือน เป็นต้น          ดร.ตรี บอกว่า อย่างไรก็ตาม เรื่องการกำกับดูแลการโฆษณาแฝงที่เคยคุยกันก่อนหน้านี้ ที่มองกันไว้ในเบื้องต้นมี 4 ลักษณะ คือ            1. Product placement หรือการนำผลิตภัณฑ์ไปวางไว้ในรายการเฉยๆ            2. Product movement คือ มีการหยิบ จับ แสดงสินค้า            3. Product experience คือมีการพูดถึงสิ้นค้านั้นๆ ในรายการ และ            4. การเขียนสคริป สร้างเรื่องราวของสินค้าตัวนั้นๆ ในรายการ         ก่อนหน้านี้ได้มีการคุยกับเครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน พบว่าในรายการวิทยุ จะมีการเผยแพร่นิทานชีวิตตลกขำๆ นิทานสั้นๆ เขียนบทสนทนาของตัวละคร 2 ตัวที่พูดถึงผลิตภัณฑ์เข้าไปว่าจะไปซื้อผลิตภัณฑ์ได้ที่ไหนอย่างไร สรรพคุณเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ จริงๆ แล้ว หลายชิ้นก็แยกไม่ชัด ซึ่งก็ได้ขอให้เครือข่ายผู้บริโภคช่วยดูและศึกษาว่ามีการโฆษณาสรรพคุณเกินจริงหรือไม่ มีการทำให้เดือดร้อนรำคาญหรือไม่ แต่ในกลุ่มเครือข่ายผู้บริโภคก็ค่อนข้างเห็นว่าเป็นการสร้างสรรค์อยู่เช่นเดียวกัน จึงมองว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำให้กระบวนการผู้บริโภคให้มีความรู้เท่าทันด้วยว่านี่เป็นโฆษณาแฝงในรายการ          สำหรับวิธีการป้องปรามป้องกันการโฆษณาแฝงใน 4 รูปแบบนั้น ยังไม่ได้มีการคุยกัน เพราะอย่างที่บอกว่า “เป็นเพียงประเด็นเรื่องของการทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อนรำคาญใจ” เช่น มีการซูมให้เห็นเด่นชัดและค้างเป็นเวลานาน หรือว่าพูด ตอกย้ำ ซ้ำๆ บ่อยๆ ทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญใจหรือไม่         อย่างไรก็ตามถ้าวันหนึ่งวันใดถึงเวลาที่ต้องลุกขึ้นมาควบคุมกันจริงๆ จากการศึกษามาในหลายๆ ประเทศ ก็มีโมเดลที่ต่างกัน เช่น อังกฤษห้ามการโฆษณาแฝงในหลายๆ รูปแบบ ห้าม Tie-in หลายประเทศก็ให้มีการขับเคลื่อนกันเอง สิงคโปร์ก็ไม่ได้มีกฎหมายที่พูดชัดเจน ส่วนมาเลเซียมีการควบคุมที่ไม่เต็มร้อย เป็นต้น         เพราะฉะนั้นตนมองว่า “ทุกอย่างไม่ได้แก้ปัญหาด้วยการออกกฎหมายใหม่ แต่อาจจะมีการกำกับดูแลในมิติกฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้ว นำไปปรับใช้ ซึ่งตอนนี้ก็ใช้อยู่ แต่ว่าในเรื่องของเวลายังไม่ได้พิจารณาว่าจะต้องกำกับดูแลเพิ่มเติมหรือไม่ว่าไม่ให้เกินกี่นาที กี่วินาที”        อย่างไรก็ตาม ตรงนี้ประชาชนจะมีส่วนร่วมได้มาก หากรู้สึกว่าถูกคุกคามเอารัดเอาเปรียบสามารถร้องเรียน หรือมีข้อเสนอแนะเข้ามาที่กสทช.ได้ แล้วจะถูกพิจารณาเป็นรายกรณีไป ซึ่งจะมีขั้นตอน ส่วนระยะขึ้นอยู่กับแต่ละกรณี เช่น หลังรับเรื่องร้องเรียน กสทช.จะต้องแจ้งว่าได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว และนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาที่มีคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ก่อนจะนำผลสรุปเข้าบอร์ดกสทช .         แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น ก็ยังตอบไม่ได้ว่าเมื่อเข้าไปแล้ว กสทช. จะพิจารณาแบบไหน หรือว่าคณะอนุกรรมการจะเสนอแบบไหน บางเรื่องที่มีกฎหมายอยู่แล้วอาจพิจารณาความผิดได้เลย แต่ถ้ายังไม่มีกฎหมายที่ออกมาหรือยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของกระบวนการในการกำกับดูแล กสทช. อาจมาออกประกาศย่อยหรือออกคำนิยามเพิ่มหรือออกแนวทางมติเพิ่มเพื่อทำให้เกิดการกำกับดูแลเรื่องนี้ได้         นอกจากนี้ ตนยังมีข้อเสนอกลับไปยังประชาชน ผู้บริโภคด้วย ส่วนแรกคือ กระบวนการผู้บริโภคจะต้องมีความเข้มแข็ง จะรวมตัวกันแล้วจัดทำเป็นข้อเสนอขึ้นมาก็ได้ ส่วนที่ 2 คือเรื่องนี้ ตนยังไม่รู้ว่าจะออกมาแบบไหน แต่ก็เป็นความรับผิดชอบของทุกคน อย่างนั้นเป็นกระบวนที่เราอาจจะต้องร่วมกันขับเคลื่อนกันไปก่อน ต้องมองที่กระบวนการ วิธีการกำกับดูแลกันเอง          “ดร.ตรี ย้ำในตอนท้ายว่า กสทช. พยายามกำกับดูแลในเชิงกฎหมายและจริยธรรม หากมันไม่เข้าข่ายกฎหมายอาจจะต้องมองไปที่จริยธรรม ซึ่งเป็นมิติที่เชื่อมโยงกับผู้บริโภค ผู้บริโภคต้องรู้เท่าทันเข้าไปมีส่วนร่วมกับกระบวนการสื่อสาร เช่น สะท้อนความคิดเห็นโดยตรงไปยังสื่อนั้นๆ รายการนั้นๆ ขณะที่คนทำสื่อเองก็ต้องตระหนักเรื่องนี้เอาไว้ด้วย นี่เป็นกลไก 3 ก้อน คือ “ผู้บริโภค-คนทำสื่อ หน่วยงานที่กำกับ” ควรขับเคลื่อนไปด้วยกันและมองเห็นกันและกันสถานการณ์โฆษณาแฝงกับบทบาทภาคประชาชน         นายโสภณ หนูรัตน์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนานโยบาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า องค์กรผู้บริโภคได้มีการพัฒนาความเข้มแข็งในการทำงานด้านการจัดการโฆษณาผิดกฎหมาย โดยมีการสร้างระบบการทำงานเฝ้าระวัง โดยมุ่งเน้นเฝ้าระวังโฆษณาและผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ เนื่องจากพบว่ามีผู้บริโภคเสียชีวิตจากการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย มีการใส่สารอันตราย อีกทั้งพบว่ามีการโฆษณาหลอกลวง โอ้อวดเกินจริง โดยฐานการโฆษณามีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นจากในทีวีไปสู่แพลตฟอร์มออนไลน์         รูปแบบการทำงานเฝ้าระวังมีการพัฒนาให้เป็นระบบ ประกอบด้วยกลไกเฝ้าระวังที่มีทั้งการเฝ้าในสื่อโทรทัศน์ วิทยุและบนออนไลน์ เมื่อได้ข้อมูลจากการเฝ้าระวังจะมีการบันทึกผลในฐานข้อมูลร้องเรียน เพื่อนำไปวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาและผลกระทบต่อผู้บริโภคที่เกิดขึ้น และนำผลเฝ้าระวังส่งให้แก่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการ  โดยใช้ทั้งช่องทางปกติ คือทำหนังสือส่งไปยังหน่วยงาน และตั้งกลุ่มไลน์ร่วมกับผู้ประกอบการที่ให้ความร่วมมือเพื่อให้นำออกจากระบบทันที โดยมีข้อตกลงหากไม่ดำเนินการจะมีการส่งให้กับหน่วยงานเพื่อใช้มาตรการทางกฎหมายต่อไป โดยปัจจุบันในการทำงานจัดการโฆษณาผิดกฎหมาย มีความร่วมมือกันขององค์กรผู้บริโภค 34 จังหวัดใน 6 ภูมิภาค ดังนี้          นอกจากนี้  เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคแต่ละองค์กร ก็มีการจัดทำเพจองค์กรตนเอง เพื่อสื่อสารผลการเฝ้าระวัง และการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคต่างๆ  แจ้งเตือนภัยผู้บริโภค ทำให้เป็นที่รู้จักของประชาชนมากขึ้น         ในส่วนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีการจัดทำเพจเฟสบุ๊ค “ซอกแซกสื่อ” และ “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค”  และได้มีการนำเสนอข้อมูลต่อสาธารณะ ที่สำคัญ ดังนี้            1.สถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ  หยิบยกกรณีร้องเรียนต่างๆ ในสื่อออนไลน์มาบอกเล่ากับผู้บริโภค เพื่อเตือนภัยและสร้างการตระหนักรู้แก่ผู้บริโภคให้มีมากขึ้น เช่น ข่าวนักเรียน ม.4 ที่ลำปาง สั่งซื้ออาหารเสริมทางเน็ต แบบผงมาชงดื่มลดความอ้วน ต่อมาไตวาย ติดเชื้อเข้ากระแสเลือด ตัวบวมเสียชีวิต  ข่าว อย.เปิดฐานข้อมูลโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้ประชาชนตรวจสอบก่อนซื้อ เป็นต้น            2.ติดตามการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานรัฐ เช่น เผยแพร่ข้อมูล ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่อย. ได้ยกเลิกเลขสารบบ หรือมีสารประกอบอันตรายเพื่อเตือนภัยผู้บริโภค             3.แจ้งผลการทำงานเฝ้าระวังของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เช่น การจัดเวทีความร่วมมือเพื่อยกระดับการจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย  การแถลงข่าวผลเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค        สำหรับภาคประชาชนหรือเครือข่ายผู้บริโภคนั้น จำเป็นที่จะต้องพัฒนาทักษะในการตรวจสอบรูปแบบโฆษณาแฝง เพราะแม้เครือข่ายผู้บริโภคจะมีความรู้เกี่ยวกับโฆษณาที่ผิดกฎหมาย หลอกลวง แต่ในเรื่องการโฆษณาแฝงยังถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนทำงานผู้บริโภค เนื่องจากการโฆษณาแฝง มีความหลากหลาย โดยเฉพาะปัจจุบันไม่ได้มีสปอตโทรทัศน์เท่านั้น แต่ยังมีรูปแบบอื่น ยกตัวอย่าง การนำสินค้าวางในรายการต่าง ๆ หรือการให้ความรู้สอดแทรกว่าควรใช้สินค้านั้น ๆ หรือไม่  อีกทั้งการโฆษณาแฝง ยังเกี่ยวพันกับเรื่องสถาบันวิชาชีพต่าง ๆ เช่น แพทยสภาเพื่อกำกับกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพด้านแพทย์ ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยที่กระทำการแฝงโฆษณาและใช้วิชาชีพของตนเองในการเสริมสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้ตรวจสอบอย่างเข้มงวดและคอยติดตามเฝ้าระวังไม่ให้เกิดลักษณะเช่นนี้อีก  รวมถึงข้อกฎหมายต่างๆ ที่ยังไม่ชัดเจน ซึ่งเป็นหน้าที่ของ กสทช.ที่ต้องเร่งจัดทำ เช่น ให้คำนิยามหรือขอบเขตของโฆษณาแฝงที่ชัดเจน ทันยุคสมัย และมีความเป็นปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานหรือประชาชนทั่วไปเกิดความเข้าใจที่ตรงกันเกี่ยวกับโฆษณาแฝง รวมทั้งจัดทำคลังข้อมูล (data bank) ที่ผู้บริโภคสามารถสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับโฆษณาแฝงได้         “ผมมองว่าการทำงานของ กสทช. นั้น ไม่เพียงพอ เพราะในหลายเรื่องก็ยังไม่มีการดำเนินการ เห็นได้จากการที่คณะอนุกรรมการด้านสื่อและโทรคมนาคม ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ภายใต้คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) ได้มีข้อเสนอต่อการกำกับดูแลเรื่องโฆษณาแฝงในทีวีดิจิทัลหลายประการ แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการ เช่น กสทช.ควรกำหนดกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลโฆษณาแฝงหรือหลักจรรยาบรรณ (code of conduct) ที่ชัดเจน รวมทั้งสานต่อ กฎ กติกา ที่เคยถูกร่างไว้ให้เป็นรูปธรรม”         เนื่องจากการทำโฆษณาแฝงไม่เพียงแต่จะเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค หากแต่ยังแสดงถึงความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างช่องโทรทัศน์ที่ปฏิบัติตามกฎกับช่องโทรทัศน์ที่ละเมิดกฎเกณฑ์ กสทช.ต้องประสานความร่วมมือในการเฝ้าระวังโฆษณาแฝงในโทรทัศน์ระบบดิจิทัลอย่างมีลำดับขั้นตอน เช่น องค์กรผู้บริโภคหรือสมาคมช่วยกันสอดส่องดูแลแล้วส่งข้อมูลให้ภาครัฐดำเนินการต่อไป เพื่อให้เกิดการกำกับดูแลร่วมกัน ทั้งนี้อาจมีการศึกษารูปแบบการทำงานเพิ่มเติมจากหน่วยงานในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา พร้อมประสานความร่วมมือกับสถาบัน เช่น แพทยสภาเพื่อกำกับกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพด้านแพทย์ ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยที่กระทำการแฝงโฆษณาและใช้วิชาชีพของตนเองในการเสริมสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้ตรวจสอบอย่างเข้มงวดและคอยติดตามเฝ้าระวังไม่ให้เกิดลักษณะเช่นนี้อีก รวมทั้งจัดทำคลังข้อมูล (data bank) ที่ผู้บริโภคสามารถสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับโฆษณาแฝงได้         ซึ่งหาก กสทช.ได้พิจารณาและดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าว และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ก็จะทำให้ปัญหาการโฆษณาเกินจริง หรือเอาเปรียบผู้บริโภคลดลงได้มาก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 ธรรมชาติปลอดภัยกว่าหรือดีกว่า...หรือ

        ผู้คนจำนวนมากมีอคติในความเชื่อว่า อาหาร ยา หรือเครื่องสำอาง ที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติย่อมดูดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค ต่างจากผลิตภัณฑ์ที่เป็นสารสังเคราะห์ซึ่งมักถูกมองว่าไม่ปลอดภัย อคติดังกล่าวนี้เกิดเนื่องจากความไม่รู้ว่า สารที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นมาเพื่อใช้ในกิจการต่างๆ ที่สัมพันธ์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์นั้นมักต้องถูกประเมินความปลอดภัย ด้วยวิธีการที่มีจุดประสงค์ในการเผยศักยภาพของการก่อความเป็นพิษในสิ่งมีชีวิต ซึ่งมีการใช้สัตว์ทดลองต่างๆ เป็นด่านสุดท้ายก่อนถึงมนุษย์ ในการนำสารสังเคราะห์มาใช้ในการผลิตเป็นสินค้านั้น สารสังเคราะห์แต่ละชนิดจะถูกประเมินความเสี่ยงจากข้อมูลในสัตว์ทดลองก่อน ว่า ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้บริโภคในระดับใด ตัวอย่างเช่น ความเสี่ยงในการก่อมะเร็งนั้นมักใช้ระดับว่า ในล้านคนจะมีคนเสี่ยงเป็นมะเร็งเท่าใด แล้วสังคมของผู้บริโภคยอมรับในความเสี่ยงดังกล่าวได้หรือไม่          ในกรณีสารที่ได้จากธรรมชาติ ซึ่งมนุษย์หรือสัตว์ทั่วไปเคยกินมาแล้วในอดีต ส่วนใหญ่มักไม่มีการประเมินความเสี่ยงต่ออันตรายของผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม่เคยมีข้อมูลว่าก่ออันตรายใดๆ มาก่อน ทั้งที่ความจริงแล้วสารที่ได้จากธรรมชาติบางชนิดอาจก่อให้เกิดปัญหาได้ถ้ามีการนำมาใช้ในลักษณะที่ต่างจากวิธีการที่ใช้ในเวลาก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นที่ขนาดการใช้หรือรูปแบบการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ ตัวอย่างที่มีข้อมูลเป็นวิทยาศาสตร์คือ เรื่องอันตรายในการถ่ายพยาธิด้วยสารสกัดจากผลมะเกลือ          ผลมะเกลือนั้น ชาวบ้านใช้ในการย้อมผ้าให้ได้ผ้าสีดำที่คงทนมาแต่โบราณ และได้มีการนำผลสดมาคั้นน้ำแล้วผสมกับกะทิกินทันทีเพื่อถ่ายพยาธิ แต่ปัญหาเกิดขึ้นในผู้ที่ไม่เข้าใจวิธีกินเป็นยานั้นอย่างถูกต้อง จนเกิดพิษทำให้เสี่ยงต่อการที่ตาบอดได้ โดยเมื่อคั้นน้ำไว้แล้วไม่ดื่มทันทีหรือใช้วิธีคั้นด้วยน้ำปูนใส สารสำคัญบางชนิดได้เปลี่ยนไปเป็นสารพิษในกรณีแรก  หรือมีสารบางชนิดถูกดูดซึมได้ดีกว่าปรกติเมื่อถูกสกัดออกมาในน้ำปูนใส การที่คนรุ่นเก่าผสมสารสกัดจากผลมะเกลือกับกะทินั้นเข้าใจว่า เป็นการยับยั้งไม่ให้สารที่อาจก่อพิษถูกดูดซึมเข้าสู่ระบบโลหิต แต่เคลื่อนลงไปจัดการกับพยาธิในทางเดินอาหารตอนล่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ         อคติในความชอบของบุคคลต่อสิ่งที่มาจากธรรมชาติเหนือสิ่งที่ประดิษฐนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกา เมื่อต้องใช้สินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งหลายครั้งก่อให้เกิดปัญหาที่ร้ายแรง เช่น กรณีของผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักที่ผสมสารสกัดอัลคาลอยด์จากสมุนไพรชื่อ หมาหวง (Ma Huang หรือ Ephedra) ซึ่งมีการจำหน่ายสู่ผู้บริโภคโดยปราศจากการประเมินความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง         หมาหวง มีสรรพคุณเป็นยาขับเหงื่อ แก้หอบ ข้อมูลที่เป็นงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพถึงผลกระทบในคนกล่าวว่า สมุนไพรดังกล่าวมีสารอัลคาลอยด์ ephedrine ชึ่งมีผลกระทบหลายประการต่อสิ่งมีชีวิต สิ่งที่สำคัญสุดคือ การกระตุ้นให้ระบบเผาผลาญในร่างกายเพิ่มขึ้นและเป็นตัวเร่งในการเผาผลาญไขมัน ผู้ประกอบการบางคนจึงหวังว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีสารสำคัญจากหมาหวงเป็นองค์ประกอบนั้นควรช่วยลดน้ำหนัก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผลข้างเคียงของการใช้สมุนไพรนี้ในขนาดสูงกว่าที่แพทย์แผนจีนกำหนดได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงของอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น (ถึงขั้นอาจหัวใจวายได้) หรือมีอาการทางจิตเวช ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มี ephedrine ผสมนั้นถูกห้ามจำหน่ายโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2004 แต่ตัวสมุนไพรนั้นยังขายได้ในบางรัฐ         ด้วยเหตุที่ความสามารถในการรับรู้และเข้าใจของผู้บริโภคต่อคำโฆษณาสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้นไม่เท่ากัน หน่วยงานด้านการแพทย์ทางเลือกและการบูรณาการเพื่อสุขภาพหรือ The National Center for Complementary and Integrative Health (NCCIH) ซึ่งสังกัดสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institutes of Health หรือ NIH) ภายใต้กระทรวงสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกา (U.S. Department of Health and Human Services) ได้มีบทความเรื่อง “Natural Doesn't Necessarily Mean Safer, or Better”เพื่อให้ผู้บริโภคได้สังวรณ์ถึงความแตกต่างในความหมายระหว่างคำว่า ธรรมชาติ และ ปลอดภัย         เนื้อหาของบทความนั้นกล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเป็นสิ่งที่ดีต่อมนุษย์ ธรรมชาติเอื้อให้มีการผลิตยาแอสไพริน (จากใบหลิว) และมอร์ฟีน (จากฝิ่น) ช่วยบรรเทาอาการปวด นอกจากนี้ยังมียาบำบัดโรคอื่นๆ ที่ได้จากธรรมชาติ ซึ่งมีประวัติการใช้ที่ยาวนาน ส่งผลถึงการปรับปรุงสุขภาพของมนุษย์ แต่ความเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติไม่ได้บ่งบอกว่า มีประสิทธิภาพและปลอดภัยเสมอไปเพราะมีปัจจัยอื่นมากำหนดด้วย          นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามศึกษาถึงประสิทธภาพของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและสมุนไพรบางชนิดแต่ก็พบว่า ตัวอย่างที่ได้จากท้องตลาดนั้นหลายส่วนล้มเหลวในการแสดงให้เห็นถึงผลประโยชน์ดังที่โฆษณา เช่นการศึกษาเกี่ยวกับสมุนไพรชื่อ เอ็กไคนาเซีย (Echinacea) ซึ่งไม่พบหลักฐานว่า มีประโยชน์ในการบำบัดไข้หวัดดังที่โฆษณา แต่กลับมีผลข้างเคียงบางอย่างในผู้บริโภคบางคน เช่น มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องร่วง เจ็บคอ ปากแห้ง ปวดศีรษะ ลิ้นชา วิงเวียน หลับยาก สับสน ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ หรือแม้กระทั่งก่อการอักเสบของตับด้วย อีกตัวอย่างคือ การศึกษาผลของใบแปะก๊วยที่มีอาสาสมัครสูงอายุกว่า 3,000 คน เข้าร่วมแล้วพบว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีใบแปะก๊วยเป็นองค์ประกอบนั้นไม่ช่วยป้องกันหรือชะลอภาวะสมองเสื่อม         หลายคนคิดว่า ยา“ธรรมชาติ” ไม่ได้มีผลข้างเคียงมากเหมือนยาสังเคราะห์ ซึ่งหลายครั้งแสดงความเป็นพิษได้ และอาจรวมถึงการมีสารก่อมะเร็งปนเปื้อนเนื่องจากการผลิตที่ควบคุมไม่ดี แต่แนวความคิดดังกล่าวนั้นไม่จริงเสมอไป ตัวอย่างเช่น  คาวา (kava) ซึ่งเป็นพืชพื้นเมืองในหมู่เกาะแปซิฟิกใต้ที่มีสารสำคัญคือ “คาวาแลคโตน (kavalactone)” ซึ่งมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อและสงบระงับ จึงมีการนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อลดความวิตกกังวล แต่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ระบุว่า สารธรรมชาติดังกล่าวมีผลข้างเคียงหลายประการและที่น่ากังวลคือ มีความเป็นพิษต่อตับ อีกทั้งยังมีปฏิกิริยากับยาอื่นหลายชนิด ดังนั้นก่อนใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัดจากคาวาจึงควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรทุกครั้ง         มีบทความเรื่อง Adverse Events Reported to the US Food and Drug Administration for Cosmetics and Personal Care Products ในวารสาร JAMA Internal Medicine เมื่อปี 2017 ให้ข้อมูลว่า การดูแลเกี่ยวกับความปลอดภัยของเครื่องสำอาง ซึ่งมักผสมองค์ประกอบธรรมชาตินั้น ควรได้รับการปรับปรุง เพราะสินค้ากลุ่มนี้ขาดการประเมินเกี่ยวกับความปลอดภัยก่อนการออกสู่ตลาด ผู้ผลิตเครื่องสำอางนั้นไม่จำเป็นต้องแจ้งข้อมูลการเกิดสิ่งไม่พึงประสงค์เนื่องจากสินค้าไปยัง FDA และ CFSAN (The Center for Food Safety and Applied Nutrition ซึ่งมีหน้าที่ในการปกป้องและส่งเสริมสุขภาพของประชาชนเกี่ยวกับ อาหาร เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) ต่างจากเครื่องมือแพทย์ ยา และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ดังนั้นโอกาสเกิดปัญหาด้านสุขภาพที่อาจร้ายแรงเนื่องจากเครื่องสำอางจึงเกิดได้บ่อยครั้ง ดังนั้นวุฒิสมาชิก Diane Feinstein ของรัฐแคลิฟอร์เนียจึงได้เสนอ Personal Care Products Safety Act (PCPSA) สู่วุฒิสภาในปี 2017         ความจริงกฏหมายในลักษณะเดียวกันเคยมีวุฒิสมาชิกท่านอื่นเสนอแล้วในปี 2011 เพื่อให้อำนาจ FDA ในการสั่งให้เจ้าของสินค้าเรียกคืนเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยและต้องรายงานสิ่งที่เกิดขึ้นต่อผู้รับผิดชอบ พร้อมทั้งต้องทำการทบทวนความปลอดภัยขององค์ประกอบในเครื่องสำอาง อย่างไรก็ดีร่างกฎหมายนี้ไม่ได้กำหนดให้เพิ่มงบประมาณในการทดสอบความปลอดภัยขององค์ประกอบในเครื่องสำอางแก่ National Toxicology Program ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการทดสอบความปลอดภัยของสารเคมีที่ผู้บริโภคต้องสัมผัส อีกทั้งในปี 2019 ร่างกฏหมายดังกล่าวก็ยังวนเวียนเป็นสัมภเวสีไม่ได้คลอดออกมาบังคับใช้ดังปรากฏในข่าว The Introduction of the Personal Care Products Safety Act 2019 in the United States Senate ซึ่งมีข้อมูลที่ท่านที่สนใจสามารถอ่านได้ที่ www.modernsoapmaking.com/personal-care-products-safety-act-2019

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 ข้อคิดจากการสวยตามเทรนด์

                รูปแบบของความสวยงามนั้น อันที่จริงแล้วมันไม่มีนิยามตายตัว ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับค่านิยมของสังคมและยุคสมัย ดังนั้นแต่ละปีก็จะมีคนมาบอกเราว่า ปีหน้าเขาจะนิยมรูปแบบความงามแบบไหน เราต้องดูแลหรือเตรียมการอย่างไร เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย ซึ่งปีหน้า 2563 นี้หลายกูรูยังฟันธงว่า เทรนด์สวยธรรมชาติและเครื่องสำอางจากส่วนผสมธรรมชาติยังคงความแรงต่อเนื่อง         ผิวพรรณแบบกระจ่างใสดังกระจกหรือ Glass Skin ยังคงได้รับความนิยม         ผิวแบบ Glass Skin  คือผิวพรรณที่ผุดผ่องมีน้ำมีนวล บ่งบอกถึงสุขภาพดีจากภายใน ผิวแบบ Glass Skin นั้น  ขอให้ลองคิดถึงซีรีย์เกาหลี ที่สาวๆ ในเรื่องจะมีผิวใสๆ ดูอิ่มเอิบฉ่ำวาวดังแก้ว แบบนั้นแหละที่เรียกว่า Glass Skin ซึ่งผู้ก่อกระแสนี้คือ บิวตี้บล็อกเกอร์ชื่อดังชาวเกาหลีนั่นเอง เมื่อฮิตขึ้นมาแล้วก็ฮิตต่อกันไปยาวๆ ข้ามปี หลักๆ ของเทรนด์ผิวใสดั่งแก้วนี้ คือ เน้นที่การทำความสะอาดให้หมดจด บำรุงผิวทั้งจากภายนอกและภายในเพื่อให้ผิวเปล่งประกายอย่างคนที่สุขภาพดี และเสริมด้วยการแต่งหน้าให้ดูกระจ่างใสโชว์ความเปล่งปลั่งสดใสของผิว         อย่างไรก็ตามเมืองไทยนั้นสภาพอากาศต่างจากเกาหลีจะให้ทันกับเทรนด์นี้ ก็ต้องปรับให้เหมาะสมจะสำเนามาทั้งหมดคงไม่เหมาะ ส่วนที่สามารถทำได้เลยและดีมากเสียด้วย คือ หลักของการทำความสะอาดและการบำรุง         ขั้นตอนที่แนะนำหลักๆ คือ เมื่อแต่งหน้าแล้วต้องไม่ละเลยการทำความสะอาดอย่างหมดจด ให้เกิดการตกค้างของสารเคมีบนผิวน้อยที่สุด ดื่มน้ำให้มาก รับประทานอาหารที่ดี และบำรุงผิวด้วยครีมบำรุงที่เหมาะกับสภาพผิว ซึ่งผู้นำเทรนด์เสนอว่าควรสครับ(ขัดถูหน้าเพื่อให้เกิดการผลัดผิวที่เร็วขึ้น) และมาสก์หน้าเมื่อว่างจากกิจกรรมปกติ   และหากจะให้เป๊ะสำหรับอากาศร้อนและแดดแรงๆ แบบเมืองไทย การปกป้องผิวด้วยครีมกันแดดคือสิ่งที่ขาดไม่ได้เช่นกัน                เทรนด์ความเป็นธรรมชาติที่ช่วยให้ผู้บริโภคมีสุขภาพผิวที่ดี        เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในลุคธรรมชาติและเครื่องสำอางที่ปกป้องคุณจากมลภาวะ คือสิ่งที่คาดว่าจะมาแรงในปี 2563 สารสกัดจากธรรมชาติที่ถูกผสมในเครื่องสำอางหรือนำมาเป็นอาหารเสริมนั้น ยังคงจะได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ต้องเพิ่มขึ้นคือ ความต้องการสินค้าแบบเฉพาะกลุ่มและตอบโจทย์เรื่องมลภาวะ         สิ่งที่ต้องระวังในกรณีของสินค้าที่เคลมเรื่องสุขภาพผิวสวยคือ กรณีของเครื่องสำอาง ทางหน่วยงานที่กำกับดูแลจะไม่ได้มีการทดสอบเรื่องความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เพียงรับจดแจ้งเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปสำหรับผู้บริโภคเท่านั้น ดังนั้นการเสี่ยงกับอาการแพ้ยังคงต้องได้รับความสนใจเป็นอันดับแรกๆ โดยควรทดสอบกับผิวในบริเวณที่ไม่ใช่เป้าหมายหลักก่อนใช้ และอย่าคาดหวังกับสินค้าจนเกินไป นอกจากนี้การช่วยกันเฝ้าระวังสินค้าที่ไม่ปลอดภัยโดยการแจ้งต่อหน่วยงานที่กำกับดูแลจะช่วยให้เกิดความปลอดภัยในวงกว้าง         ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในหลักการคือ การทำความสะอาดและปกปิดเสริมแต่ง ดังนั้นไม่ควรคาดหวังถึงขนาดแก้ไขหรือฟื้นฟูสภาพผิว        กรณีของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาจมีการโฆษณาจนเกินเลย ให้สรรพคุณที่มากกว่าการบำรุง แต่เป็นโชว์สรรพคุณรักษาโรค ซึ่งถือว่าผิด และเราไม่ควรตกเป็นเหยื่อของสินค้าเหล่านี้ ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางผลิตภัณฑ์ผลิตขึ้นมาเพื่อสร้างการตลาดแบบ แชร์ลูกโซ่ ไม่ได้มีสรรพคุณอะไรมากไปกว่าอาหารธรรมดา ผู้บริโภคต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ให้ความโลภชักนำให้ขาดความรอบคอบในการใช้สินค้า         การพยายามสวยตามแฟชั่นหรือเทรนด์ไม่ได้เป็นสิ่งผิดปกติ ใครๆ ก็อยากจะได้ชื่อว่าทันสมัย แต่เราควรรอบคอบไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ผลิต ผู้ประกอบการที่ไม่มีความรับผิดชอบ ทำสินค้าที่ไม่ปลอดภัยหรือฉาบฉวยเพียงเพื่อจะหาผลประโยชน์ทางการเงิน สวยตามเทรนด์ได้แต่ต้องเท่าทันข้อมูลด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 หุ่นจะดี ขอให้มีเงิน

โฆษณาขายผลิตภัณฑ์แปลกๆ ตามโซเชียลมีเดีย มันผุดเป็นดอกเห็ด หมุนเวียนเปลี่ยนไปจนตามไล่จับไม่ทัน ในยุคแรกๆ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มักจะโฆษณาขายตามเว็บไซต์ต่างๆ ต่อมาสื่อโซเชียลมีหลากหลายชนิดมากขึ้น ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จึงเปลี่ยนช่องทางการขายหันมาทางเฟซบุ๊คขาย พอเจ้าหน้าที่ไล่ตรวจเช็คเฟซบุ๊ค ก็ย้ายฐานการโฆษณามายังไลน์ และล่าสุดย้ายไปขายในอินสตราแกรมกันครึกโครม เล่นเอาเจ้าหน้าที่ติดตามตรวจสอบ ไล่แทบไม่ทัน พอจะดำเนินการบางรายก็ปิดเฟซ ปิดไลน์ ปิดอินสตราแกรมหนี หลังจากนั้นไม่กี่วันก็มาเปิดใหม่อีก และถ้าเราไม่ได้อยู่ในกลุ่มแวดวงของพวกเขา เราก็จะไม่รู้ข้อมูลพวกนี้เลย เพราะทุกวันนี้มันมีกลุ่มปิด กลุ่มเฉพาะ ทางสื่อโซเชียลเหล่านี้มากมาย         ผลิตภัณฑ์สุขภาพสำหรับกลุ่มหนุ่มสาวที่มีเงิน สนใจเข้าฟิตเนสออกกำลังกาย เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ผลิตภัณฑ์ที่นำมาขายให้คนกลุ่มนี้ จึงไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ราคาถูกๆ แต่มักจะขายในราคาแพง และมักจะโฆษณาว่าเป็นผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ซึ่งแทบทุกชนิดที่เจอ จะไม่มีการขออนุญาตในประเทศไทยตามกฎหมาย แต่ผู้ขายจะอ้างว่าตนหิ้วมาเองจากต่างประเทศ         ล่าสุดผมได้รับแจ้งว่า มีผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่งสำหรับผู้ต้องการลดน้ำหนัก โดยผู้ขายบอกว่าถ้าจะใช้ต้องซื้อเป็นเซ็ต ซึ่งประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ชนิดแคปซูลสามชนิดสามขวด อ้างสรรพคุณว่าชนิดแรกจะเพิ่มการเผาผลาญไขมันที่เรารับประทานเข้าไป ชนิดที่สองจะไปบล๊อคการดูดซึมแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตจากอาหารที่เรารับประทาน และชนิดที่สามจะไปบล๊อคความหิวของเรา         ผู้ขายอ้างว่า สามารถลดน้ำหนัก และลดไขมันส่วนเกินที่เกาะตามส่วนต่างๆ ได้ ทั้ง ต้นแขน ต้นขา หน้าท้อง หรือส่วนต่างๆ ทั้งไขมันเก่าและใหม่  เหมาะกับคนที่หิวบ่อย อยากปรับกระเพาะไห้เล็กลง คนที่กินจุบจิบ อยากกินอาหารเยอะๆ เหมาะสำหรับคนที่จะไปต่างประเทศ ต่างจังหวัด ประเภททริปตะลุยกินโดยเฉพาะ  ตลอดจนยังเหมาะกับคนที่ออกกำลังกายและอยากให้น้ำหนักลงเร็ว หรือคนที่ชอบกินของมันๆ ของหวาน หรือกินแป้งเยอะๆ พิซซ่า ชาบู  ของทอด ฯลฯ มีการย้ำว่ารับรองลดไขมันได้ 5 กิโลกรัมขึ้นไป  ราคาทั้งเซ็ต  4,790 บาท ถ้าแยกซื้อเป็นชนิดๆ ก็ตกชนิดละเกือบสองพันบาท         ตามไปดูที่โฆษณา ก็เหมือนผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆที่ โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง แจ้งว่าสกัดจากธรรมชาติล้วนๆ ทั้งสารสกัดจากถั่วขาว  และสารสกัดจากผลส้มแขก โดยอ้างว่าจะสามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ย่อยแป้งได้ถึงกว่า 50% และยับยั้งการสังเคราะห์กรดไขมัน ร่างกายเปลี่ยนน้ำตาลเป็นไขมันน้อยลง ลดความอยากอาหาร ไม่รู้สึกหิว และเร่งการสลายไขมัน และยังแนะนำให้ดื่มน้ำเย็นเฉียบตามหลังรับประทานผลิตภัณฑ์นี้ เพราะจะยิ่งช่วยให้ร่างกายนำพลังงานมาปรับเพิ่มอุณหภูมิน้ำ ให้เท่าอุณหภูมิในร่างกาย         ถ้าจะให้สรุปว่าผลิตภัณฑ์นี้ได้ผลตามที่อวดอ้างหรือไม่ ขอยืนยันเลยว่ายังไม่มีผลการวิจัยที่เป็นทางการออกมายืนยัน แม้ผู้ขายจะอ้างว่านำหิ้วเข้ามาจากประเทศอังกฤษ แต่การนำเข้ามาโดยไม่มาขออนุญาต จึงทำให้ไม่ได้ถูกตรวจสอบว่า การโฆษณาสรรพคุณตามที่อ้างมีความเป็นไปได้จริงหรือไม่ ฟันธงได้เลยว่า ผลิตภัณฑ์นี้ ผิดกฎหมาย และโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง หนำซ้ำยังเสียเงินโดยไม่จำเป็นอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 รู้เท่าทันผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงตับ

        ระยะนี้มีการโฆษณาทางโทรทัศน์และสื่อออนไลน์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกันมากมาย  มีการนำดารา ศิลปิน นักกีฬามาเป็นพรีเซ็นเตอร์ผลิตภัณฑ์แต่ละอย่าง เพราะผู้บริโภคมีความเชื่อว่า พรีเซนเตอร์เหล่านี้มีชื่อเสียง ฐานะดี คงไม่มาหลอกลวงเอาผลิตภัณฑ์ที่ไม่ดีมาโฆษณาอย่างแน่นอน ผลิตภัณฑ์ที่มาแรงเพราะเอาพระเอกที่คนไทยชื่นชอบมาเป็นพรีเซนเตอร์ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงตับ เรามารู้เท่าทันกันเถอะ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงตับ    ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับตับกำลังมาแรง เพราะภาวะตับอักเสบ ไขมันสะสมในตับทั้งจากแอลกอฮอล์และไม่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์กำลังพบมากขึ้น ทำให้ผู้คนบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ช่วยฟื้นฟูและป้องกันตับจากภาวะดังกล่าว        เมื่อดูในเว็บไซต์ต่างๆ ในประเทศไทย พบว่า มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงตับอย่างน้อย 4-5 รายการที่มีการโฆษณาขายในเมืองไทย ในต่างประเทศก็มีการขายกันในโลกออนไลน์มากกว่า 10 รายการขึ้นไป มีการโฆษณาต่าง ๆ นานาว่าเป็นการ “ปกป้องตับ ฟื้นตับ ดีท็อกซ์ตับ คลีนตับ ขับสารพิษในตับ ตับสะอาด ขับของเสียจากแอลกอฮอล์ ไม่เมาค้าง” เป็นต้น  ทำให้ตับกลับคืนส่สภาพเดิม รู้สึกดีขึ้น  ในบ้านเราเน้นไม่เมาค้าง ทำให้สายดื่มได้เฮกันเพราะจะได้ดื่มมากขึ้น ผลิตภัณฑ์บำรุงตับมีอะไรบ้าง         ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงตับนั้นจะใช้สมุนไพรหลักๆ 3 ตัว ได้แก่ มิลค์ ทิสเทิล (milk thistle)  ใบอาร์ทิโชก รากแดนดิไลออน[1]           สมุนไพรทั้ง 3 ชนิดมีประโยชน์อย่างไรต่อตับ?        ในมิลค์ ทิสเทิล จะมีสารไซลิมาริน ซึ่งเป็นสารเคมีในพืช ในห้องปฏิบัติการพบว่า สารไซลิมารินทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยสร้างเซลล์ตับ ลดการอักเสบ ป้องกันเซลล์ตับ จึงทำให้มีการนำสมุนไพรนี้มาทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อบำรุงตับ       ใบอาร์ติโชคมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ปกป้องเซลล์ตับ การศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าช่วยสร้างเซลล์ตับได้ มีงานวิจัยบางชิ้นพบว่าช่วยลดการทำลายตับลงได้เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม แต่ต้องมีการศึกษาในทางคลินิกต่อไป        รากของแดนดิไลออนนั้นมีการนำมาใช้ในการรักษาโรคตับมานาน แต่ต้องการการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความปลอดภัยและประสิทธิผล        ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงตับชนิดต่าง ๆ มีการผสมสมุนไพรเพิ่มเติม เช่น โกจิเบอร์รี่ สมอพิเภก บ๊วย เป็นต้น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงตับมีสรรพคุณตามโฆษณาจริงหรือ         เมื่อทบทวนการศึกษาวิจัยพบว่า การวิจัยสมุนไพรหลัก 3 ชนิดในคนยังไม่มีและคุณภาพงานวิจัยยังไม่ดีพอ ต้องทำการศึกษาทางคลินิกเพิ่มเติม ส่วนการศึกษาเรื่องผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกับโรคตับต่าง ๆ นั้น พบว่า ยังไม่มีหลักฐานที่จะสนับสนุนหรือปฏิเสธว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ต้านอนุมูลอิสระจะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ และอาจทำให้เอนไซม์ตับมีค่าสูงขึ้น เราจะดูแลตับให้ดีได้อย่างไร         เราสามารถดูแลตับให้แข็งแรงได้โดย การลดไขมันในอาหาร ลดสารพิษ เช่นยา สารเคมี ลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มการออกกำลังกาย กินผักผลไม้ที่ปลอดสารเคมีอันตรายมากขึ้น สรุป ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงตับนั้น ส่วนใหญ่เป็นสมุนไพรซึ่งมีความปลอดภัย แต่สรรพคุณนั้นยังต้องการการศึกษาทางคลินิกเพิ่มเติม[1] สมุนไพรทั้ง 3 ชนิดพบในเขตหนาว ไม่พบในบ้านเรา ยกเว้นอาร์ติโชค มีการนำมาปลูกโดยโครงการหลวง แต่ไม่เป็นที่นิยม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 Let’s say Cheese! มาอ่านฉลากผลิตภัณฑ์จากชีสกันเถอะ

        พูดเรื่อง ชีส(Cheese) หรือเนยแข็งในอาหารที่คนไทยคุ้นเคย คงจะเป็น มอสซาเรลลา ที่ใส่ในพิซซ่าซึ่งเราจะมีภาพจำในความยืดเยิ้มของมัน หรือ เชดดา ที่วางบนแฮมเบอร์เกอร์ แซนวิช และหลายคนก็คงคุ้นลิ้นกับ พาร์เมซาน เนยแข็งป่นๆ ที่โรยหน้าสลัดหรือผสมในสปาเก็ตตี้  อาจกล่าวได้ว่า ชีสสามชนิดนี้ คือชีสที่คนไทยคุ้นเคยที่สุด จากชีสทั่วโลกที่มีมากกว่า 3000 ชนิด  แม้จะคุ้นลิ้นคุ้นตาในรสชาติ แต่เชื่อว่าหลายคน อาจจะเกิดอาการสับสน งุนงง หากต้องไปเลือกซื้อชีสเพื่อมาทำอาหารสไตล์ตะวันตกกินเอง เพราะเลือกไม่ถูกว่าจะซื้อชีสอะไรดี แล้วที่เขียนบนฉลากว่า อีแดม เชดดา เนมชีส โพรเซสชีส เฟรชชีส คืออะไร ใช้กินกับอะไรได้บ้าง ทำอาหารอะไรได้บ้าง หรือจะซื้อยังไงคุ้มค่า นิตยสารฉลาดซื้ออาสาพาไปส่องฉลาก และช่วยให้เลือกซื้อกันได้สะดวกขึ้น                 ทีมกองบรรณาธิการและอาสาสมัครฉลาดซื้อเดินห้างสรรพสินค้าทั้งแบบห้างค้าปลีก ค้าส่ง และร้านสะดวกซื้อเพื่อเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เนยแข็งหรือชีส แบบที่มีฉลากบนผลิตภัณฑ์สมบูรณ์และผู้บริโภคสามารถหยิบได้เองจากตู้แช่เย็น ในต้นเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา จำนวนทั้งสิ้น 51 ตัวอย่าง เพื่อแสดงรายละเอียดและแยกกลุ่มผลิตภัณฑ์ระหว่าง เนยแข็งหรือชีสแท้ กับ โพรเซสชีส นิยามและประเภทของชีส         เนยแข็ง(Cheese)  ทั่วโลกมีมากกว่า 3,000 ชนิด แม้เนยแข็งบางประเภทจะมีลักษณะเหมือนกัน แต่ก็มีชื่อเรียกต่างกันตามแต่ละท้องถิ่น วิธีการจำแนกประเภทของเนยแข็งจึงทำได้โดยอาศัยหลักเกณฑ์บางอย่าง เช่น ชนิดของน้ำนมที่ใช้ ระยะเวลาในการบ่ม เชื้อราที่ใส่ลงไปเพื่อแยกไขมันออกจากน้ำนม อุณหภูมิที่ใช้ในการหมักบ่ม พื้นผิวและความราบเรียบของเนยแข็ง อย่างไรก็ตามเราอาจแบ่งเนยแข็งหรือชีส (Cheese)  ได้เป็น 3 กลุ่ม ซึ่งเป็นการแบ่งที่นิยมกัน คือ        1.เนยแข็งแบบนุ่มหรือชีสนุ่ม (Soft Cheese)         2.เนยแข็งแบบกึ่งแข็งกึ่งนุ่ม (Semi Cheese)        3.เนยแข็งแบบแข็งหรือฮาร์ดชีส (Hard Cheese)         การแบ่งแบบนี้เป็นการแบ่งตามความชื้นในเนื้อผลิตภัณฑ์ เนยแข็งที่มีความแข็งมาก(ฮาร์ดชีส) ก็เพราะมีความชื้นต่ำ เช่น พาร์เมซาน เชดดา สวิสชีส ส่วนชนิดกึ่งแข็งกึ่งนุ่มจะมีความชื้นกลางๆ เช่น มอสซาเรลลา อีแดม บลูชีส และหากมีความชื้นสูงเนื้อสัมผัสก็จะนุ่ม เช่น บรี ครีมชีส ซึ่งทำให้เก็บไว้ไม่นานเหมือนพวกฮาร์ดชีส ที่สามารถเก็บได้เป็นเวลาหลายเดือน         นิยามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 209 พ.ศ.2543 เรื่องเนยแข็ง ให้ความหมายของ เนยแข็งว่า ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำนม ครีมบัตเตอร์มิลค์ (Butter milk) หรือเวย์ อย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างมาผสมเอนไซม์หรือกรดหรือจุลินทรีย์จนเกิดการรวมตัวเป็นก้อนแล้วแยกส่วนที่เป็นน้ำออก แล้วนำมาใช้ในลักษณะสดหรือบ่มให้ได้ที่ก่อนใช้ จึงอาจกล่าวได้ว่า นี่คือเนยแข็งแท้หรือชีสแท้         ส่วนที่แสดงบนฉลากว่า โพรเซสชีส(Processed Cheese) ตามนิยามในประกาศ หมายความว่า เนยแข็ง ซึ่งได้ผ่านกรรมวิธีทำให้เล็กลง เติมสารอีมัลซิฟายและนำมาพาสเจอร์ไรซ์และจะแต่งสี กลิ่น รส หรือไม่ก็ได้  ตามนิยามนี้เราอาจตีความได้ว่า โพรเซสชีสเป็นเนยแข็งที่มีกรรมวิธีการผลิต โดยเอาชีสแท้ น้ำมัน และส่วนผสมทางเคมีอื่นๆ มาผสมกัน ซึ่งแม้ว่าจะเป็นอาหารที่ปลอดภัย แต่ว่ามันมีสารเคมีต่างๆ มีแต่งสี แต่งรส และเนื่องจากมีส่วนผสมของนมอยู่น้อย ก็เลยไม่ได้ให้ประโยชน์มากเหมือนชีสแท้ ที่ทำจากนมเกือบทั้งหมด         และที่อาจจะทำให้ผู้บริโภคงงเมื่ออ่านฉลากคือ คำว่า เนมชีส(Named Cheese) ซึ่งในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 209 ให้ความหมายว่า เนยแข็งที่มีชื่อตามชนิดของเนยแข็งหรือสถานที่ผลิต ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปและมีกรรมวิธีการผลิตเฉพาะตามชนิดของเนยแข็งนั้น  เชดดา อีแดม พาร์เมซาน(หรืออีกสามพันชนิด) พวกนี้คือ เนมชีสนั่นเองตารางแสดงรายละเอียดการแสดงฉลาก ผลิตภัณฑ์เนยแข็ง(ชีสแท้) เก็บตัวอย่างเดือนตุลาคม 2562เนยแข็ง หมายความว่า ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำนม ครีมบัตเตอร์มิลค์ (Butter milk) หรือเวย์ อย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างมาผสมเอนไซม์หรือกรดหรือจุลินทรีย์จนเกิดการรวมตัวเป็นก้อนแล้วแยกส่วนที่เป็นน้ำออก แล้วนำมาใช้ในลักษณะสดหรือบ่มให้ได้ที่ก่อนใช้ตารางแสดงรายละเอียดการแสดงฉลาก ผลิตภัณฑ์โพรเซสชีสเก็บตัวอย่างเดือนตุลาคม 2562โพรเซสชีส หมายความว่า เนยแข็ง ซึ่งได้ผ่านกรรมวิธีทำให้เล็กลง เติมสารอีมัลซิฟายและนำมาพาสเจอร์ไรซ์และจะแต่งสี กลิ่น รส หรือไม่ก็ได้  ข้อค้นพบจากการดูฉลากผลิตภัณฑ์        ผลจากการสังเกตฉลากผลิตภัณฑ์เนยแข็ง ทั้งหมด 51 ตัวอย่าง พบว่า ผลิตภัณฑ์เนยแข็งที่สุ่มเก็บตัวอย่าง ที่เข้านิยามเนยแข็งหรือชีสแท้ มีจำนวน 24 ตัวอย่าง และเป็นผลิตภัณฑ์โพรเซสชีส 26 ตัวอย่าง โดยมีโพรเซสชีส 1 ตัวอย่างที่เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อชาวมังสวิรัตที่ไม่บริโภคผลิตภัณฑ์จากนม ได้แก่ วีแกนเชดด้าสไตล์สไลซ์ (ผลิตภัณฑ์เลียนแบบเชดด้าชีส) ตราอิมพีเรียล ซึ่งมีส่วนประกอบของ น้ำมันปาล์ม และ โปรตีนถั่วเหลือง ซึ่งนอกจากผลิตภัณฑ์เนยแข็งที่เป็นวีแกนที่มีส่วนผสมของไขมันจากพืช         ผลิตภัณฑ์เนยแข็งทำจากนมในปริมาณเกือบ 100 % และใช้เวลาในการหมักบ่มนาน ดังนั้นราคาจึงค่อนข้างแพง ส่วนผลิตภัณฑ์โพรเซสชีส ใช้เนยแข็ง น้ำนม และไขมันพืชช่วยในการแต่งเติมผลิตภัณฑ์ ดังนั้นจึงมีราคาไม่แพง แต่ก็จะให้คุณค่าทางสารอาหารน้อยกว่าชีสแท้ ผู้บริโภคสามารถพิจารณาเลือกจากฉลากที่เรานำมาแสดงในตารางได้ โดยมีการเปรียบเทียบราคาต่อน้ำหนักไว้เพื่อช่วยในการตัดสินใจด้วย          ผลิตภัณฑ์เนยแข็งที่มีราคาต่อกรัมถูกที่สุด คือ  ครีมฟีลด์ เท็น ซิงเกิ้ล (ผลิตภัณฑ์จากชีส) CREAMFIELDS 10 SINGLES ราคา  0.282  บาทต่อกรัม และผลิตภัณฑ์เนยแข็งที่มีราคาต่อกรัมแพงที่สุด คือ  เอ็กซ์ตร้า เมชัวร์ เชดด้า (เนยแข็งชนิดเนมชีส) ตรา คุมบี คาสเซิล COOMBE CASTLE TM EXTRA MATURE CHEDDAR ราคา  1.945  บาทต่อกรัม  โดยผลิตภัณฑ์ชีสส่วนใหญ่ที่สุ่มเก็บมา เป็นผลิตภัณฑ์ชีสที่นำเข้าจากต่างประเทศเกือบทั้งสิ้น         การแสดงฉลากเรื่องการผลิต พบว่ามีผลิตภัณฑ์เนยแข็งที่ไม่ได้ระบุวันผลิต จำนวน 19 ตัวอย่าง แต่ทุกตัวอย่างมีการระบุวันหมดอายุ หรือ วันที่ควรบริโภคก่อน  โดยส่วนใหญ่มีอายุการเก็บประมาณ 1 ปี และแนะนำให้เก็บไว้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 0 – 8 องศาเซลเซียส           ข้อมูลอ้างอิงhttps://th.wikipedia.org/wiki/เนยแข็ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 ตะละแม่หน้าขาว กับหม่องหายเมื่อย

        เรื่องสุขภาพแข็งแรงและความสวยงาม ไม่ว่าชนชาติไหนในโลกคงไม่ต่างกัน ในขณะที่ในประเทศไทย เรายังไล่ตามกวดจับผลิตภัณฑ์สุขภาพหลายชนิด ที่ลักลอบผลิตหรือใส่สารอันตรายกันอย่างแทบไม่หมดสิ้น กลับพบว่าผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ไม่ได้มีเฉพาะของไทยๆ ที่ไทยทำไทยใช้เท่านั้น         ผมได้ข้อมูลจากเครือข่ายภาคประชาสังคม กลุ่มผู้ป่วยเขตกรุงเทพมหานคร พี่เขาเล่าให้ฟังว่า ที่บ้านมีคนงานต่างชาติชาวพม่า เธอเป็นคนรักสวยรักงาม หลังๆ แอบสังเกตว่าหน้าเธอขาวขึ้นแบบผิดหูผิดตา ซักไซร้ไล่เลียงเลยทราบว่าเธอใช้ครีมทาหน้าขาว ที่ซื้อมาจากเพื่อนชาวพม่าที่มาทำงานใกล้ๆ บ้านกัน ด้วยความเป็นห่วงเพราะข่าวครีมหน้าขาวอันตรายเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ เลยไปขอดูครีมที่เธอใช้กัน ปรากฎว่าครีมที่ใช้เป็นครีมที่ไม่มีฉลากภาษาไทย แต่แสดงเป็นภาษาพม่าทั้งหมด จากการสอบถามได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า พวกเธอสั่งซื้อจากเพื่อนของเธอ ซึ่งซื้อต่อๆ กันมาจากผู้ขายผ่านทางโซเชียล เวลาสั่งก็จะสั่งทางไลน์ แว่วๆ ว่าผลิตในประเทศนี้แหละ แต่ไม่รู้ว่าคนผลิตคือโรงงานในประเทศ ผลิตแล้วติดฉลากภาษาพม่า เพื่อจำหน่ายในกลุ่มพวกเธอ หรือเป็นคนชาติเดียวกับเธอแอบลักลอบทำมาขายกันเอง         สาวใช้พม่ารายนี้ยังเล่าให้ฟังอีกว่า ไม่ได้มีแค่ครีมหน้าขาวนะ ยาแก้ปวดเมื่อยสำหรับแรงงานชาวพม่าก็มีจำหน่าย จัดเป็นชุดๆ มักขายให้พวกผู้ชาย ผู้หญิง ที่ใช้แรงงานหนักๆ หรือทำงานจนปวดเมื่อย กินแล้วได้ผลชะงัด เวลาซื้อก็จะสั่งต่อๆ กัน เขาก็จะส่งมาให้ ส่วนรายละเอียดบนฉลากก็เป็นภาษาพม่าเช่นเคย         พี่จากเครือข่ายภาคประชาสังคมค่อนข้างเป็นห่วง เพราะไม่ว่าจะเป็นใคร ชาติไหน ก็ไม่น่าจะต้องมาเสี่ยงอันตรายจากผลิตภัณฑ์พวกนี้ และยังเกรงว่าหากนิยมกันมากๆ อาจแพร่ระบาดมายังคนไทยที่ชอบลองของใหม่ๆ อีกด้วย ผมแนะนำเธอว่าถ้าเป็นไปได้ อยากให้ช่วยขอข้อมูลเพิ่มเติมว่าซื้อจากที่ไหน หรือถ้ามีตัวอย่างผลิตภัณฑ์พวกนี้ ขอให้นำมาให้ดูด้วย จะได้ช่วยกันสืบหาต้นตอแหล่งผลิต ว่าเป็นของที่ลักลอบผลิตกันในประเทศ หรือลักลอบนำเข้ามาทางชายแดนกันแน่         ตามกฎหมายอาหาร ยา เครื่องสำอาง ทุกชนิดที่ผลิต จำหน่าย หรือนำสั่งเข้ามาในประเทศ จะต้องแสดงฉลากเป็นภาษาไทย และต้องขออนุญาตให้ถูกต้องด้วย ซึ่งผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดก็จะมีรายละเอียดแตกต่างกันไป ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่สาวพม่านำมาใช้ หรือยาที่แรงงานต่างๆ นำมาใช้ จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย และยังมีความเสี่ยงเพราะไม่ทราบว่ามันมีส่วนผสมของอะไร และอันตรายหรือไม่ แต่ที่น่าสงสัยคือ ผลหลังจากการใช้มันเกิดขึ้นเร็วมาก ทั้งหน้าขาว หรือหายปวดเมื่อย จึงมีแนวโน้มว่าน่าจะผสมสารอันตราย         ฝากผู้อ่านทุกท่านคอยสอดส่องด้วยนะครับ หากมีข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์พวกนี้ ขอให้แจ้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้เลยครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 โอ้ละหนอ ... ดวงตาเอย

        ปัจจุบันเราใช้สายตาผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ มือถือสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตกันมาก ทำให้หลายคนอาจเกิดปัญหาต่างๆ ทางสายตามากขึ้น  จึงเป็นโอกาสทองของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่จะเข้ามาแทรกตรงนี้เพื่อให้ผู้บริโภคเคลิบเคลิ้มจนเสียเงินอย่างไม่จำเป็น โดยสารสำคัญล่าสุดที่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ยกมาอ้างถึงประโยชน์คือ “ลูทีน”         ในเว็บขายสินค้าทางอินเทอร์เน็ต พบว่ามีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลายชนิด ที่แจ้งว่ามีส่วนผสมของลูทีนและวิตามินต่างๆ แต่ที่เหมือนๆ กันคือ ทุกชนิดจะอ้างว่าตนเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงรักษาดวงตา บางผลิตภัณฑ์มีการนำผลการวิจัยที่มีตัวเลขต่างๆ มาอ้างอิงเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในการรักษา เหมือนว่าเพิ่มความขลัง แรกๆ ก็อ้างว่าสามารถรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมได้ แต่ลองอ่านไปเรื่อยๆ ก็พบว่ามีการอ้างว่ารักษาโรคต่างๆ มากขึ้นไปอีก ประหนึ่งว่ามันคือ อาหารเทวดา เช่น ความจำเสื่อมในผู้สูงอายุ  อาการหลอดเลือดแข็ง ลดไขมัน ทำให้ผิวพรรณสดใส ฯลฯ แต่ที่หาไม่เจอคือ ข้อมูลแสดงที่มาของการวิจัยว่าเป็นหน่วยงานทางวิชาการที่ไหนทำ หรือพูดภาษาบ้านๆ คือ ยกเมฆเอาข้อมูลมาอวดอ้าง แต่ไม่บอกแหล่งที่มาว่าใครวิจัย ดีที่ไม่อ้างว่าเทวดาวิจัย(ฮา)         เมื่อตามเข้าไปดูในเฟซบุ๊คของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด ยิ่งหนักขึ้นไปอีก มีการนำภาพผ้สูงอายุมาประกอบการโฆษณา โดยมีข้อความชวนตะลึงเข้าไปอีก เช่น “ทานต่อเนื่อง 3 กล่อง ต้อเนื้อหลุด ตาพร่ามัวดีขึ้น มองชัด” ผลิตด้วยเทคโนโลยีนาโน และยังแทคข้อความแฝงสรรพคุณต่างๆ เช่น #แสบตา #เคืองตา #น้ำตาไหล #ตาพร่ามัว #แพ้แสง #แพ้ลม #มองไม่ชัด#ภาพซ้อน #หยากไย่ลอยไปลอยมา #ตาบอดกลางคืน #ต้อลม #ต้อกระจก#ต้อเนื้อ #ต้อหิน ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีภาพกล่องพัสดุที่เตรียมส่งไปรษณีย์กองใหญ่ รวมทั้งโชว์ภาพใบส่งของไปรษณีย์ที่ยาวเหยียดมากมาย เหมือนโชว์ว่าสินค้านี้มีผู้สั่งซื้อจำนวนมาก         อันที่จริง ลูทีน เป็นสารอาหารในกลุ่มเดียวกับ เบต้าแคโรทีนและวิตามินเอ พบได้มากในผักและผลไม้หลายชนิด เช่น ผักปวยเล้ง บร็อคโคลี่ คะน้า ข้าวโพด กีวี องุ่น ส้ม ฯลฯ ดังนั้นไม่จำเป็นเลยที่จะต้องไปเสียเงินเสียทองซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแพงๆ มากิน หากใครติดตามข่าวจะพบว่าแม้กระทั่งจักษุแพทย์ เช่น ผศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังเคยออกมาเตือนผ่านทางสื่อต่างๆ ว่า โรคตาแต่ละชนิดมีแนวทางการรักษาที่แตกต่างกัน เช่น ถ้าเป็นต้อกระจกต้องผ่าตัดต้อกระจก หากเป็นต้อหินก็ต้องให้ยาลดความดันลูกตา ไม่สามารถใช้วิตามินกินแล้วบอกว่ารักษาทุกโรคได้         สารลูทีนและซีแซนทีน เป็นกลุ่มวิตามิน ซึ่งมีการศึกษาที่พิสูจน์ว่าได้ประโยชน์เฉพาะผู้ป่วยจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุบางประเภท “ที่ต้องได้รับการวินิจฉัยจากจักษุแพทย์ก่อน” จึงจะสามารถใช้ยาได้ “ดังนั้นการโฆษณาว่ารักษาโรคตาได้ทุกโรคนั้นไม่เป็นความจริง เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ หนำซ้ำจะทำให้เกิดอันตราย ขาดโอกาสในการรักษาที่ถูกต้อง ทำให้โรครุนแรงขึ้นจนถึงขั้นตาบอดได้” เช่น ถ้าเป็นต้อเนื้อ ก็จะลุกลามจนบังการมองเห็น ถ้าเป็นต้อกระจกก็จะทำให้อาการรุนแรงเกิดผลแทรกซ้อนกลายเป็นต้อหินและตาบอดในที่สุด ยิ่งถ้าเป็นต้อหินอยู่เดิมแล้วไม่ได้รับการรักษาด้วยยาลดความดันลูกตาอาจจะทำให้ตาบอดได้ บางคนอาจจะใช้เวลาเพียง 1-2 เดือนก็ทำให้ตาบอดได้        ทราบข้อมูลขนาดนี้แล้ว ช่วยๆ กันเตือนคนที่เรารัก ให้เท่าทัน หากมีปัญหาเรื่องตา ควรไปหาจักษุแพทย์ตรวจรักษาอย่างถูกวิธีดีกว่า อย่าไปหลงเป็นเหยื่อ ให้ผลิตภัณฑ์พวกมา...โอ้ละหนอ หลอกดวงตาจนอาจจะบอดเอย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 ผู้ป่วยควรเข้าถึงยาจากกัญชา แต่ต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตาอย่าให้ถูกหลอก

        ช่วงที่สังคมกำลังตื่นตัวเรื่องการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ มีการกำหนดช่วงเวลาให้ผู้ป่วยที่กำลังใช้ผลิตภัณฑ์จากกัญชา มาแจ้งข้อมูลที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในแต่ละจังหวัด ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ป่วยที่มาแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การได้รับผลิตภัณฑ์จากกัญชา ทราบว่าส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะให้ข้อมูลว่า มีคนนำมาจำหน่ายให้ หรือบางรายก็สั่งซื้อจากอินเทอร์เน็ต        ประเด็นที่เจ้าหน้าที่และพวกเราควรจะช่วยกันหาทางเพื่อคุ้มครองดูแลผู้ป่วยเหล่านี้คือ ผลิตภัณฑ์ที่พวกเขายอมเสียเงินเสียทองซื้อมา เป็นน้ำมันกัญชาจริงหรือไม่ เพราะข้อมูลราคาของน้ำมันกัญชาที่ผู้ป่วยแต่ละคนซื้อมา มีราคาแตกต่างกันมาก ตั้งแต่ขวดละ 500 ไปจนถึง 10,000 บาท         ผู้ป่วยที่น่าสงสารหลายรายที่ป่วยโรคเรื้อรังยอมเสียเงินแพงๆ เพราะคาดหวังผลในการรักษา ยิ่งสอบถามวิธีการใช้ ยิ่งน่าเป็นห่วงเพราะส่วนมากจะดูข้างขวดและมักจะเพิ่มขนาดการใช้เอง เพราะต้องการผลที่รวดเร็วขึ้น บางรายก็แอบใช้โดยไม่บอกใคร พอมาเจอยาแผนปัจจุบันที่ตนเองรับประทานเป็นประจำก็ยิ่งเสริมฤทธิ์กัน จนต้องนำส่งโรงพยาบาล กว่าผู้ป่วยจะยอมบอกคุณหมอ ก็แทบแย่         ล่าสุด ได้รับข้อมูลจากน้องเภสัชกรจากหลายๆ จังหวัดแจ้งว่า เริ่มมีขบวนการนำยามาเร่ขาย อ้างว่ามีส่วนผสมของกัญชา โดยคนที่มาเร่ขายจะบอกว่าเป็นยาจากโครงการหลวง เวลาจะซื้อต้องบอกหมายเลขบัตรประชาชนด้วย  และให้ไปขอใบรับรองจากแพทย์ว่าป่วย  อ้างว่าจะนำชื่อผู้ป่วยไปเข้าโครงการให้ ถ้าซื้อยาในวันนี้ ราคากระปุกละ 500 บาท แต่ถ้าไปซื้อที่โรงพยาบาลจะต้องเสียเงินถึง 750 บาท หลังจากเสียเงินแล้ว ผู้ป่วยจะได้รับแจกกัญชาสองต้น และอัญชันอีกหนึ่งต้น มีเหยื่อหลงเชื่อหลายราย         จากข้อมูลที่พบคาดว่า สถานการณ์ที่จะเอากระแสกัญชามาหลอกลวงผู้ป่วยเริ่มจะมีมากขึ้น และหลากหลายรูปแบบด้วย การนำผลิตภัณฑ์กัญชามาใช้ทางการแพทย์ เป็นทางเลือกให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาอย่างหนึ่ง แต่ผลิตภัณฑ์จากกัญชาก็เหมือนยาทั่วๆ ไป ที่มีทั้งคุณและโทษ ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุข ก็พยายามที่จะดูแลให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงยาอย่างปลอดภัย หากพบผู้ป่วยรายใดที่ใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาแล้วเกิดผลข้างเคียง ก็สามารถแจ้งข้อมูลยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ผ่านทางช่องทางนี้ได้ที่ http://thaihpvc.fda.moph.go.th/thaihvc/Marijuana/input-form.jsf        เมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับข้อมูลแล้ว จะติดต่อกลับ เพื่อสอบถามอาการ และรวบรวมเป็นข้อมูลในการเฝ้าระวังผลข้างเคียง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัยต่อไป        หากเราพบเห็นผลิตภัณฑ์แปลกๆ ที่อ้างว่ามีส่วนผสมของกัญชา ตลอดจนมีพฤติกรรมการขายที่หลอกให้ผู้ป่วยเสียเงินเสียทอง ขอให้รีบแจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อจะได้ช่วยกันดูแล อย่าให้ใครมาอาศัยสถานการณ์นี้ หลอกลวงซ้ำเติมผู้ป่วยที่น่าสงสารเหล่านี้อีก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 ถึงเวลาเอาคืนดาราและเน็ตไอดอล

        ข่าวที่ปรากฏครึกโครมทางสื่อมวลชล  ตั้งแต่กรณีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไล่จัดการเครื่องสำอางผิดกฎหมาย ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่แอบผสมยาลดน้ำหนัก จนกระทั่งล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ฯ สั่งเพิกถอนเลขสารบบอาหารผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชื่อดังยี่ห้อหนึ่ง ที่โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง โดยอ้างว่ารักษาโรคต่างๆ ที่เกี่ยวกับดวงตา จนผู้ป่วยจำนวนมากหลงเชื่อโฆษณาดังกล่าวและปล่อยให้อาการของโรคลุกลามจนไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้          หากติดตามข่าวจะพบว่าผลิตภัณฑ์ที่ถูกดำเนินคดีเหล่านี้ มีคนที่มีชื่อเสียง ทั้งดารา เน็ตไอดอล แม้กระทั่งนักแต่งเพลง ใช้ความดัง ความน่าเชื่อถือ หรือความชื่นชอบของบรรดาแฟนๆ มาโฆษณาผลิตภัณฑ์เหล่านี้ แม้ทางราชการจะไล่จับ แต่ก็ไม่ค่อยทัน ถึงเวลาแล้วที่ผู้บริโภคจะต้องตั้งสติ ให้เท่าทันการโฆษณาหลอกลวง         1. เห็นโฆษณาเมื่อใด ให้ตั้งคำถามกับตัวเองไว้ก่อนว่า เราเชื่อว่าพวกดาราและเน็ตไอดอลเหล่านี้ ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ตัวเองโฆษณาจริงหรือไม่ ถ้าดีจริงคนกลุ่มนี้ต้องไม่เจ็บไม่ป่วย เพราะผลิตภัณฑ์มันโฆษณาว่ารักษาได้สารพัดนึกนี่นา         2. ถ้าผลิตภัณฑ์พวกนี้ดีจริงอย่างที่โฆษณา ทำไมในโรงพยาบาลต่างๆ ไม่เอาไว้ใช้รักษาโรคให้กับผู้ป่วยที่มารักษาตัวในโรงพยาบาล         สิ่งสำคัญอีกอย่างที่พวกดาราและเน็ตไอดอลกลัว คือผลกระทบต่อความดัง หรือความฉาวของชื่อเสียง ถึงเวลาแล้วที่พวกเราต้องช่วยกัน เอาคืนดาราและเน็ตไอดอลเหล่านี้เสียที          1. เจอโฆษณาที่ไหน ให้บันทึกข้อมูลให้ละเอียด เช่น เว็บไซต์ไหน สื่อโซเชียลไหน ถ้าจับภาพหน้าจอหรือบันทึกคลิปได้ ให้บันทึกไว้เลย ระบุวันเวลาที่พบด้วย ถ้ามีเอกสารสิ่งตีพิมพ์ต่างๆ เช่น โปสเตอร์ แผ่นพับ ต่างๆ ให้เก็บไว้เป็นหลักฐาน         2. หาช่องทางติดต่อสอบถามดาราและเน็ตไอดอลเหล่านี้ว่าใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จริงหรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าทุกคนจะต้องตอบว่าใช้แน่นอน หลังจากนั้น ให้สอบถามถึงสรรพคุณต่างๆ ของผลิตภัณฑ์ที่ดาราและเน็ตไอดอลพวกนี้ว่าเป็นจริงที่ตามที่โฆษณาหรือไม่ เพื่อให้มีข้อมูลออกมาจากเขาโดยตรง จะได้ไม่ต้องอ้างเวลาถูกดำเนินคดีว่า ตนไม่รู้เรื่อง เจ้าของผลิตภัณฑ์เอาภาพตนไปทำโฆษณาเอง         3. จับภาพหน้าจอ หรือบันทึกคลิปที่ดาราหรือเน็ตไอดอลเหล่านี้ ยืนยันสรรพคุณต่างๆ ไว้เป็นหลักฐาน         4. นำข้อมูลและเอกสารต่างๆ ที่รวบรวมได้ ส่งต่อให้เจ้าหน้าที่ เพื่อดำเนินคดีต่อไป         5. พวกดาราและเน็ตไอดอล มักกลัวความฉาวส่งผลกระทบต่อความดัง มาตรการเอาคืนอีกทางหนึ่งคือ นำข้อมูลที่รวบรวมได้ ส่งต่อให้สื่อมวลชนที่เรารู้จัก หรือสื่อโซเชียลที่สนใจประเด็นเหล่านี้ นำไปขยายผลหรือติดตามตรวจสอบต่อไป         6. เมื่อผลคดีตัดสินว่า ดาราและเน็ตไอดอลทำผิดจริง ช่วยกันแสดงความคิดเห็นและทวงถามความรับผิดชอบจากดาราและเน็ตไอดอลเหล่านี้ หรือชวนกันบอยคอตไม่สนับสนุนผลงาน         ยิ่งเรารัก เราชื่นชอบดาราหรือเน็ตไอดอลคนไหน เรายิ่งต้องตรวจสอบ เพื่อดูแลให้พวกเขาอยู่ในร่องในรอยที่ถูกต้อง ไม่เผลอไผลไปกระทำผิดให้บรรดาแฟนๆ เจ็บช้ำใจนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 ยาแผนปัจจุบันในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อ้างสรรพคุณเพิ่มสมรรถภาพทางเพศสำหรับผู้ชายจากห้างค้าปลีกออนไลน์

        ภาวะองคชาติไม่แข็งตัว (Erectile Dysfunction) เป็นปัญหาที่เกิดได้จากหลายสาเหตุและวิธีที่ปลอดภัยคือการพบแพทย์เพื่อขอรับคำปรึกษา แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม มีคุณผู้ชายเป็นจำนวนมากไม่ยินดีพบแพทย์ เลือกที่จะทดลองรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอ้างสรรพคุณเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ที่โฆษณาว่าสามารถช่วยเพิ่มขนาดน้องชาย เพิ่มระยะความสุขในกิจกรรมทางเพศ ทำให้สู้ศึกได้ยาวนาน ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคำอวดอ้างสรรพคุณที่เกิดจากการลักลอบนำยาอันตราย ที่มีผลในการรักษาภาวะองคชาติไม่แข็งตัวผสมไปในผลิตภัณฑ์ โดยผลข้างเคียงของการรับประทานผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายนี้อาจเสี่ยงถึงเสียชีวิตได้         ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างการรักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศเหล่านี้ มีขายกลาดเกลื่อนบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งผู้บริโภคจำนวนหนึ่งอาจได้รับทราบคำเตือนจากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่บ้างว่ามีความเสี่ยง ทำให้หลายคนเปลี่ยนไปซื้อหรือสั่งซื้อสินค้าจากห้างค้าปลีกออนไลน์ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน โดยมีความเชื่อมั่นในตัวห้างออนไลน์ว่าจะช่วยคัดกรองผู้ผลิต ผู้ประกอบการให้กับทางผู้บริโภค แต่จะเป็นเช่นนั้นจริงๆ หรือ         นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงทดลองสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณช่วยแก้อาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ทำให้ฟิตเปรี๊ยะ ตลอดจนเพิ่มขนาดอวัยวะเพศ จำนวน 10 ตัวอย่าง จากห้างค้าปลีกออนไลน์ยอดนิยม 6 แห่ง ได้แก่ SHOPEE, Watsons, LAZADA, Shop at 24, 411estore.com, และ We mall  ระหว่างเดือนมีนาคม – เมษายน 2562 ส่งห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ อุบลราชธานี เพื่อทดสอบหาสาร (ยา) ในกลุ่มที่แก้อาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ได้แก่ ซิลเดนาฟิล (Sildenafil) ทาเดลาฟิล (Tadalafil) และ วาเดนาฟิล(Vardenafil) ซึ่งผลทดสอบเป็นที่น่าห่วงใยอย่างมาก ผลทดสอบ    ผลการทดสอบหายา ซิลเดนาฟิล(Sildenafil) ทาเดลาฟิล(Tadalafil) และ วาเดนาฟิล(Vardenafil) ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจำนวน 10 ตัวอย่าง จากห้างค้าปลีกออนไลน์ 6 แห่ง พบว่า 7 ใน 10 ตัวอย่าง มีการผสมสารหรือยาแผนปัจจุบัน ดังนี้    1.   DRACO รุ่นผลิต 15/01/2561 พบ ซิลเดนาฟิล สั่งซื้อจาก SHOPEE    2.   แซต4 (Z4) ตรา PLAYS รุ่นผลิต 3/01/2562 พบ ซิลเดนาฟิล สั่งซื้อจาก Watsons    3.   MO CHA รุ่นผลิต 7/02/2562 พบ ทาเดลาฟิล สั่งซื้อจาก SHOPEE    4.   OMG รุ่นผลิต 9/12/2560 พบ ซิลเดนาฟิล และ ทาเดลาฟิล สั่งซื้อจาก 411estore.com    5.   So Kool รุ่นผลิต 2/01/2562 พบ ซิลเดนาฟิล และ ทาเดลาฟิล สั่งซื้อจาก We mall    6.   CHU รุ่นผลิต 11/02/2562 พบ ซิลเดนาฟิล และ ทาเดลาฟิล สั่งซื้อจาก LAZADA    7.   Vitalmax Vitality Reborn รุ่นผลิต 16/11/2560 พบ ซิลเดนาฟิล และ ทาเดลาฟิล สั่งซื้อจาก LAZADA     ทั้งนี้พบว่า ทั้งหมดมีเลขสารบบอาหาร (อย.) เมื่อตรวจสถานะพบว่า สถานะยังคงอยู่ (ล่าสุดเดือนเมษายน 2562) โดย ยี่ห้อ Vitalmax Vitality Reborn นั้นมีชื่อผลิตภัณฑ์ไม่ตรงกับในเลขสารบบอาหารการขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ลักลอบผสมยาแผนปัจจุบันมีโทษตามกฎหมาย        หากผลิตภัณฑ์ใดได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์อาหารในประเทศไทยและมีสาร  ซิลเดนาฟิล(Sildenafil) ทาเดลาฟิล (Tadalafil) และวาเดนาฟิล (Vardenafil) ซึ่งเป็นยาแผนปัจจุบันเป็นส่วนผสม ถือว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(1) ประกอบมาตรา 26(1) ต้องได้รับโทษตามมาตรา 58 คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรืออาจเข้าข่ายอาหารปลอมหากมีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงให้เกิดความเข้าใจผิด ตามมาตรา 25(2) ประกอบมาตรา 26(3) ต้องระวางโทษตามมาตรา 59 คือ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาท

อ่านเพิ่มเติม >