ผลการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน ในกรุงเทพมหานคร

        นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินในกรุงเทพมหานครโดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,204 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 5 - 10 มีนาคม 2565 กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง        ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้เรื่องการกู้ยืมเงินในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมานั้น ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจถึงแม้รัฐบาลจะมีโครงการต่างๆ ออกมาเพื่อเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ประชาชนก็มีความจำเป็นที่จะต้องกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินกู้ต่างๆ แล้วในช่วงต้นปี 2565 สถานการณ์สงครามระหว่างประเทศรัสเซียและประเทศยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนในส่วนของค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น โดยการกู้เงินในปัจจุบันนั้นสามารถทำได้โดยผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งทำให้การกู้ยืมเงินสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว โดยจะนำเสนอข้อมูล  ผ่านช่องทางทั้ง SMS  ไลน์ เฟสบุ๊ก โดยใช้ข้อความชวนเชื่อว่า กู้ง่าย ได้เร็ว ดอกเบี้ยต่ำ ใช้เอกสารน้อย ไม่ต้องมีหลักประกัน โดยการกู้ยืมเงินผ่านสถาบันทางการเงินที่เป็นผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตในการประกอบธุรกิจสินเชื่อจากธนาคารแห่งประเทศไทย รวมไปถึงการกู้ยืมเงินที่ผิดกฎหมาย ประชาชนที่มีความเดือดร้อนจากเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาได้กู้ยืมเงิน แต่กับถูกซ้ำเติมจากการกู้ยืมเงินที่ผิดกฎหมาย สิ่งที่สะท้อนว่าปัญหาด้านเศรษฐกิจของประชาชนในประเทศเป็นสิ่งที่เป็นปัญหาอันดับต้นๆของประเทศ การผิดชำระในการกู้ยืมเงินมีเพิ่มสูงขึ้น การทวงหนี้ที่ไม่เหมาะสมต่อลูกหนี้ เช่น การใช้ถ้อยคำที่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างรุนแรง การคุกคาม การขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย หรือการทำให้เสียชื่อเสียง รวมถึงการให้ข้อมูลเท็จและการสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่บุคคลอื่น ซึ่งผิดตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 เนื่องจากพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ที่เป็นการปกป้องลูกหนี้จากการทวงถามหนี้ ในรูปแบบต่างๆ โดยผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อเรื่องการกู้ยืมเงินในกรุงเทพมหานคร มีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้          กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีหนี้สินหรือการกู้ยืมเงินโดยนำไปซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์ เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 35.8 อันดับสองคือ นำไปซื้อบ้าน ที่พักอาศัย ร้อยละ 31.8 อันดับสามคือ การกู้ยืมนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ร้อยละ 27.5 อันดับสี่คือ นำไปใช้ในการหมุนเวียนในธุรกิจ และ นำไปใช้เพื่อการศึกษา ร้อยละ 18.9 และอันดับห้าคือ นำไปใช้ในการลงทุนทำธุรกิจ ร้อยละ 17.3          รูปแบบการกู้ยืมเงินของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คือ การกู้ยืมสินเชื่อส่วนบุคคล ร้อยละ 34.2 อันดับสองคือ การกู้ซื้อบ้าน ที่พักอาศัย ร้อยละ 30 อันดับสามคือ การกู้ซื้อรถยนต์ ร้อยละ 23.1 อันดับสี่คือ การกู้ยืมจากกองทุน ร้อยละ 19.5 และอันดับห้าคือ การกู้ยืมจากหนี้นอกระบบ ร้อยละ 17.4          โดยหนี้สินหรือการกู้ยืมเงิน เป็นการกู้ยืมผ่านบริษัทไฟแนนซ์/ลิสซิ่ง เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 33.1 อันดับสองคือ ธนาคารพาณิชย์ ร้อยละ 31.4 อันดับสามคือ คนปล่อยกู้ ร้อยละ 21.9 อันดับสี่คือ บริษัทสินเชื่อเงินด่วน ร้อยละ 17 และอันดับห้าคือ แอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 14.4          กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่เคยกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 61 รองลงมาคือ เคยกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 21.8 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 17.2 โดยได้รับข้อมูลของบริษัทกู้เงินผ่านแอปพลิเคชัน ผ่านทางช่องทาง SMS มากที่สุด ร้อยละ 33.7 รองลงมาคือ ไลน์ ร้อยละ 31.7 และเฟสบุ๊ก ร้อยละ 30.8          กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ได้รับสัญญาเงินกู้จากการกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 41 ได้รับเงินเต็มตามจำนวนที่ได้กู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 35.4 และทราบอัตราดอกเบี้ยในการกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 43.3          โดยทราบว่าแอปพลิเคชันเงินกู้ที่ผิดกฏหมาย จะมีการขอข้อมูลส่วนตัวท่าน รูปถ่าย รูปบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร และรายชื่อผู้ติดต่อในโทรศัพท์มือถือ ร้อยละ 58.2 ทราบว่าแอปพลิเคชันเงินกู้ที่ผิดกฏหมายจะมีการคิดค่าธรรมเนียม 39% และคิดค่าอัตราดอกเบี้ย 0.05% ต่อวัน และให้ชําระเงินคืน ภายใน 7 วัน  ร้อยละ 41.7          รวมไปถึง ทราบว่าสามารถตรวจสอบแอปพลิเคชันเงินกู้ ที่เป็นผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตในการประกอบธุรกิจสินเชื่อจากธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ร้อยละ 44.1 และ  ทราบว่าสามารถแจ้งความดำเนินคดีหากตกเป็นผู้เสียหายจากแอปพลิเคชันเงินกู้ ที่ผิดกฏหมาย ที่สถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) สายด่วน 1599 ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง สายด่วน 1359 หรือ ส่งเรื่องร้องเรียนออนไลน์ ร้อยละ 50.5         กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เคยถูกทวงถามหนี้ ในลักษณะพูดจาไม่สุภาพ เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 37 อันดับสองคือ คิดดอกเบี้ยแพงเกินจริง ร้อยละ 30.1 อันดับสามคือ ประจานทำให้อับอาย ร้อยละ 21.5 อันดับสี่คือ จดหมาย/ไปรษณีย์เปิดผนึก ร้อยละ 19.7 และอันดับห้าคือ การข่มขู่ ร้อยละ 17.4     โดยทราบว่า การทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายเป็นอย่างไร ร้อยละ 46.4 ทราบว่าเจ้าหนี้ห้ามทวงถามหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ ทวงถามได้เฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00-20.00 น. วันหยุดราชการ เวลา 8.00-18.00 น. สามารถทวงถามได้ไม่เกินวันละ 1 ครั้ง ร้อยละ 47.2 ทราบว่าเจ้าหนี้ห้ามทวงถามในลักษณะข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือทำอะไรที่นำไปสู่ความเสียหายต่อร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 59.3 และทราบว่า เจ้าหนี้ห้ามใช้วาจาดูหมิ่น พร้อมทั้งห้ามเปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง รวมถึงห้ามติดต่อลูกหนี้โดยใช้ไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อถึงการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 53.1         กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ได้ผลกระทบอะไรจากการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายจากเจ้าหนี้ อันดับหนึ่ง คือถูกประจานทำให้อับอาย ร้อยละ 34 อันดับสองคือ ถูกส่งคนติดตาม ร้อยละ 23.3 อันดับสามคือ ถูกข่มขู่ ร้อยละ 14.5 อันดับสี่คือ ถูกทำร้ายร่างกาย ร้อยละ 11 และอันดับห้าคือ อื่นๆ ร้อยละ 17.2   ส่วนที่ 1 ความเห็นเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน  1. เหตุผลที่ท่านทำการกู้ยืมเงิน (ตอบได้มากว่า 1 ข้อ)     นำไปซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์                ร้อยละ   35.8     นำไปซื้อบ้าน ที่พักอาศัย                          ร้อยละ   31.8     นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน                          ร้อยละ   27.5     นำไปใช้เพื่อการศึกษา                             ร้อยละ   18.9     นำไปใช้ในการหมุนเวียนในธุรกิจ               ร้อยละ   18.9     นำไปใช้ในการลงทุนทำธุรกิจ                   ร้อยละ   17.3     อื่นๆ                                                       ร้อยละ   0.2   2. ท่านมีหนี้สินหรือการกู้ยืมเงิน ในรูปแบบใดบ้าง (ตอบได้มากว่า 1 ข้อ)     การกู้ยืมสินเชื่อส่วนบุคคล                        ร้อยละ   34.2     การกู้ซื้อบ้าน ที่พักอาศัย                          ร้อยละ   30     การกู้ซื้อรถยนต์                                      ร้อยละ   23.1     การกู้ยืมจากกองทุน                                ร้อยละ   19.5     การกู้ยืมจากหนี้นอกระบบ                        ร้อยละ   17.4     การกู้ยืมจากแอปพลิเคชันเงินกู้                ร้อยละ   14.5     การกู้ยืมจากสหกรณ์                               ร้อยละ   14.2               3. ท่านมีหนี้สินหรือการกู้ยืมเงิน จากผู้ให้กู้ยืมเงินในแบบใด (ตอบได้มากว่า 1 ข้อ)     บริษัทไฟแนนซ์/ลิสซิ่ง                           ร้อยละ   33.1     ธนาคารพาณิชย์                                    ร้อยละ   31.4     คนปล่อยกู้                                            ร้อยละ   21.9     แอปพลิเคชันเงินกู้                                ร้อยละ   14.4     บริษัทสินเชื่อเงินด่วน                            ร้อยละ   17     สหกรณ์                                               ร้อยละ   11.1     กองทุน                                               ร้อยละ   10.4                   ------ 4. ท่านเคยกู้เงินผ่าน แอปพลิเคชันเงินกู้ หรือไม่     เคย                                            ร้อยละ   21.8     ไม่เคย                                        ร้อยละ   61     ไม่แน่ใจ                                      ร้อยละ   17.2   *****กลุ่มตัวอย่างที่ตอบข้อ 4.1 - 4.4 มีจำนวน 416 กลุ่มตัวอย่าง*****   4.1 ท่านได้รับข้อมูลของบริษัทกู้เงินผ่านแอปพลิเคชัน ผ่านทางช่องทางใด     SMS                              ร้อยละ   33.7     Line                               ร้อยละ   31.7     Facebook                      ร้อยละ   30.8     อื่นๆ                                ร้อยละ   3.8  4.2 ท่านได้รับสัญญาเงินกู้จากการกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ หรือไม่     ได้รับสัญญาเงินกู้                           ร้อยละ   41     ไม่ได้รับสัญญาเงินกู้                       ร้อยละ  33.6      ไม่แน่ใจ                                        ร้อยละ   25.4 4.3 ท่านได้รับเงินเต็มตามจำนวนที่ท่านได้กู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ หรือไม่     ได้รับเงินเต็มตามจำนวน                 ร้อยละ   35.4     ไม่ได้รับเงินเต็มตามจำนวน             ร้อยละ  32     ไม่แน่ใจ                                        ร้อยละ   32.6  4.4 ท่านทราบอัตราดอกเบี้ยในการกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ หรือไม่     ทราบ                                        ร้อยละ   43.3      ไม่ทราบ                                    ร้อยละ   28.8     ไม่แน่ใจ                                    ร้อยละ   27.9  5. ท่านทราบหรือไม่ว่า แอปพลิเคชันเงินกู้ที่ผิดกฏหมาย จะมีการขอข้อมูลส่วนตัวท่าน รูปถ่าย รูปบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร และรายชื่อผู้ติดต่อในโทรศัพท์มือถือของท่าน     ทราบ                                        ร้อยละ   58.2      ไม่ทราบ                                    ร้อยละ   27     ไม่แน่ใจ                                    ร้อยละ   14.8 6. ท่านทราบหรือไม่ว่า แอปพลิเคชันเงินกู้ที่ผิดกฏหมายจะมีการคิดค่าธรรมเนียม 39% และคิดค่าอัตราดอกเบี้ย 0.05% ต่อวัน และให้ชําระเงินคืน ภายใน 7 วัน ยกตัวอย่าง ท่านกู้เงิน 2,000 บาท จะได้เงินกู้เพียง 1,220 บาท แต่ต้องชําระเงินคืน 2,007 บาท     ทราบ                                        ร้อยละ   41.7     ไม่ทราบ                                    ร้อยละ   39.5     ไม่แน่ใจ                                    ร้อยละ   18.8  7. ท่านทราบหรือไม่ว่า ท่านสามารถตรวจสอบแอปพลิเคชันเงินกู้ ที่เป็นผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตในการประกอบธุรกิจสินเชื่อจากธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย        ทราบ                                        ร้อยละ   44.1     ไม่ทราบ                                    ร้อยละ   35.3     ไม่แน่ใจ                                    ร้อยละ   20.6 8. ท่านทราบหรือไม่ว่า ท่านสามารถแจ้งความดำเนินคดีหากท่านตกเป็นผู้เสียหายจากแอปพลิเคชันเงินกู้ ที่ผิดกฎหมาย ที่สถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) สายด่วน 1599 ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง สายด่วน 1359 หรือ ส่งเรื่องร้องเรียนออนไลน์     ทราบ                                         ร้อยละ   50.5     ไม่ทราบ                                     ร้อยละ   31.6     ไม่แน่ใจ                                     ร้อยละ   17.9 9. ท่านเคยถูกทวงถามหนี้ ในลักษณะใดบ้าง (ตอบได้มากว่า 1 ข้อ)     พูดจาไม่สุภาพ                                    ร้อยละ   37     คิดดอกเบี้ยแพงเกินจริง                       ร้อยละ   30.1     ประจานทำให้อับอาย                           ร้อยละ   21.5     การข่มขู่                                             ร้อยละ   17.4     จดหมาย/ไปรษณีย์เปิดผนึก                 ร้อยละ   19.7     ทวงหนี้กับญาติ                                  ร้อยละ   16.2     ส่งคนติดตาม                                     ร้อยละ   15.3     ทวงหนี้กับเพื่อน/หัวหน้างาน                ร้อยละ   11      10.      ท่านทราบหรือไม่ว่า การทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายเป็นอย่างไร     ทราบ                                                 ร้อยละ   46.4     ไม่ทราบ                                             ร้อยละ   29.2     ไม่แน่ใจ                                             ร้อยละ   24.4  11.      ท่านทราบหรือไม่ว่า เจ้าหนี้ห้ามทวงถามหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ ทวงถามได้เฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00-20.00 น. วันหยุดราชการ เวลา 8.00-18.00 น. สามารถทวงถามได้ไม่เกินวันละ 1 ครั้ง     ทราบ                                          ร้อยละ   47.2     ไม่ทราบ                                      ร้อยละ   30.8     ไม่แน่ใจ                                      ร้อยละ   22 12.      ท่านทราบหรือไม่ว่า เจ้าหนี้ห้ามทวงถามในลักษณะข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือทำอะไรที่นำไปสู่ความเสียหายต่อร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย     ทราบ                                          ร้อยละ   59.3     ไม่ทราบ                                      ร้อยละ   18.7     ไม่แน่ใจ                                      ร้อยละ   22  13.      ท่านทราบหรือไม่ว่า เจ้าหนี้ห้ามใช้วาจาดูหมิ่น พร้อมทั้งห้ามเปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง รวมถึงห้ามติดต่อลูกหนี้โดยใช้ไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อถึงการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย     ทราบ                                          ร้อยละ   53.1     ไม่ทราบ                                      ร้อยละ   23.4     ไม่แน่ใจ                                      ร้อยละ   23.5       14.      ท่านได้ผลกระทบอะไรจากการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายจากเจ้าหนี้บ้าง      ถูกประจานทำให้อับอาย                       ร้อยละ   34     ถูกส่งคนติดตาม                                  ร้อยละ   23.3     อื่นๆ                                                   ร้อยละ   17.2     ถูกข่มขู่                                              ร้อยละ   14.5     ถูกทำร้ายร่างกาย                                ร้อยละ   11   ข้อมูลด้านประชากรศาสตร์   1. เพศ               หญิง                        ร้อยละ   51.7     ชาย                         ร้อยละ   48.3   2. อายุ           36 – 40  ปี            ร้อยละ   23.7     31 – 35  ปี              ร้อยละ   23.1     26 – 30  ปี              ร้อยละ   16.5     41 -  45 ปี               ร้อยละ   16.3     46 -  50 ปี               ร้อยละ   9.7     20 – 25  ปี              ร้อยละ   7.6     มากกว่า 50 ปี          ร้อยละ   2.2     ต่ำกว่า 20 ปี            ร้อยละ   0.8     3. อาชีพ         พนักงานบริษัทเอกชน                                    ร้อยละ   26.2     ข้าราชการ/พนักงานของรัฐ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ                 ร้อยละ   22.2     รับจ้างทั่วไป                                                                   ร้อยละ   17.9     พ่อค้า/แม่ค้า                                                                   ร้อยละ   14.6     แม่บ้าน/พ่อบ้าน                                                               ร้อยละ   12     นักเรียน / นิสิต / นักศึกษา                                                ร้อยละ   7.1      

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 รู้เท่าทันโรคขาดธรรมชาติ

        เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 12 พฤศจิกายน 2021 มีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 (อังกฤษ: 2021 United Nations Climate Change Conference) หรือรู้จักในชื่อย่อว่า COP26  เป็นการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 จัดขึ้นที่กลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร  เป้าหมายสำคัญของการประชุมคือ การคุมไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส         ปัจจุบัน ความรุนแรงของภัยธรรมชาติเกิดจากหายนะที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ไม่ใช่จากภัยธรรมชาติ การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกเพียงเล็กน้อยจะส่งผลทำให้เกิดหายนะอย่างรุนแรงไปทั่วโลก และมีผลทำให้ภูมิอากาศของแต่ละประเทศเปลี่ยนแปลงและไม่สามารถคาดเดาได้ พายุ น้ำท่วม ฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลง น้ำทะเลขึ้นสูง ไฟไหม้ป่า ต่างๆ เหล่านี้จะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ  และมนุษยชาติส่วนใหญ่จะยังไม่ตระหนักถึงภัยร้ายจนกว่าจะจะสายเกินแก้ไข         ผลกระทบต่อสุขภาพของอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น มีตั้งแต่ เรื่องความมั่นคงทางอาหาร น้ำดื่ม          ผู้สูงอายุ เด็ก สตรี ที่มีโรคเรื้อรัง และผู้ที่ต้องกินยาประจำบางชนิด จะเกิดความเสี่ยงสูงสุด โรคระบาดที่เกิดจากแมลงจะเพิ่มสูงขึ้น อาหารจะมีคุณค่าทางอาหารลดลง         อีกประเด็นหนึ่งที่ ธรรมชาติมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คน และเริ่มมีการกล่าวถึงมากขึ้นในปัจจุบัน คือ อาการของโรคขาดธรรมชาติ          โรคขาดธรรมชาติเกิดจากการที่วิถีชีวิตของคนในปัจจุบันเริ่มห่างไกลหรือสัมผัสธรรมชาติน้อยลง วิถีชีวิตที่อยู่ในเมือง รวมถึงการไม่มีเวลาหรือไม่ใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติ ทำให้เกิดอาการต่างๆ ได้แก่ ความเหนื่อยล้า การไม่มีสมาธิ ประสาทสัมผัสต่างๆ ลดลง การขาดความสุขและคุณค่าของชีวิต         เมื่อไปพบแพทย์เพื่อหาโรคหรือความผิดปกติ ก็อาจไม่พบอะไรทางกายภาพที่ผิดปกติ การตรวจเลือด เอกซเรย์ก็ไม่พบความผิดปกติ หมอก็อาจจ่ายยาลดความเครียด ยาบำรุง ทำให้ต้องพึ่งยาแผนปัจจุบันมากขึ้น จนเมื่อไม่กินยาก็ไม่มีความสุข         อาการของโรคขาดธรรมชาติเป็นที่รู้จักกันครั้งแรกเมื่อ ริชาร์ด ลุฟว์ ได้เขียนหนังสือเรื่อง Last Child in the Wood ในปีพ.ศ. 25485 ทำให้ผู้คนเริ่มให้ความสำคัญกับธรรมชาติมากยิ่งขึ้น หนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยชื่อ เด็กคนสุดท้ายในป่า ในปีพ.ศ. 2563 ทำให้คนไทยเริ่มรู้จักคำว่า โรคขาดธรรมชาติ         ต่อมา นายแพทย์ยามาโมโตะ ทัดสึทาเกะ ชาวญี่ปุ่น ซึ่งทำการรักษาผู้ป่วยชาวญี่ปุ่นที่มีอาการขาดธรรมชาติจำนวนมาก ได้เขียนหนังสือเรื่อง โรคขาดธรรมชาติ ปีพ.ศ. 2557 ซึ่งมูลนิธิเพื่อเด็กพิการร่วมกับสำนักพิมพ์โกมลคีมทอง แปลและจัดพิมพ์เป็นภาษาไทย ในปีพ.ศ. 2564 เพื่อเผยแพร่ให้รู้จักโรคนี้และการเยียวยารักษา         ธรรมชาติที่ผิดปกติ ภาวะที่โลกร้อนขึ้น ส่งผลทางมหภาคต่อโลกใบนี้อย่างรุนแรง ในขณะเดียวกัน การขาดและห่างเหินขาดธรรมชาติที่แท้จริง ก็ส่งผลต่อมนุษย์ทั้งทางกายภาพและจิตใจ         สุขภาวะของมนุษย์ในปีพ.ศ. 2565 ที่มาถึง นอกจากการฟื้นฟูสภาวะทางจิตใจที่บอบช้ำจากการระบาดของโควิด-19 แล้ว ยังต้องให้ความสำคัญในการฟื้นฟูธรรมชาติรอบตัวเราอีกด้วย เราต้องฟื้นฟูการปลูกป่า การไม่ตัดไม้ใหญ่ที่มีอยู่ การสร้างสวนป่า สวนสาธารณะ และหาเวลาอยู่กับธรรมชาติให้มากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 กะรัตรัก : ถ้าคบผู้ใหญ่สร้างบ้านแล้วไม่น่าอยู่ ลองคบเด็กสร้างบ้านก็ไม่เลวนัก

               ตามสามัญสำนึกคนทั่วไป “ความรักโรแมนติก” หรือที่เรียกติดปากว่า “โรมานซ์” เป็นอารมณ์ปรารถนาที่มักตอบโจทย์ให้กับสตรีที่อยู่ในช่วงวัยแรกรุ่น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า ความรักโรแมนติกเป็นพื้นที่ที่เอื้อให้หญิงสาวในวัยนี้ได้ “หลบหนี” เพื่อไปแต่งปั้นจินตกรรมภาพ “ผู้ชายในฝัน” ที่เธอคาดหมายจะครองคู่ในอนาคต         หากเป็นดั่งความข้างต้นนี้ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าผู้หญิงที่มีชีวิตเกินวัยแรกเริ่มความรักโรแมนติก และได้พบเจอกับ “ผู้ชายในชีวิตจริง” กันแล้ว ปรารถนาจะหวนมาสัมผัสชีวิตรักโรมานซ์กันอีกสักครั้งบ้าง คำถามข้อนี้จะเป็นไปได้หรือไม่ และความรักโรแมนติกจะสัมพันธ์กับความต้องการของผู้หญิงกลุ่มหลังนี้อย่างไร         คำตอบต่อความสงสัยข้างต้นดูจะเป็นโครงเรื่องหลักของละครโทรทัศน์ “กะรัตรัก” กับการนำเสนอเรื่องราวของ “กะรัต” หญิงสาวเฉียดวัย 40 ปี ผู้บริหารคนเก่งแห่งบริษัทอสังหาริมทรัพย์ “ไดมอนส์พร็อพเพอร์ตี้” และแต่งงานอยู่กินกับสามีนักธุรกิจอย่าง “ชาคริต” ที่เป็นผู้บริหารงานอีกคนในบริษัทเดียวกัน         แม้จะมีลูกชายหัวแก้วหัวแหวนวัย 6 ขวบอย่าง “พัตเตอร์” เป็นโซ่ทองคล้องใจ และคล้องผูกสายสัมพันธ์ในครอบครัวมานานหลายปี แต่เพราะกะรัตเป็นหญิงแกร่งและหญิงเก่งไปเสียแทบจะทุกด้าน สถานะของ “ช้างเท้าหลัง” ในบ้านที่จับพลัดจับผลูย่างก้าวมาเทียบเคียงเป็น “ช้างเท้าหน้า” เช่นนี้ จึงเป็นเหตุปัจจัยที่ผู้ชายอีโก้สูงเยี่ยงชาคริตมิอาจยอมรับได้         ยิ่งเมื่อทั้งกะรัตและชาคริตต้องมาลงสนามแย่งชิงตำแหน่งผู้กุมบังเหียนโปรเจ็กต์เปิดตัวใหม่ “ริเวอร์ไชน์” ของบริษัทต้นสังกัดด้วยแล้ว ความริษยาลึกๆ ต่อศรีภรรยาก็ยิ่งเป็นเสมือนเชื้อเพลิงในใจของชาคริตที่รอคอยวันระเบิดปะทุออกมา         ความขัดแย้งบนผลประโยชน์นอกบ้าน ที่เขย่าความสัมพันธ์ของสามีภรรยาที่แม้จะใช้ชีวิตคู่ในชายคาบ้านเดียวกันมายาวนาน ทำให้กะรัตเองก็เริ่มเข้าใจสัจธรรมว่า “เขาย่อมเปรียบเทียบความเมื่อยามรัก แต่น้ำผักต้มขมชมว่าหวาน” แต่ทว่าหลังวันแต่งงานผ่านพ้นไป ชีวิตรักโรแมนติกที่เคย “ชมว่าหวาน” ก็อาจเจือจางจน “แต่น้ำตาลว่าเปรี้ยวไม่เหลียวแล” ได้เช่นกัน         สถานการณ์ของหญิงทำงานวัยสี่สิบกะรัตยิ่งเข้มข้นขึ้น ไม่เพียงแค่ในสนามแข่งขันกับชาคริตผู้เป็นสามี และยังมี “เวนิส” สาวรุ่นใหม่ไฟแรงที่เปิดตัวเป็นคู่แข่งเพื่อชิงชัยเป็นเจ้าของโปรเจ็กต์ริเวอร์ไชน์ด้วยอีกคน แม้แต่ในสนามชีวิตครอบครัว กะรัตยังต้องประกาศสงครามกับ “นิตา” เลขานุการสาว ผู้มุ่งมั่นเป็น “แมวขโมยปลาย่าง” ที่คอยจะฉกเอาชาคริตผู้กำลังระหองระแหงกับภรรยามาเป็นสามีของตน         จนในที่สุด เมื่อศึกรุมเร้ารอบด้าน พร้อมๆ กับความรักหวานชื่นที่โรยราจืดจางลง เพราะสามียื่นเจตจำนงขอหย่าขาดจากภรรยา กะรัตผู้ที่กำลังก้าวหน้าในอาชีพการงาน จึงเลือกหันไปครวญเพลงในยุค 90s ของ ใหม่ เจริญปุระ ที่ร้องว่า “เก็บใจไว้ในลิ้นชัก คงไม่เจอแล้วรักแท้ เบื่อกับความปรวนแปร มันไม่แคร์และไม่หวัง…”         เมื่อหัวใจต้องแห้งแล้งลง ไม่ต่างจาก “ลิ้นชักที่ปิดตายเพราะรักร้าว” ผู้หญิงที่ก้าวเข้าสู่วัยกลางคนเช่นกะรัตก็ได้แต่เชื่อว่า เธอไม่อาจหวนมาสัมผัสกับชีวิตรักโรมานซ์ได้อีก เหมือนกับประโยคที่เธอพูดกับตัวเองหลังถูกสามีขอหย่าว่า “ฉันต้องกลายเป็นอีบ้าที่หมดความต้องการทางเพศ หมดเสน่ห์และแรงดึงดูดทางเพศแบบที่สาวๆ พึงมี” ทั้งๆ ที่จริงแล้ว กะรัตก็สำเหนียกอยู่ลึกๆ ว่า “จะบอกอะไรให้ ผู้หญิงต้องการความรักมากที่สุด”         ในขณะที่อารมณ์ความรู้สึกของผู้หญิงวัยเฉียดเลข 40 มีแต่จะแห้งเหือดลงไปพร้อมกับสายสัมพันธ์ที่แปลกแยกและเปราะบาง เฉกเช่นฉากเปิดเรื่องของละครที่กะรัตถูกขอหย่า และต้อง “ยืนอยู่กลางลมฝนสู้ทนฟันผ่า” เพราะประตูรถหนีบชายกระโปรงเอาไว้ กลับมีตัวละครชายหนุ่มหน้ามนอย่าง “ไอ่” ปรากฏกายเดินถือร่มคันใหญ่มากางปกป้องเธอไว้ในสภาวะของ “กายที่มันอ่อนล้าแทบยืนไม่อยู่” นั้นเอง         ไอ่เป็นตัวละครนักศึกษาฝึกงานด้านสถาปัตย์ อันที่จริงแล้ว ชายหนุ่มแอบตกหลุมรักกะรัตตั้งแต่ครั้งที่เธอได้รับเชิญมาบรรยายเป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัย และก็เหมือนกับที่ไอ่กล่าวกับกะรัตว่า “ถ้าจักรวาลมีเหตุผลมากพอให้เราได้เจอกัน ยังไงเราก็จะได้เจอกัน” ดังนั้น ในท้ายที่สุดเหตุผลแห่งจักรวาลก็ทำให้ทั้งคู่ได้โคจรมาพบกันในวันที่ชีวิตของผู้หญิงอย่างกะรัตรู้สึกอ่อนแอที่สุด         หากโรมานซ์เป็นความรู้สึกที่เติมเต็มภาพ “ชายในฝัน” ให้กับผู้หญิงสาวแรกรุ่นทั้งหลาย อารมณ์รักโรแมนติกแบบเดียวกันนี้ก็สามารถเป็นกลไก “ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ” ทางความรู้สึกให้กับผู้หญิงที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยกลางคนได้ไม่ยิ่งหย่อนกัน         เพราะฉะนั้น เมื่อไอ่เริ่มตั้งคำถามกับกะรัตถึง “บ้าน” ว่าเป็น “สถานที่ที่มีคนเปิดไฟรอให้เรากลับมา แล้วเราก็พูดว่า กลับมาแล้วครับ” และตามด้วยการ “ขายขนมจีบ” ให้กับบอสสาวรุ่นใหญ่ว่า “ถ้าคบผู้ใหญ่สร้างบ้านแล้วไม่น่าอยู่ ลองคบเด็กสร้างบ้านก็ไม่เลวนัก” กะรัตจึงตอบตกลงที่จะครวญเพลงยุค 90s ต่อเนื่องให้กับชายหนุ่มรุ่นน้องว่า “เก่งมาจากไหนก็แพ้หัวใจจากเธอ เมื่อไหร่ที่เผลอยังนึกว่าเธออยู่ในฝัน…”         แม้เมื่อเลิกร้างกับชาคริตไป กะรัตจะมี “มาร์ก” ซีอีโอรูปหล่อพ่อม่ายเรือพ่วง แถมคุณสมบัติเหมาะสมกันทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ และฐานะการงานการเงิน เสนอตัวมาเป็นพ่อเลี้ยงคนใหม่ให้กับน้องพัตเตอร์ แต่เรื่องของความรักก็หาได้เกี่ยวพันกับเหตุผลเรื่องความแตกต่างระหว่างวัยไม่ เพราะไอ่ได้กลายมาเป็นคำตอบในใจโทรมๆ ของกะรัตไปแล้ว และความรู้สึกโรมานซ์ที่มีต่อหนุ่มรุ่นน้องห่างวัยในครั้งนี้ ก็ได้ทำให้ผู้หญิงวัยเฉียดสี่สิบกะรัตเหมือนมีน้ำทิพย์ชะโลมใจ และย้อนวัยให้เธอเป็นประหนึ่งดรุณีดอกไม้แรกรุ่นกันอีกครา         เหมือนกับที่บทเพลงบอกว่า “ยังมีอีกหรือรักแท้ที่เคยเสาะหามานาน วันนี้เป็นไงเป็นกันจะรักเธอ…” ดังนั้น เพื่อต่อสู้ให้ได้มาซึ่งผู้ชายในฝันที่เธอปรารถนา ควบคู่ไปกับการช่วงชิงชัยในเกมธุรกิจของบริษัท เราจึงเห็นภาพของกะรัตที่เดินเกมรุกนั่งกินโต๊ะจีนกับครอบครัวของไอ่ เข้าสู่สนามต่อสู้กับ “อัญญา” คู่แข่งรุ่นเด็กกว่าที่แอบมาชอบชายหนุ่มคนเดียวกับเธอ ไปจนถึงตอบรับรักหนุ่มรุ่นน้องต่อหน้าสาธารณชนแบบไม่แคร์เวิร์ลด์         ในฉากจบของเรื่องที่ทั้งกะรัตและไอ่เดินจูงมือกัน ยิ้มแย้มอย่างมีความสุขอยู่ริมทะเล จึงเป็นภาพที่แตกต่างไปจากฉากอวสานของละครโทรทัศน์แนวโรมานซ์ทั่วไป ที่มักเป็นพระเอกนางเอกซึ่งดูเหมาะสมรุ่นวัยจะมาเดินเคียงคู่ตระกองกอดกันในซีนรักริมทะเลแบบเดียวกันนี้         ภาพความรักกระหนุงกระหนิงของกะรัตและไอ่ที่ดูต่างออกไปจากวิถีปฏิบัติของละครเรื่องอื่นๆ คงให้ข้อสรุปกับผู้หญิงได้ว่า กาลครั้งหนึ่งพวกเธอเคยได้สัมผัสความรักโรแมนติกมาก่อน แต่เมื่อเวลาผ่านไป อารมณ์รักโรมานซ์ก็อาจจืดจางลางเลือนลง จนกว่าจะมีเหตุผลของจักรวาลและความมุ่งมาดปรารถนาของผู้หญิงเองเท่านั้น ที่จะทำให้พวกเธอได้รับความรู้สึกรักโรแมนติกกลับคืนมา และ “she will never walk alone” อีกต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 เครื่องดื่มสุขภาพ..มีจริงหรือ

        วันที่ 5 ธันวาคม 2564 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย มีบทความเรื่อง 3 เครื่องดื่มสุขภาพ ถ้าดื่มมากเกินไปหรือดื่มเป็นเวลานาน จะทำให้ภูมิตก เสี่ยงติดโควิด-19 ได้ง่าย จริงหรือ? โดยเนื้อข่าวสรุปแล้วกล่าวประมาณว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ในประเด็นของ 3 เครื่องดื่มสุขภาพนั้น ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับหน่วยราชการหนึ่งพบว่า เป็นข้อมูลจริง โดยหน่วยราชการนั้นอธิบายเหตุผลที่ข้อมูลดังกล่าวน่าเชื่อประมาณว่า “น้ำผักผลไม้สำเร็จรูปส่วนใหญ่เติม น้ำ น้ำตาล สารคงสภาพ ทำให้คุณประโยชน์ที่ได้น้อย แต่อาจได้น้ำตาลฟรุคโตสจำนวนมากแทน ส่วนการดื่มนมวัวโดยเฉพาะนมรสหวานในปริมาณมากอาจทำให้อ้วนได้จริง และเครื่องดื่มชูกำลังจัดเป็นเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง ซึ่งน้ำตาลนั้นหากกินมากไปเสี่ยงทำให้ภูมิคุ้มกันลด ควรเลี่ยง”         ผู้เขียนขอละที่จะกล่าวว่า ความเห็นของหน่วยราชการนั้นถูกหรือผิด แต่ขอแสดงความเห็นว่า น่าเสียดายมากที่หน่วยราชการนั้นอาจจำเป็นต้องประหยัดตัวหนังสือในการให้ข้อมูลการประเมินข่าวแก่ผู้บริโภคว่าข้อความนั้น จริงหรือเท็จ จึงไม่ได้อ้างการสนับสนุนข้อมูลนั้นด้วยหลักฐานทางวิชาการว่า มาจากแหล่งใดหรือจากบทความวิชาการที่เป็นงานวิจัยในวารสารใด เพื่อผู้บริโภคจะได้นำหลักกาลามสูตร 10 มาพิจารณา         จริงอยู่ที่ว่าเราควร ละ เลี่ยง เลิก ในการกินหวาน มัน เค็ม เพื่อลดภาวะการทำลายสุขภาพของไต ซึ่งส่งผลถึงความผิดปรกติอื่นๆ เช่น ความดันโลหิตสูง แต่ในกรณีของน้ำผักผลไม้รวมสำเร็จรูปนั้น สินค้ากลุ่มนี้น่าจะมีทั้งประโยชน์และโทษในตัวเอง เพราะดื่มน้อยอร่อยดีแต่ถ้าดื่มมากและบ่อยเกินไปปัญหาด้านสุขภาพอาจตามมา ดังนั้นสำหรับคนทั่วไปที่ดื่มบ้างเป็นครั้งคราวเพื่อเพิ่มรสชาติของชีวิต จำเป็นด้วยหรือที่ต้องเลิกดื่มผลิตภัณฑ์นี้ ในประเด็นว่าถ้าดื่มมากแล้วภูมิคุ้มกันต่ำจนเสี่ยงโควิด-19 ง่าย ถ้ามีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนว่า เครื่องดื่มที่มีรสหวานจากน้ำตาลทำอันตรายผู้บริโภคโดยเฉพาะเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันแล้ว ควรมีการเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเพิกถอนตำรับสินค้ากลุ่มนี้เสียเลย         ประเด็นที่ควรสนใจคือ ความหมายที่แท้จริงของคำว่า เครื่องดื่มสุขภาพนั้น..มีจริงหรือ เพราะเท่าที่พยายามสืบค้นทางอินเตอร์เน็ทแล้วนั้น ความหมายอย่างเป็นทางการหรือเป็นที่ยอมรับทางวิชาการโดยองค์กรที่น่าเชื่อถือนั้น ดูเหมือนจะไม่มี         โดยปรกติแล้วเครื่องดื่มทุกชนิดที่ขายในท้องตลาดและผ่านการขึ้นทะเบียนกับ อย. มักมีลักษณะตาม “ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 356 พ.ศ.2556 เรื่อง เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท” ซึ่งก็ไม่ได้พูดถึง เครื่องดื่มสุขภาพ ส่วนในกรณีที่สินค้าใดจะอ้างว่า องค์ประกอบของสินค้านั้นมีผลต่อสุขภาพ ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามรายละเอียดในเอกสารชื่อ คู่มือสำหรับประชาชน การขอประเมินการกล่าวอ้างทางสุขภาพ (ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพียงเข้าไปใน google แล้วลองค้นหาด้วยคำว่า “health claims on food labels ของ อย.”) ก็มิได้มีคำจำกัดความของคำว่า เครื่องดื่มสุขภาพ         เมื่อค้นหาโดยใช้ google ถึงความหมายของเครื่องดื่มสุขภาพนั้น เว็บไซต์หนึ่งได้ให้ความหมายตามใจเว็บเองว่า “หมายถึงเครื่องดื่มที่มีคุณประโยชน์ที่จับต้องได้และเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ หรือเป็นเครื่องดื่มที่มีการบ่งบอกชัดเจนถึงคุณประโยชน์ เฉพาะเจาะจงเช่น น้ำผลไม้พร้อมดื่มที่มีส่วนผสมของแอล-คารนิทีน ชาเขียวผสมคอลลาเจน นมพร้อมดื่มผสม คอลลาเจน เครื่องดื่มธัญพืชที่ช่วยให้สุขภาพผิวดีขึ้น เครื่องดื่มที่ช่วยลดความอ้วนที่สกัดจากชาหรือสารอาหารจากธรรมชาติ” ซึ่งใครจะเชื่อก็ได้หรือไม่เชื่อก็ได้         มีบทความหนึ่งในอินเทอร์เน็ต ซึ่งผู้เขียนเป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยหนึ่ง (ที่ชอบคิดค้นสินค้าที่อ้างว่าเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ) พยายามให้ความหมายประหนึ่งว่า เครื่องดื่มสุขภาพนั้นเป็น functional drink ซึ่งนำไปสู่คำถามต่อไปว่า แล้ว functional drink นั้นคืออะไร และเมื่อค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตต่อก็พบว่า คำ ๆ นี้ยังไม่มีการให้คำจำกัดความทางวิชาการที่แท้จริงเช่นกัน มีแต่ที่จำกัดความกันเองตามใจชอบ เช่นบางเว็บไซต์บอกว่า “คือเครื่องดื่มที่ให้ Benefit กับร่างกายของผู้ดื่มไม่ว่าจะเพื่อช่วยย่อยอาหาร ผิวสวย บำรุงสมอง” ซึ่งเมื่อพิจารณาดีๆ ก็พบว่าเป็นคำจำกัดความที่ค่อนข้างแคบไปหน่อย         ผู้เขียนคิดว่า functional drinks นั้นคงล้อมาจากคำว่า functional foods ซึ่งในความเป็นจริงนั้นถ้าเขียนให้ถูกในความหมายที่มีการอธิบายความเป็นตัวตนของสินค้านี้ ควรใช้คำว่า physiologically functional foods ซึ่งคำๆ นี้น่าจะปรากฏเป็นครั้งแรกในบทความเรื่อง Studies on Functional Foods in Japan: State of the Art ในหนังสือ Food Factors for Cancer Prevention พิมพ์โดย Springer-Verlag Tokyo ในปี 1997 ซึ่งกล่าวถึงโครงการระดับชาติ 3 ปีที่ได้รับการสนับสนุนโดย the Ministry of Education, Science and Culture ของญี่ปุ่นที่มี Dr. Soichi Arai เป็นประธานซึ่งได้เริ่มโครงการชื่อ Analysis and Molecular Design of Physiologically Functional Foods จากบทความนี้ได้สรุปความหมายของ physiologically functional foods ว่าคือ อาหารที่ออกแบบมาให้มีประโยชน์ทางสรีรวิทยาและ/หรือลดความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังเหนือกว่าอาหารที่มีหน้าที่เกี่ยวกับโภชนาการขั้นพื้นฐาน โดยอาจมีลักษณะภายนอกดูคล้ายกับอาหารทั่วไปและบริโภคโดยเป็นส่วนหนึ่งของการรับประทานอาหารปกติ อย่างไรก็ตาม คำว่า physiologically functional foods นั้นดูยาวเยิ่นเย้อ จึงมีการลดทอนคำไปเป็น functional foods แทน ซึ่งเป็นที่ยอมรับของสังคมวิชาการ         ดังนั้นสินค้าที่อ้างว่าเป็น functional drinks นั้น ควรเป็นเครื่องดื่มที่ดูไม่ต่างจากเครื่องดื่มธรรมดาแต่ถูกปรับให้มีศักยภาพในการส่งผลให้สุขภาพมนุษย์ดีขึ้นกว่าการดื่มเครื่องดื่มธรรมดา เช่นการเติมสารสกัดจากอะไรสักอย่างหนึ่งลงไปในเครื่องดื่ม แล้วทำการศึกษาจนได้เห็นว่า มีประโยชน์จริงในมนุษย์        อาจมีผู้บริโภคสงสัยว่า functional drinks นั้นเป็นอย่างไร ปรากฏว่าเมื่อพิจารณาจากโฆษณาทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์และอินเทอร์เน็ตแล้วพบว่า น่าจะมีลักษณะเป็น เครื่องดื่มสำหรับนักกีฬา (Sport Drink ) ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นเกลือแร่และน้ำตาลเพื่อชดเชยแร่ธาตุและพลังงานที่เสียไประหว่างออกกำลังกาย แต่ประเภทที่ดูว่าขายดีที่สุดคือ เครื่องดื่มให้พลังงาน (Energy Drink) ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่ผสมสารให้ความหวานพร้อมกลุ่มวิตามินและกรดอะมิโนในปริมาณหนึ่ง ซึ่งแม้มีประโยชน์บ้างก็ตามแต่จริงแล้วสารเคมีที่ต้องการขายจริงคือ คาเฟอีน ซึ่งช่วยให้คลายความง่วงนอนและมีความตื่นตัว สำหรับเครื่องดื่มเข้มข้น (Enriched Drink) นั้นเป็นเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมองค์ประกอบในอาหารและไม่ใช่อาหาร เช่น คอลลาเจน โคคิวเท็น สารสกัดจากเมล็ดหรือเปลือกหรือรากของพืช  โดยมักอ้างว่ามีสารต่อต้านอนุมูลอิสระหรือช่วยการเผาผลาญไขมัน ฯลฯ ซึ่งสินค้าเหล่านี้บางชนิดเป็นสินค้าเกิดใหม่ บรรพบุรุษเราไม่เคยพบเห็น         สำหรับงานวิจัยที่กล่าวว่า การกินน้ำตาลมากมีผลโดยตรงต่อระบบภูมิคุ้มกันนั้น เท่าที่หาได้จาก PubMed และ ScienceDirect คือ บทความเรื่อง A high-sugar diet affects cellular and humoral immune responses in Drosophila ในวารสาร Experimental Cell Research ของปี 2018 ซึ่งเป็นการเลี้ยงแมลงหวี่ด้วยอาหารที่มีน้ำตาลทรายสูงราว 6.7 เท่าของอาหารปรกติ ทำให้พบข้อบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกันเกี่ยวกับความสามารถด้านฟาโกไซโทซิส* (phagocytosis) ของแมลงหวี่ในการจัดการกับสิ่งแปลกปลอมคือ เม็ดยางลาเท็กซ์และสปอร์ของเชื้อราบิวเวอเรีย (Beauveria bassiana เป็นเชื้อราใช้กำจัดแมลง โดยสปอร์งอกและแทงเส้นใยทะลุตัวแมลง ทำให้แมลงมีอาการผิดปกติ อ่อนแอ จนแมลงตายในที่สุด)         อีกทั้งยังพบว่า อาหารที่มีน้ำตาลทรายสูงกระตุ้นการพัฒนาของ lamellocytes (เซลล์ที่มีเฉพาะในตัวอ่อนแมลงที่สามารถต่อสู้เชื้อโรคที่บุกรุก) ในต่อมน้ำเหลืองและระบบเลือดมากเกินไป ซึ่งปรกติไม่เกิดขึ้นในแมลงที่แข็งแรง นั่นแสดงว่าการพัฒนาเพื่อเป็นแมลงตัวโตเต็มวัยนั้นถูกชะลอหรือชะงักด้วยการกินน้ำตาลทรายมากเกิน ซึ่งบทความเรื่องนี้โดยสรุปแล้วให้ข้อมูลว่า อาหารที่มีน้ำตาลสูงนั้นน่าจะส่งผลต่อความผิดปรกติของระบบภูมิคุ้มกันโดยธรรมชาติซึ่งรวมถึงการอักเสบด้วย         *ฟาโกไซโทซิสนั้นเป็นส่วนสำคัญของระบบภูมิคุ้มกัน เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันหลายชนิดทำหน้าที่นี้เช่น นิวโทรฟิล แมคโครฟาจ เซลล์เดนไดรต์ เป็นต้น กระบวนการฟาโกไซโทซิสนั้นเป็นการกลืนเชื้อโรคเข้าในเซลล์แล้วย่อยทำลายทิ้งด้วยเอ็นซัม เซลล์ฟาโกไซต์บางชนิดได้นำโปรตีนที่ย่อยแล้วและมีส่วนที่เป็น epitope ซึ่งแสดงความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (antigenicity) ของเชื้อโรคไปแสดงบนผนังเซลล์ทำให้เม็ดเลือดขาวเข้ามาเรียนรู้เพื่อทำความรู้จักก่อนที่จะถูกกระตุ้นให้สร้างแอนติบอดีหรือเปลี่ยนไปเป็น T-killer cell

อ่านเพิ่มเติม >

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ สำรวจพบส้มไทยมีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานทุกตัวอย่าง

        สภาองค์กรของผู้บริโภค ไทยแพน ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ สำรวจพบส้มไทยมีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานทุกตัวอย่าง ตอกย้ำปัญหาส้มพิษยังไม่ถูกแก้ไข เสนออาจต้องปรับเปลี่ยนระบบการผลิตใหม่        สภาองค์กรของผู้บริโภค นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ไทยแพน) เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาสารเคมีเกษตรตกค้างในส้มและน้ำส้มในภาชนะบรรจุปิดสนิท แบ่งเป็นส้มจำนวน 60 ตัวอย่างและน้ำส้ม 10 ตัวอย่าง พบว่า ส้มที่มาจากการปลูกในประเทศจำนวน 41 ตัวอย่าง มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน ทุกตัวอย่าง (100%) ส่วนส้มที่มาจากการนำเข้า 19 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 16 ตัวอย่าง (84.21%) มีเพียง 3 ตัวอย่างที่มีปริมาณสารพิษตกค้างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน สำหรับน้ำส้มในภาชนะบรรจุปิดสนิท พบ 50% ของกลุ่มตัวอย่างมีการตกค้างของสารพิษ         วันนี้ (10 มีนาคม 2565) ในงานแถลงข่าวผลการตรวจสารเคมีเกษตรตกค้างในส้มและน้ำส้ม นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า ส้มเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมในการบริโภค แต่ส้มก็เป็นผลไม้ที่มีโรคและศัตรูพืชมาก ทำให้การเพาะปลูกต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพื่อป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชมากชนิดตามไปด้วย ปัญหาที่ตามมาคือ ทุกครั้งที่มีการสำรวจการตกค้างของสารพิษในส้มในหลายปีที่ผ่านมา จะพบการตกค้างของสารพิษเกินค่ามาตรฐานมาโดยตลอด ทั้งจากการติดตามเฝ้าระวังของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไทยแพน หรือจากผลการทดสอบของศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อเอง และทุกครั้งที่มีการสะท้อนสถานการณ์ปัญหาก็จะมีการเคลื่อนไหวหลายอย่างทั้งจากหน่วยงานราชการ เกษตรกร ผู้จำหน่าย ผู้บริโภค ดังนั้นเพื่อจะติดตามว่า ส้มไทยปลอดภัยต่อการบริโภคมากน้อยแค่ไหน มพบ.และไทยแพน  จึงได้รับการสนับสนุนจากสภาองค์กรของผู้บริโภค ให้ทำการสำรวจสารพิษตกค้างในส้มและน้ำส้มที่จำหน่ายในประเทศไทยอีกครั้ง           การสุ่มเก็บตัวอย่างส้ม คณะทำงานเลือกช่วงเวลาระหว่างวันที่ 3-10 มกราคม 2565 จากแหล่งผลิตทั้งในและต่างประเทศ โดยครอบคลุมช่องทางจำหน่ายในปัจจุบัน ได้แก่ ตลาดค้าส่ง ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และช่องทางออนไลน์  เป็นตัวอย่างส้ม 60 ตัวอย่าง และน้ำส้มบรรจุในภาชนะปิดสนิท 10 ตัวอย่าง รวมเป็น 70 ตัวอย่าง   สำหรับส้ม เน้นเก็บตัวอย่างส้มให้ครอบคลุมสายพันธุ์ส้มที่จำหน่ายในช่วงเวลา ซึ่งจำแนกเป็นสายพันธุ์ทางการค้าได้ทั้งสิ้น 13 สายพันธุ์ ได้แก่ ส้มสายน้ำผึ้ง 18 ตัวอย่าง ส้มเขียวหวาน 12 ตัวอย่าง ส้มโชกุน 9 ตัวอย่าง ส้มแมนดาริน 8 ตัวอย่าง ส้มสีทอง 3 ตัวอย่าง ส้มนาเวล 2 ตัวอย่าง ส้มเมอร์คอท 2 ตัวอย่าง ส้มซาถัง 2 ตัวอย่าง ส้มกัมควอท 1 ตัวอย่าง ส้มซันคิสท์ 1 ตัวอย่าง ส้มเอินชู 1 ตัวอย่าง และส้มเช้ง 1 ตัวอย่าง และหากจำแนกตามแหล่งผลิตจะเป็นส้มนำเข้า 19 ตัวอย่าง ส้มที่ปลูกในประเทศไทย 41 ตัวอย่าง ทั้งนี้ 12 ตัวอย่างใน 41 ตัวอย่างที่ปลูกในประเทศ เป็นตัวอย่างที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP (Good Agriculture Practices) 11 ตัวอย่าง และ ThaiGAP 1 ตัวอย่าง และตัวอย่างน้ำส้มบรรจุในภาชนะปิดสนิท 10 ตัวอย่าง ได้แก่ Aro, Tipco, Chabaa, UFC, Malee, DoiKham, Sunfresh, Harvey Fresh, Green Garden และ Smile         ทั้ง 70 ตัวอย่าง ส่งวิเคราะห์สารพิษตกค้างแบบ multi-residue analysis ครอบคลุมสารพิษตกค้างจำนวน 567 รายการ ที่ห้องปฏิบัติการ TÜV SÜD ITALY ประเทศอิตาลี ซึ่งได้รับการรับรอง ISO/IEC 17025จากรายงานผลการวิเคราะห์ พบว่า รายการวิเคราะห์ ชนิดและปริมาณค่าสารพิษตกค้าง สามารถเข้าดูรายละเอียดได้ที่ https://thaipan.org/action/2519  และสามารถดาวน์โหลด ผลทดสอบส้ม        1.    ส้มทั้ง 60 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างในทุกตัวอย่าง เมื่อเปรียบเทียบกับค่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดกำหนดไว้ใน ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 387 พ.ศ. 2560 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง และประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 419) พ.ศ. 2563 ออกตามความในพระราชบัญญัติ อาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง (ฉบับที่ 3) พบว่า มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 57 ตัวอย่าง หรือ คิดเป็น 95% ของกลุ่มตัวอย่าง  และพบว่า 5% หรือ 3 ตัวอย่าง มีสารพิษตกค้างแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน ได้แก่ ส้มเขียวหวาน จากบิ๊กซี บางใหญ่ , Holy Fresh ส้มพันธุ์ เมอร์คอท จากกูเมต์มาร์เก็ต และ เป็นส้มเช้ง ร้านเจ๊อ้อย 201 ผลไม้ ตลาดไท ซึ่งทั้งสามตัวอย่างเป็นส้มนำเข้าจากต่างประเทศ        2.    จากตัวอย่างน้ำส้มในภาชนะปิดสนิท 10 ตัวอย่าง มี 5 ตัวอย่างที่ไม่พบสารพิษตกค้าง ได้แก่  น้ำส้มโชกุน ตรา Tipco, น้ำส้ม 100% ตรา UFC,  น้ำส้มเขียวหวาน 100% ตรามาลี (ส้มจากแม่สิน) และน้ำส้มนำเข้า ตรา Sunfresh และ Harvey Fresh อีก 5 ตัวอย่างที่พบสารพิษตกค้าง ได้แก่ น้ำส้มเขียวหวานพร้อมเกล็ดส้ม 100% ตราARO , น้ำส้มสายน้ำผึ้ง 100% ตรา CHABAA, น้ำส้ม 98% ตราดอยคำ, น้ำส้มพร้อมเนื้อส้ม 100% ตรากรีนการ์เด้น และ น้ำส้มเขียวหวาน 100% ตรา SMILE ทั้งนี้จากการตรวจสอบประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 356 เรื่อง เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท  พบว่าไม่มีการกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับสารพิษตกค้างไว้ จึงไม่มีค่ามาตรฐานสำหรับเปรียบเทียบกับปริมาณสารพิษตกค้างที่พบ         ด้านนางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือไทยแพน ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมจากรายงานผลการวิเคราะห์ว่า หากจำแนกตามแหล่งผลิต จะพบว่า ตัวอย่างส้มที่มาจากการปลูกในประเทศ 41 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานทุกตัวอย่าง หรือคิดเป็น 100% ในขณะที่ส้มนำเข้า 19 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 16 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 84.21% อีก 3 ตัวอย่างมีปริมาณสารพิษตกค้างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน         สำหรับกลุ่มตัวอย่างส้มที่ปลูกในประเทศ 41 ตัวอย่าง สามารถจำแนกตามชื่อเรียกสายพันธุ์ทางการค้าได้ ดังนี้ สายน้ำผึ้ง 18 ตัวอย่าง เขียวหวาน 9 ตัวอย่าง โชกุน 9 ตัวอย่าง ส้มสีทอง 3 ตัวอย่าง ส้มน้ำตาล 1 ตัวอย่าง และส้มเขียวหวาน 1 ตัวอย่าง ซึ่งทุกตัวอย่างพบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน  โดยในจำนวนนี้เป็นผลผลิตที่มาจากแปลง GAP (Good Agriculture Practices) ที่ได้รับรองโดยกระทรวงเกษตรฯ 11 ตัวอย่าง เป็นผลผลิตที่มีมาจากแปลงที่มีการรับรอง ThaiGAP โดยสถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 1 ตัวอย่าง และไม่ระบุการรับรองมาตรฐานใดๆ 29 ตัวอย่าง ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างส้มนำเข้า 19 ตัวอย่าง สามารถจำแนกตามชื่อเรียกสายพันธุ์ทางการค้าได้ ดังนี้ แมนดาริน 5 ตัวอย่าง ส้มไต้หวัน 3 ตัวอย่าง เมอร์คอท 2 ตัวอย่าง นาเวล 2 ตัวอย่าง ส้มซาถัง 2 ตัวอย่าง เอินชู 1 ตัวอย่าง กัมควอท/กิมจ๊อ 1 ตัวอย่าง ซันคิสต์ 1 ตัวอย่าง ส้มเช้ง 1 ตัวอย่าง สายน้ำผึ้ง 1 ตัวอย่าง มีเพียงส้มสายน้ำผึ้ง 1 ตัวอย่าง ส้มเช้ง 1 ตัวอย่าง และส้มเมอร์คอท 1 ตัวอย่าง ที่พบสารพิษตกค้างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อีก 16 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน         สำหรับชนิดสารพิษตกค้างที่พบจากตัวอย่างส้มทั้งหมดรวม 48 ชนิด เป็นสารกำจัดแมลง 31 ชนิด สารกำจัดโรคพืช 13 ชนิด และสารกำจัดไร 4 ชนิด มีรายละเอียดดังนี้        1. สารกำจัดแมลงที่พบตกค้างมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ Imidacloprid, Ethion และ Profenofos โดยพบในส้ม 56, 52 และ 49 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 93.33%, 86.67% และ 81.67% ตามลำดับ        2. ในขณะที่สามอันดับแรกของสารป้องกันและกำจัดโรคพืชคือ Benomyl/Carbendazim, Hexaconazole และ Prochloraz โดยพบใน 48, 42 และ 31 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 80.0%, 70.0% และ 51.67% ตามลำดับ        3. สารกำจัดไรที่พบตกค้างมากที่สุด คือ Propargite พบใน 31 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 51.67%         4. พบการตกค้างของ Chlorpyrifos-ethyl ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ยกเลิกการใช้แล้ว) 50% ของกลุ่มตัวอย่าง โดยตกค้างในส้มที่ผลิตในประเทศ 22 ตัวอย่าง และส้มนำเข้า 8 ตัวอย่าง         “กรณีที่พบการตกค้างของสารคลอร์ไพริฟอสที่แบนแล้วในตัวอย่างส้มที่ปลูกในประเทศ อาจเป็นไปได้ที่จะมีสารที่ค้างอยู่เป็นสต็อกของเกษตรกรหลังจากมีการแบนอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงที่เกิดขึ้นจากการลักลอบนำเข้า ซึ่งเรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่จะต้องดำเนินการ” นางสาวปรกชลกล่าว         นางสาวทัศนีย์ กล่าวเสริมว่า หากดูจากรายงานผลการวิเคราะห์ในครั้งนี้ มันยังคงสะท้อนสถานการณ์ปัญหาการตกค้างของสารพิษในส้มว่าไม่ได้ดีขึ้น ส้มเกือบทุกตัวอย่างที่สุ่มมามีการตกค้างของสารพิษเกินค่ามาตรฐาน ดังนั้นคงจะต้องขอให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องตลอดจนผู้มีส่วนในห่วงโซ่ของการผลิตส้ม ได้โปรดช่วยกันหาทางเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วน หรืออาจจะต้องถึงขั้นเปลี่ยนระบบการผลิตครั้งใหญ่หรือไม่         นายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่าการเฝ้าระวัง ทดสอบสินค้าและบริการเป็นอำนาจหนึ่งของสภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งกำหนดให้สภาฯ มีฐานะเป็นผู้แทนผู้บริโภค และมีอำนาจดำเนินการเพื่อการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค  การสนับสนุนการทดสอบเรื่องส้มในครั้งนี้ก็เพื่อต้องการให้ผู้บริโภคได้มีข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจบริโภคสินค้าหรือบริการ และหลีกเลี่ยงสินค้าหรือบริการที่ไม่ปลอดภัยหรืออาจกระทบต่อสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค ทั้งนี้ ตนเองมองว่า กระทรวงสาธารณสุขควรดำเนินการเฝ้าระวังสารเคมีตกค้างในน้ำส้มและผลิตภัณฑ์น้ำผักผลไม้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะจนมั่นใจว่าไม่มีการตรวจพบสารตกค้าง และประกาศให้ผู้บริโภครับทราบข้อมูลทุกครั้ง อีกทั้งต้องการเสนอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ควบคุมการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในการผลิตพืชอาหารอย่างเข้มงวดเพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชตั้งแต่ต้นทางของการผลิตอาหาร         สรุปข้อเสนอจากรายงานการสำรวจสารพิษตกค้างในส้มและน้ำส้มที่จำหน่ายในประเทศไทยข้อเสนอต่อภาครัฐ        1.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์             • ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ลักลอบนำเข้า ครอบครอง หรือมีไว้จำหน่ายของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะสารเคมีที่ประเทศไทยยกเลิกการใช้หรือไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนแล้ว             • ปฏิรูประบบการรับรอง GAP  เพื่อให้มั่นใจว่าผลผลิตหรือสินค้าที่ได้รับการรับรองจะไม่ตรวจพบการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินมาตรฐาน             • ส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรรมอินทรีย์เพื่อให้เป็นทางเลือกในการผลิตของเกษตรกรและผู้บริโภค         2.กระทรวงสาธารณสุข             • เพิ่มประสิทธิภาพการวิเคราะห์สารพิษตกค้างในผักผลไม้ที่ด่านนำเข้า            • พัฒนากลไกเฝ้าระวังสารพิษตกค้างในระดับพื้นที่และประเทศ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน             • ควรยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคในกรณีน้ำส้มหรือน้ำผลไม้ในภาชนะบรรจุปิดสนิท รวมถึงประเมินความเสี่ยงจากการบริโภค โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้ป่วยข้อเสนอต่อภาคเอกชน ผู้จัดจำหน่าย        1. ซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก ตลอดจนร้านสะดวกซื้อ ซึ่งเป็นแหล่งจัดจำหน่ายส้มขนาดใหญ่ควรสนับสนุนข้อมูลเรื่องที่มาของส้ม ที่นำมาจำหน่ายอย่างโปร่งใส  (Traceability) เพื่อเป็นเครื่องมือให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบแหล่งผลิต สารเคมีที่ใช้ การเก็บเกี่ยว การบรรจุ ฯลฯ ได้อย่างสะดวกด้วยเทคโนโลยีเช่นการสแกนคิวอาร์โค้ด             2. ผู้ผลิตที่นำส้มมาแปรรูป ควรคำนึงถึงแหล่งที่มาตลอดจนการคัดเลือกวัตถุดิบอย่างเป็นระบบเพื่อลดปัญหาการปนเปื้อนสารพิษตกค้างในผลิตภัณฑ์         ทางเลือกและการแก้ปัญหาของผู้บริโภค             • เลือกการสนับสนุนส้มที่ผลิตโดยวิธีการที่ไม่ใช้สารเคมี หรือผลผลิตที่ทราบที่มาและเชื่อถือได้ว่ามาจากระบวนการผลิตที่ปลอดภัย             • ล้างส้มทุกครั้งที่บริโภค แม้ไม่สามารถลดปริมาณของสารเคมีที่ตกค้างได้ทั้งหมด เพราะมีสารเคมีประมาณครึ่งหนึ่งที่ดูดซึมไปสู่เนื้อส้มได้ แต่ก็เป็นการลดปริมาณของสารเคมีได้ระดับหนึ่ง            • ร่วมกันเรียกร้องให้ผู้บริหารกระทรวงเกษตร หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชน ดำเนินการให้มีการปฏิรูปการผลิต การจัดจำหน่าย และกลไกการกำกับดูแลสารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้มีความปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภคมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

อ่านเพิ่มเติม >



ฉบับที่ 251 กระแสต่างแดน

คนเกาก็ชอบของก็อป         การระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน หรืออุณหภูมิติดลบ ไม่สามารถลดความคึกคักของการค้าใน “ตลาดของก็อป” ที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลี (กลุ่มเต็นท์สีเหลืองประมาณ 80 หลัง ใกล้ “ตลาดดงแดมุน” ศูนย์กลางเสื้อผ้าและแฟชั่นในกรุงโซล) ลงไปได้เลย         ช่วงเวลาระหว่างสามทุ่มถึงตีสอง ที่นี่จะคลาคล่ำไปด้วยหนุ่มสาวสายแฟที่มาหาซื้อเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า หรือนาฬิกา “แบรนด์เนม”            อาจารย์ด้านจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล อธิบายว่าคนเกาหลีอ่อนไหวต่อเทรนด์เป็นพิเศษ พวกเขาอยากมีเหมือนคนอื่น จะได้รู้สึกเข้าพวก และต้องมีอะไรที่ดีกว่า เพื่อจะได้เป็นที่อิจฉา พวกเขาต้องการครอบครองของที่ดู “แพง” เรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาจึงแทบไม่มีใครใส่ใจ         ตามกฎหมายเกาหลี คนซื้อไม่มีความผิด แต่คนขายที่ถูกจับได้อาจต้องจ่ายค่าปรับถึง 100 ล้านวอน และอาจถูกจำคุกสูงสุด 7 ปี         ข้อมูลจากศุลกากรเกาหลีระบุว่าตั้งแต่มกราคม 2017 จนถึงสิงหาคม 2021 มี “คดีกระเป๋าปลอม” 1,866 คดี   ลดอายุคนขับ         เดนมาร์กกำลังขาดแคลนพนักงานขับรถของเทศบาล (รถรับส่งผู้ป่วย รถรับส่งนักเรียน เป็นต้น) เนื่องจากพนักงานจำนวนมากลาออกไปในช่วงที่โควิด-19 ระบาด จึงมีที่ว่างกว่า 1,000 ตำแหน่ง ที่อาจว่างไปอีกนาน เพราะไม่ค่อยมีคนสนใจสมัคร         พรรคฝ่ายค้านมองว่านี่คือปัญหาเร่งด่วน ถ้ารัฐบาลไม่รีบแก้ ปัญหานี้จะกระทบไปถึงรถสาธารณะในเมืองและรถข้ามจังหวัดด้วย ว่าแล้วก็เสนอให้ลดเกณฑ์อายุขั้นต่ำของผู้ที่สามารถมีใบอนุญาตขับรถโดยสารเป็น 19 ปี (โดยให้เริ่มฝึกงานตั้งแต่อายุ 18 ปี)         จากเกณฑ์เดิมคือ 24 ปีสำหรับรถที่มีผู้โดยสาร ที่วิ่งในระยะทางมากกว่า 50 กิโลเมตร และ 21 ปี สำหรับระยะทางน้อยกว่า 50 กิโลเมตร         ด้านรัฐมนตรีกระทรวงขนส่งไม่เห็นด้วยกับแผนนี้ เขาให้เหตุผลว่าผู้โดยสารอาจรู้สึกไม่ปลอดภัย หากคนขับหน้าเด็กเกินไป เขาเสนอว่ากลุ่มสตรีผู้อพยพ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า และจะเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสงานให้กับพวกเธอด้วย  คิดก่อนกู้         หนุ่มสาวฟินแลนด์ยุคนี้เป็นหนี้กันมากขึ้น นอกจากจะนิยมกู้เงินไปลงทุนทำกำไร ซึ่งทำผ่านแอปพลิเคชันได้สะดวกทั้งการขอกู้และการลงทุน พวกเขายังนิยมกู้เพื่อซื้อบ้าน/อพาร์ตเมนต์ อีกด้วย         สถิติในปีที่ผ่านมาระบุว่ามีเพียงร้อยละ 15 ของคนหนุ่มสาวที่ยังอาศัยอยู่กับพ่อแม่ ซึ่งลดลงฮวบฮาบจากร้อยละ 30 ในปีก่อนหน้า         โอกาสซื้อที่อยู่อาศัยในฟินแลนด์มีมากขึ้นเพราะการท่องเที่ยวที่ซบเซาหลังโรคระบาด ทำให้เจ้าของบ้านที่เคยเก็บอพาร์ตเมนต์ไว้ให้นักท่องเที่ยวเช่าผ่านแอปฯ อย่าง Airbnb ก็เริ่มปล่อยของ ในขณะที่จำนวนอพาร์ตเมนต์สร้างเสร็จใหม่ในโซนที่มีการเดินทางสะดวกก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน            อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางของฟินแลนด์เริ่มกังวลกับสถานการณ์ที่คนกลุ่มนี้สามารถกู้ได้โดยไม่มีขีดจำกัด จึงเสนอให้มีการกำหนดเพดานหนี้ ที่ไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ต่อปี และแนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ/คิดให้รอบคอบก่อนจะเป็นหนี้ เพื่อป้องกันภาวะเศรษฐกิจล่มสลายหากลูกหนี้ขาดรายได้กะทันหันและไม่สามารถใช้หนี้ได้  ทั้งเพิ่มทั้งลด         วิถีชีวิตแบบดิจิทัลของเราทำให้เกิดความต้องการ “ดาต้าเซ็นเตอร์” เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมีศูนย์เหล่านี้อยู่ถึง 7.2 ล้านศูนย์ทั่วโลก ประเทศที่มีมากที่สุดได้แก่อเมริกา (2,670 แห่ง) ตามด้วยอังกฤษ (452) เยอรมนี (443) อันดับต่อมาคือเนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น          เซิร์ฟเวอร์ในศูนย์เหล่านี้ทำงานทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าร้อยละ 1 ของการบริโภคพลังงานไฟฟ้าในโลกคือพลังงานที่ใช้ในศูนย์ข้อมูล         ที่น่าสนใจคือตัวเลขนี้ไม่เปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี 2010 ทั้งๆ ที่จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเท่าตัว ในขณะที่การจราจรบนอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น 15 เท่า         ส่วนหนึ่งเพราะศูนย์พวกนี้มีขนาดใหญ่ขึ้น และใช้พลังงานได้มีประสิทธิภาพกว่าศูนย์ขนาดเล็ก ฮาร์ดแวร์รุ่นใหม่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น นอกจากนี้นวัตกรรมการก่อสร้างอาคาร ระบบระบายความร้อน และการลงทุนในพลังงานทางเลือกหรือเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำของผู้ประกอบการนั่นเอง เอไอไม่แฟร์         การสำรวจความเห็นของ “แรงงานดิจิทัล” จำนวน 5,000 คน โดยสถาบันความเท่าเทียมทางเพศแห่งยุโรปพบว่า เอไอหรือปัญญาประดิษฐ์ที่นำมาใช้ในการจ้างงานในเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์ม ยังไม่ถูกพัฒนาให้เป็นธรรมกับแรงงานหญิงเท่าที่ควร         องค์กรนี้พบว่าผู้หญิงส่วนใหญ่เลือกงานแบบนี้เพราะ “ความยืดหยุ่นเรื่องชั่วโมงทำงาน”  พวกเธอต้องการเวลาในการทำงานบ้านและดูแลครอบครัว แต่กลับถูก “หมางเมิน” หรือแม้แต่ “ลงโทษ” โดยเอไอของแพลตฟอร์ม เพราะพวกเธอมีชั่วโมง “รับงาน” น้อยกว่าผู้ชายซึ่งเป็นแรงงานส่วนใหญ่ในเศรษฐกิจแบบนี้         ปัจจุบันร้อยละ 16 ของแรงงานดิจิทัลในอังกฤษและสหภาพยุโรปเป็นผู้หญิง และสัดส่วนนี้จะยิ่งน้อยลงในตำแหน่งที่สูงขึ้น         สถาบันฯ เสนอให้ผู้ประกอบการแสดงความรับผิดชอบมากขึ้น และขอให้กำหนดความเท่าเทียมทางเพศเป็นหนึ่งในเกณฑ์การ “ตัดสินใจ” ของเอไอ ไม่เช่นนั้นเทคโนโลยีก็ไม่ต่างอะไรกับเครื่องมือการเลือกปฏิบัติและผลิตซ้ำอคตินั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

นิตยสารฉลาดซื้อ เผยผลทดสอบพบสารพิษอะฟลาท็อกซินปนเปื้อนในเนยถั่ว 12 ตัวอย่าง คิดเป็น 54.55% เตือนผู้บริโภคหากรับประทานมากอาจเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ

        ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ เผยผลทดสอบอะฟลาท็อกซิน สารพิษที่เกิดจากเชื้อรา ในผลิตภัณฑ์เนยถั่ว 11 ตัวอย่างมีอะฟลาท็อกซินปนเปื้อนแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน  1 ตัวอย่างปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานถึง 3 เท่า แนะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เนยถั่วมีมาตรฐาน GMP เนื่องจากมีข้อบังคับใช้ ควบคุมคุณภาพวัตถุดิบแปรรูป เพื่อลดความเสี่ยงในการบริโภค         วันที่ 3 มีนาคม 2565 ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก (สสส.) ได้สุ่มเก็บผลิตภัณฑ์เนยถั่วจำนวน 22 ตัวอย่าง 14 ยี่ห้อ ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 จากห้างสรรพสินค้าทั่วไป เพื่อนำมาทดสอบการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซิน เนื่องจากสารอะฟลาท็อกซินโดยปกติเป็นสารพิษที่เกิดจากเชื้อราและสามารถปนเปื้อนได้ในเนยถั่ว หากร่างกายได้รับเข้าไปในปริมาณมากอาจเสี่ยงเกิดอาการชัก หายใจลำบาก ตับถูกทำลาย และอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งในตับได้         จากผลทดสอบการปนเปื้อนสารอะฟลาท็อกซินจากผลิตภัณฑ์เนยถั่ว นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เปิดเผยว่า พบ 1 ตัวอย่าง ที่มีสารอะฟลาท็อกซินปนเปื้อนเกินกว่าค่ามาตรฐานกำหนด ได้แก่ ยี่ห้อไม้ภูตะวัน เนยถั่วลิสงแบบละเอียด พบว่ามีสารอะฟลาท็อกซินถึง 65.87 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งตามที่ประกาศของทางกระทรวงสาธารณะสุข ฉบับที่ 414 พ.ศ.2563 กำหนดให้มีการปนเปื้อนของสารอะฟลาท็อกซินทั้งหมด (B1+B2+G1+G2) ในอาหารสูงสุดไม่เกิน 20 ไมโครกรัมต่อ 1 กิโลกรัม และพบอีก 11 ตัวอย่าง มีสารอะฟลาท็อกซินปนเปื้อนด้วยเช่นกัน แต่ไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด โดยคิดเป็นพบอะฟลาท็อกซิน 54.55% ของตัวอย่างทั้งหมด ได้แก่ ยี่ห้อแมช ครีมมี พีนัท บัตเตอร์, ครันชี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อสกิปปี้ ครีมมี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อจิฟ ครีมมี พีนัท บัตเตอร์, ครันชี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อแฮปปี้เมท ครีมถั่วลิสง รสธรรมชาติ บดหยาบ, ครีมถั่วลิสง รสน้ำผึ้ง บดหยาบ, ยี่ห้อ Paul food เนยถั่วลิสงชนิดละเอียด รสจืด, ยี่ห้อทองการ์เด้น เนยถั่วลิสงชนิดบดหยาบ, ยี่ห้อลิฟวิ่งเวล ครันชี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อโลตัส ชังค์กี้ พีนัท บัตเตอร์ ส่วนอีก 10 ตัวอย่าง ไม่พบสารอะฟลาท็อกซินปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตามเมื่อลองเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า ยี่ห้อแมช ครันชี พีนัท บัตเตอร์ มีราคาถูกที่สุดคือ 0.26 บาท และ ยี่ห้อพิคส์ พีนัท บัตเตอร์ สมูท ราคาแพงที่สุดคือ 1.05 บาท         ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ นักวิชาการอิสระ กองบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ ให้ความเห็นว่า สิ่งที่ควรคำนึงเมื่อกล่าวถึงกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงในเนยถั่วลิสงคือ สารอาหารนี้ถูกออกซิไดส์ให้เกิดความหืนได้ ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้จึงอาจจำเป็นต้องมีการเติมสารต้านออกซิเดชัน (antioxidants) ให้มากพอเพื่อช่วยในการดำรงสภาพของกรดไขมันไม่อิ่มตัว แม้ว่าเนื้อถั่วลิสงเองก็มีสารต้านออกซิเดชั่นธรรมชาติหลายชนิดก็ตามแต่ก็อาจไม่พอ สารต้านออกซิเดชันสังเคราะห์นั้นมีหลายชนิดที่อุตสาหกรรมอาหารสามารถเลือกใช้ได้ตามต้องการ เช่น BHA นอกจากนี้เนยถั่วลิสงบางยี่ห้ออาจมีการแต่งสีเพื่อให้มีความสม่ำเสมอของผลิตภัณฑ์ในแต่ละครั้งของการผลิต พร้อมเติมไขมันอื่น ๆ เพื่อให้เนื้อเนยมีความเนียน และที่สำคัญคือ เนยถั่วลิสงอาจต้องมีการเติมสารกันเสียเพื่อกันราขึ้นด้วย         สิ่งที่ต้องแลกกับประโยชน์ของเนยถั่วลิสงคือ ความเสี่ยงในการรับสารพิษจากเชื้อราคือ อะฟลาท็อกซิน (B1, B2, G1 และ G2) ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ทำจากถั่วลิสงนั้นเป็นที่ยอมรับว่าปลอดจากสารพิษนี้ยาก จึงต้องพยายามคุมให้มีระดับไม่เกิน 20 ส่วนในพันล้านส่วน ซึ่งในทางพิษวิทยาถือว่า มีความเสี่ยงต่ำ         ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ ยังแนะนำเพิ่มเติมว่า ก่อนซื้อเนยถั่วลิสงควรดูฉลากว่า มีการเติมองค์ประกอบอื่น เช่น น้ำตาลทราย และสารเจือปนต่าง ๆ หรือไม่ แล้วจึงถามตัวเองว่ายอมรับได้หรือไม่ถ้าเนยถั่วลิสงไม่ได้มีเฉพาะถั่วลิสงบดกับเกลือ ซึ่งถ้ารับไม่ได้ก็จำเป็นต้องเลือกเนยถั่วยี่ห้อที่แสดงฉลากว่า ไม่เติมสารเจือปนใด ๆ หรือทำกินเองเพราะทำได้ง่ายมาก อย่างไรก็ดีสิ่งที่สำคัญที่สุดในการบริโภคเนยถั่วลิสงคือ เนยถั่วลิสงนั้นอร่อยสุด ๆ การกินมากเกินไปย่อมทำให้อ้วนได้ สมาคมโรคหัวใจสหรัฐอเมริกา (The American Heart Association) แนะนำให้กินเนยถั่วลิสงได้วันละ 2 ช้อนโต๊ะ ซึ่งมีประมาณ 188 แคลอรี่ เพื่อให้ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนั้นวันไหนที่กินเนยชนิดนี้ก็ควรออกกำลังกายเพิ่มขึ้นสักหน่อยเพื่อความสบายใจของแพทย์         ทั้งนี้  นิตยสารฉลาดซื้อแนะนำ การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เนยถั่วควรเลือกจากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน GMP  เนื่องจากจะมีข้อกำหนดระดับการปนเปื้อนอะฟลาท็อกซินในเมล็ดถั่วลิสงบังคับใช้ เพื่อควบคุมคุณภาพวัตถุดิบที่นำไปใช้แปรรูป  และอะฟลาท็อกซินแม้พบในผลิตภัณฑ์เนยถั่วเกินครึ่งหนึ่งของตัวอย่างที่นำมาทดสอบ แต่อย่างไรก็ตามปริมาณอะฟลาท็อกซินที่พบนั้น หากเฉลี่ยแล้วยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนด นอกจากนี้ ฉลาดซื้อยังแนะอีกว่า การทำเนยถั่วกินเองช่วยให้ลดความเสี่ยงจากการได้รับอะฟลาท็อกซิน เพราะผู้บริโภคมีโอกาสการเลือกวัตถุดิบที่ใหม่ และควบคุมการผลิตทุกขั้นตอนได้ด้วยตนเองอ่านบทความผลทดสอบ “อะฟลาท็อกซินในผลิตภัณฑ์เนยถั่ว” ได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3942

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 ความเคลื่อนไหวเดือนมกราคม 2565

แนวโน้มอาชญากรรมไซเบอร์ ปี 65        ข้อมูลสถิติจากการแจ้งความร้องทุกข์ ศูนย์บริการประชาชน บก.ปอท. ปี พ.ศ. 2561-2564 พบว่า  อาญชกรรมทางเทคโนโลยีที่มีประชาชนมาแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีมากที่สุดเป็นอันดับ 1 คือความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งในปี 2564 มีผู้แจ้งความร้องทุกข์จำนวน 698 ราย  ส่วนอันดับ 2 ได้แก่ ผู้ได้รับความเสียหายจากการแฮกข้อมูล  จำนวน 585 ราย และมีค่าเสียหายรวม 67 ล้านบาท ส่วนอันดับ 3 ได้แก่ การหลอกขายสินค้าและบริการ จำนวน 445 ราย ความเสียหายรวมประมาณ 45 ล้านบาท          พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง.ผบก.ปอท. กล่าวถึงแนวโน้มอาชญากรรมทางเทคโนโลยีใน ปี 2565 ว่า ปี 2565  ยังคงไม่แตกต่างไปจากเดิม แต่คนร้ายอาจจะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีอยู่มาใช้มากขึ้น เช่น การให้ร้ายหรือระรานทางไซเบอร์  การหลอกลวงผ่านอีเมล  การแฮกเพื่อเอาข้อมูลผ่านการลวงให้กด  มัลแวร์เรียกค่าไถ่  การหลอกลวงขายสินค้า การหลอกรักออนไลน์  การหลอกรักลวงลงทุน แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกให้ลงทุนในลักษณะแชร์ออนไลน์ แอปพลิเคชันเงินกู้ผิดกฎหมาย การปล่อยข่าวปลอมในโลกออนไลน์เพื่อหวังผล ขอให้ประชาชนพึงระมัดระวัง สินค้าไม่ตรงปก ฟ้องได้!         ตามที่มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 เรื่องการจัดตั้ง แผนกคดีซื้อของออนไลน์ในศาลแพ่ง นายสรวิศ ลิมปรังษี  โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า  ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้ว หลังจากที่มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา แต่จะเริ่มทำการเมื่อใดต้องรอประกาศของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งอีกครั้ง ถ้าได้รับความเสียหายตอนนี้ก็ให้รวบรวมหลักฐานไว้ให้ครบถ้วนก่อนแล้วรอฟ้องตอนแผนกคดีซื้อขายออนไลน์เปิดทำการในเร็ว ๆ นี้ สำหรับคดีซื้อขายออนไลน์ที่ยังค้างพิจารณาอยู่ในแผนกคดีผู้บริโภคของศาลแพ่ง จะให้แผนกคดีผู้บริโภคซึ่งพิจารณาคดีนั้นดำเนินการต่อไปจนเสร็จ         แผนกคดีซื้อขายออนไลน์ จะทำให้ประชาชนผู้บริโภคได้รับความสะดวก มีช่องทางกฎหมายที่สามารถยื่นฟ้องคดีได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นผ่านทางอีเล็คทรอนิคส์ไฟล์ลิ่งในหน้าเว็บไซต์ของศาลแพ่ง (ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ) โดยผู้ฟ้องคดีแค่คลิกเข้าไปสมัครยืนยืนตัวตน กรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ฟ้องใคร เรื่องอะไร พร้อมแนบเอกสารหลักฐานการติดต่อซื้อขาย ชื่อเว็ปไซต์ ชื่อร้านค้าที่ซื้อสลิปโอนเงิน เท่าที่จะหาได้ เมื่อยื่นคำฟ้องทาง E-ไฟล์ลิ่งแล้ว จะมีเจ้าพนักงานคดีช่วยตรวจสอบให้ว่าใส่ข้อมูลคดีครบถ้วนแล้วหรือไม่ ถ้าครบถ้วนศาลก็จะรับคดีไว้พิจารณาต่อไป         เปิดรับปีใหม่พบร้านขายยาผิดกฎหมายมากกว่าร้อยราย         ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เข้าตรวจสอบร้านขายยาหลายแห่งเกี่ยวกับการจัดจำหน่ายยาให้กับประชาชนทั่วไป โดยมีพื้นที่เป้าหมายตรวจค้นเป็นร้านขายยาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 14-21 มกราคม พบว่า มีร้านขายยากระทำผิดจำนวนมาก จับกุมร้านยาที่ผิดกฎหมาย 127 ราย และตรวจยึดของกลางได้กว่า 359 รายการ มีทั้งยาวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท, ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตารับยา, ยาปลอม, ยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษเป็นจำนวนมาก ซึ่ง นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ร้านขายเหล่านี้ได้ขายยานอนหลับ ขายยาชุด ขายยาแก้แพ้แก้ไอ ขายยาเขียวเหลือง และขายยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ โดยไม่ใช่เภสัชกร ในพื้นที่หลายจังหวัดและขาดความรู้ความเข้าใจในสรรพคุณ โดยการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 และพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537  ลงทุนคริปโทฯ ต้องเสียภาษี และรัฐห้ามใช้ซื้อขายสินค้า        กรมสรรพกร ได้เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวถึงการเรียกเก็บภาษีคริปโทเคอร์เรนซีจากการลงทุนว่า ยังยึดลักษณะเดียวกับการเก็บภาษีขายหุ้น หากขายนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ มีกำไรต้องเสียภาษีและพิจารณาเป็นรายธุรกรรมเช่นกัน แต่ก็ยังมีกฎหมายยกเว้นให้คือ “การเสียภาษีคริปโทฯ ก็เหมือนกับขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ ถ้าขายแล้วมีกำไรก็ต้องเสียภาษี ถ้าขาดทุนก็ไม่ต้องเสีย”           ด้าน ก.ล.ต. ร่วมกับแบงก์ชาติ ประชุมและแถลงข่าวว่า ไม่ให้นำคริปโทฯ มาชำระค่าสินค้า โดยมีหลักเกณฑ์ที่ได้รับมติเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ว่าผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องไม่ดำเนินการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้เกิดการนำ สินทรัพย์ดิจิทัล มาใช้เป็นตัวกลางในการชำระเงิน ซึ่งรวมถึงการดำเนินการ ดังต่อไปนี้         1. ไม่โฆษณาเชิญชวน หรือแสดงตนว่าพร้อมให้บริการแก่ร้านค้าเพื่อให้ร้านค้าสามารถรับชำระค่าสินค้า หรือบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลได้ 2. ไม่จัดทำระบบ หรือเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกใดๆ แก่ร้านค้าในการรับชำระด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล 3. ไม่ให้บริการเปิดกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ (Wallet) แก่ร้านค้า เพื่อรับชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล 4. ในกรณีที่ผู้ซื้อขายทำการขายสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อรับเป็นเงินบาท ผู้ประกอบการต้องโอนเงินบาทเข้าบัญชีผู้ซื้อขายเท่านั้น 5. ไม่ให้บริการที่มีลักษณะเป็นการโอน สินทรัพย์ดิจิทัลหรือเงิน จากบัญชีของผู้ซื้อขาย ไปยังบัญชีของรายอื่น หรือบุคคลใด เพื่อวัตถุประสงค์ของการรับชำระค่าสินค้าหรือบริการ และ 6. ไม่ดำเนินการในลักษณะอื่นใดนอกเหนือจาก 1-5 ที่เป็นการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นตัวกลางในการชำระเงิน         มาตรการดังกล่าวเกิดขึ้นจากธนาคารแห่งประเทศไทยกังวลว่า หากมีคนใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในชีวิตประจำวัน จะกระทบต่อเสถียรภาพต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งมีผลต่อความเชื่อมั่น “เงินบาท” และจะส่งผลต่อการดำเนินนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ทำอยู่บนเงินบาทมพบ.คัดค้านการยื่นอุทธรณ์ของสมาคมประกันวินาศภัย         จากกรณีบอร์ดสมาคมวินาศภัยไทย ยื่นอุทธรณ์บอร์ดคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) พิจารณายกเลิกคำสั่งนายทะเบียน “ห้ามบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19” ชี้คำสั่งดังกล่าวขัดต่อหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยและการบริหารความเสี่ยงของบริษัทประกันภัยนั้น        เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค ได้กล่าวว่า ขอคัดค้านการยื่นอุทธรณ์ของสมาคมประกันวินาศภัย เนื่องจากเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ซื้อ 1.สัญญาประกันเป็นสัญญาสำเร็จรูป  การระบุข้อความที่บริษัทประกันสามารถใช้สิทธิในการยกเลิกสัญญากรมธรรม์เป็นการดำเนินการของบริษัทประกันฝ่ายเดียว หากเริ่มขาดทุนจะใช้สิทธิที่ระบุไว้ในสัญญาฝ่ายเดียวบอกเลิกสัญญา  จึงเป็นข้อสัญญาที่เอาเปรียบผู้บริโภค 2.การออกคำสั่งของ คปภ.  ได้แก่  1. คำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ลงวันที่ 16 ก.ค. 64 เรื่อง ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยบริษัทในกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 2. คำสั่งนายทะเบียนที่ 17/2564 ลงวันที่ 12 เม.ย. 64 เรื่อง การรักษาพยาบาลตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือเอกสารแนบท้าย เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ถือเป็นการออกคำสั่งตามอำนาจหน้าที่โดยชอบธรรม  3.การยกเลิกสัญญากรมธรรม์ ผู้บริโภคควรเป็นผู้ตัดสินใจยินยอมยกเลิกสัญญา หากข้อเสนอของบริษัทประกันเป็นธรรมเช่น บริษัทเสนอคืนเบี้ยประกัน 5- 10 เท่าของเบี้ยประกันที่ผู้บริโภคจ่ายไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 อะฟลาท็อกซินในผลิตภัณฑ์เนยถั่ว

        เนยถั่ว ทำจากถั่วลิสง รสอร่อย กินเป็นของว่างก็ดี ใช้ปรุงอาหารก็ได้ เป็นหนึ่งในอาหารสุขภาพยอดนิยมของทุกเพศทุกวัย อุดมด้วยโปรตีน ไขมันดี วิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ทว่าผลิตภัณฑ์เนยถั่วหลายยี่ห้อมักเพิ่มน้ำตาล น้ำมัน หรือน้ำผึ้งเข้าไปด้วย เพื่อลดความหนืดและเพิ่มรสชาติ หากใครเผลออร่อยเพลินก็เสี่ยงอ้วนและเพิ่มโรคได้ ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องนี้ไม่น่าเป็นปัญหาหากผู้บริโภคเลือกพิจารณาจากส่วนประกอบบนฉลากได้ แต่สิ่งที่น่ากังวลกว่าก็คือ ความเสี่ยงที่จะได้รับสาร อะฟลาท็อกซิน ซึ่งต้องอาศัยการทดสอบในห้องทดลองจึงจะพบได้        ทั้งนี้เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัยและความรู้เรื่องการบริโภคที่เหมาะสม นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เนยถั่วทั้งหมด 22 ตัวอย่าง 14 ยี่ห้อ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 มาทดสอบว่ามีการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินหรือไม่   ผลการทดสอบการปนเปื้อนอะฟลาท็อกซินในผลิตภัณฑ์เนยถั่ว         จากผลิตภัณฑ์เนยถั่วที่สุ่มนำมาทดสอบทั้งหมด 22 ตัวอย่าง พบว่า         - มี 1 ตัวอย่างที่มีปริมาณอะฟลาท็อกซินปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด คือ ยี่ห้อไม้ภูตะวัน เนยถั่วลิสงแบบละเอียด  พบ 65.87 ไมโครกรัม/กิโลกรัม         - 10 ตัวอย่าง ไม่มีการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซิน (คิดเป็น 45.45%ของตัวอย่างทั้งหมด) ได้แก่ ยี่ห้อเวทโทรส เอสเซนเชียล ครันชี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อมอร์ริสันส์ สมูท พีนัท บัตเตอร์และ100% พีนัท สมูท พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อโฮลเอิธ์ท ครันชี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อสกิปปี ซูเปอร์ชังค์ พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อพิคส์ พีนัท บัตเตอร์ สมูท, ยี่ห้อทองการ์เด้น เนยถั่วลิสงชนิดบดละเอียดและเนยถั่วลิสงบดหยาบ รสจืด, ยี่ห้อพิคส์ พีนัท บัตเตอร์ ครันชี และยี่ห้อเลมอนฟาร์ม เนยถั่วลิสง         - 12 ตัวอย่าง มีอะฟลาท็อกซินปนเปื้อน (คิดเป็น 54.55% ของตัวอย่างทั้งหมด) ได้แก่ยี่ห้อแมช ครีมมี พีนัท บัตเตอร์และครันชี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อสกิปปี ครีมมี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อจิฟ ครีมมี พีนัท บัตเตอร์และครันชี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อแฮปปี้เมท ครีมถั่วลิสง รสธรรมชาติ บดหยาบและครีมถั่วลิสง รสน้ำผึ้ง บดหยาบ, ยี่ห้อ Paul food เนยถั่วลิสงชนิดละเอียด รสจืด, ยี่ห้อทองการ์เด้น เนยถั่วลิสงชนิดบดหยาบ, ยี่ห้อลิฟวิ่งเวล ครันชี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อโลตัส ชังค์กี้ พีนัท บัตเตอร์ และยี่ห้อไม้ภูตะวัน เนยถั่วลิสงแบบละเอียด ผลเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 กรัม         พบว่า ยี่ห้อแมช ครันชี พีนัท บัตเตอร์ ถูกที่สุดคือ 0.26 บาท ส่วน ยี่ห้อพิคส์ พีนัท บัตเตอร์ สมูท แพงที่สุดคือ 1.05 บาทฉลาดซื้อแนะ        - ผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เนยถั่วจากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน GMP ซึ่งจะมีข้อกำหนดระดับการปนเปื้อนอะฟลาท็อกซินในเมล็ดถั่วลิสงบังคับใช้ เพื่อควบคุมคุณภาพวัตถุดิบที่จะนำไปใช้แปรรูปอยู่ด้วย        - แม้จะพบอะฟลาท็อกซินในผลิตภัณฑ์เนยถั่วเกินครึ่งหนึ่งของตัวอย่างที่นำมาทดสอบทั้งหมด แต่ปริมาณอะฟลาท็อกซินโดยเฉลี่ยแล้วยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนด ทั้งนี้มีผลการทดลองในต่างประเทศที่พบว่าในกระบวนการผลิตเนยถั่วที่ต้องทั้งอบและบดนั้น สามารถฆ่าเชื้ออะฟลาท็อกซินได้มากถึง 89%          - การทำเนยถั่วกินเองน่าจะช่วยให้ลดความเสี่ยงจากการได้รับอะฟลาท็อกซินได้ทางหนึ่ง เพราะผู้บริโภคมีโอกาสเลือกวัตถุดิบถั่วลิสงที่ใหม่ และควบคุมการผลิตทุกขั้นตอนได้ด้วยตนเอง ซึ่งวิธีทำเนยถั่วก็มีเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ ให้เลือกทำตามได้ง่ายๆ          - หากเปิดกระปุกเนยถั่วแล้วควรใช้อุปกรณ์ที่สะอาดตักทุกครั้ง ปิดฝาให้สนิทแล้วเก็บไว้ในที่มืดและแห้ง เพื่อป้องกันการปนเปื้อนได้ภายหลัง  ข้อมูลอ้างอิงประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 414) พ.ศ. 2563ฉลาดซื้อฉบับที่ 186 อะฟลาท็อกซินในถั่วลิสงบทความ กินเนยถั่ว (ลิสง) อันตรายต่อสุขภาพไหม? (ฉลาดซื้อ)บทความ การปนเปื้อนเชื้อราและอะฟลาทอกซินในถั่วและผลิตภัณฑ์ถั่วพร้อมบริโภค (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์)https://www.fitterminal.comhttps://www.scirp.org/Journal/PaperInformation.aspx?paperID=4527

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 เป็นพุทธมามกะนั้น..ยาก

        วิกิพีเดียไทยให้ข้อมูลว่า พุทธมามกะ หมายถึง ผู้ประกาศตนว่าขอถือพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ หรือผู้ประกาศตนว่าเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา และ www.trueplookpanya.com อธิบายต่อว่า ในชีวิตประจำวันนั้นพุทธมามกะมีหน้าที่ปฏิบัติตน 6 ประการคือ 1) ศึกษาหลักธรรมให้เป็นสัมมาทิฏฐิคือ แนวคิดที่ถูกต้อง มีความเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว 2) ฟังธรรมหรือสนทนาธรรมตามกาล 3) ทำบุญตักบาตร 4) ไหว้พระสวดมนต์ก่อนนอน 5) ปฏิบัติตนตามศีล 5 เป็นอย่างน้อย 6) ปฏิบัติกิจกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ดังนั้นถ้าสำรวจกันตามหลักวิชาทางสถิติแท้ ๆ แล้ว ผลที่ได้ออกมาอาจเป็นว่า คนไทยส่วนหนึ่งไม่สามารถอ้างได้ว่าตนเป็นพุทธมามกะเพราะยังทำตามศีล 5 ไม่ได้         ศีลที่ผู้อ้างว่าเป็นพุทธมามกะมักบกพร่องคือ ศีลข้อที่ 5 พิสูจน์จากข้อมูลในเว็บของกรุงเทพธุรกิจเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2560 มีประเด็นข่าวว่า 'XXX' ห่วงคนไทยดื่มเหล้าติดอันดับ 5 ของโลก ซึ่งเนื้อข่าวให้ข้อมูลว่า มีนักดื่มหน้าใหม่ที่เป็นเยาวชนอายุ 15–19 ปี เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 5 ต่อปี เพราะคนไทยใช้เวลาเดินเพียง 4.5 นาที ก็ถึงร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นี่แสดงว่าประชาชนซื้อหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่ายมาก และองค์การอนามัยโลกเคยระบุว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทยเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบนถนนมากที่สุดในทุกช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาวและก่อปัญหาสังคมอื่นตามมา เช่น การใช้ความรุนแรงในครอบครัว การทะเลาะวิวาท การล่วงละเมิดทางเพศ และอาชญากรรมอื่น ๆ         เว็บ https://alcoholrhythm.com มี infographic ที่อ้างข้อมูลจากหนังสือ ข้อเท็จจริงและตัวเลขเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย พ.ศ.2559-2561 ซึ่งมี สาวิตรี อัษณางค์กรชัย เป็นบรรณาธิการและพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สหมิตรพัฒนาการพิมพ์ กรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2562 ให้ข้อมูลว่า ในปี 2560 มีนักดื่มในประเทศไทยราว 15.89 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 28.4 ของประชากรไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป โดยในจำนวนนี้มีคนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์มากถึง 6.98 ล้านคน หรือร้อยละ 12.5 ของประชากรไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป (แสดงว่ายังมีอีก 8.91 ล้านคนดื่มมากกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ใช่ไหม) โดยเชียงรายครองอันดับหนึ่งของจังหวัดที่มีนักดื่มมากที่สุดร้อยละ 45.3 ตามด้วยลำพูน (ร้อยละ 44.1) พะเยา (ร้อยละ 44.0) น่าน (ร้อยละ 42.4) และสุรินทร์ (ร้อยละ 40.6) ทำให้เห็นได้ว่าชาวเหนือและอีสานมีจำนวนผู้ละเมิดศีลข้อ 5 เยอะ ส่วนจังหวัดที่มีนักดื่มน้อยที่สุดอยู่ในภาคใต้คือ ยะลามีนักดื่มเพียงร้อยละ 2.3 ตามด้วย ปัตตานี (ร้อยละ 3.9) นราธิวาส (ร้อยละ 4.9) สตูล (ร้อยละ 9.9) และสงขลา (ร้อยละ 13.2)         คนไทยวัยทำงานเป็นกลุ่มที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุด ซึ่งอาจเป็นเพราะความเครียดจากการทำงาน พบว่าผู้ชายเริ่มดื่มเมื่ออายุ 19 ปี (ปีที่เริ่มเข้าเรียนระดับอุดมศึกษา) ซึ่งโดยเฉลี่ยดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 50 กรัมขึ้นไปต่อวัน ส่วนผู้หญิงเริ่มดื่มหลังที่อายุได้ 24 ปี (น่าจะเพราะเริ่มมีรายได้จากการทำงานและคิดว่าตนเป็นผู้ใหญ่พอ) ซึ่งดื่มโดยเฉลี่ย 12-50 กรัมต่อวัน         ที่น่าสนใจคือ จากการสำรวจในปี 2560 สถานที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายทั่วประเทศไทยมี 583,880 แห่ง หรือเท่ากับ 1 ร้านสามารถให้บริการประชากรได้ 113 คน นอกจากนี้ในบรรดาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมด เบียร์ได้รับความนิยมมากที่สุด พบว่าคนไทยดื่มเบียร์มาก ถึงร้อยละ 47.4 ของการดื่มทั้งหมด รองลงมาเป็นสุราขาวหรือสุรากลั่นชุมชน (ร้อยละ 26.6) และสุราสีหรือสุราแดง (ร้อยละ 22.0)         ข้อมูลจากเว็บ www.expensivity.com เผยข้อมูลดัชนีเบียร์โลกประจำปี 2021 ว่า กาตาร์ขายเบียร์แพงที่สุดในโลก เพราะเรียกเก็บภาษีนำเข้าแอลกอฮอล์เกินร้อยละ 100 เบียร์จึงมีราคาประมาณ 400 บาทต่อขวด ส่วนแอฟริกาใต้มีเบียร์ราคาถูกที่สุดคือ 51 บาทต่อขวด สิ่งที่น่าละอายใจคือ ตำแหน่งขี้เมาเบียร์ประจำเอเชียตกเป็นของคนไทย เพราะคนไทยดื่มเบียร์คนละ 142 ขวด/คน/ปี (จริงแล้วคงมากกว่านี้เพราะคนไทยอีกหลายคนไม่เคยเมาเลยแต่ถูกนำมารวมเป็นตัวหารในการคำนวณหาค่าเฉลี่ย) ตามด้วยคนเกาหลีใต้ 130 ขวด/คน/ปี และ คนจีน 127 ขวด/คน/ปี นอกจากนี้น่าอดสูใจมากที่คนไทยยังหมดเงินไปกับการดื่มเบียร์มากที่สุดโดยเฉลี่ยราวคนละ 21,093 บาทต่อปี ตามมาด้วยคนเกาหลีใต้และคนญี่ปุ่นตามลำดับ         ด้วยข้อมูลข้างต้นนี้คนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วยังประกาศตนว่าเป็นพุทธมามกะนั้นน่าจะถูกนับว่าผิดศีลข้อที่ 4 ด้วยเพราะพูดปด โกหกมดเท็จ พูดไม่อยู่กับร่องกับรอยเพิ่มอีก 1 ข้อ ดังนั้นจึงมีผู้พยายามหาเหตุผลว่า ทำไมคนไทยถึงชอบดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งคำตอบนั้นมีหลากหลายประมาณว่า เพื่อคลายเครียด เพื่อให้การเข้าสังคมเป็นเรื่องง่ายซึ่งบางกรณีมีประโยชน์ต่อการทำธุรกิจ และที่น่ากังวลคือ การอ้างผลการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พอประมาณดีต่อสุขภาพ         เคยมีนักวิชาการด้านสุขภาพของประเทศทางตะวันตกกล่าวว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พอประมาณนั้นส่งผลที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายเช่น ลดโอกาสมีเส้นเลือดหัวใจตีบตัน เป็นต้น ดังในบทความเรื่อง Effect of alcohol consumption on biological markers associated with risk of coronary heart disease: systematic review and meta-analysis of interventional studies ในวารสาร BMJ (British Medical Journal) ของปี 2011ได้ให้ข้อสรุปว่า มีการเปลี่ยนแปลงที่ดูเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพในตัวบ่งชี้ทางชีวภาพของหลอดเลือดและหัวใจหลายประการเช่น เมื่อมีการดื่มแอลกอฮอล์ในระดับปานกลางจะมีการเพิ่มขึ้นทั้ง HDL (คลอเรสเตอรอลตัวดี) และ adiponectin ซึ่งเป็นโปรตีนที่สร้างจากเซลล์ไขมันและมีบทบาทสำคัญในการป้องกันภาวะดื้อต่ออินซูลิน/เบาหวาน ต้านการอักเสบ และลดการแข็งตัวของเลือดที่เกินพอดี โดยผ่านกลไกที่แตกต่างกันที่เป็นการสนับสนุนทางอ้อมถึงการป้องกันต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ และในบทความเรื่อง Mediterranean alcohol-drinking pattern and mortality in the SUN (Seguimiento Universidad de Navarra) Project: a prospective cohort study ในวารสาร British Journal of Nutrition ของปี 2014 ซึ่งให้ข้อมูลว่า คนที่ดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะที่ดีต่อสุขภาพคือ ดื่มพอประมาณ (moderate drinking) ราว 10–50 กรัม แอลกอฮอล์ต่อวันสำหรับผู้ชาย หรือ 5–25 กรัมต่อวันสำหรับผู้หญิงนั้น มีอัตราการเสียชีวิตที่ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ได้ดื่มเลยหรือดื่มมากเกินคำแนะนำ         อย่างไรก็ดีคำแนะนำเกี่ยวกับประโยชน์ของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในแง่เกี่ยวกับสุขภาพในปัจจุบันได้เริ่มเปลี่ยนไป โดยเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2018 เว็บ www.bbc.com/thai มีบทความเรื่อง ผลวิจัยล่าสุดชี้ "ระดับปลอดภัย" ในการดื่มแอลกอฮอล์ไม่มีจริง ซึ่งทำให้หลายคนที่เชื่อเรื่องการดื่มแอลกอฮอล์วันละเล็กน้อยดีต่อสุขภาพ อาจต้องทบทวนในความคิดนี้ใหม่ ยืนยันได้จากบทความเรื่อง No level of alcohol consumption improves health ใน www.thelancet.com เมื่อ 22 กันยายน 2018 รายงานผลการศึกษาใน 195 ประเทศ ให้ข้อมูลสรุปประมาณว่า ความเชื่อเดิมว่าการดื่มแอลกอฮอล์วันละเล็กน้อยช่วยป้องกันโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองจำต้องเปลี่ยนไป เพราะความเสี่ยงต่อโรคภัยโดยรวมที่มีอยู่นั้นสูงมากเกินจนไม่คุ้มกับสิ่งที่ได้จากการดื่มเพื่อประโยชน์ทางสุขภาพบางประการ และชี้ว่าหน่วยงานสาธารณสุขของรัฐบาล (ที่ไม่ได้หวังภาษีจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นรายได้หลัก) ควรออกคำเตือนให้ประชาชนงดเว้นการบริโภคแอลกอฮอล์อย่างสิ้นเชิง พร้อมไปกับการพิจารณายกเลิกคำแนะนำเรื่องปริมาณการดื่มที่ปลอดภัยที่มีอยู่เดิมเสีย เนื่องจากอัตราความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่าง ๆ เช่นมะเร็ง หรือได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ในแต่ละวัน โดยผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์วันละ 1 หน่วย (มีปริมาณแอลกอฮอล์อยู่ 10 กรัม) มีความเสี่ยงต่อโรคภัยและการบาดเจ็บสูงกว่าคนที่ไม่ดื่มเลย 0.5% ส่วนคนที่ดื่มวันละ 2 หน่วยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 7% และคนที่ดื่มวันละ 5 หน่วยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 37%         สำหรับ www.mayoclinic.org ซึ่งเคยให้ข้อมูลเห็นด้วยเกี่ยวกับประโยชน์จากการดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะพอเหมาะแก่สุขภาพมานานได้เริ่มเปลี่ยนท่าทีแล้ว จากการเข้าดูข้อมูลของเว็บนี้ในปี 2021 พบตอนหนึ่งในบทความเรื่อง Alcohol use: Weighing risks and benefits กล่าวว่า ประโยชน์ที่เป็นไปได้ของแอลกอฮอล์นั้นค่อนข้างน้อยและอาจใช้ไม่ได้กับทุกคน ประกอบกับคำแนะนำในการกินอาหารของคนอเมริกัน (American Dietary Guidelines) ล่าสุดกล่าวอย่างชัดเจนว่า ไม่มีใครควรเริ่มดื่มแอลกอฮอล์หรืออ้างประโยชน์ต่อสุขภาพจึงดื่มบ่อยขึ้น เนื่องจากประโยชน์ที่อาจมีนั้นไม่ได้มีมากกว่าความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย ดังนั้นการหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์เป็นแนวทางที่ดีที่สุดถ้าหวังมีสุขภาพที่ดี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 SMS หลอกลวง’ และโลกดิจิตอลในมือผู้บริโภค

317 ล้านบาทคือมูลค่าความเสียหายจาก SMS หลอกลวงต่างๆ 131 Sender Name ที่ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) แถลงร่วมกันเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564        เป็นตัวเลขไม่น้อย แต่เชื่อเถอะว่ามูลค่าความเสียหายจริงที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้สูงกว่าหลายเท่า                  ปัญหา SMS หลอกลวงไม่ใช่เพิ่งเกิด มันวิวัฒนาการเรื่อยมาตามความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี แค่คุณเผลอคลิกลิงค์แปลกที่ปรากฏในกล่องข้อความ ข้อมูลส่วนบุคคลของคุณก็สามารถถูกแฮ็กได้         ถามว่านี่เป็นความรับผิดชอบของใคร ถ้าคำตอบของคุณคือผู้กำกับดูแลและผู้ให้บริการเครือข่าย คำตอบของคุณไม่ผิด แต่ก็ไม่ถูก เพราะเอาเข้าจริงเรื่องนี้มีผู้เล่น 4 ฝ่ายที่นอกจากจะมี 2 รายชื่อแรกที่กล่าวไปแล้ว ยังมีผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือและผู้ใช้        ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์บอกว่าคนที่มีบทบาทมากที่สุดก็คือผู้ใช้หรือตัวคุณนั่นเอง ความเดือดร้อนของผู้บริโภค         SMS หลอกลวงมาในหลายรูปแบบ เช่น การแอบอ้างธนาคาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ ไปรษณีย์ แอปกู้เงิน ไปจนถึงเว็บการพนัน เว็บที่มีเนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่ เป็นต้น ทั้งหมดนี้เรียกร้องให้คุณโอนเงินกลับไปไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ไม่ก็พยายามล่อหลอกความอยากรู้อยากเห็น ความโลภ หรือใช้ความเดือดร้อนให้คุณคลิกลิงค์เข้าไปก่อนจะตกเป็นเหยื่อในที่สุด         “SMS ปล่อยกู้ก็มีบางคนลองกู้แต่เงินที่ได้ก็ไม่ครบ เมื่อคลิกลิงค์มันจะให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น และจะมีวิธีให้ผู้ใช้ลงทะเบียนเพื่อตรวจสอบสินเชื่อ บางคนก็โดนหลอกว่าถ้าลงทะเบียนผิดต้องปลดล็อคช่วยโอนเงินมาเพื่อปลดล็อค ประเด็นคือพอสมัครไปมันจะให้เราอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์ พอกู้เงินเสร็จก็จะมีคนโทรเข้าไปบอกคนอื่นว่าเราเป็นหนี้หรือไปทวงหนี้กับคนอื่น หรือบางทีก็เอารูปผู้กู้ เนื่องจากตอนที่กู้ต้องส่งรูปบัตรประชาชนให้ มันก็เอาไปขู่” นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าว         ในมุมของนฤมล กสทช. ในฐานะผู้กำกับดูแลหลักดูจะย่อหย่อนและเชื่องช้ากับหน้าที่ส่วนนี้ สิ่งที่เธอเห็นว่า กสทช. ควรทำและสามารถทำได้ทันทีคือการสั่งผู้ประกอบธุรกิจกิจการโทรคมนาคมบล็อกไม่ให้มิจฉาชีพเข้าถึงโทรศัพท์ของผู้รับได้ ต้องสร้างระบบที่ผู้บริโภคต้องให้ความยินยอมก่อน ไม่ใช่ให้ค่ายโทรศัพท์มือถือนำเบอร์ไปใช้ทำธุรกิจหรือส่งให้ผู้ผลิต Content Provider อื่นๆ         กสทช. ควรบังคับใช้อย่างจริงจังตามอำนาจที่ตนเองมีสั่งปรับค่ายมือถือ มิใช่ปล่อยให้ผู้เสียหายเป็นฝ่ายร้องเรียนไม่จบสิ้น         “แต่ก่อน กสทช. ออกหมายเลขดอกจัน 137 เพื่อยกเลิกข้อความ” นฤมล เล่าถึงปัญหาที่ไม่ถูกแก้ไข “แต่สักพักก็กลับมาอีก เป็นภาระของเราหรือเปล่า มันแก้ปัญหาไม่ได้ก็ร้องเรียน กสทช. ก็จัดการแค่ไกล่เกลี่ย ทั้งที่บางคนถูกละเมิดสิทธิ์เอาข้อมูลเขาไปใช้ทำให้เสียหาย หรือเอาข้อมูลของเขาไปหลอกลวงคนอื่นอีกที”         แต่เรื่องนี้ซับซ้อนกว่าที่คิด Business Model ของการส่ง SMS         นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวว่า เพราะตัวละครมีหลายชั้นการบล็อกข้อความจึงไม่ง่าย เขายกตัวอย่างว่ามีการหารือกับค่ายมือถือเรื่องนี้ ปรากฏว่ามีผู้ใช้บริการไม่ได้รับหมายเลข OTP ที่ใช้เป็นรหัสผ่านจากหน่วยธุรกิจต่างๆ ติดร่างแหด้วย การเข้าใจประเด็นนี้ เขาบอกว่าต้องเข้าใจ Business Model ของการส่ง SMS         ผู้ให้บริการโทรคมนาคมขาย SMS 2 รูปแบบ รูปแบบแรกคือขายเหมาให้แก่หน่วยธุรกิจที่นำไปใช้งานโดยตรง เช่น ธนาคาร ห้างสรรพสินค้า โรงแรม แล้วธุรกิจเหล่านี้จะทำการส่ง SMS ออกไป         รูปแบบที่ 2 คือการขายเหมาผ่านคนกลางซึ่งต้องมีใบอนุญาตจาก กสทช. ตัวอย่างเช่น บริษัทเอซื้อ SMS เหมาจำนวน 50,000 ข้อความ เพื่อขายต่อให้แก่หน่วยธุรกิจอื่นๆ เช่น บริษัทบีซื้อ SMS 10,000 ข้อความ นอกจากบริษัทเอจะขายให้แล้วยังบริการส่งข้อความให้เสร็จสรรพ จุดนี้เองที่มิจฉาชีพสอดแทรกเข้ามา         “เขา (ผู้ที่รับซื้อเหมาไปขายต่อ) บอกว่าจริงๆ แล้วเขาไม่รู้ว่าข้อความที่ส่งมาหลอกลวงหรือเปล่าเพราะโดยหลักแล้วมันเหมือนจดหมาย เขาทำหน้าที่เป็นแค่ไปรษณีย์ ไม่มีอำนาจเปิดซองอ่านข้อความ ตอนนี้ปัญหาเกิดขึ้นอีกชั้นหนึ่งคือคนที่ซื้อเหมามาขายต่ออาจจะไม่ได้ขายกับลูกค้าโดยตรง แต่มีมือสามมือสี่มาซื้อต่อซึ่งพวกนี้ไม่ได้อยู่ภายใต้ใบอนุญาตของ กสทช. พวกมือสามมือสี่ก็ยิ่งไม่ต้องกรองลูกค้าเพราะกำไรมาจากการขายอย่างเดียว จะขายมิจฉาชีพก็ไม่สน หลักการเดียวกันเขาจะอธิบายว่าข้อความนั้นเขาไม่รู้ว่าเป็นมิจฉาชีพเพราะเขาเปิดไม่ได้มีหน้าที่แค่อำนวยความสะดวกในการส่ง ปัญหามันก็เลยยิ่งแก้ยากขึ้นระดับหนึ่ง” นพ.ประวิทย์ อธิบาย หลายหน่วยงาน หลายกฎหมาย หลายขั้นตอน         เรื่องหน่วยงานกำกับดูแลก็ทำให้การแก้ปัญหาไม่เป็นเอกภาพ นพ.ประวิทย์ กล่าวยอมรับว่า หน้าที่ของ กสทช. จริงๆ คือรับหน้าเสื่อผู้บริโภคและการจัดการกับผู้ให้บริการเครือข่าย รวมถึงผู้ให้บริการลำดับถัดไป ไม่มีอำนาจดูแลเนื้อหาในส่วนโทรคมนาคม        กรณีแอปเงินกู้หลอกลวงหรือคิดดอกเบี้ยผิดกฎหมาย ส่วนนี้อยู่ในความดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย         กรณี SMS ที่หลอกให้คลิกลิงค์แล้วถูกแฮ็กข้อมูล ส่วนนี้อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ซึ่งมีกระทรวงดิจิตอลดูแลอยู่         นอกจากนี้ การเอาผิดมิจฉาชีพก็ยังติดขัดในแง่กระบวนการทางกฎหมายที่ต้องมีเจ้าทุกข์ร้องเรียน การค้นหาต้นทาง SMS สามารถทำได้ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินคดีได้ต้องมีผู้เสียหายมาแจ้งความ ซึ่งกรณี SMS หลอกลวงส่วนใหญ่มีการร้องเรียน แต่ไม่มีการแจ้งความ         “เพราะไม่รู้ว่าแจ้งความแล้วจะได้อะไรขึ้นมา ยกตัวอย่างเป็น SMS หลอกลวงว่าเป็นธนาคาร จริงๆธนาคารนั้นต้องเป็นผู้เสียหายเพราะถูกแอบอ้างชื่อปรากฏว่าธนาคารก็ไม่ยอมเป็นผู้เสียหายมาแจ้งความ เพราะถ้าแจ้งความจะเป็นภาระต้องไปดำเนินคดีต่อและเสียภาพลักษณ์ซึ่งจะทำให้ลูกค้าเสียความมั่นใจ ธนาคารจึงทำไม่รู้ไม่เห็น ทำเรื่องให้เงียบที่สุด”         ยิ่งไม่ต้องพูดถึงกรณีผู้เสียหายเป็นผู้บริโภครายบุคคล ซึ่งการเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายมีต้นทุนสูงเกินกว่าจะยอมรับ             “ดังนั้น ปัญหา SMS จึงต้องมานั่งวิเคราะห์ว่ามีกี่แบบเพราะแต่ละแบบมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เหมือนกัน” นพ.ประวิทย์ กล่าว หนทางออก         อ่านแล้วเหมือนไม่มีหวัง ก็ไม่เชิง มีมาตรการบางอย่างที่ กสทช. ทำได้เพื่อป้องปรามและป้องกัน นพ.ประวิทย์ บอกว่า         “หนึ่งใครที่ขายต่อ SMS ต้องขออนุญาตทุกคน และสองกำหนด ID ผู้ส่งหรือ ID Sender ต้องมีการลงทะเบียนกลาง ถ้าใครจะมาส่งในนามของธนาคารต้องมีเอกสารหลักฐานถูกต้อง ไม่ใช่เหมือนตอนนี้ที่ใครจะตั้งอะไรก็ได้ ดังนั้น มิจฉาชีพก็ไปซื้อจากค่ายนี้ตั้งชื่อหนึ่ง ไปซื้อจากอีกค่ายก็ตั้งอีกชื่อหนึ่ง บล็อกชื่อหนึ่งมันก็ยังโผล่มาอยู่ดี    “ถ้าเราจัดการเรื่อง ID ของผู้ส่งได้ต่อไปมิจฉาชีพก็จะสวมรอยไม่ได้หรือส่งมาก็จะถูกบล็อก ID ของผู้ส่งนี้ก็จะหายไป พอรู้ว่า ID นี้ส่ง SMS หลอกลวงค่ายมือถือก็บล็อกไม่ให้ส่ง ถ้าจะขอ ID ผู้ส่งใหม่ก็ต้องไปพิสูจน์กันใหม่ มีการยืนยันตัวตน ถ้าทำระบบนี้สุดท้ายตำรวจจะจับได้เพราะขึ้นทะเบียนไว้หมดแล้วว่าใครส่ง แต่ตอนนี้ ID ผู้ส่งเป็นเสรีภาพอยากจะใช้ชื่ออะไรค่ายไหนก็ได้ ถ้าทำlv’ข้อนี้ผมคิดว่าปัญหาจะลดลงไปส่วนหนึ่ง ที่เหลือก็คือเรื่องการดำเนินคดี ประสานกับผู้เสียหายอาจจะต้องมีการอำนวยความสะดวกให้”        ย้อนกลับไปที่นฤมล เธอเรียกร้องการแก้ปัญหา 3 ข้อ ได้แก่        1. กสทช. ต้องตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจและมีคำสั่งให้ทำเอกสารให้ผู้บริโภคยินยอมในการรับส่งข้อมูล         2. การบังคับใช้กฎหมายของ กสทช. ต้องทำอย่างจริงจัง ไม่ใช่รอให้มีเรื่องร้องเรียนแล้วจึงบังคับใช้กฎหมาย        3. บังคับใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562         “พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคลจะทำให้ทาง Operator และ Content Providers ทั้งหลายรวมทั้งร้านค้าออนไลน์มีความระแวดระวังต่อข้อมูลของลูกค้ามากขึ้นในการที่จะเอาไปให้ Third Party ทำธุรกิจหรือทำ Big Data Analytics  หรือการส่งโปรโมชั่นการขาย” ปริญญา หอมเอนก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ในคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าว         หัวใจหลักของกฎหมายฉบับนี้ก็คือการที่หน่วยธุรกิจจะนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ทำธุรกิจหรือให้แก่หน่วยธุรกิจอื่นจะต้องได้รับความยินยอม (Consent) จากเจ้าของข้อมูลเสียก่อน มิฉะนั้นจะถือว่าผู้ที่นำข้อมูลไปใช้โดยไม่ได้รับความยินยอมกระทำผิดกฎหมาย         ปริญญา ย้ำด้วยว่าเจ้าของข้อมูลมีสิทธิที่จะให้หรือไม่ให้ก็ได้ หน่วยธุรกิจไม่สามารถกำหนดว่าต้องยินยอมเพียงอย่างเดียว         พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 จึงเป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่จะมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหา SMS หลอกลวง อย่างไรก็ตาม ยังต้องรอดูการบังคับใช้และเจตจำนงทางการเมืองของรัฐด้วยว่าจะเป็นไปเพื่อคุ้มครองหรือเพื่อความมั่นคงของฝ่ายรัฐ Digital Literacy เพราะการควบคุมอยู่ในมือผู้ใช้         ดังที่กล่าวไปตอนต้น ปัญหา SMS หลอกลวงมีผู้เล่น 4 ฝ่าย เราจะเก็บผู้ใช้ไว้หลังสุด ตอนนี้มาดูกันก่อนว่าผู้เล่น 3 ฝ่ายมีบทบาทหน้าที่อย่างไร ปริญญา อธิบายตัวอย่างว่า         หน้าที่ของผู้ผลิตคือเปิด Default หรือค่าตั้งต้นทุกอย่างไว้เพื่อให้ผู้ใช้ปิดเองว่าต้องการกรองข้อมูลใดให้เข้ามาหรือไม่ หรือผู้ผลิตร่วมมือกับ Third Party ในการกลั่นกรองสแปม         หน้าที่ของผู้ให้บริการเครือข่ายซึ่งมีเทคโนโลยีที่ทำให้รู้ว่าแหล่งที่มาของสแปมมาจากที่ไหน ทำให้สามารถบล็อกจากแหล่งที่มาได้เลย และขึ้นเป็น IP Blacklist ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการเครือข่ายที่ทำได้         หน้าที่ของผู้กำกับดูแลอาจออกกฎว่าถ้ามี SMS สแปม ผู้ให้บริการเครือข่ายต้องลงทุนใช้เทคโนโลยีอะไรบ้างในการบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน         แต่ถึงที่สุดแล้ว ปริญญากล่าวปัญหา SMS หลอกลวงไม่มีทางแก้ได้แบบหมดจด 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเมื่อใดที่ทำแบบนั้นหมายความว่า SMS ทั่วไปจะถูกบล็อกด้วย         “ผู้ใช้เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ วันนี้ผู้ใช้โทรศัพท์สามารถควบคุมได้เกินกว่าครึ่ง แต่เราไม่เคยรู้ก็เลยคิดว่าเป็นหน้าที่ของคนอื่น ต้องเข้าใจว่าพลังอำนาจในการควบคุมกลับมาอยู่ในฝั่งผู้บริโภคหรือผู้ใช้ ผู้ใช้ต้องรู้ว่าตนเองมีสิทธิ์ ต้องรู้ว่าอำนาจในการควบคุมทุกอย่างอยู่ที่ตนเอง ประการที่สองคือเมื่อตอบตกลงไปแล้วสามารถเปลี่ยนได้”         ปริญญาเน้นย้ำกลับไปที่ประเด็น Cyber Literacy หรือ Digital Literacy หรือความรู้เท่าทันในเทคโนโลยีดิจิตอลของผู้บริโภคที่ต้องเรียนรู้และเพิ่มทักษะด้านนี้ติดตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งถือว่ามีความสำคัญยิ่งไม่ใช่เฉพาะเรื่อง SMS หลอกลวงเท่านั้น         ส่วนคำแนะนำเบื้องต้นที่ปฏิบัติได้ทันที นฤมลบอกว่าถ้าได้รับข้อความแปลกจากเบอร์ที่ไม่รู้ อย่าคลิกเข้าไปอ่าน ลบ และบล็อกเบอร์นั้นทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 รู้ข้อมูลแปลงที่ดินผ่าน LandsMaps

        ปัจจุบันเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าช่วยทำให้การดำเนินชีวิตประจำวันมีความสะดวกสบายอย่างมาก ประกอบกับช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดแบบนี้ช่วยได้มากที่สุด ฉบับนี้ขอมาเขียนถึงแอปพลิเคชั่น LandsMaps ที่นำเทคโนโลยีช่วยมาเติมเต็มให้กับประชาชนช่วยให้รู้ราคาประเมินของแปลงที่ดินทุกจุดทั่วประเทศ โดยไม่ต้องเดินทางไปสอบถามเจ้าหน้าที่กรมที่ดินด้วยตนเอง         แอปพลิเคชั่น LandsMaps จัดทำขึ้นโดยกรมที่ดินร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการหาตำแหน่งแปลงที่ดิน ได้ทราบราคาประเมินของที่ดินนั้น และเชื่อมต่อข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกรมที่ดิน เพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย โดยผู้อ่านสามารถดาวน์โหลดใช้งานได้ฟรีทั้งระบบปฏิบัติการ Android และ iOS เมื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นเรียบร้อยแล้ว ให้ลงทะเบียนสมัครเข้าใช้งาน โดยกำหนดชื่อบัญชีผู้ใช้ กำหนดรหัสผ่าน ใส่เบอร์มือถือและอีเมล หลังจากนั้นจะได้รับรหัส OTP เพื่อนำมากรอกลงในแอปพลิเคชั่น ก็เสร็จสิ้นขั้นตอนการลงทะเบียน         ขั้นตอนการค้นหาไม่มีความยุ่งยากและซับซ้อนมากนัก หลังจากเข้าแอปพลิเคชัน LandsMaps หน้าจอจะปรากฎภาพแผนที่ ให้ผู้อ่านมองหาและกดปุ่มสัญลักษณ์ขีดสามขีดที่อยู่บริเวณด้านบนซ้ายมือของแอปพลิเคชั่น ซึ่งจะแสดงเมนูต่างๆ ดังนี้ เมนูค้นหารูปแปลง เมนูค้นหาสถานที่สำคัญ เมนูปิดเปิดผังเมืองกรุงเทพมหานคร เมนูรูปแบบแผนที่ เมนูแปลงที่บันทึก เมนูรายละเอียดประเภทของที่ดิน เมนูวิธีใช้ เมนูเงื่อนไขและข้อตกลง และเมนูออกจากระบบ         เมื่อต้องการค้นหาแปลงที่ดินให้เลือกกดที่เมนูค้นหารูปแปลง ต่อจากนั้นให้เลือกระบุจังหวัด ระบุอำเภอ และเลขที่โฉนดที่ดินลงไป แอปพลิเคชั่นจะประมวลผลและปรากฎจุดแปลงที่ดินที่ค้นหา โดยแสดงรายละเอียดตั้งแต่เลขที่โฉนด เลขที่ระวาง เลขที่ดิน หน้าสำรวจ ตำบล อำเภอ จังหวัด เนื้อที่ ค่าพิกัดแปลง ราคาประเมินต่อตารางวา ระยะเวลารอคิวรังวัด และสามารถกดดูข้อมูลเพิ่มเติมดังนี้ คิดคำนวณค่าใช้จ่ายในการรังวัด ระบบการคำนวณภาษีอากร หน้าเว็บไซต์กรมธนารักษ์ หรือเชื่อมต่อไปยังแผนที่เพื่อนำทางไปยังแปลงที่ดินหรือไปยังสำนักงานกรมที่ดิน ในรูปแบบแผนที่ Google map         ส่วนเมนูค้นหาสถานที่สำคัญใช้สำหรับค้นหาสถานที่ต่างๆ เมนูปิดเปิดผังเมืองกรุงเทพมหานครทำให้เห็นภาพผังเมืองของพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมนูรูปแบบแผนที่สำหรับเปลี่ยนมุมมองแผนที่แบบเส้นทางหรือแผนที่แบบดาวเทียม เมนูแปลงที่บันทึกใช้ในกรณีที่ค้นหาแปลงที่ดินและได้กดปุ่มบันทึกแปลงนี้ ที่ดินแปลงจะถูกเก็บบันทึกไว้ในเมนูนี้ เมนูรายละเอียดประเภทของที่ดินเป็นข้อมูลที่อธิบายความหมายของที่ดินประเภทต่างๆ         ใครที่กำลังมองหาตัวช่วยในการตรวจสอบราคาประเมินที่ดินและรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ลองดาวน์โหลดมาใช้งานดูได้ แอปพลิเคชั่น LandsMaps ช่วยให้ชีวิตสะดวกและสบาย ไม่ต้องเดินทางไปถึงกรมที่ดินด้วยตนเองได้จริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 หากไอศกรีมถ้วยโปรดกลายเป็นยาพิษ คุณจะทำอย่างไร ?

        พัชรินทร์ เกียรติผดุงกุล เป็นพนักงานของ บ.ชิปปิ้ง แห่งหนึ่ง หลังเสร็จจากภารกิจอันหนักอึ้งของวันทำงาน เธอจึงต้องการพักผ่อนคลายเครียดด้วยการรับประทานไอศกรีมของร้านประจำเจ้าดังที่เธอคุ้นเคย ซึ่งมีสาขาอยู่ในห้างสรรพสินค้าใกล้สถานที่ทำงาน แต่จากที่ต้องการคลายเครียดกลับยิ่งเพิ่มความเครียดเมื่อเธอได้รับความเสียหายจากการดูดไอศกรีมปั่น เธอจึงต้องออกมาแสดงตนเพื่อ เรียกร้องความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น แค่คิดก็เจ็บคอขึ้นมาทันที         “ วันนั้นเราสั่งเมนูปั่น แม้ว่าทางร้านเขาจะใส่เป็นแก้วใสๆ มาให้ แต่เราไม่ได้ดูที่ตัวแก้วเลย ทำให้มองไม่เห็นความผิดปกติของไอศกรีม ไม่เห็นว่าไอศกรีมเป็นอย่างไร เพียงมองผ่านก็คือหน้าตาน่ารับประเทาน ที่เราสั่งเป็นมอคค่าอัลมอนด์ซึ่งจะมีถั่วปั่นอยู่ในนั้น ไม่ใช่สิ เป็นช็อกโกแลตล้วน ไม่มีใส่ช็อกโกแลตชิพ ไม่ใส่ใดๆ เราก็เห็นแต่ข้างบนเป็นวิปปิ้งครีม มองไม่เห็นข้างล่าง เราก็ดูด ก่อนที่จะดูดได้เราต้องรอให้มันละลายนิดหนึ่ง เราดูดทีหนึ่งก็หมดไปค่อนแก้วแล้ว เราก็เพิ่งมาทราบว่ามันมีอะไรติดอยู่ที่ปาก มีทั้งเศษชิ้นใหญ่ชิ้นเล็ก แล้วมาทราบอีกทีหนึ่งก็คือเป็นชิ้นใหญ่แล้วมันบาดข้างในคอของเรา” แสดงว่ากินสิ่งแปลกปลอมที่อยู่ในนั้นเข้าไปแล้ว         ใช่ มันแข็ง ก็เอ๊ะ ทำไมมีเศษๆ อะไรสักอย่าง มันบาดคอแล้วก็สากๆ ลิ้น ก็คายส่วนที่ค้างในปากออกมา ปรากฏว่าเป็นเศษพลาสติกสีดำ เรารีบถ่ายรูปไว้ก่อนเลย แล้วโทร.ไปที่คอลเซ็นเตอร์ร้าน แจ้งว่าเราเพิ่งซื้อไอศกรีมจากร้านที่สาขาโลตัสพระราม 1 มา แล้วเจอแบบนี้นะ ร้านจะรับผิดชอบอย่างไร ก็อีกสักประมาณครึ่งชั่วโมง ผู้จัดการร้านไอศกรีมสาขานั้นก็โทรกลับมาบอกให้ช่วยนำไอศกรีมแก้วนั้นเข้ามาที่ร้านให้เขาดู เราก็ไป พอไปถึงที่ร้าน  เขาทำแบบนี้ เขาเอาเครื่องปั่นมาตั้งไว้บนโต๊ะ แล้วก็รอหลักฐานที่อยู่ในถ้วยไอศกรีมของเรา เอาไปดูว่าจะใช่อย่างเดียวกันหรือเปล่า ก็ปรากฏว่าใช่ หลักฐานชิ้นนั้นคือ มันเป็นวงแหวนที่ซีลใบพัด ซึ่งตรงนั้นมันหลุดออกมาในเครื่องปั่น คือมันแหว่งหายไป แล้วเศษของมันที่หลุดออกมาก็เลยถูกปั่นรวมกับไอศกรีมแล้วมาอยู่ในแก้วของเรา น่ากลัวมากแล้วเขารับผิดชอบอย่างไรบ้าง        ผู้จัดการร้านก็คืนเงินค่าไอศกรีมให้เราก่อน หนึ่ง แล้วก็ถามว่าอาการเป็นอย่างไรบ้าง เราก็บอกว่าเจ็บคอ เขาก็ให้เราไปหาหมอ แต่ตอนนั้นเรายังไม่มีอาการอะไรมากมายแค่เจ็บคอนิดๆ จนออกจากร้านมาได้สักพักก็ปวดท้อง เราก็โทรบอกเขาว่าเราจะไปหาหมอนะ เพราะตอนนี้ปวดท้องมาก เขาบอกว่า “ไปเลยครับสุขภาพสำคัญกว่า” เราก็ไปหาหมอเย็นนั้นเลยบอกอาการให้หมอฟัง หมอก็รักษาตามอาการ ส่วนเราไม่อยากนอนโรงพยาบาลเพราะสถานการณ์โควิด หมอก็ให้กลับมาหาอีกวันรุ่งขึ้นหากอาการไม่ดีขึ้น วันรุ่งขึ้นเรายังปวดท้องอยู่ แล้วสิ่งที่เพิ่มมาคือต่อมทอนซิลอักเสบด้วย เพราะว่ามีเศษพลาสติกบาดคอ(จากส่วนแหลมที่เกิดจากการปั่น)  แต่เราไม่กล้าไปโรงพยาบาลแล้วเพราะกลัวรับเชื้อโควิดกลับมา ก็เลยให้น้องสาวไปซื้อยาจากร้านยามาให้ ส่วนตัวเองต้องลางาน ต้องขอลาพักฟื้นอยู่บ้านนาน 11 วันได้ เราจึงท้วงติงกับทางผู้จัดการร้านไอศกรีมไปว่าเราไปหาหมอมานะ มีค่ารักษาพยาบาลนะ แล้วเราก็ต้องนอนพักผ่อนเพราะไข้ขึ้น (กังวลด้วยว่าจะเป็นโควิดไหม) ผู้จัดการฯ เขาก็บอกว่า “เดี๋ยวรอพี่าหายก่อนแล้วค่อยนัดหมายกันอีกทีครับ เราก็ตอบตกลงไป คือไว้เจอกันวันนัดเลย สถานการณ์วันที่พบผู้ประกอบการ         วันนัด เขาก็ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายเซอร์เวย์มานั่งคุยร่วมกันด้วยที่ร้านไอศกรีม เจ้าหน้าที่คนนี้มารยาทไม่ดีเลย นั่งไขว่ห้างแล้วกระดิกเท้าใส่หน้าเรา พูดประมาณว่า “คุณเป็นใคร มาจากไหน คุณทำงานอะไร กินไอติมแค่นี้จะมาเรียกร้องทำไม”  นาทีนั้นเราเข้าใจได้ทันทีเลยนะว่า การพูดแบบนี้เป็นลักษณะที่จะข่มขู่เรา เพราะเขาบอกว่า บริษัทเขาใหญ่นะ ใหญ่กว่าเรามากๆ ด้วย  เราก็บอกว่าอย่าทำมารยาทไม่ดีแบบนี้ (คิดในใจว่าถ้าเปลี่ยนคนได้ก็ขอให้เปลี่ยนเถอะ  แล้ววันนั้นทางเซอร์เวย์บอกแต่เพียงว่า ถ้าจะร้องเรียนเขา เขาต้องการเอกสารอะไรบ้าง ซึ่งขอเยอะมาก         พอเราส่งเอกสารไปให้แล้วเพื่อนัดกันอีกครั้ง เขาก็เปลี่ยนคนมาตามที่เราขอ เซอร์เวย์คนใหม่นี้บอกว่า ‘เอาอย่างนี้ได้ไหม ผมให้แค่ 10,000 บาท แล้วก็จบเรื่องกันไป’ เราก็บอกไม่รู้ว่าค่ารักษาพยาบาลขั้นต่อไปจะอีกเท่าไหร่ เราไม่รู้จะมีอาการอะไรอีกหลังจากนี้ ก็เลยไม่ได้รับเงินหมื่นเอาไว้ เพราะเราไม่แน่ใจว่า แค่ไหนถึงจะครอบคลุมความเสียหายของเรา เพราะมันมีเรื่องที่เราต้องเสียรายได้ หรือการขาดโอกาสทางธุรกิจเพราะต้องหยุดพักรักษาตัว         “ตอนที่ไม่สบาย เราต้องไปเลื่อนนัดกับลูกค้าต่างชาติ เขาก็แสดงท่าทีว่ากลัวเราเป็นไวรัลโคโรนาไหม เพราะเราเจ็บคอไง  เวลาคุยไปด้วยก็ไอไปด้วย เสียงเราก็แหบ ลูกค้าคงคิดว่าเราได้รับเชื้อโควิดหรือเปล่า เขาเลยไม่กล้าเจอเรา การเจรจาธุรกิจก็เสียหาย”         เราเลยต้องมาตั้งหลักว่า เออเราพอจะรู้แล้วว่า จากเหตุการณ์นี้ อุบัติเหตุนี้ ทำให้เราขาดประโยชน์อะไรไปบ้าง จำนวนหรือมูลค่าความเสียหายประมาณเท่าไหร่ เราจึงเขียนจดหมายไปเรียกร้องกับทางบริษัทต้นสังกัดของร้านไอศกรีม ส่งอีเมลไป โน่น...รอเป็นเดือน ก็ไม่มีอะไรตอบกลับมา เราจึงโทรศัพท์ไปหาผู้จัดการสาขาอีก เขาก็บอกว่าเขาให้ทางบริษัทประกันและเซอร์เวย์เป็นผู้ดำเนินการแทนแล้ว เราก็ต้องรอคนติดต่อกลับไปเท่านั้น         คราวนี้ไม่นานทางนั้นได้ติดต่อกลับมา เราก็ถามไปว่าจะยังไงกันคุณจะรับผิดชอบแค่ไหน ค่าขาดประโยชน์คุณก็ไม่ให้ ค่ารักษาพยาบาลคุณก็ยังไม่ให้เรา เขาก็บอกว่าจะให้เพิ่มเป็น 15,000 บาท เราก็ถามว่าคือค่าอะไร เขาบอกว่าเป็น 15 เท่าของค่ารักษาพยาบาลที่เราไปหาหมอเมื่อวันที่ปวดท้อง แต่เขาก็แค่พูดปากเปล่าไว้เท่านั้น ยังมีความเสียหายอื่นอีกไหม         มีค่ะ ตอนนั้นเราซื้อประกันสุขภาพไว้ แต่บริษัทประกันที่เราซื้อประกันภัยไ บอกสัญญาจะไม่คุ้มครองหรือจ่ายค่ารักษาพยาบาลใดๆ ถ้าเราป่วยเพราะเศษพลาสติกนี้ เพราะไม่รู้ว่าจะมีผลอะไรต่อไปบ้าง คือไม่คุ้มครองอวัยวะใดก็ตามที่เป็นทางผ่านของพลาสติกชิ้นนี้ ตั้งแต่ช่องปาก ลำคอ คอหอย ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ กระเพาะอาหาร ทวารหนัก เราก็คิดว่านี่ทำให้เราขาดประโยชน์ไปด้วย คือเราไม่มีโรคประจำตัวอะไรใดๆ ทั้งสิ้น สุขภาพแข็งแรงดี ถ้าเราซื้อประกันสุขภาพ เขาต้องคุ้มครองเรา 100 เปอร์เซ็นต์ นี่แปลว่าบริษัทประกันคงพิจารณาแล้วว่ามีความเสี่ยง        เราก็ไปปรึกษากับคุณหมอ เขาก็บอกว่าปกติร่างกายจะขับถ่ายสิ่งแปลกปลอมออกมาอยู่แล้ว แต่ถ้าบางมากๆ ก็ขับถ่ายออกมาไม่หมด แผ่นพลาสติกอย่างนี้อาจจะไปแปะตามลำไส้ ผนังกระเพาะ หรือไส้ติ่งก็ได้ แล้วก็อาจจะก่อให้เกิดเป็นเนื้อไม่ดี (ร่างกายจะสร้างพังผืดออกมาหุ้ม)          เราก็รีบโทรศัพท์ไปคุยกับทางร้านเรื่องที่เราเสียสิทธิตรงนี้เพิ่มขึ้นมาด้วย หลังจากเจรจากันได้แล้ว เราให้เขาช่วยเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรตามที่ตกลงกันมาให้ว่า “ทางบริษัทไอศกรีมยินดีรับผิดทุกประการที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ และจะรับผิดชอบโดยพาเราไปรักษาเพื่อเอาพลาสติกนี้ออกจากร่างกายให้หมด ถึงแม้ว่าคุณหมอจะสรุปว่าไม่พบสิ่งแปลกปลอมในร่างกายแล้ว หรือยังพบสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย หรือมีแผลแล้วต้องรักษาอย่างไรบ้าง ค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดเขาต้องเป็นคนรับผิดชอบ” ซึ่งเขาก็รับปากตามนั้นว่าจะส่งหนังสือสัญญามาให้ แต่ที่เขาส่งมาให้มันมีเพียงข้อความว่า เขาให้เรา 20,000 บาท แล้วยุติการเรียกร้องใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าทายาทจะมาเรียกร้องใดๆ เขาก็ไม่รับผิดชอบ เราก็บอกว่าอย่างนี้ไม่ถูกต้อง คือหลังจากนั้นก็ติดต่อมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         ใช่ คือเขาพูดโทรศัพท์อย่างหนึ่งแล้วส่งลายลักษณ์อักษรมาเป็นอีกอย่างหนึ่ง จากหน้ามือเป็นหลังมือ เราก็เลยไปหาว่ามีใครที่จะช่วยเราได้บ้าง เราก็เห็นเว็บไซต์มูลนิธิฯ เจ้าหน้าที่อธิบายข้อกฎหมายให้เราฟังว่า มีทำผิดมาตราอะไรบ้าง เป็นละเมิดสิทธิเรื่องอะไรบ้าง แล้วเรา ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกร้องอะไรได้บ้าง เราก็ขอความช่วยเหลือกับทางมูลนิธิฯ ไปเจ้าหน้าที่ก็ให้เราส่งเอกสารที่เป็นหลักฐานที่เราเคยติดต่อกับทางบริษัทไอศกรีมทั้งหมดไปให้         ทางมูลนิธิฯ หลังดูเอกสารให้แล้ว โทรแจ้งเราว่า “ใกล้จะขาดอายุความแล้ว” เพราะว่าเป็นคดีแพ่ง จึงแนะนำให้เราไปแจ้ง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เผื่อไว้เป็นอีกทางหนึ่ง หากเกิดว่าหมดอายุความ 1 ปีแล้ว เราก็จะยังคงมีสิทธิที่จะเรียกร้องต่อได้ เราก็รีบโทร.ไป สคบ.ด้วย สคบ. ก็ให้เราไปลงบันทึกประจำวันแจ้งความไว้ก่อนว่าคุยกับทางร้านไอศกรีมแล้ว เขาพูดอย่างหนึ่ง แต่เขาออกลายลักษณ์อักษรมาอีกแบบหนึ่ง คือผิดจากข้อตกลงไป ทางมูลนิธิฯ ช่วยเรื่องอะไรบ้าง        ทางมูลนิธิฯ ตามเรื่องให้เรา แล้วพบข้อมูลว่า ฝ่ายกฎหมายของบริษัทไอศกรีมยังไม่เคยเห็นเรื่องร้องเรียนของเราเลย  เราก็งง คือเราก็ไม่รู้ว่าเขาพูดไปทำงานกันอย่างไร สุดท้ายฝ่ายกฎหมายของทางบริษัทฯนัดให้มาไกล่เกลี่ยกัน โดยใช้สถานที่ของมูลนิธิฯ โดยมีเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ นั่งร่วมเจรจาด้วย         วันนั้นเราไปคนเดียว แต่ทางนั้นไปเกือบ 20 คน ทางเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ ก็คุยให้ว่าทางบริษัทประกันมีบริษัทในเครือไหมที่จะพาเราไปให้คุณหมอตรวจ แล้วออกเอกสารมาว่าไม่พบสิ่งแปลกปลอมในร่างกายแล้ว เพื่อที่จะให้เราไม่หมดสิทธิในเรื่องของประกันสุขภาพที่เราทำไว้ บริษัทประกันก็โอเค จบไปหนึ่ง แต่บริษัทไอศกรีมโดยฝ่ายเซอร์เวย์มาพูดว่าทำแบบนั้นให้ไม่ได้ แต่ไม่บอกเหตุผล เขาบอกให้เราพูดมาเลยว่า “เราต้องการเงินเท่าไหร่ แล้วก็ให้จบยุติการเรียกร้องไป”         คือจริงๆ เราควรที่จะเรียกร้องมากกว่าที่เราได้สรุปสุดท้ายนี้ด้วยซ้ำ เราเรียกร้องค่ารักษาพยาบาล ค่าเสียเวลา ค่าเดินทาง ค่าขาดประโยชน์ที่ไม่สบาย (ลูกค้าของบริษัทไม่ยินดีจะเซ็นสัญญา) โดยรวมทั้งหมด 250,000 บาท เขาก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นเขาจ่ายให้ไม่ได้ เราเลยเรียกเขาอยู่ประมาณ 50,000 บาท แต่ก็ไม่คิดว่าเขาจะขอลดราคาลงมาอีก เหลือที่ 40,000 บาท หลังจากวันที่ไกล่เกลี่ยและเซ็นเอกสารว่าได้ 40,000 บาทจะยุติการเรียกร้องนั้นแล้ว อีก 15 วัน เขาก็โอนเงินมาให้ตามนั้น   ยังรู้สึกว่าผู้ประกอบการไม่จริงใจ         วันไกล่เกลี่ยเราถามว่า ทำไมคุณไม่เอาฝ่ายกฎหมายของบริษัทมาด้วย แล้วก็จะได้เคลียร์กันที่ตรงนั้น คือเรามีความรู้สึกว่าเขาพยายามปิดใจความ หรือว่าพยายามที่จะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ        เขาเป็นถึงบริษัทมหาชน เขาขายสินค้า ขายบริการ เขาได้เงินจากเราไปแต่เขาไม่ได้นึกถึงชีวิตของเราเลย เวลาที่เขาพูดอะไรออกมาทุกอย่างเป็นเรื่องเงินๆ ทองๆ หมด คือเราพูดถึงขนาดที่ว่าอาจจะเสี่ยงกลายเป็นเนื้องอกหรือมะเร็งในอนาคตได้ เขาก็บอกว่าไม่มีทางเป็นหรอก         สมมุติ ถ้าเป็นเด็กๆ คือโลตัสพระราม 1 อยู่ใกล้กับแหล่งชุมชน เป็นคนที่ฐานะระดับล่างถึงปานกลาง ถ้าเด็กไปกินไอศกรีมที่มีสิ่งแปลกปลอมแล้วปวดท้องขึ้นมา เขาจะมีเงินไปหาหมอไหม แล้วเขาจะมาเรียกร้องกับทางร้านได้ไหม เราคิดนะ ถ้าเป็นคนที่ไม่รู้เรื่องกฎหมายอะไรแบบนี้ เขาคงไม่เรียกร้อง ไม่ต่อสู้อะไรขึ้นมา ก็คงจะแบบคืนค่าไอศกรีมให้เสร็จแล้วก็จบๆ กันไป บริษัทควรมีความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์มากกว่านี้         เราก็บอกให้เขาช่วยตรวจตราอายุการใช้งานของอุปกรณ์ด้วย อย่างเครื่องปั่นอันนี้อายุปั่นได้กี่ครั้ง ถ้าครบแล้วควรที่จะหยุดแล้วนำไปเปลี่ยนอะไหล่ แล้วค่อยนำกลับมาใช้ใหม่ อย่างนี้ถึงจะให้ความปลอดภัยกับผู้บริโภค ไม่ใช่ว่ารอให้เกิดเหตุการณ์อะไหล่ของเครื่องหลุดออกมาผสมกับผลิตภัณฑ์แล้ว ถึงจะมาแก้ไข แต่พูดแล้ว เขาก็แค่ฟังเฉยๆ         เรายังบอกเขานะว่า เงินที่เป็นผลกำไรที่เข้าบริษัทของเขาก็มาจากผู้บริโภคทั้งหลาย เพราะฉะนั้นการขายสิ่งที่เป็นอาหารมีทั้งเป็นข้อดีกับข้อเสีย ข้อดีก็คือถ้าทำอาหารด้วยวัตถุดิบที่ดีก็ช่วยส่งเสริมให้ร่างกายผู้บริโภคแข็งแรงด้วยนอกเหนือจากความอร่อยแล้ว แต่ถ้าเกิดว่าทำไม่ดีมันก็คือยาพิษ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 ผลทดสอบสารทาเลตและบีพีเอในผลิตภัณฑ์พลาสติกบรรจุอาหาร

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภคสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดลและโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ          ทาเลท (Phthalates) เป็นสารเคมีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่ใช้เป็นสารที่ผสมในพลาสติกลซึ่งเมื่อเติมลงในพลาสติกแล้วจะทำให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นและแข็งแกร่งขึ้น (ATSDR, 2002) phthalates ส่วนใหญ่โดยเฉพาะ DEHP และ DINP (ชนิดของทาเลท) ผลิตและใช้สำหรับการเคลือบของโพลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) ซึ่งเป็นสารพลาสติกทั่วไปที่ใช้มากที่สุดในโลก ผลที่ตามมาต่อสุขภาพของมนุษย์ที่เกิดจากการสัมผัสกับสารเหล่านี้เป็นที่สนใจอย่างมากในปัจจุบัน ความเป็นพิษของทาเลทมุ่งเป้าไปที่การรบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย (endocrine dysruptor) มีผลต่อฮอร์โมนทัยรอยด์ ฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Boas et al.)  ฮอร์โมนอินซูลิน ฮอร์โมนเพศ และส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์         นอกจากนี้ยังมีสารที่อยู่ในภาชนะบรรจุอาหาร น้ำดื่ม อีกชนิดหนึ่งที่มีผลรบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย (endocrine dysrupter)  ได้แก่ สารบีพีเอ ที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์ได้เช่นเดียวกัน กล่าวคือบีพีเอเป็นสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลายอย่าง และเป็นสารทำให้พลาสติกแข็งขึ้น พบในผลิตภัณฑ์ที่ใช้เป็นขวดน้ำดื่มโพลีคาร์บอเนต ขวดนมพลาสติกแข็ง ถ้วยน้ำสำหรับเด็ก ภาชนะบรรจุอาหารภาชนะใส่น้ำและยังใช้เคลือบในกระป๋องอาหาร ทั้งนี้มนุษย์อาจจะได้รับสารบีพีเอจากอาหารน้ำดื่มที่สัมผัสอยู่บนพื้นผิวภาชนะพลาสติกที่มีสารบีพีเอ โดยสารบีพีเอสามารถหลุดออกจากภาชนะเข้าสู่อาหารน้ำดื่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีของเหลวที่ถูกทำให้ร้อนหรือภาชนะที่มีรอยขีดข่วน         ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังด้านความปลอดภัยในสินค้าแก่ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในฐานะหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร สภาองค์กรของผู้บริโภค, สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. จึงสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์พลาสติกที่นำมาบรรจุอาหาร จำนวนทั้งหมด 30 ตัวอย่าง ประกอบด้วยภาชนะพลาสติกที่มีแบรนด์ ไม่มีแบรนด์ ซื้อจากห้าง ซื้อจากตลาด ซื้อจากร้าน 20 บาท ภาชนะที่บรรจุอาหารปรุงเสร็จในร้านสะดวกซื้อ และภาชนะที่จัดมาให้ในอาหารสำเร็จรูป เพื่อดำเนินการตรวจวิเคราะห์หาสารทาเลตอันตรายทั้ง 7 ชนิด และ สารบีพีเอ โดยวิธีการทดสอบทาเลตอ้างอิงตาม EN 14372: 2004, Extraction with organic solvent, determination by GC-MS. ส่วนการทดสอบ บีพีเอ (Bisphenol A); CAS No. 80-05-7 ทดสอบโดยสกัดด้วยตัวทำละลายอินทรีย์และวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือ Liquid Chromatography-Mass Spectrometry (LC-MS) โดยบริษัท TUV เป็นผู้ดำเนินการตรวจวิเคราะห์ ผลการทดสอบ         ผลไม่พบสารทาเลททั้ง 7 ชนิด ที่ระดับ 60 มก./กก. (.006%) หรือสูงกว่าเลย (ดูตารางที่ 1) และการทดสอบหาการปนเปื้อนของสารบิสฟีนอล (เอ) ผล ไม่พบสารดังกล่าวที่ระดับ 10 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมหรือมากกว่า สรุป         ภาชนะบรรจุอาหารที่อยู่ในตลาดและได้รับการสุ่มตรวจ 30 ตัวอย่างทั้งแบบราคาสูงและราคาต่ำ ไม่พบสารทาเลทหรือ บีพีเอเกินกว่าค่ามาตรฐาน         อย่างไรก็ตามสารทาเลทในพลาสติกยังอาจก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับตัวพลาสติกเอง เนื่องจากกระบวนการผลิตมีการปล่อยสารพิษเข้าไปในอากาศและน้ำทำให้เกิดภาวะมลพิษ และต้องอาศัยพลังงานสูง นอกจากนี้พลาสติกยังเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ยาก การรีไซเคิลจะมีคุณภาพด้อยลงจากผลิตภัณฑ์ก่อนการรีไซเคิล ดังนั้นจึงไม่สามารถนำกลับมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เดิมได้ ซึ่งในกระบวนการรีไซเคิลนี้ต้องมีการเพิ่มวัตถุดิบหรือต้นทุนด้านอื่นๆ อีกด้วย ส่วนการเผาขยะพลาสติกชนิดพีวีซีจะเป็นตัวก่อให้เกิดสารไดออกซิน ผู้บริโภคจึงควรลดการใช้ภาชนะบรรจุอาหารแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ผู้ผลิตควรมีความรับผิดชอบมากกว่านี้ในการดำเนินการเรื่องการจัดการขยะพลาสติก รวมทั้งการลงทุนในงานวิจัยด้านภาชนะบรรจุอาหารที่ปลอดภัยทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและต่อคนโดยเฉพาะสำหรับเด็ก   ตารางที่ 1          ทาเลทเป็นสารเคมีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่ใช้เป็นสารที่ผสมในพลาสติกลซึ่งเมื่อเติมลงในพลาสติกแล้วจะทำให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นและแข็งแกร่งขึ้น (ATSDR, 2002) phthalates ส่วนใหญ่โดยเฉพาะDEHP และ DINP ผลิตและใช้สำหรับการเคลือบของโพลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) ซึ่งเป็นสารพลาสติกทั่วไปที่ใช้มากที่สุดในโลก มีการใช้งานตั้งแต่อุตสาหกรรมยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล ของเล่นและผลิตภัณฑ์ในการดูแลเด็ก สหภาพยุโรปได้รับกำหนดทาเลท 5 ชนิดที่มีความสำคัญและต้องควบคุม ได้แก่ ทาเลทที่มีน้ำหนักโมเลกุลสูง: di-isononyl phthalate (DINP), di-isodecyl phthalate (DIDP) เป็น 80% ของทาเลทที่ใช้ในยุโรป ทาเลทที่มีน้ำหนักโมเลกุลต่ำ: dibutyl phthalate (DBP), benzyl-butyl phthalate (BBP), di-2-ethyl-hexyl phthalate (DEHP) ซึ่งมีอันตรายมากกว่าและเป็นพิษ         ผลที่ตามมาต่อสุขภาพของมนุษย์ที่เกิดจากการสัมผัสกับสารเหล่านี้เป็นที่สนใจอย่างมากในปัจจุบัน ความเป็นพิษของทาเลทมุ่งเป้าไปที่การรบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย (endocrine dysruptor) มีผลต่อฮอร์โมนทัยรอยด์ ฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Boas et al.)  ฮอร์โมนอินซูลิน ฮอร์โมนเพศ และส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ ตัวอ่อนในครรภ์มารดาที่ได้รับทาเลทพบว่าระยะห่างระหว่างรูทวารกับอวัยวะเพศมีลักษณะแคบกว่าเด็กปกติ (anogenital distance) (Swan et al.,Environ Health Perspect. 2005)  ทารกที่ได้รับสารทาเลทจากนมแม่ มีความสัมพันธ์กับความผิดปกติของฮอร์โมนเพศโดยลดฮอร์โมนเพศชาย และเกิดความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศหญิง (Main et al., Environ Health Perspect. 2006) และยังมีความสัมพันธ์ระหว่างการได้รับสารทาเลท(ทั้งในครรภ์และระหว่างผู้ใหญ่) กับน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น (Tang-Peronard et al., Obesity Reviews, 2011) และโรคเบาหวาน (Swensson et al., Envir. Res.) ในเพศชายที่ได้รับสารทาเลทสูงพบเชื้ออสุจิมีรูปร่างผิดปกติและมี DNA เสียหาย รวมทั้งพบการหลั่งฮอร์โมนของการสร้างน้ำนม (โปรแลคติน) (Duty et al., Hauser et al) พบว่าความเข้มข้นของสารเมตาโบไลต์ของทาเลทที่สูงขึ้นมีความสัมพันธ์กับภาวะมีบุตรยาก (Trafno G. et al. tox. lett., 2011) อย่างมีนัยสำคัญ        แต่ก็อาจเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ กระบวนการก่อมะเร็งและแม้กระทั่งในความผิดปกติของออทิสติกสเปกตรัม พบว่า การได้รับทาเลทในวัยเด็กมีความเกี่ยวข้องกับโรคเยื่อบุจมูกอักเสบเรื้อรัง และโรคหอบหืด (Bornehag et al., 2004) (Jaakkola et al., 1999) การให้ DEHP ทำให้เกิดมะเร็งตับ (Ito et al., 2007) และตับอ่อนในหนู (Selenskas et al.,1995) พบเนื้องอกของระบบสืบพันธ์เช่น endometriosis และ uterine leiomyomata มีความสัมพันธ์กับระดับของสารทาเลท (Weuve et al., Environ Health Perspect. 2010) นอกจากนั้นยังมีการศึกษาในเด็กออทิสติก 48 คน พบว่าปัสสาวะของเด็กเหล่านี้มีสาร DEHP สูงกว่าเด็กปกติอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นในมาตรฐานสากลและในหลายประเทศได้มีการควบคุมสารทาเลท        นับวันประชากรทั่วโลกจะได้รับสารทาเลทมากขึ้น การศึกษาการได้รับสาร DEHP ซึ่งเป็นทาเลทชนิดหนึ่ง ในประชากรผู้ใหญ่ชาวเยอรมันที่ไม่ได้ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยง 85 ราย (Koch et al., 2003) และเด็กๆ 254 ราย (Becker et al., 2004) พบว่าเด็กได้รับสาร DEHP เข้าสู่ร่างกายสูงกว่าปริมาณอ้างอิง (RfD, 20 ไมโครกรัม/กก/วัน) ถึง 26 คน (ร้อยละ 10.23) ขณะที่ผู้ใหญ่พบสารสูงกว่าค่าอ้างอิง 7 คน (ร้อยละ 5.95) จึงสันนิษฐานได้ว่าเด็กมีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการได้รับ DEHP มากว่าผู้ใหญ่ และอาจเป็นเพราะการบริโภคอาหารที่เพิ่มขึ้นในเงื่อนไขต่อกิโลกรัมของน้ำหนักตัว ในสหภาพยุโรปได้จำกัดการใช้ทาเลทในภาชนะอาหารหรืออุปกรณ์การกินทั้งหลายที่สัมผัสกับอาหารที่นำเข้าปากมาเป็นเวลาหลายปี  เนื่องจากอาจเกิดการเคลื่อนย้ายสารทาเลทจากภาชนะพลาสติกไปยังอาหาร พบว่ากระบวนการนี้จะถูกเร่งให้เร็วขึ้นโดยให้ความร้อน (Directive 2002/72/EC) และอาหารที่มีไขมัน         สารที่อยู่ในภาชนะบรรจุอาหาร น้ำดื่ม อีกชนิดหนึ่งที่มีผลรบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย (endocrine dysrupter)  ได้แก่ สารบีพีเอ บีพีเอเป็นสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลายอย่าง และเป็นสารทำให้พลาสติกแข็งขึ้น พบในผลิตภัณฑ์ที่ใช้เป็นขวดน้ำดื่มโพลีคาร์บอเนต ขวดนมพลาสติกแข็ง ถ้วยน้ำสำหรับเด็ก ภาชนะบรรจุอาหารภาชนะใส่น้ำและยังใช้เคลือบในกระป๋องอาหาร มนุษย์ได้รับสารบีพีเอจากอาหารน้ำดื่มที่สัมผัสอยู่บนพื้นผิวภาชนะพลาสติกที่มีสารบีพีเอ สารบีพีเอสามารถหลุดออกจากภาชนะเข้าสู่อาหารน้ำดื่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีของเหลวที่ถูกทำให้ร้อนหรือภาชนะที่มีรอยขีดข่วน บีพีเอถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย         การศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่า คนส่วนใหญ่จะมีปริมาณสารบีพีเอวัดได้ในปัสสาวะ ในสัตว์ทดลองพบว่าสารบีพีเอเป็นสารก่อกวนต่อมไร้ท่อที่เลียนแบบผลของฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งจะรบกวนการทำงานของฮอร์โมนหลายอย่างของร่างกายเช่น ฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรน ฮอร์โมนทัยรอยด์ นอกจากนั้นยังพบว่า มีผลรบกวนระบบเผาผลาญอาหารได้แก่การทำงานของอินซูลิน และมีความสัมพันธ์กับกลุ่มอาการรังไข่มีถุงน้ำหลายใบ การแท้งบุตรซ้ำ ความผิดปกติของโครโมโซมในทารกในครรภ์         ส่วนสารทาเลทยังถูกพบว่า ได้ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมทั้งในดินและน้ำ. อาจส่งผลรบกวนระบบฮอร์โมนต่อมไร้ท่อของมนุษย์ได้ในห่วงโซ่อาหารและน้ำ (Rzybylinska P A and WyszkowskI M, ECOL CHEM ENG S. 2016)         มาตรฐานความปลอดภัยชองสารทั้งสองชนิดในผลิตภัณฑ์เด็กรวมทั้งภาชนะบรรจุอาหารและน้ำดื่ม ที่เด็กเป็นผู้ใช้ ได้กำหนดค่าปริมาณสารทาเลตต่อน้ำหนักวัสดุ และปริมาณสารทาเลทหรือบีพีเอที่สามารถเคลื่อนตัวออกมาจากพลาสติกมาปนเปื้อนกับอาหารหรือสามารถสัมผัสได้ทางผิวหนัง สูดดมหรือทางปาก หากเป็นภาชนะอาหารเพื่อดูว่าจะมีสารนี้รั่วไหลออกมาสัมผัสกับอาหารได้มากน้อยเพียงใด         ตั้งแต่ 7 กรกฎาคม 2020 สหภาพยุโรปได้เปลี่ยนแปลงข้อกำหนดสารทาเลทในของเล่นและผลิตภัณฑ์ของใช้กับเด็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาชนะและอุปกรณ์ที่สัมผัสอาหารและนำเข้าปาก โดยให้รวม สารทาเลท 4 ชนิด (จากเดิม 3 ชนิด) ได้แก่ DBP/ BBP/ DEHP + DIBP แล้วต้องน้อยกว่า 0.1% ของน้ำหนักวัสดุ และกำหนดค่าสารทาเลทที่เคลื่อนตัวออกมาจากพลาสติก (SML: specific migration limit) กำหนดไว้ที่ 60 มก./กก. (.006%)         สำหรับสารบีพีเอ ได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นโมโนเมอร์ในการผลิตวัสดุสัมผัสอาหารพลาสติก และยังใช้เพื่อผลิตวัสดุและสิ่งของอื่นๆ ที่สัมผัสกับอาหาร รวมทั้งอีพอกซีเรซินที่ใช้ในเคลือบเงา เมื่อเร็วๆ นี้ ค่า SML ใหม่ถูกกำหนดไว้ที่ 0.05 มก. (หรือ 50ไมโครกรัม) /กก. โดยระเบียบคณะกรรมาธิการ (EU) และไม่อนุญาติให้มีส่วนประกอบของสารนี้ในผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กอายุน้อยกว่าสามปี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อ ร่วมมือสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว และ สภาองค์กรของผู้บริโภค ตรวจกล่องพลาสติกบรรจุอาหารร้อน เผยทุกตัวอย่างผ่าน ต้องระวังการเลือกเก็บชนิดพลาสติกในการบรรจุอาหารเพื่อการบริโภค

        ฉลาดซื้อ ร่วมมือสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว และ สภาองค์กรของผู้บริโภค ตรวจกล่องพลาสติกบรรจุอาหารร้อน เผยทุกตัวอย่างผ่าน ต้องระวังการเลือกเก็บชนิดพลาสติกในการบรรจุอาหารเพื่อการบริโภค         วันนี้ (15 กุมภาพันธ์ 2565) ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และสภาองค์กรของผู้บริโภค สุ่มเก็บกล่องพลาสติกบรรจุอาหารร้อน จำนวน 30 ตัวอย่าง เพื่อตรวจสอบสารทาเลท และแถลงผลการสำรวจสารทาเลท สารอันตรายต่อระบบสืบพันธุ์และระบบต่อมไร้ท่อของร่างกายในภาชนะบรรจุอาหารพลาสติก         รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ดำเนินการตรวจสอบสารทาเลท 7 ชนิด ในภาชนะบรรจุอาหารแบบพลาสติก และสาร BPA ทั้งหมด 30 ตัวอย่าง โดยมีทั้งภาชนะพลาสติกที่มีแบรนด์ ไม่มีแบรนด์ ซื้อจากห้าง ซื้อจากตลาด ซื้อจากร้าน 20 บาท ภาชนะที่บรรจุอาหารปรุงเสร็จในร้านสะดวกซื้อ และภาชนะที่จัดมาให้ในอาหารสำเร็จรูป โดยมีวิธีการเลือกกล่องภาชนะพลาสติกบรรจุอาหาร ดังนี้ เลือกกล่องภาชนะพลาสติกบรรจุอาหาร ชนิดที่มีสัญลักษณ์มาตรฐานอุตสาหกรรม หรือไม่มีสัญลักษณ์ที่ถูกต้อง เพื่อสำรวจระดับความเข้มข้นของสารทาเลท วิเคราะห์การปลดปล่อยสารทาเลท, BPA & BPA Substitutes, PVC ที่มีผลออกฤทธิ์ต้านแอนโดรเจนหรือฮอร์โมนเพศชาย และระดับความเข็มข้นของสารทาเลท โดยส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน เพื่อหาสารทาเลทอันตรายทั้ง 7 ชนิด และ สาร BPA โดยวิธีการทดสอบทาเลทอ้างอิงตาม EN 14372: 2004, Extraction with organic solvent, determination by GC-MS. โดยสุ่มเก็บตัวอย่างและส่งทดสอบที่ห้องปฏิบัติการมาตรฐาน ในเดือนตุลาคม 2564         สรุปผลการวิเคราห์เป็นสิ่งที่น่ายินดีว่า กล่องพลาสติกบรรจุอาหารทั้งแบบราคาสูงและราคาต่ำ ไม่พบสารบีพีเอ และสารทาเลท เกินกว่าค่ามาตรฐาน ไม่พบสารทาเลททั้ง 7 ชนิด ดังกล่าวที่ระดับ 60 มก./กก. (.006%) หรือสูงกว่าตามตารางและรูป และการทดสอบ สารบิสฟีนอล (เอ) (Bisphenol A); CAS No. 80-05-7 ทดสอบโดยสกัดด้วยตัวทำละลายอินทรีย์ และวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือ Liquid Chromatography-Mass Spectrometry (LC-MS) ผลไม่พบสารดังกล่าวที่ระดับ 10 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมหรือมากกว่าสารทาเลท 5 ชนิดที่สหภาพยุโรปอนุญาตให้ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์ที่สัมผัสกับอาหาร ได้แก่            1. DBP (dibutyl phthalate)            2. BBP (butyl benzyl phthalate)            3. DEHP (Bis(2-ethylhexyl)phthalate)            4. DINP (diisononyl phthalate)             5. DIDP (diisodecyl phthalate)         ตั้งแต่ 7 กรกฎาคม 2020 สหภาพยุโรปจำกัดการใช้ DBP/ BBP/ DEHP ในผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภคทุกชนิด ที่ไม่เกิน 0.1% ของน้ำหนักวัสดุที่ผสมสารพลาสติไซเซอร์ (ก่อนหน้านั้น เกณฑ์ดังกล่าวใช้กับของเล่นและผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กเท่านั้น) โดยมีข้อเสนอจากผู้เชี่ยวชาญของ EFSA หรือ European Food Safety Authority เรื่องข้อกำหนดปริมาณการบริโภคต่อวัน (Tolerable Daily Intake) กำหนดให้รับทาเลท DBP, BBP, DEHP และ DINP เข้าร่างกายไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม  (µg/kg) โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์          ส่วน DIDP ไม่ส่งผลกระทบต่อระดับเทสโตสเตอโรนในตัวอ่อน จึงเสนอใช้มาตรฐาน 150 µg/kg ต่อวัน โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อตับแทน (อ้างอิงจากข้อมูล https://www.efsa.europa.eu/en/news/faq-phthalates-plastic-food-contact-materials)         รศ.นพ. อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทาเลทเป็นกลุ่มของสารที่ส่วนใหญ่ใช้เป็นสารที่ผสมในพลาสติกชนิดพีวีซีเพื่อเพิ่มภาวะการคืนรูป ทาเลทไม่มีพันธะทางเคมีที่เชื่อมต่อกับพลาสติก ดังนั้นสารนี้จึงสามารถเคลื่อนย้ายออกจากผลิตภัณฑ์ไปเกาะติดกับสิ่งอื่นเช่นมือเมื่อมีการสัมผัสได้ ทาเลทมีหลายชนิด บางชนิดจัดว่าเป็นพิษต่อระบบการสืบพันธุ์และระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย โดยกลไกการออกฤทธิ์จะต้านแอนโดรเจนหรือฮอร์โมนเพศชาย ดังนั้นในมาตรฐานสากลและในหลายประเทศได้มีการควบคุมสารทาเลท           อย่างไรก็ตามสารทาเลทในพลาสติกยังอาจก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น เดียวกับตัวพลาสติกเอง เนื่องจากกระบวนการผลิตมีการปล่อยสารพิษเข้าไปในอากาศและน้ำทำให้เกิดภาวะมลพิษ และต้องอาศัยพลังงานสูง นอกจากนี้พลาสติกยังเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ยาก การรีไซเคิลจะมีคุณภาพด้อยลงจากผลิตภัณฑ์ก่อนการรีไซเคิล ดังนั้นจึงไม่สามารถนำกลับมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เดิมได้ ซึ่งในกระบวนการรีไซเคิลนี้ต้องมีการเพิ่มวัตถุดิบหรือต้นทุนด้านอื่นๆอีกด้วย ส่วนการเผาขยะพลาสติกชนิดพีวีซี จะเป็นตัวก่อให้เกิดสารไดออกซิน ดังนั้นจึงควรลดการใช้ภาชนะบรรจุอาหารแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ผู้ผลิตควรมีความรับผิดชอบมากกว่านี้ในการดำเนินการเรื่องการจัดการขยะพลาสติก รวมทั้งการลงทุนในงานวิจัยด้านภาชนะบรรจุอาหารที่ปลอดภัยทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและต่อคนโดยเฉพาะสำหรับเด็ก         นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค และนักวิชาการศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า เราใช้กล่องบรรจุอาหารพลาสติกมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงปัจจุบันมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ผู้บริโภคซื้ออาหารกลับไปรับประทานที่บ้าน การสั่งอาหารเดลิเวอรี หรือจากแอปสั่งอาหาร ทำให้ภาชนะบรรจุอาหารเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวผู้บริโภคมาก และจากข้อมูลผู้บริโภคชาวกรุงเทพฯ ร้อยละ 22.7 ต้องการให้ทดสอบสำรวจบริการนำส่งอาหาร และถ้าผู้บริโภคต้องการให้นิตยสารฉลาดซื้อทดสอบอะไรก็แจ้งเข้ามาได้ เพราะเสียงของทุกท่านมีความหมายและสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้  ในอนาคตอันใกล้นี้ฉลาดซื้อมีแผนจะทดสอบโคยใช้ข้อมูลความคิดเห็นของกลุ่มผู้บริโภคจำนวน 1,143 กลุ่มตัวอย่าง จากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร ที่เราได้ให้ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา บอกเราว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นความสำคัญของการเฝ้าระวัง และต้องการให้การทดสอบสินค้าและบริการเพื่อเป็นข้อมูลในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ มากถึงร้อยละ 77.2 และคิดว่าจะสามารถใช้ผลการทดสอบสินค้าและบริการเพื่อเป็นข้อมูลในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ ร้อยละ 67.2  ซึ่งก็ตรงกับอำนาจและหน้าที่ของสภาองค์กรของผู้บริโภคที่เข้ามาสนับสนุนให้นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เฝ้าระวังสินค้าบริการผ่านการทดสอบและสำรวจ        ด้านนายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า การเฝ้าระวังสินค้าและบริการเป็นหน้าที่หนึ่งของสภาองค์กรของผู้บริโภค โดยสอบ. จัดตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ซึ่งกำหนดให้สภาฯ มีฐานะเป็นผู้แทนผู้บริโภค และมีอำนาจดำเนินการเพื่อการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค ภายใต้ยุทธศาสตร์การสนับสนุนและดำเนินการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค สอบ. มีแผนงานสำคัญในการตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภค โดยจัดทำโครงการสนับสนุนและดำเนินการเฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาสินค้าและบริการ เตือนภัยเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่กระทบต่อสิทธิผู้บริโภค เพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคทันต่อสถานการณ์ กำหนดให้มีการสนับสนุนการทดสอบ สำรวจข้อมูลและวิเคราะห์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลจากการสำรวจหรือทดสอบ เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลอย่างรอบด้าน เพียงพอต่อการตัดสินใจบริโภคสินค้าหรือบริการ และหลีกเลี่ยงสินค้าหรือบริการที่ไม่ปลอดภัยหรืออาจกระทบต่อสุขภาพ อนามัยของผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 สั่งซื้อกางเกงออนไลน์ใส่ไม่ได้เพราะมันคือกางเกงเด็ก

        การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์นั้น แม้จะเลือกซื้อจากเว็บขายสินค้าของบริษัทที่มีชื่อเสียง ก็ยังคงต้องรอบคอบ และอย่ารีบร้อน มิฉะนั้นจะยุ่งยากทั้งการขอเปลี่ยนสินค้าหรือขอเงินคืน        คุณภูผา ท่องเว็บไซต์ขายสินค้าเพราะต้องการหาของขวัญวันเกิดให้พี่สาวคุณบุปผา ทันใดนั้นก็สะดุดตาเข้ากับกางเกงตัวหนึ่ง ที่ปักลายแบบที่คุณพี่สาวชอบ จึงคลิกเข้าไปดูรายละเอียดทันที “แหม ราคาดีมาก” เลยรีบกดสั่งซื้อเนื่องจากทางหน้าเว็บบอกว่า ราคาลดไปถึง 30 %          ภูผาสั่งซื้อด้วยวิธีการเก็บเงินปลายทาง ไม่กี่วันต่อมาเมื่อพนักงานขนส่งนำพัสดุมาให้ ภูผาก็รีบแกะถุงเพื่อเตรียมห่อของขวัญให้คุณพี่สาว “อ้าว นี่มันกางเกงเด็กนี่นา”  จึงรีบโทรศัพท์ไปแจ้งกับคอลเซ็นเตอร์ของเว็บไซต์ที่ขายเสื้อผ้าแห่งนั้น         เขาแจ้งพนักงานว่า การแสดงภาพสินค้าในเว็บไซต์ไม่มีตรงไหนบอกเลยว่า เป็นกางเกงของเด็ก ไซส์ที่ให้เลือกก็เป็นเบอร์อย่างไซส์ฝรั่ง คือ 2 4 6 8 เขาก็เข้าใจว่าเบอร์ที่เลือกให้พี่สาวคือเบอร์ 6 ต้องพอดีกับพี่สาวแน่ๆ เพราะเป็นไซส์กางเกงที่พี่สาวใส่อยู่ เขาอยากขอเปลี่ยนสินค้าได้หรือไม่ แต่พนักงานคอลฯ แจ้งว่า “กางเกงตัวนี้เป็นสินค้าราคาพิเศษไม่สามารถแลกหรือเปลี่ยนคืนเงินได้นะคะ” ภูผาจึงต่อรองขอตนเองลองคุยกับผู้จัดการได้ไหม ตนเองไม่ได้ต้องการเงินคืนแต่อยากขอซื้อสินค้าใหม่แล้วเพิ่มเงินจากยอดเดิมที่จ่ายไปได้ไหม (ก็ชอบกางเกงตัวนี้นะ) พนักงานคอลฯ ก็ตอบเหมือนเดิมว่า เป็นนโยบายของบริษัท ถ้าเป็นสินค้าลดราคา ไม่สามารถเปลี่ยนได้ค่ะ        ภูผาจึงมาปรึกษากับเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า ตนเองพอจะทำอะไรได้บ้างไหมแนวทางการแก้ไขปัญหา        กรณีคุณภูผา ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิได้แนะนำ ให้ทำหนังสือส่งถึงบริษัทเพื่อแจ้งขอคืนเงินพร้อมส่งสินค้าไปยังบริษัทตามสิทธิผู้บริโภคอ้างอิง  พ.ร.บ. ขายตรงและการตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ซึ่งคุณภูผาก็ได้ดำเนินการตามคำแนะนำของมูลนิธิฯ           ต่อมาทางบริษัทได้ติดต่อกลับมาหาคุณภูผาว่า ทางบริษัทจะให้การชดเชยเป็นส่วนลด และลูกค้าสามารถนำส่วนลดนี้กลับมาซื้อสินค้าที่บริษัทใหม่ได้ ทั้งนี้ยังบอกด้วยว่า กางเกงแบบที่คุณภูผาสั่งซื้อมีแบบของผู้ใหญ่ด้วยนะคะ  ลูกค้าใส่กางเกงเบอร์อะไร คุณภูผาจึงตอบไปว่า เบอร์เอสหรือเอ็ม ซึ่งทางบริษัทวางสายไปสักพักและโทรกลับมาใหม่ว่า ไม่มีขนาดที่บอกสินค้าหมด คุณภูผาจึงยืนยันไปว่า ถ้างั้นขอเงินคืน พนักงานบริษัทแจ้งว่า จะต้องนำเรื่องกลับไปขออนุมัติกับหัวหน้าก่อนว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ คุณภูผารู้สึกร้อนใจจึงถามกับทางฝ่ายพิทักษ์สิทธิฯ ว่า ถ้าบริษัทไม่คืนเงินเราจะทำอะไรเพิ่มได้ไหม         ผู้บริโภคสามารถดำเนินการได้โดยใช้สิทธิเลิกสัญญา กล่าวคือให้ส่งสินค้าคืนไปยังผู้ประกอบธุรกิจ หรือเก็บสินค้าไว้ภายในระยะเวลา 21 วันนับแต่วันที่ใช้สิทธิเลิกสัญญา และจะต้องคืนสินค้าให้ผู้ประกอบธุรกิจ โดยให้มารับสินค้าที่ภูมิลำเนาของผู้บริโภค หรือส่งสินค้าคืนทางไปรษณีย์โดยเรียกเก็บเงินปลายทาง ตามคำขอของผู้ประกอบการ และผู้บริโภคมีสิทธิยึดหน่วงสินค้าไว้ได้จนกว่าจะได้รับคืนเงินที่ผู้บริโภคจ่ายไปเพื่อซื้อสินค้านั้น เมื่อผู้บริโภคใช้สิทธิเลิกสัญญาผู้ประกอบธุรกิจจะต้องคืนเงินเต็มจำนวน ภายในกำหนดเวลา 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแสดงเจตนาเลิกสัญญา (พ.ร.บ. ขายตรงและการตลาดแบบตรง)         แต่ยังไม่ทันจะเตรียมตัวฟ้องร้อง บริษัทก็โทรมาแจ้งคุณภูผาว่า บริษัทจะคืนเงินให้ เป็นอันว่าจบ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 ซื้อขนมพายสตรอเบอรี่มาแต่มันขึ้นรา ทำไงดี?

        เมื่อช่วงเดือนธันวาคมปี 2564 ที่ผ่านมาคงเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของใครหลายคน เพราะเป็นเดือนสุดท้ายของปีก่อนจะเริ่มขึ้นปีใหม่ แถมยังเป็นช่วงใกล้วันหยุดยาวหลายคนคงจะเตรียมออกเดินทางที่จะท่องเที่ยวช่วงกับครอบครัวกันแน่นอน เรื่องราวเสียงผู้บริโภคที่เราจะเล่าให้ฟังนี้เป็นเรื่องจากคุณน้ำตาล ที่ช่วงเดือนธันวาคมปี 2564 ที่ผ่านมามีโอกาสไปเที่ยวกับเพื่อนร่วมงาน ทริปไปท่องเที่ยวไหว้พระทำบุญก่อนขึ้นปีใหม่         คุณน้ำตาลโอเคมาทริปแบบนี้ดีถือว่าเอาฤกษ์เอาชัยก่อนเริ่มปีใหม่ เข้าวัดทำบุญเสียหน่อยเผื่อว่าปีหน้าจะเป็นปีที่ดีของเธอ วันนัดชาวคณะนั่งรถแท๊กซี่ไปโดยมีจุดมุ่งหมายปลายทาง คือ วัดดังย่านเขตดุสิต วัดแรกทำบุญและให้อาหารปลามีความสุขมาก หลังจากนั้นชาวคณะเริ่มเดินเท้าไหว้พระวัดที่ 2 ซึ่งไม่ไกลจากวัดแรกมากนัก อย่างไรก็ตามอากาศที่ร้อนก็ทำให้การเดินเท้าแบบเดินไปเรื่อยๆ นั้นเหนื่อยเอาเรื่อง เลยเดินเข้าวัดที่ 2 และแวะร้านกาแฟเล็กๆ ภายในวัดเพื่อหากาแฟดื่มให้ชื่นใจ คุณน้ำตาลเดินดุมๆ เข้าไปในร้านกาแฟทันที แต่ดันเห็นน้ำอัดลมและขนมพายสตรอเบอรี่เลยเปลี่ยนใจ ไม่กินกาแฟแล้ว สั่งน้ำอัดลมและขนมพายดีกว่า เมื่อรับสินค้ามาแล้วนั่งดูดน้ำอัดลมอย่างชื่นใจ ขณะฉีกซองพายสตรอเบอรี่เธอดันเห็นอะไรเขียวๆ ดำๆ เป็นจุดๆ หน้าตาเหมือนกับราเลย เธอคิดว่าจะเป็นวิธีการตกแต่งหน้าพายแบบใหม่ก็ไม่น่าใช่ จึงยื่นให้พี่ที่ทำงานช่วยดู ทุกคนก็บอกว่ามันคือราแน่นอน คุณน้ำตาลจึงคิดว่าจะทำอย่างไรดี และแอบเสียดายเพราะอยากที่จะลองกินขนมพายสตรอเบอรี่ด้วย แต่ก็คิดว่าขนมทั้งหมดนั้นน่าจะมีปัญหาหมดอายุเหมือนกันทั้งหมดด้วยไหมแนวทางการแก้ไขปัญหา        เบื้องต้นคุณน้ำตาลได้เอาขนมไปเปลี่ยนกับทางร้านกาแฟทันทีที่เจอ ซึ่งทางร้านก็คืนเงินให้ทันที เพราะหากเปลี่ยนเป็นขนมชิ้นใหม่ ก็คือขนมล็อตเดียวกันและอาจจะขึ้นราอีกทางร้านจึงเลือกคืนเงินแทน พร้อมขอโทษขอโพยคุณน้ำตาล ซึ่งเธอก็ไม่ติดใจอะไรพร้อมรับเงินคืนจากทางร้าน  และขอให้เก็บสินค้าขนมพายสตรอเบอรี่ทั้งหมดออกจากชั้นวางขนมเพราะคิดว่า น่าจะหมดอายุเช่นเดียวกัน ซึ่งทางร้านยินดีจัดการปัญหาตามที่คุณน้ำตาลแนะนำ           ทั้งนี้ คุณน้ำตาลก็ได้มาเล่าประสบการณ์ที่เจอให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟัง เพื่อจะได้เป็นข้อมูลสำหรับผู้บริโภคบางรายที่เจอกรณีแบบนี้ ผู้บริโภคมีสิทธิที่นำสินค้าไปเปลี่ยนและขอเงินคืนได้ทันที และอยากให้ผู้ประกอบการตรวจเช็คสินค้าเสมอก่อนจำหน่ายให้ผู้บริโภค เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 โรลออนทิพย์

        เหตุเกิดที่ร้านสะดวกซื้อเจ้าใหญ่สุดในประเทศนี้ หลายครั้งที่การร้องเรียนของผู้บริโภคที่ผูกโยงจากร้านสะดวกซื้อมีความหลากหลาย เป็นสินค้าหมดอายุบ้าง ใช้งานไม่ได้บ้าง ซึ่งผู้บริโภคบางรายก็อาจจะได้รับการเยียวยาจากร้านสะดวกซื้อบ้างแล้ว หรือบางคนก็อาจจะรอไม่ไหวจนปล่อยผ่านไปบ้าง คราวนี้มีผู้บริโภคท่านหนึ่งแจ้งมาทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า ซื้อโรลออนมาแล้วใช้ไม่ได้ ทำอย่างไรดี         คุณวันดีเล่าว่า เธอเดินทางไปที่จังหวัดระยองเพื่อไปสัมมนา ณ เกาะเสม็ด วันนั้นเป็นเช้าที่สดใสเมื่อถึงเวลาออกเดินทางรถก็แล่นไปตามเวลาจนเดินทางไปถึงท่าเรือเพื่อที่จะข้ามฟากไปที่เกาะเสม็ดเพื่อเข้าที่พัก ก่อนจะข้ามฟากเธออยากจะซื้อของใช้ส่วนตัวสักหน่อย ประจวบเหมาะกับที่ท่าเรือมีร้านสะดวกซื้อพอดี จึงเข้าไปในร้านและซื้อโรลออนระงับกลิ่นขนาดกะทัดรัดมา 1 ชิ้น ด้วยไม่แน่ใจว่า ตนเองจัดลงกระเป๋ามาด้วยหรือไม่ ซื้อเผื่อไว้ก็ไม่เสียหาย จ่ายเงินแล้วเพื่อนก็เร่งให้รีบไปขึ้นเรือ         เมื่อข้ามเรือไปเสม็ดและเข้าที่พักแล้ว ตอนที่อาบน้ำเสร็จคิดที่จะใช้โรลออนเสียหน่อย ปรากฏว่าโรลออนที่ซื้อมามันใช้ไม่ได้ ใช้ไม่ได้ยังไงล่ะ? คือ เจ้าโรลออนตัวนี้มันมีแค่ขวดโรลออนลูกกลิ้ง แต่ไม่มี “เนื้อครีมข้างใน” เอาง่ายๆ มันมีแต่ขวดนั่นเอง         คุณวันดีต้องหาซื้อจากร้านค้าบนเกาะแทน และสัมมนาอย่างเข้มข้นโดยลืมเรื่องดังกล่าวไป แต่มาเจอเจ้าขวดเปล่านี้อีกครั้งตอนเก็บเสื้อผ้าจากกระเป๋าเมื่อกลับมาถึงบ้านที่กรุงเทพฯ แล้ว ทำไงดีรู้สึกไม่ถูกต้องหากจะปล่อยเรื่องไป เงินก็อยากได้คืน แต่ก็ไม่สะดวกที่จะกลับเอาสินค้าไปเปลี่ยนที่ร้านสะดวกซื้อสาขาเดิม จึงขอคำแนะนำว่าควรทำอย่างไรดี   แนวทางการแก้ไขปัญหา         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะนำให้โทรศัพท์ไปแจ้งเรื่องกับทางร้านค้าสะดวกซื้อผ่านคอลเซนเตอร์ (ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์) ซึ่งทางคอลเซนเตอร์รับเรื่องไว้และแจ้งว่าจะประสานงานให้ทางสาขาดังกล่าวคืนเงินให้กับลูกค้า ต่อมาทางสาขาที่มีสินค้าโรลออนทิพย์นี้ได้ติดต่อกลับมาเพื่อคืนเงินให้ ทั้งนี้โชคดีที่คุณวันดียังเก็บใบเสร็จไว้ จึงมีหลักฐานว่าได้ซื้อสินค้านี้จริง เมื่อทางร้านสะดวกซื้อได้โอนเงินคืนคุณวันดีเรียบร้อย คุณวันดีก็สบายใจ  ดังนั้นมีเหตุการณ์เข้าข่ายนี้ให้รีบติดต่อฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ของร้านสะดวกซื้อ อย่างไรก็ตามใบเสร็จคือหลักฐานสำคัญอย่าเพิ่งรีบทิ้ง

อ่านเพิ่มเติม >