ฉบับที่ 238 Tap2Call ตัวช่วยรวบรวมเบอร์สำคัญให้คุณ

        มาถึงเดือนสุดท้ายของปี 2563 ท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้การเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ยังคงมีความยากลำบากกันพอสมควร เพราะต้องปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้การ์ดตก ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่สำหรับคนไทยของเราทุกคนที่จะทำเพื่อส่วนรวมให้กับประเทศไทย ดังนั้นการมีข้อมูลสำหรับติดต่อสื่อสารไว้ในมือจะช่วยทำให้สามารถตรวจสอบและติดต่อไปยังสถานที่ใดที่ต้องการได้ทุกที่ เพื่อลดการเดินทางไปด้วยตนเองโดยไม่จำเป็น        ฉบับนี้จึงมานำเสนอแอปพลิเคชั่นที่รวบรวมเบอร์โทรศัพท์ที่สำคัญไว้ภายในแอปพลิเคชั่นเดียวกัน ทำให้ลดขั้นตอนการค้นหาในกูเกิ้ลไปได้มากทีเดียว เพราะได้คัดเลือกเบอร์โทรศัพท์ที่ถูกต้องและได้อัพเดทเบอร์โทรศัพท์ตลอดเวลา ช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการค้นหาเบอร์โทรศัพท์ในช่วงเวลาสำคัญและเร่งด่วนได้พอตัว และเหมาะกับผู้สูงอายุอีกด้วย                แอปพลิเคชั่นนี้มีชื่อว่า Tap2Call สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และระบบปฏิบัติการ Android ได้ฟรี เมื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น Tap2Call จะเข้าสู่ภายในแอปพลิเคชั่นได้โดยไม่ยุ่งยาก และเมนูที่ปรากฎหน้าแอปฯ สามารถเห็นได้ชัดเจน ตัวอักษรใหญ่ เหมาะกับผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องสายตาได้เป็นอย่างดี แถมแอปฯ ไม่มีความซับซ้อน มีสีสันสวยงามน่าใช้มากๆ โดยเบอร์โทรศัพท์ที่ได้รวบรวมไว้ ได้แก่ หมวดสั่งอาหาร หมวดธนาคาร/บัตรเครดิต หมวดโรงภาพยนตร์ หมวดการสื่อสาร หมวดสายการบิน หมวดแท๊กซี่ หมวดโรงพยาบาล หมวดแจ้งเหตุด่วน และหมวดสอบถามข้อมูลทั่วไป        หมวดสั่งอาหารจะรวบรวมเบอร์โทรศัพท์ของร้านอาหารยอดนิยม พร้อมเวลาเปิดให้บริการ หมวดธนาคาร/บัตรเครดิตจะรวบรวมเบอร์โทรศัพท์ของธนาคารทั้งหมดไว้ หมวดโรงภาพยนตร์จะรวบรวมเบอร์โทรศัพท์สาขาต่างๆ ของโรงภาพยนตร์ทุกเครือ หมวดการสื่อสารจะรวบรวมเบอร์โทรศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายโทรศัพท์และบริษัทที่ผลิตโทรศัพท์สมาร์ทโฟน หมวดสายการบิน หมวดแท๊กซี่ หมวดโรงพยาบาลจะรวบรวมเบอร์โทรศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับหมวดนั้นๆ         ส่วนหมวดแจ้งเหตุด่วนจะรวบรวมเบอร์โทรศัพท์ไว้อย่างหลากหลาย ได้แก่ ตำรวจทางหลวง กองปราบปราม รถพยาบาล ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารสาธารณะ ศูนย์จราจรอุบัติเหตุ จส.100 ศูนย์ดำรงธรรม ศูนย์นเรนทร ศูนย์ปรึกษาปัญหาชีวิต ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและครอบครัว ศูนย์รับแจ้งข่าวยาเสพติด  ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ สายด่วนกรมทางหลวง สายด่วนบัตรทอง สายด่วนผู้บริโภคกับ อย. สายด่วนร้องทุกข์ สคบ. เป็นต้น และหมวดสอบถามข้อมูลทั่วไปจะรวบรวมเบอร์โทรศัพท์ทั่วไปที่ไม่สามารถระบุในหมวดที่กล่าวมาทั้งหมดได้ เช่น บขส. ศาลาว่าการ ศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว สายด่วนกรมการจัดหางาน เรือด่วนเจ้าพระยา เป็นต้น        เมื่อค้นหาเบอร์โทรศัพท์ที่ต้องการติดต่อภายในแอปพลิเคชั่นเจอแล้ว ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นสามารถกดโทรออกผ่านทางแอปพลิเคชั่นได้ทันที ตอบโจทย์ทุกความต้องการขนาดนี้ ลองดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น Tap2Call ไว้บนสมาร์ทโฟนสักนิด รับรองว่าเบอร์สำคัญต่างๆ จะถูกรวบรวมมาไว้เพื่อให้คุณพร้อมโทรแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 กระแสต่างแดน

หยุดส่งออกขยะ        เมื่อแต่ละประเทศสามารถส่งออกขยะพลาสติกไปที่ไหนก็ได้โดยไม่มีการควบคุม ขยะอันตราย ปริมาณมหาศาลจากประเทศร่ำรวยจึงถูกส่งไปกองรวมกันอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งไม่มีความสามารถในการกำจัด กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างที่รู้ๆ กัน         แต่สิ่งนี้กำลังจะเปลี่ยนไป นอร์เวย์เป็นประเทศแรกที่ประกาศแบนการส่งออกขยะพลาสติกอันตรายไปยังประเทศกำลังพัฒนา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป ตามข้อตกลงในอนุสัญญาบาเซิลที่ว่าด้วยการควบคุมการกำจัดและการเคลื่อนย้ายขยะข้ามแดน         ปัจจุบันนอร์เวย์ในฐานะประเทศแถวหน้าด้านการจัดการขยะสามารถรีไซเคิลขวดพลาสติกได้ถึงร้อยละ 97 ด้วยระบบการรับคืน โดยคนที่เอาขวดพลาสติกมาคืนสามารถเลือกได้ว่าจะรับเป็นเงินล็อตเตอรีหรือจะบริจาคให้องค์กรการกุศลและพลาสติกเหล่านี้ ก็จะกลายเป็นส่วนผสมร้อยละ10 ของขวดพลาสติกที่ผลิตออกมาใหม่นั่นเอง   ได้เวลารื้อ        ในช่วงที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศล็อคดาวน์เขาส่งเสริมให้คนทำ 5ส. เป็นกิจกรรมฆ่าเวลาขณะอยู่กับบ้าน ผู้ว่าเมืองโตเกียวถึงกับลงทุนจ้าง Marie Kondo กูรูด้านการจัดบ้านมาทำคลิปโปรโมทเลยทีเดียว         ผลพลอยได้คือการเติบโตของตลาดสินค้ามือสอง Buysell Technology บริษัทที่รับซื้อของเก่าตามบ้านมาวางขายในร้านออนไลน์ บอกว่านับถึงเดือนตุลาคมบริษัทได้จัดเที่ยวรถออกไปรับซื้อของเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 31 โดยร้อยละ 75 ของลูกค้าคือคนอายุมากกว่า 50 ปี ที่พากันรื้อกิโมโน กระเป๋าถือ หรือเครื่องประดับออกมาขาย         ด้านแอปตลาดมือสองอย่าง Mercari ก็มียอดขายเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 เช่นกัน รายงานข่าวบอกว่าราคาทองคำที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้คนนำแหวน สร้อยที่เก็บสะสมไว้ออกมาขายกันด้วย        ถือเป็นช่วงเวลาที่คนญี่ปุ่นได้กลับไปใช้ชีวิตตามหลัก “danshari” หรือ “อยู่อย่างพอเพียง” อีกครั้ง แบบนี้ขายไม่ได้        ดีลเลอร์รถมือสอง BNZ JP EURO เจ้าดังในนิวซีแลนด์ถูกปรับ 67,500 เหรียญ (ประมาณ 1.4 ล้านบาท) โทษฐานทำความผิด 6 ข้อหา หลักๆ แล้วคือการละเมิดสิทธิผู้บริโภค 77 ราย ด้วยการทำให้เข้าใจผิดว่ารถที่พวกเขาซื้อไปนั้น “ไม่มีการรับประกัน”         สามปีก่อน บริษัทนี้ซึ่งทำธุรกิจรับทำลายรถเก่าอยู่ที่เมืองปาปากูรา ได้ลงโฆษณาขายรถมือสอง “ตามสภาพ” ในราคาถูกมากทางเฟซบุ๊ก โดยให้ผู้ซื้อเซ็นยินยอมรับเงื่อนไขว่าเป็นการซื้อแบบ “ไม่มีประกัน” หากมีปัญหาอะไรต้อง “ซ่อมเอง” งานนี้มีผู้ซื้อบางรายจ่ายค่าซ่อมไปพอๆ กับราคาที่ซื้อ         คณะกรรมการกำกับการประกอบธุรกิจบอกว่า บริษัทไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เพราะตามกฎหมายการซื้อขายรถมือสอง รถที่ขายโดยบริษัท (ไม่ใช่ซื้อขายกันเองระหว่างบุคคลทั่วไป) จะต้องเป็นรถที่อยู่ในสภาพ “ยอมรับได้” และมีการรับประกันเสมอ การทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าตนเองไม่มีสิทธิเพราะยอมรับเงื่อนไขการซ่อมเองไปแล้ว จึงถือเป็นการทำผิดกฎหมายว่าด้วยการทำธุรกิจที่เป็นธรรม  มันมาอีกแล้ว         องค์กรผู้บริโภคแห่งเซี่ยงไฮ้เปิดรายงานปัญหาว่าด้วยการโฆษณาผ่านแอปฯ ในมือถือ แน่นอนหนึ่งในเจ้าที่โดนเพ่งเล็งเป็นอันดับต้นๆ คือ WeChat ของเทนเซ็นต์         ที่เคืองใจมากที่สุดคือ “ความยาก” ในการปิดโฆษณาที่ไม่อยากดู ผู้ใช้กด “ไม่สนใจ” แล้ว ยังต้องให้เหตุผลด้วย ที่สำคัญไม่สามารถปิดโฆษณาได้ในแอปฯ ได้ต้องเข้าไปที่หน้านโยบายความเป็นส่วนตัว แล้วเลื่อนลงไปด้านล่างสุด จากนั้นจะถูกส่งต่อไปอีกเพจที่ต้องล็อคอินเข้าไปใหม่        ผ่านกระบวนการมากมาย ผู้ใช้เลยคิดว่าสามารถกำจัดโฆษณานี้ออกไปจากชีวิตอย่างถาวร แต่ไม่ใช่... อีกหกเดือนมันจะกลับมาอีก!         ที่มาที่ไปของโฆษณาแบบเฉพาะเจาะจงเป็นรายบุคคลก็ยังน่าสงสัย แอปฯ รู้ความสนใจของผู้ใช้ได้อย่างไร บริษัทบอกไว้ชัดเจนว่าไม่ได้ดึงข้อมูลจาก “ประวัติการสนทนา” แต่ที่เหลือเข้าไปล้วงได้หมด... หรือไม่... อย่างไร กฎหมายหน้าต่าง        สถาบันกองงานอาคารและการก่อสร้างสิงคโปร์เผย ในรอบ 11 เดือนที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุ “หน้าต่างหล่น” ถึง 49 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นหน้าต่างชนิดบานเปิด ที่ตกลงมาเพราะหมุดอะลูมิเนียมเสื่อมสภาพแต่โชคดีที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ        ตั้งแต่ปี 2004 สิงคโปร์กำหนดให้เจ้าของบ้านเปลี่ยนมาใช้หมุดสแตนเลส ซึ่งทนทานและรับน้ำหนักได้ดีกว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมีค่าปรับสูงสุด 5,000 เหรียญ (แสนกว่าบาท) หรือโทษจำคุก 6 เดือน         เจ้าของบ้านที่ปล่อยให้หน้าต่างหล่นลงมา ไม่ว่าจะเป็นชนิดบานเปิด บานเลื่อน (ซึ่งหล่นเพราะไม่มีตัวหยุด เวลาออกแรงเปิดมากเกินไป) หรือบานเกล็ด จะถูกเปรียบเทียบปรับได้สูงสุดถึง 10,000 เหรียญ หรือจำคุก 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ         สถาบันฯ บอกว่า ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุแบบนี้เฉลี่ยปีละ 50 ครั้ง และตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา มีคนถูกปรับไปแล้ว 378 ราย ถูกฟ้องร้อง 92 ราย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 รู้เท่าทันคอลลาเจนกับการปวดเข่าอีกครั้ง

        นอกจากเห็ดถั่งเช่าที่โฆษณากันอย่างครึกโครมแล้ว ยังมีคอลลาเจนที่โฆษณากันไม่น้อยกว่าเห็ดถั่งเช่าหรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ มีทั้งที่เป็นคอลลาเจนผลิตในประเทศไทย จากต่างประเทศ จากสัตว์บกและสัตว์น้ำมากมายหลายชนิด ดีจริงหรือไม่ มารู้เท่าทันกันเถอะ คอลลาเจนมาจากไหนบ้าง         ร่างกายของเราสร้างคอลลาเจนตามธรรมชาติ และใช้ในการสร้างกล้ามเนื้อ กระดูก ผิวหนัง ผม เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และอื่นๆ อีกมากมาย คอลลาเจนเป็นส่วนประกอบโปรตีนหลักของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันและผิวหนัง แต่เมื่ออายุมากขึ้น การสร้างคอลลาเจนน้อยลง ดังนั้นการกินคอลลาเจนเพิ่มจึงเป็นเรื่องที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค ทำให้มีผลิตภัณฑ์คอลลาเจนจำนวนมากทั้งที่เป็นผง เป็นแคปซูล ซึ่งส่วนใหญ่ทำจากส่วนของสัตว์ เช่น เกล็ดปลา หอยเป๋าฮื้อ กระดูกหรือหนังวัว หมู เป็นต้น         คอลลาเจนมีอยู่ทั่วร่างกาย เราอาจแบ่งเป็น 3 ชนิด คือ         ชนิดที่ I  มีมากในสัตว์ทะเล นิยมใช้เพื่อลดริ้วรอยของใบหน้า ผิวหนัง แต่ก็มีผลดีต่อกระดูก ข้อ กล้ามเนื้อ         ชนิดที่ 2 เป็นส่วนประกอบหลักในกระดูกอ่อน เนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่ปกป้องข้อ หมอนรองกระดูกสันหลัง ตา มีมากในน้ำต้มกระดูก กระดูกไก่         ชนิดที่ 3 พบมากในลำไส้ กล้ามเนื้อ หลอดเลือด และมดลูก                      คอลลาเจนชนิดที่ 1 และ 3 ส่วนใหญ่พบมากและผลิตมาจากวัว         ผงคอลลาเจนที่ขายในท้องตลาด จะเป็น "hydrolyzed"  การ hydrolyze หมายถึง กรดอะมิโนถูกทำให้แตกตัวเป็นหน่วยเล็กๆ ซึ่งทำให้ผงสามารถละลายในน้ำได้ดี   การกินคอลลาเจนช่วยรักษาโรคข้อเสื่อมจริงหรือไม่         เมื่อทบทวนงานวิจัยในวารสารต่างๆ พบว่า มีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงว่า การกินคอลลาเจนช่วยให้ร่างกายดูดซึมและนำไปใช้สร้างเสริมส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะผิวหนัง ลดอาการปวดตามข้อได้ แต่เมื่อทบทวนวรรณกรรมใน Cochrane library ที่มีการวิเคราะห์เปรียบเทียบงานวิจัยหลายๆ งานวิจัย พบว่า         การศึกษาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารคอลลาเจน 20 ชนิด ในงานวิจัย 69 ที่มีการตีพิมพ์ 7 รายงานสามารถลดอาการปวดของข้อได้ดี ส่วนอีก 6 รายงานสามารถลดอาการปวดข้อได้ แต่ผลดีทางคลินิกไม่ชัดเจนไม่มีผลิตภัณฑ์คอลลาเจนใดเลยที่มีผลในการลดอาการปวดในระยะยาว คุณภาพของงานวิจัยมีตั้งแต่น้อยจนถึงดี         ดังนั้น การกินคอลลาเจนอาจลดอาการปวดของข้อได้ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวแล้วไม่ยืนยันผลดี รวมทั้งยังไม่มีผลทางคลินิกว่า โครงสร้างของข้อ กระดูก และเนื้อเยื่ออื่นๆ มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น         การช่วยลดอาการปวดข้อ การปวดกล้ามเนื้อที่ดีและได้ผล คือการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การกินปลาตัวเล็กตัวน้อยจะได้ปริมาณคอลลาเจนจากอาหารเพียงพอ         สรุป  ผลิตภัณฑ์คอลลาเจนในรูปแบบต่างๆ นั้นอาจมีผลการลดอาการปวดข้อในระยะสั้น ไม่ได้ผลในระยะยาว และไม่ได้ทำให้โครงสร้างของข้อ กระดูกเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >



ฉบับที่ 237 แท็บเล็ต 2020

        ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอนำเสนอผลทดสอบแท็บเล็ตอีกครั้ง คราวนี้เราเลือกมาเฉพาะขนาดเกินแปดนิ้ว ทั้งหมด15 รุ่น ที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศทำไว้ในปี 2563 สนนราคาในเมืองไทยของอุปกรณ์ดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 5,000 ถึง 53,000 บาท* ในการทดสอบครั้งนี้ ทีมทดสอบได้แบ่งคะแนนเต็ม 100 ออกเป็น 7 ด้าน ดังนี้        ความสะดวกในการใช้งาน (22.5)          ประสิทธิภาพการทำงาน (22.5)          จอแสดงผล (15)          แบตเตอรี่ (15)          รูปลักษณ์ของตัวเครื่อง (10)          การใช้งานทั่วไป (7.5)          และความน่าเชื่อถือของแบรนด์ (7.5)         ในภาพรวมยังคงพบว่าเราต้องลงทุนมากขึ้นหากต้องการอุปกรณ์ที่สเปคสูงขึ้น และสเปคก็มีผลโดยตรงต่อคะแนนประสิทธิภาพและความสะดวกในการใช้งานของเครื่อง หลายรุ่นได้คะแนนรวมดี ราคาไม่แพง แต่มีหน่วยความจำน้อย ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้งานของแต่ละคน ... ใครสนใจแบรนด์ไหน สเปคเท่าไร ในงบประมาณแค่ไหน ลองพลิกดูหน้าถัดไปได้เลย         *ราคาดังกล่าวเป็นราคาในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 โปรดตรวจสอบอีกครั้งก่อนตัดสินใจ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 237 ผลทดสอบวัตถุเจือปนอาหารผลิตภัณฑ์ไส้กรอกแดง

        ไส้กรอกเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ซึ่งยังเป็นที่นิยมเสมอไม่เคยเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้อหรือตลาดนัด ตลาดหน้าโรงเรียน ย่านชุมชนหรือในที่ที่มีการชุมนุมของคนหมู่มาก เราจะพบว่ามีไส้กรอกหลากหลายประเภทถูกขายอยู่ โดยเฉพาะตัวท็อป “ไส้กรอกแดง” ที่มีส่วนผสมหลักจากเนื้อสัตว์ (หมู ไก่)  แป้ง เครื่องเทศ เครื่องปรุงรส และวัตถุเจือปนอาหารต่างๆ หลายคนชื่นชอบเพราะว่า อร่อย ไม่ว่าจะนำมาย่างหรือบั่งเป็นแฉกแล้วนำลงทอดในน้ำมันด้วยไฟอ่อนๆ จนไส้กรอกพองโตสวยงามให้เนื้อสัมผัสกรอบนอกนุ่มใน ยิ่งราดด้วยน้ำจิ้มรสเด็ดเผ็ดหวาน ก็ยิ่งทำให้ไส้กรอกแดงที่เพิ่งทอดเสร็จใหม่ๆ นั้นอร่อยขึ้นไปอีก         เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไส้กรอกแดงที่มีส่วนผสมจากเนื้อไก่ จำนวนทั้งหมด 8 ตัวอย่าง จากตลาดสดและไฮเปอร์มาร์เก็ตในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในเดือนตุลาคม 2563 นำส่งตรวจวิเคราะห์ปริมาณวัตถุเจือปนอาหารประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic acid), กรดซอร์บิก (Sorbic acid), ไนเตรท (Nitrate) และ ไนไตรท์ (Nitrite) ซึ่งเป็นวัตถุเจือปนอาหารที่ใช้เป็นสารกันเสีย สารคงสภาพของสี รวมถึงใช้เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียบางชนิด ว่าเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดไว้หรือไม่ เป็นการเฝ้าระวังความปลอดภัยของสินค้าให้กับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้ฉลาดซื้อเคยสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ประเภทไส้กรอกมาทดสอบแล้วใน ฉบับที่ 181 (เดือนมีนาคม 2559) และ ฉบับที่ 128 (เดือนตุลาคม 2554)สรุปผลทดสอบ         ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 ออกตามความใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการใช้ และอัตราส่วนของวัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 2) ได้อนุญาตให้ใช้กรดซอร์บิก (Sorbic Acid) ซึ่งเป็นสารกันเสีย ในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดและผ่านกรรมวิธี ได้ไม่เกิน 1500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามใช้ร่วมกับสารกันเสียในกลุ่มไนไตรท์         สารกลุ่มไนไตรท์ (INS 249 INS 250) ซึ่งเป็นสารคงสภาพของสีและสารกันเสีย ในหมวดอาหารประเภทเนื้อสัตว์บดทำให้สุกโดยใช้ความร้อน เช่น ไส้กรอกชนิดต่าง ๆ เช่น ไส้กรอกไก่เวียนนา ไส้กรอกหมูรมควัน ไส้อั่ว ในปริมาณไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และห้ามใช้ร่วมกับสารกันเสียในกลุ่มซอร์เบต         ทั้งนี้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 ก็ไม่ได้มีเกณฑ์กำหนดให้ใช้วัตถุกันเสียประเภท กรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) ในหมวดอาหารประเภทผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดทำให้สุกโดยใช้ความร้อน เช่น หมูยอ ไก่ยอ ลูกชิ้น (เนื้อวัว, หมู, ไก่) หรือ ไส้กรอกชนิดต่างๆ ที่ทำจากเนื้อสัตว์บด จากผลการทดสอบพบว่า         มีตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไส้กรอกแดง 1 ตัวอย่าง ตรวจพบไนไตรท์เกินเกณฑ์ที่มาตรฐานกำหนด ไปเล็กน้อยคือ ยี่ห้อ CK ไส้กรอกแดง สูตรทอดกรอบ (วันผลิต/วันหมดอายุ 08-10-20 / 06-11-20) ตรวจพบปริมาณไนไตรท์ เท่ากับ 80.18 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (เกณฑ์ที่กำหนด คือ ต้องไม่เกิน 80 มก./กก.)         พบกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) จำนวน 1 ตัวอย่าง ยี่ห้อ หมูสามตัว (วันผลิต/วันหมดอายุ 10-10-20 / 24-10-20) ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก 119.91 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม                 ข้อแนะนำในการบริโภค         หากผู้บริโภคเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์แปรรูปประเภทลูกชิ้น หมูยอ หรือไส้กรอกแดง ในเบื้องต้นอาจสังเกตสีของไส้กรอกที่ไม่จัดจนเกินไป และสังเกตข้อมูลบนฉลากสินค้าว่ามีข้อความ “ไม่ใช้วัตถุกันเสีย” หรือไม่ โดยหากเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีการใช้วัตถุกันเสียเลยก็จะเป็นการดี นอกจากนี้ การบริโภคผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ในปริมาณพอเหมาะและไม่บ่อยครั้งจนเกินไป ยังเป็นการหลีกเลี่ยงการสะสมสารกันบูดและวัตถุเจือปนอาหารประเภทอื่นๆ อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 เปรียบเทียบผลิตภัณฑ์น้ำนมถั่วเหลือง 2020

        ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 193 เราได้เปรียบเทียบผลิตภัณฑ์นมถั่วเหลืองไว้ถึง 34 ตัวอย่าง จาก 9 ยี่ห้อ สะท้อนว่า ผลิตภัณฑ์นมถั่วเหลืองได้รับความนิยมมาก มีหลากหลายสูตรให้ผู้บริโภคได้เลือกรับประทาน ซึ่งผลิตภัณฑ์หลักในสินค้ากลุ่มนี้ คือผลิตภัณฑ์ชนิดยูเอชที ที่ครองสัดส่วนการตลาดกว่าร้อยละ 96 มีสองแบรนด์หลักเป็นผู้ครองตลาด คือ แลคตาซอยและไวตามิ้ลค์ อย่างไรก็ตามในส่วนของผลิตภัณฑ์ชนิดพาสเจอร์ไรซ์ ถึงสัดส่วนจะมีเพียงร้อยละ 3 แต่ก็มีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยมีแบรนด์โทฟุซัง ที่มาแรงครองใจผู้บริโภค ด้วยการวางภาพให้เป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ หวานน้อย ใช้วัตถุดิบออร์แกนิกเป็นจุดขาย ซึ่งในปี 2020 นี้ ฉลาดซื้อเราได้สำรวจเพิ่มเติมเพื่อดูแนวโน้มและเปรียบเทียบเรื่องคุณค่าทางโภชนาการตามที่ชี้แจงในฉลากสำหรับผลิตภัณฑ์ยี่ห้อใหม่ๆ เพื่อให้เป็นข้อมูลสำหรับการเลือกซื้อของผู้บริโภค         เราไปส่องกันเลยว่าสินค้าที่เราเก็บตัวอย่างเดือนกันยายน ที่ผ่านมา มีอะไรบ้างสิ่งที่ควรพิจารณาเมื่อเลือกซื้อนมถั่วเหลือง1.เลือกที่มีส่วนผสมของน้ำนมถั่วเหลืองในปริมาณสูง2.เลือกรสชาติที่หวานน้อยเพื่อเลี่ยงภาวะติดหวาน3.เลือกที่ปราศจากวัตถุกันเสีย4.เลือกที่วันผลิตสดใหม่5.เลือกโดยพิจารณาว่าภาชนะบรรจุอยู่ในสภาพดี โดยเฉพาะชนิดกล่องต้องไม่อยู่ในสภาพบุบยุบตัวสิ่งที่ควรพิจารณาเมื่อเลือกซื้อนมถั่วเหลือง1.เลือกที่มีส่วนผสมของน้ำนมถั่วเหลืองในปริมาณสูง2.เลือกรสชาติที่หวานน้อยเพื่อเลี่ยงภาวะติดหวาน3.เลือกที่ปราศจากวัตถุกันเสีย4.เลือกที่วันผลิตสดใหม่5.เลือกโดยพิจารณาว่าภาชนะบรรจุอยู่ในสภาพดี โดยเฉพาะชนิดกล่องต้องไม่อยู่ในสภาพบุบยุบตัว

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 237 กินถังเช่าสกัดต่อเนื่อง เสี่ยงไตวาย ต้องระบุคำเตือนในฉลาก

        รศ.ดร.ภญ. มยุรี ตั้งเกียรติกำจาย สาขาวิชาเภสัชกรรมคลินิก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้ข้อมูลการติดตามผู้ป่วยพบมีผู้ป่วยไตเรื้อรัง 3 รายแย่ลง วัยกลางคนและสูงอายุใช้สารสกัดถั่งเช่า รับประทาน 1 เม็ดต่อวันเป็นเวลาประมาณ 1 เดือน ค่าการทํางานของไตแย่ลง (eGFR ลดลง) เมื่อหยุดใช้ค่าการทํางานของไตดีขึ้น บางคนไม่ดีขึ้นกลายเป็นไตวายระยะสุดท้ายในปี พ.ศ. 2562         ปี พ.ศ. 2563 พบผู้ป่วยจำนวน 8 ราย เป็นผู้ป่วยสูงอายุมีโรคหัวใจรับประทานสารสกัดถั่งเช่าสีทอง วันละ 1 เม็ดประมาณ 1 เดือน ค่าการทํางานของไตแย่ลงเมื่อหยุดใช้ค่าการทํางานของไตดีขึ้น อีก 6 รายมีอาการไตวายเฉียบพลัน 1 ราย, 2 รายเป็นโรคไตเรื้อรังระยะ 3-4 บางรายเมื่อหยุดใช้แล้วไตดีขึ้น บางรายต้องฟอกเลือด พบอีก 1 รายใช้กาแฟถั่งเช่าร่วมกับยาแก้ปวดและสมุนไพรผสมสเตียรอยด์ทําให้ค่าการทํางานของไตแย่ลง         ทำให้นึกย้อนไปถึงเรื่องร้องเรียนในอดีตของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่หลังจากทานขี้เหล็กสกัดทำให้มีอาการตัวเหลืองตาเหลือง ทั้งที่ใบขี้เหล็กช่วยอาการนอนไม่หลับ บำรุงตับ แกงขี้เหล็กที่รู้จักมีฤทธิ์ระบายอ่อนๆ ช่วยไม่ให้ท้องผูก นอนหลับสบายเมื่อมีความพยายามที่จะทำใบขี้เหล็กให้เป็นยาสมุนไพรสำเร็จรูปที่ใช้ง่ายเป็นชนิดเม็ด โดยใช้ใบขี้เหล็กตากแห้งบดเป็นผงแล้วบรรจุเม็ดวางจำหน่ายในท้องตลาด เมื่อขี้เหล็กแคปซูลเหล่านี้เข้าถึงผู้บริโภค เริ่มมีข้อสังเกตจากแพทย์ระบบทางเดินอาหารหลายท่านว่า พบผู้ป่วยด้วยโรคตับอักเสบมีเรื่องร้องเรียนว่าทานแล้วตัวเหลืองจนต้องยุติการขึ้นทะเบียนและการจำหน่ายยาสมุนไพรชนิดนี้ในท้ายที่สุด         นอกจากปัญหารายงานว่าอาจจะมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาการทำงานของไต หลายคนเบื่อการโฆษณาการขายถั่งเช่ามาก โฆษณาจำนวนมากจนน่ารำคาญ ทำให้รู้สึกว่าทำไมถึงขายถั่งเช่าสกัดกันทั้งบ้านทั้งเมือง คนกินเยอะขนาดนี้เลยหรือ ? ถ้ามาดูโฆษณามีทั้งรักษาโรคเรื้อรังสารพัด บำรุงร่างกาย เพิ่มพลังทางเพศ ไทด์อินในรายการต่างๆ ป้ายโฆษณาด้านหลังแนะนำสินค้าขายตรงมีให้เห็นได้ยิน ทุก 15-30 นาที จากทั้งดาราน้อยใหญ่ แทบจะทุกช่องทีวีโซเชียลมีเดียหรือแทบทุกช่องทางทำให้คนที่มีปัญหาสุขภาพหรือโรคเรื้อรังอดใจไว้ไม่อยู่อยากทดลองว่าจะช่วยได้จริงมั้ย แต่ผลลัพธ์กลับส่งผลต่อความรุนแรงของโรคหรือเกิดโรคบางประเภท เช่น ไตวายเรื้อรัง           ถึงแม้ทีวีดิจิทัลจะเป็นอุตสาหกรรมตะวันตกดิน แต่กสทช. ก็ต้องกำกับร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้เข้มข้นเรื่องการโฆษณาผิดกฎหมาย เกินจริง โอ้อวด รักษาโรคของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเมื่อมีรายงานว่า อาจจะมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาไตวายเรื้อรัง อย. ในฐานะหน่วยงานที่ต้องกำกับผลิตภัณฑ์นี้โดยตรงก็ต้องเรียกบริษัทผู้ผลิตผู้จัดจำหน่ายทั้งหลายเร่งปรับปรุงฉลาก ให้มีคำเตือนที่ชัดเจนในการใช้ผลิตภัณฑ์นี้ ติดตามผลข้างเคียงอย่างเป็นระบบและผู้ประกอบการต้องรีบดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงกับผู้ป่วยโรคเรื้อรังทั้งหลาย         สุขภาพของเราไม่ได้มาจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หยุดคิดว่าถ้าไม่ดี อย. ก็ไม่ควรให้จำหน่ายเพราะการรู้ว่าไม่ดีมักจะมาทีหลัง หวังว่าถั่งเช่าจะไม่ซ้ำรอยขี้เหล็กที่เป็นอาหารมีคุณ แต่สกัดแล้วเป็นโทษ เพราะหากย้อนไปในประเทศจีนก็ทานถั่งเช่าเป็นอาหารใส่ในต้มจืดเฉพาะฤดูหนาวเท่านั้น  หรือหากในธิเบตก็นิยมทานเป็นชาหรือใส่ในอาหารเฉพาะบางฤดูเช่นเดียวกัน สุขภาพของเราคงไม่ใช่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแต่มาจากความสุข การบริโภคอาหารที่ดี การใช้ชีวิต การพักผ่อนและการออกกำลังกาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 เบาะกันกระแทก (2)

        มาว่ากันต่อเกี่ยวกับประกันภัยอุบัติเหตุ (Personal Accident Insurance) หรือที่มักเรียกกันว่าพีเอ เชื่อเหลือเกินว่าหลายคนต้องเคยเจอสถานการณ์ที่บริษัทประกันโทรหา (เอาเบอร์โทรของเรามาจากไหน?) เพื่อเสนอขายประกันให้ บางคนตัดบทปฏิเสธ บางคนเคลิ้มตอบตกลง         การซื้อประกันอุบัติเหตุ (และประกันชนิดอื่นๆ) ไม่ควรใจร้อน มันมีหลายเรื่องที่เราต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับเงื่อนไขชีวิตของตัวเรา ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) แยกประกันอุบัติเหตุออกเป็น 2 แบบ คือ แบบ อบ. 1 และ อบ. 2 โดยแบบแรกจะมีความคุ้มครองให้เลือกซื้อ 4 ความคุ้มครอง-การเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ/สายตา การทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง, การทุพพลภาพชั่วคราวสิ้นเชิง, การทุพพลภาพชั่วคราวบางส่วน และการรักษาพยาบาล         ส่วนแบบที่ 2 จะให้ความคุ้มครองเพิ่มจากแบบแรกคือรวมเรื่องการสูญเสียนิ้ว การสูญเสียการรับฟังเสียง/การพูดออกเสียง และการทุพพลภาพถาวรบางส่วน         แต่ถ้าจะเลือกประกันอุบัติเหตุที่เหมาะกับตัวคุณก็มีหลายเรื่องที่ต้องมานั่งพิจารณากัน         อย่างแรกเลยคืออายุ คนอายุน้อยกับคนอายุมาก แน่นอนว่าคนกลุ่มหลังย่อมจ่ายเบี้ยประกันต่ำกว่า แต่อายุก็เป็นแค่ปัจจัยหนึ่ง ยังต้องดูอีกคุณประกอบอาชีพอะไร เพราะแต่ละอาชีพมีระดับความเสี่ยงต่างกัน อาชีพที่มีความเสี่ยงสูงกว่า เบี้ยประกันสูงกว่า         คปภ. แบ่งชั้นอาชีพในการรับประกันภัยไว้ 4 ชั้น ประกอบด้วย อาชีพชั้น 1 ส่วนใหญ่ทำงานประจำในสำนักงาน อาชีพชั้น 2 ปฏิบัติงานที่ใช้วิชาชีพที่ต้องทำงานกลางแจ้งตลอดเวลา อาชีพชั้น 3 ปฏิบัติงานด้านช่าง กระบวนการผลิต ที่มีการใช้เครื่องจักรกลหนัก ผู้ใช้แรงงาน การเดินทาง หรือทำงานนอกสำนักงานเป็นประจำ และอาชีพชั้น 4 อาชีพพิเศษที่มีความเสี่ยงสูงมากกว่าชั้นอื่น ๆ เป็นพิเศษ เช่น นักแสดงผาดโผน         ถ้าคุณรู้ว่าอาชีพที่ทำอยู่มีความเสี่ยงระดับไหน มันจะช่วยให้คุณพอจะประเมินได้ว่าทุนประกันภัย-หมายถึงเงินที่จะได้เวลาประสบอุบัติเหตุนั่นแหละ-แค่ไหนที่เหมาะสมกับตัวเอง ต้องการให้ครอบคลุมความคุ้มครอง ค่าใช้จ่าย และผลประโยชน์ในกรณีเสียชีวิตอย่างไร เช่น ถ้าคุณเป็นเครื่องยนต์หลักในการหาเลี้ยงครอบครัว คุณอาจต้องการทุนประกันที่มากกว่า เพื่อช่วยดูดซับแรงกระแทกไม่ให้คนข้างหลังซวนเซ หรือถ้าคุณยังไม่มีครอบครัว มีพี่น้อง และมีพ่อแม่ที่พอมีเงินเก็บอยู่บ้าง ทุนประกันที่คุณต้องการก็อาจไม่จำเป็นต้องมากเท่ากับกรณีแรก เพราะยิ่งทุนประกันสูง เบี้ยประกันก็ยิ่งสูงตาม การคำนึงถึงจุดนี้จะช่วยให้การจ่ายเบี้ยประกันไม่กลายเป็นภาระเกินจำเป็น         เรื่องนี้ยังไม่จบ ไว้มาต่อกันคราวหน้า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 The World Day of Remembrance for Road Traffic Victims

        15 พฤศจิกายน นอกจากจะเป็นวันรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน หรือ The World Day of Remembrance for Road Traffic Victims (WDR) แล้ว ยังเป็นการครบรอบ 15 ปี ของการกำเนิดวันรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนอีกด้วย แต่ด้วยเพราะสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 กิจกรรมรณรงค์ร่วมรำลึกในปีนี้อาจจะดูเงียบเหงาขาดสีสันลงไปบ้าง คงมีเพียงมูลนิธิเมาไม่ขับที่เป็นแกนหลักในการจัดงานรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนทุกปี ขณะที่หน่วยงานหลักของประเทศกลับไม่มีการแสดงออกถึงวาระสำคัญของโลกในวันนี้อีกเช่นเคย         เหมือนทุกปีที่วันรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนหรือที่เราเรียกกันว่า “วันเหยื่อโลก” มีเป้าหมายเพื่อให้ทุกคนได้ร่วมกันรำลึกถึงผู้เสียชีวิตและผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนทั่วโลก เพราะอุบัติเหตุทางถนนเกิดไม่ได้เลือกเกิดขึ้นเฉพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เกิดได้กับทุกคนไม่ว่าจะรวยล้นฟ้า ดารานักแสดงหรือแม้แต่คนเดินถนนทั่วไป         ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนตลอดปี พ.ศ. 2563 ผ่านการเบิกจ่ายค่าสินไหมทดแทนจากบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ณ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 มีผู้เสียชีวิตจำนวน 12,990 คน และบาดเจ็บ 855,415 คน ผ่านมาเกือบครบปีแล้ว แม้ตัวเลขผู้เสียชีวิตจะลดน้อยลง อาจเพราะผลสืบเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่เกิดการล็อกดาวน์ประเทศ ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม มีจำนวนลดลง แต่เมื่อเวลาผ่านไปทุกอย่างเริ่มคลี่คลายทุกคนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนก็ดีดตัวกลับพุ่งขึ้นมาแรงเหมือนเดิม         โดยเฉพาะในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และเมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้หลายฝ่ายคาดว่า หากไม่ทำอะไรจริงจัง ในช่วงปลายปีไตรมาสสุดท้ายจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนอาจจะพุ่งแตะใกล้เคียงสองหมื่นคนเหมือนในปีที่ผ่านมาก็เป็นได้         ทั้งนี้ตัวเลขการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจำนวน 12,990 คน ข้างต้นยังไม่ได้รวมกรณีเกิดเหตุแล้วไม่ใช้สิทธิ หรือ รถไม่มีประกัน พ.ร.บ. รวมถึงยังไม่ใช่ตัวเลขจากระบบ 3 ฐาน ที่ประกอบด้วย ข้อมูลจากมรณบัตรและหนังสือรับรองการตาย ที่เป็นระบบลงทะเบียนการตายของผู้เสียชีวิตทุกรายที่มีการแจ้งตาย ข้อมูลจากระบบ POLIS ที่เป็นระบบบันทึกข้อมูลคดี และข้อมูลจากระบบ E-Claim ที่เป็นระบบบันทึกข้อมูลสำหรับเบิกจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทน เพื่อให้ได้ข้อมูลการตายที่มีความครอบคลุมมากที่สุด         เพราะหากกลับไปย้อนดูข้อมูลการเสียชีวิตของอุบัติเหตุทางถนนจากข้อมูล 3 ฐาน ย้อนหลัง 4 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2559 – 2562 พบว่า อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลดลงเล็กน้อย คือ 21,745 > 21,607 > 19,331 และ 19,904 คน ตามลำดับ แต่ที่น่าตกใจ คือ ยังอยู่ในระดับเกือบ 20,000 คน ต่อปี หรือคิดเป็นวันละ 55 คนทุกวัน และเกือบ 70% ของผู้เสียชีวิตเกิดจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ ขณะที่อีกประมาณ 3,000 คน ต่อปีที่เสียชีวิตเป็นเด็กและเยาวชน หรือเท่ากับโรงเรียนขนาดใหญ่ปีละ 1 โรงเรียนที่หดหายไป         ในแต่ละปีประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเกือบ 20,000 คน หากพิจารณามูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ กรณีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัส ข้อมูลโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า การเสียชีวิตมีมูลค่าเท่ากับประมาณ 10 ล้านบาทต่อราย และการบาดเจ็บสาหัสมีมูลค่าเท่ากับประมาณ 3 ล้านบาทต่อราย และถ้าตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในปี พ.ศ. 2562 มีผู้เสียชีวิตจำนวน 19,904 คน จะคิดเป็นมูลค่าความเสียหายมากถึง 119,040,000,000 (หนึ่งแสนหนึ่งหมื่นเก้าพันสี่สิบล้านบาท) และอาจถึง 200,000 ล้านบาท หากรวมมูลค่าความเสียหายทั้งบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตไว้ด้วยกัน         ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนจึงไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนนึง และไม่ใช่เรื่องที่ต้องฝากความหวังไว้กับรัฐบาลเพียงอย่างเดียว เพราะที่ผ่านมาสิบปีทศวรรษความปลอดภัยทางถนน (พ.ศ. 2554 - 2563) ตามข้อตกลงปฏิญญามอสโกที่รัฐบาลมีหน้าที่ต้องลดอัตราการเสียชีวิตลงครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2563 ประเทศไทยล้มเหลวไม่เป็นท่า          รัฐบาลมีโอกาสแก้ตัวต่อจากนี้อีกสิบปี กับการจัดการความปลอดภัยทางถนนภายใต้กรอบ “ปฏิญญาสตอกโฮล์ม” พ.ศ. 2564 – 3573 และเป้าหมายระดับโลกในการลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลงให้ได้ครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 50 ที่ต้องลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงให้ได้เหลือ 10,000 คนต่อปีภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งก็ได้แต่หวังว่าจะไม่ใช่แค่งานอีเว้นท์ประจำปีเน้นเทศกาลเหมือนที่ผ่านมา แต่จะเป็นการจัดการที่เข้มข้นและต่อเนื่องในทุกกลุ่มของผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างที่ทุกคนต้องการ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 ไหนบอก.. ดูดไขมัน ทำแล้วไม่เจ็บ

        บ่ายวันหนึ่งระหว่างที่คุณสุปราณีเดินเล่นอยู่ในห้างสรรพสินค้ามีพนักงานสาวสวยหน้าคลินิกเสริมความงามแห่งหนึ่งตรงดิ่งเข้ามาหา พร้อมกับเสนอโปรโมชันพิเศษคอร์สเสริมความงาม ดูดไขมัน ลดน้ำหนัก กระชับสัดส่วน แบบที่คุณสุปราณีก็ไม่ทันตั้งตัว เมื่อคุณสุปราณีได้ฟังข้อมูลจากพนักงานขายก็เริ่มเกิดความสนใจ และได้เข้าไปพูดคุยสอบถามรายละเอียดขั้นตอนและราคากับทางคลินิก         หลังจากพูดคุยตกลงความต้องการกันเสร็จเรียบร้อย ทางคลินิกได้แจ้งกับคุณสุปราณีว่า จะให้บริการดูดไขมันในครั้งแรกทั้งหมด 7 จุด ที่บริเวณหน้าท้องและใต้คอ รวมค่าใช้จ่าย 100,000 บาท และยังได้ให้คำแนะนำคุณสุปราณีว่า การดูดไขมันนั้นไม่เจ็บมาก โดยจะทำการฉีดยาชาให้ก่อน และรูที่ดูดไขมันนั้นก็เล็กเท่าปลายปากกา         เมื่อถึงวันนัดเข้ารับบริการครั้งแรก คุณสุปราณีไปคลินิกด้วยความตื่นเต้นเพราะไม่เคยเข้าคอร์สดูดไขมันมาก่อนในชีวิต โดยหลังจากคลินิกได้ทำการดูดไขมันให้ คุณสุปราณีรู้สึกว่าเจ็บมาก ไม่ใช่เจ็บนิดเดียวอย่างที่คลินิกบอก และทางคลินิกก็ทำการดูดไขมันบริเวณหน้าท้องไม่ครบทุกจุดตามที่ตกลงกันไว้ และรูที่ดูดก็ไม่ได้เล็กเท่าปลายปากกา แต่ใหญ่กว่ามาก หลังจากที่กลับมาสำรวจรูปร่างของตัวเองก็พบว่าหน้าท้องไม่ได้ยุบลงจากเดิมเลยคุณสุปราณีรู้สึกผิดหวังกับทางคลินิกที่ให้บริการไม่ตรงกับที่บอกไว้ จึงอยากขอเงินอีกครึ่งหนึ่งคืน และไม่ต้องการกลับไปใช้บริการคอร์สดูดไขมันอีกแล้วเพราะรู้สึกเจ็บมาก แนวทางการแก้ไขปัญหา         คุณสุปราณีสามารถบอกเลิกสัญญากับทางคลินิกได้ เพราะคลินิกไม่ได้ให้บริการดูดไขมันให้ครบทุกจุดตามที่ตกลงกันไว้ ถือว่าผิดสัญญา  และยังชี้ชวนว่า การดูดไขมันไม่เจ็บ ถือเป็นการชวนเชื่อให้เข้าใจผิด คุณสุปราณีต้องแจ้งต่อคลินิก เป็นลายลักษณ์อักษร โดยส่งเป็นจดหมายลงทะเบียนแบบตอบรับไว้เป็นหลักฐาน หากคลินิกไม่ยอมคืนเงิน คุณสุปราณีก็สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายได้         ทั้งนี้ การใช้บริการคอร์สเสริมความงามเช่นการดูดไขมันนี้ อาจทำให้ร่างกายเกิดบาดเจ็บหรือได้รับอันตรายได้หากผู้ให้บริการขาดความเชี่ยวชาญ ผู้บริโภคควรศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้านก่อนตัดสินใจใช้บริการ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 ซื้อเครื่องตัดหญ้าออนไลน์ แต่ใช้งานไม่ได้

        คุณวิรัชต์ ผู้ซึ่งรักต้นไม้และการทำสวนเป็นชีวิตจิตใจ แต่การต้องตัดหญ้าในสนามหน้าบ้านทุกๆ สองสัปดาห์ ก็ทำเอาคุณวิรัชต์รู้สึกปวดเอวอยู่ไม่น้อย มาวันหนึ่งขณะที่คุณวิรัชต์เปิดเว็บไซต์ดูสินค้าในร้านค้าออนไลน์ ก็ไปพบเข้ากับเครื่องตัดหญ้าไฟฟ้าแบบชาร์จแบตเตอรี่ได้ พร้อมโปรโมชัน ซื้อ 1 แถม 1 ในราคา 1,090 บาท เมื่อดูภาพโฆษณาและอ่านรีวิวแล้ว ก็คิดว่าน่าจะใช้งานได้ดี และคงสะดวกกว่าการใช้กรรไกรตัดหญ้าอยู่ไม่น้อย คุณวิรัชต์จึงตัดสินใจสั่งซื้อเครื่องตัดหญ้าดังกล่าว         ไม่กี่วันให้หลังสินค้ามาถึงผู้รับอย่างรวดเร็ว เมื่อเปิดกล่องพัสดุออกดูด้วยความตื่นเต้น กลับพบว่า รูปลักษณ์ของเครื่องตัดหญ้านั้นช่างแตกต่างจากที่โฆษณาไว้เหลือเกิน ทั้งยังไม่มีกล่องแบตเตอรี แต่กลับเป็นช่องใส่ถ่านขนาดสองเอ (AA) แทน เมื่อคุณวิรัชต์ลองใช้ดูก็พบว่า ไม่สามารถตัดหญ้าได้เหมือนอย่างที่รีวิวเอาไว้อีกด้วย         ด้วยความผิดหวังคุณวิรัชต์จึงรีบโทรกลับไปยังร้านค้าเพื่อที่จะขอเงินคืน เพราะร้านค้าเคยแจ้งว่า สินค้ามีการรับประกันสามารถเปลี่ยนหรือคืนได้ภายใน 7 วัน ซึ่งทางร้านค้าก็ได้ให้คำมั่นว่าจะรีบดำเนินการตรวจสอบสินค้าให้ แต่เอาเข้าจริงคุณวิรัชต์ไม่ได้รับการติดต่อกลับมาอีกเลย พอสอบถามไปบ่อยๆ เข้า ก็เงียบหายและติดต่อไม่ได้อีกเลย คุณวิรัชต์จึงลองกลับไปดูที่เว็บไซต์อีกครั้ง ปรากฏว่ามีผู้ที่ซื้อสินค้าไปแล้วเข้ามาบ่นว่าสินค้าไม่ได้คุณภาพและใช้งานไม่ได้จริงเหมือนกัน แนวทางการแก้ไขปัญหา         ในกรณีนี้ คุณวิรัชต์สามารถรวบรวมหลักฐานเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน ได้แก่ ข้อมูลของร้านค้าที่คู่กรณี, ภาพถ่ายสินค้าที่ชำรุดบกพร่องหรือไม่สามารถใช้งานได้จริงอย่างที่โฆษณา, หลักฐานการโอนเงินว่าโอนเงินไปยังบัญชีใด เพื่อที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ออกหนังสือขอให้ทางธนาคารปลายทางอายัดบัญชีดังกล่าวไว้ เพื่อติดตามเงินคืนและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป         ทั้งนี้ หากผู้บริโภคซื้อสินค้าออนไลน์แล้วพบว่า ชำรุดบกพร่องไม่สามารถใช้งานได้จริงตามคำโฆษณาก็ให้ขอคืนสินค้าโดยทันทีตามกรอบระยะเวลาเงื่อนไขที่ทางร้านได้แจ้งไว้ หรือแจ้งต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเรื่องโฆษณา และหากเป็นไปได้ควรซื้อสินค้าออนไลน์จากร้านค้าที่จดทะเบียนการค้ากับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และขึ้นทะเบียนขายตรงกับคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะหากเกิดปัญหาขึ้นก็สามารถติดต่อไปยังผู้ขายได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 อยู่ๆ คอนโดให้พื้นที่เพิ่มแต่ก็เก็บเงินเพิ่มไปอีก

        ก่อนจะซื้อคอนโดมิเนียม เราได้อ่านสัญญาจะซื้อจะขายกันบ้างหรือไม่ หากอ่านแล้วรู้สึกว่าข้อสัญญาไม่เป็นธรรมกับเราจะทำอย่างไรดี         ย้อนไปประมาณปีครึ่ง คุณภูผาได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายคอนโดแห่งหนึ่งแถวพัทยา โดยอ่านสัญญาคร่าวๆ คิดว่าคงไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งข้อความในสัญญาระบุว่าจะก่อสร้างให้เสร็จภายใน 1 ปี เมื่อครบกำหนดสร้างเสร็จ เขาติดต่อไปยังโครงการเพื่อสอบถามเรื่องการโอนคอนโด แต่พนักงานแจ้งว่า คอนโดยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ เขาก็เพียรโทรตามอยู่หลายครั้ง หลังจากนั้นประมาณ 2 เดือน พนักงานดูแลโครงการโทรศัพท์มาแจ้งว่าให้เข้าไปตรวจรับห้อง         เมื่อคุณภูผาไปตามนัด พบว่าโครงการได้เปลี่ยนแปลงวัสดุและสีห้องโดยไม่แจ้งให้เขารู้เลย หลายๆ อย่าง ไม่เหมือนห้องตัวอย่างที่เขาเห็นก่อนทำสัญญา นอกจากนั้นยังพบอีกว่าห้องของเขา ซึ่งทำสัญญาไว้ต้องมีพื้นที่ 29 ตารางเมตร แต่ห้องจริงที่ไปดูกลับมีพื้นที่ 31.45 ตารางเมตร ซึ่งห้องที่ไม่เป็นไปตามตัวอย่างทั้งเรื่องวัสดุและสีห้อง มีลักษณะแบบเดียวกับห้องของเขา คือมีพื้นที่เพิ่มขึ้นเหมือนกันทุกห้อง เหมือนดี แต่ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเขา (และคนอื่นๆ) ต้องจ่ายเงินค่าพื้นที่เพิ่มขึ้นอีกตารางเมตรละ 43,000 บาท         “วันที่ไปตรวจรับห้อง โครงการฯ ยังดำเนินการสร้างสาธารณูปโภคส่วนกลาง เช่น สระว่ายน้ำ ฟิตเนส ไม่เสร็จและไม่ตรงตามใบโบรชัวร์ขายคอนโดด้วย”         เขาจึงแจ้งให้ทางโครงการฯ แก้ไขให้เรียบร้อยให้เหมือนตามที่โฆษณาขายไว้ ซึ่งโครงการฯ ก็ไม่ได้แก้ไข แต่มีหนังสือว่า โครงการฯ ได้สร้างคอนโดเสร็จเรียบร้อยแล้วให้เขาไปรับโอนคอนโดภายใน 30 วัน ถ้าไม่ไปถือว่าเขาผิดสัญญา และให้รับผิดชอบพื้นที่ที่เพิ่มขึ้น        คุณภูผารู้สึกไม่พอใจ ทำไมอยู่ๆ เขากลายมาเป็นคนผิดสัญญา ทั้งๆ ที่โครงการฯ เป็นผู้ทำผิดสัญญาเองทั้งหมด ตั้งแต่สร้างไม่เสร็จตามกำหนด สร้างไม่ตรงตามโฆษณาขาย และมีพื้นที่เพิ่มขึ้นมาแล้วมาเก็บเงินเขาเพิ่ม เขาจึงมาปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา        ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคแนะนำว่า เรื่องการซื้อขายอาคารชุด มีกฎหมายควบคุมให้สัญญาต้องเป็นไปตามแบบ 2 ฉบับ คือประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจขายห้องชุดเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543 และพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522          สัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภคต้องไม่ใช้ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ข้อ 4 ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจขายห้องชุดเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543 และมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท         สัญญาจะซื้อจะขายอาคารชุดต้องทำตามแบบ อ.ช. 22 ถ้ามีส่วนหนึ่งส่วนใดในสัญญาไม่ได้ทำตามแบบและไม่เป็นคุณกับผู้จะซื้อ สัญญาส่วนนั้นไม่มีผลบังคับใช้ และมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท ตามมาตรา 6/2 และ 63 ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522         เมื่อพิจารณาสัญญาจะซื้อจะขายของโครงการแล้วพบว่า ไม่ปฎิบัติตามแบบ อ.ช. 22 และประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจขายห้องชุดเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543 ดังนี้        o       โครงการแจ้งผู้ซื้อด้วยวาจาเรื่องขอขยายระยะเวลาก่อสร้าง ซึ่งโครงการสามารถขยายเวลาก่อสร้างได้ 12 เดือน โดยผู้ขายต้องทำหนังสือแจ้งผู้ซื้อเป็นลายลักษณ์อักษร        o       โครงการเปลี่ยนแปลงวัสดุและสีห้อง สร้างสาธารณูปโภค เช่น สระว่ายน้ำ ฟิตเนส ไม่ตรงตามภาพโฆษณา ภาพโฆษณาเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ผู้ขายต้องก่อสร้างตามที่ได้โฆษณาไว้        o       โครงการมีพื้นที่ก่อสร้างในห้องเพิ่มขึ้นจาก 29 ตารางเมตร เป็น 31.45 ตารางเมตร เพิ่มขึ้น 2.45 ตารางเมตร ซึ่งผู้ขายสามารถมีพื้นที่พร่องหรือเพิ่มขึ้นได้ไม่เกินร้อยละ 5         ผู้ร้องสามารถบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดและขอเงินคืนได้โดยอาศัยเหตุผลข้างต้นในการบอกเลิกสัญญาเพราะผู้ซื้อไม่ได้เป็นผู้ผิดสัญญา โดยทำหนังสือบอกเลิกสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร ส่งไปรษณีย์แบบลงทะเบียนตอบรับ ถ้าผู้ขายไม่ยินยอมคืนเงิน ผู้ซื้อสามารถฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้ผู้ขายคืนเงินได้         กรณีคุณภูผา ศูนย์พิทักษ์ฯ ได้ทำหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และกรมที่ดิน แจ้งไปยังกรมที่ดินว่าสัญญาจะซื้อจะขายของโครงการเป็นข้อสัญญาไม่เป็นธรรมและไม่เป็นไปตามแบบ อ.ช. 22 และกรมที่ดินได้ดำเนินการตามกฎหมายกับโครงการนี้แล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 ระวังเสียเงินกับพัสดุที่ไม่ได้สั่ง

        เมื่อการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์เป็นที่นิยมขึ้นเรื่อยๆ มิจฉาชีพก็ว่องไวในการหาทางฉกฉวยเงินของคุณจากธุรกิจนี้มากขึ้นเช่นกัน ซึ่งขอนำเสนอภัยแฝงอีกชนิดหนึ่ง ที่ผู้บริโภคควรรับทราบไว้         คุณนพวรรณโทรมาปรึกษากับศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เมื่อวานกลับจากทำงานถึงบ้าน คุณป้าซึ่งอาศัยอยู่ด้วยกันกับคุณนพวรรณยื่นกล่องพัสดุน้อยๆ ให้บอกว่า วันนี้มีคนนำมาส่งและเรียกเก็บเงินปลายทาง จำนวน 150 บาท ป้ามองแล้วแม้เห็นว่าชื่อผู้รับไม่ตรงกับคนในบ้าน แต่บ้านเลขที่ตรงกันจึงคิดว่าหลานหรือคุณนพวรรณอาจใช้ชื่ออื่นในการสั่ง อีกทั้งจำนวนเงินก็ไม่ได้มาก คุณป้าจึงจ่ายค่าสินค้าและเซ็นรับของไว้         คุณนพวรรณอึ้งไปสักพักและทบทวนว่าตนได้สั่งซื้อสินค้าอะไรไปหรือไม่ ก็คิดว่าไม่ และเมื่ออ่านชื่อที่อยู่ผู้รับซ้ำอีกครั้ง พบว่าแม้เลขที่บ้านตรงกันแต่เป็นคนละซอย เธอคิดว่าผู้ส่งซึ่งเป็นพนักงานของบริษัทขนส่งคงเข้าใจผิด ผู้สั่งสินค้าจริงอาจจะกังวลที่ของไม่ถึงมือจึงโทรไปตามเบอร์โทรศัพท์ของผู้รับที่แปะอยู่บนกล่องพัสดุ มีคนรับโทรศัพท์แต่พอเล่าเรื่องให้ฟัง คนตามจ่าหน้ากลับบอกว่าตนเองวันนี้ได้รับสินค้าที่สั่งไปแล้ว สินค้าที่อยู่กับคุณนพวรรณไม่น่าจะใช่ของตนเอง “อ้าว แล้วคราวนี้จะยังไง” สรุป “มีดโกนหนวดนี้เป็นของใคร” คุณนพวรรณเลยโทรไปตามเบอร์โทรศัพท์ของร้านค้าที่เป็นเจ้าของสินค้าก็ไม่มีผู้รับสาย เธอพยายามหลายรอบจนคิดว่าอาจจะไม่มีร้านนี้อยู่จริง “ดิฉันควรทำอย่างไรดี”  แนวทางการแก้ไขปัญหา         เนื่องจากปรากฎเป็นข่าวเตือนภัยกันถึงเรื่องที่มีมิจฉาชีพส่งพัสดุราคาไม่แพงไปเรียกเก็บเงินปลายทาง ซึ่งผู้รับที่ไม่ได้อยู่บ้านในขณะที่สินค้ามาส่งจะไม่มีโอกาสปฏิเสธ แต่ญาติหรือคนที่อาศัยด้วยกันเป็นผู้รับสินค้า เมื่อเห็นว่าราคาเรียกเก็บเงินประมาณ 100-300 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินไม่มากก็จะออกเงินให้ไปก่อน แต่มารู้ทีหลังว่าผู้รับตามจ่าหน้าไม่ได้เป็นผู้สั่งสินค้า ก็ทำให้เสียเงินกันไปฟรีๆ เพราะสินค้าที่ได้มามักเป็นสินค้าที่ไม่มีประโยชน์ในชีวิตประจำวันหรือสินค้าที่มูลค่าน้อยกว่าจำนวนเงินที่เสียไป ซึ่งกรณีนี้หากผู้เสียหายต้องการให้เกิดการจัดการทางกฎหมายควรนำสินค้าไปแจ้งความกล่าวโทษกับร้านค้าหรือบริษัทที่ส่งสินค้ามาหลอกลวง         อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีคุณนพวรรณ เนื่องจากว่าบ้านเลขที่บนกล่องพัสดุมีบุคคลที่สั่งซื้ออยู่จริงเพียงแต่มีสินค้าชนิดเดียวกันนำไปส่งให้แล้ว อาจเป็นไปได้ว่า ผู้รับสั่งสินค้าผิดพลาด(สั่งซื้อซ้ำ) และพนักงานบริษัทขนส่งทำงานพลาด ดังนั้นทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ จึงช่วยประสานงานกับบริษัทขนส่ง ซึ่งเป็นตัวกลางในการนำส่งสินค้าแก้ไขปัญหาให้กับคุณนพวรรณ ทางบริษัทฯ ได้รับเรื่องไว้และส่งพนักงานไปรับสินค้าจากคุณนพวรรณพร้อมคืนเงินจำนวน 150 บาท และนำสินค้ากลับไปเพื่อดำเนินการจัดส่งให้ถูกต้องต่อไป        สำหรับผู้บริโภคที่พบกรณีปัญหาคล้ายกันนี้ หากพบพิรุธว่าเป็นการหลอกลวงให้เสียทรัพย์ ให้นำความไปแจ้งต่อตำรวจเพื่อดำเนินคดีในฐานฉ้อโกง แต่หากพบว่าน่าจะเป็นความผิดพลาดของบริษัทขนส่ง ให้ติดต่อกับบริษัทขนส่งที่รับผิดชอบส่งสินค้าผิดมาให้ท่านเพื่อดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องต่อไป  และบอกกล่าวกับคนในบ้านไว้เสมอเมื่อตนเองสั่งสินค้าอะไรไป ของจะมาส่งวันไหน แต่หากว่ามีของมาส่งโดยไม่ได้บอกกล่าวไว้ให้ตรวจสอบรายชื่อและบ้านเลขที่ให้ดีๆ หากไม่ตรงกันกับบุคคลในบ้านและ/หรือที่อยู่ผิดควรปฏิเสธไม่รับสินค้า 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 ความเคลื่อนไหวเดือนพฤศจิกายน 2563

ระวังมิจฉาชีพปลอมใบสำคัญการจดทะเบียนนิติบุคคล        นางโสรดา เลิศอาภาจิตร์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนว่า มีธุรกิจหรือผู้ไม่หวังดีได้นำใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท (แบบ พค.0401) ซึ่งเป็นเอกสารที่กรมฯ ออกให้ภายหลังที่รับจดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว เพื่อแสดงว่าได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว แต่มิจฉาชีพได้นำมาปลอมแปลงเป็นชื่อธุรกิจของตนเอง จึงขอเตือนประชาชนให้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบการมีตัวตนของธุรกิจที่แน่ชัด สำหรับการตรวจสอบแบบ พค.0401 ว่าเป็นของจริงหรือไม่ สามารถพิจารณาได้จากชื่อของนิติบุคคลต้องพิมพ์เป็นภาษาไทยเท่านั้น และต้องมีลายน้ำเป็นตราสัญลักษณ์กระทรวงพาณิชย์ หรือนำเลขทะเบียนนิติบุคคลไปตรวจสอบข้อมูลนิติบุคคลผ่าน 2 ช่องทาง         คือ 1) Moblie Application : DBD e-Service และ 2) เว็บไซต์กรมฯ www.dbd.go.th เท่านั้น (ค้นหาได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ) เลือกหัวข้อบริการออนไลน์ จากนั้นเลือก บริการข้อมูลธุรกิจ และ DBD Datawarehouse+ ไม่เสียค่าบริการใดๆ และใช้งานระบบได้ตลอด 24 ชั่วโมง ปรับแผนห้ามรถบรรทุกเข้ากรุงกะทันหัน         เมื่อกลางเดือน พ.ย. กทม.และสตช. แถลงเตรียมแผนรับมือค่าฝุ่น PM 2.5 โดยออกคำสั่งห้ามรถยนต์ตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไปวิ่งเข้าในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ในช่วงเวลา 06.00 - 21.00 น. เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 63 ไปจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ในปี 64 เพื่อลดมลพิษทางอากาศที่เกิดจากควันรถเผาไหม้ไม่สมบูรณ์นั้น         29 พ.ย. ปรับแผนใหม่ เนื่องจากกระทบธุรกิจหลายภาคส่วน โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือ สตช. เบรกประกาศห้ามรถบรรทุกวิ่งเข้ากรุงแล้ว แต่จะลุยตั้งด่านตรวจควันดำ 20 จุด พร้อมรณรงค์ WFH แทน  พาวเวอร์แบงก์ไม่มี มอก.เจอโทษหนัก         นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ สมอ.ได้ประกาศให้ 'เพาเวอร์แบงก์' เป็นสินค้าควบคุมเพื่อความปลอดภัยของประชาชน โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 เป็นต้นไป ดังนั้นตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าเพาเวอร์แบงก์ทุกยี่ห้อทุกชิ้นจะต้องมีเครื่องหมาย มอก. รับรอง หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษตามกฎหมาย        กรณีที่ทำหรือนำเข้าสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จ้าง “แท็กซี่” บรรทุกสัมภาระคิดค่าบริการเริ่มต้น 20 บาท/ชิ้น         16 พ.ย. 2563 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดอัตราค่าบริการอื่น กรณีการจ้างโดยมีบริการพิเศษสำหรับรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน (TAXI – METER) ที่จดทะเบียนในกรุงเทพมหานคร 2563 ลงนามประกาศ ณ วันที่ 28 ต.ค. 2563 โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม         โดยประกาศฉบับใหม่นี้ กำหนดความหมายของคำว่า “สัมภาระ” หมายถึง สินค้า สิ่งของ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ ที่มีการบรรจุกล่องกระเป๋า มัดรวม หรือบรรจุหีบห่อ และที่มิได้บรรจุแต่มีขนาด ปริมาณ ความกว้าง ความสูงเกินกว่าเป็นสัมภาระติดตัว แต่มิให้หมายความรวมถึงรถเข็นหรืออุปกรณ์สำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วย เช่น วีลแชร์ ไม้เท้า ส่วนคำว่า ”สัมภาระ” ติดตัว หมายถึงสัมภาระที่อยู่ในความดูแลของคนโดยสารระหว่างการเดินทาง เช่น กระเป๋าถือ กระเป๋าคอมพิวเตอร์ เป้สะพายหลังและให้หมายถึงของใช้ส่วนตัวที่ติดตัวคนโดยสารด้วย         ส่วนการคำนวณค่าบริการอื่นกรณีการจ้างโดยมีบริการพิเศษ ให้กำหนด ดังนี้ (1) การจ้างที่มีการบรรทุกสัมภาระที่มีขนาดความกว้าง ความยาว หรือความสูงด้านใดด้านหนึ่งเกินกว่า 26 นิ้วขึ้นไป ให้เรียกเก็บค่าบริการในอัตราชิ้นละไม่เกิน 20 บาท (2) การจ้างที่มีการบรรทุกสัมภาระที่มีขนาดความกว้าง ความยาว หรือความสูงด้านใดด้านหนึ่งไม่เกิน 26 นิ้วเกินกว่า 2 ชิ้น ให้เรียกเก็บค่าบริการตั้งแต่ชิ้นที่ 3 ขึ้นไป ในอัตราชิ้นละไม่เกิน 20 บาท ทั้งนี้ ไม่นับรวมกับสัมภาระตามความหมายข้างต้น (3) การจ้างที่มีการบรรทุกสัมภาระเป็นอุปกรณ์การกีฬาจำพวก ถุงกอล์ฟ รถจักรยาน วินด์เซิร์ฟหรือเครื่องดนตรี ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ 50 นิ้วขึ้นไป ให้เรียกเก็บค่าบริการในอัตราชิ้นละไม่เกิน 100 บาท (4) การจ้างที่มีการบรรทุกสัมภาระเป็นสินค้า สิ่งของ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ที่บรรจุกล่อง และที่มิได้มีการบรรจุกล่อง แต่มีการมัดรวมหรือหีบห่อรวมกันไว้ ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ 50 นิ้วขึ้นไป ให้เรียกเก็บค่าบริการในอัตราที่บรรจุกล่อง มัดรวมหรือหีบห่อชิ้นละไม่เกิน 100 บาท (5) การวัดขนาดของสัมภาระ มิให้วัดล้อหรืออุปกรณ์ที่ช่วยในการเคลื่อนที่รวมคำนวณเป็นขนาดของสัมภาระด้วย (6) การเรียกเก็บค่าบริการอื่นกรณีการจ้างโดยมีบริการพิเศษ ให้เรียกเก็บได้ในกรณีการจ้างจากท่าอากาศยานดอนเมือง หรือท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือการจ้างจากสถานที่อื่นไปยังท่าอากาศยานดอนเมือง หรือท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยให้ผู้ขับรถยนต์รับจ้างแจ้งอัตราค่าบริการให้ผู้โดยสารทราบล่วงหน้าก่อนทำการรับจ้าง         ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ‘มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค’ ยืนหยัดเปิดเผยชื่อสินค้าที่ทดสอบ        เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เผยแพร่ผลทดสอบจากการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือจำนวน 39 ตัวอย่าง เพื่อตรวจหาปริมาณแอลกอฮอล์ในผลิตภัณฑ์ว่าเป็นไปตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือไม่ และตรวจหาการปนเปื้อนของเมธิลแอลกฮอล์ ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ชนิดที่มีอันตรายต่อผู้บริโภค โดยเปิดเผยชื่อยี่ห้อ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับทราบข้อเท็จจริงและมีข้อมูลเพียงพอสำหรับการเลือกซื้อสินค้าที่มีความจำเป็นต้องใช้สำหรับปกป้องสุขภาพในภาวะที่มีการระบาดของเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อชีวิต         ต่อมาวันที่ 20 ก.ค. บริษัท รีเอ็กซ์ โปรดักส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตเจลแอลกอฮอล์ ได้ฟ้องคดีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยอ้างว่ามูลนิธิฯ หมิ่นประมาทบริษัท และมีการระบุว่า "... ไม่ใช่ผลการทดสอบที่ถูกต้องที่จะนำเสนอเป็นข่าวหรือบทความให้สาธารณชนได้รับทราบเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์เจลล้างมือ ...”        ดังนั้นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงแถลงข่าวเพื่อให้ข้อเท็จจริงและแสดงจุดยืนต่อกรณีดังกล่าว ซึ่งเป็น “ครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี” ที่ผลการทดสอบและการเปิดเผยข้อมูลของนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคถูกฟ้องคดีโดยบริษัทผู้ผลิตหลังจากเปิดเผยชื่อผู้ผลิตและยี่ห้อของสินค้าจากการทดสอบ” จึงมีความสำคัญต่อการยืนหยัดทำหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         ผู้บริโภคสามารถส่งกำลังใจให้กับมูลนิธิฯ ด้วยการใช้ข้อมูลนิตยสารฉลาดซื้อ และแสดงออกถึงการสนับสนุนให้มูลนิธิฯ เดินหน้าในการทดสอบสินค้าและเปิดเผยชื่อสินค้า เพื่อนำไปสู่การเฝ้าระวังให้เกิดคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อผู้บริโภคในสังคมไทยต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 สิทธิของคนค้ำประกันที่ควรรู้

    การเป็นหนี้ เชื่อว่าหลายท่านหรือคนใกล้ตัวต้องมีมาคุยเรื่องหนี้กันบ้าง โดยเฉพาะหนี้จากการกู้ยืมเงินไม่ว่าในระบบหรือนอกระบบ แต่ในครั้งนี้ผมจะขอกล่าวถึงหนี้ของผู้ค้ำประกัน เพราะเป็นคนที่เจตนาดี ช่วยค้ำประกันหนี้ให้คนอื่นทั้งที่ตัวเองไม่ได้ใช้เงิน แต่สุดท้ายเมื่อลูกหนี้ผิดนัด ตนเองก็โดนบังคับชำระหนี้ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเห็นใจสำหรับผู้ค้ำประกันหลายคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิที่จะเรียกให้ลูกหนี้ชำระได้  ดังนั้นผมจึงคิดว่าเรื่องของ “สิทธิของผู้ค้ำประกันตามกฎหมาย” จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราทุกท่านควรรู้ครับ         เมื่อเจ้าหนี้มาทวงหนี้จากผู้ค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันมีสิทธิ ดังนี้        1. บอกปัดให้เจ้าหนี้ไปเรียกเอาจากลูกหนี้ก่อน ก่อนที่ผู้ค้ำประกันจะชำระหนี้แทนลูกหนี้นั้น ผู้ค้ำสามารถให้เจ้าหนี้ไปเอาจากลูกหนี้ได้ก่อน ดังนั้นหากเจ้าหนี้มาทวงหนี้กับผู้ค้ำ ให้ผู้ค้ำแจ้งไปเลยว่า ให้ไปเอาจากลูกหนี้ก่อน        2. ตรวจสอบว่า ลูกหนี้มีทรัพย์สินที่จะชำระหนี้หรือไม่ ถ้าลูกหนี้ยังมีทรัพย์สินพอจะชำระหนี้ ผู้ค้ำก็แจ้งเจ้าหนี้ให้ไปบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้        3. ตรวจสอบข้อสัญญาค้ำประกัน หากมีข้อตกลงที่ให้ผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมเป็นโมฆะใช้บังคับไม่ได้ ผลคือเจ้าหนี้จะต้องไปเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน จนก็กระทั่งลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้แล้วจึงค่อยมีเรียกร้องกับผู้ค้ำประกัน        4. ตรวจสอบว่ามีการแจ้งให้ผู้ค้ำทราบหลังลูกหนี้ผิดนัดภายใน 60 วัน หรือไม่ เนื่องจากข้อกฎหมายได้กำหนดหน้าที่ของเจ้าหนี้ให้ต้องแจ้งผู้ค้ำประกันทราบเมื่อลูกหนี้ผิดนัด ภายใน 60 วัน เพื่อที่ผู้ค้ำจะชำระหนี้ เพื่อไม่เกิดดอกเบี้ยในกรณีผิดนัด โดยที่ผู้ค้ำฯไปเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้ภายหลัง หากไม่แจ้งผู้ค้ำไม่ต้องรับผิดชอบในดอกเบี้ย ค่าติดตามทวงหนี้ ค่าสินไหมทดแทนต่างๆ        5. ตรวจสอบว่าเจ้าหนี้ มีการลดหนี้ให้ลูกหนี้หรือไม่ หากมีผู้ค้ำได้รับประโยชน์นั้นด้วย เนื่องจากข้อกฎหมายให้ผู้ค้ำประกันได้รับประโยชน์จากการที่เจ้าหนี้กระทำการใดๆ อันมีผลเป็นการลดจำนวนหนี้ให้แก่ลูกหนี้ด้วย รวมทั้งกำหนดให้ข้อตกลงที่เป็นการเพิ่มภาระแก่ผู้ค้ำประกันเป็นโมฆะ (ถ้าเจ้าหนี้ลดหนี้ให้ลูกหนี้ก็มีผลถึงผู้ค้ำประกัน แต่ถ้าเป็นผลเสียแก่ผู้ค้ำจะใช้บังคับไม่ได้ )        6. ตรวจสอบว่าเจ้าหนี้ มีการขยายเวลาชำระหนี้ให้ลูกหนี้หรือไม่ ซึ่งหากมีการขยายระยะเวลา โดยผู้ค้ำไม่ได้รับทราบหรือยินยอม ผู้ค้ำก็พ้นความรับผิด        7. หลังชำระหนี้แทนลูกหนี้ มีสิทธิฟ้องลูกหนี้ตามวงเงิน ที่ชำระแทน พร้อมดอกเบี้ยและค่าเสียหายอื่น          คำพิพากษาฎีกาที่  3847/2562  รูปแบบข้อความของหนังสือบอกกล่าวไปยังค้ำประกัน กฎหมายไม่ได้ระบุรูปแบบไว้ และการแจ้งผู้ค้ำต้องดำเนินการภายใน 60 วันนับแต่ลูกหนี้ผิดนัด หากไม่ได้แจ้งตามกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ผู้ค้ำหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนตลอดจนค่าภาระติดพันต่างๆ         ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด” บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้กำหนดรูปแบบข้อความของหนังสือบอกกล่าวไว้อย่างชัดเจน เพียงแต่ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการให้ผู้ค้ำประกันทราบถึงข้อเท็จจริงว่าลูกหนี้ผิดนัดแล้วเพื่อผู้ค้ำประกันจะได้ใช้สิทธิเข้าชำระหนี้แทนลูกหนี้เพื่อลดภาระหนี้ การตีความข้อความในหนังสือบอกกล่าวจึงไม่จำต้องยึดถือรูปแบบที่เคร่งครัด         เมื่อปรากฏว่าหนังสือบอกกล่าวซึ่งโจทก์ส่งไปยังจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มีเนื้อความระบุว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นมียอดหนี้จำนวนเงินค้างชำระและยังมิได้ชำระหนี้ ขอให้ไปชำระหนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นหนังสือบอกกล่าวซึ่งมีข้อความที่แจ้งว่าลูกหนี้ผิดชำระหนี้ เข้าลักษณะเป็นหนังสือบอกกล่าวตามความมุ่งหมายมาตรา 686 วรรคหนึ่ง แล้ว         จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มิได้รับหนังสือบอกกล่าวภายใน 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1  ผิดนัด จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็น อุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังเมื่อพ้นกำหนดเวลาแล้ว ตามมาตรา 686 วรรคสอง โจทก์คงเรียกให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยที่คิดได้เพียง 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด เท่านั้น         อย่างไรก็ตาม การค้ำประกันแม้จะมีข้อกฎหมายคุ้มครองสิทธิของผู้ค้ำประกันไว้ แต่ในทางปฏิบัติก็ไม่ง่าย หากลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินหรือติดตามตัวไม่ได้ ผู้ค้ำก็ยังต้องรับผิดอยู่ ดังนั้นการจะค้ำประกันให้ใครควรคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเอง ศึกษาข้อมูลรายละเอียดทั้งของตัวลูกหนี้เอง และขอบเขตความรับผิดชอบของผู้ค้ำประกันให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 จับพิรุธ ตระเวนซื้อยาแก้แพ้ แก้ไอ

        วัยรุ่นยุคนี้มักมีพฤติกรรมแปลกๆ เพื่อโชว์ให้คนสนใจ บางครั้งกลับทำให้เกิดอันตรายกับตัวเองดังกรณีล่าสุดที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาต้องออกมาเตือนวัยรุ่นว่า อย่าลอกเลียนแบบการทำ Benadryl challenge เด็ดขาด หลังพบรายงานผู้เสียชีวิตจากการเข้าร่วมทำไวรัลดังกล่าวผ่านแอพพลิเคชั่น TIKTOK เพราะยาเบนาดริล (Benadryl) แม้จะเป็นยาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการรักษา แต่หากรับประทานเกินขนาด อาจเกิดอาการข้างเคียงจนถึงแก่ชีวิตได้         ยาเบนาดริล (Benadryl) มีชื่อสามัญทางยาคือ ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) เป็นยาแก้แพ้ที่ใช้ในการบรรเทาอาการโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจส่วนบนและอาการหวัด เช่น น้ำมูกไหลและจาม ในแง่กฎหมายจัดเป็นยาอันตรายที่ต้องสั่งจ่ายยาโดยแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น หากรับประทานเกินขนาด อาจเกิดความผิดปกติกับหัวใจทำให้หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูง หัวใจหยุดเต้นและอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้         ในประเทศไทยมีการขึ้นทะเบียนตำรับยาที่มีไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) หลายตำรับ ทั้งยาน้ำ ยาเม็ด และยาแคปซูล มีชื่อการค้าต่างๆ มากมาย  ร้านขายยาที่จ่ายยานี้ให้กับผู้ป่วยจะต้องจัดทำบัญชีการขายยาเพื่อป้องกันการนำยาไปใช้ในทางที่ผิด         จากการลงพื้นที่ตรวจสอบตามร้านขายยาและข้อมูลในชุมชนพบว่า วัยรุ่นมักจะตระเวณมาขอซื้อยานี้ตามร้านต่างๆ ทั้งจากร้านยาหรือร้านขายของชำบางแห่งที่แอบลักลอบนำมาขาย ในอดีตวัยรุ่นที่มาซื้อยาเหล่านี้ เราจะสังเกตได้ง่าย โดยดูจากท่าทีและพฤติกรรมของพวกเขาที่แสดงออกอย่างชัดเจน แต่เมื่อทางการเข้มงวดมากขึ้นก็เลี่ยงหาวิธีต่างๆ มาซื้อ เช่น จ้างผู้ใหญ่มาซื้อโดยอ้างว่าจะนำไปใช้กับบุตรหลาน เคยมีข้อมูลว่าบางครั้งมีการจ้างคนแต่งกายเป็นพระสงฆ์หรือผู้สูงอายุมาขอซื้อ อ้างว่ารับประทานประจำ ล่าสุดมีการจ้างเด็กวัยรุ่นที่ท่าทางสุภาพเรียบร้อยมาขอซื้อยาเหล่านี้         วิธีง่ายๆ ที่จะจับพิรุธคือ เมื่อคนกลุ่มนี้เข้ามาในร้านยามักจะคอยสอดส่ายสายตา กวาดตามองยาตามชั้นวางยาพยายามเพ่งไปบริเวณที่มียาน้ำ และเมื่อจะขอซื้อก็มักจะเอ่ยปากขอซื้อยาโดยระบุชื่อการค้าของยาพวกนี้ที่วัยรุ่นนิยมแทนที่จะบอกอาการเจ็บป่วยไม่สบาย  หรือบางคนโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่กลับจะซื้อแต่ยาน้ำเชื่อมและมักจะวนมาขอซื้อบ่อยๆ จนมีพิรุธว่าทำไมอาการป่วยไม่หายสักที และทำไมรับประทานยาหมดก่อนกำหนดตามปริมาณที่ได้รับไป         หากใครเจอพฤติกรรมเหล่านี้ หรือเจอร้านขายยาที่ไม่เข้มงวดปล่อยปละละเลยในการขายยาอย่างไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ ช่วยไปกระซิบเจ้าหน้าที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาให้ลงไปตรวจสอบด้วยนะครับ เพื่อคุ้มครองให้บุตรหลานเราปลอดภัยต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 กระชับรูขุมขน

        หลายคนพอส่องกระจกแบบชิดใกล้เห็นรูขุมขนบริเวณจมูก โหนกแก้ม หน้าผาก แล้วอาจเกิดความเครียดเอาได้ง่ายๆ เพราะกังวลใจในเรื่องของรูขุมขนที่ขยายกว้างทำให้ผิวดูไม่เรียบเนียน จริงๆ ถ้าไม่ได้มีปัญหาสิว สิวอักเสบ มันก็เป็นเรื่องปกติของผิวบริเวณนั้น เป็นเรื่องธรรมชาติที่เป็นกันทุกคน เห็นชัด ไม่ชัด ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งกรรมพันธุ์ เชื้อชาติ ประเภทของผิว การสัมผัสแดดหรืออายุ         แต่เชื่อไหมว่า รูขุมขนกว้างเป็นปัญหาลำดับต้นๆ ที่สาวไทยกังวล ทำให้มีผลิตภัณฑ์และรูปแบบการรักษานำมาเสนอขายกันไม่หวาดไหว ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ต้องรักษาเพราะไม่ได้เป็นภาวะผิดปกติ และรูขุมขนกว้างทำให้หายไปไม่ได้ มีแต่เพียงวิธีที่จะช่วยทำให้มันดูกระชับขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น         รูขุมชนที่ดูกว้างจนเห็นชัดเจนนั้นเกิดจากต่อมผลิตไขมันใต้ผิวหนังขยายขนาดใหญ่ขึ้นกว่าปกติ โดยผิวหนังบริเวณรอบๆ จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงหรืออักเสบ กล่าวคือไม่ได้เจ็บปวดอะไร ไม่พยายามไปยุ่งกับมันแค่ทำความสะอาดเพื่อลดปริมาณสิ่งสกปรกก็เพียงพอแล้ว แต่ถ้าอยากจะกระชับรูขุมขนบนผิวหน้าเพื่อให้แลดูเล็กลงสักนิด ต้องเริ่มที่การทำความสะอาดและลดปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง                 การทำความสะอาดผิวหน้า        ล้างหน้าให้สะอาดด้วยผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิว เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน ไม่ผสมสารที่อาจทำให้เกิดความระคายเคือง หรือมีค่ากรดด่างที่เข้มข้น และไม่ควรล้างหน้าบ่อยเกินไปเพราะผิวจะยิ่งแห้งและเร่งการผลิตไขมัน ยิ่งทำให้รูขุมขนขยายกว้างขึ้น         การบำรุงผิว         เลือกครีมบำรุงผิวที่เหมาะสมกับสภาพผิว เลี่ยงครีมบำรุงที่ผสมน้ำมันหนักๆ เพราะเมื่อน้ำมันรวมกับเซลล์ผิวที่ตายอาจเกิดการอุดตันที่บริเวณรูขุมขน กลายเป็นสิวอักเสบได้ ซึ่งจะยิ่งทำให้รูขุมขนไม่กระชับ         การแต่งหน้า         ช่วยปกปิดรูขุมขนกว้างได้แน่ๆ แต่เลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับสภาพผิวและต้องล้างทำความสะอาดก่อนนอนไม่ปล่อยให้เกิดการตกค้างบนผิว         ใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงยูวี         รังสียูวีเป็นสาเหตุหนึ่งที่มีส่วนทำให้รูขุมขนขยายกว้าง เพราะทำลายคอลลาเจน อีลาสติน บนผิวทำให้ผิวขาดความยืดหยุ่นไม่กระชับ         ไม่สัมผัสหน้าด้วยมือบ่อยๆ           เพราะอาจนำสิ่งสกปรกสู่ผิว ไม่บีบหรือเค้นสิว ควรรักษาให้ถูกวิธี         ทำให้ผิวแห้งและลดความมัน         การทำผิวให้แห้งจะทำให้ชั้นเคราตินหดตัวเล็กลง จึงดูเหมือนว่ารูขุมขนมีขนาดเล็กลงด้วย โดยอาจเลือกใช้คลีนเซอร์แบบ oil-control หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของซาลิไซลิค เอสิด ซึ่งจะช่วยป้องกันความมันบนใบหน้าได้         ลดความมันของผิวด้วยการมาสก์หน้าเฉพาะจุด         ผิวหน้าในแต่ละจุดอาจมีความมันไม่เท่ากัน ทำให้บางจุดดูรุขุมขนกว้างกว่าบริเวณอื่น ดังนั้นส่วนที่รูขุมขนกว้างผิวมันมาก อาจมาสก์เฉพาะจุดนั้นๆ เช่น จมูก หน้าผาก โดยทำตามวิธีที่ระบุบนฉลากผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานและล้างให้สะอาด         ลดความมันบนผิวหน้าระหว่างวัน         กลางวันอาจใช้กระดาษซับมันช่วยลดความมันบนใบหน้า และลดสิ่งสกปรกที่ค้างบนผิว         การใช้บริการคลินิกความงาม         ควรเลือกใช้วิธีที่ได้มาตรฐานมีการควบคุมด้วยผู้เชี่ยวชาญ ที่สำคัญต้องจำไว้ว่า ยังไม่มีวิธีการทางแพทย์วิธีใดที่จะทำให้รูขุมขนกว้างหายไปได้ และอาจจะยิ่งเสี่ยงก่อให้เกิดปัญหากับผิวมากยิ่งขึ้นหากเลือกวิธีการที่ไม่เหมาะสม จึงควรศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนเลือกใช้บริการ         แอปพลิเคชั่น         วิธีนี้ไม่ทำให้รูขุมชนกว้างหายไปจากใบหน้า แต่ช่วยให้เวลาถ่ายรูปออกมาแล้วสวยเนียนกริบได้แน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 ทำความรู้จัก ‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’ เป็นปากและเป็นเสียงให้ผู้บริโภค

      ทุกวันนี้เวลาซื้อสินค้าหรือบริการแล้วไม่เป็นอย่างที่โฆษณา สินค้าไม่ตรงปก บริการไม่เป็นธรรมและอีกสารพัดสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือ สคบ. จะเป็นหน่วยงานแรกที่ผู้บริโภคนึกถึง           เอาล่ะ เรื่องการทำหน้าที่ของ สคบ. เป็นอย่างไร มีประสิทธิภาพแค่ไหน ไม่ใช่หัวข้อที่เราจะคุยกันตรงนี้ ประเด็นคือ สคบ. เป็นหน่วยงานรัฐ ไม่ใช่ ‘ตัวแทนผู้บริโภค’        เทียบกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนในสภา ตัวแทนผู้บริโภคก็ทำงานในลักษณะเดียวกัน แต่ถ้าถามว่าปัจจุบันนี้เราในฐานะผู้บริโภคมีตัวแทนผู้บริโภคที่จะคอยเป็นปากเสียง คอยตรวจสอบผู้ประกอบการ เสนอแนะนโยบายคุ้มครองผู้บริโภคแก่รัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐ ไปจนถึงการฟ้องร้องแทนผู้บริโภคหรือยัง?        คำตอบคือ ยังไม่มี        ทั้งที่แนวคิดนี้ก่อร่างสร้างตัวมาไม่น้อยกว่า 2 ทศวรรษแล้ว แต่อย่างว่าในประเทศที่รัฐสนใจเรื่องความมั่นคงมากกว่าสิทธิของผู้บริโภค (และประชาชน) การจะได้ตัวแทนผู้บริโภคย่อมต้องต่อสู้ให้ได้มา ซึ่งหากไม่มีอะไรผิดพลาด ปีหน้าเราจะได้เห็น ‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’ เกิดขึ้น        ‘ฉลาดซื้อ’ ฉบับนี้จะพาไปทำความรู้จักสภาองค์กรของผู้บริโภคแบบเป็นกันเอง ถาม-เส้นทางการเกิดขึ้นของสภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นอย่างไรตอบ-แนวคิดเรื่ององค์กรอิสระของผู้บริโภคปรากฏครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่บัญญัติให้มีองค์กรอิสระเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐในมิติต่างๆ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นต้น โดยในมาตรา 57 ได้กำหนดให้มีองค์กรอิสระอีกองค์กรหนึ่งที่เกิดจากการรวมตัวของผู้บริโภคเพื่อทำหน้าที่ให้ความเห็นในการตรากฎหมายและมาตรการต่างๆ ในการคุ้มครองเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า ‘องค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภค’        10 ปีผ่านไปจนถึงปี 2549 เกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 องค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภคก็ยังไม่เกิดขึ้น แต่รัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 61 ยังคงบัญญัติเรื่องนี้ไว้และขยายความเพิ่มเติมให้มีหน้าที่ ‘ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระดังกล่าวด้วย’        เช่นเคย ยังไม่ทันที่องค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภคจะเกิดขึ้น รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 นำไปสู่รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้บัญญัติเรื่องนี้อีกครั้งในมาตรา 46 ว่า ‘สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง บุคคลย่อมมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค องค์กรของผู้บริโภคตามวรรคสองมีสิทธิรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลัง ในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้ง อํานาจในการเป็นตัวแทนของผู้บริโภค และการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ’        ในที่สุด พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 ก็ถือกำเนิดขึ้น หลังต้องรอคอยถึง 23 ปี ถาม-สภาองค์กรของผู้บริโภคคืออะไร?ตอบ-พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 ให้นิยามสภาองค์กรของผู้บริโภคเพียงว่าคือ ‘สภาขององค์กรผู้บริโภคที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้’ ทำให้ต้องดูต่อว่า ‘องค์กรผู้บริโภค’ คืออะไร ซึ่งกฎหมายให้นิยามว่า         ‘องค์กรที่ผู้บริโภคซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาตั้งแต่สิบคนขึ้นไปรวมตัวกันจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองผู้บริโภคและไม่แสวงหากำไร ไม่ว่าการรวมตัวจัดตั้งนั้นจะจัดตั้งเป็นรูปแบบใด และจะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ก็ตาม และให้หมายความรวมถึงนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ดังกล่าวด้วย’         ทั้งนี้องค์กรผู้บริโภคตามนิยามของกฎหมายมี 2 รูปแบบคือองค์กรที่เป็นบุคคลธรรมดาตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปมารวมตัวกัน จะเป็นผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้บริโภคก็ได้ มีการกำหนดวัตถุประสงค์ร่วมกันเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและไม่แสวงหากำไร แบบที่ 2 คือนิติบุคคล ซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องมีผู้ร่วมก่อตั้งกี่คน ดูเพียงว่าเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งตามกฎหมายหรือไม่ และมีวัตถุประสงค์ว่าเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคหรือเปล่า         เมื่อนำนิยามทั้งสองมารวมกัน สภาองค์กรของผู้บริโภคก็คือสภาที่เกิดจากการรวมตัวกันขององค์กรผู้บริโภคโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ถาม-อำนาจและหน้าที่ของสภาองค์กรของผู้บริโภคมีอะไรบ้างตอบ-กฎหมายกำหนดให้สภาองค์กรของผู้บริโภคอำนาจหน้าที่ ดังนี้        1.ให้ความคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค รวมตลอดทั้งเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง        2.สนับสนุนและดำเนินการ ตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาสินค้าและบริการ แจ้งหรือโฆษณาข่าวสารหรือเตือนภัยเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภคหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเกิดความเสื่อมเสียแก่ผู้บริโภค โดยจะระบุชื่อสินค้าหรือบริการหรือชื่อของผู้ประกอบธุรกิจด้วยก็ได้        3.รายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันมีผลกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภค ไปยังหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานอื่นที่รับผิดชอบและเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ        4.สนับสนุนและช่วยเหลือองค์กรของผู้บริโภคในการรักษาประโยชน์ของผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพและได้รับความเชื่อถือ ตลอดจนส่งเสริมการรวมตัวขององค์กรของผู้บริโภคในระดับจังหวัดและเขตพื้นที่ ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในข้อบังคับของสภาองค์กรของผู้บริโภค        5.สนับสนุนการศึกษาและการวิจัยเพื่อประโยชน์ในการด าเนินงานคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค        6.สนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิกในการไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมยอมความข้อพิพาทเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคทั้งก่อนและในระหว่างการดำเนินคดีต่อศาล        7.ดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคตามที่เห็นสมควรหรือเมื่อมีผู้ร้องขอ หรือให้ความช่วยเหลือในการดำเนินคดีในกรณีที่ผู้บริโภคหรือองค์กรของผู้บริโภคถูกฟ้องคดีจากการใช้สิทธิในฐานะผู้บริโภคหรือใช้สิทธิแทนผู้บริโภค แล้วแต่กรณี และเพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ให้มีอำนาจประนีประนอมยอมความด้วย        8.จัดให้มีหรือรวบรวม และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการอันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือใช้บริการ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก ถาม-แล้วจะจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคได้อย่างไรตอบ-กฎหมายกำหนดให้องค์กรผู้บริโภคที่เข้าเกณฑ์ตามเงื่อนไขอย่างน้อย 150 องค์กรสามารถรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งเป็นสภาองค์กรของผู้บริโภคได้กับนายทะเบียนกลาง ซึ่งก็คือสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อนายทะเบียนกลางได้รับเอกสารครบถ้วนถูกต้องแล้วจะต้องดำเนินการตรวจสอบและประกาศการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคภายใน 30 วัน หลังจากนั้นทั้ง 150 องค์กรที่ขอจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคจะต้องเรียกประชุมสมาชิกและร่างข้อบังคับสภาภายใน 30 วันนับจากประกาศจัดตั้ง เช่น วัตถุประสงค์ของสภา โครงสร้างการบริหาร การคัดเลือกกรรมการ ข้อบังคับ แนวทางนโยบายคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น ถาม-ขณะนี้เกิดสภาองค์กรของผู้บริโภคขึ้นหรือยังตอบ-ยัง ข้อมูล ณ วันที่ 8 ตุลาคม 2563 พบว่ามีองค์กรผู้บริโภครวมตัวกันได้ 151 องค์กรที่ยื่นขอจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคต่อสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี แต่การตรวจสอบเอกสารของนายทะเบียนกลาง พบว่ามี 7 องค์กรที่ต้องแก้ไขเอกสารให้ถูกต้อง ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างการแก้ไขเอกสาร หากนายทะเบียนกลางได้รับเอกสารที่ครบถ้วนถูกต้องแล้ว จึงจะประกาศการจัดตั้งสภาองค์กร ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในภายในปี 2564 นี้ ถาม-ถ้ามีองค์กรผู้บริโภคต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสภาองค์กรผู้บริโภคสามารถทำได้หรือไม่ตอบ-ทำได้ หากเข้าเกณฑ์ที่สภาองค์กรของผู้บริโภคกำหนดไว้ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาการจัดตั้งองค์กรผู้บริโภคพบอุปสรรคสำคัญ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่        ประการแรก ผู้ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนรับจดแจ้งมีความรู้ความเข้าใจในประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภคไม่เพียงพอ โดยมองเป็นแค่เรื่องการซื้อขายสินค้าและบริการเท่านั้น เช่น บางจังหวัดนายทะเบียนมองว่าองค์กรผู้บริโภคที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับบริการสุขภาพหรือคุ้มครองสิทธิ์ให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงสิทธิ์รักษาพยาบาลได้ ไม่ถือเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งที่การรักษาพยาบาลถือเป็นบริการอย่างหนึ่ง        ประการที่ 2 การสร้างภาระขั้นตอนเกินจำเป็น เช่น การจะตั้งองค์กรผู้บริโภคตัวผู้ก่อตั้งทั้งหมดจะต้องไปยืนยันตัวตน ณ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือนายทะเบียนจังหวัด ทั้งที่เทคโนโลยีปัจจุบันสามารถตรวจสอบได้จากฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งกระบวนการนี้เป็นการสร้างภาระให้องค์กรผู้บริโภคเกินจำเป็น ทำให้การจดแจ้งมีความยุ่งยาก ทั้งที่ในมาตรา 6 ระบุว่า ‘ต้องไม่มีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น และให้รับฟังความคิดเห็นขององค์กรของผู้บริโภคประกอบด้วย’        ประการที่ 3 การตีความเกี่ยวกับตำแหน่งกรรมการองค์กรผู้บริโภคที่บางองค์กรเกิดจากการรวมตัวของประชาชนทั่วไป การจะทำงานให้มีความน่าเชื่อถือ มีหลักฐานทางวิชาการรองรับ ย่อมต้องมีนักวิชาการมาสนับสนุน ประเด็นคือหากกรรมการด้านวิชาการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยของรัฐ นายทะเบียนจะตีความว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงไม่อนุญาตให้จดแจ้งเป็นองค์กรผู้บริโภค ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการตีความที่ไม่ตรงกับเจตนารมย์ของกฎหมาย เนื่องจากนักวิชาการที่มาให้ความเห็นไม่สามารถครอบงำองค์กรได้เพราะไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในองค์กรผู้บริโภคที่เป็นนิติบุคคล ซึ่งการจะแก้ไขรายชื่อกรรมการและข้อบังคับไม่ใช่เรื่องง่าย การตีความลักษณะนี้เป็นส่วนหนึ่งที่องค์กรผู้บริโภคจำนวนมากไม่สามารถจดแจ้งได้ ถาม-จะป้องกันไม่ให้ภาคธุรกิจสวมรอยเข้ามาเป็นองค์กรผู้บริโภคและจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคได้อย่างไรตอบ-เพราะต้องการให้เกิดสภาองค์กรของผู้บริโภคที่เป็นอิสระจึงมีการกำหนดคุณลักษณะขององค์กรผู้บริโภคที่จะมีสิทธิ์รวมตัวกันเป็นสภาองค์กรของผู้บริโภคในมาตรา 5 ว่าต้องไม่เป็นองค์กรของผู้บริโภคที่จัดตั้งขึ้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมหรือถูกครอบงำโดยผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นนิติบุคคล กรรมการหรือผู้มีอำนาจบริหารของผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าว หรือโดยหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือพรรคการเมือง และไม่เป็นองค์กรของผู้บริโภคที่ได้รับเงินอุดหนุนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมจากบุคคล        บวกกับการมีกระบวนการตรวจสอบที่ค่อนข้างเข้มงวด เช่น การตรวจสอบชื่อกรรมการองค์กรว่ามีชื่อเป็นกรรมการบริหารอยู่ในบริษัทใดหรือไม่จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ หรือการตรวจสอบว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่จากกรมบัญชีกลาง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสให้มีการร้องคัดค้านหากเห็นว่าองค์กรผู้บริโภคนั้นๆ ไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 5ถาม-ช่วยยกตัวอย่างการทำงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคที่เป็นรูปธรรมตอบ-กรณีการควบรวมกิจการของ CP และเทสโก้ โลตัส ซึ่งทางคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) อนุญาตให้ควบรวมได้ ทั้งที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะทำให้ CP มีอำนาจเหนือตลาด กรณีเช่นนี้กฎหมายให้อำนาจสภาองค์กรของผู้บริโภคตรวจสอบมติของ กขค. ได้ โดยทำความเห็นได้ว่าลักษณะการควบรวมแบบนี้จะกระทบต่อผู้บริโภค เนื่องจากการผูกขาดทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกในการเลือกที่เป็นอิสระเกี่ยวกับสินค้าและบริการบางประเภท แต่เมื่อ กขค. เห็นชอบให้ควบรวมได้แล้ว สภาองค์กรของผู้บริโภคหากเห็นว่ามีผลกระทบ หรือกรณีการแบนพาราควอต สมมติว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายเสียงข้างมากเห็นว่าพาราควอตปลอดภัย มีคำสั่งไม่แบน แต่สภาองค์กรของผู้บริโภคเห็นว่าพาราควอตเป็นสารเคมีที่ห้ามใช้กันทั่วโลก มีข้อเท็จจริงทางวิชาการที่พิสูจน์ได้ สภาองค์กรของผู้บริโภคสามารถยื่นฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนมติได้เช่นกันข้อดีประการหนึ่งของกฎหมายฉบับนี้คือมีข้อสันนิษฐานที่เป็นคุณต่อสภาองค์กรของผู้บริโภคว่า ในการทำหน้าที่ในข้อ 1, 2, 3, 7 หรือ 8 ถ้าเป็นการกระทำโดยสุจริต ให้สภาองค์กรของผู้บริโภคพ้นจากความรับผิด ถาม-เราจะตรวจสอบการทำงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคได้อย่างไรตอบ-ความรับผิดรับชอบ (accountability) เป็นสิ่งที่มาพร้อมกับอำนาจหน้าที่ กลไกการตรวจสอบสภาองค์กรของผู้บริโภคถูกล่าวถึงในมาตรา 17 ว่า        ‘เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมประสิทธิภาพและการตรวจสอบการดำเนินงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ให้สภาองค์กรของผู้บริโภคจัดให้มีการประเมินผลการดำเนินงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคตามระยะเวลาที่สภาองค์กรของผู้บริโภคกำหนด แต่ต้องไม่เกิน 3 ปี การประเมินผลการดำเนินงานตามวรรคหนึ่ง ให้จัดทำโดยสถาบันหรือองค์กรที่เป็นกลางและมีความเชี่ยวชาญในด้านการประเมินผลการดำเนินงาน โดยมีการคัดเลือกตามวิธีการที่สภาองค์กรของผู้บริโภคกำหนด การประเมินผลการดำเนินงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคจะต้องแสดงข้อเท็จจริงให้ปรากฏในด้านประสิทธิผล ประสิทธิภาพ การพัฒนาสภาองค์กรของผู้บริโภค และการสนับสนุนจากประชาชน หรือในด้านอื่นตามที่สภาองค์กรของผู้บริโภคจะได้กำหนดเพิ่มเติมขึ้น’        และในมาตรา 18        ‘ให้สภาองค์กรของผู้บริโภคจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคเผยแพร่ให้ประชาชนทราบและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เพื่อทราบภายใน 6 เดือนนับแต่วันสิ้นปีปฏิทิน นายกรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา อาจขอให้ประธานกรรมการนโยบายสภาองค์กรของผู้บริโภคชี้แจงการดำเนินงานในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นหนังสือหรือขอให้มาชี้แจงด้วยวาจาได้’ ถาม-เมื่อเกิดสภาผู้บริโภคขึ้นแล้ว ผู้บริโภคจะมีส่วนร่วมได้อย่างไรตอบ-สภาองค์กรของผู้บริโภคจะเป็นพื้นที่รวมตัวของสมาชิกองค์กรผู้บริโภค ขณะที่ตัวผู้บริโภคเองที่มีการรวมกลุ่มและต้องการการสนับสนุนก็สามารถทำเรื่องขอรับการสนับสนุนได้ เนื่องจากเป็นหน้าที่โดยตรง ทั้งนี้ภารกิจหลักที่สภาองค์กรของผู้บริโภคควรรีบผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็วคือการทำให้เกิดองค์กรผู้บริโภคในทุกจังหวัด จัดการบริการแบบ one stop service ให้แก่ผู้บริโภคในการร้องเรียน ขอข้อมูล หรือแจ้งเบาะแส เป็นต้น ก็จะช่วยทำให้การคุ้มครองผู้บริโภคในไทยมีความเข้มแข็งขึ้นกว่าในอดีต        เพราะในโลกทุนนิยม พลังของ ‘ผู้บริโภค’ คือพลังสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงโลกและทำให้ทุนนิยมอ่อนโยนลงกว่าที่เป็นอยู่

อ่านเพิ่มเติม >