ฉบับที่ 236 ปลูกต้นไม้แถมสุขภาพดีกับ Plant Nanny

        ช่วงนี้สถานการณ์ร้อนผ่าว ร้อนแรงในหลายเรื่องพร้อมๆ กัน แต่ที่เครียดมากคงเป็นเรื่องเงินๆ ทองๆ ในฐานะอย่างเรา (ผู้เขียน) รับรองว่าเรื่องนี้เครียดสุดๆ เมื่อไม่นานมานี้ได้แอบเห็นแอปพลิเคชั่นสุดน่ารักน่าชังแว๊บๆ จึงได้ดาวน์โหลดมาลองเล่นดู ช่วยทำให้เพลินอารมณ์และคลายเครียดได้ดีเชียว แถมพ่วงด้วยประโยชน์ที่มีต่อสุขภาพร่างกายของเราด้วยนะจะบอกให้         มารู้จักแอปพลิเคชั่น Plant Nanny กัน แอปพลิเคชั่นนี้มีไว้ช่วยดูแลสุขภาพในรูปแบบเกมส์ปลูกต้นไม้ มีวิธีเล่นง่ายๆ คือ พยายามดูแลรดน้ำต้นไม้ให้โต และนำต้นไม้นั้นย้ายไปไว้ในสวนเพื่อจัดให้สวยงาม โดยปริมาณน้ำที่ใช้รดต้นไม้มาจากปริมาณน้ำที่ผู้เล่นดื่มในแต่ละวันนั่นเอง สามารถดาวน์โหลดฟรีได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และระบบปฏิบัติการ Android          มาเริ่มต้นเล่นเกมส์กันเลยดีกว่า หลังจากดาวน์โหลดมาเรียบร้อยแล้ว โปรแกรมจะให้เลือกหน่วยของปริมาณน้ำที่ต้องการระหว่างมิลลิลิตร (ml) กับออนซ์ (oz) ซึ่งบ้านเราส่วนใหญ่ใช้ในรูปแบบมิลลิลิตร (ml) และให้เลือกน้ำหนักของผู้เล่น พร้อมกิจกรรมประจำวันว่าอยู่ในระดับปกติหรือระดับตื่นตัวตลอดเวลา เมื่อกรอกข้อมูลครบถ้วนหมดแล้วโปรแกรมจะคำนวณว่าในแต่ละวันผู้เล่นจำเป็นต้องดื่มน้ำในปริมาณเท่าใด        ยังไม่จบเพียงนี้ เพราะผู้เล่นต้องเลือกขนาดแก้วที่ใช้ดื่มเป็นประจำ ไม่ว่าจะในรูปแบบแก้วสั้น แก้วยาว แก้วมัค ขวด กระติก ฯลฯ ซึ่งมีตัวเลขปริมาณน้ำกำกับอยู่ ต่อจากนั้นมาเริ่มปลูกต้นไม้กันได้เลย เมื่อผู้เล่นได้ดื่มน้ำตามปริมาณที่ตั้งไว้ในแอปพลิเคชั่น ให้กดค้างบริเวณปุ่มสัญลักษณ์วงกลมที่มีชนิดของแก้วน้ำที่เลือกไว้อยู่ตรงกลาง จนกระทั่งเกิดเส้นสีฟ้าโดยรอบวงกลมนั้น เมื่อรดน้ำต้นจนครบปริมาณน้ำที่เพียงพอ ต้นไม้ก็จะเติบโตขึ้นในทุกวันนั่นเอง         บริเวณหน้าแอปพลิเคชั่นจะมีปุ่มสัญลักษณ์ต่างๆ อยู่ ดังนี้ ปุ่มสัญลักษณ์หยดน้ำสีส้มตรงมุมบนซ้ายจะบอกการเติบโตของต้นไม้ ถัดมาเป็นปุ่มสัญลักษณ์กล้องถ่ายรูปสำหรับถ่ายภาพต้นไม้ของเรา ด้านบนขวาจะมีปุ่มสัญลักษณ์เครื่องหมายถูกสีฟ้าจะแสดงให้รู้ว่าวันนี้ผู้เล่นได้ดื่มน้ำไปในปริมาณเท่าใด นอกจากนี้ยังสามารถกดแถบหมวด History ด้านล่างเพิ่มเติมเพื่อให้รู้ประวัติการดื่มน้ำทั้งหมดได้ด้วย         ต่อมาเป็นปุ่มสัญลักษณ์ขีด 3 ขีด โดยภายในจะแบ่งเป็น 4 หมวด ได้แก่ ภาพรั้วจะไปยังหน้าสวนไว้สำหรับเก็บต้นไม้ที่เติบโตเต็มที่แล้ว ภาพร้านค้าจะให้เป็นแผงขายของให้เลือกซื้อตั้งแต่กระถางต้นไม้ ชนิดพันธุ์ต้นไม้ น้ำ ภาพพื้นหลัง เป็นต้น ภาพภูเขาจะเป็นที่เก็บภาพพื้นหลังที่ได้ซื้อไว้ และภาพประแจจะเป็นส่วนของการตั้งค่าภายในแอปพลิเคชั่นทั้งหมด         แอปพลิเคชั่น Plant Nanny นี้เป็นได้ทั้งเกมส์ทั้งสิ่งที่ช่วยกระตุ้นเตือนให้ผู้เล่นดื่มน้ำในปริมาณที่ควรได้รับในแต่วันให้เพียงพอ โดยการดื่มน้ำนั้นไม่ควรน้อยเกินไปและมากจนเกินไป ซึ่งถ้ามีการรดน้ำต้นไม้เกินปริมาณที่ควรได้รับในแต่ละวัน แอปพลิเคชั่นจะแจ้งเตือนให้ผู้เล่นได้รู้ตัวทันทีว่าให้ระมัดระวังที่จะดื่มน้ำมากจนเกินไป         เพลิดเพลินและสนุกสนานกับการเล่นเกมส์ แถมได้รับสุขภาพดี แบบนี้ดีจริงๆ นะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 แอบเปลี่ยนป้ายราคาสินค้า แล้วเอาไปคิดเงิน ผิดลักทรัพย์หรือไม่

        ฉบับนี้ผมขอหยิบเรื่องใกล้ตัวที่หลายท่านอาจยังไม่ทราบเกี่ยวกับการติดป้ายราคาสินค้า ซึ่งปกติเวลาเราไปเดินตามห้างร้านต่างๆ  ก็จะมีการแสดงราคาสินค้าให้เราทราบ เพื่อให้มีข้อมูลเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ อย่างไรก็ตามหากมีใครสักคนอยากได้สินค้านั้นแต่ไม่ต้องการจ่ายตามราคาที่ร้านกำหนด เลยแอบเอาป้ายราคาสินค้าอื่นมาติดแทนแล้วเอาไปจ่ายเงิน พนักงานเก็บเงินไม่ได้ตรวจให้ดี ก็คิดเงินตามราคาสินค้าที่ติดป้ายราคาปลอมนั้น เช่นนี้จะถือว่ามีความผิดเข้าข่ายลักทรัพย์ตามกฎหมายหรือไม่        โดยประเด็นนี้เองเคยเกิดขึ้นจริงและมีคดีที่ศาลฏีกาได้ตัดสินไว้ด้วย ซึ่งกล่าวโดยสรุปศาลฏีกาได้ตัดสินว่า “ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เพราะการกระทำที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ จะต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยพลการโดยทุจริต มิใช่ได้ทรัพย์ไปเพราะผู้อื่นยินยอมมอบให้เนื่องจากถูกหลอกลวง” โดยได้วางหลักไว้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6892/2542          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6892/2542          การที่จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายเปลี่ยนเอาป้ายราคาโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางซึ่งติดราคา 1,785 บาทออก แล้วนำป้ายราคาโคมไฟอื่นซึ่งติดราคา 134 บาท มาติดแทน แล้วมอบให้พวกของจำเลยนำไปชำระราคาแก่พนักงานเก็บเงินของผู้เสียหาย มิใช่จำเลยเอาโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางไปโดยพลการโดยทุจริต จึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ หากแต่เป็นการหลอกลวงพนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายโดยทุจริต โดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า ราคาโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางมีราคา 134 บาท พนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายหลงเชื่อยินยอมมอบโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางให้จำเลย โดยรับเงินจากจำเลยไว้เพียง 134 บาท การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จอยู่ในตัว และจำเลยกระทำโดยมีเจตนาหลอกลวงพนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายให้ยินยอมมอบโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางให้จำเลยแล้ว จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง หาใช่จำเลยไม่มีเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จไม่         จากคดีนี้ เราจะเห็นได้ว่า ศาลมองว่าเป็นเรื่อง “การฉ้อโกง” เนื่องจากจำเลยใช้อุบายหลอกลวงโดยเอาป้ายราคาถูกมาปิดทับป้ายราคาแพง อันเป็นการแสดงข้อความเท็จในตัว ทำให้พนักงานหลงเชื่อว่าราคาโคมไฟเพียง 134 บาท แล้วยินยอมส่งมอบทรัพย์ คือโคมไฟตั้งโต๊ะให้โดยสมัครใจจากผลของการฉ้อโกง         และที่ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เพราะการลักทรัพย์ต้องเป็นกรณีเอาทรัพย์ไปโดยเจ้าของทรัพย์ไม่ได้อนุญาต ดังตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3150/2522          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3150/2522         การที่ผู้เสียหายเอาเงินออกมาเพื่อร่วมทำธนบัตรปลอมด้วยความเชื่อตามที่จำเลยกับพวกหลอกลวง โดยผู้เสียหายยังครอบครองยึดถือธนบัตรเหล่านั้นอยู่ แล้วจำเลยกับพวกได้ใช้อุบายเอาธนบัตรเหล่านั้นของผู้เสียหายไป โดยผู้เสียหายมิได้ส่งมอบให้นั้นเป็นการกระทำผิดฐานลักทรัพย์          ดังนั้น หากกรณีแรก จำเลยเอาโคมไฟไปโดยไม่จ่ายเงิน ซึ่งถือว่าเป็นการเอาทรัพย์ไปโดยเจ้าของไม่ได้อนุญาตหรือสมัครใจ ก็ถือว่าเป็นความผิดฐานลักทรัพย์         ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 “ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

อ่านเพิ่มเติม >

‘มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค’ ยืนหยัด ‘คุ้มครองผู้บริโภค’ แถลงชัดไม่มีนโยบายถอนข้อมูลผลทดสอบจากเว็บไซต์

            ตามที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ดำเนินการเชิงรุกเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคช่วงโควิด - 19 โดยเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ล้างมือในช่วงที่ขาดแคลนและมีราคาแพง รวมทั้ง ขาดข้อมูลอ้างอิงที่จะทำให้ผู้บริโภคเชื่อถือได้ว่ามีคุณภาพตรงกับฉลากหรือคำโฆษณา และไม่ปนเปื้อนสารที่ก่ออันตราย มูลนิธิฯ ได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ล้างมือจำนวน 39 ตัวอย่าง เพื่อตรวจหาปริมาณแอลกอฮอล์ในผลิตภัณฑ์ว่าเป็นไปตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือไม่ และตรวจหาการปนเปื้อนของเมธิลแอลกฮอล์ ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ชนิดที่มีอันตรายต่อผู้บริโภค ผลพบว่า จำนวน 27 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 69.23 มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่าร้อยละ 70 จากนั้นจึงได้เผยแพร่ข้อมูลให้ผู้บริโภคได้รับทราบผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยเปิดเผยชื่อยี่ห้อ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับทราบข้อเท็จจริง และมีข้อมูลเพียงพอสำหรับการเลือกซื้อสินค้าที่มีความจำเป็นต้องใช้สำหรับปกป้องสุขภาพในภาวะที่มีการระบาดของเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อชีวิตนั้น (อ่านข้อมูล ผลทดสอบเจลแอลกอฮอล์ จากนิตยสารฉลาดซื้อ ได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3420)         ต่อมาวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 บริษัท รีเอกซ์ โปรดักส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตเจลแอลกอฮอล์ ได้ฟ้องคดีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นจำเลยที่ 1 และนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่า จำเลยได้กระทำผิดอาญา ใส่ความหมิ่นประมาทบริษัท และระบุว่า “...ไม่ใช่ผลการทดสอบที่ถูกต้องที่จะนำเสนอเป็นข่าวหรือบทความให้สาธารณชนได้รับทราบเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์เจลล้างมือ เพราะเกณฑ์มาตรฐานการทดสอบจำเป็นต้องมีการควบคุมการทดสอบและกำหนดค่าความผันแปรของผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ที่มีความอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมระหว่างทดสอบ...”         ในวันนี้ (5 พฤศจิกายน 2563) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงได้แถลงข่าวเพื่อให้ข้อเท็จจริงและแสดงจุดยืนต่อกรณีดังกล่าว ดังนี้         1. นิตยสารฉลาดซื้อ และ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้จัดให้มีการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 เพื่อเผยแพร่ข้อมูลกับผู้บริโภค โดยมีการเปิดเผยชื่อยี่ห้อให้ผู้บริโภคได้รับทราบ ด้วยเหตุผลในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้า ตามหลักการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 โดยมูลนิธิฯ ได้ดำเนินการตามหลักการนี้มาอย่างต่อเนื่องตลอดมา         2. การทดสอบได้ทำอย่างสุจริตและโปร่งใส โดยยึดมั่นหลักวิชาการ และดำเนินการอย่างมีคุณภาพสูงสุด เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยการทดสอบเจลแอลกอฮอล์ในครั้งนี้ ดำเนินการโดย ศูนย์บริการเทคโนโลยีเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญ มีความเป็นอิสระ และเป็นห้องทดลองที่ได้มาตรฐานและผ่านการรับรอง ISO 17025 แม้แต่ อย. ก็ใช้ห้องทดลองนี้เช่นกัน และในการแถลงข่าวเพื่อเผยแพร่ข้อมูล เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 ผู้เกี่ยวข้องกับการทดสอบได้ร่วมในการให้ข้อมูลอย่างเปิดเผย ประกอบด้วย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รศ.ดร.ภก.วรสิทธิ์ วงศ์สุทธิเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์บริการเทคโนโลยีเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร. ยุพดี ศิริสินสุข คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) และรองผู้จัดการแผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย         3. มูลนิธิฯ เห็นว่า การฟ้องร้องของบริษัท รีเอ็กซ์ โปรดักส์ จำกัด อาจเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้มูลนิธิฯ ยุติการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองผู้บริโภค         4. มูลนิธิฯ ไม่มีนโยบายถอนข้อมูลผลทดสอบที่ได้จัดทำและเผยแพร่จากเว็บไซต์ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคให้สามารถเลือกซื้อสินค้า โดยเป็นไปตามหลักการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ดังที่ได้ถือเป็นแนวทางปฏิบัติตลอดมา         ด้าน ดร. ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ยืนยัน กระบวนการทดสอบสินค้าและบริการของนิตยสารฉลาดซื้อ ใช้ห้องทดสอบที่มีมาตรฐาน ระดับประเทศที่พัฒนาแล้ว สำหรับกระบวนการทดสอบด้านสินค้าและบริการ จะอ้างอิงหลักการและวิธีการออกแบบการทดสอบ ขององค์กรผู้บริโภคระหว่างประเทศ ที่เป็นสมาขิกของ International Consumer Product Research and Testing โดยเน้นหลักการความเป็นกลาง ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ใช้การสุ่มซื้อสินค้าที่มีการจำหน่ายจากร้านค้าจริงทั่วไปและออนไลน์เหมือนผู้บริโภคซื้อสินค้าและเผยแพร่ผลการทดสอบผ่านนิตยสารฉลาดซื้อ ซึ่งเป็นสื่อสาธารณะที่ไม่รับโฆษณาจากบริษัทต่าง ๆ เพื่อทำให้สามารถรักษาผลประโยชน์สาธารณะได้อย่างตรงไปตรงมา         "การทดสอบสินค้าที่มีมาตรฐานกำกับจะดำเนินการทดสอบตามมาตรฐาน โดยใช้ห้องทดสอบของมหาวิทยาลัย หรือ ห้องทดสอบเอกชนระดับมาตรฐาน ISO 17025 กรณีสินค้าที่ยังไม่มีมาตรฐานกำกับจะทดสอบโดยใช้มาตรฐานของต่างประเทศที่ได้รับความน่าเชื่อถือ ตัวอย่างเช่น กรณีการทดสอบเครื่องฟอกอากาศ การทดสอบเปรียบเทียบมีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดมาตรฐานอุตสาหกรรมของไทยที่จะเข้าไปกำกับมาตรฐานของเครื่องฟอกอากาศในอนาคต เป็นต้น"        ทั้งนี้ พลังของผู้บริโภคในการสนับสนุนการต่อสู้คดีในครั้งนี้ ซึ่งเป็น “ครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี” ที่ผลการทดสอบและการเปิดเผยข้อมูลของนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ถูกฟ้องคดีโดยบริษัทผู้ผลิตหลังจากเปิดเผยชื่อผู้ผลิตและยี่ห้อของสินค้าจากการทดสอบ” จึงมีความสำคัญต่อการยืนหยัดทำหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 ฟาร์มเลี้ยงหมู ส่งกลิ่นเหม็น

        หากใครเคยมีประสบการณ์รถบรรทุกหมูวิ่งผ่านหน้าบ้าน หรือเคยขับรถออกต่างจังหวัดแล้วสวนทางกับรถขนหมู คงจะเคยได้กลิ่นขี้หมูอยู่ไม่น้อยว่าคละคลุ้งขนาดไหน แม้จะเป็นเพียงระยะเวลาชั่วครู่ ก็อาจต้องรีบควานหายาดมในกระเป๋ากันทันที แต่นั่นคงไม่หนักเท่ากับคุณนภาพรและเพื่อนบ้านกว่า 50 หลังคาเรือน ที่ต้องอดทนกับสภาพสิ่งแวดล้อมเป็นพิษจากกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ของฟาร์มเลี้ยงหมูในชุมชน          คุณนภาพร ได้สอบถามมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่ากรณีที่ได้รับความเดือดร้อนรำคาญจากการส่งกลิ่นเหม็นของฟาร์มเลี้ยงหมูที่อยู่บริเวณชุมชนนั้น จะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างไร เพราะที่ผ่านมาตนและเพื่อนบ้านหลายครอบครัวต้องทนอยู่กับกลิ่นขี้หมูมานานกว่า 2 ปีแล้ว โดยเฉพาะร้านอาหารแถวหมู่บ้านที่บ่นว่าลูกค้าลดน้อยลงไปมาก เพราะทนกับกลิ่นไม่ไหว แนวทางการแก้ไขปัญหา         ตามคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข ฉบับที่ 3/2549 เรื่อง การควบคุมกิจการเลี้ยงสุกร ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสถานที่ตั้งฟาร์มเลี้ยงหมูให้มีระยะห่างตามเหมาะสมที่ไม่ก่อให้เกิดความรำคาญต่อชุมชนใกล้เคียง โดยเฉพาะการเลี้ยงหมูตั้งแต่ 50 ตัวขึ้นไป ควรมีระยะห่างตั้งแต่ 200 - 1,000 เมตร และมีการจัดการสิ่งปฏิกูลต่างๆ ไม่ให้เกิดผลกระทบจนเป็นเหตุรำคาญหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง         ทั้งนี้พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มาตรา 25 (4) กล่าวถึง การกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เกิดกลิ่น แสง รังสี เสียง ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่น ละออง เขม่า เถ้า หรือกรณีอื่นใด จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยมาตรา 26, 27 และ 28 ให้อำนาจเจ้าพนักงานท้องถิ่นสามารถห้ามหรือออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้หนึ่งผู้ใดซึ่งเป็นต้นเหตุหรือเกี่ยวข้องกับเหตุรำคาญนั้น ให้ระงับหรือป้องกันเหตุรำคาญนั้นได้ และในกรณีที่ไม่มีการปฏิบัติตามคำสั่งเพื่อแก้ไขเหตุรำคาญดังกล่าว เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจระงับเหตุรำคาญนั้นและอาจจัดการตามความจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้มีเหตุรำคาญเกิดขึ้นอีก         ดังนั้นหากผู้บริโภคเจอเหตุการณ์ที่คล้ายกับคุณนภาพร ก็สามารถร้องเรียนไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหากลิ่นไม่พึงประสงค์ดังกล่าวได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 ราคาอาหารไม่ตรงกับเมนู

        เวลาที่ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ ราคาเป็นข้อมูลจำเป็นที่ผู้ผลิต ผู้ขาย ต้องแสดงอย่างตรงไปตรงมาเพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้เป็นข้อมูลช่วยตัดสินใจ ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของผู้บริโภค โดยเฉพาะสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันอย่างราคาอาหารที่ต้องแสดงไว้ในเมนูของร้านเพื่อแจ้งต่อผู้บริโภค ถ้าไม่มีถือว่าผิด         คุณแก้วตากับเพื่อน ๆ ตั้งใจขับรถไปเที่ยวจังหวัดราชบุรีในวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อใกล้ถึงเวลาเที่ยงจึงได้จอดรถแวะรับประทานอาหารกลางวัน ณ ร้านอาหารแห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม เมื่อเปิดดูเมนูอาหาร คุณแก้วตาและเพื่อนสาวก็สั่งอาหารอย่างที่ตนเองชอบ หลังจากจัดการอาหารกันเสร็จเรียบร้อย ก็เรียกพนักงานเสิร์ฟมาคิดเงิน         เมื่อพนักงานแจ้งค่าอาหาร พบว่าราคาแต่ละจานไม่ตรงกับที่แสดงไว้ในเมนูเลย ทุกจานมีราคาแพงกว่าในเมนู 5 บาท คุณแก้วตาจึงขอคุยกับเจ้าของร้าน ซึ่งได้คำตอบว่าช่วงนี้วัตถุดิบขึ้นราคา จึงต้องปรับราคาอาหารขึ้นไปแต่ยังไม่มีเวลาเปลี่ยนป้ายราคา คุณแก้วตาและเพื่อนๆ ไม่ได้ต่อล้อต่อเถียงอะไร เพราะยังมีเรื่องที่ต้องเดินทางต่อแต่ก็ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เอาเปรียบผู้บริโภคแบบนี้ จึงได้สอบถามมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า ร้านอาหารทำแบบนี้ถูกต้องหรือไม่ ร้องเรียนได้หรือไม่ แนวทางการแก้ไขปัญหา        กรณีร้านค้าแสดงราคาอาหารในเมนูไม่ตรงกับราคาขาย ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 50 พ.ศ. 2562 เรื่อง การแสดงราคาสินค้าและค่าบริการ ข้อ 11 ซึ่งกำหนดให้ การแสดงราคาจำหน่ายปลีกสินค้าหรือค่าบริการ ต้องแสดงให้ตรงกับราคาที่จำหน่ายหรือค่าบริการที่ให้บริการ ซึ่งร้านค้าต้องปิดป้ายแสดงราคาสินค้าและบริการให้ชัดเจน กรณีไม่ปิดป้ายแสดงราคาสินค้า หรือค่าบริการ หรือการปฏิบัติไม่ถูกต้อง หรือแสดงไว้ไม่ตรงกับราคาที่จำหน่าย หรือค่าบริการที่เรียกเก็บ เป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 มาตรา 40 ที่กำหนดว่า ผู้ใดไม่แสดงราคาหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตาม มาตรา 28 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท         ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนได้ที่ สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 ร้านยาไม่ติดป้ายราคา

        ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยา ภายใต้มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนาได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคที่เข้าไปซื้อยาในร้านขายยาแห่งหนึ่ง ว่า..         “มีอาการไอและเจ็บคอขณะเดินทางกลับบ้าน จึงจอดรถแวะซื้อยาในร้านยาแห่งหนึ่งในจังหวัดพะเยา” คุณกชกร ผู้บริโภคที่ร้องทุกข์ผ่านศูนย์คุ้มครองสิทธิฯ แจ้งชื่อยาแก้ไอตัวเดิมที่เคยซื้อก่อนหน้านี้ คนขายหยิบยามาให้พร้อมแจ้งราคา ปรากฏว่ายานั้นมีราคาแพงกว่าที่เคยซื้อเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (กับคนขายอีกคนหนึ่ง) คุณกชกรจึงถามกลับไปว่า “ยาปรับขึ้นราคาเป็น 65 บาทหรือคะ” ซึ่งคนขายตอบว่า “ยาตัวนี้ก็ราคานี้แหละ” คุณกชกรคิดในใจจะเป็นไปได้อย่างไรในเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเพิ่งซื้อไปราคา 55 บาท แต่ด้วยความรีบร้อนคุณกชกรจึงไม่ได้กล่าวคัดค้านเหมือนอย่างที่คิด อย่างไรก็ตามคุณกชกรสังเกตว่าสินค้าอื่นๆ ภายในร้าน เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพ ไม่มีการติดป้ายบอกราคาเช่นกัน         อีกข้อสังเกตหนึ่งคือ ร้านขายยาแห่งนี้ไม่มีเภสัชกรอยู่ประจำร้าน ซึ่งตนเองพอจะทราบมาว่า ตามกฎหมายร้านขายยาทุกร้านต้องมีเภสัชกรอยู่ประจำเพื่อคอยให้คำแนะนำเรื่องการใช้ยา คุณกชกรรู้ว่า ยาที่ตนเองซื้อมาเป็นยาแก้ไอเคยรับประทานและพอทราบวิธีใช้อยู่บ้าง แต่หากเป็นผู้บริโภคคนอื่นที่เข้ามาซื้อยาแล้วไม่ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง อาจเกิดผลข้างเคียงที่อันตรายขึ้นได้        ดังนั้นถึงแม้คุณกชกรจะไม่กลับไปใช้บริการร้านนี้อีก แต่ก็คิดว่าน่าจะมีหน่วยงานเข้ามาตรวจสอบร้านยาแห่งนี้ จึงได้ร้องเรียนมายังศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนาเพื่อให้ช่วยตรวจสอบข้อมูล แนวทางการแก้ไขปัญหา        ศูนย์คุ้มครองสิทธิฯ ได้รวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อส่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เรื่องของการไม่ติดป้ายราคาสินค้านั้นอยู่ในการกำกับดูแลของทางพาณิชย์จังหวัด หลังจากแจ้งข้อมูลไปหน่วยงานได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและดำเนินการลงโทษปรับร้านยาดังกล่าวแล้ว ซึ่งการไม่แสดงราคาสินค้ามีบทกำหนดโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ตามมาตรา 40 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542          ส่วนกรณีที่ร้านขายยาไม่มีเภสัชกรอยู่ประจำร้านนั้น หน่วยงานที่กำกับดูแลคือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) โดยหากร้านยาขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษขณะที่เภสัชกรไม่อยู่ มีโทษปรับตั้งแต่ 1,000 – 5,000 บาท ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510         ทั้งนี้ หากผู้บริโภคพบร้านขายยาใดไม่มีเภสัชกรประจำร้าน หรือ ไม่แสดงป้ายราคาสินค้า ก็สามารถร้องเรียนไปยังหน่วยงานข้างต้นให้ช่วยดำเนินการตามกฎหมายได้ ซึ่งหากผู้บริโภคอยู่ในพื้นที่จังหวัดพะเยา ท่านสามารถขอคำแนะนำได้ที่ ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยา ภายใต้มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา โทร. 054-458-757

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 ฟรีแลนซ์กับการผ่อนคอนโด

        อาชีพรับจ้างอิสระหรือที่เรียกภาษาปากว่า ฟรีแลนซ์ นั้นให้อิสระได้จริงเพราะไม่มีสังกัดหรือขึ้นตรงกับใคร รับทำงานเฉพาะกับคู่สัญญาจ้าง บริหารเวลาได้เอง แต่ขณะเดียวกันเมื่อต้องทำธุรกรรมทางการเงินกับสถาบันด้านการเงินจะค่อนข้างมีปัญหาเพราะรายได้ขึ้นอยู่กับการรับงานจ้าง ไม่ได้รับประจำเป็นเงินเดือน การตัดสินใจมีทรัพย์สินอย่างคอนโดมีเนียมซึ่งต้องใช้สินเชื่อ อาจไม่ผ่านการพิจารณา อย่างไรก็ดีฟรีแลนซ์บางท่านแม้ทราบดีถึงข้อจำกัดตรงนี้แต่บางครั้งก็ถูกโน้มน้าวให้ตัดสินใจพลาดได้ อย่างเช่นกรณีของคุณวิมล         คุณวิมลเป็นครูสอนโยคะ พักอาศัยอยู่แถวรามคำแหง วันหนึ่งในปลายปี 2560 เดินผ่านโครงการคอนโดมิเนียมที่เปิดขายอยู่ในย่านรามคำแหงรู้สึกสนใจจึงแวะเข้าไปเพื่อสอบถามข้อมูลกับพนักงานขายของโครงการ หลังจากได้ฟังคำชักชวนต่างๆ ก็ค่อนข้างพอใจ จึงลองสอบถามเรื่องการขอสินเชื่อ เพราะตนเองนั้นทำงานเป็นฟรีแลนซ์พอจะทราบมาบ้างว่า การขอสินเชื่อไม่ง่าย         ถึงตรงนี้พนักงานขายแสดงข้อมูลกับคุณวิมลว่า ทางโครงการของเรามีระบบบัญชีที่สามารถติดต่อกับทางธนาคารต่างๆ ได้โดยตรง ถ้าตัดสินใจซื้อกับทางเรา “สินเชื่อผ่านแน่นอน” เมื่อเห็นท่าทางมั่นอกมั่นใจของพนักงานและการแสดงประวัติต่างๆ ประกอบกับชื่อเสียงของบริษัทที่เป็นเจ้าของโครงการคอนโดมิเนียมนี้ คุณวิมลจึงวางเงินจองเป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท ในวันที่ 10 ธันวาคม 2560 และจ่ายเงินอีก 50,000 บาทในวันทำสัญญา คือ วันที่ 25 ธันวาคม 2560 จากนั้นก็ผ่อนชำระเรื่อยมาเดือนละ 4,300 บาท จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2563         เมื่อโครงการฯ เสร็จทางบริษัทติดต่อคุณวิมลให้เข้าไปตรวจสอบและโอนกรรมสิทธิ คุณวิมลได้ดำเนินการขอสินเชื่อกับธนาคารสี่แห่ง ซึ่งถูกปฏิเสธทั้งหมด เมื่อเป็นเช่นนี้คุณวิมลประเมินแล้วว่า ตนเองคงผ่อนไม่ครบแน่ จึงขอยกเลิกสัญญาและขอเงินจองและเงินดาวน์ที่ผ่อนไปคืน แต่ไม่แน่ใจว่าทำได้ไหมจึงปรึกษามา  แนวทางการแก้ไขปัญหา        ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้ส่งตัวอย่างหนังสือยกเลิกสัญญาและขอเงินคืนให้ผู้ร้องใช้เป็นตัวอย่างในการทำหนังสือยกเลิกสัญญา เพื่อให้ทางโครงการฯ ตอบกลับมาว่าจะดำเนินการอย่างไร และพร้อมช่วยเรื่องเจรจาไกล่เกลี่ย หากตกลงกันไม่ได้         กรณีของคุณวิมลนี้ เข้าข้อกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377 เรื่องเข้าทำสัญญา...มาตรา 378 เรื่องเงินมัดจำ...มาตรา 379 เรื่องลูกหนี้ให้สัญญาแก่เจ้าหนี้... และมาตรา 383 กรณีเบี้ยปรับสูงเกินควร         กล่าวคือ เงินจองหรือเงินมัดจำตามกฎหมาย หากผู้บริโภควางให้ผู้ประกอบการไว้แล้ว ต้องการยกเลิกสัญญาเงินส่วนนี้จะถูกริบ ยกเว้นว่าผู้ประกอบการเป็นฝ่ายผิดสัญญาเสียเองก็จะต้องคืนให้ผู้บริโภค ทั้งนี้ จะเข้าเงื่อนไขเป็น เงินจอง หรือ เงินมัดจำ หรือไม่ ยังขึ้นอยู่กับเจตนาของคู่กรณีด้วยว่าเจตนาของทั้งคู่ตั้งใจให้เป็นการชำระหนี้หรือกำหนดไว้ในสัญญาเลยว่าให้ถือเป็นเงินดาวน์ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ต้องถือว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของค่าห้องชุดด้วย ส่วนเงินดาวน์ที่ผ่อนไปก่อนมีการโอนกรรมสิทธิ์ แต่หากผู้บริโภคต้องการยกเลิกสัญญา แล้วผู้ประกอบการริบเงินที่ชำระไปแล้วทั้งหมด เงินส่วนนั้นจะมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งถ้าเบี้ยปรับนี้สูงเกินส่วน สามารถฟ้องให้ศาลพิพากษาให้ลดลงเหลือเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ จะริบทั้งหมดไม่ได้         กรณีของคุณวิมล หากตกลงไกล่เกลี่ยกับทางบริษัทฯ ไม่ได้ คุณวิมลต้องใช้การฟ้องคดีต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 235 เสียงสะท้อนจากคนทำงานคุ้มครองผู้บริโภค 4 คน จาก 4 ภูมิภาค

        “ไหนว่าเลิกใช้พาราควอตแล้ว แต่องค์กรผู้บริโภคยังตรวจพบปนเปื้อนใน ‘น้ำปู’” ,“เผยผลสุ่มตรวจปลาหมึกแห้ง พบแคดเมียมปนเปื้อนเกินเกณฑ์ 7 ตัวอย่าง”, “ฉลาดซื้อเผยปริมาณโลหะหนักและสารกันบูดในผลิตภัณฑ์น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จปลอดภัย แนะผู้บริโภคเลือกยี่ห้อที่ผ่าน อย.”,  และ “เช็กเลย “แกงไตปลาแห้ง” ยี่ห้อไหนมีสารกันบูดเกินเกณฑ์”        พาดหัวข่าวเหล่านี้สะท้อนถึงงานคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่ทั่วประเทศ ฉลาดซื้อ จะพาไปพบกับคนทำงานเฝ้าระวังจากเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในสี่ภูมิภาค พวกเขาทั้งสี่จะมาฉายภาพพลังของผู้บริโภค ความตื่นตัว และผลกระทบในพื้นที่ ตลอดจนความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง           พวงทอง  ว่องไว ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ  หลังจากเรียนจบใน ปี พ.ศ.2539  ก็เริ่มทำงานกับมูลนิธิพัฒนาศักยภาพชุมชน (North Net Foundation) ที่เชียงใหม่ ประเด็นเรื่อง AIDS ในชุมชน แรงงานข้ามชาติและสิทธิเด็ก ทำอยู่ 2-3 ปี ก็ไปเรียนต่อปริญญาโทและเป็นอาจารย์อยู่ที่ศูนย์ประสานงานวิจัยฯ  ม.ราชภัฏเชียงราย ปี 2547 ลาออกมาช่วยงานที่มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา ช่วงแรกทำเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดของ AIDS ในชุมชน จนประมาณปี 58 จึงมาทำเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค เกิดผลตอบรับอย่างไรในพื้นที่ หลังการแถลงข่าวผลทดสอบ         มันก็จะมีผลกับการทำงานนิดหน่อย หน่วยงานเขาก็ว่า ทำไมไม่มาคุยกัน จะได้ทำความร่วมมือ ปฏิกิริยามีสองส่วน หน่วยงานในพื้นที่อาจไม่เข้าใจการทำงานของเรา และผู้ประกอบอาจกังวลว่าเก็บไปแล้วจะส่งผลกระทบกับเขาอย่างไร แม้ที่ผ่านมายังไม่เกิดอะไรรุนแรง แต่ในช่วงปีที่สองหลังจากเรามีบทเรียน พอเราประชุมกับ ฉลาดซื้อ เสร็จ ก็วางเป้าหมายว่าเราจะทำความร่วมมือกับ สสจ.ในพื้นที่เลย บอกว่าเราจะเก็บข้อมูลอะไร อย่างไร  จะร่วมมือกันอย่างไร เช่น สสจ.เขาจะให้ข้อมูลว่ามีแหล่งผลิตอะไร ที่ไหน อย่างไร เขาไปทำความร่วมมือกับผู้ประกอบการในการปรับสูตร มีการทำข้อมูลด้วยกัน ปีนี้เราเก็บน้ำพริกหนุ่มรอบสอง ปรากฏว่า สสจ.เขาลงพื้นที่กับผู้ประกอบการ ตอนที่เราประกาศผล ไม่มีผลกระทบใดๆ เลย ผู้ประกอบการให้ความร่วมมือปรับสูตรได้ก็ปรับเลย และปีนี้ คือครั้งที่ 3 ที่เราทำความร่วมมือกับ สสจ.อย่างชัดเจน โดยเขาทำกับผู้ประกอบการตั้งแต่แรกเลย ปรากฏว่าน้ำพริกหนุ่มของจังหวัดพะเยาที่เคยพบการปนเปื้อน มากๆ กลับลดลงจนแทบจะไม่มี หรือเกินมาตรฐานเล็กน้อย ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสำหรับขบวนการทำงาน         มันเกิดความเข้าใจระหว่างองค์กรที่ทำงานร่วมกัน และระหว่างหน่วยงานราชการกับองค์กร เรามีแผนการทำงานที่ส่งเสริมกันที่ชัดเจน และ มีการวางระบบข้อมูลเพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกัน เช่น เราจะเป็นฝ่ายเฝ้าระวังอย่างไร เขาจะเอาข้อมูลที่เราเฝ้าระวังไปเชื่อมต่อในการทำงานอย่างไร แต่ครั้งที่เราเก็บน้ำปู ต้องบอกว่า สสจ.ไม่ได้อยู่ในแผนเรา เราเก็บแล้วไม่ได้ทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการในพื้นที่ เก็บตามเป้าหมายที่เราต้องการคือทำให้เกิดการตระหนักรู้ในภาคประชาชน เรื่องสารพาราควอตในปู พื้นที่ที่เราเก็บตัวอย่างนั้นผลิตน้ำปูค่อนข้างเยอะและเป็นที่นิยม บางเจ้าที่อยู่ในพื้นที่ก็เลยได้รับผลกระทบไปด้วย คนในพื้นที่เขารู้สึกว่าเขาให้ความร่วมมือแล้วได้ประโยชน์อย่างไร        กรณีน้ำพริกหนุ่ม ตอนแรกผู้ประกอบการเขาเจอการปนเปื้อนที่ 3,000 กว่า เขาก็ตกใจ เพราะเขาไปเอาผลิตภัณฑ์จากจังหวัดอื่นมาขายในชื่อเขา เขาไม่เคยสนใจและไม่เคยคิดว่ามันมี สิ่งที่ตามมาคือเขาขอบคุณที่ทำให้เขารู้ เขาจะไม่รับมาขายแล้ว ทำเองดีกว่า หลายผลิตภัณฑ์ที่เราเก็บ เขายอมปรับสูตรกับ สสจ.เลยนะ ปรับสูตรปรับอะไรหลายอย่าง เบื้องต้นคิดว่าเขาพร้อมที่จะปรับ แต่ตอนที่ข่าวออกมาและเราไม่ได้ไปคุยกับเขาก่อน เขาช็อคอยู่เหมือนกัน ถ้าเราไปเก็บข้อมูลแล้วบอกเขาเลยว่าซื้อไปทำไม ผลออกมาแล้วเราจะใช้อย่างไร ทำความเข้าใจกับเขาแต่ต้น อันนี้จะเป็นประโยชน์มากในการขับเคลื่อน ผู้ประกอบการก็คือผู้บริโภคเหมือนกัน เพราะต้องกินของที่อยู่ตามท้องตลาด        มันมีสองทัศนะที่ต้องจูนหากันให้ได้ ผู้บริโภคต้องการสินค้าที่ปลอดภัย ผู้ประกอบการก็ต้องการจำหน่ายให้ได้ยอดเพื่อให้ตัวเองอยู่ได้ ถ้าวันนี้ผู้ประกอบการผลิตสินค้าที่มีมาตรฐานและปลอดภัย แม้ราคาจะสูงนิดหน่อย แต่มันสามารถติดตามแหล่งที่มา มีกระบวนการผลิต การควบคุม ในฐานะเครือข่ายผู้บริโภค ก็ต้องทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค มากไปกว่านั้นคือต้องทำให้ผู้บริโภครู้และตระหนักในสิทธิของตัวเอง         พงษภัทร หงส์สุขสวัสดิ์ เครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันตก เริ่มทำงานเมื่อปี 2548 ปัจจุบันทำงานตำแหน่งกลไกภาคงานหลักประกันสุขภาพ  หัวหน้าโหนด สสส. จังหวัดกาญจนบุรี และผู้จัดการสมาคมผู้บริโภคภาคตะวันตก เขาบอกว่าเสน่ห์ของงานผู้บริโภคอยู่ที่สามารถช่วยแก้ปัญหาให้คนได้ และคนทำงานก็ได้พัฒนาตัวเองตลอดเวลา ถ้าเคสได้รับการแก้ไขจะรู้สึกดีใจมาก บางครั้งรู้สึกเหมือนเป็นปัญหาของตัวเองที่สามารถแก้ไขได้ แต่ถ้าแก้ไม่ได้ก็จะเสียใจ เช่น กรณีเสาส่งสัญญาณที่บ้านห้วยพลู จ.นครปฐม ซึ่งเป็นเคสแรก ทันทีที่เคสแจ้งมาว่าบริษัทเค้าถอนเสา เราก็รู้สึกเหมือนว่าเราทำได้แล้ว หรือกรณีเสาที่โรงเรียนสอนเด็กพิเศษที่บางกะพ้อม สมุทรสงคราม ซึ่งชุมชนยอมให้ติดตั้ง เราก็แอบเสียใจที่เราช่วยเด็กเหล่านั้นไม่ได้ เรื่องการเฝ้าระวังในพื้นที่ภาคตะวันตก ผู้บริโภคมีความตื่นตัวอย่างไร         ผู้บริโภคในพื้นที่จะระวังมากขึ้น เช่น เขาจะเลือกไปร้านที่ไม่พบสารปนเปื้อน มีการปรับตัวหลังจากได้ข้อมูล ร้านค้าก็ปรับตัว สมมุติว่าเขาเป็นร้านรับซื้อมาขาย เขาก็จะคัดของมากขึ้น สมมุติว่าเราซื้อปลาหมึกแห้งที่เขารับมาจากอีกที่หนึ่ง แล้วปรากฏว่ามีสารปนเปื้อน เขาก็จะไม่รับมาขาย มันก็ทำให้ผู้ผลิตต้องปรับตัวเองเพื่อให้ขายได้ โดยดูแลเรื่องสารปนเปื้อน เรื่องการผลิตมากขึ้น การทำงานร่วมกันมีความสำคัญกับอาหารปลอดภัยอย่างไร        สิ่งสำคัญของการทำงานแบบทุกฝ่ายร่วมมือกัน คือ หนึ่ง ผู้บริโภคได้ทานอาหารที่ปลอดภัย สอง มันไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง เราโตมากับความคิดว่าทุกอย่างเป็นหน้าที่ของรัฐ รัฐก็จัดการไป แต่จริงๆ แล้วทุกคนมีหน้าที่ร่วมกันเฝ้าระวัง ประชาชนก็มีหน้าที่สอดส่องดูแล แล้วแจ้งเตือน หน่วยงานมีหน้าที่ตรวจสอบ เขาก็ตรวจสอบหลังจากมีคนแจ้ง ถ้าเราไม่เฝ้าไม่ดู เขาไม่รู้ เขาก็ไม่ตรวจสอบ สุดท้ายอาหารพวกนี้มันก็ปนเปื้อนและส่งผลมาที่ตัวเรา ผมว่ามันเป็นภาระของคนใดคนหนึ่งไม่ได้   ภาคประชาชนไม่ได้มาแย่งงานของหน่วยงานรัฐ มันเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกัน ถ้าจับมือทำงานเชิงมิตรกันมากขึ้น ผลประโยชน์สูงสุดมันก็ตกที่ตัวประชาชน ผู้บริโภคมีบทบาทอย่างไรกับการเลือกอาหารปลอดภัยให้กับตัวเอง         สิ่งแรกก็คือต้องรู้ว่าอาหารที่เขากิน มาจากไหน และตรงไหนที่มันปลอดภัย ถ้าดูข้อมูลจาก ฉลาดซื้อ เขาเห็นยี่ห้อ เขาก็เลือกได้ง่ายขึ้น ผู้บริโภคมีอิสระในการเลือกซื้อและมีสิทธิได้รับความปลอดภัยจากการบริโภค อันนี้ใครก็ไม่สามารถทำให้เขาได้ ผู้บริโภคต้องตัดสินว่ามีข้อมูลแบบนี้แล้วจะเลือกอย่างไรให้ตัวเองปลอดภัย        ศตคุณ คนไว เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน เริ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคด้วยการเป็นนักศึกษาฝึกงานที่สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น เมื่อปี 2555 เขาได้เรียนรู้งานในช่วงที่การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหาร ยา เครื่องสำอาง กำลังเป็นที่นิยม  แต่กลับมีผู้บริโภคได้รับอันตรายจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจนเสียชีวิต จึงได้ทำวิจัยเมื่อจบการศึกษาในประเด็นความเข้าใจของผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทำให้เห็นว่าผู้ใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องการสุขภาพดี  หลังจากเข้ารับการเกณฑ์ทหาร 1 ปี ประมาณปี 2558 จึงได้กลับมาทำงานที่สมาคมผู้บริโภคอีกครั้ง เขาสนใจเรื่องการคุ้มครองสิทธิ ซึ่งผู้คนทั่วไปมักเจอกับการถูกผู้ประกอบการหรือคนอื่น เอารัดเอาเปรียบทางสังคม ทางการค้า หรือแม้แต่ด้านสวัสดิการ การเก็บตัวอย่าง/เฝ้าระวังในพื้นที่มีประโยชน์หรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร         ที่ผ่านมามีการเก็บตัวอย่างปลาร้าใน 4 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น อุบลราชธานี  ร้อยเอ็ด เก็บตัวอย่างกุนเชียง เก็บตัวอย่างผักในตลาดขายส่งในเมืองขอนแก่น  เฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย โอ้อวดเกินจริง ทางวิทยุ และเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง         ผู้ประกอบการตื่นตัวและปรับปรุงคุณภาพสินค้า ลงโฆษณาที่ถูกกฎหมาย เพิ่มรายละเอียดของสินค้า เช่น วันผลิต วันหมดอายุ เป็นต้น บางรายเปลี่ยนรูปแบบการโฆษณา การขาย หรือรูปแบบผลิตภัณฑ์ ไม่ให้เหมือนกับสินค้าที่ผิดกฎหมาย เพื่อลดต้นทุนการผลิต  ด้านผู้บริโภคก็ตื่นตัว เข้าถึงข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้ามากขึ้น เช่น มีความรู้เรื่องการเจือปนของโลหะหนักในน้ำปลาร้า            ในส่วนประโยชน์และการเปลี่ยนแปลง จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการลงพื้นที่เก็บตัวอย่างอยู่เสมอ เช่น ในการเก็บตัวอย่างเครื่องสำอาง ต้องให้ภาคประชาชนเป็นคนทำ เพราะร้านค้าต่างๆ จะรู้ทันที หากเจ้าหน้าที่ สสจ.ลงพื้นที่ คณะทำงานได้ลงมือปฏิบัติ เครือข่ายภาคประชาชนที่ร่วมกันเก็บข้อมูลก็ได้รับรู้สถานการณ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นการสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชนไปพร้อมกัน         หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ได้รับข้อมูลสินค้าและร้านค้าที่ขายของผิดกฎหมาย มีการปนเปื้อนเกินมาตรฐาน การโฆษณาเกินจริง หน่วยงานในพื้นที่ดำเนินการได้รวดเร็ว เช่น ตักเตือน จับ-ปรับ รวมถึงดำเนินคดี เมื่อหน่วยงานติดตาม ตรวจสอบและพบว่าผลิตภัณฑ์นั้นผิดกฎหมาย แล้วประกาศห้ามขาย ก็จะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค ภาคอีสานมีแผนเก็บตัวอย่างหรือเฝ้าระวังอะไรต่อ        วางแผนเก็บตัวอย่างเนื้อย่างครับ ทำร่วมกับเครือข่ายในจังหวัด ในส่วนการเฝ้าระวังสถานการณ์ในจังหวัด จะมีกลไกภาคประชาชนและหน่วยงาน ซึ่งจะวางแผนการทำงานร่วมกันในแต่ละปี         จุฑา สังขชาติ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ เริ่มทำงานด้านนี้เลยเพราะสนใจเรื่องสิทธิ รู้สึกว่าเรื่องสิทธิผู้บริโภคเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก แต่คนไม่ค่อยให้ความสำคัญ แม้จะทำมา 20 ปีแล้ว ยังรู้สึกสนุก เพราะงานผู้บริโภคมีเสน่ห์ตรงที่เป็นเรื่องใกล้ตัว และมีเรื่องใหม่ๆ อยู่ตลอด อาจเป็นปัญหาเดิมแต่มีการยกระดับขึ้นตามสถานการณ์ ทำให้ต้องรู้เท่าทันและเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ได้อะไรจากการทำงานเฝ้าระวังสินค้าและบริการ        อันดับแรกเลย มันจะได้กับคนที่เก็บตัวอย่าง เวลาเราให้อาสาสมัครไปเก็บตัวอย่าง เราก็ได้รู้ว่าอาหารแต่ละอย่างมีปัญหาอะไรได้บ้าง กฎหมายว่าอย่างไร เช่น ตอนเก็บไตปลาเราก็จะรู้ว่าไตปลาเขาใส่สารกันบูดด้วย กฎหมายห้ามใส่เกินเท่านี้ๆ  ทำให้เรามีความรู้มากขึ้น แกนนำเครือข่ายหรืออาสาสมัครที่มาช่วยก็จะมีข้อมูลมากขึ้น ตอนให้เขาเก็บตัวอย่างกาแฟ 3-in-1 เขาก็จะรู้ว่าอันนี้อันตราย ไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ และในพื้นที่เขามีผลิตภัณฑ์ที่น่าจะมีปัญหาเยอะเลย ทำให้ผู้บริโภคระดับแกนนำตื่นตัวมากขึ้น และมีความรู้ไปบอกต่อได้ เวลาผลออกไป เกิดผลกระทบอย่างไรกับคนในพื้นที่         ตอนที่เราตรวจไตปลา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เหมือนกับต้องทำงานเฝ้าระวังให้มากขึ้น หรือเวลาเราเก็บข้อมูลที่อาจไม่เกี่ยวกับเรื่องอาหารโดยตรง เช่นเครื่องสำอาง พอเราเก็บข้อมูลมาจากพื้นที่ว่ามันมีปัญหาน่าสงสัยว่าจะมีการใส่สารที่เป็นอันตราย ก็เอามาพูดคุยให้หน่วยงานเขารู้ ทำให้ สสจ.เขาทำงานเชิงรุก เขาก็ไปดูว่ามันมีการขายพวกนี้ไหม ออนไลน์มีไหม บางอันเขาก็ล่อซื้อ และเขาก็เจอว่าไอ้ที่มันขายอยู่มันอันตราย เขาก็ไปจับ ตอนนี้เป็นข่าวใหญ่เรื่องโรงงานผลิตเครื่องสำอางที่ใส่สารอันตราย อันนี้ก็เริ่มจากการที่เราเก็บข้อมูลมา เราคุยกับเขา ทำให้เขาเห็นว่าผู้บริโภคตื่นตัวค่อนข้างเยอะ มีแผนเฝ้าระวังอย่างไรในพื้นที่         จากที่ได้คุยกัน คิดว่าจะดูพวกของฝากพื้นถิ่น เช่น กะปิ กุ้งแห้ง ปลาหมึกแห้ง ที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์ในชุมชนอาศัยความไว้วางใจกัน แต่ตอนหลังเป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น เราก็เลยไม่มั่นใจเรื่องความสะอาด ความปลอดภัย  คุยกันว่าถ้าตรวจเรื่องนี้ก็น่าจะทำให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ผู้บริโภคก็จะมั่นใจมากขึ้น อีกอย่างที่น่าสำรวจคือ กาแฟทรีอินวัน แบบนำเข้า ที่ไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่แน่ใจว่าใส่สารอันตรายหรือเปล่า กาแฟในประเทศราคาซองละ 5 - 7 บาท แต่กาแฟนำเข้าพวกนี้ขายซองละ 30 บาท บางทีก็ขาย 2 หรือ 3 ซอง 100 เป็นกาแฟที่กินแล้วคึกคักอะไรแบบนี้ คือมันขายผู้ชาย เวลาลงพื้นที่ก็มีคนเล่าให้ฟังว่าเพื่อนของเขากินแล้วหัวใจวาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 ผลทดสอบพาราควอตในน้ำปูหรือน้ำปู๋

        น้ำปูหรือน้ำปู๋ คือ อาหารพื้นเมืองและดั้งเดิมของภาคเหนือ โดยเป็นเครื่องปรุงรสกลุ่มเดียวกันกับกะปิ ใช้ประกอบอาหารได้หลายอย่าง อาทิ น้ำพริกน้ำปู๋ แกงหน่อไม้ ตำกระท้อน เป็นต้น ซึ่งวิธีการทำน้ำปูนั้น ชาวบ้านจะนำปูนามาล้างให้สะอาด ใส่ใบขมิ้นและตะไคร้โขลกรวมกันจนละเอียด นำปูที่โขลกแล้วละลายน้ำกรองเอาแต่น้ำปู จากนั้นเคี่ยวโดยใช้ไฟอ่อน ประมาณ 8 ชั่วโมง จะได้น้ำปูข้นเหนียวเป็นสีดำ โดยการทำน้ำปูนั้นใช้ปูนาเป็นจำนวนมากถึง 10 กิโลกรัม จึงจะได้น้ำปูปริมาณเพียง 1 กิโลกรัมเท่านั้น         ทำไมต้องทดสอบสารพาราควอตในน้ำปู ทั้งที่มีประกาศแบนหรือห้ามการใช้สารชนิดนี้แล้ว (เมื่อ 1 มิถุนายน 2563)  เหตุหนึ่งเพราะต้องการตอบข้อสงสัยที่ว่า พาราควอต ซึ่งถูกใช้ในการกำจัดวัชพืชในนาข้าวนั้นจะยังคงเหลือตกค้างอยู่ในนาหรือไม่ โดยเฉพาะการตกค้างในสิ่งมีชีวิตตัวเล็กอย่างปูนา ซึ่งเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมโดยเฉพาะทางภาคเหนือที่มีการนำมาทำน้ำปู ทั้งนี้ในงานวิจัยเมื่อปี 2561 ของ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้ชี้ว่าสารพาราควอต ซึ่งเป็นสารฆ่าหญ้ามีการตรวจพบในกบ ปู หอย แม้ว่าจะเป็นสารที่เน้นใช้กำจัดวัชพืช แต่ก็มีการสะสมไปที่ตัวสัตว์ด้วย ข้อมูลในจังหวัดน่าน (พื้นที่ศึกษา) พบว่ามีการปนเปื้อนพาราควอต 24 – 56 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมในปูนา และอาจจะเกิดความเสี่ยงต่อร่างกายมนุษย์เมื่อมีการบริโภคเป็นทอดๆ ต่อมา เช่น การนำปูนามาแปรรูปเป็นน้ำปู คนในพื้นที่ก็อาจได้รับสารพาราควอตไปด้วย         ผลการวิจัยของจุฬาฯ ถูกใช้เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเพื่อแบนสารพาราควอต ซึ่งฉลาดซื้อเองก็เคยทำเรื่องทดสอบ สารพาราควอตในปูนาดองเค็มที่นิยมใช้ในการทำส้มตำ ซึ่งการทดสอบครั้งนั้นไม่พบการตกค้างของสารพาราควอต อย่างไรก็ตามการเก็บตัวอย่างทำแค่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งมีข้อมูลว่า ปูนาส่วนใหญ่ที่นำมาทำปูนาดองนั้นเป็นปูเลี้ยงไม่ใช่ปูนาที่จับมาจากธรรมชาติ         อย่างไรก็ตามได้มีการนำข้อมูลของฉลาดซื้อไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของการขอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายชะลอการแบนพาราควอตหรือยกเลิกการแบนเช่นเดียวกับสารไกลโฟเสต (https://siamrath.co.th/n/178426?fbclid=IwAR3MIbmAiAfl3TT3d91Wpd3uQ87UlXxTaHCu7tr6GEx_YVLQ0CiVRiyB-eg)  เพราะปูนาดองมีความปลอดภัย ซึ่งเป็นการใช้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับฐานข้อมูลเดิมที่เกิดจากงานวิจัยของทางจุฬาฯ และฉลาดซื้อไม่เคยทดสอบน้ำปู         ดังนั้นนิตยสารฉลาดซื้อ  และโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์น้ำปูจำนวน 24 ตัวอย่าง จากตลาดในพื้นที่ 6 จังหวัดทั่วภาคเหนือ ได้แก่ พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ ระหว่างวันที่ 7-15 กันยายน 2563 และนำส่งห้องปฏิบัติการมาตรฐาน เพื่อตรวจวิเคราะห์หาการตกค้างของพาราควอต (paraquat)          ผลการทดสอบ        พบสารพาราควอตในน้ำปู 33 % จาก 24 ตัวอย่างใน 6 จังหวัดภาคเหนือ หรือ 1 ใน 3 ของตัวอย่างที่สุ่มตรวจ มีค่าเฉลี่ยของการตกค้างพาราควอตเป็นจำนวน 0.04275 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม        ตัวอย่างน้ำปูที่พบปริมาณพาราควอตตกค้างมากที่สุด ได้แก่        1.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก ต.บ้านลา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง พบปริมาณพาราควอต 0.090 มิลลิกรัม/กิโลกรัม        2.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก ต.ทุ่งฮั้ว อ.วังเหนือ จ.ลำปาง พบปริมาณพาราควอต 0.074 มิลลิกรัม/กิโลกรัม        3.น้ำปู ยี่ห้อน้ำปู๋แม่แจ่ม เก็บตัวอย่างจาก ตลาดสดข่วงเปา ต.ข่วงเปา อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ พบปริมาณพาราควอต 0.046 มิลลิกรัม/กิโลกรัม        4.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก ร้าน น.ส.นิตยา ต.แม่ยางฮ่อ อ.ร้องกวาง จ.แพร่ พบปริมาณพาราควอต 0.042 มิลลิกรัม/กิโลกรัม        5.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก บ้านป่าสัก ต.ศรีถ้อย อ.แม่ใจ จ.พะเยา พบปริมาณพาราควอต 0.040 มิลลิกรัม/กิโลกรัม        6.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก ตลาดบ้านปางลาว ต.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย พบปริมาณพาราควอต 0.031 มิลลิกรัม/กิโลกรัม        7.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก บ้านหนุน อ.ปง จ.พะเยา พบปริมาณพาราควอต 0.011 มิลลิกรัม/กิโลกรัม        8.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก ร้านป้าหวิน บ้านร่องกาศใต้ ต.ร่องกาศ อ.สูงเม่น จ.แพร่ พบปริมาณพาราควอต 0.006 มิลลิกรัม/กิโลกรัม        พาราควอต ทำไมถึงสั่งแบน         "พาราควอต" สารเคมีกำจัดวัชพืช มีคุณสมบัติทำลายการสังเคราะห์แสงของใบไม้เมื่อฉีดพ่นไปโดนส่วนที่เป็นใบเขียวจะทำให้วัชพืชเหี่ยวและตายไป โดยกลไกการทำงานของพาราควอตนั้น กำจัดเฉพาะศัตรูพืชเท่านั้นไม่มีฤทธิ์ทำลายระบบรากและโคนต้น ด้วยคุณสมบัติที่มีประสิทธิภาพสูงและต้นทุนที่ต่ำจึงทำให้เกษตรกรนิยมใช้พาราควอตอย่างกว้างขวาง เป็นอันดับหนึ่งของวัตถุอันตรายที่นำเข้ามาในไทย         มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้เผยแพร่รายงานการวิจัยเมื่อปี 2560 ซึ่งค้นพบกลไกที่พาราควอต ทำลายเซลล์ประสาทจากการสร้างอนุมูลอิสระพิษ และงานวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ที่พิสูจน์แล้วว่า พาราควอตสามารถเข้าสู่สมองส่วนกลางของสัตว์ทดลองได้ รวมถึงงานวิจัยทางระบาดวิทยาในต่างประเทศที่ชี้ว่า พาราควอตเพิ่มโอกาสการเป็นพาร์กินสันร้อยละ 67-470 อีกทั้งการใช้พาราควอตในประเทศไทยยังส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังมารดาและทารกด้วย โดยงานวิจัยของ ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบการตกค้างของพาราควอตในในซีรัมมารดาและสายสะดือทารกมากถึงร้อยละ 17-20 จากการประเมินของนักวิจัยพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่มีประวัติการขุดดินในพื้นที่เกษตร มีความเสี่ยงในการตรวจพบพาราควอตคิดเป็น 6 เท่าของหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่มีการขุดดิน และการตรวจพบพาราควอตในขี้เทาของทารกแรกเกิดคือหลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่า พาราควอตในร่างกายแม่ถูกส่งต่อถึงลูกในท้องด้วย         สถาบันวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ระบุว่า จากการตรวจสอบการปนเปื้อนสารของสารพิษบนพื้นที่ต้นแม่น้ำน่านในช่วงฤดูเพาะปลูก พบว่า จากตัวอย่างน้ำผิวดินพบพาราควอตปนเปื้อน 64 ตัวอย่าง จาก 65 ตัวอย่าง ส่วนน้ำใต้ดินพบพาราควอต 13 แห่ง จากตัวอย่าง 15 แห่ง สารที่ตกค้างยังสามารถแพร่กระจายต่อไปยังพืชสัตว์และแหล่งน้ำอื่นๆ ได้        สอดคล้องกับเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ที่พบสารพาราควอตในผักผลไม้ ในซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างค้าปลีกในระดับเกินมาตรฐาน “การสะสมของพาราควอตในผัก ผลไม้ไม่สามารถล้างออกได้ ต่อให้เอาผักไปต้มก็กำจัดไม่ได้เช่นกัน เพราะจุดเดือดของพาราควอตสูงถึง 300 องศาเซลเซียส เราทุกคนจึงมีโอกาสรับพาราควอตเข้าสู่ร่างกายผ่านการบริโภคพืชผักผลไม้เหล่านั้น” รศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล ผู้อำนวยการสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวรที่มา "พาราควอต" คืออะไร ทำไมต้องขอแบน?https://news.thaipbs.or.th/content/277809

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 แนวความคิดและผลการศึกษาหลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานแบบไร้เงื่อนไข (Unconditional Basic Incomes)

        หลักการรัฐสวัสดิการคือ การที่เราเมื่อมีอาชีพมีรายได้ก็ต้องเสียภาษีและส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมตามสัดส่วนของรายได้ โดยที่เงินที่เรานำส่งเข้ากองทุนประกันสังคมจะเป็นหลักประกันทางการเงินในกรณีที่เราเจ็บไข้ได้ป่วย เราสามารถใช้เงินจากกองทุนในการรักษาพยาบาล กรณีตกงานหรือเลิกจ้างก็สามารถได้รับเงินทดแทน จนกระทั่งเราได้งานใหม่และมีรายได้กลับคืนมาอีกครั้ง หรือกรณีบำนาญชราภาพเราก็มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือน          เงื่อนไขดังกล่าวถือว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของระบบประกันสังคม ที่หลายๆ ประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการได้ใช้กันมาตั้งแต่มีการเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมมีการใช้แรงงานมนุษย์และเครื่องจักรอุตสาหกรรมในการผลิตสินค้า ซึ่งรูปแบบดังกล่าวมีข้อจำกัดคือใช้ได้กับคนที่ประกอบอาชีพมีรายได้ประจำเท่านั้น  ปัจจุบันจึงมีแนวคิดในเรื่องการประกันรายได้ขั้นต่ำให้กับทุกคนในสังคมตั้งแต่เกิดจนตาย คือแนวความคิดเรื่องหลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานแบบไร้เงื่อนไข (unconditional basic incomes) หลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานแบบไร้เงื่อนไขคืออะไร         หลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานแบบไร้เงื่อนไข หรือ unconditional basic incomes คือ ประชาชนทุกคนในประเทศ จะได้รับเงินเดือนขั้นต่ำตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งจำนวนเงินที่จะได้รับนั้นเพียงพอในการดำรงชีพขั้นพื้นฐานเรียกได้ว่า เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการที่จะมีรายได้ดำรงชีพ อย่างไรก็ตามแนวความคิดดังกล่าวยังเป็นที่ถกเถียงและสร้างความสงสัยให้กับหลายๆ คนว่า        1. คนเราไม่จำเป็นต้องมีอาชีพมีงานทำต่อไปใช่หรือไม่ ?        2. งานบางประเภทจะสูญหายไปถ้าค่าตอบแทนไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ?        3. หลักการนี้ ไม่สามารถปฏิบัติได้เพราะใช้เงินจำนวนมาก ?        4. หลักการนี้ส่งให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและราคาสินค้าจะแพงขึ้น ?        5. หลักการนี้ไม่ยุติธรรม เพราะคนรวยก็มีสิทธิได้รับเงินเหมือนกัน ?        6. หลักการนี้จะเหมือนกับเป็นการลงโทษคนขยันที่ยังทำงานอยู่ ?        7. หลักการนี้จะเป็นจุดจบของรัฐสวัสดิการ ?        8. หลักการนี้จะนำไปสู่สังคมของความเห็นแก่ตัว ?          จากแนวความคิดและคำถามตลอดจนข้อสงสัยต่อประเด็นดังกล่าวเบื้องต้น ได้มีกลุ่มคนที่สนใจสวัสดิการรูปแบบนี้ ก่อตั้งเป็นสมาคมเพื่อหลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานขึ้น (Mein Grundeinkommen e.V. Gemeinnützig) เพื่อทำการทดลองเชิงปฏิบัติการ (Social Experiment) โดยที่องค์กรนี้จะทำหน้าที่ระดมเงินเพื่อนำมาให้กับคนที่ต้องการรายได้ขั้นต่ำที่แน่นอนทุกเดือน เดือนละ 1000 ยูโร เป็นระยะเวลานาน 1 ปี กระบวนการคัดเลือกคนที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ใช้กระบวนการสุ่ม เหมือนกับการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลแต่ไม่ต้องใช้เงินซื้อแต่ต้องลงทะเบียนเพื่อแสดงความประสงค์ในการเข้าร่วมการทดลองโครงการของสมาคมนี้ เริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ.  2014 มีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 1.8 ล้านคน        บทเรียนและข้อสรุปที่ได้จากผลการศึกษานี้        1 คนที่ได้รับรายได้ขั้นพื้นฐานโดยที่ไม่มีเงื่อนไขจะเปลี่ยนจากคนที่ไม่มีความเชื่อมั่นมามีความเชื่อมั่นในอนาคตและรู้สึกมั่นคงกับชีวิต ประเด็นนี้ไม่ได้อยู่ที่เงินแต่อยู่ที่การได้รับเงินแบบไม่มีเงื่อนไขคนรู้สึกเป็นอิสระ เมื่อคนในสังคมรู้สึกมั่นคง สังคมก็จะมั่นคง        2 เดิมคนที่มีรายได้น้อยและได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการพบว่า เกิดการเปลี่ยนแปลง คนเหล่านี้เริ่มลงทุนในชีวิตอย่างฉลาดไม่ว่าจะลงทุนในการศึกษามาเรียนเพิ่มวุฒิเพิ่มประสบการณ์ หรือมีอาชีพอิสระเริ่มยอมรับกับความเสี่ยงในการที่จะได้งานที่มีค่าตอบแทนสูงหรือเริ่มซื้อของใช้ที่เดิมอาจไม่มีกำลังซื้อ          สำหรับคนที่มีรายได้ดีอยู่แล้ว และได้รับการเช้าร่วมโครงการนี้พบว่า ตนเองมีอิสระมากขึ้นและเมื่อย้อนกลับมาดูอดีตของตนที่ผ่านมาพบว่า ตนเองต้องเผชิญกับความเครียดและความกลัวในชีวิต ในช่วงปีที่ได้รับเงินจากโครงการชีวิตตนเองผ่อนคลายมีเวลาให้กับตนเองในการทบทวนบทบาทหน้าที่และมีความคิดสร้างสรรค์ แม้ว่าหลายๆ คนจะไม่ได้ใช้เงินจากโครงการนี้เลย         ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงแค่ตัวอย่างจากผลการทดลองทางสังคมในเยอรมนีเกี่ยวกับหลักประกันรายได้ขั้นต่ำสำหรับทุกคน ครั้งหน้าจะมาสรุปผลการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้กันต่อครับ         แหล่งข้อมูล เวบไซต์ของสมาคม เพื่อหลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานขึ้น (Mein Grundeinkommen e.V. Gemeinnützig)https://www.mein-grundeinkommen.de/erkenntnisse/was-ist-es

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 รู้เท่าทันเกลือสีดำ

        หลังจากมีโฆษณาเรื่องเกลือหิมาลัยสีชมพูแล้ว ตอนนี้เริ่มมีการโฆษณาเกลือหิมาลัยสีดำว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพและดีกว่าเกลือแกงที่คนไทยใช้กินกันอยู่ทุกวัน ดีจริงหรือไม่ มารู้เท่าทันกันเถอะเกลือดำคืออะไร         เกลือดำหรือที่รู้จักกันในชื่อกาลา นามัค เป็นเครื่องปรุงอาหารที่นิยมของอาหารอินเดีย กาลา นามัค นั้นเป็นที่เลื่องลือในเรื่องของกลิ่น ซึ่งหากนำมาดมดูจะพบว่ามีกลิ่นฉุนคล้ายกลิ่นไข่เน่า หรือกลิ่นไข่ต้ม ช่วยให้อาหารมีรสชาติดีขึ้น และถูกอ้างสรรพคุณว่าดีต่อสุขภาพ แม้ว่าจะเรียกว่าเกลือดำ แต่จริงๆ แล้ว มีสีน้ำตาลอมชมพู         เกลือดำมี 3 ประเภทหลัก คือ เกลือดำหิมาลัย เกลือดำหินภูเขาไฟ และเกลือดำที่ใช้ทำพิธีกรรม แต่ที่เป็นที่นิยมมากที่สุดคือ เกลือดำหิมาลัย เกลือดำเป็นเกลือที่ได้จากการทำเหมืองหินเกลือในปากีสถาน บังคลาเทศ อินเดีย เนปาล ซึ่งอยู่รอบๆ ภูเขาหิมาลัย         การใช้เกลือดำมีบันทึกแรกเริ่มในการแพทย์อายุรเวทของอินเดีย แพทย์อายุรเวทเชื่อว่ามีสรรพคุณในการบำบัดรักษาโรค เกลือดำบำบัดโรคอะไรได้บ้าง         การแพทย์อายุรเวทกล่าวว่าเป็นเครื่องเทศที่เป็นรสเย็น ใช้เป็นการระบายและช่วยการย่อยอาหาร สายตาไม่ดี และเนื่องจากเกลือดำมีโซเดียมต่ำ จึงดีต่อผู้ที่มีความดันโลหิตสูง         ในเว็บไซต์ต่างๆ จะมีการโฆษณาว่าเกลือดำรักษาโรคต่างๆ ตั้งแต่ มะเร็งตับ ฆ่าเชื้อไวรัส รา และเชื้อโรคต่างๆ รักษาแผลในกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน สร้างน้ำย่อยอาหาร และทำให้สุขภาพดี นอกจากนี้ยังใช้เป็นยาสีฟัน ล้างผักผลไม้ให้สะอาด ขัดผิว แช่เท้า แช่ตัวได้อีกด้วย เกลือดำมีประโยชน์จริงหรือ        เกลือดำอาจมีโซเดียมและสารปรุงแต่งน้อยกว่าเกลือทั่วไป โดยเฉพาะเกลือที่อาจมีการปนเปื้อนสารต่างๆ ในกระบวนการผลิต ซึ่งอาหารที่มีโซเดียมสูงจะเพิ่มความดันโลหิตให้สูงและไตต้องทำงานหนัก นอกจากนี้ เกลือแกงยังมีสารปรุงแต่งที่อันตรายเช่น โปตัสเซียมไอโอเดตและอะลูมิเนียมซิลิเกต ในขณะที่เกลือดำ (รวมทั้งเกลือทะเลทั่วไป) ที่ผ่านกระบวนการที่เป็นธรรมชาติมากกว่า เกลือดำดีต่อสุขภาพหรือไม่         เมื่อทบทวนงานวิจัยในวารสารวิชาการต่างๆ  ยังไม่มีงานวิจัยที่หนักแน่นดีพอที่สนับสนุนว่า เกลือดำดีต่อสุขภาพมากกว่าเกลือทั่วไป แต่งานวิจัยทั้งหมดจะยืนยันว่า เป็นการดีที่สุดที่จะบริโภคเกลือในปริมาณปานกลางและใช้เพื่อเพิ่มรสชาติของอาหารเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเกลือประเภทใดก็ตาม เราควรบริโภคโซเดียมมากที่สุด 2,300 มก.ต่อวัน หรือคิดเป็นเกลือ 1 ช้อนชาเท่านั้น         เกลือดำอาจเป็นทางเลือกที่ดีเมื่อเทียบกับเกลือที่ขายกันทั่วไป ยกเว้นเกลือทะเลบ้านเราที่กระบวนการผลิตยังเป็นธรรมชาติ (แต่โซเดียมอาจสูงกว่า) และจากกลิ่นที่เฉพาะตัว ทำให้อาหารมีกลิ่นน่ากินมากขึ้น ดังนั้นอาจช่วยเพิ่มกลิ่นและรสชาติอาหารให้เป็นแบบอาหารเอเชีย         เกลือดำนั้นมีหลายยี่ห้อและหลายราคา ตั้งแต่กิโลกรัมละ 100 บาทขึ้นไป ในขณะที่เกลือทะเลบ้านเราราคากิโลกรัมละประมาณ 20 บาท         สรุป  เกลือดำนั้นมีความเชื่อของการแพทย์อายุรเวทของอินเดีย แต่ยังไม่มีการศึกษาทางการแพทย์ที่ชัดเจนว่า มีประโยชน์ตามที่อ้างกันหรือเชื่อสืบต่อกันมา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 ควรใช้ Far UVC ฆ่าเชื้อในสถานบริการหรือไม่

        องค์ประกอบของแสงอาทิตย์นั้นแบ่งง่าย ๆ เป็น แสงที่มองเห็นได้ (visible light) และ แสงที่มองเห็นไม่ได้ (invisible light) โดยแสงที่มองเห็นได้นั้นอยู่ในแถบความยาวคลื่นช่วงระหว่าง 400 – 700 นาโนเมตร ส่วนแสงที่มองไม่เห็นนั้นมีสองกลุ่มคือ กลุ่มที่มีความยาวคลื่นเกิน 700 นาโนเมตรขึ้นไป ซึ่งเรียกว่า อินฟราเรด (infrared) มีพลังงานต่ำกว่าพลังงานของแสงสีต่างๆ และอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความยาวคลื่นต่ำกว่า 400 นาโนเมตรลงมา ซึ่งเรียกว่า อัลตราไวโอเล็ท (ultraviolet หรือ UV) นั้น มีพลังงานสูงกว่าพลังงานของแสงที่มองเห็นได้        แสงอัลตราไวโอเล็ทนั้นมักแบ่งง่าย ๆ (www.who.int/uv/uv_and_health/en/) เป็น 3 ระดับคือ UVA (ความยาวคลื่น 315-400 นาโนเมตร), UVB (ความยาวคลื่น 280-315 นาโนเมตร) และ UVC (ความยาวคลื่น 100-280 นาโนเมตร) โดย UVA นั้นไม่ค่อยก่อปัญหาอะไรนักเพียงแค่ทำให้คนที่ผิวคล้ำโดยกำเนิดแล้วคล้ำหนักขึ้นกว่าเดิม แสง UVB เป็นแสงที่เมื่อส่องผิวราว 15-20 นาที ในช่วงเช้าและบ่ายแก่ ๆ จะช่วยในการสร้างวิตามินดี แต่ถ้ามากไปก็จะไม่ค่อยดี ระดับความร้อนอันตรายต่อผิวหนังชั้นล่างที่เป็นเซลล์มีชีวิตในลักษณะที่ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์และมีโอกาสขยายต่อเป็นมะเร็งผิวหนังได้ ส่วนแสง UVC นั้นยังไม่ต้องพูดถึงเพราะแม้เป็นแสงที่มีพลังงานสูงมากจนฆ่าเซลล์ต่างๆ ซึ่งรวมถึงเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี แต่แสง UVC นี้ถูกดูดซับไว้ด้วยก๊าซโอโซนที่อยู่ในชั้นบรรยากาศของโลก        ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2563 ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือ SARS-CoV-2 ซึ่งก่อให้เกิดโรค Covid-19 นั้นได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำลายวิถีชีวิตแบบเดิมของมนุษย์ มนุษย์ปรับตัวให้อยู่กันแบบ นิวนอร์มอล อย่างไรก็ดีมีข่าวเรื่องหนึ่งที่ทั้งน่าตื่นเต้นและชวนให้กังวล นั่นคือ มีแนวความคิดในการใช้แสงที่มีความยาวคลื่นในช่วง far UVC (207-222 นาโนเมตร ซึ่งต่ำกว่าช่วงความยาวคลื่นที่ใช้ในการฆ่าเชื้อโรคทั่วไปคือ ราว 245 นาโนเมตร) ช่วยในการฆ่าไวรัสที่ก่อโรคดังกล่าว โดยที่คนซึ่งอยู่ในบริเวณนั้นและได้รับแสง far UVC ไม่ได้รับอันตราย         แนวความคิดนี้มันช่าง  โหด มัน ฮา เพราะ แสง far UVC นั้นเป็นแสงที่มีพลังงานทำลายล้างได้สูงกว่าแสง UVC ที่ 245 นาโนเมตรเสียอีก ซึ่งโดยพื้นฐานความเข้าใจของคนทั่วไปแล้ว แนวความคิดในการใช้แสงกลุ่ม UV เพื่อฆ่าไวรัสที่ก่อให้เกิด Covid-19 นั้น ควรทำได้เฉพาะการฆ่าไวรัสที่ปนเปื้อนบนพื้นผิววัตถุเท่านั้น แต่ปรากฏว่าเมื่อมีข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มในการใช้แสงกลุ่ม UV ในสถานที่ที่มีคนอยู่ได้ เลยเป็นประเด็นที่ควรหาความรู้มาศึกษากัน    Far-UVC light กับการฆ่าเชื้อโรค        ผู้เขียนได้พบข้อมูลจากบทความวิจัยเรื่อง Far-UVC light: A new tool to control the spread of airborne-mediated microbial diseases (doi:10.1038/s41598-018-21058-w) ซึ่งเผยแพร่ใน www.nature.com/scientificreports เมื่อปี ค.ศ. 2018 ในบทความแสดงให้เห็นว่า แสง far UVC ที่ขนาดความเข้มข้นต่ำคือ 2 มิลลิจูลต่อตารางเซนติเมตรของแสง far UVC ที่ความยาวคลื่น 222 nm สามารถฆ่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 ที่อยู่ในฝอยน้ำ (aerosol) ได้มากกว่าร้อยละ 95 และกล่าวว่า น่าจะเป็นแนวทางที่ประหยัดสุดและได้ผลดีในการฆ่าไวรัสเช่น ไข้หวัดใหญ่ที่กระจายในอาคาร (ผลงานนี้ตีพิมพ์ก่อนมีการระบาดของ Covid-19)         งานวิจัยที่กล่าวถึงข้างบนเป็นผลงานของทีมนักวิจัยที่ Center for Radiological Research ของ Columbia University Irving Medical Center (CUIMC) ในมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งดูเหมือนจะเป็นกลุ่มที่โดดเด่นในสหรัฐอเมริกา ในแวดวงที่ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ต่างๆ ของแสง UV เข้าใจว่า หน่วยงานนี้น่าจะมีความร่วมมือกับทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยทางญี่ปุ่น ทั้งนี้เพราะได้มีข้อมูลเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตถึงการทดสอบหลอด Care222® series ของบริษัทหนึ่งในญี่ปุ่นที่ปล่อยแสงความยาวคลื่น 222 นาโนเมตร (far UVC) ที่ได้รับการรับรองให้ใช้ฆ่าเชื้อในห้องปลอดเชื้อของโรงพยาบาลต่างๆ ว่า ได้ผลดี โดยมีเอกสารรับรองประสิทธิภาพของการใช้แสง far UVC ในการทำลายไวรัส ชื่อ Performance test for virus inactivation efficacy by UV irradiation จากสถาบัน Kitasato Research Center for Environmental Science (KRCES) สังกัด Kitasato University         ตัวอย่างงานวิจัยเพิ่มเติมที่น่าสนใจเกี่ยวกับการใช้แสง far UVC ในการฆ่าเชื้อโรคต่างๆ ของกลุ่มนักวิจัยของ Columbia University นั้นเช่น บทความเรื่อง Germicidal Efficacy and Mammalian Skin Safety of 222-nm UV Light ตีพิมพ์ใน Radiation Research ปี 2017 ได้แสดงให้เห็นว่า far UVC (222 นาโนเมตร) ขนาด 0.036 มิลลิจูลต่อตารางเซนติเมตร สามารถฆ่า methicillin-resistant Staphylococcus aureus ได้ และในบทความเรื่อง 207-nm UV Light—A Promising Tool for Safe Low-Cost Reduction of Surgical Site Infections. II: In-Vivo Safety Studies ตีพิมพ์ใน PLoS ONE ปี 2016 กล่าวถึงการฉายแสง far UVC (207 นาโนเมตร) ขนาด 157 มิลลิจูลต่อตารางเซนติเมตร นาน 7 ชั่วโมง ให้กับหนูถีบจักรสายพันธุ์ที่ไม่มีขน (hairless SKH1-Elite strain 477 mice) แล้วปรากฏว่าเมื่อเวลาผ่านไป 48 ชั่วโมงหลังการได้รับแสง นักวิจัยได้ทำการศึกษาผิวหนังของหนูและพบว่า แสงที่ความยาวคลื่น 207 นาโนเมตรนั้นไม่ก่ออันตรายต่อผิวหนังหนู         ล่าสุดในปี 2020 ทีมนักวิจัยจาก Columbia University ได้เผยแพร่ข้อมูลในบทความชื่อ Far-UVC light (222 nm) efficiently and safely inactivates airborne human coronaviruses (doi: 10.1038/s41598-020-67211-2.) ใน www.nature.com/scientificreports ซึ่งเป็นการรายงานผลการทดลองใช้แสงที่ความยาวคลื่น 222 นาโนเมตรด้วยขนาดของแสงที่ 1.7 และ1.2 มิลลิจูลต่อตารางเซนติเมตร ฆ่าเชื้อ coronavirus สายพันธุ์ alpha HCoV-229E และ beta HCoV-OC43 ที่อยู่ในสภาพเป็นละอองฝอย (aerosol) ตามลำดับได้สำเร็จถึงร้อยละ 99.9 จึงเสนอว่าการใช้แสง Far UVC ในลักษณะดังกล่าวน่าจะฆ่าเชื้อ SARS-CoV-2 ซึ่งก่อให้เกิดโรค Covid-19 ได้ (โคโรนาไวรัสมีพันธุกรรมใกล้เคียงกับสายพันธุ์ที่ใช้ในการทดลอง) ด้วยขนาดความเข้มข้นของแสงที่จำกัดไว้ที่ประมาณ 3 มิลลิจูล/ตารางเซนติเมตร/ชั่วโมง เพื่อให้ได้ผลสัมฤทธิ์ร้อยละ 90, 95, 99.5 และ 99.9 ด้วยระยะเวลาการฉายแสง 8 นาที,11 นาที, 16 นาที และ 25 นาที ตามลำดับ โดยไม่ทำอันตรายต่อผู้คนที่อยู่ในบริเวณนั้น         สมมุติฐานที่อธิบายว่า far UVC ฆ่าไวรัสและเชื้อโรคอื่นๆ โดยไม่ทำอันตรายต่อผิวหนังและน่าจะรวมถึงชั้นเนื้อเยื่อของตานั้นเพราะแสงในระดับ far UVC ไม่สามารถทะลุผ่านเซลล์ชั้นบนๆ ของผิวหนังซึ่งตายแล้วรวมถึงชั้นเนื้อเยื้อ (tear layer) ของลูกตาได้ ดังปรากฏในคำสัมภาษณ์ของ David J. Brenner ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ของ Columbia University Irving Medical Center ในบทความเรื่อง Far-UVC Light Could Safely Limit Spread of Flu, Other Airborne Viruses ของเว็บ www.photonics.com         นอกจากนี้ยังมีข้อมูลในอินเทอร์เน็ตว่า มีผู้เสนอให้ใช้แสง far UVC บนเครื่องบินโดยสาร ซึ่งมีผู้โดยสารอยู่ในกรณีฉุกเฉินที่ทราบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้ออยู่บนเครื่องก่อนนำเครื่องลงที่สนามบินปลายทาง อย่างไรก็ดีผู้เขียนยังรู้สึกระแวงว่า จริงหรือที่ว่าแสง far UVC นั้นไม่เป็นอันตรายต่อตามนุษย์ ทั้งนี้เพราะ แสง far UVC นั้นมีพลังงานสูงมาก  จึงอาจทำให้เกิดความร้อนแก่บริเวณที่แสงสัมผัสหรือทำให้น้ำตาที่อยู่ในลูกตามีอุณหภูมิสูงขึ้น ถ้าผู้บริหารการใช้แสงไม่ชำนาญในการควบคุมปริมาณความเข้มแสงและช่วงเวลาการสัมผัสที่ถูกต้อง         ทั้งนี้ข้อมูลล่าสุดที่หาได้นั้นกล่าวว่า ปัจจุบัน US.FDA ยังไม่รับรองการใช้แสง far UVC ในสถานบริการที่มีผู้บริโภคอยู่ เพียงแต่ยอมให้หลอดกำเนิดแสงชนิดนี้ถูกใช้ในการฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์และห้องที่ต้องปลอดเชื้อเช่น ห้องผ่าตัดเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมีใครพยายามซื้อหลอดที่ให้แสง far UVC (ซึ่งอาจมีขายใน platform online ในไม่ช้านี้) เพื่อฆ่าไวรัสในสถานบริการในขณะที่มีผู้บริโภคอยู่ด้วย เช่น ผับ บาร์ อาบอบนวด สนามมวยหรือโรงภาพยนต์ เนื่องจากกระบวนการยับยั้งการแพร่กระจายเชื้อโรคต่างๆ เช่น ระยะห่างระหว่างบุคคล (personal distancing) นั้นทำได้ลำบาก สถานที่ดังกล่าวจึงน่าจะเป็นเป้าหมายของสินค้านี้ แม้ยังไม่มีการประเมินความปลอดภัยก่อนก็ตาม “อย่าหาทำ”  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 ความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2563

สปสช.ยกเลิกสัญญาคลินิกบัตรทองแล้ว 190 แห่งเหตุทุจริตเบิกเท็จ          30 ก.ย. 2563 นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า สปสช. ยกเลิกสัญญากับโรงพยาบาลเอกชน คลินิกชุมชนอบอุ่น จำนวน 190 แห่ง (แบ่งเป็นโรงพยาบาล 10 แห่ง คลินิกเอกชน 175 แห่ง และคลินิกทันตกรรม 5 แห่ง) ในพื้นที่ กทม. เหตุเพราะทำทุจริตการเบิกเงินในรายการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคจากสปสช. รวมความเสียหาย 198 ล้านบาท ซึ่งการยกเลิกสัญญาครั้งนี้จะกระทบผู้ป่วยรับบริการจริง 4-5 แสนราย เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 2.7 แสน         อย่างไรก็ตาม สปสช.ได้กำหนดมาตรการบรรเทาผลกระทบแก่ประชาชนผู้ใช้สิทธิที่หน่วยบริการประจำถูกยกเลิกสัญญา โดยกำหนดผู้ใช้สิทธิเหล่านี้เป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพ หมายถึงสามารถเข้ารับการรักษาเมื่อเจ็บป่วยในหน่วยบริการที่เข้าร่วมระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือเข้าร่วมกับ สปสช. ได้ทุกแห่งโดยไม่ต้องมีหน่วยบริการประจำ ไม่เสียค่าใช้จ่าย และไม่จำกัดจำนวนครั้ง (สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 ตลอด 24 ชั่วโมง)         ด้านนายจีรวุสฐ์ สุขได้พึ่ง ประธานอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายบริการสาธารณสุขเกินจริง กล่าวว่า ขั้นตอนจากนี้เป็นหน้าที่กองปราบปรามในการรวบรวมพยานหลักฐานว่าเป็นความผิดข้อหาใดบ้างแล้วดำเนินคดีในทางอาญากับผู้ที่เกี่ยวข้องกับสถานพยาบาลทั้งหมด นอกจากนี้ได้ส่งเรื่องให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พิจารณาดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ด้วย ซึ่งเบื้องต้นทราบว่า สบส.ได้พิจารณาแล้วพบว่ามีความผิดเช่นเดียวกันและได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกองปราบปรามเช่นเดียวกัน มีผลแล้ว ประกาศขายของออนไลน์ ห้ามให้อินบ็อกซ์ถามราคา          22 กันยายน 2563  เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้า และบริการ ฉบับที่ 70 พ.ศ. 2563 เรื่อง การแสดงราคาและรายละเอียดเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าและบริการผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือออนไลน์  มีเนื้อหาโดยสรุปคือ ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าหรือบริการผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือออนไลน์ ต้องแสดงราคาจำหน่าย ค่าบริการ รวมถึงประเภท ชนิด ลักษณะขนาด น้ำหนัก และรายละเอียดของสินค้าหรือบริการ โดยการเขียน พิมพ์ หรือกระทำให้ปรากฏด้วยวิธีอื่นใดในระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือระบบออนไลน์ของผู้ประกอบธุรกิจนั้น ในลักษณะที่ชัดเจน ครบถ้วน เปิดเผย สามารถอ่านได้โดยง่าย กรณีที่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากราคาจำหน่ายสินค้าหรือค่าบริการที่แสดงไว้ ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องแสดงค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้ชัดเจนครบถ้วนและเปิดเผย โดยแสดงไว้ควบคู่กับการแสดงราคาจำหน่ายสินค้าหรือค่าบริการที่ให้บริการ         กรณีผู้ขายสินค้าออนไลน์ ไม่แจ้งราคาผ่านช่องทางที่จำหน่าย ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม, ไลน์ และเว็บไซต์ แต่จะให้อินบ็อกซ์เข้ามาสอบถามราคาแทนนั้น จะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท         ส่วนผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับสินบนนำจับ 25% ของค่าปรับ เช่น หากโทษปรับ 10,000 บาท ผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับเงินส่วนแบ่ง 2,500 บาท ซึ่งหลักฐานที่ต้องเตรียมนั้น ได้แก่ ข้อความที่พูดคุยกัน, การแจ้งราคาทางอินบ็อกซ์ รวมถึงบัญชีธนาคารของคนขาย เพื่อความสะดวกต่อการนำจับ สามารถแจ้งข้อมูล หรือร้องเรียนได้ที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ อีเมล์ 1569@dit.go.th หรือสายด่วน 1569 คกก.วัตถุอันตรายไม่ทบทวนแบน 'พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส'          28 ก.ย. 2563 ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเสียงส่วนใหญ่มีมติไม่ทบทวนแบน 'พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส' เนื่องจากเพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2563 ที่ผ่านมา และน่าจะเป็นครั้งสุดท้ายที่พูดเรื่องแบนหรือไม่แบนสารเคมี 2 ตัวนี้ ทั้งนี้ กรรมการที่อยู่ในห้องประชุม 24 คน มีผู้เห็นด้วยกับการทบทวนมติ 4 คน และไม่เห็นด้วย 20 คน ที่ประชุมจึงมีมติโดยเสียงส่วนใหญ่ว่าไม่สมควรที่จะออกประกาศยกเลิกการใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เนื่องจากประกาศเพิ่งมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมาและมีการฟ้องคดีอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครอง จึงมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรและกระทรวงสาธารณสุขนำข้อมูลจากคณะกรรมการไปพิจารณาและรายงานคณะกรรมการต่อไป         นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ครั้งที่ 3-2/2563 กล่าวว่า เมื่อมีมติให้แบนสารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสจะต้องมีการหาสารเคมีทางการเกษตรหรือสารทางเลือกเข้ามาทดแทน เพราะสารเคมี 2 ชนิดนี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และน่าจะเป็นครั้งสุดท้ายที่จะพูดถึงเรื่องการแบนหรือไม่แบนสารเคมี 2 ตัวนี้ คนไทยเสียชีวิตด้วยมะเร็งลำไส้ใหญ่เพิ่ม 2.4 เท่าใน 10 ปี          สสส. เผยข้อมูลสำคัญ พบแนวโน้มคนไทยเสียชีวิตด้วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ในรอบ 10 ปี เพิ่มขึ้น 2.4 เท่า คนเมือง-กรุงเทพฯ–ภาคกลาง เสี่ยงเสียชีวิตสูงสุด เผยกินผัก-ผลไม้ 400 กรัม/วัน ธัญพืชไม่ขัดสี ช่วยลดเสี่ยง แพทย์ชี้สาเหตุเกิดจาก “พันธุกรรม-พฤติกรรม-โรค” แนะปรับพฤติกรรมการกิน ตรวจคัดกรองก่อนเกิดอาการ        ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สถิติสถานการณ์สุขภาพคนไทย 10 ปีย้อนหลังรายเขตสุขภาพ ระหว่าง พ.ศ. 2552–2561 พบว่า คนไทยมีแนวโน้มเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงขึ้น 2.4 เท่าทั้งเพศหญิงและชาย         ปี 2552 อัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ในเพศชาย อยู่ที่ 3.6 คนต่อแสนประชากร เพิ่มขึ้นเป็น 8.9 คนต่อแสนประชากรในปี 2561 เช่นเดียวกับเพศหญิง ในปี 2552 อยู่ที่ 2.8 คนต่อแสนประชากร เพิ่มขึ้นเป็น 6.7 คนต่อแสนประชากรในปี 2561         ที่น่าสนใจคือคนในเขตเมืองมีแนวโน้มเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้สูงขึ้น โดยเฉพาะในเขต กทม. ที่มีจำนวนมากที่สุด 15.1 คนต่อแสนประชากร ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1.9 เท่าในรอบ 10 ปี ตามด้วยภาคกลาง 10.2 คนต่อแสนประชากร ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 2.4 เท่า         การปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ บริโภคผักและผลไม้อย่างน้อยวันละ 400-600 กรัม การบริโภคพืชที่เรียกว่า “โฮลเกรน” หรือธัญพืชเต็มเมล็ดที่ไม่ผ่านการขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ลูกเดือย ช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักได้เช่นกัน นอกจากนี้การออกกำลังกายจะช่วยระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น องค์กรผู้บริโภคเตรียมฟ้อง สปน.เหตุยื้อไม่เร่งเกิด “สภาองค์กรผู้บริโภค”          27 กันยายน 2563 สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุการจดแจ้งองค์กรผู้บริโภคเพื่อเตรียมพร้อมเป็นสภาองค์กรผู้บริโภคนั้นใช้ระยะเวลาดำเนินการล่วงมาเกือบ 15 เดือน นับตั้งแต่การยื่นจดแจ้งวันแรกเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2562 ขณะนี้มีจำนวน 144 องค์กรที่ผ่านการจดแจ้งแล้ว เหลืออีกเพียง 6 องค์กรตามกฎหมายกำหนด โดยสาเหตุที่ล่าช้าส่วนหนึ่งเพราะระเบียบอันซับซ้อนของสำนักงานปลัดสำนักงานนายกรัฐมนตรี หรือ สปน. ดังนั้นต่อจากนี้ 7 วันหากกระบวนการต่างๆ ยังไม่คืบหน้า องค์กรผู้บริโภคได้เตรียมการฟ้องสปน. ต่อศาลปกครอง         “ถึงแม้จะเหลืออีกเพียง 6 องค์กร ก็ยังมีความจำเป็นต้องเร่งรัดสปน. เพราะสถานการณ์ที่ผ่านมาทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจ มองว่ากระบวนการตรวจสอบของ สปน.อาจเข้าข่ายการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรหรือไม่ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจึงขอให้สปน. เร่งรัดการออกประกาศรับรององค์กรและเร่งประกาศรายชื่อองค์กรผู้บริโภคในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของ สปน.หรือออก อกผ3 โดยเร็ว หากพบว่ายังล่าช้านานเกินกว่า 7 วัน องค์กรผู้บริโภคในแต่ละจังหวัดได้เตรียมการที่จะฟ้องสปน. ต่อศาลปกครองทันที          ทั้งนี้ พ.ร.บ. ว่าด้วยการจัดตั้งสภาขององค์กรผู้บริโภค พ.ศ. 2562 กำหนดให้องค์กรผู้บริโภคมีหน้าที่ต้องขึ้นทะเบียนกับนายทะเบียนจังหวัดและนายทะเบียนกลาง กำหนดให้องค์กรผู้บริโภคจำนวน 150 องค์กร สามารถเข้าชื่อยื่นจดแจ้งการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค กับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ ตามมาตรา 9  และรวบรวมสมาชิกที่ผ่านการจดแจ้งได้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งขององค์กรผู้บริโภค ถึงจะสามารถยื่นจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคได้ และสภาองค์กรผู้บริโภคนั้นต้องรีบดำเนินการจัดทำข้อบังคับและรับฟังความคิดเห็นก่อนการประกาศใช้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 กระแสต่างแดน

ลดช่องว่าง    สถิติเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ประเทศจีนมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 940 ล้านคน หรือร้อยละ 20 ของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งโลกรายงานจากศูนย์ข้อมูลสารสนเทศและโครงข่ายอินเทอร์เน็ตแห่งชาติจีน ยังบอกอีกว่าอัตราการเข้าถึง อินเทอร์เน็ตของจีนสูงถึงร้อยละ 67 (ค่าเฉลี่ยของทั้งโลกคือร้อยละ 62) และที่สำคัญกว่านั้นคือช่องว่างหรือความได้เปรียบเสียเปรียบทางดิจิทัลระหว่างคนเมืองกับคนชนบทลดลงอย่างมาก เพราะร้อยละ 98 ของหมู่บ้านในชนบทห่างไกลมีอินเทอร์เน็ตผ่านไฟเบอร์ออปติกให้ชาวบ้านใช้แล้วขณะนี้จีนมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนการสอนออนไลน์ไม่ต่ำกว่า 380 ล้านคน และยังมีการใช้ประโยชน์ในการทำงานจากบ้าน หรือ “พบแพทย์” ออนไลน์เพื่อขอคำปรึกษามากขึ้นสาเหตุที่ชาวจีนทุกเพศทุกวัยหันมาใช้อินเทอร์เน็ตกันมากขึ้นก็เพราะการระบาดของโควิด-19 นั่นเอง มีลูก มีรางวัล    รัฐบาลสิงคโปร์พยายามแก้ปัญหาอัตราการเกิดต่ำมากว่าหนึ่งทศวรรษ ด้วยแผนให้เงินช่วยเหลือ 10,000 เหรียญสิงคโปร์ (ประมาณ 230,000 บาท) กับคู่สามีภรรยาที่มีบุตร แถมด้วยโบนัสอื่นๆ อีกมากมาย แต่ดูเหมือนจะยังไม่ประสบความสำเร็จข้อมูลปี 2018 ระบุว่าค่าเฉลี่ยการให้กำเนิดบุตรของสิงคโปร์อยู่ที่ 1.14 คนต่อผู้หญิง 1 คน และปีนี้การระบาดของโควิด-19 ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีกเมื่อคู่แต่งงานพากันยกเลิกแผนมีบุตร เพราะกังวลเรื่องปัญหาการเงินหรือการถูกเลิกจ้าง รัฐบาลจึงเตรียมประกาศแพ็กเกจใหม่ที่น่าดึงดูดใจกว่าเดิมเรื่องราวช่างตรงข้ามกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย ซึ่งมีประชากรหนาแน่นเป็นอันดับสี่ของโลกคาดว่าจะมีจำนวนเด็กเกิดมากกว่าปกติถึง 400,000 คน ในขณะที่ฟิลิปปินส์ซึ่งปัจจุบันมีประชากรไม่ต่ำกว่า 108 ล้านคน มีแนวโน้มจะมีเด็กเกิดใหม่อีก 2.6 ล้านคน หากมาตรการล็อกดาวน์ยังมีอยู่จนถึงสิ้นปี คนท้องถิ่นต้องมีที่อยู่    การขยายตัวของการท่องเที่ยวและแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นมาเป็นสื่อกลางระหว่าง “เจ้าของบ้าน” ในเมืองยอดนิยมกับบรรดานักท่องเที่ยวที่ต้องการประหยัดเงิน ทำให้คนท้องถิ่นที่ต้องการหาที่อยู่ใกล้ที่ทำงานหรือที่เรียนกลายเป็นกลุ่มที่ “ไร้ที่พักอาศัย” เพราะไม่สามารถจ่ายค่าเช่าห้องซึ่งแพงขึ้นได้เทศบาลของ 22 เมืองยอดนิยมในยุโรปจึงรวมตัวกันเรียกร้องให้สหภาพยุโรปออกกฎระเบียบควบคุมแพลตฟอร์มหรือแอปฯ อย่าง Airbnb ให้แชร์ข้อมูลกับรัฐบาลท้องถิ่น ตามกฎหมายว่าด้วยบริการดิจิทัลกลุ่มพันธมิตรเมืองในยุโรป (Eurocities Alliance) ต้องการให้เทศบาลสามารถกำกับดูแลได้ ว่าเจ้าของบ้านไปขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการหรือไม่  หรือมีรายใดปล่อยเช่าห้องพักต่อปีกับแอปฯ เหล่านี้เกินจำนวนวันที่ได้รับอนุญาตหรือเปล่า และแอปฯ ต้องร่วมรับผิดชอบหากเกิดการฝ่าฝืนจะอ้างว่าเป็นเพียงตัวกลางไม่ได้เมืองในพันธมิตรดังกล่าวได้แก่ ลอนดอน ปารีส มิลาน เบอลิน เวียนนา พอร์โต เฮลซิงกิ บาเซโลนา และอัมสเตอร์ดัม เป็นต้น เตรียมเลิกรถใช้น้ำมัน    แคลิฟอร์เนียซึ่งเป็นรัฐที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในอเมริกา (39.5 ล้านคน) ออก “คำสั่งผู้บริหาร” ห้ามใช้รถที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงจากฟอสซิล ภายในปี 2035 แน่นอนว่าคำสั่งนี้ไม่ถูกใจค่ายรถยนต์และสร้างความหงุดหงิดให้ลุงทรัมป์เป็นอย่างมาก แต่ผู้ว่าการรัฐฯ เขาก็เล่นใหญ่ ถึงกับเซ็นคำสั่งดังกล่าวบนฝากระโปรงรถพลังงานไฟฟ้ารุ่น Ford Mustang Mach E ออกสื่อมันเสียเลย แต่ก็ยังต้องรอลุ้นกันต่อไปว่าคำสั่งนี้จะถูกล้มล้างโดยรัฐบาลหรือไม่  นอกจากการแบนรถใช้น้ำมันแล้ว แคลิฟอร์เนียยังมีแผนพัฒนาการขนส่งระบบราง การปรับปรุงทางเท้า และทางจักรยาน  กว่าร้อยละ 50 ของมลภาวะที่เกิดขึ้นในแคลิฟอร์เนียมาจากการเดินทางขนส่ง จึงตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกให้เหลือเพียงร้อยละ 80 ของปริมาณทีเกิดขึ้นเมื่อ 30 ปีก่อน ภายในปี 2050นอกจากมลภาวะบนท้องถนนแล้ว ปีนี้แคลิฟอร์เนียยังเผชิญกับสภาพอากาศเลวร้ายเพราะไฟป่าที่ กินพื้นที่ถึง 14,600 ตารางกิโลเมตรอีกด้วย ไม่ขาดก็เกิน    ในปี 2018 อินโดนีเซียใช้เงินถึง 155,000 ล้านเหรียญเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพ ซึ่งมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับ “อาหาร” โดยร้อยละ 48 เป็นความเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน ในขณะที่ร้อยละ 26 เป็นปัญหาการขาดอาหารในเด็ก ร้อยละ 20 เกิดจากมลภาวะ ที่เหลืออีกร้อยละ 6 คือการได้รับสารอันตรายจากยากำจัดศัตรูพืชนักวิจัยจากโครงการแนวร่วมอาหารและการใช้ที่ดิน (Food and Land Use Coalition) บอกว่ารัฐบาลยังใช้เงินอีก 137,000 ล้านเหรียญเพื่อลดผลกระทบของการเกษตรที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 55 เพื่อแก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจก ร้อยละ 40 แก้ปัญหาภัยแล้ง และอีกร้อยละ 5 ในการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพและนักวิจัยยังขอร้องให้คนอินโดนีเซียปรับปรุงนิสัยการบริโภค ด้วยการกินผักให้มากขึ้น (คนอินโดฯ กินผักเพียงวันละ 122 กรัม จากปริมาณที่แนะนำ 300-400 กรัม) และบริโภคน้ำตาลให้น้อยลง (จากมากกว่า 50 กรัมควรเหลือเพียงไม่เกิน 40 กรัม) เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 เป็นไปได้ไหม เก็บภาษีเกลือ

หมอ ห่วงคนไทยกินเค็มเกินความต้องการของร่างกายถึง 2 เท่า ทำเจ็บป่วย โรคเอ็นซีดีเพียบ ชี้การรณรงค์ ขอความร่วมมือลดเติมเกลือในอาหาร ยังไม่ได้ผล รอโควิดซาจ่อเก็บ “ภาษีโซเดียม” ยันทำเพื่อสุขภาพปัดหารายได้            ปัจจุบันสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก คือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือกลุ่มโรคเอ็นซีดี ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม โดย ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ อาจารย์สาขาวิชาโรคไต คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีและประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็มเปิดเผยว่า ปัจจุบันคนไทยกินอาหารรสชาติค่อนข้างเค็มตอนนี้เกือบๆ 2 เท่าของความต้องการของร่างกาย หรือประมาณสูงถึง 4,351 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งจากการศึกษาทั่วประเทศพบว่ามีการบริโภคเค็มกันทุกภูมิภาค มากที่สุดคือภาคใต้ แต่สูงกว่ากันไม่มาก เช่น ประชากรจากภูมิภาคอื่นๆ บริโภคเค็ม 100 ส่วน ภาคใต้จะรับประทาน 110 ส่วน เป็นต้น         ทั้งนี้ที่มาของการได้รับโซเดียมนั้นมาจากหลายแหล่งในกลุ่มอาหารที่รับประทานเข้าไป ทั้งจากอาหารที่ปรุงขึ้นมาและโซเดียมที่ได้รับมาตามธรรมชาติ ซึ่งโซเดียมที่อยู่ในอาหารธรรมชาติพบเล็กน้อยประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ เช่น เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ข้าว ส่วนประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ มาจากเครื่องปรุงเช่น เครื่องปรุงที่มีความเค็มคือ เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊วขาว ปลาร้า กะปิ น้ำพริกต่างๆ เกลือจากการถนอมอาหาร นอกจากนี้ก็โซเดียมที่ไม่เค็ม ในรูปของผงชูรสหรือโมโนโซเดียมกลูตาเมต ผงชูรส ซุปก้อน รวมถึงผงฟูที่ใส่ขนมปัง เบเกอรี่ก็มีโซเดียมเช่นเดียวกัน         และจากการสำรวจของภาครัฐโดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข หรือการสำรวจของภาคเอกชน คือนีลสันพบข้อมูลตรงกันว่าคนไทยรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น จากเดิมประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ก็เพิ่มเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ มีการพึ่งพาอาหารจากร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต อาหารข้างทาง ตามตลาดนัด ข้าวแกงและยังพบแนวโน้มรับประทานอาหารจานด่วน เช่น แฮมเบอร์เกอร์ ไส้กรอก พิซซ่า มากขึ้นด้วย        รวมถึงความนิยมอาหารญี่ปุ่น อาหารจีน ซึ่งมีรสชาติค่อนข้างเค็มมาก โดยเฉพาะอาหารญี่ปุ่นจะเค็มกว่าอาหารทั่วไป ตั้งแต่น้ำแกงราเมนที่ใส่ทั้งเกลือและซีอิ๊ว ซอสปรุงรสต่างๆ แถมยังรับประทานกับน้ำจิ้มอีก ทั้งหมดนี่คืออีกแนวโน้มที่น่าเป็นห่วง ตลอดจนขนมกรุบกรอบที่เด็กรับประทาน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่ง 1 ซองมีปริมาณโซเดียมสูงเกินความต้องการของคน 2-3 เท่า เมื่อเทียบข้าว 2 จาน         ผศ.นพ.สุรศักดิ์ ระบุว่า จากพฤติกรรมการรับประทานอาหารของคนไทยที่กล่าวมานั้น เป็นแนวโน้มที่น่ากังวลส่งผลให้อัตราการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มสูงขึ้น ทั้งความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจ เบาหวาน ตลอดจนอัมพฤกษ์ อัมพาต ข้อมูลจากระทรวงสาธารณสุขพบว่า คนไทยป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังสูงถึง 7,600,000 คน เสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจวายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดปีละเกือบ 40,000 คน โรคอัมพฤกษ์อัมพาตมากกว่า 500,000 คน แนวโน้มการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์ และไม่มีน้อยลงเลย         ที่น่าเป็นห่วงเพราะสังเกตว่าคนที่ป่วยด้วยโรคเหล่านี้อายุน้อยลงเรื่อยๆ จากเมื่อก่อนคนจะเริ่มป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่อายุ 30-35 ปี เป็นอายุกลางคนแล้ว โดยเริ่มความดันโลหิตสูง แต่ปัจจุบันวัยรุ่นพอเรียนจบความดันสูงน้ำหนักตัวเยอะ ยิ่งถ้าเราเริ่มกินเค็มแต่เด็กจะเป็นความดันโลหิตสูงเร็ว ไม่ถึง 20 ปี ก็เจอได้ ซึ่งที่ตนเคยเจออายุน้อยสุดคือ 18 ปี ทั้งนี้ไม่เกี่ยวว่าคนนั้นอ้วนหรือไม่อ้วน ทุกคนสามารถเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้ หากรับประทานเค็มมากความดันก็สามารถขึ้นได้ แต่คนไข้ที่อ้วนมักพบว่ามีการกินหวานร่วมด้วย ยิ่งทั้งหวานทั้งเค็ม 2 อย่างก็จะอันตรายมากเข้าไปอีก         ผศ.นพ.สุรศักดิ์  ได้อธิบายกลไกการรับประทานอาหารที่มีความเค็ม มีโซเดียมสูงมีผลต่อการเกิดโรคว่า ความเค็มหรือโซเดียมจะก่อให้เกิดโรคอันดับแรกคือ โรคความดันสูง เพราะเวลากินเค็ม กินเกลือเข้าไปนั้น ธรรมชาติสร้างมาว่าต้องมีการขับออก ถ้าได้รับปริมาณมากเกินไปจะทำให้เกิดอันตรายกับร่างกาย ดังนั้นเพื่อที่จะขับเกลือที่เกินความจำเป็นนั้นออกจากร่างกายผ่านทางปัสสาวะ เพราะฉะนั้นความเค็มจะไปกระตุ้นสมองและสั่งการให้เกิดกระหายน้ำ  และเมื่อน้ำกับเกลือรวมกันกลายเป็นน้ำเกลือ ซึ่งน้ำเกลือจะเป็นตัวนำพาเลือดภายในหลอดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย         ทั้งนี้กลไกของมันคือ เม็ดเลือดจะเดินทางไปไม่ได้ ถ้าไม่มีน้ำเกลือพาไป แต่ถ้าค่าน้ำเกลือมีปริมาณมากเกินไปแรงดันในหลอดเลือดก็จะสูงขึ้น เรียกว่าความดันโลหิตสูง จะส่งผลทำให้หลอดเลือดนั้นเสื่อมเร็ว หรือถ้าทนไม่ได้เส้นเลือดก็จะแตก เช่น เส้นเลือดสมองแตกเป็นอัมพาตไป บางคนเส้นเลือดเกิดการอักเสบ หรือทนแรงไม่ไหวก็จะเสื่อม มีหินปูนเกาะ มีไขมันคอเลสเตอรอลไปเกาะ เกิดการอุดตันได้ เกิดเป็นหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย และหากไตทำงานหนักมากๆ เพราะมีหน้าที่ขับเกลือออกทางปัสสาวะ ไตก็จะเสื่อมเร็วเพราะเหตุว่าไตมีหน้าที่กรองน้ำกับเกลือออกไป ซึ่งการขับสิ่งเหล่านี้จะต้องใช้แรงดันเลือดเข้าไป พอมีแรงดันมากๆ หลอดเลือดที่ไตก็จะเสื่อม เกิดไตเสื่อม ไตวายในอนาคต         เพราะฉะนั้นการรับประทานอาหารรสเค็มจะทำให้เป็นโรคความดันมาก่อน ตามมาด้วยไต โรคหัวใจ และอัมพาต และยังตามมาด้วยโรคเบาหวานอีกด้วย สังเกตว่าถ้าป่วยความดันสูง 4-5 ปี หรือเมื่ออายุมากขึ้นจะเป็นเบาหวานตามมา เพราะคนที่รับประทานเค็มมากมักจะรับประทานรสหวานด้วย มีน้ำหนักขึ้น เช่น เวลารับประทานขนมกรุบกรอบก็ต้องกินกับน้ำหวาน กินอะไรก็ตามอาจจะตามด้วยน้ำอัดลมจะทำให้น้ำหนักตัวเยอะ ตามด้วยเบาหวาน ความดัน โรคไต ตามมาเป็นตระกูล         ผศ.นพ.สุรศักดิ์  ย้ำว่า การรับประทานอาหารที่มีรสชาติเค็มต่อเนื่องกันเป็นเวลานานราวๆ 5 ปี 10 ปี มีโอกาสสูงที่จะทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง อย่างไรก็ตามถ้ารับประทานอาหารเค็ม แต่ก็รับประทานอย่างอื่น รวมถึงออกกำลังกายสม่ำเสมอ ก็จะช่วยได้บ้างแต่ไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ บางคนรับประทานเค็มแล้วดื่มน้ำตามมากๆ ก็จะขับเกลือออกผ่านทางปัสสาวะ ขับออกจากร่างกายได้เร็วขึ้นแทนที่จะคั่งค้างในร่างกาย แต่ไตก็ยังทำงานหนักอยู่ดี หรือบางวันกินบุฟเฟ่ต์ มื้อต่อมาอาจจะรับประทานจืดลงหน่อย ไปวิ่งออกกำลังกาย ไปเข้าฟิตเนสประมาณ 45 นาที ก็จะช่วยขับเกลือออกทางเหงื่อได้         บางวันบางคนรับประทานผัก ซึ่งในอดีตคนจะรับประทานน้ำพริก และมีผักแนมเยอะๆ ซึ่งในผักจะมีสารโปรแตสเซียมช่วยในการขับเกลือส่วนเกินออกไปได้ดีขึ้นเช่นกัน ช่วยให้ป้องกันความดันโลหิตสูงได้ ดังนั้นในอดีต ชีวิตคนต่างจังหวัดจึงไม่ค่อยเป็นความดันโลหิตสูงมากนักเพราะรับประทานผักเยอะ อีกทั้งยังทำงานกลางแจ้งเสียเหงื่อเยอะความดันจึงไม่ค่อยขึ้น แต่ปัจจุบันวิถีชีวิตคนเราเปลี่ยนไปเป็นชีวิตคนเมืองมากขึ้น ออกกำลังกายน้อยลงกินผักน้อยลงทำให้เป็นโรคสะสมโดยเฉพาะความดันโลหิตสูงโรคไตจะเข้ามาเยอะและอายุผู้ป่วยน้อยลงเรื่อยๆ          ผศ.นพ.สุรศักดิ์  บอกว่า เมื่อป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงแล้วหากไม่รักษา ใช้เวลาประมาณ 5-10 ปี ก็จะเริ่มมีปัญหาโรคไต แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับดีกรีด้วย ถ้าความดันโลหิตสูงมากก็มีโอกาสป่วยโรคไตเร็วขึ้น แต่ถ้าความดันโลหิตสูงน้อยหน่อยก็เป็นเป็นโรคไตช้า เช่น บางคนความดันโลหิตสูง 150 - 160  จะอยู่ได้ประมาณ 5 ปี ส่วนคนที่ 180 - 200 ภายใน 2-3 ปีก็เป็นโรคไตแล้ว ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความดันโลหิต         อย่างไรก็ตามสามารถป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ลดเค็ม ลดหวาน และออกกำลังกาย ถ้าน้ำหนักเยอะก็พยายามลดน้ำหนักลง และทานผักผลไม้เพิ่มขึ้นเพื่อช่วยสร้างสมดุลเรื่องเกลือและไม่สูบบุหรี่ เลี่ยงยาที่ทำให้ไตเสื่อมเร็ว เช่น ยาชุด ยาแก้อักเสบ แก้ปวดข้อต่างๆ ซึ่งทำให้ไตเสื่อมเร็ว         หลายคนอาจจะเข้าใจว่าบุหรี่มีผลต่อโรคปอดอย่างเดียว แต่ความจริงแล้วบุหรี่อันตรายมากกับทุกอวัยวะในร่างกาย ทำให้หลอดเลือดทั่วไปเสื่อมเร็ว เหมือนกับเวลาคนไข้ที่สูบบุหรี่มักจะเป็นโรคหัวใจเพราะหลอดเลือดหัวใจเสื่อม เป็นโรคไตก็เพราะหลอดเลือดไตเสื่อม โรคสมองก็เพราะบุหรี่ทำให้หลอดเลือดที่สมองเสื่อมและเป็นโรคปอดไปด้วย เพราะมีสารทำร้ายเนื้อเยื่อปอด เพราะฉะนั้นบุหรี่กับความเค็มมีความรุนแรงพอๆ กัน แต่ความเค็มยังพอมีวิธีแก้ด้วยการลดเค็ม แต่บุหรี่ไม่มีวิธีแก้เลย ต้องหยุดอย่างเดียว         ความเป็นไปได้ของการเก็บภาษีเกลือ         จากอันตรายที่มาจากการรับประทานอาหารที่มีความเค็ม หรือปริมาณโซเดียมสูง นำมาสู่ความพยายามผลักดันให้มีการออกกฎหมายเก็บภาษีโซเดียมขึ้นมา เรื่องนี้ ผศ.นพ.สุรศักดิ์  อธิบายว่า การรณรงค์ให้ประชากรลดการบริโภคเค็มถือว่ามีประโยชน์มาก ยกตัวอย่างที่ประเทศอังกฤษ ประเทศฟินแลนด์ มีการรณรงค์ทั่วประเทศให้ลดการบริโภคเค็มลดลง แค่ลดลงประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ ก็มีผลทำให้ลดการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตได้มาก ในอังกฤษพบว่าการรณรงค์ระยะเวลา 10 ปี ประชาชนสามารถลดการบริโภคความเค็มลดลง 15 เปอร์เซ็นต์ ส่งให้อัตราคนเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจลดลงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ อัตราการเสียชีวิตลดลงชัดเจน         เพราะฉะนั้นการรณรงค์ก็มีความสำคัญ แต่การรณรงค์อย่างเดียวมักไม่ค่อยได้ผล เพราะธรรมชาติคนมักจะติดกับรสชาติ หากบอกว่าการรับประทานรสเค็มมีความเสี่ยงป่วยเป็นโรคไตในอีก 10 ปีข้างหน้า ดังนั้นขอให้รับประทานรสจืดลงสักหน่อย แต่คนจะมองว่า “ฉันไม่เป็นหรอก ไม่กลัว อีกตั้งนานกว่าจะเป็น”  เพราะฉะนั้นการรณรงค์อย่างเดียวไม่ได้ประโยชน์ วิธีที่จะช่วยได้ ซึ่งในหลายประเทศทำอยู่ คือการปรับสิ่งแวดล้อมหรือปรับสูตรอาหาร ที่ขายในท้องตลาดให้มีความเค็มลดลง         ที่ผ่านมาประเทศไทยก็ทำวิธีนี้เช่นกัน โดยการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร ธุรกิจอาหารตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว ให้ช่วยลดปริมาณเกลือลงเพื่อทำให้ประชาชนสุขภาพดี อย่างน้อยคือ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปที่คนนิยมบริโภค มียอดจำหน่ายมากถึงวันละ  8 ล้านซอง ถ้าคนรับประทานวันละ 1 ซอง แสดงว่ามีคนรับประทานถึง 8 ล้านคน และคนเหล่านี้ก็คือคนที่ได้รับโซเดียมสูงมาก         เพราะฉะนั้น จึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการในการลดเกลือในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปลง เป็นการขอความร่วมมือ จะทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ ปรากฏว่าผู้ประกอบการลดปริมาณเกลือที่ใส่ได้น้อยมาก โดยให้เหตุผลว่าถ้าลดเกลือลงแล้วคนจะไม่ซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าผู้ประกอบการทุกบริษัทลดเกลือลงประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ 10 เปอร์เซ็นต์ทุกบริษัท คนก็จะต้องรับประทานของบริษัทที่เป็นเจ้าใหญ่อยู่แล้ว เพราะคนส่วนใหญ่ติดที่ยี่ห้อเดิม การลดปริมาณเกลือลง 5 เปอร์เซ็นต์ ลิ้นคนเราไม่สามารถจับได้         “ที่ผ่านมาเราขอให้เขาค่อยๆ ลดปริมาณเกลือลง ปีแรก 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งลิ้นคนเราจับรสชาติไม่ได้อยู่แล้ว หลังจากนั้นอีก 2 ปี ก็ขอให้ลดลงอีก 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ปรากฏว่าเขาทำไม่ได้ เพราะว่าต่างคนต่างไม่ยอมลด ก็เป็นที่มาว่าถ้าไม่ลดเกลือในอาหารลง ก็จะทำให้มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนที่บริโภค เพราะฉะนั้นถ้าลดไม่ได้ก็ต้องเก็บภาษี เหมือนภาษีน้ำหวาน”         ผศ.นพ.สุรศักดิ์  ระบุว่า หลักการจัดเก็บภาษีโซเดียมนั้น ไม่ได้จะเก็บภาษีผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จรูปทุกตัว แต่จะมีการกำหนดค่ามาตรฐานความเค็มเอาไว้ ผลิตภัณฑ์ใดที่มีความเค็มเกินเกณฑ์ที่กำหนดก็จะถูกเรียกเก็บภาษีดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันเมื่อดูจากข้อมูลผลิตภัณฑ์อาหารในท้องตลาดจะพบว่ามีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่จะโดนภาษี หรือคิดเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 3 ใน 4 จะไม่โดน หลักคือกลุ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กลุ่มโจ๊ก และขนมกรุบกรอบ         อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าการเก็บภาษีโซเดียมไม่ได้จะเก็บจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ทุกตัว แต่จะเก็บเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีความเค็มเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด ถ้าผู้ผลิตมีการปรับสูตรให้มีความเค็มเกินค่ามาตรฐานที่ตั้งไว้ ก็จะไม่ถูกเก็บภาษีแต่อย่างใด แต่ถ้ามีคนกังวลว่าหากผู้ผลิตที่ถูกเก็บภาษี จะหันไปขึ้นราคาผลิตภัณฑ์นั้น ส่วนที่ไม่ถูกเก็บภาษีก็จะราคาไม่แพง ดังนั้นถ้าดูตามพฤติกรรมของผู้บริโภคส่วนใหญ่ หรือประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ จะเลือกสินค้าตามราคา ตัวไหนราคาถูกก็จะซื้อตัวนั้น ดังนั้นผู้บริโภคก็มีทางเลือกว่าจะซื้อของที่มีราคาถูกและดีต่อสุขภาพ หรือว่าจะซื้อของแพงแถมยังเป็นภัยต่อสุขภาพ ผู้บริโภคมีสิทธิเลือก ทั้งนี้ไม่รวมเครื่องปรุงรส แต่อาจจะมีการออกคำเตือนเรื่องการบริโภคในปริมาณน้อยเพราะเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง         เพราะฉะนั้นจะคัดค้านไม่ให้มีการเก็บภาษีดังกล่าวโดยอ้างว่าจะทำให้บะหมี่ราคาแพงขึ้นทั้งแผงคงไม่ถูกต้อง เป็นข้ออ้างที่จะบ่ายเบี่ยง แต่ถ้ามีการขึ้นราคาทั้งหมดเท่ากับว่าเป็นการฉวยโอกาสขึ้นราคาเพื่อทำกำไร ซึ่งไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค จึงเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องมาควบคุมราคาเพื่อไม่ให้มีการเอาเปรียบผู้บริโภคได้         “การลดปริมาณเกลือที่ใส่ลงไปในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป ถ้าทำได้ ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกัน คือผู้ผลิตสามารถลดต้นทุนลงได้ อาจจะทำให้ขายดีขึ้นด้วย เพราะไม่ต้องไปขึ้นราคา ผู้บริโภคก็ลดปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคเอ็นซีดี ซึ่งเมื่อลดการเจ็บป่วยได้ ประเทศก็สามารถเซฟค่าใช้จ่ายในการรักษาได้”         ทั้งนี้ มาตรการภาษีไม่ใช่ว่าบังคับใช้ทันที แต่จะบังคับใช้ใน 3 ปีข้างหน้า 5 ปีข้างหน้า เพราะเข้าใจดีว่าก็ต้องให้เวลาผู้ประกอบการในการปรับตัว โดยค่อยๆ ลดเกลือลงมา ซึ่งถ้าลดเกลือลงมาแล้วผลิตภัณฑ์มีความเค็มไม่เกินค่าที่ตั้งไว้ก็ไม่ต้องเสียภาษีอีก ดังนั้นถือว่ากระทบน้อยมากและนี่เป็นมาตรการที่ต่างประเทศ เช่น ฮังการี ใช้มาก่อนแล้วพบว่าได้ผลดี  สินค้าเกือบทั้งหมดลดปริมาณเกลือลงโดยที่ไม่ต้องไปขอร้องกันอีก ผู้ประกอบการได้ประโยชน์จากการลดต้นทุน ไม่ต้องเสียภาษีและขายได้เยอะขึ้น เพราะราคาไม่แพง         สำหรับความคืบหน้าขณะนี้อยู่ในขั้นตอนทำความตกลงกับสภาอุตสาหกรรม กลุ่มผู้ผลิตอาหาร ประชุมกันมา 4-5 ครั้ง ดูแนวโน้มก็เข้าใจมากขึ้นว่าเราไม่ได้จะไปเก็บภาษีทั้งหมด ถ้าลดปริมาณเกลือลงมาก็จะไม่ถูกเก็บภาษี ข้อกำหนด หลักเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ได้มีการยกร่างเอาไว้หมดแล้ว แต่ยังไม่ได้ประกาศใช้ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด -19 จึงยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะออกมาตรการเก็บภาษีในช่วงนี้ รอให้สถานการณ์ดีขึ้นและทำความเข้าใจกับประชาชนและผู้ประกอบการก่อน        โดยอยากจะทำความเข้าใจอีกครั้งว่าการลดการบริโภคเกลือลงนั้น  มีความสำคัญสำหรับประชาชน เพราะทำให้คนป่วยน้อยลง ค่าใช้จ่ายถูกลง ค่ารักษาพยาบาลน้อยลง ถ้าขอความร่วมมือทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตให้บริโภคเกลือน้อยลง โดยมีระบบจัดเก็บภาษีเป็นการโน้มน้าว หรือชักจูงให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคกินอาหารที่มีความเค็มลดลงเพื่อผลดีต่อสุขภาพ ไม่ได้มีเจตนาจะไปเก็บเงินหารายได้ต่างๆ ถ้าทุกอย่างคนกินจืดลง ผู้ผลิตผลิตอาหารจืดลง ภาษีนี้อาจจะไม่ต้องใช้ก็ได้ ไม่กระทบค่าใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค คิดว่าเป็นมาตรการที่ทำให้สุขภาพของทุกคนดีขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 วอร์เรน บัฟเฟตต์

        คนที่ไม่ได้สนใจเรื่องการลงทุนในหุ้นเลยแม้แต่นิดเดียวอาจไม่รู้จักชื่อ วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) หรือชื่อเต็มๆ ว่า วอร์เร็น เอ็ดเวิร์ด บัฟเฟตต์ (Warren Edward Buffett) แต่กับคนที่คลุกคลีกับตลาดหุ้น ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนสไตล์ไหน ชื่อนี้คือสุดยอดนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (ไว้วันหลังจะพูดเรื่องนี้) ตลอดกาล         Berkshire Hathaway บริษัทของบัฟเฟตต์ เป็นบริษัทที่ลงทุนในบริษัทอื่นอีกที พูดง่ายๆ คือเขาใช้ Berkshire Hathaway เข้าซื้อหุ้นของบริษัทต่างๆ จากเวลาที่ผ่านมา มันพิสูจน์แล้วว่าสไตล์การลงทุนของเขาสร้างผลตอบแทนมหาศาลเพียงใด ปัจจุบันเขามีทรัพย์สิน 80.5 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ลองคูณเป็นเงินบาทดู         ทำให้เขาได้สมญานามว่า เทพพยากรณ์แห่งโอมาฮา         บัฟเฟตต์เป็นตัวอย่างของนักลงทุนที่ดีที่จะไม่เข้าไปยุ่งกับการลงทุนที่ตนเองไม่มีความรู้ ครั้งหนึ่งเขาไม่สนใจพวกหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีเอาเสียเลย แต่ปี 2016 เขาเข้าซื้อหุ้น Apple และซื้อเรื่อยมาจนถึงปี 2018 ถึงตอนนี้ เขาได้กำไรจากส่วนต่างราคาไปประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท นี่เฉพาะกำไรนะ         แสดงว่าก่อนที่บัฟเฟตต์จะตัดสินใจซื้อหุ้น Apple เขาต้องทำการบ้านมาอย่างดี ซึ่งเป็นวิธีการทำงานของเขาที่ทุกคนยอมรับ         “การลงทุนที่ดีที่สุดคือการลงทุนในตัวเอง”         “ถ้าคุณใช้อารมณ์ในการลงทุน คุณจะไม่มีวันทำมันได้ดี”         “จงกลัวในยามที่ทุกคนโลภและจงโลภในยามที่ทุกคนกลัว”         3 ประโยคของบัฟเฟตต์นี้ช่วยเตือนสติคนที่หวังจะรวยเร็วได้ดี โยงกับตอนที่แล้ว ‘Greed and Fear ความโลภและความกลัว’ การลงทุนเพื่อต่อยอดทรัพย์สินเป็นเรื่องท้ายๆ สิ่งแรกที่ต้องลงทุนก่อนคือความรู้ ไม่อย่างนั้นคุณจะเป็นแมงเม่าในกองไฟของตลาดหุ้น         ถ้าคุณเห็นหุ้นตัวนั้นนี้ขึ้น ทองคำราคาขึ้น แล้วปล่อยให้อารมณ์พาไป เท่ากับคุณไม่ได้ใช้เหตุผลในการลงทุนเลย ใช้ความโลภล้วนๆ สิ่งที่รออยู่ข้างหน้าอาจหมายถึงหายนะ         ส่วนประโยคสุดท้าย พูดอย่างย่นย่อคือเวลาที่ทุกคนต่างเทขายหุ้นเพราะความกลัว เป็นเวลาที่ดีที่คุณจะเข้าซื้อ เพราะคุณจะได้หุ้นราคาถูก แต่ในเวลาที่ใครๆ ก็แห่เข้าซื้อเพราะความโลภ เป็นเวลาที่คุณควรหยุดและเฝ้าดู เพราะหุ้นอาจจะแพงเกินไป         แต่ต้องหมายเหตุไว้ตรงนี้ว่า ไม่ใช่หุ้นทุกตัวที่คนแห่เทขาย แล้วคุณจะเข้าซื้อได้ ถ้าหุ้นที่ขายเป็นหุ้นไม่เอาอ่าวที่ถูกปั่นราคา เท่ากับไปรับมีดมาบาดมือ ดังนั้น หุ้นในที่นี้ของบัฟเฟตต์หมายถึงหุ้นที่ดี กิจการเข้มแข็ง         ระวัง! ความโลภและความกลัวให้ดี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ไม่น่ารัก

        เคยซื้อสินค้าหมดอายุกันหรือไม่ ถ้าเคย รู้หรือไม่ว่าเรามีสิทธิอะไรและควรจัดการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร หรือจะปล่อยผ่านเพราะคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ถ้าอย่างนั้นลองดูผู้บริโภครายนี้กันว่าเมื่อเขาซื้อสินค้าหมดอายุแล้วเขามีวิธีจัดการปัญหาอย่างไร และสุดท้ายจะได้รับการชดเชยเยียวยาหรือไม่         บุปผามักจะเดินเล่นที่ย่านสยามเป็นประจำ วันหนึ่งไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นล่างของห้างใหญ่แถวนั้น ก็เดินเลือกซื้อสินค้าหลายอย่างทั้งของกินและของใช้เมื่อกลับมาบ้านเธอก็นำของต่างๆ จัดเก็บเข้าที่ แต่ก็พบสิ่งผิดปกติบางอย่าง ซีอิ๊วขาวที่เธอซื้อมาหมดอายุไปแล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ บุปฝานับนิ้วคำนวณเวลาตอนนี้เดือนสิงหาคมงั้นเท่ากับว่าหมดอายุไปแล้วตั้ง 6 เดือนแล้วนะสิ         เธอแปลกใจว่าซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ระดับนี้นำสินค้าหมดอายุตั้ง 6 เดือน มาขายได้อย่างไร เมื่อเกิดปัญหาเธอค้นหาในอินเทอร์เน็ตว่าเธอจะสามารถจัดการปัญหานี้ได้อย่างไรบ้าง พบว่ามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค น่าจะมีคำตอบให้ เธอจึงสอบถามมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคแนะนำว่า การขายของหมดอายุของซูเปอร์มาร์เก็ต อาจเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 29 ซึ่งถือได้ว่าการจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภค และบทลงโทษอยู่ในมาตรา 61 ระบุให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         นอกจากผิดพ.ร.บ. อาหาร แล้ว ผู้ร้องยังสามารถขอคืนสินค้า และเรียกค่าชดเชยเยียวยาได้ โดยผู้ร้องสามารถทำได้ดังนี้        1. ถ่ายรูป (ฉลากโดยเฉพาะวันผลิต – วันหมดอายุและตัวสินค้า) พร้อมเก็บบรรจุภัณฑ์ของสินค้าและใบเสร็จจากร้านที่ซื้อไว้เป็นหลักฐาน (ให้ถ่ายสำเนาใบเสร็จเก็บไว้ด้วย)         2. นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจท้องที่เพื่อเป็นหลักฐาน         3. ติดต่อแหล่งจำหน่ายอาหารที่ซื้อมา ซึ่งต้องคิดให้ดีว่าเราต้องการให้เขาดำเนินการอย่างไร เพื่อแก้ไขปัญหา เช่น ขอเปลี่ยนสินค้า ขอเงินคืนเพื่อเป็นการเยียวยาค่าเสียหาย จ่ายค่าเสียเวลา ค่าขาดประโยชน์ ค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับผู้ประกอบการ หรือให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติและขอโทษต่อผู้เสียหายและสาธารณะ เป็นต้น         4. หากไม่สามารถตกลงกันได้ ให้ทำหนังสือยื่นกับผู้ประกอบการ บรรยายสรุปปัญหาที่พบพร้อมข้อเรียกร้อง โดยส่งถึงประธานกรรมการบริหารหรือตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่า         ปล. ต้องเก็บใบรับเงินทุกครั้งที่มีการซื้อ เพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันการซื้อและระบุตนเป็นผู้เสียหาย ถ้าไม่มีใบสำคัญรับเงินเป็นหลักฐาน สิ่งที่สามารถเรียกร้องได้โดยทั่วไปคือการเปลี่ยนสินค้าชิ้นใหม่ ทั้งนี้ขึ้นกับการต่อรองกับผู้ขายและต้องดำเนินการทันทีพี่พบว่าได้พบหรือบริโภคอาหารหมดอายุ         ศูนย์พิทักษ์ฯ ช่วยคุณบุปผาด้วยการทำหนังสือถึงซูเปอร์มาร์เก็ต ขอให้แก้ไขปัญหาและเยียวยาความเสียหาย ต่อมาทางห้างสรรพสินค้าดังกล่าวได้ดำเนินการตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นความบกพร่องของพนักงานบริษัทซีอิ๊ว เพราะว่าเซลล์ต้องดูแลรับผิดชอบในส่วนนี้ บริษัทซีอิ๊วมีหน้าที่ในการดูแลเบิกเติมและจัดเรียงสินค้าเอง ดังนั้นทางซูเปอร์มาร์เก็ตจึงไม่ได้ดูแลส่วนนี้ ทราบต่อมาอีกด้วยว่า ได้มีการทำหนังสือเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรพร้อมแจ้งให้บริษัทต้นสังกัดทราบ ซึ่งทางบริษัทซีอิ๊วแจ้งว่าลงโทษพนักงานที่บกพร่องในหน้าที่แล้ว          อย่างไรก็ตามห้างสรรพสินค้าขอชดเชยเยียวยาความเสียหายเป็น Gift voucher ของห้างฯ มูลค่า 5,000 บาท และสินค้าสนับสนุนจากบริษัทจำนวน 2 ลัง ซึ่งคุณบุปผาขอเปลี่ยนจาก Gift voucher เป็นเงินสด เพราะไม่มั่นใจในการซื้อสินค้าในห้างนี้อีก หลังจากนั้นห้างก็ส่งซีอิ๊วมาให้ 2 ลัง และเงียบหายไป เมื่อสอบถามเรื่องเงินชดเชยเยียวยาห้างก็ไม่มีคำตอบ คุณบุปผาได้นำซีอิ๊วไปบริจาคยังสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า เพราะก็ไม่ได้อยากได้เงินหรือสิ่งของ เพียงแต่ต้องการให้ห้างฯ พัฒนาระบบการตรวจสอบสินค้าหมดอายุไม่นำมาขายให้ผู้บริโภคอีก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 อย่าซื้ออุปกรณ์จัดฟันเถื่อน

        จัดฟันถ้าไม่ได้ทำด้วยทันตแพทย์จะมีความเสี่ยงสูง ผู้บริโภคพึงระวัง แต่เพราะช่องทางการค้าขายวัสดุอุปกรณ์การทำฟันหรือจัดฟันแฟชั่นนั้นเข้าถึงง่าย จึงมีหลายคนอยากทดลอง รายนี้ร้องเรียนเข้ามาเพราะสินค้าและบริการขายมีปัญหา (ถือว่าโชคดีที่ยังไม่ถึงขั้นสุขภาพฟันเสียหาย) เรามาดูกันว่าเกิดอะไรขึ้น        คุณพลอยเห็นเพจจัดฟันแฟชั่น ชื่อ เพจโกดัง Cute smile ฟันสวย มีคนติดตามเกือบแสนคน จึงสั่งซื้อรีเทนเนอร์จากเพจดังกล่าว เมื่อโอนเงินไปแล้ว ได้รับผงสำหรับพิมพ์ฟันส่งมาเพื่อให้ลูกค้าพิมพ์ฟันแล้วส่งกลับไป       ครั้งแรก “ก็ทำตามคลิปวิดีโอแล้วทุกอย่าง” แต่ไม่สำเร็จ คุณพลอยเลยต้องสั่งใหม่อีกรอบ ซึ่งครั้งนี้ตนเองคิดว่าโอเคแล้ว แต่พอส่งไปทางเพจบอกว่า ไม่ผ่าน เลยวิตกว่าตนเองต้องทำพิมพ์ฟันอีกกี่ครั้งกันถึงจะผ่าน เลยแจ้งทางเพจว่า “ขอเงินคืนนะคะ” เพราะทำแล้วไม่ผ่านทั้งที่ทำตามคู่มือทุกอย่างแล้ว        แต่งานนี้เพจบอกว่า ไม่มีกฎการคืนเงิน คุณพลอยจึงปรึกษามาว่าทำอย่างไรดี แนวทางการแก้ไขปัญหา        ลักษณะการขายสินค้าของทางเพจนั้นผิดกฎหมาย ศูนย์ฯ จึงทำหนังสือแจ้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อให้จัดการเพจดังกล่าวตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 1/2561  เรื่องห้ามขายสินค้าอุปกรณ์จัดฟันแฟชั่น อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562  มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 600,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ พร้อมสำเนาหนังสือร้องเรียนถึงทันตแพทยสภา       ต่อมาได้รับแจ้งว่า เพจดังกล่าวเป็นเพจที่มีถิ่นฐานอยู่นอกราชอาญาจักรไทย แต่แอดมินหรือเจ้าของเพจนั้น คือนายวีระยุทธ กลิ่นหอม (คนที่คุณพลอยโอนเงินสั่งซื้อสินค้า) เขาเป็นผู้ต้องหาพร้อมนายอนุพล เชื้อโชติ ที่ร่วมกันผลิตลวดและอุปกรณ์ดัดฟันแฟชั่น ซึ่งขณะนี้ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว           ข่าว บุกจับ แหล่งผลิตเหล็กดัดฟันแฟชั่นเถื่อน        https://mgronline.com/local/detail/9620000087583

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 ชมโครงการเห็นเป็นสวนหย่อม ต่อมากลายเป็นบ่อบำบัดน้ำเสีย

        ต่อกันด้วยเรื่องบ้านอีกสักเรื่อง เป็นบทเรียนสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อบ้านจัดสรร ท่านต้องเพิ่มความรอบคอบ ไม่เพียงเฉพาะเรื่องคุณภาพของบ้าน แต่ต้องดูเรื่องสภาพแวดล้อมรอบๆ บ้านด้วย อย่าด่วนตัดสินใจ         คุณสายใจร้องเรียนเข้ามาว่า ตนเองซื้อบ้านในโครงการหนึ่ง เหตุจากขับรถผ่านไปเห็นป้ายโฆษณาที่เชิญชวนด้วยข้อความที่น่าสนใจ จึงเลี้ยวรถเข้าไปในโครงการดังกล่าว จากการพูดคุยกับพนักงานขาย ซึ่งให้ข้อมูลดีๆ (ตอนนั้น) มากมาย ทั้งมีการนำชมบ้านซึ่งกำลังก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จที่ยังไม่ได้จำหน่ายอีกหลายหลัง “ดิฉันสนใจหลังหนึ่ง ซึ่งอยู่สุดซอยเป็นบ้านสองชั้น สร้างไปแล้วกว่า 80 % จึงสอบถามราคาและรายละเอียด พนักงานขายเชียร์ว่าหลังนี้ดีมาก ทำเลดีมาก ติดสวนของโครงการฯ ที่อยู่สุดซอย พื้นที่ตรงข้ามบ้านก็ปลูกหญ้าเขียวสวย ร่มรื่นมีต้นไม้มากพอสมควร ไม่มีแววว่าจะก่อสร้างอะไร พนักงานก็บอกว่าเป็นสวน”   ทั้งหมดนี้ตรงใจคุณสายใจเพราะกำลังอยากได้บ้านที่ค่อนข้างสงบร่มรื่นเนื่องจากจะให้เป็นบ้านพักของคุณแม่ จึงตัดสินใจซื้อบ้านหลังดังกล่าว โดยโอนเงินจองเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 และทำสัญญาพร้อมโอนบ้านในเดือนมิถุนายน ปีเดียวกัน        เมื่อเข้ามาอยู่อาศัยได้ประมาณ 1 ปี พบว่า ที่เคยเห็นเป็นสวนหย่อมกลับกลายเป็น บ่อบำบัดน้ำ มีการนำเครื่องจักรมาวางไว้รระเกะระกะ อีกทั้งน้ำที่พักไว้ก็เน่ามีสีดำ มีขยะมากมาย เมื่อตนเองนำเรื่องไปสอบถามกับโครงการ ได้คำตอบว่า ไม่ใช่บ่อบำบัดเป็นเพียงบ่อน้ำธรรมดา ซึ่งตนเองคิดว่าไม่ใช่แน่ อีกทั้งยังมีคนจำนวนหนึ่งที่ผ่านเข้ามาในหมู่บ้านใช้เป็นที่แวะเวียนเข้าไปปัสสาวะ จับกลุ่ม อีกทั้งอุปกรณ์ต่างๆ ที่วางไว้ก็เริ่มเปิดใช้งาน ส่งเสียงดังรบกวนตนเองและคนในบ้าน         “จากเดิมที่คิดว่าจะเป็นบ้านที่สงบเงียบจึงลงทุนไปถึง 16 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่สะสมมาทั้งชีวิต ตอนนี้ทุกคนในบ้านปวดหัวอยู่ไม่สงบสุข เสียงดังของเครื่องจักรรบกวนมาก พนักงานก็เชียร์แต่ว่าพื้นที่ตรงข้ามบ้านเป็นสวน ไม่เคยให้ข้อมูลว่าจะเป็นบ่อบำบัดน้ำเสียเลย อย่างนี้ตนเองจะทำอะไรได้บ้างไหม”   แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อสอบถามถึงความต้องการในส่วนของผู้บริโภค คุณสายใจต้องการให้ทางโครงการฯ ซื้อบ้านคืนไป พร้อมชดเชยค่าเสียหายให้บางส่วน “ตอนนี้ไม่อยากอยู่บ้านนี้แล้ว” ถ้าจะประกาศขายก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะมีใครซื้อไหม เพราะสภาพแวดล้อมไม่ดีแบบนี้         เบื้องต้นเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้เจรจากันก่อน จึงเชิญผู้ร้องและตัวแทนโครงการเข้ามาไกล่เกลี่ยเพื่อหาข้อตกลง ผู้ร้องเพิ่มเติมว่าถ้าไม่ซื้อบ้านคืนทางโครงการย้ายบ่อบำบัดได้ไหม ทั้งนี้ตัวแทนของโครงการปฏิเสธข้อเสนอของฝ่ายผู้บริโภคโดยอ้างว่า แม้พนักงานขายไม่ได้บอกว่า พื้นที่ตรงข้ามเป็นบ่อบำบัดน้ำเสีย แต่ผู้บริโภคเข้าไปดูภายในโครงการหลายครั้ง จะต้องเห็นอยู่แล้วว่าพื้นที่ตรงข้ามเป็นบ่อบำบัดน้ำเสียและเมื่อได้ทดสอบวัดเสียงหน้าบ้านคุณสายใจก็พบว่า เสียงดังในระดับ 40 เดซิเบลเท่านั้น ซึ่งทางผู้บริโภคแย้งว่า เมื่อเข้าไปดูการก่อสร้างบ้านนั้น ไม่พบว่ามีการจัดวางอุปกรณ์ทำบ่อบำบัดแต่อย่างใด เห็นเป็นพื้นที่ว่างๆ เขียวๆ  อีกทั้งในแบบแปลนที่นำเสนอขายก็ไม่ได้ระบุไว้ว่าเป็นบ่อบำบัดน้ำเสีย จึงเชื่อตามพนักงานขายว่าเป็นสวนหย่อม         เมื่อทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้ ทางศูนย์ฯ จึงเสนอคุณสายใจเรื่องการดำเนินคดี ซึ่งผู้บริโภคจะหาทนายทำเรื่องฟ้องคดีเองแต่จะปรึกษากับศูนย์ฯ หากเกิดเรื่องไม่เข้าใจขึ้นมา         คำแนะนำ กรณีการทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านตามข้อเท็จจริงนั้น ผู้ร้องไม่ทราบว่าพื้นที่ว่างตรงข้ามบ้านที่ซื้อเป็นบ่อบำบัดน้ำเสีย โดยแบบแปลนการเสนอขายก็ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าเป็นพื้นที่เพื่อวัตถุประสงค์ใด แสดงเพียงว่าเป็นพื้นที่ว่างเปล่า แต่ภายหลังผู้ร้องเข้าอยู่อาศัยจึงทราบว่าเป็นบ่อบำบัดน้ำเสีย จึงเป็นการสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินที่เป็นวัตถุแห่งหนี้ว่า ตรงข้ามบ้านจะไม่มีบ่อบำบัดน้ำเสียอย่างที่เกิดขึ้นจริง ผู้ร้องสามารถบอกล้างสัญญาได้

อ่านเพิ่มเติม >