ฉบับที่ 272 บำนาญแห่งชาติ สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนไทย

        กว่า 20 ปีแล้วที่ประเทศไทยได้มีการพูดถึงสังคมสูงวัย เริ่มตั้งแต่ ในปี 2548 จนถึงปัจจุบันในปี 2566 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปจำนวน 12 ล้าน 6 แสนคนหรือคิดเป็นจำนวนร้อยละ 19.21 ของประชากรทั้งหมด 66 ล้านคน ... และคาดการณ์กันว่า ในปี พ.ศ. 2573 ประเทศไทยจะมีสัดส่วนประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 26.9  หรือการเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดเช่นที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศญี่ปุ่น         ผู้สูงอายุของไทยจะมีความเป็นอยู่อย่างไร นี่คือน้ำเสียงแห่งความกังวลที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังในทุกครั้ง ทุกโอกาสที่มีการพูดถึงสถานการณ์สังคมสูงวัย เมื่อเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุยังไม่เพียงต่อต่อการดำรงชีพและยังไม่มีความแน่นอนดังที่ล่าสุดได้มีการปรับเกณฑ์กันอีกครั้งในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา         เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เริ่มรณรงค์สื่อสารเพื่อยกระดับ ‘เบี้ยยังชีพ’  ให้เป็น  ‘บำนาญถ้วนหน้า’ ตั้งแต่ระยะแรกที่ประเทศไทยเริ่มมีการพูดถึงเรื่องสังคมสูงวัย ผ่านมากว่า 17 ปี ข้อกังขาต่อความเป็นไปได้เริ่มแผ่วเสียงลง การเลือกตั้งที่ผ่านมายังเป็นนโยบายสำคัญที่พรรคการเมืองหลายต่อหลายพรรคส่งเสียงยืนยันสิทธิที่ผู้สูงอายุไทยควรได้อย่างพร้อมกันที่ตัวเลข 3,000 ต่อเดือน ความสำเร็จครั้งนี้ คุณแสงสิริ ตรีมรรคา  ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่ายังมีงานที่ต้องทำอีกมากเพื่อไปให้ถึงเส้นชัย...ที่ในวันนี้สถานการณ์ทางสังคมได้ฟูมฟักให้ไม่ไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป จุดเริ่มต้นที่เริ่มผลักดันเรื่อง บำนาญถ้วนหน้า            เราเริ่มกันช่วงปี 2551 – 2552 ตอนนั้น เราเริ่มมีการพูดถึงกันแล้วว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัย เราก็คิดว่า แล้วเราจะอยู่กันอย่างไรเพราะเราไม่มีหลักประกันทางรายได้เลยซึ่งสำคัญมากที่จะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี  ตอนนั้น เราจึงมีการยกร่าง พ.ร.บ. ภาคประชาชน ยกระดับ ‘เบี้ยยังชีพ’ ให้เป็นบำนาญถ้วนหน้า  มีการระดมรายชื่อ 10,000 รายชื่อเสนอเข้าไปที่รัฐสภา ตอนนั้นคุณอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีเรื่องก็ค้างไว้ ไม่ได้เซ็นต์ ไม่ได้รับการพิจารณาเข้าสภาแต่เราก็ผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง เราปรับปรุง พ.ร.บ. ฉบับนี้ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2562 มีประชาชนร่วมลงชื่อกว่า 14,000 รายชื่อ ในรัฐบาลประยุทธ์ แต่ก็ตกไป ไม่ได้เซ็นต์ เพราะเป็นกฎหมายการเงินต้องผ่านนายกรัฐมาตรีถึงจะเข้าสภาได้         จนถึงรัฐบาลปัจจุบันขณะนี้  ต้องบอกว่ารัฐสภาก็มีการศึกษาเรื่องนี้และเราได้เข้าไปเป็นอนุกรรมการฯ ด้วย ทางรัฐสภาได้มีรายงานหนึ่งฉบับหนึ่งออกมาและมีการยกร่าง การแก้ไข พ.ร.บ. ผู้สูงอายุ เป็น พ.ร.บ. ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ เราเลยนำร่างของกรรมาธิการเป็นตัวยกร่างฉบับที่ 3 ของเรา และปรับปรุงให้เป็นตามแนวทางของฉบับประชาชนที่เรายืนยันหลักการสำคัญเลยคือ หนึ่ง ให้เป็นสวัสดิการถ้วนหน้า เป็นสิทธิพื้นฐานให้แก่ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป สอง เราใช้เกณฑ์เส้นความยากจนเป็นหลัก เราจึงเสนอที่ 3,000 บาท มาโดยตลอด เงินตรงนี้ควรจะต้องให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต สถานการณ์ตอนที่เริ่มผลักดันเรื่องนี้ เป็นอย่างไร          ช่วงปี 2552 – 2553 เมื่อเราพูดถึงบำนาญถ้วนหน้า รัฐสวัสดิการ คนยังไม่เข้าใจ ไม่ติดหู จนถึงไม่อยากได้  มีการตั้งคำถามเยอะ แต่ประสบการณ์ที่ผ่าน เราพบว่าคนตั้งคำถามเยอะที่สุดเพราะกลัวแทนรัฐว่าจะ ‘เอาเงินมาจากไหน’ ‘เป็นไปไม่ได้หรอก ถ้าเราจะต้องเก็บภาษีให้สูงๆ เหมือนต่างประเทศ’  มีเสียงที่บอกเลยว่า  ทำไมรัฐต้องให้สวัสดิการประชาชน ประชาชนต้องขวนขวายทำงานเก็บเงินเอง แต่เราก็เคลื่อนไหวและสื่อสารถึงความจำเป็นมาตลอด ช่วง ปี 2560 - 2561  คนเริ่มพูดถึงเรื่องรัฐสวัสดิการมากขึ้น  นักวิชาการจากเมื่อก่อนที่ไม่ได้สนับสนุนเต็มตัวก็มีนักวิชาการหลายคนเข้ามาสนับสนุน เพราะเขามองว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งในการลดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำได้ มีงานวิจัยออกมาทั้งในและต่างประเทศว่า การให้หรือการสนับสนุนเรื่องหลักประกันรายได้ ไม่ว่าจะกับคนกลุ่มไหนจะช่วยทำให้ผู้คนสามารถออกแบบชีวิต วางแผนชีวิต และนำเงินเหล่านั้นไปต่อยอดได้  บริษัทใหญ่ๆ อย่าง อเมซอนก็เคยทดลองให้เงินทางประชาชนในแถบแอฟริกาแบบให้เปล่าต่อเนื่องผลก็เป็นไปตามแบบที่งานวิจัยบอกมา            กระแสการพูดถึงเรื่องนี้ตั้งแต่หลังรัฐประหารมีขบวนการเคลื่อนไหวของนักเรียน คนรุ่นใหม่  นักศึกษา ยิ่งมีพูดถึงเยอะมากเพราะคนเริ่มเห็นปัญหาในเชิงโครงสร้างว่า นโยบายของรัฐไม่ได้เอื้อให้คนหลุดพ้นจากวงจนความยากจนได้ ไม่ได้เอื้อให้คนมีโอกาสที่จะมีชีวิตที่ดี คนเลยคิดว่าสิ่งที่ควรเป็นสิทธิและรัฐต้องคิด มีเจตนา เจตจำนงที่จะต้องให้กับประชาชนก็คือเรื่องการมีสวัสดิการ ทั้งหมดนี้ทำให้เรื่องรัฐสวัสดิการถูกพูดถึงมากขึ้น ขณะที่คำถามเรื่องความเป็นไปได้ต่างๆ ก็ลดลง มีงานวิจัย มีข้อมูลออกมาเยอะมากว่าจริงๆ แล้วประเทศของเราควรจัดสรรงบประมาณแบบใดได้บ้าง ในภาพรวมของประเทศตอนนี้ เรามีสวัสดิการให้ประชาชนเรื่องอะไรบ้างและมีปัญหาอย่างไร            สวัสดิการที่รัฐจัดให้ประชาชน มี 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ประชาชนทั่วไป ราว 66 ล้านคน เท่าที่เราทำข้อมูล  สวัสดิการที่รัฐจ่ายตรงไปให้กับประชาชนราว 66 ล้านคน ตรงนี้ เช่นเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดที่ให้กับครอบครัวที่ยากจน อุดหนุนอาหารกลางวันเด็ก สิทธิเรียนฟรี กองทุนเสมอภาค อยู่ที่ 73,000 ล้านบาท หลักประกันสุขภาพมากที่สุดคือ 1.4 แสนล้านบาท ประกันสังคม เบี้ยผู้สูงอายุ กองทุนการออมแห่งชาติ  ซึ่งใช้เงินน้อยมากเพียง  300 กว่าล้าน ทั้งหมดนี้เป็นงบประมาณกว่าร้อยละ14.12 ของรายจ่ายรัฐบาล แม้ดูว่าหลากหลายแต่สวัสดิการที่เป็นถ้วนหน้า มี 2 เรื่องเท่านั้น คือ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กับสิทธิเรียนฟรี นอกนั้นจะเป็นการให้แบบเลือกให้         ขณะที่อีกกลุ่มคือกลุ่มข้าราชการ มีประมาณ 5 ล้านคนได้สวัสดิการจากรัฐคิดแล้วเป็นงบประมาณกว่า ร้อยละ 15.36 เป็นค่ารักษาพยาบาล เงินช่วยเหลือข้าราชการ และสวัสดิการต่างๆ           งานวิจัยที่ผ่านมาเราได้เห็นว่า การเลือกให้เฉพาะกลุ่มหรือคนที่ยากจน เช่น งานวิจัยอย่างของ อาจารย์สมชัย หรือของ  TDRI  บอกชัดเจนว่าจะทำให้คนที่ควรได้จะตกหล่นมากกว่าร้อยละ 20 แล้วคนที่ไม่จำเป็นต้องได้ก็ได้ แล้วต้องใช้งบประมาณเพื่อคัดกรองมากพอๆ กับที่ใช้เพื่อจ่ายสวัสดิการ จริงๆ อาจจะน้อยกว่า แต่ก็เป็นเงินจำนวนที่ไม่น้อยที่ต้องนำมาใช้จ่ายตรงนี้   จึงมีหลักการที่ยืนยันมาตั้งแต่ต้นว่าต้องเป็นสวัสดิการแบบ ‘ถ้วนหน้า ’ เท่านั้น         ใช่ และเรื่องเบี้ยผู้สูงอายุที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลแต่ละสมัยมากๆ  เช่น นโยบายของนรัฐบาล ถ้านายกสั่งวันนี้เลย 3,000 บาทเขาก็ต้องจ่าย 3,000 บาท ถ้าวันนี้ปรับเกณฑ์ลด ก็ลดลง และหลายปีมาแล้ว เรายังให้แบบขั้นบันได 600 – 1,000 บาทและไม่ได้เป็นถ้วนหน้า          เราผลักดันเรื่องนี้โดยใช้ประสบการณ์จากจากการร่วมผลักดันหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คือผลักดันให้เป็นกฎหมายเฉพาะ แล้วจะมีความแน่นอน ความเสมอภาค คือคุณอาจจะทำให้เป็น 3,000  ได้ไหม ถ้าไม่ได้ ได้ 1,500 แล้วค่อยๆ ขยับไปก็ได้แต่ชีวิตประชาชนก็จะมีหลักประกันที่แน่นอน ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้เหมือนตอนนี้  ดังนั้นเราตั้งใจว่าจะระดมรายชื่อเพื่อสนับสนุนกฎหมายกว่า 10,000 รายชื่อให้ทันภายในสิ้นปี 2566 นี้  คิดว่าอะไรทำให้สังคมพูดถึงเรื่อง รัฐสวัสดิการและบำนาญถ้วนหน้ากันมากขึ้นแล้วในตอนนี้         เราเป็นสังคมสูงวัยแล้ว และในปี 2572 คาดว่าจะมีผู้สูงอายุประมาณ 20 ล้านคน ตอนนี้อยู่ที่ 12 ล้านคน แต่เบี้ยยังชีพ ยังเป็นปัญหามาก เรามีความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลประชาชน  รัฐบาลใช้งบประมาณกว่า ร้อยละ14 เพื่อจัดสวัสดิการดูแล ผู้คนในสังคมกว่า 66 ล้านคน เมื่อเทียบกับ ข้าราชการและครอบครัวที่มีราว 5 ล้านคนใช้งบประมาณร้อยละ 15.3 งบตรงนี้เมื่อรวมกับ รายจ่ายบุคลากรของกลุ่มข้าราชการอีกเป็น ร้อยละ 40 ของบประมาณเลยแล้วยังเพิ่มอยู่อย่างต่อเนื่อง เราคิดว่า ไม่ใช่ปัญหาว่ามีงบไม่พอแต่เป็นเรื่องที่ไม่บาลานซ์ เป็นปัญหาเรื่องการจัดสรรงบประมาณของประเทศเรา ยืนยันว่าเรื่องนี้สามารถเกิดขึ้นได้จริงในบ้านของเรา         คือทุกวงสนทนาที่เราจัดมา ถามถึงความเป็นไปได้หมด และมีคำตอบที่เหมือนกันอยู่กันอย่างหนึ่งคือ การที่จะมีสวัสดิการนี้ได้ต้องเริ่มเจตจำนงที่รัฐอยากจะทำก่อน รัฐต้องมีไมด์เซ็ตที่ดีว่า สวัสดิการจะเข้ามาช่วยสร้างเศรษฐกิจได้ ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ แต่ถ้ารัฐไม่มีเจตจำนงจะทำ ก็จะไม่เกิดสักที อย่างเรื่องหลักประกันสุขภาพ เราเริ่มต้นจากหัวละ1,200 บาท  ตอนนี้ขยับมาที่ 4,000 ต่อหัว มันค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปได้ งบประมาณเป็นเรื่องที่จัดการได้ รีดส่วนที่ไม่จำเป็นออก เพิ่มการจัดเก็บภาษีในรูปแบบใหม่หรือในรูปแบบเก่าที่มีอยู่แต่ว่ายังไม่มีประสิทธิภาพก็ปรับปรุง             งบประมาณที่จะนำมาจัดสวัสดิการมาได้จากหลายแบบ ทั้งปฏิรูปสิทธิประโยชน์  BOI เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี  ลดงบกลาง ลดโครงการที่ไม่จำเป็น เหล่านี้จะทำให้มีเงินเข้ามาจัดสวัสดิการได้ถึง 650,000 ล้านบาท ความเป็นไปได้มีอยู่แล้ว แต่ขึ้นอยู่กับว่า รัฐต้องตั้งต้นแล้วต้องทำ หากรัฐไม่มีเจตจำนง ไม่กล้าทำ ก็ไม่เกิด         ประชาชนเราเลยต้องไปตั้งต้น ที่ระบบโครงสร้างทางการเมืองว่าเราจะตัดสินใจให้ใครขึ้นมาบริหาร เราจะทำยังไงที่จะทำให้รัฐไม่โกหก คนที่เป็นรัฐบาลขึ้นไปแล้วจะไม่สับขาหลอกก็เป็นหน้าที่ประชาชนที่จะต้อง ตรวจสอบ ถ่วงดุล และเรียกร้อง คือภาคประชาชนเองการได้มาของสวัสดิการประชาชนไม่เคยได้มาด้วยตัวรัฐเองเลย ถ้าดูประวัติศาสตร์เกิดจากการเรียกร้องของประชาชนเอง อย่างเราเองก็ลุกขึ้นมาขับเคลื่อน ข้อมูลล่าสุดเป็นผลการศึกษาของนักวิชาการหลายท่าน ในคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาบอกว่า การจัดให้มีบำนาญถ้วนหน้า จะทำให้ GDP โตไปถึง 4 % ข้อมูลนี้มาจากไหน           ใช่ เป็นการศึกษาโดยการใช้ตัวคูณทางการเงิน การคลัง ว่าถ้าทดลองจ่ายเงินบำนาญ ในจำนวนเท่านี้ๆ กี่คนจะส่งผลต่อ GDP แบบไหน อย่างไร ซึ่งเป็นวิธีวิจัย วิธีศึกษาของเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไปอยู่แล้ว           ในงานวิจัย เราให้โจทย์นักวิจัยว่า ถ้าเรามีเป้าหมายที่จะจ่ายบำนาญให้ผู้สูงอายุทุกคน คนละ 3,000  บาท จะส่งผลกระทบอะไรในเชิงเศรษฐกิจบ้าง และเราได้เห็นจากงานวิจัยว่า ถ้าให้แบบถ้วนหน้า ไม่เลือกว่าจะให้ใครจะใช้งบประมาณ 4.5 แสนล้านบาท พอคำนวณแล้วพบว่าจ่ายปีแรกยังไม่ส่งผลต่อ GDP ชัดเจน ปีที่ 2 – 3 เริ่มเห็น หลังจ่ายไปปีที่ 5 เห็นผลชัดเจนที่สุด เปรียบเหมือนเราโยนหินลงไปในน้ำก็จะเกิดแรงสั่นสะเทือนเป็นวงกระเพื่อม ถ้าเราโยนลงไปทุกปี มันจะมีแรงกระเพื่อมตลอดจนเมื่อจ่ายถึงปี 9 จะมี GDP เพิ่มขึ้นประมาณ 4%   แล้วประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการแล้วมีสถานการณ์ที่ดีหรือเสียอย่างไรไหม         จากงานวิจัยที่มีออกมา มีข้อดีเยอะพอสมควร เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับ ประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศด้วย อย่างประเทศในสแกนดิเนเวียเกิดขึ้นในตอนที่เขาประเทศมีวิกฤตทั้งนั้น คือประเทศไม่ได้รวย มีวิกฤต แต่รัฐบาลก็มองว่า การที่จะทำให้ประชาชนมีชีวิตอยู่ได้  รัฐต้องเข้าไปสนับสนุนบางอย่างเข้าไป  มันเลยเกิดเป็นวิธีคิดเรื่องรัฐสวัสดิการ แล้วการเป็นประเทศประชาธิปไตยที่การทุจริตน้อยมากๆ ประชาชนเขาก็ไว้วางใจเชื่อมั่น ว่าจ่ายแล้วรัฐบาลของประเทศเขานำไปจัดสวัสดิการจริงๆ         ข้อดีที่แน่นอนอีกอย่างคือ การจัดสวัสดิการเหล่านี้จะช่วยทำให้ คนไม่ต้องไปกังวลต่อปัจจัยพื้นฐาน เขาจะออกแบบชีวิตได้ เขารู้ว่าอยากจะเรียนอะไร โดยไม่สนใจว่ามีรายได้ เท่าไหร่  เราจึงได้เห็นว่ามีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะมากในประเทศเหล่านี้ เช่น  ฟินแลนด์  ประเทศเหล่านี้สามารถจัดการศึกษาที่มีคุณภาพดี เพราะว่ามีสวัสดิการจริงๆ         บำนาญถ้วนหน้ายังส่งผลลดความยากจนจากรุ่นสู่รุ่นข้อนี้คือแน่นอนมาก  คือคนสูงอายุไม่ต้องกังวลว่า 60 ไปแล้วจะอยู่อย่างไร คุณจะได้ตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้แน่ๆ                  ข้อเสียก็มี ที่ประเทศญี่ปุ่นพอจำนวนผู้สูงอายุมีมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วคนทำงานน้อยลงกองทุนเขาก็มีปัญหามีการเสนอว่าจะลดการจ่ายบำนาญลงเพื่อที่จะทำให้กองทุนมีเสถียรภาพแต่เรามองว่า เป็นปัญหาที่เป็นโจทย์ในการทำงานออกแบบมากกว่า เป็นปัญหาที่วัดฝีมือของรัฐบาล กลับมาที่บ้านเราที่ยังไม่เริ่มทำสักที ที่อื่นเขาเริ่มทำไปกันเรื่อยๆ เจอวิธีการ เจอปัญหาก็แก้ไข เรียนรู้และพัฒนาให้ดีขึ้นแต่ของบ้านเราสวัสดิการต่างๆ ยังจ่ายแบบเบี้ยหัวแตก ไม่แน่นอน มีคนตกหล่น แล้วไม่ได้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ลดความยากจนของประชาชนลงได้ สิ่งที่อยากฝาก          เราทำหลายทาง ทั้งจัดเวทีสาธารณะ นำเสนองานวิชาการ เข้าไปผลักดันกับคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม รัฐสภา ที่มีการตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อทำข้อเสนอเรื่องนี้ เราสร้างกระแสสังคมให้ประชาชนร่วมกันลงรายชื่อเพื่อสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ เราพูดซ้ำๆ เพื่อให้คนเข้าใจมากขึ้นว่า เป็นสิทธิของประชาชนไม่ต้องไปกังวลแทนรัฐ           หนึ่ง ทุกคนต้องยึดหลักการ ยึดมั่นว่าภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 60 ที่มองว่าไม่ดีเลยแต่ก็ยังกำหนดว่าประชาชนควรจะมีสิทธิขั้นพื้นฐานเรื่องอะไรบ้างซึ่งยังเป็นการเลือกจ่าย เราจึงต้องช่วยกันยืนยันหลักการทำให้เป็นสวัสดิการของประชาชนครอบคลุมถ้วนหน้า         สอง ระหว่างทางที่ผลักดันเรื่องรัฐธรรมนูญใหม่ เรายืนยันที่จะเสนอกฎหมายประชาชนเรื่องบำนาญถ้วนหน้า ดังนั้นฝากให้ทุกคนที่เชื่อมั่นในหลักการนี้ร่วมกันลงชื่อได้ที่ ‘เพจบำนาญแห่งชาติ ’ ซึ่งมีรายละเอียดบอกไว้ทุกอย่าง เรามีความหวังว่าจะรวบรวมให้ได้ 10,000 รายชื่อเพื่อยื่นต่อรัฐสภาภายในสิ้นปีนี้    ร่วมลงลายมือเสนอ ร่าง พรบ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติฯ ได้ที่เพจ บำนาญแห่งชาติ  https://www.facebook.com/pension4all

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 ระบบการแจ้งเตือนภัย

        กระแสเสียงการถามหาระบบการแจ้งเตือนภัยเหตุฉุกเฉินกลับมาดังกระหึ่มอีกครั้งหลังเกิดเหตุการณ์ร้ายที่พารากอน ห้างใหญ่และหรูหราใจกลางเมืองหลวงของประเทศ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ที่ผ่านมา         เกิดประเด็นคำถามประเภทที่ว่า จะดีแค่ไหนหากประเทศไทยเรามีระบบเตือนภัยแบบที่ส่งข้อความตรงถึงประชาชนอย่างรวดเร็วทางเครื่องมือสื่อสารอย่างโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือ “มือถือ” ที่ผู้คนต่างพกติดตัวอยู่แล้ว เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบถึงความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติหรืออาชญากรรมรุนแรง และจะได้สามารถปฏิบัติตัวได้ถูกต้องในการเตรียมพร้อมรับมือ หรือป้องกันหรือหลีกเลี่ยงจากภยันตรายและความเสียหาย         ตามด้วยคำถามสำคัญว่า เหตุใดประเทศไทยจึงยังไม่มีระบบเตือนภัยดังกล่าวดังเช่นนานาอารยประเทศ         หน่วยงานอย่าง กสทช. ได้รับการคิดถึงพร้อมกับการต่อว่าต่อขาน ส่วนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส (DES) รวมถึงรัฐบาล ดูจะไม่ถูกเรียกร้องเท่า อาจเพราะว่ามีการออกมาตอบสนองเร็ว ให้ข่าวและให้ข้อมูลว่ากำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำระบบการแจ้งเตือนภัยแบบเจาะจง พร้อมอธิบายทั้งเรื่องของระบบ กระบวนการดำเนินงาน ความคืบหน้า ฯลฯ         สาระสำคัญคือการบอกว่า ในระยะเร่งด่วนภายใน 1 เดือนนั้น จะมีระบบส่ง SMS (Location Based Service) ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ จากเดิมที่มีใช้อยู่แล้วอย่างไม่ครอบคลุม และใช้ระบบอย่างไม่บูรณาการ ตลอดจนใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ส่วนในระยะปานกลางและยาวจะเป็นระบบ Cell Broadcast ซึ่งเป็นระบบการส่งข้อความแบบส่งตรงจากเสาส่งสัญญาณสื่อสารในพื้นที่ ไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่และเครื่องมือสื่อสารทุกเครื่องที่อยู่ในพื้นที่ให้บริการนั้น พร้อมกันในคราวเดียว         ว่ากันว่า ข้อดีของระบบ Cell Broadcast ก็คือการส่งข้อมูลที่รวดเร็วและครอบคลุมทั้งพื้นที่โดยไม่ต้องการเบอร์โทรศัพท์ รวมทั้งสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ทางด้านประสิทธิภาพก็สูงกว่าระบบ SMS นั่นคือสามารถจะแจ้งเตือนแบบเจาะจงได้ทันที ในขณะที่ระบบ SMS จะใช้เวลาประมาณ 15-20 นาทีในการประมวลผลว่ามี SIM โทรศัพท์หมายเลขใดอยู่ในพื้นที่บ้าง และใช้เวลาอีกประมาณ 1–20 นาทีในการส่งข้อความไปยังกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ให้ครบ นอกจากนั้น Cell Broadcast ยังมีการเตือนได้หลายรูปแบบ เช่น การสั่นของโทรศัพท์เคลื่อนที่และเครื่องมือสื่อสาร การเด้ง pop -up ของข้อความ         ดีอีเอสอ้างว่า Cell Broadcast เป็นระบบที่ทั่วโลกใช้ ดังนั้นประเทศไทยจึงควรจะต้องพัฒนาระบบนี้ขึ้นมา ทั้งนี้ได้ประกาศกรอบเวลาด้วยว่า คาดว่าจะใช้เวลาเร็วที่สุดภายใน 6 เดือน และอย่างช้าไม่เกิน 1 ปี         นอกจากทางดีอีเอสแล้ว ทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ก็เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ออกมาให้ข้อมูลในเรื่องนี้อย่างเป็นกิจจะลักษณะ โดยพูดถึงการพัฒนาแพลตฟอร์ม “ทราฟี่ฟองดูว์” (Traffy Fondue) เพื่อให้กลายเป็น Traffy Fondue Plus นั่นคือการเพิ่มในส่วนของเมนู “การแจ้งเหตุ-เตือนภัย” เพื่อให้ประชาชนสามารถคลิกเพื่อรับข่าวสารฉุกเฉินและแจ้งเหตุฉุกเฉินได้ ซึ่งรวมถึงสภาพอากาศและสภาพการจราจร         อย่างไรก็ตาม ถ้าติดตามข่าวสารอย่างลงรายละเอียดจะพบว่า ทั้งรัฐบาลโดยดีอีเอสและ กทม. ต่างมีการประสานงานและหารือกับ กสทช. ไม่ว่าจะเป็นระบบส่ง SMS แบบ Location Based Service หรือระบบ Cell Broadcast ล้วนเป็นระบบแจ้งเตือนภัยที่ กสทช. ได้ดำเนินการพัฒนามาก่อนแล้ว กรอบระยะเวลาที่ดีอีเอสประกาศออกมาก็เป็นไปตามกรอบระยะเวลาแล้วเสร็จของการดำเนินการของ กสทช. นั่นเอง         เท่าที่มีการให้ข่าวสารข้อมูลจากทางฟาก กสทช. กลไกและการทำงานของระบบ Cell Broadcast จะประกอบด้วย 1) การทำ command center เพื่อให้โอเปอร์เรเตอร์หรือผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรู้ว่าต้องรับคำสั่งจากใคร ส่งอย่างไร ซึ่ง กสทช. จะออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง 2) การอัปเดตซอฟต์แวร์ที่กระจายส่งสัญญาณให้ใช้ cell broadcast ได้ นอกจากนั้นจะต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์และปรับเปลี่ยนซอฟต์แวร์ของเสาสัญญาณที่อยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ส่วนนี้จึงเป็นต้นทุนของทางผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การพัฒนาระบบที่ผ่านมาล่าช้า อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดกระแสเสียงเรียกหาระบบเตือนภัยขึ้นมาในระลอกล่าสุดนี้ กสทช. ก็ตั้งใจที่จะใช้งบประมาณจากกองทุน USO หรือกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ สนับสนุนในเรื่องนี้         ดูเหมือนว่า ด้วยการยืนยันของรัฐบาลนำโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอสและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ ทำให้กระแสเสียงเรียกร้องแผ่วจางไป ส่วนหนึ่งอาจถือว่าขณะนี้เป็นช่วงเวลาของการรอคอยให้ถึงกำหนดเวลา         แน่นอนว่า หากถึงเวลาที่กำหนดและระบบแจ้งเตือนภัยเหตุฉุกเฉินของประเทศไทยเกิดขึ้นได้จริง ย่อมเป็นเรื่องที่น่ายินดีและไม่มีอันใดต้องโต้แย้ง แต่หากพิจารณาจากสิ่งต่างๆ เท่าที่รัฐบาลและหน่วยงานรัฐให้ข้อมูล จุดเพ่งเล็งอยู่ที่ระบบในเชิงเทคนิคเป็นหลัก แต่ในส่วนของระบบการบริการจัดการข้อมูลข่าวสาร รวมถึงระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กลับไม่ได้มีการให้น้ำหนัก         มีเพียงรองผู้ว่า กทม. ผศ. ทวิดา กมลเวชช ที่กล่าวถึงมิติงานในด้านต่างๆ อย่างครบถ้วน ทำนองว่า ในส่วนการบริหารจัดการฝั่งผู้ให้บริการทางเทคนิคจะมี กสทช. เป็นแกนกำหนดมาตรฐานการดำเนินงาน รวมถึงการสนับสนุนทางผู้ให้บริการในเรื่องการเชื่อมต่อระบบและการกระจายสัญญาณ แต่ในส่วนการสั่งการ ภาครัฐยังต้องไปหารือกันว่าจะเป็นใครหรือหน่วยงานใด โดยเฉพาะงานสำคัญอย่างการคัดกรองข้อความแจ้งเตือน และอีกส่วนที่สำคัญคือ การบริหารจัดการคนและพื้นที่เกิดเหตุให้สามารถรองรับได้         ปัญหาคือ หากเป็นการดำเนินการโดย กทม. ตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ก็คงทำได้ไม่ถึงระบบแห่งชาติ         ประเด็นข้อความต้นทางที่จะสื่อสารออกไปถือเป็นเรื่องสำคัญและมีความละเอียดอ่อนหลายมิติ จำเป็นต้องมีการคัดกรอง ไม่เพียงแต่ว่าจะเป็นเนื้อหาลักษณะใด หากแต่ต้องเลือกสรรตั้งแต่ในระดับว่าจะแจ้งเรื่องใดบ้าง แต่ละเรื่องเป็นลักษณะการเตือนภัยแบบใด ล่วงหน้าหรือฉุกเฉินย่อมต่างกัน         ส่วนข้อความก็ต้องมีทั้งความแม่นยำ ความน่าเชื่อถือ มีเนื้อหาอยู่ในกรอบที่สมดุลและเหมาะสม ในความหมายที่ว่ามีการให้ข้อมูลเพียงพอที่จะเป็นการเตือนภัยและให้คำแนะนำที่จำเป็น แต่ไม่ก่อให้เกิดความตระหนกตกใจจนเกิดความสับสนอลหม่าน ยังไม่นับเรื่องปลีกย่อยเช่นเรื่องภาษาที่จะใช้ในการแจ้งและเตือนภัย         ยังไม่นับถึงต้นทางความมีอยู่ของข้อมูล ซึ่งสำหรับประเทศไทยอาจจัดได้ว่ายังมีความบกพร่องไม่น้อย ในบางด้านจัดได้ว่ายังขาดแคลนอยู่มาก ยกตัวอย่าง ในส่วนของอุบัติภัยด้านมลพิษและเคมี ยามที่เกิดไฟไหม้หรือการระเบิดในโรงงาน หน่วยงานรัฐไม่ได้มีฐานข้อมูลที่จะทราบได้โดยทันทีว่า โรงงานแห่งนั้นๆ มีสารเคมีใดอยู่บ้าง หรือเป็นแหล่งก่อเกิดมลพิษชนิดใด โดยทั่วไปข้อมูลพื้นฐานเช่นนี้ไม่ได้มีอยู่อย่างสมบูรณ์ เท่าที่มีก็เป็นส่วนๆ กระจัดกระจายอยู่กับหน่วยงานต่างๆ ดังนั้นการจะไปถึงขั้นให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติตัวหรือป้องกันอันตรายแก่ผู้ประสบเหตุ ซึ่งต้องการข้อมูลเชิงองค์ความรู้ที่มากขึ้นไปอีก ยิ่งเป็นเรื่องเกินจะทำได้จริง         เหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ทั้งในกรณี “โรงงานหมิงตี้ฯ” และ “โรงงานอินโดรามาฯ” ล้วนเป็นประจักษ์หลักฐานที่เด่นชัดถึงความขาดพร่องในเรื่องข้อมูลด้านนี้ การพัฒนาระบบ PRTR (Pollutant Release and Transfer Register) หรือข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ จึงเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งในขณะนี้ประเทศไทยยังไม่ได้เริ่มกระทั่งนับหนึ่ง เนื่องจากร่างกฎหมายที่เคยมีการนำเสนอก็ถูกนายกรัฐมนตรีคนก่อนปัดตกไป ในขณะที่ยังไม่เห็นวิสัยทัศน์ใดๆ ในเรื่องดังกล่าวของรัฐบาลนี้         ความพร้อมในส่วนของเนื้อหาและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องจึงไม่ใช่สิ่งที่จะมองข้ามได้ เพราะถ้าประเทศไทยจะมีระบบแจ้งเตือนภัยเหตุฉุกเฉินของประเทศเพียงส่วนของระบบสื่อสาร แต่ไม่มี “สาร” ดีๆ และเหมาะสมที่จะส่งออกไป ระบบดังกล่าวก็คงไม่มีความหมาย         เรื่องของการจัดทำระบบแจ้งเตือนภัยเหตุฉุกเฉินของประเทศจึงไม่ใช่เพียงเรื่องของ กสทช. หรือแม้แต่ดีอีเอส แต่ต้องการการบูรณาการหลายหลากหน่วยงาน และต้องการเจ้าภาพที่ชัดเจนซึ่งดูแลงานในมิติต่างๆ อย่างรอบด้าน โดยต้องเริ่มจากการมีเจตจำนงที่ชัดเจนของรัฐบาล รวมถึงต้องมีความรู้ความเข้าใจครบถ้วนด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 พนักงานโรงแรมทำ “โน้ตบุ๊ก” เสียหาย

        เวลาจะไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจทั้งที คิดว่าหลายๆ คน คงจะเลือกแล้ว เลือกอีกกับที่พัก เพราะนอกจากเราจะเสียเงินทั้งที ก็คงอยากได้ที่พักแบบคุ้มค่าและปลอดภัย ให้คุ้มกับเงินที่เสียไปใช่ไหมล่ะ?         ก็เหมือนกับคุณวี ที่ได้มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แต่...ไม่ใช่เรื่องที่พักไม่ตรงปกอย่างที่คิดหรอกนะ แต่เป็น เรื่องที่ทางพนักงานของโรงแรมนั้น ทำทรัพย์สินของคุณวีเสียหายนะสิ โดยคุณวีเล่าให้ทางมูลนิธิฯ ฟังว่า เขาได้ไปเข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่ง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เมื่อเขาเดินทางถึงโรงแรมดังกล่าว ก็มีรถกอล์ฟมารอรับ-ส่งทันที ในขณะที่ขนย้ายทรัพย์สินขึ้นบนรถกอล์ฟ ก็มีกระเป๋าใบหนึ่งที่เขาตั้งใจวางในลักษณะยืนตั้งเอาไว้ปกติ เพราะในกระเป๋าดังกล่าวมีโน้ตบุ๊ก จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เมื่อขนย้ายเสร็จสิ้น ก็เดินทางไปห้องพักทันที แต่...เมื่อมาถึงห้องพักกลับต้องตกใจ! เพราะว่าพนักงานโรงแรมดันเอา กระเป๋าเป้ที่มีโน้ตบุ๊ก ไปวางไว้ในลักษณะแนวนอนราบไปกับพื้น ทำให้ขวดน้ำที่อยู่ในกระเป๋าไหลมาโดนโน้ตบุ๊ก ซึ่งทางพนักงานเองก็ยอมรับว่าเป็นคนวางไว้แบบนั้นเอง         คุณวี จึงต้องรีบแก้ปัญหาโดยการนำกระเป๋าเป้ตั้งขึ้น พร้อมกับรีบเอาของทั้งหมดออกจากกระเป๋า ซึ่งในขณะเดียวกัน ทางพนักงานก็ได้กล่าวว่า “ขอตัวก่อนนะครับ” จึงทำให้ทางคุณวีรู้สึกว่า ทางพนักงานไม่มีการพูดกล่าวขอโทษ หรือพยายามช่วยเหลือเรื่องดังกล่าวเลย และโน้ตบุ๊กของเขาก็เสียหายอีกด้วย         แนวทางแก้ไขปัญหา         หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ทางผู้ร้องได้มีการติดต่อส่งอีเมลไปยังโรงแรม พร้อมแจ้งรายละเอียดต่างๆ ที่เกิดขึ้น ต่อมา ทางโรงแรมก็ได้ติดต่อทางผู้ร้องมาว่าจะทำการตรวจสอบเรื่องราว 1 วัน และจะติดต่อกลับมา ซึ่งทางโรงแรมก็ได้ติดต่อกลับมาพร้อมแจ้งว่าจะรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขอให้ผู้ร้องส่งข้อมูล เช่น ใบเสร็จรับเงิน และโน้ตบุ๊กที่เสียหายไปยังโรงแรม แต่เมื่อคุณวีได้ส่งข้อมูลไปแล้วพบว่า ไม่มีการติดต่อกลับมาจากทางโรงแรมอีกเลย จึงได้แจ้งไปทางสำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพฯ ทางสำนักงานใหญ่จึงจะชดเชยเป็นเงินเพียง 5,000 บาท เท่านั้น ซึ่งทางผู้ร้องยังรู้สึกว่าไม่โอเค         เบื้องต้นทางมูลนิธิฯ ได้แนะนำให้ไปลงบันทึกประจำวัน และได้ทำหนังสือไปถึงทางโรงแรมดังกล่าวอีกด้วย อย่างไรก็ตาม อยากให้ผู้บริโภคนั้น ระมัดระวังทรัพย์สินตัวเองด้วย หากเป็นทรัพย์สินมีค่าหรือของที่รู้สึกว่าเสียหายได้ง่าย อ่อนไหว ควรป้องกันโดยการแจ้งพนักงานให้ระมัดระวังเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 บัญชีเทรดคริปโตฯ โดนแฮ็ก หลัง login ผ่านเว็บไซต์ เงินดิจิทัลถูกขโมยเกลี้ยง

        การทำธุรกรรมการเงินทางออนไลน์นั้นไม่ว่าจะเป็นสกุลเงินจริงหรือสกุลเงินดิจิทัล ต่างก็ต้องเสี่ยงกับเหล่ามิจฉาชีพที่คอยจ้องแฮ็กข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อ เพื่อรอจังหวะขโมยถอนเงินในบัญชีออกไปด้วยรูปแบบที่แนบเนียนและแยบยล จนมีหลายเคสที่ยังจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน และผู้เสียหายเองก็ทำได้เพียงรอๆ ๆ ๆ         คุณกิจเป็นหนึ่งในผู้เสียหายที่รอคอยอย่างมีความหวัง เขาเล่าว่าซื้อขายคริปโตฯ (สกุลเงินดิจิทัล) ผ่านแพลตฟอร์มบิทคับ (Bitkub) มาประมาณ 1 ปีแล้ว โดยปกติจะ login ผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ ไม่เคยมีปัญหาอะไร แต่มีอยู่วันหนึ่งเขาจำเป็นต้อง login ผ่านเว็บไซต์ ปรากฎว่าเขาต้อง login 2-3 รอบ ถึงจะเข้าบัญชีตัวเองได้ พอเข้าได้ปุ๊บก็มีข้อความเด้งขึ้นมาปั๊บว่า "เหรียญของท่านได้รับการถอนเรียบร้อยแล้ว"          เขางงมาก ใครถอน? ถอนไปได้ไง? เพราะเขายังไม่ได้สั่งถอนเหรียญ หรือสั่งทำอะไรเลยด้วยซ้ำ เขารีบเข้าไปดูในกระเป๋าตังค์ดิจิทัล แล้วก็ต้องตกใจเมื่อพบว่าไม่มีเหรียญเหลืออยู่เลย เขาจึงติดต่อไปทางบริษัทบิทคับ ซึ่งแนะนำให้เขาไปแจ้งความเพื่อให้ตำรวจออกหมายเรียกพยานเอกสารให้ก่อน ทางบริษัทจึงจะเข้าไปดูข้อมูลย้อนหลังข้างในให้ได้ เขาจึงไปแจ้งความที่สถานีตำรวจขอนแก่น และแจ้งตำรวจออนไลน์ด้วย หลังจากนั้นทางบริษัทได้ส่งหลักฐานการทำธุรกรรมมาให้ พบว่าเหรียญของเขาทั้งหมดถูกขายไปอย่างรวดเร็ว ก่อนจะถูกนำไปซื้อเหรียญใหม่แล้วถอนออกไปทันที         คุณกิจพยายามทำทุกหนทางที่ทำได้ เขาติดต่อตำรวจออนไลน์อยู่หลายวันก็ไม่สำเร็จ จึงไปให้สถานีตำรวจที่ขอนแก่นติดต่อให้ หลังจากนั้นตำรวจออนไลน์จากส่วนกลางได้ทำเรื่องมายังสถานีตำรวจขอนแก่นให้สอบสวนเรื่องนี้ เขาได้ไปให้ปากคำพร้อมมอบหลักฐานทั้งหมดไปแล้ว แต่เขาไม่ค่อยสบายใจนัก เพราะดูเหมือนการดำเนินการค่อนข้างช้า เขาจึงไลน์มาเพื่อปรึกษาว่าควรจะทำอย่างไรต่อไปดี แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางมูลนิธิฯ ได้ติดต่อกลับไปยังคุณกิจเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม จึงทราบว่าทางตำรวจ สภ.ขอนแก่นได้ขอให้คุณกิจส่งสำเนาเอกสารหลักฐานต่างๆ ไปให้เพิ่มเติม ซึ่งเขาก็จัดการเรียบร้อยครบถ้วนแล้ว และยังได้โทรศัพท์ไปสอบถามความคืบหน้าของคดีอยู่ทุกสัปดาห์ด้วย แต่ก็ได้คำตอบเหมือนเดิมว่ายังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ         ล่าสุดทางมูลนิธิฯ ได้ส่งหนังสื่อถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(กลต.) เพื่อขอให้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายในกรณีนี้ ซึ่งทางสำนักงาน กลต.ติดต่อกลับมาว่าได้รับเรื่องร้องเรียนนี้และประสานไปยังฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว ส่วนผลการดำเนินการจะเป็นอย่างไรนั้นจะแจ้งกลับมาที่มูลนิธิฯ อีกครั้ง ซึ่งเป็นที่รู้กันในวงการคริปโตฯ ว่า เคสแบบนี้ต้องตามกันยาวนานเป็นปีๆ ทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 ชีวิตเสี่ยงภัย จากหม้อแปลงไม่ได้มาตรฐาน!

        การพักอาศัยอยู่ใกล้ทางสาธารณะอาจจะมีปัญหาได้เสมอ ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยจนเป็นเรื่องใหญ่ เสี่ยงอันตรายได้ถึงชีวิต เช่นเรื่องราวของคุณนัด ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ หมู่ 2 ถนนกาญจนวนิช ตำบลพะวง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลามานานนับสิบปี โดยหน้าบ้านของคุณนัดนั้นมีเสาไฟฟ้าถึง 3 เสา คุณนัดไม่คิดว่า เสาไฟหน้าบ้านที่มีมานานจะเป็นอันตรายได้ จนเมื่อแขวงการทางได้ยกระดับทางหน้าบ้านให้สูงขึ้นอีกราว  2 เมตร นั่นจึงทำให้หม้อแปลงไฟฟ้าที่ติดตั้งอยู่ถูกต้องตามมาตรฐานคือสูงกว่าระดับพื้น 4 เมตร กลับเป็นหม้อแปลงที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะสูงกว่าระดับพื้นเพียง 2 เมตร!           สถานการณ์ดังกล่าวกลับยิ่งเลวร้ายลง เมื่อนานวันสายไฟ สายสัญญาณต่างๆ ที่ติดตั้งและพาดผ่านหม้อแปลงและเสาไฟยิ่งมากขึ้น มากขึ้น กระจุก ยุ่งเหยิงอันตรายอย่างยิ่งต่อผู้เดินผ่านสัญจรไปมา ยิ่งในช่วงหน้าฝนตกหรือพายุเข้าอาจเกิดฟ้าผ่าลงสายไฟฟ้าแรงสูง จนทำให้แรงดันไฟฟ้าวิ่งมาถึงหม้อแปลง เสี่ยงเกิดอัคคีภัยได้ และหากมีไฟฟ้ารั่วออกมา อาจทำให้ไฟดูดผู้คนบริเวณใกล้เคียงได้         คุณนัดอดรนทนเห็นต่อไม่ไหว จึงติดต่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรทัศน์ กิจการกระจายเสียง และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช. เขตสงขลา) ให้เข้ามาจัดการสายไฟที่พะรุงพะรัง เมื่อเจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินการแล้วก็ทำเพียงมัดรวมสายไว้ แต่นานวันเข้าสายไฟก็กลับมายุ่งเหมือนเดิม  อีกทั้งคุณนัดยังได้แจ้งไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดสงขลา ขอให้ตรวจสอบและแก้ไข ยกหม้อแปลงขึ้นแต่กลับได้รับการชี้แจงว่า การย้ายระดับหม้อแปลงไฟฟ้า คุณนัดจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง อ้าว ! ทำไมภาระกลายมาเป็นของคุณนัด โดยค่าดำเนินการทั้งสิ้นอยู่ที่ประมาณ 78,056.50 บาท คุณนัดเห็นว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดสงขลา ผลักภาระที่จะต้องดำเนินการเองให้ประชาชนรับผิดชอบ จึงแจ้งมายังมูลนิธิฯเพื่อขอความช่วยเหลือ  แนวทางการแก้ไขปัญหา           หลังจากคุณนัดได้เข้ามาร้องเรียน และขอคำแนะนำกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  เจ้าหน้าที่ได้แนะนำว่า ความเดือดร้อนจากกรณีติดตั้งหม้อแปลงที่ต่ำกว่ามาตรฐานนั้นเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ อย่างไรก็ตามเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่จะต้องเข้ามาแก้ไขปัญหา  จึงแนะนำให้คุณนัดทำหนังสือร้องเรียนปัญหาถึงสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ต่อมาคุณนัดแจ้งว่า ได้ดำเนินการส่งหนังสือถึงสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และสำนักนายกรัฐมนตรี แล้วซึ่งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ทำหนังสือถึงสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขตแล้ว จนล่าสุดวันที่ 4 พ.ย. 2566  การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดสงขลาได้ติดต่อพูดคุยกับคุณนัดว่าจะเข้ามาดำเนินการให้หม้อแปลงไฟฟ้าติดตั้งตามมาตรฐาน ภายในเดือน ก.พ. 2567 ทั้งนี้ คุณนัดและเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะรอติดตามการทำงานครั้งนี้ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 บัตรเครดิตหายในต่างประเทศ

        จะทำอย่างไร เมื่อไปเที่ยวต่างประเทศแล้วถูกขโมยกระเป๋า โทรศัพท์มือถือ เงินสดและบัตรเครดิตหาย พอคิดถึงตรงนี้ก็เริ่มเวียนหัวกับปัญหาที่จะตามมาแล้ว หนักไปกว่านั้นเมื่อในกระเป๋าเงินมีบัตรเครดิตอยู่ถึง 3 ใบ!            เรื่องเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คุณแยมเดินทางไปเที่ยวกับครอบครัวที่นครอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์  ขณะคุณแยมและครอบครัว นั่งรับประทานอาหารกลางวันในร้าน KFC  โดยได้วางกระเป๋าไว้ข้างๆ ตัว   แต่...เพียงแค่ 10 นาที รู้ตัวอีกกระเป๋าก็หายไปแล้ว ในกระเป๋าใบนั้นมีทั้งเงินสด โทรศัพท์มือถือ พาสปอร์ต และบัตรเครดิตการ์ดอยู่ 3 ใบ         คุณแยมตกใจมากจึงรีบไปแจ้งความที่สถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุด ส่วนการระงับบัตรเครดิต เนื่องจากโทรศัพท์มือถือได้ถูกขโมยไปด้วย จึงแจ้งระงับบัตรเครดิตได้สำเร็จเมื่อเดินทางกลับถึงโรงแรมที่เข้าพัก        เวลาระหว่างตั้งแต่บัตรหาย จนเมื่อคุณแยมได้โทรศัพท์แจ้งติดต่อธนาคารของทั้ง 3 บัตรเครดิต บัตรเครดิตทั้ง 3 ใบ มียอดการใช้จ่ายเกิดขึ้นทั้งหมด บัตรใบที่ 1 (บัตรสีเงิน) มียอดใช้จ่าย 4-5 รายการ แล้วบัตรก็ถูกตัดไปเองโดยอัตโนมัติ  บัตรใบที่ 2 ( สีน้ำเงิน) มียอดซื้อสินค้าราคา 15,000 บาท แต่เมื่อแจ้งปฏิเสธรายการไป ยอดก็ถูกยกเลิก แต่ปัญหาที่คุณแยมหนักใจ และอยากส่งเสียงบอกเล่าเรื่องนี้คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นในบัตรที่ 3 (บัตรสีม่วง) เพราะเมื่อหายมียอดรูดบัตรราคาเท่า ๆ กัน  ติดต่อกันถึง 24 ยอดเมื่อถึงโรงแรมแล้วจึงค่อยระงับได้         เมื่อกลับมาประเทศไทย คุณแยมจึงได้อีเมล์ถึงธนาคารของบัตรสีม่วงทันทีแต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับ คุณแยมจึงโทรไปทาง Call Center อีกครั้ง เจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่าจะมีการติดต่อกลับแต่ก็หายเงียบไป  คุณแยมจึงติดต่อแจ้งเรื่องนี้ที่ธนาคารแห่งประเทศเพื่อขอให้เข้ามากำกับดูแลการทำงานของธนาคารสีม่วง และหลังจากผ่านไป 2 สัปดาห์ เจ้าหน้าที่ธนาคารของบัตรสีม่วงได้แจ้งว่าจะประนีประนอมการชำระหนี้ให้คุณแยม โดยให้ชำระ 50% (ประมาณ 18,000 บาท) และให้ตอบรับภายในวันที่ 20 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา         คุณแยมเห็นว่า ไม่ยุติธรรมกับผู้บริโภคอย่างมาก เพราะธนาคารเจ้าของบัตรสีม่วงไม่มีระบบป้องกันใดๆ ให้ผู้ถือบัตรเลย แม้จะเกิดการรูดบัตรเครดิต 24 ครั้งต่อเนื่องกัน ซึ่งเป็นความผิดปกติชัดเจน ก็ไม่มีระบบที่ช่วยระงับการใช้งานโดยอัตโนมัติ การใช้งานระบบจ่ายเงินแบบ Contactless โดยไร้สัมผัส ผ่านโทรศัพท์มือถือ บัตรเครดิต สมาร์ทวอทช์ ธนาคารต่างประเทศรวมถึงในประเทศด้วย ซึ่งหลายธนาคารได้มีระบบให้ใส่รหัสเพื่อตรวจพบการใช้บัตรผิดปกติแล้ว แต่ธนาคารเจ้าของบัตรสีม่วงก็ยังไม่มีระบบดังกล่าว  คุณแยมจึงมาร้องเรียนที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอความช่วยเหลือเพราะการที่เธอต้องจ่ายเงิน ประมาณ 18,000 บาท จากการที่ธนาคารไม่มีระบบป้องกันและยังเป็นกรณีที่บัตรเครดิตถูกขโมยด้วย เธอมีหลักฐานการแจ้งความอย่างชัดเจน ไม่เป็นธรรมกับเธอสุดๆ  แนวทางการแก้ไขปัญหาหากเกิดกรณีเช่นเดียวกับคุณแยม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอแนะนำว่า          1.เมื่อบัตรเครดิตหาย ให้รีบโทรศัพท์อายัดบัตรกับสถาบันการเงิน หรือธนาคารเจ้าของบัตร หรือ อายัดบัตรฯ ผ่านแอปพลิเคชันในมือถือทันทีที่สามารถทำได้         2.รีบแจ้งความที่สถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุดในพื้นที่เกิดเหตุ         3.ทำหนังสือขอปฏิเสธการชำระยอดเงิน พร้อมแนบใบแจ้งความ และหลักฐานที่เกี่ยวข้อง แล้วส่งไปที่สำนักงานใหญ่ของธนาคารเจ้าของบัตรเครดิต พร้อมกันนี้ให้ทำสำเนาอีกชุด ส่งไปที่ “ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย” เพื่อขอให้ตรวจสอบและดำเนินการแก้ไขปัญหา         4. เก็บหลักฐานทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เช่น หลักฐานที่อยู่ขณะเกิดเหตุ, บันทึกการแจ้งอายัดบัตรฯ, ใบแจ้งความ, อีเมลที่โต้ตอบกับธนาคาร, หนังสือปฏิเสธการชำระหนี้ทุกฉบับ เพื่อยืนยันข้อเท็จจริง         สำหรับกรณีคุณแยม ขณะนี้ได้ทำหนังสือปฏิเสธการจ่ายเงินและรอคำตอบจากทางธนาคารเจ้าของบัตรสีม่วงอยู่ ซึ่งหากไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือเรื่องไม่อาจยุติลงได้ คงต้องใช้กระบวนการทางศาลต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 NFT สินทรัพย์ที่กลายเป็นขยะดิจิทัล?

        เชื่อว่าทุกคนรู้จักบิทคอยน์ หลายคนน่าจะติดดอยสูงกันพอสมควร ช่วงที่ผ่านมาเจ้าเงินดิจิทัลชนิดนี้ทำคนเจ็บตัวไปมากมาย         บิทคอยน์เป็นประดิษฐกรรมที่เกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีที่สูงขึ้น มันตอบสนองความต้องการทางการเงิน การเก็งกำไร หรือแม้กระทั่งความโลภของมนุษย์ ยังไม่พอมนุษย์เรายังสร้างสิ่งจับต้องไม่ได้อื่นๆ แล้วสมมติมันขึ้นเป็นสินทรัพย์         NFT หรือ Non-Fungible Token เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลอีกแบบหนึ่งเหมือนพวกบิทคอยน์นั่นแหละ จุดต่างอยู่ที่มันแลกเปลี่ยนหรือแทนที่กันไม่ได้ เพราะเหรียญดิจิทัลสกุลเดียวกันก็มีมูลค่าเท่ากันตลอด ณ เวลานั้นๆ เลยแลกเปลี่ยนแทนที่ได้         แต่ NFT ทำแบบที่ว่าไม่ได้เพราะ NFT แต่ละตัวมีความเฉพาะ อย่างที่รู้กัน NFT มักเป็นงานศิลปะประเภทต่างๆ ที่แปรสภาพเป็นดิจิทัล เช่น ภาพ ดนตรี หรือเกม เป็นต้น สมมติคุณเป็นกรรมสิทธิ์ภาพดิจิทัล จะทำเองหรือซื้อมาก็แล้วแต่ คุณก็เอาสิ่งนี้ไปเก็บไว้ในแพล็ตฟอร์มแล้วก็รอให้ราคาขึ้น พอใจเมื่อไหร่ก็ขาย         เปรียบเทียบให้ง่ายก็เหมือนคุณครอบครองภาพของแวน โกะห์ ที่ใครๆ ก็อยากได้จากคุณ คนพวกนั้นก็ต้องยื่นข้อเสนอที่คุณพอใจเพื่อซื้อภาพนี้ไปเป็นของตน         อีกนั่นแหละ มนุษย์เป็นนักเก็งกำไรในสายเลือด (มั้ง?) NFT ก็ไม่พ้น ทั้งที่จับต้องไม่ได้คนยังแห่เก็งกำไร ซึ่งล่าสุดมีทีท่าว่าจะจบไม่สวยเพราะขาดทุนหนักมากตามคริปโตไปแล้วจากข่าวที่นำเสนอกันมีคอลเลกชัน NFT อยู่ 73,257 รายการ และตอนนี้ 69,795 รายการมีมูลค่าตลาดเท่ากับ 0 อ่านว่า ศูนย์ กล่าวคือ 95 เปอร์เซ็นต์ของ NFT ที่เคยมีมูลค่าแปรสภาพเป็นขยะดิจิทัลไปแล้ว         NFT บางชิ้นเรียกว่าขาดทุนย่อยยับ แบบว่าซื้อมาเป็นล้านขายได้แค่หลักพันหลักหมื่น ทำเอาคนที่ครอบครองคอลเล็กชั่น NFT ปวดหัวหนัก แต่ยังยากจะบอกว่าอนาคต NFT ดับสนิทแล้ว ขึ้นชื่อว่าการเก็งกำไรบวกความโลภของมนุษย์ บางทีมันอาจจะกลับมาอีกก็ได้         อุทธาหรณ์ของเรื่องนี้ ไม่ได้บอกว่าอย่าลงทุนใน NFT (จะห้ามได้ยังไงเป็นสิทธิ์ของแต่ละคน) แค่จะพูดเรื่องเดิมๆ ว่าอยากลงทุนอะไรให้ศึกษาดีๆ อย่าตามกระแส โดยเฉพาะสินทรัพย์ดิจิทัลต่างๆ ที่จับต้องไม่ได้ ไม่มีพื้นฐานรองรับ ราคาเกิดจากการปั่นๆๆ ยิ่งต้องระมัดระวังในการลงทุน         จะได้ลงทุนอย่างมีความสุข ไม่ต้องกุมขมับเหมือนนักเก็งกำไร NFT หลายคนตอนนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 ผลไม้ดอง อร่อยปาก ลำบากกาย

        ทุกท่านเคยสังเกตกันหรือไม่ว่า เวลาที่เกิดอาการง่วงนอนแต่ยังไม่สามารถล้มตัวลงนอนได้ อาจจะเนื่องด้วยกำลังทำงาน กำลังอ่านหนังสือเตรียมสอบลังขับรถลังประชุมหรือยังไม่ถึงเวลานอน เป็นต้น  ท่านใช้อะไรเป็นตัวช่วยเพื่อบรรเทาอาการเหล่านั้น           เชื่อไหมว่า หนึ่งในตัวช่วยที่เป็นที่นิยมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสุภาพสตรีก็คือ    “ผลไม้ดอง”   ด้วยรสชาติที่จัดจ้าน เปรี้ยวจัด  หวานจัด ทำให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกตื่นตัวและสามารถปฏิบัติภารกิจได้ต่อไปแต่ทราบหรือไม่ว่าในความเปรี้ยวจัด หวานจัด อร่อยจัดของผลไม้เหล่านั้น อาจจะมีอันตรายแอบแฝงอยู่         จากรายงานสถานการณ์ความปลอดภัยของอาหาร พ.ศ. 2563 ของสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข  พบการปนเปื้อนของกรดซาลิไซลิกในอาหารในเขต 13 (กรุงเทพมหานคร) มากที่สุด แล้วกรดซาลิไซลิกคืออะไร มีอันตรายกับร่างกายหรือไม่ อย่างไร เรามาหาคำตอบกัน  กรดซาลิซิลิค (salicylic acid)  หรือ สารกันรา   มีลักษณะเป็นผลึกสีขาว  ใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตเครื่องสำอางและยาบางชนิด   เนื่องจากสารมารถยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ได้ดี  สารกันราในอาหาร มักพบใน ผักดอง ผลไม้ดอง เพื่อให้ผักหรือผลไม้ดองมีสีสรรสดใสน่ารับประทานไม่เกิดเชื้อราสามารถเก็บไว้รับประทานได้นานกว่าปกติ   ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 151 พ.ศ.2536 กำหนดให้กรดซาลิซิลิค เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหารซึ่งสารป้องกันเชื้อราหรือสารกันบูดเหล่านี้เมื่อรับประทานและเข้าไปสะสมในร่างกายมาก ๆ จะไปทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ทำให้เป็นแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้ บางรายอาจเกิดอาการแพ้เป็นผื่นขึ้นตามตัว อาเจียน หูอื้อ หรือมีไข้ ร่วมด้วย  ถ้าร่างกายได้รับจนมีความเข้มข้นของกรดซาลิไซลิกในเลือดประมาณ 25-35 มิลลิลิตรต่อเลือด 100 มิลลิกรัม จะทำให้เกิดการอาเจียน ปวดท้อง เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ ความดันโลหิตต่ำจนเกิดอาการช็อคและอาจเสียชีวิตได้          ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อสุขภาพ ผู้บริโภคควรหันมารับประทานผลไม้สดที่ปลูกด้วยวิธีการธรรมชาติโดยไม่มีสารเคมีเจือปน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรล้างทำความสะอาดผลไม้สดอย่างดีก่อนบริโภค เพื่อลดการปนเปื้อนจากยาฆ่าแมลง  หากอยากรับประทานผลไม้ดองจริงๆ อาจดองรับประทานเอง  เพราะนอกจากจะอิ่มท้อง ปลอดภัยต่อสุขภาพแล้วยังสามารถต่อยอดสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัวได้อีกด้วย แต่ถ้าไม่สะดวกควรเลือกซื้อผลไม้ดองที่บรรจุในภาชนะที่มีรายละเอียดบนฉลากครบถ้วน ทั้ง ชื่อที่อยู่ผู้ผลิต ส่วนประกอบและที่สำคัญ อย่าลืมตรวจสอบด้วยว่ามีเลขที่อนุญาตแสดงในเครื่องหมาย อย.ด้วยหรือไม่ หากพบเห็นฉลากไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ขอให้แจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้ตัวท่านเพื่อติดตามตรวจสอบต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 รู้หรือไม่ งานทวงหนี้ ต้องขออนุญาต

        หลังที่โรคระบาดโควิดเริ่มซาลง สภาพเศรษฐกิจก็ยังไม่ดีขึ้น หลายคนชักหน้าไม่ถึงหลัง หมุนเงินไม่ทัน ก็ต้องวิ่งเข้าหาแหล่งเงินกู้ ซึ่งแน่นอนว่าสมัยนี้ การกู้ยืมเงินสะดวกมากขึ้น ผู้บริโภคมีช่องทางกู้เงินมากมาย และหนึ่งในช่องทางที่ได้รับความนิยมคือ การกู้ยืมเงินผ่านออนไลน์ หรือแอปพลิเคชั่นกู้เงิน แต่อย่างไรก็ตาม ช่องทางดังกล่าวนี้ ก็มีความเสี่ยง เพราะเห็นในหน้าสื่อต่างๆ อยู่เสมอว่า คนที่กู้เงินผ่านช่องทางพวกนี้ มักเจอการถูกโกงในการกู้เงิน ได้เงินไม่เต็มบ้าง ถูกคิดดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ค่าทวงหนี้สูงเกินไปบ้าง หรือบางรายเจอการทวงหนี้ที่น่ากลัว ข่มขู่ จนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ  ในฉบับนี้ จึงขอแนะนำความรู้ทางกฎหมายเกี่ยวกับการทวงถามหนี้ เพื่อประโยชน์ของทุกคน จะได้มีวิธีรับมือกับพวกแก๊งค์กู้เงินผิดกฎหมายครับ         ก่อนอื่น หลายคนไม่ทราบว่า “คำข่มขู่” ของแก๊งค์ทวงหนี้บางเรื่อง มีการอ้างข้อกฎหมายที่ไม่จริง ทำให้คนที่ไม่รู้ หลงเชื่อ  เช่น ขู่ว่าเป็นหนี้ไม่จ่ายจะติดคุก ซึ่งอันนี้ น่าจะเจอกันบ่อยที่สุด ซึ่งอันที่จริง การไม่จ่ายหนี้เป็นความผิดทางแพ่งไม่ใช่ความผิดตามกฎหมายอาญา ดังนั้นไม่มีการติดคุกแน่นอน แต่ความผิดทางแพ่งเจ้าหนี้ต้องไปใช้สิทธิฟ้องศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้   อีกกรณีคือการขู่ว่าจะมายึดทรัพย์ลูกหนี้ทันทีถ้าไม่จ่าย ซึ่งความจริงคือ เจ้าหนี้จะไปยึดทรัพย์สินลูกหนี้ตามอำเภอใจไม่ได้ ต้องมีคำสั่งศาลจนคดีถึงที่สุดก่อน ดังนั้น ก็ต้องไปฟ้องศาลก่อนเช่นกัน และหากเผลอมายึดจริงก็อาจมีความผิดฐานลักทรัพย์ได้          เมื่อพูดถึงเรื่องกฎหมาย หลายคนอาจไม่ทราบว่า รัฐได้ออกกฎหมายคุ้มครองลูกหนี้เพื่อไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากการทวงหนี้อย่างไม่เป็นธรรม ชื่อว่า “พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558” ซึ่งกฎหมายนี้ ให้การคุ้มครองผู้บริโภคในหลายประการ เช่น ห้ามการติดตามทวงหนี้ ซึ่งมีลักษณะการพูดจาข่มขู่ ดูหมิ่น การเปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ การใช้ความรุนแรงทำให้ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย อาจจะถูกดำเนินคดีในข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท         หากใครประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ต้องมีการขออนุญาตตามกฎกระทรวงการจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558  หากใครฝ่าฝืนไม่ขออนุญาต มีโทษจำคุก 1-5 ปี ปรับตั้งแต่ 100,000-500,000 บาท ส่วนเจ้าหนี้คนไหนที่ไม่ใช่สถาบันการเงินในกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย คิดดอกเบี้ยแพงเกินร้อยละ 1.25 ต่อเดือนหรือร้อยละ 15 ต่อปี ถือว่าเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท         ดังนั้น เราจะเห็นว่า ความจริงแล้วคนที่ทำผิดกฎหมาย เสี่ยงติดคุกไม่ใช่ลูกหนี้ แต่เป็นบรรดาเจ้าหนี้และแก๊งค์ทวงหนี้มากกว่า เพราะคนเหล่านี้ทำผิดหลายอย่าง ทั้งเจ้าหนี้ที่คิดดอกเบี้ยแพง ก็ถือว่าคิดดอกเบี้ยผิดกฎหมาย ดอกเบี้ยส่วนนี้จึงไม่มีสิทธิได้รับ เงินที่จ่ายต้องเอาไปหักเงินต้นทั้งหมด หรือพวกทวงหนี้ที่ใช้คำหยาบ ทวงไม่เป็นเวลา หรือไม่ขออนุญาตก็ถือว่าเป็นการทวงหนี้ผิดกฎหมาย ถ้าใครเจอปัญหาทวงหนี้ดังกล่าว ขอให้รีบดำเนินการ ดังต่อไปนี้         1. หยุดจ่าย หยุดสร้างหนี้ใหม่ และรวบรวมหลักฐานเหล่านี้ เพื่อไปแจ้งความดำเนินคดีทางกฎหมาย ได้แก่ รายการเดินบัญชี (Statement) ที่กู้เงินออนไลน์ ชื่อและหน้าแอปฯ กู้เงินเถื่อน หลักฐานการแช็ต และแจ้งความที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน เพื่อให้ดำเนินคดีถึงที่สุด        2. ติดต่อสายด่วนแก้หนี้ 1213 หรือ สายด่วนชนะหนี้ 1443        3. เล่าข้อเท็จจริงและรูปแบบการกระทำของมิจฉาชีพ ลงบนโซเชียลมีเดียเพื่อเตือนภัยให้กับคนรู้จัก        4. หากถูกปลอมแปลงหรือขโมยข้อมูลออนไลน์จากการโหลดแอปกู้เงินเถื่อน แจ้งสายด่วน 1559         นอกจากนี้ การทวงหนี้ที่ไม่ถูกต้อง เคยมีประเด็นฟ้องร้องต่อศาล และศาลฏีกาได้ตัดสินวางหลักที่น่าสนใจไว้ เป็นกรณี การประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ต้องจดทะเบียนตามกฎหมาย หากไม่จดมีความผิดทางอาญา ตาม คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3047/2562 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3047/2562         “พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 มาตรา 5 บัญญัติว่า  ผู้ใดจะประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ต้องจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ต่อนายทะเบียน...ดังนั้น ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า  เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2560 เวลากลางวัน  จำเลยทั้งสองร่วมกันประกอบธุรกิจทวงถามหนี้โดยรับจ้างบุคคลผู้มีชื่อทวงถามหนี้เงินกู้จาก ร.และประชาชนอื่นซึ่งเป็นลูกหนี้อันเกิดจากการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด  โดยจำเลยทั้งสองไม่ได้จดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้...จึงเป็นการบรรยายฟ้องครบองค์ประกอบแห่งความผิดแล้ว  ส่วนจำเลยทั้งสองจะรับจ้างจากบุคคลใดและประชาชนผู้ใดบ้างที่ถูกจำเลยทั้งสองทวงถามหนี้  หาใช่องค์ประกอบความผิดอันจะต้องบรรยายมาในคำฟ้องด้วยไม่  แต่เป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก็นำสืบได้ในชั้นพิจารณา  การที่โจทก์มิได้ระบุชื่อผู้ว่าจ้างหรือชื่อประชาชนผู้ถูกทวงถามหนี้มาในฟ้อง  จึงไม่ถือว่าฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องที่เคลือบคลุม  ฟ้องโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.อ.มาตรา 158(5)         ความผิดฐานประกอบธุรกิจทวงถามหนี้โดยไม่ได้จดทะเบียนตาม พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 มาตรา 5, 39  มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี  จึงไม่ใช่ข้อหาที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น...เมื่อจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ  ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องโดยไม่สืบพยานต่อไปก็ได้ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 176 วรรคหนึ่ง”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 สตรีมมิ่ง

          ปี 2560 เป็นปีแรกที่ประเทศไทยเริ่มรู้จักกับบริการ สตรีมมิ่ง เมื่อ Netflix ได้เข้ามาเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ         ผ่านไป 6 ปี ในปี 2566 มีแพลตฟอร์มที่ให้บริการสตรีมมิ่งในประเทศไทยแล้วมากกว่า 10 แพลตฟอร์มและสถานการณ์การแข่งขันยังดุเดือด ในปี 2565 สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับ บริษัท มาร์เก็ตเมทริกซ์ เอเชีย จำกัด ที่ปรึกษาธุรกิจ ทำการศึกษา Business Model ของ Streaming Platform เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจยุค Platform Economy ยังพบว่าในปี 2566 ยอดคนไทยดู Streaming จะเติบโตขึ้นสูงถึง 2.10 ล้านราย คิดเป็น 3.04% ของประชากรไทยทั้งหมด         บริการสตรีมมิ่งเป็นบริการที่แพร่หลายอยู่ในชีวิตประจำวันของคนทุกช่วงวัย นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ซึ่งดำเนินโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ร่วมกับ สสส. จึงจัดทำทดสอบบริการสตรีมมิ่ง จำนวน 9 แพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมอย่างสูงคือ WeTV , VIU, MONOMAX , iQIYI , FLIXER , Netflix , Disney+ Hotstar , Amazon Prime Video และ HBO GO เพื่อสำรวจความแตกต่างในคุณภาพการบริการว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร   วิธีการทดสอบ         -  สำรวจสตรีมมิ่ง 2 กลุ่ม กลุ่มที่หนึ่ง คือสตรีมมิ่งผู้ให้บริการระดับภูมิภาค คือ We TV , VIU ,MONOMAX , iQIYI และ FLIXER สำรวจในช่วงวันที่ 17 มิ.ย. - 17 ก.ค. 2566 กลุ่มที่ 2 คือ สตรีมมิ่งที่ให้บริการครอบคลุมพื้นที่ทั่วโลกคือ  Netflix , Disney+ Hotstar  ,  Amazon Prime Video และ HBO GO  สำรวจวันที่ 17 ก.ค. 2566 – 17 ส.ค. 2566          -  ในแต่ละแพตฟอร์มเลือกสำรวจ แพ็คเกจที่มีราคาสูงสุด เพื่อสำรวจคุณภาพ บริการสูงสุดที่ผู้บริโภคสามารถได้รับจากแต่ละแพลตฟอร์ม         -  สำรวจขั้นตอนการสมัคร ราคา คลังเนื้อหา และความหลากหลาย คุณภาพของภาพและเสียง จุดเด่นของแต่ละแพลตฟอร์ม การสร้างการมีส่วนร่วมต่อผู้รับชม  ความสะดวกในการยกเลิกเป็นสมาชิก         -  สำรวจด้วยการดูด้วยอุปกรณ์ที่หลากหลาย ทั้ง โทรทัศน์ แท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โน๊ตบุ๊ค   1. We TV , VIU ,MONOMAX , iQIYI และ FLIXER สำรวจในวันที่ 17 มิถุนายน  -  17 กรกฎาคม 2566 ผลการทดสอบ         1.ทุกแพลตฟอร์ม มีขั้นตอนการสมัคร และการยกเลิกที่สะดวก และไม่ยุ่งยาก โดยสามารถสมัครและจ่ายเงินได้หลากหลายช่องทางเช่น  google play บัครเครดิตและเดบิต และ อินเทอร์เน็ตแบงค์กิ้งต่างๆ  Rabbit Line pay, พร้อมเพย์, Truemoney Wallet และ ShopeePay การยกเลิกสามารถทำได้ทุกเมื่อ         2.ผลการสำรวจสอบ พบว่าหลายแพลตฟอร์มมีเนื้อหาที่ให้บริการลักษณะคล้ายคลึงกัน เช่น We TV  และ iQIYI มีเนื้อหาในกลุ่มเดียวกันค่อนข้างมาก คือ ซีรีส์จีน         3.ทุกแพลตฟอร์มมีการแจ้งเตือน เพื่อโปรโมทเนื้อหาใหม่ๆ สม่ำเสมอ          4.การสำรวจด้านราคาพบว่า แต่ละแพลตฟอร์มมีแพ็คเกจให้เลือกสมัครหลากหลาย ทั้งรายเดือน   ราย 3 เดือน และ รายปีแพลตฟอร์มที่มีให้เลือกสมัครทั้งแบบรายเดือน ราย 3 เดือน และรายปี มี  5 แพลตฟอร์ม คือ WeTV , VIU, MONOMAX , iQIYI , HBO GO แพลตฟอร์มที่ให้บริการเฉพาะรายเดือนมี 2 แพลตฟอร์ม คือ Netflix , Amazon Prime Video และที่ให้บริการแบบรายเดือนและ รายปี มี 2  แพลตฟอร์มคือ Disney+ Hotstar  และ FLIXER         5.ปัจจุบันแต่ละแพลตฟอร์มให้บริการโดยกำหนดคุณภาพของภาพและเสียงที่ใกล้เคียงกัน คือคุณภาพของภาพที่ 1080p (Full HD) และคุณภาพของเสียงที่ระบบสเตอริโอ 5.1โดยมี 4 แพลตฟอร์มที่มีคุณภาพภาพของภาพและเสียงด้วยเทคโนโลยีสูงสุดในปัจจุบัน คือ iQIYI , Netflix , Disney+ Hotstar  ,  Amazon Prime Video สามารถให้คุณภาพของภาพได้ถึงระดับ 4K และระบบเสียงอยู่ที่ระบบ  Dolby Atmos ซึ่งเป็นระบบเสียงล้อมตัวผู้ชมแบบโรงภาพยนตร์         6.แพลตฟอร์มทั้ง 9 มีการจัดหมวดเนื้อหาที่คล้ายคลึงกัน ไม่มีความต่างที่เด่นชัด เช่น การจัดหมวดหมู่ตามประเภทของเนื้อหา เช่น ซีรีส์ ภาพยนตร์ วาไรตี้  รายการสำหรับเด็ก ฯลฯ  จัดหมวดตามประเภท เช่น ไซไฟ ดราม่า ฯลฯ การจัดหมวดที่ได้รับความนิยมในรอบสัปดาห์  เนื้อหาที่ได้รับความนิยมสูงสุด  การจัดกลุ่มซีรีส์ รายการที่มีพากษ์ไทย          7.มี 2 แพลตฟอร์มที่ยังไม่มีการพัฒนาระบบดาวน์โหลดเพื่อรับชมแบบไร้อินเตอร์เน็ตคือ MONOMAX และ FLIXER         8.แพลตฟอร์มที่การเพิ่มเติมเนื้อหา ค่อนข้างถี่ คือ  VIU  และ iQIYI  โดยสามารถรับชมเนื้อหาหลังประเทศต้นทางออกอากาศแล้ว ได้ตั้งแต่ 8 ชั่วโมงเป็นต้นไป         9.อุปกรณ์มีผลอย่างสำคัญ ต่อการได้รับภาพและเสียงที่มีคุณภาพ โดยแม้บางแพลตฟอร์มจะมีการกำหนดคุณภาพการให้บริการทั้งภาพและเสียงไว้ในระดับสูงแต่จากการทดสอบด้วยอุปกรณ์ที่หลากหลาย ทั้ง โทรทัศน์ แท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โน๊ตบุ๊ค ระบบคุณภาพดังกล่าวยังไม่สามารถแสดงผลได้เต็มที่หรือเสมอกัน         10.แพลตฟอร์มที่พัฒนาฟีเจอร์เพื่อ เปิดโอกาสให้ผู้ใช้บริการได้แสดงความคิดเห็น ได้มีส่วนร่วมอย่างโดดเด่น คือ  WeTV มีช่องแนะนำ ติชม แสดงความเห็นพูดคุยกับผู้ชมคนอื่นๆ ได้ , iQIYI ผู้ชมแสดงความเห็นและให้คะแนนได้, Amazon Prime Video มีฟีเจอร์ Watch Party ผู้ชมสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ที่ชมภาพยนตร์เดียวกัน  ข้อสังเกต         ·  บริการสตรีมมิ่งในปัจจุบันกระตุ้นให้ผู้บริโภคสมัครสมาชิก ด้วยกลไกราคาที่ถูกลงเมื่อสมัครรายปี หรือการสมัครแบบระบบการจ่ายเงินแบบต่ออายุอัตโนมัติ ที่จะจ่ายราคาถูกลงมากกว่าแบบสมัครใช้ครั้งเดียว อย่างไรก็ตาม โปรโมชั่นด้านราคานำมาใช้น้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับในช่วง 3 ปีแรกของการแข่งขัน และยังมีแนวโน้มที่ราคาค่าสมัครใช้บริการจะค่อยๆ ขยับสูงขึ้น        ·    คุณภาพของภาพ และเสียงในแต่ละแพลตฟอร์ม ได้รับการพัฒนามากขึ้นต่อเนื่อง จนใกล้เคียงกันทั้งหมด และในอนาคตคาดว่าจุดนี้จะไม่ได้เป็นจุดที่สร้างความแตกต่างได้อีกต่อไป         ·    แพลตฟอร์มที่ให้บริการในระดับภูมิภาค มีความโดดเด่นด้านการพัฒนาภาษาในการรับชม  เช่น VIU มีการพัฒนาภาษาพากษ์แบบภูมิภาคด้วย และล่าสุดยังมีภาษามือ  และ MONOMAX ที่มีพากษ์ไทยทุกเรื่อง แสดงถึงความพยายามสร้างความแตกต่างที่มีผลดีให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น         ·     Original Content  ยังเป็นจุดที่สามารถสร้างความแตกต่างได้ เพราะสะท้อนถึงเอกลักษณ์ ความเป็นตัวตนเฉพาะของแต่แพลตฟอร์มได้ชัดเจน   บทสรุป         ท่ามกลางบริการสตรีมมิ่งที่มีให้เลือกมากมายหลายแพตฟอร์ม  นิตยสารฉลาดซื้อเสนอแนวทางในการสมัครใช้บริการดังนี้         1.เลือกจากคลังเนื้อหาว่ามีความหลากหลาย และ Original Content  มีเอกลักษณ์ที่ตรงกับความสนใจหรือไม่ เพราะเป็นเนื้อหาที่สามารถรับชมได้ในแพลตฟอร์มที่สมัครเท่านั้น           2. ความถี่ในการเพิ่มเติมเนื้อหา เพราะแต่ละแพลตฟอร์มทำได้แตกต่างกัน  เช่นบางแพลตฟอร์มเพิ่มเติมทุกสัปดาห์  และบางแพลตฟอร์มเป็นรายเดือน เป็นต้น        3. หากผู้บริโภคตัดสินใจสมัครใช้บริการโดยคำนึงถึงคุณภาพของภาพและเสียงเป็นปัจจัยแรก กรณีนี้มีข้อที่ต้องคำนึงคือ การแสดงผลภาพคุณภาพสูงสุดคือ 4K และ เสียงแบบ Dolby Atmos ต้องการอุปกรณ์ที่ทันสมัย และสัญญาณอินเตอร์ที่เร็วแรงพร้อมรองรับได้  เพราะแม้บางแพลตฟอร์มจะนำมาเป็นจุดโฆษณาขายแต่เมื่อรับชมจริงระบบจะเลือก Stream ไฟล์ที่คุณภาพสูงสุดที่เครื่องปลายทางจะรองรับได้นั่นเอง ผู้บริโภคจึงควรพิจารณาถึงอุปกรณ์การรับชมที่ท่านรับชมจริงด้วย 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 สำรวจฉลากโภชนาการ “เครื่องดื่มน้ำนมข้าวและธัญพืช”

         หลายปีมานี้เทรนด์การบริโภคอาหารจากพืช (Plant-Based) ที่ตอบโจทย์ทั้งมีประโยชน์ต่อสุขภาพและรักษาสิ่งแวดล้อมนั้น ได้ขยายความนิยมครอบคลุมในทุกเมนูอาหาร รวมทั้งนมจากพืชด้วย ดังจะเห็นได้จากมูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์นมจากพืช ปี 2565 มี 17,960 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 โดยส่วนใหญ่เป็นนมถั่วเหลือง รองลงมาได้แก่ นมอัลมอนด์ น้ำนมข้าว นมข้าวโอ๊ต และกะทิพร้อมดื่มตามลำดับเฉพาะผลิตภัณฑ์ “น้ำนมข้าว” นี้ได้รับการผลักดันจากกรมการค้าภายในมาตั้งแต่ปี 2562 ให้ผลิตภายในประเทศเพื่อเป็นทางเลือกให้คนที่แพ้นมวัวและนมจากพืชตระกูลถั่ว รวมทั้งประชาสัมพันธ์ถึงคุณประโยชน์ของน้ำนมข้าวที่อุดมไปด้วยวิตามินและสารอาหารต่างๆ ที่ดีต่อสุขภาพ ให้ได้รับรู้กันในวงกว้างมากขึ้น ปัจจุบันเครื่องดื่มน้ำนมข้าวส่วนใหญ่จึงผลิตในประเทศไทย มีราคาที่ผู้บริโภคซื้อดื่มอย่างต่อเนื่องได้ และได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันผู้ผลิตก็ได้คิดค้นเครื่องดื่มน้ำนมข้าวออกมาให้ผู้บริโภคเลือกหลากหลายสูตร โดยบางรายผสมธัญพืชต่างๆ เติมน้ำตาล สารปรุงแต่งอื่นๆ เพื่อให้รสชาติอร่อย ดื่มง่าย และอาจเพิ่มสารกันเสียเพื่อให้เก็บได้นานขึ้นด้วย นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกเครื่องดื่มน้ำนมข้าวและธัญพืช จำนวน 26 ตัวอย่าง แบ่งเป็น แบบผงชงดื่ม 8 ตัวอย่าง 6 ยี่ห้อ และแบบบรรจุขวด/กล่องพร้อมดื่ม 18 ตัวอย่าง 5 ยี่ห้อ เมื่อเดือนกันยายน 2566 มาสำรวจฉลากโภชนาการเพื่อดูปริมาณพลังงาน น้ำตาล โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และโซเดียม รวมถึงเปรียบเทียบราคา เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคไว้ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อต่อไปผลสำรวจ         เมื่อเปรียบเทียบปริมาณคุณค่าทางโภชนาการต่อหนึ่ง 1 หน่วยบริโภค พบว่าพลังงาน         แบบผงชงดื่ม : มีมากสุด = 100 กิโลแคลอรี คือ ยี่ห้อฮักปัน ผงข้าวกล้องสกัดโฮลอินวัน ส่วนมีน้อยสุด =  25  กิโลแคลอรี คือ ยี่ห้อวีแกนโปร ครีมเทียมข้าว        แบบพร้อมดื่ม: มีมากสุด = 180 กิโลแคลอรี คือ ยี่ห้อวี-ฟิท เครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำนมข้าวกล้องงอกผสมงาดำจากข้าวกล้องงอกและงาดำเกษตรอินทรีย์ ส่วนมีน้อยสุด =  50  กิโลแคลอรี คือ ยี่ห้อฟอร์แคร์บาลานซ์ เครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องหอมมะลิออร์แกนิก ไม่เติมน้ำตาล น้ำตาล        แบบผงชงดื่ม : มีมากสุด = 3 กรัม ได้แก่ ยี่ห้อวีแกนโปร เครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องไรซ์เบอร์รี่งอก ชนิดผง และเครื่องดื่มน้ำนมข้าวหอมมะลิเมล็ดอ่อน ชนิดผง ส่วนยี่ห้อไรซ์มายด์เครื่องดื่มธัญพืชชนิดผงผสมจมูกข้าวหอมมะลิ ไม่ระบุปริมาณไว้ ส่วนอีก 5 ตัวอย่างนั้นไม่มีน้ำตาล        แบบพร้อมดื่ม: มีมากสุด = 14 กรัม คือ ยี่ห้อวี-ฟิท เครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำนมข้าวกล้องงอก ส่วนมีน้อยสุด = 1 กรัม คือ ยี่ห้อวี-ฟิท เครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำนมข้าวยาคู สูตรไม่เติมน้ำตาล ส่วนที่ไม่มีน้ำตาล คือยี่ห้อฟอร์แคร์บาลานซ์ เครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องหอมมะลิออร์แกนิก ไม่เติมน้ำตาล โปรตีน         แบบผงชงดื่ม : มีมากสุด  =  6 กรัม คือ ยี่ห้อฮักปัน ผงข้าวกล้องสกัดโฮลอินวัน ส่วนมีน้อยที่สุด = < 1 กรัม ได้แก่ ยี่ห้อวีแกนโปร เครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องไรซ์เบอร์รี่งอก ชนิดผง และเครื่องดื่มน้ำนมข้าวหอมมะลิเมล็ดอ่อน ชนิดผง ส่วนยี่ห้อวีแกนโปร ครีมเทียมข้าว ไม่มีโปรตีนแบบพร้อมดื่ม: มีมากสุด = 6 กรัม คือ ยี่ห้อเนเจอร์ริช น้ำข้าวกล้องงอกผสมถั่ว 5 สี  ส่วนมีน้อยที่สุด = < 1 กรัม ได้แก่ ยี่ห้อฟอร์แคร์บาลานซ์ เครื่องดื่มน้ำนมข้าวไรซ์เบอร์รี่ออร์แกนิก เครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องหอมมะลิออร์แกนิก รสวานิลลา และเครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องหอมมะลิออร์แกนิก ไม่เติมน้ำตาล คาร์โบไฮเดรต         แบบผงชงดื่ม : มีมากสุด  =  15 กรัม ได้แก่ ยี่ห้อฮักปัน ผงข้าวกล้องสกัดโฮลอินวัน ยี่ห้อวีแกนโปร เครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องไรซ์เบอร์รี่งอก ชนิดผง และเครื่องดื่มน้ำนมข้าวหอมมะลิเมล็ดอ่อน ชนิดผง และยี่ห้อแคร์คุณ ข้าว 5 ชนิด ผสมควินัว ส่วนมีน้อยสุด = 3 กรัม คือ ยี่ห้อวีแกนโปร ครีมเทียมข้าว แบบพร้อมดื่ม: มีมากสุด = 32 กรัม คือ ยี่ห้อวี-ฟิท เครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำนมข้าวกล้องงอกผสมงาดำจากข้าวกล้องงอกและงาดำเกษตรอินทรีย์ ส่วนมีน้อยสุด = 4 กรัม คือ ยี่ห้อฟอร์แคร์บาลานซ์ เครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องหอมมะลิออร์แกนิก ไม่เติมน้ำตาล โซเดียม         แบบผงชงดื่ม : มีมากสุด  =  90 มิลลิกรัม คือ ยี่ห้อแคร์คุณ ข้าว 5 ชนิด ผสมควินัว มีน้อยสุด = 10 มิลลิกรัม ได้แก่ ยี่ห้อวีแกนโปร เครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องไรซ์เบอร์รี่งอก ชนิดผง และเครื่องดื่มน้ำนมข้าวหอมมะลิเมล็ดอ่อน ชนิดผง ส่วนอีก 4 ตัวอย่างนั้นไม่มีโซเดียมแบบพร้อมดื่ม : มีมากสุด = 230 มิลลิกรัม คือ ยี่ห้อวี-ฟิท เครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำนมข้าวกล้องงอก สูตรน้ำตาลน้อยกว่า ส่วนมีน้อยสุด = 5 มิลลิกรัม ได้แก่ ยี่ห้อฟอร์แคร์บาลานซ์ เครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำจมูกข้าวกล้องหอมมะลิผสมน้ำจมูกข้าวสาลีและน้ำข้าวโอ๊ด รสงาดำ เครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำจมูกข้าวกล้องหอมมะลิผสมน้ำจมูกข้าวสาลีและน้ำข้าวโอ๊ต รสจืด และเครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำจมูกข้าวกล้องหอมมะลิผสมน้ำจมูกข้าวสาลีและน้ำข้าวโอ๊ตการเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ        แบบผงชงดื่ม : ราคาแพงสุดประมาณ 1.83 บาท/ 1 กรัม คือ ยี่ห้อไรซ์มายด์ เครื่องดื่มธัญพืชชนิดผงผสมจมูกข้าวหอมมะลิ ส่วนราคาถูกสุดประมาณ 0.44 บาท/ 1 กรัม คือ ยี่ห้อวีแกนโปร ครีมเทียมข้าวแบบพร้อมดื่ม : ราคาแพงสุดประมาณ 0.15 บาท/ 1 มิลลิลิตร คือ ยี่ห้อฮูเร่ เครื่องดื่มน้ำนมอัลมอนด์ผสมน้ำนมข้าว ส่วนราคาถูกสุดประมาณ 0.06 บาท/ 1 มิลลิลิตร ได้แก่ ยี่ห้อดีน่า นมถั่วเหลือง สูตรผสมจมูกข้าวญี่ปุ่น และน้ำนมถั่วเหลือง สูตรผสมน้ำนมข้าวไรซ์เบอร์รี่ น้ำตาลน้อย ยี่ห้อวี-ฟิท เครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องงอก 7 ชนิด เครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำนมข้าวยาคู และเครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำนมข้าวกล้องงอก ข้อสังเกต         - ยี่ห้อไรซ์มายด์ เครื่องดื่มธัญพืชชนิดผงผสมจมูกข้าวหอมมะลิ ไม่แสดงข้อมูลโภชนาการบนฉลาก         - ปริมาณน้ำตาลที่พบสูงสุดคือ 14 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณน้ำตาลที่แนะนำให้ว่าไม่ควรบริโภคเกิน 24 กรัมต่อวัน         - ในส่วนประกอบของทั้งหมด 26 ตัวอย่าง พบว่า มี 16 ตัวอย่าง เติมน้ำตาล  มี 6 ตัวอย่าง เติมแคลเซียม             มี 17 ตัวอย่าง ไม่ใช้วัตถุกันเสีย และมี 10 ตัวอย่าง ที่ระบุว่าแต่งกลิ่น           - มีสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” ในแบบผงชงดื่ม 4 ตัวอย่าง และแบบพร้อมดื่ม 12 ตัวอย่าง         - สำหรับแบบพร้อมดื่ม หากนำเกณฑ์สัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” สำหรับเครื่องดื่มธัญพืชและนมถั่วเหลืองมาพิจารณา ที่ระบุว่าหากปริมาณไม่เกิน 300 มิลลิลิตร ต้องมีน้ำตาลทั้งหมดน้อยกว่าหรือเท่ากับ 6 กรัม/ 100 มิลลิลิตร จะพบว่าทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์นี้ ส่วนปริมาณโซเดียมต้องมีน้อยกว่าหรือเท่ากับ 40 มิลลิกรัม/ 100 มิลลิลิตร พบว่ามี 7 ตัวอย่างที่ไม่ผ่านเกณฑ์นี้ โดยในจำนวนนี้มี 3 ตัวอย่างที่มีสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” บนฉลาก ได้แก่ ยี่ห้อวี-ฟิท เครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำนมข้าวกล้องงอก สูตรน้ำตาลน้อยกว่า (92 มก./100 มิลลิลิตร) และเครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำนมข้าวกล้องงอก (84 มก./100 มิลลิลิตร) และยี่ห้อดีน่า น้ำนมถั่วเหลืองสูตรผสมน้ำนมข้าวไรซ์เบอร์รี่ น้ำตาลน้อย (41.67 มก./ 100 มิลลิลิตร)         - ทุกตัวอย่าง มีผู้ผลิตและจำหน่ายอยู่ในประเทศไทย คำแนะนำ          -หากดื่มต่อเนื่องเป็นประจำ ควรเลือกเครื่องดื่มน้ำนมข้าวที่มีส่วนผสมหลักจากธรรมชาติ มีการปรุงเสริมเติมแต่งน้อยที่สุด ไม่มีวัตถุกันเสีย และควรเลือกสูตรน้ำตาลน้อยหรือไม่มีน้ำตาล         -น้ำนมข้าวให้โปรตีนต่ำและมีคาร์โบไฮเดรตสูง จึงอาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวานเพราะคาร์โบไฮเดรตจะส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดได้         - น้ำนมข้าวแบบผงชงดื่มมักจะเป็นส่วนจมูกข้าว ซึ่งอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด จึงเหมาะเลือกเป็นอาหารเสริมหรือนมสำหรับบำรุงร่างกาย ที่เพิ่มหรือลดความเข้มข้นได้ตามต้องการ ปรุงแต่งรสชาติได้ตามชอบ แต่ต้องชงแบบร้อนเท่านั้นเพื่อให้ผงน้ำนมข้าวละลายได้ดี และมักมีราคาค่อนข้างสูง         - แบบขวด/กล่องพร้อมดื่มมีให้เลือกหลายสูตรหลากรสกว่าแบบผง พกพาง่าย มีปริมาณและรสชาติแน่นอน ดื่มแบบเย็นจะเพิ่มความอร่อยขึ้น          - ก่อนตัดสินใจซื้อทุกครั้ง แนะนำให้ตรวจสอบส่วนผสมที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ด้วย เพราะรสชาติของน้ำนมข้าวเพียวๆ ออกจะจืดๆ ผู้ผลิตบางรายจึงปรุงแต่งรสชาติหรือผสมรวมกับน้ำนมถั่วหรือธัญพืชอื่นๆ เพื่อเพิ่มความเข้มข้นและทำให้รสชาติกลมกล่อมมากขึ้น         - น้ำนมข้าวที่ทำจากข้าวกล้องและข้าวกล้องงอกจะมีสารอาหารสูง แต่คนที่เป็นโรคเก๊าต์ควรหลีกเลี่ยง เพราะอาจทำให้ปวดไขข้อมากขึ้นได้         -หากดื่มน้ำนมข้าวหรือนมจากพืชอื่นๆ แล้วมีอาการไม่สบายท้อง ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเสีย หายใจมีเสียงหวีด หายใจลำบาก และรู้สึกแน่นบริเวณลำคอและหน้าอก อาจเป็นสัญญาณของอาการแพ้ หรือบางคนอาจเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที         - หากต้องการหลีกเลี่ยงสารปรุงแต่งต่างๆ จากเครื่องดื่มน้ำนมข้าวแบบสำเร็จรูป ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ผู้บริโภคสามารถลองทำน้ำนมข้าวดื่มเองได้ โดยค้นหาวิธีทำได้จากช่องยูทูป ทำไม่ยากเลย   ข้อมูลอ้างอิงhttps://www.pobpad.com/https://bestreview.asia/best-rice-milk/ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร (https://fic.nfi.or.th/market-intelligence-detail.php?smid=377)https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG190704200320434

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 หูฟัง 2023

ฉลาดซื้อกลับมาอีกครั้งกับผลทดสอบหูฟังบลูทูธทั้งแบบครอบหูและแบบ “เอียร์บัด” คราวนี้เราคัดเลือกมา 25 รุ่นที่ได้คะแนนอันดับต้นๆ จากการทดสอบเปรียบเทียบที่สมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (International Consumer Research & Testing ร่วมกันทำไว้ในปีนี้  รูปแบบการทดสอบยังคงเหมือนเดิม* แต่เกณฑ์การให้คะแนนมีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อยจากครั้งก่อน ดังนี้        ร้อยละ 45       คุณภาพเสียง ทั้งเสียงเพลงและเสียงพูด        ร้อยละ 20       การใช้งานและความสบายในการสวมใส่        ร้อยละ 15       ประสิทธิภาพในการตัดเสียงรบกวนภายนอก        ร้อยละ 15       แบตเตอรี        ร้อยละ 5          ความทนทาน        ในภาพรวมเราพบว่าหูฟังที่ได้คะแนนรวมสูงที่สุดไม่ใช่รุ่นที่ราคาแพงที่สุด (19,900 บาท) แต่รุ่นที่ราคาถูกที่สุด (2,490 บาท) กลับได้คะแนนน้อยที่สุดด้วยข่าวดีคือถ้าใครพร้อมจะลงทุนประมาณ 4,000 - 5,000 กว่าบาท ก็มีสิทธิ์ได้หูฟังคุณภาพดีไปใช้ฟังเพลง ฟังพอดคาสต์กันเพลินๆ หลายรุ่นมีความสามารถในการกันน้ำ จึงสามารถใส่ออกกำลังกายได้ด้วยรุ่นที่ได้คะแนนรวมสูงสุดเท่ากันสามรุ่น (JBL Tune 770NC, Bose Quiet Comfort SE, และTechnics EAH-AZ80) มีราคาระหว่าง 4,290 – 19,990 บาท แต่ละรุ่นมีข้อดีข้อด้อยต่างกัน ในขณะที่หลายรุ่นที่ราคาเกินหนึ่งหมื่นก็มีคะแนนไม่โดดเด่นนักเมื่อเทียบกับรุ่นอื่นๆอยากรู้รายละเอียดว่าใครเป็นใคร พลิกดูรายละเอียดในหน้าถัดไปได้เลย และเพื่อให้ง่ายต่อการตัดสินใจบนพื้นฐานของเงินที่อยากจ่าย ในกรณีที่คะแนนรวมเท่ากัน เราจะนำเสนอโดยเรียงลำดับจากรุ่นที่ราคาถูกกว่า หมายเหตุ*โปรดตรวจสอบราคาล่าสุดก่อนตัดสินใจ*ติดตามผลการทดสอบเปรียบเทียบหูฟังครั้งก่อนหน้านี้ได้ในฉลาดซื้อฉบับที่ 233 และ 260

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า0 Point



ฉบับที่ 271 อากาศสะอาดเป็นสิทธิของประชาชน

        นับถอยหลัง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2566 นี่คือช่วงเวลาสำคัญที่ภาครัฐจะเตรียมแผนรับมือสู้กับภัยมลพิษทางการอากาศจากฝุ่น ควันหนา ในช่วง มกราคม - พฤกษภาคม ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักชนิดที่ในปีที่แล้วประชาชนต้องอพยพ ไม่สามารถอยู่ได้         ผลสำรวข้อมูลจาก HDC service กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563-2566  มีจำนวนทั้งสิ้น 2,648,243 คน  พบว่ามลพิษทางอากาศในภาคเหนือทำให้ประชาชนเจ็บป่วยด้วย 5 โรค ได้แก่ โรคผิวหนัง จำนวน 721,613 ราย โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 499,259 ราย โรคตาอักเสบ 445,755 ราย อาการหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน 398,229 ราย และ หลอดเลือดสมอง 294,256 ราย         ยังไม่กล่าวถึงความเจ็บป่วยของโรคดังกล่าวเมื่อเกิดในกลุ่มเสี่ยงทั้งผู้มีโรคประจำตัว เด็ก และผู้สูงอายุ  ทำให้การกล่าวว่า ประชาชนภาคเหนือเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ...ไม่เกินความจริง               วิทยา ครองทรัพย์ เดิมเป็นกรรมการหอการค้าไทยจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยบทบาทที่ได้ประชุม พูดคุย หารือกับหลายฝ่ายทำให้ได้รับรู้และตระหนักถึงปัญหาฝุ่นควัน มลพิษทางอากาศในภาคเหนือมากขึ้นๆ จนทำให้เขาขยับบทบาทของตนเอง เป็นผู้ประสานงานสภาลมหายใจภาคเหนือทำงานเพื่อสื่อสารถึงรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องว่า ‘ถ้ารัฐบาลทำจริง ปัญหานี้หมดไปแน่นอน’ และ อากาศสะอาดเป็นสิทธิของประชาชน  ที่มาของการเริ่มทำงาน เริ่มอย่างไร         ผมเป็นกรรมการสภาหอการค้าไทย จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2548- 2549 พอได้ประชุมกับหลายฝ่าย เรายิ่งเห็นปัญหาและแนวการแก้ไขปัญหามาตลอดแต่สถานการณ์กี่ปีๆ เราก็วนอยู่ที่เดิม จึงเริ่มเกิดการรวมตัวกันของภาคเอกชนเป็น สภาลมหายใจภาคเหนือ ติดตามปัญหาสะท้อนปัญหาให้ข้อเสนอกับสังคมให้สังคมรู้ว่า ปัญหามีทางออกถ้ารัฐบาลทำจริง ตั้งแต่ปี 2557 ผมเคยรวบรวมรายชื่อแล้วไปยื่นผ่าน เว็บไซต์ Change.com กว่า 15,000 รายชื่อยื่นให้นายกรัฐมนตรีว่าจะต้องแก้ไขปัญหาอย่างไรแต่ไม่เคยได้นำไปใช้เลย  ปัญหา คืออะไรบ้าง          ขอแยกเป็น 2 เรื่อง คือปัญหามลพิษฝุ่นควันกับการจัดการของภาครัฐ เรื่องมลพิษแน่นอนว่าอันตรายกับสุขภาพของเรามาก คนที่เป็นไซนัสอยู่แล้วไอออกมาเป็นเลือด พ่อแม่ของเพื่อนผมบางคนแก่มากแล้วเสียชีวิตเพราะฝุ่นควันเลย แล้วเมื่อวิกฤตประชาชนมีความพร้อมที่จะรับมือได้ไม่เหมือนกันหลายบ้านไม่มีเครื่องฟอกอากาศนี่คือเรื่องสุขภาพ ปัญหามลพิษในภาคเหนือกระทบทุกส่วนภาคธุรกิจการท่องเที่ยว         มุมที่สอง คือการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานรัฐ ต้นปีมีการสร้างภาพจัดขบวนจัดฉีดน้ำทำให้ประชาชนก็รู้สึกดีใจ แต่พอถึงเวลาจริงๆ ทุกปี วิกฤตทุกครั้ง เราคนภาคเหนือต้องใส่หน้ากาก 3 M หน้ากากอย่างดีที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ทางการแพทย์บอกว่า ต้องสวมไม่เกิน 15 นาทีแต่เราต้องใส่กันตลอดเพราะฝุ่นเข้าไปทุกที่ ซึ่งรัฐมีแผนรองรับฉุกเฉินปัญหาด้านสุขภาวะที่จะแจกหน้ากากอย่างดีให้ประชาชนแต่มีกว่า 20,000 ชิ้นทั้งที่ประชากรเชียงใหม่มีแสนกว่าคนแผนงานที่ทำออกมาจึงแก้ไขรองรับปัญหาไม่ได้จริง          และในรัฐบาลล่าสุดเรายังได้เห็นท่าทีของรัฐบาลว่า ยังสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ผลิตแบบสันดาปอยู่ทั้งที่เราควรยกระดับเป็นรถไฟฟ้าและยกระดับมาตรฐานน้ำมันแล้วในเมื่อสภาพอากาศเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนมากขนาดนี้  จึงเกิดการทำงานของ สภาลมหายใจภาคเหนือ เริ่มอย่างเป็นทางการตั้งแต่เมื่อไหร่            ในปี 2557 ผมทำงานรณรงค์เรียกร้องให้ยกระดับการแก้ไขปัญหาฝุ่นเป็นวาระแห่งชาติ  ผ่าน Change .com แต่ตอนนั้นยังไม่มีการตั้งกลุ่มอะไรแต่เรานั่งพูดคุยกันมาต่อเนื่องมีทั้ง นักธุรกิจ นักวิชาการ  ถึงจุดหนึ่งการคุยเราก็ตกลงกันว่า เราอยากรวมกลุ่มกันสะท้อนปัญหาและทางออกจากในพื้นที่เป็นเหมือนหอกระจายเสียง ผมเป็นกรรมการหอการค้าเชียงใหม่พยายามนำเรื่องนี้เข้าไปคุยในคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนทั้งระดับจังหวัดและระดับภาคเหนือในปี 2562 จึงรวมตัวกันเป็นสภาลมหายใจเชียงใหม่ แต่เราก็คิดว่าจังหวัดเชียงใหม่ที่เดียวจะไม่พอมีคณะกรรมการระดับจังหวัดไม่พอต้องรวมกันหลายๆ จังหวัด จึงรวมเป็นสภาลมหายใจภาคเหนือ การทำงานมุ่งพยายามผลักดันให้เกิดนโยบายจากรัฐบาลเป็นหลัก         สสส. เห็นความสำคัญเรื่องนี้ได้ให้งบประมาณสนับสนุนการทำงานพื้นที่เชียงใหม่ คือ สภาลมหายใจเชียงใหม่และสภาลมหายใจภาคเหนือ การทำงานเรามีความยึดโยงกันมีการประชุมร่วมกันเพื่อเป็นมติร่วมจากจังหวัดภาคเหนือทั้งหมดเพราะเราเชื่อว่า คนภาคเหนือทุกคนรับรู้ว่านี่คือความทุกข์ร่วมของเราทุกคน พอรวมตัวกันทำงานมาจากหลายฝ่ายแล้วเป็นประโยชน์ อย่างไร         ประโยชน์มากๆ จากการรวมกันเป็นสภาลมหายใจภาคเหนือคือ เรามีการติดตามร่วมกันแลกเปลี่ยน แชร์ข้อมูลและมีผู้ที่มีความรู้จากหลายฝ่าย ทั้งภูมิศาสตร์ ด้านการแพทย์ การวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เราได้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมย้อนหลังไป 10 กว่าปี จนพบว่ามีพื้นที่เผาซ้ำซากกว่า 2 ล้านไร่ในพื้นที่นับ 10 อุทยานแห่งชาติซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหามลพิษฝุ่นควัน          คนที่เขามีความรู้ความสามารถเมื่อได้วิเคราะห์ปัญหาและนำเรื่องออกมาสู่สังคม ประชาชนก็ได้รับรู้ข้อมูลมากขึ้น พอภาครัฐเห็นว่าเราเองก็มีข้อมูลเยอะจากตัวจริงเขาก็เริ่มปรับตัว ข้าราชการเขาก็เริ่มประสาน ช่วยกันคิดช่วยกันทำกับเรามากขึ้นจนกลายเป็นแผนแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ผมได้ยื่นให้กับนายกรัฐมนตรี   การแก้ไขปัญหาฝุ่นควันในจังหวัดภาคเหนือ อะไรคือปัญหาหลักๆ ในตอนนี้            ยังไม่มีคณะกรรมการกลไกระดับชาติ ตอนนี้กลไกต่างๆ ทำงานแบบแก้ไขไม่ได้แล้วยังไม่มีกฎหมายเฉพาะในเรื่องนี้ทำให้ต้องใช้กฎหมายที่มีอยู่ คือ กฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยซึ่งจะใช้ได้เมื่อเกิดภัยจริงๆ เท่านั้น แต่ถึงเมื่อวิกฤตก็ไม่อาจรับมือได้อย่างการเผาช่วงวิกฤตในภาคเหนือมีเป็นหมื่นจุด จุดหนึ่ง เจ้าหน้าที่นับ10 คน นั่งรถขึ้นไป บางจุดเป็นเขาเป็นหน้าผา ถ้าจะทำจริงๆ ต้องใช้เจ้าหน้าที่เป็นแสนคนแต่เจ้าหน้าที่จริงๆ มีเพียงหลักพันคน นี่คือเรามีกลไกทรัพยากรไม่เพียงพอ การประกาศเป็นวาระแห่งชาติในปี 2562 ก็ไม่ประสบความสำเร็จเลยเพราะยังทำอะไรไม่ได้            ความจริงจังของรัฐบาลดูได้จากการที่ปัจจุบัน พ.ร.บ. อากาศสะอาดยังถูกปัดตกมา 4 ครั้ง ทั้งที่หลายฝ่ายเห็นสอดคล้องกันมานานแล้วต่างคาดหวังว่าเราจะมีกฎหมายอากาศสะอาดออกมาได้ในวันหนึ่ง คนที่ยื่นมีทั้งฉบับจากพรรคการเมือง นักการเมือง นักวิชาการ ภาคประชาชน แต่สุดท้ายรัฐบาลปัดตกโดยให้เหตุผลว่ากังวลจะเป็นภาระทางงบประมาณ ทำให้มีการยื่นข้อเสนอกับรัฐบาลแล้วในเรื่องอะไรบ้าง          เรายื่นข้อเสนอให้นายกเศรษฐา ทวีสิน เมื่อวันที่ 16 ก.ย. เรื่องยุทธศาสตร์แก้ปัญหาวิกฤติมลพิษอากาศภาคเหนือระยะเฉพาะหน้าเพื่อบรรเทาปัญหาวิกฤตฝุ่นควันภาคเหนือให้ทันต้นปี 2567 โดยเป็นตัวแทนของหอการค้า 17 จังหวัด และประชาชนทุกกลุ่มเสนอให้รัฐบาลมีการสั่งการเพื่อบริหารพื้นที่อุทยานที่มีการเผาซ้ำซาก 10 แห่ง รวมถึงฝุ่นควันข้ามพรมแดน เรามีข้อเสนอ 5 ข้อ คือ 1. ให้มีแผนการบริหารการเผาทั้ง 10 แปลงใหญ่ให้มีการมอบหมายและแต่งตั้งผู้รับผิดชอบคณะทำงานที่ชัดเจน 2. ยกระดับการสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้เป็นการสื่อสารภัยพิบัติระดับเดียวกับกรณีน้ำท่วมสถานการณ์โควิด 3. แก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะของกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้พื้นที่รุนแรงได้รับความช่วยเหลือได้ทันทีและเพื่อมีการกำกับ ป้องกันได้อย่างใกล้ชิด 4. ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดสรรงบประมาณเพิ่มเพื่อแก้ไขปัญหาขาดเจ้าภาพในการดูแลพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 5. รัฐบาลต้องเร่งรัดแก้ปัญหาฝุ่นควันข้ามแดนต้องมีมาตรฐานการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อควบคุมผู้เพาะปลูกในประเทศเพื่อนบ้าน ช่วยเล่าถึงการฟ้องคดีที่ศาลปกครองเรียกว่าเป็น คดี PM2.5 และมีคำพิพากษาออกมาแล้ว          คดีนี้มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กรีนพีซ ประเทศไทย มูลนิธิบูรณะนิเวศ สภาลมหายใจภาคเหนือ สภาลมหายใจเชียงใหม่และประชาชน เราร่วมกันฟ้องคดีโดยฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้เร่งรัดการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่มีความล่าช้ากว่าแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ คือ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ปี 2562 และไม่อาจลดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย         ศาลปกครองมีคำพิพากษาให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register) หรือเรียกว่า PRTR ภายใน 60 วันนับแต่คดีถึงที่สุดซึ่งไม่ใช่คดีแรกที่ภาคประชาชนฟ้องต่อศาลเรื่องปัญหามลพิษทางอากาศนี้ แต่ใน 2 ปีนี้ ประชาชนฟ้องคดีเรื่องฝุ่น PM2.5 ไปแล้วกว่า 5 คดี ผู้ที่ฟ้องมีทั้งชาวบ้าน ทนายความที่เขาเป็นคนชาติพันธุ์ฟ้องโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็มีซึ่งเราก็ต้องติดตามการทำหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ต่อไป สิ่งที่อยากฝาก         ผมเชื่อมั่นว่า ปัญหาฝุ่นควันในภาคเหนือ “ถ้ารัฐบาลทำจริง ปัญหานี้หมดไปแน่นอน ” เราเปรียบเทียบกับกรณีเกิดโควิด รัฐบาลแทบจะไม่มีข้อมูลในมือว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรแต่เมื่อเอาจริงมีแผนมีการกำกับ ติดตามมีงบประมาณเราเอาอยู่ใน 2 ปี จนระดับโลกยังชื่นชมเรา ผมถึงบอกว่า เรามีศักยภาพ เราทำได้ ปัญหาฝุ่นควันเปรียบเหมือนข้อสอบเก่าแต่ทำไมเราทำไม่ผ่านทุกปี การแก้ไขปัญหาการเผาซ้ำซากในพื้นที่ 10 แปลงใหญ่ หากทำได้ฝุ่นควันจะลดวิกฤตลงถึงร้อยละ 60 – 70 และการทำงานต้องมีความเข้าใจพื้นที่บางส่วนเป็นพื้นที่การทำมาหากินของชุมชนผมสื่อสารเรื่องนี้มากว่า 10 ปี รู้ว่าสังคมมีความตระหนักรู้มากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ทางออกจะมีอะไรได้บ้าง จึงฝากประชาชนช่วยกันติดตามเพื่อให้มีการเรียกร้องให้แก้ไขปัญหานี้กันต่อไปเพื่อสิทธิพลเมืองในการมีอากาศที่ดีเป็นพื้นฐานคุณภาพชีวิตของเราจริงๆ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 ‘กองทุนรวมผสม’ ทำทุกอย่างให้เธอแล้ว

        เรามาคุยกันเรื่องกองทุนรวม (mutual fund) กันอีกครั้ง ก่อนๆ นี้พูดถึงหลายครั้งอยู่ แต่เป็นกองทุนรวมประเภท active fund กับ passive fund เป็นหลัก อย่างที่รู้กันว่ากองทุนรวมเป็นเครื่องการลงทุนที่ดีประเภทหนึ่งเพราะมีมืออาชีพมาบริหารเงินให้ว่าจะลงทุนกับหุ้นตัวไหน ตราสารหนี้ตัวไหน หรือ REIT (Real Estate Investment Trust หรือกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์) ตัวไหน         แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ใช่เรื่องง่ายดายขนาดนั้น อย่างน้อยก็ต้องเลือกกองทุนรวมเป็น ที่สำคัญกว่านั้นอีกคือต้องจัดพอร์ตให้ดี ลงกับกองทุนรวมหุ้นเยอะไปก็เสี่ยงเกิน ลงทุนกับกองทุนรวมตราสารหนี้มากไปผลตอบแทนก็อาจไม่ได้ตามที่คิด จะลงกับกองทุนรวมในสินค้าโภคภัณฑ์ก็ยิ่งเสี่ยงหนัก แถมยังไม่รู้ด้วยว่าควรจัดสรรเงินไปลงกองทุนรวมแต่ละประเภทอย่างละเท่าไหร่         พวกนักการเงินก็ฉลาด พวกเขาสร้างผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า ‘กองทุนรวมผสม’ หรือ mixed fund มันเป็นกองทุนรวมประเภทที่ผู้จัดการกองทุนนำเงินไปจัดสรรในหุ้น ตราสารหนี้ หุ้นต่างประเทศ อสังหาริมทรัพย์ สินค้าโภคภัณฑ์ และอื่นๆ ตามนโยบายของกองทุนรวมนั้น         พูดให้เข้าใจง่ายคือกองทุนรวมผสมจัดพอร์ตให้เราเสร็จสรรพ ซึ่งจะยิ่งเหมาะกับมือใหม่ที่ความรู้ยังไม่มาก ไม่มีเวลามาคอยติดตามผลการดำเนินการของกองทุน และปรับพอร์ต (asset allocation) ให้คงสัดส่วนสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามที่ต้องการ         กองทุนรวมผสมก็เลยเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุน สิ่งที่ผู้ลงทุนต้องเลือกคือจะเอาแบบที่กำหนดสัดส่วนไว้คงที่ ประมาณว่าหุ้น 60 เปอร์เซ็นต์ ตราสารหนี้ 30 เปอร์เซ็นต์ อื่นๆ 10 เปอร์เซ็นต์ กองทุนผสมประเภทนี้ก็จะจัดพอร์ตการลงทุนในสัดส่วนนี้         กับกองทุนรวมผสมที่ไม่ได้กำหนดสัดส่วนการลงทุน หมายความว่าเงินของคุณจะไปลงกับสินทรัพย์ประเภทไหนขึ้นกับการวิเคราะห์ จัดสรร จัดการของผู้จัดการกองทุน สมมติว่าช่วงตลาดหุ้นตกผู้จัดการกองทุนอาจคัดสรรหุ้นดีราคาถูกเข้าพอร์ตมากกว่าเดิมจาก 50 เปอร์เซ็นต์เป็น 70 เปอร์เซ็นต์ หรือถ้าตลาดผันผวนมากๆๆๆ ก็อาจเอาตราสารหนี้เข้าพอร์ตมากขึ้น         ทำให้กองทุนรวมผสมมีความยืดหยุ่นและตอบสนองต่อความผันผวนของตลาดได้ดีกว่า         ทว่า โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี เนื่องจากกองทุนรวมผสมต้องมีการติดตามตลาดต่อเนื่องเพื่อจัดพอร์ตการลงทุน นั่นแปลว่าค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียมของกองทุนประเภทนี้มักจะสูงกว่ากองทุนประเภทอื่น ก็ขึ้นกับว่าคุณจะยอมแลกหรือเปล่า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 อยากเลิกต้องเลิกได้

        เขียนเรื่องเลิกอีกแล้วไม่ใช่เพราะหมกมุ่นกับการเลิกหรอกนะ แต่เพราะในช่วงนี้มีกระแสข่าวเกี่ยวกับความเดือดร้อนของผู้บริโภคที่ถูกปฏิเสธไม่ให้ยกเลิกบริการอินเทอร์เน็ต เว้นแต่จะต้องจ่ายค่าปรับอุปกรณ์และค่าแรกเข้าที่ทางเครือข่ายผู้ให้บริการอ้างว่าได้ยกเว้นให้เมื่อตอนสมัครใช้บริการ โดยแลกกับการต้องอยู่ใช้บริการกันไปไม่น้อยกว่า 1 ปี หรืออาจจะมากกว่านั้น...ก็แล้วแต่จะกล่าวอ้างกันไป         อย่างที่เคยเขียนไว้ในคอลัมน์นี้แล้วว่า ตามกติกาที่ กสทช. กำหนดนั้น มีการให้สิทธิผู้ใช้บริการในการยกเลิกบริการได้เสมอ ดังที่ระบุไว้ในข้อ 32 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 (แม้เป็นประกาศของ กทช. แต่ก็มีผลใช้บังคับต่อมาจนถึงยุค กสทช.) ว่า        “ผู้ใช้บริการมีสิทธิเลิกสัญญาในเวลาใดก็ได้ด้วยการบอกกล่าวเป็นหนังสือให้แก่ผู้ให้บริการทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าห้าวันทำการ” ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า “ผู้ใช้บริการจะต้องชำระค่าบริการครบถ้วนแล้วจนถึงวันที่การยกเลิกสัญญามีผลบังคับ”        ขณะเดียวกันก็ได้กำหนดเหตุที่ผู้ใช้บริการอาจใช้สิทธิยกเลิกสัญญาได้ทันทีไว้ 4 ประการ เช่น ผู้ใช้บริการไม่สามารถรับบริการจากผู้ให้บริการได้ด้วยเหตุที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและอยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการได้ละเมิดข้อตกลงอันเป็นสาระสำคัญของสัญญา        ตามนัยของข้อ 32 นี้จึงเท่ากับว่า ผู้บริโภคย่อมมีสิทธิที่จะขอยกเลิกสัญญาหรือเลิกใช้บริการเมื่อไรก็ได้ เพียงแต่จะต้องแจ้งผู้ให้บริการทราบแบบเป็นลายลักษณ์อักษร โดยที่การยกเลิกจะมีผลในอีก 5 วันหลังการแจ้งนั้น การยกเลิกนี้จะมีเหตุผลอะไรอย่างไรหรือไม่ก็ไม่ใช่ประเด็น กล่าวคือ ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลหรือแสดงเหตุผลอันใด แค่อยากเลิกก็เลิกได้         ส่วนกรณีที่การใช้บริการมีปัญหา เมื่อแจ้งยกเลิกแล้ว ตามกฎหมายก็ถือว่ามีผลทันทีเลย เพียงแต่ว่าเรื่องยุ่งยากมักตามมาในแง่ที่ว่า ผู้ให้บริการอาจไม่ยอมรับว่าบริการมีปัญหาตามที่ผู้บริโภคกล่าวอ้าง จากนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงและพิสูจน์กันยืดยาว        อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายอนุญาตให้ผู้บริโภคยกเลิกบริการโทรคมนาคมเมื่อใดก็ได้ตามที่ต้องการ แต่สำหรับกรณีที่มีการรับมอบเครื่องอุปกรณ์หรือสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้อง เมื่อสัญญาสิ้นสุดก็ต้องส่งคืนอุปกรณ์เหล่านั้นแก่ผู้ให้บริการด้วย ซึ่งในกรณีอินเทอร์เน็ตบ้าน อย่างน้อยต้องมีเราเตอร์ ซึ่งหากเสียหายหรือไม่มีคืนให้ ก็ต้องชดใช้ตามราคาจริงในตลาดขณะนั้น        ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ถ้าหากผู้บริโภคคนใดไม่ต้องการใช้บริการโทรคมนาคมใดอีกต่อไปแล้ว ก็มีหน้าที่เพียงแค่บอกเลิกกันไปให้เป็นเรื่องเป็นราว และ “มีหลักฐาน” ส่วนข้าวของก็ส่งคืนให้ครบถ้วน หากมีการสูญหายหรือสึกหรอก็ต้องชดใช้ตามสัดส่วน แต่สำหรับเรื่องของ “ค่าปรับ” ตามกฎหมายไม่อนุญาตให้ผู้ให้บริการเรียกเก็บ “ค่าปรับ” ใดๆ จากผู้บริโภคได้ทั้งสิ้น         กติกามีความตรงไปตรงมาเช่นนี้ และตั้งอยู่บนหลักการที่ค่อนข้างเรียบง่าย ซึ่งให้ความคุ้มครองทั้งสองฝ่ายเสมอภาคกัน  เพียงแต่ว่าในโลกความเป็นจริงมักมีเรื่องซับซ้อนกว่านั้น เช่นว่า บริการเน็ตบ้านมักถูกเสนอขายพ่วงมากับบริการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ กล่องรับชมรายการโทรทัศน์ หรือกระทั่งเครื่องโทรศัพท์มือถือ        ถ้าเน็ตบ้านเป็นบริการหลัก ซึ่งในทางกฎหมายเท่ากับสัญญาใช้บริการเน็ตบ้านคือสัญญาหลัก เมื่อสัญญาหลักเลิกกันแล้วจึงมักมีประเด็นว่า แล้วบริการพ่วงอื่นๆ จะอยู่ในสถานะใด ความซับซ้อนจึงเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ในแง่ที่ว่า ผู้บริโภคอาจยังประสงค์ใช้บริการอื่นๆ อยู่ เช่น ยังอยากเก็บกล่องไว้ดูทีวีต่อไป  หรือผู้บริโภคบางคนอาจเพียงแค่ลืมไปแล้วว่า “ตอนนั้น” มี “ซิมฟรี” ให้มาด้วยนะ แต่ด้วยความที่ไม่เคยได้เอามาใช้เลย จึงไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหนแล้ว และไม่คิดว่าต้องทำอะไรกับซิมนั้นทั้งสิ้น จนกระทั่งเดือนถัดมา คราวนี้ก็ว้าวุ่นเลย เนื่องจากถูกเรียกเก็บค่าบริการ บางรายการเป็นการเรียกเก็บในอัตราที่เพิ่มขึ้น บางรายการเป็นสิ่งที่โผล่มาใหม่ จากที่ไม่เคยมีการเรียกเก็บมาก่อน        เบื้องหลังของสิ่งที่เกิดขึ้น ในมุมของผู้ให้บริการอธิบายได้ว่า เมื่อการรับชมช่องรายการโทรทัศน์ไม่ใช่บริการที่พ่วงกับอินเทอร์เน็ตที่เป็นบริการหลักแล้ว ค่าบริการที่เคยคิดในอัตราลดพิเศษก็ต้องถูกคิดแบบเต็มจำนวน ส่วนซิมโทรศัพท์มือถือนั้นเป็นการให้บริการแบบรายเดือนในอัตราเหมาจ่าย เพียงแต่ที่ผ่านมาอยู่ในฐานะบริการแถม จึงไม่เคยมีการเรียกเก็บค่าบริการ แต่เมื่อสัญญาหลักหมดไป ก็กลับสู่การคิดค่าบริการตามปกติ        ในชีวิตจริงของการเลิกเน็ตบ้านที่มีบริการต่างๆ พ่วงอยู่ด้วยจึงไม่ง่ายนัก         ในทางปฏิบัติ ผู้บริโภคจึงจำเป็นต้องตัดสินใจในส่วนของบริการพ่วงทั้งหลายด้วยว่าจะเอาอย่างไร ส่วนใดที่ไม่ได้จะใช้ต่อไปหรือไม่เคยใช้ก็ต้องยื่นยกเลิกไปพร้อมกัน ส่วนบริการที่อยากเก็บไว้ ก็ควรต้องทำสัญญาหรือทำความตกลงกันใหม่ให้มีความชัดเจน ว่าบริการส่วนนั้นๆ จะมีอัตราค่าบริการเป็นอย่างไร มีเงื่อนไขอะไรบ้างหรือไม่        และเพื่อหลีกเลี่ยงความว้าวุ่นในอนาคต ควรที่จะเก็บหลักฐานการยกเลิกบริการทั้งหลายเอาไว้สักระยะหนึ่งด้วย เผื่อไว้สำหรับกรณีมีการเรียกเก็บค่าบริการขึ้นมาอีกในภายหลัง เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ามีเรื่องร้องเรียนจำนวนหนึ่งที่ผู้บริโภคประสบปัญหาว่ายังคงถูกเรียกเก็บค่าบริการส่วนที่ยกเลิกไปแล้ว ซึ่งถ้าหากมีหลักฐานก็จะทำให้ไม่ต้องยุ่งยากในการพิสูจน์ และไม่ต้องโต้แย้งกันโดยยากจะหาข้อยุติ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 กู้เงิน แต่เจอคิดดอกเบี้ยแพง เกินกฎหมาย เจ้าหนี้เงินกู้มีสิทธิได้ดอกเบี้ยหรือไม่

            ในสภาพสังคมไทยปัจจุบันหลายคนมีปัญหาทางการเงินชักหน้าไม่ถึงหลัง ค่าใช้จ่ายๆ ต่างก็สูงมากขึ้น การไปกู้ยืมเงินจากบรรดาธนาคารต่างๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายต้องหาคนค้ำหรือมีวางหลักประกัน ดังนั้นจึงมีหลายคนหันไปใช้บริการกู้เงินนอกระบบหรือผ่านแอปกู้เงินบนออนไลน์ ซึ่งเมื่อกู้มาแล้วเจอคิดดอกเบี้ยแพง เช่น ร้อยละ 10 ต่อเดือนทั้งที่ตามกฎหมายแล้วการคิดดอกเบี้ยจากเงินกู้ กฎหมายได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยขั้นสูงสุดที่ผู้ให้กู้สามารถเรียกได้ต้องไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี คือร้อยละ 1.25 ต่อเดือน เช่นนี้ลูกหนี้มักถูกเอาเปรียบจากการคิดดอกเบี้ยสุดโหด คำถามที่น่าสนใจคือ เมื่อเจ้าหนี้เรียกดอกเบี้ยจากเงินกู้เกินกฎหมาย ผู้บริโภคอย่างเราในฐานะผู้กู้จะต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงๆ นี้หรือไม่ หากจ่ายไปแล้วเอาคืนได้ไหมหรือเจ้าหนี้จะมีสิทธิได้ดอกเบี้ยแพงผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งในเรื่องนี้ ศาลฏีกาได้เคยวินิจฉัยไว้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยศาลเห็นว่าการคิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 1.25 ต่อเดือนเป็นการคิดดอกเบี้ยที่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ผู้ให้กู้หรือเจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยแต่ลูกหนี้ก็ไม่มีได้ดอกเบี้ยนี้คืนแต่สามารถเอาเงินที่ชำระเป็นดอกเบี้ยไปหักเงินต้นที่กู้ยืมได้             คําพิพากษาฎีกาที่ 5056/2562             โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือนโดยจำเลยได้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน มาโดยตลอด ดอกเบี้ยที่จำเลยชำระไปดังกล่าวจึงเกิดจากการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยย่อมตกเป็นโมฆะ การที่จำเลยยอมชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่ โจทก์ ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 411 จำเลยไม่อาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระไป แต่โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยดังกล่าวหากแต่ต้องนำดอกเบี้ยที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ไปหักเงินต้นหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้เงินโจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปื ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง             นอกจากนี้ การกู้ยืมเงิน มีเรื่องที่ผู้บริโภคควรใส่ใจ เพื่อป้องกันการถูกเอาเปรียบจากการกู้ยืมเงิน ดังนี้             (1) อย่าได้ลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าเป็นอันขาดเพราะเจ้าหนี้อาจเอาไปเติมข้อความหรือตัวเลขเงินกู้ที่เกินจริงในภายหลังได้             (2) โฉนดที่ดินเป็นเอกสารสำคัญอย่าไปให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันเพราะอาจเจอปัญหาตอนจ่ายหนี้หมดแต่เจ้าหนี้เรียกค่าใช้จ่ายอื่นเพิ่มเติมภายหลังได้ หากจะเอาที่ดินเป็นประกันต้องไปจดจำนองที่สำนักงานที่ดินให้ถูกต้อง             (3) ตรวจสอบเงินที่ได้รับมาตรงตามที่ทำสัญญากู้หรือไม่เป็นเรื่องพื้นฐานได้เงินไม่ครบตามเอาทีหลังจะยากเพราะถือว่ารับเงินมาแล้ว ดังนั้นจึงควรตรวจนับทันทีเพื่อให้แน่ใจว่าเงินที่เราได้ตรงกับที่ทำสัญญาไว้             (4) ควรใส่ตัวเงินเป็นตัวหนังสือด้วยเพื่อป้องกันมิให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมตัวเลขในภายหลัง             (5) ผู้กู้ต้องได้สัญญากู้เสมอเป็นสิทธิตามกฎหมาย ผู้กู้ต้องได้สัญญากู้มาด้วยหากไม่ส่งมอบอาจส่อเจตนาไม่สุจริตและผิดต่อกฎหมาย การจ่ายเงินกู้โดยไม่รู้ว่าสัญญากำหนดสิทธิหน้าที่ของเราไว้อย่างไรจะทำให้เราเสียเปรียบเพราะไม่รู้เงื่อนไขตามสัญญาที่ตกลงกันหากเกิดการฟ้องร้องจะทำให้ต่อสู้คดีได้ยาก             (6) ในสัญญากู้ควรมีพยานฝ่ายผู้กู้ลงลายมือชื่อเป็นพยานอย่างน้อย 1 คน เพื่อให้เป็นหลักฐานว่ามีการกู้ยืมเงินกันจริง มีพยานยืนยันจำนวนเงินที่กู้ ระยะเวลาที่กู้ ดอกเบี้ยที่เรียกเก็บ เพื่อหากเกิดปัญหาพิพาทกันภายหลังจะได้มีคนยืนยันไม่ให้ถูกเจ้าหนี้เรียกเงินคืนที่อาจเกินจริง             (7) จ่ายเงินทุกครั้งต้องมีหลักฐาน กล่าวคือ หากจ่ายเป็นเงินสดต้องได้ใบเสร็จรับเงินไว้เป็นหลักฐานยืนยันการชำระเงินและควรเก็บไว้ให้ดีจนกว่าจะชำระหนี้ครบถ้วนหรือเพื่อความสะดวกควรจ่ายโดยวิธีโอนเงินผ่านมือถือมีสลิปที่แอปธนาคารยืนยันก็จะช่วยให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 โรคซึมเศร้าไม่ใช่ปัญหาส่วนตัว: ผู้ป่วยก็ซึม ระบบรักษาพยาบาลยิ่งน่าเศร้า

        ความเหล่านี้ เขียนโดยผู้ป่วยซึมเศร้าเรื้อรังและประสบการณ์ของเพื่อนอีกคนที่มานั่งสนทนากลุ่มท่ามกลางความหมองเศร้ามากมายจากแง่มุมแตกต่างกัน ทว่า “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” ที่ประสบร่วมกันคือ “ทุกข์จาก ความพยายามในการหายป่วย”พูดให้ง่าย พวกเราเวียนว่ายทุกข์ระทมในระบบสุขภาพที่มีอยู่มานานแล้วแต่เราหาทางออกจากการรักษาโรคซึมเศร้าไม่เจอ        สมมติว่าผู้เขียนชื่อ ฐ. อดีตนักข่าว บรรณาธิการ นักวิจัยที่เคยไปทำงานอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มากกว่า 18 ปี ส่วนอีก 9 คนนั้น เป็นนักข่าวอิสระหนึ่งคน นักเขียนฟรีแลนซ์หนึ่งคน มีนักแปลที่ผันตัวจากพนักงานธนาคารแห่งหนึ่ง นักกฎหมายสิทธิมนุษยที่ทำงานช่วยเหลือผู้คนให้กับมูลนิธิแห่งหนึ่ง ผู้บริหารองค์กรระหว่างประเทศกำลังสองจิตสองใจว่าควรออกจากงานดีหรือไม่ อดีตเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ ที่เป็นอดีตเพราะเขายอมรับว่าพ่ายแพ้ต่อความเจ็บป่วยจนไม่สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคงเหมือนที่ผ่านมา นักศึกษาปริญญาเอกที่ยังหาทางออกให้ตัวเองไม่ได้ นักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหม่เพิ่งออกจากรั้วมหาวิทยาลัย 2 คน อายุเฉลี่ยทั้ง 10 คน อยู่ระหว่าง 20 ปีต้นๆ ถึง 50 ปี หากพวกเราไม่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้า มีโอกาสได้ทำงานที่ดีกว่านี้อย่างมีความสุข รับประกันได้เลยว่า กลุ่มพวกเราคือวัยแรงงานที่สำคัญในการขับเคลื่อนสังคม สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจระดับประเทศ และเป็นหัวหน้าครอบครัวที่่มีคุณภาพมากกว่านี้แน่นอน         ปัญหาร่วมในการดำเนินชีวิตและภาระทางจิตใจ แม้บางคนไม่พูดออกมาชัดถ้อยชัดคำนักก็ตาม สิ่งที่แน่นอยู่ในอกเป็นก้อนความทุกข์เศร้าขนาดใหญ่กว่าหัวใจ คือการตระหนักดีว่าพวกเรา (เคย) มีศักยภาพแค่ไหน และในกลุ่มพวกเราไม่มีใครสักคนอยากเป็นภาระแก่ใครในครอบครัว ไม่อยากเป็นภาระแก่เพื่อนร่วมงาน รวมทั้งไม่อยากเป็นภาระกับระบบสุขภาพใด ๆ ด้วยเช่นกัน  ก้อนที่กดทับหัวอกเรานี้, ทำให้พวกเราเจียมตัว ไม่มีปากเสียงเรียกร้องค่าแรงที่เป็นธรรม เป็นชายขอบของภาคแรงงาน ต้องเค้น ขูดรีด และกดดันตัวเองมากขึ้นเพื่อให้ตลาดแรงงานยอมรับข้อจำกัดนี้ จึงจำนน รับงานชิ้นเล็กชิ้นน้อยมาทำเพื่อให้เกิดรายได้พอประทังชีวิต พอจ่ายค่ายาโดยไม่รบกวนคนรอบข้างมากเกินไป วันดีคืนร้ายก็มีข่าวเฟคนิวส์บอกว่า นายจ้างสามารถบอกเลิกจ้างผู้ป่วยซึมเศร้าได้ยิ่งทำให้พวกเราตื่นตระหนกเงียบ ๆ อยู่ในมุมมืด “อย่าตัดฟางเส้นสุดท้ายของเราทิ้งเลย” เสียงวิงวอนก้องกังวานในใจ                วัฎจักรของผู้ป่วยซึมเศร้า          การสนทนากลุ่มของพวกเรามีข้อค้นพบที่น่าสนใจหลายประการ รวบรัดประเด็นสำคัญก่อน เช่น พบว่า ในวัฎจักรของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า มีคนอยู่อย่างน้อย 3 กลุ่มหลัก คือ         (1) คนที่ไม่รู้ตัวว่าป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจนอาการปรากฏแล้วและไม่มีโอกาสเข้ารับการรักษาพยาบาล         (2) คนที่รู้ตัวว่าป่วยแต่ไม่สามารถเข้าถึงระบบการรักษาพยาบาล และ (3) ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่อยู่ระหว่างการรักษาและทุกข์อยู่กับระบบสุขภาพอย่างเดียวดาย         พวกเราทั้ง 10 คนอยู่ในกลุ่ม 3 นี้ทั้งหมด บางคนยกธงยอมแพ้กับระบบสวัสดิการที่ตัวเองมี ยอมจำนนเสียเงินจำนวนมากรักษากับโรงพยาบาลเอกชนเพื่อย่นย่อระยะเวลาในการรอพบแพทย์ ลดขั้นตอนการรักษาเพื่อบรรเทาทุกข์ทางใจ (หรือซ้ำเติมทุกข์ที่มีอยู่ขึ้นอยู่กับสุขภาพของกระเป๋าเงินช่วงนั้น)         ประสบการณ์ร่วมของพวกเรายืนยันหนักแน่นว่า “ปัญหาสุขภาพจิตไม่ใช่ความทุกข์ระดับบุคคล” หรือเรื่องของคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แม้เบ้าหน้าเรากำลังหัวเราะ เพื่อไม่ให้คนรอบข้างรู้สึกเป็นห่วงสุขภาพ แต่ในใจระหว่างฟังบทสนทนาของเพื่อนๆ หัวใจบีบเค้นเต้นรัววูบวิบวับ ต้องหายใจลึกๆ ไม่ใช่แค่จากจมูกลากลมหายใจไปถึงปอด แต่ฉันลากลมหายใจผ่านทวารจรดถึงปลายเท้าวนเช่นนี้หลายรอบมาก ใช่, โรคซึมเศร้าสามารถรักษาหายได้ แต่ไม่เคยมีใครบอกเราเลยว่า โรคซึมเศร้าเป็นโรคเรื้อรังทางจิตใจ เพื่อนนักเขียนที่นั่งในวงคุยเธอเป็นโรคนี้มาแล้วกว่า 20 ปี และต้องกินยาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งปัจจุบัน ถ้าวันไหนขาดยาต้านเศร้าวันนั้นชีวิตประจำวันถึงกับปั่นป่วนทีเดียว และทั้ง 10 คน ป่วยมาแล้วไม่ต่ำกว่า 4 ปี ส่วนฉันป่วยมาแล้ว 8 ปี ทั้งไม่มีใครเตือนอย่างหนักแน่นว่า โรคซึมเศร้าหายแล้วก็สามารถกลับมาเป็นใหม่ได้อีก หรืออย่าหยุดยาเองโดยแพทย์ไม่วางแผนถอนยาให้ เพราะถ้าโรคกลับมาใหม่มันจะร้ายกาจกว่าเดิม ซึ่งเป็นทางหนึ่งให้เกิดวงจรโรคเรื้อรังทางจิตใจตามมา         เอาเข้าจริง คนที่เข้าสู่วงการโรคซึมเศร้าไม่เห็นมีใครหลุดออกไปง่ายๆ เลย ฉันจินตนาการไม่ออกว่าการเป็นโรคเรื้อรังทางจิตใจระยะยาว ปลายทางมันจะเพิ่มการบั่นทอนการอยากมีชีวิตอยู่ต่อมากขนาดไหน และเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่าจะหายจากโรคนี้ก่อนหรือหลังที่ฉันจะจากโลกนี้กันแน่         ความทุกข์ทับซ้อนเมื่อเข้าสู่ระบบสุขภาพ         ระหว่างนั่งคุยกัน มีเสียงหัวเราะที่ฉันไม่เข้าใจความหมายนั้น เช่น ทุกคนมีประสบการณ์ร่วมยามเจ็บป่วยด้วยโรคทางกายอื่นๆ ต้องเข้าโรงพยาบาล และพยาบาลด่านซักประวัติมักถามว่า มีโรคประจำตัว หรือโรคเรื้อรังไหม? พอพวกเราบอกว่า “เป็นโรคซึมเศร้า” หรือบอกว่า “เป็นซึมเศร้าและวิตกกังวลร่วมด้วย” พยาบาลจะเงยหน้ามองแต่ไม่ระบุในใบคัดกรอง แต่ถ้าบอกว่าเป็น “โรคความดันสูง” หรือ “เบาหวาน” พยาบาลถึงจะจดบันทึกไว้ เอาเข้าจริง ฉันเคยมีความคิดอยาก “กวน” พยาบาลคัดกรองเหมือนกันว่า โรคซึมเศร้าไม่ถือเป็นโรคเรื้อรังทางการแพทย์หรือ? หรือเพราะกระแสรณรงค์ “สุขภาพดี เริ่มต้นที่ลดหวาน มัน เค็ม” อันเป็นบ่อเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) จึงไม่นับโรคทางจิตเวชเป็นโรคเรื้อรังเข้าไปด้วยหรือสุดโต่งที่จะคิดได้คือ การรักษาโรคนั้น แยกขาดระหว่างโรคทางกายและใจ โดยไม่คิดว่ามันสัมพันธ์กัน         แง่นี้, สถานะและความหมายของ “โรคเรื้อรัง” ระหว่างโรคทางกายกับโรคทางจิตใจก็ไม่เท่ากันแล้ว ซึ่งบางครั้งคันปากแต่การไปทะเลาะกับพยาบาลก็ไม่ใช่เรื่องถูกที่ ถูกคน และถูกกาลเทศะ แต่ก็ยังติดใจประเด็นนี้อยู่มาก “ถ้ากระทรวงสาธารณสุขเห็นความสำคัญหรือกำหนดเป็นวาระว่า ‘โรคซึมเศร้าเป็นโรคเรื้อรังทางจิตใจ’ การทุ่มเททรัพยากร สวัสดิการ และการจัดการเชิงระบบจะดีขึ้นกว่านี้ไหม?”         ชวนคิดต่อเนื่องไปอีก เมื่อโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่สามารถกลับมาเป็นใหม่ได้อีก ทุกครั้งที่รัฐ โดยเฉพาะศูนย์โรคซึมเศร้าไทย กรมสุขภาพจิต หรือผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข พูดถึง “ตัวเลข” จำนวนผู้ป่วยเชิงปริมาณ เช่น เมื่อต้นปี 2566 ระบุว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน ส่งผลให้คนไทยกว่า 70 % เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งส่วนใหญ่มักเริ่มมีอาการชัดเจนในช่วงอายุ 25 ปี จากนั้น อาจเกิดเป็นโรคเรื้อรังทางจิตใจในระยะยาวได้ ทั้งมีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายสูงกว่าคนทั่วไป 20 เท่าตัว    [1]  น่าสนใจว่า “ตัวเลข” ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเชิงปริมาณสะสมดังกล่าว มีวิธีวิทยาในการนับและคำนวณอย่างไร เมื่อ ‘มี’ ผู้ป่วยที่หายแล้วและกลับมาเป็นใหม่เพิ่มเข้ามาทุกปี         “ฐานข้อมูลโรคซึมเศร้าไทย” เป็นมรดกของนวัตกรรมเมื่อ 13 ปีก่อนจาก “โครงการทศวรรษการป้องกันและแก้ปัญหาโรคซึมเศร้า” ระยะ 10 ปี (ตั้งแต่ปี 2553 - 2563) นับเป็นความก้าวหน้าสอดคล้องกับกระแสสากล กรมสุขภาพจิตมีวิสัยทัศน์ว่า ภายในปี 2563 โรคซึมเศร้าจะไม่เป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศ โดยมี “อัตราการเข้าถึงบริการ” เป็นตัวชี้วัด อันเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญให้เกิด “ระบบดูแลเฝ้าระวังโรคซึมเศร้า” ขึ้นมา รวมทั้งมีการคิดค้นทางวิชาการจนได้แบบคัดกรองสำหรับกลุ่มเสี่ยง แบบคัดกรองของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า รวมทั้งแบบประเมินการฆ่าตัวตาย เพื่อใช้ส่งเสริมสุขภาพจิต และเป็นแนวทางในการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ ที่ยังใช้จริงจังต่อเนื่อง เป็นรูปธรรมจนถึงปัจจุบัน         อย่างน้อยช่วงเวลาของการรณรงค์นานนับกว่า 10 ปีภายใต้โครงการดังกล่าว สังคมเริ่มรู้จักและตระหนักถึงโรคนี้มากขึ้น เดิมผู้ป่วยซึมเศร้า 100 คนเข้าถึงบริการการรักษาเพียงแค่ 3 คน  ณ ปี 2566 ศูนย์โรคซึมเศร้าไทย ระบุว่า ระบบการดูแลสุขภาพสามารถทำให้ผู้ป่วยโรคนี้ 100 คนเข้าถึงบริการการรักษาเพิ่มเป็น 28 คน ซึ่งพวกเราทั้ง 10 คนก็คือผู้ป่วยซึมเศร้าที่ยังมีลมหายใจอยู่อย่างโดดเดี่ยวในสัดส่วน 28% ที่ไม่ร่วงหล่นจากระบบสุขภาพก็จริง แต่มีแนวโน้มเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและเสี่ยงฆ่าตัวตายสำเร็จด้วย!         แม้จะผ่านมามากกว่าสิบปีจนถึงทุกวันนี้,  “อัตราการเข้าถึงบริการ” ยังเป็นตัวชี้วัดหลักของกรมสุขภาพจิต ทั้งในแผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี (2566 - 2570) แผนพัฒนาสุขภาพจิตแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2561 - 2580) ที่อยู่ภายใต้ร่มแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ด้านสาธารณสุข ที่วางโครงสร้างของแผนต่าง ๆ สอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560 - 2564) มากกว่านั้น มีข้อสังเกตว่าการเขียนทุกแผนและยุทธศาสตร์ต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุข มักเขียน “ตัวชี้วัด” การเฝ้าระวังโรคและส่งเสริมสุขภาพเรียงตามลำดับโครงสร้างอายุประชากร จึงเห็นการวางน้ำหนักเฝ้าระวังโรคซึมเศร้าไว้ที่กลุ่มผู้สูงอายุเป็นหลัก แทบไม่เอ่ยถึงในกลุ่มเด็ก เยาวชน และวัยแรงงงานเท่าใดนัก         ขณะที่ปัจจุบัน รัฐบาลที่ผ่านมาได้ดำเนินแผนราชการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566 - 2570) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นมา ด้วยงื่อนไขสำคัญคือ การฟื้นฟูสังคม การเมือง และเศรษฐกิจหลังเผชิญหน้ากับวิกฤติสถานการณ์โควิด 19 ระบาดที่เป็นปัจจัยหนึ่งให้ผู้คนเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวชเพิ่มมากขึ้น อัตราการฆ่าตัวตายก็สูงเพิ่มมากขึ้นตามปัจจัยใหม่ๆ ทางสังคม  “โรคซึมเศร้า” ก็ยังถูกระบุให้เฝ้าระวังในกลุ่มผู้สูงอายุเช่นเดิม บนฐานคิดว่าสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ยิ่งทำให้แผนและยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่ถูกเขียนก่อนหน้าไม่ได้สมสมัยเพียงพอเพื่อร่วมรับมือกับสถานการณ์วิกฤติซ้อนวิกฤติที่กำลังดำเนินอยู่  ดังนั้น ถ้ายังให้ความสำคัญเพียงแค่ “ตัวชี้วัด” ยิ่งทำให้ “ระบบดูแลเฝ้าระวัง การบริการ และรักษาโรคซึมเศร้า” ถูกตั้งคำถามในมิติต่างๆ มากยิ่งขึ้น                    กรมสุขภาพจิตอาจมีบทบาทสำคัญในแง่การร่างแผนและยุทธศาสตร์เพื่อกำหนดวาระทิศทางของประเทศ  ทว่าจำเลยที่ถูกตั้งคำถามด้านการบริการผู้ป่วยมากที่สุดกลับตกอยู่กับหน่วยบริการสุขภาพและเหนือกว่านั้นคือ สำนักงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานประกันสังคม (สปส.) และกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ในฐานะผู้กำหนดสิทธิประโยชน์การส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และการรักษาพยาบาลของผู้มีสิทธิในสวัสดิการและผู้ประกันตน         แม้โรคซึมเศร้าไม่ใช่โรคใหม่ แต่น่าสังเกตว่า สิทธิประโยชน์ในกองทุนสวัสดิการสุขภาพต่างๆ เกี่ยวกับโรคทางจิตเวชยังตามหลังโรคทางกายอยู่มาก เช่น การเพิ่มจำนวนยาจิตเวชในบัญชียาหลักแห่งชาติให้เพียงพอกับพัฒนาการของโรคและปริมาณของจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นมาก (ซึ่งปลายปี 2565 กรมสุขภาพจิต ในฐานะที่ดูแลโรงพยาบาลและสถาบันเฉพาะทางจิตเวชทั่วประเทศได้เสนอรายชื่อยาเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า 4 ตัวเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ ขณะนี้เรื่องยังติดอยู่ที่อนุกรรมพิจารณาบัญชียาหลักแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หมายความว่ายังไม่มีความคืบหน้าเรื่องนี้[2]) รวมทั้งการอำนวยให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเข้าถึงการบำบัดด้านจิตเวชมากขึ้น ไม่ใช่เน้นการรักษาโดยรับยาจากแพทย์เป็นทางเลือกเดียว ส่วนเหตุผลจิตแพทย์และนักบำบัดจิตขาดแคลนขอให้ทดเงื่อนไขนี้ไว้ก่อน มิฉะนั้น การอภิปรายเชิงระบบจะจบแบบ ‘ลงร่อง’ ด้วยเหตุนี้เสมอ และกวาดประเด็นอื่น ๆ ไว้ใต้พรม         แง่นี้ การรับมือกับ “โรคซึมเศร้า” จึงไม่ใช่แค่ภาระของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น แต่กองทุนสุขภาพต่างๆ ยังต้องเข้ามาทำหน้าที่ช่วยเป็นโครงข่ายนิรภัย (Safety Net) เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการมากขึ้น และไม่มีผู้ป่วยร่วงหล่น หรือหลุดออกไปจากการรักษาพยาบาลภายใต้ระบบสวัสดิการสุขภาพต่าง ๆ ที่ประเทศไทย มีอยู่ เหมือนกรณีตัวอย่าง เช่น         “เดย์” เป็นผู้ป่วยที่มาก่อนกาล ก่อนจะมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก่อนกรมสุขภาพจิตจะเริ่มทศวรรษโรคซึมเศร้าฯ ก่อนการจัดตั้ง “ระบบดูแลเฝ้าระวังโรคซึมเศร้า” เธอเป็นนักข่าวองค์กรหนึ่งที่ป่วยด้วยโรคนี้มากกว่า 20 ปี วิชาชีพที่ทำงานแข่งกับเวลาและปัญหาสังคมสร้างความกดดัน ความเครียดเรื้อรัง จนร้องไห้ออกมาแบบควบคุมตัวเองไม่ได้ จึงตัดสินใจไปพบจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลศรีธัญญา การได้ระบายออกมาทำให้รู้ว่าตัวเองป่วยมากขนาดไหน แต่การจะไปรักษากับโรงพยาบาลตามสิทธิประกันสังคม พบว่าไม่มีแพทย์เฉพาะทาง โรงพยาบาลศรีธัญญาแนะนำว่า ถ้าพอมีกำลังทรัพย์ให้ไปรักษาที่โรงพยาบาลวิภาวดี ซึ่งหมอที่นี่ช่วยได้มาก  ดังนั้นปัญหาแรกที่พบ คือ ระบบสวัสดิการไม่ตอบโจทย์ในการรักษาโรคทางจิตเวช เมื่อรักษากับโรงพยาบาลเอกชน ปัญหาใหม่ก็ตามมาอีก คือค่ายาแพง ค่ารักษาพยาบาลต่อเดือนสำหรับเมื่อ 20 ปีก่อน เฉลี่ยเดือนละ 5,000 กว่าบาท นับว่ามากทีเดียวเมื่อเทียบกับรายได้ เธอกินยาต้านเศร้าที่ผลิตในประเทศมาครบทุกตัว และน่าจะเป็นผู้ป่วยกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับยาต่างประเทศ นอกบัญชียาหลักแห่งชาติ  ในที่สุดหมอแนะนำให้เธอซื้อยาตรงกับดีลเลอร์ยาเลยเพื่อลดค่าใช้จ่าย         แม้ค่ารักษาจะแพง แต่เธอไม่กล้าเปลี่ยนหมอ หรือเปลี่ยนโรงพยาบาล ด้วยกลัวการเริ่มต้นรักษาใหม่ นี่่ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาตามมา เมื่ออาการเริ่มดีขึ้น เธอเชื่อว่าตัวเองหายแล้ว จึงหยุดยาเอง ก็กลายเป็นว่าเธอไม่สามารถทำงานได้เหมือนเดิมแม้งานง่าย ๆ จึงเข้ารับการรักษาใหม่อีกครั้งและการรักษาก็ยากขึ้นเพราะการกินยาไม่ต่อเนื่อง ต่อมา เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจระดับประเทศทำให้เธอเป็นนักข่าวกลุ่มแรกที่ตกงาน ต้องผันตัวเองเป็นนักเขียนฟรีแลนซ์ ความรู้สึกยิ่งดิ่งลง การขาดรายได้ทำให้เธอรับการรักษาไม่ต่อเนื่อง รวมทั้งไม่มียาเพียงพอในการใช้ต่อเนื่อง ด้วยยาที่กินอยู่ไม่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป ทำให้การรักษาโรคของเธอซับซ้อนมากขึ้น เกิดภาวะวิตกกังวล นอนไม่หลับเรื้อรัง มีปัญหาด้านความทรงจำ การควบคุมอารมณ์ ฯลฯ         ทุกวันนี้ เธอยังรักษากับโรงพยาบาลวิภาวดีโดยจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง แต่การรักษาไม่ต่อเนื่อง การได้รับยาไม่ต่อเนื่อง รวมทั้งไม่มีคำแนะนำให้รักษาด้วยวิธีอื่น เช่น การบำบัดทางจิตและอารมณ์ควบคู่ เป็นปัจจัยที่ทำให้ “เดย์” กลายเป็นผู้ป่วยเรื้อรังทางจิตใจที่มีอยู่จริง และจิตใจก็พึ่งพิงไว้กับยา สิ่งที่เธอคาดหวังนั้น เรียบง่าย “น่าจะมีสักวันที่ชีวิตไม่ต้องกินยา เป็นคน ‘ปกติ’ แบบคนอื่นบ้าง”              “นิล” นักกิจกรรมทางสังคมที่เพิ่งพ้นจากรั้วมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า เขาเริ่มไม่เข้าใจภาวะที่ตัวเองผิดปกติ งานบางอย่างไม่สามารถทำให้เสร็จได้ ไม่สามารถสื่อสารกับครอบครัวได้ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม จนกระทั่งมีโอกาสเข้ารับคำปรึกษากับศูนย์สุขภาพจิตของมหาวิทยาลัย นักจิตบำบัดประเมินว่าเขาจำเป็นต้องพบจิตแพทย์ ช่วงแรกเขายังไม่อยากไปหาหมอ ไม่อยากกินยา รู้สึกการได้คุยกับนักจิตบำบัดตอบโจทย์อยู่แล้ว จนกระทั่งเรียนจบ ออกมาทำงานได้ระยะหนึ่งความกดดันต่าง ๆ และการเปลี่ยนสถานะทางสังคม โรคพัฒนาตัวอย่างเงียบๆ อาการดิ่งมาแบบไม่รู้ตัว จนในที่สุดต้องตัดสินใจรักษากับจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และทุกวันนี้ก็ยังต้อง กินยาอยู่         “ผมอยากให้มีกลไกที่จะช่วยให้ผู้มีปัญหาสุขภาพจิตรู้ตัวได้เร็วขึ้น เพื่อรู้วิธีรับมือและจัดการตัวเอง รวมทั้งเข้ารับการรักษาที่ถูกต้อง” นิล เอ่ยข้อเสนอจากประสบการณ์ตรงของตัวเอง         ความน่าสนใจกรณีของ “นิล” คือ กว่าเขาจะเข้าใจตัวเองว่ามีภาวะวิตกกังวลและเป็นโรคซึมเศร้าต้องใช้เวลานานมาก จากชั้นมัธยมจนกระทั่งเข้ามหาวิทยาลัย “นิล” อาจเป็นภาพตัวแทนของเด็กจำนวนหนึ่งที่ซ่อนเร้นตัวเองอยู่ในมุมมืด ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลด้วยวัย รวมทั้ง พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2562) ไม่ได้ให้สิทธิในการตัดสินใจแก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี จำเป็นต้องมีผู้ปกครองตัดสินใจแทน อาจกล่าวได้ว่า การค้นหาผู้ป่วยจิตเวชที่มีอายุน้อยเพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาลเป็นเรื่องไม่ง่าย การรายงาน “ตัวเลข” ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงต่ำกว่าความเป็นจริงเมื่อเทียบกับกลุ่มวัยแรงงานและกลุ่มผู้สูงอายุ ยิ่งชวนให้เราตั้งคำถามกับ “จำนวนนับ” ของฐานข้อมูลโรคซึมเศร้าไทยที่เริ่มเก็บข้อมูลประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปมากขึ้น          ในวัยเดียวกัน “ต้น” นักกิจกรรมสังคมรุ่นใหม่ ได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง เจ็บปวดร้าวรานเมื่อเห็นผู้คนและเพื่อนๆ ถูกคุกคามจากการใช้สิทธิทางการเมือง รู้สึกเครียด และถูกกดดันจากสถานการณ์รอบตัว เริ่มเข้ารับการรักษาโรคซึมเศร้าที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นแห่งแรก แม้ต้องจ่ายเงินเองทั้งหมด นานวันเข้ารับมือกับค่าใช้จ่ายไม่ไหว จึงตัดสินใจกลับไปใช้สิทธิรักษาพยาบาล 30 บาทที่ภูมิลำเนา โรงพยาบาลในจังหวัดหนึ่งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม้จะช่วยลดค่ารักษาพยาบาลไปได้ แต่ค่าใช้จ่ายการเดินทางกลายเป็นภาระไม่แพ้ค่ายาเพิ่มขึ้นแทน เขาไปกลับกรุงเทพฯ - ต่างจังหวัดอยู่หลายครั้ง จนยอมแพ้ ทั้งการรอคิวนานและรู้สึกว่าจิตแพทย์ไม่ได้รับฟังเพียงพอ รู้สึกถูกหมอตัดสินตัวเขาเหตุจากความคิดเห็นต่างทางการเมือง จนเริ่มคิดฆ่าตัวตาย แต่แฟนเข้ามาพบเสียก่อน จึงพากลับมารักษาตัวใหม่ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีอีกหน ชีวิต “ต้น” หักเหอีกครั้ง เมื่อเกิดวิกฤตโควิด 19 ระบาด เมืองปิด เขาตกงาน ไม่มีเงินค่ารักษาหรือเพื่อประทังชีวิตเพียงพอ จนต้องหยุดยาเอง เกือบสองปีผ่านไป จนกระทั่งได้งานใหม่จึงกลับมาเริ่มต้นรักษาอีกครั้งที่โรงพยาบาลราชวิถี         สิ่งที่รู้สึกท้อแท้มากกว่าค่ารักษาพยาบาล คือการต้องเริ่มต้นเล่าเรื่องที่เขาเผชิญใหม่ทุกครั้งที่เจอกับหมอคนใหม่ ในความเห็นของ “ต้น” จิตแพทย์มีน้อยอยู่แล้ว บางคนมีทัศนคติกับผู้ป่วยแย่ หลังจากดิ้นรนรักษาโรคซึมเศร้าอยู่หลายแห่ง การรับยาจากแพทย์ไม่ได้ทำให้อาการดีขึ้น กลับทรมานและรู้สึกคุณค่าของตัวเองตกต่ำลงเรื่อยๆ ทุกครั้งที่กินยา จึงอยากให้มีนักจิตบำบัดเพิ่มขึ้น จิตแพทย์เพิ่มขึ้น ไม่อยากรักษาไกลจากที่พักอาศัย อยากให้แพทย์ทำใบส่งต่อเพื่อให้เขาอยู่ในระบบสวัสดิการ โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปกลับทำใบส่งตัวระหว่างกรุงเทพฯ - ต่างจังหวัดทุก 3 เดือน หรือทุกครั้งที่ต้องพบแพทย์  ดังนั้น เพื่อลดขั้นตอนการส่งตัวอันยุ่งยาก วันนี้เขายอมรับภาระในการรักษาเองทั้งหมด          บนบ่าของวัยแรงงานมีเรื่องต้องแบกหามมากมาย ช่วงเรียนปริญญาตรี “คิม” ทั้งเรียนหนักและต้องดูแลพ่อที่ไตวาย ความเครียดสะสมนี้เพื่อนแม่จึงพาไปรักษากับจิตแพทย์และหมอสั่งยาให้ระยะหนึ่ง จน    ฤกระทั่งพ่อเสียชีวิต เธอรู้สึกว่าความกดดันลดลง อาการดีขึ้นจึงหยุดยาเอง จนกระทั่งเธอไปเรียนต่อปริญญาโทต่างประเทศตามลำพัง พบว่า ทำวิทยานิพนธ์ไม่ได้ นำเสนอผลงานไม่ได้ โชคดีว่าที่มหาวิทยาลัยต่างประเทศมีศูนย์ให้คำปรึกษาสุขภาพจิตซึ่งดีมาก แต่ “คิม” ไม่อยากกินยาอีกแล้ว จึงพยายามขวนขวายหาชุมชนที่พูดคุยเรื่องการรักษาโรคซึมเศร้าในชุมชนออนไลน์ เพื่อดูแลตัวเอง และประคองตัวเองจนกระทั่งเรียนจบ กลับประเทศไทย ได้ทำงานในองค์กรระหว่างประเทศ ปัจจุบัน “คิม” เป็นผู้บริหารองค์กรระหว่างประเทศในฐานะตัวแทนประเทศไทยระดับภูมิภาคเอเชีย         ช่วงระยะเวลากว่า 10 ปี นับตั้งแต่พ่อเสียชีวิต การเรียนต่อต่างประเทศ การเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งทางการเมืองของไทย ซึ่งเธอเป็นข้อต่อที่มีบทบาทสำคัญ หัวใจอันอ่อนล้าไม่ได้หยุดพักเลย เมื่อแม่ของ “คิม” เริ่มมีภาวะสมอง เสื่อมจากเนื้องอกในสมอง หลังผ่าตัด พฤติกรรมแม่เปลี่ยนไปจนแทบควบคุมตัวเองไม่ได้ ยิ่งทำให้เธอเครียดมาก จากการควบบทบาททางสังคมอันหนักอึ้งและบทบาท “ผู้ดูแลผู้ป่วยสูงอายุติดเตียง” (care giver) แม้จะจ้างผู้ช่วยมาประจำที่บ้านอีกคน เธอรู้ตัวดีว่าอาการโรคซึมเศร้าที่หายไปนานกลับมาเยือนอีกครั้ง แม้มีสิทธิตามหลักประกันบัตรทอง แต่ระบบไม่ได้ยืดหยุ่นให้เธอเข้าถึงได้นัก เมื่อเข้าใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน ก็พบว่าการบริการไม่ได้ดีนักอย่างที่คาดหวัง จึงพยายามหาทางเลือกอื่นเป็นที่พึ่ง พบว่า สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตอบโจทย์กับชีวิตอันยุ่งเหยิง ช่วยรับฟังปัญหาได้ดี แต่ข้อจำกัดของระบบฮอตไลน์ทำหน้าที่รับฟังแบบตั้งรับ ไม่มีระบบติดตามคนไข้ หรือตามอาการของผู้ป่วยที่โทรมาใช้บริการ รวมทั้งการประเมินอาการช่วยส่งต่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงระบบบริการสุขภาพจนสำเร็จ         “เราไม่สามารถเป็นผู้ป่วยอีกคนในบ้าน เพราะเรายังต้องดูแลแม่ที่ป่วย ช่วงนี้ไม่อยากทำงานบริหาร อยากเปลี่ยนทำงานที่เบาลง แต่ยังเป็นงานที่เรายังภูมิใจได้ เปลี่ยนสภาพแวดล้อม มีเงินสักก้อนไว้ดูแลแม่ที่สมองเสื่อม หากวันหนึ่งเราเป็นอะไรไป น้องจะได้ดูแลแม่ต่อได้” คิมบอกถึงความคาดหวัง          วันนี้ “นรินทร์” นักศึกษาปริญญาเอก มาหาฉันที่บ้าน เพื่อแบ่งยาไปกิน ยา Venlafaxine หนึ่งในสี่ชนิดของยาต้านเศร้าที่กรมสุขภาพจิตพยายามผลักดันเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ “นรินทร์” ใช้สิทธิประกันสังคมรักษากับโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่ง แต่การพบแพทย์ครั้งล่าสุด โรงพยาบาลออก “ใบค้างยา” และ “ใบสั่งยา” ให้ เพราะตัวยาที่เขาจำเป็นต้องใช้นั้น ขาดตลาดและหมดสต๊อกของโรงพยาบาล ผู้ป่วยสามารถไปซื้อยาข้างนอกได้ และหากยา กลับเข้ามาในระบบอีกครั้ง (ซึ่งระบุระยะเวลาแน่นอนไม่ได้) จะโทรศัพท์เรียกให้มารับยาค้างจ่าย ฐ. กินยาตัวเดียวกับเขาและมียาตัวนี้เก็บสะสมไว้มาก จึงแบ่งยาให้ “นรินทร์” ไปกินก่อน นี่คือ สถานการณ์เดียวกับ “เดย์” ที่เคยเจอเมื่อหลายสิบปีก่อน และฉันก็เคยมีประสบการณ์เดียวกัน เมื่อมีเงินจึงซื้อยาจำเป็นเก็บไว้         มุมของวิชาชีพแพทย์ เภสัชกร        แง่นี้ การรับมือกับ “โรคซึมเศร้า” จึงไม่ใช่แค่ภาระของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น แต่กองทุนสุขภาพต่างๆ ยังต้องเข้ามาทำหน้าที่ช่วยเป็นโครงข่ายนิรภัย (Safety Net) เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการมากขึ้น และไม่มีผู้ป่วยร่วงหล่น หรือหลุดออกไปจากการรักษาพยาบาลภายใต้ระบบสวัสดิการสุขภาพต่าง ๆ ที่ประเทศไทย มีอยู่ เหมือนกรณีตัวอย่าง เช่น         “เดย์” เป็นผู้ป่วยที่มาก่อนกาล ก่อนจะมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก่อนกรมสุขภาพจิตจะเริ่มทศวรรษโรคซึมเศร้าฯ ก่อนการจัดตั้ง “ระบบดูแลเฝ้าระวังโรคซึมเศร้า” เธอเป็นนักข่าวองค์กรหนึ่งที่ป่วยด้วยโรคนี้มากกว่า 20 ปี วิชาชีพที่ทำงานแข่งกับเวลาและปัญหาสังคมสร้างความกดดัน ความเครียดเรื้อรัง จนร้องไห้ออกมาแบบควบคุมตัวเองไม่ได้ จึงตัดสินใจไปพบจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลศรีธัญญา การได้ระบายออกมาทำให้รู้ว่าตัวเองป่วยมากขนาดไหน แต่การจะไปรักษากับโรงพยาบาลตามสิทธิประกันสังคม พบว่าไม่มีแพทย์เฉพาะทาง โรงพยาบาลศรีธัญญาแนะนำว่า ถ้าพอมีกำลังทรัพย์ให้ไปรักษาที่โรงพยาบาลวิภาวดี ซึ่งหมอที่นี่ช่วยได้มาก  ดังนั้นปัญหาแรกที่พบ คือ ระบบสวัสดิการไม่ตอบโจทย์ในการรักษาโรคทางจิตเวช เมื่อรักษากับโรงพยาบาลเอกชน ปัญหาใหม่ก็ตามมาอีก คือค่ายาแพง ค่ารักษาพยาบาลต่อเดือนสำหรับเมื่อ 20 ปีก่อน เฉลี่ยเดือนละ 5,000 กว่าบาท นับว่ามากทีเดียวเมื่อเทียบกับรายได้ เธอกินยาต้านเศร้าที่ผลิตในประเทศมาครบทุกตัว และน่าจะเป็นผู้ป่วยกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับยาต่างประเทศ นอกบัญชียาหลักแห่งชาติ  ในที่สุดหมอแนะนำให้เธอซื้อยาตรงกับดีลเลอร์ยาเลยเพื่อลดค่าใช้จ่าย         แม้ค่ารักษาจะแพง แต่เธอไม่กล้าเปลี่ยนหมอ หรือเปลี่ยนโรงพยาบาล ด้วยกลัวการเริ่มต้นรักษาใหม่ นี่่ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาตามมา เมื่ออาการเริ่มดีขึ้น เธอเชื่อว่าตัวเองหายแล้ว จึงหยุดยาเอง ก็กลายเป็นว่าเธอไม่สามารถทำงานได้เหมือนเดิมแม้งานง่าย ๆ จึงเข้ารับการรักษาใหม่อีกครั้งและการรักษาก็ยากขึ้นเพราะการกินยาไม่ต่อเนื่อง ต่อมา เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจระดับประเทศทำให้เธอเป็นนักข่าวกลุ่มแรกที่ตกงาน ต้องผันตัวเองเป็นนักเขียนฟรีแลนซ์ ความรู้สึกยิ่งดิ่งลง การขาดรายได้ทำให้เธอรับการรักษาไม่ต่อเนื่อง รวมทั้งไม่มียาเพียงพอในการใช้ต่อเนื่อง ด้วยยาที่กินอยู่ไม่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป ทำให้การรักษาโรคของเธอซับซ้อนมากขึ้น เกิดภาวะวิตกกังวล นอนไม่หลับเรื้อรัง มีปัญหาด้านความทรงจำ การควบคุมอารมณ์ ฯลฯ         ทุกวันนี้ เธอยังรักษากับโรงพยาบาลวิภาวดีโดยจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง แต่การรักษาไม่ต่อเนื่อง การได้รับยาไม่ต่อเนื่อง รวมทั้งไม่มีคำแนะนำให้รักษาด้วยวิธีอื่น เช่น การบำบัดทางจิตและอารมณ์ควบคู่ เป็นปัจจัยที่ทำให้ “เดย์” กลายเป็นผู้ป่วยเรื้อรังทางจิตใจที่มีอยู่จริง และจิตใจก็พึ่งพิงไว้กับยา สิ่งที่เธอคาดหวังนั้น เรียบง่าย “น่าจะมีสักวันที่ชีวิตไม่ต้องกินยา เป็นคน ‘ปกติ’ แบบคนอื่นบ้าง”              “นิล” นักกิจกรรมทางสังคมที่เพิ่งพ้นจากรั้วมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า เขาเริ่มไม่เข้าใจภาวะที่ตัวเองผิดปกติ งานบางอย่างไม่สามารถทำให้เสร็จได้ ไม่สามารถสื่อสารกับครอบครัวได้ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม จนกระทั่งมีโอกาสเข้ารับคำปรึกษากับศูนย์สุขภาพจิตของมหาวิทยาลัย นักจิตบำบัดประเมินว่าเขาจำเป็นต้องพบจิตแพทย์ ช่วงแรกเขายังไม่อยากไปหาหมอ ไม่อยากกินยา รู้สึกการได้คุยกับนักจิตบำบัดตอบโจทย์อยู่แล้ว จนกระทั่งเรียนจบ ออกมาทำงานได้ระยะหนึ่งความกดดันต่าง ๆ และการเปลี่ยนสถานะทางสังคม โรคพัฒนาตัวอย่างเงียบๆ อาการดิ่งมาแบบไม่รู้ตัว จนในที่สุดต้องตัดสินใจรักษากับจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และทุกวันนี้ก็ยังต้อง กินยาอยู่         “ผมอยากให้มีกลไกที่จะช่วยให้ผู้มีปัญหาสุขภาพจิตรู้ตัวได้เร็วขึ้น เพื่อรู้วิธีรับมือและจัดการตัวเอง รวมทั้งเข้ารับการรักษาที่ถูกต้อง” นิล เอ่ยข้อเสนอจากประสบการณ์ตรงของตัวเอง         ความน่าสนใจกรณีของ “นิล” คือ กว่าเขาจะเข้าใจตัวเองว่ามีภาวะวิตกกังวลและเป็นโรคซึมเศร้าต้องใช้เวลานานมาก จากชั้นมัธยมจนกระทั่งเข้ามหาวิทยาลัย “นิล” อาจเป็นภาพตัวแทนของเด็กจำนวนหนึ่งที่ซ่อนเร้นตัวเองอยู่ในมุมมืด ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลด้วยวัย รวมทั้ง พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2562) ไม่ได้ให้สิทธิในการตัดสินใจแก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี จำเป็นต้องมีผู้ปกครองตัดสินใจแทน อาจกล่าวได้ว่า การค้นหาผู้ป่วยจิตเวชที่มีอายุน้อยเพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาลเป็นเรื่องไม่ง่าย การรายงาน “ตัวเลข” ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงต่ำกว่าความเป็นจริงเมื่อเทียบกับกลุ่มวัยแรงงานและกลุ่มผู้สูงอายุ ยิ่งชวนให้เราตั้งคำถามกับ “จำนวนนับ” ของฐานข้อมูลโรคซึมเศร้าไทยที่เริ่มเก็บข้อมูลประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปมากขึ้น          ในวัยเดียวกัน “ต้น” นักกิจกรรมสังคมรุ่นใหม่ ได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง เจ็บปวดร้าวรานเมื่อเห็นผู้คนและเพื่อนๆ ถูกคุกคามจากการใช้สิทธิทางการเมือง รู้สึกเครียด และถูกกดดันจากสถานการณ์รอบตัว เริ่มเข้ารับการรักษาโรคซึมเศร้าที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นแห่งแรก แม้ต้องจ่ายเงินเองทั้งหมด นานวันเข้ารับมือกับค่าใช้จ่ายไม่ไหว จึงตัดสินใจกลับไปใช้สิทธิรักษาพยาบาล 30 บาทที่ภูมิลำเนา โรงพยาบาลในจังหวัดหนึ่งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม้จะช่วยลดค่ารักษาพยาบาลไปได้ แต่ค่าใช้จ่ายการเดินทางกลายเป็นภาระไม่แพ้ค่ายาเพิ่มขึ้นแทน เขาไปกลับกรุงเทพฯ - ต่างจังหวัดอยู่หลายครั้ง จนยอมแพ้ ทั้งการรอคิวนานและรู้สึกว่าจิตแพทย์ไม่ได้รับฟังเพียงพอ รู้สึกถูกหมอตัดสินตัวเขาเหตุจากความคิดเห็นต่างทางการเมือง จนเริ่มคิดฆ่าตัวตาย แต่แฟนเข้ามาพบเสียก่อน จึงพากลับมารักษาตัวใหม่ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีอีกหน ชีวิต “ต้น” หักเหอีกครั้ง เมื่อเกิดวิกฤตโควิด 19 ระบาด เมืองปิด เขาตกงาน ไม่มีเงินค่ารักษาหรือเพื่อประทังชีวิตเพียงพอ จนต้องหยุดยาเอง เกือบสองปีผ่านไป จนกระทั่งได้งานใหม่จึงกลับมาเริ่มต้นรักษาอีกครั้งที่โรงพยาบาลราชวิถี         สิ่งที่รู้สึกท้อแท้มากกว่าค่ารักษาพยาบาล คือการต้องเริ่มต้นเล่าเรื่องที่เขาเผชิญใหม่ทุกครั้งที่เจอกับหมอคนใหม่ ในความเห็นของ “ต้น” จิตแพทย์มีน้อยอยู่แล้ว บางคนมีทัศนคติกับผู้ป่วยแย่ หลังจากดิ้นรนรักษาโรคซึมเศร้าอยู่หลายแห่ง การรับยาจากแพทย์ไม่ได้ทำให้อาการดีขึ้น กลับทรมานและรู้สึกคุณค่าของตัวเองตกต่ำลงเรื่อยๆ ทุกครั้งที่กินยา จึงอยากให้มีนักจิตบำบัดเพิ่มขึ้น จิตแพทย์เพิ่มขึ้น ไม่อยากรักษาไกลจากที่พักอาศัย อยากให้แพทย์ทำใบส่งต่อเพื่อให้เขาอยู่ในระบบสวัสดิการ โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปกลับทำใบส่งตัวระหว่างกรุงเทพฯ - ต่างจังหวัดทุก 3 เดือน หรือทุกครั้งที่ต้องพบแพทย์  ดังนั้น เพื่อลดขั้นตอนการส่งตัวอันยุ่งยาก วันนี้เขายอมรับภาระในการรักษาเองทั้งหมด          บนบ่าของวัยแรงงานมีเรื่องต้องแบกหามมากมาย ช่วงเรียนปริญญาตรี “คิม” ทั้งเรียนหนักและต้องดูแลพ่อที่ไตวาย ความเครียดสะสมนี้เพื่อนแม่จึงพาไปรักษากับจิตแพทย์และหมอสั่งยาให้ระยะหนึ่ง จน    ฤกระทั่งพ่อเสียชีวิต เธอรู้สึกว่าความกดดันลดลง อาการดีขึ้นจึงหยุดยาเอง จนกระทั่งเธอไปเรียนต่อปริญญาโทต่างประเทศตามลำพัง พบว่า ทำวิทยานิพนธ์ไม่ได้ นำเสนอผลงานไม่ได้ โชคดีว่าที่มหาวิทยาลัยต่างประเทศมีศูนย์ให้คำปรึกษาสุขภาพจิตซึ่งดีมาก แต่ “คิม” ไม่อยากกินยาอีกแล้ว จึงพยายามขวนขวายหาชุมชนที่พูดคุยเรื่องการรักษาโรคซึมเศร้าในชุมชนออนไลน์ เพื่อดูแลตัวเอง และประคองตัวเองจนกระทั่งเรียนจบ กลับประเทศไทย ได้ทำงานในองค์กรระหว่างประเทศ ปัจจุบัน “คิม” เป็นผู้บริหารองค์กรระหว่างประเทศในฐานะตัวแทนประเทศไทยระดับภูมิภาคเอเชีย         ช่วงระยะเวลากว่า 10 ปี นับตั้งแต่พ่อเสียชีวิต การเรียนต่อต่างประเทศ การเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งทางการเมืองของไทย ซึ่งเธอเป็นข้อต่อที่มีบทบาทสำคัญ หัวใจอันอ่อนล้าไม่ได้หยุดพักเลย เมื่อแม่ของ “คิม” เริ่มมีภาวะสมอง เสื่อมจากเนื้องอกในสมอง หลังผ่าตัด พฤติกรรมแม่เปลี่ยนไปจนแทบควบคุมตัวเองไม่ได้ ยิ่งทำให้เธอเครียดมาก จากการควบบทบาททางสังคมอันหนักอึ้งและบทบาท “ผู้ดูแลผู้ป่วยสูงอายุติดเตียง” (care giver) แม้จะจ้างผู้ช่วยมาประจำที่บ้านอีกคน เธอรู้ตัวดีว่าอาการโรคซึมเศร้าที่หายไปนานกลับมาเยือนอีกครั้ง แม้มีสิทธิตามหลักประกันบัตรทอง แต่ระบบไม่ได้ยืดหยุ่นให้เธอเข้าถึงได้นัก เมื่อเข้าใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน ก็พบว่าการบริการไม่ได้ดีนักอย่างที่คาดหวัง จึงพยายามหาทางเลือกอื่นเป็นที่พึ่ง พบว่า สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตอบโจทย์กับชีวิตอันยุ่งเหยิง ช่วยรับฟังปัญหาได้ดี แต่ข้อจำกัดของระบบฮอตไลน์ทำหน้าที่รับฟังแบบตั้งรับ ไม่มีระบบติดตามคนไข้ หรือตามอาการของผู้ป่วยที่โทรมาใช้บริการ รวมทั้งการประเมินอาการช่วยส่งต่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงระบบบริการสุขภาพจนสำเร็จ         “เราไม่สามารถเป็นผู้ป่วยอีกคนในบ้าน เพราะเรายังต้องดูแลแม่ที่ป่วย ช่วงนี้ไม่อยากทำงานบริหาร อยากเปลี่ยนทำงานที่เบาลง แต่ยังเป็นงานที่เรายังภูมิใจได้ เปลี่ยนสภาพแวดล้อม มีเงินสักก้อนไว้ดูแลแม่ที่สมองเสื่อม หากวันหนึ่งเราเป็นอะไรไป น้องจะได้ดูแลแม่ต่อได้” คิมบอกถึงความคาดหวัง          วันนี้ “นรินทร์” นักศึกษาปริญญาเอก มาหาฉันที่บ้าน เพื่อแบ่งยาไปกิน ยา Venlafaxine หนึ่งในสี่ชนิดของยาต้านเศร้าที่กรมสุขภาพจิตพยายามผลักดันเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ “นรินทร์” ใช้สิทธิประกันสังคมรักษากับโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่ง แต่การพบแพทย์ครั้งล่าสุด โรงพยาบาลออก “ใบค้างยา” และ “ใบสั่งยา” ให้ เพราะตัวยาที่เขาจำเป็นต้องใช้นั้น ขาดตลาดและหมดสต๊อกของโรงพยาบาล ผู้ป่วยสามารถไปซื้อยาข้างนอกได้ และหากยา กลับเข้ามาในระบบอีกครั้ง (ซึ่งระบุระยะเวลาแน่นอนไม่ได้) จะโทรศัพท์เรียกให้มารับยาค้างจ่าย ฐ. กินยาตัวเดียวกับเขาและมียาตัวนี้เก็บสะสมไว้มาก จึงแบ่งยาให้ “นรินทร์” ไปกินก่อน นี่คือ สถานการณ์เดียวกับ “เดย์” ที่เคยเจอเมื่อหลายสิบปีก่อน และฉันก็เคยมีประสบการณ์เดียวกัน เมื่อมีเงินจึงซื้อยาจำเป็นเก็บไว้         มุมของวิชาชีพแพทย์ เภสัชกร        นพ.พนม เกตุมาน ที่ปรึกษาภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า จะมีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยานอกบัญชีกลุ่มนี้ราว 20% ขณะที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 70-80% ยังตอบสนองต่อยาในบัญชียาหลักได้ดี แต่ก็เริ่มไม่แน่ใจว่า ผู้ป่วย 80% ที่ตอบสนองต่อยาในบัญชียาหลักฯ จะรักษาได้หายขาดหรือไม่ หรือหากมีผลข้างเคียงก็อาจจะทำให้ผู้ป่วยตัดสินใจหยุดการรักษากลางคันได้[3]         ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่า ยาออริจินอลจากต่างประเทศ แม้จะขึ้นทะเบียนกับ อย.แล้ว แต่ยังอยู่นอกบัญชียาหลักฯ มักจะมีราคาแพง ยิ่งจำนวนผู้ป่วยไม่แน่นอน เป็นยารักษาโรคเฉพาะทาง หรือยังอยู่ในวงจำกัด โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนมักไม่สั่งยาสต็อกไว้ในโรงพยาบาลมากนัก เพราะเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่สูงของโรงพยาบาล ผู้นำเข้ายาเองก็ไม่กล้านำเข้ามากนัก ดังนั้น ปัญหาการขาดยาเหล่านี้ในตลาด หรือโรงพยาบาลเป็นครั้งคราวจึงเกิดขึ้นเสมอ โดยเฉพาะยารักษาโรคมะเร็ง ยาด้านจิตเวช ในวงการยาเรียกว่า “ขาดคราว”         “ส่วนการพิจารณาเข้าบัญชียาหลักแห่งชาตินั้น ทางวิชาการก็ต้องรอบคอบ ว่าเป็นยารักษาโรคเฉพาะทางจำเป็นสำหรับผู้ป่วยจริง ๆ โดยยาที่มีอยู่ไม่สามารถตอบสนองได้แล้ว หรือเป็นยาถูกทำให้จำเป็นจากการโปรโมทของบริษัทยา เมื่อเป็นการเสนอโดยกรมสุขภาพจิต หรือสมาคมจิตเวชแห่งประเทศไทย ก็น่าจะมีเหตุผลทางวิชาการรองรับที่น่าเชื่อถือ คงอีกไม่นานน่าจะมีคำตอบ"         เรื่องของ ฐ.         ฐ. เป็นคนกรุงเทพฯ แต่ทำงานในพื้นที่ความขัดแย้งเรื้อรังชายแดนใต้นานกว่าสิบปี การทำงานกับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความรุนแรง เพื่อนร่วมงานและคนรอบข้างทยอยเสียชีวิต หรือได้รับผลกระทบจากคดีความมั่นคง กลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบมือสองเสียเอง อาการป่วยคืบคลานกัดกินใจไม่รู้ตัว จนกระทั่งชีวิตประจำวันเสีย งานประจำที่เคยทำได้ก็ทำไม่ได้ โลกค่อย ๆ พังทลายลงสู่ความดำมืด นอนไม่หลับ และตื่นตระหนก ผวากลางดึก น้ำหนักลดลงเห็นได้ชัด แต่ไม่รู้ตัว นอนติดเตียง จนเพื่อนรอบข้างผิดสังเกตนำส่งรักษาฉุกเฉินที่โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราช การุณย์เพื่อลดเวลาในการคอยแพทย์         ช่วงแรกของการรักษาเพื่อดึง ฐ กลับมาสู่ภาวะที่พอจะช่วยเหลือตัวเองและใช้ชีวิตประจำวันได้ จิตแพทย์นัดบ่อยและปรับยาทั้งชนิดและขนาดอยู่หลายขนาน นานหลายเดือน เพราะร่างกายไม่ตอบสนองทั้งอาหารและยา ผลข้างเคียงจากยาก็เยอะ ทั้งต้องกินยาต้านเศร้าควบคู่กับยานอนหลับ หรือยากล่อมประสาทให้นอนหลับสนิทได้บ้าง คนในวงการซึมเศร้าพึงรู้ข้อควรระวังประการหนึ่งว่า ยาต้านเศร้านั้นก็มีผลข้างเคียงนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นโรคซึมเศร้าจะคิดฆ่าตัวตาย เช่น ฐ. กินยากล่อมประสาทคู่กับยาต้านเศร้า ครั้งหนึ่งระหว่างข้ามถนน ก็เห็นถนนกลายเป็นทะเล แหย่เท้าลุยลงไป จนกระทั่งได้ยินเสียงแตรมอเตอร์ไซต์และเสียงก่นด่าของคนขับลั่น จึงได้สติ จากนั้นก็กลายเป็นคนวิตกกังวล (แพนิค) ไม่กล้าออกจากบ้านอยู่พักใหญ่         ถ้าเรื่องยาต้านเศร้า ฐ ทดสอบมาแล้วเกือบทุกตัวในบัญชียาหลักฯ บอกได้ว่าตัวไหนกินแล้วมีผลข้างเคียงอย่างไร จนข้ามมากินยานอกบัญชีฯ ทำให้ค่ารักษาบานไปเดือนเกือบ 5,000 บาท จนเงินเก็บหมด หมอก็ใจดีเขียนใบสั่งยาให้ออกไปซื้อนอกโรงพยาบาลได้ หลังจากอาการเริ่มดีขึ้น สามารถกลับไปทำงานที่ปัตตานีอีกครั้ง ยาที่ ฐ กินนั้นไม่สามารถซื้อหาในจังหวัดชายแดนใต้ได้เลย ไม่ว่าจะขอซื้อจากร้านยาที่เป็นดีลเลอร์ระดับภาค ขอซื้อยาจากโรงพยาบาลรัฐและคลีนิคเอกชนก็ตาม จนต้องรบกวนเครือข่ายเพื่อน ฐ ให้รับใบสั่งยาและซื้อยาจากกรุงเทพฯ ส่งไปรษณีย์มาให้ที่ปัตตานี ถึงจุดหนึ่ง ฐ รับภาระค่ารักษาไม่ไหวจึงปรึกษาจิตแพทย์ใจดีอยากย้ายไปใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ โดยเสียดายว่าได้จิตแพทย์ที่เข้ากับตัวเราแล้ว กลับต้องไปเริ่มรักษาใหม่         ข้อน่าสังเกต หาก ฐ คือ ผู้ป่วยที่เป็น “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” ในพื้นที่ขัดแย้งรุนแรงยืดเยื้อจังหวัดชายแดนใต้นานนับ 20 ปี คาดการณ์ว่าต้องมีคนได้รับผลกระทบทางจิตใจจำนวนมาก ผู้ป่วยโรคจิตเวชในพื้นที่นี้ไม่น่าจะน้อย โดยรู้กันดีว่าชายแดนใต้เป็นพื้นที่ขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางทุกประเภท การขาดแคลนยารักษาโรคซึมเศร้าในหน่วยบริการอาจเป็นตัวแปรหนึ่งที่สะท้อนถึงปัญหาการเยียวยาด้านจิตใจผู้คนที่ได้รับกระทบจากเหตุความรุนแรง และคุณภาพชีวิตของผู้คนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการจิตเวชหรือไม่ ถ้าจะคิดต่อเรื่องนี้ก็มีคำถามให้ถามกันมากทีเดียว         ในส่วนของ ฐ. การต่อคิวนัดจิตแพทย์ตามสิทธิบัตรทองผ่านศูนย์บริการสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิของกรุงเทพมหานครเพื่อส่งต่อรักษากับโรงพยาบาลวชิรพยาบาลนั้น ใช้เวลาเกือบ 6 เดือน และทุกครั้งต้องไปเอา “ใบส่งต่อ” จากศูนย์ฯ ก่อน การเสียเวลาหนึ่งวัน ออกจากบ้านแต่เช้าไปเอาใบส่งต่อที่ศูนย์บริการสาธารณสุขและรีบมาพบแพทย์ให้ทันภายในเที่ยง ทุก 2 เดือน ความเร่งรีบเช่นนี้มันหายใจไม่ทั่วท้อง ระยะหลังต่อรองให้ศูนย์บริการสาธารณสุขออกใบส่งตัวให้เป็นหนึ่งปีเลย ทั้งยังต้องเป็นการวางแผนชีวิตการขึ้นลงกรุงเทพฯ - ปัตตานีให้สอดคล้องกับวันนัดของแพทย์ ที่น่าสนใจ แม้จะย้ายมาใช้สิทธิบัตรทอง ฉันยังต้องจ่ายค่ายาต้านเศร้านอกบัญชียาหลักฯ เองอยู่ดี แต่ราคาลดเหลือครั้งละ 1,500 - 2,200 บาท ด้วยความเหนื่อยล้าจากประการทั้งปวง ฐ. จึงหยุดยาเอง อาการก็ทรุดลง แต่ก็ถือว่าไม่แย่นัก แค่ชีวิตมันชืดชาเหลือเกิน         ชีวิตผกผันหัวใจอ่อนล้ามาก ช่วงวิกฤติโควิด 19 ระบาด ฐ. ถูกเรียกตัวจากปัตตานีให้เข้ามาทำงานประจำในองค์กรข่าวระดับประเทศ ด้วยเหตุผลความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านก็จริง แต่เหตุผลหลักที่กลับมาทำงานประจำอีกครั้งคือค่าตอบแทนจำนวนไม่น้อยที่สามารถจุนเจือครอบครัว ที่ถูกปิดกิจการจากการปิดเมืองเพื่อควบคุมโรค การแบกงาน แบกความเจ็บป่วยของตัวเอง และครอบครัวไม่ให้ล้มละลายในยามวิกฤติ ช่วงระยะเวลา 3 ปีกว่าที่ขาดการรักษาและขาดยา ความกดดันนานานัปการทำให้โรคซึมเศร้ากลับมาอย่างเงียบๆ จน ฐ.ยอมกลับไปเริ่มต้นรักษาใหม่อีกครั้งที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล แต่อาการก็หนักแล้ว ไม่สามารถทำงานอย่างมืออาชีพได้อีกจึงตัดสินใจลาออกจากงานกลางปี 2565         บทเรียนจากการทำงานภาคใต้ เรื่องสิทธิเป็นเรื่องต้องต่อสู้ถึงจะได้มา         ฐ. รู้ภายหลังว่า การใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ ผู้ใช้สิทธิไม่ต้องจ่ายส่วนต่างค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งยานอก บัญชียาหลักแห่งชาติด้วย หากยาดังกล่าวแพทย์วินิยฉัยว่าจำเป็นต่อการรักษาก็สามารถเบิกได้ อ้าว... แล้วที่ผ่านมาคืออะไร? การคุยเรื่องสิทธิกับแพทย์ที่รักษาโดยไม่ให้เสียความสัมพันธ์ส่วนตัวไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อค่อย ๆ นึกหาสถานการณ์คิดถึงบรรยากาศในการพูดคุยและเริ่มคุยกับหมอ ก็พบว่า ไม่ใช่หมอทุกคนจะรู้เรื่องสิทธิการรักษาพยาบาล หมอยกโทรศัพท์เช็คกับภาควิชา ห้องยา และโทรคุยกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพ จนทั้งระบบของโรงพยาบาลเข้าใจเรื่องตรงกัน เดือนสิงหาคม 2566 จึงเป็นครั้งแรก ที่ได้ใบอนุมัติเบิกค่ายานอกบัญชียาหลักฯ จากแพทย์ไปยื่นให้ห้องยา ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี และในรอบ 4 ปีที่รักษาโรคซึมเศร้าด้วยสิทธิบัตรทองโดยไม่ต้องเสียเงินสักบาท แต่ไม่รู้ว่ามีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าคนอื่นได้อนิสงค์นี้ด้วยหรือไม่          สถานการณ์เหล่านี้เป็นบางตัวอย่างยืนยันว่าโรคซึมเศร้าไม่ใช้ปัญหาส่วนตัว บางคนหาทางออกได้ แต่บางคนไม่สามารถต่อรองกับระบบได้ และบางคนก็ยอมแพ้ ...ช่วยพวกเราด้วย เรากำลังต่อสู้กับโรคซึมเศร้าอย่างเงียบ อยากหายป่วย ไม่อยากเป็นภาระใคร.  [1] “‘โรคซึมเศร้า’ ไทยน่าเป็นห่วง กว่า 70% เสียชีวิตก่อนวัยอันสมควร”, เว็บไซต์คมชัดลึก, วันที่ 1 มีนาคม 2566. [2] “ป่วยซึมเศร้า รอหมอนาน กินยาแล้วแต่ไม่หายขาด?”, www.theactive.net., วันที่ 14 พฤศจิายน 2565. [3] อ้างแล้ว.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 กระแสต่างแดน

หยุดคุกคาม        พ่อแม่ผู้ปกครองชาวเกาหลีช่างโหดร้ายกับคุณครูเสียเหลือเกิน กระทรวงศึกษาธิการของเขาจึงต้องออกข้อแนะนำไปยังโรงเรียนประถมและโรงเรียนอนุบาลทั่วประเทศเพื่อแก้ปัญหาก่อนจะมีครูถูกคุกคามจนถึงขั้นฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นอีก         เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิของครู กระทรวงฯ ห้ามไม่ให้พ่อแม่บันทึกเสียงในห้องเรียนโดยไม่ได้รับอนุญาต หากฝ่าฝืนจะถูกสอบสวนโดยหน่วยงานของรัฐ  ขณะเดียวกันก็ห้ามนักเรียนใช้สมาร์ตโฟนหรืออุปกรณ์ไอทีอื่นๆ อย่างสมาร์ตวอทช์ แท็บเล็ต และโน๊ตบุ๊คในห้องเรียน และคุณครูยังได้รับอนุญาตให้ “กักตัว” เด็กได้ หากเด็กมีพฤติกรรมฝ่าฝืนระเบียบโรงเรียน         นอกจากนี้ยังกำหนดให้ผู้ปกครองโทรหาครูได้เฉพาะในเวลางาน และต้องเป็นการโทรมาปรึกษาเรื่องเกี่ยวกับลูกหลานตัวเองเท่านั้น ที่สำคัญที่สุดคือห้ามโรงเรียนให้เบอร์ส่วนตัวของครูกับผู้ปกครองด้วย ไม่มีผล         สมาคมยาแผนโบราณของเวียดนามออกมาเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความพยายามมากขึ้นในการลด ละ เลิก การบริโภคเนื้อสุนัขและแมว         โดยเฉลี่ยแล้วแต่ละปีในเวียดนามมีน้องหมาประมาณห้าล้านตัวและน้องแมวอีกหนึ่งล้านตัวถูกฆ่าเพื่อนำเนื้อมาบริโภค สืบเนื่องจากความเชื่อว่ากินแล้วช่วยบำรุงร่างกายแถมยังรักษาโรคได้ด้วย        แต่ความจริงแล้วไม่มีงานวิจัยที่รับรองสรรพคุณเรื่องการรักษาโรคกระดูกหรือโรคข้อในมนุษย์ และตามตำราแผนโบราณก็ไม่เคยมีบันทึกเรื่องนี้ สมาคมฯ ย้ำว่าเนื้อสุนัขไม่สามารถเพิ่มพลังทางเพศ และไขกระดูกของแมวก็ไม่ได้ช่วยบำรุงกระดูกหรือกล้ามเนื้ออย่างที่เชื่อกันมา         นอกจากนี้รายงานยังระบุว่า หากสามารถหยุดธุรกิจค้าเนื้อสุนัขและแมวได้ก็จะสามารถกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าไปจากโลกนี้ได้ภายในปี 2030 ด้วย         เทรนด์นี้กำลังมาแรง สตรีหมายเลขหนึ่งของเกาหลีใต้ก็กำลังผลักดันให้การบริโภคเนื้อสุนัขเป็นเรื่องผิดกฎหมายเช่นกันทำได้ก็ดี        คณะกรรมาธิการยุโรปเสนอให้รถยนต์ที่ผลิตใหม่มีพลาสติกรีไซเคิลเป็นส่วนประกอบอย่างน้อยร้อยละ 25 เรื่องนี้ถูกใจอุตสาหกรรมรีไซเคิล แต่อุตสาหกรรมรถยนต์ยังมองไม่เห็นความเป็นไปได้           อ้างอิงข้อมูลของ EuRIC หรือสมาคมอุตสาหกรรมรีไซเคิลแห่งยุโรป ปัจจุบันร้อยละ 50 ของส่วนประกอบในรถยนต์ทำจากพลาสติก หรือเฉลี่ยประมาณคันละ 150 – 200 กิโลกรัม         ถึงแม้อียูจะต้องการให้ร้อยละ 25 ของพลาสติกในรถยนต์มาจากการรีไซเคิล แต่อุตสาหกรรมยานยนต์บอกว่าเรื่องนี้ไม่ง่าย เพราะพลาสติกที่นำมาใช้กับรถยนต์นั้นต้องผสมคาร์บอนไฟเบอร์หรือใช้โพลีเมอร์คุณภาพสูงเพื่อความแข็งแรงทนทาน ส่งผลให้ยากแก่การรีไซเคิล         การจะบรรลุเป้าหมายนั้นได้จะต้องอาศัยเทคโนโลยีการรีไซเคิลที่สูงขึ้นก่อน ปัจจุบันการรีไซเคิลชิ้นส่วนพลาสติกจากรถทำได้เพียงร้อยละ 19 จากเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 30  ไม่สู้แสง         สเปนได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งแสงอาทิตย์ของยุโรป ด้วยปริมาณแสงแดดราว 2,500 – 3,000 ชั่วโมงต่อปี ในขณะที่อังกฤษมีเพียง 1,600 ชั่วโมง         แต่ผลการสำรวจกับพบว่าร้อยละ 10 ของคนสเปน รู้สึกว่าที่อยู่ของตัวเองมืดเกินไป (สูงกว่าค่าเฉลี่ยของยุโรปที่ร้อยละ 5.9) ในขณะที่ประเทศที่ฟ้ามืดครื้มเป็นส่วนใหญ่อย่างนอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ หรือสโลวาเกียกลับไม่ติดอันดับต้นๆ ของประเทศที่คนบ่นว่า “บ้านมืด”         ร้อยละ 65 ของคนสเปน อาศัยอยู่ในตึกที่ปลูกติดกันบนถนนแคบๆ เพื่อลดอุณหภูมิในหน้าร้อน ผนังภายในมักทาสีเข้มเพื่อช่วยลดแสงจ้า ส่วนห้องนอนจะอยู่ในมุมที่ลึกที่สุดและมืดที่สุดเพื่อความเย็นสบาย         สเปนเป็นประเทศเดียวในยุโรปที่ยังใช้ “มู่ลี่” บังแสง เพราะวัฒนธรรมแบบมัวร์ดั้งเดิมจะนิยมปลูกบ้านใกล้ชิดติดกัน จึงต้องใช้มู่ลี่เพื่อบังทั้งแสงและเสียง รวมถึงป้องกันการสอดแนมจากเพื่อนบ้าน ตรงข้ามกับวัฒนธรรมของยุโรปเหนือที่ต้องเปิดบ้านให้คนมองเข้ามาเห็นได้ เพื่อแสดงความจริงใจ  ใช้เงินกันบ้าง        ในภาพรวมอาจดูเหมือนคนจีนจำนวนมากเตรียมจะออกเที่ยวในช่วง “โกลเด้นวีค” ในช่วงต้นเดือนตุลาคม แต่สถิติระบุว่าคนจีนบางส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานบริษัท ไม่นิยมลาพักร้อนกันมากเท่าที่ควร เช่น กรณีของเมืองชานตง ที่พบว่าเพียงร้อยละ 60 ของพนักงานบริษัทเท่านั้นที่ใช้สิทธิลาพักร้อน         รายงานระบุว่าเป็นเพราะคนเหล่านี้เคยชินกับการทำงานหนัก พวกเขาโตมาในวัฒนธรรมที่เชิดชูการ “อุทิศตนให้กับงาน” ถ้าให้เลือกระหว่างเงินกับการพักผ่อน พวกเขาจะเลือกเงินเสมอ ที่สำคัญการทำงานในวันหยุดหมายถึงการได้ค่าแรงสามเท่าด้วย        นายจ้างก็ดำเนินนโยบาย “ใช้ให้คุ้ม” เพื่อให้ได้งานเพิ่มโดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย ในขณะที่ลูกจ้างก็แทบไม่ได้คิดเรื่องการถูกละเมิดสิทธิแรงงาน         เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิดที่ดูเหมือนจะฟื้นตัวช้าเกินไป ทางการจีนเลยขอให้นายจ้างส่งเสริมให้พนักงานลาพักร้อนไปใช้เงินกันให้มากขึ้น 

อ่านเพิ่มเติม >