ฉบับที่ 196 ผลิตภัณฑ์ลูกสำรองสยองภัย

ข่าวการเสียชีวิตของวัยรุ่นจากการซื้อผลิตภัณฑ์แมงลักลดความอ้วนที่แอบลักลอบปนสารลดความอ้วนยังไม่ทันจางหาย ผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนตัวใหม่ก็ผุดขึ้นมาอีก คราวนี้เป็นผลิตภัณฑ์ลูกสำรองลดน้ำหนักผมได้รับข้อมูลจาก กลุ่มงานเภสัชกรรมฯ รพ.ปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญว่า ในช่วงนี้พบผู้บริโภคในพื้นที่นิยมซื้อ ผลิตภัณฑ์ “ลูกสำรองลดน้ำหนัก สารสกัดธรรมชาติ” ที่จำหน่ายผ่านทางเฟซบุ๊ค มารับประทาน โดยการโฆษณา ได้แสดงข้อความในทำนองว่าสินค้าชนิดนี้ มีเลข อย. ใช้ได้ดี  น้ำหนักลด 5 กก. ภายใน 1 สัปดาห์ และที่สำคัญจะไม่มีภาวะโยโย่เอฟเฟค ( ภาวะน้ำหนักขึ้นหลังหยุดรับประทาน)  และเนื่องจากมีการโฆษณาว่าเป็นสมุนไพร สารสกัดจากธรรมชาติ  ทำให้ทั้งผู้ใหญ่และเด็กนักเรียนหลายรายหลงเชื่อซื้อมารับประทาน ต่อมาพบว่า มีผู้บริโภค (ทั้งผู้ใหญ่และเด็กนักเรียน)  รับประทานแล้วมีอาการใจสั่น เหนื่อยอ่อนเพลีย จึงร้องเรียนมายังเจ้าหน้าที่จากการลงพื้นที่เพื่อติดตามข้อมูล เจ้าหน้าที่พบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าว แสดงฉลาก  LUK- SAM –RONG “ลูกสำรองลดน้ำหนัก” สารสกัดธรรมชาติ  มีการระบุเลขสารบบอาหาร (หรือที่เรียกกันว่า เลข อย) ระบุว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำเข้ามาในประเทศ โดยมีบริษัทจัดจำหน่ายตั้งอยู่ที่อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี  ราคาจำหน่ายแผงละ 200 บาท เจ้าหน้าที่จึงได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ดังกล่าวส่งตรวจศูนย์วิทยาศาสตร์ จังหวัดอุบลราชธานี ผลการตรวจพบว่ามี “ยาที่อาจก่อให้เกิดอันตรายผสมอยู่” คือ ยา Silbutamine (ยาลดความอ้วน) และ ยา Fluoxetine (ยารักษาอาการซึมเศร้าที่ผลข้างเคียงทำให้ไม่อยากอาหาร) เจ้าหน้าที่จึงได้ประสานไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี เพื่อขอความร่วมมือให้ติดตามตรวจสอบบริษัทจัดจำหน่าย ตามที่อยู่ที่ระบุบนฉลาก  ผลปรากฏว่าสถานที่ดังกล่าว ไม่ได้ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการนำเข้าอาหารแต่อย่างใด และเลขสารบบอาหาร (เลข อย) ที่ปรากฏบนฉลากนั้นก็ยกเลิกไปนานแล้ว  ต่อมากลุ่มงานเภสัชกรรมฯ รพ.ปทุมราชวงศา ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามเฝ้าระวังต่อเนื่อง  พบว่า ยังมีผู้บริโภคซื้อผลิตภัณฑ์“ลูกสำรองลดน้ำหนัก” มารับประทานอีก โดยผู้บริโภคที่ซื้อมารับประทานได้เอาผลิตภัณฑ์ มาให้เจ้าหน้าที่ดู และบอกว่าแม้ฉลากจะเหมือนเดิม แต่ก็เป็นผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ เพราะ เลข อย. เป็นหมายเลขใหม่(ผู้ผลิตนำ เลข อย.ใหม่มาปิดทับหมายเลข อย.เดิม) เจ้าหน้าที่จึงได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ฯดังกล่าวส่งตรวจวิเคราะห์อีกครั้ง ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์ ยังคงพบ Sibutamine เหมือนครั้งแรก  ซึ่งขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้ประสานงานกับเครือข่ายต่างๆ ในการสืบหาแหล่งต้นตอเพื่อดำเนินคดีต่อไปจะเห็นได้ว่า ผลิตภัณฑ์พวกนี้มักจะอาศัยเครื่องหมาย อย.มาสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค แต่สิ่งที่ผู้บริโภคต้องจำให้แม่นคือ “ผลิตภัณฑ์ที่แสดงเครื่องหมาย อย. คือผลิตภัณฑ์อาหาร ไม่สามารถรักษา หรือป้องกันโรคได้ รวมทั้งไม่สามารถลดความอ้วนได้” ดังนั้น หากเจอผลิตภัณฑ์ที่อ้างผลในลักษณะนี้เมื่อไหร่ “อย่าหลงเชื่อ อย่านำมาจำหน่าย” ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขโดยด่วนที่สุดครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 ศาลโซเชียลกับความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

ปัจจุบันเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทกับภาคสังคมและภาคธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ กิจกรรมบนอินเทอร์เน็ตจึงได้รับความนิยมมาก ในอดีตการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านเว็บไซต์ต่างๆ นั้น สามารถแสดงเพียงเนื้อหาอย่างเดียวเท่านั้น บุคคลไม่สามารถติดต่อหรือโต้ตอบซึ่งกันและกันได้ แต่ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาช่องทางในการติดต่อสื่อสารแบบสองทาง การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารการพูดคุยโต้ตอบกันระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสารสามารถทำได้ รวมไปถึงการแบ่งปันสื่อต่างๆ ที่ส่งผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ตได้รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะเว็บไซด์เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือเฟซบุ๊ค ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถแสดงความคิดเห็นและโต้ตอบถึงกันได้  จึงเกิดเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์  “เครือข่ายสังคมออนไลน์”  หมายถึงช่องทางในการติดต่อสื่อสารแบบสองทาง โดยมีการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเพื่อตอบสนองความต้องการทางสังคมที่มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็น ข่าวสาร หรือการพูดคุยโต้ตอบระหว่างกัน รวมไปถึงการแบ่งปันสื่อต่างๆ ที่สามารถส่งผ่านทางระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้  การสื่อสารประเภทนี้มีอิทธิพลต่อสังคมเป็นอย่างมากทั้งในด้านดีและไม่ดี ในด้านดี กล่าวคือใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวในด้านการศึกษา การค้นคว้า การวิจัย การจัดการความรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ด้านการดำเนินธุรกิจเพื่อความบันเทิง เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็มีข้อเสีย กล่าวคือในด้านการเผยแพร่สื่อลามกอนาจาร และสิ่งผิดกฎหมาย ไม่มีความปลอดภัยในการใช้ข้อมูลส่วนตัว ก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมด้านสังคม เป็นต้นดังนั้น ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจึงเปรียบเสมือนผู้ควบคุมช่องทางในการผ่านเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ตซึ่งหลังจากที่ผู้ใช้บริการเชื่อมต่อเข้ากับอินเทอร์เน็ตได้แล้วก็จะสามารถเข้าถึงการใช้งานใดในระบบอินเทอร์เน็ตได้ และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่2) พ.ศ. 2560 มาตรา 3 ได้บัญญัติความหมายของผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการคือ  "ผู้ให้บริการ" หมายความว่า (1) ผู้ให้บริการแก่บุคคลอื่นในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต หรือให้สามารถติดต่อถึงกันโดยประการอื่นโดยผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการในนามของตนเอง หรือในนามหรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น  (2) ผู้ให้บริการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์ เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น "ผู้ใช้บริการ" หมายความว่า ผู้ใช้บริการของผู้ให้บริการ ไม่ว่าต้องเสียค่าใช้บริการหรือไม่ก็ตาม          ปัจจุบันเกิดสภาพปัญหาการละเมิดสิทธิข้อมูลส่วนบุคคลจากการใช้บริการเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ อย่างมากมาย ซึ่งสามารถแยกประเภทพิจารณาออกได้สามกรณีกรณีที่หนึ่ง การได้มาซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยมิชอบ    เช่น การเข้าไปในเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมและเข้าไปนำเอาข้อมูล  ภาพ หรือคลิป  ของผู้ใช้บริการมาเก็บไว้เพื่อเฝ้าติดตามคุกคามความเป็นส่วนตัว หรือนำไปใช้เผยแพร่แสวงหาประโยชน์  ดังนี้ อาจจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่2) พ.ศ.2560 มาตรา 16 ซึ่งเป็นไปตามกรณีข้อเท็จจริง กรณีที่สอง การได้มาซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยชอบ เช่น การได้ข้อมูลส่วนบุคคลมาโดยได้รับความยินยอมจากผู้ใช้เว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ แต่อย่างไรก็ตามผู้เป็นเจ้าของข้อมูลดังกล่าวอาจให้ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อวัตถุประสงค์ในการติดต่อสื่อสารทางเครือข่ายสังคมออนไลน์เท่านั้น แต่ผู้ได้รับข้อมูลส่วนบุคคลนั้นนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น เพื่อการนำมาใช้เพื่อการขายตรงหรือโฆษณาสินค้าหรือบริการ ดังนี้ ดังนี้ อาจจะมีความว่าผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่2)พ.ศ.2560 มาตรา11ซึ่งเป็นไปตามกรณีข้อเท็จจริง         กรณีที่สาม การนำเสนอข่าวของสื่อประเภทโซเชียล ซึ่งทำตัวเป็นเสมือนศาลที่พิพากษาให้บุคคลที่ตกเป็นข่าวเป็น”คนผิด” ในทันที โดยที่เจ้าตัวอาจจะยังไม่มีโอกาสชี้แจ้งใดๆ เลย เช่น ข่าวผู้ว่าราชการแม่ฮ่องสอนมีชื่อพัวพันกับขบวนการค้ามนุษย์ สื่อทุกสื่อร่วมใจกันตีแผ่เรื่องนี้ยาวนานหลายสัปดาห์ แต่ต่อมาเมื่อความจริงปรากฏว่าท่านผู้ว่าฯ ไม่ได้ทำ มลทินที่ท่านได้รับจากศาลโซเชียล ก็ยังไม่ถูกบรรเทาลงไปแต่อย่างใด หรือกรณีการส่งรูปภาพที่ได้รับมาจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งเป็นทอดๆ โดยไม่ได้ขออนุญาตเจ้าของภาพจนทำให้บุคคลในภาพได้รับผลกระทบ ทั้งสามกรณี หากนำข้อมูลส่วนบุคคล ภาพ หรือคลิป ออกมาเผยแพร่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะมีการชี้นำให้คิดตามหรือไม่ก็ตาม  ย่อมอาจจะทำให้บุคคลนั้นถูกละเมิดเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง  หรือได้รับความอับอายได้  ประเด็นเหล่านี้ ใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบระหว่างผู้ให้บริการหรือผู้ใช้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์  หากจะใช้มาตรการทางกฎหมายเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถแก้ปัญหา “อิทธิพลศาลโซเชียล” ได้อย่างแน่นอน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 โศกนาฏกรรมรถตู้จันทบุรี ยังต้องใช้เวลาอีกนานเพื่อเยียวยา

จากเหตุการณ์รถตู้โดยสารจันทบุรีพุ่งข้ามเลนชนรถกระบะจนเกิดไฟไหม้ที่ อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 25 คนนั้น นอกจากจะเป็นเรื่องสะเทือนขวัญแห่งปีแล้ว ยังนับได้ว่าเป็นสึนามิลูกใหญ่ที่ถาโถมใส่รัฐบาลนายกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ต้องรีบหาทางแก้ไขปัญหารถตู้โดยสารที่ทุกคนคุ้นชินอย่างทันทีและรวดเร็ว กับปัญหาที่รู้กันดี ไม่ว่าจะขับรถเร็ว ที่นั่งแออัด ไม่เข้าจอดรับส่งผู้โดยสารในสถานี รถไม่มีเข็มขัดนิรภัย หรือมีแต่คนขับไม่บอก คนนั่งก็ไม่คาด สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นปัญหาที่ถูกสั่งสมมานาน จนทุกคนเคยชินคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว ในช่วงแรกที่กระแสเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงยังร้อนแรง รัฐบาลรีบประกาศทันทีว่าจะยกเลิกรถตู้โดยสารเปลี่ยนเป็นรถไมโครบัสเร็วสุดใน 6 เดือนกันเลยทีเดียว แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่มีใครเชื่อว่าจะทำได้ และสุดท้ายกระแสข่าวการยกเลิกรถตู้โดยสารก็จางหายไป หลังจากนั้นไม่นาน รัฐบาลเริ่มตั้งหลักได้ กระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางบก จึงได้ออกมาตรการเร่งด่วนแรก คุมเข้มพฤติกรรมการขับขี่รถตู้โดยสาร เริ่มจากรถตู้โดยสารประจำทางร่วมบริการกับบริษัท ขนส่ง จำกัด ที่มีเส้นทางวิ่งกรุงเทพฯ ปลายทางต่างจังหวัด (ไม่นับรวมรถตู้โดยสารร่วมบริการของ ขสมก. ที่วิ่งในเขตกรุงเทพ-ปริมณฑล) ต้องติดตั้ง GPS Tracking แบบ Realtime Online ที่ทำงานได้ ควบคู่กับการติดตั้งเครื่องรูดใบขับขี่แสดงตัวตนพนักงานขับรถในรถทุกคัน ทุกเส้นทาง ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2560 ซึ่งเร็วกว่ากำหนดเดิมที่ให้ติดตั้งแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2560 เท่านั้นยังไม่พอเมื่อ 21 มีนาคม 2560 เหมือนฟ้าผ่าลงกลางกลุ่มผู้ประกอบการรถตู้โดยสารอีกครั้ง เมื่อเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 15/2560 เรื่อง มาตรการเพิ่มความปลอดภัยในรถโดยสารสาธารณะ มีสาระสำคัญ คือ ห้ามรถตู้โดยสารนั่งเกิน 13 คน สั่งทำประกันภัยภาคสมัครใจเพิ่มจากประกันภัยภาคบังคับ ห้ามทิ้งผู้โดยสาร บรรทุกผู้โดยสารและเก็บค่าโดยสารเกิน หากเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งเพิกถอนทะเบียนรถหรือพักใบอนุญาตผู้ประกอบการได้ และต่อด้วยกรมการขนส่งทางบก ออกประกาศกรมฯ รองรับคำสั่งหัวหน้า คสช. เรื่อง การจัดวางที่นั่งรถตู้โดยสารสาธารณะตามมาตรการเพิ่มความปลอดภัยในรถโดยสารสาธารณะ พ.ศ.2560 เกี่ยวกับการจัดกำหนดที่นั่งสำหรับผู้โดยสารให้เหลือเพียง 13 ที่นั่ง และถอดเบาะด้านหลังออก 1 ที่ เพื่อให้มีทางออกไปยังประตูฉุกเฉินด้านหลังได้ เมื่อมีเหตุจำเป็นหรือเกิดอุบัติเหตุ  ซึ่งประกาศฯ มีผลครอบคลุมถึงรถตู้โดยสาร ประเภทประจำทางและไม่ประจำทางในทุกหมวดเส้นทางทั่วประเทศ ซึ่งมาตรการนี้มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ในสถานการณ์จริง ใช่ว่าประกาศฯจะมีผลบังคับใช้ได้เลย เพราะทุกวันนี้ก็ยังพบพฤติกรรมฝ่าฝืนกฎหมายของผู้ประกอบการรถตู้โดยสารบางรายอยู่ เรายังเห็นว่ามี รถตู้ที่รับผู้โดยสารเกินอยู่ หรือ รถตู้ที่ยอมแก้ไขเบาะที่นั่งรถให้เหลือ 13 ที่นั่งแล้ว แต่ในช่องทางเดินฉุกเฉินกลับนำเบาะเสริมมาให้ผู้โดยสารนั่ง หรือเอาสัมภาระมาวางปิดกั้นทางออกฉุกเฉินแทน ยิ่งเมื่อพิเคราะห์จากสถิติอุบัติเหตุรถตู้โดยสารที่เกิดในรอบ 4 เดือนแรก ระหว่างมกราคมถึงเมษายน ของปี 2560 พบว่า รถตู้โดยสารเกิดเหตุมากถึง 127 ครั้ง หรือ เฉลี่ยเดือนละ 32 ครั้ง บาดเจ็บ 501 คน หรือ เฉลี่ยวันละ 4 คน และเสียชีวิตมากถึง 65 คน หรือจะมีคนเสียชีวิตจากรถตู้โดยสารทุก 1 คนในเวลา 2 วัน และจากข้อมูลอุบัติเหตุยังชี้ให้เห็นด้วยว่า รถตู้โดยสารสาธารณที่วิ่งให้บริการระหว่างจังหวัดนั้น มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุสูงกว่ารถที่วิ่งในเขตเมืองหรือปริมณฑลอีกด้วย โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการขับรถเร็วนั่นเอง ดังนั้นจะไม่แปลกใจเลย ที่แม้กฎหมายจะบังคับทุกอย่างแล้ว แต่ความสูญเสียจะยังเกิดให้เห็นอยู่ หากทุกฝ่ายยังไม่จริงจังที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ เพราะฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ร่วมกันตรวจสอบเฝ้าระวังผู้ประกอบการที่มีพฤติกรรมเอาเปรียบผู้บริโภค อย่าปล่อยให้เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดา ที่เรามองว่าเป็นเรื่องไกลตัว หากพบเห็นการกระทำที่เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ขอให้โทรศัพท์แจ้ง 1584 ทันที พร้อมข้อมูลเส้นทางเดินรถและทะเบียนรถ เพื่อร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงรถโดยสารปลอดภัยกันนะครับ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 ตั๋วรถไฟมีเลขที่นั่ง แต่ไม่มีเก้าอี้

ใครที่เคยเดินทางโดยสารด้วยรถไฟของบ้านเรา คงเจอปัญหารถไฟมาช้าไม่ตรงเวลากันมาบ้าง แต่จะมีสักกี่คนที่เจอปัญหาซื้อตั๋วที่มีเลขนั่งแล้ว แต่บนรถไฟกลับไม่มีเก้าอี้ให้นั่ง เพราะเก้าอี้เบอร์ดังกล่าวถูกยกเลิกไปแล้วเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคุณสมชาย เขาซื้อตั๋วรถไฟที่สถานีรังสิต เพื่อที่จะกลับบ้านที่จังหวัดสุรินทร์ โดยได้ซื้อตั๋วนั่งชั้นที่ 2 ในราคา 190 บาท ซึ่งเป็นขบวนรถเร็ว กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี และเมื่อรถไฟมาถึงผู้ร้องจึงขึ้นไปที่โบกี้ชั้น 2 และเดินดูหมายเลขที่นั่งตามตั๋วที่ซื้อมา แต่เขาไม่พบเบอร์เก้าอี้ของตนเอง จึงไปสอบถามกับพนักงานตรวจตั๋ว ซึ่งตอบกลับมาว่า ชั้น 2 มีที่นั่งถึงเบอร์ 20 กว่าเท่านั้น ส่วนเบอร์อื่นได้ถูกยกเลิกไปหมดแล้ว เพราะทางการรถไฟได้ตัดตู้ชั้น 2 ไปหนึ่งตู้ ทำให้เบอร์ที่นั่งของผู้ร้องหายไป แต่สามารถไปร้องเรียนหรือขอคืนเงินค่าตั๋วได้ที่สถานีปลายทาง ส่วนตอนนี้ถ้ามีที่ว่างก็นั่งไปก่อนได้ แต่ถ้าเจ้าของหมายเลขเขาขึ้นมาก็ต้องลุกให้เขานั่งแทน ดังนั้นผู้ร้องจึงไปนั่งเก้าอี้ที่ว่าง ซึ่งภายหลังก็มีเจ้าของหมายเลขขึ้นมา ทำให้ผู้ร้องต้องลุกไปนั่งที่อื่นสลับไปเรื่อยๆ จนถึงจุดหมาย เมื่อลงจากรถไฟ คุณสมชายจึงไปสอบถามกับพนักงานขายตั๋ว ซึ่งเขาไม่ได้ต้องการเงินคืน เพียงแต่ไม่เข้าใจว่าหากไม่มีเบอร์หมายเลขที่นั่ง แล้วพนักงานจะขายตั๋วเบอร์ดังกล่าวให้ทำไม ซึ่งถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคมาก อย่างไรก็ตามพนักงานขายตั๋วก็ไม่สามารถให้คำตอบใดๆ กับคุณสมชายได้ เขาจึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพื่อขอให้มีการตรวจสอบการทำงานของการรถไฟ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์สอบถามข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับตั๋วโดยสารว่า ผู้ร้องได้ไปคืนตั๋วที่ปลายทางหรือยังและได้รับเงินคืนหรือไม่ เพราะถ้าไม่ได้รับเงินคืนจะได้ทำจดหมายขอเงินคืนในครั้งเดียวกัน ซึ่งผู้ร้องแจ้งว่า ยังไม่ได้ไปขอเงินคืน เนื่องจากจะเก็บไว้เป็นหลักฐาน  จึงขอให้ผู้ร้องส่งรูปถ่ายมาให้กับศูนย์ฯ เพิ่มเติม จากนั้นจึงช่วยผู้ร้องทำหนังสือถึงการรถไฟแห่งประเทศไทย และสำเนาถึงปลัดกระทรวงคมนาคม เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบและดำเนินการแก้ไขปัญหา ซึ่งผลการดำเนินการจะเป็นอย่างไรยังคงต้องติดตามความคืบหน้าต่อไป 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 สถานบริการเสริมความงามไม่สะอาด

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการเลือกใช้บริการสถานบริการเสริมความงาม หนีไม่พ้นเรื่องความสะอาดของสถานที่ เพราะจัดว่าเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของสถานที่ดังกล่าว อย่างไรก็ตามหากเราบังเอิญเข้ารับบริการแล้วเผอิญพบว่า สถานที่ดังกล่าวไม่มีการรักษาความสะอาดเท่าที่ควร จะสามารถแก้ปัญหาอย่างไรได้บ้าง ลองไปดูกันคุณสมปองเข้าใช้บริการร้อยไหมแก้มที่สถานบริการเสริมความงามแห่งหนึ่ง ซึ่งเมื่อได้เข้าไปพักในห้องพักของสถานบริการดังกล่าว เธอพบว่าห้องพักมีการนำเตียง 3 – 4 เตียงมาวางเรียงกัน โดยมีเพียงผ้าม่านโปร่งกั้นไว้ แต่ในวันที่คุณสมปองเข้าไปใช้บริการกลับไม่มีการกั้นม่านแต่อย่างใด อีกทั้งเตียงด้านข้างของคุณสมปองก็เป็นลูกค้าผู้ชาย ซึ่งในขณะนอนพักนั้นคุณสมปองมีเพียงผ้าขนหนูผืนเล็กสำหรับปิดช่วงหน้าอกเท่านั้น นอกจากนี้เมื่อลูกค้าได้รับบริการเสร็จเรียบร้อยและลุกออกจากเตียง พนักงานก็จะทำความสะอาดเตียงด้วยการสะบัดและพับผ้าให้เข้าที่โดยไม่มีการเปลี่ยนผืนใหม่ และสิ่งที่เธอรู้สึกรับไม่ได้มากที่สุดคือ พยาบาลไม่ใส่ถุงมือ ใช้เพียงมือเปล่าหยิบเครื่องมือแพทย์ หรือหยิบยาที่ส่งให้กับลูกค้ารับประทาน ทำให้คุณสมปองส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพื่อขอให้ช่วยตรวจสอบมาตรฐานการดำเนินงานของสถานบริการเสริมความงามดังกล่าวแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ได้ส่งหนังสือส่งถึง กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบมาตรฐานสถานพยาบาลดังกล่าว ด้วยเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง และได้รับหนังสือตอบกลับมาดังนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้เข้าตรวจสอบสถานบริการเสริมความงามดังกล่าวแล้ว ซึ่งพบว่าเป็นสถานพยาบาลที่ได้รับการจดแจ้งถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้นต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน  พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 และเมื่อเจ้าหน้าที่ของกรมสนับสนุนฯ ได้เข้าไปตรวจสอบสถานบริการดังกล่าวก็พบว่า มีลักษณะเป็นจริงตามที่มีการร้องเรียนมา ทางเจ้าหน้าที่จึงได้ให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการเพื่อปรับปรุงแก้ไข ดังนี้1. กรณีห้องพักของสถานพยาบาล (ห้อง Treatment) สามารถจัดรวมให้มีได้ 4 เตียง ตามมาตรฐานทางการแพทย์ และเปลี่ยนม่านกั้นเป็นแบบทึบแสง กั้นระหว่างเตียง เพื่อให้เป็นสัดส่วน มิดชิดและมีความปลอดภัยต่อผู้รับบริการ นอกจากนี้ให้เปลี่ยนผ้าปูเตียง และผ้าอื่นๆ ที่ใช้แล้วทุกครั้ง เพื่อความอนามัยและป้องกันการติดเชื้อ2. ให้ทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์อย่างเหมาะสม โดยทำตามคู่มือการทำความสะอาดเพื่อให้เครื่องมือปราศจากเชื้อ นอกจากนี้ให้พนักงานสวมถุงมือทุกครั้งที่ทำหัตถการ เพื่อความปลอดภัยต่อผู้รับบริการ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 เครื่องสำอางราคาไม่เหมาะสม

เครื่องสำอางกับผู้หญิงเป็นของคู่กัน เพราะไม่ว่าใครก็อยากดูดี ดังนั้นต่อให้เครื่องสำอางราคาแพงแค่ไหน เชื่อว่าหลายคนก็ยอมที่จะซื้อมาใช้ อย่างไรก็ตามเครื่องสำอางบางยี่ห้อ กลับคิดราคาตามใจชอบ ทำให้ผู้บริโภคหลายคนที่ซื้อเครื่องสำอางยี่ห้อดังกล่าวมาใช้ รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมและมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือ ดังเหตุการณ์ต่อไปนี้คุณปราณีไปเดินเล่นที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในย่านรังสิต และถูกชักชวนจากพนักงานขายเครื่องสำอางยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งเป็นชาวต่างชาติหน้าตาดีมาเชิญชวนให้เข้ามาทดลองสินค้า ซึ่งเธอได้บอกปฏิเสธไป เพราะไม่ได้ต้องการซื้อเครื่องสำอางดังกล่าว แต่พนักงานเหล่านั้นก็หว่านล้อมต้อนหน้าหลัง จนทำให้เธอไม่มีทางเลือกจึงต้องเข้าไปทดลองสินค้าในที่สุด อย่างไรก็ตามเมื่อได้ลองสินค้าหลายชนิดที่พนักงานนำมาทดสอบให้ดู เธอก็มีความประทับใจต่อผลิตภัณฑ์ แต่เมื่อสอบถามราคากลับต้องตกใจ เพราะเครื่องสำอางแต่ละชิ้นราคาเริ่มตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักแสนเลยทีเดียวเมื่อพนักงานเห็นว่าคุณปราณีมีท่าทางตกใจในราคาก็พากันเสนอโปรโมชั่นมากมาย ซึ่งเธอก็ได้ปฏิเสธไปเพราะไม่ต้องการเสียเงินจำนวนมากแต่พนักงานก็ไม่ได้ลดละความพยายามในการขาย ด้วยการเสนอราคาโปรโมชั่นสุดร้อนแรงลดกระหน่ำไปกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมื่อเหตุการณ์กลายเป็นอย่างนี้ คุณปราณีก็เริ่มลังเลใจและเกรงใจพนักงาน จนทำให้ตกลงซื้อสินค้ามาทั้งหมด 7 ชิ้น รวมเป็นเงินกว่า 100,000 บาทอย่างไรก็ตามเมื่อเธอกลับบ้านมาหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าดังกล่าวผ่านทางออนไลน์ก็พบว่า มีคนรีวิวเกี่ยวกับประสิทธิภาพของสินค้าในด้านบวกไว้มากมาย แต่หลายคนก็ไม่พอใจกับราคาสินค้า เพราะนอกจากจะแพงมากแล้ว ยังเสนอขายในราคาตามใจชอบ ทั้งๆ ที่หน้าร้านไม่ได้มีการจัดโปรโมชั่นที่เห็นได้แต่อย่างใด โดยส่วนใหญ่จะถูกเชิญชวนเพราะบอกว่าเป็นโปรโมชั่นลับเฉพาะสำหรับพนักงาน และเสนอให้กับผู้ซื้อเพียงคนเดียวเท่านั้น นอกจากนี้ภายหลังการใช้สินค้าคุณปราณีพบว่ามีอาการผื่นคัน จึงไปพบแพทย์และขอใบรับรองแพทย์มา เพื่อนำไปแจ้งยังบริษัทฯ เพื่อขอให้คืนเงิน แต่ทางบริษัทฯ กลับแจ้งว่า ใบรับรองแพทย์ไม่ได้ระบุว่าเธอแพ้ครีมของบริษัท จึงไม่สามารถคืนเงินให้ได้ ทำให้คุณปราณีส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องส่งรายละเอียดสินค้าทั้งหมด ภาพถ่ายสินค้า ใบเสร็จรับเงิน และใบรับรองแพทย์มาให้เพิ่มเติม และช่วยทำหนังสือถึงกรมการค้าภายในเพื่อให้เข้าไปตรวจสอบราคา รวมทั้งส่งสินค้าทดสอบสารประกอบ ซึ่งในระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบข้อเท็จจริง และผลจะเป็นอย่างไรไว้ติดตามกันต่อไป ทั้งนี้สำหรับใครที่พบเห็นสินค้ามีราคาไม่เหมาะสม ควรถ่ายรูปป้ายราคาสินค้าที่หน้าร้านเก็บไว้ หรือหากซื้อสินค้ามาแล้วก็ควรเก็บใบเสร็จรับเงินไว้ก่อน และโทรศัพท์ไปร้องเรียนโดยตรงได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายในเบอร์ 1569 นอกจากนี้ควรเลือกซื้อเครื่องสำอางโดยพิจารณาจากปลอดภัยเป็นหลัก ซึ่งสามารถทดสอบด้วยการทาทิ้งไว้ในบริเวณที่บอบบางอย่างใต้ท้องแขนเป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง เพื่อทดสอบดูว่ามีอาการแพ้หรือไม่ รวมทั้งเลือกซื้อเครื่องสำอางที่แสดงรายละเอียด ดังนี้1.มีเลขที่จดแจ้ง10หลักซึ่งเราสามารถนำเลขดังกล่าวเข้าไปตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์สืบค้นข้อมูลผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางของ อย.หรือ ค้นหาที่นี่ เพื่อดูว่าเป็นเครื่องสำอางที่ได้รับการอนุญาตให้ขายจริงหรือไม่ ซึ่งหากพบว่าชื่อจดแจ้งข้างกล่องกับในเว็บไซต์ไม่ตรงกันก็ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเครื่องสำอางดังกล่าวอาจไม่ปลอดภัย นอกจากนี้เลขที่จดแจ้งยังมีไว้ในกรณีที่ผู้ใช้เกิดความผิดปกติกับผิวหนัง ซึ่งจะทำให้สามารถแจ้งหรือตามตัวผู้ผลิตได้  2. มีฉลากภาษาไทยที่อย่างน้อยแสดงข้อความต่อไปนี้ (1) ชื่อเครื่องสำอาง (2) ประเภทหรือชนิดของเครื่องสำอาง (3) ส่วนประกอบ (4) วิธีใช้ (5) ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต/นำเข้า (6) ปริมาณสุทธิ (7) เลขที่แสดงครั้งที่ผลิต (8) เดือนปีที่ผลิตหรือหมดอายุ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 ถูกฟ้องเพราะอาหารสุนัข

หลายคนที่รักสัตว์เลี้ยง มักมีความกังวลเรื่องอาหารของสัตว์เหล่านั้น เพราะต่างต้องการให้สัตว์เลี้ยงได้รับอาหารที่ดีที่สุด เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์ แต่หากเผลอไปเลือกซื้ออาหารสัตว์ที่โฆษณาเกินจริง และส่งผลด้านลบต่อสัตว์เลี้ยงของเรา รวมทั้งลุกลามมาถึงเราด้วย จะมีวิธีแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้างมาดูกัน คุณสมใจเลี้ยงสุนัขพันธุ์ชิวาวาและต้องการให้น้องหมาได้รับอาหารที่ดีที่สุด เธอจึงค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับยี่ห้ออาหารสัตว์ยอดนิยมที่ขายผ่านทางออนไลน์ และในที่สุดก็ได้พบกับอาหารเม็ดของน้องหมายี่ห้อหนึ่งที่มีผู้มาลงประกาศไว้ในกลุ่มของคนรักสุนัขในเฟซบุ๊ก โดยมีการโฆษณาว่าสุนัขกินได้ทุกเพศ ทุกวัย มีกลิ่นหอมจนคนแอบเอาไปกิน ซึ่งมีผู้ใช้งานหลายคนได้รีวิวสินค้าไว้ว่าคุณภาพดีจริง ทำให้คุณสมใจและเพื่อนๆ ตัดสินใจรวมกันสั่งซื้อจำนวน 15 กิโลกรัมในราคา 1,800 บาท ภายหลังได้รับสินค้า เธอพบว่าบรรจุภัณฑ์ของจริงไม่เหมือนในรูปที่ลงประกาศไว้ในเฟซบุ๊ก รวมทั้งการบรรจุอาหารยังใส่มาในถุงฟอยส์ธรรมดา ไม่มียี่ห้อ ไม่มีฉลาก รวมทั้งมีกลิ่นเหม็น มีรสเค็ม และวันหมดอายุเป็นเพียงกระดาษสติกเกอร์ติดที่ถุง นอกจากนี้เมื่อแกะถุงออกมาพบว่า ข้างในเป็นถุงพลาสติกมัดปากถุงเท่านั้น แต่เธอก็ได้แต่เก็บความสงสัยไว้ในใจและทดลองนำอาหารดังกล่าวให้สุนัขรับประทาน ซึ่งพบว่าน้องหมาไม่ยอมแตะอาหารดังกล่าวเลย แม้จะผสมกับอาหารเก่าให้รับประทาน น้องหมาก็เลือกเฉพาะอาหารเดิมและทิ้งอาหารเม็ดยี่ห้อใหม่ไว้ คุณสมใจจึงคิดว่าเป็นเพราะเปลี่ยนอาหารใหม่สุนัขจึงไม่ชิน เธอจึงใช้วิธีหักดิบให้อาหารใหม่เพียงอย่างเดียว แต่พบว่าเมื่อน้องหมากินเข้าไปแล้ว ไม่นานก็มีอาการอาเจียนและท้องเสีย คุณสมใจจึงลองเปลี่ยนกลับไปเป็นอาหารเม็ดยี่ห้อเดิมที่เคยให้ และพบว่าสุนัขของเธอกลับมามีอาการเป็นปกติเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณสมใจจึงคิดว่าอาหารเม็ดยี่ห้อใหม่ที่เธอซื้อมา ต้องไม่มีความปลอดภัยและไม่ได้มาตรฐาน จึงไปโพสต์ระบายความรู้สึกไม่ประทับใจลงในเฟซบุ๊กของกลุ่มของคนรักสุนัขดังกล่าว ซึ่งภายหลังก็ได้มีหลายคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นด้านลบต่อสินค้าจำนวนมาก และเมื่อผู้ขายสินค้ามาเห็นข้อความดังกล่าวจึงทำให้เกิดการโต้เถียงกัน จนในที่สุดผู้ขายสินค้าก็ตัดสินใจนำข้อความดังกล่าวไปฟ้องหมิ่นประมาท และฟ้องร้องตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทำให้คุณสมใจส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ผู้ร้องต้องการให้ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ช่วยตรวจสอบให้ว่าสินค้าดังกล่าวได้มาตรฐานจริงหรือไม่ หรือมีส่วนประกอบที่เป็นอันตรายอย่างไรบ้าง ซึ่งทางศูนย์ฯ ก็ได้แนะนำให้ผู้ร้องส่งรายละเอียดมาให้เพิ่มเติมได้แก่ ใบรับรองแพทย์ของสุนัข หลักฐานการซื้อขายสินค้าและตัวอย่างสินค้า เพื่อนำไปส่งทดสอบต่อไป ในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่ผู้ร้องพบว่า บรรจุภัณฑ์ของจริงไม่ตรงกับในรูปที่โฆษณาไว้ ทางศูนย์ฯ ได้แนะนำให้ผู้ร้องส่งภาพถ่ายผลิตภัณฑ์จริงและรูปที่ใช้โฆษณาในเฟซบุ๊กมาให้เพิ่มเติม ซึ่งอาจเข้าข่ายการโฆษณาเกินจริงได้ นอกจากนี้การเลือกซื้ออาหารสัตว์ให้ปลอดภัยควรเลือกยี่ห้อที่มีฉลากแสดงรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ เช่น ชื่อสินค้า ส่วนผสม อายุการเก็บหรือชื่อผู้ผลิต เป็นต้นสำหรับกรณีที่ผู้ร้องถูกฟ้องหมิ่นประมาท และถูกฟ้องตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ศูนย์ฯ ได้แนะนำผู้ร้องว่าปัจจุบัน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560) ได้แก้ไขจากฉบับเดิมโดยได้ตัดความผิดฐานหมิ่นประมาทออกไป ดังนั้นหากข้อมูลที่ผู้ร้องได้โพสต์ไป สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริงก็ไม่ถือว่าผิด พ.ร.บ.คอมฯ ดังกล่าว ทั้งนี้หากใครที่ไม่ต้องการให้ถูกฟ้องร้องจาก พ.ร.บ.คอมฯ ก็สามารถป้องกันตนเองเบื้องต้นได้ด้วยการโพสต์ข้อความที่แสดงรายละเอียดของข้อเท็จจริงที่มีหลักฐานพิสูจน์ได้เท่านั้น และหลีกเลี่ยงการแสดงความรู้สึกหรือความคิดเห็นด้านลบ เพราะอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการโต้เถียงและเสียเวลาในการฟ้องร้องคดีได้ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 ปฏิบัติการทวงเงินคืน เมื่อคอนโดสร้างผิดแบบ

คุณทัศนีย์ ศิริการ ทำงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เธอวางแผนซื้อคอนโด เพื่อเก็บเป็นสินทรัพย์ และเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับตัวเธอเองและหลานๆ จุดเริ่มต้นเรื่องดูเหมือนจะราบเรียบ อะไรคือจุดหักเหที่ทำให้เธอได้ลุกขึ้นมาใช้สิทธิ เรื่องราวเป็นมาอย่างไร ถูกละเมิดสิทธิอะไรบ้างดิฉันไปซื้อคอนโดแห่งหนึ่ง ย่านอโศก ช่วงที่ไปซื้อตอนนั้นไม่ได้มีห้องตัวอย่างให้ดู แต่เราเป็นลูกค้าของบริษัทผู้สร้างคอนโดแห่งนี้มาก่อน แล้วเซลส์ก็โทรมาแจ้งว่ามีโครงการนี้นะ สนใจไหม ซึ่งตอนเราไปซื้อเป็นช่วงพรีเซลส์ ห้องตัวอย่างก็ยังไม่เสร็จ แต่สนใจเลยตกลงทำสัญญาไป ส่งค่างวดไป 29 งวด เป็นเงินประมาณ 9 แสนกว่าบาท ระยะเวลา 2 ปีกว่า พอส่งครบ 29 งวด คอนโดฯ ก็เสร็จเขาถึงนัดไปตรวจห้อง เดี๋ยวนี้คอนโดบริษัทที่เข้าตลาดหลักทรัพย์เขาจะขายแบบนี้กันทั้งนั้น คือตึกยังสร้างไม่เสร็จแต่ก็ขายก่อน ผ่อนดาวน์ไปเรื่อยๆ โครงการก็สร้างไปเรื่อยๆ พอวันไปตรวจห้องก็พบว่า ตรงที่เขาเขียนว่าเป็นระเบียง มันกลายเป็นหน้าต่าง ไม่มีประตูออกไประเบียง เหมือนทำไว้วางคอมเพรสเซอร์แอร์ฯ แค่นั้น แล้วก็วางตรงกลางเลยไม่ได้ชิดมุมใดมุมหนึ่งเพื่อที่เราจะได้ออกไปตากผ้าหรือทำอะไรได้เลย คือ เข้าใจใช่ไหม คนไทยเรามันมีความรู้สึกว่าต้องออกไปตากผ้าที่ระเบียงให้ลมโกรก คือบ้านเราไม่มีเครื่องอบผ้า แล้วในห้องก็ไม่มีเครื่องซักผ้า มันเป็นจุดที่ส่งซักก็ไม่สะดวก เพราะมันมีหลายอย่างที่เราส่งไม่ได้ ทั้งรองเท้า ชุดชั้นใน พรมเช็ดเท้า ซึ่งมันก็ตากในห้องไม่ได้อีก ก็กลายเป็นว่าระเบียงของเขาเป็นแค่ช่องหน้าต่างที่เป็นบานกระทุ้งแต่ออกไปข้างนอกไม่ได้ ตอนนั้นคิดว่าตอนซื้อเราดูไม่ละเอียดหรือเปล่า ก็กลับมาดูแปลนในสัญญาซื้อขาย ซึ่งในแปลนจะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าแล้วก็มีส่วนที่ยื่นเป็นแง่งออกมา ซึ่งคอนโดที่อยู่ในปัจจุบันก็ออกแบบเป็นแง่งแบบนี้แต่มีประตูและก็ออกไประเบียงได้ เมื่อคิดจะหาที่ปรึกษา ตอนที่ยังไม่ได้เงินคืน พี่ก็โทรไปที่ สคบ. แล้วนะ แต่มันเป็นระบบฝากข้อความอัตโนมัติ พี่โทรไปก่อนหน้านี้ประมาณ 2 เดือนแล้ว ระบบอัตโนมัติก็ให้บอกชื่อ เบอร์โทร และเรื่องที่จะร้องเรียน โทรไป 2 ครั้ง เป็นฝากข้อความอัตโนมัติทั้ง 2 ครั้ง มันเหมือนช่วงนั้นเราไม่รู้จะทำอย่างไร ก็แค่อยากได้เงินคืน ระหว่างรอก็ลองโทรไปดูก็เจอแต่ระบบอัตโนมัติจึงทิ้งชื่อ เบอร์โทรไว้จนป่านนี้ยังไม่มีคนโทรกลับมาเลยพอเราเห็นแบบนี้ตอนแรกก็เลยโทรไปที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ซึ่งหาเบอร์โทรจากอินเตอร์เน็ตเจอเบอร์ที่ไม่ใช่ 1166 แต่เป็นเบอร์ขึ้นว่าทนายเดชา แล้วก็มีหลายๆ เบอร์ขึ้นมาก็โทรไปแล้วถามว่าใช่ สคบ. ไหม เขาก็บอกว่าจะโอนสายไปที่ทนายให้ พอคุยเขาก็บอกว่าให้ไปหาเขาแล้วจะทำจดหมายแจ้งโนติสโครงการให้แต่จ่ายเงินเขามา 5,000 บาท ก่อน ก็ไปจ่ายนะตอนนั้น เขาก็ทำจดหมายแจ้งโนติสมาให้เราทางไลน์ว่าข้อความตามนี้โอเคไหม ซึ่งตอนนั้นที่ไปคุยกับเขา เราก็รู้สึกแปลกๆ อยู่อย่างคือเขาไม่ค่อยให้คำแนะนำอะไรที่ละเอียดเลย เราก็คิดว่าเราควรจะถามใครอื่นดีที่เป็นผู้รู้ ก็พอดีมีเพื่อนที่เรียนนิติศาสตร์ที่ธรรมศาสตร์ เป็นเพื่อนสมัยอยู่ที่จันทบุรีด้วยกัน เพื่อนก็บอกให้มาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพราะเพื่อนก็ไม่ได้รู้รายละเอียดเรื่องพวกนี้มากเท่าไรเลยอยากให้มาคุยกับคนที่รู้ดีกว่า พอมาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ ของมูลนิธิฯ ก็เลยได้มาคุย ได้เอารูปที่เคยโฆษณามาให้ดูว่าตรงนี้มันเป็นระเบียงจริงหรือเปล่า เพราะถ้าดูจากในรูปมันอาจจะเป็นระเบียงหรือกันสาดก็ได้ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ แนะนำว่า ถ้าอยากทราบว่าเป็นอะไรกันแน่ให้ไปขอคัดพิมพ์เขียวที่เขตโยธาฯ เราก็ไป ซึ่งตอนแรกเจ้าหน้าที่เขาก็ไม่ให้ เขาบอกว่าอยู่ๆ จะมาขอคัดไม่ได้ต้องมีจดหมายคำร้องจากศาลมาขอ เพราะเขากลัวเราจะไปก็อปปี้แล้วสร้างโครงการอื่น กลัวเราจะเป็นหน้าม้าเอาพิมพ์เขียวเขาไปใช้ต่อ ก็ต้องอธิบายให้เขาฟังว่าเราเป็นผู้บริโภคจริงๆ มีเรื่องแบบนี้ๆ แล้วไม่ได้จะเอาพิมพ์เขียวไปทำอะไร แค่อยากได้เงินดาวน์คืนแค่นั้น เขาเลยยอมแต่ให้เราเขียนเป็นคำร้องไว้แล้วให้ไปรับวันหลัง เขาจะหาให้ พอถึงวันที่ไปรับพี่เจ้าหน้าที่เขาก็บอกว่า เขาโทรไปแจ้งกับทางโครงการคอนโดแล้วนะว่า ทำไมทำแบบนี้ คือ ในพิมพ์เขียวเขียนว่า เป็นระเบียงแล้วทำไมให้ออกไปข้างนอกไม่ได้ ทำแบบนี้มันเสียชื่อเสียงหมดอะไรประมาณนี้ แล้วก็ให้พิมพ์เขียวเรามา พอได้มาแล้วก็รู้ว่ามันเป็นระเบียงจริงๆ แต่เราก็ดูไม่เป็น เลยไปให้พี่ที่โยธาฯ ที่ห้วยขวางช่วยดูให้ เขาก็บอกว่า เอาจริงๆ เขาก็ไม่อยากจะว่าคนอาชีพเดียวกัน แต่ว่าคนที่เป็นคนอนุมัติพิมพ์เขียวนี้ดูไม่ละเอียดเพราะถ้าเขียนว่า เป็นระเบียงมันจะต้องออกไปใช้พื้นที่ตรงระเบียงได้ แต่กลายเป็นเขียนว่าระเบียงแต่ตรงนั้นเป็นหน้าต่าง คือมันขัดแย้งกันในตัว เขาบอกว่าคนอนุมัติดูไม่ละเอียด ตรงนั้นถ้าไม่เป็นระเบียงต้องเขียนเป็นกันสาดหรือไม่ก็ต้องทำเป็นประตูให้ออกไปได้ เพราะระเบียงจะต้องเป็นพื้นที่ที่เราออกไปใช้สอยได้ เขาพูดไว้แบบนี้เลยและพี่เขาก็โทรไปที่โครงการฯ เหมือนกัน แต่ทางโครงการฯ แจ้งว่าพื้นที่ตรงระเบียงเขาไม่ได้คิดเงินนะ พอดีเราเอาโฉนดติดไปด้วย เพราะก่อนหน้านี้ให้น้องที่เป็นเซลส์แฟกซ์โฉนดมาให้ก่อนแล้ว เพราะเราอยากรู้เหมือนกันว่า ตรงนี้คิดเงินเราไหม ปรากฏว่าก็คิด เลยเอาโฉนดมายืนยันกับพี่ที่เป็นโยธา  พี่เขาก็บอกว่าให้เราไปฟ้อง สคบ. เลย แต่เรื่องยังไม่ถึง สคบ. เพราะว่ามาที่มูลนิธิฯ ก่อน แล้วพอดีกับมีจดหมายจากบริษัทฯ ส่งมาแจ้งให้ไปโอนห้องวันที่ 31 มีนาคม เราก็เลยมาปรึกษาทางศูนย์พิทักษ์สิทธิว่าจะทำอย่างไรต่อไป ทางศูนย์จึงแนะนำให้ตอบจดหมายกลับไปว่า ทางเราไม่สามารถรับโอนได้ เนื่องจากคุณไม่ได้แก้ไขเรื่องระเบียงให้เรา คือก่อนหน้านั้นพอรู้ว่ามันไม่เป็นระเบียงก็ได้เขียนจดหมายไปแล้วว่าให้แก้ไขให้ภายใน 7 วันในส่วนที่ไม่เป็นระเบียง ถ้าไม่แก้ไขเราจะดำเนินการทางกฎหมายต่อไปแสดงว่าตอนแรกได้แจ้งทางโครงการไปแล้วว่าให้แก้ไขเป็นระเบียงให้ก่อน ยังไม่ได้เรียกร้องเงินคืน ใช่ คือให้แก้ไขภายใน 7 วัน ก็เขียนไปวันที่ 7 กุมภาพันธ์ แล้วประมาณต้นเดือนมีนาคม ทางบริษัทฯ ก็ส่งจดหมายมาให้เราไปโอนห้องวันที่ 31 มีนาคม เราก็เขียนไปว่า เราโอนไม่ได้เนื่องจากคุณไม่ได้แก้ไขในส่วนที่เราแจ้ง และเราก็ขอเงินคืนเนื่องจากคุณไม่ได้แก้ไข ถ้าไม่คืนเงินภายในกี่วัน เราจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป แล้วเมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมานี้ เราก็ไปที่สำนักงานที่ดินเพื่อแสดงตัวตามที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำ ว่าให้เราไปแสดงตัวว่าเราเป็นเจ้าของห้องและไม่ได้ผิดนัด ก็ถามน้องคนที่เป็นคนของโครงการว่า พี่มาโอนห้องมีชื่อของพี่อยู่ในคิวไหม น้องบอกว่าไม่มี ก็เลยโทรปรึกษาศูนย์ฯ ว่าจะทำอย่างไรต่อ ทางศูนย์แนะให้เราไปขอบัตรคิวแล้วไปเข้าคิวเหมือนปกติ เสร็จแล้วน้องที่ให้คิวของสำนักงานเขต ก็บอกว่าถ้าเป็นแบบนี้ให้เราแจ้งเป็นผิดนัดไปเลยได้นะ น้องเขาก็เลยทำเป็นข้อร้องเรียนตามกฎหมายว่าผิดนัด บริษัทฯ ไม่ได้มาตามสัญญา เหมือนทางคอนโดฯ นัดเราเองแต่ไม่ได้มา  มีคนของโครงการคอนโดมิเนียมแห่งนี้ มานัดรับโอนกรรมสิทธิ์กับเจ้าของห้องอื่นๆ อีกหลายคน เพียงแต่ของเราไม่ได้อยู่ในระบบของเขา เข้าใจว่า เขาคงคิดว่าเราไม่มาแน่ๆ เพราะเราส่งจดหมายไปแล้วว่าไม่โอน แต่น้องที่รับทำบัตรคิวก็ทำเป็นผิดนัดให้ไว้ ก็ดี จะได้มีหลักฐานว่าเรามาจริง ซึ่งทางสำนักงานที่ดินก็ช่วยเหลือดีมาก เพราะจริงๆ เราไม่ได้ต้องการอะไรแค่อยากได้เงินคืน เพราะค่างวดที่จ่ายไปมันเป็นเงินเก็บจากเงินเดือนเรา เราก็ไม่ใช่คนรวยอะไร เป็นเงินจากน้ำพักน้ำแรง ก็อยากได้คืนแค่นั้น ซึ่งเราซื้อไว้ 2 ห้อง พอช่วงเดือนเมษายน ทางบริษัทฯ ก็ทำจดหมายมาให้โอนอีกห้องวันที่ 20 เมษายน เราก็ไปอีกก็เหมือนเดิมเลย คือไม่มีชื่อของเราอยู่ในคิว เราก็ทำเหมือนเดิม คือให้เจ้าหน้าที่ทำหนังสือว่าทางบริษัทฯ ผิดนัด ขณะที่รอทางที่ดินทำหนังสือผิดนัดอยู่ น้องที่เป็นพนักงานขายโครงการก็โทรมาว่า เรื่องของพี่ได้คุยกับเจ้านายแล้วและทางโครงการจะคืนเงินให้ทั้งหมด เลยถามว่าจะได้คืนภายในเมื่อไร เขาก็บอกว่าปกติระบบของเราจะจ่ายเช็คเดือนละ 2 ครั้ง คือ 15 วันจ่ายครั้งหนึ่ง ซึ่งเราก็ได้คืนเมื่อ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา เขาโอนเงินคืนเข้าบัญชีเลยทั้ง 2 ห้อง เราก็มาวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่เขายอมคืนอาจจะเป็นเพราะว่าทางโยธาฯ โทรไปต่อว่ากับทางโครงการฯ แล้วมันเป็นจุดที่เขาผิดจริงๆ เพราะว่าโครงการฯ นี้เป็นโครงการแรกที่เขาร่วมทุนกับญี่ปุ่น และเป็นโครงการแรกที่ระเบียงออกไปข้างนอกไม่ได้ ก่อนหน้านั้นก็มีระเบียงที่ออกไปได้ปกติ โดยเขาพูดทำนองว่า เขาร่วมทุนกับญี่ปุ่นและที่ญี่ปุ่นมีการฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดตึกเยอะมาก เขาเลยไม่ทำที่ให้ออกไปตรงระเบียงได้  ข้อมูลนี้ทราบมาตอนไปตรวจห้องแล้วน้องที่พาไปตรวจห้องเขาบอกไว้ ซึ่งจริงๆ เราก็มานึกๆ มันก็คนละประเทศกันไหม มันจะใช้หลักการเดียวกันแบบนี้ไม่ได้ ญี่ปุ่นเขาอาจจะไม่ค่อยมีแดด เขาก็ต้องมีเครื่องอบผ้าหรือเปล่า แต่แดดบ้านเราแรงขนาดนี้ ก็ควรเอาผ้าไปตากแดดดีกว่า พี่ยังต้องตากผ้าอยู่ลักษณะห้องทุกห้องเป็นแบบนี้เหมือนกันหมดใช่ค่ะ แปลนเดียวกันเป็นแบบนี้หมด แต่ก็ไม่แน่ใจว่าห้องอื่นเขาคิดกันอย่างไร พี่ไม่ได้คุยกับคนอื่นเลย แต่ประเด็นของพี่ พี่ว่ามาถูกทางตรงเราไปขอพิมพ์เขียวแล้วพิมพ์เขียวมันขัดแย้งกันเอง ก็เลยเป็นข้อที่ถ้าเขาต่อสู้ คนที่อนุมัติพิมพ์เขียวก็จะมีปัญหาหลังจากโอนเงินคืนมาแล้ว มีคนโทรติดต่อเข้ามาอีกไหมไม่มีเลย โอนเงินมาก็จบไม่ได้คุยอะไรกันอีกเลยอยากให้ฝากอะไรถึงคนที่กำลังจะซื้อคอนโดมีข้อควรระวังอะไรบ้างต้องถามเซลส์ให้ละเอียดว่า ห้องเป็นลักษณะอย่างไรแต่ถ้าเอาให้ชัวร์ๆ ก็คือไปดูห้องตัวอย่างก่อน รอห้องตัวอย่างเสร็จก่อน เพราะว่าตอนที่พี่ซื้อโครงการฯ นี้มันเป็นทำเลที่ดีมาก อยู่แถวถนนพระราม 9 ไปเส้นอโศก แล้วเราก็มีคอนโดฯ ที่ซื้อกับบริษัทฯ นี้มาก่อน แล้วไม่มีปัญหาอะไร คือเราก็มีความเชื่อมั่นระดับหนึ่ง แต่พอมาเจอแบบนี้ก็รู้สึกว่า ตัวเองไม่ละเอียดรอบคอบพอด้วยเหมือนกัน และสำคัญควรเก็บหลักฐานให้ดี เอกสารโบรชัวร์ ใบเสร็จต่างๆ พวกค่ามัดจำ รายละเอียดสัญญาจะซื้อจะขายก็เก็บไว้ทั้งหมดนะ เพราะว่าเวลามีปัญหาเรามีข้อมูลครบหมด ว่าเราซื้อเมื่อไร อย่างไร คือข้อมูลต้องพร้อม บทเรียนที่ได้จากการพยายามใช้สิทธิร้องเรียน เมื่อคิดจะหาที่ปรึกษา ตอนที่ยังไม่ได้เงินคืน พี่ก็โทรไปที่ สคบ. แล้วนะ แต่มันเป็นระบบฝากข้อความอัตโนมัติ พี่โทรไปก่อนหน้านี้ประมาณ 2 เดือนแล้ว ระบบอัตโนมัติก็ให้บอกชื่อ เบอร์โทร และเรื่องที่จะร้องเรียน โทรไป 2 ครั้ง เป็นฝากข้อความอัตโนมัติทั้ง 2 ครั้ง มันเหมือนช่วงนั้นเราไม่รู้จะทำอย่างไร ก็แค่อยากได้เงินคืน ระหว่างรอก็ลองโทรไปดูก็เจอแต่ระบบอัตโนมัติจึงทิ้งชื่อ เบอร์โทรไว้จนป่านนี้ยังไม่มีคนโทรกลับมาเลย โดยปกติคนเราก็จะนึกถึง สคบ. แต่พี่รู้สึกว่า สคบ. อาจจะดูแลไม่ทั่วถึงเพราะคนร้องเรียนเยอะ ทำให้มันล่าช้าและเราก็ไม่รู้ว่าพนักงานตรงนั้นอาจจะงานโหลด ทำให้มูลนิธิฯ เป็นทางเลือกที่ดีและช่วยเหลือพี่อย่างดี แต่เท่าที่คุยกับเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ คนที่มาร้องเรียนบางคนอาจจะคาดหวังให้มูลนิธิฯ ทำให้ทุกอย่าง ซึ่งมันก็คงไม่ได้เพราะคนก็มาร้องเรียนที่มูลนิธิฯ เยอะเหมือนกัน อย่างของพี่เวลาทำจดหมายก็ส่งให้ทางศูนย์ช่วยดูว่า การใช้คำตรงไหนต้องแก้ไขอะไรบ้าง ซึ่งทางศูนย์ฯ ก็ช่วยดูให้ตลอด แต่เป็นเรื่องของเรื่องตัวผู้บริโภคเองที่จะต้องลงมือปฏิบัติเอง ว่าร้องเรียนแล้วต้องทำตามคำแนะนำว่าควรไปที่ไหน อย่างไร ไม่ใช่ว่าโยนให้คนอื่นช่วยทำ แบบนั้นมันก็ไม่ใช่ เราเองต้องทำให้ถึงที่สุดก่อน ต้องช่วยเหลือตัวเองก่อน อย่างตอนที่ดูพิมพ์เขียวก็พยายามหาข้อมูลว่าเขียนว่า AW นี่หมายถึงอะไร ก็ได้ความรู้มาว่าถ้าเป็นประตูมันต้องเขียนว่า AD คือ Door แต่ในพิมพ์เขียวเขียนว่า AW น่าจะหมายถึงหน้าต่างก็คือ พยายามหาข้อมูลให้พร้อมที่สุดเพื่อมาสนับสนุนคำร้องของเราให้ได้เยอะที่สุด พอมาถูกทางแล้วเรื่องมันก็ไว อย่างพี่ตอนแรกก็คิดว่าเงินคงไม่ได้คืน ถ้าได้คงต้องรอเป็นปีแน่ๆ แต่กรณีของพี่ประมาณ 5 เดือนก็ได้เงินคืนแล้วซึ่งพี่ดีใจมากๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 สารกันบูดในเส้นขนมจีน ภาค 2

ถ้ายังจำกันได้ ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 180 ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เราเคยนำเสนอ “ผลทดสอบสารกันบูดในเส้นขนมจีน” ซึ่งผลทดสอบที่ออกมาชวนให้ตกใจไม่น้อย เพราะเส้นขนมจีนจำนวน 12 ตัวอย่างที่นำมาทดสอบ พบการปนเปื้อนของสารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิก ทั้ง 12 ตัวอย่าง แถมมีอยู่ 2 ตัวอย่างที่พบปริมาณเกินกว่าที่กฎหมายอนุญาตให้ใช้ ฉลาดซื้อเล่มนี้ เราจะลองสุ่มทดสอบดูปริมาณสารกันบูดในเส้นขนมจีนอีกครั้ง ลองไปดูกันสิว่าสถานการณ์การใช้สารกันบูดในเส้นขนมจีนมีการปรับเปลี่ยนเคลื่อนไหวมากน้อยแค่ไหน จะลดลงหรือเพิ่มขึ้น อย่างไร และที่น่าสนใจคือ เราเก็บตัวอย่างเส้นขนมจีนที่เราเคยทดสอบเมื่อคราวที่แล้วด้วย จำนวน 8 ตัวอย่าง และเพิ่มเติมตัวอย่างในการสุ่มทดสอบอีก 9 ตัวอย่าง รวมทั้งสิ้น 17 ตัวอย่าง เพื่อดูว่าจากผลการทดสอบครั้งที่แล้วผู้ผลิตเส้นขนมจีนมีการปรับปรุงสินค้าของตัวเองอย่างไรกันบ้างผลทดสอบสารกันบูดในเส้นขนมจีนครั้งที่แล้ว สร้างความตื่นตัวให้กับทั้งผู้บริโภค หน่วยงานรัฐ และผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุขที่มีการส่งเจ้าหน้าที่ลงไปเก็บตัวอย่างขนมจีนที่พบการใช้วัตถุกันเสียเกินมาตรฐานมาตรวจวิเคราะห์ พร้อมกับสั่งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ เฝ้าระวังสถานที่ผลิตและจำหน่ายเส้นขนมจีนให้เป็นไปตามมาตรฐาน พร้อมทั้งยืนยันว่า ขนมจีนเป็นอาหารในภาชนะบรรจุ ต้องแสดงฉลากตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ถ้ามีการใช้วัตถุกันเสียก็ต้องแจ้งไว้บนฉลาก หากไม่แสดงมีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท ส่วนหากมีการใช้วัตถุเจือปนอาหารเกินปริมาณที่กำหนดจะจัดเป็นอาหารไม่ได้มาตรฐาน มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท(ที่มา: ช่าว “สาธารณสุข ส่ง จนท.ตรวจเข้ม “สถานที่ผลิต-ขายขนมจีน”” มติชนออนไลน์ 12 มีนาคม 2559)ทางด้าน “ตลาดยิ่งเจริญ” ก็ตื่นตัวกับผลทดสอบ หลังพบว่ามีตัวอย่างเส้นขนมจีนที่ใส่สารกันบูดเกินมาตรฐานจำหน่ายอยู่ในตลาด ซึ่งทางผู้บริหารตลาดยิ่งเจริญ รีบแสดงความผิดชอบด้วยการตรวจเข้มสินค้าต่างๆ ที่จะเข้ามาจำหน่าย โดยออกเป็นมาตรการที่ชื่อว่า “สินค้าปลอดภัย ใส่ใจผู้บริโภค” ซึ่งมีทั้งการเชิญเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เข้าตรวจประเมินมาตรฐานสินค้าในตลาด สุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าในตลาดไปทดสอบ รวมทั้งเชิญพ่อค้า-แม่ค้าในตลาดมาทำความเข้าใจเรื่องการเลือกสินค้ามาจำหน่ายต้องมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และพร้อมจัดการขั้นเด็ดขาดกับสินค้าที่หน่วยงานรัฐออกมาให้ข้อมูลยืนยันว่าเป็นสินค้าไม่ปลอดภัย(ที่มา: ข่าว ““ตลาดยิ่งเจริญ” ออกมาตรการ “สินค้าปลอดภัย ใส่ใจผู้บริโภค” เชิญ อย.ลงพื้นที่ตรวจสอบสินค้าทั้งหมด” กรุงเทพธุรกิจ 16 มิถุนายน 2560)ข้อกำหนดการใช้สารกันบูดในเส้นขนมจีนตามข้อกำหนดในประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381) เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร ฉบับล่าสุด (ฉบับที่ 4) ซึ่งประกาศใช้เมื่อปลายปี 2559 ที่ผ่านมา ยังคงอนุญาตให้มีการใช้ กรดเบนโซอิก (Benzoic acid) ซึ่งเป็นกลุ่มสารกันเสีย ในเส้นขนมจีน ได้สูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เกณฑ์มาตรฐานยังคงเท่ากับการทดสอบเมื่อครั้งที่แล้วผลการทดสอบ-ตัวอย่างเส้นขนมจีนที่นำมาทดสอบในครั้งนี้มีจำนวน 17 ตัวอย่าง จากผลการทดสอบพบว่ามีการปนเปื้อนของสารกันบูด กรดเบนโซอิก ทั้ง 17 ตัวอย่างที่นำมาทดสอบ - มี 2 ตัวอย่างที่พบการปนเปื้อนของกรดเบนโซอิกสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด คือไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อเส้นขนมจีน 1 กิโลกรัม ซึ่งตัวอย่างที่พบการปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐาน ได้แก่ 1.ยี่ห้อ ชลนิศา เก็บตัวอย่างที่ตลาดพระประแดง พบปริมาณกรดเบนโซอิก 1,114.24 มิลลิกรัมต่อกิโกลกรัม และ 2.ยี่ห้อ สธจ โรงงานโสธรเจริญ เก็บตัวอย่างที่ตลาดคลองเตย พบปริมาณกรดเบนโซอิก 1,274.55 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม-ตัวอย่างเส้นขนมจีนที่พบปริมาณกรดเบนโซอิกน้อยที่สุด 3 ตัวอย่างแรก ได้แก่ 1.ตัวอย่างไม่มียี่ห้อ เก็บตัวอย่างที่ตลาดพระประแดง พบปริมาณกรดเบนโซอิก 45.96 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม, 2.ตัวอย่างไม่มียี่ห้อ เก็บตัวอย่างที่ตลาดคลองเตย พบปริมาณกรดเบนโซอิก 63.21 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และ 3.ยี่ห้อ นิดา เก็บตัวอย่างที่ตลาดคลองเตย พบปริมาณกรดเบนโซอิก 91.30 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ที่น่าตั้งข้อสังเกตเป็นพิเศษคือ ตัวอย่างเส้นขนมจีนที่มีการใช้สารกันบูดน้อยที่สุด 2 อันดับแรก เป็นเส้นขนมจีนที่ไม่มีการแสดงฉลากใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งนั่นอาจจะหมายถึงว่า เส้นขนมจีนทั้ง 2 ตัวอย่าง ผลิตและจำหน่ายทันทีไม่ได้ผลิตเพื่อส่งไปขายต่อที่อื่น ซึ่งตามกฎหมายอนุโลมให้อาหารในลักษณะดังกล่าวไม่ต้องแสดงฉลาก เป็นไปได้ว่าผู้ผลิตตั้งใจที่จะผลิตและจำหน่ายแบบวันต่อวัน ทำให้มีการใช้สารกันบูดในปริมาณที่น้อยมาก ซึ่งก็สอดคล้องกับผลการทดสอบครั้งที่แล้ว ตัวอย่างเส้นขนมจีนที่พบสารกันบูดน้อยที่สุด ก็เป็นตัวอย่างเส้นขนมจีนไม่มียี่ห้อและไม่มีฉลากที่เก็บตัวอย่างจากตลาดพระประแดงข้อสังเกตจากผลทดสอบ-การทดสอบครั้งที่ 2 พบว่า ตัวอย่างเส้นขนมจีนที่พบการปนเปื้อนของกรดเบนโซอิกน้อยที่สุดนั้น  พบเพียงแค่ 45.96 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งน้อยกว่าตัวอย่างเส้นขนมจีนที่ทดสอบครั้งที่แล้วที่พบน้อยสุดที่ปริมาณ 147.43 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม -โดยภาพรวมของผลการทดสอบสารกันบูดชนิดกรดเบนโซอิกในเส้นขนมจีนครั้งนี้ ช่วยตอบคำถามได้ว่า เส้นขนมจีนยังเป็นอาหารที่ตรวจพบว่า มีการปนเปื้อนของสารกันบูด โดยค่าเฉลี่ยของปริมาณสารกันบูดที่พบในการทดสอบครั้งที่ 2 นี้ อยู่ 450.53 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในการทดสอบครั้งที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่ 439.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม-พบว่า ตัวอย่าง ยี่ห้อ ดาว ซึ่งเก็บตัวอย่างจากตลาดยิ่งเจริญ ที่ผลการทดสอบครั้งที่แล้ว พบกรดเบนโซอิกสูงเกินค่ามาตรฐานที่ 1121.37 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมนั้น ในการทดสอบครั้งนี้พบปริมาณกรดเบนโซอิกอยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด คือ 768.31 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ต้องขอชื่นชมที่มีการปรับปรุงมาตรฐานของสินค้า-ในขณะที่พบการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ในบางยี่ห้อ แต่บางยี่ห้อ คือ ยี่ห้อ สธจ โรงงานโสธรเจริญ ซึ่งเก็บตัวอย่างที่ตลาดคลองเตย การทดสอบครั้งที่แล้วพบปริมาณกรดเบนโซอิกแค่ 462.36 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แต่ในการทดสอบครั้งนี้พบการปนเปื้อนสูงถึง 1274.55 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด (ต้องฝากหน่วยงานควบคุมกำกับช่วยติดตามมาตรฐานของสินค้าด้วย)การแสดงฉลากยังมีปัญหาจากผลทดสอบที่ได้พบว่าเส้นขนมจีนทั้ง 17 ตัวอย่างที่นำมาทดสอบมีการปนเปื้อนของสารกันบูด เบนโซอิก ทั้ง 17 ตัวอย่าง ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 167) พ.ศ. 2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ มีการกำหนดเรื่องการแสดงข้อมูลการใช้วัตถุเจือปนอาหารลงในฉลาก แต่จากตัวอย่างเส้นขนมจีนทั้ง 17 ตัวอย่าง มีเพียงแค่ 1 ตัวอย่างเท่านั้น ที่แสดงข้อมูลการใช้สารกันบูดระบุไว้บนฉลากหรือภาชนะบรรจุ ได้แก่ เส้นขนมจีนยี่ห้อ ฉวีวรรณ เก็บตัวอย่างที่ห้างแมคโคร สาขาลาดพร้าว ที่แจ้งไว้ว่าใช้วัตถุกันเสีย โซเดียมเบนโซเอต (INS NO.211)  (INS = international numbering system for food additives หรือ หมายเลขรหัสวัตถุเจือปนอาหารสากล)ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้อาหารที่อยู่ในภาชนะบรรจุต้องมีการแสดงฉลาก ยกเว้นอาหารในลักษณะต่อไปนี้ 1.อาหารที่ผู้ผลิตสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาหารแก่ผู้บริโภคได้ในขณะจำหน่าย เช่น หาบเร่ แผงลอย เป็นต้น, 2.อาหารสดทั้งที่ผ่านและไม่ผ่านกรรมวิธีการแกะ ชำแหละ ตัดแต่ง หรือวิธีการอื่นใดเพื่อลดขนาด ซึ่งอาจแช่เย็นหรือไม่แช่เย็นก็ได้ และบรรจุในภาชนะที่สามารถมองเห็นสภาพของอาหารนั้น เช่น ผัก ผลไม้ตัดแต่ง เนื้อสัตว์หั่นเป็นชิ้นหรือบด เป็นต้น และ 3.อาหารในภาชนะบรรจุที่ผลิตและจำหน่ายเพื่อบริการเฉพาะภายในร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม โรงเรียน โรงพยาบาล สายการบิน สถานที่อื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน และรวมถึงการบริการจัดส่งอาหารโดยตรงให้กับผู้ซื้อจากการสุ่มเก็บตัวอย่าง เส้นขนมจีนที่ขายอยู่ตามท้องตลาดส่วนใหญ่ ไม่เข้าข่ายตามข้อยกเว้นของกฎหมาย ต้องมีการแสดงฉลากให้ถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด เพราะเป็นอาหารที่ผลิตในรูปแบบของโรงงานและส่งออกวางจำหน่ายตามตลาดต่างๆ อาจมีบ้างบางตัวอย่างที่ผลิตและขายเองหน้าร้าน ไม่ได้รับซื้อหรือส่งต่อไปขายที่อื่น ซึ่งถ้าเป็นในลักษณะดังกล่าวก็เข้าข่ายที่ได้รับการยกเว้นดังนั้นอยากฝากไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องกวดขันดูแลให้ผู้ผลิตเส้นขนมจีนปรับปรุงสินค้าของตนเองให้ถูกต้องตามมาตรฐาน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 196 มาส่องดูสารเคมีในโฟมล้างหน้ากัน

แม้หลายคนจะชื่นชอบการทำสะอาดผิวหน้าด้วยโฟมล้างหน้า เพราะรู้สึกว่าช่วยทำความสะอาดได้ดี ใช้งานง่ายและพกพาสะดวก แต่รู้ไหมว่า โฟมล้างหน้าก็สามารถสร้างความระคายเคืองให้ผิวหน้าได้เช่นกัน โดยอาจทำให้เกิดอาการแพ้ ผื่นแดงหรือเป็นสิว ซึ่งส่วนใหญ่มักมีสาเหตุจากส่วนประกอบบางชนิดที่อยู่ในโฟมนั่นเอง ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงอาสารวบรวม 31 ยี่ห้อโฟมล้างหน้ายอดนิยม จำนวน 34 ตัวอย่าง เพื่อมาตรวจสอบส่วนประกอบสำคัญบนฉลากที่สามารถส่งผลต่อการระคายเคืองผิวหน้าได้ว่าจะมีอะไรบ้าง ซึ่งผลทดสอบจะเป็นอย่างไร เราลองไปดูกันเลยผลการทดสอบจากโฟมล้างหน้า 34 ตัวอย่างที่นำมาทดสอบพบว่า ทุกยี่ห้อมีส่วนผสมที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองผิวได้ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ดังนี้1.กลุ่มสารลดแรงตึงผิว ได้แก่ สารลดแรงตึงผิวประจุลบ คือ Sodium Lauryl Sulfate (SLS) และ Sodium Laureth Sulfate (SLES) และสารลดแรงตึงผิวสองประจุ ได้แก่ Cocamidopropyl Betaine สำหรับสารในกลุ่มนี้มีคุณสมบัติในการทำให้เกิดฟองและสามารถทำความสะอาดได้ดี ซึ่งสาร SLS จะมีความสามารถชำระล้างได้มากกว่าชนิดอื่น ทำให้อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ ผู้ที่มีผิวบอบบางแพ้ง่ายควรหลีกเลี่ยง2. กลุ่มสารที่เป็นส่วนประกอบของสบู่ ได้แก่ Potassium Hydroxide และ Sodium Hydroxideสาร 2 ชนิดนี้มีความเป็นด่างสูง ซึ่งอาจทำให้ผิวแห้งหรือระคายเคืองได้   3. กรดไขมันและเกลือของกรดไขมัน ได้แก่ Potassium Myristate, Potassium Palmitate, Potassium Laurate, Potassium Oleate, Potassium Stearate, Stearate, Stearic acid, Palmitic acid, Lauric acid, Myristic acid สารในกลุ่มนี้เกิดจากการตกตะกอนกับสารในกลุ่มสบู่ ซึ่งอาจทำให้เกิดคราบไคลสบู่ตกค้างในรูขุมขน ส่งผลให้เกิดสิวอุดตันได้ง่าย 4. สารกลุ่มน้ำหอม คือ Perfume, Fragrance, Parfum อาจก่อให้เกิดอาการแพ้หรือคะคายเคืองในผู้ที่แพ้น้ำหอม 5. สารกลุ่มแอลกอฮอล์ ได้แก่ Alcohol, Alcohol Denat, Benzyl Alcoholแอลกอฮอล์ประเภทนี้เป็นกลุ่มที่สร้างความระคายเคืองหรือกลุ่มที่ใช้ฆ่าเชื้อ โดยใช้เป็นส่วนผสมของยาทาผิว มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียและเป็นสารกันบูดสารเคมีที่ผสมในโฟมล้างหน้าแน่นอนว่าโฟมล้างหน้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีจุดประสงค์เพื่อการชำระล้าง จึงจำเป็นต้องใส่สารเคมีที่สามารถขจัดสิ่งสกปรกบนผิวหน้าได้ อย่างไรก็ตามสารเคมีเหล่านั้นสามารถส่งผลต่อความระคายเคืองผิวได้เช่นกัน ซึ่งบางคนใช้แล้วอาจเกิดอาการระคายเคืองหรือแพ้มาก ในขณะที่หลายคนอาจไม่เกิดอาการใดๆ เราจึงจำเป็นต้องตรวจสอบส่วนผสมหลักในโฟมล้างหน้าของแต่ละยี่ห้อก่อนใช้งาน เพื่อป้องกันอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นกับผิวหน้าของเรา ซึ่งมีดังนี้1. กลุ่มสารลดแรงตึงผิวสารลดแรงตึงผิว (Surfactant) เป็นสารสำคัญในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเกือบทุกชนิด เพราะมีคุณสมบัติในการพาสิ่งสกปรกและไขมันให้หลุดออกได้ดีขึ้น ซึ่ง สารลดแรงตึงผิวที่สามารถสร้างความระคายเคืองให้กับผิวหน้าได้มากก็คือ สารลดแรงตึงผิวชนิดประจุลบ อย่าง Sodium lauryl sulfate (SLS) เพราะนอกจากจะให้ปริมาณฟองจำนวนมากแล้ว ยังมีคุณสมบัติในการทำความสะอาดได้รุนแรงกว่าชนิดอื่น ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ในบางคน ดังนั้นหากมีผิวบอบบางแพ้ง่ายควรหลีกเลี่ยงอย่างไรก็ตามสำหรับสารลดแรงตึงผิวประจุลบอีกชนิดที่ชื่อคล้ายกัน คือ Sodium Laureth Sulfate (SLES) ถือว่ามีความอ่อนโยนและรุนแรงน้อยกว่าสาร SLS แต่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นเดียวกันหากผสมอยู่ในปริมาณที่มากเกินไป สำหรับสารลดแรงตึงผิวอีกประเภทหนึ่งที่มักผสมในโฟมล้างหน้าคือ Cocamidopropyl Betaine ซึ่งเป็นสารลดแรงตึงผิวสองประจุนั้น พบว่าทำให้เกิดการระคายเคืองน้อยที่สุดและทำให้เกิดฟองน้อย แต่หากใช้ในปริมาณมากเกินไปอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ เพราะความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสารในผลิตภัณฑ์และระยะเวลาที่ผลิตภัณฑ์สัมผัสร่างกายส่วนในกรณีที่เคยมีกระแสข่าวว่า สบู่เหลวที่มีส่วนผสมของสาร SLS ไปผสมกับสารประกอบตระกูลเอมิน (amine) แล้วสามารถกลายเป็นสารก่อมะเร็งนั้น นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ความเห็นว่า มีความเป็นไปได้ยากที่จะเกิดสารก่อมะเร็งจากสารเคมีดังกล่าว เพราะการที่สาร SLS จะสามารถทำปฏิกิริยากับสารตระกูลเอมินแล้วเกิดเป็นสารไนโตรซามิน จะต้องมีองค์ประกอบหรือสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น ต้องมีอุณหภูมิที่สูงกว่า 100C นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็ได้มีการติดตามตรวจสอบส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้ปลอดภัยอยู่เสมอ โดยกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีการใช้สารลดแรงตึงผิวในปริมาณที่เหมาะสม ---2. กลุ่มสารที่เป็นส่วนประกอบของสบู่เนื่องจากการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ล้างหน้า ควรเลือกให้มีความเป็นกรด – ด่างใกล้เคียงกับผิวหน้า แต่หลายคนอาจบังเอิญไปใช้โฟมล้างหน้าที่มีความเป็นด่างมากเกินไป ซึ่งก็คือ การใช้สบู่ที่มาในรูปแบบของโฟมล้างหน้านั่นเอง ซึ่งกลุ่มสารที่เป็นส่วนประกอบของสบู่ ได้แก่ Potassium Hydroxide และ Sodium Hydroxide รวมถึงเบสอื่นๆ ของมัน ได้แก่ Myristate, Palmitate, Laurate, Oleate, Stearate นอกจากนี้การใช้โฟมล้างหน้าที่มีส่วนผสมของกรดไขมัน ซึ่งเกิดจากการตกตะกอนกับสารในกลุ่มสบู่ ได้แก่ Stearic acid, Palmitic acid, Lauric acid, Myristic acid อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้เล็กน้อยในคนที่ไวต่อสารเคมี รวมทั้งสามารถเป็นสาเหตุให้เกิดสิวอุดตันได้ด้วย เพราะมีการตกค้างของคราบไคลสบู่ในรูขุมขนได้ 3. สารในกลุ่มแอลกอฮอล์และน้ำหอมแอลกอฮอล์ในเครื่องสำอางสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ กลุ่มที่ดีต่อผิวและกลุ่มที่สร้างความระคายเคือง เราจึงควรหลีกเลี่ยงกลุ่มสารที่สร้างความระคายเคืองหรือกลุ่มที่ใช้ฆ่าเชื้อ ได้แก่ Alcohol Denat, Benzyl Alcohol เพราะสามารถทำให้เกิดการผิวระคายเคืองผิว รวมทั้งทำให้ผิวสูญเสียน้ำและแห้งขึ้น ซึ่งนำไปสู่อาการแพ้หรือระคายเคืองได้ ส่วนคนที่มีแนวโน้มแพ้น้ำหอมในเครื่องสำอางง่ายก็ควรหลีกเลี่ยง โฟมล้างหน้าที่มีส่วนผสมของ Perfume, Fragrance หรือ Parfum เพราะอาจก่อให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองได้ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 ไมโครเวฟ

ฉลาดซื้อฉบับนี้มีผลทดสอบเตาไมโครเวฟที่มาพร้อมฟังก์ชั่นปิ้งย่าง ความจุระหว่าง 20 – 45 ลิตร มาฝากสมาชิกทั้งหมด 15 รุ่น ด้วยเนื้อที่อันจำกัดเราจึงขอเสนอเฉพาะยี่ห้อที่มีขายในประเทศไทย องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ ICRT ให้คะแนนรวมไว้ที่ 100 ซึ่งรวมจากคะแนนในแต่ละด้านได้แก่ ประสิทธิภาพการใช้งาน (ละลายน้ำแข็ง ปิ้ง ย่าง อุ่นร้อน และฟังก์ชั่นอบในบางรุ่น) ความสะดวกในการใช้งาน (การเลือกโปรแกรม ตั้งเวลา การหยิบจานอาหารเข้า/ออก การทำความสะอาด เสียงรบกวน หรือฝาปิดที่มองเห็นอาหารด้านในได้ง่าย ฯลฯ) และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ สนนราคามีให้เลือกตั้งแต่ต่ำกว่า 3,000 ไปจนถึง 13,500 บาท ใครต้องการใช้งานด้านไหนเป็นพิเศษ ดูคะแนนการทำงานฟังก์ชั่นต่างๆ ได้เลย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 196 กระแสต่างแดน

ถุงลมมหาภัยสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคฮาวายยื่นฟ้องฟอร์ด นิสสัน และโตโยต้า ที่เลือกใช้ถุงลมนิรภัยทาคาตะที่มีข้อบกพร่อง จนกลายเป็นอันตรายต่อผู้ขับขี่แทนที่จะเป็นอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยเมื่อเกิดการชน เขาให้เหตุผลว่า บริษัทรถเหล่านี้น่าจะรู้เรื่องความบกพร่องนี้มาไม่ต่ำกว่า 10 ปี และรู้ว่าแอมโมเนียมไนเตรต(สารเคมีที่ใช้ในการปล่อยจรวด) เป็นสารที่ยากแก่การควบคุม และภูมิอากาศในฮาวายเองมีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิตลอดเวลา ซึ่งก็เอื้อต่อการเกิดปฏิกิริยาเคมีที่จะทำให้เกิดการระเบิดของถุงลมด้วยสำนักงานดังกล่าวเรียกร้องค่าเสียหาย 10,000 เหรียญต่อรถยนต์หนึ่งคัน ซึ่งคาดว่าในฮาวายมีรถยี่ห้อดังกล่าวที่ใช้ถุงลมทาคาตะอยู่ประมาณ 30,000 คัน  ก่อนหน้านี้รัฐนิวเม็กซิโก ก็ได้ยื่นฟ้องบริษัททาคาตะและบริษัทรถยนต์ไปแล้วเช่นกัน ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 16 ราย บาดเจ็บ 180 รายจากอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับถุงลมดังกล่าว เลือกกินไม่ได้?หลายพื้นที่ในรัฐทมิฬนาฑูและรัฐเกรละของอินเดียจัดงานเทศกาลกินเนื้อวัวเพื่อแสดงความไม่พอใจที่รัฐบาลกลางประกาศห้ามซื้อขายวัวเพื่อนำเข้าโรงฆ่าหลายฝ่ายมองว่าเรื่องนี้ผิดรัฐธรรมนูญและละเมิดเสรีภาพในการเลือกของผู้บริโภค นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเนื้อวัวในอินเดียที่มีมูลค่าถึง 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐอีกด้วย การแบนครั้งนี้จะทำให้มีคนตกงานไม่ต่ำกว่า 500,000 คนรัฐเกรละซึ่งมีประชากรที่บริโภคเนื้อวัวอยู่ถึงร้อยละ 70 นำเข้าเนื้อวัวจากรัฐอื่นไม่ต่ำกว่า 2 แสนตันต่อปี  กฎหมายใหม่จะทำให้เกิดการขาดแคลนขึ้นอย่างแน่นอนด้วยปริมาณเนื้อที่เข้าสู่ตลาดน้อยลงและบริษัทรับจ้างขนส่งที่ไม่ยินดีรับงานเพราะกลัวจะถูกทำร้ายเมื่อขับผ่านพื้นที่ ที่ต่อต้านการบริโภคเนื้อวัว รัฐบาลอินเดียภายใต้การนำของนายนเรนดรา โมดี ได้เพิ่มความเข้มงวดเรื่องการฆ่าวัว ซึ่งเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อในศาสนาฮินดูขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เขาเข้ารับตำแหน่งในปี 2014 อินเดียมีประชากรร้อยละ 20 ที่ไม่ได้นับถือฮินดู ไม่ปลื้มของนอกธุรกิจอาหารฟาสต์ฟู้ดจากต่างประเทศดูจะไปได้ไม่สวยนักในเวียดนาม เบอร์เกอร์คิงตัดสินใจปิดสาขาในเมืองหลักๆ อย่างโฮจิมินห์และดานังไปหลายสาขา หลายเจ้าเลือกที่จะไม่เปิดสาขาเพิ่มแม้แต่เจ้าใหญ่อย่างแมคโดนัลด์ที่เคยประกาศไว้เมื่อสามปีก่อนตอนเริ่มเข้ามาทำธุรกิจในเวียดนามว่าจะเปิดให้ได้ 100 สาขาภายใน 10 ปี ขณะนี้ก็มีเพียง 15 สาขาเท่านั้น เหตุผลหลักๆ ที่นักวิเคราะห์เขาบอกไว้ คืออาหารไม่ถูกปาก ราคาก็ไม่ถูกใจ แถมคนเวียดนามเขายังมีทางเลือกเป็นแซนวิช “บั๋นหมี่” ที่หาซื้อได้ทั่วไปตามถนนในราคาย่อมเยา รสชาติโดนใจกว่าและดีต่อสุขภาพด้วย ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนามได้ให้ใบอนุญาตกับธุรกิจต่างชาติ 148 แบรนด์ ในจำนวนนี้มีถึงร้อยละ 43.7 ที่เป็นแบรนด์อาหารและเครื่องดื่ม จอดได้ แต่จ่ายเพิ่มกรุงเดลลีมีประชากร 17 ล้านคน มีรถยนต์ 10 ล้านคัน(ในจำนวนนั้น 9.5 แสนคันเป็นรถส่วนตัว) ปัญหาเรื่องรถติด มลภาวะ และการขาดแคลนที่จอดรถจึงตามมาอย่างไม่ต้องสงสัยเทศบาลเมืองจึงเสนอมาตรการรับมือกับปัญหาดังกล่าวด้วยการขึ้นค่าจอดรถบนพื้นที่ข้างถนนในกรณีต่อไปนี้ : จอดตอนกลางวัน จอดช่วงที่มีการจราจรหนาแน่น จอดช่วงวันจันทร์ถึงศุกร์ นอกจากนี้ใครที่มีรถมากกว่าสองคันก็จะต้องจ่ายค่าจอดมากกว่าคนอื่นที่พีคไปกว่านั้น คือค่าจอดรถในพื้นที่ใกล้ตลาดจะแพงขึ้นเป็นสามเท่า ข่าวบอกว่าเขาจะปรับค่าบริการจอดรถริมทางให้แพงกว่าการนำรถขึ้นไปจอดบนอาคารจอดรถ ส่วนใครที่จะซื้อรถใหม่ก็ต้องแสดงหลักฐานยืนยันว่ามีที่จอดด้วย ชาวเดลลีมีเวลาหนึ่งเดือน ในการแสดงความคิดเห็นก่อนที่นโยบายนี้จะประกาศใช้ เขาคำนวณไว้ว่าถ้าเป็นไปตามสูตรนี้จริง รัฐบาลจะมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 6,000 ล้านรูปี (ประมาณ 3,000 ล้านบาท) ย่างกุ้งได้รถเมล์ใหม่ปีนี้เป็นการดำเนินงานปีแรกของขนส่งมวลชนย่างกุ้ง(Yangon Bus System) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนยกระดับบริการรถสาธารณะให้กับเมืองที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ด้วยผู้ใช้บริการวันละไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน YBS นำรถเมล์ใหม่มาวิ่งแล้ว 2,600 คัน(2,000 คันเป็นของรัฐ ที่เหลือเป็นของเอกชน) เพื่อนำมาวิ่งแทนรถโดยสารรุ่นเก่าที่ทำงานล่วงเวลามาหลายปีแล้ว ทั้งนี้เจ้าของรถเก่าเหล่านั้นสามารถนำรถไปส่งที่โรงหลอมแล้วรับคูปองไปเป็นส่วนลดในการซื้อคันใหม่ได้ตามแผนนี้ผู้ประกอบการรายเดิมจะมี 3 ทางเลือก ได้แก่ เลิกกิจการ เข้าร่วมเป็นรถของ YBS หรือเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่จัดตั้งร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน(PPP) ทั้งนี้โครงสร้างรายได้สำหรับคนขับจะเป็นการรับเงินเดือนแทนการ “ทำยอด” เหมือนก่อนรัฐบาลพม่าจะต้องใช้งบประมาณ 70,000 ล้านจัต(ประมาณ 17,000 ล้านบาท) ในการจัดซื้อรถเมล์ทั้งหมด 3,000 คัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน 2560ทรูฟิตเนส-ทรูสปา ปิดบริการทำผู้บริโภคเดือดร้อน“ทรูฟิตเนส” ปิดให้บริการทุกสาขาในประเทศ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยที่ไม่มีการแจ้งล่วงหน้าให้สมาชิกทราบ ซึ่งยังรวมถึงกิจการอื่นๆ ในเครือเดียวกัน ทั้ง ทรูสปา และ ทรูอีสต์ โดยในเว็บไซต์ของบริษัทได้แจ้งเหตุผลในการปิดให้บริการเอาไว้ว่า ทางบริษัทประสบปัญหาเรื่องผลประกอบการอยู่ในภาวะขาดทุนจนไปสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้การปิดบริการโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าของทรูฟิตเนสนั้น ถือว่ามีความผิดตามประกาศของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(คคบ.) เรื่องให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา และขณะนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เปิดให้ผู้เสียหายนำหลักฐานการทำสัญญาหรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาลงชื่อร้องเรียน ซึ่งในขั้นแรก สคบ. จะเชิญทางทรูฟิตเนสเข้ามาเจรจาเรื่องแนวทางการชดเชยเยียวยาให้กับผู้เสียหาย แต่หากหาข้อตกลงกันไม่ได้ สคบ. จะดำเนินการยื่นฟ้องแทนผู้เสียหายต่อไป ซึ่งมีผู้เสียหายทยอยกันเข้ามายื่นเรื่องฟ้องร้องแล้ว เป็นจำนวนมากกว่าร้อยราย โดยผู้เสียหายบางรายสมัครบริการแบบตลอดชีพเอาไว้ซึ่งมูลค่าความเสียหายมากกว่า 3 แสนบาททุเรียนเผา กินได้ไม่อันตราย แค่วิตามินน้อยลงกรมอนามัย ออกมายืนยันแล้วว่า “ทุเรียนเผา” ไม่ทำให้เกิดกำมะถันเพิ่มจนเป็นอันตราย หรือกินแล้วถึงตาย หลังมีกระแสข่าวว่า มีคนกินทุเรียนเผาแล้วเสียชีวิตเนื่องจากสารซัลเฟอร์หรือกำมะถัน นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีงานวิจัยใดยืนยันว่า การเผาทุเรียนจะทำให้กำมะถันในทุเรียนเพิ่มปริมาณมากขึ้น จนเป็นเหตุให้ผู้บริโภคเสียชีวิต แต่การเผาทุเรียนจะทำให้วิตามิน เช่น โฟเลต วิตามินบี วิตามินซี ลดลง รวมทั้งทำให้น้ำในทุเรียนระเหยออกไป ทุเรียนเผาจึงมีรสชาติหวานขึ้น แต่ก็มีข้อควรระวังคือ ไม่ควรเผาทุเรียนจนไหม้ เพราะหากกินสะสมไปนานๆ ไม่ต่างจากกินอาหารปิ้งย่างจนไหม้เกรียม ซึ่งเสี่ยงมะเร็งพร้อมกันนี้ได้ฝากเตือนที่ผู้ที่ชอบรับประทานทุเรียน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และหลอดเลือดหัวใจตีบควรระวังเป็นพิเศษ หากกินทุเรียนในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้อาการป่วยทรุดได้ เพราะในทุเรียนมีแป้งและไขมันสูง นอกจากนี้ทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง ผู้ป่วยโรคไตไม่สามารถขับโพแทสเซียมส่วนเกินได้เท่าคนปกติจึงควรเลี่ยง  “ดีท็อกซ์เท้า” อย. ยันไม่เคยรับขึ้นทะเบียนอย. เตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์ที่กล่าวอ้างว่า สามารถดีท็อกซ์เท้าเพียงแค่ใช้การปิดผลิตภัณฑ์ที่ฝ่าเท้า หลังพบการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทางเว็บไซต์และสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ โดยมีการอวดอ้างสรรพคุณว่า “ช่วยซับเหงื่อออกจากเท้า ช่วยกระตุ้นการหมุนเวียนของโลหิต ช่วยกระตุ้นการทำงานของอวัยวะภายในให้เป็นปกติ ช่วยกระตุ้นภูมิต้านทาน ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ดีขึ้น ช่วยลดอาการเจ็บปวด เมื่อยล้า ลดอาการบวม ช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่ามากขึ้น และช่วยให้หลับสนิทมากขึ้นช่วงกลางคืน เพียงปิดผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่บริเวณฝ่าเท้าก่อนนอน” โดยทาง อย. ยืนยันว่าไม่เคยอนุญาตให้มีการจำหน่ายและโฆษณาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอย. กำลังเร่งเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ส่งตรวจวิเคราะห์ว่า มีการใส่สารต้องห้ามที่เป็นอันตรายหรือไม่ พร้อมทำการระงับการโฆษณา และดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และเจ้าของสื่อตามกฎหมายต่อไป หากเป็นการโฆษณาเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากพิสูจน์ได้ว่าเป็นการแสดงคุณประโยชน์หรือคุณภาพอันเป็นเท็จหรือเกินความจริง หรือเป็นการแสดงข้อความที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ ผู้กระทำผิดมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับอย่าซื้อ “ยุงจุดกันยุง-ธูปหอมไล่ยุง” ไม่ผ่านการรับรอง หลังมีข่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) พบผลิตภัณฑ์ ยาจุดกันยุงและธูปหอมไล่ยุงผิดกฎหมาย วางจำหน่ายในหลายจังหวัดทางภาคอีสาน โดย อย. ตรวจสอบแล้วพบว่า มีสารอันตราย เมเพอร์ฟลูทริน (Meperfluthrin) เป็นสารสำคัญในผลิตภัณฑ์ ซึ่งสารชนิดนี้ อย. ไม่เคยรับขึ้นทะเบียนมาก่อน เพราะไม่ผ่านการประเมินด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพ รวมถึงความเหมาะสมของอัตราการใช้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ ยาจุดกันยุงและธูปหอมไล่ยุง ที่พบว่าผิดกฎหมาย มีจำนวนทั้งสิ้น 5 ตัวอย่าง ได้แก่ 1. ผลิตภัณฑ์ธูป หอมไล่ยุงฉลากภาษาจีน บรรจุกล่องกระดาษสีเหลือง-สีฟ้า 2. ผลิตภัณฑ์ธูปหอมไล่ยุงฉลากเป็นภาษาเขมร บรรจุ กล่องกระดาษสีเขียว-สีเหลือง 3. ผลิตภัณฑ์ธูปหอมไล่ยุง Ranger Scout บรรจุกล่องกระดาษสีน้ำเงิน-สีเขียว 4. ผลิตภัณฑ์ยาจุดกันยุงชนิดขดตราหัวเสือฉลากเป็นภาษาจีน บรรจุกล่องกระดาษสีแดง-สีขาว ห่อด้วยพลาสติก ใสไม่มีสี และ 5. ยาจุดกันยุงชนิดขดตรา Laojun ปิดด้วยแผ่นกระดาษ สีฟ้า-สีเหลือง-สีดำ มีรูปเด็กบนฉลาก โดยมีข้อความบนฉลากเป็นภาษาต่างประเทศ การเลือกซื้อยาจุดกันยุงและธูปหอมไล่ยุงทุกครั้ง จึงควรเลือกซื้อเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการตรวจสอบและขึ้นทะเบียนกับทาง อย. แล้วเท่านั้น เหตุขาดการมีส่วนร่วม-แก้ปัญหาไม่ตรงจุด ภาคประชาชนยืนหยัดค้านแก้กฎหมายบัตรทองตัวแทนภาคประชาชน นำโดยกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ แสดงความห่วงใยต่อการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือกฎหมายบัตรทอง เพราะมีหลายประเด็นที่ขัดต่อหลักการสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเฉพาะเรื่องของการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน หากปรับปรุงแก้ไขแล้วประชาชนไม่ได้รับประโยชน์ ซ้ำยังอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพในการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติลดลง โดยประเด็นที่ฝั่งภาคประชาชนมีความกังวลได้แก่  ประเด็นเรื่องการเปิดให้มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน ซึ่งการแก้ไขกฎหมายมีแนวโน้มในการเอื้อประโยชน์แก่ผู้ให้บริการ เช่น การเพิ่มสัดส่วนของกรรมการหลักประกันสุขภาพในสัดส่วนของผู้ประกอบวิชาชีพ รวมทั้งในขั้นตอนการแก้กฎหมาย ก็จำกัดจำนวนกรรมการตัวแทนภาคประชาชนเพียง 2 คน จากสัดส่วนคณะอนุกรรมการ 27 คน ขณะที่ตัวแทนจากฝั่งผู้ให้บริการมีถึง 7 คน ที่เหลือเป็นตัวแทนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องส่วนในประเด็นปัญหาสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปัจจุบัน ที่ควรแก้ไข กลับไม่ได้ถูกหยิบขึ้นมาพิจารณา  เช่น ปัญหาการจัดซื้อยา ที่ปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำหน้าที่จัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นหรือมีราคาแพงได้ค่อนข้างดี ซึ่งช่วยลดอุปสรรคในการเข้าถึงยาของประชาชนที่ป่วยด้วยโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง หรือกลุ่มโรคเฉพาะเช่น ไตวาย หรือผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ เป็นต้น นั้นกฎหมายที่ควรแก้ไข คือการเพิ่มอำนาจในการจัดซื้อยาให้กับ สปสช. แต่กลายเป็นว่า มีการแก้ไขให้โอนอำนาจการจัดซื้อยากลับไปอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุขแทน ซึ่งข้อมูลในอดีตพบว่า การจัดหายาของกระทรวงสาธารณสุขนั้น เน้นนำเข้ารายการยา Top 10 ที่แต่ละรพ. ใช้ ซึ่งราคายาที่ซื้อมีราคาสูงกว่าการบริหารจัดการของ สปสช. มากนอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเด็นที่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพมีความกังวลในการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ครั้งนี้ ท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติม รวมทั้งติดตามความเคลื่อนไหวของกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ที่ เฟซบุ๊ค กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ https://www.facebook.com/PeopleHealthSystemsMovement/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 ก้าวต่อไปของการคุ้มครองและยกระดับผู้บริโภคในโลกดิจิทัล

“เมื่อถึงวันที่ 15 มีนาคมของทุกปี เราก็กลับมาพบกันอีกครั้งกับวันสิทธิผู้บริโภคสากล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญที่จัดขึ้นเพื่อเตือนให้ผู้บริโภคทุกคนตระหนักถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเอง รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเคารพและปกป้องสิทธิของผู้บริโภคอย่างทั่วถึงทั้งโลก โดยสำหรับในปี พ.ศ. 2560 นี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นหนึ่งในสภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียนก็ได้มีโอกาสข้ามน้ำทะเลไปร่วมงานประชุมผู้บริโภคสากลที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ภายใต้ประเด็นหลักคือการคุ้มครองและยกระดับผู้บริโภคในโลกดิจิทัล ซึ่งจะมีข้อมูลน่าสนใจอะไรบ้าง เราลองไปดูกันเลยทำความรู้จักวันสิทธิผู้บริโภคสากลกันสักนิดแม้ว่าในแต่ละประเทศจะกำหนดกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิของผู้บริโภคไว้มากน้อยแตกต่างกัน แต่แนวทางหลักๆ ที่ถูกนำมาใช้เป็นกรอบแนวคิดในการกำหนดกฎหมาย ต่างมีที่มาจากหลักสิทธิผู้บริโภคสากลขั้นพื้นฐาน 8 ประการ ได้แก่ 1. สิทธิที่จะได้รับสินค้าและบริการที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน 2. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ 3. สิทธิที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนที่จำเป็นเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ 4. สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าและบริการได้อย่างอิสระในราคายุติธรรม 5. สิทธิที่จะร้องเรียนเพื่อความเป็นธรรม 6. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและค่าชดเชยความเสียหาย 7. สิทธิที่จะได้รับความรู้เกี่ยวกับการบริโภค และ 8. สิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย ซึ่งถูกบัญญัติไว้โดยสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International หรือ CI) นั่นเองสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล เป็นกลุ่มองค์กรอิสระที่ก่อตั้งมานานกว่า 50 ปี มีประเทศสมาชิกในเครือข่ายองค์กรกว่า 240 องค์กรใน 120 ประเทศทั่วโลก ซึ่งบ้านเราก็เป็นหนึ่งในสมาชิกที่อยู่ในกลุ่มสภาองค์กรผู้บริโภคประเทศอาเซียน หรือในกลุ่มประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย โดยสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากลมีเป้าหมายเพื่อทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคทั่วโลกโดยไม่แสวงหาผลกำไร และรับรองให้ทุกวันที่ 15 มีนาคมของทุกปีเป็นวันสิทธิผู้บริโภคสากล ซึ่งในวันดังกล่าวจะมีการจัดเวทีประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลปัญหาของผู้บริโภค รวมทั้งมีการกำหนดประเด็นในการรณรงค์ร่วมกันของกลุ่มประเทศสมาชิก เช่น ในปีที่ผ่านมาได้มีการร่วมรณรงค์ต่อยาปฏิชีวนะในอาหาร เนื่องจากพบว่าสามารถทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยา รวมทั้งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากภาวะติดเชื้อและการเจ็บป่วยเล็กน้อยได้ การคุ้มครองผู้บริโภคในโลกดิจิทัลสำคัญอย่างไรแม้ประเด็นปัญหาของผู้บริโภคจะมีมากมายแตกต่างกันไป แต่หนึ่งปัญหาใหญ่ที่ผู้บริโภคทั่วโลกต้องเผชิญร่วมกันในยุคนี้ก็หนีไม่พ้นเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล เพราะดิจิทัลได้เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้บริโภคทั่วโลก โดยช่วยทำให้เข้าถึงและดำเนินการด้านข้อมูลต่างๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็วขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มทางเลือกและการแข่งขัน รวมทั้งกระตุ้นให้มีการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในโลกธุรกิจ เช่น การซื้อขายสินค้าและบริการออนไลน์ หรือการทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือ อย่างไรก็ตามข้อมูลอีกด้านหนึ่งกลับว่า โลกดิจิทัลได้สร้างอุปสรรคและความเสี่ยงต่างๆ ให้ผู้บริโภคจำนวนมาก ซึ่งปัญหาที่ส่งผลกระทบมากที่สุดคือยังมีผู้บริโภคบางส่วนเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต และผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็ยังไม่เชื่อมั่นในระบบความปลอดภัยของโลกออนไลน์ เพราะต่างกลัวว่าข้อมูลส่วนตัวจะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด หรือจะตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงในโลกออนไลน์ ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาและส่งเสริมให้ผู้บริโภคทุกภาคส่วนของโลกสามารถเข้าถึงโลกดิจิทัลได้อย่างครอบคลุม สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากลจึงผลักดันให้ปัญหาดังกล่าวให้กลายเป็นประเด็นหลักสำหรับในปีนี้ โดยกำหนดชื่อการชุมประชุมว่า “Building a Digital World Consumers Can Trust” หรือการสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคในโลกดิจิทัล อุปสรรคและความเสี่ยงของโลกดิจิทัลส่งผลกระทบอย่างไรบ้างจากปัญหาของผู้บริโภคข้างต้น ได้เผยผลสำรวจในงานประชุมผู้บริโภคสากลครั้งนี้ว่าอุปสรรคและความเสี่ยงต่างๆ ได้ส่งผลกระทบด้านลบโดยตรงต่อเศรษฐกิจทางดิจิทัล ทำให้ไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร โดยมีงานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่า ความเชื่อใจของผู้บริโภคเป็นปัจจัยสำคัญต่อการซื้อ (demand) ซึ่งจะทำให้ตลาดดิจิทัลเจริญเติบโตทางด้านกำลังขาย (supply) ดังนั้นหากปราศจากความเชื่อใจของผู้บริโภค การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลอาจจะไม่มีทางเป็นไปได้ ทั้งนี้หากต้องการให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อใจนั้น ต้องมีกฎหมายที่คลอบคลุมเพื่อสร้างความมั่นใจในหลายๆ ด้าน เช่น ด้านความเป็นส่วนตัว การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือด้านการชดเชยเยียวยา นอกจากนี้ในทุกประเทศควรมีองค์กรที่ทำหน้าที่สร้างความตระหนักและให้ความรู้กับผู้บริโภค เพื่อยกระดับความสามารถของผู้บริโภคการเข้าถึงข้อมูลดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย อย่างองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นต้น แนวทางแก้ปัญหาเพื่อคุ้มครองและยกระดับผู้บริโภคในโลกดิจิทัลเพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลให้เข้มแข็งขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งเพื่อทำให้ผู้บริโภคเกิดความไว้วางใจในโลกดิจิทัลมากขึ้น หลายประเทศต่างๆ ทั่วโลกในกลุ่ม G20 (Group of Twenty) หรือกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ 20 แห่ง ได้แก่ อาร์เจนตินา, ออสเตรเลีย, บราซิล, แคนาดา, จีน, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อินเดีย, อินโดนีเซีย, อิตาลี, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, เม็กซิโก, รัสเซีย, ซาอุดิอาระเบีย, แอฟริกาใต้, ตุรกี, อังกฤษ, สหรัฐอเมริกาและองค์กรสหภาพยุโรป ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันเท่ากับร้อยละ 90 ของเศรษฐกิจโลก และมีประชากรรวมกันประมาณ 2 ใน 3 ของโลก จึงร่วมมือกันหาแนวทางคุ้มครองและยกระดับผู้บริโภคในโลกดิจิทัล ซึ่งได้นำแนวทางของ UNGCP (UN Guidelines for Consumer Protection) หรือแนวทางของสหประชาชาติในการคุ้มครองผู้บริโภคมาเป็นกรอบแนวคิดเพื่อแก้ไขปัญหา โดยสามารถสังเคราะห์ออกมาได้เป็น 8 มิติที่ครอบคลุมประเด็นปัญหาต่างๆ เช่น การขยายการเข้าถึงบอร์ดแบรนด์ การปรับปรุงคุณภาพ การพัฒนาทักษะหรือความสามารถของผู้บริโภคในการเข้าถึงโลกออนไลน์กรอบคิดของ UN ในการคุ้มครองผู้บริโภคในโลกดิจิทัลมีอะไรบ้าง8 มิติของการแก้ปัญหาที่กลุ่ม G20 ร่วมกันวางกรอบแนวคิดไว้ มีการกำหนดตัวบ่งชี้ที่สามารถอธิบายและวัดความก้าวหน้าได้ เพื่อทำให้การแก้ปัญหามีความเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ดังนี้1. ด้านการเข้าถึงเพื่อลดช่องว่างของการเข้าถึงข้อมูลบนโลกดิจิทัล จำเป็นต้องมีตัวชี้วัดที่สามารถบ่งบอกได้ว่าผู้บริโภคจะได้รับการส่งเสริมด้านใดบ้าง ซึ่งสามารถวิเคราะห์ได้จากสัดส่วนของประชากรได้รับบริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือสัดส่วนของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต และวัดความพึงพอใจในคุณภาพและราคาที่ต้องเสียไปเมื่อมีการเข้าถึงข้อมูลดิจิทัลต่างๆ 2. ด้านประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ควรมีกฎหมายด้านการแข่งขันทางการค้าสำหรับโลกดิจิทัล เพื่อป้องกันผู้บริโภคถูกเอาเปรียบด้านราคา รวมทั้งต้องให้ผู้บริโภคมีความสามารถที่จะเปลี่ยนผู้ให้บริการ ICT ได้หากไม่พึงพอใจการให้บริการออนไลน์3. ความปลอดภัยด้านสินค้าและความรับผิด โลกดิจิทัลควรมีความปลอดภัย ซึ่งสามารถชี้วัดได้จำนวนและความรุนแรงของการรายงานเหตุสินค้าและบริการดิจิทัลที่ไม่ปลอดภัย โดยต้องพัฒนากฎหมายด้านความปลอดภัยและความรับผิด รวมทั้งควรมีหน่วยงานกำกับ ดูแล ควบคุมหรือสินค้าและบริการดิจิทัล นอกจากนี้ภาคธุรกิจก็ควรร่วมมือด้วยการยึดมั่นในมาตรฐานความปลอดภัยก่อนวางตลาด หรือติดตาม ตรวจสอบสินค้าของตนเองหลังการวางจำหน่ายในตลาด และเรียกคืนสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ4. ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยด้านข้อมูล เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยด้านข้อมูล ควรมี Internet server ที่ปลอดภัย และพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาดังกล่าว5. ข้อมูลและความโปร่งใสควรมีองค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภคเพื่อให้คำแนะนำก่อนทำการซื้อขาย หรือมีหน่วยงานทดสอบเปรียบเทียบสินค้าหรือบริการออนไลน์ต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคก่อนตกลงซื้อ6. การศึกษาและจิตสำนึกเพื่อทำให้ผู้บริโภคมีความรู้เท่าทันโลกดิจิทัล จำเป็นต้องเพิ่มทักษะด้านการใช้งานหรือสามารถแก้ไขปัญหาได้ หากพบว่าตนเองถูกหลอกลวงในโลกออนไลน์ เช่น วิธีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคต่างๆ  7. การแก้ปัญหาข้อพิพาทและการเยียวยาความเสียหายตัวชี้วัดสำหรับมิตินี้ สามารถพิจารณาได้จากสถานะของการดำเนินการระงับข้อพิพาทและการเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งความพึงพอใจของผู้บริโภคเมื่อได้รับการแก้ปัญหา โดยควรพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการระงับข้อพิพาทและการเยียวยาความเสียหายให้มากขึ้น รวมทั้งทำให้ระบบจัดการเรื่องร้องเรียนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น8. ธรรมาภิบาลและความมีส่วนร่วมหน่วยงานของรัฐสามารถสร้างความเชื่อใจของผู้บริโภคในด้านการคุ้มครองสิทธิทางดิจิทัล ด้วยการออกกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองและยกระดับผู้บริโภคในโลกดิจิทัล หรือให้มีองค์กรเพื่อผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมในการออกกฎหมายและบังคับใช้กฎหมาย และให้หน่วยงานเพื่อผู้บริโภคมีอำนาจในการฟ้องคดีกลุ่มแทนผู้บริโภค นอกจากนี้หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลด้าน ICT ต้องมีความโปร่งใสนอกจากนี้เพื่อให้ได้เพื่อผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพที่สุด สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากลก็ได้เสนอแนะให้กลุ่ม G20 ริเริ่มกระบวนการที่สามารถใช้เพื่อประเมิน หรือตรวจสอบสถานะของการคุ้มครองและยกระดับผู้บริโภคในโลกดิจิตัลทั้งในระยะกลางและระยะยาว รวมทั้งควรร่วมมือกันในการพัฒนาเครื่องมือกลไกสำหรับการจัดทำนโยบายและดำเนินการตามแผนนโยบายดังกล่าวเพิ่มเติม เช่น จัดตั้งคณะทำงานหรือมีองค์กรระหว่างประเทศที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นทางการ หรือมีโครงการทดลองนำร่องเพื่อแก้ปัญหาและมีการประเมินผล แนะแนวทางเบื้องต้นสำหรับปกป้องข้อมูลของตัวเองบนออนไลน์นอกเหนือจากไปกรอบแนวคิดที่กลุ่ม G20 ได้ร่วมกันเสนอเพื่อคุ้มครองและยกระดับผู้บริโภคในโลกดิจิทัลแล้ว ก่อนจบการประชุมครั้งนี้สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากลก็ได้นำเสนอ 10 วิธีเบื้องต้นที่จะทำให้ผู้บริโภคสามารถปกป้องข้อมูลของตัวเองบนออนไลน์ได้ ซึ่งมีดังนี้1. ใช้รหัสผ่านที่ต่างกันในแต่ละบัญชีผู้ใช้ รวมทั้งเปลี่ยนแปลงรหัสผ่านเสมอเพื่อป้องกันการถูกล้วงข้อมูล 2. ใช้การตั้งค่าความปลอดภัย หรือความเป็นส่วนตัวบนอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับเชื่อมต่อโลกออนไลน์เสมอ 3. ระวังสิ่งที่แบ่งปันในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลในพื้นที่ที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย 4. ตั้งค่ารหัสผ่าน Wi-Fi เพื่อจำกัดการเข้าถึงเครือข่ายที่เราใช้งานอยู่ 5. อย่าหลงกลอีเมลหลอกลวงที่มักให้เรากดเข้าไปดูและกรอกรายละเอียดส่วนตัว 6. หลีกเลี่ยงการเปิดไฟล์แนบอีเมลหรือลิงก์ที่ผิดปกติ  7. ควรมีบัญชีอีเมลมากกว่า 1 บัญชี ซึ่งช่วยป้องกันการระบุที่อยู่อีเมลที่แท้จริงเมื่อต้องสมัครลงชื่อใช้บริการในเว็บไซต์ต่างๆ 8. ชำระเงินกับเว็บไซต์ที่ปลอดภัย โดยสามารถตรวจสอบได้จากที่อยู่ของเว็บดังกล่าว ซึ่งควรขึ้นต้นด้วย “https: //” ไม่ใช่แค่ 'http' หรือมีเครื่องหมายเป็นรูปกุญแจล็อคสีเขียวที่ด้านซ้ายหรือด้านขวาข้างๆ ที่อยู่ดังกล่าว 9. อัปเดตซอฟต์แวร์เสมอ เพื่อให้ระบบรักษาความปลอดภัยบนอุปกรณ์การเชื่อมต่อมีความทันสมัย 10. ติดตั้งโปรแกรมป้องกันไวรัสที่มีประสิทธิภาพ *ข้อมูลอ้างอิงบางส่วนจากเว็บไซต์: http://www.consumersinternational.org/wcrd-2017-resource-pack/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 หลักการคุ้มครองผู้บริโภคขั้นสูง

         มีโอกาสไปร่วมประชุมและให้ข้อคิดเห็นในการพัฒนาหลักการคุ้มครองผู้บริโภคขั้นสูง(High-level Principles on consumer protection) กับคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคอาเซียน(ACCP, ASEAN Committee on Consumer Protection) ณ เมืองเวียงจันทร์ ประเทศลาว จากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั่วโลก ความคาดหวังของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ความคาดหวังของภาคธุรกิจ ข้อมูลข่าวสารที่มีมากมาย ความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภค ความท้าทายที่จะต้องมีระบบคุ้มครองผู้บริโภค ทิศทางการเมืองในประเทศ ทรัพยากร การบริหารความเสี่ยง ศักยภาพและความเป็นผู้นำ ปัญหาสำคัญของผู้บริโภค การจัดการปัญหาให้ตรงจุดและจัดการความเสี่ยงที่สำคัญของผู้บริโภค ทำให้ต้องทบทวนการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคและร่วมกันกำหนดหลักการคุ้มครองผู้บริโภคขั้นสูงในกลุ่มประเทศอาเซียน ดังนี้หลักการสำคัญประการที่ 1 การบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม คงเส้นคงวา มีประสิทธิภาพ และได้สัดส่วนกับปัญหาและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคประการที่ 2 ผู้บริโภคจะต้องมีทักษะ ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร ความพร้อม และความมั่นใจในการใช้สิทธิของตนเอง ประการที่ 3 ผู้บริโภคจะต้องได้รับการคุ้มครองจากสินค้าและบริการที่จะส่งผลต่ออันตรายต่อสุขภาพและความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ประการที่ 4 สิทธิของผู้บริโภคจะต้องได้สัดส่วน สมดุลกับความรับผิดชอบที่ชัดเจน ง่ายเพียงพอต่อการทำความเข้าใจ ประการที่ 5 ผู้บริโภคมีความสามารถเข้าใจถึงผลกระทบจากตัดสินใจบริโภคของตนเองทั้งต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ประการที่ 6 มีตัวแทนผู้บริโภคที่เข้มแข็งในการรักษาผลประโยชน์และพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคในการจัดทำนโยบาย และการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านหรือกรณีต่างๆ ประการที่ 7 วิธีการที่มีประสิทธิภาพในการรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภค จะต้องเกิดความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาสังคมทั้งในระดับประเทศและระหว่างภูมิภาค ประการที่ 8 การเข้าถึงความจำเป็นพื้นฐานของผู้บริโภค จะต้องได้รับการพิจารณาและคุ้มครองโดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่ยากจนและเปราะบาง  หากทำได้ปัญหาผู้บริโภคคงลดลงได้มาก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 Lemon Law กฎหมายมะนาว กับ รถใหม่เจ้าปัญหา

ข่าวรถใหม่ป้ายแดง มีปัญหาซ่อมแล้วซ่อมอีก จนผู้บริโภคต้องออกมาประท้วงบริษัทรถยนต์ ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ทุบรถ ติดป้ายประจาน เอาควายมาลาก ฯลฯ ยังคงมีปรากฏอยู่ตามหน้าสื่ออยู่เป็นระยะ ๆ ล่าสุด เมื่อต้นเดือน พฤษภาคม 2560 ก็เพิ่งมีข่าว “เศรษฐีนีชาวขอนแก่น เดือด ซื้อรถหรูป้ายแดงแต่ซ่อมไม่เลิก เลยเอาต้นไม้ไปปลูกบนรถประชดหน้าบริษัท” ปรากฏการณ์เหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่า กลไกการแก้ไขปัญหาในระบบปกติ เช่น การเจรจาให้ผู้ประกอบการรับผิดชอบ เอารถเข้าไปซ่อมครั้งแล้วครั้งเล่า การร้องเรียนกับหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคภาครัฐ หรือแม้แต่การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย มันไม่ Work ผู้บริโภคเหล่านี้จึงเลือกใช้วิธีการออกมาหาความยุติธรรมที่ข้างถนน มาฟ้องสื่อ ฟ้องสังคม ฟ้อง Social Media  เพราะดูแล้วจะได้ผลรวดเร็วกว่า การใช้พลังทางสังคมเข้าไปกดดัน (Social Sanction) เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหานั้น หลายกรณี เมื่อสังคมให้ความสนใจ จับตามอง ก็ได้รับการดูแลแก้ไขอย่างรวดเร็ว แต่ทางเลือกนี้ก็มิได้เหมาะสำหรับทุกคน เพราะต้องใช้พลังอย่างมากในการต่อสู้เพื่อให้เป็นข่าว และที่สำคัญ มันเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นราย ๆ ไป เคลียร์รายนี้ได้ เดี๋ยวก็มีรายใหม่โผล่มาอีก ตราบใดที่ยังไม่ปรับปรุงระบบการจัดการปัญหาในช่องทางปกติให้มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และเข้าถึงได้โดยสะดวก หนึ่งในมาตรการแก้ปัญหาเชิงระบบที่องค์กรผู้บริโภคพยายามผลักดันกันมาโดยตลอดก็คือ “ประเทศไทยต้องมีกฎหมายความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า” เช่นเดียวกับนานาอารยประเทศ ซึ่งสาระสำคัญของกฎหมายนี้ ก็คือ สินค้าใหม่ทุกชนิด ที่ผู้บริโภคซื้อไปแล้ว หากพบว่ามีความเสียหาย ชำรุดบกพร่อง ใช้งานไม่ได้ หรือไม่เป็นไปไปตามสัญญา ผู้บริโภคมีสิทธิเลือกได้ว่าจะให้ซ่อมแซม หรือเปลี่ยนสินค้าใหม่ ถ้าหากซ่อมเกิน 2 ครั้งแล้ว ก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ และสิทธินี้ยังรวมถึงผู้เช่าซื้อด้วย เช่น รถยนต์ มอเตอร์ไซค์  ที่ถึงแม้จะยังผ่อนไม่หมด ยังไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์ แต่ไฟแนนซ์ ผู้ให้เช่าซื้อ ก็ต้องให้สิทธินี้แก่ผู้บริโภคในการเรียกร้องให้เจ้าของสินค้าซ่อมแซม หรือเปลี่ยนสินค้า ถ้าของที่เช่าซื้อมาเกิดชำรุดบกพร่อง ซึ่งกฎหมายนี้ก็จะช่วยให้ผู้บริโภคมีทางออก ไม่ต้องดิ้นรน คิดหาวิธีประท้วงแบบแปลก ๆ ใหม่ ๆ เพื่อเรียกร้องความสนใจจากสังคมและสื่อพูดถึง “กฎหมายความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า” นี้  ในแวดวงคนทำงานคุ้มครองผู้บริโภคก็มักจะเรียกทับศัพท์ตามอย่างฝรั่งว่า “Lemon Law” ซึ่งฟังดูแล้วก็ชวนให้สงสัยว่า สินค้าใหม่ที่มันชำรุดบกพร่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ รถใหม่ป้ายแดงที่มันซ่อมแล้วซ่อมอีก มันเกี่ยวข้องยังไงกับมะนาว เรื่องนี้ มีผู้รู้เล่าให้ฟังว่า มีที่มาจาก “Joke ตลกร้าย” ที่พูดถึงฝรั่งชาติต่าง ๆ ไว้ว่า “สวรรค์ของคนยุโรป ก็คือ ที่ที่ทุกคนได้กินอาหารที่ปรุงโดย เชฟชาวฝรั่งเศส เพราะคนฝรั่งเศสนั้นพิถีพิถันเรื่องอาหารการกิน ขับรถยนต์ที่สร้างโดยวิศวกรชาวเยอรมัน รถหรูยอดนิยมยี่ห้อ Benz , BMW นั้นก็สัญชาติเยอรมัน มีตำรวจอังกฤษคอยดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อย  มีคนรักเป็นชาวอิตาเลียน และมีชาวสวิสเซอร์แลนด์ทำหน้าที่บริหารจัดการทุกอย่างที่ว่ามา ส่วนนรกของชาวยุโรป ก็คือ ที่ที่ทุกคนต้องกินอาหารอังกฤษ ใช้รถยนต์ฝรั่งเศส มีตำรวจเป็นชาวเยอรมัน มีคนรักชาวสวิส และบริหารทุกสิ่งอย่างโดยชาวอิตาเลียน JOKE นี้ ก็สะท้อนว่า ในสายตาชาวตะวันตก รถยนต์ที่แย่ ก็คือ รถจากประเทศฝรั่งเศส  ซึ่งรถยนต์ยี่ห้อดังของฝรั่งเศสก็คือ “ซีตรอง” (Citroen) ซึ่งในภาษาฝรั่งเศส แปลว่า “มะนาว” ส่วนเหตุที่นาย อังเดร ซีตรอง ผู้ก่อตั้งบริษัท ตั้งชื่อยี่ห้อรถยนต์ว่า “Citroen” ก็เพราะว่า ต้นตระกูล ปู่ของเขาสร้างฐานะมาจากการค้าขายมะนาว จึงตั้งชื่อสกุลตามธุรกิจที่ทำ ดังนั้น พอรุ่นหลานมาสร้างธุรกิจผลิตรถยนต์ก็เลยเอาชื่อสกุล “ซีตรอง” มาตั้งเป็นยี่ห้อรถยนต์ พอคนอเมริกันออกกฎหมายมาเพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าใหม่ที่บกพร่องหรือรถใหม่ป้ายแดงที่มีตำหนิ ผู้คนก็เลยนึกถึง รถ Citroen (Lemon) ของชาวฝรั่งเศส จึงพากันเรียกกฎหมายดังกล่าวด้วยชื่อเล่น ว่า Lemon Law  เรื่องนี้ จริงเท็จประการใด ยังไม่ทราบแน่ชัด อาจจะเป็นแค่ เรื่องเล่าอำกันเล่นๆ ของฝรั่งก็เป็นได้ เพราะรถยนต์ Citroen จากประเทศฝรั่งเศส ก็ได้ชื่อว่าเป็นรถยนต์ที่มีเทคโนโลยี ล้ำสมัยมากยี่ห้อหนึ่งส่วนข้อสันนิษฐานที่สอง คาดว่า “Lemon” นี้เป็นคำสแลงในภาษาอังกฤษ ในความหมายที่ว่า “แสบ แย่” ซึ่งน่าจะมาจากรสชาติที่เปรี้ยวจี๊ด ของมะนาว ดังที่มีสำนวนว่า “when life gives you lemons , make lemonade” และก็มีการนำมาใช้ในแวดวงรถยนต์ ในความหมายที่ว่า “เอาของไม่ดี มาหลอกขายว่าเป็นของดี” ถ้าเป็นสำนวนแบบไทย ๆ ก็ต้องพูดว่า “ย้อมแมวขาย” ซึ่งมีที่มาจาก คนไทยสมัยก่อนจะนิยมเลี้ยงแมวที่มีลักษณะดี โดยดูจากสีขน จุดแต้ม ตามส่วนต่าง ๆ บนตัวแมว เพราะเชื่อว่า แมวพวกนี้จะให้คุณ ให้โชค แต่แมวที่มีลักษณะดีก็ใช่ว่าจะหากันง่าย ๆ จึงมีพวกคิดไม่ซื่อ ไปจับแมวทั่วๆ ไปมาย้อมสี แต่งแต้ม ให้ดูเหมือนแมวตามตำรา แล้วเอาไปหลอกขายคนซื้อ  ดู ๆ แล้วเรื่อง “คนใจคด หากินไม่สุจริต” นี่เห็นจะมีเหมือนกันทุกชาติ ทุกภาษา และมีเหมือนกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไร แต่ที่จะไม่เหมือนกันอยู่อย่างก็คือ ต่างชาติเขาคิดแก้ไข พัฒนากฎหมาย ป้องกันปัญหา คุ้มครองคนของเขาไม่ให้ถูกเอาเปรียบมานานแล้ว แต่ไทยเรายังไปไม่ถึงไหน ปล่อยให้พวก นักขายจอมกะล่อน ปลิ้นปล่อน กลมกลิ้งเป็นลูกมะนาว หากินเอาเปรียบผู้คนอยู่จนทุกวันนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 แต่ปางก่อน : มองย้อนการเปลี่ยนผ่านอำนาจนำในสังคมไทย

ในขณะที่เส้นกราฟของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย กำลังก้าวขึ้นเป็นเส้นตรงไปข้างหน้า เราจะเห็นได้ว่า เส้นกราฟของละครโทรทัศน์บ้านเรา จะมีอีกมุมหนึ่งที่ผู้คนหวนกลับไป “ถวิลหาอดีต” หรือมองย้อนกลับไปหา “วันวานที่เคยหวานอยู่”  เฉกเช่นเดียวกับภาพที่เราเห็นผ่านละครตระกูลพีเรียดทั้งหลาย ซึ่งไม่เพียงแต่นำเสนอชีวิตตัวละครที่แต่งตัวย้อนยุคสวยๆ งามๆ หรืออยู่ในวังและคฤหาสน์หรูเลิศอลังการงานสร้างเท่านั้น หากทว่า ละครย้อนยุคเหล่านี้ยังสื่อความนัยไว้ด้วยว่า แม้กาลเวลาจะผันผ่านหรือสังคมก้าวหน้าทันสมัยไปมากเท่าไร ภาพจำลองความสุขความทุกข์ที่คนไทยในอดีตเคยดื่มด่ำใช้ชีวิตกันมา ก็ไม่เคยเลือนรางจางเจือหายไปได้เลย  ละครโทรทัศน์เรื่อง “แต่ปางก่อน” ก็เป็นอีกหนึ่งในละครแนวพีเรียด ที่หยิบอารมณ์รักโรแมนติกข้ามภพชาติมาเล่าเรื่องความผูกพันของตัวละครในอดีต ให้กับผู้ชมในยุคสมัยปัจจุบันที่ความรักและความผูกพันในชีวิตจริงของคนเราช่างดูเปราะบางยิ่งนัก ความรักผูกพันข้ามห้วงเวลาถูกสร้างผ่านตัวละครที่ใช้ชีวิตในช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 6 อย่าง “หม่อมเจ้ารังสิธร” หรือ “ท่านชายใหญ่” บุตรชายคนเดียวของ “เสด็จในกรมฯ” และ “หม่อมพเยีย” ที่ได้มาประสบพบรักกับ “ม่านแก้ว” เจ้านางจากฝั่งประเทศลาว ที่มาศึกษาเล่าเรียนในสยามประเทศ และมาพำนักอาศัยอยู่ในเรือนของเสด็จในกรมฯ  เนื่องจากเจ้านางม่านแก้วเป็นสตรีพลัดถิ่นฐานจากต่างบ้านต่างเมืองมา กอปรกับท่านชายใหญ่เองก็ถูกจับเป็นคู่หมั้นหมายไว้กับ “หม่อมเจ้าหญิงวิไลเลขา” ผู้มีศักดิ์เป็นญาติผู้น้อง ทำให้หม่อมพเยียกับท่านหญิงวิไลเลขาร่วมกันกีดกันความรักของทั้งคู่ จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมที่ม่านแก้วถูกวางยาพิษและเสียชีวิตคาห้องหอในคืนส่งตัวแต่งงาน แต่ด้วยความรักความผูกของทั้งคู่ ทำให้ “แม้มีอุปสรรคขวากหนาม” ท่านชายใหญ่และเจ้านางม่านแก้วต่างจึงเลือก “ขอตามมิยอมพลัดพรากจากกัน” เพราะฉะนั้น ในขณะที่วิญญาณของท่านชายใหญ่ “รอคอยเธอนานแสนนาน” และ “ทรมานวิญญาณหนักหนา” อยู่ในเรือนหอรอร้างแห่งนั้น ม่านแก้วก็ได้กลับมาเกิดในชาติใหม่เป็น “ราชาวดี” คุณครูประจำโรงเรียนสตรีกุลนารีวิทยา ก่อนที่เธอจะเสียชีวิตและวนเวียนกลับมาถือกำเนิดอีกคำรบหนึ่ง เป็น “อันตรา” และครองคู่ในตอนท้ายกับ “หม่อมหลวงจิราคม” ซึ่งก็คือท่านชายใหญ่ผู้กลับมาเกิดใหม่เพื่อพบกับหญิงคนรักในชาติเดียวกัน บนโครงเรื่องแบบรักข้ามภพชาติ ประกอบกับการขานขับทำนองเพลงลาวม่านแก้วที่ท่านชายใหญ่บรรจงบรรเลงให้หญิงคนรักได้สดับตรับฟัง ละครก็คงต้องการนำเสนอให้เห็นว่า ความรักโรแมนติกข้ามกาลเวลาดูจะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้จริง แม้จะอยู่ใน “อุปสรรคขวากหนาม” ที่ขวางกั้นมากมาย แต่ที่คู่ขนานน่าสนใจไปกับการผูกเรื่องราวรักโรแมนติกย้อนยุคเยี่ยงนี้ ก็คือการให้ผู้คนในปัจจุบันได้หวนกลับไปทบทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้นอดีต โดยเฉพาะการฉายภาพชะตากรรมของตัวละครที่กลับมาเกิดใหม่ชาติแล้วชาติเล่า ที่ฉากหลังเป็นการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างอำนาจนำทางสังคมในแต่ละช่วงสมัยด้วยเช่นกัน โดยเมื่อย้อนกลับไปในยุคศักดินานั้น แน่นอนว่า อำนาจนำในสังคมไทยจะถูกรวมศูนย์อยู่ในขอบขัณฑ์ของราชสำนัก เพราะชนชั้นสูงในยุคดังกล่าวถือเป็นกลุ่มชนชั้นนำที่ครอบครองปัจจัยการผลิตทางเศรษฐกิจ เป็นกลุ่มที่มีอภิสิทธิ์และบารมี และเป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่ยึดครองการผลิตและใช้ความรู้ต่างๆ ของสังคม ดังนั้น เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงและขัดแย้งใดๆ เกิดขึ้นในหมู่ชนชั้นนำเหล่านี้ ความขัดแย้งนั้นก็จะส่งผลกระทบถึงคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคมไทยโดยภาพรวม และที่สำคัญ เมื่อคนกลุ่มนี้เป็นขุมพลังที่ผลิตความรู้แห่งยุคสมัย แบบเดียวกับที่ตระกูลของท่านหญิงวิไลเลขาได้สั่งสมทุนความรู้พร้อมศาสตร์และศิลป์แห่งการปรุงยาแผนโบราณมาอย่างยาวนาน เธอก็สามารถบริหารอำนาจความรู้เพื่อสั่งเป็นสั่งตายวางยาพิษให้กับเจ้านางม่านแก้วสิ้นชีวิตในคืนส่งตัวเข้าหอได้นั่นเอง  แต่เมื่อเข้าสู่ยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อมายังสงครามโลกครั้งที่สอง อำนาจของชนชั้นนำกลุ่มเดิมเริ่มถดถอยลง พร้อมๆ กับที่กลุ่มคนชั้นกลางเริ่มก่อรูปก่อร่างสถาปนาตัวตนทางสังคมขึ้นมา ความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่มที่ช่วงชิงอำนาจนำเช่นนี้ ก็ปรากฏออกมาเป็นภาพที่ราชาวดีกับท่านหญิงวิไลเลขาได้ปะทะต่อสู้อำนาจระหว่างกันเป็นระลอกๆ  ท่านหญิงวิไลเลขาอาจมีทุนความรู้ดั้งเดิมที่สั่งสมผ่านสายตระกูล และมีอำนาจบารมีเป็นทุนสัญลักษณ์ที่สืบต่อกันมาแต่เก่าก่อน แต่ทว่า คุณครูอย่างราชาวดีเองก็มีทุนความรู้สมัยใหม่ ที่ค่อยๆ สั่งสมเพื่อเข้าสู่การเป็นกลุ่มชนชั้นนำใหม่อีกกลุ่มในสังคมไทย ดังนั้น ราชาวดีจึงไม่ใช่คนพลัดถิ่นที่อำนาจน้อยแบบม่านแก้ว และก็ไม่ใช่คนที่จะยินยอมต่ออำนาจครอบงำที่มีมาแต่เดิมอีกต่อไป แม้ว่าในบทสุดท้ายของภพชาตินี้ เธอเองก็ยังถูกความรู้ของท่านหญิงวิไลเลขาวางยาจนเสียชีวิตไปในที่สุด และเมื่อเข้าสู่ชาติสมัยในปัจจุบัน อันตราผู้เป็นทายาทเจ้าของกิจการโรงแรมหรูหราในเมืองหลวง ก็คือตัวแทนของชนชั้นนำกลุ่มใหม่ ในช่วงยุคที่อำนาจทางสังคมของชนชั้นศักดินาเดิมเริ่มเจือจางบางเบาลง เหมือนกับตัวละคร “หม่อมราชวงศ์จิรายุส” และ “หม่อมหลวงสวรรยา” บิดามารดาของจิราคมที่ความมั่งคั่งในอดีตดูจะร่อยหรอลงไปในพัฒนาการชีวิตตัวละครในช่วงท้ายเรื่อง กลุ่มชนชั้นนำที่สถาปนาอำนาจขึ้นใหม่ในปัจจุบันนี้ แท้จริงก็ได้แก่บรรดาคนชั้นกลางที่ไม่เพียงจะมีทั้งทุนความรู้และฐานะเศรษฐกิจที่มากมายและมั่งมีเท่านั้น แต่พวกเขาและเธอก็ยังเป็นกลุ่มอำนาจนำที่สั่งสมสถานะทางสังคมและเกียรติยศศักดิ์ศรีไว้อย่างสูงส่ง โดยเจริญรอยตามเส้นทางที่ชนชั้นศักดินาในอดีตเคยกรุยทางเอาไว้นั่นเอง พัฒนาการความผูกพันของตัวละครที่เดินทางข้ามห้วงเวลา จึงมิใช่แค่บทสะท้อนให้ผู้ชมตราตรึงกับความรักโรแมนติกของท้องเรื่องเท่านั้น หากแต่ยังสื่อสารให้เห็นการผันผ่านโครงสร้างอำนาจที่ปะทะประสานกันในมือของกลุ่มชนชั้นนำในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องในช่วงราวศตวรรษที่ผ่านมา ไม่ว่าจะ “เป็นรอยบุญมาหนุนนำ” หรือจะเป็น “รอยกรรมรอยเกวียนที่หมุนเปลี่ยนเสมอ” แต่ที่แน่ๆ ภาพการวิวัฒน์ไปของชีวิตตัวละครจาก “แต่ปางก่อน” ถึง “ยุคปัจจุบัน” ก็เป็นดั่งภาพการสะท้อนย้อนคิดให้เราเห็นอำนาจและบทบาทของชนชั้นนำที่เปลี่ยนผ่านและถ่ายมือกันไปมาจากรุ่นสู่รุ่นฉะนี้เอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 ประเมินความเสี่ยงสภาพจิตกับ Smile Hub

สังคมในปัจจุบันที่ต้องดำเนินชีวิตภายใต้ความกดดันและเครียด เราจึงต้องพยายามจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวนั้น  เพราะหากเราไม่สามารถจัดการกับปัญหาพวกนี้ได้ ย่อมอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตที่ไม่ดีตามมา  คำว่าสุขภาพจิตนั้น กรมสุขภาพจิต ได้ให้คำนิยามไว้ว่าหมายถึง สภาพชีวิตที่เป็นสุข อันเป็นผลจากการมีความสามารถในการจัดการปัญหาในการดำเนินชีวิต มีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี โดยครอบคลุมถึงความดีงามภายในใจ ภายใต้สภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อมีปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งเกิดจากภาวะกดดันและความเครียดจากการดำเนินชีวิตที่ไม่ราบรื่น สิ่งที่สามารถแก้ไขและทำได้นั่นคือ การฝึกคิดและมองโลกในแง่บวก รวมถึงการออกกำลังกาย เพื่อเป็นการสะสมสารเอ็นดอร์ฟินหรือสารแห่งความสุข ซึ่งควรฝึกปฏิบัติเป็นประจำให้ติดเป็นนิสัย และที่สำคัญควรรู้เท่าทันสุขภาพจิตของตนเองอยู่เสมอ ฉบับนี้ขอแนะนำแอพพลิเคชั่นประเมินความเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต มีชื่อว่า “Smile  Hub” เป็นแอพพลิเคชั่นของกรมสุขภาพจิตที่ใส่ใจและห่วงใจสุขภาพจิตของประชาชน แอพพลิเคชั่น “Smile  Hub” จะแบ่งการประเมินออกเป็น 4 ช่วงอายุ ได้แก่ เด็กแรกเกิดถึง 11 ปี วัยรุ่น 12 ถึง 17 ปี วัยทำงาน 18 ถึง 60 ปี และสูงวัย 60 ปีขึ้นไป โดยแอพพลิเคชั่นนี้จะเน้นการทำแบบประเมินเพื่อประมวลผลลัพธ์ออกมา พร้อมกับมีวิดีโอแนะแนวทางการพัฒนาในส่วนของการประเมินกลุ่มเด็กแรกเกิดถึง 11 ปี จะให้พ่อแม่ผู้ปกครองทำแบบประเมิน โดยแบ่งออกเป็นเด็กแรกเกิดถึง 5 ปี จะเน้นโปรแกรมเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก เด็กอายุ 3 ถึง 5 ปี และเด็กอายุ 6 ถึง 11 ปี จะเป็นแบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์กลุ่มวัยรุ่น 12 ถึง 17 ปี จะแบ่งแบบประเมินออกเป็น 2 ส่วน คือ แบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์ และแบบประเมินภาวะซึมเศร้า สำหรับกลุ่มวัยทำงาน 18 ถึง 60 ปี จะแบ่งแบบประเมินออกเป็น 4 ส่วน คือ แบบประเมินและวิเคราะห์ความเครียดด้วยตนเอง แบบประเมินภาวะซึมเศร้า แบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์สำหรับผู้ใหญ่ และแบบประเมินดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทยฉบับสั้น  ส่วนกลุ่มสูงวัย 60 ปีขึ้นไป จะแบ่งแบบประเมินออกเป็น 2 ส่วน คือ แบบประเมินสุขภาพจิตผู้สูงอายุฉบับสั้น และแบบประเมินภาวะซึมเศร้าผู้เขียนไม่ได้คิดว่าการใช้แอพพลิเคชั่นนี้จะใช้เฉพาะสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาทางด้านจิต แต่มุ่งหวังให้ผู้อ่านได้ลองทำแบบประเมินเพื่อวัดสภาพจิต ซึ่งหมายถึงการมีความสามารถในการจัดการปัญหาในการดำเนินชีวิต มีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี และฝึกคิดและมองโลกในแง่บวก เพียงเพื่อให้รู้เท่าทันความเสี่ยงและป้องกันสภาวะสภาพจิตที่มีความกดดันและความเครียดของตนเองที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินชีวิตได้โดยไม่รู้ตัว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 ควรแนะนำให้สตรีมีครรภ์กินปลาเพื่อได้ลูกที่มีสติปัญญาตามที่ควรเป็นหรือไม่

สาเหตุหนึ่งที่หลายคนเลี่ยงการกินปลาคือ ปลานั้นต้องอยู่ในน้ำตลอดเวลาและน้ำเป็นแหล่งธรรมชาติที่มักมีสารพิษปนเปื้อน มากบ้างน้อยบ้างขึ้นกับความมักง่ายของคนในพื้นที่ที่ปลาถูกจับ จึงมีคำถามว่า แล้วอย่างนี้ควรแนะนำให้สตรีมีครรภ์กินปลาเพื่อได้ลูกที่มีสติปัญญาตามที่ควรเป็นหรือไม่การศึกษาทางระบาดวิทยาเกี่ยวกับผลของการกินปลาต่อการพัฒนาของระบบประสาทเด็กในท้องแม่นั้นมีมานาน เช่น การศึกษาในชุมชนบนเกาะซีเซลล์ (Seychelles) ซึ่งอยู่นอกฝั่งอัฟริกาด้านตะวันออกในมหาสมุทรอินเดีย(เมื่อปี 1998 และ 2003) และการศึกษาในชุมชนบนหมู่เกาะฟาโร (Faroe Islands) ในมหาสมุทรแอตแลนติกซึ่งอยู่ในอาณัติของเดนมาร์ค (เมื่อปี 1997) แสดงให้เห็นว่า DHA (Docosahexaenoic acid) ซึ่งเป็นหนึ่งในกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดโอเมกา 3 ที่สำคัญต่อการพัฒนาระบบประสาทในสมองส่วนสีเทา (grey matter) และผนังของลูกตาในช่วงสามเดือนสุดท้ายของการท้องต่อเนื่องถึง 2 ปีแรกหลังคลอดของเด็ก และที่น่าสนใจเมื่อพบว่า แม่ที่กินปลาเป็นประจำระหว่างท้องได้ลูกมีพฤติกรรมที่ดี ผลการเรียนดี สายตาดี ความจำดี สามารถเรียนรู้และเข้าใจในการเรียนภาษาได้ดีตั้งแต่เด็ก ในทางระบาดวิทยาได้พบหลักฐานว่า การกินกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดโอเมกา-3 จากปลาหรือน้ำมันปลานั้นลดความเสี่ยงต่อการตาย เนื่องจากโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ (Coronary heart diseases) โดยมีข้อสรุปจากการศึกษาว่า การกินน้ำมันปลา 250-500 มิลลิกรัมของกรดไขมันชนิด EPA (Eicosapentaenoic) รวมกับ DHA ต่อวัน ช่วยลดความเสี่ยงของโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดหัวใจร้อยละ 36 อย่างไรก็ดีการกินมากขึ้นกว่านี้กลับไม่ช่วยให้ความเสี่ยงต่ำลงไปอีก ซึ่งแสดงว่า ประโยชน์จากการกินน้ำมันปลาต่อการป้องกันโรคหัวใจนั้นไม่ได้แปรผันโดยตรง ดังนั้นผู้สนใจกินน้ำมันปลาจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนด้วยเหตุที่การกินปลาเป็นเรื่องสำคัญของชาวโลกโดยเฉพาะในสตรีมีครรภ์ องค์การอาหารและเกษตรร่วมกับองค์การอนามัยโลก ซึ่งต่างก็สังกัดองค์การสหประชาชาติจึงได้ร่วมทำงาน(Joint Expert Consultation) อีกครั้งในเรื่องเกี่ยวกับ ความเสี่ยงและประโยชน์(Risks and Benefits) ของการกินปลา เมื่อวันที่ 25-29 มกราคม 2010 ที่สำนักงานใหญ่ขององค์การอาหารและเกษตร ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ประเด็นหลักของการประชุมคือ แม้ว่าปลาหลายชนิดอุดมด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดโอเมกา 3 ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ แต่ปลาก็เป็นแหล่งของสารพิษที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมที่ปลาอาศัยอยู่เช่น เม็ททิลเมอร์คิวรีและไดออกซิน ดังนั้นการชั่งน้ำหนักถึงความเสี่ยงในการได้รับสารพิษต่อประโยชน์จากการกินปลาจึงเป็นเรื่องสำคัญในการถกความรู้ของผู้เชี่ยวชาญ 17 คน ถึงความเสี่ยงภัยและประโยชน์ที่ได้จากการกินปลานั้น เป็นการพูดคุยกันในกรอบความรู้ด้านโภชนาการ พิษวิทยา ระบาดวิทยา และการประเมินความเสี่ยง/ประโยชน์ในการกินปลา ซึ่งสุดท้ายได้มีรายงานการประชุมชื่อ Report of the Joint Fao/Who Expert Consultation On The Risks And Benefits Of Fish Consumption ออกมาให้เราได้อ่านงานหลักของผู้เชี่ยวชาญครั้งนี้คือ การทบทวนข้อมูลของระดับสารอาหารและสารปนเปื้อนบางชนิดคือ เม็ททิลเมอร์คิวรีและไดออกซิน ซึ่งปนเปื้อนในปลาหลากหลายสายพันธุ์ ตลอดจนข้อมูลอื่นๆ ที่สำคัญ เพื่อใช้ในการพิจารณาประเมินถึงความเสี่ยงอันตรายจากสารพิษต่อประโยชน์ที่ได้จากน้ำมันปลามีการตั้งความหวังว่า ผลที่ได้จากการประชุมนั้น ควรถูกประเทศสมาชิกของสหประชาชาตินำไปใช้เป็นข้อแนะนำในการปฏิบัติงานเพื่อประเมินความเสี่ยงและประโยชน์ในการกินปลาของประชาชน โดยในรายงานฉบับนี้กำหนดให้ “ปลา” หมายถึง ปลาที่มีครีบและสัตว์น้ำที่มีเปลือก ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ทะเลหรือน้ำจืด ทั้งที่เลี้ยงในฟาร์มและอยู่ในธรรมชาติหลังการประชุมเสร็จผู้เชี่ยวชาญเห็นพ้องกันว่า ควรมีขั้นตอนการประเมินความเสี่ยงต่อประโยชน์ที่ได้จากการกินปลาของแต่ละประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อใช้ในการทำความเข้าใจกับประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภค ดังนั้นสิ่งที่ได้ออกมาจากการประชุมคือ ขอบข่ายงาน (Framework) ของการประเมินผลสุดท้ายที่ได้จากการกินอาหารปลา ทั้งด้านประโยชน์และโทษเพื่อเป็นเกณฑ์ให้หน่วยงานด้านความปลอดภัยทางอาหารระดับชาติของแต่ละประเทศและองค์กรที่กำหนดมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ เช่น Codex Alimentarius Commission ใช้ในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจัดการความเสี่ยงในการบริโภคปลาสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญสรุปได้คือ การกินปลา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการกินของแต่ละชุมชนนั้นเป็นประโยชน์ เพราะปลาเป็นแหล่งของ โปรตีน พลังงาน และสารอาหารต่างๆ ซึ่งรวมถึง กรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดโอเมกา-3 และที่สำคัญคือ การกินปลานั้นช่วยลดความเสี่ยงของโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดหัวใจ ดังนั้นจึงมีคำแนะนำให้สตรีมีครรภ์กินปลาเพื่อให้การพัฒนาระบบประสาทของเด็กในครรภ์เป็นไปตามศักยภาพที่มีในแง่ของอันตรายจากสารปนเปื้อนนั้นพบว่า ความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหากับเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจเนื่องจากเม็ททิวเมอร์คิวรีนั้น ข้อมูลที่มีอยู่ไม่ชัดเจน ส่วนความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเนื่องจากไดออกซิน(dioxin) นั้น แม้พบว่ามีอยู่แต่ก็ยังมีผลต่ำกว่าการรับได้ประโยชน์ต่อสุขภาพจากการกินปลา นอกจากนี้ในการประชุมนั้น ได้มีการพิจารณาเปรียบเทียบประโยชน์ที่ได้รับจากกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดโอเมกา-3 ต่อความเสี่ยงอันตรายเนื่องจากเม็ททิลเมอร์คิวรีของลูกในกลุ่มสตรีวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งพบว่า การกินปลาระหว่างการตั้งครรภ์ช่วยลดความเสี่ยงของการไม่พัฒนาของระบบประสาทของลูกแบบแอบแฝง (suboptimal neurodevelopment) ให้ต่ำลงเมื่อเทียบกับลูกของสตรีที่ไม่กินปลาสำหรับระดับของการสัมผัสสารพิษไดออกซิน จากการกินปลาและอาหารอื่นของแม่โดยทั่วไปนั้น ยังไม่เกินระดับที่ยอมรับให้สัมผัสได้ในแต่ละเดือน (Provisional Tolerable Monthly Intake หรือ PTMI) ที่กำหนดโดย JECFA (เมื่อพิจารณาถึงสาร PCDDs, PCDFs และ PCBs) คือ 70 พิโคกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ดังนั้นการกินปลาจึงยังไม่น่าก่อให้เกิดความเสี่ยงในการพัฒนาด้านระบบประสาทของเด็กในครรภ์ อย่างไรก็ดีในกรณีที่มีการสัมผัสสารพิษไดออกซินของสตรีในบางประเทศเกินระดับที่กำหนดนั้น ความเสี่ยงดังกล่าวไม่สามารถถูกตัดทิ้ง เมื่อมีการพิจารณาถึงกลุ่มทารก เด็กเล็กและวัยรุ่นเกี่ยวกับการกินปลานั้น พบว่าข้อมูลในการประชุมดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะสร้างขอบข่ายการประเมินเกี่ยวกับปริมาณ(quantitative framework) สารพิษที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพและประโยชน์ที่ได้รับจากการกินปลา อย่างไรก็ดีรูปแบบการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพซึ่งรวมถึงการกินปลานั้น ได้ถูกวางไว้ในวัยดังกล่าวแล้วเพื่อให้มีผลต่อเนื่องถึงชีวิตการเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี อีกทั้งในปี 2007 นั้น The World Cancer Research Fund และ American Institute for Cancer Research ได้รายงานถึงผลของอาหาร โภชนาการ การเคลื่อนไหวร่างกายต่อการเกิดมะเร็ง โดยไม่มีข้อมูลที่ระบุว่าการกินปลานั้นก่อความเสี่ยงอันตรายแต่อย่างไรสำหรับข้อเสนอแนะที่สำคัญจากการประชุมครั้งนี้คือ ประเทศสมาชิกต้องหาทางลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรายต่อกลุ่มเป้าหมายตามกระบวนการที่แนะนำ ทั้งในเรื่องการประเมินและการจัดการความเสี่ยง/ประโยชน์ที่ได้รับจากการกินปลาตลอดจนถึงการสื่อสารส่งต่อข้อมูลสู่ประชากร มีการเน้นย้ำว่า เพื่อให้ประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบประสาทของเด็กที่คลอดจากหญิงตั้งครรภ์และแม่ให้นมลูกที่กินปลาเกิดขึ้นนั้น ประเทศสมาชิกต้องดำรงและปรับปรุงระบบฐานข้อมูลที่เกี่ยวกับสารอาหารจำเพาะในปลาบางชนิดและโอกาสปนเปื้อนของสารพิษ(โดยเฉพาะอย่างยิ่งเม็ททิลเมอร์คิวรีและไดออกซิน) ในปลาที่ประชาชนในแต่ละประเทศสมาชิกกินและที่สำคัญคือ ต้องมีการพัฒนาและประเมินหลักการจัดการความเสี่ยงรวมถึงการสื่อสารข้อมูลในการลดความเสี่ยงอันตรายจากการกินปลาให้ต่ำสุดโดยได้รับประโยชน์จากการกินปลาสูงสุดสิ่งที่น่ากังวลจากการประชุมคือ มีบางประเทศที่เกิดความเสี่ยงในการยับยั้งการพัฒนาสมองของเด็กระหว่างที่อยู่ในท้อง เนื่องจากแม่กินปลาที่มีการปนเปื้อนเม็ททิลเมอร์คิวรี นอกจากนี้โอกาสเสี่ยงต่ออันตรายที่เกิดต่อหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ ผลกระทบด้านภูมิต้านทานและการสืบพันธุ์ก็ยังเป็นไปได้ อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ความสมบูรณ์ในข้อมูลด้านอันตรายของไดออกซินที่ปนเปื้อนในปลาต่อสุขภาพเช่น ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ ภูมิต้านทาน การพัฒนาระบบประสาทตลอดจนถึงมะเร็งนั้นยังไม่สมบูรณ์พอสุดท้ายนี้จึงมีคำถามซึ่งอยู่ในใจของผู้เขียนว่า สตรีมีครรภ์ในบ้านเราได้กินปลาที่ปลอดภัยจากสารพิษที่ปนเปื้อนในทะเลแล้วหรือไม่ เพราะปลาที่จับจากอ่าวไทยมันนั้นน่าจะมีสารพิษเพิ่มขึ้นทุกวัน ทั้งสารพิษจากชุมชม โรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนการล่มของเรือบรรทุกน้ำมันและการรั่วไหลจากบ่อน้ำมันในทะเล อีกทั้งบนชายฝั่งทะเลอันดามันนั้นก็กำลังมีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมแถบทวารและมะริดของเพื่อนบ้านไล่ลงมาถึงความพยายามสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน (ซึ่งยังไงๆ ก็ไม่มีทางสะอาด) แล้วสุขภาพทางสมองของเด็กไทยที่แม่ต้องกินปลาที่ปนเปื้อนจะเป็นอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 รู้เท่าทันผึ้งบำบัด

นอกจากการใช้ปลิง หอยทาก ในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ แล้ว  การแพทย์ทางเลือกและการแพทย์เสริมยังนิยมใช้ผึ้งต่อยหรือฝังเหล็กในที่ร่างกายผู้ป่วยเพื่อเป็นการบำบัดโรคปวดข้อ ข้อเสื่อมอีกด้วย  การบำบัดด้วยพิษจากเหล็กในของผึ้งได้ผลจริงหรือไม่  เรามารู้เท่าทันกันเถอะ พิษของผึ้งมีผลอย่างไรต่อร่างกาย การบำบัดด้วยเหล็กในผึ้งเป็นการรักษาแบบพื้นบ้าน ซึ่งนิยมใช้ในหลายประเทศมานานหลายศตวรรษ  ในการแพทย์ดั้งเดิมใช้ในการบำบัด ข้ออักเสบ ภูมิต้านทานร่างกายผิดปกติ  พิษจากเหล็กในผึ้งประกอบด้วยสารประกอบต่างๆ ประมาณ 40 ชนิดที่ช่วยในการเยียวยา โดยเฉพาะสารเมลิตติน (melittin)  ซึ่งเป็นสารที่ช่วยลดการอักเสบและข้ออักเสบผู้คนเชื่อว่า พิษของผึ้งมีผลในการลดความเจ็บปวด ช่วยบรรเทาอาการของโรคต่างๆ ตั้งแต่ ข้ออักเสบ เอ็นอักเสบ กล้ามเนื้อพังผืดอักเสบ  รูมาตอยด์ ปลอกประสาทอักเสบ เป็นต้น  บางเว็บไซต์อ้างว่าบำบัดอาการต่างๆ ได้มากกว่า 30 โรค สมมติฐานทางการแพทย์เชื่อว่า พิษของเหล็กในผึ้งจะไปกระตุ้นต่อมหมวกไตเพื่อหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล ซึ่งมีคุณสมบัติในการลดอาการอักเสบ  นอกจากนี้ พิษของเหล็กในผึ้งยังไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันเพื่อไปเยียวยาส่วนต่างๆ และยังไปสร้างสารเอ็นโดรฟิน ซึ่งลดความเครียดและลดอาการปวดของร่างกาย  นอกจากนี้พิษเหล็กในผึ้งยังมีคุณสมบัติในการต่อสู้กับแบคทีเรีย ไวรัส ในระบบประสาทส่วนกลางและที่อื่นๆมีอาการแพ้พิษจากเหล็กในผึ้งได้หรือไม่ ในสหรัฐอเมริกา มีผู้มีประสบการณ์การบำบัดด้วยผึ้งประมาณ 65,000 คน ซึ่งมีเพียงร้อยละ 2 เท่านั้นที่มีอาการแพ้  แม้ว่าพิษของเหล็กในผึ้งจะไม่สามารถบำบัดได้ทุกอาการ แต่ก็สามารถทำให้อาการต่างๆ สงบลงได้โดยไม่มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายเมื่อเทียบเท่ากับยา ในสหราชอาณาจักร พบว่า ในแต่ละปี มีผู้เสียชีวิตจากการแพ้พิษจากเหล็กในผึ้ง 2- 9 ราย  ดังนั้น เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการแพ้ จึงมีการฉีดพิษเหล็กในผึ้งที่บริสุทธิ์เข้าใต้ผิวหนังทีละน้อย และค่อยๆ เพิ่มขึ้น แทนที่จะใช้ผึ้งเป็นๆ มาต่อยที่ผิวหนัง จาการทบทวนเอกสาร พบงานวิจัย 145 รายงาน   พิษเหล็กในผึ้งก่อให้เกิดความเสี่ยงในการแพ้ถึง ร้อยละ 261 เมื่อเทียบกับการฉีดด้วยน้ำเกลือ  อาการแพ้พิษเกิดได้บ่อย จึงสมควรที่นักบำบัดจะต้องระวังเมื่อใช้ผึ้งบำบัด และต้องได้รับการอบรมตามมาตรฐานพิษจากเหล็กในผึ้งบำบัดโรคได้จริงหรือไม่ จากการทบทวนวรรณกรรมใน PUBMED, EMBASE และ Cochrane Library เกี่ยวกับการบำบัด       ข้ออักเสบ ด้วยพิษเหล็กในผึ้ง  มีงานวิจัย 15 รายงาน พบว่า พิษจากเหล็กในผึ้งมีผลในการลดการอักเสบและอาการปวด  มี 5 รายงานที่แสดงว่า พิษจากเหล็กในผึ้งมีประสิทธิผลในการบำบัดข้ออักเสบ มีการทบทวนการวรรณกรรมการใช้พิษเหล็กในผึ้งในการบำบัดมะเร็งเช่น  มะเร็งที่ไต ปอด ตับ ต่อมลูกหมาก กระเพาะปัสสาวะ เต้านม และมะเร็งเม็ดเลือดขาว  พบว่า สารเมลิตตินและฟอสฟอไลเปส A2 สามารถจับเซลล์มะเร็ง และมีผลทำให้เซลล์มะเร็งตายได้  ซึ่งจะเป็นแนวทางในการศึกษาต่อไป นอกจากนี้ ยังมีการทบทวนวรรณกรรมในการใช้พิษเหล็กในผึ้งในการรักษารูมาตอยด์ อาหารปวดหลังส่วนล่าง ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก และอื่นๆ อีกจำนวนมากสรุป การบำบัดด้วยพิษเหล็กในผึ้งนั้น มีหลักฐานการวิจัยมากพอควรว่ามีประสิทธิผลในการรักษาโรคต่างๆ โดยเฉพาะ ข้ออักเสบ รูมาตอยด์ อาการปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ ทั้งนี้เพราะ พิษจากเหล็กในผึ้งมีผลในการลดการอักเสบและอาการปวด  รวมทั้งมีผลต่อภูมิคุ้มกันของร่างกายซึ่งมีผลดีในผู้ที่มีปัญหาภูมิต้านทานของร่างกายผิดปกติ

อ่านเพิ่มเติม >