ฉบับที่ 222 ซื้อตั๋วรถทัวร์ล่วงหน้า แต่ว่าไม่มีที่นั่งในวันเดินทาง

        ปัญหาคลาสสิกของเรื่องการเดินทางช่วงวันหยุดยาวคือ การหารถโดยสารเพื่อเดินทาง เพราะคนมาก ความต้องการสูงแต่รถน้อย ดังนั้นหลายท่านจึงแก้ไขด้วยการจองตั๋วล่วงหน้า และถ้าได้ตั๋วมาไว้ในมือแล้ว ซึ่งมีพร้อมรายละเอียดทั้งเที่ยวรถและเลขที่นั่ง ย่อมจะมั่นใจว่าตนเองไม่พลาดการเดินทางแน่ แต่ระบบรถโดยสารประเทศไทยอะไรก็เกิดขึ้นได้        คุณเนตรนภาและหลานสาวเป็นชาวจังหวัดแพร่ มีแผนที่จะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ในวันหยุดยาวที่กำลังจะมาถึง เนื่องจากเกรงว่าตั๋วโดยสารจะเต็มเพราะเป็นช่วงเทศกาล คุณเนตรนภาจึงตัดสินใจซื้อตั๋วล่วงหน้าจากบริษัทรถทัวร์เชิดชัยทัวร์ จากท่ารถอำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ในราคาใบละ 450 บาท ซึ่งตั๋วได้ระบุเวลาเดินทางและเลขกำกับที่นั่งไว้ชัดเจน 1 เอ และ 1 บี โดยมีรอบเดินทางเวลา 20.50 น.         เมื่อถึงวันเดินทางก่อนเวลาแค่ 20 นาที คือ 20.30 น. คุณเนตรนภาได้รับแจ้งจากพนักงานขายตั๋วโดยสารทางโทรศัพท์ว่า รถทัวร์คันที่คุณเนตรนภาได้ซื้อตั๋วล่วงหน้าเอาไว้นั้น เต็มตั้งแต่ต้นทางแล้ว ขอให้คุณเนตรนภารีบเดินทางไปซื้อตั๋วโดยสารใหม่ที่สถานีขนส่งแพร่         เมื่อคุณเนตรนภาเดินทางไปถึงสถานีขนส่งจังหวัด ก็ได้โต้เถียงกับพนักงานขายตั๋วว่า รถจะเต็มได้อย่างไร ในเมื่อตั๋วที่ซื้อมาระบุที่นั่งและเวลาไว้ชัดเจน ตนเองควรได้สิทธิในการนั่งเพราะตนเองจองและจ่ายเงินไปแล้ว  ไม่ควรต้องถูกปฏิเสธิการใช้บริการและไปเที่ยวหาซื้อตั๋วใหม่ ซึ่งไม่แน่ว่าจะได้ไหม  การที่บริษัททำแบบนี้ เอาเปรียบตนเองและหลานสาวมาก หากตนเองซื้อตั๋วใหม่ไม่ได้จะทำอย่างไร ที่พัก และอื่นๆ ที่จองไว้ก็จะพลาดทั้งหมด         คุณเนตรนภาพยายามใช้สิทธิอย่างเต็มที่ แต่สุดท้ายก็ต้องจำใจรับเงินค่าโดยสารคืนกลับมา เพราะการบริษัทปล่อยให้มีคนอื่นโดยสารในที่ของตนเองไปแล้ว อย่างเลี่ยงไม่ได้  เมื่อพาหลานสาวเดินหาตั๋วใหม่ในคืนนั้น ก็เป็นอย่างที่คิดคือ เที่ยวรถที่จะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ นั้นเต็มหมดทุกเที่ยว คุณเนตรนภาและหลานสาวจึงต้องพลาดการเดินทางในคืนนั้นจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คุณเนตรนภาตัดสินใจร้องเรียนมายังศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดแพร่ ถึงการให้บริการที่ไม่ได้มาตรฐานของบริษัทรถทัวร์ จากการซื้อตั๋วโดยสารล่วงหน้าที่ระบุเลขที่นั่งชัดเจน แต่เมื่อถึงเวลาเดินทาง กลับไม่สามารถเดินทางได้เพราะที่นั่งเต็ม แนวทางการแก้ไขปัญหา        กรณีดังกล่าว ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดแพร่ ได้ดำเนินการส่งเรื่องร้องเรียนไปยังบริษัทเชิดชัยทัวร์ และขนส่งจังหวัดแพร่เพื่อแก้ไขปัญหา แต่ไม่พบว่ามีการตอบกลับมาจากทั้งสองแห่ง         อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ทางคุณเนตรนภาขอยุติเรื่องไปก่อน ดังนั้นหากผู้บริโภคเจอเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกัน ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะนำให้ปฏิบัติ ดังนี้         1. ถ่ายภาพตั๋วโดยสาร สถานที่จำหน่ายตั๋ว และสอบถามชื่อพนักงานจำหน่ายตั๋วเก็บไว้เป็นหลักฐาน        2. แจ้งความลงบันทึกประจำวัน ณ สถานีตำรวจที่สะดวก กรณีเกิดความเสียหายจากการพลาดเที่ยวรถ เช่น ค่าปรับจากการผิดนัดติดต่องาน หรือเสียโอกาสจากการว่าจ้างงาน โดยท่านสามารถเรียกค่าเสียหายจากบริษัทผู้ให้บริการรถทัวร์โดยสารได้        3. ส่งหนังสือร้องเรียนไปยังบริษัทผู้ให้บริการรถทัวร์, ขนส่งประจำจังหวัด และ กรมการขนส่งทางบก รวมถึงส่งสำเนาหนังสือร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ด้วยก็ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 เมื่อที่จอดรถคนพิการของคอนโดกลายเป็นของคนอื่น

        ชีวิตในคอนโดมิเนียม ก็ใช่ว่าจะสวยงามเหมือนในใบโฆษณาเสมอไป เพราะมันคือสังคมหมู่บ้านแบบหนึ่ง ถ้าได้เพื่อนบ้านดี นิติบุคคลที่บริหารจัดการได้ดี เรื่องจุกจิกกวนใจก็น้อย แต่ถ้าเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นระหว่างผู้พักอาศัย แล้วคนกลางหรือนิติบุคคลเกิดมีแนวโน้มเข้าข้างคู่กรณี แบบนี้ชีวิตก็ลำบาก เช่นเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้         คุณครูปรีชา หลังเกษียณก็ใช้ชีวิตอยู่ที่คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งย่านบางนา คุณครูพักอาศัยคอนโดแห่งนี้มากว่า 14 ปี ไม่มีปัญหาอะไร ปกติคุณครูจะสามารถจอดรถในที่จอดรถสำหรับคนพิการตามสิทธิที่ตนเองพึงได้ จนเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงคณะนิติบุคคลชุดใหม่ที่มีอาจารย์ท่านหนึ่งจากมหาวิทยาลัยใกล้เคียงกับคอนโดได้ขึ้นเป็นประธานกรรมการของคอนโดดังกล่าว (คุณครูปรีชาระบุว่า เหตุที่อาจารย์ท่านนี้ได้รับเลือกก็เพราะมีบุคลากรของมหาวิทยาลัยที่อาศัยอยู่ในคอนโดเป็นจำนวนมากเป็นผู้เลือกอาจารย์ท่านนี้เข้ามา) เรื่องวุ่นวายก็เกิดขึ้น         ตัวคุณครูนั้นมิได้มีปัญหาอะไรกับอาจารย์ท่านดังกล่าว แต่เมื่อมีการทำสัญญาว่าจ้างหรือเปลี่ยนบริษัทจัดการบริหารงานคอนโดเป็นบริษัทใหม่ ปรากฏว่ามีคนแปลกหน้าซึ่งอ้างตัวว่า เป็นผู้จัดการบริษัทดังกล่าวปล่อยให้เกิดกรณีคนนอกซึ่งไม่ใช่คนพิการเข้ามาใช้ที่จอดรถคนพิการหลายครั้ง ทำให้คุณครูไม่สามารถจอดรถในที่เดิมได้ คุณครูจึงทำเรื่องร้องเรียนต่อประธานกรรมการหรืออาจารย์ สมมติว่าชื่อ อาจารย์โอ ก็ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา ถูกกีดกันแม้กระทั่งการขอพบหรือเบอร์โทรศัพท์เพื่อติดต่อ        การกระทำที่เหมือนละเลยสิทธิของคุณครูปรีชาทำให้เกิดปัญหาวิวาทบ่อยครั้งระหว่างผู้จัดการนิติบุคคล ผู้จัดการอาคาร กับคุณครู ต่อมาในเดือนกันยายน 2561 นิติบุคคลได้ปล่อยให้เกิดเหตุ คือ คู่กรณีของคุณครูที่มีเรื่องฟ้องร้องกันอยู่ขึ้นไปจนถึงห้องพักของคุณครู โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย ซึ่งคุณครูพยายามร้องเรียนเรื่องดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขซ้ำยังถูกกระทำในลักษณะข่มขู่คุกคามจากฝ่ายนิติบุคคลในขณะที่คุณครูเข้าไปร้องเรียนที่ห้องทำงานของนิติฯ และยังพบก้นบุหรี่บนหลังคารถของตนเองที่จอดไว้ในที่จอดรถอีกหลายครั้ง จึงปรึกษามาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าพอจะมีแนวทางจัดการปัญหาเรื่องนี้อย่างไรบ้าง   แนวทางการแก้ไขปัญหา        เรื่องของคุณครูต้องแบ่งเป็นสองกรณี คือกรณีที่อาจเข้าลักษณะข่มขู่หรือทำร้ายร่างกาย ควรแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย สำหรับกรณีเรื่องปัญหาที่จอดรถ ซึ่งตามที่คุณครูร้องเรียนคือ นิติบุคคลไม่ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ทางศูนย์ฯ ได้ทำหนังสือเพื่อขอให้ทางนิติบุคคลและผู้ร้องได้เจรจากันในเบื้องต้นเพื่อไกล่เกลี่ยหาข้อยุติ ต่อมาก็ได้รับการบอกกล่าวจากคุณครูปรีชาว่า “ตอนนี้สามารถเข้าไปจอดรถในที่ของคนพิการได้แล้ว และไม่พบว่ามีคนที่ไม่ใช่คนพิการเข้ามาจอดอีก” คุณครูจึงของยุติเรื่องการร้องเรียนไว้ก่อน และขอบคุณทางมูลนิธิฯ ที่ช่วยให้คำแนะนำและประสานงานเรื่องการเจรจากับทางนิติบุคคลให้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 เปลี่ยนรัฐบาลนโยบายเปลี่ยน

ว่ากันว่า เปลี่ยนรัฐมนตรีใหม่เมื่อใด นโยบายที่เคยมีไว้ก็ต้องเปลี่ยน โดยเฉพาะกระทรวงสายล่อฟ้ายุคศักดิ์สยาม ชิดชอบเป็นเจ้ากระทรวงนับตั้งแต่ศักดิ์สยามเข้ามารับตำแหน่งเจ้ากระทรวงคมนาคม ก็มีเรื่องให้ฮือฮาไม่เว้นวัน ตั้งแต่จะเพิ่มความเร็วบนถนนเป็น 120 ขึ้นราคาค่ารถแท็กซี่ ยกเลิกแท็กซี่โอเค ให้รถส่วนบุคคลมาวิ่งรับจ้างได้ รวมถึงประเด็นร้อนแรงที่สุด คือ ขยายเวลาอายุรถตู้เพิ่มขึ้น และ ไม่บังคับรถตู้ที่หมดอายุให้เปลี่ยนเป็นไมโครบัส ให้แล้วแต่ความสมัครใจแทน ทั้งที่กฎหมายเดิมกำหนดไว้แล้วให้ต้องเปลี่ยนทั้งหมด อ้างเหตุผลเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภค ที่มีเหตุผลทางวิชาการสนับสนุนว่า อุบัติเหตุบนถนนเกิดจากผู้ขับขี่บกพร่องและประมาท เมาแล้วขับ มากกว่าเกิดจากยานพาหนะ พร้อมทั้งปกป้องประโยชน์ของชาติในการปิดช่องมิให้บุคคลใดหรือกลุ่มใดได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนรถตู้ไปเป็นรถไมโครบัส ซึ่งหมายถึงทุนจีนนั่นเอง         ประเด็นนี้กลายเป็นข้อถกเถียงใหญ่ในสังคมตอนนี้ ทั้งยังสร้างความแตกแยกให้กับกลุ่มคนสองกลุ่ม หนึ่ง คือ กลุ่มผู้ประกอบการรถตู้โดยสารที่เป็นผู้ถูกบังคับตามกฎหมาย และสอง คือ กลุ่มผู้บริโภคและนักวิชาการที่ผลักดันความไม่ปลอดภัยของรถตู้โดยสารมาตลอด         หากย้อนกลับไปเมื่อสิบกว่าปีก่อน จากที่รถตู้โดยสารเคยเริ่มให้บริการแค่ในกรุงเทพฯ ก็ขยายเป็นกรุงเทพฯ-ปริมณฑล จนกระทั่งวิ่งทางไกลกรุงเทพฯ-ต่างจังหวัด ปัญหาของรถตู้โดยสารเริ่มต้นที่สมัยนายโสภณ ซารัมย์ อดีตเจ้ากระทรวงคมนาคมจากพรรคภูมิใจไทย ได้ให้ความช่วยเหลือรถตู้เถื่อนให้เข้ามาจดทะเบียนเป็นรถป้ายเหลือง หรือที่เรียกว่า ม.2 (ต) รวมถึงมีนโยบายเปลี่ยนรถบัสเดิมขนาด 46 ที่นั่ง 1 คัน เป็นรถตู้โดยสาร 3 คัน โดยจะเรียกว่า ม.2(จ) เพราะเมื่อมีรถตู้ในระบบแล้ว รถบัสเลยแข่งสู้ไม่ได้ ก่อนที่ คสช.จะเข้ามาจัดระเบียบรถตู้เถื่อนอีกรอบคราวนี้เรียกว่า ม.2(ช) และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่นำมาสู่การทำลายระบบขนส่งสาธารณะโดยสิ้นเชิงจนถึงปัจจุบัน         แน่นอนว่าเสียงในสังคมส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของเจ้ากระทรวงคมนาคมผู้นี้ เพราะมีสถิติอุบัติเหตุรถตู้โดยสารและข้อมูลทางวิชาการมากมายที่ชัดเจนแล้วว่า รถตู้โดยสารที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้นไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับใช้โดยสารแต่ใช้สำหรับบรรทุกสิ่งของ อีกทั้งโครงสร้างของรถและอุปกรณ์ภายในรถไม่ได้มาตรฐานในการขนส่งผู้โดยสาร แต่นำมาใช้งานผิดประเภททำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ อีกทั้งเมื่อเกิดอุบัติเหตุจะส่งผลทำให้มีความรุนแรงทั้งต่อการบาดเจ็บและส่งผลต่อการเสียชีวิต         นอกจากนี้ยังมีงานศึกษาเรื่องการกำหนดอายุรถของ นายพิชัย ธานีรณานนท์ หัวหน้าโครงการศึกษาการกำหนดอายุใช้งานรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ระบุว่า “สาเหตุที่ต้องกำหนดอายุรถ ก็เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งส่วนใหญ่สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุมาจากคนขับ แต่เนื่องจากสภาพรถเก่ามีอายุมาก จึงส่งผลให้ความรุนแรงของอุบัติเหตุเพิ่มมากขึ้น หากประสิทธิภาพรถอยู่ในสภาพที่ดี ไม่ชำรุด ก็จะสามารถลดความรุนแรงนั้นได้”         อีกทั้งศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะจากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกในปี พ.ศ. 2558 นั้นพบว่า รถตู้มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ สูงกว่า รถบัส 1 ชั้น ถึง 2 เท่า ส่วนอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถตู้สาธารณะนั้น ก็สูงกว่า อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถบัสชั้นเดียว ถึง 2 เท่า เช่นเดียวกัน        สอดคล้องกับ รศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์ เฉลิมพงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งศึกษาวิจัยเรื่อง โครงการการศึกษาความปลอดภัยรถตู้โดยสารสาธารณะ พบว่า การนำรถตู้มาทำเป็นรถโดยสารไม่เหมาะสม จากสถิติอุบัติเหตุเห็นชัดว่ารถตู้โดยสารสาธารณะเกิดอุบัติเหตุมากกว่ารถบัสถึง 5 เท่า ประเทศที่พัฒนาแล้วไม่มีการนำรถตู้มาให้บริการสาธารณะ         จะเห็นได้ว่ามีข้อมูลทางสถิติและข้อมูลทางวิชาการหลายส่วน ที่สนับสนุนแนวทางการกำหนดอายุรถตู้โดยสาร รวมถึงการต้องปรับเปลี่ยนรถตู้เป็นรถไมโครบัสเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคที่ใช้บริการ เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุด้วยสภาพโครงสร้างของรถตู้จะมีความรุนแรงมากกว่ารถไมโครบัสมาก และนอกจากความรุนแรงที่ต่างกันแล้ว โอกาสและความน่าจะเกิดอุบัติเหตุของรถตู้โดยสารย่อมมีมากกว่ารถไมโครบัส เพราะจำนวนและความถี่ในการเดินรถที่แตกต่างกันด้วย         ท้ายที่สุดถึงการปรับเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีกว่าอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะที่ผ่านมารัฐได้ปล่อยปละละเลย ขยายเวลาให้โอกาสกับกลุ่มผู้ประกอบการมาโดยตลอด จนกลายเป็นความเคยชิน ที่เมื่อขู่ประท้วงก็จะได้รับการยกเว้นหรือขยายเวลาต่อโอกาสเรื่อยมา ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านของรัฐบาล คสช. สู่รัฐบาลหลังการเลือกตั้งโดยมีนักการเมืองเข้ามาคุมนโยบาย จึงไม่มีสิทธิทำให้ความปลอดภัยที่มีไว้แล้วถอยหลังลง นักการเมืองควรคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งโดยยึดหลักความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด         มนุษย์มีสิทธิผิดพลาดได้ แต่ความผิดพลาดต้องไม่นำไปสู่ความสูญเสีย อุบัติเหตุอาจจะห้ามให้มีไม่ได้ แต่เราป้องกันและลดความรุนแรงได้ ยานพาหนะที่ปลอดภัยนี่แหละที่จะช่วยลดความสูญเสียไม่ให้เกิดขึ้นได้จริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 กระแสต่างแดน

รถไฟไฉไลกว่า        ผู้คนหันมาเดินทางด้วยรถไฟกันมากขึ้นในภูมิภาคยุโรป ตัวอย่างเช่นในสวีเดน ยอดขายตั๋ว Interrail ในช่วงเจ็ดเดือนแรกของปี เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 85 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า         นี่อาจเป็นผลจากการรณรงค์ “flight shame” (หรือ flygskam ในภาษาสวีดิช) โดยสาวน้อยนักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม เกรต้า ธันเบิร์ก และคุณแม่ของเธอ ที่เรียกร้องให้ผู้คนเปลี่ยนจากการเดินทางโดยเครื่องบินมาเป็นรถไฟ (ขณะเขียนข่าวนี้ เกรต้ากำลังเดินทางด้วยเรือยอทช์พลังแสงอาทิตย์ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังนิวยอร์กเพื่อเข้าร่วมการประชุมเรื่องสภาพอากาศ)         องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมของยุโรประบุว่า การเดินทางด้วยเครื่องบินสร้างคาร์บอนไดออกไซด์ 285 กรัมต่อหนึ่งกิโลเมตร สำหรับผู้โดยสารหนึ่งคน ในขณะที่ผู้โดยสารรถไฟจะสร้างคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 14 กรัมในระยะทางที่เท่ากัน         ตัวแทนขายตั๋วบอกว่าอีกเหตุผลสำคัญคือนักเดินทางเริ่มตระหนักว่าการเดินทางด้วยรถไฟสามารถเป็นไฮไลท์ของการเดินทางทริปนั้นได้ด้วยมีขยะขึ้นคันนี้         หากคุณจะไปไหนมาไหนในเมืองสุราบายา อย่าลืมพกแก้วหรือขวดพลาสติกที่ใช้แล้วไปด้วย เพราะมันสามารถใช้แลกตั๋วรถได้        รถบัสปรับอากาศเที่ยวพิเศษที่คิดค่าโดยสารราคาเดียวตลอดสายนี้มีให้บริการทั้งสิ้น 20 คัน คุณจะเลือกจ่ายค่าตั๋วเป็นขวดพลาสติกขนาดใหญ่ 3 ขวด หรือขวดขนาดกลาง 5 ขวด หรือแก้วพลาสติก 10 ใบก็ได้         สุราบายา ซึ่งมีประชากรประมาณ 2.9 ล้านคน ทดลองโครงการนี้ตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว เพื่อลดขยะและแก้ปัญหาการจราจรหนาแน่น ถึงตอนนี้เสียงตอบรับเป็นที่น่าพอใจ แต่ละสัปดาห์มีคนใช้บริการประมาณ 16,000 คน และบริษัทรถก็มีรายได้เป็นขวดพลาสติกเดือนละ 6,000 กิโลกรัม        ก่อนหน้านี้บาหลีได้ประกาศห้ามใช้หลอดพลาสติก ในขณะที่จาการ์ตาก็กำลังเล็งแผนงดใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง นี่คือส่วนหนึ่งของความพยายามของอินโดนีเซียที่จะลดปริมาณพลาสติกในทะเลลงให้ได้ร้อยละ 70 ภายในปี 2025        อินโดนีเซียก่อมลพิษทางทะเลมากเป็นอันดับสองของโลกรองจากจีนยังมีความเสี่ยง         ปรากฎการณ์ฟาสต์แฟชั่นยังดำเนินต่อไป บังคลาเทศยังคงเป็นประเทศผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งออกมากเป็นอันดับสองของโลกรองจากจีน และร้อยละ 16 ของเศรษฐกิจของประเทศขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมนี้ซึ่งมีการจ้างงานผู้คนไม่ต่ำกว่า 4 ล้านคน         แล้วเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นบ้างหลังเหตุการณ์ตึกรานาพลาซ่าถล่ม เมื่อปี 2013         โศกนาฎกรรมที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,100 คนทำให้บรรดาเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตในบังคลาเทศร่วมกันลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการปรับปรุงความปลอดภัยของอาคารโรงงาน และร่วมกันลงขันเพื่อช่วยให้เกิดการปรับปรุงดังกล่าวด้วย โดยมีกำหนดเวลาห้าปี         สมาคมผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของบังคลาเทศ เปิดเผยว่าขณะนี้มีโรงงานเพียง 200 แห่ง จาก 1,600 แห่ง ที่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย และมีอย่างน้อย 400 โรงงานที่ยังอยู่ในสภาพแย่มากจนต้องถูกสั่งห้ามรับออเดอร์จากต่างประเทศชีวิตติดจอ         ผลการวิจัยล่าสุดโดย The Shift Project องค์กรรณรงค์ด้านการใช้พลังงานทางเลือก พบว่า ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นจากการดูวิดีโอออนไลน์ในปี 2018 มีมากถึง 300 ล้านตัน(เท่ากับการปล่อยก๊าซนี้จากประเทศขนาดเท่าสเปนในเวลาหนึ่งปี)         เขาคาดการณ์ว่าในอีกสามปีข้างหน้า ร้อยละ 60 ของประชากรโลกจะเข้าสู่สังคมออนไลน์ และร้อยละ 80 ของการใช้อินเทอร์เน็ตของคนเหล่านี้จะเป็นการดูวิดีโอ โดยร้อยละ 60 ของวิดีโอที่ดูจะมาจากบริการสตรีมมิ่ง เช่น ยูทูบ เน็ทฟลิกซ์ และวิมีโอ นั่นเอง         เขาพบว่าการรับ-ส่งข้อมูลไอทีแบบนี้ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าธุรกิจการบินด้วยซ้ำ นักวิจัยแนะนำว่าหากต้องการประหยัดพลังงาน เราควร... 1. ดูหนังจากโทรทัศน์แทนโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ (ถ้าเป็นไปได้) 2. ดูผ่านเครือข่ายไฟเบอร์ออปติก 3. ดูในจอเล็ก 4. ดูผ่านไวไฟ และ 5. เลือกความคมชัดธรรมดา เพราะความละเอียดที่มากขึ้นหมายถึงการใช้พลังงานมากขึ้นด้วยอย่าถามเยอะ         การใช้เอไอหรือปัญญาประดิษฐ์อย่างกว้างขวางในการเสนอขายสินค้าหรือบริการ รวมถึงการสนับสนุนการจับจ่ายแบบไม่ใช้เงินสดทำให้ผู้บริโภคในประเทศจีนได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น แต่มีคนจำนวนไม่น้อยรู้สึกถูกละเมิดความเป็นส่วนตัว         สมาคมผู้บริโภคแห่งประเทศจีน (CCA) ระบุว่าร้อยละ 91 ของแอปพลิเคชันมือถือ กำหนดให้ผู้บริโภคกรอกข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องกับบริการนั้นเลย เช่น แอปฯ ซื้อตั๋วหนังที่ขอข้อมูลเกี่ยวกับการทำงาน         เมื่อไม่ให้ข้อมูล ผู้บริโภคก็จะซื้อตั๋ว สั่งอาหาร หรือจ่ายค่าสินค้าไม่ได้ ถ้าเป็นเมืองอื่นก็พอจะทำธุรกรรมแบบออฟไลน์ได้ แต่ในเมืองเทคโนโลยีล้ำอย่างเซินเจิ้น ผู้บริโภคแทบจะไม่มีทางเลือกเพราะต้องทำทุกอย่างผ่านแอปฯ เท่านั้น            การสำรวจระบุว่าร้อยละ 80 ของประชากรเคยมีประสบการณ์เบอร์มือถือหรือเบอร์โทรศัพท์ “รั่วไหล” ไปอยู่ในมือของพวกสแปมหรือโทรศัพท์มารบกวน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 ความเคลื่อนไหวเดือนกรกฎาคม 2562

สมอวสาน'รถตู้'!เปิดตัวรถโดยสารขนาดเล็ก วิ่งบริการแทนทั่วประเทศดีเดย์ 1 ตุลาคมนายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป กำหนดให้ใช้รถโดยสารขนาดเล็กที่ได้มาตรฐานมาให้บริการทดแทนรถตู้ครบกำหนดอายุ 10 ปี ครอบคลุมรถตู้หมวด 1 และหมวด 4 ที่ให้บริการภายในกรุงเทพมหานครและเส้นทางต่อเนื่องภายในจังหวัด และส่วนภูมิภาคหมวด 2 กรุงเทพมหานครไปยังต่างจังหวัด รวมถึงเส้นทางรถหมวด 3 ที่วิ่งระหว่างจังหวัดกับจังหวัด โดยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 นั้น ได้มีการกำหนดเปลี่ยนรถตู้โดยสารที่ครบอายุการใช้งานก่อนครบ 10 ปี เฉพาะในเส้นทางหมวด 2 กรุงเทพฯ-ต่างจังหวัดทุกเส้นทางจำนวน 937 คัน  สมอ. ลุยเชือดร้านค้าออนไลน์ยึดอายัดสินค้าไม่ได้มาตรฐาน        นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ.ส่งทีม เฉพาะกิจเข้าตรวจสอบแหล่งกระจายสินค้าของร้านค้าออนไลน์ 2 แห่ง ในพื้นที่ถนนพระรามที่ 2 บางขุนเทียน กทม. และลาดหลุมแก้ว ปทุมธานี หลังสืบทราบเบาะแสว่ามีการจำหน่ายสินค้าผิดกฎหมาย พบว่ามีสินค้าที่รอการจัดส่งให้ลูกค้าจำนวนมาก และหลายรายการเป็นมาตรฐานบังคับต้องแสดงเครื่องหมายมาตรฐาน แต่ไม่แสดงเครื่องหมายมาตรฐานหรือแสดงไม่ถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย ได้แก่ ของเล่น สีเทียน ฝักบัวอาบน้ำ ผงซักฟอก และเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เตาปิ้งย่าง ไดร์เป่าผม เครื่องม้วนผม เครื่องหนีบผม ปลั๊กพ่วง โคมไฟดักยุง พัดลม หลอดไฟแอลอีดี เป็นต้น         “จากการตรวจสอบพบว่าเครื่องใช้ไฟฟ้ากว่า 14,000 ชิ้น มูลค่าประมาณ 16,300,000 บาท ของเล่นกว่า 10,000 ชิ้น มูลค่าประมาณ 2,500,000 บาท สีเทียน 6,400 ชิ้น มูลค่าประมาณ 1,280,000 ผงซักฟอก 3,000 ชิ้น มูลค่าประมาณ 300,000 บาท ฝักบัวอาบน้ำกว่า 700 ชิ้น มูลค่าประมาณ 70,000 บาท รวมจำนวนสินค้าทั้งหมดกว่า 34,000 ชิ้น มูลค่าร่วม 20 ล้านบาท จึงดำเนินการยึดอายัดไว้ทั้งหมดเพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป พร้อมกับแจ้งผู้ครอบครองสินค้าดังกล่าว ห้ามเคลื่อนย้ายสินค้าโดยเด็ดขาด”         ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่จะจำหน่ายสินค้าดังกล่าวจะต้องจำหน่ายเฉพาะสินค้าที่มีเครื่องหมายมาตรฐานบังคับเท่านั้น หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเมื่อ พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2562) มีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 ก.ค. 2562 โทษสำหรับผู้จำหน่ายจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ฟันบริษัทบัตรพลังงาน ธุรกิจขายตรง-จำหน่ายผิดประเภท         นายเดชาวัต แจ้งชื่น ผอ.กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจสอบบัตรพลังงานที่อวดอ้างว่าสามารถรักษาสารพัดโรคได้ว่า ได้เรียก นายธนัช สุรินทร์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เอ็กซ์เพิร์ทโปรเน็ตเวิร์ด เจ้าของบัตรพลังงาน เข้าให้ถ้อยคำที่สำนักงาน สคบ.แล้ว ซึ่งเจ้าของบริษัทอ้างว่าบริษัทขายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมแอลคาร์นิทีน และได้แถมบัตรพลังงาน โดยไม่ทราบว่าเครือข่ายนำบัตรพลังงานไปขาย ซึ่งบัตรพลังงานดังกล่าวมีบริษัทที่รู้จักนำมาฝากไว้นานแล้วไม่มารับคืน จึงนำไปแถมให้กับลูกค้าที่ซื้อผลิตภัณฑ์         แต่จากการตรวจสอบเบื้องต้น ทางบริษัทจดทะเบียนประเภทธุรกิจขายตรงเมื่อปี 2556 ต่อมามีผู้ซื้อบริษัทและเจ้าของคนปัจจุบันได้เข้ามาบริหารงานเมื่อปี 2558 แต่บริษัทถูกเพิกถอนไปเมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา และไม่สามารถจะดำเนินธุรกิจได้จนกว่าจะครบกำหนด 5 ปี เนื่องจากกฎหมายระบุว่าบริษัทที่ดำเนินธุรกิจขายตรงจะต้องวางหลักประกัน ซึ่งบริษัทดังกล่าวไม่ได้วางเงินหลักประกันและยังคงจำหน่ายสินค้าอยู่ ทำให้ มีความผิดฐานทำธุรกิจขายตรงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพ.ร.บ.ขายตรงและตลาดขายตรงฯ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับนิติบุคคล กรรมการบริษัท และผู้จำหน่ายรายละ 1 แสนบาท รวมทั้งอาจเข้าข่ายความผิดขายสินค้าผิดประเภท เนื่องจากไม่ได้แจ้งขายสินค้าประเภทอื่นเพิ่มเติม         ขณะนี้ สคบ.ได้ประสานตำรวจท้องที่ให้เรียกคืนผลิตภัณฑ์และดำเนินคดีฐานหลอกลวงผู้บริโภค7 พรรคฝ่ายค้านเดินเกม หนุนภาคประชาสังคมแบนสารเคมี         พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง และตัวแทนสมาชิกรัฐสภาและสมาชิกจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน 7 พรรค เดินทางเข้ามารับฟังการบรรยายปัญหาและข้อเสนอทางนโยบายในการจัดการเรื่องสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและความไม่ปลอดภัยทางอาหาร ที่มูลนิธิชีววิถี(BioThai)        นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิ BioThai ได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหา 3 เรื่อง คือ 1)ให้มีการแบนสารพิษร้ายแรงทั้ง 3 ชนิดโดยทันที 2) ผลักดันให้มีการสร้างระบบการเตือนภัยสารพิษตกค้างในผักผลไม้ซึ่งปัจจุบันพบการตกค้างสูงถึง 41%         และ3) ขอให้ 7 พรรคการเมืองสนับสนุนร่างกฎหมายความปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งจะแยกอำนาจการแบนสารพิษให้ปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน และให้การสนับสนุน พ.ร.บ.เกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีชุดที่แล้ว ให้เข้าสู่กระบวนการตามรัฐสภาต่อไปด้วย         ทั้งนี้โดยภายหลังรับฟังการบรายาย ตัวแทนพรรคฝ่ายค้านทั้ง 7 พรรค ได้ประกาศพร้อมขับเคลื่อนให้มีการแบนสารพิษร้ายแรงให้เป็นวาระเร่งด่วน และเสนอต่อรัฐสภาให้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญในประเด็นสารเคมีและความปลอดภัยทางอาหาร โดยขณะนี้ได้ถูกบรรจุในระเบียบวาระการพิจารณาของสภาแล้ว         ทั้งนี้ มูลนิธิชีววิถี และเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) เตรียมการติดต่อเข้าพบ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ เพื่อสนับสนุนให้มีการเดินหน้าแบนพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และสารพิษร้ายแรงอื่น รวมทั้งเสนอให้วาระเรื่องอาหารปลอดภัยให้เป็นวาระหลักของรัฐบาลชุดนี้ ศาลปกครองสูงสุด อนุญาตให้ มพบ. ร้องสอด กรณีค่ารักษาพยาบาลแพง         จากการที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ยื่นร้องสอดร่วมเป็นผู้ถูกฟ้องในคดี สมาคมโรงพยาบาลเอกชน และผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชน 41 แห่ง ยื่นฟ้องคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.), รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมการค้าภายใน กรณีการออกประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรื่อง การกำหนดสินค้าและบริการควบคุม โดยเฉพาะการควบคุมราคายา เวชภัณฑ์ บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นๆ ของสถานพยาบาลนั้น                วันที่ 28 มิถุนายน 2562 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งอนุญาตให้ มพบ. ร่วมเป็นผู้ถูกฟ้อง โดยให้เป็นผู้ร้องสอด เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่า มพบ. เป็นตัวแทนของผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพง จึงถือเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงหากมีการยกเลิกประกาศดังกล่าว 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 เยาวชนอาสาเพื่อรถโดยสารสาธารณะปลอดภัย

                เด็กและเยาวชนจำเป็นต้องเดินทางจากที่พักเพื่อไปโรงเรียน ทั้งการเดินเท้า ขี่จักรยาน ขับขี่จักรยานยนต์ ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ หรือไปด้วยรถรับส่งนักเรียน ซึ่งทุกรูปแบบของการเดินทาง มีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุทั้งสิ้น         โดยอุบัติเหตุของเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่จะเกิดกับกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงเป็นอันดับต้น ตามด้วยกลุ่มที่ใช้บริการรถรับส่งนักเรียนและรถโดยสารสาธารณะ รวมถึงความรุนแรงที่เกิดจากการเดินข้ามถนนและความเสี่ยงจากยานยนต์บริเวณหน้าสถานศึกษา  หลายกรณีเกิดจากการไม่ตระหนักถึงความไม่ปลอดภัยและประมาทเลินเล่อ ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมเสี่ยงสำคัญในการเกิดความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนที่กำลังอยู่ในวัยศึกษาที่เป็นอนาคตของประเทศ         จากรายงานสถานการณ์การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจาก 3 ฐานข้อมูล(กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด) ตั้งแต่ปี 2556-2560 พบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เด็กและเยาวชนตั้งแต่แรกเกิด -19 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน รวม 17,634 ราย หรือเฉลี่ยปีละ 2,500 คน เทียบได้กับจำนวนนักเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่ 1 โรงเรียนที่หายไปจากประเทศไทยทุกปี (คิดจาก เกณฑ์ สพฐ. 1 โรงเรียนขนาดใหญ่ = 2,500 คน)         ซึ่งการแก้ปัญหาส่วนใหญ่ของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนก็ยังคงมุ่งแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ คือการทำอย่างไรให้สถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นศูนย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะทำให้สถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นศูนย์ เพราะปัจจัยที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนไม่ใช่เพียงแค่โครงสร้างรถและสภาพแวดล้อมเท่านั้น แต่รวมถึงพฤติกรรมของบุคคลเองที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความรุนแรงจากอุบัติทางถนน        ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนในอนาคต   ควรหันมามุ่งเน้นเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่เป็นระบบให้กับเยาวชนในสถานศึกษา เพื่อเป็นพลังความรู้นำสู่การพัฒนาความคิดในการสรรสร้างแผนงานความปลอดภัยให้เกิดกับเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภค 6 ภาค โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จึงได้จัดกิจกรรมโครงการเยาวชนอาสาเพื่อรถโดยสารสาธารณะปลอดภัย (Volunteer Safe Thai Bus) ขึ้น ในวันที่ 21 - 23 มิถุนายนที่ผ่านมา         มีนักเรียนจากโรงเรียนนำร่อง 12 โรงเรียนในพื้นที่ 6 ภาคและกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมโครงการ โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อสร้างเครือข่ายเยาวชนภาคีความร่วมมือที่เข้มแข็ง และร่วมกันสร้างพื้นที่ปฏิบัติการการเคลื่อนไหวโดยพลังคนรุ่นใหม่ในการเปลี่ยนแปลงสังคมเพื่อการพัฒนาความปลอดภัยในการเดินทางของเยาวชนโดยเยาวชนอย่างแท้จริง         ตั้งแต่การเรียนรู้เรื่องรถโดยสารสารธารณะและรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัย สิทธิผู้บริโภค สิทธิรถโดยสารสาธารณะ เทคนิคการผลิตสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม และแนวทางการจัดทำแผนงานความปลอดภัยในสถานศึกษา ที่จะช่วยเสริมสร้างความรู้ให้กับอาสาสมัครทุกคน ได้ตระหนักกับความปลอดภัยบนถนน และนำเทคนิคที่ได้รับสื่อสารให้กับบุคคลอื่นได้สามารถเรียนรู้ต่อไปได้         รวมถึงการสร้างความตระหนักของเพื่อนๆ ในโรงเรียนให้เห็นความสำคัญของความปลอดภัยในการเดินทางมาโรงเรียน ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าเยาวชนยังให้ความสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของคนในสังคมเพื่อระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย         แม้ว่ากิจกรรมในครั้งนี้ จะเป็นเพียงการรวมกลุ่มเยาวชนกลุ่มเล็กๆ ที่มีใจเดียวกันที่จะมุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ แต่เมื่อเยาวชน คือ วัยที่เปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และพลังที่ต้องการศักยภาพในการริเริ่มเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การส่งเสริมเพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสเรียนรู้ จัดทำกิจกรรม จึงเป็นการปลุกพลังที่อยู่ในตัวเและสร้างการรับรู้ว่าพวกเขาคือส่วนสำคัญของสังคมไทย ที่พวกเขาจะต้องมีหน้าที่ในการดูแล พัฒนา และสร้างประโยชน์สุขให้เกิดขึ้นกับคนในสังคมข้างหน้าอย่างยั่งยืน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 บทเรียนจากหนึ่งของการใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.

        การเดินทางของทุกคนในปัจจุบัน ล้วนมีปัจจัยความเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนได้อยู่ตลอดเวลา หลายครั้งเกิดจากจุดเล็กๆ น้อยๆ ไม่ว่าจะเป็นความประมาท หรือเกิดจากการที่พวกเราไม่ตระหนักถึงความปลอดภัยเวลาเราใช้รถใช้ถนน จากจุดเล็กๆ นำพาไปสู่ความสูญเสียทั้งของครอบครัว ญาติพี่น้องมิตรสหาย ตลอดจนความเสียหายของเศรษฐกิจและความน่าเชื่อถือของประเทศเลยทีเดียว         หลายครั้งพวกเราอาจจะมองภาพรวมว่าอุบัติเหตุทางถนนมักจะต้องเกิดกับรถขนาดใหญ่ที่ชนกันตามภาพข่าวสารที่ให้เราเสพอยู่ทุกวัน แต่หากมองลึกลงไปกว่านั้นจะพบว่าอุบัติเหตุทางถนนส่วนใหญ่เกิดกับถนนสายรอง เช่น ถนนในหมู่บ้านชุมชน ที่ส่วนใหญ่มักละเลยกฎระเบียบจราจรเป็นนิสัย ไม่ว่าจะขับรถเร็ว ไม่สวมหมวกกันน็อค ที่เห็นกันจนชินตาอยู่ทุกวัน         และไม่น่าแปลกใจเลยที่ทำไมถนนสายรองตามชุมชนหมู่บ้านจะเป็นจุดที่มีอุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นรถจักรยานยนต์ เพราะทุกวันนี้สิ่งที่เราเห็น คือ ภาพวัยรุ่นแว้นจักรยานยนต์กันไปมาด้วยความเร็ว ขี่จักรยานยนต์ซ้อนสามโดยไม่สนใจใคร และที่สำคัญไม่มีใครใส่หมวกกันน็อคเลยซักคน         หากวันไหนดวงตกรถล้มพลิกคว่ำแล้วพาคนอื่นล้มเจ็บไปด้วย ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ทันที เหมือนเรื่องที่จะบอกต่อไปนี้ ที่ผู้เขียนคิดน่าจะเป็นบทเรียนให้กับทุกคนได้ หากวันหนึ่งเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นกับตัวเรา         เรื่องมีอยู่ว่า เช้าวันที่ 7 มิถุนายน ที่ผ่านมา ในเวลาเช้าของทุกวัน คุณแม่ของผู้เขียนจะขี่จักรยานไปตลาดตามประสาแม่บ้าน เมื่อซื้อของเสร็จแล้วและกำลังขี่จักรยานกลับ โดยขี่อยู่ในช่องทางด้านซ้ายของตนเอง อยู่ดีๆ ก็ถูกรถจักรยานยนต์ของวัยรุ่นสาวที่ซ้อนสามพุ่งเข้าชนที่ด้านท้ายรถจักรยานอย่างจัง จนทำให้คุณแม่ของผู้เขียนกระเด็นล้มลงกลางถนนศีรษะฟาดพื้น         หลังเกิดเหตุมีพลเมืองดีได้เข้ามาช่วยเหลือและรีบโทรแจ้งสายด่วนฉุกเฉินทันที แต่เนื่องจากเป็นช่วงเวลาเช้าประมาณ 7.45 น. ขณะนั้นได้รับแจ้งจากปลายทางว่าตอนนี้ไม่มีรถฉุกเฉินรองรับ หากรีบให้พาผู้บาดเจ็บมาเองได้เลย แต่ด้วยเรายังไม่แน่ใจในอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้น จึงตัดสินใจไม่เคลื่อนย้ายคุณแม่ตามที่ปลายสายแนะนำ เพราะหากมีการเคลื่อนย้ายโดยผู้ไม่มีความรู้ อาจจะทำให้อาการที่บาดเจ็บเดิมมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นได้         แต่โชคดียังมีพลเมืองดีช่วยเรียกรถฉุกเฉินที่รู้จักมารับ แม้จะรอนานเกือบยี่สิบนาทีก็ตาม เมื่อรถฉุกเฉินมารับแล้วและพาไปถึงโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ผู้เขียนแจ้งความประสงค์จะขอใช้สิทธิ พ.ร.บ.หรือประกันภัยภาคบังคับของรถคู่กรณี เพราะเตรียมเอกสารไปด้วยแล้ว แต่พยาบาลบอกจะใช้ได้ต้องให้คู่กรณีไปลงบันทึกประจำวันให้ตำรวจชี้ก่อนว่าเป็นฝ่ายผิด เพื่อที่เราจะสามารถนำบันทึกประจำวันนั้นมาเบิกค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิของ พ.ร.บ. หรือประกันภาคบังคับรถจักรยานยนต์คู่กรณีได้         หลังจากนั้นผู้เขียนจึงรีบติดต่อตามคู่กรณีมาลงบันทึกประจำวัน เมื่อถึงสถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจบอกยังชี้ผิดถูกไม่ได้ เพราะคุณแม่ยังบาดเจ็บรักษาตัวอยู่ ต้องรอให้หายดีก่อน แล้วให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบข้อเท็จจริง ถึงจะชี้ได้ว่าใครผิดใครถูก…         จากอุปสรรคที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้เขียนนึกในใจเพราะเป็นแบบนี้ คนที่มีความจำเป็นถึงเข้าใช้สิทธิ พ.ร.บ.ได้ยาก คนส่วนใหญ่เขาถึงรอไม่ไหว ต้องสำรองเงินส่วนตัว หรือประกันภัยอื่นๆ (ถ้ามี) จ่ายไปก่อน เช่น ผู้เขียนเป็นต้น ที่ตัดสินใจไม่รอแล้ว พ.ร.บ. ใช้ประกันอุบัติเหตุจ่ายค่ารักษาพยาบาลของคุณแม่ไปก่อนแทน         แม้ว่าแนวทางที่รัฐกำหนดเรื่องสิทธิตามพระราชบัญญัติผู้ประสบภัยจากรถให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องเข้าถึงได้จะดีในระดับหนึ่ง แต่หากพิจารณาถึงขั้นตอนกระบวนการในแต่ละส่วนแล้วพบว่า ยังมีปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงสิทธิของผู้บริโภคที่เดือดร้อนเสียหายอยู่         ในกรณีนี้จริงๆ แล้ว โรงพยาบาลทุกแห่งควรมีระบบตรวจสอบข้อมูลและทำเรื่องโดยตรงกับบริษัทประกันภัยของรถคู่กรณีได้เลย ตามสิทธิค่าเสียหายเบื้องต้นที่กำหนดให้ความคุ้มครองแก่ผู้ประสบภัยจากรถ ทุกคนที่ประสบภัยจากรถคันที่ขับขี่หรือนั่งซ้อนท้ายมา กรณีรถจักรยานยนต์หรือนั่งโดยสารมาในรถกรณีรถยนต์  รวมถึงคนเดินถนน ที่ไม่ได้ขับขี่หรือซ้อนท้ายหรือโดยสารในรถคันอื่นๆ โดยไม่ต้องรอสรุปผลทางคดี         แต่ในทางปฏิบัติของการเคลมค่ารักษาพยาบาลของผู้ประสบภัยทางถนนในหลายกรณี ยังพบปัญหาในลักษณะเดียวกันกับที่คุณแม่ผู้เขียนพบเจออยู่ ประเด็นหลัก คือ การไม่สามารถเชื่อมต่อหรือถ่ายโอนข้อมูลผู้บาดเจ็บ ข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุ ของโรงพยาบาล บริษัทประกัน และเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าด้วยกันได้         ทั้งที่ผู้ประสบภัยที่บาดเจ็บสมควรที่จะต้องได้รับการรักษาตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงมี แต่กลับกลายเป็นว่าคนเหล่านั้นกลับเข้าไม่ถึงสิทธิ บางรายต้องสำรองเงินส่วนตัวหรือกู้หนี้ยืมสินบุคคลภายนอกหาเงินมาเป็นค่ารักษาพยาบาล         ที่ผ่านมาเราได้แต่แนะนำให้คนที่ประสบอุบัติเหตุทางถนนไปใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถก่อนทุกครั้ง แต่พอเจอกับตัวถึงรู้ว่ามันไม่ง่ายเลยที่จะขอใช้สิทธิค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นตาม พ.ร.บ.นี้  จะทำยังไงให้ พ.ร.บ. ใช้ง่ายสำหรับทุกคน โดยเฉพาะเวลาที่มีคนต้องการใช้จริงๆ จะได้ไม่ยุ่งยากแบบนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 สิทธิในการใช้รถสาธารณะในราคาที่ไม่แพง

เป็นข่าวใหญ่ของคนกรุงเทพในเดือนเมษายน เมื่อรัฐประกาศขึ้นราคาค่ารถโดยสารเกือบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ ขสมก.และรถเมล์ร่วมบริการในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่สำคัญการขึ้นราคารถเมล์ครั้งนี้ส่งผลต่อการขึ้นราคาขนส่งมวลชนในรูปแบบอื่นๆ ที่จะตามมา เช่น รถตู้ รถทัวร์ อีกด้วย         จริงๆ แล้ว เรื่องนี้น่าจะวุ่นวายกันตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เพราะตามแผนเดิมของการปรับราคาค่าโดยสารจะปรับหลังปีใหม่ในวันที่ 21 มกราคม 2562 แต่เหมือนจะยังเป็นโชคดีของคนกรุงเทพอยู่นิดหน่อย ที่ช่วงนั้นเกิดวิกฤตปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพพอดี รัฐบาลเลยหยิบมาอ้างได้ว่าเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนใช้รถโดยสารสาธารณะ ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลที่เป็นสาเหตุของมลพิษและทำให้เกิดฝุ่นละออง เลยให้เลื่อนการปรับราคาค่าโดยสารออกไปอีกสามเดือน           แต่ทุกคนก็รู้ดีว่า การเลื่อนขึ้นราคาค่าโดยสารครั้งนั้นเป็นการหวังผลทางการเมืองที่จะมีการเลือกตั้งในเดือนมีนาคมมากกว่า และรัฐบาลต้องเสียคะแนนแน่ๆ หากปล่อยให้ขึ้นราคาในช่วงนั้น เผาหลอกขู่กันไปแล้ว ถึงเวลาเผาจริง 22 เมษายน 2562 ครบกำหนดสามเดือนที่จะต้องขึ้นราคาค่าโดยสารกันแล้ว สำหรับอัตราค่าโดยสารใหม่นั้น ในส่วนรถ ขสมก. ปรับเพิ่มอีก 2-7 บาท หากขึ้นทางด่วนคิดเพิ่มอีก 2 บาท แต่หากเป็นรถ ขสมก.รุ่นใหม่สีฟ้า ขึ้นหนักหน่อยคิดตามระยะแบบขั้นบันได 15-20-25 บาท ส่วนรถร่วมเอกชนปรับเพิ่มขึ้น 1 บาท เช่น         นาย ก. ปกติ ขึ้นรถเมล์ปรับอากาศรุ่นเก่าสีขาวสาย 522 จากอนุสาวรีย์ชัยฯ ทางด่วนไปลงงามวงศ์วาน จากเดิมเสียค่าโดยสาร 15 บาท ราคาใหม่ต้องเสียค่าโดยสาร 19 บาท เพิ่มจากเดิม 4 บาท แต่หากนาย ก. ต้องขึ้นรถเมล์ปรับอากาศรุ่นใหม่สีฟ้าในเส้นทางเดิมต้องจ่ายค่าโดยสารถึง 22 บาท เพิ่มจากเดิม 7 บาท หรือ เกือบ 50% ของราคาเดิมที่เคยจ่าย ซึ่งถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากต่อการเดินทางหนึ่งครั้ง         ข้อมูลของ ขสมก. ระบุว่า ปัจจุบันรถเมล์ของ ขสมก.มีอยู่ประมาณ 3,000 คัน แบ่งเป็นรถร้อนประมาณ 1,500 คันและรถปรับอากาศอีกประมาณ 1,500 คัน มีผู้ใช้บริการต่อวันประมาณ 1.3 ล้านคน ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากกว่าในปีก่อนๆ         ข้อมูลจากรายงานประจำปี 2559 ระบุว่า มีผู้ใช้บริการรถเมล์ ขสมก. ต่อวัน จำนวน 582,463 คน แบ่งเป็นรถปรับอากาศ 195,389 คน รถเมล์ร้อน 154,574 คน และรถเมล์ฟรี 232,500 คนขณะที่ข้อมูลจากรายงานประจำปี 2560 ระบุว่ามีผู้ใช้บริการรถเมล์ ขสมก. ต่อวัน จำนวน 584,997 คน แบ่งเป็นรถปรับอากาศ 192,923 คน รถเมล์ร้อน 124,667 คน และรถเมล์ฟรี 267,407 คน          จะเห็นได้ว่าอัตราการเติบโตของจำนวนผู้ใช้บริการมีสูงขึ้นโดยมีนัยยะสำคัญ หากเปรียบเทียบกับปัจจุบันที่ไม่มีรถเมล์ฟรีแล้ว แม้จะมีผู้บริโภคจำนวนหนึ่งที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่อย่างไรก็ดีจำนวนผู้ใช้บริการรถเมล์ก็คงมีจำนวนสูงขึ้น ปรากฎตามข้อมูลของ ขสมก. ณ วันที่ 7 พฤษภาคม 2562 ที่ระบุว่าปัจจุบันมีผู้ใช้รถเมล์อยู่ที่ 1.3 ล้านคน แบ่งเป็นรถปรับอากาศประมาณ 9 แสนคน และรถร้อนประมาณ 3-5 แสนคนต่อวัน มีรายได้เฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 20% หลังจากปรับค่าโดยสารขึ้นแล้ว         เห็นข้อมูลแบบนี้ ขสมก.คงดีใจ เลยมีแผนใหญ่ที่จะล้างหนี้แสนล้าน และจัดหารถปรับอากาศใหม่เพิ่มอีกกว่า 2,000 คันในสามปีต่อจากนี้ ถ้าทำได้ก็ต้องถือว่าเป็นการยกระดับระบบขนส่งมวลชนสู่รูปแบบ smart city ที่มองไปทางไหนก็จะเจอแต่รถปรับอากาศเหมือนเช่นต่างประเทศแต่ ขสมก.อาจจะลืมหรือรู้แต่ไม่สนใจว่า การขาดทุนสะสมต่อเนื่องของ ขสมก. ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบริหารงานที่ผิดพลาดขององค์กรในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการซื้อรถเมล์ใหม่ที่สิบปีที่ผ่านมาซื้อไม่ได้เลย ทั้งที่ควรจะได้มาใช้นานแล้ว หรือที่ตรวจรับมา 489 คันก็ผิดสเปค หรือแม้กระทั่งการพยายามจะนำเครื่องอ่านบัตรโดยสารแบบ E-ticket มาใช้แต่ก็ล้มไม่เป็นท่า ยังไม่รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น โครงสร้างองค์กร การจัดสรรเส้นทางเดินรถ จำนวนพนักงานฯ ที่เป็นเหตุของการขาดทุนสะสมด้วย        ที่สำคัญการขึ้นค่าโดยสารรถทุกประเภทครั้งนี้ เป็นการตัดสินใจที่ขาดการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นองค์กรผู้บริโภค ตัวแทนผู้ใช้บริการรถเมล์ รถโดยสาร ฯลฯ โดยที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเลือกฟังเฉพาะเสียงจากผู้ประกอบการฝ่ายเดียวเท่านั้น โดยลืมไปว่าระบบบริการขนส่งมวลชนของรัฐในลักษณะนี้เป็นบริการขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องจัดสรรให้กับประชาชน         อีกทั้งยังไม่มีนโยบายการคิดค่าบริการขนส่งมวลชนแบบเทียบสัดส่วนรายได้ขั้นต่ำของประชาชน หรือค่าบริการขนส่งมวลชนสูงสุดต่อวัน ทำให้ประชาชน ผู้บริโภค ต้องคัดค้านการดำเนินการเรื่องนี้เป็นระยะๆ ทั้งที่บริการขนส่งมวลชนเป็นบริการที่รัฐต้องอุดหนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการอย่างเป็นธรรมและมีคุณภาพ         อย่างไรก็ดีการขึ้นค่าโดยสารครั้งนี้ ชัดเจนว่าเกิดผลกระทบเป็นวงกว้างกับคนทุกกลุ่มที่ใช้บริการ เป็นการบังคับให้ต้องจ่ายโดยไม่มีทางเลือก แม้จะมีเสียงสนับสนุนให้ปรับขึ้นราคา         แต่เสียงส่วนใหญ่ที่ ขสมก.ไม่เคยรับฟังเลย คือ เสียงสะท้อนที่บอกว่าการขึ้นราคาครั้งนี้สร้างภาระเกินสมควรให้กับผู้บริโภคที่มีความจำเป็นต้องใช้บริการรถเมล์และรถโดยสารประเภทอื่นอยู่แล้วอะไรคือหลักประกันเรื่องคุณภาพประสิทธิภาพการให้บริการขนส่งมวลชนในอนาคตจากการขึ้นราคาหรือนี่คือการส่งเสริมให้ผู้บริโภคใช้รถขนส่งสาธารณะ ใครตอบได้ช่วยตอบที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 ความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน 2562

คนกรุงจ่ายค่ารถไฟฟ้าเฉลี่ย 28.30 บาท/เที่ยว        ผลการศึกษาจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะทางถนนและประเภทอื่นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่า ผู้โดยสารไทยต้องควักเงินจ่ายค่าโดยสารระบบรถไฟฟ้าเฉลี่ยขั้นต่ำ 28.30 บาทต่อเที่ยว ซึ่งนับว่าแพงเกินไปกว่ากำลังซื้อของผู้มีรายได้น้อย ส่งผลให้ผู้ใช้บริการเป็นกลุ่มคนรายได้ปานกลางและรายได้สูง โดยอัตราค่าใช้จ่ายรถไฟฟ้าเฉลี่ยของคนกรุงอยู่ที่เดือนละ 1,000-1,200 บาท หรือคิดเป็นเงินกว่า 12,000 บาทต่อปี        ขณะที่ข้อสรุปค่าโดยสารต่อเที่ยวการเดินทาง พบว่า ไทยมีค่าโดยสารระบบรางสูงกว่าประเทศอื่น เทียบกับประเทศในภูมิภาค เช่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ รวมถึงไทยมีส่วนต่างค่าโดยสารระหว่างรถไฟฟ้ากับรถโดยสาร (รถเมล์) สูงที่สุด โดยค่าโดยสารต่อเที่ยวการเดินทางของไทยอยู่ที่ 2.14 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 67.10 บาท ทั้งนี้ เมื่อคิดค่าโดยสารเฉลี่ยต่อกิโลเมตรเดินทาง พบว่า ค่าโดยสารต่อ 1 กิโลเมตรของผู้โดยสารในไทยอยู่ที่ 0.478 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ หรือ 14.99 บาท สูงกว่าประเทศ อื่นๆ อย่างสิงคโปร์ ฮ่องกง และอังกฤษ  "เมื่อยล้าหมดไฟ” โรคที่ต้องได้รับการรักษา"        หลังองค์การอนามัยโลกกำหนดให้ภาวะเมื่อยล้าหมดไฟ(Burnout) เป็นภาวะที่ต้องได้รับการรักษาในทางการแพทย์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะวิธีจัดการภาวะดังกล่าว หลักคือต้องจัดการสองด้าน ได้แก่ 1.ด้านการจัดการกับตัวเอง และ 2.การจัดการสภาพแวดล้อมในการทำงาน        1.ด้านการจัดการกับตัวเอง เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ นอนอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน, ผ่อนคลายอารมณ์ด้วยกิจกรรมอื่นๆ เช่น นอนดูหนัง ฟังเพลง หรือชอปปิ้ง เพื่อให้รางวัลกับตนเอง, พูดคุยขอคำปรึกษากับผู้อื่น ว่าคุณรู้สึกหมดแรงหรือเบื่อ หากมีอาการรุนแรงมากกว่าปกติ ต้องการความช่วยเหลือหรือสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้        2.คำแนะนำของ WHO ในการจัดการกับสิ่งแวดล้อมในการทำงาน โดยการปรับสิ่งแวดล้อมในการทำงานให้มีความรู้สึกทางบวกมากขึ้น ซึ่งต้องอาศัยวิสัยทัศน์และนโยบายของผู้บริหาร เช่น สร้างเป้าหมายเส้นทางอาชีพให้พนักงานอย่างชัดเจน สร้างการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของพนักงาน นโยบายดูแลสุขภาพกายและใจของพนักงาน เพื่อช่วยเหลือและดูแลอย่างเหมาะสม        ลักษณะอาการที่เข้าข่ายภาวะเมื่อยล้าหมดไฟที่เกิดขึ้นจากการทำงาน คือ 1.รู้สึกหมดไฟ เหนื่อยล้า พลังชีวิตหดหาย 2.มีความรู้สึกไม่อยากทำงาน ต้องการมีระยะห่างจากงานหรือมีทัศนคติเชิงลบต่องาน 3.ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ซึ่งลักษณะอาการดังกล่าวเป็นผลมาจากความเครียดในการทำงานหรือการทำงานไม่ประสบผลสำเร็จตามที่คาดการณ์ไว้ อาจทำให้เสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าสูงขึ้น ประกันสังคมเตรียมแก้กฎหมายเก็บเงินสมทบแบบขั้นบันได        สำนักงานประกันสังคม เตรียมพิจารณาแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ประกันสังคมอีกรอบ โดยให้เก็บเงินสมทบแบบขั้นบันได คือ ค่อยๆ ขยายเพดานเงินเดือนสูงสุดในการคำนวณเงินสมทบ คาดว่าภายในระยะเวลา 5 ปี จะสามารถเก็บเงินสมทบได้เดือนละ 1,000 บาท ตามเป้าหมาย        นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้แก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม เพื่อให้มีการเก็บเงินสมทบเพิ่มโดยขยายเพดานจากเดือนละ 750 บาท เป็นเดือนละ 1,000 บาท เพื่อให้มีเงินไปเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ และทำให้เพิ่มเงินบำนาญหลังเกษียณ แต่หลังจากที่มีการนำไปรับฟังความเห็นมาแล้วพบว่า มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จึงยังไม่ได้เดินหน้าต่อ แต่ไม่ได้ล้มเลิก ขณะนี้กำลังพิจารณาเรื่องการเก็บเงินสมทบแบบขั้นบันได อย่างไรก็ตามอาจจะต้องดูนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนใหม่และรัฐบาลชุดใหม่อีกครั้งว่าเป็นไปในแนวทางเดียวกันหรือไม่        เหตุที่ต้องเก็บเงินสมทบเพิ่ม สปส.ระบุว่า “สปส.เริ่มเก็บเงินสมทบ 5% โดยคำนวณจากฐานเงินเดือนต่ำสุดที่ 1,650 บาท สูงสุดอยู่ที่ 15,000 บาท ทำให้มีการเก็บเงินสมทบสูงสุดอยู่ที่ 750 บาทต่อเดือน ซึ่งเก็บอัตรานี้มาตั้งแต่ปี 2533 ถึงปัจจุบันโดยไม่ได้เก็บเพิ่มเลย ขณะที่แต่ละปีมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ มากขึ้นรวมถึงสิทธิประโยชน์อีกหลายอย่างที่มีการเรียกร้องกันอยู่ นอกจากนี้ ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประกันสังคมเริ่มเข้าสู่ช่วงจ่ายเงินบำนาญให้ผู้ประกันตน มีการคาดการณ์ว่า หากไม่เก็บเพิ่มในปี 2579 จะทำให้เงินเข้ากองทุนน้อยกว่าเงินที่ต้องจ่ายออก กระทบกับเสถียรภาพของกองทุน"พาณิชย์"ส่งตำรวจดำเนินคดีโรงพยาบาลเอกชนโขกค่ารักษา-ค่ายา"        "พาณิชย์"ส่งตำรวจดำเนินคดีโรงพยาบาลเอกชน เคสคิดค่ารักษาพยาบาลอาการท้องเสีย 3 หมื่น และค่ายาแพงเกินจริงแล้ว ในข้อหาค้ากำไรเกินควร พร้อมเดินหน้าทำฐานข้อมูลราคาเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ หลังทำข้อมูลราคายาเสร็จแล้ว        ทางกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า เคสดังกล่าวผู้ป่วยมาด้วยอาการท้องเสีย การคิดราคาถึง 3 หมื่น เป็นการรักษาที่มากเกินกว่าความจำเป็น และมีการคิดราคาเกินสมควร และกรณีค่ายา เมื่อเปรียบเทียบกับราคาในบัญชียาที่อยู่ในบัญชีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ (UCEP) พบว่า มีการคิดราคาสูงเกินจริงมาก ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย จึงต้องส่งดำเนินคดี ส่วนที่กรณีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ออกมายืนยันว่าโรงพยาบาลเอกชนไม่ผิดนั้น ก็เป็นส่วนการดำเนินการของ สบส. เพราะกรมการค้าภายใน พิจารณาตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น        ขณะนี้กรมการค้าภายในยังได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในวงการแพทย์ เช่น จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำฐานข้อมูลราคาเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ให้เป็นระบบ ก่อนที่จะนำมาเผยแพร่บนเว็บไซต์ของกรมฯ ที่ www.dit.go.th เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบราคา และเปรียบเทียบราคาของโรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่งก่อนที่จะตัดสินใจเข้ารับการรักษาได้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้จัดทำฐานข้อมูลราคายาเสร็จสิ้น และพร้อมเผยแพร่บนเว็บไซต์ของกรมฯ แล้ว คาดว่าน่าจะทำให้แล้วเสร็จได้ภายใน 2-3 เดือน        สำหรับประชาชน ต่อไปหากพบว่าถูกคิดค่าใช้จ่ายในราคาสูงเกินจริง สูงกว่าที่มีการแจ้งราคาไว้กับกรมการค้าภายใน ก็สามารถร้องเรียนมาที่สายด่วน โทร 1569 หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีคิดราคาสูงเกินจริง จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการพ.ศ.2542 มีโทษจำคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับห้างดังร่วมลดปัญหาขยะ งดแจกถุงพลาสติก และแพคเกจจิงโฟม        ขยะพลาสติกถือเป็นปัญหาระดับโลกที่ทุกคนต้องร่วมกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะประเทศไทย ที่ติดอันดับประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุด เป็นอันดับ 6 ของโลก ด้วยปริมาณขยะพลาสติกกว่า 2 ล้านตันต่อปี ส่งผลให้ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าต่างๆ เริ่มมีมาตรการในการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และปริมาณขยะพลาสติกมากขึ้น        เริ่มที่ กลุ่มเซ็นทรัล ได้ผนึกกำลังกลุ่มธุรกิจในเครือ จัดแคมเปญ Central Love the Earth ‘Say No to Plastic Bags’ เพื่องดแจกถุงพลาสติกแก่ลูกค้าอย่างจริงจัง พร้อมประกาศเป็นห้างค้าปลีกรายแรกในไทยที่ปลอดถุงพลาสติกภายในปี 2562 โดยจะเริ่มปฏิบัติการนี้ในวันที่ 5 มิถุนายน 2562 นี้เป็นวันแรก พร้อมตั้งเป้าว่าปีนี้จะลดให้ได้กว่า 150 ล้านใบ        Tesco Lotus เริ่มรณรงค์งดแจกถุงพลาสติกแก่ลูกค้ามาแล้วตั้งแต่ปี 2553 โดยใช้วิธีการสร้างแรงจูงใจ ที่ว่าถ้าลูกค้าปฏิเสธไม่รับถุงพลาสติก หรือนำถุงผ้ามาชอปปิงเอง จะได้รับแต้มในคลับการ์ดเพิ่ม 20 แต้ม และได้มีการเพิ่มขึ้นจนในปัจจุบันเป็น 50 แต้ม และในปีนี้ก็ได้ประกาศยกเลิกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากโฟมทั้งหมด(100%) ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป        จากนโยบายของธุรกิจค้าปลีก อย่าง กลุ่มเซ็นทรัล ที่ตั้งเป้าจะลดการใช้ถุงพลาสติกให้ได้กว่า 150 ล้านใบ และเทสโก้ โลตัส ที่มีเป้าหมายลดแพคเกจจิ้งโฟม อีก 11.24 ล้านถาดในปีนี้ คาดว่าจะสามารถช่วยให้ประเทศไทยลดขยะพลาสติกและโฟมไปได้ถึง 161.24 ล้านชิ้นภายใน 1 ปี

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 219 ภัยจากอุบัติเหตุรถตู้โดยสาร

เพียง “วูบเดียว” ของ นายสุมนต์ เอี่ยมสมบัติ คนขับรถตู้โดยสารสาธารณะ เส้นทางจันทบุรี – กรุงเทพทำให้เกิดโศกนาฏกรรมที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดอีกเหตุการณ์หนึ่ง เป็นเหตุให้หลายครอบครัวต้องหลั่งน้ำตาในงานศพ แทนที่รอยยิ้มและเสียงหัวเราะจากการได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันในครอบครัวช่วงเทศกาลปีใหม่         ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2560 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับรายงานว่ามีรถตู้โดยสารหมายเลขทะเบียน 15-1352 กรุงเทพมหานคร ที่วิ่งรับส่งผู้โดยสาร เส้นทางจันทบุรี – กรุงเทพ บรรทุกผู้โดยสารมาเต็มคันรถ เกิดเสียหลักข้ามไปถนนฝั่งตรงข้ามประสานงาเข้าอย่างจังกับรถกระบะที่บรรทุกผู้โดยสารมาเต็มคันรถเช่นเดียวกัน จนเกิดไฟลุกท่วมก่อนเกิดระเบิดตามมาอีก 1 ครั้ง จนกลายเป็นการย่างสดผู้โดยสารเสียชีวิตรวมทั้งหมด 25 ราย สาเหตุคาดว่าคนขับ ชื่อ ของนายสุมนต์ เอี่ยมสมบัติ มีอาการหลับใน เพราะต้องขับรถติดต่อกันเป็นเวลานานหลายชั่วโมง        ทั้งนี้หลังเกิดเหตุการณ์มีหลายหน่วยงานที่เข้าไปให้การช่วยเหลือผู้เสียชีวิตและครอบครัวผู้เสียชีวิตทำให้ผู้เสียหายได้รับการชดเชยเยียวยาอย่างรวดเร็ว แต่หลังจากนั้นประมาณ 2 เดือน ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ประสานเครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันออกเข้าไปพูดคุยกับญาติผู้เสียหายว่า ยังมีประเด็นปัญหาอะไรที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขหรือไม่         นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ประสานงานโครงการรถโดยสารปลอดภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกว่า “เพราะจากประสบการณ์การขับเคลื่อนเรื่องการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคด้านการโดยสารรถสาธารณะในช่วงที่ผ่านมา พบว่าหลังเกิดอุบัติเหตุแล้วผู้โดยสารไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิได้รับการชดเชยอะไรบ้าง ทำให้เสียสิทธิที่ควรได้รับการชดเชย และจากการพูดคุยทำให้เราได้รู้ว่าผู้เสียหายได้รับเพียงการชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ รายละ 7 แสนบาท เท่านั้น โดยแบ่งเป็นค่าชดเชยจากประกันภัยภาคบังคับ 3 แสนบาท และประกันภัยภาคสมัครใจ 4 แสนบาท แต่สิทธิอื่นๆ ไม่ได้อะไรเลย ดังนั้นจึงคิดว่าต้องลงไปพูดคุยกับเขาเพื่อให้ได้รับการชดเชยตามสิทธิที่มีมากกว่านี้”           แต่การเข้าไปให้การช่วยเหลือไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผู้เสียหายไม่ยอมเปิดใจ มีความกังวลว่าทางมูลนิธิฯ จะเข้าไปหาผลประโยชน์อะไรจากเขาหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้มีประสบการณ์ถูกหน่วยงานหนึ่งเข้าไปเรียกร้องบางอย่างจากการเข้าไปให้การช่วยเหลือ จึงค่อนข้างผิดหวัง แต่สุดท้ายหลังจากที่ทำความเข้าใจกันแล้วก็เปิดใจยอมรับการให้การช่วยเหลือจากมูลนิธิฯ และนำสู่การฟ้องร้องคดีห้างหุ้นส่วนจำกัด 2017 วีเจ ทรานสปอร์ต เป็นจำเลยที่ 1 นางสาววาสนา จันทร์เอี่ยม เป็นจำเลยที่ 2 และบริษัท ขนส่ง จำกัด เป็นจำเลยที่ 3 กรณีละเมิด ต่อศาลจังหวัดจันทบุรี เรียกค่าเสียหาย ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น         อย่างไรก็ตาม การต่อสู้มีอุปสรรคบ้าง เพราะดูเหมือนว่าหน่วยงานที่ให้การช่วยเหลือก่อนหน้านี้ไม่ได้ให้ข้อมูลในหลายๆ เรื่อง ทำให้การทำงานครั้งนี้ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ต้องเสาะหาเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาเป็นหลักฐานประกอบ อาทิ หลักฐานการเสียชีวิต หลักฐานการจัดการงานศพ ภาพถ่ายต่างๆ เอกสารต่างๆ หลักฐานรายได้ของผู้เสียหาย ซึ่งเหตุการณ์ผ่านไป 2 เดือนแล้ว บางอย่างหาได้ บางอย่างหาไม่ได้ บทเรียนจากการสู้คดี         การสู้คดีถือว่าใช้เวลาไม่นานศาลจันทบุรีได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2561 โดย นายโสภณ หนูรัตน์ ทนายความอาสา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ผู้ดูแลคดีดังกล่าว ได้ให้สัมภาษณ์ในวันนั้น ว่า ศาลฯ ได้ตัดสินให้จำเลยที่ 3 และจำเลยร่วมที่ 1 และ 2 คือ ทายาทของคนขับ ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ญาติของผู้เสียชีวิต รวมเป็นเงิน 20,780,000 บาท รวมทั้งต้องจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิด นั่นคือวันที่ 2 มกราคม 2560 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ         ทนายความของคดี ยังระบุอีกว่า ส่วนสำคัญ คือ ศาลชั้นต้นได้กรุณากำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษกับโจทก์แต่ละราย รายละ 500,000 บาท เนื่องจากเห็นว่าคนขับรถประมาท เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตของผู้โดยสารเป็นจำนวนมาก รวมทั้งค่าสินไหมทดแทน ได้แก่ ค่าปลงศพ ค่าขาดไร้อุปการะ ค่าขาดแรงงานในครัวเรือน และค่าทรัพย์สินเสียหายสูญหาย ส่วนจำเลยที่ 1 และ 2 ศาลได้ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าจำเลยทั้งสองไม่ใช่นายจ้างหรือตัวการตัวแทนที่ต้องรับผิดร่วมกับคนขับรถตู้คันเกิดเหตุ ซึ่งทาง มพบ. จะมีการประชุมคดีเพื่อพิจารณาในการใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อไป         และในวันเดียวกันนั้น “นางเสงี่ยม หินอ่อน” มารดาของหนึ่งในผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ได้ให้สัมภาษณ์ ด้วยสีหน้าและแววตาที่ปราศจากรอยยิ้ม โดยสรุปใจความว่า         “ตัวเธอเองต้องสูญเสียลูกสาวไปอย่างไม่มีวันกลับ หนำซ้ำ หลานสาวตาดำๆ ยังต้องกลายมาเป็นเด็กกำพร้าที่คอยถามเธอทุกครั้งที่เห็นภาพถ่ายว่า “แม่ไปไหน” และคำตอบที่เธอพอจะพูดออกไปได้เพื่อเป็นการปลอบประโลมใจทั้งของหลานสาว และของตัวเธอเองคือ “แม่ไปสวรรค์นะ” ขณะที่ฐานะทางบ้านเริ่มสั่นคลอนเพราะเสียเสาหลักไป ส่วนเงินที่ได้จากการชดเชยก็จะนำไปใช้เป็นเงินเก็บไว้เลี้ยงดูลูกของลูกสาวในอนาคตต่อไป”อย่างไรก็ตาม จากการติดตามความคืบหน้าล่าสุดถึงกลางปี 2562 นายคงศักดิ์ บอกว่า คดีความยังไม่เป็นที่สิ้นสุด เนื่องจากจำเลย คือ บริษัทขนส่งจำกัด ได้มีการยื่นอุทธรณ์เนื่องจากมองว่าศาลตัดสินให้ต้องมีการชดเชยมากเกินไป ซึ่งศาลก็ได้นัดฟังคำตัดสินในเดือน ก.ย.2562 นี้ ก็ต้องมาดูว่าศาลเห็นด้วยหรือไม่ มีการปรับแก้คำพิพากษาอะไรหรือไม่ แต่ถึงแม้ว่ามีคำพิพากษาออกมาแล้ว หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเห็นว่ายังไม่ได้รับความเป็นธรรมก็สามารถยื่นฟ้องถึงศาลฎีกาได้อีก ซึ่งคาดว่าหากถึงขั้นนั้นคงใช้เวลาประมาณ 4 ปี ถือว่าค่อนข้างเร็วในมุมมองของทางมูลนิธิฯ เพราะบางคดีเคยต่อสู้กันนานถึง 8 ปี กว่าผู้เสียหายจะได้รับการชดเชย         ทั้งนี้ ถึงแม้คดีความจะยังไม่จบ แต่ความสูญเสียอันใหญ่หลวงจากโศกนาฏกรรมครั้งนี้ไม่กลายเป็นการเสียเปล่าเสียทีเดียว เพราะทำให้มีการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับระบบขนส่งรถโดยสารสาธารณะของไทยขนานใหญ่ โดยมีการออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 15/2560 เรื่องมาตรการเพิ่มความปลอดภัยในรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งมีประเด็นสำคัญคือกำหนดให้รถโดยสารต้องทำประกันภัยภาคสมัครใจ         “การทำประกันภัยภาคสมัครใจสำคัญมากเพราะเมื่อก่อนรถบางคันก็ทำ บางคันก็ไม่ทำ รถคันที่ไม่ทำก็มีเพียง พ.ร.บ. เท่านั้น หากเกิดเหตุรุนแรง ไม่ว่าจะบาดเจ็บ เสียชีวิตก็จะได้รับการชดเชยน้อยมาก ดังนั้นการมีการทำประกันภัยภาคสมัครใจก็จะได้รับการชดเชยอย่างต่ำ 3 แสนบาท รวมกับประกันภัยภาคบังคับอีก 3 แสนบาท รวมเป็น 6-7 แสนบาท”         นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดมาตรการความปลอดภัยต่างๆ เช่น การควบคุมจำนวนที่นั่งของรถตู้โดยสารจากเดิมที่มีมากถึง 15-16 ที่นั่ง ก็กำหนดให้ไม่เกิน 13 ที่นั่ง มีการจำกัดความเร็ว การจัดจุดบริการรถตู้ให้เป็นสัดส่วน จากเดิมที่อยู่กระจัดกระจาย ไม่มีการจัดระเบียบ ไม่มีมาตรการควบคุมอะไรเลย         นายคงศักดิ์ ชี้ว่า ก่อนหน้านี้ตัวเลขการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารทุกประเภท เฉลี่ยเสียชีวิตประมาณ 200-300 คน ต่อปี บาดเจ็บประมาณ 2,000-3,000 คน ต่อปี ในจำนวนนี้รถตู้โดยสารเป็นประเภทรถเกิดอุบัติเหตุรุนแรงที่สุด เพราะมีการขับรถเร็ว ไม่มีการติดตั้งจีพีเอสติดตาม แต่พอเกิดอุบัติเหตุรถตู้จันทบุรีก็ทำให้มีการควบคุมมาตรฐานที่น่าพอใจ จำนวนการเกิดอุบัติเหตุกับรถตู้โดยสารสาธารณะลดลง แต่ไปพบปัญหาใหม่คือ เกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นในกลุ่มรถตู้โดยสารรับจ้างส่วนตัว ที่สูงขึ้นเพราะกลุ่มนี้ไม่ได้ถูกบังคับให้ติดจีพีเอส อาจจะยังสามารถขับรถเร็วมากกว่า 90 กม./ชม.เป็นเรื่องที่ต้องติดตามแก้ไขกันต่อไป         เช่นเดียวกับบทสรุปคำพิพากษาของศาลต่อกรณีอุบัติเหตุรถตู้โดยสาร “จันทบุรี – กรุงเทพ” ว่าจะออกมาอย่างไร ผู้เสียหายจะได้รับการชดเชยเยียวยาอันสมควรหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูกันต่อไป แน่นอนว่าเงินชดเชยที่ได้นั้นไม่ว่าจะเป็นจำนวนเงินเท่าไรก็ไม่อาจชุบชีวิตคนตายให้ฟื้นคืนได้ แต่อย่างน้อยก็จะช่วยดูแลครอบครัวอันเป็นที่รักของผู้ตายในฐานะเหยื่อของเหตุการณ์ไม่อาจจะดูแลครอบครัวอันเป็นที่รักต่อไปในอนาคต.นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ประสานงานโครงการรถโดยสารปลอดภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า ด้วยสถานการณ์ข่าวที่โหมรุนแรง ทางบริษัทประกันฯ เลยชักช้าไม่ได้ ทำให้ผู้เสียหายได้รับการชดเชยอย่างตรงไปตรงมา แต่หากเปรียบกับเคสอื่นๆ เมื่อมีการรับเงินชดเชยส่วนนี้แล้วจะถูกให้เซ็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งในสัญญาตัวนี้จะมีถ้อยคำที่เป็นอันตราย ที่ระบุว่า “ผู้เสียหายจะไม่ติดใจเอาความ ดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา”  ซึ่งเมื่อมีข้อความเหล่านี้จะไม่มีสิทธิเรียกร้องสิทธิอื่นๆ ได้เลย จะได้รับแค่สิทธิที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ประกันภัยผู้ประสบภัยจากรถเท่านั้น ทั้งๆ ที่ยังมีสิทธิในการเรียกร้องค่าชดเชยการขาดรายได้ ค่าเลี้ยงลูกจนโต        “เรื่องนี้หลายคนไม่รู้ หน่วยงานก็ไม่เคยบอกว่าหากเซ็นแล้วต้องเจอแบบนี้ เพราะฉะนั้นถ้าเจอกรณีให้เซ็นสัญญาประนีประนอมผู้เสียหายสามารถเขียนข้อความกำกับลงไปได้ว่า ขอสงวนสิทธิในการที่จะเรียกร้องดำเนินคดีกับเจ้าของรถต่อ หรือไม่ต้องเซ็นเอกสารนั้นเลยก็ได้ ถ้าถูกบังคับให้เซ็นหรือข่มขู่ว่าถ้าไม่ยอมเซ็นชื่อจะไม่ได้รับเงินชดเชย ผู้เสียหายสามารถร้องเรียนไปยัง คปภ.ได้ ว่าถูกบังคับ ถ้าไม่ร้องเรียนทุกอย่างจะเป็นไปตามกระบวนการบริษัทประกันฝ่ายเดียว”         ดังนั้น เวลาขึ้นรถโดยสารขอให้คำนึงว่า อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้นหมั่นสังเกตข้อมูล เกี่ยวกับรถ ทะเบียนรถ ตั๋วโดยสาร ข้อมูลคนขับ สิ่งสำคัญคือสิทธิที่จะได้รับมีอะไรบ้าง หลักๆ เลย วงเงินที่ได้รับการชดเชยตาม พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถ กรณีเป็นผู้โดยสารจะได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลตามจริง ประมาณ 80,000 บาท กรณีเสียชีวิตจะได้รับเงินชดเชย 300,000 บาท อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ยังไม่มีการพิสูจน์ถูกผิด สิทธิที่ผู้โดยสารจะได้รับเบื้องต้นคือ ค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน 30,000  บาท.          จากการรวบรวมสถิติอุบัติเหตุรถตู้โดยสารสาธารณะในปี 2560 โดยศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนนและเครือข่ายเฝ้าระวังรถโดยสารสาธารณะที่เก็บข้อมูลผ่านข่าวออนไลน์ พบว่า มีอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดกับรถตู้โดยสารสาธารณะในพื้นที่ทั่วประเทศมากถึง  252 ครั้ง แบ่งเป็น ประเภทรถตู้โดยสารประจำทาง 61 ครั้ง รถตู้โดยสารไม่ประจำทาง 72 ครั้ง และรถตู้โดยสารส่วนบุคคล 119  ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 1,008 คน และเสียชีวิต 229 คน           ปัจจุบันมีรถตู้โดยสารที่จดทะเบียนสะสมกับกรมการขนส่งทางบก ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2561จำนวน 45,510 คัน  แบ่งเป็นรถตู้โดยสารประจำทาง 14,436 คัน  รถตู้โดยสารไม่ประจำทาง 31,074 คัน แม้กฎหมายจะบังคับให้รถโดยสารสาธารณะทุกคันต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัย ก็ยังพบปัญหาของรถโดยสารที่มีเข็มขัดนิรภัยแต่ไม่อยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้ ไม่มีอุปกรณ์นิรภัยประจำรถ พนักงานขับรถขับรถด้วยความประมาท สภาพร่างกาย พักผ่อนไม่เพียงพอ ขับรถเร็ว บรรทุกผู้โดยสารเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะในรถตู้โดยสารประจำทาง ที่ส่งผลถึงมาตรฐานการให้บริการรถตู้โดยสารของผู้ประกอบการที่ไม่มีคุณภาพ และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงจากอุบัติเหตุ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 เงินจองรถ ขอคืนได้ไหม?

        หลายท่านคงมีประสบการณ์เกี่ยวกับการซื้อรถหรือจองรถมาบ้าง แต่หลายครั้งที่พบว่าเมื่อจองไปแล้ว เกิดปัญหาทำให้ผู้บริโภคต้องการเลิกสัญญาจอง เช่น ผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถจัดหารถยนต์ให้แก่ผู้บริโภคได้ ไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ตามที่กําหนด ปรับเปลี่ยนราคารถยนต์สูงขึ้น เมื่อส่งมอบรถยนต์มีรายการอุปกรณ์และของแถมไม่ครบถ้วนตามที่ระบุในใบจอง ผู้บริโภคไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงินตามเงื่อนไขการจอง ซึ่งเหล่านี้ เมื่อผู้บริโภคใช้สิทธิขอเงินคืนกลับถูกปฏิเสธ ซึ่งหลายท่านไม่ทราบว่ามีกฎหมายคุ้มครองดูแลผู้บริโภคเรื่องนี้อยู่        กฎหมายที่ว่า ก็คือ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการขายรถยนต์ที่มีการจอง เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2551 เป็นประกาศของสํานักงานคณะกรรมคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. โดยประกาศดังกล่าวมีผลให้สัญญาจองรถยนต์ใหม่ของผู้ประกอบธุรกิจจะต้องระบุรายละเอียดสาระสําคัญตามที่ได้กําหนดไว้ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับรถยนต์ที่มีการจอง เช่น ยี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สีและขนาดกําลังเครื่องยนต์รายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถม หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ (ถ้ามี) จํานวนเงิน หรือสิ่งใดที่รับไว้เป็นเงินมัดจํา(ถ้ามี) ราคา กําหนดเวลาที่คาดว่าจะส่งมอบรถยนต์ฯลฯ        นอกจากควบคุมสัญญาจองรถแล้ว ยังกำหนดสิทธิให้แก่ผู้บริโภคที่สำคัญเลย คือทำให้ผู้บริโภคมีสิทธิยกเลิกสัญญาจองได้โดยผู้ประกอบธุรกิจต้องคืนเงินให้กับผู้บริโภคภายใน 15 วัน นับจากวันที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาจากผู้บริโภค ซึ่งเงื่อนไขในการบอกเลิกสัญญาของผู้บริโภคที่มีสิทธิได้รับเงินจองคืนมีดังนี้        1. ปรับเปลี่ยนราคารถยนต์สูงขึ้น        2. ไม่ส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคภายในระยะเวลากําหนด        3. ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มียี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สีและขนาดกําลังเครื่องยนต์ตรงตามที่กําหนดในสัญญา        4. ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มีรายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถมหรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามที่กําหนดในสัญญา        5. ผู้บริโภคไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อตามที่ขอภายในกําหนดเวลาที่คาดว่าจะส่งมอบรถยนต์        หากผู้ประกอบธุรกิจไม่ส่งมอบสัญญาให้แก่ผู้บริโภคหรือส่งมอบสัญญาโดยไม่มีข้อสัญญาที่มีสาระสําคัญ หรือส่งมอบข้อสัญญาที่เป็นการฝ่าฝืนประกาศฯ ฉบับดังกล่าว จะต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ        ดังนั้น สำหรับคนที่เจอปัญหาไปจองรถ แล้วไฟแนนซ์ไม่ผ่านก็ไม่ต้องกังวล ตอนนี้มีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องนี้ชัดเจน ว่าบริษัทต้องคืนเงินจอง และต้องคืนภายใน 15 วันนับแต่ที่ได้แจ้งบอกเลิกสัญญาด้วย ดังนั้น หากผู้ขายไม่คืนเงินจองก็สามารถร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจคืนเงิน หรือหากไม่คืนก็สามารถดำเนินคดีต่อศาลได้ด้วยกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่องให้ธุรกิจการขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2551ข้อ 3 (4) ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบธุรกิจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสิทธิบอกเลิกสัญญา หากมีข้อเท็จจริงที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับทราบว่า ผู้บริโภคต้องขอสินเชื่อเพื่อการซื้อรถยนต์และผู้บริโภคไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อตามที่ขอ (5) เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาตาม (4) แล้วผู้ประกอบธุรกิจต้องคืนเงินหรือสิ่งใดที่รับไว้เป็นมัดจำทั้งหมดแก่ผู้บริโภค ภายใน 15 วัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 กระแสต่างแดน

มากกว่าเรียกคืน        กระทรวงการขนส่งไต้หวันเตรียมดำเนินการตามกฎหมายหากบริษัทมาสด้าไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบความปลอดภัยของรถยนต์สองรุ่นที่ถูกร้องเรียนโดยผู้ใช้ 36 ราย          หลังการร้องเรียน บริษัทประกาศเรียกคืนรถดีเซลรุ่น Mazda CX5 และ Mazda 6 Skyactive ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมด้วยปัญหามีน้ำดันออกจากหม้อน้ำ         นอกจากนั้นผู้ใช้รถทั้งสองรุ่นยังพบปัญหาอื่นๆ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปผสมกับน้ำมันเครื่อง รวมถึงเซ็นเซอร์ท่อไอเสียไม่ทำงาน ศูนย์รับรองความปลอดภัยยานยนต์ จึงได้ขอให้มาสด้าส่งรายงานการตรวจสอบปัญหาสองเรื่องนี้ด้วย         รายงานที่บริษัทส่งมาเพียงชี้แจงว่า ปัญหาเรื่องน้ำมันเกิดจากความผิดพลาดในการเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง โดยอ้างอิงจากการตรวจสอบสองสามกรณีเท่านั้น และไม่ได้ชี้แจงเรื่องเซ็นเซอร์ว่ามันส่งผลอย่างไรต่อการทำงานของเครื่องยนต์        การหลีกเลี่ยง ขัดขวาง หรือปฏิเสธการตรวจสอบโดยกระทรวงฯ ถือเป็นความผิดตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ที่มีโทษปรับ 30,000 ถึง 300,000 เหรียญไต้หวัน ละเลยความปลอดภัย        ครอบครัวของเจ้าหน้าที่ฝ่ายซ่อมบำรุงของบริษัทรถไฟไต้ดินสเปนฟ้องศาลแรงงานเพื่อเรียกค่าเสียหาย 400,000 ยูโร จากบริษัท โทษฐานที่รับรู้อันตรายของแร่ใยหินตั้งแต่ปี 1991 แต่ไม่ได้กระทำการใดๆ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้พนักงาน        พนักงานคนดังกล่าวเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเมื่อเดือนตุลาคม 2018 ขณะมีอายุ 60 ปี เขาทำงานให้กับ “มาดริดเมโทร” มานานกว่า 30 ปี ญาติของผู้ตายระบุว่า เขาล้มป่วยเนื่องจากได้รับแร่ใยหินมากเกินไป         แร่ใยหินมีประโยชน์ในการเป็นฉนวนกันเสียง ความร้อนและกระแสไฟฟ้า แต่การหายใจเอาฝุ่นแร่ใยหินเข้าไปทำให้เกิดการอักเสบของปอดและพัฒนาไปสู่มะเร็งได้ โดยอาจใช้เวลา 20 ปีกว่าจะแสดงอาการ อันตรายจากแร่ใยหินเป็นที่รู้กันตั้งแต่ช่วงปี 1990 และทำให้เกิดการประกาศห้ามใช้ทั่วยุโรป สเปนก็ประกาศห้ามใช้แร่ใยหินในปี 2002         ปัจจุบันยังมีแร่ใยหินหลงเหลืออยู่ในระบบรถไฟไต้ดินของสเปน มาดริดเมโทรสัญญาว่าจะใช้งบประมาณ 140 ล้านยูโรเพื่อกำจัดแร่ใยหินออกจากระบบภายในปี 2025ยาต้องไม่ปนเปื้อน        สเปนเป็นอีกประเทศที่มีผู้ป่วยหันมาใช้กัญชาในการรักษาโรคมากขึ้น แต่การปลูกและการจำหน่ายกัญชายังถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย คนจึงหันไปพึ่งกัญชาที่ลักลอบนำเข้ามาในประเทศ        การตรวจสอบทางนิติเวชโดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Complutense พบว่าร้อยละ 88.3 ของตัวอย่างกัญชาที่ลักลอบขายกันตามท้องถนนทั้งหมด 90 ตัวอย่าง ไม่เหมาะที่จะใช้บริโภค เพราะมีการปนเปื้อนของแบคทีเรียชนิดที่อยู่ในอุจจาระคน        ที่เป็นเช่นนั้นเพราะคนที่ลักลอบนำเข้ากัญชาจะใช้วิธีม้วนใบกัญชาเป็นก้อนกลมๆ ห่อด้วยพลาสติก แล้วกลืนลงท้องไป เมื่อเดินทางข้ามแดนมาถึงสเปนก็จะกินยาถ่ายขับออกมาเพื่อนำไปขาย        ผู้ที่ได้รับแบคทีเรียอีโคไลชนิดที่เป็นพิษอาจจะอาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้นร้อยละ 10 ของตัวอย่างยังมีเชื้อรา aspergillus ซึ่งอันตรายมากหากผู้ป่วยโรคหอบหืดหรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันค่อนข้างต่ำสูดหายใจเอาสปอร์ของมันเข้าไป  ผลไม้แปลงสัญชาติ        คนฝรั่งเศสชอบทานกีวี่ แม้จะมีราคาแพงแต่ผู้คนก็กัดฟันควักกระเป๋าเพราะรู้ดีว่ากีวี่ที่ปลูกในประเทศนั้นมีต้นทุนค่อนข้างสูง เนื่องจากรัฐบาลประกาศห้ามใช้สารเคมีอันตรายในการฆ่าเชื้อราเพื่อยืดอายุผลไม้ เกษตรกรจึงต้องลงทุนสูงขึ้นเพื่อสร้างห้องเย็น         ความต้องการบริโภคกีวี่มีมากถึง 80,000 ตันต่อปี แต่เกษตรกรประมาณ 1,100 ราย ที่อยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ สามารถผลิตได้ปีละ 55,000 ตันเท่านั้น จึงต้องมีการนำเข้ากีวี่จากนิวซีแลนด์ ชิลี และอิตาลี เป็นต้น เนื่องจากอิตาลียังไม่แบนสารเคมีดังกล่าว ต้นทุนการผลิตกีวี่ที่นั่นจึงค่อนข้างต่ำ         หน่วยงานต่อต้านการคอรัปชั่นของฝรั่งเศสออกมาเปิดโปงว่า สามปีที่ผ่านมีกีวี่จากอิตาลีได้รับการ “แปลงสัญชาติ” เป็นกีวี่ที่ปลูกในฝรั่งเศส” ไปทั้งหมด 15,000 ตัน         บริษัทที่นำเข้าผลไม้ดังกล่าวกำลังจะถูกดำเนินคดี แต่ก็ได้กำไรไปแล้วกว่า 6,000,000 ยูโร  แอปแอบแชร์        ทีมวิจัยจากออสเตรเลียที่ทำการสำรวจแอปยอดนิยมในสมาร์ตโฟนสำหรับอาการซึมเศร้าและการเลิกบุหรี่จำนวน 36 แอปทั้งในแอนดรอยด์และ iOS พบว่า ร้อยละ 90 ของแอปดังกล่าวมีการแชร์ข้อมูลของผู้ใช้ไปยังบุคคลที่สาม         มีเพียงสองในสามเท่านั้นที่แจ้งให้ผู้ใช้ทราบในนโยบายความเป็นส่วนตัว แต่นโยบายเหล่านี้ก็ไม่ได้บอกชัดว่าข้อมูลที่เก็บไปจะถูกนำไปใช้อย่างไร โดยใคร         เฉลยตรงนี้ว่ามีถึง 29 แอปที่แชร์ข้อมูลผู้ใช้ให้กับเฟซบุ้คและกูเกิ้ลโดยเฉพาะ         นักวิจัยพบว่าในบรรดา 33 แอปที่ส่งข้อมูลให้บุคคลที่สามนั้น มีทั้งที่ส่งข้อมูลชื่อบัญชีผู้ใช้หรือการระบุสมาร์ตโฟนเครื่องที่ใช้ บ้างก็ส่งข้อมูลรวมๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมผู้ใช้เพื่อประโยชน์ในการทำโฆษณา ยิ่งกว่านั้นบางแอปยังส่งข้อมูลที่ผู้ใช้บันทึกไว้ เช่น ไดอารี่สุขภาพหรือยาที่กินด้วย         สรุปว่าถ้าแอปรู้ โลกก็รู้...   

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 218 เรื่องบ่นหลังเทศกาล คุณสามารถจัดการได้

               พ้นช่วงหยุดยาวมหาสงกรานต์กันไปแล้ว นับเป็นเทศกาลที่ผู้คนจำนวนมากต่างเดินทางเพื่อกลับไปบ้านเกิดเมืองนอนกันเป็นจำนวนมหาศาล ระดับกรุงเทพฯ ร้างกันทีเดียว หลายคนโชคดีเดินทางถึงบ้านด้วยความปลอดภัย ขณะที่อีกหลายคนต้องพบเจออุปสรรคต่างๆ นานา กว่าจะถึงบ้านก็เล่นเอาเสียเวลาเสียความรู้สึกกันไปจนเกือบจะหมดสนุก         คนที่พบเจอปัญหาหลายคน ต่างก็มาบ่นและแชร์กันไปมากมายในสื่อโซเชียล ซึ่งความจริงแล้วอยากให้ทุกท่านที่พบเจอปัญหา ได้ทดลองใช้บริการรับเรื่องร้องทุกข์ของ กรมการขนส่งทางบก ซึ่งผลของข้อมูลและการดำเนินการต่างๆ จะได้ถูกเก็บบันทึกไว้เป็นระบบ เพื่อให้เกิดมาตรการแก้ไขต่อไป หรือกับปัญหาเฉพาะหน้า ทางหน่วยงานรัฐจะได้มีบทบาทในการลงโทษคนผิดให้หลาบจำ         ดังนั้นในครั้งนี้ จะรวบรวมเสียงบ่นจากทางโซเชียลมีเดียมานำเสนอกันสักนิดนะครับ เป็นปัญหาโลกแตกที่พบเจอกันแทบทุกเทศกาล และเพื่อแสดงให้เห็นว่าทุกการร้องเรียนของผู้โดยสารมีความสำคัญ และนำไปสู่การพัฒนาการให้บริการของผู้ประกอบการได้         ถาม : ผู้โดยสารรายหนึ่งต้องการเดินทางจากกรุงเทพไปแม่สอด จังหวัดตาก โดยใช้บริการรถโดยสารประจำทางของบริษัทแห่งหนึ่ง ปรากฎว่ากว่ารถจะมารับที่สถานีก็ช้าไปเกือบชั่วโมงแล้ว แถมระหว่างทางยังจอดทิ้งผู้โดยสารที่วังเจ้าตาก ห่างจากปลายทางที่แม่สอดกว่า 80 กิโลเมตร แล้วให้เปลี่ยนรถซื้อตั๋วใหม่ อ้างไม่กล้าขับรถขึ้นเขาขึ้นดอย เจอแบบนี้จะทำยังไงดี         ตอบ : กรณีทิ้งผู้โดยสารกลางทางแบบนี้ ทั้งที่ผู้โดยสารได้จ่ายค่าโดยสารครบถ้วนแล้ว ถ้าข้อเท็จจริงปรากฎตามที่ร้องเรียน พนักงานขับรถโดยสารจะมีความผิดตามกฎหมาย พ.ร.บ.การขนส่งทางบก ฐานปล่อยผู้โดยสารลงก่อนถึงจุดหมายปลายทาง ตามมาตรา 104 ประกอบมาตรา 127 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ด้านผู้ประกอบการไม่พ้นผิดต้องมีความผิดด้วย ฐานไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในใบอนุญาตประกอบการ เนื่องจากไม่ควบคุมการเดินรถให้เป็นไปตามเส้นทางที่กำหนด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท         ถาม : ผู้โดยสารรายหนึ่งต้องการเดินทางจากกรุงเทพ ไปจังหวัดลพบุรี โดยใช้บริการรถตู้โดยสารประจำทาง  แต่ปรากฎว่าระหว่างทางพนักงานขับรถโดยสารกลับรับผู้โดยสารรายทางและรับมาเรื่อยๆ จนมีผู้โดยสารยืนบนรถตู้โดยสาร เจอแบบนี้จะทำยังไงดี         ตอบ : กรณีเอาเปรียบผู้โดยสารด้วยการบรรทุกผู้โดยสารเกินกว่าจำนวนที่นั่งบนรถ ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏตามที่ร้องเรียน พนักงานขับรถโดยสารจะมีความผิดตามกฎหมาย พ.ร.บ.การขนส่งทางบก ในข้อหารับบรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวน ตามมาตรา 107 ประกอบมาตรา 127 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท พร้อมทั้งส่งตัวเข้ารับการอบรม บันทึกประวัติความผิด และกำชับมิให้กระทำความผิดซ้ำ และสำหรับผู้ประกอบการที่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาต เปรียบเทียบปรับตามมาตรา 31(4) ประกอบมาตรา 131 ที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขเกี่ยวกับจำนวนที่นั่งต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท         ถาม : ผู้โดยสารรายหนึ่งต้องการเดินทางจากกรุงเทพไปจังหวัดขอนแก่น โดยใช้บริการรถทัวร์โดยสารประจำทาง  แต่ปรากฏว่ามีการคิดราคาค่าโดยสารแพงกว่าปกติ เจอแบบนี้จะทำยังไงดี        ตอบ : กรณีเอาเปรียบผู้โดยสารด้วยการเก็บค่าโดยสารเกินกว่าปกติ ถ้าข้อเท็จจริงปรากฎตามที่ร้องเรียน พนักงานจำหน่ายตั๋วโดยสารจะมีความผิดตามกฎหมาย พรบ.การขนส่งทางบก ในข้อหาเรียกเก็บค่าโดยสารเกิน ตามมาตรา 159  ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และสำหรับผู้ประกอบการที่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตจะมีความผิดฐานเพิ่มค่าบริการค่าโดยสารโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 38 ประกอบมาตรา 135 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท        เห็นกันแล้วใช่ไหมครับว่า การร้องเรียนของผู้โดยสารทุกคนมีความหมาย นอกจากจะเป็นการป้องปรามพนักงานขับรถและผู้ประกอบการให้ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดแล้ว ยังเป็นการยกระดับการให้บริการของผู้ประกอบการให้มีความรอบคอบเพื่อมาตรฐานความปลอดภัยเพิ่มขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นถ้าใครเจอปัญหาแบบนี้ ไม่อยากให้เงียบเฉยกัน อย่าลืมว่าทุกเสียงทุกปัญหา สามารถเริ่มต้นแก้ไขได้ด้วยตัวเราเอง “ ร้องทุกหนึ่งครั้งดีกว่าบ่นพันครั้ง ” ครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 กระแสต่างแดน

มูลค่าความเขียว        บริษัทด้านไอทีอย่าง facebook  Apple และ Google ต้องใช้พลังงานมหาศาลเพื่อการทำงานของศูนย์ข้อมูล พวกเขาจึงเลือกที่จะตั้งศูนย์ดังกล่าวในประเทศเดนมาร์ก ซึ่งผลิตพลังงานทางเลือกได้เหลือเฟือ        รัฐบาลเดนมาร์กเรียกเก็บภาษีจากบริษัทเหล่านี้ได้ปีละไม่ต่ำกว่า 400 ล้านโครน (1,900 ล้านบาท) แต่เงินจำนวนนี้ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับเงินที่ใช้ลงทุนเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากฟาร์มกังหันลมในทะเล         และในอนาคตเดนมาร์กอาจมีพลังงานทางเลือกไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศและต้องกลับไปพึ่งพาพลังงานฟอสซิล มีการคาดการณ์ว่าศูนย์ฯ เหล่านี้จะบริโภคร้อยละ 17 ของพลังงานไฟฟ้าในประเทศในปี 2030        พรรคฝ่ายค้านออกมาเรียกร้องให้รัฐบาล “แบน” ศูนย์ข้อมูลเหล่านี้จนกว่าจะมีกฎหมายที่สร้างความมั่นใจได้ว่า จะไม่มีผู้ประกอบการต่างชาติมาอาศัยชุบตัวด้วยภาพลักษณ์ “เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ไปฟรีๆ ด้วยภาษีคนเดนมาร์ก ระวังถูกเท        ธุรกิจที่มีผู้ร้องเรียนมากที่สุดในสิงคโปร์ในปี 2018 ได้แก่ธุรกิจความงามและสุขภาพ สมาคมผู้บริโภคของสิงคโปร์(CASE) ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับบริการนี้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 30         กว่าครึ่งของเรื่องร้องเรียน 1,829 เรื่อง เป็นกรณีที่ผู้ร้องถูกลอยแพโดยธุรกิจที่ปิดตัวกะทันหัน และผู้ที่ถูก “หลอกขาย” หรือทำให้เข้าใจผิดเรื่องค่าบริการ        ตัวอย่างเช่น มูลค่าความเสียหายจากการปิดกิจการของแฟรนไชส์ร้านนวด Traditional Javanese Massage Hut อยู่ที่ 200,000 เหรียญ(4.7 ล้านบาท)        อีกกรณีหนึ่ง ผู้บริโภคถูกหลอกให้เซ็นใบเรียกเก็บค่าบริการ 2,800 เหรียญ(66,000 บาท) ขณะสาละวนสวมเสื้อผ้าหลังรับบริการที่เข้าใจว่ามูลค่าเพียง 28 เหรียญ        สมาคมสปาและสุขภาพของสิงคโปร์บอกว่า ธุรกิจนี้มีการแข่งขันสูงและมีต้นทุนการดำเนินการค่อนข้างมาก แต่ก็มีผู้เล่นหน้าใหม่ ซึ่งเป็นกิจการขนาดเล็กเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ประหยัดผิดจุด         ทางการเยอรมนีตรวจสอบพบว่าผู้ประกอบการรถบรรทุกหลายร้อยคันแอบใช้ตัวช่วย “ปิด” ระบบบำบัดไอเสียเพื่อลดต้นทุน         จากรถบรรทุก 13,000 คันที่ตรวจสอบ เขาพบ “ความผิดปกติ” 300 คัน และจากเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว  เขาพบ “รถผิดปกติ” ถึง 132 คัน ที่น่าตกใจคือมีถึง 84 คันที่ผิดพลาดโดยจงใจ           การติดตั้งอุปกรณ์ขนาดเล็กจิ๋วและการใช้ซอฟต์แวร์ที่ซับซ้อนยากแก่การตรวจจับ ทำให้ผู้ประกอบการประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึงหนึ่งในสามของต้นทุนการวิ่งรถตามมาตรฐานยูโร 5 หรือ 6         อุปกรณ์ที่ว่านี้บ้างก็หลอกซอฟท์แวร์ควบคุมเครื่องยนต์ให้เข้าใจว่าคาตาแลคติกคอนเวอร์เตอร์ยังทำงานอยู่ บ้างก็ขึ้นผลอุณหภูมิหลอกๆ เพื่อปิดระบบการบำบัดไอเสียที่อุนหภูมิต่ำกว่า -11 เซลเซียส         เมื่อระบบถูกปิด รถเหล่านี้จึงสามารถปล่อยมลพิษออกมาได้มากกว่าปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไนโตรเจนไดออกไซต์ที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจและหลอดเลือดระวังติดไฟ        หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในปี 2011 ที่เมืองฟุกุชิมะ คนญี่ปุ่นเริ่มหันมานิยมใช้หลอดไฟ LED กันมากขึ้นเพราะประหยัดไฟและใช้ได้นานกว่า        แต่สถิติอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับหลอดดังกล่าวก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน  สิบปีที่ผ่านมามีอุบัติเหตุดังกล่าวถึง 328 ครั้ง และมักเกิดขึ้นขณะที่ทำการเปลี่ยนหลอดไฟ ไม่ว่าจะเปลี่ยนจากหลอดแบบฟลูโอเรสเซนท์มาเป็นหลอด LED หรือเปลี่ยนหลอดไฟ LED หลอดใหม่        โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเต้าเดิมเป็นแบบที่ปรับความสว่างได้ หลอด LED จะร้อนจัดจนเกิดควันหรือเกิดไฟลุกขึ้นได้ จาก 328 ครั้ง มีถึง 23 ครั้งที่ทำให้เกิดไฟไหม         สำนักงานกิจการผู้บริโภคของญี่ปุ่นจึงออกประกาศเตือนและเรียกร้องให้ผู้บริโภคอ่านฉลากให้ดีว่าควรใช้กับขั้วแบบไหนและย้ำว่าหากมีข้อสงสัยให้สอบถามกับทางร้านก่อนลงมือเปลี่ยน ขอใบเสร็จด้วย        สมาคมผู้บริโภคแห่งประเทศจีนเรียกร้องให้บริการไฟแนนซ์รถมีความโปร่งใสมากขึ้นและบรรดาตัวแทนขายรถควรมีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่ดีขึ้น        ที่ผ่านมาพบการอุปโลกน์ค่าใช้จ่ายเพื่อเพิ่มยอดหนี้ บางเจ้าบังคับให้ผู้บริโภคซื้อประกันรถยนต์โดยไม่ออกใบเสร็จ และบางเจ้าก็เรียกเก็บ “ค่าบริการ” ซึ่งผู้บริโภคไม่ทราบว่าเป็นค่าบริการอะไร เพราะไม่ได้รับใบเสร็จ           สมาคมฯ ย้ำว่าตัวแทนจำหน่ายมีหน้าที่จัดหาสินค้ามีคุณภาพ และหากไม่ปฏิบัติตามและไม่แสดงความรับผิดชอบก็ควรได้รับโทษตามกฎหมาย        ก่อนหน้านี้มีสาวจีนโพสต์บอกชาวเน็ตว่ารถเบนซ์ CLS300 ที่เธอเพิ่งจะซื้อเมื่อปลายเดือนมีนาคมมีปัญหาเครื่องยนต์แต่ตัวแทนขายไม่สามารถขอเงินคืนหรือขอเปลี่ยนรถได้        เธอคนนี้ก็โดนเรียกเก็บ “ค่าธรรมเนียม” ลึกลับ ไป 15,000 หยวน(71,000 บาท) เหมือนกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 คู่มือบริโภคศึกษา

15 มีนาคมของทุกปี ถือเป็น “วันสิทธิผู้บริโภคสากล ซึ่งในปีนี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นองค์กรสมาชิกของ สหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International) ร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ จัดสมัชชาผู้บริโภคประจำปี 2562 ขึ้นเมื่อวันที่ 14-15 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยปีนี้เป็นการรณรงค์ต่อเนื่องจากปี 2561 ในประเด็นการสร้างความมั่นใจและความยุติธรรมแก่ผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์อัจฉริยะในยุคดิจิทัล “Trusted Smart Product” นั้น เป็นความจำเป็นสำหรับผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยเฉพาะเยาวชนที่จะเป็นพลังที่สำคัญของผู้บริโภคในวันข้างหน้า ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอพาไปรู้จักกับคู่มือบริโภคศึกษา คู่มือสำหรับผู้บริโภควัยเยาว์ ผ่านมุมมองของนักสิทธิผู้บริโภครุ่นใหม่          รศ.รุจน์ โกมลบุตร ประธานคณะทำงานคู่มือบริโภคศึกษา รองประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน เล่าถึงความสำคัญและความจำเป็นของวิชาบริโภคศึกษาว่า เป็นกิจกรรมที่ริเริ่มขึ้นเพื่อส่งเสริมผู้บริโภคและมีความพยายามที่จะผลักดันเรื่องนี้เข้าไปสู่โรงเรียน โดยเริ่มจากการชวนเครือข่ายภาคประชาสังคมมาร่วมด้วยช่วยคิด ตั้งเป้าหมายว่าอยากจะเริ่มสอนในโรงเรียนก่อน จึงเริ่มทำร่างขึ้นมาประมาณ 16 หัวข้อ ต่อมาจึงชวนนักเรียนมาเข้าค่ายเป็นเวลา 3 วัน 2 คืนผ่านการทำกิจกรรม และนำมาสรุปผล หาจุดอ่อนจุดแข็งของร่างหลักสูตรนี้ เมื่อนำมาปรับให้เป็นหลักสูตรการสอนแล้วจึงนำร่องไปลองใช้สอนใน 7 โรงเรียน ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีจากทั้งคุณครูและนักเรียน แต่อาจมีเรื่องที่คุณครูจะต้องเตรียมการสอนเพิ่มขึ้นอีก ส่วนนี้ก็นำคำติชมมาปรับปรุงแก้ไข และส่งให้โรงเรียนไปทดลองใช้จริงอีกครั้ง        “คล้ายๆ กับว่าเราทำงานผู้บริโภคในเชิงควบคุม ดูแลกำกับปรับปรุงนโยบายแบบนี้มันก็ทำแล้ว มันก็เหนื่อย เราก็ทำกับคนที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว  ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไร เพียงแต่ว่าฟังแล้วมันเหนื่อยจัง ผมก็รู้สึกว่าที่พวกเราช่วยกันคิด ก็คือเรื่องที่ทำจากตัวเยาวชนมาเลย ทำให้เขาเป็นผู้บริโภคที่ แข็งแรงสักวันเขาก็จะเป็นผู้ประกอบการ เป็นผู้ออกกฎระเบียบ  เป็นผู้ออกนโยบาย เป็นผู้กำกับ ดูแล เป็นอะไรแบบนี้ เขาก็จะมีเรื่องนี้เข้าไปอยู่ใความคิดของเขา  แล้วมันก็จะขยับได้ แต่มันไม่เร็วนะ มันก็ต้องนาน เพียงแต่เริ่มรู้สึกว่ามันจะเป็นทางในอนาคตแน่ๆ สักวันนึงมันก็จะออกดอกออกผลไง” การเรียนการสอนนี้จะพัฒนาต่อไปอย่างไร        ตอบแบบความจริงคือไม่รู้ ยังไม่ทราบแต่มีความหวัง จริงๆแล้วตอนที่ไปดูกับโรงเรียน ก็ชัดเจนว่า คุณครูก็ไม่ได้เห็นว่าเป็นเรื่องหนักหนาสำหรับเขา สังเกตเลยว่าบนเวที(วันที่ 14 มีนาคม) ฝากให้ทำอันโน้นทำอันนี้กัน แต่ผมรู้สึกว่าอันนี้เป็นสิ่งคุณครูรู้สึกว่าเป็นการรับฝากที่เขาไม่ได้รังเกียจอะไร แล้วก็อาจเป็นเพราะ เป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นเรื่องที่ทุกคนประสบในชีวิตประจำวัน อาจเคยโดนโกงค่าโทรศัพท์ ค่าตั๋วเครื่องบิน รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนก็ไม่ขัดข้องที่จะสอน        เรื่องนี้มันก็เลยทำให้เป็นเรื่องมีความหวังว่า มันควรที่จะทำต่อเนื่องให้ได้อย่างน้อยๆ เช่น มันควรทำให้ได้เรียนทุกปีไหม  ปีหนึ่งมีสองเทอมใช่ไหม ถ้าได้เรียนสักเทอมก็ยังดี  แต่ปัญหาตอนนี้คือ พวกเราคณะทำงานก็ต้องระดมหาทรัพยากรกัน ถ้าจะทำจริงก็แปลว่า ม.1 ต้องมีคู่มือหนึ่งเล่ม ม.2 ต้องมีหนึ่งเล่ม ม.3 ต้องมีหนึ่งเล่มจนถึง ม.6 เพราะว่าทุกปีต้องได้เรียนอะไรใหม่ๆ เป็นอันเดิมไม่ได้ แต่ตอนนี้เรามีแค่มัธยมต้น ซึ่งก็เอาคู่มือเดิมไปเรียนอีก อันนี้ก็เป็นความท้าทายของคณะทำงาน แล้วก็ภาคประชาสังคมจะว่ายังไงกันต่อ        ส่วนในเรื่องกลยุทธ์ ผมว่ากลยุทธ์ของเราคือ ใช้เครือข่าย เรามีเครือข่ายเกือบจะทุกจังหวัดแล้ว ณ ตอนนี้ หน้าที่เรา(คอบช.) คือทำหน้าที่เป็นส่วนกลางต้องสร้างแรงกระเพื่อม ทำให้เห็นว่านี่คืองานอย่างหนึ่ง การนำวิชาบริโภคศึกษานี้เข้าโรงเรียนคือ งาน ไม่ได้แปลว่าเรื่องรับร้องทุกข์ คืองาน มอนิเตอร์คืองาน การให้การศึกษา ก็คือ งาน  เช่นเดียวกัน ดังนั้นเดินเข้าไปในโรงเรียน  ในอำเภอในตำบล ในหมู่บ้าน ในโรงเรียน หาคนช่วยทำงานเพิ่ม อันนี้ก็เรื่องของเครือข่ายว่ามีค่าตอบแทนอะไรไป ก็เหมือนทำงานออฟฟิศอันหนึ่งใช่ไหม รับเรื่องราวร้องทุกข์ก็ได้รายได้ เข้าโรงเรียนก็ได้รายได้ แล้วเราก็จะได้คนที่จะมาช่วยทำงาน ช่วยเราที่เป็นเด็กรุ่นใหม่ ที่เข้าใจประเด็นนี้ไปเรื่อยๆ        งานเรามีอันเดียว คือพาเรื่องนี้เข้าโรงเรียนแค่นั้นเอง และส่วนกลางก็อัปเดตคู่มือให้ทันสมัย มีให้ครบทุกชั้นปี อันนี้ก็เป็นงานใหม่ๆ ที่จะต้องทำอีกงานหนึ่งเลย ถ้าทำก็หัวโต แต่ควรต้องทำ สอนเด็กรุ่นใหม่เพื่อให้เด็กตระหนักถึงเรื่องที่จำเป็นต่อชีวิตเขาที่จะให้มีคุณภาพ แล้วเขาก็ขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีความกระตือรือร้นต่อเรื่องผู้บริโภคแบบนี้มันก็ช่วยได้ ทีนี้เวลาทำคู่มือแบบนี้ มองถึงเรื่องบูรณาการไหม ว่าทำไมมันไม่เป็นเล่มแบบนั้น ทำไมไม่บูรณาการแบบนี้ บูรณาการเป็นการเรียนรู้ที่น่าจะดีนะ  เพราะว่าจริงๆ มันไม่ได้จะให้ตั้งหน้าตั้งตาเรียนเป็นวิชาเดี่ยวๆ จะว่าไป อยู่กับวิชาเลขก็เจอ ไปอยู่กับวิชาภาษาอังกฤษก็เจอ  อยู่ภาษาไทยก็เจอเรื่องผู้บริโภค แต่วันนี้ เราในแง่ของการจัดการ เราจัดการแทบไม่ได้เลย เพราะเราไม่มีปัญญาไปตามคุณครูคณิตศาสตร์ว่าสอนให้เราหรือยัง คุณครูภาษาอังกฤษว่าสอนบทนี้ให้เราหรือยัง        เพราะฉะนั้น เราก็ทำวิธีที่เล่นท่าง่ายที่สุดคือ ทำให้เป็นหนึ่งวิชา แล้วให้คุณครูหนึ่งคน หรือกี่คนก็ไม่รู้ช่วยสอน  สอนให้ครบ 18 คาบ ตลอดหนึ่งเทอม แล้วเราตามไปดู ซึ่งเราจัดการง่ายสุด  แต่เมื่อกี้ที่บนเวทีบอกว่าเป็นการบูรณาการนี่ถือว่าเป็นสุดยอดเลยที่จะทำได้ แต่ว่าเราไม่มีความสามารถที่จะเอาไปขายให้คุณครูทุกคนเอาเข้าไปอยู่ในวิชาของท่าน แล้วสอนให้ด้วยนะ อย่าลืมสอนนะ แล้วเราก็ตามไปดูว่าสอนให้จริงหรือเปล่า แล้วก็ประเมินผลอีก อันนี้เรารับเงิน สสส.ใช่มั้ย เราก็ต้องสนใจเรื่องการประเมินผลว่าเราประเมินยังไง ซึ่งสอนเป็นหนึ่งเล่มเป็นหนึ่งวิชา ประเมินผลง่ายกว่าสำหรับเรา อันนี้คือท้ายที่สุดของชีวิตแต่ใส่ดอกจันทร์ ในความเป็นจริงคือ บูรณาการสำหรับกระทรวงศึกษาธิการไทย ก็ยังมีปัญหานะ เอาเข้าจริง คือมันสอนได้จริงหรือเปล่า ทำเสียสวยงาม         อาจารย์ดวงพร สมจันทร์ตา อาจารย์ผู้สอนวิชาบริโภคศึกษา โรงเรียนเสด็จวนชยางค์กูล จังหวัดลำปาง เป็นอีกหนึ่งท่านที่มาถ่ายทอดประสบการณ์การสอน        เดิมเป็นครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์ ชีววิทยา สนใจเรื่องผู้บริโภคอยู่แล้ว เป็นเรื่องอาหารและสารอาหารที่เราสอนอยู่แล้ว เรื่องสารเคมี สารปนเปื้อนในอาหาร ที่เราสอนในบทนี้  ในบทเรื่องอาหารและสารอาหารตรงเลย เน้นเรื่องไขมัน  โรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น เราสอนเรื่องระบบย่อยอาหารด้วย มันจะมีพวกนี้เข้ามาเกี่ยงข้องด้วย ถ้าเราสอนให้เด็กตื่นรู้เรื่องนี้ เรื่องการบริโภค เรื่องการอ่านฉลาก มันก็จะช่วยเรื่องสุขภาพของเขาด้วย เราก็พยายามยกตัวอย่างที่เจอในปัจจุบันยกผลงานวิจัย  การสำรวจโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นและในโรงเรียนนี่คือการสอนจะมีไปเรื่อยๆ ค่ะ ก็ปรับเปลี่ยนไปตามเด็กในแต่ละรุ่น แต่ละปัญหาที่เกิดขึ้น โครงการนี้น่าสนใจ คือเด็กถ้าเราให้ความรู้เขาตั้งแต่เด็ก มันก็เหมือนปลูกฝัง แล้วก็ได้ใช้งานต่อไปได้เรื่อยๆ มันสำคัญยังไง ที่เลือกเด็กเป็นกลุ่มเป้าหมายในการเรียนรู้เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค        จริงๆ ในการที่เราจะให้เด็ก  จะให้มันมีความยั่งยืนเราต้องมีการสร้างจิตสำนึก แล้วก็มีการสร้างความยั่งยืน คือ ด้วยความที่ตัวเด็กเเป็นเหมือนผ้าขาว คือถ้าเกิดเรามีการเรียนรู้แต่เด็กทำเป็นกิจวัตรประจำวัน หรือมีข้อมูลในการเรียกร้องสิทธิตั้งแต่เด็กๆ เนิ่นๆ มันทำให้เรามีความยั่งยืนในการจดจำ แล้วเด็กก็สามารถเอาบทเรียนที่เราสอนให้ไปประยุกต์ใช้ได้ในอนาคต        ตั้งแต่เริ่มโครงการสอนมา ก็ถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ เด็กมีความกล้า กล้าที่จะเรียกร้องสิทธิ เพราะว่าเดิมเด็กเขากลัวด้วย ก็จะมีการเรียนรู้ถึงสถานที่ หรือหน่วยงานที่ใช้เรียกร้องสิทธิ โดยบางครั้งเด็กเขาไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาโดนอยู่นั้นเป็นเรื่องของการถูกละเมิด ต่อไปเด็กก็จะได้รู้ว่า อ้อแบบนี้ ครูหนูโดนละเมิดสิทธิ เดิมที่บอกว่า เด็กกลัว ไม่ใช่กลัวคนที่มาละเมิด แต่กลัวที่จะไม่ฟ้อง หมายถึงมีความกล้าที่จะฟ้องมากกว่า มีความกล้าที่จะปกป้องสิทธิตัวเองมากขึ้น จากเดิมที่คิดว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับเราไหมไม่มีความมั่นใจ เหมือนเราจะโดนหลอกนะ เพราะเด็กหลายๆ คนก็เป็นอย่างนั้น ส่วนใหญ่ปัญหาการโดนละเมิดสิทธิของเด็กวัยนี้คืออะไร        ก็จะเป็นในเรื่องการซื้อของออนไลน์เป็นหลักเลย เด็กสมัยนี้ซื้อของเป็นแล้วนะคะ ม. 2 อย่าง เด็กผู้หญิงอาจจะซื้อเป็นเรื่องความสวยความงามของเขาก็โดนละเมิด ได้สินค้าไม่ตรงตามที่บอกไว้  เขาก็บอกว่าหนูจะไม่คุยกับร้านแล้ว หนูจะไม่เอาแล้ว  คือเด็กเขาก็จะมีความตระหนักมากขึ้น  ซึ่งเราเห็นก็โอเค         หรือเรื่องอื่นๆ ที่เห็นว่าได้ผลอีกอย่างคือ เด็กก็จะพูดในกลุ่มของเขาว่า ไปบอกแม่ก่อนว่าอย่าขึ้นรถโดยสารประจำทางที่ทำผิดนะ  เพราะมีกรณีหนึ่งที่เกิดกับเด็กคือ เขาถูกรถโดยสารประจำทางให้ลงก่อนถึงป้ายหรือปลายทางที่จะลง ก็รู้ว่าเดี๋ยวไปบอกแม่ก่อนไปฟ้องก่อน เด็กก็พูดในกลุ่มของเพื่อนๆ เขา ก็สอนเรื่องสิทธิ แต่ feedback ว่าพ่อแม่เขารู้ไหม ยังไม่ทราบจากเด็กเหมือนกันว่าเป็นอย่างไร มีการวางแผนการสอนอย่างไรในเทอมถัดไป        อันดับแรกเลยคือ จะเป็นการดูภูมิหลังของเด็กก่อนว่า เด็กปีนี้ที่เราเจอ  มีความคิดความอ่านประมาณไหน  เพราะว่าแต่ละปีไม่เหมือนกันแน่นอน  แล้วเราก็ปรับไปตามบริบทของนักเรียนในแต่ละห้อง  บางทีชั้นเดียวกันแต่คนละห้อง เรายังสอนไม่เหมือนกัน แต่เราก็ยังไม่ทิ้งสาระสำคัญที่มีในแต่ละบท  แต่เทคนิคการสอนมันต้องปรับเปลี่ยนไป  ก็อาจต้องศึกษาจากพฤติกรรมของนักเรียนก่อนจะมีการสอนในแต่ละห้อง  จากนั้นก็พยายามปรับบทเรียนโดยยังคงสาระสำคัญของบทเรียนนั้นๆ ไว้เนื้อหาในคู่มือมีการปรับเปลี่ยนบ้างไหม        เปลี่ยนบ้างค่ะ อย่างเช่นที่แนะนำไปไม่ว่าจะเป็นสิทธิ หรือการรักษาพยาบาลที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา กฎหมายที่มันเปลี่ยนไปตลอดเวลา  ซึ่งตอนนี้ก็เปลี่ยน ไม่รู้ว่าเปลี่ยนรัฐบาลอะไรจะเปลี่ยนอีก คุณครูผู้สอนจะต้องติดตามข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตลอดเวลาด้วย         อาจารย์พรศิริ เทียนอุดม จากโรงเรียนมักกะสันพิทยา กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เดิมสอนพิมพ์ดีดไทยด้วยคอมพิวเตอร์ในหมวดวิชาการงานอาชีพ และเมื่อมีคนแนะนำคู่มือฯ นี้มาให้ศึกษาก็ลองมานั่งอ่านด้วยตัวเองและพยายามคิดตามว่าคนเขียนหลักสูตรนี้ขึ้น เขาเขียนขึ้นมาเพื่ออะไร เมื่อเราเริ่มรู้แนวคิดนั้น อีกทั้งก็คิดว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นกับการดำเนินชีวิต จึงเลือกนำคู่มือฯ นี้เข้ามาบูรณาการกับวิชาที่สอนอยู่ในตอนนั้นและเพื่อที่จะเปิดโลกทัศน์ให้กับนักเรียนด้วย เช่น จะสอนนักเรียนว่าขนมชิ้นหนึ่งไม่ใช่ดูแค่ราคาหรือสีสัน แต่จะให้ประเมินผลตามสภาพจริง รวมกับการนำเนื้อหามาปรับให้ทันสมัยมากขึ้น โดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยด้วย เช่น เว็บไซต์คาฮูท (Kahoot) ซึ่งเป็นเกมการเรียนรู้ซึ่งประกอบด้วย คำถามปรนัย เช่น การตอบคำถาม การอภิปราย หรือการสำรวจ โดยคำถามจะแสดงที่จอหน้าคอมพิวเตอร์และให้นักเรียนตอบคำถามผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน ช่วยให้นักเรียนสนุกกับการเรียนได้มีปัญหาอะไรบ้างในการนำไปสอนจริงและผ่านไปได้อย่างไร        คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่เพิ่งจะพ้นจากชั้นประถมมา ในบางบทเป็นเนื้อหาที่เข้าใจยาก เด็กจะไม่เข้าใจ เราต้องปรับเนื้อหาให้เหมาะสมกับนักเรียน ซึ่งก็จะปรับเป็นการทำกิจกรรมหรือสื่อที่น่าสนใจแทนการสอนแบบเน้นเนื้อหาหนักๆ นอกจากนี้จะเลือกสอนเฉพาะบทที่คิดว่าเขาจะสามารถเข้าใจได้ แต่หากบทไหนที่นักเรียนไม่เข้าใจ หรือไม่สามารถไปถึงจริงๆ ก็อาจจะตัดออก เพราะการพยายามบังคับ หรือสอนไปแบบนั้นอาจจะทำให้เขาเครียดและอาจจะไม่ชอบวิชานี้ได้        ส่วนคำแนะนำหรือการทำให้ยั่งยืน หรือเป็นที่แพร่หลายในโรงเรียนต่างๆ มากขึ้นนั้น โดยส่วนตัวมองว่าอาจจะไม่ต้องมีวิชาบริโภคศึกษาขึ้นเป็นหนึ่งวิชาก็ได้ แต่อาจจะนำเนื้อหาสาระจากวิชานี้ ที่เราอยากให้เด็กเรียนรู้มาบูรณาการกับวิชาต่างๆ ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 ไฟแนนซ์ไม่อนุมัติสินเชื่อบอกเลิกสัญญาได้นะ

        รู้หรือไม่ว่า ประกาศของคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2551 นั้นได้กล่าวถึงเหตุที่ผู้บริโภคสามารถบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อผู้ประกอบธุรกิจกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ คือ        1.ปรับเปลี่ยนราคารถยนต์สูงขึ้น        2.ไม่ส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคภายในระยะเวลาที่กำหนด        3.ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มี ยี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สีและขนาดกำลังเครื่องยนต์ตรงตามที่กำหนดในสัญญา        4.ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มีรายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถม หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามที่กำหนดในสัญญา        และ/หรือ ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบการธุรกิจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสิทธิบอกเลิกสัญญา หากมีข้อเท็จจริงที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับทราบว่า ผู้บริโภคต้องขอสินเชื่อเพื่อการซื้อรถยนต์และผู้บริโภคไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อตามที่ขอภายในกำหนดเวลาตามกำหนดเวลาที่คาดว่าจะส่งมอบรถยนต์        กรณีตัวอย่างของคุณโดมินิค ที่ไปจองรถยนต์ BMW รุ่น 320d iconic ปี 2017 ในราคา 2,329,000 บาท กับบริษัท มิลเลนเนียม ออโต้ กรุ๊ป จำกัด โดยพนักงานขายแจ้งให้วางเงินจองไว้จำนวน 50,000 บาท และส่วนที่เหลือให้ทำสัญญาเช่าซื้อกับไฟแนนซ์ โดยมีกำหนดส่งมอบรถยนต์ในวันที่ 30 มิถุนายน 2561        ระหว่างเวลาก่อนส่งมอบนั้น มีงานมอเตอร์โชว์ ซึ่งคุณโดมินิคลองสอบถามกับพนักงานขายว่า จะมีข้อเสนอพิเศษเพิ่มขึ้นหรือไม่ หรือตนเองจะสามารถเปลี่ยนรถยนต์เป็นรุ่นที่สูงขึ้นได้หรือไม่ ซึ่งพนักงานได้แจ้งว่า หากต้องการข้อเสนอพิเศษหรืออุปกรณ์เสริมคือกล้องติดรถยนต์ ต้องขยับมารับรถยนต์ในเดือนเมษายน คุณโดมินิคตอบตกลงแต่ขอให้ส่งมอบรถยนต์ก่อนสงกรานต์ พนักงานจึงขอให้นำเอกสารมามอบให้ อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าใกล้วันสงกรานต์ทางพนักงานไม่ติดต่อมา คุณโดมินิคจึงติดต่อกลับไปทำให้ทราบว่าบริษัทไฟแนนซ์หยุดยาวช่วงสงกรานต์แล้ว จนวันที่ 20 เมษายนทางพนักงานจึงติดต่อมาแจ้งว่า ไฟแนนซ์อนุมัติไม่เต็มวงเงิน คุณโดมินิคต้องจ่ายเงินดาวน์เพิ่ม 50,000 บาท แต่ไม่มีเอกสารจากทางไฟแนนซ์ยืนยัน บอกเพียงว่าเป็นการอนุมัติแบบพิเศษไม่มีเอกสาร ทำให้คุณโดมินิคไม่แน่ใจจึงบอกปฏิเสธการวางเงินดาวน์เพิ่มและขอยกเลิกสัญญา        เมื่อบอกเลิกสัญญาพนักงานขายได้แจ้งว่า ทางไฟแนนซ์ได้ยื่นเงื่อนไขใหม่ให้ แต่คุณโดมินิคก็ยังยืนยันขอยกเลิกสัญญาและขอเงินจองคืน ทำให้ผู้จัดการบริษัทติดต่อกับคุณโดมินิคโดยตรงเพื่อตกลงเงื่อนไขกันใหม่ ซึ่งคุณโดมินิคบอกซ้ำอีกครั้งว่าไม่ต้องการได้รถยนต์แล้ว  แต่ต่อมาวันที่ 30 เมษายน 2561 บริษัทกลับส่งหนังสือแจ้งการส่งมอบรถยนต์ที่ได้สั่งซื้อตามใบจองมาให้ คุณโดมินิคจึงทำหนังสือแจ้งขอคืนเงินมัดจำกลับไปในวันที่ 5 พฤษภาคม ซึ่งไม่ได้รับการติดต่อกลับใดๆ จากทางบริษัท คุณโดมินิคจึงขอคำปรึกษาว่าควรทำอย่างไรต่อไปแนวทางการแก้ไขปัญหา        จากเหตุที่เกิดขึ้น คุณโดมินิคสามารถบอกเลิกสัญญาได้ เนื่องจากไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อตามที่ขอ และมีสิทธิได้รับการคืนเงินมัดจำ ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจึงได้ทำหนังสือประสานงานให้ทั้งสองฝ่ายได้เจรจาไกล่เกลี่ย และท้ายที่สุดทางบริษัทตกลงคืนเงินจองให้กับผู้ร้องเรียนจำนวน 50,000 บาท แต่ขอหัก 3% ซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมจากการใช้บัตรเครดิตที่ทางบริษัทถูกเรียกเก็บ เหลือคืนให้ผู้ร้อง 48,500 บาท ซึ่งผู้ร้องตกลงจึงเป็นอันยุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 เคล็ดลับก่อนและหลังเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะ

                การเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะในแต่ละครั้ง โดยเฉพาะช่วงเทศกาลที่มีจำนวนคนใช้บริการจำนวนมาก เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ มักมีผู้ประสบพบเจอปัญหาต่างๆ มากมาย นอกจากอุบัติเหตุทางถนนที่พบเห็นได้บ่อย ปัญหาที่เกิดจากการใช้บริการไม่ว่าจะเป็นบรรทุกผู้โดยสารเกิน หรือเรียกเก็บค่าโดยสารแพงกว่าปกติ โดยอ้างว่าเป็นรถเสริมวิ่งช่วงเทศกาล ตลอดจนปัญหารถผีรถเถื่อนที่มาคอยดักเก็บผู้โดยสารที่สถานีขนส่ง ซึ่งหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น ผู้โดยสารจะเสียประโยชน์เนื่องจากไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ ก็พบได้บ่อยในทุกช่วงเทศกาลด้วยเช่นกัน           วันนี้ฉลาดซื้อมีเคล็ดลับดีๆ มาบอกกันครับ เคล็ดลับที่ 1 ซื้อตั๋วอย่างไรให้ปลอดภัย         1. ควรเลือกรถโดยสารกับบริษัทที่เชื่อถือได้ คือมีชื่อบริษัทปรากฏที่ช่องจำหน่ายตั๋ว ที่ตั๋วโดยสารและบริเวณตัวรถ มีตราสัญลักษณ์ประทับข้างรถว่าเป็นรถร่วมของ บขส. หรือ รถที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกหรือไม่ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกล่อลวงให้ใช้บริการของรถโดยสารที่ผิดกฎหมายหรือที่เรียกว่า "รถผี รถเถื่อน" นั่นเอง        2. เมื่อจ่ายเงินซื้อตั๋ว จะต้องได้รับตั๋วโดยสารหลังจ่ายเงินทุกครั้ง พร้อมทั้งตรวจสอบทันทีว่าข้อมูลการเดินทางถูกต้อง ครบถ้วนหรือไม่ รายละเอียดที่ไม่ควรมองข้ามประกอบด้วย วันเวลาที่เดินทาง ราคาตั๋วโดยสาร ตำแหน่งที่นั่ง เลขข้างรถ ประเภทของรถโดยสาร หากระบุไม่ตรงให้รีบทักท้วงแก้ไขโดยทันทีเคล็ดลับที่ 2 ทำอย่างไรจึงปลอดภัยก่อนเดินทาง        1. ควรต้องมาถึงสถานีขนส่ง ก่อนเวลารถออกอย่างน้อย 45 นาที เพื่อจะได้มีเวลาตรวจสอบว่า รถโดยสารที่จะใช้บริการถูกต้องตรงตามต้องการหรือไม่ เช่น ซื้อตั๋วรถโดยสารชั้นเดียวแต่ทางผู้ให้บริการจัดเป็นรถประเภทอื่นมาแทน หากเจอแบบนี้ต้องปฏิเสธทันที และขอให้ปรับเปลี่ยนจัดรถที่ถูกต้องตรงตามสัญญา หากไม่สามารถตกลงกันได้ให้ผู้โดยสารติดต่อที่ หน่วยคุ้มครองสิทธิผู้ใช้บริการรถสาธารณะซึ่งจะให้บริการภายในสถานีขนส่งแต่ละแห่ง หากไม่มีให้โทรติดต่อที่หมายเลข 1584 เพื่อให้ช่วยดำเนินการแก้ไขปัญหา        2. ต้องขึ้นรถในบริเวณสถานีขนส่งเท่านั้น ห้ามขึ้นรถในบริเวณภายนอกสถานีขนส่ง เพราะหากหลงเชื่ออาจจะกลายเป็นเหยื่อของ "รถผี รถเถื่อน"        3. ควรจดจำข้อมูลสำคัญของรถโดยสารทุกครั้ง เช่น หมายเลขทะเบียนรถโดยสาร  ป้ายทะเบียนรถ รถโดยสาร เลขข้างรถ และควรใส่ใจถึงตำแหน่งทางออกฉุกเฉินและที่ตั้งของอุปกรณ์ความปลอดภัยบนรถด้วย เช่น ถังดับเพลิง และค้อนทุบกระจกเคล็ดลับที่ 3 ระหว่างเดินทางต้องปลอดภัย        1. รถโดยสารต้องออกจากสถานีเดินรถตามเวลาที่กำหนด และไม่รับผู้โดยสารเกินกว่าจำนวนที่นั่งผู้โดยสารตลอดเส้นทางการเดินรถ โดยเฉพาะรถโดยสารปรับอากาศต้องไม่มีผู้โดยสารยืนโดยเด็ดขาด         2. พนักงานขับรถต้องขับรถติดต่อกันไม่เกิน 4 ชั่วโมง เว้นแต่ได้พักติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมง จึงสามารถปฏิบัติหน้าที่ขับรถต่อไปได้อีกไม่เกินสี่ชั่วโมงติดต่อกัน และต้องขับรถตามเส้นทางที่กำหนดไว้ หากไม่มีเหตุสุดวิสัย และต้องหยุดหรือจอดรถตามที่กำหนดไว้ตามตารางการเดินรถ ไม่ทอดทิ้งผู้โดยสารระหว่างทาง        3. ผู้โดยสารต้องคาดเข็มขัดนิรภัยตลอดการเดินทาง เพราะหากรถเกิดสูญเสียการทรงตัว หรือเกิดอุบัติเหตุขึ้นจะทำให้ร่างกายของผู้โดยสารไม่หลุดจากที่นั่งไปชนกระแทกกับผู้โดยสารคนอื่นหรือวัสดุสิ่งของต่างๆในรถได้ ซึ่งช่วยลดความสูญเสียที่เกิดจากการบาดเจ็บและเสียชีวิตได้เป็นอย่างดี         4. ผู้โดยสารต้องมีสติขณะโดยสารอยู่บนรถ ต้องสังเกตพฤติกรรมการขับรถโดยสารของพนักงานขับรถ เช่น เหยียบเบรกโดยไม่มีเหตุผล ขับรถส่ายไปส่ายมา ขับรถเร็วกว่าปกติ ควรต้องเตือนและแจ้งพนักงานขับรถให้หยุดขับรถและจอดพักโดยทันที         5. หากพนักงานขับรถมีพฤติกรรมขัดขืน หรือเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัย ควรรีบแจ้ง 1584 หรือ 191 หรือ 1193 โดยทันที         จากเคล็ดลับ 3 ระวังข้างต้น เชื่อว่าหากผู้โดยสารนำ 3 เคล็ดเหล่านี้ไปใช้ การเดินทางของท่านในช่วงวันหยุดยาวจะถึงจุดหมายปลายทางด้วยความปลอดภัย มีความสุขแน่นอนครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 ความคืบหน้า กรณีรถยนต์ใหม่มีปัญหา “มาสด้าสกายแอคทีฟ”

        จากกรณีที่มีผู้ร้องเรียน ซื้อรถยนต์ มาสด้า 2 สกายแอคทีฟ รุ่นปี 2015 เมื่อเดือนมีนาคม 2558 แล้วพบปัญหาเกี่ยวกับการรั่วซึมของโช้ครถยนต์ทางด้านหลัง  ต่อมาเมื่อนำรถเข้าซ่อมที่ศูนย์บริการ ช่างของศูนย์ดำเนินการเปลี่ยนโช้คให้ และแจ้งข้อมูลแก่ผู้ร้องว่า ปัญหานี้จะเกิดขึ้นกับรถล็อตที่ผลิตในปี 2015 เท่านั้น เพราะซัพพลายเออร์มีปัญหาในการผลิต ซึ่งทำให้ผู้ร้องไม่มั่นใจในคุณภาพสินค้า เพราะเห็นว่าการที่อะไหล่ดังกล่าวไม่ได้คุณภาพ อาจจะส่งผลต่อการขับขี่ก่อให้เกิดอันตราย และทำให้รถเสื่อมสภาพเร็วขึ้น และอาจทำให้ผู้ใช้รถยนต์ มาสด้า 2 สกายแอคทีฟ รุ่นปี 2015  ล็อตดังกล่าวหรือผู้อื่นที่เป็นผู้ร่วมใช้ถนนเกิดความเสียหาย จึงร้องเรียนเพื่อขอความช่วยเหลือ        ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงมีหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เพื่อให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้บริโภค และเร่งให้บริษัทมีมาตรการในการดูแลชดเชยเยียวยาให้แก่ผู้บริโภค และในขณะที่อยู่ระหว่างร้องเรียน ทางผู้ร้องได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องปัญหาเกี่ยวกับรถมาสด้า 2 ในกลุ่มเฟซบุ๊ก ที่เปิดขึ้นมาเพื่อรวบรวมคนใช้รถยนต์รุ่นนี้ ทำให้ได้ข้อมูลเพิ่มว่า มีผู้ซื้อรถ มาสด้า 2 สกายแอคทีฟ รุ่นปี 2015  รายอื่นพบปัญหาเช่นเดียวกันกับตนเอง        จึงเกิดการรวมตัวและตั้งกลุ่ม “อำนาจผู้บริโภค” ขึ้นในเฟซบุ๊ค และยังพบว่ารถรุ่นดังกล่าวยังมีอาการผิดปกติของระบบไฟแจ้งเตือน อาการรั่วซึมของโช้คด้านหลัง และอาการเครื่องยนต์สั่น เร่งความเร็วไม่ขึ้นในช่วงความเร็ว 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยอาการจะปรากฏครั้งแรกในช่วงเลขไมล์ 20,000 – 70,000 กม. กลายเป็นกลุ่มผู้เสียหายที่รวมตัวกันเข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น        หลังจากที่กลุ่มผู้เสียหาย โดยมีแกนนำคือผู้ร้องเรียนท่านแรก ได้พยายามเรียกร้องสิทธิของตนเอง ก็เกิดปัญหาใหญ่ตามมาคือ  ผู้ร้อง ถูกบริษัทมาสด้า ฟ้องดำเนินคดี ในฐานความผิดละเมิด ใช้สิทธิเกินส่วน กล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวนกว่า 84 ล้านบาท โดยอ้างว่าการร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ของผู้ร้องเรียนเป็นการใช้สิทธิเกินส่วน ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ของบริษัทลดลงแนวทางแก้ไขปัญหา        ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จึงทำหนังสือถึงบริษัทมาสด้า ขอให้ถอนฟ้องผู้ร้อง เนื่องจากเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตของผู้บริโภค เพื่อที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นหน้าที่ของบริษัทที่ต้องแก้ไขปัญหาให้ผู้ร้อง แต่บริษัทเพิกเฉยและดำเนินคดีกับผู้ร้องต่อไป        ดังนั้นทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ จึงช่วยเหลือผู้บริโภคด้วยการจัดหาทนายความ ในการทำคำให้การต่อสู้คดีให้แก่ผู้ร้อง ปัจจุบันศาลมีคำพิพากษายกคำฟ้องของบริษัท      ศาลพิพากษายกฟ้อง คดีมาสด้าฟ้องเรียกค่าเสียหายจากลูกค้ากว่า 80 ล้าน เนื่องจากเป็นการปกป้องสิทธิของผู้บริโภคโดยสุจริต เพราะรถยนต์มีความบกพร่องจริง         จากกรณีที่ เมื่อต้นปี 2561 บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจำนวนกว่า 84 ล้านบาท จากผู้ใช้รถมาสด้า 2 เครื่องยนต์ดีเซล ที่พบปัญหาเรื่องการใช้งานและออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบจากบริษัท โดยทางบริษัทให้เหตุผลในการฟ้องว่าผู้เสียหายใช้สิทธิเกินส่วนที่ผู้บริโภคควรใช้ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ ชื่อเสียง รวมทั้งทำให้ยอดจำหน่ายของบริษัทลดลงนั้น                        30 พฤศจิกายน 2561 ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปยัง นายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ ผู้เสียหายจากการซื้อรถยนต์มาสด้า 2 และผู้ถูกบริษัทมาสด้าฟ้อง เพื่อสอบถามถึงความคืบหน้าของคดี                นายภัทรกร กล่าวว่า เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2561 ศาลจังหวัดนนทบุรี ได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าว เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าการออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบจากทางบริษัทในครั้งนั้นเป็นการปกป้องสิทธิตามสิทธิผู้บริโภคโดยสุจริต เพราะรถยนต์มีความบกพร่องจริง        และผู้เสียหายได้สอบถามไปยังผู้ผลิตแต่ไม่ได้รับคำตอบ จึงมีสิทธิเรียกร้องทวงถาม ไม่ถือเป็นการใช้สิทธิส่วนเกินตามที่บริษัทอ้าง ทั้งนี้ศาลได้มีคำสั่งให้ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ชดใช้ค่าทนายให้กับผู้เสียหายเป็นเงิน 30,000 บาท         “เมื่อเราซื้อสินค้ามาแล้วชำรุด บกพร่อง หรือมีปัญหาเราสามารถสอบถาม และเรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้ขายได้ตลอด เพราะเรามีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยา อย่ากลัวและยอมให้ผู้ประกอบการเขาฟ้องปิดปาก เราต้องรักษาสิทธิของเราให้ถึงที่สุด เพราะสุดท้ายคำพิพากษาจะชี้ให้เห็นเองว่าเราทำตามสิทธิที่มีและพึงได้รับ” นายภัทรกรกล่าว         

อ่านเพิ่มเติม >