ฉบับที่ 270 แค้น : เจ็บนี้จำไปจนตาย เจ็บนี้ไม่มีวันลืม

        “ความแค้น” คืออะไร? พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานระบุไว้ว่า “แค้น” คือ อาการโกรธเจ็บใจอยู่ไม่หาย และหากเป็น “คนเจ้าคิดเจ้าแค้น” แล้ว จะหมายถึง คนที่มักผูกอาฆาตพยาบาท ผูกใจเจ็บกับคนที่ทำร้ายหรือทำให้ตนได้รับความลำบากอย่างไม่รู้จักลดละ ไม่รู้จักให้อภัย         ในทางพุทธศาสนา ที่ยึดหลักแห่งความเมตตาการุณย์เป็นที่ตั้งนั้น อธิบายว่า ความแค้นเป็นคู่ปรับตรงกันข้ามกับความเมตตา เป็นเสมือนไฟแผดเผาใจให้มอดไหม้ มักนำไปสู่การกระทำที่รุนแรงเสียหาย และนำสู่ความหงุดหงิดงุ่นง่านทรมานใจตนเอง ดังนั้น ศาสนาจึงสอนให้ปุถุชนพยายาม “ดับความแค้น” ในใจ เมื่อมีคนใดมาทำให้โกรธแค้น ก็พึงแผ่เมตตาให้กับเพื่อนมนุษย์และสรรพชีวิตทั้งปวง         แม้ว่าความแค้นจะเป็นคู่ตรงข้ามกับการให้อภัย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความแค้นเป็นสิ่งที่เกิดเนื่องมาแต่ “ความต้องการอำนาจ” ซึ่งแสดงออกในรูปแบบของการ “เอาคืน” จากความอยุติธรรมที่ดำรงอยู่ในสังคม ดุจดังความแค้นฝังแน่นชนิด “ตายไม่เผาผี” กันไปข้างหนึ่งระหว่าง “เหมือนแพร” กับ “ปรางทอง” ในละครโทรทัศน์ที่ชื่อเรื่องสั้นๆ ตรงเป้าตรงประเด็นว่า “แค้น”         แล้วทำไมผู้หญิงสองคนต่างจึงโกรธแค้นกันชนิด “เจ็บนี้จำไปจนตาย เจ็บนี้ไม่มีวันลืม” และ “ตายกันแบบไม่เผาผี” อีกเลย? ละครได้ย้อนไปหาคำตอบผ่านชีวิตของเหมือนแพร หญิงสาวที่ในชีวิตไม่เคยตระหนักเลยว่า ความรักที่เธอมีให้ผู้ชายคนหนึ่ง และความศรัทธาที่มีต่อผู้หญิงที่เธอเคารพรักเสมือนเป็นญาติคนสนิท จะพลิกผันจาก “ความรัก” เป็น “ความแค้น” ที่ปะทุฝังแน่นอยู่ในอุรา         ถ้าสังคมไทยทุกวันนี้มีความขัดแย้งระหว่างคนต่างเจนเนอเรชันเป็นสมรภูมิที่ปะทุปะทะกันอย่างเข้มข้น ภาพจำลองสนามรบของคนต่างรุ่นวัยแบบนี้ก็ถูกถ่ายทอดให้เห็นผ่านความแค้นที่ระเบิดออกมาเป็น “ศึกสองนางพญา” ระหว่างนางเอกเหมือนแพร กับปรางทิพย์ หรือที่เธอเรียกว่า “น้าปราง”         สงครามความแค้นครั้งนี้เริ่มต้นเมื่อราวยี่สิบปีก่อน ที่ปรางทองได้เข้ามาในบ้านของเศรษฐีที่ดินตระกูล “พิพัฒน์ผล” แต่เพราะมีสถานะเป็นลูกติดของ “ปรางทิพย์” ผู้เป็นภรรยาน้อย เธอจีงถูก “ปิ่นมณี” บุตรสาวคนเดียวของตระกูลปฏิบัติกับเธอเยี่ยงเด็กรับใช้ในบ้าน หรือทาสในเรือนเบี้ย จนบ่มเพาะเป็นความแค้นที่อยู่ในใจของปรางทองมานับจากนั้น         สองปีถัดมา เมื่อปิ่นมณีได้ให้กำเนิดเหมือนแพร ก็ยิ่งตอกย้ำให้สถานะของปรางทองตกต่ำลงไปอีก แม้เหมือนแพรจะสนิทสนมและนับถือเธอประหนึ่งน้าแท้ๆ แต่ปรางทองก็มีชีวิตไม่ต่างจากสาวใช้ที่ต้องดูแลเด็กน้อย และเป็นรองทุกอย่างให้กับเด็กหญิงที่วันหนึ่งจะโตมาเป็นเจ้าของสมบัติตระกูลพิพัฒน์ผลทั้งหมด         ด้วยความแค้นต่อโชคชะตาที่ปรางทองสั่งสมเอาไว้ เธอจึงมุ่งมั่นตั้งแต่มารดาเสียชีวิตว่า สักวันหนึ่งจะยึดทรัพย์สินทุกอย่างของบ้านพิพัฒน์ผลมาเป็นของตนให้ได้ ดังนั้น เมื่อปรางทองเรียนจบมหาวิทยาลัย เธอจึงเริ่มแผนการเสนอตัวเข้าไปช่วยงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของตระกูล และยังชักชวนแฟนหนุ่ม “อรรณพ” ให้มาเป็นผู้ช่วยของ “พัฒนะ” บิดาของเหมือนแพร โดยแนะนำว่าเขาเป็นเพื่อน มิใช่แฟน         และแล้วแผนการของปรางทองก็สัมฤทธิ์ผล หลังจากที่พัฒนะและปิ่นมณีเสียชีวิตลง เธอก็ได้ยุให้เหมือนแพรที่ไร้เดียงสาและอยู่ในวัยแตกเนื้อสาว เซ็นเอกสารยินยอมให้อรรณพเป็นผู้จัดการมรดกและดำเนินการทางธุรกิจแทน ก่อนจะยืมมืออรรณพที่เด็กสาวแอบหลงรักมาฮุบสมบัติของพิพัฒน์ผลจนสำเร็จดังหวัง หลังจากนั้นปรางทองก็เปิดตัว “เก่งกาจ” ลูกชายวัยสองขวบ ความรักความไว้ใจกลายเป็นความเจ็บปวดและสูญเสียทุกอย่าง จนเหมือนแพรเลือกตัดสินใจฆ่าตัวตาย         แม้เหมือนแพรจะรอดจากอัตวินิบาตกรรมครานั้น แต่ด้วยจิตใจที่แตกสลาย เธอได้เลือกบินไปใช้ชีวิตที่ต่างประเทศอยู่สิบกว่าปี กว่าที่จะทำใจกลับมาเยียวยาบาดแผลซึ่งฝังรากอยู่ในห้วงความทรงจำลึกๆ ของเธอ         ในขณะที่หลักศาสนาพร่ำสอนว่า “พึงระงับความแค้นด้วยการให้อภัย” และ “กฎแห่งกรรมเป็นวัฏจักรที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้” แต่สิ่งที่พบเจอมาในชีวิตของเหมือนแพรที่บัดนี้กลายเป็นปัจเจกบุคคลผู้มีวุฒิภาวะมากขึ้น ได้นำไปสู่คำถามใหม่ๆ ที่ว่า “ทำไมคนที่ทำแต่เรื่องชั่วๆ ยังลอยหน้าอยู่ในสังคมได้” และแม้ “พิธาน” พระเอกหนุ่มน้องชายของอรรณพจะเตือนสติให้เธอละเลิกความพยาบาท แต่เหมือนแพรก็เลือกประกาศกับเขาว่า “ถ้ากรรมไม่ทำงาน แพรก็จะลงมือทำเอง”         อย่างไรก็ดี ในสมรภูมิครั้งใหม่นี้ ปรางทองกลับเป็นผู้ที่ถือไพ่เหนือกว่า เพราะเธอได้รวบปัจจัยการผลิตทั้งหมดมาจากชีวิตเหมือนแพร และแปลงทรัพยากรเม็ดเงินและธุรกิจในมือเป็นอำนาจในการจัดการกับอดีตหลานสาว จนถึงกับประกาศศึกว่า “มันได้กินยาตายรอบสองแน่ แล้วครั้งนี้มันจะได้ตายสมใจ” รวมทั้งใช้แม้แต่กำลังความรุนแรงแบบไร้มนุษยธรรมเพื่อเผด็จศึกชนิดที่เราแทบไม่เคยเห็นมาก่อน          ทว่า สิ่งที่ปรางทองมองข้ามไปก็คือ ในศึกแค้นคำรบใหม่นี้เช่นกัน คู่ชกที่เธอปรามาสว่าอ่อนหัดกลับมีเจตนารมณ์แน่แน่วที่จะแปลงเพลิงแค้นให้เป็นพลังต่อสู้ แม้ว่าในยกแรกๆ เหมือนแพรจะเพลี่ยงพล้ำขนาดที่ถูกลากมาตบมาซ้อมในที่สาธารณะท่ามกลางสายตาผู้คนนับร้อยในงานกาล่าของชาวไฮโซ แต่ประสบการณ์แต่ละครั้งก็บ่มเพาะให้เหมือนแพรสุขุมคัมภีรภาพ และรู้จักเป็นผู้เดินเกมบนกระดานได้อย่างชาญฉลาดยิ่งขึ้น         ในขณะที่คนรุ่นก่อนแบบปรางทองเลือกวิธีต่อสู้ในเกมแบบการเล่น “หมากรุก” ที่ทำทุกอย่างโดยมุ่งเป้าพิชิตตัวขุนผู้เป็นตัวนำเพื่อชนะศึกในกระดาน แต่ทว่าคนรุ่นใหม่แบบเหมือนแพรกลับชำนิชำนาญการเล่นเกมแบบ “หมากล้อม” ช่วงชิงเก็บแต้มเล็กแต้มน้อย จนในท้ายที่สุดก็จะยึดพื้นที่หมากโกะได้หมดทั้งกระดาน         เพราะฉะนั้น เราจึงเห็นภาพเหมือนแพรที่ค่อยๆ วางแผนซื้อหุ้นของธุรกิจพิพัฒน์ผลกลับมาทีละเล็กละน้อย และช่วงชิงแนวร่วมพันธมิตรของปรางทองทีละคนสองคน ไล่ตั้งแต่บรรดาผู้ถือหุ้นรายย่อยแต่ละคน “โภไคย” และ “ดาหวัน” ผู้ร่วมทำธุรกิจกับปรางทอง พิธานพระเอกหนุ่มที่แอบรักเธออยู่ หรือแม้แต่วางแผนหลอกใช้และปั่นหัวเก่งกาจลูกชายของปรางทอง ให้เขากบฏแข็งข้อต่อผู้เป็นแม่แบบไม่เคยเป็นมาก่อน         แต่ทว่า ในท้ายที่สุดแล้ว ละครก็ได้ตั้งคำถามว่า หากจะแปลงความแค้นเป็นสงครามปั่นประสาทแบบ “ตาต่อตาฟันต่อฟัน” เยี่ยงนี้ “ความเลว” ก็ไม่อาจล้มล้างได้ด้วยการปะทะกันทางอารมณ์แต่อย่างใด หากแต่ต้องใช้ “ความจริง” เท่านั้นที่จะทำให้ปัจเจกบรรลุชัยชนะ เหมือนกับที่ครั้งหนึ่งเหมือนแพรก็เคยถูกใช้ความรักความหวังดีมาสร้างเป็นจิตสำนึกปลอมๆ จนมองข้าม “ความจริง” อันเป็นธาตุแท้ของศัตรู         ในสังคมที่ความยุติธรรมออกอาการบิดเบี้ยว และโอกาสในชีวิตที่ถูกพรากไปโดยไร้กฎกติกา ชะตากรรมของตัวละครก็อาจบอกเราได้ว่า ถ้าจะให้ความยุติธรรมบังเกิดขึ้นจริง บางทีเราต้องหัดแปลงแรง “แค้น” ให้เป็นสติในการเห็นถึง “ความจริง” ที่จะปลดปล่อยจิตสำนึกจอมปลอมที่แอบล่อหลอกลวงตาเอาไว้นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 หมอหลวง : กว่าจะเป็นนักรบเสื้อกาวน์

        วิชาแพทยศาสตร์ของไทย แต่เดิมพัฒนาองค์ความรู้มาจากการใช้ยาสมุนไพรและตำรับยาตำราหลวง หรือที่รู้จักกันว่าเป็น “แพทย์แผนไทย” จนเมื่อราวร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ที่ระบบสาธารณสุขและความรู้แพทย์แผนใหม่ได้ลงรากปักฐานในสยามประเทศ และกลายมาเป็นชุดวิทยาการการแพทย์แผนหลักจวบจนปัจจุบัน         ที่สำคัญ ทุกวันนี้ไม่เพียงบุคลากรทางการแพทย์แผนใหม่จะมีบทบาทดูแลรักษาสุขภาพคนไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนานเท่านั้น หากแต่ยังมีบทบาทเป็นชนชั้นนำหรือ “คีย์แมน” ที่แทรกซึมเข้าไปในอีกหลากหลายแวดวงทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นแวดวงการศึกษา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง และอีกมากมาย         เพราะแพทย์แผนใหม่ได้สถาปนาอำนาจและบทบาทนำในสังคมไทยมาเกินกว่าศตวรรษเช่นนี้เอง จึงไม่แปลกที่ละครโทรทัศน์จะหยิบเรื่องราวมาผูกเป็นเรื่องเล่าในความบันเทิงแบบมวลชน และล่าสุดก็ผูกโยงเป็นละครแนวพีเรียดที่ย้อนยุคไปในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อคณะมิชชันนารีได้เข้ามาเผยแผ่คริสตศาสนาและวิทยาการการแพทย์แบบตะวันตก พร้อมๆ กับการริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนแพทย์แผนไทย เป็นฉากหลังของเรื่องราว ดังที่เราได้มองผ่านละครเรื่อง “หมอหลวง”         ละครกึ่งดรามากึ่งคอมเมดี้เรื่อง “หมอหลวง” เริ่มต้นด้วยภาพกาลสมัยปัจจุบันของ “อัคริมา” หรือ “บัว” นางเอกสาวนักศึกษาแพทย์ ที่เหมือนจะไร้ญาติขาดพี่น้อง และแม้มุ่งมั่นว่าสักวันหนึ่งจะได้สวมเสื้อกาวน์เป็นหมอที่ดีในอนาคต แต่ในชั้นเรียนเธอกลับถูกตีตราจากอาจารย์และเพื่อนร่วมชั้นว่า เป็นนักศึกษาแพทย์ที่เรียนรั้งท้าย ไม่มีสติ ไม่มีวิจารณญาณที่จะเป็นหมอรักษาโรคได้ดี         กับชีวิตที่ดูแปลกแยกและไร้แรงเกาะเกี่ยวเช่นนี้ ปาฏิหาริย์ก็บังเกิดขึ้นเมื่อเกิดลมพายุใหญ่พัดหอบบัวออกจากห้องพักอันคับแคบ ทะลุมิติข้ามภพข้ามกาลเวลาประหนึ่งเมตาเวิร์ส มาโผล่ในจุลศักราช 1202 สมัยรัชกาลที่ 3 กันโน่นเลย         ปกติแล้วในความเป็นเรื่องละครแนวเดินทางข้ามเวลา หรือที่รู้จักกันว่า “time travel stories” นั้น ในฟากหนึ่งก็สะท้อนความรู้สึกโหยหาอดีตที่แสนหวานแต่ห่างหายไปแล้วจากสำนึกคนรุ่นปัจจุบัน แต่ในอีกฟากหนึ่ง ก็เป็นช่วงจังหวะที่เปิดโอกาสให้ปัจเจกบุคคลร่วมสมัยได้ทบทวนหวนคิดถึงตนเองในทุกวันนี้ โดยใช้ฉากทัศน์ของกาลอดีตมาเป็นภาพที่วางเปรียบเทียบเคียง         ด้วยเหตุดังนั้น หลังจากที่บัวได้หลุดมิติมาสู่ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ นางเอกสาวนักศึกษาแพทย์ก็ได้พบกับ “ทองอ้น” พระเอกหนุ่ม ลูกชายผู้ไม่เอาถ่านของตระกูลหมอหลวงสาย “หลวงชำนาญเวช” หรือที่ผู้คนเรียกขานว่า “หมอทองคำ” ผู้สืบทอดความรู้แพทย์แผนโบราณมาตั้งแต่สมัยกรุงเก่า         แม้ทองอ้นจะเป็นคนเฉลียวฉลาด มีปฏิภาณไหวพริบดี แต่ด้วยเหตุผลที่เขาไม่ต้องการเด่นเกิน “ทองแท้” พี่ชายต่างมารดา จึงแกล้งทำตัวไม่เป็นโล้เป็นพาย เพื่อปิดบังความรู้ความสามารถที่แท้จริงของตน         แต่แล้วชีวิตทองอ้นก็ต้องมีอันพลิกผัน เมื่อมีพระราชโองการจัดตั้งโรงเรียนหมอหลวงขึ้นมา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดรับสมัครนักเรียนหมอหลวงในกรุงสยาม และเปิดโอกาสให้ลูกหลานชาวบ้านทั่วไปได้เข้ามาร่ำเรียนเพื่อเป็นหมอ ซึ่งอดีตเคยเป็นวิชาความรู้ที่ผูกขาดอยู่เฉพาะในสายตระกูลหมอหลวง และก็แน่นอนที่พระเอกหนุ่มทองอ้นก็คือหนึ่งในผู้สมัครเป็นนักเรียนหมอหลวงรุ่นแรกนั้นด้วย         จากนั้น ผู้ชมก็ได้เห็นภาพกระบวนการกลายมาเป็นหมอหลวงในยุคเก่าก่อน ผ่านสายตาและการรับรู้ของบัวหญิงสาวผู้ข้ามภพกาลเวลามาจากปัจจุบัน โดยผูกเล่าผ่านโครงเรื่องความขัดแย้งย่อยๆ ตั้งแต่ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวของหมอทองคำ ความวุ่นวายของชีวิตนักเรียนในโรงเรียนหมอหลวง ชีวิตหมอหลวงที่ต้องผูกพันกับทั้งราชสำนักและผู้ไข้ที่ขัดสน หรือแม้แต่เกี่ยวพันเข้าไปในสงครามสู้รบจริงๆ จากกลุ่มจีนอั้งยี่ และสงครามโรคภัยจากการระบาดของไข้ทรพิษ         และเพื่อให้ดูสมจริงในสายตาของผู้ชม ละครจึงตัดภาพสลับไปมา โดยให้ผู้หญิงร่วมสมัยอย่างบัวได้เรียนรู้วิทยาการสมุนไพรและแพทย์แผนโบราณ ไปจนถึงได้เห็นฉากการผ่าตัดครั้งแรกในสยามประเทศเมื่อร้อยกว่าปีก่อน แต่ในเวลาเดียวกัน ก็เปิดโอกาสให้ตัวละครในอดีตอย่างทองอ้นและสหายได้ใช้จินตนาการหลุดมาสัมผัสเหตุการณ์จริงของระบบการจัดการสุขภาพผู้คนในศตวรรษที่ 21 ตั้งแต่ให้พวกเขาได้เข้าไปเยี่ยมเยือนในห้องยิมออกกำลังกาย ไปจนถึงห้องผ่าตัดของศัลยแพทย์ในโรงพยาบาล         การสลับเรื่องราวไปมาของตัวละครสองห้วงเวลาที่หลุดเข้าสู่โลกเสมือนแบบนี้ ด้านหนึ่งก็เชิญชวนให้ผู้ชมได้ลุ้นกับฉากสรุปตอนท้ายว่า บัวจะตัดสินใจเลือกครองคู่อยู่กับทองอ้นในกาลอดีต หรือจะเลือกกลับมาใช้ชีวิตที่เหลือแบบแปลกแยกโดดเดี่ยวกันอีกครั้ง หากแต่พร้อมๆ กันนั้น ละครข้ามเวลาเรื่องนี้ก็ชี้ชวนให้เราทบทวนถึงคุณค่าของวิชาชีพแพทย์ ผู้มีบทบาทในการกำหนดความเป็นความตายของชีวิตมนุษย์ปัจจุบัน         แม้หมอเองก็คือปุถุชนธรรมดาคนหนึ่ง แบบที่นักเรียนหมอหลวงก็มีการแข่งขันกันเพื่อชิงความเป็นหนึ่ง มีความอิจฉาริษยา มีเรื่องพรรคพวกเส้นสาย หรือแม้แต่ออกอาการงกวิชาความรู้ แต่ในขณะเดียวกัน ภายใต้ความเป็นปุถุชนที่มีกิเลสรักโลภโกรธหลงนี้ แวดวงวิชาชีพหมอในอดีตก็มีการติดตั้งรหัสจริยธรรมที่กำกับควบคุมด้านมืดทั้งหลายมิให้ครอบงำกัดกร่อนจิตใจของบรรดาหมอหลวงเหล่านั้นไปได้โดยง่าย         คุณค่าหลักของหมอในอุดมคติที่ปรากฏในละคร มีตั้งแต่การต้องเคารพครู ช่างสังเกต ตั้งข้อสงสัย ไม่ย่อท้อที่จะค้นหาวิธีรักษาโรคให้เจอ รู้จักขวนขวายความรู้จากทั้งตำราดั้งเดิมและความรู้ใหม่ๆ ที่เก็บเกี่ยวได้รอบตัว ตลอดจนคุณธรรมอีกหลากหลายที่คนเป็นหมอพึงมี         แต่ที่ละครดูจะตอกย้ำซ้ำทวนเอาไว้ก็คือ หมอที่ดีพึงยึดเอาประโยชน์ของ “ผู้ไข้” เป็นหลัก แบบที่ครูหมอรุ่นก่อนได้สอนอนุชนนักเรียนหมอหลวงว่า “จรรยาข้อแรกของหมอคือ ต้องมีเมตตาต่อผู้ไข้ไม่แยกชนชั้นวรรณะ” หรือ “ความรู้ด้านการแพทย์ไม่ได้มีไว้แข่งขันเพื่อเอาชนะกัน” หรือแม้แต่วิธีคิดต่อยาสมุนไพรหายากในโรงหมอหลวงที่ว่า “ยาหาใหม่ได้ แต่ชีวิตคนหาใหม่ไม่ได้”         เพราะฉะนั้น ฉากที่หมอทองคำลดตนก้มกราบคารวะ “หมอทัด” คู่ปรับในวิชาชีพแพทย์ที่ใช้ความรู้ช่วยเหลือผู้ไข้ให้ผ่านพ้นการระบาดของโรคฝีดาษได้ ก็อรรถาธิบายอยู่ในตัวว่า หากหมอหัดลดหรือวางอัตตาและทิฐิลงเสียบ้าง และพร้อมจะยอมรับความรู้ความสามารถคนอื่นเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ไข้ ก็เป็นรหัสจรรยาบรรณที่คนโบราณวางไว้ให้กับบรรดาหมอหลวงได้ยึดถือปฏิบัติ         กว่าศตวรรษได้ผ่านพ้นไป กับสังคมไทยที่มีแพทย์ชนชั้นนำเป็นกลจักรขับเคลื่อนอยู่นี้นั้น สถาบันการแพทย์ที่มีบทบาทและตัวตนอยู่ในสปอตไลต์ก็คงหนีไม่พ้นที่จะถูกตั้งคำถามไปถึงจรรยาบรรณใต้เสื้อกาวน์อยู่เป็นเนืองๆ หากเราลองผาดตาเล็งเห็นคุณค่าที่ทองอ้นกับการก่อตัวของสถาบันหมอหลวงมาแต่อดีต ก็อาจจะเห็นหลักจริยธรรมที่นำมาตอบโจทย์ของแพทย์ที่มีต่อผู้ไข้และสังคมไทยอยู่ในนั้นได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 เลือดเจ้าพระยา : แค่อยากเห็นสายน้ำในครั้งก่อน ที่ฉันได้เคยว่ายเวียน

        สังคมไทยโดยเฉพาะดินแดนพื้นที่ลุ่มภาคกลาง หยั่งรากมาจาก “วัฒนธรรมแห่งสายน้ำ” นับแต่อดีตกาล วิถีชีวิตของคนไทยผูกพันกับแม่น้ำลำคลองอย่างแนบแน่น อาชีพเกษตรกรรมเพาะปลูกที่ต้องอิงอยู่กับวงจรของน้ำในแต่ละฤดูกาล การเดินทางของผู้คนที่ใช้เรือเป็นพาหนะหลักในการสัญจร หรือกิจกรรมราษฎรบันเทิงอย่างเพลงเรือหรือดอกสร้อยสักวาก็เกิดขึ้นโดยมีสายน้ำเป็นศูนย์กลางของประเพณีท้องถิ่นดังกล่าว         หรือแม้แต่สำนวนภาษิตมากมายก็ตกผลึกมาจากวัฒนธรรมแห่งสายน้ำที่ดำรงอยู่ในชีวิตประจำวันแบบไทยๆ ไม่ว่าจะเป็นอุปมาอุปไมยการรู้จักจับจังหวะและโอกาสไม่ให้ผ่านพ้นไปแบบ “น้ำขึ้นให้รีบตัก” หรือการเตือนใจว่าอย่ากระทำการอันใดให้ลำบากเกินไปดุจการ “พายเรือทวนน้ำ” หรืออย่าไปทำอะไรไม่คุ้มค่าการลงทุนดั่งการ “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” หรืออย่าไปกีดขวางเกะกะเป็นภาระผู้อื่นเหมือน “มือไม่พาย เอาเท้าราน้ำ” ไปจนถึงการที่สรรพชีวิตต่างล้วนพึ่งพาอาศัยกันไม่ต่างจาก “น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า”         แต่ทว่า เมื่อความเจริญทางเศรษฐกิจก้าวหน้าขึ้น และเมื่อมีการตัดถนนหนทางมาแทนการสัญจรทางน้ำดังเดิม วิถีการพัฒนาที่เชื่อว่า “น้ำไหลไฟสว่างทางดีมีงานทำ” ได้ซัดกระหน่ำและพลิกโฉมอารยธรรมใหม่ให้กับดินแดนที่ราบลุ่มภาคกลางมานับเป็นหลายทศวรรษ และแม้ว่าการพึ่งพาแม่น้ำลำคลองจะมิได้สูญสลายหายไป แต่วัฒนธรรมแห่งสายน้ำก็เริ่มลดคุณค่าและห่างไกลไปจากชีวิตคนรุ่นใหม่ขึ้นทุกวัน         กับอารมณ์ความรู้สึกที่เส้นกราฟการพัฒนาสังคมไทยต้องมุ่งไปข้างหน้า และหลีกหนีจากสภาวะ “ถอยหลังเข้าคลอง” เช่นนี้ “ราคาที่ต้องจ่ายแบบแพงแสนแพง” ก็ทำให้ผู้คนเริ่มเกิดอาการถวิลหาอดีต หรือที่ฝรั่งเรียกว่า “nostalgia” ที่หวนหาวัฒนธรรมสายน้ำซึ่งห่างหายกันอีกครั้งครา ไม่ต่างจากภาพชีวิตของบรรดาตัวละครทั้งหลายในละครโทรทัศน์แนวบู๊ผสมรักโรแมนติกเรื่อง “เลือดเจ้าพระยา”         ละครจำลองภาพชีวิตของคนสองรุ่นโดยใช้ฉากหลังของทุ่งลานเท อันเป็นพื้นที่ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่แม่น้ำเจ้าพระยาไหลมาบรรจบกัน เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อกว่าห้าสิบปีก่อน และเปิดฉากด้วยตัวละคร “สมิง” พระเอกหนุ่มหล่อกล้ามใหญ่ ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ลูกเจ้าพระยา” ตัวจริง กับภาพที่เขาดำน้ำแหวกว่ายอยู่ข้างเรือโยงอันเป็นที่ที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับพ่อและแม่         แม้จะเป็นอ้ายหนุ่มเรือโยงผู้มีฐานะยากจนขัดสน สมิงก็แอบมีใจรักให้กับแม่เพลงลำตัดชื่อดังแห่งทุ่งลานเทนามว่า “ศรีนวล” บุตรสาวคนเดียวของ “กำนันธง” ความงามของศรีนวลเป็นที่ระบิลระบือไปทั่วทุกคุ้งน้ำย่านกรุงเก่า ไม่แพ้อุปนิสัยแก่นแก้ว และฝีมือแม่นปืนตัวฉกาจ         จนกระทั่งวันครบรอบวันเกิดของศรีนวล และกำนันธงได้จัดงานเลี้ยงต้อนรับบุตรชายของ “ท่านผู้ว่าฯ ทรงพล” ศรีนวลได้พบกับ “เลอสรร” นักเรียนนายร้อยตำรวจหนุ่มรูปหล่อพ่อรวย แม้ว่าในใจลึกๆ ศรีนวลจะมีคำถามว่า “สาวๆ ในจังหวัดนี้ซื่อๆ ตามไม่ทันพี่หรอกหนา ไม่ใช่มาเพื่อลวงใครใช่ไหม” แต่ด้วยจิตปฏิพัทธ์ เธอก็ลักลอบแอบมีความสัมพันธ์กับเขา ในขณะที่สมิงก็ได้แต่แอบเฝ้ามองดูอยู่ด้วยความรู้สึกเจ็บปวด         แม้เลอสรรจะให้คำมั่นสัญญาว่า เมื่อเรียนจบจะรีบให้พ่อแม่มาสู่ขอศรีนวล แต่เพราะชีวิตมนุษย์ไม่ต่างจากสายน้ำ ที่ไม่ได้ไหลราบเรียบเป็นเส้นตรงเสมอไป หากทว่าบางจังหวะก็คดเคี้ยวเลี้ยวลด หรือแม้แต่ปะทะกับแก่งหินเกาะกลางลำน้ำอยู่ตลอดเวลา         ด้วยเหตุฉะนี้ เมื่อเลอสรรเดินทางกลับเมืองกรุง เรือเกิดอุบัติเหตุจนเขาพลัดตกแม่น้ำและสูญเสียความทรงจำบางส่วน โดยเฉพาะเมโมรีไฟล์เรื่องความรักระหว่างเขากับศรีนวล “คุณนายสอางค์” ผู้เป็นมารดาจึงถือโอกาสจับลูกชายคลุมถุงชนแต่งงานกับ “สร้อยเพชร” ลูกสาวผู้ดีมีตระกูลคู่หมั้นคู่หมายตั้งแต่เด็ก และกีดกันบุตรชายไม่ให้เกี่ยวโยงหรือได้ฟื้นฟูความทรงจำเกี่ยวกับชีวิตที่ทุ่งลานเทอีกเลย         สองทศวรรษผ่านไป พร้อมๆ กับความเจริญและการพัฒนาเศรษฐกิจที่ขยายตัวเข้ามาสู่ดินแดนที่ราบลุ่มภาคกลาง “สอยดาว” ลูกของศรีนวลได้เติบโตขึ้นมาเป็นสาวแก่นเซี้ยวเฟี้ยวซ่าไม่ต่างจากผู้เป็นแม่ในอดีต โดยมีสมิงที่ยังแอบไปมาหาสู่กับศรีนวล และรับเลี้ยงสอยดาวกับ “บุญเหลือ” เด็กหนุ่มกำพร้าอีกคน จนทั้งคู่ผูกพันและนับถือสมิงเหมือนพ่อ และเรียกสมิงว่า “พ่อใหญ่” ตามที่ศรีนวลสั่งลูกทั้งสองคนเอาไว้         ในอีกฟากฝั่งหนึ่ง ภาพได้ตัดมาที่เลอสรรเองก็มีลูกสองคนคือ “สาวเดือน” กับ “เกียรติกล้า” ในขณะที่หน้าที่การงานของเลอสรรกำลังก้าวหน้า ได้เลื่อนยศเป็นพันตำรวจเอกผู้มีหน้าที่ปราบปรามโจรในภาคกลาง เคียงคู่กับนายร้อยตำรวจหนุ่มรุ่นน้องไฟแรงอย่าง “ระพี” แต่ทว่าความทรงจำที่ครั้งหนึ่งเขาเคยมีความรักความผูกพันและมีหน้าประวัติศาสตร์บางเสี้ยวส่วน ณ ท้องทุ่งลานเท กลับคอยสะกิดห้วงคำนึงที่ต้องการหาคำตอบว่า เกิดอะไรขึ้นที่นั่น และเขาเกี่ยวข้องอันใดกับผู้หญิงที่ชื่อว่าศรีนวล         หากจะเทียบความรู้สึกในห้วงจิตใจของผู้พันเลอสรรกับอารมณ์ความรู้สึกของคนชั้นกลางไทยในกระแสธารแห่งการพัฒนาประเทศช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา โดยนัยนี้จะพบว่า เพียงแค่ไม่กี่สิบปีที่เศรษฐกิจในภูมิภาคเติบโตไปมาก แต่ผู้คนกลับรู้สึกว่า ตนมี “ราคาที่ต้องจ่ายแบบแพงระยับ” ให้กับชีวิตอุดมคติในอดีต ไปจนถึงการค่อยๆ ห่างหายไปจากวัฒนธรรมแห่งสายน้ำที่เคยหล่อเลี้ยงสังคมไทยมานานแสนนาน         เพราะฉะนั้น ภายใต้การรอคอยที่จะกู้ไฟล์ความจริงในท้ายเรื่องว่า เกิดอะไรขึ้นที่ทุ่งลานเท และสอยดาวกับสาวเดือนแท้จริงเป็นพี่น้องต่างมารดากัน กอปรกับเส้นเรื่องหลักของละครที่เหมือนจะชวนให้ขบคิดว่า “ทุกชีวิตก็เหมือนสายน้ำที่ต้องดำเนินไป สุขบ้างทุกข์บ้าง สูญเสียบ้าง แต่ก็ต้องดำเนินไปเหมือนเลือดเจ้าพระยา” แต่ในอีกด้านหนึ่ง “ชีวิตเหมือนสายน้ำที่ต้องดำเนินไป” ของตัวละคร กลับมีอดีตที่หลอกหลอนให้ต้องถวิลหาความสวยงามของวัฒนธรรมแม่น้ำลำคลองอยู่ตลอดเวลา         และไหนๆ ตัวละครก็เกิดอาการโหยหาอดีตกันแล้ว ผลานิสงส์ยังแผ่ขยายมาสู่ภาวะ “nostalgia” ที่ผูกโยงอยู่ในเรื่องเล่าสไตล์บู๊แบบประเพณีนิยมที่อาจจะเคยคุ้นตา แต่กลับไม่ได้เห็นกันมานานนับทศวรรษ         ไม่ว่าจะเป็นการหวนคืนภาพฉากบู๊แอ๊กชันสุดมันส์ยิ่งกว่าหนังกังฟูโบราณ ภาพจอมโจรคุณธรรมผู้ปล้นคนเลวมาอภิบาลคนดี ภาพการต่อสู้ด้วยคาถาอาคมของบรรดาจอมขมังเวทย์ ภาพคำสัญญาสาบานกันหน้าศาลเจ้าแม่ท้องถิ่น ภาพคนรุ่นใหม่ร้องเพลงพื้นบ้านลำตัดกันอย่างสนุกสนาน ไปจนถึงภาพที่เธอและเขาวิ่งไล่จับกบกันกลางทุ่งนาจนเปื้อนเปรอะเลอะกลิ่นโคลนสาปควาย ล้วนแล้วแต่แสดงถึงอาการถวิลหาความงดงามแห่งอดีต สวรรค์บ้านนา และสองฝั่งสายน้ำที่เจือจางลางเลือนกันไปนานแสนนาน         และเมื่อมาถึงฉากจบของเรื่อง แม้ชีวิตผู้คนและสังคมจะเหมือนกับสายน้ำที่ไหลไปและยากจะหวนกลับคืน แต่อย่างน้อยคำมั่นสัญญาที่ตัวละครรุ่นใหม่ต่างยืนยันว่า “กระแสน้ำเชี่ยว ถ้าคนเราไม่ช่วยกันพาย เราก็จะไม่รอด” ก็คงเป็นประหนึ่งสักขีพยานต่อลำน้ำเจ้าพระยา และตั้งคำถามไปพร้อมกันว่า คนกลุ่มนี้จะพายเรือทวนกระแสน้ำเชี่ยวกรากไปสู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจสังคมของไทยในอนาคตกันอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 267 มณีพยาบาท : ให้เลวกว่านี้ฉันก็ยังยินดีจะทำทุกอย่าง

        ตามความคิดความเชื่อแบบไทยๆ เมื่อผู้ใดเสียชีวิตลง ก็ควรหลุดพ้นบ่วงกรรมและเดินทางไปสู่สัมปรายภพ แต่เคยสังเกตหรือไม่ว่า ในโลกแห่งละครโทรทัศน์ กลับมีตัวละครผู้หญิงบางคนที่แม้จะสิ้นชีพวายปราณไปแล้ว ทว่าพวกเธอก็ยังเป็นผีหรืออมนุษย์ที่ไม่ยอมไปผุดไปเกิดกันสักที        ในบรรดาเงื่อนไขที่เป็นเสมือนลิ่มตอกสลักไม่ให้ผีผู้หญิงหลุดพ้นไปสู่ปรโลกได้นั้น ความรัก (ที่พ่วงมากับความแค้น) ดูจะเป็นตัวแปรลำดับต้นๆ ซึ่งทำให้อมนุษย์เพศหญิงยังผูกติดอยู่ในวัฏสงสารแห่งกาลปัจจุบัน         ปมในใจแบบ “ทั้งรักทั้งแค้นแน่นอุรา” ที่ฝังอยู่ในอกของผีผู้หญิงผู้ไม่ยอมสุดสิ้นกลิ่นเสน่หาเช่นนี้ กลายเป็นพล็อตเรื่องที่คลาสสิกมาตั้งแต่ยุคละครโทรทัศน์เรื่อง “แม่นาคพระโขนง” จวบจนล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ก็ยังตอกย้ำซ้ำทวนอีกครั้งในละครแนวผีโรแมนติกดรามาเรื่อง “มณีพยาบาท”         โดยโครงเรื่องที่กำหนดขึ้นมา ก็ดูจะเข้ากับสูตรสำเร็จของการสร้างตัวละครแนว “ผีผู้หญิงรอคอยความรัก” แบบข้ามภพข้ามชาติ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อ “มุกดา” หลุดพ้นจากพันธนาการที่กักขังวิญญาณของเธอไว้ใน “แหวนแก้วมุกดา” ด้วยเพราะมิจฉาชีพกลุ่มหนึ่งได้บุกเข้าไปในเหมืองร้างของตระกูล “ธรรมโภคา” เพื่อขุดหาสมบัติ จนทำให้มนต์สะกดวิญญาณเสื่อมคลาย ปลดปล่อยผีมุกดาออกมาเป็นอิสระ         และด้วยความเป็นสูตรสำเร็จอีกเช่นกัน ตัวละครทั้งหลายที่เคยสร้างกรรมร่วมกันไว้ในชาติก่อนกับผีมุกดา ก็ต้องมีอันวนเวียนกลับมาเกิดใหม่กันถ้วนหน้า เพื่อคลี่คลายและชดใช้เวรกรรมในภพชาติปัจจุบัน         เริ่มต้นจากนางเอก “ไพลิน” น้องสาวของมุกดาในชาติปางก่อน ที่กลับมาเกิดเป็นตัวละคร “พลอยรุ้ง” หลานสาวของ “รัตนา” ทายาทผู้สืบทอดเป็นเจ้าของเหมืองร้างมรดกของตระกูลธรรมโภคา และที่สำคัญ ในอดีตไพลินเป็นหญิงคนรักของพระเอก “ภูมินทร์” นายตำรวจหนุ่มที่ชาติก่อนคือ “พฤกษ์” ชายผู้เพียบพร้อมในทุกทาง ซึ่งมุกดาเองก็แอบหลงรักเขาอยู่         การตัดภาพไปที่อดีตชาติของตัวละครได้เผยให้เห็นว่า ในท่ามกลางสนามรบเพื่อช่วงชิงหัวใจชายหนุ่ม เมื่อหญิงสาวคนหนึ่งกลายเป็นผู้ที่ถูกเลือก ในขณะที่หญิงสาวอีกนางหนึ่งกลับเป็นผู้ที่ถูกลืม ได้ก่อตัวกลายเป็นปมอาฆาตพยาบาทที่มุกดามิอาจยอมได้ หากบุรุษที่เธอหมายปองต้องไปลงเอยแต่งงานสมหวังกับไพลินน้องสาวต่างมารดา         เมื่อสวมบทบาทผู้หญิงแสนดีแล้วอยู่นอกสายตาของพระเอกหนุ่ม มุกดาจึงเลือกบอกตนเองเสียใหม่ว่า “ให้เลวกว่านี้ฉันก็ยังยินดีจะทำทุกอย่าง ชีวิตขอเลือกเส้นทางเส้นเดียวที่นำไปสู่จุดหมาย…” จะด้วยเล่ห์ด้วยกลหรือด้วยมนต์คาถา มุกดาก็พร้อมสมาทานตนเข้าสู่ด้านมืดเพื่อพิชิตหัวใจของพฤกษ์มาเป็นของเธอให้ได้         ด้วยเหตุนี้ อวิชชาจึงกลายมาเป็นคำตอบของมุกดา และเธอก็ตัดสินใจเข้าหา “หมอชีพ” เพื่อให้หมอผีผู้ละโมบทำคุณไสยใส่พฤกษ์ จนชายหนุ่มที่ต้องมนต์เสน่ห์เลือกปฏิเสธไพลิน แล้วหันมาแต่งงานกับมุกดาแทน         แล้วก็เป็นไปตามสูตรของละครอีกเช่นกัน ในที่สุดอวิชชาและมิจฉาทิฐิก็ต้องพ่ายให้กับคุณธรรมความดี เมื่อ “ชื่น” แม่ของไพลินได้เชิญ “สุก” มาถอนเสน่ห์ยาแฝด จนคุณไสยได้ย้อนกลับใส่ตัวและครอบงำจิตใจของมุกดาให้กลายเป็นปีศาจร้าย เธอจึงถูกพฤกษ์ใช้กริชแทงทะลุหัวใจ ก่อนที่สุกจะใช้อาคมกักขังวิญญาณที่คั่งแค้นเอาไว้ในแหวนมุกดา และฝังธำมรงค์วงนั้นอยู่ในเหมืองร้างมานานนับเป็นศตวรรษ         กำเกวียนกงเกวียนมักเวียนหมุนมาบรรจบกันเสมอ จึงไม่แปลกที่ตัวละครผู้เคยทำกรรมร่วมกันในอดีตชาติได้ย้อนกลับมาเผชิญหน้ากันอีกครั้งในภพชาติปัจจุบัน และด้วยเหตุที่ความพยาบาทมิเคยจางหายไป กอปรกับ “mission” ที่ผีมุกดายังไม่บรรลุเจตจำนงในชาติปางก่อน เมื่อเธอหลุดพ้นจากการจองจำ เธอจึงเริ่มออกอาละวาดไล่ล่าทุกๆ ชีวิตที่เคยก่อกรรมร่วมกันมา         และแม้เราจะเดาได้ไม่ยากว่า ถึงผีจะมีอำนาจมากเพียงไร และถึงแม้ในฉากจบผีก็ต้องพ่ายต่อพุทธคุณอยู่วันยังค่ำ หากทว่ากว่าที่เธอจะยอมสยบต่อคุณธรรมความดีจนตัดสินใจไปผุดไปเกิด เราเองก็ได้เห็นเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ของผีผู้หญิงผู้ไม่ยอมจำนนต่ออำนาจแห่งพุทธธรรมกันอย่างง่ายๆ         ไม่เพียงแต่ผีมุกดาจะไล่ล่าฆ่ามนุษย์เป็นว่าเล่น เพราะคนเหล่านั้นก้าวล่วงเข้ามากล้ำกรายเหมืองร้างอันเป็นปริมณฑลทางอำนาจของเธอเท่านั้น แม้แต่เมื่อตัวละครที่เวียนว่ายในวัฏฏะแห่งกรรมพร้อมใจกันสวดมนต์อุทิศส่วนกุศลไปให้ แต่ผีมุกดาก็พูดขึ้นอย่างเคียดแค้นว่า “ฉันไม่รับผลบุญของพวกแก ฉันไม่ต้องการ” และ “ฉันจะมีความสุขถ้าเห็นคุณพฤกษ์และอีไพลินตายตกไปตามกัน”         ในยุคนี้ที่สังคมไทยตั้งคำถามท้าทายต่อสถาบันศาสนากันอย่างเข้มข้น ผีมุกดาก็ยังขานรับกับความอ่อนแอของสถาบันดังกล่าว ด้วยการประกาศกร้าวต่อ “พระอาจารย์บุญ” หรือหมอสุกผู้ใช้อาคมกักขังเธอในชาติที่แล้ว และตามมาขัดขวางการแก้แค้นของเธอในชาตินี้อีกว่า “ถ้าแกยังไม่เลิกยุ่งแบบนี้ พระก็พระเถิด”         จากนั้น เราจึงได้เห็นสมรภูมิต่อสู้กันอย่างเข้มข้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าระหว่างผีมุกดาผู้เปี่ยมด้วยความอาฆาตแค้น กับพระอาจารย์บุญผู้ที่เพียรเทศนาสั่งสอนให้ผีมุกดาละเลิกซึ่งความพยาบาทนั้นเสีย         และแม้ “ผีนังอาด” ผู้เป็นหญิงรับใช้จะเตือนสตินายหญิงว่า การปาณาติบาตพระภิกษุเป็นบาปอันมหันต์ แต่ผีมุกดาที่บัดนี้ไม่สนไม่แคร์ กลับใช้อำนาจทำร้ายกายหยาบของหลวงพ่อเพื่อสะสางความแค้นที่คั่งค้างมาแต่ครั้งอดีต หรือแม้แต่มุ่งมั่นจะสังหาร “แม่ชีกรแก้ว” และกล่าวประกาศก้องกับแม่ชีผู้ทรงศีลว่า “อยู่ทางธรรมดีๆ ไม่ชอบ ชอบแส่ทางโลกใช่ไหม งั้นก็จงตายเสีย”         ยิ่งไปกว่านั้น เพราะเจตนารมณ์มีแรงพยาบาทเป็นท่อน้ำเลี้ยง หากในภพชาติก่อนมุกดาทำได้เพียงแค่ยืมมือหมอผีมาปลุกเสกคุณไสยประหนึ่ง “สงครามตัวแทน” แต่ในภพชาติใหม่ที่วิญญาณได้หลุดพ้นจากการกักขังออกมา ผีมุกดาได้ถอดบทเรียนความผิดพลาด และเลือกใช้การฝึกวิทยายุทธจากตำรา “สุดยอดคาถาไสยดำ” เสียเอง ด้วยหวังว่านี่จะเป็นหนทางที่อมนุษย์อย่างเธอจะเอาชนะพุทธคุณให้จงได้         เมื่อมาถึงบทสรุปของเรื่องราว หลังจากที่หลายชีวิตต้องล้มตายเป็นผักปลา อภัยทานเท่านั้นที่น่าจะยุติความพยาบาททั้งมวลลงได้ เพราะฉะนั้น หลังจากที่ความจริงเฉลยออกมาว่า เป็นความเข้าใจผิดของผีมุกดาเองที่เชื่อว่าพฤกษ์ตั้งใจฆ่าเธอ และการตระหนักถึงการให้อภัยต่อผู้อื่นโดยไม่มีข้อแม้และด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ของพลอยรุ้งผู้เป็นน้องสาว ก็ทำให้ผีมุกดาหลุดพ้นจากไสยดำ และเดินทางไปสู่ภพภูมิที่ควรจะเป็น         แต่ถึงกระนั้น แม้ว่าจะเป็นไปตามสูตรของละครที่ความดีย่อมเอาชนะความชั่ว อโหสิกรรมย่อมเอาชนะความอาฆาตพยาบาทลงได้ก็ตาม แต่ครั้งหนึ่งผีมุกดาและผู้ชมทั้งหลายต่างก็ได้ลิ้มรสข้อเท็จจริงที่ว่า เจตนารมณ์ก็เป็นคำที่บัญญัติและสะกดอยู่ได้ในพจนานุกรมของผู้หญิงที่แม้จะสิ้นลมหายใจไปแล้วเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 ที่สุดของหัวใจ : จำก็ไม่ได้ ลืมก็ไม่ลง

         “บาดแผล” หมายถึงอะไร หากเป็นบาดแผลทางกายแล้ว ในทางการแพทย์มักหมายถึงการบาดเจ็บทุกชนิดที่ส่งผลต่อการแตกสลายของผิวหนังหรือเยื่อบุร่างกาย ซึ่งอาจทำให้เลือดออก และนำไปสู่การติดเชื้อได้ แต่หากเป็นบาดแผลทางใจนั้นเล่า จักหมายความว่าอะไร?         ในทางจิตวิทยา บาดแผลทางใจถูกตีความว่าเป็นโรคทางจิตเวช อันเกิดขึ้นภายหลังจากได้รับความบอบช้ำทางจิตใจ อาจเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงวัยเด็กหรือบางห้วงแห่งชีวิต แต่ทว่ากลับสลักแน่นและฝังรากลึกอยู่ในความทรงจำของคนเรา จนนำไปสู่อาการที่แม้ไม่อยากจะจดจำ แต่ก็ยากจะสลัดทิ้งไปจากห้วงคำนึง         อาการอิหลักอิเหลื่อของบาดแผลทางใจที่เรียกกันว่า “จำก็ไม่ได้ ลืมก็ไม่ลง” เฉกเช่นนี้ ก็คงพ้องกับอาการที่เกิดขึ้นกับ “เกื้อคุณ” และ “อัญมณี” ที่กว่าจะลงเอยกับความรัก ก็ต้องผ่านบททดสอบการเยียวยาบาดแผลแห่งจิตใจกันอย่างสะบักสะบอม ในละครโทรทัศน์แนวดรามาเข้มข้นอย่าง “ที่สุดของหัวใจ”         จุดเริ่มต้นของเรื่องเกิดขึ้นเมื่ออัญมณีผู้เป็นหลานสาวคนเดียวของตระกูล “จางวางประวาส” ตัดสินใจสอบชิงทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ เพราะต้องการเอาชนะ “คุณประวิทย์” ผู้เป็นปู่ ซึ่งมีอุปนิสัยชอบเอาตนเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล และเชื่ออยู่เสมอว่า ผู้หญิงไม่มีทางที่จะก้าวหน้าทัดเทียมบุรุษเพศได้         หลังจากทะเลาะกันจนบ้านแทบแตก เพราะปู่เห็นคุณค่าแต่กับ “ชนุตม์” หลานชายผู้เป็นพี่น้องต่างมารดากับเธอ อัญมณีก็เลือก “เก็บเสื้อผ้ายัดใส่กระเป๋า” ไปเสี่ยงชีวิตตายเอาดาบหน้าที่ต่างแดน เพื่อหลีกหนีจากสภาพชีวิตที่แม้จะเป็นหลานแท้ๆ แต่ก็ถูกเลือกปฏิบัติประหนึ่งคนใช้ในบ้านเท่านั้น         ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ภาพก็ตัดสลับมาที่พระเอกหนุ่มเกื้อคุณ หลานชายของ “กมลาสน์” เจ้าของอาณาจักรธุรกิจ “ซีอิสรา” แม้ชีวิตที่ลงตัวของเขาดูจะรุ่งโรจน์ก้าวหน้าทางหน้าที่การงานก็ตาม แต่ในวันที่เกื้อคุณวางแผนจะขอ “พิมรตา” หญิงสาวคนรักแต่งงาน เขากลับถูกสะบั้นรักทิ้งอย่างไร้เยื่อใย         เมื่ออดีตแฟนสาวหันไปเข้าสู่ประตูวิวาห์กับชนุตม์หลานชายเจ้าสัวแห่งตระกูลจางวางประวาส และในวันที่เกื้อคุณผิดหวังกับความรักจนนอนเมามายอยู่ข้างกองขยะท่ามกลางฝนตกพรำๆ เขาก็ได้เจอกับอัญมณีที่เดินมาหยิบยื่นกางร่มให้ พร้อมกับเขียนข้อความเป็นกำลังใจใส่กระดาษแผ่นเล็กๆ ว่า “อย่ารักใครจนลืมว่าตัวเองมีค่าแค่ไหน…ขอให้คุณมีชีวิตใหม่ที่ดีนะคะ”         แม้ร่มคันนั้นกับข้อความในกระดาษแผ่นเล็กๆ จะช่วยให้เกื้อคุณผ่านพ้นวันที่ทุกข์สาหัสถาโถมเข้ามาในชีวิต แต่กระนั้น เขาก็ยังเลือกที่จะไม่เปิดใจให้กับผู้หญิงคนไหนอีกเลย จะมีก็เพียงความทรงจำที่ลางเลือนถึงใบหน้าหญิงสาวผู้เป็นกำลังใจเล็กๆ ในวันที่พิมรตาฝากบาดแผลอันเจ็บปวดไว้ในหัวใจของเขาเท่านั้น         เจ็ดปีที่ผ่านไปในห้วงชีวิตของตัวละครเอก ช่างเหมือนกับเนื้อเพลงที่ว่า “กี่คำถามที่มันยังคาในใจ เธอรู้ไหมมันทรมานแค่ไหน” ซึ่งกลายเป็นความรู้สึกลึกๆ ที่คุกรุ่นอยู่ในซอกหลืบแห่งจิตใจของทั้งอัญมณีและเกื้อคุณ         หลังจากไปชุบตัวเรียนจบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ อัญมณีก็กลับมาปรากฏตัวเป็นคนใหม่ในชื่อของ “ดร.แอน จาง” และเข้าทำงานเป็นที่ปรึกษาบริษัทซีอิสราของคุณกมลาสน์ การโคจรมาพบกันอีกครากับ ดร.แอน ทำให้เกื้อคุณเกิดอาการหัวใจเต้นแรงขึ้นอีกครั้ง แม้ว่าในอีกด้านหนึ่ง เขาก็ยังไม่สามารถเยียวยาบาดแผลที่พิมรตาฝังฝากลงไปในจิตใจได้ทั้งหมด         แต่ทว่า ในวันที่ความสัมพันธ์กับรักครั้งใหม่ของเกื้อคุณกำลังผลิบานอยู่นั้น พิมรตากลับปรากฏตัวมา และได้สะกิดบาดแผลที่เริ่มจะตกสะเก็ดจนก่อกลายเป็นบาดแผลใหม่ขึ้นอีกครั้ง         หลังจากที่เลิกรากับเกื้อคุณไป พิมรตาก็ค้นพบว่า ตนเองนั้น “เลือกผิด” แม้ฉากหน้าอันหวานชื่นของพิมรตากับชนุตม์ผู้เป็นสามีดูจะเป็นที่น่าอิจฉาของแวดวงสังคม แต่หลังฉากนั้น ความรักที่เธอมีให้กับเขาก็ไม่มากพอ ส่วนชนุตม์เองก็แอบไปมีเล็กมีน้อย เพื่อเติมเต็มความสุขทางเพศรสที่ห่างหายไปจากคนทั้งสองมานานแล้ว จนชีวิตสมรสของทั้งคู่เป็นประหนึ่งนาวากลางสมุทรที่ใกล้อัปปางกลางคลื่นลมระลอกแล้วระลอกเล่า         คนรักเก่าที่รีเทิร์นกลับมา คนรักใหม่ที่สานต่อความสัมพันธ์ซึ่งกำลังไปได้ดี ชีวิตบนทางสองแพร่งที่ดูย้อนแย้งทำให้เกื้อคุณอยู่ในวงจรที่ “กลับตัวก็ไม่ได้ ให้เดินต่อไปก็ไม่รู้จะถึงที่หมายกันได้หรือไม่” ส่งผลให้พระเอกหนุ่มต้องตั้งคำถามอยู่เป็นระยะๆ ว่า ชีวิตของตนที่เหลือนับจากนี้จะเดินต่อไปข้างหน้ากันเยี่ยงไร         ไม่ต่างจากนางเอกอัญมณี ที่สู้อุตส่าห์ปรับลุคเปลี่ยนอัตลักษณ์ใหม่เป็น ดร.แอน ผู้ที่กำลังมีชีวิตรักที่ลงตัวและชีวิตการงานที่ก้าวหน้า หากทว่าความเจ็บปวดที่ฝังใจว่าอยากจะเอาชนะคุณประวิทย์ผู้ไม่เคยให้ค่าความสามารถในตัวหลานสาว ก็เหมือนชนักปักกลางความรู้สึก และทำให้ความสัมพันธ์ของเธอกับเกื้อคุณเกิดปัญหา เมื่อฝ่ายชายแอบคิดไปว่า อัญมณีเพียงจะใช้ตนเป็นเพียง “หมากตัวหนึ่ง” เพื่อทวงคืนกับคุณปู่เท่านั้น         บนเส้นทางที่อัญมณีต้องการเลือกเดินไปข้างหน้า แต่บาดแผลที่มิอาจสลัดทิ้งได้ ก็ทำให้เธอต้องเปิดแนวรบหลายด้าน ทั้งการต่อสู้กับธรรมเนียมปฏิบัติที่นายทุนใหญ่อย่างคุณประวิทย์ไม่สนใจลงทุนกับลูกหลานในฝ่ายหญิง และกับอดีตแฟนสาวที่กลับมาหลอกหลอนเกื้อคุณชายผู้เป็นที่รักของเธอในปัจจุบัน        ฉากการเผชิญหน้าระหว่างอัญมณีที่ประกาศกับพิมรตาว่า “แฟนเก่าควรอยู่ในที่ของแฟนเก่า อย่างน้อยก็ควรสะกดคำว่าอดีตให้เป็น” แม้ด้านหนึ่งจะตอกหน้าคู่ปรับว่าหมดสิทธิ์เป็นเจ้าของหัวใจของพระเอกหนุ่มไปนานแล้ว แต่ในอีกด้านหนึ่งก็คือการบอกตัวเธอเองด้วยว่า ถ้าชีวิตรักของเธอกับเกื้อคุณจะมูฟออนไปข้างหน้าได้ ก็ควรต้องเลือกลบลืมอดีตบางอย่างที่สร้างความเจ็บปวดไปเสียบ้างนั่นเอง         และนอกจากเกื้อคุณกับอัญมณีแล้ว ตัวละครที่เหลือในเรื่องก็มีความทรงจำบาดแผลที่เป็นเงาหลอกหลอนไม่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นคุณประวิทย์ผู้มิอาจลดทิฐิจากประเพณีนิยมในการกดทับผู้หญิงผ่านสถาบันครอบครัว หรือพิมรตาที่ในส่วนลึกก็อยากจะเริ่มต้นใหม่กับสามีอีกครั้งแต่ก็ไม่อาจลืมรักครั้งเก่าได้ลง หรือชนุตม์ที่ฝังใจแล้วไปว่าภรรยาไม่เคยรักเขาจริง จนออกไปหาเศษหาเลยกับผู้หญิงไม่ซ้ำหน้า         จนถึงบทสรุปของเรื่อง ที่จบลงด้วยโศกนาฏกรรมการเสียชีวิตของชนุตม์และพิมรตา หรือการแทบจะล่มสลายของครอบครัวจางวางประวาส หรือความรักอันบอบช้ำครั้งแล้วครั้งเล่าของเกื้อคุณและอัญมณี ก็ทำให้ตัวละครทั้งหลายได้เวลาต้องย้อนหันมาทบทวนบาดแผลและความทรงจำกันจริงจังในฉากจบของเรื่อง         ถ้าดูละครแล้วทำให้เราย้อนเห็นสังคมโดยภาพรวมได้แล้ว กับความขัดแย้งทางสังคมการเมืองที่ฉายเป็นภาพใหญ่ให้ได้สัมผัสอยู่ในทุกวันนี้ บางทีหากเราลองเปิดใจหันกลับไปทบทวนประวัติศาสตร์ความเจ็บปวดเพื่อหาทางออกกันดูบ้าง เราก็อาจจะพบเส้นทางหลุดพ้นไปจากภาวะที่ต้องเผชิญหน้ากับบาดแผลซึ่ง “จำก็ไม่ได้ ลืมก็ไม่ลง” ในเส้นทางอันวิวัฒน์ไปของสังคมไทยได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 มัดหัวใจยัยซุปตาร์ : รู้ไหมใครโสด มีเจ้าของ และไม่มองหญิง

        ตัวตนหรืออัตลักษณ์ของคนเรานั้น เผลอๆ ก็อาจไม่ใช่ตัวเราที่มีอำนาจเข้าไปกำหนด และในขณะเดียวกัน หากเราไม่ได้เป็นคนเดียวที่มีอำนาจกำหนด ตัวตนของเราก็มักมีบางส่วนที่สังคมเข้าไปควบคุมหรือกำกับการรับรู้ให้เป็นเช่นนั้นเช่นนี้         เพื่อสาธิตให้เห็นว่า ตัวตนของคนเราจริงๆ จักเป็นเช่นไร หรือถูกสายตาของสังคมรับรู้และตีความความเข้าใจให้กับผู้คนทั้งหลายได้อย่างไรนั้น อาจดูตัวอย่างได้จากตัวละครนางเอก “วาสิตา” หรือที่คนใกล้ชิดมักเรียกเธอว่า “คุณวา” กับบรรดาหนุ่มๆ หลายคนที่แวดล้อมชีวิตของซุปตาร์สาวนางนี้ ในละครโทรทัศน์แนวโรแมนติกคอมเมดี้เจือดรามาอย่าง “มัดหัวใจยัยซุปตาร์”         เพราะเป็นนักแสดงและนางแบบตัวแม่ของวงการบันเทิง ดังนั้น ไม่ว่าจะขยับร่างไปทางไหน สายตาของปาปารัซซีและสาธารณชนก็มักจับจ้องมองอยู่มิได้ห่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชีวิตรักซึ่งเป็น “ส่วนตัว” ที่สุดในความเป็นบุคคล “สาธารณะ” ที่คุณวาก็ต้องยอมแลกให้สปอตไลต์มาฉายส่องอยู่ตลอดเวลา         ด้วยเหตุฉะนี้ ฉากเปิดเรื่องจึงฉายภาพคุณวาผู้ถูกจับตาเรื่องความรักกับ “รชานนท์” หนุ่มหล่อไฮโซ ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของเศรษฐีนีนักธุรกิจอย่าง “นันทพร” โดยที่ทั้งคู่วางแผนจะเข้าสู่ประตูวิวาห์สร้างอนาคตในเร็ววัน แต่ทว่า จุดพลิกผันก็เริ่มต้นขึ้นเมื่อ “ปรายฟ้า” นางแบบสาวรุ่นน้องมากล่าวอ้างกับคุณวาว่า เธอเป็นภรรยาลับๆ ของรชานนท์ และกำลังตั้งครรภ์ลูกในท้องของเขาอยู่          แม้ชีวิตสาธารณะจะดูก้าวหน้า แต่ชีวิตรักส่วนตัวกลับไม่เป็นไปดังหวัง คุณวาจึงตัดสินใจยกเลิกงานแต่งงานกับรชานนท์ และในความผิดหวังนั้นเอง คุณวาก็ดื่มเหล้าจนเมาขาดสติ และพลั้งเผลอไปมีความสัมพันธ์แบบ one-night stand กับ “รัฐกร” หรือ “กั๊ต” เมคอัพอาร์ติสต์หนุ่มประจำตัวของคุณวา         ด้วยพล็อตเรื่องที่ผูกปมเอาไว้เช่นนี้ จะว่าไปแล้วก็น่าจะจบลงแบบสุขสมหวังแฮปปี้เอนดิ้งได้นับแต่ตอนต้นเรื่อง หากเพียงคุณวากับกั๊ตจะเลือกลงเอยครองคู่กันไปตามครรลองคลองธรรม แต่ทว่า สำหรับคุณวาแล้ว กั๊ตคือชายหนุ่มที่โตมาในฐานะ “เด็กในบ้าน” หลานของ “ป้ารัณ” ที่เลี้ยงดูคุณวามาตั้งแต่ยังเด็กหลังจากที่มารดาของเธอเสียชีวิตลง และที่สำคัญ คุณวาเองก็รักเอ็นดูกั๊ตเหมือนกับน้องชาย หรือเผลอๆ ก็อาจจะมองชายหนุ่มเป็นเพียง “เพื่อนสาว” ตามภาพเหมารวมแบบฉบับของอาชีพช่างแต่งหน้าของศิลปินดารานั่นเอง         เมื่อเป็นดังนี้ เส้นเรื่องของละครจึงผูกโยงให้กั๊ตต้องพิสูจน์ตนเองให้คุณวาประจักษ์แจ้งแก่หัวใจได้ว่า เขามีสถานะเป็น “ผู้ชายแท้” และทั้งรักทั้งหวังดีกับคุณวาเรื่อยมา โดยมีสถานการณ์ต่างๆ มากมายที่จะทำให้นางเอกซุปตาร์เข้าใจผิดในตัวตนของเขาอยู่เป็นระยะๆ         เพราะตัวตนหรืออัตลักษณ์เป็นโฉมหน้าที่มนุษย์เราสามารถเลือกพลิกด้านใดออกมาสื่อสารกับผู้คนรอบตัว และสังคมเองก็มีภาพจำหรือกำหนดการรับรู้อัตลักษณ์ตัวตนของปัจเจกบุคคลแตกต่างกันไป ฉะนั้น เรื่องของตัวตนทางเพศสภาพและเพศวิถีของมนุษย์เองก็ดำรงอยู่ภายใต้ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ด้วยเช่นกัน         และเพราะทุกวันนี้อัตลักษณ์ทางเพศสภาพก็มีความลื่นไหลและซับซ้อนกว่าที่เราเคยรับรู้กันมา ดังนั้น บนความสัมพันธ์ระหว่างคุณวากับบุรุษเพศผู้รายล้อมรอบชีวิตของเธอ คุณวาจึงต้องเรียนรู้ด้วยว่า ตัวตนตามภาพจำกับตัวตนที่ปัจเจกบุคคลเป็นอยู่จริงนั้น ก็ไม่ต่างจากที่พิธีกรรายการเกมโชว์มักจะถามผู้หญิงซึ่งอยู่ในสนามแข่งขันเลือกคู่ว่า กับผู้ชายที่คุณเห็นอยู่ตรงหน้า “รู้ไหมใครโสด มีเจ้าของ และไม่มองหญิง”         สำหรับผู้ชายคนแรกอย่างกั๊ต ผู้เลือกเพศวิถีแบบ “รักต่างเพศ” และแท้จริงยังเป็น “โสด” แต่เนื่องจากวิชาชีพที่เขาเป็นเมคอัพสไตลิสต์ และยังเป็นช่างแต่งหน้าคู่ใจของคุณวา เธอจึงไม่วางใจในอัตลักษณ์ทางเพศของเขา ถึงแม้ว่าพระเอกหนุ่มจะพูดยืนยันกับซุปตาร์สาวอยู่เนืองๆ ว่า “กั๊ตเป็นผู้ชายนะครับ”         หรือแม้แต่ในวันที่คุณวาเมาเหล้าเผลอพลั้งไปฟีเจอริงเลยเถิดกับกั๊ต แต่ทว่าลึกๆ แล้ว เหตุผลที่ทำให้คุณวารู้สึกผิดและขาดความเชื่อมั่น ไม่ใช่เพราะถลำลึกไปมีอะไรกับ “เด็กในบ้าน” ที่เธอรักเหมือนน้อง หากแต่เพราะเธอคิดว่าตนพลาดไปมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับเกย์หนุ่มช่างแต่งหน้ามากกว่า         ส่วนผู้ชายคนถัดมาก็คือรชานนท์ แม้หน้าฉากชายหนุ่มจะแสดงออกทางเพศวิถีแบบชาย “รักต่างเพศ” ก็ตาม ทว่าหลังฉากของเขาหาใช่จะเป็นชาย “โสด” แต่ตรงกันข้าม เขากลับเจ้าชู้ มีผู้หญิงมากหน้าหลายตา จนแม้แต่คุณนันทพรผู้เป็นแม่ถึงกับนิยามลูกชายคนนี้ว่า “บ้าเซ็กส์” จนไม่ยอมทำงานทำการแต่อย่างใด ดังนั้น แม้จะคบหาออกหน้าว่าเป็นชายคนรักของซุปตาร์สาว แต่ก็ยากจะดูออกว่ารชานนท์ยัง “โสด” หรือเป็นชายที่ “มีเจ้าของ” กันแน่         ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อคุณวาสลัดรักจากรชานนท์ และหันมาแต่งงานกับกั๊ต จากเทพบุตรก็กลายร่างเป็นซาตานตามรังควานคุณวากับกั๊ต จนเป็นเหตุให้ “ทัด” พ่อขอกั๊ตเสียชีวิต รวมทั้งยังลงมือกระทำทารุณกรรมทางร่างกายกับปรายฟ้า ในขณะที่เธออุ้มท้องลูกของเขาอยู่ ภาพของตัวละครชายแบบนี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า ในหน้าฉากของความเป็นสุภาพบุรุษ ตัวตนที่แท้จริงของคนเราสามารถเหี้ยมเกรียมกันได้เพียงใด         และสำหรับผู้ชายคนสุดท้ายก็คือ “หมอเจ” ญาติผู้พี่ของคุณวา ที่ด้วยสถานภาพทางอาชีพเป็นสูตินารีแพทย์ การปรากฏตัวของเขาต่อหน้าสาธารณชนจึงต้องเลือกแสดงออกทางเพศสภาพแบบ “ผู้ชายแท้” แม้ว่าจริงๆ แล้ว หมอเจก็คือ “เจ้” ของคุณวา และเลือกมีตัวตนเพศวิถี “ไม่มองหญิง” แบบที่เฉพาะคนใกล้ชิดเท่านั้นที่จะตระหนักรู้ข้อเท็จจริงดังกล่าว         ด้วยอัตลักษณ์แห่งเพศสภาพที่ซับซ้อนและลื่นไหลโดยสัมพัทธ์กับข้อกำหนดของแต่ละสังคม จึงไม่น่าแปลกที่เราได้เห็นช่างแต่งหน้าผู้มักมีภาพจำทางสังคมว่าเป็นพวก “ไม่มองหญิง” แต่จริงๆ แล้วกลับเป็น “ชายโสด” ในขณะเดียวกับที่ “ชายโสด” ลูกมหาเศรษฐี กลับมีด้านที่ซุกซ่อนความ “มีเจ้าของ” และเห็นผู้หญิงเป็นเพียงของเล่นในชีวิต และพร้อมๆ กับที่หมอหนุ่มฐานานุรูปดีจนน่าจะดูเป็น “ชายโสด” ในฝันของผู้หญิงทั้งหลาย กลับมีรสนิยมทางเพศเป็น “เก้งกวาง” แอบ “ไม่มองหญิง” แบบหักปากกาเซียน            สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง กูรูที่ช่ำชองก็อาจจะอ่านอัตลักษณ์ทางเพศที่ผันแปรได้ไม่เฉียบขาด ดังนั้นแม้ตัวคุณวาเองจะเป็นซุปตาร์นักแสดง อันเป็นบทบาทอาชีพที่ต้องอยู่กับการมีหน้าฉากหลังฉาก และสวมบทบาทที่แปรเปลี่ยนลื่นไหลไปตามสคริปต์ที่ถูกกำหนดให้เล่น แต่ในเกมที่ต้องอ่านตัวตนทางเพศของชายที่ต้องมาครองคู่ด้วย คุณวาก็ทั้งพลาดทั้งพลั้งจนเกือบจะพ่ายแพ้ในสนามนี้มาแล้ว         จนถึงบทสรุปหลังจากที่คุณวากับกั๊ตได้ลงเอยกันตามสูตรสำเร็จของละครแนวโรมานซ์ เขาและเธอทั้งคู่ก็ได้เรียนรู้ว่า การทายถูกทายผิดในเกมอาจถือเป็นเรื่องปกติเพราะนั่นคือเกม หากทว่าในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์นั้น การตัดสินเพศสภาพด้วยภาพจำแบบเหมารวมก็อาจบดบังตัวตนจริงๆ ของคนเราได้ ด้วยเพราะอัตลักษณ์แห่งปัจเจกบุคคลนั้นมีทั้งลื่นไหล ย้อนแย้ง และผันแปรอยู่อย่างไม่สิ้นไม่สุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 263 คุณชาย : ไม่ต้องมาก ไม่ต้องน้อย แค่เท่าเทียมกับที่ “คน” ควรจะได้รับ

           นักคิดในกลุ่มเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิแห่งสตรี หรือที่รู้จักกันในชื่อของนักทฤษฎีเฟมินิสต์บางคน เคยแสดงทัศนะไว้ว่า ระบอบ “ปิตาธิปไตย” หรือการกำหนดคุณค่าให้กับ “ชายเป็นใหญ่” ได้แผ่ซ่านอยู่ในถ้วนทุกอณูของสังคม และภายใต้ระบบชายเป็นใหญ่นี้เอง ผู้หญิงกลายเป็นมนุษย์กลุ่มแรกๆ ที่ถูกกดขี่ ลิดรอน จำกัดสิทธิและโอกาส หรืออีกนัยหนึ่ง สตรีก็คือเพศสภาพที่ต้องรองรับทุกขเวทนามากที่สุดในระบบการให้คุณค่าดังกล่าว         แต่ในเวลาเดียวกัน นักทฤษฎีที่ศึกษาสิทธิทางเพศรุ่นหลัง ก็ได้โต้แย้งและขยับขยายมุมมองออกไปด้วยว่า ระบอบปิตาธิปไตยไม่เพียงจะสร้างความเจ็บปวดให้กับผู้หญิงเท่านั้น แม้แต่กับกลุ่มเพศทางเลือกหรือ “LGBTQ+” ก็ต้องเซ๋นสังเวยและทนทุกข์ทรมานจากระบอบคิดที่ว่านี้ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันเลย         เพื่อฉายภาพวิบากกรรมที่มนุษย์กลุ่มหนึ่งต้องเผชิญเพียงเพราะเลือกเพศสภาพต่างไปจากสังคมกระแสหลักเช่นนี้ เราก็อาจพินิจพิจารณาได้จากตัวอย่างชีวิตของ “เทียน” พระเอกหนุ่มคุณชายใหญ่แห่งกลุ่มทุนจีนธุรกิจ “ตระกูลซ่ง” ในละครโทรทัศน์เรื่อง “คุณชาย”         เปิดเรื่องมา ละครได้แนะนำให้รู้จักกับตระกูลซ่ง ซึ่งเป็นตระกูลคนจีนที่มีอิทธิพลในสยามประเทศช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ด้วยความที่เป็นผู้นำตระกูลใหญ่ “เจ้าสัวซ่ง” จึงถูกวางตัวให้เป็นประมุขของ “สมาคมห้ามังกร” และตำแหน่งนี้ก็จะผ่องถ่ายมาที่เทียนบุตรชายคนโตของเจ้าสัวซ่งในเวลาต่อมา         แต่ทว่า ปมสำคัญที่ถูกผูกไว้เป็นคุณค่าหลักที่ตัวละครต่างยึดมั่นก็คือ อคติที่มีต่อ “ต้วนซิ่ว” หรือความรังเกียจต่อกลุ่มชายรักชาย ซึ่งแสดงให้เห็นตั้งแต่ฉากเริ่มต้นเรื่อง เมื่อ “เจ้าสัวจาง” หนึ่งในผู้นำตระกูลซึ่งเป็นสมาชิกสมาคมห้ามังกร ได้ตัดสินใจจบชีวิตตนเองเพราะถูกจับได้ว่าเป็นต้วนซิ่ว เจ้าสัวซ่งและพี่น้องคนอื่นจึงพากันกีดกันเขาจากความเป็นสมาชิกสมาคม แต่ก่อนที่จะตายนั้น เขาได้กล่าวกับเจ้าสัวซ่งว่า “ถึงแม้อั๊วจะเป็นต้วนซิ่ว อั๊วก็มีเกียรติมีศักดิ์ศรี…สักวันอั๊วขอให้พี่ใหญ่รับรู้ความเจ็บปวดที่อั๊วมี”         ฉากการฆ่าตัวตายของเจ้าสัวจาง เป็นรอยประทับที่สร้างบาดแผลให้กับสมาชิกตระกูลซ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียนมีทีท่าจะเป็นต้วนซิ่วเช่นกัน ทำให้ “อาลี่” หรือที่ทุกคนเรียกว่า “นายแม่” มารดาของเทียน และ “อาเจีย” สาวใช้คนสนิทของนายแม่ที่รู้ความลับนี้ ต้องคอยปกปิดมิให้ใครล่วงรู้ ตั้งแต่ที่เทียนยังเด็กจนเขาโตพอจะรับตำแหน่งหัวหน้าสมาคมห้ามังกรสืบต่อจากเจ้าสัวซ่ง         เรื่องราวหลังจากนั้นไม่นานนัก เทียนก็ได้ตกหลุมรัก “จิว” ผู้ชายธรรมดาที่ขายน้ำตาลปั้นยังชีพเลี้ยงน้องๆ สองคน แต่อีกด้านหนึ่ง จิวก็คือนักฆ่าฟรีแลนซ์รับจ้างให้กับ “เจ้าสัวหม่า” อีกหนึ่งในสมาชิกสมาคมห้ามังกรผู้หวังขึ้นมาช่วงชิงตำแหน่งหัวหน้าสมาคมไปจากคนในตระกูลซ่ง         เมื่อมีอำนาจและผลประโยชน์ของตระกูลซ่งเป็นเดิมพัน อีกทั้งเมื่อมีความลับเรื่องต้วนซิ่วที่อาจทำให้สถานะนำของเทียนสั่นคลอน นายแม่จึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อมิให้อนาคตของประมุขสมาคมหลุดไปอยู่ในมือของ “หยาง” ผู้เป็นลูกชายของ “จันทร์” เมียรอง และเป็นน้องชายต่างมารดาของเทียน พร้อมๆ กับที่เราได้เห็นภาพสมรภูมิแห่งบ้านตระกูลซ่งที่ลุกเป็นไฟ เพียงเพื่อรักษาความลับในเพศวิถีของเทียน         แต่เพราะสรรพกำลังใดๆ ก็ไม่มีอยู่ในมือ หนทางเดียวที่นายแม่จะปกป้องความลับของบุตรชายได้ก็คือ การใช้ “ความรู้” เป็นอำนาจ ดังนั้น “เห็ดดูดเลือด” อันเป็นวิชาลับของการเพาะเห็ดพิษที่เติบโตบนตัวแมลงทับ ก่อนจะสกัดมาเป็นผง “ว่านแมลงทับ” จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ปลิดชีวิตทุกคนที่ก้าวล่วงมารับรู้ความลับของคุณชายเทียน         แม้จะตระหนักว่า “ความลับไม่เคยมีในโลก” แต่เมื่อนายแม่ได้เริ่มต้นใช้ว่านแมลงทับฆ่าเหยื่อรายแรกอย่าง “ตง” คนงานที่บังเอิญมารู้ความลับเรื่องต้วนซิ่วของเทียน การปกปิดและรักษาความลับก็ได้นำไปสู่เหยื่อฆาตกรรมรายที่สอง…สาม…สี่…ตามมา         อย่างไรก็ดี แม้ในทางกฎหมาย ความผิดฐานฆ่าคนตายอาจมีนายแม่และอาเจียเป็นผู้ต้องหาในคดีความอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ทว่าเบื้องลึกยิ่งไปกว่านั้น เหตุปัจจัยที่ทำให้หลายชีวิตต้องสูญเสียไปเพื่อซ่อนงำความลับเรื่องต้วนซิ่วของคุณชายใหญ่ตระกูลซ่ง ก็มีจำเลยหลักที่มาจากการกำหนดคุณค่าความเป็นมนุษย์ภายใต้ระบอบปิตาธิปไตยอย่างมิอาจเลี่ยงได้ด้วยเช่นกัน         แน่นอนว่า ในทางหนึ่งระบอบชายเป็นใหญ่ได้กดขี่สร้างความเจ็บปวดให้กับตัวละครผู้หญิงทั้งหลาย ตั้งแต่นายแม่และจันทร์ที่ต้องลุกขึ้นมาต่อกรห้ำหั่นกันเพียงเพื่อหาหลักประกันอันมั่นคงให้กับสถานะในบ้านของพวกเธอเอง หรือเมียบ่าวอย่าง “บัว” ที่เพราะเป็นหมัน จึงถูกกดทับคุณค่าจนต้องระเห็จมาอยู่เรือนหลังเล็กของบ้าน หรือ “ไช่เสี่ยวถง” หญิงม่ายที่ต้องดูแลโรงน้ำชาต่อจากสามี ก็ต้องดิ้นรนให้กิจการของเธอดำเนินต่อไปได้ท่ามกลางเสียงดูหมิ่นดูแคลนจากบรรดาเฮียๆ สมาชิกโดยตรงของสมาคมห้ามังกร         แต่เพราะระบอบปิตาธิปไตยไม่เพียงกดกั้นศักยภาพของสตรีเพศเท่านั้น หากยังสร้างบาดแผลและความทุกข์ระทมให้กับชายรักชายที่อยู่ใต้ร่มระบอบดังกล่าวด้วยเช่นกัน ไม่ต่างจากภาพวัยเด็กของเทียนที่ถูกนายแม่เฆี่ยนตีเพียงเพราะเขาแต่งตัวเลียนแบบนางเอกงิ้วที่ชื่นชอบ หรือภาพของเขาในวัยหนุ่มที่นายแม่พยายามจับคลุมถุงชนด้วยหวังจะให้แปรเปลี่ยนรสนิยมทางเพศ ไปจนถึงภาพความรักอันเจ็บปวดและต้องซ่อนเร้นของเขากับจิวที่ทุกคนพากันกีดขวางและประทับตราว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ผิดปกติ         จากอัตวินิบาตกรรมของเจ้าสัวจาง จนถึงเรื่องราวรักต้องห้ามของเทียนกับจิว ทั้งหมดล้วนตั้งอยู่บนจารีตประเพณีที่ว่า เฉพาะเพศวิถีแห่งรักต่างเพศเท่านั้นที่จะสืบต่อระบอบปิตาธิปไตยให้จีรังยั่งยืน ดังนั้นมูลเหตุที่เจ้าสัวซ่งกังวลต่อคำครหาที่ว่าเลี้ยงลูกชายอย่างไรให้เป็นต้วนซิ่ว และไม่เหมาะสมที่จะขึ้นครองบัลลังก์สมาคมห้ามังกรได้ แท้จริงก็เป็นแค่การกลบเกลื่อนข้อเท็จจริงที่ว่า ชายรักชายแบบต้วนซิ่วไม่อาจผลิตทายาทรุ่นถัดไปที่จะเป็นหลักประกันการสืบต่อระบบคุณค่าแบบชายเป็นใหญ่ได้ในอนาคต         ทุกๆ ระบบคุณค่าของสังคม จุดเริ่มต้นก็ล้วนมาจากข้อตกลงที่ผู้คนในยุคหนึ่งสม้ยหนึ่งได้อุปโลกน์ขึ้นเพื่อตอบรับความเป็นไปแห่งยุคสมัยนั้น แต่หากข้อตกลงดังกล่าวไม่สอดรับกับยุคสมัยที่ต่างไป หรือแม้แต่สร้างความบอบช้ำบาดหมางระหว่างมนุษย์ สมาชิกในสังคมก็น่าจะเปลี่ยนแปลงข้อตกลงนั้นๆ ได้เช่นกัน        หากหลายชีวิตต้องสูญเสียไปเพื่อรักษาความลับเรื่องเพศสภาพของเทียน และหากความลับเรื่องต้วนซิ่วก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความดีเลวของมนุษย์แต่อย่างใด บางทีคำสารภาพของพระเอกหนุ่มในฉากขึ้นรับตำแหน่งหัวหน้าสมาคมห้ามังกร จึงเป็นประหนึ่งเสียงจากกลุ่มเพศทางเลือกในสังคมปิตาธิปไตยที่ว่า “ผมไม่เคยต้องการความเห็นใจ หรือต้องการความเข้าใจจากทุกคนเลย ผมแค่อยากเป็นตัวของตัวเอง ได้ใช้ชีวิตอย่างที่ผมเลือก โดยที่ทุกคนให้เกียรติผม ไม่ต้องมาก ไม่ต้องน้อย แค่เท่าเทียมกับที่คนควรจะได้รับ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 สาปซ่อนรัก : คงจะเป็นเหมือนโดนคำสาปที่สั่งให้ยังรักโลภโกรธหลง…จนตาย

            กล่าวกันว่า ผู้หญิงเป็นประหนึ่ง “เหรียญที่มีสองด้าน” ที่ไม่เพียง “การสร้างสรรค์” โลกด้วยความรัก แต่ยังมีพลังแห่ง “การทำลายล้าง” ให้ทุกสิ่งอย่างราพณาสูรได้         ตามตำนานความเชื่อของฮินดูนั้น พระอุมาเทวีชายาแห่งพระศิวะคือตัวแทนของเทพสตรีผู้ปกปักรักษา เป็นมหาเทวีแห่งความรักและคุณธรรมความดีงาม แต่ในอีกปางหนึ่งของพระอุมาเทวีก็คือ พระแม่กาลี ผู้มีพลังทำลายล้างความชั่วร้ายทั้งมวล ดังภาพเคารพที่เรามักเห็นพระแม่กาลีมีร่างอันดูดุดันน่าเกลียดน่ากลัว ถืออาวุธตัดศีรษะประหัตประหารอสูรร้าย เพื่อปกป้องทวยเทพและสามโลกให้รอดพ้นพิบัติภัย         เพื่อขานรับกับวิธีคิดว่าด้วย “เหรียญสองด้าน” ของอิสตรีดังกล่าว ละครโทรทัศน์แนวดรามาที่ผูกปมฆาตกรรมความตายอย่าง “สาปซ่อนรัก” ก็ดูจะเป็นตัวอย่างของการฉายภาพพลังสองด้านของผู้หญิง ภายใต้สายสัมพันธ์ของความเป็นแม่         ละครจำลองภาพของตระกูล “ยินดีพงษ์ปรีชา” กลุ่มนายทุนไทยเชื้อสายจีน เจ้าของธุรกิจ “ตลาดยินดี” ที่มั่งคั่งร่ำรวย และแม้จะเป็นชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ แต่คำสาปซึ่งสลักฝังเอาไว้ตั้งแต่ต้นตระกูลยินดีพงษ์ปรีชาที่เล่าขานต่อกันมาแบบไม่รู้ที่มาที่ไปก็คือ คำสาปแช่งให้ตระกูลใหญ่นี้จะเหลือไว้เพียงผู้หญิงและแม่ม่าย ซึ่งจะขึ้นครองอำนาจและขัดแย้งช่วงชิงผลประโยชน์ที่สั่งสมสืบต่อจากรุ่นสู่รุ่น        ด้วยเหตุนี้ ฉากเปิดเรื่องของละครจึงสำทับคำสาปแช่งดังกล่าว เมื่อ “เจ้าสัวพธู” บุตรชายคนสุดท้ายของตระกูลได้ตกตึกลงมาเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้ตระกูลยินดีพงษ์ปรีชาเหลือเพียงลูกสะใภ้และบรรดาลูกสาว อันนำไปสู่ศึกสงครามของเหล่าสตรีผู้ห้ำหั่นแย่งชิงสมบัติอันมหาศาลกันชนิดไม่มีใครยอมใคร         ในสมรภูมิดังกล่าว ตัวละครหญิงที่เป็นคู่ชกแบบซูเปอร์เฮฟวีเวทสองฝั่งก็คือ “หงษ์” สะใภ้ผู้เป็นภรรยาของเจ้าสัวพธูที่ปรารถนาจะอยู่ “เหนือมังกร” และหวังรวบอำนาจของตระกูลมาอยู่ใต้อุ้งหัตถ์ของเธอ กับ “ภัทรา” บุตรีคนโตที่ไม่เพียงจะลงเล่นสนามการเมืองใหญ่ระดับประเทศ แต่ยังเข้ามาช่วงชิงอำนาจในระบบกงสีของตลาดยินดีที่ตระกูลของเธอบุกเบิกมาตั้งแต่แรกเริ่ม         ในฝั่งของหงษ์นั้น ไม่เพียงแต่เธอจะอ้างสิทธิ์ที่สถาปนาตนขึ้นเป็นประมุขของบ้าน ในฐานะสะใภ้ผู้ก่อร่างสร้างอาณาจักรตลาดยินดีมาจนเติบใหญ่รุ่งเรืองเท่านั้น ในอีกด้านหนึ่ง แรงผลักที่ทำให้หงษ์ต้องลงมาเล่นเกมช่วงชิงอำนาจก็คือ “หนูหนิง” ลูกสาวบุญธรรมของเจ้าสัวพธูกับหงษ์ซึ่งเธอรักเยี่ยงลูก ที่ภายหลังละครเองก็เฉลยว่าหนูหนิงเป็นหลานแท้ๆ ที่หงษ์วางแผน “ย้อมแมว” มาเป็นหมากตัวหนึ่งในเกมนี้         ส่วนในฟากของภัทรา ผู้ที่สร้างบารมีจากการเล่นการเมืองท้องถิ่น นอกจากจะถือคติว่าสมบัติของตระกูลต้องเป็นของคนในสายเลือดเดียวกันเท่านั้น ภัทรายังมีดีลสำคัญก็คือ บุตรชายเพลย์บอยเซียนพนันอย่าง “เทียน” ที่เธอคาดหวังจะผลักดันให้เข้ามาท้าประลองช่วงชิงมรดกตระกูลจากหงษ์กับหนูหนิง        นอกจากคู่ชกหลักอย่างหงษ์กับภัทราแล้ว สมรภูมิของตระกูลยินดีพงษ์ปรีชาก็ยังมีแนวรบย่อยๆ ของเหล่าตัวละครหญิงอีกหลายนาง ตั้งแต่ “เจิน” ซ้อใหญ่ที่เอาแต่สปอยล์ตามใจ “พริ้ง” บุตรสาวหนึ่งเดียวของเธอ ตามด้วย “พิศ” บุตรีคนรองจากภัทราที่แก้เคล็ดคำสาปตระกูลด้วยการเปลี่ยนเพศสภาพของบุตรชาย “แคท” ให้มีจิตใจเป็นหญิง ไล่เรียงไปจนถึง “ภา” กับ “เพลิน” บุตรสาวสุดท้องสองนางที่วันๆ ไม่ทำอะไรเป็นโล้เป็นพาย แต่ก็ขันอาสามาช่วงชิงความเป็นใหญ่ในตระกูล         และแล้วจุดปะทุแห่งความขัดแย้งครั้งใหญ่ก็เริ่มต้นขึ้นในวันเปิดพินัยกรรม เพราะเจ้าสัวพธูได้เขียนพินัยกรรมไว้สองฉบับ โดยฉบับใหม่ได้เผยความจริงว่า “ซัน” นักกฎหมายพระเอกหนุ่มที่ทุกคนต่างคิดว่าเป็นเพียงเด็กในบ้านลูกชายของ “ศักดิ์” คนขับรถ แต่แท้จริงกลับเป็นบุตรชายที่เกิดกับภรรยาอีกคนของเจ้าสัวพธู และมีสิทธิ์ในกองมรดกของตระกูลด้วยเช่นกัน         เมื่อตัวหารเพิ่มขึ้น ส่วนแบ่งในกองมรดกก็ลดน้อยลง แต่เพราะอำนาจไม่เคยเข้าใครออกใคร และสิงสู่ให้ทุกคนเขาไปในวังวนของผลประโยชน์ดังกล่าว ดังนั้น ฆาตกรรมและความตายของตัวละครคนแล้วคนเล่าที่โรยร่วงเป็นใบไม้ปลิดปลิว ก็คือส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ชมได้ลุ้นตลอดเวลาว่า “ใครกันจะเป็นรายต่อไป”         ตามเส้นเรื่องหลักของละครเหมือนจะชวนตั้งคำถามว่า ระหว่าง “คำสาป” กับ “กิเลสแห่งรักโลภโกรธหลง” อันใดกันแน่ที่ทำให้สมาชิกของตระกูลยินดีพงษ์ปรีชาเข่นฆ่ากันตายเป็นใบไม้ร่วงเช่นนี้ แต่ในเวลาเดียวกัน เพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งชนชั้นนำของตระกูล เราก็ยังได้เห็นตัวละครเล็กๆ อย่างบรรดาพ่อค้าแม่ขายในตลาดยินดี ที่เลือกสมาทานเป็นลิ่วล้อลูกไล่รับใช้กลุ่มก๊วนย่อยๆ ของชนชั้นนำกันอย่างออกหน้าออกตา         ภาพของบรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่ต้องมีสังกัดไม่ต่างจาก “กบเลือกนาย” เหมือนจะสะท้อนข้อเท็จจริงว่า เพราะสงครามของชนชั้นนำมีผลกระทบต่อชนชั้นที่อยู่ฐานรากเสมอ ดังนั้น การเข้าสวามิภักดิ์ต่ออำนาจของใครสักคนในระดับบน ก็น่าจะเป็นหลักประกันความอยู่รอดให้กับคนกลุ่มนี้         ไขว้ขนานไปกับสงครามห้ำหั่นที่มีมรดกมหาศาลเป็นหมุดหมายนั้น ละครได้ย้อนกลับไปสาธิตให้เห็น “เหรียญสองด้าน” ของอิสตรี ทั้งนี้ เหตุผลของหงษ์ที่แม้จะเป็นสะใภ้แต่งเข้าบ้าน แต่ก็พร้อมจะ “ระเบิดพลีชีพ” สู้ตายในศึกครั้งนี้ ก็เพราะเธอผูกใจเจ็บด้วยคิดว่าภัทราคือคนที่ฆ่าลูกชายเธอให้จมน้ำตาย เธอจึงมอบความรักและสร้างหนูหนิงขึ้นมาเป็น “สงครามตัวแทน” ให้กับบุตรชายที่เสียชีวิตไป         และเพราะความเป็นแม่มีทั้งด้าน “สร้างสรรค์” และ “ทำลายล้าง” นี่เอง ฉากที่หงษ์ดูแลห่วงใยหนูหนิงก็สะท้อนพลังความรักของแม่ที่จะมอบให้ลูกจนหมดหัวใจ และในทางกลับกัน ก็พร้อมจะล้างบางทุกคนที่ขัดขวางความสุขและการขึ้นเป็นประมุขของบ้านที่หนูหนิงพึงได้รับ แม้ว่าจะต้องสูญเสียกี่ชีวิตต่อชีวิตก็ตาม         ไม่ต่างจากภัทราเองที่เมื่อต้องสูญเสียเทียนผู้เป็นบุตรชาย เพราะเล่ห์ลวงของหงษ์ที่ตอกย้ำคำสาปดั้งเดิมของตระกูลยินดีพงษ์ปรีชา ภัทราจึงเปิดศึก “ทั้งรักทั้งแค้นแน่นอุรา” กับหงษ์และหนูหนิง โดยไม่คำนึงถึงความผิดชอบชั่วดีแต่อย่างใด ก่อนที่ฉากจบจะมีสมาชิกตระกูลเหลือรอดจากสงครามผลประโยชน์เพียงไม่กี่คน         ใน “เหรียญสองด้าน” ของความเป็นสตรีเพศนั้น ถ้าเราจะย้อนมองกลับไปสู่ความเชื่อดั้งเดิมเรื่องพระอุมาเทวีที่มีสองด้านของการสร้างสรรค์และทำลายล้างแล้ว เหตุปัจจัยที่พระนางเป็นเยี่ยงนั้นก็เพื่อปกป้องทวยเทพและสรรพชีวิตให้พ้นพิบัติภัย แต่มาในโลกของศึกสายเลือดที่มีเดิมพันเป็นมรดกอันมหาศาลของตลาดยินดีด้วยแล้ว ความรักความแค้นและการเข่นฆ่าตามคำสาปของตระกูลดูจะสืบเนื่องมาแต่อำนาจและผลประโยชน์ส่วนตนหรือกลุ่มก้อนมากกว่ากระมัง         ตราบใดที่ผลประโยชน์ยังบดบังตาอยู่เช่นนี้ ทั้งหงษ์ ภัทรา และตัวละครหญิงในอาณาจักรยินดีพงษ์ปรีชา ก็คงต้องครวญเพลงกันต่อไปว่า “คงจะเป็นเหมือนโดนคำสาปที่สั่งให้ยังรักโลภโกรธหลง…จนตาย”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 ภูตแม่น้ำโขง : สิ่งที่มองไม่เห็น ใช่ว่าจะไม่มี

        เมื่อหลายปีก่อน ผู้เขียนมีโอกาสลงสนามเก็บข้อมูลพื้นที่วิจัยแถบภาคอีสาน และได้เข้าไปร่วมสังเกตการณ์บรรยากาศการประกอบพิธีกรรมเข้าทรงหมอผีพื้นบ้าน ในฐานะภูมิปัญญาท้องถิ่นที่รักษาโรคภัยไข้เจ็บของชาวบ้าน แม้วิถีชุมชนจะดูแปลกตาสำหรับนักวิจัยที่มาจากสังคมเมืองหลวง แต่หลายๆ ภาพที่เห็นตรงหน้าก็ชวนให้รู้สึกได้ว่า “ไม่เชื่อแต่ก็ไม่กล้าจะลบหลู่”         ในครั้งนั้น ชุมชนหมู่บ้านที่เป็นสนามวิจัยก็ไม่ได้ปฏิเสธองค์ความรู้แพทย์แผนใหม่ เพราะชาวบ้านก็ยังคงไปรักษาหาหมอที่โรงพยาบาลกันเป็นเรื่องปกติ แต่คู่ขนานกันไป ชาวบ้านเองก็สำเหนียกว่า ความเชื่อผีดั้งเดิมเป็นอีกหนึ่งวิถีทางที่ผู้คนท้องถิ่นศรัทธา ในฐานะกลไกจัดการโรคภัยและสุขภาวะชุมชนด้วยเช่นกัน         จนกระทั่งได้มาเปิดดูละครโทรทัศน์เรื่อง “ภูตแม่น้ำโขง” ความทรงจำของการทำงาน ณ สนามวิจัยในท้องถิ่นอีสานเมื่อเกือบยี่สิบปีก่อน ก็หวนกลับมาชวนให้ตั้งคำถามเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อสิ่งเหนือธรรมชาติดั้งเดิมกับชุดความรู้ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่กันอีกครั้ง         ละครได้ย้อนยุคไปเมื่อปีพุทธศักราช 2514 “อัคนี” แพทย์หนุ่มพระเอกของเรื่อง ได้เดินทางจากเมืองหลวงมาที่หมู่บ้านนางคอย ริมแม่น้ำโขง เพื่อมาสานต่องานวิจัยของ “หมอประเวศ” ผู้เป็นบิดา ที่ศึกษาค้นคว้าด้าน “จิตเวชศาสตร์วัฒนธรรม” หรือโรคทางจิตที่เกิดจากความเชื่อและสิ่งลี้ลับในท้องถิ่นชนบท และมาเป็นหมอคนใหม่ประจำสุขศาลาของหมู่บ้าน        การมาถึงหมู่บ้านอัน “ไกลปืนเที่ยง” ของหมออัคนี ทำให้เขาได้พบกับ “บัวผัน” สาวชาวบ้านซื่อใสจิตใจดี แต่มีหนี้กรรมที่พันผูกกันมาตั้งแต่ชาติภพก่อน โดยที่ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีวิญญาณของ “เจ้าแม่ทอหูก” จุดเริ่มต้นของตำนานความเชื่อเรื่อง “ภูตแม่น้ำโขง” เป็นสตรีอีกหนึ่งนางที่ผูกตรึงตัวเองไว้ในสามเส้าแห่งบ่วงรักบ่วงกรรมดังกล่าวด้วย         ตั้งแต่เริ่มต้นเรื่องละคร บัวผันได้ถูกมนต์สะกดของเจ้าแม่ทอหูกล่อลวงให้ไปลิ้มรสไข่พญานาค เธอจึงตกอยู่ใต้อาณัติบัญชาของภูตแม่น้ำโขงมานับจากนั้น ในขณะเดียวกัน ทางฝ่ายของเจ้าแม่ทอหูกเอง เพื่อธำรงอำนาจและความเป็นอมตะ นางจึงต้องดื่มโลหิตของมนุษย์ จนทำให้มีหลากหลายชีวิตที่ถูกพรากมาเซ่นสังเวยยังใต้วังบาดาล         จะว่าไปแล้ว โดยแก่นของละครคือการให้คำอธิบายว่า กรรมมิใช่เพียงการกระทำที่เกิดขึ้นในชาตินี้เท่านั้น หากแต่เป็นผลของการกระทำตั้งแต่อดีตชาติ และวนเวียนเป็นวัฏฏะมาจนถึงปัจจุบันกาลด้วยเช่นกัน         การที่หมออัคนีได้มาพานพบกับทั้งบัวผันและวิญญาณเจ้าแม่ทอหูก ก็เป็นเพราะทั้งสามคนยังเวียนว่ายในสังสารวัฏของรักสามเส้าที่ผูกพันกันมาแต่ครั้งปางบรรพ์ หรือการที่ทั้งบัวผันและ “บุญเรือน” ผู้เป็นมารดาต้องมาเผชิญทุกข์กรรมมากมาย ก็มาจากกรรมเก่าที่สร้างไว้ในชาติอดีตนับเป็นพันปี รวมไปถึงการที่ชาวบ้านหลายชีวิตในหมู่บ้านนางคอยต้องประสบพบเจอกับเรื่องลึกลับมากมาย บ้างถูกผีสิง บ้างต้องตายลง ก็ล้วนมาแต่วิบากกรรมที่พวกเขาก่อและตกทอดมาจากชาติปางก่อน         แต่ทว่า ภายใต้แก่นเรื่องละครที่อธิบายถึงวัฏจักรแห่งกรรมเช่นนี้ ผู้ชมเองก็ได้เห็นการปะทะประสานกันระหว่างโลกทัศน์สองชุด ที่วิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นคุณค่าวิทยาการแห่งสังคมโลกสมัยใหม่ มาต่อสู้ต่อกรกับความเชื่อสิ่งเหนือธรรมชาติเร้นลับอันเป็นองค์ความรู้ตามวิถีชาวบ้านในสังคมดั้งเดิม         ด้วยเหตุนี้ นับแต่ก้าวแรกที่หมออัคนีได้เดินทางมาถึงหมู่บ้านนางคอย หมอผู้ยึดมั่นในชุดความรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์แผนใหม่จึงได้สัมผัสเหตุการณ์อันแปลกประหลาด ซึ่งผิดแผกไปจากที่เขาคุ้นชินเมื่อครั้งอยู่ในเมืองกรุง แม้ชาวบ้านต่างก็คอยเตือนสติเขาอยู่เนืองๆ ว่า “ถ้าหมอมาอยู่ที่นี่ ในที่สุดหมอจะได้เห็นในสิ่งที่หมอไม่คิดว่าจะได้เห็น”         ดังนั้น ควบคู่ไปกับเรื่องราวความรักความแค้นที่วิญญาณอสูรใต้ลำน้ำโขงรอคอยที่จะได้ครองคู่กับชายคนรักมายาวนานนับพันปี เราจึงเห็นภาพของการแบทเทิลช่วงชิงชัยระหว่างความเชื่อท้องถิ่นตามวิถีชาวบ้านกับความคิดแบบวิทยาศาสตร์ซึ่งซัดสาดเข้ามาจากโลกภายนอก         ฉากที่ชาวบ้านเกิดอาการผีเข้าจนสติไม่สมประดี ก็ถูกพระเอกหนุ่มตีความว่าเป็นอาการของโรคลมชักและการเกิดอุปาทานหมู่ หรือที่ภาษาสมัยใหม่เรียกว่าอาการของโรคฮีสเตอเรีย หรือฉากที่ “ญาแม่คำแพง” หญิงสูงวัยผู้เป็นร่างทรงของ “เจ้านางแก้วพิมพา” ทำพิธีเสี่ยงทายรักษาโรคภัยไข้เจ็บของชาวบ้าน ด้วยการตั้งไข่ไก่บนดาบ หมออัคนีก็รำพึงแกมปรามาสว่าเป็นเพียง “มายากล” ที่เชื่อถือไม่ได้เลย         หรือกับเหตุการณ์ร้ายๆ ที่บัวผันและแม่เผชิญอยู่ทั้งเรื่อง ถึงขนาดที่นางบุญเรือนผู้มีอาการป่วยเรื้อรังมานานก็ยืนยันว่า เป็น “โรคเวรโรคกรรม” ที่เจ้ากรรมนายเวรจากชาติที่แล้วกลับมาทวงคืนหนี้กรรมเก่า แต่หมอหนุ่มอัคนีก็ตัดสินไปแล้วว่า นั่นเป็นความงมงาย เพราะเขาไม่เชื่อว่าผีมีอยู่จริง         สำหรับสังคมไทย วิทยาศาสตร์เป็นชุดความรู้ใหม่ที่ชนชั้นนำสยามรับเข้ามาเมื่อราวร้อยกว่าปีนี่เอง แต่ก่อนหน้านั้น ระบบความรู้ของไทยหยั่งรากมาจากไสยศาสตร์กับพุทธศาสนากันเป็นเวลาช้านาน หรืออีกนัยหนึ่ง ก่อนที่หมอวิทยาศาสตร์จะสถาปนาอำนาจขึ้นมาแบบที่เราเห็นๆ กันในปัจจุบัน ชาวบ้านในยุคดั้งเดิมต่างก็เคย “ฝากผีฝากไข้” ไว้กับองค์ความรู้สุขภาพพื้นบ้านและการทรงเจ้าเข้าผีกันจนเป็นวิถีปกติ         ดังนั้นแล้ว แม้จะมี “เหตุผลของวิทยาศาสตร์” แบบที่หมออัคนีใช้หักล้างผลักไสให้เรื่องวิญญาณภูตแม่น้ำโขงกลายเป็นเรื่องงมงายไร้สาระเพราะพิสูจน์จับต้องไม่ได้ แต่ทว่า “เหตุผลของชาวบ้าน” ก็ได้เข้ามาปะทะคัดง้างกับอหังการความรู้ที่พระเอกหนุ่มยึดมั่นถือมั่นอยู่ตลอดเวลา         แบบเดียวกับที่ “พ่อเฒ่าเชียงหล้า” แห่งหมู่บ้านนางคอย ก็เคยตั้งคำถามกับหมออัคนีว่า “ตั้งแต่หมอมาอยู่ที่นี่ มีอะไรที่วิทยาศาสตร์ให้คำตอบกับหมอได้บ้าง” และ “ในโลกนี้มีเรื่องราวหลายอย่างที่วิทยาศาสตร์หาคำตอบไม่ได้ บางเรื่องก็ละเอียดเกินกว่าที่เราจะเข้าใจ”         จนท้ายที่สุดของเรื่อง เมื่อเจ้าแม่ทอหูกพยายามใช้มนต์สะกดพาหมออัคนีมาทำพิธีมฤตสัญชีวนี เพื่อให้เขากลายเป็นภูตผีครองคู่กับนางตลอดกาล หมอหนุ่มจึงเกิดตระหนักรู้ว่า แม้ความจริงทางวิทยาศาสตร์อาจรับรู้ผ่านอายตนะทางรูปรสกลิ่นเสียงและกายสัมผัสได้ก็ตาม แต่สิ่งเหนือธรรมชาติที่ชาวบ้านยึดถืออยู่ในสัมผัสที่หก ก็เป็นความจริงอีกชุดหนึ่งที่ดำรงคุณค่าเกินกว่าที่วิทยาศาสตร์จะหยั่งถึงได้จริงๆ         จากฉากเนื้อเรื่องละครที่ย้อนยุคไปเมื่อราวห้าสิบปีก่อน กับการนั่งดูละคร “ภูตแม่น้ำโขง” ในห้วงเวลาห้าทศวรรษให้หลัง แม้สังคมทุกวันนี้จะเจริญก้าวหน้าทันสมัยไปมากเพียงไร ละครก็ยังกระตุกต่อมความคิดให้เราระลึกได้ว่า ในขณะที่เรายอมรับวิทยาศาสตร์มาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต แต่ตำนานความเชื่อเจ้าแม่ทอหูกที่ทอผ้าบรรเลงเพลงอยู่ใต้ลำน้ำโขง ก็มิอาจเจือจางลางเลือนไปเสียจากวิถีแห่งโลกสมัยใหม่ได้เลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 โฆษณาลวงจนเข้าใจผิด หลงเชื่อซื้อบัตรเข้าชมละครเวที

        การโฆษณาชวนเชื่อจนเกินจริง ย่อมทำให้เกิดเรื่องร้องเรียนมากมายตามมาเมื่อผู้บริโภคไม่ยินยอมที่จะโดนหลอกลวง  เหตุล่าสุดที่ร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคคือ  การโฆษณาขายบัตรเข้าชมการแสดงอัน“เกินจริง” จนทำให้เกิดความเข้าใจผิดและตัดสินใจซื้อบัตรเข้าชมการแสดงดังกล่าว          คุณณัฐ ได้เข้ามาร้องเรียนและขอให้มูลนิธิช่วยเป็นตัวกลางในการเจรจากับบริษัทผู้จัดการแสดง เพราะเรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่มีนาคม ปี 2565 (บริษัทเริ่มขายบัตรในเดือนมีนาคม) จนกระทั่งจัดการแสดงขึ้นในวันที่ 3-19  มิถุนายน ทั้งสิ้นกว่า 46 รอบ         เหตุของความเข้าใจผิดจากการโฆษณาชวนเชื่อจนเกินจริง เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่บริษัทดังกล่าวได้อ้างอิงผลงานของอีกบริษัทหนึ่งที่เคยจัดการแสดงอันเป็นที่น่าจดจำ ประทับใจจนมีผู้รอชมการแสดงอยู่เป็นจำนวนมาก โดยบริษัทผู้จัดอ้างว่า เป็น 1ในผู้ก่อตั้งบริษัทที่เคยจัดการแสดงอันเลื่องชื่อดังกล่าว แต่ได้แยกออกมาเป็นอีกบริษัทหนึ่ง ที่สำคัญบริษัทผู้จัดยังสามารถใช้พื้นที่ facebook ของอีกบริษัทในการประชาสัมพันธ์ได้  ประการต่อมา การโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อขายบัตรเข้าชมผู้ซื้อบัตรยังรู้สึกว่า เข้าข่ายเป็นการโฆษณาเกินจริง   เพราะใช้คำบรรยายที่สร้างความคาดหวังสูง เช่น ‘จัดโดยทีมงานชั้นนำของประเทศ’  พรรณาเทคนิคการแสดงที่ดีเลิศ เช่น ‘เทคนิค Immersive Musical Theater + Deep Experience & Learning  + Spatial Entertainment Design สุดพิเศษที่แรกของโลก’ ทั้งหลายเหล่านี้เมื่อเข้าชมการแสดงแล้วไม่ได้เห็นการแสดงเป็นไปตามคำที่โฆษณา และต่างจากตัวอย่าง Treasure  3D ที่โฆษณาในเฟซบุ๊ก         คุณณัฐจึงชักชวนและรวมกลุ่มผู้เสียหายที่ถูกทำให้เข้าใจผิด เข้าข่ายหลอกลวง ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2565 และขอให้ทางมูลนิธิฯ ช่วยเป็นผู้ร่วมเจรจา ซึ่งจนถึงวันที่เข้ามาไกล่เกลี่ยที่มูลนิธิมีรายชื่อผู้เสียหายมีมากกว่า 41 ราย รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 2 แสนบาท          นอกจากคุณภาพการแสดงจะไม่เป็นไปตามที่คาดหวังจนรู้สึกว่าถูกหลอกลวงแล้ว มีรายละเอียดอื่นๆ ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานอีกหลายอย่าง เช่น ความหละหลวมในการตรวจ ATK ระหว่างจัดการแสดงทั้งที่ประกาศไว้ว่าจะดำเนินการ  รวมถึงการที่ทางทีมผู้จัดการแสดงไม่สื่อสารและหลีกเลี่ยงที่จะตอบข้อสงสัย คำถามต่างๆ ที่ผู้ซื้อบัตรได้ถามเข้ามา ปล่อยปละล่วงเลยจนถึงวันจัดการแสดง และเมื่อมีการรวมตัวของผู้ไม่พอใจจำนวนมากก็ยังไม่สื่อสารโดยตรง แต่ได้แต่งตั้งผู้แทนมารับฟังและเปลี่ยนตัวแทนหลายครั้งจนเรื่องราวไม่คืบ นำสู่การไกล่เกลี่ยที่มูลนิธิฯ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ก่อนการเจรจามูลนิธิฯ แนะนำให้กลุ่มผู้เสียหาย รวมรวมข้อเสนอที่ต้องการให้บริษัทผู้จัดการแสดงดำเนินการให้ชัดเจน ซึ่งหลังจากวันที่ได้ไกล่เกลี่ยกัน คุณณัฐและกลุ่มผู้เสียหายได้ส่งหนังสือเรียกร้องและรวบรวมข้อเสนอออกมาได้อย่างชัดเจนหลายประการ มูลนิธิจึงได้ทำหนังสือถึงบริษัทผู้จัดการแสดง ขอให้แก้ไขปัญหาแก่กลุ่มผู้เสียหาย 3 ข้อ ดังนี้           1. ให้บริษัททำหนังสือขอโทษและชี้แจงข้อคำถามของกลุ่มผู้เสียหาย          2. ให้คืนเงินค่าบัตรชมการแสดงคืนแก่ผู้ร้องที่มีหลักฐานยืนยันเต็มจำนวน         3. ให้ชดใช้ค่าเสียหายอื่นๆ ที่เกิดจากการชมการแสดง เช่น ค่าเดินทาง เป็นต้น           โดยระบุให้บริษัทแจ้งผลการดำเนินการให้มูลนิธิได้รับรู้ภายใน 15 วันหลังจากที่ได้รับหนังสือ หากบริษัทไม่อาจชี้แจง หลีกเลี่ยงหรือไม่ดำเนินการใดๆ กลุ่มผู้เสียหายก็จะยกระดับการดำเนินการในขั้นต่อไป           กรณีนี้ มูลนิธิเห็นว่า กลุ่มผู้เสียหายได้รวบรวมข้อเท็จจริง หลักฐานต่างๆ ไว้ได้อย่างละเอียด ทำให้คำว่า ‘ไม่พอใจคุณภาพของการแสดง’ ที่เป็นนามธรรม ออกมาเป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจน ในส่วนของบริษัทผู้จัด ขอฝากไว้ว่าเมื่อเกิดปัญหาใดๆ ขึ้น ความตั้งใจที่จะสื่อสาร อธิบายข้อเท็จจริงกับผู้เสียหายย่อมช่วยลดปัญหาไม่ให้บานปลายได้แน่นอน  จึงนำมาเล่าต่อกันเพราะการร้องเรียนกรณีการจัดแสดงทางศิลปะเกิดขึ้นไม่บ่อยและเมื่อเกิดขึ้นแล้วผู้บริโภคย่อมสามารถใช้สิทธิเพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของตนเองได้เช่นกัน   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 คือเธอ : เพราะผู้ชายดีๆ นั้นมีแค่ในนิยาย

            คุณผู้อ่านหลายคนน่าจะเคยได้ยินบทเพลงฮิตติดปากผลงานของศิลปิน โจอี้บอย ที่เนื้อเพลงขึ้นต้นด้วยประโยคเชิงตัดพ้อว่า “ทุกๆ ครั้งที่เปิดดูละคร มีบางตอนที่ฉันเองไม่อาจมี ในละครมีผู้ชายดี๊ดี คงเป็นใครคนที่เธอนั้นใฝ่ฝัน…เพราะผู้ชายดีๆ นั้นมีแค่ในนิยาย…”         และยิ่งหากเป็นละครโทรทัศน์แนวรักโรแมนติกด้วยแล้ว “ผู้ชายดี๊ดี” ที่เป็นภาพแบบ “ผู้ชายในฝัน” หรือ “ผู้ชายในอุดมคติ” ก็มักจะถูกผูกสร้างเอาไว้ในสถานะเป็น “พระเอก” ตามขนบแห่งจินตนิยายหน้าจอโทรทัศน์กันเลยทีเดียว         แต่จะเป็นอย่างไรถ้า “ผู้ชายดี๊ดี” เกิดกลายสภาพเป็น “ผู้ชายร้ายกาจ” ที่ไม่ใช่พ่อโรมิโอผู้อบอุ่นแสนดีของแม่นางจูเลียตในจินตคดีแนวโรมานซ์ และที่สำคัญ การทลายขนบของ “พระเอกในฝัน” แบบนี้ จะเกิดขึ้นและเป็นไปด้วยเหตุปัจจัยอันใด เพื่อให้ได้คำตอบต่อความข้อนี้ เราคงต้องมาเพ่งพินิจค้นหากันจากละครโทรทัศน์แนวโรแมนติกดรามาเรื่อง “คือเธอ”         ละครเล่าเรื่องราวชีวิตของ “สายขิม” ลูกสาวคนเดียวของ “ทรงศีล” มหาเศรษฐีเจ้าของกิจการโรงแรมใหญ่ และยังรั้งตำแหน่งรัฐมนตรี เพราะมีบิดาเป็นชนชั้นนำทางเศรษฐกิจการเมืองเช่นนี้ ทำให้สายขิมถูกเลี้ยงดูมาไม่ต่างไปจาก “นกน้อยในกรงทอง” และแบกความรักความคาดหวังจากทรงศีลเอาไว้หนักอึ้งเต็มสองบ่าของผู้หญิงตัวเล็กๆ อย่างเธอ         เปิดเรื่องขึ้นมาด้วยเสียงห้วงคำนึงของตัวละครเอกในเรื่องที่พูดบรรยายว่า “มีคนบอกว่า สักวันหนึ่งเราจะเจอคนที่ใช่ในวันที่ใช่…ที่สำคัญ เราไม่รู้หรอกว่า เขาจะคือคนที่ใช่ตลอดไปหรือไม่” เสียงก้องในห้วงความคิดเยี่ยงนี้ก็เหมือนกับประโยคที่ฝรั่งตั้งคำถามอยู่เสมอๆ ว่า “Do you believe in destiny?” หรือ “คุณเชื่อในชะตาฟ้ากำหนดหรือไม่” และเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำพาผู้ชมเดินเข้าสู่บรรยากาศรักโรมานซ์ของตัวละครในตอนถัดมา        จากนั้น ปมของเรื่องละครก็เปิดฉากขึ้นด้วยภาพของสายขิมที่แอบบินกลับจากอังกฤษโดยไม่บอกทรงศีลผู้เป็นบิดา เพราะเธออยากลองแลกเปลี่ยนการใช้ชีวิตกับ “ลิตา” เพื่อนสาวคนสนิทที่บินไปใช้ชีวิตที่คอนโดสุดหรูกลางมหานครลอนดอน แทนที่นางเอกคุณหนูไฮโซที่จะสลับมาใช้ช่วงเวลาสั้นๆ พำนักอาศัยในห้องพักเล็กๆ แบบที่เธอไม่เคยอยู่มาก่อน         เมื่อได้สลับมาใช้ชีวิตที่สถานะทางเศรษฐกิจสังคมต่างไปจากเดิม เส้นขอบฟ้าในชีวิตของสายขิมได้ขยายกว้างไปกว่าคฤหาสน์หลังใหญ่ และที่สำคัญ การมีโอกาสไปสัมผัสโลกกว้างครั้งนี้ทำให้เธอได้รู้จักกับ “ก้าวกล้า” เจ้าของอู่รถฐานะยากจน จนทั้งคู่เมาสุราและพลั้งเผลอมีความสัมพันธ์กันลึกซึ้ง อันเป็นจุดเริ่มต้นให้ชีวิตของนางเอกสาวเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง         และเมื่อความทราบถึงทรงศีลผู้เป็นบิดา เขาก็เป็นเดือดเป็นแค้นก้าวกล้าที่ “จนแล้วไม่เจียม” จึงออกอุบายให้ “สรรเสริญ” ที่ปรึกษาคนสนิทไปแจ้งความตำรวจจับก้าวกล้าในข้อหาเรียกค่าไถ่ พร้อมๆ กับจัดการให้สายขิมแยกห่างจากก้าวกล้าไปอยู่บ้านพักที่ภูเก็ต โดยมี “แทนไท” ชายหนุ่มคู่หมั้นหมายตามไปดูแลเธอ         เพราะบิดาเข้ามาขัดขวางความสัมพันธ์ที่กำลังก่อตัวกับสายขิมเช่นนี้ การเผชิญหน้าระหว่างก้าวกล้ากับทรงศีลก็ทวีความเข้มข้นขึ้น คำถามที่พระเอกหนุ่มกล่าวต่อมหาเศรษฐีผู้เป็นพ่อของหญิงคนรักว่า “ระหว่างกรงทองกับขอบฟ้า คิดว่าลูกสาวของท่านจะเลือกอะไร” จึงไม่ต่างจากการประกาศสงครามกันระหว่างผู้ชายสองคน โดยมี “นกน้อย” อย่างสายขิมต้องมายืนอยู่ตรงกลางสมรภูมิดังกล่าว         แต่เพราะ “นกน้อย” เองได้เคยลิ้มรสอิสรภาพ “ติดปีก” โบยบินไปยัง “ขอบฟ้า” มาแล้วหนึ่งครา จึงไม่น่าแปลกที่ชีวิตผู้หญิงในวังวนแห่งอำนาจซึ่งมีเสียงเพลงก้องในใจว่า “คนอย่างฉันถูกโยนทิ้งขว้าง…” เลือกตัดสินใจหนีตามก้าวกล้าไปใช้ชีวิตใหม่อยู่ในบ้านไร่ เพราะพบว่า “…กลับมีเธอรับเข้ามาใส่ใจดูแล”         และการมาใช้ชีวิตอยู่นอกอาณัติแห่งอำนาจของบิดาครั้งนี้ ไม่เพียงจะทำให้ความสัมพันธ์ของสายขิมกับก้าวกล้าพัฒนาขึ้นเท่านั้น แต่ในเวลาต่อมา ทั้งคู่ก็ตัดสินใจผูกข้อมือแต่งงาน โดยที่ก้าวกล้าได้สัญญากับเธอว่า จะเป็นทั้งสามีและพ่อที่ดีของลูกที่กำลังจะเกิดมา และต่างวาดฝันที่จะสร้างครอบครัวร่วมกัน ดังภาพสะท้อนของฉากที่ทั้งสองคนได้ช่วยกันย่ำดินอย่างยิ้มแย้มมีความสุข เพื่อก่อรูปก่อร่างปั้นดินเหนียวขึ้นมาเป็นบ้านหลังเล็กๆ        แต่เพราะอำนาจเป็นระบอบซึ่งกระจายตัวถ้วนทั่วทุกหัวระแหง ยิ่งเราพยายามสลัดตัวเองให้หลุดพ้นจากวงจรแห่งอำนาจมากเท่าไร อำนาจก็จะยิ่งหน่วงรั้งปัจเจกบุคคลให้กลับคืนสู่วังวนดังกล่าวอยู่ตลอดเวลา เฉกเช่นที่ทรงศีลยังคงใช้อำนาจพรากความรักของบุตรสาว โดยวางแผนใส่ความก้าวกล้าจนติดคุก สร้างเรื่องราวโกหกจนเขาตรอมใจหวังฆ่าตัวตาย และทำให้เขาเข้าใจผิดว่าสายขิมสะบั้นรักทิ้งอย่างไม่เหลือเยื่อใย         เจ็ดปีผ่านไปก้าวกล้าได้ปรากฏตัวขึ้นอีกครั้งในชื่อของ “คาร์ล รามาน” ทายาทผู้สืบทอดธุรกิจของเศรษฐีนีใหญ่อย่าง “เอเชีย รามาน” ผู้ที่ช่วยให้เขาเป็นอิสระจากคุก แลกกับการที่เขาต้องสูญเสียไตข้างหนึ่งให้กับลูกชายของเอเชียที่กำลังนอนป่วยหนักอยู่บนเตียงเพราะการกลับมาครั้งนี้เกิดจากความเข้าใจผิดต่อตัวสายขิม ก้าวกล้าผู้ที่เคยอบอุ่นตามแบบฉบับ “เจ้าชายในฝัน” ที่พบในนิยายโรมานซ์ทั่วไป จึงได้กลายร่างเป็น “เจ้าชายอสูร” ที่เจ้าคิดเจ้าแค้น ใช้อำนาจเงินของเขาทำลายธุรกิจโรงแรมของทรงศีลในทุกทาง และทำร้ายสายขิมต่อทั้งกาย วาจา และจิตใจของเธอ         แม้ครั้งหนึ่งชายหนุ่มจะเคยเชื่อมั่นในพลังแห่งปัจเจกที่จะ “โบยบิน” ไปสู่เสรีภาพ แต่เมื่อเขาต้องมาอยู่ใน “ร่างทรง” ของอำนาจเองแล้ว ถึงจะเคยเกลียดปีศาจมาก่อน แต่ก้าวกล้าคนเดิมก็พร้อมจะสมาทานตนต่อความเป็นปีศาจเสียเอง         ภายใต้ระบอบอำนาจแบบพ่อเป็นใหญ่นี่เอง ตัวละครจึงดำรงอยู่บนความเจ็บปวดกันอย่างถ้วนหน้า ไม่เพียงแต่เสรีภาพของสายขิมที่มีอยู่น้อยนิดใน “กรงทอง” หรือก้าวกล้าที่ตกเป็นเหยื่อของอำนาจจนกลายเป็น “เจ้าชายอสูร” ไปแล้ว แม้แต่ตัวของทรงศีลที่ระบอบอำนาจนิยมก็ได้บังตาจนมองไม่เห็นว่า เขาเองก็ถูกน้องสะใภ้หลอกล่อปั่นหัวให้เกลียดอดีตภรรยา และลามมาถึงกักขังบุตรสาวที่รักเอาไว้ใน “กรงทอง”        แม้มาถึงฉากจบตามขนบของละครโรมานซ์ ผู้ชมเองก็อาจจะเดาได้ไม่ยากว่า การปลดปล่อยตัวละครจากอำนาจจะช่วยสลายความขัดแย้งทั้งหลายไปได้ แต่ที่น่าสนใจก็คือ คำถามที่เคยมีต่อตัว “นกน้อย” ในขอบขัณฑ์ของอำนาจว่า “ระหว่างกรงทองกับขอบฟ้า เราจะเลือกอะไร” เผลอๆ ก็อาจจะเป็นคำถามเดียวกันกับที่ “เจ้าชายอสูร” ตัวแทนร่างทรงใหม่ของอำนาจ ต้องไขข้อข้องใจนี้ให้กับตนเองด้วยว่าเขาจะเลือกคำตอบข้อใด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 กลุ่มผู้เสียหายเรียกร้องความยุติธรรม หลังชมการแสดงที่จกตาและไม่คุ้มค่าตั๋ว

        ฉลาดซื้อฉบับนี้จะพาไปติดตามประสบการณ์การใช้สิทธิของผู้บริโภคกลุ่มหนึ่ง ซึ่งผนึกกำลังกันในเฟซบุ๊กกรุ๊ปชื่อ “รวบรวมผู้เสียหายจาก TRANCE STUDIO (เจ้าชายน้อย)” ผ่านการพูดคุยกับคุณณัฐนันท์ ชำนาญประดิษฐ์กุล (ทราย) และคุณณัฐนรี ลาภาอเนกอนันต์ (มิ้ม) ในฐานะตัวแทนผู้เสียหายและเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มนี้ขึ้นด้วย โดยทั้งคู่จะมาเล่าถึงวิธีดำเนินการเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม หลังจากเข้าชมการแสดงเรื่อง “ Me&My Little Prince” ในช่วงวันที่ 3-19 มิถุนายน 2565 แล้วปรากฏว่าไม่เป็นไปตามที่บริษัทประชาสัมพันธ์ไว้ และไม่คุ้มกับค่าตั๋วที่จ่ายไปคุณณัฐนันท์ ชำนาญประดิษฐ์กุล (ทราย) คุณณัฐนรี ลาภาอเนกอนันต์ (มิ้ม) เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มีความเป็นมาอย่างไรคุณณัฐนันท์ :  ต้องย้อนไปเมื่อปี 2562 ทรายได้ไปชมการแสดงเรื่อง “เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย” ของ Blind  Experience ที่ผู้ชมต้องปิดตา เราประทับใจการจัดแสดงละครด้วยเทคนิคและวิธีการต่างๆ ของเขา แล้วทางบริษัทก็ทิ้งท้ายไว้ว่าถัดไปจะแสดงเรื่องเจ้าชายน้อย เราก็ติดตามในเพจมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมีโฆษณาผ่านเพจบริษัทนี้ว่าจะจัดแสดงเรื่องเจ้าชายน้อยขึ้น แต่คนโพสต์บอกว่าจัดในนามบริษัท Trance studio และเขาเคยเป็นหนึ่งในผู้จัดของ Blind Experience มาก่อน เราก็ไม่ได้เอะใจอะไร เขามีลิงก์ให้เข้าไปกดต่อในเพจ Trance studio ซึ่งจะมีรายละเอียดต่างๆ ว่าใช้เทคนิคอะไร ยังไง ทำให้เราเข้าใจว่าคงเป็นการแสดงแบบเดิมที่เคยประทับใจ ก็จองบัตรและจ่ายเงินเลย แต่พอถึงวันที่เข้าไปชมการแสดง กลับไม่เหมือนกับที่เราเคยดูเลยแม้แต่นิดเดียว ไม่ได้ใช้เทคนิคเหล่านั้นในการแสดงจริงเลยคุณณัฐนรี :  มิ้มคิดว่า 90% ที่ซื้อบัตรดูเรื่องนี้ คือลูกค้าเก่าที่ตามมาจาก “เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย” ซึ่งประสบความสำเร็จมาก มีคนบอกต่อกันค่อนข้างเยอะ คือเหมือนบริษัท Trance studio เขาพยายามมาร์เกตติ้งให้ไปในทางที่ว่าการแสดงจะคล้าย ๆ กัน เราก็เข้าใจว่าทุกอย่างเหมือนเดิมหมดเลย แค่เปลี่ยนบริษัท แต่พอเข้าไปชมแล้วก็ต้องออกมาตั้งแต่ 10 นาทีแรก พร้อมกับอีกหลายคนเลย ทั้งที่การแสดงน่าจะเกือบ 2 ชั่วโมง ช่วยเล่าหน่อยว่าผิดหวังจากการเข้าชมการแสดงครั้งนี้ยังไงบ้างคุณณัฐนันท์ :  ครั้งก่อนที่เคยดูการแสดงแบบนี้ เขาจะมีห้องให้รอเพื่อเตรียมความพร้อมในการใช้ผ้าปิดตารับรู้ประสาทสัมผัสอื่นๆ แต่ครั้งนี้คือไม่มีการจัดระเบียบใด ๆ ทั้งๆ ที่เขาระบุว่ามีมาตรการป้องกันโควิด ตอนเดินเข้าไปในฮอลล์จะมีแสงนำทางและเสียงจากเทปเล่าเรื่อง พอถึงด้านใน ที่นั่งก็ติดกัน ห้องเป็นแบบมีเสา เอาผ้าดิบมาเป็นเวที 4 ด้าน แล้วฉายแสงจากโปรเจกเตอร์เข้าไป และเปิดเหมือนนิทานเสียง ซึ่งต่างจากที่เคยเข้าชมการแสดงรูปแบบนี้มาก่อนมาก ที่จะเป็นการแสดงจากคนจริงๆ มีคนตาบอดมาร่วมแสดงด้วย มีการใช้แสง สี เสียง กลิ่น มีการเดินมาสัมผัสเรา ทั้ง ๆ ที่ปิดตาแต่เรายังรับรู้ถึงมิติอื่นได้จริงๆคุณณัฐนรี :  พอมีฟีดแบกว่าการแสดงนี้ หนึ่ง-ไม่ใช่จัดโดยบริษัท Blind Experience สอง-ไม่มี 6 มิติที่เกิดขึ้นจริงตามที่โฆษณา มิมก็ทักไปถามบริษัทว่านี่เป็นการหลอกลวงหรือเปล่า เหมือนเขียนให้เข้าใจผิดในหลายๆ รูปแบบ ก็เลยอยากขอรีฟันด์ เขาก็แจ้งว่าไม่สามารถรีฟันด์ได้ในทุกกรณี ตอนแรกคิดว่าไม่เป็นไร แต่พอไปดูปุ๊บ มันไม่ใช่เลย ไม่มีอะไรที่เขาเคลมไว้เลย รู้สึกว่าหลายๆ อย่างทั้งการบริการ อุปกรณ์ หรือตัวการแสดงเอง ไม่สมกับราคาที่จ่ายไป 1,800 บาทเลย ซึ่งจากประสบการณ์ที่เคยดูการแสดงต่าง ๆ มาบ้าง ถ้าราคานี้ควรจะเป็นกึ่งๆ ละครเวที มีการแสดงจากคนจริง ๆ ด้วย แล้วหลังจากนั้นได้ติดต่อกลับไปยังบริษัทไหมคุณณัฐนันท์ :  ทรายติดต่อเพจ Trance studio เขาไม่อ่าน ไม่ตอบ จึงไปถามทางเพจ Blind Experience ซึ่ง          หนึ่งในผู้ก่อตั้งหลักก็อินบอกซ์ส่วนตัวกลับมาชี้แจงว่า คนที่โพสต์โฆษณาเรื่อง“ Me&My Little Prince” บนเพจของเขานั้น เคยเป็นเหมือนหัวหน้าฝ่ายพีอาร์ในการจัดแสดงครั้งที่แล้ว คือเคยมีส่วนร่วมจริง แต่ว่าไม่ได้เป็นคนคิดคอนเซ็ปต์หลักค่ะ แล้วพวกเขาตกลงกันว่าหากแต่ละคนแยกย้ายกันไป เขายังคงเพจไว้ ทุกคนยังเป็นแอดมินเพจที่สามารถพีอาร์งานศิลปะการแสดงของตัวเองมาในเพจได้ ซึ่งทรายก็รู้สึกว่าเรายังไม่ได้รับความยุติธรรมใดๆ แค่ได้รับการอธิบายที่ไม่ได้ช่วยอะไรเราได้เลย พอเห็นว่ามีผู้ชมหลายคนไปคอมเมนต์ตำหนิในเพจ Trance studioนี่คือผิดปกติแล้ว จึงลองรวมกลุ่มคนที่ไปดูว่าคนอื่นรู้สึกเหมือนเราไหมคุณณัฐนรี :   วันนั้นพอเดินออกมาแล้ว นิมไปคอมเมนต์ในเพจ Trance studio เขาลบและบล็อกเลย เรารู้สึกว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมเท่าไหร่ อย่างน้อยเขาควรจะขอโทษ หรือว่ารับผิดชอบอะไรสักอย่างกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะว่าไม่ใช่เราคนเดียวที่เข้าใจผิด เราก็เลยกลับเข้าไปขอคุยกับเจ้าของถึงหน้าเธียเตอร์ รออยู่เกือบ 2 ชั่วโมง เขาไม่ยอมมาคุย เรารู้สึกไม่โอเค จึงมาร่วมกันตั้งกลุ่มผู้เสียหายในกรณีนี้กับคุณทราย แสดงว่ากลุ่มผู้เสียหายนี้คือรวบรวมมาจากคนที่เข้าไปคอมเมนต์ในเพจ Trance studioคุณณัฐนันท์ :  ใช่ค่ะ ทรายก็ทักส่วนตัวบ้าง มีเพื่อนๆ ที่อยู่หลังบ้านช่วยกันอินบอกซ์ไปหาคนที่คอมเมนต์บ้าง แล้วจากนั้นทุกคนที่เราติดต่อไปก็มารวมกัน ถ้านับตั้งแต่ที่ทรายเริ่มสร้างกลุ่มในเฟซบุ๊กจนถึงวันที่ 27 มิถุนายนนี้ มี 230 บัญชีผู้ใช้ที่เข้ามาในกลุ่ม แล้วก็มีความคิดเห็นที่บอกว่าตัวเองเหมือนถูกหลอก แล้วก็ไม่คุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไป เป็นจำนวน 195 ความเห็น และมี 38 บัญชีผู้ใช้ที่กรอกกูเกิลฟอร์มที่ทรายทำขึ้นมาเพื่อจะขอคืนค่าตั๋ว รวมบัตรแล้ว 90 ใบ เป็นเงิน 143,031 บาท ซึ่งทรายมีหลักฐานยืนยันทั้งหมด หลังจากรวมกลุ่มกันได้แล้ว ดำเนินการอย่างไรต่อคุณณัฐนันท์ :  ทรายไปติดต่อ สคบ.ก่อน เขาบอกว่าให้รวบรวมหลักฐาน พวกใบกำกับภาษีอะไรอย่างนี้ให้เสร็จทีเดียวก่อนค่อยมาแจ้ง แล้วมีเพื่อนในกลุ่มที่ติดต่อไปทางสรรพากร ให้ตรวจสอบรายได้ เพราะบริษัทไม่ได้ออกใบกำกับภาษีให้ทุกคน เราต้องขอไปเอง อย่างนี้ดูมีพิรุธ ซึ่งเพื่อนแต่ละคนก็ทำวิธีที่ตนถนัด จนไปเจออีกว่าภาพโฆษณาที่เขาใช้นั้นก็ไปก็อปมาจากที่อื่นแบบ 100% แค่ปรับแสงนิดเดียว ซึ่งเราอ้างอิงได้ว่าภาพมาจากเว็บอะไร ถูกจัดแสดงจริงที่ไหนแล้วทรายก็ต้องไปขอให้ตัวแทนจำหน่ายบัตรช่วยติดต่อ Trance studio เรื่องใบกำกับภาษี เขาถึงยอมตอบกลับมาว่าจะทำให้ ตอนนั้นเองที่ได้คุยกันว่าละครเวทีนี้เป็นไปตามที่คุณโฆษณาเลยไหม เขาก็ยังยืนยันว่าเป็นไปตามนั้น อยากจะแจ้งอะไรก็แจ้ง ระหว่างนั้นทรายก็ติดต่อมาที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ด้วยอีกทาง เพื่อให้ช่วยเหลือในการขอคืนเงินค่าตั๋วและดำเนินคดีตามกฎหมายคุณณัฐนรี : พวกเราคุยกันว่าต้องหาตัวกลางเพื่อมาประสาน หรือดูว่าสุดท้ายแล้วยังไง ใครถูกใครผิด ใครต้องรับผิดชอบ หรือว่าความถูกต้องคือตรงไหน หลังจากรวมกลุ่มกัน รวบรวบหลักฐานแล้ว ไปติดต่อผ่านตัวกลางน่าจะดีกว่า ซึ่งล่าสุดทางมพบ.ทำจดหมายนัดให้มาเจรจาไกล่เกลี่ยกันวันที่ 13 กันยายน แต่ทางบริษัทเขาขอเลื่อนไปเป็นวันที่ 30 กันยายน ไม่แน่ใจว่าด้วยเหตุผลอะไร แล้วถ้าเขาไม่มา ก็อยากจะรู้ว่าปกติเลื่อนได้กี่รอบ เพราะว่าที่จริงถ้าเขาผลัดไปเรื่อยๆ ก็ลำบากพวกเราเหมือนกัน อยากให้ฝากถึงผู้บริโภคท่านอื่นว่าก่อนที่จะตัดสินใจซื้อตั๋วเข้าชมการแสดง ควรจะเลือกอย่างไรคุณณัฐนันท์ :  ถ้าเหมือนกรณีทรายนะคะ คงจะต้องสอบถามไปทางบริษัทหรือว่าเพจที่เคยดูว่าเป็นการแสดงลักษณะเดียวกันไหม ผู้จัดเดียวกันไหม ยังคงเป็นเทคนิคการแสดงเดียวกันไหม เพื่อความมั่นใจก่อนจะซื้อบัตร เพราะว่าทรายแค่เห็นเพจเดิมถูกแชร์ออกมา ก็กดซื้อเลย ไม่ได้สอบถามก่อนว่าเหมือนกับที่เคยดูไหม อะไรอย่างนี้ อยากฝากว่าจะต้องเช็กให้มั่นใจก่อนจะจ่ายเงิน ครั้งนี้ทรายไม่ได้รีเช็กอะไรเลย เพราะเราเชื่อว่าจะเหมือนครั้งที่ผ่านมา  คุณณัฐนรี : เดี๋ยวนี้อาจจะดูคำโฆษณายาก ดูรูปยาก มิมคิดว่าหลักๆ แล้วน่าจะดูความน่าเชื่อถือของตัวบริษัทที่จัดว่าก่อตั้งมานานแล้วหรือยัง เจ้าของมีใครบ้าง เคยทำโชว์แบบไหนมาบ้าง ตรงนี้เราอาจจะพลาดเองเพราะแทรนซ์เพิ่งเปิดเลย ไม่มีการโชว์ที่ไหนมาก่อน ไม่มีดิจิตอลฟุตปริ้นต์มาก่อนว่าเคยทำอะไรมาบ้าง แต่เราไปเชื่อแค่ว่าเขาเป็นคนที่เคยจัดเรื่องเล่าจากหิ่งห้อย เพราะประทับใจกับรอบที่แล้วมากๆ แล้วเข้าใจว่าเป็นทีมผู้จัดเดิม ต่อไปต้องละเอียดกว่านี้ หรือถ้าจะให้เซฟจริงๆ อาจรอดูรีวิวจากรอบสื่อก่อน แต่ต้องเลือกสื่อที่ตรงไปตรงมาและเชื่อถือได้จริงๆ ไม่ใช่สื่อที่บริษัทจ้างรีวิวนะคะ             ครั้งต่อไป คุณจะเลือกซื้อบัตรเข้าชมการแสดงต่างๆ จากอะไร ? 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 มามี้ที่รัก : หลบหน่อย…แม่(ผู้มีฝัน)จะเดิน

                มนุษย์ทุกคนมี “ความฝัน” เพราะความฝันทำให้ชีวิตของคนเรามีคุณค่าและความหมาย และที่สำคัญ ความฝันถือเป็นเอกสิทธิ์โดยชอบธรรมที่ปัจเจกบุคคลพึงมี พึงเลือก และพึงรักษาไว้ เพื่อให้คุณค่ากับความหมายแห่งชีวิตดำรงอยู่ต่อไปได้นั่นเอง         ถ้าหากความฝันมีความสำคัญเฉกเช่นนี้ สำหรับผู้หญิงที่ได้ชื่อว่าเป็น “แม่” แล้ว พวกเธอจะวางตำแหน่งแห่งที่ของความฝันในชีวิตกันอย่างไร         “มามี้ที่รัก” ละครโทรทัศน์แนวคอมเมดี้เจือดรามา เป็นเรื่องเล่าที่ไม่เพียงผูกโยงเรื่องราวของบรรดาคุณแม่ๆ ที่มารวมตัวเป็นแก๊งก๊วนดูแลคุณลูกๆ วัยอนุบาลกันเท่านั้น แต่ยังมีเนื้อหาสารที่ตั้งคำถามต่อโลกแห่งความฝันของผู้หญิง พลันเมื่อพวกเธอต้องเข้ามาสวมบทบาทของความเป็นแม่ควบคู่กันไป         เมื่อก้าวลงสู่สนามของความเป็นแม่นั้น บทบาทแรกที่สังคมมอบหมายให้กับผู้หญิงก็คือ ต้องยึดลูกเป็นสรณะ ทั้งนี้ นอกจากให้กำเนิดแล้ว พวกเธอยังต้องรับภาระหน้าที่เลี้ยงดูลูก และพึงต้องเสียสละเพื่อลูกก่อนที่จะนึกถึงความสุขของตนเอง ด้วยเหตุฉะนี้ ภายใต้ข้อกำกับของสังคมดังกล่าว จึงกลายเป็นโจทย์ใหญ่ของตัวละครผู้หญิงสามคนคือ “พริมา” “สรินตา” และ “กันนรี” ว่า ความฝันที่พวกเธอปรารถนาจะมี จักต้องปะทะต่อรองกับบทบัญญัติที่สังคมกำหนดให้กับแม่ๆ มามี้กันเช่นไร         ฉากเริ่มต้นของละครอาจดูไม่แตกต่างจากภาพที่เราคุ้นๆ กันว่า บรรดาคุณแม่ก็มักแข่งขันกันเพื่อให้ลูกของเธอ “เจ๋งที่สุด” หรือโดดเด่นเหนือลูกของคนอื่น เพราะฉะนั้น เมื่อลูกๆ ของคุณแม่ทั้งสามได้มาเรียนใน “โรงเรียนอนุบาลดีเลิศ” ห้อง 3/1 เหมือนกัน การช่วงชิงให้ลูกของตนได้รับบทเด่นเป็น “หนูน้อยหมวกแดง” ในละครเวทีปิดภาคเรียน จึงเป็นประหนึ่งสมรภูมิย่อยๆ ที่ปะทุขึ้นเป็นปกติในชีวิตของผู้หญิงสามคนนี้         มูลเหตุพลิกผันที่ทำให้คุณสามมามี้ต้องแท็กทีมจับมือกัน เริ่มต้นขึ้นเมื่อโรงเรียนอนุบาลได้จัดกิจกรรมแรลลี่ “ปลูกรัก” เพื่อ “คืนความสุข” สมัครสมานสามัคคีในหมู่ผู้ปกครอง แต่ให้บังเอิญว่า คุณแม่ทั้งสามกลับต้องไปเป็นพยานในเหตุการณ์ฆาตกรรมหญิงสาวคนหนึ่งโดยไม่รู้ตัว จนถูกฆาตกรลึกลับคุกคามเอาชีวิต         ชะตาชีวิตที่ต้องเผชิญกับฆาตกรที่ตามไล่ล่า ได้นำไปสู่ชะตากรรมร่วมที่ผู้หญิงสามคนได้เรียนรู้เหตุและผลในการละทิ้งความฝันของผู้หญิงที่ต้องมาสวมบทบาทของแม่ผู้ที่ “เปลก็ต้องไกว ดาบก็ต้องแกว่ง”        สำหรับมามี้คนแรกคือพริมา หรือ “พริม” นั้น เธอเป็นเน็ตไอดอลสาวสวยและยูทูเบอร์เจ้าของรายการ “Healthy Kids” หากมองย้อนกลับไปในอดีต พริมเคยเป็นพริตตี้ที่มีชื่อเสียงอยู่บ้าง จนกระทั่งเธอตั้งท้องกับ “ภาณุ” ชายหนุ่มผู้รักการขี่รถบิ๊กไบค์ท่องเที่ยว และยังไม่พร้อมจะสร้างครอบครัวกับใคร เส้นทางชีวิตของพริมก็เลยต้องแปรเปลี่ยนไปจากเดิม         ดังนั้น เพื่อให้แฟนหนุ่มได้ทำตามความฝันเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ยากไร้ทั่วโลก พริมจึงตัดสินใจผันตัวมาเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวให้กับ “เอวา” ลูกสาววัยห้าขวบแต่เพียงลำพัง แม้ลึกๆ แล้ว พริมผู้ “ยากไร้ความฝัน” จะบอกกับตัวเองว่า “ฉันต้องการมากกว่านั้น ฉันต้องการให้คุณอยู่ด้วย”         ส่วนมามี้คนถัดมาคือสรินตา หรือ “หลิน” แม่บ้านปากร้ายใจดี ประธานชมรมผู้ปกครองของโรงเรียน ในอดีตหลินมาจากครอบครัวฐานะยากจน และเคยเป็นนักร้องกลางคืนมาก่อน จนเมื่อมี “จีโน่” ลูกชายหัวแก้วหัวแหวน หลินก็ละทิ้งทุกอย่าง รวมทั้งอาชีพนักร้องที่เธอรัก เพียงเพื่อมาเป็น “ช้างเท้าหลัง” สนับสนุนหน้าที่การงานของสามี “ปรเมศวร์” ผู้เป็นนักการเมืองอนาคตไกล         แต่ทว่าสิ่งที่หลินต้องอดทนอดกลั้นมาตลอดนั้น ไม่เพียงเธอต้องอยู่ในโอวาทของสามีเจ้าระเบียบ หรือถูกตั้งแง่รังเกียจกำพืดความจนจาก “คุณหญิงปรางทิพย์” แม่สามีที่เจ้ายศเจ้าอย่างแล้ว ยังรวมถึงการที่ครอบครัวของเขาก็ไม่เคยให้เกียรติ และไม่เคยนับว่าเธอเป็น “คนในครอบครัว” เลย         และสำหรับมามี้คนสุดท้ายก็คือกันนรี หรือ “กัน” คุณแม่สาวใหญ่เวิร์คกิ้งวูแมนที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่ลึกลงไปในใจแล้ว เธอก็ปรารถนาจะมีครอบครัวที่ “สมบูรณ์” แบบพ่อแม่ลูกตามความคาดหวังของสังคม กันจึงตกลงใจผสมเทียมเด็กหลอดแก้วกับ “ชนะชล” ชายหนุ่มเรือนร่างซิกซ์แพ็ก เจ้าของธุรกิจขนย้ายบ้านและออฟฟิศ “เลิฟลี่โฮม”         แต่หลังจากมีลูกสาวแสนน่ารักอย่าง “ข้าวหอม” ชีวิตครอบครัวของกันที่น่าจะ “สมบูรณ์” ตามแบบอุดมคติทางสังคมกลับถึงคราวล่มสลาย เพราะเธอจับได้ว่า สามีแฟมิลี่แมนเป็นเกย์ และมีชายหนุ่มคนรักอย่าง “วิชญ์” ที่ข้าวหอมเองก็เรียกเขาว่า “คุณแด๊ด” จนเธอต้องการขอหย่าและแยกทางกับสามี         กับผู้หญิงสามคนที่ต่างละทิ้งและต่อรองความฝันกับเหตุผลอันหลากหลายของสังคม เมื่อได้มาร่วมชะตากรรมเดียวกัน โดยมีศพและการฆาตกรรมเป็นศูนย์กลางของเรื่อง มิตรภาพแห่ง “เพื่อนหญิงพลังหญิง” จึงเกิดขึ้นเพื่อช่วยต่อลมหายใจในการมีชีวิตอยู่ของพวกเธอ เฉกเช่นที่หลินได้ปรารภกับเพื่อนคุณแม่ด้วยกันว่า “ชีวิตครอบครัวของเรามันห่วยแตก แม่ๆ อย่างเราเลยต้องมาปรับทุกข์กันเอง”         เพราะแม่ย่อมเข้าใจหัวอกคนเป็นแม่ด้วยกัน แม้ไม่อาจทำตามความฝันของตนไปได้ แต่บรรดาแม่ๆ ก็แอบ “ฉกฉวยจังหวะ” เพื่อจะสร้างบางพื้นที่บางเวลาซึ่งปลอดจากภาระแห่งลูก สามี และครอบครัว ฉากที่พวกเธอแอบจัดปาร์ตี้ชนิดเมากันเละที่บ้านของหลิน พร้อมประสานเสียงออกมาว่า “ใครบอกว่าแต่งงานแล้วชีวิตจะสมบูรณ์…ไม่จริง!!!” ก็ชวนตั้งคำถามอยู่ในทีว่า ลูกและสามีเป็นความสุขสุดท้ายของมามี้กลุ่มนี้จริงๆ ล่ะหรือ?         แต่ที่น่าสนใจก็คือ แม้ชีวิตครอบครัวอาจไม่ใช่คำตอบเพียงหนึ่งเดียวของบรรดาแม่ๆ แต่พลันที่เธอได้เลือกเป็นแม่ของลูกแล้ว ปณิธานร่วมของตัวละครหญิงสามคนก็ยังคงยืนยันว่า “คนเป็นแม่อย่างเราจะมีอะไรสำคัญไปกว่าลูกล่ะ” และ “เรื่องลูกต้องมาก่อนความฝันของเราเอง”         เมื่อมาถึงช่วงท้ายเรื่องที่เฉลยว่า “เชฟพีระ” ที่ดูเป็นสุภาพบุรุษในฝัน แต่แท้จริงแล้วเป็นฆาตกรที่ตามไล่ล่ามามี้ทั้งสาม และยังจับลูกๆ ของเธอเป็นตัวประกัน เราจึงได้เห็นภาพของ “มามี้ที่รัก” สวมบทบาท “นางฟ้าชาร์ลี” พร้อมอาวุธครบมือไปต่อสู้กับคนร้าย อันสะท้อนนัยพลังของแม่ซึ่งทำอะไรได้มากกว่าที่เราคิดเสียอีก         จะว่าไปแล้ว แม้จุดเริ่มต้นของละครอาจมาจากการฆาตกรรมที่สะท้อนความรุนแรงเชิงกายภาพซึ่งสังคมกระทำต่อร่างกายของเหยื่อผู้หญิงก็ตาม แต่เหนือไปกว่านั้น การที่สังคมได้พรากความฝันไปจากแก๊งมามี้ ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของความรุนแรงเชิงโครงสร้างต่อผู้หญิงที่ให้กำเนิดสรรพชีวิตมนุษย์ด้วยเช่นกัน         ภาพฉากจบที่ลูกและสามีมาเชียร์คุณแม่เข้าประกวดร้องเพลงและตะโกนว่า “คุณแม่…สู้!!!” ไปจนถึงภาพของบรรดาลูกๆ ที่พากันเปล่งเสียงให้กับทั้งสามมามี้ว่า “พวกเรารักมามี้นะคะ/นะครับ” ก็น่าจะทำให้เราย้อนคิดได้ว่า ความฝันไม่ใช่แค่เรื่องของลูกๆ และสามีเท่านั้น หากแต่มามี้เองก็มีความฝันได้ไม่ต่างจากพวกเรา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 พิษรักรอยอดีต : ความพยาบาทเป็นของหวาน…ของผู้หญิงอ้วน

               มนุษย์เราเป็นสัตว์โลกที่มีความมหัศจรรย์บางอย่าง หากใครก็ตามที่มีเรือนร่างสรรพางค์กายผิดแผกไปจากมนุษย์ส่วนใหญ่ เธอหรือเขาผู้นั้นก็จะถูกสายตาของคนในสังคมกดทับกำกับความหมายว่ามี “ความเป็นอื่น” ที่ยากจะผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมคนธรรมดาสามัญ         เฉกเช่นกรณีร่างกายของ “คนอ้วน” ก็เป็นหนึ่งในทุกรกิริยาที่สังคมบรรจงหยิบยื่นผ่านการกำหนดคุณค่าและความหมายเชิงลบ ให้แก่มนุษย์ผู้สั่งสมชั้นไขมันใต้ผิวหนังมากเกินกว่าที่พบเห็นในคนทั่วไป         แม้ไขมันที่สะสมอยู่ใต้ผิวหนังจะเป็นสิทธิที่ปัจเจกบุคคลพึงมีอำนาจอันชอบธรรม ทั้งที่จะเลือกและตัดสินใจนำมาบรรจุไว้ในร่างกายของตนเอง แต่เอาจริงแล้ว ไขมันในร่างคนอ้วนก็มักถูกเทียบค่าเป็น “ความแปลกประหลาด” ภายใต้การรับรู้ของมวลมหาสาธารณชน         ในสายตาของหลายๆ คน คนอ้วนก็อาจถูกนิยามว่า “ตลก” บ้าง “ตุ๊ต๊ะอุ้ยอ้าย” บ้าง หรือในทัศนะของบุคลากรการแพทย์ ร่างกายของคนอ้วนก็ถูกตีความว่าเป็นโรคชนิดหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า “โรคอ้วน” รวมไปถึงมุมมองของคนบางกลุ่มอีกเช่นกันที่กำหนดความหมายของคนอ้วนว่า “โง่” บ้าง “ไม่ทันคน” บ้าง นัยเชิงลบเช่นนี้จึงไม่ต่างจากการตอกลิ่มสลักรอยบาดแผลเอาไว้ในก้นบึ้งจิตใจของมนุษย์ผู้มีรูปร่างอ้วนท้วนไปโดยปริยาย         และผู้หญิงอ้วนอย่าง “ผิง” ในละครโทรทัศน์เรื่อง “พิษรักรอยอดีต” ก็เป็นหนึ่งในตัวแทนของมนุษย์ที่ต้องตกอยู่ใต้ม่านหมอกแห่งอคติที่สังคมกำหนดให้ร่างกายของเธอกลายสภาพเป็นอื่นด้วยเช่นกัน         ละครเปิดเรื่องด้วยภาพของ “เมย์” สาวสวยที่ดูลึกลับและทรงเสน่ห์ ได้เดินทางกลับมาจากต่างประเทศพร้อมกับ “อาฉง” ผู้เป็นอากง และ “กล้า” ชายหนุ่มที่ตาขวาพิการ พลันที่เหยียบผืนแผ่นดินเกิดอีกครั้ง เมย์ก็พูดขึ้นว่า “ต่อไปนี้เราจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่นี่ เราเกิดใหม่จากความตาย เพื่อที่จะได้มาทวงทุกอย่างคืน”         จากนั้นภาพก็ค่อยๆ ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน แท้จริงแล้ว เมย์ก็คือตัวละครผิงในอดีต ผิงเป็นสาวน้อยที่ออกจะเจ้าเนื้อ แต่ทว่าภายใต้ร่างกายที่อ้วนตุ๊ต๊ะนั้น ผิงเป็นหญิงอ้วนที่น้ำใจงาม และที่สำคัญ เธอก็แสนจะใสซื่อโลกสวย ประหนึ่งเจ้าหญิงที่ขี่ม้ากลางทุ่งลาเวนเดอร์ในจินตนิยาย         อาฉงผู้มีศักดิ์เป็นปู่หรืออากงของผิง เป็นเจ้าของร้านขายยาสมุนไพรจีน “กงผิง” ในย่านแพร่งภูธร และเพราะถูกพร่ำสอนจากอากงให้เป็นคนที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ ผิงจึงชอบช่วยเหลือผู้ยากไร้ และใช้ความรู้สมุนไพรรักษาโรคให้กับคนเร่ร่อนและคนยากจน ที่แม้ว่าหลายๆ ครั้งคนเหล่านั้นก็จนยากเสียจนไม่มีเงินที่จะเจียดมาจ่ายเป็นค่ายารักษาได้เลย         จุดพลิกผันของเรื่องที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในจิตสำนึกของผิง เกิดขึ้นพร้อมกับการปรากฏตัวของตัวละครอีกสองคน คนแรกคือหญิงสาวสวยชื่อ “นิสา” ที่มาทำงานเป็นลูกมือในร้านสมุนไพรกงผิง และทำตัวใกล้ชิดสนิทสนมเหมือนเป็นพี่สาวที่ผิงมอบความไว้เนื้อเชื่อใจเธอเป็นที่สุด กับอีกคนหนึ่งก็คือ “เฟย” ผู้ชายรูปหล่อหน้าตาดีที่ผิงหลงรัก และตกลงใจแต่งงานร่วมหอลงโรงเป็นภรรยาตามกฎหมายของเขา         แม้สำหรับผิงแล้ว “เพราะรักจึงยอมไว้ใจ” แต่ในทางกลับกัน สำหรับนิสาและเฟยนั้น กลับมองผู้หญิงร่างอ้วนเป็นเพียง “ผู้หญิงโง่ ไม่ทันคน และง่ายต่อการถูกหลอก” เพราะเบื้องหลังแล้ว ทั้งสองคนคือคู่รักตัวจริงที่เข้าหาผิงเพียงเพื่อลวงหลอกเอาสินทรัพย์สมุนไพรราคาแพงของร้านกงผิงมาเป็นสมบัติของพวกตน         เมื่อความโลภเข้าครอบงำจิตใจ และม่านมายาแห่งอคติต่อคนอ้วนเข้าบังตา ทั้งนิสาและเฟยก็ไม่เห็นว่าหญิงอ้วนที่น้ำใจงามอย่างผิงเป็น “มนุษย์” ที่มีชีวิตเลือดเนื้ออีกต่อไป และเพียงเพื่อผลประโยชน์เชิงวัตถุและเม็ดเงินมูลค่ามหาศาล ได้กลายเป็นเหตุปัจจัยของการผนึกกำลังกันระหว่างคนทั้งสองกับตัวละครผู้ร้ายอื่นๆ อีกมากมาย ตั้งแต่ “เฉิน” มารดาของเฟย “ฮั่น” ชายหนุ่มที่อาฉงเองก็รักเหมือนหลานคนสนิท “เฮียตง” เจ้าพ่อมาเฟียประจำถิ่น และ “ผู้กองสันติ” นายตำรวจกังฉินแต่ปากกลับบอกว่าตนรักษาไว้ซึ่งความยุติธรรม         ทฤษฎีสมคบคิดภายใต้โครงข่ายของกลุ่มมิจฉาชีพที่โยงใยกันอย่างแนบแน่นนี้เอง ได้นำไปสู่ฉากการฆาตกรรม “ป้าแวว” ญาติผู้ใหญ่ที่รักยิ่งของผิง ทำให้หนุ่มเร่ร่อนจรจัดอย่างกล้าที่พลัดหลงมาเห็นเหตุการณ์ถูกทำร้ายจนสูญเสียดวงตาไปข้างหนึ่ง และที่สำคัญ ทั้งหมดยังได้ร่วมมือกันพยายามฆ่าผิงและอาฉงโดยฝังให้ “ตายทั้งเป็น” อยู่กลางป่ารกร้างลับตาคน         แต่จะด้วยเพราะดวงที่ยังไม่ถึงฆาต หรือจะเพราะจิตวิญญาณการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงอคติในสังคมได้เริ่มก่อตัวขึ้นมา ผิงผู้ที่ถูกฝังกลบทั้งเป็นก็กลับฟื้นขึ้นมาจากหลุมดินกลางป่า ประหนึ่งเป็นการบ่งบอกนัยแห่งการ “ถือกำเนิดใหม่” ขึ้นมาอีกครั้ง พร้อมๆ กับตัวตนและจิตสำนึกเดิมที่ได้ตายจากไป         หลังจากที่ต้องพลัดถิ่นฐานหลบลี้หนีภัยไปอยู่แดนมังกร ผิงคนเดิมซึ่งบัดนี้เปลี่ยนรูปลักษณ์และจิตสำนึกเสียใหม่ ได้เดินทางกลับมาเมืองไทย พร้อมกับความแค้นที่เต็มเปี่ยม กอปรกับการไปร่ำเรียนศาสตร์วิชาการฝังเข็มจากหมอแผนจีนโบราณ และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นที่ผู้หญิงสาวสวยอย่างหมอเมย์ได้ก้าวสู่การแก้แค้นบรรดาผู้สมรู้ร่วมคิดกันฝังเธอทั้งเป็นมาก่อน         หากความรู้เป็นดั่งศาสตราวุธ พ่วงกับความพยาบาทที่เป็นดั่งแรงผลักเสริม ดังนั้น เมื่อครั้งหนึ่งร่างกายของผู้หญิงอ้วนเป็นสนามที่สังคมได้เคยเลือกปฏิบัติต่อเธออย่างไร้ปรานี ผิงจึงใช้ความรู้สมุนไพรและการฝังเข็มเอาคืนต่อร่างกายศัตรูที่เคยฝังร่างของเธอในป่าร้างมาก่อน         เริ่มจากการฝังเข็มให้อดีตแม่สามีอย่างเจินเพื่อปลุกกระตุ้นความอยากอาหารให้กินแบบตายผ่อนส่ง เหมือนกับที่ผิงแอบเปรยขึ้นว่า “กินเยอะๆ นะคะอาม้า จะได้อ้วนแบบผิง” จากนั้นก็ฝังเข็มกระตุ้นต่อมกำหนัดของเฟย จนเขาเผลอไปมีสัมพันธ์กับเมียของเฮียตง และตามมาด้วยการใช้สมุนไพรปลุกแรงขับทางเพศจนนิสาและฮั่นมีสัมพันธ์อันเกินเลย เพื่อทำให้เฟยหึงหวงจนเหมือน “ตายทั้งเป็น” ทางอารมณ์และจิตใจ        แม้การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงอคติทางสังคมมักจะต้องแลกมากับความสูญเสีย เหมือนกับที่ผิงเองก็ต้องสูญเสียอิสรภาพและติดคุก เพราะวิถีการล้างแค้นที่ทำให้ศัตรูตายไปทีละคนสองคนก็เป็นสิ่งที่ขัดกับตัวบทกฎหมายที่สังคมบัญญัติขึ้น แต่เมื่อฟ้าหลังฝนที่ได้อิสรภาพกลับคืนมา เธอก็ลงเอยมีความสุขกับพระเอกหนุ่มอย่าง “โช” ผู้ที่อาจไม่ร่ำรวย แต่เขาคือคนที่สารภาพกับเธอว่า “สำหรับผม อ้วนไม่อ้วน สวยไม่สวย ไม่เกี่ยวเลย แต่สิ่งที่ผมชอบผิงคือจิตใจที่อ่อนโยนกับทุกคน แม้แต่คนที่ต่ำต้อยกว่าอย่างผม”        จะว่าไปแล้ว ละคร “พิษรักรอยอดีต” อาจจะจบลงโดยง่าย หากผิงถูกฝังกลบตายทั้งเป็นอยู่กลางป่าร้างตั้งแต่ครึ่งแรกของเรื่อง แต่เพราะจิตสำนึกของผู้หญิงอ้วนไม่เคยยอมจำนนต่ออำนาจสังคมที่กลบฝังร่างกายและจิตใจของเธอ ยิ่งผสานกับแรงพยาบาทซึ่งเป็นดั่งขนมหวานที่หากลิ้มรสการต่อสู้แล้วก็ติดใจได้ไม่ยาก เมื่อนั้นผู้หญิงอ้วนก็พร้อมจะกล้าลุกขึ้นมาใช้มันสมองและจิตวิญญาณเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 คุณหมีปาฏิหาริย์ : วัตถุเป็นแหล่งสะสมความทรงจำที่เจ้าของฝากฝังไว้

                ในสังคมตั้งแต่ครั้งบุรพกาลนานมา เชื่อกันว่า วัตถุมิใช่เพียงแค่สิ่งของที่ไร้ซึ่งชีวิตจิตใจ หากแต่ข้าวของต่างๆ รอบตัวเรานั้น เป็นวัตถุธรรมที่บรรจุไว้ซึ่งความทรงจำและจิตวิญญาณอันเกี่ยวข้องกับมนุษย์เรา อันเป็นการผูกโยงไว้ซึ่งความสัมพันธ์สามเส้าอันแนบแน่นระหว่างมนุษย์ วัตถุในธรรมชาติ และความเชื่อสิ่งเหนือธรรมชาติ         ดังตัวอย่างของความคิดความเชื่อเรื่องการสู่ขวัญให้กับวัตถุต่างๆ ที่ดำรงอรรถประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันของผู้คน การปลุกเสกให้วัตถุสามัญมีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่สถิตของพลังอำนาจบางอย่าง ไปจนถึงการที่คนสมัยก่อนเองก็มักใช้วัตถุเป็น “ของขวัญ” หรือตัวแทนเชื่อมโยงความรักความทรงจำ ที่คนคนหนึ่งผูกพันจิตใจให้ไว้กับคนอีกคนหนึ่ง         แต่ทว่า มุมมองต่อวัตถุข้าวของเริ่มแปรเปลี่ยนไป เมื่อระบอบทุนนิยมได้ตัดสะบั้นความสัมพันธ์สามเส้าระหว่างมนุษย์-วัตถุ-สิ่งเหนือธรรมชาตินั้นเสีย สิ่งของต่างๆ สามารถสรรหามาได้เพียงเพราะเราใช้เงินในกระเป๋าซื้อมา พร้อมๆ กับลัทธิวัตถุนิยมได้เข้ามาแทนที่ความเชื่อความศักดิ์สิทธิ์ จนท้ายที่สุดวัตถุก็กลายเป็นเพียงวัตถุที่ขาดความทรงจำทั้งของปัจเจกบุคคลและของสังคมไปโดยปริยาย         ด้วยเหตุฉะนั้น เมื่อละครโทรทัศน์แนวโรแมนติกเอาใจบรรดา “สาววาย” อย่าง “คุณหมีปาฏิหาริย์” ได้เปิดเรื่องขึ้นโดยให้ตุ๊กตาหมีสีขาวนวลตัวใหญ่ของพระเอกหนุ่ม “พีรณัฐ” บังเอิญถูกสุนัขชื่อ “ขึ้นช่าย” บุกเล่นงานจนตกลงมาจากห้องนอนชั้นสอง และกลายร่างเป็นชายหนุ่มร่างสูงผิวขาวที่มีเลือดเนื้อและจิตใจขึ้นมา ปาฏิหาริย์ที่บังเกิดต่อตุ๊กตาหมีก็ดูเหมือนจะพาเราหวนกลับไปสู่โลกทัศน์ที่ครั้นอดีตเราเคยเชื่อกันว่า วัตถุสิ่งของล้วนมีจิตวิญญาณและความทรงจำสลักฝังอยู่ในนั้น         เพราะสิ่งของก็มีจิตใจ เมื่อตุ๊กตา “คุณหมีปาฏิหาริย์” ได้ตื่นจากสภาพหลับใหลกลายเป็นมนุษย์ขึ้นมา ตุ๊กตาในร่างชายหนุ่มที่ “มทนา” แม่ของพีรณัฐเชื่อว่า เขาเป็น “เจ้าชายน้อย” ตัวละครเอกในวรรณกรรมคลาสสิกที่เธอชื่นชอบ และเธอได้เรียกขานตั้งชื่อเขาว่า “เต้าหู้” สมาชิกใหม่ในบ้าน ผู้ที่จะเข้ามาเชื่อมร้อยและซ่อมแซมสายสัมพันธ์ที่ห่างหายไปนานแล้วในครอบครัวของพีรณัฐ         ควบคู่ไปกับการกลายร่างเป็นมนุษย์ของตุ๊กตาหมี ผู้ชมเองก็ได้ถูกดึงหลุดเข้าไปท่องพิภพแฟนตาซีอยู่ในห้องนอนของพีรณัฐ ที่บรรดาวัตถุสิ่งของต่างลุกขึ้นมามีชีวิต ณ อีกโลกหนึ่งที่คู่ขนานไปกับโลกที่มนุษย์เราสัมผัสผ่านได้เพียงอายตนะทั้งห้าเท่านั้น         กับฉากอรุณสวัสดิ์เริ่มต้นเรื่อง ที่แนะนำให้ผู้ชมได้รู้จักกับตัวละครวัตถุข้าวของต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคุณลุงสมุดบันทึกสีน้ำตาลผู้คอยรองรับน้ำตาและความทรงจำของพีรณัฐยามที่เขาทุกข์โศก คุณหมอนข้างและคุณน้าผ้านวมที่แสนใจดีและอบอุ่น คุณโต๊ะผู้เป็นโค้ชใหญ่ของบ้าน คุณเก้าอี้สาวขี้อายประจำห้องนอน และอีกหลากหลายสรรพชีวิตของวัตถุสิ่งของที่พูดคุยเสวนาสารทุกข์สุขดิบกันทุกๆ เช้า รวมไปถึงตุ๊กตาหมีผู้ผูกพันและนั่งอยู่ในห้องนอนเคียงข้างตัวพีรณัฐมานานนับสิบปี         เพราะสิ่งของเครื่องใช้มีส่วนผสมทั้งด้านวัตถุรูปธรรมที่จับต้องได้ กับด้านแห่งจิตใจหรือจิตวิญญาณนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ วัตถุอย่างตุ๊กตาหมีจึงถูกมอบหมายให้เป็นสะพานเชื่อมร้อยสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์เข้าไว้ด้วยกัน ดังนั้น เมื่อตุ๊กตาหมีกลายร่างเป็นคน ภารกิจการถักทอสายสัมพันธ์จึงทำให้เต้าหู้ต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของพีรณัฐ (หรือที่เต้าหู้เรียกว่า “พี่ณัฐ”) และผู้คนรอบตัวไปด้วยเช่นกัน         เมื่อเข้ามาอยู่ในวังวนของชีวิตมนุษย์ เต้าหู้ก็ค่อยๆ เรียนรู้ว่า ทุกวันนี้ระบอบอำนาจนิยมได้แผ่ซ่านซึมแทรกอยู่ในถ้วนทั่วทุกองคาพยพของสังคม โดยเริ่มจากในครอบครัวก่อนจะลามไปสู่สถาบันอื่นๆ แบบเดียวกับที่ “ตาธาร” ผู้เป็นรักครั้งแรกของพี่ณัฐเคยกล่าวว่า “แค่คนเราคิดต่างกัน คนเราก็ทำร้ายกันได้”         ไม่ว่าจะเป็น “สิบหมื่น” ผู้ใช้อำนาจของพ่อกดทับและทำร้ายจิตใจพี่ณัฐ ที่ไม่เลือกเพศวิถีตามที่ชายชาติทหารผู้พ่ออยากให้ลูกชายเป็น หรือ “แสน” พี่ชายฝาแฝดของสิบหมื่นและเป็นอดีตคนรักของมทนา ที่เพียงเพื่อปกป้องอดีตคนเคยรัก ก็ถึงกับเลือกวางยาฆาตกรรมน้องชายของตน หรือแม้แต่ “สัจจารีย์” ภรรยาที่ไม่เคยได้รับความรักจากแสน ก็ลุแก่อำนาจจนนำไปสู่โศกนาฏกรรมในตอนท้ายเรื่อง         เพราะระบอบอำนาจที่ทำให้มนุษย์ห้ำหั่นกัน และสลัดทิ้งขว้างข้าวของให้กลายเป็นวัตถุซึ่งปราศจากชีวิตจิตใจ ภารกิจของเต้าหู้จึงเริ่มต้นประสานสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และเติมเต็มความรักที่เหือดแห้งไปนานแล้วจากหัวใจของพี่ณัฐ ภาพความรักมุ้งมิ้งฟรุ้งฟริ้งเอาใจ “สาววาย” ของพีรณัฐกับเต้าหู้น่าจะแสดงนัยได้ว่า แม้เขาจะลืมรักแรกไม่ได้ แต่เต้าหู้ก็ไม่ต่างจาก “ของขวัญ” ที่มาชดเชยด้านที่หายไปในชีวิต เฉกเช่นที่พระเอกหนุ่มได้พูดว่า “ที่มึงเคยถามกูว่าวันเกิดปีนี้ทำไมกูไม่อยากได้อะไร เพราะว่าปีนี้กูมีมึงแล้วไง”         และควบคู่กันไปนั้น เต้าหู้และเพื่อนๆ ข้าวของเครื่องใช้เองก็ยังได้เข้ามาดูแลมทนาที่มีอาการอัลไซเมอร์ในระยะแรกๆ และได้ต่อเติมความรักความผูกพันที่หดหายไปเป็นสิบปีระหว่างพีรณัฐกับมารดา         ปิ่นโตอาหารที่ทั้งมทนาและเต้าหู้ปรุงสำรับให้พีรณัฐทุกเช้า เค้กวันเกิดสีรุ้งที่แม่บรรจงทำให้กับลูกชาย โทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ที่พีรณัฐซื้อให้แทนความรักความห่วงใยต่อมารดา เครื่องสำอางและเสื้อผ้าชุดใหม่ที่พี่ณัฐเลือกให้แม่ได้แปลงโฉมต่างไปจากเดิม ไปจนถึงรองเท้าคู่ใหม่ที่พี่ณัฐนั่งสวมใส่เท้าของแม่ ล้วนแล้วแต่ทำให้ทั้งคู่รู้สึกอิ่มใจ หลังจากที่สายสัมพันธ์แม่ลูกถูกเซาะกร่อนมาเป็นเวลานานแสนนาน         ก็คงเหมือนกับเสียงความในใจของเต้าหู้ที่ตั้งคำถามว่า “ข้าวของบางชิ้นถ้าคนไม่ต้องการ ก็จะเอาไปทิ้งได้ แต่คนเราจะทิ้งคนด้วยกันได้จริงหรือ” เพราะฉะนั้น อาจมีบางจังหวะที่มนุษย์หลงลืมความรักความผูกพัน หรือเริ่มต้นกันบนความไม่เข้าใจ แต่ก็คงไม่ยากเกินไปที่เราจะหวนกลับมาซ่อมแซมมันได้อีกครั้งครา         ด้วยเหตุที่วัตถุจะมีชีวิตจิตใจขึ้นมาได้ ก็เพราะมนุษย์ใส่ความรักสลักความทรงจำลงไปในนั้น ดังนั้นในตอนจบของเรื่องจึงเฉลยคำตอบให้เรารู้ว่า เต้าหู้ก็คือของขวัญที่พี่ณัฐรับมอบเป็นตัวแทนความรักจากตาธารเมื่อสิบปีก่อน และความรักความทรงจำของทั้งสองคนก็คือ “ปาฏิหาริย์” ที่ทำให้ตุ๊กตาหมีตื่นมามีชีวิตเป็นเต้าหู้ผู้มีเลือดเนื้อและหัวใจ และที่สำคัญ แม้จะดูทำร้ายจิตใจคอละคร “สาววาย” ก็ตาม แต่เต้าหู้ก็เลือกที่จะสละความเป็นมนุษย์ของตน เพื่อให้ตาธารได้กลับมามีชีวิต และให้พี่ณัฐได้สมหวังกับความรักกันอีกครั้ง         กับภาพฉากจบที่เต้าหู้ได้เข้ามานั่งอยู่ระหว่างอ้อมกอดของพี่ณัฐและตาธาร ก็คงย้อนกลับไปสู่ข้อสรุปที่ว่า ในวัตถุสิ่งของทั้งหลายต่างก็มีชีวิตและความทรงจำของมนุษย์แอบอิงอยู่ในนั้น เสียงก้องในใจของตุ๊กตา “คุณหมีปาฏิหาริย์” ก็ชวนขบคิดว่า “ข้าวของเป็นแหล่งสะสมความทรงจำที่เจ้าของฝากฝังไว้” และก็คงเป็นสิ่งของเครื่องใช้นั่นแหละที่ทำให้มนุษย์หันกลับมามีรอยยิ้มและความผูกพันกันได้นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 สิเน่หาส่าหรี : การพบกันของผู้หญิงต่างเวลาต่างพื้นที่

        “ชาติ” กับ “ประเทศ” ต่างกันอย่างไร คำว่า “ประเทศ” มีแนวโน้มจะหมายถึงพื้นที่รูปธรรมซึ่งปัจเจกบุคคลยืนเหยียบและใช้ชีวิตอยู่ หากแต่ “ชาติ” จะมีนัยเป็นนามธรรม หรือเป็นจิตสำนึกร่วมที่ปัจเจกบุคคลต่างเกี่ยวโยงร้อยรัดเข้าหาอาณาบริเวณหนึ่งๆ จนมีคำถามสำคัญว่า ความเป็นชาตินั้นสามารถยึดโยงปัจเจกบุคคลข้ามเวลาและข้ามพื้นที่ได้หรือไม่ และคงอยู่หรือผันแปรไปอย่างไรท่ามกลางโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง         แค่ได้ยินชื่อเรื่องละครโทรทัศน์แนวดรามาแฟนตาซีว่า “สิเน่หาส่าหรี” ผู้เขียนก็บังเกิดความสนใจใคร่รู้ต่อโครงเรื่องและตัวละครที่ถูกรังสรรค์ขึ้นมา โดยมีฉากหลังของพล็อตเรื่องเป็นดินแดนในอนุทวีป         จะว่าไปแล้ว ก่อนที่สยามประเทศในอดีตจะเผชิญหน้ากับอารยธรรมใหม่ของมหาอำนาจชาติตะวันตก กระแสการเปิดรับวัฒนธรรมอินเดีย หรือที่เรียกว่า “ภารตภิวัตน์” นั้น มีมาช้านานก่อนที่ชาวสยามจะรู้จักกับชนเผ่าแขกขาวอารยันจากยุโรปกันเสียอีก ดังนั้น เมื่อเรื่องราวของวัฒนธรรมภารตะกลายมาเป็นเรื่องเล่าในของละครโทรทัศน์ จึงดูน่าสนใจยิ่งว่า ในทัศนะมุมมองแบบไทยร่วมสมัย เราจะรับรู้ความเป็นภารตวิถีกันเช่นไร         ด้วยฉากหลังที่ได้แรงบันดาลใจจากกระแสภารตภิวัตน์ ละคร “สิเน่หาส่าหรี” ได้กำหนดเส้นเรื่องหลักที่ว่าด้วยจิตสำนึกแห่งความเป็นชาติ โดยสร้างจินตนาการประเทศสมมติขึ้นมาในนาม “มันตราปุระ” ซึ่งได้ชื่อว่ามั่งคั่งร่ำรวยด้วยทรัพยากรและอัญมณีมากมาย แต่ก็สามารถเล็ดรอดจากการเป็นอาณานิคมในห้วงยุคที่จักรวรรดินิยมอังกฤษเรืองอำนาจ         แม้จะอยู่รอดจากลัทธิเมืองขึ้นจนผ่านกาลเวลามายาวนานได้อย่างน่าอัศจรรย์ (เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในดินแดนอนุทวีปในยุคเดียวกัน) แต่มันตราปุระก็มีขนบธรรมเนียมปฏิบัติบางอย่างที่เข้มข้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวพันกับการสืบทอดราชบัลลังก์ และการคัดเลือกพระชายาขององค์รัชทายาท ผู้จะกลายมาเป็นมหารานีเคียงคู่กับองค์กษัตริย์แห่งมันตราปุระในอนาคต         ด้วยเหตุดังกล่าว ปมแห่งเรื่องละครจึงเริ่มต้นขึ้นเมื่อผู้หญิงไทยหรือสตรีต่างชาติอย่าง “นิลปัทม์” ตัดสินใจจะเสกสมรสกับ “เจ้าชายชัยทัศน์” องค์รัชทายาทแห่งมันตราปุระ อันเป็นประเพณีปฏิบัติซึ่งแตกต่างไปจากที่เคยยึดถือกันมา และเป็นเหตุวิสัยให้ผู้หญิงสามคนที่ต่างภพต่างเวลาและต่างพื้นที่ได้เวียนว่ายข้ามแดนดินมาพบเจอกัน         สตรีนางแรกก็คือ นางเอก “นวลเนื้อแก้ว” ดีไซเนอร์หญิงไทยผู้เป็นพี่สาวแท้ๆ ของนิลปัทม์ ที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาดูแลน้องสาวสุดที่รัก ไม่เพียงแต่นวลเนื้อแก้วต้องเรียนรู้วัฒนธรรมแห่งดินแดนใหม่ที่ดูผิดแผกแตกต่างไปจากที่เธอคุ้นชินแล้ว เธอยังต้องสวมบทบาทเป็น “คนแดนไกลที่ใช่” ตามคำทำนายซึ่ง “เจ้าชายกีริช” พระเอกหนุ่มเฝ้าตามหา เพื่อช่วยปลดปล่อยปริศนาแห่งมันตราปุระที่ร่ำลือตกทอดมาจากอดีต         ผู้หญิงคนที่สองก็คือ “ศศิประไพ” มหารานีองค์ปัจจุบันของ “กษัตริย์ชัยนเรนทร์” และเป็นผู้ควบคุมกฎการตั้งว่าที่พระชายาให้องค์รัชทายาท แม้ด้านหนึ่งเธอจะเริ่มต้นจากการตั้งแง่รังเกียจสาวไทยอย่างนิลปัทม์แบบออกนอกหน้า เนื่องจากแหวกธรรมเนียมปฏิบัติที่ยึดถือมา แต่อีกด้านหนึ่ง มหารานีเองก็คือตัวแทนผู้หญิงที่ยึดมั่นในสำนึกความเป็นชาติต่อมันตราปุระอย่างเข้มข้น         และสตรีคนสุดท้ายก็คือ “ราชมาตาสริตา” วิญญาณย่าทวดของกีริชและชัยทัศน์ ผู้ซึ่งข้ามภพข้ามกาลเวลามาคอยพิทักษ์ปกป้องราชบัลลังก์แห่งมันตราปุระ และเป็นผู้วางปริศนาเรื่อง “คนแดนไกลที่ใช่” ที่จะมากอบกู้บ้านเมืองจากตระกูล “พสุธา” ของตัวละคร “ขจิต” ผู้เป็นอริราชศัตรู         เนื่องจากชาติถูกสร้างขึ้นเพื่อยึดโยงปัจเจกบุคคลที่ใช้ชีวิตอยู่อย่างกระจัดกระจายให้มาระบุตัวตนในจินตกรรมดังกล่าวร่วมกัน ดังนั้น การที่ผู้หญิงสามคนที่ต่างภพต่างพื้นที่และต่างเวลาได้โคจรมาบรรจบพบเจอกันจึงมิใช่ด้วยเหตุบังเอิญ หากแต่เป็นด้วยอานุภาพแห่งสำนึกความเป็นชาติที่ร้อยรัดให้ผู้หญิงทั้งสามได้มาปฏิบัติภารกิจรักษาอธิปไตยและการดำรงอยู่แห่งมันตราปุระนั่นเอง         นอกเหนือจากที่ชาติจะได้ถักทอผู้หญิงซึ่งไม่เคยรู้จักมักคุ้นกันมาก่อนให้มายึดมั่นในภารกิจเดียวกันแล้ว เพื่อให้จิตสำนึกแห่งชาติที่มีต่อมันตราปุระปรากฏเป็นรูปธรรม สำนึกร่วมอันเป็นนามธรรมดังกล่าวจะเผยตัวออกมาอย่างเข้มข้นได้ก็ต่อเมื่อปัจเจกบุคคลยึดเหนี่ยวอยู่ในสัญลักษณ์ร่วมบางอย่าง เพื่อตอกย้ำความเป็น “เรา” ที่แตกต่างจากความเป็น “อื่น” (คงคล้ายๆ กับที่ความเป็นชาติแบบไทยๆ ก็ต้องสร้างประเทศเพื่อนบ้านให้กลายเป็นอื่นหรือเป็นศัตรูในจินตกรรมของเรา)         ด้วยเหตุฉะนี้ ละครจึงได้สร้างสัญลักษณ์ร่วมเป็น “ตราแผ่นดิน” ที่หายสาบสูญไป และกำหนดรหัสข้อตกลงไว้ว่า หากผู้ใดค้นพบและครอบครองตราแผ่นดิน ผู้นั้นก็จะได้ปกครองมันตราปุระด้วยความชอบธรรม         เพราะตราแผ่นดินมิใช่แค่วัตถุหนึ่งๆ หากเป็นสัญลักษณ์ที่อุปโลกน์ขึ้นแทนสำนึกร่วมในความเป็นชาติ เราจึงเห็นภาพตัวละครสตรีที่แตกต่างหลากหลายมา “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” เพื่อค้นหาและส่งมอบการถือครองตราสัญลักษณ์อันเป็นสิ่งสมมติแทนตัวตนแห่งมันตราปุระ โดยมิพักว่าพวกเธอจักต้องถือกำเนิดในแว่นแคว้นแดนดินของประเทศนั้นๆ จริง หรือจะข้ามภพจากห้วงเวลาใดในทางประวัติศาสตร์มาก็ตาม         ไม่ว่าจะเป็นนวลเนื้อแก้ว “คนแดนไกลที่ใช่” ซึ่งถูกมอบหมายให้ต้องบุกบั่นถักทอผืนผ้าส่าหรี เพื่อเผยให้เห็นลายแทงที่ซ่อนของตราสัญลักษณ์แห่งแผ่นดิน หรือมหารานีศศิประไพ “คนที่ถูกต้อง” ที่ถือกำเนิดในมันตราปุระ ผู้จะค้นหาสตรีที่เหมาะสมเป็นพระชายาแห่งองค์รัชทายาท ไปจนถึง “วิญญาณพระเสื้อเมืองพระทรงเมือง” ของราชมาตาสริตา ผู้คอยช่วยเหลือให้ภารกิจครอบครองตราแผ่นดินลุล่วงไปได้ในท้ายที่สุด         เมื่อพลังสามประสานของ “วันเดอร์วูแมน” จากต่างพื้นที่และห้วงเวลารวมกันกลายเป็นหนึ่งเดียว ตัวละครผู้หญิงกลุ่มนี้ก็จะค้นพบความจริงดังที่ราชมาตาสริตาได้กล่าวไว้ในนิมิตว่า ด้วยสำนึกร่วมในความเป็นชาติ “ไม่ว่าเธอจะทำอะไร เธอต้องรู้ตัวว่าเธอแกร่งกว่าที่เธอคิด”         จนมาถึงฉากจบเรื่องเมื่อพลังประสานของผู้หญิงที่ผนวกรวมกับจินตกรรมคำว่า “ชาติ” ผู้ชมจึงได้เห็นปาฏิหาริย์แห่งตราแผ่นดินที่ทำลายอริราชศัตรูอย่างขจิตแบบน่าตื่นตะลึง ก่อนจะปิดท้ายกับภาพแบบภารตวิถีที่ชาวเมืองทั้งหมดในมันตราปุระออกมาเต้นเฉลิมฉลองกันอย่างสนุกสนานในชุดพื้นเมืองและส่าหรีหลากสีสัน         เพราะ “ชาติ” มิใช่ “ประเทศ” เพราะจินตนาการไม่ใช่วัตถุที่จับต้องเป็นของจริง และเพราะปัจเจกบุคคลถูกกำหนดบทบาทให้ปกป้องและสืบต่อสำนึกร่วมในความเป็นชาติ จึงไม่แปลกกระมังที่สตรีผู้ถือกำเนิดในมาตุภูมิ ผู้หญิงที่ข้ามแดนดินมาจากถิ่นอื่น และผู้หญิงที่ข้ามภพชาติห้วงเวลา จะสามารถประสานพ้องเสียงเพื่อธำรงจินตกรรมร่วมของชาติ ที่ปนเปผสมผสานระหว่างภารตภิวัตน์กับความเป็นไทยได้อย่างน่าอัศจรรย์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 เพชฌฆาตจันทร์เจ้า : จะขอให้มีแค่ใครคนหนึ่ง ที่จะไม่ทำให้ช้ำ และไม่ทำให้เราเศร้าใจ

        “จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า ขอข้าวขอแกง ขอแหวนทองแดงผูกมือน้องข้า ขอช้างขอม้าให้น้องข้าขี่ ขอเก้าอี้ให้น้องข้านั่ง ขอเตียงตั่งให้น้องข้านอน ขอละครให้น้องข้าดู ขอยายชูเลี้ยงน้องข้าเถิด ขอยายเกิดเลี้ยงตัวข้าเอง”         บทเพลงกล่อมเด็ก “จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า” ข้างต้นที่เราคุ้นหูกันมาตั้งแต่เยาว์วัย ช่างมีนัยความหมายของเนื้อเพลงที่สะท้อนวิธีคิดของคนสมัยก่อน ซึ่งเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับวัตถุ รวมไปถึงมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติด้วย         ไม่ว่าจะเป็นข้าวเป็นแกง แหวนทองแดง ช้างม้า เก้าอี้เตียงตั่ง และอื่นๆ ที่ขับกล่อมอยู่ในเนื้อเพลง ต่างบ่งชี้ให้เห็นว่า สายสัมพันธ์ที่ยึดโยงคนผู้ “พี่” ที่ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือ “จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า” ให้ได้มาซึ่งวัตถุที่เชื่อว่ามีคุณค่าเป็นอุดมคติสูงสุดแห่งยุคนั้น ก็เพื่อให้เด็กน้อยผู้เป็น “น้องข้า” ได้มีความสุขในช่วงชีวิตวัยเยาว์         หาก “ความเป็นมนุษย์” มีพื้นฐานมาจากการผูกโยงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันและกับโลกรอบตัว ดังปรากฏในเพลงกล่อมเด็กดั้งเดิมเฉกเช่นนี้ จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าในยุคสมัยใหม่สายสัมพันธ์ในความเป็นมนุษย์เริ่มเปราะบางและ “แปลกแยก” ไปท่ามกลางผลประโยชน์อื่นที่เข้ามาทดแทน         คำตอบต่อข้อสงสัยเรื่องสายสัมพันธ์ของมนุษย์ในสังคมอันแปลกแยกดังกล่าว สามารถส่องซูมและเรียนรู้ได้จากตัวละครนักฆ่าสาวสมัญญานามว่า “มูน” หรือ “บลัดดี้มูน” อันแปลว่า “พระจันทร์สีเลือด” ในละครโทรทัศน์เรื่อง “เพชฌฆาตจันทร์เจ้า”         มูนถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นทาสรับใช้ผู้ซื่อสัตย์ต่อคนที่หญิงสาวเรียกว่า “นาย” หัวหน้ากลุ่มมาเฟียค้าอาวุธข้ามชาติ และด้วยถูกหล่อหลอมให้เป็นนักฆ่า มูนจึงถูกเลี้ยงมาให้มีหัวใจที่เย็นชาหยาบกระด้าง ภายใต้กฎบัญญัติแห่งมือสังหารที่ว่า นักฆ่าต้องลงมือเพียงลำพัง ต้องเปลี่ยนทุกอย่างในมือให้เป็นอาวุธ ต้องสละชีพเพื่อปกป้องนายและความลับของนาย และที่สำคัญ ต้องหยิบยื่นความกลัวและความตายให้กับศัตรู         กล่าวอีกนัยหนึ่ง ภายใต้กฎเหล็กที่บัญญัติเอาไว้นี้ นักฆ่าอย่างมูนจึงไม่ต่างอันใดจากสัญลักษณ์ตัวแทนของ “สภาวะแปลกแยก” ใน “ความเป็นมนุษย์” นั่นเอง         โดยทั่วไปแล้ว ความแปลกแยกเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อปัจเจกบุคคลถูกตัดสายสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับโลกรอบตัว ไร้ซึ่งความผูกพันใดๆ กับคนอื่น และท้ายที่สุด ความเป็นมนุษย์ของเขาก็จะค่อยๆ ถูกทำลายไป         เพราะฉะนั้น เมื่อมูนถูกฝึกให้เป็นมือสังหาร เธอจึงกลายเป็นคนที่ไร้จิตใจ ไร้ความรัก ไม่มีสายสัมพันธ์ใดๆ ที่จะยึดโยงผูกพันกับคนรอบข้าง และที่สำคัญ เธอจะแปลกแยกไม่เหลือความเป็นคน จนกลายเป็นเพชฌฆาตสมญาบลัดดี้มูนได้อย่างสมบูรณ์แบบ เหมือนกับที่นายได้เคยกล่าวถึงมูนกับ “ลุงแสง” ครูฝึกนักฆ่าว่า “เลี้ยงมันให้กลายเป็นนักฆ่า ทำลายความเป็นมนุษย์ของมันลง”         หลังจากกลายเป็นนักฆ่าสาวเลือดเย็นแล้ว ชีวิตที่ไม่มีพ่อแม่แต่ต้อง “หันซ้ายหันขวา” ไปตามอาณัติอำนาจของนาย ทำให้มูนลงมือสังหารศัตรูของนายลงคนแล้วคนเล่า จนกระทั่งวันหนึ่งที่มูนทำงานพลาด เธอเองจึงถูก “ภพ” กับ “เข้ม” ลูกสมุนซ้ายขวาของนายไล่ฆ่า และพลาดท่าพลัดตกจากหน้าผาในคืนวันที่พระจันทร์ส่องแสงเป็นสีเลือด         ด้วยความช่วยเหลือจากพระเอกหนุ่ม “อติรุจ” หัวหน้าเขตอุทยานแห่งชาติป่างาม มูนสามารถรอดชีวิตมาได้ แต่เมื่อฟื้นขึ้นมา เธอกลับตกอยู่ในสภาพความจำเสื่อม และมีพฤตินิสัยที่แตกต่างไปจากนักฆ่าสาวเลือดเย็นโดยสิ้นเชิง         หลังจากไฟล์ตัวตนเดิมถูกดีลีทไปจากคลังความทรงจำ มูนได้มาสวมอัตลักษณ์เป็นแม่บ้านคนใหม่ของอติรุจ พร้อมกับชื่อที่ใครต่อใครเรียกเธอว่า “จันทร์เจ้า” ก่อนที่ภายหลังก็ต้องมาสวมบทบาทเป็นภรรยาปลอมๆ ของพระเอกหนุ่ม เพื่อช่วยให้เขาหนีรอดจากการคลุมถุงชนของ “เฉิดโฉม” ผู้เป็นมารดา         กล่าวกันว่า แม้จะอยู่ในสภาวะแปลกแยกเพียงใด ความเป็นมนุษย์ที่ยังหลงเหลือร่องรอยในจิตวิญญาณของคนเรา ก็ไม่ต่างจาก “เมล็ดพันธุ์” ที่รอวันดิ้นรนเพื่อฟื้นคืนชีพ เมื่อเงื่อนไขต่างๆ อันเป็นประหนึ่งดินน้ำปุ๋ยและแสงแดดจะเอื้ออำนวย ดังนั้นจันทร์เจ้าสาวน้อยผู้ที่ถือกำเนิดใหม่จึงเริ่มเรียนรู้และซ่อมแซมสายสัมพันธ์ที่สึกหรอ ด้วยเพราะผู้เป็นนายเคยสะบั้นและพรากไปเสียจากห้วงชีวิตของเธอ         เริ่มจากสายสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง ตั้งแต่ “สาวใหญ่” ผู้เป็นเสมือนพี่สาวที่คอยช่วยเหลือและรับฟังทุกข์สุขของจันทร์เจ้า กลุ่มเจ้าหน้าที่อนุรักษ์อุทยานและชาวบ้านแห่งป่าเกาะงามที่ไม่ต่างจากเครือญาติกลุ่มใหม่ ภพและลุงแสงผู้แอบคอยช่วยดูแลจันทร์เจ้าอยู่ห่างๆ ไปจนถึงความรักที่ผลิบานกับพระเอกหนุ่มอติรุจผู้ที่กล่าวกับจันทร์เจ้าในช่วงที่เธอถูกทำร้ายจนสลบว่า “กลับมานะจันทร์เจ้า เธอยังมีฉันในวันที่อ้างว้าง โลกใบนี้ไม่ได้หม่นหมอง โลกใบนี้ยินดีต้อนรับเธอเสมอ”         ที่น่าสนใจ เมื่อนักฆ่าตัดสินใจปลดอาวุธมาเป็นแม่บ้าน ทักษะควงมีดใช้ดาบแบบเดิมก็กลายมาเป็นทักษะในงานครัว จันทร์เจ้าได้ปรับเปลี่ยนอาวุธที่รุนแรงมาสร้างสรรค์ตำรับอาหารใหม่ๆ เสน่ห์ปลายจวักกับคมมีดในห้องครัวทำให้เธอได้ลงแข่งขันในรายการโทรทัศน์ของ “อาจารย์ป้าพาเพลิน” ผู้เป็นกูรูอาหาร และได้ใช้รสชาติอาหารเป็นสะพานเชื่อมสายสัมพันธ์กับคนรอบข้าง รวมทั้งชายคนรักของเธอ         แต่ทว่า สิ่งที่จันทร์เจ้าต้องเรียนรู้ก็คือ ในขณะที่กำลังฟื้นฟูสภาวะความเป็นมนุษย์กลับมานั้น ระบอบแห่งอำนาจเองก็ไม่เคยเปิดให้ปัจเจกบุคคลเป็นอิสระหลุดพ้นไปจากวังวนของมันไปได้ ยิ่งเมื่อภายหลังละครได้เฉลยคำตอบว่า ตัวจริงของนายก็คือ “อธิปัตย์” ผู้มีศักดิ์เป็นบิดาบุญธรรมของอติรุจ จันทร์เจ้าผู้เลือกสลัดความเป็นบลัดดี้มูนทิ้งก็พบว่า อำนาจของนายยิ่งไม่มีวันปล่อยให้เธอได้เลือกทางเดินชีวิตหรือเป็นมนุษย์ไปได้จริงๆ เหมือนกับที่นายเองก็เคยสบถออกมาว่า “เป็นนักฆ่า สะเออะจะมีความรัก…”         เพราะจันทร์เจ้าเชื่อว่า “ทุกครั้งที่นายเรียกว่ามูน หนูจะรู้สึกเจ็บปวดตลอด” ฉะนั้นหนทางเดียวที่ปัจเจกจะหลุดรอดไปจากกรงแห่งอำนาจ อาจไม่ใช่การหนีไปให้พ้น หากแต่ต้องตัดสินใจลุกขึ้นสู้กับอำนาจที่แผ่ซ่านไปถ้วนทั่วทุกๆ อณูของสังคม และต้องเป็นการต่อสู้ในแบบที่เธอเป็น ไม่ใช่ในแบบบลัดดี้มูนอีกต่อไป         เมื่อมาถึงฉากอวสานของละคร แม้ด้านหนึ่งเราจะได้เห็นจุดจบของนายเป็นบทลงโทษเชิงสัญลักษณ์ แต่ในอีกด้านจันทร์เจ้าก็ต้องแลกกับการสูญเสียความทรงจำอีกครั้งหนึ่ง เพียงเพื่อให้เธอมีโอกาสได้เขียนหน้าประวัติศาสตร์ชีวิตกันใหม่ โดยมีความรักดีๆ ของพระเอกหนุ่มและคนรอบข้างเป็นน้ำเป็นปุ๋ยหล่อเลี้ยงอยู่         ในวันนี้ เผลอๆ เราอาจไม่ได้ร้องเพลงกล่อมเด็กขอพร “จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า” ให้ได้ข้าวได้แกงหรือได้แหวนทองแดงมาผูกมือ “น้องข้า” กันเหมือนเดิมต่อไปแล้ว หากคงต้องร้องเพลงขอพรให้ “น้องข้า” หลุดพ้นจากสภาพนักฆ่า และหวนคืนความเป็นมนุษย์ที่นับวันจะแปลกแยก ห่างเหิน และแร้นแค้นกันจริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 กะรัตรัก : ถ้าคบผู้ใหญ่สร้างบ้านแล้วไม่น่าอยู่ ลองคบเด็กสร้างบ้านก็ไม่เลวนัก

               ตามสามัญสำนึกคนทั่วไป “ความรักโรแมนติก” หรือที่เรียกติดปากว่า “โรมานซ์” เป็นอารมณ์ปรารถนาที่มักตอบโจทย์ให้กับสตรีที่อยู่ในช่วงวัยแรกรุ่น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า ความรักโรแมนติกเป็นพื้นที่ที่เอื้อให้หญิงสาวในวัยนี้ได้ “หลบหนี” เพื่อไปแต่งปั้นจินตกรรมภาพ “ผู้ชายในฝัน” ที่เธอคาดหมายจะครองคู่ในอนาคต         หากเป็นดั่งความข้างต้นนี้ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าผู้หญิงที่มีชีวิตเกินวัยแรกเริ่มความรักโรแมนติก และได้พบเจอกับ “ผู้ชายในชีวิตจริง” กันแล้ว ปรารถนาจะหวนมาสัมผัสชีวิตรักโรมานซ์กันอีกสักครั้งบ้าง คำถามข้อนี้จะเป็นไปได้หรือไม่ และความรักโรแมนติกจะสัมพันธ์กับความต้องการของผู้หญิงกลุ่มหลังนี้อย่างไร         คำตอบต่อความสงสัยข้างต้นดูจะเป็นโครงเรื่องหลักของละครโทรทัศน์ “กะรัตรัก” กับการนำเสนอเรื่องราวของ “กะรัต” หญิงสาวเฉียดวัย 40 ปี ผู้บริหารคนเก่งแห่งบริษัทอสังหาริมทรัพย์ “ไดมอนส์พร็อพเพอร์ตี้” และแต่งงานอยู่กินกับสามีนักธุรกิจอย่าง “ชาคริต” ที่เป็นผู้บริหารงานอีกคนในบริษัทเดียวกัน         แม้จะมีลูกชายหัวแก้วหัวแหวนวัย 6 ขวบอย่าง “พัตเตอร์” เป็นโซ่ทองคล้องใจ และคล้องผูกสายสัมพันธ์ในครอบครัวมานานหลายปี แต่เพราะกะรัตเป็นหญิงแกร่งและหญิงเก่งไปเสียแทบจะทุกด้าน สถานะของ “ช้างเท้าหลัง” ในบ้านที่จับพลัดจับผลูย่างก้าวมาเทียบเคียงเป็น “ช้างเท้าหน้า” เช่นนี้ จึงเป็นเหตุปัจจัยที่ผู้ชายอีโก้สูงเยี่ยงชาคริตมิอาจยอมรับได้         ยิ่งเมื่อทั้งกะรัตและชาคริตต้องมาลงสนามแย่งชิงตำแหน่งผู้กุมบังเหียนโปรเจ็กต์เปิดตัวใหม่ “ริเวอร์ไชน์” ของบริษัทต้นสังกัดด้วยแล้ว ความริษยาลึกๆ ต่อศรีภรรยาก็ยิ่งเป็นเสมือนเชื้อเพลิงในใจของชาคริตที่รอคอยวันระเบิดปะทุออกมา         ความขัดแย้งบนผลประโยชน์นอกบ้าน ที่เขย่าความสัมพันธ์ของสามีภรรยาที่แม้จะใช้ชีวิตคู่ในชายคาบ้านเดียวกันมายาวนาน ทำให้กะรัตเองก็เริ่มเข้าใจสัจธรรมว่า “เขาย่อมเปรียบเทียบความเมื่อยามรัก แต่น้ำผักต้มขมชมว่าหวาน” แต่ทว่าหลังวันแต่งงานผ่านพ้นไป ชีวิตรักโรแมนติกที่เคย “ชมว่าหวาน” ก็อาจเจือจางจน “แต่น้ำตาลว่าเปรี้ยวไม่เหลียวแล” ได้เช่นกัน         สถานการณ์ของหญิงทำงานวัยสี่สิบกะรัตยิ่งเข้มข้นขึ้น ไม่เพียงแค่ในสนามแข่งขันกับชาคริตผู้เป็นสามี และยังมี “เวนิส” สาวรุ่นใหม่ไฟแรงที่เปิดตัวเป็นคู่แข่งเพื่อชิงชัยเป็นเจ้าของโปรเจ็กต์ริเวอร์ไชน์ด้วยอีกคน แม้แต่ในสนามชีวิตครอบครัว กะรัตยังต้องประกาศสงครามกับ “นิตา” เลขานุการสาว ผู้มุ่งมั่นเป็น “แมวขโมยปลาย่าง” ที่คอยจะฉกเอาชาคริตผู้กำลังระหองระแหงกับภรรยามาเป็นสามีของตน         จนในที่สุด เมื่อศึกรุมเร้ารอบด้าน พร้อมๆ กับความรักหวานชื่นที่โรยราจืดจางลง เพราะสามียื่นเจตจำนงขอหย่าขาดจากภรรยา กะรัตผู้ที่กำลังก้าวหน้าในอาชีพการงาน จึงเลือกหันไปครวญเพลงในยุค 90s ของ ใหม่ เจริญปุระ ที่ร้องว่า “เก็บใจไว้ในลิ้นชัก คงไม่เจอแล้วรักแท้ เบื่อกับความปรวนแปร มันไม่แคร์และไม่หวัง…”         เมื่อหัวใจต้องแห้งแล้งลง ไม่ต่างจาก “ลิ้นชักที่ปิดตายเพราะรักร้าว” ผู้หญิงที่ก้าวเข้าสู่วัยกลางคนเช่นกะรัตก็ได้แต่เชื่อว่า เธอไม่อาจหวนมาสัมผัสกับชีวิตรักโรมานซ์ได้อีก เหมือนกับประโยคที่เธอพูดกับตัวเองหลังถูกสามีขอหย่าว่า “ฉันต้องกลายเป็นอีบ้าที่หมดความต้องการทางเพศ หมดเสน่ห์และแรงดึงดูดทางเพศแบบที่สาวๆ พึงมี” ทั้งๆ ที่จริงแล้ว กะรัตก็สำเหนียกอยู่ลึกๆ ว่า “จะบอกอะไรให้ ผู้หญิงต้องการความรักมากที่สุด”         ในขณะที่อารมณ์ความรู้สึกของผู้หญิงวัยเฉียดเลข 40 มีแต่จะแห้งเหือดลงไปพร้อมกับสายสัมพันธ์ที่แปลกแยกและเปราะบาง เฉกเช่นฉากเปิดเรื่องของละครที่กะรัตถูกขอหย่า และต้อง “ยืนอยู่กลางลมฝนสู้ทนฟันผ่า” เพราะประตูรถหนีบชายกระโปรงเอาไว้ กลับมีตัวละครชายหนุ่มหน้ามนอย่าง “ไอ่” ปรากฏกายเดินถือร่มคันใหญ่มากางปกป้องเธอไว้ในสภาวะของ “กายที่มันอ่อนล้าแทบยืนไม่อยู่” นั้นเอง         ไอ่เป็นตัวละครนักศึกษาฝึกงานด้านสถาปัตย์ อันที่จริงแล้ว ชายหนุ่มแอบตกหลุมรักกะรัตตั้งแต่ครั้งที่เธอได้รับเชิญมาบรรยายเป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัย และก็เหมือนกับที่ไอ่กล่าวกับกะรัตว่า “ถ้าจักรวาลมีเหตุผลมากพอให้เราได้เจอกัน ยังไงเราก็จะได้เจอกัน” ดังนั้น ในท้ายที่สุดเหตุผลแห่งจักรวาลก็ทำให้ทั้งคู่ได้โคจรมาพบกันในวันที่ชีวิตของผู้หญิงอย่างกะรัตรู้สึกอ่อนแอที่สุด         หากโรมานซ์เป็นความรู้สึกที่เติมเต็มภาพ “ชายในฝัน” ให้กับผู้หญิงสาวแรกรุ่นทั้งหลาย อารมณ์รักโรแมนติกแบบเดียวกันนี้ก็สามารถเป็นกลไก “ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ” ทางความรู้สึกให้กับผู้หญิงที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยกลางคนได้ไม่ยิ่งหย่อนกัน         เพราะฉะนั้น เมื่อไอ่เริ่มตั้งคำถามกับกะรัตถึง “บ้าน” ว่าเป็น “สถานที่ที่มีคนเปิดไฟรอให้เรากลับมา แล้วเราก็พูดว่า กลับมาแล้วครับ” และตามด้วยการ “ขายขนมจีบ” ให้กับบอสสาวรุ่นใหญ่ว่า “ถ้าคบผู้ใหญ่สร้างบ้านแล้วไม่น่าอยู่ ลองคบเด็กสร้างบ้านก็ไม่เลวนัก” กะรัตจึงตอบตกลงที่จะครวญเพลงยุค 90s ต่อเนื่องให้กับชายหนุ่มรุ่นน้องว่า “เก่งมาจากไหนก็แพ้หัวใจจากเธอ เมื่อไหร่ที่เผลอยังนึกว่าเธออยู่ในฝัน…”         แม้เมื่อเลิกร้างกับชาคริตไป กะรัตจะมี “มาร์ก” ซีอีโอรูปหล่อพ่อม่ายเรือพ่วง แถมคุณสมบัติเหมาะสมกันทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ และฐานะการงานการเงิน เสนอตัวมาเป็นพ่อเลี้ยงคนใหม่ให้กับน้องพัตเตอร์ แต่เรื่องของความรักก็หาได้เกี่ยวพันกับเหตุผลเรื่องความแตกต่างระหว่างวัยไม่ เพราะไอ่ได้กลายมาเป็นคำตอบในใจโทรมๆ ของกะรัตไปแล้ว และความรู้สึกโรมานซ์ที่มีต่อหนุ่มรุ่นน้องห่างวัยในครั้งนี้ ก็ได้ทำให้ผู้หญิงวัยเฉียดสี่สิบกะรัตเหมือนมีน้ำทิพย์ชะโลมใจ และย้อนวัยให้เธอเป็นประหนึ่งดรุณีดอกไม้แรกรุ่นกันอีกครา         เหมือนกับที่บทเพลงบอกว่า “ยังมีอีกหรือรักแท้ที่เคยเสาะหามานาน วันนี้เป็นไงเป็นกันจะรักเธอ…” ดังนั้น เพื่อต่อสู้ให้ได้มาซึ่งผู้ชายในฝันที่เธอปรารถนา ควบคู่ไปกับการช่วงชิงชัยในเกมธุรกิจของบริษัท เราจึงเห็นภาพของกะรัตที่เดินเกมรุกนั่งกินโต๊ะจีนกับครอบครัวของไอ่ เข้าสู่สนามต่อสู้กับ “อัญญา” คู่แข่งรุ่นเด็กกว่าที่แอบมาชอบชายหนุ่มคนเดียวกับเธอ ไปจนถึงตอบรับรักหนุ่มรุ่นน้องต่อหน้าสาธารณชนแบบไม่แคร์เวิร์ลด์         ในฉากจบของเรื่องที่ทั้งกะรัตและไอ่เดินจูงมือกัน ยิ้มแย้มอย่างมีความสุขอยู่ริมทะเล จึงเป็นภาพที่แตกต่างไปจากฉากอวสานของละครโทรทัศน์แนวโรมานซ์ทั่วไป ที่มักเป็นพระเอกนางเอกซึ่งดูเหมาะสมรุ่นวัยจะมาเดินเคียงคู่ตระกองกอดกันในซีนรักริมทะเลแบบเดียวกันนี้         ภาพความรักกระหนุงกระหนิงของกะรัตและไอ่ที่ดูต่างออกไปจากวิถีปฏิบัติของละครเรื่องอื่นๆ คงให้ข้อสรุปกับผู้หญิงได้ว่า กาลครั้งหนึ่งพวกเธอเคยได้สัมผัสความรักโรแมนติกมาก่อน แต่เมื่อเวลาผ่านไป อารมณ์รักโรมานซ์ก็อาจจืดจางลางเลือนลง จนกว่าจะมีเหตุผลของจักรวาลและความมุ่งมาดปรารถนาของผู้หญิงเองเท่านั้น ที่จะทำให้พวกเธอได้รับความรู้สึกรักโรแมนติกกลับคืนมา และ “she will never walk alone” อีกต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 Help Me คุณผีช่วยด้วย : แล้วใครจะช่วยคุณผีบ้างครับ

              “ผี” เป็นความเชื่อแบบหนึ่งที่สืบทอดต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุคบุพกาล ก่อนที่พุทธศาสนาจะถูกนำเข้าจากอนุทวีปมาหยั่งรากแตกกอออกเป็นความเชื่อหลักของสังคมไทยเสียด้วยซ้ำ         สำหรับคนไทยเราแล้ว ผีเป็น “อมนุษย์” หรือมี “ความเป็นอื่น” ซึ่งต่างไปจากมนุษย์ ผีมีทั้งที่ร้ายและที่ดี อันว่าผีร้ายก็น่าจะหมายรวมถึงภูตผีสัมภเวสีที่เฝ้าแต่จะหลอกหลอนทำร้ายผู้คน แต่ทว่าในส่วนของผีดีนั้น มีการตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นกุศโลบายความเชื่อที่คนโบราณสร้างขึ้นเพื่อทำหน้าที่ควบคุมจัดระเบียบจารีตปฏิบัติต่างๆ ให้กับผู้คนในสังคม         กล่าวอีกนัยหนึ่ง ผีจึงเป็นกลไกการควบคุมทางสังคม เพราะผีร้ายจะลงโทษทัณฑ์ผู้ใดก็ตามที่ปฏิบัติตนไปในทางไม่ดี ดังข้อห้ามในสังคมไทยไม่ให้ผู้ใดกระทำ “เสียผี” หรือ “ผิดผี” แต่ในเวลาเดียวกัน ผีดีก็จะคอยพิทักษ์ปกป้องผู้ที่ประพฤติดี เฉกเช่นวลีที่ว่า “คนดีภูตผีย่อมคุ้มครอง”         แต่คำถามที่ชวนสงสัยก็คือ หากผีเป็นกลไกกำกับควบคุมการขับเคลื่อนชีวิตผู้คนไปในทิศทางที่ถูกที่ควร และเมื่อใดก็ตามที่คนดีตกอยู่ในภยันตราย ผีดีก็จะคอยช่วยเหลือคุ้มครองด้วยแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นถ้าผีที่คอยอภิบาลปกป้องคนดีกลับต้องเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ จนหาทางออกไม่ได้เสียเอง คำตอบข้อนี้คงต้องเรียนรู้จากชะตากรรมของผีในละครโทรทัศน์กึ่งคอมเมดี้กึ่งดรามาอย่าง “Help Me คุณผีช่วยด้วย”         เรื่องราวความรักของ “มุทิตา” ยูทูบเบอร์สาวสวย นักรีวิสินค้าน้อยใหญ่ กับ “เขตขันธ์” ไฮโซนักธุรกิจหนุ่มคุณสมบัติสุดเพอร์เฟ็คต์ รูปหล่อพ่อรวยแม่หวง ที่กว่าจะลงเอยครองคู่กันได้ ก็ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากวิญญาณผีของ “อานนท์” เพื่อให้ “มิสชั่น” ของเธอและเขา “พอสสิเบิ้ล” ได้ในฉากแฮปปี้เอนดิ้ง         เพราะมุทิตามาจากครอบครัวของชนชั้นกลาง มีมารดาเป็นอดีตนางงามและเป็นแม่บ้านสายมูผู้บ้าโชคลางอย่าง “เฉิดฉาย” กับบิดาข้าราชการครูผู้คิดบวกอย่าง “วิหาร” จึงก่อกลายเป็นปมเงื่อนที่แม่ของเขตขันธ์ “คุณนายมัณฑนา” ตั้งแง่รังเกียจว่าที่ลูกสะใภ้ว่า สถานะทางเศรษฐกิจสังคมหาใช่จะควรคู่กับบุตรชายมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของเมืองไทยไปได้เลย         ปมความขัดแย้งที่สั่งสมมานี้จึงนำไปสู่จุดเริ่มต้นของเรื่องราวละคร เมื่อเขตขันธ์วางแผนจัดฉากเซอร์ไพรส์ขอมุทิตาแต่งงาน โดยจ้างอานนท์อดีตสตั๊นแมนอารมณ์ดีมาแกล้งปลอมเป็นโจร แต่แผนการนี้กลับไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะมุทิตาเลือกปฏิเสธเขตขันธ์โดยอ้างว่า เธอเองยังไม่พร้อมจะใช้ชีวิตคู่กับเขาในเวลานั้น         แต่แล้วการณ์ยิ่งกลับตาลปัตรมากขึ้นไปอีก เพราะนอกจากความรักของตัวละครเอกจะดูไม่เป็นไปตามคาดหวังแล้ว ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง ภาพตัดสลับมาที่อานนท์ซึ่งขี่มอเตอร์ไซค์กลับบ้านเพื่อไปหาลูกเมีย กลับถูกคนร้ายดักปล้นและทำร้ายจนเสียชีวิต อานนท์จึงกลายมาเป็นวิญญาณผีเร่ร่อนซึ่งตายก่อนกำหนด เพียงเพราะ “หน่วยคัดกรองบุญบาป” ของยมโลกวินิจฉัยอายุขัยของเขาผิดพลาดคลาดเคลื่อน         หากผีเป็นอุบายที่ใช้เป็นกลไกควบคุมทางสังคม และให้ความคุ้มครองดูแลต่อผู้กระทำดี ดังนั้น แม้จะเป็นวิญญาณร่อนเร่ล่องลอย ยมทูตจึงได้มอบหมายพันธกิจให้อานนท์เล่นบทบาทคอยช่วยเหลือสรรพชีวิตทั้งหลายที่ทำคุณงามความดี แต่กลับต้องเผชิญห่วงกรรมต่างๆ เพื่อให้หลุดพ้นทุกข์ทั้งปวง         เมื่อต้องเล่นบทบาท “คุณผี” ที่คอยปกป้องดูแลสัตว์โลก และเพราะอานนท์กับมุทิตาเกิดร่วมวันเดือนปีเดียวกัน ทำให้วิญญาณอานนท์สามารถปรากฏร่างให้มุทิตาเห็นได้ และคอยเฝ้าช่วยเหลือความรักของนางเอกสาวได้ลงเอยสมหวังกับเขตขันธ์ให้จงได้         แต่ทว่า ยิ่งเมื่อก้าวล่วงเข้าไปในชีวิตส่วนตัวและสายสัมพันธ์ระหว่างยูทูบเบอร์สาวกับไฮโซเศรษฐีหนุ่ม คุณผีอานนท์ก็เริ่มตระหนักว่า แท้จริงแล้วเบื้องลึกเบื้องหลังปัญหาทั้งหมดทั้งมวลในชีวิตคนเราล้วนมีสาเหตุมาจากการเห็นผิดจนติดยึดและไม่อาจปล่อยวางทุกข์ต่างๆ นั้นได้เลย         อาการยึดติดไม่ปล่อยวางนี้ ดูจะแผ่ซ่านประหนึ่งโรคระบาดฝังแน่นอยู่ในจิตใจของถ้วนทั่วทุกตัวละคร ตั้งแต่ตัวมุทิตาเองที่ยึดติดงานเป็นสรณะ จนลืมไปว่าการบ้างานเกือบทำให้เธอต้องสูญเสียชายคนรักไป แถมร่วมด้วย “สุธาพร” หมอหนุ่มอดีตคนรักของมุทิตาที่ไม่ยอมมูฟออน หากแต่เฝ้าวนเวียนในชีวิตนางเอก จนทำให้เขตขันธ์เองก็มักขาดสติเป็นเนืองๆ เพราะคิดว่าหญิงคนรักยังมีเยื่อใยต่อชายคนรักเก่าอยู่         อาการ “ผีซ้ำด้ำพลอย” ยังบังเกิดตามมาอีก ไม่ว่าจะมาจาก “ปวีณา” หญิงคนรักใหม่ของหมอสุธาพรที่เป็นยิ่งกว่าโรคลมเพชรหึงและไม่ยอมปล่อยวางเรื่องความรัก จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมความสูญเสียในฉากจบเรื่อง หรือ “ละออองค์” หญิงสาวอีกคนผู้เป็นศัตรูหัวใจที่คอย “กดปุ่มสตีล” เพื่อฉกเขตขันธ์ไปจากนางเอกมุทิตา ไปจนถึงคุณนายมัณฑนาที่เฝ้ายึดติดอยู่กับการไร้ฐานานุรูปทางเศรษฐกิจสังคมของว่าที่ลูกสะใภ้ จนเพิกเฉยต่อความรู้สึกที่อยู่ในหัวใจของบุตรชายตนเอง         เมื่อความรักของมุทิตากับเขตขันธ์ต้องเปิดศึกรอบด้าน และกลายมาเป็นแหล่งหลอมรวมมนุษยชาติผู้เปี่ยมมิจฉาทิฐิมากหน้าหลายตาหลากเหตุปัจจัยและผลประโยชน์เยี่ยงนี้แล้ว อาการที่ตัวละครเอกต้องกู่ร้อง “help me” ขอให้คุณผีอานนท์เข้ามาช่วยเหลือ จึงเหมือนกับ “แผ่นเสียงตกร่อง” ที่ผู้ชมได้ยินซ้ำๆ ตลอดทั้งเรื่อง         แม้วิญญาณอานนท์จะถูกยมทูตวางตัวเล่นให้บทบาทคุณผีซูเปอร์ฮีโร่ช่วยภารกิจให้มนุษย์สัมฤทธิ์ผลสมหวังก็ตาม แต่ที่ชวนขบขันเสียดสีอยู่ในทีก็คือ เอาเข้าจริงแล้ว บรรดาผีๆ ทั้งหลายในปรโลกเอง ก็เหมือนจะติดกับอยู่ในวังวนการไม่ปล่อยวาง ไม่ต่างจากตัวละครผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในโลกมนุษย์เราๆ กันเลย         ตั้งแต่วิญญาณ “อากง” ที่เป็นห่วงลูกหลานจนไม่ยอมปล่อยวาง วิญญาณ “ป้าศรี” แม่ค้าส้มตำผู้ตามอาฆาตสามีหนุ่มที่แอบมีเมียน้อย วิญญาณผีโฮสผัวน้อยที่รอคอยการหลุดพ้น และวิญญาณอีกน้อยใหญ่ รวมไปจนถึงตัวของคุณผีอานนท์เองที่ผูกห่วงไว้กับ “อนงค์” ผู้เป็นภรรยา และหึงหวง “พงศ์สนิท” ชายหนุ่มที่เสนอตนมาเป็นตัวเลือกใหม่ให้กับอดีตภรรยาของเขา        จนมาถึงฉากจบของเรื่องที่วิญญาณอานนท์สามารถช่วยเหลือตัวละครเอกจนสมหวังเรื่องความรักได้แล้ว คุณผีของเราก็ได้เล็งเห็นว่า ความทุกข์ทั้งปวงในชีวิตล้วนเกิดขึ้นจากการยึดติดไม่ยอมปล่อยวาง อานนท์จึงเริ่มทำใจวางอุเบกขาเรื่องความรัก ก่อนจะตัดสินใจอำลามุทิตาเพื่อเดินทางไปสู่สัมปรายภพ        บทสรุปของละครจึงเหมือนจะย้อนกลับไปสู่เสียงความในใจของอานนท์ที่เปิดฉากให้เราได้ยินตั้งแต่ต้นเรื่องว่า “เพราะแต่ละคนมีวิบากแห่งกรรมของตน หากไม่รู้จักปล่อยวาง ตายไปแล้วก็จะไม่มีความสุข”         นี่ขนาดทั้งคนทั้งผียึดติดอยู่กับเรื่องราวรักๆ ใคร่ๆ และเรื่องของครอบครัว คนกับผีก็เกิดอาการเสียศูนย์จนต้องร้อง “help me” กันจ้าละหวั่น ถ้าเป็นเรื่องการยึดติดกับเก้าอี้ ชื่อเสียง ลาภยศ เงินทอง ไปจนถึงอำนาจด้วยแล้ว ถึงจะตะโกน “help me” สักกี่พันครั้ง ก็ไม่รู้ว่าคนและผีจะยอมหลุดพ้นปล่อยวางกันได้จริงๆ ล่ะหรือ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 กระเช้าสีดา : ถ้าเขาจะรัก ยืนเฉยๆ เขาไม่รักหรอก

              มีข้อสังเกตอยู่ว่า แม้สังคมไทยจะเป็นสังคมที่มีความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำคุกรุ่นอยู่เป็นเบื้องหลัง แต่ทว่าจิตสำนึกของคนไทยก็มักเลือกที่จะ “ซุกขี้ฝุ่นไว้ใต้พรม” หรือใช้วิธีหรี่ตาให้กับความขัดแย้งต่างๆ แต่ในขณะที่สังคมไทยพยายามปิดบังอำพรางเชื้อฟืนแห่งความขัดแย้งเอาไว้ กลับเป็นละครโทรทัศน์ที่เลือกจะ “เลิกพรมขึ้นมาดูขี้ฝุ่นที่อยู่ใต้พื้น” และนำความเหลื่อมล้ำขัดแย้งมาเผยให้ได้เห็นกันอยู่ทุกค่ำคืน         และหนึ่งในความขัดแย้งที่มักถูกมานำเสนอเป็นเรื่องเล่าของละครโทรทัศน์ ก็หนีไม่พ้นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นที่แตกต่าง ซึ่งต่างก็ช่วงชิงโอกาสและอำนาจในการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจสังคม และยังเป็นเส้นเรื่องในสมรภูมิความขัดแย้งระหว่างผู้หญิงสองคนในละครโทรทัศน์เรื่อง “กระเช้าสีดา”         เมื่อสมัยเด็กๆ ผู้เขียนเคยอ่านนิทานตำนานของต้นไม้ที่ชื่อ “กระเช้าสีดา” ว่า แต่เดิมไม้เถาพันธุ์นี้เป็นกระเช้าของนางสีดาที่ทำตกไว้ในป่า ระหว่างที่นางถูกทศกัณฐ์อุ้มลักพาตัวไปจากพระราม จากนั้นทวยเทพยดาเบื้องบนจึงบันดาลดลให้กระเช้ามีรากงอกออกมาเป็นไม้เถา เพื่อรำลึกถึงชะตากรรมของนางสีดาในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์         แม้ในทุกวันนี้ ต้นกระเช้าสีดาจะยังมีข้อถกเถียงว่า ใช่ต้นไม้กาฝากที่เฝ้าคอยดูดน้ำเลี้ยงจากไม้ใหญ่ หรือเป็นไม้เถาที่เพียงอิงแอบอาศัยไม้อื่นเพื่อให้อยู่รอดปลอดภัยกันแน่ แต่สำหรับในละครโทรทัศน์แล้ว กระเช้าสีดาเป็นอุปมาอุปไมยถึงกลุ่มคนชั้นล่างที่แอบอิงเอาแต่จะเกาะกินเซาะทำลายชนชั้นนำที่วางสถานะเศรษฐกิจสังคมไว้สูงส่งกว่า         หากกระเช้าสีดาเป็นไม้เลื้อยที่ต้องอาศัยเกาะเกี่ยวไม้อื่น ตัวละครอย่าง “รำนำ” ก็เหมือนจะถูกสร้างขึ้นให้เป็นภาพแทนของเถาไม้แห่งชนชั้นล่างดังกล่าว รำนำเติบโตเป็นเด็กรับใช้ และเป็นลูกของ “นุ่ม” สาวใช้ในบ้านของ “ลือ” เนื่องจากบิดาเสียชีวิตตั้งแต่เล็กๆ ลือจึงสงสารและเอ็นดูเด็กหญิง เพราะคิดเสมอว่า เด็กที่ขาดพ่อก็ขาดซึ่งความอบอุ่น เลยอนุญาตให้รำนำนับถือเรียกเขาว่า “คุณอา” ทั้งที่ลึกๆ ในใจนั้น รำนำกลับแอบผูกจิตปฏิพัทธ์ให้กับ “คุณอา” ผู้เป็นญาติสมมติมาตั้งแต่เติบโตเข้าสู่วัยสาว         ตรงข้ามกับผู้หญิงอีกคนอย่าง “น้ำพิงค์” ซึ่งละครเปิดฉากแรกก็แนะนำให้ผู้ชมรับรู้สถานภาพของเธอในฐานะประธานบริหารเจ้าของบริษัทรถยนต์นำเข้าจากยุโรป และด้วยความมั่งคั่งร่ำรวยเพราะ “คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด” เช่นนี้เอง เมื่อน้ำพิงค์แต่งงานมาใช้ชีวิตคู่อยู่กินกับลือ จึงเท่ากับการทำลายความฝันและพรากความหวังที่รำนำจะได้ครอบครองเป็นเจ้าของหัวใจหนุ่มใหญ่ที่เธอแอบหลงรักมานานแล้ว         ความแตกต่างทางสถานะเศรษฐกิจและหน้าตาทางสังคมของผู้หญิงสองคนที่โคจรให้มาอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน โดยที่คนหนึ่งเป็นเด็กรับใช้ลูกแม่บ้าน กับอีกคนหนึ่งเป็นหญิงที่เพียบพร้อมชื่อเสียงเงินทอง จึงไม่ต่างจากพื้นที่ภูเขาไฟใต้สมุทรที่ความขัดแย้งแห่งชนชั้นรอคอยวันปะทุขึ้นมา         เมื่อไม่มีต้นทุนชีวิต รำนำก็ได้แต่เชื่อว่า การอยู่เฉยๆ เป็น “ข้าวรอคอยฝน” คงไม่ใช่คำตอบในชีวิตของเธอ ผู้หญิงที่เกิดมาในสถานะแบบชนชั้นล่างจึงต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อไขว่คว้าโอกาสด้วยสองมือของตนเอง         ประโยคที่รำนำเน้นย้ำกับแม่ว่า “พวกเราเป็นคนต่ำต้อย ไม่มีใครเขาประเคนอะไรให้เราหรอก ถ้าเราอยากได้ เราก็ต้องแย่งเอง” อีกนัยหนึ่งก็คือการประกาศเจตนารมณ์ว่า แม้จะ “เกิดมาเป็น” ชนชั้นที่ไม่มีปัจจัยการผลิตและอภิสิทธิ์ใดๆ แต่ก็ใช่ว่าเธอจะมีจิตสำนึกที่ศิโรราบต่อสถานะอันเหลื่อมล้ำดังกล่าวนั้น         ด้วยเหตุฉะนี้ ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อยืนยันเจตจำนงแห่งปัจเจกบุคคลจึงเริ่มต้นขึ้น และแม้จะไม่มีต้นทุนใดๆ ติดตัวมาแต่กำเนิด หากทว่า “นารีก็ยังมีรูปที่เป็นทรัพย์” รำนำจึงวางแผนหว่านเสน่ห์ยั่วให้ลือลุ่มหลง และมีสัมพันธ์เกินเลยกับเธอ รวมไปถึงพยายามทำทุกวิถีทางให้ “ความลับไม่เป็นความลับ” จนสามารถเขย่าขาเตียงของลือกับน้ำพิงค์ และนำไปสู่การหย่าร้างจากกันได้ในที่สุด         แต่ทว่า ข้อเท็จจริงบางอย่างที่รำนำก็ต้องเรียนรู้ในสนามต่อสู้ครั้งนี้ก็คือ สำหรับชนชั้นนำอย่างน้ำพิงค์แล้ว เนื่องจากมีทั้งต้นทุนทางเศรษฐกิจสังคมที่ล้นเกิน แถมยัง “สวยเลือกได้” อีก สโลแกนของคนกลุ่มนี้จึงครวญออกมาเป็นวลีที่ว่า “ถ้าเขาจะรัก ยืนเฉยๆ เขาก็รัก” เพราะแม้จะเลิกรากับลือไป เธอก็พร้อมจะมีหนุ่มโสดในฝันอย่าง “อำพน” มาจ่อคิวรอคอยดูแล ก่อนจะก้าวเป็น “สามีแห่งชาติ” ในลำดับถัดมา         ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อถลำเข้าสู่สมรภูมิเกมแห่งชนชั้นแล้ว รำนำก็ได้สำเหนียกว่า ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจสังคมต่างถักสานโครงข่ายผลประโยชน์ระหว่างกันของคนกลุ่มนี้เอาไว้ ทั้งผลประโยชน์ด้านสว่างและด้านมืดที่โยงใยอย่างซับซ้อน โดยที่ลูกสาวคนใช้อย่างเธอยากนักจะเข้าไปเจียดแบ่งผลประโยชน์มาดอมดมได้บ้างเลย         เริ่มจากหนุ่มหล่อลูกชายของเจ้าของธุรกิจสื่อรายใหญ่อย่าง “เวไนย” ผู้เคยแอบหลงเสน่ห์ที่รำนำโปรยไว้ให้ แต่เมื่อรู้ภายหลังว่ารำนำเป็นลูกสาวใช้และเป็นอนุภรรยาของลือ เขาก็เลือกสลัดเธอทิ้งไป พร้อมๆ กับสนับสนุนมารดาให้ใช้อำนาจสั่งปลดรำนำจากพรีเซนเตอร์โฆษณาสินค้า ตามมาด้วย “ศศี” นักธุรกิจสาวที่คอยกีดกันความรักที่รำนำมีต่อลือ จนสร้างความขัดแย้งของผู้หญิงสองคนชนิด “ตายไม่เผาผี” กันเลย         แถมด้วย “พาที” ผู้บริหารธุรกิจกลางคืน ก็หลอกใช้รำนำเป็นเครื่องมือเพื่อกรุยทางสู่ผลประโยชน์ของเขา ไปจนถึง “ท่านจรินทร์” นักการเมืองใหญ่ที่ไม่เพียงเห็นรำนำเป็นเพียงของเล่นชั่วครั้งคราว หรือหลอกใช้เธอให้เป็นบันไดเอาชนะคู่แข่งทางการเมืองเพื่อขึ้นสู่อำนาจ แต่ยังสั่งฆ่าเธอได้เมื่อของเล่นชิ้นนี้หมดประโยชน์ลง         ในวังวนความขัดแย้งระหว่างชนชั้นเช่นนี้ คนชั้นล่างผู้เสียเปรียบก็ยิ่งถูกทำให้เสียเปรียบ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการขูดรีดผลประโยชน์จากกลุ่มคนที่เหนือกว่าอยู่วันยังค่ำ แถมซ้ำด้วยการถูกยัดเยียดฝากฝัง “ความรู้สึกผิด” เอาไว้ในความคิดของชนชั้นล่างโดยคนกลุ่มเดียวกันเอง เหมือนกับที่แม่นุ่มก็พูดย้ำเตือนสำนึกอันผิดพลาดของรำนำว่า “คุณค่าของคนไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเกิดมาแบบไหน หรือพ่อแม่มีอาชีพอะไร แต่มันอยู่ที่การกระทำ ถ้าทำตัวไร้ค่า ต่อให้รวยล้นฟ้า ก็ไร้ค่าอยู่ดี”         ด้วยต้นทุนที่ไม่เท่าเทียมกันในสนามรบนี้ แม้ในตอนจบเรื่อง รำนำอาจจะพิชิตหัวใจของลือและลงเอยใช้ชีวิตคู่กับเขาได้ก็ตาม แต่ “ราคาที่ต้องจ่ายเป็นค่าตอบแทน” สำหรับผู้หญิงชนชั้นล่างนั้นก็ช่างแพงแสนแพงเหลือเกิน ทั้งถูกทำร้ายจนเหลือเพียงร่างพิการ ทั้งเสียลูกที่อยู่ครรภ์ ไปจนถึงสูญเสียชีวิตแม่นุ่มผู้ได้ชื่อว่าหวังดีที่สุดในชีวิตของเธอ         ในฉากท้ายๆ ของเรื่อง ทางออกของความขัดแย้งได้รอมชอมขึ้น เมื่อรำนำและน้ำพิงค์หันหน้ามาปรับความเข้าใจกัน แต่เมื่อผู้หญิงจากชนชั้นที่แตกต่างหันมาพูดคุยกันอีกคำรบหนึ่งเช่นนี้ บางทีละครก็ทิ้งคำถามให้ชวนคิดว่า ระหว่างผู้หญิงที่ “ยืนเฉยๆ เขาก็รัก” กับผู้หญิงที่ “ต่อสู้ทุกอย่างเพื่อให้มีตัวตนทางเศรษฐกิจสังคม” นั้น คนกลุ่มใดกันแน่ที่เป็นไม้เลื้อยหรือกาฝากที่เกาะเกี่ยวพันไม้อื่นเพื่อมีชีวิตอยู่ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >