ฉบับที่ 200 เล่ห์ลับสลับร่าง : เกิดเป็นชายหรือเป็นหญิงแท้จริงแสนลำบาก

สังคมไทยได้ขีดวงกำหนดบทบาทของผู้หญิงกับผู้ชายเอาไว้ค่อนข้างชัดเจนว่า เพศใดพึงเป็นเช่นไร เพศใดควรทำกิจกรรมทางสังคมแบบใด และเพศใดควรวางตนอย่างไรที่จะบ่งชี้ว่าตนเป็นผู้หญิงหรือเป็นผู้ชาย หากเป็นผู้หญิง ก็ต้องเล่นบทบาทเป็นเพศที่นุ่มนวล อ่อนแอ รักสวยรักงาม เจ้าอารมณ์ และรอคอยการปกป้องจากบุรุษเพศอยู่เป็นนิจ แต่ในทางกลับกัน หากเป็นผู้ชายแล้ว บทบาทที่เล่นจะสลับมาเป็นเพศที่แข็งแกร่ง แข็งแรง ไม่สนใจความสำอางของรูปร่างหน้าตาจนเกินงาม คอยพิทักษ์ปกป้องสตรีเพศที่อ่อนแอกว่า และเป็นตัวแทนของเพศที่ใช้เหตุผลเป็นตัวนำทางการกระทำต่างๆ  อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีการกำหนดบทบาทและคุณค่าของความเป็นเพศหญิงชายที่ค่อนข้างชัดเจนและต่างกันเอาไว้ดั่งนี้ แต่ทว่าสังคมไทยตั้งแต่ยุคอดีตก็จัดวางที่ทางให้ทั้งผู้หญิงและผู้ชายได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความแตกต่างของบทบาททางเพศระหว่างกัน สมัยเด็กๆ ผู้เขียนจำได้ว่า เคยเห็นเคยชมกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้านหรือการโต้เพลงปฏิพากย์หลายชนิดของไทย ที่จะแบ่งฝ่ายให้หญิงชายได้มาแข่งขันกันบ้าง โต้ตอบปฏิภาณกันบ้าง แต่มิได้มุ่งหมายที่จะเอาชนะกันอย่างจริงจัง หากเป็นไปเพื่อให้ต่างฝ่ายต่างเข้าอกเข้าใจกัน และนำไปสู่การเกื้อกูลกันระหว่างเพศในท้ายที่สุด แต่พอมาถึงยุคปัจจุบัน เมื่อเวทีการละเล่นพื้นบ้านหรือการขับลำเพลงปฏิพากย์ตอบโต้กันได้ห่างไกลออกไปจากชีวิตคนรุ่นใหม่มากขึ้น พื้นที่การสื่อสารเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้บทบาทการเข้าใจกันและการอยู่ร่วมกันระหว่างเพศก็มิได้หายไปเสียทีเดียว หากแต่เป็นละครโทรทัศน์ที่ผ่องถ่ายการทำหน้าที่เป็นเวทีใหม่ของการสร้างสัมพันธ์กันระหว่างหญิงชายนั่นเอง  “เล่ห์ลับสลับร่าง” เป็นตัวอย่างของเนื้อหาละครที่ได้ทดลองให้ผู้หญิงกับผู้ชายได้สลับบทบาทและเรียนรู้บทบาททางเพศระหว่างกัน ผ่านการสลับร่างของตัวละครเอกคือ “เภตรา” กับ “รามิล”  ในส่วนของเภตรา เธอเป็นดาราสาวฝีมือมากความสามารถเจ้าของฉายา “ไข่มุกแห่งเอเชีย” และเพราะถีบทะยานจากลูกแม่ค้าจนๆ ขึ้นมาเป็นนางเอกชื่อดังแห่งยุค เภตราจึงหยิ่งทะนงในความสวย และเป็นคนเจ้าอารมณ์เหวี่ยงวีนฟาดงวงฟาดงาแบบไร้เหตุผลกับคนรอบข้างตลอดเวลา สำหรับรามิลนายตำรวจหนุ่มมือปราบแห่งหน่วยพยัคฆ์พิฆาต เจ้าของฉายา “ผู้กองมือเหล็ก” แม้จะเป็นผู้กองที่มีเหตุผลและมั่นใจในฝีมือที่ปฏิบัติภารกิจปราบปรามเหล่าร้ายจนสำเร็จอย่างต่อเนื่อง แต่อีกด้านหนึ่ง รามิลก็มีอหังการในหน้าตาที่หล่อเหลาและเจ้าชู้หว่านเสน่ห์ไปเรื่อย แม้เขาจะมี “นกยูง” คู่หมั้นสาวเป็นตัวเป็นตนอยู่แล้ว เปิดฉากมา ก็เหมือนจะเป็นตัวละครหญิงชายตามสูตร “พ่อแง่แม่งอน” ที่ต้องโคจรมาเจอกัน ต่างฝ่ายก็เริ่มสัมผัสฤทธิ์เดชของอีกฝ่าย โดยที่นางเอกก็ตั้งป้อมใช้อารมณ์เป็นพื้นฐาน ในขณะที่ฝ่ายพระเอกก็เลือกใช้เหตุผลโดยไม่คำนึงถึงอารมณ์ความรู้สึกใดๆ จนกลายเป็นความไม่เข้าใจกันระหว่างเพศตรงข้ามมานับจากนั้น จนเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อเภตราถูกโจรปล้นเพชรจับเป็นตัวประกัน ผู้กองรามิลได้เข้าไปช่วยเหลือ จนทั้งคู่พลัดตกลงจากดาดฟ้าตึกไปอยู่บนหลังคาผ้าใบของรถคลาสสิกคันหนึ่ง ทำให้วิญญาณชายหนุ่มหญิงสาวหลุดออกไปจากร่างของตน หากทุกวันนี้ ความผิดพลาดในการโอนไฟล์กลายเป็นเรื่องปกติในสังคมดิจิตัล 4.0 ดังนั้น แม้จะได้รับความช่วยเหลือจาก “หมอนักษัตร” หมอดูชื่อดังที่ช่วยกู้ไฟล์วิญญาณให้กลับเข้าร่าง แต่ “เล่ห์ลับ” แห่งสรวงสวรรค์ก็ทำให้ไฟล์วิญญาณของทั้งคู่เกิด “สลับร่าง” กันและกันขึ้นมา และเมื่อต้องสลับไฟล์มาอยู่ในร่างที่แตกต่างจากเพศทางกายภาพของตน การเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตของมนุษย์ที่มีคู่โครโมโซมต่างออกไปจากเพศที่ตัวมาแต่กำเนิดจึงได้อุบัติขึ้น เริ่มตั้งแต่สรีระทางกายภาพที่ฝ่ายหนึ่งได้มาสัมผัสกับส่วนต่างๆ ของร่างกายไล่ไปจนถึงอวัยวะพึงสงวนของเพศตรงข้าม ก็ทำให้ตัวละครได้เรียนรู้ว่า โครงสร้างร่างกายของแต่ละเพศก็มีทั้งข้อเด่นและข้อจำกัดในการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันไป แบบที่ด้านหนึ่งเภตราก็เคยโวยวายกับพระเอกหนุ่มว่า “ขยะแขยงร่างของคุณน่ะสิ เหงื่อก็เยอะ ขนดก ตัวเหม็น แถมเวลาเดินยังโทงเทงอีกต่างหาก…” ในขณะที่รามิลก็พูดสวนกลับไปยังนางเอกสาวว่า “ผมเองก็สุดจะทนเหมือนกัน ต้องมาจำใจอยู่ในร่างป้อแป้ปวกเปียกของคุณ ทั้งผอมแห้ง แรงก็ไม่มี และที่สำคัญ เวลาผมวิดพื้น ของคุณมันก็โทงเทงเหมือนกันนั่นแหละ...”  นอกจากบทเรียนความแตกต่างทางเพศสรีระแล้ว แม้แต่ในแง่บทบาททางเพศที่สังคมกำหนดไว้ว่าเพศใดพึงมีบทบาทให้เล่นอย่างไร การสลับร่างก็ทำให้ตัวละครต้องเข้าใจบทบาทที่สังคมมอบหมายให้กับเพศที่แตกต่างเอาไว้แล้วด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อเรือนร่างที่อ้อนแอ้นของสาวสวยอย่างเภตรากลับมีทักษะการกู้ระเบิด และสามารถยิงปืนต่อสู้กับกลุ่มโจรนักค้ายาเสพติดได้อย่างหาญกล้า หรือเมื่อร่างแบบชายชาตรีของผู้กองรามิลกลับมีอากัปกิริยาสะดีดสะดิ้งขี้กลัว และไม่แสดงลักษณะความเป็นผู้นำของหน่วยพยัคฆ์พิฆาตออกมา สายตาของสังคมและคนรอบข้างจึงสนเท่ห์ไปกับบทบาทอันเบี่ยงเบนจากจารีตปฏิบัติของเพศสภาพที่ไม่น่าจะเป็น แม้จะอยู่ในสายตาที่สังคมตั้งคำถามมากมาย แต่การได้สลับร่างเพื่อเรียนรู้บทบาททางเพศที่แตกต่างกันเยี่ยงนี้เอง ก็ค่อยๆ ทำให้ความรักระหว่างเภตรากับรามิลก่อตัวและงอกงามขึ้นมา  จนมาถึงในท้ายที่สุดของเรื่อง กับฉากที่รามิลในร่างเภตราต้องทำหน้าที่เป็นคนอุ้มท้อง โดยมีเภตราในร่างรามิลคอยห่วงใยดูแล การเรียนรู้ความลำบากและเจ็บปวดที่สุดของเพศแม่ในการให้กำเนิด ได้นำไปสู่ความเข้าใจข้อเท็จจริงที่ว่า “เกิดเป็นชายหรือเป็นหญิงแท้จริงก็แสนลำบากด้วยความคาดหวังของสังคมกันทั้งนั้น”  และก็คงไม่ต่างจากเพลงปฏิพากย์หรือการละเล่นพื้นบ้านสมัยก่อนที่เอื้อให้หญิงชายได้เรียนรู้บทบาททางเพศและดำรงอยู่ด้วยกันอย่างเกื้อกูล หากแต่การสลับร่างสร้างรักของตัวละครก็ได้สืบต่อพันธกิจสร้างการเรียนรู้ดังกล่าวเอาไว้ เหมือนกับข้อความที่ละครโทรทัศน์ได้ทิ้งไว้ในตอนท้ายเรื่องว่า “ไม่สำคัญว่าเราจะเป็นเพศไหน ขอแค่มีคนที่รักเรา เข้าใจเราแบบที่เราเป็น และพร้อมจะอยู่เคียงข้างเราเสมอ...ก็เพียงพอแล้ว”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว หัวใจฟรุ้งฟริ้ง : ก็เพราะแม่เป็นยิ่งกว่าแมวเก้าชีวิต

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานนิยามศัพท์เอาไว้ว่า “ผู้หญิง” หมายถึง “เพศที่ออกลูกได้” และเพราะภายใต้การกำหนดนิยามว่าเป็น “เพศที่ออกลูกได้” ดังกล่าว ก็ดูเหมือนว่า จะมีระบบวิธีคิดหลายประการที่ซุกซ่อนอยู่ในนั้น ตั้งแต่ระบบคิดที่ว่า ถึงแม้ผู้หญิงจะ “ออกลูกได้” แต่ก็ต้องอาศัยผู้ชายในการ “ผลิตลูก” ออกมา หรือถ้าผู้หญิงเป็นเพศที่ “ออกลูกได้” แล้ว หน้าที่ทางสังคมของการเลี้ยงดูกุลบุตรกุลธิดาก็จะถูกมอบหมายเอาไว้ให้กับผู้หญิงเป็นลำดับแรก ไปจนถึงระบบคุณค่าที่อธิบายว่า ถ้าจะเป็นผู้หญิงที่ดีและเป็นที่พึงปรารถนาของสังคมแล้วไซร้ ต้องพยายามสรรค์สร้างครอบครัวแบบ “พ่อแม่ลูก” จนเกิดขึ้นเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์แบบให้จงได้ และเพราะคุณค่าความเป็น “ครอบครัวสมบูรณ์แบบพ่อแม่ลูก” ได้ถูกอุปโลกน์เอาไว้เช่นนี้เอง จึงกลายเป็นกรอบที่สังคมไทยใช้กำหนดผู้หญิงเอาไว้ไม่ให้คิดเป็นอื่น นั่นหมายความว่า หากผู้หญิงคนใดที่ริจะหย่าร้างหรือมิอาจประคับประคองชีวิตครอบครัวให้เป็นไปตามมาตรวัดดังกล่าวได้ เธอก็จะถูกตีตราว่าผิดพลาดใน “ความเป็นเพศหญิง” ตามที่สังคมได้ออกแบบไว้ จะมีตัวอย่างก็คือกรณีของ “มุลิลา” (หรือ “มู่ลี่”) ที่ดูจะเป็นตัวแทนของผู้หญิงคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาท้าทายบรรทัดฐานของสังคมเสียใหม่ว่า แม้แต่สิ่งที่เรียกว่า “ความเป็นแม่” ก็ใช่ว่าสังคมจะเข้ามากำหนดได้เบ็ดเสร็จสมบูรณ์ 100% เพราะด้วยสองมือของผู้หญิงที่สร้างโลกอยู่นั้น ก็สามารถออกแบบ “ความเป็นแม่” แบบที่เธอมีอำนาจเลือกเองได้เช่นกัน  มุลิลาคือตัวละครผู้หญิงวัย 30 ต้นๆ เป็นนักการตลาดในบริษัทธุรกิจใหญ่แห่งหนึ่ง ที่ดูเหมือนหน้าที่การงานน่าจะรุ่งเรืองก้าวหน้าไปได้อีกไกลเมื่อเทียบกับผู้หญิงคนอื่นที่อยู่ในวัยใกล้เคียงกัน แต่ด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่างที่เข้ามาโรมรันพันตู กลับทำให้ชีวิตครอบครัวและชีวิตการงานของเธอต้องเป็นทั้ง “unlucky in love” และ “unlucky in game” ไปพร้อมๆ กัน  เปิดฉากเริ่มเรื่องของละครออกมา มุลิลาที่แต่งงานอยู่กินกับ “พงศ์พิศุทธิ์” และมีลูกชายวัย 5 ขวบคือ “น้องปลื้ม” ต้องเผชิญกับสถานการณ์ปัญหาชีวิตถาโถม เพราะด้านหนึ่งชีวิตแต่งงานก็ไม่มีความสุขนัก ชีวิตครอบครัวที่เธอต้องดูแลงานทุกอยู่ในบ้านแบบ “ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ” ไปจนถึงชีวิตการงานที่เพราะเธอต้องดูแลลูกและครอบครัว จนไม่มีเวลาให้กับภาระงานนอกบ้านได้อย่างเต็มที่ วันเดียวกับที่มุลิลาถูกให้ออกจากงานประจำ เพราะเงินเดือนสูงแต่เวลาทำงานถูกเจียดไปดูแลลูกชายคนเดียว เมื่อกลับมาถึงบ้าน เธอก็เข้ามาเห็นภาพของสามีกำลังฟีเจอริ่งอยู่กับผู้หญิงคนอื่นอยู่ มุลิลาจึงตัดสินใจหย่าร้างกับพงศ์พิศุทธิ์ และก้าวเข้าสู่สถานภาพใหม่ของ “ซิงเกิ้ลมัม” นับจากนั้นเป็นต้นมา แม้ว่าสายตาสังคมจะตำหนิติฉินว่า เธอมีวัตรปฏิบัติเบี่ยงเบนไปจากมาตรวัดบรรทัดฐานที่ผู้หญิงดีๆ พึงกระทำกัน แต่ “คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว” อย่างมุลิลา ก็เห็นว่าเธอยังคงมี “หัวใจฟรุ้งฟริ้ง” แม้จะยืนอยู่นอกขนบที่สังคมพยายามขีดเส้นยัดเยียดเอาไว้ให้ เหมือนกับภาพในฉากต้นเรื่องหลังจากเธอตัดสินใจจะมารับสถานภาพ “คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว” ที่มุลิลาพูดกับตัวเองและหันมาทางกล้องเพื่อพูดกับผู้ชมไปพร้อมๆ กันว่า “ฉันชื่อมุลิลา...มุลิลาแปลว่าแมว” และหาก “แมวมีเก้าชีวิต” การหย่าร้างและลุกขึ้นมายืนหยัดเลี้ยงลูกน้อยด้วยตนเอง ก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตเธอถึงกับพังพาบสิ้นสุดลงแต่อย่างใด เมื่อต้องมาสวมบทบาทใหม่เป็น “ซิงเกิ้ลมัม” เพราะเป็นบทบาทที่เบี่ยงเบนไปจากจารีตปฏิบัติของสังคม มุลิลาจึงถูกบททดสอบมากมาย เพื่อจะให้เธอตั้งคำถามกับตัวเองว่า จะทนทายาทอยู่เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวได้นานเพียงใด เริ่มต้นจาก “บุปผา” มารดาของมุลิลาเอง ที่แม้จะเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวมาก่อน แต่มิไยก็พยายามหน่วงรั้งพูดกรอกหูลูกสาวให้กลับไปคืนดีกับสามีตลอดเวลา หรือ “บริสุทธิ์” อดีตแม่สามีที่วางแผนทุกทางเพื่อช่วงชิงน้องปลื้มกลับมาอยู่ในความดูแลของพงศ์พิศุทธิ์ บททดสอบถัดมา เมื่อต้องเลี้ยงดูลูกน้อยเพียงลำพัง เงื่อนไขทางเศรษฐกิจก็บีบให้คุณแม่ต้องออกทำงาน และมาเผชิญกับความอิจฉาริษยาของเพื่อนร่วมงานใหม่ ไม่ว่าจะเป็น “ตรีดาว” “พราวฟ้า” “รักชนก” และ “แพตตี้” ที่ร่วมกันใช้เหตุผลความเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวเพื่อขจัดมุลิลาออกไปจากสนามแข่งขันในที่ทำงาน แต่อย่างไรก็ดี บททดสอบสุดท้าทายของคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวก็คงหนีไม่พ้นการเข้ามาของผู้ชายหลายคนในชีวิตของมุลิลา นอกจากพงศ์พิศุทธิ์สามีเก่าที่ปรารถนาจะกลับมาใช้ชีวิตคู่กันอีกครั้งแล้ว ยังมี “ชิษณุ” ซีอีโอหนุ่มใหญ่เจ้าของบริษัทที่เธอทำงานอยู่ กับ “อัศวิน” ชายหนุ่มรุ่นกะเตาะลูกชายเจ้าของร้านซาลาเปา ที่ดูจะเข้ากันได้ดีกับน้องปลื้มลูกชายของเธอ ชายคนแรกที่อายุเสมอกันคือคนที่เลิกร้างไป ชายคนที่สองอายุมากกว่าแต่ก็มีสถานะเป็นเจ้านายของเธอ และชายคนสุดท้ายที่อายุน้อยกว่าแต่ก็ริมาหลงรักคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวรุ่นพี่ สามตัวเลือกของชายที่ต่างวัยกันได้กลายมาเป็นข้อสอบปรนัยให้มุลิลาเลือกตัดสินใจว่า จะกากบาทไปที่คำตอบข้อใดกัน เพราะเชื่อมั่นว่าผู้หญิงมีศักยภาพที่จะเป็นยิ่งกว่า “แมวเก้าชีวิต” เมื่อมุลิลาพบว่า ภาระงานและปัญหารุมเร้าจากตัวเลือกผู้ชายทั้งสามคน ได้บั่นทอนเวลาที่เธอจะมีให้ลูกน้อยมากเกินไป ในที่สุด มุลิลาก็ตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อมาทำกิจการเล็กๆ ส่วนตัว ควบคู่ไปกับการยืนหยัดในบทบาท “คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว” ด้วย “หัวใจฟรุ้งฟริ้ง” ต่อไป และที่สำคัญ ในท่ามกลางปัญหาที่คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวต้องเผชิญอยู่นั้น ละครได้ชี้ให้เห็นอีกด้านของความหวังด้วยว่า สำหรับผู้หญิงแล้ว “you will never walk alone” ด้วยเหตุนี้ มุลิลาจึงมีบรรดาเพื่อนๆ ทั้งเพื่อนผู้หญิงอย่าง “ต้องตา” เพื่อนผู้ชายอย่าง “พี่ยักษ์” และเพื่อนเพศที่สามอย่าง “ดอลลี่” ที่คอยเป็นกำลังใจและเป็นกองหนุนอยู่เบื้องหลังตลอดเวลา สำหรับบรรดา “ซิงเกิ้ลมัม” ทั้งหลายนั้น กฎเกณฑ์ของสังคมอาจมิใช่กฎของธรรมชาติที่แปรเปลี่ยนไม่ได้ ตราบใดที่ผู้หญิงยังมีตัวเลือก ยังรู้จักคิดที่จะเลือก และตัดสินใจลงมือเลือกได้ตามที่ต้องการ ตราบนั้น แม้ผู้หญิงจะเลือกยืนอยู่นอกอาณัติของกฎสังคม แต่ก็เป็นการเลือกยืนอยู่ได้ด้วย “หัวใจฟรุ้งฟริ้ง” นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 ชีวิตเพื่อฆ่า หัวใจเพื่อเธอ : เมื่อหมาป่าอยากโบกบินสู่เสรีภาพ

โดยทั่วไปแล้ว ละครโทรทัศน์ที่เราได้รับชมผ่านทางหน้าจอนั้น มักจะสร้างให้ตัวละครพระเอกเป็นภาพของผู้ชายในอุดมคติ เป็นสุภาพบุรุษจิตใจงาม และเป็นผู้ประกอบสัมมาอาชีวะเป็นอาจิณ เพื่อที่จะให้ภาพของพระเอกดังกล่าวยืนยันในตัวแบบบรรทัดฐานของผู้ชายที่สังคมคาดหวังจะให้เป็น แต่หากละครโทรทัศน์เรื่องใดเปลี่ยนมานำเสนอภาพของพระเอกให้กลายเป็นบุรุษหนุ่มที่อาศัยในมุมมืดของสังคม เป็นมิจฉาชีพที่สังคมไม่ยอมรับ และไม่ใช่ตัวแบบแห่งความคาดหวังที่สังคมเลือกให้ผู้คนเจริญรอยตามแล้ว วิธีการสร้างตัวละครเยี่ยงนี้น่าจะชวนให้เราสงสัยว่า ผู้ผลิตคงต้องการแฝงความนัยบางอย่างที่ซ่อนเร้นเอาไว้แน่นอน เฉกเช่นละครโทรทัศน์เรื่อง “ชีวิตเพื่อฆ่า หัวใจเพื่อเธอ” ที่ผู้สร้างเลือกจะผูกเรื่องราวชีวิตของพระเอกหนุ่ม “วายุ” ให้เป็นมือปืนรับจ้างอันดับต้นๆ ของวงการนักฆ่าผู้ชอบเก็บตัวไม่สุงสิงกับใคร วายุทำงานอยู่ในซุ้มมือปืนที่มี “สุรสีห์” เป็นหัวหน้า โดยสุรสีห์เปิดผับเป็นฉากอาชีพสุจริตที่บังหน้า และมีวายุทำงานเป็นบาร์เทนเดอร์อยู่ในผับแห่งนั้น  ในโลกทัศน์ของคนทั่วไป ภาพลักษณ์แบบพระเอกนักฆ่าของวายุนั้น ก็คือตัวแบบของมิจฉาชีพผู้เป็นอาชญากรรม ซึ่งไม่เป็นที่ต้องการของสังคม ไม่ว่าจะพินิจพิจารณาจากมุมมองแบบใดก็ตาม หากใช้มุมมองเชิงนิติศาสตร์หรือมุมมองเชิงศีลธรรมแล้ว ความเป็นอาชญากรก็คือบุคคลที่ละเมิดรีตรอยของกฎหมายและผิดศีลปาณาติบาตอันเป็นศีลข้อแรกของพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น เมื่อวายุทำตนอยู่นอกกฎหมาย เขาจึงถูกนายตำรวจหนุ่มผู้เป็นศัตรูหัวใจอย่าง “ศรุต” ติดตามไล่ล่า เพื่อขจัดเขาออกไปจากระบบสังคม และคงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนการยุติธรรมและจารีตศีลธรรมของสังคม แต่หากเราลองขยับมาอธิบายด้วยมุมมองแบบจิตวิทยาแล้ว อาชญากรอย่างวายุก็คือคนที่ถูกตีความว่ามีปัญหาทางจิตชนิดหนึ่ง ซึ่งอาจเนื่องมาจากปมชีวิตที่ติดตัวมาแต่กำเนิด จนทำให้คนๆ นั้นไม่อาจควบคุมคุณธรรมความดีในจิตใจ และกลายเป็นบุคคลที่เบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานของสังคมในที่สุด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม การที่บุคคลหนึ่ง “กลายมาเป็น” คนเลวของระบบ จึงเป็นเพราะความคิดที่ไม่เคารพกฎหมาย ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี ไม่เชื่อในเรื่องวัฏฏะแห่งกรรม ไปจนถึงการมีปมปัญหาทางจิตที่ซ่อนซุกเร้นลึกอยู่ในตัวของอาชญากรคนนั้น  แต่อย่างไรก็ดี เพราะเนื่องจากในท้องเรื่องของละครนั้น ปัจเจกบุคคลที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานของระบบสังคมกลับกลายเป็นวายุหนุ่มหล่อพระเอกของเรื่องนี่เอง ดูเหมือนว่า เหตุปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดแทบจะไม่ใช่ตัวแปรหลักของการ “กลายมาเป็น” นักฆ่าดังกล่าวเลย  ละครได้วางโครงเค้าให้เราค่อยๆ ย้อนกลับไปเข้าใจสาเหตุที่พระเอกวายุจำยอมและจำต้องเดินทางเข้าสู่โลกมืดของอาชญากร ทั้งๆ ที่หิริโอตตัปปะและความรับผิดชอบชั่วดียังคอยกำกับหน่วงรั้งไว้ทุกครั้งที่เขาต้องเหนี่ยวไกปืนเพื่อสังหารชีวิตคน เริ่มต้นจากการที่บุพการีถูกฆ่ายกครัวตั้งแต่เขายังเป็นเด็ก ทำให้วายุกลายเป็นมนุษย์ที่ไร้สายสัมพันธ์กับสถาบันที่เป็นหน่วยเล็กที่สุดแต่ก็สำคัญที่สุดอย่างสถาบันครอบครัว หรือการที่เขาจำต้องทดแทนบุญคุณของหัวหน้าซุ้มมือปืนอย่างสุรสีห์ที่ดูแลเขาแทนพ่อแม่นับตั้งแต่นั้น ไปจนถึงการให้เหตุผลความชอบธรรมว่า คนที่เขาได้รับใบสั่งฆ่าทุกคนนั้น ต่างก็เป็นคนเลวหรือมิจฉาชีพทั้งสิ้น เหตุผลที่ถูกอ้างอิงเอาไว้หลายข้อดังกล่าว สะท้อนให้เห็นอีกด้านหนึ่งว่า เมื่อปัจเจกบุคคลถูกสะบั้นสายสัมพันธ์ออกจากสถาบันต่างๆ ประกอบกับถูกแรงบีบคั้นจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว เขาก็จะ “กลายมาเป็น” บุคคลที่ไม่อาจปรับตัวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบได้ ทุกครั้งวายุใช้ปืนปลิดชีวิตคนอื่นจึงเป็นผลพวงจากความแปลกแยกที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และแปลกแยกจากศีลธรรมและกฎของสังคมที่ครอบงำเอาไว้นั่นเอง ความรู้สึกแบบที่ฝรั่งเรียกว่า “ไม่ belonging to” เฉกเช่นนี้ ก็ไม่ต่างจากประโยคที่สุรสีห์พร่ำสอนกรอกหูวายุอยู่ตลอดว่า ชีวิตของนักฆ่าก็ไม่ต่างจาก “หมาป่า” ในสังคมที่คนโดยรอบต่างก็ล้วนเป็น “หมาป่า” ทั้งสิ้น เพราะ “หมาป่า” ยังไงก็ต้องเป็นและไม่อาจหลุดพ้นไปจากวงโคจรชีวิตของ “หมาป่า” ได้โดยง่าย ดังนั้น พระเอกวายุจึงเหมือนถูกผลักให้ยอมรับกฎของสังคมที่ว่า ในสังคมที่ไร้แรงยึดเหนี่ยวเกาะเกี่ยวปัจเจกบุคคลเอาไว้ “ถ้าไม่เป็นผู้ล่า เราก็จะกลายเป็นผู้ถูกล่าเสียเอง”  แต่ที่น่าสนใจยิ่งก็คือ แม้ตัวละครจะถูกระบบกล่อมเกลาให้เชื่อว่า “มนุษย์เราต่างเป็นหมาป่าของกันและกัน” แบบนี้ แต่มือปืนผู้นี้กลับเป็นผู้ที่หลงรักในนกพิราบสีขาว ทุกครั้งที่มีเวลาว่าง วายุจะชอบไปนั่งมองนกพิราบในสวนสาธารณะ และเป็นที่นี่เองที่วายุได้พบกับนางเอก “ภาวรินทร์” ประติมากรสาวผู้เป็นบุตรีของ “ธนทัต” ซึ่งฉากหน้าเป็นนักธุรกิจรายใหญ่ แต่หลังฉากกลับเป็นพ่อค้ายาเสพติดผู้โหดเหี้ยม การพบกันระหว่างตัวละครนักฆ่าหนุ่มที่จิตใจเหือดแห้งไร้สายใยกับสังคมรอบข้างกับศิลปินสาวที่เชื่อมั่นในพลังความงดงามในจิตใจของมนุษย์ จึงก่อเกิดเป็นความรักและสายสัมพันธ์เส้นใหม่ ที่ทำให้ “หมาป่า” อย่างวายุอยากจะโบยบินไปสู่อิสรภาพแบบ “นกพิราบสีขาว” ไม่ว่าความสัมพันธ์เส้นใหม่นี้จะสมหวังหรือผิดหวังในฉากจบของเรื่องก็ตาม แต่แน่นอนเพราะ “ขึ้นขี่หลังเสือแล้ว ก็ลงจากหลังเสือได้ยากยิ่ง” แม้จะสำเหนียกว่าชีวิตของตนว่ายวนบนสายพานของแรงกดดันและกฎเกณฑ์มากมายของสังคม แต่วายุก็มิอาจบินหนีไปสู่เสรีภาพได้โดยง่าย ในสภาวะที่ความแปลกแยกได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตมนุษย์ และข้อเท็จจริงที่ว่า “สัตว์โลกที่แข็งแรงที่สุดเท่านั้นจึงจะอยู่รอด” ได้ถูกทำให้เป็นเพียงกฎข้อเดียวของสังคม แต่ทว่า ชะตากรรมของวายุที่ติดกับอยู่ในเงามืดของสังคม ก็สะท้อนย้อนคิดให้เห็นว่า แม้แต่ “หมาป่า” ก็ยังมี “ความหวัง” ที่จะบินออกไปจากกรงที่ขังเขาไว้ด้วยกฎเกณฑ์ดังกล่าว ชีวิตในมุมมืดของตัวละครอยากจะโบยบินสู่เสรีภาพจากกฎต่างๆ ของสังคม แล้วกับชีวิตเราๆ ที่มีเสรีภาพอยู่แล้ว เคยสำเหนียกหรือไม่ว่า รอบตัวของเสรีชนถูกพันธนาการด้วยกฎเกณฑ์แบบใดกันบ้าง?

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 แต่ปางก่อน : มองย้อนการเปลี่ยนผ่านอำนาจนำในสังคมไทย

ในขณะที่เส้นกราฟของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย กำลังก้าวขึ้นเป็นเส้นตรงไปข้างหน้า เราจะเห็นได้ว่า เส้นกราฟของละครโทรทัศน์บ้านเรา จะมีอีกมุมหนึ่งที่ผู้คนหวนกลับไป “ถวิลหาอดีต” หรือมองย้อนกลับไปหา “วันวานที่เคยหวานอยู่”  เฉกเช่นเดียวกับภาพที่เราเห็นผ่านละครตระกูลพีเรียดทั้งหลาย ซึ่งไม่เพียงแต่นำเสนอชีวิตตัวละครที่แต่งตัวย้อนยุคสวยๆ งามๆ หรืออยู่ในวังและคฤหาสน์หรูเลิศอลังการงานสร้างเท่านั้น หากทว่า ละครย้อนยุคเหล่านี้ยังสื่อความนัยไว้ด้วยว่า แม้กาลเวลาจะผันผ่านหรือสังคมก้าวหน้าทันสมัยไปมากเท่าไร ภาพจำลองความสุขความทุกข์ที่คนไทยในอดีตเคยดื่มด่ำใช้ชีวิตกันมา ก็ไม่เคยเลือนรางจางเจือหายไปได้เลย  ละครโทรทัศน์เรื่อง “แต่ปางก่อน” ก็เป็นอีกหนึ่งในละครแนวพีเรียด ที่หยิบอารมณ์รักโรแมนติกข้ามภพชาติมาเล่าเรื่องความผูกพันของตัวละครในอดีต ให้กับผู้ชมในยุคสมัยปัจจุบันที่ความรักและความผูกพันในชีวิตจริงของคนเราช่างดูเปราะบางยิ่งนัก ความรักผูกพันข้ามห้วงเวลาถูกสร้างผ่านตัวละครที่ใช้ชีวิตในช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 6 อย่าง “หม่อมเจ้ารังสิธร” หรือ “ท่านชายใหญ่” บุตรชายคนเดียวของ “เสด็จในกรมฯ” และ “หม่อมพเยีย” ที่ได้มาประสบพบรักกับ “ม่านแก้ว” เจ้านางจากฝั่งประเทศลาว ที่มาศึกษาเล่าเรียนในสยามประเทศ และมาพำนักอาศัยอยู่ในเรือนของเสด็จในกรมฯ  เนื่องจากเจ้านางม่านแก้วเป็นสตรีพลัดถิ่นฐานจากต่างบ้านต่างเมืองมา กอปรกับท่านชายใหญ่เองก็ถูกจับเป็นคู่หมั้นหมายไว้กับ “หม่อมเจ้าหญิงวิไลเลขา” ผู้มีศักดิ์เป็นญาติผู้น้อง ทำให้หม่อมพเยียกับท่านหญิงวิไลเลขาร่วมกันกีดกันความรักของทั้งคู่ จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมที่ม่านแก้วถูกวางยาพิษและเสียชีวิตคาห้องหอในคืนส่งตัวแต่งงาน แต่ด้วยความรักความผูกของทั้งคู่ ทำให้ “แม้มีอุปสรรคขวากหนาม” ท่านชายใหญ่และเจ้านางม่านแก้วต่างจึงเลือก “ขอตามมิยอมพลัดพรากจากกัน” เพราะฉะนั้น ในขณะที่วิญญาณของท่านชายใหญ่ “รอคอยเธอนานแสนนาน” และ “ทรมานวิญญาณหนักหนา” อยู่ในเรือนหอรอร้างแห่งนั้น ม่านแก้วก็ได้กลับมาเกิดในชาติใหม่เป็น “ราชาวดี” คุณครูประจำโรงเรียนสตรีกุลนารีวิทยา ก่อนที่เธอจะเสียชีวิตและวนเวียนกลับมาถือกำเนิดอีกคำรบหนึ่ง เป็น “อันตรา” และครองคู่ในตอนท้ายกับ “หม่อมหลวงจิราคม” ซึ่งก็คือท่านชายใหญ่ผู้กลับมาเกิดใหม่เพื่อพบกับหญิงคนรักในชาติเดียวกัน บนโครงเรื่องแบบรักข้ามภพชาติ ประกอบกับการขานขับทำนองเพลงลาวม่านแก้วที่ท่านชายใหญ่บรรจงบรรเลงให้หญิงคนรักได้สดับตรับฟัง ละครก็คงต้องการนำเสนอให้เห็นว่า ความรักโรแมนติกข้ามกาลเวลาดูจะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้จริง แม้จะอยู่ใน “อุปสรรคขวากหนาม” ที่ขวางกั้นมากมาย แต่ที่คู่ขนานน่าสนใจไปกับการผูกเรื่องราวรักโรแมนติกย้อนยุคเยี่ยงนี้ ก็คือการให้ผู้คนในปัจจุบันได้หวนกลับไปทบทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้นอดีต โดยเฉพาะการฉายภาพชะตากรรมของตัวละครที่กลับมาเกิดใหม่ชาติแล้วชาติเล่า ที่ฉากหลังเป็นการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างอำนาจนำทางสังคมในแต่ละช่วงสมัยด้วยเช่นกัน โดยเมื่อย้อนกลับไปในยุคศักดินานั้น แน่นอนว่า อำนาจนำในสังคมไทยจะถูกรวมศูนย์อยู่ในขอบขัณฑ์ของราชสำนัก เพราะชนชั้นสูงในยุคดังกล่าวถือเป็นกลุ่มชนชั้นนำที่ครอบครองปัจจัยการผลิตทางเศรษฐกิจ เป็นกลุ่มที่มีอภิสิทธิ์และบารมี และเป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่ยึดครองการผลิตและใช้ความรู้ต่างๆ ของสังคม ดังนั้น เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงและขัดแย้งใดๆ เกิดขึ้นในหมู่ชนชั้นนำเหล่านี้ ความขัดแย้งนั้นก็จะส่งผลกระทบถึงคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคมไทยโดยภาพรวม และที่สำคัญ เมื่อคนกลุ่มนี้เป็นขุมพลังที่ผลิตความรู้แห่งยุคสมัย แบบเดียวกับที่ตระกูลของท่านหญิงวิไลเลขาได้สั่งสมทุนความรู้พร้อมศาสตร์และศิลป์แห่งการปรุงยาแผนโบราณมาอย่างยาวนาน เธอก็สามารถบริหารอำนาจความรู้เพื่อสั่งเป็นสั่งตายวางยาพิษให้กับเจ้านางม่านแก้วสิ้นชีวิตในคืนส่งตัวเข้าหอได้นั่นเอง  แต่เมื่อเข้าสู่ยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อมายังสงครามโลกครั้งที่สอง อำนาจของชนชั้นนำกลุ่มเดิมเริ่มถดถอยลง พร้อมๆ กับที่กลุ่มคนชั้นกลางเริ่มก่อรูปก่อร่างสถาปนาตัวตนทางสังคมขึ้นมา ความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่มที่ช่วงชิงอำนาจนำเช่นนี้ ก็ปรากฏออกมาเป็นภาพที่ราชาวดีกับท่านหญิงวิไลเลขาได้ปะทะต่อสู้อำนาจระหว่างกันเป็นระลอกๆ  ท่านหญิงวิไลเลขาอาจมีทุนความรู้ดั้งเดิมที่สั่งสมผ่านสายตระกูล และมีอำนาจบารมีเป็นทุนสัญลักษณ์ที่สืบต่อกันมาแต่เก่าก่อน แต่ทว่า คุณครูอย่างราชาวดีเองก็มีทุนความรู้สมัยใหม่ ที่ค่อยๆ สั่งสมเพื่อเข้าสู่การเป็นกลุ่มชนชั้นนำใหม่อีกกลุ่มในสังคมไทย ดังนั้น ราชาวดีจึงไม่ใช่คนพลัดถิ่นที่อำนาจน้อยแบบม่านแก้ว และก็ไม่ใช่คนที่จะยินยอมต่ออำนาจครอบงำที่มีมาแต่เดิมอีกต่อไป แม้ว่าในบทสุดท้ายของภพชาตินี้ เธอเองก็ยังถูกความรู้ของท่านหญิงวิไลเลขาวางยาจนเสียชีวิตไปในที่สุด และเมื่อเข้าสู่ชาติสมัยในปัจจุบัน อันตราผู้เป็นทายาทเจ้าของกิจการโรงแรมหรูหราในเมืองหลวง ก็คือตัวแทนของชนชั้นนำกลุ่มใหม่ ในช่วงยุคที่อำนาจทางสังคมของชนชั้นศักดินาเดิมเริ่มเจือจางบางเบาลง เหมือนกับตัวละคร “หม่อมราชวงศ์จิรายุส” และ “หม่อมหลวงสวรรยา” บิดามารดาของจิราคมที่ความมั่งคั่งในอดีตดูจะร่อยหรอลงไปในพัฒนาการชีวิตตัวละครในช่วงท้ายเรื่อง กลุ่มชนชั้นนำที่สถาปนาอำนาจขึ้นใหม่ในปัจจุบันนี้ แท้จริงก็ได้แก่บรรดาคนชั้นกลางที่ไม่เพียงจะมีทั้งทุนความรู้และฐานะเศรษฐกิจที่มากมายและมั่งมีเท่านั้น แต่พวกเขาและเธอก็ยังเป็นกลุ่มอำนาจนำที่สั่งสมสถานะทางสังคมและเกียรติยศศักดิ์ศรีไว้อย่างสูงส่ง โดยเจริญรอยตามเส้นทางที่ชนชั้นศักดินาในอดีตเคยกรุยทางเอาไว้นั่นเอง พัฒนาการความผูกพันของตัวละครที่เดินทางข้ามห้วงเวลา จึงมิใช่แค่บทสะท้อนให้ผู้ชมตราตรึงกับความรักโรแมนติกของท้องเรื่องเท่านั้น หากแต่ยังสื่อสารให้เห็นการผันผ่านโครงสร้างอำนาจที่ปะทะประสานกันในมือของกลุ่มชนชั้นนำในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องในช่วงราวศตวรรษที่ผ่านมา ไม่ว่าจะ “เป็นรอยบุญมาหนุนนำ” หรือจะเป็น “รอยกรรมรอยเกวียนที่หมุนเปลี่ยนเสมอ” แต่ที่แน่ๆ ภาพการวิวัฒน์ไปของชีวิตตัวละครจาก “แต่ปางก่อน” ถึง “ยุคปัจจุบัน” ก็เป็นดั่งภาพการสะท้อนย้อนคิดให้เราเห็นอำนาจและบทบาทของชนชั้นนำที่เปลี่ยนผ่านและถ่ายมือกันไปมาจากรุ่นสู่รุ่นฉะนี้เอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 นาคี : อสรพิษที่ว่าร้าย ก็ไม่น่ากลัวเท่ากับคนหรอก

ในบริบทที่ประชาคมอาเซียนกำลังก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมานี้ ภาพของภูมิภาคอุษาคเนย์ดูจะมีลักษณะไม่ต่างจากเหรียญสองด้าน ที่ด้านหนึ่งผู้คนและวัฒนธรรมอาเซียนก็อาจฉายภาพของความแตกต่างและขัดแย้งกันอยู่ในที แต่อีกด้านหนึ่ง ก็เชื่อกันว่า ดินแดนสุวรรณภูมิแห่งนี้ก็มีวัฒนธรรมและประเพณีความเชื่อที่มีรากร่วมกันบางอย่าง“นาคาคติ” หรือคติความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาพญานาค เป็นอีกกรณีตัวอย่างของวัฒนธรรมร่วมรากที่ดำรงอยู่อย่างยาวนานในพื้นถิ่นอุษาคเนย์ อันรวมถึงเป็นประเพณีความเชื่อที่อยู่ในดินแดนสยามประเทศของเราด้วยเช่นกันอาจารย์สุจิตต์ วงษ์เทศ เคยเขียนอธิบายไว้ในหนังสือ “นาคในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์” ว่า สุวรรณภูมิหรืออุษาคเนย์เป็นดินแดนแบบ “เฮ็ดนาเมืองลุ่ม” หรือเป็นชุมชนที่ราบลุ่ม มีน้ำท่วมน้ำหลาก และผู้คนมีวิถีชีวิตทำนาปลูกข้าวกันมายาวนาน เพราะฉะนั้น ผู้คนที่อยู่ในภูมิภาคนี้จึงล้วนเลื่อมใสลัทธิบูชานาคหรือลัทธิบูชางูมาตั้งแต่ก่อนที่ชาวตะวันตกจะขีดเส้นกั้นแบ่งแผนที่ทางภูมิศาสตร์ระหว่างประเทศเสียอีกรูปธรรมของคติการบูชานาคปรากฏอยู่ในนิทานพื้นบ้านปรัมปราของกลุ่มชนหลายเผ่าพันธุ์ของอุษาคเนย์ ไม่ว่าจะเป็นมอญ เขมร ลาว ญวน หรือไทย และแม้แต่เมื่อศาสนาพุทธและพราหมณ์จะเผยแผ่เข้ามาจากอนุทวีปสู่ดินแดนแถบนี้ ลัทธิบูชานาคก็ผสานกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของลัทธิศาสนาใหม่ด้วยเช่นกันและเมื่อมาถึงยุคปัจจุบัน ใช่ว่าคติความเชื่อเรื่องนาคจะเลือนรางจางหายไปไม่ นาคาคติยังคงได้รับการสืบสานเอาไว้ผ่านช่องทางใหม่ๆ ร่วมสมัยอย่างสื่อบันเทิงต่างๆ รวมไปถึงละครโทรทัศน์แนวโรแมนติกดราม่าลึกลับอย่างเรื่อง “นาคี” โดยการวางพล็อตเรื่องของ “นาคี” นั้น จับความเรื่องราวของ “คำแก้ว” หญิงสาวบ้านดอนไม้ป่า ผู้มีชาติกำเนิดลึกลับ เนื่องจากเธอเป็นกายหยาบที่ “เจ้าแม่นาคี” ใช้อาศัยสิงสู่อยู่ เพราะถูกคำสาปของ “ท้าวศรีสุทโธนาค” เจ้าปู่ที่ล่วงรู้ว่า เธอหนีขึ้นมาบนโลกและสมสู่อยู่กินกับมนุษย์ที่ชื่อ “ไชยสิงห์” จนมีลูกด้วยกัน แต่ทว่า ด้วยเวรกรรมที่ผูกพันเอาไว้ จึงทำให้คำแก้วหรือเจ้าแม่นาคีรอคอยที่จะพานพบไชยสิงห์ผู้มาเกิดใหม่เป็น “ทศพล” ในชาติปัจจุบันในขณะที่โครงเรื่องถูกวางอยู่บนโรแมนติกดราม่าเยี่ยงนี้ แต่เนื่องจาก “นาคี” เป็นเรื่องเล่าของลัทธิบูชานาคที่เล่าผ่านเรื่องราวของละครโทรทัศน์ ดังนั้น โทรทัศน์เองจึงมีอำนาจที่จะเล่าเรื่องและหยิบมุมมองบางอย่างซึ่งอาจจะแตกต่างไปจากปรัมปราคติความเชื่อแบบดั้งเดิมในด้านแรก แม้ว่านาคาคติเดิมจะสืบทอดให้เห็นความศักดิ์สิทธิ์ของการบูชานาคหรืองูเป็นพื้นฐาน แต่เพราะเรื่องเล่าใหม่เป็นละครโทรทัศน์ วิถีการมองนาคจึงผสมเรื่องราวความรักสมหวังผิดหวัง ประหนึ่งจะบอกเป็นนัยว่า ไม่ว่าจะมนุษย์หรือนาคต่างก็เป็นชีวิตที่เวียนว่ายอยู่ในวังวนรักโลภโกรธหลงไม่แตกต่างกันเลยในอีกด้านหนึ่ง เพราะ “นาคี” เป็นเรื่องเล่าที่ผูกโครงขึ้นมาใหม่ ละครก็ได้เลือกใช้กลวิธีการขยับโฟกัสมุมมองใหม่ให้คนดูเห็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับนาคที่แตกต่างไปจากการรับรู้ในแบบเดิมๆ ของเราแม้ว่างูจะถูกสถาปนาให้กลายเป็น “ความศักดิ์สิทธิ์” ตามลัทธินาคาคติ แต่ในเวลาเดียวกัน สำหรับมนุษย์แล้ว คนส่วนใหญ่ก็มักจะมองงูมาจากจุดยืนที่ว่า สัตว์โลกชนิดนี้เป็น “อสรพิษ” ที่ดูน่ากลัวและไม่น่าไว้วางใจ ดังปรากฏหลักฐานอยู่ในสำนวนไทยที่ว่า “ตีงูต้องให้หลังหัก” หรือ “ขว้างงูต้องให้พ้นคอ” ไปจนถึงนิทานพื้นบ้านเรื่อง “ชาวนากับงูเห่า” ที่ต่างยืนยันความเป็นอสรพิษของงูดังที่ได้กล่าวมาแต่ทว่า ละคร “นาคี” กลับไม่ได้เล่าเรื่องงูจากจุดยืนของคนที่เกลียดกลัวอสรพิษ แต่เลือกวิธีที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของงูจากมุมมองของงูหรือนาคเอง หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นการย้ายวิถีการมองให้ผู้ชมได้ลอง “เอาใจงูมาใส่ใจคน” ดูบ้าง ทัศนะแบบนี้จึงทำให้เราได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับงูหรือนาคด้วยภาพที่ผิดแผกแตกต่างจากที่คุ้นๆ กันมา คงเหมือนกับวลีที่ว่า “ในความจริงแล้ว งูไม่เคยทำร้ายคนก่อน มีแต่คนเท่านั้นที่คอยจะทำร้ายงู” ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นตัวละครใดในท้องเรื่อง ต่างก็คอยตั้งการ์ดมุ่งมาดปรารถนาร้ายกับคำแก้วอยู่ตลอด เพียงเพราะเห็นว่าเธอเป็นกายหยาบที่เจ้าแม่นาคีสิงสถิตอยู่เท่านั้น เริ่มจาก “ลำเจียก” และ “พิมพ์พร” ศัตรูหัวใจของคำแก้วที่ขัดแย้งและรังควานเจ้าแม่นาคีกันมาตั้งแต่ชาติปางก่อน “กอ” “บุญส่ง” “หมออ่วม” และ “เมืองอินทร์” ที่ต่างก็คอยใช้เล่ห์กลมนตร์คาถามาจัดการกับคำแก้วในทุกวิธี “เลื่อง” ที่ต้องตาคำแก้วและวางแผนจะปลุกปล้ำขืนใจเธอมาเป็นเมีย และ “กำนันแย้ม” ที่ใช้อำนาจความเป็นผู้นำหมู่บ้านมาลงทัณฑ์เจ้าแม่นาคี โทษฐานที่ฆ่าลูกชายกำนันจนถึงแก่ชีวิตตัวละครเกือบทั้งหมดในเรื่องต่างพ้องเสียงประสานมือที่จะตัดสินความลงโทษคำแก้วและ “คำปอง” ผู้เป็นมารดาอย่างอยุติธรรม ดังประโยคที่คำแก้วได้เคยตัดพ้อกับแม่ว่า “อสรพิษที่ว่าร้าย ก็ไม่น่ากลัวเท่ากับคนหรอก” และแม้แต่กับเรื่องของความรักข้ามเผ่าพันธุ์ที่ผู้หญิงตัวเล็กๆ อย่างคำแก้วได้ยืนหยัดดิ้นรนต่อสู้ให้ได้ครองรักครองคู่อยู่กับทศพลชนิดข้ามภพข้ามชาติกันมานั้น กลุ่มตัวละครที่เป็นมนุษย์ทั้งหลายต่างก็ยังตามไปทำร้ายและพยายามพรากเธอและเขาออกจากกันฉากที่เราเห็นคำแก้วหรือเจ้าแม่นาคีต้องถูกทรมานทั้งด้วยแหวนพิรอดเอย ว่านพญาลิ้นงูเอย ครุฑศิลาเอย พิธีกรรมเครื่องรางของขลังอีกมากมาย จนถึงการเผาคำปองผู้เป็นมารดาของคำแก้วจนตายทั้งเป็น คงไม่ต่างจากพยานหลักฐานที่สะท้อนว่า มนุษย์เราโหดร้ายยิ่งกว่าอสรพิษอย่างงูมากมายหลายเท่านักแม้ในตอนจบ เราก็อาจจะพอเดาทางละครได้ว่า ความรักต่างเผ่าพันธุ์ระหว่างมนุษย์กับอมนุษย์เยี่ยงอสรพิษนี้ จะไม่อาจลงเอยไปได้แน่นอน แต่อย่างน้อย การได้ย้ายมามองจากจุดยืนสายตาของงูที่ถูกทารุณกรรมทั้งกายวาจาใจมาโดยตลอดนั้น ก็คงทำให้เราได้ยินเสียงเล็กๆ ของเจ้าแม่นาคีก้องอยู่ในโสตประสาทบ้างว่า ระหว่างอสรพิษเยี่ยงงูกับสิ่งมีชีวิตที่ “คอหยักๆ สักแต่เป็นคน” ใครหนอที่น่ากลัวกว่ากัน ???

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 ดวงใจพิสุทธิ์ : สิทธิแห่ง “ผ้าขาว” ที่กำลังถูกล่วงละเมิด

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้นิยามคำว่า “เด็ก” เอาไว้ว่า หมายถึง “คนที่มีอายุยังน้อย” ความหมายตามนิยามดังกล่าวอาจดูเป็นกลางๆ และง่ายต่อความเข้าใจก็จริง แต่ทว่า ในความเป็นจริงแล้ว การรับรู้ความหมายของ “เด็ก” ในทัศนะของคนทั่วไปก็มีความหลากหลายและซับซ้อนยิ่งไปกว่านั้นแม้จะเป็น “คนที่มีอายุยังน้อย” แต่ผู้ใหญ่หลายคนก็อาจให้นิยามของ “เด็ก” แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น “เด็กคือผ้าขาว” หรือ “เด็กคือความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา” หรือ “เด็กคือตัวแทนของธรรมชาติ” หรือ “เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า”อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเด็กอาจมีสถานภาพประหนึ่ง “ผ้าขาว” หรือเป็นภาพแห่ง “ความบริสุทธิ์” แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว นิยามอีกชุดหนึ่งของเด็กก็คือ กลุ่มคนในสังคมที่ถูกกระทำและล่วงละเมิดสิทธิมากที่สุด และข้อเท็จจริงที่สำคัญอีกเช่นกันก็คือ พื้นที่ที่สิทธิของเด็กถูกคุกคามอย่างเข้มข้นที่สุดก็หนีไม่พ้นพื้นที่ของครอบครัวนั่นเอง“ดวงใจพิสุทธิ์” ดูจะเป็นละครเล็กๆ แต่ร่วมสมัย ที่ฉายภาพความหมายของเด็กในฐานะ “ผ้าขาว” ซึ่งกำลังถูกล่วงละเมิดสิทธิในลักษณะดังกล่าวเอาไว้ค่อนข้างชัดเจนเนื้อเรื่องของละครอาจจะมีศูนย์กลางอยู่ที่ตัวละครเด็กผู้ “ไร้เดียงสา” ก็จริง หากแต่โครงที่ผูกเป็นเรื่องราวไว้นั้นกลับดู “เดียงสา” ยิ่งนัก โดยได้นำเสนอภาพชีวิตตัวละครเด็กชายเด็กหญิงคือ “ลูกหมี” และ “ปุ๊คกี้” ที่เรื่องราวช่วงแรกๆ มีการตัดภาพสลับกันไปมา ก่อนที่เด็กน้อยทั้งสองคนจะโคจรมาพบและเป็นเพื่อนที่คอยดูแลกันและกันในช่วงหลังในส่วนของลูกหมีนั้น เนื่องจากพ่อและแม่ของเด็กชายจอมซนมีภารกิจต้องไปรั้งตำแหน่งงานสถานทูตไทยในต่างประเทศ ลูกหมีจึงได้มาอยู่ในความดูแลของ “ชินานาง” และ “ชนนี” ผู้มีศักดิ์เป็นคุณอาและคุณย่า แม้ว่าจะมีแง่งอนงัดข้อกันบ้างระหว่างอากับหลานที่ต้องปรับตัวเข้าหากัน แต่เพราะด้วยความรักความอบอุ่นที่ทั้งคุณอาและคุณย่าต่างมอบให้อย่างเต็มที่ ลูกหมีจึงถูกฉายภาพให้เป็นตัวละครเด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่แม้จะไม่ใช่อุดมคติแบบ “พ่อแม่ลูก” แต่ก็สามารถเป็นเด็กที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขตัดสลับกับภาพที่ตรงกันข้ามของปุ๊คกี้ ที่แม้ตอนแรกจะเติบโตมาอย่างมีความสุข เพราะได้รับความรักความดูแลจาก “ภาวนา” ผู้เป็นคุณย่าและเป็นเศรษฐินีประจำจังหวัดสงขลา แต่เพราะ “ชลีกร” ป้าสะใภ้มีความโลภและอิจฉาที่ภาวนาไม่ค่อยแบ่งปันความรักมาให้กับลูกๆ ของเธอบ้าง อคติที่ครอบงำชลีกรทำให้เธอวางแผนให้พ่อแม่ของปุ๊คกี้ประสบอุบัติเหตุจนเสียชีวิต และฆาตกรรมคุณย่าภาวนาในเวลาถัดมาเมื่อขาดผู้เลี้ยงดูที่รักและเอาใจใส่ตั้งแต่พ่อแม่จนมาถึงคุณย่า จาก “ผ้าขาว” ที่เคยถูกมองว่าบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ปุ๊คกี้จึงถูกทารุณกรรมจากป้าสะใภ้ทั้งต่อกาย วาจา และจิตใจอย่างต่อเนื่องภาพฉากที่ชลีกรเอาขนมทั้งกล่องยัดใส่ปากเด็กน้อย หรือภาพฉากการข่มขู่และทำร้ายปุ๊คกี้อีกมากมายลับหลัง “สาวิตร” คุณลุงแท้ๆ ของเธอ สะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงว่า ความรุนแรงเชิงกายภาพและความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่มีต่อเด็กๆ ในสังคมไทยนั้น ส่วนใหญ่แล้วก็มักเกิดและสืบเนื่องอยู่ในสถาบันครอบครัวที่ใกล้ชิดกับชีวิตของเด็กมากที่สุดนั่นเองความรุนแรงเชิงโครงสร้างดังกล่าวนี้ แม้จะมีป้าสะใภ้อย่างชลีกรเป็นจำเลยหมายเลขหนึ่งของเรื่องราวก็ตาม แต่จริงๆ แล้ว แม้แต่ตัวคุณลุงสาวิตร หรือคุณอาแท้ๆ อย่าง “ลดามณี” เอง ก็ตกเป็นจำเลยผู้กระทำและล่วงละเมิดสิทธิของเด็กไม่แตกต่างกัน ในขณะที่สาวิตรเป็นคนที่เอาแต่บ้างาน จึงเพียงแต่สนใจแค่สอบถามความเป็นอยู่ของปุ๊คกี้จากชลีกรไปวันๆ เพื่อให้ตนเองได้สบายใจและดูดีว่าเป็นคุณลุงแสนดีผู้ปฏิบัติภารกิจดูแลหลานสาวตัวน้อยไปแล้ว ในส่วนของลดามณีเองก็ทำตัวใส่ใจรักใคร่หลานสาว เพียงเพราะต้องการใช้เด็กน้อยเป็นเครื่องมือและเป็นสะพานเชื่อมให้เธอได้ใกล้ชิดกับ “หัฏฐ์” พระเอกของเรื่องเท่านั้น หลังจากบุคลิกภาพของปุ๊คกี้เปลี่ยนแปลงจากเด็กน้อยโลกสวย มาเป็นเด็กที่เก็บกดและหวาดกลัวต่อโลกรอบตัว ชลีกรก็วางแผนหาทางผลักดันให้ปุ๊คกี้ไปอยู่ในความดูแลของหัฏฐ์และ “หทัย” ผู้เป็นน้าแท้ๆ ที่กรุงเทพแทน เพื่อเธอจะได้ยึดครองบ้านและมรดกทั้งหมดของภาวนาได้ในที่สุด เมื่อปุ๊คกี้มาอยู่กับหัฏฐ์ที่รั้วบ้านติดกันกับบ้านลูกหมีและชินานาง ก็เข้าตำราที่ร้องเป็นเพลงว่า “บ้านก็ปลูกติดกัน ปลูกติดกันพอดี เปิดหน้าต่างทุกที ทุกทีหน้าเราก็ชนกัน” เพราะฉะนั้น เด็กน้อยสองคนที่จุดเริ่มต้นให้มีเหตุต้องพลัดพรากจากพ่อแม่ไม่แตกต่างกัน ก็โคจรมาเจอและสานต่อมิตรภาพระหว่างกัน จนในที่สุดบาดแผลในจิตใจของปุ๊คกี้ก็ค่อยๆ ได้รับการเยียวยาจากคนรอบข้างและเพื่อนในวัยเดียวกันเชื่อกันว่า เด็กๆ เป็นกลุ่มสังคมที่มีวัฒนธรรมและสร้างพื้นที่การสื่อสารบางอย่างในแบบของพวกเขาเองขึ้นมา ดังนั้น เมื่อปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กเกิดเนื่องมาแต่ผู้ใหญ่ในครอบครัวของตน ความลับข้อนี้ของปุ๊คกี้จึงถูกสื่อสารถ่ายทอดมายังลูกหมีในฐานะมิตรสหายที่อยู่ในกลุ่มพื้นที่ทางสังคมวัฒนธรรมเดียวกันในฉากไคลแม็กซ์ของเรื่องที่แม้ปุ๊คกี้จะถูกอำนาจของชลีกรคุกคามจนหวาดกลัวและไม่กล้าเป็นพยานในศาล เพราะรับรู้การฆาตกรรมในครัวเรือนของตน แต่ความลับดังกล่าวก็ถูกเปิดเผยออกมาโดยมิตรแท้ที่เด็กหญิงวางใจที่สุดอย่างลูกหมี จนในที่สุดก็เป็นแรงผลักให้ปุ๊คกี้เกิดความกล้าที่จะพูดความจริงทั้งหมดที่ไม่เคยบอกให้กับบรรดาตัวละครผู้ใหญ่ ซึ่งครั้งหนึ่งเด็กหญิงแทบจะหมดความไว้เนื้อเชื่อใจไปแล้วความเข้าอกเข้าใจที่ลูกหมีกับปุ๊คกี้สานสัมพันธ์กันไว้นี้ ไม่เพียงแต่จะมีผลานิสงส์ให้หัฏฐ์กับชินานางได้มาตกหลุมรักกันจริงตามขนบของท้องเรื่องละครเท่านั้น หากแต่ยังสะท้อนให้เห็นพลังของเด็กที่แม้จะมีอำนาจน้อย แต่ก็พร้อมที่จะต่อสู้เพื่อพิทักษ์สิทธิแห่งตนซึ่งกำลังถูกละเมิดคุกคามอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันแม้ว่าเด็กๆ จะถูกนิยามว่า “มีอายุยังน้อย” แต่พวกเขาและเธอก็มีสถานะเป็น “คน” ไม่ต่างจากผู้ใหญ่ ดังนั้น เด็กๆ อย่างลูกหมีและปุ๊คกี้ จึงมี “สิทธิ” และ “ความชอบธรรม” ที่จะเรียกร้องให้ทุกคนเคารพศักดิ์ศรีตัวตน และหมุนฟันเฟืองเล็กๆ เหล่านี้ให้มี “ดวงใจพิสุทธิ์” และเป็นอนาคตของสังคมระดับใหญ่ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 188 พิษสวาท : ระหว่าง “ชาติภพ” กับ “ชาตินิยม” ในสังคม 4.0

“ชาติ” คืออะไร? หากย้อนกลับไปเมื่อก่อนหน้าสองร้อยปีที่ผ่านมานั้น คำว่า “ชาติ” ที่ชาวสยามประเทศรับรู้ในยุคดังกล่าว อาจไม่ใช่ “ชาติ” ในความหมายเดียวกับที่คนไทยในปัจจุบันกำหนดนิยามเอาไว้ในอดีตนั้น คนไทยรับรู้ความหมายของชาติว่า เป็นเรื่องของชาติภพ ซึ่งมีวัฏฏะแห่งกรรมหรือการกระทำเป็นเหตุผลอยู่เบื้องหลัง ดังนั้น มนุษย์ที่เกิดมาในชาตินี้ ก็เป็นเพราะผลแห่งกรรมที่สั่งสมไว้ในชาติปางก่อน อันเป็นกฎที่มนุษย์เราจะหลีกเลี่ยงฝ่าฝืนไปไม่ได้เลย เพราะชาติหรือภพชาติเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดไว้แล้วก่อนที่คนเราจะถือกำเนิดขึ้นมาเสียอีกจนกระทั่งในราวเกือบสองร้อยปีได้กระมัง ที่ความหมายของชาติอีกชุดหนึ่งได้ถูกสร้างขึ้นมา ชาติในทัศนะใหม่กลายเป็น “จินตกรรมร่วม” ของคนจำนวนมาก ที่จะบ่งบอกว่าตนสังกัดเป็นส่วนหนึ่งในจินตกรรมความเป็นชาตินั้นๆ เช่น เมื่อชาติต่างๆ ส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เราก็จะเห็นจินตกรรมความรักชาติปรากฏออกมาผ่านเสียงเชียร์และกำลังใจมากมายที่มีให้กับตัวแทนทีมชาติของตนด้วยเหตุฉะนี้ ชาติในความหมายดั้งเดิมกับชาติในนิยามที่ร่วมสมัย จึงมีนัยยะที่แตกต่างกัน ระหว่าง “ชาติภพ” แห่งการเวียนว่ายตายเกิด กับจิตสำนึก “ชาตินิยม” ที่คนส่วนใหญ่จินตกรรมเอาไว้ร่วมกันเมื่อก่อนนี้ผู้เขียนเองเคยเชื่อว่า นิยามความหมายของชาติสองชุดนี้ น่าจะแยกขาดกันตามโลกทัศน์ของผู้คนที่มีต่างกันในแต่ละยุคสมัย แต่เมื่อได้นั่งดูละครโทรทัศน์เรื่อง “พิษสวาท” แล้ว กลับพบว่า “ชาติภพ” กับ “ชาตินิยม” อาจจะเป็นสองสิ่งอย่างที่สามารถฟั่นเกลียวไขว้พันกันได้อย่างแนบแน่นละครผูกเรื่องราวของความรักความแค้นแบบข้ามภพชาติของตัวละคร “อุบล” หญิงสาวนางรำหลวงแห่งราชสำนัก ผู้เป็นภรรยาของ “พระอรรคราชบดินทร์” ทหารเอกมากฝีมือแห่งกรุงศรีอยุธยา และเมื่อวาระสุดท้ายของราชธานีสยามยุคนั้นมาถึง พระอรรคจำต้องลงดาบฆ่าและใช้โซ่ตรวนจองจำอุบลเอาไว้ เพื่อมอบหมายภารกิจให้เธอทำหน้าที่เป็น “ผู้เฝ้าทรัพย์แห่งแผ่นดิน” อันเป็นจุดเริ่มต้นของความแค้นที่สะสมอยู่ในดวงวิญญาณที่ของอุบล ที่ไม่เข้าใจว่าทำไมชายคนที่เธอรักมากที่สุดถึงลงทัณฑ์ทำร้ายเธอได้เยี่ยงนี้ครั้นพอมาถึงสมัยปัจจุบัน พระอรรคผู้กลับชาติมาเกิดใหม่เป็น “อัคนี” นักโบราณคดีหนุ่ม ได้เวียนว่ายมาพบกับหญิงสาวลึกลับลุคกิ้งไฮโซนามว่า “สโรชินี” ที่รู้จักกันผ่านวัตถุโบราณอย่าง “ทับทิมสีเลือด” ซึ่งถูกโจรกรรมมา ความทรงจำในชาติปางบรรพ์จึงเริ่มถูกกู้ไฟล์ขึ้นมา จนภายหลังอัคนีจึงตระหนักได้ว่า สโรชินีก็คือดวงวิญญาณของอุบลซึ่งถูกกักขังไว้ และรอคอยการแก้แค้นเขาเมื่อวัฏฏะแห่งกรรมเวียนมาบรรจบอีกครั้งหากพิจารณาจากชื่อเรื่อง “พิษสวาท” ดูเหมือนว่า ละครเรื่องนี้น่าจะมุ่งเน้นให้เราเห็นบ่วงกรรมที่ตัวละครทำเอาไว้ในชาติภพก่อน แล้วยังคงผูกพันกันเป็น “พิษ” แห่ง “สวาท” ที่ตามติดมาหลอกหลอนจนถึงในภพชาตินี้แต่อย่างไรก็ดี ในท่ามกลางกระแสที่สำนึกความเป็นชาติของคนไทยอยู่ในสภาวะง่อนแง่น และถูกแรงกระแทกจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกถาโถมเข้ามามากมาย ดังนั้น พิษรักแรงแค้นจึงอาจมิใช่เป้าหมายเดียวที่อุบลใช้อ้างเหตุจำแลงกายมาเป็นสโรชินีในชาติภพปัจจุบัน แต่ mission ของการกอบกู้ความเป็นชาติต่างหากที่เธอทนเฝ้ารอเพื่อกลับมาพบเจอกับตัวละครหลากหลายอีกครั้งในชาตินี้จากชาติภพที่มีมาตั้งแต่ก่อนยุคแอนะล็อก จนมาถึงชาตินิยมสมัยใหม่ในยุคเศรษฐกิจสังคมแบบ 4.0 นี้ จึงเป็นเรื่องปกติที่ไฟล์ความทรงจำของตัวละครซึ่งข้ามผ่านกาลเวลามาได้ถูกดีลีทไปบ้าง ติดไวรัสไปบ้าง หรือถูกแฮกเกอร์ลบข้อมูลบางอย่างออกไปบ้าง พันธกิจของอุบลจึงเป็นความพยายามกอบกู้ไฟล์ และติดตั้งโปรแกรมสำนึกชาตินิยมเข้าไปในโลกทัศน์ของตัวละครต่างๆ กันอีกครั้งไม่ว่าจะเป็นไฟล์ของนักการเมืองมือสะอาดอย่าง “อัครา” ที่ฐานข้อมูลเรื่องชาติยังไม่ได้ถูกทำลายไปมากนัก หรือคู่อริทางการเมืองผู้กังฉินอย่าง “ดนัย” ที่โปรแกรมความรักชาติทั้งรวนทั้งแฮงค์มาตั้งแต่ภพชาติก่อนจนถึงภพชาติปัจจุบัน อุบลก็ค่อยๆ ใส่โปรแกรมชาตินิยมเวอร์ชั่นล่าสุด ที่จะช่วยฟื้นฟูความทรงจำของทั้งสองคนให้สำเหนียกถึงความเสียสละตนเพื่อชาติที่กำลังอ่อนแอลงยิ่งกับตัวละครพระเอกอัคนีด้วยแล้ว ข้อมูลความทรงจำทั้งหมดของเขาดูจะถูกลบทิ้งจนกู้กลับคืนได้ลำบากมาก อุบลจึงต้องอาศัยเทคนิควิธีการอันแพรวพราวเพื่อจะดาวน์โหลดบูทเครื่องและติดตั้งโปรแกรมชาตินิยมเข้าไปในฮาร์ดดิสก์ความทรงจำของเขาเสียใหม่เมื่อต้องมาใช้ชีวิตในยุคดิจิทัล 4.0 เช่นนี้ ในหลายๆ ฉากของท้องเรื่อง เราจึงเห็นอุบลพยายามสรรค์สร้างโลกจำลองเสมือนจริงขึ้นมากระทุ้งความทรงจำของอัคนีอยู่เนืองๆ ตั้งแต่ครีเอทฉากเปิดตัวของเธอในงานอีเวนท์กันชนิดอลังการงานสร้างยิ่งนัก แทรกซึมเรื่องราวในอดีตของเธอและเขาเข้าไปในห้วงความฝันของอัคนี ไปจนถึงจัดฉากแบบ simulation ในงานแสงสีเสียงกรุงเก่า เพื่อจำลองภาพบรรยากาศสงครามช่วงเสียกรุง โดยมีบรรดาวิญญาณบรรพชนเข้าร่วมเป็นนักแสดงในฉากให้ดูสมจริงยิ่งกว่าจริงทีเดียวด้วยเหตุนี้เอง ความเป็นชาติที่เป็นจินตกรรมซึ่งเกิดขึ้นมาไม่เกินกว่าสองร้อยปี จึงถูกร้อยรัดขมึงเกลียวเข้ากับความหมายของชาติภพที่พันผูกกันผ่านบ่วงกรรมของตัวละครเอาไว้อย่างแยบยล เกินกว่าที่วิทยาศาสตร์หรือศาสตร์ใดๆ ในโลกจะหยั่งถึงได้กว่าจะถึงฉากจบที่อุบลได้ตระหนักว่า แม้แต่กับตัวเธอในฐานะเว็บมาสเตอร์ผู้กอบกู้ไฟล์ชาตินิยมอยู่นี้ โปรแกรมรุ่นเก่าของเธอก็มีเหตุให้ต้องติดไวรัสไปด้วยเช่นกัน เพราะเธอเองก็ไม่มีความทรงจำติดตั้งเอาไว้เลยว่า เหตุผลที่พระอรรคจำต้องสังหารชีวิตภรรยาอันเป็นที่รัก ก็เพียงเพื่อปกป้องหล่อนไม่ให้ตกไปอยู่ในมือของข้าศึก และมอบหมายภารกิจที่ยิ่งใหญ่ให้เป็นดวงวิญญาณบรรพสตรีที่เฝ้าสมบัติของแผ่นดินเอาไว้นั่นเองและในตอนท้ายของเรื่องอีกเช่นกัน ที่ตัวละครทุกคน รวมทั้งอัคนีและอุบล ก็ได้เรียนรู้ด้วยว่า ปัญหาการถูกจองจำอยู่ใน “พิษสวาท” หรือแรงรักแรงแค้นนั้น ก็เป็นเพียงปัญหากิเลสที่ครอบงำวิญญาณระดับปัจเจกบุคคลข้ามภพชาติเท่านั้น ต่างไปจากเรื่องสำนึกรักและเสียสละเพื่อชาติ ซึ่งเป็นปัญหาระดับส่วนรวมที่บรรพชนติดตั้งเป็นโปรแกรมอนุสสติเตือนใจเราเอาไว้ตั้งแต่ยุคก่อนที่จินตกรรมชาตินิยมจะถูกสร้างขึ้นไว้เสียอีก

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 122 ไม่ชอบใจบทละครไทย

ขอความกรุณาท่านช่วยดำเนินการบทละครทีวีไทยที่มีแต่เรื่องอิจฉาริษยา ตบจูบ ในละครทีวีช่องต่าง ๆ เดี๋ยวนี้ทำไมจึงมากมายเหลือเกินการพูดจากับพ่อแม่ใช้คำพูดกิริยาวาจาที่ไม่เหมาะสมเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีกับเยาวชน และไม่รักษาขนบธรรมเนียมที่ดีงามของสังคมไทยที่มีความเคารพ ยำเกรงผู้ใหญ่ บุพการี ละครทีวีไทยพยายามยัดเยียดกิริยา พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ใช่วิถีชีวิตคนไทย เช่น ก้าวร้าว เอะอะ ว้ายกรี๊ด อิจฉาริษยาซ้ำซาก ชอบตบหน้ากัน เห็นหรือไม่ว่าเดี๋ยวนี้เยาวชนเอาเป็นเยี่ยงอย่างมาจากสื่อละครไทยโดยเฉพาะจากทีวีดูบทละครเกาหลีที่ส่งมาบ้างสิครับส่ งออกวัฒนธรรมเข้ามาครอบงำเมืองไทยจนเป็น KPop ไปหมดแล้วใครๆ ก็อยากไปเที่ยวเกาหลี เพราะเขาฉลาดกว่า แม้แต่เรื่องกับข้าวกับปลาที่ไม่เอาไหนไม่อุดมสมบูรณ์อย่างเมืองไทยเขาก็ส่งออกมาครอบงำเราได้ ตื่นเสียบ้างเถอะครับอย่าดูถูกผู้บริโภคอีกเลยพวกท่านควรตื่นขึ้นมาดูแลบ้างได้แล้วและที่สำคัญและซ้ำซากแทบทุกบททุกตอนละครไทยทำไมต้องมีบทกระเทยมากมายนัก จนวัยรุ่นเอาอย่างกันมากมาย รีบตัดไฟเสียแต่ต้นลมก่อนที่สังคมไทยจะฟอนเฟะมากกว่านี้ ผมไม่ได้ดูละครไทยมานานแล้วเพราะมีการออกอากาศพวกนี้ วี้ดว้าย ก้าวร้าว ตบ จูบ พูดจาไม่เหมาะสมกับบุพการี อิจฉาริษยา ลูกๆ ผมยังไม่แนะนำให้ดูละครพวกนี้ ทั้งที่อยากสนับสนุนกิจการคนไทยแต่รับไม่ไหวจริง ๆ ช่วยรีบดำเนินการด้วย แนวทางแก้ไขปัญหา เป็นข้อร้องเรียนทางออนไลน์จากผู้บริโภคที่ใช้นามว่า “สมบัติ” ซึ่งต้องขอบพระคุณมากครับที่ช่วยเปิดประเด็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคด้านสื่อขึ้นมาขอแจ้งความคืบหน้าว่า ขณะนี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เปิดตัวโครงการกลไกคุ้มครองผู้บริโภคสื่อภาคประชาชนขึ้น ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กลไกการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อภาคประชาชนนี้ จะทำหน้าที่สนับสนุนส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความตื่นตัว รู้เท่าทันสื่อ และร่วมรณรงค์ให้มีการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการผลิตสื่อที่เกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริงโดยกลไกคุ้มครองผู้บริโภคสื่อภาคประชาชน ประกอบไปด้วยเครือข่ายผู้บริโภครวม 11 จังหวัดในพื้นที่ 5 ภาค คือ นอกจากกรุงเทพมหานครแล้ว ยังประกอบด้วย ภาคเหนือ ได้แก่ ลำปาง เชียงราย ภาคใต้ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ตรัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด ภาคกลางและตะวันออก ได้แก่ สระบุรี ตราด และ ภาคตะวันตก ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรีการดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อในรูปของพลังประชาชนเช่นนี้ นับเป็นทางออกที่สำคัญซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็น เหยื่อ หรือได้รับผลกระทบจากการนำเสนอเนื้อหาสาระของสื่อในด้านที่มีพิษภัยได้ง่ายเกินไปถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงสำหรับผู้บริโภคที่สนใจในการคุ้มครองสิทธิด้านสื่อ หากพบเจอปัญหาการละเมิดสิทธิของสื่อเรื่องใด ให้ส่งข้อร้องเรียนมาได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือจะเข้าไปแลกเปลี่ยนข้อมูลทางออนไลน์ได้ที่ www.consumerthai.org/e-mouth/ หรือที่ Face Book “ซอกแซกสื่อ” ยินดีต้อนรับทุกท่านครับ

อ่านเพิ่มเติม >