เครือข่ายผู้บริโภคภาคเหนือร่วมกับฉลาดซื้อ เผยผลทดสอบวัตถุกันเสียในผลิตภัณฑ์หมูยอ

        เครือข่ายผู้บริโภคภาคเหนือร่วมกับฉลาดซื้อ เผยผลทดสอบวัตถุกันเสียในผลิตภัณฑ์หมูยอส่วนใหญ่ปลอดภัย เหมาะซื้อเป็นของฝาก         นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์หมูยอที่วางจำหน่ายตามตลาดสด ร้านขายของฝากในจังหวัดภาคเหนือ และไฮเปอร์มาร์เก็ตในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 30 ตัวอย่าง เมื่อเดือนกันยายน 2563 ส่งตรวจวิเคราะห์ปริมาณวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) และ กรดซอร์บิก (Sorbic acid)         สรุปผลการทดสอบ พบว่า มีผลิตภัณฑ์หมูยอ จำนวน 3 ตัวอย่าง ที่ตรวจไม่พบสารกันบูดทั้งสองชนิดเลย ได้แก่ 1) บิ๊กซี หมูยอ (หมูผสมไก่) จาก บิ๊กซี สาขาสุขสวัสดิ์ จ.สมุทรปราการ 2) บ้านไผ่ หมูยอ (หมูผสมไก่) จาก บิ๊กซี สาขาสุขสวัสดิ์ จ.สมุทรปราการ  และ 3) ส.ขอนแก่น หมูยอ (หมูผสมไก่) จาก บิ๊กซี สาขาสุขสวัสดิ์ จ.สมุทรปราการ     มีผลิตภัณฑ์หมูยอ จำนวน 4 ตัวอย่าง ที่ตรวจพบกรดซอร์บิกแต่ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน ได้แก่        1)  เอโร่ aro จาก สยามแม็คโคร สาขาสามเสน กรุงเทพฯ พบปริมาณกรดซอร์บิก เท่ากับ 6.34 มก./กก.        2)  เซฟแพ็ค Savepak จาก สยามแม็คโคร สาขาสามเสน กรุงเทพฯ พบปริมาณกรดซอร์บิก เท่ากับ 6.68 มก./กก.        3)  444 ตองสี่ จาก ร้านตองสี่ ต.ต๋อม อ.เมือง จ.พะเยา พบปริมาณกรดซอร์บิก เท่ากับ 860.23 มก./กก.         4)  ป้าปี๋ (ขนาดใหญ่ ซองสีแดงเหลือง)  พบปริมาณกรดซอร์บิก เท่ากับ  883.96 มก./กก.         และมีผลิตภัณฑ์หมูยอ จำนวน 1 ตัวอย่าง ที่ตรวจพบกรดซอร์บิกเกินเกณฑ์มาตรฐาน ได้แก่ หมูยอ พญาลอ ตลาดแม่ทองคำ จ.พะเยา พบปริมาณกรดซอร์บิก 1,652.41 มก./กก.        นางสาวพวงทอง ว่องไว ผู้ประสานงานองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ กล่าวว่า “ การเก็บตัวอย่างหมูยอ ครั้งนี้เราสุ่มเก็บตัวอย่างหมูยอที่วางจำหน่ายตามตลาดสด ร้านขายของฝากในพื้นที่ภาคเหนือ ได้รับความร่วมมือจาก จังหวัด ได้แก่ พะเยา, แพร่, เชียงราย, สำปาง, ลำพูน และเชียงใหม่ และไฮเปอร์มาร์เก็ตในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมจำนวน 30 ตัวอย่าง มีเพียง 1 ตัวอย่างที่พบปริมาณสารกันบูดเกินเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งทางเครือข่ายภาคเหนือที่เป็นผู้สุ่มเก็บตัวอย่าง หลังจากทราบผลการวิเคราะห์ไม่ได้นิ่งนอนใจ จัดประชุมหารือกับสำนักงานสาธารณสุขภาคเหนือถึงแนวทางการปรับปรุงผลิตภัณฑ์หมูยอให้ปลอดจากสารปนเปื้อน เพื่อความปลอดภัยกับผู้บริโภคในพื้นที่และเป็นของฝากในช่วงวันหยุดสงกรานต์นี้ ”         นอกจากนี้นิตยสารฉลาดซื้อสังเกตว่า โดย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการใช้ และอัตราส่วนของวัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 2) ตามบัญชีหมายเลข 1 แนบท้ายประกาศฯ ได้กำหนดปริมาณสูงสุดของวัตถุกันเสียประเภทกรดซอร์บิก ในหมวดอาหารประเภทผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดและผ่านกรรมวิธีไว้ โดยอนุญาตให้ใช้ได้ไม่เกิน 1500 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม         ทั้งนี้ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) ไม่ได้กำหนดปริมาณของวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก ในอาหารประเภทหมูยอไก่ยอ ลูกชิ้น (เนื้อวัว,เนื้อหมู,เนื้อไก่) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดทำให้สุกโดยใช้ความร้อนเอาไว้ ดังนั้นตามข้อกำหนดจึงไม่สามารถใช้วัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิกในผลิตภัณฑ์หมูยอได้         จากการสังเกตเรื่องการแสดงข้อมูลการใช้วัตถุกันเสียบนฉลากผลิตภัณฑ์ พบว่า ตัวอย่างผลิตภัณฑ์หมูยอทั้ง 27 ตัวอย่างที่ตรวจพบวัตถุกันเสีย มีเพียง 11 ตัวอย่างเท่านั้น (ร้อยละ 40.74) ที่แสดงข้อมูลการใช้วัตถุกันเสียบนฉลากผลิตภัณฑ์         จากการสังเกตข้อมูลวันผลิตและวันหมดอายุบนฉลากผลิตภัณฑ์ พบว่า ตัวอย่างผลิตภัณฑ์หมูยอทั้ง 30 ตัวอย่าง มีเพียง 10 ตัวอย่างเท่านั้น (ร้อยละ 33.33) ที่แสดงข้อมูลวันผลิตหรือวันหมดอายุ ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์หมูยอบางตัวอย่างที่วางจำหน่ายในตลาดสด หรือร้านของฝาก ซึ่งไม่ได้มีการระบุวันผลิต วันหมดอายุ อาจเนื่องมาจากเป็นสินค้าที่ผู้ปรุงเป็นผู้จำหน่ายแก่ผู้บริโภคโดยตรง แบบวันต่อวัน         จากการตรวจสอบข้อมูลเลขสารบบอาหาร พบว่า เลข อย.ที่แสดงบนฉลากผลิตภัณฑ์หมูยอบางตัวอย่าง ตรวจไม่พบข้อมูลในระบบฐานข้อมูลบนเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ มีชื่อผลิตภัณฑ์ หรือ สถานที่ผลิต ไม่ตรงกับในระบบฐานข้อมูล        ข้อแนะนำในการบริโภค หากเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ของฝากจำพวกหมูยอไก่ยอ ลูกชิ้น ไส้อั่ว ในเบื้องต้นผู้บริโภคอาจสังเกตข้อมูลบนฉลากสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อว่ามีข้อความ “ไม่ใช้วัตถุกันเสีย” หรือไม่ โดยหากไม่มีการแสดงข้อมูลการใช้วัตถุกันเสียบนฉลาก อาจเป็นสินค้าที่ผลิตและจำหน่ายแบบวันต่อวัน ซึ่งแม่ค้าปรุงและนำมาขายเอง ก็ให้สอบถามจากแม่ค้าดูว่ามีการใช้สารกันบูดหรือไม่         นอกจากนี้ การบริโภคผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ในปริมาณที่พอเหมาะและไม่บ่อยครั้งจนเกินไป เป็นการหลีกเลี่ยงการสะสมสารกันบูดและวัตถุเจือปนอาหารประเภทอื่นๆ อีกด้วย        อ่านผลทดสอบเพิ่มเติมได้ที่ www.chaladsue.com/article/3555

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 ใช้แปรงสีฟันไฟฟ้าดีไหม

        แปรงสีฟันไฟฟ้าถูกผลิตขึ้นเพื่อใช้กับผู้ที่ไม่สามารถแปรงฟันแบบปกติได้ เช่น ใช้มือหรือแขนได้ไม่คล่อง กล้ามเนื้อบ่าไหล่มีปัญหา ผู้สูงวัย ฯลฯ  เรียกว่าเป็นตัวช่วยเพื่อให้แปรงฟันได้สะดวกขึ้น ต่อมาแปรงสีฟันไฟฟ้าได้ถูกพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ใช้งานได้สะดวกมากขึ้นทั้งในผู้ที่มีปัญหาและคนปกติ โดยลดจุดอ่อนของมันหลายอย่าง เช่น ความเทอะทะ ด้ามจับ แบตเตอรี เพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งานที่น่าสนใจ รวมทั้งจุดอ่อนสำคัญคือราคาที่แพงมากๆ ซึ่งปัจจุบันราคาของแปรงสีฟันไฟฟ้านั้นเริ่มถูกลงมาก มีหลายแบรนด์พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อแข่งขันเอาใจผู้บริโภคทำให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นโดยมีตั้งแต่ราคาระดับหลักร้อยถึงหมื่น จึงมีผู้ให้ความสนใจต้องการใช้งานเพิ่มมากขึ้น ลองมาดูกันว่า ถ้าจะเลือกใช้แปรงสีฟันไฟฟ้าต้องพิจารณาเรื่องใดบ้าง วิธีการใช้งาน        หลักการทำงานของแปรงสีฟันไฟฟ้าจะใช้ระบบสั่นในการทำความสะอาด เมื่อเริ่มใช้งานเปิดสวิตช์หัวแปรงจะหมุนขนแปรงโดยอัตโนมัติ ผู้ใช้เพียงวางหัวแปรงหรือจ่อเบาๆ ที่ผิวฟันสักพักหนึ่งแล้วเลื่อนไปทีละซี่ เรื่อยๆ จนกว่าจะทำความสะอาดฟันครบทุกซี่และทุกด้านในช่องปาก ตรงนี้จะเป็นเรื่องของความสะดวกหรือความชอบบางคนอาจรู้สึกดี แต่บางคนอาจชอบแบบการแปรงด้วยแปรงสีฟันธรรมดาซึ่งเราจะสามารถควบคุมความหนักเบาในการแปรงได้ตามใจ ประสิทธิภาพการดูแลสุขภาพฟัน        จากการศึกษางานวิจัยกว่า 30 ชิ้น ที่เปรียบเทียบประสิทธิภาพในการขจัดคราบจุลินทรีย์และป้องกันโรคเหงือกของแปรงสีฟันธรรมดากับแปรงสีฟันไฟฟ้าพบว่า โดยทั่วไปไม่พบความแตกต่างมากนัก         อย่างไรก็ตามการใช้แปรงสีฟันไฟฟ้าสามารถช่วยทำให้หินปูนขึ้นที่ผิวฟันได้น้อยลง เนื่องจากปกติผิวฟันมีประจุเป็นลบ หินปูนมีประจุเป็นบวกหินปูนจึงยึดติดกับผิวฟัน การใช้แปรงสีฟันไฟฟ้าจะไปเปลี่ยนผิวฟันให้มีประจุเป็นบวกหินปูนจึงขึ้นที่ผิวฟันได้น้อยลง ลูกเล่นหรือฟังก์ชันการใช้งานเสริม         แน่นอนว่าแปรงสีฟันไฟฟ้าจะมีมากกว่า ทั้งระบบการแจ้งเตือนเรื่องเวลาในการทำความสะอาดฟันแต่ละซี่ หรือแจ้งเมื่อผู้ใช้ลงน้ำหนักมือมากเกินไป หรือระบบพ่นน้ำขนาดเล็กที่เพิ่มมาเพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์ เศษอาหารในซอกฟัน ฟังก์ชันมากน้อยขึ้นอยู่กับราคาของผลิตภัณฑ์ ยิ่งมีฟังก์ชันเพิ่มขึ้นราคายิ่งแพงขึ้น ข้อควรคำนึงในการซื้อแปรงสีฟันไฟฟ้า         เลือกรุ่นและราคาที่เหมาะกับการใช้งาน โดยพิจารณาเรื่อง ระบบการสั่นของหัวแปรง รอบระยะเวลาการเปลี่ยนหัวแปรง ความแข็งแรง(เคยมีกรณีหัวแปรงหลุดขณะใช้งาน) แบตเตอรีเป็นแบบชาร์ตหรือแบบใช้ถ่าน ประสิทธิภาพความจุของแบตเตอรี รอบการใช้งานต่อการชาร์ตหนึ่งครั้ง ส่วนเรื่องฟังก์ชันพิเศษ ขึ้นอยู่กับกำลังซื้อและความชอบส่วนบุคคล         การใช้แปรงสีฟันไฟฟ้าแน่นอนว่า ค่าใช้จ่ายจะแพงกว่าแปรงสีฟันธรรมดา ดังนั้นก็แล้วแต่ดุลพินิจและกำลังทรัพย์มากน้อยของผู้ซื้อแปรงสีฟัน

อ่านเพิ่มเติม >

สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย แนะ อ่านฉลากก่อนบริโภคอาหารจานด่วนแบบแช่แข็ง เลี่ยงภาวะเสี่ยงไตวาย

        วันนี้ (26 มกราคม 2564 ) สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย  และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ภายใต้โครงการติดตามปริมาณโซเดียมในอาหารพร้อมบริโภคและกึ่งสำเร็จรูปเพื่อการรณรงค์ลดเค็ม ลดโรค สุ่มสำรวจอ่านฉลากค่าโซเดียมกลุ่มอาหารจานหลัก แบบแช่เย็น แช่แข็ง  สำหรับอุ่นร้อนพร้อมรับประทาน จำนวน 53 ตัวอย่าง ได้จัดแถลงข่าวเพื่อผลักดันให้ผู้บริโภครู้เท่าทันการอ่านฉลากและเตือนอ่านฉลากก่อนเลือกบริโภคเพื่อเลี่ยงภาวะเสี่ยงไตวาย          นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแถลงข่าวในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ หนึ่ง เพื่อผลักดันให้ผู้บริโภคเห็นความสำคัญของการอ่านฉลากก่อนเลือกบริโภคเพื่อเลี่ยงภาวะเสี่ยงไตวาย สอง เพื่อโน้มน้าวให้ผู้ประกอบการลดปริมขาณโซเดียมในกลุ่มอาหารจานด่วนแบบแช่เย็น แช่แข็ง และสาม เพื่อให้เกิดการแก้ไขกฎหมายหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการลดปริมาณโซเดียมในกลุ่มอาหารแบบแช่เย็น แช่แข็ง เพราะเป็นอาหารสะดวกซื้อ ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย รวมไปถึงสนับสนุนให้เกิดมาตรการของรัฐเกี่ยวกับการเก็บภาษีโซเดียม เน้นสร้างแรงจูงใจในการปรับสูตรอาหารในทางธุรกิจด้วย          ศศิภาตา ผาตีบ ผู้สำรวจและนักวิจัย สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การสุ่มสำรวจฉลากโภชนาการครั้งนี้ ทางสมาคมฯ เริ่มเก็บตัวอย่างระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน - วันที่ 18 ธันวาคม 2563 โดยมีตัวอย่างอาหารมื้อหลัก แบบแช่เย็น แช่แข็งสำหรับอุ่นร้อนพร้อมรับประทานจำนวน 53 ตัวอย่าง แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1.กลุ่มอาหารจานด่วน ได้แก่ ผัดไทย ข้าวผัดปู ข้าวผัดกะเพรา จำนวน 35 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 450 – 1,390 มิลลิกรัม 2. กลุ่มอาหารอ่อน ได้แก่ ข้าวต้มหมู เกี๊ยวกุ้ง โจ๊กหมู จำนวน 15 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 380 – 1,340 มิลลิกรัม และ 3.กลุ่มขนมหวาน ได้แก่ บัวลอยมันม่วงมะพร้าวอ่อน สาคูถั่วดำมะพร้าวอ่อน บัวลอยเผือก จำนวน 3 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 210 – 230  มิลลิกรัม          รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ  อาจารย์แพทย์ประจำสาขาวิชาโรคไต คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม  กล่าวว่า คนไทยกินเค็มเกินความต้องการของร่างกายถึงเกือบ 2 เท่า เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ โดยปัจจุบันสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก คือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (กลุ่มโรค NCDs) ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม จากผลงานวิจัยล่าสุดที่ได้รับการพิมพ์ในวารสาร Journal of Clinical Hypertension ชื่อ Estimated dietary sodium intake in Thailand: A nation-wide population survey with 24-hour urine collections (J Clin Hypertens. 2021;00:1-11.) ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่างประชาชน 2,388 คน จากทุกภาคทั่วประเทศไทย พบว่า  ค่าปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยในประชาชนไทยเท่ากับ 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเท่ากับเกลือถึง 1.8 ช้อนชา ขณะที่ องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน นอกจากนี้ ผลการวิจัย พบ ปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยสูงที่สุดในประชากรภาคใต้ จำนวน 4,108 มก./วัน รองลงมา คือ ภาคกลาง จำนวน 3,760 มก./วัน อันดับสาม คือ ภาคเหนือ จำนวน 3,563 มก./วัน อันดับสี่ คือ กรุงเทพมหานคร จำนวน 3,496 มก./วัน และ อันดับสุดท้าย คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน  3,316 มก./วัน ตามลำดับ          รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่มาของการได้รับโซเดียมนั้นมาจากหลายแหล่งในกลุ่มอาหารที่รับประทานเข้าไป ทั้งจากอาหารที่ปรุงขึ้นมาและโซเดียมที่ได้รับมาตามธรรมชาติ ซึ่งโซเดียมส่วนมากพบเครื่องปรุง เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊วขาว ปลาร้า กะปิ น้ำพริกต่าง ๆ หรือเกลือจากการถนอมอาหาร นอกจากนี้ยังมีโซเดียมแฝงที่ไม่เค็ม ได้แก่ ผงชูรสหรือโมโนโซเดียมกลูตาเมต ซุปก้อน รวมถึงผงฟูที่ใส่ขนมปัง หรือ เบเกอรี่ต่าง ๆ และจากการสำรวจของเครือข่ายลดบริโภคเค็ม หรือจากภาครัฐโดยกรมควบคุมโรค หรือแม้แต่การสำรวจของภาคเอกชน (Nielsen) พบข้อมูลตรงกันว่า คนไทยรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น โดยพึ่งพาอาหารอาหารแช่เย็น แช่แข็ง อุ่นร้อนพร้อมรับประทาน จากร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต จากเดิมประมาณร้อยละ 20 เพิ่มเป็นร้อยละ 25 เและอีกร้อยละ 40 ทานอาหารข้างทาง ตลาดนัด ร้านข้าวแกงมากขึ้น          “การสำรวจในครั้งนี้ถือเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการเลือกชนิดหรือประเภทของอาหารแช่เย็นแช่แข็งพร้อมบริโภคอย่างมาก และหากผู้ผลิตสามารถปรับสูตรลดโซเดียมหรือเกลือที่ใส่ลงไปในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปลงได้ ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกัน คือ ผู้ผลิตสามารถลดต้นทุนลงได้ อาจจะทำให้ขายดีขึ้นด้วย ผู้บริโภคก็ลดปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรค NCDs ซึ่งเมื่อลดการเจ็บป่วยได้ ประเทศก็สามารถช่วยชาติประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้ เช่น ในบางประเทศฮังการี ผู้ประกอบการที่มีการปรุงอาหารให้มีรสเค็มน้อย จะได้รับการยกเว้นเสียภาษี” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว        มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มพบ. ได้มีการผลักดันนโยบายเรื่องฉลากสีสัญญาณไฟจราจร เขียว เหลือง แดง บนฉลากอาหาร เพื่อเป็นทางเลือกในการตัดสินใจซื้อโดยการอ่านฉลากผลิตภัณฑ์อาหารที่เข้าใจง่ายสำหรับผู้บริโภค ซึ่งสอดคล้องกับสิทธิผู้บริโภคสิทธิที่จะได้รับข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีแอปพลิเคชันฟู้ดช้อยส์ (FoodChoice) ซึ่งเป็นแอปที่ให้ผู้บริโภคสแกนบาร์โค้ดของผลิตภัณฑ์ที่ต้องการรับประทานหรืออยากทราบข้อมูล เมื่อสแกนแล้วจะมีข้อมูลบนฉลากโภชนาการที่ถูกแสดงในรูปแบบสีเขียว เหลือง แดงเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถข้าใจได้ง่าย และช่วยในการตัดสินใจ เปรียบเทียบและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว โดยมีการจัดเรียงข้อมูลผลิตภัณฑ์ตามเกณฑ์ เช่น พลังงาน น้ำตาล โซเดียม ไขมัน ไขมันอิ่มตัว และโปรตีน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะเดินหน้าพลักดันเรื่องฉลากสีสัญญานไฟจราจร เขียว เหลือง แดง บนฉลากอาหาร ให้เป็นกฎหมายที่บังคับใช้จริงต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 เปลี่ยนแปลงด้วยการเปลี่ยนแปรงสีฟันให้บ่อยขึ้น

        สารภาพมาเถอะว่า คุณจำไม่ได้ละว่าเปลี่ยนแปรงสีฟันครั้งล่าสุดเมื่อไร เพราะคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและทันตแทพย์จะย้ำเสมอว่า เปลี่ยนทุกสามเดือน แต่จะมีกี่คนที่ทำตามคำแนะนำนั้น ส่วนใหญ่ก็รอจนแปรงสีฟันบาน...ปลาย ทั้งนี้ทั้งนั้นเกิดจากความเสียดายนั่นเอง (ก็ของมันยังใช้ได้) แต่ถ้าต้องการถนอมเงินจริงๆ สู้เปลี่ยนแปรงสีฟันให้บ่อยหรือตามคำแนะนำของทันตแพทย์จะช่วยประหยัดมากกว่า เพราะเท่ากับป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพฟัน ที่รู้กันว่าค่ารักษาไม่ถูกเลย         ถ้าเฉลี่ยว่าคุณแปรงฟันวันละสองครั้ง ตลอดเวลาสามเดือนเท่ากับแปรงของคุณผ่านการใช้งานมาเเล้วกว่า 180 ครั้ง เคยมีการส่องกล้องขยายเพื่อดูสภาพของขนแปรงก็พบว่ามันเสื่อมสภาพสุดๆ ซึ่งอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคแม้จะเหมือนว่าเราล้างแปรงสะอาดแล้วก็ตาม หลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้ คือการใช้แปรงสีฟันเก่าซ้ำๆ จะมีผลต่อเหงือกและฟัน แน่นอนว่าสภาพแปรงที่เสื่อมประสิทธิภาพในการขจัดสิ่งสกปรก คราบพลัค เศษอาหารตามผิวฟันเเละร่องฟันจะลดลง ขนแปรงที่บานจะทำให้เกิดผลเสียบางอย่างตามมาเช่น เหงือกอักเสบ บวมแดง หรือมีเลือดออกระหว่างแปรงฟัน          การเลือกซื้อแปรงสีฟัน         1.ขนาดของหัวแปรง หัวแปรงสีฟันสำหรับผู้ใหญ่ควรมีขนาดกว้างประมาณ ½ -1 นิ้ว และความยาวประมาณ 1 นิ้ว เพราะขนาดหัวแปรงที่ใหญ่เกินไปอาจทำความสะอาดในบริเวณที่ยากจะเข้าถึงได้ไม่หมดจด         2.ขนแปรง มีความอ่อนนุ่ม ปลายขนแปรงโค้งมนเล็กน้อย ซึ่งวัสดุที่ใช้ตั้งแต่ชนิดอ่อนนุ่ม, ชนิดนุ่มพิเศษ ชนิดปานกลาง ขนแปรงที่เหมาะสมในการใช้งานสำหรับผู้ใหญ่ควรผลิตจากไนลอน พีบีที (Polybutylene Terephthalate: PBT) หรือวัสดุที่ระบุคุณสมบัติเทียบเท่า ขนแปรงที่มีความแข็งอาจสร้างความเสียหายให้กับเหงือก รากฟัน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของฟันแต่ละบุคคลรวมถึงวิธีแปรงฟันด้วย         3.แปรงสีฟันไฟฟ้าดีกว่าไหม ขึ้นอยู่กับบุคคลและความชอบส่วนตัว เพราะแปรงสีฟันไฟฟ้ามีราคาค่อนข้างสูงกว่าแปรงสีฟันธรรมดา อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายเสริมในขณะใช้งานตามมา เช่น หัวแปรง แบตเตอรี่หรือถ่านไฟฉาย แม้สะดวกสบายกว่าแต่ราคาไม่ธรรมดา ส่วนผลการใช้งานไม่แตกต่างกันมากนัก ขึ้นอยู่กับวิธีแปรงฟันมากกว่า         4.แปรงสีฟันสำหรับเด็ก หัวแปรงและด้ามมีขนาดเหมาะสมตามอายุของเด็ก ขนแปรงอ่อนนุ่ม หลายยี่ห้อได้รับการรับรองจากหน่วยงาน ถือเป็นทางเลือกหนึ่ง         การทำความสะอาดและเก็บรักษาแปรงสีฟัน        · ควรล้างแปรงสีฟันให้สะอาดทุกครั้งก่อนการเก็บ        · การวางแปรงสีฟันในที่เก็บหรือภาชนะต่างๆ ควรวางในลักษณะตั้งแปรงขึ้นให้หัวแปรงอยู่ด้านบน        · ที่สำหรับวางแปรงควรมีอากาศถ่ายเทสะดวก และควรมีลมพัดผ่านเพื่อให้ขนแปรงแห้ง        · ไม่ควรเก็บแปรงไว้ในกล่องแบบมิดชิด เพราะอาจจะมีส่วนทำให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตได้         ลองเช็คดูว่าแปรงของคุณเริ่มเสื่อมเเล้วหรือยัง สังเกตจากรูปร่างขนแปรงที่เปลี่ยนไป แปรงสีฟันที่ใช้งานนานๆ จะเริ่มมีปลายขนแปรงที่บาน มีสีแปรงเริ่มเปลี่ยนไป บางทีไม่ถึงสามเดือนถ้าสภาพไม่ไหวก็เปลี่ยนเถอะ และทุกๆ ครั้งที่ป่วย เป็นหวัด เป็นไข้ แผลในปากหรือแม้แต่อาการเจ็บคอ ก็ควรจะเปลี่ยนแปรงสีฟันทันทีเพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรียต่างๆ ที่ยังคงค้างอยู่บนแปรงสีฟัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 ผลทดสอบวัตถุเจือปนอาหารผลิตภัณฑ์ไส้กรอกแดง

        ไส้กรอกเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ซึ่งยังเป็นที่นิยมเสมอไม่เคยเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้อหรือตลาดนัด ตลาดหน้าโรงเรียน ย่านชุมชนหรือในที่ที่มีการชุมนุมของคนหมู่มาก เราจะพบว่ามีไส้กรอกหลากหลายประเภทถูกขายอยู่ โดยเฉพาะตัวท็อป “ไส้กรอกแดง” ที่มีส่วนผสมหลักจากเนื้อสัตว์ (หมู ไก่)  แป้ง เครื่องเทศ เครื่องปรุงรส และวัตถุเจือปนอาหารต่างๆ หลายคนชื่นชอบเพราะว่า อร่อย ไม่ว่าจะนำมาย่างหรือบั่งเป็นแฉกแล้วนำลงทอดในน้ำมันด้วยไฟอ่อนๆ จนไส้กรอกพองโตสวยงามให้เนื้อสัมผัสกรอบนอกนุ่มใน ยิ่งราดด้วยน้ำจิ้มรสเด็ดเผ็ดหวาน ก็ยิ่งทำให้ไส้กรอกแดงที่เพิ่งทอดเสร็จใหม่ๆ นั้นอร่อยขึ้นไปอีก         เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไส้กรอกแดงที่มีส่วนผสมจากเนื้อไก่ จำนวนทั้งหมด 8 ตัวอย่าง จากตลาดสดและไฮเปอร์มาร์เก็ตในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในเดือนตุลาคม 2563 นำส่งตรวจวิเคราะห์ปริมาณวัตถุเจือปนอาหารประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic acid), กรดซอร์บิก (Sorbic acid), ไนเตรท (Nitrate) และ ไนไตรท์ (Nitrite) ซึ่งเป็นวัตถุเจือปนอาหารที่ใช้เป็นสารกันเสีย สารคงสภาพของสี รวมถึงใช้เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียบางชนิด ว่าเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดไว้หรือไม่ เป็นการเฝ้าระวังความปลอดภัยของสินค้าให้กับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้ฉลาดซื้อเคยสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ประเภทไส้กรอกมาทดสอบแล้วใน ฉบับที่ 181 (เดือนมีนาคม 2559) และ ฉบับที่ 128 (เดือนตุลาคม 2554)สรุปผลทดสอบ         ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 ออกตามความใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการใช้ และอัตราส่วนของวัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 2) ได้อนุญาตให้ใช้กรดซอร์บิก (Sorbic Acid) ซึ่งเป็นสารกันเสีย ในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดและผ่านกรรมวิธี ได้ไม่เกิน 1500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามใช้ร่วมกับสารกันเสียในกลุ่มไนไตรท์         สารกลุ่มไนไตรท์ (INS 249 INS 250) ซึ่งเป็นสารคงสภาพของสีและสารกันเสีย ในหมวดอาหารประเภทเนื้อสัตว์บดทำให้สุกโดยใช้ความร้อน เช่น ไส้กรอกชนิดต่าง ๆ เช่น ไส้กรอกไก่เวียนนา ไส้กรอกหมูรมควัน ไส้อั่ว ในปริมาณไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และห้ามใช้ร่วมกับสารกันเสียในกลุ่มซอร์เบต         ทั้งนี้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 ก็ไม่ได้มีเกณฑ์กำหนดให้ใช้วัตถุกันเสียประเภท กรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) ในหมวดอาหารประเภทผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดทำให้สุกโดยใช้ความร้อน เช่น หมูยอ ไก่ยอ ลูกชิ้น (เนื้อวัว, หมู, ไก่) หรือ ไส้กรอกชนิดต่างๆ ที่ทำจากเนื้อสัตว์บด จากผลการทดสอบพบว่า         มีตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไส้กรอกแดง 1 ตัวอย่าง ตรวจพบไนไตรท์เกินเกณฑ์ที่มาตรฐานกำหนด ไปเล็กน้อยคือ ยี่ห้อ CK ไส้กรอกแดง สูตรทอดกรอบ (วันผลิต/วันหมดอายุ 08-10-20 / 06-11-20) ตรวจพบปริมาณไนไตรท์ เท่ากับ 80.18 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (เกณฑ์ที่กำหนด คือ ต้องไม่เกิน 80 มก./กก.)         พบกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) จำนวน 1 ตัวอย่าง ยี่ห้อ หมูสามตัว (วันผลิต/วันหมดอายุ 10-10-20 / 24-10-20) ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก 119.91 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม                 ข้อแนะนำในการบริโภค         หากผู้บริโภคเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์แปรรูปประเภทลูกชิ้น หมูยอ หรือไส้กรอกแดง ในเบื้องต้นอาจสังเกตสีของไส้กรอกที่ไม่จัดจนเกินไป และสังเกตข้อมูลบนฉลากสินค้าว่ามีข้อความ “ไม่ใช้วัตถุกันเสีย” หรือไม่ โดยหากเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีการใช้วัตถุกันเสียเลยก็จะเป็นการดี นอกจากนี้ การบริโภคผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ในปริมาณพอเหมาะและไม่บ่อยครั้งจนเกินไป ยังเป็นการหลีกเลี่ยงการสะสมสารกันบูดและวัตถุเจือปนอาหารประเภทอื่นๆ อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 ผลทดสอบวัตถุกันเสียในผลิตภัณฑ์หมูยอ

นอกจากแคบหมูกับน้ำพริกหนุ่มที่เป็นของฝากยอดฮิตของเมืองเหนือแล้ว หมูยอก็เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งที่นักท่องเที่ยวนิยมซื้อเป็นของฝากเช่นกัน โดยก่อนนี้ ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 221 เดือนกรกฎาคม 2562 ได้ทดสอบสารกันบูดในน้ำพริกหนุ่มกันไปแล้ว ฉบับนี้จึงขอเก็บผลิตภัณฑ์หมูยอนำมาทดสอบกันบ้าง หลังจากที่เคยเก็บตัวอย่างหมูยอมาทดสอบเมื่อ 11 ปีที่แล้ว ในฉบับที่ 95 (เดือนมกราคม 2552)        หมูยอเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปที่พร้อมนำมาปรุงอาหารได้ง่ายๆ เหมือนกับลูกชิ้นและไส้กรอก มีส่วนประกอบสำคัญ ได้แก่ เนื้อหมู, แป้งมันสำปะหลัง, เกลือ, พริกไทย และเครื่องปรุงรส หมูยอนิยมนำไปทำเมนูอาหารได้หลากหลาย จัดเป็นอาหารประเภทเนื้อสัตว์แปรรูปที่ได้รับความนิยมมากอีกชนิดหนึ่งเช่นกัน ผลิตภัณฑ์หมูยอที่วางจำหน่ายทั่วไปตามท้องตลาด มีทั้งแบบห่อด้วยใบตองเพื่อเพิ่มกลิ่นหอม และมีแบบห่อบรรจุภัณฑ์พลาสติกใสที่สามารถเห็นชิ้นหมูยอได้ชัดเจน เรื่องความอร่อยขึ้นอยู่กับรสนิยม แต่ในเรื่องความปลอดภัยจากวัตถุเจือปนอาหารอย่างเช่น สารกันบูดหรือวัตถุกันเสียนั้น ฉลาดซื้ออาสาทดสอบให้ผู้บริโภคได้ทราบกันในฉบับนี้         นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ จึงสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์หมูยอที่วางจำหน่ายตามตลาดสด ร้านขายของฝากในจังหวัดภาคเหนือ และไฮเปอร์มาร์เก็ตในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 30 ตัวอย่าง ส่งตรวจวิเคราะห์ปริมาณวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) และ กรดซอร์บิก (Sorbic acid) ว่าเป็นไปตามเกณฑ์ข้อกำหนดของทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือไม่ สรุปผลการทดสอบ         จากตารางแสดงผลการตรวจวิเคราะห์ปริมาณวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) และ กรดซอร์บิก (Sorbic acid) ในผลิตภัณฑ์หมูยอ จำนวนทั้งหมด 30 ตัวอย่าง พบว่า         มีผลิตภัณฑ์หมูยอ จำนวน 3 ตัวอย่าง ที่ตรวจไม่พบสารกันบูดทั้งสองชนิดเลย ได้แก่         1) บิ๊กซี หมูยอ (หมูผสมไก่) จาก บิ๊กซี สาขาสุขสวัสดิ์ จ.สมุทรปราการ        2) บ้านไผ่ หมูยอ (หมูผสมไก่) จาก บิ๊กซี สาขาสุขสวัสดิ์ จ.สมุทรปราการ         และ     3) ส.ขอนแก่น หมูยอ (หมูผสมไก่) จาก บิ๊กซี สาขาสุขสวัสดิ์ จ.สมุทรปราการ              มีผลิตภัณฑ์หมูยอ จำนวน 4 ตัวอย่าง ที่ตรวจพบกรดซอร์บิกแต่ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน ได้แก่        1) เอโร่ aro จาก สยามแม็คโคร สาขาสามเสน กรุงเทพฯ            พบปริมาณกรดซอร์บิก เท่ากับ  6.34  มก./กก.                 2) เซพแพ็ค Savepak จาก สยามแม็คโคร สาขาสามเสน กรุงเทพฯ            พบปริมาณกรดซอร์บิก เท่ากับ  6.68  มก./กก.                 3) 444 ตองสี่ จาก ร้านตองสี่ ต.ต๋อม อ.เมือง จ.พะเยา            พบปริมาณกรดซอร์บิก เท่ากับ  860.23 มก./กก.          4) ป้าปี๋ (ขนาดใหญ่ ซองสีแดงเหลือง)             พบปริมาณกรดซอร์บิก เท่ากับ  883.96 มก./กก.        และมีผลิตภัณฑ์หมูยอ จำนวน 1 ตัวอย่าง ที่ตรวจพบกรดซอร์บิกเกินเกณฑ์มาตรฐาน ได้แก่ หมูยอ พญาลอ พบปริมาณกรดซอร์บิก 1652.41 มก./กก.         โดย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการใช้ และอัตราส่วนของวัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 2) ตามบัญชีหมายเลข 1 แนบท้ายประกาศฯ ได้กำหนดปริมาณสูงสุดของวัตถุกันเสียประเภทกรดซอร์บิก ในหมวดอาหารประเภทผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดและผ่านกรรมวิธีไว้ โดยอนุญาตให้ใช้ได้ไม่เกิน 1500 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม         ทั้งนี้ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) ไม่ได้กำหนดปริมาณของวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก ในอาหารประเภทหมูยอไก่ยอ ลูกชิ้น (เนื้อวัว,เนื้อหมู,เนื้อไก่) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดทำให้สุกโดยใช้ความร้อนเอาไว้ ดังนั้นตามข้อกำหนดจึงไม่สามารถใช้วัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิกในผลิตภัณฑ์หมูยอได้         แต่จากการตรวจวิเคราะห์พบว่า หมูยอ ที่ส่งทดสอบจำนวน 30 ตัวอย่าง พบกรดเบนโซอิกในจำนวน 23 ตัวอย่าง ในปริมาณตั้งแต่ 3.18 – 3874.95 มก./กก.        ข้อสังเกตการแสดงข้อมูลการใช้วัตถุกันเสีย         จากการสังเกตเรื่องการแสดงข้อมูลการใช้วัตถุกันเสียบนฉลากผลิตภัณฑ์ พบว่า ตัวอย่างผลิตภัณฑ์หมูยอทั้ง 27 ตัวอย่างที่ตรวจพบวัตถุกันเสีย มีเพียง 11 ตัวอย่างเท่านั้น (ร้อยละ 40.74) ที่แสดงข้อมูลการใช้วัตถุกันเสียบนฉลากผลิตภัณฑ์         ข้อสังเกตการแสดงวันผลิตและหมดอายุ         จากการสังเกตข้อมูลวันผลิตและวันหมดอายุบนฉลากผลิตภัณฑ์ พบว่า ตัวอย่างผลิตภัณฑ์หมูยอทั้ง 30 ตัวอย่าง มีเพียง 10 ตัวอย่างเท่านั้น (ร้อยละ 33.33) ที่แสดงข้อมูลวันผลิตหรือวันหมดอายุ ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์หมูยอบางตัวอย่างที่วางจำหน่ายในตลาดสด หรือร้านของฝาก ซึ่งไม่ได้มีการระบุวันผลิต วันหมดอายุ อาจเนื่องมาจากเป็นสินค้าที่ผู้ปรุงเป็นผู้จำหน่ายแก่ผู้บริโภคโดยตรง แบบวันต่อวัน        เปรียบเทียบราคาต่อกรัม         เมื่อลองเปรียบเทียบราคาต่อกรัมของผลิตภัณฑ์หมูยอทั้ง 30 ตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างผลิตภัณฑ์หมูยอที่มีราคาจำหน่ายสูงสุดนั้นอยู่ที่ 0.35 บาท/กรัม ได้แก่ ส.ขอนแก่น หมูยอ (หมูผสมไก่) จาก บิ๊กซี สาขาสุขสวัสดิ์ จ.สมุทรปราการ และราคาจำหน่ายต่ำสุดนั้นอยู่ที่ 0.06 บาท/กรัม ได้แก่ โกบอม, พานทอง และ หมูยอเส้น เจ๊รดา ทั้งสามตัวอย่างซื้อจากตลาดสดบ้านดู่ ต.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย ซึ่งหากลองเฉลี่ยราคาจำหน่ายของผลิตภัณฑ์หมูยอทั้ง 30 ตัวอย่าง ราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่ 0.17 บาท/กรัม        ข้อสังเกตอื่น ๆ         จากการตรวจสอบข้อมูลเลขสารบบอาหาร พบว่า เลข อย.ที่แสดงบนฉลากผลิตภัณฑ์หมูยอบางตัวอย่าง ตรวจไม่พบข้อมูลในระบบฐานข้อมูลบนเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ มีชื่อผลิตภัณฑ์ หรือ สถานที่ผลิต ไม่ตรงกับในระบบฐานข้อมูล        ข้อแนะนำในการบริโภค         หากเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ของฝากจำพวกหมูยอไก่ยอ ลูกชิ้น ไส้อั่ว ในเบื้องต้นผู้บริโภคอาจสังเกตข้อมูลบนฉลากสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อว่ามีข้อความ “ไม่ใช้วัตถุกันเสีย” หรือไม่ โดยหากไม่มีการแสดงข้อมูลการใช้วัตถุกันเสียบนฉลาก อาจเป็นสินค้าที่ผลิตและจำหน่ายแบบวันต่อวัน ซึ่งแม่ค้าปรุงและนำมาขายเอง ก็ให้สอบถามจากแม่ค้าดูว่ามีการใช้สารกันบูดหรือไม่         นอกจากนี้ การบริโภคผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ในปริมาณที่พอเหมาะและไม่บ่อยครั้งจนเกินไป เป็นการหลีกเลี่ยงการสะสมสารกันบูดและวัตถุเจือปนอาหารประเภทอื่นๆ อีกด้วย  ข้อมูลอ้างอิง- พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 - ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 237) พ.ศ. 2544 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารพร้อมปรุงและอาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันที - ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการใช้ และอัตราส่วนของวัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 2)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 รู้เท่าทันเกลือสีดำ

        หลังจากมีโฆษณาเรื่องเกลือหิมาลัยสีชมพูแล้ว ตอนนี้เริ่มมีการโฆษณาเกลือหิมาลัยสีดำว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพและดีกว่าเกลือแกงที่คนไทยใช้กินกันอยู่ทุกวัน ดีจริงหรือไม่ มารู้เท่าทันกันเถอะเกลือดำคืออะไร         เกลือดำหรือที่รู้จักกันในชื่อกาลา นามัค เป็นเครื่องปรุงอาหารที่นิยมของอาหารอินเดีย กาลา นามัค นั้นเป็นที่เลื่องลือในเรื่องของกลิ่น ซึ่งหากนำมาดมดูจะพบว่ามีกลิ่นฉุนคล้ายกลิ่นไข่เน่า หรือกลิ่นไข่ต้ม ช่วยให้อาหารมีรสชาติดีขึ้น และถูกอ้างสรรพคุณว่าดีต่อสุขภาพ แม้ว่าจะเรียกว่าเกลือดำ แต่จริงๆ แล้ว มีสีน้ำตาลอมชมพู         เกลือดำมี 3 ประเภทหลัก คือ เกลือดำหิมาลัย เกลือดำหินภูเขาไฟ และเกลือดำที่ใช้ทำพิธีกรรม แต่ที่เป็นที่นิยมมากที่สุดคือ เกลือดำหิมาลัย เกลือดำเป็นเกลือที่ได้จากการทำเหมืองหินเกลือในปากีสถาน บังคลาเทศ อินเดีย เนปาล ซึ่งอยู่รอบๆ ภูเขาหิมาลัย         การใช้เกลือดำมีบันทึกแรกเริ่มในการแพทย์อายุรเวทของอินเดีย แพทย์อายุรเวทเชื่อว่ามีสรรพคุณในการบำบัดรักษาโรค เกลือดำบำบัดโรคอะไรได้บ้าง         การแพทย์อายุรเวทกล่าวว่าเป็นเครื่องเทศที่เป็นรสเย็น ใช้เป็นการระบายและช่วยการย่อยอาหาร สายตาไม่ดี และเนื่องจากเกลือดำมีโซเดียมต่ำ จึงดีต่อผู้ที่มีความดันโลหิตสูง         ในเว็บไซต์ต่างๆ จะมีการโฆษณาว่าเกลือดำรักษาโรคต่างๆ ตั้งแต่ มะเร็งตับ ฆ่าเชื้อไวรัส รา และเชื้อโรคต่างๆ รักษาแผลในกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน สร้างน้ำย่อยอาหาร และทำให้สุขภาพดี นอกจากนี้ยังใช้เป็นยาสีฟัน ล้างผักผลไม้ให้สะอาด ขัดผิว แช่เท้า แช่ตัวได้อีกด้วย เกลือดำมีประโยชน์จริงหรือ        เกลือดำอาจมีโซเดียมและสารปรุงแต่งน้อยกว่าเกลือทั่วไป โดยเฉพาะเกลือที่อาจมีการปนเปื้อนสารต่างๆ ในกระบวนการผลิต ซึ่งอาหารที่มีโซเดียมสูงจะเพิ่มความดันโลหิตให้สูงและไตต้องทำงานหนัก นอกจากนี้ เกลือแกงยังมีสารปรุงแต่งที่อันตรายเช่น โปตัสเซียมไอโอเดตและอะลูมิเนียมซิลิเกต ในขณะที่เกลือดำ (รวมทั้งเกลือทะเลทั่วไป) ที่ผ่านกระบวนการที่เป็นธรรมชาติมากกว่า เกลือดำดีต่อสุขภาพหรือไม่         เมื่อทบทวนงานวิจัยในวารสารวิชาการต่างๆ  ยังไม่มีงานวิจัยที่หนักแน่นดีพอที่สนับสนุนว่า เกลือดำดีต่อสุขภาพมากกว่าเกลือทั่วไป แต่งานวิจัยทั้งหมดจะยืนยันว่า เป็นการดีที่สุดที่จะบริโภคเกลือในปริมาณปานกลางและใช้เพื่อเพิ่มรสชาติของอาหารเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเกลือประเภทใดก็ตาม เราควรบริโภคโซเดียมมากที่สุด 2,300 มก.ต่อวัน หรือคิดเป็นเกลือ 1 ช้อนชาเท่านั้น         เกลือดำอาจเป็นทางเลือกที่ดีเมื่อเทียบกับเกลือที่ขายกันทั่วไป ยกเว้นเกลือทะเลบ้านเราที่กระบวนการผลิตยังเป็นธรรมชาติ (แต่โซเดียมอาจสูงกว่า) และจากกลิ่นที่เฉพาะตัว ทำให้อาหารมีกลิ่นน่ากินมากขึ้น ดังนั้นอาจช่วยเพิ่มกลิ่นและรสชาติอาหารให้เป็นแบบอาหารเอเชีย         เกลือดำนั้นมีหลายยี่ห้อและหลายราคา ตั้งแต่กิโลกรัมละ 100 บาทขึ้นไป ในขณะที่เกลือทะเลบ้านเราราคากิโลกรัมละประมาณ 20 บาท         สรุป  เกลือดำนั้นมีความเชื่อของการแพทย์อายุรเวทของอินเดีย แต่ยังไม่มีการศึกษาทางการแพทย์ที่ชัดเจนว่า มีประโยชน์ตามที่อ้างกันหรือเชื่อสืบต่อกันมา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 เรือนไหมมัจจุราช : เสียงเล็กๆ ของคนไร้สิทธิ์เสียง

                สังคมไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นสังคมที่กอปรขึ้นด้วยความหลากหลายของกลุ่มวัฒนธรรม และบนความหลากหลายนี้เอง จึงเกิดเป็นคำถามที่น่าสนใจว่า แล้วปฏิสัมพันธ์ระหว่างความแตกต่างของกลุ่มวัฒนธรรมนั้นจะเป็นเช่นไร        แน่นอนว่า เมื่อความแตกต่างโคจรมาบรรจบพบกัน ความสัมพันธ์จึงออกมาได้แบบ “ทั้งรักและทั้งเกลียด” ที่บางช่วงก็ปรองดองหวานชื่น ในขณะที่บางจังหวะก็อาจจะขัดแย้งกันเข้มข้น ด้วยเหตุผลที่ว่า กลุ่มสังคมที่แตกต่างหาใช่จะมีสถานะเชิงอำนาจที่เสมอภาคทัดเทียมกันไม่        รูปธรรมที่ดูจะชัดเจนที่สุดในการสะท้อนความขัดแย้งระหว่างกลุ่มวัฒนธรรมนี้ ก็น่าจะเป็นการจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างคนชั้นนำที่มีอำนาจกำกับความเป็นไปในสังคม กับบรรดาคนชายขอบที่ถูกมองว่ามีอำนาจน้อย จนบางครั้งดูประหนึ่งจะไร้สิทธิ์เสียงที่เปล่งออกมาแต่อย่างใด         แต่ที่สำคัญ แม้ว่าในสังคมพหุวัฒนธรรมจะมีการผลักพาให้คนบางกลุ่มกลายเป็นคนนอกผู้ไร้สิทธิ์เสียง แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว กลุ่มคนชายขอบที่ถูกกดทับไว้ด้วยอำนาจ ก็สามารถต่อสู้ดิ้นรนเพื่อจะสื่อสารเป็นนัยว่า เสียงเล็กๆ ที่ปลาสนาการจากอำนาจ ก็สามารถเปล่งเสียงตัวตนอัตลักษณ์ของพวกเขาออกมาได้เช่นกัน         ภาพการปะทะต่อสู้เพื่อเปล่งเสียงเล็กๆ เยี่ยงนี้ ได้รับการจำลองเอาไว้ในละครโทรทัศน์แนวแฟนตาซีแบบจีนล้วนๆ ก็เหมือนจะไม่ใช่ แบบไทยล้วนๆ ก็เหมือนจะไม่เชิง กับชื่อเรื่องที่ดูย้อนแย้งว่า “เรือนไหมมัจจุราช” ที่ดูจะมีทั้งด้านความงามของเส้นไหม กับด้านน่าสะพรึงกลัวของมัจจุราชหรือเจ้าแห่งความตาย         เปิดฉากย้อนอดีตร้อยกว่าปีมาที่คฤหาสน์เรือนใหญ่ของเจ้าของกิจการทอเส้นไหม ที่รู้จักกันในชื่อว่า “โรงทอตระกูลหย่ง” แม้จะถูกนำเสนอให้ดูเป็นสไตล์แบบจีน แต่โรงทอแห่งนี้ก็ฉายภาพของสังคมในยุคมูลนายและไพร่เอาไว้ค่อนข้างชัดเจน โดยที่มี “หย่งเหม่ยซือ” เล่นบทบาทเป็น “นายแม่” ผู้ปกครองใหญ่ ซึ่งมีอำนาจสิทธิ์ขาดเหนือชีวิตบริวารทั้งมวลที่อยู่ในระบอบอุปถัมภ์ของโรงทอ         นอกจากนายแม่เหม่ยซือแล้ว อาณาจักรโรงทอยังมี “หย่งเจี้ยน” บุตรชายแท้ๆ ผู้ครองอำนาจรองจากนายแม่ และ “สไบ” กับ “พิกุล” เมียเอกเมียรองของหย่งเจี้ยน ที่เบื้องหลังก็พยายามแก่งแย่งช่วงชิงอำนาจขึ้นเป็นใหญ่เหนืออีกฝ่ายหนึ่ง         และภายใต้ระบอบอุปถัมภ์ที่ออกแบบไว้ประหนึ่งมูลนายกับไพร่เช่นนี้ เมื่อมีความขัดแย้งหรือความเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เกิดขึ้นในกลุ่มคนชั้นนำของโรงทอตระกูลหย่ง ก็จะบังเกิดผลสะเทือนเลื่อนลั่นไปสู่แทบจะถ้วนทั่วทุกคนในปริมณฑลของโรงทอผ้าไหมไปด้วยเช่นกัน         เพื่อให้ระบอบใหญ่ดำเนินต่อไป โรงทอตระกูลหย่งยังได้ผูกโยงความสัมพันธ์กับกลุ่มสังคมภายนอกทั้งที่มีอำนาจเหนือกว่าและด้อยกว่า โดยในด้านแรก นายแม่เหม่ยซือก็เลือกจะยึดโยงความสัมพันธ์แบบแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับ “พระอากรภักดี” ตัวแทนส่วนกลางที่เอื้อต่อการทำธุรกิจซื้อขายผ้าไหมจากโรงทอ         และในเวลาเดียวกัน เมื่อโรงทอผ้าไหมเกิดวิกฤติขาดซึ่งปัจจัยการผลิตหรือเส้นไหมที่มีคุณภาพมาป้อนโรงทอ นายแม่เหม่ยซือจึงจัดแจงส่ง “หย่งชาง” คุณชายคนรองของเรือนไปติดต่อผูกสัมพันธ์กับชุมชนชาติพันธุ์ชาวเมี่ยน ที่ชำนาญด้านการเลี้ยงหนอนไหมชั้นเลิศ โดยหวังว่าชาวเมี่ยนจะยินยอมจิ้มก้องส่งหนอนไหมมาเป็นวัตถุดิบการผลิตเพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของโรงทอตระกูลหย่ง         แม้โรงทอตระกูลหย่งจะเข้าไปผูกวางความสัมพันธ์กับกลุ่มวัฒนธรรมชาวเมี่ยน แต่ถึงที่สุดแล้ว สายสัมพันธ์ดังกล่าวก็ถักทอหล่อหลอมอยู่บนโครงสร้างอำนาจที่ไม่เท่าเทียมอีกเช่นกัน         ดังนั้น เมื่อ “อาซา” และ “อาเซี้ยะ” สองสาวพี่น้องชาวเผ่าเมี่ยนมีเหตุให้ต้องเดินทางมาอาศัยชายคาคฤหาสน์ตระกูลหย่ง เพราะอาเซี้ยะได้แต่งงานเป็นภรรยาของหย่งชาง แต่ด้วยอำนาจที่กดทับขีดวงตัวตนคนนอกที่เข้ามาเยือนโรงทอผ้า ความรู้สึกของตัวละครพี่น้องชนเผ่าจึงมีเสียงก้องในใจตั้งแต่วินาทีแรกที่เดินเข้าสู่ประตูโรงทอว่า “นี่คือสถานแห่งบ้านตระกูลหย่งที่ฉันปองมาสู่ ฉันยังไม่รู้เขาจะต้อนรับขับสู้เพียงไหน...!!!”         และแม้พี่น้องทั้งสองคนจะพยายามบอกใครต่อใครว่า “โปรดอย่าอิจฉาสมาชิกใหม่ของบ้านตระกูลหย่ง” ก็ตาม แต่เพราะพวกเธอเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชายขอบที่อยู่รอบนอกแห่งอำนาจ สองพี่น้องจึงถูกกลั่นแกล้งจากนายแม่เหม่ยซือและตัวละครเกือบแทบจะถ้วนหน้า ที่ขยันสรรหาสรรพวิธีมากลั่นแกล้งใส่ความเพื่อจะอัปเปหิพวกเธอให้กระเด็นออกไปนอกเรือนชาน         ทว่า ข้อเท็จจริงหนึ่งที่เรามักจะมองข้ามไปก็คือ แม้แต่กับกลุ่มคนชายขอบของอำนาจ ก็ใช่ว่าจะขาดซึ่งศักยภาพในการต่อสู้แต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อชำนัญการในเรื่องการเลี้ยงไหม พี่น้องชาวเมี่ยนก็จึงมีอาวุธเป็นองค์ความรู้ในการสร้างและควบคุมหนอนไหมที่เรียกว่า “จิ้นฉาน” ให้กลายเป็นพิษสงที่จะตอบโต้ต่อกรกับบรรดาตัวละครในใต้อาณัติของนายแม่เหม่ยซือ         แต่ก็นั่นอีกเช่นกัน เมื่อนายแม่เริ่มเรียนรู้ว่า คนชายขอบก็มีองค์ความรู้บางชุดที่จะเอื้อต่อการรักษาสถานะนำของตน นายแม่และเครือข่ายของเธอจึงพยายามพรากเอาตำรับความรู้โบราณของชาวเมี่ยนมาเป็นของตน โดยเฉพาะการสร้างสัตว์พิษที่เป็นยิ่งกว่าสุดยอดแห่งสัตว์พิษทั้งปวง ที่เรียกว่า “เว่ยต้ากู่” หรือ “มารเบญจพิษ” ซึ่งทั้งร้ายและ “out of control”         และเมื่อไม่มีคุณธรรมที่กำกับการใช้ความรู้และเว่ยต้ากู่ เราจึงเห็นภาพโรงทอตระกูลหย่งลุกเป็นไฟกลายเป็น “เรือนไหมมัจจุราช” ที่นายแม่เหม่ยซือและสไบผู้เป็นลูกสะใภ้เข่นฆ่าผู้คนจนนับศพไม่ถ้วนทั้งเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นบรรดาชีวิตคนงานโรงทอที่ล้มตายเป็นผักปลา ชีวิตตัวละครชาวเมี่ยนอย่างอาซาและ “หมอเลี่ยว” ผู้ที่แม้จะเคยช่วยชีวิตนายแม่และพรรคพวกมาก่อน ชีวิตตัวละครรุ่นลูกหลานของตระกูลหย่ง หรือแม้แต่เข่นฆ่ากันเองจนตอนจบ จนแทบจะไม่เหลือตัวละครหลักมาให้เดินเรื่องต่อไป!!!         แต่ที่น่าชวนหัวยิ่งก็คือ หากในฉากจบของเรื่อง จะมีเฉพาะก็แต่ตัวละครที่ถูกทำให้ “เสียสติ” อย่างพิกุล หรือ “ความทรงจำเสื่อม” อย่างหย่งเจี้ยน ที่คิดกลับตัวกลับใจหันมามองความเป็นอื่นด้วยความเป็นมนุษย์ไม่ต่างกัน ละครก็อาจบอกเป็นนัยๆ กระมังว่า คงต้องทำให้คนมีอำนาจนั้น “เสียสติ” หรือ “ความจำเสื่อม” กันเสียบ้าง พวกเขาก็จะได้เล็งเห็นสิทธิและเสียงเล็กๆ ของคนงานในโรงทอหรือกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเมี่ยน ที่หาใช่จะเป็นคนที่ไร้สิทธิ์เสียงหรือถูกขูดรีดกดทับอัตลักษณ์ศักดิ์ศรีเอาไว้แต่เพียงด้านเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 กุนเชียงกับสารตรึงสีและสารกันบูด

        ไส้กรอก แฮม แหนม กุนเชียง หมูยอ เป็นเนื้อสัตว์แปรรูปที่คนไทยนิยมทาน นอกจากอร่อยแล้วยังสะดวกในการปรุงด้วย เพราะเพียงแค่อุ่นร้อนไม่กี่นาทีก็รับประทานได้ และยังหาซื้อง่ายตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป รวมถึงการซื้อเป็นของฝากติดไม้ติดมือเมื่อเดินทางท่องเที่ยว นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้เคยเก็บตัวอย่างและทดสอบสินค้าในกลุ่มนี้หลายชนิด ทั้งไส้กรอก หมูยอ แหนม  ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการซื้อสินค้าที่ดี ปลอดภัย อีกทั้งในรายที่ตกมาตรฐาน ก็ได้รับการแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น         ดังนั้นเพื่อเฝ้าระวังสินค้ากลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง ทางโครงการฯ และนิตยสารฉลาดซื้อ จึงเก็บตัวอย่างสินค้า กุนเชียง ซึ่งเป็นไส้กรอกประเภทหนึ่ง ซึ่งนิยมรับประทานกันมากและจัดเป็นของฝากของภาคอีสานมาทดสอบ ครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนทีมอาสาสมัครจากเครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน ในการเก็บตัวอย่าง กุนเชียงจำนวน 19 ตัวอย่าง เดือนธันวาคม 2562 โดยเน้นพื้นที่โซนภาคอีสาน ได้แก่ กุนเชียงหมู 9  ตัวอย่าง  กุนเชียงไก่  5  ตัวอย่าง และกุนเชียงปลา 5 ตัวอย่าง เพื่อทดสอบหาสารไนเตรท ไนไตรท์ ซึ่งเป็นสารตรึงสี(ช่วยให้มีสีแดงสวยและป้องกันการเน่าเสีย) และวัตถุกันเสีย สองชนิด ได้แก่ กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก มาดูกันว่า ผลทดสอบเป็นเช่นไร        กุนเชียง ผลิตภัณฑ์พื้นบ้านที่มีต้นกำเนิดมาจากจีน จัดเป็นไส้กรอกประเภทหนึ่ง ภาษาอังกฤษเรียกว่า  Chinese sausage หรือ ไส้กรอกจีน ดั้งเดิมมีส่วนประกอบหลักเป็นเนื้อหมูและมันหมู โดยเนื้อสำหรับทำกุนเชียงจะเป็นเนื้อหมูที่บดหยาบกว่าเนื้อหมูที่ทำไส้กรอก แต่ปัจจุบันอาจผลิตจากเนื้อสัตว์อื่น เช่น ไก่ ปลา ซึ่งในการผลิตกุนเชียงผู้ผลิตบางรายอาจเติมเกลือไนไตรท์และเกลือไนเตรทเข้าไปด้วย เพื่อเป็นสารกันเสียและตรึงสีทำให้กุนเชียงมีสีแดงน่าทาน และอาจเติมวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิกและซอร์บิก เพื่อให้สินค้าคงสภาพได้นานขึ้นเก็บตัวอย่างเดือนธันวาคม 2562สรุปผลทดสอบ                   สรุปผลทดสอบ        จากการทดสอบกุนเชียง จำนวน 19 ตัวอย่าง สรุปได้ดังนี้        -          กุนเชียงทุกตัวอย่างปลอดภัย ไม่มีวัตถุเจือปนอาหาร ไนไตรท์ ไนเตรท กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก เกินค่ามาตรฐาน        -          ไม่พบไนไตรท์ใน 18 ตัวอย่าง พบน้อยกว่า 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 1 ตัวอย่าง          -          พบไนเตรทเล็กน้อย ที่ค่าเฉลี่ย 11.31 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และไม่พบเลย 7 ตัวอย่าง        -          พบกรดเบนโซอิกในปริมาณไม่เกินมาตรฐาน ซึ่งเป็นไปตามที่ผู้ผลิตได้แจ้งไว้บนผลิตภัณฑ์ (การพบปริมาณกรดเบนโซอิกเพียงเล็กน้อย เป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากวัตถุดิบที่นำมาเป็นส่วนประกอบ มิได้เกิดจากการตั้งใจใช้เพื่อป้องกันการเน่าเสีย)  วิธีเลือกซื้อกุนเชียง        1.เลือกที่เนื้อแน่น คงรูป ไม่มีโพรงอากาศ เนื้อมีความนุ่มพอเหมาะ เนื้อและมันสัตว์ผสมกันอย่างทั่วถึง ไม่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน        2.เลือกสีที่ควรเป็นไปตามธรรมชาติของส่วนประกอบที่ใช้ และสม่ำเสมอตลอดชิ้น ไม่มีสีผิดปกติ เช่น ซีด เขียวคล้ำ ดำ หรือรอยไหม้        3.ไม่มีกลิ่น ที่ไม่พึงประสงค์ เช่น กลิ่นอับ กลิ่นหืน         4.ไม่มีสิ่งแปลกปลอม เช่น เส้นผม ดิน กรวด ทราย ชิ้นส่วนหรือสิ่งปฏิกูลจากสัตว์        5.ภาชนะบรรจุสะอาด แห้ง ผนึกได้เรียบร้อย และสามารถป้องกันการปนเปื้อนจากสิ่งสกปรกภายนอกได้        6.เลือกซื้อจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือ วัตถุเจือปนอาหารในผลิตภัณฑ์กุนเชียงกุนเชียงจัดอยู่ในกลุ่ม เนื้อสัตว์บดที่ผ่านกระบวนการหมักหรือไม่ก็ได้แล้วและทำแห้งโดยไม่ใช้ความร้อน ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 389 พ.ศ.2561 เรื่องวัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5) อนุญาตให้ใช้ไนไตรท์ ซึ่งเป็นสารคงสภาพของสีและสารกันเสีย ในผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ได้ไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมและอนุญาตให้ใช้วัตถุกันเสีย กรดเบนโซอิก ในผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ ได้ไม่เกิน 1000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ไนไตรท์ คือ อะไร“ไนไตรท์” เป็นวัตถุเจือปนอาหาร (food additives) ในกลุ่มสารกันเสีย (preservative) และสารตรึงสี ในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก แหนม หมูยอ กุนเชียง ที่มีการอนุญาตให้ใช้ “ไนไตรท์” ได้ทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย แต่ต้องอยู่ในปริมาณที่กำหนด โดย “ไนไตรท์” มีคุณสมบัติในการยับยั้งการเน่าเสีย และยังมีหน้าที่ในการตรึงสีของเนื้อสัตว์แปรรูปให้เป็นสีชมพู ไม่ซีดไม่เปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำอันตรายหรือไม่        อันตราย หากใช้ในปริมาณที่มากเกินกว่าที่กำหนด โดยไนไตรท์จะทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนน้อยลง อาจเป็นลม หมดสติได้ แต่จะอันตรายมากกว่า หากไม่ใส่ในอาหารกลุ่มไส้กรอก กุนเชียง ฯลฯ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะสิ่งที่อันตรายที่สุดสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารกลุ่มเนื้อสัตว์แปรรูป คือ การเกิดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า “คลอสตริเดียม โบทูลินั่ม” ที่สามารถสร้างสารพิษร้ายแรงที่มีชื่อว่า “โบทูลินั่มท็อกซิน” (Botox) ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต และถ้าร่างกายได้รับมากเกินไปก็อาจเสียชีวิตได้        การใช้ “ไนไตรท์” ภายใต้ปริมาณที่กำหนด สามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียนี้ จึงช่วยให้มีความปลอดภัยในการบริโภคมากขึ้น ซึ่ง European Food Safety Authority (EFSA) ได้บ่งชี้ว่าการใช้เกลือไนไตรท์ในปริมาณที่พอเหมาะ (50-100 มก./กก.) จะควบคุมการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียกลุ่มคลอสตริเดียมโบทูลินัม ซึ่งเชื้อแบคทีเรียนี้สามารถสร้างสารพิษ ชื่อ โบทูลินั่มท็อกซิน        ในแต่ละวันร่างกายเราได้รับสารไนไตรท์ที่มาจากเนื้อสัตว์แปรรูปโดยเฉลี่ยประมาณ 10% อีก 90% เราได้รับมาจากพืชและแหล่งอาหารอื่นๆ ที่เราบริโภค ซึ่งหากรับประทานในปริมาณที่กำหนดก็จะไม่มีอันตรายแต่อย่างใด แต่หากได้รับมากเกินไป จะทำให้ฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงผิดปกติ ไม่สามารถนำพาออกซิเจนไปใช้ได้ อาจทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 ความเคลื่อนไหวเดือนธันวาคม 2562

สี่ล้อแดงเชียงใหม่ปรับตัว เริ่มใช้แอปฯ ต้นปี 2563        หลังกระทรวงคมนาคม เตรียมเสนอ ครม.พิจารณาออกกฎหมายรองรับแกร็ป ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้ในเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการสี่ล้อแดงในจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีอยู่ทั้งหมด 2,465 คัน ขณะที่สี่ล้อแดงเชียงใหม่ ก็เตรียมพร้อมปรับตัว โดยในต้นเดือน ม.ค.63 สหกรณ์นครลานนาเดินรถ เตรียมเปิดใช้แอปพลิเคชัน CM TAXI ที่ร่วมพัฒนาโดย กระทรวงพลังงานและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยแอปฯ มีการใช้งานทุกอย่างเหมือนกับ Grab มีการแสดงระยะทาง อัตราค่าโดยสาร และข้อมูลรถที่จะให้บริการ เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจ ในขณะที่ผู้ใช้เฟสบุ๊คบางรายแสดงความเห็นว่า นอกจากการทำแอปฯ แล้วอยากให้ปรับปรุงเรื่องการให้บริการและการคิดราคาค่าโดยสารด้วย สสส. ชวนเลิกบุหรี่ ผ่าน อสม.        สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวที “ชวน ช่วย เลิกบุหรี่” เพื่อให้เกิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านแนวคิดและกระบวนการทำงานระหว่างภาคีเครือข่ายที่มีส่วนในการขับเคลื่อน พร้อมประกาศเจตนารมณ์ “ปักหมุด หยุดสูบ” ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่ และสร้างการมีส่วนร่วมในการสร้างปัจจัยเอื้อต่อการลด ละ เลิกสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ         โดยข้อมูลจากระบบบัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการปี 2560 พบว่ามีผู้ป่วยที่ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคจากบุหรี่ถึง 553,611 ครั้ง คิดเป็นค่ารักษาพยาบาลรวม 21,389 ล้านบาท แต่ละครั้งต้องนอนรักษาที่โรงพยาบาลเฉลี่ย 7 วัน โดยเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในแต่ละครั้งเฉลี่ย 38,638 บาท หรือ 6,806 บาทต่อวันสสส. จึงสนับสนุนโครงการจัดความรู้และสื่อสารการขับเคลื่อนงานตามพันธกิจชวนและช่วยเลิกบุหรี่ ดำเนินการในพื้นที่ 12 จังหวัด ผ่านอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน “อสม.” โดยมีโรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นแกนกลางสนับสนุนให้เครือข่ายและ อสม. ทำหน้าที่ชวนและช่วยคนในชุมชนให้เลิกสูบบุหรี่ตามบริบท วิถีชีวิต สภาพสังคม และวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่​ผู้สูงอายุไทยยังรู้สึกว่าดูแลตนเองได้        ข้อมูลจากการสำรวจสุขภาพประชากรไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ได้สัมภาษณ์กลุ่มผู้สูงอายุในประเด็นการดูแลตนเองว่า “จำเป็นต้องมีคนดูแลปรนนิบัติในงานกิจวัตรประจำวันหรือไม่” โดยคำตอบจากกลุ่มผู้สูงอายุ 60 - 69 ปี ร้อยละ 94 บอกว่าสามารถดูแลตนเองได้ ซึ่งสัดส่วนของคำตอบนี้ ลดลงตามอายุที่มากขึ้น ในกลุ่มผู้สูงอายุวัย 80 ปีขึ้นไป เหลือร้อยละ 76.2 ในผู้ชาย และร้อยละ 58.4 ในผู้หญิง         นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้สูงอายุชายร้อยละ 90.9 และผู้หญิงร้อยละ 84.6 ตอบว่าไม่ต้องการผู้ดูแล และส่วนที่ต้องการและมีผู้ดูแลมีร้อยละ 7.4 ในเพศชาย และ 13.4 ในเพศหญิง         ส่วนกลุ่มที่ต้องการ แต่ไม่มีผู้ดูแล มีร้อยละ 1.7 - 2.1 เมื่อจำแนกตามอายุและเพศ โดยกลุ่มอายุ 60 - 69 ปี ที่ไม่ต้องการผู้ดูแล มีสูงถึงร้อยละ 94.6 ในเพศชาย และ 93.4 ในเพศหญิง ซึ่งอาจอธิบายได้ว่ากลุ่มนี้ยังแข็งแรงและช่วยตัวเองได้        ส่วนคำถามที่ว่า ‘ใครเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ’ ผู้สูงอายุที่ตอบว่ามีผู้ดูแลในชีวิตประจำวันซึ่งอาจมีมากกว่าหนี่งคน คือ บุตรสาวมีสัดส่วนสูงสุด (ร้อยละ 45.1) รองลงมาคือ คู่สมรส (ร้อยละ 28.1) บุตรชาย (ร้อยละ 18.4) และหลาน (ร้อยละ 6.2) สรุปได้ว่าเป็นผู้ดูแลในระบบครอบครัว และดูเหมือนว่าผู้ดูแลจากระบบบริการ เช่น ผู้ช่วยพยาบาล หรือ ผู้ดูแลรับจ้าง ยังไม่มีบทบาทมากนัก         อย่างไรก็ตาม แม้จะเชื่อมั่นว่าดูแลตัวเองได้ แต่จากสถิติระบุผู้สูงอายุ ‘พลัดตก-หกล้ม' ต้องเข้ารับบริการทางแพทย์ฉุกเฉินเฉลี่ย 140 ครั้ง/วัน เสียชีวิตเฉลี่ย 3 คน/วัน พบรอบ 3 ปี รับบริการทางแพทย์ฉุกเฉินถึง 141,895 ราย แม้ลักษณะบ้านที่ปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุควรเป็น ‘บ้านชั้นเดียว’ แต่ผู้สูงอายุกลับอยู่ 'บ้านหรือตึกสองชั้นขึ้นไป' มากที่สุดที่ 44% ต้องใช้บันไดขึ้นลงทุกวัน 48.8% ต้องเดินบนพื้นที่ลื่น 31.7% มีผู้สูงอายุเพียง 24.6% เท่านั้นระบุว่าอยู่บ้านที่ดัดแปลงให้เหมาะสมกับตนเอง เด็กไทยเล่นเกมส์ออนไลน์เกินวันละ 8 ชั่วโมง        สมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และหน่วยงานอื่นๆ จัดเสวนาเรื่อง “เปิดวิถีออนไลน์...เด็กไทยกับภัยใกล้ตัว” โดยได้นำผลการวิจัยเชิงสำรวจ หัวข้อ "สถานการณ์การเล่นเกมส์ออนไลน์ของเด็กไทย" ประจำปี 2562 ซึ่งสำรวจนักเรียนระดับมัธยมศึกษา, ปวช. และ ปวส. รวม 3,056 คน จากทั่วประเทศใน เดือน ก.ย. – ต.ค.62 พบว่า เด็กส่วนใหญ่ 2,730 คน หรือ ร้อยละ 89.33 เคยเล่นเกมส์ออนไลน์ โดยเล่นเกมเกือบทุกวัน ร้อยละ 64.66 เฉลี่ย 3-5 ชั่วโมง หากเป็นเด็กในพื้นที่ กทม. ร้อยละ 8.1 จะใช้เวลาเล่นเกมส์มากกว่า 8 ชั่วโมงในวันหยุด         โดยปัจจัยที่สนับสนุนให้เด็กเล่นเกมส์ออนไลน์มากที่สุด คือ เพื่อนชักชวน รองลงมาคือ ข้อมูลจากสื่อออนไลน์ นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่าเกมส์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของเด็กไทย คือ ROV ร้อยละ 51.38 รองลงมา คือ PUBG MOBILE ร้อยละ 18.21 และ Free Fire ร้อยละ 15.53         ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายกับเกมส์ออนไลน์ พบว่าในจำนวนผู้ที่ตอบว่า เคยเสียเงินในการเล่นเกมออนไลน์ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.13 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดนั้น พบว่าร้อยละ 30.9 ในจำนวนดังกล่าว ใช้จ่ายมากกว่า 500 บาทต่อเดือน         ทั้งนี้ ยังพบว่า เด็กต้องเผชิญกับการกลั่นแกล้งรังแกออนไลน์ในหลายรูปแบบ จนอาจนำไปสู่การทำร้ายตนเองและผู้อื่นทั้งทางร่างกาย ทางจิตใจ และทางสังคม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการสร้างความฉลาดทางดิจิทัลให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อให้เท่าทันต่อกระบวนการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ เช่น สอนให้เด็กจัดการตัวตนและรับผิดชอบต่อการกระทำบนโลกออนไลน์ สอนให้ใช้เวลาออนไลน์อย่างพอเหมาะ ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ การงาน และชีวิตด้านอื่น สอนให้ยืดหยุ่น เข้มแข็ง รับมือกับการกลั่นแกล้งได้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร้อง ‘ศาลปกครองสูงสุด’ ระงับขึ้นค่าทางด่วน        เมื่อ 20 ธ.ค.62 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด ขอให้ไต่สวนฉุกเฉิน ระงับการขึ้นเงินค่าผ่านทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมือง - โทลล์เวย์) ที่เตรียมจะปรับขึ้นในวันที่ 22 ธ.ค.62 ซึ่งยังเป็นคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด หากยังคงปล่อยให้ขึ้นราคาค่าผ่านทาง จะส่งผลกระทบก่อให้เกิดความเดือดร้อนและความเสียหายต่อประชาชน และขอให้ศาลกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนคำพิพากษาจะถึงที่สุด         โดย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มูลนิธิฯ รู้สึกผิดหวังที่กรมทางหลวงไม่ยอมทำอะไร หลังจากที่มีคำพิพากษาศาลปกครองกลางเมื่อปี 2558 ที่ให้มีการยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่องสัมปทาน ซึ่งความเป็นจริงแล้วขณะนี้ประชาชนควรจะได้รับสิทธิในการใช้ทางดังกล่าวโดยที่ไม่ต้องเสียเงิน เนื่องจากสัญญาสัมปทานได้สิ้นสุดไปตั้งแต่ปี 2557        แต่ด้วยทางบริษัทฯ ได้มีการทำตัวเลขขาดทุนที่เกินจริง ทำให้มีการขยายอายุสัญญาสัมปทานออกไปอีก 20 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดในปี 2577 และยังมอบอำนาจให้เอกชนสามารถปรับขึ้นค่าผ่านทางได้โดยที่ไม่ต้องขออนุญาตหน่วยงานใด ตนจึงฝากถึงนายกรัฐมนตรีให้รีบลงมาดำเนินการในเรื่องดังกล่าว อีกทั้งกรมทางหลวงควรรักษาผลประโยชน์ของประชาชนที่ใช้ทางให้มากกว่านี้ อีกทั้งเพื่อรักษาสิทธิและคุ้มครองสิทธิของประชาชนทุกคนด้วย        อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ศาลมีคำสั่งไม่รับคำขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ความเดือดร้อนเสียหายดังกล่าว มิใช่เป็นความเดือดร้อนเสียหายที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ หรือยากแก่การเยียวยาแก่ไข เนื่องจากยังมีทางหลวงแผ่นดิน สายวิภาวดีรังสิต และพหลโยธิน อยู่ใต้ทางยกระดับ ที่สามารถใช้จร ไปมาได้ ผู้ฟ้องคดี จึงมีโอกาสเลือกที่จะใช้เส้นทางอื่น ที่ไม่ต้องชำระค่าบริการผ่านทางตามที่กล่าวแทนทางด่วนยกระดับอุตราภิมุข ช่วงดินแดง-ดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน ทั้งขาออกและขาเข้าที่ต้องชำระค่าผ่านทางดังกล่าวได้ อีกทั้งยังมีการเปิดให้บริการขนส่งมวลชน ในเส้นทางใกล้เคียง และที่จะเปิดให้บริการในเส้นทางเดียวกัน เพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้ที่สามารถใช้บริการเป็นทางเลือกในการให้บริการได้         ดังนั้น คำร้องขอให้ศาลกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาโดยขอให้หยุดเก็บเงินค่าผ่านงส่วนที่เพิ่มขึ้นตามสัญญาสัมปทานดังกล่าว ก่อนพิพากษาจนกว่าคดีจะถึงที่สุดนั้น จึงยังไม่มีเหตุเพียงพอ ตามมาตรา 66 ของพระราชบัญญัติจัดตังศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง. พ.ศ. 2542 จึงมีคำสั่งไม่รับคำขอให้ศาลกำหนดมาตราการ หรือวิธีการคุ้มครองบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 แชมพู “กู้” ผมเสีย

           ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอเอาใจผู้ที่กำลังมองหาผลิตภัณฑ์เพื่อกอบกู้สภาพเส้นผม เรามีผลการทดสอบแชมพูสำหรับผมเสีย ที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (International Consumer Research and Testing) ได้ทำการทดสอบไว้ แต่เนื่องจากเนื้อที่มีจำกัด เราจึงขอนำเสนอเพียง 26 ผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายในบ้านเราทั้งในห้างและร้านค้าออนไลน์ในภาพรวม แชมพูทั้งหมดได้คะแนนการชำระความสกปรกออกจากเส้นผมในระดับห้าดาว แต่คะแนนด้านอื่นๆ ยังแตกต่างกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและฉลากที่อวดอ้างว่าสามารถ “ซ่อมแซม” ผมเสียได้ อยากรู้ว่าผลิตภัณฑ์ไหนน่าซื้อหามาใช้ที่สุด เชิญติดตามรายละเอียดได้ในหน้าถัดไป---   คะแนนเต็ม 100 ในการทดสอบ แบ่งสัดส่วนออกเป็นด้านต่างๆ ดังนี้40 คะแนน       ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่ทดลองสระผมให้อาสาสมัคร แล้วตอบคำถามเกี่ยวกับสภาพผมทั้งขณะแห้งและเปียก รวมถึงปริมาณฟองด้วย            30 คะแนน      ความพึงพอใจของผู้ทดลองใช้ ความรู้สึกสะอาด อาการระคายเคือง และปริมาณฟอง10 คะแนน      การสระผงสีออกจากเส้นผมในห้องปฏิบัติการ เพื่อวัดความสะอาด10 คะแนน      ส่วนประกอบที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม           10 คะแนน       ฉลากที่ไม่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์สามารถ “ซ่อมแซม” ผมเสีย---             · การทดสอบครั้งนี้มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยตัวอย่างละประมาณ 105,000 บาท          มีอาสาสมัครร่วมทดสอบทั้งหมด 375 คน เป็นหญิง/ชาย อายุระหว่าง 18 – 75 ปี ที่มีผมยาวตั้งแต่ 10 เซ็นติเมตรขึ้นไป สภาพผมเสียปานกลางถึงเสียมาก อาสาสมัครเหล่านี้มีกลุ่มที่ผมเส้นเล็กและเส้นใหญ่           และผมตรงถึงผมหยิกปานกลาง          อาสาสมัครหนึ่งคนจะใช้เพียงสองผลิตภัณฑ์เท่านั้น    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 ระวังแปรงสีฟันไฟฟ้าที่ชิ้นส่วนหลุดขณะแปรง

        อันตรายจากสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานนั้น สามารถเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ ยิ่งเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพพึงต้องระวังให้มากขึ้น        เรื่องที่อาจเป็นอุทาหรณ์เรื่องนี้คือ เรื่องแปรงสีฟันไฟฟ้าจากผู้ผลิตดังยี่ห้อหนึ่ง คุณมีนาซึ่งเป็นคุณแม่ของน้องต้น ได้ร้องเรียนเข้ามาว่า ลูกชายได้ใช้แปรงสีฟันไฟฟ้า ซึ่งขณะกำลังใช้งานนั้นชิ้นส่วนของแปรงหลุดในช่องปาก โชคดีที่ลูกชายอมไว้ทันไม่ได้กลืนลงท้องไป เธอสอบถามมาว่ากรณีนี้สามารถทำอะไรได้บ้าง เพราะตนเองได้ติดต่อไปทางเพจของบริษัทผู้ผลิต ทางนั้นแจ้งว่าจะติดต่อกลับมาเท่านั้น แนวทางการแก้ไขปัญหา        หลังจากรับเรื่องจากคุณมีนาไม่นาน ได้รับการแจ้งเพิ่มเติมว่า บริษัทได้โทรศัพท์มาพูดคุยแสดงความเสียใจและขอโทษ แต่ยืนยันว่าสินค้าของตนได้มาตรฐาน หากคุณมีนาไม่กังวลเรื่องสินค้าทางบริษัทจะส่งแปรงสีฟันชุดใหม่ให้ ซึ่งขณะนั้นคุณมีนาตอบรับไป แต่ก็มานึกในภายหลังว่า แล้วหากเกิดปัญหาขึ้นอีก เกิดลูกชายแปรงแล้วชิ้นส่วนไปติดคอจะทำอย่างไรดี        ทางศูนย์ฯ จึงสอบถามความประสงค์ของคุณมีนา ว่าต้องการให้บริษัทดำเนินการเยียวยาแค่ไหน ต้องการให้ชดเชยเป็นสินค้าใหม่ ต้องการคำรับรองจากบริษัทเรื่องความปลอดภัยของสินค้า หรือต้องการการชดเชยอื่นๆ คุณมีนาบอกว่า จริงๆ ก็อยากให้ทางบริษัทจัดการเยียวยาให้มากกว่าการเปลี่ยนแปรงสีฟันชุดใหม่ให้หรือการแค่ทำหนังสือขอโทษ เพราะเห็นว่าเป็นบริษัทใหญ่ แต่ไม่ต้องการให้เรื่องราวยืดเยื้อ เพราะตนเองมีธุระต้องจัดการอีกมาก ดังนั้นเมื่อได้ทำหนังสือติดต่อไปกับทางบริษัทฯ ทราบในภายหลังว่า บริษัทได้เปลี่ยนแปรงสีฟันชุดใหม่ให้ทดแทนอันที่ชำรุด และส่งมอบผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ให้เพิ่มเติมอีก 1 ชุด พร้อมหนังสือแสดงความเสียใจถึงผู้ร้องแล้ว  ซึ่งคุณมีนาก็ยินดียุติเรื่องเพียงแค่นี้   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 สิวเสี้ยนกับการดูแลรักษา

            สิวเสี้ยนที่เรารู้จัก คือจุดดำๆ เล็กๆ บนใบหน้า พบมากตามจมูก ข้างแก้ม หน้าผาก และปลายคาง จริงๆ สิวเสี้ยนมีสองลักษณะ คือ        1.สิวเสี้ยนแบบไขมันอุดตัน เนื่องจากต่อมไขมันใต้ผิวหนังผลิตไขมันมากเกินไป (ไขมันนี้มีเพื่อช่วยให้ผิวไม่แห้งกร้าน) จนอุดตันบริเวณรูขุมขนเกิดเป็นเม็ดสิวฝังอยู่ในผิวหนัง บางครั้งก็กลายเป็นสิวอักเสบเนื่องจากเชื้อโรคบริเวณผิวหนังใช้ไขมันเป็นอาหารและปล่อยกรดที่มีฤทธิ์ระคายเคืองออกมา         2.สิวเสี้ยนแบบที่เป็นกระจุกของเส้นขนเล็กๆ หลายสิบเส้นอุดตันในรูขุมขน คือแทนที่รูขุมขนหนึ่งจะมีเส้นขนหนึ่งเส้น แต่กลับมีเส้นขนรวมเป็นกระจุกเดียว สิวเสี้ยนลักษณะนี้มักพบตามปลายจมูก ข้างแก้ม        สิวเสี้ยนนั้นโดยทั่วไป ไม่จำเป็นต้องรักษาเพราะไม่ก่อให้เกิดปัญหาอะไร แต่สำหรับคนที่รักสวยรักงามอยากมีใบหน้าเกลี้ยงเกลาอาจรำคาญตา ที่มีจุดดำๆ อยู่บนใบหน้า จึงพยายามสรรหาวิธีรักษาหรือกำจัดสิวเสี้ยน ซึ่งการกำจัดแบบถาวรนั้นยังไม่มี แต่สามารถทำให้น้อยลงหรือดีขึ้นได้วิธีลดสิวเสี้ยน        1.จัดการหรือลดปัญหาไขมันที่ผลิตออกมามากเกินไป            ·  ใช้ยากลุ่มที่สลายก้อนไขมันอุดตัน(comedone) เช่น เบนซอยล์ เพอร์ออกไซด์(benzoyl peroxide) กรดอะเซเลอิก(azelaic acid) กรดซาลิไซลิก(salicylic acid) หรือ กรดผลไม้ ที่รู้จักกันทั่วไปคือ กรดไกลคอลิก(glycolic acid) ทาบริเวณใบหน้า ซึ่งควรใช้อย่างระมัดระวัง                 ·  การใช้ยา เบนซอยล์ เพอร์ออกไซด์ ควรเริ่มต้นด้วยความเข้มข้นต่ำๆ ที่ 2.5% ก่อน ทาให้ทั่วใบหน้าประมาณ 5 นาทีแล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด ช่วยลดปริมาณไขมันที่ผิวหนังและละลายสิ่งสกปรกที่อุดตันในรูขุมขนออกมา ใช้วันละสองครั้ง เช้า เย็น            ·   กรดซาลิไซลิก หรือ(ยาละลายสิวเสี้ยน) กรดจะช่วยทำให้ไขมันอ่อนตัวลง ทำให้สามารถเอาสิวเสี้ยนออกมาได้โดยง่าย เมื่อเรานำเอาสิวเสี้ยนออกจากรูขุมขนของเราได้แล้ว ควรกระชับรูขุมขนด้วยโทนเนอร์ทันที        2.การลอกสิวเสี้ยน มีหลายวิธีส่วนใหญ่ราคาไม่แพงและวิธีทำง่าย แต่มักกำจัดได้ไม่หมด และไม่สามารถกำจัดสิวเสี้ยนได้ทุกที่            ·  การใช้ไข่ขาว วิธีนี้รู้จักกันมานาน คือทาใบหน้าหรือบริเวณที่ต้องการลอกสิวเสี้ยนใช้ทิชชู่ซับแล้วทาไข่ขาวซ้ำ ทิ้งไว้ให้แห้งจะรู้สึกตึงๆ ผิว จากนั้นลอกแผ่นทิชชู่ออก สิวเสี้ยนบางส่วนจะหลุดออกมา            · แผ่นลอกสิวเสี้ยน ครีมลอกสิวเสี้ยนหรือมาร์คลอกสิวเสี้ยน ที่มีจำหน่ายทั่วไป ควรปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากและไม่ควรทำเกินสัปดาห์ละครั้ง        3.การใช้เครื่องมือกดสิว เป็นการดึงสิวเสี้ยนดำๆ ออกจากผิว วิธีนี้ต้องทำอย่างระมัดระวัง เพราะหากทำไม่ดี กดไม่ถูกวิธี อาจยิ่งทำให้กลายเป็นสิวอักเสบได้ กรณีสิวเสี้ยนที่เป็นแบบเส้นขนอุดตันเป็นกระจุกนั้น การใช้เลเซอร์ขจัดขนสามารถช่วยได้        อย่างที่ได้กล่าวไป สิวเสี้ยนไม่จำเป็นต้องไปทำอะไรกับมันก็ได้ เว้นแต่จะรำคาญใจ แต่เราสามารถทำให้มันน้อยลงได้ ด้วยการดูแลความสะอาดผิวหน้า ไม่ปล่อยให้หน้ามันเกินไป และไม่ล้างหน้าบ่อยเกินไปเพราะจะไปสร้างความระคายเคืองให้ผิว ส่วนคนที่ชอบกดหรือบีบสิวเสี้ยนเอง ต้องบอกว่าเลิกทำดีกว่าเพราะจะยิ่งทำให้เกิดสิวอักเสบไม่สวยงามยิ่งไปกว่าเดิม   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 กระแสต่างแดน

มูลค่าความเขียว        บริษัทด้านไอทีอย่าง facebook  Apple และ Google ต้องใช้พลังงานมหาศาลเพื่อการทำงานของศูนย์ข้อมูล พวกเขาจึงเลือกที่จะตั้งศูนย์ดังกล่าวในประเทศเดนมาร์ก ซึ่งผลิตพลังงานทางเลือกได้เหลือเฟือ        รัฐบาลเดนมาร์กเรียกเก็บภาษีจากบริษัทเหล่านี้ได้ปีละไม่ต่ำกว่า 400 ล้านโครน (1,900 ล้านบาท) แต่เงินจำนวนนี้ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับเงินที่ใช้ลงทุนเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากฟาร์มกังหันลมในทะเล         และในอนาคตเดนมาร์กอาจมีพลังงานทางเลือกไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศและต้องกลับไปพึ่งพาพลังงานฟอสซิล มีการคาดการณ์ว่าศูนย์ฯ เหล่านี้จะบริโภคร้อยละ 17 ของพลังงานไฟฟ้าในประเทศในปี 2030        พรรคฝ่ายค้านออกมาเรียกร้องให้รัฐบาล “แบน” ศูนย์ข้อมูลเหล่านี้จนกว่าจะมีกฎหมายที่สร้างความมั่นใจได้ว่า จะไม่มีผู้ประกอบการต่างชาติมาอาศัยชุบตัวด้วยภาพลักษณ์ “เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ไปฟรีๆ ด้วยภาษีคนเดนมาร์ก ระวังถูกเท        ธุรกิจที่มีผู้ร้องเรียนมากที่สุดในสิงคโปร์ในปี 2018 ได้แก่ธุรกิจความงามและสุขภาพ สมาคมผู้บริโภคของสิงคโปร์(CASE) ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับบริการนี้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 30         กว่าครึ่งของเรื่องร้องเรียน 1,829 เรื่อง เป็นกรณีที่ผู้ร้องถูกลอยแพโดยธุรกิจที่ปิดตัวกะทันหัน และผู้ที่ถูก “หลอกขาย” หรือทำให้เข้าใจผิดเรื่องค่าบริการ        ตัวอย่างเช่น มูลค่าความเสียหายจากการปิดกิจการของแฟรนไชส์ร้านนวด Traditional Javanese Massage Hut อยู่ที่ 200,000 เหรียญ(4.7 ล้านบาท)        อีกกรณีหนึ่ง ผู้บริโภคถูกหลอกให้เซ็นใบเรียกเก็บค่าบริการ 2,800 เหรียญ(66,000 บาท) ขณะสาละวนสวมเสื้อผ้าหลังรับบริการที่เข้าใจว่ามูลค่าเพียง 28 เหรียญ        สมาคมสปาและสุขภาพของสิงคโปร์บอกว่า ธุรกิจนี้มีการแข่งขันสูงและมีต้นทุนการดำเนินการค่อนข้างมาก แต่ก็มีผู้เล่นหน้าใหม่ ซึ่งเป็นกิจการขนาดเล็กเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ประหยัดผิดจุด         ทางการเยอรมนีตรวจสอบพบว่าผู้ประกอบการรถบรรทุกหลายร้อยคันแอบใช้ตัวช่วย “ปิด” ระบบบำบัดไอเสียเพื่อลดต้นทุน         จากรถบรรทุก 13,000 คันที่ตรวจสอบ เขาพบ “ความผิดปกติ” 300 คัน และจากเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว  เขาพบ “รถผิดปกติ” ถึง 132 คัน ที่น่าตกใจคือมีถึง 84 คันที่ผิดพลาดโดยจงใจ           การติดตั้งอุปกรณ์ขนาดเล็กจิ๋วและการใช้ซอฟต์แวร์ที่ซับซ้อนยากแก่การตรวจจับ ทำให้ผู้ประกอบการประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึงหนึ่งในสามของต้นทุนการวิ่งรถตามมาตรฐานยูโร 5 หรือ 6         อุปกรณ์ที่ว่านี้บ้างก็หลอกซอฟท์แวร์ควบคุมเครื่องยนต์ให้เข้าใจว่าคาตาแลคติกคอนเวอร์เตอร์ยังทำงานอยู่ บ้างก็ขึ้นผลอุณหภูมิหลอกๆ เพื่อปิดระบบการบำบัดไอเสียที่อุนหภูมิต่ำกว่า -11 เซลเซียส         เมื่อระบบถูกปิด รถเหล่านี้จึงสามารถปล่อยมลพิษออกมาได้มากกว่าปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไนโตรเจนไดออกไซต์ที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจและหลอดเลือดระวังติดไฟ        หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในปี 2011 ที่เมืองฟุกุชิมะ คนญี่ปุ่นเริ่มหันมานิยมใช้หลอดไฟ LED กันมากขึ้นเพราะประหยัดไฟและใช้ได้นานกว่า        แต่สถิติอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับหลอดดังกล่าวก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน  สิบปีที่ผ่านมามีอุบัติเหตุดังกล่าวถึง 328 ครั้ง และมักเกิดขึ้นขณะที่ทำการเปลี่ยนหลอดไฟ ไม่ว่าจะเปลี่ยนจากหลอดแบบฟลูโอเรสเซนท์มาเป็นหลอด LED หรือเปลี่ยนหลอดไฟ LED หลอดใหม่        โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเต้าเดิมเป็นแบบที่ปรับความสว่างได้ หลอด LED จะร้อนจัดจนเกิดควันหรือเกิดไฟลุกขึ้นได้ จาก 328 ครั้ง มีถึง 23 ครั้งที่ทำให้เกิดไฟไหม         สำนักงานกิจการผู้บริโภคของญี่ปุ่นจึงออกประกาศเตือนและเรียกร้องให้ผู้บริโภคอ่านฉลากให้ดีว่าควรใช้กับขั้วแบบไหนและย้ำว่าหากมีข้อสงสัยให้สอบถามกับทางร้านก่อนลงมือเปลี่ยน ขอใบเสร็จด้วย        สมาคมผู้บริโภคแห่งประเทศจีนเรียกร้องให้บริการไฟแนนซ์รถมีความโปร่งใสมากขึ้นและบรรดาตัวแทนขายรถควรมีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่ดีขึ้น        ที่ผ่านมาพบการอุปโลกน์ค่าใช้จ่ายเพื่อเพิ่มยอดหนี้ บางเจ้าบังคับให้ผู้บริโภคซื้อประกันรถยนต์โดยไม่ออกใบเสร็จ และบางเจ้าก็เรียกเก็บ “ค่าบริการ” ซึ่งผู้บริโภคไม่ทราบว่าเป็นค่าบริการอะไร เพราะไม่ได้รับใบเสร็จ           สมาคมฯ ย้ำว่าตัวแทนจำหน่ายมีหน้าที่จัดหาสินค้ามีคุณภาพ และหากไม่ปฏิบัติตามและไม่แสดงความรับผิดชอบก็ควรได้รับโทษตามกฎหมาย        ก่อนหน้านี้มีสาวจีนโพสต์บอกชาวเน็ตว่ารถเบนซ์ CLS300 ที่เธอเพิ่งจะซื้อเมื่อปลายเดือนมีนาคมมีปัญหาเครื่องยนต์แต่ตัวแทนขายไม่สามารถขอเงินคืนหรือขอเปลี่ยนรถได้        เธอคนนี้ก็โดนเรียกเก็บ “ค่าธรรมเนียม” ลึกลับ ไป 15,000 หยวน(71,000 บาท) เหมือนกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 ซาวด์บาร์

        ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอเสนอผลทดสอบอุปกรณ์เครื่องเสียงสำหรับดูหนังฟังเพลงหรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “ซาวด์บาร์” ที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (ICRT) ได้ทำไว้ทั้งหมด 15 รุ่น ในสนนราคาระหว่าง 5,900 – 28,400 บาท*        ทีมทดสอบแบ่งคะแนนดังนี้        ร้อยละ 75     คุณภาพเสียง เป็นการให้คะแนนโดยกรรมการสี่คน ซึ่งจะดูหนังและฟังเพลงจากเครื่องเล่นในโหมดสเตอริโอและเซอร์ราวด์ ด้วยสื่อทั้งแบบซีดี เอ็มพี3 ผ่านการเชื่อมต่อด้วย USB และบลูทูธ และเมื่อเชื่อมต่อกับสมาร์ตทีวีและเครื่องเล่นมัลติมีเดีย        ร้อยละ 10     การทำงานของลำโพง        ร้อยละ 7.5    ความสะดวกในการใช้งาน ให้คะแนนโดยผู้ใช้งานสามคน (สองคนเป็นผู้ที่คุ้นเคยกับการใช้งานเครื่องเสีย และอีกหนึ่งคนเป็นผู้เชี่ยวชาญ) ที่ทดลองเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นและใช้งานรีโมตคอนโทรล        ร้อยละ 5       การใช้พลังงานในโหมดต่างๆ เช่น “ปิด” “สแตนบาย” หรือ “เซอร์ราวด์”        ร้อยละ 2.5    การรองรับอุปกรณ์หลากหลาย *ค่าใช้จ่ายในการทดสอบอยู่ที่ 1,000 ยูโรต่อเครื่อง (35,000 บาท) *ราคาที่แสดงเป็นราคาที่แปลงจากหน่วยเงินยูโร ตามราคาที่องค์กรสมาชิกจ่ายจริงขณะเก็บตัวอย่าง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 217 สีทาผนังกันความร้อน

        ภาวะโลกร้อนเป็นสาเหตุที่ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยซึ่งอยู่ในแนวเส้นศูนย์สูตร ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน และรุนแรง ช่วงเดือนเมษายน หน้าร้อน อุณหภูมิ อาจสูงถึง 45 องศาเลยทีเดียว ภาวะโลกร้อนดังกล่าวทำให้ชั้นบรรยากาศบางลง ทำให้สกัดกั้นรังสีความร้อนที่แผ่มาจากดวงอาทิตย์ได้น้อย        ด้วยอากาศที่ร้อนขึ้น การลดอุณหภูมิสะสมในตัวบ้าน อาคาร ให้ได้มากที่สุดมีความจำเป็นมากเพื่อลดพลังงานที่ใช้สำหรับเครื่องปรับอากาศ นอกจากจะประหยัดพลังงานแล้วยังลดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย        หลังคาจะเป็นส่วนที่รับความร้อนหลัก หากลดความร้อนสะสมใต้หลังคาแล้วด้วยแผ่นสะท้อนรังสีความร้อน ฉนวนบนฝ้าเพดานแล้ว ผนังบ้าน อาคาร จะเป็นส่วนที่รับความร้อนรองลงมา สีทาผนังประเภทที่มีความสามารถสะท้อนความร้อนได้จึงมีความจำเป็นที่จะซื้อหามาใช้งาน ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีให้เลือกมากมายหลายระดับราคา บางยี่ห้อมีฉลากเบอร์ 5 การันตีประสิทธิภาพด้วย        ฉลาดซื้อจะเลือกนำเอาสีทาผนังอาคาร ที่มีความสามารถสะท้อนรังสีความร้อนได้ โดยสอบถามร้านค้าที่เป็นที่นิยม สามแห่ง ได้แก่ โฮมโปร บุญถาวร และไทวัสดุ ซึ่งพนักงานได้แนะนำสีที่มีความสามารถดังกล่าว และเป็นที่นิยม ได้มา 6 ยี่ห้อ โดยเลือกสีเป็นแบบกึ่งเงาสีขาว Base A ได้แก่ 1.TOA รุ่น SuperShield Advance2.Captain รุ่น ParaShield Cool max 3.Beger รุ่น BegerCool Diamond Shield4.Jotun รุ่น JOTASHIELD5.Dulux รุ่น Weathershield6.Nippon paint รุ่น WEATHERBOND flex         เบื้องต้น วิเคราะห์ข้อมูลจากฉลากพบว่า มาตรฐานอุตสาหกรรม ที่ตัวอย่างสีได้รับการรับรองจะมีอยู่สองหมายเลข ได้แก่             1.มอก.2321-2549 (สีอิมัลชันทนสภาวะอากาศ) พบทุกยี่ห้อ            2.มอก.2514-2553 (สีอิมัลชันลดความร้อนจากแสงอาทิตย์) พบบางยี่ห้อ         นอกเหนือจากมาตรฐานอุตสาหกรรมที่กล่าวมายังมีสัญลักษณ์ที่รับรอง แสดงบนฉลากอีกหลายอย่างโดยสรุปเป็นตารางได้ดังนี้ แนวทางการทดสอบ        เนื่องจาก ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย โดยห้องปฏิบัติการเคมีวิเคราะห์ เป็นหน่วยงานที่ทดสอบสีตามมาตรฐาน มอก.2321-2549 และ มอก.2514-2553 จึงขอความอนุเคราะห์ส่งทดสอบตัวอย่างสีที่เตรียมไว้ ในบางรายการที่เกี่ยวข้องได้แก่             -   กำลังซ่อนแสง เป็นการทดสอบความสามารถในการทาปิดทับ โดยปรับความหนืดของสีที่เตรียมไว้ให้เท่ากัน แล้วเคลือบฟิล์มสีตัวอย่างบนแผ่นทดสอบขณะเปียกที่ความหนา 100 ไมโครเมตร             -  การสะท้อนรังสีแสงอาทิตย์ (solar radiation reflectance)  ทดสอบตาม JIS R 3106 เตรียมตัวอย่างโดยเคลือบสีตัวอย่างบนกระจกให้มีความหนาขณะแห้ง 300 ไมโครเมตร  การทดสอบความร้อนสะสม และ การผ่านของ แสง/ รังสีความร้อน         ทดสอบโดยใช้ตู้ทดสอบ โดยเตรียมตัวอย่างด้วยการทาสีตัวอย่างด้วยแปรงทาสี 2 ชั้น เว้นระยะเวลาแต่ละชั้นห่างกัน 1 ชม. บนกระจก ขนาด  30x30 ซม. ทิ้งไว้ให้แห้งสนิทหนึ่งสัปดาห์ โดยยึดแนวคิดตามหลักปฏิบัติของช่างทาสีโดยทั่วไป หลังจากที่ตัวอย่างที่เตรียมไว้แห้งสนิทดีแล้ว นำไปวางบนตู้ทดสอบที่เตรียมไว้ ใช้หลอดฮาโลเจน และหลอดกำเนิดแสงยูวี เป็นแหล่งกำเนิดความร้อน เหนือกระจกที่ทาสีตัวอย่างไว้ แล้ววัดอุณหภูมิภายนอก และภายในตู้ทดสอบ โดยเริ่มจาก แผ่นกระจกเปล่าที่ไม่มีการทาสี เพื่อเป็นตัวควบคุมเปรียบเทียบ ผลของการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่เกิดขึ้น กระจกที่ทาสีตัวอย่าง นอกจากการวัดค่าอุณหภูมิแล้ว ยังวัดผลของสเปคตรัมของแสง/ รังสีความร้อน ที่ทะลุผ่านกระจกมาด้วย          ค่าอุณหภูมิแตกต่างที่ใช้ชี้วัดประสิทธิภาพของสีตัวอย่างนั้น ใช้วิธีการดูความสามารถต้านทานการแผ่รังสีความร้อน โดยวัดอุณหภูมิภายในตู้ทดสอบ ณ เวลาเดียวกัน โดยเวลาที่กำหนด จะใช้เวลาที่ได้จากการทดสอบด้วยกระจกใสแล้วทำให้ค่าอุณหภูมิภายในและภายนอกมีค่าเท่ากัน ซึ่งจะอยู่ที่นาทีที่ 8 (ทดสอบที่อุณหภูมิเริ่มต้น 24.5˚C) ตามภาพที่ 3          สำหรับเวลานาทีที่ 8 นั้นอุณหภูมิที่วัดได้จะอยู่ที่ 47.3 ˚C และเมื่อทำการทดสอบที่กระจกทาสีตัวอย่าง หากที่เวลานาทีที่ 8 ตัวอย่างสีใดที่ได้ค่าอุณหภูมิต่ำที่สุด ย่อมมีประสิทธิภาพต้านทานรังสีความร้อนดี         ผลของสเปคตรัมแสง ความร้อน ที่ผ่านกระจกทดสอบเข้ามา จะแบ่งเป็น UV แสงช่วงที่มองเห็น (visible) และ รังสีความร้อน (infrared) ผลที่ได้เป็นดังนี้  ผลการทดสอบ        หลังจากทดสอบทั้ง 3 วิธีแล้ว โดยได้จากการทดลอง ผลของความร้อนสะสม แสง/ รังสีที่ส่องผ่าน และผลทดสอบจาก ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา ได้แก่ กำลังซ่อนแสง และ ค่า % สะท้อนรังสีความร้อน เป็นดังนี้ตารางที่ 2 ผลการทดสอบบทสรุป        จากตัวอย่างสีทั้งหมดลักษณะของเนื้อสี ความเข้มข้น ค่อนข้างใกล้เคียงกัน มีความสามารถในการทาปิดทับได้ดี ทาง่ายพื้นผิวสีที่ได้หลังจากทาด้วยแปรงสองครั้ง เรียบเนียนสวยงาม ผลของกำลังซ่อนแสง จะแสดงผลของการทาปิดทับที่ดี การทดสอบเนื้อสีจะถูกปรับความเข้มข้นให้เท่ากัน หากสีที่ได้รับมาตรฐาน มอก. 2321–2549 จะมีค่าของกำลังซ่อนแสงจะต้องไม่น้อยกว่า ร้อยละ 80 ซึ่ง ทุกสีตัวอย่างมีค่าของ กำลังซ่อนแสง มากกว่าร้อยละ 80  โดยค่าสูงสุดคือ Nippon paint มีค่า 94.53 %        การสะท้อนรังสีแสงอาทิตย์ ตาม มอก.2514-2553 สีตัวอย่างจะต้องมีความสามารถสะท้อนรังสีแสงอาทิตย์ได้ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 80 ซึ่งสีทุกตัวอย่างมีความสามารถสะท้อนรังสีแสงอาทิตย์ ได้เกือบ 90 % โดยค่าสุงสุดคือ 91.2 % ได้แก่ TOA และ Nippon paint        ผลการทดลองการสะสมความร้อน และ การผ่านของ แสง/ รังสีความร้อน ที่นาที ที่ 8 หลังจากฉาย แสง/ รังสีความร้อน พบว่าสี Nippon paint จะมีค่าความร้อนภายในตู้ทดสอบ น้อยที่สุด ที่ 33.7 ˚C สอดคล้องกับ ผลของแสง/ รังสีความร้อนที่ส่องผ่านเข้ามาต่ำที่สุด        ผลทดสอบเชิงตัวเลขถือว่า สีตัวอย่างทุกยี่ห้อ มีความสามารถที่ลดความร้อนได้ใกล้เคียงกันมาก สามารถทดแทนกันได้ มีความสามารถลดพลังงานไฟฟ้าจากเครื่องปรับอากาศได้อย่างแน่นอน เลือกใช้ตามความเหมาะสม

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 215 ปากหอมสดชื่นกับยาสีฟันสมุนไพร

        ตลาดของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากสมุนไพรมีมูลค่ากว่าแสนล้านบาท โดยหนึ่งในนั้นคือ ยาสีฟันสมุนไพร ที่ครองใจผู้บริโภคมาอย่างยาวนาน ฉลาดซื้อลงสำรวจตลาดผลิตภัณฑ์นี้พบว่า มีหลายยี่ห้อให้ได้เลือกซื้อ ทั้งผู้ผลิตรายเก่าและรายใหม่ บางยี่ห้อมีอายุเกือบร้อยปี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความนิยมที่ยังสามารถครองใจผู้บริโภคมาได้อย่างยาวนาน        จุดขายของยาสีฟันสมุนไพรคือ ความหอมสดชื่นปากจากน้ำมันหอมระเหยของสมุนไพร อย่างสะระแหน่ พิมเสน การบูร หรือสมุนไพรหลายชนิดที่มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียอันเป็นต้นเหตุของฟันผุ กลิ่นปาก เช่น น้ำมันกานพลู และสมุนไพรบางชนิดมีฤทธิ์ป้องกัน รักษาโรคเหงือก รำมะนาด เช่น ข่อย  เกลือ ว่านหางจระเข้        ฉลาดซื้อหยิบตัวอย่างยาสีฟันสมุนไพรจำนวน 29 ยี่ห้อ แบ่งได้สองประเภท คือ แบบมีฟลูออไรด์และไม่มีฟลูออไรด์ มาแสดงรายการส่วนประกอบสำคัญหรือชนิดของสารออกฤทธิ์สำคัญ นอกจากนี้ยังได้เปรียบเทียบราคาต่อน้ำหนัก ในขนาด 1 กรัม ว่าแต่ละยี่ห้อใครถูกแพงกว่ากัน เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้อ่านได้เลือกใช้อย่างคนฉลาดซื้อ ดูรายละเอียดในตารางหน้าถัดไปการเลือกใช้ยาสีฟันสมุนไพร        แต่เดิมการใช้ยาสีฟันมีวัตถุประสงค์เพียงแค่ช่วยเสริมประสิทธิภาพการแปรงฟัน ให้มีการกำจัดเอาแผ่นคราบจุลินทรีย์ออกได้ง่ายขึ้น ต่อมาก็มีการเติมสารต่างๆ เพื่อหวังผล เช่น การเติมฟลูออไรด์เพื่อป้องกันฟันผุ เติมสารที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคเพื่อลดการอักเสบของเหงือก จนปัจจุบันนี้มีการเติมสารต่าง ๆ มากมาย อย่างไรก็ตามส่วนประกอบพื้นฐานยังคงเดิม ได้แก่        1. ผงขัดที่ละเอียดเพื่อเป็นตัวขัดสีให้แผ่นคราบจุลินทรีย์และคราบต่าง ๆ ที่ติดอยู่ที่ตัวฟันหลุดออก         2. สารทำให้เกิดฟองเพื่อให้คราบฟันหลุดออกได้ง่าย         3. สารแต่งกลิ่นและรสเพื่อให้น่าใช้ และรู้สึกสดชื่น        4. สารเพิ่มความชื้นเพื่อให้ยาสีฟันไม่แห้ง มีความชุ่มชื้น         5. สารทำให้ยาสีฟันข้น มีลักษณะเป็นครีม         6. สารกันบูดเพื่อให้สามารถเก็บยาสีฟันได้นาน         ส่วนประกอบพื้นฐานทั้ง 6 นี้ ยาสีฟันชนิดครีมเกือบทุกยี่ห้อจะมีเหมือนกัน ที่ทำให้ยาสีฟันแต่ละชนิดมีคุณสมบัติแตกต่างกัน ได้แก่ สารฟลูออไรด์ สารฆ่าเชื้อโรค สารหรือผงขัดฟันที่ทำให้ฟันขาว สารที่ลดอาการเสียวฟัน สารสมุนไพร ฯลฯ        ในยาสีฟันสมุนไพรก็ไม่ต่างกันนัก โดยผงขัดละเอียดในยาสีฟันสมุนไพรจะใช้แคลเซียมคาร์บอเนต หรือเกลือแกง หรือผงฟู(โซเดียมไบคาร์บอเนต) ส่วนสารชะล้างจะมีในยาสีฟันสมุนไพรที่ผสานเทคนิคการผลิตแบบสมัยใหม่เพื่อช่วยให้แปรงฟันได้ง่ายขึ้น สารปรุงแต่งกลิ่นและสี จะใช้น้ำมันหอมระเหยและสารสกัดจากพืชสมุนไพร ซึ่งนอกจากช่วยแต่งกลิ่นและรสของยาสีฟันแล้ว ยังเพิ่มสรรพคุณในการป้องกันรักษาโรคในช่องปากด้วย เช่น น้ำมันหอมระเหยสะระแหน่ อบเชย กานพลู เป็นต้น        ยาสีฟันสมุนไพรส่วนใหญ่ไม่ผสมฟลูออไรด์ (Fluoride) ซึ่งเป็นสารที่ช่วยทำให้เคลือบฟันแข็งแรง ป้องกันฟันผุ ทำให้เป็นจุดอ่อนหนึ่งของยาสีฟันสมุนไพร  ที่อาจไม่ตอบโจทย์เรื่องป้องกันฟันผุ  แต่ปัจจุบันมียาสีฟันสมุนไพรหลายยี่ห้อที่ผสมฟลูออไรด์เพื่อลดจุดอ่อนข้อนี้         การโฆษณาในกลุ่มของยาสีฟันสมุนไพร มักอ้างว่า เป็นยาสีฟันที่ลดกลิ่นปาก ปากหอมสดชื่นซึ่งจากรายงานทางวิชาการ ที่มีอยู่ในขณะนี้ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าลดกลิ่นปากได้จริงหรือไม่ การใส่สารสมุนไพรต่าง ๆ ที่คาดหวังว่า จะฆ่าเชื้อโรคที่ทำให้เกิดกลิ่นปากนั้นไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะว่าเชื้อโรคที่ทำให้เกิดกลิ่นปากนั้นทนต่อสารเคมีหรือสมุนไพรที่ฆ่าเชื้อได้ดี ในคนที่มีกลิ่นปากจึงจำเป็นที่จะต้องตรวจวิเคราะห์ว่า มีกลิ่นปากจริงหรือไม่ และสาเหตุมาจากอะไรเพื่อรักษาได้ตรงจุด เช่น ในคนที่เป็นโรคปริทันต์อักเสบหรือเหงือกอักเสบก็ต้องรักษาโรคปริทันต์เป็นหลัก และถ้าคิดว่าแปรงฟันได้สะอาดไม่พอก็สามารถใช้ยาสีฟันสมุนไพรที่มีสารฆ่าเชื้อโรคช่วยลดอาการอักเสบที่เกิดขึ้นได้ ส่วนเรื่องราคาก็ต้องพิจารณาเองว่า ราคาแค่ไหนเหมาะสมกับตัวของคุณเอง                                                                                                                                                                                                                       ข้อมูล ทันตแพทย์ ดร.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาลฉลาดซื้อแนะ1.ยาสีฟันสมุนไพรควรใช้ในปริมาณน้อยตามที่ระบุบนฉลาก เพราะสมุนไพรบางชนิดออกฤทธิ์ทำให้ปากชา ใช้มากจะมีอาการข้างเคียงไม่พึงประสงค์2.สำหรับคนที่มีปัญหาฟันผุง่าย ควรใช้ชนิดที่ผสมฟลูออไรด์หรือใช้สลับกับยาสีฟันทั่วไปที่ผสมฟลูออไรด์3.ยาสีฟันสมุนไพรส่วนใหญ่ส่วนผสมใกล้กันมาก ดังนั้นอาจเลือกจากความชอบหรือพิจารณาจากราคาที่ไม่แพงเกินไปสรรพคุณของสมุนไพรที่นิยมใช้ในยาสีฟันสมุนไพรกานพลู (Clove) ช่วยยับยั้งแบคทีเรีย และเป็นยาชาจึงบรรเทาอาการปวดฟันได้เกลือ (Sodium Cholride ) เป็นสารทำความสะอาดเหงือกและฟันการบูร (Camphor) และ พิมเสน (Borneol) ช่วยทำให้ลมหายใจหอมสดชื่น บำรุงเส้นประสาทรากฟันข่อย (Tooth brush tree)  แก้อาการปวดฟัน รักษารำมะนาดว่านหางจระเข้ (Aloe Vera) ช่วยในการสมานแผล ลดการอักเสบของเนื้อเยื่ออบเชย (Cinnamon) ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ สะระแหน่ (peppermint) ให้ความเย็น ทำให้ช่องปากหอมสดชื่น ใบฝรั่ง (Guava) มีฤทธิ์ลดการอักเสบของเหงือก ลดกลิ่นปากตลาดยาสีฟันในบ้านเรามีมูลค่ากว่า 8,000  ล้านบาท ยาสีฟันในเซ็กเม้นต์เพื่อการรักษายังคงเป็นเซ็กเม้นต์ใหญ่สุดมีสัดส่วนถึง 36% รองลงมาเป็นยาสีฟันทั่วไป 29% สมุนไพร 22% ยาสีฟันเพื่อฟันขาว 10% และยาสีฟันเด็ก 3%

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 ผลทดสอบดินสอสี

หนึ่งในของขวัญของฝากที่สามารถสร้างเสริมจินตนาการเด็กได้กว้างไกลด้วยสนนราคาที่ไม่แพง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแถมยังอยู่ได้นานหลายปี ก็คงหนีไม่พ้นดินสอสี  ฉลาดซื้อ ขอต้อนรับวันเด็กปี 2562 ด้วยผลการทดสอบดินสอสีหรือสีไม้ที่เพื่อนสมาชิกองค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (ICRT) ได้ทำไว้   การทดสอบสีไม้ 28 รุ่น (สนนราคาระหว่าง 32 ถึง 370 บาทเมื่อคิดเป็นเงินไทย) ครั้งนี้แบ่งการให้คะแนนออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ 1) การทดสอบในห้องแลปเพื่อวัดความทนต่อแรงกด ความแข็งแรงของไส้ดินสอเมื่อตกพื้น รวมถึงการกลิ้งของตัวดินสอ 2) การทดลองใช้งานโดยอาสาสมัครเพื่อดูความสะดวกในการจับ ระบาย และความแน่นของสี 3) การตรวจหาสารอันตราย เช่น โลหะหนัก พทาเลท และ PAHs (กลุ่มสารเคมีก่อมะเร็ง) ในภาพรวมเราพบว่า “ราคา” มีผลต่อคุณภาพ สีไม้รุ่นที่ราคาถูกมากๆ ได้คะแนนค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับรุ่นที่ราคาสูงกว่า หลายรุ่นที่เนื้อไม้ดี สีสด ระบายได้สวย แต่มีสารเคมีปนเปื้อนเกินปริมาณที่ทีมทดสอบกำหนด จะได้คะแนนรวมไปเพียงแค่หนึ่งหรือสองดาวเท่านั้น โชคดียังเป็นของเราที่มีสีไม้ที่ราคาไม่แพง แต่คุณภาพและความปลอดภัยอยู่ในระดับสามดาวขึ้นไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 ลูกเสียชีวิตหลังคลอด เรียกร้องอะไรได้บ้าง

หนึ่งในเรื่องไม่คาดคิดที่ทำให้หลายคนใจสลาย คือการที่เด็กเสียชีวิตหลังการคลอด ดังเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้ เราลองไปดูกันว่าเธอจะสามารถเรียกร้องสิทธิอะไรได้บ้างคุณนภาอยู่ในช่วงระยะเวลาใกล้คลอด จึงใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพเข้ารับการผ่าคลอดที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร ซึ่งหลังจากได้รับการผ่าคลอดแล้วเรียบร้อยและได้ยินเสียงเด็กร้องแล้ว ทางพยาบาลก็เดินมาเรียกชื่อ ถามสิทธิต่างๆ พร้อมนำเด็กมาให้กินนมของเธอ ภายหลังคุณนภาหลับและตื่นมาอีกครั้ง ทางพยาบาลก็ได้เข้ามาแจ้งว่าจะวัคซีนให้ พร้อมเดินเข้ามาอุ้มเด็ก แต่ทันใดนั้นก็ส่งเสียงร้องตกใจและรีบนำเด็กออกไปจากห้อง ซึ่งเมื่อกลับเข้ามาอีกครั้งก็ได้แจ้งเรื่องที่ไม่คาดคิดว่า ลูกของเธอได้เสียชีวิตแล้ว โดยอาจมีสาเหตุจากโรคประจำตัวอย่างไรก็ตามหลังออกจากโรงพยาบาล คุณนภาตัดสินใจส่งเรื่องมาขอคำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ ด้วยเหตุที่เธอไม่แน่ใจสาเหตุการเสียชีวิตของลูก นอกจากนี้ยังอยากทราบว่าจะสามารถเรียกร้องความรับผิดชอบอะไรจากโรงพยาบาลได้บ้างหรือไม่แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นสามารถเรียกร้องให้ทางโรงพยาบาลชดใช้เยียวยาความเสียหายได้ตาม พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 41 ซึ่งกำหนดให้ผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นโดยเงินช่วยเหลือเบื้องต้น หมายถึง เงินที่จ่ายให้ผู้รับบริการหรือทายาทหรือผู้อุปการะ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในกรณีที่ผู้รับบริการได้รับค่าเสียหายจากการรักษาพยาบาลในหน่วยบริการ โดยมิต้องรอการพิสูจน์ถูกผิด แต่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด  ทั้งนี้เกณฑ์การพิจารณาเงินช่วยเหลือ คือ 1. กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร จ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 240,000 บาท แต่ไม่เกิน 400,000 บาท 2. กรณีพิการหรือสูญเสียอวัยวะ จ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 240,000 บาท 3. กรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายเงินช่วยเหลือได้ไม่เกิน 100,000 บาท 4. กรณีฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องและได้รับการดูแลตามมาตรฐานการฝากครรภ์ จนอายุครรภ์ตั้งแต่ 37 สัปดาห์ขึ้นไป และทารกเสียชีวิตในครรภ์ระหว่างการดูแลในหน่วยบริการ ให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้เท่ากรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร และหากมารดาได้รับความเสียหายด้วยก็ให้ได้รับเงินช่วยเหลือได้อีกตามประเภทความเสียหายนั้น สำหรับกรณีนี้ศูนย์ฯ ได้ช่วยผู้ร้องทำหนังสือถึงโรงพยาบาลเพื่อให้มีการเยียวยาผู้ร้องก่อนเบื้องต้น พร้อมแนะนำให้รอผลการชันสูตรการเสียชีวิตเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามภายหลังผู้ร้องได้แจ้งกลับมาว่า ทางประกันสังคมได้ติดต่อมาแนะนำผู้ร้องว่า ขอให้ผู้ร้องให้ความร่วมมือกับทางโรงพยาบาลว่า มีการดูแลรักษาเป็นอย่างดี เพื่อจะให้เบิกเงินประกันสังคมได้ และนัดให้ผู้ร้องไปรับฟังคำชี้แจงจากโรงพยาบาล ส่งผลให้ผู้ร้องไม่แน่ใจว่าควรจะเข้าไปฟังเองเพียงคนเดียวหรือไม่ ศูนย์ฯ จึงช่วยประสานงานให้เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในพื้นที่ไปร่วมฟังคำชี้แจงด้วย ซึ่งผลชันสูตรพบว่าเด็กมีอาการไหลตาย และทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพจะชดเชยเยียวยาผู้ร้องเป็นจำนวน 320,000 บาท ด้านผู้ร้องไม่ติดใจอะไรเพิ่มเติมกับผลการชันสูตรและตกลงรับข้อเสนอดังกล่าว จึงยินดียุติการร้องเรียน ทั้งนี้ขอเพิ่มเติมเล็กน้อย สำหรับผู้ที่ต้องการยื่นเรื่องร้องเรียน สามารถยื่นคำร้องได้ 2 วิธี  คือ ด้วยตนเองที่หน่วยรับคำร้อง หรือส่งคำร้องทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสาขาจังหวัด(สสจ.) ที่เกิดเหตุ หรือกรณีในกรุงเทพฯ สามารถส่งไปที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำกรุงเทพมหานคร โดยเตรียมเอกสารที่ดังนี้ 1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน 2. สำเนาทะเบียนบ้าน 3. หนังสือมอบอำนาจ(กรณีที่มีการมอบอำนาจ) 4. เอกสารหรือหลักฐานแสดงรายละเอียดข้อมูลอื่นที่อาจใช้เป็นประโยชน์ประกอบการพิจารณา(ถ้ามี) และข้อสำคัญคือต้องยื่นเรื่องภายใน 1 ปี นับจากทราบความเสียหาย 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อฉบับที่ 205 ผลิตภัณฑ์ของฝาก-ของดี จาก 4 ภาค "น้ำพริกหนุ่ม น้ำปลาร้า แกงไตปลาแห้ง และโรตีสายไหม"

สารกันบูด ในน้ำพริกหนุ่ม และ แกงไตปลาแห้งฉลาดซื้อฉบับนี้ เราจะพาไปขึ้นเหนือล่องใต้ ออกอีสานและแวะเที่ยวภาคกลาง ด้วยเรื่องราวของ ของฝากสี่ภาค โดยฉลาดซื้อ โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ และเครือข่ายผู้บริโภคทั้งสี่ภาค  เก็บตัวอย่างสินค้า 4 ชนิด ซึ่งจัดเป็นของฝากยอดนิยม มาทดสอบเพื่อเป็นการเฝ้าระวังด้านความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค ขอประเดิมด้วย ผลทดสอบของฝากยอดนิยมจากภาคเหนือ อย่าง “น้ำพริกหนุ่ม” ซึ่งนิยมรับประทานคู่กับแคบหมู เพราะมีรสชาติที่ไม่เผ็ดมากนัก(ลำแต้ๆ เจ้า) และ “แกงไตปลาแห้ง” จากภาคใต้ที่ออกรสชาติเค็มและเผ็ดร้อน เหมาะรับประทานเคียงกับผัก(หรอยจังฮู้) โดยปัจจุบันน้ำพริกทั้งสองชนิดนี้ มักถูกวางจำหน่ายไปยังศูนย์โอทอปหรือศูนย์ของฝากทั่วประเทศ ทำให้ผู้ผลิตหลายรายนิยมใช้วัตถุกันเสีย หรือสารกันบูดมาช่วยถนอมอาหาร เพื่อทำให้สามารถเก็บรักษาไว้ได้นานขึ้น ซึ่งแม้กฎหมายไม่ได้ห้ามการใส่สารดังกล่าว แต่ก็กำหนดให้ใส่อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม คือ ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามเกณฑ์มาตรฐานของโคเด็กซ์ (CODEX) ที่กำหนดไว้ในหมวดอาหารประเภทน้ำพริกแบบแห้งและน้ำพริกแบบเปียก เพราะการใช้วัตถุกันเสียที่มากเกินไป สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคที่รับประทานเป็นประจำได้ เช่น ทำให้ระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน หรือเกิดการสะสมในร่างกายและก่อให้เกิดเป็นพิษเรื้อรังในอนาคต เครือข่ายผู้บริโภคภาคเหนือ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างน้ำพริกหนุ่มพร้อมบริโภค จากจังหวัดต่างๆ แถบภาคเหนือ และเครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้ สุ่มเก็บตัวอย่างแกงไตปลาแห้งพร้อมบริโภค จากจังหวัดต่างๆ ในภาคใต้ เป็นจำนวนภาคละ 10 ยี่ห้อ (เก็บตัวอย่างระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 61) ซึ่งมีการวางจำหน่ายตามท้องตลาดหรือร้านของฝากทั่วไป เพื่อทดสอบหาปริมาณสารกันบูด (กรดเบนโซอิกและซอร์บิก) โดยผลการทดสอบจะเป็นอย่างไรนั้น ไปดูกันเลยสรุปผลการทดสอบ - น้ำพริกหนุ่ม จากตัวอย่างน้ำพริกหนุ่มที่นำมาทดสอบทั้งหมด จำนวน 10 ยี่ห้อ พบว่า ทุกตัวอย่างมีสารกันบูดหรือกรดเบนโซอิกตกค้าง โดยมีน้ำพริกหนุ่ม 4 ยี่ห้อ ที่มีปริมาณกรดเบนโซอิกสูงเกินกว่าที่มาตรฐานโคเด็กซ์กำหนด คือ ไม่เกิน 1,000 มก./อาหาร 1 กก. ได้แก่1. แม่ถนอม มีปริมาณกรดเบนโซอิกมากที่สุด คือ 3476.46 มก./กก. 2. ป้านวย มีปริมาณกรดเบนโซอิก 1195.06 มก./กก.3. ศุภลักษณ์(รสเผ็ดมาก) มีปริมาณกรดเบนโซอิก 1122.06 มก./กก. และ4. น้ำพริก มารศรี(สูตรดั้งเดิม) มีปริมาณกรดเบนโซอิก 1043.80 มก./กก. อีก 6 ตัวอย่าง ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน  ปลอดภัยในการบริโภค  โดยน้ำพริกหนุ่มยี่ห้อ เรือนไทยขนมไทย พบปริมาณกรดเบนโซอิกน้อยที่สุด คือ 217.73 มก./กก.สารกันบูด แกงไตปลาแห้งจากตัวอย่างแกงไตปลาแห้งที่นำมาทดสอบทั้งหมดจำนวน 10 ยี่ห้อ พบว่า- มี 3 ยี่ห้อ ที่ไม่พบสารกันบูดหรือกรดเบนโซอิกตกค้างเลย ได้แก่ 1. คุณแม่จู้ 2. วังรายา และ 3. วิน (Win) - มี 2 ยี่ห้อ พบกรดเบนโซอิก แต่ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน ได้แก่ แม่รุ่ง และ เจ๊น้อง - มี 5 ยี่ห้อ ที่พบสารกันบูด (กรดเบนโซอิก/ ซอร์บิก) ตกค้างเกินกว่าที่มาตรฐานโคเด็กซ์กำหนด คือพบได้สูงสุดไม่เกิน 1,000 มก./ อาหาร 1 กก. ได้แก่1. ป้าสุ มีปริมาณกรดเบนโซอิกและซอร์บิก คือ 1318.32 มก./กก. และ 978.88 มก./กก. ตามลำดับ 2. ชนิดา(CHANIDA) มีปริมาณกรดเบนโซอิก 2540.22 มก./กก.3. RICHMe by lalita มีปริมาณกรดเบนโซอิก 2429.64 มก./กก. 4. จันทร์เสวย มีปริมาณกรดเบนโซอิก 1572.86 มก./กก.5. แม่จิตร มีปริมาณกรดเบนโซอิก 1508.32 มก./กก.ยี่ห้อ ป้าสุ ซึ่งตรวจพบ ปริมาณกรดเบนโซอิก 1318.32 มก./กก. และกรดซอร์บิก 978.88 มก./กก. นั้น พบว่า มีผลรวมของสารกันบูด หรือกรดเบนโซอิกและซอร์บิกรวมกัน เท่ากับ 2.297.2 มก./กก. ซึ่งสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้  หากมีการใช้วัตถุเจือปนอาหารตั้งแต่สองชนิดขึ้นไป ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381) “ข้อ 6 การใช้วัตถุเจือปนอาหาร ต้องใช้ตามชื่อวัตถุเจือปนอาหาร หมวดอาหาร หรือชนิดอาหาร หน้าที่ทางด้านเทคโนโลยีการผลิต และปริมาณสูงสุดที่อนุญาตที่กำหนดไว้ตามบัญชีหมายเลข 1 โดยมีคำอธิบายเพิ่มเติมตามบัญชีหมายเลข 2 แนบท้ายประกาศนี้ การใช้วัตถุเจือปนอาหารที่มีการกำหนดปริมาณสูงสุดที่อนุญาตเป็นตัวเลขในกลุ่มหน้าที่เดียวกันรวมกันตั้งแต่สองชนิดขึ้นไป จะต้องมีผลรวมของสัดส่วนของปริมาณการใช้วัตถุเจือปนอาหารต่อปริมาณสูงสุดที่อนุญาตของวัตถุเจือปนอาหารแต่ละชนิดไม่เกินหนึ่ง”ข้อสังเกตเรื่อง ฉลากอาหารตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 237) พ.ศ.2544 เรื่องการแสดงฉลากของอาหารพร้อมปรุง และอาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคบริโภคทันที กำหนดให้อาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคบริโภคทันที หมายถึง อาหารที่ผลิตเรียบร้อยพร้อมบริโภค ที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่ายได้ทันที ซึ่งต้องมีการแสดงฉลากตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 194) พ.ศ.2543 เรื่องฉลาก ที่กำหนดให้ ต้องมีข้อความเป็นภาษาไทย และมีข้อความแสดงรายละเอียดต่อไปนี้ (ยกเว้นอาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันที ซึ่งผู้ปรุงเป็นผู้จำหน่ายแก่ผู้บริโภคโดยตรง)1. ชื่ออาหาร 2. เลขสารบบอาหาร 3. ชื่อและที่ตั้งของสถานที่ผลิต หรือแบ่งบรรจุ หรือจัดจำหน่าย แล้วแต่กรณี 4. น้ำหนักสุทธิ 5. ส่วนประกอบที่สำคัญ 6. ข้อความว่า “ใช้วัตถุกันเสีย” ถ้ามีการใช้ 7. ข้อความว่า “เจือสีธรรมชาติ” หรือ “เจือสีสังเคราะห์” ถ้ามีการใช้แล้วแต่กรณี 8. ข้อความว่า “ใช้...เป็นวัตถุปรุงแต่งรสอาหาร” 9. ข้อความว่า “ใช้...เป็นวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล” 10. ข้อความว่า “แต่งกลิ่นธรรมชาติ” “แต่งกลิ่นเลียนธรรมชาติ” “แต่งกลิ่นสังเคราะห์” “แต่งรสธรรมชาติ” หรือ “แต่งรสเลียนธรรมชาติ” ถ้ามีการใช้แล้วแต่กรณี 11.วันเดือนและปีที่หมดอายุ/ ผลิต 12. คำแนะนำในการเก็บรักษา (ถ้ามี)และจากตัวอย่างน้ำพริกหนุ่ม และแกงไตปลาแห้งที่นำมาทดสอบทั้งหมด พบว่า มีหลายตัวอย่างที่แสดงรายละเอียดบนฉลากไม่ครบถ้วน ซึ่งอาจขัดต่อกฎหมายดังกล่าวน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จโลหะหนัก ตะกั่ว แคดเมียม ในน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จปลาร้า เป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งที่แทบขาดไม่ได้ในครัวคนอีสานหรือร้านอาหารอีสาน โดยเฉพาะส้มตำปลาร้า เมนูสุดแซ่บขวัญใจคนทุกภาค แต่ปลาร้านั้นหากไม่ทำให้สุกก่อนบริโภค ก็อาจก่อปัญหาด้านสุขภาพได้มาก โดยเฉพาะเรื่องพยาธิใบไม้ที่แฝงในตัวปลาหรือจุลินทรีย์ก่อโรคที่อาจส่งผลให้เสาะท้องได้ จึงมีการรณรงค์ในวงกว้างให้ใช้ปลาร้าสุกหรือทำปลาร้าให้สุกก่อนบริโภค ซึ่งก็ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมา นั่นคือ น้ำปลาร้าปรุงสุกสำเร็จรูป ออกวางขายทั่วไป เรียกว่า ช่วยสร้างความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคได้อร่อยนัวกันอย่างวางใจ ซึ่งแหล่งผลิตใหญ่ก็ไม่พ้นภาคอีสาน และถือเป็นหนึ่งในของฝากที่มีชื่อเสียง ฉลาดซื้อ โดยโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงร่วมมือกับเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ จำนวน 12 ตัวอย่าง ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2561 เพื่อทดสอบหาปริมาณตะกั่วและแคดเมียม ซึ่งเป็นโลหะหนักที่ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมทั่วไปและมีโอกาสเข้าสู่ตัวปลาที่ใช้ในการทำน้ำปลาร้า ถือเป็นการเฝ้าระวังด้านอาหารเพื่อสร้างความมั่นใจในการบริโภค และเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จเป็นของฝากยามเยือนถิ่นอีสานน้ำปลาร้า หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการหมักปลากับเกลือ เติมข้าวคั่วที่บดละเอียด รำข้าว หรือรำข้าวคั่วในอัตราส่วนที่เหมาะสม ก่อนหรือหลังการหมักปลากับเกลือ เพื่อให้ได้กลิ่นรสตามธรรมชาติของปลาร้านำมากรอง ให้ความร้อนก่อนบรรจุ หรือได้จากการนำปลาร้าดิบมาต้มกับนํ้า อาจเติมเกลือ สมุนไพร แล้วกรอง อาจเติมเครื่องปรุงรส เช่น น้ำตาล น้ำมะขาม น้ำกระเทียมดอง และให้ความร้อนก่อนบรรจุที่มา มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน มผช.1346/2557ผลทดสอบผลทดสอบตะกั่ว น้ำปลาร้าทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 คือไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัมส่วนผลทดสอบแคดเมียม เนื่องจากไม่มีเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศ ฉบับที่ 98 จึงใช้เกณฑ์เทียบเคียงจากของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำปลาร้า ของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม คือ แคดเมียม ต้องน้อยกว่า 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่า ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มผช.มาตรฐานตะกั่วและแคดเมียมในอาหารประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ.2529 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน  กำหนดให้ตรวจพบตะกั่วไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ส่วนแคดเมียมไม่มีการกำหนดมาตรฐานไว้ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 แต่อาจพิจารณาเทียบเคียงจาก มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำปลาร้า (มผช. 1346/2557) ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งกำหนดไว้ว่า สารปนเปื้อนแคดเมียม ต้องน้อยกว่า 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม  ขณะที่ Codex (Codex Standard 193-1995) กำหนดไว้ไม่เกิน 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัมในสัตว์น้ำ (Marine bivalve molluscs) และสหภาพยุโรป (EC) No 1881/2006 กำหนดค่ามาตรฐานแคดเมียมในเนื้อปลาไว้ไม่เกิน 0.05 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(0.05 ppm.)  แต่ทั้งนี้ก็มีการแยกย่อยไปตามชนิดของปลาด้วย ตะกั่ว แคดเมียม อยู่ในน้ำปลาร้าได้อย่างไร โลหะหนักถูกใช้ในแวดวงอุตสาหกรรมหลายชนิด แต่ที่หลุดรอดออกสู่แหล่งดิน น้ำธรรมชาติ และถูกกำหนดไว้ในมาตรฐานอาหารส่วนใหญ่ คือ ปรอท ตะกั่ว แคดเมียม เนื่องจากมีพิษรุนแรง การปนเปื้อนเข้าสู่แหล่งน้ำ ก็มีความเสี่ยงที่โลหะหนักจะสะสมในตัวสัตว์น้ำอย่างปลา ที่ใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำปลาร้า และโลหะหนักไม่อาจทำลายได้ด้วยความร้อน จึงสามารถพบได้ในอาหารที่ผลิตออกจำหน่าย  โรตีสายไหม โรตีสายไหม ของฝากออเจ้า จากกรุงเก่าอยุธยาหากได้มีโอกาสเดินทางไปท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นอกจากการแวะไปไหว้พระทำบุญในวัดสำคัญ และเยี่ยมชมโบราณสถานที่งดงามในจังหวัดแล้ว คงไม่พลาดต้องซื้อของฝากชื่อดังอยุธยาอย่าง “โรตีสายไหม” หนึ่งในของดีภาคกลางติดไม้ติดมือกลับบ้านไปฝากคนรู้จักรู้ใจอย่างแน่นอน เพราะรสสัมผัสของแผ่นแป้งโรตีที่ละมุนนุ่มลิ้น กับกลิ่นหอมหวานของสายไหมสีสดใส เมื่อได้ชิมชิ้นแรก ก็คงห้ามใจ ไม่ให้หยิบชิ้นต่อไปคงไม่ได้“ขนมโรตีสายไหม” มีส่วนประกอบหลัก 2 ส่วน คือ ส่วนของแป้ง และส่วนของเส้นสายไหม แป้งโรตีประกอบไปด้วย แป้งสาลี น้ำ และเกลือ ส่วนของสายไหม มีส่วนผสมของน้ำตาล น้ำมันมะพร้าว และแป้งสาลี ซึ่งขนมที่มีส่วนประกอบของแป้ง อาจต้องใช้สารกันบูด กันรา เพื่อยืดอายุการเก็บรักษา ไม่ให้บูดเสียเร็วหรือขึ้นราได้ง่าย และอาจมีการใช้สีผสมอาหารสังเคราะห์ในแผ่นแป้ง และสายไหม เพื่อสร้างสีสันให้กับแผ่นแป้ง และเส้นสายไหม ให้สดใสดึงดูดใจคนกิน ฉลาดซื้อ ร่วมกับตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคกลาง จึงอยากเชิญชวนผู้บริโภค มาลองดูกันว่า เมื่อสุ่มเก็บตัวอย่าง โรตีสายไหม ในแบบฉบับที่ผู้บริโภคซื้อกันแล้ว เราพบอะไรบ้างที่น่าสนใจว่ากันว่าโรตีสายไหม ที่โด่งดังของอยุธยานั้น เป็นขนมของชาวไทยมุสลิม มีต้นกำเนิดมาจากการรังสรรค์ของนายบังเปีย แสงอรุณ และครอบครัว ที่ได้คิดค้นขึ้น เมื่อครั้งไปทำงานอยู่ที่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ก่อนจะเดินทางกลับมาประกอบอาชีพที่บ้านเกิดอยุธยาหากเอ่ยถึงตลาดขายโรตีเจ้าดัง คงต้องตรงดิ่งไปที่โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ไม่ได้พาไปหาหมอหายา แต่ว่าร้านโรตีเจ้าอร่อย เขามารวมตัวกันอยู่ที่นี่ แถวเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา แต่ถ้าใครไม่ได้ผ่านไปแถวนั้น ก็ไม่ต้องเสียใจ ยังมีเส้นทางโรตีสายไหม ที่จอดรถซื้อข้างทางได้ เช่น ถนนบางไทร - บางปะหัน, ถนนอยุธยา - บางปะอิน, ถนนเลี่ยงเมืองสุพรรณ รวมไปถึงถนนสายเอเชียผลทดสอบโรตีสายไหม โรตีสายไหมที่นำมาทดสอบ จำนวน 10 ตัวอย่าง ได้จากการสุ่มซื้อโดยเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคกลาง จากร้านโรตีสายไหม 10 แห่ง ใน จ.พระนครศรีอยุธยา ในส่วนของแผ่นแป้งโรตี ฉลาดซื้อเลือกทดสอบวัตถุกันเสีย จำนวน 3 ชนิด ที่อาจถูกใช้เพื่อยืดอายุการเก็บรักษา ได้แก่ กรดซอร์บิก กรดเบนโซอิก และกรดโพรพิโอนิก รวมทั้งทดสอบหาสีสังเคราะห์ในแผ่นแป้งด้วย สำหรับสายไหม เลือกทดสอบเฉพาะสีสังเคราะห์ ผลการทดสอบพบว่า• แผ่นแป้งโรตี  ตรวจพบกรดเบนโซอิก(Benzoic Acid) เกินมาตรฐาน (1,000 มก./กก.)   จำนวน 4 ตัวอย่าง ได้แก่  1) โรตีสายไหม ร้านศิลัคข บังอารีย์ แสงอารุณ เจ้าเก่า ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก  1910.45  มก./กก.2) ร้านแม่ชูศรี ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก  1894.05  มก./กก. 3) ร้านเรือนไทย ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก  1502.32  มก./กก.4) ร้านเอกชัย (B.AEK) ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก  1147.95  มก./กก.ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 381 พ.ศ. 2559 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 4) สำหรับอาหารประเภทธัญชาติและผลิตภัณฑ์ธัญชาติ กำหนดปริมาณกรดเบนโซอิก ไม่เกิน 1,000 มก./อาหาร 1 กก. อีก 6 ตัวอย่างตรวจพบ กรดเบนโซอิก แต่อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยไม่เกินมาตรฐาน(เรียงลำดับจากน้อยที่สุดไปมากที่สุด ได้แก่1) ร้านอาบีดีน+ประนอม แสงอรุณ  ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก  23.96 มก./กก. 2) ร้านวริศรา โรตีสายไหม  ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก  671.45 มก./กก. 3) ร้านโรตีสายไหมบังแป๊ะ  ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก  686.56 มก./กก. 4) ร้านโรตีสายไหม ไคโร น้องชายบังอิมรอน  ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก  708.64 มก./กก. 5) ร้านจ๊ะโอ๋  ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก  887.62 มก./กก. 6) ร้านประวีร์วัณณ์  ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก  985.84 มก./กก.ด้านสีสังเคราะห์ พบในแผ่นแป้งโรตีทุกตัวอย่างแต่ไม่เกินมาตรฐาน  อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า ร้านเอกชัย (B.AEK) ซึ่งตรวจพบสีสังเคราะห์ กลุ่มสีเหลือง คือ ตาร์ตราซีน ปริมาณ  49.82 มก./กก. และกลุ่มสีน้ำเงิน คือ บริลเลียนท์ บลู เอฟซีเอฟ ปริมาณ  5.94 มก./กก. เมื่อคำนวณแล้วพบว่า ผลรวมสัดส่วนของสีสังเคราะห์ทั้งสองชนิดที่ตรวจพบ เท่ากับ 1.036 ถือว่าเกินเกณฑ์มาตรฐานไปเล็กน้อย เพราะตามกฎหมายระบุว่า เมื่อนำมาคำนวณร่วมกันแล้ว ต้องไม่เกิน 1 (ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381 ข้อ 6 ) สำหรับกรดซอร์บิกและกรดโพรพิโอนิกตรวจไม่พบในทุกตัวอย่าง  •สายไหม  ตรวจพบสีสังเคราะห์ทุกตัวอย่าง แต่ไม่เกินมาตรฐาน โดยสีสังเคราะห์ที่ตรวจพบในแผ่นแป้งและสายไหม อยู่ในกลุ่มสีแดง สีเหลือง และสีน้ำเงิน ได้แก่ คาร์โมอีซีน หรือ เอโซรูบิน INS122, ตาร์ตราซีน INS102 และบริลเลียนท์ บลู เอฟซีเอฟ INS133มาตรฐานการใช้ปริมาณวัตถุกันเสียและสีสังเคราะห์ สารกันบูด สารกันรา และสีสังเคราะห์ จัดเป็นวัตถุเจือปนอาหาร (food additive) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข  (ฉบับที่ 381) พ.ศ. 2559 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 4)  ที่มีข้อกำหนดปริมาณสูงสุดที่อนุญาตให้ใช้ได้ ตามหมวดอาหารแต่ละประเภทเอาไว้ ซึ่งแผ่นแป้งโรตีเทียบได้กับอาหารประเภทธัญชาติและผลิตภัณฑ์ธัญชาติ ส่วนสายไหมนั้นเทียบได้กับอาหารในหมวดลูกกวาด ลูกอม ช็อกโกแลตปริมาณกรดเบนโซอิกที่อนุญาตให้พบได้ในส่วนของ แผ่นแป้งโรตี แผ่นแป้งโรตี เทียบได้ในหมวดอาหารกลุ่มขนมหวานที่มีธัญชาติและสตาร์ชเป็นส่วนประกอบหลัก ตามข้อกำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381) พ.ศ. 2559 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 4) อนุญาตให้ใช้ปริมาณกรดเบนโซอิกสูงสุดได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม ส่วนสีสังเคราะห์ในกลุ่มสีแดง ได้แก่ คาร์โมอีซีน หรือ เอโซรูบิน (Carmoisine or Azorubine) INS 122 อนุญาตให้ใช้ได้สูงสุดในปริมาณไม่เกิน 50 มก./กก., ในกลุ่มสีเหลือง ได้แก่ ตาร์ตราซีน (Tartrazine) INS 102 อนุญาตให้ใช้ได้สูงสุดในปริมาณไม่เกิน 50 มก./กก. และในกลุ่มสีน้ำเงิน ได้แก่ บริลเลียนท์ บลู เอฟซีเอฟ (Brilliant Blue FCF) INS 133 อนุญาตให้ใช้ได้สูงสุดในปริมาณไม่เกิน 150 มก./กก.ปริมาณสีสังเคราะห์อาหารที่อนุญาตให้พบได้ในส่วนของ สายไหม สายไหม อาจเทียบได้ในหมวดอาหารกลุ่มลูกกวาด นูกัตและมาร์ซิแพน ตามข้อกำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381) พ.ศ. 2559 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 4) อนุญาตให้ใช้สีสังเคราะห์ ในกลุ่มสีเหลือง ตาร์ตราซีน (Tartrazine) INS 102 และในกลุ่มสีน้ำเงิน บริลเลียนท์ บลู เอฟซีเอฟ (Brilliant Blue FCF) INS 133 ได้ในปริมาณไม่เกิน 300 มก./กก. ทั้งนี้ หากมีการใช้วัตถุเจือปนอาหารตั้งแต่สองชนิดขึ้นไป ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381) “ข้อ 6 การใช้วัตถุเจือปนอาหาร ต้องใช้ตามชื่อวัตถุเจือปนอาหาร หมวดอาหาร หรือชนิดอาหาร หน้าที่ทางด้านเทคโนโลยีการผลิต และปริมาณสูงสุดที่อนุญาตที่กำหนดไว้ตามบัญชีหมายเลข 1 โดยมีคำอธิบายเพิ่มเติมตามบัญชีหมายเลข 2 แนบท้ายประกาศนี้ การใช้วัตถุเจือปนอาหารที่มีการกำหนดปริมาณสูงสุดที่อนุญาตเป็นตัวเลขในกลุ่มหน้าที่เดียวกันรวมกันตั้งแต่สองชนิดขึ้นไป จะต้องมีผลรวมของสัดส่วนของปริมาณการใช้วัตถุเจือปนอาหารต่อปริมาณสูงสุดที่อนุญาตของวัตถุเจือปนอาหารแต่ละชนิดไม่เกินหนึ่ง”รู้จักสารกันบูด และ สารกันรา สารกันบูด และสารกันราที่ฉลาดซื้อเลือกสุ่มตรวจ ได้แก่ กรดซอร์บิก (Sorbic Acid) INS 200, กรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) INS 210 และ กรดโพรพิโอนิก (Propionic Acid) INS 280 ซึ่งสารกันเสียแต่ละตัวเป็นวัตถุเจือปนอาหารที่มีลักษณะและวัตถุประสงค์การใช้ในอาหาร ดังนี้ กรดซอร์บิก (Sorbic Acid) INS 200* เป็นวัตถุเจือปนอาหาร (food additive) ที่อยู่ในกลุ่มซอร์เบต (sorbate) ที่ใช้เป็นสารกันเสีย (preservative) มีลักษณะเป็นผลึกสีขาว ใช้ป้องกันการเจริญเติบโตของยีสต์ รา และเเบคทีเรีย โดยไม่มีผลต่อกลิ่นและรสชาติของอาหาร กรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) INS 210* เป็นกรดอ่อนในอาหาร เป็นวัตถุเจือปนอาหารเพื่อใช้เป็นสารกันเสีย มีลักษณะเป็นผงผลึกหรือเกล็ดสีขาว มีคุณสมบัติสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ได้ กรดโพรพิโอนิก (Propionic Acid) INS 280* เป็นกรดอินทรีย์ที่พบในอาหารที่เกิดจากการหมัก เป็นวัตถุเจือปนอาหาร มีหน้าที่เป็นสารกันเสีย และใช้เป็นสารกันราในอาหาร(ขอขอบคุณข้อมูลจาก: www.foodnetworksolution.com)หมายเหตุ: *INS (International Numbering System) คือ ระบบเลขหมายสากลสำหรับวัตถุเจือปนอาหารสีสังเคราะห์ที่ใช้ในอาหารสีผสมอาหารสังเคราะห์ หมายถึง สีที่เป็นสารอินทรีย์ที่ได้จากการสังเคราะห์ ใช้เป็นวัตถุเจือปนอาหาร จัดอยู่ในกลุ่มสีผสมอาหาร สีสังเคราะห์มีราคาถูกกว่าสีธรรมชาติ อีกทั้งยังสะดวกต่อการเลือกใช้ ผู้ประกอบการจึงมักนิยมใช้สีสังเคราะห์ในอาหารมากกว่าสีธรรมชาติ ทั้งที่สีธรรมชาติมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคมากกว่า ซึ่งสีสังเคราะห์ สามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มสีต่างๆ ได้แก่ กลุ่มสีแดง, กลุ่มสีเหลือง, กลุ่มสีเขียว และกลุ่มสีน้ำเงินกลุ่มสีแดง มี 3 สี ได้แก่ ปองโซ 4 อาร์ (Ponceau 4 R), คาร์โมอีซีน หรือ เอโซรูบิน (Carmoisine or Azorubine) และ เออริโทรซีน (Erythrosine)กลุ่มสีเหลือง มี 3 สี ได้แก่ ตาร์ตราซีน (Tartrazine), ซันเซ็ต เย็ลโลว์ เอฟซีเอฟ (Sunset Yellow FCF) และ ไรโบฟลาวิน (Riboflavin)กลุ่มสีเขียว มีสีเดียว ได้แก่ ฟาสต์ กรีน เอฟซีเอฟ (Fast Green FCF)และกลุ่มสีน้ำเงิน มี 2 สี ได้แก่ อินดิโกคาร์มีน หรือ อินดิโกติน (Indigocamine or Indigotine) และบริลเลียนท์ บลู เอฟซีเอฟ (Brilliant Blue FCF)

อ่านเพิ่มเติม >