ฉบับที่ 210 “เรื่องของเด็ก ที่ไม่ใช่เรื่องเด็กๆ”

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว โดยสภามหาวิทยาลัยมหิดล และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก รพ.รามาธิบดี เล่าว่าสาเหตุที่เลือกเรียนด้านกุมารเวชศาสตร์นั้น เพราะมองว่าปัญหาสุขภาพเด็ก นอกจากเกี่ยวข้องกับสุขภาพแล้ว หากมองลึกลงไป ยังมีเรื่องนโยบายอยู่เบื้องหลังด้วย เช่น ปัญหาทารกน้ำหนักตัวน้อย สาเหตุหนึ่งมาจากการที่มารดาได้รับโภชนาการที่ไม่ดี และหากวิเคราะห์กันให้ลึกลงไปถึงสาเหตุว่าทำไมมารดาจึงไม่ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ สาเหตุที่แท้จริงก็มาจากการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม  จึงทำให้ไม่มีเงินซื้ออาหารที่มีประโยชน์ ทุกสิ่งเป็นเหตุและผล จากวันนั้นมาจนวันนี้ เรื่องราวของเด็กน้อย จึงไม่ใช่เรื่องของเด็กอีกต่อไปเพราะ มันส่งผลถึงอนาคตของประเทศด้วย อาจารย์อดิศักดิ์ เล่าภาพรวมปัญหาเด็กกับการคุ้มครองผู้บริโภคในบ้านเราว่า ในศูนย์วิจัยความปลอดภัยในเด็กนี้ ทำ 5 เรื่องใหญ่ๆ คือ 1) อุบัติเหตุ แบ่งเป็นเรื่องย่อยอีก เช่น จมน้ำ จราจรทางถนน  ความร้อน ฯลฯ 2) ความรุนแรง การทำร้ายเด็ก 3) มลพิษ มลพิษจากทางดิน ทางน้ำ ทางอากาศ จากภาคอุตสาหกรรมทั้งหลาย 4) ภัยพิบัติ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ไฟไหม้ 5) ภัยจากข้าวของเครื่องใช้ ผลิตภัณฑ์ อยู่ในกลุ่มการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งภัยจากข้าวของเครื่องใช้ถือเป็น 1 ใน 5 กลุ่มงานที่เราทำที่นี่ เน้นที่เป็น ข้าวของเครื่องใช้ของเด็ก ของเล่นเด็ก ซึ่งมีหลายตัว โดย “ของเล่น” เรามีทำวิจัยไปหลายชนิด ทำตั้งแต่ทางด้านกายภาพ ด้านเคมี โดยการไปตรวจสอบ(ทดสอบ) ของเล่นแล้วดูว่ามีอันตรายไหม เป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรมหรือเปล่า เพราะมาตรฐานอุตสาหกรรมของเล่นนี้เป็นมาตรฐานบังคับ เมื่อสิบกว่าปีก่อนที่เราเริ่มจับประเด็นนี้ เราพบว่า ของเล่นส่วนหนึ่ง ซึ่งมีสัดส่วนสูงทีเดียวที่ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐาน และทางด้านกายภาพก็อาจจะมีอันตราย เช่น มีความแหลมคม มีช่องรูที่อาจจะไม่เหมาะสม ด้านเคมีก็ตรวจพบเจอสารตะกั่วในค่าที่สูงมาก ซึ่งเรื่องแบบนี้ต้องมีการแถลงข่าว มีการประชุมร่วมกันของเครือข่าย ทั้งด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทาง สคบ. กระทรวงอุตสาหกรรม มอก. ทั้งหลาย รวมทั้งอีกหลายภาคส่วนของภาครัฐ สมัยก่อน การแถลงข่าวก็ยังมีความเกรงใจกันว่าจะแถลงข่าวอย่างไรเกรงใจผู้ผลิตอาจจะไปโดนผู้ผลิตหลายรายเช่นกัน ไม่รู้ที่มาที่ไปของสินค้า เช่น ไม่รู้ว่ามีการผ่าน มอก. แล้ว แต่มาเปลี่ยนวัตถุดิบทีหลัง ทำให้มาเปลี่ยนโครงสร้างทีหลังแต่ไปยึดเอา มอก. เดิมมาใช้ ทำให้มันผิดไปจากมาตรฐานการส่งตรวจตั้งแต่แรก หรือว่าเป็นเพราะมีการนำเข้าของที่มันไม่อยู่ในการตรวจตั้งแต่แรก โดยที่ตอนแรกนำเข้ามาแบบหนึ่ง ตอนหลังเป็นการนำเข้าแบบอื่นๆ โดยใช้การตรวจผ่านในกลุ่มเดียวกัน อย่างเช่น กลุ่มพลาสติกทั่วไป แต่แบบของเล่นเปลี่ยนไปหมดเลย ทั้งที่ตัวเองได้ผ่านในกลุ่มพลาสติกทั่วไปในของเล่นลักษณะหนึ่ง  แต่ผลิตในรุ่นหลังๆ เปลี่ยนลักษณะไปหมด แต่ยังเอาตัว มอก. เดิมมาปะบนฉลากเลย หรือบางบริษัทไม่มีเลยตั้งแต่แรก ไม่เคยมาขออนุญาตเลยทำให้ไม่รู้ที่มาที่ไป สุดท้ายในคราวนั้นมีการนำเรียนท่านรองนายกรัฐมนตรี ตอนนั้นคือท่านไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ซึ่งท่านมีการแถลงเอง โดยท่านยกของเล่นทั้งหมดที่เราตรวจสอบมาแถลง นั่นเป็นครั้งแรกที่มีการทำวิจัยเรื่องของเล่นกัน ผลการแถลงครั้งนั้นต่อมา “ของเล่น” ก็มีการปรับปรุง มีการไปตรวจสอบตลาดซ้ำ ก็มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น   แสดงว่ามาตรฐานของเล่นดีขึ้นแล้วตอนนี้             ก็ดีขึ้น แต่ “ของเล่น” ก็มีปัญหาอีกหลายเรื่อง อย่างตอนเจอของเล่นแปลกๆ ทีมก็ลองไปเช็คดู เช่น ปืนอัดลมที่มีกระสุนเม็ดพลาสติกเม็ดสีเหลืองๆ กลมๆ เล็กๆ กระบอกละ 50 - 60 บาท ปรากฏว่า ความเร็ว (ของกระสุนที่ยิงออกไป) ก็เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด แต่พอได้ตรวจสอบเข้าจริง พวกนี้จะไม่ใช่ของเล่นแล้ว กระทรวงอุตสาหกรรมถือว่า ไม่ใช่ของเล่นแต่เป็นสิ่งเทียมอาวุธ แล้วในกลุ่มนี้มีอะไรอีกบ้าง ปรากฎว่า ปืนฉีดน้ำก็ไม่ใช่ของเล่นนะ ปืนอัดลมก็ไม่ใช่ของเล่น ตัวดูดขยายก็ไม่ใช่ของเล่น พวกของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์ใส่น้ำยาเคมีลงไปเกิดฟองฟู่ขึ้นมาคล้ายเป็นภูเขาไฟ ถ้าอันนี้ถือเป็นของเล่นเพื่อการศึกษา ซึ่งไม่เกี่ยวกับ “ของเล่น” ตามนิยามกฎหมาย แต่เป็นอุปกรณ์การศึกษา บางทีผู้ผลิต “ของเล่น” ก็อาจไปให้นิยามตัวเองว่า เป็นของประดับ เช่น ตุ๊กตาบางอย่าง ไปลงฉลากว่า เป็นของฝากของประดับแล้วก็หลบหลีกจากนิยามของเล่นกันหมด ดังนั้นจึงพบว่าของเล่นอีกหลายประเภทก็ใช้วิธีการนิยามว่า ไม่ใช่ของเล่น แต่เวลาไปวางขายกลับไปอยู่ในชั้นของเล่นวางขายเต็มไปหมด เครื่องบินที่บอกตั้งโชว์ ก็ไปวางไว้ในชั้นของเล่น และพวกนี้ก็มีอันตรายไม่ได้ผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรม ทีมวิจัยจึงเกิดอีกบทบาทหนึ่งขึ้น คือทำงานร่วมกับ สคบ.(สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) ทำในเรื่องของสินค้าที่ไม่เข้ากับกฎหมายใด (ไม่มีหน่วยงานเฉพาะเจาะจง) สินค้าแบบนี้เป็นหน้าที่ของ สคบ.ที่จะไปจัดการทั้งหมด เช่น มีประกาศของเล่นตัวยืดขยาย ลูกโป่งวิทยาศาสตร์ที่เป็นน้ำยาเคมีที่เป่า ปืนฉีดน้ำที่เป็นท่อกระบอกพีวีซี เหล่านี้ ก็เป็นของที่หลุดมาตรฐานจากกระทรวงอุตสาหกรรม หลุดจากนิยามของเล่นจากกระทรวงอุตสาหกรรม แล้วมาถูกจัดการด้วยประกาศสินค้าที่เป็นอันตรายของสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคในเวลาต่อมา   ทางศูนย์วิจัยยังทำเรื่องกระเป๋านักเรียนอยู่ไหมคะ           กระเป๋านักเรียนเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากเลย เพราะว่าเราเห็นเด็กๆ แบกกันอุตลุด ตอนก่อนโน้นก็ไปดูมาตรฐานการแบกของ แม้แต่ของผู้ใหญ่เองในการประกอบอาชีพ ก็จะมีมาตรฐานกำหนดอยู่ ในของเด็กเองเมื่อมาเทียบเคียงแล้วก็มีในหลายประเทศที่เขาห้ามการแบกของหนัก ซึ่งในบ้านเราตอนนั้นทีมไปวิจัยกันมา มีการแบกกันหนักมาก จากค่ามาตรฐานของหลายประเทศจะยึดถือที่ค่าอยู่ระหว่าง 10 – 20 % ของน้ำหนักตัว เรายึดค่ากลาง คือที่ประมาณ 15% ของน้ำหนักตัว จะให้ดีต้องต่ำกว่า 10% รุนแรง/ร้ายแรงถ้าเกิน 20% เราก็ไปยึดที่ค่า 15% ของน้ำหนักตัว พอลองไปชั่งน้ำหนักกระเป๋าบวกถุงศิลปะบวกปิ่นโตอาหารของเด็กที่แบกมา โรงเรียน พบว่า ถ้าเป็นเด็ก ป.2 นะ ป.1 ยังไม่เท่าไหร่ ป.5 – ป.6 ก็ยังไม่เท่าไหร่ หนักสุดก็พวก ป.2, ป.3, ป.4 พวกนี้เป้จะมีน้ำหนักมาก มากกว่าครึ่งหนึ่งที่แบกของเกินกว่าร้อยละ 15 ของน้ำหนักตัว       ตอนนั้นมีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนะ มหาวิทยาลัยหอการค้าด้วย ก็ไปทำการวิจัยกันต่ออีก ต่างคนต่างทำแต่ก็เอาข้อมูลมาดูๆ กัน แลกเปลี่ยนกัน ก็จะเจอปัญหาคล้ายๆ กันทั้งหมดว่า แบกเกิน ประกอบกับทางวิศวกรรมจุฬา สาขาวิศวกรรมอุตสาหการก็มีความสนใจในเรื่องนี้ด้วย อ.ไพโรจน์ ก็ส่งนักศึกษามาทำวิทยานิพนธ์ร่วมกับศูนย์วิจัยความปลอดภัยในเด็ก รวมกับอีกหลายชิ้นงานที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการแบกกระเป๋าแล้วทำให้เกิดกระดูกสันหลังคด ต่อมาค่าแรงที่เด็กทนได้(การรับน้ำหนัก) ต่างๆ ก็มีการเปลี่ยนแปลงข้อแนะนำ เช่น ร้อยละของน้ำหนักตัวจะไม่เหมาะสมในกรณี เด็กมีน้ำหนักมาก คำนวณไปแล้วมีโอกาสแบกกระเป๋าได้เยอะมาก มันไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น วัดจากค่าแรงแล้วมีการปรับเปลี่ยน ยึดเอาอายุ อายุก็ไปแปลงเป็นชั้นปี เช่น ป.1 ป.2 fix ที่น้ำหนักค่าหนึ่ง ป.3 ป.4 fix ที่น้ำหนักค่าหนึ่ง อย่างนี้เป็นต้น เกิดเป็นคำแนะนำขึ้นมา เกิดการผลักดันมาตรการการเฝ้าระวังของโรงเรียนขึ้น เช่น คุณครูชั่งน้ำหนักกระเป๋าของเด็กอย่างสม่ำเสมอ มี record บันทึกไว้ และมีมาตรการการลดน้ำหนักของเป้หรือกระเป๋า โดยของใช้บางอย่าง สามารถเก็บของไว้ใต้โต๊ะได้ มีตู้เก็บของ เก็บเอกสาร อย่างนี้เป็นต้น มีข้อแนะนำให้สำหรับผู้ปกครองด้วย ว่าให้ช่วยจัดกระเป๋าให้ลูก เพราะหลายคนแบกเพราะว่าไม่จัดตารางสอน อย่างนี้เป็นต้น มีการดีไซน์กระเป๋าให้เหมาะสมในการแยกเป็นช่องเล็กช่องน้อย แล้วก็ในการวางของให้กระจายออกตามช่องต่างๆ เพื่อกระจายน้ำหนักออกไป ไม่ถ่วงอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง มีข้อแนะนำการแบกกระเป๋า เช่น กระเป๋าจะต้องแบกด้วยสะพายสองสายเสมอ ไม่สายเดียว มีสายรัดเอวเพื่อให้ช่วงล่างที่เป็นช่วงที่น้ำหนักถ่วงอยู่นั้นแนบติดกับลำตัว และช่วงล่างสุดไม่ต่ำกว่าบั้นเอวของเด็กลงไป จะช่วยให้อาการการปวดหลัง การเกิดกระดูกสันหลังคดงอในขณะแบกกระเป๋าลดน้อยลง ยังมีความพยายามที่จะออกเป็นมาตรการที่ชัดเจน มีการประชุมที่สภาผู้แทนราษฎร โดยคณะอนุกรรมาธิการด้านการคุ้มครองเด็กและเยาวชน ปรากฎว่า หลังการประชุมมีการเชิญผู้ใหญ่มาเยอะนะ แต่ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านกฎระเบียบ เรื่องการแบกกระเป๋าหนักๆ นี้ สามารถที่จะสานต่อให้เป็นชิ้นเป็นอันได้มากขึ้น อยากให้มีคนรับรู้มากขึ้น ให้ขยายตัวมากขึ้นจะสอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาการเรียนด้วย การแบกของหนักๆ มากๆ ก็ไม่สอดคล้องกับรูปแบบการศึกษา   แล้วหากเปลี่ยนเป็นเรียนผ่านแทบเลต           แทบเลตนี่เคยมีการแจกกันตอน ป.1 ทั้งประเทศ ก็เป็นเรื่องน่าคิดเหมือนกัน แทบเลตก็เป็นสินค้า เป็น สินค้าที่พบว่า มีการละเมิดความปลอดภัยในเด็กและมีการส่งเสริมให้ใช้ถึงขนาดเป็นนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ณ ห้องเรียนอิเลคโทรนิค มีคนพูดมากมาย อันนี้ก็เป็นตัวอย่างของความพยายามที่จะใช้เทคโนโลยี แต่เราต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีที่อยู่ภายใต้สินค้าชิ้นหนึ่ง ซึ่งมีระดับของเศรษฐกิจที่สูง มีการประมูลถึงหมื่นๆ ล้านบาท สินค้าตัวแทบเลตเองมันจะวิ่งได้ก็ต้องมีแอปพลิเคชันที่อยู่ภายใต้อินเทอร์เน็ต ตัวอินเทอร์เน็ตก็ถือว่าเป็นสินค้าที่ซ่อนอยู่ในตัวแทบเลตหรือตัวโทรศัพท์มือถืออีกต่อหนึ่ง ถือว่าเป็นสินค้า 2 ชิ้น ที่ซ่อนเร้นกันอยู่ การกระตุ้นให้เด็กใช้บูรณาการด้านการศึกษาถือว่ามีประโยชน์มากมาย สามารถใช้ค้นคว้าหาความรู้ สร้างรูปแบบการศึกษาที่เป็นมัลติมีเดีย มีรูปมีเสียงที่กระตุ้นการศึกษาได้ แต่ขณะเดียวกัน โทษก็มากมายเช่นเดียวกัน การทำเช่นนี้ได้จะต้องยอมรับประโยชน์และโทษในเวลาเดียวกัน และผู้ลงทุนก็จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เมื่อคุณรับผิดชอบต่อประโยชน์ เช่น เก็บเงินค่าอินเทอร์เน็ต 500 บาท ต่อ เด็ก 1 คน ทุกเดือนพ่อแม่ต้องจ่ายเพื่อรักษาสายอินเทอร์เน็ต ก็ควรต้องมีการแสดงความรับผิดชอบเมื่อเกิดโทษต่อเด็กด้วย แต่ปัจจุบันไม่เห็นตรงจุดนี้ ไม่มีการคิดเกี่ยวกับคนที่เอาข้อมูลมาใส่ เกี่ยวกับถนน(ช่องทาง) ที่สร้างไปให้ถึงตัวเด็ก เกี่ยวกับรถ(เนื้อหา) ที่วิ่งอยู่บนถนนปล่อยทุกอย่างให้ไปชนเด็กเอง แล้วก็เอากำไรอย่างเดียวไม่นึกถึงโทษที่เกิดขึ้นทั้งสิ้นเลย ดังนั้นเด็กที่ได้แทบเลตฟรีจากรัฐบาล เสียค่าอินเทอร์เน็ตเอง ถ้าใครต่อไวไฟโรงเรียนก็รอดไปไม่ต้องเสีย แต่ถ้าใครต่ออินเทอร์เน็ตออนไลน์ด้วยก็ต้องจ่ายเอง ส่วนโรงเรียนเองก็ปล่อยไวไฟ แต่ซึ่งข้อมูลต่างๆ ไม่มีการกรอง เป็นอินเทอร์เน็ตสำหรับผู้ใหญ่ไม่ใช่อินเทอร์เน็ตสำหรับเด็ก เด็ก 1 คนจึงสามารถที่จะเข้าไปดูภาพโป๊ด้วยการพิมพ์คำว่า “โป๊” คำเดียว โดยเด็กอายุ 6 ปี ซึ่งคุณครูบอกให้ส่งการบ้านผ่านเฟซบุ๊ค ขณะเดียวกันกดอีกทีก็เป็น “ภาพโป๊แทน” แบบนี้ก็ได้ เล่นเกมส์ที่แบบเลือดสาด เรตติ้ง 13 – 18 ปี ให้เล่น เด็กก็เล่นได้หมด โซเชียลมีเดียที่คนอายุที่เขาเขียนไว้อยู่แล้วไม่ให้ 13 ปีเล่น ให้พ่อแม่มาลงทะเบียน เด็กก็เข้าได้หมด ตัวระบบไม่ได้ป้องกัน ทั้งหมดก็ยกให้เด็กป้องกันตัวเองหมด อยู่บนแทบเลตที่รัฐบาลเป็นคนแจก อยู่บนอินเทอร์เน็ตที่เด็กต้องจ่ายเงินเอง แล้วคนเก็บเงินไปบอกว่าไม่รับผิดชอบ ไม่เกี่ยวกับเขา เกี่ยวกับคนใส่ content เข้ามา ทีนี้พอมีการพูดถึงจะสร้างระบบเป็น single gateway เพื่อให้การควบคุมเป็นจริงได้มากขึ้นคนก็ร่วมกันถล่มทลายในเรื่องสิทธิ ซึ่งคนเหล่านั้นแน่นอนต้องเป็นผู้ใหญ่ทั้งหมด ไม่มีเด็กคนไหนมาอ้างสิทธิเรื่อง single gateway แน่นอนเพราะยังไม่รู้เรื่องเลยว่ามันคืออะไรด้วยซ้ำไป แต่ว่าผลลัพธ์ก็คือ ผลเสียต่อตัวเด็กทั้งหมด อันนี้เป็นตัวอย่างของสินค้า “สองชิ้นซ่อนอยู่ในผลิตภัณฑ์ชิ้นเดียว”  ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนให้เกิดขึ้นโดยภาครัฐเอง แล้วก็ยกเว้นการลงทุน เช่น การทำ parental control การเซ็นสัญญาระหว่างพ่อแม่กับบริษัทอินเทอร์เน็ตกรณีที่จะส่งสายนี้เป็นสายของลูก  และบริษัทไม่ต้องลงทุนทำอะไร ถ้าเป็นสายของลูกจะทำให้เกิดการเซ็ตอินเทอร์เน็ตให้ได้ เช่น ฝ่าย parental control เป็น automatic ให้หรือว่าลงทุนทำ แอปพลิเคชัน parental control ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น คัดกรองแอปพลิเคชันให้เกินอายุเด็กออกไปให้หมดให้ได้ ก่อนจะไปเก็บเงินเด็ก พวกนี้ก็ไม่ทำทั้งสิ้น แล้วก็ถูกยอมรับโดยสังคมว่า ถูกต้องแล้ว บริษัทแบบนี้ทำถูกต้องแล้ว ทำมากกว่านี้ไม่ถูกต้อง อย่างนี้ดีแล้ว ขณะเดียวกันก็มาพูดเรื่อง white Internet แล้วไม่ได้ทำจริง ถึงเวลาจะทำจริงก็คัดค้านทั้งหมด ก็ไปสอดคล้องกับเรื่อง E-Sport ที่โผล่ขึ้นมาบนออนไลน์ก็เช่นเดียวกัน   พอปัญหาถูกปล่อยให้เกิดไปเรื่อยๆ มาแก้ทีหลังก็ยากแล้ว อันนี้ก็เป็นผลมาจากที่เราไม่คัดกรองผลิตภัณฑ์ให้เด็กใช้ สุดท้ายก็ถูกประยุกต์ใช้ต่างๆ มากมายแล้วก็ยิ่งคัดค้านยากขึ้นไปใหญ่  และเด็กก็เล่นได้ทุกอายุเช่นเดียวกัน E-Sport นี่เด็กเล่นกันจนเสียการเรียนและไม่มีอายุจำกัด ตั้งสมาคมได้โดยไม่ต้องผ่านการกีฬาแห่งประเทศไทยด้วยซ้ำ แล้วก็ไม่ต้องมีระเบียบด้วยซ้ำไปว่าเด็กอายุเท่าไหร่ถึงจะเข้าสู่การแข่งขันที่เขารับรองว่าเป็นกีฬา ไม่ต้องมีระเบียบอะไรเลยแล้วจะพูดถึงระเบียบก็พูดถึงว่า มีการเติบโตกันไปเยอะแล้วเศรษฐกิจนี้เป็นหลายแสนล้าน ต่างประเทศเดินหน้าเต็มตัวแล้วเรายังจะมาชักช้าได้อย่างไร ทั้งหมดนี้ก็เป็น “สินค้า” ทั้งนั้นเพียงแต่อยู่ในรูปเป็นข้าวของเครื่องใช้หรือเป็น air line ลอยทางอากาศ หรืออะไรก็ตามแต่ แต่ก็เป็นเรื่องของผู้บริโภค แล้วก็เป็นเรื่องของภัยที่ซ่อนเร้นภายใต้เศรษฐกิจที่ต้องเติบโตทำให้มองหรือพยายามที่จะไม่มองว่าเป็นภัย จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างมากว่า การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นบรรทัดฐานจริงหรือเปล่า ในสังคมไทยถ้าพูดถึง สิ่งที่ไม่เป็นชิ้นเป็นอันหรือว่าเป็นสิ่งที่ลอยอยู่ในอากาศ ยิ่งไม่มองยิ่งมีความรู้สึกว่าต้องคุ้มครองผู้บริโภคให้มากขึ้นโดยเฉพาะเด็ก   ปัญหาเยอะขนาดนี้อาจารย์เคยท้อบ้างไหมคะ ไม่ๆ ถือว่าเป็นธรรมชาติ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ เพราะเราคงไม่สามารถช่วยได้ทั้งหมดได้อยู่แล้ว แต่เชื่อว่าถึงวันหนึ่งก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพราะทุกเรื่องก็แบบนี้ สมัยก่อนถนนอันตราย ถึงวันหนึ่งถนนก็ปลอดภัยมากขึ้นเมื่อร่ำรวยมากขึ้น โรงงานทุกวันนี้ก็ปล่อยสารพิษ มาตรการความปลอดภัย ออกกฎหมายไม่ยอมทำ ขยะอุตสาหกรรม ทิ้งมั่ว เอาของจากต่างประเทศข้ามมาทิ้งอีกต่างหาก ถึงวันหนึ่งก็จะดีขึ้น อินเทอร์เน็ตก็เหมือนกัน สินค้าเหล่านี้ก็เหมือนกัน ตอนนี้เรารู้สึกว่าเสรีมาก เศรษฐกิจต้องโตห้ามกันไม่ได้ แต่ถึงวันหนึ่งเกิดผลเสียมากๆ ก็จะดีขึ้น เราจะอยู่ในโลกที่ปลอดภัยมากขึ้น เพียงแต่ว่าวันนั้นนานหรือเปล่า แต่ก่อนที่จะถึงวันนั้น มันจะต้องมีคนส่วนหนึ่งไปไม่ถึงวันนั้นแน่นอนอยู่แล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

นักวิจัยเผย มียาอีกหลายตัวที่ไม่ควรได้รับสิทธิบัตรอีก หลังศาลฎีกาชี้ขาด ถอนสิทธิบัตรยา ' วาลซาร์แทน '

            นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล นักวิจัยอิสระและรองประธานกลุ่มเอฟทีเอว็อทช์ เผยปมผู้ป่วยไทยเข้าไม่ถึงยา แม้อายุสิทธิบัตรของยานั้นจะสิ้นไปแล้ว เนื่องจากบริษัทยาใช้วิธีการที่เรียกว่า รูปแบบจดสิทธิบัตรไม่จบสิ้น(evergreen patent) สกัดบริษัทผู้ผลิตยาชื่อสามัญไทย            จากกรณีศาลฎีกาชี้ขาดสั่งถอนสิทธิบัตรการผลิตยาวาลซาร์แทน (Valsartan) ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง-โรคหัวใจ หลังต่อสู้เป็นคดีความยาวนาน 7 ปี เพราะยาดังกล่าวยื่นขอสิทธิบัตรกระบวนการผลิตยาเม็ด ซึ่งศาลพิจารณาว่า เหตุข้อมูลวิธีการผลิตนั้น ชัดเจนว่าไม่ใช่วิธีใหม่ เป็นเพียงการยื่นคุ้มครองกระบวนการผลิตยาเม็ดทั่วไปเท่านั้น ทุกคนที่มีความรู้ทางเภสัชกรรมก็สามารถทำได้ ซึ่งเรื่องนี้เปิดเผยโดยนายกสภาเภสัชกรรม ภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี เมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา           นางสาวกรรณิการ์ ให้ความเห็นว่า กรณียา  Varsantan เป็นเพียงหนึ่งคดีที่บริษัทยาชื่อสามัญชนะคดี แต่ตลอดระยะเวลาที่สู้คดีถูกบริษัทยาข้ามชาติส่งจดหมายไปแจ้งโรงพยาบาลต่างๆที่จัดซื้อยาชื่อสามัญราคาถูกที่มีคุณภาพทัดเทียมยาต้นแบบว่า อาจถูกดำเนินคดีและถูกเรียกร้องค่าเสียหายด้วย ทำให้โรงพยาบาลไม่กล้าซื้อ คนไข้เข้าไม่ถึงยา ยายังคงมีราคาแพง ระบบสุขภาพต้องแบกรับค่ายาที่ผิดปกติเหล่านี้เพราะเทคนิคการแสวงหากำไรบนชีวิตผู้ป่วย            "ดังนั้นที่ผ่านมา มีบริษัทยาชื่อสามัญไทยไม่กี่รายที่กล้าสู้คดี ซึ่งต้องชื่นชมในที่นี้คือ บ.สีลม ก่อนหน้านี้ บ.สยาม และ องค์การเภสัชกรรม ขอบคุณนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญที่ยอมเป็นพยานในคดีที่ใช้เวลาอย่างยาวนาน ชื่นชมความสามารถของบริษัทที่ปรึกษากฎหมายของ ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและศาลฎีกาของไทยที่พิพากษาคดีประวัติศาสตร์นี้ เช่นที่เมื่อ 10 กว่าปีก่อน เคยพิพากษาคดียาต้านไวรัส ddI ที่เป็นต้นแบบคำพิพากษาของโลกที่ชี้ว่า ผู้ป่วยสามารถร่วมฟ้องบริษัทยาในคดีทรัพย์สินทางปัญญาและอ้างปฏิญญาโดฮาว่าด้วยการสาธารณสุข ของความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ให้ตีความเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงยา"            จากงานวิจัยสิทธิบัตรที่เป็น evergreening ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พบว่า 70% สิทธิบัตรยาที่ออกไปแล้วนั้นไม่สมควรได้รับสิทธิบัตร และอีก 80% ของคำขอที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ไม่มีความใหม่ไม่มีนวัตกรรมที่สูงขึ้น ซึ่งหากคำขอสิทธิบัตรยาเหล่านี้ได้สิทธิบัตรจะเป็นภาระงบประมาณมากถึง 5000 ล้านบาทจากยาที่ขายดีเพียง 50 รายการเท่านั้น            “ที่ผ่านมาเมื่ออายุของสิทธิบัตรยาสิ้นสุดลง คือครบ 20 ปี อุตสาหกรรมยาของไทยจะผลิตยาชื่อสามัญมาแข่งขันได้ ซึ่งทำให้ลดการผูกขาดและราคายาถูกลง และสถานพยาบาลสามารถจัดหายาได้ในต้นทุนถูกลงเพื่อรักษาผู้ป่วยตามสิทธิหลักประกันที่สังกัด แต่กลับมาเจอบริษัทยามาขอขึ้นทะเบียนในลักษณะจดซ้ำซ้อน”             "รัฐบาล คสช.ควรศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะทุกวันนี้ รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ยังย้ำคิดย้ำทำว่าต้องออกคำสั่งคสช.ตามมาตรา 44 เพื่อจัดการคำขอสิทธิบัตรที่คั่งค้าง ถ้าทำเช่นนั้นก็เท่ากับปล่อยผีสิทธิบัตรยาที่ไร้คุณภาพ เป็นภาระกับประเทศ ขณะเดียวกัน กรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องนำคำพิพากษาไปปรับปรุงคณภาพการตรวจสอบสิทธิบัตร และแก้ไขร่างพระราชบัญญัติสิทธิบัตรให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น"            สำหรับคดีที่บริษัทยาข้ามชาติฟ้องบริษัทยาชือสามัญไทย มีอย่างน้อย 3 คดี คดีที่ 1.ยา Finasterine บ.MSD ฟ้อง บ.สยาม ฎีกา เมื่อ 2 ปีก่อน ไม่ชนะไม่แพ้ ศาลชี้ว่า บ.สยามใช้คนละวิธี ไม่ละเมิด คดีที่ 2.ยา Varsantan บ.Novartis ฟ้อง บ.สีลม ฎีกา 8 พ.ค. เพิกถอนสิทธิบัตร Novartis ไม่สมควรได้ 3. ยา Celecoxib บ. Pfizer ฟ้อง บ.แมคโครฟาร์ คดีอยู่ในศาลทรัพย์สินทางปัญญา ศาลชั้นต้น             นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่เครือข่ายผู้ป่วยร้องคัดต้านคำขอสิทธิบัตร อาทิ ยาสูตรผสมรวมเม็ดโซฟอสบูเวียร์และเลดิพาสเวียร์ ที่ใช้รักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งเข้าข่ายไม่ควรได้สิทธิบัตร เหตุเพราะไม่เข้าด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมายสิทธิบัตร คือ 1.ไม่อนุญาตให้จดสิทธิบัตรในเรื่องการบำบัดรักษา 2.การผสมยาสองชนิดรวมในเม็ดเดียวเป็นเทคโนโลยีธรรมดาๆ ที่เปิดเผยและทราบกันโดยทั่วไปในหมู่ผู้เชี่ยวชาญทางเภสัชกรรมอยู่แล้ว 3.ประสิทธิผลของการใช้ยาสองชนิดนี้ร่วมกันเป็นสิ่งที่ทราบกันดีอยู่แล้วในทางเภสัชกรรม ซึ่งในกฎหมายระบุว่าต้องก่อให้เกิด “ผลที่ไม่เป็นที่ประจักษ์โดยง่าย” จึงจะเข้าข่ายได้รับสิทธิบัตร             ทั้งนี้ บ่ายวันพฤหัสที่ 17 พ.ค.นี้แผนงานศูนย์วิชาการพัฒนาและเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) จะจัดเวทีเสวนาวิชาการที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อสรุปบทเรียนการต่อสู้สิทธิบัตรยาที่ไม่ชอบธรรมในประเทศไทยด้วย รายละเอียดติดต่อเพิ่มเติม กรรณิการ์ กิจติเวชกุล  (089-500-3217)

อ่านเพิ่มเติม >

สบส.ยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค สแกนปุ๊บ รู้ทันทีคลินิกไหนเถื่อน

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) สร้างระบบให้ประชาชนตรวจสอบการขึ้นทะเบียนสถานพยาบาลด้วย “คิวอาร์โค้ด” (QR Code) ผ่านสมาร์ทโฟน สแกนแล้วรู้ทันทีว่าเป็นคลินิกถูกต้องตามกฎหมาย หรือ คลินิกเถื่อนนพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในปี พ.ศ.2561 เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีคลินิกที่ขึ้นทะเบียนกับ สบส. เกือบ 6,000 แห่ง ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการลักลอบเปิดคลินิกเถื่อนให้บริการทางการแพทย์ที่ไม่ได้คุณภาพ สร้างความเสี่ยงต่อสุขภาพ และชีวิตประชาชน สบส.ได้พัฒนาระบบตรวจสอบคลินิกเอกชนที่มีกว่า 20,000 แห่งทั่วประเทศ โดยนำนวัตกรรม “คิวอาร์โค้ด” (QR Code) ติดที่ใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาล, ใบอนุญาตแพทย์ผู้ดำเนินการ และบริเวณด้านหน้าของคลินิก หากประชาชนสแกนคิวอาร์โค้ดแล้วพบว่าข้อมูลชื่อสถานพยาบาลและที่ตั้งไม่ตรง หรือแพทย์ผู้ดำเนินการเป็นคนละคนกับที่แสดงในฐานข้อมูล ขอให้หลีกเลี่ยงการรับบริการจากคลินิกดังกล่าว สำหรับในพื้นที่ กทม. ให้แจ้งมายังศูนย์รับเรื่องร้องเรียนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โทรศัพท์ 02 193 7000 ต่อ 18618 ในส่วนภูมิภาค ให้แจ้งที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ เพื่อให้หน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบเข้าดำเนินการตรวจสอบโดยทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 205 รู้เท่าทันสุขภาพของโลก

การเห็นภาพรวมของสุขภาพของคนในโลก หรือของโลกจะทำให้เราเห็นภาวะสุขภาพของเพื่อนร่วมโลก เห็นแนวโน้มของภาวะสุขภาพโดยรวม และช่วยในการจัดลำดับความสำคัญของปัญหาสุขภาพของแต่ละประเทศ  เรามารู้เท่าทันสุขภาพของโลกที่สวยงามใบนี้เถอะ องค์การอนามัยโลกได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับภาวะของโรค การสูญเสียภาวะสุขภาพจากสาเหตุความเจ็บป่วยและการตายทั่วโลกและภูมิภาคต่างๆ ครอบคลุมโรคต่างๆ กว่า 130 โรคและการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นในโลก  และได้จัดทำรายงาน ข้อเท็จจริง 10 เรื่องเกี่ยวกับภาวะสุขภาพทั่วโลก (พฤษภาคม ค.ศ. 2017)  ดังนี้1. อายุคาดเฉลี่ยของคนในโลกเพิ่มขึ้น 5 ปี ระหว่างปีค.ศ. 2000-2015  อายุขัยเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดเป็น 71.4 ปีในปีค.ศ. 2015 (73.8 สำหรับผู้หญิง และ 69.1 สำหรับผู้ชาย)2. อายุคาดเฉลี่ยที่มีสุขภาพดีแรกเกิด (healthy life expectancy) ในปีค.ศ. 2015 คือ 61.3 ปี  นั่นหมายความว่า จำนวนปีที่เราจะมีภาวะสุขภาพที่ไม่ดีจากความเจ็บป่วยและทุพพลภาพเฉลี่ยคือ 8.3 ปี3. ปีพ.ศ. 2015 ในแต่ละวัน เด็กจำนวนมากกว่า 16,000 ราย ที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ เสียชีวิต โดยเฉพาะเด็กในครอบครัวที่ยากจน ชนบทที่ขาดแคลน และขาดการศึกษา4. ในจำนวนเด็กที่เสียชีวิตในข้อ 3 นั้น ร้อยละ 45 เกิดขึ้นในช่วง 4 สัปดาห์หลังคลอด เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้กำหนดให้มีการลดการเสียชีวิตของเด็กแรกเกิดให้เหลือไม่เกิดร้อยละ 125. ประมาณการว่า ทั่วโลก มีเด็กตายแรกคลอด 2.6 ล้านคน ในปีค.ศ. 2015 ซึ่งส่วนใหญ่นั้น จะไม่มีการแจ้ง ทำให้ไม่มีข้อมูลที่แท้จริงว่ามีจำนวนเด็กที่ตายจากแรกคลอดเท่าไหร่ และไม่มีการชันสูตรหรือหาสาเหตุการตายที่แท้จริง6. ในปีค.ศ. 2015 การเสียชีวิต 1.3 ล้านรายเนื่องจากตับอักเสบ  ประมาณการว่า มีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง 257 ล้านราย และไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง 71 ล้านราย การวินิจฉัยโรคและการรักษายังเป็นส่วนน้อยของผู้ติดเชื้อ7. โรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นสาเหตุการตายร้อยละ 37 ในประเทศที่ยากจน ในปีค.ศ. 2015 เพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 23 ในปีค.ศ. 2000  โรคไม่ติดต่อเรื้อรังสำคัญ 4 โรคได้แก่ โรคหัวใจหลอดเลือด มะเร็ง เบาหวาน และโรคปอดเรื้อรัง  8. โรคหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดสมองคร่าชีวิตผู้คนกว่า 15 ล้านคนในปีค.ศ. 2015  สาเหตุนี้เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนทั่วโลก ร้อยละ 31  การเลิกบุหรี่ ลดเกลือในอาหาร กินผัก ผลไม้ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การลด เลิกแอลกอฮอล์ ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้เป็นอย่างดี9. เบาหวานเป็นสาเหตุนำ 1 ใน 10 อันดับของการตายและพิการของผู้คนทั่วโลก10. อุบัติเหตุเป็นสาเหตุการตายเกือบ 5 ล้านรายในปีค.ศ. 2015  ในประเทศที่ยากจนหรือเศรษฐกิจไม่ดีจะมีอัตราการตายจากการจราจรสูงกว่าประเทศที่มีเศรษฐกิจดีเมื่อดูภาวะสุขภาพของโลกแล้ว ภาวะสุขภาพของคนไทยก็ดีกว่าในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ดูแลสุขภาพของประชาชน 47 ล้านคน ไม่ว่ายากดีมีจน  แต่ก็มีการตายจากอุบัติเหตุการจราจรที่สูงติดอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งมั่นใจว่า สามารถแก้ไขได้ถ้าร่วมใจกันจริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 202 ผลิตภัณฑ์สุขภาพเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

คนทำงานคุ้มครองผู้บริโภค การเฝ้าระวังดูแลผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา แต่จากประสบการณ์การทำงาน กลับพบว่าในโลกที่การติดต่อสื่อสารถึงกันอย่างรวดเร็ว ผลิตภัณฑ์มหัศจรรย์พันลึกชนิดอึ้ง ทึ่ง เสียว มันกลับผุดขึ้นมามากมาย และที่ประหลาดใจคือ ยังมีผู้บริโภคหลายรายเสียเงินไปซื้อมาใช้ หรือบางรายถึงกับเสียสุขภาพไปก็มี ลองมาดูผลิตภัณฑ์เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไรว่าเคยมีคนใกล้ตัวเราเสียเงินไปซ้อมาใช้บ้างหรือเปล่า“น้ำจากกระบอกไม้ไผ่”  ผลิตโดย ใช้สว่านเจาะเข้าบริเวณปล้อง แล้วใช้หลอดต่อ ทิ้งไว้ 3 – 4 ชั่วโมงจะมีน้ำไหลออกมา แล้วนำไปบรรจุขวด อ้างว่าเป็นน้ำบริสุทธิ์ สามารถขับสารพิษออกจากร่างกาย สลายนิ่ว นอกจากนี้ยังลดเบาหวาน ความดัน ปวดหลัง เอว เกษตรกรหลายรายผลิตกันเป็นล่ำเป็นสัน  ราคาขายขวดละ 20 บาท“น้ำมันจิ้งเหลนตราลิงลมผสมสมุนไพร” ขวดละ 400 บาท โฆษณาว่าเพิ่มขนาดน้องชายใหญ่ยาว 4- 7 นิ้ว ชะลอการหลั่ง บำรุงเลือดให้ไหลเวียนไปยังน้องชายได้ดี มีกลิ่นหอมสมุนไพร ลองตามไปดูในอินเทอร์เน็ตมีทั้งการรีวิว อธิบายวิธีการใช้ และท่าทางจะขายดี จนทางผู้ขายถึงกับต้องออกมาเตือนว่า ขณะนี้มีคนทำของปลอมออกมาจำหน่าย ขอให้ระวังด้วยอย่าคิดว่ามีแต่น้ำมันนวดเท่านั้น ตอนนี้มี “สบู่ชายใหญ่” ออกมาบำรุงใจสุภาพบุรุษอีกชนิด โดยอวดอ้างสรรพคุณชนิดตึ่งโป๊ะว่า แค่ฟอก นวด 3 - 5 นาที ทำให้อวัยวะเพศชายใหญ่ขึ้น มีการแชร์ต่อไปทางอินเทอร์เน็ตต่อๆ กันมากมาย บางเว็บก็บอกโต้งๆ เลยว่า “ฟอกจู๋ เลยค่ะ” ราคาก้อนละ 80 บาทบางผลิตภัณฑ์ก็มีการใช้ชื่อภาษาอังกฤษ ไม่รู้ว่าจงใจเลี่ยงชื่อภาษาไทยหรือเพื่อยกระดับเพื่อให้ดูอินเตอร์ขึ้น เช่น “Hoii Waan” และ “Chu Chan” มองผ่านๆ อาจนึกว่าเป็นผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ แต่พอเห็นข้อความบนฉลากและตามไปดูในเว็บ ก็พบว่า ผลิตภัณฑ์ Hoii Waan หอยหวาน สวยกว่าเก่า สาวกว่าก่อน ฟิตหอมมั่นใจ ผลิตภัณฑ์ Chu Chan ชูชัน ก็คืนพลังความเป็นชาย มั่นใจทุกท่วงท่า เขียนชัดขนาดนี้คงไม่ต้องอธิบายอะไรมากบางครั้งก็มีชนิดที่ไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยน บอกกันโต้งๆ ไปเลย “ครีมหอยใสไล่ดำ” “เซรั่มหอยชมพูรูผิวฟิต” เป็นผลิตภัณฑ์ที่อิงกระแสเกาหลี ฉลากผสมผสานตัวอักษรเกาหลีเพื่อความน่าเชื่อถือ ส่วนสรรพคุณก็แทบไม่ต้องอธิบายอะไรเลย เข้าใจตรงกันนะครับที่ฮือฮาล่าสุดคือ “สบู่ล้างซวย LANG SUAY SOAO”  มีการโฆษณาว่า เป็นความเชื่อส่วนบุคคล อาบแล้วรวย ใช้แล้วผิวใสเนียน มีชีวิตชีวา ดูเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวล สบู่ล้างซวยผสานพลังงานจากหิน 9 ชนิด เป็นสบู่มงคล ใช้แล้วชีวิตจะดีขึ้น เปลี่ยนร้ายกลายเป็นดี เอากันเข้าไปถึงศรัทธามหานิยมกันไปเลยที่นำมาเล่าในคอลัมน์นี้ไม่ได้ส่งเสริมหรือเชียร์ให้ไปซื้อนะครับ แต่อยากสะท้อนให้เห็นว่าแม้จะมีการเฝ้าระวังตรวจสอบผลิตภัณฑ์อันตรายหรือที่ไม่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก็ยังผุดชนิดใหม่ๆ มาเรื่อยๆ  คงต้องอาศัยแรงผู้อ่านและเครือข่ายผู้บริโภคช่วยกันแนะนำคนรอบข้างให้ใช้วิจารณญานที่ดี และหากเจอแหล่งต้นตอ ช่วยแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตามไปตรวจสอบได้เลย แว่วว่าผลิตภัณฑ์หลายชนิดที่กล่าวมาข้างต้น กำลังถูก อย.ดำเนินการ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 น้ำเชื่อมฟรุกโตสในอาหาร ก่อปัญหาต่อสุขภาพจริงหรือ

ความหวาน แทบจะเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ เพราะนอกจากจะช่วยทำให้รสชาติกลมกล่อมถูกปากแล้ว ยังส่งผลให้ผู้ที่บริโภครู้สึกสดชื่น หายอ่อนเพลียเพราะได้รับพลังงานในเวลาอันรวดเร็ว อย่างไรก็ตามความหวานในอาหารกลับแฝงอันตรายที่สามารถส่งผลร้ายต่อสุขภาพ ทั้งในแง่ก่อให้เกิดอาการเสพติดความหวาน และเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคอ้วนหรือความดันโลหิตสูงน้ำตาลทรายแม้จะยังคงเป็นแหล่งความหวานของอาหาร แต่รู้หรือไม่ว่า ที่มาของรสหวานในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มส่วนใหญ่ กลับไม่ได้เกิดจากน้ำตาลทรายเพียงอย่างเดียว แต่มาจากส่วนผสมที่เรียกว่า “น้ำเชื่อมฟรุกโตสหรือน้ำเชื่อมข้าวโพดที่มีฟรุกโตสสูง” (High Fructose Corn Syrup หรือ HFCS)  ซึ่งให้รสหวานได้มากกว่าน้ำตาลทรายธรรมดา แต่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเราได้มากกว่าน้ำตาลทรายเสียอีก ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ นักวิชาการอิสระสายอาหารและโภชนาการของฉลาดซื้อ เคยให้ความเห็นในประเด็นดังกล่าวไว้ในนิตยสารฉลาดซื้อประจำฉบับที่ 173 คอลัมน์ของฝากจากอินเทอร์เน็ต เรื่อง ดื่มน้ำหวานในฤดูร้อนพึงระวัง ว่าน้ำเชื่อมฟรุกโตสหรือน้ำเชื่อมข้าวโพดที่มีฟรุกโตสสูง(HFCS) เป็นน้ำเชื่อมที่ได้จากการย่อยแป้งข้าวโพดจนเหลือเฉพาะน้ำตาลฟรุกโตสนั้น มันได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในวงการอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เพราะให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายถึง 1.3 เท่า รวมทั้งเป็นน้ำเชื่อมใสไม่มีสี จึงไม่บดบังสีของอาหารทำให้ดูน่าดื่มกิน ดังนั้นเมื่อเทียบกับน้ำตาลทรายที่มีราคาสูงและมักเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อใช้ในอาหารแล้ว จึงถือว่าคุ้มค่ากว่าในด้านราคาต้นทุนและความสะดวกในการผลิต อย่างไรก็ตามกลับมีงานวิจัยบางฉบับได้รายงานว่า ผู้ที่บริโภคน้ำเชื่อมข้าวโพดชนิดที่มีฟรุกโตสสูงนี้เป็นประจำ จะทำให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ เพราะน้ำเชื่อมดังกล่าวส่งผลต่อความอยากอาหาร ทำให้กินอาหารอื่นได้ในปริมาณมากขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้ไขมันในเลือดสูงขึ้น โดยเฉพาะไขมันชนิดแอลดีแอลโคเลสเตอรอล (LDL-C) ซึ่งเป็นไขมันเลวที่ควรหลีกเลี่ยง รวมทั้งอาจทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน หรือกรดไขมันอิสระที่อาจส่งผลต่อภาวะไขมันเกาะตับ(Fatty Liver) ได้อีกด้วย เพราะน้ำเชื่อมดังกล่าวร่างกายนำไปเผาผลาญได้ที่เซลล์ตับเท่านั้น ดังนั้นพลังงานที่เกิดที่ตับ จึงมีความเหลือเฟือจนน่าจะส่งผลให้เกิดการสร้างไขมันสะสมขึ้นมาได้ ซึ่งต่างจากน้ำตาลโมเลกุลเดียวประเภทอื่น เช่น กลูโคส ที่สามารถเผาผลาญได้จากเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย ประเด็นนี้ผู้บริโภคในต่างประเทศให้ความสนใจอย่างมาก ดังนั้นบรรดาผู้ผลิตอาหารจึงต้องทำให้ฉลากอาหารหรือเครื่องดื่มของตน มีการระบุที่ชัดเจนในฉลากว่า มีการผสมน้ำเชื่อมข้าวโพดที่มีฟรุกโตสสูง (HFCS) หรือไม่ เพื่อให้ผู้บริโภคได้ตัดสินใจในการเลือกซื้อ กลับมาที่ฉลากอาหารในบ้านเรา...และการสุ่มตัวอย่างเพื่อค้นหา HFCSเพื่อเป็นการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำเชื่อมฟรุกโตสหรือน้ำเชื่อมข้าวโพดที่มีฟรุกโตสสูง(HFCS) ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขออาสาไปส่องฉลากผลิตภัณฑ์ที่ให้รสหวานอย่าง น้ำอัดลม ชาเขียว ขนมขบเคี้ยว แยมหรือเยลลี่ต่างๆ จำนวน 25 ตัวอย่าง ว่าจะมีสินค้าอะไรหรือยี่ห้อใดบ้างที่ใช้น้ำเชื่อมดังกล่าวเป็นส่วนประกอบ ซึ่งผลทดสอบจะเป็นอย่างไร เราลองไปดูกันเลยผลโดยสรุปจากตัวอย่างสินค้าที่นำมาพิจารณาฉลากทั้งหมด 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเครื่องดื่ม กลุ่มแยมและกลุ่มขนม/ลูกอม ทั้ง 25 ตัวอย่าง พบว่า- มีเพียง 1 ยี่ห้อที่ระบุว่า ไม่มีส่วนผสมของไฮฟรุกโตสคอร์นไซรัป (No high fructose corn syrup) คือ วิลเดอร์เนส (WILDERNESS) Premium ไส้ผลไม้กวนสตรอเบอร์รี่- มี 2 ยี่ห้อที่ระบุว่ามีส่วนผสมของ ไฮฟรุกโตสคอร์นไซรัป คือ 1. ไดอาน่า (Diana) มาราสชิโน เชอร์รี่ ชนิดมีก้าน และ 2. วิลเดอร์เนส (WILDERNESS) Original ไส้ผลไม้กวนบลูเบอร์รี่ - มี 1 ยี่ห้อที่ฉลากภาษาไทยระบุส่วนผสมว่ามี “น้ำเชื่อมข้าวโพด” แต่ฉลากภาษาอังกฤษระบุส่วนผสมว่า “High Fructose Corn Syrup” คือ สมัคเกอร์ส (SMUCKER’S) ซันเดย์ ไซรัป น้ำเชื่อมรสช็อกโกแลต - อีก 21 ตัวอย่างระบุว่ามีส่วนผสมของ ฟรุกโตสไซรัป/น้ำเชื่อมฟรุกโตส และคอร์นไซรัป/น้ำเชื่อมข้าวโพด- มี 1 ยี่ห้อไม่ระบุวันเดือนปีที่ผลิตหรือหมดอายุ คือ เอสแอนด์ดับบลิว (S&W) เชอร์รี่ดำแกะเมล็ดในน้ำเชื่อม ซึ่งถือว่าไม่เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องฉลาก ที่กำหนดให้อาหารในภาชนะบรรจุต้องแสดงวันเดือนปีที่ผลิตหรือหมดอายุรายละเอียดการสุ่มตัวอย่างตารางที่ 1 :  กลุ่มเครื่องดื่มตารางที่ 2 : กลุ่มแยมตารางที่ 3: กลุ่มขนม, ลูกอมข้อสังเกตเรื่องฉลากอาหาร 1. ฉลากส่วนผสมไม่สมบูรณ์พบว่า สินค้าส่วนใหญ่มักใช้คำว่ามี ฟรุกโตสไซรัป/น้ำเชื่อมฟรุกโตส และคอร์นไซรัป/น้ำเชื่อมข้าวโพด แทนคำว่า น้ำเชื่อมฟรุกโตสหรือน้ำเชื่อมข้าวโพดที่มีฟรุกโตสสูง (High Fructose Corn Syrup หรือ HFCS) ซึ่งอาจสร้างความสับสนให้กับผู้บริโภคว่า ส่วนประกอบดังกล่าวเป็นน้ำเชื่อมชนิดเดียวกันหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ทั้งฟรุกโตสไซรัป/น้ำเชื่อมฟรุกโตส และคอร์นไซรัป/น้ำเชื่อมข้าวโพด สามารถสร้างผลกระทบต่อสุขภาพได้เช่นเดียวกับ “น้ำเชื่อมข้าวโพดที่มีฟรุกโตสสูง” (HFCS) จึงอาจเป็นเรื่องสมควรที่ฉลากต้องมีคำเตือนในการบริโภค หรือระบุรายละเอียดส่วนผสมให้ชัดเจนกว่านี้2. ฉลากโภชนาการไม่ครอบคลุมแม้กฎหมายไม่ได้กำหนดให้อาหารทุกชนิดต้องแสดงฉลากโภชนาการ แต่ฉลากโภชนาการนั้นนับเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค เพราะช่วยให้ทราบถึงปริมาณที่แท้จริงของไขมัน พลังงานหรือน้ำตาลในผลิตภัณฑ์นั้นๆ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อหรือบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่ปลอดภัย และได้คุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมกับสุขภาพของตนเอง รวมทั้งสามารถเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ หรือมีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีกว่าได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามจากผลการสุ่มตัวอย่างครั้งนี้พบว่า มีเพียงร้อยละ 50 ที่มีฉลากโภชนาการ และมี 9 ตัวอย่างเท่านั้นที่มีฉลากโภชนาการเป็นภาษาไทย3. ฉลากวันเดือนปีที่ผลิต/หมดอายุ อยู่ในตำแหน่งที่อ่านยากตัวอย่างที่นำมาพิจารณาฉลากทั้งหมดครั้งนี้ มีหลายกลุ่มสินค้ามีทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งพบว่าตำแหน่งของวันเดือนปีที่ผลิต/หมดอายุ มีความแตกต่างกันไปในทุกผลิตภัณฑ์ อาจส่งผลให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องใช้เวลานานมากกว่าจะสามารถตรวจสอบวันที่ได้ นอกจากนี้บางตัวอย่าง เช่น คุคุริน (KUKURIN) น้ำชาเขียวคั่ว สูตรรสกลมกล่อม มีการระบุวันเดือนปีที่ผลิต/หมดอายุ อยู่ในตำแหน่งปากขวด ซึ่งใช้สีของตัวอักษรคล้ายกับสีของสินค้า ทำให้ตรวจสอบได้ยากมากขึ้นไปอีก

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 200 ปัญหาโฆษณาสุขภาพเกินจริงแนวรบที่ไม่มีวันจบ

อย. ย้ำเตือนผู้บริโภค อย่าหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่มีการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ทั้งลดน้ำหนัก กระชับสัดส่วน หรือรักษาโรค ผ่านทางโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์ อาจเข้าข่ายเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ปลอดภัย โดย อย. จะดำเนินการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่โอ้อวดเกินจริง ส่งตรวจวิเคราะห์ หากพบการปลอมปนของสารออกฤทธิ์ทางยา จะดำเนินการทางกฎหมายอย่างเข้มงวด ไม่รู้ว่าเราต้องอ่านคำเตือนจาก อย. หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ไปอีกกี่หน เพราะดูเหมือนว่าปัญหาจากการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา หรือเครื่องสำอาง ที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงนั้น ก็ยังวนเวียนอยู่รอบๆ ตัวเรา สอดแทรกอยู่ในสื่อต่างๆ ทั้งใหม่เก่า ที่ผูกมัดพันธนาการเราไว้แทบจะตลอดวัน ผู้บริโภคหากวันใดเกิดจิตใจไม่เข้มแข็งพอขึ้นมาก็คงไม่แคล้วต้องมีอันพลาดท่าเสียที แล้วทำไมสังคมของเราถึงยังจัดการกับปัญหาโฆษณาอวดอ้างเกินจริงเหล่านี้ไม่ได้ อะไรคือสาเหตุ และอะไรคือแนวทางการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ เราลองมาถอดรื้อจากงานวิจัยชิ้นหนึ่งของคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสื่อและโทรคมนาคม เรื่อง การจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายของหน่วยงานกำกับดูแลปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ ที่จัดทำเมื่อปี 2559 ว่าเขามองเรื่องนี้อย่างไร พบโฆษณาผิดกฎหมายปีหนึ่งเป็นหมื่นแต่จัดการได้แค่พัน ในงานวิจัยชี้ว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบตรงอย่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา นั้น พบการกระทำผิดกฎหมายเฉลี่ยปีละหมื่นกว่า แต่การดำเนินคดีนั้นทำได้เพียงปีละพันกว่า ทั้งนี้ไม่นับรวมการกระทำผิดที่ อย.ไม่พบ หรือไม่มีคนร้องเรียนเข้ามาอีกเป็นจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะการโฆษณาผ่านสื่อทางอินเทอร์เน็ตที่มีพลังในการส่งผ่านข้อมูลข่าวสารได้อย่างน่าทึ่งแถมยังทำกันได้ง่าย แทบจะเรียกว่าใครก็ทำได้   ถ้านับเป็นเวลาก็นับเป็นแค่นาที แต่สำหรับหน่วยงานกำกับดูแล การเข้าจัดการกับผู้กระทำผิดตามกฎหมายต้องใช้เวลานับเดือน นับปีกว่าจะสามารถลงโทษด้วยการปรับเงิน(จำนวนน้อย)ได้ ดังนั้นผู้กระทำผิดจึงไม่ค่อยเคารพยำเกรงกฎหมาย เพราะถือว่าคุ้มกับการเสี่ยง    มี อย. ปลอดภัย 100% แล้วถ้าเป็น อย.ปลอมจะทำอย่างไร   แบรนด์ อย. ถูกสร้างมาให้ติดตลาด อย่างไรก็ดี เครื่องหมาย อย. ก็กลายเป็นจุดอ่อนได้เช่นกัน เมื่อปลายปี 2559 เกิดกรณี MangLuk  Power Slim ผลิตภัณฑ์อาหารในแบบแคปซูล สีชมพู-ขาว มีการร้องเรียนจากผู้บริโภคว่า หลังรับประทานแล้วมีอาการใจสั่น มือสั่น ปากแห้ง คอแห้ง (ผลข้างเคียงจากสารไซบูทรามีนหรือยาลดความอ้วนที่ผสมลงไปในผลิตภัณฑ์) เมื่อ อย. ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ซึ่งฉลากระบุเลขที่ อย. 89-1-04151-1-0080 นำเข้าและจัดจำหน่ายโดยบริษัท THE RICH POWER NETWORK จังหวัดสมุทรสาคร รุ่นผลิต RI88-89/01วันที่ผลิต 01/01/16 วันหมดอายุ 01/01/18 นั้น  อย .แถลงข่าวว่า เป็นเลข อย.ปลอม และเมื่อตรวจสอบข้อมูลผู้นำเข้าและผู้จัดจำหน่ายตามที่ระบุบนฉลากจากเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้าไม่พบข้อมูลการจดทะเบียนของบริษัทดังกล่าว คือปลอมทั้งเลข อย.และปลอมชื่อทางธุรกิจ ดังนั้นผลิตภัณฑ์อาหาร Mangluk Power Slim ตัวนี้ จึงเข้าข่ายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย มีการปลอมเลขสารบบอาหาร โฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง และตรวจพบไซบูทรามีน ซึ่ง อย. จะมีการดำเนินการกับผู้กระทำผิดต่อไป แต่ ณ ปัจจุบัน เมื่อนำมาสืบค้นด้วยชื่อ ผลิตภัณฑ์นี้ เราก็ยังพบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอยู่ ผู้บริโภคทั่วไปมักเข้าใจผิดว่า การมีเครื่องหมาย อย. คือการรับประกันความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ แต่โดยความเป็นจริงแล้ว เครื่องหมาย อย. เป็นเพียงการรับรองการผลิตที่ได้มาตรฐานเท่านั้น เล่ห์ร้ายของผู้ประกอบการขอโฆษณาไปอย่างหนึ่งแล้วโฆษณาอีกอย่างหนึ่ง หนึ่งในยุทธวิธีที่ผู้ประกอบการที่ไม่รับผิดชอบนิยมในการหลอกลวงทั้งหน่วยงานและผู้บริโภค คือ  ขอโฆษณาไปอย่างหนึ่งแล้วโฆษณาอีกอย่างหนึ่ง ดังนั้นพวกเขาจะมี เลขที่ใบอนุญาตโฆษณาที่ถูกต้อง แต่เนื้อหาผิดไปจากที่ยื่นขอ  ผู้บริโภคที่ไม่ทันเหลี่ยมนี้ก็คิดว่า เป็นโฆษณาที่ถูกต้องแล้ว นี่ไง อย.รับรอง หรือแม้กระทั่งการโฆษณาแฝงในรายการต่างๆ โดยไม่มีการบรรยายสรรพคุณแบบโต้งๆ  ทำให้ อย.ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้  เพราะยังไม่มีกฎหมายกำกับดูแลโฆษณาแฝงทุกหน่วยงานมีปัญหากับการจัดการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ เมื่อนึกถึงการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ หลายคนก็หันไปมองที่ อย. แน่นอนว่า ไม่ผิด แต่เราทราบกันไหมว่า ยังมีอีกหลายหน่วยงานภาครัฐ ที่มีหน้าที่ช่วยกันกำกับดูแลด้านการโฆษณาผิดกฎหมายได้อีก ได้แก่ กระทรวงดิจิทัล ที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายตาม พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ เพื่อลงโทษผู้กระทำความผิด แต่กลับปล่อยให้มีการโฆษณาผิดกฎหมายบนโลกออนไลน์กันอย่างมากมาย  ขณะเดียวกันก็ไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบกำกับดูแลสื่อในโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต ซึ่งปัจจุบันตามกฎหมายให้อำนาจ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำกับดูแลเฉพาะสื่อโทรทัศน์ และวิทยุ ไม่ได้ครอบคลุมถึงการโฆษณาใน โทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ต เมื่อบางหน่วยงานไม่ค่อยขยับ หน่วยงานหลัก อย่าง อย. ก็ติดกับดักระบบราชการ ซึ่งมีระเบียบวิธีที่ค่อนข้างซับซ้อน ทำให้เกิดลักษณะคอขวดในการจัดการเรียกง่ายๆ ว่า งานไปจมอยู่ที่ อย.  ผู้บริโภคไม่เชื่อวิทย์  ผู้บริโภคส่วนหนึ่งก็ใจร้อน วิธีคิดก็เป็นตรรกะที่ผิด เช่น เชื่อว่ากินอาหารบางอย่างแล้วรักษาโรคได้สารพัดโรค อีกทั้งยังเห็นผลลัพธ์อย่างรวดเร็ว หรือแทนที่จะคิดว่า การที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น เป็นเพราะสาเหตุที่มาจากการกินมากไปแล้วใช้กำลังกายน้อย กลับไปตั้งความหวังและมั่นใจในอาหารเสริมบางอย่างว่ากินแล้วจะช่วยบล็อกไม่ให้อ้วนได้ หรือเกิดการเผาผลาญพลังงาน โดยที่ไม่ต้องออกกำลังกาย พอไม่เชื่อวิทย์ ชีวิตบางคนจึงเปลี่ยน บางคนถึงเสียชีวิต เพราะหลงเชื่อคำโฆษณาอวดอ้างเกินจริง  บางคนแม้จะเชื่อในวิทยาศาสตร์ แต่แพ้ภัยค่านิยม "ผอม ขาว สวย ใส อึ๋ม ฟิตปั๋ง” ก็จำต้องเสี่ยงใช้ทางลัด ซึ่งบทพิสูจน์ที่ผ่านมาคือ ไม่มีทางลัดใดที่ปลอดภัย เน็ตไอดอล ยังไงฉันก็เชื่อเธอ NET IDOL ก็คือคนดังบนโลกออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย พวกเขาหรือเธอ มียอดคนติดตาม (Followers) เป็นแสน เป็นล้าน ขยับตัวทำอะไรก็เกิดกระแส ถือสินค้าสักชิ้น กินอาหารสักอย่างเหล่าผู้ติดตามส่วนหนึ่งก็พร้อมจะทำตาม หากเน็ตไอดอลบางคนทำสินค้าด้านสุขภาพขึ้นมาสักชิ้นแล้วบอกว่า ใช้แล้วดีมาก พร้อมบรรยายสรรพคุณจนเลยเถิดไป หรือในผลิตภัณฑ์เกิดมีสารอันตรายแฝงอยู่ ผู้ที่หลงเชื่ออาจกลายเป็นเหยื่อที่ต้องทุกข์ทรมานเพราะความรักและความนิยมในตัวเน็ตไอดอลเหล่านั้น  หรือบางทีเน็ตไอดอลเองก็กลายเป็นผู้ส่งเสริมให้คนใช้สินค้าไปโดยไม่ได้สนใจว่า ผิดหรือถูก เพราะรับเงินค่าถือสินค้าออกช่องทางสื่อสารของตนเองอย่าง อินสตาแกรม เฟซบุ้ก ฯลฯ ไปแล้ว ซึ่งในความเป็นจริงพวกเธอหรือเขาอาจไม่เคยทดลองใช้สินค้านั้นจริง แนวทางในการกำกับดูแล และแก้ปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพจากงานวิจัย1.จัดทำและเปิดใช้ “คลังข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพสาธารณะ” (Health Products’ Public Data Bank) คือ คลังข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพทั้งหมด ที่ได้จดทะเบียนกับ อย. รวมทั้งการอนุญาตโฆษณา คำที่อนุญาตให้ใช้ในโฆษณา เลขที่อนุญาตโฆษณา ซึ่งจะแสดงรายละเอียดในสื่อรูปแบบต่างๆ ทั้ง สื่อสิ่งพิมพ์ ภาพ เสียง วีดีโอ เพื่อให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการเข้าสืบค้นข้อมูลได้เองด้วยวิธีการที่ไม่ซับซ้อน เมื่อผู้บริโภคต้องการสืบค้นสรรพคุณและการโฆษณาของผลิตภัณฑ์สุขภาพตัวใดตัวหนึ่งเพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนจะซื้อ ก็สามารถเข้าไปสืบค้นข้อมูล และตรวจสอบโฆษณานั้นว่าได้รับอนุญาตจริงหรือไม่2.อย. ควรประกาศใช้  “แนวทางปฏิบัติ หลักเกณฑ์การพิจารณา โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย” เพื่อให้หน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องได้บังคับใช้ตามแนวทางที่ออกประกาศ เช่น เมื่อหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลการโฆษณา พบการโฆษณาฯ ที่ไม่มีอยู่ใน  “คลังข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพสาธารณะ” ให้สิทธิพิจารณาได้เลยว่า โฆษณานั้นผิดกฎหมาย โดยไม่ต้องส่งกลับมาให้ อย.เป็นผู้วินิจฉัย และให้หน่วยงานกำกับดูแลบังคับใช้กฎหมายในฐานความผิดของหน่วยงานด้วย ถือเป็น ความผิดเดียว ผิดหลายกฎหมาย บังคับใช้กฎหมายจริงจังและรุนแรง เพื่อไม่ให้กระทำผิดอีก 3.การกระจายอำนาจให้หน่วยงานกำกับดูแลส่วนภูมิภาค อย. ควรกระจายอำนาจให้ สาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) มีหน้าที่จัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพในพื้นที่อย่างฉับไว สามารถบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพในทุกสื่อทั้งที่เกิดในพื้นที่ตน และใน Social Media โดยให้อำนาจเท่ากับ อย. เพราะในปัจจุบัน สสจ. มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายเพียงเฉพาะที่เกิดขึ้นในสื่อโทรทัศน์ และสื่อวิทยุกระจายเสียงเท่านั้น   4.อย. ควรเร่งปรับปรุงแนวปฏิบัติในการลงโทษ โดยพิจารณาความผิดฐานโฆษณาเกินจริงเป็นเท็จ แทนที่จะลงโทษเพียงฐานไม่ขออนุญาตโฆษณา รวมถึงการกระทำผิดซ้ำซาก เพราะฐานความผิดโฆษณาเกินจริงเป็นเท็จนั้นจะเป็นแนวทางให้หน่วยงานกำกับดูแลอื่นสามารถนำไปต่อยอดความผิดได้ และปรับปรุงบทลงโทษกฎหมายที่เกี่ยวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ให้มีโทษปรับในอัตราก้าวหน้า หรือนำมาตรการการเก็บภาษีเข้ามาช่วย สำหรับผู้ขายและผู้โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย 5.ปลูกฝังทัศนคติที่ถูกต้องและการสร้างภูมิคุ้มกันในการบริโภคสื่อ ด้วยการปูพื้นฐานผู้บริโภคตั้งแต่ปฐมวัย และสอดแทรกอยู่ในหลักสูตรเท่าทันสื่อ ในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 สาระการเรียนรู้ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานสนใจงานวิจัยฉบับเต็ม สามารถดูได้ที่ www.indyconsumers.org

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 ดูแลสุขภาพกับ “iCare Health Monitor”

วันนี้ขอมาดูแลสุขภาพกันนะคะ ปัจจุบันการดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง เนื่องจากโรคภัยไข้เจ็บในยุคสมัยนี้จะมากับอาหารการกินเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงมลพิษทางอากาศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการทำงานที่อยู่ภายใต้ภาวะความกดดันและความเครียด ซึ่งคนส่วนใหญ่จะไม่มีเวลาที่ใส่ใจสุขภาพของตนเองได้ตลอดเวลา หรือบางคนอาจจะไม่แม้แต่เสียเวลาในการไปตรวจสุขภาพประจำปีด้วยซ้ำ สุขภาพร่างกายควรได้รับการดูแลเอาใส่ใจเป็นอย่างดี ผู้เขียนจึงขอแนะนำแอพพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า “iCare Health Monitor” ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นสำหรับตรวจสอบสุขภาพในเบื้องต้น สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และระบบปฏิบัติการ Android หลังจากที่ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นเรียบร้อยแล้ว เมื่อเข้าไปในแอพพลิเคชั่นจะปรากฏหน้าหลัก โดยมีให้เลือกตรวจวัดสุขภาพทั้งหมด 8 ด้าน ได้แก่ ด้านการมองเห็นหรือ Vision ด้านการได้ยินหรือ Hearing ด้านความดันเลือดหรือ Blood pressure ด้านอัตราการเต้นของหัวใจหรือ Heart rate ด้านความจุของปอดหรือ Lung capacity ด้านอัตราการหายใจหรือ Respiratory rate ด้านปริมาณออกซิเจนหรือ Oxygen ด้านจิตวิทยาหรือ Psychological ด้านการมองเห็นหรือ Vision จะเป็นการตรวจวัดการมองเห็นในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการมองเห็นรูป สี เส้น ด้านการได้ยินหรือ Hearing จะเป็นการทดสอบการฟังเสียงที่ได้ยินที่ออกมาจากแอพพลิเคชั่น ด้านความจุของปอดหรือ Lung capacity จะทดสอบการเป่าลมโดยใช้ปอด ซึ่งแอพพลิเคชั่นจะให้เป่าลมอย่างเต็มแรงผ่านช่องไมโครโฟนของสมาร์ทโฟนสำหรับด้านความดันเลือดหรือ Blood pressure ด้านอัตราการเต้นของหัวใจหรือ Heart rate ด้านอัตราการหายใจหรือ Respiratory rate ด้านปริมาณออกซิเจนหรือ Oxygen และด้านจิตวิทยาหรือ Psychological แอพพลิเคชั่นจะให้ตรวจวัดโดยวิธีเดียวกันนั่นคือ ให้นำนิ้วชี้วางไว้บริเวณกล้องด้านหลังสมาร์ทโฟนโดยให้การกดหน้าจอค้างไว้ในขณะที่นำนิ้วชี้วางไว้บริเวณกล้องด้านหลัง และรอจนกว่าแอพพลิเคชั่นจะทำงานสำเร็จ หรือผู้ใช้สามารถตรวจเช็คสุขภาพแบบรวดเร็ว โดยกดปุ่มวงกลมใหญ่มีข้อความว่า Quick Check จนกว่าแอพพลิเคชั่นจะทำงานสำเร็จ ก็จะได้ผลการตรวจวัดทั้ง 5 ด้านซึ่งภายในแอพพลิเคชั่น “iCare Health Monitor” ยังสามารถเก็บสถิติการตรวจวัดในแต่ละครั้งเพื่อนำมาเปรียบเทียบย้อนหลังได้อีกด้วยนอกจากนี้แอพพลิเคชั่นยังมีหมวดการตรวจวัดจำนวนก้าวที่เดินในแต่ละวัน เพื่อนำมาเปรียบเทียบให้ทราบเป็นระยะทางและจำนวนแคลอรี่ที่เผาผลาญออกไปในแต่ละวัน โดยจะมีผลสรุปเป็นกราฟให้เห็นอย่างชัดเจนของการก้าวเดินที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลาในวันนั้นๆ และผลสรุปเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน รายปีมาใส่ใจสุขภาพกันวันละนิดนะคะ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 น้ำส้มสายชู..เพื่อสุขภาพ ?

หลายท่านคงเคยถูกชักชวนให้ดื่มน้ำส้มสายชูเพื่อให้มีสุขภาพดี ประเด็นนี้ก่อความประหลาดใจแก่ผู้เขียนเป็นอย่างยิ่ง(เพราะปรกติเรามักใส่น้ำส้มสายชูใน ก๋วยเตี๋ยวต้มยำ ผัดไทย ราดหน้า หรือนำไปดองผักผลไม้ หรือแม้แต่ใช้ล้างเครื่องซักผ้าตามคำแนะนำของช่างซ่อมเครื่อง) เนื่องจากมองหาเหตุผลไม่ได้ว่า น้ำส้มสายชูช่วยให้สุขภาพดีได้อย่างไร ถ้าไม่กินอาหารให้ครบห้าหมู่ในปริมาณที่เหมาะสม พร้อมทั้งการออกกำลังกายที่เพียงพอน้ำส้มสายชูนั้นมีคำเรียกในภาษาอังกฤษว่า Vinegar ซึ่งเมื่อดูประวัติที่มาของศัพท์คำนี้ก็พบว่า เป็นคำที่ตั้งขึ้นจากการสังเกตของคนโบราณที่พบว่า ถ้าหมักไวน์เกินเวลาที่เหมาะสม ไวน์นั้นกลับมีรสเปรี้ยวขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า จุลชีพหลักที่อยู่ในไวน์ได้เปลี่ยนจากยีสต์ ซึ่งทำหน้าที่เปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาลจนสุดท้ายเป็นแอลกอฮอล์ ไปเป็นแบคทีเรียซึ่งเปลี่ยนแอลกอฮอลไปเป็นกรดอะซิติก ทำให้ได้น้ำส้มสายชูธรรมชาติ ซึ่งควรมีความเข้มข้นของกรดไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ตามมาตรฐานของ Codex และสหภาพยุโรป โดยทั่วไปแล้วน้ำส้มสายชูธรรมชาตินั้นแบ่งง่าย ๆ เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ น้ำส้มสายชูที่ได้จากการหมักผลไม้และน้ำส้มสายชูที่ได้จากการหมักพืชอื่น ๆ ด้วยจุลชีพที่มีในธรรมชาติ(หรือที่มีการคัดเลือกพันธุ์เฉพาะไว้เมื่อเป็นการผลิตในโรงงานใหญ่ที่ต้องการควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน) ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มักถูกใช้ในการปรุงอาหารหรือผลิตอาหารบางชนิด อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีผู้คิดว่า น้ำส้มสายชูควรมีประโยชน์โดยตรงต่อสุขภาพของผู้บริโภคนอกเหนือไปจากเป็นเครื่องปรุงอาหาร ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับประโยชน์ของน้ำส้มสายชูต่อสุขภาพที่พบในอินเทอร์เน็ต เช่น ฤทธิ์ฆ่าแบคทีเรียและเชื้อรา ต้านพิษแมงกะพรุนและบรรเทาผิวไหม้แดด บำบัดอาการปวดศีรษะ เจ็บกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการปวดท้อง ป้องกันการติดเชื้อที่หูชั้นนอก บำบัดแผลพุพองในปากแห้ง ทำให้ผมเงางาม ผิวพรรณนุ่มนวล ลดโคเลสเตอรอลและป้องกันการเกิดเบาหวานขั้นต้น และที่ผู้เขียนค่อนข้างสนใจมากคือ มีผู้ที่เชื่อว่า นํ้าส้มสายชูผสมน้ำผึ้งกับนํ้าอุ่นช่วยให้หายปวดตะคริวที่ขา ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ในการเล่นกีฬาที่ใช้กำลังกายสูง อย่างไรก็ดีการพิสูจน์ประโยชน์ต่าง ๆ ของน้ำส้มสายชูนั้นยังมีเจ้าภาพในการพิสูจน์ที่เป็นระบบทางวิทยาศาสตร์ค่อนข้างน้อย อาจเพราะไม่มีใครสามารถจดสิทธิบัตรน้ำส้มสายชูได้นั่นเองอย่างไรก็ตามในวันหนึ่งของเดือนเมษายน 2560 ซึ่งร้อนจนตับแทบสุก ผู้เขียนก็ได้พบข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตในหัวข้อเรื่อง How Apple Cider Vinegar May Help With Weight Loss ซึ่งเขียนโดย Markham Heid ในเว็บ http://time.com/time-health เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2017 โดยกล่าวว่า มีนักวิจัยของบริษัท Mizkan Group Corporation (www.mizkan.net/profile) ซึ่งเป็นบริษัทที่ขายน้ำส้มสายชูและเครื่องปรุงรสต่างๆ ในญี่ปุ่นเคยตีพิมพ์ผลงานวิจัยเรื่อง Vinegar Intake Reduces Body Weight, Body Fat Mass, and Serum Triglyceride Levels in Obese Japanese Subjects ในวารสาร Bioscience, Biotechnology, and Biochemistry หน้าที่ 1837–1843 ของชุดที่ 73 เมื่อปี 2009 ความโดยย่อจากผลงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้คือ จากการให้อาสาสมัคร(กลุ่มละ 58-59 คน) ซึ่งมีอายุระหว่าง 25-60 ปี (ที่จัดว่าอ้วนเพราะมีดัชนีมวลกาย 25-30 กิโลกรัม/ตารางเมตร) ดื่มน้ำส้มสายชูทำจากแอปเปิ้ล ที่เจือจางด้วยน้ำสะอาดให้มีความเข้มข้นตามกำหนด (ซึ่งวิเคราะห์ได้ว่ามี กรดอะซิติกเท่ากับ 0, 750 หรือ 1,500 มิลลิกรัม ในน้ำ 500 มิลลิลิตรต่อวัน) นาน 12 สัปดาห์ สามารถช่วยลดน้ำหนัก ดัชนีมวลกาย ไขมัน (visceral and subcutaneous fat) และดัชนีอื่น ๆ ที่ตรวจวัดได้อย่างน่าประทับใจคนทำวิจัย อย่างไรก็ดีสำหรับผู้เขียน เมื่อดูข้อมูลจากบทความที่ตีพิมพ์แล้วกลับรู้สึกว่า มันก็งั้น ๆ ทั้งนี้เพราะค่าเฉลี่ยน้ำหนักตัวเมื่อจบการวิจัย(สัปดาห์ที่ 12) ของอาสาสมัครที่กินน้ำส้มสายชูสูงสุด(1,500 มิลลิกรัม) คือ 71.2 ± 8.3 กิโลกรัม(สัปดาห์ที่ 0 หนัก 73.1 ± 8.6) ในขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้กินน้ำส้มสายชู(Placebo group) นั้นมีน้ำหนักเมื่อจบการวิจัยคือ 74.6 ± 11.3 (สัปดาห์ที่ 0 หนัก 74.2 ± 11.0) ซึ่งดูไม่น่ามีความหมายเท่าใด เพราะน้ำหนักตัวผู้เขียนก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาในช่วง 2-3 กิโลกรัม โดยไม่ต้องดื่มน้ำส้มสายชูจากบทความของ Markham Heid ซึ่งผู้เขียนได้อ่านนั้น เขาได้สัมภาษณ์ Dr.Carol Johnston ซึ่งเป็นอาจารย์ด้าน โภชนาการและการส่งเสริมสุขภาพ ของมหาวิทยาลัย Arizona State University ผู้ให้ความเห็นว่า น้ำส้มสายชูนั้นคงเข้าไปปรับเปลี่ยนในกระบวนการใช้พลังงานของร่างกาย เช่น การกระตุ้นให้มีการเผาผลาญไขมัน นอกจากนี้ Markham Heid ยังกล่าวว่าเขาพบงานวิจัยอีกชิ้นที่ตั้งสมมุติฐานว่า การดื่มน้ำส้มสายชูช่วยลดน้ำหนักเพราะ ก่อให้ผู้ที่ดื่มเกิดอาการคลื่นไส้จนกินอาหารไม่ลงความรู้สึกที่ดีต่อการดื่มน้ำส้มสายชูของ Dr. Johnston อีกเรื่องนั้น เกี่ยวกับผลการวิจัยของเธอเองซึ่งพบสมมุติฐานว่า น้ำส้มสายชูมีแนวโน้มในการลดระดับน้ำตาลในเลือด ด้วยการไปลดการดูดซึมอาหารกลุ่มที่ทำจากแป้ง เช่น พิซซ่า ซึ่งฟังแล้วดูดีต่อผู้ที่ใกล้จะมีอาการเบาหวาน ที่มักมีระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงขึ้นทุกครั้งหลังอาหารนอกจากนี้ Dr. Johnston ยังให้ข้อสังเกตว่า อาหารเมดิเตอเรเนียน ซึ่งถูกจัดให้เป็นอาหารสุขภาพนั้นก็มีน้ำส้มสายชูเป็นองค์ประกอบในปริมาณที่น่าสนใจ ซึ่งผู้บริโภคสามารถประยุกต์สู่พฤติกรรมการบริโภคในแต่วันได้ เช่น การใช้น้ำส้มสายชูปริมาณสูงหน่อยกับสลัดผักในมื้ออาหารสำหรับชนิดของน้ำส้มสายชูที่ควรค่าแก่การดื่มหรือปรุงอาหารนั้น Dr. Johnston กล่าวเพียงว่า ขอแค่เป็นน้ำส้มสายชูก็พอ จะผลิตจากพืชอะไรก็ได้ ผลมันก็ดูจะเหมือนกันในประเด็นการลดน้ำหนักที่เธอสนใจ แต่ถ้าเป็นประเด็นอื่นก็ต้องว่ากันเป็นเรื่องๆ ไป เช่น ความสามารถในการลดความดันโลหิตสูงของน้ำส้มสายชู  ซึ่งผู้เขียนค่อนข้างสนใจในเรื่องนี้เช่นกันผลของน้ำส้มสายชูต่อความดันโลหิตนั้น มีงานวิจัย(ที่ใช้หนูทดลอง) ของ Shino Kondo และคณะนักวิจัยของบริษัท Mitsukan Group Corporation (ซึ่งผลิตสินค้าเกี่ยวกับอาหารและมีหน่วยงานวิจัยด้านไบโอเท็คขั้นสูงจนสามารถขอสิทธิบัติเกี่ยวกับยีนทนกรดน้ำส้มของแบคทีเรีย) ชื่อ Antihypertensive Effects of Acetic Acid and Vinegar on Spontaneously Hypertensive Rat ผลงานนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Bioscience, Biotechnology, and Biochemistry (ซึ่งเป็น online journal ดังนั้นผู้อ่านจึงต้องใช้ กาลามสูตรกังขานิยฐาน 10 ในการอ่านบทความนี้) เมื่อปี 2001 ซึ่งมีผลการวิจัยโดยสรุปว่า หนูที่ได้กินอาหารเหลวซึ่งมีน้ำส้มสายชูที่ทำจากข้าวเป็นองค์ประกอบ (คำนวณเป็นกรดอะซีติก 46.2 กรัมต่อลิตรของอาหาร) นั้น เมื่อวัดปริมาณ angiotensin II ในเลือดพร้อมกับการทำงานของ reninพบว่าลดลง (ค่าทั้งสองนี้เป็นปัจจัยในการเพิ่มความดันโลหิตมนุษย์) สำหรับความรู้สึกในการดื่มน้ำส้มสายชูทำจากผลไม้นั้น กล่าวบรรยายเป็นตัวอักษรได้ค่อนข้างยาก เลยไม่รู้ว่าควรยกนิ้วอะไรให้ เพราะหลังจากดื่มอึกแรกเข้าไปผู้เขียนรู้สึกว่า คอหอยมันระคายเคืองด้วยฤทธิ์กัดของกรดอะซิติก (ที่มีความเข้มข้นราวร้อยละ 5) ประสบการณ์ครั้งนั้นเกิดเนื่องจากมีนักศึกษาขอทำสัมมนาวิชาการเรื่อง เมื่อน้ำส้มสายชูเป็นมากกว่าเครื่องปรุง โดยนักศึกษาผู้นั้นได้ลงทุนซื้อน้ำส้มสายชูจากแอปเปิ้ลที่บรรจุกล่องแบบเดียวกับน้ำผลไม้ขนาด 150 มิลลิลิตร (ปัจจุบันสินค้านี้ไม่เห็นมีวางตลาดแล้ว) มาให้กรรมการคุมการสัมมนาดื่ม ซึ่งก็เป็นครั้งแรกและคงเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตผู้เขียนที่ดื่มเครื่องดื่มนี้ดังนั้นผู้บริโภคพึงคำนึงว่า ถ้าต้องการได้ประโยชน์จากสารธรรมชาติที่ถูกกล่าวว่า พบในน้ำส้มสายชูเหล่านี้จริง ทำไมจึงไม่จ่ายเงินซื้อในรูปผลไม้ซึ่งได้ประโยชน์มากมายพร้อมความอร่อย แล้วค่อยตั้งหลักไปกินน้ำส้มสายชูใน ก๋วยเตี๋ยวต้มยำ ซอสมะเขือเทศ ผักดองน้ำส้มต่าง ซึ่งถูกกว่าและง่ายกว่าต่อการมีชีวิตบนโลกใบนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 รู้เท่าทันปลิงบำบัด

กระแสความตื่นตัวเรื่องปลิงบำบัดในไทยเกิดขึ้นเมื่อ 3-4 ปีก่อน  ถ้าเราเข้าไปดูในยูทูปจะเห็นการใช้ปลิงบำบัดเต็มไปหมด ใช้ตั้งแต่การรักษาสิว แผลติดเชื้อ ไมเกรน  ในเว็บไซต์สุขภาพจำนวนมากใช้ปลิงบำบัดสารพัดโรค ตั้งแต่ ผมร่วง หัวล้าน ข้อเข่าอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน การได้ยิน ต้อหิน เหงือกอักเสบ ความดันเลือดสูง แม้กระทั่งมะเร็ง  ดาราดังในฮอลีวูดเช่น เดมี่ มัวร์ ก็เคยใช้ปลิงในการล้างพิษในเลือดเมื่อปีค.ศ. 2008  ปัจจุบันดาราฮอลลีวูดมีการใช้ปลิงบำบัดในการทำให้ใบหน้ากลับมาเต่งตึงโดยไม่ต้องผ่าตัด  เรามารู้เท่าทันปลิงบำบัดกันเถอะความเป็นมาของปลิงบำบัด การใช้ปลิงบำบัดมีมานานหลายพันปี ตั้งแต่เริ่มต้นเกิดอารยธรรมเมือง  เมืองโบราณเช่น อียิปต์ อินเดีย กรีก และอาหรับ มีการใช้ปลิงในการรักษาโรคโดยการเอาเลือดออกจากร่างกาย เพราะเชื่อว่าเป็นการเอาเลือดเสียหรือเป็นพิษออกไป จึงใช้ในการรักษาโรคผิวหนัง ระบบประสาท ความผิดปกติของระบบขับปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ การอักเสบ โรคฟัน การบันทึกเกี่ยวกับปลิงบำบัดที่เก่าแก่ที่สุดอยู่ในคำภีร์ศูสรุตสัมหิตตา เขียนขึ้นโดย ศูสรุตในปี ค.ศ. 800 ก่อนคริสตกาล โดยกล่าวว่าเป็นวิธีการเอาเลือดออก ใช้ในการรักษาโรคผิวหนัง อาการปวดร้าวไปที่ขา และอาการปวดกล้ามเนื้อ   เขาอธิบายว่า ปลิงมี 12 ชนิด เป็นพิษ 6 ชนิด และไม่เป็นพิษ 4 ชนิด การแพทย์แผนไทยก็มีตำราแผนปลิง และได้ประกาศเป็นตำราการแพทย์แผนไทยแห่งชาติ แต่พบว่า แพทย์แผนไทยไม่มีประสบการณ์การใช้ปลิงรักษาเหมือนแพทย์อายุรเวทของอินเดียปลิงรักษาโรคได้อย่างไร เมื่อเร็วๆ การศึกษาจำนวนมากพบว่า ในน้ำลายของปลิงประกอบด้วยสารโปรตีนจำนวนมาก ได้แก่ แอนติทรอมบิน (สารต้านการแข็งตัวของเลือด สารสำคัญมีชื่อว่า ฮิรูดิน ทำให้ปลิงบำบัดมีชื่ออีกชื่อว่า Hirudin Therapy)  แอนติเพลตเลต สารต้านแบคทีเรีย และอื่นๆ อีกมาก  การพบว่ามีสารต้านการแข็งตัวของเลือดทำให้ปลิงบำบัดหวนกลับมาเป็นวิธีการรักษาที่นิยมอีกครั้งเพื่อใช้รักษาโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง โรคติดเชื้อ  ในคริสตศตวรรษที่ 20 วงการศัลยกรรมตกแต่งและจุลศัลยกรรมเริ่มใช้ปลิงบำบัดในการป้องกันการบวมจากหลอดเลือดดำ และการต่อนิ้วและเนื้อเยื่อต่างๆ  ปัจจุบันเริ่มมีการใช้เพื่อความงาม  ในปีค.ศ. 2004  สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของอเมริกา ได้รับรองการใช้ปลิงเป็นอุปกรณ์การรักษาทางการแพทย์อย่างหนึ่งปลิงรักษาโรคได้จริงหรือไม่  รายงานการวิจัยจำนวนมากในวารสารวิชาการ PubMed ของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา และการทบทวนของห้องสมุด Cochrane ยืนยันประสิทธิผลการรักษาด้วยปลิงบำบัด โดยเฉพาะในการรักษาข้อเสื่อม ช่วยลดอาการปวด การเคลื่อนไหวของข้อดีขึ้น และลดการติดขัดของข้อ  การทบทวนพบว่า มีการใช้ในการบำบัด ฝีหนอง ต้อหิน เส้นเลือดดำอุดตัน  และมีการใช้ในศัลยกรรมตกแต่ง เพื่อแก้ปัญหาการไหลเวียนของเลือด อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีงานวิจัยที่ยืนยันประสิทธิผลการรักษาด้วยปลิง แต่ยังต้องการการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความปลอดภัยและผลแทรกซ้อนของการใช้ปลิงบำบัด เพราะยังคงมีปัญหาแทรกซ้อนจากการใช้ปลิงบำบัดอยู่ โดยเฉพาะการติดเชื้อ เลือดไหลไม่หยุด และผู้ใช้ขาดความรู้ความชำนาญ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 ฉลากโภชนาการ สิ่งจำเป็นเพื่อการดูแลสุขภาพ

ความสำคัญและระดับการควบคุมข้อมูลโภชนาการหรือฉลากโภชนาการ เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ผู้บริโภคได้รู้ถึงคุณค่าทางด้านโภชนาการหรือปริมาณสารอาหารต่างๆ ที่ร่างกายจะได้รับเมื่อรับประทานเข้าไป และเป็นการยกระดับให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อย่างถูกต้องเหมาะสมกับการดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัว ถือเป็นสิทธิพื้นฐานที่ผู้บริโภคพึงได้รับ ดังนั้นหน่วยงานที่ดูแลด้านสุขภาพของประชาชนในทุกประเทศทั่วโลก จึงต่างให้ความสำคัญกับการแสดงฉลากโภชนาการบนผลิตภัณฑ์อาหาร อย่างไรก็ตามระดับการแสดงข้อมูลโภชนาการมีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องแสดงข้อมูลโภชนาการบนฉลาก(Mandatory) เป็นลักษณะบังคับว่าต้องมี ถ้าไม่มี จะมีบทลงโทษ และกลุ่มที่ผู้ประกอบการสามารถแสดงฉลากได้ตามความสมัครใจ (Voluntary) คือ กฎหมายไม่บังคับ – จะแสดงฉลากหรือไม่ก็ได้1) ประเทศหรือกลุ่มประเทศที่กฎหมายบังคับให้มีการแสดงฉลากโภชนาการในอาหาร ได้แก่ สหภาพยุโรป (อียู), สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, เม็กซิโก, อาร์เจนตินา, บราซิล, ชิลี, โคลัมเบีย, เอกวาดอร์, ปารากวัย, อุรุกวัย, อิสราเอล, อินเดีย, อินโดนีเซีย, จีน (+ เขตปกครองพิเศษฮ่องกง), เกาหลีใต้, มาเลเซีย, ไต้หวัน, ไทย, ออสเตรเลีย, และนิวซีแลนด์  ซึ่งประเทศเหล่านี้จะกำหนดตามกฎหมายให้ผู้ประกอบการต้องแสดงฉลากโภชนาการถึงแม้ว่าจะไม่มีการแสดงคำกล่าวอ้างทางโภชนาการหรือคำกล่าวอ้างทางสุขภาพก็ตาม โดยจะกำหนดว่าสารอาหารตัวใดจะต้องถูกแสดงบ้างและจะแสดงในลักษณะใด (เช่น ต่อ 100 กรัม หรือ ต่อหน่วยบริโภค เป็นต้น) นอกจากนี้ยังอนุญาตให้มีการแสดงรูปแบบอื่น ๆ ของฉลากโภชนาการได้โดยสมัครใจ อีกด้วย 2) ประเทศหรือกลุ่มประเทศที่ให้มีการแสดงฉลากโภชนาการโดยสมัครใจโดยรัฐให้การสนับสนุนแนวทางในการแสดงข้อมูล ได้แก่ กลุ่มประเทศอาหรับ (Gulf Cooperation Council : GCC) (ประกอบด้วย บาห์เรน, คูเวต, กาตาร์, โอมาน, ซาอุดิอาระเบีย, และสหรัฐอาหรับเอมิเรต: ยูเออี), เวเนซุเอล่า, ตุรกี, สิงโปร์, ฟิลิปปินส์, ญี่ปุ่น, เคนยา, เมาริเทียส, ไนจีเรีย, และอาฟริกาใต้ ซึ่งกฎหมายของประเทศกลุ่มนี้จะให้รัฐเป็นผู้กำหนดว่าสารอาหารใดบ้างที่ต้องมีการแสดงบนฉลากและต้องแสดงฉลากในลักษณะใดแต่ไม่ได้บังคับว่าจะต้องแสดงเว้นเสียแต่ว่ามีการกล่าวอ้างทางโภชนาการหรือกล่าวอ้างทางสุขภาพของอาหารนั้น ๆ หรือเป็นอาหารที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะเพื่อการควบคุมน้ำหนัก   ภาพประกอบ : แผนภูมิภาพแสดงการแบ่งกลุ่มประเทศที่มีการแสดงฉลากโภชนาการตามกฎหมายกระแสโลกในการทำให้ฉลากโภชนาการเป็นกฎหมายภาคบังคับในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมากระแสโลกในเรื่องการแสดงข้อมูลโภชนาการได้มุ่งไปสู่การทำเป็นกฎหมายภาคบังคับ เห็นได้จากการที่ มาตรฐานอาหารสากล(โคเด็กซ์) (Codex Alimentarius Commission, 2012) ซึ่งประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2555 นั้น ได้แนะนำให้ฉลากโภชนาการเป็นกฎหมายภาคบังคับแม้ว่าอาหารนั้นจะไม่มีการกล่าวอ้างทางโภชนาการก็ตามในหลายประเทศที่เคยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแสดงฉลากโภชนาการแบบสมัครใจ ก็ได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นกฎหมายฉลากโภชนาการแบบภาคบังคับ เช่น ประเทศจีนก่อนหน้านี้ใช้กฎหมายฉลากโภชนาการแบบสมัครใจ ต่อมาเมื่อได้นำมาตรฐานอาหารสากล(โคเด็กซ์) มาใช้ จึงเปลี่ยนให้ฉลากโภชนาการเป็นฉลากภาคบังคับและให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2556 ด้านสหภาพยุโรป (อียู) ได้ผ่านกฎหมายเกี่ยวกับการให้ข้อมูลด้านอาหารแก่ผู้บริโภคในเดือนกันยายน พ.ศ. 2554 ซึ่งทำให้ฉลากโภชนาการเป็นกฎหมายภาคบังคับภายในวันที่ 13 ธันวาคม 2559 แต่ยังมีหลายสิ่งที่สหภาพยุโรปต้องทำก่อนถึงกำหนดในวันที่ 13 ธันวาคม 2559 หนึ่งในนั้นคือ การหาข้อสรุปว่า รูปแบบการแสดงฉลากโภชนาการ แบบใดเหมาะสม เข้าใจง่าย และจะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคมากที่สุด จึงทำให้มีการสนับสนุนทุนทำโครงการวิจัย ชื่อว่า FLABEL ที่พบข้อมูลว่า ใน 27 ประเทศสมาชิกของอียูและตุรกี มีผลิตภัณฑ์ร้อยละ 85 จาก 5 กลุ่มประเภทผลิตภัณฑ์ที่ใช้ฉลากโภชนาการแบบ แสดงด้านหลังบรรจุภัณฑ์ (Back of Pack : BOP) มีผลิตภัณฑ์ร้อยละ 48 ที่ใช้ฉลากโภชนาการแบบ แสดงด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ (Front of Pack : FOP) นอกจากนี้ยังพบว่า ร้อยละ 84 ของผลิตภัณฑ์จะแสดงข้อมูลโภชนาการใน รูปแบบเป็นตาราง หรือ เป็นเส้นตรง (ตารางโภชนาการหรือกรอบข้อความโภชนาการ) โดยที่มีเพียงร้อยละ 1 แสดงข้อมูลด้วยสัญลักษณ์สุขภาพ (health logos) และในบรรดาฉลากแบบ แสดงข้อมูลโภชนาการด้านหน้า ทั้งหมด รูปแบบฉลาก หวาน มัน เค็ม (Guideline Daily Amounts :GDA) และ การกล่าวอ้างทางโภชนาการ เป็นรูปแบบที่แพร่หลายที่สุด ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นมาตรฐานกลางของฉลากโภชนาการแบบแสดงข้อมูลด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ (FOP)การโต้เถียงเรื่องการใช้ฉลากโภชนาการด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ของโลก ส่วนใหญ่อยู่ในสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม ประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศในทวีปเอเชีย ได้สร้างความประหลาดใจแก่โลก โดยได้ประกาศใช้ การแสดงฉลากโภชนาการแบบด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ ซึ่งแสดงในรูปแบบที่เรียกว่า ฉลาก “หวาน มัน เค็ม” (GDA) เป็นประเทศแรกในเดือน พ.ค. 2554 โดยประกาศใช้ในขนมเด็ก 5 กลุ่ม หลังจากนั้นฉลากรูปแบบนี้ก็ได้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐบาลในหลายประเทศ (เช่น ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, สหรัฐอเมริกา) โดยมีสิ่งที่รัฐต้องตัดสินใจคือ จะทำให้ฉลากโภชนาการแบบแสดงด้านหน้านี้เป็นกฎหมายภาคบังคับหรือไม่ และถ้าใช่ ควรที่จะต้องเพิ่มเติมเกณฑ์ประกอบการตัดสินใจของคุณค่าทางโภชนาการที่แสดงผ่านการใส่สี (แบบสีสัญญาณไฟจราจร) หรือ การให้สัญลักษณ์ “เครื่องหมายสุขภาพ” (ตราที่แสดงว่าผลิตภัณฑ์นั้น ๆ มีโภชนาการเหมาะสมตามเกณฑ์ที่ถูกกำหนดไว้ เช่น ตรารูปหัวใจ : สมาร์ทฮาร์ท, เครื่องหมายรูปรูกุญแจสีเขียว) หรือให้ข้อมูลเป็นเปอร์เซ็นของการบริโภคต่อวัน เช่น ฉลาก หวาน มัน เค็ม : GDA ท่ามกลางการตัดสินใจต่าง ๆ เหล่านี้ รูปแบบสีสัญญาณไฟจราจร (Traffic Light) ของสหราชอาณาจักร (UK) เป็นจุดสนใจและได้รับการโต้เถียงอย่างกว้างขวาง กลุ่มผู้บริโภคจำนวนมาก องค์กรภาคประชาสังคม (NGOs) สายสุขภาพ และบางรัฐบาลในยุโรป สหรัฐอเมริกา และประเทศกลุ่มภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิค ได้ประกาศสนับสนุนรูปแบบฉลากโภชนาการด้านหน้าบรรจุภัณฑ์แบบสีสัญญาณไฟจราจรของสหราชอาณาจักรขณะที่รัฐบาลทั้งหลายกำลังตัดสินใจว่าจะใช้ฉลากโภชนาการแบบด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ และแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยข้องต่าง ๆ ของตนอย่างไรนั้น รูปแบบย่อยทั้งหลายของฉลากโภชนาการแบบแสดงหน้าบรรจุภัณฑ์ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นก็แพร่หลายไปภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาล, องค์กรระหว่างประเทศ, NGOs, กลุ่มองค์กรภาคอุตสาหรรม และบริษัทต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อที่จะทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลโภชนาการได้ง่ายขึ้น ดังนั้น การผลักดันให้เกิดการหลอมรวมเป็นรูปแบบเดียวกันจึงเกิดขึ้นในบางประเทศ นปี พ.ศ. 2555 แผนกสาธารณสุขของสหราชอาณาจักรได้เสนอรูปแบบฉลากที่รวมฉลาก GDA เข้ากับสีสัญญาณไฟจราจร และ ตัวหนังสือบรรยายโภชนาการ อย่างไรก็ตามยังคงมีการโต้เถียงในเรื่อง การระบุคำบรรยายใต้สัญลักษณ์สีสัญญาณไฟจราจรว่า “สูง” “ปานกลาง” และ “ต่ำ” บนฉลาก และ เกณฑ์ทางโภชนาการควรต้องมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ซึ่งรูปแบบนี้ถูกนำไปใช้โดยความสมัครใจของร้านขายปลีกขนาดใหญ่ทั้งหลายเป็นที่เรียบร้อย แต่ผู้ผลิตอาหารจำนวนมากยังคงลังเลที่จะเข้าร่วมดำเนินการในสหรัฐอเมริกา มีรายงานระยะที่ 1 จาก the Institute of Medicine (IOM) Committee ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2553 แนะนำว่า ควรต้องมีระบบเฉพาะในการระบุข้อมูลโภชนาการที่สร้างความกังวลอย่างยิ่งต่อผู้บริโภค 4 ประเภท คือ ค่าพลังงาน (แคลอรี่), หน่วยบริโภค (serving size), ไขมันทรานส์ (trans fat), ไขมันอิ่มตัวและโซเดียม ส่วนในรายงานระยะที่ 2 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ได้ระบุเรื่องของการเปิดกว้างของผู้บริโภค ความเข้าใจ และความสามารถในการการใช้ฉลากโภชนาการแบบแสดงหน้าบรรจุภัณฑ์ ซึ่งได้ให้คำแนะนำแก่ อย. (USFDA) และหน่วยงานด้านเกษตร (USDA) ของสหรัฐไว้ว่า ควรต้องมีการพัฒนา ทดสอบและบังคับใช้รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งของฉลากโภชนาการแบบแสดงหน้าบรรจุภัณฑ์ในผลิตภัณฑ์ทั้งหมด และได้ให้คำแนะนำให้การบังคับใช้มาตรการฉลากนี้ว่า จะต้องเกิดจากความมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด และกลุ่มผู้มีความสนใจที่หลากหลาย สำหรับรูปแบบฉลากที่แนะนำนั้น IOM เสนอให้แสดงเป็นสัญลักษณ์แสดงปริมาณแคลอรี่ต่อหน่วยบริโภคและแสดงคะแนนเป็นดาวโดยเทียบจากคุณค่าทางโภชนาการ ด้านไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ โซเดียม และน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ ที่ต่ำกว่าเกณฑ์โภชนาการ  ไม่เพียงแค่ภาครัฐที่ดำเนินการเรื่องฉลากโภชนาการ ในปี พ.ศ. 2555 กลุ่มภาคเอกชนของสหรัฐฯ ได้แก่ สมาคมร้านค้าของชำ สถาบันการตลาดอาหาร และผู้แทนของบริษัทชั้นนำด้านการผลิตอาหาร เครื่องดื่ม และและกลุ่มผู้ค้าปลีก ได้นำเสนอ ฉลากแบบสมัครใจเรียกว่า fact-based FOP nutrition labelling ที่แสดงข้อมูลพลังงาน และสารอาหารสำคัญ (ไขมันอิ่มตัว โซเดียม และน้ำตาล) ด้านหน้าของบรรจุภัณฑ์ ซึ่ง อย. ของ สหรัฐฯ ได้ให้การสนับสนุนฉลากแบบนี้ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า  ต้องไม่ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดในสารอาหารของผลิตภัณฑ์อีกหนึ่งความก้าวหน้าที่สำคัญของกระแสการทำให้ฉลากโภชนาการแบบแสดงด้านหน้าบรรจุภัณฑ์กลายเป็นมาตรฐานสากลคือ การที่ สหภาพยุโรป ได้ประกาศใช้กฎหมาย ข้อมูลด้านอาหารเพื่อผู้บริโภค ที่อนุญาตให้มีการใช้ฉลากโภชนาการแบบสมัครใจในบางรูปแบบได้ ทำให้มีการแสดงข้อมูลทางโภชนาการ สี ภาพ หรือ สัญลักษณ์ ซึ่งต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2556 ได้มีการออกเอกสารถาม-ตอบ (Q&A) เพื่อสร้างความชัดเจนในการบังคับใช้มาตรการนี้ออกมา โดยในเอกสารได้ยืนยันว่า กิโลจูล (หน่วยของค่าพลังงาน)สามารถใช้ได้บนฉลากโภชนาการแบบสมัครใจด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ ไม่ว่าจะแสดงเดี่ยว ๆ หรือจะแสดงคู่กันกับ กิโลแคลอรี ก็ได้ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ในงานประชุมของรัฐบาลของทั้งสองประเทศได้มีความเห็นตรงกันว่ามีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการพัฒนาฉลากโภชนาการแบบแสดงด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ที่เข้าใจและแปลความได้ง่าย แต่ยังไม่ได้ประกาศสนับสนุนการแสดงฉลากรูปแบบสีสัญญาณไฟจราจรโดยทันที ซึ่งต่อมา ในประเทศออสเตรเลีย ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับทิศขึ้นชุดหนึ่งขึ้นมาทำงานในเรื่องนี้ เช่นเดียวกันกับในนิวซีแลนด์ ที่ได้มีกลุ่มทำงานมาพัฒนาแนวทางและคำแนะนำต่อการจัดทำฉลากโภชนาการแบบแสดงด้านหน้าผลิตภัณฑ์ แต่มิได้มีรูปแบบเฉพาะเจาะจงออกมาเช่นกัน ซึ่งความน่าจะเป็นของรูปแบบฉลากโภชนาการของทั้งสองประเทศนี้น่าจะมีความคล้ายคลึงกันมาทางฝั่งทวีปเอเซียกันบ้าง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 ประเทศเกาหลีใต้ กลายเป็นประเทศแรกในเอเซียที่ประกาศใช้ฉลากโภชนาการแบบแสดงด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบสีสัญญาณไฟจราจรโดยสมัครใจในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเด็ก และภายหลังเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศยกระดับการแสดงฉลากในรูปแบบสีสัญญาณไฟจราจรในขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่มเป็นกฎหมายภาคบังคับโดยให้มีผลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 ซึ่งการกระทำนี้ส่งผลให้ประเทศเกาหลีใต้กลายเป็นประเทศแรกในโลกที่ใช้รูปแบบฉลากโภชนาการแบบสีสัญญาณไฟจราจรภายใต้กฎหมายภาคบังคับ นับแต่นั้น ได้มีการผ่านร่างกฎหมายสองฉบับ ฉบับแรก ว่าด้วยการแสดงฉลากโภชนาการแบบสีสัญญาณไฟจราจรในอาหารที่เด็กชื่นชอบได้แก่ ขนมขบเคี้ยว และเครื่องดื่ม กับ กฎหมายฉบับที่สองซึ่งกำหนดให้มีการแสดงฉลากโภชนาการทั้งแบบสีสัญญาณไฟจราจรและแบบคุณค่าทางโภชนาการต่อวันที่ใส่สีเพื่อแสดงเกณฑ์ประกอบการตัดสินใจ การเคลื่อนไหวนี้ถือเป็นรุ่งอรุณแห่งมาตรการฉลากโภชนาการที่น่าจะช่วยให้ประเทศอื่น ในภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิค เจริญรอยตาม ก็เป็นได้ข้อถกเถียงเรื่องรูปแบบฉลากโภชนาการยังไม่ยุติข้อถกเถียงที่ว่ารูปแบบฉลากโภชนาการแบบใดจะมีประสิทธิภาพที่สุด จะดำเนินต่อไปในยุโรป, เอเซีย-แปซิฟิค, และอเมริกา ในช่วงอนาคตอันใกล้ การศึกษาวิจัยที่มากขึ้นจะเป็นประโยชน์และช่วยยืนยันประเด็นนี้ รัฐบาล NGOs ผู้ผลิตอาหารและผู้ค้าปลีกได้ร่วมกันสำรวจว่า รูปแบบฉลากโภชนาการแบบใดที่ผู้บริโภคชื่นชอบที่สุด ด้วยเหตุผลใด และรูปแบบใดจะส่งผลต่อพฤติกรรมการซื้อและการสร้างสมดุลในการเลือก แม้จะมีข้อมูลจำนวนหนึ่งที่ให้คำตอบได้ แต่ยังคงไม่มีข้อสรุปใด ๆ จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลายว่าจะไปในทิศทางใดกัน อย่างไรก็ตาม มีความชัดเจนว่ามีความจำเป็นที่จะต้องให้ข้อมูลโภชนาการบนฉลากอาหารที่ง่ายกว่าในปัจจุบันแก่ผู้บริโภค ข้อมูลโภชนาการ/ ตารางโภชนาการ แบบภาคบังคับ เป็นเครื่องมือทางสาธารณสุขที่ช่วยประกอบการตัดสินใจเลือกของผู้บริโภคในยุโรป สหรัฐฯ แคนาดา ฮ่องกง มาเลเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย และเหมือนกับเครื่องมืออื่นๆ มันจะสร้างความเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบต่อเมื่อมันเหมาะสมต่อหน้าที่ของมัน ซึ่งก็คือ ผู้บริโภคมีความเข้าใจและใช้มัน ในสหรัฐฯ ความความเติบโตทางความเห็นที่ว่า ข้อมูลโภชนาการแบบเดิม ๆ อย่างเดียวไม่เพียงพอ หรือ มันไม่สามารถเข้าใจและใช้ได้ง่ายกว่าที่เป็นอยู่อีกแล้ว อย. สหรัฐฯ จึงได้ประกาศภารกิจเร่งด่วนในการทบทวนการแสดงโภชนาการในรูปแบบ ข้อมูลโภชนาการ/ ตารางโภชนาการเสียใหม่ ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการแสดงข้อมูลโภชนาการด้านหน้าผลิตภัณฑ์ (FOP) ขณะที่ฉลากหวาน มัน เค็ม (GDA) ได้รับการสนับสนุนจำนวนมากจากกลุ่มผู้ผลิตอาหาร และผู้กำหนดนโยบาย ความเป็นประโยชน์ในการเป็นแนวทางประกอบการเลือกของผู้บริโภคจะขึ้นอยู่กับความก้าวหน้าในการให้การศึกษาผู้บริโภคให้สามารถใช้ประโยชน์จากมันอย่างไร------------------------------สถานการณ์ด้านฉลากโภชนาการของประเทศไทย นับแต่การประกาศใช้ข้อมูลโภชนาการ/ ตารางโภชนาการ ในปี พ.ศ. 2541 ไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการควบคุมฉลากโภชนาการแบบสมัครใจมาโดยตลอด จนถึงการบังคับใช้ฉลากโภชนาการแบบหวาน มัน เค็ม (จีดีเอ) ในปี พ.ศ. 2554 ที่ยกระดับการควบคุมทางกฎหมายของฉลากโภชนาการจากสมัครใจมาสู่กฎหมายภาคบังคับ โดยควบคุมการแสดงฉลากโภชนาการในอาหาร กลุ่มขนมขบเคี้ยว 5 ประเภท ได้แก่ มันฝรั่งทอดหรืออบกรอบ, ข้าวโพดคั่วทอดกรอบหรืออบกรอบ, ข้าวเกรียบหรืออาหารขบเคี้ยวชนิดอบพอง, ขนมปังกรอบหรือแครกเกอร์หรือบิสกิต, และเวเฟอร์สอดไส้ แต่ก็ยังคงมีความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรูปแบบการแสดงฉลากโภชนาการอย่างต่อเนื่อง  ย้อนไปในปี พ.ศ. 2553 มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติระบุว่า ให้มีฉลากโภชนาการอย่างง่าย(ฉลากโภชนาการแบบแสดงด้านหน้าบรรจุภัณฑ์) ในรูปแบบสีสัญญาณไฟจราจร จึงนำมาซึ่งการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมและนำเสนอรูปแบบฉลากสีสัญญาณไฟจราจรแก่ อย. อย่างไรก็ตาม อย. กลับได้ประกาศใช้ฉลากหวาน มัน เค็ม แทนที่ฉลากสีสัญญาณไฟจราจรตามมติสมัชชา และในเดือนเมษายน พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา อย. ได้ขยายการควบคุมจากผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยว 5 ประเภทมาเป็น อาหาร 5 กลุ่ม ได้แก่ ขนมขบเคี้ยว (มันฝรั่งทอดหรืออบกรอบ, ข้าวโพดคั่วทอดหรืออบกรอบ, ข้าวเกรียบทอดหรืออบกรอบ หรืออาหารขบเคี้ยวชนิดอบพอง, ถั่วหรือนัตทอดหรืออบกรอบหรืออบเกลือ หรือเคลือบปรุงรส, สาหร่ายทอด หรืออบกรอบ หรือเคลือบปรุงรส และปลาเส้นทอด หรืออบกรอบหรือปรุงรส), ช็อกโกแลต, ผลิตภัณฑ์ขนมอบ (ขนมปังกรอบหรือแครกเกอร์หรือบิสกิต, เวเฟอร์สอดไส้, คุ้กกี้, เค้ก, และ พาย เพสตรี้ ทั้งชนิดที่มีและไม่มีไส้), อาหารกึ่งสำเร็จรูป (ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ บะหมี่ เส้นหมี่ และวุ้นเส้นไม่ว่าจะมีการปรุงแต่งหรือไม่ก็ตามพร้อมซองเครื่องปรุง, และ ข้าวต้มที่ปรุงแต่ง และโจ๊กที่ปรุงแต่ง), และอาหารมื้อหลักที่เป็นอาหารจานเดียว ซึ่งต้องเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นหรือตู้แช่แข็งตลอดระยะเวลาจำหน่าย  นอกจากการทำให้ฉลากโภชนาการแบบหวาน มัน เค็ม เป็นฉลากแบบบังคับแล้ว อย. ยังได้ร่วมกับหน่วยงานวิชาการในการทำการศึกษารูปแบบฉลากโภชนาการแบบสัญลักษณ์สุขภาพและได้ออกประกาศให้มีการแสดงฉลากโภชนาการแบบสมัครใจขึ้นมาอีก 1 รูปแบบ ใช้ชื่อว่า สัญลักษณ์โภชนาการ (สัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ) โดยได้มีการประกาศในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ซึ่ง ทางเลือกสุขภาพนี้ คือเครื่องหมายที่ช่วยให้ผู้บริโภคทราบว่าผลิตภัณฑ์อาหารนั้นมีปริมาณสาร อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ดีต่อสุขภาพ  ด้านฝั่งองค์กรภาคประชาสังคมได้มีการรณรงค์เพื่อผลักดัน ให้ อย. พิจารณาบังคับให้ฉลากโภชนาการแบบสีสัญญาณไฟจราจร แทนที่ฉลากแบบหวาน มัน เค็ม โดยได้มีดัดแปลงรูปแบบจากรูปแบบของสหราชอาณาจักรมาเป็นสัญญาณไฟจราจรแบบไทย และได้นำประเด็นเข้าสู่การเรียนการสอนในโรงเรียน พัฒนาเด็กและอาจารย์ในโรงเรียนให้มีความรู้ในการอ่านฉลากอาหารและฉลากโภชนาการรูปแบบต่างๆ รวมทั้งสามารถใส่สีสัญญาณไฟจราจรลงบนฉลากอาหารได้ด้วยตนเอง โดยเริ่มทำงานในโรงเรียนจำนวน 3 แห่งในจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งในปัจจุบันอยู่ระหว่างการขยายผล ขยายการดำเนินงานให้ครอบคลุมใน 8 จังหวัดของภาคตะวันตกตามการแบ่งเขตขององค์กรผู้บริโภค ได้แก่ นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ฉลากโภชนาการรูปแบบใดจะเหมาะสมสำหรับประเทศไทย สมควรหรือไม่ที่ควรต้องมีรูปแบบเดียว หรือจะให้มีหลากหลายรูปแบบทั้งแบบภาคบังคับและภาคสมัครใจนั้น ยังคงต้องการการศึกษาเพื่อยืนยัน ว่าฉลากรูปแบบใดกันแน่ ที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้บริโภคมากที่สุดข้อมูล Global Update on Nutrition Labelling Executive Summary January 2015Published by the European Food Information Council. www.eufic.org/upl/1/default/doc/GlobalUpdateExecSumJan2015.pdf

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 รู้เท่าทันการกินดีหมี

มีการใช้อวัยวะหรือส่วนต่างๆ ของสัตว์มาเป็นส่วนผสมของยาสมุนไพรตามตำรับดั้งเดิมแทบทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นยาจีน ยาอายุรเวท และยาไทย ทำให้มีการล่าสัตว์ป่าในธรรมชาติจนบางอย่างใกล้จะสูญพันธุ์ เช่น ม้าน้ำ แรด เสือ เป็นต้น สัตว์บางอย่างถูกนำมาเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ เช่น กวาง ชะมดเชียง เป็นต้น แต่มีสัตว์ชนิดหนึ่งที่ถูกนำมาเลี้ยงอย่างทารุณเพียงเพื่อเอาน้ำดีมาทำเป็นยา นิยมมากในหมู่คนจีน เกาหลี และเวียดนาม เรามารู้เท่าทันดีหมีกันเถอะดีหมีมีอะไรดีน้ำดีและถุงน้ำดีของหมีเป็นสัตว์วัตถุในการแพทย์ดั้งเดิมของจีน กว่า 3,000 ปี การแพทย์แผนจีนใช้รักษา ไข้ นิ่วในถุงน้ำดี โรคหัวใจ และโรคตา สารสำคัญในน้ำดีของหมีได้แก่ กรดเออร์โซดีออกซีโคลิค (ursodeoxycholic acid/UDCA) และมีมากเป็นพิเศษในน้ำดีของหมีมากกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดอื่น น้ำดีจะถูกสร้างโดยตับและเก็บไว้ในถุงน้ำดี เมื่อน้ำดีถูกปล่อยออกไปในลำไส้เล็ก จะช่วยย่อยไขมัน กรดไขมัน UDCA จะช่วยควบคุมโคเลสเตอรอลโดยช่วยลดการดูดซึมของลำไส้ ดังนั้นทางการแพทย์จึงใช้กรดนี้ในการรักษานิ่วในถุงน้ำดีโดยไม่ต้องผ่าตัดหมีหนึ่งตัวจะผลิตน้ำดีที่ทำเป็นผงแห้งได้ 2 กก.ต่อปี น้ำดีของหมีซื้อขายกันในราคาสูง ในจีนขายราคา 14,350 บาทต่อหนึ่งกิโลกรัม ในญี่ปุ่น ถุงน้ำดีหมีป่า ขายราคา 115,500 บาทต่อกิโลกรัม ในเกาหลีใต้ ราคา 350,000 บาทต่อกิโลกรัม ปัจจุบันยังมีการใช้น้ำดีหมีในการผลิตเป็นแชมพู ไวน์ ชา ยาอมแก้เจ็บคอ อีด้วยจากการทบทวนของคอเครนพบว่า กรดเออร์โซดีออกซีโคลิคช่วยลดชีวเคมีในตับ ดีซ่าน และน้ำในช่องท้อง ยาเออร์โซไดออลเป็นยาที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของอเมริกาขึ้นทะเบียนยาเพื่อรักษาโรคตับแข็งจากท่อน้ำดีปฐมภูมิ นอกจากนี้ใช้รักษาท่อน้ำดีอุดตันในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์เพื่อบรรเทาอาการคันและลดการดูดซึมน้ำดีดีหมีกับโศกนาฏกรรมของหมีจากการที่ดีหมีมีราคาสูง ก่อให้เกิดธุรกิจการเลี้ยงหมีในฟาร์มเพื่อรีดน้ำดีจากหมีเหมือนกับการรีดนมวัว แพะ ควาย แต่วิธีการนั้นทารุณและไร้มนุษยธรรมอย่างยิ่ง ในประเทศจีน มีฟาร์มเลี้ยงหมีกว่า 400 ฟาร์ม หมีกว่า 10,000 ตัวถูกจับขังในกรงแคบๆ ขนาด 2.5 x 4.2 x 6.5 ฟุต จนหมีไม่สามารถหมุนตัวไปมา หรือแม้กระทั่งจะนั่งก็นั่งได้ไม่เต็มก้นการรีดน้ำดีหมีนั้นจะทำวันละ 2 ครั้ง มีการผ่าตัดฝังท่อยางหรือท่อเหล็กเข้าทางหน้าท้องของหมี ซึ่งไม่ได้ทำโดยสัตวแพทย์ ทำให้หมีกว่าครึ่งหนึ่งตายจากการติดเชื้อหรือโรคแทรกซ้อนอื่นๆ หมีที่รีดน้ำดีต้องมีอายุ 3 ปี และถูกดูดน้ำดีอย่างน้อย 5-10 ปี บางตัวที่ถูกช่วยชีวิตถูกรีดนานกว่า 20 ปี สภาพที่สกปรกในฟาร์มส่วนใหญ่ทำให้หมีต้องทรมานจากการติดเชื้อ หนอน และพยาธิ กล้ามเนื้อของหมีจะลีบ ขาดอาหาร เขี้ยวและฟันถูกถอนออก หมีบางตัวฆ่าตัวตายเพื่อหนีความทุกข์ทรมาน ในน้ำดีหมีอาจพบการปนเปื้อนของน้ำหนองจากการติดเชื้อสุขภาพต้องสมบูรณ์ทั้งกายและจิตมีความพยายามที่จะหาสิ่งอื่นมาทดแทนดีหมี ได้แก่ น้ำดีหมีเทียม สารสังเคราะห์ น้ำดีจากสัตว์อื่น และพืชสมุนไพร ซึ่งน้ำดีจากสัตว์อื่นโดยเฉพาะหมูมีสรรพคุณคล้ายน้ำดีหมีสรุป น้ำดีหมีมีสรรพคุณในการรักษาโรคต่างๆ ตามความเชื่อของการแพทย์จีนดั้งเดิม อย่างไรก็ตาม น้ำดีหมีนั้นได้มาจากความทุกข์ทรมานของหมีที่ถูกเลี้ยงอย่างไร้มนุษยธรรม จึงสมควรที่จะไม่ส่งเสริมการใช้หรือบริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 ค้นหาคำตอบ ‘วัคซีน HVP’ ปลอดภัยหรือไม่? คุ้มค่าหรือไม่?

ร้อยละ 12 ของผู้หญิงทั่วโลกเป็นมะเร็งปากมดลูก 470,000 ราย คือ ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ที่เกิดขึ้นในแต่ละปี 233,000 ราย คือ ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ และร้อยละ 83 ของผู้ป่วยทั้งหมดอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาในประเทศไทย ความรุนแรงของสถานการณ์มะเร็งปากมดลูกไม่ได้น้อยหน้าระดับโลก มันเป็นโรคภัยที่พบในผู้หญิงไทยบ่อยเป็นอันดับ 2 แต่คร่าชีวิตหญิงไทยสูงเป็นอันดับ 1 ในปี 2551 พบว่าอัตราการเป็นมะเร็งปากมดลูกของผู้หญิงไทยเท่ากับ 16.7 ต่อประชากร 100,000 คน เท่ากับว่าแต่ละปีมีผู้ป่วยใหม่ 6,000 ราย และเสียชีวิตกว่า 2,000 รายต่อปี คุณค่าชีวิตที่สูญเสียประเมินค่าไม่ได้ ขณะที่มูลค่าของราคาที่ต้องจ่ายไปกับโรคนี้ก็มหาศาล ปัจจุบันก็ยังไม่มีวิธีการรักษาที่ได้ผล ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ถ้าโรคอยู่ในระยะลุกลามแปลว่าอะไร? แปลว่าถ้าตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ มะเร็งปากมดลูกสามารถป้องกันได้ 100 เปอร์เซ็นต์ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า ผู้หญิงไทยมีความรู้และยินยอมสละเวลาไปตรวจกันมากแค่ไหนด้วยตัวเลขที่น่าพรั่นพรึง หน่วยงานด้านสาธารณสุขของไทยจึงมองหาหนทางลดความสูญเสียจากมะเร็งปากมดลูก วัคซีน HPV เป็นหนึ่งในคำตอบที่ถูกหยิบขึ้นมาใช้พฤษภาคม 2559 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ภายใต้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่กำหนดชนิดวัคซีนและตารางการให้วัคซีนที่เหมาะสมสำหรับประชากรไทย มีมติเห็นชอบแนะนำให้นำวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกมาใช้ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโดยเร็ว เนื่องจากเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง และเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2559 คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ก็มีมติเห็นชอบและให้บรรจุวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในรายการบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยถือเป็นวัคซีนตัวที่ 11 ในรอบ 17 ปีแต่ก่อนหน้านั้น กรุงเทพมหานครได้ริเริ่มโครงการให้บริการวัคซีนป้องกันเอชพีวีในโรงเรียนสังกัด กทม. ไปก่อนแล้วตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 โดยมีเด็กนักเรียนหญิงระดับประถมศึกษาปีที่ 5 ในสังกัดกรุงเทพมหานครได้รับวัคซีน HPV ร้อยละ 98 สำหรับปีการศึกษา 2559 กรุงเทพฯ ได้ดำเนินโครงการไปเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2559 มีนักเรียนหญิงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ในสังกัดที่ได้รับบริการวัคซีนจำนวน 16,468 คนการใช้วัคซีน HVP ติดตามมาด้วยคำถามเรื่องความปลอดภัย จากกระแสข่าวการฟ้องร้องในประเทศญี่ปุ่น เพราะพบว่าเด็กที่ได้รับวัคซีนเกิดอาการอัมพาตอ่อนแรงและชัก กับอีกด้าน คือ ความคุ้มค่าของวัคซีนว่าราคาที่งบประมาณรัฐต้องจ่ายไปคุ้มกับสิ่งที่ได้คืนมาหรือไม่‘ฉลาดซื้อ’ ฉบับนี้จะไปค้นหาคำตอบสำหรับ 2 คำถามนี้องค์การอนามัยโลกรับรองวัคซีน HPV ปลอดภัยญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ถูกใช้เป็นกรณีตัวอย่างประเด็นผลกระทบจากวัคซีน HPV เพราะมันถูกรัฐบาลประกาศให้ถูกรวมอยู่ในโปรแกรมฉีดวัคซีนพื้นฐานเพียง 3 เดือนเท่านั้น คือ เมษายน-มิถุนายน 2556 จากนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นก็เพิกถอนคำแนะนำ เนื่องจากมีรายงานและการร้องเรียนว่า มีผู้ได้รับผลกระทบหลังฉีดวัคซีนเข้าไป และช่วงกลางปีที่ผ่านมาผู้หญิงชาวญี่ปุ่น 64 คน ยื่นฟ้องรัฐบาลและผู้ผลิตวัคซีน HPV หลังได้รับผลข้างเคียงเป็นเงินคนละ 15 ล้านเยน และค่าเสียหายจะเพิ่มขึ้นอีกตามอาการข้างเคียงที่อาจปรากฏในภายหลังนี่เองที่ทำให้ภาคประชาสังคมและเอ็นจีโอไทยเฝ้าดูด้วยความวิตก นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพหรือไฮแทป (Health Intervention and Technology Assessment Program: HITAP) และอีกสถานะหนึ่ง คือ กรรมการด้านวิจัยและพัฒนาวัคซีนขององค์การอนามัยโลก ในฐานะนักพัฒนานโยบายและนักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ให้ข้อมูลกับเราว่า“ณ ข้อมูลปัจจุบันที่เป็นหลักฐานที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อถือ พบว่า ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าวัคซีนไม่มีความปลอดภัย”ทวนอีกรอบ ‘ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าวัคซีน HPV ไม่มีความปลอดภัย’ เราสอบถามกลับด้วยคำถามลักษณะเดียวกันว่า แล้วมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยันได้หรือไม่ว่า ‘ปลอดภัย’ นพ.ยศ ตอบว่า“โดยหลักการยาหรือวัคซีนทุกตัวจะให้บอกว่าปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นไปไม่ได้ แน่นอน ทุกคนยอมรับว่าวัคซีนตัวนี้เมื่อฉีดไปแล้วมีอาการไม่พึงประสงค์ที่ไม่รุนแรงเกิดขึ้นค่อนข้างบ่อย แต่ถึงกับบอกว่าไม่ปลอดภัยและไม่ควรใช้ มันยังสรุปแบบนั้นไม่ได้ เพราะอาการไม่พึงประสงค์ส่วนใหญ่ที่เจอคือหน้ามืด เป็นลม วิงเวียน และพบเจอทั่วโลก และอาจมีอาการเจ็บปวดบริเวณที่ฉีด ซึ่งก็เป็นอาการทั่วไปของวัคซีน“แต่วัคซีนตัวนี้ยังไม่เจอผลข้างเคียงรุนแรง ถ้าจะสื่อสารกับประชาชนก็ต้องบอกว่า ณ ปัจจุบันนี้ 10 กว่าปีผ่านมาที่วัคซีนยังอยู่ในท้องตลาด ในทางวิทยาศาสตร์เรายังไม่สามารถสรุปได้ว่าวัคซีนไม่ปลอดภัย ถึงแม้ว่าจะเจอผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรงเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก”สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่น นพ.ยศ อธิบายว่า ต้องเข้าใจก่อนว่าญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมความเชื่อในการต่อต้านวัคซีนที่ฝังอยู่ในสังคมญี่ปุ่นมาค่อนข้างนานแล้ว คนญี่ปุ่นจึงมักมีความรู้สึกกับวัคซีนในแง่ลบ เคยมีปัญหาวัคซีนหลายตัวในญี่ปุ่นที่คนขาดความเชื่อถือ เมื่อเกิดเรื่องกับวัคซันตัวใหม่อย่าง HPV ทำให้กระแสจุดติดได้ง่าย เพราะมีกลุ่มเอ็นจีโอและภาคประชาสังคมกลุ่มหนึ่งเฉพาะที่คอยต่อต้านวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนตัวไหนกลุ่มนี้ก็จะระแวงไว้ก่อน และทำให้การฟ้องร้องกรณีผลกระทบจากวัคซีนในญี่ปุ่นทำได้ง่าย เนื่องจากมีกลุ่มและระบบสนับสนุนจำนวนมาก“ที่ผมได้อ่านจากเอกสารวิชาการที่ตีพิมพ์ มีการสอบสวนโดยการไปดูเวชระเบียนของคนญี่ปุ่นที่มีปัญหาข้างเคียง ก็เจอว่ายังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นผลจากวัคซีน”นอกจากนี้ นพ.ยศ ยังได้ระบุว่า ปัจจุบันนี้ จุดยืนขององค์การอนามัยโลกถือว่าวัคซีนตัวนี้มีความปลอดภัยอย่างไรก็ตาม การที่จะรู้ว่ายาหรือวัคซีนตัวหนึ่งมีผลกระทบรุนแรงหรือไม่ ต้องอาศัยเวลายี่สิบถึงสามสี่ปีเป็นเครื่องพิสูจน์ นพ.ยศ แนะนำว่า หากประเทศไทยจะนำวัคซีน HPV มาใช้ ในแง่ความปลอดภัยไม่มีอะไรต้องวิตกกังวล แต่ก็ไม่ควรฝากชีวิตประชาชนไทยกับข้อมูลของต่างประเทศ รัฐบาลจึงควรสร้างระบบติดตามความปลอดภัยและประสิทธิผลของวัคซีนเชิงรุกที่เป็นข้อมูลของคนไทยวัคซีน HPV คุ้มค่า แต่ไม่คุ้มทุนเรื่องความปลอดภัยดูเหมือนจะเคลียร์แล้ว(ในระดับหนึ่ง) ส่วนคุ้มค่าหรือไม่ ต้องค้นหาคำตอบกันต่อโดยปกติแล้ว การจะบอกว่าการใช้เงินกับสิ่งใด คุ้มค่าหรือไม่ต้องมีสิ่งเปรียบเทียบ อดีตที่ผ่านมามีการศึกษาความคุ้มค่าของวัคซีน HPV อยู่หลายครั้ง ซึ่งบางครั้งก็เป็นการศึกษาโดยบริษัทยา เปรียบเทียบระหว่างฉีดกับไม่ฉีดวัคซีนและไม่ทำอะไรใดๆ ทั้งสิ้น ก็แน่นอนว่าด้วยลักษณะการเปรียบเทียบเช่นนี้ การฉีดวัคซีน HPV ย่อมคุ้มค่ากว่าแต่ของไฮแทป ศึกษาโดยเปรียบเทียบกับการตรวจคัดกรองเพื่อป้องกัน 3 วิธีที่เป็นที่นิยมและยอมรับในปัจจุบัน คือหนึ่ง-การทำ Pap Smear ซึ่งเป็นวิธีที่แพร่หลายในไทย โดยทำการตรวจภายในและป้ายเซลล์จากมดลูกป้ายสไลด์และส่งตรวจ วิธีนี้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว สอง-Wisual Inspection with Acetic acid หรือ VIA เป็นการใช้น้ำส้มสายชูป้ายปากมดลูกเพื่อดูว่ามีจุดสีขาวปรากฏขึ้นมาหรือไม่ ถ้ามี ก็ใช้ความเย็นจี้ทำลายเซลล์ที่เริ่มผิดปกติตั้งแต่เริ่มต้น และสุดท้าย-เป็นวิธีการตรวจที่เรียกว่า HPV DNA Test คือการนำเซลล์ปากมดลูกไปตรวจอย่างละเอียดในระดับพันธุกรรม ซึ่ง นพ.ยศ กล่าวว่า ทั้ง 3 วิธีนี้คุ้มทุนมากกว่าการฉีดวัคซีน แต่วัคซีนมีความคุ้มค่ากว่า สรุปคือวัคซีน HPV คุ้มค่า แต่ไม่คุ้มทุนอ่านถึงตรงนี้ คงเริ่มสับสนชีวิต นพ.ยศ อธิบายว่า “คุ้มค่าแปลว่า คุณยอมจ่ายของแพงกว่าเพื่อให้ได้ประโยชน์มากกว่า วัคซีน HPV มีประโยชน์มากกว่าการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุกชนิด แต่แพงกว่า คำถามคือเมื่อมันดีกว่า แพงกว่า แล้วเมื่อไหร่จะคุ้ม ประเทศไทยได้ทำการศึกษาจนได้เกณฑ์ว่า ยาและวัคซีนจะคุ้มค่าก็ต่อเมื่อใช้เงินไม่เกิน 160,000 บาทต่อ 1 ปีสุขภาวะ เพราะใช้เงินจำนวนนี้จะทำให้คนไทยอายุยืนยาวขึ้นอย่างสมบูรณ์ 1 ปีถือว่าคุ้ม เช่น ออกยาใหม่ อยากรู้ว่ายาใหม่คุ้มหรือไม่ ก็นำมาเทียบกับยาเดิม ถ้ายาใหม่ทำให้อายุคนไข้ยืนขึ้น 1 ปีและเป็น 1 ปีที่มีความสมบูรณ์แข็งแรง เช่น เป็นโรคมะเร็ง คุณภาพชีวิตไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ สมมติว่าแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ของคนทั่วไป อายุยืนขึ้น 1 ปีเท่ากับ 0.5 ปีสุขภาวะ ถ้าอายุยืนขึ้นแบบนี้ 2 ปีจึงจะเท่ากับ 1 ปีสุขภาวะ ถ้าใช้เงินไม่เกิน 160,000 บาททำให้อายุยืนขึ้น 2 ปีแบบที่มีคุณภาพชีวิตแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ ก็เท่ากับคุ้มค่าในประเทศไทย ข้อมูลนี้มีประโยชน์ใช้เปรียบเทียบยากับทุกตัวได้ถ้าเทียบวัคซีนตัวนี้เทียบว่าแพงกว่าและดีกว่า อยู่ภายใต้ 160,000 บาทต่อปีสุขภาวะหรือไม่ ใช่ คือคุ้มค่าแล้ว แต่ไม่คุ้มทุนเป็นอย่างไร เนื่องจากวัคซีนอ้างว่าเมื่อฉีดวันนี้สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกในอนาคต แปลว่าในอนาคตเราต้องประหยัดเงินได้จากการรักษาโรคมะเร็ง แสดงว่าเรานำเงินที่ต้องจ่ายในอนาคตเพื่อรักษาโรคมะเร็งมาซื้อวัคซีนวันนี้ โดยที่เราไม่ต้องลงทุนเพิ่มขึ้น อย่างนี้ถือว่าคุ้มทุน แต่ ณ ราคาวันนี้ที่บริษัทเสนอให้ยังถือว่าไม่คุ้มทุน”ราคาวัคซีนที่บริษัทยาเสนอให้กับรัฐบาลตอนนี้คือ 375 บาทต่อเข็ม โดยจะต้องฉีด 3 เข็ม ซึ่งยังเป็นราคาที่ไม่คุ้มทุน แต่ราคาที่คุ้มทุนคือ 300 บาท เรื่องเกิดขึ้นขณะที่ทั้งฝ่ายเราและบริษัทยากำลังต่อรองราคากันอยู่นั้น รองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งกลับพูดในที่สาธารณะว่า ประเทศไทยต้องใช้วัคซีน HPV แน่นอน และนั่นทำให้การต่อรองราคาจบลงด้วยราคา 375 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ไม่คุ้มทุน“อาจจะเกิดการสับสนเวลาที่แพทย์หรือบริษัทยาบอกว่า โรคมะเร็งรักษาทีเป็นแสน แล้วทำไมการฉีดยาเข็มละ 375 บาทจึงไม่คุ้มทุน คำตอบคือสมมติว่าคนไทยทั้งประเทศป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกเฉลี่ย 12 คนต่อ 100,000 คน ฉีดวัคซีนไปแสนคน เท่ากับคุณป้องกันไม่ให้ป่วยแค่ 12 คนเท่านั้น เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะเป็นมะเร็ง เราทำวิจัยและทั่วโลกก็ยืนยันเหมือนกัน ถ้าเราฉีดให้ทุกคน แล้วนำเวลาของอายุที่ยืนยาวขึ้นของคนไทยโดยเฉลี่ยหลังได้รับการฉีดวัคซีน อายุจะยืนยาวขึ้นเฉลี่ยแค่ 5-7 วันเท่านั้น ที่น้อยเพราะบางคนไม่ได้อายุยืนยาวขึ้น เนื่องจากไม่ว่าจะฉีดหรือไม่ฉีดทั้งชีวิตเขาก็ไม่ได้เป็นมะเร็งปากมดลูกอยู่แล้ว”เราแลกเปลี่ยนถกเถียงกับ นพ.ยศ ว่า แต่ถ้านับค่าเสียเวลา ค่าเสียโอกาส ค่าเดินทาง ที่ผู้หญิงจะต้องเดินทางไปตรวจคัดกรองด้วย 3 วิธีข้างต้นทุกๆ 5 ปี การฉีดวัคซีน HPV ก็ยังไม่ถือว่าคุ้มค่าและคุ้มทุนกว่าอย่างนั้นหรือ?“การฉีดสะดวกกว่า ไม่ต้องเสียเวลา เสียโอกาส แต่ผมอธิบายแบบนี้ สิ่งที่เรากลัวกันอยู่คือวัคซีนป้องกันได้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงทั้งหมดที่จะเกิดขึ้น ทั่วโลกจึงแนะนำว่าเมื่อฉีดวัคซีนแล้วก็ต้องทำ 3 วิธีนี้เหมือนเดิมมะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งชนิดที่ค่อยๆ เป็น ใช้เวลาประมาณ 10 ปีในการลุกลามจนกระทั่งรักษาไม่ได้ ดังนั้น จึงมีการแนะนำให้ตรวจมะเร็งปากมดลูกทุก 5 ปี ถ้าผู้หญิงไทยทุกคนทำ วัคซีนไม่จำเป็น แถมการตรวจยังดีกว่าด้วย เพราะป้องกันร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ประเด็นคือทุกวันนี้ผู้หญิงไทยไปตรวจกัน 60-70 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น พอเอาวัคซีนมาฉีดก็ป้องกันได้เหมือนเดิมคือ 60-70 เปอร์เซ็นต์ เพราะวัคซีนไม่ได้ป้องกันได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นคุณจะปล่อยคนอีก 30 เปอร์เซ็นต์ให้เป็นมะเร็งโดยที่ไม่รักษา”คำอธิบายของ นพ.ยศ น่าจะทำให้เข้าใจได้แล้วว่า วัคซีน HPV คุ้มค่าแต่ไม่คุ้มทุนอย่างไร.........ปัจจุบัน วัคซีน HPV เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว แต่ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่าจะได้รับการบรรจุเข้าไปอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์หรือไม่ทิ้งท้ายตรงนี้ว่า ตอนวัคซีน HPV เข้าสู่ตลาดใหม่ๆ ต้นทุนเพียงเข็มละ 90 บาทเท่านั้น แต่ราคาที่ขายคือ 5,000 บาทต่อเข็ม“เราต่อ 300 ยังไม่อยากลดราคา เพราะกลัวเสียราคา” นพ.ยศ กล่าว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 รู้เท่าทันการกินฉี่

การดื่มน้ำปัสสาวะเพื่อเป็นการบำบัดโรคนั้น เคยเกิดกระแสนิยมในสังคมไทยเมื่อสิบกว่าปีก่อน โดยเฉพาะในสายการแพทย์ทางเลือกและในสายของผู้ปฏิบัติธรรม ต่อมาลดความนิยมลง แต่ยังมีการปฏิบัติกันในหมู่นักปฏิบัติธรรมและผู้รักสุขภาพบางกลุ่ม ในบางช่วงก็เกิดกระแสนิยมเป็นครั้งคราว เหตุที่การดื่มน้ำปัสสาวะไม่ก่อกระแสรุนแรงเหมือนผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ นั้น อาจเป็นเพราะ ทุกคนเป็นเจ้าของน้ำปัสสาวะ ไม่ต้องซื้อขาย จึงไม่มีกระแสธุรกิจที่จะมาขายน้ำปัสสาวะอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เรามารู้เท่าทันน้ำปัสสาวะกันดีกว่าความเป็นมาการดื่มหรือการใช้น้ำปัสสาวะของคนหรือของสัตว์เพื่อการบำบัดโรคนั้นมีการใช้กันทั่วโลกมานานกว่าพันปี ในพระธรรมวินัย กำหนดแนวทางยังชีพหรือนิสัย 4 ให้ภิกษุฉันน้ำมูตเน่า(น้ำปัสสาวะ) มีหลักฐานการจารึกในอิยิปต์โบราณ กรีก โรม คัมภีร์โยคะของอินเดีย ตำราการแพทย์จีน ดังนั้นการดื่ม การใช้น้ำปัสสาวะจึงเป็นภูมิปัญญาของมนุษยชาติที่เก่าแก่หลายพันปีบทความในวารสาร Nephrology เดือน พ.ค. - มิ.ย. 2011 เขียนว่า ผู้คนที่ใช้น้ำปัสสาวะเชื่อว่า น้ำปัสสาวะไม่เป็นของเสียของร่างกาย แต่เป็นสิ่งที่กลั่นจากเลือดและมีสารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย ถูกเรียกเป็น “ทองคำจากเลือด” และ “ยาอายุวัฒนะ” การดื่มน้ำปัสสาวะมีที่มาจากวัฒนธรรมอินเดีย และมีการใช้มานานหลายศตวรรษและหลายวัฒนธรรมบทบรรณาธิการในวารสาร Pan Afr. Med J. เผยแพร่ ออนไลน์ 25 พค. 2010 เขียนว่า จากการค้นหาเกี่ยวกับ “การดื่มน้ำปัสสาวะ” ในกูเกิ้ลเกือบ 100,000 รายการและในวิดีทัศน์ 150 รายการ ยืนยันว่า “การดื่มน้ำปัสสาวะ ยังคงเป็นที่นิยมและกลับมานิยมในทุกวันนี้”ในน้ำปัสสาวะมีของล้ำค่าอะไรบ้างน้ำปัสสาวะส่วนใหญ่เป็นน้ำ มียูเรีย (25g/d), กรดยูริก (1g/d), ครีเอตินีน (1.5g), แร่ธาตุต่างๆ (10g/d ส่วนใหญ่เป็น เกลือโซเดียม), ฟอสเฟตและกรดอินทรีย์ (3g/d) , มีโปรตีนเล็กน้อย (40-80 mg/d, ส่วนใหญ่เป็นอัลบูมิน, ฮอร์โมนเล็กน้อย, กลูโคส และวิตามินที่ละลายน้ำน้ำปัสสาวะจะบริสุทธิ์ ปราศจากเชื้อโรคเมื่อเกิดขึ้นในไต แต่เมื่อปล่อยออกจากร่างกายแล้วมักจะมีการปนเปื้อนเชื้อโรคมีการใช้น้ำปัสสาวะรักษาโรคอะไรในบทความ Nephrology ปี 1999 เขียนว่า มีการดื่มน้ำปัสสาวะในตอนเช้าเพื่อเป็นการรักษาโรคจำนวนมาก เช่น การติดเชื้อจากไวรัสหรือแบคทีเรีย อาการที่เกิดขึ้นระหว่างวันแรกๆ ที่ดื่มน้ำปัสสาวะ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ใจสั่น ท้องเสีย หรือไข้ สารสำคัญจำนวนมากในปัสสาวะได้แก่ ยูเรีย กรดยูริก ไซโตไคน์ (เป็นโปรตีนหรือไกลโคโปรตีนที่มีขนาดเล็ก สร้างจากเซลล์เม็ดเลือดขาวและเซลล์ต่างๆ ในร่างกายเพื่อตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น) ฮอร์โมน มีการใช้น้ำปัสสาวะกับภายนอก ได้แก่ การชโลม การทา การประคบก้อนเนื้องอก การอาบน้ำปัสสาวะ หรือแช่เท้าในน้ำปัสสาวะ การหยอดตา หยอดหู และทำความสะอาดแผล จาการค้นหาการทบทวนการใช้น้ำปัสสาวะในการบำบัดจากวารสารวิชาการต่างๆ ไม่พบว่ามีการทบทวนประสิทธิผลของการใช้น้ำปัสสาวะต่อร่างกายสรุป การดื่มและใช้น้ำปัสสาวะเป็นภูมิปัญญาเก่าแก่มานานหลายพันปี ใช้กันทั่วโลก ผู้คนเชื่อว่าทำให้สุขภาพแข็งแรง อายุยืน รักษาโรคได้ มีความเห็นตรงกันว่า ให้ดื่มน้ำปัสสาวะของตนเอง ควรเป็นน้ำปัสสาวะในตอนเช้าหลังตื่นนอน ไม่ควรดื่มทั้งวันหรือดื่มแทนน้ำอย่างไรก็ตาม ยังไม่พบการทบทวนทางวิชาการที่น่าเชื่อถือ ทั้งในแง่ประโยชน์ในการบำบัดโรค หรือโทษระยะยาวจากการดื่มน้ำปัสสาวะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 สบู่มีกลิ่นหืน

กลิ่น คือ จุดขายสำคัญประการหนึ่งของผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกายอย่างสบู่หรือครีมอาบน้ำ ซึ่งควรมีกลิ่นที่หอมสดชื่นไม่ใช่กลิ่นเหม็นหืน เหมือนสบู่ก้อนเจ้าปัญหาที่ผู้ร้องรายนี้ซื้อมา เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคุณปราณี เธอซื้อสบู่ยี่ห้อเดทตอล โดยเลือกสูตรหรือกลิ่นที่ใช้เป็นประจำ จากร้านค้าปลีกแห่งหนึ่ง จำนวน 2 แพ็ค (แพ็คละ 4 ก้อน) ราคา 78 บาท อย่างไรก็ตามเมื่อนำมาใช้กลับพบว่า สบู่ก้อนดังกล่าวมีกลิ่นเหม็นหืนและไม่มีฟองต่างจากที่เคยใช้ เธอจึงเลิกใช้สบู่ก้อนนั้นและนำก้อนใหม่มาใช้แทน แต่ยังคงพบว่ามีลักษณะเช่นเดียวกัน ทำให้เธอสันนิษฐานว่าน่าจะมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับกระบวนการผลิต หรือบรรจุภัณฑ์ชำรุดบกพร่อง นอกจากนี้ยังกังวลว่าอาจทำให้เกิดอันตรายต่อผิวหนังได้ เธอจึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำ โดยต้องการให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นแนวทางการแก้ไขปัญหาจากกรณีนี้ศูนย์ฯ พบว่าผู้ร้องซื้อผลิตภัณฑ์จากร้านค้าปลีก ซึ่งไม่สามารถนำใบเสร็จมาเป็นหลักฐานได้ จึงแนะนำให้ไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน พร้อมถ่ายรูปผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเก็บไว้ และทำหนังสือถึงผู้ประกอบการให้เข้ามาเจรจาและตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มูลนิธิ ซึ่งทางบริษัทยินดีรับข้อเสนอดังกล่าว โดยมีการนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปตรวจสอบ และจะแจ้งผลกลับมาในสัปดาห์ถัดไป ทั้งนี้ภายหลังการตรวจสอบพบว่า สบู่ดังกล่าวมีกลิ่นผิดปกติจริง โดยเกิดจากปฏิกิริยาเคมีของน้ำหอมที่สัมผัสกับออกซิเจนหรือความร้อนในอากาศ แต่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เนื่องจากผลิตภัณฑ์ได้ผ่านเกณฑ์ทดสอบมาตรฐานแล้ว อย่างไรก็ตามทางบริษัทยินดีชดเชยผู้บริโภคด้วยการให้ผลิตภัณฑ์กล่องใหม่ ซึ่งผู้ร้องพอใจกับการดำเนินการดังกล่าว เพราะเห็นว่าบริษัทมีความใส่ใจลูกค้า จึงยินดียุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 187 อะฟลาท็อกซินในถั่วเหลือง

“ถั่วเหลือง” เป็นอีกหนึ่งธัญพืชที่นิยมบริโภคกันทั่วไป หารับประทานง่าย รสชาติอร่อย ซึ่งส่วนใหญ่เรานิยมนำถั่วเหลืองไปแปรรูป เป็นน้ำนมถั่วเหลือง หรือ น้ำเต้าหู้ รวมทั้งนำมาทำเป็นเต้าหูประเภทต่างๆ นำมากวนทำขนม หรือจะนำเมล็ดถั่วเหลืองมาคั่วคลุกเกลือ กินเป็นขนมทานเล่นก็อร่อยไม่แพ้กันเชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะบริโภคอาหารที่แปรรูปจากถั่วเหลืองแทบจะทุกวัน การคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัย การตรวจสอบป้องกันการปนเปื้อนของสารที่เป็นอันตรายของสุขภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งก็เช่นเดียวกับถั่วชนิดอื่นๆ ที่มักจะมีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของ “อะฟลาท็อกซิน” สารพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ถ้าได้รับเข้าไปมากๆ จะมีผลต่อระบบทางเดินอาหาร คนที่แพ้ก็อาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นอาเจียน หมดสติ แถมถ้าสะสมในร่างกายนานๆ เข้าก็อาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ฉลาดซื้อ ฉบับที่แล้ว (ฉบับที่ 186) เราได้นำเสนอผลทดสอบอะฟลาท็อกซินในถั่วลิสง ซึ่งผลที่ออกมาถือเป็นข่าวดีของผู้บริโภค เมื่อพบว่ามีถั่วลิสงถึง 10 จากทั้งหมด 11 ตัวอย่างที่เรานำมาตรวจวิเคราะห์ ไม่พบการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซิน ส่วนอีก 1 ตัวอย่างที่พบการปนเปื้อนก็พบในปริมาณที่น้อยมาก ซึ่งไม่เกินจากปริมาณที่กฎหมายกำหนด เรียกว่าผู้บริโภคสามารถกินถั่วลิสงได้อย่างสบายใจ ปลอดภัยหายห่วง ส่วนฉบับนี้ก็เป็นทีของถั่วเหลืองบ้าง ไปดูกันสิว่า ถั่วเหลืองหลากหลายยี่ห้อที่วางขายอยู่ในท้องตลาดทั่วไป จะเจอการปนเปื้อนของ อะฟลาท็อกซิน บ้างหรือเปล่าผลการทดสอบผู้บริโภคได้ดีใจกันอีกครั้ง เมื่อผลทดสอบการปนเปื้อนของ อะฟลาท็อกซิน ในถั่วเหลือง ได้ผลที่ปลอดภัยในการบริโภค ไม่พบการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินเลยในถั่วเหลืองทั้ง 8 ตัวอย่างที่นำมาทดสอบข้อกำหนดปริมาณอะฟลาท็อกซินในอาหารประกาศกระทรวงสาธาณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ. 2529) เรื่องมาตรฐานอาหารที่ทีสารปนเปื้อน กำหนดให้พบการปนเปื้อนของ อะฟลาท็อกซิน ในอาหารได้ไม่เกิน 20 ไมโครกรับ ต่อ อาหาร 1 กิโลกรัมสถานการณ์การบริโภคถั่วเหลืองในประเทศไทยข้อมูลจากรายงานสถานการณ์สินค้าเกษตรที่สำคัญและแนวโน้ม ปี 2558 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่า เมื่อปี 2557 ประเทศไทยเรามีความต้องการใช้เมล็ดถั่วเหลืองอยู่ที่ 2.07 ล้านตัน มากกว่าปี 2556 ที่มีความต้องใช้อยู่ที่ 1.74 ล้านตัน เพิ่มมากขึ้นถึง 18.65% โดยมีการนำเมล็ดถั่วเหลืองไปใช้ประโยชน์ในหลายวัตถุประสงค์ ที่มากที่สุดก็คือ การนำไปสกัดน้ำมัน คิดเป็น 81.87% ของจำนวนถั่วเหลืองที่ใช้ทั้งหมดในประเทศ รองลงมาคือการนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร 17.65% และนำไปทำพันธุ์ 0.19%แม้ว่าประเทศไทยเราจะมีความต้องการถั่วเหลืองค่อนข้างสูง แต่ว่าการผลิตในประเทศยังค่อนข้างน้อย เนื่องจากขาดแคลนเมล็ดพันธ์ที่ดี และถั่วเหลืองถือเป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนต่ำ ส่งผลให้ไทยเราต้องมีการนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองในปริมาณที่ค่อนข้างสูง โดยในปี 2558 มีการนำเข้าอยู่ที่ประมาณ 2.10 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่นำเข้าในปริมาณใกล้เคียงกันคือ 2.02 ล้านตัน ขณะที่ปริมาณเมล็ดถั่วเหลืองที่เราสามารถผลิตได้เองในประเทศอยู่ที่แค่ 5 หมื่นกว่าตันเท่านั้น หนำซ้ำยังมีการคาดการณ์กันว่าเนื้อที่เพราะปลูกถั่วเหลืองในประเทศน่าจะลดลงเรื่อง โดยปัจจุบันเรามีเนื้อที่เพราะปลูกถั่วเหลืองอยู่ที่ประมาณ 0.18 ล้านไร่ถั่วเหลือง อาหารมากคุณประโยชน์ถั่วเหลือง ถือเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ในถั่วเหลืองประกอบด้วยโปรตีน 35% ไขมัน 20% ซึ่งเป็นกรดไขมันชนิดไม่อิ่นตัวเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังมีใยอาหาร มีแร่ธาตุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น แคลเซียม เหล็ก วิตามินบี 1 และ วิตามินบี 2ประโยชน์จากการบริโภคถั่วเหลืองนั่นมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน เพราะในถั่วเหลืองมีแคลเซียมสูง นอกจากนี้โปรตีนในถั่วเหลืองยังช่วยยับยั้งให้ร่างกายของเราสูญเสียแคลเซียมลดลง ถั่วเหลืองยังช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็ง สารประกอบในถั่วเหลืองเป็นสารที่ช่วยในการยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์ที่จะเปลี่ยนเซลล์ปกติไปเป็นเซลล์มะเร็ง โปรตีนในถั่วเหลืองยังไปช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือด ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด ในถั่วเหลืองยังมีสารที่ชื่อว่า “ไฟโตเอสโตรเจน” (phytoestrogen) ซึ่งเป็นสารที่มีคุณสมบัติคล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจนในผู้หญิง ถือเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อผู้หญิงช่วยให้ฮอร์โมนทำงานได้ปกติและดีขึ้น ลดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม ดีต่อสุขภาพของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน การบริโภคอาหารที่ทำจากถั่วเหลืองเป็นประจำจึงเป็นประโยชน์อย่างมากต่อร่างกายของเรา

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 187 กระแสต่างแดน

เราจะไม่ทนชาวเมืองอัมฮุลท์ ประเทศสวีเดนตัดสินใจฟ้องร้องต่อศาลที่ดินและสิ่งแวดล้อมให้ดำเนินการกับห้างอิเกีย ต้นเหตุของกลิ่นเหม็นที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้พวกเขามาตลอด ตั้งแต่เปิดดำเนินกิจการเมื่อ 4 ปีก่อนเทศบาลได้รับจดหมาย/อีเมล์ร้องเรียนจากชาวบ้านมาโดยตลอดเรื่องกลิ่น “เหม็นเหมือนส้วม” ที่ดูเหมือนจะมีที่มาจากห้างดังกล่าว เทศบาลไม่ได้นิ่งเฉยแต่อย่างใด เขาเก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจหลายครั้ง ทำความสะอาดท่อระบายน้ำ รวมถึงสั่งปิดบ่อน้ำเสีย แต่กลิ่นที่ว่าก็ยังไม่จางลงเมื่อต้นปีเทศบาลมีคำสั่งให้อิเกียตรวจสอบระบบกำจัดเศษอาหารและถังดักไขมัน ซึ่งก็พบว่าขาดการบำรุงรักษามาได้พักใหญ่ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นก็รายงานว่า อิเกียได้ปล่อยน้ำเสียและไขมันลงในระบบน้ำทิ้งเกินโควต้าแล้วเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาห้างอิเกียได้นำระบบกำจัดกลิ่นมาใช้ แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ ... เรามากลั้นใจรอดูกันต่อไปว่าศาลจะตัดสินเรื่องนี้อย่างไร เร็วแต่ไม่ระวังในปี 2014 ฝรั่งเศสมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์มากเป็นประวัติการณ์  รัฐบาลจึงเริ่มนำมาตรการความปลอดภัยใหม่ๆ มาใช้ เช่น ลดขีดจำกัดความเร็วบนทางหลวงชนบทจาก 90 กม. /ชม.เหลือ 80 กม./ชม. กำหนดให้ระดับแอลกอฮอล์ในลมหายใจของผู้ขับขี่ต้องเป็นศูนย์ และติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มขึ้นอีก 500 ตัว แถมด้วยกล้องหลอกอีก 10,000 ตัวแต่บริษัท Sanef เจ้าของกิจการมอเตอร์เวย์ในฝรั่งเศสได้เฝ้าสังเกตรถยนต์จำนวน 140,000 คันบนทางพิเศษหมายเลข A13 ระหว่างกรุงปารีสและเมืองก็อง แล้วพบว่า...ปีนี้ความเร็วเฉลี่ยในการขับรถของคนฝรั่งเศสอยู่ที่ 129 กม./ชม.(เพิ่มขึ้น 2 กม.จาก 4 ปีก่อน) และมีถึงร้อยละ 43 ที่ขับรถด้วยความเร็วเกิน 130 กม./ชม. นอกจากนี้จำนวนคนที่ใช้โทรศัพท์ในขณะขับรถก็เพิ่มขึ้นด้วยพูดง่ายๆ คือผู้คนขับรถเร็วขึ้นในขณะที่มีสมาธิในการขับขี่น้อยลง ที่สำคัญคืออัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนก็เพิ่มสูงขึ้น โดย 7 ใน 10 ของอุบัติเหตุเหล่านั้นมีสาเหตุจากการขับรถเร็วมันยังไม่ตรงใจทุกๆ ปี สหภาพยุโรปจะทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคเรื่องความพึงพอใจในสินค้า อาหารและบริการ ปีนี้เขาพบว่าจาก 30 ประเทศที่สำรวจ นอร์เวย์เป็นหนึ่งในประเทศที่ผู้คนไม่พอใจกับตัวเลือกด้านอาหาร(เนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้) มากที่สุด อีกสองประเทศได้แก่ โครเอเชียและบัลเกเรียNortura หรือสหกรณ์การเกษตรของนอร์เวย์ถึงกับแสดงความประหลาดใจออกสื่อ เป็นไปได้อย่างไรกัน   คุณภาพอาหารของเราดีเลิศขนาดนี้ ผู้บริโภคนอร์เวย์ควรจะเป็นกลุ่มที่มีความพึงพอใจสูงที่สุดในยุโรปด้วยซ้ำไปทางด้าน Forbrukerradet องค์กรเฝ้าระวังเรื่องผู้บริโภคของนอร์เวย์ บอกว่าผลสำรวจนี้น่าจะทำให้หลายฝ่ายได้สำนึกกันเสียที และไม่ใช่แค่อาหารเท่านั้น ความพึงพอใจในบริการด้านร้านอาหาร ร้านกาแฟ และบาร์ของคนนอร์เวย์ก็ลดลงด้วยส่วนเรื่องที่คนประเทศนี้มีความพึงพอใจมากกว่าประเทศอื่นๆ ในยุโรปคือ น้ำประปา บริการธนาคาร และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยคุณหลอก (ด้วย) ดาว นิวซีแลนด์มีระบบ Health Star Rating เพื่อติดดาวให้กับอาหารสำเร็จรูปสำหรับเด็กเพื่อแสดงระดับความ “เป็นมิตรต่อสุขภาพ”แต่เมื่อทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอ้คแลนด์ลองนำผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 13,066 ชนิด ที่ได้ตั้งแต่ “3.5 ดาว” ขึ้นไป(หมายถึงดีต่อสุขภาพในระดับหนึ่งและสามารถโฆษณาได้) มาเทียบด้วยเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก เขาได้ข้อสรุปว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลนิวซีแลนด์จะทบทวนนโยบายเรื่องนี้ ถ้าดูในภาพรวม ร้อยละ 36 เข้าข่ายอาหารที่ดีต่อสุขภาพตามระบบดาว แต่มีเพียงร้อยละ 29 ที่ผ่านเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO)ถ้าแยกประเภทจะพบว่า ร้อยละ 77 ของอาหารเช้าซีเรียล “ดีต่อสุขภาพ” ตามระบบดาว ในขณะที่มีร้อยละ 34 เท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์ของ WHOร้อยละ 12 ของขนมปังกรอบเข้าข่ายอาหารที่ดีตามระบบดาว แต่เพียงร้อยละ 0.3 ผ่านเกณฑ์ของ WHOที่น่าตกใจที่สุดคือประเภทผลไม้อบแห้ง ที่ร้อยละ 44 เข้าข่ายอาหารที่ดีต่อสุขภาพตามระบบดาว แต่มีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์ WHOตัดไฟแต่ต้นลม ปีที่ผ่านมาอินโดนีเซียเผชิญกับไฟป่าที่ร้ายแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา ประเทศข้างเคียงอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทยต่างก็ได้รับผลกระทบจากหมอกควันที่เกิดขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีก รัฐบาลอินโดนีเซียจึงหยุดให้สัมปทานการปลูกปาล์ม รวมถึงไล่ล่าฟ้องร้องบริษัทต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดไฟป่าครั้งก่อน เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาบริษัทหนึ่งถูกศาลตัดสินให้จ่ายค่าปรับเป็นเงินถึง 2,800 ล้านบาทนอกจากนี้ยังจริงจังกับการพัฒนาพื้นที่ป่าพรุ เพื่อลดพื้นที่เสี่ยงต่อการติดไฟหรือฮอทสปอตด้วย  เท่านั้นยังไม่เพียงพอ สื่ออินโดนีเซียเรียกร้องให้ภาคธุรกิจเกษตรในประเทศออกมาแสดงความรับผิดชอบให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ เสียงจากผู้บริโภคที่จะบอกกับผู้ประกอบการว่า เราไม่ต้องการไฟป่าหรือหมอกควัน ด้วยการเลือกสนับสนุนเฉพาะผู้ประกอบการที่ผลิตน้ำมันปาล์มหรือกระดาษด้วยกรรมวิธีที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 187 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2559 แอบอ้างโลโก้ สธ. หลอกขายเครื่องสำอางสื่อโซเชียลมีเดียกลายเป็นช่องทางหลักของบรรดาพ่อค้า-แม่ค้าในการลงโฆษณาขายสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหารเสริม เครื่องสำอาง ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ผ่านการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้บ่อยครั้งที่เราได้เห็นข่าวที่ผู้บริโภคหลงซื้อไปกินไปใช้เพราะเชื่อในสรรพคุณที่โฆษณา แต่สุดท้ายกับต้องเจอกับผลลัพธ์ที่น่าเศร้า เสียงทั้งเงิน เสียทั้งสุขภาพล่าสุดเจอกรณีที่น่าตกใจ เมื่อมีผู้ผลิตเครื่องสำอางเจ้าหนึ่ง เหิมเกริมถึงขั้นสร้างเพจเฟซบุ๊คแอบอ้างว่าเป็นเพจของ กระทรวงสาธารณสุข ใช้ภาพโลโก้ของกระทรวง พร้อมมีการใช้ข้อความที่ชวนให้เข้าใจผิดว่า กระทรวงสาธารณสุขเตรียมผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมความงาม พร้อมแนบลิงค์เชิญชวนให้คลิ๊กต่อเพื่อไปยังหน้าเว็บไซต์ขายผลิตภัณฑ์นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และโฆษก สธ. ออกมายืนยันแล้วว่าหน้าเพจเฟซบุ๊คดังกล่าวไม่ใช่ของกระทรวง เป็นการแอบอ้างของผู้ไม่หวังดีที่จงใจให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิด พร้อมยืนยันว่ากระทรวงสาธารณสุข ไม่มีนโยบายขายสินค้าทางสื่อออนไลน์ ซึ่งทางกระทรวงเตรียมเดินหน้าเอาผิดผู้ที่กระทำการดังกล่าวตามกฎหมาย และมอบให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวว่าผ่านการรับรองหรือไม่ ทั้งนี้ได้ฝากเตือนมายังผู้บริโภคอย่าลืมตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ที่เผยแพร่ในโซเชียลมีเดียและสื่อต่างๆ ให้ชัดเจนถูกต้อง มีแหล่งที่มาที่เชื่อถือได้ ยิ่งถ้าเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่าปลอดภัย ได้รับการรับรองถูกต้องจาก อย. ชื่อ-ที่อยู่ผู้ผลิต-ผู้ขายถูกต้องตรวจสอบได้สมอ.ฟัน!!!เครื่องสำอางของเล่นเด็ก “BARBIE” ไม่ได้รับอนุญาตให้ขายหลังจากที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคที่ได้ซื้อของเล่นเด็กที่มีลักษณะคล้ายเครื่องสำอางจากห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต โดยพบว่าของเล่นชิ้นดังกล่าวหมดอายุมากว่า 2 ปี ซึ่งทางมูลนิธิฯ ได้ทำหนังสือแจ้งไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง บริษัทนำเข้าสินค้า ห้างสรรพสินค้าที่จำหน่ายสินค้า และหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาล่าสุด ทาง สมอ. ได้มีหนังสือตอบกลับมาว่า จากการตรวจสอบบริษัท โซลิด เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด บริษัทฯ ที่นำเข้าสินค้าดังกล่าว พบว่าบริษัทฯ ยังไม่ได้รับอนุญาตจาก สมอ.ให้นำเข้าผลิตภัณฑ์นั้น จึงได้อายัดผลิตภัณฑ์ไว้ และอยู่ระหว่างการดำเนินงานตามกฎหมาย ทางด้าน อย. ได้แจ้งกลับมาว่าได้ตรวจสอบสถานที่นำเข้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของเล่นดังกล่าวแล้ว ชี้ชัดว่าของเล่นดังกล่าวเข้าข่ายเป็นสินค้าในกลุ่มเครื่องสำอาง ซึ่งการไม่จดแจ้งถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ. เครื่องสำอาง พ.ศ.2558ทางด้านบริษัทโซลิดฯ ส่งหนังสือใบอนุญาตมายังมูลนิธิฯ โดยแจ้งว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะนำเข้าสินค้าใดๆ ที่ไม่ตรงตามใบอนุญาต โดยบริษัทฯ ดำเนินการขอใบอนุญาตกับ สมอ.มาตลอด และมีใบอนุญาตนำเข้าผลิตภัณฑ์หลายฉบับ พร้อมกับส่งตัวอย่างใบอนุญาตนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเข้ามาเพื่อจำหน่ายในราชอาณาจักร แต่อย่างไรก็ดี เอกสารที่บริษัทฯ ส่งมาไม่มีใบอนุญาตของผลิตภัณฑ์ตัวที่เป็นข่าวแต่อย่างใดทั้งนี้ทางมูลนิธิฯ มีข้อเรียกร้องไปยังหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลในเรื่องนี้ ต้องเข้มงวดในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีผลต่อสุขภาพของผู้บริโภคไม่ว่าจะเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศหรือนำเข้า ให้ถูกต้องตรงตามมาตรฐาน และผ่านการรับรองยืนยืนว่าปลอดภัยก่อนอนุญาตให้วางจำหน่าย และเอาผิดกับผู้ลักลอบไม่ปฏิบัติตามกฏหมายอย่างจริงจังผู้ประกันตนเฮ!!! สิทธิทำฟัน 900 บาท เต็มวงเงินไม่มีเงื่อนไขคณะกรรมการการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เห็นชอบยกเลิกประกาศแนบท้าย สิทธิค่าบริการทันตกรรรมที่ปรับเพิ่มจาก 600 บาท เป็น 900 บาท โดยไม่มีเงื่อนไข จากเดิมที่มีการกำหนดเพดานเงินในการรักษาแต่ละประเภทเอาไว้ดังนี้ 1.ขูดหินปูนทั้งปาก อัตราค่าบริการ(เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน) 400 บาท 2. อุดฟันด้วยวัสดุอะมอลทัม (Amalgam) 1 ด้าน 300 บาทอุด 2 ด้าน 450 บาท 3.อุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน 1 ด้าน กรณีฟันหน้า 350 บาท กรณีฟันหลัง 400บาท อุด 2 ด้าน กรณีฟันหน้า 400 บาท กรณีฟันหลัง 500 บาท 4.ถอนฟันแท้ 250 บาท ถอนฟันที่ยาก 450 บาท และ 5.ผ่าฟันคุด 900 บาท ซึ่งเป็นผลมาจากข้อเรียกร้องของกลุ่มภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็น  คณะทำงานการปฏิรูประบบประกันสังคม  เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) เครือข่าย ฟ.ฟันสร้างสุข และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ที่ได้ทำหนังสือเรียกร้องไปยัง สปส. เพราะเห็นประกาศแนบท้ายฉบับดังกล่าวเป็นการกำจัดสิทธิในการรักษาทางทันตกรรมของผู้ประกันตน และอาจทำให้เกิดความสับสนในการใช้สิทธิทั้งนี้สิทธิด้านทันตกรรม ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิการรักษาได้โดยไม่ต้องสำรองจ่าย ในวงเงินค่ารักษาไม่เกิน 900 บาท หากกรณีที่มีค่ารักษาสูงกว่า 900 บาท สถานพยาบาทต้องแจ้งให้ผู้ประกันตนทราบก่อนดำเนินการรักษาตรวจจับ ปรับจริง เต็นท์รถยนต์มือสองสคบ. เปิดตัวโครงการ "ตรวจจับ ปรับจริง เต็นท์รถยนต์มือสอง" เอาผิดกับผู้ประกอบการขายรถยนต์มือสองที่เอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งที่ผ่านมา สคบ.ได้รับเรื่องร้องเรียนปัญหาจากการซื้อรถยนต์มือสองผ่านเต็นท์รถต่างๆ เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น ความยุ่งยากในการนำรถไปจดทะเบียนต่อ รถที่นำไปใช้เกิดการชำรุดง่าย โดยผู้ประกอบการไม่รับแก้ไข และปัญหาตกแต่งตัวเลขระยะทางการใช้รถ ซึ่งเหตุผลหนึ่งที่ปัญหาเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก สคบ.ยอมรับว่ามาจากการบังคับใช้กฎหมายที่ขาดความเข้มงวด ทำให้ผู้ประกอบการไม่ยำเกรงโดยโครงการนี้เจ้าหน้าที่ของ สคบ.จะทำการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบเต็นท์รถยนต์มือสอง โดยจะดูเรื่องการติดฉลากแจ้งข้อมูลของรถยนต์มือสองที่จำหน่าย และความถูกต้องเรื่องการทำสัญญาซื้อขาย เพราะปัจจุบันมีกฎหมายจำนวน 2 ฉบับ ที่ใช้ควบคุมการประกอบธุรกิจขายรถยนต์ใช้แล้ว ได้แก่ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 35(2556) เรื่อง ให้รถยนต์ใช้แล้วเป็นสินค้าควบคุมฉลาก กำหนดให้ผู้ประกอบการธุรกิจต้องจัดทำฉลากสินค้า ระบุรายละเอียดสำคัญ คือ ชื่อ ประเภทหรือชนิดของสินค้า ชื่อและสถานที่ประกอบการของผู้ขาย ขนาดหรือน้ำหนัก สมุดคู่มือการบำรุงรักษารถ และข้อมูลการประสบภัย  อีกฉบับคือ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจขายรถยนต์ใช้แล้วเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ.2550 ซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องมีหลักฐานการรับเงินให้กับผู้บริโภค โดยระบุรายละเอียดให้ครบถ้วนชัดเจนผู้บริโภคค้านโอนย้ายตรวจอาหารนำเข้าให้กระทรวงเกษตรฯ ห่วงอาหารไม่ปลอดภัยกลับสู่ตลาดอนุกรรมการด้านอาหารและยา องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คบอช.) ออกแถลงถึงความกังวลต่อการที่ อย. ออกประกาศถ่ายโอนย้ายหน้าที่ในเรื่องการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าอาหารกลุ่มที่ยังไม่แปรรูป ไปให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดูแล หวั่นผู้บริโภคเสี่ยงต่อการได้รับอาหารที่ไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะในส่วนของอาหารที่ถูกตีกลับ ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ ก็ดูแลในส่วนของการส่งออกอาหารอยู่แล้ว อนุกรรม คบอช. กังวลว่าจะใช้เรื่องการนำเข้าอาหารซึ่งต้องยึดเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลักสำคัญไปเป็นการเจรจาต่อรองทางการค้ากับประเทศคู่ค้าน.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล อนุกรรมการด้านอาหารและยา คบอช. ตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปรกติของประกาศฉบับนี้ว่า เป็นประกาศ อย. ที่ไม่ได้อ้างอิงถึงอำนาจตามกฎหมาย แต่อ้างอิงนโยบายรัฐมนตรีและข้อเสนอคณะทำงานจัดทำแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร ภายใต้คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีเพียงแค่ภาครัฐและนักธุรกิจ แต่ไม่มีตัวแทนผู้บริโภค นอกจากนี้การตรวจสอบสินค้าอาหาร อย.ไม่สามารถถ่ายโอนภารกิจให้กระทรวงเกษตรฯได้เพราะ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ไม่ได้ให้อำนาจ อย.กระทำเช่นนั้น การถ่ายโอนภารกิจของ อย.ไปให้กระทรวงเกษตรฯ จึงถือเป็นเรื่องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายน.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ อนุกรรมการด้านอาหารและยา คบอช. กล่าวว่าจากประกาศฉบับนี้ ส่งผลโดยตรงให้กระทรวงเกษตรฯ มีภาระหน้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นหน้าที่ที่จะต้องดูแลเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภค แต่ถ้าดูจากที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ เองก็เคยเจอปัญหาเรื่องที่มีการพบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานในผัก-ผลไม้ที่ได้รับมาตรฐาน Q และ Organic Thailand จากกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าการกำกับดูแลมาตรฐานสินค้าของกระทรวงเกษตรฯ ยังมีปัญหาอนุกรรมการด้านอาหารและยา คบอช. เสนอให้มีการทบทวนประกาศฉบับดังกล่าว พร้อมทั้งขอให้กระทรวงเกษตรฯ ชี้แจงอย่างละเอียดว่า มีกระบวนการตรวจสอบสินค้าตีกลับอย่างไร มีการควบคุมเรื่องความปลอดภัยและการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 159 ใส่ใจสุขภาพกับร้านอาหารบน Q Restaurant

หลังจากที่เหน็ดเหนื่อยกับการทำงานมาทั้งสัปดาห์ ขอขับรถชิลล์ไปหาร้านอาหารบรรยากาศดี รสชาติอร่อยและมีมาตรฐานในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์สักหน่อย ลองค้นไปค้นมาในสมาร์ทโฟนที่อยู่ในมือ ได้ไปเจอแอพพลิเคชั่นที่รวบรวมร้านอาหารที่มีความปลอดภัยและได้คุณภาพ อย่างแอพพลิเคชั่น Q Restaurant แอพพลิเคชั่น Q Restaurant  เป็นแอพพลิเคชั่นโดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่รวบรวมร้านอาหารไว้สำหรับผู้บริโภค ที่ใส่ใจในสุขภาพ ต้องการหาร้านอาหารที่ผลิตอาหารที่มีความปลอดภัยและมีคุณภาพ เพราะในแอพพลิเคชั่นนี้จะสามารถค้นหาร้านอาหารที่ใช้วัตถุดิบที่ปลอดภัย และได้รับการรับรองโดยเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร Q จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกด้วย ในแอพพลิเคชั่น Q Restaurant  จะแบ่งออกเป็น 4 หมวดดังนี้  หมวดที่หนึ่ง ชื่อว่า Q Restaurant เป็นหมวดการค้นหารายชื่อและข้อมูลร้านอาหาร ขั้นตอนการค้นหาเพียงคุณคลิกให้แสดงร้านอาหารที่อยู่ใกล้บริเวณที่ยืนอยู่ หรือจะระบุชื่อร้านอาหารที่ต้องการก็ทำได้ โดยสามารถค้นหาร้านอาหารได้ทุกจังหวัดทั่วประเทศ  และเมื่อได้ร้านอาหารที่พึงพอใจแล้ว ทางแอพพลิเคชั่นจะแจ้งรายละเอียดของร้านอาหารนั้นว่ามีเมนูอะไรบ้าง วัตถุดิบที่ใช้ในการประกอบอาหาร ตัวเลขระยะทางที่จะเดินทางไปถึง ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์แอพพลิเคชั่นจะสามารถแสดงเส้นทางการเดินทางจากตำแหน่งปัจจุบันของคุณไปยังร้านอาหารที่คุณต้องการ   ถ้าต้องการให้แอพพลิเคชั่นแสดงแผนที่ในการเดินทาง สามารถกด Direction ได้ จากนั้นจะเห็นร้านอาหารเป้าหมายปรากฏในแผนที่ โดยมีรูปเข็มทิศกำหนดในแผนที่นี้ด้วย หมวดที่สอง ชื่อว่า Promotion เป็นหมวดที่แสดงโปรโมชั่นของร้านอาหารที่ร่วมรายการ ซึ่งได้รวบรวมไว้เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้บริโภค หมวดที่สอง ชื่อว่า Favorites เป็นหมวดที่เก็บลิสต์ร้านอาหารที่ชื่นชอบไว้ให้สามารถเข้ามาใช้ บริการได้อย่างรวดเร็ว หมวดที่สี่ ชื่อว่า Camera  ใช้สำหรับตกแต่งรูปอาหาร และสามารถแนะนำต่อให้เพื่อนได้ทางโซเชียลมีเดียได้ Q Restaurant  สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีทั้งในระบบ Android และ iOS

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 137 DoctorMe คู่มือดูแลสุขภาพฉบับกระเป๋า

“อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยระวังสุขภาพให้ดีนะคะ” เป็นประโยคฮิตเหมาะสำหรับคนไทยเป็นอย่างยิ่ง ไม่ใช่เพียงแต่อากาศเปลี่ยนแปลงเท่านั้น ปัจจุบันเหตุการณ์ต่างๆ ก็ทำให้เป็นบ่อเกิดของโรคภัยไข้เจ็บได้เช่นกัน อย่างโรคที่มากับน้ำในวิกฤติน้ำท่วม โรคที่มากับอาหารในวิกฤติโรคระบาด เป็นต้น ซึ่งทุกโรคที่เกิดขึ้น ถ้าเรารู้จักเข้าใจถึงสาเหตุการเกิดของโรคเหล่านั้นแล้ว จะทำให้การแก้ไขและการป้องกันโรคเหล่านั้นเป็นเรื่องที่ง่ายและเข้าใจในการรักษาถึงสาเหตุที่แท้จริงมากขึ้น การปฐมพยาบาลในเบื้องต้นเมื่อเกิดการเจ็บป่วยขึ้นอย่างกะทันหันจึงถือว่าสำคัญ ซึ่งผู้อ่านสามารถเข้าไปศึกษาวิธีการปฏิบัติต่างๆ ได้ในเว็บไซต์หมอชาวบ้านที่ www.doctor.or.th ได้ทุกเวลา แต่ถ้าผู้อ่านไม่สะดวกที่จะใช้คอมพิวเตอร์ในเวลาเร่งด่วน  แอพพลิเคชั่น  DoctorMe ถือว่าเป็นแอพพลิเคชั่นที่น่าสนใจมากทีเดียว   แอพพลิเคชั่น  DoctorMe เป็นแอพพลิเคชั่นที่ย่อคู่มือการดูแลสุขภาพด้วยตนเองลงมาไว้บนมือถือแบบฉบับพกพา ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นช่วยบอกวิธีปฏิบัติตัวเมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยในเบื้องต้น กว่า 200 รายการ โดยมีคำแนะนำเกี่ยวกับการปฐมพยาบาล  อาการเจ็บป่วย และโรคต่างๆ รวมถึงการใช้ยาแผนปัจจุบันและยาสมุนไพรอีกด้วย ภายในแอพพลิเคชั่นจะแบ่งอาการบริเวณที่คุณเจ็บป่วย หรือสามารถป้อนคำเพื่อค้นหาโรคที่เกิดขึ้นได้เลย เมื่อค้นหาเจอแล้ว แอพพลิเคชั่นจะบอกถึงอาการ สาเหตุ การรักษา การดูแลตนเอง และคำอธิบายที่เกี่ยวข้องของโรคดังกล่าวไว้  แต่ถ้าอาการเจ็บป่วยเกินเยียวยา แอพพลิเคชั่นนี้ยังมีปุ่มสำหรับคลิกเพื่อโทรไปยังสายด่วนการแพทย์ฉุกเฉินหมายเลข 1669 ในกรณีเร่งด่วนได้อีกด้วย ล่าสุดแอพพลิเคชั่นนี้ได้ออก Version 1.6 ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง สถาบัน ChangeFusion สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิหมอชาวบ้าน และ บริษัท โอเพ่นดรีม จำกัด โดยเพิ่มเติมข้อมูลพิกัดและหมายเลขโทรศัพท์ของโรงพยาบาลทั่วประเทศ  และสามารถดูโรงพยาบาลใกล้เคียงจากจุดที่ค้นหา พร้อมคำนวณระยะทาง เปิดดูแผนที่ และเดินทางตามเส้นทางที่แผนที่ได้ลากเส้นไว้ให้ รวมถึงมีที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ของโรงพยาบาล เพื่อสะดวกในการติดต่อกับโรงพยาบาลได้ทันที ปัจจุบันแอพพลิเคชั่น DoctorMe สามารถรองรับได้ทั้งผู้ใช้ iOS และ Android ซึ่งสามารถดาวน์โหลด ได้ที่ www.doctorme.in.th แอพพลิเคชั่น DoctorMe ถือว่ามีประโยชน์อย่างมาก แม้ว่าในชีวิตประจำวันบางท่านอาจจะไม่ต้องใช้ในกรณีฉุกเฉิน แต่ถ้าได้ลองศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจกับอาการเจ็บป่วยต่างๆ สาเหตุของการเกิดโรค ขั้นตอนการรักษา รวมถึงขั้นตอนการปฐมพยาบาลที่ถูกวิธีแล้ว ถือได้ว่าแอพพลิเคชั่นนี้เป็นหมอชาวบ้านที่ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ลองดาวน์โหลดมาศึกษากันดูนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >