การบังคับคดี โดยปกติจะกระทำได้ก็เฉพาะคู่ความผู้ที่แพ้คดีและตกเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่บางกรณี บุคคลภายนอกก็อาจถูกบังคับคดีได้ หากเข้ามาเกี่ยวข้องกับลูกหนี้ตามคำพิพากษา อย่างเช่นในกรณีที่หยิบยกในครั้งนี้ เป็นเรื่องของ นาย ส. ซึ่งเดิมมิใช่คู่ความในคดีเป็นบุคคลภายนอก แต่ในระหว่างดำเนินคดี ได้ยินยอมตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยในคดี ต่อมาเมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ชำระหนี้ ศาลฏีกาได้ตัดสินให้ นาย ส. ซึ่งแม้เป็นบุคคลภายนอกคดี แต่เมื่อยอมตกลงรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลได้มีคำพิพากษาตามยอม แล้วต่อมา นาย ส.ไม่ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว โจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญา ก็มีสิทธิบังคับคดีกับทรัพย์สินของนาย ส. ได้ เนื่องจากถือได้ว่านาย ส. อยู่ในฐานะเป็นบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาให้ชำระหนี้ และต้องดำเนินการบังคับคดีภายในสิบปีวันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ตามมาตรา 274 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตามแนวคำพิพากษาศาลฏีกาที่ 3787/2564 คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 3787/2564 แม้ ส. เป็นบุคคลภายนอกมิใช่คู่ความในคดีที่ถูกฟ้องแต่แรก แต่ ส. ยินยอมเข้ามาในคดีโดยตกลงยอมรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความอย่างลูกหนี้ร่วมและได้ลงลายมือชื่อผูกพันตนว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์ในสัญญาประนีประนอมยอมความด้วย เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 274 แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ แพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2560 และโจทก์ยื่นคำขอออกหมายบังคับคดีภายหลังจากมาตรา 274 ที่แก้ไขใหม่ มีผลใช้บังคับแล้ว การบังคับคดีของโจทก์จึงตกอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 274 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมที่ ส. ซึ่ง เป็นบุคคลภายนอกยินยอมเข้ามาผูกพันตนว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์ ร่วมรับผิดกับจำเลยมีผลผูกพัน ส. ในฐานะเป็นบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาให้ชำระหนี้หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาให้ต้องปฏิบัติตาม เมื่อ ส. ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอม โจทก์มีสิทธิขอให้บังคับคดี ส. ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 274 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่เกร็ดความรู้เพิ่มเติม สำหรับหลายท่านที่เป็นเจ้าหนี้ที่มีสิทธิบังคับคดี ในบางครั้งการบังคับคดี หากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่ทราบว่าทรัพย์สินลูกหนี้ตั้งอยู่หรือเก็บรักษาไว้ที่ใด เจ้าหนี้มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนหาทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2326/2559 คำร้องของโจทก์ที่ระบุว่า โจทก์ได้ดำเนินการสืบหาทรัพย์ของจำเลยแล้ว ปรากฏว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ได้ แต่ตามฐานะความเป็นอยู่ของจำเลยเชื่อว่าจำเลยมีทรัพย์สินที่จะต้องถูกบังคับมากกว่าที่ตนทราบแล้ว ย่อมมีความหมายในตัวเองว่าโจทก์เห็นว่าจำเลยยังมีทรัพย์สินอื่นซึ่งโจทก์ยังไม่สามารถติดตามจนพบเพื่อบังคับคดีได้จึงต้องขอให้ศาลเรียกจำเลยมาไต่สวนให้ได้ความจริง การที่โจทก์ไม่อาจนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ได้เพราะยังไม่พบว่าจำเลยมีทรัพย์สินใด กรณีนี้มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ทราบว่าจำเลยมีทรัพย์สินใดเป็นที่แน่ชัดแล้ว แต่จะอาศัย ป.วิ.พ.มาตรา 277 เป็นเครื่องมือติดตามตัวทรัพย์สิน หรือเพื่อให้ทราบสถานที่ตั้งของทรัพย์สินนั้น จึงมีเหตุสมควรที่จะรับคำร้องของโจทก์และมีหมายเรียกจำเลยมาไต่สวนทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา
อ่านเพิ่มเติม >ปัจจุบัน การกู้ยืมเงินเป็นเรื่องปกติ ยิ่งมีสื่อสังคมออนไลน์ การกู้ยืมเงินยิ่งทำได้ง่าย แค่พิมพ์คุยกันทางแชท มีหลักฐานโอนเงิน ตกลงวันเวลาคืนเงิน ทุกอย่างมีหลักฐานการกู้ยืมหมด และบางครั้ง เมื่อถึงกำหนดชำระ ลูกหนี้เบี้ยว เจ้าหนี้ก็ต้องมีการติดตามทวงถามหนี้ แต่บางครั้ง เจ้าหนี้ก็ใช้วิธีการทวงหนี้ที่อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อลูกหนี้ เช่น โพสต์ทวงหนี้ผ่านเฟสบุค หรือบางคนใช้วิธีนินทาบอกคนอื่นในกลุ่มไลน์ เช่นนี้ หลายคนสงสัยว่าทำได้หรือไม่ ก่อนอื่นต้องยอมรับว่า การทวงถามหนี้ เป็นสิทธิที่เจ้าหนี้สามารถทำได้ แต่เป็นการทวงกับตัวลูกหนี้โดยตรง แต่หากใช้วิธีบอกคนอื่นว่าลูกหนี้เป็นหนี้ มีการบอกชื่อสกุล หรือทำให้รู้ว่าหมายถึงคนใดอันเข้าข่ายประจานลูกหนี้ โดยวิธีการโพสต์ หรือพิมพ์ทางไลน์กลุ่มที่มีคนอื่นนอกจากลูกหนี้อยู่ อาจเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาท เพราะเป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 นอกจากนี้ ปัจจุบันมีกฎหมาย ชื่อว่า พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ที่เป็นกฏหมายคุ้มครองลูกหนี้ ไม่ให้ถูกทวงหนี้ด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม เช่น ห้ามทวงถามหนี้กับคนอื่นซึ่งมิใช่ลูกหนี้ เว้นแต่บุคคลที่ลูกหนี้ระบุไว้ ห้ามบอกความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่น ห้ามข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือกระทำการอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น เป็นต้น แต่เจ้าหนี้ที่จะอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ จะหมายถึงเฉพาะ ผู้ให้สินเชื่อ เป็นผู้ประกอบธุรกิจให้กู้ยืมเงินเท่านั้น เช่น สถาบันการเงิน เจ้าหนี้นอกระบบ บริการแอปกู้เงินต่างๆ ดังนั้น หากเป็นกรณี บุคคลธรรมดายืมเงินกัน เช่น เจ้าหนี้เป็นเพื่อน ญาติ คนในครอบครัว ที่ให้กู้ยืมเงินเป็นครั้งคราว ไม่ใช่คนมีอาชีพปล่อยเงินกู้เป็นปกติ ก็ไม่ถือว่าเป็นเจ้าหนี้ หรือผู้ทวงถามหนี้ ตามกฎหมายฉบับนี้ ดังนั้น แม้มีการทวงหนี้จากบุคคลดังกล่าวผ่านทางเฟสบุคหรือกลุ่มไลน์ ก็อาจเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทแต่จะไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8375/2563 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8375/2563 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาและฐานทวงถามหนี้ผู้อื่นในลักษณะการข่มขู่ การใช้ความรุนแรง การใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้ การเปิดเผยเกี่ยวกับความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้ การติดต่อลูกหนี้โดยสิ่งอื่นใดที่สื่อให้ทราบว่าเป็นการทวงหนี้อย่างชัดเจน ตาม พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 มาตรา 11 (1) (2) (3) (4) อันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตาม ป.อ. มาตรา 91 เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องความผิดฐานหมิ่นประมาท โจทก์มิได้อุทธรณ์ ความผิดฐานหมิ่นประมาทจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่มีอำนาจหยิบยกความผิดฐานดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยเพื่อลงโทษจำเลยได้อีกต่อไป การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 หยิบยกความผิดฐานหมิ่นประมาทขึ้นมาวินิจฉัยและพิพากษาลงโทษจำเลย จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย โจทก์และจำเลยย่อมฎีกาได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 มาตรา 3 “ผู้ทวงถามหนี้” หมายความว่า เจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้ให้สินเชื่อ ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค และเจ้าหนี้อื่นซึ่งมีสิทธิรับชำระหนี้อันเกิดจากการกระทำที่เป็นทางการค้าปกติหรือเป็นปกติธุระของเจ้าหนี้ ทั้งนี้ไม่ว่าหนี้ดังกล่าวจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม และให้หมายความรวมถึง และ “ผู้ให้สินเชื่อ” หมายความว่า (1) บุคคลซึ่งให้สินเชื่อเป็นทางการค้าปกติ หรือ (2) บุคคลซึ่งรับซื้อหรือรับโอนสินเชื่อต่อไปทุกทอด จำเลยไม่ใช่ผู้ให้สินเชื่อหรือให้กู้ยืมเงินเป็นทางการค้าปกติหรือเป็นปกติธุระของเจ้าหนี้ อันเป็นผู้ทวงถามหนี้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานทวงถามหนี้ในลักษณะเปิดเผยเกี่ยวกับความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้ตาม พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 มาตรา 11 (3)
อ่านเพิ่มเติม >เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ นายสุรพล โอภาสเสถียร ได้ออกมาเตือนถึงสถานการณ์หนี้เสียสินเชื่อรถยนต์ที่พุ่งสูง มีรถยนต์เสี่ยงจะถูกยึดถึงกว่า 1 ล้านคัน เป็นสัญญาณเศรษฐกิจพัง ไม่ใช่แค่หงอย หรือ ซึม! กลุ่มลูกหนี้ที่กำลังจะเป็นหนี้เสียในไตรมาสที่ 1 / 66 จำนวน 190,000 ล้านบาท และกลุ่มลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียแล้วในไตรมาสที่ 1 / 66 จำนวน 180,000 ล้านบาท ทั้ง 2 กลุ่มมีมูลหนี้เพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเวลาเดียวในจากปีก่อนถึงกว่า 40,000 ล้านบาท กลุ่มคนส่วนใหญ่ที่มีปัญหาหนี้เสียคือกลุ่ม GEN Y ช่วงอายุ 18 – 32 ปี มีพฤติกรรมจ่ายค่างวด 1- 3 งวด หรือค้าง 2 งวด และกลับมาจ่ายในงวดที่สามเพื่อประคับประคองหนี้ และไม่ให้รถถูกยึด! นี่เป็นเพียงสถานการณ์ในช่วงไตรมาสแรกของปี 66 เท่านั้น ยังไม่ต้องกล่าวถึงสถานการณ์ตลอดทั้งปีที่จะเกิดขึ้น ผู้คนจำนวนมากกำลังตกในสถานการณ์เป็นหนี้เสียในกลุ่มหนี้เช่าซื้อรถยนต์ กลุ่มหนี้ที่ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองน้อยที่สุดประเภทหนึ่ง เพราะประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเฉพาะเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนผู้เช่าซื้อทำให้ต้องอาศัยกฎหมายหลายฉบับทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยข้อสัญญาไม่เป็นธรรมและกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งมีผลบังคับใช้กับสัญญาหลากหลายประเภทไม่ใช่เพียงสัญญาเช่าซื้อเท่านั้นทำให้ยังเกิดความ ‘ไม่พอดี’ หรือ ‘ช่องว่าง’ ในการกำกับดูแลทำให้ผู้บริโภคยังถูกเอาเปรียบ เช่น กรณีคุณยุพิน อายุ 45 ปี ทำอาชีพค้าขาย ใน จ. สุรินทร์ ที่เริ่มมีปัญหาค้างส่งงวดรถตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิดที่ผ่านมา “ก่อนที่ยังไม่เกิดปัญหาโควิด พี่ยังหารายได้ได้คล่อง แต่เมื่อเกิดโควิดแล้วทางจังหวัดสั่งให้หยุดตลาดนัด 3 เดือน ทั้งเช้า- เย็น เราก็หมดโอกาสทำมาหากินแล้ว ตอนนั้นเราผ่อนรถอยู่กับอีกธนาคาร รายจ่ายเราเท่าเดิมแต่รายได้เราไม่มี ทั้งค่าบ้าน ค่าลูกไปโรงเรียน ค่ารถโรงเรียน ค่าเช่าบ้าน แล้วมีรายได้ทางเดียวเราเลยต้องไปพึ่งเงินกู้ที่จ่ายดอกเบี้ยรายวันมาช่วยเราส่งเคลียร์หมด พอเราหมุนเงินไม่ทัน ค้างงวดรถ เราต้องจ่ายแบบค้าง 2 งวด และจ่ายงวดที่ 3 เพื่อให้รถยังอยู่เพราะเราต้องเอารถใช้ขับขายของ ” “พอเข้างวดที่ 3 เราก็ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ) เขาบอกว่าหลังจากค้างถึงงวดที่ 3 แล้วต้องบวกไปอีกไม่เกิน 30 วัน สัญญาจะยกเลิกอัตโนมัติแล้วถึงจะมีสิทธิยึดรถ เราก็เชื่อแบบนั้น แต่พอค้างงวดที่ 3 ผ่านไปวันเดียวเขามาที่บ้านเลย เราก็บอกว่า คุณจะยึดไม่ได้นะ เขาก็ไม่ฟัง เราบอกว่ายังมีกฎหมายที่ยังคุ้มครอง เราไม่ให้ยึดเขาก็ไม่ยอม เราเลยบอกว่าจะหาเงินมาให้ 1 งวด เขาบอกไม่ได้ คุณต้องเคลียร์ทั้งหมด อย่างสมมุติเราผ่อนเดือนละ 10,000 เราก็ต้องหาเงินไปให้เขา 30,000 บาท พร้อมค่าติดตามอีก หลังจากนั้นไม่เกิน 1 อาทิตย์เราก็ส่งเข้าไปอีก 1 งวด เป็น 2 งวด เขาก็หยุดตามแต่บอกให้จ่ายเพิ่มให้คนติดตามอีก 1,200 เราก็ไม่ได้ให้ ” หลังจากนั้นด้วยมีรายได้ไม่แน่นอน แม้เมื่อเริ่มกลับมาขายของในตลาดได้ แต่เมื่อเข้าช่วงหน้าฝน ขายของในตลาดนัดไม่ได้ติดต่อกัน 2-3 สัปดาห์ คุณยุพินเริ่มกลับมาค้างจ่าย แต่เมื่อหาเงินกลับไปโปะค่างวดรถกลับมีปัญหาที่หาข้อยุติไม่ได้ คุณยุพินจึงตัดสินใจรีไฟแนนซ์กับอีกสถาบันการเงินหนึ่ง “เราเอาเงินไปจ่ายค่างวด 16,000 บาท จ่ายที่หน้าเคาน์เตอร์ธนาคารแต่เขาตัดเป็นค่าติดตามทวงถามทั้งหมดไม่ตัดงวดให้เรา เราเลยไม่เอาแล้ว พอมารีไฟแนนซ์กับอีกที่ เราไม่จ่ายหน้าเคาน์เตอร์แล้ว อันนี้คือบทเรียนที่เราได้เรียนรู้” “ตอนนี้รถยังอยู่ เพราะเรายังพยายามจ่ายงวด 3 ไว้ เพื่อเอารถไว้ทำมาหากิน เราไม่คิดว่าจะเอารถไปแอบซ่อนไว้ที่ไหน เราชัดเจนว่าเราทำมาหากิน ถามว่าเราเสียเปรียบไหมเรารู้อยู่แล้วไฟแนนซ์เป็นแบบนี้ การจัดแบบนี้เราก็ยอมรับแต่ที่เป็นปัญหาเศรษฐกิจมันไม่ดีแบบนี้ เราจ่ายอยู่แล้ว เพราะเราอยากเอารถไว้ใช้ทำมาหากิน เราคิดว่ามีประชาชนแบบเราเยอะ เราถาม สคบ. เรายังอยู่ในช่วงเวลาที่กฎหมายคุ้มครองแต่ในทางปฏิบัติไม่ใช่ นี่เป็นช่องว่างที่ประชาชนยังขาดความคุ้มครอง” กรณีของคุณยุพินเป็นตัวอย่างสะท้อนว่า ประเทศไทยยังขาดกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิผู้เช่าซื้อที่เพียงพอ มีประสิทธิภาพและสามารถเป็นแนวทางให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องปฏิบัติได้ถูกต้องตรงตามกันได้ สรุปปัญหา ที่ยังขาดการคุ้มครองผู้บริโภคในธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ · ดอกเบี้ยในช่วงที่พักชำระหนี้ มีการคิดไม่เป็นธรรม · ไม่มีการกำหนดอัตราค่าทวงถามหนี้ที่ชัดเจน ผู้ทวงถามหรือไฟแนนซ์คิดตามใจ · การคิดยอดหนี้เช่าซื้อส่วนขาดไม่ชัดเจน และสูงกว่าที่ศาลจะพิพากษาให้ได้ · กฎหมายยังให้อำนาจกับผู้ให้เช่าซื้อมากเกินไป กล่าวคือยังไม่มีการนำสัดส่วนของการผ่อนชำระมาคิดให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เช่าซื้อ เช่น แม้ผู้เช่าซื้อบางรายจะผ่อนชำระมาจนใกล้จะหมดแล้ว แต่เมื่อขาดส่ง รถก็ถูกยึดไปอย่างง่ายดายแนวทางการต่อสู้ในชั้นศาล เมื่อถูกไฟแนนซ์ฟ้องคดี ทนายความ กิตติศักดิ์ ธนันณัฏฐ์ ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ได้ให้คำปรึกษาเรื่องหนี้รถยนต์ และการเงินการธนาคารโดยเฉพาะ ได้สรุปข้อควรรู้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคไว้ดังนี้ · ผู้เช่าซื้อสามารถคืนรถแบบไม่ต้องจ่ายค่าส่วนต่างแม้แต่บาทเดียว หากไม่มีค่างวดรถค้างจ่าย เรื่องนี้ศาลได้มีคำพิพากษาออกมาแล้ว ใน ฎ 1203/2565 , ฎ 5239/2561 · หากค้างจ่าย 3 งวดซ้อน กฎหมาย มีเงื่อนไขกำหนดให้ไฟแนนซ์ ต้อง” ทำหนังสือบอกเลิกสัญญา “แจ้งมาถึงผู้เช่าซื้อ “ และต้องนับไปอีก 30 วัน นับจากที่ผู้เช่าซื้อได้รับหนังสือ นั่นถึงจะทำให้ การบอกเลิกสัญญามีผลสมบูรณ์ตามสัญญาและตามกฎหมาย หากไฟแนนซ์ มายึดรถไปก่อน “ค่าส่วนต่างผู้เช่าซื้อไม่เสียแม้แต่บาทเดียว ” แต่ผู้เช่าซื้อ ยังต้องรับภาระ นั่นคือ “จ่ายค่าขาดประโยชน์ “ ในช่วงที่ค้างจ่ายค่าเช่าซื้อรถ 3 งวด · เมื่อผู้เช่าซื้อถูกฟ้องร้องในชั้นศาล ผู้เช่าซื้อควรยื่นคำให้การสู้คดีในชั้นศาลเพื่อร้องให้ศาลพิพากษาโดยการคำนวนเงินต้น และดอกเบี้ยแยกจากกัน เช่น ราคาเช่าซื้อรถ 1 ล้านบาท ต้นทุนรถจริงอยู่ที่ราคา 6 แสนบาท บวก ดอกเบี้ย 60 งวด หรือ 5 ปี เท่ากับ 4 แสนบาท สมมุตเมื่อจ่ายเงินงวดให้ไฟแนนซ์ ไปแล้ว 5 แสนบาทและไฟแนนซ์ ได้ยึดรถไปขายทอดตลาดได้เงิน 2.5 แสนบาท ไฟแนนซ์จึงได้กำไรแล้วส่วนหนึ่ง ศาลจึงจะพิพากษาให้ผู้เช่าซื้อรับผิดชอบให้อีกตามความเหมาะสมซึ่งจะไม่สูงตามที่ไฟแนนซ์ได้ร้องขอต่อศาล · ดังนั้นหากผู้เช่าซื้ ถูกไฟแนนซ์ฟ้องผิดสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ อย่าตกใจ สามารถสู้คดีในศาล เพื่อลดหนี้ได้ แต่สิงสำคัญคือต้องไปศาล นี่คือสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงเพื่อพิทักษ์สิทธิของท่านเองเพื่อให้ ศาลมีข้อมูลเพียงพอที่ใช้คัดง้างกับคำขอของไฟแนนซได้ · เมื่อถูกไฟแนนซ์ยึดรถเอาไปขายทอดตลาด ไฟแนนซ์จะต้องมีหนังสือแจ้ง ผู้เช่าซื้อ ให้รับทราบ วัน - เวลา และ สถานที่ขาย ล่วงหน้า อย่างน้อย 7 วัน หากไฟแนนซ์ ไม่ยอมแจ้ง , ศาล ยกฟ้อง ทุกกรณี คณะกรรมการสัญญา “ เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา” ต้องทำตามระเบียบขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ความเคลื่อนไหว เพื่อการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ในปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ช่วงเดือน มกราคม ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ ออกมาตรฐานกลางเพื่อให้มีการกำกับดูแลที่ครอบคลุมและเท่าเทียมในการให้บริการด้านนี้แก่ประชาชน ภายใต้ข้อกำหนดใหม่ของ สคบ. คือการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยการให้เช่าซื้อที่คำนวณเป็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงแล้ว ต้องไม่เกิน 10% ต่อปีสำหรับรถยนต์ใหม่ ไม่เกิน 15% สำหรับรถยนต์มือสอง และไม่เกิน 23% สำหรับรถจักรยานยนต์ การปรับเกณฑ์ในครั้งนี้มุ่งหวังให้ผู้ซื้อรถได้รับประโยชน์เป็นสำคัญ โดยผู้ซื้อรถที่ทำสัญญาเช่าซื้อตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2566 จะใช้ข้อกำหนดใหม่ดังกล่าว หากลูกหนี้นำเงินก้อนมาโปะปิดก่อนกำหนด เกณฑ์ใหม่กำหนดให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระไม่เกิน 40% (จากเดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 50%) ของยอดดอกเบี้ยคงเหลือ โดยขึ้นอยู่กับจำนวนค่างวดที่ชำระไปแล้วด้วย เช่น หากชำระค่างวดมาเกิน 2 ใน 3 ของทั้งหมด แล้วนำเงินก้อนมาโปะปิดได้ก่อนกำหนด จะไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยที่เหลือ รวมทั้งลดเบี้ยปรับกรณีผิดนัดชำระค่างวดเหลือไม่เกิน 5% จากเดิมไม่เกิน 15% และปรับการคิดติ่งหนี้กรณีรถที่โดนยึด ให้คิดได้เฉพาะค่างวดที่ผิดนัดชำระ ค่างวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระและค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายในการทวงถามหนี้ก่อนมีการบอกเลิกสัญญา นอกจากนี้ ผู้ให้บริการยังต้องแจ้งสิทธิเรื่องการซื้อรถคืนและการขายทอดตลาดให้ลูกหนี้ทราบชัดเจน ซึ่งเกณฑ์ใหม่ทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์ต่อลูกหนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ร่วมกันจัดทำ “ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้การประกอบธุรกิจทางการเงินบางประเภทอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551” (พ.ร.ฎ. ธุรกิจเช่าซื้อ-ลีสซิ่ง) เพื่อให้การประกอบธุรกิจการให้เช่าซื้อและลิสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์มีการกำกับตรวจสอบเป็นการเฉพาะเพื่อยกระดับการประกอบธุรกิจดังกล่าวให้มีมาตรฐาน ส่งเสริมการกำกับดูแลเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงินที่ไม่ส่งเสริมให้ก่อหนี้สินเกินตัว รวมทั้งมีการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรม ได้รับข้อมูลโปร่งใสเพียงพอต่อการตัดสินใจ และเข้าถึงบริการด้วยราคาที่เหมาะสม ซึ่งร่าง พ.ร.ฎ. นี้ ได้รับความเห็นชอบหลักการจากคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ 1 พ.ย. 2566 นี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีความหวังและจะติดตามต่อไปว่าผู้บริโภคจะได้รับการคุ้มครอง ...ได้รับความเป็นธรรมในการเข้าทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์มากขึ้น
อ่านเพิ่มเติม >หลายคนคงเคยสงสัยว่า เวลาที่เป็นคนเป็นหนี้กันปกติเจ้าหนี้ก็ต้องไปทวงเอาเงินจากลูกหนี้ แต่หากวันหนึ่งลูกหนี้ตายไปก่อนใครจะต้องรับผิดจะไปฟ้องทายาทของลูกหนี้ให้รับผิดได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้มีหลักกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องมรดกที่ต้องมาพิจารณากำหนดไว้ว่า หากลูกหนี้ที่เป็นเจ้ามรดกเสียชีวิตแน่นอนว่ามรดกที่ตกแก่ทายาทจะมีทั้งทรัพย์สินและหนี้สินด้วย แต่กฎหมายก็กำหนดขอบเขตความรับผิดของทายาทไว้ว่าให้รับผิดในหนี้ของลูกหนี้ที่ตายไม่เกินทรัพย์มรดกที่ตนได้รับ เช่น ลูกหนี้ เป็นหนี้จำนวนหนึ่งล้านบาท เมื่อลูกหนี้เสียชีวิต นายแดงทายาทได้รับมรดกคือเงินในบัญชีจำนวนหนึ่งแสนบาท เช่นนี้ หากเจ้าหนี้มาฟ้องนายแดงที่เป็นทายาทของลูกหนี้ นายแดงก็จะรับผิดเพียงทรัพย์มรดกที่ตนได้รับคือหนึ่งแสนบาทเท่านั้น และเจ้าหนี้จะมายึดทรัพย์สินส่วนตัวของนายแดงเพื่อไปชำระหนี้ก็ไม่ได้ โดยมีคำพิพากษาของศาลฏีกาที่ 2161/2558 ได้เคยตัดสินเอาไว้อย่างชัดเจนในเรื่องนี้ คำพิพากษาฎีกาที่ 2161/2558 แม้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิงตาม ป.พ.พ. มาตรา 194 และมาตรา 214 แต่เมื่อลูกหนี้ถึงแก่ความตายกฎหมายคุ้มครองให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น ตามมาตรา 1734 และมาตรา 1738 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เจ้าหนี้จะไปบังคับเอาจากทรัพย์สินของบุคคลอื่นไม่ได้ การที่ทายาทของลูกหนี้จะต้องรับผิดทั้งสิทธิและหน้าที่ของลูกหนี้ซึ่งเป็นเจ้ามรดกก็เพื่อให้เจ้าหนี้มีทางได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น ไม่ทำให้ทายาทนั้นต้องรับผิดชดใช้จากทรัพย์สินส่วนตัวด้วย หากทายาทรับทรัพย์สินจากกองมรดกของผู้ตายไปแล้วก็เพียงให้รับผิดไม่เกินทรัพย์มรดกที่ทายาทได้รับไปตามมาตรา 1601 และมาตรา 1738 วรรคสอง โดยยังถือว่าทรัพย์สินที่ได้รับไปนั้นเป็นกองมรดกอยู่ คดีนี้โจทก์ทั้งสี่ผู้เป็นเจ้าหนี้กองมรดกฟ้องขอให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นทายาทรับผิดในค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ตายเจ้ามรดกกระทำละเมิด จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องบังคับสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยเพื่อให้ได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น มิได้ฟ้องให้จำเลยต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ฉะนั้น เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิบังคับคดีเฉพาะทรัพย์สินในกองมรดกของผู้ตายเท่านั้น จึงไม่มีสิทธิบังคับคดีเอาแก่ที่ดินพิพาทอีกตัวอย่าง กรณีที่ลูกหนี้ตาย ทายาทไปทำหนังสือรับสภาพหนี้ของลูกหนี้ และตกลงชดใช้เงินตามจำนวนยอดหนี้ที่ค้างอยู่ทั้งหมด ศาลก็ได้ตัดสินไว้ว่าสัญญาดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ และไม่ถือเป็นการแปลงหนี้กันใหม่ให้เป็นความรับผิดของทายาทเป็นการส่วนตัว ดังนั้น ทายาทของลูกหนี้ก็รับผิดแค่เพียงไม่เกินทรัพย์มรดกที่ตนได้รับ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6225/2539 ป. เป็นลูกหนี้โจทก์อยู่ เมื่อ ป. ถึงแก่กรรมแล้วจำเลยทั้งสองทำหนังสือเพื่อชำระหนี้แทน ป. ซึ่งเป็นสามีจำเลยที่ 1 และเป็นบิดาจำเลยที่ 2 โดยจำเลยทั้งสองมิได้เป็นหนี้โจทก์ โดยระบุว่า ขณะทำสัญญาฉบับนี้ ป.ยังคงเป็นลูกหนี้โจทก์อยู่เป็นจำนวนเงิน 2,720,000 บาท จำเลยทั้งสองยินยอมชดใช้หนี้จำนวนดังกล่าวโดยจะชำระเป็นงวด เป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของ ป. ทำขึ้นเพื่อยอมรับสภาพหนี้ของเจ้ามรดก มิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้อันจะเป็นเหตุให้มูลหนี้เดิมระหว่างโจทก์กับ ป. ระงับลงเพราะ ป. ได้ถึงแก่กรรมไปก่อนที่จะมีการจัดทำหนังสือดังกล่าวแล้วและข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงเจตนาที่ยอมตนเข้าผูกพันรับผิดต่อโจทก์ในฐานะทายาทผู้ตาย มิใช่รับผิดเป็นส่วนตัวและเป็นสัญญาที่มีผลสมบูรณ์บังคับกันได้ตามกฎหมาย แต่คงรับผิดต่อโจทก์ไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่จำเลยทั้งสองจะได้รับ
อ่านเพิ่มเติม >คุณชัดเจนเป็นลูกหนี้ที่ดีมาตลอด ถือคติ “ติดหนี้ ต้องจ่าย” แต่บังเอิญเกิดเหตุสภาพคล่องทางการเงินสะดุดอย่างสุดวิสัย จนชำระหนี้ไม่ได้ตามกำหนด ต่อมาเขาโดนโทรศัพท์ตามขมขู่ทวงหนี้แบบหยาบคายมากๆ เขาจึงโทรศัพท์มาขอคำปรึกษาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรื่องของเรื่องคือ คุณชัดเจนเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ยี่ห้อบิ๊กไบท์มาในราคาประมาณ 300,000 บาท จากบริษัทลิซซิ่งแห่งหนึ่งต้องส่งค่างวดทั้งหมด 60 งวด งวดละ 5000 กว่าบาท ซึ่งเขาก็ส่งตรงกำหนดตลอด จนกระทั่งเขามีปัญหาทางการเงินอย่างกะทันหัน หมุนเงินไม่ทัน เขาจึงผิดนัดชำระหนี้ค่าเช่าซื้อมา 2 งวด หลังจากนั้นพนักงานของบริษัทรับจ้างทวงหนี้ สมมติชื่อบริษัท เอ็ม ก็โทรศัพท์ติดต่อมาทวงค่างวดรถที่เขายังค้างส่งอยู่ พนักงานคนนี้พูดจาหยาบคาย ข่มขู่ให้เขาเร่งจ่ายหนี้แบบไม่ไว้หน้ากันเลย แม้เขาจะเตือนอีกฝ่ายว่าการพูดทวงหนี้แบบนี้ผิดกฎหมายนะ แต่พนักงานก็ยังคงท้าทายและด่าเขาไม่หยุด เขาจึงอยากรู้ว่าจะดำเนินการอย่างไรกับพวกที่ทวงหนี้ผิดกฎหมายแบบนี้ได้บ้างแนวทางการแก้ไขปัญหา ตาม “กฎหมายทวงหนี้” ที่ออกมาคุ้มครองลูกหนี้ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2558 ระบุไว้ ห้ามดุด่า พูดจาหยาบคาย หรือนำความลับของลูกหนี้ไปบอกกับบุคคลที่ 3 ซึ่งการกระทำดังกล่าวผิดตามกฎหมายอาญา ถือเป็นการประจานหรือหมิ่นประมาท มีโทษขั้นต่ำจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีนี้ ได้แนะนำให้คุณชัดเจนไปแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจในท้องที่ เพราะการกระทำของพนักงานจากบริษัททวงหนี้คนนี้เข้าข่ายการทวงหนี้ผิดกฎหมาย โดยให้อัดเสียงสนทนาในโทรศัพท์ที่พนักงานพูดจาข่มขู่ทวงหนี้หยาบคายเก็บไว้เพื่อเป็นหลักฐานก่อน แล้วในวันที่ไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจก็อย่าเพิ่งบอกว่าตัวเองเป็นหนี้ เพราะตำรวจจะไม่รับเรื่อง แต่ให้บอกว่ามาแจ้งความในเรื่องทวงหนี้ผิดกฎหมาย หากคุณชัดเจนไม่สะดวกจะไปแจ้งความ ก็ยังสามารถร้องเรียนไปได้ที่คณะกรรมการกำกับทวงถามหนี้ ที่มีทั้งระดับประเทศและระดับจังหวัด หรือที่ว่าการอำเภอ เพื่อแจ้งการกระทำความผิดได้
อ่านเพิ่มเติม >ภาชนะพลาสติกสำหรับอาหารจะเป็นสินค้าควบคุม สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ประกาศเพิ่มเติมให้สินค้าประเภทพลาสติกที่ใช้กับอาหารเป็นสินค้าควบคุม เนื่องจากภาชนะที่ใช้สัมผัสอาหารโดยตรงอาจมีความเสี่ยงให้ก่อสารมะเร็งได้ เช่น สีที่ใช้ทาเคลือบภายนอก สารที่ใช้ทำพลาสติก นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์จำนวน 136 รายการ ที่ทาง สมอ. ประกาศเป็นสินค้าควบคุม และกำลังจะเพิ่มอีก 5 รายการ ได้แก่ 1.ภาชนะและเครื่องใช้พลาสติกสำหรับใส่อาหาร ทำจากพอลิเอทิลีน พอลิพรอพิลีน พอลิสไตรีน พอลิเอทิลีนเทเรฟแทเลต พอลิไวนิลแอลกอฮอล์ และพอลิเมทิลเพนทีน 2. ภาชนะเครื่องใช้พลาสติกสำหรับใส่อาหาร ทำจากพอลิไวนิลคลอไรด์ พอลิคาร์บอเนต พอลิแอไมด์ และพอลิเมทิลเมทาคริเลต 3. ภาชนะและเครื่องใช้พลาสติกสำหรับใส่อาหาร ทำจากอะคริโลไนไทรล์-บิวทะไดอีน-สไตรีน และสไตรีน-อะคริโลไนไทรล์ 4. ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟ สำหรับการอุ่น (ใช้ซ้ำได้) 5. ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟ สำหรับการอุ่นครั้งเดียว เพิ่มเติม เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งทั้ง 5 รายการที่กล่าวมาจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 มกราคม 2565 นี้ ทวงหนี้ผิดกฎหมายระบาด นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เผยว่า พบแก๊งมิจฉาชีพส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ทวงหนี้เงินกู้มากขึ้น และชักชวนให้กู้วงเงินเพิ่ม โดยมี 3 ข้ออ้าง ดังนี้ 1.ขู่ว่าเป็นหนี้ไม่จ่ายจะติดคุก ความจริงคือ ไม่จ่ายหนี้ไม่ใช่ความผิดทางอาญา แต่เจ้าหนี้สามารถฟ้องร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ 2.จะมีการยึดทรัพย์ทันทีหากไม่ยอมจ่ายหนี้ ความจริงคือ เจ้าหนี้ต้องฟ้องคดีถึงที่สุดก่อน 3.การทวง เช้า กลางวัน เย็น ไม่สามารถทำได้ ทางกฎหมายให้ทวงนี้แค่วันละ 1 ครั้งเท่านั้น หากใครได้รับการข่มขู่ลักษณะข้างต้นให้ตั้งสติแล้วบันทึกข้อมูลเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไว้ เช่น ข้อมูลสนทนา ภาพถ่าย คลิปวิดีโอ เพื่อใช้ดำเนินคดีอย่าเพิกเฉย การทวงหนี้ตามกฎหมายหากมีลักษณะการข่มขู่ ดุหมิ่น เปิดเผยข้อมูลของลูกหนี้ หรือใช้ความรุนแรงทำให้เสียทรัพย์ใดๆ อาจถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท และ ผู้ประประกอบการสินเชื่อที่ไม่ได้รับอนุญาต โทษจำคุก 1-5 ปี ปรับตั้งแต่ 100,000 – 500,000 บาท เรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท ห้ามโอนลอยรถ เสี่ยงได้รถผิดกฎหมาย กรมการขนส่งทางบก แจ้งเตือนประชาชนที่ ซื้อ-ขาย รถมือสองว่าไม่ควรซื้อ-ขาย โดยวิธีการโอนลอย เช่น การเซ็นเอกสารแล้วมาดำเนินการทีหลัง เพราะอาจจะก่อให้เกิดปัญหาสำหรับผู้ซื้อและผู้ขายได้ เช่น ผู้ซื้อไม่ยอมชำระภาษีประจำปี รถเกิดอุบัติเหตุ หรือเคยนำรถไปกระทำโดยผิดกฎหมายอาจจะสร้างปัญหาผู้ขายได้ เนื่องจากชื่อเจ้าของรถยังคงปรากฎเป็นเจ้าของรายเดิมอยู่ในระบบ ทั้งนี้การไม่นำรถมาโอนทางทะเบียน อาจทำให้ผู้ซื้อไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องของรถได้ว่าเป็นรถที่ถูกโจรกรรมมาหรือไม่ อย่างไรก็ตามทางกรมการขนส่งทางบกได้กำชับทั้งผู้ซื้อ-ผู้ขายว่าต้องตรวจสอบแหล่งที่มาของรถก่อนการซื้อทุกครั้ง และต้องตรวจสอบหลักฐานทะเบียนรถให้ครบถ้วน โดยเฉพาะคู่มือรถฉบับจริงที่มีชื่อเจ้าของรถ เลขตัวถัง เลขเครื่องยนต์ สีรถถูกต้องตรงกับที่ซื้อขายทุกรายการ ที่สำคัญควรตรวจสอบว่ามีการชำระภาษีประจำปีถูกต้องครบถ้วน สั่งอาหารออนไลน์ระวังเชื้อรา กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาเตือนผู้บริโภคที่นิยมสั่งซื้ออาหารผ่านทางออนไลน์ ว่า ระวังเสี่ยงเชื้อราและให้สังเกตบรรจุภัณฑ์ หรือดูวันหมดอายุก่อนบริโภคทุกครั้ง นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษกกรมอนามัย เผยว่า ปัจจุบันประชาชนนิยมซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านแอปพลิเคชันทางออนไลน์กันมากขึ้น เพราะสะดวก ประหยัดน้ำมัน และไม่เสียเวลาในการเดินทาง ผู้ผลิตยังนิยมจัดกลยุทธ์การตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขาย ทำให้ผู้บริโภคสั่งซื้ออาหารนั้นบ่อยและมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว จึงควรระวังสินค้าเก่าเก็บที่อาจเสี่ยงเชื้อรา เพราะหากเก็บรักษาไม่เหมาะสม เช่น เก็บไว้ในที่ชื้นเกินไปหรือไม่มีการอบให้แห้งดีพอ จะก่อให้เกิดสาร “อะฟลาทอกซิน” หากมีการบริโภคเข้าไปสะสมในปริมาณมากก็จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งได้ ดังนั้น เมื่อได้รับสินค้าควรสังเกตบรรจุภัณฑ์ว่าสะอาด มีฝาปิดมิดชิด ซองบรรจุไม่มีรูรั่ว และอ่านฉลากให้ครบถ้วน ตั้งแต่ชนิด ส่วนประกอบ วันเดือนปีที่ผลิต หรือวันเดือนปีที่หมดคุณภาพ สำหรับอาหารสดก่อนที่จะนำมาปรุง ประกอบอาหาร ควรล้างให้สะอาดเพื่อขจัดสิ่งปนเปื้อน และควรตรวจสอบวันหมดอายุก่อนนำมาบริโภคทุกครั้ง นอกจากผู้บริโภคควรสังเกตเรื่องความปลอดภัยของอาหารแล้ว หากพบอาหารที่สั่งมามีกลิ่นหรือสีที่เปลี่ยนไปถึงแม้จะมองไม่เห็นว่ามีเชื้อราก็ไม่ควรนำมาบริโภค ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ “สารอะฟลาทอกซิน” เป็นสารก่อมะเร็งที่ร้ายแรงมากชนิดหนึ่ง โดยปริมาณเพียง 1 ไมโครกรัมสามารถทำให้เกิดการกลายพันธุ์ในแบคทีเรียและทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองได้ หากได้รับอย่างต่อเนื่อง ศาลปกครองกลาง "รับฟ้อง" คดีควบรวมธุรกิจทรู-ดีแทค จากที่ทางสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ได้ยื่นคำร้อง ให้เพิกถอนมติ กสทช. “รับทราบ” การควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) วันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งรับคำฟ้องแล้ว และทาง สอบ.ได้นำรายชื่อผู้บริโภค 2,022 ราย ที่ได้ร่วมรณรงค์คัดค้านและสนับสนุนเรื่องดังกล่าวยื่นต่อศาลปกครองอีกด้วย กรณีที่ผู้บริโภคยื่นคำขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา ศาลได้รับคำขอดังกล่าวไว้ และรอให้ ทรู-ดีแทค มาเป็นผู้ร้องสอดในคดีจึงจะเริ่มพิจารณา เนื่องจากศาลมองว่า 2 บริษัทเป็นบุคคลภายนอกที่อาจมีผลกระทบจากการพิพากษา นอกจากนี้ สาเหตุที่ สอบ.ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางนั้นมาจากที่ มติในการประชุมของ กสทช.นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งด้านเนื้อหาและกระบวนการเพราะก่อนลงมติฯ กสทช.ไม่ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้ใช้บริการก่อน ทั้งนี้มติดังกล่าวกระทบกับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวนมากกว่า 118 ล้านเลขหมาย โดยเฉพาะผู้ใช้บริการของทรูและดีแทคที่มีจำนวนสูงถึง 60 ล้านเลขหมาย คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมด
อ่านเพิ่มเติม >ในปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์มีอิทธิพลกับการดำรงชีวิตของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายสินค้าหรือการกู้ยืมเงินสามารถทำผ่านระบบออนไลน์ได้ เกิดการโฆษณาให้ข้อมูลที่หลากหลายรวมถึงการติดต่อสื่อสารระหว่างกันจากเดิมที่ต้องเดินทางไปมาหากันก็เหลือเพียงวีดีโอคอลหรือแชทไลน์สนทนาทำให้ติดต่อกันได้รวดเร็วมากขึ้น แน่นอนว่าเรื่องของกฎหมายก็ต้องมีการปรับตัวไปตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย เช่น ในเรื่องของการกู้ยืมเงินกัน ที่เมื่อก่อนต้องมีการเจอหน้าพูดคุยทำสัญญากู้ยืมกัน แต่ปัจจุบันเมื่อวิธีติดต่อสื่อสารเปลี่ยนแปลง การกู้ยืมเงิน การติดตามทวงถามให้ใช้หนี้ ก็ทำผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ในรูปแบบการพิมพ์ข้อความแชทสนทนา ซึ่งหลักฐานสนทนาเหล่านี้ กฎหมายยอมรับให้เป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินที่สามารถนำมาอ้างอิงเพื่อเรียกร้องกันได้ และแน่นอนว่าปัญหาการผิดนัดเบี้ยวหนี้ก็มีเกิดขึ้นอยู่เสมอ จนเกิดเป็นคดีความขึ้นสู่ศาลมากมาย ดังนั้นจะขอหยิบยกตัวอย่างคดีที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินกันและปรากฏว่าตัวเจ้าหนี้ผู้ให้กู้ มีการส่งข้อความแชททางเฟซบุ๊กไปยังลูกหนี้ผู้กู้ว่าเงินที่กู้ยืมทั้งหมดนั้น ไม่ต้องส่งคืนยกให้ทั้งหมด ข้อความดังกล่าวศาลเห็นว่า แม้ไม่มีการลงลายมือชื่อโจทก์ แต่ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายซึ่งยอมรับให้ถือเสมือนมีการลงลายมือชื่อแล้วและการส่งข้อความทางเฟซบุ๊กจะปรากฏชื่อผู้ส่งด้วยและผู้ให้กู้ก็ยอมรับว่าได้ส่งข้อความถึงจำเลยจริง เช่นนี้ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้ให้แก่ผู้กู้โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือแล้วทำให้หนี้ระงับไปศาลจึงยกฟ้องผู้ให้กู้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6757/2560 จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 595,500 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน จำเลยได้รับเงินที่กู้ยืมครบถ้วนแล้ว หลังจากทำสัญญาจำเลยไม่ชำระต้นเงินคงชำระดอกเบี้ย 4 ครั้ง รวมเป็นเงิน 6,550 บาท การที่โจทก์ส่งข้อความทางเฟซบุ๊กถึงจำเลยมีใจความว่า เงินทั้งหมด 670,000 บาท ไม่ต้องส่งคืนยกให้หมด ไม่ต้องส่งดอกอะไรมาให้จะได้ไม่ต้องมีภาระหนี้สินติดตัว การส่งข้อมูลดังกล่าวเป็นการสนทนาผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์จึงต้องนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 7 ถึง มาตรา 9 มาใช้บังคับด้วย แม้ข้อความนี้จะไม่มีการลงลายมือชื่อโจทก์ก็ตาม แต่การส่งข้อความทางเฟซบุ๊กจะปรากฏชื่อผู้ส่งด้วยและโจทก์ก็ยอมรับว่าได้ส่งข้อความถึงจำเลยจริง ข้อความการสนทนาดังกล่าวจึงรับฟังได้ว่า เป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้ให้แก่จำเลยโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 340 แล้ว หนี้ตามสัญญากู้ยืมย่อมระงับ จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง กฎหมายที่เกี่ยวข้อง พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 7 ห้ามมิให้ปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความใดเพียงเพราะเหตุที่ข้อความนั้นอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ มาตรา 8 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 9 ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้การใดต้องทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดง ถ้าได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ให้ถือว่าข้อความนั้นได้ทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดงแล้ว มาตรา 9 ในกรณีที่บุคคลพึงลงลายมือชื่อในหนังสือ ให้ถือว่าข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีการลงลายมือชื่อแล้ว ถ้า (1) ใช้วิธีการที่สามารถระบุตัวเจ้าของลายมือชื่อ และสามารถแสดงได้ว่าเจ้าของลายมือชื่อรับรองข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นว่าเป็นของตน และ (2) วิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการที่เชื่อถือได้โดยเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของการสร้างหรือส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยคำนึงถึงพฤติการณ์แวดล้อมหรือข้อตกลงของคู่กรณี ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 340 ถ้าเจ้าหนี้แสดงเจตนาต่อลูกหนี้ว่าจะปลดหนี้ให้ ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป ถ้าหนี้มีหนังสือเป็นหลักฐาน การปลดหนี้ก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย หรือต้องเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ให้แก่ลูกหนี้ หรือขีดฆ่าเอกสารนั้นเสีย
อ่านเพิ่มเติม >ถ้าเรามีหนี้บัตรเครดิตหลายใบ หมุนแล้วหมุนอีกจนไม่สามารถหมุนได้อีกแล้ว เราควรจะมีวิธีจัดการหนี้เหล่านี้อย่างไรดี ลองมาดูลูกหนี้รายนี้กันว่าจะมีวิธีจัดการหนี้อย่างไร คุณภูผา ใช้บัตรเครดิตเพลินไปหน่อยเลยทำให้มีหนี้บัตรเครดิตอยู่ 3 ใบจาก 3 ธนาคาร ใบแรกบัตรเครดิตของธนาคารกสิกรไทย จำนวน 120,000 บาท ใบที่สองบัตรเครดิตของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำนวน 100,000 บาท และใบที่สามบัตรเครดิตของธนาคารไทยพาณิชย์ จำนวน 100,000 บาท เขาชำระหนี้จะไปไม่ไหวแล้ว พยายามหมุนเงินแล้วหมุนเงินอีกก็ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ จนในที่สุดเขาก็หยุดจ่ายหนี้ ตอนนี้เขาหยุดจ่ายมาได้ 1 เดือนแล้ว เป็นหนี้ต้องชำระภูผาเข้าใจจุดนี้ดี แต่เขามีความคิดว่าจะปิดบัญชีหนี้ด้วยเงินก้อนเดียว โดยจะไปขอหยิบยืมเงินจากเพื่อนเพื่อมาปิดบัญชีเสีย เพราะกลัวว่ายิ่งนานจะยิ่งเสียดอกเบี้ยมาก เขาไม่แน่ใจว่าเขาคิดถูกหรือเปล่า จึงมาปรึกษามูลนิธิฯ แนวทางการแก้ไขปัญหา เบื้องต้นผู้ร้องควรจัดทำบัญชีหนี้ เพื่อให้เห็นภาพรวมก่อน ว่ามีหนี้อะไรบ้างและจำนวนเท่าใด โดยรวบรวมหนี้ทั้งหมดมาจัดลำดับเป็นหัวข้อเช่น ชื่อเจ้าหนี้ หนี้อะไร จำนวนเท่าไร ดอกเบี้ยเท่าไหร่ และลองเปรียบเทียบดูว่าแต่ละใบต้องจ่ายขั้นต่ำเท่าไร ถ้าต้องการหยุดจ่ายขั้นต่ำของทุกใบเพื่อเก็บเงินก้อนแล้วค่อยๆ ปิดทีละใบโดยต่อรองขอลดยอดหนี้ลงมาก็เป็นวิธีที่สามารถทำได้ ต่อมาถ้าตกลงกันได้แล้วว่าจะปิดที่ตัวเลขเท่าไร ผู้ร้องจะต้องขอใบลดหนี้จากเจ้าหนี้เพื่อยืนยันการลดหนี้ เมื่อได้ใบลดหนี้แล้วผู้ร้องจึงจะไปโอนเงินที่ธนาคาร เมื่อโอนเงินแล้วหนี้ของผู้ร้องจะต้องเป็นศูนย์เพราะฉะนั้นผู้ร้องจึงต้องขอเอกสารใบปิดบัญชีมาอีกครั้งหนึ่งการชำระหนี้จึงจะสมบูรณ์ หรืออีกวิธีหนึ่งหาเงินกู้ที่มีดอกเบี้ยที่ถูกกว่าดอกเบี้ยหนี้บัตรเครดิต เพื่อนำจ่ายหนี้บัตรทุกหมดทุกใบ ซึ่งผู้ร้องอาจจะยืมเงินเพื่อนตามที่สอบถามมาก็ได้ สิ่งที่ผู้ร้องต้องเจอเมื่อหยุดชำระหนี้หรือค้างชำระหนี้คือ จะถูกโทรศัพท์ทวงถามหนี้บ่อยครั้งจนอาจจะรำคาญได้ แต่ยังมีกฎหมายเรื่องทวงถามหนี้กำกับดูแลอยู่ เช่น ห้ามเจ้าหนี้ข่มขู่จากการทวงหนี้ ห้ามแจ้งการเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้คนอื่นทราบ เป็นต้น ถ้ามีการกระทำเช่นนี้ถือว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย ผู้ร้องสามารถแจ้งความเพื่อให้ตำรวจดำเนินคดีกับผู้ทวงถามหนี้ได้
อ่านเพิ่มเติม >ต่อไปเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ส่วนสูงไม่เกิน 135 ซม.ต้องสวมคาร์ซีท 7 พฤษภาคม 2565 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศพระราชบัญญัติ จราจกทางบก ฉบับที่ 13 พ.ศ.2565 โดยแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายการจราจรทางบก ดังนี้ มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2560 พุทธศักราช 2560 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน มาตรา 123 ภายใต้บังคับมาตรา 123/1 ในขณะขับรถยนต์ผู้ที่อยู่ในรถต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่อไปนี้ 1. ผู้ขับขี่ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งตลอดเวลาในขณะขับรถยนต์ 2. คนโดยสารที่นั่งแถวตอนหน้าและที่นั่งแถวตอนอื่น ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งตลอดเวลาขณะโดยสาร 3.คนโดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องจัดให้นั่งที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กหรือนั่งในที่พิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตราย หรือมีวิธีป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ 4. คนโดยสารที่มีความสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่ง หรือมีวิธีป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะนั่งแถวตอนใด ในส่วนกรณีผู้ขับขี่หรือผู้โดยสารมีเหตุผลทางสุขภาพที่ไม่สามารถรัดร่างด้วยเข็มขัดได้ให้ได้รับการยกเว้น แต่ต้องมีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ โดยบทบัญญัตินี้ไม่ให้ใช้บังคับกับรถสามล้อ รถบดถนน รถแทรกเตอร์ รถใช้ในการเกษตร ทั้งนี้ หากใครฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ทั้งนี้จากระบบบูรณาการข้อมูลการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 3 ฐาน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2560-2564) พบว่ามีเด็กอายุแรกเกิด-6 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 1,155 ราย ในจำนวนนี้มี 221 ราย เป็นเด็กที่เสียชีวิตขณะโดยสารรถยนต์ (เฉลี่ยปีละ 44 ราย) และจากระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บ กระทรวงสาธารณสุข 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2562-2564) พบว่ากลุ่มเด็กอายุแรกเกิด-6 ปี ที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิต มีการใช้เบาะนิรภัยเพียงร้อยละ 3.46% “นมข้นหวาน” ห้ามใช้เลี้ยงทารกเด็ดขาด กรณีคลิปในโลกออนไลน์จากผู้ใช้ Tiktok รายหนึ่งได้โพสต์คลิปนมข้นหวานผสมน้ำเปล่าให้ลูกกิน วันที่ 12 พฤษภาคม 2565 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ตามคำแนะนำขององค์กรอนามัยโลก ทารกแรกเกิดจนถึงอายุ 6 เดือนควรกินเพียงนมแม่อย่างเดียว หลังจากนั้นสามารถกินนมแม่คู่กับอาหารได้ตามวัยจนอายุ 2 ปีหรือมากกว่านั้น เพราะนมแม่เป็นอาหารที่มีประโยชน์ที่สุดสำหรับทารกและสารอาหารกว่า 200 ชนิด และได้ย้ำว่า นมข้นหวานไม่เหมาะสำหรับเป็นอาหารเด็ก เพราะมีส่วนประกอบหลักแค่ไขมัน น้ำตาล โซเดียม ซึ่งต่างจากนมแม่และนมผงดัดแปลง จึงห้ามใช้เลี้ยงเด็กทารกเด็ดขาด เพราะทำให้เด็กทารกเสี่ยงต่อภาวะขาดโปรตีน พลังงาน สารอาหาร ส่งผลให้มีภูมิคุ้มกันต่ำและอันตรายถึงชีวิตได้ ก.คลังเร่งแก้หนี้ประชาชน 6 กลุ่ม ดร.พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้แถลงประเด็นของบทบาทกระทรวงการคลังในการแก้ไขหนี้สินภาคครัวเรือน ซึ่งได้ย้ำว่ารัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ตามนโยบายที่กำหนดว่า “ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน” โดยหนี้ประชาชนส่วนใหญ่กู้มาเพื่อประกอบอาชีพ จำแนกได้ 6 กลุ่ม ดังนี้ 1.หนี้นักเรียนหรือหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 2.หนี้จากสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 3.หนี้บัตรเครดิตหรือหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล 4.สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์รถจักรยานยนต์ 5.หนี้นอกระบบ 6.ลูกหนี้ทั่วไป ทั้งนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนในระยะต่อไปมี 2 เรื่อง คือ 1. สร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน โดยให้ความรู้ทางการเงิน ซึ่งกระทรวงการคลังได้ร่วมกับหลายหน่วยงานในการจัดทำแผนบริหารจัดการด้านการเงินสำหรับประชาชนในทุกช่วงวัยและทุกสาขาอาชีพ และอยู่ในระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา และ 2. กำกับดูแลออกนโยบายไม่จูงใจให้กับประชาชนสร้างหนี้โดยไม่จำเป็น หากจำเป็นต้องสร้างหนี้ต้องเป็นหนี้ที่เป็นทุนให้สามารถสร้างรายได้กลับมา ซึ่งจะเป็นการแก้ไขหนี้สินภาคครัวเรือนในระยะยาวอย่างยั่งยืนได้ เยาวชนไทยเสี่ยงซึมเศร้า 5.34% ผลกระทบจากโควิด-19 แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิตเปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ได้ระบุว่า เยาวชนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตมากถึง 1 ใน 7 จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เยาวชนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มถึง 2 เท่า ซึ่งจากการสำรวจในประเทศไทยข้อมูลจาก Mental Health Check In กลุ่มประชากร อายุต่ำกว่า 18 ปี ช่วง 12 ก.พ. - 23 พ.ค. 65 พบว่า เสี่ยงต่อการซึมเศร้า 5.34% และเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย 7.99% อย่างไรก็ตามทางกรมสุขภาพจิตได้พัฒนาช่องทางช่วยเหลือเยาวชนโดยมีระบบ Mental Health Check In ที่เยาวชนสามารถนำไปใช้ประเมินความเครียดของตัวเองในเบื้องต้นได้ และออกแบบระบบการดูแลสุขภาพจิตโรงเรียนแบบดิจิทัลร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ School Health HERO ที่คุณครูจะช่วยดูแลช่วยเหลือปัญหาของเด็กได้ผ่าน e-learning หากการช่วยเหลือไม่ดีขึ้นปรึกษาได้ผ่านทางแอปพลิเคชัน HERO Consultant ได้ มพบ.เผยผู้เสียหายคดีกระทะโคเรียคิงถูกฟ้องปิดปาก! สืบเนื่องจากคดีฟ้องร้องกระทะโคเรียคิงโฆษณาเกินจริงในปี 2560 นั้น เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้เสียหายท่านหนึ่ง คือคุณกัลยทรรศน์ ติ้งหวัง จากเครือข่ายผู้บริโภค จ.สตูล ซึ่งเป็นคนหนึ่งในกลุ่มผู้เสียหายจากการซื้อกระทะโคเรียคิง (โจทก์ที่ 2 ในคดีที่มีการฟ้อง บ.วิซาร์ดโซลูชั่น เป็นคดีแบบกลุ่มที่ศาลแพ่ง) เนื่องมาจากการโฆษณาสินค้าเกินจริงและสินค้าไม่เป็นไปตามโฆษณานั้น ได้ถูก บ.วิซาร์ดโซลูชั่น ผู้นำเข้ากระทะยี่ห้อโคเรียคิง (จำเลย) ฟ้องในข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จและเบิกความเท็จ ที่ศาลจังหวัดสตูล โดยศาลนัดได้ไต่สวนมูลฟ้องคดีนี้ในวันที่ 6 มิถุนายน 2565 อันเป็นวันเดียวกับคดีที่ศาลแพ่งนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีแบบกลุ่ม ซึ่งคุณกัลยทรรศน์ได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาจาก สน.พหลโยธิน เรียกให้ไปพบพนักงานสอบสวนแล้วในวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา กรณีนี้อาจเข้าข่ายเป็นลักษณะการฟ้องเพื่อปิดปากผู้บริโภค “ย้อนไปในปี 2560 กลุ่มผู้เสียหายจำนวน 72 คน ได้ยื่นฟ้องบริษัทไปเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2560 ต่อศาลแพ่งและเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 1,650 บาท ต่อมา 19 ตุลาคม 2563 ศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม และเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งรับเป็นคดีแบบกลุ่มเช่นกัน โดยจำกัดเฉพาะกลุ่มที่ซื้อกระทะโคเรียคิงรุ่นไดมอนด์และรุ่นโกลด์ของจำเลย ภายใน 17 พฤษภาคม 2560 ปัจจุบันยังไม่ได้ตกลงรับการแก้ไขเยียวยาจากจำเลย” ทั้งนี้นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ในกรณีดังกล่าวข้างต้น การกระทำของผู้เสียหาย ไม่ได้เป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จหรือเบิกความเท็จแต่อย่างใด ดังนั้นทาง มพบ.จะดำเนินการต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด หากชนะคดีแล้วก็จะต้องดำเนินคดีกับบริษัทด้วย
อ่านเพิ่มเติม >ชีวิน เป็นหนี้บัตรเครดิต เขาค้างยอดชำระหนี้อยู่ 20,000 บาท โดยเขาไม่ได้ชำระหนี้เลยเพราะหมดความสามารถ ต่อมาเขาถูกโทรทวงถามหนี้ แต่ว่าเจ้าหนี้ไม่ได้โทรมาทวงที่เขาโดยตรง แต่เป็นฝ่ายเร่งรัดหนี้สินของบริษัทบัตรเครดิตได้โทรศัพท์ไปหาผู้ใหญ่บ้านในหมู่บ้านของเขา บอกเล่าให้ผู้ใหญ่บ้านฟังว่า เขาเป็นหนี้บัตรเครดิตอยู่กับบริษัทฯ ให้ผู้ใหญ่บ้านไปบอกชีวินว่า ให้รีบไปใช้หนี้ด่วน ซึ่งชีวินเครียดมาก เขาไม่ได้อยากให้ใครรู้ว่าเขาเป็นหนี้ และก็ไม่เคยบอกบริษัทบัตรเครดิตไว้ว่าให้ทวงหนี้กับผู้ใหญบ้านได้ การโทรทวงหนี้ที่ผู้ใหญ่บ้านของบริษัทบัตรเครดิต ทำให้เขาอับอายอย่างมาก จึงขอคำปรึกษามูลนิธิว่า บริษัทบัตรเครดิตสามารถทวงถามแบบนี้ได้หรือไม่ และเขาควรทำอย่างไรดี แนวทางการแก้ไขปัญหา ปัจจุบันเรื่องการทวงหนี้ได้มีกฎหมายควบคุมและคุ้มครองลูกหนี้ คือ พระราชบัญญัติทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ซึ่งกฎหมายบอกว่า การทวงหนี้ต้องทวงกับลูกหนี้หรือบุคคลที่ลูกหนี้แจ้งไว้ว่าให้ทวงได้เท่านั้น ห้ามแจ้งว่าลูกหนี้เป็นหนี้กับคนอื่นที่ลูกหนี้ไม่ได้แจ้งไว้ การที่บริษัทบัตรเครดิตแจ้งกับผู้ใหญ่บ้านว่าผู้ร้องเป็นหนี้บัตรเครดิตเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การกระทำดังกล่าวส่งผลให้ผู้ร้องเสื่อมเสียชื่อเสียง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับด้วย เมื่อเกิดการทวงหนี้ผิดกฎหมายผู้ร้องสามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่สถานีตำรวจทุกแห่ง คณะกรรมการกำกับทวงถามหนี้ ณ ที่ว่าการอำเภอ เพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายกับบริษัทบัตรเครดิต อย่างไรก็ตามเป็นหนี้ก็ควรชำระ หากไม่มีความสามารถชำระเงินได้ตามกำหนด ควรหาทางประนอมหนี้กับทางบริษัทบัตรเครดิต เพื่อไม่ให้ต้องตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบจากการทวงหนี้ผิดกฎหมายและเพื่อไม่ให้เสียเครดิตทางการเงินด้วย
อ่านเพิ่มเติม >หลายท่านอาจเคยเจอภาวะพิษเศรษฐกิจเกิดเป็นหนี้จนต้องเอาบ้านและที่ดินไปจำนองเพื่อหาเงินมาใช้จ่าย ดังนั้น “หนี้จำนอง” จึงเป็นหนี้ก้อนใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน ผมจึงอยากนำความรู้กฎหมายจำนองมาบอกเล่าครับ โดยคดีที่เกิดขึ้นนี้มีการทำสัญญาจำนองกันในช่วงเวลาที่ก่อนกฎหมายจำนองที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับ แต่ตอนจะบอกกล่าวบังคับจำนอง เป็นช่วงที่กฎหมายที่แก้ไขมีผลบังคับแล้ว ดังนั้นการบอกกล่าวก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายใหม่ นั่นคือต้องบอกกล่าวล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วัน แต่ปรากฎว่าหนังสือบอกกล่าวของผู้รับจำนองกำหนดเวลาให้ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองเพียง 30 วันซึ่งต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด ผลคือการบอกกล่าวบังคับจำนองนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงอ้างไม่ได้ว่าผู้จำนองไม่ปฏิบัติตามคำบอกกกล่าวทวงถาม ทำให้ผู้จำนองไม่ต้องรับผิด คำพิพากษาฎีกาที่ 5702/2562 โจทก์และจำเลยทั้งสามจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินก่อนพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 มีผลใช้บังคับ คือ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 การที่โจทก์ผู้รับจำนองประสงค์จะบังคับจำนองนับจากนั้น โจทก์ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ โจทก์มีหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองกำหนดระยะเวลาให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนอง จำเลยทั้งสามได้รับหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองอันเป็นการกำหนดระยะเวลาน้อยกว่าหกสิบวันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งเป็นกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้แน่นอนแล้ว จะนำระยะเวลา 30 วัน ตามหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปรวมกับระยะเวลาหลังจากนั้นจนถึงวันฟ้องว่าเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าหกสิบวันแล้วหาได้ไม่ จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามลูกหนี้ละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าวตามบทบัญญัติดังกล่าว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ดังนั้น หนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองต้องกำหนดระยะเวลาให้ชำระหนี้ไม่น้อยกว่า 60 วัน ถ้าไม่ได้กำหนดเวลาให้ไถ่ถอนจำนองเมื่อใด ไม่เป็นคำบอกกล่าวบังคับจำนอง (คำพิพากษาฎีกาที่ 1608/2506 (ประชุมใหญ่)) โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยเพียงว่า ให้จำเลยชำระเงินและไถ่ถอนการจำนองเสียภายในเร็ววันที่สุดนั้น เห็นได้ว่า ไม่ได้กำหนดให้ไถ่ถอนการจำนองเมื่อใด เอาความแน่นอนในการที่จะพิเคราะห์ว่าภายในเวลาอันสมควรหรือไม่ไม่ได้ จึงไม่เป็นคำบอกกล่าวบังคับจำนองที่ชอบ
อ่านเพิ่มเติม >อัตราค่าโดยสารรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ 12 พ.ย. 64 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องกำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารและค่าบริการอื่น สำหรับรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ พ.ศ.2564 โดยมีผลบังคับใช้ทันทีตั้งแต่วันประกาศ โดยอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารของรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ กำหนด ดังนี้ 1. รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก 40 - 45 บาท เกินกว่า 2 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 6 - 10 บาท 2. รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ขนาดกลาง ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก 45 - 50 บาท เกินกว่า 2 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 7 - 12 บาท 3. รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก 100 - 150 บาท เกินกว่า 2 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 12 - 16 บาท ทั้งนี้ กรณีระบบคำนวณอัตราค่าโดยสารล่วงหน้าประเมินว่าสภาพจราจร ไม่สามารถเคลื่อนที่หรือเดินรถต่อไปได้ตามปกติ ให้คิดอัตราค่าโดยสารคำนวณเพิ่มในอัตรานาทีละ 2 บาท และค่าบริการอื่น กำหนดในกรณีจ้างผ่านระบบสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ เรียกเก็บเพิ่มในอัตรา 20 บาท กรณีที่ปริมาณรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ไม่สมดุลกับความต้องการใช้บริการ เรียกเก็บเพิ่มในอัตราไม่เกินหนึ่งเท่าของค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร ต้องไม่เกิน 200 บาท จากประกาศราชกิจจานุเบกษาราคาเริ่มต้นค่าโดยสารต่ำสุด คือ 40 บาท เพิ่มค่าบริการเรียกรถ 20 บาท โดยรวมค่าบริการเริ่มต้นจะอยู่ที่ 60 บาท คปภ.ยัน บ.ประกันห้ามยกเลิกกรมธรรม์ "เจอ จ่าย จบ" จากกรณีของบริษัทเดอะวันประกันภัย จำกัด (มหาชน) แจ้งผู้เอาประกันให้เลือกเงื่อนไขที่บริษัทยื่นข้อเสนอ หากไม่แจ้งการเลือกทางบริษัทจะเปลี่ยนความคุ้มครองในกรมธรรม์โดยอัตโนมัติ จากเจอ จ่ายจบ เป็นคุ้มครองเฉพาะโคม่านั้น 15 พ.ย. สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดยนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงาน คปภ. กล่าวว่า ยังคงยึดคำสั่งนายทะเบียนตามกฎหมาย โดยบริษัทประกันไม่สามารถใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ หรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขกรมธรรม์ได้ตามอัตโนมัติ เนื่องจากจะกระทบต่อผู้เอาประกันทั้งความไม่ยุติธรรมและความเชื่อมั่นของประชาชน ทั้งนี้ คปภ. ได้เสนอแนวทางเพิ่มเพื่อช่วยเหลือบริษัทประกันและผู้เอาประกัน โดยทางบริษัทประกันสามารถเสนอทางเลือกให้ผู้เอาประกันได้ แต่ต้องเป็นความสมัครใจของผู้เอาประกันเท่านั้น ไม่สามารถบังคับหรือแจ้งเปลี่ยนอัตโนมัติได้ หากไม่ปฎิบัติตามจะถือว่าทางบริษัทประกันฝ่าฝืนคำสั่งนายทะเบียน มีโทษปรับสูงสุด 300,000 บาท กาแฟผสมยาอียังไม่มีในไทย จากกรณีในสื่อออนไลน์มีการประกาศขาย “ยาอีในกาแฟซอง 3,000 บาท ในทวิตเตอร์และอีกกรณีเผยแพร่คลิปที่นำซองกาแฟมาประกอบคลิป เพื่ออ้างว่ามียาอีผสมในกาแฟในแอปพลิเคชัน TikTok” นั้น นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ได้สอบปากคำ นายนพพร สุชัยเจริญรัตน์ ผู้ต้องหาที่ใช้บัญชีทวิตเตอร์ ประกาศขายยาอีผสมกาแฟ โดยพบว่า นายนพพรได้โพสต์ข้อความดังกล่าวจริงและยอมรับว่า ได้นำรูปมาจากทางอินเตอร์เน็ตมาโพสต์ลงทวิตเตอร์ เมื่อลูกค้าสนใจและหลงเชื่อโอนเงินให้ ก็จะบล็อกไลน์ เปลี่ยนชื่อไลน์ เพื่อหลอกลวงไปเรื่อยๆ นายนพพรสารภาพว่า ทำไปเพราะความมึนเมาจากการเสพยา คึกคะนอง แต่ไม่ได้มีการจำหน่ายจริง ดังนั้นจากการสืบสวนทั้งหมดพบเป็นเพียงการหลอกลวงให้หลงเชื่อและโอนเงิน ขอยืนยันว่าจนถึงขณะนี้ ไม่พบว่ามียาอีผสมกาแฟอยู่จริงในประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยเตรียมแก้หนี้ระยะยาวด้วยการรวมหนี้-รีไฟแนนซ์ พ.ย. 64 นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ได้มีการออกมาตรการแก้หนี้ระยะยาวด้วยการรีไฟแนนซ์ รวมหนี้ โดยให้สถาบันการเงินที่เป็นผู้รวมหนี้ ช่วยลดต้นทุนเรื่องการจัดชั้นและการกันเงินสำรอง โดยทำการรวมหนี้และผ่อนปรนหลักเกณฑ์การคำนวณสินทรัพย์เสี่ยงด้านเครดิต และไม่คิดค่าปรับไถ่ถอนก่อนกำหนดตั้งแต่ 16 พ.ย. 64 - 31 ธ.ค. 66 ส่วนการรวมหนี้ต้องใช้ระยะเวลาเตรียมการ เริ่มตั้งแต่สิ้นเดือน ธ.ค. 64 - 31 ธ.ค. 66 ส่วนในกรณีสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบการไม่ปล่อยให้ลูกหนี้รีไฟแนนซ์ออกไปรวมกับหนี้แห่งอื่น ยืนยันเมื่อลูกหนี้นำเงินมาปิดหนี้มายื่นให้ สถาบันการเงินไม่มีสิทธิปฏิเสธ ทั้งนี้ ด้านนางสาว อรมนต์ จันทพันธ์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. กล่าวว่า ประโยชน์ของลูกหนี้ คือ ดอกเบี้ยลด สินเชื่อบ้านดอกเบี้ยเท่าเดิม สินเชื่ออื่นที่หากนำมารวมหนี้ จะบวกดอกเบี้ยจากสินเชื่อบ้านที่ใช้เป็นหลักประกันได้ไม่เกิน 2% ศาลอุธรณ์รับเป็นคดีกลุ่มกรณีเกษตรกรได้รับผลกระทบจากพาราควอต จากกรณีเกษตรกรที่อาศัยอยู่ใน อ.โนนสัง อ.นากลาง และ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ได้รับความเสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ยาฆ่าหญ้า ยี่ห้อ ก๊อกโซน ที่มีสารพาราควอตผสมอยู่ ซึ่งก่อให้เกิดโรคเนื้อเน่า จนบางรายต้องตัดเนื้อส่วนที่เน่าออก ได้ยื่นฟ้องเป็นคดีสินค้าไม่ปลอดภัยจากสารพาราควอต กับบริษัท เจียไต๋ จำกัด จำนวน 16 รายนั้น วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมายฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า คดีสินค้าไม่ปลอดภัยจากยาฆ่าหญ้าในศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม แต่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ โดยมีเหตุผลเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในเรื่องการดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยหากฟ้องคดีแยกกันการนำสืบที่แตกต่างกันทำให้ผลการตัดสินอาจไม่เหมือนกันได้ และผู้ที่ได้รับความเสียหายบางส่วนจะไม่ได้รับการเยียวยา ศาลยังเห็นว่า การที่ประชาชนได้รับการเยียวยาจากผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจที่ก่อให้เกิดความเสียหาย จะทำให้เกิดการลงโทษเชิงทรัพย์สินกับผู้ประกอบธุรกิจ และจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจตระหนักได้ว่าหากไม่แก้ไขปรับปรุงในการประกอบธุรกิจ ก็อาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีด้วยวิธีการดำเนินคดีแบบกลุ่มอีก ทั้งนี้ การดำเนินคดีฟ้องกลุ่มได้เรียกค่าเสียหายของสมาชิกกลุ่ม 16 คน เรียกค่าเสียหายรวมประมาณ 11.32 ล้านบาท
อ่านเพิ่มเติม >สวัสดีทุกท่านครับ ในฉบับนี้มีเรื่องน่าสนใจเป็นเรื่องใกล้ตัวเกี่ยวกับการทำสัญญาเช่าซื้อที่มีรูปแบบการทำสัญญาที่แปลกและน่าสนใจ คือผู้ให้เช่าซื้อทำสัญญากับผู้เช่าซื้อที่เป็นผู้บริโภครายหนึ่ง แต่มีการให้บุคคลที่มิใช่ผู้เช่าซื้ออีกคนหนึ่งมาร่วมทำสัญญาและให้ร่วมรับผิดด้วย โดยบุคคลนี้ไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ ตามสัญญา แต่หากเกิดการผิดนัด ผิดสัญญาต้องมาร่วมรับผิดกับผู้เช่าซื้อด้วย เมื่อเกิดกรณีพิพาทขึ้นสู่ศาล ฝ่ายผู้ให้เช่าซื้อก็มาฟ้องบุคคลที่ร่วมทำสัญญาคนดังกล่าวมาร่วมรับผิดโดยอ้างว่ามีข้อตกลงในสัญญา คดีนี้ศาลมองเจตนาของการทำสัญญา ปกติประเพณีการทำสัญญาเช่าซื้อโดยทั่วไป ก็ไม่มีการทำสัญญาลักษณะแบบนี้และตั้งข้อสงสัยว่า เป็นเรื่องที่ผู้ให้เช่าซื้อต้องการหลีกเลี่ยงข้อกฎหมายค้ำประกันที่แก้ไขใหม่หรือไม่ ซึ่งกำหนดห้ามมิให้มีข้อสัญญาให้ผู้ค้ำประกันรับผิดแบบลูกหนี้ร่วม และเมื่อมีข้อสงสัย ศาลก็ต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณกับคนที่อาจเสียหาย คือคนที่ทำสัญญาร่วมรับผิด โดยเห็นว่าสัญญาตกลงยินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในการหลบเลี่ยงกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ค้ำประกัน ยังเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ของสัญญาขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาจึงตกโมฆะไปทั้งฉบับ มาฟ้องให้รับผิดไม่ได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8418/2563 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681/1 บัญญัติว่า “ข้อตกลงใดที่กำหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วม ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ” มีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองสิทธิและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ค้ำประกันซึ่งมิใช่ลูกหนี้ชั้นต้น แต่เป็นเพียงบุคคลภายนอกที่ยอมผูกพันตนต่อเจ้าหนี้ ในการที่จะชำระหนี้ แทนลูกหนี้เท่านั้น สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่แสดงเจตนาต่อกันเป็นสัญญายินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 นั้น แม้ชื่อและลักษณะของสัญญาจะมิใช่สัญญาค้ำประกัน แต่ในการตีความการแสดงเจตนา ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร เมื่อจำเลยที่ 2 ทำสัญญาตกลงยินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 โดยเนื้อหาของสัญญามิได้ระบุให้จำเลยที่ 2 มีสถานะเป็นผู้เช่าซื้อ อย่างเดียวกับจำเลยที่ 1 สัญญาดังกล่าวคงมีเพียงข้อกำหนดหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ที่ต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ กับจำเลยที่ 1 จนสิ้นเชิง จำเลยที่ 2 มิได้รับสิทธิประโยชน์ใดๆ อย่างผู้เช่าซื้อด้วย สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่ทำขึ้นในลักษณะนี้ จึงเพ่งเล็งให้เห็นเจตนาและวัตถุประสงค์ของโจทก์ผู้ประกอบธุรกิจได้ว่า โจทก์ต้องการให้จำเลยที่ 2 เข้ามาผูกนิติสัมพันธ์กับตนเพื่อเป็นประกันร่วมรับผิดในกรณีจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อเพิกเฉยไม่ชำระหนี้ อันเป็นสัญญาที่ก่อประโยชน์แก่โจทก์ไม่แตกต่างจากการที่บุคคลภายนอกทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ เมื่อลูกหนี้ผิดนัดตามกฎหมายค้ำประกัน ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681/1 นอกจากนี้หากพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีในการทำสัญญาเช่าซื้อที่ถือปฏิบัติกันมา ไม่ปรากฏว่าโจทก์หรือผู้ให้เช่าซื้อโดยทั่วไปมีวิธีการทำสัญญาโดยให้ผู้เช่าซื้อทำสัญญาเช่าซื้อฉบับหนึ่ง แล้วให้บุคคลอื่นเข้าทำสัญญาค้ำประกันยินยอมร่วมรับผิดชำระหนี้ กับผู้เช่าซื้อเป็นอีกฉบับ หรือมีการทำสัญญาโดยให้ผู้เช่าซื้อทำสัญญาเช่าซื้อ แล้วให้บุคคลอื่นเข้าทำสัญญายินยอมร่วมรับผิดชำระหนี้ อย่างลูกหนี้ร่วมกับผู้เช่าซื้ออีกฉบับหนึ่งดังเช่นคดีนี้ จึงนับว่ามีข้อสงสัยเกี่ยวกับสัญญาว่า สัญญาตกลงยินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นสัญญาที่คู่สัญญากระทำเพื่อหลบเลี่ยงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681/1 ที่ห้ามตกลงกันให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วมหรือไม่ เมื่อมีข้อสงสัยย่อมต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จึงตีความและรับฟังได้ว่าโจทก์ต้องการให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม แต่ไม่อาจทำเป็นสัญญาค้ำประกันให้มีข้อตกลงเช่นนั้นได้ จึงหลบเลี่ยงการทำสัญญาค้ำประกันที่มีข้อจำกัดมิให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วม สัญญาตกลงยินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่มีวัตถุประสงค์ในการหลบเลี่ยงกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองและให้เป็นธรรมแก่ผู้ค้ำประกัน ยังเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ของสัญญาขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เมื่อไม่มีส่วนใดที่สมบูรณ์แยกส่วนออกมาได้จึงตกเป็นโมฆะทั้งฉบับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 โจทก์ไม่อาจอาศัยสัญญาตกลงยินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่ตกเป็นโมฆะมาฟ้องบังคับจำเลยที่ 2 ให้รับผิดได้ จากคำพิพากษาของศาล ก็เป็นข้อบ่งชี้อย่างหนึ่งว่า เมื่อมีการปรับแก้กฎหมายเพื่อคุ้มครองให้ความเป็นธรรมกับผู้ค้ำประกันมากขึ้น ฝั่งผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวกับการต้องมีผู้ค้ำประกัน ก็พยายามหาทางหลีกเลี่ยงกฎหมาย กำหนดข้อสัญญาเพื่อประโยชน์ของตนเอง ซึ่งเมื่อเจอพฤติกรรมเช่นนี้และศาลได้ตัดสินไว้เป็นแนวทาง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุมสัญญาให้เกิดความเป็นธรรม โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ที่มีคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาที่ดูแลธุรกิจเช่าซื้อ เช่าห้องชุด เช่าที่อยู่อาศัย และสัญญาอื่นๆ ก็ควรพิจารณาเรื่องมาตรการควบคุมสัญญาเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคต่อไป
อ่านเพิ่มเติม >คำเตือน สำหรับใครที่ใช้แพ็กเกจมือถือแบบเหมาจ่ายรายเดือน คุณรู้ไหมว่าเงื่อนไขการใช้งานนั้น จะเป็นแบบใช้งานก่อนและชำระค่าบริการทีหลัง ถึงแม้จะไม่มีการใช้งานหมายเลข ระบบก็ยังคงคิดค่าบริการต่อเนื่องตามปกติ จนกว่าจะมีการยกเลิกหมายเลข ระบบจึงจะหยุดคิดค่าบริการ หลายคนอาจยังไม่รู้ คุณแท้จริง(นามสมมติ) ก็เช่นกัน คุณแท้จริงต้องการยกเลิกการใช้เบอร์โทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท X แบบจ่ายรายเดือน ที่ใช้มาหลายปี แต่ไม่เคยใช้งานเบอร์นี้เต็มแพ็กเกจเลย เพราะเจอปัญหาสัญญาณไม่เต็มตามที่ผู้ให้บริการระบุไว้ เขาจึงหยุดใช้และมียอดค้างจ่ายอยู่ 2 เดือน ต่อมาบริษัทส่งข้อความระงับการใช้บริการมาให้ นับแต่นั้นเขาก็ไม่ได้ใช้เบอร์นั้นอีกเลยและเข้าใจว่าถูกยกเลิกไปโดยปริยายแล้ว จนกระทั่งปลายเดือน มิถุนายน 2564 คุณแท้จริงได้รับหนังสือจากสำนักงานกฎหมายแจ้งทวงหนี้มา 7 พันกว่าบาท เป็นค่าบริการตั้งแต่ มกราคม - พฤศจิกายน 2563 ซึ่งเขาเองก็สงสัยว่า จริงๆ บริษัทมีสิทธิเรียกเก็บเงินเฉพาะส่วนที่คงค้างก่อนถูกตัดสัญญาณเท่านั้นไม่ใช่เหรอ ทำไมยังเรียกเก็บเพิ่มอีกล่ะทั้งๆ ที่เขาเลิกใช้เบอร์นั้นนานแล้ว คุณแท้จริงจึงเขียนจดหมายมาขอคำปรึกษาเรื่องนี้กับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนวทางการแก้ไขปัญหา ในกรณีนี้ เป็นไปได้ว่าบริษัทอาจแจ้งระงับสัญญาณชั่วคราว เพื่อให้ผู้บริโภคไปชำระค่าบริการที่ค้างอยู่ ยังไม่ได้ยกเลิกบริการอย่างที่ผู้บริโภคเข้าใจ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคยังคงมีหน้าที่ชำระค่าบริการอยู่ โดยการระงับสัญญาณชั่วคราวนั้นผู้ประกอบการสามารถทำได้ ตามข้อ 28 (6) ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ซึ่งระบุไว้ว่า ผู้ให้บริการสามารถแจ้งขอระงับสัญญาณชั่วคราวได้ในกรณีที่ผู้ใช้บริการผิดนัดชำระเกิน 2 รอบบิล ซึ่งเป็นสิทธิในการระงับสัญญาณ ยังไม่ใช่การยกเลิกสัญญา ดังนั้น ผู้บริโภคควรทำเรื่องยกเลิกสัญญากับผู้ประกอบการให้เรียบร้อย ก่อนที่จะยุติการใช้เบอร์มือถือนั้นๆ ซึ่งก่อนจะยกเลิกสัญญาจะต้องชำระค่าบริการให้ครบถ้วนจนถึงวันที่ยกเลิกสัญญา ตามข้อ 32 ของประกาศเดียวกัน
อ่านเพิ่มเติม >คุณสาวน้อยเป็นหนี้บัตรเครดิตของธนาคารแห่งหนึ่ง จำนวนเงินประมาณ 75,000 บาท เพราะเธอมีปัญหาเรื่องการเงินจึงไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ในเวลาที่ตกลงกันไว้ อย่างไรก็ตามต่อมาเธอพอเก็บเงินได้จำนวนหนึ่ง จึงติดต่อไปยังธนาคารเพื่อขอตัดหนี้ปิดบัญชี โดยเธอได้ต่อรองขอลดยอดหนี้ลงมา ต่อรองไปต่อรองมาธนาคารตกลงให้เธอปิดหนี้กับธนาคารด้วยยอดเงินจำนวน 50,000 บาท หลังจากนั้นธนาคารได้ส่งใบแจ้งยอดหนี้ที่ลดหนี้ลงมาตามที่เธอต่อรองไว้มาให้เธอเรียบร้อย แต่...หลังจากนั้นไม่นานเรื่องกลับไม่เรียบร้อย เพราะเธอได้รับเอกสารคำฟ้องจากศาล คุณสาวน้อยจึงไม่รู้ว่าเธอควรดำเนินการอย่างไรดี จึงขอคำปรึกษา แนวทางในการแก้ไขปัญหา ศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำว่า เมื่อผู้ร้องได้ใบแจ้งยอดหนี้ที่ลดหนี้ลงมาและตรวจสอบความถูกต้องเรียบร้อยแล้ว ผู้ร้องสามารถไปโอนเงินให้กับธนาคารตามข้อตกลงได้ทันที โดยผู้ร้องจะต้องไปโอนเงินที่ธนาคาร ห้ามโอนเข้าไปในบัญชีของเจ้าหนี้ที่ไม่ใช่ธนาคารหรือสำนักงานกฎหมาย เนื่องจากจะไม่มีหลักฐาน การโอนที่ธนาคารจะมีใบเสร็จหรือสลิปการโอนเงินหรือเปย์อิน ซึ่งผู้ร้องจะต้องเก็บไว้เป็นหลักฐาน ย้ำต้องเก็บไว้เป็นหลักฐาน หลังจากนั้นผู้ร้องต้องโทรแจ้งเจ้าหนี้ หรือธนาคารให้ทราบว่า ผู้ร้องได้โอนเงินตามข้อตกลงเรียบร้อยแล้ว เมื่อผู้ร้องโอนเงินแล้วหนี้ของผู้ร้องจะเป็นศูนย์หรือบรรลุตามข้อตกลงแล้ว หลังจากนั้นผู้ร้องต้องร้องขอให้ธนาคารส่ง ใบปิดบัญชี ของผู้ร้องมาไว้เป็นหลังฐานยืนยันว่า ได้รับเงินและได้ชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว (ส่วนเอกสารใบแจ้งยอดหนี้ที่ลดหนี้ลงมาแล้ว ซึ่งธนาคารส่งมาให้ในตอนแรกนั้น ยังไม่ใช่ใบปิดบัญชี ใบลดหนี้เป็นเพียงแต่หลักฐานที่แสดงว่าทางเจ้าหนี้ได้ลดหนี้ให้กับผู้ร้องเท่านั้น) เมื่อชำระหนี้ตามสัญญากับเจ้าหนี้เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ ผู้ร้องต้องให้เจ้าหนี้ถอนฟ้องจากศาล เพราะไม่เช่นนั้นเรื่องจะค้างอยู่ที่ศาล โดยนัดกันไปที่ศาลและทำคำร้องเพื่อขอถอนฟ้อง ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด แต่ต้องให้เจ้าหนี้ไปด้วยในฐานะผู้ฟ้อง (โจทก์) ผู้ร้องจะไปขอถอนคนเดียวไม่ได้
อ่านเพิ่มเติม >คุณนิดดูแลบ้านพัก 3 หลัง จึงใช้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านหลายเลขหมาย โดยทุกเลขหมายมีชื่อผู้ใช้บริการเป็นชื่อเธอคนเดียว ซึ่งแต่ละเลขหมายจะแยกจ่ายตามคนที่อยู่อาศัยหลักๆ ของบ้านนั้นๆ ตัวเธอเองรับจ่ายค่าบริการของบ้านที่ดินแดง น้องสาวจ่ายค่าบริการของบ้านที่ราชเทวี ส่วนน้องชายจ่ายของบ้านที่บางเขน เวลาไปจ่ายเงินก็ใช้เพียงการบอกบ้านเลขที่บ้าน ไม่เคยต้องถือใบแจ้งหนี้ค่าใช้บริการไปให้ยุ่งยาก เพราะเธอรักษ์โลกช่วยลดการใช้กระดาษจึงระบุต่อผู้ให้บริการว่า ขอไม่รับใบแจ้งค่าใช้บริการแบบกระดาษ ให้ทางบริษัทฯ ส่ง SMS แจ้งค่าบริการมาแทน วันหนึ่งของเดือนที่อากาศร้อนมากๆ แต่วันนั้นอากาศค่อนข้างเย็นสบาย คุณนิดจึงเดินออกจากบ้านตอนบ่ายแก่เพื่อไปจ่ายเงินค่าใช้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านหลังที่เธอรับผิดชอบที่ร้านรับจ่ายค่าบริการโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งย่านอนุเสาวรีย์ชัย เมื่อถึงร้านเธอจดเลขที่บัตรประชาชนเหมือนเคย แล้วบอกว่า จ่ายค่าอินเทอร์เน็ตบ้านเลขที่ 9999 (เลขสมมติ) เขตดินแดง... พร้อมกับส่งบัตรเครดิตให้พนักงาน คุณพนักงานของร้านก้มหน้าสักพัก พร้อมยื่นใบเสร็จกลับมาให้ คุณนิดอ่านดูรายละเอียดเห็นเป็นบ้านเลขที่น้องสาว จึงบอกว่า “ไม่ใช่ค่ะน้อง ทำอย่างไรดีคะ อันนี้มันเป็นค่าใช้จ่ายที่บ้านน้องสาวที่ราชเทวี ไม่ใช่บ้านเลขที่ของพี่” พนักงานตอบว่า “ระบบของเราดูรายละเอียดค่าใช้จ่ายแยกตามบ้านเลขที่ที่ใช้งานไม่ได้ ถ้าจะดูรายละเอียดได้ คุณลูกค้าต้องไปที่สำนักงานของบริษัทที่ตั้งอยู่ในห้างต่างๆ ร้านเรามีแต่ยอดที่เป็นยอดรวมตามชื่อลูกค้า เนื่องจากเป็นร้านดีลเลอร์ ไม่ใช่ร้านที่เป็นสาขาของบริษัทโดยตรง” คุณนิดจึงแย้งว่าตนเองแจ้งเลขที่บัตรปรระชาชนพร้อมกับเลขที่บ้านให้แล้วนะ ทำไมคุณพนักงานไม่บอกหรือแจ้งข้อจำกัดนี้ให้ทราบก่อน พนักงานกล่าวขอโทษพร้อมกับทำเรื่องคืนเงินให้คุณนิด พร้อมกับแจ้งว่าหากคุณนิดมีรหัสลูกค้าจะทดลองจ่ายอีกรอบก็ได้ ทางเจ้าหน้าที่จะทำคืนเงินให้หากไม่ใช่บ้านเลขที่ของคุณนิด คุณนิดค้นเลขรหัสลูกค้าที่มี SMS มาที่เธอ 2 หมายเลขให้กับทางเจ้าหน้าที่ไป เมื่อเจ้าหน้าที่ส่งใบเสร็จให้เธออีกครั้ง คราวนี้ทั้ง 2 บิล แจ้งรายละเอียดว่า บ้านที่ใช้บริการเป็นเลขที่บ้านน้องสาวที่ราชเทวีเหมือนเดิมแม้ว่าตัวเลขบนบิลจะไม่ใช่ยอดเงินเดียวกันก็ตาม อย่างไรก็ตามพนักงานได้รีบทำเงินคืนให้คุณนิดตามที่เขารับปากไว้ คุณนิดนั้นรับบัตรเครดิตคืนมาแบบหงุดหงิดเพราะแค่จ่ายบิลก็ไม่สำเร็จ หลังตรวจสอบวงเงินในบัตรเรียบร้อยว่าครบถ้วน เธอก็เก็บของเตรียมกลับบ้าน แต่ก็ฝากเรื่องกับพนักงานไว้ว่า เดี๋ยววันนี้ขอกลับไปโทรคุยกับคอลเซ็นเตอร์ก่อน คุณนิดถึงบ้านอีกครึ่งชั่วโมงถัดมา เธอโทรปรึกษาคอลเซ็นเตอร์บอกเรื่องราวที่เกิดขึ้น น้องน้ำหวานพนักงานรับสายแจ้งว่า “ระบบของเรา สามารถบอกรายละเอียดได้นะคะ หน่วยงานที่เป็นสถานที่รับชำระเงินทั้งที่เป็นสาขาของเราและดีลเลอร์ต่างๆ สามารถแจ้งรายละเอียดกับลูกค้าได้ค่ะ และคุณลูกค้าสามารถจ่ายค่าบริการผ่านแอปของเราได้นะคะ กดเลือกบ้านเลขที่ที่ต้องการได้เลยนะคะ คุณลูกค้ามีเรื่องสอบถามเพิ่มเติมไหมคะ” คุณนิดไม่มีเรื่องแจ้งเพิ่ม เพียงแต่ย้ำกับน้องน้ำหวานไปถึงเรื่องการให้บริการของบริษัทที่ควรจะมีมาตรฐานเดียวกัน ไม่ต้องให้ผู้บริโภคเสียเวลาแบบที่คุณนิดเจอมา หลังจากดำเนินการด้วยตนเองไปแล้ว คุณนิดก็คิดได้ว่าน่าจะมาเล่าประสบการณ์ให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภครับทราบไว้ด้วย เพื่อจะได้ช่วยดำเนินการย้ำกับผู้ประกอบการบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์ว่า ไหนๆ ก็มีทางเลือกในการจ่ายหนี้แบบไม่ใช่ใบแจ้งหนี้ (กระดาษ) ก็ช่วยทำให้ทุกช่องทางได้มาตรฐานเดียวกันด้วย แนวทางแก้ไขปัญหา ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รับเรื่องราวของคุณนิดไว้และพร้อมจะดำเนินการนำข้อเสนอของคุณนิดสู่ผู้ประกอบการต่อไป
อ่านเพิ่มเติม >นิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการบังคับใช้พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,135 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 27 - 30 มิถุนายน 2564 กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้เรื่องการบังคับใช้พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 เนื่องจากพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2558 มีผลใช้บังคับจริงในวันที่ 2 กันยายน 2558 เป็นต้นไป ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกาศใช้บังคับ คือ เพื่อป้องกันและแก้ไขการทวงหนี้ที่ไม่เหมาะสมต่อลูกหนี้ เช่น การใช้ถ้อยคำที่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างรุนแรง การคุกคาม การขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย หรือการทำให้เสียชื่อเสียง รวมถึงการให้ข้อมูลเท็จและการสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่บุคคลอื่น เป็นการปกป้องลูกหนี้จากการทวงถามหนี้ ในรูปแบบต่างๆ โดยผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อเรื่องการบังคับใช้พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีหนี้สินหรือการกู้ยืมเงิน ร้อยละ 83.9 โดยการกู้ซื้อรถยนต์เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 36.7 อันดับสองคือ การกู้ซื้อบ้าน ที่พักอาศัย ร้อยละ 33.9 อันดับสามคือ การกู้ยืมจากกองทุน ร้อยละ 21.9 อันดับสี่คือ การกู้ยืมจากหนี้นอกระบบ ร้อยละ 20.6 อันดับห้าคือ การกู้ยืมสินเชื่อส่วนบุคคล ร้อยละ 19.2 และอันดับหกคือ การกู้ยืมจากสหกรณ์ ร้อยละ 10.5 โดยหนี้สินหรือการกู้ยืมเงิน เป็นการกู้ยืมผ่านธนาคารพาณิชย์ เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 35.8 อันดับสองคือ บริษัทไฟแนนซ์/ลิสซิ่ง ร้อยละ 30.6 อันดับสามคือ กองทุน ร้อยละ 23.1 อันดับสี่คือ บริษัทสินเชื่อเงินด่วน ร้อยละ 20.8 อันดับห้าคือ คนปล่อยกู้ ร้อยละ 18.8 และอันดับหกคือ สหกรณ์ ร้อยละ 12.8 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ทราบเรื่อง พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 คุ้มครองลูกหนี้ร้อยละ 54.3 ทราบว่าพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 มีการคุ้มครองลูกหนี้เพิ่มมากขึ้น ร้อยละ 49.8 ในส่วนของการที่ไม่เคยผิดนัดผ่อนชำระ ร้อยละ 48.5 เคยผิดนัดผ่อนชำระ ร้อยละ 40.6 และไม่เคยถูกทวงถามหนี้ ร้อยละ 45.0 เคยถูกทวงถามหนี้ ร้อยละ 37.9 โดยเคยถูกทวงถามหนี้ ผ่านทางจดหมาย/ไปรษณีย์เปิดผนึกมากที่สุด ร้อยละ 32.4 อันดับสองคือ การคิดดอกเบี้ยแพงเกินจริง ร้อยละ 26.4 อันดับสามคือ พูดจาไม่สุภาพ ร้อยละ 20.5 อันดับสี่คือ ทวงหนี้กับญาติ ร้อยละ 11.2 อันดับห้าคือ ประจานทำให้อับอาย ร้อยละ 9.7 ทราบว่าการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายเป็นอย่างไร ร้อยละ 50.7 ทราบว่า เจ้าหนี้ห้ามทวงถามหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ ทวงถามได้เฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00-20.00 น. วันหยุดราชการ เวลา 8.00-18.00 น. ร้อยละ 42.4 ทราบว่า เจ้าหนี้ห้ามทวงถามหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ สามารถทวงถามได้ไม่เกินวันละ 1 ครั้ง ร้อยละ 42.6 ทราบว่า เจ้าหนี้ห้ามทวงถามในลักษณะข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือทำอะไรที่นำไปสู่ความเสียหายต่อร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 61.7 ทราบว่า เจ้าหนี้ห้ามใช้วาจาดูหมิ่น พร้อมทั้งห้ามเปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง รวมถึงห้ามติดต่อลูกหนี้โดยใช้ไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อถึงการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 52.0 ทราบว่า การใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมายในการติดต่อลูกหนี้ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อการทวงถามหนี้ เว้นแต่ชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้ไม่ได้สื่อให้ทราบได้ว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 42.6 และไม่ทราบว่า ผู้ทวงถามหนี้ ต้องขออนุญาตจดทะเบียนประกอบธุรกิจทวงหนี้และข้าราชการห้ามประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ร้อยละ 32.3 ไม่เคยถูกทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 53.3 เคยถูกทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 25.7 และไม่เคยร้องเรียนว่าเจ้าหนี้ทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 59.2 เคยร้องเรียนว่าเจ้าหนี้ทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 16.8 ทราบว่า หากเจ้าหนี้ทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย จะร้องเรียนผ่าน สถานีตำรวจ มากที่สุด ร้อยละ 60.7 อันดับสองคือ คณะกรรมการการกํากับการทวงถามหนี้ประจําจังหวัด สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ร้อยละ 31.6 อันดับสามคือ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ร้อยละ 25.0 อันดับสี่คือ เขตหรือที่ว่าการอำเภอ ร้อยละ 19.0 อันดับที่ห้าคือ สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน ร้อยละ 16.9 อันดับที่หกคือ สำนักงานสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง ร้อยละ 16.0 และอันดับสุดท้ายคือ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ร้อยละ 13.1 โดยไม่แน่ใจว่าได้รับการแก้ไขปัญหา จากเคยร้องเรียนว่าเจ้าหนี้ทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 66.2 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เคยได้ผลกระทบอะไรจากการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายจากเจ้าหนี้ คือถูกประจานทำให้อับอาย เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 28.5 อันดับที่สองคือ ถูกส่งคนติดตาม ร้อยละ 14.4 อันดับที่สามคือ ถูกข่มขู่ ร้อยละ 13.1
อ่านเพิ่มเติม >