ฉบับที่ 245 คนกรุง 83.9 % มีหนี้สิน 54.3 % รู้ว่ามี พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ และ 28.5 % เคยถูกประจานทำให้อับอาย

        นิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการบังคับใช้พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,135 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 27 - 30 มิถุนายน 2564 กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้เรื่องการบังคับใช้พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 เนื่องจากพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2558 มีผลใช้บังคับจริงในวันที่ 2 กันยายน 2558 เป็นต้นไป ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกาศใช้บังคับ คือ เพื่อป้องกันและแก้ไขการทวงหนี้ที่ไม่เหมาะสมต่อลูกหนี้ เช่น การใช้ถ้อยคำที่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างรุนแรง การคุกคาม การขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย หรือการทำให้เสียชื่อเสียง รวมถึงการให้ข้อมูลเท็จและการสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่บุคคลอื่น เป็นการปกป้องลูกหนี้จากการทวงถามหนี้ ในรูปแบบต่างๆ โดยผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อเรื่องการบังคับใช้พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้                 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีหนี้สินหรือการกู้ยืมเงิน ร้อยละ 83.9 โดยการกู้ซื้อรถยนต์เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 36.7 อันดับสองคือ การกู้ซื้อบ้าน ที่พักอาศัย ร้อยละ 33.9 อันดับสามคือ การกู้ยืมจากกองทุน ร้อยละ 21.9 อันดับสี่คือ การกู้ยืมจากหนี้นอกระบบ ร้อยละ 20.6 อันดับห้าคือ การกู้ยืมสินเชื่อส่วนบุคคล ร้อยละ 19.2 และอันดับหกคือ การกู้ยืมจากสหกรณ์ ร้อยละ 10.5                 โดยหนี้สินหรือการกู้ยืมเงิน เป็นการกู้ยืมผ่านธนาคารพาณิชย์ เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 35.8 อันดับสองคือ บริษัทไฟแนนซ์/ลิสซิ่ง ร้อยละ 30.6 อันดับสามคือ กองทุน ร้อยละ 23.1 อันดับสี่คือ บริษัทสินเชื่อเงินด่วน ร้อยละ 20.8 อันดับห้าคือ คนปล่อยกู้ ร้อยละ 18.8 และอันดับหกคือ สหกรณ์ ร้อยละ 12.8                 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ทราบเรื่อง พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 คุ้มครองลูกหนี้ร้อยละ 54.3 ทราบว่าพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 มีการคุ้มครองลูกหนี้เพิ่มมากขึ้น ร้อยละ 49.8                 ในส่วนของการที่ไม่เคยผิดนัดผ่อนชำระ ร้อยละ 48.5 เคยผิดนัดผ่อนชำระ ร้อยละ 40.6 และไม่เคยถูกทวงถามหนี้ ร้อยละ 45.0 เคยถูกทวงถามหนี้ ร้อยละ 37.9                 โดยเคยถูกทวงถามหนี้ ผ่านทางจดหมาย/ไปรษณีย์เปิดผนึกมากที่สุด ร้อยละ 32.4 อันดับสองคือ การคิดดอกเบี้ยแพงเกินจริง ร้อยละ 26.4 อันดับสามคือ พูดจาไม่สุภาพ ร้อยละ 20.5 อันดับสี่คือ ทวงหนี้กับญาติ ร้อยละ 11.2 อันดับห้าคือ ประจานทำให้อับอาย ร้อยละ 9.7                ทราบว่าการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายเป็นอย่างไร ร้อยละ 50.7 ทราบว่า เจ้าหนี้ห้ามทวงถามหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ ทวงถามได้เฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00-20.00 น. วันหยุดราชการ เวลา 8.00-18.00 น. ร้อยละ 42.4 ทราบว่า เจ้าหนี้ห้ามทวงถามหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ สามารถทวงถามได้ไม่เกินวันละ 1 ครั้ง ร้อยละ 42.6                 ทราบว่า เจ้าหนี้ห้ามทวงถามในลักษณะข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือทำอะไรที่นำไปสู่ความเสียหายต่อร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 61.7 ทราบว่า เจ้าหนี้ห้ามใช้วาจาดูหมิ่น พร้อมทั้งห้ามเปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง รวมถึงห้ามติดต่อลูกหนี้โดยใช้ไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อถึงการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 52.0                 ทราบว่า การใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมายในการติดต่อลูกหนี้ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อการทวงถามหนี้ เว้นแต่ชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้ไม่ได้สื่อให้ทราบได้ว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 42.6 และไม่ทราบว่า ผู้ทวงถามหนี้ ต้องขออนุญาตจดทะเบียนประกอบธุรกิจทวงหนี้และข้าราชการห้ามประกอบธุรกิจทวงถามหนี้  ร้อยละ 32.3                 ไม่เคยถูกทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 53.3 เคยถูกทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 25.7 และไม่เคยร้องเรียนว่าเจ้าหนี้ทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 59.2 เคยร้องเรียนว่าเจ้าหนี้ทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 16.8                 ทราบว่า หากเจ้าหนี้ทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย จะร้องเรียนผ่าน สถานีตำรวจ มากที่สุด ร้อยละ 60.7 อันดับสองคือ คณะกรรมการการกํากับการทวงถามหนี้ประจําจังหวัด สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ร้อยละ 31.6 อันดับสามคือ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ร้อยละ 25.0 อันดับสี่คือ เขตหรือที่ว่าการอำเภอ ร้อยละ 19.0 อันดับที่ห้าคือ สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน ร้อยละ 16.9 อันดับที่หกคือ สำนักงานสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง ร้อยละ 16.0 และอันดับสุดท้ายคือ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ร้อยละ 13.1 โดยไม่แน่ใจว่าได้รับการแก้ไขปัญหา จากเคยร้องเรียนว่าเจ้าหนี้ทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 66.2                 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เคยได้ผลกระทบอะไรจากการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายจากเจ้าหนี้ คือถูกประจานทำให้อับอาย เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 28.5  อันดับที่สองคือ ถูกส่งคนติดตาม ร้อยละ 14.4 อันดับที่สามคือ ถูกข่มขู่ ร้อยละ 13.1

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 244 วิธีรับมือกับการทวงหนี้

        เจษเป็นหนี้บัตรเครดิตของธนาคารไทยพาณิชย์ จำนวนเงินประมาณ 70,000 บาท ต่อมาเขาผิดนัดชำระ เพราะมีปัญหาทางด้านการเงินไม่สามารถหมุนเงินเพื่อมาชำระหนี้ได้ ตอนนี้เขาผิดนัดมาประมาณ 2-3 งวด แต่ว่าตอนนี้มีบริษัท บริหารทรัพย์สิน เจ จำกัด ซึ่งรับซื้อหนี้มาจากธนาคารไทยพาณิชย์ได้โทรมาหาเขา และเรียกให้เขาชำระหนี้ พอเขาบอกว่าไม่มีชำระก็เริ่มพูดจาไม่ดี บอกว่าถ้าไม่ชำระจะไปเข้าหาผู้อำนวยการหรือผู้จัดการของเขาที่บริษัท ให้ทราบว่าไม่ควรมีพนักงานที่คิดโกงเจ้าหนี้ ซึ่งเขาคิดว่ามันไม่ถูกต้องถ้าทวงหนี้ไม่ได้เจ้าหนี้ควรจะฟ้องศาลจะถูกต้องกว่า เขาจึงขอคำปรึกษาว่า จะมีทางไหนที่จะร้องเรียนหน่วยงานที่เอาเปรียบประชาชนเช่นนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ปัจจุบันมีกฎหมายทวงหนี้คือ พ.ร.บ. ทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ออกมาใช้บังคับ ซึ่งเป็นกฎหมายที่คุ้มครองลูกหนี้ไม่ให้มีการทวงหนี้โดยละเมิดสิทธิของลูกหนี้ เช่น พูดจาหยาบคาย ดุด่า หรือนำความลับของลูกหนี้ไปบอกกับบุคคลที่ 3  ซึ่งถือเป็นการผิดกฎหมายอาญาฐานหมิ่นประมาท หรือประจาน มีโทษขั้นต่ำคือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และโทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         เพราะฉะนั้นถ้าผู้ร้องหรือลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้เข้ามาทวงถามหนี้แบบผิดกฎหมาย ผู้ร้องสามารถแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ ซึ่งผู้ร้องจะต้องรวบรวมหลักฐานการทวงหนี้ผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นคลิปเสียงที่เจ้าหนี้โทรศัพท์เข้ามาด่า หรือพูดจาหยาบคาย จดหมายที่เขียนมาข่มขู่ ตลอดจนหลักฐานอื่นๆ ที่เกิี่ยวข้อง นำไปแจ้งความในคดีอาญาเพื่อให้ตำรวจดำเนินการตามกฎหมาย นอกจากแจ้งความที่สถานีตำรวจแล้วผู้ร้องยังสามารถแจ้งได้ที่ กรมการปกครอง สำนักงานคณะกรรมการทวงหนี้ประจำจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ กองบัญชการตำรวจนครบาลอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 ‘หนี้’ ในการแพร่ระบาดของโควิด-19

‘เงินด่วน ไม่ต้องใช้เอกสาร โอนเงินไวใน 30 นาที ติดต่อ xx-xxxx-xxxx’         ไม่ว่าจะร้อนเงินหรือเปล่า ภาพของกระดาษพร้อมข้อความลักษณะนี้มีให้เห็นเนืองนิจ อดตั้งคำถามไม่ได้ว่าบนโลกที่ไม่มีอะไรฟรี คนเราจะได้เงินมาง่ายๆ ได้อย่างไร ต่อให้เป็นเงินกู้ก็เถอะ         เรารู้อยู่แก่ใจว่าความเร็วและง่ายมาพร้อมต้นทุนที่สูงลิบลิ่ว หนี้นอกระบบมีอัตราดอกเบี้ยชนิดขูดเลือดเนื้อ แต่ในสถานการณ์ที่ทางเลือกจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจชะงักงัน เงินสดในมือสำหรับใช้จ่ายไม่เพียงพอ การกู้เงินจึงเป็นทางเลือกหนึ่ง ตัวเลขหนี้ครัวเรือนของไทย ณ สิ้นปี 2563 ที่สูงถึง 14 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบ 18 ปีจากการเก็บข้อมูลของของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยคิดเป็นร้อยละ 89.3 ของจีดีพีปี 2563         ตัวเลขข้างต้นบ่งชี้ว่าทั้งความสามารถในการชำระหนี้และการออมของครัวเรือนไทยลดต่ำลงจนน่ากังวล         ขณะเดียวกันแอปปล่อยเงินกู้ผิดกฎหมายก็กำลังสร้างปัญหาใหม่ตามมา คำถามมีอยู่ว่าแม้การไม่มีหนี้จะเป็นลาภอันประเสริฐ แต่ในฐานะผู้บริโภคที่ยังต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อใช้จ่ายจะรับมืออย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ช่วยได้แค่ไหน โควิด-19 ทำปัญหาหนี้ลุกลาม         เรามาลงรายละเอียดเกี่ยวกับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนเพิ่มมากขึ้นจากการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่พบว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปี 2563 แม้จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 89.3 แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ก็ทำให้หนี้เติบโตช้าลง ถึงกระนั้นระดับหนี้ก็ยังเพิ่มขึ้นสวนทางเศรษฐกิจที่หดตัว เมื่อดูตัวเลขหนี้ครัวเรือนถอยหลังไป 3 ปีก็พบด้วยว่าหนี้ครัวเรือนขยับขึ้นทุกปี โดยในปี 2561 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ร้อยละ 78.4 และร้อยละ 79.8 ในปี 2562         ตัวเลขหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นก็จริง แต่ถ้ามองด้านอัตราการเติบโตของหนี้กลับพบว่ายอดคงค้างหนี้ครัวเรือนปี 2563 เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 3.9 ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบ 4 ปี ซ้ำยังชะลอลงจากร้อยละ 5.1 ในปี 2562 ซึ่งแสดงผลกระทบจากโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทยที่ทั้งผู้กู้และผู้ปล่อยกู้ต่างก็ระมัดระวังมากขึ้น         ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ต่อไปว่า กลุ่มผู้กู้รายย่อยที่ประกอบธุรกิจและผู้กู้รายย่อยที่มีปัญหาด้านรายได้จะมีภาระหนี้หรือ Debt Service Ratio (DSR) สูงกว่าผู้กู้ในกลุ่มอื่นๆ แรงกดดันที่ทั้งสองกลุ่มนี้ต้องเผชิญคือความสามารถในการชำระคืนหนี้ลดลง ช่องว่างในการก่อหนี้ก้อนใหม่ลดลง และระดับการออมของครัวเรือนลดต่ำลง         นอกจากนี้ยังประเมินว่าหากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว เงินกู้ยืมภาคครัวเรือนปี 2564 อาจมีโอกาสเติบโตสูงกว่าปี 2563 ผลที่ตามมาคือสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีจะขยับสูงขึ้นอยู่ที่ประมาณร้อยละ 89-91 ต่อจีดีพีในปี 2564         ทั้งนี้ตัวเลขเงินกู้ยืมภาคครัวเรือนไตรมาสที่ 4 ปี 2563 จากเว็บไซต์ ธปท. ปรับปรุงล่าสุดวันที่ 31 มีนาคม 2564 พบว่า เป็นเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล 10,778,538 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ 4,785,134 ล้านบาท ซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ 1,781,439 ล้านบาท เพื่อการศึกษา 309,608 ล้านบาท เพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่น 3,902,357 ล้านบาท  และบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของ ธปท. 1,027,240 ล้านบาท ความโหดร้ายของหนี้นอกระบบ         หนี้นอกระบบเป็นปัญหาและโหดร้ายต่อผู้กู้ทั้งในแง่กฎหมายและมนุษยธรรม ข้อมูลของศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กรมสืบสวนคดีพิเศษ พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561–วันที่ 24 พฤษจิกายน 2562 ในส่วนที่มีการร้องเรียนไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี มีผู้ร้องเรียนจำนวน 4,748 รายกระจายไปตามภาคต่างๆ โดยพื้นที่ภาคกลางมีมากที่สุดถึง 1,926 ราย และ 663 รายอยู่ในเขตกรุงเทพฯ         ปัจจุบันมีแอปพลิเคชั่นเงินกู้-ในที่นี้เฉพาะที่ผิดกฎหมาย-เกิดขึ้นจำนวนมาก สามารถกู้ง่าย เร็ว ไม่มีขั้นตอนยุ่งยาก ทำให้ประชาชนที่เข้าไม่ถึงเงินกู้ในระบบต้องตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก กรณีการเข้าจับกุมแอปพลิเคชั่นเงินกู้นอกระบบรายใหญ่ของชาวจีน 2 คนในกรุงเทพฯ เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมาของศูนย์ปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ (ศปน.ตร.) พบว่ามีเงินหมุนเวียนถึง 20 ล้านต่อวัน มีพนักงานทวงหนี้คนไทย 53 คน และไม่ได้มีแอปยูบาท (U Baht) เพียงแอปเดียว         แต่มีถึง 12 แอป ได้แก่ 1.speed wallet 2.cash 24 3.Marscash 4.bee bath max 5.cash 24 6.u-wallet 7.yoo card 8.cash map 9.take cash 10.pp cash 11.lend cash และ 12.เงินฟ้าผ่า โดยมีข้อมูลลูกหนี้ 8,600 กว่าราย การปล่อยกู้มีตั้งแต่หลักพันถึงหลักหมื่นโดยใช้บัตรประชาชน บัญชีเงินฝาก และหมายเลขโทรศัพท์ ถ้าคุณกู้ 2,000 บาทจะได้รับเงินจริงเพียง 1,300 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละ 35 ต่อสัปดาห์         การตรวจสอบจากเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ​รายชื่อผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลขณะนี้มีเพียง 2 บริษัทคือ บริษัท ซีมันนี่ (แคปปิตอล) จำกัด และบริษัท แอสเซนด์ นาโน จำกัด ดังนั้น หากเจอแอปเงินกู้ที่ไม่ใช่ 2 บริษัทนี้หรือไม่มีแหล่งที่มาชัดเจน ตรวจสอบที่อยู่ไม่ได้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นแอปเงินกู้ผิดกฎหมาย ถ้าหากหลงกู้เงินไปแล้ว คุณอาจเสียมากกว่าที่คิด นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้นบริโภค กล่าวว่า         “ปัญหาสำหรับแอปที่ผิดกฎหมาย คือไม่รู้ว่าวิธีการสมัครจะขอข้อมูลส่วนบุคคลอะไรบ้าง เวลาที่เราสมัครผ่านแอปมักจะขอข้อมูลส่วนบุคคลและเขารู้จากเราฝ่ายเดียว แต่เราไม่รู้เลยว่าแอปที่เราขอกู้เงินเป็นใคร มีตัวตนหรือเปล่า เวลาเราจ่ายหนี้ จ่ายให้ใคร เป็นบุคคลหรือนิติบุคคล ยกเว้นเป็นแอปที่ถูกกฎหมายสามารถตรวจสอบได้ แต่ถ้าผิดกฎหมายบางทีจะขออะไรมากมาย และสิ่งที่เกิดขึ้นคือความเสี่ยงจากการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์หลายรูปแบบ ตั้งแต่ขโมยข้อมูลในโทรศัพท์ ขายข้อมูลของเรา ปัจจุบันจะมีการฝังมัลแวร์ไว้ในระบบโทรศัพท์ เวลาที่เราทำธุรกรรมทางการเงินมันก็จะดูดข้อมูลของเราไปในระดับหนึ่งและอาจขโมยข้อมูลเราไปได้ แอพอาจทำให้เกิดภัยการเงินออนไลน์”         และแน่นอนว่าแอปผิดกฎหมายมีวิธีการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากระบบของแอปพวกนี้จะดูดข้อมูลเบอร์โทรของลูกหนี้ไปและโทรทวงหนี้จากหมายเลขเหล่านั้น การเอาเปรียบของหนี้ในระบบ         ในช่วงเวลายากลำบากนี้ แม้แต่ลูกหนี้ในระบบก็เผชิญปัญหาอีกรูปแบบหนึ่ง แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมาตรการขั้นต่ำออกมาเป็นนโยบายขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์และนอน-แบงค์ในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถชำระหนี้ได้โดยการขอพักชำระหนี้ ซึ่งมีหลายรูปแบบตั้งแต่พักชำระเงินต้น พักชำระดอกเบี้ย พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย แต่พบว่าธนาคารพาณิชย์เลือกมาตรการให้ลูกหนี้พักชำระหนี้เงินต้นโดยยังต้องจ่ายดอกเบี้ยอยู่ ปัญหามีอยู่ว่า         “สมมติเราขอพักชำระหนี้ 6 เดือน เราก็จ่ายแต่ดอกเบี้ย เจ้าหน้ายังได้ดอกเบี้ยอัตราคงที่ ไม่ใช่ลดต้นลดดอก” นฤมลอธิบาย “กรณีที่เจอคือเงินต้นที่ถูกพักเอาไว้ยังถูกคิดดอกเบี้ยอยู่ แทนที่ 6 เดือนที่เราพักชำระหนี้เราจะไม่เสียดอกเบี้ยเลย แต่สุดท้ายก็ยังต้องจ่ายดอกเบี้ยใน 6 เดือนต่อไป คือเดือนที่ 7 ต้องจ่ายดอกเบี้ยเหมือนเดือนที่ 6 พอเดือนที่ 8 ดอกเบี้ยจึงจะลดลงเพราะได้ดอกเบี้ยเดือนที่ 7 ไปลดยอดเงินต้น         “ธนาคารไม่ได้บอกว่าเงินต้นที่พักเอาไว้ 6 เดือนจะไม่คิดดอกเบี้ย ยังถือว่ามีหนี้อยู่อีก 6 เดือน เพราะฉะนั้น 6 เดือนที่ถูกยืดออกไปก็ยังถูกคิดดอกเบี้ยอยู่ มันถูกคิดดอกเบี้ยตลอดเวลา ทั้งที่ดอกเบี้ยเงินต้นที่ยืดออกมามันคือจ่ายไปแล้วใน 6 เดือนที่พักชำระหนี้เงินต้นเอาไว้ ทำให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ อันนี้จึงเป็นนโยบายที่ไม่ได้ช่วยเหลือลูกหนี้จริง เพียงแค่ช่วงที่พักชำระหนี้เงินต้นไม่ต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่เท่านั้น เพราะการช่วยเหลือลูกหนี้จริงๆ มันต้องพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอก”         และในบางกรณีมีลูกหนี้ที่ถูกธนาคารพาณิชย์พักชำระหนี้โดยที่เจ้าตัวไม่ได้ยินยอม ทวงหนี้แบบไหนทำได้ รู้ไว้ลดแรงกดดัน         ในกรณีหนี้นอกระบบ นฤมลเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงแจ้งความดำเนินคดีกับแอปผิดกฎหมาย         ส่วนกรณีของหนี้ในระบบ การทำเข้าใจ พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 เบื้องต้นน่าจะช่วยให้ลูกหนี้มีภูมิคุ้มกันจากการทวงถามหนี้ผิดกฎหมายได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อถกเถียงจากฝั่งเจ้าหนี้ว่ากฎหมายฉบับนี้เข้าข้างฝั่งลูกหนี้มากเกินไป ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดเพราะวัตถุประสงค์ของกฎหมายกำลังพูดถึงพฤติกรรมการทวงถามหนี้ที่เจ้าหนี้สามารถทำได้และทำไม่ได้         ประการแรก เจ้าหนี้สามารถโทรทวงถามหนี้ลูกหนี้ได้เพียงวันละครั้งตั้งแต่ 08.00-20.00 ในวันธรรมดา และ 08.00-19.00 ในวันหยุด ที่กฎหมายกำหนดเช่นนี้เพื่อให้ลูกหนี้มีเวลาจัดการ         ประการที่ 2 ผู้ติดตามทวงหนี้เวลาติดต่อกับลูกหนี้จะต้องแสดงตัวโดยมีเอกสารว่าได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ติดตามทวงถามหนี้ และในกรณีที่จะรับชำระเงินจากลูกหนี้ผู้ทวงถามจะต้องมีใบรับมอบอำนาจจากบริษัท หากถ้าไม่มีเอกสารจะไม่สามารถรับเงินได้ ทวงถามได้อย่างเดียว         ประการต่อมา ผู้ทวงถามหนี้ไม่สามารถทวงหนี้กับบุคคลอื่นที่ลูกหนี้ไม่ได้ระบุไว้ในสัญญาได้ เช่น ลูกหนี้ระบุว่าถ้าไม่สามารถติดต่อตนได้ให้ติดต่อสอบถามกับภรรยา ญาติ หรือบุคคลใดก็ตามที่ลูกหนี้ระบุไว้ โดยกฎหมายให้กล่าวถึงการเป็นหนี้ของลูกหนี้กับบุคคลที่ระบุไว้ในสัญญาเท่านั้น แต่ถ้าเป็นบุคคลอื่นที่ลูกหนี้ไม่ได้ระบุไว้ทำได้แค่ถามสถานที่หรือที่ทำงานของลูกหนี้เท่านั้น เช่น ลูกหนี้ยังอยู่บ้านนี้หรือไม่ หรือทำงานที่นี่หรือเปล่า ไม่สามารถบอกว่าลูกหนี้เป็นหนี้        นฤมลกล่าวว่า หลังจากมีกฎหมายฉบับนี้ออกมา สถานการณ์ปัญหาการทวงถามหนี้มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หนี้เป็นมากกว่าปัญหาระดับปัจเจก         สำหรับลูกหนี้คนใดที่กำลังเผชิญปัญหาหรือใกล้จะเผชิญปัญหา นฤมลแนะนำให้ติดต่อหน่วยงานที่กำกับดูแลโดยตรงอย่าง ธปท. ซึ่งจะช่วยเข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ยกับคู่สัญญาให้ อย่ารอให้ผิดนัดชำระหนี้         “เราเคยมีข้อเสนอต่อธนาคารแห่งประเทศไทยหลายเรื่อง ถ้าเป็นหนี้ในช่วงสถานการณ์โรคระบาดทางธนาคารแห่งประเทศไทยควรมีนโยบายปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลหรือพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจนถึงปลายธันวาคม 2564 ให้เศรษฐกิจฟื้นตัว คนมีงานทำ หรือจนกว่าจะมีสามารถชำระหนี้ได้ก็ค่อยชำระหนี้ มันก็จะช่วยเหลือผู้บริโภคมากกว่าการใช้มาตรการขั้นต่ำ เพราะถ้าเป็นมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยมันจะชัดเจน แต่ถ้าเป็นการขอความร่วมมือและออกมาตรการขั้นต่ำ ธนาคารพาณิชย์จะทำหรือไม่ทำก็ได้ซึ่งก็ทำ แต่ทำขั้นต่ำ คือพักชำระหนี้เงินต้น”         ถอยออกมาเพื่อมองภาพในระดับที่ใหญ่ขึ้น เราจะพบปัญหาเชิงระบบที่หลบซ่อนแบบเปิดเผยมานานมากนั่นคือ การเข้าถึงสินเชื่อถูกกฎหมาย ซึ่งทำให้คนจำนวนมากโดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพอิสระและแรงงานนอกระบบไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ ต้องวิ่งเข้าหาหนี้นอกระบบ แม้ว่าจะมีความพยายามแก้ไข แต่ก็ยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร เป็นการฉีกช่องว่างความเหลื่อมล้ำให้กว้างขึ้น        อีกด้านหนึ่งเมื่อมองในแง่ความเป็นธรรมทางสังคม เงินที่ธนาคารปล่อยกู้มาจากเงินฝากของผู้ฝากรายย่อยจำนวนมาก แต่ผู้ฝากรายย่อยกลับไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อของธนาคารได้ผิดกับผู้กู้รายใหญ่ นอกจากนี้ ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ถูกวิจารณ์ว่ามีส่วนต่างมากเกินไป         ปัญหาหนี้สินจึงไม่ใช่แค่ปัญหาระดับปัจเจก ยังมีโครงสร้างและระบบอันบิดเบี้ยวค้ำจุนมันอยู่

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 241 ใบแจ้งหนี้ที่ไม่แจ้งยอดหนี้

        หลายบริษัทไฟแนนซ์เมื่อเราซึ่งเป็นลูกค้ากลายเป็นลูกหนี้ที่ค้างชำระ หนี้ของเราจะถูกโอนไปให้สำนักงานทนายความมารับคดีไปทำ ซึ่งเวลาที่ผู้บริโภคจะติดต่อเรื่องราวก็ต้องทำกับสำนักงานทนายความ เพราะบริษัทไฟแนนซ์บอกว่า ให้ติดต่อสำนักงานทนายความเลย แต่หากสำนักงานทนายความไม่ยอมแจ้งยอดหนี้ว่าจริงๆ คือเท่าไร ลูกหนี้อย่างเรามีสิทธิทำอะไรได้บ้าง         ศาลมีคำพิพากษาให้คุณภูผาชำระหนี้ส่วนต่างค่ารถยนต์กับบริษัทไฟแนนซ์ จำนวน 172,000 บาท  ซึ่งบริษัทไฟแนนซ์เจ้านี้ได้ให้สำนักงานทนายความเข้ามาดำเนินคดีแทนตั้งแต่แรก เวลาติดต่อเรื่องการชำระหนี้ก็จะต้องติดต่อสำนักงานทนายความนี้ หลังจากมีคำพิพากษาประมาณ 1 เดือน สำนักงานทนายความโทรศัพท์มาติดตามให้เขาชำระหนี้ตามคำพิพากษาแทบทุกวัน จนกระทั่งเขาหาเงินมาจ่ายหนี้ได้ ในวันชำระหนี้ทนายความให้เขาไปรอที่ธนาคารเพื่อจะให้ชำระหนี้ ทนายความจะส่งเอกสารในการชำระหนี้มาให้         เมื่อเขาไปถึงธนาคารก็บอกทนายไปว่ามาถึงแล้ว สักพักทนายส่งเอกสารใบแจ้งหนี้มาให้ ในใบแจ้งหนี้มีแต่ชื่อตัวเขาและคิวอาร์โค้ดสำหรับการชำระหนี้เท่านั้น เขางงว่าทำไมทนายความส่งมาให้แบบนี้ไม่เห็นบอกยอดหนี้ที่เขาต้องชำระเลย เขาจึงสอบถามทนายความไปว่าทำไมไม่แจ้งยอดหนี้มาในใบแจ้งหนี้ ทนายความก็บอกเพียงแต่ว่าให้เอาเอกสารนี้ยื่นให้ธนาคาร ใบแจ้งหนี้มีเท่าที่เห็นไม่มีการบอกตัวเลขยอดหนี้ ซ้ำทนายความยังขู่ให้โอนทันที แต่คุณภูผา “ไม่ไว้ใจ” สงสัยว่าทำไมทนายความถึงไม่แจ้งยอดหนี้ในใบแจ้งหนี้ บอกเพียงปากเปล่าเท่านั้น จึงสอบถามมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าควรทำอย่างไรดี แนวทางการแก้ไขปัญหา          ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะนำว่า ผู้ร้องมีสิทธิที่จะทราบรายละเอียดและเงื่อนไขการกู้ เงินต้น ดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมต่างๆ ดังนั้นผู้ร้องสามารถแจ้งทนายความได้เลยว่า ผู้ร้องเป็นลูกหนี้ควรต้องรู้รายละเอียดในการชำระหนี้ของตนเอง ถ้าเราไม่รู้รายละเอียดยอดหนี้ก็คงไม่สามารถชำระหนี้ได้         ส่วนกรณีที่ผู้ร้องถูกขู่ อาจเข้าข่ายเป็นการทวงหนี้ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ. ทวงหนี้ พ.ศ. 2558 สามารถร้องเรียนได้ที่ ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง คณะกรรมการกำกับทวงถามหนี้ประจำจังหวัด กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ยิ่งกรณีของผู้ร้องเป็นทนายความด้วย ผู้ร้องสามารถร้องเรียนมรรยาททนายความกับทนายความ และสำนักงานทนายความได้ที่ สภาทนายความฯ อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 คนถือบัตรเสริมต้องรับผิดร่วมกับบัตร (เครดิต) หลักทุกกรณีหรือไม่

        ในปีนี้ เชื่อว่าหลายท่านคงมีการปรับตัวในการดำเนินชีวิตไปพอสมควรจากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด 19 เรื่องที่จะหยิบยกมาแบ่งปันในวันนี้ ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวการใช้บัตรเครดิต หลายท่านรู้จักและได้ใช้บัตรเครดิต เพราะในยุคนี้ต้องยอมรับว่าการใช้บัตรเครดิตทำให้เราสะดวกมากขึ้น แต่ภายใต้ความสะดวกก็ต้องมีสิ่งที่เราต้องพิจารณาคือการใช้จ่ายอย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดหนี้ค้างจนกระทบต่อเงินในบัญชีของเรา          คดีที่จะนำมาเล่าสู่กันฟัง ก็เป็นเรื่องของคนใช้บัตรเสริมของบริการบัตรเครดิต ที่ตอนสมัครก็ไปลงลายมือชื่อในสัญญาสมัครบัตรเครดิตว่า ยอมรับผิดร่วมกับบัตรหลัก  ครั้นพอคนใช้บัตรหลักเป็นหนี้สถาบันการเงินก็มาฟ้องให้คนถือบัตรเสริมร่วมรับผิดด้วยก็เกิดการโต้แย้งกันเพราะคนใช้บัตรเสริมเห็นว่า ตนไม่ควรต้องรับผิดในหนี้ที่ตนเองไม่ได้ร่วมใช้ คดีก็สู้กันจนถึงศาลฏีกาและศาลได้ตัดสินคดีเป็นบรรทัดฐานเพื่อคุ้มครองสิทธิคนถือบัตรเสริม         กล่าวคือ คนถือบัตรเสริมไม่ต้องร่วมรับผิดใช้หนี้ของบัตรหลักเพราะตอนทำสัญญาสถาบันการเงินยึดถือผู้ใช้บัตรหลักเป็นลูกหนี้หลัก อีกทั้งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตสำหรับผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 ระบุชัด ให้ผู้ถือบัตรหลักจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบชำระหนี้อันเกิดจากบัตรเสริมทั้งหมด ดังนั้นข้อสัญญาที่ระบุให้คนถือบัตรเสริมต้องร่วมรับผิดกับลูกหนี้บัตรหลักจึงเป็นข้อสัญญาไม่เป็นธรรม ไม่มีผลใช้บังคับได้          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2765/2560         แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นผู้ลงลายมือชื่อในเอกสารเป็นคู่สัญญาและมีข้อกำหนดในข้อ 1 ระบุว่า สมาชิกบัตรหลักและสมาชิกบัตรเสริมตามที่ปรากฏในใบสมัครจะต้องผูกพันร่วมกันในฐานะลูกหนี้ร่วมรับผิดชอบชำระหนี้ค่าสินค้าและหรือบริการอันเกิดจากการใช้บัตรเครดิตรวมทั้งค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ก็ตาม แต่เอกสารดังกล่าวนั้นมิใช่นิติกรรมประเภทสัญญาที่จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม เพราะสัญญาบัตรเครดิตนั้นสามารถแยกการใช้จ่ายได้ระหว่างบัตรหลักคือบัตรเครดิตของจำเลยที่ 1 กับบัตรเสริมหรือบัตรเครดิตเสริมที่โจทก์ออกให้จำเลยที่ 2 นอกจากนี้เอกสารก็มิใช่สัญญาค้ำประกันที่จะผูกพันจำเลยที่ 2 ในอันที่จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม โดยเห็นได้ชัดว่าการทำบัตรเครดิตหลักและบัตรเครดิตเสริมนั้น โจทก์มุ่งหมายให้ผู้ใช้บัตรเครดิตหลักซึ่งเป็นผู้ที่น่าเชื่อถือกว่าผู้ใช้บัตรเครดิตเสริมเป็นลูกหนี้หลัก ทั้งตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตสำหรับผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 ระบุชัดให้ผู้ถือบัตรหลักจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบชำระหนี้อันเกิดจากบัตรเสริมทั้งหมด          ดังนั้นข้อกำหนดเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเครดิตหลักจะต้องมีมากกว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเครดิตเสริมโจทก์จะพิจารณาดูจากเครดิตหรือความน่าเชื่อถือเกี่ยวกับการชำระหนี้จากผู้ถือบัตรหลักคือจำเลยที่ 1 แล้วโจทก์จึงอนุญาตในการออกบัตรเครดิตเสริมให้แก่จำเลยที่ 2 โดยลักษณะของสัญญาที่โจทก์ทำกับจำเลยทั้งสองเช่นนี้ ย่อมเห็นได้ถึงเจตนาในการทำสัญญาของโจทก์ว่า โจทก์ประสงค์จะให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเครดิตหลักเป็นผู้รับผิดชอบต่อหนี้สินทั้งหมดของจำเลยที่ 1 เองและของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเสริมเท่านั้น มิใช่ต้องการให้จำเลยที่ 2 ผู้ถือบัตรเครดิตเสริมต้องมาร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 แม้ในเอกสารที่โจทก์ให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อไว้ในใบสมัครบัตรเสริมจะมีข้อความกำหนดให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมก็ตาม แต่ข้อกำหนดในเอกสารคำขอเปิดบัตรเครดิตเสริมนั้นไม่ถือว่าผูกพันจำเลยที่ 2 นอกจากนี้ข้อสัญญาดังกล่าวยังถือว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้บริโภคด้วยประกอบกับจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวเป็นผู้ใช้บัตรเครดิตหลักในการก่อหนี้โดยตรงกับโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงเป็นลูกหนี้โดยตรงเพียงคนเดียวที่มีหน้าที่ต้องชำระหนี้แก่โจทก์ เช่นนี้จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องผูกพันร่วมรับผิดกับหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ค้างชำระต่อโจทก์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 ด่วนค่ะ หนูจะถูกยึดบ้านไหม

        กริ้ง กริ้ง กริ้ง เสียงโทรศัพท์ดังขึ้น ณ สำนักงานมูลนิธิฯ “สวัสดีค่ะพี่ หนูมีเรื่องอยากปรึกษาค่ะ” ผู้ร้อง “พี่ค่ะ พอดีว่าหนูเป็นหนี้บัครเครดิต... ประมาณ พี่ขา บ้านหนูจะถูกยึดไหมค่ะ เป็นหนี้เขา120,000 บาท แล้วหนูผิดนัดชำระหนี้เพราะหนูตกงานและหมุนเงินไม่ทัน” เมื่อทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ สอบถามว่าอยู่ในขั้นตอนใด ถูกฟ้องหรือยัง ผู้ร้องตอบเสียงสั่นๆ ว่า “ถูกฟ้องแล้วค่ะ บริษัทบัตรเครดิตฟ้องหนูที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2561 โน้นค่ะ วันที่เขานัดหนูก็ไปศาลมาค่ะ หนูทำสัญญาประนอมหนี้กับบริษัทบัตรเครดิตที่เป็นเจ้าหนี้หนูว่า หนูจะชำระหนี้เดือนละ 3,000 บาท แต่ช่วงปีที่ผ่านมาหนูก็ไม่มีรายได้ค่ะ หนูเลยไม่สามารถผ่อนเขาได้ตามที่ตกลงไว้ ตอนนี้บริษัทเขาก็ตั้งเรื่องบังคับคดี เพื่อจะยึดทรัพย์หนูค่ะ หนูต้องทำยังไงดีค่ะพี่”          “ผู้ร้องมีทรัพย์สินอะไรบ้างไหม เช่น บ้าน รถ ที่ดิน เงินฝาก”         “หนูมีบ้านพร้อมที่ดินหนึ่งหลังค่ะ แต่เป็นชื่อร่วมหนูกับน้องชาย”         “ใจเย็นๆ ครับ ผู้ร้องสามารถเลือกจัดการปัญหาได้ 3 ทาง อย่างนี้นะครับ”   แนวทางการแก้ไขปัญหา         ช่องทางแรก ถ้าผู้ร้องไม่ต้องการให้บ้านของผู้ร้องถูกบังคับคดี ผู้ร้องจะต้องติดต่อกับเจ้าหนี้โดยด่วน เพื่อผ่อนชำระหนี้ โดยผู้ร้องต้องมีตัวเลขอยู่ในใจแล้วว่าจะตกลงกับเจ้าหนี้ที่ตัวเลขเท่าไร เพราะถ้าประนอมหนี้ได้ก็จะต้องชำระให้ครบทุกงวดผิดนัดแม้แต่งวดเดียวไม่ได้         ช่องทางที่สอง ถ้าไม่สามารถตกลงกันได้หรือเจ้าหนี้ไม่ยอมตกลงด้วย ก่อนที่จะบังคับคดีผู้ร้องสามารถติดต่อที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยของกรมบังคับคดีเพื่อประนอมหนี้ได้อีกครั้งในขั้นสุดท้าย ก่อนที่จะบังคับคดี โดยทางกรมบังคับคดีจะเรียกเจ้าหนี้และผู้ร้องเข้ามาคุยกันอีกครั้งเป็นครั้งสุดท้าย ถ้าสามารถตกลงกันได้และตราบใดที่ยังคงชำระหนี้อย่างต่อเนื่องก็จะไม่มีการบังคับคดีเกิดขึ้น แต่ถ้าเรียกแล้วเจ้าหนี้ไม่มา กรมบังคับคดีก็ไม่สามารถบังคับเจ้าหนี้ได้ เพราะฉะนั้นจึงขึ้นอยู่กับเจ้าหนี้เป็นหลัก ว่าจะเห็นใจผู้ร้องหรือไม่         ช่องทางที่สาม ถ้าไม่สามารถประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ได้ หรือเจ้าหนี้ไม่ยอมให้ผ่อนชำระอีก ซึ่งส่วนมากเจ้าหนี้จะให้ปิดด้วยเงินก้อนเดียวโดยอาจยอมลดยอดหนี้ลงมา ผู้ร้องก็ต้องดูว่าสามารถรวบรวมเงินจากพี่น้องหรือญาติคนไหนได้บ้างเพื่อนำมาปิดบัญชีนี้ไว้ก่อน  แล้วค่อยหาทางชำระหนี้กับผู้ที่หยิบยืมมาในภายหลัง         ถ้าทั้งสามช่องทางข้างต้นผู้ร้องไม่สามารถทำได้ และยังต้องการบ้านไว้ ผู้ร้องก็อาจจะต้องหาคนเข้ามาช้อนซื้อทรัพย์ที่จะขายทอดตลาดเอาไว้ก่อนเพื่อไม่ให้บ้านตกเป็นของผู้อื่นและบ้านที่จะขายจะได้มีราคาไม่ต่ำมากจนเกินไปและอาจเพียงพอที่จะชำระหนี้         ในส่วนบ้านของผู้ร้องที่จะถูกบังคับคดีเป็นชื่อของผู้ร้องและน้องชาย ซึ่งถือเป็นกรรมสิทธิร่วม เพราะฉะนั้นก่อนมีการขายทอดตลาดผู้ร้องจะต้องยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอกันส่วนเอาไว้ให้กับน้องชาย เพราะถ้าไม่กันส่วนไว้ เมื่อขายทอดตลาดแล้วน้องชายจะไม่ได้เงินในส่วนของเขา เจ้าหนี้ก็จะนำไปชำระหนี้หมด แต่ถ้ามีการกันส่วนไว้ เมื่อขายทอดตลาดได้เงินแล้วเงินจะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน ในส่วนของผู้ร้องก็จะนำมาชำระหนี้บัตรเครดิต (ถ้าเหลือก็ต้องคืนให้กับผู้ร้อง ถ้าไม่พอก็ต้องก็ต้องยึดทรัพย์สินอื่นอีก) อีกส่วนหนึ่งก็จะกันไว้ให้กับน้องชายของผู้ร้องไม่นำมาชำระหนี้เพราะไม่ได้เป็นหนี้บัตรเครดิตกับผู้ร้องด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 ศาลพิพากษาจ่ายเท่านี้ แต่เจ้าหนี้ให้จ่ายเพิ่มต้องทำอย่างไร

        ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหลายคนคงเคยมีปัญหาว่า เมื่อศาลให้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้เป็นจำนวนเงินหนึ่ง หรือระบุว่า ชำระจำนวนหนึ่ง เมื่อถึงคราวจ่ายจริงเจ้าหนี้กลับบอกให้ชำระอีกยอดหนึ่ง ซึ่งสูงกว่าคำพิพากษา ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา เราจะทำอย่างไรได้บ้างให้เรื่องมันจบโดยไม่เสียหายเกินไป            คุณบุปผาเป็นผู้ค้ำประกันสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กระบะ ราคา 600,000 บาท ให้ลูกชายกับธนาคารแห่งหนึ่ง ต่อมาลูกชายของเธอไม่ส่งค่างวดรถ จนทำให้ธนาคารมายึดรถยนต์ไป และเมื่อธนาคารนำรถออกขายทอดตลาดแล้วปรากฎว่า มีส่วนต่างที่ลูกชายต้องชำระเพิ่มอีก 300,000 บาท ธนาคารจึงมาฟ้องเรียกเงินส่วนต่าง 300,000 บาทนั้น เป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ 15,000 บาท ค่าติดตามรถยนต์ 6,000 บาท กับลูกชายซึ่งเป็นลูกหนี้ เป็นจำเลยที่ 1 และฟ้องคุณบุปผาในฐานะผู้ค้ำประกันเป็นจำเลยที่ 2          ต่อมาลูกชายของเธอเสียชีวิตกะทันหัน อย่างไรก็ตามเธอได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีในฐานะผู้ค้ำประกันจนศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 (ลูกชาย) ชำระหนี้ 150,000 บาท ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ 9,000 บาท ค่าติดตามรถยนต์ 3,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 162,000 บาท และเธอในฐานะผู้ค้ำประกัน ชำระหนี้ 150,000 บาท ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ 6,000 บาท ค่าติดตามรถยนต์ 2,000 บาท เนื่องจากธนาคารมีหนังสือถึงผู้ค้ำประกัน เรื่องการประมูลรถยนต์เกินเวลาตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งข้อความเหล่านี้เป็นเหตุผลและรายละเอียดในคำพิพากษา และให้ชำระค่าทนายความอีก 3,000 บาท         หลังจากมีคำพิพากษาแล้ว ประมาณหนึ่งเดือนสำนักงานทนายความตัวแทนของธนาคารที่ดำเนินการฟ้องคดีคุณบุปผาโทรศัพท์มาทวงถามให้เธอชำระหนี้ทุกวัน ถ้าวันไหนไม่รับสายก็โทรมาหลายครั้ง แต่เมื่อได้พูดคุยทางเจ้าหน้าที่ของทางสำนักงานทนาย ซึ่งแจ้งว่าตนอยู่ฝ่ายเร่งรัดหนี้สิน บอกว่าเธอมียอดหนี้ประมาณเกือบ 200,000 บาท อ้างว่า “ยึดยอดหนี้ตามหมายบังคับคดีและบวกดอกเบี้ยเพิ่มเข้าไป”         เธอจึงขอให้เจ้าหน้าที่ช่วยอ่านคำบังคับให้ฟัง “ตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล จังหวัดนครปฐม ที่บังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ 162,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (18 มีนาคม 2563) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ หากชำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินดังกล่าวแทนโจทก์ แต่ค่าขาดประโยชน์ให้รับผิดไม่เกิน 6,000 บาท ค่าติดตามไม่เกิน 2,000 บาท กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นนอกนี้ขอให้ยก” เธอตกใจมาก เพราะว่าเพิ่งผ่านมา 1 เดือน จากยอดหนี้ไม่ถึง 170,000 บาท ทำไมยอดหนี้ถึงเพิ่มขึ้น 20,000 กว่าบาท เริ่มไม่แน่ใจว่าตัวเองเข้าใจคำพิพากษาผิดหรือเปล่า จึงปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้แนะนำผู้ร้องว่า ให้ผู้ร้องไปคัดคำพิพากษาของศาลคดีของผู้ร้อง และยื่นคำร้องให้นิติกรศาลคำนวณเงินที่ต้องชำระให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและคำบังคับในฐานะจำเลยที่ 2 (ผู้ค้ำประกัน) ให้เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการเจรจา และขอให้สำนักงานทนายความชี้แจงรายละเอียดหนี้ของผู้ร้องว่ามีรายละเอียดอย่างไร ทำไมยอดหนี้ถึงสูงขึ้น เช่น จำนวนเงินที่ศาลให้ชำระ ดอกเบี้ย ฯลฯ         ทั้งนี้หากว่าเจ้าหนี้ไม่ชี้แจงยอดหนี้ ผู้ร้องหรือคุณบุปผาสามารถอ้างสิทธิของลูกหนี้ (ลูกหนี้มีสิทธิรับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง เกี่ยวกับรายละเอียดและเงื่อนไขการกู้ เงินต้น ดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ตามประมลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และพ.ร.บ. ทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558)         ต่อเมื่อได้เอกสารชี้แจงจำนวนยอดหนี้ที่ต้องถูกต้องแล้วจึงค่อยชำระหนี้ และขอให้เจ้าหนี้ออกเอกสารที่มีข้อความประมาณว่า เมื่อได้ชำระหนี้จำนวนนี้แล้ว ถือว่าไม่เป้นหนี้สินต่อกันอีก หรือขอใบเสร็จรับเงินในการชำระหนี้ ถ้าเจ้าหนี้ไม่สามารถออกเอกสารเรื่องการชำระหนี้ครบถ้วนหรือไม่สามารถออกใบเสร็จให้ได้ ลูกหนี้ไม่ควรชำระหนี้โดยเด็ดขาด เพราะไม่มีเอกสารอะไรยืนยันเลยว่า ลูกหนี้ได้ชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ครบถ้วนแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 เจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบคิดดอกเบี้ยเกินกฎหมายลูกหนี้เรียกดอกเบี้ยคืนหรือไม่

        ฉบับนี้ขอพูดถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในช่วงนี้  นั่นคือ “การกู้เงิน” อย่างที่เราทราบกันว่า พอเกิดโรคระบาดโควิด หลายคนตกงานขาดรายได้ แต่รายจ่ายยังมีเหมือนเดิม บางคนถึงขั้นต้องไปกู้เงินเพื่อนำมาใช้จ่ายในแต่ละวันและมีคนจำนวนไม่น้อยที่เลือกไปกู้เงินนอกระบบ ผลที่ตามมาคือ ถูกคิดดอกเบี้ยที่สูง เจ้าหนี้นอกระบบบางรายคิดดอกเบี้ยถึงร้อยละ 3 ต่อเดือน ซึ่งแน่นอนว่าเกินอัตราที่กฎหมายให้เรียกได้ กล่าวคือ  กฎหมายกำหนดให้การกู้ยืมเงิน ห้ามคิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ  15 ต่อปี  หรือ  ร้อยละ  1.25  ต่อเดือน หากคิดเกินนี้ ย่อมตกเป็นโมฆะ          อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เคยมีการนำคดีขึ้นสู่ศาล ซึ่งประเด็นที่ว่าดอกเบี้ยที่ลูกหนี้จ่ายทุกเดือนๆ ที่ถูกคิดเกินกฎหมายส่วนนี้ ลูกหนี้จะมีสิทธิเรียกคืนได้หรือไม่  ซึ่งศาลฏีกาได้วางหลักไว้ว่า เงินที่เป็นดอกเบี้ยดังกล่าว ลูกหนี้เรียกร้องให้คืนไม่ได้และเจ้าหนี้ก็ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยดังกล่าวเช่นกัน แต่ต้องนำเงินส่วนนี้ไปหักกับเงินต้นที่ลูกหนี้ค้างชำระตามสัญญากู้ยืมเงิน เมื่อหักแล้วเงินต้นเหลือเท่าใด ลูกหนี้ก็รับผิดชอบหนี้เฉพาะส่วนที่เหลือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5376/2560         การที่จำเลยยอมชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 411 จำเลยหาอาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระได้ไม่ แต่ในข้อนี้ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า โจทก์ในฐานะผู้ให้กู้เป็นฝ่ายเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้จากจำเลย เมื่อข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะแล้วและจำเลยไม่อาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายได้ โจทก์ก็ย่อมไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยดังกล่าวด้วย ต้องนำดอกเบี้ยที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ 7,500 บาท ไปหักเงินต้นตามหนังสือสัญญากู้เงินฉบับที่หนึ่ง คงเหลือหนี้เงินกู้ตามหนังสือสัญญากู้เงินฉบับนี้ 42,500 บาท เมื่อหนังสือสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินและจำเลยมิได้ชำระหนี้ตามกำหนด จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันผิดนัดคือวันถัดจากวันครบกำหนดชำระหนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2560)         ดังนั้น หากท่านใดตกเป็นลูกหนี้นอกระบบ เราควรต้องรอบคอบโดยเก็บหลักฐานการชำระเงินส่วนดอกเบี้ยและเงินต้นแต่ละเดือนไว้ แนะนำให้โอนเข้าบัญชี ไม่ควรชำระเป็นเงินสด เพราะเจ้าหนี้จะไม่มีใบเสร็จหรือหลักฐานชำระหนี้ให้เรา เพื่อหากเกิดข้อพิพาทขึ้น เราจะได้มีหลักฐานต่อสู้ได้ว่าเงินดอกเบี้ยที่เราจ่ายไปนี้ ต้องนำไปหักเงินต้น จะอ้างว่าที่ผ่านมาเราจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยไม่ได้ เพราะเจ้าหนี้ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 1.25 ต่อเดือน หรือร้อยละ 15 ต่อปี นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 สามีหรือภริยาทำหนังสือยินยอมให้คู่สมรสไปค้ำประกันหนี้ ต้องร่วมรับผิดในหนี้นั้นด้วยหรือไม่

        ผมขอหยิบเรื่องใกล้ตัวของคนที่แต่งงานเป็นสามีภริยากันตามกฎหมายแล้วมาเสนอในคราวนี้ครับ  เนื่องจากเห็นว่าในช่วงนี้ มีข่าวเกี่ยวกับคู่สามีภริยาที่เป็นคนดังมีประเด็นพิพาทกันมากมาย โดยเฉพาะเรื่องเงินๆ ทองๆ จึงขอนำเรื่องเกี่ยวกับการค้ำประกันหนี้ของสามีหรือภริยามาเล่าสู่กันฟัง        อย่างที่เราทราบกันว่า เมื่อจดทะเบียนสมรส ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้หลังสมรส ถือเป็นสมบัติร่วมกันของสามีภริยา แต่ถ้าเป็นเรื่องไปก่อหนี้ เช่นการที่สามีหรือภริยา ฝ่ายหนึ่งไปค้ำประกันหนี้ให้ใครสักคน จะถือว่าคู่สมรสของคนที่ไปค้ำประกัน เขาจะต้องร่วมรับผิดในหนี้นั้นด้วยหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ก็มีการพิพาทเป็นคดีขึ้นสู่ศาล และศาลฏีกาได้เคยตัดสินในเรื่องนี้ไว้แล้ว คือ สามีหรือภริยาของคนที่ค้ำประกันไม่ต้องรับผิด เพราะไม่ถือเป็นการให้สัตยาบันตามกฎหมาย แต่ถ้าคู่สมรสคนที่ค้ำประกันเสียชีวิต สามีหรือภริยานั้นต้องรับผิดชอบตามสัญญาค้ำประกันในฐานะทายาทตามหลักกฎหมายมรดก แต่ความรับผิดจะจำกัดไม่เกินทรัพย์มรดกของคู่สมรสที่ตนได้รับ ตามคำพิพากษาศาลฏีกา 8820/2561 (ประชุมใหญ่)          คำพิพากษาศาลฏีกา 8820/2561 (ประชุมใหญ่)            ในส่วนที่ ส. ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไม่ใช่นิติกรรมที่จำต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรส เมื่อจำเลยที่ 2 ให้ความยินยอมไว้เป็นการทั่วไป จึงเป็นการแสดงเจตนารับรู้และไม่คัดค้านที่ ส. สามีไปทำนิติกรรม หาใช่เป็นการให้สัตยาบันตามนัยของบทบัญญัติ มาตรา 1490 (4) ไม่ เนื่องจากไม่มีข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์แต่อย่างใดว่าจำเลยที่ 2 รับรองการที่ ส. ก่อหนี้ขึ้นแล้วตามมูลหนี้ที่มีการทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 คงปรากฏเฉพาะการที่จำเลยที่ 2 รับรู้ถึงการเข้าทำสัญญาค้ำประกันของ  ส. เท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้สัตยาบันการก่อหนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่คู่สมรสได้กระทำไป จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม  แต่หากสามีถึงแก่ความตาย ภริยาคงรับผิดตามสัญญาค้ำประกันในฐานะทายาทโดยธรรมคือรับผิดไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกของสามีที่ตกทอดได้แก่ตนเท่านั้นตาม ม.1601         อยากให้ดูเทียบกับอีกกรณี ที่ภริยาไปลงนามในหนังสือให้ความยินยอมทำสัญญาซื้อขายที่ดิน ต่อมาสามีไปกู้ยืมเงินเพื่อซื้อที่ดิน เช่นนี้ ถือว่าภริยาให้สัตยาบันแล้ว จึงต้องร่วมรับผิดในหนี้กู้ยืมดังกล่าว         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5848/2550         จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์โดยจำเลยที่ 2 ภริยาของจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมในหนังสือให้ความยินยอมซึ่งมีข้อความระบุว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมเกี่ยวกับการซื้อและจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และกู้ยืมเงินจากโจทก์ได้โดยไม่คัดค้าน ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมรับรู้หนี้กู้ยืมเงินที่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นสามีได้ก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวในระหว่างสมรสและจำเลยที่ 2 ให้สัตยาบันในหนี้ดังกล่าวแล้ว จึงเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4) จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์         จากตัวอย่างข้างต้นที่หยิบยกมา เราจะเห็นได้ว่า การเป็นสามีภริยากัน มีสิทธิหน้าที่ซึ่งกันและกัน ดังนั้นเราควรทราบว่าสามีหรือภริยาของตนเองได้ไปทำสัญญาอะไรไว้บ้าง โดยเฉพาะสัญญาที่ก่อให้เกิดหนี้ และหมั่นตรวจสอบว่าตนได้ให้ความยินยอมใดๆ ไปในการดำเนินการของคู่สมรสของตนเอง มีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน เพื่อมิให้เกิดปัญหาความขัดแย้งภายในครอบครัวตามมาภายหลัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 ‘การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ’ ว่าแต่ต้องทำยังไงล่ะ? (จบ)

        เรายังอยู่กับเรื่อง ‘หนี้’ ปัญหาคับอกคับใจคนจำนวนมาก ตอนก่อนๆ หน้านั้น เราจำแนกหนี้ดีกับหนี้เสียกัน จนถึงขั้นตอนแรกของการปลดหนี้ นั่นก็คือการหยุดก่อหนี้เพิ่ม         ลำดับต่อมาคือเราต้องจัดลำดับความสำคัญของหนี้แต่ละก้อน         ฟังดูงงๆ หมายความว่าคุณต้องสำรวจหนี้สินแต่ละก้อนว่าก้อนไหนสร้างภาระดอกเบี้ยมากที่สุด เพื่อหยุดวงจรดอกทบต้น ต้นทบดอกไม่จบสิ้น และก้อนนี้เป็นหนี้ที่คุณควรจัดการก่อนเป็นอันดับแรก         การเรียงลำดับความสำคัญการชำระหนี้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น สิ่งที่ต้องทำต่อมาคือการเจรจาผ่อนผันกับเจ้าหนี้ ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้องหรือสถาบันการเงิน อย่ากลัวหรือคิดไปเองว่าหนี้สถาบันการเงินไม่อาจผ่อนผันได้ อย่างไรเสีย สถาบันการเงินก็ต้องการให้เราผ่อนชำระหนี้ให้หมด แทนที่จะปล่อยให้เป็นหนี้เสีย เมื่อส่วนนี้ลุล่วงก็มาถึงขั้นต่อไปว่า แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาชำระหนี้?         แน่นอนว่าต้องเป็นเงินที่เราทำมาหาได้ ขั้นตอนนี้มี 2 สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป หนึ่ง-การลดรายจ่าย และสอง-การเพิ่มรายได้ เพราะทั้งสองสิ่งนี้จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องและปริมาณเงินที่จะนำไปใช้หนี้ แยกแยะระหว่าง ‘จำเป็น’ และ ‘ไม่จำเป็น’ เลือกใช้จ่ายเฉพาะสิ่งที่จำเป็น ขณะเดียวกันก็หาช่องทางสร้างรายเสริมอื่นๆ จากทักษะความรู้ที่มี เช่น เป็นติวเตอร์ การทำขนม และอื่นๆ อีกมากมาย ไปจนถึงการลงทุนค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ยอมรับว่าเหนื่อย แต่ก็คล้ายกับการออกกำลังกายนั่นแหละ เพราะมันจะช่วยให้เรามีสุขภาพทางการเงินที่ดีในอนาคตและยังช่วยเพิ่มทักษะด้านการจัดการและการทำธุรกิจ         ต่อมา วางแผนการปลดหนี้ เช่น ถ้าคุณมีหนี้อยู่ 3 ก้อน รู้แล้วว่าก้อนไหนมีภาระดอกเบี้ยมากที่สุดคุณต้องจัดการก้อนหนี้นี้ก่อน แต่คงเป็นไปได้ยากที่จะไม่ชำระหนี้อีก 2 ก้อนเลย การเจรจากับเจ้าหนี้ถึงได้สำคัญ คุณอาจผ่อนหนี้ 2 ก้อนหลังลดลงก่อน วางเป้าหมายว่าจะชำระหนี้ก้อนแรกให้จบภายในเวลาเท่าไหร่ เช่น ภายใน 18 เดือน เมื่อมีเป้าหมายชัด คุณจะรู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง ต้องเอาเงินบางส่วนไปใส่ไว้ที่ไหนเพื่อให้เงินงอกเงยแล้วนำกลับมาชำระหนี้ภายหลัง ต้องหารายได้เสริมต่อเดือนเท่าไหร่ ฯลฯ         การกู้หนี้ใหม่มาโปะหนี้เก่ายังเป็นเรื่องต้องห้าม แต่ไม่ถือเป็นกฎตายตัว มันต้องห้ามกรณีรูดบัตรใหม่มาโปะบัตรเก่าและกรณีกู้นอกระบบ ซึ่งยิ่งถือเป็นอันตรายต่อร่างกายและชีวิตทางการเงินที่ควรหลีกเลี่ยง                 โชคดีที่โลกนี้มีสิ่งที่เรียกว่าการ ‘รีไฟแนนซ์’ (Refinance) ซึ่งมักจะใช้ในกรณีการกู้ซื้อบ้าน จริงๆ มันก็คือการกู้หนี้ใหม่มาชำระหนี้เก่าโดยใช้สินทรัพย์ที่มีอยู่เดิมเป็นหลักประกัน โดยทำผ่านสถาบันการเงิน ใช่ว่ามันไม่ได้ทำให้หนี้หายไป มันเพียงทำให้หนี้เก่าที่มีภาระดอกเบี้ยสูงจบ แล้วคุณไปจ่ายหนี้ก้อนใหม่ให้กับสถาบันการเงินด้วยดอกเบี้ยที่ถูกลง       เมื่อหนี้ก้อนแรกจบ หมายความว่าคุณจะมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น เงินที่จะใช้ชำระหนี้ก้อนต่อมาก็จะเพิ่มขึ้นและจบหนี้ก้อนนี้ได้เร็วขึ้นอีกเป็นวงจรไปเรื่อยๆ บางคนเรียกวิธีนี้ว่า สโนว์บอล (snow ball) จากเงินใช้หนี้ก้อนเล็กๆ หากวางแผนและจัดการดีๆ มันจะขยายใหญ่ขึ้น เหมือนลูกบอลหิมะที่ไหลลงจากเขา       หลังจากปลดหนี้แล้ว อย่าลืมรักษาวินัยทางการเงินและเลี่ยงการเป็นหนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 ‘การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ’ ว่าแต่ต้องทำยังไงล่ะ? (1)

        ตอนที่แล้วเราคุยกันเรื่อง ‘หนี้’ พร้อมกับแยกหนี้ดีและหนี้เสียให้เห็น แต่เอาเข้าจริงสิ่งที่คนมีหนี้สินส่วนใหญ่อยากรู้มากที่สุดน่าจะเป็นว่า         “แล้วฉันจะปลดหนี้ได้ยังไง?”         นี่เป็นคำถามคลาสสิกกันเลยทีเดียว ถึงกับมีหนังสือที่ว่าด้วยการปลดหนี้โดยเฉพาะ ลองมาดูกันก่อนว่าคนไทยแบกหนี้กันหนักแค่ไหน ผลสำรวจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เมื่อปีที่แล้ว พบว่าคนไทยมีหนี้ครัวเรือน 340,053 บาท ต่อ 1 ครัวเรือน เป็นหนี้ในระบบประมาณร้อยละ 59.2 ต้องจ่ายหนี้ 16,960 บาทต่อเดือน กับหนี้นอกระบบอีกร้อยละ 40.8 ส่วนนี้ต้องจ่ายหนี้ต่อเดือน 5,222 บาท             ผลสำรวจนี้ยังแบ่งตามอาชีพด้วย ได้แก่ ข้าราชการ พนักงานเอกชน เจ้าของกิจการ แรงงานรับจ้างรายวัน และเกษตรกร ใน 5 อาชีพนี้มี 2 อาชีพที่มีแหล่งหนี้เหมือนกันเป๊ะ แค่สลับตำแหน่งความมากน้อยของหนี้         เฉลย-ข้าราชการและพนักงานเอกชนเป็นหนี้บ้าน หนี้รถ และหนี้บัตรเครดิต แต่สาเหตุการเกิดหนี้ของข้าราชการเรียงลำดับจากบ้าน รถ และบัตรเครดิต ส่วนพนักงานเอกชนจะเป็นรถ บัตรเครดิต และบ้าน ขณะที่ 3 อาชีพที่เหลือหนี้บัตรเครดิตไม่ติด 3 อันดับแรก ตรงนี้ก็น่าสนใจว่าเป็นเพราะอะไร         กลับมาสู่คำถามที่ว่า “แล้วฉันจะปลดหนี้ได้ยังไง?”         สิ่งแรกที่ต้องทำเลยคือการ ‘หยุดก่อหนี้เพิ่ม’ ทั้งหนี้ดี-หนี้ไม่ดี เอาล่ะๆ หนี้บ้าน หนี้รถ ซึ่งเป็นหนี้ผ่อนกันยาว ก่อแล้วใช่ว่าจะหยุดง่ายๆ ตรงนี้ละเอาไว้ อาจจะฟังดูยวนยีไปหน่อย แต่ลองคิดดูว่าคุณจะปลดหนี้สินได้ยังไง ถ้าจ่ายหนี้ทุกเดือนและยังก่อหนี้ใหม่ทุกเดือน สิ่งที่ต้องจำให้ขึ้นใจเลย ‘อย่าสร้างหนี้ใหม่เพื่อเอาไปโปะหนี้เก่า’ แบบนี้ยิ่งหนัก เพราะจะทำให้เงื่อนหนี้ที่รัดคอคุณอยู่ ยิ่งรัดหนักขึ้นและแก้ยากขึ้น         คงเคยได้ยิน คนที่มีบัตรเครดิตหลายใบ รูดปื๊ดๆ เพลินๆ ไป จนผ่อนไม่ไหว ต้องกดเงินสดจากบัตรใบหนึ่งมาจ่ายหนี้บัตรอีกใบ สุดท้ายก็พัง         มีคำแนะนำชนิดหักดิบว่า หักบัตรเครดิตทิ้ง เป็นวิธีการที่ดุดันอยู่ แต่ก็ไม่ค่อยอยากแนะนำ เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่บัตรเครดิต ลองนึกดู ในสถานการณ์ที่ ‘จำเป็น’ ต้องใช้เงิน แล้วคุณมีเงินสดไม่พอหรือมีเงินออมฉุกเฉินอยู่ในรูปของกองทุนตราสารเงิน ซึ่งการจะได้เงินสดกลับคืนมาต้องใช้เวลา 1 วันหรือ 2 วัน ถ้าคุณสั่งขายหน่วยลงทุนหลัง 15.00 น. บัตรเครดิตจะเป็นตัวช่วยที่ดี         อย่าลืม! ต้องแยกให้ออกว่าอะไร ‘จำเป็น’ และ ‘ไม่จำเป็น’         ดังนั้น ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่บัตรเครดิต หากอยู่ที่วิธีและวินัยในการใช้บัตรเครดิตต่างหาก         ส่วนว่าจะแก้วิธีและวินัยอย่างไร ตอบยากมาก เพราะมันเป็นเรื่องของวิธีคิดและพฤติกรรมของแต่ละบุคคล         กลับมาเรื่องแก้หนี้ ซึ่งยังไม่จบ เพราะแค่ข้อแรกเอง มันยังมีขั้นตอนและรายละเอียดอื่นๆ อีกพอสมควร แต่พื้นที่จบแล้ว คงต้องไปต่อกันตอนหน้า และอย่างที่บอกเสมอ เรื่องการเงินส่วนบุคคลไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคลไปเสียหมด เรื่องหนี้ก็ไม่ต่างกัน แนวทาง นโยบาย และการบริหารของรัฐเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออกเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 หนี้ดีกับหนี้ไม่ดี เลือกเอา

        ยุคนี้น่าจะหาคนไม่เป็น ‘หนี้’ ได้ยากเต็มที พูดกันขำๆ ว่าคนมีหนี้ถือว่าเป็นคนมีเครดิต แต่ถามหน่อยเถอะ! อยากเป็นหนี้จริงๆ เหรอ?         การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ ไม่มีใครอยากเป็นหนี้หรอกถ้าไม่จำเป็น        ทำไมเราถึงเป็นหนี้ ตอบแบบกำปั้นทุบดินก็คือสภาพคล่องไม่พอ รายจ่ายมากกว่ารายได้ แต่มันต้องไปค้นสาเหตุอีกว่าทำไมรายจ่ายถึงมากกว่ารายได้ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่เกิดเหตุไม่คาดฝันทำให้ต้องใช้เงินก้อน เช่น ซ่อมรถ อุบัติเหตุ หรืออื่นๆ (เงินฉุกเฉินจึงสำคัญ) การวางแผนจัดสรรเงินไม่ดี ไม่ได้ตระเตรียมล่วงหน้า ง่ายๆ ก็ค่าเทอมลูก ค่าประกันรถ ซึ่งเป็นรายจ่ายที่เรารู้ล่วงหน้าและสามารถทยอยสะสมได้         หรือเกิดจากนิสัยส่วนตัว เช่น การใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เห็นเพื่อนมีแล้วต้องมีบ้าง (อย่าทำเป็นเล่นไป มีคนที่คิดแบบนี้จริงๆ ทั้งที่รายได้สัปดาห์ละหลายหมื่น แต่แข่งรวยกับเพื่อน สุดท้ายก็ต้องหาเงินด้วยวิธีผิดกฎหมาย แล้วจบไม่สวย) การต้องการสินค้าแบบเดี๋ยวนั้นเวลานั้น อดใจไม่ได้ รูดปื๊ดๆ รู้ทั้งรู้ว่าดอกเบี้ยบัตรเครดิตแพงแค่ไหน         แล้วจะจัดการหนี้สินอย่างไร?         อันนี้ต้องย้อนกลับไปเริ่มจากสาเหตุก่อน เพราะหนี้เป็นปลายทาง จากตัวอย่างที่พูดมาข้างบน การวางแผนการใช้จ่าย การสำรองเงินฉุกเฉิน การตระเตรียม จัดสรรเงิน สำหรับรายจ่ายที่รู้แน่นอนในอนาคต         การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย ลดการซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็น เก็บเงินซื้อโดยจ่ายเป็นเงินก้อน ถ้าจะจ่ายด้วยบัตรเครดิตก็ต้องรู้ว่าเมื่อถึงรอบเราสามารถจ่ายได้ทั้งหมด ไม่ใช่จ่ายขั้นต่ำ         แต่ต้องทำความเข้าใจด้วยนะว่า ไม่ใช่หนี้ทุกชนิดเป็นหนี้ไม่ดี         แปลว่าอะไร? มีหนี้ที่ดีด้วยเหรอ?         มีสิ! หนี้ไม่ดีนั้นชัดเจน ส่วนใหญ่มักเป็นหนี้เพื่อการบริโภค เสื้อผ้า เครื่องสำอาง เที่ยว แก็ดเจ็ดนั่นนู่นนี่ ไม่ได้บอกว่าซื้อไม่ได้ แต่ต้องประเมินตัวเองได้ว่าจุดไหนที่เกินกำลังและจะก่อหนี้         ส่วนหนี้ที่ดีเป็นหนี้ที่จะช่วยต่อยอดผลประโยชน์ในอนาคตหรือหนี้ที่สร้างรายได้ งงล่ะสิ สมมติคุณเพิ่งทำงานใหม่ๆ เงินเดือน 25,000 บาท เพื่อนๆ ขับรถมาทำงาน เลยอยากมีบ้าง ไม่ต้องถามว่าจำเป็นมั้ย? มนุษย์สามารถหาเหตุผลให้ตัวเองได้เสมอแหละ ต้องผ่อนเดือนเท่าไหร่ล่ะ ทั้งที่การใช้ขนส่งสาธารณะประหยัดกว่า แม้จะไม่สะดวกเท่า ซ้ำไม่ต้องเสียค่าน้ำมัน ค่าประกัน ค่าบำรุงรักษา แบบนี้ถือเป็นหนี้ไม่ดี          กับอีกคน กู้เงินมาซื้อรถเพื่อใช้เป็นเครื่องมือทำมาหากิน ใช้ส่งของ ใช้เดินทางไปติดต่อลูกค้า แบบนี้ถือเป็นหนี้ดีที่ยอมรับได้เพราะมันเป็นตัวช่วยสร้างรายได้          จะเห็นว่ากู้เงินซื้อรถเหมือนกัน แต่หนี้ที่เกิดขึ้นไม่เหมือนกัน         หรือการกู้เงินมาเทคคอร์สอะไรสักอย่างที่คุณคิดแล้วว่า หากมีความรู้ด้านนี้จะช่วยเพิ่มทักษะหรือต่อยอดให้กับอาชีพการงาน ซึ่งจะส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคต นี่ก็ถือเป็นหนี้ดีที่ยอมรับได้อีกเช่นกัน         เอาล่ะ ลองสำรวจตัวเองดูว่าตอนนี้หนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ดีหรือหนี้ไม่ดี แล้วหาวิธีจัดการกับหนี้ไม่ดีซะ        ส่วนรายจ่ายจำเป็นอย่างค่าเทอม ค่ารักษาพยาบาล ใช่ เราต้องมีสำรองไว้ แต่ต้องไม่ลืมว่าเราเองมีสิทธิที่รัฐต้องจัดให้อย่างสิทธิในการเรียนฟรี สิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล อย่างที่เคยบอก เรื่องเงินไม่ใช่เรื่องของตัวเราเองโดยสมบูรณ์ มันเป็นหน้าที่ของรัฐด้วยเหมือนกันที่จะดูแลประชาชนในส่วนที่เป็นสิทธิ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 คดีบัตรเครดิต คนใช้บัตรหลักก่อหนี้คนเดียว คนใช้บัตรเสริมต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่?

        สวัสดีคุณผู้อ่านทุกท่านครับฉบับนี้ เรามาพูดถึงเรื่องที่หลายท่านเคยเจอหรืออาจเจอสักวัน คือการเป็นหนี้บัตรเครดิต บางคนมีบัตรหลายใบ บางคนทำบัตรเครดิตทั้งบัตรหลักและบัตรเสริม จึงมีคนสงสัยว่า กรณีเราเป็นคนใช้บัตรเสริม เกิดวันหนึ่งคนใช้บัตรหลักไปสร้างหนี้ไว้ เราจะถูกฟ้องให้รับผิดแบบลูกหนี้ร่วมด้วยหรือไม่ เพื่อคลายข้อสงสัยนี้ จึงขอหยิบยกคดีตัวอย่างสักเรื่องซึ่งศาลฏีกาได้เคยตัดสินไว้ และเป็นสิ่งที่น่ายินดีกับลูกหนี้บัตรเสริมซึ่งไม่ต้องรับผิด เนื่องจากในคดีนี้ศาลฏีกาเห็นว่าผู้ใช้บัตรหลักเป็นคนไปก่อหนี้เพียงคนเดียวโดยตรง ดังนั้นผู้ใช้บัตรเสริมจึงไม่ต้องผูกพันร่วมรับผิดด้วย         คำพิพากษาฎีกาที่  2765/2560         การทำบัตรเครดิตหลักและบัตรเครดิตเสริมนั้น โจทก์มุ่งหมายให้ผู้ใช้บัตรเครดิตหลัก ซึ่งเป็นผู้ที่น่าเชื่อถือกว่าผู้ใช้บัตรเครดิตเสริมเป็นลูกหนี้หลัก ทั้งตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตสำหรับผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 ระบุชัดให้ผู้ถือบัตรหลักจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบชำระหนี้อันเกิดจากบัตรเสริมทั้งหมด ย่อมเห็นได้ถึงเจตนาในการทำสัญญาของโจทก์ว่า โจทก์ประสงค์จะให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเครดิตหลักเป็นผู้รับผิดชอบต่อหนี้สินทั้งหมดของจำเลยที่ 1 เองและของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเสริม         แม้ในใบสมัครบัตรเสริมมีข้อความกำหนดให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม ก็ไม่ถือว่าผูกพันจำเลยที่ 2 นอกจากนี้ยังถือว่าเป็นข้อสัญญาไม่ธรรมกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้บริโภค ประกอบกับจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวเป็นผู้ใช้บัตรเครดิตหลักในการก่อหนี้โดยตรงกับโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องผูกพันร่วมกับกับหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ค้างชำระต่อโจทก์         จากคำพิพากษานี้ เราจะเห็นสิ่งที่น่าสนใจหลายเรื่องนะครับ ตั้งแต่ข้อสัญญาในใบสมัครบัตรเสริมที่ระบุให้ผู้ใช้บัตรเสริมต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม อันนี้ศาลก็เห็นว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม จึงใช้บังคับไม่ได้ อีกประเด็นคือคนก่อหนี้คือคนใช้บัตรหลักผู้เดียว และตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตสำหรับผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 ก็กำหนดไว้แล้วว่าผู้ใช้บัตรหลักต้องรับผิดในหนี้อันเกิดจากบัตรเสริมทั้งหมด  เช่นนี้ ใครเป็นคนใช้บัตรหลักก็ต้องระวัง และพิจารณาให้ดีว่าควรให้ใครใช้บัตรเสริม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 ทวงหนี้แบบนี้พี่ฟ้อง

        เพราะเป็นลูกหนี้จึงต้องใช้หนี้ แต่ถ้าเจ้าหนี้รุกไล่มากเกินไปจนชีวิตหาความสุขไม่ได้ ถูกประจานให้อับอาย รู้ไว้นะว่าเขามีกฎหมายปกป้องลูกหนี้ไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิแบบนี้ ซึ่งหลายคนอาจยังไม่ทราบและบริษัทที่ประกอบการทวงหนี้หลายแห่งก็ใช้ความไม่รู้กฎหมายของผู้บริโภคมาละเมิดสิทธิ เรามาดูกันว่า รูปแบบไหนเรียกว่าละเมิดสิทธิ ทวงหนี้ผิดกฎหมายและจะรับมืออย่างไร         คุณมานพ ได้ร้องเข้ามายังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า ตนเองนั้นเป็นหนี้บัตรเครดิตธนาคารแห่งหนึ่ง เป็นจำนวนเงิน 50,000 บาท ก่อนจะเกิดปัญหาหนี้สินนี้ ที่ผ่านมาคุณมานพสามารถหมุนเงินมาจัดการจ่ายหนี้ได้ แต่ต่อมาขาดสภาพคล่องทำให้ไม่สามารถหาเงินมาใช้หนี้ได้ตามกำหนดเวลา จึงตัดสินใจหยุดพักชำระหนี้ เพื่อเก็บเงินและหวังจะเจรจาต่อรองกับทางธนาคารในภายหลัง ซึ่งหลังจากหยุดชำระหนี้ไปสามเดือน ทราบต่อมาว่าธนาคารได้มอบให้บริษัทบริหารทรัพย์สินแห่งหนึ่งทำหน้าที่ติดตามทวงหนี้กับตน ซึ่งพฤติกรรมของบริษัทฯ ดังกล่าว เข้าข่ายละเมิดสิทธิลูกหนี้ชัดเจน ด้วยการประจานเรื่องการเป็นหนี้ของตนเองต่อเพื่อนร่วมงานว่า ไม่มีปัญญาชำระหนี้ อีกทั้งยังข่มขู่ว่า ถ้าหากตนเองยังไม่ชำระหนี้อีกจะโทรศัพท์ถึงหัวหน้างาน ซึ่งคุณมานพร้อนใจมาก จึงปรึกษาว่าตนเองสามารถทำอะไรได้บ้างกับวิธีการทวงหนี้ลักษณะเช่นนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ตาม พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 นั้น มีหลักเกณฑ์ที่ควรทราบโดยสรุปดังนี้         การทวงหนี้ หมายถึงการทวงหนี้ตาม พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 เท่านั้น ไม่รวมถึงการทวงหนี้ทั่วไป ผู้ทวงถามหนี้ตามกฎหมายนี้ หมายถึงเจ้าหนี้ผู้ให้สินเชื่อเป็นทางการค้าปกติ หรือคนที่ซื้อหรือรับโอนหนี้ ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ผู้จัดให้มีการเล่นการพนัน ที่สำคัญ คือ หนี้นั้นจะเป็นหนี้โดยชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายก็เข้าข่ายทั้งสิ้น ตัวอย่างเจ้าหนี้ตามกฎหมายนี้ เช่น ธนาคาร บริษัทบัตรเครดิต บริษัทเช่าซื้อ เจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบ เป็นต้น         กฎหมายระบุจำนวนครั้งในการทวงถามหนี้ 1 ครั้งต่อวัน ส่วนช่วงเวลาในการทวงถามหนี้ ได้แก่ วันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.00-20.00 น. ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น. ส่วนการทวงหนี้ที่อาจถูกปรับได้ ได้แก่ การประจาน พูดจาดูหมิ่น ข่มขู่ ใช้ความรุนแรง และทวงถามหนี้เกิน 1 ครั้งต่อวัน         ถ้าเจ้าหนี้ทวงเกินวันละหนึ่งครั้ง มีความผิดทางปกครอง คณะกรรมการทวงหนี้สามารถสั่งให้หยุดได้ ถ้าไม่หยุดก็อาจโดนโทษปรับทางปกครองสูงสุด 100,000 บาท         การติดต่อเพื่อให้ชำระหนี้ ห้ามพูดจาดูหมิ่นลูกหนี้ ห้ามข่มขู่ใช้ความรุนแรง ห้ามประจาน หากละเมิดมีโทษทั้งจำคุกและปรับเงินสูงสุดคือ จำคุก 1 ปี ปรับ 100,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ         หากผู้บริโภคพบพฤติการณ์เข้าลักษณะที่ผิดกฎหมาย สามารถแจ้งความที่สถานีตำรวจในเขตท้องที่ได้ทันที และเพื่อให้มีหลักฐานการกระทำผิด ควรบันทึกเสียงหรือมีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักเช่น หลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร พยานบุคคล หรือถ้าไม่มีก็ไม่ต้องกังวลสามารถร้องเรียนได้เช่นกัน        อย่างไรก็ตามกฎหมายกำหนดเรื่องวิธีการทวงหนี้เพื่อไม่ให้ลูกหนี้โดนรุกล้ำสิทธิมากเกินไป แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นหนี้แล้วไม่ต้องใช้ ดังนั้นเมื่อเป็นหนี้แล้วควรบริหารจัดการชำระหนี้ให้หมดแต่โดยไว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 ลูกหนี้รู้ไว้ อย่าตกใจเมื่อถูกฟ้องอายัดเงินเดือน

        สวัสดีครับ ผมอยากพูดถึงเรื่องใกล้ตัวที่หลายคนควรทราบเกี่ยวกับการอายัดเงินเดือน ในช่วงที่เศรษฐกิจขึ้นๆ ลงๆ เอาแน่นอนอะไรไม่ได้ หลายคนที่เป็นลูกหนี้มักกลัวว่า เกิดไม่ใช้หนี้ เจ้าหนี้จะมายึดเอาเงินเดือน ซึ่งเป็นจุดอ่อนของลูกหนี้ไปไหม  บางครั้งก็มีจดหมายทวงหนี้จากสำนักงานกฎหมายมาขู่ว่า จะฟ้องคดี ยึดทรัพย์ อายัดเงินเดือน  สิ่งเหล่านี้ เกิดขึ้นเสมอกับคนที่เป็นหนี้ และหลายคนเกิดความกังวล บางคนถึงกับลาออก หางานใหม่ซึ่งการทำเช่นนี้ก็ไม่ได้ช่วยอะไร         ดังนั้น เราควรมีความรู้ทางกฎหมายในเรื่องการอายัดเงินเดือนไว้  เพื่อลดความวิตกกังวล และสามารถวางแผนจัดการหนี้ได้อย่างถูกต้อง โดยไม่ต้องกลัวคำขู่ของเจ้าหนี้หรือทนายที่รับทวงหนี้         โดยเมื่อปี 2560 มีการแก้กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งฉบับที่ 30 กำหนดมูลค่าของสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ที่อายัดไม่ได้หรือมีอายัดได้จำกัด เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง ไม่เกินเดือนละ 20,000 บาท และบำเหน็จหรือค่าชดเชย ไม่เกิน 300,000 บาท หรือตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร  มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2560 เช่นนี้ ลูกหนี้ต้องจำไว้ว่า ถ้าเจ้าหนี้จะยึดเงินเดือนก็ยึดได้ แต่ไม่เกิน 20,000 บาท ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีเงินเดือน 19,500 บาท ไม่ถูกอายัด แต่หากมีเงินเดือน 30,000 บาท เจ้าหนี้ขอให้อายัดทั้งหมด ก็อายัดได้เพียงแค่ 10,000 บาท ต้องเหลือให้ลูกหนี้ไว้ใช้จ่าย 20,000 บาท  หรือหากมีเงินเดือน 30,000 บาท เจ้าหนี้ขอให้อายัด 5,000 บาท ถูกอายัด 5,000 บาท ลูกหนี้เหลือไว้ใช้จ่าย 25,000 บาท เป็นต้น         อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับการอายัดเงินเดือน ในอดีต เคยมีประเด็นขึ้นสู่ศาลฏีกาในเรื่อง การอายัดเงินเดือนซ้ำ กรณีลูกหนี้มีเจ้าหนี้หลายคน ซึ่งศาลฏีกาก็ตัดสินไว้ว่า การยึดอายัดซ้ำต้องเป็นกรณีทรัพย์รายเดียวกัน ดังนั้น เงินเดือนของลูกหนี้ หากอายัดในจำนวนที่แยกต่างหากจากกันกับเจ้าหนี้อื่น ไม่ถือว่าอายัดซ้ำ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5749/2553        การห้ามยึดหรืออายัดทรัพย์สินซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคหนึ่ง ต้องเป็นทรัพย์รายเดียวกันของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยมีเงินเดือน 27,000 บาท ถูกอายัดเงินเดือนครั้งแรกในคดีที่ 1 เป็นเงิน 3,000 บาท ครั้งที่ 2 ในคดีที่ 2 เป็นเงิน 3,000 บาท ครั้งที่ 3 คือคดีนี้โจทก์อายัดไว้ 5,000 บาท ดังนั้น การอายัดของโจทก์จึงเป็นการอายัดเงินเดือนของจำเลยในจำนวนที่แยกต่างหากจากที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษารายอื่นได้อายัดไว้ จึงไม่ใช่การอายัดซ้ำ                  นอกจากนี้ กรณีเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการ เจ้าหนี้ก็อายัดไม่ได้  ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4615/2559         เงินประจำตำแหน่งเป็นเงินที่ทางราชการจ่ายให้แก่ข้าราชการขณะดำรงตำแหน่งตามที่ระบุ ส่วนเงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งข้าราชการ เป็นเงินที่ทางราชการจ่ายให้แก่ข้าราชการผู้มีสิทธิได้รับรถประจำตำแหน่งได้รับในลักษณะคงที่แน่นอนเช่นเดียวกับเงินเดือนและเป็นรายเดือน จึงเป็นรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันกับเงินเดือนของข้าราชการ ชึ่งไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 286 (2) โจทก์ย่อมขอบังคับคดีไม่ได้

อ่านเพิ่มเติม >

จะดีไหม.. ถ้าคนไทยจ่ายหนี้ได้ด้วยแดด ?

เปรียบเทียบนโยบายพลังงาน รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ กับ รัฐบาลอินเดียโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประสาท มีแต้มถ้าเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศอินเดียนับจากช่วงต้นปี 2562 เป็นต้นมา พบว่ามีทั้งสิ่งที่คล้ายคลึงกันและแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ที่คล้ายคลึงกันก็คือมีการเลือกตั้งทั่วไปในเวลาที่ใกล้เคียงกัน แต่ที่แตกต่างกันก็คือ รัฐบาลอินเดียใช้เวลาในการจัดตั้งรัฐบาลที่รวดเร็ว ในขณะที่รัฐบาลไทยใช้เวลา 4 เดือนกว่าจึงจะได้แถลงนโยบายรัฐบาลแต่ที่แตกต่างกันในสาระสำคัญที่มากกว่านั้นก็คือ การมีนโยบายเพื่อลดปัญหาสำคัญของชาติ คือ ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งประเทศไทยเรามีความรุนแรงกว่าของประเทศอินเดียมาก กล่าวคือ ครัวเรือนของไทยมีจำนวนหนี้ที่มากกว่าหลายเท่าและเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วกว่ามากในปี 2560 ขณะที่ครอบครัวชาวอินเดียมีหนี้รวมกันประมาณเพียงร้อยละ 12 ของจีดีพี และมีอัตราเพิ่มขึ้นจากปี 2553 เพียงร้อยละ 1.5  แต่ครอบครัวคนไทยในปี 2560 มีหนี้รวมกันถึงร้อยละ 70 ถึง 76 ของจีดีพี และมีอัตราการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15 ถึง 18  นับจากช่วงเดียวกัน  (ดูภาพประกอบ)จากข้อมูลล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อสิ้นไตรมาสแรกของปี 2562  “จำนวนเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน” ของคนไทยมีจำนวน 12.967 ล้านล้านบาท (ร้อยละ 78.7 ของจีดีพี สูงเป็นอันดับที่ 10 จากการสำรวจ 89 ประเทศทั่วโลก - ข่าวสด 6 มิ.ย.62) หรือเฉลี่ยคนละ 195,000 บาท  ในขณะที่เมื่อสิ้นปี 2561 คนไทยมีหนี้สินเฉลี่ยคนละ 193,000 บาทอันตรายของการมีหนี้จำนวนเยอะๆ และเป็นเวลานานๆ  จะเป็นอย่างไรนั้น ผมจะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้ แต่จะขอกล่าวถึงสาเหตุของการมีหนี้และแนวทางการลดจำนวนหนี้ โดยจะยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมด้วยนโยบายโซลาร์เซลล์ โดยเน้นไปที่ประเทศอินเดียและประเทศไทย ซึ่งผมได้เรียนมาตั้งแต่ต้นว่ามีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงจากบทความเรื่อง “วินัยทางการเงินของครัวเรือนไทยและบทบาทของ ธปท. ในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน”  ในรายงานนโยบายการเงิน มีนาคม 2562  ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งได้จากการสอบถามความคิดเห็นในประเด็น “สาเหตุที่ทำให้ครัวเรือนมีหนี้” พบว่ามีผู้เห็นด้วยกับสาเหตุ “รายรับไม่พอกับรายจ่าย” และ “ขาดวินัยทางการเงิน” สูงเป็นดับที่ 1 และ 2 ตามลำดับแต่ในความเห็นของผมแล้ว ผมคิดว่านโยบายของรัฐบาลก็มีส่วนสำคัญมากที่ทำให้คนไทยเป็นหนี้ โดยผมจะยกตัวอย่างเปรียบเทียบจากโครงการโซลาร์เซลล์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐคุชราต (Gujarat- มีประชากร 60 ล้านคน) ของประเทศอินเดียและของประเทศไทยรัฐบาลอินเดียและรัฐบาลแห่งรัฐคุชราต ได้ออกนโยบายสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาจำนวน 2 แสนครอบครัวในปีงบประมาณ 2019-2020 โดยได้รับการอุดหนุนถึง 40% ของต้นทุนการติดตั้งที่ขนาดไม่เกิน 3 กิโลวัตต์ และ 20% สำหรับขนาดระหว่าง 3 ถึง 10 กิโลวัตต์  โดยรัฐบาลกลางและรัฐบาลแห่งรัฐรับค่าใช้จ่ายไปรวม 50% ที่เหลืออีก 50% เป็นหน้าที่ของเจ้าของบ้านที่ต้องลงทุนเอง (https://cleantechnica.com/2019/07/11/gujarat-to-subsidize-rooftop-solar-systems-in-200000-homes/)ไฟฟ้าที่ผลิตได้ หากเหลือใช้ก็สามารถขายให้กับระบบสายส่งได้ แต่ในรายงานข่าวดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าจะรับซื้อในราคาเท่าใดโครงการดังกล่าวรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณไว้ประมาณ 4,500 ล้านบาท สำหรับนโยบายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะแถลงในวันที่ 25-26 กรกฎาคม นี้  ผมยังเปิดไฟล์ทั้งหมดไม่ได้ (โดยอ้างว่าไฟล์เสีย) แต่ที่พบแล้วใน หัวข้อที่ 5.2 พัฒนาภาคอุตสาหกรรม มีเฉพาะประโยคที่ว่า “ส่งเสริมพลังงานทดแทน” โดยไม่มีรายละเอียดอะไรเลยอย่างไรก็ตาม ที่เกี่ยวกับโซลาร์เซลล์บนหลังคาซึ่งกระทรวงพลังงานได้ประกาศไปแล้วเมื่อช่วงก่อนการเลือกตั้งเล็กน้อย  สรุปว่า “จะรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์ขนาดไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ เฉพาะที่เหลือจากการใช้เอง ในราคาหน่วยละ 1.68 บาท เป็นเวลา 10 ปี ในขณะที่ทางการไฟฟ้าขายให้กับครัวเรือนที่ใช้เดือนละ 500 หน่วย ในราคาที่ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม หน่วยละ 3.80 บาท (ความจริงคือ 3.93 บาท)” จากการศึกษาของกระทรวงพลังงานเองได้ข้อสรุปว่า ถ้าผู้อยู่อาศัยขายไฟฟ้าที่ผลิตได้จำนวนครึ่งหนึ่งให้ทางการไฟฟ้าในราคา 1.68 บาทต่อหน่วย อีกครึ่งหนึ่งสำหรับการใช้เอง จะทำให้ถึงจุดคุ้มทุนภายในเวลา 7.8 ถึง 10.2 ปี  โดยไม่มีการคิดค่าดอกเบี้ยที่เกิดจากการลงทุน นอกจากนี้อายุการใช้งานของโซลาร์เซลล์ปกติจะนาน 25 ปี แล้วที่เหลืออีก 15 ปี จะให้นำไฟฟ้าไปขายให้ใคร ?เป็นที่น่าสังเกตว่า กติกาการรับซื้อดังกล่าว แตกต่างจากที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัทเอกชนขนาดใหญ่อย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ ทาง กฟผ. จะต้องจ่าย “ค่าความพร้อมจ่าย” ซึ่งหมายถึง ค่าลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า ค่าบำรุงรักษาและค่าดอกเบี้ยด้วย  แต่กับกรณีโซลาร์เซลล์บนหลังคาของคนธรรมดาซึ่งมีหนี้ท่วมหัว ทางกระทรวงพลังงาน (1) ไม่คิดดอกเบี้ยให้ (2) ซื้อในราคาที่ต่ำมาก ในขณะที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวงซื้อจาก กฟผ. ในราคา 2.72 บาทต่อหน่วย และ (3) รับซื้อเพียง 10 ปีเท่านั้น  โดยมีเป้าหมายในการรับซื้อ 100 เมกะวัตต์  หรือ 1 ถึง 3 หมื่นหลังโดยประมาณ ในขณะที่รัฐบาลอินเดียนอกจากจะจ่ายเงินอุดหนุนให้ถึง 20 ถึง 40% ถึง 2 แสนหลังแล้ว ยังรับซื้อไฟฟ้าส่วนที่เหลือและยังไม่ต้องติดมิเตอร์ (ที่ไม่จำเป็นถ้ารับซื้อไฟฟ้าในราคาที่เท่ากับราคาขาย) เพิ่มอีก 7,500 บาทต่อหลังอีกด้วย นี่คือความไม่เป็นธรรมที่รัฐบาลไทยเลือกปฏิบัติระหว่างคนไทยธรรมดาๆ กับเจ้าของไฟฟ้าขนาดใหญ่ส่งผลให้เจ้าของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่คนหนึ่งซึ่งได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ.จำนวนประมาณ 11,910 เมกะวัตต์ กลายเป็นมหาเศรษฐีติดอันดับที่ 267 ของโลก คือนาย Sarath Ratanavadi  (https://www.bloomberg.com/billionaires/)  และส่งผลให้คนไทยที่ถูกนโยบายพลังงานของรัฐบาลกดทับต้องมีหนี้ท่วมหัวดังที่กล่าวแล้วจริงอยู่ครับว่า สาเหตุของการเป็นหนี้มีหลายอย่าง แต่ตัวอย่างที่ผมยกมาเป็นแค่เรื่องไฟฟ้าที่มีมูลค่าทั้งประเทศปีละ 6.7 แสนล้านบาท ถ้าเราจัดสรรให้แต่ละหลังคาสามารถผลิตเองได้สัก 1 ล้านหลัง ขนาด 3 กิโลวัตต์ ในราคาหน่วยละ 3.90 บาท ก็จะสามารถลดค่าไฟฟ้าลงได้ปีละ 17,400 ล้านบาท นอกจากจะเป็นการช่วยลดจำนวนหนี้แล้ว จะมีการจ้างงานจำนวนมากซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจอีกด้วยนะครับเนื่องจากว่า ผมยังเปิดไฟล์คำแถลงนโยบายของรัฐบาลฉบับเต็มยังไม่ได้ แต่เชื่อว่าจะเป็นไปตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี2018) ซึ่งเพิ่งประกาศใช้เมื่อไม่นานมานี้เองผมมีข้อสังเกตต่อแผน พีดีพี 2018 ว่าคงยังเป็นแผนที่เอื้อต่อกลุ่มทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติและกีดกันสิทธิของคนธรรมดาต่อไป เพราะว่าได้กำหนดให้มีการใช้ก๊าซธรรมชาติและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG นำเข้าจากต่างประเทศ) ผลิตไฟฟ้าจากร้อยละ 59.7 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 64.7 ในปี 2561 และปี 2568 ตามลำดับ ในขณะที่พลังงานหมุนเวียนจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากร้อยละ 7.9 เป็น 10.6 ในช่วงเดียวกันในขณะที่ในปี 2561 ประเทศสหราชอาณาจักรซึ่งมีแดดน้อยกว่าประเทศไทย แต่ได้ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ไปแล้วร้อยละ 11.6 และจะเพิ่มเป็นร้อยละ 19.6  ในปี 2568  นี่แค่จากแสงอาทิตย์เพียงอย่างเดียว ถ้ารวมพลังงานลมและชีวมวลก็จะเป็นร้อยละ 57 ในปี 2568 (https://interactive.carbonbrief.org)ขอปิดท้ายด้วยคำพูดของทีมงานของ Narendra Modi นายกรัฐมนตรีของอินเดีย  ภายหลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ว่า  “เรามองพลังงานแสงอาทิตย์ว่าเป็นแหล่งรายได้ของเกษตรกรและเราจะกระตุ้นให้มีโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่เพื่อให้ผู้ผลิตอาหารได้เปลี่ยนเป็นผู้ผลิตพลังงาน”แม้ว่าผมไม่เห็นด้วยกับโซลาร์ฟาร์ม แต่ก็ยังดีกว่าต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อก๊าซธรรมชาติปีละกว่าหนึ่งแสนล้านบาทครับ ผมว่าโซลาร์รูฟนั่นแหละเหมาะที่สุดและราคาถูกกว่าด้วยครับเราสามารถลดหนี้คนไทยได้ด้วยแสงแดดครับ  ทำไมพลเอกประยุทธ์มองเรื่องนี้ไม่ออก ?  

อ่านเพิ่มเติม >