ฉบับที่ 102 แม่บ้านดวงอับ ถูกแบงค์ฟ้องหนี้บัตรเครดิต

แทบเป็นลมล้มทั้งยืนเมื่อเห็นหมายศาลส่งมาถึงบ้านแจ้งให้ไปศาลในวันที่ 17 สิงหาคม 2552 และให้ชำระหนี้บัตรเครดิตให้กับธนาคารกรุงเทพ เป็นเงินสามหมื่นกว่าบาท“ได้รับเงินแค่เดือนละ 4-5 พันบาท จะเอาปัญญาที่ไหนไปใช้เงินเขา ที่สำคัญยังไม่รู้เลยว่าเคยไปทำบัตรเครดิตใบนี้ไว้ตอนไหน”คุณชิดชนก แม่บ้านทำความสะอาดอยู่ที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(สปก.) โอดครวญ“ก็เคยได้รับจดหมายทวงหนี้จากธนาคารมาก่อนเหมือนกัน เขาบอกว่าเราได้รับอนุมัติให้ใช้บัตรเครดิตของธนาคาร และก็มียอดหนี้แจ้งมาในจดหมาย เรากับสามีก็งงๆ เพราะบัตรเครดิตสักใบก็ไม่เคยเห็น ไม่เคยใช้แล้วจะมีหนี้ได้อย่างไร ไม่มีความรู้ทางข้อกฎหมายด้วยว่าจะต้องทำยังไงต่อไป คิดในแง่ดีไปว่าเขาอาจจะส่งผิดก็ไม่ได้สนใจอะไร”เมื่อไม่มีการทักท้วงใดๆ ออกไป ในที่สุดหมายฟ้องคดีจึงมาเกาะที่หน้าประตูบ้านทันที คราวนี้ทั้งบ้านเหมือนร้อนเป็นไฟอยู่เฉยกันไม่ได้ ต้องมานั่งตรวจเอกสารต่างๆ ที่แนบมากับหมายฟ้อง ก็มาสะดุดกับลายเซ็นชื่อของตัวเองในใบสมัครเป็นสมาชิกบัตรเครดิต“ไม่ใช่ลายเซ็นของเราแน่นอน” คุณชิดชนกยืนยัน”“คนอื่นอาจจะดูเหมือนมาก แต่เราเห็นแล้วบอกเลยว่าไม่ใช่ ส่วนรายละเอียดอย่างอื่น เช่น ยอมรับว่าชื่อ-นามสกุลเป็นของเรา เลขบัตรประชาชนก็เป็นของเรา แต่ที่อยู่บ้าน เบอร์โทรศัพท์ ไม่ใช่ เป็นบ้านใครเบอร์โทรศัพท์ใครก็ไม่รู้ มาดูชื่อสถานที่ทำงานก็ไม่ใช่บริษัทที่เราทำงานให้อยู่ แถมแจ้งรายได้ถึง 3 แสนบาทต่อปีอีก มันไม่ใช่ตัวเราเลยน่ะ เงินเดือนเราแค่ 4-5 พันเท่านั้น” หลังจากนั้นคุณชิดชนกจึงหอบหลักฐานประจำตัว หลักฐานตามสำนวนฟ้องคดีที่ได้รับมาโดยไม่ต้องการวิ่งไปหาธนาคารกรุงเทพ เพื่อปฏิเสธภาระหนี้ดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2552 แต่ด้วยความร้อนใจที่วันนัดของศาลใกล้เข้ามาเรื่อยๆ คุณชิดชนกจึงดิ้นรนไปร้องทุกข์กับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ได้รับเรื่องในเวลาต่อมาแนวทางแก้ไขปัญหา สำหรับผู้บริโภคที่โดนแจ็คพอตมีหนี้บัตรเครดิตทั้งที่ตัวเองไม่ได้เป็นเจ้าของบัตรหรือใช้บัตร ให้ใช้หลักทักท้วงและปฏิเสธโดยทันที ดังนี้ครับ1.เมื่อผู้บริโภคตรวจสอบพบว่าตนไม่ได้เป็นผู้เข้าทำสัญญาขอใช้บัตรเครดิตกับธนาคาร หรือไม่ได้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือบริการตามที่มีใบแจ้งหนี้มา ให้ทำหนังสือปฏิเสธสัญญาหรือรายการใช้จ่ายดังกล่าวโดยทันทีและส่งเป็นจดหมายลงทะเบียนตอบรับถึงธนาคารโดยทันที(การโทรไปที่ศูนย์บริการของผู้ประกอบธุรกิจมีข้อดีคือสะดวก ง่าย แต่ผู้บริโภคจะไม่มีหลักฐานไว้ยืนยันในภายหลัง)2.ถือเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต หรือธนาคารที่จะเป็นผู้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานประกอบการทำสัญญาว่ามีผู้ปลอมแปลงเอกสารและใช้เอกสารมาทำสัญญาหรือไม่3. หนี้ที่เกิดขึ้นถือเป็นหนี้เสียของธนาคารที่ธนาคารจะต้องติดตามดำเนินคดีเองกับผู้กระทำผิด มิใช่ผู้บริโภคในส่วนผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาของคุณชิดชนกได้รับการชี้แจงจากธนาคารกรุงเทพว่าหลังคุณชิดชนกมาแจ้งเรื่อง ธนาคารจึงได้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานการขอทำบัตรเครดิตและยอมรับว่าเป็นเอกสารที่ไม่เกี่ยวข้องกับคุณชิดชนกแต่ที่ช้าไปบ้างก็เพราะธนาคารต้องใช้เวลาตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ให้แน่ใจโดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 3 อาทิตย์ ท้ายที่สุดธนาคารยินยอมที่จะถอนฟ้องคุณชิดชนกในวันที่ศาลนัดโดยทันที แต่เพื่อความปลอดภัย... มูลนิธิฯ จึงได้จัดส่งเจ้าหน้าที่พร้อมทนายไปเป็นพี่เลี้ยงในวันขึ้นศาลด้วย หากธนาคารเกิดเปลี่ยนใจคุณชิดชนกจะสามารถต่อสู้คดีได้ทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 100 ขออภัย ที่เราติดตามทวงหนี้ด้วยความไม่เคารพ

ขออภัย ที่เราติดตามทวงหนี้ด้วยความไม่เคารพขอแสดงความเสียใจ และขออภัยอย่างสูงตามที่ท่านได้กรุณาให้เกียรติเป็นลูกค้าของบริษัท อีซี่บายจำกัด(มหาชน) เลขที่ 3969-000-000000000 ต่อมาได้มีเหตุการณ์ไม่เหมาะสมเกิดขึ้น ทำให้ท่านรู้สึกไม่พอใจอย่างมากนั้น บริษัท สยามวรินทร์นิติการ จำกัด รับทราบปัญหาดังกล่าวด้วยความไม่สบายใจ และตระหนักในปัญหาที่เกิดขึ้น โดยได้พยายามป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไป ทั้งนี้ บริษัทฯ รู้สึกเสียใจต่อท่านอย่างมากต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงเรียนมาเพื่อขออภัยอย่างสูงมา ณ โอกาสนี้ ขอแสดงความนับถืออย่างสูงบริษัท สยามวรินทร์นิติการ จำกัด เป็นหนึ่งในจดหมายขออภัยของสำนักงานติดตามทวงหนี้หลาย ๆ ฉบับที่ทางมูลนิธิฯ เริ่มได้รับทั้งจากลูกหนี้และจากบริษัทสำนักงานทวงหนี้โดยตรงในปริมาณที่มากขึ้นตามลำดับ หลังจากที่ได้ให้คำแนะนำกับลูกหนี้ในการจัดการปัญหาอันเกิดจากพนักงานทวงหนี้ของสำนักงานทวงหนี้ต่างๆ ซึ่งใช้วิธีการทวงหนี้ที่ไร้มารยาทและผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการประจาน การใช้วาจาจาบจ้วง การข่มขู่กดดันทางด้านจิตใจหรือสิทธิเสรีภาพ ไม่ว่าจะมาจากการถูกสั่งสอนหรืออบรม หรือเป็นเองโดยธรรมชาติก็ตาม เราได้ให้ข้อแนะนำว่าการกระทำดังกล่าวเหล่านี้ล้วนเป็นวิธีการที่ผิดกฎหมายอาญาทั้งสิ้น ลูกหนี้ที่ถูกละเมิดสามารถที่จะดำเนินการเอาผิดทางกฎหมายได้ทั้งกับพนักงานทวงหนี้ สำนักงานทวงหนี้และบริษัทเจ้าหนี้ แต่การไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจก็อาจถูกพิจารณาได้ว่าองค์ประกอบในการกระทำผิดทางอาญายังไม่ครบถ้วนอาจทำให้เสียเวลาไปเปล่าๆ ได้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหามีประสิทธิผลจึงให้ข้อแนะนำว่า เมื่อเกิดปัญหาขึ้นลูกหนี้สามารถใช้เหตุผลในเรื่องของการกระทำผิดกฎหมายอาญาที่ได้กล่าวไปแล้วแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรไปยังสำนักงานทวงหนี้และบริษัทเจ้าหนี้ได้โดยตรงเพื่อให้ยุติการกระทำดังกล่าวได้ ซึ่งบริษัทเจ้าหนี้หลายๆ บริษัทไม่อยากให้ตัวเองต้องมาเสียภาพพจน์ในเรื่องนี้ จึงมักจะยุติการติดตามทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายในลักษณะดังกล่าวโดยทันทีปรากฏว่าในขณะนี้ลูกหนี้ที่ถูกละเมิดจากการติดตามทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายและใช้วิธีนี้ปกป้องตัวเองได้รับการปฏิบัติที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในการติดตามทวงหนี้ นับเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมยินดีและควรส่งเสริมให้ปฏิบัติโดยทั่วถึงกันทุกบริษัท ซึ่งจะช่วยให้ลูกหนี้มีทัศนคติที่ดีและตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากินเก็บเงินมาชำระหนี้ได้ในเร็ววัน ขอแสดงความนับถืออย่างสูงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 ขอปิดใช้บริการมือถือ แต่ทำไมยังมีหนี้อยู่

“ซิมฟรีครับพี่ ซิมฟรี 1 ชั่วโมง จ่ายแค่ 5 นาที แถมนาทีละหกสลึง ถูกอย่างนี้มีที่ไหนครับพี่...” เสียงประกาศเชิญชวนของหนุ่มนักขายซิมมือถือ ร้องเรียกผู้คนที่เดินผ่านไปมาบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง คุณนิสาอยากรับขวัญลูกชายที่ไปเรียนอยู่ต่างประเทศและหยุดปิดเทอมกลับมาพักผ่อนที่เมืองไทยเป็นเวลา 1 เดือน จึงเดินเข้าไปยื่นบัตรประชาชนเพื่อขอรับซิมฟรี กะเอาไปให้ลูกชายใช้ระหว่างที่อยู่เมืองไทย ซึ่งเป็นซิมมือถือของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือเอไอเอส ตอนแรกคุณนิสาเข้าใจว่า เป็นซิมฟรี แต่เมื่อมาดูรายละเอียดแล้วถึงได้รู้ว่าตัวเองเสียค่าโง่ เพราะซิมตามโปรโมชั่นดังกล่าวจะต้องเสียค่าใช้จ่ายรายเดือนๆ ละ 99 บาท ส่วนค่าโทรนั้นคนขายซิมก็ดันพูดไม่หมด ก็เข้าใจว่าใช้ชั่วโมงหนึ่งจ่ายแค่ 5 นาทีเท่านั้น ทีนี้ล่ะฉันจะใช้โทรเท่าไหร่ก็ได้เพราะจ่ายแค่ 5 นาที นาทีละ 1.50 บาทเอง แต่ความจริงก็คือ โปรโมชั่นนี้เขาให้ส่วนลดเพียงแค่ 1 ชั่วโมงแรกที่เปิดใช้บริการเท่านั้นที่จะคิดค่าบริการเพียงแค่ 5 นาที แต่หลังจากชั่วโมงนั้นแล้วก็คิดค่าบริการนาทีละ 1.50 บาททุกๆ นาทีที่ใช้ ซึ่งก็ไม่ถือว่าเป็นอัตราค่าโทรที่ถูกนักเมื่อเปรียบเทียบกับโปรโมชั่นบางตัวที่คิดค่าโทรเพียงแค่นาทีละ 1 บาท หรือ 50 สตางค์ “อ๊ะ.. ไหน ๆ ก็ได้มาแล้วและก็ให้ลูกใช้แค่เดือนเดียว คงไม่เป็นไร” คุณนิสาคิดกับตัวเอง ก่อนที่จะนำซิมที่ได้มาให้ลูกชายเปิดใช้บริการ ซิมนี้ถูกเปิดใช้บริการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2551 และคุณนิสาได้ไปแจ้งขอปิดใช้บริการที่ศูนย์บริการในอีกเดือนถัดมาหลังจากที่ลูกชายเดินทางกลับไปต่างประเทศ โดยชำระค่าบริการที่ค้างจ่ายทั้งหมดให้กับพนักงาน เรื่องน่าจะจบไม่มีปัญหาอะไร แต่ปรากฏว่าต่อมาในเดือนเมษายน มีใบเรียกเก็บค่าบริการโทรมือถือหมายเลขที่ได้แจ้งปิดไปแล้วมาถึงคุณนิสาจำนวน 1,070.54 บาท คุณนิสาก็เป็นงง เพราะตั้งแต่วันที่แจ้งยกเลิกก็ไม่ได้ใช้บริการหมายเลขโทรศัพท์นั้นอีก แล้วจะมียอดหนี้มาได้อย่างไร จึงได้ติดต่อไปที่ศูนย์บริการ AIS Shop สาขาเดิมเพื่อขอตรวจสอบข้อมูลการใช้บริการตั้งแต่เดือนเมษายน ซึ่งพนักงานได้แจ้งว่าให้รอเอกสารการตรวจสอบภายใน 15 วัน แต่รอจนแล้วจนเล่าก็ไม่เห็นมีคำชี้แจงใดๆ กลับมา ซ้ำในเดือนพฤษภาคมยังมีบิลเรียกเก็บเงินอีก 95.34 บาท เมื่อไม่มีความชัดเจนคุณนิสาจึงไม่ได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้กับเอไอเอส  ทีนี้ล่ะครับงานเข้าครับงานเข้า...ปรากฏว่าในเดือนธันวาคม มีจดหมายทวงหนี้จากสำนักงานกฎหมาย เซนิท ลอว์ จำกัด แจ้งว่าคุณนิสายังมีหนี้ค้างกับ เอไอเอส อยู่ 1,165.88 บาท แถมยังมีข้อความในลักษณะข่มขู่คุกคามที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายอีก เช่น ขู่ว่าถ้าไม่ชำระหนี้ภายใน 48 ชั่วโมง จะถูกฟ้องดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด , จะส่งรายชื่อเข้าข้อมูลเครดิตกลาง จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมศาล ค่าทนายความ ดอกเบี้ยค้างชำระ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการออกหมายอายัดรายได้ และหมายบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์ออกขายทอดตลาด คุณนิสารู้สึกโกรธมากอะไรจะปานนั้น หนี้แค่พันกว่าบาท จะยึดทรัพย์กันเลยหรือ จึงได้ร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอคำปรึกษา แนวทางแก้ไขปัญหาบริการโทรศัพท์มือถือนั้น ถือเป็นบริการโทรคมนาคมประเภทหนึ่งที่อยู่ภายใต้กฎหมายประกอบกิจการโทรคมนาคมที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) เป็นผู้กำกับดูแล กรณีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาว่า ค่าบริการที่บริษัทมือถือเรียกเก็บมานั้นถูกต้องหรือไม่ ผู้ใช้บริการสามารถที่จะร้องเรียนโดยตรงได้กับบริษัทมือถือ และถือเป็นหน้าที่ของบริษัทที่จะต้องเป็นผู้พิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อยืนยันความถูกต้องในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมค่าบริการต่าง ๆ และจะต้องแจ้งข้อมูลให้กับผู้ใช้บริการทราบโดยเร็วแต่ต้องไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ผู้ใช้บริการมีคำขอ หากผู้ให้บริการไม่ดำเนินการตามระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าผู้ให้บริการสิ้นสิทธิในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการในจำนวนที่มีการโต้แย้งโดยทันที ข้อกฎหมายเขาเขียนไว้อย่างนั้นครับแต่ในทางปฏิบัติคนละเรื่องเลย ผู้ใช้บริการเขาอุตส่าห์ไปขอให้ตรวจสอบค่าบริการที่เรียกเก็บตั้งแต่เดือนเมษายน แต่บริษัทกลับแจ้งยอดหนี้เพิ่มและส่งจดหมายทวงหนี้ที่ไร้มารยาทมาให้อีก มูลนิธิฯ จึงได้ทำจดหมายร้องเรียนไปถึงเอไอเอสโดยทันที หลังจดหมายออกไปประมาณ 1 เดือน เอไอเอสถึงได้มีจดหมายตอบกลับแจ้งว่า ไม่พบเอกสารการขอยกเลิกการใช้บริการแต่อย่างใดในวันที่คุณนิสาไปแจ้งขอยกเลิก (แสดงว่าแจ้งไปแล้วแต่พนักงานไม่ยอมยกเลิกให้ ?) และหนี้ที่เรียกเก็บในเดือนเมษายนนั้นเป็นค่าบริการที่มีการใช้โทรจริง และเนื่องจากระบบข้อมูลยังคงเห็นว่าคุณนิสายังอยู่ในสถานะใช้บริการอยู่จึงมีค่ารายเดือนต่อมาอีก 1 เดือน เมื่อข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้เอไอเอสจึงดำเนินการมอบส่วนลดค่าใช้บริการให้จำนวน 783.72 บาท (รวมภาษี) จากยอดที่เรียกมาทั้งหมด 1,165.88 บาท ยังมียอดคงเหลืออีก 382.16 บาท ซึ่งคุณนิสาตรวจสอบแล้วเห็นว่าเป็นค่าโทรที่ลูกชายใช้จริงจึงยินดีที่จะจ่ายเงินส่วนนี้ให้ ปัญหาหนี้ค่าโทรจึงเป็นอันยุติ ข้อเตือนใจสำหรับคนใช้มือถือ ต้องจำไว้ว่ามือถือแบบจดทะเบียนเป็นบริการที่เข้าง่ายออกยากประเภทหนึ่ง หากคิดจะบอกเลิกสัญญาอย่าแจ้งทางวาจาเพียงอย่างเดียว ต้องมีเอกสารการบอกเลิกสัญญาลงลายมือชื่อเราให้ชัดเจนส่งถึงบริษัท ทำอย่างนี้จะไม่มีปัญหาในภายหลังครับ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 95 Blacklist บัตรเครดิตเจ้าไหนใจร้ายสุด

ปีที่ผ่านมานักวิจัยของฉลาดซื้อได้รวบรวมแผ่นพับเชิญชวนให้คนเป็นหนี้ เอ้ย…ไม่ใช่ เชิญคนสมัครเป็นสมาชิกบัตรเครดิตเกือบทุกเจ้าในประเทศไทย โดยรวบรวมทั้งที่เป็นธนาคารและไม่ใช่ธนาคาร แล้วก็ลองพินิจพิเคราะห์ดูว่า แต่ละเจ้ามีความใส่ใจในผู้บริโภคมากแค่ไหน ข้อความมีความละเอียดเพียงพอต่อการตัดสินใจหรือมีการระบุข้อความอะไรที่เข้าข่ายจะละเมิดสิทธิผู้บริโภคบ้าง ปรากฎว่าข้อมูลเยอะมากมายจนสามารถทำเป็นซีรี่ส์เรื่องบัตรเครดิตยอดเยี่ยม ยอดแย่ได้ทีเดียว แต่เพราะเนื้อที่เราจำกัดมาก ฉบับนี้จึงขอนำเสนอเฉพาะกรณีเกี่ยวกับการทวงหนี้ ซึ่งพบว่ามีผู้ประกอบการหลายเจ้าทีเดียว ที่ระบุเสียชัดเจนว่า สามารถทวงหนี้กับใครอื่นก็ได้ที่ไม่ใช่เรา แต่จะอ่านเจอหรือไม่ อันนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับสายตาของผู้บริโภคเพราะว่า ตัวอักษรมันเล็กมากๆ น้อยกว่า 2 มิลลิเมตรเสียอีก ฉลาดซื้อทดสอบ1.บัตรเครดิต ที่ระบุเงื่อนไขว่า บริษัทฯ สามารถกระทำการทวงถามติดตามหนี้สินได้ จากบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือบัตร ได้แก่ ธนาคารทหารไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารยูโอบี และ บ.จีอี แคปปิตอล ประเทศไทย จำกัด (เฟิร์สช้อยส์ วีซ่า, บัตรเซ็นทรัล มาสเตอร์การ์ด, บัตรเครดิต โรบินสัน วีซ่า, บัตรเครดิต เทสโก้ วีซ่า)2.บัตรสินเชื่อบุคคล ที่ระบุเงื่อนไขว่า บริษัทฯ สามารถกระทำการทวงถามติดตามหนี้สินได้ จากบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือบัตร ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (สินเชื่อหมุนเวียนสปีดี้แคช/สินเชื่อบุคคลสปีดี้โลน) บ.จีอี แคปปิตอล ประเทศไทย จำกัด (สินเชื่อเงินสด พาวเวอร์บาย) 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า150 Point

ฉบับที่ 82 ผลสำรวจหนี้

ข้อมูลจากการสำรวจสาเหตุของการเป็นหนี้ ของลูกหนี้ที่เข้าร่วมการอบรม เรื่องเป็นหนี้จะแก้ไขชีวิตอย่างไร ที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์  จำนวนทั้งหมด 378 คนเรียงลำดับสาเหตุของการเป็นหนี้1.    ภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัว 2.    การไม่มีวินัยทางการเงิน 3.    การเปลี่ยนงาน/ ตกงาน 4.    การใช้จ่ายฟุ่มเฟือย 5.    การกู้ยืมเงินมาทำธุรกิจ อันดับหนี้ยอดนิยมหนี้บัตรเครดิต หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล หนี้สัญญาเช่าซื้อ หนี้นอกระบบน่าสนใจ•    ร้อยละ 23 ของคนที่ตอบแบบสอบถาม ถูกโทรศัพท์ทวงหนี้ตลอดเวลา โดยใช้วาจาไม่สุภาพ หรือข่มขู่•    การชำระหนี้มีร้อยละ 68.8 ที่ยังชำระเงินแก่เจ้าหนี้ทุกราย อย่างสม่ำเสมอมีร้อยละ 15 ที่ตัดสินใจหยุดจ่ายทุกรายแล้ว •    นำเงินที่ไหนมาชำระหนี้ร้อยละ 45 บอกว่าหาเงินมาใช้หนี้ จากเงินกู้ในระบบ  ร้อยละ 26 บอกว่าหาเงินมาใช้หนี้ จากเงินกู้นอกระบบ•    ปัญหาร้อยละ 60 มีปัญหาครอบครัวอันเกิดจากภาวะการเป็นหนี้สินร้อยละ 58 รู้สึกว่าปัญหาหนี้สินนำเป็นอุปสรรคต่อการทำงานและการใช้ชีวิตมีมากกว่าร้อยละ  14 ที่เคยคิดฆ่าตัวตายเพราะปัญหาหนี้•    ในกลุ่มคนที่เป็นหนี้บัตรเครดิต o    ในบรรดาคนที่เป็นหนี้บัตรเครดิต มีคนเป็นหนี้บัตรเครดิตมากกว่า 1 ใบ ถึงเกือบร้อยละ 70o    ในบรรดาคนที่เป็นหนี้บัตรเครดิต มีถึงร้อยละ 40 ที่มีรายได้น้อยกว่า 10,000 บาท o    ในบรรดาคนที่เป็นหนี้บัตรเครดิต มีคนเคยคิดฆ่าตัวตายถึงร้อยละ 20o    กว่าร้อยละ 52.7 เป็นหนี้อันเกิดจากการไม่มีวินัยทางการเงินo    กว่าร้อยละ 35.4 เป็นหนี้จากการใช้เงินไปลงทุนทำธุรกิจo    มีถึงร้อยละ 33.2 ที่ถูกโทรศัพท์ถูกทวงหนี้ตลอดเวลา โดยใช้วาจาไม่สุภาพ หรือข่มขู่o    มีถึงร้อยละ 24.9 ที่มีโทรศัพท์ทวงหนี้ไปยังพ่อแม่หรือญาติo    มีถึงร้อยละ 24.5 ที่มีโทรศัพท์ทวงหนี้ไปยังที่ทำงานo    มีมากกว่าร้อยละ 24.2 ที่ได้รับจดหมายที่ทำขึ้นในรูปแบบที่เหมือนกับหมายศาล หรือจดหมายที่มีตราประทับทำนองว่าจะมีการยึดทรัพย์o    มีถึงร้อยละ 13.8 ได้รับโทรศัพท์จากผู้ที่แอบอ้างว่าโทรมาจากกรมบังคับคดี•    ในกลุ่มคนที่เป็นหนี้นอกระบบo    ในบรรดาคนที่เป็นหนี้นอกระบบ มีถึงร้อยละ 62.4 ที่มีรายได้น้อยกว่า 10,000 บาท o    ในบรรดาคนที่เป็นหนี้บัตรเครดิต มีคนเคยคิดฆ่าตัวตายถึงร้อยละ 24o    กว่าร้อยละ 59.4 เป็นหนี้อันเกิดจากการไม่มีวินัยทางการเงินo    กว่าร้อยละ 31.5 เป็นหนี้จากการใช้เงินไปลงทุนทำธุรกิจo    มีถึงร้อยละ 33.1 ที่ถูกโทรศัพท์ถูกทวงหนี้ตลอดเวลา โดยใช้วาจาไม่สุภาพ หรือข่มขู่o    มีถึงร้อยละ 28.8 ที่มีโทรศัพท์ทวงหนี้ไปยังพ่อแม่หรือญาติo    มีถึงร้อยละ 21.6 ที่มีโทรศัพท์ทวงหนี้ไปยังที่ทำงานo    มีมากกว่าร้อยละ 28 ที่ได้รับจดหมายที่ทำขึ้นในรูปแบบที่เหมือนกับหมายศาล หรือจดหมายที่มีตราประทับทำนองว่าจะมีการยึดทรัพย์o    มีถึงร้อยละ 15.2 ได้รับโทรศัพท์จากผู้ที่แอบอ้างว่าโทรมาจากกรมบังคับคดี(หนี้บัตรเครดิต กับหนี้นอกระบบ ทวงแย่ๆ พอๆ กันเลย ???)รายได้  รายจ่ายต่อเดือน ภาระหนี้สินต่อเดือน ----------------------------------------------------------------------------------------------------------------- รู้จักบัตรไว้ ใช้ให้ถูกทาง บัตรเครดิต บัตรเครดิต เหมาะที่จะใช้สำหรับรูดซื้อของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ซื้อของในซุปเปอร์มาร์เก็ต เติมน้ำมัน ทานอาหารในภัตตาคาร เพราะจะได้ระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยประมาณ 40 วัน หากคุณชำระเต็มจำนวนที่เรียกเก็บ ดังนั้น ต้องคำนวนค่าใช้จ่ายให้ดีว่าพอใบแจ้งหนี้มาแล้วมีเงินในกระเป๋าที่จะชำระหนี้ทั้งหมดข้อควรระวัง -    หากคุณใช้บัตรเครดิตแล้ว ชำระหนี้ได้แค่บางส่วน คุณจะถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่คุณรูดบัตรเลยทีเดียว -    ไม่ควรกดเงินสดจากบัตรเครดิตออกมาใช้ เพราะจะเสียดอกเบี้ย+ ค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน ตั้งแต่วันที่คุณกดเงินออกมาใช้ ไม่ว่าสิ้นเดือนคุณจะชำระหนี้เต็มจำนวนหรือไม่ก็ตาม บัตรเงินสดพร้อมใช้ / บัตรเงินสดฉุกเฉินสินเชื่อพวกนี้ อนุมัติวงเงินให้คุณเร็วมาก บางแห่งแค่คุณโทรศัพท์ไปแจ้งว่าต้องการเงินกู้ บริษัทไม่ถามเหตุผลด้วยซ้ำว่าคุณจะกู้ไปทำอะไร พอวางสายเงินกู้ก็โอนเข้าบัญชีให้คุณเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น บัตรพวกนี้เหมาะสำหรับใช้กรณีจำเป็นที่ฉุกเฉินจริง ๆ เท่านั้นข้อควรระวัง-    สินเชื่อพวกนี้ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินสูงมาก และบางบัตรไม่สามารถปิดบัญชีได้ก่อนที่บริษัทกำหนด คุณจึงต้องจ่ายดอกเบี้ยจำนวนมาก ดังนั้น คุณต้องพยายามควบคุมตัวเองให้ดี อย่าให้ทุกเรื่องที่ต้องใช้เงินกลายเป็นเรื่องฉุกเฉินไปเสียทั้งหมด -    การ “กู้หนี้ออกมาใช้หนี้” ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้องแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาหนี้สินไม่รู้จบอีกต่างหาก -    ถ้าจะซื้อสินค้าหรือจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันใช้บริการเช่าซื้อหรือใช้บัตรเครดิตน่าจะดีกว่า ถ้าจะลงทุนทำธุรกิจ ก็มีสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ คุณต้องใช้เงินกู้ให้ถูกประเภทเพราะถ้าเลือกผิด คุณก็จะต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงกว่า -----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า150 Point

ฉบับที่ 122 กระแสต่างแดน

  นิวเคลียร์เริ่มไม่เคลียองค์กรผู้บริโภคของญี่ปุ่น Consumers Union of Japan ได้ทำจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีนาโอโตะ คาน เรียกร้องให้ญี่ปุ่นจัดหาแหล่งพลังงานใหม่โดยด่วน เพราะเป็นที่ประจักษ์กันแล้วว่าพลังงานนิวเคลียร์นั้นไม่ใช่ทางเลือกพลังงานที่สะอาด หรือปลอดภัยหายห่วงอีกต่อไป  องค์กรผู้บริโภค CUJ ซึ่งคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาตลอดด้วยเหตุผลว่าสิ่งมีชีวิตและกัมมันตรังสีไม่มีทางอยู่ร่วมกันได้ ยังได้ทำจดหมายไปถึงคณะกรรมการด้านความปลอดภัยของอาหารเรียกร้องของให้คำนึงถึงประเด็นต่อไปนี้ในการพิจารณากฎหมายว่าด้วยระดับความปลอดภัยของกัมมันตรังสีในอาหารด้วย  เช่น ให้ถือว่ากัมมันตรังสีซีเซียมและไอโอดีน เป็นสารก่อมะเร็ง ให้คำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวต่ออวัยวะภายใน และให้ใช้แนวปฏิบัติขององค์การอนามัยโลกที่ว่าด้วยภัยพิบัติและสุขภาพ มาประกอบการพิจารณาด้วย ที่สำคัญ CUJ ยังเรียกร้องให้คณะกรรมการดังกล่าวออกมาชี้แจงต่อประชาชนด้วยว่า เหตุใดก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นจึงไม่มีกฎหมายเรื่องนี้มาก่อน (น่านสิ) อีกอย่างที่ยังไม่มีในขณะนี้คือ มาตรฐานความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ที่ทั่วโลกใช้ร่วมกัน เรียกว่าใครใคร่จะทำด้วยมาตรฐานความปลอดภัยสูง (หรือต่ำ) แค่ไหนก็ทำกันไป เหตุการณ์เตาปฏิกรณ์ที่ผ่านมาตรฐานยูเครนแต่ไม่ผ่านมาตรฐานของประเทศตะวันตก ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เชอโนบิล ระเบิดเมื่อปี 2529 ก็ไม่ได้ทำให้เกิดการกำหนดมาตรฐานร่วมกันขึ้นมาแต่อย่างใด  แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ที่ญี่ปุ่นได้สะท้อนให้เห็นอีกครั้งว่า เราทั้งหมดที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้ต่างก็มีสิทธิลุ้นรับผลกระทบจากสารกัมมันตรังสีได้โดยทั่วกัน   ข่าวล่าสุดบอกว่า นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส นิโคลา ซาโกซี เสนอให้มีการคุยกันเรื่องนี้เสียที ในการประชุม G20 ในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ แต่ยังไม่ข่าวต่อว่าผู้นำประเทศอื่นๆ คิดเห็นอย่างไร  ขณะนี้ ร้อยละ 90 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ในประเทศจีน เกาหลี อินเดีย และรัสเซีย   ข่าวลือกลายเป็นข่าวร้าย (ของคนปล่อย)เฉินเป็นหนุ่มมือไว เลยต้องนอนคุก 10 วันแถมโดนปรับอีก 500 หยวน(ประมาณ 2,300 บาท)  เหตุเพราะแกไปโพสต์ข้อความที่บอกว่าขณะนี้กัมมันตรังสีที่รั่วไหลมากจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ไดอิจิ ได้ลุกลามมาถึงชายฝั่งทางทิศตะวันออกของเมืองชานตุงแล้วนั่นเอง  เท่านั้นยังไม่พอ แกยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับเหล่าสาวกออนไลน์อีกว่า ให้รีบออกไปซื้อเกลือหรือสาหร่ายทะเลชนิดที่มีไอโอดีนสูงมากินกันให้ไว และอย่าลืมซื้อตุนไว้ด้วย แถมยังแนะนำให้งดกินอาหารทะเลเป็นเวลาหนึ่งปี  ข่าวนี้ได้รับการกระจายออกไปอย่างรวดเร็วตามสปีดของอินเตอร์เน็ท และทำให้ผู้คนเมืองนั้นเกิดความตื่นตระหนก จนทำให้เกิดภาวะเกลือขาดตลาดกันในซีเจียง กวางตุ้ง เจียงสี และเสฉวนกันเลยทีเดียว  แต่ไม่นานหลังจากนั้น ผู้บริโภคก็ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องว่าเกลือไอโอดีนไม่ได้สามารถช่วยต้านกัมมันตรังสีได้อย่างที่ลือกัน ว่าแล้วก็พากันเอาเกลือกลับไปที่ร้านและขอเงินคืนกันเป็นการใหญ่  นายเฉินแกก็ยอมสารภาพว่าข้อมูลที่แกได้มานั้นก็ไม่ได้มาจากแหล่งที่เชื่อถือได้แต่อย่างใด นักวิชาการของจีน ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า ความจริงเรื่องนี้รัฐบาลต้องรับผิดชอบ โทษฐานที่ให้ข้อมูลกับประชาชนช้าเกินไปในยามที่เกิดภัยพิบัติ ชาวบ้านร้านตลาดอย่างที่ไม่มีข้อมูลเรื่องนี้มาก่อนจึงเกิดความตื่นตระหนกเป็นธรรมดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนในวัยกลางคน และผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มจะเชื่อข่าวลือมากกว่าคนวัยอื่นๆ นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าก่อนปักใจเชื่อฟอร์เวิร์ดเมล์ อย่าลืมตรวจสอบข้อมูลกับผู้รู้จริง ที่มีตัวตนจริงก่อน   เมื่อ App. ถูกโหวตออก เมื่อ App. Store ของบริษัท Apple วางจำหน่ายโปรแกรมที่อ้างว่าสามารถ “เปลี่ยนผู้ใช้ให้เป็นอดีตเกย์” ได้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็ปลุกกระแสต่อต้านจากกลุ่มผู้พิทักษ์สิทธิคนรักเพศเดียวกันไม่น้อยทีเดียว App. ดังกล่าวจัดมาโดยองค์กรทางศาสนาที่ชื่อว่า Exodus International ที่อ้างว่าต้องการช่วยให้มนุษย์ทักผู้ทุกนามหลุดพ้นจากการรักชอบเพศเดียวกันมาเป็นการรักชอบเพศตรงข้ามได้ ด้วยพลังของพระเยซู  สาวๆ ฟังแล้วอาจจะแอบดีใจ แต่เรื่องนี้มันไม่ง่ายอย่างนั้น สิ่งที่กลุ่มคนรักร่วมเพศรับไม่ได้คือการที่องค์กรนี้ รวมถึงร้าน Apple ที่นำ Gay Cure App. ไปวางขาย กำลังสื่อสารให้คนรุ่นใหม่เข้าใจว่าการรักเพศเดียวกันนั้นเป็น “บาปที่เกาะกินหัวใจ” ไม่ใช่แค่เรื่องของรสนิยมทางเพศ  กลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับการละเมิดสิทธิครั้งนี้จึงทำจดหมายไปยังคุณ สตีฟ จ็อบส์ พร้อมกับลายเซ็นของผู้คัดค้านการจำหน่าย App. ดังกล่าว กว่า 146,000 คน  ผลคือทางร้านยกเลิกการขาย App. ดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 21 มีนาคม ที่ผ่านมา แปลกดีที่ Apple ยังไม่เข็ดจากการถูกเรียกร้องให้ถอน App. คล้ายๆ กันนี้ที่ชื่อว่า Manhattan Declaration ไปเมื่อปีที่แล้ว   เช้านี้ คุณอาบน้ำหรือยัง เรามาดูสถิติการอาบน้ำของคนฝรั่งเศส ที่ลือกัน(โดยคนที่อื่น) ว่าไม่ถูกกับการอาบน้ำเป็นที่สุด ถึงขั้นที่บางคนยังเข้าใจไปว่าผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายนั้นเป็นสินค้าผิดกฎหมายในฝรั่งเศสด้วยซ้ำ ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ The Guardian ของอังกฤษ ระบุว่าการสำรวจเมื่อปี 19   98 พบว่าร้อยละ 47 ของคนฝรั่งเศสอาบน้ำทุกวัน ในขณะที่ในเนเธอร์แลนด์หรือเดนมาร์กนั้นมีคนอาบน้ำทุกวันถึงร้อยละ 80  องค์กรด้านสุขอนามัยของฝรั่งเศสเขาบอกว่า ถ้าร้อยละ 47 ที่ว่านั้นพูดจริงไม่สร้างภาพ ตัวเลขการบริโภคผลิตภัณฑ์อาบน้ำก็ควรจะอยู่ที่ 1 กิโลกรัมต่อคนต่อปี แต่ความจริงแล้วมีการบริโภคผลิตภัณฑ์ดังกล่าว 0.58 กิโลกรัมต่อคนต่อปีเท่านั้น  อย่างไรก็ตาม ต่อมาในปี 2002 มีการสำรวจที่พบว่า คนฝรั่งเศสเป็นกลุ่มที่มีการบริโภคสินค้าประเภท เจลอาบน้ำ แชมพู และโรลออน มากที่สุดในยุโรป และร้อยละ 90 ของผู้หญิงฝรั่งเศส ยังใช้น้ำหอมทุกวันอีกด้วย เอาเป็นว่า ถึงจะไม่อาบน้ำ แต่เขาก็ไม่เหม็นหรอกน่า   คนมาเลย์ก็หนี้ท่วมคนมาเลย์ก็เจอปัญหาหนี้ไม่แพ้บ้านเราเหมือนกัน หลักๆ แล้วคนส่วนใหญ่ที่นั่นแล้วจะมีหนี้เป็นสองเท่าของรายได้ตนเองสถิติเขายังระบุอีกว่า ระหว่างปี 2005 ถึง 2010 มีคนมาเลย์มากกว่า 80,000 คน เป็นบุคคลล้มละลาย ด้วยสาเหตุหลักๆ เพราะหนี้จากการเช่าซื้อ(ร้อยละ 24) หนี้จากเงินกู้ส่วนบุคคล(ร้อยละ 12) หนี้จากเงินกู้เพื่อทำธุรกิจ(ร้อยละ 11) หนี้จากการกู้ซื้อบ้าน(ร้อยละ 8) และอีกร้อยละ 5 เป็นหนี้จากบัตรเครดิต แม้หนี้จากบัตรเครดิตจะไม่มากเมื่อเทียบกับหนื้อื่นๆ แต่น่าสนใจตรงที่ร้อยละ 50 ของคนที่ล้มละลายเพราะหนี้บัตรเครดิตนั้น อายุยังไม่ถึง 30 ปีด้วยซ้ำ  แต่ใช่ว่าสูงวัยแล้วจะปลอดภัยจากหนี้  องค์กรผู้บริโภคของมาเลเซียบอกว่า ร้อยละ 72 ของผู้สูงอายุจะใช้เงินสะสมที่ได้รับเมื่อเกษียณจากงานประจำ หมดไปภายใน 3 ปี ทั้งนี้เขาประมาณการไว้ว่าแต่ละคนจะใช้เงินประมาณ 1,300 ริงกิต (13,000) ต่อเดือน ซึ่งในจำนวนนี้ 500 ริงกิต (5,000 บาท) เป็นค่าอาหารล้วนๆ เขาจึงเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความรู้ทางเรื่องการเงินกับผู้คนแต่เนิ่นๆ ตั้งแต่ระดับโรงเรียน และขอให้รัฐบาลมีกฎหมายแบบเดียวกับของอังกฤษที่ควบคุมดูแลบริการทางการเงินทุกประเภทไว้ภายใต้กฎหมาย Consumer Credit Act ฉบับเดียว  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 172 หนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ไม่มีข้อความว่าจะบอกเลิกสัญญา ถือว่าบอกเลิกสัญญาหรือไม่

ตามสัญญาเช่าซื้อนั้น แม้ว่าคู่สัญญาจะกำหนดวันชำระค่าเช่าซื้อไว้เป็นที่แน่นอนแล้ว  หลังจากนั้นผู้เช่าซื้อชำระเงินค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามกำหนดนัดและผู้ให้เช่าซื้อก็รับชำระเงินค่าเช่าซื้อนั้นไว้โดยไม่ทักท้วง ย่อมแสดงว่าในทางปฏิบัติ คู่สัญญามิได้ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญต่อไป ต่อมาหากผู้ให้เช่าซื้อจะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อให้ตรงตามกำหนดก่อนแล้ว หากภายหลังผู้เช่าซื้อยังคงชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบตามกำหนด ผู้ให้เช่าซื้อจึงจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 บัญญัติว่า  ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายหนึ่งจะกำหนดระยะเวลาพอสมควรแล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก็ได้ และถ้าฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ อีกฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ “ ดังนั้น หากผู้ให้เช่าซื้อไม่บอกกล่าวให้ผู้เช่าซื้อชำระเงินค่าเช่าซื้อภายในกำหนดเวลาแล้ว ผู้ให้เช่าซื้อจะเลิกสัญญาและยึดทรัพย์คันที่เช่าซื้อคืนไม่ได้ กรณีตามหัวข้อบทความนี้มีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8238/2556 วินิจฉัยว่า เมื่อตามหนังสือสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ ข้อ 12 วรรคสอง ระบุไว้ชัดเจนว่า “การชำระค่าเช่าซื้อตรงตามกำหนดเวลาเป็นสาระสำคัญของสัญญานี้” แล้วโจทก์ไม่อาจแปลข้อความนี้ให้เป็นอย่างอื่น ดังเช่นฎีกาของโจทก์ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ถือเอากำหนดเวลาของการชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญนั้นชอบแล้ว ดังนั้นแม้ในภายหลังจะปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จะไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามกำหนดเวลา ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัด หากโจทก์จะบอกเลิกสัญญาโจทก์จะต้องบอกกล่าวโดยกำหนดให้จำเลยที่ 1 นำค่าเช่าซื้อมาชำระภายในกำหนดระยะเวลาพอสมควร ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ภายในเวลาที่กำหนด โจทก์จึงจะบอกเลิกสัญญาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 หนังสือที่โจทก์ส่งให้จำเลยทั้งสองมิได้มีข้อความว่า โจทก์จะบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1  คงมีข้อความเพียงว่าโจทก์ทวงถามและกำหนดเวลาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ภายใน 7 วัน หรือให้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ พร้อมกับมีบทบังคับว่าหากไม่ปฏิบัติตามจะดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 อย่างเด็ดขาดเท่านั้น จึงถือได้ว่าเป็นหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้โดยชอบตามมาตรา 387 แล้ว เมื่อคำนึงถึงระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อถึง 51 เดือน แม้โจทก์ให้เวลาชำระหนี้เพียง 7 วัน ก็เป็นระยะเวลาพอสมควร โจทก์จึงมีสิทธิเลิกสัญญาได้ ซึ่งการบอกเลิกสัญญาตามมาตรา 386 ให้ทำได้ ด้วยการแสดงเจตนาแก่อีกฝ่าย และการตีความการแสดงเจตนาตามมาตรา 171 ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาที่แท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร แม้ถ้อยคำที่โจทก์ระบุในหนังสือบอกเลิกสัญญาว่า หากไม่ชำระหนี้โจทก์จะดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด ไม่มีข้อความว่าโจทก์จะบอกเลิกสัญญา แต่เมื่อพิจารณาจากเจตนาอันแท้จริงของโจทก์เห็นได้อย่างชัดเจนว่าโจทก์ต้องการบอกเลิกสัญญา จึงดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสอง ต้องถือว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยทั้งสองโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเมื่อโจทก์ไม่ถือเอากำหนดเวลาการชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญแล้ว ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดเบี้ยปรับ รวมทั้งไม่มีเหตุที่จะติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน จึงไม่มีสิทธิคิดค่าใช้จ่ายดังกล่าว    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 168 ไม่ได้เป็นหนี้แล้ว ยังส่งข้อมูลไปเครดิตบูโรอีก ต้องทำอย่างไร

คดีนี้โจทก์เป็นผู้บริโภคไปกู้ยืมเงินจากจำเลยซึ่งเป็นบริษัทจำกัดไม่ใช่สถาบันการเงิน(บริษัทจีอี แคปปิตอล(ประเทศไทย) จำกัด) โจทก์ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยไปได้ 4 เดือน แล้วเห็นว่าการคิดดอกเบี้ยของจำเลยนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงนำต้นเงินที่เหลือพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีไปชำระให้แก่จำเลย แต่จำเลยยังส่งใบแจ้งหนี้ไปให้โจทก์ว่ายังค้างชำระอยู่อีก(ก็ค้างชำระในส่วนดอกเบี้ยที่ผิดกฎหมาย ) และจำเลยแจ้งข้อมูลที่โจทก์ค้างชำระหนี้ดังกล่าวไปยังบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด โจทก์จึงฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้เพิกถอนสัญญาให้สินเชื่อเงินสดฉบับลงวันที่ 31 มกราคม 2544 และให้บังคับจำเลยมีหนังสือแจ้งบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ว่าโจทก์ไม่มีภาระหนี้สินค้างกับจำเลย หากจำเลยไม่ปฏิบัติ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 1,027,347 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง(ฟ้องวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2548 ) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยมีหนังสือถึงบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ว่าโจทก์ไม่มีภาระหนี้สินค้างกับจำเลย หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ คำขออื่นให้ยก โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาโดยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14228/2555 วินิจฉัยว่า จำเลยไม่ใช่สถาบันการเงินตามกฎหมาย ขณะทำสัญญายังไม่มีประกาศกระทรวงการคลังและประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน จำเลยจึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากโจทก์เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 654 และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 ข้อตกลงเกี่ยวกับผลประโยชน์จากการกู้ยืมส่วนที่ถือเป็นดอกเบี้ยทั้งหมดจึงตกเป็นโมฆะตามป.พ.พ.มาตรา 150 เมื่อโจทก์ชำระหนี้ให้จำเลยครบถ้วนแล้ว การที่จำเลยแจ้งข้อมูลแก่บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ว่า โจทก์ยังเป็นหนี้จำเลยอยู่ จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์และทำให้สถาบันการเงินที่ให้กู้ดอกเบี้ยต่ำปฏิเสธไม่ให้โจทก์กู้เงิน ทำให้โจทก์ต้องกู้เงินนอกระบบสถาบันการเงิน แต่ค่าเสียหายอันเป็นผลต่างดอกเบี้ยระหว่างการขอสินเชื่อกับการขอกู้เงินจาก พ. ที่โจทก์เรียกมา มิใช่ค่าเสียหายโดยตรงจากการที่จำเลยแจ้งข้อมูลแก่บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด  แต่เป็นค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษกรณีที่ไม่ชำระหนี้ ซึ่งจะต้องเป็นเรื่องที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์ดังกล่าวล่วงหน้าก่อนแล้วตาม ป.พ.พ.มาตรา 222 วรรคสอง เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้คาดเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวล่วงหน้าก่อนแล้ว โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษนี้ได้ พิพากษายืน (โจทก์กู้เงินไปเพียง 25,000 บาท ได้ค่าเสียหายมา 50,000 บาท)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 163 กฎหมายคุ้มครอง “เจ้าหนี้”

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน วันนี้ก็มีเรื่องกฎหมายที่เป็นประโยชน์มาบอกเล่าเช่นเคย โดยฉบับนี้ จะขอกล่าวถึงกฎหมายเรื่องหนี้ที่น่าสนใจ โดยนำเสนอผ่านเรื่องราวปัญหาจากชีวิตจริงของลูกหนี้และเจ้าหนี้  ซึ่งโดยปกติ เมื่อตกเป็นลูกหนี้ กฎหมายไม่ได้จำกัดสิทธิในการดูแลจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้แต่อย่างใด  ทำให้แม้ตกเป็นลูกหนี้ ก็ยังสามารถโอน ขาย จำหน่ายทรัพย์สินของตัวเองได้  แต่หากมีลูกหนี้จอมขี้โกง ทราบดีว่าตนมีทรัพย์สินเพียงน้อยนิด ยังทะลึ่งไปโอนขายทรัพย์สินให้บุคคลอื่น และรู้อยู่แก่ใจว่า ถ้าขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนี้ไป ตนเองจะมีทรัพย์สินไม่พอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้เค้า แบบนี้ เจ้าหนี้ก็คงเสียเปรียบแย่ เพราะไม่มีหลักประกันอะไรเลย ว่าเมื่อถึงเวลาชำระหนี้ ลูกหนี้จะมีอะไรมาชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ได้ครบถ้วน กฎหมายก็มองเห็นความได้เปรียบเสียเปรียบของเจ้าหนี้ลูกหนี้ในเรื่องแบบนี้ จึงมีบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้ขึ้น เรียกว่า “การฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉล (ของลูกหนี้)” อยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 237 โดยมีสาระสำคัญว่า “เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใดๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบแต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย....” เจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการคุ้มครองเจ้าหนี้ให้ฟ้องเพิกถอนนิติกรรมที่ทำให้ตนเสียเปรียบเท่านั้น การฟ้องไม่ทำให้เจ้าหนี้ได้สิทธิอะไรมากไปกว่าที่มีอยู่เดิม ดังนั้น วัตถุประสงค์ของการฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลคือการทำให้กองทรัพย์สินของลูกหนี้ กลับมาเป็นเช่นเดิม เช่น ลูกหนี้ทั้งตัวมีทรัพย์สินเพียงที่ดินอยู่หนึ่งแปลง หากโอนขายที่ดินแปลงนี้ให้บุคคลอื่น  เจ้าหนี้จะเดือดร้อนเพราะไม่เหลือทรัพย์สินพอที่จะบังคับใช้หนี้  เมื่อลูกหนี้ขายที่ดินนี้ไปโดยรู้ดีว่าจะทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ เจ้าหนี้ก็มีอำนาจฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉล ให้ที่ดินแปลงดังกล่าวกลับมาเป็นของลูกหนี้ตามเดิม เพื่อให้ตนสามารถมีสิทธิบังคับชำระหนี้เอากับที่ดินแปลงนั้นได้  จึงเห็นได้ว่า ไม่ได้ทำให้เจ้าหนี้ได้เปรียบมากขึ้นแต่อย่างใด นอกจากนี้ อำนาจฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลซึ่งนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำลงโดยรู้ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ได้บัญญัติให้เป็นอำนาจของเจ้าหนี้ ซึ่งหมายรวมถึงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาด้วย ไม่ว่าจะมีการบังคับคดีแล้วหรือไม่ก็ตาม คำพิพากษาฎีกาที่ 5207/2545 เมื่อโจทก์อ้างว่าตนเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนและจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ตามคำพิพากษาทำนิติกรรมยกทรัพย์พิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบอันเป็นการฉ้อฉลโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้ การที่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากันรีบไปจดทะเบียนหย่าและทำสัญญาแบ่งทรัพย์สินเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์พิพาทที่จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรวมนั้น ถือเป็นทางที่ทำให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 237 คนที่เป็นเจ้าหนี้ แม้ยังไม่ได้ฟ้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ ก็มีสิทธิฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลได้ คำพิพากษาฎีกาที่ 3975/2553 การฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 เป็นการให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะสงวนไว้ซึ่งกองทรัพย์สินของลูกหนี้ เพราะทรัพย์สินของลูกหนี้ย่อมเป็นหลักประกันในการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 214 ดังนั้น เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉลจึงหมายถึงเจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้และต้องเสียเปรียบจากการที่ทรัพย์สินของลูกหนี้ลดลงไม่พอชำระหนี้อันเนื่องมาจากการทำนิติกรรมฉ้อฉลของลูกหนี้ ไม่ว่าเจ้าหนี้ดังกล่าวจะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ก็ตาม แม้เจ้าหนี้ในหนี้ที่ยังไม่ได้มีการฟ้องร้องบังคับให้ชำระหนี้ก็มีสิทธิที่จะร้องขอให้เพิกถอนได้เมื่อโจทก์แจ้งความดำเนินคดีอาญาและฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ย่อมทราบว่าตกเป็นลูกหนี้ที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา และไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะให้โจทก์บังคับคดีได้อีกนอกจากที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 ย่อมรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซึ่งเป็นการฉ้อฉลนั้นเสียได้ อีกเรื่องที่น่าสนใจ คือการที่จะเพิกถอนการฉ้อฉลได้นั้น ต้องพิจารณาดูตัวผู้ทำสัญญากับลูกหนี้ด้วย ว่ารับโอนทรัพย์สินไปโดยสุจริตหรือไม่ คำพิพากษาฎีกาที่ 5572/2552 จำเลยที่  1 มีอาชีพจัดสรรที่ดินขาย โจทก์ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยที่ 1โดยวางเงินมัดจำไว้ 100,000 บาท จากราคาที่ดิน 2,000,000 บาท   เวลาต่อมา จำเลยที่ 1 กลับเอาที่ดินแปลงดังกล่าวไปจำนองไว้กับจำเลยที่ 5 เพื่อประกันหนี้ค่าวัสดุก่อสร้าง และหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินแปลงดังกล่าวใช้หนี้แก่จำเลยที่ 5 ทำให้โจทก์เสียเปรียบ ไม่ได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 จึงฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการการโอนดังกล่าว ซึ่ง ศาลฎีกาได้ตัดสินว่าการจำนองดังกล่าว จำเลยที่ 5 รับจำนองโดยทราบดีว่าที่ดินดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์ไว้แล้ว เพราะก่อนรับจำนอง จำเลยที่ 5 ไปดูที่ดินกับจำเลยที่1 ก็เห็นว่าที่ดินดังกล่าวกำลังมีการปลูกสร้างอาคารอยู่ และทราบดีว่าจำเลยที่ 1 มีอาชีพจัดสรรที่ดินขาย ประกอบกับจำเลยที่ 5 มีอาชีพขายวัสดุก่อสร้างย่อมรู้ดีว่าการจัดสรรที่ดินขายนั้น อาจจะทำสัญญาจะซื้อจะขายเฉพาะที่ดิน แล้วให้ผู้ซื้อปลูกสร้างบ้านบนที่ดินเอง อีกทั้งยังทราบดีว่าที่ดินแปลงดังกล่าวที่ตนรับจำนองไว้เป็นที่ดินซึ่งจัดสรรไว้เพื่อขาย การที่มีบ้านปลูกสร้างอยู่บนที่ดิน แสดงให้เห็นว่าที่ดินแปลงดังกล่าวได้มีการทำสัญญาจะซื้อจะขายไปแล้ว เนื่องจากจำเลยที่5 รู้ว่าตัวจำเลยที่ 1 เองก็ไม่มีเงินทุนพอที่จะสร้างบ้านก่อนแล้วจึงขายพร้อมที่ดินแปลงดังกล่าว อีกทั้งการรับจำนองและโอนที่ดินพิพาทนั้นไม่ได้เป็นการดำเนินไปตามปกติ แต่เป็นการโอนจากหนี้ค่าวัสดุก่อสร้างของจำเลยที่ 1 มาเป็นหนี้กู้ยืมเงินแล้วจดทะเบียนจำนอง ทำให้จำเลยที่ 5 ไม่ได้ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 เลย  พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 และที่5 เป็นการรับโอนโดยไม่สุจริต โดยมีเจตนาให้โจทก์ที่เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ จึงเป็นกรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237  โจทก์ชอบที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนได้ แม้การโอนที่ดินพิพาทจะได้มีการจดทะเบียนแล้วก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 5 รับโอนไว้โดยไม่สุจริต จำเลยที่ 5 ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1300 ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์เฉพาะกรณีผู้รับโอนเสียค่าตอบแทนและรับโอนมาโดยสุจริตเท่านั้น  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 135 ผลร้ายของการชำระหนี้ที่ขาดอายุความไปแล้ว

โดยปกติเจ้าหนี้จะต้องฟ้องบังคับชำระหนี้ภายในอายุความที่กฎหมายบัญญัติไว้  ซึ่งอาจจะเป็น 6 เดือน ถึง 10 ปี เช่น  กรณีผู้พักอาศัยในโรงแรมจะเรียกร้องเอาค่าเสียหายเพราะความสูญหายหรือบุบสลายของทรัพย์สินที่ผู้พักอาศัยพามาไว้ในโรงแรมจากเจ้าสำนักโรงแรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 678   หรือ 6 เดือนนับแต่วันที่สิ้นสัญญาฝากทรัพย์ในกรณีฟ้องเรียกให้ใช้เงินบำเหน็จค่าฝากทรัพย์หรือให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวแก่การฝากทรัพย์ ตามมาตรา 671 หรือ 1 ปีในกรณีของการฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดตามมาตรา 488 วรรคหนึ่ง หรือ 2 ปี ในกรณีผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตฟ้องเรียกคืนเงินที่ได้ออกทดรองจ่ายแทนผู้ถือบัตรไปตาม มาตรา 193/34(7) หรืออย่างยาวที่สุดก็ไม่เกิน 10 ปี ดังกรณีที่กฎหมายไม่ได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะตามมาตรา 193/30 สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความมิได้ทำให้สิทธิเรียกร้องหรือหนี้รายนั้นระงับสิ้นไปเพียงแต่ให้ลูกหนี้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ได้เท่านั้น  หากลูกหนี้ยอมชำระหนี้ให้ ถึงจะไม่รู้ว่าหนี้ขาดอายุความแล้ว ก็ถือเป็นการชำระหนี้โดยชอบตามมาตรา 193/28 วรรคหนึ่งมิใช่ลาภมิควรได้ ลูกหนีจึงไม่มีสิทธิเรียกคืนจากเจ้าหนี้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 408(2)   ถ้าลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้ที่ขาดอายุความ เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องบังคับชำระหนี้นั้นได้ กฎหมายเพียงแต่ให้สิทธิลูกหนี้ที่จะยกอายุความขึ้นต่อสู้ได้เท่านั้นตามมาตรา 193/10 หากลูกหนี้มิได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การแจ้งชัด คดีก็เท่ากับลูกหนี้มิได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้  ศาลจะยกเรื่องอายุความขึ้นวินิจฉัยเองไม่ได้เพราะมาตรา 193/29 บัญญัติห้ามไว้ ในกรณีที่หนี้ขาดอายุความไปแล้ว แต่ถ้าลูกหนี้ได้สละประโยชน์แห่งอายุความนั้นเสีย  จะโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายก็ตามเช่น  ปฏิบัติการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้บางส่วน  ทั้งๆ ที่รู้ว่าหนี้ดังกล่าวขาดอายุความ  ลูกหนี้ก็ไม่อาจยกอายุความที่ขาดไปแล้วนั้นขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้ และต้องเริ่มนับอายุความเดิมกันใหม่  นับแต่วันที่ลูกหนี้ชำระหนี้นั้นตามมาตรา 193/24 มาดูกรณีศึกษาตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7912/2553 จำเลยใช้บัตรเครดิตของธนาคาร ก. ซื้อสินค้าและบริการ  ธนาคาร ก. แจ้งให้จำเลยชำระหนี้ภายในวันที่ 9 พฤศจิกายน  2537 แต่จำเลยไม่ชำระ  ธนาคาร ก.จึงอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน  2537 เป็นต้นไป  เมื่อสัญญาใช้บัตรเครดิตมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 และครบกำหนดวันที่ 10 พฤศจิกายน 2539   หลังจากที่อายุความครบกำหนดแล้ว  จำเลยได้ผ่อนชำระหนี้จากการใช้บัตรเครดิตให้แก่ธนาคาร ก. หลายครั้งตั้งแต่ปี 2540 ติดต่อกันเรื่อยมา  โดยชำระครั้งสุดท้ายวันที่ 8 ตุลาคม  2544  เป็นการแสดงออกโดยปริยายว่า  จำเลยได้สละประโยชน์แห่งอายุความตามมาตรา 193/24 จำเลยย่อมไม่อาจยกอายุความขึ้นต่อสู้ธนาคาร ก.   และโจทก์ซึ่งรับโอนสิทธิเรียกร้องจากธนาคาร ก. ได้ และต้องเริ่มนับอายุความใหม่จากวันที่จำเลยชำระหนี้ครั้งสุดท้าย ซึ่งนับถึงวันฟ้องยังไม่ครบ 2 ปี จึงไม่ขาดอายุความ หมายเหตุผู้เขียน ลูกหนี้บัตรเครดิตทั้งหลายจำไว้ให้แม่นๆ  หนี้ขาดอายุความไปแล้ว อย่าเผลอผ่อนชำระใดๆ ทั้งสิ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 บัตรเครดิต ใช้อย่างไรไม่เป็นหนี้

กองบรรณาธิการบัตรเครดิต ใช้อย่างไรไม่เป็นหนี้การใช้บัตรเครดิต ว่าไปแล้วก็คือการนำเงินในอนาคต (ของเรา) มาใช้จ่าย ณ เวลาปัจจุบัน จัดเป็นสินเชื่อประเภทหนึ่ง ถ้าผู้ใช้บัตรมีวินัยในการใช้จ่ายดีพอ เรียกว่า ฉลาดใช้ กล่าวคือ ไม่จ่ายจนเกินความสามารถในการจ่ายหนี้คืนได้เต็มจำนวนเมื่อครบกำหนด บัตรเครดิตก็มีประโยชน์เพราะช่วยให้จับจ่ายใช้สอยได้สะดวกขึ้นโดยไม่ต้องพก พาเงินสดเป็นจำนวนมากๆ เรียกว่า เอาเงินของธนาคารมาใช้ก่อนโดยไม่มีดอกเบี้ยกวนใจแต่คงต้องยอมรับกันล่ะว่า คนส่วนหนึ่ง(อาจเป็นส่วนใหญ่) ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมการจับจ่ายของตัวเองได้ อาจเพราะถูกโปรโมชั่นต่างๆ ล่อใจ หรืออาจเพราะคิดว่าสามารถผ่อนจ่ายได้เรื่อยๆ สบายๆ เนื่องจากบัตรเครดิตมีบริการให้จ่ายคืนขั้นต่ำได้ (ร้อยละ 10) จนอาจลืมไปว่า ดอกเบี้ยของสินเชื่อบัตรเครดิตนั้นสูงมาก คือสูงถึงร้อยละ 20 ต่อปี (ลองคิดเทียบกับเงินฝากหรือเงินกู้ประเภทอื่น) ดังนั้นหากยิ่งมีจำนวนเงินค้างชำระมากเท่าไร จำนวนดอกเบี้ยก็จะยิ่งสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว รวมถึงค่าธรรมเนียมยิบย่อยเป็นต้นว่า ค่าทวงถาม ค่าธรรมเนียมรายปี ฯลฯ สุดท้ายก็พัวพันเป็นหนี้สินก้อนโต ผ่อนใช้กันไม่รู้จักจบสิ้น ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจไม่ดีอย่างนี้ โอกาสที่จะสูญเสียรายได้หรือตกงาน จนหมดความสามารถจ่ายหนี้คืนได้อาจมาถึงโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นก่อนคิดมีบัตรเครดิตหรือก่อนใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิตทุกครั้ง ต้องรอบคอบและมั่นใจว่า ไม่ได้ใช้จ่ายจนเกินตัวและมีเงินมากพอที่จะจ่ายคืนได้ครบเมื่อถึงรอบกำหนด จ่ายคืน ถ้าทำได้เช่นนี้บัตรเครดิตก็จะไม่เป็นปัญหาอะไรกับชีวิตเลยปี 2552 แนวโน้มบัตรใหม่ลดลง ธนาคารก็กลัวหนี้เสียเหมือนกันข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า ภาพรวมปริมาณบัตรเครดิตทั้งระบบ ณ สิ้นปี 2552 น่าจะมีปริมาณบัตรเครดิตอยู่ที่ประมาณ 13,650,000 บัตร ซึ่งถือว่าเป็นภาวะชะลอตัว เมื่อเทียบกับปริมาณบัตรเครดิตในปัจจุบัน (สิ้นปี 2551) คือ 12,987,073 บัตร เหตุเพราะปี 2552 ฝ่ายผู้ประกอบการจะอนุมัติบัตรยากขึ้น ขณะเดียวกันผู้บริโภคเองส่วนใหญ่อาจจะประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ทั้งการตกงาน ขาดรายได้ หรือการยกเลิกบัตรเพื่อลดภาระการใช้จ่ายลงทิศ ทางที่ทำให้เห็นว่า ผู้ประกอบการจะคัดคุณภาพผู้ถือบัตรมากขึ้นคือ ธนาคารบางแห่งได้ปรับฐานเงินเดือนของผู้ที่จะขอทำบัตรเครดิตจากที่ธนาคาร แห่งประเทศไทยกำหนดคือ ไม่ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน เป็น 18,000 – 20,000 บาท ไปแล้วตั้งแต่ปลายปี 2551 กล่าวคือป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นต่อระบบสินเชื่อนั่นเอง บัตรเครดิตทั้งระบบ ณ สิ้นปี 2551 คาดการณ์ ณ สิ้นปี 2552 ปริมาณบัตรเครดิต 12,987,073 บัตร 13,650,000 บัตร ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต 799,717ล้านบาท 879,000 ล้านบาท ยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิต 189,227 ล้านบาท 201,900 ล้านบาท ผู้บริโภคต้องรอบคอบกับแคมเปญกระตุ้นการใช้จ่ายเมื่อคัดคุณภาพของผู้ที่จะถือครองบัตรรายใหม่อย่างเข้มงวด ผู้ประกอบการก็ต้องปรับตัวเน้นการทำยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรกับผู้ถือบัตรเดิม ให้มากขึ้น เราจึงเห็นแคมเปญต่างๆ ออกมามากมาย ทั้งการสะสมแต้มรับรางวัลพิเศษเป็นของรางวัลต่างๆ หรือการบินไปต่างประเทศ การนำเงินคืนเข้าบัญชีผู้ใช้บัตร(Cash Back) หรือการให้สิทธิพิเศษในการผ่อนซื้อสินค้าในอัตราดอกเบี้ย 0 ฯลฯ ถ้าผู้บริโภคไม่รอบคอบในการใช้จ่าย อาจส่งผลเสียหายในอนาคตได้ดังนั้นต้องระวังให้มากเช่น การให้สิทธิในการซื้อตั๋วเครื่องบินราคาพิเศษ ลองถามตัวเองก่อนว่า เดินทางได้ตามเงื่อนไขที่ผู้ประกอบการกำหนดหรือไม่ หากทำได้ก็ถือว่าคุ้ม แต่ถ้าไม่มีทางทำได้อย่างเงื่อนไข การใช้จ่ายหนักมือก็คือภาระที่ต้องแบกรับหนักขึ้นเมื่อถึงกำหนดจ่ายชำระคืน หรือการคืนเงินสดกลับบัญชี ประเภท “จ่ายมากสะสมมาก” ลองพิจารณาเงื่อนไขให้ดีก่อน หากจ่ายแล้วต้องมาเดือดร้อนหาเงินจ่ายหนี้คืนให้ทันรอบบัญชีเพื่อไม่ให้เกิด ดอกเบี้ย สู้ไม่ใช้ดีกว่าไหม เพราะถึงเงินในบัญชีไม่เพิ่มขึ้นแต่ก็ไม่ลดลงล่ะน่าฉลาดใช้บัตรเครดิต1.การที่ผู้ประกอบการแข่งขันกันให้สิทธิพิเศษมากมายแก่ผู้ใช้บัตร มองให้ดีก็ดี มองให้ร้ายก็ได้ เพราะเท่ากับกระตุ้นให้ใช้จ่ายเกินตัว ดังนั้นควรพิจารณาเงื่อนไขต่างๆ ให้รอบคอบเสียก่อน ถ้าเห็นว่ามีประโยชน์และประเมินตัวเองแล้วว่า มีเงินสดพอที่จะจ่ายคืนได้ทันกำหนดโดยไม่เสียดอกเบี้ย ถือว่าเป็นสิทธิประโยชน์ที่น่าพิจารณา เช่น การผ่อนชำระเมื่อซื้อสินค้าได้ถึง 6 เดือนไม่มีดอกเบี้ย นับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ แต่ควรเป็นสินค้าที่สามารถสร้างประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้เท่านั้น ไม่ควรนำเงินไปใช้จ่ายกับสินค้าฟุ่มเฟือยหรือหรูหราเกินตัว2.ควรใช้บัตรเครดิตเฉพาะการชำระค่าสินค้าหรือบริการเท่านั้น อย่าใช้เบิกเงินสดล่วงหน้า เพราะท่านต้องเสียทั้งค่าธรรมเนียมเบิกเงินสดล่วงหน้าระหว่างร้อยละ 3 - 5 และดอกเบี้ยอีกร้อยละ 20 เมื่อนำมารวมกันแล้วกลายเป็นดอกเบี้ยที่สูงมาก (ประมาณร้อยละ 33) แต่หากมีความจำเป็นจริงๆ ที่ต้องใช้เงินสดจำนวนมาก ควรหารูปแบบสินเชื่อประเภทอื่นดีกว่า3.การใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิตไม่ควรเกินร้อยละ 20 ของรายได้ต่อเดือน รวมทั้งไม่ควรปล่อยให้ยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตสะสมเป็นวงเงินที่สูงเกิน กว่ารายได้ต่อเดือน การชำระเงินคืนควรจ่ายให้ทันรอบบัญชีเพื่อมิให้มีดอกเบี้ยเกิดขึ้น หรือไม่ไหวจริงๆ ก็ให้จ่ายเท่าที่จ่ายได้แต่ไม่ควรเป็นขั้นต่ำ เพราะจะถูกคิดอัตราดอกเบี้ยในรอบบัญชีถัดไป เงินคงค้างเหลือมากเท่าไร ดอกเบี้ยก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น4.อย่ามีบัตรเครดิตหลายใบ จำนวนที่เหมาะสมคือ 1 – 2 ใบ หากเกินกว่านี้จะทำให้เกิดภาระหนี้สินได้ไม่รู้ตัวระลึกไว้เสมอ การใช้บัตรเครดิตจะเกิดประโยชน์สูงสุดก็ต่อเมื่อผู้ใช้บัตรเครดิตมีการวาง แผนและมีวินัยทางการเงินที่ดี หากเผลอรูดเพลินจนลืมตัวเมื่อไรแล้วล่ะก็ ได้กลายเป็นสมาชิกชมรมหนี้บัตรเครดิตไปอีกยาวเลยเชียว

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point