ฉบับที่ 243 บิทคอยน์

        เดือนที่ผ่านมาเรื่องบิทคอยน์ (Bitcoin) เป็นประเด็นร้อนๆ ของนักลงทุนเพราะราคาตกต่อเนื่องจากคำไม่กี่คำจากปากอีลอน มัสก์ ผู้ก่อนตั้งเทสล่า ใครที่ซื้อเอาไว้ตอนราคาสูงๆ แล้วติดดอยคงมีอาการร้อนๆ หนาวๆ แต่นั่นแหละ อะไรที่ราคาขึ้นๆ ลงๆ ได้ เข้าถูกจังหวะก็ได้ส่วนต่างหรือได้ของถูก         ต้องมีคนคันไม้คันมืออยากเสี่ยงดวงกับบิทคอยน์ อยากร่ำรวยเหมือนพวกเศรษฐีบิทคอยน์ที่ได้ยินในข่าว ย้ำกันอีกครั้ง อย่าผลีผลาม ถ้ายังไม่รู้จักสิ่งที่ลงทุนศึกษามันก่อนลงทุนในตัวเองก่อนจังหวะและโอกาสมีมาเสมอ กฎการลงทุนข้อแรกของวอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนเน้นคุณค่า (value investor) บอกไว้ว่า ‘อย่าขาดทุน’        แล้วบิทคอยน์คืออะไร?         บิทคอยน์เป็นแค่สกุลเงินดิจิตอล (Cryptocurrency) สกุลหนึ่งเท่านั้น หมายความว่ายังมีเงินดิจิตอลสกุลอื่นอีก เช่น Ethereum Tether หรือ Libra ที่สร้างโดยเฟสบุ๊คเมื่อกลางปี 2562 เป็นต้น แต่บิทคอยน์เป็นสกุลเงินดิจิตอลที่โด่งดังที่สุด         มันถูกพัฒนาโดยนักพัฒนาซอฟต์แวร์ชื่อ ซาโตชิ นาคาโมโตะ อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครรู้ว่าเป็นชื่อจริงหรือเปล่า มันถูกสร้างด้วยคอมพิวเตอร์ อยู่ในรูปแบบดิจิตอลเท่านั้น และถ่ายโอนผ่านอินเทอร์เน็ตกันด้วยบล็อคเชน (blockchain) เทคโนโลยีที่ปลอดภัยมากในเวลานี้ การจะได้มันมาครอบครอง คุณต้องขุดด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งน่าจะไม่ใช่หน้าที่ของนักลงทุน         คนสงสัยว่าเงินที่ไม่มีตัวตนมันใช้ซื้อของได้ด้วยเหรอ? มันซื้อได้ เหมือนเวลาเราซื้อของออนไลน์แล้วโอนเงินหรือจ่ายด้วยบัตร เพียงแต่เรามีเงินจริงๆ หนุนหลัง บิทคอยน์ไม่มี ความที่มันมีมูลค่าและมีจำกัดเพียง 21 ล้านเหรียญ กฎอุปสงค์-อุปทานจึงทำงาน คนต้องการมากของมีจำกัด ราคาจึงสูงขึ้นเรื่อยๆ ราคาบิทคอยน์ 1 เหรียญ ณ วันที่ 26 พฤษภาคม 2564 ตีเป็นเงินบาทเท่ากับ 1,238,847.86 บาท มีสักสิบยี่สิบเหรียญก็สบายแล้ว         มูลค่าขนาดนี้หอมหวานพอจะเสี่ยง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ให้บริการซื้อขายเงินดิจิตอลในไทยหลายเจ้า ถ้าสนใจลองหากันดู         เตือนอีกครั้ง สกุลเงินดิจิตอลไม่มีมูลค่าบนโลกจริงหนุนหลัง ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้ให้การรับรอง จะว่าไปมันเป็นสิ่งประดิษฐ์ของโลกทุนนิยมสุดๆ มีคนจำนวนมากถูกหลอกเงินหลักแสนถึงหลักล้านจากการบินเข้ากองไฟบิทคอยน์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 ผลทดสอบ อนาบอลิกสเตียรอยด์ ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเวย์โปรตีน

        ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในกลุ่มตลาดฟิตเนสนั้นกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตามกระแสรักสุขภาพ เมื่อมองที่สถานบริการฟิตเนสก็จะพบว่ามีการเปิดสถานบริการกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้นกระจายไปในทุกจังหวัดทั่วประเทศ อีกทั้งผู้ใช้บริการมีหลากหลายกลุ่มอายุตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงผู้สูงวัย ทำให้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั้งวิตามิน เกลือแร่ รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมสร้างร่างกาย(เพิ่มมวลกล้ามเนื้อ) อย่าง “เวย์โปรตีน” ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นด้วย จากเดิมผลิตภัณฑ์เวย์โปรตีนที่เคยมีแต่สินค้านำเข้าและจำหน่ายเป็นถังหรือบรรจุภัณฑ์ใหญ่ๆ  ได้มีผู้ผลิตในประเทศหลายรายให้ความสนใจเข้ามาร่วมแข่งขันในผลิตภัณฑ์นี้มากขึ้น บรรจุภัณฑ์มีขนาดเล็กลง ช่องทางจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น และการเติบโตทางการตลาดที่สูงขึ้นทุกปี         จากผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมากขึ้นและช่องทางจำหน่ายที่เปิดกว้างมากขึ้น ทั้งในร้านค้า ร้านค้าออนไลน์ หรือแม้แต่ในสถานบริการฟิตเนส อาจทำให้ผลิตภัณฑ์เวย์โปรตีนบางส่วนไม่มีมาตรฐานหรือมีการปลอมปนผลิตภัณฑ์ยาเพื่อหวังผลในการเร่งสรรพคุณผลิตภัณฑ์ ซึ่งจากงานวิจัยของกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภูและเครือข่าย คบส.เขต 8 ได้ศึกษาไว้เมื่อปี 2563 นั้น พบว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเวย์โปรตีนจำนวน 20 ตัวอย่าง ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ร้อยละ 25 (จำนวน 5 ตัวอย่าง) มีการปลอมปนอนาบอลิกสเตียรอยด์ ทั้งในผลิตภัณฑ์ที่มีเลขสารบบอาหาร (เลข อย.) และไม่มีเลขสารบบอาหาร         ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สินค้าเสริมอาหารเวย์โปรตีน ทั้งในเรื่องมาตรฐาน การอวดอ้างคำโฆษณาหรืออาจมีการปลอมปนยาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผลิตภัณฑ์ นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงได้เก็บตัวอย่างเวย์โปรตีน จำนวน 9 ยี่ห้อ จากร้านค้าทั่วไปและทางออนไลน์ ในเดือนมกราคม 2564 เพื่อทดสอบหาสารอนาบอลิกสเตียรอยด์ (Anabolic-Androgenic Steroids) ซึ่งเป็นยาที่นิยมกันในหมู่นักกีฬาเพาะกาย และทดสอบหาปริมาณโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ว่าเป็นไปตามการกล่าวอ้างบนฉลากหรือไม่         สรุปผลทดสอบ        · การปลอมปน อนาบอลิกสเตียรอยด์  ผลทดสอบไม่พบทั้ง 9 ตัวอย่าง        · ทดสอบหาปริมาณโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ผลทดสอบพบว่า มี 2 ตัวอย่าง ที่มีโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ไม่ตรงตามที่แจ้งไว้บนฉลาก คือ น้อยกว่าร้อยละ 30 ได้แก่ (1) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เวย์โปรตีนไอโซเลท กลิ่นมอคค่า ยูไทม์ ทดสอบพบโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ที่ 38.8 จากการกล่าวอ้างบนฉลากที่ 83.33 และ (2) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตราไดเอโดะ รสช็อกโกแลต ทดสอบพบโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ที่ 26 จากการกล่าวอ้างบนฉลากที่ 62.5         พ.ร.บ.อาหาร 2510 มาตรา 27 (4) อาหารที่มีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่น หรือในเรื่องสถานที่และประเทศที่ผลิต  หากไม่เป็นไปตามนี้ ให้ถือว่า เป็นอาหารปลอม         มาตรา 27 (5) อาหารที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องตามคุณภาพหรือมาตรฐานที่รัฐมนตรีประกาศ กําหนดตามมาตรา 6(2) หรือ (3) ถึงขนาดจากผลวิเคราะห์ปรากฏว่า ส่วนประกอบที่เป็นคุณค่าทางอาหาร ขาดหรือเกินร้อยละสามสิบจากเกณฑ์ต่ําสุดหรือสูงสุด หรือแตกต่างจากคุณภาพหรือมาตรฐานที่ระบุไว้จน ทําให้เกิดโทษหรืออันตรายตารางผลทดสอบอนาบอลิกสเตียรอยด์และโปรตีนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเวย์โปรตีนเก็บตัวอย่างช่วงเดือน มกราคม 2564 ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 ความเคลื่อนไหวเดือนกุมภาพันธ์ 2564

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ชิ้นเล็กฝากไปกับไปรษณีย์ได้        บริษัท ไปรษณีย์ไทยผนึกกำลังเอไอเอส จัดโครงการ'ฝากทิ้ง ขยะอิเล็กทรอนิกส์' ผ่านบุรุษไปรษณีย์กว่า 2 หมื่นคนทั่วประเทศ โดยประชาชนสามารถ 'ฝากทิ้ง ขยะอิเล็กทรอนิกส์' ผ่านบุรุษไปรษณีย์ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สมาคมโรคไตแนะผู้ป่วยอย่าหลงเชื่อสมุนไพรบำรุงรักษาไต        ในงานสัปดาห์วันไตโรค สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยร่วมกับเครือข่ายองค์กรทางการแพทย์ยืนยัน ปัจจุบันยังไม่มีสมุนไพรตัวไหนที่มีข้อมูลหลักฐานทางงานวิจัยหรือการบันทึกมากเพียงพอที่แสดงถึงประโยชน์ในการรักษาโรคไตได้อย่างมั่นใจ การนำมาใช้จึงอาจทำให้เกิดโทษต่อผู้ป่วยโรคไตได้ โดยเฉพาะตัวถั่งเช่าที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน         รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ยืนยันว่าจากองค์ความรู้ที่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่า ถั่งเช่ามีประโยชน์จริงในผู้ป่วยโรคไต เนื่องจากมีเพียงข้อมูลการศึกษาในสัตว์ทดลอง แต่ไม่มีหลักฐานการศึกษาที่ดีเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าถั่งเช่ามีประโยชน์กับไตในมนุษย์ และการศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้รายงานของอาการที่ไม่พึงประสงค์ของถั่งเช่าอีกด้วย การที่ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังลองทานยาสมุนไพรรักษาโรคไตนั้น น่าจะมีโทษมากกว่าประโยชน์ ซึ่งการรักษาที่ดีที่สุดคือการดูแลปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม เพื่อชะลอการเสื่อมของไตให้ช้าที่สุด รวมทั้งหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เกิดความเสี่ยงต่อไตทั้งหมด    เครือข่าย “พาราควอต” เล็งฟ้องศาลปกครองยื้อขอใช้ต่อ        25 ก.พ. คือกำหนดเวลาสุดท้ายที่ให้ครอบครองสาร “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” เกษตรกรต้องเร่งส่งคืนสารเคมีอันตรายร้ายแรงให้กับร้านค้าสารเคมีทางการเกษตรที่ซื้อมา จากนั้นร้านค้าก็จะต้องส่งคืนให้ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าเพื่อให้นำสารเคมีเหล่านี้ไป “กำจัด” โดยรัฐจะกำหนดวันวิธี และสถานที่ในการทำลาย ทั้งนี้ ตามประกาศได้กำหนดไว้ว่า ผู้ฝ่าฝืนที่มีสารเคมีทางการเกษตรอันตรายร้ายแรงไว้ในครอบครองหลังวันที่ 25 ก.พ. 2564 มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตามภาระในการกำจัดสารเคมีอันตรายร้ายแรง “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” จะตกไปอยู่ที่ผู้นำเข้าที่ต้องเสียค่ากำจัดเองประมาณ 100,000 บาท/ตัน         ดังนั้นจึงเกิดการเคลื่อนไหวโดยทางด้านเครือข่ายผู้ใช้เคมีปลอดภัย สมาคมวิทยาการวัชพืช เตรียมระดมทุนดึงมหาวิทยาลัย นักวิชาการ วิเคราะห์ผลตกค้างใหม่บอกผลวิจัยชุดเก่า “เชื่อถือไม่ได้” ขู่ฟ้องศาลปกครองเอาผิด คณะกรรมการวัตถุอันตราย ผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 73 และ 4 อ้างทำเสียหาย 200,000 ล้านบาท "กัญชา กัญชง"ใช้ประกอบอาหารไม่ผิดกฎหมาย        22 กุมภาพันธ์ ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่าคณะกรรมการอาหารได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ 1.(ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ….) พ.ศ…. ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ซึ่งมีสาระสำคัญคือ ปลดให้ใช้ส่วนของกัญชาและกัญชงที่ไม่เป็นยาเสพติดในผลิตภัณฑ์อาหารได้ 2.(ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ….) พ.ศ…. ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีนจากเมล็ดกัญชง และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของเมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือโปรตีนจากเมล็ดกัญชง โดย อย. จะเสนอ (ร่าง) ประกาศฯ ทั้ง 2 ฉบับนี้ให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนาม และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป         ด้านองค์กรผู้บริโภค เป็นห่วงประเด็นเรื่องการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ระบุ 'คณะกรรมการอาหาร และ อย.' ต้องพิจารณาเรื่องการกำกับดูแลร้านอาหารและเครื่องดื่ม การแจ้งข้อมูลผู้บริโภค คำเตือน และกำหนดอายุผู้ซื้อ มีบทลงโทษถ้าไม่ดำเนินการ         “สาร THC และ CBD ที่อยู่ในใบกัญชาละลายได้ดีในอาหารที่มีไขมันเป็นองค์ประกอบและถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดผ่านระบบทางเดินอาหารได้ดี จึงมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคค่อนข้างสูง อาจเกิดผลข้างเคียงจากการบริโภคได้ โดยเฉพาะในหญิงมีครรภ์ หญิงให้นมบุตร ทารก เด็กเล็ก อาจได้รับสารนี้จากการบริโภคทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ” มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหารมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค องค์กรผู้บริโภค คัดค้านราคา 104 บาทรถไฟฟ้าสายสีเขียวและร่วมเสนอทางออก        'มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เดินหน้าคัดค้านขึ้นราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียวสูงสุด 104 บาท เพิ่มภาระประชาชน กลายเป็นขนส่งสาธารณะที่ยากต่อการเข้าถึง แนะเว้นค่าแรกเข้า - ตั้งเพดานราคา - จัดการสัญญาสัมปทาน' แก้ปัญหาราคารถไฟฟ้า         การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าต้องทำให้เป็นขนส่งสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่เพิ่มภาระค่าครองชีพ ค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคาถูกกว่านี้ได้ โดยสิ่งที่ควรนำมาพิจารณาคือ การเว้นค่าแรกเข้า เนื่องจากปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกคิดจากสัญญาสัมปทานในแต่ละสายแยกกัน จึงทำให้ราคาในแต่ละสายสีต่างๆ แตกต่างกัน เนื่องจากเมื่อมีการเชื่อมต่อระหว่างระบบทำให้ผู้โดยสารจำเป็นต้องจ่ายค่าแรกเข้าให้กับรถไฟฟ้าอีกระบบตามที่ระบุในสัญญาฯ ดังนั้นถ้าใครต้องต่อรถไฟฟ้าหลายต่อก็จะแพงขึ้นมาก เพราะต้องเสียค่าแรกเข้าให้กับทุกระบบรถไฟฟ้า ระบบตั๋วร่วมจึงควรเกิดขึ้นได้เสียที คือตั๋วเดียวและขึ้นได้ทุกระบบ และพิจารณาเรื่องการทำให้ค่าโดยสารมีส่วนลด         “รัฐควรนำสัญญาสัมปทานทุกสายมาดูเพื่อแก้ไขปัญหา เพราะหากยังใช้สัญญาสัมปทานเดิม แม้จะยกเว้นค่าแรกเข้าแล้วก็ยังราคาเกือบหนึ่งร้อยบาท ดังนั้นจึงต้องทำควบคู่กันไป ทั้งการยกเว้นค่าแรกเข้า ตั้งเพดานราคา และจัดการปัญหาสัญญาสัมปทาน นอกจากนี้เรื่องการอุดหนุนจากรัฐก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องคิด รัฐสามารถพัฒนาและใช้ประโยชน์จากพื้นที่บนสถานีรวมถึงพื้นที่แนวเส้นรถไฟฟ้า เพื่อนำรายได้ส่วนนั้นมาดอุดหนุนเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ในราคาที่ถูกลง”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 รู้เท่าทันการร้อยไหมกระชับใบหน้า

        ทุกวันนี้ การกระชับใบหน้าโดยไม่ต้องทำศัลยกรรมตกแต่งเพื่อให้ใบหน้าดูอ่อนเยาว์และไม่แก่ตามวัยนั้นกำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลก เพราะไม่ต้องลงมีด ไม่มีรอยแผลเป็นที่ใบหน้า ไม่ต้องนอนในโรงพยาบาล และผลที่ได้ก็ดูเหมือนกับการทำผ่าตัด จึงมีการโฆษณากันในสื่อต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และวิธีการก็มีหลากหลายตั้งแต่ การฉีดโบท็อกซ์ การดูดและฉีดไขมัน การฉีดฟิลเลอร์ การลอกหน้า และการร้อยไหม ซึ่งมีการโฆษณาการทำร้อยไหมเพื่อกระชับใบหน้ากันมาก เรามารู้เท่าทันการร้อยไหมกันเถอะ          การร้อยไหมคืออะไร         การร้อยไหม คือ การใช้ไหมเส้นเล็กจำนวนมากมาร้อยเป็นเครือข่าย บริเวณใต้ผิวหนังที่ร้อยไหมเข้าไปจะถูกกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ ทำให้เกิดการสร้างเส้นเลือดใหม่ ทำให้เกิดการกระตุ้นเซลล์ที่สร้างเส้นใยคอลลาเจนให้มาพันรอบแนวเส้นไหม ทำให้เกิดการดึงรั้งผิวหน้า ทำให้ผิวหน้าเต่งตึงและกระชับ ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตมาเลี้ยงชั้นผิวหนังเพิ่มขึ้นด้วย            ไหมชนิดที่นิยมใช้กันมากทำมาจากโพลีไดออกซาโนน (polydioxanone หรือ PDO) ที่ใช้ในการทำผ่าตัดเย็บเส้นเลือดหัวใจ ไม่มีปฏิกิริยาต่อผิวหนัง จึงมีโอกาสแพ้น้อยมาก ผ่านการรับรองความปลอดภัยจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทั้งในและต่างประเทศ เส้นไหมจะถูกดูดซับโดยผิวหนังภายหลังจากการร้อยไหมหลายๆ เดือน และสามารถสลายตัวได้เองภายใน 8 เดือน         ชนิดของเส้นไหมที่นิยมใช้มี 3 แบบ คือ เส้นไหมเรียบ เส้นไหมเกลียว เส้นไหมที่มีเงี่ยง         ปัจจุบันเริ่มมีการโฆษณาการนำไหมทองมาใช้  เพราะคนมีความเชื่อว่าทองเป็นของมีค่า การใช้ไหมทองจึงเชื่อมโยงกับความคงทนของทอง แต่ความเป็นจริงก็คือ ไหมทองยังไม่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา การร้อยไหมทองไม่สามารถแก้ไขหรือเอาออกได้ เนื่องจากทองจะถูกพังผืดยึดเอาไว้ เมื่อดึงออกมาจะทำให้ผิวหนังบุ๋ม และถ้ารับการตรวจด้วยเครื่องมือที่ให้ความร้อน หรือรังสีแม่เหล็กวิ่งเข้าสู่ทองซึ่งเป็นโลหะ จะทำให้เกิดความร้อนจนไหม้ได้ การร้อยไหมได้ผลจริงหรือไม่ และอยู่นานแค่ไหน         เมื่อทบทวนข้อมูลของคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลพบว่า ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ (evidence-based) ทางการแพทย์ที่ยืนยันว่า การร้อยไหมสามารถทำให้ผิวหนังเกิดการยกกระชับได้จริง หรือสามารถคงสภาพการกระชับได้นาน และไหมละลายชนิด PDO ที่ได้การรับรองความปลอดภัยจาก อย. แต่นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า อย. ไม่อนุญาตหรือไม่รับรองวิธีการร้อยไหมเพื่อวัตถุประสงค์ของการกระชับผิว แต่อนุญาตให้ใช้ในการเย็บแผลเท่านั้น         เมื่อทบทวนงานวิจัยใน Pubmed  มีการวิเคราะห์อภิมานในบทความ 188 บทความ ที่มีคุณภาพและตรงมีเพียง 44 บทความ พบว่า ในทศวรรษที่ผ่านมา ยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์หรือมีน้อยมากที่ยืนยันประสิทธิผลและความปลอดภัยของการร้อยไหม มีเพียง 2 บทความที่แสดงระยะเวลาที่ได้ผลที่สั้นมากของการยกกระชับใบหน้า         สรุป การร้อยไหมกระชับใบหน้าดูเหมือนได้ผลในระยะสั้น เนื่องจากการบวมและการสร้างคอลลาเจนที่ใบหน้า ทำให้ดูเต่งตึง แต่งานวิจัยทางการแพทย์ยังไม่สามารถยืนยันประสิทธิผล ความปลอดภัย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 ระวังผลิตภัณฑ์น้ำสมุนไพรสกัด สวม อย. ปลอม

        คุณอภิรักษ์เป็นคนที่รักสุขภาพ และมีความชอบพืชสมุนไพรและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรเป็นอย่างมาก มาวันหนึ่งคนรู้จักแถวบ้านคุณอภิรักษ์ได้เข้ามาแนะนำผลิตภัณฑ์น้ำสมุนไพรยี่ห้อหนึ่ง โดยโฆษณาสรรพคุณ แก้ปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอกตามร่างกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรง คุณอภิรักษ์ได้อ่านส่วนผสมและสรรพคุณต่าง ๆ บนฉลากสินค้า ก็เห็นว่ามีสมุนไพรหลายตัวที่น่าสนใจ ทั้งคนที่นำผลิตภัณฑ์มาเสนอขายยังเป็นคนที่รู้จักมักคุ้น และเคยได้ยินคนในละแวกบ้านกล่าวถึงกัน บนฉลากก็ยังมีเลข อย.รับรองอีกด้วย คุณอภิรักษ์จึงได้ซื้อน้ำสมุนไพรสกัดเอาไว้จำนวนหนึ่งเพื่อทดลองรับประทาน         ไม่กี่วันต่อมามีข่าวว่า เพื่อนบ้านจำนวนหนึ่งที่ดื่มผลิตภัณฑ์น้ำสมุนไพรสกัดดังกล่าว เกิดอาการคันและบวมตามร่างกายจนต้องทยอยกันเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล อีกทั้งเมื่อหน่วยงานนำตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไปตรวจสอบยังพบว่า ผลิตภัณฑ์มีการสวมเครื่องหมายเลข อย.ปลอมและมีสารสเตียรอยด์ปนเปื้อน นับเป็นโชคดีของคุณอภิรักษ์ที่ยังไม่ได้หยิบน้ำสมุนไพรสกัดยี่ห้อดังกล่าวมารับประทาน แต่อยากได้ความรับผิดชอบจากผู้ผลิตจึงโทรมาปรึกษา แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อมีการตรวจพบการปนเปื้อนของสารสเตียรอยด์ในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ถือว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (1) คือ อาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษตาม มาตรา 58 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ         นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่สามารถใช้คำโฆษณาในลักษณะเพื่อบรรเทา รักษา หรือแก้โรคต่าง ๆ ได้ เพราะไม่ใช่เวชภัณฑ์ยาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการรักษาโรค ในกรณีนี้ยังเข้าข่ายใช้คำโฆษณาหลอกลวงเกินจริง ซึ่งตาม มาตรา 40 ของ พ.ร.บ.อาหารฯ ยัง ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร อันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ซึ่งมีบทกำหนดโทษตาม มาตรา 70 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         แนะนำให้คุณอภิรักษ์นำสินค้าไปมอบให้ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดดำเนินการตามกฎหมาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 จับพิรุธ ตระเวนซื้อยาแก้แพ้ แก้ไอ

        วัยรุ่นยุคนี้มักมีพฤติกรรมแปลกๆ เพื่อโชว์ให้คนสนใจ บางครั้งกลับทำให้เกิดอันตรายกับตัวเองดังกรณีล่าสุดที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาต้องออกมาเตือนวัยรุ่นว่า อย่าลอกเลียนแบบการทำ Benadryl challenge เด็ดขาด หลังพบรายงานผู้เสียชีวิตจากการเข้าร่วมทำไวรัลดังกล่าวผ่านแอพพลิเคชั่น TIKTOK เพราะยาเบนาดริล (Benadryl) แม้จะเป็นยาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการรักษา แต่หากรับประทานเกินขนาด อาจเกิดอาการข้างเคียงจนถึงแก่ชีวิตได้         ยาเบนาดริล (Benadryl) มีชื่อสามัญทางยาคือ ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) เป็นยาแก้แพ้ที่ใช้ในการบรรเทาอาการโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจส่วนบนและอาการหวัด เช่น น้ำมูกไหลและจาม ในแง่กฎหมายจัดเป็นยาอันตรายที่ต้องสั่งจ่ายยาโดยแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น หากรับประทานเกินขนาด อาจเกิดความผิดปกติกับหัวใจทำให้หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูง หัวใจหยุดเต้นและอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้         ในประเทศไทยมีการขึ้นทะเบียนตำรับยาที่มีไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) หลายตำรับ ทั้งยาน้ำ ยาเม็ด และยาแคปซูล มีชื่อการค้าต่างๆ มากมาย  ร้านขายยาที่จ่ายยานี้ให้กับผู้ป่วยจะต้องจัดทำบัญชีการขายยาเพื่อป้องกันการนำยาไปใช้ในทางที่ผิด         จากการลงพื้นที่ตรวจสอบตามร้านขายยาและข้อมูลในชุมชนพบว่า วัยรุ่นมักจะตระเวณมาขอซื้อยานี้ตามร้านต่างๆ ทั้งจากร้านยาหรือร้านขายของชำบางแห่งที่แอบลักลอบนำมาขาย ในอดีตวัยรุ่นที่มาซื้อยาเหล่านี้ เราจะสังเกตได้ง่าย โดยดูจากท่าทีและพฤติกรรมของพวกเขาที่แสดงออกอย่างชัดเจน แต่เมื่อทางการเข้มงวดมากขึ้นก็เลี่ยงหาวิธีต่างๆ มาซื้อ เช่น จ้างผู้ใหญ่มาซื้อโดยอ้างว่าจะนำไปใช้กับบุตรหลาน เคยมีข้อมูลว่าบางครั้งมีการจ้างคนแต่งกายเป็นพระสงฆ์หรือผู้สูงอายุมาขอซื้อ อ้างว่ารับประทานประจำ ล่าสุดมีการจ้างเด็กวัยรุ่นที่ท่าทางสุภาพเรียบร้อยมาขอซื้อยาเหล่านี้         วิธีง่ายๆ ที่จะจับพิรุธคือ เมื่อคนกลุ่มนี้เข้ามาในร้านยามักจะคอยสอดส่ายสายตา กวาดตามองยาตามชั้นวางยาพยายามเพ่งไปบริเวณที่มียาน้ำ และเมื่อจะขอซื้อก็มักจะเอ่ยปากขอซื้อยาโดยระบุชื่อการค้าของยาพวกนี้ที่วัยรุ่นนิยมแทนที่จะบอกอาการเจ็บป่วยไม่สบาย  หรือบางคนโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่กลับจะซื้อแต่ยาน้ำเชื่อมและมักจะวนมาขอซื้อบ่อยๆ จนมีพิรุธว่าทำไมอาการป่วยไม่หายสักที และทำไมรับประทานยาหมดก่อนกำหนดตามปริมาณที่ได้รับไป         หากใครเจอพฤติกรรมเหล่านี้ หรือเจอร้านขายยาที่ไม่เข้มงวดปล่อยปละละเลยในการขายยาอย่างไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ ช่วยไปกระซิบเจ้าหน้าที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาให้ลงไปตรวจสอบด้วยนะครับ เพื่อคุ้มครองให้บุตรหลานเราปลอดภัยต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 เผยผลสำรวจคนกทม 33.7 เปอร์เซ็นต์ เคยมีการตรวจสอบหมายเลข อย

        นิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจของเครื่องหมายบนสลากสินค้า โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,121 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 1 - 7 ตุลาคม 2563 กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง        ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้เรื่องความรู้ความเข้าใจของเครื่องหมายบนสลากสินค้า เนื่องจากในปัจจุบันมีการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์และได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ประกอบกับการที่มีการขายสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ มาตรฐาน การตรวจสอบฉลากผลิตภัณฑ์ของสินค้าที่จะต้องมีรายละเอียดประกอบด้วย ชื่อประเภทสินค้าชื่อผู้ผลิต ผู้สั่งหรือนำเข้า สถานประกอบการ วันเดือนปีที่ผลิต กรณีนำเข้าต้องระบุประเทศที่ผลิต ขนาดของสินค้า วิธีใช้ ข้อแนะนำในการใช้ คำเตือน และราคาสินค้าไว้บนฉลากหรือภาชนะหีบห่อที่บรรจุ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 การขายสินค้าที่ฉลากผลิตภัณฑ์ของสินค้าที่ไม่ถูกต้องและมีการปลอมแปลงมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในส่วนของการตรวจสอบนั้นสามารถตรวจสอบหมายเลข อย. ของสินค้าทาง www.fda.moph.go.th ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นช่องทางที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ และเครื่องหมายบนสลากสินค้านั้นมีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าอย่างไร ผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อเรื่องความรู้ความเข้าใจของเครื่องหมายบนสลากสินค้า โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้             กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ทราบว่าฉลากผลิตภัณฑ์ของสินค้าจะต้องมีรายละเอียดประกอบด้วย ชื่อประเภทสินค้าชื่อผู้ผลิต ผู้สั่งหรือนำเข้า สถานประกอบการ วันเดือนปีที่ผลิต กรณีนำเข้าต้องระบุประเทศที่ผลิต ขนาดของสินค้า วิธีใช้ ข้อแนะนำในการใช้ คำเตือน และราคาสินค้าไว้บนฉลากหรือภาชนะหีบห่อที่บรรจุ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ร้อยละ 76 และทราบว่าฉลากผลิตภัณฑ์ของสินค้าถ้าไม่ถูกต้องและมีการปลอมแปลงมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ร้อยละ 55.8             เคยมีการค้นหาความหมายของตราสัญลักษณ์ต่างๆ ที่อยู่บนฉลากผลิตภัณฑ์ ร้อยละ 50 ในส่วนของการเลือกซื้อสินค้าได้มีการตรวจสอบฉลากผลิตภัณฑ์ของสินค้าในส่วนของผู้ผลิต ราคา วันผลิต วันหมดอายุ ร้อยละ 82.8 และทราบว่าเครื่องหมาย อย. ย่อมาจากสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ร้อยละ 83.7             กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมาย อย. แสดงว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีความปลอดภัย ร้อยละ 81.5 ผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมาย อย. มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า ร้อยละ 74.9 และ จะไม่เลือกซื้อสินค้า หากพบสินค้าไม่มีเครื่องหมาย อย. บนฉลากผลิตภัณฑ์ ร้อยละ 46.9             ไม่เคยมีการตรวจสอบหมายเลข อย. ของสินค้าทาง www.fda.moph.go.th ร้อยละ 46.6 ทราบว่า สามารถตรวจสอบหมายเลข อย. ของสินค้าทาง www.fda.moph.go.th  ร้อยละ 47.5 และทราบว่าผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร หมายเลข อย. จะมีตัวเลข 13 หลัก ร้อยละ 61.4            กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ทราบว่าความหมายของตัวเลขที่ระบุในหมายเลข อย. ร้อยละ 44.5 ทราบว่าผลิตภัณฑ์ประเภทผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จะมีเลขที่ใบรับแจ้งโดยมีตัวเลข 10 หลัก ร้อยละ 46 และไม่ทราบว่าผลิตภัณฑ์ประเภทยา ยา ทั้งยาแผนปัจจุบัน ยาแผนไทย หรือยาแผนโบราณ จะมีเลขทะเบียนตำรับยาแสดงบนฉลากเช่น ทะเบียนยาเลขที่ G XXX/XX ร้อยละ 40.5             ในส่วนของเครื่องหมาย มอก. ย่อมาจากมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ทราบว่าเครื่องหมาย มอก. ย่อมาจากมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ร้อยละ 66.3 คิดว่าผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมาย มอก. แสดงว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีความปลอดภัย ร้อยละ 69.7 เครื่องหมาย มอก. บนฉลากผลิตภัณฑ์ มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า ร้อยละ 61.3 และหากพบสินค้าไม่มีเครื่องหมาย มอก. บนฉลากผลิตภัณฑ์ มีผลต่อการจะตัดสินใจซื้อ ร้อยละ 48.3

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 ผลทดสอบการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตร ในปลาสลิดตากแห้ง

ปลาสลิด หรือ ปลาใบไม้ เป็นปลาน้ำจืดที่เป็นปลาเศรษฐกิจสำคัญชนิดหนึ่งของไทย ปลาชนิดนี้นิยมนำมาแปรรูปเป็นปลาสลิดตากแห้ง (ปลาสลิดแดดเดียว) โดยแหล่งผลิตและแปรรูปปลาสลิดที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันดีคือ ปลาสลิดบางบ่อ (อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ) ซึ่งมีชื่อเสียงในเรื่องความหอมมันของเนื้อปลา          ปลาสลิดแดดเดียวนับเป็นอาหารแปรรูปแบบแห้งที่ผู้บริโภคนิยมรับประทานไม่แพ้อาหารทะเลตากแห้งจำพวกปลาหมึกแห้ง กุ้งแห้ง เพราะปลาสลิดมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เนื้อปลามีความมัน สามารถนำไปทอด แกงส้ม ผัดกะเพรา ทำข้าวผัดปลาสลิด ยำปลาสลิด ผัดพริกขิงปลาสลิดกรอบ ผัดคะน้าปลาสลิด แล้วแต่จะรังสรรค์เมนูต่างๆ นานา ก็ล้วนอร่อยแทบทั้งนั้น แต่ผู้บริโภคเคยสังเกตหรือไม่ว่า ร้านอาหารทะเลหรือเนื้อสัตว์ตากแห้งในตลาดสด ปกติแล้วจะเป็นที่ชื่นชอบของเหล่าแมลงวัน ซึ่งแน่นอนว่าหากร้านไหนมีแมลงวันมาตอมอาหาร ก็จะดูไม่สะอาดและไม่ถูกหลักอนามัย หากเป็นช่วงก่อนนี้ แม่ค้าก็จะใช้ถุงน้ำแขวนไว้ หรือ ใช้ไม้พันปลายด้วยพู่เชือกฟางปัดๆ เอา บางร้านอาจใช้มอร์เตอร์ติดก้านไม้ปัดแมลงที่หมุนได้อัตโนมัติเพื่อไล่แมลงเหล่านี้ไม่ให้มายุ่งกับอาหารหากไปเจอร้านที่ไม่มีอุปกรณ์ไล่แมลงเลย แต่กลับไม่มีแมลงตอมสักตัว อันนี้ผู้บริโภคก็อย่าได้วางใจ อาจตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่าแม่ค้าใช้ยาฆ่าแมลงฉีดพ่นหรือไม่ ดังที่เป็นข่าวเมื่อต้นปี 2560 ที่มีการตรวจพบจากหน่วยงานว่า แม่ค้าบางร้านใช้ยาฆ่าแมลง “ดีดีที” (DDT) หรือ ไดคลอโรไดฟีนิลไตรคลอโรอีเทน (Dichloro-diphenyl-trichloroethane) ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายทางการเกษตร ฉีดพ่นปลาสลิดแห้งที่วางจำหน่าย เพื่อไม่ให้มีแมลงวันมาตอม          ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังการตกค้างของสารเคมีในอาหารอย่างสม่ำเสมอ นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างปลาสลิดตากแห้ง (ปลาสลิดแดดเดียว) จำนวน 19 ตัวอย่าง ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จากร้านค้าในตลาดสด ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้าทั่วไป และร้านค้าออนไลน์ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด โดยส่งตรวจวิเคราะห์การตกค้างของยาฆ่าแมลงในกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต (Pesticides Organophosphorus) และในกลุ่มไพรีทรอยด์ (Pesticides Pyrethroid) โดยผลการตรวจวิเคราะห์แสดงดังตารางต่อไปนี้ สรุปผลการทดสอบ          จากผลการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ปลาสลิดตากแห้ง (แดดเดียว) ทั้งหมด 19 ตัวอย่าง พบว่า ผลิตภัณฑ์ปลาสลิดตากแห้ง (แดดเดียว) ทุกตัวอย่าง ตรวจไม่พบการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรในกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต และ ในกลุ่มไพรีทรอยด์ ข้อสังเกตอื่นๆ          จากตารางข้างต้น หากเปรียบเทียบราคาต่อกิโลกรัมของผลิตภัณฑ์ปลาสลิดตากแห้ง ทั้ง 19 ตัวอย่างนั้น พบว่า          - ตัวอย่างปลาสลิดตากแห้ง (แดดเดียว) ที่มีราคาต่อกิโลกรัม ต่ำที่สุด คือ 180 บาท/กก.              ได้แก่ ร้านตี๋ใหญ่ ตลาดยิ่งเจริญ สะพานใหม่ และ ล้านมัจฉาอาบแดด ร้านป้าแจ๋ว วัดป่าเลไลย์ /จ.สุพรรณบุรี    และ   ตัวอย่างปลาสลิดตากแห้ง (แดดเดียว) ที่มีราคาต่อกิโลกรัม สูงที่สุด คือ 442.86 บาท/กก.            ได้แก่ โลตัส Express สาขาเซ็นเตอร์วัน            ทั้งนี้ หากลองเฉลี่ยราคาต่อกิโลกรัมของตัวอย่างผลิตภัณฑ์ปลาสลิดตากแห้ง (แดดเดียว) ทั้งหมด 19 ตัวอย่าง จะได้ราคาเฉลี่ยเท่ากับ 277.76 บาท/กก. ข้อแนะนำผู้บริโภค          การเลือกซื้อปลาสลิดแดดเดียว ควรเลือกซื้อปลาที่มีกลิ่นหอม (แต่ไม่ใช่กลิ่นสาบดินโคลน) เนื้อปลาไม่แห้งจนเกินไป สังเกตที่บริเวณท้องควรมีความมันเลื่อมอยู่บ้าง ใช้นิ้วกดดูที่เนื้อบริเวณด้านหลังจะดีดตัวกลับ และสังเกตว่าปลาสลิดตากแห้งนั้นมีแมลงมาตอมบ้างหรือไม่ หากไม่มีเลยอาจดูผิดแปลกธรรมชาติ ก็อย่าได้วางใจเมื่อซื้อมาแล้วก่อนนำมาปรุงอาหารรับประทาน ควรล้างให้สะอาด ซับน้ำให้แห้ง ใช้มีดบั้งปลาก่อนนำลงทอดให้กรอบ หรือหากต้องการเก็บปลาสลิดเอาไว้ในตู้เย็น ควรล้างปลาสลิดให้สะอาดแล้วซับน้ำให้แห้งเสียก่อน จึงมัดใส่ถุงพลาสติกให้สนิท หรือ อาจเก็บไว้ในถุงสุญญากาศ นำเข้าแช่เย็น หรือช่องแช่แข็ง ก็จะเก็บได้นานขึ้น ข้อมูลอ้างอิง        - การเลี้ยงปลาสลิด, กรมประมง (https://www.fisheries.go.th/sf-naratiwas/salid.html)         - https://th.wikipedia.org/wiki/ปลาสลิด         - Pesticides / วัตถุอันตรายทางการเกษตร               (http://www.foodnetworksolution.com/wiki/word/1230/pesticides-วัตถุอันตรายทางการเกษตร)         - วัตถุอันตรายทางการเกษตร : ยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต          (http://www.foodnetworksolution.com/wiki/word/2187/)         - สารกำจัดแมลงและศัตรูพืชกลุ่มไพรีทรัม และสารสังเคราะห์ไพรีทรอยด์          (http://www.nfi.or.th/foodsafety/upload/damage/pdf/pyrethrum_and_pyrethroides_2.pdf)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 เมียอาชีพ : อย่าลืมกรอกใบสมัครก่อนเข้างานด้วยนะ

                       เพียงเห็นแค่ชื่อเรื่องของละครโทรทัศน์ “เมียอาชีพ” ก็รู้สึกสนเท่ห์ใจขึ้นโดยพลันว่า บทบาทความเป็น “เมีย” ในยุคสมัยนี้ ได้เขยิบจากพื้นที่ของครัวเรือน กลายมาเป็น “งานอาชีพ” อีกแขนงหนึ่งของบรรดาคุณผู้หญิงทั้งหลายไปเสียแล้วเหรอ ???        เมื่อพูดถึงคำว่า “งาน” แล้ว สังคมไทยค่อนข้างกำหนดนิยามความหมายของ “งาน” เอาไว้กลางๆ และกว้างๆ ตั้งแต่ความเป็นงานที่ดูจริงจังและเป็นความจำเป็นในชีวิต ดังเช่นบรรดาภาระงานหรือหน้าที่การงานต่างๆ ไปจนถึงความเป็นงานที่ดูไม่ขึงขังไม่จริงจัง หากแต่บันเทิงเริงรมย์กันอีกต่างหาก อย่างงานอดิเรก งานปาร์ตี้ หรืองานเทศกาลเฉลิมฉลอง         แต่หากกล่าวจำเพาะมาที่ “งานอาชีพ” ด้วยแล้ว ก็น่าจะหมายถึงภาระงานที่ผู้คนประกอบขึ้นเป็นสัมมาอาชีวะ เช่น งานทำไร่ทำนา งานราชการ งานอาชีพค้าขาย ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นการกระทำที่นำมาซึ่งผลตอบแทนเชิงเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของรายรับ รายได้ หรือเงินเดือน         ดังนั้น เมื่อตัวละครอย่าง “ชลลดา” หรือ “ดาว” ได้ก้าวย่างจากความเป็นผู้หญิงคนหนึ่ง มาสวมบทบาทเป็น “เมีย” และยังต้องเป็น “เมียแบบมืออาชีพ” ด้วยแล้ว บทบาทที่ทับซ้อนในความเป็น “เมียอาชีพ” ของดาว จึงก่อให้เกิดภาพความหมายที่ทั้งเหมือนและผิดแผกไปจากภาพของเมียในแบบที่ผู้คนคุ้นเคยหรือรับรู้กันมาก่อน        ชะตากรรมของดาวเริ่มต้นจากที่เธอเป็นพริตตี้รับงานอีเวนท์โน่นนี่เพื่อเลี้ยงชีพ แต่เมื่อ “สมบัติ” ผู้เป็นบิดา เกิดป่วยหนัก และต้องใช้เงินเป็นแสนเพื่อรักษา ดาวจึงตัดสินใจไปกู้หนี้จาก “มิสเตอร์โรเบิร์ต” โดยมีเงื่อนไขว่า เธอต้องเซ็นสัญญากู้ยืมกับบริษัทเดอะแพลนของเขา        ทว่า เงื่อนไขดังกล่าวกลับทำให้ดาวต้องตกอยู่ในหนี้สัญญาทาสที่ผูกมัดเธอให้ทำในสิ่งที่ไม่ปรารถนา คือการกลายมาเป็นสินค้าในโครงการ “Perfect Wife” ของเดอะแพลน ที่จัดหาสินค้าภรรยาผู้สมบูรณ์แบบให้กับลูกค้าระดับซูเปอร์วีไอพี ตามสโลแกน “perfect match, perfect wife”        จนกระทั่งวันหนึ่ง พระเอกหนุ่มหล่อ “กษิดิศ” ไฮโซเศรษฐีทายาทผู้บริหารบริษัทโลจิสติกส์ Way Ex ได้มาพบปะเจอะเจอกับดาวโดยบังเอิญ แล้วกลายเป็นตกหลุมรักเมื่อแรกเห็น เขาจึงเชื้อเชิญให้ดาวมาทำงานเป็นเลขานุการส่วนตัว โดยในช่วงแรกกษิดิศหารู้ไม่ว่า เขาเองก็คือเป้าหมายหลักของเดอะแพลนที่ส่งดาวมาลวงล่อให้เขารับเธอเป็น “เมียอาชีพ” เพื่อผลประโยชน์ในเม็ดเงินมหาศาลของบริษัทเดอะแพลน         เพราะด้วยชีวิตที่ “ปากก็ต้องกัด ตีนก็ต้องถีบ” แม้ดาวจะไม่ได้ปลื้มปริ่มกับการที่ต้องมาหลอกลวงกษิดิศให้ตกหลุมพรางของมิสเตอร์โรเบิร์ต แต่ตามสูตรสำเร็จของเรื่องเล่าแนวนี้ ยิ่งรู้สึกผิดเธอก็ยิ่งตกหลุมรักเขาจริงๆ เพราะฉะนั้น ด้านหนึ่งเมื่อต้องทำเพื่อเงิน แต่ความเป็น “เมียอาชีพ” ก็ทำให้ดาวต้องสวมบทบาทในวิชาชีพแห่งความเป็นเมียที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุดเช่นกัน         แม้ในภายหลัง กษิดิศที่ล่วงรู้ถึงความลับ และยินยอมจ่ายค่าตัวของดาวให้กับมิสเตอร์โรเบิร์ต แต่ด้วยความเป็น “เมียรับจ้าง” ที่เป็น “มืออาชีพ” ดาวก็ต้องบริหารจัดการควบคู่กันไปทั้ง “งานหลวงที่ต้องมิให้ตกขาด” และ “งานราษฎร์ที่ต้องมิให้บกพร่อง” เพราะนับจากวันที่เขาเสียเงินแลกซื้ออิสรภาพให้กับ “เมียอาชีพ” นั้น ดาวก็ต้องทำหน้าที่ภรรยาให้สมกับที่กษิดิศได้กล่าวว่า “ผมซื้อคุณแล้ว คุณก็เป็นของผม”        ในส่วนของ “งานหลวง” ที่เป็นภาระงานนอกบ้านนั้น ดาวก็ต้องเผชิญหน้ากับ “เมตตา” เลขานุการคนเก่าที่วันๆ ก็ต้องคอยเขม่นหาเรื่องดาวที่จะเข้ามาแทนที่ตำแหน่งงาน หรือแม้แต่ต้องปะทะต่อกรกับ “จารุณี” อาสะใภ้ของกษิดิศ ที่เบื้องลึกก็หวังจะฮุบกิจการของ Way Ex มาไว้ในมือของเธอ         และเมื่อจารุณีสืบความจริงได้ว่า สถานะของดาวเป็นเพียง “เมียอาชีพรับจ้าง” ของกษิดิศ เธอก็คอยตามรังควานหยามเหยียดฐานะที่ต่ำกว่าของดาว แต่เพราะมนุษย์ก็มีสองมือไม่ต่างกัน ครั้งหนึ่งเมื่อถูกจารุณีตบหน้า และดูถูกว่าเธอเป็น “ผู้หญิงชั้นต่ำ” ดาวก็ตบหน้าอาสะใภ้ของสามีกลับ พร้อมกับพูดให้บทเรียนที่แสบสันว่า “จะสูงจะต่ำ ถูกตบมันก็เจ็บเหมือนกัน”        จนถึงตอนท้ายของเรื่อง ความเป็น “มืออาชีพ” ของดาวได้พิสูจน์ให้เห็นว่า แม้เธอจะเป็นเลขานุการมือใหม่ แต่ความสามารถที่เท่าทันเกมก็ทำให้เธอสืบจนพบว่า จารุณีวางแผนโกงบริษัท Way Ex ของกษิดิศ พร้อมๆ กับช่วยกอบกู้เครดิตภาพลักษณ์ที่ตกต่ำของลงบริษัทให้กลับมาดูดีในสายตาของบอร์ดบริหารทุกคน        ส่วนพันธกิจ “งานราษฎร์” ของความเป็นภรรยานั้น “เมียอาชีพ” อย่างดาวก็สามารถดูแลภาระหน้าที่ตามบรรทัดฐานแห่งความเป็นเมียได้อย่างเพียบพร้อมสมบูรณ์แบบ        ถึงแม้จะเป็นเพียง “เมียรับจ้าง” แต่ในความเป็นเมียนั้น ดาวก็มี job description ที่ต้องปรนนิบัติพัดวีคุณสามี เธอเริ่มลงมือไปเข้าคอร์สเรียนทำอาหารทำขนมเพื่อเสริมเสน่ห์ปลายจวัก ทุกเช้าต้องดูแลเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายก่อนที่เขาจะไปทำงาน รวมไปถึงการดูแลเรื่องบนเตียงมิให้ขาดตกบกพร่อง แบบที่ละครเองก็เลือกฉายภาพฉากฟินๆ ของคู่พระนางให้ผู้ชมได้รื่นรมย์ชมชื่นอยู่เป็นระยะๆ        แม้ในชีวิตคู่จะมีบททดสอบจากทั้ง “แอนนา” ศัตรูหัวใจของดาวที่แอบหลงรักกษิดิศนานมาแล้ว หรือจะมีผู้ชายดีๆ อย่าง “มหานที” เจ้าของบริษัทคู่แข่งของกษิดิศ เข้ามาเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งในชีวิตของดาว แต่บรรทัดฐานที่ “เมียอาชีพ” พึงยึดถือก็ต้องรักเดียวใจเดียว เคียงข้างและซื่อสัตย์กับสามีผู้แม้จะมีอีกสถานะที่เป็นนายจ้างของเธอก็ตาม         ถึงที่สุดแล้ว แม้ตัวละครอย่างดาวจะทำให้เราเห็นว่า บทบาทของความเป็นเมียได้เขยิบปริมณฑลจากพื้นที่ของครัว มาเป็นเมียที่กรอกใบสมัครเข้าทำงานเป็นอาชีพ แถมมีรายได้รายรับพ่วงติดมาด้วยเฉกเช่นแวดวงอาชีพอื่นๆ ก็ตาม แต่เพราะความเป็น “เมียอาชีพ” นั่นเอง เธอก็ต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่มากไปกว่า “เมียสมัครเล่น” ที่รับรู้กันโดยทั่วไป        เมื่อดูละครจบลง คำถามที่ชวนฉงนใจยิ่งก็อยู่ที่ว่า แม้จะก้าวเข้าสู่สถานะของ “เมียอาชีพ” กันแล้ว นอกจากผู้หญิงพึงต้องรู้จักบริหาร “ความเป็นเมีย” ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตามภาระงานที่ระบุไว้ แต่ในอีกฟากหนึ่ง การดำรงไว้ซึ่งจริยธรรมแห่งภรรยาที่ซื่อสัตย์แสนดีโดยไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมๆ ก็ยังเป็นคำตอบให้ผู้หญิงคนหนึ่งใช้ก้าวข้ามจาก “เมียสมัครเล่น” เป็น “เมียอาชีพ” ก่อนจะกลายเป็น “เมียที่ตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้” ตามจารีตปฏิบัติที่สังคมยึดถือและต้องการ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 สามีหรือภริยาทำหนังสือยินยอมให้คู่สมรสไปค้ำประกันหนี้ ต้องร่วมรับผิดในหนี้นั้นด้วยหรือไม่

        ผมขอหยิบเรื่องใกล้ตัวของคนที่แต่งงานเป็นสามีภริยากันตามกฎหมายแล้วมาเสนอในคราวนี้ครับ  เนื่องจากเห็นว่าในช่วงนี้ มีข่าวเกี่ยวกับคู่สามีภริยาที่เป็นคนดังมีประเด็นพิพาทกันมากมาย โดยเฉพาะเรื่องเงินๆ ทองๆ จึงขอนำเรื่องเกี่ยวกับการค้ำประกันหนี้ของสามีหรือภริยามาเล่าสู่กันฟัง        อย่างที่เราทราบกันว่า เมื่อจดทะเบียนสมรส ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้หลังสมรส ถือเป็นสมบัติร่วมกันของสามีภริยา แต่ถ้าเป็นเรื่องไปก่อหนี้ เช่นการที่สามีหรือภริยา ฝ่ายหนึ่งไปค้ำประกันหนี้ให้ใครสักคน จะถือว่าคู่สมรสของคนที่ไปค้ำประกัน เขาจะต้องร่วมรับผิดในหนี้นั้นด้วยหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ก็มีการพิพาทเป็นคดีขึ้นสู่ศาล และศาลฏีกาได้เคยตัดสินในเรื่องนี้ไว้แล้ว คือ สามีหรือภริยาของคนที่ค้ำประกันไม่ต้องรับผิด เพราะไม่ถือเป็นการให้สัตยาบันตามกฎหมาย แต่ถ้าคู่สมรสคนที่ค้ำประกันเสียชีวิต สามีหรือภริยานั้นต้องรับผิดชอบตามสัญญาค้ำประกันในฐานะทายาทตามหลักกฎหมายมรดก แต่ความรับผิดจะจำกัดไม่เกินทรัพย์มรดกของคู่สมรสที่ตนได้รับ ตามคำพิพากษาศาลฏีกา 8820/2561 (ประชุมใหญ่)          คำพิพากษาศาลฏีกา 8820/2561 (ประชุมใหญ่)            ในส่วนที่ ส. ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไม่ใช่นิติกรรมที่จำต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรส เมื่อจำเลยที่ 2 ให้ความยินยอมไว้เป็นการทั่วไป จึงเป็นการแสดงเจตนารับรู้และไม่คัดค้านที่ ส. สามีไปทำนิติกรรม หาใช่เป็นการให้สัตยาบันตามนัยของบทบัญญัติ มาตรา 1490 (4) ไม่ เนื่องจากไม่มีข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์แต่อย่างใดว่าจำเลยที่ 2 รับรองการที่ ส. ก่อหนี้ขึ้นแล้วตามมูลหนี้ที่มีการทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 คงปรากฏเฉพาะการที่จำเลยที่ 2 รับรู้ถึงการเข้าทำสัญญาค้ำประกันของ  ส. เท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้สัตยาบันการก่อหนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่คู่สมรสได้กระทำไป จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม  แต่หากสามีถึงแก่ความตาย ภริยาคงรับผิดตามสัญญาค้ำประกันในฐานะทายาทโดยธรรมคือรับผิดไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกของสามีที่ตกทอดได้แก่ตนเท่านั้นตาม ม.1601         อยากให้ดูเทียบกับอีกกรณี ที่ภริยาไปลงนามในหนังสือให้ความยินยอมทำสัญญาซื้อขายที่ดิน ต่อมาสามีไปกู้ยืมเงินเพื่อซื้อที่ดิน เช่นนี้ ถือว่าภริยาให้สัตยาบันแล้ว จึงต้องร่วมรับผิดในหนี้กู้ยืมดังกล่าว         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5848/2550         จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์โดยจำเลยที่ 2 ภริยาของจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมในหนังสือให้ความยินยอมซึ่งมีข้อความระบุว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมเกี่ยวกับการซื้อและจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และกู้ยืมเงินจากโจทก์ได้โดยไม่คัดค้าน ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมรับรู้หนี้กู้ยืมเงินที่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นสามีได้ก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวในระหว่างสมรสและจำเลยที่ 2 ให้สัตยาบันในหนี้ดังกล่าวแล้ว จึงเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4) จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์         จากตัวอย่างข้างต้นที่หยิบยกมา เราจะเห็นได้ว่า การเป็นสามีภริยากัน มีสิทธิหน้าที่ซึ่งกันและกัน ดังนั้นเราควรทราบว่าสามีหรือภริยาของตนเองได้ไปทำสัญญาอะไรไว้บ้าง โดยเฉพาะสัญญาที่ก่อให้เกิดหนี้ และหมั่นตรวจสอบว่าตนได้ให้ความยินยอมใดๆ ไปในการดำเนินการของคู่สมรสของตนเอง มีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน เพื่อมิให้เกิดปัญหาความขัดแย้งภายในครอบครัวตามมาภายหลัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 อย่าปล่อยให้ความเชื่อเหนือ ความจริง

        1. ผลิตภัณฑ์ที่แสดงเลขอนุญาต (เช่น อย ทะเบียนยา เครื่องสำอาง) อาจไม่ใช่ความจริงเสมอไป         ผู้บริโภคที่มีความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ มักจะตรวจสอบฉลากของผลิตภัณฑ์ว่ามีรายละเอียดครบถ้วนหรือไม่ และเมื่อพบว่าครบถ้วนแล้ว ก็มักจะคิดว่ามีความปลอดภัย เนื่องจากได้รับการอนุญาตหรือตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ที่อนุญาตเรียบร้อยแล้ว แต่จากประสบการณ์ทำงาน มักพบว่าผลิตภัณฑ์อันตรายหลายอย่าง มักจะแอบลักลอบเติมสารอันตรายหลังจากที่ได้รับอนุญาตแล้ว หรือผู้ผลิตบางรายอาจแสดงข้อมูลปลอม หรือเอาข้อมูลของผลิตภัณฑ์อื่นมาแสดงในของตนแทน (เช่น ทะเบียน อย. ทะเบียนตำรับยา หรือเลขจดแจ้งเครื่องสำอาง)         ดังนั้นนอกจากการตรวจสอบฉลากแล้ว ผู้บริโภคควรต้องสังเกตสิ่งพิรุธอื่นๆ ด้วย เช่น โฆษณาอวดสรรพคุณเกินจริงหรือไม่ หรือหลังจากใช้แล้วเกิดอาการผิดปกติ หรือใช้วิธีการขายแบบหลบๆ ซ่อนๆ หรือแปลกๆ          2. อาหารที่มี อย. รักษาโรคได้เหมือนยา         ผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิด มักแจ้งว่าผลิตภัณฑ์ของตนผ่านการรับรองแล้ว จึงมีเลข อย. และอ้างสรรพคุณในการรักษาโรคได้ แต่ในแง่ความจริง ผลิตภัณฑ์อาหารจะไม่สามารถใช้ในการรักษาโรคได้ หากผลิตภัณฑ์อาหารโฆษณาว่ารักษาโรคได้ แสดงว่าให้ข้อมูลเท็จและโฆษณานั้นจะถือว่าผิดกฎหมาย          3. ผลิตภัณฑ์ที่มีบุคลากรทางการแพทย์มาโฆษณารับรองสรรพคุณ ย่อมมีความปลอดภัย         ผลิตภัณฑ์หลายชนิด มักใช้บุคลากรทางการแพทย์มาโฆษณารับรองคุณภาพเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ทำให้ผู้บริโภคหลายรายหลงเชื่อ แต่ข้อเท็จจริงคือ สภาวิชาชีพต่างๆ ที่ควบคุมดูแลมาตรฐานการประกอบวิชาชีพของบุคลากรทางการแพทย์ จะห้ามมิให้บุคลากรทางการแพทย์ไปการันตีหรือโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ หากพบแสดงว่า บุคลากรเหล่านั้นกระทำผิดจรรยาบรรณหรือข้อบังคับทางวิชาชีพ นอกจากนี้บางครั้งยังเคยพบว่า ภาพบุคลากรทางการแพทย์ที่ใช้โฆษณานั้น ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ตัวจริง เป็นตัวปลอมที่ใช้หลอกลวงผู้บริโภค          4. การแจ้งเรื่องร้องเรียน ทำให้ผู้ร้องเดือดร้อน         หลายครั้งที่ผู้บริโภคมาร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ และเมื่อเจ้าหน้าที่สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ผู้ร้องเรียนมักจะไม่กล้าให้ข้อมูล เพราะเกรงว่าตนเองจะเดือดร้อน ทำให้เรื่องร้องเรียนที่สำคัญๆ หลายเรื่อง ดำเนินการตรวจสอบได้ยาก เพราะขาดข้อมูลที่เพียงพอ จึงอยากชี้แจงให้ทราบว่า ปกติแล้วเจ้าหน้าที่จะถือว่าเรื่องร้องเรียนต่างๆ เป็นความลับ แต่หากผู้บริโภคยังกังวลเมื่อมาร้องเรียนก็สามารถย้ำกับเจ้าหน้าที่ได้ว่า ขอให้เก็บข้อมูลของตนเป็นความลับ นอกจากนี้หากผู้บริโภคให้ข้อมูลที่ครบถ้วน ก็จะเป็นการร่วมมือกันสกัดผลิตภัณฑ์ที่เป็นปัญหาที่ต้นตอ แลเป็นการช่วยเหลือผู้บริโภครายอื่นๆ ด้วย          5. เมื่อแจ้งข้อมูลแล้ว เจ้าหน้าที่ย่อมจัดการปัญหาได้ทันที         เมื่อได้รับแจ้งเรื่องร้องเรียนแล้ว บางเรื่องเจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการได้ทันที แต่ถ้าหากข้อมูลไม่ชัดเจน เช่น เป็นคำพูดลอยๆ หรือแหล่งจำหน่ายไม่ชัดเจน เจ้าหน้าที่จำเป็นจะต้องเสาะหาข้อมูลเพิ่มเติม หรือบางครั้งอาจต้องส่งตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ ทำให้ต้องใช้เวลากว่าจะทราบผล ดังนั้นในช่วงนี้ผู้บริโภคควรระงับการใช้ผลิตภัณฑ์ที่สงสัยไว้ก่อน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 ทุก 15 นาที คนไทย 1 คนจะเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา

ปัญหาเชื้อดื้อยาถูกพูดถึงถี่ขึ้นตามสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง น่าแปลกที่สถานการณ์กลับไม่ทุเลาลงสักเท่าไหร่ ตรงกันข้าม มันดูจะหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งมีการใช้ยาปฏิชีวนะลามไปถึงในพืชแล้ว        ‘ฉลาดซื้อ’ พูดคุยกับ ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล อาจารย์พิเศษคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานคณะทำงานสร้างความเข้มแข็งประชาชนด้านการใช้ยาสมเหตุผล กันแบบตั้งต้นนับ 1 ใหม่ เพื่อปูพื้นฐานความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสาเหตุของปัญหาเชื้อดื้อยา ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุสมผล ทำให้การดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งจนน่ากังวล       ผศ.นพ.พิสนธิ์ ให้ข้อมูลว่า ในอีก 30 ปีข้างหน้า ทั่วโลกจะมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาจะสูงเป็นอันดับ 1 มากกว่ามะเร็งและเบาหวานรวมกัน ส่วนในไทยปัจจุบัน ทุกๆ 15 นาที จะมีคนไทย 1 คนเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา นับเป็นวิกฤตที่ต้องเร่งแก้ไข ซึ่งภาครัฐกำลังดำเนินการ        อย่างไรก็ตาม ถึงที่สุดแล้วความตระหนักรู้ของเราทุกคนมีส่วนสำคัญอย่างมากมายที่จะยับยั้งเรื่องนี้ อยากเริ่มต้นด้วยคำถามพื้นฐานว่า เวลาพูดว่าดื้อยา เชื้อดื้อยา หมายถึงอะไร        เวลาเราพูดเรื่องเชื้อดื้อยา เราต้องสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจก่อนว่าเชื้อในที่นี้ก็คือเชื้อโรคซึ่งมีหลายชนิด ที่สำคัญคือเชื้อแบคทีเรียกับเชื้อไวรัส ยาที่ใช้กับเชื้อแบคทีเรียเรียกว่ายาปฏิชีวนะ ยาที่ใช้กับเชื้อไวรัสเรียกว่ายาต้านไวรัส ซึ่งยา 2 กลุ่มนี้เมื่อใช้ไป แม้จะใช้อย่างถูกวิธีหรือผิดวิธีก็ตาม เชื้อที่ว่านี้ก็จะพยายามต่อต้าน ซึ่งเวลาเราพูดเรื่องเชื้อดื้อยาจะเน้นที่เชื้อแบคทีเรียเป็นสำคัญ ในทางการแพทย์เมื่อเราใช้ยาด้วยความเข้มข้นที่ค่าค่าหนึ่งถ้าเชื้อไม่ดื้อยา เราจะฆ่าแบคทีเรียฆ่าไวรัสได้เสมอเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ต่อมาเชื้อจะกลายพันธุ์จนมีความสามารถเพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้นทำให้ความเข้มข้นของยาเท่าเดิมแต่รักษาโรคไม่ได้อีกแล้ว พอถึงจุดหนึ่งจะไม่มีความเข้มข้นใดเลยที่ออกฤทธิ์ต่อแบคทีเรียหรือไวรัสนั้น อันนี้เรียกว่าดื้อยาอย่างสมบูรณ์ ในทางการแพทย์ถ้าเชื้อดื้อยาในอัตรา 30 เปอร์เซ็นต์ หมอจะเริ่มไม่สบายใจ เพราะโอกาสหายแค่ 7 คนอีก 3 คนไม่หาย แต่ปัจจุบันอัตราการดื้อต่อยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาโรคติดเชื้อทั่วไป โอกาสที่จะรักษาหายต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์แทบทั้งสิ้น ยาปฏิชีวนะบางชนิดถูกดื้อยาในอัตราสูงถึง 80-90% นี่คือวิกฤตที่เกิดขึ้น ภาวะเชื้อดื้อยาเกิดขึ้นได้อย่างไร         การดื้อยา กรณีที่หนึ่ง เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตเมื่อมีสิ่งใดมาคุกคาม มันก็ต้องพัฒนาการโดยการกลายพันธุ์ไปเป็นเชื้อที่มีความสามารถต่อต้านยาที่จะมาฆ่ามัน ยกตัวอย่างวิธีการหนึ่งที่ยาปฏิชีวนะฆ่าแบคทีเรียได้คือเมื่อยาสัมผัสโดนแบคทีเรียแล้ว มันจะไปยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรีย แล้วแบคทีเรียก็จะตาย จากนั้นสิ่งที่แบคทีเรียทำคือมันจะสร้างเอนไซม์ออกมาห้อมล้อมตัวมัน เพื่อทำลายยาที่กำลังจะสัมผัสตัวมัน พอยามาโดนสารนี้มันจะสลายไป ไม่สามารถยับยั้งการแบ่งตัวของแบคทีเรียได้อีก แบคทีเรียมีวิธีในการดื้อยามากมายหลายวิธี แม้ว่าเราจะใช้ยาอย่างถูกต้องก็ตามการดื้อยาจะเกิดขึ้นได้เสมอ แต่การดื้อยาตามธรรมชาติจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป         กรณีที่สองเกิดขึ้นจากการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุผล อัตราและความรุนแรงในการดื้อยาของแบคทีเรียจะเป็นสัดส่วนโดยตรงกับสิ่งที่เรียกว่าการคุกคาม หมายความว่าถ้าเราไม่ใส่ยาปฏิชีวนะเข้าไปเยอะๆ ในคนจำนวนมาก แบคทีเรียก็ไม่โดนคุกคามเกินจำเป็น มันก็ไม่ดื้อมาก แต่ถ้าเราใช้ยาปฏิชีวนะเท่าที่จำเป็น เท่าที่เป็นการติดเชื้อจากแบคทีเรียจริง การดื้อยาจะค่อยเป็นค่อยไปและเราจะไม่เดือดร้อนเลย แต่ปัจจุบันเราใช้ยามากกว่าที่ควรจะเป็นหลายเท่าตัว ทำให้แบคทีเรียสัมผัสยาปฏิชีวนะในอัตราที่ผิดธรรมชาติ จึงเกิดอัตราเร่งในการดื้อยาขึ้น         การใช้ยาปฏิชีวนะไม่สมเหตุสมผลมี 4 แบบ หนึ่งคือการใช้ยาปฏิชีวนะเกินจำเป็นคือใช้ไม่ตรงกับโรค เช่นการใช้ยาปฏิชีวนะในโรคหวัด ไอ เจ็บคอ ซึ่งโรคเหล่านี้เกือบทั้งหมดเป็นโรคที่เกิดจากไวรัส สองคือใช้ยาปฏิชีวนะแล้วหยุดยาก่อนกำหนด เพราะขณะที่หยุดยาเชื้อแบคทีเรียยังไม่หมดไปจากร่างกาย แต่มันสัมผัสโดนยาแล้ว ทำให้มันรู้จักยาและหาวิธีดื้อยาจนสำเร็จ ข้อที่ 3 ใช้ยาในขนาดต่ำเกินไป คือเรารู้ว่ายาปฏิชีวนะจะฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ต้องมีความเข้มข้นที่ค่าค่าหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้าเรากินยาไม่ตรงตามโดส เช่น เราควรจะกินยา 2 เม็ด แต่กินแค่เม็ดเดียว ปริมาณยาที่เข้าสู่ร่างกายและสัมผัสโดนแบคทีเรียจะต่ำลงครึ่งหนึ่ง ซึ่งจะไม่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้แต่เปิดโอกาสให้เชื้อดื้อยา และข้อที่ 4 ใช้ยาที่ออกฤทธิ์กว้างเกินจำเป็น ยาแต่ละชนิดจะออกฤทธิ์กว้างขวางไม่เท่ากัน ประชาชนควรทราบว่าในร่างกายเรามีแบคทีเรียอาศัยอยู่ตามที่ต่าง ๆ เต็มไปหมด เช่นปกคลุมตามผิวหนัง อาศัยในช่องปาก ในอุจจาระที่ลำไส้ใหญ่ เป็นต้น ดังนั้น ถ้าเป็นโรคที่ใช้ยาออกฤทธิ์แคบได้ เราไม่ใช้ ดันไปใช้ยาที่ออกฤทธิ์กว้าง แบคทีเรียที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่เมื่อโดนยาก็จะพยายามดื้อยา เท่ากับสร้างกลุ่มของแบคทีเรียที่ดื้อยาให้กว้างขวาง และสะสมไว้ในร่างกายของเรารอวันของการประทุเป็นโรคติดเชื้อที่ร้ายแรง เช่น การติดเชื้อที่ไต และการติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น  สถานการณ์เชื้อดื้อยาทั้งในระดับโลกและในประเทศรุนแรงแค่ไหน         รุนแรงมากครับ ในระดับโลกมีการคำนวณไว้ว่าในปี 2050 จะมีคนเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาเป็นอันดับ 1 ซึ่งมากกว่าผู้เสียชีวิตจากเบาหวานและมะเร็งรวมกัน เขาคำนวณไว้ประมาณ 10 ล้านคนต่อปี เมื่อคำนวณกลับมาเท่ากับจะมีคนเสียชีวิต 1 คน ทุกๆ 3 วินาที และครึ่งหนึ่งของ 10 ล้านคนจะอยู่ในทวีปเอเชียซึ่งหมายถึงประเทศไทยด้วย          ส่วนในประเทศไทยเองมีคนเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยามากมาย ในปีหนึ่งจะมีคนที่ติดเชื้อดื้อยาปีละประมาณ 1.2 แสนกว่าคนและในจำนวนนี้จะมีคนเสียชีวิตประมาณ 28,000 คน ซึ่งเป็นอัตราการเสียชีวิตที่สูงมาก เท่ากับมีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 15 นาทีต่อ 1 คน ที่สูงกว่าอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมาก         อีกปัญหาหนึ่งคือคนไข้ที่ติดเชื้อดื้อยาจะออกจากโรงพยาบาลได้ช้า หมายความว่าถ้าเชื้อไม่ดื้อยา รักษาแค่ 5 วัน 7 วันก็กลับบ้านแล้ว แต่พอเป็นเชื้อดื้อยาก็ต้องใช้เวลานาน เช่น ใช้ยาตัวแรกไม่หาย เปลี่ยนเป็นตัวที่ 2 ถ้าเปลี่ยนทันก็ดี เปลี่ยนไม่ทันหรือเชื้อดื้อต่อยาทุกชนิดในโรงพยาบาลก็เสียชีวิต กรณีแบบนี้ทำให้ผู้ป่วยแสนกว่าคนยึดครองเตียงเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ล้านวัน หมายความว่าผู้เจ็บป่วยรายใหม่จะเข้าก็เข้าไม่ได้เพราะผู้ป่วยที่ติดเชื้อดื้อยายึดครองเตียงไว้         ปัจจุบันเราพบเชื้อดื้อยาได้มากมายมหาศาลในทุกโรงพยาบาล ในกรณีที่คนไข้ติดเชื้อดื้อยาแล้วเสียชีวิตลงก็ไม่ได้หมายความว่าเชื้อดื้อยาหมดไปพร้อมกับผู้เสียชีวิต แต่เชื้อยังคงอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิม เช่น คนไข้คนหนึ่งเสียชีวิตในห้องไอซียูของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เชื้อดื้อยาสุด ๆ ตัวนั้นจะยังคงอยู่ต่อไปในห้องไอซียูนั้น ใครเข้ามาติดเชื้อตัวนั้นก็อาจตายอีก อันนี้คือปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้น แสดงว่าสถานการณ์ในไทยตอนนี้เลวร้ายและก็จะเลวร้ายลงไปอีก         เลวร้ายอย่างยิ่ง ซึ่งเราอยากจะสื่อสารให้ประชาชนรับรู้ คนที่รู้คือหมอ พยาบาลและเภสัชกรในโรงพยาบาลที่เห็นคนไข้เสียชีวิตเป็นประจำจากเชื้อดื้อยา แต่ประชาชนอยู่ข้างนอกไม่รู้ เราจึงต้องสื่อสารให้คนเกิดความตระหนักว่าเราต้องแก้ปัญหาร่วมกัน เพราะที่พูดถึงสาเหตุของเชื้อดื้อยา ประชาชนช่วยได้เยอะเลย เช่น การใช้ยาเกินจำเป็น ประชาชนช่วยได้ ใช้ยาแล้วหยุดก่อนกำหนด ประชาชนก็ช่วยได้ เป็นต้น แต่เวลาประชาชนไปซื้อยาตามร้านขาย เภสัชกรก็จะรู้ว่าจำเป็นหรือไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะไม่ใช่หรือ         ใช่ นี่เป็นประเด็นสำคัญมาก ผมจะพูดรวมไปถึงหมอด้วย ที่คนไข้เจ็บคอมาแล้วสั่งยาปฏิชีวนะให้เลย เป็นการกระทำที่เรียกว่า การใช้ยาไม่สมเหตุผล การใช้ยามี 2 แบบคือการใช้ยาอย่างสมเหตุผลและการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุผล เช่น เราติดเชื้อไวรัสไม่จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะเพราะรักษาด้วยอีกวิธีหนึ่ง ยาปฏิชีวนะรักษาเฉพาะการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่ถ้าคุณหมอหรือร้านขายยาจ่ายยาปฏิชีวนะให้กับเรา แปลว่าเขากำลังใช้ยาไม่สมเหตุสมผล และกำลังใช้ยาโดยขาดความรับผิดชอบต่อปัญหาเชื้อดื้อยา         เชื่อหรือไม่องค์การอนามัยโลกบอกว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของการใช้ยาเป็นไปอย่างไม่สมเหตุผล ทั้งโดยแพทย์และเภสัชกร         ยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม อย่างอาการหวัด ไอ เจ็บคอ ขณะนี้โรงพยาบาลภาครัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่เรียกว่า service plan  ได้กำหนดตัวชี้วัดว่าในโรค หวัด ไอ เจ็บคอ และท้องร่วง ท้องเสีย โรงพยาบาลสั่งยาปฏิชีวนะได้ไม่เกิน 2 คนใน 10 คน ซึ่งในอดีตใช้อยู่ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ นโยบายนี้ชื่อว่าโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (RDU Hospital) แปลว่าเดิมมีการใช้ยาที่ไม่สมเหตุผลอยู่จึงต้องมีนโยบายเช่นนี้ ถ้าโรงพยาบาลใดมีการสั่งยาปฏิชีวนะเกิน 20 เปอร์เซ็นต์ ก็จะมีกระบวนการต่างๆ ทำให้ลงมาต่ำกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเป็นการกระทำที่ไม่ผ่านตัวชี้วัด บอกให้รู้ว่าโรงพยาบาลรัฐเริ่มต้นแล้ว เพราะเห็นความสำคัญ ขณะนี้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) เกือบ 10,000 แห่งใช้ยาปฏิชีวนะน้อยกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ในคนไข้เป็นหวัด ไอ เจ็บคอ และท้องร่วง ท้องเสีย แล้ว แล้วในส่วนของโรงพยาบาลเอกชนและคลินิก?         ภาครัฐเรารู้อยู่แล้วว่าประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ภาคเอกชนก็คาดได้ว่าน่าจะเกินกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ อันนี้แหละคือปัญหาที่เราอยากจะแก้ไข การแก้ไขเราทำทั้งฝั่งโรงพยาบาลเอกชน คลินิก และร้านขายยาด้วย แต่มีความยากตรงที่หน่วยงานรัฐมีข้อจำกัดในการที่จะออกกฎระเบียบให้ภาคเอกชนทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เราก็พยายามอยู่ในการหาช่องทางต่างๆ เท่าที่เป็นไปได้ในการอุดช่องโหว่นี้เพื่อให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะลดลง         แต่อีกช่องทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหานี้คือการทำให้ประชาชนตระหนักว่าโรคส่วนใหญ่ในชีวิตประจำวันไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะเลย เมื่อเข้าใจแล้วประชาชนก็จะแสดงท่าทีตั้งแต่แรกว่าต้องการคำอธิบายมากกว่าต้องการยาปฏิชีวนะและจะสอบถามถึงความจำเป็นในการจ่ายยาปฏิชีวนะ ขอคำอธิบายว่าเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส ยังไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะได้ไหม และรอก่อนได้ไหม         ประโยคหลังนี้สำคัญมาก เนื่องจากคุณหมอหรือเภสัชกรในจิตสำนึกของเขาต้องการให้คนไข้หายไวๆ แต่ถ้าเราบอกว่าเรารอได้ ถ้าเป็นไวรัส เดี๋ยวมันก็หาย ถ้าเป็นแบคทีเรียแล้วอาการกำเริบ เขากลับมาอีกครั้งก็ได้ คุณหมอและเภสัชกรก็ไม่ต้องรีบสั่งยาปฏิชีวนะให้         การหายเร็วหรือช้ายังเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตัวของประชาชนด้วย กล่าวคือ โรคที่เกิดจากไวรัสเป็นโรคที่หายได้เองจากภูมิต้านทานของเรา ถ้ายังนอนดึกอยู่ ยังสูบบุหรี่อยู่ ยังดื่มเหล้า ยังโดนฝน ยังตากแดด โรคที่เกิดจากไวรัสก็หายช้า คุณหมอที่กลัวจะโดนต่อว่าก็จะสั่งยาปฏิชีวนะไปก่อน นี่คือปัญหาที่เกิดจากประชาชน ถ้าอย่างนั้นเราจะสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องเชื้อดื้อยาอย่างไร เพราะเอาเข้าจริงก็มีการรณรงค์เรื่องนี้มานานแล้ว         สิ่งที่น่ากังวลข้อหนึ่งคือการรณรงค์และการให้ความรู้ต่างๆ มักไม่เปลี่ยนพฤติกรรม ยกตัวอย่างเช่นเรารณรงค์ว่าเมาห้ามขับรถ แต่ถ้าเราไม่มีกฎระเบียบใดๆ เลยก็ยังมีคนเมาแล้วขับรถอยู่ คนจะเลิกดื่มเหล้าแล้วขับก็ต่อเมื่อมีการตั้งด่านตรวจอย่างสม่ำเสมอและรู้ว่าถ้าดื่มแล้วขับ ตรวจเจอ คุณติดคุก ที่ต่างประเทศจึงค่อนข้างจะประสบความสำเร็จหมายความว่าเราต้องมีกฎระเบียบในการทำให้คนไม่สามารถใช้ยาปฏิชีวนะได้อย่างพร่ำเพรื่อ เช่นในต่างประเทศประชาชนจะซื้อก็ซื้อไม่ได้ เภสัชกรจะจ่ายยาปฏิชีวนะที่ร้านขายยาก็จ่ายเองไม่ได้แต่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ คุณหมอจะสั่งก็ต้องมีกระบวนการตรวจสอบ เป็นต้น ปัจจุบันมีการดำเนินการอะไรไปแล้วบ้างเพื่อแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยา         ขณะนี้เรามีนโยบายข้อหนึ่งที่ อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) กำลังดำเนินการ คือการทำบัญชีสถานะของยาปฏิชีวนะ ในต่างประเทศ ถ้าคุณเดินไปร้านขายยา คุณจะขอซื้อยาปฏิชีวนะไม่ได้ จะซื้อได้ต่อเมื่อคุณต้องพบแพทย์ก่อน แล้วหมอเป็นคนเขียนใบสั่งยา ขณะนี้เรายังไปไม่ถึงตรงนั้น ที่เราทำอยู่คือแบ่งระดับยาปฏิชีวนะออกเป็นกลุ่มๆ อย่างยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์กว้างส่งผลกระทบมากต่อปัญหาเชื้อดื้อยา ก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ที่ร้านขายยา ร้านขายยาควรจะเหลือเฉพาะยาพื้นฐานที่ช่วยคนไข้ที่จำเป็นที่ยังไม่มีเวลาไปหาหมอ เป็นการออกกฎระเบียบเพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะที่เกินจำเป็น ลดการใช้ยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์กว้างเกินไปจนส่งผลกระทบต่อปัญหาเชื้อดื้อยา อันนี้เป็นสิ่งที่เราพยายามทำอยู่         และยังมีข้อกำหนดต่อไปด้วยว่าเมื่อมีการจัดกลุ่มยาปฏิชีวนะใหม่แล้ว เภสัชกรร้านยายังต้องผ่านการประเมินหรือการฝึกอบรมเพิ่มเติมให้มีความสามารถตามเกณฑ์มาตรฐานของการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล (RDU Pharmacy) เช่นเดียวกันกับแพทย์ในโรงพยาบาลภาครัฐต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้วผ่านนโยบายโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (RDU Hospital)         อีกสิ่งหนึ่งที่เราพยายามทำคือให้ร้านขายยาและคลินิกมีฉลากยามาตรฐาน ที่บอกผู้ใช้ยาว่ายาตัวนั้นชื่ออะไร และถ้าเป็นยาปฏิชีวนะก็ต้องระบุไว้ให้เห็นชัดเจน ส่วนโรงพยาบาลต่าง ๆ จะระบุชื่อยาไว้ที่ฉลากยาอยู่แล้ว และมักมีข้อความระบุว่าเป็นยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียกำกับไว้ แต่ประชาชนมักจะทราบทางอ้อมว่าเป็นยากลุ่มนี้เมื่อเห็นข้อความว่า “รับประทานยานี้จนหมด”         อย่างไรก็ตามการเขียนข้อความสั้น ๆ ว่า รับประทานยานี้จนหมด นั้นเป็นการสร้างปัญหาที่ทำให้เกิดการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุผลอยู่ กล่าวคือ หากยาปฏิชีวนะนั้นถูกสั่งใช้มาอย่างไม่สมเหตุผล ประชาชนต้องหยุดยานั้นในทันทีที่ทราบ ไม่ใช่กินต่อจนหมดตามที่ฉลากยาระบุไว้ ทั้งนี้เพราะเมื่อเป็นการจ่ายยาปฏิชีวนะเกินจำเป็นย่อมหมายความว่าประชาชนไม่ต้องใช้ยานั้นตั้งแต่แรก การกินต่อไปจะยิ่งรบกวนแบคทีเรียตามจุดต่าง ๆ ในร่างกาย และยิ่งก่อปัญหามากขึ้นตามปริมาณยาและระยะเวลาที่ยังคงใช้ยาอยู่ ใจความที่ถูกต้องคือ “ควรกินยาปฏิชีวนะจนครบตามแพทย์สั่งในกรณีที่เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรีย แต่หากพบว่าเป็นโรคติดเชื้อไวรัสควรหยุดยาทันที ไม่ควรกินต่อ” 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 กระแสต่างแดน

ดาวหลอกคุณ        การทดลองโดย which? นิตยสารคุ้มครองผู้บริโภคของอังกฤษพบว่า ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเลือกสินค้ารุ่นที่ "ไม่ควรซื้อ" มากขึ้นเมื่อได้เห็นรีวิวสวยหรู ประกอบจำนวน "ดาว" ที่มากเกินจริง และการเป็น "สินค้าโปรโมท" ของเว็บ        ผู้บริโภค 10,000 คนได้รับโจทย์ให้เลือกซื้อ หูฟัง กล้องติดหน้ารถ หรือเครื่องดูดฝุ่นไร้สายอย่างใดอย่างหนึ่ง (สถิติระบุว่าสามอย่างนี้เป็นสินค้าที่มี “เฟครีวิว” มากที่สุด) จากเว็บ “อเมซอน” ที่นิตยสารทำขึ้นมาเอง เว็บดังกล่าวนำเสนอสินค้าประเภทละ 5 รุ่น ซึ่ง which? เลือกมาแล้วให้มีทั้ง น่าซื้อ (1) พอทน (3)  และไม่ควรซื้อ (1)         จากผู้บริโภคที่ถูกแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม แยกตามข้อมูลที่ได้รับ เขาพบว่ากลุ่มที่เห็นดาวและรีวิวเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มจะกดซื้อสินค้ารุ่นที่ “ไม่ควรซื้อ" มากเป็นอันดับสอง รองจากกลุ่มที่ได้ข้อมูลสินค้าพร้อมเห็นดาวระยิบระยับ รีวิวอวยสุดๆ และการโปรโมทโดยแพลตฟอร์มสวิสวิถีใหม่        นอกจากการเว้นระยะห่าง การสวมหน้ากากอนามัย และค่าธรรมเนียมโควิด-19 ที่ร้านอาหารจะเรียกเก็บจากลูกค้าหัวละ 2 ฟรังก์ (ประมาณ 65 บาท) แล้ว คนสวิตเซอร์แลนด์จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงเรื่องการลงทุนทั้งภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมในประเทศด้วย         ความลำบากในการจัดหาสินค้า/ผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากประเทศอื่นในช่วงของการระบาดทำให้ทั้งรัฐบาลและประชาชนชาวสวิสตระหนักและเห็นตรงกันว่าต่อไปนี้จะต้องมีนโยบายพึ่งตนเอง         นอกจากราคาสินค้าในสวิตเซอร์แลนด์จะแพงสุดๆ เพราะต้องนำเข้า (คนที่อยู่ตามชายแดนนิยมขับรถข้ามไปซื้อในออสเตรีย อิตาลี เยอรมนี และฝรั่งเศส) คนสวิสยังต้องปวดใจที่มีเงินแต่ไม่สามารถซื้อหาสินค้าจำเป็นมาใช้ได้ เพราะประเทศอื่นๆ ต่างก็ปิดชายแดนหรือเก็บสต็อกใว้ใช้เอง         การสำรวจความเห็นพบว่าร้อยละ 94 ของประชากรอยากให้อุตสาหกรรมยากลับมามีฐานการผลิตในประเทศ ร้อยละ 90 บอกว่าบริษัทเหล่านั้นควรมีสต็อกยา เวชภัณฑ์ ถุงมือ หน้ากากอนามัย หรือแม้แต่เครื่องช่วยหายใจไว้สำหรับคนสวิสด้วยขั้นตอนฝ่าวิกฤติ        โอ้คแลนด์กำลังจะเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง ปริมาณน้ำในเขื่อน 9 แห่งที่หล่อเลี้ยงเมืองนี้ลดน้อยลงทุกทีเนื่องจากปริมาณฝนลดลงไปกว่าร้อยละ 50 ตั้งแต่พฤศจิกายนปีที่แล้ว หากฝนยังไม่ตกในฤดูใบไม้ผลิโอ้คแลนด์จะมีน้ำใช้เพียงวันละ 200 ล้านลิตร         พวกเขาจึงเตรียมใช้มาตรการเดียวกับที่นิวซีแลนด์ใช้รับมือกับวิกฤติโควิด-19 นั่นคือการกำหนดแนวปฏิบัติที่แบ่งออกเป็นระยะ แผนประหยัดน้ำแบบ 4 เฟส ได้แก่          เฟสแรก (เริ่มเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม) ให้ทุกครัวเรือนงดการใช้สายยางหรือเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง และสมาชิกในครัวเรือนอาบน้ำฝักบัวได้คนละไม่เกิน 4 นาที โดยรวมจำกัดการใช้น้ำไม่เกินวันละ 410 ลิตร         เฟสที่สอง เพิ่มการประหยัดน้ำให้ได้วันละ 20 ลิตร และธุรกิจ/โรงงานต่างๆ ต้องลดการใช้น้ำลงร้อยละ 10         เฟสสาม ประหยัดน้ำให้ได้วันละ 30 ลิตร/คน ธุรกิจ/โรงงานลดการใช้น้ำลงร้อยละ 15           เฟสสี่ ประหยัดน้ำให้ได้วันละ 40 ลิตร/คน ธุรกิจ/โรงงานลดการใช้น้ำลงร้อยละ 30เบรกเบบี้บูม         หน่วยงานด้านประชากรและการวางแผนครอบครัวของอินโดนีเซีย ซึ่งมีหน้าที่แจกจ่ายยาคุมกำเนิดให้กับคู่สมรส ระบุว่ามีผู้มารับบริการน้อยลงร้อยละ 10 หรือประมาณ 2 – 3 ล้านคนในช่วงการระบาดของไวรัสและเขาคาดการณ์ว่าร้อยละ 15 ของคนกลุ่มนี้จะตั้งครรภ์         นั่นหมายความว่าจะมีจำนวนสตรีตั้งครรภ์เพิ่มจากที่คาดไว้ก่อนหน้านี้อีก 300,000 ถึง 450,000 คนและทารกเหล่านี้จะออกมาดูโลกในช่วงที่ยังไม่มีวัคซีนมารับมือกับการระบาด        รัฐบาลอินโดนีเซียจึงได้แต่ขอร้องให้ครอบครัวงดการตั้งครรภ์ในช่วงล็อกดาวน์ แต่คำขอนี้อาจมาช้าเกินไป เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาสื่อท้องถิ่นรายงานว่าเมืองทาสิกมาลายา บนเกาะชวา มีอัตราการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 105        แต่อีกรายงานหนึ่งบอกว่าปัญหาอาจไม่รุนแรงอย่างที่คิด เพราะผู้หญิงส่วนหนึ่งเลือกไปรับยาคุมจากหน่วยงานเอกชนเนื่องจากไม่มีทะเบียนสมรสเป็นหลักฐานในการรับยาฟรีจากรัฐบาลเธอเปลี่ยนไป         เรื่องปวดหัวของธุรกิจหลังการมาเยือนของโควิด-19 คือพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ... ในทางที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมสักเท่าไร         สมาคมผู้ค้าปลีกของอังกฤษยืนยันว่าผู้บริโภคใช้จ่ายน้อยลงหลังช่วงล็อกดาวน์ เลือกของถูกเป็นหลัก ใช้จ่ายเฉพาะของจำเป็นและออมเงินมากกว่าเดิม         ที่ประเทศจีน แม้คนจะเดินห้างมากขึ้น ช้อปออนไลน์มากขึ้น (ด้วยคูปองที่ได้รับแจกจากรัฐบาล) แต่ยอดขายสินค้าฟุ่มเฟือยที่เป็นความหวังช่วยดึงการเติบโตของการใช้จ่ายในครัวเรือนกลับลดลง         ในอเมริกาบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเฮอร์ชีย์และคอลเกต ก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าผู้บริโภคสนใจแต่ตัวเลือกราคาถูก ร้านสินค้าราคาประหยัดมีลูกค้าเพิ่มขึ้นและคนอเมริกันยังเลือกออมถึงร้อยละ 33 ของรายได้ เช่นเดียวกับคนยุโรปที่เพิ่มอัตราการออมจากร้อยละ 13 เป็นร้อยละ 19         รัฐบาลแต่ละประเทศจึงต้องหาทางผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ลดดอกเบี้ยเงินฝากและอัดยาแรงช่วยกู้เศรษฐกิจนั่นเอง 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 กระแสต่างแดน

โอกาสทอง        หลุยส์ วิตตอง และชาแนล ในเกาหลีถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักเมื่อลูกค้าที่ไปต่อแถวเข้าร้านหลังพ้นช่วงล็อกดาวน์ต้องเซอร์ไพรซ์กับสินค้า “ราคาใหม่”         ค่ายแบรนด์เนมมองว่าผู้บริโภคมีเงินเหลือใช้มากขึ้นเนื่องจากไม่สามารถเดินทางไปไหนได้ ชาแนลปรับราคาสินค้าในร้านขึ้นร้อยละ 7 -18 ในขณะที่หลุยส์ วิตตองก็ปรับราคาขึ้นเป็นครั้งที่สามในรอบ 7 เดือน ขึ้นอีกร้อยละ 5 - 10 เช่นกัน         นี่ยังไม่นับเรื่องความ (ไม่) รับผิดชอบต่อสังคมของค่ายหลุยส์ ที่ไม่จัดอบรมแนวทางปฏิบัติตัวเพื่อลดการระบาดของไวรัสให้กับพนักงานเหมือนบริษัทอื่นๆ และเมื่อพบว่าพนักงานติดเชื้อจากการไปกินดื่มในย่านอินแทวอน ก็ยังเปิดดำเนินการต่อไปโดยไม่แจ้งให้ลูกค้าที่เข้าร้านสาขาตึกล็อตเต้เวิล์ดในช่วงที่พนักงานดังกล่าวอยู่ประจำร้าน ได้ทราบว่าตนเองเป็นกลุ่มเสี่ยงด้วย           แต่เขาก็คาดการณ์ไม่ผิด ยอดขายสินค้าแบรนด์เนมหลังช่วงล็อกดาวน์เพิ่มขึ้นจริงๆ     ขยะเราต้องมาก่อน        โปรตุเกสเป็นปลายทางของขยะจำนวนมากจากประเทศอื่นๆ ในยุโรป เพราะคิดค่าธรรมเนียมการจัดการขยะเพียงตันละ 11 ยูโร (ประมาณ 400 บาท) เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในภูมิภาคที่ 80 ยูโร (ประมาณ 2,800 บาท)          แต่รัฐบาลได้ประกาศหยุดรับขยะจากต่างประเทศชั่วคราว เพื่อให้แน่ใจว่ามีศักยภาพเพียงพอต่อการรับมือกับขยะในประเทศที่เพิ่มขึ้นมหาศาลในช่วงการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ชุดและอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคไปจนถึงกล่องพลาสติกใส่อาหารจากบริการเดลิเวอรี         รวมถึงลดกำลังการรีไซเคิล เพื่อไม่ให้พนักงานต้องสัมผัสกับขยะพลาสติกที่อาจมีการปนเปื้อนเชื้อไวรัส         ข้อมูลจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมโปรตุเกสระบุว่าในปี 2018 มีขยะจากต่างประเทศเข้ามาถึง 330,000 ตัน หนึ่งในสามถูกจัดการโดยการฝังกลบ และตั้งแต่ต้นปี 2020 โปรตุเกสปฏิเสธขยะต่างประเทศไปแล้วกว่า 246,000 ตัน  มุมทำงาน        ในเยอรมนี หากคุณมีห้องที่จัดไว้เป็น “ออฟฟิศในบ้าน” คุณจะสามารถขอลดหย่อนภาษีได้ สถิติก่อนการล็อกดาวน์ระบุว่าร้อยละ 12 ของคนเยอรมันทำงานจากบ้าน แต่ช่วงที่รัฐบาลขอให้ทุกคนอยู่บ้านเพื่อหยุดเชื้อ มีคนเยอรมันถึงร้อยละ 25 ที่ทำงานที่บ้าน และแนวโน้มนี้อาจกลายเป็น “นิวนอร์มอล”         ที่ผ่านมาร้อยละ 40 ของนายจ้างในเยอรมนีเปิดโอกาสให้พนักงานทำงานจากบ้านได้ ในขณะที่ร้อยละ 60 ของคนเยอรมันก็เห็นด้วยกับข้อเสนอของกระทรวงแรงงานที่จะให้พนักงานเลือกได้ว่าจะทำงานจากบ้านวันไหนบ้าง หรือทำทุกวันไปเลยหากลักษณะงานเอื้อให้ทำได้            สมาคมผู้เสียภาษีแห่งเยอรมนีเสนอว่าคนที่ใช้โน้ตบุ๊คนั่งทำงานที่โต๊ะกินข้าวหรือมุมใดมุมหนึ่งของบ้านควรมีสิทธิขอลดหย่อนภาษีเช่นกัน เพราะไม่ว่าจะอยู่ตรงไหน การใช้ทรัพยากรน้ำ ไฟฟ้า รวมถึงการสร้างขยะก็เพิ่มขึ้นเหมือนกัน อย่างน้อยๆ ร้อยละ 20 ของค่าเช่าบ้านควรนำไปขอลดหย่อนภาษีได้     เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง        คนแคนาดาเกือบร้อยละ 50 เชื่อ “ข่าวโคมลอย” เกี่ยวกับโรคโควิด-19           การสำรวจโดยคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยคาร์ลตัน ระหว่างวันที่ 5-8 พฤษภาคม ที่สอบถามคนแคนาดา 2,000 คน พบว่าร้อยละ 46 เชื่อข่าวลืออย่างน้อยหนึ่งข่าวจากข่าวที่แชร์กันทางออนไลน์มากที่สุดสี่อันดับแรก         ข่าวลืออันดับหนึ่งได้แก่รายงานที่บอกว่าต้นกำเนิดโรคนี้มาจากไวรัสที่พัฒนาขึ้นโดย “แล็บแห่งหนึ่งในประเทศจีน” ร้อยละ 26 ของคนแคนาดาเชื่ออย่างนั้น         ร้อยละ 23 เชื่อว่ายาไฮดร็อกซีคลอโรควินสามารถรักษาโรคโควิด-19 ได้ ตามที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของอเมริกาบอก         ร้อยละ 11 เชื่อว่าโรคนี้ไม่ได้ร้ายแรงอะไร อาการต่างๆ เป็นผลจากเทคโนโลยี 5G ต่างหาก ตำรวจกำลังสืบสวนว่าความเชื่อนี้เป็นเหตุให้เสาสัญญาณโทรศัพท์หลายแห่งในควิเบกถูกเผาทำลายหรือไม่         แต่ที่เด็ดสุดคือร้อยละ 57 ของคนเหล่านี้เชื่อว่าตนเองสามารถแยกแยะข่าวจริงและข่าวลวงได้   มันอยู่ในตลับ        แอสเบสทอสหรือแร่ใยหินหายหน้าจากสื่อไปนาน เพราะผู้คนตระหนักถึงอันตรายและเลิกใช้มันไปแล้ว คราวนี้มันแฝงมากับเครื่องสำอางที่มีทัลคัมเป็นส่วนประกอบ ที่สามารถหาซื้อได้ในเว็บอเมซอน         การทดสอบพบว่า อายชาโดว์ Jmkcoz 120 Colors Eyeshadow Palette  มีแร่ใยหินถึง 3.9 ล้านใยต่ออายชาโดว์1 กรัม และพบในร้อยละ 40 จาก 45 เฉดสีที่ทดสอบ           ในขณะที่อีกรุ่น ได้แก่ Jmkcoz Beauty Glazed Gorgeous Me Eye Shadow Tray Palette มีถึง 3.5 ใยต่ออ่ายชาโดว์ 1 กรัม พบในร้อยละ 20 จาก 55 เฉดสีที่ทดสอบ         ก่อนหน้านี้มีการพบแร่ใยหินใน “ชุดเมคอัป” ของเล่นเด็กมาแล้ว และในเดือนตุลาคม 2019 จอห์นสันแอนด์จอห์นสันก็ประกาศเรียกคืนแป้งเด็ก หลังจาก อย.สหรัฐพบแร่ใยหินในแป้งดังกล่าวแร่ใยหินเข้าสู่ร่างกายผ่านการหายใจเข้าไปสะสมในปอด และผู้ที่สูดดมเข้าไปอาจไม่แสดงอาการในทันที ทั้งนี้ผู้เชียวชาญย้ำว่าไม่มี “ระดับที่ปลอดภัย” ของการรับแร่ใยหินไม่ว่าประเภทใดเข้าสู่ร่างกาย       

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 ว้าย สร้อยทองมีตำหนิ

        คุณอรวรรณซื้อสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท จากร้านขายทองแห่งหนึ่ง จากนั้นได้นำไปเก็บไว้ในตู้เซฟ ที่บ้าน หนึ่งสัปดาห์ต่อมาคุณอรวรรณนำสร้อยเส้นดังกล่าวออกมาเพื่อสวมใส่แทนเส้นเดิมที่ใส่ประจำ และขณะที่กำลังสลับจี้เพชรใส่สร้อยเส้นใหม่ เธอสังเกตว่า สร้อยทองเส้นดังกล่าวมีตำหนิที่ตรงรอยต่อ          คุณอรวรรณจึงรีบนำสร้อยกลับไปขอเปลี่ยนกับทางร้าน แต่พนักงานบอกกับคุณอรวรรณว่า หากจะเปลี่ยนสร้อยเส้นใหม่ ต้องเสียค่าเปลี่ยนเพิ่มอีก 800 บาท “เอ้า ของมีตำหนิ ทำไมไม่เปลี่ยนให้ แถมคิดเงินเพิ่มอีก” คุณอรวรรณรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมเลย จึงโทรขอคำปรึกษา แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อพบว่าทองที่ซื้อมามีตำหนิ ร้านส่วนใหญ่จะมีใบรับประกัน เราสามารถใช้เงื่อนไขในคำรับประกันนำไปขอเปลี่ยนหรือคืนเงินได้ หากร้านทองจะคิดค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนควรต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่า ค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บเพิ่มนั้นเป็นค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เช่น เป็นค่ากำเหน็จกรณีเปลี่ยนสร้อยทองลายใหม่หรือไม่  ถ้ามีเหตุผลก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บริโภค หากไม่พอใจควรขอคืนสินค้า คุณอรวรรณจึงนำสร้อยทองไปร้านและขอคืนเงินเพราะไม่ต้องการของมีตำหนิ ซึ่งร้านยินดีคืนเงินให้ เรื่องยุติ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 ถูกหลอกให้เข้าร่วมธุรกิจ ขายยาลดความอ้วน

        กรณีนี้ ทางศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรภาคีของทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้แบ่งปันเรื่องราวเพื่อเป็นอุทาหรณ์ โดยทางศูนย์ฯ อยุธยา ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค ที่ได้รับความเสียหายจากการถูกหลอกให้เข้าร่วมธุรกิจขายผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าเป็นอาหารเสริม         คุณเอกภพ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เมื่อไม่สบายคุณเอกภพจะใช้บริการของคลินิกแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน เขาเข้าใช้บริการอยู่บ่อยจนคุ้นเคยกับบุคลากรในคลินิก วันหนึ่งแพทย์ที่คลินิกได้ชักชวนคุณเอกภพให้มาเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนักยี่ห้อหนึ่ง โดยแพทย์คนดังกล่าวอ้างว่า ตนเป็นเจ้าของธุรกิจ ทั้งยังโน้มน้าวให้คุณเอกภพเชิญชวนนักศึกษาในมหาวิทยาลัยมาสมัครเป็นตัวแทนจำหน่ายอีกด้วย         หลังจากนั้นไม่นานคุณเอกภพก็ถูกเชิญให้เข้าเป็นสมาชิกในกลุ่มไลน์ตัวแทนขาย ทำให้รู้จักตัวแทนคนอื่นๆ อย่างไรก็ตาม คุณเอกภพเองสนใจในผลิตภัณฑ์ฯ ว่าจะดีจริงอย่างที่มีการส่งเสริมการขายหรือไม่ จึงได้ลองรับประทานผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าเป็นอาหารเสริมลดน้ำหนัก ปรากฎว่า เกิดอาการท้องเสียรุนแรง ใจสั่น ปากและคอแห้ง จึงตกใจและเลิกใช้ผลิตภัณฑ์ทันที พร้อมรีบสอบถามเพื่อนสมาชิกคนอื่นๆ ในกลุ่มไลน์ ทำให้ทราบว่ามีผู้ที่เกิดอาการแบบเดียวกันมากกว่า 20 คน คุณเอกภพจึงอนุมานว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวน่าจะไม่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค จึงตัดสินใจชวนเพื่อนสมาชิกในกลุ่มไลน์ที่ได้รับความเสียหายจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ฯ เข้าร้องเรียนกับ ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อขอให้ช่วยตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าเป็นอาหารเสริมลดน้ำหนักดังกล่าว ว่ามีความปลอดภัยหรือไม่ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ส่งเรื่องร้องเรียนของคุณเอกภพและเพื่อนๆ ต่อไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฯ เพื่อขอให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ต่อมาพบว่า ผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าเป็นอาหารเสริมลดน้ำหนักนั้น มีส่วนผสมของตัวยาลดน้ำหนักที่อนุญาตให้ใช้ได้เฉพาะภายใต้ความดูแลของแพทย์เท่านั้น ดังนั้นผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจึงไม่ใช่อาหารเสริม แต่คล้ายกับว่าคุณเอกภพและตัวแทนขายคนอื่นๆ ถูกหลอกให้ใช้และขายยาลดน้ำหนักนั่นเอง ซึ่งทาง สสจ.อยุธยาจะได้ดำเนินการทางคดีกับนายแพทย์ท่านนั้นต่อไป         ข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภค         เมื่อมีผู้มาชักชวนให้ซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผู้บริโภคควรตรวจสอบ เลข อย. ก่อนทุกครั้ง โดยสามารถตรวจจากเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มีการจดทะเบียนถูกต้องหรือไม่         กรณีที่พบว่า ผลิตภัณฑ์นั้นมีเลข อย.ที่จดทะเบียนถูกต้อง แต่เมื่อรับประทานแล้วมีอาการแพ้หรือเกิดผลข้างเคียง ก็ควรรีบแจ้งให้ทางหน่วยงานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินการตรวจสอบโดยทันที         ทั้งนี้ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ไม่มีเลข อย. และกล่าวอ้างว่ามีคุณสมบัติในการลดน้ำหนักได้ นั้นเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 ขายของหลอกลวง ล้วงคองูเห่า

        ยุคนี้ผู้คนตื่นตัวกับผลิตภัณฑ์สินค้าที่ไม่ปลอดภัยมากขึ้น ระบบการเฝ้าระวังก็เริ่มมีมากขึ้นตามไปด้วย แต่อย่าเพิ่งชะล่าใจเกินไป เพราะผู้ขายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัยหลายราย ก็เริ่มมีพัฒนาการวิธีการขายให้รอดพ้นจากการตรวจจับด้วยเช่นกัน บางรายเลือกใช้แหล่งที่เราอาจมองข้ามหรือคาดไม่ถึง บางรายก็เลือกใช้วิธีที่สร้างความน่าเชื่อถือแบบแปลกๆ                สีเปลี่ยนไป นั่นไงคือการล้างพิษ         เจ้าหน้าที่สาธารณสุขรายหนึ่งที่ทำงานใกล้ชิดกับวัดเล่าให้ฟังว่า มีคนนำเครื่องดื่มที่เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดหนึ่งมาแนะนำให้หลวงพ่อบริโภค บอกว่าผลิตภัณฑ์นี้สามารถล้างพิษที่สะสมในร่างกายของหลวงพ่อได้ ไม่เพียงแนะนำด้วยวาจา ผู้ขายยังมีวิธีนำเสนอผลิตภัณฑ์ของตนอย่างคาดไม่ถึง โดยนำน้ำเปล่ามาแก้วหนึ่ง แล้วเทน้ำยาใส่แผลเบต้าดีนลงไปในแก้ว คนจนน้ำในแก้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อนๆ หลังจากนั้นผู้ขายก็จะเทเครื่องดื่มชนิดนี้ลงไปในแก้ว คนน้ำในแก้วให้ทั่ว สักครู่หนึ่งน้ำในแก้วจะกลับมาใส ผู้ขายก็จะบอกว่า เห็นมั้ย เครื่องดื่มชนิดนี้จะล้างพิษในร่างกาย เหมือนสลายน้ำยาที่อยู่ในน้ำจนน้ำกลับมาใสได้ (ใช้เทคนิคสร้างความน่าเชื่อถือจากสีที่เปลี่ยนไป)         นัดเจอกัน แต่ไม่ให้เจอหน้าตา        เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอีกรายเล่าให้ฟังว่า ตนเห็นคุณแม่นำยาลูกกลอนมารับประทาน เมื่อนำยามาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบจึงพบว่ามีส่วนผสมของสเตียรอยด์ ตนกับไปคาดคั้นสอบถามคุณแม่ได้ความว่า คุณแม่ได้ข้อมูลเกี่ยวกับยานี้มาจากไลน์กลุ่มเพื่อนผู้สูงอายุ หลังจากนั้นจึงโทรศัพท์ไปสั่งยาจากผู้ขาย แต่ผู้ขายบอกว่าจะไม่ส่งยาทางไปรษณีย์ ผู้ซื้อจะต้องไปหาตามจุดที่นัดไว้ โทรแจ้งแล้ว ผู้ขายจะให้คนอื่นนำยามาส่งมอบ โดยผู้ซื้อจะไม่เห็นหน้าผู้ขาย จะเห็นแต่หน้าคนที่เอายามาส่งเท่านั้น (พยายามไม่ให้มีหลักฐานมาถึงตัวเอง)         ขายกันตรงที่คนคาดไม่ถึง        ผมได้รับข้อมูลจากผู้บริโภคเล่าว่า ตนเห็นยาลูกกลอนของญาติที่นำมารับประทาน คล้ายกับยาที่เจ้าหน้าที่เคยแจ้งว่าตรวจพบสารสเตียรอยด์ผสมอยู่ จึงสอบถามว่าซื้อมาจากไหน ญาติจึงเล่าให้ฟังว่า ในช่วงที่ไปตรวจที่โรงพยาบาล ระหว่างที่นั่งรอรับยาจะมีคนมานั่งข้างๆ และแนะนำยาชนิดนี้ให้กับกลุ่มผู้ป่วยที่นั่งรอรับยา เห็นผู้ป่วยหลายคนซื้อ ตนเลยซื้อมาบ้าง         ฝากหลวงพ่อแนะนำ        รายนี้ผู้ขายจะเป็นลูกศิษย์ที่มาวัดบ่อยๆ เห็นหลวงพ่อปวดเมื่อย ก็จะนำยามาถวาย โดยบอกว่าเป็นยาที่ตนใช้อยู่แต่แบ่งมาให้หลวงพ่อลองใช้ดูบ้าง พอหลวงพ่ออาการดีขึ้น ก็จะรับอาสาไปซื้อมาให้คราวละมากๆ ทำไปทำมาหลวงพ่อก็เลยกลายเป็นทั้งผู้บริโภคและผู้แนะนำสินค้าแก่ญาติโยมอื่นๆ ไปโดยปริยาย กว่าจะตรวจพบว่ามีสารสเตียรอยด์ญาติยามก็รับประทานไปหลายรายแล้ว         เฝ้าระวังและเตือนภัยเร่งด่วน        รูปแบบการขายที่หลากหลายแบบนี้ ลำพังเจ้าหน้าที่คงไม่สามารถไปเฝ้าระวังได้ตลอดเวลา แต่ถ้าหากผู้บริโภคคอยสอดส่องดูแล หากพบอะไรผิดปกติขอให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบโดยด่วน ก็จะสามารถช่วยกันสกัดปัญหาได้ทันทีและยังช่วยไม่ให้ผู้บริโภครายอื่นต้องตกเป็นเหยื่อและเสี่ยงกับอันตรายอีกด้วย ช่วยๆ กันนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 เลขสารบบอาหารไม่ครบก็ได้เหรอ

ทุกวันนี้เรากินอาหารจากผลิตภัณฑ์ที่บรรจุสำเร็จกันมากขึ้น ซึ่งอาหารในบรรจุภัณฑ์ประเภทนี้ได้รับการควบคุมดูแลเรื่องฉลากเพื่อให้สามารถติดตามได้หากเกิดปัญหา ดังนั้นอย่างน้อยผู้บริโภคควรใส่ใจที่จะอ่านฉลาก ซึ่งบ่งบอกรายละเอียดของสินค้า และหากพบความผิดปกติท่านสามารถร้องเรียนต่อหน่วยงานเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาได้        คุณพิมลอาศัยอยู่จังหวัดนนทบุรี ย่านบางกรวย วันหนึ่งไปซื้อก๋วยเตี๋ยวที่ตลาดเจ้าพระยาเพื่อกลับมารับประทานที่บ้าน ขณะกำลังจะฉีกซองพริกป่น น้ำตาล ที่แม่ค้าให้มาก็สังเกตว่า พริกป่นในซองจับตัวกันเป็นก้อน จึงเพ่งมองที่ฉลากบนซองแล้วพบสิ่งผิดสังเกตคือ เลขสารบบอาหาร(เลข อย.) บนซองนั้น มีแค่เลขแปดตัวเท่านั้น ซึ่งคุณพิมลเคยทราบมาว่าเลขสารบบอาหารนั้น ต้องมีทั้งหมด 13 ตัวหรือ 13 หลัก  อีกทั้งบนซองยังไม่มีการบอกวันหมดอายุหรือวันผลิต จึงสงสัยมีการปลอมเลข อย.หรือไม่ จึงแจ้งมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอให้ตรวจสอบ แนวทางการแก้ไขปัญหา          เมื่อพบความผิดปกติเกี่ยวกับอาหารในบรรจุภัณฑ์สำเร็จรูป ควรเร่งแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตรวจสอบ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จึงทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ว่าผู้ผลิตอาหารดังกล่าวตามชื่อที่ปรากฏบนซองเป็นผู้ผลิตสินค้าดังกล่าวจริงหรือไม่ ซึ่งต่อมาทราบว่าทาง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรีได้ออกตรวจร้านค้าที่จำหน่ายอาหารตามที่คุณพิมลแจ้งมา รวมทั้งร้านค้าอื่นๆ อีก 13 ร้านแต่ไม่พบผลิตภัณฑ์พริกป่นยี่ห้อตามที่คุณพิมลแจ้งมา           อย่างไรก็ตามเมื่อทาง อย.ได้สอบถามกับผู้ผลิตตามชื่อที่ปรากฏบนซอง ทางบริษัทดังกล่าวปฏิเสธว่าสินค้าดังกล่าวไม่ใช่ของตน เป็นการถูกแอบอ้างชื่อบริษัท จึงไม่สามารถดำเนินการแจ้งความกับบริษัทได้ นอกจากจะมีหลักฐานการซื้อขายว่าสินค้าดังกล่าวมาจากบริษัทนั้นจริง          ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้แจ้งให้คุณพิมลทราบ ผู้ร้องไม่ติดใจ เพียงแต่อยากฝากเรื่องไว้ให้ช่วยเผยแพร่เพื่อให้ผู้บริโภคท่านอื่นได้ระมัดระวัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 จำหน่ายอาหารบรรจุเสร็จต้องมีเลข อย.ด้วย

        เดี๋ยวนี้การทำอาหารค่อนข้างง่ายและสะดวกมากขึ้น เพราะว่ามีตัวช่วยในการปรุงอาหาร จำพวกซอสปรุงรสแบบสำเร็จต่างๆ พ่อครัวแม่ครัวมือใหม่ไม่ต้องยุ่งยาก แค่เติมซอสแบบสำเร็จก็สามารถ ต้ม ผัด แกง ทอด ได้อาหารมารับประทานแบบอร่อยกันเลย         คุณภูผา เล่นอินสตาแกรม (Instagram) ไปเจออินสตาแกรมของเชฟคนหนึ่ง โพสรูปขายซอสปรุงรสชนิดหนึ่ง โฆษณาว่า “ทำอะไรก็อร่อย” ราคา 49 บาท คุณภูผาเห็นเชฟบอกว่าทำ ต้ม ผัด แกง ทอด ก็ได้ และเชฟก็ทำอาหารจากซอสออกมาหน้าตาน่ารับประทานมาก จึงอยากทำบ้าง เชฟขายซอส 1 ขวด ราคา 49 บาท แต่ถ้าสั่งราคาส่ง ขวดละ 30 บาท คุณภูผาเลยสั่งมา 12 ขวด ด้วยความอยากได้ของถูก         เวลาผ่านไปคุณภูผาก็ได้ซอสปรุงรสมาไว้ในครอบครอง แต่เรื่องมาเกิดตรงที่แฟนของคุณภูผามาเจอซอสดังกล่าว เธอหยิบซอสขึ้นมาดู พบว่า บนขวดมีแต่ชื่อยี่ห้อเท่านั้น ไม่มีเลขทะเบียนสารบบอาหาร ไม่มีฉลากโภชนาการ ไม่มีวันที่ผลิตและหมดอายุ ไม่มีอะไรเลย จึงบ่นคุณภูผาว่า ซื้อมาได้อย่างไร ฉลากสักอย่างก็ไม่มี ใส่อะไรบ้างก็ไม่รู้ จะปลอดภัยหรือเปล่าก็ไม่รู้ คุณภูผาก็ต้องรับคำบ่นนั้นไป เพราะว่ามันเป็นจริงตามที่แฟนบ่น และเพื่อความสบายใจของแฟนเลยสอบถามมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหา        ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคแนะนำผู้ร้องว่า การผลิตซอสปรุงรสมีการควบคุมตามกฎหมายต้องแสดงฉลากโภชนาการให้ผู้บริโภครู้ถึงรายละเอียดวัตถุดิบในการผลิต ที่สำคัญผู้บริโภคต้องทราบวันที่ผลิตและวันหมดอายุ ดังนั้นการที่เชฟคนดังผลิตและจำหน่ายซอสปรุงรสที่ไม่มีฉลากและข้อความบนฉลากที่ถูกต้องมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 6 (10)  และมาตรา 51 มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท         อย่างไรก็ตาม ศูนย์พิทักษ์ฯ ได้ทำหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อขอให้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ผลิตแล้ว         ต่อมาได้รับแจ้งว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า มีการผลิตและจำหน่ายซอสปรุงรสชนิดนี้จริง ซึ่งผู้ผลิตแจ้งว่า ส่วนใหญ่ใช้ทำอาหารให้ลูกค้าในร้านรับประทาน และได้วางจำหน่ายหน้าร้านและขายทางเฟซบุ๊กด้วย เมื่อตรวจสอบการแสดงฉลากก็พบการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง เช่น ไม่แสดงเลขสารบบอาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต ปริมาตรสุทธิ ส่วนประกอบที่สำคัญเป็นร้อยละของน้ำหนักโดยประมาณเรียงตามลำดับปริมาณจากมากไปหาน้อย วัน เดือน และปีโดยมีข้อความว่า “ควรบริโภคก่อน” หรือ “หมดอายุ” กำกับไว้ด้วย สำนักงานอาหารและยา ได้สั่งปรับผู้ผลิต เนื่องจากการกระทำดังกล่าวของผู้ผลิตเป็นการจำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้องเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง : มีความรู้อยู่กับตัวกลัวอะไร ชีวิตไม่ปลดปลงคงได้ดี

        ปกติแล้ว ละครโทรทัศน์แนวโรแมนติกคอมเมดี้จะถูกมองว่า เป็นละครแนวที่ผู้ชมจะบันเทิงเริงรมย์เบาสมอง เสียจนบางคนเชื่อว่าไม่น่าจะมีอะไรสลักสำคัญอยู่ในนั้น แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องราวแบบบางเบาสมองเช่นนี้ก็อาจจะไม่ได้ “ไร้สาระ” หากแต่ตั้งคำถามต่อความเป็นจริงและความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของคนในสังคมไว้อย่างเข้มข้น แถมยังแยบยลยิ่งนัก        “ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง” ก็เป็นหนึ่งในละครโรแมนติกคอมเมดี้แบบย้อนยุค ที่ลึกๆ ลงไปในเนื้อหาแล้ว ความสัมพันธ์ของตัวละคร “ทองเอก” กับ “ชบา” ซึ่งกว่าความรักที่แตกต่างกันทั้งในแง่ศักดิ์ชั้นและบุคลิกนิสัยจะลงเอยกันได้ในตอนจบ แก่นความคิดของเรื่องกลับดูร่วมสมัยที่แทบจะไม่ได้ย้อนยุคแต่อย่างใด        โดยเส้นเรื่องหลักอาศัยพล็อตที่ผูกย้อนไปเมื่อครั้งสมัยพระพุทธเจ้าหลวง ช่วงเวลานั้นทองเอกได้ถือกำเนิดขึ้นในครอบครัวของหมอยาที่สืบทอดองค์ความรู้วิชาแพทย์แผนโบราณ และเมื่อยังเป็นเด็ก “พ่อหมอทองอิน” ปู่แท้ๆ ของเขา ก็เคยต้องรู้สึกเสียใจอย่างใหญ่หลวง เมื่อครั้งหนึ่งไม่สามารถยื้อชีวิตของเด็กน้อยคนหนึ่งที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า และตายอยู่ในอ้อมแขนของตน ปู่ทองอินจึงหนีบาดแผลในอดีต และพาทองเอกที่เป็นกำพร้าพ่อแม่อพยพมาใช้ชีวิตอยู่ที่ชุมชนบ้านท่าโฉลง โดยไม่คิดรักษาโรคให้กับใครอีกเลย        ความเจ็บปวดและเสียใจกับอดีตดังกล่าว ส่งผลให้หมอทองอินสั่งห้ามทองเอกผู้เป็นหลานชายและเพื่อนๆ อย่าง “เปียก” และ “ตุ่น” ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับตำรับยารักษาโรคโดยเด็ดขาด เพราะลึกๆ แล้ว ปู่ก็กลัวว่าทองเอกจะต้องชะตากรรมเดียวกับที่ตนเคยเผชิญมา        แต่เพราะพระเอกหนุ่มมีความมุ่งมั่นว่า ความรู้เรื่องหมอยาเป็นคุณค่าที่สั่งสมมาในสายตระกูล และเป็นความหวังสำหรับบรรดา “ผู้ไข้” ทั้งหลายที่อยากจะหลุดพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บทั้งปวง ทองเอกจึงแอบร่ำเรียนวิชา และใช้ความรู้หมอยารักษาคนไข้ โดยไม่เลือกปฏิบัติว่า “ผู้ไข้” เหล่านั้นจะมาจากศักดิ์ชั้นสังกัดใดในสังคม        ไม่ว่าจะเป็นตัวละคร “ผ่อง” สาวชาวบ้านที่เคยโฉมงาม แต่เพราะป่วยเป็นโรคคุดทะราดจนมีสภาพไม่ต่างจากผีปอบ และถูก “แม่หมอผีมั่น” ผู้เป็นมารดาอัปเปหิไปอยู่กระท่อมกลางป่า หรือตัวละคร “คุณนายสายหยุด” แม่ของชบา และเป็นภรรยาของ “ท่านขุนกสิกรรมบำรุง” ที่ตัวคุณนายเองได้ป่วยเป็นโรคลมในท้องรักษาไม่หาย ไปจนกระทั่งตัวละคร “เสด็จพระองค์หญิง” ซึ่งป่วยเรื้อรังจนสุดความสามารถของหมอหลวงในวังที่จะรักษาให้หายขาด ทุกคนก็ล้วนกลายเป็น “ผู้ไข้” ที่ทองเอกรักษาให้โดยมิได้ตั้งแง่แต่อย่างใด        ด้วยเหตุที่ละครผูกเรื่องไว้เป็นแนวโรแมนติกคอมเมดี้ อีกด้านหนึ่งของชีวิตการเป็นหมอยานั้น กว่าที่ทองเอกกับชบาจะลงเอยแฮปปี้เอนดิ้ง ทั้งคู่ก็ต้องฝ่าบททดสอบต่างๆ มากมาย ทั้งจาก “กล้า” ตัวละครหนุ่มหล่อและรวยที่เป็นคู่แข่งหัวใจของทองเอก ผ่องผู้เป็นคนรักเก่าของเขา และความขัดแย้งระหว่างทองเอกกับขุนกสิกรรมบำรุงผู้เป็นว่าที่พ่อตา ซึ่งกีดกันพระเอกนางเอกด้วยฐานานุรูปที่แตกต่างกัน        และดังที่กล่าวไว้ในตอนต้นว่า เบื้องลึกระหว่างบรรทัดของละครแนวกุ๊กกิ๊กคอมเมดี้ หาใช่เป็นอันใดที่ “ไร้สาระ” ไม่ หากแต่คลุกเคล้าไว้ด้วยการตั้งคำถามต่อความเปลี่ยนแปลงทางสังคมไว้อย่างแยบยล ด้วยเหตุฉะนี้ คู่ขนานไปกับบทพิสูจน์ความรักและความมุ่งมั่นของ “นายทองเอก” ที่จะเป็น “หมอทองเอก” ก็คือการเผยให้เห็นโลกทัศน์ที่เรามีต่อสิ่งที่เรียกว่า การสั่งสมและใช้ “ความรู้” ของคนในสังคม        เพื่อให้สอดรับกับสังคมที่ก้าวเข้าสู่ความเป็น “สังคมแห่งความรู้” หรือ “knowledge-based society” ในปัจจุบัน ในขณะที่ละครได้อาศัยการสร้างฉากและองค์ประกอบศิลป์ให้ดูเป็นแบบพีเรียดย้อนยุค แต่อากัปกิริยา คำพูดศัพท์แสง และบทสนทนาของตัวละคร กลับล้วนแล้วแต่เป็นแบบที่ผู้คนในยุค “ไทยแลนด์ 4.0” ต่างพูดๆ กันอยู่ในชีวิตประจำวัน        ด้วยภาพที่ดูร่วมสมัยแต่ย้อนแย้งอยู่ในความเป็นอดีตนี้เอง ละครได้ตั้งคำถามกับคนในสังคมว่า เมื่อหมอยาคือบุคคลที่สังคมยอมรับในแง่ของการเป็นผู้ถือครองวิชาความรู้ที่สั่งสมสืบทอดกันมา ดังนั้น ผู้รู้ก็ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า ผู้มีความรู้ก็อาจจะ “รู้กระจ่างเพียงอย่างเดียว” แต่ที่สำคัญต้องเป็นผู้ “เชี่ยวชาญ” ในเรื่องจริงๆ จึงจะ “บังเกิดเป็นมรรคผล”        ฉากที่เพื่อนๆ ทดสอบทองเอกด้วยการปิดตาและให้ดมกลิ่นหรือลิ้มรสสมุนไพรแต่ละชนิด พร้อมระบุสรรพคุณของตัวยาเหล่านั้น ย่อมบอกได้ชัดเจนว่า ถ้าจะเอาดีด้านหมอยา ความรู้เรื่องสมุนไพรและธาตุยาที่ถือครองไว้ก็ต้องผนวกผสานเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายและจิตใจของผู้รู้คนนั้นๆ        ในขณะเดียวกัน เพราะ “ความรู้เป็นอำนาจ” และ “อำนาจเป็นเหรียญสองด้าน” ที่มีทั้งด้านให้คุณและให้โทษ ดังนั้น ในขณะที่แม่หมอผีมั่นเลือกใช้ความรู้หมอยาเพื่อครอบงำและเป็นมิจฉาทิฐิทำลายผู้อื่น แต่ทองเอกกลับยืนยันว่า ความรู้ต้องใช้เพื่อปลดปล่อยและเป็นสัมมาทิฐิเพื่อจรรโลงสังคมโดยไม่เลือกปฏิบัติว่าจะเป็นมิตรหรือศัตรู แบบที่เขาได้ใช้ความรู้หมอยารักษาแม่หมอผีมั่นจากโรคในตอนท้ายเรื่องนั่นเอง         นอกจากนี้ อีกบทเรียนครั้งยิ่งใหญ่ของหมอทองเอกในฐานะผู้ถือครองความรู้ก็คือ ความรู้หนึ่งๆ ไม่ใช่ยาครอบจักรวาลที่จะรักษาได้สำเร็จเสมอไป เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้ว “หมอไม่ใช่ผู้วิเศษที่จะรักษาใครให้หายได้ทุกคน” เหมือนกับที่ตัวละครหลวงพ่อได้พูดให้เราสำเหนียกว่า “ไม่มีหมอคนไหนอยากให้ผู้ไข้ตายหรอก...คนจะตายมันก็ตายอยู่ดี”         เพราะฉะนั้น แม้ความรู้จะทำให้ผู้รู้นั้นดูองอาจหรือมีอำนาจ แต่ผู้รู้ก็ต้องถ่อมตนและยอมรับว่า ความรู้ทุกชนิดมีข้อจำกัดและมีขอบเขตในการนำไปใช้เสมอ แบบที่ “หนึ่งสมองกับสองมือ” ของหมอทองเอกก็ไม่สามารถรักษาคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคระบาดในท่าโฉลงได้ครบทุกคน หรือแม้แต่ไม่อาจเหนี่ยวรั้งชีวิตของปู่ทองอินซึ่งถูกยาสั่งของแม่หมอผีมั่นเอาไว้ได้ในตอนกลางเรื่อง         คำโบราณกล่าวไว้ถูกต้องว่า “รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา” และ “มีความรู้อยู่กับตัวกลัวอะไร” แต่เมื่อก้าวเข้าสู่ยุคที่ความรู้ได้กลายเป็นทุนและแหล่งที่มาของอำนาจในสังคมทุกวันนี้แล้ว บางทีเสียงหัวเราะขำๆ และความรู้สึกกุ๊กกิ๊กที่เรามีให้กับหมอทองเอกและตัวละครต่างๆ รอบตัว คงบอกเป็นนัยได้ว่า มีความรู้อย่างเดียวนั้นไม่พอ แต่ต้องเข้าใจและปฏิบัติต่อความรู้อย่างสร้างสรรค์จริงๆก่อนจะเสียชีวิตลง ประโยคที่ปู่ทองอินพูดกับทองเอกที่จะเป็นทายาทสืบต่อในฐานะผู้รู้หมอยาของท่าโฉลง จึงแยบคายเป็นอย่างยิ่งว่า “ข้าไม่กลัวความตาย ตลอดชีวิตของข้า ข้าทำความดีอย่างสุดความสามารถแล้ว ถึงข้าตาย ข้าก็สบายใจ”                                                                             

อ่านเพิ่มเติม >