ฉบับที่ 121 3 บาทต่อหัวประชากร

เดือนนี้เป็นทั้งเดือนที่มีความสำคัญและได้เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ลำบากใจได้ไม่น้อย วันที่ 15 มีนาคมของทุกปีเป็นวันคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคสากล(World Consumers' Rights Day) โดยปีนี้ให้ความสำคัญกับบริการทางการเงินที่จะต้องเป็นธรรมกับผู้บริโภค แต่หากย้อนกลับมายังสถานการณ์ในบ้านเราปีนี้เป็นปีที่กฎหมายกำหนดให้สถาบันการเงินมีความรับผิดที่จำกัด และจะรับประกันการฝากเงินเพียง 1 ล้านบาทเมื่อเดือนสิงหาคม 2545 ถึงแม้อาจจะเห็นว่าเป็นประเด็นของคนชั้นกลาง แต่โครงสร้างระบบการเงิน สถาบันการเงินทั้งธนาคารและไม่ใช่ธนาคาร เงินกู้ เงินฝาก เงินออม ในปัจจุบันนี่แหละที่ทำให้คนจนต้องเป็นหนี้ซ้ำซาก เป็นหนี้แล้วถูกทวงหนี้ไม่เป็นธรรม เหมือนอย่างที่อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ให้ข้อคิดไว้อย่างน่าสนใจว่า คนชั้นกลางไม่สนใจเรื่องการปฏิรูปที่ดินเพราะคิดว่าเป็นเรื่องคนจน แต่หารู้ไม่ว่า คอนโดหรือบ้านรูหนูที่ตัวเองอยู่ ไม่ควรจะแพงมหาโหดหรือไม่ควรจะต้องผ่อนทั้งชีวิตแบบนี้ แต่ที่เป็นแบบนั้นเพราะการถือครองที่ดินที่กระจุกตัว รวมทั้งที่ดินในการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เมื่อวันที่ 2 มีนาคมเกือบเป็นวันประวัติศาสตร์ของประเทศไทย เพราะรัฐสภาได้พิจารณาร่างกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญมาตรา 61 วาระ 2 และวาระ 3 ซึ่งเป็นกฎหมายที่กลุ่มองค์กรผู้บริโภครอคอยมาไม่น้อยกว่า 14 ปีพบรัฐมนตรีไม่น้อยกว่า 8 คน มีการจัดกิจกรรมทั้งสนับสนุนและคัดค้านนับร้อยครั้งทั่วประเทศ แต่ก็ต้องถอนกฎหมายฉบับนี้ออกไปเนื่องจากวิปรัฐบาลมีความเห็นที่แตกต่างกับกรรมาธิการเสียงข้างมากในการกำหนดงบประมาณให้เป็นอิสระโดยกำหนดไม่น้อยกว่า 5 บาทต่อหัวประชากร เมื่อพิจารณากฎหมายไปได้ถึงมาตรา 8 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ลงมติให้ถอนกฎหมายออกจากการพิจารณาของสภา และให้กรรมาธิการไปพิจารณาอีกรอบ สุดท้ายกรรมาธิการเสียงข้างมากก็สนับสนุนให้กำหนด 3 บาทต่อหัวประชากรเงิน 3 บาทต่อหัวประชากร ถึงแม้จะทำให้ผิดหวังที่เห็นคุณค่าของผู้บริโภคน้อยกว่าค่าขนมเด็ก แต่หากมองในแง่ดี ก็ต้องถือว่า ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและประชาชน ต่างมีหลักประกันด้วยกันทั้งสองฝ่าย เพราะหากองค์กรนี้ทำงานได้ไม่ดีเพราะยังไม่เห็นผลงานก็ไม่สิ้นเปลืองงบประมาณมากนัก แต่หากทำงานเข้าตากรรมการและไปขัดแข้งขัดขาใคร ถูกหมั่นไส้เพราะเล่นงานบริษัทพรรคพวกของตนเอง ก็ไม่สามารถตัดงบประมาณให้น้อยกว่า 3 บาทต่อหัวได้ แต่ 14 ปีที่รอคอยเราทุกคนคงอยากเห็นและฝากความหวังกับองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคนี้ ที่จะต้องเข้มแข็งทำให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง ทำงานพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เสนอความเห็นและผลักดันมาตรการที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคอย่างเต็มที่ รวมทั้งตรวจสอบการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคของหน่วยงานรัฐอย่างเข้มข้นผู้บริโภคหลายคนอาจจะคิดไม่ค่อยออก ว่าเราต้องมีส่วนช่วยอย่างไร หากมองแบบพุทธก็ต้องบอกว่าทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด ช่วยกันสร้างวัฒนธรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ใช่มีแต่ข่าวที่ผู้บริโภคเสียเปรียบและต้องยอมจำนน ดังที่บริษัทแม็คอินทอช (Apple) ได้ผลิตไอแพด (I Pad) 2 แต่คนที่ซื้อ I Pad 1 ก่อนสินค้าตัวนี้ออกสู่ตลาด 14 วันจากบริษัทหรือออนไลน์บริษัทจะคืนเงินให้คนละ 3,000 บาท แต่ Ipod studio เมืองไทยอ้างว่า ตัวเองเป็นเพียงตัวแทนจำหน่ายไม่ใช่บริษัทจัดจำหน่ายไม่สามารถคืนเงินให้ คำโฆษณาของบริษัทต้องถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา หากApple ไม่ถอนการเป็นตัวแทนจำหน่ายของ  Ipod studio เมืองไทย ก็ต้องมีนโยบายของบริษัทแบบเดียวกันในประเทศไทย เรื่องนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบ ขอยุให้ผู้ที่ซื้อในเมืองไทยทุกคนภายใน 14 วันไปฟ้องศาลคดีผู้บริโภค เรื่องนี้ทำง่าย ๆ ไม่ต้องจ่ายค่าวางศาล แถมขอให้ศาลปรับแบบลงโทษได้ถึงห้าเท่า ที่เอาเปรียบผู้บริโภคและไม่รับผิดชอบผู้บริโภคในเมืองไทย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 120 ทำไมเรา(โง่) จ่ายอยู่กลุ่มเดียว

เดือนที่ผ่านมาคงได้รับรู้ปัญหาของระบบประกันสังคมกันอยู่ไม่มากก็น้อย เพราะผู้ประกันตนถือเป็นกลุ่มเดียว(9.4 ล้านคน) ที่ต้องจ่ายสมทบค่ารักษาพยาบาลให้กับตนเอง จ่ายเงินแล้วสิทธิประโยชน์ยังน้อยกว่ากลุ่มอื่น ๆ ไม่จะเป็นสวัสดิการข้าราชการ หรือระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง) ในกรณีผู้ป่วยเรื้อรัง กว่าจะได้ใช้สิทธิผู้ประกันตน ก็ต้องผ่านการพิสูจน์จากสำนักงานว่า เป็นผู้ประกันตนหรือไม่ ทั้งๆ ที่ บางคนจ่ายเงินมาไม่น้อยกว่า 4 ปี ก่อนเก็บเงินก็ไม่เคยถูกถามว่าเป็นผู้ประกันตนหรือไม่ หรือหากจะคลอดบุตรได้ก็ต้องจ่ายสมทบเงินมาไม่น้อยกว่า 7 เดือน ทำให้ผู้หญิงวัยทำงานจำนวนมากไม่สามารถไปฝากท้องได้เพราะไม่มีเงินจ่ายและไม่สามารถใช้สิทธิใด ๆ ได้ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้สะท้อนระบบประกันสังคมว่าไม่ได้มองว่าเรื่องสุขภาพเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชน แต่เป็นสิ่งที่จะต้องจ่ายก่อนถึงจะได้สิทธินั้น ทั้งที่รัฐธรรมนูญก็กำหนดไว้ชัดเจนว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐานต้องยอมรับว่าเมื่อปี 2533 กฎหมายประกันสังคมก้าวหน้ามากในสังคมไทย แต่หากพิจารณาในปัจจุบันที่เรามีกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อปี 2545 ครอบคลุมคนไทยทั้งประเทศ ทำให้ผู้ประกันตนเป็นกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล เงินประมาณ 15,000 ล้านบาท ที่จ่ายสมทบทั้งลูกจ้างและนายจ้าง หากนำไปจ่ายเพิ่มสิทธิประโยชน์ชราภาพ หรือเป็นเงินออมของผู้ประกันก็น่าจะทำให้ผู้ประกันตนเมื่อสูงวัยพอจะมีคุณภาพชีวิตได้บ้าง ที่สำคัญทุกคนที่เป็นคนไทยมีความเท่าเทียมในการได้รับสวัสดิการขึ้นพื้นฐานจากประเทศ นอกจากนี้ยังเพิ่มประสิทธิภาพระบบหลักประกันสุขภาพ (60 ล้านคน) ให้สิทธิประโยชน์ของทุกคนเหมือนกัน และสร้างความเข้มแข็งของระบบประกันสังคมในระยะยาว ช่วยกันลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมด้วยของจริง ร่วมกันผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นจริง ด้วยการสมัครเป็นสมาชิกชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน และร่วมกิจกรรมได้ที่ Facebook ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 119 มาเป็นครอบครัวพิทักษ์สิทธิกันเถอะ

  สังคมไทยเป็นสังคมจำเลย ที่กล่าวเช่นนี้เพราะเห็นจากหลายกรณีที่เกิดขึ้น ที่เราจะต้องมองหาจำเลยว่าใครจะเป็นคนผิด เพื่อให้รู้สึก สบายใจ ว่าหาคนผิดได้หรือไม่งั้น ก็มีความกลัวว่าเราจะต้องไปเกี่ยวข้องด้วยและร่วมรับผิดชอบ เช่น การนำเสนอข่าวฟิล์มกับแอนนี่ หรือเรื่องรถตู้ชนบนโทลล์เวย์ และทุกๆ ปี เราจะเห็นการเสนอข่าวว่า ปีนี้มีคนกลับบ้านและไปเที่ยวต่างจังหวัดมาก เริ่มตั้งแต่รถติดมากจากกรุงเทพฯ ติดไปจนถึงนครสวรรค์ หรือข่าวว่าบริษัทขนส่งหรือการรถไฟจะเพิ่มเที่ยวให้สามารถกลับบ้านกันได้ทั้งหมด เห็นข่าวประเภทนี้กันมาหลายปี ดูซ้ำไปซ้ำมา หากจะโทษการเสนอข่าวก็ง่ายไป เราก็ต้องมีส่วนร่วมในการทำให้ข่าวที่เราดูกันตลอดเวลานั้น มีความน่าสนใจมากขึ้นด้วย ปีนี้ฉลาดซื้อตั้งใจที่จะชักชวนให้ช่วยกันปฏิบัติการนำเสนอข่าวด้วยตัวเอง ด้วยการเป็นสมาชิกครอบครัวพิทักษ์สิทธิ ซึ่งจะขอชักชวนคนไทยทั้งประเทศเข้าร่วมเป็นครอบครัวนี้ ที่จะเป็นเหมือนชุมชนของผู้บริโภคที่แข็งขัน มีพลังในเรื่องที่จะช่วยกันติดตามข่าวสาร หรือรายงานผลเหตุการณ์การละเมิดสิทธิ ราคาสินค้า หรือแจ้งเรื่องราวร้องทุกข์ผ่านสื่อที่รวดเร็วฉับไวภายในเครือข่าย ถือเป็นปฏิบัติการที่เราสร้างเองได้ และมีประโยชน์ต่อผู้บริโภค ปีนี้ฉลาดซื้อและทีม มพบ. พร้อมกับครอบครัวพิทักษ์สิทธิ เราจะมุ่งสู่วิสัยทัศน์ “สานพลัง เท่าทันโลก บริโภคอย่างสร้างสรรค์” ด้วยกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 118 จินตนาการ

ได้มีโอกาสตั้งสอบถามความเห็นเพื่อนฝูงใน Facebook ว่า ช่วยให้ความเห็นต่อการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคยอดเยี่ยมและยอดแย่ของรัฐบาลนี้มาสัก 3 อย่าง มีคนให้ความเห็นแตกต่างกันสะท้อนมุมมองของแต่ละกลุ่มในสังคมตั้งแต่ปัญหาความเดือดร้อนของผู้บริโภค เช่นข้าวของราคาแพงที่กระทบกับผู้บริโภคไม่ว่าจะเรื่องไข่ น้ำตาล มะพร้าว หรือรวมถึงปัญหาการผูกขาดสินค้า ปัญหาไม่ทำตามคำสัญญา(นโยบายของรัฐบาล)ที่บอกว่า ประชาชนต้องมาก่อน แต่เห็นได้จากหลายเรื่องประชาชนออกวิ่งแล้วแต่รัฐบาลยังไม่กล้าเดินแถมกลัวให้เห็นอีก เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ และที่เห็นเป็นปัญหาสำคัญของประเทศดูเหมือนจะปล่อยให้มีการโกงกันมากมาย ที่ชมรัฐบาลนี้กันมากเห็นจะได้แก่ การผ่านสภาผู้แทนราษฎรรับหลักการกฎหมายองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภคที่ร้องเพลงรอกันมา 13 ปี การชะลอไม่ขึ้นราคาก๊าซเพราะทราบดีว่า ควรแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่น การให้คณะทำงานปฏิรูปชุดต่างๆ ทำงานอย่างอิสระ แต่จะรับไปดำเนินการมากน้อยแค่ไหนอย่างไรเป็นเรื่องที่ต้องติดตามตรวจสอบกันต่อไปนับเป็นผลงานยอดเยี่ยมและยอดแย่ของรัฐบาลด้านการคุ้มครองผู้บริโภค แต่หากกลับมามองสถานการณ์รวมของผู้บริโภค ก็จะเห็นได้ว่า การใช้สิทธิของผู้บริโภคมากขึ้นจากการร้องเรียน มีคนเอาจริงเอาจังที่นำของหมดอายุไปคืนห้างพร้อมขอค่ารถ 500 บาท และบอกว่า “ผู้บริโภคไม่ได้มีหน้าที่ต้องเอาของหมดอายุมาคืน แต่ห้างมีหน้าที่ทำให้ของที่จำหน่ายไม่มีของหมดอายุ” น่าชื่นชมจริง ๆ เพราะหากเราทำกันทุกคนเมืองไทยไม่น่าจะมีของหมดอายุจำหน่ายให้ปวดหัวกันอย่างทุกวันนี้ปีใหม่นี้ขออำนวยพร ให้สมาชิกฉลาดซื้อและผู้อ่านทุกคน เริ่มต้นชีวิตที่งดงาม มีความรัก ความสุขกับการทำงาน ทำหน้าที่ของตนเองในฐานะผู้บริโภคอย่างเข้มแข็ง ไม่ท้อถอยต่ออุปสรรค ที่สำคัญร่วมกันสร้างจินตนาการ และเชื่อว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยให้เท่าทันโลก ไม่ฝากความหวังการทำให้สังคมดีไว้กับใครแต่ต้องทำร่วมกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 117 ขายตรงแบบไทย ๆ กับ สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น

กรณี ร้องเรียนที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ จากปัญหาการขายตรง ที่สำคัญได้แก่ การขายตรงที่เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ ขายตรงหลายชั้น ซึ่งผิดกฎหมาย นอกนั้นมักจะเป็นปัญหาสินค้าที่ได้รับไม่มีคุณภาพ ไม่เหมือนกับที่โฆษณาในทีวี สินค้าชำรุดบกพร่อง สินค้าราคาแพงมากกว่าท้องตลาดทั้งที่ตอนโฆษณาดูเหมือนราคาถูก มีของแถมมากมาย ผู้ บริโภคเรา ๆ ขาดความรู้ว่ามีสิทธิอะไรบ้างจากธุรกิจขายตรง เช่นไม่พอใจสินค้าสามารถคืนเงินได้ภายใน 7 วัน เพราะยังไม่ถือว่าเป็นการซื้อสินค้า ภาระในการส่งคืนสินค้าเป็นของผู้ขาย สุดท้ายเป็นปัญหาการให้บริการลูกค้าหลังการขายทั้งการคืนของ การคืนเงิน การเยียวยาความเสียหายให้กับลูกค้า เช่น หากสั่งซื้อสินค้ามักจะได้รับของภายใน 3 วัน และจ่ายเงินทันที แต่เมื่อคืนสินค้ามีเงื่อนไขคืนเงินล่าช้ายาวนานถึง 45 วันก็ นับเป็นธุรกิจขายตรงแบบไทย ๆ ที่มีปัญหากันมากในปัจจุบัน นอกเหนือจากประสิทธิภาพหรือคุณภาพของสินค้าเทคโนโลยีใหม่ที่ผู้บริโภครู้ได้ ลำบากว่ามีคุณภาพจริงหรือไม่ สินค้าที่มีเรื่องร้องเรียนมาก  เช่น อุปกรณ์ออกกำลังกาย(ไม่แข็งแรง) เครื่องดักหนู(ประสิทธิภาพ) อุปกรณ์ทำความสะอาด การขายตรงประกันภัยทางโทรศัพท์หลัก สำคัญของธุรกิจขายตรงคือ การลดต้นทุนการจัดจำหน่าย เพราะไม่มีร้านค้า แต่ผู้บริโภคก็ไม่มีโอกาสจับต้องสินค้า และในอนาคตการขายตรงจะถูกพัฒนาควบคู่กับระบบเทคโนโลยีมากขึ้นทั้งผ่านระบบ โทรศัพท์มือถือ ที่จะเห็นทั้งข้อความและรูป เรียกว่าขายตรงถึงตัวกันเลยทีเดียว โดยที่ไม่จำเป็นต้องเปิดโทรทัศน์ หรือใบแนะนำสินค้าขายตรงสุด ท้ายขอให้กำลังใจประชาชนที่เดือดร้อนประสบปัญหาน้ำท่วมทุกคน บางคนบอกว่า บ้านหายไปกับสายน้ำ  และไม่ไหลกลับ วัด กุฏิแม่ชีหายไปกับสายน้ำเช่นเดียวกัน หลายคนไม่มีบ้านอยู่ บ้านจมน้ำ เรือกสวนไร่นา เสียหายมากมาย จากเหตุน้ำท่วมในหลายจังหวัดของประเทศไทย  ทั้งภาคอีสานและภาคกลาง และกำลังประสบปัญหาในภาคใต้ แต่ได้เห็นน้ำใจงามมากมายกว่าสายน้ำเข้าช่วยเหลือ ท่ามกลางชีวิตทุกชีวิตที่เหลือต้องดำเนินต่อไปฉลาดซื้อและทีมของมูลนิธิ ฯ ทั้งหมด จะย้ายกลับไปทำงาน ณ อาคารสำนักงานเดิม ซอยวัฒนโยธิน ภายในวันที่ 22 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 116 (โปรดฟังอีกครั้ง) กฎหมายช่วยเยียวยา ไม่ได้ช่วยฟ้อง

การสนับสนุนของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยต่อกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหาย ได้ทำให้กลุ่มแพทย์ที่คัดค้านโกรธและเลือกใช้วิธีฟาดหัวฟาดหาง เช่น การตั้งคำถามต่อผู้พูดว่า เป็นการออกมาพูดเองของผู้อำนวยการโรงพยาบาลหรือเป็นมติของคณะแพทย์รามาธิบดี การพูดส่อเสียด ศาสตราจารย์นายแพทย์วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ การรุมกินโต๊ะนายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน (แต่เผอิญเป็นโต๊ะเหล็กเลยปากหักไปตาม ๆ กัน) การข่มขู่จะถอดถอนแพทย์ที่ออกมาสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ ไม่ว่าจะเป็นนายแพทย์วิชัย นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ ส่วนภาคประชาชนก็ได้รับรางวัลไปตามๆ กัน เช่น เอาเงินภาษีมาให้ผู้ผลักดันกฎหมายไปไปบริหารกองทุน มีผลประโยชน์แอบแฝง หรือแบบไม่ตรงไปตรงมา(ทั้งที่มีภาคประชาชน 3 คนจากจำนวนกรรมการ 17 คน และสำนักงานบริหารอยู่กับกระทรวงสาธารณสุข) เช่น เขียนด่าในเว็บไซต์ โทรศัพท์มาด่าที่บ้าน ขณะออกรายการโทรทัศน์ สนับสนุนกลุ่มประชาชนให้คัดค้านภาคประชาชนกันเอง เขียนป้ายด่าว่า หลอกผู้ติดเชื้อยังไม่พอจะมาหลอกผู้ป่วยต่อ เป็นต้น เรียกว่า ทำทุกวิถีทางทั้งที่ลับและที่แจ้ง นับไล่เรียงตั้งแต่การล็อบบี้นักการเมือง สื่อมวลชน นอกรอบหรือเป็นทางการ การใช้เครือข่ายทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน เครือข่ายผู้ป่วยที่เคยดูแลมีบุญคุณกัน น่าเสียดายที่พลังเหล่านี้ หากนำไปใช้ในทางที่ดีคงได้ประโยชน์มหาศาล แต่หากจะแยกแยะกลุ่มคัดค้านคงพอไล่เรียงได้ประมาณนี้ กลุ่มแรกผิดหวังเรื่องค่าตอบแทนที่กระทรวงสาธารณสุขให้เงินเดือนแพทย์ชนบทใกล้เคียงกับรพ.ศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป(ลึกๆ กลุ่มนี้เห็นด้วยกับกฎหมายเพราะเชื่อว่าช่วยหมอไม่ให้ถูกฟ้องแต่ก็มาอยู่ในกลุ่มวงคัดค้านเลยลำบาก) กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มแค้นฝังหุ่นระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ว่าอะไรก็คัดค้านหมดเพราะต้องการล้มระบบหลักประกันแถมไม่ชอบ NGO ทั้งจากเรื่องคอรัปชั่นในกระทรวงสาธารณสุขในอดีต หลักประกันสุขภาพ การหลอกลวงกรณี ยา V1 สำหรับผู้ติดเชื้อ กลุ่มที่สามนับว่าใหญ่และมีอิทธิพลมากคือ กลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่แอบข้างหลังในช่วงแรก และเปิดเผยตัวว่า  ให้ขยายมาตรา 41 (เพราะรพ.เอกชนจะได้ไม่ต้องจ่ายสมทบ) หรือเครือข่ายแพทย์รพ.รัฐที่ปัจจุบันทำนอกเวลารพ.เอกชน หรือแพทย์ที่มีคลินิกเอกชนของตนเอง ซึ่งกลุ่มนี้ขณะนี้เร่งผลักดันความร่วมมือรัฐและเอกชนในการให้เจ้าหน้าที่รัฐไปทำงานในรพ.เอกชนในเวลาราชการ(คิดได้ไง) ที่สรุปได้อย่างนี้เพราะร่างกฎหมายผู้ได้รับผลกระทบจากบริการสาธารณสุขของทีมนี้ เขียนไว้ไม่รวมสถานพยาบาลเอกชน แถมจริงหรือไม่ที่ผู้นำทีมวอคเอ้าท์ในวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา เป็นกรรมแพทยสมาคมที่เป็นเนื้อเดียวกันกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน  รองผู้อำนวยการรพ.บำรุงราษฎร์ หรือนายกสมาคมไทยคลินิกเอกชน นอกเหนือจากกลุ่มแค้นฝังหุ่น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 115 Easy Pass ผ่านทางอัตโนมัติ

ข้อมูลของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ระบุว่า ณ วันที่ 24 พฤษภาคม 2553 มีผู้ใช้ทางพิเศษสมัครใช้บัตร Easy Pass หรือระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ แล้วกว่า 110,000 บัตร ยังไม่นับรวมปัจจุบันที่เพิ่งจะเปิดให้บริการจำหน่ายบัตรเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2553 ที่ผ่านมา และให้บริการค่อนข้างเต็มรูปแบบโดยเฉพาะระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ไปเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีทั้งคนบ่นและร้องเรียนแบบเป็นทางการจำนวนไม่น้อย เรื่อง Easy Pass ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ว่า ทำให้รถติดเนื่องจากระบบ Easy Pass มีบริการไม่เพียงพอและล่าช้า ทำให้รถยนต์ส่วนมากยังต้องใช้ช่องจ่ายเงินสดทำให้เป็นปัญหาการจราจรของด่าน ชำระเงินแทบทุกแห่ง รองลงมาเป็นปัญหาเรื่องการเก็บค่ามัดจำบัตร Easy Pass จำนวน 1,000 บาทที่แพงเกินไปไม่สมเหตุผลต้นทุนของบัตร รวมถึงปัญหาเงินสำรองขั้นต่ำในการใช้บัตร Easy Pass ที่ต้องมีมูลค่าสูงถึง 200 บาท ประการสุดท้ายหลังจากมีระบบนี้ การทางพิเศษ ฯ ได้ยกเลิก ระบบคูปอง 45 บาท และ 55 บาท ซึ่งใช้แทนเงินสด ทำให้ผู้ใช้ทางต้องเตรียมเงินสดให้พอดี หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องเสียเวลารอเงินทอน ทำให้ใช้เวลาหรือล่าช้าเพิ่มขึ้น ซึ่งแทนที่จะค่อย ๆ เลิกใช้ระบบคูปองหลังจากที่รถจำนวนมากติดตั้งระบบอัตโนมัติแล้ว หรือสามารถมีอุปกรณ์บริการประชาชนได้อย่างเพียงพอและรวดเร็ว หลายคนเปรียบเทียบบัตร Easy Pass กับบัตรรถโดยสารไฟฟ้าบนดินและใต้ดิน ว่าน่าจะใช้ระบบแม่เหล็กในการอ่านบัตรแบบเดียวกัน ขณะที่บัตรรถไฟฟ้ามีค่ามัดจำบัตรเพียง 30 บาท แต่ บัตร Easy Pass สำหรับติดหน้ากระจกรถราคา 1,000 บาท และบัตรเติมเงิน (Smart pass) มีราคาขั้นต่ำ 200 บาท ก็นับว่าเป็นราคาที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคอยู่ดี ขอ ให้คณะกรรมการและผู้ว่าการทางพิเศษ ฯ ปรับปรุงปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นและโปรดให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภค ที่เป็นลูกค้าชั้นดีโดยไม่ต้องร้องขอ หรือลุกขึ้นมาฟ้องร้อง หรือเห็นว่าขณะนี้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกเพราะโทลเวย์ก็ราคามหาโหด คนประท้วงไม่ขึ้น จะทำอย่างไรก็ได้ หนีเสือปะจระเข้จริง ๆ ขออนุญาตแนะนำให้สมาชิกฉลาดซื้อได้รู้จัก พ.ท. ทวีสิน รักกตัญญู ที่เป็นผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และนางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการขนส่งจราจรในฐานะประธานกรรมการการทางพิเศษ ฯ และคณะกรรมการ ทั้งหมด ได้แก่ นายวินัย วิทวัสการเวช, นายวีระ เรืองสุขศรีวงศ์, น.ส. วลัยรัตน์ ศรีอรุณ, นายภูมิใจ อัตตะนันทน์, พลตำรวจเอก จุมพล มั่นหมาย, นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์, นายอรรถพล ใหญ่สว่าง, นายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา, พล.ต.ต จักรทิพย์ ชัยจินดา และพ.ท. ทวีสิน รักกตัญญู ฉลาดซื้อขอร่วมแสดงคดีความยินดีกับผู้ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยใช้พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคจำนวน 169 รายในปี รอบ 2 ปี ของการทดสอบการใช้กฎหมายเพื่อการคุ้มครองตนเอง และเพื่อให้ผู้ที่กังวลว่ามีการฟ้องร้องแพทย์มาก ก็อยากให้สบายใจ ว่า เฉพาะของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีคดีฟ้องร้องโรงพยาบาลเพียง 6 รายเท่านั้น จาก 169 ราย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 114 หมอเทวดาภาคสอง

หมอเทวดาภาคสอง "หมอไม่อ่านหรือหมอไม่ฟังคนอื่น" คงจำได้ว่าเคยเขียนถึงหมอฮัวโต๋ ซึ่งเป็นหมอคนแรกในประวัติศาสตร์จีนที่ รักษาคนไข้โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์วางยาสลบให้กับคนไข้ และพอคนไข้สลบไป หมอฮัวโต๋ก็จะจัดการผ่าตัดทันที นับว่าเป็นผู้บุกเบิกวงการแพทย์ในปัจจุบันก็ว่าได้ หากเปรียบเทียบหมอฮัวโต๋ กับหมอในเมืองไทย ก็คงเป็นแพทย์แผนปัจจุบันแต่น่าแปลกใจ ที่หมอปัจจุบันถูกทำให้กลัวโดยยังไม่รู้ ความจริง ถูกหลอกให้เชื่อทั้งที่ไม่เป็นความจริง ใครจะคิดว่าเกิดขึ้นกับแพทย์ การคัดค้านเพื่อให้ถอนร่างกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขออกจากการพิจารณาของรัฐสภา โดยแนวทางการคัดค้านเริ่มจากการทำให้กลัวว่าจะถูกฟ้อง แม้ว่าโดยหลักการแล้ว การฟ้องร้องทางคดีอาญาจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่ผู้เสียหายมีสิทธิใช้ ด้วยเป็นสิทธิทางกฎหมายของทุกคน     แต่การค้านเรื่องนี้ก็ไม่สำเร็จ เพราะมาตรา45 กำหนดให้กรณีผู้ให้บริการถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาฐานกระทำการโดยประมาท หากศาลเห็นว่าจำเลยกระทำผิดศาลสามารถนำข้อเท็จจริงต่างๆ ของจำเลยเกี่ยวกับประวัติพฤติการณ์แห่งคดี มาตรฐานทางวิชาชีพ การบรรเทาผลร้ายแห่งคดี การรู้สำนึกในความผิด การทำสัญญาประนีประนอมตามกฎหมายฯ มาพิจารณาประกอบ ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดหรือจะไม่ลงโทษเลยก็ได้  จะเห็นได้ว่าร่างกฎหมายดังกล่าวได้พยายามป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในด้านต่างๆ อย่างรอบคอบแต่ด้วยหลักการแก้ปัญหาเชิงบวก ไม่เพ่งโทษที่บุคคลเน้นความร่วมมือ และให้ความช่วยเหลือเยียวยากับผู้ที่เป็นเหยื่อความผิดพลาดของระบบ กฎหมายการชดเชยฯ จะเป็นระบบที่ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้เสียหายฯ ไม่ว่าผู้ป่วยหรือญาติ หันหน้าเข้าหากัน แทนการเผชิญหน้า เพราะโดยข้อเท็จจริงที่ปรากฏทั่วไปก็คือ การฟ้องร้องตามกฎหมายเป็นเรื่องที่  ชาวบ้านธรรมดาเข้าถึงได้ยาก "เพราะยุ่งยาก"  "เสียเวลานาน" และ "ได้ไม่คุ้มเสีย" ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้ "เน้นการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหาย ไม่เพ่งโทษบุคคลที่เกี่ยวข้อง" และ "ใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นครู" เมื่อใช้การขู่ว่าจะถูกฟ้องไม่สำเร็จ ก็กลับมาใช้เหตุผลองค์ประกอบกรรมการที่ไม่มีผู้ประกอบวิชาชีพ  "ทั้งที่" มีอยู่ถึง5 คนในร่างกฎหมายมาตรา 7 และจำนวน 2 คนในคณะอนุกรรมการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นในมาตรา 12จากจำนวน 5คนทั้งผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข (ดูรายละเอียดกฎหมายได้จาก http://library2.parliament.go.th/giventake/content_hr/d051253-05.pdf) หลังจากนั้นก็บอกว่าควรขยายกลไกการช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 ของพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ดูแล คนไข้บัตรทอง 47 ล้านคน (ผู้นำกลุ่มนี้เคยใส่ปลอกแขนดำคัดค้านมาตรา 41 เพราะบอกว่าจะฟ้องหมอมากขึ้น แต่ก็พบว่าไม่เป็นจริง) และที่สำคัญต้องเริ่มต้นแก้กฎหมายใหม่เข้าคณะรัฐมนตรี ไปกฤษฎีกาอีกประมาณ 11 เดือน ที่แพทยสภาแพทยสมาคม สมาคมคลินิกเอกชน มีส่วนร่วมมาโดยตลอดเห็นชอบโดยครม.อีกรอบ ก่อนเข้าสภา   "ที่เล่าอย่างนี้" อยากให้ "ช่วยกันคิด" ว่าสาเหตุของเรื่องนี้เป็นเพราะหมอ  "ไม่ทำตามกาลามสูตร ไม่อ่านกฎหมาย" แต่เชื่อจากการ ที่กลุ่มหมอด้วยกัน "เล่าให้ฟัง".... ถูกแพทยสภาที่เป็นเจ้าของโรงพยาบาลเอกชนหลอกเพราะไม่อยากร่วมจ่าย หรือเต็มใจให้หลอก ผิดหวังเรื่องค่าตอบแทนแพทย์โรงพยาบาลศูนย์ที่ได้น้อยกว่าโรงพยาบาลชุมชน หรือไม่ฟังคนอื่นที่ไม่ใช่แพทย์ หรือมาจากสาเหตุทั้งหมดที่พูดมา...

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 112-113 ควันหลงฟุตบอลโลก

ก่อนที่จะชวนคุยเรื่องฟุตบอลโลก สารีและทีมมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทุกคน ขอขอบพระคุณทุกท่าน และหน่วยงานต่างๆ ที่ให้กำลังใจ การช่วยเหลืออุปกรณ์สำนักงานและการให้ใช้อาคารสำนักงานฟรี ตลอดจนการสนับสนุนงบประมาณในการปรับปรุงอาคารสำนักงานมูลนิธิฯ ที่ได้รับผลกระทบถูกเพลิงไหม้จากเหตุการณ์ชุมนุมและการจลาจลเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้ต้องใช้งบประมาณในการปรับปรุงอาคารไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท  ปัจจุบันมูลนิธิ ฯ ได้รับบริจาคจำนวน 3 ล้านกว่าบาท อาคารหลังนี้ขนาด  1000 ตารางเมตร เป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์   ให้มูลนิธิฯ เช่าใช้ประโยชน์ระยะยาว 30 ปี ในราคา 8,000 บาทต่อเดือน โดยการประสานงานของอดีตท่านนายกอานันท์ ปันยารชุน และยังได้เป็นกำลังสำคัญในการช่วยระดมทุนในการปรับปรุงอาคารนี้เมื่อสองปีที่แล้วโดยใช้งบประมาณ 6 ล้านบาททั้งจากการระดมทุนและเงินสะสมของมูลนิธิ ฯไม่น้อยกว่า 17 ปี กำลังใจและการช่วยเหลือที่ได้รับ เป็นทั้งพลังและแรงผลักดันให้มูลนิธิฯ ต้องเดินหน้าอย่างเข้มแข็งและต่อสู้เรื่องคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเต็มที่ในทุกๆ ด้าน หวังว่าในอนาคตจะได้รับการสนับสนุนและมีส่วนร่วมในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน มาถึงเรื่องฟุตบอลโลก สิ่งทำให้ผิดหวังไม่ใช่การแข่งที่ไม่สนุก แต่การใช้สิทธิของเอกชนรุกรานบ้านเรือนที่ดูฟรีทีวีปกติ ทำให้คนไม่น้อยกว่า 1 ล้านครอบครัวที่มีจานดาวเทียมสีดำ ซึ่งส่วนใหญ่ที่ต้องมีเพราะดูทีวีปกติไม่ได้ ไม่ว่าบ้านอยู่ใกล้ตึกสูง อับสัญญาณ หรืออยู่อาศัยในอาคารชุดที่เขาจัดมีให้บริการ การละเมิดสิทธิผู้บริโภคครั้งนี้ มีเพียงคำอธิบายจากบริษัทอาร์เอส ว่า เป็นข้อตกลงกับฟีฟ่าไว้อย่างนั้น ไม่อย่างนั้นบริษัทจะถูกปรับ ผู้ถูกตัดสัญญาณไม่เคยเห็นสัญญา ไม่เคยรับทราบว่าจะถูกปรับเท่าใด การเสนอข่าวเรื่องนี้มีเพียงสองสามวัน แต่ไม่มีใครถามว่า บริษัทมีสิทธิอะไรในการไปทำสัญญาแล้วทำให้คนไม่น้อยกว่า 1 ล้านครอบครัวเสียเวลา เสียหายต้องซื้อหนวดกุ้งเพื่อดูทีวีและแถมไม่ชัด นอกจากนี้ บริษัทยังได้ผลประโยชน์ทางธุรกิจในการเก็บเงินจากร้านค้า ร้านอาหารที่มีการเปิดฟุตบอลโลกร้านละประมาณ 10,000 บาท ต่อหนึ่งเดือนที่มีฟุตบอลโลก ซึ่งมีเกือบ 2,000 ร้าน ร้านค้าส่วนใหญ่ก็จำยอม จ่ายเงินให้ เพราะไม่ต้องการเกิดปัญหาเรื่องตามจับ ข่มขู่ ทั้งๆ ที่เป็นการเปิดทีวีปกติที่ไม่ใช่เทปซีดีเฉพาะหรือดนตรีเพลงของบริษัทใด แถมยังได้เงินค่าลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดจากแต่ละช่อง ส่วนแบ่งโฆษณาจากฟรีทีวีในช่วงที่ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกแต่ละนัดอีกมากมายมหาศาล นี่เป็นเพียงผลประโยชน์เบื้องต้นที่ได้เห็นและบริษัทคุยให้ฟังว่าประมาณ 600 ล้านบาทเท่านั้นเอง เรื่องนี้ถูกตั้งคำถามน้อยมาก และเป็นเหตุให้ไม่ยอมเปิดเผยสัญญาที่ทำไว้กับฟีฟ่า แต่สามารถรุกรานสิทธิของคนเล็กคนน้อยได้เต็มบ้านเต็มเมือง กรณีนี้น่าจะมีการดำเนินการเพื่อเป็นบทเรียนให้กับผู้ที่จะได้ลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกในอีก 4 ปีข้างหน้า(ก็อาร์เอสอีกนั่นแหละ) มากๆ  ใครเป็นสมาชิกจานดำ ขอให้ช่วยกันคิดปฏิบัติการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคอีกรอบฉลาดซื้อ ฉบับที่แล้วได้เปิดเผยผลการสำรวจการเข้าถึงความรู้กับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ประเทศไทยติดอันดับ 10 ประเทศรั้งท้าย ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยมาก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 111 GMOs Turn Around ผู้บริโภคตัดสินใจอย่างไร

ภาคธุรกิจการเกษตรจากหลายกลุ่ม ได้เข้าพบอดีตนายกอานันท์ ปันยารชุน ประธานกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เรื่ององค์การอิสระสิ่งแวดล้อม เพื่อยื่นหนังสือขอให้พิจารณาถอดถอน โครงการที่ 18 “การทำเกษตรกรรมเชิงการค้าเกี่ยวกับวัตถุดิบ การผลิตอาหารที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งมีชีวิตตัดต่อพันธุกรรม (GMO)” ออกจากบัญชีประเภทกิจการที่อาจก่อผลกระทบอย่างรุนแรงตาม ม.67 วรรค 2 แถมขู่ไว้ว่าหากยังไม่มีการถอดถอนหรือ เปลี่ยนแปลงใดๆทางกลุ่มจะดำเนินการเรียกร้องความเป็นธรรมต่อศาลปกครองต่อไป ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค เห็นจะเป็นว่า หากปล่อยให้ โครงการหรือกิจกรรมเกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมเชิงการค้าเกี่ยวกับ วัตถุดิบการผลิตอาหารที่เกี่ยวเนื่องกับ GMO (genetically modified) ไม่ต้องศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม(EIA)และสุขภาพ(HIA) ซึ่งแทนที่จะทำให้เกิดความชัดเจนทั้งสองฝ่าย จะทำให้เกิดความขัดแย้งทั้งกับเกษตรกร ชุมชน ผู้บริโภค และโอกาสที่โครงการเหล่านี้ จะหลุดลอด ปนเปื้อนกับพืชทั่วไป ย่อมเป็นไปได้ และมีหลักฐานเชิงประจักษ์ยืนยันมาแล้วกรณีการปนเปื้อนมะละกอจีเอ็มโอในหลายจังหวัด การอ้างว่า จีเอ็มโอ ปลอดภัย และไม่ต้องศึกษาผลกระทบดูจะฟังไม่ขึ้น เพราะความปลอดภัยของ GMO หากจะเถียงกัน คงจะไม่จบ เพราะยืนคนละมุมชัดเจน ต่างฝ่ายต่างมีข้อมูล บริษัทก็ทำงานวิจัยของตนเอง ถึงแม้จะมีนักวิชาการ (รับจ้าง) รับประกันเรื่องความปลอดภัย ว่าใช้สารเคมีน้อยลง แต่นักวิชาการอีกกลุ่มยืนยันการใช้สารเคมีไม่ลดลง แถมผูกขาดการใช้สารเคมีของบริษัทตนเองอีกต่างหาก ฟังอย่างนี้แล้วผู้บริโภคคงไม่กล้ายอมรับว่าปลอดภัยจริง เพราะทำไมบริษัทใหญ่ ๆ ถึงมีนโยบายไม่ใช้ผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอในยุโรป นี่ยังไม่นับรวมถึงปัญหาการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ ระบบทรัพย์สินทางปัญญา การทำลายความหลากหลายทางชีวภาพที่ยังไม่มีใครกล้าตอบเรื่องนี้ แม้แต่ล่าสุดต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา องค์กรผู้บริโภค (Consumers Union) ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กดดัน รัฐบาลโอบามาให้ยอมรับหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ  (CODEX) และเรื่องนี้มีคนอเมริกาสนับสนุนมากถึง 110,000 คน http://www.consumersunion.org/pdf/Codex-comm-ltr-0410.pdf.  นอกจากโอกาสในการปนเปื้อนหากไม่ทำการศึกษาให้ดีแล้ว ย่อมส่งผลต่อทางเลือกของผู้บริโภคที่น่าจะน้อยลงไปเรื่อย ๆ รวมทั้งละเมิดสิทธิในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง และสิทธิในการเลือกซื้อ ทำไมบริษัทธุรกิจการเกษตรเหล่านี้ จึงกลัวการทำ  HIA และ EIA ตามมาตรา 67 วรรค 2 แต่เลือกใช้การล๊อบบี้ จ้างนักวิชาการ มาตรการข่มขู่ หากแน่จริงและคิดว่าทำตามมาตรฐานสากลแล้วจะกลัวอะไรกับการทำ HIA หรือ EIA หรือที่แท้ไม่แน่จริงอย่างราคาคุย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 110 ก้าวให้พ้นความขัดแย้งและผลประโยชน์ทางการเมือง

ประเทศไทยมีความขัดแย้งทางการเมืองมากกว่าที่คิด เพราะไม่ว่าใครจะพูดจะเสนออะไรก็จะถูกจับเข้าพวกทั้งฝ่ายตัวเองและอีกฝ่ายโดยไม่สนใจเนื้อหาสาระ ข้อเท็จจริงที่กำลังคุยกัน หรือต่างอ้างข้อเท็จจริงที่เป็นของตนเอง เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายผู้ติดเชื้อ และเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ได้มีโอกาสเรียกร้องร่วมกันให้กระทรวงสาธารณสุข ปรับปรุงร่างกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ ให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบกฎหมายฉบับเป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระจากระทรวงสาธารณสุข เพราะกระทรวงสาธารณสุขมีโรงพยาบาลในสังกัดของตนเองเกือบพันแห่ง วันที่รณรงค์ร่วมกัน ได้มีผู้ร่วมกิจกรรมต่างดึงมือตบและตีนตบออกมาจากระเป๋าของตนเอง สะท้อนความร่วมมือของประชาชนที่พร้อมจะดำเนินการร่วมกันเมื่อเป็นปัญหาของประชาชน เราต่างเชื่อว่า ปัญหาของประชาชนที่แท้จริงไม่มีความขัดแย้ง ไม่มีแบ่งฝ่าย แต่รอการแก้ไขปัญหา เพราะขณะที่กรุงเทพ ฯ กำลังเลือดตกยางออก จังหวัดบุรีรัมย์ ก็ปรากฏข่าวชาวบ้านประท้วงการสร้างถนนผ่านที่ทำกิน ปัญหามาบตะพุดยังไม่มีทางออก องค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระยังไม่เกิด ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นทางนโยบายที่เข้มข้นในอดีตของรัฐบาลทักษิณ ปัญหาคอรัปชั่นในปัจจุบัน ปัญหาการบุกรุกที่สาธารณะของนายทุน การเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนและทำให้รัฐเสียหายมากมายและเป็นภาระผู้บริโภค โอกาสของคนจนในทางเศรษฐกิจ การเข้าถึงและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การแทรกแซงสื่อ ปัญหาหลายมาตรฐานแม้แต่เรื่องพื้นฐานของประชาชน เช่น การรักษาพยาบาล ต่างเป็นเรื่องจริงทั้งสิ้น เป็นต้น แต่เป็นปัญหาที่หยั่งรากลึก และประชาชนที่เป็นเพียงหมากทางการเมืองอย่างเราต้องอดทนและร่วมมือกันแก้และหาทางออกจากสิ่งเหล่านี้ และอาจจะไม่ได้มาจากคำตอบของความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังดำรงอยู่ในปัจจุบัน เพราะเป็นเพียงวาทะกรรมและการช่วงชิงผลประโยชน์การนำในทางการเมือง และเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองล้วน ๆ ดังนั้นผู้บริโภคต้องเชื่อมั่นในพลังของตนเองที่จะร่วมกันอย่างเข้มแข็งในการปฏิรูประบบและกลไกทางการเมือง ระบบภาษี ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ระบบสวัสดิการทางสังคม ระบบการศึกษา ระบบสุขภาพ เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 109 ถึงเวลามีองค์การอิสระผู้บริโภค

มีโอกาสไปประชุมที่เชียงใหม่ เรื่ององค์การอิสระผู้บริโภค ก้าวใหม่ของประชาชนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีผู้บริโภค แจ้งเบาะแสความร้ายกาจของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดเชียงใหม่ และเอาใบปลิวประกาศของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดเชียงใหม่ มาให้เป็นของขวัญในโอกาสไปร่วมงาน ประกาศของการไฟฟ้าฯ ฉบับนี้ เป็นประกาศเกี่ยวกับกรณีการชำระเงินค่าไฟฟ้าเกินกำหนดระยะเวลาการไฟฟ้า ฯ จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมชำระเกินกำหนดตามขนาดมิเตอร์ดังนี้ มิเตอร์แรงต่ำ 1 เฟส จำนวนเงิน   107.00 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)มิเตอร์แรงต่ำ 3 เฟส จำนวนเงิน  160.50 บาทจึงแจ้งมาเพื่อทราบ ... การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดเชียงใหม่ การประกาศเก็บค่าธรรมเนียม 107-160.50 บาทของการไฟฟ้าสามารถทำได้โดยไม่ต้องรับฟังความคิดเห็นของใคร เพียงแต่ส่งใบปลิวที่เห็นกันบ้างไม่เห็นบ้าง แต่ถือว่าเป็นการแจ้งให้ผู้ใช้ไฟได้รับทราบ ดูจะไม่แตกต่างต่างจากบริษัทดอนเมืองโทลล์เวย์ที่สามารถขึ้นราคาจาก 55 บาท เป็น 85 บาทเกือบ เป็นการขึ้นราคาเกือบ 50% ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากกรมทางหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(หรือหน่วยงานต่าง ๆ ) จะประกาศบังคับใช้อะไรก็ได้ โดยไม่มีกระบวนการรับฟังความเห็น และไม่สนใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภค ทั้งที่รัฐธรรมนูญมาตรา 61 ได้รับรองสิทธิเรื่องนี้ไว้ให้มีองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นต่อนโยบาย กฎหมาย กฎ และมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบการคุ้มครองผู้บริโภคของหน่วยงาน เพื่อให้ทุกคนร่วมกันเคารพสิทธิผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญ ขอถือโอกาสชักชวนให้สมาชิกและผู้อ่านนิตยสารฉลาดซื้อ ช่วยกันโทรศัพท์สายตรง ส่งเสียงถึงผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นายอดิศร เกียรติโชควิวัฒน์  (0-2589-3439) หรือจดหมาย โทรสารคัดค้านการออกประกาศฉบับนี้ (การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เลขที่ 200 ถนนงามวงค์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพ 10900 เบอร์โทรศัพท์ 02 589 0100-1 PEA callcenter 1129 /โทรสาร 02 589 4850-1) เพื่อแจ้งผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ว่าควรทำหน้าที่ของตนเองไม่ใช่ปล่อยปละละเลยให้สำนักงานการไฟฟ้าจังหวัดต่างๆ ออกประกาศที่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค เนื่องจาก สคบ. บังคับการไฟฟ้าให้แจ้งผู้บริโภคไม่น้อยกว่า 7 วันหากจะตัดไฟฟ้า แต่เมื่อมีประกาศฉบับนี้หากเลยกำหนดจ่ายเงินก็จะได้เงินค่าปรับทันที โดยไม่ต้องแจ้งผู้บริโภคตามข้อบังคับของ สคบ. นอกจากนี้ควรแจ้งผู้ว่าการไฟฟ้าฯ ควรปรับปรุงการสนับสนุนการจ่ายค่าบริการการใช้ไฟฟ้าให้กับผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่สนับสนุนค่าบริการเฉพาะผู้ใช้ไฟฟ้าที่จ่ายโดยหักบัญชีธนาคารหรือบัตรเครดิต (แถมได้ลด 1.5 %) แต่ขณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ไม่มีบัญชีธนาคาร ต้องรับภาระจ่ายค่าบริการ ณ จุดบริการชำระเงินและบางครั้งมากกว่าค่าไฟฟ้า หากรวมค่ารถโดยสาร ค่าเดินทางที่จะต้องมาจ่ายค่าไฟฟ้ากันในปัจจุบันจากเดิมที่มีบุคลากรจากการไฟฟ้าไปเก็บค่าไฟฟ้าถึงบ้าน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 108 ถึงเวลาแพทยสภาต้องมีคนนอก

ฟังเหตุผลของแพทยสภาที่รับรองหลักสูตรแพทยศาสตร์ ภาษาอังกฤษ อย่างเป็นเอกฉันท์โดยเห็นว่าเป็นหลักสูตรที่ก่อให้เกิดประโยชน์ และไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหาย หรือกระทบต่อการผลิตแพทย์ในหลักสูตรปกติ แล้วชวนให้หงุดหงิด เพราะไม่ว่าใช้สมองด้านไหนคิดก็จะต้องยอมรับว่ากระทบต่อการผลิตแพทย์ในหลักสูตรปกติแน่นอน เพราะอาจารย์หมอไม่ได้เพิ่มขึ้น ทุกอย่างเท่าเดิม แต่มีคนเรียนมากขึ้นแถมยังกำหนดให้ได้เรียนกับอาจารย์ตั้งแต่ระดับรองศาสตราจารย์ขึ้นไป นอกเหนือแน่ๆ คือคนที่เรียนต้องรวยเท่านั้น เพราะใช้เงินไม่น้อยกว่า 7 ล้านบาทในการเรียนแพทย์หลักสูตรนี้ ดังเหตุผลของอดีตรัฐมนตรีสาธารณสุขที่เขียนอีเมล์มาหาในเรื่องนี้ว่า “แม้แต่หลักสูตรภาคภาษาอังกฤษ ก็ทำให้ลูกคนรวยได้เปรียบคนอื่นมากขึ้นไปอีก เพราะคนรวยเท่านั้นที่จะเรียน รร.อินเตอร์ได้ พอมาสอบเข้าเรียนแพทย์ก็ไม่ต้องแข่งกันมากเหมือนหลักสูตรตามปกติเหมือนกับวิชาชีพอื่นๆ ที่เปิดไปแล้ว แม้จะระบุว่าต้องใช้ทุน เป็นคนไทย แต่ไม่ทราบหรือว่าตอนเรียนเสียค่าใช้จ่ายเป็นล้านต่อปี จะยอมใช้ทุนอีกสี่แสนนั้นเรื่องเล็กไม่ใช่หรือ หลังจากนั้นก็ไปทำงานรพ.เอกชนเพื่อโกยเงินต่อไป ทำเป็นไม่รู้หรือเปล่า แล้วภายหน้าไม่ทำให้แพทย์มีสองกลุ่ม คือแพทย์ลูกคนรวยและแพทย์ทั่วไป จะบอกว่าไม่ทำให้การผลิตแพทย์ปกติถูกกระทบก็ไม่น่าเชื่อ เพราะอาจารย์แพทย์มีจำกัด” แถมต่อท้ายมาว่า “ไม่อยากพูดเรื่องนี้อีกแล้ว” ต้องถามว่า แพทยสภาไม่รู้จริงหรือแกล้งไม่รู้แต่หากเป็นสำนวนของศาลก็ต้องบอกว่า เป็นเรื่องที่แพทยสภาต้องรู้หรือควรรู้ แต่หากพิจารณารูปตอนแถลงข่าวเรื่องนี้ก็จะไม่แปลกใจ เพราะในนั้นมีเพียงสองคนจากจำนวนเก้าคนที่ไม่ได้เป็นเจ้าของ ผู้บริหารหรือมีหุ้นจำนวนมากในโรงพยาบาลเอกชน ทำให้สัดส่วนกรรมการแพทยสภาในต่างประเทศให้ความสำคัญกับการมีบุคคลอื่นที่ไม่ใช่แพทย์ไปเป็นกรรมการมากขึ้น เช่น ประเทศนิวซีแลนด์แคนาดา อินโดนีเซีย ฮ่องกง ออสเตรเลีย ไอซ์แลนด์ มาลาวี และประเทศอังกฤษ มีบุคคลภายนอกมากถึง 50% เช่นเดียวกับสิงคโปร์ เพราะการตัดสินใจของแพทยสภา เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของสังคมกระทบต่อสาธารณะ เกี่ยวข้องกับบริการสาธารณสุขที่เป็นบริการจำเป็นพื้นฐานของทุกคน ดังนั้นจึงต้องโปร่งใส มีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ไม่มีผลประโยชน์ขัดแย้ง และมีผู้มีส่วนได้เสียร่วมพิจารณา เพราะการผลิตแพทย์หลักสูตรภาษาอังกฤษนี้ หากพูดกันใช้ชัดๆก็เหมือนการเตรียมการตอบสนองโรงพยาบาลเอกชนที่ต้องการเป็นศูนย์กลางการแพทย์ของอาเซียน(Medical Hub) นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 107 ขออภัยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

คณะบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ ขอขอบคุณสมาชิกที่ท้วงติงมาด้วยมิตรภาพ ถึงบทความที่กระทบต่อสิทธิผู้ป่วยในฉลาดซื้อฉบับที่ผ่านมา การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค เป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ คงจำกันได้ เมื่อแพทยสภาออกมาตรการให้แพทย์สามารถปฏิเสธไม่ดูแลผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉิน ฉลาดซื้อได้มีส่วนร่วมในการคัดค้าน เพราะเราเห็นว่า สิทธิผู้ป่วย ที่เป็นผู้บริโภค เป็นสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนควรให้การเคารพ คณะบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อและผู้เขียนไม่มีเจตนาที่จะให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ เราขอแสดงความรับผิดชอบและขออภัยผู้อ่านทุกท่าน ทั้งนี้ผู้เขียนได้ตัดสินใจยุติการเขีย­­­­­­นบทความในนิตยสารฉลาดซื้อ นิตยสารฉลาดซื้อ ขอขอบคุณสมาชิกที่มีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของนิตยสารด้วยกัน   บรรณาธิการ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 106 โฆษณาส่งท้ายปีใหม่

ป้ายราคาครึ่งกิโลที่แทบจะมองไม่เห็น เป็นกลยุทธการขายสินค้าในอดีต ถึงแม้จะยังพอมีให้เห็นอยู่บ้างในปัจจุบัน แต่ก็ดูจะกลายเป็นการส่งเสริมการขายที่ล้าหลังที่ผู้บริโภครับรู้และเท่าทันได้ไม่ยาก แต่กลยุทธที่ผู้บริโภคอาจจะยังตรวจสอบได้ยากก็คงจะเป็นสินค้าลดราคาต้อนรับเทศกาลต่างๆ ที่ดูเหมือนจะลดกันข้ามปีให้เห็นกันอยู่เสมอ  กลยุทธถัดมาก็คงเป็นเรื่องการโฆษณาชิงโชค การแจกของ เช่น ที่เห็นกันทุกวันคงจะเป็นการส่ง SMS ไปยังรายการข่าวต่างๆ ในโทรทัศน์ เพื่อแลกของมูลค่าเพียงเล็กน้อย แต่กลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญของรายการ และได้รับความนิยมไม่น้อยจากผู้ผลิตรายการ นิยมกันมากดูจะเป็นการแจกโทรศัพท์มือถือ แม้แต่น้ำขวดก็ส่งเสริมให้คนดื่มด้วยการชิงโชค ทั้งที่เราไม่ควรต้องซื้อน้ำดื่ม นำมาซึ่งการใช้เทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือขายตรงถึงตัวผู้บริโภคเป็นปัญหาสำคัญในกิจการโทรคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นการขายประกัน ส่งข่าว ดูดวง ชิงโชค โหลดเพลง เล่นเกมส์ หรือแม้แต่การนำไปใช้ในการหลอกลวงฉ้อโกงต่างๆ แต่ที่ทำให้สับสนและแอบโฆษณากันมากจนเป็นที่รำคาญในยุคปัจจุบัน คือ โฆษณาแฝง การวางสินค้าในรายการ การหยิบ การใช้สินค้า ไม่ว่าจะในละครซิทคอม ละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ นิตยสาร รายการข่าว ที่มีอิทธิพลมากในปัจจุบัน จนทำให้ขาดความงาม ศิลปะในรายการ และกระตุ้นการบริโภคที่เกินความจำเป็นของเด็ก เยาวชน  ถึงแม้มาตรา 61 ของรัฐธรรมนูญไทยฉบับปัจจุบัน จะกำหนดไว้ว่า สิทธิของบุคคล ซึ่งเป็นผู้บริโภค ย่อมได้รับการคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง และมีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค และกำหนดให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จนถึงปัจจุบัน รัฐสภาไทยก็ยังไม่สามารถออกกฎหมายฉบับนี้ได้สำเร็จ ทั้งที่ถูกกำหนดให้มีภายใน 1 ปี นับจากแถลงนโยบายต่อรัฐสภา รับรู้ปัญหา ได้บทเรียนและเรื่องราวดีๆ ที่สำคัญมีข้อมูลในการเลือกซื้อโดยไม่ต้องใช้โฆษณาของผู้บริโภคมาตลอดทั้งปีจากนิตยสารฉลาดซื้อ ก็ต้องช่วยกันสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเอง ครอบครัวและชุมชน เพราะชีวิตในปัจจุบันเลี้ยงลูกให้ดี เป็นคนดี ทำงานดี คงไม่เพียงพอหากต้องช่วยกันทำให้เพื่อนของลูกดี สังคมดีด้วยร่วมกัน นอกเหนือจากการซื้อรถที่ต้องดูหมอเพราะดูโฉลกสีรถ ก็คงต้องดูสัญญาผ่อนรถด้วยเช่นกัน (ฮา ๆๆ) สุดท้ายก่อนสิ้นปี ขออวยพรให้สมาชิก ผู้อ่านฉลาดซื้อและครอบครัวทุกคน มีความสุข ความสำเร็จ มีชีวิตที่ดีงามในปี 2553 รวมถึงมีความหวังและเชื่อร่วมกัน ว่า “เงินของเราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับตัวเรา ระบบเศรษฐกิจ การผลิต สังคม การเมืองและสิ่งแวดล้อม”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 105 กับดักความจริงกับงบโฆษณา

โตโยต้าเรียกคืนรถยนต์ครั้งใหญ่สุดในตลาดสหรัฐจำนวน 3.8 ล้านคัน หลังพบปัญหาเกี่ยวกับพรมปูพื้น ที่อาจขัดคันเร่ง ทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ (29 ก.ย. 2009) โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป จะเรียกคืนรถยนต์ "วิตซ์ "(Vitz) ประมาณ 82,00 คันในญี่ปุ่น หลังจากพบปัญหาขัดข้องที่สวิทช์หน้าต่างไฟฟ้าข้างคนขับ ซึ่งอาจทำให้เกิดไฟไหม้ได้( 21 ตุลาคม 2009) บริษัทร่วมทุนระหว่างตงเฟง มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ของจีน และนิสสัน มอเตอร์ส ของญี่ปุ่น เตรียมเรียกคืนรถเกือบ 52,000 คันในจีน เนื่องจากความบกพร่องเรื่องความปลอดภัยของระบบพวงมาลัย ขณะที่ก่อนหน้านี้เพียง 1 วัน "ฟอร์ด มอเตอร์" ก็เรียกคืนรถยนต์ 4.5 ล้านคัน จากระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ (cruise control) ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ บริษัท ฮอนด้า ประกาศเรียกคืนรถ 440,000 คัน ในสหรัฐ หลังจากพบข้อบกพร่อง ในถุงลมนิรภัย ที่อาจทำให้มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บ หากเกิดอุบัติเหตุ(1 ก.ค.) ฮอนด้า เรียกคืนรถเพิ่มเป็น 1.14 ล้านคันจากสหรัฐ แคนาดาและญี่ปุ่น หวังแก้ไขระบบส่งกำลัง และถังน้ำมัน บริษัทวอลโว่เรียกคืนรถครั้งที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท แม้ที่ผ่านมาจะมีรายงานอุบัติเหตุไฟไหม้รถ รวม 7 กรณี แต่จนถึงขณะนี้จะยังไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ การเรียกคืนรถของวอลโว่ครั้งนี้ เพื่อทำการติดตั้งระบบพัดลมระบายความร้อนให้กับลูกค้าใหม่โดยไม่คิดมูลค่า ด้านนางฉันทนา วัฒนารมย์ รองประธานฝ่ายการตลาด บริษัทวอลโว่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สำหรับรถวอลโว่ในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นรถที่นำชิ้นส่วนเข้ามาประกอบในประเทศไทย ปัญหาความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ข้างต้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ และพบตัวอย่างเกิดขึ้นบ่อยๆ ในต่างประเทศซึ่งมักจะปรากฏเป็นข่าวให้ได้รับรู้ในเมืองไทย แต่เราแทบจะไม่เห็นข่าวเหล่านี้เกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นเพราะรถยนต์ที่ผลิตในประเทศดี ไม่มีปัญหา หรือไม่เคยพบความชำรุดบกพร่องเลยหรือ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับผู้บริโภคคนเล็กคนน้อยในเรื่องนี้ กลับพบว่า หนังสือพิมพ์แทบทั้งหมด สถานีโทรทัศน์รายการข่าวต่างๆ ของแทบทุกช่องยกเว้น โทรทัศน์สาธารณะ (TPBS) ไม่สามารถเสนอข่าวได้เลย เพราะกลัวอิทธิพลของเอเจ็นซี่โฆษณาที่มีมากกว่าความเสียหายของผู้บริโภค ซึ่งส่งผลให้บริษัทรถยนต์ต่างๆ เลือกที่จะซื้อใจบริษัทโฆษณา หรือสถานีโทรทัศน์ แทนความรับผิดชอบของตนเองในฐานะผู้จำหน่ายรถยนต์ในประเทศไทย ความรับผิดชอบมีแบบจำกัด และผู้บริโภคต้องใช้กำลังมากมายกว่าจะรับผิดชอบต่อความชำรุดบกพร่องหรือความเสียหายกับผู้บริโภคที่สำคัญ ๆ หรือไม่อย่างนั้นผู้บริโภคต้องมีลูกบ้า ขับรถของตนเองติดป้ายประจานความเสียหาย ตระเวนไปทั่วบ้านทั่วเมือง หรือทุบรถให้เห็นเป็นขวัญตานักข่าว จึงจะเกิดความตื่นตัวของทั้งผู้ประกอบการและหน่วยงาน บอกว่าเราต้องมีกฎหมายมะนาว(Lemon Law) เมื่อข่าวนั้นเงียบหายไป การแก้ปัญหาในทางระบบ การมีมาตรการ การมีกฎหมายก็เงียบเข้ากลีบเมฆไปเช่นกัน สังคมทุนนิยมแบบไทยๆ มีกับดักความจริงกับงบโฆษณา แถมความไม่รู้ร้อนรู้หนาวของหน่วยงานต่อความเสียหายของคนเล็กคนน้อย และความเสียหายต่อรัฐ ผู้บริโภคอย่างเราต้องทำหน้าที่เป็นลูกแมกซ์ที่ติดไปในเครื่องถ่ายเอกสารแล้วทำให้เครื่องถ่ายเอกสารพัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 102 อาเซียนกับการคุ้มครองผู้บริโภค

ปีนี้หากไม่มีการล้มการประชุมที่พัทยาของผู้นำอาเซียน ประเทศไทยคงมีโอกาสจัดการประชุมเกี่ยวกับอาเซียนอีกหลายครั้ง ซึ่งครั้งล่าสุดเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ทำให้คนไทยเริ่มคุ้นเคยกับภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น อาจจะเนื่องมาจากการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร และผลการประชุมทั้งจากระดับผู้นำสูงสุดที่หัวหิน รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศที่ภูเก็ต และการประชุมที่เกี่ยวข้องกับอาเซียนเป็นระยะ แม้แต่ล่าสุดก็บอกว่าเราจะได้ประโยชน์จากการที่จะเปิดโอกาสให้สายการบินต่างๆ ในภูมิภาคนี้แข่งขันกันอย่างเสรี หรือนั่นคือการเปิดเสรีการบินนั่นเอง แต่แทบจะไม่รู้ผู้บริโภครู้เลยว่า สายการบินราคาถูกปัจจุบันมีนโยบายไม่รับผู้พิการที่ไม่สามารถเดินไปขึ้นได้ด้วยตนเอง หรือนอกจากนี้ยังจะมีพิมพ์เขียว หรือแผนการดำเนินงานที่ต้องการผลักดันให้ภูมิภาคอาเซียนเป็นหนึ่งเดียวมีอะไรอีกบ้าง หากย้อนไปเทียบเคียงกับสหภาพยุโรปก็ พบว่า สหภาพยุโรปได้มีสภาพตลาดเดียวด้านเศรษฐกิจของคน ๓๗๐ ล้านคน เมื่อ ๑๐ ปีที่ผ่านมา (๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๒) และใช้เงินสกุลเดียวหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปอีก ๓ ปี แต่ได้เตรียมการมาไม่น้อยกว่า ๕๗ ปีนับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ในการจัดตั้งประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้าแห่งยุโรป (European Coal and Steel Community-ECSC) ซึ่งมีสมาชิก ๖ ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมันนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และลักเซมเบิร์ก ภูมิภาคอาเซียนปัจจุบันมีประชากรไม่น้อยกว่า ๕๗๖ ล้านคน ได้เริ่มเรื่องนี้มานานถึง ๔๒ ปี (๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๐) โดยมีสมาชิก ๕ ประเทศร่วมลงนามในปฏิญญา ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย แต่สิ่งที่น่ายินดีและเกิดขึ้นแล้วในภูมิภาคอาเซียน คือ กลไกความร่วมมือขององค์กรผู้บริโภคในการพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ในนาม “สภาผู้บริโภคอาเซียน” (Southeast Asian Consumer Council) ซึ่งมี ๗ ประเทศร่วมมือกันในการก่อตั้ง ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน เวียตนาม และประเทศไทย โดยได้ตกลงที่จะร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคจากการเปิดการค้าเสรีในภูมิภาคนี้ถึง ๓ บริการที่สำคัญ ได้แก่ บริการสายการบิน การซื้อขายทางอินเตอร์เน็ต และบริการสาธารณสุข ในปี ๒๕๕๓ ที่จะถึงนี้ และล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาได้ร่วมกับสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และสหพันธ์ผู้บริโภคสากล (CI) จัดเวทีครั้งแรกในภูมิภาคนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม และได้มีข้อตกลงที่จะร่วมมือกันในการผลักดันให้เกิดมาตรฐานขั้นต่ำในการคุ้มครองผู้บริโภคของกิจการโทรคมนาคม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 101 ความรับผิดชอบแบบนี้มีมั้ย

บทบรรณาธิการโดยสารี อ๋องสมหวังsaree@consumerthai.org ใครเป็นแฟนพันธุ์แท้ฉลาดซื้อคงจำได้ว่าเคยเล่าให้ฟังถึงสาเหตุการไม่ขายอาหารดัดแปรพันธุกรรม(จีเอ็มโอ) ในประเทศอังกฤษ เนื่องมาจากผู้บริโภคที่ตั้งคำถามกับผู้จัดการของห้างมาร์ค แอนสเป็นเซอร์ว่า ทำไมห้างของคุณยังมีการจำหน่ายอาหารจีเอ็มโอทั้งๆ ที่ยังมีข้อถกเถียงเรื่องความปลอดภัย ผู้จัดการกล่าวขอบคุณผู้บริโภค หลังจากนั้นไม่นานห้างดังแห่งนี้ก็ประกาศนโยบายไม่ขายอาหารจีเอ็มโอในห้างสรรพสินค้าของตนเองเล่าเรื่องนี้ให้ใครฟังก็มักจะบอกว่า จริงหรือเปล่า กุเรื่องขึ้นมาเพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับห้างของตนเองหรือไม่ คนเล่าก็ได้แต่บอกเพียงว่า ก็ฟังเพื่อนจากองค์กรผู้บริโภคเล่าให้ฟังอีกที แต่ที่กำลังจะเล่าต่อไปนี้ได้มีโอกาสไป “เห็นมากับตา” และเกิดขึ้นกับตนเองไปถึงลอนดอนตอนเช้า ประมาณ 11 โมงหิวเล็กน้อยก็เกิดความคิดรวบมื้อเช้ากับมื้อกลางวันเข้าด้วยกันด้วยความประหยัด เดินหาร้านอาหารผ่านไปหลายร้านก็ยังไม่เปิดขายจนกว่าจะถึงเที่ยงตรง เลยตัดสินใจหยุดกินน้ำที่ร้านกรีนแอนส์บีน(Green & Bean) ซึ่งเป็นร้านอาหารเล็กๆ แถวสถานีรถไฟยูสตัน แต่เมื่อเข้าไปนั่งในร้านก็พบว่า เขาขายอาหารมังสวิรัติด้วย ซึ่งเปิดมาได้ซักประมาณ 4 ปี แล้ว เป็นร้านที่ราคาอาหารปานกลางไม่แพงมากนัก บุฟเฟ่ต์อาหารกลางวันตกราคาประมาณ 6.50 ปอนด์ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 350 บาท ระหว่างที่รอเวลาอาหารกลางวันด้วยการสั่งน้ำปั่นกินฆ่าเวลาก็ฉวยโอกาสสำรวจร้านอาหารพบว่า มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตระกูลถั่วขาย ที่น่าสนใจข้างกระป๋องของอาหารเสริมนี้ เขียนว่า “ GMO test Free” แต่เมื่ออ่านฉลากก็พบว่า อาหารเสริมชนิดนี้ทำจากถั่วจีเอ็มโอ เลยได้โอกาสบอกเจ้าของร้านว่า สินค้านี้ไม่ตรงไปตรงมา เพราะทำให้เราเข้าใจผิด คิดว่าไม่มีจีเอ็มโอ แต่จริงๆ วัตถุดิบมาจากจีเอ็มโอ แต่ตรวจจีเอ็มโอไม่เจอต่างหาก เจ้าของร้านขอบคุณและเก็บสินค้านั้นทันทีที่คุยกับเรา แถมโทรศัพท์ไปบอกคนจำหน่ายสินค้าว่าอาหารเสริมชนิดนี้ใช้ไม่ได้เพราะทำมาจากถั่วที่เป็นจีเอ็มโอ ความผิดพลาด ความบกพร่องเป็นเรื่องปกติ แต่ความรับผิดชอบแบบนี้ในร้านค้าบ้านเรามีมั้ย เจอของจริงเข้ากับตัวเองก็เป็นปลื้มไปนาน คุยทั้งที่อังกฤษ กลับมาเมืองไทยคุยกับทุกคน ยังไม่พอต้องเขียนมาคุยให้กับผู้อ่านทุกคนได้รับรู้เรื่องนี้และผลักดันเรื่องนี้ร่วมกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 99 สมาคมผู้ประกันตน ใครสนใจยกมือขึ้น

บทบรรณาธิการ โดย สารี อ๋องสมหวัง ถึงแม้ว่ารัฐบาลนี้จะทำให้ผู้ประกันตนประมาณ 10 ล้านคนได้ประโยชน์อย่างน้อยก็สองเรื่องที่สำคัญ เรื่องแรกที่ดำเนินการไปแล้ว เป็นมาตรการจ่ายเงิน 2,000 บาทให้กับผู้ประกันตนที่มีรายได้น้อยกว่า 15,000 บาท และที่เพิ่งจะมีผลเร็วๆ นี้ ก็ดูจะเป็นการลดการจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตนซึ่งทำให้เป็นที่ชอบอกชอบใจของผู้ประกันตนไม่น้อย แต่สิ่งที่ผู้ประกันตนส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้รับรู้หรือมั่นใจก็คือว่า เงินของตนเองที่สมทบหรือจ่ายเข้าไปในแต่เดือนสูงสุดประมาณ 750 บาทหรือปีละประมาณ 9,000 บาทถูกนำไปใช้ประโยชน์เพื่อผู้ประกันตนอย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน อย่างไร ยกตัวอย่างที่เพิ่งจะถูกวิจารณ์และยังไม่เป็นข่าวให้ได้รับรู้กันมากก็คือ การเพิ่มเงินค่าหัว (Capitation) ให้กับโรงพยาบาลที่ทำสัญญากับสำนักงานประกันสังคม โดยไม่มีเงื่อนไขให้โรงพยาบาลเหล่านั้นปรับปรุงเรื่องคุณภาพบริการ หรือมีสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ที่ต้องพูดถึงเรื่องนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะมูลนิธิ ฯ ได้รับข้อมูลคุณภาพของผู้ประกันตนที่ไปรับบริการโรงพยาบาลแล้วมีปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ เช่น เดือนที่แล้วก็ได้รับทราบสาเหตุการตายของคุณพ่อของน้องซึ่งเป็นอาสาสมัครของมูลนิธิฯ เนื่องจากใช้สิทธิประกันสังคมแล้วไม่ได้รับการดูแลในภาวะวิกฤตที่ดีพอ จนเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในที่สุด ครอบครัวผู้ตายมีความพยายามที่จะให้สำนักงานประกันสังคมเจรจาให้โรงพยาบาลรับผิดชอบ และหาทางปรับปรุงคุณภาพโรงพยาบาล แต่ความรับผิดชอบของโรงพยาบาลที่สำนักงานประกันสังคม บอกเพียงแต่ว่า โรงพยาบาลจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลที่ถูกส่งต่อรับการรักษา วิเคราะห์ไปถึงกลไกในการควบคุมคุณภาพของโรงพยาบาลในระบบประกันสังคม ผ่านคณะกรรมการแพทย์ ซึ่งทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน และวินิจฉัยคำร้องเรียนของผู้บริโภค และเสนอให้มีการดำเนินการกับโรงพยาบาล และหากมองไปถึงกลไกในระดับนโยบายหรือคณะกรรมการประกันสังคมที่ใช้ระบบไตรภาคีก็ไม่รู้จะมีความหวังได้มากน้อยแค่ไหน เพราะเพียงแค่สิทธิประโยชน์คนไข้ไตวายเรื้อรังยังมีปัญหาลุ่ม ๆ ดอน ๆ กลุ่มคนแรงงานนอกระบบที่ทำงานตามบ้าน ต้องการให้สำนักงานประกันสังคมคุ้มครองสิทธิประโยชน์อื่นที่นอกเหนือจากสุขภาพ มาหลายสิบปียังไม่มีความคืบหน้า เพราะเจ้าหน้าที่ประกันสังคมไม่เคยคิดว่าที่เขาอยู่ดีมีสุข เงินเดือนได้ขึ้นทุกปีถึงแม้ประเทศจะมีวิกฤตเศรษฐกิจ เพราะเงินของคนเล็กคนน้อยที่ทำให้สำนักงานอยู่ได้มาอย่างต่อเนื่อง ทางออกของเรื่องนี้ คงไม่ได้มีทางเดียว แต่เรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ ความร่วมมือในกลุ่มผู้ประกันตน ทวงสิทธิของตนเองมากขึ้น เพื่อให้ระบบมีการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้างให้ตอบสนองต่อผู้ประกันตนเพิ่มขึ้น ฉบับหน้าวารสารฉลาดซื้อขึ้นฉบับที่ 100 สมาชิกและผู้อ่านท่านใดมีคำแนะนำที่อยากให้มีการปรับปรุงหรือพัฒนาก็อยากให้แนะนำกันเข้ามาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการและความจำเป็นของสมาชิกเพิ่มขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 98 โอกาสแห่งความสุขที่หาได้ยาก

บทบรรณาธิการ โดย สารี อ๋องสมหวัง saree@consumerthai.org เดือนเมษายน เป็นเดือนที่มีความสำคัญของคนทำงานคุ้มครองผู้บริโภค เพราะวันที่ 30 เมษายนของทุกปี ถือเป็นวันคุ้มครองผู้บริโภคไทย ถึงแม้ปีนี้เราอาจจะไม่ค่อยมีบรรยากาศของการเฉลิมฉลองกันมากนักไม่ว่าจะทั้งสงกรานต์ที่ผ่านมา หรือวันคุ้มครองผู้บริโภค ด้วยเหตุความขัดแย้งและวิกฤติทางการเมือง รวมทั้งการจลาจลที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครและหลายหัวเมืองเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา  ปีนี้ต้องนับว่ามีความก้าวหน้าของเรื่องคุ้มครองผู้บริโภคในหลายประเด็น ไม่ว่าจะมีการบังคับใช้กฎหมายที่เอื้ออำนวยกับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคมากขึ้น เช่น พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค และพระราชบัญญัติความรับผิดต่อสินค้าที่ไม่ปลอดภัยซึ่งเพิ่งจะมีผลใช้บังคับไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และที่นับว่าเป็นความสำเร็จของผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคก็คงจะเป็นการยื่นรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 12,208 รายชื่อ ต่อนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาในการเสนอกฎหมายองค์การอิสระผู้บริโภคไปเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเช่นกัน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีโอกาสจัดงานเปิดบ้านใหม่เพื่อผู้บริโภคบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิที่หลายคนเรียกว่า อนุสาวรีย์กลางสมรภูมิ และในงานเดียวกันนี้ก็ได้ประกาศรายชื่อสินค้าและโฆษณายอดเยี่ยม ยอดแย่ ใครได้รับการลงคะแนนจากผู้บริโภคในครั้งนี้บ้าง น่าจะได้ทราบข่าวกันไปแล้ว บรรยากาศในงาน มีท่านอดีตนายกอานันท์ ปันยารชุน ให้เกียรติมาเป็นประธานในงาน อาจารย์ พี่ ๆ น้อง ๆ กัลยานมิตร เพื่อนสื่อมวลชน และเครือข่ายผู้บริโภคจากหลายจังหวัด แต่ประเด็นสุดท้ายในงาน ทุกคนต้องการคุยเรื่องเดียวกันว่า เราจะช่วยกันหาคำตอบจากการเมืองแบ่งสี เมื่อสังคมขาดความเชื่อถือต่อการเมืองในระบบ วิกฤตการเมืองครั้งนี้รอวันประทุจากทั้งความเชื่อที่แตกต่าง พื้นฐานความไม่เป็นธรรมทางสังคม การคอรัปชั่น นักการเมืองที่ฉ้อฉล ได้อย่างไร

อ่านเพิ่มเติม >