ฉบับที่ 276 กระแสต่างแดน

aติดเก้าอี้        การสำรวจ “ชั่วโมงนั่ง” ใน 10 ประเทศในยุโรป (กรีซ ไซปรัส สวีเดน ลักเซมเบิร์ก เบลเยียม ฟินแลนด์ โรมาเนีย เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก สาธารณรัฐเชก) พบว่าตำแหน่ง “แชมป์นั่งนาน” ตกเป็นของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งร้อยละ 26 ของประชากรวัยเกิน 16 ปี มีชีวิตติดเก้าอี้เกิน 8.5 ชั่วโมงต่อวัน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของยุโรปอยู่ที่ร้อยละ 11         นอกจากนี้ยังพบว่า ประชากรประมาณ 3.7 ล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของคนวัยทำงาน นั่งนานกว่าวันละ 6 ชั่วโมง โดยอาชีพที่นั่งนานที่สุดคือทนายความ นักเศรษฐศาสตร์ นักพัฒนาซอฟท์แวร์ ด้วยสถิติ 7.3 ชั่วโมงต่อวัน แซงคนขับรถบรรทุกที่นั่งประมาณ 7.2 ไปอย่างฉิวเฉียด         งานวิจัยของ TNO พบว่าการนั่งนานซึ่งส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนของเลือด ทำให้คนดัทช์เสียชีวิตก่อนวัยอันควรปีละไม่ต่ำกว่า 21,000 คน ด้วยโรคหัวใจ มะเร็ง และโรคเบาหวานชนิดที่สอง คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 1,000 ล้านยูโรขอแค่สอง     การรถไฟฝรั่งเศส SNFC ประกาศระเบียบใหม่สำหรับผู้ที่จะโดยสารไปกับรถไฟความเร็วสูง TGV  InOui  และ Intercite’  ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป จะสามารถนำสัมภาระติดตัวไปด้วยได้สองใบเท่านั้น (หนึ่งใบใหญ่และหนึ่งใบเล็ก)          คำจำกัดความของ “ใบใหญ่” คือสัมภาระขนาด 70x90x50 ซม. ส่วน “ใบเล็ก” ต้องมีขนาดไม่เกิน 40x30x15 ซม. แต่มีข้อยกเว้นให้กับสัมภาระอย่างรถเข็นเด็ก กระเป๋าเครื่องดนตรี หรือกระเป๋าอุปกรณ์กีฬา เป็นต้น         ช่วงแรกยังอยู่ในระยะตักเตือน แต่หลังจาก 15 กันยายน การฝ่าฝืนระเบียบนี้มีค่าปรับ 50 ยูโร (ประมาณ 2,000 บาท)        ระเบียบลักษณะนี้ใช้กับรถไฟระหว่างเมืองทั่วไปอยู่แล้ว ผู้สามารถนำกระเป๋าขึ้นรถไฟได้คนละสองใบ (ขนาด 55x35x25 และ 36x27x15) หากมีสัมภาระมากกว่านี้ก็สามารถจ่ายเงินเพิ่มได้          ส่วนรถไฟท้องถิ่น TER ไม่มีลิมิต ใช้ระบบใครมาก่อนได้ก่อน เพียงแต่ต้องดูแลไม้ให้เกะกะคนอื่น  เช่นเดียวกับรถไฟ Eurostar ก็ไม่มีข้อจำกัด แต่ขออยู่ในปริมาณที่ถือและยกขึ้นวางด้วยตัวเองได้ เสี่ยงสูงขึ้น         จีนเป็นตลาดรถอีวีอันดับหนึ่งของโลกและเป็นผู้นำด้านการผลิตแบตเตอรีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า จึงมีภาพลักษณ์ประเทศไฮเทค พรั่งพร้อมด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่สามารถช่วยสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ         แต่งานสำรวจโดยหน่วยงานสาธารณสุขทั่วประเทศกำลังชี้ให้เห็นว่าสุขภาพของคนทำงานในอุตสาหกรรมนี้กำลังแย่ลง           การทำงานในโรงงานผลิตแบตเตอรีมีอันตรายหลายด้าน และอุตสาหกรรมนี้จัดอยู่ในประเภทอุตสาหกรรมความเสี่ยงสูง และมีงานวิจัยในปี 2019 ที่พบว่าอุตสาหกรรมนี้เกิดภาวะสารเคมีเป็นพิษบ่อยที่สุดมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 90         แม้ว่าแบตเตอรีรถอีวีซึ่งเป็นลิเธียมไอออนจะมีอันตรายน้อยกว่าแบตเตอรีตะกั่วกรดแบบเดิม แต่คนทำงานยังมีโอกาสได้รับอันตรายจากฝุ่นกราไฟท์ เขม่าที่เกิดขึ้นขณะผสมหรือกวนวัตถุดิบ อิเล็กโทรดขั้วลบขั้วบวก หรือแม้แต่โอโซนในพื้นที่เชื่อมโลหะ รวมถึงระดับเสียง 90 เดซิเบลที่สูงเกินระดับปลอดภัย (85 เดซิเบล) ต้องคืนเงิน         คณะกรรมาธิการการแข่งขันทางการค้าและผู้บริโภคแห่งออสเตรเลีย (ACCC) เรียกร้องให้มีการปฏิรูปกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค และทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถปฏิเสธการคืนเงินหรือปฏิเสธการรับประกันสินค้าได้         ความจริงแล้วผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับการประกันโดยอัตโนมัติตาม พรบ. คุ้มครองผู้บริโภคออสเตรเลีย แม้ผู้ขายจะอ้างว่าเลยระยะเวลารับประกัน หรือได้แจ้งแล้วว่าไม่สามารถเปลี่ยนหรือขอเงินคืนได้         จากเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 98,000 เรื่องที่คณะกรรมาธิการได้รับในปี 2023 มีประมาณร้อยละ 30 ที่เกี่ยวกับการรับประกันสินค้า (28,000 เรื่อง)         ผลิตภัณฑ์ที่มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาอันดับต้นๆ คือ รถยนต์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ ผู้บริโภคมักได้รับคำตอบว่า “สินค้าหมดประกันแล้ว คุณต้องรับผิดชอบค่าซ่อมเอง” หรือในบางกรณี เช่น การขอให้ผู้ประกอบการซ่อมรถมือสองให้ ผู้บริโภคต้องมีธุระจัดการไม่ต่ำกว่า 60 ขั้นตอน ได้หมดถ้าสดชื่น         ร้านอาหาร ร้านค้าปลีกในญี่ปุ่นเริ่มผ่อนคลายกฎระเบียบเรื่องการแต่งตัว เพื่อรับมือกับสถานการณ์ขาดแคลนแรงงานในประเทศ         เรื่องนี้กำลังกลายเป็นเทรนด์ ในปี 2022 บริษัท Pan Pacific International Holding เจ้าของกิจการห้างอย่าง “ดองกี้” ยอมประกาศยกเลิกระเบียบเรื่องการย้อมสีผมตามที่พนักงานร้องขอ         ปีต่อมาครึ่งหนึ่งของพนักงานในห้างล้วนมีสีผมที่ไม่ใช่สีดำตามธรรมชาติ และในจำนวนนั้นร้อยละ 20 เป็นสีแบบจี๊ดจ๊าดหรือไม่ก็บลอนด์ไปเลย ผู้คนมีความสุขขึ้นเมื่อได้ทำงานในแบบที่เป็นตัวของตัวเอง         เดือนกันยายนปีที่แล้ว ซูเปอร์มาร์เก็ต BELC ในโตเกียวก็ยกเลิกกฎเรื่องสีผม ทรงผม หรือการเจาะหู รวมถึงการทาเล็บ ลดการลาออกของพนักงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่ต้องการย้อมสีผม         เรื่องรวมไปถึงแรงงานต่างประเทศด้วย เครือร้านอาหารซูชิโร ที่มีการจ้างงานคนจาก 60 ประเทศ อนุญาตให้พนักงานสวมฮิญาบ (กรณีผู้หญิง) หรือไว้หนวดเคราได้ถ้าสวมหน้ากากอนามัย (กรณีผู้ชาย) 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 276 กลเกมรัก : สงสารแต่ลูกปลาบู่…

                “สงสารแต่แม่ปลาบู่ อาศัยอยู่ในฝั่งคงคา นางเอื้อยเป็นลูกกำพร้า ถึงเวลามาร่อนรำ…”         นิทานพื้นบ้าน “ปลาบู่ทอง” เล่าถึงชีวิตของ “เอื้อย” เด็กน้อยผู้กำพร้ามารดาตั้งแต่ยังเล็ก แต่ด้วยความรักความผูกพัน แม่ของเด็กหญิงเลยกลับชาติมาเกิดเป็นปลาบู่ทอง แต่ก็มิวายถูก “อ้าย” น้องสาวต่างมารดา ตามราวีจับแม่ปลาบู่ทองมาฆ่ามาแกง กลายเป็นเรื่องเล่ามุขปาฐะชีวิตลำเค็ญที่สืบต่อรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน         แม้ข้อคิดหลักของนิทานเรื่อง “ปลาบู่ทอง” จะยืนยันกับเด็กๆ ว่า ให้รู้จักคิดดีทำดีแล้วจะได้ดี รู้จักให้อภัย ไม่อิจฉาริษยา อดทนยึดมั่นกตัญญูแม้จะถูกกลั่นแกล้งต่างๆ นานา หากทว่าสิ่งหนึ่งที่ถูกตอกย้ำซ้ำทวนเอาไว้ในเรื่องราวก็คือ ภาพความน่าสงสารของเด็กกำพร้า เพราะขาดซึ่งพ่อหรือแม่ที่เฝ้าคอยปกป้องดูแล         พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 กำหนดความหมายของ “เด็ก” ว่า เป็นบุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ และนิยามถึง “เด็กกำพร้า” เอาไว้ว่า เป็นเด็กที่บิดาหรือมารดาเสียชีวิต เด็กที่ไม่ปรากฏบิดามารดา หรือไม่สามารถสืบหาบิดามารดาได้         แม้พระราชบัญญัติฉบับนี้จะนิยามความหมายของ “เด็กกำพร้า” เอาไว้แบบกลางๆ แต่ก็เป็นเรื่องชวนประหลาดใจว่า เมื่อภาพเด็กกำพร้ามาปรากฏอยู่ในจินตกรรมของเรื่องแต่งทั้งหลาย เด็กกำพร้ากลับมักถูกกำหนดคุณค่าให้ดูน่าสงสาร และมีชะตากรรมที่ทุกข์ยากลำเค็ญ ไล่เรียงตั้งแต่นิทานคลาสสิกเรื่อง “ปลาบู่ทอง” ไปจนถึงละครโทรทัศน์แนวรักสี่เส้าเรื่อง “กลเกมรัก”         เริ่มต้นเรื่องขึ้นมาด้วยการฉายให้เห็นภาพของ “อนล” พระเอกหนุ่มลูกชายของ “อาทิตย์” รองประธานบริษัท KTP ของตระกูลกำธรภูวนาถ ที่ต้องการเวนคืนที่ดินจากกลุ่มคนจนในสลัม เพราะคุณอาทิตย์มีปณิธานประจำใจที่คอยสอนบุตรชายอยู่เสมอว่า “คนจนก็ไม่ต่างจากมดปลวก ไร้ค่า ไร้ประโยชน์”         แต่ในเวลาเดียวกัน “ภูมิ” ผู้เป็นน้องชายของอาทิตย์ และรั้งตำแหน่งประธานบริษัท KTP กลับไม่เห็นด้วย ทำให้พี่น้องต้องขัดแย้งกัน ไม่ใช่เพียงเพราะความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่ยังเป็นเพราะผลประโยชน์ที่แบ่งกันไม่ลงตัว จนเป็นศึกสายเลือดภายในตระกูลเดียวกันของกลุ่มทุนรายใหญ่         ภูมิมีบุตรชายที่เป็นลูกพี่ลูกน้องกับอนลชื่อ “ภีม” ซึ่งมองว่า “บ้าน” ไม่ใช่เพียง “สิ่งที่เป็นอาคารสถานที่อยู่อาศัย” หากแต่เป็น “ทุนของความสุข” สำหรับทุกคนโดยไม่แบ่งชนชั้นหรือฐานะทางสังคม ดังนั้น ไม่เพียงแต่รุ่นพ่อที่ขัดแย้งผลประโยชน์ระหว่างกัน แต่รุ่นลูกก็ยังไม่ลงรอยกันด้วยโลกทัศน์ที่หล่อหลอมมาคนละชุด         ตัดภาพจากฉากชีวิตครอบครัวชนชั้นนำ อีกด้านหนึ่งละครก็จำลองภาพรูปแบบความเป็นครอบครัวซึ่งต่างออกไปของคนอีกกลุ่ม ที่ใช้ชีวิตอยู่ในมูลนิธิเด็กกำพร้าบ้านสายชล กับตัวละครนางเอก “อันดา” และเพื่อนรัก “ลลิษา” ที่เติบโตมาด้วยกัน และแม้จะเป็นเพื่อนรักและสนิทกันมาแต่เด็ก และแม้จะถูกเลี้ยงดูมาโดย “หมอเบญ” ผู้เป็นประหนึ่งแม่บุญธรรมในมูลนิธิบ้านสายชล แต่ชะตาชีวิตของทั้งอันดาและลลิษาก็ไม่ต่างจากเอื้อยและอ้ายในตำนานเรื่องเล่า “ปลาบู่ทอง” เอาเสียเลย                 ในขณะที่อันดาเป็นตัวแทนของสาวน้อยสดใสแสนดี และคอยช่วยเหลือเพื่อนรักทุกครั้งที่ทำผิดและหมอเบญคาดโทษเอาไว้ แต่ทว่ากับลลิษาแล้ว ลึกๆ มีแต่ความอิจฉาริษยา เพราะคิดวาหมอเบญและใครต่อใครต่างพากันมอบความรักความเอ็นดูให้แต่กับอันดาเพียงคนเดียว         และแล้วชะตากรรมของตัวละครทั้งสี่ชีวิตก็มีอันต้องโคจรมาพบกัน เมื่อ “รมิตา” ได้ทราบความจริงจาก “ถาวร” บิดาผู้เป็นนายทุนใหญ่เจ้าของธุรกิจตระกูลอัศวชานนท์ว่า ลูกสาวคนเดียวของเธอยังมีชีวิตอยู่ เธอจึงตัดสินใจออกตามหา ประจวบกับภีมที่ได้รับบาดเจ็บเพราะอุบัติเหตุจากคนปองร้าย ได้หนีมาหลบซ่อนตัวอยู่ใกล้ๆ กับมูลนิธิบ้านสายชล ทำให้ตัวละครทั้งหมดได้เข้าไปผูกพันทั้งกับความลับของบุตรสาวที่หายตัวไปของรมิตา และกับความขัดแย้งที่ปะทุอยู่ในตระกูลเจ้าของธุรกิจรายใหญ่ไปโดยปริยาย         เพราะเสียงก้องในหัวใจของสาวน้อยผู้กำพร้าบุพการีอย่างลลิษาได้แต่ครวญเพลง “ก็อยากเป็นคนที่ถูกรัก” อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และเพราะเธอแอบไปรู้ความลับที่หมอเบญปกปิดเอาไว้ว่า อันดาน่าจะเป็นบุตรสาวที่สาบสูญไปของรมิตา ลลิษาจึงสวมวิญญาณ “เพื่อนสนิทคิดไม่ซื่อ” และสวมรอยเป็นลูกสาวมหาเศรษฐี เพื่อแย่งชิงทุกอย่างไปจากอันดา ไม่ต่างจากต่อมริษยาของอ้ายที่มีต่อเอื้อยลูกสาวแม่ปลาบู่ทองแต่อย่างใด         เมื่อมี “mission” อันแน่วแน่ที่จะพรากทุกอย่างมาจากเพื่อนรัก ลลิษาจึงลงมือปฏิบัติการ “กลเกม” ต่างๆ ที่จะทำให้เธอหลุดพ้นไปจากบ่วงในใจของเด็กกำพร้าผู้ที่ไม่เคยมีใคร และยังเป็นผู้ที่ไม่เคยมีอะไร เพื่อให้ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งได้เข้าไปครอบครองคฤหาสน์หลังใหญ่ที่ใฝ่ฝันมาแต่เด็ก         ไม่ว่าจะเป็นการใช้ล็อคเก็ตของอันดามาสวมอ้างเป็นทายาทเศรษฐีนี ลงทุนกรีดข้อเท้าเพื่อสร้างตำหนิให้เหมือนแผลเป็นของเพื่อนรัก หลอกใช้ “กระทิง” ชายคนรักให้ร่วมมือในปฏิบัติการดังกล่าว ไปจนถึงกำจัดอีกหลายชีวิตที่ล่วงรู้ความลับ รวมถึงฆาตกรรมทั้งหมอเบญผู้อุปการะเลี้ยงดูเธอจนเติบโต และ “ซอนญ่า” ที่แอบเอาดีเอ็นเอของหญิงสาวไปตรวจพิสูจน์ความจริง          ศึกรบที่อันดาต้องเผชิญก็ว่าหนักหน่วงแล้ว ศึกรักที่ต้องประมือกับลลิษาก็ยังหนักหน่วงไม่แพ้กัน เพราะเมื่อลูกพี่ลูกน้องสองคนที่ขัดแย้งกันในกลเกมธุรกิจ มาแอบหลงรักชอบพออันดา ลลิษาที่หวังในตัวของพระเอกหนุ่มจึงเพิ่มดีกรีของเสียงร้องในใจขึ้นไปอีกด้วยว่า “ถ้าเลวแล้วได้ครอบครอง ฉันยอมให้มองว่าร้าย…”         เมื่อกลเกมแห่งธุรกิจมาบรรจบกับกลเกมแห่งความรัก ความขัดแย้งของสองพระเอกหนุ่มลูกพี่ลูกน้องในวงศ์วานเดียวกันที่ฟั่นเกลียวกับความขัดแย้งของหญิงสาวกำพร้าสองคนที่กลายมาเป็น “เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด” จึงกลายเป็นเส้นเรื่องหลักที่ทำให้ผู้ชมได้ลุ้นไปกับบทสรุปว่า ตกลงแล้วข้อขัดแย้งในกลเกมเรื่องรบและเรื่องรักจะคลี่ลายได้อย่างไร และความลับเรื่องปมชาติกำเนิดที่จะทำให้ลูกปลาบู่ทองอย่างอันดากลับคืนสู่อ้อมอกของมารดาจะออกมาในแบบไหน         อนุสนธิจากความลับของอันดาที่มีล็อคเก็ตและตำหนิแผลเป็นช่วยนำพาให้เธอกลับคืนสู่บัลลังก์ครอบครัวอัศวชานนท์ ในขณะเดียวกับที่ลลิษาก็ถูกลงโทษให้ตายตกไปตาม “กลกรรม” ที่ได้กระทำมาตลอดทั้งเรื่อง ก็คงยืนยันอุทาหรณ์เดียวกับนิทานพื้นบ้าน “ปลาบู่ทอง” ที่สอนให้เราคิดดีทำดี และเฉพาะเด็กหญิงที่รู้จักมุ่งมั่นทำความดีเท่านั้น จากเด็กน้อยผู้น่าสงสารก็จะกลายเป็น “เจ้าหญิงในนิยาย” ที่กลับคืนสู่อ้อมอกแม่ และได้อยู่ครองคู่กับ “เจ้าชายรูปงาม” ได้ในที่สุด       ดูละคร “กลเกมรัก” จนจบ ได้แต่รำพึงรำพันอนิจจาน่าเวทนาก็แต่ลูกปลาบู่อย่างลลิษา ผู้ที่ทำแม้ในสิ่งที่ผิด เพียงเพื่อเขยิบสถานะจากเด็กผู้ใฝ่ฝัน “อยากเป็นคนที่ถูกรัก” สักครั้งในชีวิต ถึงที่สุดก็ต้องกลายเป็นคนที่ไม่มีอะไรและไม่เหลือใครสักคน งานนี้ก็คงได้แต่ครวญเพลงบทใหม่ว่า “สงสารแต่ลูกปลาบู่…” แล้วกระมัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 276 มะเร็งปอดในนักกีฬาหนุ่มไม่สูบบุหรี่

        คนบนโลกออนไลน์ได้รู้จักหมอหนุ่มวัย 28 ปีคนหนึ่งที่บอกเล่าอาการป่วยมะเร็งปอดของตัวเองผ่านเพจเฟซบุ๊กว่า เป็นคนที่ชอบออกกำลังกายแต่กลับป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะที่ 4 โดยหมอหนุ่มท่านนี้ใส่ใจในความผิดปกติของอาการไอของตนเองจึงเข้ารับการตรวจร่างกายแล้วพบว่า กำลังป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะที่ 4 ซึ่งไม่สามารถผ่าตัดรักษาให้หายขาดได้ หมอหนุ่มได้ตั้งประเด็นที่อาจเป็นสาเหตุของการป่วยว่า ปัจจัยเดียวที่เป็นไปได้คือ ภาวะฝุ่น PM 2.5 ที่รุนแรงในจังหวัดเชียงใหม่มานานหลายปี สิ่งที่น่าสนใจคือ คนเชียงใหม่ทุกคนต่างรับผลจากฝุ่น PM 2.5 พอ ๆ กันแต่ไม่ใช่ทุกคนเป็นมะเร็งปอด แล้วปัจจัยใดที่น่าจะทำให้คนหนุ่มที่ออกกำลังกายเป็นประจำและไม่สูบบุหรี่กลับมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดมากกว่าคนอื่น การกลายพันธุ์ของเซลล์อาจนำไปสู่การเป็นมะเร็งปอด         ข้อมูลทางการแพทย์กล่าวว่า มะเร็งปอดนั้นแบ่งได้ในชั้นต้นเป็น 2 ประเภทคือ มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small Cell Lung Cancer) ซึ่งพบประมาณร้อยละ 10-25 ของมะเร็งปอดทั้งหมด มักพบบริเวณใกล้ขั้วปอดมากกว่าบริเวณชายปอด มีการแพร่กระจายเร็ว มีความเข้าใจว่าเกิดจากการที่สารเคมีบางชนิดทำให้เกิดความผิดปกติของระบบฮอร์โมน โดยทั่วไปนั้นมะเร็งปอดชนิดนี้ตอบสนองต่อเคมีบำบัดและรังสีรักษาได้ดี แต่โอกาสหายขาดยังเป็นไปได้น้อย ส่วนประเภทที่ 2 คือ มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (Non-Small Cell Lung Cancer) ซึ่งพบประมาณร้อยละ 75-90 ของมะเร็งปอดทั้งหมด มีการแพร่กระจายที่ช้าจึงมีโอกาสตรวจพบโรคในระยะเริ่มต้นได้มากกว่ามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก จึงนำไปสู่การผ่าตัดเอาก้อนและต่อมน้ำเหลืองออกพร้อมการบำบัดร่วมกับการให้เคมีบำบัดและรังสีรักษาหรือการบำบัดเสริมอื่นๆ ทำให้มีโอกาสหายขาดได้         การเกิดมะเร็งซึ่งรวมถึงมะเร็งปอดนั้นเกี่ยวข้องกับการกลายพันธุ์ของยีนหลายยีน ซึ่งบทความเรื่อง Genomic profiling in non-small-cell lung cancer in young patients. A systematic review (การทบทวนอย่างเป็นระบบถึงการทำรูปแบบจีโนมในมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็กในผู้ป่วยอายุน้อย) ในวารสาร ESMO Open ของ European Society for Medical Oncology ในปี 2021 ได้ให้ข้อมูลว่า มะเร็งปอดในผู้ป่วยอายุน้อยนั้นพบไม่บ่อยนัก ดังนั้นจึงทำการทบทวนอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับรูปแบบจีโนมของผู้ป่วยอายุน้อยที่เป็นมะเร็งปอดตั้งแต่ปี 2010 ถึง 2020 จากเอกสารในฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์หลักต่าง ๆ แล้วเลือกต้นฉบับงานวิจัย 23 ฉบับมาพิจารณาซึ่งพบว่า มะเร็งปอดในผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 50 ปี เกิดขึ้นบ่อยในสตรีและเป็นมะเร็งแบบ adenocarcinoma (มะเร็งที่เกิดขึ้นที่ต่อมหรือเยื่อบุที่ผลิตเมือกหรือของเหลว มะเร็งประเภทนี้พบได้บ่อยในมะเร็งเต้านม ต่อมลูกหมาก ปอด และลำไส้ใหญ่) และบ้างก็อยู่ในระยะที่ลุกลาม ซึ่งในการทบทวนข้อมูลครั้งนี้พบว่า การกลายพันธุ์ของหลายยีนในเซลล์เนื้อเยื่อ (somatic cells) มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งปอด ได้แก่         การกลายพันธุ์ของยีน TP53 ซึ่งสร้างโปรตีน p53 ที่ควบคุมระบบการแบ่งเซลล์ให้เป็นปรกติ การกระตุ้นการตายของเซลล์ในลักษณะ apoptosis และความเสถียรของยีนด้วยกลไกการซ่อมแซมต่างๆ         การกลายพันธุ์ของยีน EGFR T790M ยีนนี้เป็นที่รู้จักกันในนามว่า gatekeeper gene ซึ่งเป็นยีนที่ทำหน้าที่ป้องกันการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งที่เกิดขึ้น และป้องกันการสะสมของการกลายพันธุ์ที่นำไปสู่การเพิ่มจำนวนเซลล์ผิดช่วงเวลา สำหรับ epidermal growth factor receptor (EGFR) นั้นเป็นโปรตีนที่ทำหน้าที่เป็นตัวรับปัจจัยที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของผิวหนัง ผลของการกลายพันธุ์นำไปสู่การแสดงออกของตัวรับ EGFR บนผนังมากเกินไป ทำให้เกิดการแบ่งเซลล์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งเป็นลักษณะขยายการทำงานของเซลล์ที่ไม่ปรกติจึงมีความเกี่ยวข้องกับมะเร็งหลายชนิดรวมถึงมะเร็งชนิด adenocarcinoma ในปอด มะเร็งทวารหนัก มะเร็งสมอง (Glioblastoma) และเนื้องอกของเยื่อบุผิวที่ศีรษะและคอ         การกลายพันธุ์ของกลุ่มยีน BRCA ได้แก่ BRCA1, BRCA2 (และอาจเพิ่ม BRCA3 ในอนาคต) ซึ่งก่อให้เกิดกลุ่มอาการมะเร็งเต้านมและรังไข่ทางพันธุกรรม         การกลายพันธุ์ของยีน HER2 (Human epidermal growth factor receptor) จนกลายเป็นปัจจัยสนับสนุนการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง มีงานวิจัยพบว่าประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมักพบความผิดปรกติของ HER2 เป็น positive นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับยีนส์ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เกิดมะเร็งได้หลายชนิดรวมถึงมะเร็งปอด         การกลายพันธุ์ของยีน YAP1 (yes associated protein 1) ซึ่งสร้างโปรตีนตัวควบคุมการถอดรหัสที่กระตุ้นการถอดรหัสยีนที่เกี่ยวข้องกับการอยู่รอดของเซลล์และการแพร่กระจายและยับยั้งการฆ่าตัวตายแบบ apoptosis ดังนั้นการกลายพันธุ์จึงส่งผลให้การเกิดมะเร็งได้ง่ายขึ้น         การกลายพันธุ์ของยีน CHECK2 ซึ่งเป็นยีนที่ควบคุมการสร้างโปรตีนที่หยุดยั้งการเติบโตของเนื้องอก ความผิดปรกติของยีนนี้เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมตลอดชีวิตเป็นสองเท่า นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งต่อมลูกหมากได้ และทำให้เกิดความสงสัยว่า การเปลี่ยนแปลงของยีนนี้โดยเฉพาะในวัยรุ่นและผู้ใหญ่วัยหนุ่มสาวมีความสัมพันธ์ต่อการเกิดมะเร็งปอด การกลายพันธุ์ของยีนใดที่อาจเป็นต้นเหตุสำคัญของมะเร็งปอด         ยีนที่ดูน่าสนใจเป็นพิเศษได้ถูกระบุในบทความของอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เรื่อง TP53 gene mutations of lung cancer patients in upper northern Thailand and environmental risk factors (การกลายพันธุ์ของยีน TP53 ของผู้ป่วยมะเร็งปอดในภาคเหนือของประเทศไทยและปัจจัยเสี่ยง) ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Cancer Genetics and Cytogenetics ของปี 2008 บทความนี้รายงานผลการศึกษาถึงผลของปัจจัยต่างๆ ในสิ่งแวดล้อมต่อการกลายพันธุ์ของยีน TP53 ในผู้ป่วยมะเร็งปอดที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งเป็นบริเวณที่มีอุบัติการณ์ของมะเร็งปอดสูงกว่าส่วนอื่นของประเทศ (หลายบทความในอดีตตั้งประเด็นว่า ความนิยมในการสูบบุหรี่ขี้โยนั้นเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปอดสูงของสตรีชาวเหนือ)         การกลายพันธุ์ของยีน TP53 พบได้มากประมาณ 40-70% ในเนื้อเยื่อมะเร็งปอด และการกลายพันธุ์ของยีนนี้สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ในระยะแรก ๆ ของมะเร็งปอดซึ่งอาจเป็นผลจากการได้รับสารก่อมะเร็งจากสิ่งแวดล้อม รายงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า จำนวนและรูปแบบการกลายพันธุ์ของยีน TP53 มีความแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มประชากร ซึ่งความแตกต่างนี้อาจเกิดจากเชื้อชาติที่ต่างกัน หรือได้รับสารก่อมะเร็งจากสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน รวมไปถึงลักษณะการดำเนินชีวิตที่ต่างกัน         ในการศึกษานี้ได้มีศึกษาเปรียบเทียบการถ่ายทอดยีนที่กลายพันธุ์ในผู้ป่วยมะเร็งปอดและครอบครัว (ญาติสายตรงและพี่-น้องผู้ป่วย) พร้อมมีกลุ่มควบคุมเพื่อดูว่า การกลายพันธุ์แต่กำเนิด (germline mutations หรือ inherited mutations นั้น เป็นการที่ยีนมีความผิดปกติตั้งแต่เป็นเซลล์ต้นกำเนิดหลังการปฏิสนธิ และส่งผ่านความผิดปกตินี้ผ่านเซลล์สืบพันธุ์ไปยังรุ่นลูกหลานต่อไปได้ เช่น การกลายพันธุ์ของยีน BRCA ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ชนิดที่สามารถสืบทอดทางพันธุกรรมได้) มีผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปอดของประชากรกลุ่มนี้หรือไม่ โดยนักวิจัยได้ดำเนินการสกัดดีเอ็นเอจากเม็ดเลือดขาวของผู้ป่วย ญาติผู้ป่วยและกลุ่มควบคุม พร้อมกับสกัดดีเอ็นเอจากเนื้อเยื่อมะเร็งปอดและเนื้อเยื่อปอดปกติของผู้ป่วยแต่ละรายเปรียบเทียบกับลำดับเบสอ้างอิงที่ได้จาก GenBank (accession no. X54156) ซึ่งผลการศึกษาจากผู้ป่วย 55 รายและกลุ่มควบคุม 57 ราย รวมทั้งจากบิดา-มารดาของผู้ป่วยอีก 8 ราย ไม่พบการกลายพันธุ์แต่กำเนิดในดีเอ็นเอที่สกัดจากเม็ดเลือดขาว การค้นพบนี้ชี้ให้เห็นว่า การกลายพันธุ์แต่กำเนิดไม่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งปอดในผู้ป่วยกลุ่มนี้ แต่พบว่ามีการกลายพันธุ์ของเซลล์เนื้อเยื่อ (somatic mutation) 19 ตำแหน่ง ในดีเอ็นเอที่สกัดได้จากเนื้อเยื่อมะเร็งปอดของผู้ป่วย 18 ตัวอย่าง อย่างไรก็ดีไม่มีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งใดๆ ซ้ำกันจนเป็น hot spot (ซึ่งเป็นจุดสังเกตที่เด่นชัดถึงโอกาสของการเกิดมะเร็ง)         ประเด็นที่น่าสนใจคือ เมื่อทดสอบผลของปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมต่อการกลายพันธุ์ พบว่าการใช้ยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และการอาศัยอยู่ในบ้านที่มีอากาศถ่ายเทไม่ดี ได้แก่บ้านซีเมนต์หรือบ้านที่มีห้องครัวอยู่ภายในบ้าน มีผลต่อการเกิดการกลายพันธุ์ของยีน TP53 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ         ดังนั้นจึงพอสรุปได้ว่า ความแตกต่างระหว่างเชื้อชาติและสารก่อกลายพันธุ์ในสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อการกลายพันธุ์ของยีน ซึ่งนำไปสู่การเกิดมะเร็งปอด และเป็นไปได้ว่าการกลายพันธุ์ของยีน TP53 อาจเกิดจากปัจจัยอื่นนอกเหนือไปจากการสูบบุหรี่ ซึ่งหากรู้ถึงปัจจัยที่มีผลต่อการกลายพันธุ์แล้วจะมีประโยชน์ต่อการป้องกันการเกิดมะเร็งปอดต่อไปได้ในอนาคต ซึ่ง ณ.ปัจจุบัน พ.ศ. 2567 นั้นก็ดูเหมือนยังไม่ทราบในสิ่งที่บทความตั้งความหวังไว้ ดังนั้นคนไทยในภาคเหนือจึงยังอยู่ในความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 276 สามสิ่งที่ต้องรีบจัดการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในยุคเอไอ

        คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าบทความที่กำลังอ่านอยู่นี้ไม่ใช่สิ่งที่เขียนขึ้นโดยเอไอ        มันไม่ใช่ฝีมือของเอไอหรอก แต่ถ้าใช่ คุณก็ควรมีสิทธิรู้ไม่ใช่หรือ         ประเด็นเรื่องความโปร่งใสและการให้ข้อมูลกับผู้บริโภคในยุคของปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถสร้างสรรค์เนื้อหาใหม่ๆ ได้ (Generative AI / เจนเนอเรทีฟเอไอ) ก็มีความเข้มข้นขึ้นทุกวัน ธุรกิจนี้มีผู้เล่นน้อย มีบริษัทเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่ผูกขาดการเป็นเจ้าของข้อมูลและโมเดลต่างๆ ของเอไอ เราทำนายว่าในอนาคตจะมีข้อกังวลเกี่ยวกับการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น เราจึงกำลังจับตาดูอย่างใกล้ชิดจากมุมมองของผู้บริโภค ในขณะที่ตลาดหลักๆ ที่มีการใช้เอไอ มุ่งความสนใจไปที่การต่อต้านการผูกขาดทางการค้า         สิ่งที่ชัดเจนคือปัญญาประดิษฐ์แบบใหม่นี้จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเรา ตั้งแต่กฎหมาย บรรทัดฐาน และค่านิยมต่างๆ ทำให้ความโปร่งใสเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง การคุ้มครองผู้บริโภคแบบเดิมจึงไม่เพียงพอ ต้องมีการคิดใหม่ทำใหม่เพื่อให้เท่าทันพัฒนาการทางเทคโนโลยีล่าสุด         คำแนะนำของสหประชาชาติว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค เน้นความสำคัญของความโปร่งใสในการให้ข้อมูลแก่ผู้คนเพื่อการตัดสินใจอย่างเหมาะสม และทำให้หน่วยงานของรัฐสามารถกำหนดและบังคับใช้ระเบียบต่างๆ ได้         การปรับปรุงเรื่องความโปร่งใสของเอไอได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว เพื่อให้แน่ใจว่าผู้คนจะได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงจากเทคโนโลยีใหม่นี้ การคุ้มครองผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพจึงต้องเป็นส่วนหนึ่งของทั้งสามขั้นตอนต่อไปนี้         1. การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์         รายงานการตรวจสอบโดยคณะกรรมาธิการการค้าของสหรัฐฯ พบว่าผู้บริโภคมีความกังวลเรื่องวิธีการที่ใช้ในการสร้างเอไอและการนำเอาข้อมูลต่างๆ ไปใช้ โมเดลส่วนใหญ่ของเจเนอเรทีฟเอไอต้องอาศัยชุดข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อฝึกฝนและเรียนรู้ เราต้องตั้งคำถามว่าโมเดลปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้ถูกสร้างและบำรุงรักษาอย่างไร และเป็นธรรมกับผู้บริโภคหรือไม่         ตัวอย่างเช่น ข้อมูลที่ใช้เพื่อฝึกฝนโมเดลเอไอได้รับการจัดเก็บอย่างถูกต้องตามกฎหมายและได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลหรือไม่ การจ้างงานมนุษย์เพื่อทำหน้าที่จำแนกข้อมูลและใส่หัวข้อเป็นไปอย่างถูกต้องตามจริยธรรมหรือไม่ ทรัพยากรด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องได้รับการจัดการอย่างรับผิดชอบหรือไม่ นักพัฒนาควรเปิดเผยข้อมูลว่าด้วยสิ่งที่ตนเองใช้ในการสร้างเครื่องมือสำหรับผู้บริโภค แบบเดียวกับการติดฉลากผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้ผู้คนเข้าใจว่ามีอะไรอยู่ในอาหาร เสื้อผ้า หรือยารักษาโรค         2. การเผยแพร่และจัดจำหน่าย         เมื่อโมเดลเอไอถูกสร้างขึ้น มันควรถูกนำมาใช้โดยคำนึงถึงผู้บริโภคเป็นหลัก         การพัฒนาโมเดลเอแแบบปิดหรือเปิดกลายเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ในกรณีโมเดลแบบเปิด โค้ดต้นฉบับหรือคำสั่งในโปรแกรมจะเป็นสิ่งที่เปิดเผยต่อสาธารณะ ไม่ว่าใครก็สามารถนำไปใช้ได้ ขณะที่โมเดลแบบปิดจะเป็นของส่วนตัวและมีลิขสิทธิ์         ทั้งสองรูปแบบต่างก็ได้รับการสนับสนุนจากคนที่เห็นด้วย มันน่าตื่นเต้นที่จะได้เห็นเครื่องมือใหม่ๆ ที่สังคมสามารถนำมาใช้ได้ แต่เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเหมาะสม เราจำเป็นต้องรู้ว่าเมื่อโมเดลดังกล่าวถูกปล่อยออกไป มันจะส่งผลต่อสังคมอย่างไร         นักพัฒนาหรือผู้ที่นำผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไปใช้ ได้คำนึงถึงความเสี่ยงหรือเปิดเผยความเสี่ยงของมันให้สังคมรู้หรือไม่ มีการอนุญาตให้บุคคลภายนอก เช่น นักวิจัย หรือหน่วยงานกำกับดูแล เข้าไปตรวจสอบคำกล่าวอ้างเหล่านั้นโดยอิสระหรือไม่ ในกรณีของโมเดลแบบเปิด มีการกำหนดเกณฑ์ว่าใครสามารถนำโค้ดไปสร้างต่อ หรือกำหนดสิ่งที่สามารถทำได้กับโค้ดดังกล่าวหรือไม่         เราเคยได้ยินข่าวว่าโมเดลของปัญญาประดิษฐ์แบบเปิดถูกนำมาใช้เพื่อสร้างภาพลามกอนาจารโดยบุคคลที่อยู่ในภาพไม่ได้ให้ความยินยอม สภาผู้บริโภคแห่งนอร์เวย์ได้ออกคำเตือนโดยละเอียดว่าด้วยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันสามารถสร้างข้อมูลปลอมหรือข้อมูลที่ไม่ถูกต้องได้ปริมาณมหาศาล เป็นการติดอาวุธให้กับมิจฉาชีพในการสร้างเรื่องหลอกลวงผู้บริโภค และมันยังทำให้การหลอกลวงออนไลน์เป็นเรื่องที่ยากแก่การตรวจสอบด้วย งานวิจัยพบว่าจากคนหนึ่งร้อยคน มีผู้ที่สามารถบอกได้ว่าเนื้อหาที่อ่านเป็นฝีมือของเอไอเพียง 50 คนเท่านั้น         ที่การประชุมใหญ่ระดับโลกของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากลในปี 2023 เราได้เรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ กำหนดให้มีการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเพียงพอจากภัยดังกล่าวบนแพลตฟอร์มเทคโนโลยีในคำประกาศเพื่อหยุดการหลอกลวงออนไลน์ (Global Statement to Stop Online Scams) สิ่งที่ต้องมีคือกฎระเบียบและการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อป้องกัน ตรวจจับ สกัดกั้น และรับมือกับการหลอกลวงเหล่านี้         ผู้ที่กำลังพัฒนาระบบเอไอจะต้องตระหนักและรายงานสิ่งที่ตนเองรู้เกี่ยวกับอันตรายที่สามารถเกิดขึ้น         3. การกำหนดความรับผิดชอบ         เราจำเป็นต้องเค้นถามให้ได้คำตอบว่ามีขั้นตอนกระบวนการที่เข้มข้นพอเพื่อแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นหรือไม่ และมีการกำหนดระดับความรับผิดชอบหรือระดับการคุ้มครองอย่างเหมาะสมทั้งในภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคประชาสังคม แล้วหรือยัง ทั้งนี้รวมถึงสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับการชดเชยเยียวยา การเปิดเผยเรื่องการขออนุญาตเข้าถึงฐานข้อมูลของรัฐ และการละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นต้น         พูดง่ายๆ คือ ถ้าระบบเอไอสร้างปัญหาให้กับมนุษย์ เราจะโทษใคร และใครมีหน้าที่แก้ไขปัญหาดังกล่าว เรื่องความรับผิดต้องระบุให้ชัดเจน         เรื่องศักยภาพของเอไอและเทคโนโลยีอื่นๆ ในการทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติหรือสร้างอคติ มีคนพูดถึงค่อนข้างมาก แต่ยังไม่มีใครพูดถึงคนที่ต้องเป็นผู้รับผิด รวมถึงการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม เราจำเป็นต้องอภิปรายกันอย่างเข้มข้นในเรื่องวิธีการสนับสนุนหรือท้าทายการตัดสินใจโดยอัลกอริธึมของเอไอ เช่น การให้บริการเงินกู้ บริการสุขภาพ การทำประกัน หรือการจ้างงาน เป็นต้น         เอไอเข้าครอบคลุมทุกพื้นที่         เราต่างก็รู้ดีถึงพลังของเอไอในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราในแบบที่เป็นประโยชน์และมีประสิทธิภาพ แต่ระดับความเร็วของการเปลี่ยนแปลงและภาวะไร้การควบคุมทำให้เราต้อง เร่งกำหนดนโยบายเชิงรุกเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค         ในปี 2024 นี้ เราต้องพิจารณากันให้ถี่ถ้วนว่ามีการลงมือทำอะไรไปแล้วบ้างและคิดหาวิธีที่ดีที่สุดในการใช้โอกาสอย่าง “วันสิทธิผู้บริโภคสากล” ซึ่งเราได้กำหนดหัวข้อเรื่อง “เอไอที่เป็นธรรมและรับผิดชอบต่อผู้บริโภค” หรือการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ที่ดาวอส รวมถึงการประชุม G20 ที่ริโอเดอจาเนโร เพื่อให้เกิดการพูดคุยและสร้างการเปลี่ยนแปลง         ความพยายามด้านกฎหมายที่สำคัญ เช่น “พรบ. เอไอของสหภาพยุโรป” ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ในปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงการรับรู้และการสนับสนุนจากภาครัฐ และแรงขับเคลื่อนในเรื่องแนวคิดการคุ้มครองผู้บริโภค         เราต่างก็ต้องการใช้ประโยชน์จากพลังของเทคโนโลยี ถ้าเราทำอย่างรับผิดชอบ เจนเนอเรทีฟเอไอ สามารถสร้างประโยชน์ได้มากมายโดยมีผลกระทบน้อยที่สุด แต่หากไม่มีการพูดคุยหรือจำกัดขอบเขตของความเสี่ยงเหล่านี้ ผลที่ได้อาจต่างไปโดยสิ้นเชิง         เราต้องดูแลผู้บริโภคเดี๋ยวนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 276 สำรวจฉลากผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม(ชาย)

        จัดทรงง่าย อยู่ทรงนาน เผยลุคหล่อ เท่ เนี้ยบ หรือทรงอย่างแบดได้ตามใจหนุ่มๆ นี่คงเป็นคุณสมบัติหลักๆ ที่คุณผู้ชายทั้งหลายใช้เลือกซื้อเจล แว๊กซ์ หรือโพเมด มาเซ็ตผมในทุกๆ วัน เพื่อส่งเสริมบุคลิกและสร้างความมั่นใจในสไตล์ของตน แต่รู้หรือไม่ว่า ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผมที่อยู่ในรูปแบบใช้แล้วไม่ล้างออกเหล่านี้ มักนิยมใช้สารเคมีในกลุ่มที่ไม่ย่อยสลาย ซึ่งอาจทิ้งสารตกค้างบนหนังศีรษะ อุดรูเส้นผม จนเกิดอาการแพ้ คัน มีรังแค และเป็นสาเหตุของผมร่วงได้ นอกจากนี้ บางยี่ห้อยังมีสารกันเสียชนิดที่หากใช้ต่อเนื่องนานๆ อาจส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนเพศที่เกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์อีกด้วย         นิตยสารฉลาดซื้อได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม(ชาย) ในรูปแบบเนื้อเจล แว๊กซ์ และโพแมด จำนวน 10 ตัวอย่าง 7 ยี่ห้อ ทั้งจากร้านค้าปลีกและร้านค้าออนไลน์ เมื่อเดือนมกราคม 2567 เพื่อสำรวจฉลากว่ามีสารเคมีหรือสารกันเสียที่ควรระวังหรือไม่ ได้แก่ ซิลิโคน พาราเบน และพีน็อกซี่เอทานอล รวมถึงเปรียบเทียบราคา เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคใช้ตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ คุ้มค่าและปลอดภัยได้ต่อไป ผลการสำรวจ         · พบสารซิลิโคน ใน 5 ตัวอย่าง คิดเป็น 50% ของตัวอย่างทั้งหมด ได้แก่ ยี่ห้อแกสบี้ สไตล์ลิ่ง แวกซ์ พาวเดอร์ แอนด์ สไปคัส, แกสบี้ มูฟริ่ง รับเบอร์ สไปค์กี้ เอดจ์, ออด๊าซ สไตล์ลิ่ง แว๊กซ์ ไชน์ แอนด์ ฮาร์ด,โลแลน เฮด อัพ สตรอง แว๊กซ์ และดีแคช แกลมเมอไรซ์ เคลย์ แว๊กซ์        · พบพาราเบน ใน 3 ตัวอย่าง คิดเป็น 30% ของตัวอย่างทั้งหมด ได้แก่ ยี่ห้อแกสบี้ สไตล์ลิ่ง โพเมด เพอร์เฟค เรส,  แคริ่ง แฮร์ แว็กซ์ เซ็ท สไปค์ และชวาร์สคอฟ ทัฟท์ แม็กซ์ ลุค พาวเวอร์ แวกซ์ โฮลด์ 5+        · พบพีน็อกซี่เอทานอล ใน 7 ตัวอย่าง คิดเป็น 70% ของตัวอย่างทั้งหมด ได้แก่ ยี่ห้อแกสบี้ สไตล์ลิ่ง แวกซ์ พาวเดอร์ แอนด์ สไปคัส, แกสบี้ สไตล์ลิ่ง โพเมด เพอร์เฟค เรส, แกสบี้ มูฟริ่ง รับเบอร์ สไปค์กี้ เอดจ์, ชวาร์สคอฟ ทัฟท์ แม็กซ์ ลุค พาวเวอร์ แวกซ์ โฮลด์ 5+, ออด๊าซ สไตล์ลิ่ง แว๊กซ์ ไชน์ แอนด์ ฮาร์ด, โลแลน เฮด อัพ สตรอง แว๊กซ์ และเดวิด เดส ร็อค แมท แม็ก โฮลด์ โพเมด         · เมื่อคำนวณเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่ายี่ห้อเดวิด เดส ร็อค แมท แม็ก โฮลด์ โพเมด แพงที่สุด คือ 7.45 บาท  ส่วนยี่ห้อออด๊าซ สไตล์ลิ่งแว๊กซ์ ไชน์ แอนด์ ฮาร์ด ถูกที่สุด คือ 0.75 บาท ข้อสังเกต        · สารกลุ่มซิลิโคนที่พบในตัวอย่างครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็น Dimethicone รองมาคือ Cyclomethicone         · สารกลุ่มพาราเบนที่พบในตัวอย่างครั้งนี้เป็น Methylparaben, Propylparaben และ Ethylparaben         · ทุกตัวอย่างระบุวันผลิตไว้ในปี 2023  ยี่ห้อดีแคช แกลมเมอไรซ์ เคลย์ แว๊กซ์ ระบุอายุไว้นานสุดคือ 5 ปี ส่วนยี่ห้อโลแลน เฮด อัพ เจล กัม และโลแลน เฮด อัพ สตรอง แว๊กซ์ ระบุอายุไว้น้อยสุดคือ 2 ปี         · ยี่ห้อแกสบี้ มูฟริ่ง รับเบอร์ สไปค์กี้ เอดจ์ และยี่ห้อชวาร์สคอฟ ทัฟท์ แม็กซ์ ลุค พาวเวอร์ แวกซ์ โฮลด์ 5+ ระบุเฉพาะวันผลิตไว้ (อย.ให้เครื่องสำอางที่มีอายุมากกว่า 30 เดือน ไม่จำเป็นต้องระบุวันหมดอายุ)        · ยี่ห้อแคริ่ง แฮร์ แว๊กซ์ เว็ต สไปค์ ไม่ระบุวิธีใช้บนฉลาก ส่วนยี่ห้อแกสบี้ สไตล์ลิ่ง แว๊กซ์ พาวเวอร์ แอนด์ สไปคัส และชวาร์สคอฟ ทัฟท์ แม๊กซ์ ลุค พาวเวอร์ แว๊กซ์ โฮลด์ 5+ ไม่ระบุคำเตือนหรือข้อควรระวังกำกับไว้บนฉลาก        · ระยะเวลาในการจัดผมให้อยู่ทรงที่มีระบุไว้คือ 24, 48 และ 72 ชั่วโมง โดยยี่ห้อดีแคช แกลมเมอไรซ์ เคลย์ แว๊กซ์ มีระยะเวลาอยู่ทรงนานที่สุด         · เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 กรัม ราคาแพงสุดมากกว่าราคาถูกสุดเกือบ 10 เท่า          · ส่วนใหญ่บริษัทผู้ผลิตอยู่ในประเทศไทย (6 ตัวอย่าง) นอกนั้นมีผลิตจากอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และจีน ฉลาดซื้อแนะ        · เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากภาษาไทย และมีข้อความตามที่กฎหมายกำหนด คือ ชื่อผลิตภัณฑ์ เลขที่จดแจ้ง ส่วนประกอบ วิธีใช้ ชื่อและสถานที่ตั้งผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ครั้งที่ผลิต เดือนปีที่ผลิต และปริมาณสุทธิ รวมทั้งต้องซื้อจากร้านค้าที่เชื่อถือได้ เพื่อป้องกันผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานด้วย         · ควรเช็กเลขที่จดแจ้งบนฉลากว่าได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงสาธารณสุขถูกต้องหรือไม่ เพื่อป้องกันผลิตภัณฑ์ลอกเลียนแบบแอบสวมทะเบียนปลอม         · หากไม่แน่ใจว่าจะเลือกแบบไหนดี ให้ลองซื้อไซส์เล็กมาทดลองใช้ก่อนก็ได้         · ควรอ่านและทำความเข้าใจวิธีใช้ของแต่ละผลิตภัณฑ์ที่อาจมีขั้นตอนแตกต่างกัน และปฏิบัติตามคำเตือนที่ระบุไว้ เช่น ไม่ควรเก็บสินค้าในที่มีอุณหภูมิสูง ควรเก็บให้พ้นมือเด็ก ควรหยุดใช้ทันทีเมื่อมีอาการแพ้ เป็นต้น        · หลังใช้ 1-2 วันควรสระผมทำความสะอาด ไม่ควรปล่อยให้สารเคมีเกาะเคลือบอยู่บนผมนานเกินไป เพื่อไม่ให้สารเหล่านั้นตกค้าง และสะสมมากจนเกิดผลข้างเคียงต่างๆ ตามมาได้        · คำศัพท์น่ารู้ สังเกตคุณสมบัติเบื้องต้นจากชื่อผลิตภัณฑ์ได้ เช่น Spike = เซ็ตให้ผมตั้งหรือล็อกให้แข็งอยู่ทรง  Matt = ใช้แล้วผมไม่ขึ้นเงา เส้นผมดูมีน้ำหนัก เหมาะกับช่วงเร่งรีบ และ Clay Wax = ต้องวอร์มให้เนื้อนิ่มโดยขยี้บนมือก่อน ใช้เซ็ตผมให้อยู่ทรงแลดูเป็นธรรมชาติ ในลุคสบายๆ เป็นต้น                          ข้อมูลอ้างอิงhttps://www.pobpad.comhttps://bestreview.asia/hair-styling-for-men/https://thestandard.co/hairstyling-products-for-men/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 276 ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ สำรวจซ้ำรอบใหม่ปัญหาไม่ลดลง

        ความเชื่อ ความเข้าใจ ตลอดมาของผู้บริโภค คือ น้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญคุณภาพดีและราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับน้ำดื่มบรรจุขวด   ทำให้การใช้บริการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญยังคงได้รับความนิยมอย่างสม่ำเสมอ แต่เป็นเช่นนั้นจริงหรือ         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญที่ประชาชนควรได้บริโภคน้ำดื่มจากตู้น้ำแบบหยอดเหรียญที่มีคุณภาพถูกสุขลักษณะไม่มีสารปนเปื้อนใด ๆ จึงได้ริเริ่ม ความร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในเขตพื้นที่ กรุงเทพมหานคร สำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 ซึ่งผลสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญปีนั้น พบว่า ร้อยละ 91.6 ไม่มี/ไม่พบใบอนุญาตแสดง ณ จุดให้บริการ         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังเฝ้าระวังอยู่ และเฝ้าระวังต่อ โดยร่วมกับ “ศูนย์สิทธิผู้บริโภคในพื้นที่ 33 เขตของกรุงเทพฯ ครั้งนี้สำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญจำนวน 1,530 ตู้         พบว่ามีตู้ที่ไม่ติดใบอนุญาตประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญถึงร้อยละ 90 ของกลุ่มตัวอย่าง หรือ1,380 ตู้         มีตู้น้ำดื่มไม่มีฉลากระบุเรื่องการควบคุมคุณภาพการเปลี่ยนไส้กรองน้ำ1,334 ตู้ คิดเป็นร้อยละ 87.2 และไม่มีการแสดงรายงานการตรวจคุณภาพน้ำ จำนวน 1,392 ตู้  คิดเป็นร้อยละ 91         อีกทั้งยังสำรวจความคิดเห็นผู้ใช้บริการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญใน 33 เขตดังกล่าวจำนวน 3,041 ราย   เพิ่มเติมอีกด้วย เพื่อฟังเสียงของประชาชน (ดูผลสำรวจได้ในนิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 260) การสำรวจครั้งใหม่        ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 และฉบับแก้ไขข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและเรื่องค่าธรรมเนียมสำหรับการดำเนินกิจการตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. 2561 และต้อง “ติดฉลาก” ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก พ.ศ. 2553 เรื่อง ให้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติเป็นสินค้าควบคุมฉลาก         เมื่อสถานการณ์ความปลอดภัยของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญยังไม่ได้รับการยกระดับ หน่วยงานยังไม่ตอบรับกับผลการสำรวจของภาคประชาชน ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2566 มูลนิธิฯ จึงร่วมกับศูนย์สิทธิผู้บริโภค 33 เขต ในพื้นที่กรุงเทพฯ สำรวจคุณภาพตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอีกครั้งระยะเวลาการสำรวจ          มิ.ย. - ก.ค. 2566 พื้นที่การสำรวจ        33 เขตกรุงเทพฯ ได้แก่ เขตบางบอน,ลาดพร้าว,หนองจอก,แรงงานหนองจอก,คลองเตย,คลองสาน,คันนายาว,จตุจักร,จอมทอง,ดอนเมือง,ทุ่งครุ,สาทร,บางเขน,บางกอกใหญ่,บางขุนเทียน,บางคอแหลม,บางนา,บางพลัด,บึงกุ่ม,ประเวศ,พระโขนง,มีนบุรี,ยานนาวา,ราษฎร์บูรณะ,ลาดกระบัง,วัฒนา,สวนหลวง,สะพานสูง,สายไหม,หลักสี่,ห้วยขวาง,คลองสามวาและแรงงานนอกระบบเขตลาดกระบังแนวทางการการสำรวจ         การสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ดำเนินการในกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ (1) การขออนุญาตประกอบกิจการตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมสำหรับการดำเนินกิจการตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. 2561 (2) พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และ (3) คำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุุขเรื่องแนวทางการควบคุมการประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ พ.ศ. 2553         กรอบการสำรวจมีดังนี้ 1.ใบอนุญาตประกอบกิจการ 2.สถานที่ตั้ง 3.ลักษณะทางกายภาพ 4.แหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิต 5.การบำรุงรักษาและทำความสะอาด และ 6.การติดฉลาก   ผลการสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ (2566)1.ใบอนุญาตประกอบกิจการ          93 % ไม่พบการติดใบอนุญาตประกอบกิจการ (เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนที่ไม่พบการติดใบอนุญาต 91 %) 2.สถานที่ตั้ง         30% บริเวณที่ตั้งมีฝุ่นมาก           8% อยู่ใกล้แหล่งน้ำเสียหรือมีน้ำขัง         2% พบแมลงหรือสัตว์พาหนะนำโรคบริเวณตู้น้ำ  3.กายภาพของตู้น้ำ         31%  ตู้น้ำไม่สะอาด         6%  ไม่มีฝาปิดจ่ายน้ำ         5%  ไม่มีฝาปิดช่องหยอดเหรียญ         31% หัวจ่ายน้ำไม่สะอาด 4. แหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิต        96%  ใช้น้ำประปาในการผลิตน้ำดื่ม5. การบำรุงรักษาและทำความสะอาด          57 %  ไม่มีการล้าง ทำความสะอาดถังเก็บน้ำภายในทุกเดือน  6.การติดฉลาก         93%   มีชื่อยี่ห้อ ชื่อผู้ผลิต หรือเบอร์ติดต่อ         26%   ไม่มีข้อแนะนำ หรือวิธีการใช้งาน         85%   ไม่มีบันทึกการเปลี่ยนไส้กรอง         87%    ไม่มีรายงานการตรวจคุณภาพน้ำ         42% ไม่มีแสดงราคาน้ำดื่มต่อลิตร         56%    ไม่มีคำเตือนระบุว่า "ระวังอันตรายหากไม่ตรวจสอบวันเดือนปีที่เปลี่ยนไส้กรองและตรวจสอบคุณภาพน้ำ”                  ข้อเสนอแนะจากการสำรวจ          1. เร่งดำเนินการตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานและดำเนินการตามกฎหมาย กับผู้ประกอบธุรกิจที่กระทำผิดตาม พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และฉบับแก้ไข         2. ให้มี “ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครควบคุมการประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ” เป็นการเฉพาะ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การทำธุรกิจการติดตั้งตู้น้ำดื่ม และให้มีบทกำหนดโทษ เพื่อให้น้ำที่ผลิตมีความสะอาดและปลอดภัย เพราะปัจจุบันผู้เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญยังไม่มีความชัดเจนในบทบาทหน้าที่ของตนเอง เช่น หากเป็นเพียงผู้ให้เช่าพื้นที่เพื่อการติดตั้งตู้น้ำดื่มเท่านั้น ไม่ได้เป็นเจ้าของตู้น้ำดื่ม ผู้ให้เช่าพื้นที่จะต้องร่วมปฏิบัติตามกฎ ระเบียบใดบ้าง เป็นต้น         3. เสนอให้หน่วยงานรัฐร่วมมือกับองค์กรเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่ขยายผลเรื่อง การตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ เช่น การสนับสนุนผ่านกองทุนสุขภาพของแต่ละเขตพื้นที่ เป็นต้น ........................................... เลือกใช้ 'ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ' อย่างไร ให้ปลอดภัย        1. บนตู้น้ำดื่มต้องแสดง 'ใบอนุญาตประกอบกิจการ' ไว้ที่ตู้ให้เห็นชัดเจน (มีอายุ 1 ปี)        2. สถานที่ตั้งห่างไกลจากท่อระบายน้ำ ตลาดสด แหล่งขยะ ปลอดสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค อย่างหนู แมลงวัน แมลงสาบ        3. ตู้ยกสูงจากพื้นอย่างน้อย 10 เซ็นติเมตร สภาพตู้น้ำสะอาด ไม่มีฝุ่นจับหนา ไม่ผุกร่อน รั่วซึม หรือเป็นสนิม        4. แสดงการจดบันทึก วัน เดือน ปี ที่เปลี่ยนไส้กรองทุกครั้ง        5.แสดงวันเดือนปีที่ตรวจสอบคุณภาพน้ำและมีคำเตือน'ตัวอักษรสีแดง'บนพื้นสีขาวระบุว่า "ระวังอันตรายหากไม่ตรวจสอบวันเดือนปีที่เปลี่ยนไส้กรองและตรวจสอบคุณภาพน้ำ"        6. ห้องจ่ายน้ำไม่มีคราบสกปรกตะไคร่น้ำหรือน้ำขังสภาพฝาปิดห้องจ่ายน้ำไม่ชำรุดแตกหัก        7.หัวจ่ายน้ำไม่มีคราบตะไคร่น้ำหรือสนิมจับและควรล้างภาชนะให้สะอาดก่อนบรรจุน้ำขณะรองน้ำปากภาชนะไม่จ่อติดหัวจ่ายน้ำ "น้ำดื่มต้องใส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรสชาติ" ข้อมูลจาก: คณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 276 “รอยสิว” แก้ยังไงดี

        “รอยสิว” ไม่ใช่เรื่องสิวๆ เอาเสียเลย ยิ่งถ้ามันเยอะจนเกินไป ยิ่งเป็นเรื่องกวนใจอยู่ไม่ใช่น้อย เพราะมันทำให้ผู้ประสบปัญหาขาดความมั่นใจได้ไม่ว่าจะเป็นรอยดำ รอยแดงหรือหลุมสิวที่ทิ้งร่องรอยไว้บนหน้า แต่มันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับคนเป็นสิว อย่างไรก็ตามก็พอมีวิธีการรักษา ดูสิว่าทำอย่างไรได้บ้าง           ก่อนที่จะไปรักษารอยสิว สิ่งที่ไม่ควรทำและหลีกเลี่ยง มีดังนี้         ·  เวลาเป็นสิวไม่ว่าจะสิวอุดตันหรือสิวอักเสบ ห้ามแกะ/บีบสิว หรือกดสิวเอง ควรให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้กดเท่านั้น        ·  ไม่ขัดถู สครับใบหน้าแรงๆ เพื่อไม่ก่อให้เกิดการระคายเคือง         · ไม่ควรนำส่วนผสมต่างๆ ที่เป็นกรดแรงๆ มาแต้มสิวเพราะอาจเกิดอาการไหม้ได้จนทำให้เป็นรอยดำมากกว่าเดิมวิธีการรักษารอยดำ แดง จากสิว                   รอยสิวต่างที่เกิดขึ้นหลังจากที่สิวหายแล้วนั้น หากเป็น “รอยแดง” และ “รอยดำ” บริเวณบนใบหน้าจะรักษาได้ง่าย นั่นคือต้องขยันทาครีมหรือเจลลดรอยสิวอย่างสม่ำเสมอ โดยสามารถใช้พวกผลิตภัณฑ์ช่วยลดรอยดำจากสิวที่มีจำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไปได้ แต่จะให้ดีเลือกตัวที่มีกลุ่มสารประกอบ เช่น ไนอะซินาไมด์ วิตามินซี  กรดซาลิไซลิก(กลุ่มผลัดเซลล์ผิว) หรืออาร์บูติน โดยเลือกที่มีส่วนผสมที่มาจากสารสกัดจากธรรมชาติ เช่น ว่านหางจระเข้ มะเขือเทศ หอมแดง เป็นต้น อ่านฉลากให้ละเอียดเพื่อดูส่วนผสมต่างๆ ให้ดีเพื่อป้องกันที่จะแพ้ส่วนผสมบางตัว และอย่าลืมดูวันเดือนปีที่หมดอายุ รายละเอียดวิธีการใช้ ชื่อบริษัทที่ผลิต/จัดจำหน่าย                          ในส่วนของสารกลุ่มผลัดเซลล์ผิวแน่นอนว่าสามารถช่วยลดรอยได้แต่ควรระมัดระวังการใช้ให้ถูกวิธี อ่านฉลากก่อนซื้อทุกครั้งว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับอะไร เนื่องจากผลิตภัณฑ์กลุ่มผลัดเซลล์ผิวบางตัวใช้เป็นกลุ่มรักษาสิว ซึ่งหากนำมาใช้ลดรอยโดยเฉพาะนั้น คงจะไม่เหมาะเพราะใช้ผิดวัตถุประสงค์และอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองได้มากกกว่าเดิม จากหน้าที่ดีขึ้นอาจจะกลายเป็นแย่ลงได้นั่นเอง                 นอกจากนี้ อย่าลืมทดสอบอาการแพ้ก่อนใช้ผลิตภัณฑ์ทุกตัว และที่สำคัญควรทามอยเจอร์ไรเซอร์รวมถึงครีมกันแดดในช่วงระหว่างรักษารอยดำ แดง เพื่อป้องกันแสงแดดทำร้ายผิวให้หมองคล้ำกว่าเดิม ควรเป็นกันแดดที่มีประสิทธิภาพดี เช่น มี SPF 50+ ขึ้นไป         หากผู้บริโภคมีรอยสิวเยอะมากและรู้สึกว่าใช้ผลิตภัณฑ์ลดรอยแล้วแต่ก็ไม่ช่วยอะไร อีกวิธีที่ช่วยลดรอยให้เร็วขึ้น คือ การทำเลเซอร์ลดรอย ซึ่งส่วนมากจะนิยมใช้เป็นตัวเลเซอร์ IPL (ปัจจุบันอาจมีเลเซอร์ตัวอื่นที่สามารถช่วยได้เช่นเดียวกัน) การเข้าใช้บริการรักษาด้วยเลเซอร์จากคลินิกเสริมความงาม ควรตรวจสอบให้ดีเกี่ยวกับรายละเอียดใบอนุญาตคลินิก สอบถามเรื่องค่าใช้จ่ายหรือวิธีการรักษาให้ชัดเจน และรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น         กรณี รอยหลุมสิว หรือรอยแผลเป็นที่เกิดจากสิว เป็นรอยที่รักษายากพอสมควร ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีครีมตัวไหนรักษาให้กลับมาเนียนเหมือนเดิมได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ วิธีเดียวคือการเลเซอร์เท่านั้น ดังนั้นหากใครที่ดูรีวิวจากบรรดาอินฟลูเอนเซอร์แล้วมีการเคลมว่ามี ครีมสามารถรักษาหลุมสิวให้หายได้อย่างรวดเร็ว 3-7 วัน อย่าหลงเชื่อนะคะ  ข้อมูลจาก วิธีรักษาและลบรอยสิว - พบแพทย์ (pobpad.com)https://ch9airport.com/th รอยดำหลังการเกิดสิว รักษาอย่างไรดีhttps://www.si.mahidol.ac.th/metc/met/th/images/exhibition/METex2022/Acne/scar.html

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 276 ผลิตภัณฑ์กันแดดสำหรับ “เด็ก”

        ฤดูร้อนไม่เคยหายไปจากบ้านเรา แม้ในวันที่มีเมฆมากก็ไม่ได้แปลว่าเราจะรอดพ้นจากรังสียูวี โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ผู้ปกครองพาไปทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงปิดเทอม ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอนำเสนอผลการทดสอบเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์กันแดดสำหรับเด็กที่มีค่า SPF ไม่ต่ำกว่า 50+         องค์กรที่ส่งตัวอย่างเข้าทดสอบในครั้งนี้คือองค์กรผู้บริโภคที่เป็นสมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (International Consumer Research & Testing) ในยุโรป เช่น เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ออสเตรีย ฝรั่งเศส โปรตุเกส สเปน หลายยี่ห้อมีจำหน่ายในบ้านเราหรือสั่งซื้อได้ออนไลน์  คราวนี้เรามีมาให้เลือก 20 ผลิตภัณฑ์ ทั้งแบบโลชัน สเปรย์ และแบบแท่ง เช่นเดียวกับครั้งที่ผ่านมา เราแบ่งคะแนนการทดสอบออกเป็น 4 ด้านดังนี้        ร้อยละ 65       ประสิทธิภาพในการป้องกัน UVA/UVB และ UVA ratio (ทดสอบในห้องปฏิบัติการ)        ร้อยละ 20       ความพึงพอใจของผู้ใช้ เช่น เปิดใช้ง่าย ทาง่าย ซึมลงผิวเร็ว ไม่เหนียว ไม่ทิ้งคราบ         ร้อยละ 10       ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ส่วนผสมที่ไม่ทำลายธรรมชาติ บรรจุภัณฑ์ที่ไม่ทำให้เกิดมากเกินไป สามารถนำไปรีไซเคิลได้ สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ได้หมด ไม่มีตกค้าง เป็นต้น)         ร้อยละ 5         ฉลากที่ถูกกฎหมายและเป็นมิตรต่อผู้บริโภค          ในภาพรวมเราพบว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ต่างกันมากนักในเรื่องประสิทธิภาพการป้องกันแดดและความพึงพอใจของผู้ใช้ (ส่วนใหญ่ได้คะแนนระดับสี่ดาวขึ้นไป ยกเว้นผลิตภัณฑ์ที่ได้คะแนนรวมน้อยกว่า 50) เมื่อเทียบกับครั้งก่อน ผู้ผลิตมีการปรับปรุงเรื่องของฉลากดีขึ้นมาก อย่างน้อยร้อยละ 50 มีการแสดงฉลากที่ดีขึ้น แต่ยังต้องปรับปรุงอีกมากในเรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่วนใหญ่ยังได้คะแนนเพียงหนึ่งหรือสองดาวเท่านั้น            “ข่าวดี” คือเราไม่พบพาราเบนหรือสารเคมีที่รบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ (EDCs) และมีเพียงสามผลิตภัณฑ์เท่านั้นที่มีค่า SPF ต่ำกว่าที่ระบุในฉลาก นอกจากนั้นเรายังพบว่าราคาของผลิตภัณฑ์ไม่ได้ยืนยันประสิทธิภาพในการป้องกันรังสียูวีเสมอไป ตัวที่ได้คะแนนสูงที่สุดสามอันดับแรกมีราคาไม่เกิน 5 บาทต่อหนึ่งมิลลิลิตร ในขณะที่ตัวที่มีราคามิลลิลิตรละ 16 บาทนั้นเข้ามาที่อันดับเก้า อีกข้อสังเกตคือมีความเป็นไปได้ที่ผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตรายเดียวกันจะมีประสิทธิภาพในระดับที่ต่างกันด้วย         หมายเหตุ  ราคาที่นำเสนอเป็นราคาที่พบในร้านค้าออนไลน์ และคำนวณจากหน่วยเงินในประเทศต้นทาง เช่น ยูโร หรือปอนด์  โปรดตรวจสอบอีกครั้งก่อนตัดสินใจ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า0 Point

ฉบับที่ 276 โดนบ้านน็อคดาวน์ น็อค

        ปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงานเกิดขึ้นบ่อยครั้ง คราวนี้เกิดขึ้นกับทาสแมว คุณดุจดาว หญิงสาวผู้รักน้องแมวเหมือนลูก ไม่ใช่รักธรรมดาด้วยนะ รักแบบสุดจิตสุดใจเพราะเลี้ยงแมวจรจัดไว้กว่า 10 ตัว         เมื่อปริมาณเหมียวน้อยมากจึงจำเป็นต้องจัดหาพื้นที่เพื่อเหล่านายท่าน ซึ่งคุณดุจดาวเคยเห็นโฆษณาเกี่ยวกับบ้านน็อคดาวน์สำหรับน้องแมว เธอเลยมีความคิดอยากสร้างบ้านน็อคดาวน์ให้ลูกๆ เธอติดต่อไปที่เพจของบริษัท xxx ซึ่งประกาศรับสร้างบ้านทรงนอร์ดิก ที่ดูแล้วสวยงาม แถม ความน่าเชื่อถือก็มีด้วยนะ เพราะมีดาราชื่อดังหลายคนเป็นพรีเซ็นเตอร์ ก็เลยตัดสินใจว่าจ้างบริษัทฯ นี้ทำบ้านน็อคดาวน์ให้แมวของเธอ ซึ่งตกลงการจ้างทำที่ราคา 1.6 แสนบาทเศษ แบ่งจ่าย 2 งวด กำหนดเวลา 20 วัน บ้านเสร็จ         ขณะที่สบายใจแล้วว่าจะมีที่ทางให้เหมียวๆ เธอกลับต้องโทรศัพท์มาร้องเรียนที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  บอกว่า เจอน็อค เข้าเต็มเปา เพราะความไว้ใจเหล่าพรีเซนเตอร์ของเพจแท้ๆ  คือเธอจ่ายเงินค่าจ้างให้บริษัทฯ ไปก่อน เพราะบริษัทอ้างว่าจะส่งมอบสัญญาให้ภายหลังจากก่อสร้างเสร็จแล้ว เรื่องนี้เลยกลายเป็นสัญญาปากเปล่านะสิ         เมื่อไม่มีสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร คุณดุจดาวจึงเสียเปรียบ เพราะนับตั้งแต่ 15 มิถุนายน 2566 ที่เริ่มก่อสร้าง... จวบจนถึงปัจจุบัน ( 2567 ) บ้านน็อคดาวน์ของแมวก็ไม่เสร็จเสียที แถมของเดิมที่สร้างไว้ก่อนหน้านี้ (แบบยังไม่เสร็จ) ก็มีปัญหาแทบทุกจุดของบ้าน แล้วตอนนี้ผู้รับเหมาก็หายตัวไปแล้วด้วยก็เลยมาขอคำปรึกษาว่าจะทำยังไงดีเพื่อให้ได้เงินกลับคืนมา หรือให้ผู้รับเหมากลับมาสร้างบ้านให้เสร็จเรียบร้อย แนวทางการแก้ไขปัญหาเจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ เมื่อได้ฟังปัญหาจบ จึงให้คำแนะนำเบื้องต้น 3 ข้อ ดังนี้        1. หาก ”ผู้ร้อง”ไม่ต้องการให้ทำจดหมายบอกยกเลิกสัญญาและขอเงินคืน โดยส่งแบบไปรษณีย์ตอบรับเท่านั้น พร้อมส่งสำเนาถึง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อช่วยติดตามเรื่องและสามารถใช้เป็นหลักฐานทางด้านคดีด้วย        2. ใน จดหมาย “ให้ ผู้ร้อง” กำหนดเงื่อนเวลากำกับให้ชัดเจน เพราะหากเลยกำหนด แต่ผู้รับเหมาไม่ยอมคืนเงิน ขั้นตอนต่อไปมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะเชิญ 2 ฝ่าย มาไกล่เกลี่ย        3. หากกระบวนการไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ ผู้ร้องในฐานะผู้เสียหาย สามารถยื่นฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค ที่ศาลแพ่ง แผนกคดีผู้บริโภค https://civil.coj.go.th/.../category/detail/id/22/iid/334689                                                                                     เบื้องต้นผู้ร้องจะดำเนินการตามข้อแนะนำ หากต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมจะแจ้งมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคดำเนินการฟ้องคดีแล้ว ในกระบวนการทางศาลอาจเกิดกระบวนการไกล่เกลี่ยอีกครั้งก็ได้ โดยการฟ้องร้องกรณีนี้สามารถฟ้องได้ทั้งทางแพ่งและอาญา         ในทางแพ่ง: กรณีดังกล่าวเป็นการจ้างทำของ ผู้รับจ้างจะต้องส่งมอบงานให้เสร็จ ตามที่ตกลงกัน การที่ผู้รับจ้างไม่สามารถส่งมอบงานได้ จึงถือเป็นการผิดสัญญา ผู้ว่าจ้างมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากผู้รับจ้างที่ผิดสัญญา เช่น เรียกเงินค่าจ้างคืน ค่าปรับหรือเบี้ยปรับส่งมอบงานล่าช้า ค่าเสียหายกรณีชำรุดบกพร่อง เป็นต้น ทั้งนี้ผู้ว่าจ้างจะต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายใน 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1)         ในทางอาญา : เมื่อมีการผิดนัดไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างบุคคลสองฝ่ายเกิดขึ้น มักมีปัญหาข้อกฎหมายที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ คู่กรณีที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญานั้นมีจะความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ต้องพิจารณา “เจตนาขณะทำสัญญา” ของคู่กรณีฝ่ายที่ผิดสัญญาว่า ขณะที่ทำสัญญามีเจตนาจะปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลงที่ให้ไว้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่ ถ้าขณะทำสัญญาคู่กรณีฝ่ายที่ผิดสัญญา ไม่มีเจตนาจะปฏิบัติตามสัญญาเลยตั้งแต่แรก เป็นการทำสัญญาเพื่อหวังผลประโยชน์จากคู่กรณีแบบนี้จึงถือ เป็นความผิดฐานฉ้อโกง แต่ถ้าขณะทำสัญญา คู่กรณีฝ่ายที่ทำผิดสัญญานั้น มีเจตนาที่จะปฏิบัติตามสัญญา แต่ภายหลังแล้วไม่ได้ปฏิบัติตาม เป็นเพียงเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง หากจะดำเนินคดีในทางอาญาจึงจะต้องมีหลักฐานชี้ให้ศาลเห็นให้ได้ว่า ขณะทำสัญญาคู่กรณีมีเจตนาฉ้อโกงตั้งแต่แรกแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 276 เจอสิ่งแปลกปลอมในกระปุก “ผิวส้ม” อบแห้ง

        “ผิวส้ม” อบแห้ง ขนมย้อนวัยยุค 90 ยอดฮิต ที่คุณกล้าชื่นชอบเป็นอย่างมากแต่มันกับทำให้คุณกล้าต้องเซ็ง! เพราะดันเจออะไรก็ไม่รู้แปลกๆ ปนมาด้วยนะสิ         คุณกล้าได้มาร้องเรียนและเล่าเรื่องราวให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟังว่า เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เขาได้ไปซื้อ “ผิวส้ม แมนดาริน” มาจากร้านขายยาแถวบ้าน 1 กระปุก ราคา 25 บาท หลังจากได้มาเขาและครอบครัวก็แบ่งกันรับประทานจนผิวส้มที่อยู่ในกระปุกเริ่มลดลงไปเรื่อยๆ จนเหลืออยู่ 2 ชิ้นสุดท้าย คุณกล้าบอกว่าใน 2 ชิ้น สุดท้ายนี้ละที่ทำให้เขาถึงกับต้องร้องยี้! เพราะได้เจอกับ “ก้นบุหรี่” ในกระปุกแถมเหมือนก้นบุหรี่จะได้ผ่านการใช้งานมาแล้วซะด้วย จึงทำให้เขาและครอบครัวเริ่มเกิดความกังวล เนื่องจากได้รับประทานไปแล้ว อาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนและโรคติดต่ออยู่ด้วยหรือไม่ แค่นึกก็ขนลุกขนพอง แล้วถ้ามีอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในอนาคตได้ จึงอยากได้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้คำแนะนำว่าควรจะทำอย่างไรดี?              แนวทางการแก้ไขปัญหา                    ก่อนหน้าจะเข้าปรึกษากับมูลนิธิฯ คุณกล้าก็ได้ติดต่อไปที่ทางบริษัทผู้จำหน่ายสินค้า “ผิวส้ม อบแห้ง” แล้วแต่ยังเจรจากันไม่ได้ข้อตกลงอันเป็นที่หน้าพอใจ ซึ่งทางคุณกล้าเองนั้นต้องการขอเรียกค่าเสียหายครั้งนี้เป็นมูลค่า 25,000 บาท         ทางมูลนิธิฯ ได้ติดต่อไปทางบริษัทผู้จำหน่ายสินค้าดังกล่าวเพื่อช่วยเจรจากับทางบริษัท ซึ่งทางบริษัทก็ได้แจ้งว่า “ขออภัยในสิ่งที่เกิดขึ้น และให้เหตุผลว่า สินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่ทางบริษัทสั่งตัวผิวส้มเข้ามาแล้วดำเนินการบรรจุหีบห่อ ซึ่งไม่สามารถควบคุมการบรรจุหีบห่อได้” และจะชดเชยผู้เสียหายเป็นขนมชุดใหญ่ รวมถึงคืนเงินค่าสินค้าและยกเลิกการจำหน่ายสินค้าดังกล่าวอีกด้วย ถือว่าผู้จำหน่ายมีความรับผิดชอบอยู่พอสมควร         อย่างไรก็ตามทางผู้ร้องคือคุณกล้าได้ปฏิเสธการชดเชยดังกล่าวพร้อมกับได้ทำหนังสือร้องเรียนไปทาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบผู้จำหน่ายขนมดังกล่าวอีกด้วย สำหรับคุณกล้าหากประสงค์ในเรื่องการชดเชยค่าเสียหายก็สามารถใช้สิทธิทางศาลได้เช่นกัน         ฝากถึงผู้บริโภคหากพบเจอปัญหาลักษณะเดียวกับคุณกล้า ควรเตรียมเอกสารดังนี้         1. ถ่ายรูปฉลากและตัวสินค้า รวมถึงสิ่งแปลกปลอมที่พบ พร้อมเก็บหลักฐานตัวบรรจุภัณฑ์และใบเสร็จจากร้านที่ซื้อไว้เป็นหลักฐาน         2. นำหลักฐานทั้งหมดเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ เพื่อเป็นหลักฐาน         3.ติดต่อบริษัทเพื่อเจรจาเรื่องการชดเชยค่าเสียหาย         4.ติดต่อทำหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานกำกับดูแล ด้านอาหารได้แก่ อย. หรือในต่างจังหวัด ร้องเรียนได้ที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่เกิดเหตุ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 276 จ่ายล่วงหน้าซื้อกิ๊ฟวอชเชอร์ร้านอาหาร หากร้านเจ๊ง ไปแจ้งความขอเงินคืนได้

        กลยุทธ์การตลาดของร้านอาหารมีหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือเสนอขายกิ๊ฟวอชเชอร์ให้ลูกค้าจ่ายเงินล่วงหน้าซื้อโปรโมชั่นที่เชียร์ว่าคุ้มสุดๆ ทำให้ลูกค้าหลายคนตัดสินใจซื้อเพราะคำนวณแล้วว่าคุ้มจริง โดยลืมนึกถึงความเสี่ยงว่าหากจู่ๆ ร้านเจ๊ง แล้วเงินที่เหลือยังจะได้คืนไหม         คุณแพรวก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้นึกถึงความเสี่ยงในข้อนี้ไว้ก่อนเลย เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2566 เธอไปกินบุฟเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่นที่ร้านชื่อดังแห่งหนึ่งสาขาพัทยา ซึ่งทางร้านจะขายแบบโปรฯ ในราคา 899 บาท ซื้อ 1 แถม 1 โดยต้องจ่ายเงินก่อน มากินเท่าไหร่ก็หักไปเท่านั้น แรกๆ ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ต่อมาวอชเชอร์เริ่มใช้ไม่ได้ ต้องจองล่วงหน้าและเมนูอาหารก็ไม่ครบ ลดลงไปประมาณ 30%           มีอยู่วันหนึ่ง คุณแพรวแปลกใจที่เห็นพนักงานเต็มร้านแต่กลับไม่รับลูกค้า บอกว่าวัตถุดิบในการทำอาหารไม่เข้ามาที่ร้าน เธอเริ่มสงสัยจึงลองไปเช็กที่สาขาอื่นๆ ก็พบว่าร้านอื่นมีวัตถุดิบครบ และเปิดบริการให้ลูกค้าได้ตามปกติ จากนั้นเข้าไปติดตามในเพจของร้านนี้ ก็พบลูกค้าที่มีปัญหาซื้อกิ๊ฟวอชเชอร์ของร้านนี้ไว้แต่กลับใช้ไม่ได้เพราะร้านปิดเหมือนกับเธอ เข้ามาคุยในเพจและรวมตัวกันราว 200 กว่าคน          คุณแพรวเองซื้อกิ๊ฟวอชเชอร์ไว้ประมาณ 4,000 กว่าบาท พอเห็นท่าไม่ดีจึงไปแจ้งความพร้อมผู้เสียหายในเพจอีกประมาณ 10 คน ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยา แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าเลย เมื่อติดต่อทางร้านไป ก็แจ้งว่ากำลังปิดปรับปรุงพื้นที่ให้ดีขึ้น แต่ถ้าลูกค้าคนไหนจะขอเงินคืนก็ยินดีจ่ายให้ภายใน 10 วัน แต่แล้วก็เงียบหายไปอีก                    ต่อมาคุณแพรวได้รู้ว่ามีพนักงานของร้านเข้าไปแจ้งความด้วยว่ายังไม่ได้รับเงินเดือน ซึ่งทางร้านติดค้างไว้อยู่ 3 เดือน และเล่าถึงสาเหตุที่ร้านปิด เป็นเพราะว่าเจ้าของสั่งวัตถุดิบมาทำอาหารแล้วไม่จ่าย จนบริษัทที่ส่งอาหารไม่ส่งวัตถุดิบมาให้ คุณแพรวหวั่นใจว่าเจ้าของร้านอาหารนี้จะเบี้ยวหนี้ที่รับปากไว้ จึงโทรศัพท์ติดต่อมาที่มูลนิธิฯ เพื่อขอคำปรึกษา แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ทางเจ้าหน้าที่แนะนำให้คุณแพรวในฐานะผู้เสียหาย แจ้งความเกี่ยวกับการฉ้อโกง เป็นคดีอาญา ให้ตำรวจเรียกคู่กรณีมาคุยกันที่สถานีตำรวจ เพื่อเป็นการกดดันคู่กรณี เนื่องจากถ้าเจ้าของร้านอาหารไม่ต้องการที่จะขึ้นศาลหรือติดคุก ก็อาจจะพยายามหาเงินมาใช้หนี้ให้ได้ในที่สุด         หลังจากที่คุณแพรวได้พาผู้เสียหายประมาณ 10 คน ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยาด้วยกันอีกครั้งตามคำแนะนำแล้ว เพียงไม่นาน ทางเจ้าของร้านอาหารได้ติดต่อมาและตกลงจะคืนเงินทั้งหมดของผู้เสียหายแต่ละคนจนครบทุกคน ล่าสุด คุณแพรวได้รับเงินคืนเรียบร้อยแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 276 ถูกมิจฉาชีพหลอกให้จองที่พัก

        เรื่องราวของมิจฉาชีพที่มาในรูปแบบของเพจเฟซบุ๊กปลอมหลอกให้โอนเงินจนเสียทรัพย์สินเกิดขึ้นบ่อย แต่ก็ยังมีหลายคนพลาดเพราะความเนียนของมิจฉาชีพ ซึ่งไม่นานนี้คุณพลอยก็ได้ร้องเรียนเรื่องนี้เข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเช่นกัน         เรื่องนี้เริ่มจาก คุณพลอย ได้พบ Facebook ชื่อ BEACH VIEW pool Villa โพสต์โฆษณาที่พักที่หาดเจ้าสำราญ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ซึ่งสวยงาม ถูกใจมาก คุณพลอยสนใจจึงติดต่อไปจองเข้าพักในวันที่ 23-24 ธ.ค. 66 แอดมินเพจ BEACH VIEW pool Villa ก็ตอบกลับอย่างรวดเร็วแจ้งให้คุณพลอยโอนเงินค่าที่พักทันทีแล้วจะได้ส่วนลด 3,300 บาท จากราคาเต็ม 13,000 บาท คุณพลอยจึงโอนเงินค่าที่พักไปทันที จำนวน 9, 700 บาท  แต่เมื่อโอนเงินแล้วแอดมินเพจยังบอกอีกว่า ต้องโอนค่าประกันที่พักอีกจำนวน  5,000 บาท การจองจึงจะสมบูรณ์ คุณพลอยหลงเชื่อเพราะคิดว่าได้โอนเงินไปแล้ว 9, 700 บาท การติดต่อก็ไม่ได้ขาดหาย แล้วเรื่องเงินประกันก็มีเหตุผล ซึ่งเงินประกันย่อมได้คืนหากไม่มีอะไรเสียหายกับที่พัก เธอจึงโอนเงินไปให้อีก 5,000 รวมเป็นเงิน 14,700 บาทถ้วน         แต่เรื่องราวกลับถูกเปิดเผยว่า นี่คือมิจฉาชีพ เมื่อคุณพลอยเดินทางไปยังสถานที่จริงตามที่เพจระบุกลับไม่พบที่พักสวยหรูอย่างที่โพสต์ไว้เลย เวียนหายังไงก็ไม่เจอ เมื่อถามกับโรงแรมใกล้เคียงก็พบว่าไม่มีที่พักชื่อ Beach View Pool Villa และไม่สามารถติดต่อผู้ขายและแอดมินเพจได้อีกแล้ว จึงรู้ว่าถูกหลอก คุณพลอยจึงแจ้งความเพื่อดำเนินคดีที่ สน.สำเหร่ ทันที ต่อมาเมื่อนำไปไปสืบหาความจริงเรื่อยๆ จึงได้พบว่า แท้จริงแล้วภาพสวยๆ ที่อยู่บนโพสต์นั้นเป็นมิจฉาชีพนำภาพของที่พักชื่อ Canary Good Pool Villa มาเนียนหลอกลวงคน ซึ่งเจ้าของที่พัก (เจ้าของภาพ) ดังกล่าวก็ได้แจ้งความเอาผิดกับมิจฉาชีพแล้วด้วยเช่นกัน  แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อผู้บริโภครู้ว่าซื้อสินค้าบริการแล้วถูกหลอก  ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้         1.เก็บหลักฐานข้อมูลให้มากที่สุด เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อการสืบสวน เช่น เบอร์โทรศัพท์ผู้ขาย , ภาพหน้าร้านเพจ, โปรไฟล์ของพ่อค้าแม่ค้า,บัญชี, ธนาคารที่โอนเงินไป, สลิป และ การโอนเงินชำระค่าสินค้า         2. โทรแจ้งธนาคารอาญัตบัญชีของมิจฉาชีพทันที  เมื่อรู้ตัวว่าถูกโกง ผู้บริโภคสามารถโทรศัพท์ไปที่ศูนย์รับแจ้งเหตุภัยทางการเงินจากมิจฉาชีพของธนาคารต่างๆ ได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง (โดยที่ไม่จำเป็นต้องแจ้งความก่อน) ซึ่งเป็นไปตามพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี         3. ไปแจ้งความทันที โดยแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน โดยแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่า “ขอให้ดำเนินคดีให้ถึงที่สุด” อย่าทำเพียงลงบันทึกประจำวันเด็ดขาด! หรือแจ้งความออนไลน์ที่  www.thaipoliceonline.com         4. ประสานงาน ติดต่อแพลตฟอร์มผู้ให้บริการ เพื่อนำหลักฐานการแจ้งความ เพื่อแจ้งประสานงานขอข้อมูลมิจฉาชีพ ที่ใช้ทำการสมัคร และเพื่อให้ เพื่อค้นหาข้อมูลต่างๆ ในการตามตัว รวมทั้งเพื่อให้ แพลตฟอร์มผู้ให้บริการยกระดับความปลอดภัยของผู้ขายสินค้าด้วย             5.ส่งข้อมูลที่ได้เพิ่มมาให้กับตำรวจ เป็นระยะเพื่อตามตัวมิจฉาชีพให้ได้         อย่างไรก็ตามจนถึงปัจจุบัน คุณพลอยแม้จะได้แจ้งความกับตำรวจและติดต่อให้ธนาคารอายัดบัญชีธนาคารของมิจฉาชีพแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับเงินคืนแต่อย่างใด ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคขอย้ำว่า การมีความรู้เท่าทันไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพหรือการป้องกัน เป็นวิธีการที่ดีกว่าการแก้ปัญหาภายหลังแน่นอน  ซึ่งกรณีนี้ที่คุณพลอยถูกมิจฉาชีพหลอกให้จองที่พักในเพจ Facebook ชื่อ BEACH VIEW pool Villa  มีข้อสังเกตที่ผู้บริโภคสามารถนำไปป้องกันตนเองได้คือ           1. มิจฉาชีพให้คุณพลอยชำระค่าที่พักและค่าจองไปยังบัญชีที่เป็นชื่อบุคคล  ซึ่งหากเป็นโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้อง ชื่อบัญชีจะเป็นชื่อโรงแรมหรือบริษัทโดยตรง        2. เพจ Facebook ชื่อ BEACH VIEW pool Villa  มีรูปที่พัก ผู้ติดตามจำนวนมาก และยังมีโชว์ภาพผู้เข้าพัก เหมือนจริงทุกอย่างแต่เท่านั้นยังเชื่อไม่ได้ ต้องมีการตรวจสอบชั้นที่ 2 โดยผู้บริโภค ควรโทรศัพท์ไปติดต่อสอบถาม พูดคุยโดยตรงด้วยให้บ่อยครั้ง เพราะมิจฉาชีพส่วนใหญ่มักจะตั้งระบบไม่ให้สามารถโทรกลับได้ง่าย หากเบอร์ไม่สามารถติดต่อได้ หรือติดต่อได้ยาก จุดนี้จะทำให้เห็นพิรุธได้ว่า ไม่น่าเป็นเบอร์โทรศัพท์ติดต่อของที่พัก โรงแรมที่จะติดต่อได้ง่ายตลอดเวลา         3. หากเห็นว่ามีผู้เข้ามาพูดคุย หรือแสดงความคิดเห็นในเพจ เราควรเข้าไปดูเฟซบุ๊กของผู้ที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นด้วยว่า เป็นบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือ มีลักษณะของผู้ที่เป็นบุคคลจริงหรือไม่  มีข้อสังเกตว่าหากเป็นมิจฉาชีพมักใช้วิธีการจูงใจหลายรูปแบบ เช่น อ้างว่าจะให้เหล้าหรือไวน์ฟรีจำนวนมากเพื่อเร่งรัดให้ตัดสินใจโอนเงิน

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 276 เอาใจสายเทรด

        ตอนนี้ขอเอาใจสายเทรดหุ้นกันบ้าง ว่าแต่มันคืออะไร มันก็เป็นการสร้างผลตอบแทนจากหุ้นรูปแบบหนึ่งที่ไม่เน้นการถือหุ้นระยะยาวและรอให้ราคาเติบโตไปพร้อมๆ กับบริษัท แต่เน้นการจับจังหวะซื้อและขายหุ้น อ่านกราฟ เข้าใจจิตวิทยาการลงทุน แล้วก็ซื้อมา (ตอนราคาต่ำ) ขายไป (ตอนราคาสูง) ซึ่งราคาต่ำกับสูงนี่ก็ไม่เหมือนกันในแต่ละคนเพราะแผนการเทรดไม่เหมือนกัน         ก็เหมือนเดิมนั่นแหละ คุณต้องรู้ตัวก่อนว่าคุณรักจะเทรดหุ้น มีเวลานั่งดู ศึกษา และวิเคราะห์กราฟ มีแผนการเทรดชัดเจน และและและต้องมีวินัย ข้อนี้ต้องมีเหมือนกันไม่ว่าคุณจะเป็นนักลงทุนแบบไหน นักเทรดบางคนถึงกับพูดว่า ‘วินัย’ คือองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดด้วยซ้ำ         สิ่งที่สายเทรดทุกคนต้องเสาะแสวงหาความรู้ชนิดขาดไม่ได้คือการทำความเข้าใจกราฟและอินดิเคเตอร์ต่างๆ เพื่อดูแนวโน้มของหุ้นที่จะลงมือเทรด หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า แนวรับ-แนวต้าน ตลาดหมี ตลาดกระทิง กราฟแท่งเทียน เอลเลียตเวฟ และอีกมากมาย สิ่งเหล่านี้ต้องเรียนรู้ทั้งสิ้น         มีความรู้ที่ควรต้องมีแล้ว คุณก็ต้องกลับมาวางแผนการเทรดหุ้น หาจังหวะเข้าและออก เพราะถ้าเข้าสุ่มสี่สุ่มห้าคุณอาจต้องเจอคำว่า คนแพ้จ่ายรอบวง ขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจการบริหารเงินสดหรือสภาพคล่อง ไม่มีทางที่การเทรดทุกครั้งจะได้กำไร มันต้องมีวันที่ฟ้าไม่เข้าข้าง เกิดสงครามในอีกซีกโลก หรือแม้แต่อ่านกราฟผิดทำให้คุณขาดทุน ซึ่งคุณต้องรู้ตัวเองว่าคุณยอมรับการขาดทุนได้เท่าไหร่         โดยมากแล้วนักเทรดมักจะกำหนดผลขาดทุนเป็นเปอร์เซ็นต์ เช่น 5 เปอร์เซ็นต์ สมมติคุณเทรดหุ้นด้วยเงิน 100 บาท ถ้าหุ้นขึ้นคุณอาจปล่อยให้ let profit run หรือปล่อยให้หุ้นมันวิ่งไปเรื่อยๆ ตามแนวโน้มขาขึ้นของตลาด แต่เมื่อไหร่ที่เงินของคุณขาดทุนลงมาเหลือ 95 บาท ซึ่งก็คือผลขาดทุนที่คุณรับได้และกำหนดไว้ที่ 5 เปอร์เซ็นต์ จุดนี้คุณต้อง cut loss หรือขายตัดขาดทุนซะตามแผนการเทรดที่วางไว้         อย่าคิดว่า ไม่เป็นไร ขอรออีกนิด เดี๋ยวมันคงเด้งกลับขึ้นมา งั้นซื้อเพิ่มถัวเฉลี่ยไปก่อน หยุด! ห้ามเด็ดขาด เพราะคุณกำลังทำนอกแผนที่วางไว้ เมื่อถึงจุด cut loss ก็ต้องทำ เพื่อปกป้องเงินต้นให้เสียหายน้อยที่สุด การเทรดนอกจากจะไม่กำไรทุกครั้งแล้ว ยังอาจขาดทุนหลายครั้งด้วย         ถ้าคุณไม่มีวินัยในการทำตามแผนการเทรด คุณอาจเสียเงินต้นจำนวนมาก การหวังว่าการเทรดครั้งต่อๆ ไปจะทำให้เงินต้นที่เสียไปทั้งหมดกลับคืนมาพร้อมกำไรนั้นยากมากๆ ก็บอกแล้วว่าวินัยเป็นเรื่องสำคัญที่สุด         ดังนั้น ถามตัวเองว่าเหมาะกับทางนี้หรือไม่ ศึกษาการเทรดหุ้น วางแผนการเทรด บริหารเงินในมือให้ดี และจงมีวินัยกับแผนที่คุณสร้าง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 276 PFAS อุบัติภัยสารเคมีอันตรายที่เข้าสู่มนุษย์ทุกช่องทาง

        ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาทั่วโลกหวั่นวิตกและส่งสัญญาณเตือนถึงอันตรายของสารเคมีกลุ่ม PFAS หรือ Per- and Polyfluoroalkyl Substances  อย่างแพร่หลาย         ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงจะพาไปทำความรู้จักถึงอันตรายและการรับมือที่เราจะสามารถทำได้ PFAS  คืออะไร         PFAS  (per-and polyfluoroalkyl substances)        เป็นกลุ่มของสารเคมีที่มีคุณลักษณะมีพันธะทางเคมีระหว่างอะตอมของคาร์บอนและฟลูโอรีน ที่ยึดเหนี่ยวกันแน่นมากทำให้มีความเสถียรสูงและสลายตัวยาก สารเคมีกลุ่ม PFAS คุณสมบัติสำคัญคือต้านความร้อน น้ำมันและน้ำได้ดี  ปัจจุบันสารเคมีกลุ่มนี้มีมากถึง 14,000 ชนิดและถูกนำมาใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม         PFAS เป็นสารเคมีที่มนุษย์สร้างขึ้น ถูกค้นพบตั้งแต่ใน ค.ศ. 1940 คุณสมบัติด้านความทนทาน ยากต่อการสลายตัว และเมื่อสลายแล้วยังแปรเปลี่ยนสภาพเป็นอีกสารหนึ่งได้ตลอดเวลา ดังนั้นทั่วโลกจึงขนานนาม สารเคมีกลุ่มนี้ในอีกชื่อว่า “สารเคมีตลอดกาล”          PFAS  พบได้ทั้งในดิน แหล่งน้ำ สัตว์น้ำ เช่น ปลา อาหารแปรรูป น้ำดื่ม เสื้อผ้า อุปกรณ์เครื่องครัว บรรจุภัณฑ์บรรจุอาหาร เช่น กล่องพิซซ่า ถุงใส่ป๊อบคอร์น ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น แชมพู เครื่องสำอาง ไหมขัดฟันและยังอีกมากมาย  อันตรายของสารเคมี  PFAS         ราว 4 เดือนผ่านมาแล้วที่ทีมข่าวของสำนักข่าว Bloomberg ได้ลงไปสอบสวนถึงการปนเปื้อนของ PFAS  ในชุมชนแห่งหนึ่งซึ่งอยู่บนหมู่เกาะแฟโร         หมู่เกาะแห่งนี้อยู่แอตแลนติกเหนือ ชาวบ้านในชุมชนประกอบอาชีพประมงมากว่าร้อยปี พวกเขายืนยันว่าในพื้นที่ไม่มีการประกอบอุตสาหกรรมเคมีใดๆ เลยแต่ตอนนี้สารเคมี PFAS กลับกำลังปนเปื้อนในชุมชนของเขาอยู่เต็มไปหมด         PFAS  เดินทางไปแล้วทุกๆ ที่แม้ในพื้นที่ห่างไกลจนอาจยากจะจินตนาการถึง ด้านผลกระทบต่อสุขภาพยิ่งชัดเจน แต่เมื่อย้อนมองกลับไปยังพื้นที่จุดต้นกำเนิดของสาร  PFAS        ณ ฝั่งตะวันออกของรัฐมินิโซตาใกล้กับสำนักงานใหญ่ของบริษัท 3M บริษัทที่เริ่มผลิตสารเคมีมาตั้งแต่ปี 1902 ซึ่งในปี 1960 บริษัทได้ฝังกลบสารเคมีขนาดใหญ่ไว้ในพื้นที่ ต่อมาสารเคมีดังกล่าวได้รั่วไหลลงสู่สิ่งแวดล้อมเป็นบริเวณกว้าง สิ่งนี้เกิดขึ้นอย่างเงียบๆ แต่สถิติมะเร็งในเด็กในพื้นที่บริเวณนี้ต่างหากที่ส่งเสียงดังเพราะเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ          เอมี่ (Amy) มารดาของบุตรสาวชื่อ Lexi ที่เป็นมะเร็งตั้งแต่วัยเด็กเล่าว่าเธอเริ่มสงสัยว่า บุตรสาวเป็นมะเร็งจากสภาพแวดล้อมในเมืองโอ๊คเดล รัฐมินนิโซตา เพราะเธอดื่มน้ำจากแหล่งน้ำในชุมชน นอกจากนั้น Lexi ยังได้รับประทานปลาจากทะเลสาบในพื้นที่โดยรอบอยู่เสมอเพราะคนในครอบครัวชอบตกปลา และนั่นอาจทำให้เธอต้องกลับมาฉุกคิดว่าสภาพแวดล้อมที่เธออยู่นี้ อาจไม่ได้ปลอดภัยต่อลูกน้อย เมื่อต้องสัมผัสทั้งน้ำดื่มและอาหาร ที่ล้วนมาจากแหล่งน้ำในพื้นที่อยู่อาศัย Lexi ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นมะเร็งตั้งแต่เธอยังเด็ก และต้องเข้ารับการบำบัดในโปรแกรมอย่างเคร่งคัดกว่า 5ปี  ปัจจุบันอาการของ Lexi ดีขึ้น แต่เด็กหลายคนไม่โชคดีเหมือนเธอ เมื่อสถิติข้อมูลระบุว่าผู้เสียชีวิตในเมืองโอ๊คเดล จากปี 2003 – 2015 กว่า 171% นั้น เสียชีวิตจากมะเร็งเมื่อเปรียบเทียบการการเสียชีวิตนอกพื้นที่การปนเปื้อน  PFAS ไม่เพียงทำให้เสี่ยงต่อโรคมะเร็ง         การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ในขณะนี้พบว่า PFAS ส่งผลต่อการลดอัตราการเจริญพันธุ์  การทำงานของตับ ระบบเลือดและหัวใจ เพิ่มความดันในหญิงตั้งครรภ์ ทำให้เด็กมีพัฒนาการล่าช้า  ลดภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์ในการปกป้องคุ้มครองโรคให้อ่อนแอลง         การแพร่กระจายของ PFAS ได้กระจายกว้างออกไปอย่างมากในปัจจุบัน ในปี 2023  หน่วยงานสำรวจเชิงธิรณีวิทยาของรัฐบาลกลางสหรัฐ เผยแพร่ผลงานวิจัยล่าสุดที่บ่งชี้ว่า น้ำประปากว่าเกือบครึ่งประเทศมีการปนเปื้อนสาร PFAS  และไม่เหมาะสำหรับการบริโภค เพราะเสี่ยงทำให้เกิดโรคต่างๆ ทั้งโรคมะเร็ง ไทรอยด์ โรคอ้วน ทำลายตับและระบบฮอร์โมนของร่างกาย         ปี 2023 เช่นเดียวกันที่นักวิทยาศาสตร์จาก Environmental Working Group ได้ตรวจตัวอย่างปลาน้ำจืด 500 ตัวอย่างในสหรัฐอเมริกาเป็นปลาน้ำจืด 44 สายพันธุ์ เช่น กลุ่มปลากะพง ปลากดอเมริกัน ปลาคอด ซึ่งเป็นปลาที่นิยมนำมาทำเป็นอาหาร ผลการศึกษาพบกลุ่มตัวอย่างมีปริมาณสารเคมี PFAS เฉลี่ย 9,500 นาโนกรัมต่อเนื้อปลา 1 กิโลกรัม ทำให้ปลาน้ำจืดมีสารเคมีตกค้างสูงมากกว่าปลาทะเลถึง 280 เท่า         นักวิทยาศาสตร์ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าการบริโภคปลาน้ำจืดหนึ่งครั้งต่อปีอาจเท่ากับการดื่มน้ำ ที่มีสารเคมี PFAS เป็นเวลาหนึ่งเดือน ซึ่งเป็นการรับเคมีในปริมาณที่สูงและอันตราย        ทั่วโลกร่วมส่งเสียงเตือนอันตรายของ PFAS             แม้ชื่อสารเคมี PFAS จะเริ่มปรากฏในหน้าสื่อต่างๆ ในช่วงระยะ  5 ปีที่ผ่านมา แต่เมื่อเข้าสู่การรับรู้ของผู้คนมากขึ้นแล้ว กลับถูกนักวิทยาศาสตร์กล่าวถึงกันอย่างมาก ทั้งนี้ เพราะทั้งงานวิจัยตลอดจนการออกมาเรียกร้องของนักวิทย์ซึ่งพยายามให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ควบคุมการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มนี้ มีมานานกว่า 10 ปี แต่กลับไม่เคยได้รับการขานรับ  ทั้งที่มันอันตรายต่อมนุษย์อย่างมาก         ในปี 2022 นักวิทยาศาสตร์อิสระกว่า 110 คนได้รวมตัวกันออกมาเตือนถึงอันตรายของ PFAS ในน้ำดื่ม ทั้งยังตอกย้ำว่า มาตรฐานคุณภาพน้ำดื่มที่กำหนดให้มีสาร PFOA และ PFOS ซึ่งเป็นสาร 2 ชนิดในกลุ่มสารเคมี PFAS ที่พบได้บ่อยไม่ได้เป็นมาตรฐานที่ทำให้ประชาชนปลอดภัยจาก PFAS ได้         ปัจจุบันประเทศทั่วโลกมีความตื่นตัวถึงผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจาก PFAS  และเริ่มมีมาตรการ ควบคุม จำกัด ไปจนถึงการห้ามใช้สาร PFAS ในหลายระดับที่แตกต่างกัน  สหภาพยุโรป         ในสหภาพยุโรปการกำกับควบคุมการใช้สารเคมีอยู่ภายใต้อนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วย สารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน โดยองค์การจัดการสารเคมีแห่งสหภาพยุโรป European Chemical Agency (ECHA) ได้สร้างระเบียบเครื่องมือกลไกให้ประเทศสมาชิกร่วมปฎิบัติตามอนุสัญญาฯ เพื่อปกป้องทั้งด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม          ปัจจุบันการควบคุมการใช้สารเคมี PFAS ในสหภาพยุโรปมีหลายระดับ บางชนิดมีการห้ามใช้แล้วเช่น การห้ามใช้ PFAS ในโฟมกันไฟตั้งแต่ปี 2011 และยังคงอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านการห้ามใช้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีการกำหนดกลุ่มที่ให้ใช้อย่างจำเป็น ซึ่งมีการกำกับ ควบคุมอย่างเคร่งครัด     สหภาพยุโรป เป็นภูมิภาคแรกๆ ที่ตื่นตัว เห็นถึงอันตรายของสาร PFAS และแม้จะมีความต้องการให้ยุติการใช้ PFAS อย่างสิ้นเชิงแต่ยังเป็นเรื่องยากเพราะได้เผชิญกับการแทรกแซงของภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมต่างๆ อย่างหนักมาโดยตลอด   สหรัฐอเมริกา         ปัจจุบันหลายรัฐในสหรัฐอเมริกาได้ ผ่านกฎหมายเพื่อ ‘ห้าม’ หรือ ‘จำกัด’ การใช้สาร PFAS แล้วโดยรัฐแคลิฟอร์เนียได้ห้ามใช้ PFAS ทั้งหมดในเครื่องสำอางในเดือน ตั้งแต่กันยายน 2022 โดยมีช่วงเปลี่ยนผ่านสำหรับการบังคับใช้หลังวันที่ 1 มกราคม 2025  และไม่นานนี้เอง รัฐมินิโซต้าได้ผ่านกฎหมายห้ามใช้ PFAS โดยตั้งใจในผลิตภัณฑ์ต่างๆ และให้เป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป จนถึงในปี 2032 ซึ่งได้กำหนดให้เป็นปีที่บรรลุการไม่มีผลิตภัณฑ์ที่ใช้สาร PFAS  โดยสมบูรณ์          อย่างไรก็ตามหลายรัฐของสหรัฐอเมริกายังมีสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เช่น นอร์ทแคโรไลนา ช่วงปลายปี 2023  ที่สหประชาชาติหรือ UN ถึงกับตั้งคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน ลงตรวจสอบและเตือนภัยให้ประชาชนทราบถึงอันตรายของสารเคมี PFAS ในภูมิภาคนี้หลังพบว่า โรงงาน The Fayetteville โดยบริษัท Chemours เป็นแหล่งสำคัญที่ปล่อย PFAS ออกสู่สิ่งแวดล้อม โดยแม้ UN ได้ส่งจดหมายถึงบริษัทและระบุถึงงานวิจัยที่ตรวจพบสารเคมี PFAS ของ Chemours ในปลาและพืชผล รวมถึงตัวอย่างเลือดของคนในคนในภูมิภาคนี้กว่า 97% แต่ก็ยังไม่รับการตอบรับที่จะเฝ้าระวังให้มากขึ้น         ในรัฐเทกซัสในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เกษตรสองรายยังได้ยื่นฟ้องบริษัทSynagro บริษัทจัดการของเสียขนาดใหญ่ที่ได้นำโคลนหมักมาขายให้เกษตรโดยอ้างว่าเป็นดินโคลนที่มีสารอาหารใช้ทดแทนเป็นปุ๋ยทางเลือกได้และราคาถูกกว่า แต่เมื่อเกษตรนำมาโคลนเหลวเข้ามาใช้แล้ว ไม่นานสุขภาพก็เริ่มแย่ลง สัตว์เลี้ยงตายลง สารเคมีปนเปื้อนในน้ำดื่ม ปนเปื้อนในเนื้อสัตว์ที่ส่งออกจำหน่ายด้วย         การเข้าไปทดสอบโดยองค์กร PEER หรือ Public Employees for Environmental Responsibility ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรยังพบว่าในฟาร์มของเกษตรกรดังกล่าว ในน้ำดื่มปนเปื้อน PFAS มากกว่าค่ามาตรฐานถึง 13,000 เท่า ปนเปื้อนในเนื้อสัตว์เกินระดับที่ปลอดภัยถึง 250,000 เท่า สิ่งที่น่าตกใจ คือ ความเสียหายที่ยิ่งใหญ่นี้กำลังแพร่ไปข้ามรัฐในอเมริกาเมื่อมีการขายโคลนในลักษณะนี้ไปในหลายๆ ที่ เกษตรกรจึงยื่นฟ้องต่อบริษัท Synagro เนื่องจากบริษัท ควร/น่าจะคาดหมายได้ หรือตรวจสอบก่อนว่าสินค้าที่ขายออกไปมีความปลอดภัยต่อชีวิต ทรัพย์สินของผู้อื่นหรือไม่         ในสหรัฐอเมริกาสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมหรือ EPA ได้จัดตั้งสภาด้าน PFAS ขึ้นมาโดยตรง ตั้งแต่ปี  2021 เพื่อกำหนดแผนยุทธศาสตร์เพื่อปกป้องสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมจากผลกระทบจาก PFAS และรัฐบาล ได้ทุุ่มงบประมาณเพื่อกำจัดสาร PFAS และควบคุมผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นทุกปี  นิวซีแลนด์        ปัจจุบันนิวซีแลนด์ได้ผ่านกฎหมายห้ามใช้สารเคมี PFAS ในเครื่องสำอางโดยให้มีผลตั้งแต่ปี 2026 เป็นต้นไป ปัจจุบันจึงนับเป็นช่วงระยะเวลาของการเปลี่ยนผ่าน ให้ภาคผู้ผลิตมองหา คิดค้น สารทดแทนใหม่  นิวซีแลนด์นับเป็นประเทศแถวหน้าที่ปกป้องประชาชนเชิงรุกจากสารเคมี PFAS ทั้งนี้เพราะคณะวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Auckland  ได้ตรวจเครื่องสำอางที่นำเข้าภายในประเทศพบว่าถึง 90% ปนปื้อนสาร PFAS จึงทำให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงอันตรายร่วมกันอย่างชัดเจน  ออสเตรเลีย         ตั้งแต่ปี 2023 ประเทศออสเตรเลียประกาศที่จะเป็นประเทศที่ควบคุมการใช้ PFAS ทั้งตั้งแต่การผลิตภายในประเทศ การนำเข้าและการส่งออก  ควบคุมในแผนงานเจ็ดอุตสาหกรรมสารเคมีใน  ออสเตรเลียที่ห้ามใช้สารเคมีที่จะส่งผลสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง โดยรัฐบาลจะประกาศรายชื่อสารเคมี ที่ห้ามใช้ภายในวันที่ 1 ก.ค. 2025 กลุ่มธุรกิจสารเคมีทั้งหมดจึงต้องหาสารตัวเลือกอื่นๆ มาใช้ทดแทน โดยจะให้มีการใช้สารเคมี PFAS เพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น        ก่อนหน้านี้ รัฐบาลออสเตรเลียได้พัฒนาโปรแกรมให้ภาคธุรกิจ ยุติการใช้สารเคมี PFAS แบบสมัครใจมาแล้วและยังกำหนดการใช้อย่างเคร่งครัดในโฟมกันไฟ การประกาศแผนการควบคุม PFAS ครั้งล่าสุดจึงเป็นการยกระดับขึ้นอีกขั้นของความจริงจังในการปกป้องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประชาชน         สถานการณ์ของ PFAS ในประเทศไทย        ในปี 2566 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  ห้ามใช้สารPFAS รวมถึงอนุพันธ์ของสาร 13 รายการ ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2566 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง พ.ศ. 2566         เช่นเดียวกับประเทศในสหภาพยุโรปและอาเซียน เนื่องจากจัดเป็นสารที่เป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์โดย ต่อมา อย.ยังได้ตรวจสอบเครื่องสำอางที่ขออนุญาตจดแจ้งในประเทศไทยแล้ว ไม่พบการใช้สาร PFAS (Per- and polyfluoroalkyl substances) หรือสารเคมีอมตะ         อย่างไรก็ตามการใช้สารเคมี PFAS ในเครื่องสำอางเป็นเพียงอุตสาหกรรมหนึ่งเท่านั้น ปัจจุบันมีการนำสาร PFAS ไปใช้เป็นวัตถุตั้งต้นทั้งในอุตสาหกรรมพลาสติกเครื่องปรับอากาศ สิ่งทอ ยานยนต์ ปิโตรเคมี ไฟฟ้า รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมทางการแพทย์และอีกมากมาย         เดือน กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มูลนิธิบูรณะนิเวศและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงได้ร่วมกับ เครือข่ายการกำจัดมลพิษระหว่างประเทศ หรือ IPEN ศึกษาทดสอบการปนเปื้อนของสาร PFAS "สารเคมีตลอดกาล" ในผลิตภัณฑ์สิ่งทอใน 13 ประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งตัวอย่างเสื้อผ้าเข้าทดสอบ จากทั้งหมด 13 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศในยุโรป 7 ประเทศ (เยอรมนี สาธารณรัฐเช็ก เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ สหราชอาณาจักร เซอร์เบีย มอนเตเนโกร) 4 ประเทศในเอเชีย (บังคลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา ไทย) สหรัฐอเมริกา และเคนยา         ผลการตรวจวิเคราะห์เสื้อผ้าทั้งหมดจาก 13 ประเทศรวม 72 ตัวอย่าง (แจ็กเก็ต 56 ตัวอย่าง และเสื้อผ้าประเภทอื่นอีก 16 ตัวอย่าง) พบว่ามี 47 ตัวอย่าง (ร้อยละ 65.3) ที่มีสาร PFAS หรือมีระดับ EOF ที่บ่งชี้ว่ามีสารดังกล่าว และจากแจ็กเก็ต 56 ตัวอย่าง มีถึง 35 ตัวอย่าง (ร้อยละ 62.5) ที่มีสารเคมี PFAS หรือมีระดับ EOF ที่บ่งชี้ว่ามีสารดังกล่าว ทั้งนี้พบเสื้อกลุ่มแจ็กเก็ต 16 ตัวอย่าง มีปริมาณสารเคมี PFAS เกินระดับที่สหภาพยุโรปกำหนด         ในกรณีของประเทศไทยพบการปนเปื้อนในทุกตัวอย่างที่ส่งไป 6 ตัวอย่าง หากเปรียบเทียบกันระหว่างตัวอย่างที่มีสาร PFAS สูงที่สุดของแต่ละประเทศในเอเชียด้วยกัน จะพบว่า ตัวอย่างที่ ที่ซื้อจากอินเดียมีปริมาณ PFAS สูงสุด (702.2 นาโนกรัม/กรัม) ตามด้วยตัวอย่างจากไทย (379.9 นาโนกรัม/กรัม) ในขณะที่ตัวอย่างจากบังคลาเทศและศรีลังกามีสาร PFAS ในปริมาณ 6.8 และ 2.7 นาโนกรัม/กรัม ตามลำดับ         การศึกษาวิจัยครั้งนี้ IPEN และเครือข่ายองค์กรสมาชิก จึงได้เสนอต่อรัฐบาลทุกประเทศ เร่งดำเนินการดังนี้         1.ออกประกาศห้ามใช้สารเคมี PFAS ในเสื้อผ้าและสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ         2. สนับสนุนการพัฒนาข้อกำหนดในการควบคุมสารเหล่านี้ทั้งหมดในระดับสากล (รวมถึงฟลูออริเนตโพลีเมอร์แบบสายโซ่ด้านข้างและฟลูออโรโพลิเมอร์) และปฏิบัติตามอย่างกลไก         3. บังคับให้มีการเปิดเผยวัสดุและสารเคมีที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ เช่น ออกกฎหมายที่บังคับให้ผู้ผลิตแจ้งส่วนประกอบในสินค้าต่อประชาชนทั่วไป ร้านค้าปลีก และหน่วยงานกำกับดูแล         4. วางแผนและส่งเสริมให้เกิดผลประโยชน์ทางธุรกิจ การสนับสนุนทางการเงิน และการช่วยเหลือต่างๆ ในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปใช้ทางเลือกที่ปลอด PFAS โดยดูแลให้การเปลี่ยนผ่านนั้นเป็นไปอย่างยุติธรรมต่อพนักงานและชุมชน         5.เพิ่มทรัพยากรและศักยภาพของศุลกากรในการตรวจวิเคราะห์สินค้านำเข้าที่มีการใช้หรือปนเปื้อนสาร  PFAS         ในมุมมองของ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มองว่า เนื่องจากมีการใช้สาร PFAS ในหลากหลายอุตสาหกรรม การที่หน่วยงานรัฐแม้มีงบประมาณจำกัด แต่ได้ตรวจสอบความปลอดภัยของสินค้า เช่นที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  ได้ตรวจสาร PFAS ในเครื่องสำอาง การตรวจสินค้าอุปโภค บริโภคที่สาร PFAS มีความเสี่ยงจะเข้าสู่ร่างกายในลักษณะนี้มีประโยชน์อย่างยิ่ง ช่วยให้ประชาชน ได้เฝ้าระวังอันตรายและสุขภาพ จึงควรการดำเนินให้เกิดความต่อเนื่องและหลากหลายสินค้า และสำหรับกลุ่มผู้ผลิต เมื่อการเปลี่ยนผ่านสู่การยุติการใช้สาร PFAS อาจจะใช้เวลายาวนาน         ปัจจุบันการมีฉลากที่ให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคว่าสินค้าที่ซื้อหรือใช้ มีสาร PFAS ชนิดใดและปริมาณเท่าใด พร้อมทั้งแนวทางปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในการใช้สินค้าดังกล่าว        จึงเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มดำเนินการได้แล้วตั้งแต่วันนี้ เพื่อการเฝ้าระวังสุขภาพของประชาชนทุกคน                                   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 276 ผังเมืองกรุงเทพต้องเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน

        ช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา หลายปัญหาได้วิกฤตขึ้นในกรุงเทพมหานคร ทั้งปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ลุกลามมาถึงปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด และปัญหาฝุ่น PM 2.5  ทั้งหมดนี้ ล้วนส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพมหานคร         ปัจจุบัน เมื่อกรุงเทพมหานคร ได้กำลังจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ภาคประชาสังคมในวันนี้ได้ตื่นตัว ให้ความสนใจเพราะอยากให้ผังเมืองฉบับใหม่เอื้อให้คนกรุงเทพมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้เกิดขึ้นจริงๆ  ปฐมพงศ์ เจียมอุดมสิน ประธานสภาองค์กรผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในผู้ที่ ติดตามการพัฒนาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ที่เริ่มจัดทำตั้งแต่ในปี 2562 ปฐมพงศ์สนใจและเข้ามาเกี่ยวข้อง เคลื่อนไหวด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครตั้งแต่ช่วงปี 2540 ที่เขาเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการอยู่อาศัยในคอนโดโดยตรง การทำงานที่ผ่านมาจากในบทบาทผู้อยู่อาศัยคนเล็กๆ ในเมืองใหญ่ สู่การเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาการสร้างอาคารสูงในซอยแคบที่ส่งผลเดือดร้อนต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่ม วันนี้เขายืนยันว่ายังคงต้องคัดค้านผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ฉบับนี้ หากยังไม่มีการเริ่มต้นจัดทำใหม่ด้วยการเปิดรับฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง   ขอเริ่มคำถามง่ายๆ ก่อนว่า ผังเมือง คืออะไร เพราะหลายคนอาจยังไม่ทราบ และจะได้เข้าใจว่า กฎหมายผังเมืองจะเกี่ยวข้องกับชีวิตของตนเองอย่างไร         ถ้าพูดให้เห็นภาพว่า ผังเมืองคืออะไรให้ลองนึกถึงว่า สมมุตว่าเรามีบ้านหลังหนึ่ง บ้านหลังนี้เราก็จะผังบ้านของเราว่ากว้างยาวเท่าไหร่ มีคอกสัตว์ แปลงผัก ไปจนถึงขอบเขตรั้วบ้านอยู่ตรงไหน แผนผังนี้คือกระดาษที่เหมือนเวลาเรามองลงมาจากที่สูง จะบอกทุกอย่างว่ามีอะไรบ้างซึ่งตรงนี้แค่บ้านหลังหนึ่ง พอใหญ่ขึ้นเป็นหมู่บ้าน ตำบลย่อมต้องมีแผนที่แบบนี้แน่นอน ที่สำนักงานเขตเขาก็จะมีแผนที่ แผนที่ทุกคนคงจะนึกออก แต่ผังเมือง  จะมีรายละเอียดข้างในด้วยที่กำหนดให้อะไรอยู่ตรงไหน ศูนย์การค้าอยู่ตรงนี้ ที่อยู่อาศัยอยู่ตรงนี้ ผังเมืองคือแผนที่อันหนึ่งที่จะบอกว่าในเมืองๆ นั้นมีอะไรบ้าง           แต่นอกจากผังเมืองจะบอกว่า อะไรอยู่ตรงไหนแล้ว ผังเมืองยังมีข้อกำกับลงไปด้วยว่า ไม่ให้มีอะไร หรือ ห้ามสร้าง ห้ามปลูกอะไร ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นอาจมาจากตรงนี้คือห้ามสร้าง เมื่อมาสร้างจึงผิดกฎหมาย         กฎหมายผังเมืองจึงเป็นกฎหมายลิดรอนสิทธิของประชาชนด้วยเช่นกัน หากเป็นบ้านเราเองจะปลูกต้นไม้ ดอกไม้ หรือจะตั้งถังขยะตรงไหน ย่อมทำได้ แต่พอเป็นเมืองแล้ว ผังเมืองจะกำหนดการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับคนที่อยู่อาศัยในเมือง จึงกำหนดข้อห้ามสำคัญเช่นพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ห้ามสร้างตึกสูงใดๆ  ตรงนี้ห้ามสร้างตึกสูงเกินเท่าไหร่ ในแต่ละจังหวัดตอนนี้มีผังเมืองจังหวัด  ผังเมืองกรุงเทพ ก็เป็นอีกจังหวัดหนึ่ง           ผังมืองรวมกรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมา เรามีมาแล้วทั้งสิ้น 4 ฉบับ ทั้ง 4 ฉบับเป็นไปตามพระราชบัญญัติผังเมืองปี 2518  ครั้งนี้เป็นการปรับปรุงครั้งที่ 4 หากมีการประกาศใช้จะเป็นฉบับที่ 5  ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ปรับปรุงครั้งที่ 4 เริ่มมีปัญหาจากจุดไหน         ต้องบอกว่า ผังเมืองรวมกรุงเทพ เรามีมาตั้งแต่ปี 2556 และทุก 5 ปี กฎหมายกำหนดให้มีการจัดทำใหม่ และหลังจากประกาศใช้ทุก 2 ปี จะให้มีการประเมิน ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำมาเช่นนี้ แต่การปรับปรุงผังเมืองรวมกรุงเทพที่ถึงกำหนดในปี 2561 มีกฎหมายสำคัญคือรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่กำหนดว่ากฎหมายที่ลิดรอนสิทธิประชาชนในด้านต่างๆ ก่อนจะดำเนินการต้องไปทำประชาพิจารณ์ก่อน  นอกจากนี้ผังเมืองรวมกรุงเทพฉบับที่ปรับปรุงในปี 2561 กว่าจะทำเสร็จยังมีการประกาศใช้ของ พ.ร.บ. การผังเมือง ปี 2562 มาแทนฉบับปี 2518         การปรับปรุงผังเมืองรวมกรุงเทพ ครั้งที่ 4 ครั้งนี้ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การผังเมือง ปี 2562  สิ่งหนึ่งที่แตกต่างจาก พ.ร.บ. การผังเมือง ปี 2518 ที่กำหนดให้มีการจัดทำผัง 4 ประเภท ได้แก่ 1) แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ได้นำแนกประเภท 2) แผนผังแสดงที่โล่ง 3) แผนผังแสดงโครงสร้างคมนาคมและขนส่ง และ 4) แผนผังโครงการกิจการสาธารณูปโภค ขณะที่ พ.ร.บ. การผังเมืองปี 2562 กำหนดให้มีการจัดทำผัง 6 ประเภท โดยเพิ่มแผนผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และแผนผังแสดงผังน้ำเข้ามาด้วย         พ.ร.บ. การผังเมืองปี 2562 ยังกำหนดให้มีการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการวางและจัดทำผังเมืองรวมก่อนที่จะมีการจัดทำร่างผังเมืองรวม                ดังนั้นการที่กรุงเทพมหานคร นำร่างผังเมืองรวมที่ทำมาตั้งแต่ปี 2561 - 2562 มาเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเลย จึงเป็นการทำมาแล้ว ว่าอยากให้อะไรอยู่ตรงไหน  ไม่ได้เป็นการเปิดรับฟังเสียงจากประชาชนเพื่อทำขึ้นใหม่จริงๆ   ความเดือดร้อนนี้ที่ทำให้ประชาชนออกมาคัดค้านจำนวนมาก         ใช่ กฎหมายผังเมืองเกี่ยวข้องกับชีวิตของคนทั้งหมด และกรุงเทพมีพื้นที่ 50 เขต แต่ละเขต มันต่างกันมาก บางขุนเทียนเป็นพื้นที่มีชายฝั่งทะเล  เราไม่อยากให้มีการกัดเซาะ จึงไม่ค่อยมีการตั้งอุตสาหกรรม  ส่วนพื้นที่หนองจอกส่วนใหญ่ทำนา การพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพื้นที่เดิมต้องคำนึงสภาพที่เป็นและข้อจำกัดด้วย         ผังเมืองรวมกรุงเทพ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 นี้ยังจะมีการขยายพื้นที่ถนน พื้นที่แก้มลิง พื้นที่รับน้ำ ทำให้ประชาชนถูกเวนคืนที่ดิน บางพื้นที่หมู่บ้านหายไปหมด ถนนจาก 4 เมตร จะขยายเป็น 12 เมตร  คนจะเดือดร้อนมาก เรามองว่า ผังเมืองรวมกรุงเทพฉบับนี้มุ่งเน้น เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์   การขยายถนน การกำหนดพื้นที่ให้เปลี่ยนจากพื้นที่อาศัยหนาแน่นน้อย เป็นปานกลาง จากหนาแน่นปานกลางเป็นหนาแน่นสูง หรือให้เป็นพื้นที่พาณิชยกรรม  ทั้งหลายนี้เหล่านี้ทำให้เกิดการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แต่ในความเป็นจริง กรุงเทพไม่อาจขยายตัวได้มากแล้ว จึงเกิดอาคารสูงกระจุกตัวอยู่ส่วนกลาง แต่เมืองนี้เราไม่ได้มีแต่คนรวย  ยังมีคนเข็นผักในตลาด รปภ. ตำรวจ พยาบาล ทหาร บุรุษไปรษณีย์ การถูกเวนคืนที่  การเก็บภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง เป็นความเดือดร้อนที่ค่อยบีบคนอยู่อาศัยธรรมดาให้ออกจากเมือง  การที่ยังให้มีการสร้างอาคารขนาดใหญ่ในซอยแคบทั้งที่สร้างไม่ได้ ได้สร้างความเดือดร้อนให้ทุกคนในซอย รถเทรลเลอร์ขนาดใหญ่แค่ช่วงเข้าไปสร้าง ก็เดือดร้อนแล้ว อาคารที่สูงมากๆ ก็จะสร้างขยะเยอะ ใช้ไฟเยอะ  น้ำเสีย มันเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยทั้งหมด            แล้วข้อความเห็นว่าเหมือนบีบคนออกจากเมือง เขาก็บอกว่าก็มีการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ขยายออกไปเรื่อยๆ แต่ระบบรถ BTS ของเรามันไม่ได้เชื่อมต่อกัน ประชาชนยังแบกรับค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูงมาก         ผังเมืองรวมกรุงเทพ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4  ยังมีโบนัสให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายเรื่องมากๆ ที่ดำเนินการแล้ว เขาสามารถนำไปเพิ่มพื้นที่การสร้างอาคารให้สูงขึ้นได้  ช่วยขมวด 3 เรื่องสำคัญที่ประชาชนควรช่วยกันเฝ้าระวังในผังเมืองรวมกรุงเทพ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ครั้งนี้           หนึ่ง ผังเมืองรวมฉบับนี้ทำให้ กรุงเทพมีพื้นที่หนาแน่นขึ้น เดิมความหนาแน่นของกรุงเทพตอนนี้คือราว  3,500 คน/ ตร.กม แต่หากรวมประชากรแฝงเราคาดว่าน่าจะถึง 10,000 คนต่อ / ตร.กม เมื่อคนอยู่อาศัยกันแน่นขึ้น ปัญหาอีกสารพัดจึงจะตามมาอีกมาก  สอง ผังเมืองรวมฉบับนี้ยังไม่ได้คิดถึงเรื่องการระบายน้ำ  เรามีน้ำท่วมใหญ่ เมื่อปี 2554 มาแล้ว ยิ่งคนเข้ามาแน่น ปัญหาน้ำท่วมเราจะยิ่งวิกฤต เพราะตอนนี้ฝนตกหนักครั้งเดียว เราก็แย่แล้ว สาม เมื่อนำผังเมืองที่เขาทำไว้แล้วในปี 2562  มารับฟังความเห็นจากประชาชน  ผังเมืองรวมกรุงเทพฉบับนี้ ยังไม่คิดตอนที่มีปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 กับเรื่องโรคระบาด         เราเป็นห่วงว่า ผังเมืองฉบับนี้จะทำให้การอยู่อาศัยของคนในเมืองแย่ลง ทั้งน้ำท่วม การจราจร ฝุ่นPM2.5  โรคระบาด สิ่งแวดล้อมมันแย่ลงมากกว่าดีขึ้น สิ่งที่เราบอกว่ามันจะมีปัญหา เราไม่ได้จินตนาการเอาเอง ปัญหามีประจักษ์มาแล้ว เรื่องโรคระบาด ตอนเป็นโควิดเราเห็นแล้วว่า เราต้องการพื้นที่ปลอดภัย ต้องการพื้นที่จะระยะห่างบ้าง  เราเป็นห่วงคนในชุมชนคลองเตยมาก เพราะเขาต้องอาศัยกันอย่างแออัด  เขาบอกว่า เมืองว่าเมืองจะเจริญ แต่ตอนนี้สภาพแวดล้อมเราออกห่างจากคำว่าธรรมชาติมากขึ้นทุกที คนต้องหนีออกจากเมืองมากกว่าจึงจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้         การระบายน้ำ ขยะ การจราจร โรคระบาด ทั้งหมดนี้คือคุณภาพการใช้ชีวิตของคน  เราไม่สามารถอยู่แต่ในห้องแอร์ ไม่ว่าห้องจะหรูหรา มีเครื่องฟอกอากาศดีแค่ไหน แล้วเราไม่ออกไปไหน เราต้องออกไปข้างนอก         เรากังวล เป็นห่วงว่า ผังเมืองฉบับนี้จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนในเมืองแย่ลง   เราอยากให้มีผังเมืองที่ตอบโจทย์การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของคนทุกกลุ่ม ทุกวัย รวมถึงช่วยบรรเทาปัญหาต่างๆ ที่เป็นอยู่แล้วยังไม่ได้รับการแก้ปัญหาด้วย อยากให้ประชาชน สังคมโดยทั่วไป ร่วมกันมีส่วนร่วมได้อย่างไรบ้าง         อย่างที่ผมบอกว่า ผังเมืองเกี่ยวข้องกับการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของเราทุกมิติ หลายคนที่เขายังรู้สึกว่า เขาไม่ได้รับผลกระทบ เขาอาจะวางเฉยได้ หรือเขาอาจจะรู้ว่า มีผลกระทบมาถึงตัวได้แต่ยังคิดว่า อาจไม่ใช่เร็วๆ นี้ ต้องออก พระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน ยังรอได้  แต่ผมคาดว่ามันไม่ได้นาน หลายพื้นที่ตอนนี้เริ่มโดยเวนคืนที่ดินแล้ว และผังเมืองรวมกรุงเทพยังส่งผลกระทบกับปริมณฑล  เครือข่ายถนนทั้งหมดเชื่อมโยงกับพื้นที่ใกล้เคียง นนทบุรี สมุทรสาคร นนทบุรี ปทุมธานี  ฉะเชิงเทรา  สมุทรปราการ              การต่อสู้เรื่อง เราต้องศึกษาเรื่องกฎหมายด้วย เพราะเราสู้เรื่องกระบวนการที่ต้องดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายด้วยเราอาจะต้องสู่กันกันถึงศาลปกครอง แล้วหากเราตื่นตัว ร่วมกันลงชื่อเยอะๆ ผมคิดว่ามันมีผลกระทบ มันมีพลังที่จะทำให้เราสามารถทำให้หน่วยงานรัฐเริ่มทำผังเมืองกรุงเทพใหม่ได้ ผมก็สื่อสารเรื่องนี้ อยู่ตลอดเวลา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 276 ไซบูทรามีน คืนชีพ

        ข่าวการเสียชีวิตของผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งที่จังหวัดอ่างทอง เมื่อกลางปี 2562 ผลชันสูตรพบว่าสาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ผลการตรวจเลือดพบว่ามียา 4 ชนิด (ที่มีการผสมในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณลดน้ำหนักที่ผู้เสียชีวิตรับประทาน) ได้แก่ ฟูลออกซิทีน (Fluoxetine) บิซาโคดิล (bisacodyl) ไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (hydrochlorothaiazide) และ ไซบูทรามีน (cybutramine) ยาทั้ง 4 ชนิด ออกฤทธิ์ร่วมและเสริมกันทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะจนเสียชีวิต นำไปสู่การปราบปรามการแอบลักลอบปลอมปน “ไซบูทรามีน” ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยมีเป้าหมายสำคัญคืออำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพราะมีข้อมูลว่าเป็นต้นทางการลักลอบนำเข้าสารไซบูทรามีนจากประเทศเพื่อนบ้าน มีการตรวจค้นและพบวัตถุดิบสารไซบูทรามีนและการปลอมปนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณลดน้ำหนักจำนวนมากหลายยี่ห้อ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ดำเนินคดีและแจ้งเตือนไปแล้ว         ล่าสุดในเดือนธันวาคม 2566 เครือข่ายเฝ้าระวังในจังหวัดเชียงราย รายงานว่าพบการกลับมาจำหน่ายและพบการบริโภคผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ “Lishou” และ “Bashi”ในหลายพื้นที่ โดยผลิตภัณฑ์ที่พบใครั้งล่าสุดนี้ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีเลขสารบบอาหาร (เลข อย.) ผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ยี่ห้อนี้เคยตรวจพบการปลอมปนสารไซบูทรามีน และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้เคยดำเนินคดีและแจ้งเตือนไปแล้ว แสดงให้เห็นว่าเครือข่ายธุรกิจการลักลอบผลิตยาลดความอ้วนไม่ได้หมดไป ยังคงคืนชีพดำเนินการอย่างต่อเนื่อง การกลับมาระบาดครั้งนี้ยังพบว่ามีการโฆษณาขายในตลาดออนไลน์อย่างเปิดเผย        ขอเตือนภัยมายังผู้บริโภคให้สังเกตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่กำลังรับประทานอยู่ว่าได้ขออนุญาตถูกต้องหรือไม่ หรือแม้จะมีเลข อย. หากรับประทานไปแล้วน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วหรือผอมเร็ว ให้ระวังว่าอาจมีสารไซบูทรามีนปลอมปนควรหยุดรับประทาน แล้วให้ส่งผลิตภัณฑ์ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านตรวจสอบและดำเนินการต่อไปเพื่อความปลอดภัย         ไซบูทรามีนคืออะไร : ไซบูทรามีนคือสารเคมีที่ส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง (สมอง) ที่ทำให้ไม่รู้สึกหิว อิ่มเร็วและกระตุ้นการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย จึงมีการนำไปใช้ในทางที่ผิดโดยนำมาลักลอบปลอมปนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณลดน้ำหนัก แต่เนื่องจากสารนี้มีผลข้างเคียงต่อร่างกายทำให้ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับและท้องผูก ที่สำคัญมีรายงานผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดทำให้เกิดผลเสียร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิต ประเทศไทยจึงจัดไซบูทรามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด และยกเลิกทะเบียนตำรับยาที่มีสารนี้ไปแล้วตั้งแต่ ปี 2553

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 276 ระวังโดนครอบครองปรปักษ์

        มีโฉนด อย่าวางใจ อาจโดนแย่งสิทธิความเป็นเจ้าของที่ดินและบ้านได้ ด้วยหลักกฎหมาย “ครอบครองปรปักษ์”         ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ในสายตาของกฎหมาย ที่ดินระหว่างเอกชน สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือกันได้ ในปัจจุบันก็มีบางคนกว้านซื้อที่ดินจำนวนมาก จนเป็นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์และนำออกจำหน่ายให้ผู้บริโภคเพื่อหากำไร และแน่นอนเมื่อมีคนที่ทำเช่นนี้ หรือได้ที่ดินมาด้วยวิธีใดๆ จนถือครองที่ดินจำนวนมาก ก็อาจมีปัญหาไม่สามารถไปดูแลหรือใช้ประโยชน์ที่ดินทั้งหมดของตนเองได้ หรือบางคนไม่ได้บอกลูกบอกหลานไว้ เมื่อตนเองจากไป ลูกหลานก็ไม่ทราบ และไม่ได้เข้าไปจัดการดูแลที่ดินหรือใช้ประโยชน์ ทำให้ที่ดินถูกปล่อยทิ้งไว้  ดังนั้น กฎหมายจึงมุ่งคุ้มครองการใช้ประโยชน์ของที่ดินเป็นสำคัญ จึงเกิดหลักกฎหมายที่เรียกว่า “ครอบครองปรปักษ์”ขึ้น เพื่อจะส่งเสริมให้คนที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง แต่เห็นประโยชน์ของที่ดินที่เจ้าของไม่ได้มาดูแล ได้แสดงตนเป็นเจ้าของและครอบครองนานเกินกว่าสิบปี โดยที่เจ้าของที่ดินนั้นไม่ได้มาโต้แย้งคัดค้านสามารถได้กรรมสิทธิ์ของที่ดินนั้นมาเป็นของตนได้  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382         มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยสุจริต โดยความสงบและโดย เปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็น สังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”         อย่างไรก็ตาม การได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และมีข้อสังเกตที่สำคัญ ดังนี้         1.ต้องเป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิเท่านั้น หากเป็นที่ดินประเภทอื่นๆที่มีเพียงสิทธิครอบครอง เช่น ส.ค.1 (ใบแจ้งการครอบครองที่ดิน) หรือ น.ส.3 หรือ น.ส.3 ก. (หนังสือรับรองการทำประโยชน์) หรือที่ดินมือเปล่าไม่สามารถครอบครองปรปักษ์ได้ และที่ดินของรัฐก็ไม่ได้เช่นกัน         2. หากเป็นผู้เช่า ไม่ถือว่าเป็นการครอบครองปรปักษ์ เพราะเป็นการทำสัญญาเช่าอาศัยหรือใช้ประโยชน์ในที่ดิน โดยผู้ครอบครองรู้ตัวอยู่แล้วว่าครอบครองแทนเจ้าของเพียงชั่วคราว และมีการตกลงทำสัญญากันไว้เป็นหลักฐาน ไม่ใช่การครอบครองเพื่อเป็นเจ้าของ         3.ไม่นับผู้ซื้อที่อยู่ระหว่างรอทำสัญญาซื้อขาย เพราะการที่ผู้ซื้อครอบครองที่ดินตามสัญญาซื้อขาย ถือว่าเป็นการครอบครองแทนผู้ขายจนกว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์        4.หากเจ้าของที่ดินอนุญาตให้ใช้ประโยชน์อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรไม่ถือว่าเป็นการครอบครองปรปักษ์         5.หากมีการโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างนั้นจะไม่ถือว่าครบ 10 ปี โดยผู้รับโอนได้กรรมสิทธิ์มาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน มีผลให้การครอบครองปรปักษ์ก่อนหน้านี้สิ้นผลไป ต้องเริ่มนับระยะเวลาครอบครองใหม่         เมื่อการครอบครองปรปักษ์ คือการแย่งชิงกรรมสิทธิ์ของคนอื่นมาเป็นของตนเอง ย่อมเกิดคดีพิพาทกันได้เพื่อพิสูจน์ความเป็นเจ้าของ จึงเกิดคำพิพากษาของศาลที่ตัดสินไว้จำนวนมาก โดยขอหยิบยกคำพิพากษาที่น่าสนใจ ดังนี้         การนับเวลาครอบครองปรปักษ์ ถ้าเข้าครอบครองก่อนมีโฉนด ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ออกโฉนดที่ดินเป็นต้นไป         คำพิพากษาฎีกาที่ 4676/2560         จำเลยซื้อที่ดินมือเปล่าจากมารดาโจทก์แล้วเข้าครอบครองอยู่อาศัย จึงเป็นการครอบครองอย่างเป็นเจ้าของ ต่อมามารดาโจทก์ขอออกโฉนดที่ดินรวมไปถึงที่ดินที่จำเลยซื้อ เมื่อจำเลยยังคงครอบครองที่ดินที่ซื้อโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมา ระยะเวลาแห่งการครอบครองปรปักษ์ที่ดินจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ออกโฉนดที่ดินเป็นต้นไป และจำเลยไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้ยึดถือแทนจึงไม่ต้องบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการครอบครองไปยังผู้ขาย เมื่อนับถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์         คำพิพากษาฎีกาที่ 13969/2558         บุคคลจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้อื่น ที่ดินนั้นจะต้องเป็นที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์เสียก่อน จึงจะถูกอ้างการครอบครองปรปักษ์ได้ ที่ดินที่มีเพียงสิทธิครอบครอง แม้จะมีเจตนาครอบครองอย่างเป็นปรปักษ์ก็หาได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งเป็นสิทธิคนละประเภทกับสิทธิครอบครองที่มีอยู่แต่เดิมไม่ เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดิน น.ส. 3 ก. ที่มีเพียงสิทธิครอบครอง โจทก์จึงไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาทได้         คำพิพากษาฎีกาที่ 679-682/2559         การที่จำเลยทั้งสี่เข้าครอบครองปลูกบ้านอาศัยอยู่ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ โดยไม่เคยถูกผู้ใดโต้แย้งคัดค้านก่อนหน้านั้น จึงถือเป็นการครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยมาตลอด รวมเวลาของผู้โอนกับเวลาที่จำเลยทั้งสี่ครอบครองเกินกว่า 10 ปีแล้ว จำเลยทั้งสี่ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382  อีกทั้งกฎหมายมิได้บัญญัติไว้อย่างแจ้งชัดว่า ผู้ที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโดยการครอบครองนั้น จะต้องรู้ว่าทรัพย์สินที่ตนครอบครองเป็นของผู้อื่น ข้อสำคัญมีเพียงว่า การครอบครองนั้นมีลักษณะเป็นการครอบครองเพื่อตน มิใช่ครอบครองแทนเจ้าของกรรมสิทธิ์ เช่น เป็นผู้อาศัยหรือผู้เช่า แม้ผู้ครอบครองจะเข้าใจว่าที่ดินที่ตนครอบครองเป็นของตน แต่ความจริงยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นอยู่ ก็หาทำให้สิทธิจากการครอบครองเสียไปไม่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 สารเคมีตลอดกาลในเสื้อผ้า

        ฉลาดซื้อฉบับนี้ชวนคุณไปดูผลทดสอบสิ่งทอที่ระบุว่ามีคุณสมบัติกันละอองน้ำ คราวนี้ไม่ใช่การทดสอบเปรียบเทียบคุณสมบัติการใช้งานหรือความพึงพอใจของผู้บริโภค แต่เป็นการวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของสารเคมีกลุ่ม PFAS (per-and polyfluoroalkyl substances) หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “สารเคมีตลอดกาล” ซึ่งใช้กันแพร่หลายในอุตสาหกรรมสิ่งทอเพื่อเพิ่มคุณสมบัติกันน้ำกันคราบสกปรกเครือข่ายการกำจัดมลพิษระหว่างประเทศ (International Pollutants Elimination Network หรือ IPEN)* และองค์กรสมาชิก เจาะจงตรวจวิเคราะห์หาสาร PFAS ในเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เนื่องจากเป็นกลุ่มสารที่สามารถทำให้ผู้ที่ทำงานในโรงงานได้รับอันตรายสะสม ลูกค้าที่ซื้อไปสวมใส่ก็สัมผัสกับสารเหล่านี้โดยตรง และการซักทำความสะอาดยังทำให้สารเหล่านี้แพร่ไปสู่อากาศหรือแหล่งน้ำ ที่สำคัญคือมันสามารถสะสมและคงอยู่ในสภาพแวดล้อมได้อย่างยาวนานด้วย   การทดสอบครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรสมาชิกของ IPEN ใน 13 ประเทศจากเอเชีย อัฟริกา ยุโรป และอเมริกาเหนือ ได้แก่ ไทย อินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ เคนยา เยอรมนี โปแลนด์ เซอร์เบีย มอนเตเนโกร เนธอร์แลนด์ สาธารณรัฐเชก สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา โดยองค์กรสมาชิกในประเทศไทยที่ร่วมส่งตัวอย่างเข้าทดสอบได้แก่ มูลนิธิบูรณะนิเวศตัวอย่างทั้งหมด 72 ตัวอย่าง ที่ได้จากการสุ่มซื้อในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน ปี 2565 ถูกส่งไปตรวจวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการของสถาบันสิ่งแวดล้อมศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยชารลส์ ในสาธารณรัฐเชกเนื่องจากมีสารเคมี PFAS หลายพันชนิดที่ถูกใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ การทดสอบจึงแบ่งออกเป็นสองส่วน ได้แก่ การตรวจหาสารกลุ่ม PFAS ตัวที่ระบุ 58 ชนิด และการวัดระดับ EOF (Extractable Organic Fluorine) หรือสารฟลูออรีนอินทรีย์ที่สกัดได้ ซึ่งผลที่ได้จะสัมพันธ์กับการใช้สารเคมีกลุ่ม PFAS   ผลการตรวจวิเคราะห์ในภาพรวมเราพบว่ามีถึง 47 ตัวอย่าง (ร้อยละ 65) จากเสื้อผ้าทั้งหมด 72 ตัวอย่าง ที่มีการใช้หรือการปนเปื้อนของสารในกลุ่ม PFAS หากดูเฉพาะตัวอย่างที่เป็นแจ็กเก็ต 56 ตัวอย่าง พบว่ามีถึง 16 ตัวอย่างที่มีระดับสารเคมีในกลุ่ม PFAS เกินระดับที่สหภาพยุโรปกำหนด ในกรณีของประเทศไทยพบการปนเปื้อนในทุกตัวอย่างที่ส่งไป (6 ตัวอย่าง)การตรวจวิเคราะห์พบสาร FTOHs (หนึ่งในสารกลุ่ม PFAS) และผลผลิตจากการสลายตัวของสารดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าคุณสมบัติด้านความทนทาน การสะท้อนน้ำ และการป้องกันรอยเปื้อน ในตัวอย่างที่ส่งตรวจ เกิดจากการใช้โพลีเมอร์ที่ได้จากฟลูโรเทโลเมอร์แบบสายโซ่ด้านข้างและ FTOHs ตัวที่พบมากที่สุดคือ PFOA ซึ่งเป็นสารเคมีที่จัดอยู่ในรายการ “ต้องกำจัด” ภายใต้อนุสัญญาสตอกโฮล์ม จึงไม่ควรนำมาใช้ในการผลิตเสื้อผ้าทำไมเราถึงเรียกมันว่า “สารเคมีตลอดกาล”? สารเคมีในกลุ่ม PFAS ทุกตัวมีพันธะทางเคมีระหว่างอะตอมของคาร์บอนและฟลูโอรีนที่ยึดเหนี่ยวกันแน่นมาก ทำให้มีความเสถียรสูงและสลายตัวยาก เราจึงเรียกมันว่า “สารเคมีตลอดกาล” งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า PFAS สามารถถูกปล่อยออกมาในสิ่งแวดล้อมได้ตลอดช่วงชีวิตของมัน ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การใช้ ไปจนถึงการกำจัด และเพราะมันกำจัดได้ยาก ความเข้มข้นของสารเคมีเหล่านี้ในสิ่งแวดล้อมจึงเพิ่มขึ้นตลอดเวลา นักวิจัยพบ PFAS ทั้งในดิน น้ำ อากาศ รวมถึงแหล่งน้ำดื่ม และฝุ่นผงตามบ้าน มีหลักฐานว่ามันสามารถแพร่กระจายไปได้ไกลถึงขั้วโลกเหนือเลยทีเดียวเราจำเป็นต้องใช้มันหรือไม่?ปัจจุบันมีสารชนิดอื่นที่สามารถนำมาใช้แทนได้โดยให้คุณสมบัติอย่างเดียวกัน เห็นได้จากผลการทดสอบครั้งนี้ เราพบเสื้อผ้าที่มีฟังก์ชันคล้ายกันที่ผลวิเคราะห์ระบุว่าปราศจากสาร PFAS ถึง 21 ตัวอย่าง หากเปรียบเทียบกันระหว่างตัวอย่างที่มีสาร PFAS สูงที่สุดของแต่ละประเทศในเอเชียด้วยกันจะพบว่าตัวอย่างที่ซื้อจากอินเดียมีปริมาณ PFAS สูงสุด (702.2 นาโนกรัม/กรัม) ตามด้วยตัวอย่างจากไทย (379.9 นาโนกรัม/กรัม) ในขณะที่ตัวอย่างจากบังคลาเทศและศรีลังกามีสาร PFAS ในปริมาณ 6.8 และ 2.7 นาโนกรัม/กรัม ตามลำดับถ้ามองในภาพรวมจากทั้ง 13 ประเทศจะพบว่าตัวอย่างจากสาธารณรัฐเชก ครองอันดับสิ่งทอที่มี PFAS ในปริมาณมากที่สุด (1304.7 นาโนกรัม/กรัม) อันดับสองตัวอย่างจากสหรัฐ (983 นาโนกรัม/กรัม) อันดับสามได้แก่อีกหนึ่งตัวอย่างจากสาธารณรัฐเชก (825.1 นาโนกรัม/กรัม) ส่วนตัวอย่างจากไทยนั้นเข้ามาเป็นอันดับที่ 9·     คำอธิบายEOF (Extractable Organic Fluorine) หมายถึงปริมาณสารฟลูออรีนอินทรีย์ที่สกัดได้ LOD (Limit of Detection) หมายถึงปริมาณต่ำสุดที่สามารถวัดได้ 

อ่านเพิ่มเติม >

“การแสดงฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูปและการโฆษณา ณ สถานที่ขายเกี่ยวกับการใช้ยาต้านจุลชีพ”

ผลสำรวจตัวอย่างเนื้อหมู-ไก่ ชนิดพรีเมียม และปกติ พบบางรายการปกปิดข้อมูลด้านความไม่ปลอดภัยจากสารอันตราย ไม่ยอมแจ้งบนฉลาก         วันนี้ ( 13 มีนาคม 2567 ) ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และภาคีเครือข่ายนักวิชาการ ได้จัดแถลงผลการศึกษาเรื่อง “การแสดงฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูปและการโฆษณา ณ สถานที่ขายเกี่ยวกับการใช้ยาต้านจุลชีพ” โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)         การสำรวจฉลาก นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวถึงวิธีการเก็บตัวอย่างว่า ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เนื้อหมู เนื้อไก่ ที่ระบุว่าเป็นสินค้าพรีเมียม มีการอ้างถึงขั้นตอนเลี้ยงด้วยกระบวนการพิเศษและปลอดภัยจากสารต่างๆ ทำให้ราคาขายแพงกว่าเนื้อสัตว์ในกระบวนการเลี้ยงปกติ โดยเก็บเนื้อหมูส่วนสะโพก (สันนอก สันใน) และอกไก่ลอกหนัง จากซูเปอร์มาร์เก็ตในเขตกรุงเทพมหานคร เป็นเนื้อหมูจำนวน 7 ตัวอย่าง อกไก่ 5 ตัวอย่าง และเก็บตัวอย่างเนื้อหมูส่วนสะโพกและอกไก่ แบบปกติที่บรรจุในภาชนะบรรจุอย่างละ 1 ตัวอย่างในซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อนำมาเปรียบเทียบราคาจำหน่ายในช่วงเวลาเดียวกัน (เดือนกันยายน 2566) รวมเป็นจำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 14 ตัวอย่าง จากการเปรียบเทียบราคาพบว่า ราคาแพงกว่าราคาปกติประมาณสองเท่า         1.เนื้อหมูส่วนสะโพกชนิดพรีเมียม ราคาอยู่ระหว่าง 290 – 500 บาท ต่อกิโลกรัม ในขณะที่เนื้อหมูส่วนสะโพกชนิดธรรมดา สันนอกคัด จำหน่ายภายในห้างฯ ราคาอยู่ที่ 225 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้าเทียบกับราคาในแหล่งจำหน่ายอื่นๆ ของเดือนกันยายน 2566 สันนอกจะมีราคาอยู่ที่ 130 บาทต่อกิโลกรัม         2.เนื้ออกไก่ลอกหนังชนิดพรีเมียม ราคาอยู่ระหว่าง 215 – 400 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่เนื้ออกไก่ชนิดธรรมดา จำหน่ายภายในห้างฯ อกไก่ลอกหนัง ราคาอยู่ที่ 208 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้าเทียบกับราคาในแหล่งจำหน่ายอื่นๆ ของเดือนกันยายน 2566 อกไก่จะมีราคาอยู่ที่ 90 บาทต่อกิโลกรัม         ผลวิเคราะห์การสำรวจฉลากเนื้อหมูสด-เนื้อไก่สด อ.ภก.ชินวัจน์ แสงอังศุมาลี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า ได้นำข้อมูลจาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่สุ่มเก็บตัวอย่าง ฉลากเนื้อหมูสด-ไก่สด ชนิดพรีเมียม และชนิดธรรมดา ช่วงเดือนกันยายน 2566 ทำการวเคราะห์ประเด็นการใช้ยาปฏิชีวนะ และสารอื่นๆ ปรากฏว่า รูปแบบฉลากที่สำรวจชนิดพรีเมียม มีทั้งแจ้ง และ ไม่แจ้ง บนฉลาก ส่วนชนิดธรรมดา ไม่มีการแจ้งใดๆ         การวิเคราะห์ฉลาก ยังมีข้อสังเกต ดังนี้         มีความหลากหลายของการแสดงฉลาก         การแสดงฉลากในเรื่องยาปฏิชีวนะของเนื้อหมูและเนื้อไก่ ...พบว่าเนื้อหมูและไก่เกรดพรีเมียม 6 ตัวอย่าง (ร้อยละ 42.9) มีการแสดงข้อความในฉลากที่สื่อว่าไม่ใช้เลยตลอดการเลี้ยง และ 6 ตัวอย่าง (ร้อยละ 42.9) ที่ฉลากมีการกล่าวอ้างว่าไม่เจอโดยใช้ข้อความหลายรูปแบบ เช่น ‘ปลอดยาปฏิชีวนะ’ แตกต่างจาก ‘เลี้ยงโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ’ ในขณะที่เนื้อหมูและเนื้อไก่แบบธรรม 2 ตัวอย่าง (ร้อยละ 14.3) ไม่ได้ระบุสาระสำคัญเกี่ยวกับยาปฏิชีวนะ         บางยี่ห้อเน้นที่รางวัลที่ได้รับ ทำให้ผู้บริโภคสนใจคำว่าชนะรางวัล มากกว่าคุณค่าทางโภชนาการ         ข้อความคำแนะนำเป็นภาษาอังกฤษ อ่านยาก ควรเป็นภาษาไทยเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจ         ข้อสังเกตสำคัญ ประเด็นที่สำคัญที่เกี่ยวกับเรื่องยาปฏิชีวนะ มีการใช้คำสองความหมายคือ “เลี้ยงโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ (RAISED WITHOUT ANTIBIOTICS)” ซึ่งแตกต่างจากคำว่า “ปลอดภัยจากยาปฏิชีวนะตกค้าง (ANTIBIOTICS CONTROLLED หรือ ANTIBIOTICS FREE)” มีการใช้คำกล่าวอ้างที่มีรูปแบบหลากหลายอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด เช่น มีการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง แต่หยุดการใช้ก่อนเชือดจนไม่มีการตกค้างอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าเลี้ยงโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะตลอดการเลี้ยงดูเลยได้ ควรมีการกำหนดมาตรฐานและการตรวจสอบก่อนอนุญาตให้ใช้คำดังกล่าว และควรมีการกำหนดให้ชัดเจนเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง ทั้งในฉลากทั้งเนื้อสัตว์แบบพรีเมียม และไม่พรีเมียม รวมทั้งระบุถึงมาตรฐานฟาร์มที่เป็นที่มาของเนื้อสัตว์ดังกล่าว         ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกร ปรุฬห์ รุจนธำรงค์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รายงานข้อสังเกตจากฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูป การโฆษณา ณ สถานที่ขายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่า “ประเทศไทยมีการกำหนดฉลากผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ประเภทลูกชิ้น ไส้กรอก แหนม หมูยอ กุนเชียง และผลิตภัณฑ์ที่มีกระบวนการผลิตทำนองเดียวกันนี้ที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 243) พ.ศ. 2544 เรื่อง ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ และมีการกำหนดฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ. 2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ แต่ประกาศนี้ก็ไม่ใช้กับอาหารสดที่ไม่ผ่านกรรมวิธีใดๆ หรืออาหารสดที่ผ่านกรรมวิธีการแกะ ชำแหละ ตัดแต่ง หรือวิธีการอื่นใดเพื่อลดขนาด ซึ่งอาจแช่เย็นหรือไม่แช่เย็นและบรรจุในภาชนะที่สามารถมองเห็นสภาพของอาหารสด ฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูปขาดการควบคุม จึงส่งผลให้ผลการสำรวจฉลากพบการแสดงฉลากที่หลากหลาย ขาดความชัดเจน ทั้งขนาดตัวอักษร รูปแบบการแสดงข้อความ ตลอดจนความชัดเจนของการสื่อความหมายของข้อความ ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดได้ จึงทำให้เกิดความสงสัยว่าบทบาทหน้าที่ในการกำหนดมาตรการด้านฉลากดังกล่าวควรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานใด ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือหน่วยงานอื่น”         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกร ปรุฬห์ รุจนธำรงค์ ยังกล่าวต่อไปอีกว่า ส่วนประเด็นด้านโฆษณาอาหารนั้น ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 กำหนดให้การแสดงคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร ต้องได้รับอนุญาตก่อนการโฆษณา ซึ่งหากพิจารณาตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง หลักเกณฑ์การโฆษณาอาหาร พ.ศ. 2564 การใช้คำว่า “สด” “ธรรมชาติ” “ผลิตภัณฑ์อินทรีย์” “ออร์แกนิก” “อนามัย” “ถูกสุขอนามัย” “สะอาด” “คุณภาพ” เข้าข่ายบัญชีหมายเลข 3 ของประกาศนี้ ซึ่งเป็นลักษณะการโฆษณาที่เข้าข่ายลักษณะเป็นคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารที่ต้องยื่นคำขออนุญาตโฆษณาอาหาร หากทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาถือว่าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูปเป็นอาหารที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 การกล่าวอ้างในลักษณะนี้ก็ควรจะต้องมีการตรวจสอบโฆษณาทั้งเรื่องการขออนุญาต หรืออย่างน้อยก็ควรมีบทบาทในการตรวจสอบสิ่งที่กล่าวอ้างนั้นเป็นความจริงหรือไม่         รายละเอียดด้านการลงพื้นที่เก็บภาพการโฆษณา ณ แหล่งขาย นางสาวทัศนีย์กล่าวว่า ไปสำรวจโฆษณาของร้านขายเนื้อสัตว์ประเภทเนื้อหมูและเนื้อไก่ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 44 ร้าน 29 พื้นที่ สำรวจทั้งในซูเปอร์มาเก็ต ร้านตั้งเดี่ยวนอกห้างสรรพสินค้า ร้านค้าในตลาด ร้านสะดวกซื้อ และแผงในตลาดสด ...เมื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์โดยเทียบกับหลักเกณฑ์การโฆษณาอาหาร พบว่าการโฆษณาที่เข้าข่ายการแสดงคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร โดยมีการแจ้งคุณภาพของสินค้า พบ 16 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 36.3) โดยรูปแบบการแจ้งคุณภาพอาจจะกล่าวเพียงประเด็นเดียวหรือหลายประเด็น ดังนี้ ร้านขายได้กล่าวถึงความสะอาด 8 ร้าน, สด 6 ร้าน, คุณภาพ 4 ร้าน, อนามัย 2 ร้าน, ชุ่มฉ่ำ 2 ร้าน คำว่าพรีเมี่ยม 1 ร้าน และเลี้ยงด้วยโปรไบโอติกส์อย่างละ 1 ร้าน ข้อสังเกตในส่วนของซูเปอร์มาร์เก็ต จะมีการอนุญาตให้สินค้าแต่ละชื่อการค้าโฆษณาตัวเอง พบ 8 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 18.18) นอกจากนี้ยังพบการโฆษณาว่าปลอดภัย 6 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 13.63) การโฆษณาว่าปลอดสารเร่งเนื้อแดง พบ 4 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 9.09) การโฆษณาว่าไม่ใช้ฮอร์โมน พบ 2 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 4.55) การโฆษณาสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK พบ 16 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 36.3) แต่ร้านที่มีสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK มีแจ้งคุณภาพของสินค้าเพียง 8 ร้านเท่านั้น การแจ้งคุณค่าทางโภชนาการของเนื้อสัตว์ที่ขาย พบเพียง 1 ร้าน และการกล่าวอ้างอื่น เช่น การกล่าวอ้างด้านกระบวนการเลี้ยงดูที่เป็นธรรมชาติ พบคำว่า “100% organic” การรับรองตนเอง พบคำรับรองประกันคุณภาพในบริษัท “มีระบบตรวจสอบย้อนกลับ” “วงจรคุณภาพและความสดของแผนกเนื้อสัตว์”         นักวิชาการด้านกฎหมาย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกร ปรุฬห์ มองว่า “หากมองในมุมกฎหมายการโฆษณาลักษณะนี้โดยไม่ได้รับอนุญาตก็เป็นปัญหาด้านกฎหมายได้ หากมองในมุมของผู้บริโภคก็ต้องการทราบว่าผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายเชื่อถือหรือไว้วางใจได้หรือไม่ หากไม่ทราบข้อมูลจากผู้ขายเลยก็อาจขาดข้อมูลสำหรับการตัดสินใจ หากผู้ขายให้ข้อมูลมา แต่ไม่สามารถตรวจสอบหรือยืนยันได้ว่าเรื่องใดจริงหรือเท็จผู้บริโภคก็ถูกเอาเปรียบได้เช่นกัน”         ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) สรุปผลการศึกษาดังกล่าวข้างต้น มีข้อสังเกตว่าฉลากมีความหลากหลายของการนำเสนอ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้อง คำว่า’ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง’ ที่มีความหมายแตกต่างจากคำว่า’ปลอดจากยาปฏิชีวนะ’ นอกจากนี้ยังพบความแตกต่างของการใช้คำต่าง ๆ เช่น วันหมดอายุ มีขนาดเล็กมาก รวมถึงการระบุสรรพคุณของเนื้อสัตว์ จากการวิเคราะห์กฎหมาย ระเบียบ กติกา อาจมีช่องว่างของการควบคุมฉลากเนื้อสัตว์ดิบประเภทหมูและไก่ เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์แปรรูปแปรรูปหรือไม่ จึงมีช่องว่างของการใช้คำโฆษณาผลิตภัณฑ์ เพื่อทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อ เช่นคำว่า ปศุสัตว์ OK หมายถึงอะไรบ้าง การเคลมคุณสมบัติบนฉลากผลิตภัณฑ์ หรือ การแสดง ณ จุดจำหน่ายนี้ มีหน่วยงานใดมีหน้าที่ตรวจสอบบ้าง มีหน่วยงานใดทำหน้าที่ควบคุม การกำหนดราคาสินค้าพรีเมียม มาตรฐานต่างๆ         ดังนั้นจึงมีข้อเสนอเกี่ยวกับฉลากเนื้อสัตว์สด และการโฆษณาของร้านขายเนื้อสัตว์ ดังนี้         1. ควรมีเจ้าภาพรับผิดชอบในการกำหนดลักษณะฉลากเนื้อสัตว์สดและการโฆษณาของร้านขายเนื้อสัตว์ ซึ่งอาจจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค         2.ควรมีข้อกำหนดในการใช้คำให้ชัดเจน เนื่องจากพบการใช้คำโฆษณานี้มีความหลากหลาย มีทั้งการกล่าวอ้างด้านกระบวนการเลี้ยงดูที่เป็นธรรมชาติ และการกล่าวอ้างด้านไม่พบสิ่งที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจที่แตกต่างกันได้ เช่น คำว่า “ปลอดภัยจากยาปฏิชีวนะ” อาจสื่อความหมายได้ตั้งแต่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะตลอดการเลี้ยงดู หรือมีระยะหยุดยาก่อนการฆ่า หรือมีการใช้ยาแต่มีเนื้อสัตว์พบยาปฏิชีวนะตกค้างไม่เกินที่กำหนดในกฎหมาย จึงควรมีข้อกำหนดในการใช้คำให้ชัดเจน เช่น “Raised without antibiotics” (ไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะทุกขั้นตอนของการเลี้ยง)         3.ควรมีหน่วยงานที่ติดตามและตรวจสอบการกล่าวอ้าง เพื่อไม่ให้เกิดการกล่าวอ้างเกินจริง ซึ่งจูงใจให้ผู้บริโภคหลงเชื่อ และการโฆษณาในลักษณะดังกล่าวอาจมีผลทำให้ราคาสินค้าเกินกว่าความเป็นจริงได้ โดยเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เข้ามาตรวจสอบการโฆษณาดังกล่าว         4.มีระบบฐานข้อมูลการตรวจสอบฉลากของสินค้า และ 5. การให้ความรู้กับผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >