ฉบับที่ 251 ผลทดสอบสารทาเลตและบีพีเอในผลิตภัณฑ์พลาสติกบรรจุอาหาร

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภคสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดลและโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ          ทาเลท (Phthalates) เป็นสารเคมีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่ใช้เป็นสารที่ผสมในพลาสติกลซึ่งเมื่อเติมลงในพลาสติกแล้วจะทำให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นและแข็งแกร่งขึ้น (ATSDR, 2002) phthalates ส่วนใหญ่โดยเฉพาะ DEHP และ DINP (ชนิดของทาเลท) ผลิตและใช้สำหรับการเคลือบของโพลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) ซึ่งเป็นสารพลาสติกทั่วไปที่ใช้มากที่สุดในโลก ผลที่ตามมาต่อสุขภาพของมนุษย์ที่เกิดจากการสัมผัสกับสารเหล่านี้เป็นที่สนใจอย่างมากในปัจจุบัน ความเป็นพิษของทาเลทมุ่งเป้าไปที่การรบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย (endocrine dysruptor) มีผลต่อฮอร์โมนทัยรอยด์ ฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Boas et al.)  ฮอร์โมนอินซูลิน ฮอร์โมนเพศ และส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์         นอกจากนี้ยังมีสารที่อยู่ในภาชนะบรรจุอาหาร น้ำดื่ม อีกชนิดหนึ่งที่มีผลรบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย (endocrine dysrupter)  ได้แก่ สารบีพีเอ ที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์ได้เช่นเดียวกัน กล่าวคือบีพีเอเป็นสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลายอย่าง และเป็นสารทำให้พลาสติกแข็งขึ้น พบในผลิตภัณฑ์ที่ใช้เป็นขวดน้ำดื่มโพลีคาร์บอเนต ขวดนมพลาสติกแข็ง ถ้วยน้ำสำหรับเด็ก ภาชนะบรรจุอาหารภาชนะใส่น้ำและยังใช้เคลือบในกระป๋องอาหาร ทั้งนี้มนุษย์อาจจะได้รับสารบีพีเอจากอาหารน้ำดื่มที่สัมผัสอยู่บนพื้นผิวภาชนะพลาสติกที่มีสารบีพีเอ โดยสารบีพีเอสามารถหลุดออกจากภาชนะเข้าสู่อาหารน้ำดื่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีของเหลวที่ถูกทำให้ร้อนหรือภาชนะที่มีรอยขีดข่วน         ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังด้านความปลอดภัยในสินค้าแก่ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในฐานะหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร สภาองค์กรของผู้บริโภค, สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. จึงสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์พลาสติกที่นำมาบรรจุอาหาร จำนวนทั้งหมด 30 ตัวอย่าง ประกอบด้วยภาชนะพลาสติกที่มีแบรนด์ ไม่มีแบรนด์ ซื้อจากห้าง ซื้อจากตลาด ซื้อจากร้าน 20 บาท ภาชนะที่บรรจุอาหารปรุงเสร็จในร้านสะดวกซื้อ และภาชนะที่จัดมาให้ในอาหารสำเร็จรูป เพื่อดำเนินการตรวจวิเคราะห์หาสารทาเลตอันตรายทั้ง 7 ชนิด และ สารบีพีเอ โดยวิธีการทดสอบทาเลตอ้างอิงตาม EN 14372: 2004, Extraction with organic solvent, determination by GC-MS. ส่วนการทดสอบ บีพีเอ (Bisphenol A); CAS No. 80-05-7 ทดสอบโดยสกัดด้วยตัวทำละลายอินทรีย์และวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือ Liquid Chromatography-Mass Spectrometry (LC-MS) โดยบริษัท TUV เป็นผู้ดำเนินการตรวจวิเคราะห์ ผลการทดสอบ         ผลไม่พบสารทาเลททั้ง 7 ชนิด ที่ระดับ 60 มก./กก. (.006%) หรือสูงกว่าเลย (ดูตารางที่ 1) และการทดสอบหาการปนเปื้อนของสารบิสฟีนอล (เอ) ผล ไม่พบสารดังกล่าวที่ระดับ 10 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมหรือมากกว่า สรุป         ภาชนะบรรจุอาหารที่อยู่ในตลาดและได้รับการสุ่มตรวจ 30 ตัวอย่างทั้งแบบราคาสูงและราคาต่ำ ไม่พบสารทาเลทหรือ บีพีเอเกินกว่าค่ามาตรฐาน         อย่างไรก็ตามสารทาเลทในพลาสติกยังอาจก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับตัวพลาสติกเอง เนื่องจากกระบวนการผลิตมีการปล่อยสารพิษเข้าไปในอากาศและน้ำทำให้เกิดภาวะมลพิษ และต้องอาศัยพลังงานสูง นอกจากนี้พลาสติกยังเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ยาก การรีไซเคิลจะมีคุณภาพด้อยลงจากผลิตภัณฑ์ก่อนการรีไซเคิล ดังนั้นจึงไม่สามารถนำกลับมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เดิมได้ ซึ่งในกระบวนการรีไซเคิลนี้ต้องมีการเพิ่มวัตถุดิบหรือต้นทุนด้านอื่นๆ อีกด้วย ส่วนการเผาขยะพลาสติกชนิดพีวีซีจะเป็นตัวก่อให้เกิดสารไดออกซิน ผู้บริโภคจึงควรลดการใช้ภาชนะบรรจุอาหารแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ผู้ผลิตควรมีความรับผิดชอบมากกว่านี้ในการดำเนินการเรื่องการจัดการขยะพลาสติก รวมทั้งการลงทุนในงานวิจัยด้านภาชนะบรรจุอาหารที่ปลอดภัยทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและต่อคนโดยเฉพาะสำหรับเด็ก   ตารางที่ 1          ทาเลทเป็นสารเคมีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่ใช้เป็นสารที่ผสมในพลาสติกลซึ่งเมื่อเติมลงในพลาสติกแล้วจะทำให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นและแข็งแกร่งขึ้น (ATSDR, 2002) phthalates ส่วนใหญ่โดยเฉพาะDEHP และ DINP ผลิตและใช้สำหรับการเคลือบของโพลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) ซึ่งเป็นสารพลาสติกทั่วไปที่ใช้มากที่สุดในโลก มีการใช้งานตั้งแต่อุตสาหกรรมยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล ของเล่นและผลิตภัณฑ์ในการดูแลเด็ก สหภาพยุโรปได้รับกำหนดทาเลท 5 ชนิดที่มีความสำคัญและต้องควบคุม ได้แก่ ทาเลทที่มีน้ำหนักโมเลกุลสูง: di-isononyl phthalate (DINP), di-isodecyl phthalate (DIDP) เป็น 80% ของทาเลทที่ใช้ในยุโรป ทาเลทที่มีน้ำหนักโมเลกุลต่ำ: dibutyl phthalate (DBP), benzyl-butyl phthalate (BBP), di-2-ethyl-hexyl phthalate (DEHP) ซึ่งมีอันตรายมากกว่าและเป็นพิษ         ผลที่ตามมาต่อสุขภาพของมนุษย์ที่เกิดจากการสัมผัสกับสารเหล่านี้เป็นที่สนใจอย่างมากในปัจจุบัน ความเป็นพิษของทาเลทมุ่งเป้าไปที่การรบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย (endocrine dysruptor) มีผลต่อฮอร์โมนทัยรอยด์ ฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Boas et al.)  ฮอร์โมนอินซูลิน ฮอร์โมนเพศ และส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ ตัวอ่อนในครรภ์มารดาที่ได้รับทาเลทพบว่าระยะห่างระหว่างรูทวารกับอวัยวะเพศมีลักษณะแคบกว่าเด็กปกติ (anogenital distance) (Swan et al.,Environ Health Perspect. 2005)  ทารกที่ได้รับสารทาเลทจากนมแม่ มีความสัมพันธ์กับความผิดปกติของฮอร์โมนเพศโดยลดฮอร์โมนเพศชาย และเกิดความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศหญิง (Main et al., Environ Health Perspect. 2006) และยังมีความสัมพันธ์ระหว่างการได้รับสารทาเลท(ทั้งในครรภ์และระหว่างผู้ใหญ่) กับน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น (Tang-Peronard et al., Obesity Reviews, 2011) และโรคเบาหวาน (Swensson et al., Envir. Res.) ในเพศชายที่ได้รับสารทาเลทสูงพบเชื้ออสุจิมีรูปร่างผิดปกติและมี DNA เสียหาย รวมทั้งพบการหลั่งฮอร์โมนของการสร้างน้ำนม (โปรแลคติน) (Duty et al., Hauser et al) พบว่าความเข้มข้นของสารเมตาโบไลต์ของทาเลทที่สูงขึ้นมีความสัมพันธ์กับภาวะมีบุตรยาก (Trafno G. et al. tox. lett., 2011) อย่างมีนัยสำคัญ        แต่ก็อาจเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ กระบวนการก่อมะเร็งและแม้กระทั่งในความผิดปกติของออทิสติกสเปกตรัม พบว่า การได้รับทาเลทในวัยเด็กมีความเกี่ยวข้องกับโรคเยื่อบุจมูกอักเสบเรื้อรัง และโรคหอบหืด (Bornehag et al., 2004) (Jaakkola et al., 1999) การให้ DEHP ทำให้เกิดมะเร็งตับ (Ito et al., 2007) และตับอ่อนในหนู (Selenskas et al.,1995) พบเนื้องอกของระบบสืบพันธ์เช่น endometriosis และ uterine leiomyomata มีความสัมพันธ์กับระดับของสารทาเลท (Weuve et al., Environ Health Perspect. 2010) นอกจากนั้นยังมีการศึกษาในเด็กออทิสติก 48 คน พบว่าปัสสาวะของเด็กเหล่านี้มีสาร DEHP สูงกว่าเด็กปกติอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นในมาตรฐานสากลและในหลายประเทศได้มีการควบคุมสารทาเลท        นับวันประชากรทั่วโลกจะได้รับสารทาเลทมากขึ้น การศึกษาการได้รับสาร DEHP ซึ่งเป็นทาเลทชนิดหนึ่ง ในประชากรผู้ใหญ่ชาวเยอรมันที่ไม่ได้ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยง 85 ราย (Koch et al., 2003) และเด็กๆ 254 ราย (Becker et al., 2004) พบว่าเด็กได้รับสาร DEHP เข้าสู่ร่างกายสูงกว่าปริมาณอ้างอิง (RfD, 20 ไมโครกรัม/กก/วัน) ถึง 26 คน (ร้อยละ 10.23) ขณะที่ผู้ใหญ่พบสารสูงกว่าค่าอ้างอิง 7 คน (ร้อยละ 5.95) จึงสันนิษฐานได้ว่าเด็กมีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการได้รับ DEHP มากว่าผู้ใหญ่ และอาจเป็นเพราะการบริโภคอาหารที่เพิ่มขึ้นในเงื่อนไขต่อกิโลกรัมของน้ำหนักตัว ในสหภาพยุโรปได้จำกัดการใช้ทาเลทในภาชนะอาหารหรืออุปกรณ์การกินทั้งหลายที่สัมผัสกับอาหารที่นำเข้าปากมาเป็นเวลาหลายปี  เนื่องจากอาจเกิดการเคลื่อนย้ายสารทาเลทจากภาชนะพลาสติกไปยังอาหาร พบว่ากระบวนการนี้จะถูกเร่งให้เร็วขึ้นโดยให้ความร้อน (Directive 2002/72/EC) และอาหารที่มีไขมัน         สารที่อยู่ในภาชนะบรรจุอาหาร น้ำดื่ม อีกชนิดหนึ่งที่มีผลรบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย (endocrine dysrupter)  ได้แก่ สารบีพีเอ บีพีเอเป็นสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลายอย่าง และเป็นสารทำให้พลาสติกแข็งขึ้น พบในผลิตภัณฑ์ที่ใช้เป็นขวดน้ำดื่มโพลีคาร์บอเนต ขวดนมพลาสติกแข็ง ถ้วยน้ำสำหรับเด็ก ภาชนะบรรจุอาหารภาชนะใส่น้ำและยังใช้เคลือบในกระป๋องอาหาร มนุษย์ได้รับสารบีพีเอจากอาหารน้ำดื่มที่สัมผัสอยู่บนพื้นผิวภาชนะพลาสติกที่มีสารบีพีเอ สารบีพีเอสามารถหลุดออกจากภาชนะเข้าสู่อาหารน้ำดื่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีของเหลวที่ถูกทำให้ร้อนหรือภาชนะที่มีรอยขีดข่วน บีพีเอถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย         การศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่า คนส่วนใหญ่จะมีปริมาณสารบีพีเอวัดได้ในปัสสาวะ ในสัตว์ทดลองพบว่าสารบีพีเอเป็นสารก่อกวนต่อมไร้ท่อที่เลียนแบบผลของฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งจะรบกวนการทำงานของฮอร์โมนหลายอย่างของร่างกายเช่น ฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรน ฮอร์โมนทัยรอยด์ นอกจากนั้นยังพบว่า มีผลรบกวนระบบเผาผลาญอาหารได้แก่การทำงานของอินซูลิน และมีความสัมพันธ์กับกลุ่มอาการรังไข่มีถุงน้ำหลายใบ การแท้งบุตรซ้ำ ความผิดปกติของโครโมโซมในทารกในครรภ์         ส่วนสารทาเลทยังถูกพบว่า ได้ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมทั้งในดินและน้ำ. อาจส่งผลรบกวนระบบฮอร์โมนต่อมไร้ท่อของมนุษย์ได้ในห่วงโซ่อาหารและน้ำ (Rzybylinska P A and WyszkowskI M, ECOL CHEM ENG S. 2016)         มาตรฐานความปลอดภัยชองสารทั้งสองชนิดในผลิตภัณฑ์เด็กรวมทั้งภาชนะบรรจุอาหารและน้ำดื่ม ที่เด็กเป็นผู้ใช้ ได้กำหนดค่าปริมาณสารทาเลตต่อน้ำหนักวัสดุ และปริมาณสารทาเลทหรือบีพีเอที่สามารถเคลื่อนตัวออกมาจากพลาสติกมาปนเปื้อนกับอาหารหรือสามารถสัมผัสได้ทางผิวหนัง สูดดมหรือทางปาก หากเป็นภาชนะอาหารเพื่อดูว่าจะมีสารนี้รั่วไหลออกมาสัมผัสกับอาหารได้มากน้อยเพียงใด         ตั้งแต่ 7 กรกฎาคม 2020 สหภาพยุโรปได้เปลี่ยนแปลงข้อกำหนดสารทาเลทในของเล่นและผลิตภัณฑ์ของใช้กับเด็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาชนะและอุปกรณ์ที่สัมผัสอาหารและนำเข้าปาก โดยให้รวม สารทาเลท 4 ชนิด (จากเดิม 3 ชนิด) ได้แก่ DBP/ BBP/ DEHP + DIBP แล้วต้องน้อยกว่า 0.1% ของน้ำหนักวัสดุ และกำหนดค่าสารทาเลทที่เคลื่อนตัวออกมาจากพลาสติก (SML: specific migration limit) กำหนดไว้ที่ 60 มก./กก. (.006%)         สำหรับสารบีพีเอ ได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นโมโนเมอร์ในการผลิตวัสดุสัมผัสอาหารพลาสติก และยังใช้เพื่อผลิตวัสดุและสิ่งของอื่นๆ ที่สัมผัสกับอาหาร รวมทั้งอีพอกซีเรซินที่ใช้ในเคลือบเงา เมื่อเร็วๆ นี้ ค่า SML ใหม่ถูกกำหนดไว้ที่ 0.05 มก. (หรือ 50ไมโครกรัม) /กก. โดยระเบียบคณะกรรมาธิการ (EU) และไม่อนุญาติให้มีส่วนประกอบของสารนี้ในผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กอายุน้อยกว่าสามปี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อ ร่วมมือสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว และ สภาองค์กรของผู้บริโภค ตรวจกล่องพลาสติกบรรจุอาหารร้อน เผยทุกตัวอย่างผ่าน ต้องระวังการเลือกเก็บชนิดพลาสติกในการบรรจุอาหารเพื่อการบริโภค

        ฉลาดซื้อ ร่วมมือสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว และ สภาองค์กรของผู้บริโภค ตรวจกล่องพลาสติกบรรจุอาหารร้อน เผยทุกตัวอย่างผ่าน ต้องระวังการเลือกเก็บชนิดพลาสติกในการบรรจุอาหารเพื่อการบริโภค         วันนี้ (15 กุมภาพันธ์ 2565) ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และสภาองค์กรของผู้บริโภค สุ่มเก็บกล่องพลาสติกบรรจุอาหารร้อน จำนวน 30 ตัวอย่าง เพื่อตรวจสอบสารทาเลท และแถลงผลการสำรวจสารทาเลท สารอันตรายต่อระบบสืบพันธุ์และระบบต่อมไร้ท่อของร่างกายในภาชนะบรรจุอาหารพลาสติก         รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ดำเนินการตรวจสอบสารทาเลท 7 ชนิด ในภาชนะบรรจุอาหารแบบพลาสติก และสาร BPA ทั้งหมด 30 ตัวอย่าง โดยมีทั้งภาชนะพลาสติกที่มีแบรนด์ ไม่มีแบรนด์ ซื้อจากห้าง ซื้อจากตลาด ซื้อจากร้าน 20 บาท ภาชนะที่บรรจุอาหารปรุงเสร็จในร้านสะดวกซื้อ และภาชนะที่จัดมาให้ในอาหารสำเร็จรูป โดยมีวิธีการเลือกกล่องภาชนะพลาสติกบรรจุอาหาร ดังนี้ เลือกกล่องภาชนะพลาสติกบรรจุอาหาร ชนิดที่มีสัญลักษณ์มาตรฐานอุตสาหกรรม หรือไม่มีสัญลักษณ์ที่ถูกต้อง เพื่อสำรวจระดับความเข้มข้นของสารทาเลท วิเคราะห์การปลดปล่อยสารทาเลท, BPA & BPA Substitutes, PVC ที่มีผลออกฤทธิ์ต้านแอนโดรเจนหรือฮอร์โมนเพศชาย และระดับความเข็มข้นของสารทาเลท โดยส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน เพื่อหาสารทาเลทอันตรายทั้ง 7 ชนิด และ สาร BPA โดยวิธีการทดสอบทาเลทอ้างอิงตาม EN 14372: 2004, Extraction with organic solvent, determination by GC-MS. โดยสุ่มเก็บตัวอย่างและส่งทดสอบที่ห้องปฏิบัติการมาตรฐาน ในเดือนตุลาคม 2564         สรุปผลการวิเคราห์เป็นสิ่งที่น่ายินดีว่า กล่องพลาสติกบรรจุอาหารทั้งแบบราคาสูงและราคาต่ำ ไม่พบสารบีพีเอ และสารทาเลท เกินกว่าค่ามาตรฐาน ไม่พบสารทาเลททั้ง 7 ชนิด ดังกล่าวที่ระดับ 60 มก./กก. (.006%) หรือสูงกว่าตามตารางและรูป และการทดสอบ สารบิสฟีนอล (เอ) (Bisphenol A); CAS No. 80-05-7 ทดสอบโดยสกัดด้วยตัวทำละลายอินทรีย์ และวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือ Liquid Chromatography-Mass Spectrometry (LC-MS) ผลไม่พบสารดังกล่าวที่ระดับ 10 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมหรือมากกว่าสารทาเลท 5 ชนิดที่สหภาพยุโรปอนุญาตให้ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์ที่สัมผัสกับอาหาร ได้แก่            1. DBP (dibutyl phthalate)            2. BBP (butyl benzyl phthalate)            3. DEHP (Bis(2-ethylhexyl)phthalate)            4. DINP (diisononyl phthalate)             5. DIDP (diisodecyl phthalate)         ตั้งแต่ 7 กรกฎาคม 2020 สหภาพยุโรปจำกัดการใช้ DBP/ BBP/ DEHP ในผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภคทุกชนิด ที่ไม่เกิน 0.1% ของน้ำหนักวัสดุที่ผสมสารพลาสติไซเซอร์ (ก่อนหน้านั้น เกณฑ์ดังกล่าวใช้กับของเล่นและผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กเท่านั้น) โดยมีข้อเสนอจากผู้เชี่ยวชาญของ EFSA หรือ European Food Safety Authority เรื่องข้อกำหนดปริมาณการบริโภคต่อวัน (Tolerable Daily Intake) กำหนดให้รับทาเลท DBP, BBP, DEHP และ DINP เข้าร่างกายไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม  (µg/kg) โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์          ส่วน DIDP ไม่ส่งผลกระทบต่อระดับเทสโตสเตอโรนในตัวอ่อน จึงเสนอใช้มาตรฐาน 150 µg/kg ต่อวัน โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อตับแทน (อ้างอิงจากข้อมูล https://www.efsa.europa.eu/en/news/faq-phthalates-plastic-food-contact-materials)         รศ.นพ. อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทาเลทเป็นกลุ่มของสารที่ส่วนใหญ่ใช้เป็นสารที่ผสมในพลาสติกชนิดพีวีซีเพื่อเพิ่มภาวะการคืนรูป ทาเลทไม่มีพันธะทางเคมีที่เชื่อมต่อกับพลาสติก ดังนั้นสารนี้จึงสามารถเคลื่อนย้ายออกจากผลิตภัณฑ์ไปเกาะติดกับสิ่งอื่นเช่นมือเมื่อมีการสัมผัสได้ ทาเลทมีหลายชนิด บางชนิดจัดว่าเป็นพิษต่อระบบการสืบพันธุ์และระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย โดยกลไกการออกฤทธิ์จะต้านแอนโดรเจนหรือฮอร์โมนเพศชาย ดังนั้นในมาตรฐานสากลและในหลายประเทศได้มีการควบคุมสารทาเลท           อย่างไรก็ตามสารทาเลทในพลาสติกยังอาจก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น เดียวกับตัวพลาสติกเอง เนื่องจากกระบวนการผลิตมีการปล่อยสารพิษเข้าไปในอากาศและน้ำทำให้เกิดภาวะมลพิษ และต้องอาศัยพลังงานสูง นอกจากนี้พลาสติกยังเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ยาก การรีไซเคิลจะมีคุณภาพด้อยลงจากผลิตภัณฑ์ก่อนการรีไซเคิล ดังนั้นจึงไม่สามารถนำกลับมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เดิมได้ ซึ่งในกระบวนการรีไซเคิลนี้ต้องมีการเพิ่มวัตถุดิบหรือต้นทุนด้านอื่นๆอีกด้วย ส่วนการเผาขยะพลาสติกชนิดพีวีซี จะเป็นตัวก่อให้เกิดสารไดออกซิน ดังนั้นจึงควรลดการใช้ภาชนะบรรจุอาหารแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ผู้ผลิตควรมีความรับผิดชอบมากกว่านี้ในการดำเนินการเรื่องการจัดการขยะพลาสติก รวมทั้งการลงทุนในงานวิจัยด้านภาชนะบรรจุอาหารที่ปลอดภัยทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและต่อคนโดยเฉพาะสำหรับเด็ก         นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค และนักวิชาการศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า เราใช้กล่องบรรจุอาหารพลาสติกมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงปัจจุบันมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ผู้บริโภคซื้ออาหารกลับไปรับประทานที่บ้าน การสั่งอาหารเดลิเวอรี หรือจากแอปสั่งอาหาร ทำให้ภาชนะบรรจุอาหารเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวผู้บริโภคมาก และจากข้อมูลผู้บริโภคชาวกรุงเทพฯ ร้อยละ 22.7 ต้องการให้ทดสอบสำรวจบริการนำส่งอาหาร และถ้าผู้บริโภคต้องการให้นิตยสารฉลาดซื้อทดสอบอะไรก็แจ้งเข้ามาได้ เพราะเสียงของทุกท่านมีความหมายและสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้  ในอนาคตอันใกล้นี้ฉลาดซื้อมีแผนจะทดสอบโคยใช้ข้อมูลความคิดเห็นของกลุ่มผู้บริโภคจำนวน 1,143 กลุ่มตัวอย่าง จากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร ที่เราได้ให้ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา บอกเราว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นความสำคัญของการเฝ้าระวัง และต้องการให้การทดสอบสินค้าและบริการเพื่อเป็นข้อมูลในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ มากถึงร้อยละ 77.2 และคิดว่าจะสามารถใช้ผลการทดสอบสินค้าและบริการเพื่อเป็นข้อมูลในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ ร้อยละ 67.2  ซึ่งก็ตรงกับอำนาจและหน้าที่ของสภาองค์กรของผู้บริโภคที่เข้ามาสนับสนุนให้นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เฝ้าระวังสินค้าบริการผ่านการทดสอบและสำรวจ        ด้านนายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า การเฝ้าระวังสินค้าและบริการเป็นหน้าที่หนึ่งของสภาองค์กรของผู้บริโภค โดยสอบ. จัดตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ซึ่งกำหนดให้สภาฯ มีฐานะเป็นผู้แทนผู้บริโภค และมีอำนาจดำเนินการเพื่อการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค ภายใต้ยุทธศาสตร์การสนับสนุนและดำเนินการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค สอบ. มีแผนงานสำคัญในการตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภค โดยจัดทำโครงการสนับสนุนและดำเนินการเฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาสินค้าและบริการ เตือนภัยเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่กระทบต่อสิทธิผู้บริโภค เพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคทันต่อสถานการณ์ กำหนดให้มีการสนับสนุนการทดสอบ สำรวจข้อมูลและวิเคราะห์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลจากการสำรวจหรือทดสอบ เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลอย่างรอบด้าน เพียงพอต่อการตัดสินใจบริโภคสินค้าหรือบริการ และหลีกเลี่ยงสินค้าหรือบริการที่ไม่ปลอดภัยหรืออาจกระทบต่อสุขภาพ อนามัยของผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 กระแสต่างแดน

ทำบุญวิถีใหม่           ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ผู้คนจากประเทศพัฒนาแล้วจำนวนไม่น้อยนิยม “ทำบุญ” ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสด้วยการบริจาคแพะให้กับผู้คนในประเทศยากจน โดยหวังว่าพวกเขาจะได้ใช้ประโยชน์จากมันในการสร้างรายได้ให้ครอบครัวด้วยสนนราคาเพียงตัวละ 12.50 ปอนด์ (ประมาณ 600 บาท) ที่ผ่านมาจึงมีแพะจำนวนมากหลั่งไหลเข้าสู่พื้นที่กันดาร แถมแพะยังให้ลูกได้ถึงปีละหกตัว เรียกว่าลงทุนน้อยแต่ได้ผลมากแต่ล่าสุด เจน กูดดอลล์ นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังออกมาเปิดเผยว่า การเลี้ยงแพะนั้นต้องใช้น้ำมาก ทำให้พื้นที่ๆ แห้งแล้งอยู่แล้วเสี่ยงที่จะแล้งกว่าเดิม ยังไม่นับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ประกอบกับไม่มีสัตว์แพทย์ที่จะดูแลรักษาแพะที่ป่วย โอกาสที่พวกมันจะอยู่รอดจนโตเต็มวัยจึงมีน้อยเธอแนะนำว่า หากต้องการช่วยเหลือผู้คนเหล่านี้อย่างยั่งยืน ให้นำเงินไปสมทบทุนโครงการศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์พืช โครงการปรับปรุงคุณภาพดิน หรือโครงการทำระบบชลประทาน จะดีกว่า ผลกระทบมาไกล         งานสำรวจโดยสถาบันสิ่งแวดล้อมศึกษาแห่งญี่ปุ่น ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกียวโต และมหาวิทยาลัยคิวชู พบว่า การบริโภคโดยคนญี่ปุ่นส่งผลให้มีผู้คนในประเทศต้นทางที่ผลิตสินค้า เช่น จีน อินเดีย และอินโดนีเซีย เสียชิวิตก่อนวัยอันควรถึง 42,000 คนต่อปีในจำนวนนี้มีทั้งผู้ใหญ่ที่อายุเฉลี่ย 70 ปี และยังมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบถึง 1,000 คนทีมวิจัยใช้วิธีคำนวณจากข้อมูลประชากร ข้อมูลการปล่อย PM 2.5 จากโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงงานที่ผลิตสินค้า และจำนวนผู้เสียชีวิตจากห้าโรคร้ายที่มีความเกี่ยวข้องกับมลภาวะดังกล่าว เช่น โรคหลอดเลือดสมอง และโรคติดเชื้อบางชนิดนักวิจัยเสนอให้ผู้ประกอบการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับมลพิษที่ตนเองสร้างขึ้น ทั้งในประเทศตัวเองและที่อื่นๆ ตลอดช่วงอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ รวมถึงแผนการบริหารจัดการมลพิษดังกล่าว เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกสนับสนุนผู้ผลิตที่รับผิดชอบต่อสังคมได้ การขายเชิงรุก           วิธีการขายแบบ “ตีหัวเข้าร้าน” ดูจะไม่จำกัดอยู่ในแวดวงฟิตเนสหรือศัลยกรรมความงามเท่านั้นล่าสุดองค์กรผู้บริโภคฮ่องกงเปิดเผยว่ามีเรื่องร้องเรียนจากผู้ที่ “ได้รับบริการทางการแพทย์โดยไม่จำเป็น” เพราะถูกชักชวนแกมกดดันถึง 71 เรื่อง ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้เทคนิคการขายแบบนี้เริ่มจากการสร้างความวิตกด้วยการบอกความรุนแรงของอาการเกินจริง จากนั้นก็เสนอบริการที่ “ค่อนข้างแพง” แต่ “จำเป็น” ว่าแล้วก็กดดันให้ลูกค้ารู้สึกว่าต้องซื้อบริการผู้ร้องรายหนึ่งซึ่งเป็นชายวัย 30 กว่า เสียเงินไป 150,000 เหรียญ (ประมาณ 650,000 บาท) เริ่มจากการเดินเข้าไปถามราคาบริการตรวจสุขภาพ เขาถูก “ต้อน” อยู่ 2 ชั่วโมง ในที่สุดก็เสียค่าถอนฟันไป 10,000 เหรียญ ตามด้วยค่าบริการนวดจัดกระดูกอีก 29,080 เหรียญ และอื่นๆ อีก เช่น ค่าตรวจลำไส้ ค่าอาหารเสริม เป็นต้นข่าวระบุว่าเขาได้เงินคืนเต็มจำนวน แต่ยังไม่ได้บอกว่าอุตสาหกรรมการแพทย์จะจัดการกับพฤติกรรมนี้อย่างไร ไข่ต้องมีข้อมูล           ตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2022 เป็นต้นไป ไต้หวันกำหนดให้ไข่สดแต่ละฟองที่ผ่านการล้างและบรรจุลงกล่องต้องมีข้อมูลฟาร์มที่เลี้ยง โรงงานล้างบรรจุ วันที่บรรจุ รวมถึงรูปแบบการเลี้ยง บนเปลือกด้วยสภาเกษตรของไต้หวันระบุว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของแนวปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยทางอาหาร ที่จะทำให้การตรวจสอบย้อนกลับและการแจ้งเตือนเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว กรณีที่เกิดปัญหาขึ้นในส่วนของผู้บริโภค ข้อกำหนดดังกล่าวจะทำให้ไข่ไก่ขนาดแพ็ค 10 ฟอง มีราคาเพิ่มขึ้น 1 เหรียญไต้หวัน ส่วนทางด้านผู้ผลิต หากฝ่าฝืน จะต้องจ่ายค่าปรับระหว่าง 6,000 ถึง 30,000 เหรียญไต้หวันผลิตไข่ไก่ได้เฉลี่ยวันละ 22 ล้านฟอง ร้อยละ 65 เป็นแบบล้างและบรรจุกล่องการพิมพ์รหัสลงบนเปลือกไข่เป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว สหภาพยุโรปกำหนดให้พิมพ์ “รหัสผู้ผลิต” มาตั้งแต่ปี 2004 เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกได้ว่าจะรับประทานไข่จากฟาร์มที่เลี้ยงด้วยวิธีใด เช่น ปล่อยอิสระ เลี้ยงในกรง หรือเลี้ยงแบบออกานิก  จุดขายใหม่           สหภาพยุโรปเคาะแล้ว ในปี 2022 เขาจะทุ่มงบประมาณ 185.9 ล้านยูโร ในการส่งเสริมสินค้าเกษตรของประเทศสมาชิก ให้กับผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากพืช พูดง่ายๆ คือเขาต้องการจูงใจผู้ผลิตให้หันมาเลือกแนวทางสายเขียวกันมากขึ้นด้วยการสร้างความต้องการในตลาดให้กับอาหารที่ทำจากพืชนั่นเองนอกจากนี้ยัง “ตีตรา” เนื้อแดงและเนื้อสัตว์แปรรูปที่เคยเป็นดาวเด่นมานานว่าเป็น “อาหารที่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง” ด้วยเรื่องนี้ถูกใจสายสิ่งแวดล้อมที่ต้องการเห็นการลดการใช้น้ำและพลังงานมหาศาลในการเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้า รวมถึงสายวีแกนที่อยากเห็นความเป็นมิตรต่อสัตว์โลกแต่แผนนี้ก็ขัดใจอุตสาหกรรมปศุสัตว์ที่ออกมาโต้ว่า การจะทำอาหารที่ผลิตจากพืชล้วนๆ ให้ถูกปากผู้บริโภค ก็ต้องผ่าน “การสร้าง” หรือการ “การแปรรูป” อย่างเข้มข้นเช่นกันผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่าสิ่งที่โลกต้องการอย่างเร่งด่วนคือ นวัตกรรมอาหาร และการหาสมดุลระหว่างการผลิตพืชและสัตว์ให้ได้นั่นเอง    

อ่านเพิ่มเติม >



ฉบับที่ 248 รวมพลังกินให้เรียบ

        รายงาน Food Waste Index Report 2021 ของ UNEP ประเมินว่าในปี 2019 ทั่วโลกมีขยะอาหารประมาณ 931 ล้านตัน (ร้อยละ 61 มาจากครัวเรือน ร้อยละ 26 มาจากกิจการร้านอาหาร อีกร้อยละ 13 มาจากซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านค้าปลีก) นั่นหมายความว่าร้อยละ 17 ของ “อาหาร” ที่ผลิตได้ ต้องถูกทิ้งไปเฉยๆ  ตัวเลขจากสหรัฐอเมริการะบุว่าผักผลไม้ที่ “เสีย” ไปในช่วงระหว่างการเก็บเกี่ยวมาจนถึงร้านค้านั้นมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 400,000 ล้านเหรียญ  นักวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศยังระบุอีกว่า ร้อยละ 10 ของก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นทั่วโลกก็มีที่มาจากขยะอาหารเหล่านี้         นอกจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม “อาหารเหลือทิ้ง” ยังเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจของครัวเรือนด้วย เช่น สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐฯ (U.S. Bureau of Economic Analysis) พบว่ามลรัฐที่ผู้คน “เสียเงินซื้อของกินมาทิ้ง” มากที่สุดในอเมริกาคือรัฐเวอร์มอนต์ ที่อัตราคนละ 1,374.24 เหรียญ (ประมาณ 45,800 บาท) ต่อปี ขณะที่ประชากรในรัฐโอคลาโฮมา ซึ่ง “ทิ้งของกิน” น้อยที่สุดในประเทศ ก็ยังทิ้งเงินไปถึง 743.58 เหรียญ (ประมาณ 24,800 บาท) ต่อคนต่อปี         ยังไม่นับเรื่องความย้อนแย้งที่เรามี “อาหารถูกทิ้ง” ปริมาณมหาศาล ในขณะที่ประชากรไม่ต่ำกว่า 690 ล้านคนทั่วโลก (อ้างอิงสถิติล่าสุดของสหประชาชาติ) อยู่อย่างอดอยาก         ปัญหาเรื่องการกินทิ้งกินขว้างนี้เกิดขึ้นทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา  ในอเมริกา ร้อยละ 30 – 40 ของสิ่งที่ควรจะเป็นอาหารกลับกลายไปเป็นขยะ ด้านสหภาพยุโรปก็มีขยะอาหารถึงร้อยละ 20 ของขยะมูลฝอยทั้งหมด แต่นั่นยังไม่เท่าเมืองไทยใหญ่อุดมของเราที่มีขยะจากอาหารเหลือทิ้งถึงร้อยละ 64 ของขยะทั้งหมด ข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ เมื่อปี พ.ศ. 2560 ระบุว่า คนไทยหนึ่งคนสร้างขยะอาหารถึงปีละ 254 กิโลกรัมเลยทีเดียว         สิ่งที่หลายประเทศลงมือทำ หรือกำลังจะทำเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างยั่งยืน คือการใช้กฎหมายเพื่อลดปริมาณอาหารเหลือทั้งจากครัวเรือน ร้านอาหาร และร้านค้าปลีก ลงให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 50 ภายในปี 2025 (สหภาพยุโรป) หรือภายในปี 2030 (อเมริกาและไทย เป็นต้น)           ระหว่างที่บ้านเรากำลังศึกษาจัดทำมาตรการและแนวทางในการลดขยะอาหาร เราขอชวนคุณมาส่องกฎหมายหรือข้อบังคับของประเทศอื่นไปพลางๆ ก่อน ไอร์แลนด์         ประเทศนี้มีกฎหมายว่าด้วยการจัดการขยะอาหารมาตั้งแต่ปี 2009 เขากำหนดข้อห้ามหรือข้อปฏิบัติสำหรับกิจการโรงแรม ร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต โรงพยาบาล สถานรับเลี้ยงดูเด็กหรือคนชรา รวมถึงโรงอาหารของสถานประกอบการประเภทโรงงานไว้อย่างชัดเจน เช่น ห้ามนำขยะอาหารไปฝังกลบ ต้องใช้บริการ “รถเก็บขยะ” จากหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น หากต้องการทำปุ๋ยหมักก็ต้องทำเรื่องขอใบอนุญาตก่อน แม้แต่การนำอาหารเหลือไปเลี้ยงสัตว์ก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดอย่างเคร่งครัด เกาหลีใต้         เกาหลีใต้มีกฎหมาย “จ่ายตามปริมาณที่ทิ้ง” มาตั้งแต่ปี 2013  เขากำหนดให้ครัวเรือนเก็บขยะอาหารลงในถุงที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ แล้วนำไปทิ้งในถังอลูมิเนียมซึ่งสามารถชั่งน้ำหนัก คำนวณค่าธรรมเนียม แล้วส่งบิลไปเรียกเก็บถึงบ้านทุกเดือน ด้วยเทคโนโลยี RFID         วิธีนี้ได้ผลดีมาก นอกจากชาวบ้านจะ “รีดน้ำ” ออกจากขยะเพื่อประหยัดค่าธรรมเนียม (ร้อยละ 80 ของน้ำหนักขยะมาจาก “ความชื้น”) ทำให้โรงงานจัดการขยะไม่ต้องนำ “น้ำขยะ” ไปเทลงชายฝั่งถึงวันละ 3,800 ตันอย่างที่เคย ปัจจุบันเกาหลียังสามารถเปลี่ยนขยะอาหารให้เป็นปุ๋ยได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 จากที่เคยทำได้เพียงร้อยละ 2 เมื่อปี 1995         เกาหลีเคยเป็นหนึ่งในประเทศอันดับต้นๆ ที่มีขยะอาหารเหลือทิ้งมากที่สุด เมื่อปี 2005 เขามีขยะอาหารถึงวันละ 17,100 ตัน สาเหตุหนึ่งคือวัฒนธรรมการกินแบบที่ต้องมี “บันชัน” หรือเครื่องเคียงถ้วยเล็กๆ ในทุกมื้อ บ้านไหนมีฐานะ เครื่องเคียงก็ยิ่งต้องหลากหลายมากขึ้น ของเหลือจึงเพิ่มตามไปด้วย ฝรั่งเศส         ในปี 2016 ฝรั่งเศสออกกฎหมายให้ซูเปอร์มาร์เก็ตนำอาหารที่ขายไม่หมดไป “บริจาค” เท่านั้น หากยังดื้อดึงจะ “ทำลาย” อาหารที่ยังอยู่ในสภาพที่รับประทานได้ ห้างเหล่านี้จะถูกปรับในอัตราร้อยละ 0.1 ของยอดขายในปีนั้น (นโยบายทำนองนี้มีใช้ในนอร์เวย์ เดนมาร์ก ญี่ปุ่น และเกาหลี เช่นกัน)         นอกจากนี้ยังกำหนดให้บริการจัดเลี้ยง จัดเตรียมถุงให้กับแขกที่มาในงานได้นำอาหารเหลือกลับไปรับประทานด้วย         ในขณะเดียวกันก็กำหนดให้ผู้ผลิตอาหารทบทวน “วันที่ควรบริโภค” ที่แจ้งต่อลูกค้า โดยคำนึงถึงเรื่องการลดขยะอาหารด้วย    สิงคโปร์         สิงคโปร์สามารถจัดการกับขยะได้ดีอย่างที่เรารู้กัน แม้ขยะอาหารในประเทศเขาจะมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 11 ของขยะมูลฝอยทั้งหมด แต่สิงคโปร์ตั้งเป้าไว้สูงกว่านั้น เขามีสิ่งที่เรียกว่า Zero Waste Masterplan ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายว่าด้วยความยั่งยืนของทรัพยากร ที่ประกาศใช้เมื่อปี 2019         ภายใต้แผนดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นไป ผู้ประกอบการ เช่น ห้าง โรงแรม หรือโรงอาหาร จะต้องจัดให้มี “พื้นที่สำหรับจัดการขยะอาหาร” และเมื่อถึงปี 2024 ผู้ประกอบการจะต้องมีการคัดแยกขยะเพื่อนำไปจัดการ โดยรัฐบาลจะสนับสนุนค่าใช้จ่าย  ขณะเดียวกันก็มีการฝึกอบรมอาสาสมัครเพื่อให้เป็นตัวแทนออกไปให้ความรู้กับชุมชนด้วย จีน         จีนผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยการห้ามทิ้งอาหารออกมาหมาดๆ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา นอกจากจะสั่งแบนคลิปวิดีโอประเภท “โชว์กินแหลก” แล้ว (ฝ่าฝืนมีค่าปรับ 100,000 หยวน หรือประมาณ 520,000 บาท)  เขายังมีบทลงโทษร้านอาหารที่ให้พนักงานมาคอย “เชียร์” ให้ลูกค้าสั่งอาหารเยอะๆ (ค่าปรับ 10,000 หยวน หรือประมาณ 52,000 บาท) หรือร้านที่มีอาหารเหลือทิ้งมากเกินไป (ปรับ 5,000 หยวน หรือประมาณ 26,000 บาท)         ทั้งนี้เขาอนุญาตให้ร้านอาหารคิดเงินเพิ่มเพื่อเป็นค่าจัดการกับอาหารที่เหลือได้ โดยต้องมีการติดป้ายบอกลูกค้าให้ชัดเจน         ในปี 2020 มีการรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกัน “กินให้เกลี้ยงจาน” เพื่อลดขยะจากอาหาร และให้ร้านอาหารยอมให้ลูกค้าสั่งอาหารไม่ครบคนได้ (เช่น มากัน 5 คน แต่สั่งเพียง 4 จาน)  สเปน         กฎหมายของสเปนที่ออกมาในปีนี้ (2021) เจาะจงไปที่ร้านค้าปลีก ด้วยการกำหนดให้ทางร้านนำผักผลไม้หน้าตาไม่ดีออกมาจำหน่าย แทนที่จะคัดทิ้งไป และสำหรับห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ (พื้นที่เกิน 400 ตารางเมตร) ห้างต้องจัดโปรแกรม “ส่งเสริมการขาย” เพื่อจูงใจให้ลูกค้าอยากซื้อผักผลไม้ดังกล่าวด้วย          ในกรณีที่ขายไม่ได้จริงๆ เขากำหนดให้นำไปบริจาคให้กับองค์กรการกุศลหรือธนาคารอาหาร หากฝ่าฝืนมีค่าปรับระหว่าง 6,000 – 150,000 ยูโร (ประมาณ 230,000 – 5,800,000 บาท)         ฟิลิปปินส์เพื่อนบ้านเราก็กำลังลุ้นร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ลดขยะอาหาร ที่มีสาระสำคัญคล้ายกับกรณีของสเปน เช่นกัน     เวียดนาม         กฎหมายที่จะเริ่มใช้ในปี 2022 ตามแผนการลดขยะครัวเรือนของเวียดนาม กำหนดให้แต่ละบ้านแยกขยะออกเป็น 3 ประเภท (ขยะรีไซเคิล ขยะอาหาร และขยะอื่นๆ )  จัดเก็บในถุงบรรจุชนิดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และจ่ายค่าธรรมเนียมการจัดการขยะตามจำนวนถุงที่ใช้ โดยผู้ให้บริการเก็บขยะมีสิทธิที่จะปฏิเสธการเก็บได้ หากผู้ทิ้งไม่ทำตามเงื่อนไข    รายละเอียดเรื่องค่าธรรมเนียมอยู่ระหว่างการพิจารณาโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ปัจจุบันครัวเรือนในเขตเมืองของเวียดนามจ่ายค่าธรรมเนียมการเก็บขยะเดือนละ 25,000 – 30,000 ดอง (ประมาณ 35 - 45 บาท)https://www.un.org/en/global-issues/foodhttps://www.bloomberg.com/news/articles/2021-07-21/food-waste-problem-is-even-bigger-than-we-thought#:~:text=An%20estimated%202.5%20billion%20tons,and%20U.K.%20retailer%20Tesco%20Plc.https://uspackagingandwrapping.com/blog/which-states-waste-the-most-food.html?fbclid=IwAR21gG1TcjzjEbZn6ysS4NcCRouWLqKsjWfrWoJ3-zLaWoX9brFmSeYObGchttps://www.unep.org/resources/report/unep-food-waste-index-report-2021https://www.bworldonline.com/food-waste-not-want-not/?fbclid=IwAR193Pe4ZQF1VYMdb0tjZ5nEKwuQmbwq97KpvaF78imj3fl7iEZ3Uh-rMfohttps://www.nycfoodpolicy.org/food-policy-snapshot-south-korea-food-waste/https://www.globaltimes.cn/page/202104/1222490.shtmlhttps://stopfoodwaste.ie/resource/food-waste-the-lawhttps://ec.europa.eu/food/safety/food-waste/eu-actions-against-food-waste_enhttps://www.pewtrusts.org/en/research-and-analysis/blogs/stateline/2021/07/08/waste-not-some-states-are-sending-less-food-to-landfillshttps://www.fda.gov/food/consumers/food-loss-and-wastehttps://www.thaihealth.or.th/Content/50924   https://e.vnexpress.net/news/news/vietnam-to-apply-pay-as-you-throw-model-by-2025-4193441.html

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 อาหารเป็นพิษ ร้านค้ารับผิดชอบอะไรบ้าง

        ช่วงล็อคดาวน์ในสถานการณ์โควิด รัฐบาลขอความร่วมมืองดการเดินทาง ใช้ชีวิตอยู่บ้าน Work From Home กันไป หรือถ้าต้องการจะรับประทานอะไรที่ต้องเดินทางไปที่ร้านก็ต้องเปลี่ยนมาพึ่งบริการเดลิเวอรี่แทน           คุณดิน เป็นอีกคนที่ทำงานจากที่บ้าน วันหนึ่งไม่อยากทำอาหารเอง จึงสั่งไก่ย่างจากฟาสต์ฟู้ดส์ดังยี่ห้อหนึ่งซึ่งมีบริการเดลิเวอรี่ของตนเอง มารับประทานกับแฟนของเขา หลังจากอิ่มหนำสำราญผ่านไปได้ประมาณ 2 ชั่วโมง ทั้งสองก็เกิดอาการอาหารเป็นพิษ อาเจียน ท้องเสียอย่างหนัก จึงรีบพากันไปโรงพยาบาล         เมื่อแพทย์วินิจฉัยและให้การรักษา ผลคืออาการอาหารเป็นพิษจากชุดไก่ย่างที่สั่งมารับประทาน ทั้งเขาและแฟนต้องนอนโรงพยาบาล 2 คืน รวมค่าใช้จ่ายในการรักษาทั้งสองคนคือ 75,000 บาท เป็นค่ารักษาพยาบาลของเขา 36,000 บาท และส่วนของแฟน 39,000 บาท ซึ่งในระหว่างรักษา คุณดินได้แจ้งเรื่องไปที่ร้านฟาสต์ฟู้ดส์ที่เป็นต้นเหตุของการเจ็บป่วย ทางร้านจึงได้ส่งตัวแทนมาเยี่ยม พร้อมให้ฝ่ายกฎหมายของทางร้านมาเจรจา พอต้องเจอทนาย คุณดินไม่แน่ใจว่าจะต้องเจรจาอย่างไรเพื่อให้สิทธิของตนเองไม่ถูกลดทอน  จึงโทรมาสอบถามศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอคำแนะนำ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิให้คำแนะนำว่า ผู้ร้องสามารถเจรจากับทางร้านได้ โดยต้องกำหนดค่าชดเชยที่ครอบคลุมเรื่องความเสียหายทั้งหมดไว้ก่อน  ผู้ร้องประสงค์ให้ทางร้านรับผิดชอบสิ่งใดบ้าง เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าขาดประโยชน์ ค่าเสียเวลา เป็นต้น  และต้องเก็บเอกสารหลักฐานต่างๆ ไว้กับตนเอง หากทางร้านต้องการเอกสารควรสำเนาไว้กับตนหนึ่งชุดด้วย เช่น ใบรับรองแพทย์ ใบเสร็จค่าอาหาร เป็นต้น         หลังจากการให้คำปรึกษา ต่อมาผู้ร้องได้แจ้งกลับมาว่าตนได้เจรจากับทางร้านเรียบร้อยแล้ว โดยเรียกให้ทางร้านรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลของผู้ร้องและแฟน รวมทั้งเรียกค่าชดเชยจำนวน 5,000 บาท เนื่องจากผู้ร้องไม่สามารถปฏิบัติงานได้ช่วงที่ต้องรักษาตัว อย่างไรก็ตามทางร้านแจ้งว่าจะรับผิดเฉพาะค่ารักษาพยาบาลจำนวน 36,000 บาทและของแฟนผู้ร้องจำนวน 39,000บาท เท่านั้น ทางศูนย์ฯ จึงแจ้งว่าหากผู้ร้องไม่พอใจกับข้อเสนอของบริษัท มูลนิธิฯ จะเป็นคนกลางช่วยเจรจาให้ ซึ่งถ้ายังไม่สามารถตกลงกันได้ ก็สามารถฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคต่อไป         ภายหลังทางร้านได้รับผิดชอบทั้งค่ารักษาพยาบาลของผู้ร้องและแฟนเป็นจำนวนเงิน 75,000 บาท และมอบค่าชดเชยให้แก่ผู้ร้องอีกจำนวน 2,000 บาท เรื่องเป็นอันยุติ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 10 แอปพลิเคชันเลือกซื้อของสด

        ยุคนี้อะไร อะไร ก็เดลิเวอรี่ ผู้บริโภคยุคใหม่จะจับจ่ายใช้สอยก็ง่ายดาย เพราะผู้ประกอบการหลายเจ้าเร่งพัฒนาสินค้าบริการให้ตอบโจทย์กับคนยุคใหม่มากมาย เช่น การสั่งซื้อสินค้าของสด ของแห้งหรือของใช้ผ่านแอปพลิเคชันที่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 กลายเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์มากๆ           อย่างไรก็ตามผู้บริโภคบางคนอาจมีข้อสงสัย ว่าการเลือกซื้อสินค้าผ่านทางแอปพลิเคชันกับซื้อตามห้างสรรพค้าเองมีข้อแตกต่างกันอย่างไร ทั้งในเรื่องของเงื่อนไขการสั่งซื้อ สินค้ามีความสดใหม่หรือไม่ ราคาแพงหรือถูกกว่า การบริการจัดส่งแพ็คสินค้าต่างๆ หลังสั่งซื้อและวันหมดอายุ ทางฉลาดซื้อจึงได้ทดลองการสั่งซื้อสินค้าประเภท อาหารสด อาหารแห้ง ของใช้ จาก 10  แอปพลิเคชันออนไลน์ ช่วงเวลา 14-21 กันยายน 2564 เพื่อพิสูจน์ข้อสงสัยดังกล่าว         มาติดตามกันเลย        เราสำรวจแอปพลิเคชันอะไรบ้าง        1. Tops Online สินค้าจาก Tops        2. Tesco Lotus สินค้าจาก Tesco Lotus        3. BigC สินค้าจาก BigC        4. Makro สินค้าจาก Makro        5. CP Freshmart สินค้าจาก CP Freshmart        6. Freshket สินค้าจากทางแอปพลิเคชันจัดส่งเองไม่สามารถระบุได้        7. HappyFresh สินค้าจาก Gourmet Market         8. Line man Powered By Happyfresh สินค้าจาก Gourmet Market         9. FoodPanda (Pandamart) สินค้าจาก Pandamart        10. Grab (GrabSupermarket) สินค้าจาก Tops วิธีการทดสอบ        1. สำรวจเงื่อนไขวิธีการสั่งซื้อ และทดสอบสั่งซื้อสินค้าประเภท อาหารแห้ง/อาหารสด/ของใช้ (การสั่งซื้อสินค้าเป็นไปตามเงื่อนไขของแอปพลิเคชัน) เลือกวิธีการจัดส่งแบบรับสินค้าในวันถัดไปและเลือกชำระเงินปลายทางทุกแอปพลิเคชัน (ที่มีตัวเลือกชำระปลายทาง)         2. หลังสั่งซื้อดูการแพ็คสินค้าว่ามีการแยกอาหารสด/อาหารแห้ง/ของใช้  หรือไม่        3. สำรวจวันหมดอายุของสินค้ามีวันหมดอายุหรือไม่ เปรียบเทียบราคาสินค้าจากแอปพลิเคชันกับห้างสรรพสินค้า(ราคาสินค้าอาจเป็นไปตามช่วงเวลาที่บริษัทกำหนด)ผลทดสอบ        1. ทุกแอปจัดส่งได้ก่อนระยะเวลาที่กำหนด เรื่องการจัดส่งและการแพ็คสินค้า พบว่า ทุกแอปพลิเคชันที่ทำการสั่งซื้อมีการจัดส่งได้ก่อนระยะเวลาที่กำหนด  9 แอปพลิเคชันมีให้เลือกกำหนดเวลาจัดส่งในวันถัดไป มี 1 แอปพลิเคชัน Makro ไม่สามารถเลือกเวลาในการจัดส่งได้เพราะทางบริษัทเลือกเวลาจัดส่งเอง 3-5 วัน ในการจัดส่ง ส่วนการแพ็คสินค้า พบว่า Makro ไม่มีการแพ็คสินค้าแยกของสดของใช้          2. 7 แอปพลิเคชันมีชำระเงินปลายทาง มี 3 แอปพลิเคชันไม่มีตัวเลือกชำระเงินปลายทาง ได้แก่  Freshket,Grab By (GrabSupermarket), Makro         3. มีให้เลือกการจัดส่งรูปแบบถุงใช้ซ้ำ ลดโลกร้อน เกือบทุกแอปพลิเคชัน        4. ไม่พบสินค้าหมดอายุนำมาจัดส่ง พบเพียงขนมปังเนยสด 35 กรัม 6 ชิ้นจาก Makro ที่มีวันหมดอายุในวันถัดไปทันที        5. ราคามีโปรโมชั่นพิเศษหากซื้อครบตามเงื่อนไขกำหนด ราคาสินค้าจากการเปรียบเทียบกับที่วางจำหน่ายปกติในห้างค้าปลีก พบว่า Tops Online ,Tesco Lotus , HappyFresh ,Line man Powered By Happyfresh ราคาถูกกว่าสินค้าในห้างเล็กน้อย  อย่างไรก็ตามการสั่งซื้อหากครบตามจำนวนที่บริษัทกำหนดเป็นเงื่อนไข ทั้ง 10 แอปพลิเคชันจะมีโปรโมชั่นจัดส่งฟรีและส่วนลดเยอะกว่าจากการเดินเลือกซื้อที่ห้างข้อสังเกต        - สินค้าของสดส่วนใหญ่จะผลิตในวันที่ส่ง และ CP Freshmart ไม่มีของใช้        - การลงทะเบียนทุกแอปพลิเคชันไม่มีกรอกเลขบัตรประชาชน        - ส่วนใหญ่เกือบทุกแอปพลิเคชันสามารถเลือกขอใบกำกับภาษีได้ มี 1 แอปพลิเคชัน คือ Freshket ที่มีการออกใบเสร็จกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์ทันทีหลังสั่งซื้อ        - แอปพลิเคชัน Makro เหมาะสำหรับร้านค้าเพราะต้องซื้อในปริมาณมากขั้นต่ำ 1,000 บาทขึ้นไป        - การบริการลูกค้า กรณีสินค้าที่สั่งหมด พบว่าทุกแอปพลิเคชันมีการโทรศัพท์มาเพื่อสอบถามการเปลี่ยนสินค้า ยกเว้น Freshket ที่มีระบบคืนเงินทันทีหากสินค้าหมด                 สรุปผลการสำรวจ ฉลาดซื้อมองว่าในเรื่องราคาสินค้าที่แตกต่างกันนั้น อาจขึ้นอยู่กับช่วงเวลาโปรโมชันที่ทางบริษัทกำหนด ความสะดวกสบายในการสั่งซื้อคือ ข้อดี ที่ผู้บริโภคสามารถใช้เป็นทางเลือกเพื่อไม่ต้องเสียเวลากับการไปเดินห้าง  บางครั้งราคาส่วนลดทางแอปพลิเคชันมีเยอะกว่า แต่กรณีที่เป็นแอปพลิเคชันที่ไม่ใช่ของห้างโดยตรงเอง สินค้าจะมีให้เลือกน้อยกว่า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 เด็กยุคนี้สูงได้เต็มศักยภาพ...จริงหรือ

        คนที่มีร่างกายสูงมักดูได้เปรียบคนตัวเตี้ย มองดูดีและมีความมั่นใจ และอาจส่งผลไปถึงบางอาชีพที่เลือกเฉพาะคนตัวสูงและแข็งแรง ซึ่งรวมถึงกีฬาอาชีพหลายประเภท ดังนั้นจึงมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิดพยายามสร้างข้อเสนอให้พ่อแม่เตรียมพร้อมเรื่องความสูงให้กับลูกของตนตั้งแต่เยาว์วัย         คำโฆษณาสินค้าประเภทนี้มักระบุว่า ความสูงของคนนั้นขึ้นกับพันธุกรรม การกินอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เพียงพอ การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และเพื่อเป็นการประกันให้เด็กในวัยเจริญเติบโตสามารถสูงเต็มศักยภาพซึ่งอาจสูงกว่าพ่อแม่นั้น จำต้องกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เหล่าคุณแม่ที่เป็นเซเล็บต่าง (ออกมา call out ในโฆษณาว่า) เลือกเสริมเพิ่มความสูงให้ลูกน้อย ซึ่งสินค้าเหล่านี้มักเป็นนวัตกรรมจากต่างชาติที่อ้างว่า เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ช่วยสร้างหรือกระตุ้นมวลกระดูกและกล้ามเนื้อให้แข็งแรง โดยกินคู่ไปกับอาหารหลัก 5 หมู่ (ความจริงแค่กินอาหารได้ครบ 5 หมู่ด้วยปริมาณที่เหมาะสมตามหลักการทางโภชนาการก็น่าจะพอแล้ว...ผู้เขียน)         มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีเพิ่มความสูงแบบรวดเร็วสำหรับเด็กที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่น โดยอ้างว่ามาจากแหล่งความรู้ที่เชื่อถือได้ (ซึ่งดูจริงบ้าง มั่วบ้าง) คือ  1.) กระโดดเชือกวันละ 30 นาที โดยแบ่งเป็นครั้งละ 5 นาที หรือเล่นบาสเก็ตบอลวันละ 1 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย  2.) ดื่มนมจืดวันละ 2 แก้ว หลังอาหารเช้าและก่อนนอน  3.) งดดื่มน้ำอัดลมเพราะเสี่ยงกระดูกพรุนและเบาหวาน  4.) ฉีด Growth hormone เพิ่มความสูง แต่ต้องระวังว่าหากได้ฮอร์โมนเกินขนาดที่ร่างกายรับได้ อาจทำให้น้ำตาลในเลือดสูง  5.) ไม่เล่นมือถือก่อนนอนเพราะทำให้ลดการหลั่ง Growth hormone และควรนอนติดต่อกัน 7-8 ชั่วโมง  6.) กินนมน้ำเหลือง (Colostrum) จากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม  7.) ผ่าตัดยืดกระดูกเฉลี่ย 1 เซนติเมตร/เดือน โดยต้องยอมรับความเจ็บและราคาแพง  8.) ควรนอนช่วง 3-4 ทุ่ม เพื่อให้ได้หลับลึกที่เที่ยงคืนซึ่งเป็นช่วงที่ Growth hormone หลั่งออกมามากที่สุด  9.) กินอาหารที่มีแคลเซียมสูงเช่น ปลาเล็กปลาน้อย กุ้งแห้ง เต้าหู้แข็ง ผักสีเขียวเข้ม เช่น คะน้า ตำลึง ผักกาดเขียว พร้อมการออกกำลังกาย แต่ถ้าเห็นว่ามันยากนัก (เพราะเด็กในปัจจุบันชอบเล่นแต่โทรศัพท์มือถือ) ทางออกที่ง่ายกว่าคือ การกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิด CBP หรือ Concentrated Bioactive Protein ที่มีในนมวัว         กล่าวกัน (ในโฆษณา) ว่า ในนมวัว 1 ลิตรมี CBP เพียง 1.5 มิลลิกรัมเท่านั้น ดังนั้นในสายตาของผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจึงคิดว่า การดื่มนมเพียงอย่างเดียวดูจะได้ CBP ไม่พอต่อการเจริญเติบโตของเด็ก ต้องมีตัวช่วยมาเสริมให้เด็กมีโอกาสสูงได้เต็มศักยภาพที่ควร โดยการกิน CBP ที่ถูกอัดไว้ในแคปซูลที่วางขายในตลาดเมืองไทยและระบุว่า ใน 1 แคปซูล มี CBP สูงถึงเกือบ 100  มิลลิกรัม ซึ่งถ้าคำนวณด้วยบัญญัติไตรยางศ์แล้วการกินสินค้า 1 แคปซูล ดูเสมือนได้กินนมกว่า 50 ลิตร พร้อมด้วยวิตามินบางชนิดที่จำเป็นต่อความสูง (ในปริมาณที่น่าจะเกินพอต่อความต้องการของร่างกายในหนึ่งวัน) เพื่อช่วยเสริมสร้างมวลกระดูกและกล้ามเนื้อของผู้กิน ซึ่งจริงแล้วต้องมีปัจจัยอื่นเสริมด้วย คือ พันธุกรรมที่อาจเป็นอุปสรรคได้ เพราะถ้าเถือกเถาเหล่ากอตัวเตี้ยมาตลอดลูกหลานคงไม่สูงเกินศักยภาพทางพันธุกรรม ยกเว้นมีการกลายพันธุ์         สรุปแล้วมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างถึง CBP ซึ่งมีคุณสมบัติในการเพิ่มส่วนสูงของผู้บริโภคตั้งแต่วัย 3-18 ปี โดยช่วยให้มีสัดส่วนความสูงที่สมบูรณ์แบบ กระดูกแข็งแรง เสริมสร้างกล้ามเนื้อ จนดูหุ่นดี และสินค้านี้ยังช่วยป้องกันโรคกระดูกเปราะ กระดูกพรุน ในผู้บริโภคผู้ใหญ่ใกล้วัยชรา อย่างไรก็ตาม prerequisite (แปลเป็นไทยว่า ข้อกำหนดเบื้องต้น) คือ ผู้บริโภคต้องมีสตางค์พอ เพราะราคาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนี้ตกแคปซูลละ 17 บาท ถึง 50 บาท ขึ้นกับว่าขายบนแพลทฟอร์มออนไลน์ใด (หรืออาจขึ้นอีกว่าเป็นของแท้ด้วยหรือไม่)         ประเด็นที่น่าสนใจคือ CBP นั้นมีแนวโน้มในการช่วยเด็กให้เติบโตเพิ่มขึ้นจริงหรือ แนวคำตอบคือ ถ้าเด็กชายที่เข้าสู่วัยรุ่นคนหนึ่งมีศักยภาพที่จะสูงได้ 180 เซนติเมตร ตามพันธุกรรมของตระกูล (คือมีคนในตระกูลที่เป็นผู้ชายสูงได้เฉลี่ยประมาณนี้) แต่มีพฤติกรรมชีวิตที่ไม่เหมาะสมเช่น กินอาหารไม่ครบห้าหมู่ นอนดึก ไม่ออกกำลังกาย เอาแต่เล่นเกมส์ในมือถือ ฯลฯ โอกาสสูงถึง 180 เซนติเมตรย่อมน้อยลง ถึงจะกิน CBP ตามที่ฉลากบอกไว้ก็คงหวังยาก แต่ถ้ากินแล้วปรับพฤติกรรมให้เหมาะสมแบบที่วัยรุ่นที่ดีควรทำ ความสูงก็ควรขึ้นได้ถึงจุดที่ควรเป็น         ต้นแบบของ CBP นั้นคือ เวย์โปรตีน         ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็นต้นแบบของ CBP นั้นคือ เวย์โปรตีน ซึ่งน่าจะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและลดน้ำหนักจากการออกกำลังกายได้ เพราะมีบทความวิชาการที่อ้างว่า โปรตีนในนมมีผลต่อมวลกล้ามเนื้อของผู้บริโภค บทความนั้นชื่อ Dietary protein recommendations and the prevention of sarcopenia (sarcopenia หมายถึง ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย) ในวารสาร Current Opinion in Clinical Nutrition & Metabolic Care ของปี 2009 ซึ่งให้ข้อมูลประมาณว่า มวลกล้ามเนื้อของมนุษย์ลดลงตามธรรมชาติเมื่ออายุเพิ่มขึ้นโดยมีไขมันเข้ามาแทนและเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่างๆ อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงที่ไม่พึงประสงค์ในองค์ประกอบของร่างกายนั้นสามารถชะลอ ป้องกัน หรือย้อนกลับได้บ้างเป็นบางส่วน ด้วยการฝึกความแข็งแรงควบคู่ไปกับการบริโภคอาหารที่มีโปรตีนสูงหรืออาหารเสริมที่มีโปรตีน         สิ่งที่ผู้อ่านบางท่านอาจไม่เคยสนใจรู้คือ สมัยก่อนถือว่าเวย์โปรตีนเป็นของเหลือจากการผลิตเนยเหลวหรือ butter และเนยแข็งคือ cheese ทั้งนี้เพราะนมสดที่ได้มาสดๆ และยังไม่ได้ดำเนินการใดนั้น เมื่อทิ้งไว้สักพักจะเกิดการแยกส่วนและตกตะกอน โดยส่วนที่มีไขมันสูงซึ่งมีความหนาแน่นต่ำกว่าน้ำจะแยกตัวลอยขึ้นมาอยู่ชั้นบนเป็นครีม (cream) ที่ถูกแยกนำไปใช้ทำเนย butter ในขณะที่เนยแข็งหรือ cheese นั้นทำมาจากส่วนที่ตกตะกอนอยู่ชั้นล่างซึ่งอุดมไปด้วยโปรตีนเป็นส่วนใหญ่ ส่วนสุดท้ายที่เหลือคือ ของเหลวซึ่งมีองค์ประกอบหลักเป็นโปรตีนที่ละลายน้ำได้ดี กรดอะมิโนอิสระบางชนิดรวมถึงวิตามินและเกลือแร่ต่าง ๆ ซึ่งแต่เดิมนั้นนิยมนำของเหลวนี้ไปใช้ทำอาหารสัตว์ แล้วพบว่าสัตว์เจริญเติบโตได้ดี จึงมีการศึกษาของเหลวส่วนนี้อย่างจริงจังแล้วก็พบว่า มีโปรตีนสำคัญที่มีองค์ประกอบเป็นกรดอะมิโนชนิด branched-chain amino acid  ได้แก่ ลิวซีน (leucine), ไอโซลิวซีน (isoleucine), และ เวลีน (valine) ในสัดส่วนที่สูง กรดอะมิโนทั้งสามมีความสำคัญต่อการสร้างโปรตีนของกล้ามเนื้อทดแทนส่วนที่สูญเสียระหว่างการออกกำลังกายหนักและใช้แป้งเป็นพลังงานหมดไปแล้ว จนต้องสลายโปรตีนของกล้ามเนื้อระหว่างการออกกำลังกายหนัก เพราะกรดอะมิโนทั้งลิวซีน ไอโซลิวซีนและเวลีนนั้นถูกนำไปใช้เป็นพลังงานได้ ดังนั้นเมื่อใดที่ออกกำลังกายจนได้กลิ่นแอมโมเนีย ซึ่งเปลี่ยนมาจากกลุ่มอะมิโนของกรดอะมิโนทั้งสามที่ถูกตัดออกเพื่อเอาส่วนที่เหลือไปผลิตเป็นสารเข้าสู่กระบวนการสร้างพลังงาน         ทุกวันนี้ในท้องตลาดมีเวย์โปรตีนขายอยู่ 3 ชนิดด้วยกัน โดยชนิดที่มีราคาถูกสุดคือ เวย์โปรตีนคอนเซนเทรท (whey protein concentrate) ซึ่งมีความเข้มข้นโปรตีนอยู่ประมาณ 70-80% มีลักษณะเป็นผงสีครีมอ่อน กลิ่นรสตามธรรมชาติเหมือนนม ส่วนเวย์โปรตีนไอโซเลต (whey protein isolate) ซึ่งได้จากการนำเวย์โปรตีนคอนเซนเทรทมาผ่านกระบวนการผลิตเพิ่มความเข้มข้นของโปรตีนสูงถึงกว่า 90% พร้อมทั้งราคาเพิ่มขึ้น ชนิดที่สามคือ เวย์โปรตีนไฮโดรไลเซต (whey protein hydrolysate) นั้นเป็นการนำเวย์โปรตีนมาย่อยด้วยเอ็นซัมเฉพาะเพื่อเปลี่ยนโมเลกุลของโปรตีนให้เล็กลงเป็นเปปไทด์ที่มีความบริสุทธิ์สูงถึงเกือบ 100% ซึ่งตามหลักการทางวิทยาศาสตร์แล้วเปปไทด์ถูกร่างกายดูดซึมได้ดีกว่าโปรตีน และมีงานวิจัยทางคลินิกแสดงให้เห็นว่า เวย์โปรตีนช่วยส่งเสริมภาวะโภชนาการที่ดีและอื่นๆ         บทความชื่อ Consumption of fat-free fluid milk after resistance exercise promotes greater lean mass accretion than does consumption of soy or carbohydrate in young, novice, male weightlifters ในวารสาร American Journal of Clinical Nutrition ของปี 2007 ให้ข้อมูลว่า การดื่มนมที่เอาไขมันออกไปแล้วเหลือแต่โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามินและเกลือแร่นั้นช่วยในการซ่อมแซมกล้ามเนื้อของนักยกน้ำหนักวัยเยาว์ดีกว่าการดื่มนมถั่วเหลืองหรือผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่มีแป้ง         ในการโฆษณาขายสินค้านั้นมักระบุว่า เวย์โปรตีนมีกรดอะมิโนจำเป็นคือ ลิวซีน ซึ่งมีบทความเรื่อง Signaling pathways and molecular mechanisms through which branched-chain amino acids mediate translational control of protein synthesis ในวารสาร Journal of Nutrition ของปี 2006 ได้กล่าวว่า ลิวซีนเป็นกรดอะมิโนจำเป็นสูงที่ส่งเสริมการเจริญเติบโต ซึ่งรวมถึงการซ่อมแซมกล้ามเนื้อที่สูญเสียเมื่อเทียบกับกรดอะมิโนอื่นทำให้สรุปได้ว่า เวย์โปรตีนจึงมีประสิทธิภาพในการป้องกันการสูญเสียกล้ามเนื้อทั้งในเด็กวัยออกกำลังกายและผู้สูงวัยซึ่งกินโปรตีนต่ำกว่าที่ควร ข้อมูลในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เมื่อเชื่อและมีสตางค์พอซื้อสินค้าเหล่านี้กินได้น้นถือว่าเป็นบุญของผู้บริโภคที่มีกำลังทรัพย์พอซื้อของแพงกิน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 กระแสต่างแดน

ขอร้องอย่าทิ้งกัน        แอนนา แซคส์ หรือ “TheTrashWalker” ผู้โด่งดังจากการทำคลิปแฉพฤติกรรม “ชอบทิ้ง” ของชาวนิวยอร์ก  ออกมาเรียกร้องให้ผู้คนนึกถึงการ “บริจาค” ก่อนจะ “ทิ้ง” ของกินของใช้สภาพดีลงถังไปเฉยๆ         เรื่องนี้ไม่มีใครรู้ดีไปกว่าแอนนาและผู้คนเป็นล้านที่ติดตามเธอ สิ่งที่เธอทำสัปดาห์ละ 3 – 4 ครั้ง คือการออกไปรื้อถังขยะตามครัวเรือน ร้านอาหาร และซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่อหาของที่ไม่ควรถูกทิ้ง เธอได้อาหารกระป๋อง เครื่องสำอาง ถ้วยชามเซรามิก หรือแม้แต่เฟอร์นิเจอร์ ติดไม้ติดมือกลับบ้านเป็นประจำ         เธอพบว่าบางครั้งผู้ประกอบการก็จงใจทำลายของที่เลยวัน “ควรใช้/บริโภคก่อน”  เช่น บีบยาสีฟันทิ้งไปบางส่วน หรือฉีกถุงขนมให้ดูมีตำหนิ จะได้นำมาทิ้งเป็นขยะ         หลายเจ้าก็ไม่ทำอย่างที่พูด จากการรื้อค้นถังขยะของสตาร์บัคส์ 5 สาขาในแมนฮัตตัน เธอพบว่าบริษัทไม่ได้นำอาหารที่ขายไม่หมดไปบริจาคให้กับผู้ที่ต้องการ อย่างที่เคยให้คำมั่นไว้เมื่อปี 2016 “คิมบับ” เป็นพิษ        ผู้เสียหาย 130 กว่ารายรวมตัวกันฟ้องร้องแฟรนไชส์ร้านข้าวปั้นห่อสาหร่ายแห่งหนึ่งในกรุงโซล หลังมีอาการอาหารเป็นพิษจากการกินข้าวปั้นที่ซื้อจากสาขาของทางร้านในเขตบันดัง ระหว่าง 29 กรกฎาคม – 2 สิงหาคมที่ผ่านมา จากผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด 276 ราย มี 40 รายที่ต้องเข้าโรงพยาบาล         กรณีเดียวกันนี้ยังเกิดกับร้านคิมบับเจ้าอื่นในเขตพาจูและโกยาง คราวนี้มีหญิงวัย 20 กว่าเสียชีวิตด้วย         สาเหตุหนึ่งมาจากการปนเปื้อนของแบคทีเรียซัลโมเนลลา ซึ่งเติบโตได้ดีในอุณหภูมิช่วงหน้าร้อนของเกาหลีที่ 37 องศาเซลเซียส         อีกส่วนหนึ่งมากจากการที่ร้านอาหารเหล่านี้ว่างเว้นจากการถูกสุ่มตรวจสอบ เพราะเจ้าหน้าที่สาธารณสุขถูกระดมไปทำหน้าที่ควบคุมการระบาดของโควิด-19         อย่างไรก็ตามหลังเกิดเหตุดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งให้มีการตรวจสอบร้านคิมบับทุกร้านแล้ว   โอลิมปิกเดือด        อุปสรรคของโตเกียวโอลิมปิกที่ผ่านไปหมาดๆ นอกจากไวรัส ก็คืออุณหภูมิในแต่ละวันที่เฉลี่ยประมาณ 28 องศาเซลเซียส โค่นแชมป์เก่าอย่างเอเธนส์ ในปี 2004 ลงไปได้สบายๆ         หน้าร้อนของโตเกียวเริ่มไม่ธรรมดา เมื่อสามปีก่อนก็เคยร้อนถึง 40 องศา และยังเกิดคลื่นความร้อนที่คร่าชีวิตผู้คนไปไม่ต่ำกว่า 1,000 คน         หากเปรียบเทียบกับสถิติเมื่อ 120 ปีก่อน จะพบว่าโตเกียวร้อนขึ้นถึง 3 องศา (สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งโลกเกือบสามเท่า)         แต่ที่เขาไม่เลื่อนการแข่งขันออกไปเป็นเดือนตุลาคมที่อากาศเย็นสบายกว่านี้ ก็เพราะช่วง “เวลาทอง” ของการถ่ายทอดโอลิมปิกมันอยู่ในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ที่พอจะหาสปอนเซอร์มาสนับสนุนการถ่ายทอดสดได้         หากเลยช่วงนี้ไป ผู้คนทางฝั่งยุโรปก็จะสนใจแต่ฟุตบอล ในขณะที่อเมริกาก็เตรียมเปิดฤดูกาลของอเมริกันฟุตบอลเช่นกัน เปลี่ยนใจไม่แบน        แม้จะคัดค้านการเปิดคาสิโนอย่างชัดเจนมาตลอด ในที่สุดประธานาธิบดีดูเตอร์เต้ของฟิลิปปินส์ ก็ยอมให้เปิดคาสิโนบนเกาะโบราไกย์ โดยหวังว่าจะมีรายได้จากภาษีมาใช้รับมือกับวิกฤติโควิด         แต่ชาวบ้านและผู้ประกอบการรีสอร์ทบนเกาะไม่เห็นด้วย พวกเขาตั้งใจจะพัฒนาโบราไกย์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับครอบครัว และถึงจะไม่มีคาสิโน เกาะของพวกเขาก็สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านเปโซ (38.7 ล้านบาท) อยู่แล้ว         นักอนุรักษ์ก็ไม่ปลื้ม เขาประเมินไว้ในปี 2018 ว่าโบราไกย์ซึ่งมีพื้นที่ 10 ตารางกิโลเมตร มีศักยภาพรองรับคนได้ 54,945 คน (คนท้องถิ่น/คนที่เข้ามาทำงาน 35,730 คน และนักท่องเที่ยว 19,215 คน)         พวกเขายังตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลอุตส่าห์ปิดเกาะ 6 เดือน และยอมสูญรายได้หลายพันล้านเปโซ ในปี 2018 เพื่อให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัวจากมลภาวะที่มนุษย์สร้างขึ้น แต่กลับอนุญาตให้เปิดคาสิโนที่จะมีผู้คนเข้ามาเพิ่มอีกวันละประมาณ 4,000 คน ซึ่งเลยจุดที่เกาะนี้จะรองรับได้อย่างยั่งยืน กาแฟจะมาไหม?        เวียดนามเป็นผู้ส่งออกกาแฟรายใหญ่ที่สุดอันดับสองของโลก ร้อยละ 20 ของกาแฟที่สหภาพยุโรปนำเข้าก็เป็นกาแฟจากเวียดนาม         ปีที่แล้วเวียดนามสามารถสามารถควบคุมโรคระบาดได้ดี และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก แต่ปีนี้เหตุการณ์เปลี่ยนไปเมื่อเวียดนามต้องเผชิญกับวิกฤติโควิดระลอกใหม่         ด้วยการระบาดที่รุนแรง ที่ราบสูงตอนกลางของประเทศซึ่งเป็นแหล่งปลูกกาแฟจึงต้องอยู่ภายใต้มาตรการต่างๆ อย่างเข้มงวด การเก็บเกี่ยวย่อมไม่สามารถเป็นไปตามปกติ         ในขณะที่โฮจิมินห์ซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ก็อยู่ในสภาวะถูกล็อคดาวน์ การขนส่งเมล็ดกาแฟไปยังท่าเรือจึงติดขัด เท่านั้นยังไม่พอ อีกปัญหาที่ผู้ส่งออกทั่วโลกต้องเจอคือการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าธรรมเนียมการขนส่งที่แพงขึ้น         ด้านผู้ส่งออกอันดับหนึ่งอย่างบราซิลก็กำลังประสบภาวะแล้ง ซึ่งอาจทำให้ปริมาณผลผลิตลดลงเช่นกัน    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 “มือแชร์ข่าวปลอมเลยพวกนี้ ต้องเอากลับมาแชร์ข่าวดีแทน”

        นิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับนี้พาไปพบคนทำงานคุ้มครองผู้บริโภคอีกท่าน ภญ.ชโลม เกตุจินดา หลังจากเรียนจบสาขาวิชาเภสัชศาสตร์ ก็มุ่งมั่นมาทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพราะสนใจเรื่องอาหารสุขภาพ อาหารปลอดสารพิษ การดูแลสุขภาพ โดยเน้นเรื่องวัฒนธรรมชุมชน เธอบอกเราว่า “เราอยากจะเห็นสินค้าที่มันอยู่ในชุมชนได้รับการสนับสนุนและมีมาตรฐาน” ประสบการณ์และเรื่องเล่ามากมาย แต่ครั้งนี้จะเน้นถึงงานเรื่อง ข่าวปลอม ข่าวลวง ข่าวดี ว่ามีผลต่อผู้บริโภคอย่างไร และการทำงานด้วยพลังของอาสาสมัครนั้นสำคัญอย่างไร งานที่อาจารย์ให้ความสำคัญมากคือการเฝ้าระวังสินค้าออนไลน์         คืองานเฝ้าระวังออนไลน์ของเราตอนนี้ เราจะมุ่งไปที่การพัฒนาศักยภาพเครือข่ายอาสาสมัครคนทำงาน ซึ่งสินค้าออนไลน์ส่วนหนึ่งนี่มันก็จะมีการแชร์ โพสต์ขาย เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสถานการณ์โควิดค่อนข้างเยอะ    ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยารักษาหรือว่าชุดผลิตภัณฑ์ต่างๆ การตรวจพวกนี้หรือว่าสมุนไพร ซึ่งพอมีคนโพสต์แนะนำหรือให้ข่าวว่าสมุนไพรตัวนี้ใช้ดี สักพักเดี๋ยวก็จะมี “ตัวผลิตภัณฑ์” เกี่ยวกับสมุนไพรนั้นโผล่ขึ้นมาในกลุ่มไลน์ ซึ่งเป็นกลุ่มเฉพาะความที่เป็นกลุ่มเฉพาะมันก็จะทำให้การตรวจสอบจากข้างนอกมันเข้าไปไม่ถึง การที่เรามีอาสาสมัครที่เป็นกลไกอยู่ในกลุ่มไลน์ต่างๆ กลุ่มชุมชน กลุ่มวิสาหกิจ กลุ่ม อพม.อะไรอย่างนี้ พอเจอประเด็นอะไรเขาก็สามารถแคปหน้าจอกลับมาให้เราตรวจดูได้ อาจจะมีการแชร์เรื่องสมุนไพรที่โฆษณาเกินจริง มีการแชร์กันเกิดขึ้นอย่างนี้นะคะ เราจะมุ่งไปที่การพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครในพื้นที่ ในการที่จะใช้สื่อออนไลน์แบบมีประสิทธิภาพ คนอายุเยอะส่วนใหญ่จะเป็นอาสาสมัครของเรา อายุประมาณ 50-60 หรือ 40 แถวๆ นี้         แต่ก็ยากตั้งแต่แคปหน้าจอเลย พอเราบอกว่าปัญหาของคนกลุ่มนี้คือ เชื่อง่าย แชร์ง่ายด้วย แชร์เร็ว แต่ว่าหาหลักฐานหาข้อมูลไม่ได้ เราก็จะให้เขาช่วยแคปข้อมูลกลับมาแล้วเราก็ตรวจสอบ หลักจากนั้นก็ทำกระบวนการให้เขาสามารถเชคเกอร์ (Checker) หรือตรวจข้อมูลจาก Application ของ อย. หรือ FDA ได้ อย่างน้อยๆ ตรวจเลข อย.เป็น ว่าอันนี้คือตัวผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหรือว่าเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือว่าเป็นยาสามัญประจำบ้าน หรือว่าเป็นยาสมุนไพร เขาก็จะตรวจสอบผ่าน Application เป็นนะคะ อย่างนี้นะคะ ก็ค่อนข้างยากเพราะว่าแคปหน้าจอหลายยี่ห้อนะโทรศัพท์ มือถือหลายยี่ห้อมันก็จะแคปหน้าจอลำบาก พอแคปมาตัวหนังสือเขาก็จะเป็นฟอนต์ประมาณ 30 ตัวอักษรใหญ่ๆ ยาวๆ เต็มจอ มันก็จะมองไม่เห็นไม่ครบหน้าจอ ก็แคปได้ทีละจออะไรอย่างนี้ เราจะสอนให้เขาแคปแล้วก็แคปรูปแบบยาวๆ ให้มีข้อมูลครบ ก็จะเป็นเรื่องเทคนิค เพราะฉะนั้นอันนี้มันก็จะกลายเป็นเหมือนเราฝึกทักษะทางดิจิตอลให้กับอาสาสมัครผู้บริโภคในการเฝ้าระวังด้วย ตอนนี้มีอาสาสมัครกี่คนที่กระจายตามกลุ่มไลน์ต่างๆ         เราทำอบรมมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 ตอนนี้ก็จะมีของสงขลา ประมาณ 100 คน แล้วเราก็ขยายเฉพาะโครงการนี้เป็นการเฝ้าระวังสื่อออนไลน์ คือรวมถึงเรื่องการเคลียร์เรื่องข้อมูลเท็จ ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพด้วย แล้วก็จะมีประปรายไปว่าเอาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มันมีปัญหานะคะ ก็มีเริ่มไปอีก 5 จังหวัด แต่ก็ไม่ค่อยต่อเนื่องเพราะว่าสถานการณ์โควิด การฝึกอบรมที่จะต้องจับมือทำงาน  เลยจับไม่ได้เพราะว่าต้องใกล้ชิด โทรศัพท์เขาบางทีก็จะเป็นโทรศัพท์ที่มีปัญหาว่าข้อมูลเต็มเล่นอะไรไม่ได้แล้ว โทรศัพท์ลูกให้ ข้อมูลเต็มไปหมดแล้วก็ดี ไปกดรับอะไรก็ไม่รู้เป็นข้อความ SMS ยืมเงินอีก ก็เจอนะ ก็ต้องมานั่งช่วยเคลียร์ให้ เคลียร์แคช (Cache) เคลียร์อะไรให้ อันนี้ก็จะเป็นประเด็นหนึ่งเรื่องศักยภาพในเรื่องของการใช้พวกมือถือในการสื่อสาร         แต่ในช่วงโควิดนี้ อสม.ส่วนหนึ่งเขาก็จะได้รับหน้าที่ในเรื่องของการสำรวจข้อมูล ทำ Google from มันก็เลยทำให้งานแบบนี้มันได้รับความสนใจมากขึ้น เพราะฉะนั้นทุกคนก็จะรู้สึกว่ามันช่วยการทำงานของเขา อาสาสมัครเราส่วนหนึ่งส่วนมากก็จะเป็นแกนนำเป็น อสม.อยู่ในชุมชนที่ต้องใช้เรื่องพวกนี้ ขณะเดียวกันก็จะมีงานอีกชุดหนึ่งร่วมกับ กพย.กับทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในเรื่องของการเฝ้าระวังยาชายแดน แล้วก็คิดงานในลักษณะเป็นยุทธศาสตร์เพื่อทำงานเสริมศักยภาพเครือข่ายการทำงานร่วมกัน         เครือข่ายภาคีทำงานร่วมกันก็จะมีตั้งแต่ สาธารณสุขจังหวัด หน่วยบริการที่มีเภสัชฯ อยู่ในโรงพยาบาลระดับชุมชน เพราะว่างานเรื่องการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมส่วนหนึ่ง ก็จะมีกลุ่มเภสัชฯ ในโรงพยาบาลชุมชนที่เขาต้องลงไปดูเรื่องยาชุด ยาที่มีปัญหาสารสเตียรอยด์เกิดขึ้นในพื้นที่ หรือตัวอื่นๆ อย่างเช่น อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์ที่มันขายอยู่ตามตลาดนัด  ซึ่งตัวผลิตภัณฑ์นี้จะไม่มีฉลากภาษาไทย รวมถึงยาบางตัวที่อยู่ตามเขตชายแดนก็จะเป็นภาษามลายู ภาษารูมี ที่เป็นภาษาของทางมาเลเชียเขียนแบบภาษาอังกฤษแต่อ่านคำเป็นภาษามาเลเชีย ก็จะสอดคล้องกับในพื้นที่เองเขาก็มีกระบวนการทำงานของอีกด้านหนึ่ง ด้านงานคุ้มครองผู้บริโภคที่ไปเชื่อมกันที่เรียกว่า Border Health ที่เรียกว่าคณะกรรมการชายแดนเรื่องสุขภาพ ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกัน คณะเภสัชฯ ซึ่งรับหน้าที่เป็นกลไกวิชาการประสานประชาคม ซึ่งพวกเราเองคือเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่ ก็จะมีประเด็นทำงานร่วมกันมีการเฝ้าระวังผลิภัณฑ์ชายแดน ทำให้เกิดการทำงานร่วมกัน เพราะว่าปัญหาอยู่ในส่วนของชุมชน             “คือส่วนหนึ่งคนไม่ค่อยไปแจ้ง อย.หรือแจ้ง สสจ.แต่พอเราไป Survey สำรวจ มีกระบวนการเฝ้าระวัง เราก็จะไปถึงต้นตอปัญหาก็คือการใช้ยาในครัวเรือน” ครัวเรือนนี้ได้ยามาจากไหน ได้ยาจากคนที่เพิ่งไปกลับมาจากอินโดฯ กลับจากมาเลย์ แล้วก็มีการส่งต่อ รวบรวมมาแล้วก็ส่งให้ศูนย์วิทย์ฯ ก็เลยกลายเป็นการร่วมมือของภาคี ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เอง คณะเภสัชฯ ก็จะไปทำกระบวนการที่เรียกว่า ฝึกให้เราเป็นนักวิจัยร่วม คือเก็บข้อมูล แล้วก็ออกแบบสอบถามให้มันสามารถมาประมวลผลวิเคราะห์ได้ ฉะนั้นก่อนที่จะไปเก็บข้อมูลก็ต้องมานั่งออกแบบสอบถาม แบบ Survey ก่อนว่าเราต้องการข้อมูลแบบไหน มันก็จะทำให้เห็นทิศทางการจัดการปัญหา         เช่น ถ้าเกิดเจอแบบนี้แสดงว่าสเตียรอยด์ที่เราเจอ คือมันค่อนข้างที่จะชัดเจนแล้ว ทางศูนย์วิทย์ฯ ก็จะส่งไปตรวจสอบ แล้วก็หลังจากนี้เราก็จะดูว่าถ้าเกิดตัวนี้มีปัญหาเราก็จะพูดคุยผ่านใครล่ะ ก็ต้องส่งไปที่ Border Health ส่วนหนึ่งก็จะมีทางสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาสนะคะ ที่ทำงานกับตรงนี้แล้วก็กับด่านสินค้า ด่านตรวจสินค้าก็จะมีด่านศูนย์วิทย์ฯ ของสงขลาด้วยส่วนหนึ่งนะคะ หลังจากนี้เราก็จะเอาข้อมูลพวกนี้มานั่งคุยกันว่าจะมีข้อเสนอต่อไปอย่างไรเพื่อจัดการตัวผลิตภัณฑ์นี้ อันนี้ก็จะเป็นกระบวนการทำงานและอาสาสมัครเองส่วนหนึ่งก็จะตรวจง่ายๆ เป็นสเตียรอยด์จะเป็นในกลุ่มที่เขาถ้าพัฒนาอีกนิดหนึ่งเขาก็จะเป็นอาสาสมัครผู้เชี่ยวชาญที่เขาเรียกว่า อาสาสมัครนักวิทย์ อสม.เขาจะมีกลุ่มนี้ก็จะตรวจสเตียรอยด์กันเป็นเบื้องต้นก่อน ศักยภาพของกลุ่มอาสาสมัครที่น่าสนใจ         คือกลุ่มไลน์พวกนี้ที่เขาเป็นสมาชิกกันเขาก็จะเกรงใจกันส่วนหนึ่ง แต่ว่าเขาก็จะมีศักยภาพคืออย่างน้อยๆ ตอนนี้เขาเริ่มพิมพ์เป็น คือกดพิมพ์ไม่ใช่กดแชร์อย่างเดียว พอเริ่มกดพิมพ์ได้เขาก็จะเริ่มถามว่าถ้าพูดไปอย่างนี้ดีไหม อย่างคนที่ส่งข้อมูลมามีวุฒิการศึกษานะเป็นอาจารย์โรงเรียนด้วย แต่อาจารย์คนนี้ส่งข้อมูลที่มันไม่น่าเชื่อถือ น่าสงสัย เรา (อาสาสมัคร) จะตอบกลับไปอย่างไร ก็จะมีกลุ่มไลน์เพื่อปรึกษาหารือกันเป็นกลุ่มไลน์เพื่อส่งข้อมูล คือแชร์หน้าจอมาแล้วเหล่าอาสาสมัครเขาก็จะถามว่าอันนี้จะตอบไปอย่างไรดี ให้ไม่หักหน้ากันมากนัก ปัจจุบันก็ยังมีข้อความที่แชร์เรื่องผิดๆ อยู่มาก มีวิธีจัดการอย่างไร         ใช่ค่ะ ถูก เพราะฉะนั้นตอนนี้ศักยภาพของอาสาสมัครเราที่เห็นได้ชัดเจนคือ ข่าวปลอมๆ พวกนี้ที่ได้รับมาบางส่วนมันเริ่มเป็นข่าววนซ้ำ เขา (อาสาสมัคร) จะจำได้ เช่น ข่าววนซ้ำว่าแชร์เรื่องคลิปที่อาจารย์มหิดลเขาทำวิจัยเรื่องกระชาย อาสาสมัครของเราก็สามารถบอกกันต่อได้ว่า “เออวิจัยนั้นเขาก็จะยังไม่เป็นยานะ เป็นแค่การทดลองในเซลล์ที่อยู่ข้างนอกที่เป็นในหลอดทดลองยังไม่ได้ใช้ในคน” เขาก็จะพิมพ์พวกนี้ได้เรียกว่ามีชุดข้อมูลที่ถูกต้อง  คือมีชุดคำที่พร้อมจะไปอธิบายว่า เห้ย ยังไม่ได้เป็นยาอันนี้อันนั้น หรือว่าอันนี้น้ำกระชายจริงๆ ยังไม่ควรกินแบบคั้นสด เพราะมันกินแล้วมันจะระคายเคืองปาก ปากคุณจะเป็นตุ่มนะและก็ไม่ได้รักษามีแค่เสริมภูมิ ก็จะชุดคำที่เขาเอาไปพูดได้แต่มันจะเริ่มวนซ้ำแล้ว เดี๋ยวสักพักจะมีคนในกลุ่มเขาก็จะแชร์เนื่องจากความยากในการเข้าถึงยาตอนนี้นะคะ          แต่ตอนนี้ก็อาจจะมีอีกประเด็นหนึ่งซึ่งยังเป็นความคลุมเครือยังไม่ลงตัวกันของข้อมูล เช่น ATK Antigen Test Kit ตอนนี้มันคืออะไรแน่มันต้องผ่าน WHO ก่อน หรือมันผ่าน อย.ก่อน ก็เป็นเรื่องประเด็นถกเถียงกัน ซึ่งการสื่อสารของ อย.ก็ไม่ชัด สื่อสารของหน่วยที่จัดซื้อก็ไม่ชัด อันนี้ก็จะลำบากนิดหนึ่ง จากประสบการณ์ของอาจารย์เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในเรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพ         คือเราเองความไว้เนื้อเชื่อใจเรื่องมาตรฐานหรือเรื่อง อย.เราก็คิดว่าเป็นเกณฑ์แรก แต่ในขณะที่ความเปลี่ยนแปลงเรื่องเทคโนโลยีโดยเฉพาะในเรื่องของไลฟ์สไตล์ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพการบำรุงสุขภาพเป็นพวก Function Drink  อะไรพวกนี้ไปไกลมากกว่าการที่จะมารับรองมาตรฐาน  แล้วคนก็สนใจในเรื่องภูมิคุ้มกันเรื่องการสร้างความแข็งแรงมากกว่าการรักษา เพราะฉะนั้นตัวผลิตภัณฑ์พวกนี้มันค่อนข้างจะคลุมตลาดได้กว้างมากขึ้นนะคะ แล้วก็การให้ใบอนุญาตอะไรพวกนี้มันก็ง่ายขึ้นแต่ไม่มีใครยืนยันความชัดเจน คือมันขายเหมือนอาหารนั่นแหละแต่มันโฆษณามากเกินกว่าอาหาร อันนี้ก็เป็นปรากฏการณ์ที่เห็น         เรื่องพฤติกรรมของผู้บริโภค ปัจจุบันคนก็ชอบทางลัดคือกินอะไรง่ายๆ กินนิดเดียวก็ได้ผัก 2 กิโลกรัม อะไรอย่างนี้ก็จะยิ่งสอดรับกับวิถีแบบนี้ ซึ่งเราก็คงไปบอกเขาห้ามกินไม่ได้ แต่เราก็จะต้องทำเรื่องกำกับคุณภาพกับหน่วยงาน หน่วยงานรัฐให้เขาทำเรื่อง Post Marketing ให้เยอะขึ้น เพราะเขาอนุญาตไปแล้วแต่เขาไม่ได้มาตามดูคุณภาพหลังจากที่มีใบอนุญาตออกมาแล้ว ก็มีการขายในท้องตลาดแล้ว มันควรจะมีหน่วยงานต่างหากที่มาทำเรื่องนี้ ทำวิจัยที่เรียกว่า Out of Pocket ด้วย ก็คือเราจะสุขภาพเกินไปไหม คือบางคนพร้อมจะจ่ายนะ แต่การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่มันเป็นการตลาดเหมือน Functional Drink ที่เราเห็นบางโครงการมันจะเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ และหน่วยงานก็ไม่ได้กำกับดูแล กลายเป็นเราต้องไปซื้อหาเพื่อดูแลสุขภาพมากเกินจำเป็น แต่ก็ยังเจ็บป่วยอยู่เหมือนเดิม อันนี้ก็เห็นอยู่ในประเด็นเรื่องสุขภาพ         สำหรับประเด็นเรื่องอื่นของผู้บริโภค เนื่องจากผู้บริโภคไม่มีแหล่งข้อมูลรีวิวสินค้าที่เป็นกลางมาก อันนี้ก็จะเห็นพัฒนาการว่าเรายังไม่มีหน่วยงานที่จะมาดูแลสินค้าที่น่าเชื่อถือ ก็คาดหวังว่าหน่วยงานรัฐเองจะสนับสนุนเรื่องเกณฑ์สินค้าที่เป็นมาตรฐานจริงๆ แล้วก็สินค้าบางตัวที่มันทำให้เสื่อมเร็ว ซึ่งมันไม่สอดคล้องกับวิถีที่เราจะต้องดูแลสิ่งแวดล้อม มันก็ควรจะมีข้อบ่งใช้ให้พวกบริษัท ร้านค้า ผู้ประกอบธุรกิจร่วมรับผิดชอบด้วยเกี่ยวกับขยะต่างๆ ที่มันจะเกิดขึ้น อันนี้ในแง่มุมผู้บริโภค ซึ่งอันนี้น่าจะเป็นประเด็นเรื่องผู้บริโภคยั่งยืนด้วยคะ ก้าวต่อไปที่คิด         ก็คิดว่าส่วนหนึ่งคือ เราต้องไปทำระบบที่มันเป็นระบบข้อมูลที่คนเข้าถึงได้ง่าย คือตอนนี้ Application มันเยอะ สแกน QR Code ก็ง่ายแต่มันไม่มีเครื่องมือสำหรับผู้บริโภคที่เราจะเข้าถึงได้ง่ายอย่างนี้นะ ก็คิดว่ามันควรจะมีใครมาทำเรื่องพวกนี้ เปรียบเทียบราคาสินค้าต่างๆ เปรียบเทียบคุณภาพจากการสแกน QR Code คือผู้บริโภคจะต้องทำได้ง่ายขึ้น ก็คงจะต้องไปพัฒนาเขาเรียกว่า Smart People ให้เท่าทันกับสถานการณ์ว่าเรารีวิวสินค้าไม่ได้ แต่เราควรจะต้องมีเครื่องมืออะไรที่เรารู้ว่าอันนี้มันมีคะแนนให้จากคนทั่วไป ชุมชนอื่นหรือ อสม. หรือเครือข่ายผู้บริโภคอื่นๆ ที่สนใจ มีคำแนะนำอย่างไร         คือเริ่มต้นจริงๆ อสม.ทำได้นะคะ มันมีกองทุนสุขภาพท้องถิ่นรวมตัวกันแล้วก็เขียนโครงการเป็นเรื่องพัฒนาศักยภาพผู้บริโภคได้เลยในเรื่องของสุขภาพในเรื่องของการตรวจสอบความเท่าทันข้อมูลสุขภาพที่เรียกว่า Health literacy อาจจะต้องให้ทางเจ้าหน้าที่ช่วยหน่อยเป็นเรื่องความฉลาดทางสุขภาพนะคะ Health literacy ซึ่งมันต้องใช้พวกเครื่องไม้เครื่องมือนี้นะคะ ไปเขียนโครงการพัฒนาศักยภาพและก็ขณะเดียวกันก็อาจจะต้องหาคนมาช่วยเรื่องพวกนี้ แต่ว่าติดต่อมาทางเราได้ ยินดีเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 ห้างไหนช่วยเซฟคุณจาก “อาหารหมดอายุ”

        จากเรื่องร้องเรียนเรียนเกี่ยวกับอาหารหมดอายุที่ซื้อจากร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้า ที่มีเข้ามายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอยู่บ่อยครั้ง นิตยสารฉลาดซื้อจึงได้ส่งแบบสอบถามไปยังผู้ประกอบการ ในเรื่องโยบายว่าด้วยการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุหรือหมดอายุออกจากชั้นวาง โดยบริษัทมีระยะเวลาในการตอบกลับตั้งแต่วันที่ 5 - 23 เมษายน 2564          จากทั้งหมด 11 บริษัทที่ได้รับแบบสอบถาม มีบริษัทที่ตอบกลับมาเพียง 3 ราย คือบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์  (Big C)เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม (Tesco Lotus)อิออน (ไทยแลนด์) (Maxvalu)ซึ่งในภาพรวมพบว่าทั้ง 3 ราย มีนโยบาย มาตรการ ขั้นตอน ช่องทางร้องเรียน และการกำหนดระยะเวลาในการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวางค่อนข้างชัดเจน อาจแตกต่างกันบ้างในอาหารแต่ละประเภท  รายละเอียดเกี่ยวกับแนวคิด นโยบาย มาตรการ ช่องทางและระยะเวลาจัดการกับเรื่องร้องเรียน ของผู้ประกอบการทั้งสามรายมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย ผลการสำรวจ(ผลการสำรวจมี 5 หัวข้อ ใช้หัวข้อละ 1 หน้า หน้าไหนข้อมูลน้อยลงภาพประกอบ)ความคิดเห็นต่อเรื่องการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวาง Big Cคำนึงถึงลูกค้าเป็นอันดับแรก โดยตระหนักและให้ความสำคัญเรื่องสินค้าหมดอายุเป็นอย่างมาก เพื่อให้ลูกค้าได้สินค้าที่มีคุณภาพอยู่เสมอ โดยได้กำหนดให้มีมาตรการในการจัดการเรื่องการเก็บสินค้าที่ใกล้หมดอายุและหมดอายุออกจากชั้นวาง เช่น การทำ MOU สินค้า (First in First out) การกำหนดระยะเวลาที่จะเก็บสินค้าออกจากชั้นวางฯ ล่วงหน้าก่อนหมดอายุ เป็นต้นMaxvaluให้ความสำคัญเรื่องการดำเนินการด้านสินค้าอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ เป็นอย่างมาก ในทุกๆ แผนกไม่ว่าจะเป็นสินค้าหารสดหรือาหารแห้ง ต้องเก็บออกจากชั้นวาง ตามกฎเกณฑ์ที่บริษัทกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้มีสินค้าหมดอายุในพื้นที่ขายและเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของลูกค้าที่มาใช้บริการTesco Lotusตระหนักและให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าและบริการ การจัดจำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัยคือหน้าที่และความรับผิดชอบที่สำคัญที่สุด เพื่อผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าจากสาขาและช่องทางออนไลน์ได้บริโภคสินค้าที่ปลอดภัยและมีคุณภาพสูงสุด โดยมีมาตรการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ หรือ อาหารหมดอายุ ออกจากชั้นวางสินค้าทันที           นโยบายในการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวางBig Cนโยบายเกี่ยวกับการจัดการกับอาหารที่ใกล้หมดอายุ มีดังนี้        1. ห้ามจำหน่ายอาหารที่หมดอายุ        2. การทำ FIFO สินค้า (First in First out) เพื่อบริหารสินอายุสินค้า        3. กำหนดระยะเวลาในการเก็บออกจากชั้นวาง ล่วงหน้าก่อนวันหมดอายุ        4. สินค้าจะถูกเก็บล่วงหน้าก่อนวันหมดอายุ 1 วัน เพื่อทำลายทิ้ง Tesco Lotusมีแนวปฏิบัติเรื่องการควบคุมอายุการวางจำหน่ายสินค้า (Data Code Management) ซึ่งกำหนดมาตรการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ และสินค้าที่ด้อยคุณภาพ หรือมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคออกจากชั้นวางสินค้า โดยนำหลักบริหารความเสี่ยงมาใช้ในการควบคุมอายุการวางจำหน่ายสินค้าMaxvaluมีนโยบายในการตรวจเช็คสินค้าที่ใกล้หมดอายุ/หมดอายุ โดยมีแผนงาน ขั้นตอนการดำเนินการ และผู้รับผิดชอบแต่ละแผนกอย่างชัดเจน หากพบว่าการดำเนินการมีปัญหา ก็จะตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้มีแนวทางการปรับปรุงแก้ไขทันที มาตรการ ขั้นตอน ในการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวาง Big Cขั้นตอนในการดำเนินการตามนโยบายดังที่กล่าวมาข้างต้น มีดังนี้        1. การทำ FIFO สินค้า (First in First out)            - ดำเนินการในทุกวันก่อนเปิดบริการ และระหว่างวันตามเวลาที่กำหนด            - ทำการคัดแยก หากพบอาหารที่ใกล้หมดอายุตามที่กำหนด            - หากพบอาหารเสื่อมสภาพ และอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ให้เก็บออกจากชั้นวางฯ และนำไปกำจัดหรือทำลายตามวิธีการที่กำหนด        2. มีการตรวจสอบโดยหน่วยงานเฉพาะ Maxvaluมาตรการเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวาง  คือ ปลา/เนื้อ ก่อนหมดอายุ 1-3 วัน ผัก/ผลไม้ ผลไม้ตกแต่ง สินค้าฝากขาย ก่อนหมดอายุ 1 วัน และ Dry/San&HBC ก่อนหมดอายุ 1 เดือน Tesco Lotusมาตรการการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ และสินค้าที่ด้อยคุณภาพ หรือมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคออกจากชั้นวางสินค้า มีขั้นตอนดังนี้        1.   สินค้าที่ระบุวันหมดอายุบนภาชนะบรรจุสินค้า        ร้านค้าจะตรวจสอบสินค้าที่ใกล้หมดอายุและนำออกจากชั้นวางสินค้า ก่อนถึงวันหมดอายุอย่างน้อย 15 วัน แล้วแต่ประเภทและอายุสินค้า (shelf life) อาทิ สินค้าที่มีอายุมากกว่า 1 ปี จะถูกนำออกจากชั้นวางสินค้าอย่างน้อย 60 วัน ก่อนวันหมดอายุ และสินค้าที่มีอายุระหว่าง 2-6 เดือน จะถูกนำออกจากชั้นวางสินค้าอย่างน้อย 15 วัน เป็นต้น        2.   สินค้าที่ไม่ระบุวันหมดอายุ        ร้านค้าจะตรวจสอบสินค้าที่ไม่ระบุวันหมดอายุบนภาชนะบรรจุ โดยนับอายุสินค้าจากวันผลิตที่แสดงอยู่บนภาชนะบรรจุเดิม ตามที่ระบุไว้ใน Shelf Life Guideline เพื่อจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุออกจากชั้นวาง ได้อย่างถูกต้องตามกำหนดนอกจากนั้น ในส่วนของอาหารสด  ฝ่ายควบคุณภาพสินค้าจะดำเนินการตรวจสอบปริมาณสินค้าสด และนำสินค้าที่ใกล้หมดอายุ/หมดอายุจากชั้นวาง (Stock take) ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในคู่มือของฝ่ายควบคุมคุณภาพสินค้า ซึ่งช่วงเวลาการตรวจสอบปริมาณสินค้า และการนำสินค้าออกจากชั้นวาง จะแตกต่างกันออกไปตามประเภทสินค้าช่องทางร้องเรียนBig Cผู้บริโภคสามารถร้องเรียนได้ 2 ช่องทาง    - Big C contact center โทร 1756 กด 2    - Facebook (FB) : Big C (ส่วนกลางและสาขา) Maxvaluผู้บริโภคสามารถร้องเรียนได้ 3 ช่องทาง    - สำนักงานใหญ่ โทร 02-9701826-30 ต่อแผนก customer service    - เว็บไซต์ของบริษัท www.aeonthailand.co.th    - Facebook: MaxvaluThailand  Tesco Lotusผู้บริโภคสามารถร้องเรียนได้ 3 ช่องทาง    - ร้านค้า ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องเรียน    - โทรสายด่วน 1712    - Facebook: Tesco Lotus และ Tesco Lotus Online      หากเป็นกรณีสินค้าไม่มีคุณภาพ ไม่ปลอดภัย ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ผู้บริโภคสามารถขอรับเงินค่าสินค้าคืนได้ทันที นอกจากนี้ทุกข้อร้องเรียนปัญหาสินค้าไม่มีคุณภาพ ไม่ปลอดภัย จะถูกส่งต่อไปยังทุกฝ่ายที่jเกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบอย่างรอบด้านและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นอีกในอนาคต ระยะเวลาในการดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนBig Cดำเนินการติดต่อกับลูกค้าที่ร้องเรียน และประสานงานไปที่สาขาที่ถูกร้องเรียน หลังจากนั้นสาขาจะติดต่อกลับโดยเร็วที่สุดMaxvaluแก้ปัญหาทันทีที่ทราบเรื่องร้องเรียน พร้อมทั้งมีมาตรการดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน Tesco Lotusแก้ไขปัญหา คืนเงินค่าสินค้าตามช่องทางการร้องเรียนต่างๆ ทันที หรือภายใน 24 ชั่วโมง นับจากได้รับเรื่องร้องเรียน ----ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยของป่าสาละ ที่สำรวจประเมินความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคผ่านการจัดซื้ออาหารสดของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ 6 แห่ง และห้างค้าปลีกขนาดกลางที่เน้นขายอาหารสดอีก 2 แห่ง (Big C / CP Fresh Mart / Foodland / Gourmet Market / Makro/  Tops / Tesco Lotus และ Villa Market) ประจำปี 2562 โดยใช้ข้อมูลที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ ณ วันที่ 30 เมษายน 2563จากการสำรวจโดยใช้ตัวชี้วัด 8 ด้าน ได้แก่ความปลอดภัยของอาหาร ส่วนประกอบที่มาของอาหาร ภาวะโภชนาการ กลไกรับเรื่องร้องเรียน กลไกเยียวยา การมีส่วนร่วมของผู้บริโภค การให้ความรู้แก่ผู้บริโภค และการให้ความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ ผู้วิจัยพบว่า จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ห้างเหล่านี้ 5 รายไม่ได้คะแนนเลย ในขณะที่อีกสามห้างที่ได้คะแนนจากตัวชี้วัดเหล่านี้ได้แก่ Makro ที่ได้ไป 25 คะแนน  Top ได้ 16.67  และ CP Fresh Mart ที่ได้ไป 12.50 คะแนนอีกประเด็นที่น่าสนใจในการสำรวจดังกล่าวคือมีตัวชี้วัด 2 ด้าน ได้แก่ กลไกเยียวยา และการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค ที่ไม่มีห้างไหนให้ข้อมูลไว้เป็นสาธารณะให้ผู้บริโภคได้ทราบเลย 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 246 Plant-Based Food ทางเลือกของเรา ทางรอดของโลก

        เมื่อปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเป็นโจทย์ใหญ่ของชาวโลก ผู้บริโภคต่างหันมาดูแลตัวเองในเรื่องอาหารการกินด้วยวิถีธรรมชาติกันมากขึ้น เน้นกินพืชผักและลดเนื้อสัตว์ ตามแนวทาง ’กินสู้โรค’ และ’กินเปลี่ยนโลก’ ในรูปแบบต่างๆ กัน อาหารทางเลือกจึงถูกพัฒนาให้มีความหลากหลาย อย่างล่าสุดกระแส plant-based food ที่กำลังมาแรงในตลาดอาหารสุขภาพ ก็ว่ากันว่าเป็นอาหารแห่งอนาคตฟีลกู๊ดที่ดีต่อเรา ดีต่อโลก และดีต่อใจด้วย         Plant-Based Food ผลิตภัณฑ์อาหารจากพืช         เนื้อทำจากขนุนอ่อน หมูสับจากเห็ดแครง เบค่อนจากเส้นใยเห็ด นมจากข้าวโอ๊ต ไข่จากถั่วเขียว         ผลิตภัณฑ์อาหารเหล่านี้คือตัวอย่าง plant-based food กลุ่มอาหารโปรตีนทางเลือกที่นำพืชโปรตีนสูง เช่น ถั่วและธัญพืชต่างๆ เห็ด สาหร่าย ข้าวโอ๊ต แอลมอนด์ เป็นต้น มาเป็นวัตถุดิบหลักใช้ผลิตอาหารให้มีลักษณะและรสชาติใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์จากสัตว์มากที่สุด โดยคิดค้นและผลิตขึ้นมาเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาขาดแคลนอาหารในระยะยาว เป็นอาหารทางเลือกให้ผู้บริโภคที่ต้องการลดหรือลด ละ เลิกกินเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางศาสนา ความเชื่อ ความชอบ หรือความจำเป็นส่วนตัวใดๆ ก็ตาม กินได้อย่างสบายใจ มีทั้งในรูปแบบเนื้อสัตว์ นมและผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ รวมถึงอาหารปรุงสำเร็จ           เนื้อไร้เนื้อ เปิดใจผู้บริโภค ปลุกเทรนด์อาหารจากพืช         ความก้าวหน้าของนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์การอาหารในปัจจุบัน ทำให้ผู้ผลิตพลิกแพลงพืชผักผลไม้กลายมาเป็นอาหารที่คล้ายมาจากสัตว์จริงๆ มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเนื้อสัตว์จากพืช (plant -based meat) ที่พัฒนาให้มีรูปลักษณ์ รสชาติ กลิ่น เนื้อสัมผัส และสีสัน เสมือนเป็นเนื้อวัว หมู ไก่ กุ้ง และอาหารทะเลต่างๆ จริงๆ นั้น เชิญชวนให้ผู้บริโภคเปิดใจลิ้มลอง สอดคล้องกับกลุ่มคนกินผักก็ดีกินเนื้อก็ได้ (Flexitrain) ที่มากขึ้น อย่างในไทยเอง 1 ใน 4 ของประชากร หันมาลดกินเนื้อสัตว์เพื่อสุขภาพ 65% เพื่อควบคุมน้ำหนัก 20% โดยส่วนใหญ่จะงดกินในวันพระหรือวันเกิด ประกอบกับแนวโน้มผู้บริโภคที่ดูแลสุขภาพ ใส่ใจสิ่งแวดล้ม และกังวลการปนเปื้อนในเนื้อสัตว์มีเพิ่มขึ้น จึงเป็นปัจจัยที่ปลุกตลาดอาหารจากพืชทั่วโลกให้คึกคัก โดยศูนย์วิจัยกรุงไทย COMPASS ประเมินไว้เมื่อปี 2563 ว่า ตลาดเนื้อจากพืชในไทยเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% ต่อปี และคาดว่ามูลค่าตลาดอาจแตะที่ 4.5 หมื่นล้านบาทในปี 2567         ในช่าง 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื้อสัตว์จากพืชได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น มีวางขายในซุปเปอร์มาร์เกตทั่วไป ในรูปแบบเป็นวัตถุดิบและอาหารสำเร็จรูป ปัจจุบันมีให้เลือกหลายยี่ห้อทั้งที่นำเข้าจากต่างประเทศและผลิตในไทย เช่น  BEYOND MEAT, OmniMeat, NEVER MEAT, Meat Avatar, Let’s Plant Meat, More Meat, OMG Meat, MEAT ZERO, VG for Love และ Healthiful เป็นต้น         โปรตีนทางเลือก...ดีต่อเรา         ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนชรา ต่างต้องการโปรตีนเป็นองค์ประกอบในอาหารเพื่อช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย การกินเนื้อ นม ไข่ ที่ผลิตจากพืชจึงเป็นอาหารโปรตีนทางเลือกที่เหมาะต่อสุขภาพ โดยเฉพาะคนที่แพ้โปรตีนจากสัตว์ ทั้งยังย่อยง่าย มีใยอาหารสูง มีไขมันดี(ไขมันไม่อิ่มตัว) ให้พลังงานต่ำ มีคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอร์ไรด์ต่ำ จึงช่วยให้ระบบขับถ่ายดี ควบคุมน้ำหนัก ป้องกันและรักษาโรคได้ เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ หลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น         พืชบางชนิดมีกรดอะมิโนจำเป็นอยู่น้อย  ผู้บริโภคควรเลือกกินอาหารจากพืชที่หลากหลายเพื่อให้มั่นใจว่าร่างกายจะได้รับโปรตีนเพียงพอ ในแต่ละวันคนทั่วไปควรได้รับโปรตีน 0.8-1 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ไม่อย่างนั้นอาจเสี่ยงต่อภาวะพร่องโปรตีน ร่างกายต้องสลายโปรตีนจากกล้ามเนื้อบางส่วนมาทดแทน ทำให้อาจเกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้         สำหรับคนที่แพ้ถั่วควรเลี่ยง เพราะอาหารจากพืชส่วนใหญ่ใช้ถั่วและธัญพืชต่างๆ เป็นวัตถุดิบ รวมทั้งคนที่เป็นโรคโลหิตจางหรือมีอาการมือเท้าชา ควรกินอาหารอื่นๆ ที่มีธาตุเหล็กและวิตามินบี 12 เสริมด้วย เพราะในพืชมีธาตุเหล็กและวิตามินบี 12 น้อยกว่าเนื้อสัตว์         แม้ plant - based food จะเน้นคุณค่าทางโภชาการและความปลอดภัยเป็นสำคัญ คัดเลือกวัตถุดิบมาผลิตอย่างดีไม่ให้มีสารปนเปื้อนอันตราย เลี่ยงใช้พืชตัดต่อพันธุกรรม และพยายามคงคุณค่าของสารอาหารจากธรรมชาติไว้ให้ได้มากที่สุด แต่ถึงกระนั้นก็ยังได้ชื่อว่าเป็นอาหารแปรรูป หรือ Highly Process Food อย่างโบโลน่า เบอร์เกอร์ ไส้กรอก ที่ทำจากพืชนั้น ในบางผลิตภัณฑ์อาจมีสารปรุงแต่งรสสีผสมอาหาร และเกลือโซเดียมในปริมาณสูง          ลดก๊าซเรือนกระจก...ดีต่อโลก         ลดกินเนื้อสัตว์ ลดทำปศุสัตว์ ลดภาวะโลกร้อน         อุตสาหกรรมปศุสัตว์เป็นสาเหตุหนึ่งของการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อขยายพื้นที่เลี้ยงสัตว์ ทำให้โลกสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้ที่ดินเพื่อทำปศุสัตว์เป็นต้นทางของก๊าซเรือนกระจกถึง 1 ใน 4 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากการใช้ที่ดินทั้งหมดในโลก เราต้องใช้พื้นที่เลี้ยงสัตว์ถึง 77% ของพื้นที่เกษตรทั้งหมด เพื่อผลผลิตเพียง 17% ของอาหารที่มนุษย์บริโภค         ในขณะที่การผลิตเนื้อที่ทำจากพืชใช้ที่ดินน้อยกว่าเนื้อสัตว์จริง 47%-99% ใช้น้ำน้อยกว่าเนื้อสัตว์จริง 72%-99% ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่ากระบวนการผลิตเนื้อสัตว์จริง 30%-90% ดังนั้นการเปลี่ยนแนวทางมาบริโภคอาหารจากพืชแทนเนื้อสัตว์ จะช่วยประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ และลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกได้         องค์การสหประชาชาติก็มีแนวทางส่งเสริมให้อุตสาหกรรมอาหารใช้ส่วนประกอบของพืชแทนเนื้อสัตว์ ผลิตอาหารออแกนิค เพื่อลดการปล่อยมลพิษ ตั้งเป้าสู่ “Net Zero” ให้คาร์บอนไดออกไซค์เป็นศูนย์ เพราะอุตสาหกรรมอาหารนั้นปล่อยคาร์บอนฯออกมากว่า 30-40% ของปริมาณคาร์บอนฯทั้งหมด         หากการใช้ที่ดินเพื่อเลี้ยงสัตว์ถูกแทนที่ด้วยแปลงผักเกษตรอินทรีย์เพื่อเป็นวัตถุดิบให้ผู้ผลิตอาหารจากพืช จะช่วยฟื้นฟูให้สภาพแวดล้อมกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ทั้งยังรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของโลกและสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ได้ด้วย         สร้างความมั่นคงทางอาหาร...ดีต่อใจ         การกินอาหารจากพืชเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานได้         คาดการณ์กันว่าในปี พ.ศ.2593 ประชากรโลกจะมีจำนวนถึง 9.7 พันล้านคน ในขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติมีจำกัดอยู่เท่าเดิม ซ้ำเติมด้วยภัยธรรมชาติร้ายแรงและโรคระบาดขั้นวิกฤติ การขาดแคลนอาหารจึงกลายเป็นความกังวลของคนทั่วโลก หลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องปากท้องจึงมองว่าการผลิตอาหารจากพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการดี ในปริมาณมากพอและราคาที่คนทั่วไปเข้าถึง โดยใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า น่าจะเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร (food security) ได้         ผู้ผลิตอาหารส่วนใหญ่เริ่มคิดหาวิธีการทำให้อาหารเพียงพอต่อประชากรโลก พร้อมลดขั้นตอนการผลิตอาหารที่เป็นตัวทำลายสภาพแวดล้อม จนพบว่าการผลิตอาหารจากพืชทดแทนเนื้อสัตว์ การฟื้นฟูเกษตรกรรมตามวิถีธรรมชาติ และสนับสนุนการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นนั้น น่าจะช่วยเพิ่มปริมาณอาหารที่มีประโยชน์และปลอดภัยให้มากขึ้นและยั่งยืนได้ในอนาคต         อีกแนวคิดหนึ่งที่สร้างเนื้อจากพืชขึ้นมาก็เพื่อจะได้ไม่ต้องไปเบียดเบียนผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ หรืออุตสาหกรรมที่สร้างความลำบากให้กับสัตว์ด้วย นอกจากนี้การกินอาหารจากสัตว์น้อยลงยังช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้นได้ โดยมีการวิจัยพบว่าผู้ที่เคยกินเนื้อสัตว์เป็นประจำทุกวันมีแนวโน้มอารมณ์ดีขึ้นและเครียดน้อยลงหลังจากกินมังสวิรัติได้เพียง 2 สัปดาห์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะเนื้อสัตว์มีส่วนประกอบของกรดไขมันสายยาว (Long-chainofomega-6 fattyacid )ที่เกี่ยวข้องกับอาการซึมเศร้า จึงทำให้คนกินมังสวิรัติส่วนใหญ่มีสุขภาพจิตที่ดีกว่า (Nutrition Journal, 2010, 2012)        เมืองนวัตกรรมอาหาร หนุนผลิตภัณฑ์จากพืช        หลายหน่วยงานภาครัฐเองก็เข้ามาช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่สนใจผลิตอาหารจากพืช ให้คิดค้นและสร้างนวัตกรรมใหม่ได้ง่ายขึ้นในต้นทุนที่ลดลง         เมืองนวัตกรรมอาหารที่ตั้งขึ้นโดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้ออกแบบแพลตฟอร์มให้บริการภาคเอกชนไว้ค่อนข้างครบวงจร ตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา การผลิต การขอขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยา(อย.) และปัจจัยเรื่องการตลาด รวมทั้งตั้งโรงงานขนาดเล็กที่ช่วยสนับสนุนการผลิตให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่หรือสตาร์ทอัพด้วย โดยการผลิตอาหารโปรตีนทางเลือกนี้จะทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์         ทั้งนี้เพราะมองเห็นโอกาสของประเทศไทยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีวัตถุดิบพื้นถิ่นอีกมากที่จะเลือกเป็นแหล่งโปรตีนใหม่จากพืชได้ เมื่อนำนวัตกรรมมาพัฒนาให้ตอบโจทย์เรื่องรสชาติ ลักษณะของผลิตภัณฑ์ การเก็บรักษา การนำไปทำอาหารได้สะดวก และถูกปากถูกใจผู้บริโภคแล้ว อุตสาหกรรมอาหารจากพืชนี้น่าจะเติบโตได้ดีทั้งตลาดในประเทศและตลาดโลก           ความปลอดภัยใน ‘อาหารใหม่’         อาหารจากพืชที่ผลิตด้วยนวัตกรรมใหม่นั้นส่วนใหญ่จัดเป็น ‘อาหารใหม่’ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในการบริโภค หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศจึงกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องส่งอาหารที่เข้าข่ายว่าเป็นอาหารใหม่มาประเมินความปลอดภัยก่อนนำออกจำหน่าย         เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559 กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ ฉบับที่ 376 เรื่อง อาหารใหม่ หรือ Novel food โดยกล่าวว่าในปัจจุบันนี้มีการนำวัตถุที่ไม่เคยบริโภคเป็นอาหารมาใช้เป็นอาหารหรือส่วนประกอบอาหาร อีกทั้งมีการพัฒนากระบวนการผลิตอาหารโดยใช้เทคโนโลยีที่ไม่เคยใช้มาก่อน จึงสมควรมีมาตรการการประเมินความปลอดภัยรองรับเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีการให้ความหมายของอาหารใหม่ไว้ 3 ข้อ ดังนี้         1) อาหารใหม่ หมายถึง อาหารหรือส่วนประกอบของอาหาร ที่ปรากฏหลักฐานทางวิชาการว่ามีประวัติการบริโภคเป็นอาหารน้อยกว่า 15 ปี         2) อาหารใหม่ หมายถึง อาหารหรือส่วนประกอบของอาหาร ที่ได้จากกระบวนการผลิตที่มิใช่กระบวนการผลิตโดยทั่วไปของอาหารนั้นๆ ที่ทำให้ส่วนประกอบ โครงสร้างของอาหาร รูปแบบของอาหารนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลต่อคุณค่าทางโภชนาการ กระบวนการทางเคมีภายในร่างกายของสิ่งมีชีวิต (Metabolism) หรือระดับของสารที่ไม่พึงประสงค์ (level of undesirable substances)         3) อาหารใหม่ หมายถึง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีวัตถุตามข้อ 1) และ ข้อ 2) เป็นส่วนประกอบ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงวัตถุเจือปนอาหารและอาหารที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรม อาหารที่เข้าข่ายเป็นอาหารใหม่นี้จะต้องผ่านการประเมินความปลอดภัยและต้องส่งมอบฉลากให้สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยาตรวจอนุมัติก่อนนําไปใช้         หน่วยงานที่ประเมินความปลอดภัยของอาหารใหม่ ได้แก่        1) ศูนย์ประเมินความเสี่ยงประเทศไทย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล        2) สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร สังกัดกระทรวงสาธารณสุข        3) สถาบันอาหาร สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม         อาหารใหม่ที่ผ่านการตรวจสอบและได้รับการรับรองจากหน่วยงานดังกล่าวแล้ว จะผลิตเพื่อจำหน่ายได้ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป ในบางกรณีอาจมีกฎระเบียบเพิ่มเติมสำหรับการแสดงฉลากของอาหารใหม่ เช่น คำเตือนที่แสดงว่าอาหารใหม่นั้นไม่เหมาะกับกลุ่มผู้บริโภคที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง รวมถึงการกล่าวอ้างทางโภชนาการและสุขภาพต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน          ในต่างประเทศ หน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป รวมถึงรัฐสภาและคณะกรรมการสหภาพยุโรป เป็นหน่วยงานต้นแบบที่ได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับอาหารใหม่ มีหลักสำคัญในการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ด้านอาหาร โดยที่ยังทำให้ผู้บริโภคชาวยุโรปยังคงมั่นใจได้ถึงความปลอดภัยของอาหารและเพิ่มประเภทอาหารให้หลากหลายเพื่อเป็นทางเลือกในการบริโภค         นอกจากนี้สมาคมอาหารจากพืช (Plant Based Foods Association) ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบดูแลตลาดการค้าสินค้าอาหารจากพืชในสหรัฐฯ ยังได้ริเริ่มโครงการแสดงตราสินค้า “Certified Plant Based” เพื่อรับรองสินค้าและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคตั้งแต่ปลายปี 2561 โดยผู้ประกอบการยื่นเอกสารเพื่อขอใช้ตราสัญลักษณ์ได้ที่ The Public Health and Safety Organization         ล่าสุดองค์กร Chinese Institute of Food Science and Technology (CIFST) ได้ร่างมาตรฐานกลุ่มสำหรับผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืช (T/CIFST 001-2020) เป็นมาตรฐานแบบสมัครใจให้ภาคอุตสาหกรรมได้นำไปใช้ในธุรกิจของตน โดยมาตรฐานดังกล่าวได้นิยามและข้อกำหนดต่าง ๆ ทั้งในแง่องค์ประกอบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์และการติดฉลาก กำหนดประกาศใช้ในวันที่ 25 มิถุนายน 2564          ดูฉลากอย่างฉลาด        ข้อมูลจาก Krungthai COMPASS สำรวจพฤติกรรมการกินอาหารของคนไทยปี 2561 พบว่า 53% ต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ ขณะที่อีก 45% สนใจที่จะปรับเปลี่ยนไปกินอาหารแบบมังสวิรัติ วีแกน และอาหารจากพืชมากขึ้น         ไม่ว่าผู้บริโภคจะเลือกกินผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชนี้ด้วยเหตุผลใดก็ตาม นอกจากความอร่อยที่ต้องพิสูจน์ด้วยรสนิยมส่วนตัวแล้ว ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ให้คุณค่าทางโภชนาการและความปลอดภัยในราคาที่สมเหตุสมผล โดยพิจารณารายละเอียดบนฉลากสินค้าเป็นสำคัญ        1.ต้องมีสัญลักษณ์ อย. เพื่อแสดงว่าได้ผ่านมาตรฐานอาหารปลอดภัยมาแล้ว        2.ดูวันเดือนปีที่ผลิตและวันเดือนปีที่หมดอายุ โดยต้องเรียงวันเดือนปีตามลําดับ และมีข้อความว่า “ผลิต” “หมดอายุ” หรือ “ควรบริโภคก่อน” กํากับไว้ด้วย        3.ดูวัตถุดิบจากพืชที่นำมาผลิต ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นถั่วและเห็ดต่างๆ หากแพ้ควรเลี่ยง        4.ดูข้อมูลโภชนาการว่าให้ปริมาณโปรตีนมากพอที่ต้องการไหม มีพลังงานเท่าไหร่ รวมทั้งปริมาณโซเดียมและไขมันเท่าไร เพราะเนื้อสัตว์จากพืชก็มีโซเดียมและไขมันได้เหมือนกัน        5.ดูปริมาณคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลประกอบด้วย พืชบางชนิดให้แป้งมากกว่าโปรตีน        6.ถ้าระบุว่ามีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น แคลเซียม ไฟเบอร์ หรือเพิ่มวิตามินและแร่ธาตุที่มักขาดในวัตถุดิบจากพืชด้วย เช่น วิตามินบี 12 วิตามินดี โอเมก้า-3 สังกะสี และเหล็ก เป็นต้น ก็เป็นตัวเลือกดีที่ช่วยเสริมคุณค่าทางโภชนาการในอาหาร        7.ควรเลือกผลิตภัณ์ที่เติมสารปรุงแต่งหรือผ่านกระบวนการแปรรูปน้อยที่สุด        8.ควรเลือกวัตถุดิบจากเกษตรอินทรีย์ และกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถ้ามีการตอบแทนต่อสังคมด้วยก็ดี เช่น ใช้วัตถุดิบที่เอื้อให้เกษตรกรในท้องถิ่นมีรายได้ เป็นต้น         ปัจจุบันตลาด plant-based food มีการแข่งกันเสนอผลิตภัณฑ์อาหารทางเลือกใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็นโอกาสดีที่ผู้บริโภคจะได้เลือกซื้ออาหารจากพืชที่หลากหลาย มีคุณภาพและราคาถูกลง  ทั้งยังน่าจะช่วยชะลอความรุนแรงของผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ เพื่อให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ อยู่รอดปลอดภัยได้นานขึ้นอีกสักหน่อยด้วย    ข้อมูลอ้างอิงKrungthai COMPASS ฉบับตุลาคม 2020เว็บไซต์ สอวช. (https://www.nxpo.or.th)เว็บไซต์ สมอช. (https://warning.acfs.go.th)https://pharmacy.mahidol.ac.thhttps://workpointtoday.com/plant-based-food-warhttps://marketeeronline.co/archives/210350https://www.sarakadeelite.com/better-living/plant-based-meat/https://brandinside.asia/whole-foods-plant-based-protein/https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/945907

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 ร้านข้าวกล่องที่วางแผนการผลิต เพื่อลดขยะจากอาหาร

เดินทีละก้าว กินข้าวที-ละ-คำคุณๆ เลือกซื้อข้าวกล่องจาก...ราคา หน้าตา รสชาติ หรือกล่อง ?          ฉลาดซื้อฉบับนี้พาไปรู้จักร้านขายข้าวกล่องออนไลน์ในจังหวัดระยอง ชื่อ ที -ละ-คำ ร้านที่สมาชิกในครอบครัว รวมใจมาร่วมมือกันทำเมนูอาหารสุขภาพด้วยความพิถีพิถัน ตั้งราคาสมเหตุสมผลแต่ผู้บริโภคสามารถจับต้องได้และเลือกวัตถุดิบแบบรู้ที่มา ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญวางแผนการผลิตทุกขั้นตอนเพื่อลดขยะจากอาหาร         คุณกิ๊บ-มณีรัตน์ นานาประเสริฐ เล่าย้อนว่า เมื่อราว 5 ปีก่อนตอนนั้นเธอทำงานเป็นออแกไนซ์ ที่ มักจะได้กินข้าวกล่องเมนูเดิมๆ ซ้ำๆ เช่น ข้าวผัด ผัดกะเพรา ในระหว่างทำงาน ทำให้เบื่อข้าวกล่องมากๆ พอดีร้านส้มตำของที่บ้านปิดตัวลง เธอก็เลยชวนคนในบ้านให้มารับทำข้าวกล่องขาย โดยเลือกเมนูประจำบ้านมาเสนอลูกค้า เช่น ข้าวน้ำพริกกะปิ ข้าวพริกเกลือกุ้ง ข้าวไก่ย่างน้ำจิ้มแจ่ว ข้าวคลุกกะปิ ข้าวผัดปลาสลิด ในราคา 50-60 บาท เบื่อข้าวกล่อง แต่มาทำข้าวกล่องขาย         กิ๊บมีโอกาสทำงานร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็เลยอินเรื่องอาหารปลอดภัย เรื่องสุขภาพ จึงตั้งใจทำข้าวกล่องที่เป็นข้าวหอมมะลิผสมข้าวไรซ์เบอรี่ เป็นกึ่งอาหารสุขภาพ แต่ยังคงรสจัดจ้านแบบที่เรากิน แล้วลูกค้ากลุ่มแรกๆ ของเราก็พอดีเป็นเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล คุณหมอ พยาบาล เขาแนะนำว่าให้ใส่ผักให้ครบสี ไม่ว่าเมนูอะไรให้มีผักด้วย จะเห็นเลยว่าข้าวกล่องของเราจะมีผักสีสันสวยงาม ลูกค้าส่วนใหญ่มาจากการแนะนำบอกต่อกัน เพราะเราไม่มีหน้าร้าน มีเพจอย่างเดียว หลายคนเคยได้รับข้าวกล่องตอนไปร่วมงานประชุม งานสัมมนา แล้วถูกใจ เขาก็จะมาสั่งค่ะ กินอย่างไร ทำขายอย่างนั้น         ที่บ้านจะพิถีพิถันเรื่องอาหารการกินมากๆ โดยเฉพาะการเลือกใช้วัตถุดิบ ต้องสดและสะอาด อย่างหมูบด เราจะไม่ซื้อหมูที่บดไว้สำเร็จแล้ว แต่จะให้ร้านขายหมูเจ้าประจำล้างหมูเนื้อแดงชิ้นๆ และล้างเครื่องบดให้ก่อนแล้วค่อยบดหมูให้เรา พอมารับทำข้าวกล่องขาย เราก็ยังทำแบบเดิมอยู่ แม้ว่าราคาจะสูงกว่าซื้อหมูบดสำเร็จก็ตาม เพื่อมั่นใจในความสะอาดและเป็นความสบายใจของแม่ครัวด้วยค่ะ           เมนูประจำบ้านที่เราชอบและลูกค้าส่วนใหญ่ชอบจะเป็นข้าวน้ำพริกกะปิ ที่เราใช้กะปิระยองอย่างดี เอามาย่างไฟก่อน เพราะการตำน้ำพริกกะปิ จะเป็นเมนูที่ไม่ได้ผ่านความร้อนเลย เราจึงต้องเอากะปิมาย่างไฟ เพื่อให้มั่นใจว่ากะปิจะสะอาด ปลอดภัย เมนูแบบที่ร้านนำเสนอลูกค้าพอใจไหม           ก็มีขัดใจบ้าง อย่างช่วงหน้าฝน หน้ามรสุม พวกอาหารทะเลไม่สดมีแต่แบบแช่แข็ง เราเคยซื้ออาหารแช่แข็งมาลองทำกินเองก่อนแล้ว รู้สึกว่าไม่โอเค เราก็พยายามอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจ บางคนก็ยอมเปลี่ยน เพราะเห็นว่าเราใส่ใจให้เขาจริงๆ แต่ก็มีที่ลูกค้าไม่ยอมเปลี่ยนเมนู เราก็ขออนุญาตไม่รับออเดอร์ ก็เสียดายนะ แต่รู้สึกว่าลูกค้าส่วนใหญ่เขาสั่งไปแจกต่อ บางที 100 กล่อง ถ้าวัตถุดิบไม่สดจะส่งผลกระทบกับคน 100 คน ถ้าเขากินแล้วท้องเสียขึ้นมา มันไม่คุ้มเลย เราก็เลือกไม่ทำดีกว่า แล้วเรื่องแผนการผลิตเพื่อลดขยะอาหารมีที่มาอย่างไร         เริ่มมาจากไอเดียที่เห็นว่าช่วงนี้ในสวนของที่บ้านมีหน่อไม้ผุดขึ้นเยอะ อ่อนๆ ชวนกินมาก จึงโพสต์พรีออเดอร์เมนูขนมจีนแกงเขียวหวานไก่ใส่หน่อไม้สด ซึ่งลูกค้าตอบรับดีมาก ดังนั้นส่วนใหญ่คือ เราจะเลือกใช้ผักในฤดูกาลมากกว่า เพราะเราเชื่อว่าการกินผักตามฤดู เกษตรกรจะไม่เร่งสารให้พืชผลโต วัตถุดิบหลายอย่างก็จะมาจากที่สวนเองด้วย เช่น หน่อไม้ มะเขือ กะเพรา พริก โหระพา สะระแหน่  เราปลูกแบบออแกนิก หรือถ้าใช้ผักที่สวนไม่มี เราก็ไปดูตามตลาดนัดที่ชาวบ้านเอามาขาย ถ้าไปตลาดใกล้ๆ แล้ววัตถุดิบไม่สด ไม่สวยถูกใจ ก็จะไปดูตลาดอื่นๆ ไปเรื่อยๆ จนพอใจ            แล้วทีนี้สมาชิกในครอบครัวแบ่งหน้าที่กันตามความถนัด ทุกเมนูต้องทดลองปรุงมาชิมก่อน แล้วคำนวณวัตถุดิบที่ต้องใช้ต่อกล่องก่อนถึงจะลงมือผลิตตามออเดอร์ลูกค้า เมื่อได้ออเดอร์ (มีทั้งแบบลูกค้ารีเควสมาและให้เราเสนอเมนูไป) พวกเราก็จะมานั่งดูว่าช่วงนี้มีเมนูอะไร ใครกินบ้าง มานั่งคุยกันในบ้าน อย่างเช่น ข้าวคลุกกะปิ เราจะลองทำกินกันก่อน ใช้ข้าวเท่าไหร่ ใช้กะปิเท่าไหร่ ใช้หมูเท่าไหร่ อะไรเท่าไหร่ต่อหนึ่งกล่อง ต้องเอามาคำนวณให้ได้ทั้งหมดก่อน แล้วก็มาคุยกันเรื่องรสชาติว่าแบบนี้เราชอบกันหรือเปล่า ส่วนใหญ่จะเอาแบบที่บ้านกินอร่อย ช่วยกันชิมช่วยกันติ เมื่อมีการคำนวณวัตถุดิบแต่ละเมนูมาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราจะไม่มีปัญหาวัตถุดิบส่วนเกินเยอะหรือวัตถุดิบเหลือเยอะ แล้วด้วยรูปแบบการรับทำตามออเดอร์ลูกค้านี้ ก็ทำให้เราวางแผนการซื้อวัตถุดิบได้ค่อนข้างเกือบพอดีกับออเดอร์ที่เข้ามา อาจมีบ้างที่เหลือ แต่ก็ไม่ได้เหลือมากจนเป็นปัญหาหรือกลายเป็นขยะ จัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อลดขยะพลาสติกด้วย         กิ๊บสนใจเรื่องการจัดการขยะและการจัดการสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว พอมาทำข้าวกล่องก็พยายามเลือกว่าจะใช้กล่องอะไร กล่องแบบไหนที่ตอบโจทย์ความสะดวกลูกค้า ต้นทุนของเรา แล้วก็เรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย คือลูกค้าที่เขาอินเรื่องสิ่งแวดล้อมจริงๆ ก็มี ถ้าเป็นลูกค้าประจำก็จะเอากล่องมาฝากไว้ให้ใส่เลย แต่ช่วงนี้มีโควิด-19 เราก็ต้องงดรับภาชนะจากลูกค้าก่อน         “ ช่วง 2 ปีแรก กิ๊บเลือกใช้กล่องกระดาษเพื่อลดขยะพลาสติก แม้ต้นทุนจะสูงก็ยอมแบกไว้ เพราะถูกใจลูกค้าและแม่ค้าก็สบายใจด้วย แต่ต่อมาเมื่อได้รับรู้ข้อมูลอัปเดตว่าขยะพลาสติกไม่ได้ไร้ค่าอีกต่อไป เพราะใช้ผลิตเป็นเชื้อเพลิงได้ด้วย จึงเปลี่ยนมาใช้กล่องพลาสติกแทน ซึ่งช่วยลดต้นทุนลงได้ด้วย จริงๆ กล่องกระดาษที่เราใช้อยู่มันก็ไม่ใช่กระดาษ 100%  มันเคลือบพลาสติกไว้ด้วย การย่อยสลายก็ยังคงหลงเหลือเป็นนาโนพลาสติกอยู่ดี แล้วการจัดการขยะกล่องข้าวที่ทำจากกระดาษเคลือบพลาสติกนี้ ปลายทางคือถูกฝังกลบ เพราะเอาไปทำอะไรต่อไม่ได้ ซึ่งปัญหาคือพื้นที่การฝังกลบขยะของบ้านเราก็เหลือน้อยลงไปทุกที ”         พอดีได้มีโอกาสไปทำงานที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงงาน (Waste-To-Energy) คือเป็นการนำขยะทั่วไป ขยะพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้แล้วมาเปลี่ยนให้เป็นพลังงานความร้อน พลังงานไฟฟ้า หรือเชื้อเพลิงแห้ง (RDF) โดยผ่านกระบวนการต่างๆ และได้รู้ว่าที่ระยองมีบริษัทที่พัฒนาระบบการจัดการขยะที่มุ่งไปสู่เทคโนโลยีการแปลงขยะมูลฝอยเป็นพลังงานไฟฟ้า ในรูปแบบเชื้อเพลิงแห้งอยู่ด้วย จึงสนใจ เพราะแม้ว่าหัวใจจริงๆ ของการจัดการขยะคือ การลดปริมาณหรือทำให้เกิดเป็นขยะน้อยที่สุด แต่เราก็มองว่าในสถานการณ์แบบนี้ ถ้าเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานได้ก็น่าจะดีกว่าถูกฝังกลบ         กิ๊บคุยกับเพื่อนที่มีความรู้ว่าอยากเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบนี้  จะเอาไปทำ RDF ได้หรือเปล่า เขาก็ว่าแบบนี้ได้ แล้วสติ๊กเกอร์ที่ไม่ใช่กระดาษมันส่งผลต่อการเอาไปเผาหรือเปล่า เขาก็ว่าไม่ แบบนี้แหละ เป็นตัวเชื้อเพลิงอย่างดีเลย เราจะถามหาความรู้ก่อน เพื่อให้ชัวร์ว่าการตัดสินใจเปลี่ยนของเรามันไม่ใช่แบบคิดไปเอง เมื่อเราศึกษาจนได้คำตอบว่าขยะพลาสติกทั่วไปที่รีไซเคิลไม่ได้นั้นนำไปผลิตเชื้อเพลิง RDF เพื่อป้อนสู่เตาเผาขยะได้ เราก็เปลี่ยนมาใช้กล่องพลาสติกเลย         ก่อนหน้านี้ ลูกค้ารับรู้ว่าเราใช้กล่องกระดาษเพื่อลดพลาสติก พอเปลี่ยนมาใช้กล่องพลาสติก เขาก็จะถามว่า เฮ้ย ไม่รักษ์โลกแล้วเหรอ เราก็บอกว่าไม่ใช่ แต่ตอนนี้มีวิธีจัดการที่ทำให้ขยะพลาสติกมันไปต่อได้แล้วไง เราก็โพสต์อธิบายบนเพจ ส่วนใหญ่คนไม่ค่อยรู้ว่าบ้านเรามีโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ บ้านเรามีโรงแยกขยะพลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้ไปทำ RDF นะ พอหลายคนรู้แล้วก็บอกว่า ดีจังเลย กิ๊บเชื่อว่าทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคร่วมมือกันจัดการขยะพลาสติกจากกล่องข้าวได้         โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ เขาจะเอาขยะขึ้นสายพาน แล้วดึงขยะที่เผาได้ออกมาทั้งหมด ปัญหาคือเศษอาหาร ความชื้น น้ำ ที่มีอยู่ในขยะพวกนี้ ในการคัดแยก ถ้าเขาเห็นว่ามีน้ำเยอะ มีความชื้น มันก็จะต้องผ่านหลายกระบวนการ ไปลดความชื้น หรือบางส่วนที่เขาแยกไม่ได้จริงๆ มันก็จะไม่ถูกนำไปใช้         พอคนไม่รู้ว่าขยะมันไปไหนต่อได้ เขาก็ไม่ทำ คือแยกไปก็เอาไปทิ้งรวมกัน คือถามว่าเขาเอาไปรวมกันไหม ใช่ รวมจริงๆ แต่พอรวมแล้วก็เอาไปแยกต่อจริงๆ เพราะฉะนั้นต่อให้เขาจะรวมหรือไม่รวม ถ้าเราแยก เขาจะทำงานง่ายขึ้น ตอนนี้เราชวนลูกค้าให้ช่วยกันแยกเศษอาหารออกจากกล่องพลาสติกหลังทานเสร็จ ในใจมีแพลนต่อไปว่าจะชวนลูกค้าประจำแยกกล่องพลาสติกแบบนี้เอาไว้ แล้วเราจะเก็บให้ค่ะ ในสถานการณ์วิกฤติปรับแผนธุรกิจอย่างไร         เมื่อโควิด-19 ระบาด จากเดิมที่รับออเดอร์ล็อตใหญ่ๆ 30-50 กล่องขึ้นไป ก็ต้องปรับมารับพรีออเดอร์ลูกค้ารายย่อย ส่วนใหญ่เป็นหมอ พยาบาล ครู พนักงานออฟฟิศ และคนทำงานที่บ้าน จัดส่งเองทุกออเดอร์ เพิ่งลงมือจริงจังเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา          แรกๆ บางวันได้ 10 กล่อง เราก็ทำ บางทีมันไม่ได้ยอดหรือไม่ได้กำไร ก็มองว่าอย่างน้อยเราก็ยังได้กิน ยังได้ค่ากับข้าวทำไปไม่ขาดทุนหรอกแม้ออเดอร์ไม่เยอะ แต่ก็ดีใจทุกครั้งที่ลูกค้าบอกว่าข้าวกล่องของเราไม่เคยทำให้ผิดหวัง จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเรามั่นใจว่าลูกค้ารับข้าวกล่องของเราไป ถ้าไม่กินเที่ยง แล้วไปกินเย็น ไม่เสียแน่นอน ตรงนี้เป็นเคล็ดลับเฉพาะของเราเลย         กิ๊บมองว่าลูกค้าเลือกซื้อข้าวกล่องจากข้อมูล จากความพิถีพิถันของวัตถุดิบมากขึ้น สังเกตจากช่วงแรกๆ ที่โพสต์ว่าวันนี้มีเมนูนี้นะ เขาจะเฉยๆ แต่ถ้าเราโพสต์ไปว่าวันนี้เรามีเมนูนี้ และบอกด้วยว่าวัตถุดิบเรามาจากที่นี่ เราเลือกใช้อันนี้ เหมือนเราใส่คอนเทนต์เข้าไป ลูกค้าก็จะอินบ็อกซ์มาสั่งกันรัวๆ แล้วยิ่งเราอธิบายเรื่องการใช้กล่องพลาสติกให้เข้าใจ เขาก็จะรู้สึกว่าเราใส่ใจทุกอย่างจริงๆ เราใส่ใจด้วยใจจริงๆ ไม่ใช่ใส่ใจเพื่อโฆษณา แล้วลูกค้ารับรู้ได้ก็บอกต่อกันเองลูกค้าจะบอกว่าเราเป็นข้าวกล่องพรีเมี่ยมในราคาที่จับต้องได้          ตอนนี้พ่อค้าแม่ค้ามาขายข้าวกล่องกันเยอะ เราต้องรักษาคุณภาพมาตรฐานของเราเอาไว้ให้ดีๆ เรามองว่าคำติของลูกค้าคือของขวัญที่เขายอมพูดความจริงกับเรา แล้วเราเอามาปรับเราก็จะอยู่ได้ ตอนนี้มีคนสั่งข้าวกล่องของเราไปให้บุคลากรทางการแพทย์และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เรื่อยๆ ซึ่งในสถานการณ์แบบนี้คิดว่า เราก็เดินกันไปทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ค่อยๆ ปรับตัวกันไป เหมือนเป็นกำลังใจให้ทั้งตัวเองและลูกค้าด้วย  วันนี้คุณสั่งข้าวกล่องแล้วหรือยัง ? ที-ละ-คำ เราใส่ใจในวัตถุดิบและพิถีพิถันในทุกขั้นตอนการผลิต เพื่อให้ทุกเมนูเป็นมื้อพิเศษFacebook : ข้าวกล่องของว่างระยอง link :   www.facebook.com/TeeLaKam.Rayongโทร : 086-6555443

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 กระแสต่างแดน

คุมกำเนิดบิ๊กโฟร์        สหรัฐฯ เล็งออกกฎหมาย 5 ฉบับ เพื่อควบคุมบิ๊กเทคทั้งสี่ (Amazon, Apple, Facebook และ Google) ไม่ให้มีอำนาจเหนือตลาดเกินไป         จากการสำรวจการครองตลาดของสี่ค่ายนี้เป็นเวลา 15 เดือน ทีมวิจัยพบข้อมูลการใช้อำนาจเหนือตลาดเรียกเก็บค่าบริการที่แพงเกินไป การกำหนดข้อสัญญาที่เอาเปรียบผู้ใช้ รวมถึงการเก็บข้อมูลบุคคลและธุรกิจต่างๆ ที่ใช้บริการ         หากร่างกฎหมายเหล่านี้ผ่านการพิจารณา (อีกหลายรอบ) บิ๊กโฟร์จะไม่สามารถเข้าซื้อกิจการบริษัทเล็กได้ง่ายเหมือนที่ผ่านมา และจะไม่สามารถเลือกให้ประโยชน์กับผลิตภัณฑ์ของตัวเองเหนือผลิตภัณฑ์ของผู้ค้ารายอื่นบนแพลตฟอร์มของตัวเอง         กฎหมายใหม่จะให้อำนาจกับหน่วยงานกำกับดูแลด้านการแข่งขันทางการค้ามากขึ้น         ในการประชุม G7 ครั้งล่าสุด ประเทศสมาชิกยังเห็นพ้องกับข้อเสนอที่จะขอให้ประเทศต่างๆ เรียกเก็บภาษีขั้นต่ำร้อยละ 15 จากบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ เพื่อป้องกันการเลี่ยงภาษีด้วย  แบตเตอรีต้องกลับมา         การสำรวจโดยกลุ่มศึกษาปัญหาสิ่งแวดล้อมพบว่า ร้อยละ 50 ของขยะแบตเตอรีในครัวเรือนประเทศเยอรมนียังคงถูกทิ้งรวมกับขยะทั่วไป         กรรมการผู้จัดการของ Redux บริษัทที่เชี่ยวชาญการรีไซเคิล “แบตเตอรีจากครัวเรือน” แห่งหนึ่งในเยอรมนีที่รีไซเคิลแบตเตอรีปีละ 10,000 ตัน บอกว่าเรื่องนี้ต้องอาศัยกฎหมายเข้ามาเป็นตัวช่วยเพื่อป้องกันผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะเกิดจากการสรรหาวัตถุดิบที่นำมาทำแบตเตอรี โดยเฉพาะเมื่อพาหนะไฟฟ้ามีแนวโน้มจะได้รับความนิยมมากขึ้น         วัตถุดิบมีค่าอย่างโคบอล์ท นิกเกิล ทองแดง และลิเธียม ควรถูกนำกลับมาใช้ใหม่         Redux เสนอว่าแบตเตอรรีรถยนต์ ควรอยู่ใน “ระบบเช่า” ที่ผู้ใช้สามารถนำแบตฯ เสื่อมสภาพมาเปลี่ยนเอาของใหม่ได้         ค่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างเทสลาและโฟล์กสวาเกน ก็ตระหนักถึงปัญหานี้ จึงลงทุนหลายหมื่นล้านเหรียญเพื่อรองรับการรีไซเคิลแบตเตอรี ควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์  เพราะอาหารแพงมันน่ากลัว         สวิตเซอร์แลนด์โหวต “ไม่รับ” แผนห้ามใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและห้ามนำเข้าพืชผักหรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารเคมีดังกล่าว         แม้จะมีข้อมูลระบุว่า ปัจจุบันคนสวิสไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านคนต้องดื่มน้ำปนเปื้อนสารเคมี แต่เสียงจากภาคการเกษตรมีอิทธิพลพอสมควร พวกเขาอ้างว่าสารเคมีการเกษตรที่ใช้นั้นผ่านการทดสอบและควบคุมจนสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยแล้ว         หากไม่ใช้สารเคมี ผลิตผลทางการเกษตรจะมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ พืชผักต่างๆ จะราคาแพงขึ้น และสวิตเซอร์แลนด์อาจสูญเสียอธิปไตยทางอาหารด้วย         รัฐบาลเองก็แอบลุ้นให้ประชาชนโหวตไม่รับแผนดังกล่าว เพราะนั่นหมายถึงการที่ผู้คนจะพากันข้ามชายแดนไปซื้ออาหารจากประเทศข้างเคียง           ตามกฎหมายของสวิตเซอร์แลนด์ ประชาชนทั่วไปสามารถขอให้มีการทำประชามติได้ หากรวบรวมรายชื่อได้ถึง100,000 รายชื่อ กลุ่มที่เสนอแผนห้ามใช้สารเคมีครั้งนี้คือกลุ่มที่ชื่อว่า Future 3 ไม่อยากได้ยิน         สถาบันด้านสุขภาพของเนเธอร์แลนด์จะทำการสืบสวนผลกระทบต่อสุขภาพที่มีสาเหตุจากกังหันลม หลังงานวิจัยพบว่า เสียงกังหันลมส่งผลต่อสุขภาวะของคนในชุมชน         พลังงานสะอาดนั้นดีต่อสิ่งแวดล้อม และเนเธอร์แลนด์ก็มีเป้าหมายจะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ร้อยละ 49 ภายในปี 2030         แต่ช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีเสียงคัดค้านจากชุมชนมากขึ้น เพราะเสียงจากการทำงานของกังหันตลอด 24 ชั่วโมงนั้น ทำให้ชาวบ้านนอนไม่หลับ เกิดความเครียดและมีปัญหาสุขภาพ           ปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดระยะห่างขั้นต่ำระหว่างตัวกังหันและชุมชน มีเพียงข้อเสนอจากเขตหนึ่งที่ขอให้กำหนดระยะดังกล่าวไว้ที่ 600 เมตรจากบ้านคน         ส่วนข้อกำหนดด้านเสียงนั้นมีอยู่แล้วที่ 49 เดซิเบล เมื่อวัดจากนอกตัวบ้าน แต่ระดับเสียงยังขึ้นกับชนิดของกังหันและทิศทางลมด้วย                 รายงานระบุว่าผู้คนไม่ได้ต่อต้านกังหันลม แต่อยากให้มีการจัดการหรือการจำกัดเสียงที่เกิดขึ้นจากกังหันลมมาช้าแต่ก็มานะ         ที่ผ่านมาผู้ประกอบการในญี่ปุ่นให้การตอบรับ “ผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือก” ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ แต่ในที่สุดบรรดาผู้ผลิตอาหารจากเนื้อสัตว์ก็ตัดสินใจเข้าร่วมตลาดนี้จนได้ โดยจะผลิตคู่ไปกับผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แบบที่เคยทำอยู่         แถมยังบอกด้วยว่าประสบการณ์ที่มีจะทำให้เขาทำผลิตภัณฑ์จากบุกและถั่วเหลือง หรือแหล่งโปรตีนอื่นๆ อย่างสาหร่าย แมลง ออกมาได้รสชาติเหมือนเนื้อสัตว์จริงๆ         เพื่อให้ประเทศไม่ตกเทรนด์ที่กำลังเป็นที่นิยมในอเมริกาและยุโรป กระทรวงเกษตรกรรมของญี่ปุ่นจึงได้ตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาให้การสนับสนุนงานวิจัยด้านการหาและพัฒนาแหล่งโปรตีนใหม่ๆ มีตัวแทนสถาบันวิจัย บริษัทสตาร์ทอัป ผู้ประกอบการ และองค์กรอื่นๆ เข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 800 คน         ญี่ปุ่นเองต้องการส่งออกอาหารไปยังตลาดยุโรปและอเมริกา และต้องการเพิ่มมูลค่าตลาดให้ได้ถึง 45,600 ล้านเหรียญ (1.4 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2030   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 เจ้าตูบหวิดกระเพาะทะลุหลังพบเศษกระดูกในอาหารสุนัข

        ปัจจุบันตลาดอาหารสุนัขยังคงเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากผลิตภัณฑ์อาหารสุนัขรูปแบบต่างๆ ที่วางจำหน่ายกันหลายยี่ห้อ โดยมีกลยุทธ์ต่างๆ มาดึงดูดให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงได้เลือกซื้อ แต่ในหัวอกคนรักสุนัขแล้วย่อมคาดหวังถึงความปลอดภัยของอาหารเป็นสำคัญ  ดังนั้นข้อความ“คุณภาพระดับเดียวกับอาหารที่คนรับประทาน” บนผลิตภัณฑ์อาหารสุนัขยี่ห้อ Dr.DOG จึงน่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คุณสุชาดาตัดสินใจซื้อมาให้เจ้าตูบที่บ้านกิน โดยไม่คาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น         วันหนึ่ง เมื่อได้เวลาให้อาหารสุนัข คุณสุชาดาหยิบถุงโครงไก่บดแช่แข็ง กลิ่นไก่ย่าง ตรา Dr.DOG มาตัดแล้วเทใส่ชามเตรียมไว้ แต่ยังไม่ทันได้เรียกสุนัขมากิน พลันสายตาไปสะดุดเข้ากับเศษกระดูกขนาด 1-1.5 เซนติเมตรจำนวนมากปะปนอยู่ในโครงไก่บดนั้น เมื่อหยิบขึ้นมาก็พบว่ามีลักษณะแข็งและคม คุณสุชาดาเกรงว่าถ้าให้เจ้าตูบกินเข้าไปน่าจะเป็นอันตราย มื้อนั้นจึงเตรียมอาหารอย่างอื่นให้แทน และเมื่อนำเศษกระดูกไปให้สัตวแพทย์ดู หมอบอกว่า “เศษกระดูกที่ปนมานี้ ถ้าสุนัขกินเข้าไปอาจแทงกระเพาะทะลุได้” คุณสุชาดาฟังแล้วก็โล่งใจที่ไม่ได้ให้สุนัขของตัวเองกิน แต่ก็เป็นห่วงว่าถ้าคนอื่นซื้ออาหารสุนัขยี่ห้อนี้ไปแล้วไม่ได้สังเกตดีๆ เผลอให้สุนัขกินเศษกระดูกที่ปนมานี้เข้าไป คงไม่ดีแน่ คุณสุชาดาจึงนำเรื่องนี้มาร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จึงซื้ออาหารสุนัขยี่ห้อนี้มาพิสูจน์ก็พบว่า ในถุงอาหารสัตว์มีเศษกระดูกปนอยู่จำนวนมากจริง จึงติดต่อไปยังผู้ประกอบการคือบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และขอให้ตรวจสอบเรื่องนี้ พร้อมกันนั้นก็ส่งหนังสืออีกฉบับถึงกรมปศุสัตว์ให้ดำเนินการตามกฎหมาย จากนั้นไม่นานทางผู้ประกอบการแจ้งกลับมาว่า ได้ระงับการจ่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจากศูนย์กระจายสินค้าและนำมาตรวจสอบแล้ว         ประมาณหนึ่งเดือน ทางกรมปศุสัตว์แจ้งว่า ได้ส่งทีมงานลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานผู้ผลิตและหารือกับตัวแทนบริษัทแล้ว ได้ข้อสรุปว่า บริษัทต้องเรียกคืนผลิตภัณฑ์โครงไก่บดแช่แข็ง กลิ่นไก่ย่าง ตรา Dr.DOG ที่ผลิตในล็อตเดียวกันกับที่ถูกร้องเรียน ( LOT N0. 63206 ผลิตวันที่ 24 กรกฎาคม 2563) กลับมาตรวจสอบ และให้กักผลิตภัณฑ์ลักษณะเดียวกันนี้ที่ยังไม่ได้จำหน่ายออกไปจากโรงงานอีกจำนวน 44,000 กิโลกรัมไว้ก่อน พร้อมทั้งแจ้งร้านค้าให้ชะลอการขายผลิตภัณฑ์นี้จนกว่าบริษัทจะตรวจสอบแล้วว่าปลอดภัย ซึ่งหากภายหลังตรวจพบว่าเป็นอันตรายต่อสัตว์ก็จะต้องเรียกคืน         ทั้งนี้ทางกรมปศุสัตว์ได้กำชับให้บริษัทฯ ตรวจสอบกระบวนการผลิตในโรงงานผลิตอาหารสัตว์อย่างละเอียด หากพบความเสี่ยงที่ทำให้มีอันตรายทางกายภาพหลุดรอดไปกับผลิตภัณฑ์ ให้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้อาหารสัตว์มีความปลอดภัยเหมาะสมกับสัตว์เลี้ยงต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 ความไม่สะดวกซื้อ

        ร้านสะดวกซื้อนั้นคือสิ่งที่แทบจะขาดไม่ได้ไปแล้ว ในแต่ละชุมชนร้านสะดวกซื้อแบบ 24 ชั่วโมงจะวางตัวผ่าเผย พร้อมส่งเสียงยินดีต้อนรับเมื่อประตูเปิดออก แต่บางครั้งความสะดวกซื้อก็นำปัญหาแบบไม่สะดวกใจมาให้ได้ง่ายๆ และหลายครั้งท่าทีหรือการแสดงความรับผิดชอบก็ไม่ค่อยสวยงามนัก เรามาลองดูจากกรณีร้องเรียนเรื่องนี้กัน               ภูผา พี่สาว และหลานชายไปซื้อโยเกิร์ต 4 กระปุก ที่เซเว่นสาขาแถวงามวงศ์วาน ด้วยความที่เป็นห่วงเรื่องสุขภาพ ตอนซื้อจึงให้ความสนใจฉลากโดยเพ่งเล็งแต่เรื่อง ยี่ห้อไหนมีน้ำตาลน้อยกว่ากัน และสุดท้ายเลือกอันที่น้ำตาลน้อยมาพร้อมจ่ายเงินซื้อมา เมื่อกลับมาถึงบ้านภูผาก็กินโยเกิร์ตกับหลานชายไป 1 กระปุกแบ่งกันคนละครึ่ง เขายังบอกกับหลานชายเลยว่ายี่ห้อนี้ไม่ค่อยอร่อยเนอะ สงสัยเพราะน้ำตาลน้อย         วันถัดๆ มาอากาศค่อนข้างร้อน ภูผาบ่นกับหลานว่าอยากกินอะไรเย็นๆ จัง หลานชายจึงเสนอไอเดียว่าในตู้เย็นมีมะม่วง สตรอว์เบอรี่ แล้วก็โยเกิร์ตที่เหลืออยู่จากเมื่อวาน 3 กระปุก เอามาทำสมูตตี้มะม่วงกับสตรอว์เบอรี่กินกันดีกว่า โอ้ ไอเดียดีงาม ภูผาเห็นด้วยและให้หลานดูก่อนว่าโยเกิร์ตหมดอายุหรือยัง หลานบอกว่า โยเกิร์ตหมดอายุแล้วด้วย 1 กระปุก ส่วนอีก 2 กระปุกยังไม่หมดอายุ แต่ว่ากระปุกที่หมดอายุแล้วมันหมดอายุตั้งแต่เดือนมกราคมแล้วล่ะสิ         ภูผาเริ่มเครียดเพราะเขาซื้อสินค้าต้นเดือนมีนาคม และเจ้าร้านสะดวกซื้อร้านนี้เพิ่งเปิดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ไงวันหมดอายุของโยเกิร์ตถึงเป็นเดือนมกราคมไปได้ และเป็นลอตเดียวกับที่เขากินไปเมื่อวันก่อนกับหลานชายอีกด้วย เขาไม่รอช้าเมื่อรีบสตาร์ทรถไปเซเว่นสาขาที่ซื้อมาทันที พร้อมกับเอาโยเกิร์ตทั้ง 3 กระปุกไปด้วย เมื่อไปถึงก็เล่าเรื่องคร่าวๆ ให้พนักงานฟังและขอพบผู้จัดการ พนักงานแจ้งว่าผู้จัดการกลับบ้านไปแล้วค่ะ อีกทั้งสินค้านี้พนักงานก็ยังไม่มั่นใจว่าซื้อที่เซเว่นจริงหรือเปล่า ซื้อที่สาขานี้จริงหรือเปล่า เพราะว่าภูผาไม่ได้เก็บใบเสร็จเอาไว้ ภูผาเข้าใจได้เรื่องไม่มีใบเสร็จ แต่โชคดีหน่อยตอนจ่ายเงินเขาใช้บัตรสมาชิกของหลานชายจ่ายไป ดังนั้นจึงถือเป็นหลักฐานได้ว่า เขาซื้อสินค้านี้ที่นี่จริงๆ         เขาสอบถามพนักงานว่าจะรับผิดชอบอะไรบ้าง พนักงานก็หาข้อมูลอยู่เกือบชั่วโมง สุดท้ายก็บอกว่าต้องหาหลักฐานยืนยันก่อน ต้องดูกล้องว่าเขาเป็นผู้ซื้อที่สาขานี้จริงหรือไม่ แล้วจะติดต่อกลับไป ภูผาบอกได้ สิจะรอนะว่าทางร้านจะรับผิดชอบอะไรบ้าง หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ผ่านไปก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีการติดต่อกลับเขาจึงมาปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าควรดำเนินการต่อไปอย่างไรดี แนวทางการแก้ไขปัญหา         ผู้ร้องได้แจ้งร้านค้าและนำหลักฐานไปให้ร้านค้าดูเบื้องต้นแล้ว แต่ร้านค้ายังไม่ได้แสดงความรับผิดชอบอะไร อย่างแรกที่ผู้ร้องต้องทำคือไปแจ้งความลงบันทึกประจำวัน เพื่อเป็นหลักฐานว่าเซเว่นจำหน่ายสินค้าหมดอายุจริงๆ ผู้ร้องไม่ได้โกหก เซเว่นนี้เป็นสาขาหนึ่งของเซเว่นทั้งหมด ผู้ร้องต้องทำหนังสือโดยเล่าเหตุการณ์คร่าวๆ พร้อมแนบหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น ใบแจ้งความลงบันทึกประจำวัน ภาพถ่ายโยเกิร์ตที่หมดอายุ เป็นต้น ส่งไปยังบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) จ่าหน้าซองถึงประธานบริษัทหรือกรรมการผู้จัดการ เนื่องจากต้องการให้บริษัทแม่รับผิดชอบต่อการขายสินค้าหมดอายุของสาขา ที่ต้องทำแบบนี้เพราะว่า บางทีพนักงานที่ผู้ร้องแจ้งเรื่องไว้ หรือผู้จัดการสาขาไม่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องของผู้ร้อง วิธีนี้ทำให้บริษัททราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและดำเนินการแก้ไขปัญหาและแสดงความรับผิดชอบต่อผู้ร้อง         ฝากเป็นข้อเตือนใจสำหรับทุกท่าน การเลือกซื้อสินค้าควรพิจารณาฉลากให้ละเอียด โดยเฉพาะวันหมดอายุ หากพบว่ามีสินค้าหมดอายุต้องแจ้งแก่พนักงานให้เก็บจากชั้นสินค้าทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อตรวจเวย์โปรตีน พบบางยี่ห้อมีโปรตีนไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลาก

        ฉลาดซื้อ เผยผลทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเวย์โปรตีน ไม่พบสเตียรอยด์ แต่ทดสอบพบ 2 ตัวอย่างมีปริมาณโปรตีนไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลาก แนะผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงการทานเวย์โปรตีนที่มีส่วนผสมสเตียรอยด์มากเกินไปเพราะอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ          นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ดำเนินการทดสอบนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคให้ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน เพียงพอ และได้รับความปลอดภัยจากสินค้าหรือบริการ ตาม พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค โดยได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเวย์โปรตีน จำนวน 9 ตัวอย่าง จากร้านค้าทั่วไปและร้านค้าออนไลน์ ในช่วงเดือนมกราคม 2564 เพื่อทดสอบสารอนาบอลิกสเตียรอยด์ (Anabolic-Androgenic Steroids) ซึ่งเป็นยาที่นิยมกันในหมู่นักกีฬาเพาะกาย และทดสอบหาปริมาณโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ว่าเป็นไปตามการกล่าวอ้างบนฉลากหรือไม่          ผลสำรวจพบว่า ไม่พบสารอนาบอลิกสเตียรอยด์ (Anabolic-Androgenic Steroids) แต่พบโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ไม่ตรงตามฉลาก คือ น้อยกว่าร้อยละ 30 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเวย์โปรตีนไอโซเลท กลิ่นมอคค่า ยูไทม์ ทดสอบพบโปรตีนที่ 38.8 จากการกล่าวอ้างบนฉลากที่ 83.33 และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตราไดเอโดะ รสช็อกโกแลต ทดสอบพบโปรตีนที่ 26 จากการกล่าวอ้างบนฉลากที่ 62.5         จากผลสำรวจอาหารเสริมเวย์โปรตีนไม่ตรงตามการกล่าวอ้างบนฉลาก เข้าลักษณะอาหารปลอม กล่าวคือ อาหารที่มีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่น หรือในเรื่องสถานที่และประเทศที่ผลิต ตามมาตรา 27 (4) และอาหารที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องตามคุณภาพหรือมาตรฐานที่รัฐมนตรีประกาศ กําหนดตามมาตรา 6 (2) หรือ (3) ถึงขนาดจากผลวิเคราะห์ปรากฏว่า ส่วนประกอบที่เป็นคุณค่าทางอาหาร ขาดหรือเกินร้อยละ 30 จากเกณฑ์ต่ำสุดหรือสูงสุด หรือแตกต่างจากคุณภาพหรือมาตรฐานที่ระบุไว้จนทําให้เกิดโทษหรืออันตราย ตามมาตรา 27 (5) ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาท ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 อ่านผลการทดสอบเพิ่มเติมได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3716 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 รู้เท่าทันการนำผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาเป็นเครื่องดื่ม

        ทุกวันนี้ มีการนำผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา มาทำเป็นเครื่องดื่มที่จำหน่ายในร้านค้าทั่วไป โดยยึดความเชื่อของคนทั่วไปว่า เมื่อผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพและยามีประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว การดื่มเครื่องดื่มที่ใส่สิ่งเหล่านี้ย่อมดีต่อร่างกายเช่นเดียวกัน ทำให้ขายได้มากและขายง่ายกว่าการขายยาและผลิตภัณฑ์ มารู้เท่าทันกันเถอะ โค้กก็มีต้นกำเนิดจากยาแก้ท้องอืดท้อเฟ้อ         ประวัติของโค้ก หรือโคคา โคลา ถือกำเนิดโดยยนายจอร์น เอส เพมเบอร์ตัน นักผสมยาชาวอเมริกัน ทำออกมาเป็นไวน์โคคาออกขายในปีค.ศ. 1884 ใช้ชื่อยี่ห้อว่า “Pemberton’s French Wine Coca” แต่ในปีต่อมา มีการออกกฎหมายห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงเปลี่ยนไวน์โคคาเป็นแบบที่ไม่มีแอลกอฮอลล์ โดยคิดค้นดัดแปลงใช้สารจากใบโคคา มาผสมกับสารสกัดจากเมล็ดของผลโคลาพบว่ารสชาติดี และขายเป็นไซรับ ในฐานะยาบำรุงรักษาอาการจากโรคติดมอร์ฟีน โรคท้องอืดท้องเฟ้อ แก้อ่อนเพลีย และปวดหัว และมีขายในบาร์จ่ายโซดา แต่ผสมน้ำเปล่าไม่ได้ผสมโซดาแบบปัจจุบัน         เมื่อมีการผสมไซรัปของโคคา-โคลา เข้ากับโซดาแทนน้ำเปล่า คนที่ดื่มรู้สึกชื่นชอบ ติดใจ เกิดความนิยมมากขึ้นจนกลายเป็นเครื่องดื่มบรรจุสำเร็จในขวดและได้รับความนิยมไปทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน             นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการเปลี่ยนจากยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อมาเป็นเครื่องดื่ม และกลายเป็นเครื่องดื่มที่มียอดขายมากที่สุดในโลก การเปลี่ยนวิธีการขายยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพมาเป็นเครื่องดื่มในชีวิตประจำวัน         จริงๆ แล้ว การโฆษณาขายยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพก็มีให้เห็นทุกๆ วัน ทั้งในสื่อทีวี วิทยุ และสื่อออนไลน์ เช่น เราจะเห็นการโฆษณาขายถั่งเช่า เห็ด โสม รังนกนางแอ่น คอลลาเจน วิตามินต่างๆ และอื่นๆ อีกมากมาย ถ้าเป็นเรื่องสุขภาพ ก็มักจะเน้นกลุ่มผู้สูงอายุ ถ้าเป็นเรื่องความสวยความงาม ก็เน้นวัยรุ่น หนุ่มสาวจนถึงวัยผู้สูงอายุ         ดังนั้น ถ้าสามารถนำผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ ป้องกันความเสื่อม และอาจมีส่วนในการชะลอความเสื่อม มาบรรจุในเครื่องดื่มที่สามารถหาดื่มได้ในร้านค้าทั่วไป เพียงแค่เปิดขวดก็ดื่มได้ทันที พร้อมกับมีความเชื่อเป็นทุนเดิมอยู่แล้วว่า สิ่งต่างๆ ที่อยู่ในขวดดีต่อสุขภาพ น่าจะดีกว่าการดื่มน้ำเปล่า         ดังนั้น การดื่มเครื่องดื่มที่ผสมวิตามินต่างๆ ก็ได้ประโยชน์ต่อร่างกายและได้น้ำด้วย การดื่มเครื่องดื่มที่ใส่คอลลาเจนก็ทำให้ร่างกายได้รับคอลลาเจนจะได้ดูอ่อนเยาว์ ป้องกันความเสื่อมของข้อต่อ การดื่มนมที่ใส่แคลเซียมหรือวิตามินดีก็น่าจะดีกว่าการดื่มน้ำเปล่าหรือนมธรรมดา เป็นต้น ร่างกายอาจได้รับสารต่างๆ เกินความต้องการ         เมื่อเชื่อว่าเครื่องดื่มที่ใส่ผลิตภัณฑ์สุขภาพจะดีกว่าน้ำเปล่าจะทำให้การบริโภคเครื่องดื่มเหล่านี้มากขึ้นหรือแทนการดื่มน้ำเปล่า ซึ่งร่างกายควรดื่มน้ำเปล่าประมาณวันละ 1,500-2,000 มิลลิลิตร การดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้อาจเป็นภาระต่อไตในการปรับสมดุลแร่ธาตุในเลือด บางคนอาจได้รับน้ำตาลมากเกินไป         โดยสรุปแล้ว ร่างกายได้รับสารอาหาร วิตามิน และสารต่างๆ จากอาหารที่กินในแต่ละวันเพียงพอแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดื่มเครื่องดื่มที่ใส่ผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ เพราะอาจมีผลเสียต่อร่างกาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 กระแสต่างแดน

วิกผมขาดแคลน        ร้อยละ 70 ของสินค้าประเภทวิกผม/ผมปลอม ที่จำหน่ายในโลกนั้นมาจากจีน โดยแรงงานหลักๆ ที่ใช้คือแรงงานในเกาหลีเหนือที่ฝีมือดีเลิศแถมค่าจ้างยังถูกกว่าในจีนกว่าครึ่งกระบวนการนี้เริ่มจากการนำเข้าวัตถุดิบหลักซึ่งได้แก่ผมมนุษย์ จากอินเดียและเมียนมาร์ไปยังเมืองจีน จากนั้นส่งออกผมและตาข่ายสำหรับถักไปยังเกาหลีเหนือ แล้วผมปลอมที่ถักด้วยมือเสร็จแล้วจะถูกส่งกลับมาที่เมืองจีนอีกครั้งเพื่อทำความสะอาด บรรจุ และส่งไปขายในอเมริกาและกลุ่มประเทศอัฟริกันแต่การมาถึงของโควิด-19 ทำให้ทุกอย่างชะงักลง ก่อนหน้านั้นจีนส่ง “ผมดิบ” ไปเกาหลีเหนือเดือนละหลายตัน โดยมูลค่าของผมดิบที่จีนส่งไปในเดือนมกราคม ปี 2020 เท่ากับ 14,000,000 หยวน เดือนต่อมา มูลค่าดังกล่าวลดลงเหลือเพียง 452,000 หยวนหลังจากนั้นจีนปิดชายแดน จึงไม่มีการส่งเข้าไปอีกเลย วิกผมที่ผลิตหลังจากนั้นคือวิกที่ผลิตในจีน ซึ่งช่างผมรับรองว่าคุณภาพสู้แบบที่ทำในเกาหลีเหนือไม่ได้ แถมราคายังแพงขึ้นจนน่าตกใจด้วย อย่าเพิ่งรีบชม        อุตสาหกรรมเพชรออกมาตอบโต้แถลงการณ์ของ Pandora บริษัทเครื่องประดับรายใหญ่ของโลกสัญชาติเดนมาร์กที่ประกาศนโยบายใช้ “เพชรจากแล็บ” แทนเพชรที่ขุดจากเหมือง และจะผลิตโดยใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นหลักตัวแทนจากกลุ่มผู้ผลิตเครื่องประดับเพชรบอกว่า การกระทำดังกล่าวสร้างความเข้าใจผิดให้คนคิดว่าอุตสาหกรรมนี้คือผู้ร้าย และขอร้องให้ Pandora ถอนคำโฆษณาที่ชักชวนให้ผู้บริโภคสนับสนุน “ทางเลือกที่มีจริยธรรม”ปัจจุบันอุตสาหกรรมนี้จ้างานคนหลายสิบล้านคนทั่วโลก และหลายชุมชนในประเทศกำลังพัฒนาก็อยู่ได้เพราะรายได้จากการทำงานในเหมืองเพชร ที่สำคัญคือผู้ซื้อสามารถสืบกลับที่มาของเพชรได้ผู้บริหารบริษัท 77 DIAMONDS ร้านค้าเพชรออนไลน์เจ้าใหญ่ที่สุดในยุโรป บอกว่าการทำเหมืองเพชรแบบเอาเปรียบชาวบ้านเหมือนในหนัง Blood Diamond มันหมดไปนานแล้ว ทุกวันนี้แร่โลหะหายากที่ใช้กันอยู่ในโทรศัพท์มือถือ ยังมาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนยิ่งกว่าเพชรอีก เป้าหมายรีไซเคิล        สมาคมเครื่องดื่มในญี่ปุ่นตั้งเป้าหมายว่าจะรีไซเคิลขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่มให้ได้ถึงร้อยละ 50 ภายในปี ค.ศ. 2030 จากปัจจุบันที่ทำได้ร้อยละ 12.5   เขาวางแผนจะปรับปรุงปากถังขยะรีไซเคิลให้รับได้เฉพาะขวดพลาสติกเท่านั้น ปัญหาขณะนี้คือมีคนทิ้งขยะอื่นลงในถังที่มักตั้งอยู่ใกล้ๆ กับตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ ทำให้ขวดข้างในสกปรกเกินกว่าจะนำไปรีไซเคิล เครื่องล้างก็ยังไม่สามารถล้างขวดทีละใบได้ จากข้อมูลของเทศบาลไซตามะ ร้อยละ 16 ของขยะใน “ถังสำหรับขวดพลาสติก” ไม่ใช่ขวดพลาสติกปัจจุบันร้อยละ 76 ของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสำเร็จรูปในญี่ปุ่น เป็นเครื่องดื่มที่บรรจุในภาชนะพลาสติก  เรื่องนี้จึงเรื่องใหญ่และเป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิด “ความยั่งยืน”  อย่างไรก็ตามผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นมีการตื่นตัวมากในเรื่องนี้ สถิติในปี 2019 ระบุว่าร้อยละ 93 ของขวดพลาสติกที่ขายออกไป ถูกนำกลับมาใช้ใหม่กล่องอาหารต้องปลอดภัย        Arnika องค์กรพัฒนาเอกชนจากสาธารณรัฐเชค ร่วมกับอีก 6 องค์กรในยุโรป ได้ร่วมกันเก็บตัวอย่างภาชนะบรรจุอาหารแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อมาวิเคราะห์ทดสอบหาสาร PFAS ซึ่งมักถูกใช้เป็นสารเคลือบในภาชนะดังกล่าวเขาพบว่า 38 ตัวอย่างจาก 99 ตัวอย่าง (ร้อยละ 38) ที่เก็บจากภาชนะบรรจุอาหารที่ซื้อกลับบ้าน อาหารในซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านออนไลน์ มีการเคลือบด้วย PFAS เพื่อป้องกันการซึมเปื้อนของน้ำมันสารเคมีที่ว่านี้เป็นที่รู้กันว่าสลายตัวยาก สามารถปนเปื้อนในดิน น้ำ อากาศ และสะสมในห่วงโซ่อาหาร นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยยืนยันว่ามันสามารถก่อมะเร็ง ส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน ระบบสืบพันธุ์ และฮอร์โมนด้วยกลุ่มองค์กรดังกล่าวจึงเรียกร้องให้สหภาพยุโรปออกกฎหมายห้ามใช้สารดังกล่าวในภาชนะใส่อาหารโดยเร็ว ขณะนี้มีเพียงเดนมาร์กเท่านั้นที่ห้ามใช้สารนี้ไปเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2563 แหล่งน้ำของใคร        หุบเขาในภาคกลางของฝรั่งเศส เป็นแหล่งน้ำแร่ที่โด่งดังไปทั่วโลก แต่ชาวบ้านแถบนั้น รวมถึงนักปฐพีวิทยาหวั่นว่าจะการสูบน้ำแร่ขึ้นมามากเกินไปจะทำให้ทั้งภูมิภาคต้องเจอกับปัญหาขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ชาวบ้านวัย 69 คนหนึ่งที่อาศัยอยู่ใกล้กับบริษัทน้ำแร่ Volvic ที่มีบริษัท Danone เป็นเจ้าของ บอกว่าลำธารแถวบ้านเคยมีระดับน้ำสูงถึงเข่า แต่ทุกวันนี้ใกล้แห้งเหือดเต็มทน ในขณะที่เจ้าของบ่อเลี้ยงปลาแห่งหนึ่งในบริเวณดังกล่าวที่ต้องปิดกิจการเพราะน้ำไม่พอ ก็ยื่นฟ้องบริษัทแล้วด้วยตั้งแต่ปี 2014 รัฐบาลฝรั่งเศสอนุญาตให้ Danone ใช้น้ำได้ถึง 2.8 ล้านลิตรต่อปี หรือถ้าคิดเป็นขวดขนาดหนึ่งลิตร ก็เท่ากับ 2,800 ล้านขวด และขณะนี้บริษัทสามารถสูบน้ำขึ้นมาได้ถึง 89 ลิตรต่อวินาที แถมยังสูบได้ทั้งปี ไม่เว้นช่วงหน้าร้อนที่ความต้องการใช้น้ำของชาวบ้านก็เพิ่มขึ้นเช่นกันการขาดแคลนน้ำส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ บริเวณดังกล่าวไม่มีต้นไม้ขึ้นมานานแล้ว ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าความชื้นที่ลดลงนี้กำลังจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดทะเลทราย

อ่านเพิ่มเติม >