ฉบับที่ 219 ยาแผนปัจจุบันในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อ้างสรรพคุณเพิ่มสมรรถภาพทางเพศสำหรับผู้ชายจากห้างค้าปลีกออนไลน์

        ภาวะองคชาติไม่แข็งตัว (Erectile Dysfunction) เป็นปัญหาที่เกิดได้จากหลายสาเหตุและวิธีที่ปลอดภัยคือการพบแพทย์เพื่อขอรับคำปรึกษา แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม มีคุณผู้ชายเป็นจำนวนมากไม่ยินดีพบแพทย์ เลือกที่จะทดลองรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอ้างสรรพคุณเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ที่โฆษณาว่าสามารถช่วยเพิ่มขนาดน้องชาย เพิ่มระยะความสุขในกิจกรรมทางเพศ ทำให้สู้ศึกได้ยาวนาน ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคำอวดอ้างสรรพคุณที่เกิดจากการลักลอบนำยาอันตราย ที่มีผลในการรักษาภาวะองคชาติไม่แข็งตัวผสมไปในผลิตภัณฑ์ โดยผลข้างเคียงของการรับประทานผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายนี้อาจเสี่ยงถึงเสียชีวิตได้         ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างการรักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศเหล่านี้ มีขายกลาดเกลื่อนบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งผู้บริโภคจำนวนหนึ่งอาจได้รับทราบคำเตือนจากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่บ้างว่ามีความเสี่ยง ทำให้หลายคนเปลี่ยนไปซื้อหรือสั่งซื้อสินค้าจากห้างค้าปลีกออนไลน์ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน โดยมีความเชื่อมั่นในตัวห้างออนไลน์ว่าจะช่วยคัดกรองผู้ผลิต ผู้ประกอบการให้กับทางผู้บริโภค แต่จะเป็นเช่นนั้นจริงๆ หรือ         นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงทดลองสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณช่วยแก้อาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ทำให้ฟิตเปรี๊ยะ ตลอดจนเพิ่มขนาดอวัยวะเพศ จำนวน 10 ตัวอย่าง จากห้างค้าปลีกออนไลน์ยอดนิยม 6 แห่ง ได้แก่ SHOPEE, Watsons, LAZADA, Shop at 24, 411estore.com, และ We mall  ระหว่างเดือนมีนาคม – เมษายน 2562 ส่งห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ อุบลราชธานี เพื่อทดสอบหาสาร (ยา) ในกลุ่มที่แก้อาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ได้แก่ ซิลเดนาฟิล (Sildenafil) ทาเดลาฟิล (Tadalafil) และ วาเดนาฟิล(Vardenafil) ซึ่งผลทดสอบเป็นที่น่าห่วงใยอย่างมาก ผลทดสอบ    ผลการทดสอบหายา ซิลเดนาฟิล(Sildenafil) ทาเดลาฟิล(Tadalafil) และ วาเดนาฟิล(Vardenafil) ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจำนวน 10 ตัวอย่าง จากห้างค้าปลีกออนไลน์ 6 แห่ง พบว่า 7 ใน 10 ตัวอย่าง มีการผสมสารหรือยาแผนปัจจุบัน ดังนี้    1.   DRACO รุ่นผลิต 15/01/2561 พบ ซิลเดนาฟิล สั่งซื้อจาก SHOPEE    2.   แซต4 (Z4) ตรา PLAYS รุ่นผลิต 3/01/2562 พบ ซิลเดนาฟิล สั่งซื้อจาก Watsons    3.   MO CHA รุ่นผลิต 7/02/2562 พบ ทาเดลาฟิล สั่งซื้อจาก SHOPEE    4.   OMG รุ่นผลิต 9/12/2560 พบ ซิลเดนาฟิล และ ทาเดลาฟิล สั่งซื้อจาก 411estore.com    5.   So Kool รุ่นผลิต 2/01/2562 พบ ซิลเดนาฟิล และ ทาเดลาฟิล สั่งซื้อจาก We mall    6.   CHU รุ่นผลิต 11/02/2562 พบ ซิลเดนาฟิล และ ทาเดลาฟิล สั่งซื้อจาก LAZADA    7.   Vitalmax Vitality Reborn รุ่นผลิต 16/11/2560 พบ ซิลเดนาฟิล และ ทาเดลาฟิล สั่งซื้อจาก LAZADA     ทั้งนี้พบว่า ทั้งหมดมีเลขสารบบอาหาร (อย.) เมื่อตรวจสถานะพบว่า สถานะยังคงอยู่ (ล่าสุดเดือนเมษายน 2562) โดย ยี่ห้อ Vitalmax Vitality Reborn นั้นมีชื่อผลิตภัณฑ์ไม่ตรงกับในเลขสารบบอาหารการขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ลักลอบผสมยาแผนปัจจุบันมีโทษตามกฎหมาย        หากผลิตภัณฑ์ใดได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์อาหารในประเทศไทยและมีสาร  ซิลเดนาฟิล(Sildenafil) ทาเดลาฟิล (Tadalafil) และวาเดนาฟิล (Vardenafil) ซึ่งเป็นยาแผนปัจจุบันเป็นส่วนผสม ถือว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(1) ประกอบมาตรา 26(1) ต้องได้รับโทษตามมาตรา 58 คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรืออาจเข้าข่ายอาหารปลอมหากมีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงให้เกิดความเข้าใจผิด ตามมาตรา 25(2) ประกอบมาตรา 26(3) ต้องระวางโทษตามมาตรา 59 คือ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 กระแสต่างแดน

     จำกัดพื้นที่        มาเลเซีย ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่อันดับสองของโลกประกาศจำกัดพื้นที่ปลูกปาล์มไว้ที่ 37.5 ล้านไร่(ปลายปีที่แล้วมีอยู่ 36.5 ล้านไร่) แต่จะเพิ่มความสามารถในการผลิตต่อไร่แทน เรื่องดังกล่าวจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในเดือนมีนาคม           ก่อนหน้านี้คณะกรรมาธิการยุโรปมีข้อเสนอให้ยกเลิกการใช้น้ำมันปาล์มในแผนการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพและตั้งเป้าที่จะเลิกใช้น้ำมันปาล์มในที่สุด ด้วยเหตุผลว่ามันขัดแย้งต่อหลักการเรื่องความยั่งยืน            เสียงต่อต้านการทำสวนปาล์มมีมานานแล้วเพราะเชื่อกันว่ามันคือสาเหตุหลักของการทำลายป่าฝนเมืองร้อนซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหายาก        อินโดนีเซีย มาเลเซีย และโคลัมเบียซึ่งเป็นผู้ผลิตร้อยละ 90 ของน้ำมันปาล์มในโลก มองว่าการจำกัดพื้นที่ปลูกปาล์มอาจส่งผลให้ผู้บริโภคหันไปพึ่งพาพืชน้ำมันชนิดอื่นที่ให้ผลผลิตต่อพื้นที่น้อยกว่าปาล์ม และอาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเรื่องความยั่งยืน           รูปจาก https://www.foodnavigator-asia.comของมันต้องมี        Autorità Garante della Concorrenza e del Mercato องค์กรกำกับดูแลการแข่งขันของอิตาลีสั่งปรับสายการบินต้นทุนต่ำสัญชาติไอริช Ryanair เป็นเงิน 3 ล้านยูโร(ประมาณ 107 ล้านบาท) เพราะเรียกเก็บเงินเพิ่มจากผู้โดยสารอย่างไม่เป็นธรรม        Wizzair ของฮังการี ก็โดนปรับ 1 ล้านยูโร (ประมาณ 35.5 ล้านบาท) เช่นกัน        ตั้งแต่พฤศจิกายนปีที่แล้ว สองสายการบินนี้เริ่มเก็บค่าธรรมเนียมกระเป๋าเดินทางขนาดเล็กชนิดที่นำขึ้นเครื่องได้ในอัตรา 5 ถึง 25 ยูโร (ประมาณ 180 – 900 บาท)         AGCM บอกว่ากระเป๋าถือคือสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการเดินทาง สายการบินต้องดำเนินการขนส่งให้ผู้โดยสารโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่ม        นอกจากนี้ กฎหมายว่าด้วยการเดินทางทางอากาศของยุโรประบุว่า บริการที่จำเป็นและคาดการณ์ล่วงหน้าได้นั้นจะต้องรวมอยู่ในราคาของบริการพื้นฐานแต่แรก การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มจึงถือเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค        Ryanair กำลังเตรียมยื่นอุทรณ์ แต่ Wizzair ยังไม่แสดงท่าที        รูปจาก https://upgradedpoints.com พร้อมทำโลกเย็น        หากคุณกำลังสงสัยว่าผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของโลกปรับปรุงตัวเองอย่างไรบ้างเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้น้ำ หรือการประกอบการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม           องค์กรไม่แสวงกำไร Carbon Disclosure Project พบว่าสามบริษัทที่พร้อมที่สุดจาก 16 บริษัทที่พวกเขาทำการสำรวจ ได้แก่ Unilever  L’Oreal และ Danone        ยูนิลิเวอร์ ชัดเจนด้วยการเข้าซื้อกิจการ Seventh Generation และอีกหลายบริษัทที่เน้นการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่ลอรีอัลก็เลือกใช้ห่วงโซ่อุปทานที่ไม่ส่งผลเสียต่อสภาพอากาศและมีแผนใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์        ดานอน ก็ลงทุนพัฒนาแผนปรับปรุงสภาพดินและการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงผลิตสินค้าโดยไม่ใช้ส่วนประกอบจากสัตว์ด้วย        สองแบรนด์ที่รั้งท้ายได้แก่ Kraft Heinz ซึ่งมีนวัตกรรมเรื่องการผลิตแบบคาร์บอนต่ำน้อยมาก และ Estee Lauder ที่ยังไม่แสดงความโปร่งใสเรื่องการใช้น้ำมันปาล์ม        รูปจาก https://www.seventhgeneration.comมากินด้วยกัน        รัฐบาลจีนออกข้อบังคับให้ผู้บริหารโรงเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยม รับประทานอาหารกลางวันร่วมกับเด็กๆ ในโรงอาหารของโรงเรียนเพื่อให้แน่ใจว่าอาหารนั้นปลอดภัย        ผู้บริหารจะต้องทำบันทึกรายการอาหารโดยละเอียดและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นโดยด่วน ทั้งนี้ผู้ปกครองก็สามารถมาร่วมรับประทานและให้ความเห็นได้        โรงอาหารที่จำหน่ายอาหารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจะถูกปรับ 5,000 – 30,000 หยวน (ประมาณ 24,000 – 140,000 บาท) ในขณะที่ผู้รับผิดชอบอาจได้รับโทษตั้งแต่ถูกตักเตือน ปลดจากตำแหน่ง ไปจนถึงจำคุกหากถูกจับได้ว่าพยายามยักยอกเงินด้วยการจัดซื้ออาหารคุณภาพต่ำ หรือละเลยหน้าที่จนทำให้นักเรียนหรือครูล้มป่วยเพราะอาหารไม่ปลอดภัย         ประกาศนี้ยังกำหนดให้ร้านขายอาหารว่างในโรงเรียนต้องมีใบอนุญาตและไม่ขายอาหารที่มีรสเค็มหรือหวานเกินไปด้วย        รูปจาก ww.china.org.cn กินไม่ทัน        นักศึกษาชาวเยอรมันสองคนถูกปรับ 225 ยูโร(ประมาณ 8,000 บาท) และต้องทำงานรับใช้สังคมอีกแปดชั่วโมงในความผิดข้อหาร่วมกัน “ขโมยอาหารที่ทิ้งแล้ว”          สองสาวถูกจับได้ขณะกำลังเก็บอาหารจากถังขยะของซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งในเมืองมิวนิค ตามกฎหมายแล้ว อาหารเหล่านั้นยังถือเป็นทรัพย์สินของซูเปอร์มาร์เก็ตอยู่จนกว่ารถขยะจะมารับไป         สิ่งที่พวกเธอต้องการเพื่อให้คนเยอรมันช่วยกันลด “อาหารเหลือทิ้ง” คือการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าไปเลือกเก็บอาหารที่ผ่าน “วันกำหนดขาย” ไปบริโภคได้นั่นเอง         ในขณะที่ฝรั่งเศสล้ำไปอีกก้าวเพราะมีกฎหมายระบุให้ซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีขนาดเกิน 400 ตารางเมตร ต้องประสานให้องค์กรพัฒนาเอกชนมารับอาหารที่ขายไม่ทันไปทำการแจกจ่าย โดยกำหนดชัดเจนว่าอาหารชนิดไหนยังรับประทานได้เมื่อเลยกำหนด         ห้างไหนฝ่าฝืน ต้องจ่ายค่าปรับครั้งละ 3,750 ยูโร (ประมาณ 133,000 บาท)          รูปจาก www.npr.org

อ่านเพิ่มเติม >

อย. ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล สุ่มตรวจไขมันทรานส์ในอาหารกลุ่มเสี่ยง พบปริมาณลดลง หลังประกาศใช้ กม.

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยผลตรวจสอบการสุ่มตัวอย่างในผลิตภัณฑ์อาหารกลุ่มเสี่ยง พบว่า มีปริมาณไขมันทรานส์ลดลง หลังบังคับใช้กฎหมายห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน และอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ เมื่อ 9 มกราคม 2562 ที่ผ่านมานายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงว่า หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย โดยกำหนดให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย เพื่อคุ้มครองสุขภาพของคนไทย และเป็นหนึ่งในมาตรการการลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2562 เป็นต้นมา นั้น คุณสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ ศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล (โดยการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร) ได้ติดตาม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อาหารกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ได้แก่ โดนัททอด พาย พัฟ เพสทรี ครัวซองค์ และบัตเตอร์เค้กผลการสุ่มตัวอย่างจำนวน 45 ตัวอย่าง พบว่า ปริมาณไขมันทรานส์เฉลี่ยของทุกผลิตภัณฑ์อยู่ในช่วง 0.09 - 0.31 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ซึ่งอยู่ในปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคต่อวัน คือ 0.5 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค และมีปริมาณลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจผลิตภัณฑ์ก่อนประกาศฯ มีผลใช้บังคับ ซึ่งอยู่ในช่วง 0.42 - 1.21 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค นอกจากนี้ ปริมาณไขมันทรานส์สูงสุดที่พบในทุกผลิตภัณฑ์มีปริมาณลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจผลิตภัณฑ์ก่อนประกาศฯ มีผลใช้บังคับ ทั้งนี้ มีเพียงบางผลิตภัณฑ์มีปริมาณไขมันทรานส์ต่อหนึ่งหน่วยบริโภคเกินจากปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ เนื่องจากมีการใช้วัตถุดิบที่มีไขมันทรานส์ตามธรรมชาติเป็นส่วนประกอบในปริมาณสูง เช่น เนย นม ชีส เป็นต้นนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ (เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา)เลขาธิการฯ อย. แถลงเพิ่มเติมว่า ปริมาณไขมันทรานส์ในเนยเทียม (มาการีน) และเนยขาว (ซอทเทนนิ่ง) ส่วนใหญ่ที่ทำการสำรวจก่อนหน้าที่ประกาศฯ มีผลใช้บังคับ พบว่า มีปริมาณน้อยมาก โดยอยู่ในช่วง 0.01-0.37 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค เนื่องจากผู้ผลิตน้ำมันและไขมันมีการปรับกระบวนการผลิตไปใช้วิธีการผลิตอื่นแทนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนแล้ว อย่างไรก็ดี อย. ได้ดำเนินการตรวจสอบ ณ สถานที่ผลิตน้ำมันและไขมัน 3 แห่ง ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่กระจายสินค้าให้แก่ผู้ผลิตอาหารรายย่อยในประเทศ ไม่พบการผลิตน้ำมันและไขมันโดยใช้กระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนแล้วคุณสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ บรรณาธิการบริหาร นิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า ในส่วนของการสุ่มตรวจของนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคผ่าน โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ภายใต้งบประมาณของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เราเก็บตัวอย่างเค้กเนย จำนวน 12 ตัวอย่างจากผู้ผลิตเจ้าดัง และได้เพื่อนเครือข่ายผู้บริโภคเก็บตัวอย่างเค้กชิฟฟ่อน ที่นิยมซื้อเป็นของฝากจำนวน 4 ตัวอย่าง รวม 16 ตัวอย่าง ส่งทดสอบปริมาณไขมันทรานส์   จากผลการทดสอบพบว่า ปริมาณไขมันทรานส์ในเค้กเนย 12 ตัวอย่าง และเค้กชิฟฟ่อน 4 ตัวอย่าง มีปริมาณน้อยเฉลี่ยต่อ 1 หน่วยบริโภค (55 กรัม) คือ 0.2 กรัม/หน่วยบริโภค  ถือว่าไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ที่กำหนดไว้ คือ ไม่เกิน 0.5 กรัม/หน่วยบริโภคยกเว้นเค้กเนยของยี่ห้อ PonMaree Bakery (พรมารีย์ เบเกอรี่)  ที่พบปริมาณไขมันทรานส์ที่ 0.61 กรัม ต่อ 1 หน่วยบริโภค (55 กรัม)  ทำให้ทางฉลาดซื้อเกิดคำถามว่า ทำไมผลทดสอบของ พรมารีย์ เบเกอรี่   จึงสูงกว่าผลิตภัณฑ์อื่น ซึ่งเป็นไปได้สองสาเหตุคือ ยังคงใช้ไขมันทรานส์สังเคราะห์ หรือใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติคือ เนยแท้ จำนวนมาก ดังนั้นจึงตรวจสอบที่ผลการวิเคราะห์ชนิดของกรดไขมันทรานส์มีเพียงชนิดเดียวที่สูงเด่นมาก ได้แก่ Vaccenic acid (C18:1)-11 ที่พบมากตามธรรมชาติในไขมันจากสัตว์เคี้ยวเอื้อง จึงอนุมานได้ว่า ยี่ห้อนี้ใช้เนยแท้ หรือก็คือ ปริมาณกรดไขมันทรานส์ที่ตรวจพบนี้เป็นกรดไขมันทรานส์ธรรมชาติ  จึงไม่ผิดกฎหมายแต่อาจผิดต่อผู้ที่รักสุขภาพและควบคุมน้ำหนัก หากรับประทานเกิน 1 หน่วยบริโภคสารี อ๋องสมหวัง (เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค)ส่วนการทดสอบโดนัท นิตยสารฉลาดซื้อเลือกทดสอบโดนัทช็อกโกแลตซ้ำอีกครั้งหนึ่ง โดยได้สุ่มซื้อโดนัทรสช็อกโกแลต จากร้านขายโดนัทและห้างสรรพสินค้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 13 ยี่ห้อ (ยี่ห้อเดิมที่เคยเก็บตัวอย่าง เมื่อเดือน ก.พ.61) นำส่งห้องปฏิบัติการมาตรฐานเพื่อตรวจวิเคราะห์หาปริมาณไขมันทรานส์ รวมถึงสารกันบูดประเภทกรดซอร์บิก (Sorbic acid) และ กรดเบนโซอิก (Benzoic acid) โดยผลการตรวจวิเคราะห์แสดงดังตารางต่อไปนี้ เมื่อเปรียบเทียบผลทดสอบปริมาณไขมันทรานส์ ต่อหนึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิงของผลิตภัณฑ์ขนมอบ จำพวกเค้กกาแฟ โดนัท และมัฟฟิน ซึ่งเท่ากับ 55 กรัม (ตามบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 182 พ.ศ. 2541) พบว่า โดนัทช็อกโกแลตทุกตัวอย่างมีปริมาณไขมันทรานส์ ไม่เกิน 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยตัวอย่างที่พบปริมาณไขมันทรานส์ต่อหน่วยบริโภค น้อยที่สุด ได้แก่ โดนัทช็อกโกแลต / บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ พบปริมาณไขมันทรานส์ 0.03 กรัมต่อน้ำหนักโดนัท 55 กรัม และตัวอย่างที่พบปริมาณไขมันทรานส์ต่อหน่วยบริโภค มากที่สุด ได้แก่ โดนัทรสช็อกโกแลต ไอซ์ เกลซ / คริสปี้ครีม พบปริมาณไขมันทรานส์ 0.14 กรัม ต่อ น้ำหนักโดนัท 55 กรัมศาสตราจารย์ ดร.วิสิฐ จะวะสิต (อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล) ศาสตราจารย์ ดร.วิสิฐ จะวะสิต สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความสำเร็จในครั้งนี้นับเป็นตัวอย่างที่ดีในความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ กระบวนการดำเนินงาน ที่มีการเร่งรัดภาคอุตสาหกรรมให้มีการพัฒนาส่วนประกอบทดแทน การให้ข้อมูลและความร่วมมือของภาคอุตสาหกรรม การพัฒนากระบวนการวิเคราะห์ให้ถูกต้องแม่นยำ การใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลในการประเมินและแก้ไขสถานการณ์ ตลอดจนบทบาทของภาคประชาสังคมในเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด การร่วมกันระหว่างภาครัฐ วิชาการและประชาสังคมในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชน นับเป็นเบื้องหลังความสำเร็จที่เป็นต้นแบบให้กับประเทศต่างๆได้ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค อย. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล จะติดตาม ตรวจสอบ และเฝ้าระวัง ณ สถานที่ผลิต สถานที่นำเข้า และสถานที่จำหน่ายทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องต่อไปอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่บทความ "ผลทดสอบปริมาณไขมันทรานส์ และ สารกันบูด ในโดนัทช็อกโกแลต ภาค 2"บทความ "ไขมันทรานส์ในเค้กเนย หลังประกาศห้ามใช้ไขมันทรานส์สังเคราะห์มีผลบังคับ"

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 ความเคลื่อนไหวเดือนกุมภาพันธ์ 2562

ท้อง 3 เดือนแรก และ 6 เดือนขึ้นไปไม่ควรนวด             ข่าวหญิงท้อง 6 เดือน ช็อกคาร้านนวดทำให้แท้งลูกส่วนตัวเองมีอาการเจ้าหญิงนิทรานั้น รองโฆษก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข แนะนำว่า ผู้หญิงตั้งครรภ์นั้นสามารถนวดได้เพียงแต่ต้องดูอายุครรภ์และนวดกับหมอนวดผู้ชำนาญ        โดยหากอายุครรภ์ตั้งแต่เริ่มจนถึง 3 เดือน ไม่ควรนวด เพราะการนวดจะไปกระตุ้นให้มดลูกรัดตัว เสี่ยงแท้งลูกได้ อีกช่วงที่ต้องระวังคือ อายุครรภ์ 6 เดือนขึ้นไป การนวดอาจทำให้มดลูกไปกดเส้นเลือดดำ เส้นเลือดแดงในท้อง ในลำไส้ อาจเกิดภาวะช็อกหมดสติ ไม่ควรไปนวดตามร้านนวดทั่วไป หากเลือกที่จะนวดเพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อย ควรเลือกใช้บริการกับหมอแผนไทยที่มีการร่ำเรียนมา 800 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย เพราะการนวดเป็นเรื่องที่ผู้ให้บริการต้องผ่านการอบรม และสอบจนผ่านการรับรองจากทางราชการ รถจดทะเบียนใหม่ใน กทม. สูงขึ้นทุกปีสวนทางวิกฤตฝุ่นจิ๋ว        ไม่น่าแปลกใจที่ค่าฝุ่นพิษใน กทม. จะเพิ่มขึ้น เมื่อสถิติรถจดทะเบียนใหม่ใน กทม. สูงขึ้นทุกปี จากการเปิดเผยสถิติปริมาณรถยนต์ที่จดทะเบียนในปี 2551 - 2560 โดยสำนักงานจราจรและขนส่ง กทม. พบว่า รถยนต์ส่วนบุคคลมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น 8% ต่อปี ส่วนรถบรรทุกส่วนบุคคล เพิ่มขึ้น 3.5% ต่อปี โดยการที่กรุงเทพฯ มีปริมาณรถส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้นนี้ ส่งผลให้ความเร็วเฉลี่ยของพื้นที่ชั้นนอกลดลง 22% พื้นที่ชั้นกลางลดลง 17% และพื้นที่ชั้นในลดลง 11%         ขณะที่กรมการขนส่งทางบก รายงานข้อมูลจำนวนรถที่จดทะเบียนสะสมในกรุงเทพฯ ณ วันที่ 31 มกราคม 2562 พบว่า มีรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ทั้งหมด 4,529,691 คัน รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล 1,378,623 คัน รวม 5,908,314 ซึ่งในจำนวนนี้กว่า 2.2 ล้านคัน หรือ 38.73% เป็นรถที่ใช้น้ำมันดีเซล        ทั้งนี้การแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก จำเป็นต้องแก้ปัญหาจราจรติดขัดเพื่อลดมลพิษทางอากาศ ที่มีแหล่งกำเนิดมาจากไอเสียของเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งประกอบไปด้วย PM 2.5 มากกว่า 90% และควรเพิ่มการใช้งานระบบขนส่งมวลชน และรถโดยสารประจำทาง ขณะเดียวกันให้จำกัดรถยนต์ในพื้นที่ที่มีการจราจรติดขัด จึงจะเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้ส่งเสียงถึง คกก.วัตถุอันตราย ทบทวนลงมติแบน 'พาราควอต'        มูลนิธิชีววิถี องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้องคณะกรรมการวัตถุอันตราย ลงมติทบทวนการใช้พาราควอต ในรอบการประชุมที่จะมีการพิจารณาคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม สามารถให้ประชาชนทราบได้ว่าใครตัดสินอย่างไร  และเรียกร้องให้กรรมการที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจสารเคมีลาออก        นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าวถึงปัญหาพาราควอตอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ 1. เป็นสารเคมีที่มีความเป็นพิษเฉียบพลันสูง 2. ก่อให้เกิดโรคพาร์กินสัน และ 3. มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว         ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) แสดงความเห็นว่า ควรประกาศยกเลิกการใช้สารเคมีก่อน จนกว่าผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จะสามารถหาหลักฐานมาพิสูจน์ได้ว่าสารเคมีเหล่านี้ปลอดภัย ไม่เป็นพิษ และไม่ทำให้คนป่วยหรือเสียชีวิตดับฝันคอนโดให้เช่ารายวัน จับปรับ “เจ้าของห้อง-นิติบุคคลฯ”        “ศาลจังหวัดหัวหินถึงเพชรบุรี” ตัดสินคดีตัวอย่างเชือดเจ้าของห้องชุดปล่อยเช่ารายวันผิด กม.โรงแรม จำคุก 6 เดือน ปรับ 5 พัน-1 หมื่น          จากภาวะบูมของตลาดคอนโดมิเนียมนำไปสู่การตลาดแนวใหม่ที่หันไปเน้นลูกค้าซื้อลงทุนปล่อยเช่ามากขึ้น โดยปกติเน้นการปล่อยเช่าแบบรายเดือน อย่างไรก็ตาม ช่วงไม่ต่ำกว่า 4-5 ปีที่ผ่านมาเริ่มหันมาเน้นปล่อยห้องชุดเช่ารายวันมากขึ้น กลายเป็นคู่แข่งของโรงแรมและเป็นการทำผิดกฎหมายโรงแรมโดยตรง        ล่าสุด การนำห้องชุดมาปล่อยเช่ารายวันได้มีคำพิพากษาถูกลงโทษหนักทั้งปรับและจำคุก คำพิพากษาของศาลจังหวัดหัวหิน คดีดำเลขที่ 50/2561 คดีแดงเลขที่ 59/2561 วันพิพากษา 5 มกราคม 2561 จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ. 2547 มาตรา 4, 15, 59 รับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งตาม ปอ.ม.78 ปรับ 5,000 บาท และปรับรายวัน วันละ 500 บาท เป็นเวลา 20 วัน เป็นเงิน 10,000 บาทกับคดีดำเลขที่ 107/2561 คดีแดงเลขที่ 106/2561 วันพิพากษา 16 มกราคม 2561 จำเลยมีความผิดตามฟ้อง รับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งคงปรับ 5,000 บาท ปรับรายวัน วันละ 100 บาท เป็นเวลา 81 วัน เป็นเงิน 8,100 บาท        อีกตัวอย่างการนำห้องชุดปล่อยเช่ารายวันและรายสัปดาห์ ทำเลชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยศาลจังหวัดเพชรบุรี คดีดำเลขที่ 277/2561 คดีแดงเลขที่ 900/2561 มีการนำห้องชุดปล่อยเช่ารายวัน ค่าเช่าวันละ 4,990 บาท ผิด พ.ร.บ.โรงแรมฯ พิพากษาจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท ปรับอีกวันละ 1,000 บาท        “กรณีนี้เป็นการป้องปรามไปยังกรรมการนิติบุคคลด้วย เพราะเริ่มมีตัวอย่างจากหลายนิติฯ ที่มีตัวแทนกลุ่มผู้ซื้อลงทุนปล่อยเช่า ส่งตัวแทนมาเป็นกรรมการนิติฯ และพยายามออกระเบียบให้ปล่อยเช่ารายวันได้ ที่หนักข้อสุดน่าจะเป็นตัวแทนลูกค้าจีน ซึ่งซื้อในโควตาต่างชาติ 49% แล้วส่งตัวแทนมาเป็นกรรมการ ดังนั้น คำพิพากษาลงโทษเจ้าของห้องชุดมีผลผูกพันกับนิติบุคคลในฐานะรับฝากเช่ารายวันที่จะทำผิดกฎหมายด้วยเช่นกัน” ร้องเรียนปี 61 พบปัญหาโฆษณาเกินจริงมากที่สุด        มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยตัวเลขการให้คำปรึกษาและรับเรื่องร้องเรียนผู้บริโภค จากเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ทั่วประเทศ ประจำปี 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,545 เรื่อง โดยพบว่า เรื่องร้องเรียนด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ มากเป็นอันดับหนึ่ง จำนวน 1,505 ราย ส่วนอันดับสอง ด้านบริการสาธารณะ 930 ราย และอันดับสาม ด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข 705 ราย        โดยเรื่องร้องเรียนด้านอาหารฯ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องโฆษณาหลอกลวงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อาจก่อให้เกิดอันตรายซึ่งเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ค และทางช่องเคเบิ้ลทีวี รวมไปถึงวิทยุท้องถิ่น ส่วนหมวดบริการสาธารณะ พบปัญหาเกี่ยวกับการขนส่งทางบกได้รับการร้องเรียนมากที่สุด โดยเป็นเรื่องการชดเชยเยียวยาจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ และการร้องเรียนพฤติกรรมพนักงานผู้ให้บริการ เช่น พูดจาไม่สุภาพ สูบบุหรี่ขณะขับรถ ขับรถหวาดเสียว        สำหรับหมวดบริการสุขภาพและสาธารณสุข ส่วนใหญ่เป็นการสอบถามเรื่องการย้ายและสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะสิทธิบัตรทอง ซึ่งนอกจากการไม่รู้สิทธิแล้ว ยังมีปัญหาอื่นๆ อีก เช่น การไม่ได้รับความสะดวกตามสมควรหรือไม่ได้รับการปฏิบัติตามสิทธิ การได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล และการถูกเรียกเก็บค่าบริการจากการใช้สิทธิกองทุนฉุกเฉิน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 ทีวีดิจิทัลกับสิ่งแอบแฝง

“สารสกัดตัวนี้นำเข้าจากต่างประเทศ จะช่วยให้ผิวหน้าของคุณกระจ่างใส ชุ่มชื่น”“กลัวไหมว่าแต่งหน้าแล้วหน้าเทา พี่ใช้ครีมตัวนี้แล้วไม่มีปัญหาเลย “ถ้าไม่ดีจริง ไม่กล้าบอกต่อหรอก”“มั่นใจได้เพราะเขามี อย.”เรามักจะพบประโยคเหล่านี้อยู่เนืองๆ ผ่านทางรายการโทรทัศน์สักช่อง บางครั้งอาจถึงขนาดที่ว่าเปิดไปกี่ช่องๆ ก็เจอคนดังกำลังบรรยายสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ที่ถืออยู่ในมือ พร้อมกับสาธิตการใช้งาน ก่อนจะทิ้งท้ายด้วยโปรโมชั่นเขย่าใจ ลดแลกแจกแถมขนานใหญ่ จนผู้บริโภคอย่างเราๆ อยากจะหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาโทรสั่งซื้อทันทีทันใดแต่เดี๋ยวก่อน! คุณรู้หรือไม่ว่าพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะรู้สึกเคยชิน หากแต่ต้องสะกิดตัวเองแรงๆ แล้วเตือนสติว่า เรากำลังเสพ ‘โฆษณาแฝง’ โดยไม่ได้ตั้งใจหลายคนอาจจะสงสัยว่าเสพไปแล้วเป็นอะไร มีผลเสียอย่างไร ก็คงต้องเท้าความเสียก่อนว่า ในยุคปัจจุบันผู้คนมักจะเปิดรับข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางของสื่อใหม่ (new media) มากขึ้น เนื่องด้วยคุณลักษณะสำคัญต่างๆ ที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนยุคใหม่ เช่น เนื้อหาสั้น กระชับ เข้าใจง่าย เข้าถึงได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ฯลฯ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อเก่า (old media) หลายๆ ประเภทยังคงได้รับการใช้งานจากกลุ่มคนจำนวนมาก โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ที่มีการพัฒนาจากระบบอะนาล็อกสู่ระบบดิจิทัล ซึ่งมีความโดดเด่นในแง่คุณภาพของการรับชมที่ดีขึ้น มีการประมูลใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ ทำให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่มีโอกาสเข้ามาผลิตเนื้อหาและสร้างความหลากหลายในวงการสื่อ ขณะที่ผู้ชมเองก็มีทางเลือกในการรับชมโทรทัศน์ที่เพิ่มขึ้นทว่าเมื่อการแข่งขันระหว่างช่องโทรทัศน์ไต่ระดับขึ้นเรื่อยๆ กอปรกับการเติบโตของสื่อใหม่ที่เข้ามาช่วงชิงความสนใจของผู้รับสาร ทำให้โฆษณา (advertising) ซึ่งเป็นรายได้หลักของธุรกิจโทรทัศน์เกิดการเลื่อนไหลไปยังพื้นที่ดังกล่าวมากขึ้น ผู้ประกอบการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลหรือ ‘ทีวีดิจิทัล’ จึงต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจตนเอง กลยุทธ์หนึ่งที่ถูกนำมาใช้อย่างมากคือ ‘โฆษณาแฝง’ ซึ่งเป็นการโฆษณาสินค้าและบริการที่สอดแทรกไปกับเนื้อหาอย่างแยบยล จนผู้บริโภคไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เหมือนกับโฆษณาทั่วไป ทำให้สินค้าและบริการนั้นๆ มีโอกาสซึมลึกเข้าไปในใจของผู้บริโภคโดยไม่ทันตั้งตัว โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพที่มักจะพบได้บ่อยๆ เช่น อาหารเสริม ยาบำรุงร่างกาย เครื่องสำอาง เป็นต้น สิ่งที่น่ากังวลคือสื่อโทรทัศน์สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายขนาดใหญ่และครอบคลุมทั่วประเทศ ผู้บริโภคจึงมีลักษณะทางประชากรศาสตร์หลากหลาย ทั้งในด้านเพศ อายุ อาชีพ การศึกษา และด้านอื่นๆ ซึ่งส่งผลต่อวิจารณญาณและความรู้เท่าทันสื่อที่ไม่เท่ากัน อันนำไปสู่ทัศนคติและพฤติกรรมการตอบสนองต่อโฆษณาแฝงที่แตกต่างกัน เช่น โฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมความงามยี่ห้อหนึ่งอาจไม่มีผลต่อผู้สูงวัย แต่กลับกระตุ้นความต้องการซื้อในกลุ่มวัยรุ่นได้อย่างมาก จนนำไปสู่ค่านิยมการใช้ผลิตภัณฑ์ที่แพร่หลายนอกจากนี้ การที่ผู้บริโภคคาดหวังว่าจะได้รับสาระหรือความบันเทิงจากรายการโทรทัศน์อย่างเต็มที่ แต่กลับถูกยัดเยียดโฆษณาที่ไม่พึงประสงค์เข้ามาด้วย เนื่องจากผลประโยชน์เชิงธุรกิจของผู้ประกอบการโทรทัศน์และเจ้าของสินค้าและบริการ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเป็นการเอาตัวรอดจากวิกฤติการณ์ขององค์กรสื่อโดยละเลยต่อความต้องการและสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคหรือไม่ ทว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงการตั้งคำถามไปยังจริยธรรมของผู้ประกอบการ เจ้าของสินค้าและบริการ หรือนักการตลาดเพียงเท่านั้น หากแต่ยังรวมไปถึงการขาดความรู้เท่าทันสื่อของผู้บริโภค และประสิทธิภาพในการคัดกรองโฆษณาแฝงของหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแล ซึ่งยังไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยในระดับที่ผู้บริโภคจะสามารถฝากความเชื่อมั่นไว้ได้จากปัญหาที่เกิดขึ้นนำไปสู่งานศึกษาเรื่อง “รูปแบบของโฆษณาแฝงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพในรายการโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล” ซึ่งมุ่งที่จะค้นหาคำตอบว่าทีวีดิจิทัลยุคปัจจุบันมีการใช้โฆษณาแฝงในลักษณะใดบ้าง โดยใช้การสำรวจทีวีดิจิทัล 2 ประเภท ได้แก่ บริการสาธารณะ และบริการทางธุรกิจ รวมทั้งเลือกรูปแบบรายการโทรทัศน์ที่หลากหลาย ประกอบด้วย รายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง (non-fiction) เช่น ข่าว สาระความรู้, รายการที่นำเสนอเรื่องแต่ง (Fiction) เช่น ละคร ซิทคอม ซีรีส์ และรายการให้ความบันเทิงเบาสมอง (Light Entertainment) เช่น ทอล์กโชว์ เกมโชว์ ซึ่งออกอากาศตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน – 30 พฤศจิกายน 2561 โดยเลือกพิจารณาเฉพาะอาหาร ยา เครื่องสำอาง และเครื่องมือแพทย์ ซึ่งอยู่ในความควบคุมของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยตรงข้อค้นพบในการศึกษาครั้งนี้อาจจำแนกออกเป็น 2 ประเด็น ดังนี้1. ประเภทของผลิตภัณฑ์สุขภาพ  ผลิตภัณฑ์สุขภาพ หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต มีวัตถุประสงค์ในการใช้เพื่อสุขภาพอนามัยหรืออาจมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย ตลอดจนมีความเกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งในงานศึกษาพบว่าผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ปรากฏในรูปของโฆษณาแฝง ได้แก่              •      อาหาร เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนม น้ำดื่ม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร              •      ยา เช่น ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร              •      เครื่องสำอาง เช่น ครีมบำรุงผิว เซรั่มบำรุงเส้นผม         2. รูปแบบของโฆษณาแฝงจากการศึกษาสามารถจำแนกข้อมูลโฆษณาแฝงตามแนวทางของ ธาม เชื้อสถาปนศิริ (2552) ที่อธิบายว่าโฆษณาแฝงมีทั้งหมด 5 รูปแบบได้ดังนี้            •      แฝงสปอตสั้นหรือวีทีอาร์ (VTR) ก่อนเข้ารายการแต่ละช่วงจะมีโลโก้สินค้าและเสียงบรรยายว่า “สนับสนุนรายการโดย...” พร้อมกับบรรยายสรรพคุณสินค้าพ่วงเข้ามาด้วย เช่น “ดื่มง่าย ละลายน้ำดี ไม่มีกลิ่นคาว ราคาพิเศษสุดๆ โทรสั่งเลย...”    •      แฝงภาพกราฟิก โดยมีโลโก้สินค้าปรากฏที่ฉากหลัง หรือมีภาพสินค้า ตราสินค้า และสโลแกนปรากฏที่มุมจอเป็นระยะ รวมทั้งมีกรอบสินค้าที่บริเวณขอบจอ (window logo)   •      แฝงวัตถุ พบค่อนข้างมาก เช่น วางสินค้าไว้ที่โต๊ะ พิธีกรพูดถึงสินค้าและมีการแพนกล้องไปที่สินค้า วางสินค้าเป็นอุปกรณ์ประกอบฉาก มีป้ายสินค้าหรือภาพสินค้าเป็นฉากหลัง   •      แฝงบุคคล พิธีกรใส่ผ้ากันเปื้อนที่มีตราสินค้า หรือตัวละครหยิบจับสินค้าขึ้นมาใช้งาน พร้อมกับพูดชื่อยี่ห้ออย่างชัดเจน    •      แฝงเนื้อหา พบได้มากที่สุด โดยส่วนใหญ่มักจะออกแบบเนื้อหาโฆษณาแฝงให้สอดคล้องกับเนื้อหารายการ หากเป็นรายการทอล์กโชว์จะมีการสัมภาษณ์แขกรับเชิญเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว ผลงาน แล้วนำไปสู่เรื่องของความงามหรือความสำเร็จซึ่งมีความเชื่อมโยงกับสินค้า พร้อมสาธิตการใช้งาน เช่น ทาครีม รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตลอดจนมอบสินค้าให้แก่พิธีกรหรือผู้ร่วมรายการ หรือรายการสุขภาพก็มีการแนะนำสินค้าที่มีสรรพคุณในการดูแลสุขภาพ ตลอดจนการออกแบบให้ผู้ดำเนินรายการหรือตัวละครต้องใช้สินค้านั้นๆ เช่น ใช้ในการประกอบอาหาร หรือประกอบอาชีพ ขณะเดียวกันก็พบว่ามีการสอดแทรกโฆษณาแฝงที่โจ่งแจ้งและไม่เชื่อมโยงกับเนื้อหาเช่นกัน โดยผู้ประกาศข่าวพูดโฆษณาสินค้าและโปรโมชั่นในช่วงหนึ่งของรายการ โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับข่าวที่นำเสนอแม้แต่น้อยนอกจากนี้ ยังพบรูปแบบของการทำโฆษณาแฝงที่น่าสนใจอีกลักษณะหนึ่ง นั่นคือ การผลิต ‘รายการแนะนำสินค้าโดยเฉพาะ’ ขึ้นมา โดยออกแบบให้มีลักษณะคล้ายรายการสุขภาพเป็นหลัก บางส่วนเป็นรายการวาไรตี้ และบางส่วนออกแบบให้คล้ายรายการเล่าข่าว ลักษณะการนำเสนอจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ เสนอเนื้อหาที่สอดคล้องกับรายการแล้วจึงเชื่อมโยงไปสู่สินค้า เช่น รายการสุขภาพก็จะให้ความรู้เรื่องสุขภาพ หรือรายการข่าวนำเสนอข่าวเกี่ยวกับปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ แล้วชี้นำว่าสินค้าสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ โดยมีการสัมภาษณ์ผู้ใช้สินค้าจริงและอ้างอิงข้อมูลทางการแพทย์หรืองานวิจัยเพื่อเสริมความน่าเชื่อถือของสินค้า ในส่วนของรายการวาไรตี้มีการจัดวางสินค้าเป็นอุปกรณ์ประกอบฉาก และนำสินค้ามาเป็นโจทย์ให้ผู้เข้าแข่งขันทายราคา   จุดประสงค์สำคัญของรายการประเภทนี้ คือ แนะนำสรรพคุณสินค้าและโปรโมชั่น พร้อมกับเชิญชวนให้เกิดการซื้อ แม้ว่าหน้าตาของรายการประเภทจะละม้ายคล้ายคลึงกับการแฝงเนื้อหาโดยทั่วไป ทว่าจุดต่างที่สังเกตได้ชัดเจนคือ            3. ความสัมพันธ์ของประเภทรายการและโฆษณาแฝง    การศึกษาในครั้งนี้ยังพบความสอดคล้องระหว่าง ‘ประเภทของรายการโทรทัศน์’ กับโฆษณาแฝงที่นำเสนอ โดยประเภทของรายการโทรทัศน์มักจะมีผลต่อการออกแบบโฆษณาแฝง ไม่ว่าจะเป็นด้านเนื้อหาหรือด้านรูปแบบของโฆษณาแฝง ดังรายละเอียดต่อไปนี้              3.1 รายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง (non-fiction)                 มักจะนำเสนอเนื้อหาในเชิงข้อมูลหรือสาระความรู้แล้วค่อยๆ สอดแทรกโฆษณาแฝงเข้าไป พิธีกรหรือผู้ดำเนินรายการสื่อสารด้วยถ้อยคำที่ค่อนข้างเป็นทางการ น่าเชื่อถือ มีการอ้างข้อมูลประกอบ                1) รายการข่าว/เล่าข่าว                    รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงภาพกราฟิก (ตราสินค้าปรากฏที่ฉากหลัง, มีโลโก้สินค้าปรากฏในจอด้านหน้าโต๊ะผู้ประกาศข่าว) แฝงวัตถุ (วางสินค้าไว้ที่โต๊ะ, พิธีกรพูดถึงสินค้าและมีการแพนกล้องไปที่สินค้า) และแฝงเนื้อหา (สัมภาษณ์แขกรับเชิญเกี่ยวกับปัญหาความงาม แล้วโยงไปสู่สินค้า)                2) รายการสุขภาพ                    รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงเนื้อหา (พิธีกรนำเสนอเรื่องสุขภาพ แล้วแนะนำสินค้าที่มีสรรพคุณในการดูแลสุขภาพ)           3.2 รายการที่นำเสนอเรื่องแต่ง (Fiction)                 มักจะสอดแทรกโฆษณาแฝงเข้ากับเรื่องราวหรือตัวละคร เช่น แฝงกับสถานที่ หรือตัวละครมีความจำเป็นต้องใช้สินค้านั้นๆ                1) ซิทคอม                    รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงวัตถุ (วางสินค้าเป็นอุปกรณ์ประกอบฉาก, มีป้ายสินค้าเป็นฉากหลัง) และแฝงเนื้อหา (ตัวละครมีอาชีพที่ต้องใช้สินค้านั้นๆ)                2) ละคร/ซีรีส์                    รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงภาพกราฟิก (โลโก้สินค้าปรากฏที่มุมจอ) และแฝงเนื้อหา (ตัวละครหยิบสินค้าขึ้นมาใช้ มีการพูดถึงตราสินค้าโดยตรงหรือกล้องแพนไปที่สินค้านั้น)           3.3 รายการให้ความบันเทิงเบาสมอง (Light Entertainment)                 พบว่าโฆษณาแฝงมีความกลมกลืนกับเนื้อหาของรายการ เช่น รายการทอล์กโชว์ที่สัมภาษณ์นักแสดงหญิงก็มักจะแฝงสินค้าด้านความสวยความงาม หรือรายการทำอาหารก็มีโฆษณาแฝงเกี่ยวกับอาหาร                1) รายการทอล์กโชว์                     รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงสปอตสั้น (ก่อนเข้ารายการมีโลโก้และเสียงบรรยายผู้สนับสนุนรายการ) แฝงภาพกราฟิก (โลโก้สินค้าปรากฏที่มุมจอเป็นระยะ) แฝงวัตถุ (มีสินค้าวางบนโต๊ะและมีภาพสินค้าที่ฉากหลัง) และแฝงเนื้อหา (สัมภาษณ์แขกรับเชิญเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว ผลงาน แล้วโยงไปสู่สินค้าในตอนท้าย)                2) รายการเกมโชว์/แข่งขัน                     รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงสปอตสั้น (แนะนำผู้สนับสนุนรายการ) และแฝงวัตถุ (มีป้ายโลโก้สินค้าตรงที่นั่งของผู้แข่งขัน)                3) รายการอาหาร                    รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงภาพกราฟิก (โลโก้สินค้าปรากฏที่มุมจอ) แฝงวัตถุ (วางสินค้าไว้ในฉาก) แฝงบุคคล (พิธีกรใส่ผ้ากันเปื้อนที่มีตราสินค้า) และแฝงเนื้อหา (แจกสินค้าให้แขกรับเชิญ หรือร่วมสนุกตอบคำถามชิงรางวัลจากสินค้ายี่ห้อนั้นๆ)                4) รายการแนะนำอาชีพ                     รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงเนื้อหา (สัมภาษณ์แขกรับเชิญที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ แล้วเชื่อมโยงไปถึงสินค้า)                5) รายการประเภทอื่นๆ เช่น วาไรตี้ ท่องเที่ยว                     รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงภาพกราฟิก (มีภาพสินค้า ตราสินค้า และสโลแกนปรากฏที่มุมจอ) และแฝงเนื้อหา (พาชมบ้านแขกรับเชิญแล้วพบสินค้าวางอยู่ แขกรับเชิญก็บรรยายสรรพคุณสินค้า พร้อมกับชี้ชวนให้ซื้อ)          3.4 รายการแนะนำสินค้าโดยเฉพาะ                มักจะสอดแทรกโฆษณาแฝงที่เข้ากับรูปแบบรายการ เช่น รายการเชิงสุขภาพก็นำเสนอสินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพ มีการอ้างอิงข้อมูลจากผู้ใช้สินค้าจริงและข้อมูลทางการแพทย์หรืองานวิจัย รายการวาไรตี้มีการแบ่งเนื้อหาเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกมีลักษณะเป็นซิทคอมก็ใช้รูปแบบแบบแฝงวัตถุ (จัดวางสินค้าเป็นอุปกรณ์ประกอบฉาก) ช่วงต่อมาจะเป็นการแข่งขันโดยนำสินค้ามาเป็นโจทย์ให้ผู้แข่งขันทายราคา เป็นต้น                จากข้อมูลที่กล่าวมาจะเห็นว่าโฆษณาแฝงในรูปแบบดั้งเดิมก็ยังคงดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ได้ล้มหายไปจากหน้าจอโทรทัศน์ และในขณะเดียวกันก็ยังมีโฆษณาแฝงรูปแบบใหม่เพิ่มเติมเข้ามา ซึ่งสามารถตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมได้ใน 2 ประเด็น ดังนี้                 1. รายการ ‘ยั่งยืน’ กับ ‘ไม่ยั่งยืน’                      เราสามารถแบ่งลักษณะของรายการโทรทัศน์ออกเป็น 2 รูปแบบ คือ รายการ ‘ยั่งยืน’ หมายถึง รายการที่ออกอากาศมานาน/มีระยะเวลาในการออกอากาศ 1 ชั่วโมงขึ้นไป/อยู่ในช่วงเวลาไพร์มไทม์ (prime time)/กำหนดวันและเวลาออกอากาศที่แน่นอน/เป็นรายการที่มีจำนวนผู้ชมมากหรือเป็นที่รู้จักในวงกว้าง กล่าวได้ว่า เป็นรายการที่มีแนวโน้มจะคงอยู่ในระยะยาว เช่น รายการทูเดย์โชว์ (3 HD), คุยโขมงบ่ายสามโมง (MCOT HD), ซีรีส์เป็นต่อ 2018 (ONE 31)                     รายการ ‘ไม่ยั่งยืน’ หมายถึง รายการที่เพิ่งผลิตและออกอากาศในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา/มีระยะเวลาในการออกอากาศ 10-30 นาที (บางรายการอาจถึง 1 ชั่วโมง)/วันและเวลาออกอากาศไม่แน่นอน กล่าวได้ว่า เป็นรายการที่มีแนวโน้มจะคงอยู่เพียงชั่วคราวหรือในระยะสั้นๆ เช่น รายการใส่ใจไกลโรค (ช่อง 8), รายการพลังชีวิต (NOW 26)                     แม้ว่ารายการทั้งสองรูปแบบจะมีความแตกต่างกันในด้านคุณลักษณะ แต่กลับพบว่ามีการนำเสนอโฆษณาแฝงด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งในอดีตนั้นรายการยั่งยืนจะไม่นำเสนอโฆษณาแฝงอย่างหนักหน่วงเหมือนเช่นปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นวิกฤตการณ์ขององค์กรสื่อ ตลอดจนความย่ำแย่ทางเศรษฐกิจที่ทำให้ผู้ผลิตรายการและสถานีโทรทัศน์แทบทุกช่องต้องหาทางเอาตัวรอดจากสภาวะดังกล่าว เราจึงพบโฆษณาแฝงกระจายตัวไปตามรายการต่างๆ อย่างครอบคลุมไม่ว่าช่องเล็กหรือใหญ่ก็ตาม                  2. แฝงแบบ ‘เนียน’ กับ ‘ไม่เนียน’                      อาจกล่าวได้ว่า รูปแบบของโฆษณาแฝงมีทั้งแนบเนียนและไม่แนบเนียน ซึ่งอธิบายได้ดังนี้                      แนบเนียน หมายถึง นำเสนอเนื้อหาสาระที่เกี่ยวข้องกับรายการ แล้วจึงนำไปสู่การเสนอขายผลิตภัณฑ์  เช่น รายการทอล์กโชว์มีการสัมภาษณ์นักแสดงเกี่ยวกับการดูแลตนเอง แล้วจึงโยงเข้าสู่ผลิตภัณฑ์ หรือรายการด้านสุขภาพนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บและการดูแลสุขภาพ แล้วจึงแนะนำผลิตภัณฑ์ ซึ่งลักษณะการดำเนินรายการจะค่อนข้างราบลื่น (smooth) มีลำดับขั้นตอนในการนำพาไปสู่เป้าหมาย (ผลิตภัณฑ์สุขภาพ) มีจุดเชื่อมโยงที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกคล้อยตามได้                      ไม่แนบเนียน หมายถึง เสนอขายผลิตภัณฑ์อย่างโจ่งแจ้ง โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับเนื้อหาสาระในรายการ เช่น รายการข่าว ผู้ประกาศข่าวอธิบายสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ชิ้นหนึ่ง พร้อมชี้ชวนช่องทางการสั่งซื้อให้แก่ผู้ชม โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับข่าวที่นำเสนอแม้แต่น้อย ลักษณะเช่นนี้อาจทำให้ผู้ชมเกิดความตะขิดตะขวงใจ เนื่องจากเนื้อหาที่ไม่ปะติดปะต่อกัน                       ข้อแตกต่างดังกล่าวนอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงระดับความสร้างสรรค์ของผู้ผลิตในการจัดวางโฆษณาแฝงลงในรายการของตนเองแล้ว ยังสามารถตั้งข้อสังเกตต่อไปได้อีกว่า การนำเสนอแบบแนบเนียนนั้นค่อนข้างน่าเป็นห่วงกว่า เพราะผู้ชมเสพเข้าไปโดยไม่รู้ตัว ทำให้คล้อยตามไปกับสารที่ได้รับอย่างง่ายดาย ในขณะที่การนำเสนอแบบไม่แนบเนียนมักจะทำให้ผู้ชมรู้ตัวและรู้ทันเสียก่อน จนนำไปสู่การระแวดระวังได้ แต่ก็ไม่แน่เสมอไปหากมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น ความน่าเชื่อถือของผู้ดำเนินรายการ ความถี่ในการรับชม เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่ส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้ชมได้ทั้งสิ้น                        แต่ไม่ว่าโฆษณาแฝงเหล่านี้จะถูกนำเสนอหรือรังสรรค์ออกมาในแบบใดก็ตามต่างก็สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของวงการทีวีดิจิทัลได้เป็นอย่างดี ในยุคสมัยที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ คาดหวังเนื้อหาน้ำดีมีคุณภาพ ผู้ประกอบการเองก็ต้องขวนขวายหาทางอยู่รอดเช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคที่ต้องตระหนักถึงสิทธิที่พึงมี เสพสื่ออย่างระแวดระวัง และรู้จักตรวจสอบสิ่งที่เสพอยู่เสมอ เมื่อผู้บริโภคมีความกระตือรือร้น (active consumers) ก็ย่อมส่งผลไปยังผู้ประกอบการที่ต้องปรับตัวให้ตอบสนองต่อความรู้เท่าทันและพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนได้ในอนาคต  แหล่งข้อมูล:ธาม เชื้อสถาปนศิริ. (2552). รู้เท่าทันโฆษณาแฝง. กรุงเทพฯ: ออฟเซ็ทครีเอชั่น.ปวรรศ จันทร์เพ็ญ. (2560). กลยุทธ์ใหม่กับโฆษณาแฝงในปัจจุบัน. นิเทศสยามปริทัศน์, 12(13).พชร แกล้วกล้า และคณะ. (2559). จับตายโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย. กรุงเทพฯ: พิมพ์ดี. 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 ผลิตภัณฑ์เด็กสมาธิสั้น แต่ครูนักแต่งเพลงของฉันมาได้ไง?

 น้องคนหนึ่งส่งคลิปสั้นๆ มาให้ผมดู พร้อมทั้งคำถามว่า “มันเป็นจริงไหม?” ผมตามไปดูในคลิปซึ่งเผยแพร่ในเฟซบุ๊คของผู้ขาย ภาพแรกในคลิป เป็นภาพนิ่งมีข้อความว่าจะทำอย่างไรเมื่อลูกเป็นเด็กขี้ลืม หาตัวช่วยจำให้ลูก หากิจวัตรให้ลูก ไม่ควรทำกิจกรรมหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ดูแลสุขภาพของลูก ฝึกสมองอยู่เสมอ แต่ที่สะดุดตาคือ มีภาพของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดหนึ่งอยู่กลางภาพ ต่อจากนั้นก็จะเปลี่ยนเป็นภาพเด็กๆ พร้อมขึ้นข้อความต่างๆ เช่น เด็กติดเกมส์ เด็กติดโทรศัพท์ ฯลฯ           ผมเข้าไปค้นข้อมูลในเน็ตตามชื่อผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ พบข้อความโฆษณาว่าเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงสมองและระบบประสาท ดูแลสมอง เหมาะสำหรับ ผู้ที่ต้องการบำรุงดูแลสมอง ผู้ที่มีอาการสมาธิสั้น จำยากลืมง่าย ผู้ที่อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียน ผลการเรียนไม่ดี วัยทำงานซึ่งใช้สมองเยอะ สมองล้าบ่อยๆ ผู้ที่วิตกกังวล เครียด ผู้ป่วยความจำเสื่อมหรือเสื่อมจากอายุที่มากขึ้น ผู้ป่วยอัลไซเมอร์สูญเสียความทรงจำ ทานได้ทุกเพศ ทุกวัย หญิงตั้งครรภ์ก็ทานได้           แค่ข้อความเบื้องต้นก็ค่อนข้างจะเกินขอบเขตผลิตภัณฑ์อาหารแล้ว พอผมไล่ดูไปเรื่อยๆ ก็พบภาพของครูนักแต่งเพลงที่ออกรายการทีวีบ่อยๆ แกเคยโฆษณาผลิตภัณฑ์บำรุงสายตาที่เคยโดนร้องเรียนไปแล้ว คราวนี้รูปแกมาอยู่ในผลิตภัณฑ์นี้ พร้อมข้อความระบุสรรพคุณผลิตภัณฑ์นี้มากมาย เช่น ช่วยฟื้นฟูความจำและบำรุงสมอง ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยทำลายและขจัดสารพิษจากตับ ต้านเซลล์มะเร็ง ลดความเสี่ยงของการเป็นโรค ช่วยส่งเสริมการทำงานของต่อมหมวกไต ต่อมใต้สมอง บำบัดรักษาการอักเสบของเส้นประสาทในสมอง ช่วยบำรุงประสาทและสมองช่วยเพิ่มความจำและความสามารถในการเรียนรู้ ช่วยควบคุมระดับโคเลสเตอรอลในเลือด เป็นสารต้านอนุมูลอิสระในเม็ดเลือดขาว ช่วยกระตุ้นการหลั่งโกรธฮอร์โมน ช่วยแก้ไขอารมณ์ ซึมเศร้า ช่วยคลายเครียด ช่วยฟื้นฟูความจำ ช่วยป้องกันสมองและตับจากการถูกทำลายจากการดื่มแอลกอฮอล์ ยา และ การสูบบุหรี่ ช่วยผ่อนคลายความเครียด ทำให้สมาธิดีขึ้น คิดอ่านได้ดีขึ้น เพิ่มคุณภาพการหลับ ช่วยให้นอนหลับได้สนิทขึ้น ช่วยป้องกัน มะเร็งต่างๆ ลดอาการภูมิแพ้และไข้หวัด ช่วยให้มีสมาธิในการเรียน การทำงาน จดจ่อกับสิ่งนั้นๆ ได้นานยิ่งขึ้น           ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ แจ้งว่ามีส่วนประกอบสำคัญได้แก่  Bacopa สารสกัดพืชพรมมิ สารสกัดโปรตีนจากถั่วเหลือง น้ำมันปลา Choline Bitartrate L-Tyrosine L-Theanine  L-Cysteine Taurine วิตามิน บี1 บี6 บี12 ฯลฯ อันที่จริงเคยมีผลงานวิจัยของอาจารย์ท่านหนึ่ง พบว่า สารสกัดพืชพรมมิ มีฤทธิ์ต่อสมอง องค์การเภสัชกรรมก็ยังนำไปผลิต ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเรียบร้อยแล้ว แต่หากใครเคยซื้อมารับประทานจะพบว่า ไม่มีข้อความระบุสรรพคุณโอเวอร์ขนาดนี้ และที่สำคัญคือ เขายังมีคำเตือนชัดเจนบนฉลากว่า “เด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีที่ให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน”            ผมแจ้งน้องที่ส่งข้อมูลไปแล้ว ให้ช่วยกันดำเนินการแจ้งผู้ดูแลต่างๆ ให้จัดการด้วย ตอนนี้พบว่าหลายเว็บปิดไปแล้ว แต่ก็ยังไม่หมดสักที ใครมีญาติพี่น้อง หรือคนรู้จัก อย่าได้หลงเชื่อโฆษณาสรรพคุณโอเวอร์เหล่านี้นะครับ และถ้าใครสนิทกับครูนักแต่งเพลงท่านนี้ก็ช่วยเตือนท่านด้วย ลำพังรายได้ท่านก็เยอะอยู่แล้ว อย่ามายุ่งกับของแบบนี้เลยครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 กระแสในประเทศ

โพลล์หนุน ‘รัฐสวัสดิการ’ เผยคนกรุงอยากเห็นนโยบายรักษาพยาบาลฟรี – เงินยังชีพรายเดือน8 พ.ย.61 เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ร่วมกับ บ้านสมเด็จโพลล์ แถลงผลสำรวจคนกรุง 1,211 คน ประเด็น “ประชาชนเชื่อรัฐสวัสดิการเกิดได้ ชี้รัฐต้องจัดสรรงบใหม่ให้เป็นธรรม” โดย ผศ.สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ ให้ข้อมูลว่า ประชาชนร้อยละ 48.9 เห็นว่ารัฐควรให้ความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณด้านสวัสดิการพื้นฐาน เช่น เรื่องการศึกษา บำนาญถ้วนหน้า สาธารณสุข เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต นอกจากนี้ คนกรุงยังต้องการเห็นพรรคการเมืองมีนโยบายในเรื่องบริการด้านสาธารณสุขฟรีมากที่สุด ตามด้วยเรื่องเงินดำรงชีพรายเดือนสำหรับผู้สูงอายุ และการประกันรายได้เมื่อตกงานหรือไม่มีงานทำ ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า โพลล์สะท้อนว่าคนกรุงเทพฯ รู้สึกถึงความไม่มั่นคงในชีวิตทั้งด้านสุขภาพ และเรื่องรายได้ แต่ก็พยายามเตรียมตัวด้วยการออมเงินไว้ใช้ โจทย์สำคัญคือ คนที่ไม่มีกำลังออมหรือหากออมแล้วไม่เพียงพอจะใช้ชีวิตอย่างไร เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐต้องมีนโยบายจัดเป็นสวัสดิการพื้นฐานให้กับประชาชนทุกคนอย่างถ้วนหน้าสรรพสามิตเสนอเก็บภาษีอาหารเค็ม-มัน อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมสรรพสามิตมีแผนเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเก็บภาษีจากสินค้าที่มีไขมันและความเค็มในปริมาณมาก ซึ่งอาจเป็นต้นเหตุทำลายสุขภาพ โดยเบื้องต้นจะยึดรูปแบบเดียวกับแนวทางจัดเก็บภาษีความหวาน และจะให้เวลาผู้ประกอบการเพื่อปรับตัว 5 ปี หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ ซึ่งหากผู้ประกอบการสามารถลดปริมาณไขมันและความเค็มลงได้ ก็จะมีการปรับลดอัตราภาษีให้ด้วยกกพ. มอบของขวัญปีใหม่ ขึ้นค่าไฟงวด ม.ค. - เม.ย.62 เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.มีมติให้เรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดเดือนมกราคม – เมษายน 2562 จำนวน -11.60 สตางค์/หน่วย ปรับเพิ่มขึ้น 4.30 สตางค์/หน่วย จากปัจจุบัน (ก.ย.-ธ.ค.61) -15.90 สตางค์/หน่วย โดยจะส่งผลให้ค่าไฟเฉลี่ยเมื่อรวมค่าไฟฐานอยู่ที่ 3.6396 บาท/หน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เนื่องจากต้นทุนของเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าทั้งน้ำมันและก๊าซฯ เพิ่มขึ้น  ทั้งนี้ กกพ. ได้หามาตรการในการบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพของประชาชน เช่น มาตรการเสริมประสิทธิภาพการบริการจัดการต้นทุนเชื้อเพลิงที่จำเป็นสำหรับการผลิต, มาตรการนำเงินสะสมจากการเรียกเก็บ Ft มาชดเชยต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและลดความผันผวน Ftครม. เตรียมกฎหมาย ‘สภาดิจิทัล’ ยกเอกชนทำงานควบคู่รัฐนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุม ครม. เห็นชอบผ่านร่าง พ.ร.บ. สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... โดยสภาดิจิทัลฯ จะมีภารกิจหลัก 4 ด้าน ได้แก่ 1. ขับเคลื่อนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้พร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในยุคดิจิทัล 2. สร้างสังคมคุณภาพที่ทั่วถึง เท่าเทียม ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล 3. ทำงานร่วมกับรัฐบาลสร้างความเชื่อมั่นในการเข้าสู่สังคมดิจิทัล และ 4. พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเรื่องของดิจิทัลคณะกรรมการชุดนี้สามารถกำหนดนโยบายและการดำเนินงานของสภาดิจิทัลได้ด้วยตัวเอง ซึ่งจะเป็นภาคเอกชนทั้งหมด แต่ทำงานควบคู่ไปกับทางภาครัฐ โดยให้ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นผู้กำกับการดูแลการทำงานของสภาดิจิทัล โดยมีอำนาจตรวจสอบและขอความเห็นชอบเปลี่ยนตัวกรรมการได้เกาะสิมิลันยังจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวแม้ถูกหลายฝ่ายต้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงกรณีชมรมเรือท่องเที่ยวหมู่เกาะสิมิลัน-สุรินทร์ ที่เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนมาตรการกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันว่า ตนเห็นใจผู้ประกอบการ และคิดว่าทุกฝ่าย เห็นด้วยว่าต้องดูแลรักษาธรรมชาติก่อน ที่ผ่านมาไม่เคยมีการกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยว มีเท่าไรปล่อยเข้าไปหมด ส่วนผู้ประกอบการที่จดทะเบียนไว้กับกรมอุทยานฯ จะได้รับโควต้านำนักท่องเที่ยวเดินทางไปยังหมู่เกาะสิมิลันหรือไม่นั้น เป็นหน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะเจ้าของพื้นที่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 กระแสในประเทศ

ระวัง เมนูเจยอดฮิต โซเดียมสูงผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เครือข่ายลดบริโภคเค็มทำการสุ่มตรวจตัวอย่างอาหารเจ 13 เมนูยอดนิยมบนถนน เยาวราช อตก. และตลาดยิ่งเจริญ โดยใช้เครื่องวัดความเค็มตรวจสอบปริมาณโซเดียมในอาหาร ประกอบด้วย แกงเขียวหวาน แกงกะทิ จับฉ่าย พะโล้ ผักกระเพรา แกงส้ม ต้มจืด ต้มกะหล่ำปลี ขนมจีนน้ำยากะทิ ลาบเห็ด กระเพาะปลา และผัดขิง พบทุกเมนูมีปริมาณโซเดียมสูงเกินค่าที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน    นอกจากนี้อาหารเจจำพวก ผักดอง เกี้ยมไฉ่ กานาฉ่าย จับฉ่ายเป็นอาหารที่ใช้เกลือมาก ซึ่งผักที่เคี่ยวหรือดองเป็นเวลานานจะได้คุณค่าทางอาหารที่น้อยลง รวมถึงอาหารแปรรูป เช่น โปรตีนเกษตร เนื้อสัตว์เจจะมีการเติมรสเค็มเพื่อทำให้รสชาติใกล้เคียงของจริงมากที่สุด แพทย์เตือน ควรทำความสะอาดเสื้อกันหนาวมือสองก่อนนำไปใช้นพ.สมิต ประสันนาการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า ช่วงย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ประชาชนส่วนใหญ่นิยมซื้อเสื้อและผ้าห่มกันหนาวมือสองสภาพ เนื่องจากราคาถูกและประหยัดกว่าเสื้อผ้าใหม่ตามห้างร้านทั่วไป ซึ่งเสื้อผ้ามือสองที่กลุ่มพ่อค้า แม่ค้า นำมาจำหน่ายนั้นส่วนใหญ่มักรับซื้อมาจากชายแดน โดยไม่คำนึงถึงสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรคต่างๆ ที่อาจติดมากับผ้า เช่น ปัญหาโรคผิวหนัง โรคติดเชื้อ ความชื้น เชื้อราและโรคอันตรายต่างๆ ดังนั้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อควรนำเสื้อผ้ามือสองไปทำความสะอาด โดยต้มในน้ำเดือด แล้วซักด้วยผงซักฟอกหรือน้ำยาซักผ้า แล้วนำไปตากแดดจัดให้แห้งสนิทก่อนนำมาสวมใส่กสทช. คาดปี 62 เรียกคืนคลื่น-จัดสรรใหม่ได้ ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม จะให้อำนาจ กสทช. พิจารณา “เหตุผลแห่งความจำเป็น” ในการใช้งานคลื่นและ “เรียกคืนคลื่นโดยกำหนดวิธีการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทน” แต่ 7 ปีผ่านไปก็แทบจะเรียกคืนคลื่นไม่ได้ เพราะทุกมติที่มีคำสั่งจะยืดเยื้อถึงชั้นศาล อาทิ มติเรียกคืนคลื่น 2600 MHz จากกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งการที่ กสทช.ไม่สามารถกำหนดได้ชัดเจนว่าคลื่นไหนจะถูกนำออกมาประมูลเมื่อไหร่ จึงเป็นคำถามสำคัญที่สังคมรอคำตอบ จนกระทั่ง มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ฯ เมื่อปี พ.ศ. 2560 ตามมาตรา 27 (12/1) ที่ให้ กสทช. มีอำนาจหน้าที่เรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า จากผู้ได้รับใบอนุญาตเพื่อนำมาจัดสรรใหม่ได้ โดย กสทช. ต้องทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายตอบแทนให้กับผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ในแต่ละกรณีด้วย ทำให้ กสทช. เร่งเดินหน้าในการปฏิรูปคลื่นได้อย่างเต็มที่ ล่าสุด นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 ต.ค.2561 สำนักงาน กสทช.ได้เปิดรับฟังความเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ ประโยชน์หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยมีคลื่นความถี่เพียงพอสำหรับการเป็นพื้นฐานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทาง โดย กสทช.จะตั้งคณะทำงาน ซึ่งมีผู้แทนจากหลายหน่วยงานเพื่อพิจารณาว่าคลื่นใดไม่ได้ใช้ประโยชน์ คลื่นใดใช้ไม่คุ้มค่า หรือจะสามารถใช้ประโยชน์ได้มากกว่า และมีมหาวิทยาลัยของรัฐเข้ามาศึกษาว่าควรเป็นคลื่นใด และเมื่อการดำเนินออกประกาศเป็นไปตามขั้นตอน อย่างไรก็ตาม คาดว่าต้นปี 2562 จะเริ่มเรียกคืนคลื่นได้ภาคประชาชน ค้านร่าง พ.ร.บ.สุขภาพปฐมภูมิ ชี้ซ้ำซ้อนกฎหมายบัตรทอง1 ต.ค. 61 นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สัดส่วนภาคประชาชน และกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขฯ พร้อมตัวแทนภาคประชาชนรวม 8 ราย เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. ... เนื่องจากไม่มีความจำเป็นจะต้องมีกฎหมายเฉพาะมารองรับเรื่องดังกล่าว เพราะมี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่ครอบคลุมบริการสุขภาพปฐมภูมิของคนไทยทุกคนอยู่แล้ว โดยความซ้ำซ้อนของกฎหมาย 4 ประเด็น ได้แก่ 1) ความซ้ำซ้อนในการกำหนดชุดสิทธิประโยชน์ 2) ความซ้ำซ้อนในเรื่องอำนาจในการจัดสรรงบประมาณ 3) ความซ้ำซ้อนในเรื่องการใช้อำนาจการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ซึ่งจะส่งผลต่อการกำหนดโทษหน่วยบริการปฐมภูมิในกรณีที่ผิดมาตรฐาน โดยอาจต้องถูกลงโทษจากกฎหมายทั้งสองฉบับ และ4) ความซ้ำซ้อนในการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการปฐมภูมิ รวมถึงบทบาทหน้าที่และการจัดทำฐานข้อมูลหน่วยบริการศาลสั่ง บขส. - ทายาทคนขับคดี ‘รถตู้จันทบุรี 25 ศพ’ จ่ายค่าสินไหมกว่า 20 ล้านบาทศาลจังหวัดจันทบุรี พิพากษาคดีรถตู้โดยสารจันทบุรี - กรุงเทพฯ ทะเบียน 15-1352 กทม. ที่พุ่งข้ามเลนไปชนรถกระบะที่แล่นสวนทางมา จนเกิดเพลิงลุกไหม้เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 25 ราย เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 60 ให้บริษัท ขนส่ง จำกัด และทายาทของคนขับรถตู้ จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ญาติของผู้เสียชีวิต รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 20,780,000 บาท รวมทั้งดอกเบี้ยอีกร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันทำละเมิด    นายโสภณ หนูรัตน์ ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผู้ดูแลคดีให้ความเห็นว่า คำตัดสินใจวันนี้ถือเป็นบรรทัดฐานในเรื่องคำพิพากษา เรื่องเกี่ยวกับรถตู้โดยสารสาธารณะ ซึ่งเป็นบทบาทของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันออกในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่เสียหายจากอุบัติเหตุเกี่ยวกับรถโดยสาร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 กระแสต่างแดน

ขายให้ชัดหน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าและตลาดและของอังกฤษ  เริ่มลงมือจัดการกับดาราและบุคคลมีชื่อเสียงที่โพสต์ภาพของตนเองร่วมกับผลิตภัณฑ์หรือบริการ โดยไม่ระบุให้ชัดว่าได้เงินค่าโฆษณาจากแบรนด์หรือไม่ตามกฎหมายอังกฤษ โพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟสบุ้ค อินสตาแกรม หรือทวิตเตอร์ ที่ผู้โพสต์ได้รับเงินจากการแชร์เรื่องราวนั้น จะต้องทำให้ผู้บริโภคสามารถดูออกทันทีว่าเป็นการโฆษณา ขณะนี้มีคนดังถูกดำเนินการแล้วสี่ราย ตั้งแต่ดาราที่โพสต์รูปวิตามินพร้อมโค้ดส่วนลด บล้อกเกอร์ด้านการแต่งหน้าที่ลงรูป “ชาลดพุง” ในอินสตาแกรม  พิธีกรรายการโทรทัศน์ที่ทวิตบอกผู้ติดตามของเธอว่าโปรดปรานขนมยี่ห้อหนึ่งเป็นพิเศษ ไปจนถึงดาราที่ลงรูปเครื่องดื่มพร้อมแฮชแท็ก #sp (ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าหมายถึง sponsored post หรือโพสต์ที่มีสปอนเซอร์) การสืบสวนจะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ และอาจนำไปสู่การฟ้องร้อง ซึ่งไม่มีเพดานค่าปรับสูงสุดด้วยจ่ายแพงกว่าเพื่อ?อเมซอน ร้านค้าออนไลน์ถูกสั่งงดโฆษณาบริการสมาชิกแบบ “อเมซอน ไพรม์” ที่รับประกันการ จัดส่งสินค้า “ภายในหนึ่งวัน”   หน่วยงานดูแลมาตรฐานการโฆษณาของอังกฤษ ได้รับเรื่องร้องเรียน 280 กรณี จากสมาชิกบริการไพร์มที่มีค่าธรรมเนียมเดือนละ 7.99 ปอนด์ (ประมาณ 350 บาท) ที่ไม่ได้รับสินค้าที่สั่งภายในหนึ่งวัน อเมซอน อธิบายว่าได้แจ้งไว้ (ตรงไหนสักแห่ง) ในเว็บไซต์ว่าผู้สั่งซื้อจะได้รับสินค้า “หนึ่งวันทำการหลังจากเริ่มจัดส่ง” และ “เวลาในการจัดส่งขึ้นอยู่กับเวลาที่สั่งซื้อ” ด้วย  แต่หน่วยงานดังกล่าวฟันธงว่าผู้ใช้เว็บไซต์ส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นข้อความเหล่านี้ก่อนตัดสินใจสมัครสมาชิกแบบ “ไพร์ม” องค์กรผู้บริโภค Citizens Advice บอกว่า ไม่เพียงลูกค้าของอเมซอนเท่านั้นที่ประสบปัญหานี้ ร้อยละ 40 ของลูกค้าระดับ “พรีเมียม” ของร้านออนไลน์ ได้รับสินค้าช้ากว่าที่คาดหวังทั้งๆ ที่จ่ายแพงขึ้น  ที่สำคัญขณะนี้ยังไม่มีช่องทางการชดเชยเยียวยาที่สะดวกในกรณีที่เกิดความเสียหายจากความล่าช้าด้วยภาษีลดสูบญี่ปุ่นซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องประชากรที่สุขภาพดีและอายุยืน กำลังเผชิญปัญหาค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์  กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลว่าในปีงบประมาณ 2015 รัฐบาลใช้เงินไม่ต่ำกว่า 2,000,000 ล้านเยนเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่  ด้านหนึ่งคือค่ารักษาพยาบาล 1,200,000 ล้านเยน (โรคมะเร็ง หัวใจ อัมพาต อัมพฤกษ์ และภาวะสมองเสื่อม) ทั้งในผู้สูบบุหรี่และผู้ที่ได้รับควันบุหรี่ ส่วนที่เหลือเป็นความเสียหายจากเหตุไฟไหม้ที่มีสาเหตุจากก้นบุหรี่ ญี่ปุ่นมีจำนวนผู้สูบบุหรี่ร้อยละ 18.2 ของประชากร ซึ่งถือว่าลดลงมากแล้วเมื่อเทียบกับหลายปีก่อน แต่มาตรการลดการสูบบุหรี่ของรัฐบาลญี่ปุ่นยังดำเนินต่อไป ล่าสุดได้ประกาศเพิ่มภาษีบุหรี่ ทำให้ตั้งแต่เดือนตุลาคมปี  2019 ราคาบุหรี่จะขึ้นเป็นซองละ 500 เยน (ประมาณ 150 บาท) เช่นเดียวกับในสหภาพยุโรปที่ราคาบุหรี่ต่อซองจะเพิ่มขึ้นเป็น 385 บาทในปี 2020ไม่สวยก็กินได้ประมาณร้อยละ 35 ของผักผลไม้จากสวนของเกษตรกรในยุโรป ไม่เคยมีโอกาสได้พบปะผู้บริโภคซูเปอร์มาร์เก็ต เพราะพวกมันมีหน้าตาประหลาดหรือขนาดไม่ตรงสเปคงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเอดินบะระพบว่า ผักผลไม้ไม่ต่ำกว่า 50 ล้านตันถูกทิ้งไปเพราะ “ผู้บริโภคไม่ชอบแบบนี้” ในขณะที่เกษตรกรต้องลงทุนผลิตในปริมาณที่มากกว่าที่ทำสัญญาไว้กับห้างค้าปลีก เพื่อให้มีส่งครบตามที่สั่งหลังจากบางส่วนถูกคัดออกความสูญเสียที่ว่านี้มาจากมาตรการที่เข้มงวดของภาครัฐ รวมกับมาตรฐานสินค้าที่ซูเปอร์มาร์เก็ตตั้งไว้สูงเกินไป และความคาดหวังของตัวผู้บริโภคเองที่ต้องการแต่ผักผลไม้ที่ดูดีไร้ตำหนิ ผู้วิจัยเรียกร้องให้ผู้บริโภคใส่ใจกับการเลือกซื้อสินค้าอย่างยั่งยืนมากขึ้น พร้อมๆ ขอให้ห้างค้าปลีกให้ที่ยืนกับผักผลไม้ที่หน้าตาไม่สมบูรณ์แบบบ้าง ที่ผ่านมา ห้าง Sainsbury และ ห้าง Morrisons ได้เริ่มลงโครงการกับกล้วยและอโวคาโดแล้วเจ็บมาเยอะสาวๆ เกาหลีนัดกันหยุดใช้จ่ายทุกๆ วันอาทิตย์แรกของเดือน เพื่อประท้วงการดูถูกผู้หญิงและการเอาเปรียบโดยผู้ประกอบการต่างๆ ที่มักจะตั้งราคาสินค้าสำหรับผู้หญิงแพงกว่าสินค้าสำหรับผู้ชายพวกเธอบอกว่า ไม่เป็นธรรมเลยที่สังคมเกาหลีคาดหวังให้ผู้หญิงต้องดูดีดูสวยตลอดเวลา แต่สินค้าที่พวกเธอต้องซื้อกลับมีราคาแพงเกินไป แจ็กเก็ตสำหรับผู้หญิงซึ่งมีแต่กระเป๋าหลอก ใส่ของอะไรไม่ได้ ราคาแพงกว่าแจ็กเก็ตชาย กางเกงแบบไร้รอยยับสำหรับผู้ชายก็ถูกกว่าและสวมใส่สบายกว่าด้วย  กลุ่มนี้ซึ่งมีผู้ติดตามในทวิตเตอร์ไม่ต่ำกว่า 5,000 คน บอกว่าอยากให้ธุรกิจรู้ว่ายอดขายจะร่วงลงแค่ไหนหากผู้หญิง “ไม่ช้อป” และหันมาทำอาหารกลางวันไปรับประทานเอง ถีบจักรยานไปไหนต่อไหนเอง รวมถึงยกเลิกการจองโต๊ะสำหรับอาหารเย็น เป็นต้น  เรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากการประท้วงของผู้หญิงในไอซ์แลนด์ เมื่อหลายสิบปีก่อนที่รวมตัวกันไม่ไปทำงานและหยุดทำงานบ้าน เพื่อให้เห็นว่าโลกจะไปต่อไม่ได้หากผู้หญิงไม่ไปด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 กระแสในประเทศ

ความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2561แนะใช้แอป  EMS 1669 ช่วยผู้ป่วยฉุกเฉิน         สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) พัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อตอบโจทย์การให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินกับประชาชน ภายใต้ชื่อแอปพลิเคชัน EMS 1669 ซึ่งประชาชนสามารถเรียกรถพยาบาลได้ทันที สามารถระบุพิกัดตำแหน่งที่อยู่ของผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างแม่นยำ ทำให้ทีมแพทย์ฉุกเฉินเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยได้เร็วขึ้น เพียงแค่กดปุ่มสีแดงในแอป เรียกรถพยาบาล นอกจากนี้ยังสามารถแนบไฟล์ภาพเหตุการณ์เพื่อแจ้งสถานการณ์เพิ่มเติม และมีคำแนะนำในการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินอีกด้วยปี 2574 ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กล่าวว่า ไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2548 โดยอาศัยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งคาดว่าปี 2564 ไทยจะก้าวสู่สังคมสูงอายุระดับสมบูรณ์ และจะเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด ในปี 2574 ซึ่งมีคนอายุ 65 ปีขึ้นไป เป็นสัดส่วนเท่ากับหรือมากกว่า 14% ประชากรทั้งหมด                ปัจจุบันไทยมีประชากรสูงอายุประมาณ 11 ล้านคน แบ่งเป็นกลุ่ม ติดสังคม 79.5 % ติดบ้าน 19 % และติดเตียง 1.5 % โดยมีสัดส่วนผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ลำพังมากถึง 10 % กรมกิจการผู้สูงอายุ ระบุแนวทางผลักดันและส่งเสริมให้ สังคมสูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ โดยเร่งขับเคลื่อน 10 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. การสร้างระบบคุ้มครองและสวัสดิการผู้สูงอายุ 2. การทำงานและการสร้างรายได้ 3. ระบบสุขภาพเพื่อรองรับสังคมสูงวัย 4. ปรับสภาพแวดล้อมชุมชนและบ้านให้ปลอดภัยกับผู้สูงอายุ  5. ธนาคารเวลา(สังคมไม่ทอดทิ้งกัน) โดยที่ผู้สูงอายุในชุมชนต้องได้รับการดูแล  6. การสร้างความรอบรู้ให้คนรุ่นใหม่ 7. กำหนดให้สังคมสูงอายุเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ  8. การปรับเปลี่ยนกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติข้อบังคับให้เอื้อต่อการทำงานด้าน ผู้สูงอายุ 9. ปฏิรูประบบข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนงาน โดยมีฐานข้อมูลรายบุคคลของผู้สูงอายุ และ 10. พลิกโฉมนวัตกรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมสูงอายุงดเหล้าเข้าพรรษา ลดเสี่ยงตับอักเสบกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า คนไทยเสี่ยงต่อภาวะตับอักเสบโดยไม่รู้ตัว เพราะระยะแรกมักไม่มีอาการ จนละเลยการรักษา แต่เซลล์ตับจะถูกทำลายไปเรื่อยๆ จนเกิดตับแข็ง หรืออาจเป็นมะเร็งตับในที่สุด โดยตับอักเสบเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อ ยา สารเคมี สารพิษต่างๆ ซึ่งเเอลกอฮอล์ ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้เกิดโรคตับอักเสบได้ โดยการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ อาจทำให้เกิดอาการพิษต่อตับได้ทั้งระยะเฉียบพลัน และเรื้อรัง ทั้งนี้ นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ ผู้อำนวยการ รพ.ราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากเป็นประจำ การหยุดดื่มทันทีอาจทำให้เกิดอาการกระสับกระส่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ คลื่นไส้ อาเจียน และในบางคนอาจได้ยินเสียงแว่ว ประสาทหลอน สับสน และชักได้ ดังนั้นสำหรับผู้ที่ติดเหล้าเป็นเวลานาน อาจจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำที่ถูกต้อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการ เสียชีวิตอันดับ 1 ของประชากรไทย แซงหน้าการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตและหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคปอด กระทรวงสาธารณสุขได้เผยแพร่รายงานว่าในปี พ.ศ. 2559 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตด้วย โรคมะเร็งประมาณ 77,566 คน เป็นเพศชาย 44,490 คน เป็นเพศหญิง 33,076 คน ซึ่งนอกจากจะเป็นสาเหตุ การตายอันดับหนึ่งของคนไทยแล้ว ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย โดยโรคมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้ชายไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งลําไส้ใหญ่ ส่วนผู้หญิงไทยโรคมะเร็ง 3 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านมโฆษณาว่า ไขมันทรานส์ 0 % ระวังเข้าข่ายโอ้อวดเกินจริงน.ส.สุภัทรา บุญเสริม ผอ.สำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงข่าว ความจริงไขมันทรานส์ ว่า หลังจาก อย.ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ทำให้เกิดไขมันทรานส์ขึ้น โดยมีผลวันที่ 9 ม.ค. 2562 นั้น ไม่อยากให้ประชาชนเกิดความตระหนก ยืนยันว่าน้ำมันที่ใช้ตามบ้าน ทั้งน้ำมันปาล์ม และน้ำมันพืช ยังสามารถใช้ได้ตามปกติ "ที่น่ากังวล คือ ขณะนี้มีผู้ประกอบการบางรายใช้โอกาสนี้โฆษณาว่า ผลิตภัณฑ์ปลอดไขมันทรานส์ หรือไขมันทรานส์ 0 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน จึงขอให้ใช้ข้อความว่า ปราศจาก/ไม่ใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ซึ่งเป็นแหล่งหลักของไขมันทรานส์ และแสดงปริมาณไขมันทรานส์ได้เฉพาะในกรอบโภชนาการแบบเต็มร่วมกับการแสดงส่วนประกอบอื่นๆ เท่านั้น โดยให้แสดงไว้ที่ตำแหน่งใต้ไขมันอิ่มตัว และใช้หลักเกณฑ์เดียวกับไขมันอิ่มตัว และเพื่อให้เป็นธรรม อย.จะมีการตรวจสอบว่าข้อความดังกล่าวเป็นจริง โดยการส่งตัวอย่างตรวจวิเคราะห์ ซึ่งต้องไม่เจอจริงๆ ถึงจะไม่เป็นการโอ้อวด ในกรณีฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5 พันบาท ถึง 2 หมื่นบาท" น.ส.สุภัทรา กล่าวผู้บริโภคยังร้องเรียน วินมอเตอร์ไซค์ขับขี่หวาดเสียว – เก็บค่าโดยสารเกินราคามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายผู้บริโภค 7 ภาคเผยข้อมูลเรื่องร้องเรียน ตั้งแต่ต้นปี 60 - ก.ค.61 พบผู้บริโภคร้องเรียนเกี่ยวกับรถโดยสารสาธารณะทั้งสิ้น 729 ราย โดยพบตั้งแต่ ถูกเรียกเก็บค่าโดยสารเกินอัตรา หรือแพงเกินกว่าที่ระบุบนป้ายแสดงค่าบริการ, ขับขี่เร็ว หวาดเสียว เกิดอุบัติเหตุ และใช้วาจาไม่สุภาพกับผู้โดยสาร โดยพบปัญหาการใช้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งเกิดจากการที่ผู้บริโภคไม่รู้สิทธิตนเองโดยจากการประสานงานไปยังสำนักงานเขต และกรมการขนส่งเพื่อตรวจสอบข้อมูล ยังพบปัญหาว่าผู้ร้องเรียนไม่ได้จดจำเลขทะเบียน หรือเบอร์เสื้อวินรับจ้าง ทำให้ปัญหาเกิดความล่าช้า ดังนั้นหากผู้บริโภคพบวินรับจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ ให้จดจำวัน-เวลา และสถานที่เกิดเหตุ, ชื่อ-สกุล หรือเลขเสื้อวิน, เลขทะเบียน และร้องเรียนไปยัง กรมการขนส่งทางบก ผ่านสายด่วน 1584 หรือ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-248-3737

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 บ้านเราไม่ต้องมีหมายค้น (2)

ห้องน้ำและห้องนอน (ต่อ) : หลายคนมักเก็บเครื่องสำอาง ซึ่งบางทีเป็นของใช้ส่วนตัวแยกต่างจากเครื่องสำอางที่ใช้ทั่วๆไป เครื่องสำอางเหล่านี้มักเป็นเครื่องสำอางสำหรับผิวกาย ผิวหน้า ฯลฯ ซึ่งแต่ละคนจะหาซื้อมาตามความชอบใจ หากเป็นยี่ห้อที่มีวางขายเปิดเผยตามห้างหรือร้านสะดวกซื้อพวกนี้ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะฉลากจะมีรายละเอียดครบถ้วน ทั้ง เลขจดแจ้ง ชื่อสถานที่ผลิตหรือจำหน่าย วันผลิตวันหมดอายุ ฯลฯ ซึ่งหากเกิดปัญหา เราสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่หรือแจ้งทางห้างหรือร้านที่นำมาจำหน่ายได้แต่เครื่องสำอางที่พบปัญหาเป็นส่วนใหญ่ คือเครื่องสำอางที่ซื้อขายทางอินเตอร์เน็ต ซื้อจากเน็ตไอดอล หรือตามที่ดารามารีวิวแนะนำสินค้า เครื่องสำอางเหล่านี้มีความเสี่ยงสูง เพราะมักจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีสถานที่ผลิตที่เราอาจไม่รู้จัก และจากกรณีที่เป็นข่าวก็ทำให้เราทราบว่า หลายผลิตภัณฑ์ไม่มีสถานที่ผลิตจริง หากแต่ไปจ้างโรงงานผลิต เวลาไปขอจดแจ้งจากราชการ ก็อาศัยช่องโหว่ที่กฎหมายสมัยนั้นไม่ได้กำหนดว่าต้องตรวจสถานที่ เลยแจ้งที่อยู่อื่นๆ ที่ไม่ใช่สถานที่ผลิตจริง ทำให้เจ้าหน้าที่ติดตามตรวจสอบได้ยาก นอกจากนี้พวกเน็ตไอดอลหรือดาราหลายคน ก็ออกมาสารภาพกันแล้วว่าไม่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เลย (บางคนก็อ้อมๆ แอ้มๆ ว่าเคยใช้แค่ครั้งสองครั้งเอง ซึ่งไม่รู้ว่าโกหกอีกหรือเปล่า) ดังนั้น ถือโอกาสสังคายนา ตรวจสอบเครื่องสำอางประจำตัวของสมาชิกในบ้านเลยว่า มีเครื่องสำอางที่มีความเสี่ยงสูงเหล่านี้อยู่หรือไม่ เพราะเครื่องสำอางเหล่านี้ดูเหมือนจะอยู่ในกลุ่มที่กำพืดไม่ค่อยจะชัดเจน และที่อันตรายอย่างยิ่ง คืออาจมีการเติมสารอันตรายต่างๆ เข้าไปด้วย และหากพบว่าสมาชิกในบ้านใช้ไม่เท่าไร ดันเห็นการเปลี่ยนแปลงทันที เช่น ผิวขาวกะทันหัน ขาวผิดพ่อผิดแม่ ยิ่งส่อให้เห็นว่าแนวโน้มมีสารอันตรายเจือปนสูง ควรกำจัดออกจากบ้านไปเลยพื้นที่อื่นๆ : นอกเหนือจากอาหารและเครื่องสำอางแล้ว เราลองตรวจสอบผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่สมาชิกในบ้านนำมาใช้ด้วย โดยเฉพาะในบ้านที่มีผู้สูงอายุ หรือมีผู้ป่วยโรคเรื้อรังประจำตัว เพราะจะเป็นเป้าหมายหลักในการถูกหลอกให้ซื้อผลิตภัณฑ์เสี่ยงๆ มาใช้ เช่น ยาน้ำสมุนไพรหรือยาลูกกลอนบางชนิด(หรือผลิตภัณฑ์อาหาร) ที่อ้างรักษาอาการปวดเข่า หรือรักษาโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เบาหวาน ไขมัน ความดัน ฯลฯวิธีสังเกตง่ายๆ ก็เหมือนที่เคยบอกไปแล้ว เช่น ถ้าเป็นยาต้องมีเลขทะเบียนยา ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารถ้าอ้างว่ารักษาโรคได้ แสดงว่าเป็นผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายแน่นอน เพราะอาหารรักษาโรคไม่ได้ (ถ้ารักษาได้แสดงว่าต้องเติมอะไรเข้าไปแนอน) และที่ต้องย้ำคือ แม้จะมีฉลากถูกต้อง ระบุสรรพคุณเหมาะสมอยู่ในร่องในรอยแล้ว แต่หากสมาชิกในบ้านรับประทานแล้วเกิดได้ผล อาการป่วยต่างๆ หายอย่างน่าประหลาดใจ ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่มาช่วยตรวจสอบทันที จำไว้ว่า “ยาเทวดาสุดมหัศจรรย์ไม่มีในโลก” อย่าลืมนะครับ ใช้วิธีการที่เคยแนะนำไปแล้วตรวจสอบผลิตภัณฑ์ต่างๆในบ้านตั้งแต่วันนี้ หากพบ “สี่สงสัย” ให้รีบใช้ “สองส่งต่อ” เพื่อเตือนคนใกล้ตัวและแจ้งเจ้าหน้าที่ด้วยนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 บ้านเราไม่ต้องมีหมายค้น (1)

ข่าวทางสื่อมวลชนเกี่ยวกับการดำเนินการเกี่ยวกับเครื่องสำอางและอาหารเสริมผิดกฎหมาย ที่มีดารานักร้องนักแสดงหลายรายเข้าไปเกี่ยวข้อง ทำให้ประชาชนหันมาสนใจและเริ่มตั้งคำถามว่าผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ ที่เราใช้นั้นปลอดภัยหรือไม่ โอกาสนี้จึงขอเชิญชวนผู้อ่านทุกท่านหันมาตรวจสอบผลิตภัณฑ์ต่างๆ รอบๆ ตัวเรา เริ่มต้นจากบ้านของเราเอง เพื่อความปลอดภัยของสมาชิกของบ้านเราห้องครัว : เป็นห้องที่เลี้ยงปากเลี้ยงท้องของทุกคนในบ้าน ผลิตภัณฑ์ที่พบในห้องครัวส่วนใหญ่จะเป็นผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องปรุงรสต่างๆ ถ้าเป็นอาหารสด เราคงรู้อยู่แล้วว่าต้องเก็บรักษาอย่างไรเพื่อไม่ให้เน่าเสีย ก่อนนำมาใช้ก็ต้องล้างให้สะอาด ยิ่งเป็นอาหารที่รับประทานสดๆ ได้โดยไม่ต้องผ่านความร้อน (เช่น ผัก ผลไม้) ยิ่งต้องล้างให้สะอาด เพื่อกำจัดสิ่งอันตราย เช่น ยาฆ่าแมลง ไข่พยาธิ ฯลฯ ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ หากบรรจุในภาชนะปิดสนิท เช่น ขวด กระปุก กระป๋อง ฯลฯ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ต้องขออนุญาตก่อนผลิตจำหน่าย ซึ่งเราจะสังเกตได้จากเลขสารบบอาหาร ซึ่งจะแสดงในกรอบเครื่องหมาย อย. แต่เพื่อความปลอดภัย เราควรตรวจสอบรายละเอียดต่างๆ บนฉลากเพิ่มเติม เช่น มีชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายชัดเจนหรือไม่ ถ้าไม่มีแสดงว่าผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ไม่ถูกต้องตามกฎหมายแน่นอน นอกจากนี้ อย่าลืมดูวันผลิตหรือวันหมดอายุด้วย (ผลิตภัณฑ์บางชนิดที่เก็บได้นานหลายปี กฎหมายยกเว้นไม่ต้องแสดงวันหมดอายุ) และที่สำคัญอย่าลืมดูว่าของที่เหลืออยู่นั้น มันเลยวันหมดอายุที่ระบุตรงฉลากหรือไม่ หรือถ้าเราเก็บมานานหลายปีแล้ว หากไม่มั่นใจก็อย่าเสียดาย นำไปทิ้งดีกว่า เพื่อความปลอดภัยของสมาชิกในบ้านของเรา นอกจากรายละเอียดทั่วๆ ไปบนฉลากแล้ว หากเราลองอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับส่วนประกอบหรือฉลากโภชนาการต่างๆ เราก็จะทราบข้อมูลพวกสารอาหารหรือวัตถุเจือปนต่างๆ ด้วย เช่น ทราบว่ามีน้ำตาล เกลือ ไขมัน หรือพลังงานมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อสมาชิกในครอบครัว หากจะต้องจำกัดการบริโภคอาหารบางอย่าง เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจต่างๆนอกจากผลิตภัณฑ์อาหารที่เราใช้ปรุงรับประทานแล้ว พบว่าหลายบ้านยังซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมารับประทานด้วย อย่าลืมว่า “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร คือผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารเท่านั้น มันไม่สามารถรักษาโรคได้” เพียงแต่มันอาจมีการเติมวิตามิน แร่ธาตุ หรือสารอาหารบางอย่างเพิ่มเข้าไป เพื่อจูงใจผู้ซื้อหรือประโยชน์ในการอ้างตอนโฆษณา ดังนั้นหากตรวจพบว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของสมาชิกในบ้าน มีการระบุสรรพคุณทางยา เช่น ระบุว่ารักษาโรคต่างๆ หรือลดความอ้วน ได้ แสดงว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายแน่นอน หรือแม้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ตรวจสอบจะแสดงฉลากถูกต้อง แต่หากสมาชิกในบ้านรับประทานไปแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงอย่างผิดปกติหลังรับประทานไปเพียงไม่กี่วัน เช่น ผอมลงทันที หรือผลการตรวจเลือดต่างไปจากเดิม แสดงว่าอาจมียาหรือสิ่งอันตรายเจือปนอยู่ได้ห้องน้ำและห้องนอน : ส่วนใหญ่เรามักจะพบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต่างๆ ในสองห้องนี้ (บางคนอาจเก็บเครื่องสำอางบางชนิดในตู้เย็น) เครื่องสำอางเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้เพื่อความสะอาด ความสวยงาม หรือเพื่อประทินผิว จึงไม่สามารถรักษาโรคหรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างร่างกายได้ โดยทั่วไปแล้ว หากเป็นเครื่องสำอางพื้นฐานที่เราใช้กันอยู่ เช่น สบู่ แชมพู ยาสีฟัน ฯลฯ มักไม่ค่อยพบปัญหา แต่หากเป็นเครื่องสำอางบางชนิด เราต้องระวัง (อ่านต่อฉบับหน้านะครับ) 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 อาหารหมดอายุกว่า 4 เดือนแต่ยังวางขายอยู่ในห้าง

ภูผา คุณพ่อวัยรุ่นมือใหม่ กำลังตื่นเต้นเห่อลูกคนแรกมาก อะไรว่าดีก็หามาให้ลูกได้รับประทานเสริม โดยหวังให้ลูกแข็งแรง แต่เรื่องกลับไม่ได้เป็นดังหวัง สาเหตุเกิดจากอะไรมาดูกันคุณภูผาซื้อข้าวกล้องงอกบด ผสมกล้วยและผักขมออร์แกนิค ยี่ห้อหนึ่ง จำนวน 3 กล่อง จากร้านวิลล่ามาเก็ท สาขาเพลินจิต เมื่อคุณภูผาได้นำข้าวกล้องบดผสมน้ำให้ลูกน้อยทาน ปรากฏว่า ลูกสาวมีอาการผิดปกติ ร้องไห้จ้าโดยไม่ทราบสาเหตุ และท้องเสียอย่างรุนแรง ถ่ายเหลวผิดปกติ คุณภูผาจึงลองตรวจสอบฉลากบนผลิตภัณฑ์ข้าวกล้องงอกที่ให้ลูกน้อยรับประทานก็พบว่า ข้าวกล้องงอกบดนั้นหมดอายุมากว่า 4 เดือนแล้ว เมื่อคาดว่าปัญหาน่าจะมาจากเหตุที่อาหารหมดอายุ  ตัวคุณพ่ออาสาดูแลลูกน้อย ส่วนคุณแม่ ภรรยาของคุณภูผา ได้นำสินค้าที่หมดอายุไปร้องเรียนยังวิลล่ามาเก็ทสาขาที่ซื้อมา ซึ่งวิธีการของวิลล่ามาเก็ทคือ พนักงานได้รับเรื่องร้องเรียนและเก็บสินค้าไว้ก่อน และแจ้งว่าจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อไป ซึ่งก็โทรศัพท์ติดต่อมาจริง  โดยแจ้งให้คุณภูผาพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อรักษาพยาบาลและออกใบรับรองแพทย์  คุณหมอให้ความเห็นในใบรับรองแพทย์ว่า “อาหารเป็นพิษ” คุณภูผาจึงได้แจ้งให้ทางห้างทราบ...ต่อมาเมื่อคุณภูผาได้เข้าไปสอบถามความคืบหน้ากับสาขาที่ซื้อสินค้า พนักงานเพียงแจ้งว่าได้แจ้งสำนักงานใหญ่แล้ว คุณภูผาจึงไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจ เพื่อเป็นหลักฐาน แต่ไม่ว่าจะพยายามทวงถามความคืบหน้าเรื่องการแสดงรับผิดชอบของวิลล่ามาเก็ทสักกี่ครั้ง ก็ยังไม่ได้รับคำตอบ จึงมาร้องเรียนยังมูลนิธิเพื่อขอคำปรึกษาแนวทางการแก้ปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ แจ้งผู้ร้องว่าการจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 29 ซึ่งถือได้ว่าการจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภค และบทลงโทษอยู่ในมาตรา 61 ระบุให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และแนะนำเรื่องการคำนวณค่าเสียหายคุณภูผาและวิลล่ามาร์เก็ท มาเจราที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ โดยวิลล่าฯ เสนอเยียวยาเป็นหนังสือขอโทษและชี้แจงมาตรการแก้ไขปัญหาต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 1 ฉบับ, เงินค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง, และเงินชดเชยเยียวยาความเสียหาย 5,000 บาท คุณภูผาปฏิเสธไม่รับข้อเสนอเรื่องเงินเยียวยา โดยขอให้ชดเชยเยียวยาความเสียหาย 150,000 บาท และทำหนังสือชี้แจงขอให้ระบุแนวทางการแก้ปัญหาเพิ่มเติมและบทลงโทษผู้เกี่ยวข้อง บริษัทรับข้อเสนอไปให้ผู้มีอำนาจพิจารณาต่อมาบริษัทเสนอเงินชดเชยเยียวยาค่าเสียหาย 50,000 บาท และออกนโยบายจัดเก็บสินค้าลงจากชั้นวางก่อนสินค้าหมดอายุ และต้องไม่มีสินค้าหมดอายุอยู่บนชั้นวางสินค้าอีก พร้อมจัดเก็บสินค้าก่อนหมดอายุอย่างสม่ำเสมอ แบ่งเป็น 3 ประเภท  1) สินค้าคืน Supplier ได้ ทำการเก็บสินค้าเพื่อทำการแจ้งคืน 2) สินค้าที่คืนไม่ได้ ทำการเก็บสินค้าเพื่อนำมาลดราคา 3) สินค้าของสดชั่งกิโล เก็บสินค้าเพื่อทำการเปลี่ยนบาร์โค้ด ก่อนหมดอายุ 3 วันและทำการตรวจสอบสินค้าทุกวัน ทุกอาทิตย์ ทุกเดือน และตักเตือนแจ้งพนักงานโดยลงโทษพักงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างไม่เกิน 7 วันและงดพิจารณาขึ้นค่าจ้าง คุณภูผายอมรับตามที่บริษัทเสนอนับว่าการร้องเรียนของคุณภูผาในครั้งนี้ ทำให้วิลล่ามาร์เก็ทยกระดับมาตรการการจัดเก็บสินค้าหมดอายุออกจากชั้นวางจำหน่าย ช่วยให้ผู้บริโภคปลอดภัยในการซื้อสินค้ามากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนกรกฎาคม 2561พาณิชย์ไม่อนุมัติผู้ผลิตลดขนาดสินค้าแต่ขายราคาเดิมอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ผู้ผลิตสินค้าประเภทแชมพู สบู่เหลว น้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผลิตภัณฑ์ล้างจาน ยาสีฟัน และผงซักฟอก หลายยี่ห้อได้ทำหนังสือเข้ามายังกรมฯ เพื่อขอออกผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยการลดขนาดบรรจุภัณฑ์และลดปริมาณสินค้า แต่ยังขอจำหน่ายสินค้าในราคาเดิม โดยให้เหตุผลว่ามีการปรับปรุงสูตรให้สินค้ามีคุณภาพดีขึ้น แต่หลังจากที่กรมฯ ได้ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ พบว่า สินค้าไม่ได้แตกต่างจากของเดิม จึงไม่ได้อนุมัติให้มีการดำเนินการตามคำขอทั้งนี้กรมการค้าภายใน ไม่ได้ปิดกั้นผู้ผลิตทำการปรับลดขนาดหรือปริมาณสินค้า แต่หากผู้ผลิตมีการนำเสนอรายละเอียดต้นทุนที่ชัดเจน และสมเหตุสมผล กรมฯ ก็พร้อมที่จะพิจารณาให้ ทั้งนี้หากผู้บริโภคพบเห็นสินค้ามีการปรับลดขนาดหรือปริมาณบรรจุ สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 กรมสุขภาพจิตสั่งเปิดคลินิกบำบัดนักพนันบอลโลกอธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า ได้ให้โรงพยาบาลจิตเวชในสังกัด 19 แห่ง ใน 13 จังหวัด เปิดคลินิกบำบัดรักษาผู้ที่ติดพนันบอลในแผนกผู้ป่วยนอก และให้บริการปรึกษาทางสายด่วนสุขภาพจิตตลอด 24 ชม. และผ่านทางเฟซบุ๊กในช่วงเวลา 14.30 – 22.30 น. โดยใช้เทคนิคการบำบัดแบบเสริมสร้างแรงจูงใจ ใช้กระบวนการทางจิตวิทยาควบคู่กับการใช้ยา เน้นการกระตุ้นให้ผู้บำบัดค้นหาเป้าหมายหรือแรงจูงใจภายในตนเอง เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม สำหรับโรคติดพนันจะมีอาการ 9 อย่าง ดังนี้ 1. คิดหมกมุ่นอยู่กับการเล่นพนันตลอดเวลา 2. เล่นพนันโดยเพิ่มจำนวนเงินพนันขึ้นเรื่อยๆ 3. เล่นเสียเป็นหนี้ก็ยังเล่นต่อ หวังจะได้เงินคืน 4. ยอมทำสิ่งผิดกฎหมายเพื่อหาเงินมาใช้หนี้และเล่นพนัน 5. พูดปด ปกปิดปัญหาที่ลุกลามจากการเล่นพนัน 6. มีปัญหากู้หนี้ยืมสิน 7. สูญเสียสัมพันธภาพกับคนในครอบครัวจากการเล่นพนัน 8. ใช้การพนันเป็นทางออกในการหนีปัญหา 9. ล้มเหลวทุกครั้งที่คิดจะเลิกพนัน หากตรวจสอบตนเองแล้วมีพฤติกรรมดังกล่าว 2 ข้อขึ้นไป แสดงว่ามีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคติดพนัน สามารถขอคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชม.เผยคนไทยใช้สมุนไพรมากขึ้นจากฐานข้อมูลของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปี 2560 พบว่า มีผู้ป่วยนอกเข้ารับบริการการแพทย์แผนไทยฯ ในโรงพยาบาลทุกระดับกว่า 32 ล้านครั้ง จากจำนวนผู้ป่วยนอกทั้งหมดที่มารับบริการกว่า 164 ล้านครั้ง คิดเป็นร้อยละ 19.75 และมีการใช้ยาสมุนไพรเพิ่ม 406 ล้านบาท จาก 1,700 ล้านบาทในปี 2559 เป็นกว่า 2,000 ล้านบาทในปี 2560 สำหรับมูลค่าผลิตภัณฑ์สมุนไพร ปี 2560 แบ่งเป็นเครื่องสำอาง 192,600 ล้านบาท อาหารเสริม 51,848 ล้านบาท และยาสมุนไพร 7,548 ล้านบาท รวมมูลค่าการใช้สมุนไพรทั่วประเทศทั้งสิ้น 254,830 ล้านบาทประกาศห้ามการผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจน13 ก.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ กระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 เรื่อง ห้ามมีการผลิต นำเข้า หรือ จำหน่ายอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenated Oils) น้ำมันเหล่านี้จะมีส่วนผสมของกรดไขมันทรานส์( trans fat) ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด  โดยประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ภายใน 180 วัน ซึ่งโรงงานอาหารประเภทเบเกอรี่ ขนมหวาน นมข้นหวาน หรือของทอดที่ใช้ชอร์ตเทนนิ่ง ต้องปรับปรุงสูตรและกระบวนการผลิตเพื่อให้ทันวันเวลาตามที่กฎหมายกำหนดกองปราบจับ 22 ผู้ต้องหา OD Capital ฉ้อโกงประชาชนเมื่อ 11 ก.ค.61 กองบังคับการปรามปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ จับกุม 22 ผู้ต้องหาฉ้อโกงประชาชนและร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ในนามของ OD Capital โดยจากการสืบสวนพบว่า โอดีแคปปิตอลดำเนินการในลักษณะนำเงินไปลงทุนในบริษัทหรือกิจการอื่นๆ โดยระดมเงินทุนจากประชาชนทั่วไป โดยการติดต่อ ชักชวน หรือโฆษณาทางสื่อออนไลน์ว่าเมื่อนำเงินมาลงทุนกับโอดีแคปปิตอลแล้ว จะได้รับผลตอบแทน 10% ของเงินลงทุน นอกจากนี้ หากสามารถชักชวนคนมาร่วมลงทุนได้จะได้ผลตอบแทนเป็นค่าคอมมิชชั่นเพิ่มเติมอีก จากการตรวจสอบพบว่า โอดีแคปปิตอลไม่ได้มีการจดทะเบียนพาณิชย์ในไทย และไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการจาก กลต. และ สคบ. โดยพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจได้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขอศาลอนุมัติหมายจับกลุ่มผู้ต้องหา ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชนและร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนแล้วมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเสนอ 8 แนวทางแก้ปัญหารถโดยสารสองชั้นโรงแรมมิราเคิลแกรนด์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โครงการสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายความปลอดภัยทางถนนเพื่อรถโดยสารสาธารณะปลอดภัย ร่วมกับคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “ปัญหารถโดยสารสองชั้นกับนโยบายรัฐที่ต้องทบทวน” เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาในการพัฒนาคุณภาพรถโดยสารสาธารณะที่ปลอดภัย และสร้างการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคกับหน่วยงานของรัฐที่ทำงานเกี่ยวกับรถโดยสารสาธารณะ โดยมีข้อเสนอดังต่อไปนี้ 1.เสนอให้รัฐซื้อรถคืนหรือสนับสนุนให้เปลี่ยนรถจากรถสองชั้นเป็นรถชั้นเดียว  2.กำหนดเส้นทางเสี่ยงอันตรายสำหรับรถสองชั้น 3.รถที่ผ่านการทดสอบพื้นเอียง 30 องศาต้องมีสัญลักษณ์แสดงให้เห็นชัดเจนบริเวณด้านหน้าตัวรถและบริเวณข้างรถ 4. เปิดเผยข้อมูลการจดทะเบียน สถิติอุบัติเหตุ การกระทำความผิดของผู้ประกอบการ ผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลตัดสินใจเลือกใช้บริการ  5. การกำหนดความเร็วของ GPS ให้สอดคล้องกับสภาพถนนและเส้นทางเสี่ยง 6. การกำหนดหลักเกณฑ์ใบอนุญาตขับขี่เฉพาะรถขนาดใหญ่ที่มีความสูงเกิน 3.80 เมตร เนื่องจากเป็นรถขนาดใหญ่ที่มีการควบคุมบังคับยากกว่ารถขนาดเล็ก  7. ปรับเพิ่มวงประกันภาคบังคับในกรณีเสียชีวิตจาก 300,000 เป็น 1 ล้านบาท และกรณีบาดเจ็บจาก 80,000 เป็น 150,000 บาท  8.ปรับเพิ่มวงเงินความคุ้มครองอุบัติเหตุประกันภัยภาคสมัครในจาก 10 ล้านบาทต่อครั้ง เป็น 30 ล้านบาทต่อครั้ง 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 ไซบูทรามีนในอาหารเสริมที่กล่าวอ้างลดน้ำหนัก

ไซบูทรามีนในอาหารเสริมที่กล่าวอ้างลดน้ำหนัก ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ข่าวการเข้าปราบปราม จับกุมผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ผิดกฎหมาย กลายเป็นกระแสสังคมที่ช่วยให้ผู้บริโภคตระหนักถึงสิ่งอันตรายที่แฝงอยู่ในผลิตภัณฑ์เหล่านี้ และน่าจะเกิดความระมัดระวังมากขึ้น อย่างไรก็ตามผู้บริโภคยังต้องการกำลังเสริมจากรัฐในด้านการกำกับควบคุมที่เข้มงวดต่อเนื่อง และภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะถึงแม้รัฐจะออกมาตรการที่รัดกุมแค่ไหน ภัยจากผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ก็คงไม่หมดไปง่ายๆ ผู้บริโภคยังเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับผู้กระทำผิดทั้งรายใหม่และรายเก่า ดังนั้นการสร้างเครื่องมือตรวจสอบและการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร นับเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่สามารถช่วยผู้บริโภคได้ฉลาดซื้อและโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่บรรยายสรรพคุณว่ามีส่วนในการลดน้ำหนัก จากเว็บไซต์ขายของออนไลน์ชื่อดัง ได้แก่ C mart ,Shop at 24, LAZADA, We mall, Watsons, 11 street, Konvy, Shopee รวม 8 แห่ง รวมทั้งสิ้น 16 ผลิตภัณฑ์ ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม ที่ผ่านมา ส่งห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ อุบลราชธานี เพื่อทดสอบหายาไซบูทรามีน และ ยาฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) ซึ่งเป็นยาในกลุ่มต้านอาการซึมเศร้า แต่มีผลข้างเคียงในการลดความอยากอาหาร ที่นิยมนำมาผสมในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและอวดอ้างสรรพคุณว่าช่วยลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว แต่มีภัยแฝงถึงเสียชีวิต ผลทดสอบผลการทดสอบหา ไซบูทรามีน (Sibutramine) และ ยาฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) หรือยารักษาโรคซึมเศร้า จากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจำนวน 16 ตัวอย่าง ที่ฉลาดซื้อสั่งซื้อจากเว็บขายสินค้าออนไลน์ 8 แห่ง พบว่า  มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 6 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนยาแผนปัจจุบัน ดังนี้  1. AIKA รุ่นผลิต 21/11/2017 พบ ไซบูทรามีน และฟลูออกซิทีน  2. MINIMAL By FALONFON รุ่นผลิต มกราคม 2018 พบ ไซบูทรามีน 3. S – Line รุ่นผลิต ไม่ระบุ พบ ไซบูทรามีน 4. LYN รุ่นผลิต 10-01-2561 พบไซบูทรามีน 5. L-Fin by Luk-Sam-Rong รุ่นผลิต 1/7/60 พบ ไซบูทรามีน 6. Kalo รุ่นผลิต ไม่ระบุ พบ ฟลูออกซิทีน  และยังพบด้วยว่า ผลิตภัณฑ์ AIKA, L-Fin และ Kalo นั้น มีชื่อผู้รับอนุญาตคนเดียวกัน คือ บริษัทสยามเฮลท์แอนด์บิวตี้แคร์ จำกัดการขายผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักที่มีไซบูทรามีน (Sibutramine) มีโทษตามกฎหมายภก. ปรุฬห์ รุจนธำรงค์ http://www.facebook.com/rparun          ไซบูทรามีน(Sibutramine) แรกเริ่มนั้นใช้เป็นยาต้านอาการซึมเศร้า ซึ่งพบว่าสามารถลดความอยากอาหารได้ โดยการไปยับยั้งการดูดกลับ(reuptake) ของซีโรโทนิน(serotonin) และนอร์อะดรีนาลีน (noradrenaline) ที่สมองส่วนไฮโปธาลามัส ซึ่งเป็นส่วนที่ควบคุมการรับประทานอาหาร จึงมีการพยายามนำมาใช้เพื่อเป็นยาลดน้ำหนัก แต่พบความเสี่ยงทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น มีความดันโลหิตสูงขึ้น เสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ในด้านของการลดน้ำหนักเมื่อรับประทานยาผ่านไป 6 เดือน กลับพบว่าให้ผลต่างกับยาหลอกเพียงเล็กน้อย จึงทำให้หลายประเทศมีความพยายามในการเลิกใช้ยานี้ ไซบูทรามีน(Sibutramine) เดิมประเทศไทยมีเพียงชื่อการค้าเดียวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยา คือ รีดักทิล (Reductil) ชนิดแคปซูล 10 มิลลิกรัมและ 15 มิลลิกรัม ต่อมาบริษัทผู้นำเข้ายกเลิกทะเบียนตำรับยาโดยสมัครใจภายใต้คำแนะนำของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตั้งแต่ 11 ตุลาคม 2553 ดังนั้น ปัจจุบันห้ามผู้รับอนุญาตนำเข้าหรือผู้รับอนุญาตขายยาผู้ใดขาย นำเข้า ยาที่ทะเบียนตำรับยาถูกยกเลิก ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 72(5) ผู้ฝ่าฝืนต้องได้รับโทษตามมาตรา 120 วรรคสอง คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือมาตรา 120 วรรคสาม ถ้ากระทำโดยไม่รู้ว่าเป็นยาทะเบียนตำรับยาถูกยกเลิก ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาทแล้วแต่กรณี ส่วน ประชาชนทั่วไปที่ขายยาหรือนำเข้ายานี้ ถือว่าเป็นการขายยาแผนปัจจุบันหรือนำเข้ายาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 12 ต้องรับโทษตามมาตรา 101 คือ  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 50,000 บาท ด้วย หากผลิตภัณฑ์ใดได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์อาหารในประเทศไทย และมีไซบูทรามีน (Sibutramine) เป็นส่วนผสม ถือว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 25(1) ประกอบมาตรา 26(1) ต้องได้รับโทษตามมาตรา 58 คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรืออาจเข้าข่ายอาหารปลอมหากมีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงให้เกิดความเข้าใจผิด ตามมาตรา 25(2) ประกอบมาตรา 26(3) ต้องระวางโทษตามมาตรา 59 คือ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาทผลิตภัณฑ์อาหารที่มี fluoxetine มีความโทษตามกฎหมายfluoxetine เป็นยาในกลุ่ม selective serotonin reuptake inhibitor (SSRIs) ซึ่งใช้ในการรักษาโรคซึมเศร้า กลไกการออกฤทธิ์โดยเพิ่มระดับสารสื่อประสาท serotonin ในสมอง นอกจากใช้ในโรคซึมเศร้า ยังมีข้อบ่งใช้ในการรักษา ผู้ป่วยที่มีอาการอาเจียนในโรคกลัวอ้วนรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมากfluoxetine จัดเป็นยาแผนปัจจุบันประเภทยาอันตราย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาอันตราย ฉบับที่ 25 (14 พ.ค.2555 ข้อ 3 (34)) กรณีที่มีการผสมยาตัวนี้ลงไปในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจะถือว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า1000 Point

ฉบับที่ 207 อาหารสัตว์ปนเปื้อน

การเลือกซื้ออาหารแปรรูปสำหรับสัตว์เลี้ยง เหมือนไม่ใช่เรื่องยากเท่าไรนัก เพราะแค่เลือกสูตรให้เหมาะสมกับสัตว์เลี้ยงกับเราก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่ความจริงก็คือเรายังต้องเสี่ยงกับอาหารสัตว์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ทั้งๆ ที่พิจารณาจากยี่ห้อดังตามท้องตลาด เมื่อต้นปีที่ผ่านมา คุณพลอยได้เลือกซื้ออาหารสัตว์สำเร็จรูปเกรดพรีเมียมยี่ห้อดัง ซึ่งเป็นสูตรเฉพาะสำหรับสุนัขแพ้ง่าย ที่มีปัญหาเรื่องผิวหนัง เพราะไม่มีส่วนผสมของโปรตีนจากไก่ ข้าวโพดและข้าวสาลี จากร้านค้าเจ้าประจำแถวบ้าน อย่างไรก็ตามหลังเปิดถุงออกมา กลับพบสิ่งแปลกปลอมเป็นแมลงตัวสีดำ มีลักษณะคล้ายมอดจำนวนมาก ทั้งกลิ่นอาหารยังผิดปกติไปจากเดิม และเมื่อตรวจสอบวันหมดอายุก็พบว่ายังไม่ถึงกำหนด คุณพลอยจึงกลับไปที่ร้านดังกล่าว เพื่อขอคืนเปลี่ยนสินค้าและแจ้งว่านี่เป็นครั้งที่สองแล้ว ที่เธอพบความผิดปกติเช่นนี้ จึงต้องการทราบว่าปัญหาเกิดจากอะไรกันแน่ และแม้แม่ค้ายินดีให้เธอเปลี่ยนคืนสินค้า แต่ก็แสดงท่าทีไม่พอใจที่คุณพลอยถามถึงสาเหตุของปัญหา ส่งผลให้คุณพลอยตัดสินใจส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาเนื่องจากอาหารสัตว์เป็นอาหารที่ถูกควบคุมคุณภาพ ตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาหารสัตว์ 2558 ซึ่งกำหนดไว้ในมาตรา 56 ว่าห้ามผู้ใดผลิตเพื่อขาย นำเข้าเพื่อขาย หรือขายอาหารสัตว์ดังต่อไปนี้ 1.อาหารสัตว์ปลอมปน 2.อาหารสัตว์เสื่อมคุณภาพ 3.อาหารสัตว์ผิดมาตรฐาน 4.อาหารสัตว์ที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มิได้ขึ้นทะเบียนไว้ 5.อาหารสัตว์ที่อธิบดีสั่งเพิกถอนทะเบียน โดยหากผู้ใดผลิตเพื่อขาย หรือนำเข้าเพื่อขายอาหารสัตว์เสื่อมคุณภาพดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับดังนั้นในกรณีนี้ผู้ร้องสามารถแจ้งกรมปศุสัตว์ให้ดำเนินการตรวจสอบอาหารสัตว์ที่มีการปลอมปน เสื่อมคุณภาพ หรือไม่เป็นไปตามมาตรฐานได้ ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงช่วยผู้ร้องส่งหนังสือและสินค้าดังกล่าวไปยังกรมฯ เพื่อขอให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยได้รับการตอบกลับมาว่า หลังกรมฯ ได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบสถานที่จำหน่าย เพราะคาดว่าปัญหาดังกล่าว อาจเกิดจากการจัดเก็บที่ไม่ได้มาตรฐาน อย่างไรก็ตามพบว่า สถานที่จำหน่ายมีใบอนุญาตขายอาหารสัตว์ มีการเก็บแยกอาหารสัตว์เป็นสัดส่วนและมีความสะอาด ซึ่งไม่มีแมลงหรือสัตว์พาหะที่อาจทำให้อาหารสัตว์เสื่อมคุณภาพได้ ส่งผลให้ไม่อาจสรุปได้แน่ชัดว่า อาหารสัตว์ดังกล่าวเสื่อมคุณภาพ หรือปลอมปนด้วยสาเหตุใด ทางกรมฯ จึงขอเก็บตัวอย่างเพื่อส่งให้ห้องปฏิบัติการดำเนินการตรวจสอบต่อไป และหากพบว่าอาหารไม่ได้มาตรฐานที่กำหนดจริง จะถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว และผู้ผลิตจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งผู้จำหน่ายจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนพฤษภาคม 2561กรมอนามัยเล็งชง อย.-สคบ. คุมเข้มชาเขียว-น้ำอัดลม ใช้แคมเปญล่อใจคนดื่มเพิ่มเว็บไซต์ Beevoice.org รายงานว่า นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สัมภาษณ์กรณีการบังคับใช้มาตรการเก็บภาษีน้ำตาล เพื่อควบคุมปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ โดยเฉพาะเครื่องดื่ม เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งมาตรการดังกล่าว ได้ผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการดำเนินการปรับปรุงสูตรเป็นระยะเวลา 2 ปี ส่งผลให้ผู้ประกอบการหันมาทำเครื่องดื่มสูตรหวานน้อยมากขึ้น เพื่อจะไม่ต้องจ่ายภาษีมากขึ้นแต่ปัญหาคือ เครื่องดื่มอย่างน้ำอัดลมหรือชาเขียวที่เดิมมีน้ำตาลสูง แม้จะมีการปรับสูตรให้มีน้ำตาลน้อยลง แต่กลับทำการตลาดโดยเฉพาะการชิงโชค เพื่อให้คนไทยหันมาบริโภคกันมากขึ้น ซึ่งประชาชนต้องรู้ทันเรื่องเหล่านี้ เนื่องจากการกินหวานมากๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยเฉพาะโรคอ้วนและโรคเบาหวาน ซึ่งภาครัฐได้พยายามทำให้ประชาชนบริโภคน้ำตาลลดลง นพ.วชิระ กล่าวว่า หากการชิงโชคในเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากอย่าง ชาเขียวหรือน้ำอัดลมเป็นปัญหามาก ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเสนอให้มีการออกกฎหมายควบคุมเหมือนเครื่องดื่มชูกำลังในอดีต โดยกรมอนามัยจะทำข้อมูลเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อพิจารณาออกประกาศห้ามชิงโชคในเครื่องดื่มเหล่านี้ เหมือนกับที่กรมอนามัยเสนอกรมสรรพสามิต ในการคุมภาษีน้ำตาลสำเร็จมาแล้ว*****อย.ปรับใหม่ ต้องจดแจ้งก่อนผลิตเครื่องสำอางนพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงว่า อย.จะเพิ่มมาตรการเพื่อประกันคุณภาพของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง โดยปรับเชิงระบบ เนื่องจาก พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 กำหนดให้ผู้ประสงค์จะผลิตเครื่องสำอางเพื่อขายต้องจดแจ้งก่อน เมื่อ อย.รับแจ้งแล้ว จึงจะผลิตเครื่องสำอาง ณ สถานที่ที่แจ้งไว้ ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในเดือน มิ.ย.61โดย อย. ได้หารือกับผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  ซึ่งเสนอให้มีมาตรการเข้มงวดคุ้มครองผู้บริโภค เพิ่มโทษตามกฎหมาย และทบทวนระบบการอนุญาตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งการยื่นขออนุญาตเครื่องสำอางผ่านระบบ e-Submission ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอให้ยกเลิก เพื่อลดปัญหาเครื่องสำอางผิดกฎหมายนั้น ขอชี้แจงว่าการยื่นขออนุญาตมีทั้งยื่นเป็นเอกสาร และยื่นผ่านเครือข่ายออนไลน์ ซึ่ง อย.เคยพัฒนาระบบ Auto e-Submission เพื่อให้ระบบสามารถประมวลผลและออกใบรับจดแจ้งได้ทันที แต่ได้ยกเลิกใบรับแจ้งเหล่านั้นแล้ว รวมทั้งยกเลิกการรับจดแจ้งโดยอัตโนมัติ ตั้งแต่ 1 ก.ย.60 *********กทม. เตรียมรื้อ ‘ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ’ ไม่มีใบอนุญาต หลังพบตู้เถื่อนเกลื่อนกรุงวันที่ 2 พ.ค.61 นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยผลสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2561 พบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่ได้รับใบอนุญาตถึง 3,804 ตู้ จากทั้งหมด 3,964 ตู้ โดยพื้นที่ที่มีตู้น้ำดื่มฯ มากที่สุด คือ เขตจตุจักร 310 ตู้, เขตลาดพร้าว 295 ตู้ และเขตยานนาวา 214 ตู้ที่ผ่านมาสำนักงานเขตได้ออกหนังสือเรียกผู้ประกอบการให้มาดำเนินการขอใบอนุญาตประกอบกิจการติดตั้งตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญตามกฎหมาย แต่ผู้ประกอบการไม่ยินยอมมาชำระค่าธรรมเนียม เนื่องจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ 1 ตู้ ต้องเสียค่าธรรมเนียมปีละ 2,000 บาท ซึ่งปัญหานี้ กรุงเทพมหานครกำลังดำเนินการยกร่างข้อบัญญัติฯ ทำให้ค่าธรรมเนียมประกอบการเหลือ 500 บาทต่อปี เพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบการมาขอใบอนุญาตจากนี้ไป กรุงเทพมหานครจะเพิ่มมาตรการที่เข้มข้น โดยให้สำนักงานเขตดำเนินการรื้อถอนตู้น้ำที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งหากมีการฝ่าฝืนจะมีความผิดตามกฎหมายสาธารณสุขการประกอบการโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท*********ศาลฎีกาสั่งถอนสิทธิบัตรผลิต ‘ยาความดันโลหิตสูง-หัวใจ’ หลังต่อสู้ยาวนานกว่า 7 ปีภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี นายกสภาเภสัชกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 พ.ค.61 ศาลฎีกาได้ตัดสินชี้ขาดให้ถอนรายการยาวาลซาร์แทน (Valsartan) ซึ่งเป็นยาที่ใช้เพื่อรักษาโรคความดันโลหิตสูงและป้องกันหัวใจล้มเหลว ออกจากการขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรยาของประเทศไทย หลังจากที่ต่อสู้ยาวนานกว่า 7 ปี“ศาลฎีกาได้ใช้กระบวนการพิจารณาทรัพย์สินทางปัญญาในเรื่องนี้ตามมาตรฐานสากล โดยใช้ข้อเท็จจริงว่า กระบวนการผลิตยาเม็ดที่ถูกนำไปจดสิทธิบัตรคุ้มครองนั้น เป็นกระบวนการผลิตที่มีสอนเป็นปกติให้กับนักศึกษาของคณะเภสัชศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทุกคนที่มีความรู้ทางเภสัชกรรมก็สามารถทำได้ ไม่ควรได้สิทธิบัตรคุ้มครอง จึงขอให้ศาลฎีกาพิจารณายกเลิกการจดสิทธิบัตรฉบับนี้” นายกเภสัชกรรมกล่าวทั้งนี้ ในอดีตเมื่อบริษัทยาได้คิดค้นยาดังกล่าวแล้ว ได้ทำการจดสิทธิบัตรตัวยา และจดสิทธิบัตรกรรมวิธีการผลิตเป็นยาเม็ดเพิ่มเติมอีก 1 ฉบับ ที่สหรัฐอเมริกา และได้รับการคุ้มครองทั่วโลกยาวนานถึง 20 ปี โดยภายหลังที่สิทธิบัตรตัวยาดังกล่าวหมดอายุลง บริษัทยาในประเทศไทยได้ผลิตยาดังกล่าวออกมาแข่งขัน แต่ถูกบริษัทยาข้ามชาติฟ้องร้องว่าเป็นการละเมิดสิทธิบัตรกรรมวิธีการผลิตยา ทำให้มีการต่อสู้คดีกัน*********บทเรียนการใช้สิทธิกับการจัดการปัญหาอาคารสูงผิดกฎหมายในชุมชนเมื่อวันที่ 30 เม.ย.61 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ เครือข่ายผู้เสียหายจากอาคารสูงและตัวแทนผู้ได้รับความเสียหายจากชุมชนต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จัดเวทีสภาผู้บริโภคเรื่อง “บทเรียนการใช้สิทธิของผู้บริโภค กับการจัดการปัญหาอาคารสูงผิดกฎหมาย” เพื่อสะท้อนปัญหาอาคารสูงในซอยแคบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและความเป็นอยู่ของชุมชนนายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กำหนดว่า ซอยที่มีความกว้างไม่เกิน 10 เมตรตลอดแนวไปจนถึงถนนสาธารณะ จะไม่สามารถก่อสร้างอาคารที่มีความสูงเกิน 8 ชั้น หรือเกินกว่า 23 เมตรได้ เพื่อให้รถดับเพลิงหรือกู้ภัยสามารถเข้าไปช่วยเหลือในกรณีที่เกิดเพลิงไหม้อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวยังมีความไม่ชัดเจนเรื่องวิธีการวัดความกว้างของถนน บางครั้งจึงมีการวัดความกว้างถนนโดยรวมพื้นที่ฟุตบาทเข้าไปด้วย ทำให้เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ รถดับเพลิงจึงไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ ดังนั้นจึงอยากเสนอให้มีการแก้ไขตัวบทกฎหมายให้ชัดเจน โดยระบะให้วัดความกว้างของถนนเฉพาะบริเวณผิวถนนที่รถสามารถวิ่งได้เท่านั้น”นายนรฤทธิ์ โกมลารชุน ตัวแทนผู้บริโภคกลุ่มชมรมอนุรักษ์พญาไท เสนอว่า หนึ่งในวิธีที่จะปกป้องสิทธิของชุมชน คือ อย่ารอให้โครงการเริ่มก่อสร้างแล้วค่อยจัดการ แต่ต้องป้องกันไว้ก่อน ด้วยการพิจารณาสภาพแวดล้อมในชุมชน ทั้งเรื่องความกว้างของถนน ฝุ่น เสียง ฯลฯ เช่น หากถนนในซอยกว้างไม่ถึง 10 เมตร แต่กำลังจะมีโครงการก่อสร้างคอนโดสูงเกิน 8 ชั้น ก็สามารถคาดการณ์ได้ว่าผิดกฎหมายแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 ป่วย เพราะอาหารเสริม?

มีผู้บริโภคอีกจำนวนไม่น้อยเลย ที่ยังคงสับสนระหว่างคำว่า “ยา” และ “อาหาร” ซึ่งส่วนใหญ่มักรับประทาน อาหาร เข้าไป แต่เผลอคิดไปว่าสามารถช่วยบำบัด รักษาโรคหรือออกฤทธิ์ได้เหมือน ยา ดังในกรณีของผู้ร้องรายนี้ ที่เธอรับประทาน ‘อาหารเสริม’ เข้าไป แต่คาดหวังสรรพคุณในการโรค คุณพลอยต้องการลดน้ำหนัก จึงตัดสินใจรับประทานอาหารเสริมยี่ห้อ Mizme เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว เพราะเห็นว่าเพื่อนกินแล้วหุ่นดีขึ้น อย่างไรก็ตามหลังรับประทานอาหารเสริมดังกล่าวไปได้จำนวน 7 กล่อง เธอกลับรู้สึกถึงอาการผิดปกติของร่างกาย และมีอาการแน่นหน้าอกเป็นประจำ จึงไปพบแพทย์และพบว่าเส้นเลือดหัวใจอักเสบ ซึ่งแพทย์ได้สันนิษฐานสาเหตุว่า อาจเกิดจากการการรับประทานอาหารเสริมดังกล่าวเข้าไป คุณพลอยจึงติดต่อไปยังบริษัทผู้ผลิตอาหารเสริม เพื่อขอให้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ทางบริษัทตอบกลับมาว่าเลิกผลิตยี่ห้อนี้ไปแล้ว และไม่ขอรับผิดชอบใดๆ เพราะอาการดังกล่าวอาจเกิดจากยาตัวอื่นก็เป็นได้ส่งผลให้คุณพลอยส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพื่อขอคำปรึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ผู้ร้องต้องการให้ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ ช่วยตรวจสอบส่วนประกอบของอาหารเสริมยี่ห้อดังกล่าว ว่ามีสารอันตรายที่สามารถส่งผลต่ออาการของเธอจริงหรือไม่ ศูนย์ฯ จึงแนะนำผู้ร้องเบื้องต้นว่า สามารถส่งผลิตภัณฑ์ต้องสงสัยไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อขอให้ช่วยตรวจสอบได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตามหลังได้รับเรื่องร้องเรียนไม่นาน ผู้ร้องได้แจ้งกลับมาว่าขอยุติการร้องเรียน เนื่องจากพบข่าว สสจ.จังหวัด นำเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมแหล่งผลิตยาลดความอ้วนยี่ห้อดังกล่าวแล้ว ซึ่งมีการปลอมหมายเลข อย. นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังแจ้งข้อหาอื่นๆ อีก คือ 1. ตั้งโรงงานผลิตอาหารเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต 2.ผลิตอาหารปลอม 3.โฆษณาโอ้อวดสรรพคุณอันเป็นเท็จเป็นการหลอกลวงให้เกิดความเชื่อโดยไม่สมควร และ 4.ผลิตหรือนำเข้า หรือจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ ทั้งนี้เจ้าหน้ายังระบุว่า อาหารเสริมดังกล่าวเคยถูกร้องเรียนและตรวจพบส่วนผสมของ ยาฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) หรือยาที่ใช้สำหรับคนไข้จิตเวช/ โรคซึมเศร้า โดยมีผลทำให้ไม่อยากอาหาร และหากใช้ไปนานๆ ระยะยาว อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง บางรายอาจถึงขั้นอยากฆ่าตัวตายได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 205 อาหารที่ไม่เข้ากัน

อยู่ ๆ ก็มีคำถามจากบรรณาธิการฉลาดซื้อว่า มีบทความหนึ่งชื่อ “เกือบเอาชีวิตไม่รอด ห้ามกินคู่กันเด็ดขาด มีพิษร้ายแรงเทียบเท่าสารหนู” ซึ่งลงไว้ในเว็บไทยเว็บหนึ่งในอินเตอร์เน็ทเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2018 โดยมีคำบรรยายต่อว่า “ยังดีที่มา รพ. ทัน ไม่งั้นอาจถึงแก่ชีวิตได้? แพทย์เผยสาเหตุ..ของหญิงวัย 30 ที่ป่วยอยู่..แล้วกินกล้วยกับของเหล่านี้เข้าไปคู่กันโดยคาดไม่ถึงว่ามันจะอันตรายขนาดนี้?” เป็นบทความที่น่าเชื่อหรือไม่ เพราะดูค่อนข้างแปลกรายละเอียดต่อจากหัวข้อข่าวกล่าวว่า “....หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่ากล้วยหอมห้ามกินกับอะไรบ้าง เหมือนกับผู้ป่วยรายนี้ที่รับประทานกล้วยกับโยเกริต์เข้าไปพร้อมกัน พอเวลาผ่านไปสักพัก เขาเริ่มเกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรงจนทนไม่ไหว ทางบ้านจึงรีบพาส่ง รพ. แพทย์รีบเช็คดูอาการแล้วจึงรีบล้างท้องโดยด่วน พร้อมเผยว่าหญิงวัย 30 รายนี้ได้รับประทานอะไรเข้าไปหรือป่าว หญิงรายนี้เลยบอกแค่ว่าเขา รับประทานแค่กล้วยกับโยเกริต์เข้าไป แต่ไม่คิดว่าจะปวดท้องมากขนาดนี้…”ลักษณะข่าวดังกล่าวนี้ดูเป็นเรื่องน่าสนใจทันทีเพราะ เป็นเรื่องของกล้วยหอมและเรื่องของโยเกิร์ต ซึ่งบางคนกินแยกกันและบางคนกินผสมกัน(โดยเฉพาะฝรั่งหลายชาติอาจปั่นเป็น smoothie ดังปรากฏเป็นสูตรอาหารเช้าในเน็ต เมื่อใช้คำว่า banana and yogurt ใน google search) แต่พอมีข่าวเกี่ยวกับการก่ออันตรายได้ทั้งที่เป็นอาหารที่เราคุ้นชิน คำถามจึงควรมีต่อไปว่า คำแนะนำนั้นอยู่บนฐานของความจริงเพียงใดในชั้นต้นนั้นเมื่อดูคำแนะนำของผู้หวังดีก็พบว่า คำแนะนำนั้นขาดที่มาหรือไม่ให้เหตุผลว่า ทำไมถึงห้าม อยู่ ๆ ก็มาห้าม เหมือนโกรธกับแม่ค้าขายกล้วยหอม หรือเคืองพ่อค้าขายโยเกิร์ต ซึ่งก็คงไม่ใช่ ในฐานะที่ผู้เขียนเคยทำการสอนวิชาที่เกี่ยวกับความปลอดภัยในการบริโภคอาหารจึงได้พยายามสืบต่อว่า ข้อห้ามนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร สุดท้ายเมื่อเข้าไปดูหลายๆ เว็บทั้งไทยและเทศที่แนะว่าไม่ควรกินกล้วยหอมกับโยเกิร์ตแล้วก็พบว่า ต่างก็อาศัยข้อมูลพื้นฐานจากศาสตร์โบราณของชาวฮินดูคือ อายุรเวท (Ayurveda มาจากภาษาสันสกฤตว่า อายุส แปลว่าชีวิต และเวท แปลว่า ศาสตร์ รวมแปลว่า ศาสตร์แห่งชีวิต) ผู้เขียนได้พบบทความสั้น ๆ เรื่อง Food Combining เขียนโดย Vasant Lad ซึ่งคงเป็นคนในกลุ่มของ The Ayurvedic Institute ที่ตั้งอยู่ในรัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา ซึ่งผู้เขียนได้พยายามทำความเข้าใจในเนื้อหาเพื่อนำมาเล่าให้ผู้อ่านที่ไม่เคยสนใจในอายุรเวททราบดังนี้ อายุรเวทนั้นเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวกับการบำบัดโรคและอาการผิดปรกติของร่างกาย ซึ่งส่วนหนึ่งของศาสตร์นี้กล่าวถึงเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารที่ต้องเลือกให้ถูกถ้าจะผสมกันก่อนกิน ตามความเชื่อทางอายุรเวท อาหารแต่ละชนิดมีความเฉพาะในรสชาติ ความเกี่ยวข้องเกี่ยวกับการให้พลังงานและผลที่เกิดหลังการย่อยต่างกัน ดังนั้นหนทางในการถูกย่อยของอาหารแต่ละชนิดจึงแตกต่างกัน การนำอาหารสองอย่างขึ้นไปมาผสมกันนั้นจำต้องคำนึงถึงกระบวนการย่อยอาหารที่ถูกผสมนั้นว่าไม่ขัดขวางกัน เพราะสุดท้ายแล้วความไม่เหมาะสมของการผสมอาหารนั้นอาจก่อให้เกิดสารพิษขึ้นมาได้ (ประเด็นนี้น่าสนใจมาก เสียดายในบทความไม่ได้ยกตัวอย่างว่าได้แก่อะไรบ้าง...ผู้เขียน) ซึ่งต่างจากการกินอาหารดังกล่าวแต่ละชนิดต่างเวลากัน อาหารทั้งหมดนั้นกลับช่วยให้ร่างกายดำรงชีวิตได้อายุรเวทกล่าวประมาณว่า การผสมอาหารที่ไม่เข้ากันนั้นอาจก่อให้เกิดการย่อยที่ไม่สมบูรณ์ในร่างกายผู้กิน ส่งผลให้มีการหมัก จนเกิดก๊าซในทางเดินอาหาร ตัวอย่างเช่น การกินนมกับกล้วยนั้นทำให้เกิดการยับยั้งการย่อยในกระเพาะอาหาร ปรับเปลี่ยนจุลินทรีย์ธรรมชาติที่มีในลำไส้ใหญ่จนเกิดการสร้างสารพิษที่ก่อให้เกิดอาการไซนัสอักเสบ หนาว ไอ และแพ้อาหาร โดยมีคำอธิบายทางอายุรเวทประมาณว่า ถึงอาหารทั้งสองต่างให้พลังเย็นต่อร่างกาย แต่ผลที่เกิดขึ้นหลังการย่อยแล้วกลับต่างกันโดยกล้วยนั้นให้รสเปรี้ยวแต่นมให้รสหวาน ส่งผลให้ระบบการย่อยอาหารสับสนจนเกิดสารพิษและความไม่สมดุลต่าง ๆ ได้ Vasant Lad ยกตัวอย่างอาหารที่ก่อปัญหาประมาณว่า ไม่ควรดื่มนมพร้อมไปกับแตงต่างๆ แม้ว่าอาหารทั้งสองให้พลังเย็นต่อร่างกาย แต่นมนั้นมีฤทธิ์ส่งผลให้เกิดการถ่ายท้อง ในขณะที่แตงช่วยระบายปัสสาวะ โดยปรกติแล้วนมนั้นต้องการเวลาในการย่อยมากกว่าแตง นอกไปจากนี้กรดในกระเพาะอาหารนั้นก็เป็นที่ต้องการในการย่อยแตงส่งผลให้นมตกตะกอน(curdle) ซึ่งไม่ดีต่อการย่อยอาหาร ความในข้อนี้ดูแปลกเพราะ ในความเป็นจริงทางสรีรวิทยาการย่อยอาหารแล้ว แตงนั้นไม่มีส่วนใดที่ควรถูกย่อยในกระเพาะอาหารเนื่องจากมีโปรตีนต่ำ น้ำตาลในแตงจะถูกย่อยด้วยน้ำย่อยจากตับอ่อนในลำไส้เล็ก และส่วนใหญ่ของแตงนั้นคือ ใยอาหาร จะไม่ถูกย่อยแต่ส่งผลในด้านการป้องกันมะเร็งในทางเดินอาหาร และสิ่งที่ตรงข้ามกับความรู้ทางอายุรเวทคือ การตกตะกอนของนมนั้นจริงแล้วเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นกับโปรตีนทุกชนิดก่อนที่จะถูกย่อยบางส่วนด้วยเอ็นซัมเป็บซินในกระเพาะอาหาร แล้วจึงส่งต่อให้ถูกย่อยจนสำเร็จด้วยเอ็นซัมจากตับอ่อนในลำไส้เล็กนอกจากนี้ผู้เขียนยังได้พบบทความอีกหนึ่งบทความชื่อ Viruddha Ahara: A critical view ซึ่งเขียนโดย M. Sabnis (www.ayujournal.org/text.asp?2012/33/3/332/108817) ผู้ซึ่งอธิบายถึงเรื่องราวของ Viruddha Ahara ซึ่งเป็นแนวคิดเฉพาะเรื่องที่อธิบายไว้ในอายุรเวท (Ayurveda) โดยคำว่า Viruddha Ahara นั้นหมายถึง ปฏิสัมพันธ์ต่อกันระหว่างอาหารกับอาหาร ซึ่งรวมถึงปฏิสัมพันธ์ขององค์ประกอบในอาหารระหว่างการแปรรูปอาหาร ในขณะที่คำที่มีความหมายถึง อาหารที่ไม่เข้ากัน นั้นอายุรเวทใช้คำศัพท์ว่า Viruddha Anna M. Sabnis ยกตัวอย่างการกินอาหารที่ไปด้วยกันไม่ได้ตามหลักอายุรเวท ซึ่งก่ออันตรายต่อร่างกาย ได้แก่ กินปลากับนม กินน้ำผึ้งกับเนยใสหรือกีในสัดส่วนที่เท่ากัน (เนยใสหมายถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม หรือครีม หรือเนย ซึ่งใส่จุลินทรีย์หรือไม่ก็ตาม โดยแยกธาตุน้ำนมไม่รวมมันเนยและระเหยเอาน้ำออก) ดื่มน้ำร้อนหลังจากกินน้ำผึ้ง กินอาหารที่ไม่ถูกต้องตามกาลเวลา เช่น กินอาหารรสฉุนในฤดูร้อนและอาหารรสเย็นในช่วงฤดูหนาว ดื่มน้ำเย็นทันทีหลังดื่มชาร้อนหรือกาแฟร้อน เป็นต้นผู้รู้ในศาสตร์อายุรเวทนี้ได้ทำบัญชีรายชื่ออาหารที่ไม่เข้ากัน ซึ่งถ้ามีการบริโภคเข้าไปพร้อมกันแล้ว ผู้บริโภคอาจเกิดปัญหาความเสื่อมสมรรถภาพทางเพศไปจนอาจเป็นหมันได้ ผู้ที่สนใจในรายชื่ออาหารที่ส่อให้เกิดปัญหาต่างๆ นั้นสามารถตามเข้าไปดูในเว็บดังกล่าวข้างต้นที่ M. Sabnis เขียนบทความนี้ได้นอกจากคำแนะนำในการกินอาหารที่ไม่เข้ากันทางอายุรเวทแล้ว ข้อมูลลักษณะเดียวกันนี้ย่อมต้องมีในชนชาวจีน ซึ่งมีรากฐานทางวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมานานไม่ต่างจากชาวอินเดีย ผู้เขียนได้พบข้อมูลที่เป็นข้อห้ามในการกินอาหารที่ไม่เหมาะกันของชาวจีน ในบทความชื่อ Dangerous food combinations ซึ่งปรากฏในเว็บ martalivesinchina.wordpress.com เมื่อวันที่ 27 เดือนตุลาคม 2016 โดยกล่าวประมาณว่า อย่ากินมะเขือเทศพร้อมกุ้ง (กุ้งมีอะไรบางอย่างที่เมื่อผสมกับมะเขือเทศกลายเป็นพิษ) น้ำผึ้งพร้อมต้นหอม (ก่อปัญหาต่อดวงตา) ไก่พร้อมผักชีฝรั่ง (มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันอ่อนลง) เนื้อเห็ดพร้อมเนื้อลา (ทำให้เส้นเลือดแดงทำงานผิดปรกติ) แครอทพร้อมหัวไชเท้า (ลดประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันและทำให้เกิดการติดเชื้อในเลือด) มันฝรั่งพร้อมลูกพลับ (อาจเกิดนิ่วในไตได้) เป็นต้น ซึ่งผู้เขียนมองว่า เหตุผลที่อยู่ในวงเล็บนั้นดูไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด ความเชื่อเรื่องการกินอาหารของชาวจีนก็คงไม่ต่างจากชาวอินเดีย กล่าวคือ อาศัยประสบการณ์จดจำและบันทึกจากผลที่เกิดกับการกินอาหารต่างๆ แล้วก่ออันตรายแก่คนบางคน ซึ่งอาจไม่ใช่ทุกคน จึงเป็นที่น่าเสียดายที่ข้อมูลการห้ามการกินอาหารบางอย่างร่วมกันนี้ไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นจริงหรือไม่ทางวิทยาศาสตร์แผนปัจจุบัน ดังนั้นสำหรับความเชื่อดังกล่าวท่านผู้อ่านที่นับถือพุทธศาสนาก็คงต้องอาศัยหลักการทางกาลามสูตร 10 ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นที่พึ่งไปก่อน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 ผิวเต่งตึงด้วยกรดไฮยาลูโรนิก (ตอนที่ 2)

มาต่อกันกับเรื่อง ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกรดไฮยาลูโรนิก ซึ่งเป็นสารสำคัญสำหรับเซลล์ผิวหนัง ในการช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นทำให้ผิวไม่แห้งตึง โดยฉบับที่ผ่านมาเราได้พูดถึงกรดไฮยาลูโรนิกในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางกันไปแล้ว คราวนี้เราลองมาดูกรดไฮยาลูโรนิกในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกันบ้าง มารู้จักผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกันสักนิดผู้บริโภคส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและอาหารเสริมมีความหมายเดียวกัน แต่จริงๆ แล้วอาหารทั้ง 2 ประเภทนี้มีความแตกต่างกันอยู่เล็กน้อยตรงที่ “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” คือผลิตภัณฑ์ที่ใช้รับประทานนอกเหนือจากการรับประทานอาหารตามปกติ และไม่สามารถใช้รับประทานแทนอาหารหลักได้ โดยมีสารอาหารหรือสารอื่นเป็นองค์ประกอบ และอยู่ในรูปแบบเม็ด แคปซูล ผง เกล็ด ของเหลวหรือลักษณะอื่น ซึ่งมีจุดมุ่งหมายให้บุคคลทั่วไปที่มีสุขภาพปกติรับประทาน ในขณะที่ “อาหารเสริม” จะหมายถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากอาหารจริงๆ เช่น ฟักทองบด ที่เป็นอาหารเสริมสำหรับเด็กเล็ก หรือ โจ๊กปั่น ที่เป็นอาหารเสริมสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาในการกินอาหาร ซึ่งมีจุดมุ่งหมายสำหรับใช้กินเป็นมื้อเสริมเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีวิตามินบางชนิดที่จัดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอีกด้วย โดยผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อเองได้ตามท้องตลาดทั่วไป อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ต้องมีการควบคุมคุณภาพและได้รับการรับรองจาก อย. ซึ่งผู้บริโภคควรตรวจสอบก่อนซื้อมารับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของกรดไฮยาลูโรนิกแม้ปัจจุบันจะมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของกรดไฮยาลูโรนิกจำนวนมาก ซึ่งผู้บริโภคหลายคนรับประทานกันเป็นประจำอยู่แล้ว และเชื่อมั่นว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสามารถช่วยชะลอความเหี่ยวย่นได้จริง แต่เราไม่ควรลืมว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก็ถือว่าเป็นอาหารประเภทหนึ่ง ซึ่งช่วยเสริมสารอาหารบางอย่างให้กับร่างกายตามที่กล่าวไว้ข้างต้น และไม่ควรถูกโฆษณาอวดอ้างในลักษณะสรรพคุณทางยาหรือเครื่องสำอาง เช่น เสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย บำรุงหัวใจ ลดการดูดซึมไขมัน ทำให้ผิวขาวเปล่งปลั่ง กระชับรูขุมขนหรือลดรอยเหี่ยวย่น เป็นต้น อย่างไรก็ตามเรามักพบว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลายยี่ห้อตามท้องตลาด มักโฆษณาว่ามีฤทธิ์หรือให้สรรพคุณคล้ายกับยารักษาโรค จนทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่เกิดความสับสนหรือเข้าใจผิดได้เราจึงควรสำรวจผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก่อนตัดสินใจซื้อด้วยวิธีการง่ายๆ อย่างการอ่านฉลาก ซึ่งหากพบว่ามีเลขสารบบอาหาร 13 หลักก็แสดงให้ว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจัดเป็นอาหารและไม่มีสรรพคุณทางยาใดๆ แต่หากพบว่ามีเลขทะเบียนยา เช่น Reg. No. …/.. ก็หมายถึงผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจัดเป็นยารักษาโรค ซึ่งเราสามารถคาดหวังสรรพคุณหรือการออกฤทธิ์ต่อร่างกายได้ ไม่ว่าจะเป็นป้องกันโรค ส่งเสริมสุขภาพ บำบัด บรรเทา รักษาโรค หรือให้ออกฤทธิ์ในการเติมเต็มร่องลึกและทำให้ผิวหนังเต่งตึงขึ้น แต่ทั้งนี้ประสิทธิผลก็ขึ้นอยู่กับการดูดซึมของร่างกายแต่ละคนด้วยวิธีการง่ายๆ ในการตรวจสอบฉลากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนอกจากเราควรตรวจสอบเลขสารบบอาหาร 13 หลักแล้ว ยังมีรายละเอียดอื่นๆ ที่กฎหมายกำหนดให้ฉลากของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่จำหน่ายต่อผู้บริโภคต้องระบุ ดังนี้1. ชื่ออาหาร โดยมีคำว่า “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” เป็นส่วนหนึ่งของชื่ออาหารหรือกำกับชื่ออาหาร 2. เลขสารบบอาหาร 3. ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า (แล้วแต่กรณี) 4. ปริมาณของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่บรรจุ 5. ชื่อและปริมาณของส่วนประกอบสำคัญของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และส่วนประกอบที่มีการกล่าวอ้างสรรพคุณ คุณประโยชน์ ในฉลากของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 6. ข้อความว่า “ใช้วัตถุกันเสีย” (ถ้ามี) 7. ข้อความว่า “เจือสีธรรมชาติ” หรือ “เจือสีสังเคราะห์” (ถ้ามี) 8. ข้อความว่า “แต่งกลิ่นธรรมชาติ” “แต่งกลิ่นเลียนธรรมชาติ” “แต่งกลิ่นสังเคราะห์” “แต่งรสธรรมชาติ” หรือ “แต่งรสเลียนธรรมชาติ” (ถ้ามี) 9. ข้อความชัดเจนว่า “การได้รับสารอาหารต่างๆ นั้น ควรได้จากการบริโภคอาหารหลักที่หลากชนิดครบทั้ง 5 หมู่ และเป็นสัดส่วนที่พอเหมาะ” 10. คำแนะนำในการใช้ 11. คำแนะนำในการเก็บรักษา (ถ้ามี) 12. วันเดือนและปีที่ผลิต/ หมดอายุการบริโภค ทั้งนี้การแสดงข้อความตามข้อ (12) ต้องมีข้อความที่ฉลากระบุตำแหน่งที่แสดงข้อความดังกล่าวด้วย 13. คำเตือนการบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง การกล่าวอ้างทางสุขภาพ (Health claim) และคำเตือนการบริโภคอาหาร 14. ข้อมูลเฉพาะอื่นๆ ถ้าเข้าข่ายตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ใช้ หรือฉลากโภชนาการ เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >