ฉบับที่ 182 รู้จัก “เครดิตลิมิต” ชีวิต 4G จ่ายไม่เกินร้อย

ข่าวดีของผู้ใช้โทรศัพท์แบบรายเดือนก็คือ คุณสามารถควบคุมค่าใช้บริการได้โดยการกำหนดวงเงินค่าใช้บริการ เครดิตลิมิต (Credit Limit) โดยแจ้งกับบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่คุณใช้งานอยู่ว่าต้องการจำกัดวงเงินค่าบริการไว้ไม่ให้เกินกี่บาท ดังนั้นค่าบริการ ไม่ว่าจะเป็น ค่าเน็ต ค่าโทรศัพท์ ค่า sms หรือบางคนอาจจะมีค่าบริการจากการซื้อแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่เรียกเก็บมาในบิล รวมแล้วจะต้องไม่เกินกว่าวงเงินที่คุณกำหนดไว้ โทรศัพท์มือถือ Smart Phone เดี๋ยวนี้ ทำอะไรได้มากมาย นอกจากเป็นโทรศัพท์ เอาไว้ติดต่อ โทรออก-รับสายแล้ว ยังใช้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ท่องเว็บไซต์ เล่นเกมส์ ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นต่างๆ พูดคุยติดต่อสื่อสารกับผู้คนผ่าน Social Network หรือจะช็อปปิ้งซื้อของออนไลน์ก็สามารถทำได้ไม่ยาก จะดูหนัง ฟังเพลง ก็มีให้เลือกจนตาลาย หลายคนใช้แล้วก็ติดใจ เพราะมันทำให้ชีวิตมีสีสัน สะดวกสบาย และสนุกสนาน แต่ก็อย่างที่รู้กันว่า “โลกนี้ไม่มีอะไร ฟรี” ทุกอย่างมีราคาที่เราต้องจ่าย บางคนได้รับบิลค่าโทรศัพท์แล้วแทบจะเป็นลม เพราะถูกเรียกเก็บค่าบริการอินเทอร์เน็ตหลายพัน หลายหมื่น หรือบางรายโดนกันไปเป็นแสนบาท ก็เคยมีมาแล้ว   ปัญหาทำนองนี้ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเจ้าโทรศัพท์ Smart Phone รุ่นใหม่ๆ นี่แหละ ด้วยความที่มันฉลาดแสนรู้ สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้เองโดยอัตโนมัติ เพื่อคอยอัพเดท App ต่างๆ ให้ทันสมัยอยู่เสมอ นอกจากนี้ คนที่มีเพื่อนในโซเชียลเยอะๆ เดี๋ยวคนโน้นอัพรูปขึ้นเฟซบุ๊ค เดี๋ยวคนนี้แชร์คลิปมาในไลน์ เผลอแปล๊บเดียวใช้อินเทอร์เน็ตหมดแล้ว ซึ่งการใช้งานส่วนที่เกินจากแพ็คเกจที่สมัครไว้นี่ ถ้าไม่ได้ซื้อแบบเหมาจ่าย Unlimited บริษัทมือถือจะคิดค่าบริการตามปริมาณข้อมูลที่ใช้งาน ราคาประมาณ 1 -2 บาท/MB ขึ้นอยู่กับโปรโมชั่นของแต่ละค่าย และเป็นแนวโน้มของแพ็คเกจ 4G ที่เราจะไม่ค่อยเห็นโปรโมชั่นเหมาจ่าย Unlimited เพราะโครงข่ายไม่เพียงพอที่จะรองรับลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่มีพฤติกรรมต่อเน็ตทิ้งไว้ตลอดเวลา โปรโมชั่นของ 4G จึงมักจะกำหนดปริมาณข้อมูลที่ลูกค้าสามารถใช้งานได้ เช่น จ่าย 488 บาท เล่นเน็ตได้ 10 GB ส่วนเกินจากนี้คิดตามจริงเป็น MB ตามปริมาณ ซึ่งจะแตกต่างจากลักษณะโปรโมชั่นของ 3 G ที่ผ่านมา ที่เมื่อใช้เกินจะปรับลดความเร็วลงแต่ไม่ได้คิดเงินเพิ่ม ใครที่ใช้โทรศัพท์แบบเติมเงิน ปัญหาก็อาจจะไม่หนักมาก เพราะพอหมดเงินที่เติมไว้ โทรศัพท์มันก็ตัดบริการไปเอง แต่คนที่ใช้แบบรายเดือนจะเสี่ยงหน่อย เพราะค่าใช้จ่ายจะเกิดขึ้นตามการใช้งานของคุณ ซึ่งบอกไว้เลยว่า มือถือ 4G นี่ ยิ่งเน็ตแรงเท่าไร โอกาสที่ค่าบริการจะพุ่งก็มีมากเท่านั้น เพราะยิ่งโหลดไว ผู้บริโภคก็ยิ่งเพลิน ดูหนังฟังเพลงไปเรื่อย อย่างดู youtube นี่ เมื่อคำนวณออกมาจะใช้เน็ตประมาณ 1.5 MB/นาที ถ้าค่าบริการ MB ละ 1 บาท ดู 1 ชั่วโมง ก็ต้องจ่าย 90 บาท แล้วเดี๋ยวนี้คนเราจ้องหน้าจอมือถือวันละกี่ชั่วโมงก็ลองนึกดูแล้วกันครับ ข่าวดีของผู้ใช้โทรศัพท์แบบรายเดือนก็คือ คุณสามารถควบคุมค่าใช้บริการได้โดยการกำหนดวงเงินค่าใช้บริการ เครดิตลิมิต (Credit Limit) โดยแจ้งกับบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่คุณใช้งานอยู่ว่าต้องการจำกัดวงเงินค่าบริการไว้ไม่ให้เกินกี่บาท ดังนั้นค่าบริการ ไม่ว่าจะเป็น ค่าเน็ต ค่าโทรศัพท์ ค่า smsหรือบางคนอาจจะมีค่าบริการจากการซื้อแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่เรียกเก็บมาในบิล รวมแล้วจะต้องไม่เกินกว่าวงเงินที่คุณกำหนดไว้ เมื่อค่าใช้จ่ายใกล้เต็มวงเงินบริษัทจะโทรศัพท์ หรือ sms มาแจ้งเตือนให้ทราบล่วงหน้า และเมื่อมีค่าใช้จ่ายเกินบริษัทก็จะระงับบริการชั่วคราวเอาไว้ก่อน เพื่อมิให้เกิดค่าใช้จ่ายเกินกว่าวงเงินที่คุณกำหนดไว้ แต่หากวันดีคืนดีเกิดมีค่าใช้จ่ายเกินมา คุณก็สามารถร้องเรียนกับสำนักงาน กสทช. ได้ ซึ่งที่ผ่านมา คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมได้เคยมีมติให้บริษัทมือถือคิดค่าบริการกับผู้ร้องเรียนได้เฉพาะในส่วนที่ไม่เกินกว่าวงเงินที่จำกัดไว้ จริง ๆ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีมาตั้งแต่สมัย 2G แล้ว เพียงแต่ที่ต้องหยิบมาเล่าให้ฟังอีกครั้งก็เพราะในยุค 4G นี้ โอกาสเกิดปัญหา Bill Shock จากค่าบริการอินเทอร์เน็ตมันจะมีมากกว่า และความเสียหายจะร้ายแรงกว่า ดังนั้นลองหยิบใบแจ้งค่าใช้บริการของคุณมาตรวจสอบดูสิว่า ได้ระบุจำกัดวงเงินค่าใช้บริการไว้ตรงกับที่คุณแจ้งหรือไม่ เพราะเคยมีกรณีที่ผู้บริโภคจำได้ว่ากำหนดวงเงินค่าบริการไว้แค่ไม่กี่ร้อยบาท แต่ถูกเรียกเก็บค่าบริการเป็นพันบาท สอบถามไปจึงได้ความว่า บริษัทเห็นว่าเป็นลูกค้าชั้นดี จึงปรับเพิ่มวงเงินค่าบริการให้โดยพละการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ปัจจุบัน บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือแต่ละราย กำหนดเงื่อนไขของเครดิตลิมิตไว้แตกต่างกัน บางค่ายไม่รวมค่าบริการตามแพ็คเกจที่สมัครไว้ เช่น ค่าบริการตามแพ็คเกจ 488 บาท เครดิตลิมิตไว้ 1,000 บาทแบบนี้บริษัทก็จะมีสิทธิคิดค่าบริการได้ในวงเงินไม่เกิน 488 + 1,000 บาท ไม่ใช่ 1,000 บาทถ้วนตามที่เราเข้าใจทั่วไป แต่ส่วนที่เหมือนกันเกือบทุกค่ายก็คือ เครดิตลิมิต นี้จะไม่รวมค่าบริการข้ามแดนอัตโนมัติระหว่างประเทศ (International Roaming) ดังนั้น ลองศึกษาเงื่อนไขจากผู้ใช้บริการของคุณ แล้วกำหนดวงเงินค่าใช้บริการให้เหมาะสมกับพฤติกรรมการใช้งานโทรศัพท์ของคุณ รับรองว่าคุณจะไม่กระเป๋าฉีกเพราะค่าโทร ค่าเน็ตแน่นอน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 111 ฝากเงิน...แถมฝากใจ

วิธีคิดของมนุษย์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจเชิงแลกเปลี่ยนระหว่างคนกับคนนั้นมีอยู่หลายชุดด้วยกัน ตั้งแต่คนกับคนในฐานะคนหนึ่งเป็นผู้ให้กับอีกคนเป็นผู้รับ หรือคนกับคนในฐานะต่างแลกเปลี่ยนเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับด้วยกันทั้งสองฝ่าย หรือคนกับคนในฐานะผู้ซื้อกับผู้ขายที่มีเงินเป็นตัวกลาง และอีกรูปแบบหนึ่งของความสัมพันธ์เชิงแลกเปลี่ยน ที่มนุษย์เราทุกวันนี้ดูจะคุ้นเคยเป็นปกติก็คือ ความสัมพันธ์แบบ “การฝาก” ไม่ว่าจะเป็นการฝากเงิน ฝากดอกเบี้ย ฝากโน่นฝากนี่มากมายไปหมด คุณผู้อ่านคงจะเคยเห็นโฆษณาธนาคารแห่งหนึ่งที่แพร่ภาพทางโทรทัศน์เมื่อเร็วๆ นี้นะครับ โฆษณาเป็นเรื่องราวของชายหนุ่มคนหนึ่งที่เดินเข้ามาในธนาคารด้วยอากัปอาการยุ่งเหยิงสุดชีวิต มือหนึ่งก็คุยธุรกิจอยู่กับโทรศัพท์มือถือ อีกมือหนึ่งก็สาละวนอยู่กับการทำธุรกรรมอยู่กับพนักงานธนาคารหญิงที่เคาน์เตอร์ เรื่องราวบทสนทนาก็ผูกสลับไปมา ระหว่างการคุยโทรศัพท์มือถือเครื่องหนึ่งกับคุณแม่ที่เกิดอุบัติเหตุรถเสียอยู่ อีกเครื่องหนึ่งก็ดังขึ้นและโทรฮัลโหลมาจากนักธุรกิจอีกราย ขณะที่ชายผู้นี้ก็ต้องคุยติดต่ออยู่กับพนักงานธนาคารสาว ฝากให้เธอดูแลทั้งธุรกรรมการเงิน ฝากให้เธอช่วยประสานกับคุณแม่ที่เขากำลังจะรีบไปพบ ฝากให้เธอบอกทางให้กับเพื่อนนักธุรกิจที่โทรศัพท์มาหา ฝากเอกสารให้เธอส่งต่อให้ลูกค้าธนาคารอีกคน เรียกได้ว่า ฝากให้เธอจัดการโน่นนี่มากมาย จนคนดูอย่างเราเองก็สับสนไปด้วย ภาพที่เห็นดูสับสนอลหม่านยิ่งนัก จนกระทั่งมีเสียงผู้ประกาศชายพูดขึ้นว่า “ฝากได้ทุกเรื่องที่นี่ ด้วยทุกบริการจากใจที่ให้มากกว่า โดยธนาคาร...” และปิดท้ายด้วยภาพชายผู้นั้นกำลังรีบบึ่งออกจากธนาคารไป จนลืมฝรั่งดองถุงใหญ่เอาไว้ และพนักงานสาวก็ตะโกนเรียกขึ้นว่า “คุณคะ...อันนี้ไม่รับฝากนะคะ” ชายหนุ่มก็พูดตอบโดยพลันว่า “อันนั้นของฝากก็แล้วกันครับ” โดยมีพนักงานผู้นั้นส่งรอยยิ้มพริ้มเพรามาให้เป็นการตอบแทน แถมเธอผู้นั้นยังน้อมโค้งให้กับผู้ชม(คล้าย ๆ กับสาวญี่ปุ่น) และพูดว่า “ฝากด้วยนะคะ...” อย่างที่ผมบอกไปตอนแรกนะครับว่า รูปแบบความสัมพันธ์แลกเปลี่ยนระหว่างมนุษย์นั้นมีหลายลักษณะตั้งแต่อดีต โดยเฉพาะกับสังคมสมัยก่อน ความสัมพันธ์แบบกระแสหลัก จะเป็นแบบการสลับกันเป็นผู้ให้บ้างผู้รับบ้าง ดังตัวอย่างกรณีของวัฒนธรรมชาวนาดั้งเดิม จะมีประเพณีการ “ขอแรง/เอาแรง/ช่วยแรง” อันหมายความว่า เมื่อชาวนาบ้านหนึ่งไป “ขอแรง/เอาแรง” จากชาวนาบ้านสองให้มาช่วยลงแขกเกี่ยวข้าวดำนา พอเสร็จจากที่นาของตนเองแล้ว ชาวนาบ้านหนึ่งก็จะไป “ช่วยแรง” บ้านสองเป็นการตอบแทน หรือแลกเปลี่ยนแรงงานสลับกันไปมา ความสัมพันธ์แบบลงแขกช่วยแรงเช่นนี้ เบื้องหลังก็คือการสอนให้สมาชิกในสังคมได้รู้จักที่จะเป็นทั้ง “ผู้ให้” และเป็น “ผู้รับ” ในเวลาเดียวกัน หรือถ้าจะพูดเป็นภาษาฝรั่งเสียหน่อยก็คือ รู้จักที่จะทั้ง “give and take” ไม่ใช่มีแต่จะ “take” แต่ฝ่ายเดียว ความสัมพันธ์แลกเปลี่ยนแบบ “give and take” นั้น เริ่มจะปรับเปลี่ยนเมื่อใดผมไม่อาจทราบ แต่ถ้าจะให้ผมลองอนุมานดู น่าจะเริ่มตั้งแต่ยุคที่อุตสาหกรรมบริการได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ นั่นแปลว่า เมื่อมนุษย์เราเริ่มรู้จักกับธุรกิจบริการรับฝากต่างๆ เช่น กรณีของธุรกิจธนาคารที่รับฝากเงิน หรือธุรกิจรับฝากอื่น ๆ เป็นต้น ธุรกิจแบบนี้ก็ช่วยทำให้มนุษย์มีชีวิตที่สะดวกสบายขึ้น เพราะกิจกรรมหลายอย่างก็ไม่ต้องลงมือทำเอง เพียงแต่มีเงินจ้างให้คนอื่นรับฝากไปดูแลแทน อย่างไรก็ดี ในขณะที่ในความสัมพันธ์แลกเปลี่ยนดั้งเดิม คนกับคนหรือสมาชิกในสังคมจะผูกข้อต่อความสัมพันธ์กันโดยตรงด้วยตัวเอง แต่ในความสัมพันธ์ผ่านธุรกิจรับฝากต่าง ๆ เส้นเชื่อมระหว่างคนกับคนนั้นจะค่อย ๆ เจือจางลง เพราะเป็นธุรกิจรับฝากต่างหากที่เข้ามาเป็นตัวกลางกั้นระหว่างคนกับคนขึ้นมา ในเวลาเดียวกัน เมื่อผู้คนรู้จักกับคำว่า “ฝาก” มากขึ้น การแลกเปลี่ยนชนิดที่มีทั้ง “ให้” และ “รับ” ก็จะเริ่มผันไปสู่การรู้จักแต่จะ “รับ (บริการ)” แต่ทว่า พจนานุกรมของคำว่า “ให้” กลับพลิกค้นหาไปแทบไม่เจอ พร้อมๆ กับที่ความรู้สึกที่เราต้อง “พึ่งพิง” คนอื่นเพื่อความอยู่รอด ก็จะยิ่งมีมากขึ้น ตัวอย่างเช่นการพึ่งพิงการฝากเงินให้ธนาคารดูแล รวมไปถึงการฝากทุกอย่างให้พนักงานสาวรอยยิ้มพริ้มเพราเข้าไปจัดการให้ แบบที่เห็นในโฆษณานั่นเอง และคงเพราะความสัมพันธ์แบบทั้ง “ให้และรับ” นั้น เป็นคุณค่าที่เบาบางจางเจือลงไปจากสำนึกของคนยุคนี้ โฆษณาธนาคารก็เลยมากระตุกต่อมสำนึกเราเสียใหม่ว่า ถ้าเราจะ “ฝาก” ให้ใครต่อใคร(แบบพนักงานสาวในอุตสาหกรรมบริการ) ทำการสิ่งใดๆ แทนเราแล้ว เราก็ควรจะต้องมีจิตสาธารณะที่จะรู้จัก “ให้” (อย่างน้อยก็ให้ถุงฝรั่งดอง) เป็นการตอบแทนกลับคืนมาบ้าง แน่นอนว่า ผมเองก็ไม่ได้คาดหวังให้คนในสังคมเมืองอันทันสมัยต้องถอยย้อนกลับไปใช้ชีวิตเศรษฐกิจแบบเอาแรงช่วยแรงเกี่ยวข้าวดำนาแบบสังคมชาวนาดั้งเดิม เพื่อที่จะให้พวกเขาได้เรียนรู้คุณค่าแบบ “เป็นผู้ให้และเป็นผู้รับ” แต่อย่างน้อย ก็ขอให้คนที่กำลังก้าวเข้าสู่วงจาการรับฝากของบรรดาธุรกิจบริการต่าง ๆ หัดจำเริญรอยตามชายหนุ่มกับถุงฝรั่งดองในโฆษณาดูบ้าง แม้ชีวิตเขาจะดูอลหม่านยุ่งเหยิงกับวิถีการงานที่รัดตัว ต้องฝากโน่นฝากนี่ให้คนอื่นรับไปทำมากมาย แต่อีกด้านหนึ่ง เขาก็ยังรู้จักครวญเพลง “พี่คนนี้นั้นรู้จักให้...” ได้เหมือนกัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 160 โดนขโมยบัตรเดบิตไปรูด ธนาคารพิสูจน์ไม่ได้ ต้องคืนเงิน !!!

เมื่อเดือนมกราคม 2554 เจฟฟรี จี เอเลน หนุ่มใหญ่ชาวออสเตรเลีย พร้อมภรรยา ได้เข้ามาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่า ถูกขโมยรหัสบัตรเดบิตไปใช้ซื้อสินค้าที่สหรัฐอเมริกา ทั้งที่ตนไม่ได้เป็นผู้ใช้ เมื่อติดต่อไปที่ธนาคาร ธนาคารก็ไม่รับผิดชอบ อยากขอให้มูลนิธิฯ ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ สอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้ความว่า เจฟฟรี ได้ย้ายมาอาศัยอยู่กินกับอาจารย์ทิพย์รัตน์ ภรรยาชาวไทยที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยได้เปิดบัญชีออมทรัพย์กับธนาคารกรุงไทย สาขาแม่สะเรียง ตั้งแต่วันที่ 13  ตุลาคม 2548 เพื่อฝากเงินที่ได้รับจากสวัสดิการผู้สูงอายุประเทศออสเตรีย และสมัครเป็นผู้ถือบัตรเดบิตและทำสัญญาเป็นผู้ใช้บัตรเดบิต เพื่อนำไปใช้ชำระค่าซื้อสินค้าและบริการต่างๆ แทนเงินสด และในการเบิกถอนเงินจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติ หรือ เอทีเอ็มต่อมาประมาณวันที่ 27 กันยายน 2554 เจฟฟรีพบความผิดปกติของจำนวนเงินในบัญชีที่ลดลงจำนวนมาก จึงติดต่อไปธนาคารกรุงไทยสาขาแม่สะเรียง เพื่อขอให้ตรวจสอบความผิดปกตินี้ เจ้าหน้าที่ธนาคารตรวจสอบแล้วแจ้งว่า มีรายการใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2554  ถึงวันที่ 5 กันยายน 2554 รวมเป็นเงิน 120,599.35 บาท ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าว เจฟฟรี และภรรยา ยืนยันว่าทั้งคู่อยู่ในประเทศไทย ไมได้เดินทางออกนอกประเทศไปที่ไหน และไม่เคยให้บัตรหรือรหัสกับผู้ใดไปใช้แน่นอน เจฟฟรีพยายามทักท้วงและให้เหตุผลกับธนาคารเพื่อให้คืนเงินกลับเข้าบัญชี แต่ธนาคารแจ้งว่าไม่พบความผิดปกติ คือธนาคารไม่เชื่อว่าเจฟฟรีไม่ได้ใช้นั่นเอง ธนาคารจึงไม่คืนเงินให้  แนวทางแก้ไขปัญหาทางศูนย์ฯ ได้แนะนำให้ เจฟฟรี เตรียมพยานหลักฐานที่สำคัญเพื่อแก้ข้อกล่าวหาของธนาคารคือ หนังสือเดินทาง ที่ยืนยันว่าในช่วงเวลาดังกล่าว เจฟฟรีอยู่ในประเทศไทย  และให้ทำหนังสือถึงธนาคารเพื่อยืนยันว่าตนไม่ได้เป็นผู้ใช้และไม่ได้มอบบัตรให้บุคคลใดไปใช้ และขอให้ธนาคารแก้ไขคืนเงินในบัญชีโดยทันที เพื่อเป็นหลักฐานการร้องเรียนเสียก่อนต่อมาธนาคารปฏิเสธการคืนเงินให้กับเจฟฟรี โดยให้เหตุผลน่าเชื่อว่า เจฟฟรีเป็นผู้ใช้บัตรเอง จึงไม่คืนเงินเมื่อตกลงกันไม่ได้ เจฟฟรี จึงจำเป็นต้องฟ้องธนาคารกรุงไทย เป็นคดีผู้บริโภค ต่อศาลแขวงพระนครใต้ เรียกค่าเสียหาย 125,357.11 บาทในชั้นพิจารณาคดี เจฟฟรีและภรรยา เป็นพยานเบิกความว่า ตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2554 ถึง วันที่ 5 กันยายน 2554 เจฟฟรีอยู่กับภรรยา ที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอนและที่จังหวัดเชียงใหม่ เจฟฟรีไม่เคยมอบบัตรเดบิตให้ผู้อื่นนำไปใช้และมิได้เป็นผู้ใช้หรือยินยอมให้ใครนำไปใช้แต่อย่างใดส่วนจำเลยมีนายอรรนพ ชื่นบุญ พนักงานจำเลยเบิกความพบว่า ในช่วงวันที่ 8 สิงหาคม 2554 ถึง วันที่ 5 กันยายน 2554 บัตรเดบิตของโจทก์ถูกนำไปใช้ซื้อสินค้าและบริการต่างๆ แบบซื้อสินค้าทั่วไปตามปกติ เช่น อาหาร หรือ ร้านสะดวกซื้อ ไม่ใช่ลักษณะของพวกมิจฉาชีพ และยืนยันว่ารายการดังกล่าวเป็นการใช้บัตรของโจทก์เองหรือตัวแทน โจทก์จึงต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะถือว่าความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ เนื่องจากโจทก์มีหน้าที่เก็บรักษาบัตรและรหัสไว้เอง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้คืนโจทก์ตามที่ฟ้องแต่พยานจำเลยเองก็ได้เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ในการนำบัตรเดบิตไปซื้อสินค้าและบริการต่างๆ จะต้องมีเซลส์สลิปและลายมือชื่อของลูกค้าทุกครั้ง ซึ่งพยานจำเลยอ้างว่า ได้ทำเรื่องไปที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อขอหลักฐานแล้วแต่ไม่ได้อ้างศาลและจากประสบการณ์การทำงานของพยานจำเลยที่ทำงานมานาน สันนิษฐานได้ว่าบัตรเดบิตของโจทก์ถูกขโมยไปใช้ที่สหรัฐอเมริกาศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยไม่มีหลักฐานที่ยืนยันว่าโจทก์เป็นผู้นำบัตรเดบิตไปใช้ด้วยตนเองหรือยินยอมให้บุคคลอื่นนำไปใช้ แต่กลับไปนำความจากทางนำสืบของจำเลยว่าบัตรเดบิตของโจทก์น่าจะถูกขโมยไปใช้ โดยไม่ปรากฎว่าเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงเชื่อว่าบัตรเดบิตของโจทก์ถูกขโมยไปใช้ที่สหรัฐอเมริกา กรณีจึงมิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์เป็นผู้ใช้บัตรเองหรือยินยอมให้บุคคลอื่นนำไปใช้ตามที่จำเลยกล่าวอ้าง จำเลยจึงไม่มีสิทธินำรายการการซื้อสินค้าและใช้บริการดังกล่าวมาหักเงินจากบัญชีของโจทก์ได้ จึงพิพากษาให้ จำเลยต้องคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์“ส่วนตัวตอนแรกไม่คิดว่าจะต้องฟ้องเป็นคดีความต่อศาล เพราะคิดว่าธนาคารจะคืนเงินให้กับตน เพราะตนไม่ได้เป็นผู้ใช้ แต่เมื่อธนาคารไม่สนใจจะแก้ไขปัญหานี้ก็ต้องฟ้องคดี ซึ่งผลคดีที่ออกมา ตนรู้สึกพอใจกับคำพิพากษา ที่ท่านให้ความเป็นธรรมกับผู้บริโภค ตนเชื่อว่านอกจากตนแล้ว น่าจะมีผู้บริโภครายอื่นที่เจอปัญหาแบบนี้ ก็อยากฝากให้คนที่เจอปัญหาแบบตนลุกขึ้นมาใช้สิทธิร้องเรียนให้ถึงที่สุด ตนเชื่อว่าทุกคนจะรับความเป็นธรรมอย่างแน่นอน” คุณเจฟฟรีกล่าวทิ้งท้ายไว้ //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 154 โอนเงินแล้ว บอกไม่ได้รับ แล้วใครจะรับผิดชอบระหว่างธนาคารหรือคนรับโอน

ธุรกรรมทางการเงินที่สะดวกและหลากหลายช่องทางในปัจจุบัน ช่วยสร้างความคล่องตัวให้กับผู้บริโภคและภาคธุรกิจอย่างมากมาย แม้แต่ธุรกรรมอย่างการโอนเงิน ไม่ต้องไปหน้าเคาน์เตอร์หรือตู้เอทีเอ็มเราก็สามารถทำผ่านอินเตอร์เน็ตได้เช่นเดียวกันคุณเขมวิภากับน้องสาวสนใจจะเข้าอบรมเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ที่จะจัดอบรมกันที่จังหวัดพัทลุงโดยบริษัทโซล่า เซล แห่งหนึ่ง ซึ่งจะจัดในวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา เธอจึงโอนเงินจำนวน 5,500 บาทผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ตแบงค์กิ้ง จากบัญชีธนาคารทหารไทยของเธอไปที่ธนาคารกรุงไทยของผู้รับโอน ซึ่งก็คือตัวแทนบริษัทโซล่า เซล ดังกล่าว ในตอนเย็นของวันที่ 24 ตุลาคมวันที่ 25 ตุลาคม ระบบเอสเอ็มเอสได้แจ้งเข้ามาที่มือถือยืนยันว่า การโอนเงินสำเร็จ โดยแจ้งทั้งทางมือถือผู้โอนและผู้รับโอนพอวันที่ 26 ไปถึงหน้าห้องอบรม ปรากฏว่า ทางผู้จัดบอกว่า “ยังไม่ได้รับเงิน” (ไม่มีเงินในบัญชี) จึงไม่อนุญาตให้เข้าอบรม “ดิฉันร้อนใจโทรไปสอบถามทางคอลเซนเตอร์ 1558 พนักงานยืนยันว่ารายการสำเร็จเรียบร้อย แต่ถ้าอยากให้เช็ครายละเอียดขอเวลาสักหน่อย” คุณเขมวิภาเห็นว่าไหนๆ ก็มาถึงที่แล้ว ไม่เข้าอบรมไม่ได้ จึงให้น้องสาวกดเงินสดจากตู้เอทีเอ็มมาจ่ายให้กับทางผู้จัดการอบรม และขอให้ทำหนังสือว่าได้รับเงินจำนวนนี้ไว้แล้วระหว่างที่อบรมน้องสาวของคุณเขมวิภาได้ไปติดต่อกับธนาคารทหารไทยสาขาพัทลุงให้ช่วยตรวจสอบ แต่ถูกปฏิเสธบอกไม่มีอำนาจต้องรอคอลเซนเตอร์ ซึ่งต้องใช้เวลาสำหรับการตรวจสอบถึง 7 วันวันที่ 1 พฤศจิกายน ครบ 7 วันคอลเซนเตอร์ไม่โทรมา คุณเขมวิภาต้องโทรไปเอง คำตอบเดิมคือยืนยันว่า การโอนเงินสำเร็จ เงินไปอยู่ในบัญชีผู้รับแล้วดึงกลับมาไม่ได้ “ดิฉันโทรกลับไปทางผู้จัดการอบรม ทางนี้ก็ยืนยันว่า ไม่มียอดเงินเข้า แต่ไม่ยอมแสดงหลักฐานบัญชี บอกแต่ว่าเป็นเอกสารของบริษัท แต่ส่งจดหมายเพื่อเป็นเอกสารยืนยันกับดิฉันว่า ไม่ได้รับเงินจริงๆ” คุณวิภาจึงต้องย้อนไปธนาคารอีกครั้งเพื่อยื่นเรื่องให้ตรวจสอบและคืนเงิน ทางธนาคารแนะนำให้ไปลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการตรวจสอบ เมื่อรอผลการตรวจสอบทางสำนักงานใหญ่ธนาคารยืนยันเหมือนเดิมว่า รายการโอนสำเร็จ “ตอนนี้ดิฉันเริ่มหงุดหงิดแล้วค่ะ จึงโทรไปหาบริษัทฯ บริษัทฯ ก็ปฏิเสธเช่นเดิม และขอให้เอาหลักฐานมาแสดงว่าเงินเข้ายังบัญชีปลายทางจริงๆ ทั้งสองฝ่ายต่างปฏิเสธแล้วคนที่เสียหายอย่างดิฉัน จะไปเอาเงิน 5,500 บาทนี้ คืนจากใครค่ะ” การแก้ไขปัญหาเมื่อพิจารณาจากความเป็นไปได้แล้ว ทางฝ่ายธนาคารน่าจะมีหลักฐานที่ชัดเจนกว่าทางบริษัทฯ ที่ไม่ยอมแสดงหน้าบัญชีให้เห็นว่า มีรายการโอนเงินเข้าในเวลาและจำนวนดังกล่าวตามที่ทางธนาคารทหารไทยยืนยัน ทางศูนย์พิทักษ์ฯ จึงแนะนำให้คุณเขมวิภา ทำหนังสือถึงบริษัทอย่างเป็นทางการเพื่อขอคืนเงิน โดยระบุเนื้อหาและเอกสารที่ยืนยันว่าการโอนเงินนั้นสำเร็จ โดยทางศูนย์ฯ ได้ช่วยประสานกับทางบริษัทฯ ด้วย เพราะถ้าหากบริษัทยืนยันว่า ทางตนเองไม่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวควรแสดงหลักฐานยืนยัน หากไม่มีหลักฐานก็ควรคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้กับผู้บริโภคเพราะทางบริษัทฯ ได้รับเงินสดสำหรับเป็นค่าอบรมไปแล้วสุดท้ายบริษัทก็คืนเงินจำนวน 5,500 บาทให้กับคุณเขมวิภาเรียบร้อย แต่เงินจำนวนนี้ไปค้างอยู่กับบริษัทถึง 13 วัน (25 ตุลาคม – 6 พฤศจิกายน) แหม มันน่าเอาเรื่องต่อจริงๆ   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 146 ทรู อ้างอุปกรณ์ชำรุดริบเงินมัดจำ

วิโรจน์ สมัครเป็นสมาชิกอินเทอร์เน็ตกับทรู ไลฟ์ พลัส ตั้งแต่ปี 2550วิโรจน์ถูกเรียกเก็บค่ามัดจำอุปกรณ์รับสัญญาณเป็นเงินสองพันบาท จะได้คืนต่อเมื่อมีการบอกเลิกสัญญากันวิโรจน์ ใช้บริการอินเทอร์เน็ตกับทรู มาจนถึงกลางปี 2555 เป็นเวลา 5 ปี อยากจะบอกเลิกใช้บริการ จึงโทรไปแจ้งให้ทรูทราบว่า ต้องการบอกเลิกสัญญาและให้ทรูมาเก็บอุปกรณ์ของตัวเองไปหลังจากนั้นไม่นาน ทรูส่งเจ้าหน้าที่มาเก็บอุปกรณ์ คือกล่องดำรับสัญญาณ มารับอุปกรณ์ เซ็นเอกสารอะไรกันเสร็จ จากนั้นประมาณ 2 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ช่างที่มาเก็บอุปกรณ์โทรมาบอกว่า กล่องดำรับสัญญาณที่เก็บไปการ์ดชำรุด ใช้งานไม่ได้“ผมก็แย้งไปว่า กล่องดำที่เสียน่ะเป็นของผมหรือเปล่า หรือคุณทำของผมเสียหายแล้วโทรแจ้ง ทำไมตอนเก็บไม่ตรวจสอบต่อหน้าลูกค้าว่าอุปกรณ์เกิดชำรุด เสียหายอะไรบ้าง แล้วมาบอกว่าจะถูกหักเงินจากเงินมัดจำ”วิโรจน์ทักท้วงไป แต่ก็ไม่ได้ผลอะไร เพราะปลายเดือนเขาได้รับเงินโอนเข้าบัญชีจากทรูเป็นเงิน 1,000 บาท แทนที่จะเป็น 2,000 บาท วิโรจน์ต้องหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาโทรไปถามทรูว่า ทำไมเงินมัดจำได้รับคืนไม่ครบ ได้รับคำตอบว่า เป็นการหักเงินค่ามัดจำอุปกรณ์ที่เกิดการชำรุดวิโรจน์รวบรวมหลักฐานที่มีอยู่ส่งเรื่องมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค “ผมคิดว่าเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อลูกค้า เป็นการหักโดยประมาณค่าใช้จ่าย และช่างของ ทรูได้เซ็นรับอุปกรณ์ไปแล้ว มาแจ้งภายหลังว่าการ์ดเสีย ไม่รู้ว่าเสียจริงหรือหรือเปล่า” แนวทางแก้ไขปัญหาเมื่อได้ฟังข้อเท็จจริงจากผู้ร้องเรียนแล้ว เราจึงรีบแนะนำให้คุณวิโรจน์ทำจดหมายเรียนถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท ทรู ไลฟ์ พลัส ทันที เพราะการเจรจาทางโทรศัพท์ฝั่งผู้บริโภคจะไม่มีอะไรเป็นหลักฐานยืนยันว่าได้เคยมีการทักท้วงในปัญหาที่เกิดขึ้น และให้ยืนยันอย่างชัดเจนว่ามีความประสงค์ในการร้องเรียนเพื่ออะไรคุณวิโรจน์ได้ทำหนังสือขึ้น เพื่อขอค่ามัดจำที่เหลืออยู่คืน เนื่องจากทรูได้รับอุปกรณ์คืนไปเรียบร้อยแล้ว แต่กลับมาอ้างว่าอุปกรณ์เสียในภายหลัง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น อุปกรณ์ดังกล่าวยังสามารถใช้งานได้ตามปกติ เขียนเสร็จก็ส่งไปที่ อีเมล์ voc@truecorp.co.th พร้อมส่งสำเนามาให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯเมื่อได้รับจดหมายร้องเรียนเป็นทางการแล้ว เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ จึงสามารถประสานไปที่ฝ่ายรับเรื่องร้องเรียนของทรูได้ จากนั้นไม่นานได้รับแจ้งจากผู้ร้องเรียนว่า ได้รับเงินคืนจำนวน 1,000 บาทจากทรูเป็นที่เรียบร้อยแล้วใครที่มีปัญหาทำนองนี้ ใช้วิธีการร้องเรียนแบบนี้ได้ทันที ไม่ควรใช้ช่องทางโทรศัพท์เพียงอย่างเดียว  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 145 ตามหาเงินเยียวยา

ดิฉันชื่อ ฉันทนาค่ะเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2555 ได้นั่งรถโดยสารปรับอากาศเดินทางจากกรุงเทพฯ จะไปลงที่โพนพิสัย จ.หนองคาย เพื่อไปหาพ่อแม่ จองตั๋วรถกับบริษัท แอร์อุดร จำกัด เส้นทางกรุงเทพฯ-บึงกาฬ ระหว่างทางรถโดยสารขับมาด้วยความเร็วสูงมาก ถึงช่วงถนนมิตรภาพ  อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เกิดอุบัติเหตุรถโดยสารที่ดิฉันนั่งมาคนขับพยายามจะขับแซงรถพ่วงแต่ไม่พ้น และไปชนท้ายรถบรรทุกพ่วงอย่างแรงก่อนเสียหลักลงไหล่ทาง ทำให้ดิฉันได้รับบาดเจ็บศีรษะแตก และกระดูกนิ้วก้อยเท้าขวาแตกหน่วยกู้ภัยพาดิฉันส่งโรงพยาบาลปากช่องนานา แพทย์ได้ทำการรักษากระดูกแตกที่นิ้วเท้าและเย็บแผลแตกที่ศีรษะรวม 10 เข็ม จะกลับบ้านได้ต้องโทรศัพท์ให้ญาติมารับหลังประสบอุบัติเหตุ ไม่ได้รับการติดต่อใดๆ จากบริษัท แอร์อุดรเลย ประมาณวันที่ 2 กรกฎาคม 2555 ได้รับการติดต่อจากแม่ว่า ตำรวจให้ไปพบที่สถานีตำรวจโพนพิสัย จึงได้ไปตามนัดในวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 บริษัท แอร์อุดร ได้ส่งพนักงานไม่แจ้งชื่อมาเจรจาโดยมีข้อเสนอชดใช้เยียวยาให้ที่จำนวน 50,000 บาท ดิฉันได้ตกลงยอมรับข้อเสนอ พนักงานคนนั้นจึงบอกกับดิฉันว่าจะติดต่อกลับมาภายใน 7 วันนับจากวันที่แจ้ง แต่จนถึงปัจจุบัน(28 สิงหาคม 2555) ยังไม่ได้รับการติดต่อใดๆ จากบริษัทดังกล่าวเลยดิฉันขอให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายในจำนวนเงิน 50,000 บาท ให้กับดิฉันด้วยค่ะ แนวทางแก้ไขปัญหาคุณฉันทนาเป็นหนึ่งในผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บจำนวนทั้งสิ้น 29 ราย ในอุบัติเหตุครั้งนั้น มูลนิธิฯได้ติดตามตรวจสอบข้อมูลแล้วทราบว่า รถโดยสารคันดังกล่าว ทำประกันภัยไว้กับบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด จึงได้มีหนังสือเชิญตัวแทนจากบริษัท ทิพยประกันภัย มาร่วมเจรจากันในวันที่ 25 ธันวาคม 2555 แต่เนื่องจากผู้เสียหายอยู่ต่างจังหวัดไม่สามารถเดินทางมาร่วมเจรจาได้ จึงมีการเจรจากับผู้เสียหายทางโทรศัพท์กันในวันนั้น ได้ผลว่า บริษัท ทิพยประกันภัย ตกลงจ่ายค่าสินไหมตามที่ได้มีการร้องขอและเจรจากันไว้แต่แรก จำนวน 50,000 บาท และนัดหมายเพื่อมารับเช็คค่าสินไหมอีกครั้งในอาทิตย์ถัดไป อาทิตย์ต่อมาตัวแทนของทิพยประกันภัยเตรียมเช็คค่าสินไหมมาตามวันเวลานัดหมาย แต่ปรากฏว่าผู้เสียหายไม่สามารถติดตามตัวได้ในวันนั้น จึงต้องกำหนดนัดใหม่เป็นสัปดาห์ถัดไป อีกสัปดาห์หนึ่งต่อมาผู้เสียหายจึงสามารถเดินทางมารับเช็คค่าสินไหมได้ด้วยตนเองนอกจากคุณฉันทนาแล้ว ยังมีผู้โดยสารอีกท่านหนึ่งคือคุณโพสิทธิ เครือเนตร ที่ได้รับบาดเจ็บและทิพยประกันภัยตกลงที่จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้เป็นจำนวนเงิน 50,000 บาท แต่ขณะนี้ไม่สามารถติดต่อได้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและทิพยประกันภัยจึงได้ทำหนังสือตกลงกันไว้ว่า หากผู้เสียหายท่านนี้ได้ติดต่อกลับมา ทางทิพยประกันภัยยินดีดำเนินการเยียวยาความเสียหายให้ต่อไปคุณโพสิทธิ หรือญาติ ทราบข่าวแล้วโปรดติดต่อกลับมาด่วน ทิพยประกันภัยรอคุณอยู่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 138 ถูกอมเงินค่าอบรมทำขนมปัง

ขนมปังเพื่อสุขภาพรุ่น 10“เรียนทำขนมปังเพื่อสุขภาพด้วยแป้งสาลีโฮสวีต ฝึกเทคนิคการนวดแป้งขนมปังด้วยมือและนวดด้วยเครื่อง เช่น ขนมปังโฮลสวีท ขนมปังแครอท ขนมปังดินเนอร์โรล ขนมปังปูอัดน้ำพริกเผา รวมทั้งวิธีดัดแปลงเป็นขนมปังได้อีกสารพัดชนิด”เอกวิทย์ ผู้มีความสนใจที่จะเปิดร้านขนมปังสังขยาและนมสด ได้เห็นโฆษณาคอร์สอบรมทำขนมปังข้างต้น จากหนังสือ Learning For Better Living ที่จัดส่งมาให้ที่บ้าน และยิ่งมีความสนใจมากขึ้นเมื่อเห็นชื่อของ Amarin Training ร่วมกับ สถาบันบ้านและสวน ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและยอมรับของคนทั่วไปเป็นผู้จัดโปรแกรมการอบรมคอร์สอบรม ขนมปังเพื่อสุขภาพรุ่น 10 จะเริ่มเรียนในวันที่ 16 มิถุนายน 2555 เอกวิทย์จึงรีบสมัครเข้ารับการอบรมทางเว็บไซต์ในวันที่ 10 มิถุนายน 2555 ซึ่งมีสองราคา ราคาปกติ 2,900 บาท และสมาชิก 2,600 บาท พี่สาวของเอกวิทย์เป็นสมาชิกอยู่เอกวิทย์จึงได้สมัครในราคาสมาชิก 2,600 บาท และได้โอนเงินค่าอบรมเข้าบัญชีของผู้จัดในวันที่ 13 มิถุนายน 2555 หลังจากที่มีโทรศัพท์จากสถาบันเร่งให้เอกวิทย์โอนเงินค่าอบรมปรากฏว่าพอถึงวันรุ่งขึ้นสักประมาณบ่ายโมงครึ่ง เอกวิทย์ได้รับโทรศัพท์จากสถาบันโทรมาแจ้งว่า ขอยกเลิกการจัดอบรมเพราะมีคนมาสมัครน้อย สถาบันไม่สามารถเปิดสอนได้และบอกว่าจะขอโอนเงินค่าอบรม 2,600 บาทคืนให้ภายในอาทิตย์ถัดไปเอกวิทย์รอจนถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2555 เงินก็ยังไม่ถูกโอนเข้าบัญชี จึงโทรเข้าไปที่สถาบันขอทราบถึงเรื่องการคืนเงินว่าจะกำหนดคืนให้ได้เมื่อไหร่ ได้รับคำตอบว่าอาจจะถึง 2 อาทิตย์ถึงจะได้รับเงินคืน เพราะต้องทำตามขั้นตอน ต่อมาก็ได้มีการโทรติดตามอยู่หลายครั้งแต่ก็ไม่มีความคืบหน้าอะไร เอกวิทย์เกรงว่าจะไม่ได้รับเงินคืนจึงร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เอกวิทย์ให้ความเห็นว่า สถาบันเหล่านี้อาจจะมีรายได้จากค่าสมัครในการอบรมเป็นจำนวนไม่น้อย อาจจะมีการนำเงินของผู้สมัครอบรมไปหมุนเวียนในทางใดทางหนึ่ง โดยที่ไม่ต้องมีการกู้ยืมหรือลงทุนแม้แต่บาทเดียว พอเสร็จแล้วก็ทำการยกเลิกการอบรม กว่าจะคืนเงินก็ใช้เวลาหลายอาทิตย์ ถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างยิ่ง แนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ไม่มีความสลับซับซ้อนอะไรมาก เมื่อสัญญาว่าจะจัดการอบรมและมีการเรียกเก็บค่าอบรมแล้วไม่จัดการอบรมให้ก็ต้องคืนเงินให้กับลูกค้าสถานเดียว ทางเจ้าหน้าที่ได้โทรศัพท์ไปที่สถาบันการฝึกอบรมดังกล่าว ได้คำตอบว่าจะคืนเงินให้ผู้บริโภคในอาทิตย์ถัดไป สอบถามคุณเอกวิทย์ว่าจะยอมให้เขาผัดผ่อนอีกครั้งหรือไม่ คุณเอกวิทย์บอกว่าให้โอกาสเขาอีกครั้งถ้ายังประวิงเวลาอยู่ก็จะดำเนินการตามกฎหมายทันที อาทิตย์ถัดมาเราทราบว่าเอกวิทย์ได้รับเงินคืนเป็นที่เรียบร้อย และต้องเริ่มต้นหาที่เรียนทำขนมปังใหม่อีกครั้ง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 134 กสทช. ออกคำสั่งห้ามตัดสัญญาณบัตรเติมเงิน

หลังจากรอให้เกิด กสทช. มานานเกือบ 15 ปี วันนี้มีแล้ว และได้เริ่มปฏิบัติงานมาแล้วเกือบ 5 เดือน อาจถือได้ว่าเป็นช่วงทดลองงาน ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงที่ กสทช.ยังชุลมุนอยู่กับ การจัดทำแผนแม่บท ทั้งเขียนทั้งรับฟัง เพื่อให้ได้แผนแม่บทที่เป็นเป้าหมายการปฏิบัติงานของ กสทช. ที่ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนแต่ในช่วงชุลมุนนี้ กสทช.ก็ยกมาเป็นข้ออ้างในการชะลอการบังคับใช้ประกาศของ กทช.เดิมไม่ได้(ยกเว้นกสทช.มีประกาศในเรื่องเดียวกันที่ดีกว่าออกมาบังคับใช้เสียก่อน) โดยเฉพาะประเด็น การกำหนด ระยะเวลาการให้บริการบัตรเติมเงิน ที่มีเรื่องร้องเรียนกันมาอย่างยาวนาน จนอาจารย์อนุภาพ ถิรลาภ ซึ่งเป็นหน่วยกล้าตายฟ้องคดีนี้ต่อศาล นำไปสู่การมีคำสั่งของศาล ช่วงปลายปี 2554 ให้ กทช.เร่งดำเนินการบังคับใช้ระเบียบของ กทช.ภายใน 90 วัน(หลังจากศาลตัดสินเป็นที่สุด) และคำสั่งดังกล่าวคาบเกี่ยวตั้งแต่ กทช.ที่กำลังหมดวาระ จนมาถึง กสทช. ชุดปัจจุบัน ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งเกือบ 5 เดือน แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่ขยับผู้เขียนในนามประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค จึงได้ออกแถลงการณ์ผ่านสื่อเพื่อกระตุ้นให้ กสทช.บังคับใช้(ประกาศ กทช) ซึ่งส่งผลให้ กสทช. นัดให้ผู้ประกอบการและตัวแทนผู้บริโภคเข้ามาหารือกันถึงการแก้ปัญหาการกำหนดอายุบัตรเติมเงิน ในระยะยาว ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2555 โดยมีข้อสรุปให้ฝ่ายผู้ให้บริการไปคำนวณต้นทุนและให้หาข้อสรุปร่วมกันภายใน 30 วันหลังจากที่ได้หารือกัน โดยในวันนั้น “กสทช.สุทธิพล ทวีชัยการณ์ พูดชัดเจนว่า ขณะนี้ กสทช.ได้บังคับใช้ ประกาศมาตรฐานสัญญาข้อ 11 แล้วโทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินจะไม่มีการกำหนดวันหมดอายุ ใครจะมาตัดวันเราไม่ได้” นั่นหมายถึงโทรศัพท์แบบเติมเงินทุกเจ้าไม่มีสิทธิตัดการใช้บริการผู้บริโภคได้อีกแล้ว จนกว่าจะมีข้อสรุปร่วมกันใหม่ แต่เรื่องจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น ผู้ให้บริการบางเจ้า ยังใช้เล่ห์เหลี่ยมทางธุรกิจตัดการให้บริการอยู่ เรื่องนี้ยืนยันเห็นจริงปฏิบัติจริงมากับมือ เหตุมีอยู่ว่ามีคนมาหารือกับผู้เขียนว่า ตนเหลือเงินอยู่ในโทรศัพท์ 400 กว่าบาท แต่โทรออกไม่ได้ โดยมีการแจ้งว่าสาเหตุมาจากผู้ให้บริการว่าวันหมด ผู้เขียนจึงให้น้องโทรประสานไปที่คอลเซ็นเตอร์ของบริษัทนั้น และได้แจ้งว่าบริษัทกำลังละเมิดคำสั่ง กสทช. ที่ห้ามตัดการใช้บริการ ก็ได้คำตอบมาว่า บริษัทได้ทำตามคำสั่ง กสทช.แล้ว โดยไม่ได้ตัดสัญญาณ เพราะเบอร์ดังกล่าว สามารถรับสายเข้าได้ปกติ แต่ไม่ให้โทรออกเท่านั้นเอง(ดูเขาทำ) น้องก็เถียงไปว่า กสทช.ห้ามตัดการใช้บริการทั้งโทรเข้าโทรออก ทำอย่างนี้ก็ขัดคำสั่ง กสทช.อยู่ดี เพราะเงินเรายังมีเราต้องใช้บริการได้ เจ้าหน้าที่ก็ตอบกลับมาอย่างกำปั้นทุบดินว่า หากต้องการโทรออกได้ให้เอาเงินที่เหลือไปแลกวันมาก็จะสามารถใช้บริการได้ปกติต่อไป เจอเข้าไปแบบนี้ผู้ใช้บริการก็ได้แต่มึนไปไม่เป็นว่าจะเอาอย่างไรต่อไป ผู้เขียนได้แนะนำให้โทรไปร้องทุกข์ที่สายด่วน กสทช. หมายเลข 1200 เพื่อร้องเรียนผู้ประกอบการรายนี้ จนสามารถโทรออกได้ปกติและได้วันฟรีมา 1 ปี เรื่องนี้ผู้เขียนเห็นว่ายังอยู่ในระยะเวลาของการหารือจึงยังมิได้ดำเนินการทางกฎหมายหลังจากวันที่ 8 มีนาคม 2555 หากใครถูกจำกัดการใช้บริการด้วยเหตุวันหมด สามารถเดินขึ้นไปบนศาลจังหวัด ขอฟ้องคดีผู้บริโภคได้ทันทีทุกศาล โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ อ้อ... หากจะฟ้องนอกจากบริษัทผู้ประกอบการแล้ว ที่ขาดไม่ได้คือต้องฟ้อง กสทช.ด้วย ในฐานะเป็นองค์กรกำกับ แต่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีความสามารถกำกับให้ผู้ให้บริการปฏิบัติการคำสั่งได้ เพราะ กสทช.มีอำนาจสั่งปรับบริษัทที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง กสทช.ได้ พวกเราผู้บริโภคควรร่วมกันผลักดันให้องค์กรกำกับทำหน้าที่ มิให้ผู้ประกอบการกระทำการเอาเปรียบผู้บริโภคได้อย่างเช่นที่ผ่านมา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 133 คนคอนจองรถ โดนเซลล์อมเงิน

คุณสุรางค์ เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองปากพนัง นครศรีธรรมราช ใช้รถฮอนด้า ซีวิค ปี 2002 อยากจะขายรถเพื่อเอาเงินไปซื้อรถคันใหม่เธอเที่ยวตระเวนไปตามศูนย์ซื้อ-ขายรถหลายแห่งในเมืองนครฯ ก็ยังไม่เจอศูนย์รถที่ให้ราคาที่ถูกใจ ท้ายสุดมาเจอกับพนักงานขายรถยอดแสบ นายทวี ปานถนอม ของบริษัท จ.วินิต จำกัด จึงได้เรื่องนายทวีบอกรับซื้อรถของคุณสุรางค์ที่นำมาเสนอขาย แต่ขอโทรศัพท์ไปสอบถามราคากับผู้ประเมินราคารถก่อน ซึ่งคุณสุรางค์ก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร ไม่นานนายทวีวางโทรศัพท์หันมาบอกว่าผู้ประเมินฯ ให้ราคาอยู่ที่ 320,000 บาท คุณสุรางค์นึกกระหยิ่มเพราะได้ราคาสูงกว่าที่บริษัทอื่นประเมินราคามา แถมรถใหม่ที่จะซื้อนายทวีบอกว่าจะได้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ย 1.99% และอาจน้อยกว่านี้อีกขึ้นอยู่กับเงินดาวน์คุณสุรางค์ดีดลูกคิดในใจ ว้าว ...ดอกเบี้ยต่ำกว่าหลายๆ บริษัทที่ไปคุยมา ราคาและเงื่อนไขซื้อขายดีขนาดนี้ “อย่าปล่อยให้หลุดมือเชียว” จึงตกลงใจที่จะซื้อขายรถกับบริษัท จ.วินิต ผ่านทางนายทวีทันทีตอนนั้นเป็นช่วงเย็นนายทวีบอกว่าศูนย์จะปิดบริการแล้วไม่สะดวกในเรื่องเอกสารและการออกใบเสร็จบอกว่าจะนำเอกสารสัญญาจองรถให้คุณสุรางค์เซ็นต์ถึงที่ทำงานเลยในวันรุ่งขึ้น ส่วนรถคันเก่าจะทำสัญญาซื้อขายในวันออกรถใหม่คุณสุรางค์ไม่ได้เอะใจอะไร คิดแต่ว่าช่างเป็นวันที่ดีจริงๆ ได้มาเจอศูนย์ขายรถที่ให้ราคารับซื้อรถเก่าที่สูง แถมจะได้สินเชื่อผ่อนรถใหม่ดอกถูกแสนถูกอีก หาที่ไหนไม่ได้แล้ว วันรุ่งขึ้นนายทวี มาหาคุณสุรางค์ถึงที่ทำงานที่เทศบาลปากพนังในชุดพนักงานบริษัท จ.วินิต จำกัด มีป้ายชื่อพนักงานแขวนคอมาพร้อมสรรพ นำใบสัญญาจองรถให้คุณสุรางค์เซ็นต์ คุณสุรางค์เซ็นต์เสร็จก็ล้วงเงิน 5,000 บาทจ่ายเป็นค่าจองรถไป นายทวีให้สำเนาใบจองรถที่มีหัวเป็นชื่อบริษัท จ. วินิตเป็นหลักฐาน พร้อมหยอดข้อเสนอใหม่ก่อนจากว่า จะรีบติดต่อธนาคารเรื่องขอสินเชื่อให้ถ้ารีบทำในช่วงนี้จะได้ดอกเบี้ย 1.55% พอได้ยินดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าครั้งแรก คุณสุรางค์น้ำตาแทบเล็ดไม่คิดว่าจะมีเซลล์แสนดีขนาดนี้อยู่ในโลก รีบขอบอกขอบใจนายทวีเป็นการใหญ่สามวันต่อมาหลังเซ็นต์สัญญาจองรถ นายทวีพาผู้ชายคนหนึ่งมาหาคุณสุรางค์ แนะนำตัวว่าอยู่แผนกสินเชื่อ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขานครศรีธรรมราช รับผิดชอบการทำสินเชื่อรถยนต์ และนำเอกสารการขอสินเชื่อให้คุณสุรางค์เซ็นต์ ส่วนนายทวีบอกว่าจะได้รับรถภายในกลางเดือนถัดไป หลังเซ็นต์สัญญาขอสินเชื่อไป 2-3 วัน ก็มีโทรศัพท์มาหาคุณสุรางค์เป็นเสียงผู้หญิงบอกว่าโทรจากธนาคารไทยพาณิชย์ ขอสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับรถที่จอง และแจ้งว่าจะดำเนินการส่งเรื่องให้สำนักงานใหญ่พิจารณาต่อไป ทำให้คุณสุรางค์มั่นใจว่านายทวีได้ดำเนินการจองรถให้จริงกระบวนการต้มเหยื่อยังไม่จบ จากนั้นไม่นานนายทวีโทรมาหาเหยื่ออยู่หลายครั้งเพื่อหลอกล่อให้ใส่อุปกรณ์ตกแต่งรถเพิ่มเติม คุณสุรางค์ทนลูกตื๊อไม่ไหวจึงตกปากรับคำซื้ออุปกรณ์ตกแต่งรถเพิ่มเติมเป็นเงินอีก 33,000 บาท โดยที่นายทวีอาศัยจังหวะน้ำท่วมใหญ่เข้านครศรีธรรมราชอ้างเรื่องความไม่สะดวกในการเดินทาง ขอให้คุณสุรางค์โอนเงินเข้าบัญชีของตัวเอง คุณสุรางค์โอนเงินให้โดยไม่เอะใจอะไรเพราะคิดว่ายังพอมีใบโอนเงินของธนาคารเป็นหลักฐานอยู่ต่อมาก่อนถึงเวลารับรถ 1 สัปดาห์ นายทวีโทรมาหาเหยื่อบอกว่า ตอนนี้มีคนสั่งจองรถเป็นจำนวนมาก อาจมีปัญหาไม่ได้รับรถตามกำหนด ขอให้คุณสุรางค์จ่ายเงินค่าล็อครถจำนวน 20,000 บาท ไม่งั้นอาจมีคนอื่นแย่งไปได้คุณสุรางค์โดนรีดเงินไปแล้ว 38,000 บาท(5,000+33,000) พอได้ยินค่าล็อครถอีก 20,000 บาทก็ถึงกับสะอึก “มีด้วยเหรอค่าล็อครถ” คุณสุรางค์ขอวางสายกับนายทวี แล้วโทรไปหาน้องเขยที่กรุงเทพฯ ซึ่งเคยใช้บริการกับบริษัทมิตซูบิชิผู้ผลิตรถปาเจโรเรื่องค่าล็อครถ 20,000 บาท น้องเขยยืนยันว่ามีจริง คุณสุรางค์จึงเดินทางไปที่บริษัท จ.วินิตเพื่อจะจ่ายเงินค่าล็อครถ 20,000 บาทผ่านนายทวี แต่ก่อนจ่ายเงินคุณสุรางค์เอ่ยขอใบเสร็จรับเงิน นายทวีบอกว่าจะออกให้ในวันที่ออกรถทีเดียวทั้งหมด คุณสุรางค์จึงถามหาใบเสร็จรับเงินชั่วคราว นายทวีก็บ่ายเบี่ยงบอกว่าต้องขอเวลาสัก 1 ชั่วโมงจะไปถามหัวหน้าดูก่อนและจะไปช่วยเพื่อนพนักงานขนของด้วย“แค่ขอใบเสร็จ ให้รอนานขนาดนี้ กลับบ้านดีกว่า” คุณสุรางค์บอกกับตัวเองกลับมาถึงบ้านไม่ถึง 20 นาที นายทวีได้โทรมาหาบอกว่า ปรึกษากับหัวหน้าแล้วให้ออกใบเสร็จได้ และจะไปขอรับเงินที่บ้านพักของคุณสุรางค์เลยเพื่อจะได้รีบกลับมาดำเนินการส่งเรื่องให้บริษัทใหญ่ภายในวันนี้ คุณสุรางค์จึงตกลงไม่นานนายทวีได้มารับเงินสดค่าล็อครถ 20,000 บาทจากคุณสุรางค์ แต่แทนที่จะได้รับเป็นใบเสร็จรับเงิน นายทวีกลับใช้ใบสั่งจองรถยนต์ของบริษัท จ.วินิต เป็นหลักฐานการรับเงินแทน คุณสุรางค์นึกสงสัยแต่เห็นหัวเห็นตราของบริษัทในกระดาษ คิดว่าไม่มีปัญหาจึงยอมจ่ายเงินให้ไปหลังจากจ่ายเงินไปแล้วคุณสุรางค์ยังรู้สึกไม่สบายใจเรื่องหลักฐานการจ่ายเงินที่ได้จากนายทวีที่เป็นใบสั่งจองรถทั้งหมด หยิบขึ้นมาเทียบดูก็เห็นความผิดปกติ ใบแรกที่ได้รับเป็นใบสั่งจองเล่มที่ 073 ส่วนใบที่สองที่เพิ่งได้มากลับเป็นใบสั่งจองเล่มที่ 065 ซึ่งย้อนหลังไปอีก กำลังมึนๆ งงๆ กับตัวเลขในใบสั่งจองรถอยู่ นายทวีได้โทรศัพท์เข้ามาพอดี บอกว่าจะขอค่ามัดจำรถอีก 30,000 บาท คุณสุรางค์นึกในใจจ่ายไปแล้ว 58,000 บาท ยังไม่เห็นหน้ากระโปรงรถเลย นี่จะเอาอีก 30,000 บาท สงสัยจะโดนต้มเสียแล้ว จึงบอกกับนายทวีว่าเดี๋ยวจะจัดการให้แล้ววางสายทันที แนวทางแก้ไขปัญหาคุณสุรางค์ได้ติดต่อกลับไปที่บริษัท จ.วินิต และนำหลักฐานใบจองรถที่ได้รับจากนายทวีให้บริษัทฯตรวจสอบ บริษัทฯ ตรวจสอบแล้วบอกว่า ไม่เคยมีการจองรถคันนี้ และไม่มีการนำเงินเข้าบริษัทฯ เลย แต่บริษัทฯ จะรับผิดชอบทั้งหมด ตอนนี้อย่าเพิ่งกระโตกกระตากและให้หยุดการติดต่อกับนายทวี ซึ่งบริษัทฯ แจ้งว่าเป็นเพียงพนักงานชั่วคราวยังไม่ได้รับการบรรจุจากบริษัทฯ และขณะที่บริษัทฯ ทราบเรื่องนายทวีก็ยังปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานขายให้บริษัทฯ อยู่ บริษัทฯ จึงไปขอยึดรถจักรยานยนต์ของนายทวีไว้เป็นประกันก่อนจากนั้นคุณสุรางค์และเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ ได้พากันไปหาพ่อแม่ของนายทวีถึงบ้าน ก็ทราบว่าพ่อแม่มีฐานะยากจนไม่สามารถชดใช้ค่าเสียหายแทนลูกชายได้ เจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ จึงแนะนำให้คุณสุรางค์ไปแจ้งความดำเนินคดีกับนายทวีที่สถานีตำรวจภูธรปากพนัง และบริษัทฯ เสนอที่จะชดใช้เงินเฉพาะตามหลักฐานของบริษัทฯ คือเงินจองและเงินค่าล็อกรถรวม 25,000 บาท คุณสุรางค์ไม่ตกลง ต่อมาได้มีการเจรจากันอีกครั้งที่สถานีตำรวจ ท้ายสุดคุณสุรางค์ยอมรับเงินจากนายทวีที่ 50,000 บาท ที่เหลือ 8,000 บาทนั้น ยินยอมลดให้นายทวี โดยได้มีการทำบันทึกเป็นหลักฐานไม่ติดใจดำเนินคดีทั้งแพ่งและอาญาอีกต่อไป พอทำบันทึกออกมาเช่นนี้ เป็นผลให้บริษัทฯ ไม่ต้องรับผิดชอบการกระทำของนายทวีทันทีเรื่องนี้มาถึงมูลนิธิฯ หลังจากที่ได้มีการทำบันทึกข้อตกลงที่ว่ามาเรียบร้อยแล้ว การเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติมจึงเป็นอันต้องยุติไปด้วย จึงนำเรื่องมาแจ้งเตือนให้ระวังภัยโดยทั่วกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 132 น้ำท่วมก่อนงานวิวาห์ ขอเรียกค่าจัดงานแต่งคืน

คุณพลวิษฐ์ ได้ฤกษ์หามยามดีกำหนดแต่งงานกับเจ้าสาวในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2554 ซึ่งไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ เลยเถิดถึงขั้น “เอาไม่อยู่” ในช่วงเวลานั้นพอดีตอนนั้นกำหนดสถานที่จัดงานแต่งไว้ที่หอประชุมกองทัพเรือ ริมแม่น้ำเจ้าพระยากะว่าได้บรรยากาศสุดๆ  ลงทุนว่าจ้างธุรกิจรับเหมามืออาชีพจัดงานแต่งอย่างเว็ดดิ้ง เซ็นเตอร์มาจัดโต๊ะจีนเลี้ยงแขกเหรื่อในวันงาน วางเงินไปถึง 70,000 บาทเป็นค่ามัดจำการจัดงานยังไม่ทันจะเริ่มทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน มวลน้ำก้อนใหญ่ก็ถาโถมถล่มเข้ากรุงเทพฯ เสียก่อนตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม เห็นแววว่าจะ “เอาไม่อยู่” ผู้คนเริ่มทยอยอพยพหนีภัยน้ำท่วมกันจ้าละหวั่น คงไม่มีใครจะมีกะจิตกะใจมางานแต่ง และขืนฝืนจัดงานไปอาจมีเพียงแค่สองบ่าวสาวลอยคอพิสูจน์รักกันอยู่กลางน้ำเป็นแน่ เลยตัดสินใจเลื่อนงานแต่งไปเป็นวันคริสมาสต์วันที่ 25 ธันวาคม 2554 และเปลี่ยนสถานที่หนีน้ำไปที่โรงแรมมณเฑียรแทนเมื่อรู้แน่ว่าจะไม่แต่งงานในวันและสถานที่เดิมด้วยเหตุมีภัยน้ำท่วม คุณพลวิษฐ์จึงมีอีเมล์แจ้งบอกยกเลิกโต๊ะจีนที่ว่าจ้างเว็ดดิ้ง เซ็นเตอร์จัดหาให้ โดยแจ้งบอกเลิกก่อนวันแต่งวันที่ 20 พฤศจิกายน เป็นเวลา 12 วัน และขอเงินค่ามัดจำ 70,000 บาทคืนคำตอบที่ผู้รับเหมาจัดงานแต่งแจ้งกลับมาคือ คุณพลวิษฐ์เป็นฝ่ายผิดสัญญา บริษัทมีสิทธิยึดเงินดังกล่าวทั้งหมด คุณพลวิษฐ์จึงตั้งคำถาม ถามมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า  การที่จะยกเลิกโต๊ะจีนเพราะมีเหตุคาดว่าน้ำจะท่วมและขอเงินมัดจำคืนในทางกฎหมายนั้น จะมีทางเป็นไปได้หรือไม่ เพราะทางบริษัทบอกแต่เพียงว่าเราเป็นฝ่ายผิดสัญญา บริษัทจึงไม่จำเป็นต้องคืนเงินมัดจำ“ผมว่ามันไม่เป็นธรรมกับผมเลยครับ” แนวทางแก้ไขปัญหาสัญญาที่ไปว่าจ้างให้ใครมาจัดงานแต่ง เป็นธุระจัดหาโต๊ะจีนมาเลี้ยงแขกแทน ต้องมีซุ้มดอกไม้ให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวยืนถ่ายรูปกับแขกเป็นที่ระลึก มีน้ำแข็งแกะสลักปล่อยให้ละลายเป็นน้ำอยู่ในงาน หรือต้องมีเค้กให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวได้ตัดแบ่งแจกเป็นทานให้กับแขกที่มาร่วมงาน กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้เป็นลักษณะของสัญญาจ้างทำของตาม ป.พ.พ.มาตรา 587 คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่ บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้นตามแต่ถ้ากิจกรรมที่จ้างไปแล้วยังทำไม่แล้วเสร็จ อาจจะทำไปแล้วเพียงบางส่วน เช่น ผู้รับจ้างเริ่มติดต่อประสานงานหาคนมาออกไอเดียว่าจะแกะน้ำแข็งเป็นรูปหมาหรือรูปควายคู่ตั้งไว้กลางงานดี จะทำซุ้มประตูเข้างานแบบไหน เค้กจะเป็นรูปอะไรจะทำกี่ชั้น ซึ่งเป็นงานทางความคิดที่ต้องดำเนินเตรียมการกันเป็นอาทิตย์ก่อนจะทำกันจริงในก่อนวันงานวันหรือสองวัน แต่เมื่อมาถูกผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาเสียกลางคันไม่ว่าเหตุที่เลิกจ้างจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม กฎหมายกำหนดไว้ว่า ผู้ว่าจ้างอาจบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อเสียค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับจ้างเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 605ดังนั้น แนวทางการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ สมควรใช้วิธีการเจรจากันเพื่อที่จะตกลงจ่ายค่าสินไหมทดแทนในส่วนที่ผู้รับจ้างได้ดำเนินการไป ไม่ใช่จะไปเจรจาเพื่อขอเงินค่ามัดจำคืนทั้งหมด ตรงนี้ก็จะไม่เป็นธรรมต่อฝ่ายผู้รับจ้างได้เช่นกัน เพราะเขาอาจต้องมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นแล้วในบางส่วนก็เป็นได้ผลของการเจรจาปรากฏว่า คุณพลวิษฐ์ได้รับเงินคืนเป็นจำนวน 49,000 บาท ถูกหักเป็นค่าสินไหมทดแทนสำหรับการบอกเลิกสัญญาไป 21,000 บาท เงินที่เสียไปจำนวนนี้หากคุณพลวิษฐ์พอมีเวลาอาจจะยื่นเรียกค่าเสียหายฟ้องรัฐบาลในฐานที่ประกาศว่า “เอาอยู่” แต่ถึงเวลาจริงๆ กลับ “เอาไม่อยู่” ก็ได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 พฤกษา ยอมคืนเงินผู้บริโภค เหตุสร้างบ้านไม่ได้มาตรฐาน

สำหรับคนที่จะซื้อบ้านใหม่ ซ่อมบ้านใหม่ หลังภาวะน้ำท่วม บทเรียนของผู้บริโภคเรื่องนี้น่าสนใจทีเดียวเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2553 คุณภัทรวรรธน์ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินในโครงการบ้านพฤกษา 47/2 (เทพารักษ์-หนามแดง) จ.สมุทรปราการ กับบริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด(มหาชน)บ้านที่จะซื้อจากโครงการของพฤกษา เป็นทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้น หน้ากว้าง 5 เมตร ห้องริมไม่มีหน้าต่าง อยู่บนเนื้อที่ 16.20  ตารางวา ราคารวมทั้งสิ้น 909,000 บาทกลยุทธ์การขายบ้านราคาไม่ถึง 1 ล้านของพฤกษา เรียลเอสเตท มักจะล่อลูกค้าผู้มีรายได้ปานกลางไปถึงน้อยด้วยการคิดเงินจองเงินดาวน์ในอัตราที่ไม่สูง สำหรับโครงการบ้านพฤกษา 47/2 พฤกษาเรียลเอสเตทคิดค่าจองเพียง 3,499 บาท ส่วนเงินดาวน์คิด 36,000 บาทให้แบ่งจ่าย 8 งวด งวดละ 4,500 บาท เงินค่าบ้านก้อนใหญ่ที่เหลืออีก 869,500 บาท ให้ผู้บริโภคไปหากู้เงินจากธนาคารมาจ่ายในวันนัดโอนบ้านคุณภัทรวรรธน์ทำเรื่องติดต่อธนาคารและจ่ายเงินจองเงินดาวน์มาถึง 6 งวด โครงการได้นัดเข้าไปตรวจรับบ้านเพื่อเตรียมการโอนบ้าน คุณภัทรวรรธน์จึงมอบหมายให้บริษัทตรวจรับบ้านที่มีประสบการณ์เข้าไปตรวจสภาพการก่อสร้างบ้านผลการตรวจบ้านพบปัญหาจากการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานหลายจุด ดูไม่สมกับชื่อเสียงของโครงการฯ ที่หนักหนาสาหัสที่สุดตรงที่ผนังบ้าน ไม่แน่ใจว่าช่างตาเอียงตาเหล่แค่ไหน ถึงได้ก่ออิฐบิดเบี้ยวจนทำให้ผนังบ้านซึ่งเป็นส่วนรับน้ำหนักบ้านเอียงไม่ได้ฉากและเกิดรอยร้าวอย่างเห็นได้ชัด คุณภัทรวรรธน์ จึงได้แจ้งให้โครงการฯ ทราบ ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ช่างของโครงการฯ เสนอวิธีการแก้ไขแบบง่ายแสนง่าย ว่า จะซ่อมแซมให้ด้วยการฉาบปิดรอยร้าว และฉาบปูนเพิ่มเพื่อให้กำแพงได้ฉาก คุณภัทรวรรธน์จึงสอบถามไปที่บริษัทตรวจรับบ้านว่าปัญหาผนังบ้านเอียงไม่ได้ฉาก จะใช้วิธีฉาบปูนเพิ่มเข้าไปได้หรือเปล่า ได้รับคำตอบว่า ผนังบ้านที่เอียงอย่างเห็นได้ชัดขนาดนั้นเป็นส่วนรับน้ำหนักของตัวบ้าน ซึ่งจะเกิดอันตรายในอนาคตได้ หากไม่ดำเนินการรื้อและก่อผนังขึ้นใหม่คุณภัทรวรรธน์ ได้พยายามเรียกร้องให้โครงการฯ แก้ไขงานบ้านตามที่บริษัทตรวจรับบ้านให้คำแนะนำแล้ว แต่ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน ซ้ำยังกำชับให้จ่ายค่างวดที่เหลือต่ออีก ในขณะที่ธนาคารก็นัดวันเซ็นสัญญาใกล้เข้ามา จึงปรึกษามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า จะขอให้โครงการแก้ไขต้องทำอย่างไร และยังต้องจ่ายค่างวดให้ครบและต้องรับโอนบ้านหรือไม่ แนวทางแก้ไขปัญหาถ้าผู้บริโภคคนไหนทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านหรือว่าจ้างก่อสร้างบ้านใหม่ แล้วเรื่องเดินมาถึงจุดที่พบว่าสภาพการก่อสร้างมีปัญหา คิดจะใช้วิธีไม่จ่ายค่างวดที่เหลือ หรือไม่รับโอนบ้าน กะจะใช้เป็นเงื่อนไขกดดันหวังให้เจ้าของโครงการทำการซ่อมแซมแก้ไข ต้องระวังให้ดีเพราะผลีผลามทำไปโดยไม่รู้ขั้นตอนจะตกเป็นฝ่ายผิดสัญญาถูกฟ้องคดีบังคับให้ต้องจ่ายเงินตามสัญญาที่เหลือได้โดยที่บ้านก็ไม่ได้ซ่อม หรืออาจจะสูญบ้านทั้งหลังไปเลยก็ได้หากต้องการจะหยุดส่งค่างวดหรือไม่รับโอนบ้าน โดยไม่เป็นฝ่ายผิดสัญญาเสียเอง การมีหนังสือแจ้งถึงปัญหาเพื่อให้ดำเนินการแก้ไขตามกรอบระยะเวลาที่ได้กำหนดกันไว้ในสัญญาก่อนหน้า ส่งถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทเจ้าของโครงการไปทางแฟกซ์หรือจดหมายลงทะเบียนตอบรับ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้โดยเด็ดขาด อย่าใช้ปากเรียกร้องเพียงอย่างเดียว เพราะมีแต่ลมจับต้องอะไรมาเป็นหลักฐานยืนยันในภายหลังไม่ได้ยิ่งได้ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญมาประกอบถึงการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน ยิ่งทำให้เหตุผลของฝั่งผู้บริโภคมีน้ำหนักมากขึ้น และหากความชำรุดบกพร่องนั้นเกี่ยวกับโครงสร้างหลักของตัวบ้าน เมื่อพิจารณาแล้วว่าไม่อาจทำการแก้ไขได้ตามกำหนดระยะเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเรียกเงินที่ได้ชำระไปคืนทั้งหมดได้  โดยให้ทำเป็นหนังสือบอกเลิกสัญญาส่งไปทางแฟกซ์หรือจดหมายลงทะเบียนตอบรับก็ได้หลังจากได้รับคำแนะนำ คุณภัทรวรรธน์ไม่มั่นใจในคุณภาพการก่อสร้างบ้าน จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและขอเงินคืน ซึ่งบริษัทไม่ได้งอแงอิดออดแต่อย่างใด ยอมคืนเงินทั้งหมดให้ในเวลาไม่นานท้ายที่สุดของเรื่อง หวังว่าปัญหาของบ้านหลังนี้ บริษัทฯจะได้ทำการซ่อมแซมให้ถูกต้องตามหลักมาตรฐานการก่อสร้างที่ดีก่อนนำไปขายต่อให้ใคร อย่าให้เสียชื่อกันอีกรอบเพียงเพราะบ้านไม่ได้มาตรฐานเพียงแค่หลังเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 130 แอร์เอเซีย เรียกเก็บค่าธรรมเนียมยกเลิกเที่ยวบิน

คุณยิ่งปลิวและลูกชายจองตั๋วสายการบินแอร์เอเซีย ไป-กลับ กรุงเทพมหานคร-นครศรีธรรมราช แต่มีเหตุไม่ได้ไปเพราะคุณแม่ของคุณยิ่งปลิวป่วยเข้าโรงพยาบาลกะทันหันคุณยิ่งปลิวจ่ายเงินค่าตั๋วเครื่องบินเป็นเงินทั้งสิ้น 5,568.96 บาท  แบ่งเป็นค่าตั๋วและภาษี 4,683 บาท ค่าประกันภัยและดำเนินการ 885.96 บาท โดยมีเงื่อนไขความคุ้มครองของประกันภัยว่า หากผู้เอาประกันภัยจำเป็นต้องยกเลิกการเดินทางอันมีสาเหตุจากการเสียชีวิตหรือการบาดเจ็บสาหัส หรือการเจ็บป่วยของผู้เอาประกันภัย คู่สมรส บิดามารดาของผู้เอาประกันภัย บิดามารดาของคู่สมรส ปู่ ย่า ตา ยาย บุตร พี่ น้อง ของผู้เอาประกันภัย ทำให้ไม่สามารถเดินทางตามกำหนดได้ จะให้ความคุ้มครองการบอกเลิกการเดินทางด้วยการคืนเงินชดเชยสูงสุดไม่เกินราคาค่าโดยสาร (ค่าตั๋ว + ภาษี + น้ำมัน)“แม่ผมป่วยอยู่โรงพยาบาล อยู่ในเงื่อนไขการคืนเงิน และทางแอร์เอเซียก็ไม่ขัดข้องใดๆ เพราะไม่ได้คืนเงินให้จริง แต่ให้เป็นเครดิตไว้สำหรับการเดินทางครั้งต่อไปภายใน 90 วัน แต่เมื่อคำนวณการคืนเงินให้ผู้โดยสาร ผมคิดว่าเอาเปรียบผู้โดยสารอยู่ดี” แนวทางแก้ไขปัญหา แอร์เอเซียเอาเปรียบหรือไม่ ลองมาพิจารณาโครงสร้างการหักเงินก่อนคืนเงินค่าโดยสารครั้งนี้ดู แอร์เอเซียหักค่าธรรมเนียมยกเลิกเที่ยวบิน (749 บาท/คน/เที่ยว) เป็นเงิน 2,996 บาท หักค่าประกันและดำเนินการ 885.96 บาท รวมเงินที่หัก 3,881.96 บาท จากเงินที่จ่ายไป 5,568.96 บาท  คงเหลือเงินที่คืนให้แก่ผู้โดยสารเพียง 1,687 บาท“ผมทำประกันการยกเลิกเที่ยวบิน แต่ยังมาหักค่าธรรมเนียมยกเลิกเที่ยวบินอีก ถ้าเป็นอย่างนี้จะทำประกันไปทำไม” คุณยิ่งปลิวถามด้วยความเคืองใจเมื่อไม่เห็นด้วยกับวิธีคิดการคืนเงิน คุณยิ่งปลิวจึงส่งเสียงทักท้วงไปที่แอร์เอเซีย ผลปรากฏว่า แอร์เอเซียได้ดำเนินการชดเชยให้แก่ผู้ร้องโดยการส่งตั๋วบินไปกลับฟรีมาให้ แถมยังคืนเงินที่หักค่าธรรมเนียมการยกเลิกเที่ยวบินมาให้อีกด้วย ทำให้คุณยิ่งปลิวรู้สึกพอใจกับการชดเชยของแอร์เอเซียเป็นอย่างมากใครที่เจอปัญหาทำนองนี้ อย่าลืมรักษาสิทธิกันนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 129 ออมสินปฏิเสธบังคับลูกค้ากู้เงินต้องทำประกัน

 คุณวิชัยบอกว่า ถูกธนาคารออมสินบังคับให้ทำประกันชีวิตเพื่อค้ำประกันเงินกู้สินเชื่อประเภทสวัสดิการ ถ้าไม่ทำประกันก็ไม่อนุมัติ และวงเงินประกันสูงมาก รายละเอียดเป็นอย่างไร มาติดตามกันครับคุณวิชัยบอกว่า ไปกู้ยืมเงินกับธนาคารออมสิน สาขาวังสะพุง จ.เลย เป็นจำนวนเงิน 2.8 ล้านบาท โดยมีที่ดินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ กำหนดชำระเงิน 17 ปี และธนาคารออมสินสาขาวังสะพุงให้ทำประกันชีวิตกับบริษัทอาคเนย์ประกันชีวิต จำกัด ค่าเบี้ยประกันเป็นเงิน 238,089.25 บาท และกับบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด ค่าเบี้ยประกันอีก 42,015.75 บาท รวมเบี้ยประกันทั้งสองบริษัทเป็นเงิน 280,105 บาท โดยต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันครั้งเดียวในวันทำสัญญากู้เงิน โดยให้ธนาคารเป็นผู้รับผลประโยชน์คุณวิชัยมีคำถามว่าเงินเบี้ยประกันตก 10% ของยอดเงินกู้ เมื่อชำระเงินกู้จนหมดตามสัญญาก็ไม่ได้คืน“ผมถือว่าผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างยิ่ง และสงสัยว่าธนาคารมีผลประโยชน์กับบริษัทประกันภัยหรือไม่” แนวทางแก้ไขปัญหา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้มีหนังสือสอบถามไปที่ท่านกรรมการผู้จัดการธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ไปเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2554 ผลปรากฏว่าเงียบไม่มีคำตอบ เลยทำหนังสือไปติดตามความคืบหน้าอีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2554 และได้พยายามติดต่อสอบถามทางโทรศัพท์อยู่หลายครั้ง ในที่สุดในวันที่ 7 กันยายน 2554 ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ จึงได้มีคำชี้แจงกลับมาอย่างเป็นทางการ บอกว่า... ฝ่ายวิเคราะห์สินเชื่อบุคคล ได้ตรวจสอบหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการให้สินเชื่อสวัสดิการสำหรับข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ในเรื่องการให้สินเชื่อบุคคล กรณีที่ผู้กู้ต้องการประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล และหรือประกันชีวิตเพื่อประกันสินเชื่อกับบริษัทผู้รับประกันที่ธนาคารกำหนด ให้รวมค่าเบี้ยประกันในจำนวนเงินให้กู้ได้ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริง แต่จำนวนเงินให้กู้รวมทั้งหมดต้องไม่เกินตามเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด และระยะเวลาเอาประกันต้องไม่เกินระยะเวลาชำระเงินกู้ตามสัญญา สำหรับค่าเบี้ยประกันชีวิตให้เป็นไปตามอัตราเบี้ยประกันของบริษัทผู้รับประกัน “จากรายละเอียดดังกล่าวพิจารณาได้ว่า ธนาคารฯ ไม่มีนโยบายเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินสินเชื่อสวัสดิการแก่ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พร้อมกับการทำประกันชีวิต เพียงแต่หากผู้กู้มีความประสงค์ต้องการประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล และหรือประกันชีวิตเพื่อประกันสินเชื่อกับบริษัทผู้รับประกันที่ธนาคารกำหนดให้รวมค่าเบี้ยประกันในจำนวนเงินให้กู้ได้เท่านั้น” เมื่อมีคำตอบชัดเจนแบบนี้ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จึงมีความเห็นว่า คุณวิชัยน่าจะสามารถเรียกเงิน 280,105 บาท ที่ถูกหักไปเป็นเบี้ยประกันภัยคืนจากบริษัทประกันภัยได้ เหตุผลสำคัญเพราะคุณวิชัยไม่ได้มีความประสงค์ที่จะทำประกันมาตั้งแต่แรกแล้ว และยังได้มีการทักท้วงทั้งทางวาจาและลายลักษณ์อักษรมาโดยตลอด แต่ที่ต้องทำไปเพราะถูกหว่านล้อมชักชวนจากพนักงานธนาคาร และยังไม่มีการให้ข้อมูลที่ครบถ้วน จนทำให้ลูกค้าเข้าใจว่า ถ้าไม่ทำประกันภัยจะทำให้ขอสินเชื่อไม่ได้ การเข้าทำสัญญาจึงดูเหมือนการถูกบังคับจิตใจกันกลายๆเมื่อมีคำยืนยันจากธนาคารออมสินเช่นนี้อีกก็สามารถใช้เป็นหลักฐานในการเจรจาบอกเลิกสัญญากับบริษัทประกันภัยได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 126 True Fitness ไม่อนุญาตให้โอนสมาชิกภาพ

ช่วงที่ผ่านมา เว็บไซต์ www.consumerthai.org ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคเกี่ยวกับบริการของ True Fitness อยู่หลายราย ลองมาดูตัวอย่างกัน“ดิฉันสมัครสมาชิก True Fitness ที่สาขาแครายไว้ค่ะ” คุณยุพานามสมมติของผู้บริโภครายหนึ่ง เริ่มเรื่องตอนที่สมัครเซลล์แจ้งว่า ถ้าอนาคตไม่ต้องการใช้บริการต่อก็สามารถโอนหรือขายต่อสมาชิกภาพให้ผู้อื่นได้ ดิฉันจึงเซ็นสัญญาไปและชำระเงินค่าสมาชิกราย 2 ปีไปครบเรียบร้อยแล้วแต่เมื่อวานติดต่อไปที่ฟิตเนสเพื่อสอบถามเรื่องการโอนสมาชิกให้เพื่อน พนักงานปฏิเสธเสียงแข็งว่า "เดี๋ยวนี้" โอนไม่ได้แล้วค่ะ ดิฉันเถียงกลับไปว่าตอนสมัครทำไมเซลล์พูดว่าโอนได้ ขายได้ พนักงานก็ไม่ตอบคำถามนี้ พูดแต่เพียงว่า ปกติเราไม่อนุญาตให้โอนสมาชิกนอกจากจะมีเหตุผลด้านสุขภาพเท่านั้น ส่วนเหตุผลส่วนตัวอื่นๆ เช่น การย้ายที่อยู่ ติดภารกิจเรื่องงาน ฯลฯ ไม่สามารถนำมาเป็นข้ออ้างในการโอนได้ดิฉันลองดูในสัญญา ก็เขียนไว้แค่ว่า สมาชิกภาพนี้มีลักษณะพิเศษ ไม่สามารถโอนได้หากไม่ได้รับความยินยอมจากทางบริษัท ดิฉันสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้างคะ สิ่งที่เซลล์พูดก็เป็นเพียงคำพูดค่ะ ไม่ได้ระบุเป็นลายลักษณ์อักษร แต่มีสมาชิกหลายคนที่ได้รับข้อมูลจากเซลล์มาแบบเดียวกันว่าโอนให้คนอื่นได้ คำพูดของเซลล์ถือเป็นการเจตนาบิดพลิ้วสาระสำคัญของสัญญาได้ไหมคะ” ส่วนอีกรายก็เขียนร้องเรียนมาว่า “เจอปัญหาเดียวกันเลยค่ะ” “ตอนสมัครปีที่แล้วน้องเซลล์ก็พูดเป็นมั่นเป็นเหมาะ ว่าสามารถโอนสิทธิได้ แต่ว่าได้แค่ครั้งเดียว โดยมีค่าธรรมเนียม ซึ่งที่ผ่านมาเราก็รู้กันอยู่ว่าเขาโอนกันเยอะแยะ พอมาถึงตอนนี้ดิฉันกับเพื่อนต้องการโอนสิทธิให้คนอื่น กลับมาบอกเราว่าเมื่อก่อนโอนได้ เดี๋ยวนี้ไม่ให้โอนแล้ว ดิฉันไม่ได้มีความรู้เรื่องกฎหมายนะคะ แต่เห็นว่าถ้าตอนหลังจะยกเลิกเรื่องการโอน ก็ควรมีผลเฉพาะกับคนที่สมัครหลังจากออกกฎนี้หรือเปล่า และสัญญารุ่นใหม่ก็ควรระบุไปเลยว่าไม่ให้โอนสิทธิไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น” ปัญหาเป็นแบบนี้แนวทางการแก้ไขปัญหา จะต้องทำอย่างไร มาดูกัน แนวทางแก้ไขปัญหาขอตอบแบบในมุมของกฎหมายคดีผู้บริโภคเลยนะครับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 ได้บัญญัติไว้ว่า ประกาศ โฆษณา คำรับรอง หรือการกระทำด้วยประการใดๆ ของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ในขณะทำสัญญาว่าผู้ประกอบธุรกิจตกลงจะมอบให้ หรือจัดหาให้ซึ่งสิ่งของบริการ หรือสาธารณูปโภคอื่นใด หรือจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่ผู้บริโภคเพื่อเป็นการตอบแทนที่ผู้บริโภคเข้าทำสัญญา หรือข้อตกลงใดๆ ที่ผู้ประกอบธุรกิจจะให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้บริโภคเพิ่มเติมขึ้นจากที่ได้ทำสัญญาไว้ ให้ถือว่าข้อความ การกระทำหรือข้อตกลงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งผู้บริโภคสามารถนำสืบพยานบุคคล หรือพยานหลักฐานเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าวได้ ถึงแม้ว่าการทำสัญญาเช่นว่านั้นกฎหมายจะกำหนดว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือและไม่ปรากฏข้อตกลงนั้นในหนังสือที่ได้ทำขึ้นก็ตามดังนั้น หากพบว่ามีลูกค้าหลายรายตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน ก็สามารถชวนกันมาเป็นพยานพิสูจน์ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้ว่า เซลล์ได้มีการสัญญาในเรื่องต่างๆ ตรงกันหรือไม่ ถ้าใช้แต่ตัวเองก็จะเป็นหลักฐานที่อ่อนไป ศาลอาจไม่เชื่อได้แต่ก่อนที่เรื่องจะไปศาลนั้น ควรทำหนังสือขึ้นมาฉบับหนึ่ง เรียนถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท เรื่องขอโอนสมาชิกภาพ รายละเอียดก็ว่าไป...ว่าไม่ยอมให้มีการโอนโดยอ้างเรื่องสัญญา แต่สมาชิกคนอื่นๆ ต่างได้รับข้อเสนอจากพนักงานขายเป็นเสียงเดียวกันว่าสามารถโอนสมาชิกได้ จึงขอให้บริษัทพิจารณาดำเนินการโดยเร็วภายในกี่วันก็ว่าไป แล้วให้สำเนาท้ายจดหมายว่า เรียนถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจดหมายที่ส่งไปให้ผู้ประกอบธุรกิจนั้น ให้ส่งเป็นไปรษณีย์ตอบรับ เก็บสำเนาตัวจดหมายและใบตอบรับไว้เป็นหลักฐานเผื่อต้องฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค ล่าสุดมีข่าวดีเพิ่มเติม...คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ประกาศให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ซึ่งให้สิทธิการเลิกสัญญาของผู้โภคได้ในกรณีต่อไปนี้1. ผู้ประกอบธุรกิจไม่มีอุปกรณ์ออกกำลังกายหรือบริการอื่นๆ ให้ตามที่สัญญา หรืออุปกรณ์ออกกำลังกายมีการชำรุดบกพร่อง หรือให้บริการได้ไม่เหมาะสมและเพียงพอเมื่อเทียบกับจำนวนสมาชิกและพื้นที่ออกกำลังกาย โดยผู้ประกอบธุรกิจไม่จัดหาอุปกรณ์ออกกำลังกายหรือบริการที่ใกล้เคียงกันมาทดแทนได้ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากผู้บริโภค2. ผู้บริโภคมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรจากแพทย์ยืนยันว่า การใช้บริการออกกำลังกายต่อไป อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ หรือสภาพร่างกาย หรือทำให้จิตใจผิดปกติได้3. ผู้บริโภคได้รับบาดเจ็บเนื่องจากผู้ฝึกสอนของผู้ประกอบธุรกิจ ไม่มีความรู้ความชำนาญ หรืออุปกรณ์ออกกำลังกายที่ไม่มีคำเตือนว่า ชำรุดบกพร่องเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจได้มีเวลาปรับปรุงคุณภาพการบริการให้เป็นไปตามสัญญาควบคุมฉบับนี้ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจึงกำหนดให้ประกาศฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ได้นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2554 เป็นต้นไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 126 ถูกฟ้องศาลเพราะลิเบอร์ตี้ประกันภัยไม่ยอมจ่ายเงินให้คู่กรณี

คุณภูษิต หนุ่มวัย 39 ทำประกันภัยรถยนต์ประเภท 3 กับบริษัท ลิเบอร์ตี้ ประกันภัย จำกัด ซึ่งเขาไม่ทราบเลยว่าในขณะนั้นบริษัทประกันภัยรายนี้เริ่มมีภาวะการเงินที่ง่อนแง่น เหตุการณ์เริ่มขึ้นในวันที่ 4 มกราคม 2553 คุณภูษิตขับรถยนต์โตโยต้าคู่ใจไปทำธุระที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ จนเวลาเกือบ 2 ทุ่มจึงขับรถเพื่อจะออกจากห้าง ขณะที่ขับรถมาตามถนนภายในห้างสรรพสินค้าที่มีอยู่ 2 ช่องทางการจราจรเพื่อออกถนนใหญ่ มุ่งหน้าไปแยกประตูน้ำ ด้วยความใจร้อน คุณภูษิตนั้นขับอยู่ช่องทางด้านขวาขนาบคู่มากับรถเก๋งอีกคันหนึ่ง ซึ่งมีคุณสุมาลีขับอยู่โดยวิ่งไปในทิศทางที่จะออกจากห้างเหมือนกัน เมื่อรถทั้งสองคันแล่นมาถึงบริเวณทางออกถนนหน้าห้าง แทนที่คุณภูษิตจะยอมให้รถคันซ้ายเลี้ยวออกไปก่อน กลับขับรถตัดหน้ารถของคุณสุมาลีทันที ผลของการขับรถ “ปาด” กัน ทำให้รถยนต์ของคุณสุมาลีทั้งไฟหน้า กันชนและบังโคลนมีรอยครูด ได้รับความเสียหาย คุณสุมาลีนั้นทำประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 ไว้กับบริษัท ประกันคุ้มภัย จำกัด (มหาชน) จึงเรียกพนักงานของบริษัทประกันภัยมาจัดการปัญหา ซึ่งคุณภูษิตหลังจากตั้งสติได้ก็ยอมทำบันทึกยอมรับผิดที่ตนเองไปขับรถปาดหน้าคู่กรณีให้กับบริษัท ประกันคุ้มภัยฯ โดยเข้าใจว่า เดี๋ยวบริษัทลิเบอร์ตี้ จะรับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแทนตามสัญญาประกันภัยรถยนต์ประเภทที่ 3 ที่ได้ทำไว้ ปรากฏว่าหนึ่งปีให้หลัง วันที่ 4 มกราคม 2554 คุณภูษิตถูกบริษัทประกันคุ้มภัยฯ ซึ่งรับช่วงสิทธิมาจากคุณสุมาลี ในฐานะผู้เสียหายตัวจริงฟ้องเรียกค่าซ่อมรถที่ประกันคุ้มภัยฯ จ่ายซ่อมในฐานะผู้รับประกันเป็นเงินประมาณ 11,000 บาทเศษ พอโดนฟ้องอย่างนี้คุณภูษิตต้องรีบมาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร้องถามเสียงหลงว่า “ทำไมถึงทำกับผมได้” แนวทางแก้ไขปัญหา คุณภูษิตก็เหมือนลูกค้าลิเบอร์ตี้ประกันภัยอีกหลายราย ที่ไม่เคยทราบเลยว่าบริษัทประกันแห่งนี้มีปัญหาด้านการเงินไม่ต่างจากบริษัทสัมพันธ์ประกันภัย ซึ่งถูกสั่งปิดกิจการไปแล้ว เมื่อมีปัญหาด้านการเงินก็ไม่มีการบอกกับลูกค้า เอาแต่เงินเข้ากระเป๋ารับทำประกันอย่างเดียว แต่พอถึงเวลาเคลมไม่ยอมมาเคลมและปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมหลายรายที่ไม่รู้ช่องทางการร้องเรียน มูลนิธิฯ จึงได้แนะนำให้คุณภูษิตไปแจ้งเรื่องร้องเรียนกับสำนักงานส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยโดยตรง หลังจากนั้นไม่นานบริษัท ลิเบอร์ตี้ประกันภัย เมื่อได้รับเรื่องแล้วจึงได้ประสานกับทางฝ่ายกฎหมายของบริษัท ประกันคุ้มภัย เพื่อดำเนินการชดใช้ค่าสินไหมให้ เมื่อสองบริษัทประกันคุยกัน ท้ายที่สุดยอมยุติตกลงรับค่าสินไหมกันที่ 9,670 บาท จากที่ฟ้องมา 11,000 บาทเศษ และได้ทำการถอนฟ้องคุณภูษิตในท้ายที่สุด นับเป็นความรับผิดชอบของบริษัทประกันภัยชื่อดังที่ล่าช้าไปเป็นปี แต่ก็ยังดีที่มีความรับผิดชอบหลงเหลืออยู่บ้างทำให้คุณภูษิตรอดจากคำพิพากษาไปแบบหวุดหวิด สำหรับบริษัทลิเบอร์ตี้ประกันภัยนั้น กระทรวงการคลังได้ มีคำสั่ง ที่ 709 /2554 ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2554 ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ไปเป็นที่เรียบร้อยโรงเรียน คปภ.แล้ว เนื่องจากบริษัทฯ มีฐานะการเงินดำรงเงินกองทุนไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย โดยมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน ณ วันที่ 30 กันยายน 2552 จำนวน 65.78 ล้านบาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 125 กสิกรไทยหาดใหญ่ ชุ่ย ยอมให้เด็กเก้าขวบถอนเงินเอง

คุณวราภรณ์ เข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2553 ตนได้ไปเปิดบัญชีเงินฝากประจำกับธนาคารกสิกรไทย สาขาคาร์ฟูร์หาดใหญ่ให้กับลูกชาย 2 คนคนหนึ่งอายุ 9 ขวบ อีกคนอายุ 6 ขวบ เปิดเป็นบัญชีเงินฝากทวีทรัพย์ ระยะเวลาฝาก 24 เดือน เดือนละ 5,000 บาท เป็นยอดรวมเงินฝากทั้งสิ้น 120,000 บาท คุณวราภรณ์ผู้เป็นแม่เปิดบัญชีให้ลูกคนละบัญชี โดยใช้ชื่อของลูกชายทั้งสองคนเป็นชื่อเจ้าของบัญชี และมีเงื่อนไขการถอนเงินจากบัญชีว่าให้ลงลายมือชื่อของลูกที่เป็นเจ้าของบัญชีนั้นเพียงคนเดียว“ตลอดมาดิฉันได้มอบหมายให้นางกาญจนา เส้งสุข พี่เลี้ยงของเด็กเป็นผู้ดูแลนำเงินเข้าฝากให้ทุกเดือน จนเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 ดิฉันพบว่านางกาญจนา ได้ยักยอกเงินส่วนหนึ่งของดิฉันแล้วหนีหายไปไม่สามารถติดต่อได้อีกเลย ดิฉันได้แจ้งความดำเนินคดีแล้วเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2554”คุณวราภรณ์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ต่อมาเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2554 ลูกชายคนโตอายุ 9 ขวบได้พูดเปรยขึ้นมาว่า นางกาญจนาเคยให้ตนกับน้องไปเซ็นเอกสารบางอย่างที่ธนาคาร“จึงเอะใจขึ้นมาค่ะ พอตรวจสอบไปที่ธนาคารปรากฏว่าได้มีการถอนเงินปิดบัญชีเงินฝากของเด็กทั้งสองคนไปเรียบร้อยแล้วค่ะ ตั้งแต่วันที่ 9 และ 10 กุมภาพันธ์ 2554”“ดิฉันได้สอบถามกับพนักงานธนาคารและผู้จัดการ(ธนาคารกสิกรไทย สาขาคาร์ฟูร์หาดใหญ่) ก็ได้รับคำตอบว่าได้ทำถูกต้องตามระเบียบธนาคารแล้ว เพราะเด็กเจ้าของบัญชีเป็นคนมาเซ็นชื่อถอนเงินเอง โดยหลักฐานที่พี่เลี้ยง(นางกาญจนา)นำมาด้วยมีเพียงสำเนาบัตรประชาชนของแม่และสำเนาทะเบียนบ้านของเด็ก ผู้จัดการสาขาให้คำแนะนำแค่ว่าให้เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และหากต้องการให้ธนาคารรับผิดชอบก็ให้ดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอนของธนาคาร” คุณวราภรณ์เล่าด้วยอารมณ์เซ็งสุดขีดที่เห็นธนาคารปัดความรับผิดชอบออกมาแบบนั้น “ดิฉันขอร้องเรียนมาเพื่อขอความเป็นธรรมแทนเด็กทั้งสองเพราะได้รับความเสียหายที่เกิดจากความประมาทของพนักงานธนาคารที่ให้เด็กยังไม่บรรลุนิติภาวะทำธุรกรรมการเงินได้โดยไม่มีผู้ปกครองที่ถูกต้องตามกฎหมายไปให้ความยินยอมด้วย และขอให้ธนาคารแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำของพนักงานด้วย” แนวทางแก้ไขปัญหาเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมทราบว่า มีการเบิกถอนเงินของลูกอายุ 9 ขวบเป็นเงิน 50,123.57 บาท และลูกคนเล็กของคุณวราภรณ์เป็นเงิน 50,124.57 บาท จากนั้นจึงได้นำเรื่องปรึกษาในข้อกฎหมายกับศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภคของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และท้ายสุดได้มีข้อแนะนำให้คุณวราภรณ์ทำจดหมายแสดงเจตนาบอกล้างนิติกรรมการฝากถอนเงิน เนื่องจากการปิดบัญชีเงินฝากและเบิกถอนเงินของเด็กทั้งสองที่ธนาคารยินยอมให้เด็กผู้เยาว์ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะกระทำไปนั้น เป็นการกระทำที่ปราศจากความยินยอมของบิดามารดา ทำให้บิดามารดาในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมและบุตรผู้เยาว์ทั้งสองได้รับความเสียหาย และขอให้ธนาคารคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับจดหมายฉบับนี้ ซึ่งหากพ้นกำหนดคุณวราภรณ์และสามีซึ่งเป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายสามารถดำเนินคดีกับธนาคารได้ตามกฎหมายต่อมาในเดือนเมษายน มูลนิธิฯ ได้ทราบความคืบหน้าจากคุณวราภรณ์ว่า ได้รับเงินคืนเต็มตามจำนวนทั้งหมด 100,274.72 บาท โดยธนาคารขอให้ผู้ร้องเซ็นหนังสือสัญญาว่าจะไม่ติดใจเอาความใดๆกับธนาคารฯ คุณวราภรณ์เห็นว่าตนได้รับเงินคืนครบตามจำนวนที่หายไป และธนาคารฯ รับปากว่าจะตามหาพนักงานที่กระทำผิดมาลงโทษ คุณวราภรณ์จึงขอยุติเรื่องร้องเรียนไว้แต่เพียงเท่านี้เรื่องนี้นับเป็นบทเรียนสำคัญกับผู้บริโภคทุกคนว่า อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน และต้องเพิ่มด้วยว่า “อย่าวางใจธนาคาร” ด้วยเช่นกัน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 สินค้าใช้แล้วไม่ได้ผล ยูนิซิตี้ ยอมคืนเงินให้ลูกค้า

 เป็นเรื่องราวของผู้บริโภคท่านหนึ่งที่เราให้ชื่อสมมติว่า “คุณนันทา” เราเคยลงรายละเอียดเรื่องนี้ไว้ในฉลาดซื้อฉบับที่ 110 สำหรับเล่มนี้ขอนำเสนอความคืบหน้าที่ผู้บริโภคของเราได้แฮปปี้มีความสุขจากความรับผิดชอบของผู้ประกอบธุรกิจ ความเดิมมีอยู่ว่า “คุณนันทา” ไปหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “เอนจูวิเนทพลัส” ของบริษัท ยูนิซิตี้ มาร์เก็ตติ้ง(ไทยแลนด์) จำกัด จากตัวแทนขายตรงที่โฆษณาสรรพคุณว่า กินผลิตภัณฑ์นี้แล้วจะช่วยให้ลดริ้วรอยตีนกาบนใบหน้าได้ หากไม่ได้ผลยินดีคืนเงิน แต่พอใช้ไปกลับเกิดอาการแพ้และริ้วรอยตีนกาก็ไม่ได้ลบหายไปเลย คุณนันทาจึงร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอให้ช่วยเรียกร้องเอาเงินค่าสินค้าจำนวน 4,950 บาทคืนให้ด้วย ส่วนค่าเสียหายอื่นไม่คิด แนวทางการแก้ไขปัญหา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ส่งจดหมายแจ้งไปยังบริษัท ยูนิซิตี้ฯ เพื่อขอให้เยียวยาความเสียหายตามจำนวนเงินที่ผู้บริโภคได้ร้องเรียนมา ซึ่งบริษัท ยูนิซิตี้ฯ ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายมีหนังสือตอบกลับมาที่มูลนิธิฯ มีใจความโดยสรุปว่า ผลิตภัณฑ์เอนจูวิเนทพลัสเป็นผลิตภัณฑ์ในเครือของยูนิซิตี้จริง จำหน่ายในหลายประเทศ ยกเว้นประเทศไทยที่ ยูนิซิตี้ ไทยแลนด์ ไม่ได้มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ตัวนี้แต่อย่างใด ยูนิซิตี้ยอมรับว่า สมาชิกขายตรงที่จำหน่ายสินค้าให้กับคุณนันทาเป็นสมาชิกขายตรงของยูนิซิตี้จริง  แต่การไปขายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับอนุญาตจากยูนิซิตี้โดยใช้ชื่อของยูนิซิตี้ ถือว่าเป็นการกระทำผิดจรรยาบรรณการขายตรงอย่างร้ายแรง ทำให้ทั้งลูกค้าและบริษัทฯได้รับความเสียหาย ซึ่งบริษัทฯได้พิจารณามาตรการลงโทษสมาชิกขายตรงรายนี้ โดยอาจมีการให้พ้นจากสมาชิกภาพและดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อไป ยูนิซิตี้ ไทยแลนด์ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ตามสัญญาสมัครสมาชิกขายตรงของยูนิซิตี้และตามธรรมเนียมทางการค้าทั่วไปในการขายตรง ถือว่าสมาชิกขายตรงไม่ได้มีฐานะเป็นลูกจ้างของยูนิซิตี้ และบริษัทไม่มีความรับผิดร่วมกับสมาชิกขายตรงรายนี้ ยูนิซิตี้ ไทยแลนด์ยังอ้างข้อกฎหมายเพิ่มเติมอีกว่า บริษัทไม่ต้องมีความรับผิดชอบในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้จัดจำหน่ายโดยบริษัท อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการบรรเทาความเสียหายให้กับผู้บริโภค ยูนิซิตี้ ไทยแลนด์จะเป็นผู้ติดต่อประสานงานกับบริษัทยูนิซิตี้ในต่างประเทศซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เพื่อดำเนินการคืนเงินให้กับคุณนันทาต่อไป อีกทั้งยินดีให้ความร่วมมือในการจัดหาข้อมูลเกี่ยวกับสมาชิกขายตรงที่ก่อความเสียหายให้กับคุณนันทา  รวมถึงยินดีไปให้ปากคำเป็นพยานหากมีการดำเนินคดีต่อสมาชิกตรงรายนี้ด้วยเช่นกัน ในเวลาต่อมาเราได้รับแจ้งจากคุณนันทาว่า บริษัทยูนิซิตี้ ไทยแลนด์ ได้โอนเงินจำนวน 4,950 บาทที่เป็นราคาสินค้าที่จ่ายไปให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนความเสียหายอื่นๆนั้นคุณนันทาไม่ติดใจเอาความ พร้อมทั้งขอสมัครเป็นสมาชิกฉลาดซื้อ สร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเองและครอบครัวอีกด้วย  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 118 โอนบ้านแล้วเกือบปี กลับถูกฟ้องเรียกเงินจองเงินทำสัญญาย้อนหลัง

อย่างนี้ก็มีด้วย...โครงการบ้านเป็นฝ่ายบอกลดเงินจอง เงินทำสัญญาให้ ผู้บริโภคจึงตัดสินใจซื้อบ้าน จนมีการจ่ายเงินค่าบ้านค่าที่ดินและโอนรับบ้านกันเรียบร้อย แต่กลับถูกโครงการติดตามทวงหนี้ย้อนหลังอ้างยังได้เงินจองเงินทำสัญญาไม่ครบคุณศิริวรรณ ผู้บริโภคที่ประสบเหตุเล่าว่า เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2551 ได้ไปชมโครงการหมู่บ้านพร้อมพัฒน์ ในเครือแสนสิริของบริษัท อาณาวรรธน์ จำกัด โดยขอเข้าชมบ้านตัวอย่างของโครงการฯ โดยมีพนักงานขายพาชมบ้านตัวอย่างดิฉันได้สอบถามข้อมูลเงินจองและเงินทำสัญญา พนักงานขายบอกว่า เงินจอง 20,000 บาท และเงินทำสัญญา 50,000 บาท ดิฉันบอกจะมาดูใหม่อีกครั้ง พนักงานขายจึงบอกว่าถ้าจองภายในวันนั้น เงินจองจะลดเหลือ 10,000 บาท และเงินทำสัญญาเหลือ 40,000 บาท ดิฉันจึงได้ตัดสินใจวางเงินจองบ้าน ด้วยราคา 10,000 อีกประมาณ 2 เดือนไปจ่ายเงินทำสัญญา 40,000 บาท (ใบเสร็จออกรวม 50,000 บาท )จากนั้นได้ดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเรื่องให้ทางธนาคารพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ และจ่ายเงินก้อนสุดท้ายในวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ เมื่อถึงวันนัดโอนวันที่ 28 พฤศจิกายน 2551 คุณศิริวรรณได้ไปที่สำนักงานที่ดิน เพื่อทำธุรกรรมโอนกรรมสิทธิ์ และมีการส่งมอบโฉนดแลกเปลี่ยนกับเช็คด้วยจำนวนที่แจ้งไว้เป็นที่เรียบร้อย โดยพนักงานบริษัทฯ มิได้ท้วงติงถึงเรื่องเงินจองบ้านแต่อย่างใดหลังจากนั้นไม่เท่าไหร่ ประมาณเดือนมกราคม 2552 คุณศิริวรรณได้รับโทรศัพท์แจ้งให้จ่ายค่าเงินจอง และเงินทำสัญญาที่ยังค้างอยู่ จำนวนเงินรวม 20,000 บาท คุณศิริวรรณรู้สึกแปลกใจจึงปรึกษากันกับคนที่บ้านว่า เป็นมิจฉาชีพในคราบของพนักงานขายหรือเปล่า เนื่องจากบ้านมีการโอนกรรมสิทธิ์จากเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ เรียบร้อยแล้ว และยอดเงินดังกล่าว พนักงานขายของบริษัทฯ บอกว่าเป็นส่วนลด หากยังค้างชำระเงินจองจริง บริษัทฯ ต้องแจ้งมาในใบรายละเอียดค่าใช้จ่าย หรือไม่ยอมโอนกรรมสิทธิ์ให้ อย่างแน่นอน จากนั้นเรื่องก็หายเงียบไป จนถึงเดือนกรกฎาคม 2553 คุณศิริวรรณได้รับจดหมายแจ้งเตือน ขอให้ชำระหนี้จำนวนรวม 20,000 บาท ให้แก่ บริษัท อาณาวรรธน์ จำกัด ภายใน 7 วัน ซึ่งจดหมายดังกล่าวไม่มีข้อความแจ้งแหล่งที่มาของจดหมาย ไม่มีชื่อบริษัทฯ ไม่มีตราประทับและไม่มีที่อยู่ให้ติดต่อกลับ เป็นเพียงซองสีขาวเปล่าๆ มีเพียงเบอร์โทรศัพท์มือถือ( Mobile)ไว้ให้เท่านั้น คุณศิริวรรณเกรงว่าจะเป็นมิจฉาชีพสวมรอยจึงมิได้ติดต่อกลับไปจนถึงเดือนกันยายน 2553 บริษัท อาณาวรรธน์ได้ยื่นฟ้องคุณศิริวรรณเรื่องผิดสัญญาซื้อขายบ้านและที่ดิน เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 20,000 บาทเศษ คุณศิริวรรณไม่รู้จะทำอย่างไรจึงได้ร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหาหลังได้ตรวจสอบคำฟ้องของฝ่ายโจทก์คือ บริษัท อาณาวรรธน์ จำกัด แล้ว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงได้มอบหมายให้ศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภคเข้าช่วยเหลือผู้ร้องโดยทันที โดยทนายความอาสาได้เขียนคำให้การให้กับผู้บริโภคเพื่อนำไปยื่นต่อศาล ด้วยตนเองโดยคำให้การของผู้บริโภคได้ยืนยันว่า ผู้บริโภคได้จ่ายเงินจองเป็นจำนวน 10,000 บาท และเงินทำสัญญาจำนวน 40,000 บาทตามจำนวนที่ได้รับส่วนลดจากพนักงานขายของบริษัทฯ โดยจ่ายผ่านบัตรเครดิตและเช็คตามลำดับ และในวันที่ทำสัญญาเมื่อจ่ายเงินทำสัญญาไปเรียบร้อยแล้ว ทางโครงการยังมอบสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินของโครงการและในสัญญาได้ระบุอย่างชัดเจนว่าผู้บริโภคได้ชำระเงินจองและเงินทำสัญญาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในหนังสือสัญญาขายที่ดินก็ระบุว่าผู้บริโภคในฐานะผู้ซื้อได้ชำระและผู้ขายได้รับค่าที่ดินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงขอให้ศาลได้พิจารณายกฟ้อง  เมื่อเห็นคำให้การของฝ่ายผู้บริโภค ทนายความของผู้ประกอบธุรกิจจึงต้องขอเลื่อนนัดศาลออกไปเพื่อขอตั้งหลัก เพราะไม่คิดว่าผู้บริโภคจะแข็งข้อลุกขึ้นต่อสู้คดีได้ดังนั้น หากผู้บริโภครายใดเจอเหตุการณ์เช่นนี้ อย่าผลีผลามจ่ายเงินให้ผู้ประกอบธุรกิจ ควรตรวจสอบให้ถ้วนถี่และรีบติดต่อมาที่มูลนิธิฯ โดยทันที ผลของคดีนี้มีความคืบหน้าอย่างไร จะแจ้งให้ทราบเป็นบทเรียนโดยทั่วกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 112-113 “อภิสิทธิ์” โดนเก็บค่าตัดไฟ 107 บาท

หากมีคนถามว่า เวลาจ่ายค่าไฟคุณจ่ายค่าไฟวันไหน  หลายคนมักจะตอบโดยไม่ต้องคิด ป้าดโธ่ เงินเดือนมาก็ไปจ่ายเมื่อนั้นล่ะ ไม่เห็นจะต้องคิดให้มากเลย พอคิดแบบนี้ ทำให้ผู้ใช้ไฟส่วนใหญ่ มักจะโผล่ไปจ่ายค่าไฟตอนต้นเดือนกันเป็นแถวแต่กับคุณอภิสิทธิ์ คนเชียงใหม่ ที่ไม่ใช่ “อภิสิทธิ์” คนที่อยู่กรุงเทพฯ ต้องบอกว่าก็เพราะไปจ่ายค่าไฟตอนต้นเดือนนี่แหละ ที่ทำให้ต้องถูกการไฟฟ้าตัดไฟและเรียกเก็บค่าตัดไฟ 107 บาทมาแล้ว ทั้ง ๆ ที่ไม่มีการแจ้งเตือน “ผมเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าอยู่ อ.แม่แตงครับ”คุณอภิสิทธิ์บอกว่าครอบครัวเป็นบ้านใหญ่ ทำให้ใช้มิเตอร์รวม 3 หม้อ ตอนเย็นอากาศดี ๆ ของวันเสาร์ที่ 30 มกราคม 2552 ระหว่างที่กำลังนำขยะไปทิ้งที่ถังขยะหน้าบ้าน สายตาพลันเหลือบไปเห็นใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้า 2 ใบนอนแอ้งแม้งอยู่บนพื้นหน้าบ้าน หยิบขึ้นมาดูจึงรู้ว่าเป็นของบ้านตัวเอง เลยมองหาอีกใบเผื่อว่าจะตกหล่นเหมือนกันแต่หาเท่าไหร่ก็หาไม่พบวันรุ่งขึ้นแม้จะเป็นวันอาทิตย์ แต่เพราะเห็นจากบิลค่าไฟ 2 ใบว่าจะครบกำหนดชำระในวันนี้แล้ว คุณอภิสิทธิ์จึงต้องเดินทางไปชำระค่าไฟฟ้าที่มีบิลก่อน 2 หม้อที่ห้างสรรพสินค้าในตัวเมือง ส่วนค่าไฟฟ้าของหม้อที่ 3 คุณอภิสิทธิ์เคยทราบว่าก่อนจะตัดไฟการไฟฟ้าจะมีใบแจ้งเตือนมาก่อนเพื่อให้รีบไปจ่ายค่าไฟที่ค้างอยู่ภายใน 3 วันทำการ เมื่อหาบิลไม่เจอ ก็คิดว่ายังพอมีเวลาจะหาโอกาสไปจ่ายในวันธรรมดาที่สำนักงานของการไฟฟ้าต่อไป“วันจันทร์ผมติดธุระที่ต้องไปรับ-ส่งญาติที่มาจากต่างจังหวัด กะว่าจะไปชำระเงินหม้อที่ไม่ได้รับใบแจ้งหนี้ในวันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์” คุณอภิสิทธิ์เล่าถึงแผนที่ได้เตรียมไว้ แผนการของคุณอภิสิทธิ์เกือบสมบูรณ์แบบ ถ้าหากว่าเช้าวันที่ 3 กุมภาพันธ์ตอนเก้าโมงครึ่งจะไม่มีเจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าโผล่มาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยและทำการปลดสายมิเตอร์ออก พร้อมกับยื่นใบเหลืองเหมือนกรรมการฟุตบอลยื่นให้ตอนนักฟุตบอลทำฟาวล์แล้วบอกกับคุณอภิสิทธิ์ด้วยหน้าตาขึงขังว่า ไปจ่ายค่าไฟซะพร้อมเสียค่าต่อมิเตอร์ด้วย 107 บาท ไม่งั้นจะไม่จ่ายกระแสไฟให้   คุณอภิสิทธิ์ที่เป็นคนไม่มีอภิสิทธิ์จึงต้องจ่ายค่าต่อไฟ 100 บาท พร้อมภาษีมูลค่าเพิ่ม  7 บาทไปด้วยความชอกช้ำใจ แนวทางแก้ไขปัญหา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขต 1 (ภาคเหนือ) เชียงใหม่ มีคำชี้แจงในกรณีนี้ว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีระเบียบว่าด้วยการเงินกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการชำระค่ากระแสไฟฟ้าและการงดจ่ายกระแสไฟฟ้า สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย โดยจะมีระยะเวลาเวลาชำระเงินค่าไฟฟ้า ภายใน 7 วัน นับถัดจากวันที่ได้รับใบแจ้งค่าไฟฟ้า และอ้างว่าจะมีช่วงเวลาการแจ้งเตือนตามที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเสนอได้กำหนดอีก  3 วันก่อนการงดจ่ายไฟฟ้า รวมเป็น 10 วัน โดยระเบียบที่ว่านี้มุ่งหมายให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถนำใบแจ้งค่าไฟฟ้าไปชำระเงินที่สำนักงานการไฟฟ้าฯ หรือตัวแทนจุดรับบริการรับชำระเงินได้ภายใน 10 วันนี้ แต่เมื่อครบกำหนดชำระเงิน 10 วันข้างต้นแล้วผุ้ใช้ไฟฟ้ายังไม่ชำระเงิน พนักงานจะเสนอผู้จัดการไฟฟ้าฯ เพื่อขออนุมัติงดจ่ายไฟฟ้า อย่างช้าไม่เกินวันทำการถัดไปเหตุผลที่มีการตัดไฟและเรียกเก็บเงินกับคุณอภิสิทธิ์ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเชียงใหม่ แจ้งว่า คุณอภิสิทธิ์ได้รับใบแจ้งหนี้เมื่อ 21 มกราคม 2552 ซึ่งครบกำหนดชำระค่าไฟฟ้าวันที่ 31 มกราคม 2552 ซึ่งการไฟฟ้าฯ ตีความว่าครบ 10 วันแล้ว ดังนั้นเมื่อผู้ใช้ไฟไม่ไปชำระค่าไฟภายในกำหนด จึงได้มีการอนุมัติให้งดจ่ายไฟฟ้าในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 และผู้รับจ้างงดจ่ายไฟฟ้าได้ไปปลดสายมิเตอร์ในวันเดียวกันเวลาประมาณ 09.30 น. หลังจากนั้นคุณอภิสิทธิ์จึงได้ไปชำระค่าไฟพร้อมค่าธรรมเนียมต่อกลับในวันเดียวกัน ในเวลาประมาณ 10.25 น.จึงได้แจ้งให้ผู้รับจ้างไปทำการต่อไฟตามปกติในวันนั้นประเด็นนี้ เราเห็นว่าแนวปฏิบัติการตัดไฟและเรียกเก็บค่าต่อไฟของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคซึ่งมีประชาชนร้องเรียนเข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ถือเป็นแนวปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค การไฟฟ้าฯ อ้างว่าในระเบียบได้มีช่วงเวลาการแจ้งเตือนเพิ่มขึ้นอีก 3 วันก่อนที่จะดำเนินการตัดไฟหากไม่มีการชำระค่าไฟหลังการแจ้งเตือน แล้วการไฟฟ้าฯ ได้ถือวิสาสะนำระยะเวลาของการแจ้งเตือน 3 วันนี้ไปรวมกับระยะเวลากำหนดการจ่ายค่าไฟ 7 วัน แล้วนับต่อเนื่องไปในคราวเดียวกันเป็น 10 วันรวด โดยที่ไม่เคยมีการส่งเอกสารการแจ้งเตือนจริงๆ ไปให้กับผู้บริโภคเลยซึ่งต่างจากแนวปฏิบัติของการไฟฟ้านครหลวงที่ปฏิบัติอยู่ และจากการสอบถามผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้ร้องเรียนเข้ามาพบว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในหลายๆ แห่ง ไม่เคยมีการส่งใบแจ้งเตือนมาแต่อย่างใด มีแต่เพียงใบแจ้งหนี้ใบเดียวเท่านั้นดังนั้น เมื่อไม่มีการแจ้งเตือนมาเป็นหนังสือ การไฟฟ้าฯ จึงยังไม่มีสิทธิ์ที่จะมาตัดไฟกับผู้บริโภคและเรียกเก็บเงินค่าต่อไฟกับผู้บริโภคได้ ซึ่งหากมีการเก็บค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไปแล้วถือเป็นการเรียกเก็บเงินที่ผิดระเบียบของการไฟฟ้าเอง ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิเรียกเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ ทั้งโดยการเรียกร้องโดยตรงกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือฟ้องร้องเป็นคดีผู้บริโภคก็ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 110 กลวิธีตุ๋นเงินทางโทรศัพท์

ถ้าคุณเห็นเบอร์ประหลาดแบบที่ชาวบ้านชาวช่องเขาไม่ใช้กันขึ้นโชว์บนโทรศัพท์ ขอเตือนอย่ายุ่งกับมันเด็ดขาด มิเช่นนั้นคุณอาจจะสูญเสียทรัพย์ได้เหมือนเช่นชายคนนี้เช้าวันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2553 เวลาประมาณ 10.00 น.ขณะที่สมชายกำลังนั่งดูทีวีอยู่ที่บ้าน พลันเสียงสัญญาณโทรศัพท์เข้าได้ดังขึ้น สมชายหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมองดูเลขหมายที่โทรเข้ามา เป็นเบอร์ลักษณะประหลาดมีเครื่องหมายบวกตามด้วยหมายเลขยาวเหยียดมากกว่า 10 หลัก แต่เขากดรับด้วยความเคยชิน….“สวัสดีค่ะ คุณสมชาย ใช่ไหมคะ”“ครับ...ใช่ครับ”“ดิฉันโทรมาจากธนาคารกรุงเทพ ขอแจ้งว่าคุณมีรายการยอดเงินค้างชำระจากการซื้อสินค้าผ่านทางบัตรเครดิตเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 95,000 บาทค่ะ ขอให้คุณสมชายรีบไปชำระด้วยนะคะ”สมชายตกใจ ย้อนถามกลับไปว่า เขาไปซื้อของที่ไหน เมื่อไหร่ ทำไมถึงมีราคามากกว่าวงเงินที่ธนาคารให้กับบัตรเครดิตของเขา คุณเธอที่อ้างว่าเป็นพนักงานของธนาคารกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่ามีการไปซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งเมื่อวันที่นั้น เวลานี้ พร้อมยืนยันว่าธนาคารมีรายละเอียดยืนยันอย่างชัดเจน“เป็นไปไม่ได้ครับ ผมไม่ได้ใช้บัตรเครดิตรูดซื้อสินค้าแน่ อีกอย่างบัตรเครดิตที่ผมถืออยู่วงเงินมันไม่ถึงที่จะซื้อสินค้าได้ถึงเก้าหมื่นบาทหรอกครับ” สมชายบอกปฏิเสธ“ถ้าอย่างนั้นคุณสมชายเคยทำเอกสารพวกบัตรประชาชนสูญหายไหมคะ” คุณเธอขยับหลุมพรางเข้ามาสู่ขั้นที่สอง “ก็เคยครับ แต่นั่นมันนานมาแล้ว แล้วมันเกี่ยวอะไรด้วยครับ”“คุณสมชายอาจโดนมิจฉาชีพนำบัตรประชาชนไปทำบัตรเครดิต ด้วยการปลอมแปลงลายเซ็นต์ค่ะ และเขาอาจจะนำไปใช้รูดซื้อสินค้าเพิ่มเติมอีกก็ได้”“โอยตายล่ะ แล้วอย่างนี้ผมจะทำยังไงดีครับ ไม่งั้นผมมีหนี้ที่ไม่ได้ก่อบานตะไทแน่”“ใจเย็น ๆ ค่ะ คุณสมชาย ธนาคารมีวิธีแก้ไข” คุณเธอกล่าวปลอบด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยนพร้อมกล่าวต่อไปว่า“เนื่องจากขณะนี้มีการปลอมแปลงบัตรเครดิตของพวกมิจฉาชีพไปใช้อย่างที่คุณสมชายเจอ ธนาคารกรุงเทพจึงได้มีระบบประสานงานพิเศษกับตำรวจดีเอสไอเพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบปัญหาแบบนี้ค่ะ เดี๋ยวดิฉันจะโอนสายของคุณเข้าสู่ระบบรับเรื่องของตำรวจดีเอสไอให้ โปรดรอสักครู่นะคะ”เสียงสัญญาณรอสายดังขึ้นเพียงแค่ไม่กี่อึดใจ หลุมพรางหลุมที่สามก็หลุดเข้ามาในสาย“สวัสดีค่ะ ดิฉันร้อยตำรวจตรีหญิงปานเดือน เจ้าหน้าที่รับแจ้งเหตุตำรวจดีเอสไอ มีอะไรให้รับใช้คะ”สมชายคลายใจที่ได้ยินเสียงหวาน ๆ ของตำรวจหญิงปานเดือน จึงเล่าถึงปัญหาว่ามีคนใช้บัตรประชาชนของเขาไปออกบัตรเครดิตโดยปลอมลายเซ็นต์แล้วนำไปรูดซื้อสินค้า ซึ่งเป็นข้อมูลที่เพิ่งได้รับแจ้งจากหญิงที่อ้างตัวว่าเป็นพนักงานธนาคารกรุงเทพเมื่อไม่กี่นาทีก่อนหน้านี้ร้อยตำรวตรีหญิงปานวาดได้ซักถามข้อมูลเพิ่มเติมอย่างละเอียด ไล่ตั้งแต่ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หมายเลขบัตรประชาชน บัตรเครดิตอื่นๆ ที่มีพร้อมวงเงินของแต่ละบัตรเครดิต รวมถึงบัญชีธนาคารที่มีบัตรเอทีเอ็ม“ผมบอกเขาไปหมดเลยครับ บอกว่ามีบัญชีธนาคารกสิกรไทยอยู่และมีบัตรเอทีเอ็มด้วย เพราะหลงเชื่อว่าเขาเป็นตำรวจดีเอสไอจริงๆ” สมชายให้เหตุผลหลังจากได้ข้อมูลจากเหยื่อจนครบถ้วน ร้อยตำรวจตรีหญิงปานวาดจึงเริ่มดำเนินการเปิดหลุมพรางหลุมที่สี่ให้เหยื่อหล่นลึกไปยิ่งขึ้น“จากข้อมูลที่คุณสมชายให้มา ดีเอสไอจะดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาผู้ร้ายให้อย่างเร่งด่วนค่ะ แต่เพื่อป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพไปสวมรอยใช้บัตรเครดิตใบอื่นๆ ของคุณได้ ขอแนะนำให้คุณสมชายไปรูดเงินออกจากบัตรเครดิตทุกใบที่มีอยู่ให้หมด แล้วนำเงินทั้งหมดไปฝากเก็บไว้ในบัญชีของธนาคารกสิกรไทยที่คุณเปิดบัญชีอยู่เพราะถือเป็นบัญชีที่ปลอดภัยที่สุด เนื่องจากขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ร่วมกับธนาคารกสิกรไทยเพื่อป้องอาชญากรรมในลักษณะนี้อยู่ค่ะ ให้ไปดำเนินการทันทีเดี๋ยวนี้เลยนะคะก่อนที่มิจฉาชีพจะสามารถใช้บัตรเครดิตของคุณจนเกิดความเสียหายเพิ่มเติมได้”วางหูเสร็จสมชายคว้ากุญแจรถเผ่นผลึงบึ่งไปหาตู้เอทีเอ็มใกล้บ้านทีละตู้ๆ ไล่รูดเงินสดออกมาจากบัตรเครดิตทั้งหมดที่มีอยู่ 3 ใบจนหมดวงเงินรวมเป็นเงิน 90,000 บาท ในระหว่างนั้นได้มีเสียงผู้ชายอ้างตัวว่ามียศเป็นพันตำรวจตรีจากดีเอสไอโทรศัพท์เข้ามาสอบถามอยู่ตลอดเวลาว่าได้กดเงินออกมาหมดหรือยัง เอาเข้าบัญชีธนาคารกสิกรไทยหรือยัง เพราะได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ของธนาคารกสิกรไทยให้เตรียมรับเงินอยู่คุณสมชายเห็นว่าเป็นคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ตำรวจดีเอสไอจึงรีบปฏิบัติตามทุกขั้นตอน ท้ายสุดขับรถมาที่ตู้เอทีเอ็มของธนาคารกสิกรไทยเพื่อทำการฝากเงินสดเข้าตู้เอทีเอ็ม ฝากเงินสดเข้าธนาคารเรียบร้อยคุณสมชายถอนหายใจคิดว่าเรื่องจบแล้ว เดินกลับจะไปขึ้นรถ พลันเสียงโทรศัพท์ไม่แสดงเลขหมายก็ดังเข้ามาที่มือถือ หลุมพรางหลุมสุดท้ายเริ่มเปิดฉาก“สวัสดีค่ะ คุณสมชายนะคะ ดิฉันร้อยตำรวจตรีหญิงปานเดือนค่ะ คุณสมชายนำเงินเข้าบัญชีธนาคารกสิกรไทยแล้วหรือยังคะ”“ฝากเข้าแล้วครับ มีอะไรอีกหรือครับ”“คุณสมชายต้องรีบกลับไปที่ตู้เอทีเอ็มธนาคารกสิกรก่อนนะคะ คุณจะต้องดำเนินการเปลี่ยนข้อมูลในแถบแม่เหล็กบัตรเอทีเอ็มของคุณก่อนไม่งั้นอาจเกิดปัญหาได้หากมีการปลอมบัตรเอทีเอ็มของคุณได้อีก เดี๋ยวดิฉันจะบอกขั้นตอนการเปลี่ยนข้อมูลให้ค่ะ ให้ไปที่ตู้เดี๋ยวนี้เลยค่ะ”คุณสมชายกลับไปที่ตู้เอทีเอ็มพร้อมแนบโทรศัพท์ไว้ที่หูฟังขั้นตอนที่ตำรวจหญิงปานวาดแนะนำ ขั้นแรกถูกแนะนำให้กดถอนเงินสดออกมา 100 บาท และถูกสอบถามว่ามีเงินเข้ามีเงินเหลือยู่ในบัญชีอยู่เท่าไหร่ หมายเลขตู้เอทีเอ็มคือหมายเลขอะไร เมื่อตรวจสอบจนแน่ใจว่าเหยื่อนำเงินเข้าบัญชีแล้วจริง และมีเงินอยู่ในบัญชีเป็นจำนวนเท่าไหร่ ตำรวจหญิงปานวาดจึงทำทีบอกรหัสการเปลี่ยนข้อมูลในแถบแม่เหล็กของบัตรเอทีเอ็ม ซึ่งความจริงแล้วคือขั้นตอนการโอนเงินเข้าไปอีกบัญชีหนึ่งที่มิจฉาชีพกลุ่มนี้เปิดรอไว้ และเตรียมที่จะกดเอทีเอ็มถอนออกมาเป็นเงินสดทันทีเมื่อเงินเข้าบัญชีเรียบร้อยคุณสมชายนั้นให้ข้อมูลไปทั้งหมด พร้อมทำตามทุกขั้นตอน เพราะคิดว่าคุยกับตำรวจอยู่จริง รับใบสลิปจากตู้เอทีเอ็มเสร็จจึงขับรถกลับบ้าน กว่าจะเอะใจหยิบสลิปมาดูแล้วพบว่าถูกหลอกให้โอนเงินเข้าบัญชีของมิจฉาชีพก็ช้าไปเสียแล้ว แนวทางการแก้ไขปัญหาถ้ามาถึงขั้นนี้แล้วต้องบอกว่าเรียบร้อยโรงเรียนโจรล่ะครับ เพราะบัญชีที่มิจฉาชีพเปิดทิ้งไว้นั้น ได้มาจากการไปหลอกเหยื่อให้มาเปิดบัญชีพร้อมทำบัตรเอทีเอ็มทิ้งไว้ เงินเข้าไปเมื่อไหร่ก็กดออกมาทันที เป็นเรื่องที่ตำรวจจะต้องตามล่าหาตัวกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้มาลงโทษให้เร็วที่สุด ก่อนที่จะสร้างความเสียหายให้กับสุจริตชนมากขึ้นเรื่องนี้ถือว่าเป็นช่องโหว่ของกฎหมายด้านโทรคมนาคมที่ยังไม่มีมาตรการป้องกันการก่ออาชญากรรมทางโทรศัพท์และทางโทรคมนาคมอื่นๆ ดังนั้น ประชาชนจะต้องรู้จักป้องกันตนเองเป็นเบื้องต้น คือขั้นที่หนึ่ง หากมีใครโทรมาบอกว่าเราเป็นหนี้ธนาคารหรือสถาบันการเงินใดก็แล้วแต่ ก่อนที่จะคุยอะไรกันต่อไปต้องขอให้เขาส่งเอกสารหลักฐานรายการแจ้งหนี้มาแสดงต่อเราโดยไม่ต้องแจ้งที่อยู่ของเราให้เขาทราบ เพราะหากเป็นเจ้าหนี้ตัวจริงก็จะส่งข้อมูลตามที่อยู่ที่ได้รับแจ้งไว้ได้ หากเป็นตัวปลอมก็จะบ่ายเบี่ยงโยกโย้ หรือเร่งเร้าให้เรานำเงินไปชำระหนี้ตามตู้เอทีเอ็ม เจออย่างนี้ให้ยุติการพูดคุยโดยทันทีขั้นที่สอง หากมีการส่งเอกสารแจ้งหนี้มา ให้ตรวจสอบรายการใช้จ่าย หากพบว่ามีรายการใดหรือทั้งหมดเราไม่ได้เป็นผู้ใช้จ่ายจริง ให้ทำหนังสือทักท้วงปฏิเสธโดยทันที ไม่ควรใช้วิธีโทรศัพท์เพียงอย่างเดียวกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคถือเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการบัตรเครดิตที่จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นการกระทำของผู้ใช้บัตรเครดิตจริง หากไม่สามารถพิสูจน์ได้ก็ไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ หรือเรียกเก็บเงินไปแล้วก็ต้องคืนให้ผู้บริโภคครับ

อ่านเพิ่มเติม >