ฉบับที่ 277 เขียนคำให้ถูกต้องกับราชบัณฑิตยสถาน

        การทำงานในแต่ละอาชีพ บางครั้งจำเป็นต้องใช้เอกสารในการดำเนินเรื่อง อาจจะอยู่ในรูปแบบบันทึกข้อความ โครงการ ผลการดำเนินการ เอกสารการขออนุมัติ เป็นต้น ดังนั้นการเขียนเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินการบรรลุวัตถุประสงค์ได้นั้น นอกจากจะต้องเล่าเรื่องความเป็นมาได้แล้ว การเขียนก็มีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งการเขียนเอกสารสำคัญย่อมจำเป็นต้องเขียนให้ถูกต้องเสมอ         เมื่อถึงเวลาที่ต้องเขียนเอกสารเหล่านั้น หลายคนน่าจะเคยสะดุดกับคำบางคำ ที่ทำให้ไม่แน่ใจว่าต้องเขียนให้ถูกต้องอย่างไร ยิ่งถ้าอยู่ในแผนกที่ต้องให้ความสำคัญกับการเขียนและการสะกดคำที่ถูกต้องแล้วนั้น ยิ่งจำเป็นต้องค้นหาและตรวจสอบคำต่างๆ ตลอดเวลา ดังนั้นการมีตัวช่วยที่สามารถพกพาติดตัวไปได้ทุกที่ น่าจะเป็นเรื่องที่ตอบโจทย์ได้ดี         เมื่อต้องการค้นหาและตรวจสอบคำผิดถูก ทุกคนจะนึกถึงพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ผู้ที่ทำหน้าที่ดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดทำพจนานุกรม สารานุกรม อักขรานุกรม อนุกรมวิธาน การบัญญัติศัพท์วิชาการสาขาต่างๆ ซึ่งสามารถค้นหาและตรวจสอบคำถูกผิดฉบับออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ได้ที่ https://dictionary.orst.go.th/          อย่างไรก็ตาม ด้วยยุคสมัยปัจจุบัน เทคโนโลยีจะถูกนำมาย่อในรูปแบบแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน สำนักงานราชบัณฑิตยสภา จึงร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค เล็งเห็นความสำคัญและเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลวิชาการได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชัน “ราชบัณฑิตยฯ โมไบล์” ที่มีชื่อว่า “แอปพลิเคชันพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน” และ “แอปพลิเคชันอ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน” ช่วยให้คนไทยใช้ภาษาไทยได้ง่ายแค่ปลายนิ้ว         การใช้งานของทั้ง 2 แอปพลิเคชันไม่มีความซ้ำซ้อน เพียงแค่เข้าไปยังหมวดที่ต้องการและค้นหาคำศัพท์เท่านั้น โดยจะอธิบายความแตกต่างของหมวดภายในแอปพลิเคชัน ดังนี้         “แอปพลิเคชันพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน” จะแบ่งหมวดหมู่ออกเป็น 5 หมวด ได้แก่ หมวดค้นหาคำศัพท์ หมวดค้นตามหมวดอักษร หมวดประวัติการค้นหา หมวดบุ๊กมาร์ก และหมวดข้อมูลอื่นๆ                 “แอปพลิเคชันอ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน” จะแบ่งหมวดหมู่ออกเป็น 5 หมวด ได้แก่ หมวดอ่านอย่างไร หมวดเขียนอย่างไร หมวดประวัติการค้นหา หมวดบุ๊กมาร์ก และหมวดข้อมูลอื่นๆ         ทั้งนี้ หมวดบุ๊กมาร์ก เป็นหมวดที่ผู้ใช้แอปพลิเคชันได้บันทึกคำศัพท์ที่ค้นหาบ่อยหรือมีความพิเศษที่ต้องการเก็บไว้ และที่น่าสนใจ คือ หมวดข้อมูลอื่นๆ ในแอปพลิเคชันอ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน จะมีข้อมูลการสอนอ่านพยัญชนะ ตัวเลขบอกเวลา เลขหนังสือราชการ การอ่านเครื่องหมายต่างๆ ฯลฯ อีกด้วย         เพียงแค่มีแอปพลิเคชันของสำนักงานราชบัณฑิตยสภามาเป็นตัวช่วย การสะกดคำให้ถูกต้องก็จะไม่ยากอีกต่อไป 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 276 SAANSOOK สานสุขกายสุขใจ

        ยุคสมัยเปลี่ยนไปขนาดไหน โลกจะหมุนวันเวลาไปนานมากเท่าไร ยังคงมีสิ่งหนึ่งที่มนุษย์ทุกคนใฝ่ฝันที่อยากจะเป็น นั่นคือ การมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ หรือประโยคที่ว่า การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ ซึ่งไม่มีใครปฏิเสธประโยคนี้ได้จริงๆ      การจะทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงได้ ต้องดูแลรักษาสุขภาพตั้งแต่การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย ไปจนถึงการรักษาสุขภาพใจให้มีความสุข โดยฉบับนี้มาแนะนำตัวช่วยในการควบคุมดูแลเพื่อวางแผนสุขภาพอย่างใกล้ชิดบนสมาร์ทโฟนที่สามารถพกพาติดตัวได้ตลอดเวลา อย่างแอปพลิเคชัน SAANSOOK ที่สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายทั้งระบบปฏิบัติการ Android และระบบปฏิบัติการ iOS         มารู้จักแอปพลิเคชัน “SAANSOOK” หรือ “สานสุข” กัน โดยพัฒนาขึ้นของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และภาคีเครือข่าย แค่ชื่อก็รู้ได้เลยว่าเป็นแอปพลิเคชันที่มาช่วยให้การดำเนินชีวิตที่เคร่งเครียด ให้ผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งแอปฯ นี้จะมาเป็นผู้ช่วยที่จะทำให้มองเห็นสถานการณ์สุขภาพปัจจุบันของผู้ใช้แอปฯ ชัดเจนขึ้น และคอยวางแผน บริหารจัดการ และแนะนำด้านสุขภาพอย่างใกล้ชิด ทั้งการกิน การนอน การออกกำลังกาย และการรักษาสุขภาพใจให้มีความผ่อนคลาย ออกมาในรูปแบบของข้อมูลตัวเลขและเชื่อถือได้         เบื้องต้นแอปพลิเคชันจะให้กรอกรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัวเพื่อเก็บเป็นประวัติ ได้แก่ วันเกิด เพศ น้ำหนัก ส่วนสูง สัดส่วนรอบเอว และสอบถามเพิ่มเติมถึงพฤติกรรมการออกกำลังกาย โรคประจำตัว เป้าหมายสุขภาพที่ให้เลือก ได้แก่ เป้าหมายการลดน้ำหนัก เป้าหมายในการรักษาน้ำหนัก หรือเป้าหมายเพื่อสร้างกล้ามเนื้อ โดยแอปพลิเคชันจะให้กรอกตัวเลขเพื่อกำหนดเป้าหมายต่างๆ เมื่อกรอกเสร็จสิ้นจะเข้าสู่หน้าหลักที่มีหมวดสำคัญดังนี้ หมวดภาพรวมสุขภาพ เป็นหมวดรวบรวมข้อมูลเชิงสถิติของพลังงาน ปริมาณการกินอาหารและน้ำ ชั่วโมงการนอนพักผ่อน และหมวดแนะนำเพื่อคุณ เป็นหมวดที่รวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อแนะนำการกิน การนอน การออกกำลังกาย ซึ่งในหมวดนี้เหมาะสำหรับสายควบคุมน้ำหนักอย่างมาก         ในส่วนของการบันทึกการกินจะอยู่ในหมวดภาพรวมสุขภาพ โดยจะให้บันทึกมื้ออาหารในแต่ละมื้อ จากนั้นแอปพลิเคชันจะคำนวณปริมาณแคลอรี่ของอาหารแต่ละประเภทนั้นให้เห็นชัดเจนว่ามีคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมันรวม ไขมันอิ่มตัว ไฟเบอร์ น้ำตาล และโซเดียม ในปริมาณเท่าใด การคำนวณแคลอรี่และคำนวณข้อมูลเมนูอาหารเหล่านี้ จะช่วยทำให้ผู้ใช้รู้เท่าทันและสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินให้มีคุณภาพได้         นอกจากนี้ ยังสามารถบันทึกการดื่มน้ำ เพื่อให้สามารถวางแผนการดื่มน้ำในแต่ละวันให้เพียงพอ และบันทึกความผ่อนคลาย เพื่อให้รู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งในการรักษาดูแลและเยียวยาจิตใจให้มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีอย่างสม่ำเสมอ         ลองดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน SAANSOOK เพื่อสานสุขทั้งกายและใจ กันดูนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 ฝึกฝนภาษาบนสมาร์ทโฟนด้วยปลายนิ้ว

        การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงอายุใดก็ตาม เมื่อได้เรียนรู้ ทักษะความสามารถย่อมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องเป็นการเรียนรู้ผ่านห้องเรียนเท่านั้น การอ่านหนังสือ การอ่านข้อมูลจากแหล่งต่างๆ การเล่าสู่กันฟัง การอธิบายยกตัวอย่าง ฯลฯ รวมถึงการฝึกฝนทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจก็เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้เช่นกัน         ปัจจุบันภาษาเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตประจำวันมากขึ้นทุกที โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาสากลที่ช่วยในการสื่อสารกันทั่วโลก ดังนั้นการมีความรู้ความเข้าใจในภาษาอังกฤษ ทั้งทางด้านการพูด การฟัง การอ่าน และการเขียน ก็มีความสำคัญอย่างมาก        ฉบับนี้มาแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องใช้ทักษะด้านการอ่าน การเขียน และการฝึกพูด ด้วยแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า Johnny Grammar Word Challenge ของ British Council ซึ่งเป็นองค์กรส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ แอปพลิเคชันนี้เป็นการทดสอบคำศัพท์ การสะกดคำ และไวยากรณ์สำหรับภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันของผู้เรียนภาษาอังกฤษ โดยทดสอบผ่านการทำแบบฝึกหัดจากการแข่งขันกับเวลาภายในระยะเวลา 60 วินาที การเข้าใช้แอปพลิเคชัน ผู้ใช้สามารถเลือกลงทะเบียนเข้าใช้โดยการกรอกข้อมูลส่วนตัว หรือเข้าใช้ผ่าน facebook หรือเลือกเข้าใช้แบบ guest ซึ่งไม่ต้องกรอกข้อมูลส่วนตัว โดยภายในแอปพลิเคชันจะมีหมวดการทดสอบ 3 หมวด ได้แก่ หมวด Grammar (ไวยากรณ์) หมวด Words (คำศัพท์) และหมวด Spelling (สะกดคำ)         หมวด Grammar เป็นหมวดที่ทดสอบด้านไวยากรณ์ แบ่งตามหัวข้อจากระดับง่ายไปจนถึงระดับยาก ดังนี้ หัวข้อคำบุพบท (preposition) หัวข้อกริยาไม่ปกติ (Irregular verbs) หัวข้อคำคุณศัพท์และคำกริยาวิเศษณ์ (Adjectives & adverbs) หัวข้อคำนามนับได้และคำนามนับไม่ได้ (Countable and uncountable) หัวข้อกริยาที่มี  to และไม่มี  to หรือกริยาที่เติม ing และใช้แบบ noun (Infinitives or gerunds) หัวข้อการใช้คำ More or less หัวข้อเกี่ยวกับสี (Expression with colour) หัวข้อการใช้คำ Few and little หัวข้อคำวิเศษณ์ (Adverbial Clauses) หัวข้อกริยาช่วย (Modals) หัวข้อคำเชื่อม (Linkers) และหัวข้อคำสันธาน (Conjunctions)         หมวด Words (คำศัพท์) เป็นหมวดที่ทดสอบด้านคำศัพท์ แบ่งตามหัวข้อตามกิจกรรม ดังนี้ หัวข้อร้านอาหาร หัวข้อการท่องเที่ยว หัวข้อการสนทนาสั้นๆ หัวข้องานอดิเรก หัวข้อคำ idioms หัวข้อแสดงความเป็นตัวตน หัวข้อความสนใจ หัวข้อการทำงาน หัวข้อการสนทนาง่ายๆ และหัวข้อช้อปปิ้ง ส่วนหมวด Spelling เป็นหมวดที่ทดสอบด้านการสะกดคำ เมื่อกดในหมวดนี้แอปพลิเคชันจะนำไปสู่การทดสอบโดยกำหนดโจทย์ในรูปแบบประโยคและให้ผู้ใช้เลือกคำให้เหมาะสม ซึ่งในหมวดนี้จะเป็นการทบทวนการใช้ประโยคไปในตัว ทั้งนี้เมื่อจบบททดสอบการสะกดคำแล้ว แอปพลิเคชันจะสรุปและเฉลยคำตอบทีละข้อเพื่อให้ตรวจสอบและทำความเข้าใจอีกครั้งมาฝึกฝนเพื่อเพิ่มทักษะด้านภาษาอังกฤษกันผ่านแอปพลิเคชันนี้กัน เพราะการเรียนและฝึกฝนทุกวันจะช่วยพัฒนาศักยภาพของเราได้อย่างแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 274 Click ชุมชนด้วยแอปพลิเคชัน

        ด้วยโอกาสอันดีในช่วงวันหยุดยาวของเทศกาลปีใหม่นี้ เหล่าพนักงานเงินเดือนหลายคนได้วางแผนเดินทางท่องเที่ยวก่อนที่จะเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัดกัน ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญที่จะได้หนุดพักเหนื่อยและชาร์จพลังงานกลับคืนมาหลังจากที่นั่งทำงานมาทั้งปี ฉบับนี้ขอมาแนะนำนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบเดินทางท่องเที่ยวในแหล่งชุมชน ชื่นชอบการช้อปปิ้งผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน ผู้ที่มองหาของขวัญปีใหม่ควบคู่กับการสนับสนุนรายได้ให้กับคนในพื้นที่ จากแอปพลิเคชัน Click ชุมชน         แอปพลิเคชัน “Click ชุมชน” นี้เกิดขึ้นจากการประชุมขับเคลื่อนการปฏิบัติงานพัฒนาชุมชน ของกรมการพัฒนาชุมชนกระทรวงมหาดไทย เป็นแพลตฟอร์มบริการดิจิทัลเพื่อให้ภาคีเครือข่ายการพัฒนาและประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายสะดวก รวดเร็วและใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตและพัฒนาความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น สามารถดาวน์โหลดฟรีได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และระบบปฏิบัติการ Android         หลังจากดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน สามารถเลือกลงทะเบียนเข้าใช้ได้หลายรูปแบบ เช่น ผ่าน Line ผ่าน E-mail เป็นต้น ซึ่งภายในแอปพลิเคชันจะพบกับเมนู 13 หมวด ได้แก่ หมวดที่ 1 เมนู CDD พาเที่ยว เพื่อให้ข้อมูลการเข้าถึงชุมชนท่องเที่ยว Virtual Tours เที่ยวเสมือนจริง GIS ชุมชนท่องเที่ยว และ Trip ท่องเที่ยว ในเมนูนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการท่องเที่ยว โดยสามารถเลือกสถานที่ท่องเที่ยวในแต่ละจังหวัด และเลือกเชื่อมต่อเส้นทางไปยัง Google Map ได้ หมวดที่ 2 เมนู Shop ชุมชน ที่ช่วยรวบรวมแหล่งรวมสินค้า OTOP ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยมาไว้ในแอปพลิเคชัน เพื่อให้ผู้ใช้สะดวกในการค้นหา พร้อมทั้งเป็นการส่งเสริมการสร้างรายได้ของคนในชุมชนอีกด้วย         หมวดที่ 3 เมนูสมัครสมาชิก OTOP หมวดนี้มีไว้สำหรับผู้ประกอบการออนไลน์ ที่ผู้ใช้แอปพลิเคชันสามารถตรวจสอบรายชื่อและสมัครสมาชิก OTOP เพื่อรับข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ผ่านเมนูนี้ได้ หมวดที่ 4 เมนู 108 อาชีพ เพื่อเสริมทักษะอาชีพ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายให้กับพี่น้องประชาชน โดยสามารถเลือกเรียนหลักสูตรในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ หมวดที่ 5 เมนูกองทุนฯ สตรี สมัคร/ตรวจสอบสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี หมวดที่ 6 เมนูปราชญ์ชุมชน รวบรวมองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญของปราชญ์ชุมชน หมวดที่ 7 เมนูโคกหนองนา ข้อมูลแปลง ครัวเรือนต้นแบบ องค์ความรู้และข่าวสารต่างๆ หมวดที่ 8 เมนูความรู้ชุมชน แหล่งรวบรวมองค์ความรู้ ฐานเรียนรู้ในรูปแบบ e – Book         หมวดที่ 9 เมนูมีทุน รวบรวมข้อมูลองค์ความรู้ สื่อการเรียนรู้ศูนย์จัดการกองทุนชุมชน หมวดที่ 10 เมนู Big Data ฐานข้อมูลขนาดใหญ่การพัฒนาชุมชน มีการวิเคราะห์และเเสดงผลข้อมูลในรูปแบบกราฟ หมวดที่ 11 เมนู Do คนไทย สามารถตรวจสอบคุณภาพชีวิตจากข้อมูล จปฐ. ด้วยเลขบัตรประชาชน 13 หลัก หมวดที่ 12 เมนู Do ชุมชน ข้อมูลการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน และความเข้มแข็งของชุมชน หมวดที่ 13 เมนูเขื่อนชุมชน สามารถตรวจสอบฐานข้อมูลประชาชนและการบริการภาครัฐ ด้วยเลขบัตรประชาชน 13 หลัก         ช่วงวันหยุดยาวปีนี้ มาเลือกเดินทางท่องเที่ยวผ่านแอปพลิเคชัน “Click ชุมชน” กันดู เพื่อสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้ของคนในชุมชน แถมผลักดันเศรษฐกิจในประเทศให้เติบโตได้อีกทาง        หมวดที่ 3 เมนูสมัครสมาชิก OTOP หมวดนี้มีไว้สำหรับผู้ประกอบการออนไลน์ ที่ผู้ใช้แอปพลิเคชันสามารถตรวจสอบรายชื่อและสมัครสมาชิก OTOP เพื่อรับข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ผ่านเมนูนี้ได้ หมวดที่ 4 เมนู 108 อาชีพ เพื่อเสริมทักษะอาชีพ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายให้กับพี่น้องประชาชน โดยสามารถเลือกเรียนหลักสูตรในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ หมวดที่ 5 เมนูกองทุนฯ สตรี สมัคร/ตรวจสอบสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี หมวดที่ 6 เมนูปราชญ์ชุมชน รวบรวมองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญของปราชญ์ชุมชน หมวดที่ 7 เมนูโคกหนองนา ข้อมูลแปลง ครัวเรือนต้นแบบ องค์ความรู้และข่าวสารต่างๆ หมวดที่ 8 เมนูความรู้ชุมชน แหล่งรวบรวมองค์ความรู้ ฐานเรียนรู้ในรูปแบบ e – Book         หมวดที่ 9 เมนูมีทุน รวบรวมข้อมูลองค์ความรู้ สื่อการเรียนรู้ศูนย์จัดการกองทุนชุมชน หมวดที่ 10 เมนู Big Data ฐานข้อมูลขนาดใหญ่การพัฒนาชุมชน มีการวิเคราะห์และเเสดงผลข้อมูลในรูปแบบกราฟ หมวดที่ 11 เมนู Do คนไทย สามารถตรวจสอบคุณภาพชีวิตจากข้อมูล จปฐ. ด้วยเลขบัตรประชาชน 13 หลัก หมวดที่ 12 เมนู Do ชุมชน ข้อมูลการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน และความเข้มแข็งของชุมชน หมวดที่ 13 เมนูเขื่อนชุมชน สามารถตรวจสอบฐานข้อมูลประชาชนและการบริการภาครัฐ ด้วยเลขบัตรประชาชน 13 หลัก         ช่วงวันหยุดยาวปีนี้ มาเลือกเดินทางท่องเที่ยวผ่านแอปพลิเคชัน “Click ชุมชน” กันดู เพื่อสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้ของคนในชุมชน แถมผลักดันเศรษฐกิจในประเทศให้เติบโตได้อีกทาง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 อ่านหนังสือผ่านแอปพลิเคชันลัดกับ “สรุปให้อ่าน”

        ปฏิเสธไม่ได้ว่าการอ่านหนังสือเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยเพิ่มพูนและพัฒนาความรู้ของทุกคนตั้งแต่เกิด ควบคู่ไปกับการสะสมจากการเรียนรู้และจากการสั่งสอนจากบุคคลรอบข้าง จากข้อมูลสถิติย้อนหลังของงานหนังสืออย่างมหกรรมหนังสือระดับชาติ ในปี 2562 จัดที่ ‘อิมแพ็ค เมืองทองธานี’ มีบูทหนังสือ 888 บูท ผู้เข้าร่วมงาน 937,877 คน ยอดขายอยู่ที่ 250,301,842 บาท ในปี 2563 จัดที่ ‘อิมแพ็ค เมืองทองธานี’ มีบูทหนังสือ 746 บูท ผู้เข้าร่วมงาน 556,053 คน ยอดขายอยู่ที่ 192,005,641 บาท ในปี 2564 จัดในรูปแบบออนไลน์ และในปี 2565 จัดที่ ‘ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์’ มีบูทหนังสือ 819 บูท ผู้เข้าร่วมงาน 1,355,893 คน ยอดขายอยู่ที่ 347,331,734 บาท         จากข้อมูลสถิติจะเห็นได้ว่าคนไทยไม่ได้อ่านหนังสือน้อยลงและยังคงชื่นชอบการอ่านกันอย่างต่อเนื่อง ในทางกลับกันกลุ่มที่ไม่ได้ชื่นชอบการอ่านหนังสือเป็นเล่มๆ หรือกลุ่มคนที่ไม่มีเวลา หรือกลุ่มคนที่ไม่มีทุนทรัพย์มากพอ แต่ใจรักที่จะเรียนรู้ผ่านตัวหนังสือก็มีอยู่จำนวนไม่น้อยเช่นกัน ลองมาดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า “สรุปให้อ่าน” นี้กันดู         แอปพลิเคชัน “สรุปให้อ่าน” มีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปันความรู้ โดยตั้งใจทำให้การอ่านหนังสือหนึ่งเล่มเป็นเรื่องง่าย นำความรู้ในแต่ละเล่มมาย่อยในรูปแบบง่ายๆ สรุปเรื่องน่ารู้ให้อยู่ในกระดาษหนึ่งใบ เพื่อประหยัดเวลา แต่ยังได้ข้อมูลความรู้ได้อัดแน่น จะแบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 แบบ ได้แก่ แบบอ่านสรุป ซึ่งเป็นการสรุปหนังสือด้วยภาพที่เข้าใจง่าย อ่านจบใน 8 นาทีต่อเล่ม และแบบฟังผ่าน Podcast ซึ่งสรุปสาระสำคัญของหนังสือผ่านเสียง ฟังจบใน 8 นาทีต่อเล่ม         เมื่อดาวน์โหลดมาไว้บนสมาร์ทโฟนเรียบร้อยแล้ว ขั้นแรกให้สมัครสมาชิกโดยใช้อีเมล เมื่อเข้าไปภายในแอปพลิเคชันจะเห็นเมนู 5 หมวด ได้แก่ หมวดหน้าหลัก หมวดหมู่ หมวดคอร์ส หมวดชั้นหนังสือ และหมวดบัญชี ซึ่งแต่ละหมวดมีรายละเอียดดังนี้ หมวดหน้าหลัก จะแนะนำหนังสือที่น่าสนใจและเป็นที่นิยมในแต่ละสัปดาห์ หมวดหมู่ จะแบ่งหมวดหมู่หนังสือเพื่อให้ผู้ใช้แอปพลิเคชันเลือกเฉพาะหัวข้อที่สนใจ ซึ่งมีอยู่ 10 หมวด ได้แก่ หมวดจิตวิทยาพัฒนาตนเอง หมวดการศึกษา หมวดการเงินการลงทุน หมวดวิทยาการและเทคโนโลยี หมวดอัตชีวประวัติและชีวประวัติ หมวดอาหารและสุขภาพ หมวดความรู้ทั่วไป หมวดแม่และเด็ก หมวดบริหารและการตลาด และหมวด HOW TO ส่วนหมวดคอร์ส จะเป็นการเรียนออนไลน์ เพื่อพัฒนาตนเองอย่างเข้มข้น และหมวดชั้นหนังสือ จะเป็นส่วนที่ผู้ใช้แอปพลิเคชันเลือกหนังสือที่สนใจเข้าชั้นหนังสือส่วนตัว         ในรายละเอียดของหนังสือหนึ่งเล่ม จะบอกถึงชื่อนักเขียน สำนักพิมพ์ จำนวนผู้อ่าน ชื่อผู้สรุป ข้อมูลสรุปที่นำเสนอเป็นอินโฟกราฟฟิก ในกรณีที่หนังสือเล่มนั้นมี Podcast ก็จะปรากฎสัญลักษณ์ Play ให้เป็นตัวเลือกเพิ่มเติม เมื่อผู้อ่านรู้สึกชื่นชอบหนังสือเล่มใด ให้กดสัญลักษณ์รูปหัวใจที่อยู่ด้านขวามือ หลังจากนั้นแอปพลิเคชันจะบันทึกหนังสือเล่มนั้นไปวางไว้บนหมวดชั้นหนังสือในเมนูหนังสือที่ชื่นชอบทันที         เมื่อหลายคน ไม่มีเวลาอ่าน อ่านไม่เคยจบ อ่านไม่เข้าใจ ฯลฯ แต่อยากได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ แอปพลิเคชัน “สรุปให้อ่าน” ตอบโจทย์ได้ดีที่สุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 BKK Rail รวมเส้นทางรถไฟฟ้า

        ระบบสาธารณูปโภค ด้านการให้บริการการเดินรถสาธารณะอย่างรถไฟฟ้า ได้เริ่มเปิดให้บริการครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปลายปี 2542 เพื่ออำนวยความสะดวกและอำนวยประโยชน์แก่ประชาชน ซึ่งระบบรถสาธารณะประเภทรถไฟฟ้า ได้เข้ามาเป็นตัวเลือกต่อการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมาก โดยเฉพาะประชาชนรุ่นใหม่ที่นิยมเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเป็นหลัก จนแทบจะไม่รู้จักการเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางกันแล้ว        เมื่อกล่าวถึงการเดินทางในรูปแบบรถไฟฟ้านั้น ผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะคุ้นเคยต่อการเดินทางในลักษณะเช่นนี้เป็นอย่างดี แต่ก็ใช่ว่าจะคุ้นเคยกับทุกเส้นทาง รวมถึงผู้ที่อาศัยอยู่ต่างจังหวัดที่แทบจะไม่มีความคุ้นเคยกับการเดินทางโดยใช้รถไฟฟ้าเลย ดังนั้นฉบับนี้ขอเอาใจทุกคนที่ยังสับสนกับการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าในทุกรูปแบบ          เพียงกดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า BKK Rail ของกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม และสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผ่านระบบปฏิบัติการ iOS หรือ Android บนสมาร์ทโฟนได้เลย         การใช้งานง่ายไม่ยุ่งยาก มีให้เลือกเส้นทางรถไฟทั้งหมด 9 สี 9 สาย ได้แก่ สายที่ 1 รถไฟฟ้า BTS สายสุขุมวิท (สีเขียวอ่อน) เดินทางจากสถานีคูคตไปสถานีเคหะฯ สายที่ 2 รถไฟฟ้า BTS สายสีลม (สีเขียวเข้ม) เดินทางจากสถานีสนามกีฬาแห่งชาติไปสถานีบางหว้า สายที่ 3 รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สายสีน้ำเงิน เดินทางจากสถานีหัวลำโพงไปสถานีบางแค และสถานีบางซื่อไปสถานีท่าพระ สายที่ 4 รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง เดินทางจากสถานีเตาปูนไปสถานีคลองบางไผ่ สายที่ 5 รถไฟฟ้า SRTET สายสีแดงเข้ม เดินทางจากสถานีกลางบางซื่อไปสถานีรังสิต สายที่ 6 รถไฟฟ้า SRTET สายสีแดงอ่อน เดินทางจากสถานีบางซื่อไปสถานีตลิ่งชัน สายที่ 7 รถไฟฟ้าสายสีทอง เดินทางจากสถานีกรุงธนบุรีไปสถานีคลองสาน สายที่ 8 รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ หรือ ARL เดินทางจากสถานีพญาไทไปสถานีสุวรรณภูมิ และสายที่ 9 รถไฟฟ้าสายสีเหลือง หรือ YL เดินทางจากสถานีลาดพร้าวไปสถานีสำโรง ทั้งนี้ ในปี 2567 จะเปิดรถไฟฟ้าสายสีชมพู เดินทางจากสถานีแครายไปสถานีมีนบุรี         เมื่อกดเลือกเส้นทางรถไฟจากทั้งหมด 9 สี 9 สายแล้ว แอปพลิเคชันจะปรากฎสถานีทั้งหมดของสายรถไฟนั้นๆ เพื่อให้ผู้ใช้แอปพลิเคชันเลือกสถานีที่ต้องการ โดยจะแสดงช่วงตารางเวลาที่รถไฟฟ้าจะเดินทางมาถึงสถานี พร้อมกับรายละเอียดสิ่งอำนาวยความสะดวก นอกจากนี้ยังสามารถกดเชื่อมต่อไปยัง Google Map เพื่อแสดงแผนที่ในการเดินทางไปยังสถานีนั้นได้อีกด้วย         อีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจ จะเป็นการค้นหาข้อมูลของเส้นทางเดินทาง โดยเลือกสถานีจุดเริ่มต้น และสถานีจุดหมายปลายทางที่จะไป เพียงเท่านี้แอปฯ ก็จะแนะนำเส้นทางที่สะดวกและรวดเร็วที่สุดให้ผู้ใช้เลือก แถมยังคำนวณเวลาที่ใช้เดินทาง ราคาค่าโดยสาร และจำนวนสถานีเพิ่มเติม         เมื่อเดินทางไปไหนไม่ถูก ลองเปิดใช้แอปพลิเคชัน BKK Rail ที่ได้รวบรวมเส้นทางรถไฟฟ้าทั้งหมด 9 สี 9 สายมาไว้ที่เดียวกันดู แล้วจะรู้ว่าแอปพลิเคชันนี้เป็นตัวช่วยให้กับนักเดินทางที่ไม่ชำนาญเส้นทางได้มากเลยทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 แอปพลิเคชัน FoodiEat กินดีมีสุข

เคยได้ยินคำว่า ดัชนีมวลกาย กันไหม         ค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index : BMI) คือ มาตรการที่ใช้ประเมินภาวะอ้วนและผอมในผู้ใหญ่ ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป สามารถทำได้โดยการชั่งน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม และวัดส่วนสูงเป็นเซนติเมตร แล้วนำมาหาดัชมีมวลกาย โดยเกณฑ์มาตรฐานอยู่ระหว่าง 23 - 24.90 kg/m2 ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ตั้งแต่ 23.0 ขึ้นไป ถือว่าน้ำหนักเกินมาตรฐาน มีภาวะเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังขึ้นตามลำดับ ไม่ว่าจะเป็น โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ตามมาได้         การควบคุมอาหารมีส่วนสำคัญอย่างมาก ที่จะช่วยให้สามารถลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ ดังนั้นเพื่อให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ สิ่งที่สำคัญคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารของตนเอง โดยเลือกกินอาหารให้หลากกลาย แต่มีประโยชน์ และควรกำหนดปริมาณการกินที่เหมาะสมต่อความต้องการพลังงาน ทั้งนี้ก็ไม่ควรลด งด หรือ อดอาหารมากจนเกินไป โดยเฉพาะการรับประทานอาหารเช้าซึ่งมีความสำคัญอย่างมาก เพื่อสะสมไว้ใช้ทำกิจกรรมทั้งวัน ส่วนอาหารเย็นควรรับประทานไม่หนักมาก เนื่องจากจะมีโอกาสเผาผลาญพลังงานได้น้อย ทำให้พลังงานเหล่านั้นถูกสะสมในร่างกายกลายเป็นไขมันได้         ลองมาควบคุมพฤติกรรมการกินอาหารผ่านแอปพลิเคชัน FoodiEat กันดีกว่า แอปพลิเคชันนี้ถูกพัฒนามาโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล มีวัตถุประสงค์เพื่อบันทึกและวิเคราะห์พฤติกรรมการกินอาหาร และการออกกำลังกาย         การใช้งานไม่ยาก เพียงดาวน์โหลดและกรอกข้อมูลชื่อผู้ใช้งาน รหัสผ่าน วันเกิด เพศ น้ำหนัก ส่วนสูง รอบเอว เพื่อลงทะเบียน ระบบจะเริ่มต้นโดยการคำนวณค่าดัชนีมวลกาย (BMI) และอัตราความต้องการเผาผลาญพลังงานของร่างกายในแต่ละวัน (BMR) หรือเรียกว่าค่าพลังงานที่ร่างกายต้องการต่อวันโดยไม่รวมการทำกิจกรรมต่างๆ ต่อจากนั้นกรอกข้อมูลประวัติการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อและข้อมูลการออกกำลังกายของทุกวัน แอปพลิเคชันจะคำนวณพลังงานของอาหารหักลบอัตราความต้องการเผาผลาญพลังงานของร่างกายในแต่ละวัน เพื่อให้ผู้ใช้แอปพลิเคชันสามารถควบคุมและวางแผนการการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อได้         นอกจากนี้แอปพลิเคชันจะรวบรวมประวัติในรูปแบบสถิติ เพื่อให้นำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบย้อนหลังได้ และยังมีข้อมูลความรู้ คำแนะนำ เป็นแนวทางในการปฏิบัติที่ถูกต้อง ดังนั้นเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารเป็นสิ่งที่ดีที่สุด รวมถึงการออกกำลังกายเพื่อส่งเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ถ้าอยากเปลี่ยนตัวเองให้กลับมามีรูปร่างสมส่วน ห่างไกลโรคร้าย ต้องเริ่มหันมาใส่ใจเรื่องนี้กันมากขึ้น โดยเริ่มต้นจากการใช้แอปพลิเคชัน FoodiEat เพื่อดูแลสุขภาพกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 ปิดล็อก “3 ชั้น” ด้วยปลายนิ้ว

        ปัจจุบันสมาร์ทโฟนแทบจะกลายเป็นอวัยวะหนึ่งในร่างกายของเราแล้ว เนื่องจากข้อมูลต่างๆ มากมายที่ต้องการรับรู้นั้นสามารถค้นหาภายในอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียผ่านสมาร์ทโฟนที่ใช้กันอยู่อย่างง่ายดาย ข้อมูลข่าวสารต่างๆ มีทั้งข้อมูลที่มีสาระประโยชน์ ข้อมูลที่ให้ความบันเทิง เป็นต้น นอกจากนี้ประโยชน์ของการเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายจากปลายนิ้วนั้น ทำให้เพิ่มความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างมาก จนทำให้เกิดรูปแบบการช้อปปิ้งออนไลน์ กิจกรรมออนไลน์ต่างๆ ฯลฯ         แค่เพียงหยิบสมาร์ทโฟนเข้าท่องโลกอินเทอร์เน็ต ข้อมูลต่างๆ ก็จะหลั่งไหลมาให้พวกเราได้อ่านและได้ติดตามกันตลอด เมื่อความนิยมของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น จึงไม่แปลกที่จะเห็นเทคโนโลยีถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดเว็บไซต์และแอปพลิเคชันขึ้นมาจำนวนมาก เพื่อตอบสนองความต้องการที่เกิดขึ้นมากนั่นเอง         เมื่อต้องใช้บริการ ผู้ให้บริการทั้งเว็บไซต์และแอปพลิเคชันส่วนใหญ่ มักจะเลือกการเก็บข้อมูลเพื่อยืนยันตัวตนในการเข้าใช้งาน โดยให้กรอกข้อมูลส่วนตัว หนึ่งในนั้นคือหมายเลขโทรศัพท์ โดยหมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้ในการลงทะเบียนเข้าเว็บไซต์และแอปพลิเคชันต่างๆ ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งเทียบเท่ากับเป็นข้อมูลส่วนบุคคลหนึ่งที่ต้องได้รับการคุ้มครอง บางท่านอาจจะเคยได้ยินข่าวที่มีผู้ต้องหาแอบอ้างใช้หมายเลขโทรศัพท์ ที่ถูกเปิดใช้งานภายใต้ชื่อของผู้เสียหาย และนำหมายเลขโทรศัพท์นั้นไปใช้ในทางที่ผิด ส่งผลให้ผู้เสียหายถูกหมายจับดำเนินคดี         ด้วยเหตุนี้ ในฐานะประชาชนจึงควรมีสิทธิที่จะปกป้องตนเองและตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์ที่ตนเองครอบครองอยู่ได้ เพื่อไม่เกิดเหตุการณ์จนเกิดคดีความ ทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้ตระหนักถึงความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้น จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชันหนึ่ง โดยวัตถุประสงค์เพื่อรักษาสิทธิของประชาชน ไม่ให้ตกอยู่ในมือของมิจฉาชีพ เฝ้าระวังและรู้ทันท่วงทีเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ทั้งนี้สามารถดำเนินการปิดกั้นการใช้ข้อมูลได้ด้วยตนเองทันที         มารู้จักแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า “3 ชั้น” หรือ “3 steps” มีสโลแกนว่า ตรวจ..แจ้ง..ล็อค เพื่อเป็นเครื่องมือที่ทำหน้าที่เสมือนผู้ช่วยมาคอยจัดการข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สำหรับการรักษาสิทธิการใช้เลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของแต่ละบุคคล ภาพรวมของแอปพลิเคชันจะสามารถช่วยตรวจสอบว่ามีการลงทะเบียนการใช้หมายเลขโทรศัพท์ในชื่อและนามสกุลของผู้ใช้แอปฯ จำนวนกี่หมายเลข         ขั้นตอนแรกให้กดลงทะเบียน โดยเลือกรูปแบบออนไลน์ (หรือเลือกลงทะเบียนที่ศูนย์ให้บริการกรณีไม่สะดวกในรูปแบบออนไลน์) จากนั้นกรอกเลขบัตรประจำตัวประชน หมายเลขโทรศัพท์ และเครือข่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์ ระบบจะส่งเลข OTP มาให้กรอก และเริ่มต้นตรวจสอบเอกสาร ได้แก่ การสแกนบัตรประจำตัวประชาชน ถ่ายภาพใบหน้า โดยขั้นตอนสุดท้าย ระบบจะให้ตั้งรหัสผ่าน         หน้าแรกจะปรากฎเครือข่ายโทรศัพท์ พร้อมทั้งจำนวนหมายเลขที่เปิดใช้งาน ถัดไปจะเป็นหมวด ตรวจ/แจ้ง โดยสามารถกดดูสถานะหรือแจ้งหมายเลขที่ตกหล่นได้ผ่านสองหน้านี้ ต่อมาจะเป็นปุ่มที่โดดเด่นที่สุด คือ ปุ่มปลดล็อกหน้าที่ของปุ่มนี้ จะทำแค่ปิดล็อกและปลดล็อก เมื่อต้องการล็อกการเปิดหมายเลขโทรศัพท์ใหม่ ให้กดปิดล็อก โดยถ้ามีการกดปลดล็อกเมื่อใด ระบบจะทำการปิดล็อกให้ภายใน 5 นาที         เพื่อความแน่ใจและความปลอดภัยของการโดนแอบอ้างชื่อของตนไปเปิดหมายเลขโทรศัพท์ อีกทั้งการปิดกั้นและป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะทำให้เข้าไปพัวพันสิ่งผิดกฎหมายได้ ดังนั้นการเปิดใช้แอปพลิเคชันนี้ ย่อมเป็นเครื่องมือที่ช่วยตรวจเช็คได้ในระดับหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 ใส่ใจสุขภาพ..ใกล้ชิดเภสัชกร

        ช่วงนี้ฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ ซึ่งมีผลมาจากการเกิดพายุโซนร้อนที่มีชื่อว่า ทกซูรี เมื่ออากาศเปลี่ยนแปลงส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วยกันมากขึ้นกว่าปกติ โรคที่มาในฤดูฝนแบบนี้ เช่น โรคไข้หวัด โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคฉี่หนู โรคไข้เลือดออก เป็นต้น ดังนั้นควรเฝ้าระวังสุขภาพให้ห่างไกลโรคที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ที่ต้องดูแลและเฝ้าระวังเป็นพิเศษ        เมื่อเจ็บป่วยควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคและรักษาให้ถูกต้อง แต่บางครั้งอาการเจ็บป่วยอาจดูเล็กน้อยจนทำให้รู้สึกว่าหาซื้อยารับประทานเองได้ ซึ่งอาจส่งกระทบทำให้การรับประทานยาไม่ตรงตามโรคก็ได้ เนื่องจากไม่ได้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ต้องยอมรับว่าประเทศไทยนิยมเลือกหาซื้อยารับประทานด้วยตนเองมากกว่าที่จะไปพบแพทย์ ดังนั้นเพื่อให้ปัญหาเหล่านี้หมดไป โดยการพบกับครึ่งทาง จึงขอแนะนำแอปพลิเคชันที่ช่วยเป็นตัวกลางในการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ที่จะช่วยแนะนำการรับประทานยา หรือเมื่อมีอาการที่มีความเสี่ยงมากเกินกว่าจะรับประทานยาเท่านั้น ก็จะแนะนำให้ไปพบแพทย์ทันที         แอปพลิเคชันนี้มีชื่อว่า ร้านยากรุงเทพ เป็นผู้ช่วยที่คอยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับอาการของโรคต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่ายาที่ได้รับนั้นตรงกับโรคที่เกิดขึ้น โดยมีเภสัชกรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะคอยรับคำปรึกษาและสอบถามอาการที่เกิดขึ้นก่อนที่จ่ายยาให้กับผู้ใช้แอปพลิเคชัน        เมื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเรียบร้อยแล้ว จะให้ลงทะเบียนเป็นสมาชิกและให้กรอกรายละเอียดส่วนตัว ชื่อนามสกุล เบอร์ติดต่อ วันเกิด เป็นต้น หลังจากนั้นแอปพลิเคชันจะปรากฎหน้าแรก โดยภายในแอปพลิเคชันไม่มีความซับซ้อน ง่ายต่อการใช้งาน ในหน้าแรกจะมีหมวดด้านล่างทั้งหมด 5 หมวด ได้แก่ หมวดหน้าแรก หมวดเข้าชมร้าน หมวดปรึกษาเภสัชกร หมวดค้นหาสาขา และหมวดอื่นๆ         หมวดหน้าแรก จะแสดงข่าวสารต่างๆ หมวดเข้าชมร้าน จะแสดงสินค้าทั้งหมดที่เกี่ยวกับเวชภัณฑ์ วิตามิน อาหารเสริม และ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ หมวดค้นหาสาขา จะช่วยค้นหาสาขาและเภสัชกรร้านยากรุงเทพใกล้บ้าน หมวดอื่นๆ จะแสดงคู่มือการใช้งาน ข้อมูลส่วนบุคคล และรายละเอียดอื่นๆ         สำหรับหมวดปรึกษาเภสัชกร เมื่อกดเข้าหมวดนี้ระบบจะติดต่อประสานงานไปยังเภสัชกรเพื่อให้คำปรึกษา โดยหน้าแอปพลิเคชันจะแจ้งชื่อเภสัชกร รหัสสาขา และชื่อสาขาของร้านให้ทราบก่อนการสนทนาทุกครั้ง ระหว่างการสนทนาเภสัชกรจะแจ้งชนิดยาพร้อมราคาให้ทราบก่อนที่จะส่งเข้าระบบไปปรากฎในตะกร้าที่เลือกสินค้าของผู้ใช้แอปพลิเคชัน ทั้งนี้ ยาบางชนิดไม่สามารถเลือกหมวดเข้าชมร้านได้โดยตรง จะต้องสั่งยาผ่านเภสัชกรเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยต่อการใช้ยา ดังนั้นถ้าต้องการยาชนิดนั้นๆ ผู้ใช้แอปพลิเคชันจำเป็นต้องกดหมวดปรึกษาเภสัชกร เพื่อให้เภสัชกรแนะนำการใช้ยาก่อน         ส่วนรูปแบบการรับสินค้า สามารถเลือกรับสินค้าที่สาขา หรือ บริการจัดส่งถึงบ้านได้ กรณีที่เลือกรับสินค้าที่สาขา ผู้ใช้สามารถค้นหาสาขาและเภสัชกรร้านยากรุงเทพใกล้บ้านได้ สำหรับบริการจัดส่งถึงบ้าน สามารถเลือกวิธีการจัดส่งภายในวันหรือจัดส่งทางไปรษณีย์ได้         แอปพลิเคชันนี้เป็นหนึ่งในทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่สะดวกที่จะเดินทางไปพบแพทย์ หรือต้องการที่จะหาซื้อยามารักษาอาการที่เจ็บป่วย โดยมีเภสัชกรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเพื่อแนะนำยาที่ควรจะได้รับประทาน นอกจากนี้ยังเป็นตัวช่วยในการอำนวยความสะดวก ทำให้ไม่ต้องเดินทางไปซื้อยาด้วยตนเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 ควบคุมดูแลสุขภาพด้วย CalkCal

        ปัจจุบันเครื่องดื่มที่ให้ความสดชื่นกับร่างกายมีหลากหลายชนิดและเป็นที่ชื่นชอบกันมากโดยเฉพาะกลุ่มวัยเรียนและวัยทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่เลือกที่จะบริโภคเครื่องดื่มที่มีความหวาน อาทิ ชานมไข่มุก ชาเย็น กาแฟเย็น เป็นต้น อีกทั้งการเลือกบริโภคเครื่องดื่มที่มีความหวานเหล่านี้อาจช่วยทำให้รู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่า จึงทำให้บริโภคจำนวนมากในแต่ละวัน         กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้เผยถึงสถิติคนไทยติดหวานกินน้ำตาลเฉลี่ยวันละ 25 ช้อนชา ซึ่งมากกว่าที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ที่ไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา ถึง 4 เท่า โดยพฤติกรรมเหล่านี้มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ หลอดเลือดหัวใจ และฟันผุ ตามมาได้         นอกจากความเสี่ยงข้างต้น ยังมีความเสี่ยงที่เกิดจากอาหารประเภทอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายจนเกิดโรคต่างๆ ตามมาได้อีก ดังนั้นการดูแลสุขภาพเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยการเลือกบริโภคอาหารที่เหมาะสมในแต่ละวัน และตรงตามความต้องการของร่างกาย เพื่อควบคุมดูแลสุขภาพให้แข็งแรงและห่างไกลจากโรคภัย ฉบับนี้มาแนะนำให้ลองมาใช้ตัวช่วยในการควบคุมอาหารกับแอปพลิเคชัน “CalkCal” กันดู ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ไม่ยุ่งยาก ง่ายต่อการใช้งานเป็นอย่างมาก         แอปพลิเคชันนี้เน้นในเรื่องของการควบคุมอาหารเป็นหลัก ใช้งานในรูปแบบการบันทึกจำนวนแคลอรีโดยเลือกจากเมนูอาหารที่รับประทานในแต่ละมื้อ เมื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน จะสอบถามข้อมูลส่วนตัว ได้แก่ เพศ ส่วนสูง น้ำหนัก รวมไปถึงเป้าหมายของการลดน้ำหนัก เพื่อนำมาคำนวณและหาค่าเฉลี่ยในการควบคุมพลังงานที่ควรได้รับในแต่ละวัน ภายในแอปพลิเคชันจะแบ่งหมวด 5 หมวด ได้แก่ หมวด Calories หมวด Statistic หมวด Exercise หมวด Setting และหมวด About Us         การใช้งานไม่มีความซับซ้อนใดๆ เมื่อผู้ใช้แอปพลิเคชันต้องการกรอกรายละเอียดมื้ออาหารที่รับประทานในแต่ละวัน ให้กดที่หมวด Calories จะปรากฎชื่อรายการอาหารพร้อมจำนวนแคลอรี เมื่อค้นหาเมนูอาหารเจอแล้ว จะต้องระบุจำนวนและเลือกมื้ออาหาร โดยจะแบ่งมื้ออาหารเป็น 4 มื้อ ได้แก่ มื้อเช้า มื้อกลางวัน มื้อเย็น และมื้ออาหารว่าง กรณีที่ไม่เจอเมนูอาหารที่ต้องการสามารถเพิ่มรายการได้เอง ซึ่งให้กดเลือกปุ่มเครื่องหมายบวกที่อยู่ด้านบนขวามือ         หมวด Statistic ช่วยคำนวณปริมาณแคลอรี่ในแต่ละวันว่าควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารอย่างไร เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ส่วนหมวด Exercise จะเป็นรายการการออกกำลังกายพร้อมจำนวนแคลอรีที่จะถูกเผาผลาญออกไป         เป้าหมายของการห่างไกลโรคภัยไข้เจ็บ ย่อมสัมพันธ์กับการเลือกรับประทานอาหาร ดังนั้นการควบคุมอาหารให้เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายอย่างแท้จริง รวมถึงการออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงสุขภาพดีได้ เลิกติดหวานและหันมาติดการออกกำลังกายและควบคุมอาหารให้เหมาะสมกันดีกว่า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 กาลครั้งหนึ่ง...ที่ “Me Books”

        ช่วงเทศกาลสัปดาห์หนังสือมาเยือนอีกครั้ง หลายคนเฝ้ารอที่ได้ไปเดินเลือกซื้อหนังสือโปรดและเฝ้ารอพบปะพูดคุยกับเหล่านักเขียนทั้งหลายกันอย่างใจจดใจจ่อทีเดียว ผู้เขียนเป็นหนึ่งในนั้นที่ต้องการเดินชมเหล่าหนังสือด้วยความสุขใจ เพื่อเลือกซื้อตามรายการที่ได้รวบรวมไว้เช่นกัน แต่ครั้งนี้พิเศษหน่อยตรงที่ต้องพาเด็กน้อยติดตามไปด้วย ดังนั้นโซนที่ต้องไปเยือนอย่างแน่นอน หนีไม่พ้นโซนหนังสือนิทาน การ์ตูน แบบเรียนพัฒนาการสำหรับเด็กน้อย         เมื่อเห็นโซนหนังสือนิทานของเด็กน้อย ทำให้นึกถึงแอปพลิเคชันหนึ่งที่ช่วยเป็นสื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กน้อยผ่านการเล่านิทานในรูปแบบมีเสียง ซึ่งแอปพลิเคชันนี้มีชื่อว่า “Me Books” อย่างแรกมารู้จักกับที่มาของแอปพลิเคชันนี้กันก่อนดีกว่า         แอปพลิเคชัน “Me Books” เกิดจากศูนย์กิจการสร้างสุข (SOOK Enterprise) ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ บริษัท มีบุ๊คส์ จำกัด ประเทศมาเลเซีย ได้พัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ ภายใต้แนวคิดปลุกหนังสือให้มีชีวิต เพื่อสนับสนุนให้แอปพลิเคชันนี้เป็นเครื่องมือเผยแพร่ความรู้ด้านสุขภาวะ ผ่านนิทานออนไลน์ 4 ภาษา ให้มีความน่าสนใจและส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กอย่างเป็นระบบ         เรียกง่ายๆ คือ การพัฒนาสติปัญญาโดยการเรียนรู้ผ่านนิทานของเด็กๆ ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีและพฤติกรรมของครอบครัวที่มักนำสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตมาเป็นสื่อการเรียนการสอนอยู่แล้ว แอปพลิเคชันนี้จึงนำทั้งสองอย่างมารวบรวมไว้ในที่เดียวกัน เพื่อสะดวกในการใช้ง่าย ทั้งนี้นิทานที่อยู่ภายในแอปพลิเคชันจะมีทั้งหมด 4 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษามลายู สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีทั้งในระบบปฏิบัติการ iOS และ Android         หลังจากดาวน์โหลดต้องลงทะเบียนด้วยเมลและกำหนดรหัสผ่านในหน้าแรก โดยต้องกำหนดว่าผู้ลงทะเบียนมีสถานะเป็นพ่อหรือแม่ พร้อมทั้งลงทะเบียนชื่อเด็กได้มากกว่าหนึ่งคน เพื่อให้สามารถสลับหน้าแอปพลิเคชันไปยังข้อมูลการอ่านนิทานของแต่ละคนได้ ซึ่งแยกไว้อย่างชัดเจนตามชื่อที่ตั้งไว้ในแอปพลิเคชัน อีกทั้งยังเพิ่มความน่ารักด้วยการให้เลือกรูปภาพเป็นตัวแทนผู้ลงทะเบียน และเป็นตัวแทนเด็กๆ แต่ละคน         ในการค้นหานิทานในแต่ละครั้ง สามารถกำหนดเป้าหมายที่ต้องการตามช่วงอายุ ตามความชื่นชอบ ซึ่งแอปพลิเคชันได้แยกไว้ตามความเหมาะสมเรียบร้อย ทำให้สามารถเลือกนิทานได้ง่ายขึ้น และสามารถเลือกเก็บเรื่องที่ชื่นชอบไว้ในหมวดชื่นชอบได้ด้วย ทำให้เด็กๆ สามารถเข้าไปหาเรื่องที่ชื่นชอบได้ทันที โดยที่ไม่ต้องมาค้นหาใหม่อีกครั้ง         มาดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “Me Books” เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านการฟังนิทาน ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากกับการพัฒนาการของเด็ก เนื่องจากช่วยฝึกกระบวนการคิดของเด็กผ่านการเล่า เน้นการฟัง ทำให้ช่วยมีสมาธิมากขึ้น และช่วยเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ สร้างจินตนาการ เเละสร้างเรียนรู้อย่างมีความสุข แถมช่วยฝึกทักษะของภาษาให้กับเด็กในช่วงวัยที่เหมาะสม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 263 “สุขภาพดีมีชัยไปกว่าครึ่ง” ประโยคนี้ถูกต้องที่สุด

        ในยุคสมัยที่การดำเนินชีวิตประจำวันต้องขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี หันไปทางใดก็มีแต่การใช้เทคโนโลยีตลอดเวลา อย่างเช่น การสแกนจ่ายสินค้าต่างๆ ผ่าน QR Code ธนาคาร การโอนเงินเพื่อซื้อบัตรโดยสารรถไฟฟ้า การซื้อสินค้าผ่านแอปพลิเคชันออนไลน์ เป็นต้น         อันดับแรกขอพามารู้คำว่า AI กันก่อน AI ย่อมาจากคำว่า Artificial Intelligence แปลเป็นภาษาไทยว่า ปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งหมายถึง ระบบประมวลผลของคอมพิวเตอร์ หุ่นยนต์ เครื่องจักร หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่มีการวิเคราะห์เชิงลึกคล้ายความฉลาดของมนุษย์ และสามารถก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นการกระทำได้ หรือเครื่องจักรที่มีความสามารถในการทำความเข้าใจ เรียนรู้องค์ความรู้ต่างๆ จดจำ ตอบสนองต่อภาษา ตัดสินใจ และแก้ไขปัญหา โดยอาศัยข้อมูลจำนวนมากที่มีลักษณะซ้ำๆ เหมือนกัน         มากล่าวถึงเทคโนโลยีด้านสุขภาพที่ถูกพัฒนาขึ้นมาบ้าง อย่างแอปพลิเคชัน Agnos Health เป็นแอปพลิเคชันที่ให้บริการวิเคราะห์อาการป่วยเบื้องต้นด้วยระบบ AI ที่มีความละเอียดสูง และแม่นยำ ที่สำคัญคือไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ แอปพลิเคชันนี้สามารถใช้ได้กับสมาร์ทโฟนทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และระบบปฏิบัติการ Android การทำงานของแอปพลิเคชันจะใช้วิธีการช่วยวิเคราะห์อาการของโรคให้กับผู้ใช้ก่อนจะประมวลผลความเสี่ยงโรคที่มี หรือความเป็นไปได้พร้อมบอกวิธีการรับมือโรคในขั้นต่อไปว่าสามารถรักษาให้หายเองได้หรือควรต้องไปพบแพทย์ต่อ         เมื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Agnos Health ให้ลงทะเบียนเข้าใช้ จากนั้นภายในแอปพลิเคชันจะปรากฎเมนูต่างๆ ได้แก่ เมนูตรวจโรคด้วยตัวเองโดยระบบ AI เมนูตรวจโรคด้านจิตใจด้วย AI เมนูปรึกษาแพทย์ เมนูค้นหาแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ เมนูซื้อยา เมนูกระทู้ถามแพทย์ เมนูคลินิกแนะนำ เมนูโรคที่พบบ่อย เมนูบทความแนะนำ         เมนูตรวจโรคด้วยตัวเองโดยระบบ AI และเมนูตรวจโรคด้านจิตใจด้วย AI จะเป็นเมนูคัดกรองอาการเบื้องต้นโดยการตอบคำถามและแอปพลิเคชั่นจะวิเคราะห์ผลลัพธ์ออกมา สำหรับเมนูปรึกษาแพทย์กรณีที่ต้องการสอบถามอาการเจ็บป่วย และสามารถปรึกษาเภสัชกรกรณีต้องการซื้อยารักษาโรค เพื่อให้สามารถรักษาได้ตรงตามโรคที่เป็นในเบื้องต้น ทั้งนี้ถ้าการวิเคราะห์จากแอปพลิเคชันมีความสุ่มเสี่ยง แอปพลิเคชันหรือแพทย์หรือเภสัชกรจะแนะนำให้ไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจเช็คร่างกายอย่างละเอียดต่อไป         สำหรับเมนูค้นหาแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ เมนูซื้อยา แอปพลิเคชั่นจะค้นหาบริเวณที่ผู้ใช้อยู่ รวมถึงสามารถเข้าดูรายละเอียดตารางเวลาออกตรวจของแพทย์เฉพาะด้านแต่ละโรงพยาบาลได้ เช่น สูตินรีแพทย์ กุมารแพทย์ หูตาจมูก ตา กระดูก ระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท จิตเวช  ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเลือกพบแพทย์ได้ล่วงหน้า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 สำรวจ ฟู้ดเดลิเวอรี ใครมีตัวเลือกรักษ์โลก (ครั้งที่ 2)

        ปัจจุบันการกดสั่งอาหารออนไลน์ ทำได้ง่ายสะดวก รวดเร็ว เพราะมีผู้ให้บริการให้เลือกมากมาย ตลอดช่วงการระบาดของโรคโควิด -19 ประชาชนหันมาใช้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่กันมากขึ้น   และทั้งด้วยการจัดโปรโมชัน คูปอง การสะสมแต้มต่างๆ ยิ่งทำให้ผู้บริโภคนิยมสั่งอาหารเดลิเวอร์รีมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง          อีกด้านหนึ่ง ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอร์รี่กำลังสร้างปัญหาสำคัญคือ ขยะพลาสติกจำนวนมาก ที่สำคัญคือขยะจากฟู้ดเดลิเวอรีเหล่านี้ปะปนกับเศษอาหาร จึงไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้             ในฉลาดซื้อ ฉบับที่ 242  นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงได้สุ่มสำรวจตัวอย่างแอปพลิเคชันสั่งอาหารทางออนไลน์(ฟู้ดเดลิเวอรี) จำนวน 36 แอปพลิเคชัน ในเดือนมีนาคม 2564 เพื่อสำรวจว่าแอปฯ ฟู้ดเดลิเวอรีนั้นมีตัวเลือก ‘ลดการใช้ขยะพลาสติก’ ให้กับลูกค้าหรือไม่         ดังนั้นเพื่อการเฝ้าระวังต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันฟู้ดดิลิเวอรีมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาอีกหลายราย และเพื่อให้ผู้บริโภคที่มีใจของนักอนุรักษ์ได้มีข้อมูลว่า มีผู้ประกอบการรายใดที่ตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกนี้บ้าง ฉลาดซื้อ โครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ และ สสส. จึงทำการสำรวจบริการสั่งอาหารออนไลน์อีกครั้ง  โดยครั้งนี้สำรวจ ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ ทั้งที่ให้บริการทั้งในพื้นที่กรุงเทพ และต่างจังหวัดดังเดิมและเพิ่มเติมรายใหม่รวมจำนวนทั้งหมด 41 ราย   สำรวจผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรีรายใหม่ จำนวน 9 ราย คือ  Shopee Food TH , 1376 Delivery,  AirAsia Food ,True Food, Foodhunt , Texas Chicken Thailand, Aolaimai ,Frabbit ,Fast Delivery Ubon ระยะเวลาสำรวจ เดือนธันวาคม 2565สรุปผลการสำรวจ        - ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่แบบแอปพลิเคชัน  ที่มีตัวเลือก “ลดการใช้พลาสติก”  มีจำนวน 5 ราย คือ  Burger King, Food Panda, Grab Food , Line Man , AirAsia Food  (หรือ Gojek เดิม)      - ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ผ่านแอปพลิเคชัน แต่ไม่มีตัวเลือก “ลดการใช้พลาสติก” มีจำนวน 22   ราย  คือ  Shopee Food TH , Foodhunt ,Truefood , 1112 Delivery ,  7- Eleven ,  KFC  Thailand ,  Mc Donald’s  , Robinhood , S&P Delivery,The Pizza company, Aolaimai, Ant Delivery, Foodman Delivery Service , Fastfood  Delivery ,Weserve ,Win Food Delivery ,Big Food Delivery,Captain Food Delivery,   Finvery,FooDee Delivery ,Coffee  World  Station , Starbucks  Thailand       - ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่ออนไลน์ในรูปแบบอื่นๆ เช่น ผ่านช่องทาง เว็บไซต์ ไลน์ และ call center   และไม่มีตัวเลือกเพื่อลดการใช้พลาสติกที่ชัดเจน  มีจำนวน  8  ราย  คือ 1376 Delivery ,Domino’s  Pizza ,Fast Delivery Ubon ,Frabbit  ,Texas Chicken Thailand , Fuji Japanese Restaurant ,MK  delivery,Neo  Suki        และ แอปพลิเคชันยอดนิยมที่สำรวจแล้วพบว่า ไม่ใช่บริการ ฟู้ดเดลิเวอร์รี่ มีจำนวน  6   แอป คือ  CP Fresh Mart , Happy Fresh, Lalamove ,Skootar ,Wongnai ,ครัวคุณต๋อย    ข้อสังเกต      -   ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่ทั้งผ่านแอปพลิเคชัน และสั่งซื้อผ่าน เว็บไซต์ ไลน์ และ call center  ที่ไม่มีตัวเลือกกดไม่รับพลาสติกแต่จะมีช่อง ‘คำขอพิเศษ’  ‘โน้ตไปยังร้านอาหาร’ ‘หมายเหตุ’  ‘ใส่รายละเอียดเพิ่มเติม (ถ้ามี)’ ซึ่งผู้บริโภคสามารถใช้ช่องทางนี้ ปฏิเสธไม่รับพลาสติก  รวมไปถึงสื่อสารถึงร้านอาหารได้โดยตรงว่า ไม่ต้องการรับพลาสติกที่ไม่จำเป็น           -   ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่ มีโปรโมชั่นเพื่อจูงใจให้กดสั่งซื้อมากมาย ทั้ง มีการจัดส่งฟรี การสะสมแต้ม การลดราคาเมื่อซื้อจำนวนมากหรือ ลดราคาในวันพิเศษต่างๆ เหล่านี้เพื่อกระตุ้นยอดขายแต่ยังไม่พบว่า มีการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายพร้อมๆ กับการสร้างความตระหนักรู้ให้ผู้บริโภคลดปริมาณขยะจากอาหารเดลิเวอร์รี่ เช่น  การสะสมแต้มจากการไม่รับช้อน ซ่อม พลาสติก ,  คูปองส่วนลดสำหรับลูกค้าที่เลือกไม่รับช้อนส้อมเป็นประจำ เป็นต้น        -   ร้านอาหารจำนวนมากมีแอปพลิเคชัน และช่องทางรับคำสั่งซื้อออนไลน์ในช่องทางอื่นๆ เช่น เว็บไซต์  ไลน์ Call center ของตนเองแต่ยังมักประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคสั่งซื้อผ่าน ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่รายใหญ่ เช่น Grab Food , Line Man เนื่องจากจะได้รับความนิยมได้มากกว่า        -   ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่ที่มีทางเลือกให้ผู้บริโภคกดไม่รับพลาสติกทั้งหมดเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่    อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่รายใหญ่ หลายรายที่ยังไม่มีการพัฒนาระบบตั้งค่าลดการใช้พลาสติดดังกล่าว การที่ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่รายใหญ่เห็นความสำคัญมีส่วนสำคัญอย่างมากที่ช่วยให้สังคมตระหนักถึงปัญหาขยะจากอาหารเดลิเวอร์รี่ เพราะผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่รายใหญ่ รายหนึ่งเป็นหน้าร้านของร้านอาหารอีกเป็นจำนวนมาก เช่น  Foodhunt ที่ให้บริการจัดส่งอาหารให้แก่ Mister Donut , Auntie anne’s , โอโตยะ, ไทยเทอเรส ฯลฯ  และ  1112 Delivery  ที่ให้บริการจัดส่งอาหาร  The Pizza , Bonchon และอีกนับสิบร้านชื่อดัง       -   ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รีในต่างจังหวัดรายหนึ่งสะท้อนว่า “เคยให้บริการผ่านแอปพลิเคชันที่สามารถกดไม่รับพลาสติกได้ เมื่อได้ปรับเป็นการรับคำสั่งซื้อผ่านช่องทางไลน์เพื่อลดต้นทุน ผู้บริโภคมักไม่ระบุวัสดุการจัดส่ง  จึงมองว่าระบบการกดไม่รับพลาสติกในแอปพลิเคชันมีส่วนสำคัญที่กระตุ้นผู้บริโภคให้ลดขยะและตระหนักในปัญหาขยะจากอาหารเดลิเวอร์รีได้”  ข้อแนะนำ     -   ผู้บริโภค ควรใช้ตัวเลือกลดขยะพลาสติกในแอปฯ (ถ้ามี) เพื่อเป็นการช่วยในเรื่องการลดปัญหาขยะ    -   ปัญหาสำคัญของขยะจากฟู้ดเดลิเวอรี คือเป็นขยะพลาสติกที่ปะปนกับเศษอาหารทำให้ไม่สามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้ ผู้บริโภคจึงควรคัดแยกขยะก่อนทิ้งและรวบรวมนำไปให้ในจุดที่บริการรับขยะพลาสติกเพื่อนำกลับไปใช้ประโยชน์  หรืออย่างน้อยควรชำระให้ปนเปื้อนน้อยที่สุดก่อนทิ้ง       -   ปัจจุบัน ร้านอาหารหลายร้าน หากไม่ให้ถุงพลาสติกก็อาจพัฒนาถุงพลาสติกเพื่อให้ผู้บริโภคไปใช้ซ้ำได้นานมากขึ้นที่สุด เมื่อได้รับวัสดุ /ถุงพลาสติกจึงควรนำกลับมาใช้ซ้ำหรือหาทางใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุด    -   เลือกใช้บริการ ร้านอาหาร / ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี ที่มีความรับผิดชอบต่อปัญหาขยะอาหารเดลิเวอร์รีหรือปรับเปลี่ยนมาเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม    การใช้บริการจัดส่งสั่งอาหารออนไลน์ อาจได้เป็นวิถีใหม่ของคนไทยไปแล้ว อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการและผู้บริโภคควรได้ตระหนักร่วมกันถึงปริมาณขยะจากอาหารเดลิเวอร์รี่กำลังเพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาล  การลดขยะหรือการทำให้ขยะกลับมาใช้ได้จริง จึงต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 นั่ง BOLT ไปตั้งนานเพิ่งรู้ว่า คนขับไม่ตรงปก

        ปัจจุบันเชื่อหลายคนจะมีแอปพลิเคชันเรียกรถติดมือถือไว้แอปใดแอปหนึ่งหรืออาจจะหลายแอป เพราะบริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันช่วยให้ชีวิตสะดวกขึ้นอย่างมาก แต่นอกจากความสะดวกแล้วจากเรื่องราวของคุณหญิง อาจจะยิ่งต้องคำนึงถึงคุณภาพความปลอดภัยเพิ่มด้วย           เรื่องมีอยู่ว่าไม่นานมานี้ คุณหญิงได้ไปกินสุกี้ จิ้มจุ่มกับเพื่อนรอบดึก แต่เมื่อจะกลับที่พักซึ่งเป็นเวลาตี 3 แล้วนั้น มือถือของคุณหญิงแบตหมดและเธอไม่กล้านั่งแท็กซี่กลับห้องพักเพราะเคยมีประสบการณ์ไม่สู้ดี จึงใช้มือถือของเพื่อนเรียกบริการรถผ่านแอปพลิเคชัน Bolt         หลังจากเรียกรถ  ราว 6 นาที รถก็มาถึง คุณหญิงแยกย้ายกับเพื่อนนั่งมากับคนขับที่ตลอดทางจะขับกระชากไปมา  ทั้งยังมีท่าทางหลุกหลิก เธอนึกเอะใจว่าคนขับไม่ค่อยปกติหรือเปล่า แต่ก็พยายามคิดข่มความกลัวในใจว่าเดี๋ยวแป๊บเดียวก็ถึงที่พักแล้ว แต่แล้วก็สะดุ้งตื่นจากห้วงความคิด เมื่อรถเริ่มกระตุกซ้ำๆ และคนขับบอกเธอว่า “พี่ครับๆ รถผมน้ำมันใกล้จะหมดแล้วครับ” คุณหญิง “หมายถึงจะขับได้อีกนานแค่ไหนนะคะ” คนขับตอนว่า “จะหมดเดี๋ยวนี้เลยครับ” ยังไม่ทันสิ้นเสียงคนขับ รถมอเตอร์ไซค์ก็เริ่มชะลอตัว คนขับอาศัยขณะยังบังคับรถได้เบี่ยงรถเข้าข้างทาง และรถก็จอดนิ่งสนิทพอดี         คุณหญิงมองไปรอบๆ ตัว ณ ที่ที่คนขับพามาถึงจุดที่ใกล้ที่พักของเธอมากแล้ว คนขับถามเธอว่า “เหมือนใกล้ถึงแล้วนะ พี่รู้ไหมว่า แถวนี้มีปั๊มน้ำมันตรงไหนไหม”  คุณหญิงไม่รู้เพราะเธอไม่เคยขับรถใดๆ และบอกให้คนขับใช้ google map ค้นหาปั๊มน้ำมันที่ใกล้ที่สุด  แต่จังหวะที่คนขับรถกำลังขยายแผนที่ในจอโทรศัพท์  แบตโทรศัพท์มือถือของเขาก็ดับวูบไปทันที  จังหวะนั้นเอง วัยรุ่น ชาย 1 หญิง 2 ที่นั่งคุยกันอยู่ริมถนนก็เข้ามาทักว่า เกิดอะไรขึ้น มีอะไรให้ช่วยไหม เธอเลยบอกว่า รถน้ำมันหมด น้องวัยรุ่นผู้ชายจึงอาสาช่วยให้คนขับเกี่ยวรถของเขาไปหาปั๊มน้ำมัน          คุณหญิงมองไรเดอร์ที่เกี่ยวรถไปหาปั๊มน้ำมันแล้วก็หนักใจเพราะทั้งเธอและคนขับรถต่างแบตโทรศัพท์หมดแล้วจะติดต่อกันได้อย่างไร และจะมีปั๊มน้ำมันในระยะใกล้ๆ นี้หรือไม่ แล้วที่สำคัญเขาจะกลับมาเมื่อไหร่ แต่เมื่อเห็นวัยรุ่นผู้หญิง 2 คน ที่นั่งรอด้วยอยู่ห่างๆ จึงพออุ่นใจขึ้นมาบ้าง         ผ่านไปราว 15 นาที คุณหญิงจึงตัดใจว่า จะโบกแท็กซี่ไปที่พักดีกว่าและจะติดต่อกับคนขับในวันรุ่งขึ้นเพื่อคืนหมวกกันน็อคให้เขาต่อไป ขณะที่ยืนเรียกแท็กซี่ น้องวัยรุ่นผู้ชายก็ขับรถกลับมา คุณหญิงดีใจคิดว่าคงได้เติมน้ำมันแล้ว แต่น้องวัยรุ่นผู้ชายกลับบอกว่า “รถผมมันใหญ่พี่ ตอนเกี่ยวมันลากไปเงอะงะๆ เขาเลยขอเข็นรถไปเอง หรือจะไปขอเกี่ยวรถคนอื่นไปต่อหรือเปล่า ผมก็ไม่รู้ แต่ผมมารับเพื่อน แล้วจะไปกันแล้วนะพี่” แล้ววัยรุ่นทั้ง 3 คนก็ขับรถออกไป (อ้าวทิ้งกันเสียแล้ว) คุณหญิงยิ่งหนักใจ และยืนโบกแท็กซี่ต่อไป แท็กซี่ผ่านเธอไป 2 – 3 คัน ไม่มีคันไหนรับ อาจเพราะคนขับแท็กซี่ก็คงจะต้องกลัวผู้โดยสารที่มายืนโบกรถตอนเกือบจะตี 4 ด้วยเหมือนกัน จึงไม่มีคันไหนรับเลยสักคัน  ผ่านไปราว 40 นาที คนขับรถยังไม่กลับมา ไม่แน่ว่าถ้าเจอปั๊มน้ำมันแล้ว เขาอาจจะขอชาร์ทแบตโทรศัพท์ต่อก็ได้ นั่นแปลว่าเขาก็จะใช้เวลาต่อไป แต่...แล้วในที่สุดเขาก็ขับรถกลับมาพร้อมกับขอโทษขอโพยมากมายที่ปล่อยให้ต้องรอ         คุณหญิงทั้งกลัวที่ต้องยืนอยู่คนเดียวและโกรธคนขับที่ไม่เตรียมความพร้อมขณะทำงาน ทำให้ทั้งน้ำมันและแบตโทรศัพท์หมดและมีปัญหาแบบนี้   วันต่อมาเธอจึงขอเพื่อนดูประวัติคนขับ ตอนนี้โป๊ะแตก เธอพบว่า คนที่ขับไปส่งเธอเป็นคนละคนกับที่มีข้อมูลในบัญชีผู้ขับ  เพื่อนสาวของเธอยังบอกว่า “ถ้าไประยะไกล  เราไม่ชอบใช้แอปนี้นะ เพราะยังไม่ตรวจประวัติคนขับ” คุณหญิงคิดว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ร้ายแรงมากเพราะเท่ากับเราไม่อาจรู้ได้เลยว่า คนขับรถที่ให้บริการอยู่มีประวัติความเป็นมาอย่างไร จะเชื่อมั่นและปลอดภัยได้แค่ไหน แต่คุณหนิงยังไม่เชื่อเพื่อนเสียทีเดียว หลังจากนั้นเมื่อได้ใช้บริการ bolt อีก จึงถามขับเสมอๆ ประมาณเลียบเคียงหาข้อมูลว่า ถ้าตนเองอยากสมัครขับรถบ้าง ยากไหม คำตอบคือ “ไม่ยากเลยครับ ตอนนี้เขายังไม่ตรวจประวัติด้วย พี่รีบสมัครเลยครับ”           เธอหาข้อมูลเพิ่มเติม พบว่า Bolt เปิดให้บริการขนส่งในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2563 ด้วยการสร้างภาพจำว่า ยกเว้นการเก็บค่าคอมมิชชันจากคนขับ ทำให้ค่าโดยสารถูกกว่าแอปอื่นๆ ถึง 20% โดยก่อนหน้านี้ ได้ให้บริการในโซนยุโรปและแอฟริกามาแล้ว   เธอไม่อยากเชื่อเลยว่าบริษัทที่ให้บริการระดับนานาชาติแบบนี้จะขาดการตรวจสอบคุณภาพของคนขับแบบร้ายแรงแบบนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหา         เรื่องเล่านี้คุณหญิงได้สอบถามมายัง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมข้อเสนอที่ฝากให้มูลนิธิช่วยดำเนินการต่อ คือ Bolt  ควรพัฒนาระบบสมัครคนขับ ให้สามารถคัดกรองคนขับที่มีคุณภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ รวมถึงเพิ่มเติมความปลอดภัยในเรื่องอื่นๆ เช่น มีข้อกำหนดให้คนขับ ต้องมีหมวกกันน็อคให้ผู้โดยสารสวมใส่ ทุกครั้งที่ให้บริการ  ข้อห้ามไม่ให้คนขับพาลูกหรือหลานไปด้วย  เนื่องจากรถจักรยานยนต์เป็นรถขนาดเล็ก ไม่เหมาะสมที่จะโดยสาร 3 คน และที่สำคัญเพื่อสิทธิความปลอดภัยของตัวเด็กเอง  เหล่านี้คือปัญหาที่คุณหญิงได้สังเกตและยังพบเจอได้เสมอ Bolt จึงควรเร่งพัฒนาปรับปรุงระบบ เพราะเมื่อเข้าไปกรอกสมัครเป็นผู้ขับตอนนี้จะพบว่ายังไม่มีข้อกำหนดในเรื่องดังกล่าวเพื่อความปลอดภัยสักเรื่องเลย          เรื่องนี้ทาง มพบ.จะแจ้งต่อยังผู้ให้บริการและส่งเรื่องถึง กรมการขนส่งทางบก ทั้งนี้ปัจจุบัน (ธันวาคม 2565) กรมการขนส่งฯ ได้รับรองแอปบริการรถยนต์รับจ้างแล้วถึง 6 แอปอย่างถูกกฎหมาย ได้แก่ โรบินฮู้ด Robinhood , แกร็บ Grab , ฮัลโหลภูเก็ต เซอร์วิส Hello Phuket Service , เอเชีย แค็บ Asia Cab , บอนกุ Bonku และแอร์เอเชีย ซูเปอร์แอป Airasia Super App   ถ้าผู้โดยสารพบความผิดปกติของคนขับทั้งพฤติกรรม ท่าทาง หรือการโกงใด ๆ สามารถงดจ่ายค่าโดยสารตามที่แอปพลิเคชันกำหนดได้ทันที พร้อมแจ้งศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องร้องเรียน กรมการขนส่งทางบก โทร.1584 ได้อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 เฝ้าระวังสาธารณภัยผ่าน Thai Disaster Alert

        สภาพอากาศของประเทศไทยในช่วงฤดูฝนมักมาคู่กับการเกิดลมมรสุมหรือเกิดพายุพัดผ่านตลอด ดังนั้นการติดตามข่าวสารเพื่อแจ้งเตือนเรื่องพายุเข้าจึงมีความสำคัญอย่างมาก เมื่อประชาชนได้ทราบข้อมูลที่ถูกต้องและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด จะทำให้สามารถรับมือและป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะการเกิดพายุพัดผ่านบริเวณใดจะส่งผลให้ประชาชนบริเวณนั้นได้รับผลกระทบจากการฝนตกหนักเบาตามลำดับ จนอาจกลายเป็นภัยธรรมชาติตามมาได้         ด้วยหน้าที่ที่ต้องเฝ้าระวังเพื่อติดตามจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติจากน้ำ บรรเทาสาธารณภัยที่อาจเกิดขึ้นในประเทศ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ. กระทรวงมหาดไทย จึงได้ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการสาธารณภัยนี้โดยการพัฒนาแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า Thai Disaster Alert โดยสามารถดาวน์โหลดได้ฟรีทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android         แอปพลิเคชัน Thai Disaster Alert มีหน้าที่แจ้งเตือนภัยข่าวสารสาธารณภัยที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศแบบ Real Time ทันต่อเหตุการณ์ เพื่อให้ประชาชนที่ใช้แอปพลิเคชันได้ทราบข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว ทำให้ทันท่วงทีในการเตรียมพร้อมรับมือ ป้องกันตนเองและทรัพย์สินก่อนที่ภัยจะมาถึง ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงและผลกระทบได้อีกทางหนึ่ง         เมื่อติดตั้งแอปพลิเคชันเรียบร้อยแล้ว แอปพลิเคชันจะให้ผู้ใช้งานใส่ข้อมูลเพศ วันเดือนปีเกิด ต่อจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนให้เลือกจังหวัดที่ต้องการรับแจ้งเตือนภัยได้ 3 จังหวัด ซึ่งจังหวัดที่เลือกนั้นสามารถปรับเปลี่ยนได้ภายหลัง และเลือกตั้งค่าเปิดสิทธิ์เข้าถึงตำแหน่งที่ตั้ง (Location Service) บนสมาร์ทโฟน ซึ่งหน้าแอปพลิเคชันจะปรากฎหมวดหมู่ ได้แก่ สัญลักษณ์กระดิ่ง สัญลักษณ์แผนที่ สัญลักษณ์ที่ตั้ง (Location) สัญลักษณ์โทรศัพท์ และสัญลักษณ์รูปคน         สัญลักษณ์กระดิ่ง จะแสดงข่าวสารการแจ้งเตือนโดยเรียงข่าวล่าสุดอยู่ด้านบนสุด เป็นข้อความสั้นๆ กระชับ และมีเอกสารอ้างอิงของข้อมูลนั้นๆ มุมบนขวาเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าไปดูแหล่งที่มาได้ทันที ในหน้านี้จะมีเมนู 2 เมนูเพิ่มเติม ได้แก่ เมนูแจ้งเตือนในพื้นที่และเมนูแจ้งเตือนล่าสุด โดยเมนูแจ้งเตือนล่าสุดจะสามารถเลือกค้นหาข่าวตามช่วงวันเวลาต่างๆ ได้ตามต้องการ ทั้งนี้สามารถเปลี่ยนภาษาที่แสดงบนแอปพลิเคชันได้ที่หน้านี้         สัญลักษณ์แผนที่จะแสดงภาพแผนที่ประเทศไทย โดยจะขึ้นแสดงเป็นแถบสีในพื้นที่จังหวัดนั้นว่ามีพื้นที่ไหนเสี่ยงต่อการเกิดสาธารณภัยบ้าง ผู้ใช้งานสามารถกดเลือกจังหวัดบนแผนที่ เพื่อดูการแจ้งเตือนเฉพาะจังหวัดได้ สัญลักษณ์ที่ตั้ง (Location) เป็นหมวดสำหรับปรับเปลี่ยนจังหวัดที่ต้องการรับแจ้งเตือนภัย สัญลักษณ์โทรศัพท์เป็นหมวดที่รวบรวมเบอร์โทรศัพท์สายด่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การไฟฟ้านครหลวง กองปราบปราม ร่วมด้วยช่วยกัน ศูนย์ กทม. ศูนย์ควบคุมจราจร แจ้งเหตุเพลิงไหม้ แพทย์ฉุกเฉิน เป็นต้น และสัญลักษณ์รูปคนจะเป็นหน้าสำหรับแก้ไขข้อมูลส่วนตัว         แอปพลิเคชัน Thai Disaster Alert เป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยทำหน้าที่เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างการรับรู้ให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ทำให้สามารถเฝ้าระวังความเคลื่อนไหวได้อย่างใกล้ชิด ดังนั้นขอแนะนำว่าประชาชนที่สนใจโดยเฉพาะประชาชนที่มีพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Thai Disaster Alert มาติดตามสถานการณ์ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถเตรียมพร้อมในการรับมือไม่ให้ทรัพย์สินเสียหายได้ทันเวลา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 ถูกแอปฯ เงินกู้หลอก ต้องทำยังไง?

        ในยุคที่ข้าวของแพง ค่าแรงถูก คนที่ชักหน้าไม่ถึงหลัง และยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ในระบบ หากบังเอิญมีแอปฯ เงินกู้นอกระบบเด้งขึ้นมาบนมือถือของพวกเขา พร้อมเสนอเงื่อนไขที่เชิญชวนให้เชื่อจนยากปฏิเสธ หลายคนกว่าจะรู้ตัวว่าโดนหลอกให้เป็นหนี้เพิ่มก็สายไปซะแล้ว         เหมือนอย่างที่คุณอรสากำลังกังวลอยู่ตอนนี้ เธอเล่าว่าได้ทำสัญญากู้เงินจากแอปฯ เงินกู้นอกระบบแห่งหนึ่ง จำนวน 3,000 บาท ซึ่งทางแอปฯ หัก​ค่า​บริการไป 1,170 บาท เธอได้​รับ​เงิน​มาจริง 1,830 บาท โดยก่อนหน้าที่จะตัดสินใจกู้นั้น เธอก็พยายาม​จะ​สอบถาม​รายละเอียดในเงื่อนไขนี้กับทางแอปฯ แต่ติดต่อไม่ได้เลย จึงกดตกลงไปก่อน เพราะวันนั้นจำเป็นต้องใช้เงินจริง ๆ          วันนี้สิ่งที่เป็นปัญหาคือ จากตอนแรกทางแอปฯ แจ้งเงื่อนไขว่าให้ผ่อนใช้ได้ภายใน 91 วัน ซึ่งเธอคิดว่าคงพอมีเวลาที่จะหาเงินมาคืนได้ทัน แต่พอหลังจากทำสัญญากู้เงินแล้ว ทางแอปฯ ดันกลับคำ มาบังคับให้เธอคืนเงินเต็มจำนวนทั้งหมด 3,000 บาท ภายใน 7 วัน           คุณอรสาสงสัยว่าตัวเองจะโดนแอปฯ เงินกู้หลอกเข้าแล้ว จึงเขียนมาขอคำปรึกษาในเฟซบุ๊กของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทาง​การ​แก้ไข​ปัญหา        ในกรณีนี้ คุณอรสากู้เงินจากแอปเงินกู้ที่เปิดแบบผิดกฎหมาย แต่ก็ได้เงินมาจริงแม้จะมีเงื่อนไขโหด มพบ. จึงแนะนำให้​เก็บ​หลัก​ฐานต่างๆ และรีบไปแจ้งความกับตำรวจ ทั้งเรื่องที่โดนแอปเงินกู้ลวงให้กู้เงินและ​เรื่องการ​ทวง​หนี้​โดย​ผิด​กฎหมาย​ตาม​ พ​รบ​.​ทวง​หนี้ เมื่อ​แจ้ง​ความ​หรือ​ลงบันทึกประจําวัน​แล้วให้ถ่ายภาพเอกสารส่งกลับไปให้แอปฯ เงินกู้ดู ​อย่างไรก็ตามผู้บริโภคต้องจำไว้ว่า ถึงอย่างไรเราก็ได้เงินกู้มาจำนวนหนึ่ง (1,830 บาท) ขอให้เตรียมเงินไว้เพื่อคืนกับผู้ให้กู้ โดยเรียกหรือนัดหมายมาคืนเงินกันต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ควรจ่ายคืนไปทันที เพราะจะมีเรื่องผูกพันกันไปอีกมาก (ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม) และทั้งนี้ทราบด้วยเช่นกันว่า ​คุณอรสาได้​ถ่าย​ภาพ​หน้า​/หลัง​บัตร​ประชาชน​ซึ่ง​เป็น​ข้อมูล​สําคัญให้แอปฯ เงินกู้ไปด้วย จึงแนะว่าให้รีบไปทําบัตร​ประชาชน​ใหม่ และให้คลายกังวลได้ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าแก๊งเงินกู้ออนไลน์ทำร้ายผู้กู้ อย่างไรก็ตามหากพบปัญหาต่อเนื่องทาง มพบ.ยินดีให้ความช่วยเหลือต่อไป......         ก่อนตัดสินใจใช้บริการแอปเงินกู้ ท่านสามารถตรวจสอบรายชื่อแอปและชื่อผู้ให้บริการ “แอปเงินกู้” โดยนำข้อมูลชื่อแอปและชื่อผู้ให้บริการไปเทียบกับรายชื่อผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต โดยสามารถหาข้อมูลได้จากเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ "เช็กแอปเงินกู้" ที่รวบรวมรายชื่อผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตในส่วนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำกับดูแล และยังมีลิงก์ไปยังเว็บไซต์กระทรวงการคลัง ซึ่งรวบรวมรายชื่อผู้ให้บริการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ไว้ในที่เดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 กู้เงินผ่านแอปฯ เงินกู้ออนไลน์ มีแต่เสียกับเสีย

        ช่วงนี้การกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันกู้เงินออนไลน์เป็นที่นิยม เพราะว่าง่าย สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องใช้อะไรมาค้ำประกัน แถมแอปพวกนี้สามารถดาวน์โหลดได้ง่ายผ่าน Play Store (ที่โหลดแอปต่างๆ ในมือถือ) บางคนอาจเคยกู้เงินผ่านแอปมาแล้ว แอปเหล่านี้จริงๆ แล้วต้องขออนุญาตประกอบธุรกิจกับธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย แต่แอปใน Play Store ส่วนใหญ่ไม่ได้ขออนุญาต ซึ่งเป็นการกระทำเอาเปรียบผู้บริโภค         ภูผา ณ ขณะนี้ประสบปัญหาทางด้านการเงินอย่างรุนแรง ชักหน้าไม่ถึงหลัง สินค้าต่างๆ ทยอยขึ้นราคา ทั้งน้ำมัน หมู มาม่า เขาต้องการเงินมาใช้จ่ายเลยไปกู้เงินผ่านแอปเงินกู้ เขากู้เงิน 60,000 บาท แอปแจ้งว่าเขาต้องโอนเงินไปเป็นค่าดำเนินการก่อน 3,000 บาท เมื่อโอนไปแล้วทางแอปบอกว่ายังไม่สามารถถอนเงินได้ต้องโอนไปอีก 6,000 บาท พอโอนไปแล้วเขาบอกว่าบัญชีเงินเต็มแล้ว ต้องโอนเงินไปให้เขาเพิ่มอีก 6,000 บาท พอเป็นแบบนี้เขาก็ไม่มีเงินโอนเพิ่มให้แล้วจึงบอกไปว่าเขาไม่ต้องการกู้เงินแล้ว ขอให้แอปโอนเงินที่เขาโอนไปคืนมา แต่แอปบอกมาว่าถ้าจะยกเลิกต้องโอนเงินค่ายกเลิกมาอีก 8,000 บาท ถึงจะได้เงินที่โอนไปแล้วก่อนหน้านี้ 9,000 บาทคืน แต่เขาไม่มีเงินโอนไปให้แล้ว เขาขอเงินคืนแต่แอปไม่ให้คืน สรุปว่าสุดท้ายแล้วเขาไม่ได้เงินคืนเลย เขาถึงรู้ตัวว่าเขาโดนหลอกแน่ๆ จึงมาขอคำปรึกษามูลนิธิ          แนวทางการแก้ไขปัญหา        1. เก็บรวบรวมหลักฐาน เช่น ชื่อแอปพลิเคชัน, ข้อความแชทที่คุยกับแอป, หลักฐานการโอนเงิน        2. นำหลักฐานที่เก็บรวบรวมไว้ไปแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับแอป ที่สถานีตำรวจในท้องที่ภายใน 3 เดือนหลังจากเกิดเหตุการณ์ และขอให้ตำรวจทำเอกสารขออายัดบัญชีที่ได้โอนเงินไป        3. นำเอกสารอายัดบัญชีไปดำเนินเรื่องอายัดบัญชีธนาคารที่ธนาคารสาขาใดก็ได้        4. ร้องเรียนเรื่องที่เกิดขึ้นไปยังศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ธนาคารแห่งประเทศไทย) สายด่วน 1213 หรือศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) โทร 1441

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 เสี่ยงเป็นหนี้ก้อนโต ถูกประจานให้อับอาย

        ใครที่กำลังคิดจะกู้เงินผ่านแอปพลิเคชั่นในมือถือ ต้องตั้งสติและหาข้อมูลดีๆ อย่าหลงไปกับข้อความเชิญชวนฉาบฉวยที่ว่า กู้ง่าย ได้เร็ว ดอกเบี้ยต่ำ ผ่อนนาน ใช้เอกสารน้อย ไม่ต้องมีหลักประกัน หรือติดแบล็กลิสต์ก็กู้ได้ เหล่านี้ เพราะคุณอาจตกเป็นเหยื่อของแอปกู้เงินเถื่อนเหมือนอย่างคุณนิดก็ได้         วันนั้นคุณนิดนั่งไถมือถือดูข้อมูลเรื่องเงินๆ ทองๆ ในเว็บไซต์หนึ่งอยู่ จู่ๆ ก็มีแอปกู้เงินเด้งขึ้นมาติดๆ กันหลายแอป เหมือนจะรู้เธอกำลังอยู่ในช่วงที่ชักหน้าไม่ถึงหลังพอดี เธอเลื่อนๆ ดู ก็ไปถูกใจที่เงื่อนไขของแอปกู้เงินชื่อ LOAN HUB ซึ่งโฆษณาว่าถ้ากู้ 5000-50000 บาท สามารถใช้คืนภายใน 91 วันได้ คุณนิดจึงลองกู้ไป 3,000 บาทก่อน แต่พอกู้ผ่านและเข้าไปกดยอมรับข้อบังคับต่าง ๆ ในแอปทั้งหมดแล้ว กลับมีเงินโอนเข้ามาให้เธออีกถึง 10 แอป แอปละ 1,200 บาท เธองงมาก เพราะตั้งใจจะกู้แค่แอปเดียวเท่านั้น         หลังจากนั้นไม่ถึง 7 วัน พนักงานของแอปโทรศัพท์มาแจ้งให้จ่ายหนี้คืนภายในวันที่ 7 ก่อนเที่ยง คุณนิดยอมรับว่าเธอขัดสนจริงๆ และได้ใช้เงินทั้งหมดไปแล้ว เธอจึงหาเงินมาจ่ายคืนให้ไม่ทัน เมื่อถึงวันครบกำหนด ทางแอปก็ส่งข้อความมาทวงหนี้พร้อมข่มขู่ว่า         “...ถ้าไม่ชำระยอดหนี้ให้ทางแอปเรา ทางเราจะเอาข้อมูลของคุณไปกู้เงินสัก 20 แอป กู้ไม่เยอะหรอก แอปละ 3000 บาท 20 แอปก็ 60,000 เตรียมตัวจ่ายหนี้แทนบริษัทได้เลย และเราจะเอาข้อมูลทั้งหมดแชร์ไปในโซเชียลและจะติดต่อไปหาญาติพี่น้องและเพื่อนทั้งหมด”         คุณนิดกลัวว่าจะต้องเป็นหนี้ก้อนโต แต่ก็มืดแปดด้าน ไม่รู้จะหาเงินที่ไหนไปคืนได้ทัน ต่อมาทางแอปกู้เงินก็ยังมาโพสต์ประจานเธออย่างเสียๆ หายๆ และหยาบคายอีก เธอจึงร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         ในกรณีนี้ได้แนะให้คุณนิดใช้หนี้คืนเท่าที่ยืมมา ส่วนที่โดนแก๊งทวงหนี้ข่มขู่นั้นก็ให้รวบรวมหลักฐานและข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด นำไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในท้องที่ โดยแจ้งสถานที่เกิดเหตุ เช่น  โดนข่มขู่ทางออนไลน์ โทรศัพท์ หรือที่บ้าน ที่จะให้สถานีตำรวจท้องที่ช่วยดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด จากนั้นให้ติดต่อธนาคารเพื่อหาทางป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพนำข้อมูลธุรกรรมทางการเงินส่วนตัวไปใช้ และหากจำเป็นต้องกู้เงินครั้งต่อไป ควรกู้จากสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือและตรวจสอบได้         เช็คแอปฯ เงินกู้ แหล่งไหนได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ดูที่นี่ รายชื่อที่อยู่ Website สถาบันการเงิน และ Non-bank (bot.or.th)

อ่านเพิ่มเติม >


ผลการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน ในกรุงเทพมหานคร

        นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินในกรุงเทพมหานครโดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,204 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 5 - 10 มีนาคม 2565 กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง        ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้เรื่องการกู้ยืมเงินในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมานั้น ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจถึงแม้รัฐบาลจะมีโครงการต่างๆ ออกมาเพื่อเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ประชาชนก็มีความจำเป็นที่จะต้องกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินกู้ต่างๆ แล้วในช่วงต้นปี 2565 สถานการณ์สงครามระหว่างประเทศรัสเซียและประเทศยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนในส่วนของค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น โดยการกู้เงินในปัจจุบันนั้นสามารถทำได้โดยผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งทำให้การกู้ยืมเงินสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว โดยจะนำเสนอข้อมูล  ผ่านช่องทางทั้ง SMS  ไลน์ เฟสบุ๊ก โดยใช้ข้อความชวนเชื่อว่า กู้ง่าย ได้เร็ว ดอกเบี้ยต่ำ ใช้เอกสารน้อย ไม่ต้องมีหลักประกัน โดยการกู้ยืมเงินผ่านสถาบันทางการเงินที่เป็นผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตในการประกอบธุรกิจสินเชื่อจากธนาคารแห่งประเทศไทย รวมไปถึงการกู้ยืมเงินที่ผิดกฎหมาย ประชาชนที่มีความเดือดร้อนจากเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาได้กู้ยืมเงิน แต่กับถูกซ้ำเติมจากการกู้ยืมเงินที่ผิดกฎหมาย สิ่งที่สะท้อนว่าปัญหาด้านเศรษฐกิจของประชาชนในประเทศเป็นสิ่งที่เป็นปัญหาอันดับต้นๆของประเทศ การผิดชำระในการกู้ยืมเงินมีเพิ่มสูงขึ้น การทวงหนี้ที่ไม่เหมาะสมต่อลูกหนี้ เช่น การใช้ถ้อยคำที่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างรุนแรง การคุกคาม การขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย หรือการทำให้เสียชื่อเสียง รวมถึงการให้ข้อมูลเท็จและการสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่บุคคลอื่น ซึ่งผิดตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 เนื่องจากพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ที่เป็นการปกป้องลูกหนี้จากการทวงถามหนี้ ในรูปแบบต่างๆ โดยผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อเรื่องการกู้ยืมเงินในกรุงเทพมหานคร มีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้          กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีหนี้สินหรือการกู้ยืมเงินโดยนำไปซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์ เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 35.8 อันดับสองคือ นำไปซื้อบ้าน ที่พักอาศัย ร้อยละ 31.8 อันดับสามคือ การกู้ยืมนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ร้อยละ 27.5 อันดับสี่คือ นำไปใช้ในการหมุนเวียนในธุรกิจ และ นำไปใช้เพื่อการศึกษา ร้อยละ 18.9 และอันดับห้าคือ นำไปใช้ในการลงทุนทำธุรกิจ ร้อยละ 17.3          รูปแบบการกู้ยืมเงินของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คือ การกู้ยืมสินเชื่อส่วนบุคคล ร้อยละ 34.2 อันดับสองคือ การกู้ซื้อบ้าน ที่พักอาศัย ร้อยละ 30 อันดับสามคือ การกู้ซื้อรถยนต์ ร้อยละ 23.1 อันดับสี่คือ การกู้ยืมจากกองทุน ร้อยละ 19.5 และอันดับห้าคือ การกู้ยืมจากหนี้นอกระบบ ร้อยละ 17.4          โดยหนี้สินหรือการกู้ยืมเงิน เป็นการกู้ยืมผ่านบริษัทไฟแนนซ์/ลิสซิ่ง เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 33.1 อันดับสองคือ ธนาคารพาณิชย์ ร้อยละ 31.4 อันดับสามคือ คนปล่อยกู้ ร้อยละ 21.9 อันดับสี่คือ บริษัทสินเชื่อเงินด่วน ร้อยละ 17 และอันดับห้าคือ แอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 14.4          กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่เคยกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 61 รองลงมาคือ เคยกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 21.8 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 17.2 โดยได้รับข้อมูลของบริษัทกู้เงินผ่านแอปพลิเคชัน ผ่านทางช่องทาง SMS มากที่สุด ร้อยละ 33.7 รองลงมาคือ ไลน์ ร้อยละ 31.7 และเฟสบุ๊ก ร้อยละ 30.8          กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ได้รับสัญญาเงินกู้จากการกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 41 ได้รับเงินเต็มตามจำนวนที่ได้กู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 35.4 และทราบอัตราดอกเบี้ยในการกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 43.3          โดยทราบว่าแอปพลิเคชันเงินกู้ที่ผิดกฏหมาย จะมีการขอข้อมูลส่วนตัวท่าน รูปถ่าย รูปบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร และรายชื่อผู้ติดต่อในโทรศัพท์มือถือ ร้อยละ 58.2 ทราบว่าแอปพลิเคชันเงินกู้ที่ผิดกฏหมายจะมีการคิดค่าธรรมเนียม 39% และคิดค่าอัตราดอกเบี้ย 0.05% ต่อวัน และให้ชําระเงินคืน ภายใน 7 วัน  ร้อยละ 41.7          รวมไปถึง ทราบว่าสามารถตรวจสอบแอปพลิเคชันเงินกู้ ที่เป็นผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตในการประกอบธุรกิจสินเชื่อจากธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ร้อยละ 44.1 และ  ทราบว่าสามารถแจ้งความดำเนินคดีหากตกเป็นผู้เสียหายจากแอปพลิเคชันเงินกู้ ที่ผิดกฏหมาย ที่สถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) สายด่วน 1599 ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง สายด่วน 1359 หรือ ส่งเรื่องร้องเรียนออนไลน์ ร้อยละ 50.5         กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เคยถูกทวงถามหนี้ ในลักษณะพูดจาไม่สุภาพ เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 37 อันดับสองคือ คิดดอกเบี้ยแพงเกินจริง ร้อยละ 30.1 อันดับสามคือ ประจานทำให้อับอาย ร้อยละ 21.5 อันดับสี่คือ จดหมาย/ไปรษณีย์เปิดผนึก ร้อยละ 19.7 และอันดับห้าคือ การข่มขู่ ร้อยละ 17.4     โดยทราบว่า การทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายเป็นอย่างไร ร้อยละ 46.4 ทราบว่าเจ้าหนี้ห้ามทวงถามหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ ทวงถามได้เฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00-20.00 น. วันหยุดราชการ เวลา 8.00-18.00 น. สามารถทวงถามได้ไม่เกินวันละ 1 ครั้ง ร้อยละ 47.2 ทราบว่าเจ้าหนี้ห้ามทวงถามในลักษณะข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือทำอะไรที่นำไปสู่ความเสียหายต่อร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 59.3 และทราบว่า เจ้าหนี้ห้ามใช้วาจาดูหมิ่น พร้อมทั้งห้ามเปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง รวมถึงห้ามติดต่อลูกหนี้โดยใช้ไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อถึงการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 53.1         กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ได้ผลกระทบอะไรจากการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายจากเจ้าหนี้ อันดับหนึ่ง คือถูกประจานทำให้อับอาย ร้อยละ 34 อันดับสองคือ ถูกส่งคนติดตาม ร้อยละ 23.3 อันดับสามคือ ถูกข่มขู่ ร้อยละ 14.5 อันดับสี่คือ ถูกทำร้ายร่างกาย ร้อยละ 11 และอันดับห้าคือ อื่นๆ ร้อยละ 17.2   ส่วนที่ 1 ความเห็นเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน  1. เหตุผลที่ท่านทำการกู้ยืมเงิน (ตอบได้มากว่า 1 ข้อ)     นำไปซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์                ร้อยละ   35.8     นำไปซื้อบ้าน ที่พักอาศัย                          ร้อยละ   31.8     นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน                          ร้อยละ   27.5     นำไปใช้เพื่อการศึกษา                             ร้อยละ   18.9     นำไปใช้ในการหมุนเวียนในธุรกิจ               ร้อยละ   18.9     นำไปใช้ในการลงทุนทำธุรกิจ                   ร้อยละ   17.3     อื่นๆ                                                       ร้อยละ   0.2   2. ท่านมีหนี้สินหรือการกู้ยืมเงิน ในรูปแบบใดบ้าง (ตอบได้มากว่า 1 ข้อ)     การกู้ยืมสินเชื่อส่วนบุคคล                        ร้อยละ   34.2     การกู้ซื้อบ้าน ที่พักอาศัย                          ร้อยละ   30     การกู้ซื้อรถยนต์                                      ร้อยละ   23.1     การกู้ยืมจากกองทุน                                ร้อยละ   19.5     การกู้ยืมจากหนี้นอกระบบ                        ร้อยละ   17.4     การกู้ยืมจากแอปพลิเคชันเงินกู้                ร้อยละ   14.5     การกู้ยืมจากสหกรณ์                               ร้อยละ   14.2               3. ท่านมีหนี้สินหรือการกู้ยืมเงิน จากผู้ให้กู้ยืมเงินในแบบใด (ตอบได้มากว่า 1 ข้อ)     บริษัทไฟแนนซ์/ลิสซิ่ง                           ร้อยละ   33.1     ธนาคารพาณิชย์                                    ร้อยละ   31.4     คนปล่อยกู้                                            ร้อยละ   21.9     แอปพลิเคชันเงินกู้                                ร้อยละ   14.4     บริษัทสินเชื่อเงินด่วน                            ร้อยละ   17     สหกรณ์                                               ร้อยละ   11.1     กองทุน                                               ร้อยละ   10.4                   ------ 4. ท่านเคยกู้เงินผ่าน แอปพลิเคชันเงินกู้ หรือไม่     เคย                                            ร้อยละ   21.8     ไม่เคย                                        ร้อยละ   61     ไม่แน่ใจ                                      ร้อยละ   17.2   *****กลุ่มตัวอย่างที่ตอบข้อ 4.1 - 4.4 มีจำนวน 416 กลุ่มตัวอย่าง*****   4.1 ท่านได้รับข้อมูลของบริษัทกู้เงินผ่านแอปพลิเคชัน ผ่านทางช่องทางใด     SMS                              ร้อยละ   33.7     Line                               ร้อยละ   31.7     Facebook                      ร้อยละ   30.8     อื่นๆ                                ร้อยละ   3.8  4.2 ท่านได้รับสัญญาเงินกู้จากการกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ หรือไม่     ได้รับสัญญาเงินกู้                           ร้อยละ   41     ไม่ได้รับสัญญาเงินกู้                       ร้อยละ  33.6      ไม่แน่ใจ                                        ร้อยละ   25.4 4.3 ท่านได้รับเงินเต็มตามจำนวนที่ท่านได้กู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ หรือไม่     ได้รับเงินเต็มตามจำนวน                 ร้อยละ   35.4     ไม่ได้รับเงินเต็มตามจำนวน             ร้อยละ  32     ไม่แน่ใจ                                        ร้อยละ   32.6  4.4 ท่านทราบอัตราดอกเบี้ยในการกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ หรือไม่     ทราบ                                        ร้อยละ   43.3      ไม่ทราบ                                    ร้อยละ   28.8     ไม่แน่ใจ                                    ร้อยละ   27.9  5. ท่านทราบหรือไม่ว่า แอปพลิเคชันเงินกู้ที่ผิดกฏหมาย จะมีการขอข้อมูลส่วนตัวท่าน รูปถ่าย รูปบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร และรายชื่อผู้ติดต่อในโทรศัพท์มือถือของท่าน     ทราบ                                        ร้อยละ   58.2      ไม่ทราบ                                    ร้อยละ   27     ไม่แน่ใจ                                    ร้อยละ   14.8 6. ท่านทราบหรือไม่ว่า แอปพลิเคชันเงินกู้ที่ผิดกฏหมายจะมีการคิดค่าธรรมเนียม 39% และคิดค่าอัตราดอกเบี้ย 0.05% ต่อวัน และให้ชําระเงินคืน ภายใน 7 วัน ยกตัวอย่าง ท่านกู้เงิน 2,000 บาท จะได้เงินกู้เพียง 1,220 บาท แต่ต้องชําระเงินคืน 2,007 บาท     ทราบ                                        ร้อยละ   41.7     ไม่ทราบ                                    ร้อยละ   39.5     ไม่แน่ใจ                                    ร้อยละ   18.8  7. ท่านทราบหรือไม่ว่า ท่านสามารถตรวจสอบแอปพลิเคชันเงินกู้ ที่เป็นผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตในการประกอบธุรกิจสินเชื่อจากธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย        ทราบ                                        ร้อยละ   44.1     ไม่ทราบ                                    ร้อยละ   35.3     ไม่แน่ใจ                                    ร้อยละ   20.6 8. ท่านทราบหรือไม่ว่า ท่านสามารถแจ้งความดำเนินคดีหากท่านตกเป็นผู้เสียหายจากแอปพลิเคชันเงินกู้ ที่ผิดกฎหมาย ที่สถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) สายด่วน 1599 ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง สายด่วน 1359 หรือ ส่งเรื่องร้องเรียนออนไลน์     ทราบ                                         ร้อยละ   50.5     ไม่ทราบ                                     ร้อยละ   31.6     ไม่แน่ใจ                                     ร้อยละ   17.9 9. ท่านเคยถูกทวงถามหนี้ ในลักษณะใดบ้าง (ตอบได้มากว่า 1 ข้อ)     พูดจาไม่สุภาพ                                    ร้อยละ   37     คิดดอกเบี้ยแพงเกินจริง                       ร้อยละ   30.1     ประจานทำให้อับอาย                           ร้อยละ   21.5     การข่มขู่                                             ร้อยละ   17.4     จดหมาย/ไปรษณีย์เปิดผนึก                 ร้อยละ   19.7     ทวงหนี้กับญาติ                                  ร้อยละ   16.2     ส่งคนติดตาม                                     ร้อยละ   15.3     ทวงหนี้กับเพื่อน/หัวหน้างาน                ร้อยละ   11      10.      ท่านทราบหรือไม่ว่า การทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายเป็นอย่างไร     ทราบ                                                 ร้อยละ   46.4     ไม่ทราบ                                             ร้อยละ   29.2     ไม่แน่ใจ                                             ร้อยละ   24.4  11.      ท่านทราบหรือไม่ว่า เจ้าหนี้ห้ามทวงถามหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ ทวงถามได้เฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00-20.00 น. วันหยุดราชการ เวลา 8.00-18.00 น. สามารถทวงถามได้ไม่เกินวันละ 1 ครั้ง     ทราบ                                          ร้อยละ   47.2     ไม่ทราบ                                      ร้อยละ   30.8     ไม่แน่ใจ                                      ร้อยละ   22 12.      ท่านทราบหรือไม่ว่า เจ้าหนี้ห้ามทวงถามในลักษณะข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือทำอะไรที่นำไปสู่ความเสียหายต่อร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย     ทราบ                                          ร้อยละ   59.3     ไม่ทราบ                                      ร้อยละ   18.7     ไม่แน่ใจ                                      ร้อยละ   22  13.      ท่านทราบหรือไม่ว่า เจ้าหนี้ห้ามใช้วาจาดูหมิ่น พร้อมทั้งห้ามเปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง รวมถึงห้ามติดต่อลูกหนี้โดยใช้ไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อถึงการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย     ทราบ                                          ร้อยละ   53.1     ไม่ทราบ                                      ร้อยละ   23.4     ไม่แน่ใจ                                      ร้อยละ   23.5       14.      ท่านได้ผลกระทบอะไรจากการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายจากเจ้าหนี้บ้าง      ถูกประจานทำให้อับอาย                       ร้อยละ   34     ถูกส่งคนติดตาม                                  ร้อยละ   23.3     อื่นๆ                                                   ร้อยละ   17.2     ถูกข่มขู่                                              ร้อยละ   14.5     ถูกทำร้ายร่างกาย                                ร้อยละ   11   ข้อมูลด้านประชากรศาสตร์   1. เพศ               หญิง                        ร้อยละ   51.7     ชาย                         ร้อยละ   48.3   2. อายุ           36 – 40  ปี            ร้อยละ   23.7     31 – 35  ปี              ร้อยละ   23.1     26 – 30  ปี              ร้อยละ   16.5     41 -  45 ปี               ร้อยละ   16.3     46 -  50 ปี               ร้อยละ   9.7     20 – 25  ปี              ร้อยละ   7.6     มากกว่า 50 ปี          ร้อยละ   2.2     ต่ำกว่า 20 ปี            ร้อยละ   0.8     3. อาชีพ         พนักงานบริษัทเอกชน                                    ร้อยละ   26.2     ข้าราชการ/พนักงานของรัฐ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ                 ร้อยละ   22.2     รับจ้างทั่วไป                                                                   ร้อยละ   17.9     พ่อค้า/แม่ค้า                                                                   ร้อยละ   14.6     แม่บ้าน/พ่อบ้าน                                                               ร้อยละ   12     นักเรียน / นิสิต / นักศึกษา                                                ร้อยละ   7.1      

อ่านเพิ่มเติม >