ฉบับที่ 139 Price Grab เปรียบเทียบความคุ้มค่าสินค้า ใน App Box

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผู้เขียนตั้งใจไปช้อปปิ้งสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันด้วยความเพลิดเพลิน แต่พอดูราคากับปริมาณสุทธิของสินค้าทำให้ความเพลิดเพลินนั้นหายไปเลยทีเดียว ผู้อ่านสังเกตไหมคะ ว่าสินค้าชนิดเดียวกัน แต่มีขนาดแตกต่างกัน โดยที่ราคาก็ไม่แตกต่างกันเท่าไรนัก หรือบางทีดูภายนอกสินค้ากล่องใหญ่น่าจะคุ้ม แต่พอคำนวณจริงๆแล้วกล่องเล็กคุ้มกว่า ด้วยจิตวิญญาณของผู้บริโภคแบบฉลาดซื้อจึงรู้สึกเพลียกับการคำนวณของตัวเอง ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงค้นพบแอพพลิเคชั่นที่ช่วยคำนวณปริมาณสุทธิของสินค้ากับราคา ของสินค้า 2 ประเภท เพียงแค่กรอกตัวเลข แอพพลิเคชั่นนี้จะคำนวณความคุ้มค่าของสินค้ามาให้อย่างรวดเร็ว แค่นี้ผู้เขียนก็ยิ้มออก ^_^ แอพพลิเคชั่นนี้มีชื่อว่า App Box ซึ่งภายในแอพฯ นี้ จะมีแอพฯ ย่อยอีกมากมาย ผู้อ่านสังเกตไอคอนที่เขียนว่า Price Grab ที่จะช่วยผู้อ่านเปรียบเทียบราคาสินค้าระหว่างสินค้า 2 ชนิด โดยหน้าจอจะแบ่งเป็น 2 ส่วนซ้ายขวา คือ สินค้า A และสินค้า B ซึ่งในสินค้าแต่ละชนิด ผู้อ่านต้องกรอกราคาและปริมาณสุทธิของสินค้า หลังจากกรอกรายละเอียดครบถ้วนแล้ว โปรแกรมจะคำนวณความคุ้มค่าของสินค้าระหว่าง 2 ชนิด ถ้าสินค้า B มีความคุ้มค่ามากกว่าสินค้า A จะปรากฏภาพดังนี้  A < B นอกจาก Price Grab ใน App Box แล้ว ยังมี Currency โปรแกรมคำนวณเรื่องสกุลเงินของแต่ละประเทศ Date Calc โปรแกรมคำนวณระยะเวลา  Day Until เป็นสมุดบันทึกรายการนัดหมายที่สามารถใส่รูปได้  Holidays รายละเอียดของรายการวันหยุดประจำปีของแต่ละประเทศที่รวบรวมไว้ Loan โปรแกรมสำหรับคำนวณดอกเบี้ย สำหรับเงินกู้ยืมหรือผ่อนทั้งหลาย  pCalendar โปรแกรมคำนวณสำหรับสาวๆ (คำนวณการมีประจำเดือน) Tip Calc โปรแกรมคำนวณการจ่ายทิป ภาษี คำนวณได้ทั้งสินเครื่องอุปโภคบริโภค Unit โปรแกรมแปลหน่วยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยของพื้นที่ ความยาว ความดัน อุณหภูมิ ปริมาตร น้ำหนัก เช่น กิโลเมตรเป็นเซนติเมตร ลองหาแอพพลิเคชั่น App Box มาเล่นกันดูนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 137 DoctorMe คู่มือดูแลสุขภาพฉบับกระเป๋า

“อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยระวังสุขภาพให้ดีนะคะ” เป็นประโยคฮิตเหมาะสำหรับคนไทยเป็นอย่างยิ่ง ไม่ใช่เพียงแต่อากาศเปลี่ยนแปลงเท่านั้น ปัจจุบันเหตุการณ์ต่างๆ ก็ทำให้เป็นบ่อเกิดของโรคภัยไข้เจ็บได้เช่นกัน อย่างโรคที่มากับน้ำในวิกฤติน้ำท่วม โรคที่มากับอาหารในวิกฤติโรคระบาด เป็นต้น ซึ่งทุกโรคที่เกิดขึ้น ถ้าเรารู้จักเข้าใจถึงสาเหตุการเกิดของโรคเหล่านั้นแล้ว จะทำให้การแก้ไขและการป้องกันโรคเหล่านั้นเป็นเรื่องที่ง่ายและเข้าใจในการรักษาถึงสาเหตุที่แท้จริงมากขึ้น การปฐมพยาบาลในเบื้องต้นเมื่อเกิดการเจ็บป่วยขึ้นอย่างกะทันหันจึงถือว่าสำคัญ ซึ่งผู้อ่านสามารถเข้าไปศึกษาวิธีการปฏิบัติต่างๆ ได้ในเว็บไซต์หมอชาวบ้านที่ www.doctor.or.th ได้ทุกเวลา แต่ถ้าผู้อ่านไม่สะดวกที่จะใช้คอมพิวเตอร์ในเวลาเร่งด่วน  แอพพลิเคชั่น  DoctorMe ถือว่าเป็นแอพพลิเคชั่นที่น่าสนใจมากทีเดียว   แอพพลิเคชั่น  DoctorMe เป็นแอพพลิเคชั่นที่ย่อคู่มือการดูแลสุขภาพด้วยตนเองลงมาไว้บนมือถือแบบฉบับพกพา ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นช่วยบอกวิธีปฏิบัติตัวเมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยในเบื้องต้น กว่า 200 รายการ โดยมีคำแนะนำเกี่ยวกับการปฐมพยาบาล  อาการเจ็บป่วย และโรคต่างๆ รวมถึงการใช้ยาแผนปัจจุบันและยาสมุนไพรอีกด้วย ภายในแอพพลิเคชั่นจะแบ่งอาการบริเวณที่คุณเจ็บป่วย หรือสามารถป้อนคำเพื่อค้นหาโรคที่เกิดขึ้นได้เลย เมื่อค้นหาเจอแล้ว แอพพลิเคชั่นจะบอกถึงอาการ สาเหตุ การรักษา การดูแลตนเอง และคำอธิบายที่เกี่ยวข้องของโรคดังกล่าวไว้  แต่ถ้าอาการเจ็บป่วยเกินเยียวยา แอพพลิเคชั่นนี้ยังมีปุ่มสำหรับคลิกเพื่อโทรไปยังสายด่วนการแพทย์ฉุกเฉินหมายเลข 1669 ในกรณีเร่งด่วนได้อีกด้วย ล่าสุดแอพพลิเคชั่นนี้ได้ออก Version 1.6 ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง สถาบัน ChangeFusion สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิหมอชาวบ้าน และ บริษัท โอเพ่นดรีม จำกัด โดยเพิ่มเติมข้อมูลพิกัดและหมายเลขโทรศัพท์ของโรงพยาบาลทั่วประเทศ  และสามารถดูโรงพยาบาลใกล้เคียงจากจุดที่ค้นหา พร้อมคำนวณระยะทาง เปิดดูแผนที่ และเดินทางตามเส้นทางที่แผนที่ได้ลากเส้นไว้ให้ รวมถึงมีที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ของโรงพยาบาล เพื่อสะดวกในการติดต่อกับโรงพยาบาลได้ทันที ปัจจุบันแอพพลิเคชั่น DoctorMe สามารถรองรับได้ทั้งผู้ใช้ iOS และ Android ซึ่งสามารถดาวน์โหลด ได้ที่ www.doctorme.in.th แอพพลิเคชั่น DoctorMe ถือว่ามีประโยชน์อย่างมาก แม้ว่าในชีวิตประจำวันบางท่านอาจจะไม่ต้องใช้ในกรณีฉุกเฉิน แต่ถ้าได้ลองศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจกับอาการเจ็บป่วยต่างๆ สาเหตุของการเกิดโรค ขั้นตอนการรักษา รวมถึงขั้นตอนการปฐมพยาบาลที่ถูกวิธีแล้ว ถือได้ว่าแอพพลิเคชั่นนี้เป็นหมอชาวบ้านที่ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ลองดาวน์โหลดมาศึกษากันดูนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 136 Taxi Reporter รายงานพฤติกรรมที่ไม่พึงพอใจ

หลังจากที่แนะนำให้ผู้อ่านตรวจจับความเร็วกับแอพพลิเคชั่น Traffy bSafe เพื่อร้องเรียนความไม่พึงพอใจกับการบริการของรถบริการสาธารณะและพนักงานขับรถบริการสาธารณะบนท้องถนนไปฉบับก่อนหน้านี้ ฉบับนี้ผู้เขียนจึงขอแนะนำแอพพลิเคชั่นสำหรับร้องเรียนรถบริการสาธารณะประเภทแท็กซี่กันบ้าง พอพูดถึงรถแท็กซี่ ผู้อ่านหลายคนคงส่ายหน้ากับการเลือกรับผู้โดยสาร โดยมีเหตุผลรองรับต่างๆ นานา อย่างเช่น “ไปส่งรถไม่ทัน” “จะไปเติมแก๊ส” “แถวนั้นรถติด” เป็นต้น แค่นี้ก็ทำให้เอือมระอากับการเรียกใช้บริการรถแท็กซี่ไปแล้ว ส่วนผู้โดยสารที่โชคดีได้รถแท็กซี่ตกลงไปส่งจุดหมายปลายทางที่ต้องการ แต่ก็อาจเจอกับความโมโห ฉุนเฉียว พูดจาไม่สุภาพของคนขับรถแท็กซี่ เสมือนไม่พอใจที่จะไปจุดหมายปลายทางนั้น หรือไม่ก็ขับขี่ด้วยความไม่ระมัดระวัง จนทำให้รู้สึกเสี่ยงในเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน ทั้งที่ไม่ใช่ความผิดอะไรของผู้โดยสารเลย แอพพลิเคชั่น Taxi Reporter ถูกพัฒนาขึ้นโดย บริษัท Siam Squared Technologies เป็นแอพพลิเคชั่นที่ช่วยให้การร้องเรียนถึงพฤติกรรมของคนขับรถแท็กซี่ที่ผู้โดยสารไม่พึงพอใจและเห็นว่าไม่เป็นธรรมกับการใช้บริการ ซึ่งข้อมูลที่ร้องเรียนจะถูกส่งไปยังบริษัทเพื่อรวบรวมและส่งข้อมูลต่อไปยังกรมขนส่งทางบกอีกครั้ง   ขั้นตอนในการส่งเรื่องร้องเรียน ขั้นตอนแรกจะให้กรอกหมายเลขทะเบียนรถแท็กซี่เจ้าปัญหา โดยผู้โดยสารจะสังเกตหมายเลขทะเบียนรถได้จากบริเวณประตูด้านหลังทั้งสองข้าง ขั้นตอนที่สองจะให้เลือกเรื่องที่ต้องการร้องเรียน โดยในแอพพลิเคชั่นจะมีให้เลือก ดังนี้ ไม่รับผู้โดยสาร ฝ่าฝืนกฎจราจร มีพฤติกรรมหยาบคาย และโกงค่าโดยสาร ในขั้นตอนนี้ผู้อ่านสามารถเลือกได้หลายตัวเลือก ขั้นตอนที่สาม ผู้อ่านสามารถพิมพ์ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมที่ต้องการร้องเรียนได้ พร้อมทั้งทางแอพพลิเคชั่นจะปักหมุดบนแผนที่ตรงบริเวณที่ผู้อ่านร้องเรียน เพื่อให้รู้ว่ารถแท็กซี่คันนั้นวิ่งในบริเวณใด เมื่อเติมข้อมูลทุกอย่างเสร็จสิ้น ให้คลิกเมื่อส่งข้อมูล สำหรับผู้อ่านที่เล่นเฟสบุ๊กสามารถโพสต์ข้อความการร้องเรียนได้ทันที โดยในหน้าต่างถัดไป แอพพลิเคชั่นจะสอบถามการแชร์ข้อมูลเรื่องร้องเรียนผ่านเฟสบุ๊ก เพียงคลิกตามขั้นตอน ข้อความเหล่านั้นก็จะไปปรากฏบนเฟสบุ๊กให้ทันที แต่ข้อจำกัดของแอพพลิเคชั่นนี้ก็มีเช่นกัน เพราะยังไม่สามารถรองรับอุปกรณ์ไปทั้งหมด ซึ่งจะรองรับเฉพาะอุปกรณ์ตระกูล iOS เท่านั้น อาทิ iPhone, iPad เป็นต้น โดยดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น Taxi Reporter ฟรีได้ที่ http://itunes.apple.com/th/app/taxi-reporter/id501278589?mt=8 เอาเป็นว่าช่วยกันรายงานพฤติกรรมที่เกิดขึ้นผ่านทางแอพพลิเคชั่น Taxi Reporter ซึ่งอย่างน้อยก็เป็นช่องทางหนึ่งที่อาจช่วยกระตุ้นให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเพิ่มความใส่ใจในเรื่องการบริการ และความปลอดภัยบนท้องถนนให้กับผู้โดยสารมากขึ้นกว่าเดิม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 134 ตรวจจับความเร็วกับ Traffy bSafe

ความประมาทที่ก่อให้เกิดอันตรายต่างๆ จากผู้ขับรถบริการสาธารณะ ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรมกับผู้โดยสารที่ต้องฝากชีวิตไว้โดยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ พอเกิดข่าวอุบัติเหตุครั้งหนึ่งผู้โดยสารก็จะพยายามหลีกเลี่ยงเส้นทางนั้น โดยการเปลี่ยนชนิดรถบริการสาธารณะในรูปแบบใหม่ แต่สำหรับผู้โดยสารที่ไม่สามารถเลือกใช้รถบริการสาธารณะรูปแบบอื่นได้ ก็คงต้องหวาดหวั่นกับการขับรถด้วยความประมาทของรถบริการสาธารณะต่อไป การร้องเรียนพนักงานขับรถบริการสาธารณะผ่าน Call Center 1584 เพื่อร้องเรียนความไม่พึงพอใจกับการบริการของรถบริการสาธารณะก็เป็นวิธีการหนึ่งที่ประชาชนธรรมดาคนหนึ่งในฐานะผู้บริโภคจะสามารถร้องเรียนได้ แต่การร้องเรียนในช่องทางนี้อาจทำให้เกิดความไม่สะดวกสบายเท่าไร รวมทั้งไม่มีหลักฐานความประมาทในการขับรถที่เป็นรูปธรรม จึงอาจทำให้การร้องเรียนที่ต้องการให้ปรับปรุงการบริการไม่เป็นผลมากนัก   เทคโนโลยีจึงถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบสนองผู้บริโภคที่ต้องการร้องเรียนอย่างทันท่วงที โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (National Electronics and Computer Technology Center : NECTEC หรือเนคเทค) ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า Traffy  bSafe ขึ้น เพื่อให้สามารถใช้ได้กับเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำบนมือถือในสังคมปัจจุบัน ทั้ง iPhone และ Android สามารถดาวน์โหลด Traffy bSafe mobile app ได้ฟรีที่ http://info.traffy.in.th/2011/09/02/traffy-bsafe Traffy  bSafe หรือเครือข่ายเฝ้าระวังด้านความปลอดภัยรถสาธารณะเป็นแอพพลิเคชั่นสำหรับตรวจจับความเร็วในขณะที่รถบริการสาธารณะวิ่งอยู่บนท้องถนนแบบ real-time และสามารถแจ้งร้องเรียนเรื่องความปลอดภัยของการเดินทางโดยรถสาธารณะได้ทันที  ก่อนเข้าแอพพลิเคชั่นเพื่อวัดความเร็ว โปรแกรมจะให้กรอกหมายเลขทะเบียนรถหรือสายรถเมล์ก่อนเป็นอันดับแรก โดยการวัดความเร็วของแอพพลิเคชั่นนี้จะไล่ตามความเร็วของรถบริการสาธารณะ ซึ่งใช้แถบสีในการแบ่งระดับ 3 ระดับ ดังนี้ แถบสีเขียวหมายถึงระดับ Speed Safe อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย แถบสีเหลืองหมายถึงระดับ Speed Caution อยู่ในเกณฑ์ควรระมัดระวัง แถบสีแดงหมายถึงระดับ Speed Danger อยู่ในเกณฑ์อันตราย เมื่ออยู่ในระดับอันตรายโปรแกรมจะสอบถามเพื่อส่งเรื่องร้องเรียน โดยสามารถอัพโหลดรูปภาพเป็นหลักฐานในการร้องเรียน เพียงกดส่งข้อมูลต่างๆ ก็จะส่งไปยัง NECTEC เพื่อส่งต่อข้อมูลไปยังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และศูนย์ 1584 กรมการขนส่งทางบก ไม่ว่าการร้องเรียนเพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคจะอยู่ในรูปแบบใด อย่างน้อย Traffy  bSafe ก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้ความสะดวกในการร้องเรียนเพิ่มขึ้น และใช้ข้อมูลในแอพพลิเคชั่นเป็นหลักฐานได้ทางหนึ่ง เพียงแค่ผู้บริโภคอย่างเราๆ ช่วยกันสอดส่องและรักษาสิทธิที่ผู้บริโภคควรได้รับในเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนคนละไม้คนละมือ สถิติการเกิดอุบัติเหตุอาจลดน้อยลงได้บ้าง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 185 กระแสต่างแดน

    ของ่ายๆ ได้ใจความคุณคิดว่าเราต้องใช้เวลาเท่าไรเพื่ออ่านข้อตกลงและเงื่อนไขของแอปพลิเคชั่นต่างๆ ในสมาร์ทโฟนให้ครบถ้วน หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคของนอร์เวย์ทดลองให้ผู้ใช้อ่านข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้งานของแอปยอดนิยม (เช่น Facebook Gmail Instagram Twitter YouTube และ Skype) ทั้งหมด 33 แอป แล้วจับเวลา …Forbrukerradet พบว่าเวลาที่ใช้ในการอ่านข้อความ 260,000 คำ หรือ 900 หน้า(ซึ่งยาวกว่าเนื้อหาใน The New Testament หรือ พระคริสตธรรมใหม่) คือ 31 ชั่วโมง 49 นาทีการทดลองนี้นำไปสู่คำถามว่าทำไมเนื้อหาที่มีความสำคัญกับผู้บริโภคจึงถูกนำเสนอในรูปแบบที่ยืดยาวและเข้าใจยาก จะมีกี่คนที่ใช้เวลาถึง 4 วันทำงานอ่านเงื่อนไขการใช้งานของแอปพวกนี้จนจบ แต่คนส่วนใหญ่มักกด “ตกลง” โดยไม่รู้ตัวว่าได้อนุญาตให้บริษัททำอะไรกับข้อมูลของตัวเองบ้าง รวมถึงการยอมให้บริษัทมีสิทธิ์ในการใช้เนื้อหาการสนทนา หรือรูปภาพต่างๆ ในโทรศัพท์ได้โดยไม่มีกำหนดForbrukerradet ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รณรงค์เรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้มาโดยตลอดบอกว่าเรื่องนี้ยอมรับไม่ได้และยังเป็นการละเมิดกฎหมายทั้งของนอร์เวย์และยุโรปด้วย โลกต้องรู้?ใกล้ๆ กันที่สวีเดน ที่ผู้คนจริงจังกับการออกกำลังกายไม่แพ้ชาติใดในโลก ก็มีเรื่องแอปในสมาร์ทโฟนให้กังวลเช่นกันสมาคมผู้บริโภค Sveriges Konsumenter อดเป็นห่วงเรื่องการแชร์ข้อมูลส่วนตัวผ่านแอปของคนกลุ่มนี้ไม่ได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอปช่วยออกกำลังกายอย่าง Endomondo Lifesim MyFitnessPal Runkeeper Strava แจน เบอร์ทอฟ เลขาธิการสมาคมฯ บอกว่า ปัจจุบันผู้บริโภคยังไม่สามารถควบคุมการใช้หรือแชร์ข้อมูลด้านสุขภาพของตนเองได้เท่าที่ควร หลายคนไม่สามารถอ่านทะลุข้อความที่ซับซ้อนไปถึงเรื่องสำคัญๆ ได้ มีเพียงแอป Strava เท่านั้นที่แจ้งผู้ใช้อย่างตรงไปตรงมาว่าจะนำข้อมูลไปใช้ร่วมกับบุคคลที่ 3 ในขณะที่ MyFitnessPal สามารถนำชื่อและรูปโปรไฟล์ของผู้ใช้ไปหาประโยชน์ได้ ส่วน Runkeeper และ Endomondo นั้นสามารถแชร์ตำแหน่งของผู้ใช้ แม้ในขณะที่พวกเขาไม่ได้ออกกำลังกาย      นี่ก็ไม่ว๊าว!หลังจากเป็นหนี้อยู่หลายล้านเหรียญ ผู้ประกอบการแคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส ในฮ่องกง ซึ่งดำเนินการมา 20 ปีก็ปิดตัวลง ทิ้งลูกค้าประมาณ 64,000 ราย และลูกจ้างอีก 700 คนไปดื้อๆแคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส ฮ่องกงดำเนินการโดย เจวี ฟิตเนส ซึ่งเป็นผู้ประกอบการสถานออกกำลังกายรายใหญ่อันดับสองของฮ่องกง ข่าวระบุว่าเจวีขาดทุน 117 ล้านเหรียญ (528 ล้านบาท) ในช่วง 30 เดือนที่ผ่านมาและเหลือเงินในบัญชีเพียง 16 ล้านเหรียญ (72 ล้านบาท) แต่มีหนี้ (ค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าแรงพนักงาน) ประมาณ 130 ล้านเหรียญฮ่องกงหรือประมาณ 586 ล้านบาทบริษัทเริ่มปิดสาขาแรกจากทั้งหมด 12 สาขา เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมาโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า บางคนเพิ่งจ่ายค่าสมาชิกไปประมาณ 50,000 บาท ก่อนสถานประกอบการจะปิดไม่กี่วันอีกด้วย ขณะนี้สคบ. ของฮ่องกงมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาแล้วไม่ต่ำกว่า 100 กรณี  ก่อนหน้านี้ก็เป็นที่รู้กันว่าบริษัทใช้เทคนิคการขายแบบเข้มข้นดุดันมาตลอด และเทรนเนอร์ที่นี่ก็มีรายได้งามจากค่าคอมมิสชั่นที่เกินจริงถึงเดือนละ 100,000 เหรียญ (450,000 บาท)ล่าสุดแคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส ในสิงคโปร์ก็ปิดกิจการลงแล้วเช่นกัน เรื่องทั้งหมดนี้ฟังดูคุ้นๆ เหมือนเคยเกิดที่บ้านเราใช่ไหมหนอ  จริงหรือมั่วนิตยสารคอนซูมาตริซิ ของอิตาลีรายงานว่าจากการสำรวจน้ำมันมะกอกแบบบริสุทธิ์พิเศษ (Extra Virgin) ที่ขายดี 20 อันดับต้นของประเทศ มีน้ำมันมะกอกที่คุณสมบัติไม่ถึงแต่แอบอ้างติดฉลากดังกล่าวด้วยถึง 9 รายการ   ถ้าถามว่าดูอย่างไรว่าเป็นชนิดบริสุทธิ์พิเศษ ผู้รู้จะตอบว่าให้ดูที่ราคา เพราะกรรมวิธีที่ใช้นั้นสิ้นเปลืองทั้งเวลาและแรงงาน เช่น ต้องเป็นผลมะกอกที่เก็บจากต้นในช่วงเวลาที่เหมาะสม(ไม่เก็บจากโคน) และนำมาคั้นทันที โดยไม่มีการใช้สารเคมีหรือความร้อน ฯลฯ น้ำมันมะกอกที่แจ้งว่าตัวเองเป็นชนิดบริสุทธิ์พิเศษจึงสามารถขายได้ในราคามากกว่าแบบธรรมดาถึงร้อยละ 40 จึงเป็นแรงจูงใจให้เกิดการแอบอ้างตามที่เป็นข่าวล่าสุดคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าลงดาบปรับ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ขายหรือผลิตน้ำมันมะกอกที่ติดฉลากไม่ถูกต้อง ลิเดิลผู้ประกอบการซูเปอร์มาร์เก็ตในยุโรปถูกสั่งปรับ 550,000 ยูโร (ประมาณ 21 ล้านบาท) ลิโอดิโอ ผู้ผลิตน้ำมันมะกอกยี่ห้อแบโตลี่ ก็ถูกปรับไป 300,000 ยูโร(ประมาณ 11.6 ล้านบาท) เช่นกันเขาให้เหตุผลว่าที่ค่าปรับแพงขนาดนี้ เพราะนอกจากการกระทำดังกล่าวจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคที่ต้องจ่ายราคาเกินจริงแล้ว ยังทำให้น้ำมันมะกอกของอิตาลีต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงไปด้วย  อารมณ์เสียสิ่งหนึ่งที่ผู้ให้บริการรถไฟในญี่ปุ่นทุกเจ้าเห็นตรงกันว่ายังไม่สามารถจัดการได้ คือพฤติกรรมของผู้โดยสารที่ “อารมณ์เสีย”สมาคมผู้ประกอบการรถไฟเอกชน รายงานว่าปีที่ผ่านมามีเหตุผู้โดยสารใช้อารมณ์(และกำลัง) กับพนักงานถึง 225 ครั้ง ในขณะที่สถิติลูกจ้างของบริษัทผู้ประกอบการของรัฐและบริษัทในเครือ JR ถูกทำร้ายโดยผู้โดยสารก็สูงถึง 574 ครั้งในปีก่อนหน้าความไม่ปลอดภัยดังกล่าวมักเกิดกับพนักงานในเวลาระหว่าง 4 ทุ่ม ถึงเวลาออกของรถไฟเที่ยวสุดท้าย และมักเกิดขึ้นบริเวณชานชาลา บางครั้งถูกทำร้ายเพราะผู้โดยสารมีอาการมึนเมา บางครั้งโดนลูกหลง เมื่อเข้าไปห้ามการทะเลาะวิวาท หรือเข้าไปให้ความช่วยเหลือแต่ผู้โดยสารรู้สึกไม่ได้อย่างใจผู้ประกอบการทุกเจ้าลงความเห็นตรงกันว่ามันเป็นเรื่องที่คาดการณ์และรับมือได้ยากจริงๆ เพราะคนปัจจุบันนี้หงุดหงิดง่ายและต้องการระบายทันทีตอนนี้ทำได้เพียงติดโปสเตอร์เตือนสติผู้คนว่าการใช้ความรุนแรงกับผู้อื่นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ส่งพนักงานไปอบรมศิลปะป้องกันตัวปีละครั้ง และออกแบบเครื่องแต่งกายพนักงานให้ยากต่อการถูกทำร้าย เช่น เนคไทแบบที่หลุดออกทันทีเมื่อถูกดึง เป็นต้น นักวิชาการด้านจิตวิทยาให้ความเห็นว่าปัญหานี้เรื้อรังเพราะว่า บริษัทไม่เคยดำเนินคดีขั้นเด็ดขาดกับผู้โดยสารอันธพาล ... เพราะเขาถือว่าลูกค้าคือพระเจ้า โอ้ ญี่ปุ่นแท้ๆ

อ่านเพิ่มเติม >