ฉบับที่ 230 ผลทดสอบเจลแอลกอฮอล์

        สถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ในขณะนี้ นอกจากหน้ากากอนามัยแล้ว เจลแอลกอฮอล์ ตลอดจนผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือแบบอื่นๆ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการใช้ทำความสะอาดมือเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ซึ่งเป็นที่ต้องการของประชาชนเป็นอย่างมากจนทำให้เกิดภาวะขาดแคลนสินค้าและมีสินค้าไม่ได้มาตรฐานออกมาวางจำหน่าย         ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังสินค้าและคุ้มครองผู้บริโภค นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงดำเนินการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือจำนวน 39 ตัวอย่าง แบ่งเป็นสองกลุ่มตัวอย่าง คือผลิตภัณฑ์จากร้านค้าทั่วไป ร้านขายยา ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก จำนวน 25 ตัวอย่าง และผลิตภัณฑ์จากร้านค้าออนไลน์ จำนวน 14 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 10 มีนาคม – 17 เมษายน ที่ผ่านมา เพื่อตรวจหาปริมาณร้อยละของแอลกอฮอล์ในผลิตภัณฑ์ และตรวจหาการปนเปื้อนของเมธิลแอลกฮอล์ ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ชนิดที่มีอันตรายต่อผู้บริโภค สรุปผลทดสอบผลทดสอบ พบว่า-   จำนวน 26 ตัวอย่าง มีปริมาณแอลกอฮอลต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร ไม่ผ่านเกณฑ์ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย พ.ศ. 2563  แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มคือ(1) จำนวน 14  ตัวอย่าง คือมีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร ทั้งนี้ทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ระบุวันผลิตตั้งแต่ประกาศฯ มีผลบังคับ คือ 10 มีนาคม 2563(2) จำนวน 8 ตัวอย่าง เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตก่อนวันที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ฯ มีผลบังคับ(3) จำนวน 4 ตัวอย่าง ไม่ระบุวันผลิต ได้แก่ยี่ห้อ เมดเดอร์ลีน, Sweet Summer, BFF บีเอฟเอฟ และ TOUCH        -  จำนวน 13 ตัวอย่าง มีปริมาณแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร ทั้งนี้แบ่งเป็น(1) ผลิตภัณฑ์ที่มีวันผลิตก่อนวันที่ 10 มีนาคม 2563 จำนวน 4 ตัวอย่าง ได้แก่ Skin Heaven Hand Safe, Anti-A gel (2 ตัวอย่าง) ,ไลฟ์บอย แฮนด์ ซานิไทเซอร       (2) ผลิตหลังวันที่ 10 มีนาคม 2563 จำนวน 5 ตัวอย่าง ได้แก่ Ver.88, WE Cleanser, ก๊กเลี้ยง, โพรเทค และ CAVIER       (3) ไม่ระบุวันผลิต 4 ตัวอย่าง ได้แก่ยี่ห้อ  CCP LAB BLUE, D GEL , ETC อาย-ตา-นิค และพันตรา     -   พบผลิตภัณฑ์ 4 ตัวอย่าง ไม่มีเลขจดแจ้ง แบ่งเป็น 3 ตัวอย่าง (2 ยี่ห้อ) ไม่แสดงเลขจดแจ้ง ได้แก่ Anti-A gel, Top Clean Hand Sanitizer และมี 1 ตัวอย่างแสดงเลข อย.ซ้ำกับผลิตภัณฑ์ตัวอื่น ได้แก่ ยี่ห้อ L Care     -  พบ 1 ตัวอย่าง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ ANANTA Spray(อนันตา สเปรย์) ใช้เมธานอลเป็นส่วนผสมในการผลิต   ฉลาดซื้อแนะการใช้ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือที่ถูกต้อง1.ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เข้มข้น 70% ขึ้นไป (ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน) ทำไมต้อง 70% ถ้าใช้สัดส่วนที่ต่ำกว่านั้น ไม่สามารถกำจัดเชื้อโรค COVID-19 ได้2.ลูบให้ทั่วฝ่ามือและนิ้วมือ ทิ้งไว้ 20-30 วินาที จนแอลกอฮอล์แห้ง หากใช้แล้วไม่รอให้แห้งไปหยิบจับสิ่งต่างๆ ก็จะทำให้ประสิทธิภาพลดน้อยลง3.ควรใช้เจลแอลกอฮอล์เฉพาะมือเท่านั้น ห้ามสัมผัสหรือเช็ดล้างบริเวณเนื้อเยื่ออ่อน เช่น ใบหน้าและดวงตาโดยเด็ดขาด4.ผลิตภัณฑ์ชนิดที่มีส่วนผสมอื่นนอกจากตัวแอลกอฮอล์จะช่วยทำให้ตัวแอลกอฮอล์ระเหยได้ช้าลง สัมผัสกับผิวได้นานขึ้น ช่วยลดการระคายเคืองของแอลกอฮอล์และคงความชุ่มชื้นต่อผิว5.ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ ทำให้ต้องระมัดระวังการเก็บหรือการใช้ อย่าวางเจลใกล้ความร้อนหรือเปลวไฟ เพราะแอลกอฮอล์ติดไฟได้ง่าย อาจเกิดอุบัติเหตุทำให้บาดเจ็บได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 มารู้จัก “ThaiFightCOVID” และ “Card2U”

        ฉบับนี้ยังคงมาย้ำเตือนให้ผู้อ่านทุกคนตระหนักถึงการป้องกันและเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กันอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าตัวเลขการติดเชื้อและจำนวนผู้เสียชีวิตในประเทศไทยจะลดลงก็ตาม        ปัจจุบันหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้พัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ขึ้นมาเพื่อให้ข้อมูลในการเฝ้าระวังอย่างมากมาย อย่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้พัฒนาแพลตฟอร์มที่คอยเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยใช้ชื่อว่า “ThaiFightCOVID” ซึ่งสามารถเข้าดูข้อมูลได้ที่ ThaiFightCOVID.depa.or.th ภายใน “ThaiFightCOVID” จะมีข้อมูลตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันจากกระทรวงสาธารณสุข ข่าวสารที่รวบรวมจากประกาศรัฐบาล หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานที่ประกาศมาตรการการช่วยเหลือประชาชน รวมถึงประกาศจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และรวบรวมข่าวสารจากสถานการณ์ทั่วโลกที่เกิดขึ้นด้วย          ต่อจากนั้นไม่นาน ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน “Card2U” ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ COVID-19 เพิ่มเติม ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ Android และระบบปฏิบัติการ iOS เริ่มแรกผู้อ่านต้องลงทะเบียนโดยใช้ชื่อนามสกุล เบอร์โทรศัพท์ และสร้างรหัสผ่าน จากนั้นให้กดเพื่อรับการ์ด กรอกเพศและอายุเพื่อที่จะเข้าหน้าหลัก         หน้าหลักจะมีรูปการ์ดชื่อนามสกุลของผู้ใช้แอปพลิเคชัน และ QR Code ของการ์ดด้านข้าง ซึ่งด้านล่างจะมีหมวดต่างๆ ได้แก่ หมวดประกาศรัฐบาล หมวดไฮไลท์ข่าวประจำวัน หมวดประกาศหน่วยงานภาครัฐ หมวดตรวจสอบข่าวปลอม หมวดจำนวนผู้ติดเชื้อ หมวดพื้นที่เสี่ยง หมวดจดบันทึกการเดินทาง หมวดประเมินความเสี่ยง หมวดโรงพยาบาลที่รับตรวจโควิด หมวดโปรสู้โควิด หมวดรวมสายด่วน และหมวดไทยรู้สู้โควิด          หมวดประกาศรัฐบาล หมวดไฮไลท์ข่าวประจำวัน และหมวดประกาศหน่วยงานภาครัฐ จะเป็นการรวบรวมข้อมูลข่าวสารเหมือนกับ “ThaiFightCOVID” หมวดตรวจสอบข่าวปลอมจะเป็นข้อมูลข่าวสารจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย หมวดไทยรู้สู้โควิดจะเป็นข้อมูลข่าวสารจากหน้าเฟซบุ๊กไทยรู้สู้โควิด แต่หมวดจำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มข้อมูลผู้ติดเชื้อที่ละเอียดขึ้น และมีข้อมูลโรงพยาบาลที่รับตรวจพร้อมราคา ส่วนหมวดโรงพยาบาลที่รับตรวจโควิดจะเป็นการแจ้งโรงพยาบาลที่ใกล้ผู้ใช้แอปพลิเคชัน โดยจะมีข้อมูลที่อยู่ เบอร์ติดต่อ และแผนที่สำหรับเดินทาง         ความแตกต่างจาก “ThaiFightCOVID” คือ หมวดพื้นที่เสี่ยงจะแจ้งพิกัดจุดเสี่ยงบนแผนที่ประเทศไทย หมวดจดบันทึกการเดินทาง เพื่อให้ผู้ใช้แอปพลิเคชันเก็บข้อมูลการเดินทางโดยใช้วิธีเช็คอิน หมวดประเมินความเสี่ยงเป็นการตอบคำถามแบบประเมินความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 หมวดโปรสู้โควิดที่รวบรวมร้านอาหารพร้อมโปรโมชันมานำเสนอให้ผู้ใช้แอปพลิเคชัน และหมวดรวมสายด่วน เพิ่มขึ้นมา         ไม่ว่าจะเป็น “ThaiFightCOVID” หรือแอปพลิเคชัน “Card2U” ก็เป็นเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์และถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยให้คนไทยได้ตระหนักและเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างใกล้ชิด ดังนั้นต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกันด้วยใจจริงๆ และอย่าลืมปฏิบัติตามหลักการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) กันด้วยนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 รู้เท่าทันการป้องกันและรักษาโควิด-19

        วันนี้คงไม่มีโรคอะไรที่รุนแรงเท่าโควิด-19 เพราะโรคนี้ได้ระบาดไปทั่วโลก และยังไม่รู้ว่าจะสงบลงเมื่อไหร่ การอยู่กับบ้าน การเว้นระยะห่าง ป้องกันการแพร่กระจายและติดเชื้อได้ดีที่สุดหรือไม่ ยาที่รักษาอยู่ได้ผลจริงหรือไม่ เรามารู้เท่าทันกันเถอะ โคโรนาไวรัสคืออะไร        โคโรนาไวรัสเป็นกลุ่มสายพันธุ์ใหญ่ของไวรัสที่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยในมนุษย์และสัตว์ ในมนุษย์นั้นก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจตั้งแต่ ไข้หวัดธรรมดาจนถึงไข้หวัดรุนแรงเช่น เมอร์ส และซาร์ส ที่เคยระบาดเมื่อหลายปีก่อน จนถึงโควิด-19 ที่กำลังโด่งดังในปัจจุบัน ปัจจุบันมียาหรือวิธีป้องกันโควิด-19 ที่ได้ผลหรือยัง        องค์การอนามัยโลกระบุว่า  ปัจจุบันยังไม่มียาทั้งแผนปัจจุบัน แผนดั้งเดิมหรือการรักษาพื้นบ้านใดที่สามารถป้องกันหรือรักษาโรคนี้ได้          อย่างไรก็ตาม มีการทดลองทางคลินิกจำนวนมากที่ใช้ทั้งยาแผนปัจจุบันและแผนดั้งเดิม จากการทบทวนเอกสารในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2020 พบว่ามีการศึกษาทางคลินิก 24 รายงาน มีการใช้ยากว่า 20 รายการ เช่น อิมมูโนโกลบูลิน อินเตอร์เฟียรอน คลอโรควิน ไฮดรอกซี่คลอโรควิน ฟาวิพิราเวียร์ โลพินาเวียร์ ริโทนาเวียร์ โอเซลทามิเวียร์ ยาจีน เป็นต้น ซึ่งผลการศึกษาจำนวนเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์ในการรักษาโควิด-19 และทำให้เราสามารถวางแผนการรักษาอย่างมีประสิทธิผลมากขึ้นภายในสิ้นปีค.ศ. 2020  การกินวิตามิน C ช่วยป้องกันและรักษาโควิด-19 ได้จริงหรือไม่        เมื่อเป็นโรคอุบัติใหม่และระบาดอย่างรวดเร็ว รวมทั้งยังไม่มียาที่มีประสิทธิผลชัดเจนในการรักษา จึงเกิดกระแสการกินวิตามิน C เพื่อป้องกันโควิด-19 ซึ่งน่าจะมาจากความเชื่อเรื่องการกินวิตามิน C เพื่อป้องกันไข้หวัดที่มีอยู่เดิม เรื่องนี้ทางห้องสมุดคอเครนได้ทำการทบทวนวรรณกรรมและตีพิมพ์เมื่อวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 2013 ว่า การกินวิตามิน C ไม่มีผลต่ออุบัติการของไข้หวัดในประชากรทั่วไป แต่มีผลในการลดระยะเวลาของการเป็นไข้หวัดให้สั้นลง         มีการศึกษาการใช้วิตามิน C ในการรักษาโควิด-19 โดยเชื่อว่า วิตามิน C ต้านอนุมูลอิสระสูง ซึ่งอาจลดการอักเสบ เพิ่มระบบภูมิคุ้มกันของเซลล์ ทำให้หลอดเลือดทำงานได้ดีขึ้น การศึกษาพบข้อมูลที่น่าสนใจว่าช่วยลดการเสียชีวิตในภาวะติดเชื้อ แต่ยังต้องการการศึกษามากกว่าที่มีอยู่        นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาในผู้ป่วยโควิด-19 ที่รุนแรงและเกิดปอดอักเสบ ที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน โดยการฉีดวิตามิน C เข้าไปในเส้นเลือด ขนาด 24 กรัม/วัน เป็นเวลา 7 วัน โดยมีกลุ่มควบคุม 104 ราย  ซึ่งจะมีการสรุปผลการศึกษาภายใน เดือนกันยายน ค.ศ. 2020 ผักสดและผลไม้ต้องล้างด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือไม่         องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ล้างผักสดและผลไม้ด้วยวิธีปกติที่เคยทำ แต่ก่อนที่จะสัมผัสด้วยมือ ให้ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ ก็เพียงพอ         สรุป  ในขณะนี้ยังไม่มียารักษาโควิด-19 ที่มีประสิทธิผลเต็มที่ ยาที่ใช้รักษาเป็นการใช้ยาที่รักษาโรคอื่นๆ การป้องกันการติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อที่ดีที่สุดคือ การสวมหน้าการอนามัย การเว้นระยะห่างจากผู้อื่น 2 เมตร  และการล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 ช่วงเวลาที่ยากลำบาก

        ช่วงเวลาที่ผ่านมานับว่าเป็นวิกฤตความรุนแรงของคนทั้งโลก จากโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ สู่โควิด-19 ที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอันตราย ตัวเลขปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อทั่วโลกแล้วเกือบ 4.5 ล้านคน และเสียชีวิตกว่า 3 แสนคน  โดยสหรัฐอเมริกาคือประเทศที่มีความรุนแรงของผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตมากที่สุดในโลกหรือเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 30 ของความรุนแรงทั้งหมด        หันกลับมาประเทศไทยแม้ตัวเลขจะดูน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เพราะมีผู้ติดเชื้อเพียง 3,018 คน และเสียชีวิตเพียง 56 คน แต่สถานการณ์แบบนี้อาจยังไม่สามารถไว้วางใจหรือผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ได้ การล็อคดาวน์ประเทศตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พร้อมด้วยแคมเปญ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ทำให้เกิดเทรนใหม่ในสังคม การทำงานจากที่บ้าน การที่ทุกคนเริ่มเว้นระยะห่างระหว่างกัน ต้องสวมหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้าตลอดเวลาในที่สาธารณะ ล้างมืออย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงต่อตนเองและคนรอบข้าง        พฤติกรรมที่ปรับตัวเพื่อป้องกันตนเองจากเชื้อโรคนี้ ก็ทำให้เกิดคำถามต่อสังคมของกลุ่มคนทำงานด้านความปลอดภัยทางถนนว่า จริงๆ แล้วคนไทยกลัวโควิด-19 มากกว่ากลัวความรุนแรงจากอุบัติเหตุทางถนนใช่ไหม เพราะขณะที่ในแต่ละปีประเทศไทยมีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากกว่า 20,000 คน แต่ความตื่นตัวด้านความปลอดภัยกลับมีน้อยกว่าไวรัสโควิด-19 ที่มีผู้เสียชีวิตรวมกันไม่ถึง 60 คน  และทุกคนพร้อมใส่หน้ากากผ้าเวลาขี่หรือซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์แต่กลับไม่ยอมสวมหมวกกันน็อค อะไรคือสิ่งที่ทำให้สองอย่างนี้ไม่เหมือนกัน เกิดคำถามกันขึ้นมาว่า ที่ผ่านมาเราทำมาถูกทางแล้วหรือยั        อย่างไรก็ตาม เมื่อค่อยๆ ลองวิเคราะห์เชิงลึกกันแล้ว ระหว่างความรู้สึกและความตื่นตัวจากอุบัติเหตุทางถนนกับไวรัสโควิด-19 คงไม่สามารถวัดหรือเปรียบเทียบกันได้มากนัก เพราะอุบัติเหตุทางถนนอาจจะเกิดกับคนบางกลุ่มบางพวกและบางคน แต่ไวรัสโควิด-19 เกิดได้กับคนทุกกลุ่มทุกคน ไม่เลือกว่าขับขี่หรือไม่ขับขี่รถโดยสาร อีกทั้งอุบัติเหตุทางถนนส่วนใหญ่เกิดจากความประมาทเห็นผลทันทีทันใด แต่โควิด-19 เกิดจากสิ่งที่มองไม่เห็น แม้ระวังแค่ไหนก็เสี่ยงเกิดขึ้นได้ และต้องใช้ระยะเวลาและขั้นตอนในการแสดงผลนานพอสมควร ดังนั้นการมีระยะเวลาแสดงผลที่นานกว่าย่อมให้เกิดความวิตกกังวลได้มากกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าอุบัติเหตุทางถนนไม่ใช่เรื่องสำคัญที่คนเราจะไม่สนใจ        มองในเชิงเศรษฐกิจกันบ้าง บริการขนส่งสาธารณะเกิดผลกระทบหนักหน่วง ที่เห็นได้ชัด คือ ผู้ประกอบการรถร่วมบริการหลายรายต้องปิดตัวลง เพราะทนพิษบาดแผลไม่ไหว ส่วน บขส. และ ขสมก. ไม่เดือดร้อนเท่าไหร่ เพราะรัฐเป็นผู้ให้การสนับสนุนหลัก ขณะที่ประชาชนคนทำงานยังต้องพบกับความยากลำบากในการใช้รถสาธารณะท่ามกลางจำนวนรถที่น้อยลง หลายคนต้องรอรถนานขึ้น แต่ค่าโดยสารยังแพงเหมือนเดิม และจากการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญ คาดว่าเราจะต้องอยู่กับโควิด-19 ไปอีกอย่างน้อย 1 ปี หรือมากกว่านั้น สิ่งที่เป็นกังวลตามมาคือ การเว้นระยะห่างทางสังคมจะสามารถทำต่อเนื่องได้หรือไม่ ในเมื่อคนทุกคนต้องกลับมาใช้ชีวิตปกติ ซึ่งการใช้บริการต่างๆ เช่น ระบบบริการสุขภาพ ห้างสรรพสินค้า อาจจะทำได้ แต่กับบริการขนส่งสาธารณะจะทำได้อย่างไร ในเมื่อเราต่างต้องมุ่งหน้าไปทำงานให้ทันเวลา การเบียดเสียดเพื่อไปทำงานในรถโดยสาร รถไฟฟ้า รถตู้ จะกลับมาอีกครั้ง  New normal ของการเดินทางคงต้องออกแบบกันใหม่ เพราะหากยังพึ่งพาระบบแบบเดิมๆ ย่อมไม่มีทางเป็นไปได้แน่นอน นี่แหละช่วงเวลายากลำบากอย่างแท้จริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 เปรียบเทียบประกันภัยเพื่อคุ้มครองความเจ็บป่วย หรือเสียชีวิตอันเกิดจากการติดเชื้อโรคโควิด-19

            จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 (COVID-19) ในประเทศไทยที่มีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คนไทยตื่นตัวที่จะซื้อประกันภัยเพื่อคุ้มครองความเจ็บป่วย หรือเสียชีวิตอันเกิดจากการติดเชื้อโรคโควิด-19 กันเป็นจำนวนมาก เพราะมีค่าเบี้ยประกันที่ไม่สูงนัก เพื่อลดความเสี่ยงที่จะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล หากพบว่าตัวเองติดเชื้อ ผลสำรวจเปรียบเทียบประกันภัยเพื่อคุ้มครองความเจ็บป่วย หรือเสียชีวิตอันเกิดจากการติดเชื้อโรคโควิด-19         ทีนี้มาดูเรื่องประกันภัยกันบ้าง เมื่อเราทราบแล้วว่ามีสิทธิการรักษาพยาบาลอะไร อย่างไรบ้าง เมื่อเลือกซื้อประกันก็ควรซื้อกรมธรรม์ที่ตอบโจทย์ของเราและมีสิทธิประโยชน์นอกเหนือจากสิทธิการรักษาพยาบาล เช่น บางคนอาจจะต้องการตรวจโควิด-19 ในขณะที่ยังไม่แสดงอาการ หรือต้องการเงินชดเชยในช่วงระยะเวลากักตัว 14 วัน เป็นต้น โดยในการซื้อประกันภัยแต่ละครั้ง นอกจากผู้บริโภคจะดูสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับแล้ว ยังต้องตรวจสอบรายละเอียด เงื่อนไข และข้อยกเว้นในการทำสัญญาด้วย เพราะประกันแต่ละตัวของแต่ละบริษัท ก็มีเงื่อนไขและข้อยกเว้นการรับประกันที่แตกต่างกันไป อีกทั้งบางบริษัทก็มีเงื่อนไขที่กำกวม หรือไม่ได้ระบุเงื่อนไขที่จำเป็นบางประการไว้         ฉลาดซื้อได้ทำการสำรวจประกันโควิด-19 จากโฆษณา เอกสารการขาย ที่สามารถหาได้จากสื่อต่างๆ และเวปไซต์ของบริษัทประกันชีวิต จำนวน 16  แห่ง โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึง 3 เมษายน 2563เงื่อนไขการรับประกันของทุกกรมธรรม์  1.ต้องมีใบรับรองแพทย์ระบุว่ามีการเจ็บป่วยด้วยภาวะโคม่า หรือภาวะสมองตายและระบบประสาทล้มเหลว หรือการเจ็บป่วยระยะสุดท้ายซึ่งเป็นการเจ็บป่วยรุนแรงที่แพทย์ลงความเห็นว่าไม่มีวิธีการรักษาให้หายได้ และ/หรือเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตโดยมีสาเหตุหลักมาจากติดเชื้อไวรัสโคโรนา โควิด(COVID-19) 2. ระยะเวลารอคอย 14 วัน (Waiting Period )หลังจากวันที่กรมธรรม์มีผลบังคับใช้ หมายถึง ระยะเวลาที่ไม่คุ้มครอง/ระยะเวลารอคอย : บริษัทจะไม่จ่ายผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย หากผู้เอาประกันภัยได้รับการวินิจฉัยโรคจากแพทย์เป็นครั้งแรกว่าเป็นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus (2019-nCoV)) ที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลา 14 วัน นับแต่วันที่กรมธรรม์ประกันภัยมีผลบังคับเป็นครั้งแรกตามที่ระบุไว้ในหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัย) หมายเหตุ  :  หลักเกณฑ์การรับเงินค่าทดแทนสำหรับการเสียชีวิต/เจ็บป่วยระยะสุดท้าย และภาวะโคม่า มีดังนี้         ขณะที่กรมธรรม์ประกันภัยนี้มีผลบังคับและเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลารอคอย (Waiting Period) 14 วัน (กรณีกรมธรรม์ที่กำหนดระยะเวลารอคอย)  หากผู้เอาประกันภัยได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาตประกอบประกอบโรคศิลป์ตามกฎหมาย ว่าติดเชื้ออันเนื่องมาจากไวรัส COVID-19 ซึ่งมีลักษณะตามคำจำกัดความในกรมธรรม์ จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตหรือต้องได้รับเข้ารับการรักษาพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน บริษัทจะจ่ายค่าทดแทนสำหรับการเสียชีวิตให้ผู้รับผลประโยชน์ (กรณีระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์) หรือทายาทโดยธรรม (กรณีไม่ได้ระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์) ส่วนค่าทดแทนอย่างอื่นจะจ่ายให้แก่ผู้เอาประกันภัย*การเจ็บป่วยระยะสุดท้าย หมายถึง การเจ็บป่วยรุนแรงที่แพทย์ลงความเห็นว่าไม่มีวิธีการรักษาให้หายได้ และ/หรือ เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตโดยมีสาเหตุหลักมาจากติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ การเจ็บป่วยด้วยภาวะโคม่า หรือ ภาวะสมองตายและระบบประสาทล้มเหลว**ภาวะโคม่า หมายถึง  ภาวะอาศัยเครื่องช่วยหายใจและไม่ตอบสนองอย่างน้อย 96 ชั่วโมง และสมองถูกทำลายถาวรเกิน 30 วัน*** การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ(อ.บ.1) หมายถึง การสูญเสียอวัยวะ หรือ สายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง การขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ รวมถึงการฆาตกรรมหรือถูกทำร้ายร่างกายข้อสังเกต        ·  ผู้ทำประกันสุขภาพต้องได้รับความคุ้มครองทุกโรค        ·  เจอ-จ่าย-จบ  หรือ เจอแล้วจ่าย ต้องสอบถามจากตัวแทนประกันภัยของแต่ละบริษัทว่ามีรายละเอียดอย่างไร        ·  บางกรมธรรม์มีข้อยกเว้นไม่รับทำประกันให้กับกลุ่มอาชีพพิเศษ หรือมีระยะเวลารอคอย ให้ผู้ซื้อประกันตรวจสอบกับผู้ขายก่อนซื้อแล้วก่อนจะซื้อประกัน โควิด-19 ควรดูอะไรบ้าง?         ภญ.ชโลม เกตุจินดา อนุกรรมการด้านการเงินการธนาคาร คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) และนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ได้อธิบายผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ ในเพจมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ไว้ว่า จุดที่ควรสังเกตในการซื้อประกันภัยโควิด-19 มีอยู่ 4 เรื่องใหญ่ๆ คือ อายุ ปัญหาสุขภาพ ข้อยกเว้นความรับผิดชอบ และการขายพ่วงประกันอื่นๆ1. อายุผู้เอาประกัน เพราะกรมธรรม์แต่ละฉบับจะมีความคุ้มครองในช่วงอายุที่แตกต่างกันในการรับประกัน จึงควรศึกษาให้ดีก่อนซื้อประกันให้ตัวเองหรือคนใกล้ตัว2. ปัญหาสุขภาพ เงื่อนไขของกรมธรรม์บางฉบับ ไม่ได้ระบุหรือสอบถาม เกี่ยวกับสุขภาพและโรคประจำตัวต่างๆ ซึ่งผู้บริโภคควรศึกษาข้อมูลส่วนนี้ให้ละเอียด เนื่องจาก บริษัทอาจใช้ข้ออ้างในเรื่องปัญหาสุขภาพ หรือโรคเรื้อรังต่างๆ มาเป็นเหตุผลในการปฏิเสธความคุ้มครองภายหลังโดยอ้างเรื่องการปกปิด หรือไม่เปิดเผยข้อความจริง ซึ่งเป็นมาก่อนการทำประกัน ( ซึ่งเป็นไปตามข้อยกเว้นท้ายคำเสนอของกรมธรรม์นั้นๆ )3. ข้อยกเว้นในการรับผิดชอบ โดยปกติแล้วบริษัทประกันภัยจะคิดเงื่อนไขโดยคำนึงว่าให้บริษัทแบกรับความเสี่ยงน้อยที่สุด ดังนั้นจึงอาจมีการกำหนดหลักเกณฑ์ข้อยกเว้นสำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เงื่อนไประกันของบางบริษัทมีข้อยกเว้นที่กำหนดเรื่องอาชีพเอาไว้ หากเป็นแพทย์ พยาบาล หรือกลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยงก็จะไม่อยู่ในเงื่อนไขการรับประกัน หรือบางบริษัทกำหนดว่าต้องติดเชื้อก่อนการซื้อประกันภัย โดยใช้เกณฑ์ระยะฟักตัว 14 วัน นั่นหมายความว่า ภายในระยะเวลา 14 วันหลังการซื้อประกัน คุณต้องไม่ป่วยเป็นโควิด ถ้าคุณป่วยประกันจะไม่รับผิดชอบ เป็นต้นและ 4. การขายพ่วงประกันอื่นๆ เช่น ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ซึ่งบางคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องดีที่ได้ประกันในหลายรูปแบบ แต่นั่นก็จะทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นทั้งที่อาจไม่ได้มีความจำเป็น ดังนั้น หากต้องการซื้อประกันเกี่ยวกับเรื่องโควิด-19 ก็ให้ซื้อเฉพาะเรื่องไปเลย ไม่ต้องพ่วงเรื่องประกันอื่นๆ ซึ่งจะหมดไปพร้อมกัน         ทั้งนี้ หากผู้บริโภคอ่านรายละเอียดต่างๆ แล้วไม่เข้าใจหรือมีข้อสงสัย ควรโทรถามบริษัทประกันให้เข้าใจก่อน แล้วจึงตัดสินใจซื้อ ก่อนตัดสินใจ ควร 1. ผู้บริโภคต้องตรวจสอบเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ให้ดี ก่อนที่จะสมัครทำสัญญา บางกรมธรรม์มักพ่วงประกันอุบัติเหตุร่วมด้วย และหากกรมธรรม์ มีข้อความว่า  ต้องเกิดอุบัติเหตุและติดเชื้อไวรัส Covid -19 พร้อมกัน จึงจะได้เงินตามเงื่อนไขของสัญญาประกันภัย ดังนั้น ถ้าเกิดติดเขื้อไวรัส Covid -19 เพียงอย่างเดียว หรือ อุบัติเหตุเพียงอย่างเดียว ไม่มีสิทธิรับเงิน เพราะไม่เข้าเงื่อนไข ตามสัญญา ดังนั้น ต้องตรวจสอบกรมธรรม์ให้ดีด้วย 2. เงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยที่ระบุว่า "เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต โดยมีสาเหตุหลักมาจากติดเชื้อไวรัส COVID-19" อันนี้ ต้องดูความเห็นของแพทย์ บางคนหากติดเชื้อจริง แต่สาเหตุการเสียชีวิตมาจากโรคแทรกซ้อน เช่น ความดัน หัวใจวาย ปอดติดเชื้อ แพทย์ไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่าเสียชีวิตจากไวรัสโควิด ก็อาจไม่เข้าเงื่อนไขของประกัน 3. ผู้บริโภคที่เอาประกันต้องแจ้งข้อมูลสุขภาพก่อนทำสัญญา เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทประกันอ้างในภายหลังเกี่ยวกับการปกปิดข้อมูลสุขภาพ โดยเฉพาะกรณีติดเชื้อก่อนทำประกัน  ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยในการปฏิเสธการจ่ายเงินตามสัญญาประกัน 4. ผู้ที่ทำประกันชีวิต และสุขภาพไว้แล้ว  ขอให้ทราบว่า กรมธรรม์ประกันภัยนั้นๆ จะรวมถึงการประกันกรณีติดเชื้อโควิดด้วยอยู่แล้ว ( ตาม“คำสั่งนายทะเบียนที่ 23/2563 เรื่องให้เพิ่มเติมเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย”  )  ดังนั้น หากจะทำประกันภัยเพิ่ม ขอให้พิจารณาความจำเป็นอย่างรอบคอบ “คำสั่งนายทะเบียนที่ 23/2563 เรื่องให้เพิ่มเติมเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย” อ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.prachachat.net/finance/news-434595   หมายเหตุ 1 การเจ็บป่วยด้วยภาวะโคม่า หรือ ภาวะสมองตายและระบบประสาทล้มเหลว หรือ การเจ็บป่วยระยะสุดท้ายซึ่งเป็นการเจ็บป่วยรุนแรงที่แพทย์ลงความเห็นว่าไม่มีวิธีการรักษาให้หายได้ และ/หรือ เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต โดยมีสาเหตุหลักมาจากติดเชื้อไวรัส COVID-19          2 ค่าชดเชยรายได้ระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาลวันละ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 50 วัน3 มีคุ้มครองการเสียชีวิต อวัยวะ สายตา ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงจากอุบัติเหตุ (อ.บ.1)      4 เงินชดเชยรายวันกรณีนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา วันละ 300 บาท (สูงสุด14 วัน)5 กลุ่มอาชีพพิเศษ ดังนี้ บุคลากรทางการแพทย์ (แพทย์, พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล) และพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในท่าอากาศยาน แอร์โฮสเตส สจ๊วต นักบิน6 เงินชดเชยกรณีนอนรพ.จากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 500 บ./วัน (สูงสุด14วัน)7ค่าชดเชยรายได้กรณีนอนรพ.จากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 300 บ./วัน (สูงสุด 30 วัน)  8ค่าชดเชยรายได้กรณีนอนรพ.จากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 700 บ./วัน (สูงสุด 30 วัน)  9ค่าชดเชยรายได้กรณีนอนรพ.จากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 1,000 บ./วัน (สูงสุด 30 วัน)         10 สำหรับผุ้ที่ซื้อกรมธรรม์ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป มีระยะเวลารอคอย 14 วัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point