ฉบับที่ 243 นักโภชนาการก็มา ใบอนุญาตโฆษณาก็มี

        ผลิตภัณฑ์อาหารที่อวดอ้างสรรพคุณในการลดน้ำหนักยังคงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายดีอยู่เรื่อยๆ แม้หลายรายจะโดนดำเนินคดีฐานโฆษณาเกินจริงไปแล้วก็ตาม  และแม้ว่าทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จะร่วมมือกับหน่วยงานร่วมต่างๆ พยายามช่วยกันกวดขันและออกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อป้องกันและควบคุม แต่อย่าลืมว่าผู้ผลิตและผู้จำหน่าย ต่างก็พัฒนาวิธีการของตนเองให้หลบเลี่ยงกฎหมายได้อยู่เรื่อย         ล่าสุดพบผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่งที่แชร์กันมาในโซเชียล เป็นผลิตภัณฑ์อาหาร แต่ก็มีข้อความที่บอกถึงสรรพคุณในการลดน้ำหนัก และเนื่องจากข้อกำหนดตามกฎหมาย การโฆษณาสรรพคุณอาหารไม่สามารถนำบุคลากรทางการแพทย์มาประกอบการยืนยันได้ ผู้ผลิตจึงเลี่ยงไปใช้ข้อความอ้อมๆ ดังนี้          “ซื้อ (ชื่อผลิตภัณฑ์) แถมที่ปรึกษานักโภชนาการตัวจริง ลดได้ไวกว่าใคร สบายใจกว่า แถมฟรีด้วยนะ         1. ได้ผลจริง ไม่เสียเวลา ไม่เสียเงินฟรี  กินยังไงให้ถูกวิธี ได้ผลดีที่สุด ลดเร็วที่สุด        2. ลดน้ำหนักได้อย่างถาวร ไม่กลับมาโยโย่ นักโภชนาการจะบอกวิธีที่หยุดทานแล้วไม่กลับมาโยโย่        3. ไม่ต้องกังวลผลข้างเคียง มั่นใจปลอดภัย รู้ลึก รู้จริง แก้ปัญหาได้ทุกสิ่งอย่าง            มีสารสกัดจากพริกอเมริกาช่วยในการเผาผลาญมากถึง 5 เท่า                  ที่น่าสังเกตคือในภาพที่โฆษณา มีการใช้ภาพของบุคคลที่สวมเสื้อสีขาวคล้ายๆ เสื้อกาวน์ และมีหูฟังตรวจไข้คล้องคออยู่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าบุคคลในภาพน่าจะเกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพ นอกจากนี้ ในด้านล่างของภาพยังมีข้อความว่า “บริการฟรีดูแลลูกค้า ระหว่างทาน โดยนักโภชนาการลดน้ำหนัก” แต่ยังมีลูกเล่นอีก ด้วยข้อความว่า “เบอร์สายด่วนนักโภชนาการจะส่งให้เฉพาะลูกค้าที่ชำระเงินแล้วเท่านั้น”         และเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ โฆษณาชิ้นนี้ยังมีการนำใบอนุญาตโฆษณาอาหารที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมทั้งแสดงข้อความเน้นอย่างชัดเจนว่า  “มั่นใจทุกคนโฆษณาไม่เกินจริง ได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข” ที่น่าสังเกตคือมีการเบลอข้อความบางจุด และไม่มีการนำข้อความหรือภาพที่ได้รับอนุญาตจริงๆมาแสดง ซึ่งหากใครดูผ่านๆ แล้วไม่ฉุกคิดก็คงนึกว่าได้รับการอนุญาตให้โฆษณาแบบที่เห็นมาข้างต้นได้  แต่ถ้าผู้บริโภคที่พอมีความรู้มาบ้าง ก็จะรู้ได้ทันทีว่าไม่น่าเป็นไปได้ เพราะทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา คงไม่ยอมให้ใช้ข้อความหรือภาพประกอบการโฆษณาที่ชวนให้เข้าใจผิดอย่างนี้แน่นอน        ผู้บริโภคในยุคนี้จึงต้องรอบคอบและอย่าเพิ่งรีบเชื่อในสิ่งที่เห็น แม้จะมีการสดงข้อมูลว่า มีนักวิชาการ หรือใบอนุญาตโฆษณาแล้วก็ตาม ต้องตรวจสอบให้ดีก่อนนะครับว่า มันโอเวอร์เกินจริงหรือไม่ ถ้าไม่แน่ใจปรึกษาเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยงานที่คุ้มครองผู้บริโภคก่อนจะไม่เสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ และจะปลอดภัยกว่าครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 ขบวนการทัวร์ลง ชกตรงๆ ผลิตภัณฑ์ไม่ปลอดภัย

        ในแวดวงโลกโซเชียลจะมีศัพท์หนึ่งคือ “ทัวร์ลง” หมายถึงการที่ผู้คนต่างๆ ที่ใช้โซเชียล หันมาสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และพร้อมใจกัน แสดงความคิดเห็น เปิดโปง หรือกดดันให้เป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นต้องมีการเปลี่ยนแปลงดังที่เราเคยเห็นในแวดวงบันเทิง การเมือง ฯลฯ          “ทัวร์ลง” มันมีทั้งแง่ลบและแง่บวก ในแง่ลบ เช่น ไม่มีการตรวจสอบประเด็นดังกล่าวจนเกิดความเข้าใจผิด หรือบางทีเลยเถิด ขุดคุ้ย ด่าทอ จนเป้าหมายได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งที่ไม่ได้ก่อเรื่อง แต่ในแง่บวกมันก็มีประโยชน์เพราะจะเกิดพลังความร่วมมือในการแสวงหาข้อมูล แสดงความคิดเห็นและระดมกันกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ถูกที่ควร         เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเราคงได้เห็นกระแสทัวร์ลงพิธีกรสาวคนหนึ่งที่ไลฟ์สดโอ้อวดสรรพคุณสินค้าของตนเอง ตั้งแต่การมีผลเปลี่ยนโครงหน้าตนเองจนสวย  เลยเถิดไปถึงการป้องกันรักษาโควิด-19 ได้ ชาวโซเชียลในโลกไซเบอร์ เลยหันมาขุดคุ้ยหลักฐานการกระทำของเธอ แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ จนในที่สุดสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาต้องออกมารับลูกไปจัดการ        ปรากฎว่าชาวโซเชียลไม่ยอมหยุด มีประเด็นต่อเนื่องไปถึงถั่งเช่า ที่นักร้องลูกทุ่งคนหนึ่งโฆษณาขาย อ้างสรรพคุณต่างๆ อย่างเกินจริง จนมีคนเสียเงินไปซื้อหามาตามๆ กันมากมาย มีการขุดคุ้ยหลักฐานและโยงไปถึงบรรดาคนในวงการบันเทิงต่างๆ จนในที่สุดนักร้องลูกทุ่งรายนี้ก็ถูกดำเนินคดีไปแล้ว หลังจากนั้นไม่กี่วันโทรทัศน์ช่องหนึ่งนำเสนอข่าวจากทวิตเตอร์ ที่มีคนรายงานว่ามีการขายครีมหน้าขาวจากเขมรใส่กระปุก ไม่มีฉลากใดๆ สภาพคล้ายน้ำตาลมะพร้าว ถัดไปไม่กี่วันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก็รายงานผลการจับกุมดำเนินคดีได้สำเร็จ         ผมจำได้ว่าทั้งสามเรื่องนี้ เคยมีเครือข่ายผู้บริโภคและเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงาน พยายามดำเนินการมาแล้ว แต่ก็ไม่สำเร็จ อย่างกรณีถั่งเช่ามีข้อมูลทางวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัยออกมาเตือนว่า มีผลต่อไตด้วย ส่วนครีมจากเขมร ผมก็เคยนำมาเตือนในคอลัมน์นี้เมื่อนานมาแล้วด้วยซ้ำ แต่กระแสก็ไม่เปรี้ยงเท่าตอนนี้ ผลิตภัณฑ์พวกนี้ก็เลยผลุบๆ โผล่ๆ        สำหรับกรณีทัวร์ลงที่เกิดขึ้นนี้ สะท้อนให้เห็นชัดเจนเลยว่า พลังของผู้บริโภคในโลกโซเชียลปัจจุบันมันมีอิทธิพลขนาดไหน ผู้คนที่มาร่วมมือกันจัด “ทัวร์ลง” เหล่าคนดังที่โฆษณาขายผลิตภัณฑ์อย่างไม่เหมาะสมต่างมาจากหลายวัย หลายอาชีพ หลายแหล่ง จนเกิดเป็นกระแสสังคมกระตุ้นและกดดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลุยจัดการอย่างทันที        ดังนั้นขอเชิญชวนให้พวกเราร่วมสร้างขบวนการ “ทัวร์ลง” อย่างมีประโยชน์ หากพบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย หรือการกระทำที่ไม่เหมาะสม นอกจากแจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบแล้ว ขอให้ช่วยกันนำเสนอในโซเชียลและเพื่อทำให้เกิดเป็นประเด็นดังๆ จะได้เกิดแรงกระเพื่อมให้มีการจัดการอย่างรวดเร็วเสียที เริ่มจากพวกคนดังในแวดวงบันเทิงเลยดีไหม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 รู้เท่าทันการนอนไม่หลับ

        โรคนอนไม่หลับเป็นโรคที่กระทบต่อผู้สูงอายุในทุกประเทศ ทำให้เกิดการบำบัดรักษาด้วยวิธีการต่างๆ ตั้งแต่ยา ฮอร์โมน และวิธีการต่างๆ โรคนอนไม่หลับคืออะไร มีกี่ประเภท และวิธีการต่างๆ ช่วยบำบัดการนอนไม่หลับได้จริงหรือไม่ มารู้เท่าทันกันเถอะ โรคนอนไม่หลับคืออะไรกันแน่        นายแพทย์จิรยศ จินตนาดิลก แพทย์ไทยผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนไม่หลับในสหรัฐอเมริกาเขียนไว้ในหนังสือการนวดไทยบำบัดการนอนไม่หลับ ว่า โรคนอนไม่หลับคือ ความผิดปกติด้านการนอน หมายถึง กลุ่มอาการของการนอนหลับยากตั้งแต่ก่อนเข้านอน นอนแล้วหลับๆ ตื่นๆ หรือการนอนหลับไม่เต็มอิ่ม         ใน International Classification of Sleep Disorders ได้แบ่งเป็น 3 ประเภทคือ โรคนอนไม่หลับเรื้อรัง โรคนอนไม่หลับระยะสั้นและโรคนอนไม่หลับจากอาการหรือโรคอื่นๆ นอนเท่าไหร่ถึงจะพอ         จากการเก็บรวบรวมข้อมูลของสหรัฐอเมริกาปี พ.ศ. 2546 พบว่า เวลาที่คนอเมริกันทั่วไปนอนอยู่ที่ 7-9 ชั่วโมง และพบว่า หากนอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน อัตราการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ความดันโลหิตสูง โรคเส้นเลือดในสมองอุดตัน เบาหวาน จะเพิ่มมากขึ้น ทำไมคนเราต้องนอน         การนอนหลับเป็นช่วงที่มีคุณค่าที่สุดต่อสมองของมนุษย์เรา สมองต้องการการนอนหลับเพื่อสร้างความทรงจำให้อยู่ได้นานจัดเก็บอย่างเป็นระบบ กำจัดของเสียในสมองและสร้างพลังงานสำหรับวันใหม่ กลไกในการนอนหลับ         จะมี 2 กลไกหลัก คือ        1. กลไกสะสมสารที่ทำให้ง่วงนอนในสมอง ได้แก่ GABA (Gamma-Aminobutyric Acid), Adenosine, Serotonin, Melatonin และ Prostaglandin D2 เป็นต้น สารเหล่านี้จะมีมากขึ้นเมื่อร่างกายทำงานมากขึ้นและไม่ได้นอนหลับทำให้เราง่วงนอน เมื่อนอนหลับร่างกายจะหลั่งสาร Catecholamine, Orexin และ Histamine ทำให้ตื่นนอนในตอนเช้า        2. กลไกการตื่นที่ควบคุมผ่าน Circhadian Rhythm เป็นกลไกที่ใช้แสงมากระตุ้นจอประสาทตาแล้วทำให้สมองหลั่งสารกระตุ้นการตื่น การตรวจสารหรือฮอร์โมนในเลือดจำเป็นหรือไม่         มีการโฆษณาในสื่อต่างๆ ว่ามีเครื่องมือในการวิเคราะห์การทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายและตรวจฮอร์โมนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงอาจไม่เกิดประโยชน์เพราะสารเคมีหรือฮอร์โมนนั้น ร่างกายสามารถสร้างได้เมื่ออยู่ในภาวะที่ร่างกายต้องการนอนหลับพักผ่อน หรือตื่นนอนเมื่อนอนหลับอย่างเพียงพอ ยกเว้นในภาวะที่บางคนต้องการอดนอนเพื่อเร่งทำงานหรือดูหนังสือ หรือการดื่มชากาแฟเพื่อต่อต้านความง่วงนอน Optimum Health คืออะไร         คำว่า Optimum Health เป็นความหมายกว้างๆ ที่คล้ายกับคำ สุขภาวะ ขององค์การอนามัยโลก แต่เน้นเป็นเป้าหมายด้านสุขภาพที่บุคคลสามารถบรรลุได้อย่างเป็นจริงเพื่อรู้สึกดีที่สุด         ดังนั้นการมีการโฆษณาว่า Optimum Health เป็นนวัตกรรมที่ใช้วิธีการรักษาโรคแบบใหม่จึงผิดความหมายของคำนี้ที่ใช้เพื่ออธิบายภาวะของสุขภาพที่แต่ละคนสามารถไปถึงได้ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามีประโยชน์อย่างไร         มีการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในการบำบัดอาการเจ็บปวดของเส้นประสาท อาการปวดกล้ามเนื้อ ข้ออักเสบบ้าง แต่ไม่ยืนยันประสิทธิผลเรื่องการนอนไม่หลับ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง แผลหายเร็วขึ้น         สรุป  การแก้ปัญหาการนอนไม่หลับจึงต้องวินิจฉัยโรคนอนไม่หลับว่า เกิดจากสาเหตุอะไร เป็นประเภทไหน เพราะวิธีการบำบัดนั้นแตกต่างกันไป

อ่านเพิ่มเติม >

“ฉลาดซื้อ” ทดสอบเครื่องฟอกอากาศ พบหลายแบรนด์ลด PM 2.5 ไม่ได้อย่างที่โฆษณา

        นิตยสารฉลาดซื้อ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค และโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการด้านสุขภาพ ร่วมกันทดสอบเครื่องฟอกอากาศ เน้นเฉพาะประสิทธิภาพการลด PM 2.5 โดยอ้างอิง มอก.3061 – 2563 ของเครื่องฟอกอากาศจำนวน 9 ยี่ห้อ ได้แก่  Samsung รุ่น Cube AX9500 AX47R9080SS/ST, Honeywell รุ่น Air Touch (HAC35M), Licc รุ่น Fresh 241, Electrolux รุ่น Pure A9 PA91-406GY  , Saijo Denki รุ่น AP-P35, SHIMONO รุ่น AP-9000, Dyson รุ่น TP03 PH/TH WH/SV, Tefal รุ่น PU6067, และ LG รุ่น AS60GDPV0 (เก็บตัวอย่างสินค้าเดือนกันยายน 2563) พบ 6 แบรนด์ไม่เป็นตามคำโฆษณา         ผลการทดสอบประสิทธิภาพในการกรอง ฝุ่น PM 2.5 โดยพิจารณาจากค่าประสิทธิภาพการกำจัดฝุ่นในแง่อัตราการไหลของอากาศบริสุทธิ์ (Clean Air Delivery Rate, CADR) สูงสุด ได้แก่ เครื่องฟอกอากาศยี่ห้อ Shimono รุ่น AP-9000 มีค่า CADR สูงสุด เหมาะกับพื้นที่ห้องขนาด 71.36 ตารางเมตร และอันดับ 2 ได้แก่ เครื่องฟอกอากาศยี่ห้อ Samsung รุ่น Cube AX9500 AX47R9080SS/ST ST เหมาะกับพื้นที่ห้องขนาด 56.71 ตารางเมตร ในอันดับ 3 คือ เครื่องฟอกอากาศยี่ห้อ Electrolux รุ่น Pure A9 PA91-406GY  โดยทั้ง 3 ยี่ห้อมีประสิทธิภาพในการกรอง ฝุ่น PM 2.5 เป็นไปตามที่โฆษณาไว้อันดับ 4 Licc รุ่น Fresh 241 และอันดับ 5 LG รุ่น AS60GDPV0 อันดับ 6 คือยี่ห้อ Tefal รุ่น PU6067 อันดับ 7 คือยี่ห้อ Honeywell รุ่น Air Touch (HAC35M) อันดับ 8 คือยี่ห้อ Dyson รุ่น TP03 PH/TH WH/SV อันดับ 9 ยี่ห้อ Saijo Denki รุ่น AP-P35 แต่ขนาดห้องที่แนะนำ ทั้ง 6 ยี่ห้อ ไม่เป็นตามคำโฆษณา เนื่องจากมีขนาดพื้นที่น้อยกว่าที่ระบุไว้          การทดสอบเครื่องฟอกอากาศ (เฉพาะประสิทธิภาพการลด PM 2.5)        1.อ้างอิงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องฟอกอากาศเฉพาะด้านประสิทธิภาพการลด PM2.5 (มอก. 3061 – 2563) ซึ่งมาตรฐานนี้เป็นมาตรฐานที่ใช้ในการทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องฟอกอากาศสำหรับในที่อยู่อาศัยและงานที่มีจุดประสงค์คล้ายกัน         2. ทดสอบในห้องที่มีการควบคุมอัตราการแลกเปลี่ยนอากาศให้มีค่าน้อยที่สุดและมีการควบคุมปริมาณฝุ่นละอองขนาด 2.5 μm (PM2.5) ที่สร้างให้มีค่าอยู่ในช่วง 1.0-5.0 mg/m3         3. ฝุ่นที่ใช้ในการทดสอบใช้เครื่องสร้างฝุ่น TOPAS aerosol generator ATM 226 เพื่อสร้างฝุ่นจำลองขนาดอนุภาคอยู่ในช่วง 0.1-0.9 μm (ฝุ่นส่วนใหญ่มีขนาดอนุภาค 0.2 μm)        4. เครื่องวัดความเข้มข้นของ PM2.5 ในการทดสอบนี้ คือ DUSTTRAK DRX AEROSOL MONITOR 8533         5. ห้องที่ใช้ในการทดสอบประสิทธิภาพการกำจัดฝุ่นละอองนี้มีขนาดห้อง 30.45 m3 [กว้าง×ยาว×สูง:3.53 m x 3.45 m x 2.50 m]                  ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตั้งข้อสังเกตว่า การบอกขนาดห้องที่เหมาะสมของเครื่องฟอกอากาศแต่ละยี่ห้อ จะมีความแตกต่างกัน บางยี่ห้อ บอกขนาดห้องที่เหมาะสม ในช่วงที่ค่อนข้างกว้าง เมื่อดูจากผลการทดสอบกว่าร้อยละ 60 ของตัวอย่างเครื่องฟอกอากาศที่นำมาทดสอบไม่เป็นตามคำโฆษณา เนื่องจากมีขนาดพื้นที่น้อยกว่าที่ระบุไว้         นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ยกระดับมาตรฐานเครื่องฟอกอากาศในครัวเรือน ทั่วไปเป็นมาตรฐานบังคับ เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อ เลือกใช้สินค้า ที่มีมาตรฐานอุตสาหกรรม ในการป้องกัน อันตรายจากการสูดดม ฝุ่นและควันมลพิษที่แพร่กระจายเข้ามาสู่ตัวบ้าน และสร้างผลกระทบทางสุขภาพกับประชาชน โดยเฉพาะประชาชนในกลุ่มเสี่ยง เช่น ทารก เด็กเล็ก และผู้ป่วยจากโรคทางเดินหายใจ         ดร.นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สํานักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นักวิชาการด้านสังคมและสุขภาพ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายอากาศสะอาด กล่าวว่า เรื่องมลพิษทางอากาศซับซ้อน ต้องจัดการร่วมกันหลายระดับตั้งแต่ระดับครอบครัวจนถึงระดับสังคม และต้องปกป้องสุขภาพของประชาชนไปพร้อมกันการหาทางจัดการต้นเหตุ การสุ่มทดสอบเครื่องฟอกอากาศกลุ่มที่สองที่มีราคาแพงขึ้น กว่าครั้งแรกนี้ เป็นความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่งของการคุ้มครองผู้บริโภคในการปลุกพลังพลเมืองให้เป็นยามเฝ้าระวังแบบ citizen watchdog ในการปกป้องคนทุกกลุ่ม จากการกระทำที่ไม่ถูกต้อง         “ในขณะที่การจัดการที่ยั่งยืนจะต้องมีการแก้ไขระบบของรัฐที่กระจัดกระจายและขาดประสิทธิภาพ เราจึงจำเป็นต้องมีการเสนอกฎหมายอากาศสะอาดฉบับประชาชน ที่เน้นการปฏิรูประบบบริหารจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพของประชาชน โดยมีเป้าหมายในการปกป้องสิทธิที่จะหายใจอากาศที่สะอาดของประชาชนซึ่งเป็นสิทธิที่มีอยู่คู่กับสิทธิที่จะมีชีวิต มันเป็นสิทธิติดตัว ไม่ใช่ว่าทำให้อากาศในพื้นที่สะอาดขึ้นแล้วก็จบ แต่เป็นการมุ่งเน้นไปที่ประชาชนแต่ละคนว่าเขาจะต้องหายใจด้วยอากาศที่สะอาด กลไกของกฎหมายจะเข้าไปแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของกลไกราชการและเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน” ดร.นพ.วิรุฬ กล่าว                  ปัจจุบัน ร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ในขั้นตอนการรวบรวม 10,000 รายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายต่อรัฐสภา ตัวเลขที่ได้ขณะนี้อยู่ที่ประมาณหลักพันกว่า (สามารถร่วมลงชื่อได้ที่ thailandcan.org)                  ดร.นพ.วิรุฬ อธิบายว่า กระบวนการออกกฎหมายเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้คนทำความเข้าใจกับปัญหา เพราะว่าสุดท้ายแล้วไม่ว่ากฎหมายจะผ่านหรือไม่ แต่มันจะกระตุ้นให้ประชาชนตั้งคำถามกับการจัดการมลพิษทางอากาศโดยรัฐ เกิดเป็น active citizen ที่เข้าใจเรื่องนี้และเป็นแรงผลักดันจากข้างล่างขึ้นมา

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 239 ความเคลื่อนไหวเดือนมกราคม 2564

         10 อันดับข่าวปลอมที่ถูกนำมาแชร์ซ้ำมากที่สุดในรอบปี 63        กระทรวงดิจิทัลฯ เผย 10 อันดับข่าวปลอมที่ถูกนำมาแชร์ซ้ำมากที่สุดในรอบปี 63 หมวดสุขภาพครองแชมป์ 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 ดื่มสไปรท์ใส่เกลือ แก้ท่องร่วง ท้องเสียได้ อันดับ 2 คลอรีนในน้ำประปาเปลี่ยนเป็นสารก่อมะเร็งเมื่อถูกความร้อน อันดับ 3 ใส่ผ้าอนามัยนาน ทำให้เป็นโรคมะเร็งปากมดลูก        อันดับ 4 งดใช้ตู้ ATM ที่ไม่มีไฟกระพริบตรงที่เสียบบัตร อันดับ 5 น้ำมันเบนซินมีสารระเหยดูดพิษจากแมลงกัดต่อยหายใน 3-5 นาที อันดับ 6 จัดตั้งจังหวัดในประเทศไทยเพิ่ม รวมเป็น 83 จังหวัด อันดับ 7 ผู้ประกอบการที่ใช้ตราฮาลาลบนสินค้าไม่ต้องเสียภาษี อันดับ 8 มหัศจรรย์น้ำปัสสาวะ รักษาโรคแก้ปวดเมื่อย ช่วยให้ตาใสมองเห็นชัด อันดับ 9 บริษัทชื่อดังฉลองวันพิเศษ แจกบัตรกำนัล สินค้า และรางวัลต่างๆ และอันดับ 10 กรอกแบบสอบถามจากหน่วยงานของรัฐลุ้นรับของรางวัลฟรี ขอเตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อและแชร์ข่าวดังกล่าว         กสทช. เอาจริงปรับสูงสุดโฆษณาเกินจริงสินค้าสุขภาพ           กสทช. เผยสื่อมีโทษจับ-ปรับเงินสูงสุด 5 ล้านบาท เมื่อวันที่ 18 ม.ค. กสทช. มีมติเห็นชอบตามผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์  ให้สำนักงาน กสทช. มีคำสั่งเตือนทางปกครองให้บริษัท ทีวีดี เซอร์วิสเซส จำกัด ช่องรายการ TVD1 ระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เข้าข่ายการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค กรณีการโฆษณาผลิตภัณฑ์ถังเช่า ผสมมัลติวิตามิน บี (ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) เลขสารบบอาหาร 11-1-07356-1-0101 หรือการโฆษณาอื่นใดที่มีข้อความหรือเนื้อหาสาระในลักษณะเป็นการจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกใช้บริการหรือสินค้าโดยหลอกลวงหรือกระทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับบริการหรือสินค้านั้น หรือโดยการใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือข้อมูลอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริง         โดยทันทีที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่ง ตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553  ประกอบข้อ 5(2) ข้อ 6(1)(2) และ (3) ของประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2555 และมาตรา 37 แห่งพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2553 ทั้งนี้ หากบริษัท ทีวีดีฯ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว กสทช. จะใช้อำนาจกำหนดค่าปรับทางปกครองเป็นเงิน 500,000 บาท.สมอ.เร่งออก มอก. บังคับสินค้าเกี่ยวกับโควิด         นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ  สั่งบอร์ด สมอ. คุมเข้มรับโควิด เร่งออกมาตรฐานป้องกันให้สินค้าเกี่ยวกับโควิด ได้แก่ หน้ากากอนามัย ถุงมือสำหรับใช้ทางการแพทย์ เป็นมาตรฐานบังคับและเตรียมออก มอก.บังคับกับสินค้า ตู้น้ำเย็นและเครื่องเล่นสนาม ทั้งชิงช้า กระดานลื่น ม้าหมุน และอุปกรณ์โยก รวม 7 รายการ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน        นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า ปัจจุบันหน้ากากอนามัยยังเป็นมาตรฐานทั่วไป ซึ่งหมายความว่า ผู้ประกอบการจะมายื่นขอ มอก. หรือจะไม่ขอก็ได้ ล่าสุดมี 1 ราย ที่ได้ มอก. เรียบร้อยแล้ว โดยต่อจากนี้ สมอ. จะดำเนินการทางกฏหมายเพื่อประกาศใช้เป็นมาตรฐานบังคับ ดังนั้นทุกบริษัทจะต้องได้ มอก. เพราะเป็นสินค้าที่มีผลต่อประชาชน         แนะวิธีเช็กเว็บไซต์ผู้ค้าออนไลน์ ก่อนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ         กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ก.พาณิชย์เตือนภัยผู้ใช้บริการผ่านช่องทางออนไลน์ ระวังตกเป็นเหยื่อแก๊งมิจฉาชีพ ดึงเข้าไปเว็บพนันออนไลน์         นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ตรวจพบการกระทำผิดของกลุ่มคนที่ไม่หวังดีที่มีจำนวนมากขึ้นและมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน คือ การปลอมชื่อเว็บไซต์ให้ใกล้เคียงกับชื่อเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (www.dbd.go.th) เพื่ออาศัยความน่าเชื่อถือ จากหน่วยงานราชการและดึงดูดผู้ใช้งานที่มีจำนวนมากให้เข้าสู่เว็บไซต์ปลอมที่เป็นการพนันออนไลน์หรือเว็บไซต์ตรวจสอบข้อมูลนิติบุคคลปลอม จึงขอเตือนประชาชนให้มีความระมัดระวังในการเข้าใช้งานมากขึ้น เพื่อความปลอดภัยและป้องกันการถูกหลอกลวงจากผู้ไม่หวังดี         ทั้งนี้ วิธีการเช็กว่าเป็นเว็บไซต์ปลอมหรือไม่ ต้องการเข้าระบบการให้บริการของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทุกครั้ง ต้องเข้าผ่านทางหน้าเว็บไซต์หลักเท่านั้น คือ www.dbd.go.th โดยไม่ควรเข้าระบบผ่านทางลิงก์ที่มีการแชร์ต่อๆ กันมา หรือค้นหาผ่านระบบ Search engine ต่างๆ ซึ่งมีโอกาสที่จะเข้าสู่เว็บไซต์ปลอมได้ง่ายขึ้น         ‘ผิดนัดชำระหนี้’ พุ่งสูง จากพิษโควิด มพบ. เสนอ ธปท. ออกมาตรการช่วยเหลือ        นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวในช่วงเสวนา ‘วิกฤติหนี้ครัวเรือนหลัง Covid-19 ความท้าทายของธนาคารในการคุ้มครองผู้บริโภค’ ว่า สำหรับ ปัญหาผู้บริโภคที่มูลนิธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนเข้ามาในด้านการเงินการธนาคาร โดยเฉพาะช่วงโควิด - 19 พบปัญหาเรื่องหนี้สินในประเด็นที่หลากหลาย อาทิ เรื่องการผิดนัดชำระหนี้ เรื่องการถูกฟ้องคดี เรื่องการถูกทวงถามหนี้ที่ผิดกฎหมาย ในส่วนของเรื่องการผิดนัดชำระหนี้นั้นผู้บริโภคมักจะเข้ามาขอคำปรึกษาหรือขอความรู้เรื่องการจัดการกับปัญหาหนี้ของตัวเองจากปัญหาเศรษฐกิจจนไม่สามารถจัดการชำระหนี้ได้ และตามมาด้วยการถูกฟ้องคดีจากการผิดชำระหนี้ ซึ่งจากสถิติเรื่องร้องเรียน ธุรกิจที่มีการฟ้องคดีที่สุด คือ ธุรกิจเช่าซื้อรถ บางรายถูกยึดรถไปแล้วและมาเจอการฟ้องเรื่องส่วนต่าง บางรายนำรถไปคืนก็ยังเจอปัญหาเรื่องส่วนต่างอยู่ ไม่เพียงแต่เรื่องผู้เช่าซื้อถูกฟ้องคดี แต่ผู้ค้ำประกันบางรายก็ถูกฟ้องคดีด้วยเช่นกัน          “นอกจากนี้ยังรวมไปถึงปัญหาการกู้เงินผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งมีการคิดดอกเบี้ยสูงเกินจริงและผิดกฎหมาย และสิ่งที่ตามมาก็คือข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคที่สมัครผ่านแอปฯ กู้เงินจะถูกเข้าถึงได้อย่างง่ายดายอีกด้วย”          จากปัญหาที่กล่าว จึงขอฝากถึงธนาคารแห่งประเทศไทยให้เร่งช่วยเหลือประชาชน คือ หนึ่ง ขอให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย สอง ขอให้ออกมาตรการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 เนื่องจากคาดว่าสถานการณ์โควิด - 19 และเศรษฐกิจจะยังชะลอตัวไปอีกในช่วงดังกล่าว สาม ขอให้มีมาตรการจัดการกับธุรกิจการปล่อยสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชันที่ผิดกฎหมาย และสุดท้าย ขอให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้โดยไม่ต้องรอให้เป็นลูกหนี้ NPL

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 ตีแผ่อาหารเสริม "ถังเช่า" บำรุงร่างกายจริงหรือตัวเร่งตับ-ไตพัง

        “ถังเช่า” รุกคืบโฆษณาอ้างสรรพคุณ คนกิน “ตับ ไต” พัง “หมอลี่” ตีแผ่ที่มาถังเช่าดั้งเดิมได้จากซากหนอน ผิดกับอาหารเสริม ใช้การเพาะเห็ดสกัดถังเช่า คาดสรรพคุณต่างกัน  กสทช.-อย. ตรวจสอบพบโฆษณาอวดครึ่งหมื่นรายการ มพบ. จี้ออกเอกสารคำเตือนหวังเป็นข้อมูลตัดสินใจ “หมอยา” แนะหลักการกิน อยู่ ไม่ต้องฟอกไต             กรณีผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงนั้น มีปัญหามาอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย โดยเฉพาะในระยะหลังที่มีเทคโนโลยีการสื่อสารหลากหลายช่องทาง ทำให้การตรวจสอบติดตามเป็นไปได้อย่างยากลำบาก และตามหลังปัญหาอยู่มาก โดยที่เห็นชัดในขณะนี้คือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีสวนผสมของถังเช่า สารสกัดถังเช่า ที่มีอยู่เกลื่อนตามอินเทอร์เน็ต หรือแม้กระทั่งการโฆษณาผ่านสถานีโทรทัศน์ ทั้งในรูปแบบของการโฆษณาโดยตรงและการโฆษณาแฝง ทำให้ประชาชนซื้อหามารับประทานจำนวนมาก และก็พบว่ามีจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหาสุขภาพตามมา           เรื่องนี้ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) บอกว่า อันดับแรกตนขอให้ข้อมูล “ในฐานะแพทย์” ซึ่งจากข้อมูลดั้งเดิมของจีน “ถังเช่า” เป็นสิ่งมีชีวิต คือ ตัวหนอนที่เกิดขึ้นในภูเขา ที่ประเทศจีน ซึ่งเมื่อถึงฤดูหนาวจะมีเชื้อรา หรือว่าเห็ดไปเจริญงอกงามในตัวหนอนกลายเป็น “ซาก” คนจีนจึงบริโภคซากตัวหนอนและจากเชื้อราไปในคราวเดียวกัน ถือเป็นยาจีนอย่างหนึ่ง สรรพคุณในตำราแพทย์แผนจีนคือรักษาไอเรื้อรัง  บำรุงไต มีฤทธิ์ร้อน ใช้กับคนที่ร่างกายมีความเย็น ไม่ได้เหมาะกับคนทุกคน และระบุชัดเจนว่ามีผลกระทบกับการเกาะตัวของเลือด  ห้ามกินในคนที่ต้องผ่าตัด และยังมีผลในการลดระดับน้ำตาลในเลือด จึงห้ามกินในคนที่เป็นโรคเบาหวาน เป็นต้น         แต่ถังเช่าที่ขายในประเทศไทยไม่ได้มาจากตัวหนอน แต่มาจากการเอาเห็ดประเภทที่เป็นเชื้อราแบบเดียวกับที่อยู่ในตัวหนอน ซึ่งอาจจะเป็นคนละสายพันธุ์ แต่อยู่ในตระกูลเดียวกันมาเพาะและสกัดออกมา ซึ่งเมื่อเป็นการสกัด ก็จะไม่เหมือนกับถังเช่าดั้งเดิม          ดังนั้นการจะอวดอ้างว่าบำรุงไตได้หรือไม่เป็นประเด็นที่ต้องพิสูจน์ต่อไป แต่แน่นอนว่าเวลามีการนำอาหารเสริมเหล่านี้มาจำหน่ายและบริโภค ก็จะมีการติดตามผลข้างเคียงว่าจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง เช่นปี 2561 ที่รพ. เชียงราย มีอายุรแพทย์ด้านไตเตือนว่าการทานสมุนไพรรวมถึงถังเช่า อาจทำให้เกิดไตวายเพิ่มขึ้น และมีเภสัชกรทำการทดสอบพบว่าคนที่กินถังเช่าทำให้ค่าไตผิดปกติ แต่เมื่อหยุดกินค่าไตก็ดีขึ้น         “จึงยังไม่มีข้อมูลสรุปว่าเป็นพิษต่อไต หรือบำรุงไต แต่ก็เพียงพอที่จะเตือนผู้บริโภคว่าอาหารเสริมไม่กินก็ไม่เสียหายเพราะไม่ใช่อาหารหลัก แล้วกรณีถังเช่านั้น ไม่ได้ขาดสารอาหารอะไรทั้งสิ้น แต่เราไปทานเข้าไป ดังนั้นมีโอกาสเป็นไปได้ที่จะเกิดพิษหรือผลข้างเคียงได้ และหลักการกินในจีนไม่ได้กินตลอดชีวิต แต่กินเป็นช่วงเวลา เช่น กิน 1 เดือนแล้วหยุดกิน ไม่เคยมีคำแนะนำให้กินอาหารเสริมไปเรื่อยๆ จน 50-60 ปี แบบนี้ไม่ใช่ หลักการแพทย์แผนจีน ก็เหมือนของไทยก็คือบริโภคให้ครบหมู่ บริโภคให้ครบถ้วน ไม่ได้เหมาะกับคนทุกคน แต่ที่ไทยเวลาเอามาสกัดขายพูดอย่างกับว่าถังเช่าเป็นอาหารเสริมครอบจักรวาล”         นพ.ประวิทย์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ถ้าให้พูดในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลเรื่องการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเหล่านี้ก็ต้องบอกว่า ในภาพรวมประเทศไทยมี อย. ดูแลเรื่องอยู่ ส่วน กสทช.มีอำนาจในการดูแลเนื้อหาการโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ และวิทยุ เท่านั้น ซึ่งในแต่ละเรื่อง หาก อย.มีการยืนยันว่าเป็นโฆษณาเกินจริง ทางกสทช.ก็สั่งระงับโฆษณา หากฝ่าฝืนก็มีโทษปรับ แต่ถ้า อย. ไม่ยืนยัน กสทช. ไปสั่งก็จะมีปัญหาข้อกฎหมายทันที         ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการพบกลยุทธ์ในการโฆษณาของบริษัทเหล่านี้ โดยใช้โทรทัศน์ วิทยุ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นให้คนติดตามเท่านั้น เนื้อหาจึงไม่ค่อยมีอะไรที่ส่อไปในทางผิดกฎหมาย แต่จะเปิดทางให้คนไปติดตามช่องทางอื่น มีการโฆษณาโอ้อวด เกินจริง แต่กสทช.ดูแลไม่ถึง เช่น แพลตฟอร์มออนไลน์         ดังนั้นคำเตือนคือ 1 ถ้ามีใครกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารถังเช่าเป็นประจำและมีอาการผิดปกติ ให้แจ้งแพทย์ด้วยว่ามีอาการผิดปกติอะไร กินอะไรไปบ้าง เพราะในอดีตก็เคยมีการทำสารสกัดใบขี้เหล็ก หลังพบว่าใบขี้เหล็กมีสรรพคุณเป็นยายาระบาย แต่พอทำเป็นสารสกัดแล้วกินเข้าไปทำให้เกิดตับอักเสบ จึงนำมาสู่การถอนทะเบียน  ก็เช่นเดียวกับถังเช่าที่เดิมคือสมุนไพรที่ได้จากซากหนอน ไม่ใช่สารสกัดจากถังเช่า ดังนั้นสมุนไพรดั้งเดิมมีฤทธิ์อย่างหนึ่ง พอเป็นสารสกัดก็ให้ฤทธิ์อีกแบบหนึ่ง หากมีผลกระทบอะไรก็ให้แจ้งกับแพทย์ ซึ่งแพทย์จะแจ้งเตือนมาที่อย. ให้ตรวจสอบต่อไป ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าสารสกัดถั่งเช่าบำรุงสุขภาพจริงๆ แต่มีข้อจำกัด ว่ากระทบกับการทำงานของไตซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาต่อไป         “ในระหว่างนี้สิ่งที่ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้คือ หากยี่ห้อไหนโฆษณาว่าบำรุงไต ให้สงสัยไว้เลยว่าเป็นการโอ้อวด เพราะอาหารเสริมจริงๆ เป็นอาหารเสริมสุขภาพทั่วไป จะมาบอกว่าบำรุงเฉพาะส่วนไม่ได้ จะรักษาเฉพาะส่วนไม่ได้  ที่จริงควรจะมีคำเตือนด้วยว่าอาหารเสริมนี้ใครกินได้ ใครกินไม่ได้ ยิ่งคนที่สุขภาพไม่แข็งแรงยิ่งต้องระวัง ก่อนกินให้ถามตัวเองก่อนว่ากินเพื่ออะไร และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกินไปตลอดชีวิต”          ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่ามีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับถังเช่าขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกว่า 427 รายการ บางรายการเพิกถอนทะเบียนไปแล้วโดยที่ขึ้นทะเบียนนั้นมีทั้งถังเช่าสกัดอย่างเดียว ถังเช่าสกัดผสมอย่างอื่น เช่นผสมวิตามินซี ผสมโสม ผสมกาแฟ ผสมสมุนไพรอีกหลายประเภท หรือผสมผลไม้ เรียกว่ามีสารพัดที่มีถังเช่าไปผสมอยู่ ซึ่งคำถามต่อมาคือการที่ผสมสิ่งเหล่านี้จำนวนมาก แล้วมีการเสริมฤทธิ์ หรือว่าต้านฤทธิ์กันหรือไม่ หรือผลเป็นอย่างไร         อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิฯ ได้รับการสอบถามจากประชาชนจำนวนมากว่า “ถังเช่า” ที่มีการโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ จำนวนมากอยู่ในขณะนี้ สามารถเชื่อถือได้หรือไม่ มีสรรพคุณตามที่โฆษณาจริงหรือไม่ จริงๆ ก่อนหน้านี้ราวๆ ปี 2562 มีรายงานของ รศ.ดร.ภญ.มยุรี  มีกรณีผู้บริโภค 3 ราย ร้องเรียนว่ารับประทานถังเช่าและเกิดปัญหาว่ามีผลกระทบต่อการทำงานของไต โดยมี 1 คนเกิดปัญหาไตวายเรื้อรัง และปี 63 เจออีก 8 ราย ทั้งหมดรวมเป็น 11 ราย         ดังนั้น เมื่อมีรายงานว่ามีผลกระทบต่อการทำงานของไต ทางมูลนิธิฯ จึงอยากให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบเรื่องของการออกฤทธิ์ด้วย รวมถึงควรมีการเขียนคำเตือนบนฉลากผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคตัดสินใจ เพราะถ้าดูข้อมูลจะพบว่าที่ประเทศจีน จะรับประทานกันหน้าหนาว ในคนที่ต้องการฤทธิ์ร้อน และไม่ได้รับประทานทุกวัน แต่ที่โฆษณาในประเทศไทยกลับบอกว่าต้องทานทุกวันเพื่อบำรุงร่างกาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และขอให้ กสทช. พิจารณาเรื่องการลงโทษสื่อที่มีการโฆษณาเกินจริง หรือการโฆษณาแฝงเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคด้วย มีระยะเวลาในการโฆษณาผิดกฎหมายอยู่ โดยกสทช. อาจจะชวนดิจิทัลทีวีหรือสื่อต่างๆ มาทำข้อตกลงได้ไปในแนวทางการป้องปราม         น.ส.สารี ยังบอกอีกว่า ทั้งนี้หากผู้บริโภคซื้อผลิตภัณฑ์มาแล้ว พบว่าตัวเราเองไม่สามารถใช้ได้ เพราะมีโรคประจำตัวอยู่ สิ่งแรกคือถ้าสามารถคืนได้ก็ให้นำไปขอเงินคืน แต่หากคืนไม่ได้ก็ไม่แนะนำให้รับประทาน อย่างไรก็ตาม มีหลายคนอยากให้มูลนิธิฯ ช่วยฟ้องร้องคดีกรณีที่รับประทานแล้วเกิดปัญหาต่อตับและไต ซึ่งจริงๆ มีกฎหมายหลายตัวที่จะช่วยผู้บริโภค เช่น ว่าด้วยเรื่องสินค้าที่ไม่ปลอดภัยคือความรับผิดของบริษัท เมื่อมีสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ดังนั้นในส่วนนี้หากทางบริษัทไม่ได้เขียนคำเตือนไว้ในฉลากผลิตภัณฑ์ก็สามารถฟ้องร้องได้ แต่หากเขียนเอาไว้ชัดเจนว่าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมนั้นอาจจะส่งผลต่อการทำงานของไต ก็ถือว่าเตือนเราแล้วโอกาสที่ผู้บริโภคจะไปฟ้องคดีก็ลำบาก         “หลักที่ผู้บริโภคจะต้องคิดไว้คือเมื่อเป็นอาหารห้ามโฆษณาเป็นยา ถ้าโฆษณาว่ารักษาโรค บำรุง สิ่งต่างๆ จะผิดพ.ร.บ.อาหาร ทันที นี่คือหลักการเบื้องต้นที่ผู้บริโภคจะเอาไปใช้ได้เลย  ดังนั้น ผู้บริโภคอย่าเชื่ออะไรง่ายๆ สุขภาพของเราไม่ใช่เรื่องพวกนี้แน่นอน การมีสุขภาพดีมีอีกหลายเรื่องที่ควรทำไม่ว่าจะเป็นการกินอาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อนนอนหลับที่เพียงพอ และคุณภาพชีวิตโดยภาพรวมของเรา ไม่ใช่เรื่องของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไม่อย่างนั้นเราคงต้องอยู่กับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ออกมาจำนวนมาก”           ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ม.ค.  พลโท ดร. พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (.กสทช) เปิดเผย ว่า จากการที่ กสทช. ร่วมมือกับ อย. กระทรวงสาธารณสุข ในการจัดการปัญหาการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ ตั้งแต่กลางปี 2561 มีการพัฒนากระบวนการทำงานร่วมกัน ได้แก่ การบูรณาการบังคับใช้กฎหมาย โดย กสทช. ทำการตรวจสอบเฝ้าระวังการโฆษณาทางโทรทัศน์ และ อย. เป็นผู้วินิจฉัยข้อความการโฆษณานั้น ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และมีการขยายผลการดำเนินการไปยังส่วนภูมิภาค โดยได้รับความร่วมมือจาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ในการตรวจวินิจฉัยเนื้อความการโฆษณาทางสื่อวิทยุกระจายเสียง         ผลพบว่าสามารถตรวจจับการโฆษณาทางโทรทัศน์ดิจิตอลได้ 17 ราย 77 กรณีโฆษณา โทรทัศน์ดาวเทียม 90 ราย 190 กรณีโฆษณา และวิทยุ 2,150 ราย 4,058 กรณี        แบบที่พบว่ามีการโฆษณานั้น บางรายที่เคยโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโดยมีอาจารย์ภาษาจีนชื่อดังเป็นพรีเซนเตอร์ มีการใช้ตัวแสดงลักษณะคล้ายผู้ป่วยโรคเรื้อรัง นอนติดเตียง หรือไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้สะดวก แต่เมื่อรับประทานถั่งเช่าของอาจารย์ มีอาการดีขึ้น เดินได้ ลุกไปเข้าห้องน้ำเองได้ ใช้ยาแผนปัจจุบันน้อยลง หรือการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  เห็ดหลินจือโดยพรีเซนเตอร์นักแสดง-พิธีกรสาวสองพันปี          บ้างก็กล่าวอ้างว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในสมอง กล้ามเนื้ออ่อนแรง เมื่อรับประทานผลิตภัณฑ์แล้วจะมีอาการดีขึ้น ถึงขั้นปีนต้นไม้ และขี่จักรยานได้ เป็นการจัดฉากการโฆษณาลวงโลก ซึ่งเคยถูกจับดำเนินคดีแล้วแต่ก็กลับมาอีกครั้ง แต่ทำโดยผู้โฆษณารายใหม่ ซึ่งมีบุคคลในแวดวงบันเทิงเป็นพรีเซนเตอร์ จัดฉากลวงโลกแบบเดิม อ้างว่าผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าดังกล่าว สามารถรักษาได้สารพัดโรค เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต และโรคเรื้อรังต่างๆ มีนักแสดง แสดงเป็นผู้ป่วยอาการหนัก สภาพร่างกายทรุดโทรม แต่เมื่อรับประทานผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว กลับหายจากอาการป่วยได้อย่างมหัศจรรย์ ซึ่งไม่เป็นความจริง                 กสทช ไม่ได้นิ่งนอนใจ เมื่อการโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภคครั้งใหญ่กลับมา เราจะจับมือกับ อย. ให้แน่นกว่าเดิมและร่วมกันกวาดล้างการโฆษณาอีกครั้ง เพื่อกำจัดโฆษณาลวงโลกเหล่านี้ให้สิ้นซาก ผู้ประกอบกิจการเหล่านี้ขาดจิตสำนึก ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ประสงค์ต่อรายได้ และประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม แม้จะได้รับคำสั่งเตือนให้ระงับการโฆษณาไปแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง กสทช. จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ลงโทษโดยการปรับสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเป็นเงิน 5 แสนบาท ไปแล้ว 1 ราย         และมีอีก 2 ราย ที่ อย. วิจิฉัยมาแล้วว่าเป็นการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย และคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เตรียมเสนอต่อบอร์ด กสทช. เพื่อลงโทษปรับอีกรายละ 5 แสนบาท และนอกจากจะดำเนินการปรับสถานีโทรทัศน์แล้ว กสทช. จะส่งเรื่องไป อย. เพื่อดำเนินคดีกับพิธีกร พรีเซนเตอร์ และพิจารณาเกี่ยวกับการเพิกถอนทะเบียนตำรับอาหารด้วย เนื่องจากกฎหมายของ กสทช. ให้อำนาจ ในการกำกับดูแลผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์เท่านั้น มิได้ครอบคลุมถึงพิธีกร และเจ้าของผลิตภัณฑ์         “ค่าปรับของ กสทช. นั้นแพง กฎหมายกำหนดไว้สูงถึง ไม่เกิน 5 ล้านบาท  และปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 1 แสนบาท ไม่เพียงแค่สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเท่านั้นที่โดนลงโทษปรับ แต่ยังมีสถานีวิทยุอีก 2 ราย ที่โดนลงโทษปรับ รายละ 1 แสนบาท เนื่องจากมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริงซ้ำ ภายหลังได้รับคำสั่งเตือนด้วย อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า อัตราค่าปรับของ กสทช. นั้นสูง ยิ่งเป็นวิทยุรายเล็กๆ โดนปรับ ก็อาจส่งผลให้ยกเลิกการประกอบกิจการได้ มีข้อมูลว่า มีผู้ประกอบการวิทยุ ขอยกเลิกใบอนุญาตไปแล้วกว่า 260 ราย และนอกจากจะโดนปรับแล้ว ประวัติการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายเหล่านี้ จะถูกบันทึกไว้ เมื่อมาขอต่อใบอนุญาต จะถูกลดอายุใบอนุญาตลง อย่างในกรณีของวิทยุ จะเหลืออายุใบอนุญาตเพียง 6 เดือน ซึ่งขณะนี้มีสถานีถูกลดอายุใบอนุญาตไปแล้ว 150 ราย”         อย่างไรก็ตาม นอกจากการโฆษณาถั่งเช่าแล้ว ยังมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเกี่ยวกับดวงตา อ้างรักษาสารพัดโรคตา ทั้งโรคต้อทุกชนิด กระจกตาเสื่อม สายตาสั้น-ยาว ตาแห้ง  เคืองตา แสบตา บ้างอ้างว่าเพียงแค่รับประทานอาหารเสริมเหล่านี้แล้ว สายตากลับมาเป็นปกติ ไม่ต้องผ่าตัด มองเห็นได้ชัดเจน ในกรณีนี้ กสทช. ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ในการวินิจฉัยและให้ความเห็นเกี่ยวกับเนื้อความการโฆษณา จนนำไปสู่การลงโทษปรับสถานีวิทยุที่มีการโฆษณาในลักษณะนี้ ไปแล้ว 6 ราย รายละ 5 หมื่นบาท และอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเสนอปรับอีก 3 ราย         ด้าน ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการ อย.ระบุว่า ผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าที่ อย. อนุญาตมี 2 กลุ่ม คือ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร (ยาแผนโบราณ) และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีถั่งเช่าเป็นส่วนประกอบ เพื่อบำรุงร่างกายทั่วไป เสริมจากการรับประทานอาหารตามปกติ ดังนั้น การโฆษณาว่า ผลิตภัณฑ์จากถั่งเช่าสามารถรักษาสารพัดโรค ทั้งเสริมภูมิคุ้มกัน ลดระดับน้ำตาลในเลือด รักษาภูมิแพ้ เบาหวาน ไต ความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์ อัมพาต มะเร็ง เป็นต้น จึงเป็นการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต และโฆษณาโอ้อวดเกินจริง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         ในปี 2563 ที่ผ่านมา อย. ดำเนินคดีโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และผลิตภัณฑ์สุขภาพประเภทอื่น ทางสื่อต่าง ๆ 1,388 คดี ทั้งนี้ ในส่วนความร่วมมือในการจัดการปัญหาโฆษณาผิดกฎหมาย อย. จะเป็นผู้วินิจฉัยความผิดที่พบทางสื่อ และดำเนินคดีกับผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย หรือผู้ทำการโฆษณาตามกฎหมายที่ อย. รับผิดชอบ ส่วน กสทช. จะเป็นผู้ดำเนินการกับสถานีที่ออกอากาศตามกฎหมายที่ กสทช. รับผิดชอบ โดยตั้งแต่ปี 2561-2563 อย. ได้วินิจฉัยความผิดที่พบส่งให้ กสทช. ดำเนินการแล้ว 250 เรื่อง เป็นผลิตภัณฑ์จากถั่งเช่า 58 เรื่อง ซึ่งผู้โฆษณามักใช้จุดอ่อนของผู้ซื้อ นำเสนอภาพหรือคลิปวีดีโอสัมภาษณ์ผู้ป่วยให้ดูน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น จากที่เป็นผู้ป่วย ผู้ป่วยติดเตียง  เมื่อรับประทานผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าแล้วหายจากโรค สามารถกลับมาชีวิตได้เหมือนคนปกติ จึงขอเตือนไปยังผู้บริโภคโดยเฉพาะผู้ป่วย ผู้สูงอายุ อย่าหลงเชื่อโฆษณาเหล่านี้ เพราะนอกจากจะเสียเงินแล้ว ยังอาจทำให้โรคหรืออาการที่เป็นอยู่แย่ลง เสียโอกาสในการรักษา เนื่องจากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องโดยแพทย์ เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง         ขณะที่ รศ.ดร.ภญ.มยุรี ตั้งเกียรติกำจาย อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ระบุว่า ในการดูแลผู้ป่วยโรคตับ โรคไตนั้น พบว่าปัญหาหนึ่งที่เจอในปัจจุบัน คือผู้ป่วยมีการกินยาแก้ปวด ยาชุด ยาลูกกลอนที่ผสมสเตียรอยด์ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีการปลอมปม ใส่ยาต่างๆ ลงไป รวมถึงสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ใส่สมุนไพรที่ทำให้เกิดพิษต่อตับหรือไตได้ เช่น ที่เมืองไทยพบทั้งในน้ำมันกัญชา สารสกัดมะระขี้นก สารสกัดเห็ดหลินจือ หนานเฉาเหว่ย และถังเช่าที่พบความถี่มากขึ้น โดยพบว่ามีทั้งการกินมากเกินไป หรือกินหลายตัวที่มีพิษต่อตับหรือไตเหมือน ๆ กัน ทำให้เกิดปัญหา สมุนไพรบางชนิดตีกับยาบางตัว ทำให้ฤทธิ์ของยาเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ เป็นต้น ถัดมาคือคอลลาเจนที่มีการใช้เยอะในผู้สูงอายุและปัญหากำลังจะตามมา         ทั้งนี้ ส่วนใหญ่พบในกลุ่มผู้สูงอายุ ราวๆ 60 ปี ขึ้นไป และผู้ที่มีโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาโรคตับ โรคไต ส่วนประชาชนทั่วไปอายุน้อย 20 30 หรือ 40 ปีต้นๆ จะไม่ค่อยมีปัญหาอะไร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่ไม่มีโรคประจำตัวหรืออายุน้อย คิดว่าตัวเองแข็งแรงจะกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ซึ่งการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นจะต้องใช้ให้ถูกใช้ให้เป็น          รศ.ดร.ภญ.มยุรี บอกว่า หลักการกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารก็ต้องใช้ให้ถูก ใช้ให้เป็น คือใช้ 3 เดือนแล้วหยุด 1 เดือน ก็จะค่อนข้างปลอดภัย แต่จะกินของเหล่านี้ต้องดูว่ากินเพื่ออะไร มีงานวิจัยในคนรับรองหรือไม่ว่ามีประโยชน์หรือปลอดภัย แต่ถ้าบอกว่าอยากจะกินเพื่อความสบายใจ ไม่ได้หวังผลอะไร ในส่วนนี้ไม่น่าจะเป็นอะไร เพียงแต่ต้องกินตามที่ฉลากแนะนำ ไม่ควรกินเกินกว่านั้น และควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนกับทางอย.อย่างถูกต้อง ผู้ใช้ควรตรวจสอบเลขสารระบบให้ชัดว่าถูกต้องก่อนซื้อมาใช้         “อย่างไรก็ตาม กินแล้วต้องหยุด อย่ากินยาวเป็นปี โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ออกมาใหม่ๆ เพราะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารส่วนใหญ่ ไม่มีการทำวิจัย ว่ากิน 6 เดือน หรือ 1 ปี ผลจะเป็นอย่างไร โดยมากจะทำวิจัย 3 เดือน ดังนั้น จึงไม่มีข้อมูลความปลอดภัยระยะยาว”         อย่างไรก็ตาม จากการติดตามพบว่าผู้บริโภคในประเทศไทย รวมถึงทั่วโลก พบว่าส่วนหนึ่งที่นิยมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือสมุนไพรต่างๆ นั้น เนื่องจากมองว่าของที่มาจากธรรมชาติย่อมปลอดภัย ซึ่งต้องชี้แจงก่อนว่าเป็นความเชื่อที่ผิดเพราะไม่มีอะไรปลอดภัย 100% ยกตัวอย่าง ถ้ากินโปรตีนเยอะก็สามารถทำให้ไตวายได้ กินเกลือเยอะก็เป็นโรคไตได้         “หลักการง่ายๆ ขนาดอาหารที่กินกันทั่วไปนั้น ถ้ากินเกินพอดี เกินความต้องการของร่างกายก็เป็นอันตรายได้ ดังนั้นไม่ต้องพูดถึงผลิตภัณฑ์อะไรหลายอย่าง นี่คือหลักการเบื้องต้น เพราะฉะนั้นการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สมุนไพรต่างๆ ใช้ได้ แต่ต้องรู้วิธีใช้ให้ปลอดภัย สำหรับคนทั่วไป         คือ 1. เลือกผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนถูกต้อง ไม่มีการปนเปื้อนสารเคมีทางการเกษตร โลหะหนัก เชื้อรา เชื้อจุลชีพต่างๆ              2. เนื่องจากเราไม่ได้ใช้เพื่อการรักษาโรค แต่เพื่อเสริมอาหาร ซึ่งปกติเราก็ไม่ได้กินอาหารชนิดเดิมๆ ซ้ำๆ เพราะถ้ากินซ้ำๆ ก็จะได้สารอาหารเดิมๆ ดังนั้นให้กินสลับประเภทอาหาร บางคนปั่นน้ำผลไม้กิน ก็ปั่นอย่างเดิมทุกวัน อันตราย เพราะอาจมียาฆ่าแมลงปนอยู่ กินทุกวันก็จะได้ยาฆ่าแมลงนั้นทุกๆ วัน หรือพวกเกลือแร่บางอย่างอาจจะได้เยอะเกิน เพราะฉะนั้นวิธีการคือ ต้องสลับชนิดการกิน และกินในปริมาณปกติ ไม่มาก ไม่น้อยเกินไปในแต่ละวัน”         ด้าน น.ส.สถาพร อารักษ์วทนะ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า           “ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ ควรตรวจสอบกับเลขสารบบของอย. ให้แน่ชัด ถึงแม้ว่าจะพบปัญหาการปลอมเลขอย. แต่อย่างน้อย การที่เราตรวจสอบ และดูรายชื่อ หน้าตาผลิตภัณฑ์จากเว็บไซต์ของอย.ก่อน ก็น่าจะช่วยคัดกรอง และเป็นทางเลือกที่ทำให้เราอันตรายน้อยที่สุด”          ปัญหาหนึ่งของการตรวจสอบดูแลผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นมาจากช่องว่างของกฎหมาย ซึ่งก็คือ พ.ร.บ.อาหาร ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเกิดขึ้นทุกวัน และมีการโฆษณาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งทุกวันนี้ทำได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องผ่านเอเจนซี่แล้ว โดยผู้ทำผลิตภัณฑ์สามารถออกผลิตภัณฑ์แล้วสามารถโฆษณาได้เองผ่านสื่อโซเชียลมีเดียของตัวเอง ทำให้เกิดปัญหามากขึ้น         ในขณะกระบวนการร้องเรียนผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายไปยังหน่วยงานรัฐ ไม่ว่าจะเป็น อย. หรือหน่วยงานอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำกับดูแล ค่อนข้างยุ่งยาก ซับซ้อน ทำให้ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น เมื่อประชาชนโทรศัพท์เข้าไปแจ้งเบาะแส แล้วถูกขอหลักฐาน เอกสารการบันทึกเทปต่างๆ เพื่อให้หน่วยงานทำเนินการเปรียบเทียบต่อ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ทำให้ประชาชนรู้สึกยุ่งยาก ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรหาช่องทางากรมีส่วนร่วม ให้ประชาชนร่วมเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวัง แจ้งเบาะแสผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายโดยไม่ยุ่งยากซับซ้อนจนเกินไป เพื่อให้การแก้ไขปัญหาทันต่อสถานการณ์         ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ มูลนิธิฯ เคยเสนอเรื่องการให้รางวัลนำจับ และปัจจุบัน อย.เริ่มเปิดให้มีการเข้าถึงระบบฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพบ้างแล้ว แต่ยังไม่ทั้งหมด หรือจะมีวิธีการอะไรที่ อย.ไปบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นหรือไม่ เช่น ออกประกาศให้สาธารณชนรับทราบเลยว่าโฆษณาอะไรบ้างที่เป็นโฆษณาเข้าข่ายผิดกฎหมาย ทำไม่ได้ ประชาชนอย่าหลงเชื่อดาราอย่าไปรีวิว influencer ก็อย่าไปเชื่อมากนัก และแต่ละหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลก็มีการเชื่อมโยงระบบข้อมูลการเข้าถึงฐานข้อมูลของอย. ได้ซึ่งหากหน่วยงานสามารถคลิกเข้าไปดูได้ แล้วแต่ละหน่วยงานสามารถเรียกปรับได้เอง โดยไม่ต้องส่งเรื่องย้อนกลับไปที่อย.เพื่อวินิจฉัยก่อน อาทิ กรณีประชาชนไปร้องเรียนที่สถานีตำรวจ เมื่อก่อนถูกตำรวจไล่กลับมาให้ไปเคลียร์กันเอง แต่หากตำรวจสามารถคีย์ไปยังข้อมูลฐานระบบได้แล้วเรียกปรับได้เลย ตรงนี้ประชาชนก็มีส่วนร่วม เมื่อแจ้งหลักฐานเสร็จก็ให้รางวัลนำจับคิดว่าตรงนี้ก็จะช่วยได้ในระดับหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 ทุกข์จากยา หรือยาทำให้ทุกข์

        วันที่ 4 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา มีการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Side Event)ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ในประเด็น"ประชาชนตื่นรู้ ร่วมมุ่งสู่ประเทศใช้ยาสมเหตผล (RDU country) วันนั้นมีการจัดนิทรรศการนำเสนอปัญหาการใช้ยาที่พบในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งหากมองภาพโดยรวมเราจะเห็นภาพของผู้ป่วยหรือประชาชนที่มีความทุกข์จากการใช้ยาที่ไม่ถูกต้อง แต่เมื่อมองลึกลงไปอีกที ก็พบว่าบางทียาที่มีรูปแบบไม่เหมาะสมต่างหากที่อาจจะทำให้เกิดความทุกข์         ยาเหลือใช้มากมายมหาศาล เป็นปัญหาที่สะท้อนการใช้ยาอย่างฟุ่มเฟือยหรือไม่เหมาะสมอย่างมาก อาจจะเกิดจากคนไข้ไม่ยอมรับประทานยา หรือผู้สั่งจ่ายยาจ่ายยาให้เกินจำเป็น หรืออาจจะเกิดจากคนไข้บางคนร้องขอให้สั่งจ่ายให้ตนเอง         การตระเวณขายยาเร่ไปตามหมู่บ้าน เป็นอีกปัญหาที่ยังคงมีอยู่ในสังคม ในวันนั้นมีน้องเภสัชกร โรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งทางภาคอิสาน นำยามาให้ดู ราคากระปุกละ 500 บาท มีคนนำมาเร่ขายให้กับผู้ป่วยในชุมชน ให้ซื้อเป็นชุดมีสามกระปุก ผู้ป่วยเสียเงินไป 1500 บาท สุดท้ายไม่กล้ารับประทาน จึงนำมาให้เภสัชกรดูอีกที         ยาชื่อพ้องมองคล้าย เช่น ยาสองชนิดที่มีชื่อและรูปแบบของภาชนะบรรจุที่คล้ายคลึงกันมาก ตัวหนึ่งเป็นยาฆ่าเชื้อโรคกลุ่มเพนนิซิลิน อีกตัวหนึ่งเป็นยาฆ่าเชื้อโรคกลุ่มซัลฟา ยาทั้งสองตัวก่อให้เกิดอาการแพ้ที่รุนแรงได้(กรณีแพ้ยา) การที่อนุญาตให้ยาสองชนิดนี้มีชื่อและรูปแบบของภาชนะบรรจุที่คล้ายกัน ย่อมเกิดความเสี่ยงอย่างสูงได้ หากคนที่แพ้ยาตัวหนึ่ง พลาดไปกินยาอีกตัวหนึ่งเพราะคิดว่าเป็นคนละตัวกัน         ขนาดบรรจุที่เอื้อต่อการกินกระปริบกระปรอย เช่น ยาฆ่าเชื้อโรค ที่จะต้องรับประทานติดต่อกันหลายวัน แต่กลับมียาบางชนิดผลิตโดยบรรจุในแผงละ 4 เม็ด ทำให้ผู้ป่วยบางคนไม่ได้รับประทานยาจนครบจำนวนวัน เพราะหยุดยาเองเมื่อรับประทานหมด 4 เม็ด         แอบแฝงโฆษณาบนฉลาก มียาหลายชนิดที่แอบใช้ข้อความ หรือรูปภาพบนฉลาก แฝงโฆษณา เช่น ตั้งชื่อกึ่งๆ ระบุสรรพคุณ หรือมีภาพที่สื่อไปในการโฆษณาสรรพคุณของยาแทรกบนฉลาก         จึงขอเชิญชวนให้ทุกคนตั้งคำถามก่อนจะรับยามาใช้ว่า ยานี้คือยาอะไร เราจำเป็นต้องใช้หรือไม่ หรือถ้าจำเป็นจะต้องใช้อย่างไร แล้วถามแพทย์ เภสัชกร หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกครั้งให้มั่นใจ และหากเจอยาแปลกๆ ขอให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทราบเพื่อตรวจสอบโดยด่วน ขณะนี้ชมรมเภสัชชนบทร่วมกับเภสัชกรในส่วนภูมิภาค กำลังจะผนึกกำลังให้แก้ไขทะเบียนยาที่ไม่เหมาะสมเหล่านี้ให้หมดไปจากประเทศไทยเสียที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 อย่าปล่อยให้ความเชื่อเหนือ ความจริง

        1. ผลิตภัณฑ์ที่แสดงเลขอนุญาต (เช่น อย ทะเบียนยา เครื่องสำอาง) อาจไม่ใช่ความจริงเสมอไป         ผู้บริโภคที่มีความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ มักจะตรวจสอบฉลากของผลิตภัณฑ์ว่ามีรายละเอียดครบถ้วนหรือไม่ และเมื่อพบว่าครบถ้วนแล้ว ก็มักจะคิดว่ามีความปลอดภัย เนื่องจากได้รับการอนุญาตหรือตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ที่อนุญาตเรียบร้อยแล้ว แต่จากประสบการณ์ทำงาน มักพบว่าผลิตภัณฑ์อันตรายหลายอย่าง มักจะแอบลักลอบเติมสารอันตรายหลังจากที่ได้รับอนุญาตแล้ว หรือผู้ผลิตบางรายอาจแสดงข้อมูลปลอม หรือเอาข้อมูลของผลิตภัณฑ์อื่นมาแสดงในของตนแทน (เช่น ทะเบียน อย. ทะเบียนตำรับยา หรือเลขจดแจ้งเครื่องสำอาง)         ดังนั้นนอกจากการตรวจสอบฉลากแล้ว ผู้บริโภคควรต้องสังเกตสิ่งพิรุธอื่นๆ ด้วย เช่น โฆษณาอวดสรรพคุณเกินจริงหรือไม่ หรือหลังจากใช้แล้วเกิดอาการผิดปกติ หรือใช้วิธีการขายแบบหลบๆ ซ่อนๆ หรือแปลกๆ          2. อาหารที่มี อย. รักษาโรคได้เหมือนยา         ผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิด มักแจ้งว่าผลิตภัณฑ์ของตนผ่านการรับรองแล้ว จึงมีเลข อย. และอ้างสรรพคุณในการรักษาโรคได้ แต่ในแง่ความจริง ผลิตภัณฑ์อาหารจะไม่สามารถใช้ในการรักษาโรคได้ หากผลิตภัณฑ์อาหารโฆษณาว่ารักษาโรคได้ แสดงว่าให้ข้อมูลเท็จและโฆษณานั้นจะถือว่าผิดกฎหมาย          3. ผลิตภัณฑ์ที่มีบุคลากรทางการแพทย์มาโฆษณารับรองสรรพคุณ ย่อมมีความปลอดภัย         ผลิตภัณฑ์หลายชนิด มักใช้บุคลากรทางการแพทย์มาโฆษณารับรองคุณภาพเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ทำให้ผู้บริโภคหลายรายหลงเชื่อ แต่ข้อเท็จจริงคือ สภาวิชาชีพต่างๆ ที่ควบคุมดูแลมาตรฐานการประกอบวิชาชีพของบุคลากรทางการแพทย์ จะห้ามมิให้บุคลากรทางการแพทย์ไปการันตีหรือโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ หากพบแสดงว่า บุคลากรเหล่านั้นกระทำผิดจรรยาบรรณหรือข้อบังคับทางวิชาชีพ นอกจากนี้บางครั้งยังเคยพบว่า ภาพบุคลากรทางการแพทย์ที่ใช้โฆษณานั้น ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ตัวจริง เป็นตัวปลอมที่ใช้หลอกลวงผู้บริโภค          4. การแจ้งเรื่องร้องเรียน ทำให้ผู้ร้องเดือดร้อน         หลายครั้งที่ผู้บริโภคมาร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ และเมื่อเจ้าหน้าที่สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ผู้ร้องเรียนมักจะไม่กล้าให้ข้อมูล เพราะเกรงว่าตนเองจะเดือดร้อน ทำให้เรื่องร้องเรียนที่สำคัญๆ หลายเรื่อง ดำเนินการตรวจสอบได้ยาก เพราะขาดข้อมูลที่เพียงพอ จึงอยากชี้แจงให้ทราบว่า ปกติแล้วเจ้าหน้าที่จะถือว่าเรื่องร้องเรียนต่างๆ เป็นความลับ แต่หากผู้บริโภคยังกังวลเมื่อมาร้องเรียนก็สามารถย้ำกับเจ้าหน้าที่ได้ว่า ขอให้เก็บข้อมูลของตนเป็นความลับ นอกจากนี้หากผู้บริโภคให้ข้อมูลที่ครบถ้วน ก็จะเป็นการร่วมมือกันสกัดผลิตภัณฑ์ที่เป็นปัญหาที่ต้นตอ แลเป็นการช่วยเหลือผู้บริโภครายอื่นๆ ด้วย          5. เมื่อแจ้งข้อมูลแล้ว เจ้าหน้าที่ย่อมจัดการปัญหาได้ทันที         เมื่อได้รับแจ้งเรื่องร้องเรียนแล้ว บางเรื่องเจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการได้ทันที แต่ถ้าหากข้อมูลไม่ชัดเจน เช่น เป็นคำพูดลอยๆ หรือแหล่งจำหน่ายไม่ชัดเจน เจ้าหน้าที่จำเป็นจะต้องเสาะหาข้อมูลเพิ่มเติม หรือบางครั้งอาจต้องส่งตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ ทำให้ต้องใช้เวลากว่าจะทราบผล ดังนั้นในช่วงนี้ผู้บริโภคควรระงับการใช้ผลิตภัณฑ์ที่สงสัยไว้ก่อน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 กระแสต่างแดน

ขอความคุ้มครอง        เวียดนามคือตลาดอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน รัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่าร้อยละ 50 ของประชากรจะหันมาใช้บริการ “ซื้อของออนไลน์” ภายในปี 2025 และคาดการณ์ว่าการซื้อขายแบบดังกล่าวจะมีมูลค่าถึง 35,000 ล้านเหรียญ         สถิติในปี 2018 ระบุว่าเวียดนามมีนักช้อปออนไลน์ถึง 40 ล้านคน (จากประชากรทั้งหมด 90 ล้านคน) มีการใช้จ่ายเฉลี่ยคนละประมาณ 6,300 บาท         แต่สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญกำลังเรียกร้องคือการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น กฎหมายเดิมที่ใช้มา 10 ปีนั้นไม่เพียงพอที่จะรับมือกับอีคอมเมิร์ซในยุคนี้ ขณะเดียวกันตัวผู้บริโภคเองก็ยังรู้สิทธิน้อยมาก         สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคแห่งเวียดนามบอกว่า จากการสำรวจมีคนเพียงร้อยละ 15 เท่านั้นที่รู้จักกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค จึงไม่แปลกที่มีเรื่องร้องเรียนน้อยมากแม้จะเกิดปัญหาบ่อย ที่พบเป็นประจำคือหลังจากชำระเงินแล้ว ผู้ซื้อไม่ได้ของขวัญ ของแถม หรือโบนัสตามที่ผู้ขายบอก        คุมเข้มอีคอมเมิร์ซ        เวียดนามอาจยังไม่พร้อมแต่อินเดียพร้อมแล้ว ด้วยการประกาศข้อกำหนดเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากการซื้อสินค้าออนไลน์ ผู้ที่ละเมิดจะได้รับโทษตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค 2019         ตามข้อกำหนดที่มีผลตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม ผู้ขายต้องรับผิดชอบต่อสินค้าที่ชำรุดบกพร่องและสินค้าปลอม โดยจะปฏิเสธการขอคืนสินค้าไม่ได้ ทั้งผู้ขายและแพลตฟอร์ม (เช่น Amazon Flipcart และ Paytm)จะต้องจัดให้มีคนรับเรื่องร้องเรียนและตอบกลับในเวลาที่เหมาะสม         นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีการแสดงราคา ค่าใช้จ่ายอื่นๆ วันหมดอายุ ประเทศต้นทางของสินค้า รวมถึงรายละเอียดในการคืน/เปลี่ยนสินค้า คืนเงิน การรับประกัน วิธีชำระเงิน และกลไกการร้องเรียนและการชดเชยเยียวยาด้วย         ทั้งนี้สินค้าต้องเป็นไปตามที่โฆษณา โดยแพลตฟอร์มต้องเก็บข้อมูลเพื่อให้รู้ว่าผู้ขายรายไหนหลอกลวงผู้บริโภคซ้ำซาก และที่ห้ามเด็ดขาดคือ “รีวิวปลอม”        ขอตรวจซ้ำ เรื่องนี้ย้อนไปเมื่อปี 2016 ที่มีผู้เสียชีวิต (ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก) ไม่ต่ำกว่า 700 คน จากการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อในเครื่องเพิ่มความชื้น ซึ่งเป็นอุปกรณ์ประจำบ้านของคนเกาหลีส่วนใหญ่ โดยตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบในขณะนั้นคือ 3,642 คน         ถึงปี 2017 จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 1,553 คน (ตัวเลขอย่างเป็นทางการ) จึงนำไปสู่การตั้ง “คณะกรรมการวิสามัญ” ขึ้นมาตรวจสอบกรณีดังกล่าวในเดือนธันวาคม 2018 และการทำงานของกรรมการชุดนี้กำลังจะสิ้นสุดในเดือนธันวาคมปีนี้ แต่ดูเหมือนยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก         กลุ่มผู้เสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจึงออกมาเรียกร้องให้มีคณะกรรมการชุดใหม่ทำหน้าที่ตรวจสอบกระทรวงสิ่งแวดล้อม หน่วยงานที่ดูแลด้านการค้าที่เป็นธรรม รวมถึงบรรดาบริษัทผู้ผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนประกอบของโพลีเฮกซาเมธิลีนกัวนิดีน ซึ่งส่งผลร้ายแรงต่อปอดของมนุษย์ด้วย        อย่าจัดหนัก        ในช่วงล็อกดาวน์ยอดขายสระน้ำเป่าลมในสเปนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 350 เพราะใครๆ ก็ต้องอยู่บ้าน และฤดูร้อนที่นั่นก็อุณหภูมิสูงใช่เล่น ผู้เชี่ยวชาญจึงออกมาเตือนให้ใช้ความระมัดระวังกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ 2 ใน 3 ของประชากรอาศัยอยู่ในแฟลตหรืออพาร์ตเมนท์         OCU องค์กรผู้บริโภคของสเปนแนะนำว่าเพื่อความปลอดภัยไม่ควรเติมน้ำในสระจนระดับน้ำสูงเกิน 20 เซนติเมตร เพราะนั่นเท่ากับแรงกด 200 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ซึ่งอาจทำให้พื้นด้านล่างถล่มลงมา และไม่ควรใช้บนอาคารเก่า         ในกรณีของบ้านเดี่ยวที่มีสนาม เขาแนะนำให้วางสระน้ำห่างจากตัวบ้านหลายเมตรเพื่อป้องกันผนังบ้านด้านที่อยู่ใกล้สระพังลงมา         ก่อนหน้านี้เกิดเหตุเพดานบ้านถล่มเนื่องจากสระน้ำเป่าลมที่ระเบียงชั้นบน...ก็เล่นเติมน้ำไปตั้ง 8,000 ลิตร อะไรจะทนไหวอยากให้เหมือนเดิม        ธุรกิจรับจัดงานศพเป็นหนึ่งในกิจการที่ต้องขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลนอร์เวย์ เพราะผลพลอยได้จากมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 คือการเจ็บป่วยที่ลดลง เดือนมิถุนายนมีผู้เสียชีวิตน้อยลงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว         บริษัทรับจัดงานศพแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของนอร์เวย์ซึ่งเปิดกิจการมาแล้วสามรุ่นบอกว่า ปกติเคยได้จัดเดือนละ 30 งาน แต่หลังล็อกดาวน์กลับมีไม่ถึง 10 งาน บริษัทได้เงินช่วยเหลือ 32,000 โครน (ประมาณ 100,000 บาท)         อีกบริษัทในเมืองออสโล ซึ่งได้รับเงินช่วยเหลือ 37,000 โครน (ประมาณ 127,000 บาท)ไป บอกว่ากรณีของเขา ลูกค้าไม่ได้ลดลง เพียงแต่การจัดงานในรูปแบบใหม่นั้นมีแขกเข้าร่วมน้อยลงและเจ้าภาพมักปรับลดพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นร้อยละ 60-70 ของรายได้         แต่เขาก็หวังว่า “ธุรกิจจะกลับมาเป็นปกติในฤดูใบไม้ร่วง ที่โรคหวัดหรือโรคอื่นๆ เริ่มระบาดอีกครั้ง”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 ผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายกับโฆษณาแฝงอีกปัญหาที่ยากจัดการ

        ย้อนกลับเมื่อช่วงเวลาเดียวกันนี้ของปี 2562 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เปิดเผยข้อมูลการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคทั่วประเทศกว่า 4,182 ราย ซึ่งครอบคลุมด้านการเงินการธนาคาร ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ด้านบริการสาธารณะ ด้านสินค้าและบริการทั่วไป ด้านสื่อและโทรคมนาคม ด้านที่อยู่อาศัย และด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข พบว่า         ปัญหาด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ รั้งแชมป์มีคนร้องเรียนมากที่สุด จำนวน 1,534 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 36.68 รองลงมา คือ ด้านบริการสาธารณะ ร้องเรียน 820 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 19.61 หมวดบริการสุขภาพและสาธารณสุข ร้องเรียน 703 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 16.81          โดยสภาพปัญหายังเป็นเรื่องเดิมๆ คือ “โฆษณา” พบว่ามีทั้งการโฆษณาอันเป็นเท็จหลอกลวง โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ทำให้เข้าใจผิดและหลงเชื่อ ผลิตภัณฑ์ไม่มีฉลากหรือไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่มีเครื่องหมาย อย. โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ที่อวดอ้างสรรพคุณสามารถรักษาโรคได้ ซึ่งช่องทางที่พบการโฆษณา คือทางโทรทัศน์และวิทยุชุมชน ซึ่งปัญหาเหล่านี้เมื่อได้ส่งถึงผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาก็ใช้ระยะเวลายาวนานมาก ในขณะที่ผลิตภัณฑ์เจ้าปัญหายังมีขายเกลื่อนท้องตลาดต่อไป            ข้างต้นนั้นคือข้อมูลเมื่อปีที่แล้วและเป็นข้อมูลการเอาเปรียบผู้บริโภคผ่านการโฆษณาแบบชัดเจน ยังไม่นับรวมในเรื่องของการโฆษณาแฝงในสื่อต่างๆ ซึ่งเรายังไม่ต้องไปพูดถึงว่าเป็นของจริงหรือหลอก แต่แค่ปล่อยให้มีการโฆษณาแฝงในรายการทั่วไปก็ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าถูกเอารัดเอาเปรียบ เพราะเราตั้งใจเข้ามาดูเนื้อหาในรายการ แต่กลับถูกยัดเยียดการโฆษณาขายสินค้าแบบเนียนบ้าง ไม่เนียนบ้าง ทำให้เสียอรรถรสในการรับชมรายการไปแล้ว         เกี่ยวกับเรื่องนี้ “ดร.ตรี บุญเจือ” ผอ.การส่วนไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและเลขานุการคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า ในแง่ของการกำกับเนื้อหาการโฆษณา ตามมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 กำหนดว่าการโฆษณาจะต้องไม่โป๊เปลือย ลามกอนาจาร เสื่อมศีลธรรมของประชาชนอย่างร้ายแรง ไม่ทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง         นอกจากนี้ยังมีการกำกับระยะเวลาในการโฆษณาทางสถานีโทรทัศน์ วิทยุ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกอัดโฆษณาจนเกิดเดือดร้อนรำคาญ แต่ก็ต้องยอมรับว่าอาจจะยังไม่ครอบคลุมไปถึงขั้นการดูแลโฆษณาแฝง         เหตุผลคือ “รูปแบบของการโฆษณา” ซึ่งขณะนี้ กสทช. ยังไม่ได้มีประกาศนิยามเรื่องของการโฆษณาแฝง แต่ที่ผ่านมามีความพยายามในการพูดถึงการออกประกาศในภาพรวม แต่อาจจะส่งผลกระทบต่อหลายๆ ส่วนเลยยังอยู่ในกระบวนการที่พิจารณาและศึกษาเพิ่มเติม         แต่ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีประกาศชัดเจนเกี่ยวกับข้อห้ามการโฆษณาแฝงที่ชัดเจนออกมา แต่ถามว่ายังคงกำกับดูแลอยู่ไหม ก็ยังทำอยู่ตามที่มีอำนาจ เช่น การกำกับเนื้อหาการออกอากาศจะต้องไม่เอาเปรียบผู้บริโภค ไม่หลอกลวงผู้บริโภค มีหลายครั้งที่เขาส่งผังรายการมาเป็นว่า รายการแต่มีการพูดถึงผลิตภัณฑ์สุขภาพ แล้วบอกสรรพคุณที่เกินจริงไปทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญ ก็สามารถกำกับดูแลและหาตรงนี้ได้ ถ้าเชิงสังคมอาจเรียกว่าสามารถทำได้ แต่ถ้าในเชิงกฎหมายเรียกว่าก็ยังไม่ได้มีประกาศห้ามไว้         ตอนนี้พยายามตรวจสอบและนำกฎหมายที่มีอยู่มาตรวจจับกันอยู่โดยทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เฝ้าระวังทั้งเนื้อ หารูปแบบ การพูดถึงสินค้า ว่ามีการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่ เกินจริงหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาก็พบว่าโฆษณาแฝงบางตัวมีการพูดถึงสรรพคุณ คุณประโยชน์ที่เกินจริงไป โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สุขภาพ จึงมีคำสั่งทางปกครองไปอยู่บ้าง บางรายถูกเรียกให้มาชี้แจง แจ้งเตือน เป็นต้น          ดร.ตรี บอกว่า อย่างไรก็ตาม เรื่องการกำกับดูแลการโฆษณาแฝงที่เคยคุยกันก่อนหน้านี้ ที่มองกันไว้ในเบื้องต้นมี 4 ลักษณะ คือ            1. Product placement หรือการนำผลิตภัณฑ์ไปวางไว้ในรายการเฉยๆ            2. Product movement คือ มีการหยิบ จับ แสดงสินค้า            3. Product experience คือมีการพูดถึงสิ้นค้านั้นๆ ในรายการ และ            4. การเขียนสคริป สร้างเรื่องราวของสินค้าตัวนั้นๆ ในรายการ         ก่อนหน้านี้ได้มีการคุยกับเครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน พบว่าในรายการวิทยุ จะมีการเผยแพร่นิทานชีวิตตลกขำๆ นิทานสั้นๆ เขียนบทสนทนาของตัวละคร 2 ตัวที่พูดถึงผลิตภัณฑ์เข้าไปว่าจะไปซื้อผลิตภัณฑ์ได้ที่ไหนอย่างไร สรรพคุณเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ จริงๆ แล้ว หลายชิ้นก็แยกไม่ชัด ซึ่งก็ได้ขอให้เครือข่ายผู้บริโภคช่วยดูและศึกษาว่ามีการโฆษณาสรรพคุณเกินจริงหรือไม่ มีการทำให้เดือดร้อนรำคาญหรือไม่ แต่ในกลุ่มเครือข่ายผู้บริโภคก็ค่อนข้างเห็นว่าเป็นการสร้างสรรค์อยู่เช่นเดียวกัน จึงมองว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำให้กระบวนการผู้บริโภคให้มีความรู้เท่าทันด้วยว่านี่เป็นโฆษณาแฝงในรายการ          สำหรับวิธีการป้องปรามป้องกันการโฆษณาแฝงใน 4 รูปแบบนั้น ยังไม่ได้มีการคุยกัน เพราะอย่างที่บอกว่า “เป็นเพียงประเด็นเรื่องของการทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อนรำคาญใจ” เช่น มีการซูมให้เห็นเด่นชัดและค้างเป็นเวลานาน หรือว่าพูด ตอกย้ำ ซ้ำๆ บ่อยๆ ทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญใจหรือไม่         อย่างไรก็ตามถ้าวันหนึ่งวันใดถึงเวลาที่ต้องลุกขึ้นมาควบคุมกันจริงๆ จากการศึกษามาในหลายๆ ประเทศ ก็มีโมเดลที่ต่างกัน เช่น อังกฤษห้ามการโฆษณาแฝงในหลายๆ รูปแบบ ห้าม Tie-in หลายประเทศก็ให้มีการขับเคลื่อนกันเอง สิงคโปร์ก็ไม่ได้มีกฎหมายที่พูดชัดเจน ส่วนมาเลเซียมีการควบคุมที่ไม่เต็มร้อย เป็นต้น         เพราะฉะนั้นตนมองว่า “ทุกอย่างไม่ได้แก้ปัญหาด้วยการออกกฎหมายใหม่ แต่อาจจะมีการกำกับดูแลในมิติกฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้ว นำไปปรับใช้ ซึ่งตอนนี้ก็ใช้อยู่ แต่ว่าในเรื่องของเวลายังไม่ได้พิจารณาว่าจะต้องกำกับดูแลเพิ่มเติมหรือไม่ว่าไม่ให้เกินกี่นาที กี่วินาที”        อย่างไรก็ตาม ตรงนี้ประชาชนจะมีส่วนร่วมได้มาก หากรู้สึกว่าถูกคุกคามเอารัดเอาเปรียบสามารถร้องเรียน หรือมีข้อเสนอแนะเข้ามาที่กสทช.ได้ แล้วจะถูกพิจารณาเป็นรายกรณีไป ซึ่งจะมีขั้นตอน ส่วนระยะขึ้นอยู่กับแต่ละกรณี เช่น หลังรับเรื่องร้องเรียน กสทช.จะต้องแจ้งว่าได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว และนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาที่มีคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ก่อนจะนำผลสรุปเข้าบอร์ดกสทช .         แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น ก็ยังตอบไม่ได้ว่าเมื่อเข้าไปแล้ว กสทช. จะพิจารณาแบบไหน หรือว่าคณะอนุกรรมการจะเสนอแบบไหน บางเรื่องที่มีกฎหมายอยู่แล้วอาจพิจารณาความผิดได้เลย แต่ถ้ายังไม่มีกฎหมายที่ออกมาหรือยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของกระบวนการในการกำกับดูแล กสทช. อาจมาออกประกาศย่อยหรือออกคำนิยามเพิ่มหรือออกแนวทางมติเพิ่มเพื่อทำให้เกิดการกำกับดูแลเรื่องนี้ได้         นอกจากนี้ ตนยังมีข้อเสนอกลับไปยังประชาชน ผู้บริโภคด้วย ส่วนแรกคือ กระบวนการผู้บริโภคจะต้องมีความเข้มแข็ง จะรวมตัวกันแล้วจัดทำเป็นข้อเสนอขึ้นมาก็ได้ ส่วนที่ 2 คือเรื่องนี้ ตนยังไม่รู้ว่าจะออกมาแบบไหน แต่ก็เป็นความรับผิดชอบของทุกคน อย่างนั้นเป็นกระบวนที่เราอาจจะต้องร่วมกันขับเคลื่อนกันไปก่อน ต้องมองที่กระบวนการ วิธีการกำกับดูแลกันเอง          “ดร.ตรี ย้ำในตอนท้ายว่า กสทช. พยายามกำกับดูแลในเชิงกฎหมายและจริยธรรม หากมันไม่เข้าข่ายกฎหมายอาจจะต้องมองไปที่จริยธรรม ซึ่งเป็นมิติที่เชื่อมโยงกับผู้บริโภค ผู้บริโภคต้องรู้เท่าทันเข้าไปมีส่วนร่วมกับกระบวนการสื่อสาร เช่น สะท้อนความคิดเห็นโดยตรงไปยังสื่อนั้นๆ รายการนั้นๆ ขณะที่คนทำสื่อเองก็ต้องตระหนักเรื่องนี้เอาไว้ด้วย นี่เป็นกลไก 3 ก้อน คือ “ผู้บริโภค-คนทำสื่อ หน่วยงานที่กำกับ” ควรขับเคลื่อนไปด้วยกันและมองเห็นกันและกันสถานการณ์โฆษณาแฝงกับบทบาทภาคประชาชน         นายโสภณ หนูรัตน์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนานโยบาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า องค์กรผู้บริโภคได้มีการพัฒนาความเข้มแข็งในการทำงานด้านการจัดการโฆษณาผิดกฎหมาย โดยมีการสร้างระบบการทำงานเฝ้าระวัง โดยมุ่งเน้นเฝ้าระวังโฆษณาและผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ เนื่องจากพบว่ามีผู้บริโภคเสียชีวิตจากการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย มีการใส่สารอันตราย อีกทั้งพบว่ามีการโฆษณาหลอกลวง โอ้อวดเกินจริง โดยฐานการโฆษณามีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นจากในทีวีไปสู่แพลตฟอร์มออนไลน์         รูปแบบการทำงานเฝ้าระวังมีการพัฒนาให้เป็นระบบ ประกอบด้วยกลไกเฝ้าระวังที่มีทั้งการเฝ้าในสื่อโทรทัศน์ วิทยุและบนออนไลน์ เมื่อได้ข้อมูลจากการเฝ้าระวังจะมีการบันทึกผลในฐานข้อมูลร้องเรียน เพื่อนำไปวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาและผลกระทบต่อผู้บริโภคที่เกิดขึ้น และนำผลเฝ้าระวังส่งให้แก่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการ  โดยใช้ทั้งช่องทางปกติ คือทำหนังสือส่งไปยังหน่วยงาน และตั้งกลุ่มไลน์ร่วมกับผู้ประกอบการที่ให้ความร่วมมือเพื่อให้นำออกจากระบบทันที โดยมีข้อตกลงหากไม่ดำเนินการจะมีการส่งให้กับหน่วยงานเพื่อใช้มาตรการทางกฎหมายต่อไป โดยปัจจุบันในการทำงานจัดการโฆษณาผิดกฎหมาย มีความร่วมมือกันขององค์กรผู้บริโภค 34 จังหวัดใน 6 ภูมิภาค ดังนี้          นอกจากนี้  เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคแต่ละองค์กร ก็มีการจัดทำเพจองค์กรตนเอง เพื่อสื่อสารผลการเฝ้าระวัง และการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคต่างๆ  แจ้งเตือนภัยผู้บริโภค ทำให้เป็นที่รู้จักของประชาชนมากขึ้น         ในส่วนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีการจัดทำเพจเฟสบุ๊ค “ซอกแซกสื่อ” และ “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค”  และได้มีการนำเสนอข้อมูลต่อสาธารณะ ที่สำคัญ ดังนี้            1.สถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ  หยิบยกกรณีร้องเรียนต่างๆ ในสื่อออนไลน์มาบอกเล่ากับผู้บริโภค เพื่อเตือนภัยและสร้างการตระหนักรู้แก่ผู้บริโภคให้มีมากขึ้น เช่น ข่าวนักเรียน ม.4 ที่ลำปาง สั่งซื้ออาหารเสริมทางเน็ต แบบผงมาชงดื่มลดความอ้วน ต่อมาไตวาย ติดเชื้อเข้ากระแสเลือด ตัวบวมเสียชีวิต  ข่าว อย.เปิดฐานข้อมูลโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้ประชาชนตรวจสอบก่อนซื้อ เป็นต้น            2.ติดตามการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานรัฐ เช่น เผยแพร่ข้อมูล ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่อย. ได้ยกเลิกเลขสารบบ หรือมีสารประกอบอันตรายเพื่อเตือนภัยผู้บริโภค             3.แจ้งผลการทำงานเฝ้าระวังของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เช่น การจัดเวทีความร่วมมือเพื่อยกระดับการจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย  การแถลงข่าวผลเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค        สำหรับภาคประชาชนหรือเครือข่ายผู้บริโภคนั้น จำเป็นที่จะต้องพัฒนาทักษะในการตรวจสอบรูปแบบโฆษณาแฝง เพราะแม้เครือข่ายผู้บริโภคจะมีความรู้เกี่ยวกับโฆษณาที่ผิดกฎหมาย หลอกลวง แต่ในเรื่องการโฆษณาแฝงยังถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนทำงานผู้บริโภค เนื่องจากการโฆษณาแฝง มีความหลากหลาย โดยเฉพาะปัจจุบันไม่ได้มีสปอตโทรทัศน์เท่านั้น แต่ยังมีรูปแบบอื่น ยกตัวอย่าง การนำสินค้าวางในรายการต่าง ๆ หรือการให้ความรู้สอดแทรกว่าควรใช้สินค้านั้น ๆ หรือไม่  อีกทั้งการโฆษณาแฝง ยังเกี่ยวพันกับเรื่องสถาบันวิชาชีพต่าง ๆ เช่น แพทยสภาเพื่อกำกับกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพด้านแพทย์ ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยที่กระทำการแฝงโฆษณาและใช้วิชาชีพของตนเองในการเสริมสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้ตรวจสอบอย่างเข้มงวดและคอยติดตามเฝ้าระวังไม่ให้เกิดลักษณะเช่นนี้อีก  รวมถึงข้อกฎหมายต่างๆ ที่ยังไม่ชัดเจน ซึ่งเป็นหน้าที่ของ กสทช.ที่ต้องเร่งจัดทำ เช่น ให้คำนิยามหรือขอบเขตของโฆษณาแฝงที่ชัดเจน ทันยุคสมัย และมีความเป็นปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานหรือประชาชนทั่วไปเกิดความเข้าใจที่ตรงกันเกี่ยวกับโฆษณาแฝง รวมทั้งจัดทำคลังข้อมูล (data bank) ที่ผู้บริโภคสามารถสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับโฆษณาแฝงได้         “ผมมองว่าการทำงานของ กสทช. นั้น ไม่เพียงพอ เพราะในหลายเรื่องก็ยังไม่มีการดำเนินการ เห็นได้จากการที่คณะอนุกรรมการด้านสื่อและโทรคมนาคม ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ภายใต้คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) ได้มีข้อเสนอต่อการกำกับดูแลเรื่องโฆษณาแฝงในทีวีดิจิทัลหลายประการ แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการ เช่น กสทช.ควรกำหนดกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลโฆษณาแฝงหรือหลักจรรยาบรรณ (code of conduct) ที่ชัดเจน รวมทั้งสานต่อ กฎ กติกา ที่เคยถูกร่างไว้ให้เป็นรูปธรรม”         เนื่องจากการทำโฆษณาแฝงไม่เพียงแต่จะเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค หากแต่ยังแสดงถึงความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างช่องโทรทัศน์ที่ปฏิบัติตามกฎกับช่องโทรทัศน์ที่ละเมิดกฎเกณฑ์ กสทช.ต้องประสานความร่วมมือในการเฝ้าระวังโฆษณาแฝงในโทรทัศน์ระบบดิจิทัลอย่างมีลำดับขั้นตอน เช่น องค์กรผู้บริโภคหรือสมาคมช่วยกันสอดส่องดูแลแล้วส่งข้อมูลให้ภาครัฐดำเนินการต่อไป เพื่อให้เกิดการกำกับดูแลร่วมกัน ทั้งนี้อาจมีการศึกษารูปแบบการทำงานเพิ่มเติมจากหน่วยงานในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา พร้อมประสานความร่วมมือกับสถาบัน เช่น แพทยสภาเพื่อกำกับกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพด้านแพทย์ ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยที่กระทำการแฝงโฆษณาและใช้วิชาชีพของตนเองในการเสริมสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้ตรวจสอบอย่างเข้มงวดและคอยติดตามเฝ้าระวังไม่ให้เกิดลักษณะเช่นนี้อีก รวมทั้งจัดทำคลังข้อมูล (data bank) ที่ผู้บริโภคสามารถสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับโฆษณาแฝงได้         ซึ่งหาก กสทช.ได้พิจารณาและดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าว และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ก็จะทำให้ปัญหาการโฆษณาเกินจริง หรือเอาเปรียบผู้บริโภคลดลงได้มาก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 กระแสต่างแดน

ต้องได้ใบเสร็จ        ก่อนหน้านี้ ลูกค้าร้านอาหาร ร้านขนมปัง ร้านกาแฟ ร้านตัดผม หรือร้านค้าย่อยอื่นๆ ในเยอรมนี จะไม่ได้รับใบเสร็จหากไม่ร้องขอ         แต่กฎหมายใหม่ว่าด้วย “การป้องกันการแก้ไขบันทึกการขายดิจิทัล” ที่มีผลบังคับใช้เมื่อปี 2559 กำหนดว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป ธุรกิจทุกประเภทจะต้องออกใบเสร็จให้ลูกค้าโดยไม่ต้องถาม ไม่ว่าธุรกรรมนั้นจะมีมูลค่าเท่าไร         ร้านที่ใช้เครื่องคิดเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ ต้องแสดงเลขที่ใบแจ้งหนี้ หมายเลขเครื่องคิดเงิน ชื่อ/ที่อยู่ของผู้ประกอบการ และวันที่ทำธุรกรรม ส่วนร้านที่ไม่มีเครื่องดังกล่าวก็ให้จดบันทึกการขายไว้เพื่อการตรวจสอบของสรรพากร         หลายคนมองว่ามาตรการปราบปรามการเลี่ยงภาษีรูปแบบนี้อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด เพราะมันเพิ่มขั้นตอนการทำงานและยังสร้างขยะกระดาษเพิ่มขึ้นด้วยมาตรฐานฝุ่นควัน        กลุ่ม Air Clean Taiwan ออกมาเรียกร้องให้รัฐสภาไต้หวันออกกฎหมายเพิ่มมาตรฐานในการ เฝ้าระวังฝุ่นละอองพีเอ็ม 10 ให้เท่ากับที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 20 ไมโครกรัมต่อ 1 ลูกบาศก์เมตรต่อปี          แม้ในภาพรวม ค่าพีเอ็ม 10 ของไต้หวันลดลงจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 17 นายเย่กวงเผิง ผู้ก่อตั้งองค์กรดังกล่าวซึ่งรณรงค์เรื่องนี้มากว่าเจ็ดปีบอกว่า      ปัจจุบันเขตเกาสงและอีกหลายๆ ที่ในไต้หวันมีค่าฝุ่น ละอองเกินมาตรฐานดังกล่าวถึงสามเท่า         ค่ามาตรฐานของไต้หวัน (125 ไมโครกรัมต่อ 1 ลูกบาศก์เมตรต่อวันหรือ ค่าเฉลี่ยต่อปี 65 ไมโครกรัมต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร) ยังไม่เคยถูกปรับตั้งแต่ปี 2542         ล่าสุดองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมของไต้หวันเตรียมกำหนดมาตรฐานใหม่เป็น 100 ไมโครกรัมต่อ 1 ลูกบาศก์เมตรต่อวันหรือค่าเฉลี่ยต่อปี 50 ไมโครกรัมต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร ให้เท่ากับที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้กฎเหล็ก        สวิตเซอร์แลนด์มีกฎระเบียบที่เข้มงวดสำหรับผู้พักอาศัยในอพาร์ตเมนท์ ถึงขั้นลือกันไปผิดๆ ว่าเขาห้ามการกดชักโครกในยามวิกาลด้วย           สวิตเซอร์แลนด์มีสิ่งที่เรียกว่า “ช่วงเวลาพักผ่อน” ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละเมือง ช่วงเวลาดังกล่าวในซูริคอยู่ระหว่างสี่ทุ่มถึงเจ็ดโมงเช้า และห้าทุ่มถึงเจ็ดโมงเช้าในวันศุกร์และเสาร์           ในช่วงเวลานี้ผู้อยู่อาศัยพึงงดพฤติกรรมก่อความรำคาญทุกชนิดและไม่ทำ “เสียงที่ไม่จำเป็น” หลังเวลาสองทุ่ม หรือในวันอาทิตย์         นอกจากข้อห้าม (เช่น ห้ามนำสัตว์มาเลี้ยง) กฎระเบียบยืดยาวที่เจ้าของอาคารติดประกาศแจ้งต่อผู้อยู่อาศัยยังกำหนดความรับผิดชอบไว้ชัดเจนด้วย เช่น ในฤดูหนาว ผู้เช่าจะเป็นผู้ทำหน้าที่กวาดหิมะ           ที่ผ่านมายังไม่มีการห้ามผู้เช่ากดชักโครกในยามวิกาล แต่ถึงจะห้ามจริงก็เอาผิดผู้เช่าไม่ได้ ผู้เชี่ยวชาญบอกว่ากฎระเบียบเหล่านี้จะมีผลผูกพันต่อเมื่อมันสมเหตุสมผลเท่านั้น...ค่อยยังชั่ว  ปารีสเมืองปั่น        แอน ฮิลดาโก ผู้ว่าราชการนครปารีสเคยประกาศไว้ตอนหาเสียงเมื่อสี่ปีก่อนว่าจะทำให้ปารีสเป็นเมืองจักรยานให้ได้         แม้การทำให้ชาวปารีส “ทุกคน” ใช้จักรยานอาจดูเกินเอื้อม แต่สถิติล่าสุดก็ช่วยยืนยันว่า “แผนจักรยาน” ของเธอกำลังไปได้สวย ปัจจุบันจำนวนผู้ใช้จักรยานมีมากกว่าจำนวนผู้ใช้มอเตอร์ไซค์และสกู๊ตเตอร์รวมกัน และยังมากกว่าจำนวนผู้ใช้รถไฟไต้ดินบางสายด้วย         เดือนกันยายนปี 2561 จำนวนผู้ใช้จักรยานในปารีสเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 54 และในแต่ละวันมีผู้ใช้จักรยานบนท้องถนนถึง 1,030 คน จำนวนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 1,630 คนในปี 2562         นอกจากนี้การใช้รถยนต์ระหว่างปี 2553 ถึง 2561 ยังลดลงร้อยละ 5 ในขณะที่การใช้จักรยานเดินทางเพิ่มขึ้นร้อยละ 30         ปารีสขยับขึ้นจากเมืองที่เป็นมิตรกับจักรยานอันดับที่ 17 ในปี 2558 มาเป็นอันดับที่ 8 ในปีนี้  เป้าหมายสูงสุดของผู้ว่าฯ คนนี้คือทำให้ปารีสเป็นเมืองหลวงจักรยานอันดับหนึ่ง ปาดหน้าโคเปนเฮเกน อัมสเตอร์ดัม และออสโล ไปเลยจ้า  โนเคป็อป        ที่ผ่านมาการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสิ่งที่ทำได้อย่างไม่มีข้อจำกัดในเกาหลีใต้ ส่งผลให้สถิติการดื่มในผู้หญิงและเยาวชนอายุต่ำกว่า 19 ปีที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ         จำนวนนักดื่มหญิงเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 41.5 ในปี 2550 เป็นร้อยละ 50.5 ในปี 2560 (ในขณะที่มีการเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.5 ในนักดื่มชาย) ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะการใช้ศิลปินเคป็อปในการโฆษณาแอลกอฮอล์นั่นเอง         รายงานระบุว่าผู้ประกอบการทุ่มงบปีละไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านวอน (ประมาณ 507 ล้านบาท) เพื่อการนี้         ก่อนหน้านี้เคยมีความพยายามที่จะออกกฎหมายกำหนดอายุพรีเซ็นเตอร์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไว้ที่ 24 ปี หลังจากศิลปินสาว “ไอยู” ซึ่งขณะนั้นอายุ 21 ปี รับเป็น “หน้าตา” ให้กับโซจูยี่ห้อหนึ่งในปี 2557 แต่กฎหมายดังกล่าวไม่เคยถูกนำเข้าสู่การพิจารณา         ล่าสุดกระทรวงสวัสดิภาพและสาธารณสุขเตรียมออกประกาศห้ามใช้ศิลปินดาราเคป็อปในการโฆษณาหรือเป็นพรีเซ็นเตอร์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 หุ่นจะดี ขอให้มีเงิน

โฆษณาขายผลิตภัณฑ์แปลกๆ ตามโซเชียลมีเดีย มันผุดเป็นดอกเห็ด หมุนเวียนเปลี่ยนไปจนตามไล่จับไม่ทัน ในยุคแรกๆ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มักจะโฆษณาขายตามเว็บไซต์ต่างๆ ต่อมาสื่อโซเชียลมีหลากหลายชนิดมากขึ้น ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จึงเปลี่ยนช่องทางการขายหันมาทางเฟซบุ๊คขาย พอเจ้าหน้าที่ไล่ตรวจเช็คเฟซบุ๊ค ก็ย้ายฐานการโฆษณามายังไลน์ และล่าสุดย้ายไปขายในอินสตราแกรมกันครึกโครม เล่นเอาเจ้าหน้าที่ติดตามตรวจสอบ ไล่แทบไม่ทัน พอจะดำเนินการบางรายก็ปิดเฟซ ปิดไลน์ ปิดอินสตราแกรมหนี หลังจากนั้นไม่กี่วันก็มาเปิดใหม่อีก และถ้าเราไม่ได้อยู่ในกลุ่มแวดวงของพวกเขา เราก็จะไม่รู้ข้อมูลพวกนี้เลย เพราะทุกวันนี้มันมีกลุ่มปิด กลุ่มเฉพาะ ทางสื่อโซเชียลเหล่านี้มากมาย         ผลิตภัณฑ์สุขภาพสำหรับกลุ่มหนุ่มสาวที่มีเงิน สนใจเข้าฟิตเนสออกกำลังกาย เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ผลิตภัณฑ์ที่นำมาขายให้คนกลุ่มนี้ จึงไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ราคาถูกๆ แต่มักจะขายในราคาแพง และมักจะโฆษณาว่าเป็นผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ซึ่งแทบทุกชนิดที่เจอ จะไม่มีการขออนุญาตในประเทศไทยตามกฎหมาย แต่ผู้ขายจะอ้างว่าตนหิ้วมาเองจากต่างประเทศ         ล่าสุดผมได้รับแจ้งว่า มีผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่งสำหรับผู้ต้องการลดน้ำหนัก โดยผู้ขายบอกว่าถ้าจะใช้ต้องซื้อเป็นเซ็ต ซึ่งประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ชนิดแคปซูลสามชนิดสามขวด อ้างสรรพคุณว่าชนิดแรกจะเพิ่มการเผาผลาญไขมันที่เรารับประทานเข้าไป ชนิดที่สองจะไปบล๊อคการดูดซึมแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตจากอาหารที่เรารับประทาน และชนิดที่สามจะไปบล๊อคความหิวของเรา         ผู้ขายอ้างว่า สามารถลดน้ำหนัก และลดไขมันส่วนเกินที่เกาะตามส่วนต่างๆ ได้ ทั้ง ต้นแขน ต้นขา หน้าท้อง หรือส่วนต่างๆ ทั้งไขมันเก่าและใหม่  เหมาะกับคนที่หิวบ่อย อยากปรับกระเพาะไห้เล็กลง คนที่กินจุบจิบ อยากกินอาหารเยอะๆ เหมาะสำหรับคนที่จะไปต่างประเทศ ต่างจังหวัด ประเภททริปตะลุยกินโดยเฉพาะ  ตลอดจนยังเหมาะกับคนที่ออกกำลังกายและอยากให้น้ำหนักลงเร็ว หรือคนที่ชอบกินของมันๆ ของหวาน หรือกินแป้งเยอะๆ พิซซ่า ชาบู  ของทอด ฯลฯ มีการย้ำว่ารับรองลดไขมันได้ 5 กิโลกรัมขึ้นไป  ราคาทั้งเซ็ต  4,790 บาท ถ้าแยกซื้อเป็นชนิดๆ ก็ตกชนิดละเกือบสองพันบาท         ตามไปดูที่โฆษณา ก็เหมือนผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆที่ โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง แจ้งว่าสกัดจากธรรมชาติล้วนๆ ทั้งสารสกัดจากถั่วขาว  และสารสกัดจากผลส้มแขก โดยอ้างว่าจะสามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ย่อยแป้งได้ถึงกว่า 50% และยับยั้งการสังเคราะห์กรดไขมัน ร่างกายเปลี่ยนน้ำตาลเป็นไขมันน้อยลง ลดความอยากอาหาร ไม่รู้สึกหิว และเร่งการสลายไขมัน และยังแนะนำให้ดื่มน้ำเย็นเฉียบตามหลังรับประทานผลิตภัณฑ์นี้ เพราะจะยิ่งช่วยให้ร่างกายนำพลังงานมาปรับเพิ่มอุณหภูมิน้ำ ให้เท่าอุณหภูมิในร่างกาย         ถ้าจะให้สรุปว่าผลิตภัณฑ์นี้ได้ผลตามที่อวดอ้างหรือไม่ ขอยืนยันเลยว่ายังไม่มีผลการวิจัยที่เป็นทางการออกมายืนยัน แม้ผู้ขายจะอ้างว่านำหิ้วเข้ามาจากประเทศอังกฤษ แต่การนำเข้ามาโดยไม่มาขออนุญาต จึงทำให้ไม่ได้ถูกตรวจสอบว่า การโฆษณาสรรพคุณตามที่อ้างมีความเป็นไปได้จริงหรือไม่ ฟันธงได้เลยว่า ผลิตภัณฑ์นี้ ผิดกฎหมาย และโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง หนำซ้ำยังเสียเงินโดยไม่จำเป็นอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 รู้เท่าทันผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงตับ

        ระยะนี้มีการโฆษณาทางโทรทัศน์และสื่อออนไลน์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกันมากมาย  มีการนำดารา ศิลปิน นักกีฬามาเป็นพรีเซ็นเตอร์ผลิตภัณฑ์แต่ละอย่าง เพราะผู้บริโภคมีความเชื่อว่า พรีเซนเตอร์เหล่านี้มีชื่อเสียง ฐานะดี คงไม่มาหลอกลวงเอาผลิตภัณฑ์ที่ไม่ดีมาโฆษณาอย่างแน่นอน ผลิตภัณฑ์ที่มาแรงเพราะเอาพระเอกที่คนไทยชื่นชอบมาเป็นพรีเซนเตอร์ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงตับ เรามารู้เท่าทันกันเถอะ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงตับ    ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับตับกำลังมาแรง เพราะภาวะตับอักเสบ ไขมันสะสมในตับทั้งจากแอลกอฮอล์และไม่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์กำลังพบมากขึ้น ทำให้ผู้คนบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ช่วยฟื้นฟูและป้องกันตับจากภาวะดังกล่าว        เมื่อดูในเว็บไซต์ต่างๆ ในประเทศไทย พบว่า มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงตับอย่างน้อย 4-5 รายการที่มีการโฆษณาขายในเมืองไทย ในต่างประเทศก็มีการขายกันในโลกออนไลน์มากกว่า 10 รายการขึ้นไป มีการโฆษณาต่าง ๆ นานาว่าเป็นการ “ปกป้องตับ ฟื้นตับ ดีท็อกซ์ตับ คลีนตับ ขับสารพิษในตับ ตับสะอาด ขับของเสียจากแอลกอฮอล์ ไม่เมาค้าง” เป็นต้น  ทำให้ตับกลับคืนส่สภาพเดิม รู้สึกดีขึ้น  ในบ้านเราเน้นไม่เมาค้าง ทำให้สายดื่มได้เฮกันเพราะจะได้ดื่มมากขึ้น ผลิตภัณฑ์บำรุงตับมีอะไรบ้าง         ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงตับนั้นจะใช้สมุนไพรหลักๆ 3 ตัว ได้แก่ มิลค์ ทิสเทิล (milk thistle)  ใบอาร์ทิโชก รากแดนดิไลออน[1]           สมุนไพรทั้ง 3 ชนิดมีประโยชน์อย่างไรต่อตับ?        ในมิลค์ ทิสเทิล จะมีสารไซลิมาริน ซึ่งเป็นสารเคมีในพืช ในห้องปฏิบัติการพบว่า สารไซลิมารินทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยสร้างเซลล์ตับ ลดการอักเสบ ป้องกันเซลล์ตับ จึงทำให้มีการนำสมุนไพรนี้มาทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อบำรุงตับ       ใบอาร์ติโชคมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ปกป้องเซลล์ตับ การศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าช่วยสร้างเซลล์ตับได้ มีงานวิจัยบางชิ้นพบว่าช่วยลดการทำลายตับลงได้เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม แต่ต้องมีการศึกษาในทางคลินิกต่อไป        รากของแดนดิไลออนนั้นมีการนำมาใช้ในการรักษาโรคตับมานาน แต่ต้องการการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความปลอดภัยและประสิทธิผล        ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงตับชนิดต่าง ๆ มีการผสมสมุนไพรเพิ่มเติม เช่น โกจิเบอร์รี่ สมอพิเภก บ๊วย เป็นต้น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงตับมีสรรพคุณตามโฆษณาจริงหรือ         เมื่อทบทวนการศึกษาวิจัยพบว่า การวิจัยสมุนไพรหลัก 3 ชนิดในคนยังไม่มีและคุณภาพงานวิจัยยังไม่ดีพอ ต้องทำการศึกษาทางคลินิกเพิ่มเติม ส่วนการศึกษาเรื่องผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกับโรคตับต่าง ๆ นั้น พบว่า ยังไม่มีหลักฐานที่จะสนับสนุนหรือปฏิเสธว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ต้านอนุมูลอิสระจะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ และอาจทำให้เอนไซม์ตับมีค่าสูงขึ้น เราจะดูแลตับให้ดีได้อย่างไร         เราสามารถดูแลตับให้แข็งแรงได้โดย การลดไขมันในอาหาร ลดสารพิษ เช่นยา สารเคมี ลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มการออกกำลังกาย กินผักผลไม้ที่ปลอดสารเคมีอันตรายมากขึ้น สรุป ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงตับนั้น ส่วนใหญ่เป็นสมุนไพรซึ่งมีความปลอดภัย แต่สรรพคุณนั้นยังต้องการการศึกษาทางคลินิกเพิ่มเติม[1] สมุนไพรทั้ง 3 ชนิดพบในเขตหนาว ไม่พบในบ้านเรา ยกเว้นอาร์ติโชค มีการนำมาปลูกโดยโครงการหลวง แต่ไม่เป็นที่นิยม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 การซื้อขายออนไลน์(ทั่วโลก) ต้องเป็นมิตรกับผู้บริโภค

   จากการติดตามดูนโยบายเรื่องการซื้อสินค้าออนไลน์ของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี มีการนำเสนอหลักการ 3 ข้อ        ·    การซื้อขายสินค้าออนไลน์ ผู้บริโภคต้องได้รับการคุ้มครองไม่น้อยไปกว่าการซื้อของแบบออฟไลน์        ·    กฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภคของอียู จำเป็นต้องคงไว้และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในกรณีที่ เพิ่มความคุ้มครองให้กับผู้บริโภค        ·    ความปลอดภัยของสินค้า เป็นนโยบายที่สำคัญอันดับแรก ในเวทีการเจรจาการค้าระหว่างชาติ         สืบเนื่องจากการประชุมสุดยอด ในเวทีการค้า WTO ของสมาชิกซึ่งเป็นตัวแทนจากรัฐบาล 76 ประเทศ ซึ่งมีกลุ่มประเทศ อียู เข้าร่วมเพื่อพิจารณา รอบการเจรจาการค้าระหว่างชาติ ว่าด้วยข้อตกลงการค้า e commerce โดยเป้าประสงค์ของกลุ่มอียู คือ เสริมสร้างสิทธิแก่ผู้บริโภค มีสิทธิในการกำหนดมาตรฐานของตนเองและขยายวงเวทีในการเจรจาต่อรองในประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภค         ซึ่งผลการเจรจาการค้าในครั้งนี้จะส่งผลต่อผู้บริโภคทั่วโลก เนื่องจากการเจรจาการค้ารอบนี้จะมีกฎเกณฑ์ระเบียบการค้าออนไลน์ เป็นแนวทางปฏิบัติในการทำธุรกรรมการซื้อขายออนไลน์ ด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคในการทำธุรกรรมออนไลน์ทั่วโลกนั้น มีมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภคที่ต่ำกว่าเกณฑ์ของมาตรฐาน อียู ยกตัวอย่างผู้บริโภคที่ไม่ได้อยู่ในอียู ซื้อสินค้าออนไลน์และได้รับสินค้าที่มีความชำรุดบกพร่องหรือเกิดปัญหาในขั้นตอนการส่งมอบสินค้า ส่งผลให้ ผู้บริโภคได้รับความยากลำบากในการเรียกร้องสิทธิ ในการคืนสินค้า หรือสิทธิในการชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น และบ่อยครั้งที่ผู้บริโภคประสบปัญหา กรณีได้รับสินค้าที่ไม่ปลอดภัยจากประเทศต้นทางสินค้านอกอียู ผลการศึกษานี้ เผยแพร่โดยวารสารผู้บริโภค Which ? ของประเทศอังกฤษ        ผู้แทนการเจรจาประเด็น e commerce ของ กลุ่มประเทศอียู ได้วางเป้าหมายการเจรจา โดยเน้นไปที่ 4 ประเด็นสำคัญ คือ        ·   มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่ดีกว่า ในการค้าระบบ e commerce ในระดับนานาชาติ        ·   การคงไว้ของมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภคในอียู        ·   การมีกลไกในการเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค และ        ·   การต่อสู้กับสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ที่โฆษณา Online         อย่างไรก็ตามการเจรจาการค้าในประเด็นนี้ ก็ยังมีความเสี่ยงที่ซ่อนอยู่เช่นกัน ซึ่งในมุมมองของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคในอียู เห็นว่ายังมีอีกหลายประเด็น ที่ยังไม่ได้มีการบรรจุไว้ในวาระการเจรจาในประเด็นที่สำคัญๆ หลายประเด็น ได้แก่ เรื่อง Artificial Intelligence(ปัญญาประดิษฐ์) Cybersecurity(ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์) Data Protection(การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) Data Transfer(การส่งผ่านข้อมูล) และ Network Neutrality(ความเป็นกลางของระบบเครือข่ายเชื่อมต่อข้อมูล)         ตัวอย่างล่าสุดคือ การตกลงการค้าระหว่าง สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ได้นำไปสู่การใช้ปัญญาประดิษฐ์ ในการควบคุมและเฝ้าระวังการค้าแบบดิจิทัล(Digital Trade) ซึ่งประเด็นการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการควบคุมและเฝ้าระวังการค้าในรูปแบบ Digital Trade เพิ่งจะเริ่มต้นอภิปรายสาธารณะในกลุ่มประเทศอียูเท่านั้น และจุดยืนขององค์กรผู้บริโภคอย่างสหพันธองค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนีนั้น เห็นว่าข้อตกลงในการเจรจาทางการค้า ไม่ควรที่จะใช้มาเป็นข้ออ้างในการจำกัด หรือละเลยมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีประเทศไทย        เมื่อย้อนกลับมาดูปัญหาของผู้บริโภคในบ้านเราในการซื้อสินค้าออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการถูกหลอกลวง และการถูกฉ้อโกง การได้รับสินค้าที่ชำรุดบกพร่องหรือไม่ครบถ้วน ส่งมอบสินค้าผิดจากที่ตกลงสั่งซื้อ ปัญหาบริการหลังการขาย ปัญหาการโฆษณาเกินจริง เป็นเท็จหรือ ผิดกฎหมาย และปัญหาผู้บริโภคขาดความรู้ ฯลฯ ทางคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ได้มีข้อเสนอ “การกำกับตลาดออนไลน์ให้เป็นธรรม” ไปยังหน่วยงานภาครัฐ หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น สำนักงานพัฒนาธุรกกรมทางอิเล็กทรอนิกส์(สพธอ.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตลอดจนธนาคารแห่งประเทศไทย ไปแล้วนั้น มีความคืบหน้าหลายประการในการร่วมมือกันทำงาน โดยเฉพาะกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์(สพธอ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีในการคุ้มครองผู้บริโภคของผู้บริโภคชาวไทย         แต่อย่างไรก็ตามการซื้อขายสินค้าออนไลน์ปัจจุบันเป็นการทำธุรกรรมข้ามพรมแดน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้อง ติดตามและเฝ้าระวังการเจรจาการค้าเสรีรอบต่างๆ ที่จะมีขึ้นตามมา ดังนั้นผมคิดว่า ทางองค์กรผู้บริโภคโดยเฉพาะ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งเป็นภาคประชาชน จำเป็นที่จะต้องมีส่วนร่วมและรับรู้ ประเด็นต่างๆ ที่จะมีการเจรจาการค้าเสรี ซึ่งเป็นสิทธิอันชอบธรรมนี้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากการเกิดขึ้นของสภาองค์กรผู้บริโภคขณะนี้ยังอยู่ในช่วงที่ยังไม่สามารถทำหน้าที่ได้   แหล่งข้อมูลเวบไซต์สหพันธองค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี (Federation of German Consumer Organizations)https://www.vzbv.de/meldung/online-handel-verbraucherfreundlich-gestaltenวันที่ 24 กันยายน 2562

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 ถึงเวลาเอาคืนดาราและเน็ตไอดอล

        ข่าวที่ปรากฏครึกโครมทางสื่อมวลชล  ตั้งแต่กรณีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไล่จัดการเครื่องสำอางผิดกฎหมาย ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่แอบผสมยาลดน้ำหนัก จนกระทั่งล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ฯ สั่งเพิกถอนเลขสารบบอาหารผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชื่อดังยี่ห้อหนึ่ง ที่โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง โดยอ้างว่ารักษาโรคต่างๆ ที่เกี่ยวกับดวงตา จนผู้ป่วยจำนวนมากหลงเชื่อโฆษณาดังกล่าวและปล่อยให้อาการของโรคลุกลามจนไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้          หากติดตามข่าวจะพบว่าผลิตภัณฑ์ที่ถูกดำเนินคดีเหล่านี้ มีคนที่มีชื่อเสียง ทั้งดารา เน็ตไอดอล แม้กระทั่งนักแต่งเพลง ใช้ความดัง ความน่าเชื่อถือ หรือความชื่นชอบของบรรดาแฟนๆ มาโฆษณาผลิตภัณฑ์เหล่านี้ แม้ทางราชการจะไล่จับ แต่ก็ไม่ค่อยทัน ถึงเวลาแล้วที่ผู้บริโภคจะต้องตั้งสติ ให้เท่าทันการโฆษณาหลอกลวง         1. เห็นโฆษณาเมื่อใด ให้ตั้งคำถามกับตัวเองไว้ก่อนว่า เราเชื่อว่าพวกดาราและเน็ตไอดอลเหล่านี้ ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ตัวเองโฆษณาจริงหรือไม่ ถ้าดีจริงคนกลุ่มนี้ต้องไม่เจ็บไม่ป่วย เพราะผลิตภัณฑ์มันโฆษณาว่ารักษาได้สารพัดนึกนี่นา         2. ถ้าผลิตภัณฑ์พวกนี้ดีจริงอย่างที่โฆษณา ทำไมในโรงพยาบาลต่างๆ ไม่เอาไว้ใช้รักษาโรคให้กับผู้ป่วยที่มารักษาตัวในโรงพยาบาล         สิ่งสำคัญอีกอย่างที่พวกดาราและเน็ตไอดอลกลัว คือผลกระทบต่อความดัง หรือความฉาวของชื่อเสียง ถึงเวลาแล้วที่พวกเราต้องช่วยกัน เอาคืนดาราและเน็ตไอดอลเหล่านี้เสียที          1. เจอโฆษณาที่ไหน ให้บันทึกข้อมูลให้ละเอียด เช่น เว็บไซต์ไหน สื่อโซเชียลไหน ถ้าจับภาพหน้าจอหรือบันทึกคลิปได้ ให้บันทึกไว้เลย ระบุวันเวลาที่พบด้วย ถ้ามีเอกสารสิ่งตีพิมพ์ต่างๆ เช่น โปสเตอร์ แผ่นพับ ต่างๆ ให้เก็บไว้เป็นหลักฐาน         2. หาช่องทางติดต่อสอบถามดาราและเน็ตไอดอลเหล่านี้ว่าใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จริงหรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าทุกคนจะต้องตอบว่าใช้แน่นอน หลังจากนั้น ให้สอบถามถึงสรรพคุณต่างๆ ของผลิตภัณฑ์ที่ดาราและเน็ตไอดอลพวกนี้ว่าเป็นจริงที่ตามที่โฆษณาหรือไม่ เพื่อให้มีข้อมูลออกมาจากเขาโดยตรง จะได้ไม่ต้องอ้างเวลาถูกดำเนินคดีว่า ตนไม่รู้เรื่อง เจ้าของผลิตภัณฑ์เอาภาพตนไปทำโฆษณาเอง         3. จับภาพหน้าจอ หรือบันทึกคลิปที่ดาราหรือเน็ตไอดอลเหล่านี้ ยืนยันสรรพคุณต่างๆ ไว้เป็นหลักฐาน         4. นำข้อมูลและเอกสารต่างๆ ที่รวบรวมได้ ส่งต่อให้เจ้าหน้าที่ เพื่อดำเนินคดีต่อไป         5. พวกดาราและเน็ตไอดอล มักกลัวความฉาวส่งผลกระทบต่อความดัง มาตรการเอาคืนอีกทางหนึ่งคือ นำข้อมูลที่รวบรวมได้ ส่งต่อให้สื่อมวลชนที่เรารู้จัก หรือสื่อโซเชียลที่สนใจประเด็นเหล่านี้ นำไปขยายผลหรือติดตามตรวจสอบต่อไป         6. เมื่อผลคดีตัดสินว่า ดาราและเน็ตไอดอลทำผิดจริง ช่วยกันแสดงความคิดเห็นและทวงถามความรับผิดชอบจากดาราและเน็ตไอดอลเหล่านี้ หรือชวนกันบอยคอตไม่สนับสนุนผลงาน         ยิ่งเรารัก เราชื่นชอบดาราหรือเน็ตไอดอลคนไหน เรายิ่งต้องตรวจสอบ เพื่อดูแลให้พวกเขาอยู่ในร่องในรอยที่ถูกต้อง ไม่เผลอไผลไปกระทำผิดให้บรรดาแฟนๆ เจ็บช้ำใจนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 216 กระแสต่างแดน

ขอคืนพื้นที่        Adblock Cardiff เรียกร้องให้เทศบาลเมืองเลิกหารายได้จากการให้เช่าพื้นที่ทำป้ายโฆษณาที่พวกเขาบอกว่า “เป็นมลพิษต่อสุขภาพจิต” ของผู้คน เพราะมันพร่ำบอกอยู่ทุกเช้าค่ำว่าชีวิตพวกเขา “ขาดอะไรบางอย่าง”        องค์กรดังกล่าวขอให้เทศบาลคาร์ดิฟพิจารณาผลกระทบในระยะยาวและเคารพสิทธิผู้บริโภคที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงโฆษณาเหล่านี้ได้แม้จะไม่ต้องการเห็นมัน         ด้านโฆษกเทศบาลชี้แจงว่านอกจากสร้างรายได้ให้รัฐแล้ว ป้ายพวกนี้ยังช่วยเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนด้วย นักวิเคราะห์สื่อก็มองว่านี่เป็นเรื่องปกติที่ทำกัน ป้ายรถเมล์ในลอนดอนก็สร้างโดยบริษัทที่จ่ายค่าเช่าพื้นที่ให้กับเทศบาลนั่นเอง        การเคลื่อนไหวแบบเดียวกันนี้ที่เมืองบริสตอลสามารถระงับการให้อนุญาตติดตั้งป้ายโฆษณาดิจิทัลขนาดใหญ่ถึง 11 ป้ายในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา ในขณะที่เซาเปาโลซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของบราซิลได้แบนโฆษณาแบบนี้ไปแล้วจ่ายให้จบ        สภารีไซเคิลแห่งออสเตรเลียว่าจ้างบริษัท Equilibrium ให้ศึกษาแนวทางจัดเก็บ “ค่ารีไซเคิล” ของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก่อนจะประชุมเพื่อทำ “นโยบายขยะแห่งชาติ” ในเดือนกุมภาพันธ์นี้        อัตราที่เหมาะสมในการเรียกเก็บค่ารีไซเคิลจากสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ยางรถยนต์ และที่นอน (ตั้งแต่จัดเก็บ ขนส่ง คัดแยก และนำกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงค่าบริหารจัดการและค่าการตลาด) มีดังนี้        ขยะเครื่องใช้ไฟฟ้ามีค่าใช้จ่าย 1.85 เหรียญ (41 บาท) ต่อน้ำหนักสินค้า 750 กรัม กาต้มน้ำไฟฟ้าที่หนัก 1.3 กิโลกรัมจึงมีค่ารีไซเคิล 3.20 เหรียญ (71 บาท)        ยางรถยนต์หนึ่งเส้นมีค่ารีไซเคิล 4 เหรียญ (89 บาท) และที่นอนหนึ่งหลังมีค่ารีไซเคิล 16.50 เหรียญ (365 บาท) เฉลี่ยแล้วค่าธรรมเนียมนี้อยู่ที่ร้อยละ 2 ของราคาสินค้า        คนออสซี่สร้างขยะปีละ 2,700 กิโลกรัมต่อคน ออสเตรเลียจริงจังกับมาตรการรีไซเคิลมากขึ้นกว่าเดิมตั้งแต่จีนประกาศไม่รับอุปการะขยะต่างประเทศองจำกัด        รัฐมนตรีกระทรวงขนส่งของเยอรมนีให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับหนึ่งว่าทางหลวงของประเทศเขาปลอดภัยที่สุดในโลก…        แต่สถิติขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ระบุว่าอัตราการเสียชีวิตต่อระยะทาง 1,000 กิโลเมตรของทางหลวงในเยอรมนีอยู่ที่ร้อยละ 30.2 ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของยุโรปคือร้อยละ 26.4 และ OECD ยังพบว่าความเร็วที่เพิ่มขึ้นผันแปรโดยตรงต่ออัตราการตายที่สูงขึ้น        พูดให้ชัดคือทางหลวงในฝรั่งเศส ฟินแลนด์  สหราชอาณาจักร โปรตุเกส และสวีเดน ปลอดภัยกว่าในเยอรมนีซึ่งร้อยละ 70 ของทางหลวงไม่มีการจำกัดความเร็ว        รอดูกันว่ารัฐบาลเยอรมนีจะจัดการอย่างไร ก่อนหน้านี้ก็เคยมีเสียงเรียกร้องให้จำกัดความเร็วบน “ออโต้บาห์น” เพราะผลการศึกษาพบว่าการจำกัดความเร็วจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และไฮโดรคาร์บอนลงได้ร้อยละ 9 และลดการปล่อยไนโตรเจนออกไซด์ลงได้ร้อยละ 6 ด้วยขออภัยในความไม่สะดวก        ร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่นประกาศยุติการขาย “นิตยสารผู้ใหญ่” ภายในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรต่อทุกคน ก่อนที่ญี่ปุ่นจะเปิดบ้านเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 2020        สามแบรนด์ใหญ่ต่างเห็นตรงกันว่าไม่ควรทำให้อาคันตุกะจากต่างแดนที่จะเริ่มมาเยือนตั้งแต่ปีนี้เพื่อชมการแข่งขันรักบี้เวิลด์คัพได้ภาพลักษณ์ที่ผิดๆ เกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่น        เซเว่นอิเลฟเว่นบอกว่าก่อนหน้านี้ลูกค้าหลักของร้านคือผู้ชายที่เข้ามาซื้อเครื่องดื่มและอาหารฟาสต์ฟู้ด แต่ปัจจุบันมีลูกค้าทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ ที่สำคัญยอดขายนิตยสารเหล่านี้มีสัดส่วนน้อยกว่าร้อยละ 1 ของยอดขายใน 20,000 สาขาทั่วประเทศ        ด้านแฟมิลี่มาร์ทซึ่งมี 16,000 สาขาทั่วประเทศ ก็เริ่มหยุดขายนิตยสารนี้ไปแล้วใน 2,000 สาขา        ลอว์สันซึ่งหยุดการขายนิตยสารนี้ในสาขาที่โอกินาวาไปตั้งแต่สองปีก่อน ก็เตรียมจะใช้นโยบายนี้ใน 14,000 สาขาทั่วประเทศเช่นกันลดแล้วลดอีก        ปักกิ่งมีแผนจะลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศลงจากเดิมให้ได้อีกร้อยละ 1 จากปีที่แล้วที่สามารถลดจากปีก่อนหน้าได้ถึงร้อยละ 12 จนเหลือปริมาณฝุ่นอยู่ที่ 51 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร        “โครงการหนึ่งไมโครกรัม” นี้ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเมืองที่ได้ลงมือทำทุกอย่างที่ควรทำเพื่อลดปริมาณฝุ่น แม้แต่เชื้อเพลิงที่ใช้เพื่อให้ความอบอุ่นในบ้านเรือนทุกวันนี้ก็เปลี่ยนจากถ่านหินมาใช้พลังงานสะอาดแล้ว        รัฐมนตรีกระทรวงนิเวศน์วิทยาและสิ่งแวดล้อมของจีนยอมรับว่า การรักษาระดับปริมาณฝุ่นไม่ให้สูงกว่าเดิมในสภาวะอากาศที่อาจไม่เป็นผลดีต่อคุณภาพอากาศก็ถือเป็นชัยชนะแล้ว        สาเหตุหลักของฝุ่นจิ๋วในปักกิ่งมาจากการคมนาคมขนส่ง (ร้อยละ 45) โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถบรรทุกที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล รัฐบาลจึงมีมาตรการติดตามการเคลื่อนไหวของรถเหล่านี้ด้วยระบบออนไลน์ ในขณะที่ไซต์งานก่อสร้าง ซึ่งเป็นตัวการสร้างฝุ่นอันดับสอง (ร้อยละ 16) ก็กำลังถูกจับตาผ่านกล้องวิดีโอเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 ทีวีดิจิทัลกับสิ่งแอบแฝง

“สารสกัดตัวนี้นำเข้าจากต่างประเทศ จะช่วยให้ผิวหน้าของคุณกระจ่างใส ชุ่มชื่น”“กลัวไหมว่าแต่งหน้าแล้วหน้าเทา พี่ใช้ครีมตัวนี้แล้วไม่มีปัญหาเลย “ถ้าไม่ดีจริง ไม่กล้าบอกต่อหรอก”“มั่นใจได้เพราะเขามี อย.”เรามักจะพบประโยคเหล่านี้อยู่เนืองๆ ผ่านทางรายการโทรทัศน์สักช่อง บางครั้งอาจถึงขนาดที่ว่าเปิดไปกี่ช่องๆ ก็เจอคนดังกำลังบรรยายสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ที่ถืออยู่ในมือ พร้อมกับสาธิตการใช้งาน ก่อนจะทิ้งท้ายด้วยโปรโมชั่นเขย่าใจ ลดแลกแจกแถมขนานใหญ่ จนผู้บริโภคอย่างเราๆ อยากจะหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาโทรสั่งซื้อทันทีทันใดแต่เดี๋ยวก่อน! คุณรู้หรือไม่ว่าพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะรู้สึกเคยชิน หากแต่ต้องสะกิดตัวเองแรงๆ แล้วเตือนสติว่า เรากำลังเสพ ‘โฆษณาแฝง’ โดยไม่ได้ตั้งใจหลายคนอาจจะสงสัยว่าเสพไปแล้วเป็นอะไร มีผลเสียอย่างไร ก็คงต้องเท้าความเสียก่อนว่า ในยุคปัจจุบันผู้คนมักจะเปิดรับข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางของสื่อใหม่ (new media) มากขึ้น เนื่องด้วยคุณลักษณะสำคัญต่างๆ ที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนยุคใหม่ เช่น เนื้อหาสั้น กระชับ เข้าใจง่าย เข้าถึงได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ฯลฯ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อเก่า (old media) หลายๆ ประเภทยังคงได้รับการใช้งานจากกลุ่มคนจำนวนมาก โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ที่มีการพัฒนาจากระบบอะนาล็อกสู่ระบบดิจิทัล ซึ่งมีความโดดเด่นในแง่คุณภาพของการรับชมที่ดีขึ้น มีการประมูลใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ ทำให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่มีโอกาสเข้ามาผลิตเนื้อหาและสร้างความหลากหลายในวงการสื่อ ขณะที่ผู้ชมเองก็มีทางเลือกในการรับชมโทรทัศน์ที่เพิ่มขึ้นทว่าเมื่อการแข่งขันระหว่างช่องโทรทัศน์ไต่ระดับขึ้นเรื่อยๆ กอปรกับการเติบโตของสื่อใหม่ที่เข้ามาช่วงชิงความสนใจของผู้รับสาร ทำให้โฆษณา (advertising) ซึ่งเป็นรายได้หลักของธุรกิจโทรทัศน์เกิดการเลื่อนไหลไปยังพื้นที่ดังกล่าวมากขึ้น ผู้ประกอบการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลหรือ ‘ทีวีดิจิทัล’ จึงต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจตนเอง กลยุทธ์หนึ่งที่ถูกนำมาใช้อย่างมากคือ ‘โฆษณาแฝง’ ซึ่งเป็นการโฆษณาสินค้าและบริการที่สอดแทรกไปกับเนื้อหาอย่างแยบยล จนผู้บริโภคไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เหมือนกับโฆษณาทั่วไป ทำให้สินค้าและบริการนั้นๆ มีโอกาสซึมลึกเข้าไปในใจของผู้บริโภคโดยไม่ทันตั้งตัว โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพที่มักจะพบได้บ่อยๆ เช่น อาหารเสริม ยาบำรุงร่างกาย เครื่องสำอาง เป็นต้น สิ่งที่น่ากังวลคือสื่อโทรทัศน์สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายขนาดใหญ่และครอบคลุมทั่วประเทศ ผู้บริโภคจึงมีลักษณะทางประชากรศาสตร์หลากหลาย ทั้งในด้านเพศ อายุ อาชีพ การศึกษา และด้านอื่นๆ ซึ่งส่งผลต่อวิจารณญาณและความรู้เท่าทันสื่อที่ไม่เท่ากัน อันนำไปสู่ทัศนคติและพฤติกรรมการตอบสนองต่อโฆษณาแฝงที่แตกต่างกัน เช่น โฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมความงามยี่ห้อหนึ่งอาจไม่มีผลต่อผู้สูงวัย แต่กลับกระตุ้นความต้องการซื้อในกลุ่มวัยรุ่นได้อย่างมาก จนนำไปสู่ค่านิยมการใช้ผลิตภัณฑ์ที่แพร่หลายนอกจากนี้ การที่ผู้บริโภคคาดหวังว่าจะได้รับสาระหรือความบันเทิงจากรายการโทรทัศน์อย่างเต็มที่ แต่กลับถูกยัดเยียดโฆษณาที่ไม่พึงประสงค์เข้ามาด้วย เนื่องจากผลประโยชน์เชิงธุรกิจของผู้ประกอบการโทรทัศน์และเจ้าของสินค้าและบริการ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเป็นการเอาตัวรอดจากวิกฤติการณ์ขององค์กรสื่อโดยละเลยต่อความต้องการและสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคหรือไม่ ทว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงการตั้งคำถามไปยังจริยธรรมของผู้ประกอบการ เจ้าของสินค้าและบริการ หรือนักการตลาดเพียงเท่านั้น หากแต่ยังรวมไปถึงการขาดความรู้เท่าทันสื่อของผู้บริโภค และประสิทธิภาพในการคัดกรองโฆษณาแฝงของหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแล ซึ่งยังไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยในระดับที่ผู้บริโภคจะสามารถฝากความเชื่อมั่นไว้ได้จากปัญหาที่เกิดขึ้นนำไปสู่งานศึกษาเรื่อง “รูปแบบของโฆษณาแฝงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพในรายการโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล” ซึ่งมุ่งที่จะค้นหาคำตอบว่าทีวีดิจิทัลยุคปัจจุบันมีการใช้โฆษณาแฝงในลักษณะใดบ้าง โดยใช้การสำรวจทีวีดิจิทัล 2 ประเภท ได้แก่ บริการสาธารณะ และบริการทางธุรกิจ รวมทั้งเลือกรูปแบบรายการโทรทัศน์ที่หลากหลาย ประกอบด้วย รายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง (non-fiction) เช่น ข่าว สาระความรู้, รายการที่นำเสนอเรื่องแต่ง (Fiction) เช่น ละคร ซิทคอม ซีรีส์ และรายการให้ความบันเทิงเบาสมอง (Light Entertainment) เช่น ทอล์กโชว์ เกมโชว์ ซึ่งออกอากาศตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน – 30 พฤศจิกายน 2561 โดยเลือกพิจารณาเฉพาะอาหาร ยา เครื่องสำอาง และเครื่องมือแพทย์ ซึ่งอยู่ในความควบคุมของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยตรงข้อค้นพบในการศึกษาครั้งนี้อาจจำแนกออกเป็น 2 ประเด็น ดังนี้1. ประเภทของผลิตภัณฑ์สุขภาพ  ผลิตภัณฑ์สุขภาพ หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต มีวัตถุประสงค์ในการใช้เพื่อสุขภาพอนามัยหรืออาจมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย ตลอดจนมีความเกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งในงานศึกษาพบว่าผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ปรากฏในรูปของโฆษณาแฝง ได้แก่              •      อาหาร เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนม น้ำดื่ม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร              •      ยา เช่น ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร              •      เครื่องสำอาง เช่น ครีมบำรุงผิว เซรั่มบำรุงเส้นผม         2. รูปแบบของโฆษณาแฝงจากการศึกษาสามารถจำแนกข้อมูลโฆษณาแฝงตามแนวทางของ ธาม เชื้อสถาปนศิริ (2552) ที่อธิบายว่าโฆษณาแฝงมีทั้งหมด 5 รูปแบบได้ดังนี้            •      แฝงสปอตสั้นหรือวีทีอาร์ (VTR) ก่อนเข้ารายการแต่ละช่วงจะมีโลโก้สินค้าและเสียงบรรยายว่า “สนับสนุนรายการโดย...” พร้อมกับบรรยายสรรพคุณสินค้าพ่วงเข้ามาด้วย เช่น “ดื่มง่าย ละลายน้ำดี ไม่มีกลิ่นคาว ราคาพิเศษสุดๆ โทรสั่งเลย...”    •      แฝงภาพกราฟิก โดยมีโลโก้สินค้าปรากฏที่ฉากหลัง หรือมีภาพสินค้า ตราสินค้า และสโลแกนปรากฏที่มุมจอเป็นระยะ รวมทั้งมีกรอบสินค้าที่บริเวณขอบจอ (window logo)   •      แฝงวัตถุ พบค่อนข้างมาก เช่น วางสินค้าไว้ที่โต๊ะ พิธีกรพูดถึงสินค้าและมีการแพนกล้องไปที่สินค้า วางสินค้าเป็นอุปกรณ์ประกอบฉาก มีป้ายสินค้าหรือภาพสินค้าเป็นฉากหลัง   •      แฝงบุคคล พิธีกรใส่ผ้ากันเปื้อนที่มีตราสินค้า หรือตัวละครหยิบจับสินค้าขึ้นมาใช้งาน พร้อมกับพูดชื่อยี่ห้ออย่างชัดเจน    •      แฝงเนื้อหา พบได้มากที่สุด โดยส่วนใหญ่มักจะออกแบบเนื้อหาโฆษณาแฝงให้สอดคล้องกับเนื้อหารายการ หากเป็นรายการทอล์กโชว์จะมีการสัมภาษณ์แขกรับเชิญเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว ผลงาน แล้วนำไปสู่เรื่องของความงามหรือความสำเร็จซึ่งมีความเชื่อมโยงกับสินค้า พร้อมสาธิตการใช้งาน เช่น ทาครีม รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตลอดจนมอบสินค้าให้แก่พิธีกรหรือผู้ร่วมรายการ หรือรายการสุขภาพก็มีการแนะนำสินค้าที่มีสรรพคุณในการดูแลสุขภาพ ตลอดจนการออกแบบให้ผู้ดำเนินรายการหรือตัวละครต้องใช้สินค้านั้นๆ เช่น ใช้ในการประกอบอาหาร หรือประกอบอาชีพ ขณะเดียวกันก็พบว่ามีการสอดแทรกโฆษณาแฝงที่โจ่งแจ้งและไม่เชื่อมโยงกับเนื้อหาเช่นกัน โดยผู้ประกาศข่าวพูดโฆษณาสินค้าและโปรโมชั่นในช่วงหนึ่งของรายการ โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับข่าวที่นำเสนอแม้แต่น้อยนอกจากนี้ ยังพบรูปแบบของการทำโฆษณาแฝงที่น่าสนใจอีกลักษณะหนึ่ง นั่นคือ การผลิต ‘รายการแนะนำสินค้าโดยเฉพาะ’ ขึ้นมา โดยออกแบบให้มีลักษณะคล้ายรายการสุขภาพเป็นหลัก บางส่วนเป็นรายการวาไรตี้ และบางส่วนออกแบบให้คล้ายรายการเล่าข่าว ลักษณะการนำเสนอจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ เสนอเนื้อหาที่สอดคล้องกับรายการแล้วจึงเชื่อมโยงไปสู่สินค้า เช่น รายการสุขภาพก็จะให้ความรู้เรื่องสุขภาพ หรือรายการข่าวนำเสนอข่าวเกี่ยวกับปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ แล้วชี้นำว่าสินค้าสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ โดยมีการสัมภาษณ์ผู้ใช้สินค้าจริงและอ้างอิงข้อมูลทางการแพทย์หรืองานวิจัยเพื่อเสริมความน่าเชื่อถือของสินค้า ในส่วนของรายการวาไรตี้มีการจัดวางสินค้าเป็นอุปกรณ์ประกอบฉาก และนำสินค้ามาเป็นโจทย์ให้ผู้เข้าแข่งขันทายราคา   จุดประสงค์สำคัญของรายการประเภทนี้ คือ แนะนำสรรพคุณสินค้าและโปรโมชั่น พร้อมกับเชิญชวนให้เกิดการซื้อ แม้ว่าหน้าตาของรายการประเภทจะละม้ายคล้ายคลึงกับการแฝงเนื้อหาโดยทั่วไป ทว่าจุดต่างที่สังเกตได้ชัดเจนคือ            3. ความสัมพันธ์ของประเภทรายการและโฆษณาแฝง    การศึกษาในครั้งนี้ยังพบความสอดคล้องระหว่าง ‘ประเภทของรายการโทรทัศน์’ กับโฆษณาแฝงที่นำเสนอ โดยประเภทของรายการโทรทัศน์มักจะมีผลต่อการออกแบบโฆษณาแฝง ไม่ว่าจะเป็นด้านเนื้อหาหรือด้านรูปแบบของโฆษณาแฝง ดังรายละเอียดต่อไปนี้              3.1 รายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง (non-fiction)                 มักจะนำเสนอเนื้อหาในเชิงข้อมูลหรือสาระความรู้แล้วค่อยๆ สอดแทรกโฆษณาแฝงเข้าไป พิธีกรหรือผู้ดำเนินรายการสื่อสารด้วยถ้อยคำที่ค่อนข้างเป็นทางการ น่าเชื่อถือ มีการอ้างข้อมูลประกอบ                1) รายการข่าว/เล่าข่าว                    รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงภาพกราฟิก (ตราสินค้าปรากฏที่ฉากหลัง, มีโลโก้สินค้าปรากฏในจอด้านหน้าโต๊ะผู้ประกาศข่าว) แฝงวัตถุ (วางสินค้าไว้ที่โต๊ะ, พิธีกรพูดถึงสินค้าและมีการแพนกล้องไปที่สินค้า) และแฝงเนื้อหา (สัมภาษณ์แขกรับเชิญเกี่ยวกับปัญหาความงาม แล้วโยงไปสู่สินค้า)                2) รายการสุขภาพ                    รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงเนื้อหา (พิธีกรนำเสนอเรื่องสุขภาพ แล้วแนะนำสินค้าที่มีสรรพคุณในการดูแลสุขภาพ)           3.2 รายการที่นำเสนอเรื่องแต่ง (Fiction)                 มักจะสอดแทรกโฆษณาแฝงเข้ากับเรื่องราวหรือตัวละคร เช่น แฝงกับสถานที่ หรือตัวละครมีความจำเป็นต้องใช้สินค้านั้นๆ                1) ซิทคอม                    รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงวัตถุ (วางสินค้าเป็นอุปกรณ์ประกอบฉาก, มีป้ายสินค้าเป็นฉากหลัง) และแฝงเนื้อหา (ตัวละครมีอาชีพที่ต้องใช้สินค้านั้นๆ)                2) ละคร/ซีรีส์                    รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงภาพกราฟิก (โลโก้สินค้าปรากฏที่มุมจอ) และแฝงเนื้อหา (ตัวละครหยิบสินค้าขึ้นมาใช้ มีการพูดถึงตราสินค้าโดยตรงหรือกล้องแพนไปที่สินค้านั้น)           3.3 รายการให้ความบันเทิงเบาสมอง (Light Entertainment)                 พบว่าโฆษณาแฝงมีความกลมกลืนกับเนื้อหาของรายการ เช่น รายการทอล์กโชว์ที่สัมภาษณ์นักแสดงหญิงก็มักจะแฝงสินค้าด้านความสวยความงาม หรือรายการทำอาหารก็มีโฆษณาแฝงเกี่ยวกับอาหาร                1) รายการทอล์กโชว์                     รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงสปอตสั้น (ก่อนเข้ารายการมีโลโก้และเสียงบรรยายผู้สนับสนุนรายการ) แฝงภาพกราฟิก (โลโก้สินค้าปรากฏที่มุมจอเป็นระยะ) แฝงวัตถุ (มีสินค้าวางบนโต๊ะและมีภาพสินค้าที่ฉากหลัง) และแฝงเนื้อหา (สัมภาษณ์แขกรับเชิญเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว ผลงาน แล้วโยงไปสู่สินค้าในตอนท้าย)                2) รายการเกมโชว์/แข่งขัน                     รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงสปอตสั้น (แนะนำผู้สนับสนุนรายการ) และแฝงวัตถุ (มีป้ายโลโก้สินค้าตรงที่นั่งของผู้แข่งขัน)                3) รายการอาหาร                    รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงภาพกราฟิก (โลโก้สินค้าปรากฏที่มุมจอ) แฝงวัตถุ (วางสินค้าไว้ในฉาก) แฝงบุคคล (พิธีกรใส่ผ้ากันเปื้อนที่มีตราสินค้า) และแฝงเนื้อหา (แจกสินค้าให้แขกรับเชิญ หรือร่วมสนุกตอบคำถามชิงรางวัลจากสินค้ายี่ห้อนั้นๆ)                4) รายการแนะนำอาชีพ                     รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงเนื้อหา (สัมภาษณ์แขกรับเชิญที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ แล้วเชื่อมโยงไปถึงสินค้า)                5) รายการประเภทอื่นๆ เช่น วาไรตี้ ท่องเที่ยว                     รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงภาพกราฟิก (มีภาพสินค้า ตราสินค้า และสโลแกนปรากฏที่มุมจอ) และแฝงเนื้อหา (พาชมบ้านแขกรับเชิญแล้วพบสินค้าวางอยู่ แขกรับเชิญก็บรรยายสรรพคุณสินค้า พร้อมกับชี้ชวนให้ซื้อ)          3.4 รายการแนะนำสินค้าโดยเฉพาะ                มักจะสอดแทรกโฆษณาแฝงที่เข้ากับรูปแบบรายการ เช่น รายการเชิงสุขภาพก็นำเสนอสินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพ มีการอ้างอิงข้อมูลจากผู้ใช้สินค้าจริงและข้อมูลทางการแพทย์หรืองานวิจัย รายการวาไรตี้มีการแบ่งเนื้อหาเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกมีลักษณะเป็นซิทคอมก็ใช้รูปแบบแบบแฝงวัตถุ (จัดวางสินค้าเป็นอุปกรณ์ประกอบฉาก) ช่วงต่อมาจะเป็นการแข่งขันโดยนำสินค้ามาเป็นโจทย์ให้ผู้แข่งขันทายราคา เป็นต้น                จากข้อมูลที่กล่าวมาจะเห็นว่าโฆษณาแฝงในรูปแบบดั้งเดิมก็ยังคงดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ได้ล้มหายไปจากหน้าจอโทรทัศน์ และในขณะเดียวกันก็ยังมีโฆษณาแฝงรูปแบบใหม่เพิ่มเติมเข้ามา ซึ่งสามารถตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมได้ใน 2 ประเด็น ดังนี้                 1. รายการ ‘ยั่งยืน’ กับ ‘ไม่ยั่งยืน’                      เราสามารถแบ่งลักษณะของรายการโทรทัศน์ออกเป็น 2 รูปแบบ คือ รายการ ‘ยั่งยืน’ หมายถึง รายการที่ออกอากาศมานาน/มีระยะเวลาในการออกอากาศ 1 ชั่วโมงขึ้นไป/อยู่ในช่วงเวลาไพร์มไทม์ (prime time)/กำหนดวันและเวลาออกอากาศที่แน่นอน/เป็นรายการที่มีจำนวนผู้ชมมากหรือเป็นที่รู้จักในวงกว้าง กล่าวได้ว่า เป็นรายการที่มีแนวโน้มจะคงอยู่ในระยะยาว เช่น รายการทูเดย์โชว์ (3 HD), คุยโขมงบ่ายสามโมง (MCOT HD), ซีรีส์เป็นต่อ 2018 (ONE 31)                     รายการ ‘ไม่ยั่งยืน’ หมายถึง รายการที่เพิ่งผลิตและออกอากาศในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา/มีระยะเวลาในการออกอากาศ 10-30 นาที (บางรายการอาจถึง 1 ชั่วโมง)/วันและเวลาออกอากาศไม่แน่นอน กล่าวได้ว่า เป็นรายการที่มีแนวโน้มจะคงอยู่เพียงชั่วคราวหรือในระยะสั้นๆ เช่น รายการใส่ใจไกลโรค (ช่อง 8), รายการพลังชีวิต (NOW 26)                     แม้ว่ารายการทั้งสองรูปแบบจะมีความแตกต่างกันในด้านคุณลักษณะ แต่กลับพบว่ามีการนำเสนอโฆษณาแฝงด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งในอดีตนั้นรายการยั่งยืนจะไม่นำเสนอโฆษณาแฝงอย่างหนักหน่วงเหมือนเช่นปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นวิกฤตการณ์ขององค์กรสื่อ ตลอดจนความย่ำแย่ทางเศรษฐกิจที่ทำให้ผู้ผลิตรายการและสถานีโทรทัศน์แทบทุกช่องต้องหาทางเอาตัวรอดจากสภาวะดังกล่าว เราจึงพบโฆษณาแฝงกระจายตัวไปตามรายการต่างๆ อย่างครอบคลุมไม่ว่าช่องเล็กหรือใหญ่ก็ตาม                  2. แฝงแบบ ‘เนียน’ กับ ‘ไม่เนียน’                      อาจกล่าวได้ว่า รูปแบบของโฆษณาแฝงมีทั้งแนบเนียนและไม่แนบเนียน ซึ่งอธิบายได้ดังนี้                      แนบเนียน หมายถึง นำเสนอเนื้อหาสาระที่เกี่ยวข้องกับรายการ แล้วจึงนำไปสู่การเสนอขายผลิตภัณฑ์  เช่น รายการทอล์กโชว์มีการสัมภาษณ์นักแสดงเกี่ยวกับการดูแลตนเอง แล้วจึงโยงเข้าสู่ผลิตภัณฑ์ หรือรายการด้านสุขภาพนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บและการดูแลสุขภาพ แล้วจึงแนะนำผลิตภัณฑ์ ซึ่งลักษณะการดำเนินรายการจะค่อนข้างราบลื่น (smooth) มีลำดับขั้นตอนในการนำพาไปสู่เป้าหมาย (ผลิตภัณฑ์สุขภาพ) มีจุดเชื่อมโยงที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกคล้อยตามได้                      ไม่แนบเนียน หมายถึง เสนอขายผลิตภัณฑ์อย่างโจ่งแจ้ง โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับเนื้อหาสาระในรายการ เช่น รายการข่าว ผู้ประกาศข่าวอธิบายสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ชิ้นหนึ่ง พร้อมชี้ชวนช่องทางการสั่งซื้อให้แก่ผู้ชม โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับข่าวที่นำเสนอแม้แต่น้อย ลักษณะเช่นนี้อาจทำให้ผู้ชมเกิดความตะขิดตะขวงใจ เนื่องจากเนื้อหาที่ไม่ปะติดปะต่อกัน                       ข้อแตกต่างดังกล่าวนอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงระดับความสร้างสรรค์ของผู้ผลิตในการจัดวางโฆษณาแฝงลงในรายการของตนเองแล้ว ยังสามารถตั้งข้อสังเกตต่อไปได้อีกว่า การนำเสนอแบบแนบเนียนนั้นค่อนข้างน่าเป็นห่วงกว่า เพราะผู้ชมเสพเข้าไปโดยไม่รู้ตัว ทำให้คล้อยตามไปกับสารที่ได้รับอย่างง่ายดาย ในขณะที่การนำเสนอแบบไม่แนบเนียนมักจะทำให้ผู้ชมรู้ตัวและรู้ทันเสียก่อน จนนำไปสู่การระแวดระวังได้ แต่ก็ไม่แน่เสมอไปหากมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น ความน่าเชื่อถือของผู้ดำเนินรายการ ความถี่ในการรับชม เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่ส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้ชมได้ทั้งสิ้น                        แต่ไม่ว่าโฆษณาแฝงเหล่านี้จะถูกนำเสนอหรือรังสรรค์ออกมาในแบบใดก็ตามต่างก็สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของวงการทีวีดิจิทัลได้เป็นอย่างดี ในยุคสมัยที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ คาดหวังเนื้อหาน้ำดีมีคุณภาพ ผู้ประกอบการเองก็ต้องขวนขวายหาทางอยู่รอดเช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคที่ต้องตระหนักถึงสิทธิที่พึงมี เสพสื่ออย่างระแวดระวัง และรู้จักตรวจสอบสิ่งที่เสพอยู่เสมอ เมื่อผู้บริโภคมีความกระตือรือร้น (active consumers) ก็ย่อมส่งผลไปยังผู้ประกอบการที่ต้องปรับตัวให้ตอบสนองต่อความรู้เท่าทันและพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนได้ในอนาคต  แหล่งข้อมูล:ธาม เชื้อสถาปนศิริ. (2552). รู้เท่าทันโฆษณาแฝง. กรุงเทพฯ: ออฟเซ็ทครีเอชั่น.ปวรรศ จันทร์เพ็ญ. (2560). กลยุทธ์ใหม่กับโฆษณาแฝงในปัจจุบัน. นิเทศสยามปริทัศน์, 12(13).พชร แกล้วกล้า และคณะ. (2559). จับตายโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย. กรุงเทพฯ: พิมพ์ดี. 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 ฉวยโอกาสโฆษณา

“การตรวจสอบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต้องทำด้วยความรอบคอบ และสื่อสารให้ชัดเจน  มิฉะนั้นอาจถูกผู้อื่นฉวยโอกาสนี้ โฆษณาผลิตภัณฑ์ของตนได้เช่นกัน”ผมมอบหมายให้น้องนักศึกษาเภสัชศาสตร์ที่มาฝึกงานที่หน่วยงาน ลงพื้นที่ในชุมชนเพื่อแนะนำความรู้ให้กับผู้บริโภคและอาสาสมัครสาธารณสุขในชุมชนแห่งหนึ่ง หัวข้อในการให้ความรู้ครั้งนี้คือ การป้องกันอันตรายจากการใช้ยาที่มีสารสเตียรอยด์เจือปน  ซึ่งนอกจากจะทำกิจกรรมให้ความรู้แล้ว  ยังมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างนักศึกษาและผู้บริโภคด้วย และยังมีบริการตรวจสอบยาต่างๆ จากผู้บริโภคด้วยว่ามีสารสเตียรอยด์เจือปนหรือไม่ในระหว่างที่นักศึกษาทำการตรวจสอบยาต่างๆ นั้น  มีคุณป้าท่านหนึ่งนำยาสมุนไพรชนิดหนึ่งมาให้ตรวจสอบว่ามีสารสเตียรอยด์ปนเปื้อนหรือไม่  ผลการตรวจสอบด้วยชุดทดสอบเบื้องต้นพบว่าไม่มีสารสเตียรอยด์เจือปน  แต่แทนที่เรื่องจะจบ ปรากฏว่าคุณป้าท่านนั้นกลับถือโอกาสแนะนำผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ให้ผู้บริโภคท่านอื่นทันที“ฉันเคยเห็นคนรู้จักที่เคยเป็นฝ้า  อยู่ๆ ก็หน้าใสขึ้น  ถามดูเลยรู้ว่าใช้ยาสมุนไพรตัวเดียวกับหลานสาวฉัน  ฉันเลยลองเอามากินดูบ้าง  อาการตกขาวก็หายไป  คนยังชมฉันเลยว่าทำไมหน้าใสผิวพรรณเต่งตึงมากขึ้น  นี่กินมาสองเดือนแล้ว  มีคนนำมาขายป้าต่อๆ ใครสนใจฉันจะแบ่งขาย เม็ดละ 1 บาท มีสามร้อยเม็ด”น้องๆ นักศึกษาเลยต้องรีบอธิบายว่า  การที่ยานี้ตรวจไม่พบสารสเตียรอยด์นั้นไม่ได้หมายความว่าไม่มีสารอันตรายชนิดอื่นเจือปนอยู่ การที่ผู้บริโภครับประทานยานี้แล้วมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นทันที  เช่น หน้าใส ฝ้าหาย ตกขาวหาย แสดงว่าอาจจะมีส่วนผสมของสารอื่นๆ ก็ได้ และยาตัวนี้ไม่มีทะเบียนด้วย เรายิ่งไม่รู้เลยว่าคนผลิตเขาใส่สารอะไรเติมลงไปหรือไม่ นอกจากผิดกฎหมายแล้วยังอาจจะเสี่ยงอันตรายด้วยซ้ำ  น้องๆ นักศึกษาพูดยังไม่จบ  คุณป้าท่านนี้ก็หายตัวไปจากที่อบรมทันทีเหตุการณ์ทำนองนี้มักจะเกิดกับเจ้าหน้าที่เสมอๆ โดยเฉพาะช่วงดำเนินการกับผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย จำได้ว่าในอดีต ช่วงหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดหนึ่ง เป็นข่าวครึกโครมทางสื่อมวลชน  ปรากฏว่าตัวแทนขายตามต่างจังหวัดกลับฉวยโอกาสบอกผู้บริโภคว่า ให้รีบซื้อสินค้าของตนโดยด่วนเพราะของปลอมถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีแล้ว ผู้บริโภคในยุคนี้จึงจำเป็นต้องเท่าทันกับผลิตภัณฑ์อันตราย เพราะนอกจากการโฆษณาโอ้อวดเกินจริงแล้ว ยังต้องเท่าทันเทคนิคการขายแบบตัวต่อตัวที่ฉวยโอกาสจากสถานการณ์ต่างๆ หลอกลวงผู้บริโภคด้วย ยังไงใช้คาถา 4 สงสัย 2 ส่งต่อ แบบที่เคยแนะนำในเล่มที่แล้ว เตือนสติตัวเองด้วยนะครับจะได้ไม่เสี่ยงจากผลิตภัณฑ์อันตรายต่างๆ  “4 สงสัย” (1) สงสัยไม่มีหลักฐานการอนุญาต? (2) สงสัยขาดข้อมูลแหล่งที่มา? (3) สงสัย : โฆษณาเวอร์เกินไป? (4) สงสัยใช้แล้วผิดปกติ? “2 ส่งต่อ” (1) ส่งต่อข้อมูลเตือนภัย (2) ส่งต่อเจ้าหน้าที่

อ่านเพิ่มเติม >