ฉบับที่ 219 ซักผ้ายุค 4.0

        พอกล่าวถึงคำว่า 4.0 ในการซักผ้า หลายท่านคงคิดว่าผู้เขียนคงจะเขียนเรื่องเครื่องซักผ้าที่ควบคุมการสั่งงานทางไกลด้วยระบบโทรศัพท์มือถือผ่าน IOT (internet of things ซึ่งถ้าจะให้ประสิทธิภาพดีต้องเป็น 5.0 ซึ่งกำลังมา) ดังที่หลายๆ คนคลั่งไคล้กัน  แต่ในความจริงนั้นไม่ใช่ เพราะผู้เขียนใช้คำว่า 4.0 เพียงเพื่อต้องการให้เห็นว่ามันเป็นไปตามยุคสมัยที่หลายๆ อย่างเกิดขึ้นทั้งที่ไม่จำเป็นต้องเกิด เพราะมีการขายสินค้าที่ช่วยในการซักผ้าแบบใหม่คือ ก้อนโลหะแมกนีเซียมในถุงตาข่ายใยสังเคราะห์            ก่อนกล่าวถึงการใช้โลหะแมกนีเซียมในการซักผ้านั้น ขอคุยเรื่องเกี่ยวกับองค์ประกอบหลักของการซักผ้าทั่วไปก่อนคือ ผงซักฟอกหรือน้ำยาซักผ้า มีองค์ประกอบพื้นฐานหลักคือ สารซักฟอก อาจมีการผสมสาร เช่น สารฟอกขาว ที่ทำให้ผ้าดูสดใส สารฟลูออเรสเซนต์ เพื่อดูดซับแสงอัลตราไวโอเลตแล้วสะท้อนกลับเป็นแสงสีฟ้าทำผ้าดูขาวสะอาดขึ้น  สารให้กลิ่นหอม ซึ่งบางคนอาจบอกว่าไม่หอมก็ได้ แล้วอาจมีการเติม เอ็นซัมหลายชนิดเพื่อช่วยกำจัดโปรตีน แป้งและไขมันที่ติดเสื้อผ้า ซึ่งอาจได้ผลหรือไม่ได้ผลตามคำโฆษณา โดยไม่มีองค์กรที่น่าเชื่อถือใดพิสูจน์รับรอง พร้อมลูกเล่น (gimmick) อื่น ๆ ที่ผู้ผลิตใส่เข้าไปเพื่อดึงดูดใจหรือทำให้ผู้บริโภคงง        สมัยโบราณนั้น สบู่ผลิตขึ้นจากวัตถุดิบที่หาได้ไม่ยากคือ ไขมัน ซึ่งมีกรดไขมันจากพืชหรือสัตว์ และด่างแก่ คือ โซเดียมไฮดรอกไซด์หรือโปตัสเซียมไฮดรอกไซด์ ดังนั้นเมื่อกรดไขมันทำปฏิกิริยากับด่าง โดยมีความร้อนเป็นตัวช่วย สิ่งที่ได้จึงเป็นโมเลกุลเกลือที่ละลายน้ำ พร้อมอีกส่วนที่เป็นไขมัน ซึ่งมีความสามารถจับไขมันได้ ทำให้สบู่สามารถดึงเอาไขมันออกมาจากเสื้อผ้าให้มาละลายอยู่ในน้ำ หลักการดังกล่าวนี้ใช้อธิบายประสิทธิภาพของสารซักฟอกในปัจจุบันได้        สิ่งสกปรกที่มักอยู่บนเสื้อผ้าที่ถูกสวมใส่นั้น โดยทั่วไปคือ เหงื่อ ซึ่งเป็นของเหลวที่ร่างกายขับออกมาทางผิวหนังหรือตามซอกหลืบต่างๆ ของร่างกาย มีรสเค็มเพราะมีเกลือเป็นส่วนประกอบ การออกกำลังกาย ความเครียด ความหวาดกลัวหรือเวลาอากาศร้อน ทำให้มีเหงื่อ ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นน้ำร้อยละ 99 ส่วนอีกร้อยละ 1 นั้นประกอบด้วย ยูเรีย น้ำตาล ไขมัน ซึ่งมาจากต่อมไขมันใต้ผิวหนัง โซเดียม โพแทสเซียม แมกนีเซียม เหล็ก เป็นต้น ตัวปัญหาที่ทำให้เสื้อผ้าที่ถูกใส่แล้วมีกลิ่นเหม็นคือ ไขมันซึ่งเมื่อทิ้งไว้บนเสื้อผ้าเป็นเวลานานจะถูกแบคทีเรียย่อยให้กรดไขมันไม่อิ่มตัวในไขมันจากเหงื่อนั้นเปลี่ยนไปเป็น สารกลุ่มอัลดีไฮด์ ที่ให้กลิ่นไม่พึงประสงค์ ดังนั้นผงซักฟอกบางสูตรจึงมีการเติมสารที่ฆ่าแบคทีเรียได้ดีเช่น สารที่ให้อนุมูลธาตุเงิน ซึ่งมักใช้คำว่า ซิลเวอร์นาโน          เมื่อมาถึงยุค 4.0 ผู้เขียนพบว่ามีคนใช้เฟซบุ๊คโฆษณาขายสินค้าที่ดูเผินๆ นึกว่าเป็นฟองน้ำล้างจาน แต่เมื่อพิจารณาอีกทีปรากฏว่า ไม่ใช่ เพราะในถุงตาข่ายนั้นแทนที่จะเป็นฟองน้ำสังเคราะห์กลับเป็น เม็ดโลหะค่อนข้างกลมดูคล้ายตะกั่วถ่วงแหจับปลา และมีการโฆษณาว่า ถุงนั้นเป็นอุปกรณ์ที่มาแทนผงซักฟอก โดยนำเอาถุงนั้นใส่ลงในเครื่องซักผ้าพร้อมผ้าที่ต้องการซัก หลังเปิดเครื่องให้ทำงานแล้วสามารถนั่งรอเวลาเครื่องปิดเมื่อครบรอบการซัก หรือจะไปทำอะไรอย่างมีความสุขกับคนในครอบครัว โดยเสื้อผ้าที่ซักแล้วปราศจากคราบสกปรก มีความสะอาดเอี่ยมจนดมกลิ่นแห่งความสะอาดได้ ไม่ทำให้ระคายผิวทั้งเด็กและผู้ใหญ่         สินค้านี้มีโฆษณาหลายคลิปใน YouTube เมื่อดูแล้วพอสรุปข้อมูลได้ว่า โลหะที่ช่วยในการซักผ้านั้นคือ แมกนีเซียม เป็นสินค้าจากผู้ผลิต ซึ่งเดิมใช้แมกนีเซียมในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ แต่สังเกตพบว่าแมกนีเซียมซึ่งเป็นโลหะที่เบามากนั้นเวลาขึ้นรูปเป็นชิ้นส่วนของรถยนต์จะมีฝุ่นฟุ้งกระจาย เมื่อกวาดมารวมกันปรากฏว่าเกิดเป็นประกายไฟขึ้นได้จึงมีคำถามว่าประกายไฟที่เกิดนั้นมาจากไหน         ในทางเคมีนั้นแมกนีเซียมเป็นโลหะกลุ่มอัลคาไลน์เอิร์ธ ชนิดที่สามารถติดไฟได้เองในอากาศที่ชื้นมากๆ (คล้ายกับโลหะโซเดียมซึ่งไวไฟมากจนต้องเก็บในน้ำมันเพื่อไม่ให้สัมผัสน้ำจากอากาศ) คำอธิบายถึงการติดไฟได้นั้นน่าจะเป็นว่า เมื่อแมกนีเซียมเจอน้ำแล้วเกิดปฏิกิริยาเคมีได้ด่างแก่คือ แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (Mg(OH)2) พร้อมได้กาซไฮโดรเจน (H2) ซึ่งติดไฟได้ด้วย         ผู้เขียนเข้าใจเอาเองว่าสิ่งที่ต้องตาเจ้าของโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์คือ น้ำที่ได้จากการเอาโลหะแมกนีเซียมใส่ลงไปนั้นมีความลื่นเพราะเป็นด่าง ปรากฏการณ์นี้อาจกระตุ้นให้เจ้าของโรงงานย้อนคิดไปถึงอดีตครั้งเป็นเด็กที่เคยซักผ้าด้วยน้ำด่างขี้เถ้า จึงปิ๊งไอเดียว่าแมกนีเซียมน่าจะทำเงินให้เขาได้ในรูปของวัสดุช่วยในการซักผ้าที่ไม่น่าทำอันตรายสิ่งแวดล้อม...มากนัก         หลักการที่น้ำด่างทำให้เสื้อผ้าสะอาดได้นั้น มีฝรั่งคนหนึ่งอธิบายในอินเทอร์เน็ตว่า ปรกติแล้วการใช้สบู่ซักผ้านั้น สบู่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่ยึดระหว่างไขมันที่หลุดออกจากเสื้อผ้าให้ละลายน้ำ แต่ในการใช้แมกนีเซียมนั้นเป็นการตัดขั้นตอนการใช้สบู่ โดยให้อนุมูลแมกนีเซียม (Mg++) พร้อมกับอนุมูลไฮดรอกซิล (OH- ซึ่งเป็นตัวทำให้สภาวะแวดล้อมมีความเป็นด่าง) ที่เกิดขึ้นเมื่อใส่โลหะแมกนีเซียมลงน้ำนั้น เข้าจับตัวกับไขมันที่เกาะในเนื้อผ้าได้เป็นสบู่โดยตรง จากนั้นสบู่จับเหงื่อไคลก็ละลายน้ำออกมา        อย่างไรก็ดีมีประเด็นที่ผู้เขียนขอตั้งไว้สำหรับผู้ประสงค์จะทันสมัยแบบ 4.0 ในการซักผ้าโดยไม่ใช้ผงซักฟอกคือ โฆษณาสินค้านี้ในหลายๆ คลิปนั้น ไม่มีส่วนไหนที่แสดงวิธีการใช้สินค้าชิ้นนี้อย่างละเอียดเลย มีแค่การใส่ถุงบรรจุโลหะแมกนีเซีมลงไปกับผ้าที่จะซัก แล้วก็ตัดภาพไปช่วงที่ผ้าซักเสร็จ ทำให้สงสัยว่า ถุงใส่โลหะแมกนีเซียมนั้นอยู่ในถังตลอดวงรอบของการซักเลยหรือ ถ้าเป็นเช่นนั้นแสดงว่า น้ำด่างที่เกิดบางส่วนคงเหลือติดผ้าในช่วงการปั่นครั้งสุดท้ายด้วย ทั้งที่โดยปรกติแล้วถ้าเราใช้น้ำยาซักผ้าแบบเดิม น้ำยานั้นจะถูกทิ้งในน้ำแรก จากนั้นจะมีการล้างผ้าเอาน้ำยาออกอีกราว 1-2 ครั้ง เพื่อให้มีน้ำยาซักผ้าเหลือติดผ้าน้อยที่สุดเพื่อป้องกันการระคายเคืองผิว ส่วนในกรณีของการใช้โลหะแมกนีเซียมซักผ้านั้นแม้ว่าไม่มีการผสมสารอื่นลงไปด้วย แต่ความเป็นด่างของน้ำ ซึ่งมีคำอธิบายในคลิปหนึ่งว่า ค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) อยู่ที่ประมาณ 10 ซึ่ง (อาจ) ติดผ้าถือว่าไม่น่าจะปลอดภัยต่อผิวผู้สวมใส่เสื้อผ้า (โดยเฉพาะเด็กแล้วน่าจะไม่ดี) แต่ในโฆษณานั้นกล่าวว่า ไม่เป็นอันตรายต่อผิวเด็ก ประเด็นนี้จึงน่าจะยังรอการพิสูจน์จากหน่วยงานที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนต่อสินค้านี้        สิ่งที่ผู้เขียนสนใจอีกประเด็นหนึ่งคือ ราคาของถุงโลหะแมกนีเซียมนั้นคือเท่าไร เมื่อเข้าไปในเว็บซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการขายออนไลน์ขนาดใหญ่ก็พบว่า 1 ถุงนั้นมีราคาเกือบ US.$ 50 เมื่อคำนวณเป็นเงินบาทที่ประมาณ 31 บาทต่อ US.$ 1 คงประมาณกว่า 1,500 บาท และในโฆษณาการขายนั้นบอกว่า แร่ 1 ถุงนั้นใช้ได้ 365 วัน เมื่อซักวันละ 1 ครั้ง ซึ่งหมายความว่าค่าใช้จ่ายตกแค่ 4 บาทกว่าเล็กน้อย เรื่องค่าใช้จ่ายจึงไม่น่าเป็นปัญหาอะไร...แต่         ยังมีคำถามหนึ่งที่เมื่อนึกถึงหลักการทางเคมีว่า ปริมาณการเกิดปฏิกิริยาได้น้ำด่างจากโลหะนั้นคงเส้นคงวาทุกครั้งที่ซักตลอด 1 ปี หรือไม่ เพราะในหลักการแล้ว ทุกครั้งที่ถุงโลหะถูกใช้งาน ปริมาณเนื้อโลหะแมกนีเซียมย่อมลดลงทุกครั้ง ดังนั้นการพิสูจน์ว่าปริมาณด่างที่เกิดในการใช้ครั้งที่ 1 นั้นต่างจากการใช้ในครั้งที่ 365 หรือไม่นั้นจำเป็นนัก เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคที่แท้จริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 ไทยแลนด์ 4.0 หรือจะสู้ไทยลวง 4.0

ตอนนี้ ไทยแลนด์ 4.0 กำลังฮิต แต่ผมว่าที่มาแรงกว่า คือ ไทยลวง 4.0 เพราะเป็นการลวงผู้บริโภคอย่างได้ผล โดยเฉพาะผู้บริโภคที่ไม่ค่อยเท่าทันคนลวง จะเผลอเป็นเหยื่อได้ง่าย มาลองดูกันว่าคนใกล้ตัวเราเคยเจอแบบนี้บ้างหรือเปล่า1. บูชาสาธุ : เทคนิคนี้ ผู้ขายสินค้าหลอกลวงจะอ้างอิงความเชื่อและศรัทธาของคนไทย พยายามทำให้ผลิตภัณฑ์ของตนดูศักดิ์สิทธิ์ ด้วยเทคนิคแพรวพราว บางทีเจ้าของผลิตภัณฑ์จะยกยาหรือพระขรรค์ขึ้นเหนือหัว อ้างว่าเคารพครูบาอาจารย์ บางทีก็ท้าสาบานต่อหน้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เล่นแบบนี้  ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ สุดท้ายก็ระทวยทรัพย์ไปจากกระเป๋าเพราะค่ายกครูยาแบบนี้ราคาไม่ถูก ส่วนใหญ่ก็หมดเป็นร้อยเป็นพัน บางรายหมดไปเกือบหมื่นก็มี2. อ้างอิงไปทั่ว : เทคนิคนี้จะใช้การอ้างอิงกับผู้ป่วยรายอื่น และแน่นอนจะต้องบอกว่าผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ดี เคยมีผู้ป่วยรายก่อนๆ นำไปรับประทานแล้วหาย อ้างว่าอัมพฤกษ์ อัมพาต ยังลุกขึ้นมาเดินได้ บางครั้งอ้างถึงขนาดว่าตาบอดยังกลับมามองเห็นได้  แต่ส่วนใหญ่ที่ว่าหายๆ พอขอดูตัวเป็นๆ กลับหายหัวไปหมด3. หวาดกลัวยาเคมี : เทคนิคนี้จะจับกระแสที่คนกลัวยาแผนปัจจุบัน อยากได้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ผู้ขายจะโน้มน้าวว่า ยาแผนปัจจุบันคือสารเคมี ควรหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่ตนจำหน่ายดีกว่า เพราะเป็นของจากธรรมชาติล้วนๆ (แต่คงลืมนึกไปว่า กว่าจะสกัดมาขายอย่างนี้  ก็ใช้สารเคมีสกัดมาเหมือนกัน) สุดท้ายเหยื่อก็เคลิ้มไปเรียบร้อย4. ส่งทุกที่ไปรษณีย์ไทย : เทคนิคนี้ ผู้ขายจะหาพื้นที่สื่อในโลกโซเชียล โฆษณาสรรพคุณมหัศจรรย์จนตะลึง และให้สั่งซื้อได้ทางไปรษณีย์ ซึ่งรวดเร็วถูกใจเหยื่อที่ใจร้อนอยากหายไวๆ แค่นี้ก็ขายได้แล้ว ไหนๆ ก็เจอไทยลวง 4.0  แล้ว ขอเสนอ คาถาปราบลวง 4.0 สู้กันซึ่งๆ หน้าไปเลย1. สู้บูชาสู้สาธุ : ค่ายกครูตามความเชื่อของคนไทยต้องไม่แพง ในชนบทเขายกกันไม่กี่บาท ถ้ายกเป็นร้อยเป็นพันน่ะ มันไม่ใช่ยกครูแล้ว มันทำท่าจะยกเค้าซะมากกว่า ถ้าแพง อย่าเพิ่งรีบเชื่อ2. สู้อ้างอิงไปทั่ว : ลองช่วยกันแอบดูว่า พวกคนขายที่อ้างอิงว่าผลิตภัณฑ์ของตนดีแบบมหัศจรรย์นั้น เวลาเจ็บป่วย เขาใช้ผลิตภัณฑ์ที่ขายรักษาตนเองหรือไม่ หรือแอบไปรักษาตัวที่ไหน เท่าที่เจอมา ส่วนใหญ่เวลาเจ็บป่วยก็หอบสังขารไปโรงพยาบาลกันทั้งนั้น ท่องไว้เลยว่า ถ้าผลิตภัณฑ์ดีจริง ทางโรงพยาบาลต้องเอาไว้ใช้เป็นยารักษาผู้ป่วยแล้ว ไม่ใช่ให้มาแอบขายโฆษณาโอเวอร์ๆ แบบนี้3. อย่าหวาดกลัวยาเคมี : ตั้งสติให้ดีครับ ยาเคมีกว่าจะออกมาใช้กับมนุษย์ได้ เขาต้องมีการตรวจสอบความปลอดภัยจนมั่นใจ แต่ยาก็เหมือนกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ บางคนอาจมีการแพ้ หรือมีผลข้างเคียงได้ บุคลากรสาธารณสุขเขามีหน้าที่ดูแลตรงนี้อยู่แล้ว  ส่วนผลิตภัณฑ์ที่มาหลอกขายราคาแพงๆ นั้น กว่าจะมาเป็นผลิตภัณฑ์ มันก็ต้องผ่านกระบวนการทางเคมีบ้างเหมือนกัน ไม่ใช่หยิบมาจากธรรมชาติมากินได้ทันที4. ส่งทุกที่แต่ส่งมาจากที่ไหน :  ปกติกฎหมายจะกำหนดให้ยาต้องจำหน่ายในสถานที่ที่ต้องได้รับอนุญาต เพื่อให้มีหลักแหล่งแน่นอน ตรวจสอบได้ ของที่ส่งมาแบบไม่มีหัวนอนปลายเท้า ชื่อผู้และสถานที่ส่งก็ไม่รู้ว่ามีจริงหรือเปล่า เราจะยอมเอาสุขภาพเราไปเสี่ยงหรือยังไงผู้บริโภคยุค 4.0 ตั้งสติกันให้ดีนะครับ ไม่ชอบมาพากลใช้คาถาปราบลวง 4.0 สู้กันเลย โชคดีนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >