ฉบับที่ 188 60 Plus+ “ให้ทุกคนเห็นว่าคนพิการทำงานได้ ทุกคนมีจุดแข็ง จุดอ่อนที่มาเติมเต็มกันและกัน”

ริมถนนราชวิถี อาณาบริเวณติดกับบ้านราชวิถี เป็นที่ตั้งของร้าน 60 Plus+ Bakery & Cafe โครงการดีๆ ที่เปิดโอกาสให้คนอีกกลุ่มหนึ่งในสังคมได้ใช้สิทธิในสังคมอย่างสมบูรณ์แบบ“โครงการนี้เป็นโครงการเฉลิมฉลองครบ 60 พรรษาของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เราจึงอยากให้เป็น Living Present คือของขวัญที่มีชีวิต ซึ่งประชาชนก็ถวายของขวัญให้พระองค์ท่านมากมายแต่ให้ครั้งเดียวมันก็หมดไป แต่การที่น้องๆ อยู่ตรงนี้ทุกวันมันคือ การถวายพระพรท่านในทุกๆ วันว่าน้องๆ ทุกคนทำได้ ซึ่งร้านนี้เกิดจากความร่วมมือของศูนย์พัฒนาและอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก ( APCD) และบริษัทไทยยามาซากิจำกัด จากประเทศญี่ปุ่น และผู้ค้าอื่นๆ จุดเริ่มต้นคือการที่เราทำ Showcase ให้ทุกคนเห็นว่าคนพิการทำงานได้ มันเป็นรูปแบบนามธรรมที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก เวลาที่เรานึกถึงคนพิการส่วนใหญ่แล้วเขาก็จะโดนจ้างจากบริษัทให้ทำงานเป็นพวก Call Center อะไรพวกนั้นแต่ในกรณีของร้านนี้น้องๆ จะได้พัฒนาเต็มศักยภาพจริงๆ เงินเดือนก็ไม่ได้ต่างอะไรกับพนักงานยามาซากิคนอื่นๆ ใช้เรทเดียวกัน ที่สำคัญคือน้องๆ จะสามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเองเพื่อที่เขาจะได้กลับไปอยู่ในสังคมที่พวกเขาคุ้นเคยอยู่แล้วได้ด้วย”น้องณูณู น้องพนักงานท่านหนึ่งเล่าให้ฟังด้วยความภาคภูมิใจ จากนั้นส่งไม้ให้คุณต้อม ดวงนฤมล ดอกรัก ผู้จัดการข้อมูลและความรู้ มูลนิธิศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก(ศพอ.) ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาเล่าต่อ“น้องๆ จะอยู่ในเครือข่ายของเราขึ้นอยู่กับว่าจะมาสมัครหรือเปล่า อย่างรุ่นแรกจำเป็นต้องใช้เครือข่ายเพราะว่าเป็นปีแรกยังไม่มีใครรู้จักร้านเรา เราต้องรับสมัครก่อนที่ร้านจะเปิดจริงๆ 9 เดือน แล้วไม่มีใครรู้จักร้านเรา ที่ตรงนี้เดิมเป็นที่รกๆ เก่าๆ แต่เราเปลี่ยนมันให้เป็นร้านเบเกอรี่และทำพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นเทอเรซคาเฟ่”ตอนเริ่มต้นฝึกกันอย่างไรบ้างค่อนข้างลองผิดลองถูกเพราะว่าเราไม่รู้เลยโดยส่วนใหญ่แล้ว APCD จะทำอบรมด้านความพิการอย่างเดียวแต่นี่ถือเป็นการฝึกครั้งแรก ซึ่งมีเวลาเตรียมตัวแค่ 3 อาทิตย์เท่านั้น คือเราได้รายชื่อมาแล้วว่าเขาพิการอะไรบ้างแล้วมานั่งคิดประยุกต์จากที่พวกเราเชี่ยวชาญเฉพาะทางกันอยู่แล้ว อย่างตัวเองเคยสอนเด็กพิการ 9 ประเภทตามหลักกระทรวงศึกษาธิการก็เลยรู้ Know how อย่างไรถึงจะสอนพวกเขาได้ ทำอย่างไรเด็กออทิสติกจะเข้าใจ ทำอย่างไรให้เด็กออทิสติก คนหูหนวกและคนที่พิการทางด้านร่างกายเขาอยู่ร่วมกันได้ คือคนพิการทางด้านร่างกายนั้น ถ้าไม่นับข้อจำกัดด้านร่างกายเขาก็คือคนปกติดีๆ นี่เอง คนหูหนวกก็เหมือนกันถ้าไม่นับเรื่องที่เขาไม่ได้ยินเขาก็เหมือนคนปกติ แต่เด็กออทิสติกถือเป็นปัญหาในช่วงนั้นเลย เพราะเราจะพูดกับเขาไม่รู้เรื่องและในปีแรกนั้นมีน้องคนหนึ่งพิการค่อนข้างรุนแรงเลย คือเขียนหนังสือไม่ได้ อ่านก็ไม่ค่อยออกด้วย แต่ว่าน้องพัฒนาจากการที่เราเคยต้องพูดปากเปียกปากแฉะทุกวันว่า ต้องทำอะไรอย่างไรบ้าง แต่ตอนนี้ลองมองตาของน้อง แววตามีแต่ความสุขทุกวันและน้องก็น่ารักเราจำวันแรกของทุกๆ คนได้เลย ทุกคนนั่งเฉยๆ เป็นต้นไม้ ไม่ไว้ใจใครทั้งนั้น เราก็คิดเหมือนกันว่าจะไปรอดไหมเพราะผู้พิการทางการได้ยินเขาก็จะมีสังคมของเขา แต่จะให้ช่วยมาดูแลน้องๆ ออทิสติกนั้นมันก็ยาก ก็ได้พี่ๆ ที่พิการทางร่างกายมาเป็นตัวเชื่อมโยงเหมือนเป็นพี่เลี้ยงให้เด็กออทิสติก และผู้พิการทางการได้ยินก็เรียกได้ว่าเป็นมือขวาของผู้พิการทางด้านร่างกายเพราะว่าเวลาพี่ๆ ที่พิการด้านร่างกายเดินช้ากว่า แต่ว่าเตา(เตาอบขนม) มันพร้อมแล้วผู้พิการทางการได้ยินเขาจะจมูกไวมาก ก็ช่วยๆ กันทำงาน เพราะการที่เราทำออเดอร์เสร็จนั้นมันคือข้อบ่งชี้ว่าเราทำได้จริง และช่วงปีแรกเราก็มีปัญหาที่ว่าน้องๆ ที่เป็นเด็กพิเศษ ไม่สามารถนั่งผูกผ้ากันเปื้อนได้ คือเขาไม่สามารถที่จะผูกด้านหลังโดยมองไม่เห็นได้ จึงคิดว่าจะทำอย่างไรดี รุ่น 2 เลยมีการสังเกตการณ์อยู่ 1 เดือนก่อนถ้ามีแววก็จะไปสู่ปฐมนิเทศของการอบรมแต่ถ้าไม่มีแววก็ต้องกลับบ้าน แต่เรามั่นใจว่าน้องๆ ทุกคนตรงนี้พอได้เป็นรุ่น 2 มันมีความเคยชินเพราะตอนรุ่น 1 ยังไม่มีร้านให้เขาฝึกงานเพราะร้านเสร็จตอนเดือน ส.ค. แต่เขามาฝึกกันตั้งแต่เดือน พ.ค. ซึ่งต้องฝึกกันถึง 6 เดือนรุ่นแรกมีกี่คน คัดมาจากจำนวนเท่าไรคัดมาจาก 14 คน ได้มาทำงานเป็นพนักงานจริงๆ 10 คน แต่เราเป็นสาขาศูนย์ฝึกไม่ใช่สาขาออฟฟิศ เพราะถ้าที่นี่เป็นสาขาออฟฟิศหมายความว่าเราจะสร้างความเข้มแข็งของผู้พิการได้จำนวนหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้าเราเป็นสาขาศูนย์ฝึกเราจะหมุนเวียนทุกปีหมายถึง เราจะสามารถสร้างความเข้มแข็งและศักยภาพให้น้องๆ พิการได้เรื่อยๆ จำนวนจะเพิ่มขึ้นทุกปี ตอนนี้เรามีกันอยู่ในร้าน 22 คนเป็นรุ่นแรก 9 คนที่แต่เดิมมี 10 คนหายไป 1 คนเพราะถูกส่งไปอยู่สาขาอื่นเรียบร้อย เขาเป็นผู้พิการทางด้านร่างกายเคยทำงานอยู่การรถไฟแห่งประเทศไทยแล้วถูกรถไฟทับขาขาดต้องใส่ขาเทียม เดี๋ยวก็จะมีคนต่อๆ ไปส่งไปอีกต้องดูเป็นคนๆ ไปใครที่ไปได้เราก็จะส่ง แต่ว่าน้องๆ รุ่นที่ 2 นี้ก็กำลังจะจบการฝึกงานสิ้นเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งเราไม่รู้เลยว่าผลการฝึกงานจะเป็นอย่างไร เพราะตัวเราเองถูกส่งมาเพื่อคอยจับตาดูน้องๆ ทุกคนเพราะเป็นผู้ฝึกอบรมมาตั้งแต่รุ่นสังเกตการณ์ สังเกตการณ์เหมือนกับให้เขาได้เตรียมตัว เตรียมทักษะก่อนหน้าที่จะไปเจอของจริงที่เป็นมาตรฐานของยามาซากิอย่างเช่นที่คีบซึ่งมั่นใจว่าน้องๆ ไม่เคยใช้แน่ๆ แต่เขาต้องฝึกใช้กันให้คล่อง ก็ต้องสอนเขาให้รู้จักการใช้วิธีการคีบอย่างไร ใส่ถุงอย่างไร การกะขนาดของขนมกับถุงที่จะใส่ด้วยสายตา เรื่องพวกนี้เราต้องใช้เวลาในการฝึกและฝึกการทำงานเป็นทีมด้วย พอมาอยู่ในนี้ทุกคนต้องทำงานเป็นทีมเดียวกันคือต้องมีทักษะที่ชำนาญในระดับหนึ่ง และถ้าเป็นไปได้เราเริ่มให้เขาจำชื่อขนมและราคาก่อน ถ้าจำได้เรื่องจำโค้ดค่อยมาเรียนทีหลังเพราะโค้ดเป็นสิ่งที่สาขาอื่นจะใช้อยู่ตลอดเพราะฉะนั้นนี่เป็นเหตุผลที่ทำไมน้องๆ ต้องเรียนโค้ดสำหรับคนที่อยู่ฝ่ายขายและโดยเฉพาะคนที่ทำหน้าที่แคชเชียร์จะต้องจำมันให้ได้ซึ่งอันที่จริงมันก็แยกตามประเภทของขนมปังอยู่แล้ว จะมีชื่อเรียกเป็นโค้ดของมันอยู่แล้ว ก็มีทั้งหมด 21โค้ดน้องแต่ละคนได้ทำหน้าที่หมุนเวียนกันไปไหมคือไม่ได้หมุนเวียนแบบ 1 คนทำทั้งฝ่ายผลิตและฝ่ายขายแน่นอน เราทำอย่างนั้นไม่ได้เพราะว่าเราต้องแยกใครมีแววด้านการผลิตก็ให้อยู่ฝ่ายผลิตไปเลย ใครอยู่ฝ่ายขายก็ฝ่ายขายไปเลย แต่ว่าจะมีน้องจุ๊บแจงจะเป็นกรณีพิเศษเขาจะอยู่ได้ทั้งฝ่ายผลิตและฝ่ายขายซึ่งมีแบบนี้ไม่กี่คน คือคิดว่าคนพิการทุกคนมีจุดแข็งจุดอ่อนเหมือนคนหนึ่งคอยมาเติมส่วนที่อีกคนหนึ่งขาด อย่างพี่ที่หูหนวกก็จะถูกจับคู่กับน้องๆ ออทิสติกซึ่งตอนแรกก็ห่วงว่าเขาจะสื่อสารกันอย่างไร สุดท้ายก็ใช้วิธีเขียนเอาบ้าง ใช้ภาษามือบ้างการสื่อสารนั้นสำคัญมากเลยเพราะเรามีทั้งออทิสติก ซึ่งการสื่อสารต้องทำความเข้าใจเขานิดหนึ่งและอย่างด้านผู้พิการทางการได้ยินก็มีทั้งหูตึง หูหนวก ซึ่งหูหนวกเขาจะสื่อสารกันโดยใช้ภาษามือ ส่วนหูตึงจะใช้การอ่านปากและการเขียน ส่วนออทิสติกภาษาที่เขาใช้คือภาษาง่ายๆ ใช้ท่าทาง คือผู้พิการทั้งหลายนั้นสิ่งที่มีร่วมกันคือการใช้ภาษาร่างกาย ภาษามือง่ายๆ ที่เราคิดกันขึ้นมาเองก็สามารถทำให้เขาเข้าใจได้เพราะเขาต้องการอะไรที่สั้นๆ สื่อความหมายได้ ซึ่งการเรียนรู้ตรงนี้ไม่ยากแต่สิ่งที่เป็นพื้นฐานมากกว่านั้นคือความรัก ถ้าเขาไม่รักกันเขาจะไม่เข้าใจกันเพราะฉะนั้นสิ่งแรกเราไม่ได้เน้นให้เขาใช้ภาษามือแต่เราฝึกให้เขาใช้ความรัก ความผูกพันและความเข้าใจกัน เข้าใจทั้งคนอื่นและเข้าใจตนเองว่าตนเองมีส่วนไหนทำได้ ส่วนไหนทำไม่ได้ เขาจะได้รู้ตัวเองว่ามีจุดดีจุดด้อยตรงไหน น้องๆ ที่มาแรกๆ นั้นเขาจะนั่งเฉยๆ เพราะเขาไม่เคยต้องทำอะไรเท่าไรตอนอยู่ที่บ้านแต่พอออกมาเขาได้ทำนู้นทำนี่แล้วเรารู้สึกดีใจที่ได้เห็นแววตามีความสุขของพวกเขา เขาสามารถบอกได้ว่าชอบหรือไม่ชอบอะไรได้ นี่คือความสำเร็จของเรา ซึ่งความรักนั้นทำให้พวกเขามีพัฒนาการที่ดีขึ้นและเขาจะมีความเชื่อมั่น เวลาเขาทำสำเร็จเราจะชื่นชม เขาจะได้รู้สึกว่าเขาทำได้น้องๆ ที่นี่ก็จะมีประเภทที่ 1 คือจิตเภท คือความคิดของเขากับความจริงจะไม่เหมือนกัน โลกของเขาอาจจะต่างกับของเรา กลุ่มที่ 2 คือประเภทไบโพลาร์คือมีอารมณ์ 2 ขั้ว เขาจะมีการกลับไปกลับมาระหว่าง 2 ขั้ว ร่าเริงสุดขั้วกับซึมเศร้าสุดขั้วแต่ช่วงเปลี่ยนระหว่าง 2 อารมณ์นี้มันจะไม่แน่นอน อาจจะเปลี่ยนแค่วันเดียวหรือเป็นเดือน เป็นปีก็ได้ อีกกลุ่มคือซึมเศร้าตลอดเวลา ตอนนี้ในรุ่น 2 เรามีน้องที่เป็นจิตเภทและไบโพลาร์อยู่ในร้านด้วย อย่างที่เป็นจิตเภทจะเห็นได้ว่าเขาไม่เคยอาละวาดกับเรา แต่เขาเคยเข้าศรีธัญญามานะ ซึ่งคนทั่วไปถ้าให้รับเข้าทำงานก็คงคิดหนักเป็นเรื่องปกติเพราะเวลามีข่าวคนจะจำภาพทำให้ติดอยู่ในใจ ทำให้รู้สึกกลัวถ้าจะมีปฏิสัมพันธ์กับเขา แต่ถ้าได้มาดูที่ร้านจะเห็นว่าไม่ว่าจะวันไหนน้องๆ เขาก็น่ารักถึงแม้ว่าบางทีจะยิ้ม จะพูดคนเดียวแต่ก็ไม่ถึงขั้นร้ายแรง ส่วนที่เป็นไบโพลาร์พอเห็นเขาดีๆ ก็ดีแต่ใจก็คิดอยู่ว่าถ้าเขาคลุ้มคลั่งขึ้นมาจะเป็นอย่างไร ซึ่งน้องก็เคยเข้ารับการรักษาที่ศรีธัญญาเหมือนกันและทานยาอยู่ซึ่งน้องไม่ได้น่ากลัวเลย ตอนนี้เราเชื่อใจเขามากจึงให้ไปทำงานที่ UNCC ลูกค้าที่ไปใช้บริการที่นั่นเป็นระดับ VIP คือเป็นราชการระดับผู้ใหญ่แต่เรากล้าที่จะให้น้องที่เป็นไบโพลาร์ไปฝึกงานที่นั่นเพราะเราต้องการจะบอกกับสังคมว่าไบโพลาร์ก็ทำงานได้ ซึ่งเราพิสูจน์แล้ว จะมีแค่เขาอาจจะพูดอะไรงงๆ แต่ไม่ได้อาละวาดใคร คือเราได้เขาคืนกลับมาในสังคมซึ่งมันยิ่งใหญ่มาก จริงๆ แล้วพวกเขามีการศึกษาสูงกันทั้งนั้น เรียนปริญญาตรีกันแต่ว่าไปต่อไม่ได้เพราะเวลาเขาเข้าไปในสังคมเขาอาจจะกลัวแต่พอเขาได้อยู่ในบรรยากาศที่มีความเข้าใจเขาอยู่ได้ ตรงนี้ที่เราเน้นมากเคยมีปัญหาจากคนที่ไม่เข้าใจน้องๆ บ้างไหมเราเลี่ยงไม่ได้เพราะอาจมีคนคิดในแง่ลบกับคนพิการแต่ว่าเราไม่สามารถไปเปลี่ยนความคิดได้ด้วยคำพูดแต่เราเปลี่ยนได้จากการกระทำแล้วสักวันหนึ่งเขาจะเปลี่ยนเอง สิ่งที่เราหวังจากร้านนี้ไม่ใช่แค่ Training ไม่ใช่แค่ร้านค้าแต่มันเป็นทั้ง 2 อย่างเป็นทั้ง Training และ Showcase ด้วยเป็น Showcase หมายความว่าเราเป็นเหมือนโชว์รูมรถ เราอยากบอกว่าคนพิการทำงานได้เราก็ต้องแสดงให้เห็นจากบรรยากาศจริงๆ ในเรื่องของสินค้าเราทำมาตรฐานเดียวกันแต่ส่วนที่เราเพิ่มคือความเป็นคนพิการ ซึ่งความเป็นคนพิการไม่จำเป็นต้องเป็นอะไรที่เศร้าหรือน่าสงสาร นั่นไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการแต่เราต้องการให้เห็นคุณภาพหรือศักยภาพของคนพิการมากกว่าถ้างานเยอะมากๆ น้องๆ เขารับมือกันอย่างไรถ้าออเดอร์เยอะเราจะแบ่งจัดสรรให้เขาทำงานเฉพาะด้านที่เขาถนัด บางคนก็อาจจะมีข้อจำกัดบ้างแต่ก็อย่างที่บอกเหมือนกับเป็นการฝึกมากกว่า เราจะมีการให้จับคู่กับคนที่ไม่พิการด้วยให้ทำงานคู่กันและให้สอนเขาไปด้วยพร้อมๆ กันฝากถึงคนในสังคมให้เปิดโอกาสให้น้องๆ ที่เป็นเด็กพิเศษอย่างไรดีถ้าในด้านสังคมอยากจะบอกว่าอันดับแรกคือ ให้คิดว่าคนพิการนั้นคือคนๆ หนึ่งในครอบครัวคุณเพราะคนในครอบครัวหรือตัวคุณเองก็มีสิทธิที่จะเป็นคนพิการได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจากโรคภัยหรืออุบัติเหตุแล้วถ้าในขณะนี้เรามีโอกาสทำไมเราไม่เปิดใจที่จะช่วยกันเปิดประตูที่กั้นระหว่างคนพิการกับคนในสังคม เพื่อที่จะให้คนเหล่านี้ได้เข้ามาอยู่ร่วมกับเรา ตอนนี้บางทีเราอาจจะอยู่บ้านเดียวกันแต่ว่าถ้าบ้านนั้นมีกำแพงที่มองไม่เห็นระหว่างตัวคนพิการและคนรอบข้างมันก็เป็นช่องว่างอยู่ดี ลองช่วยกันเปิดประตูมันไม่มีทางเปิดได้จากข้างใดข้างหนึ่ง คนพิการเปิดมามันก็หนักเกินไปมันต้องเปิดร่วมกัน-------------------------------------------------------------------------คุณคริส เบญจกุล: ประชาสัมพันธ์โครงการฯเข้ามาทำตรงนี้ด้วยจิตอาสาจริงๆ ก็อยากช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันและอีกอย่างคือคนในสังคมมองว่าคนพิการทำอะไรไม่ได้ อยากจะแสดงให้เห็นว่าคนพิการก็สามารถทำได้นะ ยามาซากิที่พวกเราทำอร่อยกว่าที่อื่นนะเพราะคนพิการทางหูเขาจะจมูกดีกว่าคนอื่น อันนี้หอมแล้ว อร่อยแล้ว พอเอามาให้ชิมก็อร่อยจริงๆทำหน้าที่อะไรในร้านผมอยู่ร้านวันจันทร์ ถึงวันศุกร์ครับ ยกเว้นวันที่ไม่สบายจริงๆ หรือไปหาหมอ หน้าที่ของผมช่วยฝ่ายขายและช่วยโปรโมทร้าน ส่งของเองด้วย ส่งถึงมือลูกค้าเลย ส่วนใหญ่ก็ไปส่งเกือบทุกที่ ที่ส่งเยอะที่สุดก็ที่เซ็นทรัลเวิลด์สั่งมา 5 พันเซ็ท ก็ช่วยกันเริ่มแพ็คตั้งแต่บ่าย 2 เพราะเขาต้องการก่อน 4 ทุ่ม วันนั้นทำดึกเลยครับ ไม่มีใครงอแง ช่วยกันทุกคน บางคนแฟนก็ต้องมาช่วยทำ บางคนแม่มาช่วยเพื่อให้ได้ครบ 5 พันกล่องให้ได้ฝากอะไรถึงคนอื่นๆ ที่อยากให้มองคนพิการใหม่อยากให้มองว่าคนพิการก็ทำได้ เพียงแต่ว่าต้องใช้คนให้ถูกกับงาน เช่นบางคนหูไม่ดีให้เป็นพนักงานเสิร์ฟก็ไม่ได้ ให้เลือกงานที่เขาทำได้ให้เขาทำดีกว่า

อ่านเพิ่มเติม >