ฉบับที่ 251 “แหย่-ยก-แยง” ด้วยชุดตรวจ COVID-19 ที่มีมาตรฐาน

        เรากำลังเข้าสู่ปีที่ 3 การระบาดใหญ่ของเชื้อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19; โควิด-19)  สังคมและการดำรงชีวิตมีการปรับเปลี่ยนไปจากเดิมค่อนข้างมาก คาดการณ์ว่าวิถีชีวิตของมุนษย์ได้เปลี่ยนแปลงอีกครั้งสำคัญหนึ่งของประวัติศาสตร์โลก สังคมได้เดินทางเข้าสู่วิถีปกติใหม่และกำลังตั้งเป้าหมายที่จะอยู่ร่วมกับการระบาดนี้ให้ได้         การอยู่ร่วมกับการระบาดในชีวิตวิถีใหม่ มีเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญนอกจากการรับวัคซีนคือ การตรวจสอบตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันตัวเองและคนรอบข้างเพื่อช่วยควบคุมการแพร่กระจายเชื้อไม่ให้ระบาดในวงกว้างนั่นคือการใช้ชุดตรวจเบื้องต้น หรือ ATK (Antigen Test Kit)         หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้ผ่อนปรนข้อจำกัดให้ชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS-CoV-2 (เชื้อก่อโรค COVID-19) แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen test self-test kits) ให้ชุดตรวจโควิด-19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง หรือ ATK Self Test สามารถจำหน่ายได้ทั่วไปตามร้านค้าและช่องทางออนไลน์ตั้งแต่เมื่อ 29 กันยายน 2564 เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ได้ทำให้มีชุดตรวจโควิด-19 มีจำนวนให้เลือกมากขึ้นในท้องตลาด ทั้งผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานและผลิตภัณฑ์ที่ขาดมาตรฐาน ซึ่งเมื่อนำไปใช้จะให้ผลตรวจสอบตนเองที่ผิดพลาดและมีผลต่อการควบคุมดูแลตนเอง จนเกิดการระบาดได้         เทคนิคในการตรวจสอบการติดเชื้อด้วยชุดตรวจที่ถูกต้องคือ  “แหย่ - ยก - แยง”แล้วยังต้องใช้ชุดตรวจที่มีมาตรฐานซึ่งมีวิธีสังเกตและตรวจสอบด้วยตนเองที่ง่ายๆ ดังนี้         1. เป็นชุดตรวจที่มีเลขที่ใบรับรองประเมินเทคโนโลยี (Technology Number) โดยจะสามารถดูได้ที่ข้างฉลากของชุดตรวจ ซึ่งหมายถึงผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้จดทะเบียนและได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประเทศไทยแล้ว        2. ฉลากผลิตภัณฑ์ต้องมีภาษาไทยกำกับด้วยเสมอ และมีข้อความ “บุคคลทั่วไปสามารถใช้ได้”  แม้ว่าจะเป็นชุดตรวจที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพราะผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองจะมีข้อกำหนดให้ต้องแสดงฉลากภาษาไทยเสมอ        3. เลือกซึ่งจากแหล่งจำหน่ายที่เชื่อถือได้ กรณีซื้อแบบออนไลน์ต้องมีการแสดง เลขที่ใบอนุญาตโฆษณาเครื่องมือแพทย์หรือใบฆพ. ไว้ในรายละเอียดสินค้าและ/หรือตัวเลือกสินค้าช่องหมายเลขใบอนุญาต/ฆพ.        หลัก 3 ข้อนี้จะช่วยทำให้ผู้บริโภคได้รับความปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน เชื่อถือในคุณภาพและรู้ถึงสถานการณ์การติดเชื้อของตนเองตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งจะเป็นการคัดแยกผู้ติดเชื้อได้รวดเร็วขึ้นและให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 ติดโควิด ชีวิตเปลี่ยน บทเรียนการเยียวยาจิตใจหลังติดโควิด-19

        เกือบ 2 ปีแล้วที่คนทั่วโลกต้องผวากับโรคโควิด-19 ล่าสุดองค์การอนามัยโลกประกาศยืนยันว่าพบเชื้อกลายพันธุ์ชนิดใหม่ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา ตั้งชื่อว่า โอไมครอน ซึ่งระบาดเร็วและรุนแรงกว่าที่ผ่านมา แสดงว่าเชื้อโควิดคงจะอยู่กับพวกเราไปอีกนานและทุกคนมีสิทธิ์ที่จะติดได้         เช่นเดียวกับคุณเกวรินทร์ ศิลาพัฒน์ นักวิชาการด้านการพัฒนาระบบสื่อ และรองผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ แม้เธอจะคลุกคลีกับข้อมูลด้านสุขภาพ ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 เคร่งครัด รวมทั้งทำอาหารกินเอง เน้นสั่งซื้อของทางออนไลน์ แต่สุดท้ายก็ติดโควิด-19 จากคนใกล้ชิด ประสบการณ์ที่เธอนำมาบอกเล่านี้จึงคล้ายกระจกสะท้อนให้ทุกคนเตรียมรับมือไว้ให้พร้อมเสมอ      เตรียมพร้อมรับมือโควิด-19 ไว้ก่อนที่จะติดแล้ว         ตั้งแต่โควิด-19 ระบาด เนกับแฟนก็ระวังตัวตลอด เนเป็นโรคหอบกับภูมิแพ้ แฟนมีความดันและโรคอ้วน แล้วเรายังต้องเดินทางไปทำงานเราก็กลัว เนตรวจ ATK ทุกๆ 7 วันอยู่แล้ว ก่อนจะระบาดหนักๆ เนซื้ออุปกรณ์และยาที่ต้องใช้เก็บไว้อย่างละ 2 ชุด ทั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดความดัน ฟ้าทะลาย ยาแก้ปวด ยาแก้ไอ แผ่นเจลลดไข้ พร้อมใช้ยามฉุกเฉินทันที         พอวันที่ 8 สิงหาคม แฟนตรวจที่บริษัทแล้วพบว่าติด ยังไม่มีอาการอะไร เนแจ้งกับทางคอนโด และขอเช่าห้องเปล่าให้แฟนนอนแยกต่างหาก เขาปวดหัวมากและเริ่มมีไข้วันที่ 9 ช่วงกลางคืน ก็ให้กินยา ตอนนั้นคิดว่าทำอย่างไรให้เข้าสู่ระบบการรักษาได้เร็วที่สุด ก็ไปลงทะเบียนในไลน์ของ สปสช. ไว้ พอเขาแจ้งว่าจะมีโรงพยาบาลติดต่อกลับมาวันที่ 10 ซึ่งเราฟังมาจากหมอว่าอาการคนไข้จะหนักขึ้นในวันที่ 3 นับจากเริ่มมีอาการ พอถึงตอนนั้นเขาอาจจะไม่ไหวแล้ว เนจึงให้แม่ประสานกับโรงพยาบาลที่สุราษฎร์ธานี ฉุกละหุกมาก แต่โชคดีได้ติดรถมูลนิธิกุศลศรัทธาของจังหวัดสุราษฎร์ธานีกลับไปด้วยกัน         แฟนได้ไปรักษาที่โรงพยาบาล เนถูกแยกไปอยู่ LQ ตอนนั้นผลตรวจยังเป็นลบ แต่พอวันที่ 11 ปวดหัวมาก กินยาก็ไม่หาย พอกลางคืนข้ามจะวันที่ 14 สรุปผลตรวจออกมาเป็นบวก จึงต้องเข้าโรงพยาบาล หมอให้ยาฟาวิพิราเวียร์ เนไอจนอ้วก ปวดหัวมาก และท้องร่วงหนักจนหมอต้องให้น้ำเกลือกับออกซิเจน หลังจากรักษาอยู่ 2-3 สัปดาห์ เราทั้งคู่ก็ค่อยๆ อาการดีขึ้น แต่ต้องอยู่กักตัวต่อ 7 วัน ต้องทำหนังสือขอจังหวัดเพื่อจะกลับกรุงเทพฯ แล้วเราก็ตัดสินใจนั่งรถไฟกลับมาวันที่ 31 สิงหาคมรักษาโรคโควิด-19 หาย แต่กลายเป็นโรคแพนิก         ตอนที่อยู่โรงพยาบาล เนอยู่คนเดียวในห้องเปล่าๆ ไม่เจอโลกข้างนอกเลยตลอด 15 วัน เครียด จิตตก พอออกมากลายเป็นกลัวคนไปเลย แม้แต่ตอนนั่งรถไฟกลับมา เนก็กลัว ไม่กล้ากินข้าว ไม่กล้าไปห้องน้ำ ไม่กล้านั่งเก้าอี้ เพราะไม่รู้ว่าคนในรถไฟติดหรือเปล่า ต้องเอาแอลกอฮอล์ฉีด เอาผ้าเช็ดทุกอย่าง รู้สึกว่าให้มันปลอดภัย จนพอกลับมาบ้านอาการนี้ก็ยังเป็นอยู่         ตั้งแต่กลับมาบ้าน เนนอนข้างนอกที่โซฟาคนเดียวเพราะกลัวว่าจะติดซ้ำ แล้วก็ยังไปเข้มงวดกับแฟนด้วยว่าอย่าทำแบบนั้นอย่าทำแบบนี้เดี๋ยวติดอีกหรอก ตอนนั้นหนึ่งคือเราฟังเยอะไปว่าถ้าติดซ้ำจะหนักกว่าเดิม สองคือกังวลว่าเขากลับไปทำงานแล้วจะไปเอาเชื้อมาติดเราอีก พอเนพูดทุกวันๆ เป็นอาทิตย์สองอาทิตย์ไม่หยุด เขาเริ่มรำคาญว่าทำไมต้องพูดย้ำนักหนา แล้วเราก็ทะเลาะกัน ทั้งๆ ที่ก็รู้ว่าเขาติดมาจากที่ทำงาน ไม่มีใครอยากติดหรอก เขาเองก็เซฟตัวเองสุดๆ แล้ว แต่เหมือนเรากลัว หวาดระแวงไปหมด         จริงๆ เนเริ่มมีปัญหาสุขภาพจิตตั้งแต่ตอนอยู่ที่โรงพยาบาลแล้ว พยาบาลเห็นเนเริ่มเงียบๆ แปลกๆ ก็เลยให้ทำแบบประเมิน แล้วเหมือนเราเข้าข่ายต้องปรึกษาหมอ หลังจากที่กลับมาแล้วหมอก็ถามว่าได้คุยกับแฟนหรือยัง ก็บอกว่ายัง คือกลัวติด กลัวไม่หาย โน่น นี่ นั่น หมอบอกว่านี่คืออาการ Panic เป็นผลจากภาวะ Long COVID คือภาวะที่เป็นการกระทบทางจิตใจจากการติดโควิดจากคนรอบข้าง แม้ไม่ได้เกิดการสูญเสีย แต่ทำให้เป็นปัญหาครอบครัวระยะยาว คือถ้าไม่รักษา หรือคิดว่าเดี๋ยวก็หาย บอกเลยว่าไม่หาย แล้วยิ่งจะสะกิดความรู้สึกไปเรื่อยๆ อย่างพอใครเริ่มไอก็กลายเป็นหวาดระแวงกันเอง หมอแนะนำว่าควรปรึกษานักจิตวิทยา ขอคำปรึกษาเยียวยาจิตใจเพื่อคนในครอบครัว         เนไปเจอแอปพลิเคชั่นที่ให้ปรึกษาด้านจิตวิทยาของสมาคมนักจิตวิทยาแห่งหนึ่ง จองคิวปรึกษาไว้สัปดาห์ละครั้ง ใช้วิดีโอคอลคุยกัน ครั้งแรกเขาก็ถามว่าเป็นอย่างไร รู้สึกอย่างไร เนก็เล่าไป หมอบอกว่านั่นคือรีเฟล็ก ที่เราแสดงออกมาว่าเราไม่เข้าใกล้เขา คือนั่งก็นั่งห่างกัน ไม่จับ ไม่แตะ ไม่ต้อง แล้วก็จะฉีดแอลกอฮอล์ทุกอย่างในบ้าน วันแรกหมอแนะให้ลองจับมือกัน สวมแมสก์แล้วเข้าไปกอดกันสักครั้ง เนลองทำแล้ว แต่ก็ไม่หาย มันกลัว พอครั้งที่สองหมอก็แนะนำว่าลองกลับไปนั่งคุยกันดีๆ หาวิธีการว่ทำอย่างไรก็ได้ต้องมาจูนกันใหม่ ซึ่งพอเราคุยกันไปสักพัก สมองเนจะคิดเชิงตำหนิว่าเขาทำแบบนี้ๆ อีกแล้ว         ครั้งที่สาม หมอก็ประเมินว่าน่าจะมีอะไรแปลกๆ อยู่สักอย่างหนึ่งที่ตัวเนไม่ใช่ตัวแฟน หมอก็มีให้เลือกสองทาง หนึ่งคือแยกกันอยู่จนกว่าจะดีขึ้นและคิดถึงกัน สองคือเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมทั้งหมดในบ้าน เพราะถ้ายังอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิมๆ เราจะคิดแต่เรื่องเดิมๆ เนเลยว่าจะลองจัดบ้านใหม่ หมอบอกว่าให้ชวนแฟนมาช่วยเราเลือกด้วยว่าอยากจะเปลี่ยนตรงไหนยังไง         พอเข้าสู่กระบวนการนี้ กลายเป็นเราได้อยู่ใกล้กันมากขึ้น ได้คิดด้วยกันว่าเราเปลี่ยนมุมห้องแบบนี้ดีไหม ทำให้ลืมเรื่องโควิดไปเลย เราช่วยกันจัดของ ช่วยกันประกอบเฟอร์นิเจอร์ที่สั่งมาใหม่ ทำให้เริ่มไม่มีระยะห่าง แต่เนจะติดอยู่อย่างเดียวคือทุกครั้งที่เขาไปทำงาน สมองจะเริ่มคิดอีกแล้วว่าเขาต้องไปเจอคนเยอะ แล้วเขาต้องติดกลับมาแน่เลย         อันนี้คุณหมอบอกให้ปล่อยวาง โดยก่อนหน้านั้นเนไม่ได้เข้าไปนอนในห้อง จนจัดห้องใหม่เสร็จ หมอก็บอกลองเข้าไปนอนในห้องสิ แล้วก็ทำกิจวัตรเหมือนที่เราเคยทำคือตรวจ ATK ดูอาการ สังเกตอาการ แล้วแนะนำว่าเวลานอนให้เอามือสัมผัสให้เรารู้สึกว่าเรามั่นใจในตัวเขา จะช่วยลดความหวาดระแวงนี้ได้พอสัปดาห์ที่ห้ามาประเมินก็ดีขึ้น แต่ยังรู้สึกติดอยู่นิดๆ ก็คิดว่ายังโชคดีที่เราไม่ถึงขั้นสูญเสีย กระบวนการเหล่านี้ช่วยรักษาความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ให้เรา แล้วยังกลับไปชาร์จความรู้สึกให้พ่อกับแม่ของเนด้วย         เนรู้สึกผิดที่เห็นพ่อแม่ต้องลำบากและร้องไห้เพราะเป็นห่วงเรา จึงพยายามเอาวิธีการที่หมอแนะนำนี้ไปใช้ปลอบประโลมพ่อกับแม่ด้วย หมอบอกให้โทรไลน์ โทรคุยวิดีโอคอลกับพ่อแม่ให้เห็นหน้ากันทุกวันว่าเราปกติสมบูรณ์ดีและจิตใจเขาจะดีขึ้น วิธีการคือให้เราบอกเขาก่อนเลยว่าวันนี้เรารู้สึกดีอย่างไร คือต้องบอกเขาก่อนที่เขาจะถาม เพราะถ้าเขาถามแปลว่านั่นคือเขากังวล พอเราบอกเขาก่อนเขาก็รู้สึกคลายกังวล และให้ชวนคุยเรื่องอื่นๆ ที่สบายใจ ซึ่งพอทำตามวิธีนี้แล้วแม่กับพ่อก็ค่อยๆ ดีขึ้น เมื่อกลับมาทำงานก็ต้องปรับตัวต่อสังคม         หลังจากกลับมากรุงเทพฯ เนกลับมาทำงานในสัปดาห์ที่สอง ประเด็นก็คือเราทำงานสายสุขภาพด้วยเราคิดเยอะ เราก็เลยนอยด์ กลัว ไม่ใช่คิดว่าเขากลัวเรา แต่เรากลัวเขา แล้วก็เพิ่งกล้านั่งรถไฟฟ้าได้ไม่นานนี้เอง        ข่าวก็มีอิทธิพลต่อความรู้สึกมาก ในด้านลบทำให้เราหวาดระแวงว่าคนโน้นติดคนนี้ติด ไปตรงนั้นติดตรงนี้ติด เราก็เลยไม่มั่นใจว่าถ้ากลับไปใช้ชีวิตปกติ เราจะติดอีกไหม พอมีคนพูดว่าภายในหนึ่งเดือนติดซ้ำได้นะ ติดซ้ำแล้วอาการหนักขึ้น เราก็ยิ่งกลัว ส่วนในด้านบวกก็ทำให้เรามีข้อมูลข่าวสารว่าถ้าเราติดแล้วจะไปอยู่ที่ไหน ทำอย่างไร จะเข้ากระบวนการอย่างไร อันนี้จะช่วยได้เยอะ อยากให้แนะนำว่าถ้าติดโควิด-19 แล้วควรทำยังไง        ให้คุณทำใจไว้ได้เลยว่าโควิดไม่ได้หายไป แต่จะเป็นเมื่อไหร่ไม่รู้ เราต้องพร้อมเสมอ หนึ่งคือต้องมียาเอาไว้จะปลอดภัยสุด เพราะถ้าเริ่มมีอาการคุณกินก่อนได้เลย สองคือถ้าคุณมีอาการไข้ มีปรอท มีเครื่องวัดออกซิเจน คุณจะรู้ตัวเองว่าอาการหนักหรือไม่หนัก ฉะนั้นอุปกรณ์พวกนี้ควรมีติดบ้าน สามคือถ้าติดแล้วต้องมีสติให้มากๆ เพราะว่าบางคนพอติดแล้วแพนิกเตลิดไปเลย เนบอกเลยว่าตัวเองก็ตกใจมาก แต่ก็ดึงสติไว้ได้ ไม่ต้องหาสาเหตุว่าทำไมถึงติด ติดที่ไหนไม่ต้องหา ให้คิดไปข้างหน้าว่าติดแล้วเราจะไปที่ไหน         ถ้าเริ่มมีอาการไม่ดี ตรวจเลยอย่ารอ ควรจะมีชุดตรวจแบบ ATK ติดบ้านไว้ ถ้าติด ให้รีบเตรียมตัวเองเพื่อไปเข้ารับการรักษาให้เร็วที่สุด เพราะนั่นเท่ากับว่าคุณจะไม่มีเชื้อลงปอด คุณรอดตาย แต่ถ้าคุณมีเชื้อลงปอดเมื่อไหร่คุณนับระยะเวลาไปได้เลย 1 ปี กว่าคุณจะหาย อีกอย่างที่สำคัญคือหมอบอกว่าเนฟื้นตัวเร็วคือหนึ่งเนได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ สองคือเนได้รับวัคซีนแอสตร้าซิเนก้ามาแล้วเข็มหนึ่ง เท่ากับว่าเรามีภูมิอยู่แล้วในระดับหนึ่งที่จะต่อต้านการลงปอดและต่อต้านอาการหนักได้         ช่วงมีอาการวันที่ 1 ถึงวันที่ 5 มันยากมากที่จะประคองตัวเอง แต่ขอให้ต่อสู้กับตัวเองให้ได้ คือโควิคมันมีไทม์ไลน์ จะหนักแค่ช่วงมีอาการวันที่ 3 ถึงวันที่ 5 แล้ววันที่ 6,7 จะดีขึ้น ถ้าคุณพ้นจากวันที่ 7 ไปได้ คุณคือคนใหม่ที่แข็งแรงขึ้นทั้งใจทั้งกาย อยากบอกคนที่เป็นโควิดว่าต้องมีสุขภาพใจที่แข็งแรง อย่าคิดว่าจะตนเป็นที่รังเกียจ ถ้าเป็นโควิดแล้วอยู่คนเดียว ไม่บอกใคร จะยิ่งแย่ถ้าใจเราอ่อนแอ เราต้องมีจิตใจเข้มแข็งมากๆ สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการป่วยโควิดครั้งนี้         หลังจากวันที่ 7 จะเป็นช่วงฟื้นตัว ทำให้เนมีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น ได้ทบทวนตัวเอง ได้อ่านหนังสือเยอะมาก แล้วก็เรียนวาดรูปออนไลน์จบไปคอร์สหนึ่งด้วย แต่บางทีก็เหงา ดีที่เพื่อนๆ โทรมาชวนคุยบ่อยๆ ตอนนี้เราก็ใช้วิธีนี้กับน้องๆ เพื่อนๆ ที่ติดโควิดอยู่นราธิวาส ยะลา คือโทร.ถามทุกวันว่าเป็นอย่างไรบ้าง โอเคไหม เพราะเรารู้ว่าการต้องอยู่คนเดียวแบบนั้นมันทรมาน         โควิดมีทั้งโทษและประโยชน์ ถ้าบางคนใจสู้ ก็ไหว แต่ถ้าบางคนไม่สู้ ก็คือยอมแพ้ไปเลย แล้วบางคนก็คิดว่าคือไม่ไหวแล้วไม่มีทางรักษาแล้ว อันนั้นเป็นเพราะว่าคุณกลัว ยังมีทางออกอื่นอีกเยอะมาก ถ้าเราเตรียมตัวดีเราจะรับมือกับมันได้ ตอนนั้นก็พยายามจะโพสต์เล่าว่าตัวเองเป็นอย่างไร เพราะคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับคนอื่น ถ้าเขามีอาการแบบนี้เขาต้องสังเกตอาการอย่างไร         อยากจะฝากบอกทุกคนว่าอย่ารังเกียจคนเป็นโควิด คนเป็นโควิดคือคนที่ต้องการกำลังใจมากที่สุด เพราะเขาต้องต่อสู้ด้วยตัวเองอย่างโดดเดี่ยว          โควิดไม่ได้เป็นแค่โรค แต่เป็นเหมือนแผลเป็นที่ทิ้งร่องรอยไว้ ให้เรายังรู้สึกติดอยู่ในใจตลอด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 ขอรับชุดตรวจโควิด-19 ฟรีผ่านแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง

        แน่นอนว่าทุกคนต้องเคยได้ยินเรื่องชุดตรวจ ATK ที่ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงตรวจโควิด-19 ได้ด้วยตนเอง ซึ่ง ATK มีชื่อเต็มว่า Antigen Test Kit คือชุดตรวจการติดเชื้อโควิด-19 ที่สามารถทดสอบได้ในเบื้องต้น เหมาะกับผู้ที่สงสัยหรือไม่แสดงอาการติดเชื้อ โดยสามารถหาซื้อได้ที่ร้านขายยาทั่วไปแล้ว ล่าสุดสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ได้มีโครงการแจกชุดตรวจ ATK ฟรี กระจาย 8.5 ล้านชิ้น ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงทุกสิทธิการรักษา ซึ่งหมายถึงผู้ที่มีสิทธิบัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการก็สามารถขอรับชุดตรวจ ATK นี้ได้ผ่านแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2564 นี้         หลายคนน่าจะมีแอปพลิเคชั่นเป๋าตังอยู่แล้ว แต่ถ้าใครยังไม่มีก็สามารถดาวน์โหลดมาใช้เพื่อกดขอรับชุดตรวจ ATK นี้ได้ แต่มีเงื่อนไขกำหนดไว้ว่า คุณต้องประเมินแล้วมีความเสี่ยงและอยู่ในพื้นที่สีแดง         เมื่อเข้าแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง ให้กดเมนูที่เขียนว่า ฟรีชุดตรวจโควิด จะปรากฎข้อตกลงและเงื่อนไขให้กดในช่องยอมรับเงื่อนไขการใช้บริการและกดตกลง หลังจากนั้นหน้าแอปพลิเคชั่นจะมีข้อความเงื่อนไขในการรับชุดตรวจให้อ่านและมีเมนูให้เลือกอยู่หลายเมนู ได้แก่ เมนูทำแบบประเมินก่อนรับชุดตรวจโควิด-19 เมนูสำหรับกด QR Code แสกนเพื่อรับชุดตรวจที่หน่วยบริการ ใช้ในกรณีที่ประเมินความเสี่ยงแล้วได้รับชุดตรวจ เมนูหน่วยรับบริการเพื่อค้นหาจุดรับชุดตรวจที่ใกล้บ้าน เมนูวิธีใช้ชุดตรวจโควิด-19 เป็นการอธิบายวิธีการใช้และมีวิดีโอสาธิตการใช้งาน เมนูวิธีการอ่านผลตรวจเพื่ออธิบายวิธีการอ่านและมีวิดีโอสาธิต เมนูบันทึกผลตรวจกรณีที่มีการตรวจด้วยชุดตรวจโควิด-19 ที่ได้รับมาแล้ว และเมนูประวัติบันทึกผลตรวจเพื่อแสดงผลตรวจทั้งหมด         ถ้าผู้อ่านประเมินตนเองแล้วมีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 อย่างแรกให้กดไปที่เมนูทำแบบประเมินก่อนรับชุดตรวจโควิด-19 ซึ่งจะมีต้องระบุจังหวัดที่อาศัยอยู่ในปัจจุบันและตอบคำถาม 3 ข้อ เมื่อระบบประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงและให้เข้ารับชุดตรวจโควิด-19 ได้ ให้คลิกที่เมนู หน่วยบริการใกล้ฉัน เพื่อเลือกหน่วยบริการที่จะไปรับชุดตรวจ แต่ควรโทรสอบถามและประสานเพื่อไปขอรับหรือให้ผู้อื่นไปรับแทน เนื่องจากชุดตรวจโควิด-19 นั้นมีจำนวนจำกัดในแต่ละหน่วยบริการ         หน่วยบริการจะจ่ายชุดตรวจ ATK ให้จำนวน 2 ชุด สำหรับการตรวจ 2 ครั้ง กรณีผลเป็นลบ ตรวจซ้ำอีกครั้งห่างกันครั้งละ 5 วัน โดยต้องยืนยันตัวตนด้วยการสแกน QR Code ที่หน่วยบริการนั้นผ่านแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง ด้วย เมื่อตรวจโควิด-19 ด้วยตนเองที่บ้านแล้ว ให้บันทึกผลตรวจผ่านแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง         ในกรณีที่ผลการตรวจเป็นบวก ให้กดไปที่เมนูลงทะเบียนเข้ารับการดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชนต่อไป และถ้าจังหวัดนั้นยังไม่มีระบบการดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชน จะเข้าสู่ระบบการรักษากับหน่วยบริการต่อไป         การขอรับชุดตรวจโควิด-19 ที่คลินิกและร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ ให้เฉพาะผู้ที่มีมือถือสมาร์ทโฟนเท่านั้น แต่ถ้าไม่มีมือถือสมาร์ทโฟน สามารถไปขอรับได้ที่โรงพยาบาล, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และศูนย์บริการสาธารณสุข ทางเจ้าหน้าที่จะทำการคัดกรองและยืนยันตัวตนให้ หากมีข้อสงสัยโทรสอบถามได้ที่สายด่วน สปสช. 1330

อ่านเพิ่มเติม >