ฉบับที่ 266 คุณภาพ “สถานดูแลผู้สูงอายุ” รับ “Ageing Societies” เมืองไทย

        ปัจจุบันประเทศไทย เข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์” มีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เกิน 20% ของประชากรทั้งประเทศ ทำผู้เกี่ยวข้องต้องเร่งวางระบบการดูแลทั้งสุขภาพกายสุขภาพใจให้ผู้สูงอายุสามารถพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด แต่ด้วยสภาพร่างกายที่เสื่อมถอยลงการต้องพึ่งพาผู้อื่นมากขึ้นนั้นไม่อาจหลีกเลี่ยง แต่ในขณะเดียวกันกับที่ลูกหลานซึ่งอยู่ในวัยทำงานยังมีภาระต้องทำมาหากิน ดังนั้นเวลาที่จะอยู่ดูแลผู้สูงอายุในบ้านจึงน้อยลงไปด้วย “สถานดูแลผู้สูงอายุ” จึงเข้ามาตอบโจทย์ตรงนี้ แต่ก็ต้องมีการกำกับดูแลเรื่องมาตรฐานให้ดีทั้งในด้านของสถานที่และบุคลากรที่จะมาดูแลผู้สูงอายุ “คุณภาพ มาตรฐานประเทศไทยและต่างประเทศ”         ทุกวันนี้ในเมืองไทยถือว่ามีสถานดูแลผู้สูงอายุมากขึ้นทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชน ส่วนคุณภาพมาตรฐานต่างๆ ดังว่านั้นจะเป็นอย่างไร ทาง “ดร.วรชาติ เฉิดชมจันทร์” อาจารย์ประจำคณะกายภาพมหาวิทยาลัยรังสิต ได้สะท้อนให้ฟังว่า ถ้าพูดถึงจำนวนสถานดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทยในปัจจุบันแม้จะมีมากขึ้นและมีหลายรูปแบบ  ซึ่งหลักๆ มี 3 รูปแบบใหญ่ คือ 1. เดย์แคร์ เช้าไปเย็นกลับ 2. Nursing Home ดูแลผู้สูงอายุที่ออกไปข้างนอกลำบาก หรือป่วยติดเตียง กลุ่มนี้จะอยู่นาน และ 3. เป็นเทรนด์มาใหม่คล้ายๆ คอนโดผู้สูงอายุ         ที่ว่ามานี้รวมๆ แล้วมีประมาณ 4,000 กว่าแห่ง ซึ่งมีการจดทะเบียนกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพจริงๆ แค่ประมาณพันกว่าแห่งเท่านั้น ที่เหลือเป็นการเกิดแบบธรรมชาติหรือนักวิชาชีพไปเปิดเองแต่ไม่ขึ้นทะเบียน แต่จำนวนเหล่านี้ก็ยังไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับสัดส่วนของผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และที่สำคัญคือการเข้าถึงยังอยู่ในวงจำกัด ส่วนใหญ่เป็นผู้มีฐานะปานกลางหรือฐานะร่ำรวย         หากเทียบกับสถานดูแลผู้สูงอายุในต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย เยอรมนี แคนาดา หรือญี่ปุ่น จะเห็นว่าของไทยยังมีข้อด้อยกว่าในหลายๆ ด้าน คือ        1. สัดส่วนสถานดูแลผู้สูงอายุที่ไม่เพียงพอ อย่างที่กล่าวในตอนต้น         2. คุณภาพ ซึ่งประเทศไทยจะเน้นเรื่องของสุขภาพเป็นหลัก แต่ก็ยังทำได้ไม่ดีพอ ในขณะที่ต่างประเทศจะเน้นทั้งเรื่องของสุขภาพและสร้างสังคม หรือ healthcare + Social Care         อย่างไรก็ตามจากข้อมูลเท่าที่ลงสำรวจ ถ้าพูดถึงคุณภาพตามข้อกำหนดของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพถือว่าส่วนใหญ่ผ่านมาตรฐาน แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังมีจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์ เนื่องจากหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขออกมาใหม่ๆ เช่น การขยายประตู ทางเดินต่างๆ ต้องปรับกันพอสมควร ส่วนคนดูแลต้องไปสอบรับใบอนุญาตคล้ายๆ ใบประกอบการวิชาชีพ ดังนั้นเรื่องมาตรฐานถึงเราจะไม่พรีเมียม แต่ก็ไม่แย่นักและดีกว่าหลายๆ ประเทศในอาเซียน แต่ที่ยังสู้ประเทศที่เจริญแล้วไม่ได้เลยคือ การเอาเทคโนโลยีมาใช้ไม่ว่าจะเป็นระบบการบันทึกและติดตาม         นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความหลากหลายของบุคลากรที่เข้าไปให้บริการดูแลผู้สูงอายุ  บ้านเรานั้นส่วนใหญ่อาจจะเป็นคุณพยาบาล เป็นผู้ช่วยที่ผ่านการอบรมเป็นส่วนใหญ่ บางแห่งอาจจะดีหน่อยมีหมอเป็นเจ้าของเองมาดูแลบางส่วน หลายๆ แห่งมีบริการที่มากขึ้นเช่นมีนักกายภาพด้วย แต่ในต่างประเทศจะมีอีกอาชีพหนึ่งที่เรียกว่าเป็น care worker หรือเป็นผู้ช่วยผู้สูงอายุในการทำกิจกรรมทางสังคมหลายๆ อย่าง ซึ่งประเทศไทยยังไม่มี ตรงนี้สำคัญมากๆ และที่จริงมหาวิทยาลัยรังสิตกำลังเปิดสอนปีนี้เป็นปีแรก          3. ระบบการเงิน ค่าบริการต่างๆ ในประเทศไทย ต่อให้บอกว่าเป็นสถานดูแลผู้สูงอายุ ในลักษณะสถานสงเคราะห์ อย่างบ้านบางแคก็ยังต้องมีการเสียค่าใช้จ่าย แถมยังต้องรอคิวนานเป็นปี นอกนั้นเป็นสถานดูแลผู้สูงอายุที่ประชาชนต้องจ่ายเอง แต่ในต่างประเทศจะมีระบบการร่วมจ่าย (copayment) รัฐบาลกลางจ่ายส่วนหนึ่ง ท้องถิ่นจ่ายส่วนหนึ่งและประชาชนร่วมใจอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งพอได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐก็ทำให้เกิดการเกิดการกระจายตัว ประชาชนเข้าถึงง่ายขึ้นและทำให้การระบบการตรวจสอบ กำกับ ติดตามและมาตรฐาน หรือ (KPI) เพื่อนำไปเบิกจ่ายกับหน่วยงานต่างๆ ได้        “สมมุติว่าประเทศไทยทำเรื่องนี้ให้เป็นสิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุโดยตรง โดย สปสช. ยอมจ่าย แล้วไปจับมือกับท้องถิ่น ซึ่งจริงๆ มีกองทุนหลักประกันสุขภาพที่มีเงินอยู่เยอะมากที่ไม่เคยถูกนำมาใช้ ถ้าภาครัฐไปหยิบเงินจากตรงนี้มาแล้วไปวางกลไกการบริหารจัดการให้ดีของศูนย์จะทำให้เรามีระบบที่ดีมาก ซึ่งน่าจับตาเพราะตอนนี้พรรคการเมืองหลายๆ พรรคก็นำมาทำแคมเปญอยู่” “ระบบ 3 หมอ ดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ชุมชน”           ดร.วรชาติ ย้ำว่า จริงอยู่ที่ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สปสช. มีระบบ 3 หมอ ตลอดจนสิทธิประโยชน์ เช่น ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ มีการเยี่ยมบ้านต่างๆ นานา ซึ่งถือว่าคล้ายกับแนวโน้มของต่างประเทศที่เริ่มระบบการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน สร้างสังคมชุมชนที่ผู้สูงอายุสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ เพราะต่างก็ตระหนักดีว่า สังคมผู้สูงอายุโตเร็วมาก การสร้างสถานดูแลผู้สูงอายุมากเท่าไหร่ก็ไม่เพียงพอ จึงเน้นที่การดูแลผู้สูงอายุที่บ้านให้มีคุณภาพ แต่จะเห็นว่าในต่างประเทศนั้นเน้นวางระบบคุณภาพมาตรฐานตั้งแต่การมีผู้ช่วยผู้สูงอายุ การปรับปรุงบ้านที่เหมาะสมในการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ           ในขณะที่ระบบ 3 หมอของไทย ซึ่งถือว่าเป็นรูปแบบที่ดี แต่จะเห็นว่าในทางปฏิบัติเหมือนเป็นเพียงการเยี่ยมบ้าน ให้กำลังใจ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงเท่านั้น แต่ไม่สามารถทำให้ผู้สูงอายุมีชีวิตชีวา จัดกิจกรรมดูแลสุขภาพจริงจัง หลายครั้งเป็นเหมือนการไปเยี่ยมผู้ป่วยแล้วเอากระเช้าไปมอบเท่านั้น และเน้นเรื่องการสงเคราะห์ ซึ่งเป็นการดูแลสุขภาพแบบฉาบฉวยไม่ได้ทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี อย่างหมอคนที่ 1 คือ “อสม” ก็มีภารกิจเยอะมาก ยังไม่รวมถึงเวลา คุณภาพ ความรู้ทัศนคติ รวมถึงทักษะการจัดบริการ  ส่วนหมอคนที่ 2 คือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลก็มีภารกิจมากทำให้การดูแลแบบโฮมแคร์ยากขึ้นในประเทศไทย แต่หลายที่ก็ทำของแท้ได้โดยใช้กลไกชุมชนเข้ามาช่วยก็สามารถทำได้ดีระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นการสนับสนุนจากสสส. เริ่มต้นคล้ายโมเดลผู้สูงอายุและใช้กลไกผู้สูงอายุมารวมตัวกัน แต่ตรงนี้ก็เน้นโซเชียลแคร์อย่างเดียว แต่ health care ยังไปไม่ถึง หรือทำให้ยังมีปัญหา “ขาดทั้ง 2 ฝั่ง” ฝั่งหนึ่งขาดบุคลากรมีความรู้ทางด้าน health care และ Social care ที่ทำงานร่วมกันได้ หากทำร่วมกันได้จะถือว่าเป็นระบบบริการใหม่ที่จะเป็นจุดแข็งของประเทศไทยได้ ก็ต้องยอมรับว่าเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็ว ในขณะที่เรายังจนอยู่ แต่เราก็ไม่ได้แย่ จึงอยากฝากว่าจากนี้ เรื่องของการดูแลผู้สูงอายุต้องสนใจ 3 เรื่องไปพร้อมกัน คือ        1. เรื่องสุขภาพ ในต่างประเทศจะใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยติดตามสุขภาพผู้สูงอายุสูงวัย เช่น นาฬิกาข้อมือที่สามารถรู้อัตราการเต้นของหัวใจ บางรุ่นดีมากๆ ถึงขนาดตรวจจับเรื่องของการเคลื่อนไหวที่เสี่ยงหกล้มได้ จากนั้นวางผังเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลต้นสังกัด        2. สถานที่ บ้านต้องปรับปรุงให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ ในต่างประเทศถือเป็นสิทธิประโยชน์ที่ต้องได้รับการปรับปรุงที่พักอาศัยด้วย และ         3. เรื่องสังคม คือจะต้องมีโอกาสให้ผู้สูงอายุได้สื่อสาร หรือมีกิจกรรมกับสังคมภายนอกได้มากขึ้น ทำให้ผู้สูงอายุมีความสุขกับการที่อยู่บ้านและสามารถสร้างสังคมผ่านเทคโนโลยีต่างๆ ได้  นอกจากนี้ อยากให้ทำระบบข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ  “สภาพปัญหาและเรื่องร้องเรียน”         นายธนัช ธรรมิสกุล หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ระบุว่า ที่ผ่านมา มีผู้ร้องเรียนปัญหาของสถานดูแลผู้สูงอายุเข้ามา ทั้งเรื่องคุณภาพ มาตรฐานต่างๆ แต่มีสิ่งที่น่าสังเกตคือการร้องเรียนถึงการ “หลอกลวง” โดยบริษัทนายหน้าจัดหาผู้ดูแลผู้สูงอายุ ที่จะส่งไปดูแลผู้สูงอายุตามบ้าน เช่น ส่งคนที่ไม่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในการดูแลผู้สูงอายุ หรือดูแลเด็ก ส่วนใหญ่อยู่ไม่นานก็หายไป ซึ่งในเรื่องนี้ ทางมพบ.ได้ให้คำแนะนำในการขอคืนค่าบริการ ซึ่งบางรายก็ได้เงินคืนบ้าง แบบทยอยคืน บางกรณีก็ไม่ได้คืนจนต้องฟ้องร้องคดี แต่การต่อสู้คดีก็พบว่ามีปัญหาตามมา เพราะดูเหมือนว่าบริษัทเหล่านี้จะรู้ข้อกฎหมายดี ถึงได้ส่งคนมาทำงาน 3 วัน 5 วัน ทำให้กลายเป็นแค่คดีแพ่งเท่านั้น (จะเข้าข่ายเป็นเรื่องฉ้อโกงหรือคดีอาญาคือ การไม่ส่งพนักงานมาเลย)           บริษัทพวกนี้ใช้วิธีการเลี่ยงกฎหมาย อ้างว่าจดในชื่อของบริษัท แต่ก็อ้างว่าได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของ ซึ่งจริงๆแล้ว คนที่เซ็นนั้นก็เป็นเจ้าของส่วนหนึ่งหรืออาจจะเป็นตัวแทนที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาเป็นผู้รับมอบอำนาจ ซึ่งบางครั้งผู้บริโภคหรือประชาชนอาจจะไม่ได้ขอดูรายละเอียดหนังสือมอบอำนาจว่าถูกต้องหรือไม่ บางคนโฆษณาผ่านโซเชียลมีเดียไว้ดีมาก มีหน้าม้าเข้ามาแสดงความเห็นชมเชย รีวิวดีงาม ซึ่งทำให้ประชาชนหลงเชื่อ         ดังนั้น จึงขอเตือนผู้บริโภคที่ต้องการว่าจ้างคนไปดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ผ่านบริษัทนายหน้า ต้องตรวจสอบข้อมูลให้ละเอียด โดยตรวจสอบผ่านเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าว่า จดทะเบียนถูกต้องหรือไม่ ใครเป็นเจ้าของ มีการส่งงบดุลหรือไม่ เพราะถ้าไม่ส่ง ให้สันนิษฐานว่าเป็นบริษัทลม คิดจับเสือมือเปล่า รอมีคนว่าจ้างแล้วจึงจัดหาคนไปดูแล แล้วก็เข้าลูปเดิมคือ ไปทำงาน 3 วัน 5 วันแล้วหายตัวไป นอกจากนี้อย่าหลงเชื่อการแสดงความเห็นชมเชยทางโซเชียลฯ (รีวิว) ให้ตรวจสอบหลายๆ แหล่ง ว่ามีคนแสดงความเห็นตรงกันหรือไม่          อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ควรโยนภาระให้ประชนเป็นผู้ตรวจสอบอย่างเดียว แต่หน่วยงานรัฐควรเข้ามากำกับดูแลด้วย โดยจัดให้มีหน่วยงานกลาง กำกับดูแลบริษัทจัดหาผู้ดูแลผู้สูงอายุ ผู้ดูแลเด็กตามบ้าน อย่างจริงจัง เหมือนกับที่มีหน่วยงานตรวจสอบ กำหนดมาฐานสถานดูแลผู้สูงอายุ สถานดูแลเด็ก ทั้งนี้หากพบว่ากระทำผิดต้องมีบทลงโทษจริงจัง เพราะที่ผ่านมา หลังจากมพบ.เข้าให้การช่วยเหลือประชาชน หลายหน่วยงานต่างก็โยนความรับผิดชอบไปให้อีกหน่วยงานหนึ่ง กลายเป็นว่าประชาชนไม่มีที่พึ่งต้องช่วยเหลือตนเอง          ในขณะที่สถานดูแลผู้สูงอายุและศูนย์ดูแลเด็กนั้น มีการร้องเรียนเข้ามาบ้าง เช่น สถานรับเลี้ยงตามชุมชน ตามหมู่บ้าน ในส่วนของผู้สูงอายุ ถ้ายกตัวอย่างคือสถานเลี้ยง ผู้สูงอายุบ้านบางแคและที่เปิดใหม่ที่ตรงบางปูของโรงพยาบาลรามาไปซื้อไม่ต่ำกว่าหลังละ 5 ล้านบาท เท่ากับว่าผู้ใช้บริการจะต้องไปซื้อหลังละไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ซ้ำยังมีค่าใช้จ่ายรายเดือน แถมยังมีเงื่อนไขว่า เมื่อเสียชีวิตก็ต้องคืนสิทธิ์นั้นให้กับเจ้าของเพื่อให้ผู้บริหารจัดการนำไปปล่อยขายต่อไป ซึ่งลักษณะเช่นนี้เหมาะกับคนที่มีฐานะดีมากจริงๆ   “ข้อกำหนดมาตรฐานตามกฎหมาย”        “นพ.สุระ วิเศษศักดิ์” อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการกำหนดมาตรฐาน อธิบายว่า  หลักสูตรด้านการดูแลผู้สูงอายุของกรม สบส. มี 2 หลักสูตร 1. หลักสูตรผู้ดำเนินการการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง 130 ชั่วโมง ซึ่งจะต้องมีการอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจพื้นฐาน  มีคุณธรรมจริยธรรมและเจตคติที่ดี ในการดำเนินงานการดูแล มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับและจรรยาบรรณที่เกี่ยวข้อง มีความรู้ความเข้าใจในการบริหารดำเนินงานและการให้บริการที่เกี่ยวข้อง จากนั้นก็ต้องอบรมเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค การปฐมพยาบาล การช่วยชีวิต ทั้งนี้ ผู้เรียนต้องอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 21            2. หลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ 420 ชั่วโมง  จะเป็นการอบรมให้มีทักษะสามารถทำงานได้จริง มีความสามารถในการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ประเมินภาวะวิกฤติ การช่วยชีวิต การปฐมพยาบาล การศึกษาสุขภาพองค์รวม โดยผู้เรียนต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี จบการศึกษาภาคบังคับ มีสุขภาพร่างกายและจิตใจไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน เป็นต้น          ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุด มีผู้ผ่านหลักสูตรดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง 130 ชั่วโมง ทั้งหมด  663 คน อย่างไรก็ตาม ตามหลักเกณฑ์ระบุว่า สำหรับผู้ที่จบ 11 หลักสูตรไม่ต้องเข้ารับการอบรม ก็สามารถสอบเป็นผู้ดำเนินการได้ ดังนี้  หลักสูตรแพทยศาสตร์ หลักสูตรพยาบาลศาสตร์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้นสูง หลักสูตรทันตแพทยศาสตร์ หลักสูตรสาธารณสุขศาสตร์ หลักสูตรกายภาพบำบัด หลักสูตรการแพทย์แผนไทย หลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หลักสูตรการแพทย์แผนจีน หลักสูตรวิทยาศาสตร์ สาขากิจกรรมบำบัด หลักสูตรวิทยาศาสตร์ สาขาจิตวิทยา และหลักสูตรเภสัชศาสตร์ โดยรวมแล้วตอนนี้มีใบอนุญาตเป็นผู้ดำเนินการ 2,328 คน (ข้อมูล 11 พ.ค. 2566)         ส่วนหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ 420 ชั่วโมง มีผู้ผ่านการอบรม 4,267 คน และมีผู้ที่จบ 5 หลักสูตรที่ไม่ต้องเข้ารับอารอบรม ก็สามารถขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการในสถานดูแลได้เลย คือ หลักสูตรแพทยศาสตร์ หลักสูตรพยาบาลศาสตร์และการผดุงครรภ์ชั้นสูง หลักสูตรประกาศนียบัตรพยาบาลศาสตร์ ระดับต้น หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล (การดูแลผู้สูงอายุ) และหลักสูตรประกาศนียบัตรพนักงานให้การดูแล  โดยสรุปมีผู้ได้รับใบรับรองเป็นให้บริการ ทั้งหมด 8,214 คน (ข้อมูล 11 พ.ค.2566)         นพ.สุระ ระบุเพิ่มเติมว่า ตามกฎกระทรวงกิจการการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง ได้แบ่งลักษณะ การให้บริการออกเป็น 3 ลักษณะ คือ (1) การให้บริการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิงระหว่างวันที่มีการจัดกิจกรรมการดูแลส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพแก่ผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง โดยไม่มีการพักค้างคืน (2) การให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ โดยจัดให้มีที่พำนักอาศัย ซึ่งในลักษณะที่ (1) และ (2) ไม่ได้มีการกำหนดสัดส่วนในการให้บริการไว้         ลักษณะที่ (3) การให้บริการดูแลและประคับประคองผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิงที่มีการจัดกิจกรรมการดูแล ส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพ โดยมีการพักค้างคืน โดยในลักษณะที่ (3) ได้กำหนดให้มีสัดส่วนของผู้ให้บริการ (ผู้ดูแลผู้สูงอายุ) 1 คนต่อผู้รับบริการ (ผู้สูงอายุ) ไม่เกิน 5 คน หรือ 1 : 5  ถ้าไม่เป็นไปตามสัดส่วนนี้จะไม่สามารถขอรับใบอนุญาต ประกอบกิจการได้ ซึ่งปัจจุบันมีสถานประกอบกิจการลักษณะ ที่ 3 ที่ได้รับอนุญาต 783 แห่ง         สำหรับหลักเกณฑ์มาตรฐานสถานดูแลผู้สูงอายุ จะกำหนดไว้หลักๆ 3 ด้าน ดังนี้ 1. มาตรฐานด้านสถานที่ 2. มาตรฐานด้านความปลอดภัย 3. มาตรฐานด้านการให้บริการ โดยผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขออนุญาตประกอบกิจการได้ที่ Website : https://esta.hss.moph.go.th/ ซึ่งใบอนุญาตจะมีอายุ 5 ปี ผู้ขออนุญาตต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปี และมีการต่ออายุทุก 5 ปี ทั้งนี้หากมาตรฐานไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด จะมีบทลงโทษ ดังนี้         1. กรณีสถานที่ไม่เป็นไปตามที่กำหนด ซึ่งมาตรา 41 การใช้ชื่อ “สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ” โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท มาตรา 42 การไม่ขออนุญาตประกอบกิจการ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         2. กรณีบุคลากรไม่เป็นไปตามที่กำหนด ผู้ให้บริการที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในมาตรา 23 จะถูกลบชื่อออกจากทะเบียน โดยผู้ให้บริการต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ ก. คุณสมบัติ 1) มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ 2) ได้รับวุฒิบัตรหรือประกาศนียบัตรด้านการบริการเพื่อสุขภาพที่ได้รับการรับรองจากกรมสบส. และ ข. ลักษณะต้องห้าม 1) เป็นบุคคลวิกลจริต คนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ  2) เป็นผู้เจ็บป่วยด้วยโรคติดต่ออันเป็นที่รังเกียจแก่สังคม โรคพิษสุราเรื้อรังหรือติดยาเสพติดให้โทษ         3. กรณีหากเกิดความเสียหายหรือสูญเสียในสถานดูแลผู้สูงอายุหรือจากบุคลากรตามกฎหมายสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ไม่มีบทกำหนดโทษ ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสามารถใช้สิทธิเรียกร้องได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคหรือใช้สิทธิตามกฎหมายอื่น         สำหรับ กรณี “บริษัทจัดหาผู้ดูแลผู้สูงอายุ” นั้นในการการจัดส่งคนไปดูแลที่บ้านจะเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรการควบคุมกำกับดูแลการประกอบกิจการให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านของ ผู้รับบริการ พ.ศ. 2564 ผู้รับผิดชอบ คือ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข โดยผู้ที่ประสงค์จะดำเนินกิจการเพื่อให้บริการต้องขอรับใบอนุญาต ประกอบกิจการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตที่ผู้ดำเนินกิจการประกอบ กิจการในเขตท้องถิ่นนั้น โดยผู้ให้บริการต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้        1.มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์         2.ไม่เป็นผู้เจ็บป่วยด้วยโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ โรคพิษสุราเรื้อรังหรือติดยาเสพติดให้โทษ         3.ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ไร้ความสามารถ หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ         4. ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี          5. ไม่เป็นผู้เคยต้องโทษในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือทรัพย์ตามประมวล กฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด หรือความผิดตาม กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การค้าประเวณี เว้นแต่ได้พ้นโทษ มาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี        6. ต้องมีความรู้หรือประสบการณ์เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ และต้อง ผ่านการอบรมเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุที่กรมอนามัยรับรอง  

อ่านเพิ่มเติม >