ฉบับที่ 272 ระบบการแจ้งเตือนภัย

        กระแสเสียงการถามหาระบบการแจ้งเตือนภัยเหตุฉุกเฉินกลับมาดังกระหึ่มอีกครั้งหลังเกิดเหตุการณ์ร้ายที่พารากอน ห้างใหญ่และหรูหราใจกลางเมืองหลวงของประเทศ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ที่ผ่านมา         เกิดประเด็นคำถามประเภทที่ว่า จะดีแค่ไหนหากประเทศไทยเรามีระบบเตือนภัยแบบที่ส่งข้อความตรงถึงประชาชนอย่างรวดเร็วทางเครื่องมือสื่อสารอย่างโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือ “มือถือ” ที่ผู้คนต่างพกติดตัวอยู่แล้ว เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบถึงความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติหรืออาชญากรรมรุนแรง และจะได้สามารถปฏิบัติตัวได้ถูกต้องในการเตรียมพร้อมรับมือ หรือป้องกันหรือหลีกเลี่ยงจากภยันตรายและความเสียหาย         ตามด้วยคำถามสำคัญว่า เหตุใดประเทศไทยจึงยังไม่มีระบบเตือนภัยดังกล่าวดังเช่นนานาอารยประเทศ         หน่วยงานอย่าง กสทช. ได้รับการคิดถึงพร้อมกับการต่อว่าต่อขาน ส่วนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส (DES) รวมถึงรัฐบาล ดูจะไม่ถูกเรียกร้องเท่า อาจเพราะว่ามีการออกมาตอบสนองเร็ว ให้ข่าวและให้ข้อมูลว่ากำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำระบบการแจ้งเตือนภัยแบบเจาะจง พร้อมอธิบายทั้งเรื่องของระบบ กระบวนการดำเนินงาน ความคืบหน้า ฯลฯ         สาระสำคัญคือการบอกว่า ในระยะเร่งด่วนภายใน 1 เดือนนั้น จะมีระบบส่ง SMS (Location Based Service) ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ จากเดิมที่มีใช้อยู่แล้วอย่างไม่ครอบคลุม และใช้ระบบอย่างไม่บูรณาการ ตลอดจนใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ส่วนในระยะปานกลางและยาวจะเป็นระบบ Cell Broadcast ซึ่งเป็นระบบการส่งข้อความแบบส่งตรงจากเสาส่งสัญญาณสื่อสารในพื้นที่ ไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่และเครื่องมือสื่อสารทุกเครื่องที่อยู่ในพื้นที่ให้บริการนั้น พร้อมกันในคราวเดียว         ว่ากันว่า ข้อดีของระบบ Cell Broadcast ก็คือการส่งข้อมูลที่รวดเร็วและครอบคลุมทั้งพื้นที่โดยไม่ต้องการเบอร์โทรศัพท์ รวมทั้งสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ทางด้านประสิทธิภาพก็สูงกว่าระบบ SMS นั่นคือสามารถจะแจ้งเตือนแบบเจาะจงได้ทันที ในขณะที่ระบบ SMS จะใช้เวลาประมาณ 15-20 นาทีในการประมวลผลว่ามี SIM โทรศัพท์หมายเลขใดอยู่ในพื้นที่บ้าง และใช้เวลาอีกประมาณ 1–20 นาทีในการส่งข้อความไปยังกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ให้ครบ นอกจากนั้น Cell Broadcast ยังมีการเตือนได้หลายรูปแบบ เช่น การสั่นของโทรศัพท์เคลื่อนที่และเครื่องมือสื่อสาร การเด้ง pop -up ของข้อความ         ดีอีเอสอ้างว่า Cell Broadcast เป็นระบบที่ทั่วโลกใช้ ดังนั้นประเทศไทยจึงควรจะต้องพัฒนาระบบนี้ขึ้นมา ทั้งนี้ได้ประกาศกรอบเวลาด้วยว่า คาดว่าจะใช้เวลาเร็วที่สุดภายใน 6 เดือน และอย่างช้าไม่เกิน 1 ปี         นอกจากทางดีอีเอสแล้ว ทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ก็เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ออกมาให้ข้อมูลในเรื่องนี้อย่างเป็นกิจจะลักษณะ โดยพูดถึงการพัฒนาแพลตฟอร์ม “ทราฟี่ฟองดูว์” (Traffy Fondue) เพื่อให้กลายเป็น Traffy Fondue Plus นั่นคือการเพิ่มในส่วนของเมนู “การแจ้งเหตุ-เตือนภัย” เพื่อให้ประชาชนสามารถคลิกเพื่อรับข่าวสารฉุกเฉินและแจ้งเหตุฉุกเฉินได้ ซึ่งรวมถึงสภาพอากาศและสภาพการจราจร         อย่างไรก็ตาม ถ้าติดตามข่าวสารอย่างลงรายละเอียดจะพบว่า ทั้งรัฐบาลโดยดีอีเอสและ กทม. ต่างมีการประสานงานและหารือกับ กสทช. ไม่ว่าจะเป็นระบบส่ง SMS แบบ Location Based Service หรือระบบ Cell Broadcast ล้วนเป็นระบบแจ้งเตือนภัยที่ กสทช. ได้ดำเนินการพัฒนามาก่อนแล้ว กรอบระยะเวลาที่ดีอีเอสประกาศออกมาก็เป็นไปตามกรอบระยะเวลาแล้วเสร็จของการดำเนินการของ กสทช. นั่นเอง         เท่าที่มีการให้ข่าวสารข้อมูลจากทางฟาก กสทช. กลไกและการทำงานของระบบ Cell Broadcast จะประกอบด้วย 1) การทำ command center เพื่อให้โอเปอร์เรเตอร์หรือผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรู้ว่าต้องรับคำสั่งจากใคร ส่งอย่างไร ซึ่ง กสทช. จะออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง 2) การอัปเดตซอฟต์แวร์ที่กระจายส่งสัญญาณให้ใช้ cell broadcast ได้ นอกจากนั้นจะต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์และปรับเปลี่ยนซอฟต์แวร์ของเสาสัญญาณที่อยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ส่วนนี้จึงเป็นต้นทุนของทางผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การพัฒนาระบบที่ผ่านมาล่าช้า อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดกระแสเสียงเรียกหาระบบเตือนภัยขึ้นมาในระลอกล่าสุดนี้ กสทช. ก็ตั้งใจที่จะใช้งบประมาณจากกองทุน USO หรือกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ สนับสนุนในเรื่องนี้         ดูเหมือนว่า ด้วยการยืนยันของรัฐบาลนำโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอสและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ ทำให้กระแสเสียงเรียกร้องแผ่วจางไป ส่วนหนึ่งอาจถือว่าขณะนี้เป็นช่วงเวลาของการรอคอยให้ถึงกำหนดเวลา         แน่นอนว่า หากถึงเวลาที่กำหนดและระบบแจ้งเตือนภัยเหตุฉุกเฉินของประเทศไทยเกิดขึ้นได้จริง ย่อมเป็นเรื่องที่น่ายินดีและไม่มีอันใดต้องโต้แย้ง แต่หากพิจารณาจากสิ่งต่างๆ เท่าที่รัฐบาลและหน่วยงานรัฐให้ข้อมูล จุดเพ่งเล็งอยู่ที่ระบบในเชิงเทคนิคเป็นหลัก แต่ในส่วนของระบบการบริการจัดการข้อมูลข่าวสาร รวมถึงระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กลับไม่ได้มีการให้น้ำหนัก         มีเพียงรองผู้ว่า กทม. ผศ. ทวิดา กมลเวชช ที่กล่าวถึงมิติงานในด้านต่างๆ อย่างครบถ้วน ทำนองว่า ในส่วนการบริหารจัดการฝั่งผู้ให้บริการทางเทคนิคจะมี กสทช. เป็นแกนกำหนดมาตรฐานการดำเนินงาน รวมถึงการสนับสนุนทางผู้ให้บริการในเรื่องการเชื่อมต่อระบบและการกระจายสัญญาณ แต่ในส่วนการสั่งการ ภาครัฐยังต้องไปหารือกันว่าจะเป็นใครหรือหน่วยงานใด โดยเฉพาะงานสำคัญอย่างการคัดกรองข้อความแจ้งเตือน และอีกส่วนที่สำคัญคือ การบริหารจัดการคนและพื้นที่เกิดเหตุให้สามารถรองรับได้         ปัญหาคือ หากเป็นการดำเนินการโดย กทม. ตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ก็คงทำได้ไม่ถึงระบบแห่งชาติ         ประเด็นข้อความต้นทางที่จะสื่อสารออกไปถือเป็นเรื่องสำคัญและมีความละเอียดอ่อนหลายมิติ จำเป็นต้องมีการคัดกรอง ไม่เพียงแต่ว่าจะเป็นเนื้อหาลักษณะใด หากแต่ต้องเลือกสรรตั้งแต่ในระดับว่าจะแจ้งเรื่องใดบ้าง แต่ละเรื่องเป็นลักษณะการเตือนภัยแบบใด ล่วงหน้าหรือฉุกเฉินย่อมต่างกัน         ส่วนข้อความก็ต้องมีทั้งความแม่นยำ ความน่าเชื่อถือ มีเนื้อหาอยู่ในกรอบที่สมดุลและเหมาะสม ในความหมายที่ว่ามีการให้ข้อมูลเพียงพอที่จะเป็นการเตือนภัยและให้คำแนะนำที่จำเป็น แต่ไม่ก่อให้เกิดความตระหนกตกใจจนเกิดความสับสนอลหม่าน ยังไม่นับเรื่องปลีกย่อยเช่นเรื่องภาษาที่จะใช้ในการแจ้งและเตือนภัย         ยังไม่นับถึงต้นทางความมีอยู่ของข้อมูล ซึ่งสำหรับประเทศไทยอาจจัดได้ว่ายังมีความบกพร่องไม่น้อย ในบางด้านจัดได้ว่ายังขาดแคลนอยู่มาก ยกตัวอย่าง ในส่วนของอุบัติภัยด้านมลพิษและเคมี ยามที่เกิดไฟไหม้หรือการระเบิดในโรงงาน หน่วยงานรัฐไม่ได้มีฐานข้อมูลที่จะทราบได้โดยทันทีว่า โรงงานแห่งนั้นๆ มีสารเคมีใดอยู่บ้าง หรือเป็นแหล่งก่อเกิดมลพิษชนิดใด โดยทั่วไปข้อมูลพื้นฐานเช่นนี้ไม่ได้มีอยู่อย่างสมบูรณ์ เท่าที่มีก็เป็นส่วนๆ กระจัดกระจายอยู่กับหน่วยงานต่างๆ ดังนั้นการจะไปถึงขั้นให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติตัวหรือป้องกันอันตรายแก่ผู้ประสบเหตุ ซึ่งต้องการข้อมูลเชิงองค์ความรู้ที่มากขึ้นไปอีก ยิ่งเป็นเรื่องเกินจะทำได้จริง         เหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ทั้งในกรณี “โรงงานหมิงตี้ฯ” และ “โรงงานอินโดรามาฯ” ล้วนเป็นประจักษ์หลักฐานที่เด่นชัดถึงความขาดพร่องในเรื่องข้อมูลด้านนี้ การพัฒนาระบบ PRTR (Pollutant Release and Transfer Register) หรือข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ จึงเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งในขณะนี้ประเทศไทยยังไม่ได้เริ่มกระทั่งนับหนึ่ง เนื่องจากร่างกฎหมายที่เคยมีการนำเสนอก็ถูกนายกรัฐมนตรีคนก่อนปัดตกไป ในขณะที่ยังไม่เห็นวิสัยทัศน์ใดๆ ในเรื่องดังกล่าวของรัฐบาลนี้         ความพร้อมในส่วนของเนื้อหาและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องจึงไม่ใช่สิ่งที่จะมองข้ามได้ เพราะถ้าประเทศไทยจะมีระบบแจ้งเตือนภัยเหตุฉุกเฉินของประเทศเพียงส่วนของระบบสื่อสาร แต่ไม่มี “สาร” ดีๆ และเหมาะสมที่จะส่งออกไป ระบบดังกล่าวก็คงไม่มีความหมาย         เรื่องของการจัดทำระบบแจ้งเตือนภัยเหตุฉุกเฉินของประเทศจึงไม่ใช่เพียงเรื่องของ กสทช. หรือแม้แต่ดีอีเอส แต่ต้องการการบูรณาการหลายหลากหน่วยงาน และต้องการเจ้าภาพที่ชัดเจนซึ่งดูแลงานในมิติต่างๆ อย่างรอบด้าน โดยต้องเริ่มจากการมีเจตจำนงที่ชัดเจนของรัฐบาล รวมถึงต้องมีความรู้ความเข้าใจครบถ้วนด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 แอปพลิเคชั่น Alljit เพื่อนดูแลใจ

        เมื่อเกิดภาวะความเครียดขึ้นภายในใจ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยที่แตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล จนทำให้เกิดความกดดันในการดำเนินชีวิตได้ไม่มากก็น้อย ทั้งนี้เมื่อเกิดความเครียดจนถึงระดับหนึ่ง การปล่อยวางและหาวิธีขจัดความเครียด ความกดดันเหล่านั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง เพื่อลดระดับความเครียด โดยควบคุมให้ความเครียดนั้นอยู่ในระดับที่รับได้จนไม่ก่อนให้เกิดอันตรายกับตนเอง         ความเครียดสะสม ก่อให้เกิดภาวะอันตรายทำลายสุขภาพ เช่น มีโอกาสเกิดความดันโลหิตสูง ผลต่อเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตามมา โรคเครียดลงกระเพาะ กระทบต่อการนอนหลับ หรือหากนอนหลับก็หลับไม่สนิท ทำให้มีอาการอ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย เกิดอาการปวดหัวไมเกรน ภาวะความเครียดที่เกิดขึ้นนานๆ อาจกลายเป็นภาวะซึมเศร้าได้ ซึ่งส่งผลต่อทางด้านร่างกาย และจิตใจ         ฉบับนี้จึงขอมาให้กำลังใจและแนะนำตัวช่วยผ่านแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า Alljit (ออลจิต) ผู้ช่วยที่คอยให้คำปรึกษาปัญหาด้านจิตใจในทุกเรื่อง ทั้งเรื่องส่วนตัว ครอบครัว การเงิน การงาน หรือความรัก โดยสามารถเลือกรูปแบบความต้องการได้ ได้แก่ การประเมินความรู้สึกด้วยตนเอง ความต้องการกำลังใจ การแลกเปลี่ยนเรื่องราว การฟังพอตแคสต์ (Podcast คือ ข้อความเสียงประเภทหนึ่งที่คล้ายกับการจัดรายการวิทยุโดยจะมีผู้ดำเนินรายการเพียงคนเดียวหรือหลายคนมาแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในด้านต่างๆ) และพูดคุยกับแอดมิน         การประเมินความรู้สึกด้วยตนเอง แบ่งออกเป็น 3 หมวด คือ ความเครียด ความเศร้า และการหมดไฟการทำงาน ที่ลักษณะการประเมินความรู้สึกด้วยคำถาม ส่วนความต้องการกำลังใจ แบ่งเป็นหมวดแชทเล่าความในใจ โดยสามารถเลือกคู่แชทและปิดบังตัวตนได้ เพื่อพูดคุยความในใจที่เกิดขึ้น หมวดกลุ่มพูดคุย ซึ่งเป็นการพูดคุยในรูปแบบกลุ่ม         การแลกเปลี่ยนเรื่องราว จะเป็นการเขียนข้อความตามที่ต้องการและเผยแพร่ทั่วไป โดยทุกคนที่เข้ามา สามารถแสดงความคิดเห็นได้ และการฟังพอตแคสต์ (Podcast) ผ่านหมวดหมู่หนังและซีรีย์ รีวิวหนังสือ อารมณ์และความรู้สึก ชีวิตในวัยรุ่น ดนตรี คุยกับนักจิตวิทยา จิตวิทยาชีวิตคู่ และฟังก่อนนอน ซึ่งแต่ละหมวดจะมีนักจิตวิทยาที่เชี่ยวชาญเฉพาะมาแบ่งปันให้ฟังเพื่อช่วยเยียวจิตใจในช่วงที่อ่อนแอ         ลองสำรวจตนเองสม่ำเสมอ เพื่อให้รู้เท่าทันอารมณ์และควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ ให้สังเกตว่าถ้าหากคุณมีอาการอารมณ์แปรปรวน รู้สึกกลัว เครียด กังวล เบื่อ เฉยชา หงุดหงิดง่าย นอนไม่ค่อยหลับ หลับไม่สนิท รู้สึกไม่กระปรี้กระเปร่า ไม่สดชื่น เฉื่อยชาลง ขาดสมาธิในการทำงาน มีอาการหลงๆ ลืมๆ รู้สึกท้อแท้หมดหวัง รู้สึกไร้ค่า หรืออาการอื่นใดที่ใกล้เคียง ให้รีบลดระดับความเครียดทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 DCA ชีวิตจริงไม่สวยหรูอย่างที่คิด

        ค้นดูต้นฉบับที่เคยเขียน เฮ้ย ไม่เคยเขียนวิธีการเก็บออมแบบ DCA หรือ Dollar-Cost Averaging เลยได้ยังไงนะ บ้าไปแล้ว ทั้งที่เป็นวิธียอดฮิตและน่าจะเหมาะที่สุดสำหรับคนที่ไม่มีเวลาศึกษาทำความเข้าใจการลงทุนมากนัก        แปลว่าตอนนี้จะเล่าเรื่อง DCA ใช่มั้ย? ไม่ใช่ (อ้าว)        การลงทุนแบบ DCA พูดให้เข้าใจง่ายคือการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุนโดยลงเงินเท่ากันทุกเดือนในกองทุนรวมหรือหุ้น ใดๆ ก็ตาม ที่สำคัญต้องเป็นการลงทุนระยะยาว กูรูมักบอกว่าอย่างน้อย 7 ปี วิธีนี้ช่วยลดความเสี่ยงได้ดีและเหมาะกับคนที่ไม่มีเงินก้อนใหญ่ๆ         DCA เป็นวิธีการที่ดี แต่ชีวิตจริงไม่ได้หรูหราหมาเห่าแบบนั้นน่ะ         ไม่นานมานี้ มีเพจเกี่ยวกับการลงทุนเผยแพร่เนื้อหาว่ายิ่งทำ DCA เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี ประมาณว่าถ้าอยากมีเงิน 10 ล้านหลังเกษียณต้อง DCA ต่อเดือนเท่าไหร่ ถ้าได้ผลตอบแทน 8 เปอร์เซ็นต์ต่อปีแบบทบต้น        เกษียณตอนอายุ 60 ถ้าเริ่มเก็บตั้งแต่ 25 ต้องเก็บเดือนละ 5,000 ถ้าเริ่มตอน 30 ต้องเก็บเดือนละ 7,500 ถ้าเริ่มตอน 40 ต้องเก็บเดือนละ 18,500 ถ้าเริ่มช้าเท่าไหร่ ตัวเลขเงินเก็บต่อเดือนจะยิ่งมโหฬาร         คำถาม-คนทำงานที่จะเก็บเงินได้ 5,000 บาทตั้งแต่เริ่มต้นทำงานมีสักกี่คนในประเทศนี้ มนุษย์เงินเดือนปริญญาตรีที่รัฐบาลโม้ว่าจะกำหนดเดือนเริ่มต้นที่ 15,000 บาทยังทำไม่ได้เลย สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประมาณการรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีของคนไทยในปี 2565 อยู่ที่ 244,838 บาท หารด้วย 12 เดือนจะเท่ากับ 20,400 บาท         เงิน 20,400 บาทเยอะมากมั้ยกับสภาพเงินเฟ้อเมื่อเดือนมีนาคม 2565 ที่เพิ่มขึ้น 5.73 เปอร์เซ็นต์ สูงสุดในรอบ 13 ปีสูตรสำเร็จที่ว่า DCA เท่าๆ กันทุกเดือน พอฐานเงินเดือนสูงขึ้น ก็เพิ่มยอดเงินลงทุนแต่ละเดือนให้มากขึ้น พอเกษียณก็จะมีเงินเก็บไว้ใช้สบายๆ ดูจะโลกสวยเกินไปสำหรับคนไทยทุกคนโดยเฉลี่ย อย่าว่าแต่สิบล้านเลย เงินเก็บหลักหมื่น หลักแสน คนไทยจำนวนมากยังไปไม่ถึง         พูดแบบนี้อย่าตีเจตนาว่า ไม่ต้องเก็บออม ใช้เงินหาความสุขให้เต็มที่ เปล่า แค่จะบอกว่าเราปล่อยให้คนในสังคมเหลื่อมล้ำมากๆ เก็บเงินตามยถากรรมไม่ได้หรอก คนส่วนใหญ่ไม่มีทางไปถึงแน่         ต้องมีอย่างอื่นอีกเยอะแยะ รัฐสวัสดิการ กฎหมายแรงงานที่ดี สวัสดิการสุขภาพ ระบบคมนาคมขนส่ง การศึกษาที่ฟรีจริงๆ กระบวนการยุติธรรมที่เอื้อให้กับคนทุกชนชั้น การเมืองที่เสรีและเป็นประชาธิปไตย ฯลฯ พวกนี้แหละที่จะคอยโอบอุ้มผู้คนในสังคม ไม่ใช่เอะอะบอกให้เก็บเงินท่าเดียว

อ่านเพิ่มเติม >