ฉบับที่ 255 วัคซีน mRNA ทำให้ DNA กลายพันธุ์...จริงหรือ

        ในช่วงที่วัคซีนต้านโควิด-19 แบบ mRNA ใกล้ผ่านการอนุมัติให้ใช้แบบฉุกเฉินในสหรัฐอเมริกานั้น นักวิทยาศาสตร์หลายคนตั้งประเด็นเกี่ยวกับความปลอดภัยของวัคซีนประเภทนี้ เนื่องจากเป็นวัคซีนแบบใหม่ซึ่งแม้ดูทันสมัยแต่กระบวนการในการกระตุ้นระบบภูมิต้านทานนั้นดูลัดขั้นตอน ต่างไปจากวัคซีนแบบเดิม (แบบเชื้อตาย) อย่างไรก็ดีบริษัทผู้ผลิตได้พยายามให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชนว่า วัคซีนนี้ปลอดภัย ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ในวันที่ 17 ธันวาคม 2020 www.chop.edu มีบทความเรื่อง News & Views: 3 Questions You Will Get About the New mRNA Vaccines ซึ่งตอนหนึ่งของบทความมีหัวข้อที่น่าสนใจคือ วัคซีน mRNA สามารถเปลี่ยนแปลง DNA ของผู้ถูกฉีดหรือไม่? ซึ่งคำตอบสั้นๆ สำหรับคำถามนี้คือ "ไม่" แต่คำตอบนี้ดูไม่น่าพอใจนัก จึงมีคำอธิบายเพิ่มว่า วัคซีน mRNA ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง DNA ของบุคคลได้ด้วยเหตุผลสามประการคือ         1.) ปรกติ mRNA ทำงานในไซโตพลาสซึมของเซลล์ ในขณะที่ DNA ได้รับการปกป้องในนิวเคลียสของเซลล์ ซึ่ง mRNA ไม่สามารถกลับเข้าสู่นิวเคลียสได้ ดังนั้นกรดนิวคลีอิกทั้งสองจึงไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเดียวกันในเซลล์         2.) mRNA ไม่ใช่ DNA ดังนั้น ถ้า DNA ของบุคคลจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ mRNA จะต้องเป็นแม่แบบในการสร้าง DNA ใหม่โดยใช้เอ็นไซม์ reverse transcriptase ซึ่งเซลล์ของคนปรกติ (มียีนสร้างแต่) ไม่มีการทำงานของเอนไซม์นี้ (ยกเว้นเมื่อจำเป็น) และมีเพียงไวรัสบางชนิดเท่านั้นที่มี ซึ่ง Coronaviruses ไม่ใช่หนึ่งในนั้น อีกทั้ง mRNA ของวัคซีนเมื่อเข้าเซลล์แล้วจะอยู่แค่นอกนิวเคลียสคือ ในไซโตพลาสซึมเพื่อถอดรหัสเป็นหนามโปรตีนของ SARS-CoV-2 เท่านั้น อย่างไรก็ดีมีข้อยกเว้นหนึ่งเกี่ยวกับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus) ซึ่งเป็นไวรัสที่มีเอ็นซัม reverse transcriptase จึงอาจทำให้สงสัยได้ว่า mRNA ของวัคซีนอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน DNA ของผู้ป่วยเหล่านี้ได้ แต่ก็มีคำอธิบายว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้เพราะไวรัสเอชไอวีนั้นมีการเพิ่มจำนวนในเม็ดเลือดขาว T-cell ชนิด CD4 ซึ่งไม่ใช่เซลล์ที่ mRNA จากวัคซีนแสดงผลในการสร้างหนามโปรตีน         3.) เป็นที่เข้าใจกันว่า mRNA นั้นโดยทั่วไปไม่เสถียรนัก ค่าครึ่งชีวิตในเซลล์มนุษย์อยู่ในช่วงเวลานับเป็นชั่วโมง ดังนั้นโดยทั่วไปแล้วเมื่อเซลล์ใช้ mRNA ในการผลิตโปรตีนที่ต้องการพอแล้ว mRNA นั้นจะถูกทำลาย สำหรับ mRNA ในวัคซีนนั้นแม้ได้รับการเพิ่มศักยภาพให้อยู่ในเซลล์ได้นานพอที่จะทำให้มีการกระตุ้นภูมิต้านทานสำเร็จก็ตาม แต่ก็ไม่ควรอยู่นานกว่า 10-14 วัน         ในประเทศไทยประเด็น mRNA อาจไปรบกวนวุ่นวายกับ DNA ในนิวเคลียสได้หรือไม่นั้น ได้มีการปฏิเสธกันอย่างแข็งขัน ผู้เขียนขอยกตัวอย่างแค่บางเว็บที่แสดงแนวความเชื่อในประเด็นนี้คือ ในวันที่ 7 ธันวาคม 2563 www.bbc.com/thai ได้มีบทความเรื่อง หักล้างข่าวลือเกี่ยวกับวัคซีนโควิดทั้งการฝังไมโครชิปและ “เปลี่ยนดีเอ็นเอ” ในคน โดยมีตอนหนึ่งระบุว่า ... วัคซีนป้องกันโควิด-19 จะไม่เปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอของมนุษย์  จากนั้นวันที่ 15 มิถุนายน 2564 www.bbc.com/thai มีอีกบทความเรื่อง โควิด-19: เอ็มอาร์เอ็นเอ กับข่าวลือวัคซีนก่อสารพิษ-เปลี่ยนพันธุกรรมมนุษย์ เชื่อถือได้หรือ ซึ่งตอนหนึ่งกล่าวว่า ....ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐฯ หรือซีดีซี (CDC) บอกไว้ชัดเจนว่า เอ็มอาร์เอ็นเอในวัคซีนจะไม่ทำให้เราเป็นมนุษย์กลายพันธุ์แบบในภาพยนตร์แต่อย่างใด และในวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 เว็บ https://pharmacy.mahidol มีบทความเรื่อง mRNA COVID-19 vaccine ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ในมนุษย์ได้หรือไม่? ตอนหนึ่งของบทความกล่าวว่า ... กลไกการออกฤทธิ์ของวัคซีนชนิดนี้ไม่มีการรบกวนการทำงานของนิวเคลียสซึ่งบรรจุดีเอ็นเอ (DNA) ที่เป็นสารพันธุกรรมหลักของมนุษย์ไว้ภายใน อย่างไรก็ตาม วัคซีนชนิดนี้ถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ของการพัฒนาวัคซีน จึงยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผลข้างเคียงในระยะยาวจริงหรือที่ว่า mRNA ที่ถูกจำลองจาก DNA นั้นไม่ย้อนกลับเข้าไปหา DNA ในนิวเคลียสของเซลล์         ประเด็นนี้ผู้ที่ศึกษาด้านชีวเคมีและ/หรืออณูชีววิทยามักมั่นใจตอบว่า คงไม่เกิดขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วมีบทความเรื่อง Mechanism of mRNA transport in the nucleus ปรากฏในวารสาร PNAS (Proceedings of the National Academy of Sciences) ของปี 2005 ได้ให้ข้อมูลว่า mRNA ที่อยู่ในไซโตพลาสซึมมักจับตัวกับโปรตีน (ซึ่งมีความสำคัญต่อการแปลรหัสเพื่อสร้างโปรตีน) ได้เป็นสารประกอบเชิงซ้อนเรียกว่า mRNA–โปรตีน (mRNP) ณ.บริเวณของการถอดรหัส (คือ ไมโครโซมในไซโตพลาสซึม) ซึ่งนำไปสู่ความพยายามพิสูจน์ว่า มีโอกาสที่สารประกอบเชิงซ้อนดังกล่าวผ่านช่องของส่วนที่เป็นผนังเข้าสู่นิวเคลียสนั้นหรือไม่ ในการศึกษานี้นักวิจัยใช้โมเลกุลของสารโอลิโกนิวคลีโอไทด์ที่ถูกสังเคราะห์ (พร้อมความสามารถในการเรืองแสงได้) ขึ้นมาให้สามารถเข้าจับตัวกับโมเลกุล mRNA ที่สนใจ เพื่อติดตามการเคลื่อนไหวของสารประกอบเชิงซ้อน mRNA–โปรตีนในเซลล์ซึ่งมีสมมุติฐานว่า มีการเคลื่อนที่แบบ Brownian diffusion (แรงที่เกิดจากการกระแทกกันเองอย่างอิสระของโมเลกุลต่างๆ ในของเหลวของไซโตพลาสซึม) จนสารประกอบผ่านช่องของผนังนิวเคลียสได้และมีโอกาสเข้าใกล้และหยุดที่ส่วนของโครมาตินของนิวเคลียสซึ่งหมายถึง DNA ของเซลล์ ในบทความนี้ได้แสดงภาพการเรืองแสงของสารประกอบที่เกิดจากโอลิโกนิวคลีโอไทด์จับตัวกับ mRNA-โปรตีน ภายในนิวเคลียสของเซลล์         ดังนั้นเมื่อ mRNA มีโอกาสเข้าสู่นิวเคลียสได้ โอกาสที่ mRNA ของวัคซีนจะเข้าไปวุ่นวายกับ DNA ของผู้รับการฉีดวัคซีนจึงอาจเกิดได้ ประเด็นนี้ต้องอาศัยพื้นฐานความรู้ที่มีอยู่เดิมว่า โดยทั่วไปแล้ว RNA ไม่สามารถเข้าแทรกตัวเข้าไปในสายหนึ่งของ DNA ซึ่งมีสองสายได้ เนื่องจากเบสที่เป็นองค์ประกอบของ RNA หนึ่งในสี่คือ uridine นั้นไม่สามารถสร้างพันธะไฮโดรเจนจับตัวกับเบส adenine ได้อย่างเสถียรเหมือนเบส thymine ของ DNA ยกเว้นว่ามีการจำลอง complimentary DNA ขึ้นมาจาก mRNA ก่อนโดยอาศัยเอ็นซัม reverse transcriptase โอกาสการเข้าแทรกสาย DNA ที่สร้างขึ้นใหม่เข้าสู่สาย DNA ในนิวเคลียสจึงจะเกิดขึ้นได้และก็ปรากฏว่า ในฐานข้อมูลงานวิจัยของ Pubmed (https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov) นั้นได้มีนักวิทยาศาสตร์ตีพิมพ์ผลงานวิจัยอย่างน้อย 2 เรื่องของการศึกษาในหลอดทดลอง (ที่กำหนดสภาวะการทดลองแบบเฉพาะเจาะจง) ที่แสดงแนวทางของความเป็นไปได้ที่ mRNA น่าจะเข้าไปรบกวนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ DNA         ในปี 2021 มีบทความที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences ซึ่งเป็นผลการทดลองร่วมกันของนักวิทยาศาสตร์จากหลายหน่วยงานในรัฐ Massachusetts เรื่อง Reverse-transcribed SARS-CoV-2 RNA can integrate into the genome of cultured human cells and can be expressed in patient-derived tissues โดยเป็นการศึกษาที่ใช้เซลล์ HEK293T (เป็น cell line ที่ได้จากเซลล์ไตของตัวอ่อนมนุษย์จากการแท้ง เซลล์นี้ได้รับความนิยมใช้ศึกษาการแสดงออกต่างๆ ของยีนมนุษย์) ที่มีการเพิ่ม Plasmids ซึ่งมีการแสดงออกของยีน LINE1 (long interspersed nuclear elements-1) จนส่งผลให้เซลล์ HEK293T สร้างเอ็นซัม reverse transcriptase ได้ จากนั้นจึงผสมไวรัส SARS-CoV-2 เข้ากับเซลล์ซึ่งได้ผลการทดลองว่า มีการเพิ่มความยาวของ DNA ของในเซลล์ HEK293T และส่วนที่ยาวเพิ่มนั้นมีความสอดคล้องว่าเป็น complementary DNA ที่ถูกจำลองมาจาก mRNA ของ SARS-CoV-2         ต่อมาในปี 2022 ได้มีบทความของนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Lund University ใน Sweden ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Current Issues In Molecular Biology เรื่อง Intracellular Reverse Transcription of Pfizer BioNTech COVID-19 mRNA Vaccine BNT162b2 In Vitro in Human Liver Cell Line ซึ่งทำการศึกษาโดยเติมวัคซีน mRNA ลงในจานเลี้ยงเซลล์มะเร็งชนิด Huh7 cells (เซลล์มะเร็งตับจากชายชาวญี่ปุ่นอายุ 57 ปี ซึ่งถูกนำมาทำเป็น cell line เมื่อปี 1982) แล้วพบว่า เซลล์นี้มีการแสดงออกของยีน long interspersed nuclear element-1 เพิ่มขึ้น (LINE1 เป็นยีนที่มีใน DNA ของมนุษย์ แต่ถูกปิดไว้เสมอถ้าเป็นเซลล์ปรกติ แต่ในเซลล์มะเร็งเช่น Huh7 นั้นยีนนี้ได้เปิดขึ้นและผลิตเอ็นซัม reverse transcriptase ซึ่งเป็นเอ็นซัมที่สามารถจำลอง DNA จาก RNA ได้) จากนั้นเมื่อทำการวิเคราะห์ด้วย PCR (Polymerase chain reaction) บน DNA ของเซลล์ Huh7 ที่สัมผัสกับวัคซีน mRNA แล้วพบว่า ได้มีการขยายลำดับ DNA ออกไปซึ่งส่วนที่ขยายนี้มีความสอดคล้องเหมือนจำลองมาจาก mRNA ของวัคซีน BNT162b2 ซึ่งบ่งชี้ว่า มีการเพิ่มความยาวของ DNA ในนิวเคลียสของเซลล์มะเร็งตับชนิด Huh7 ได้         ข้อสังเกตจากงานวิจัยทั้งสองเรื่องคือ เซลล์ที่จะมีการเพิ่มขนาดของ DNA ในนิวเคลียสได้และสามารถตรวจดูพบว่าส่วนที่เพิ่มมีความเกี่ยวพันกับ mRNA ในวัคซีน หรือมาจาก mRNA ที่เชื้อ SARS-CoV-2 สร้างขึ้นนั้นต้องมีการแสดงออกของยีน LINE1 เพื่อให้มีการสร้างเอ็นซัม reverse transcriptase ซึ่งถ้าเอ็นซัมนี้ปรากฏในเซลล์มนุษย์เมื่อใดก็หมายความว่า เซลล์นั้นน่าจะเป็นเซลล์มะเร็ง และการเพิ่มส่วนของ DNA ซึ่งอาจถือว่าเป็นการกลายพันธุ์ของเซลล์นั้น ยังไม่รู้ว่าเป็นผลดีหรือผลเสียต่อเซลล์ ดังนั้นจึงอาจอนุมานได้ว่า โอกาสที่ความยาว DNA ในเซลล์ของผู้รับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 แบบ mRNA จะยาวเพิ่มนั้นคงเป็นไปได้ยากถ้าเซลล์นั้นไม่ได้เป็นเซลล์มะเร็ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 น้องชมพู่กับขน 3 เส้น

        เว็บ https://workpointtoday.com เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564 มีหัวข้อข่าวเรื่อง “สรุปคดีลุงพลทุกมิติ โพสต์เดียวจบ” ตอนหนึ่งของบทความกล่าวว่า “...หลังจากผ่านไป 1 ปีเต็ม พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวในวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 ว่า “คดีน้องชมพู่ยังไม่จบ แต่เรามีคำตอบให้แน่นอน ช้าเร็วอยู่ที่เรา และผมเชื่อว่ามีคำตอบที่สังคมพอใจแน่ เอาอย่างนี้แล้วกัน” โดยมีรายงานว่าตำรวจค้นพบ เส้นขนจำนวน “3 เส้น” อยู่ในจุดที่เกิดเหตุ โดยหลังจากตรวจ DNA แล้ว สามารถชี้ชัดได้ว่า ใครที่อยู่ใกล้ชิดกับน้องชมพู่ในวันนั้น         ประเด็นที่น่าสนใจคือ การใช้เส้นขนจำนวน 3 เส้น ซึ่งตกอยู่ข้างศพเด็กเพื่อตรวจหา DNA ว่าเป็นของใครนั้นจะตรวจสอบได้อย่างไร        วันที่ 2 มิถุนายน 2564 รายการข่าวสามมิติ ของสถานีโทรทัศน์ดิจิตอลช่อง 33 รายงานประมาณว่า หลักฐานสำคัญในการคลี่คลายคดี คือ พยานหลักฐานทั้งหมด 16 ชิ้นได้จากที่เกิดเหตุโดยหลักฐานสำคัญ คือ เส้นผมทั้งหมด 36 เส้น ความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ซึ่งตรวจพบดีเอ็นเอของน้องชมพู่ และ เส้นขนไร้ราก 3 เส้น  จากนั้นจึงนำเส้นขนนี้ไปตรวจด้วยเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน ที่มีความละเอียดระดับนาโนเมตร (synchrotron นั้น google translate อ่านออกเสียงตามภาษา phonetic ว่า sing-kruh-traan หรือประมาณว่า ซิ้ง-โคร-ตรอน ซึ่งผู้อ่านสามารถเลือกอ่านได้ว่า ให้คนที่รู้ภาษาอังกฤษรู้เรื่อง หรือ ให้เป็นไปตามการกำหนดการอ่านออกเสียงแบบไทย ๆ คือ ซิน-โคร-ตรอน)         แสงซินโครตรอน คืออะไร ในเว็บของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ให้ข้อมูลว่า เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเช่นเดียวกับแสงที่มาจากดวงอาทิตย์ แต่แสงซินโครตรอนนั้นคือ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากอนุภาคที่มีประจุ เช่น อิเล็กตรอน ที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงเกือบเท่าความเร็วแสง และถูกบังคับให้เลี้ยวโค้งด้วยสนามแม่เหล็ก ทำให้อิเล็กตรอนสูญเสียพลังงานบางส่วน และปลดปล่อยออกมาในรูปของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เรียกว่า “แสงซินโครตรอน”         ส่วน Wikipedia ให้ข้อมูลเพิ่มเติมประมาณว่า จริงแล้วในการเลี้ยวโค้งในสนามแม่เหล็กของอิเล็กตรอนนั้น เส้นทางการวิ่งไม่ได้ทำเป็นวงกลมเสียทีเดียวแต่เป็นรูป polygon คือ มีหลายมุมมากจนดูคร่าว ๆ เป็นวงกลม การเกิดมุมบนเส้นทางวิ่งโค้งของอิเล็คตรอนนั้น ส่งผลให้อิเล็คตรอนสูญเสียพลังงานบางส่วนออกมาในรูปของแสง ซึ่งมีหลายรูปแบบ (เมื่อเสียความเร็วแล้วเข้าใจว่าอีเล็คตรอนจะถูกเร่งความเร็วใหม่ด้วยสนามแม่เหล็กอีก เป็นอย่างนี้ไปตลอดเส้นทาง...ผู้เขียน) เช่น ในรูปของแสงเอ็กซ์เรย์กำลังสูง ซึ่งมีการนำไปใช้ประโยชน์ในทางต่างๆ ในแนวทางเดียวกับการหาโครงสร้างของดีเอ็นเอในวิธีการที่เรียกว่า X-ray diffraction crystallography เมื่อเกือบ 70 ปีก่อน (ซึ่งมีเครื่องกำเนิดแสงเอ็กซ์เรย์แล้ว เพียงแต่มีกำลังต่ำกว่ามาก)         วิธีการของ X-ray diffraction crystallography นั้น James Dewey Watson และ Francis Harry Compton Crick ได้ใช้เป็นกระบวนการในการหาโครงสร้างของ DNA โดยประกาศว่า มีลักษณะเป็น double helix ในปี 1953 ผลงานดังกล่าวทำให้เขาทั้งสองและ Maurice Hugh Frederick Wilkins ได้รับรางวัล Noble Prize สาขา Physiology or Medicine ในปี 1962         ไทยรัฐออนไลน์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2563 มีบทความเรื่อง การตรวจ DNA จากเส้นผม เมื่อไม่เจอรากผม "ไมโทคอนเดรีย" คือความหวัง ท่านผู้อ่านพึงทราบว่า โดยทั่วไปแล้วเป็นที่เข้าใจโดยทั่วกันว่า ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตนั้นมี DNA อยู่ 2 ลักษณะคือ nucleus DNA (ซึ่งทั่วไปเรียกว่า DNA) และ mitochondrial DNA (ซึ่งมักเรียกกันว่า mDNA) โดย nucleus DNA นั้นมีอยู่ 2 ชุด (ชุดละ 2 สายพันกันอยู่เป็นเกลียว) ซึ่งเรียกแต่ละชุดว่า แท่งโครโมโซม (chromosome) ส่วน mDNA นั้นอยู่ในไมโตคอนเดรีย ซึ่งเป็น organelle ซึ่งทำหน้าที่ในการผลิตสารให้พลังงานสูง (ATP) แก่เซลล์ และมี DNA ของตัวเองขนาดเล็ก (ซึ่งทำหน้าที่ต่างไปจาก nucleus DNA) ประเด็นที่น่าสนใจคือ ยิ่งเซลล์นั้นต้องทำงานมากเท่าไร จำนวนไมโตคอนเดรียต้องมีมากขึ้นเท่านั้น         ไทยรัฐออนไลน์ เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2564 อีกเช่นกัน มีข่าวเรื่อง ผู้เชี่ยวชาญแจง "น้องชมพู่" ไม่ใช่คดีแรก ที่ใช้เทคนิคซินโครตรอน โดยเนื้อข่าวส่วนหนึ่งกล่าวว่า “ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนเปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า ลักษณะของการตรวจด้วยแสงซินโครตรอนไม่เหมือนการตรวจดีเอ็นเอ (ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ลำดับการเรียงตัวของเบสของกรดนิวคลิอิก..ผู้เขียน) แต่เป็นการตรวจข้อมูลทางกายภาพอื่น ๆ เพื่อนำไปประกอบในการสืบคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ต้องมีข้อมูลหลากหลาย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องสืบสวนว่า ใครทำอะไรอยู่ตรงไหน เกิดอะไรได้ขึ้น จากนั้นจึงนำข้อมูลในด้านต่างๆ มาประกอบจนได้ข้อสรุป แต่ข้อสรุปดังกล่าวจะถูกต้องและน่าเชื่อถือได้ขนาดไหนก็อยู่ที่ดุลยพินิจของศาล ทางสถาบันซินโครตรอนมีหน้าที่ให้ข้อมูลส่วนหนึ่งที่นำประกอบในสำนวน”         ประเด็นที่ต้องคำนึงคือ นักวิทยาศาสตร์คงต้องพยายามอย่างหนักในการอธิบายถึง ผลที่ได้จากการใช้แสงซินโครตรอนสามารถพิสูจน์เอกลักษณ์ที่เหมือนกันระหว่าง mDNA ในไมโตรคอนเดรียของตัวอย่างขนและ mDNA ในไมโตคอนเดรียจากขนของแม่ของผู้ต้องสงสัยในคดีนี้ให้ศาลเข้าใจและยอมรับได้นั่นเอง         แล้วสิ่งที่ท่านผู้อ่านควรรู้ก็คือ mDNA นั้น มนุษย์ทุกคนได้มาจากแม่เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับพ่อ เพราะในการผสมกันระหว่างไข่และอสุจินั้น ส่วนของหางอสุจิจากพ่อ ซึ่งมีไมโตคอนเดรียต้องหลุดไป ไม่ได้เข้าไปในไข่ของแม่ (มีแค่โครโมโซมของพ่อเท่านั้นที่เข้าไปได้) ดังนั้นเมื่อการผสมของเซลล์ทั้งสองเสร็จ ได้เซลล์ที่เรียกว่า zygote นั้น ไมโตคอนเดรียที่ zygote ใช้ในการสร้างพลังงานเพื่อการแบ่งตัวจึงมาจากแม่อย่างเดียว ความรู้นี้สร้างประเด็นที่เป็นคำถามคือ ในเส้นขนหรือเส้นผมซึ่งขาดรากหรือหมายความง่ายๆ ว่า ไม่มีตัวเซลล์อยู่นั้นมี mDNA ด้วยหรือ และเส้นขนนั้นไม่ใช่ส่วนของร่างกายที่ต้องการพลังงานสูงนัก จึงไม่น่ามีจำนวน mDNA สูงแต่อย่างใด         มีหลายเว็บที่เป็นภาษาไทยอธิบายความหมายของส่วนของเส้นขน ซึ่งภาษาอังกฤษคือ hair shaft คลาดเคลื่อนว่า “เป็นเซลล์ส่วนที่ตายแล้ว ไม่มีชีวิต และความรู้สึก เป็นส่วนที่งอกเจริญยาวออกมาปกคลุมศีรษะ” ทั้งที่จริงแล้ว hair shaft นั้นในตำราหลายเล่มกล่าวว่าเป็น a protein filament that grows from follicles found in the dermis. ซึ่งแปลง่ายๆ ว่า เป็นเส้นใยโปรตีนที่เติบโตจากรูขุมขนที่พบในผิวหนังชั้นหนังแท้         หลายบทความวิชาการทางนิติวิทยาศาสตร์ได้กล่าวว่า ส่วนของเส้นขนหรือเส้นผมที่ไม่มีราก (hair shaft) นั้นมี mDNA ด้วยทั้งที่ไม่ได้เป็นเซลล์ เช่น บทความเรื่อง Forensic applications of mDNA ในวารสาร Trends in Biotechnology หรือ Tibtech ของเดือนเมษายน 1998 ได้อธิบายถึงการใช้ mDNA ในส่วนของเส้นขนที่ไม่มีราก (hair shaft) ในการพิสูจน์หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ได้ ซึ่งผู้เขียนเข้าใจจากการอ่านบทความว่า ไมโตคอนเดรียนั้นถูกดันออกไปพร้อมโปรตีนที่ทำให้เส้นผมยาวออกไปเรื่อยๆ         แต่บรรดาแถลงข่าวเกี่ยวกับการใช้แสงซินโครตรอนเพื่องานด้านนิติวิทยาศาสตร์นั้น  ไม่มีการกล่าวถึงรายละเอียดแต่อย่างใดในการพิสูจน์ mDNA ดังนั้นผู้สนใจในเรื่องนี้อาจต้องมโนเองว่า มีการเพิ่มจำนวน mDNA ที่สกัดได้จากเส้นขนแค่ 3 เส้น ด้วยวิธีการในห้องปฏิบัติการ ซึ่งน่าจะเป็นวิธีการที่เรียกว่า PCR (Polymerase chain reaction) จนได้ mDNA มากพอที่จะตกผลึกได้ จากนั้นจึงนำผลึกไปใช้ในการศึกษาด้าน X-ray diffraction crystallography (แบบที่ Watson และ Crick เคยอธิบายเมื่อเกือบ 70 ปีมาแล้ว) ด้วยแสงซินโครตรอนเพื่อให้ได้ภาพถ่าย mDNA จากขนที่เป็นวัตถุพยานไปเทียบกับภาพถ่ายของ mDNA จากขน (ซึ่งน่าจะเป็นเส้นผม) ของแม่ของผู้ต้องสงสัยว่า อยู่ในบริเวณที่พบศพผู้เคราะห์ร้าย ซึ่งเรื่องนี้ต้องใช้ความสามารถระดับสูงเป็นอย่างยิ่ง         ดังนั้นผู้ที่สนใจข่าวนี้ในแง่ของการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไขปัญหาคดีการฆาตกรรมนั้น ควรมีความอดทน อย่าเบื่อและอย่าลืม ติดตามผลสุดท้ายของคดีนี้ ซึ่งจะเป็นการพิสูจน์ความมหัศจรรย์ของการใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เพื่อไขความจริงในคดีฆาตกรรมอีกครั้งหนึ่งในประเทศไทย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 ข้อมูลพันธุกรรมมีค่าเป็นเงิน ตอนที่ 2

        ในตอนที่แล้วได้กล่าวถึง การสร้างข้อมูลของระบบตรวจสอบความเหมาะสมในการซื้อสินค้าอาหารต่อสุขภาพของลูกค้าซึ่งแปรไปตามยีน ฉบับนี้จะเล่าต่อว่าเมื่อลูกค้าต้องการซื้อสินค้าอาหารใดก็เพียงนำเอาสายรัดข้อมือ ซึ่งมีระบบอิเล็คทรอนิคที่ส่งสัญญาณไปสแกนที่บาร์โค้ดบนกล่องสินค้า แล้วจะมีสัญญาณขึ้นเป็นสีจากเขียว เหลือง หรือแดง เพื่อเตือนว่าลูกค้าควรซื้อสินค้านั้นหรือไม่ อย่างไรก็ดีผู้ให้บริการไม่ได้อธิบายว่า การ สแกนที่บาร์โค้ดแล้วเกิดไฟเขียว เหลือง หรือแดงนั้นเป็นไปได้อย่างไร ผู้เขียนจึงเข้าใจว่า เมื่อสายรัดข้อมือได้ข้อมูลว่าสินค้านั้นคืออะไรแล้ว รหัสที่อยู่ในบาร์โค้ดคงถูกส่งไปที่แอปพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน ซึ่งคงต้องออนไลน์ไปยังแหล่งเก็บข้อมูลทางโภชนาการของสินค้าอาหารตามฉลากโภชนาการ (nutrition label) ที่น่าจะต้องเป็นการตกลงไว้กับบริษัทที่ขายสินค้านั้น จากนั้นข้อมูลทางโภชนาการจะถูกส่งกลับเข้าสมาร์ทโฟนเพื่อเปรียบเทียบความเหมาะสมกับข้อมูลรหัสพันธุกรรมของลูกค้าว่า ถ้าลูกค้ากินอาหารดังกล่าวแล้วจะเสี่ยงต่อภาวะอ้วน ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะกระดูกพรุน หรืออื่นๆ หรือไม่ แล้วส่งผลไปที่สายรัดข้อมือเพื่อแสดงสีของสัญญาณไฟ ในกรณีที่สีของไฟเป็นแดง คือไม่แนะนำให้ซื้อนั้น ลูกค้าสามารถเข้าดูเหตุผลได้จากแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน         โดยสรุปแล้ว DNAnudge นั้น เป็นการย่อกระบวนการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมของลูกค้าในลักษณะที่เรียกว่า Lab on Chip เพื่อเปรียบเทียบความเหมาะสมในการกินสินค้าอาหารหนึ่งๆ ที่มีข้อมูลทางโภชนาการว่าเหมาะสมหรือไม่ ข้อสังเกตคือ ลูกค้าต้องเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นต่อศักยภาพของบริษัทว่าทำได้จริง มีเงิน (สายรัดข้อมือของบริการนี้คงทำหน้าที่บอกเศรษฐานะของเจ้าของได้เหมือนกับนาฬิกา) มีความสนใจและบังคับใจตนเองให้ปฏิบัติตนตามหลักการทางโภชนาการที่บริษัทได้ nudge ให้ และต้องอยู่ในบริเวณที่มีอินเทอร์เน็ต ระดับ 5 G        การตรวจลำดับของหน่วยพันธุกรรมกับเชื้อโรค Covid-19         นอกจากการหารับประทานจากข้อมูลทางพันธุกรรมของมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานเพื่อธุรกิจหาประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรม ยังได้พัฒนากระบวนการตรวจลำดับของหน่วยพันธุกรรมอย่างเร็วมาใช้ในการตรวจพบว่า ผู้รับบริการอยู่ในข่ายอาจติดเชื้อโรค Covid-19 มีผลการตรวจเป็นบวกหรือลบอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วได้         การตรวจว่าผู้ต้องสงสัยติดเชื้อหรือไม่ด้วยระยะเวลาช้าหรือเร็วนั้นมีผลทางจิตใจอย่างมาก งานวิจัยเรื่อง Impact of delays on effectiveness of contact tracing strategies for COVID-19: a modelling study ซึ่งตีพิมพ์ออนไลน์ในวารสาร Lancet Public Health ของปี  2020 ได้แสดงให้เห็นว่า การลดความล่าช้าในการทดสอบให้น้อยที่สุดมีผลกระทบมากที่สุดในการติดตามแจ้งข้อมูลผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือสมาร์ทโฟนแก่ผู้ที่อยู่ในข่ายติดเชื้อ ปฏิบัติการนี้เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสได้ถึงร้อยละ 80         เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2020 สำนักข่าวบีบีซีให้ข้อมูลว่า นายแมตต์ แฮนค็อก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสหราชอาณาจักรกล่าวว่า มีการตรวจสารคัดหลั่งและตรวจหน่วยพันธุกรรม ซึ่งจะรู้ผลอย่างรวดเร็วภายในไม่เกิน 90 นาที เป็นการช่วยแยกแยะผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ออกจากโรคประจำฤดูกาลอื่นๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ปฏิบัติการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์อย่างมากในช่วงฤดูหนาวที่จะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า         นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอีกว่า นายกรัฐมนตรี Boris Johnson ตั้งเป้าการตรวจวัดไว้ที่ 200,000 ตัวอย่างต่อวัน โดยในอนาคตอันใกล้รัฐบาลสหราชอาณาจักรจะจัดส่งชุดตรวจเร็วที่ใช้ตัวอย่างสารคัดหลั่งแบบชื่อ LamPORE (จากบริษัทวิจัย Oxford Nanopore) จำนวน 450,000 ชุด ไปยังสถานพยาบาลและห้องปฏิบัติการต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่ตรวจหาเชื้อที่ก่อโรค covid-19 และจะเพิ่มจำนวนเป็นหลายล้านชุดในช่วงปลายปีนี้ โดยมีค่าใช้จ่ายราว 40 ปอนด์ต่อ 1 ตัวอย่าง จากนั้นตั้งแต่เดือนกันยายนรัฐบาลสหราชอาณาจักรจะเพิ่มเครื่องตรวจหน่วยพันธุกรรมของบริษัท DnaNudge ซึ่งปัจจุบันมีใช้อยู่แล้วในโรงพยาบาลเครือสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติหรือ NHS จำนวน 8 แห่ง ไปยังโรงพยาบาลในเครือที่อื่นๆ อีก 5,000 เครื่อง โดยเครื่องตรวจหน่วยพันธุกรรมดังกล่าวจะช่วยให้สามารถตรวจหาเชื้อเพิ่มได้อีก 5.8 ล้านตัวอย่าง ซึ่งเป็นความหวังว่าจะช่วยให้สามารถตัดห่วงโซ่แห่งการแพร่ระบาดได้เร็วขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลอังกฤษกำลังจะเซ็นสัญญาเพื่อซื้อเครื่องตรวจหน่วยพันธุกรรมจากผู้ผลิตรายอื่นๆ ด้วย สำหรับความน่าเชื่อถือของระบบตรวจหาเชื้อไวรัสก่อ Covid-19 นั้น เซอร์จอห์น เบลล์ จากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดให้ข้อมูลว่า เครื่องตรวจที่กล่าวถึงนั้นมี "ความไว" พอๆ กับการตรวจ RT-PCR ในห้องปฏิบัติการ         เว็บ https://edition.cnn.com เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2020 มีบทความเรื่อง FDA authorizes new test that could detect coronavirus in about 45 minutes ได้ให้ข้อมูลว่า การตรวจวินิจฉัยที่เร็วขึ้นนี้เป็นนวัตกรรมของบริษัท Cepheid ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งความเร็วดังกล่าวนั้นช่วยลดความกังวลของผู้ต้องการรับการตรวจเนื่องจากอยู่ในข่ายต้องสงสัยว่าติดเชื้อได้เป็นอย่างดี และน่าจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งว่า ทำไมคนอเมริกันถึงมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากนั่นก็เพราะมีการตรวจที่เร็วและสะดวกนั่นเอง         www.hospimedica.com/covid-19 มีบทความเรื่อง New Biosensor Detects COVID-19 Virus in Air ซึ่งรายงานว่า ทีมนักวิจัยจากบริษัท Empa และ ETH Zurich สวิตเซอร์แลนด์ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเซ็นเซอร์ใหม่สำหรับตรวจจับไวรัสโคโรนาตัวใหม่ ที่บอกถึงความเข้มข้นของไวรัสในสิ่งแวดล้อม เช่น ในสถานที่ที่มีคนจำนวนมากหรือในระบบระบายอากาศของโรงพยาบาล         การตรวจหาไวรัสโดยใช้เซ็นเซอร์นี้ไม่ได้ถูกพัฒนาเพื่อแทนที่การทดสอบในห้องปฏิบัติการมาตรฐาน อุปกรณ์นี้เหมาะที่จะใช้ในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน เช่น สถานีรถไฟหรือโรงพยาบาล เพื่อวัดการปรากฏตัวของไวรัสในอากาศ โดยเซ็นเซอร์ที่กล่าวถึงนี้เป็นไบโอเซ็นเซอร์แบบออปติคัล ที่ทำขึ้นจากโครงสร้างเล็กๆ ของทองคำที่เรียกว่า โกลด์นาโนไอแลนด์บนพื้นผิวแก้ว ซึ่งมีการตรึงหน่วยพันธุกรรมที่มีหน่วยโครงสร้างที่สามารถเข้ากันได้อย่างดีกับลำดับหน่วยโครงสร้างของ RNA ที่อยู่ภายใน SARS-CoV-2 ซึ่งเมื่อจับกันได้แล้วจะมีการแปลผลออกมาเป็นสัญญาณบวกของการตรวจหา และเพื่อแสดงให้เห็นว่าเซ็นเซอร์ใหม่ตรวจจับไวรัส COVID-19 ในปัจจุบันได้อย่างน่าเชื่อถือเพียงใด นักวิจัยได้พบความสำเร็จในการทดสอบกับไวรัส SARS-CoV (ซึ่งระบาดในปี 2546) เพื่อแสดงว่าสามารถแยกแยะออกจากตรวจจับไวรัสก่อโรค Covid-19 ได้ ทั้งที่เป็นโคโรนาไวรัสที่ใกล้เคียงกันมาก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 ข้อมูลพันธุกรรมมีค่าเป็นเงิน ตอนที่ 1

        ร้อยปีที่แล้วเป็นศตวรรษของอะตอมเพราะมีการศึกษารู้ว่า อะตอมในโมเลกุลมีอะไรบ้างเป็นองค์ประกอบ ตลอดจนสามารถปลดปล่อยพลังงานของอะตอมออกมาเป็น Atomic bomb จากนั้นเมื่อถึงศตวรรษ 21 นี้นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าเป็น ศตวรรษของยีน เพราะนักวิทยาศาสตร์สามารถรู้ว่า รหัสพันธุกรรมบนโครโมโซมภายในเซลล์ของมนุษย์นั้นเป็นอย่างไร อีกทั้งได้มีการศึกษาถึงความหมายของรหัสพันธุกรรมที่อยู่บนยีนแต่ละยีนว่า เกี่ยวข้องอย่างไรกับการดำรงชีวิต ซึ่งสามารถแปลต่อไปว่า รหัสพันธุกรรมแบบไหนที่ทำให้มนุษย์มีชีวิตที่เป็นสุขไร้โรคหรือทุกข์อมโรคได้         ความแตกต่างของลำดับนิวคลีโอไทด์ ที่เป็นองค์ประกอบของแต่ละยีนนั้นส่งผลต่อการทำงานของยีนทั้งในด้านบวกหรือลบ ความแตกต่างกันเพียงตำแหน่งเดียวของลำดับพันธุกรรมของแต่ละยีนซึ่งเรียกว่า single nucleotide polymorphism หรือ SNP (นักวิทยาศาสตร์บางคนใช้คำว่า SNiP เพื่อให้จำง่าย) อาจส่งผลถึงการเป็นโรคทางพันธุกรรมได้ ตัวอย่างเช่น sickle cell anemia คือการที่เม็ดเลือดแดงบางส่วนของผู้ป่วยมีลักษณะผิดปรกติมีสัณฐานคล้ายเคียวเกี่ยวข้าว ความผิดปรกตินี้ทำให้เม็ดเลือดนั้นไม่สามารถนำออกซิเจนได้เหมือนเม็ดเลือดปรกติที่มีสัณฐานกลมเป็นแอ่งเว้าตรงกลาง สาเหตุที่ก่อความผิดปรกติคือ เกิดการกลายพันธุ์ของนิวคลีโอไทด์ 1 หน่วยของยีนที่สร้างโปรตีนฮีมในเม็ดเลือดแดงชื่อ hemoglobin-beta gene อย่างไรก็ดียีนสร้างโปรตีนฮีมของเม็ดเลือดแดงมีหลายยีน เพราะคนที่เป็น sickle cell anemia นั้นยังมีเม็ดเลือดแดงที่ปรกติบ้าง จึงยังมีชีวิตอยู่ได้แบบค่อนข้างลำบาก         มีการศึกษาพบว่า ความแตกต่างกันขององค์ประกอบที่เป็นหน่วยพันธุกรรมหรือ SNP ของยีนแต่ละยีนนั้นมักส่งผลถึงการเป็นโรคที่ไม่ติดต่อ (ซึ่งถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม) ที่เกี่ยวเนื่องกับการตอบสนองต่อสารอาหารบางชนิดต่างไปจากคนปรกติทั่วไป ด้วยอิทธิพลของปรากฏการณ์ที่เรียกว่า nutrigenomic ซึ่งใช้อธิบายว่า คนหลายคนที่มีรูปแบบชีวิตเหมือนกันโดยเฉพาะการกินอาหารนั้น กลับมีการแสดงออกทางร่างกาย (phenotype) ต่างกันในด้านน้ำหนัก ความแข็งแรง ความอดทน และอื่น ๆ         ข้อมูลที่กล่าวข้างต้นนั้นเป็นที่มาของธุรกิจให้บริการตรวจความแปรเปลี่ยนขององค์ประกอบทางพันธุกรรมของแต่ละยีน (SNP) ที่มีผลต่อสุขภาพเนื่องจากการกินอาหารตลอดไปจนถึงพฤติกรรมความเป็นอยู่ ในธุรกิจนี้ผู้รับบริการจะได้รับอุปกรณ์คือ cotton bud สำหรับกวาดกระพุ้งแก้มเพื่อเก็บเซลล์พร้อมน้ำลายที่มีเซลล์ที่หลุดออกมาแล้วใส่ลงในภาชนะที่มีน้ำยาสำหรับคงสภาพของเซลล์ แล้วส่งทางไปรษณีย์กลับไปยังห้องปฏิบัติการของบริษัทเพื่อทำการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมทั้งหมดบนโครโมโซมที่ได้จากเซลล์ เพื่อหาว่ามีลักษณะของพันธุกรรมที่เป็น SNP ของยีนที่มีการตอบสนองต่อการใช้สารอาหารแต่ละชนิดที่กินจากอาหารแต่ละมื้อต่างไปจากคนปรกติส่วนใหญ่หรือไม่         จากนั้นบริษัทจะแปลผลออกมาโดยนักวิชาการที่รู้ดีในศาสตร์นี้ว่า ลูกค้าผู้นั้นควรกินอาหารที่มีองค์ประกอบอย่างไร เพราะถ้าลูกค้ามี SNP ที่ส่อจะเกิดโรคไม่ติดต่อบางโรค เช่น กระดูกพรุน เบาหวานประเภทที่ 1 มะเร็ง ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ฯลฯ  การเลี่ยงสารอาหารบางอย่างหรือเพิ่มสารอาหารบางอย่างอาจช่วยให้ชีวิตดำเนินได้เป็นสุขขึ้น และมักมีการเพิ่มคำแนะนำเกี่ยวกับพฤติกรรมด้านความเป็นอยู่ เช่น การออกกำลังกาย (โดยอาศัยข้อมูลจากแบบสอบถามที่ส่งไปพร้อมกับน้ำลาย)         ประเด็นคือ กระบวนการของบริษัทเหล่านี้เชื่อได้แค่ไหน คำตอบคือ แล้วแต่บุญและกรรมที่อาจทำกันมาแต่ชาติปางก่อนว่าบริษัทนั้น กลวงแบบบริษัทขายไม้ล้างป่าช้าตรวจวัตถุระเบิดหรือไม่         ในสหรัฐอเมริกามีหน่วยงานชื่อ The U.S. Government Accountability Office หรือ US. GAO ซึ่งทำหน้าที่สำคัญให้วุฒิสภา (ที่มาจากการเลือกตั้ง) ในการตรวจสอบความโปร่งใสของสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศทั้งหมด (โปรดอย่าสับสนว่าเหมือน ป.ป.ช ของไทย) แม้การทุจริตของประธานาธิบดีก็ไม่มีการเว้น ดังนั้นเมื่อมีการหลอกลวงในการขายสินค้าหรือบริการสำคัญๆ ที่มีผลกระทบถึงผู้บริโภค เช่น กรณีของการตรวจหน่วยพันธุกรรมเพื่อดูว่ามีความสัมพันธ์กับโรคเนื่องจากการบริโภค หน่วยงาน US. GAO จึงเข้าทำการตรวจสอบและได้เผยแพร่เอกสารอิเล็คโทรนิคอย่างน้อย 2 เรื่องคือ NUTRIGENETIC TESTING: Tests Purchased from Four Web Sites Mislead Consumers และ DIRECT-TO-CONSUMER GENETIC TESTS: Misleading Test Results Are Further Complicated by Deceptive Marketing and Other Questionable Practices         ใจความสำคัญของเอกสารทั้งสองชิ้นนั้นระบุว่า การให้บริการตรวจสอบองค์ประกอบทางพันธุกรรมเพื่อทำนายผลหรือการแนะนำพฤติกรรมการกินเพื่อหลีกเลี่ยงโรคไม่ติดต่อต่างๆ ของบางบริษัทนั้นดูจะเชื่อไม่ได้ โดยทางสำนักงานได้ทดลองส่งตัวอย่างที่ได้จากการกวาดกระพุ้งแก้มของสตรีนางหนึ่งไปยัง 4 บริษัทที่มีการโฆษณาบริการบนอินเทอร์เน็ต ผลปรากฏว่า การแปลผลและคำแนะนำเกี่ยวกับพฤติกรรมการกินอาหารนั้นไปคนละทิศละทาง ซึ่งผู้ทำรายงานเข้าใจว่า ความแตกต่างนั้นเกิดเนื่องจากข้อมูลที่ตอบไปในแบบสอบถามซึ่งต่างกัน นั่นเป็นการแสดงว่าคำแนะนำนั้นแทบไม่ได้ขึ้นกับการวิเคราะห์หน่วยพันธุกรรมแต่ขึ้นกับคำตอบในแบบสอบถามมากกว่า         ทางสำนักงาน US. GAO ได้ทำการทดลองอีกครั้งหนึ่ง โดยส่งตัวอย่างของหนึ่งชายไปยัง 2 บริษัท ซึ่งผลของคำแนะนำที่ได้นั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิงโดยขึ้นกับข้อมูลที่กรอกไปในแบบสอบถาม (เช่นกัน) และเมื่อส่งตัวอย่างของหนึ่งหญิงไปยัง 9 บริษัท พร้อมกับการตอบแบบสอบถามซึ่งให้ข้อมูลที่ต่างกัน แถมข้อมูลที่ส่งไปบางบริษัทนั้นได้หลอกว่าเป็นตัวอย่างจากเพศชาย ผลคำแนะนำที่ได้กลับมาจึงไม่น่าประหลาดใจว่า คำแนะนำจาก 9 บริษัทแก่ผู้หญิงคนเดียวกันจึงต่างกันไปโดยสิ้นเชิง         เรื่องของการใช้ข้อมูลทางพันธุกรรม โดยเฉพาะของมนุษย์เพื่อหาเงินนั้นมีข่าวหนึ่งทั้งในหน้าหนังสือพิมพ์และข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตที่ระบุว่า นักการเมืองไทยคนหนึ่งได้ลงทุนทำธุรกิจเกี่ยวกับการบริการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมเพื่อแปลผลไปสู่การเลือกกินอาหารที่เหมาะสมต่อร่างกายตามหลักการที่เรียกว่า nutrigenomic เพื่อแก้หรือป้องกันปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการกิน บริษัทที่ให้บริการนี้ชื่อ DNAnudge        ประเด็นที่น่าสนใจคือ บริการนี้อาศัยหลักการทางวิทยาศาสตร์อะไร และการบริการนี้เป็นจริงตามที่โฆษณาไว้ที่ว่า ทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกอาหารที่ทำให้ร่างกายได้สารอาหารที่เหมาะสมกับรหัสพันธุกรรมที่แต่ละคนมี...หรือไม่         คำว่า Nudge นั้นมีความหมายว่า การสะกิดให้ใครสักคนเปลี่ยนพฤติกรรมที่กระทำอยู่ไปในแนวใหม่ที่ควรจะดีขึ้นกว่าเดิม ในที่นี้ DNAnudge มีความหมายโดยรวมว่า เป็นการบริการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมของลูกค้าเพื่อแปลเป็นข้อมูลที่ใช้แนะนำให้ลูกค้าปรับพฤติกรรมการกินอาหารที่ (ควรจะ) ดีขึ้นต่อสุขภาพของลูกค้า         สิ่งที่ลูกค้าต้องทำคือ (บ้วนปากให้สะอาดแล้ว) กวาดกระพุ้งแก้มด้วย cotton bud เพื่อให้ได้เซลล์ออกมาใส่ลงไปในภาชนะที่เรียกว่า DnaCartridge แล้วเจ้าหน้าที่ของบริษัทจะนำไปต่อเชื่อมกับเครื่องมือที่เรียกว่า NudgeBox ซึ่งน่าจะเป็นอุปกรณ์วิเคราะห์รหัสพันธุกรรม (ขนาดย่อที่เล็กมากแต่มีประสิทธภาพสูง) ที่เริ่มจากการปล่อยน้ำยาเฉพาะเข้าสู่ DnaCartridge เพื่อสกัด DNA ออกมาจากตัวอย่างเซลล์กระพุ้งแก้ม แล้วส่ง DNA ที่สกัดได้เข้าสู่ส่วนของ NudgeBox เพื่อวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมของลูกค้า (รายละเอียดในหลักการทางวิศวกรรมสามารถเข้าไปดูได้จากเว็บเกี่ยวกับสิทธิบัตรที่จดทะเบียนในสหรัฐอเมริกา         การวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมนั้นผู้ให้บริการกล่าวในเว็บว่า เป็นการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมทั้ง 3 พันล้านตำแหน่งของ DNA ภายในเวลาสั้นราว 60 นาที เพื่อให้ทราบส่วนที่เรียกว่า SNP ของยีน ที่ตอบสนองต่อสารอาหารเฉพาะ เช่น ไขมันอิ่มตัว ไขมันไม่อิ่มตัว แป้ง เกลือ หรืออื่นๆ ในการก่อให้เกิดโรคที่ไม่ติดต่อ เช่น เบาหวานประเภทที่ 1 ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หรือแม้แต่มะเร็ง (ถ้าเชื่อว่าเป็นไปได้) เป็นต้น         ข้อมูลจากการวิเคราะห์จาก NudgeBox อยู่ในลักษณะที่เป็นสัญญาน Digital จะถูกส่งเข้าสู่ส่วนที่เรียกว่า capsule ซึ่งภายในมี Chip ของวงจรอิเล็คทรอนิคที่เป็นส่วนหนึ่งของสายรัดข้อมือที่ถูกถอดไปประกอบติดกับ NudgeBox ขณะมีการวิเคราะห์ดีเอ็นเอและเมื่อ capsule ได้ข้อมูลที่เป็นรหัสพันธุกรรมของลูกค้าแล้ว capsule นั้นจะถูกนำกลับไปประกอบกับสายรัดข้อมือของลูกค้าซึ่งจะส่งต่อข้อมูลรหัสพันธุกรรมไปยัง Application ของ DNAnudge ที่ลงไว้ใน Smartphone ของลูกค้าเพื่อใช้เป็นฐานเมื่อต้องการวิเคราะห์ว่า อาหารใดเหมาะกับลูกค้าหรือไม่ โดยเว็บของบริษัทผู้ให้บริการกล่าวว่า ข้อมูลใน capsule จะถูกทำลายทิ้งเพื่อความเป็นส่วนตัวของลูกค้า การทำงานต่อไปขอให้ติดตามในตอนที่ 2 ของ ข้อมูลพันธุกรรมมีค่าเป็นเงิน

อ่านเพิ่มเติม >