ฉบับที่ 194 Drama - Addict กับ นพ.วิทวัส ศิริประชัย

ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอพามารู้จักเจ้าของเพจดัง ที่มีคนติดตามมากกว่า 1.5 ล้านคน “Drama-addict หรือ จ่าพิชิต ขจัดพาลชน”  หรือชื่อจริงของเขา นพ.วิทวัส ศิริประชัย ในมุมมองสังคมออนไลน์กับงานคุ้มครองผู้บริโภค แรงบันดาลใจของคุณหมอทำไมตั้งชื่อเพจว่า Drama-addict จริงๆ ตอนแรกเป็นเว็บไซต์ของพวกคนตีกัน ถกเถียง ดีเบตกันในอินเตอร์เน็ต แต่ว่าด้วยอาชีพหลักของผมในตอนนั้นเป็นหมออยู่ที่โรงพยาบาลเกาะลันตา แล้วก็เห็นคนไข้ที่ถึงแม้จะอยู่ห่างไกลมากๆ แต่เขาก็ยังตกเป็นเหยื่อของอินเตอร์เน็ตกันเยอะ เช่น คนไข้บางคนไปซื้อยาลดความอ้วนกินแล้วปัสสาวะเล็ดเรี่ยราด ใจสั่น น้ำหนักลดเขาก็มาที่โรงพยาบาล ผมก็รู้สึกว่าเราก็มีคนติดตามเยอะถ้าเราเอาข้อมูลพวกนี้มาทำให้คนไข้รู้นั้นเราก็น่าจะช่วยคนได้มาก เลยเริ่มเอาประเด็นพวกนั้นมานำเสนอ พอทำตรงนี้แล้วมันก็จะมีการติดต่อกับผู้เสียหายจากหลายๆ กรณี ยกตัวอย่างกรณีหนึ่งเป็นนักเรียนประมาณ ม .4 – 5 เขาไปซื้อยาลดความอ้วนยี่ห้อหนึ่ง ยาตัวนี้เขาอ้างชื่อเชอรี่สามโคก ที่เป็นพริตตี้มีชื่อเสียง แต่เชอรี่ตัวจริงเขาไม่รู้เรื่องแต่ว่าถูกเอาชื่อและรูปไปโฆษณายาลดความอ้วนตัวนี้ จนมีคนหลงเชื่อและซื้อไปกินและเสียชีวิต แล้วทางญาติก็อยากเอาเรื่องฟ้องร้อง ก็ติดต่อมาทางผม ผมก็คุยกับเชอรี่ซึ่งเขาก็รู้สึกว่าตัวเขาเองมีส่วนต้องช่วยรับผิดชอบ ก็มีการพูดคุยกันกับเพจดาร์ค อื่นๆ อีกและสุดท้ายก็ไปที่ดีเอสไอเพื่อดำเนินคดีกัน สุดท้ายก็มีการออกหมายจับแม่ค้าคนนี้และนำไปสู่การจับกุมในที่สุด แต่ประเด็นคือ ถูกจับก็ประกันตัวไป เดี๋ยวก็ออกมาขายอีกเหมือนเดิม คือผมรู้สึกว่าทำตรงนี้ไปถ้าสมมติว่ามันออกมาเป็นรูปแบบเดิมมันก็ไม่ค่อยช่วยอะไรได้มาก เพราะว่าโทษมันเบาเหลือเกิน บางคนขายยาลดความอ้วนในเพจหลายๆ เพจโวยกันแทบตายสุดท้ายออกมาขายกิจการใหญ่โตกว่าเดิมก็มี อันนี้เป็นเรื่องทางกฎหมายกับองค์กรที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันดูแลด้วย เพราะว่าอย่างแรกโทษมันเบา และบางทีชาวบ้านอยากร้องเรียนพอไปถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบมันมีการโยนกันไปโยนกันมา และมีอีกเคสหนึ่งเขาบอกว่าไปซื้อครีมผิวขาวทาแล้วตัวลายทั้งตัวเลย ซึ่งก็น่าจะผสมสเตียรอยด์ พอไปร้องเรียนที่ อย. ทาง อย. ก็บอกว่าอันนี้ขายในอินเตอร์เน็ตไม่ใช่อำนาจหน้าที่รับผิดชอบของเขาให้ไปไอซีที โยนกันไปโยนกันมาสุดท้ายก็ไม่ได้เรื่องสักที จริงๆ เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ควรประสานหลายหน่วยงาน ทั้งหน่วยงานรัฐด้วยกันเองและผู้บริโภคด้วยก็น่าจะสามารถช่วยกันได้ และที่ผมบอกไปตอนขึ้นต้นว่าบางครั้งเราแค่ติดอาวุธให้กับประชาชนแล้วที่เหลือเขาจะจัดการกันเองได้มีกลยุทธ์อย่างไรในการนำเสนอเรื่องราวแต่ละเรื่องที่ทำให้คนสนใจกันมากๆ ได้อันนี้คิดว่าทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะต้องศึกษาเกี่ยวกับมาร์เก็ตติ้งและการทำโฆษณา ทุกวันนี้มันเป็นแบบนั้นจริงๆ ลองสังเกตดูนะจะเห็นว่าโฆษณาขายครีมลอกผิว ขายยาผิวขาว ยาลดความอ้วนนั้นแชร์หลายหมื่น หลักแสนก็มี ในขณะที่หน่วยงานรัฐเราทำข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงนำเสนอไปคนแชร์หลักสิบ บางทีคนไม่สนใจด้วยซ้ำเพราะบางทีเราคิดว่าทำภาพ ทำโปสเตอร์ใส่เนื้อหาลงไปเยอะๆ แล้วคนจะแชร์ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่อยู่ที่รูปแบบการนำเสนอด้วยว่า ทำอย่างไรจะทำให้คนแชร์คอนเทนท์นั้นเยอะๆ อันนี้ต้องเข้าใจก่อนว่าคนเราเวลาจะทำพวกไวรอลพวกนั้นมันอยู่กับอารมณ์ของผู้บริโภคด้วย ก็คือคนที่เล่นเฟซ ถ้าเขารู้สึกว่าไอ้ตัวนี้มันกระตุ้นอารมณ์เขา เขาก็จะเป็นอารมณ์ด้านบวก คือดูแล้วขำหรือดูแล้วสะเทือนใจอะไรพวกนี้ก็จะกระตุ้นให้เกิดการแชร์มากขึ้น อันนี้เป็นคอนเซ็ปต์ที่ถ้าเราเรียนด้านสาธารณสุขมาน่าจะเคยได้ยินมาบ้างที่ว่าเวลาทำโปสเตอร์รณรงค์อย่าพยายามไปทำให้มันเป็นด้านลบมากเกิน เช่น ถ้าเราจะรณรงค์เรื่องเลิกบุหรี่ก็อย่าเอาภาพที่แบบคนปากเน่าๆ เละๆ มานำเสนอ ทำให้มันเป็นด้านบวกๆ หน่อยเพื่อที่คนจะแชร์ ก็คือต้องศึกษาการทำภาพให้มันดูแล้วอยากแชร์ อยากไลค์เพื่อให้คนเข้ามาถึงข้อมูลตรงนี้ได้ง่ายๆ ในโลกดิจิตอลนอกจากซื้อของแล้วได้ไม่ตรง ยังมีปัญหาอะไรอีกไหมที่มองว่ามาแน่ๆ ในอนาคตถ้าเราดูปัญหาการละเมิดสิทธิผู้บริโภคช่วงหลายปีที่ผ่านมาไม่ว่าจะมีอินเตอร์เน็ต เฟซบุ๊คอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องแต่การก่ออาชญากรรมพวกนั้นไม่ต่างจากยุคก่อน ที่จะมีอินเตอร์เน็ตเลย ยกตัวอย่างง่ายๆ กรณีของโชกุน โชกุนมีอะไรต่างจากแชร์ลูกโซ่สมัยก่อนบ้าง พวกแชร์แม่ชม้อยพวกนั้น คอนเซ็ปต์ทุกอย่างเหมือนธุรกิจแชร์ลูกโซ่เลย คนไทยตกเป็นเหยื่อมาตลอดและยังตกเป็นเหยื่ออยู่เรื่อยๆ ทั้งๆ ที่เรามีข้อมูล มีการเข้าถึงข้อมูลทั้งเฟซบุคหรืออะไรอย่างอื่นมากขึ้น ผมมองว่าพวกเฟซบุค ไอจีอะไรพวกนี้มันเป็นแค่ช่องทางหนึ่งของการเข้าถึงข้อมูล แต่รูปแบบของการก่ออาชญากรรมนั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป ปัจจุบันการก่ออาชญากรรมที่เป็นการละเมิดผู้บริโภคนั้น จะเป็นการใช้ข้อมูลเท็จและใช้ข้อมูลเข้าไปหลอกลวงผู้บริโภคให้หลงเชื่อและหลงเป็นเหยื่อมากกว่า อย่างกรณีพวกที่ขายยาลดความอ้วนหรือพวกขายครีมปรอท เราให้ข้อมูลไปว่าของพวกนี้ใช้แล้วอันตรายกับผู้บริโภค แต่คนก็ไม่เชื่อกันเพราะว่าหน่วยงานภาครัฐนั้นเคลื่อนตัวช้า พอมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกว่าจะทำอะไรได้ข้อมูลมันช้ามาก ขณะที่พ่อค้าแม่ค้าที่ขายครีมเขาไปสร้างข้อแก้ตัว สร้างข้อมูลเท็จสารพัดอย่างเช่นบอกว่า อย. รับรองสินค้าของเขา ตัวนี้มี อย. ทำให้เขาสามารถเอามาขายได้แบบอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงได้ อย่างล่าสุดก็มีกรณีที่เอาของเหลือจากอุตสาหกรรมนมมาทำเป็นนมผงแล้วเอาไปหลอกขายประชาชนบอกว่า ให้ลูกกินแล้วจะตัวสูงซึ่งมันเป็นเรื่องเท็จ แต่คนก็หลงเชื่อกันแล้วก็แห่กันไปซื้อมากมายเพราะว่าก่อนหน้านั้นมันมีขบวนการที่สร้างข้อมูลเท็จ ปั่นหัวให้พ่อแม่ที่อยากให้ของดีๆ กับลูกกินนั้นหลงเชื่อว่าไอ้ตัวนี้เป็นของที่น่าเชื่อถือ มีการยกอ้างงานวิจัยอะไรสารพัดเลย แต่ถ้าเป็นคนในแวดวงการแพทย์หรือว่าวงการสาธารณสุขนั้นเหลือบตาดูแว้บเดียวก็รู้แล้วว่าที่เขายกมาอ้างมันมั่วทั้งนั้น ปัญหาคือเราจะทำอย่างไร ให้ประชาชนนั้นเข้าถึงข้อมูลตรงนี้ว่าสิ่งที่เขาเห็นเป็นข้อมูลเท็จทั้งหมด ประเด็นคือ ถ้าเราจะเล่นสงครามข่าวสารพวกนี้เพื่อให้ผู้บริโภค ซึ่งอย่างแรกต้องมีความว่องไวและเราต้องการให้ความรู้เท่าทันเป็นอาวุธที่จะไปสู้กับพวกข้อมูลเท็จเหล่านี้ มีตั้งแต่การสร้างเครื่องมือในการตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร เช่น รายการชัวร์ก่อนแชร์ มีเว็บไซต์ที่มีสำหรับเช็คข่าวปลอมในอินเตอร์เน็ตและมีการเอาข้อมูลเกี่ยวกับโฆษณาลงรูปพวกนี้มานำเสนอกันผ่านสื่อให้มันดูน่าเชื่อถือและว่องไวเพื่อให้ประชาชนเขามีข้อมูลตรงนี้ไว้อ้างอิง อย่างล่าสุดมีคนเพิ่งส่งเรื่องมาให้ผมเป็นเรื่องของพ่อแม่ที่มีลูกเป็นเอสพีดี เขาก็คุยกันเรื่องลูกเป็นเอสพีดีปกติแล้วก็มีคนขายเอาโคลอสตรุมไปขายในกลุ่มเขาบอกว่าถ้าให้ลูกที่เป็นเอสพีดีกินแล้วสุขภาพจะแข็งแรง ภูมิต้านทานจะดี ปรากฏว่าก่อนหน้านั้นเรามีการนำเสนอข้อมูลผ่านหลายๆ เพจก็โจมตีว่า ไอ้พวกโคลอสตรุมนั้นมันเป็นเรื่องเท็จ หลอกลวงประชาชน เขาก็เอาข้อมูลตรงนี้ไปเถียงกับคนขายเหล่านั้นได้ คือประชาชนก็สามารถจัดการปัญหาเหล่านี้เองได้แต่เราต้องให้ข้อมูลที่เหมาะสมกับเขาก็คือผู้บริโภคยุคนี้ต้องมีความรู้ที่มากขึ้น ถูกต้องและเร็วขึ้น เรื่องข้อมูล อย่างแรกต้องมีข้อมูลแบบที่น่าเชื่อถือได้ มีหน่วยงานภาครัฐเป็นคนการันตีเรื่องข้อมูล อย่างกรณีเรื่องโคลอสตรุม ตอนแรกผมก็พยายามหางานวิจัยต่างประเทศแล้วก็พวกสถานะของโคลอสตรุมจากพวกผู้ชำนาญการ นักวิชาการหลายๆ คนมานำเสนอก็ได้แค่ระดับหนึ่ง แต่พอ อย. มาเล่นด้วยนั้นหายเกลี้ยงเลย คือเรื่องพวกนี้ถ้ามีภาครัฐมาสนับสนุนแบคอัฟข้อมูลที่ถูกต้องให้นั้น ประชาชนจะรู้ว่าข้อมูลจากตรงนั้นมันน่าเชื่อถือ สองก็ต้องทำให้มันย่อยง่ายอาจจะทำเป็นอินโฟกราฟฟิคเยอะๆ ทำให้ภาพมันดูง่ายๆ อาจจะต้องใช้เวลาไปเสริมข้อมูลทีละนิดๆ เพราะว่าถ้าเยอะเกินไปโดยบุคลิกของคนไทยไม่ชอบอ่านอะไรเยอะๆ ต้องใช้ภาพเยอะๆ ตัวอักษรน้อยๆ  เน้นคำที่มีคีย์เวิร์ดสำคัญ อย่างโคลอสตรุมนั้นเราจะเน้นคีย์เวิร์ดคำว่า นมเกรดเทให้หมากิน ซึ่งคำนี้พอคนกินเข้าไปมันจะเกิดความตะหนักรู้ว่าอ้าวเอาของห่วยๆ มาหลอกเรา แล้วคนจะไปหาข้อมูลอื่นเพิ่มเติมเองซึ่งเราก็หาแหล่งข้อมูลให้เขาอ้างอิงง่ายๆ ได้รับการแชร์ข้อมูลกันทุกวันจะทำอย่างไรให้เขาตรวจสอบข้อมูลง่ายๆอย่างแรกต้องสร้างการตระหนักรู้ก่อนว่าข้อมูลที่ส่งๆ กันในโซเชียลนั้นมันไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องจริงทั้งหมดแต่อันนี้เป็นปัญหามาก เพราะว่าทุกวันนี้พอคนเฒ่าคนแก่เขาเพิ่งหัดเล่นเฟซบุคเขาจะคิดว่าไอ้ที่คนเขาแชร์กันเยอะๆ นั้นมันน่าจะเป็นเรื่องจริง ตรงนี้ที่ควรจะต้องค่อยๆ เสริมความรู้กันเข้าไป อย่างข่าวปลอมบางทีแชร์กันเป็นแสน บางทีต้องให้เขารู้ว่าถ้าเป็นข่าวอะไรก็ตามที่เน้นให้คนอ่านรู้สึกมากๆ ยกตัวอย่างง่ายๆ จะมีพวกที่เอาภาพของคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่มาตัดต่อสร้างเป็นข่าวปลอมบอกว่าคนนี้ไปข่มขืน แล้วทำภาพให้คนดูแล้วชวนให้โกรธแค้น อันนี้อยากให้เบรคไว้ก่อนเลยว่าถ้าเป็นลักษณะนี้ร้อยทั้งร้อยข่าวปลอมล้านเปอร์เซ็นต์ หรือข้อมูลทางการแพทย์ที่แปลกๆ อย่างเช่นกินไอ้นี่แล้วเป็นมะเร็งถึงตาย ดูเว่อร์ๆ นั้นให้ชั่งใจไว้แล้วหาข้อมูลก่อนเพราะว่าข่าวไหนก็ตามที่มันเน้นกับความรู้สึกคนมากๆ บอกได้เลยอันนั้น คือออกแบบมาเพื่อทำเป็นไวรอล และเป้าหมายมันไม่ใช่เพื่อเน้นข้อมูล ถ้าเป็นไวรอลของภาครัฐนั้นจะทำมาเพื่อให้คนแชร์กันเยอะๆ แต่ถ้าเป็นลักษณะที่กล่าวมาก็เน้นเพื่อหาผลประโยชน์บางคนก็เป็นเหยื่อจากการแชร์เรื่องพวกนี้ ตรงนี้จะทำอย่างไรได้บ้างอันนี้ก็เหมือนที่บอกตอนแรกคือ ต้องทำให้เกิดการตะหนักรู้ การโฆษณาในเฟซบุคที่อ้าง อย.หรืออ้างนู้นอ้างนี่ไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป อย่าง อย. จะเป็นหน่วยงานที่ถูกอ้างอิงบ่อยมาก บอกว่าสินค้าตัวนี้มี อย. ปลอดภัย อย่างโคลอสตรุมมี อย. กินแล้วตัวสูงแน่เพราะ อย. ยังรับรอง ซึ่งมันไม่จริงเลย ตรงนี้ อย. เองก็น่าจะออกมาพูดบ้างว่าเขามีข้อจำกัดอะไร อย่างเช่น อย. เวลาได้เครื่องหมาย อย. มาก็ไม่ได้หมายความว่าปลอดภัย ต้องเข้าใจคำว่าโฆษณากินจริงพวกนั้นด้วย และต้องเข้าใจว่าบางที อย. ก็โดนเล่นเหมือนกันเพราะว่าบางทีคนเอายาลดความอ้วนนั้นไปจดทะเบียนแต่จดทะเบียนว่าเป็นอาหารเสริมธรรมดาแต่โฆษณาว่าลดความอ้วนพอเราจะเข้าไปตรวจว่ามีสารอันตรายอยู่หรือเปล่ามันก็จะรู้ข่าวล่วงหน้าจากเส้นสายวงในอะไรของเขา เขาก็เอาสินค้าล๊อตที่มีสารอันตรายออกเอาล๊อตธรรมดาใส่ อย. ตรวจไปก็ไม่เจออะไรแล้วก็เอาไปขายตามเดิม คือต่อให้สุ่มตรวจว่าเจอสารอันตรายอยู่มันก็แถว่าเป็นยาเถื่อนไม่เกี่ยวกับมัน ที่เจอเป็นยาปลอมซึ่งเป็นมุกที่เล่นกันบ่อยมาก อย่างเช่น หัวบุกอะไรสักอย่างที่ขายกันก่อนหน้านั้นที่คนกินแล้วตายเยอะๆ มันก็อ้างประมาณนี้บอกว่าตัวที่กินไปแล้วตายเป็นของปลอม ปลอมได้อย่างไรมาจากโรงงานเดียวกัน พอ อย. เจอแบบนี้เข้าเขาก็เล่นยาก ถึงได้บอกว่าต้องประสานงานกันหลายๆ หน่วยงานไม่แค่ อย. เจ้าเดียว อย. ต้องร่วมกับไอซีที ร่วมกับดีเอสไอจับได้ให้คาหนังคาเขาเลย และถ้าพูดถึงการคุ้มครองผู้บริโภคอาจจะต้องมีการประสานงานกับหลายๆ เพจเฉพาะด้านอย่างแชร์ลูกโซ่ก็จะมีเครือข่ายต่อต้านแชร์ลูกโซ่แบบนี้ เพราะว่าพอมีกลุ่มพวกนี้ออกมาเพจพวกนี้เขาจะมีเครือข่ายข้อมูล ประชาชนก็จะแห่ไปให้ข้อมูลซึ่งพอเขาประสานงานกับหน่วยงานรัฐนั้นจะง่ายขึ้นเพราะว่ามีเบาะแสที่เจ้าหน้าที่ต้องการ อย่าไปทำคนเดียวต้องช่วยกัน และต้องเร็วขึ้น ต้องตอบรับสถานการณ์ให้ไวขึ้น เพราะถ้าเป็นอย่างเมื่อก่อนเวลามีประเด็นกินยาลดความอ้วนตายกว่าจะขยับตัวสัปดาห์ถัดไปมันไม่มีอะไรให้ตรวจสอบแล้วทำงานตรงนี้มากี่ปีแล้ว มีพวกภัยมืดอะไรไหมที่เข้ามา ท้อแท้บ้างไหมทำเพจก็ 6 -7 ปีแล้วถ้าจำไม่ผิด ก็มีขู่ฟ้องอะไรสารพัดเลย อย่างคนอื่นเขาก็โดนกันเยอะ หมอแล็บ หมอแมวที่ทำเพจเกี่ยวกับให้ความรู้โดนขู่ฟ้องตลอด ตรงนี้ผมคิดว่าภาครัฐก็ต้องเข้ามาช่วยเหลือบ้างนะเพราะว่าบางทีคนก็ต้องแห่กันไปใช้บริการเพจนอกกฎหมายซึ่งมันก็ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องเสมอไป ท้อแท้ไหม บ่อยเลย แต่มันก็ต้องทำ ถ้าไม่ทำคนก็เป็นเหยื่อไอ้พวกนั้นต่อไปเรื่อยๆ  แต่ที่ประสบความสำเร็จก็มี อย่างเรื่องโคลอสตรุมที่เล่าไปเมื่อสักครู่ถือว่าประสบความสำเร็จมาก เพราะว่าคนตื่นรู้จนตอนนี้ไม่มีคนซื้อมันแล้ว เวลาเอาไปขายในเพจเลี้ยงลูกก็จะมีคนเอาข้อมูลพวกนี้ไปแปะ คือเขาจัดการกันเองได้

อ่านเพิ่มเติม >