ฉบับ 269 ถึงเวลาต้องเปลี่ยนเป็นรถอีวี หรือยัง

        ปรากฎการณ์อีวีหรือยานยนต์พลังงานไฟฟ้ากำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ในปี 2565 ยอดขายรถอีวีอยู่ที่ประมาณ 10.2 ล้านคัน เทียบกับสามล้านคันเมื่อสามปีก่อนหน้า ปัจจุบันในบรรดารถยนต์ที่จำหน่ายออกไปทุกๆ 20 คัน จะมี 3 คันที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้า และองค์การพลังงานระหว่างประเทศยังคาดการณ์ไว้ว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าของปี 2566 จะอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 14 ล้านคัน           ในจำนวน 10.2 ล้านคันที่ว่านั้น หากแยกออกมาดูจะพบว่า 5.9 ล้านคันคือยอดขายในประเทศจีน ตามด้วย 990,000 คัน ในสหรัฐอเมริกา อันดับถัดมาคือเยอรมนี (830,000 คัน) และอังกฤษ (370,000 คัน) ในขณะที่เกาหลีใต้เข้ามาเป็นอันดับ 8 ด้วยยอดขาย 131,000 คัน         อีกประเทศที่มาแรงแม้จะไม่ติดอันดับเรื่องยอดขายคือนอร์เวย์ เพราะมีสัดส่วนการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าสูงที่สุดในโลก (ร้อยละ 88 จากยอดขายรถยนต์ใหม่ทั้งหมดในปี 2565)         ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอชวนคุณไปสำรวจสถานการณ์ “การยอมรับ” รถอีวีของผู้บริโภคในหลากหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่เราได้ทำการสำรวจไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาด้วย         เริ่มจาก ประเทศจีน ที่บรรลุเป้าหมายการมียอดขายรถยนต์ “พลังงานใหม่” ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ของยอดขายรถยนต์ในประเทศไปแล้วตั้งแต่ปี 2565 (ก่อนกำหนดเวลาที่ตั้งไว้ถึงสามปี)  ในขณะที่ปีนี้ยอดจองรถดังกล่าวก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้บริโภคที่เคยตั้งใจจะรอให้รถอีวีราคาถูกลง ก็เริ่มตัดสินใจซื้อแล้วเพราะสถานการณ์เริ่มชัดเจนว่าราคารถคงจะไม่ต่ำไปกว่านี้แล้ว นอกจากจากนี้ยังรีบซื้อเพราะช่วงนี้มี “โปรโมชัน” จากรัฐบาล ทั้งเรื่องการลดหย่อนภาษี คูปองเงินสด หรือการยกเว้นค่าจดทะเบียน เป็นต้น        ความคึกคักของตลาดรถไฟฟ้าในจีน ซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภครายใหญ่ เห็นได้จากราคาหุ้นของบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า เช่น Xpeng  Nio  และ Li Auto ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงที่ดีดตัวขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าปีนี้รายได้จากการจำหน่ายรถไฟฟ้าชนิดใช้แบตเตอรีและชนิดปลั๊กอินของผู้ประกอบการในจีนที่ขยันทำรถรุ่นใหม่ๆ พร้อมฟังก์ชันดึงดูดใจออกมาให้เลือกมากมาย จะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าอีกด้วย         แต่ใน อเมริกา รถอีวียังไม่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากเท่าที่ควร การสำรวจล่าสุดโดยสถาบันนโยบายพลังงาน มหาวิทยาลัยชิคาโก ร่วมกับสำนักข่าวเอพี พบว่าร้อยละ 47 ของคนอเมริกัน ยังคิดว่า “เป็นไปได้น้อยมาก” ที่รถคันต่อไปที่พวกเขาจะซื้อจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยเหตุผลหลักสองข้อคือพวกเขาคิดว่ายังมีสถานีชาร์จไม่เพียงพอ และรถก็ยังมีราคาค่อนข้างแพง        มีเพียงร้อยละ 19 เท่านั้นที่ตอบว่า “เป็นไปได้มาก” หรือ “เป็นไปได้อย่างยิ่ง”แต่ความพยายามของภาครัฐและเอกชนก็ไม่ด้อยไปกว่าจีน รัฐบาลของนายโจ ไบเดน ตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในปี พ.ศ. 2573 ร้อยละ 50 ของรถยนต์ที่จำหน่ายจะต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้า และจะต้องมีสถานีชาร์จอย่างน้อย 500,000 สถานีทั่วประเทศ         หน่วยงานของรัฐบาลกลางก็มีแผนจะจัดซื้อยานยนต์ไฟฟ้าขนาดกลางและเล็กจำนวน 13,000 คันในปีงบประมาณ 2566 ก่อนจะเปลี่ยนรถที่ใช้ในราชการทั้งหมดเป็นรถพลังงานไฟฟ้าภายในปี 2570 สำหรับรถเล็ก และปี 2578 สำหรับรถขนาดกลางและใหญ่        ภาคธุรกิจก็มีส่วนร่วม เช่น Amazon นำรถพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในการจัดส่งสินค้าแล้วกว่า 3,000 คัน และประกาศว่าจะเพิ่มเป็น 100,000 คันภายใน 7 ปีข้างหน้า บริษัทที่ทำธุรกิจด้านวัสดุในการผลิตแบตเตอรี Cirba Solutions ก็ให้คำมั่นว่าจะจัดหาวัตถุดิบให้เพียงพอต่อการผลิตรถอีวีหนึ่งล้านคันภายใน 5 ปี         ด้าน Walmart มีแผนจะติดตั้ง “สถานีชาร์จเร็ว” ตามสาขาต่างๆ ของห้างหลายพันสาขาภายในปี 2573 ส่วน Google ก็รับปากว่าจะให้ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางภาษีสำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลผ่านเครื่องมือค้นหาตัวใหม่ที่นำข้อมูลของรัฐเข้ามาประมวลผลด้วย มาดูกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปกันบ้าง         สหภาพยุโรปประกอบด้วย 27 ประเทศ มีประชากรรวมกันไม่ต่ำกว่า 477 ล้านคน ร้อยละ 75 ของคนเหล่านี้อาศัยอยู่ในเขตเมือง             ปลายปี 2565 มีรถยนต์ไฟฟ้าชนิดใช้แบตเตอรี จดทะเบียนในสหภาพยุโรปทั้งหมด 3,056,849 คัน คิดเป็นร้อยละ 1.19 ของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลในสหภาพยุโรป         ในปี 2565 องค์กร EAFO (European Alternative Fuels Observatory) ได้ทำการสำรวจความตั้งใจของผู้บริโภคเรื่องการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า พฤติกรรมการใช้และการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงปัญหาและความท้าทายที่พบ โดยใช้กลุ่มตัวอย่างจาก 10 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรีย เบลเยียม เดมมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมนี ฮังการี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สโลเวเนีย และสเปน         การสำรวจครั้งนี้แบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกมีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 16,664 คน ประกอบด้วยคนใช้รถอีวี (380 คน) และคนไม่ได้ใช้รถอีวี (16,284 คน)        เมื่อถามถึงทัศนคติและแรงจูงใจที่มีต่อยานยนต์ไฟฟ้าชนิดแบตเตอรี พบว่าหนึ่งในสามของกลุ่มตัวอย่างรู้จักรถประเภทนี้เป็นอย่างดี ร้อยละ 41 มีความสนใจในรถอีวี ในขณะที่ร้อยละ 54 ของคนที่ยังไม่เคยใช้รถอีวี ก็มีทัศนคติที่ดีต่อรถชนิดนี้         กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่ารถอีวีมีข้อดีเรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นทางเลือกที่ประหยัด แต่เมื่อถามถึงเหตุผลที่จะไม่เลือกใช้รถอีวีก็พบว่า อันดับหนึ่งคือราคาที่ยังแพงเกินไป (ร้อยละ 26) ตามด้วยความกังวลว่ายังมีสถานีชาร์จสาธารณะไม่เพียงพอ (ร้อยละ 18) ส่วนหนึ่งไม่อยากซื้อมาใช้เพราะที่บ้านไม่มีจุดชาร์จ (ร้อยละ 10) และบางคนก็กลัวจะขับไปไกลไม่ได้ (ร้อยละ 7)         ที่น่าสนใจคือมีถึงร้อยละ 31 ที่ตั้งใจจะซื้อรถอีวีภายในห้าปี อีกร้อยละ 9 มีแผนจะซื้อในช่วงห้าถึงสิบปีข้างหน้า ร้อยละ 13 ตอบว่าคิดจะซื้อแต่ยังไม่ได้กำหนดเวลา ส่วนอีกร้อยละ 47 ที่เหลือยังไม่คิดจะซื้อรถอีวี         การสำรวจส่วนที่สองมีผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็น “ผู้ขับขี่รถอีวี” 1,387 คน ในภาพรวมพบว่า “บุคลิกของคนขับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป” คือ ชายอายุ 35 ปี พักอาศัยในบ้านเดี่ยว มีรายได้ต่อเดือนระหว่าง 2,000 ถึง 3,999 ยูโร (ประมาณ 76,000 ถึง 152,000 บาท) และมีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป         เมื่อแยกดูพฤติกรรมการใช้รถพบว่า ร้อยละ 62 ใช้รถอีวีมาไม่เกินสามปี ร้อยละ 97 ใช้ทุกวันหรือหลายครั้งต่อสัปดาห์ ส่วนใหญ่ใช้เพื่อไปซื้อของ หรือกิจกรรมอื่นๆ อย่างการเดินทางไปพบแพทย์ระยะทางเฉลี่ยต่อวันคือ 126 กิโลเมตร         ในเรื่องของความเป็นเจ้าของ ร้อยละ 70  เป็นเจ้าของรถเอง ในขณะที่ร้อยละ 22 ใช้วิธีเช่ารถขับ ที่เหลืออีกร้อยละ 8 ใช้รถของบริษัท กลุ่มที่เป็นเจ้าของรถเอง        ร้อยละ 41               ซื้อมาในราคาระหว่าง 20,000 ถึง 40,000 ยูโร (760,000 ถึง 1,500,000 บาท)        ร้อยละ 31               จ่ายมากกว่า 40,000 ยูโร         ร้อยละ 18               จ่ายระหว่าง 10,000 ถึง 20,000 ยูโร (380,000 ถึง 760,000 บาท) กลุ่มที่เช่าขับ ค่าเช่าอยู่ที่เดือนละไม่เกิน 500 ยูโร (19,000 บาท)         ร้อยละ 67 เป็นรถอีวีใหม่ อีกร้อยละ 33 เป็นรถอีวีมือสอง         เรามาดูพฤติกรรมการชาร์จของผู้ใช้รถกลุ่มนี้กันบ้าง จากคำถามเรื่องระยะเวลาที่ผู้ใช้รถยินดีจะรอคิวชาร์จ พบว่ามีถึงร้อยละ 37 ที่ตอบว่า “ไม่รอ”  ตามด้วยร้อยละ 33 ที่ตอบว่ายินดีรอ 15 นาทีถึงหนึ่งชั่วโมง อีกร้อยละ 25 ที่เหลือตอบว่าระยะเวลาที่ยินดีรอคือ 15 นาที         สิ่งที่ผู้บริโภคคาดหวังจากสถานีชาร์จมากที่สุดสามอันดับแรก ได้แก่ ความเร็วในการชาร์จการเข้าถึงสถานีชาร์จและการจ่ายเงินที่สะดวกผ่านแอปฯ หรือบัตรเงินสด ตามด้วยการคิดค่าบริการตามกระแสไฟฟ้าที่ชาร์จ (ไม่ใช่ต่อนาทีหรือต่อครั้ง)         มาดูที่ ประเทศไทย ของเรากันบ้าง ตลาดรถไฟฟ้าบ้านเรากำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ยอดจดทะเบียนรถพลังงานไฟฟ้า (EV) ในช่วงห้าเดือนแรกของปีพ.ศ. 2566 อยู่ที่ 32,450 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วมากกว่าร้อยละ 470          คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติหรือ “บอร์ดอีวี” คาดว่าในอีกสองปีข้างหน้า รถยนต์ไฟฟ้าจะมีราคาไม่ต่างจากรถยนต์สันดาป บอร์ดตั้งเป้าว่าในปี 2568 จะมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท (จักรยานยนต์ รถยนต์ รถปิกอัพ รถบัส รถบรรทุก) รวม 1,055,000 คัน และจะเพิ่มเป็น 15,580,000 คันในปี 2578         ไม่เพียงการใช้ในประเทศเท่านั้น ประเทศไทยยังต้องการเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแห่งเอเชียภายในปี พ.ศ. 2573 และผลักดันให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในสัดส่วนร้อยละ 30 ในปีดังกล่าว ขณะนี้มีอย่างน้อยสองบริษัทจากประเทศจีน (BYD และ Great Wall Motor) ที่ประกาศจะสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทยที่ระยองแล้ว  ตัวอย่างมาตรการกระตุ้นความต้องการใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้าและการลงทุนของไทย    -  เงินอุดหนุน 150,000  บาทสำหรับรถ EV ที่ผลิตในประเทศ    - การลดอัตราภาษีสรรพสามิตเหลือ ร้อยละ 2    - การลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตจดทะเบียนรถ    - การยกเว้นภาษีนิติบุคคล 13 ให้กับโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนในประเทศไทย    - การขยายโครงข่ายสถานีชาร์จให้ได้ 12,000 แห่งทั่วประเทศ ภายในปีพ.ศ. 2573          นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็น บ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ 1,125 คน* เรื่องความรู้พื้นฐานและความคิดเห็นเกี่ยวกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ในระหว่างวันที่ 25 - 30 เมษายน ที่ผ่านมา         เราพบว่ากลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 64.9 เชื่อว่าไทยมีความพร้อมสำหรับผู้ใช้งานรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และยังพบว่า ร้อยละ 64.7 คิดว่าราคาของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่จำหน่ายในประเทศไทยในปัจจุบันมีความเหมาะสมดีแล้ว และคนส่วนใหญ่ (ร้อยละ 83.8) เห็นด้วยว่ามาตรการลดหย่อนภาษีสรรพสามิตสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าจาก 8% เหลือ 2% ของภาครัฐ สามารถส่งเสริมให้คนซื้อรถยนต์อีวีมาใช้งานมากขึ้น         ในแง่ของสิ่งแวดล้อม มีถึง ร้อยละ 85.8 ที่เห็นด้วยว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้าสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และปริมาณ PM2.5 ในอากาศได้         ขณะเดียวกันเราพบว่ามีเรื่องที่ผู้บริโภคยังไม่ชัดเจนหลายเรื่อง เช่น         กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 59.8 ไม่ทราบว่ารถยนต์ไฟฟ้ามี 4 ประเภท (ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด หรือ HEV Hybrid Electric Vehicle / รถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด หรือ PHEV Plug-in Hybrid Electric Vehicle / รถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง FCEV Fuel Cell Electric Vehicle / รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี หรือ BEV Battery Electric Vehicle)        ร้อยละ 61.5 ไม่ทราบว่าวิธีการชาร์จไฟรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามี 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. Quick Charger ในสถานีอัดประจุไฟฟ้า 2. Normal Charger แบบเครื่องชาร์จ Wall Box และ 3. Normal Charger แบบต่อจากเต้ารับในบ้าน        ร้อยละ 60.5 ไม่ทราบว่ากรมการขนส่งทางบกให้การลดหย่อนภาษีประจำปี สำหรับรถประเภท BEV (รถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าอย่างเดียว)                       ร้อยละ 57.4 ไม่ทราบว่าระยะเวลารับประกันแบตเตอรีโดยผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจำกัดอยู่ที่ประมาณ 8 ปี          ทั้งนี้คนส่วนใหญ่ (ร้อยละ 85.5) มองว่าภาครัฐควรให้ข้อมูลด้านรถยนต์พลังงานไฟฟ้ากับประชาชนผ่านหน่วยงานของรัฐให้มากขึ้น         ความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถามเรื่องข้อจำกัดของรถอีวี และความพร้อมของสถานีชาร์จ         ร้อยละ 86.4 เห็นด้วยว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้ามีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาแตกต่างจากรถยนต์ทั่วไป         ร้อยละ 73.3 เห็นด้วยว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้ามีข้อจำกัดเรื่องระยะทางในการขับขี่        ร้อยละ 72.2 เห็นด้วยว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้ามีข้อจำกัดในการขับขี่บนถนนที่มีน้ำท่วมขัง         ร้อยละ 64.6 เชื่อว่าปัจจุบันมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพียงพอ เอกสารอ้างอิง https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2023/04/17/fact-sheet-biden-harris-administration-announces-new-private-and-public-sector-investments-for-affordable-electric-vehicles/ https://www.cnbc.com/2023/04/11/nearly-half-of-americans-say-its-unlikely-theyll-buy-an-ev-next-poll.html https://www.iea.org/energy-system/transport/electric-vehicles https://www.scmp.com/business/companies/article/3230136/chinas-ev-frenzy-drives-carmaker-stocks-outperformance-hang-seng-index-red-hot-sales-show-no-signs https://alternative-fuels-observatory.ec.europa.eu/system/files/documents/2023-06/2022%20EAFO_CountryReport_EU.pdfhttps://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1073646https://techsauce.co/news/board-ev-aim-thailand-electric-vehicle-production-base https://www.bangkokbanksme.com/en/23-4up-when-thailand-wants-to-move-towards-electric-vehicle-hub

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 268 ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ นวัตกรรมแห่งอนาคตที่ต้องเตรียมรับมือ

        กฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวในเวทีงาน Innovation Keeping The World ที่จัดไปเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 ว่า ประเทศไทยมีการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า BEV ซึ่งรวมทั้ง BEV Plug-In Hybrid และรถไฮบริด BEV ในปี 2565 มากกว่า 20,816 คัน คิดเป็นอัตราการเติบโตกว่าร้อยละ 400 เมื่อเทียบกับปี 2564         ขณะที่ https://marketeeronline.co/archives/311702  ระบุข้อมูลจากกรุงศรี ออโต้ (Krungsri Auto) ว่า สัดส่วนสินเชื่อใหม่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อยู่ที่ 4,624 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 217 ซึ่งเกินเป้าไปแล้วจากยอดสินเชื่อใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัล มกราคม-พฤษภาคม 2566 ที่ 1,440 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23 ของยอดสินเชื่อใหม่ EV ทั้งหมดในช่วงเวลาเดียวกัน         สองย่อหน้าข้างบนเหมือนกำลังส่งสัญญาว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยกำลังมาถึงจุดเปลี่ยนและพฤติกรรมผู้บริโภคก็เช่นกัน เมื่อรถยนต์ไฟฟ้าเป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมมากขึ้นทุกขณะ ทั้งยังเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับสิ่งแวดล้อมในบางมิติ แต่ก็สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมในบางมุมซึ่งต้องมานั่งคุยกันว่าจะแก้ไขอย่างไร         ‘ฉลาดซื้อ’ ฉบับนี้จะไปทำความรู้จักรถยนต์ไฟฟ้าหรือ Electric Vehicle (EV) ให้มากขึ้นก่อนตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เพราะสิ่งที่ต้องเตรียมไม่ใช่แค่เงินในกระเป๋า แต่กินความถึงวิธีคิด (mindset) ใหม่ๆ กับอีกหลายเรื่องที่ต้องแลกเปลี่ยนถกเถียงเพื่อวางกติกากับเทคโนโลยีที่มาแน่ๆ ชิ้นนี้ รู้จักรถยนต์ไฟฟ้า รู้จักตัวเอง         สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ (สวพ.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายว่ารถยนต์ไฟฟ้าแบ่งได้ 4 ประเภทคือ ยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริด หรือ (HEV, Hybrid electric vehicle) เป็นลูกผสมที่ใช้น้ำมันทั่วไปและมอเตอร์ไฟฟ้าพร้อมแบตเตอรี่        ยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริดปลั๊กอิน (PHEV, Plug-in Hybrid Electric Vehicle) ซึ่งใช่ทั้งน้ำมันและไฟฟ้าเช่นกัน แต่เพิ่มระบบเสียบปลั๊กชาร์จไฟ (plug-in)         ยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV, Battery Electric Vehicle) เป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าและใช้พลังงานแบตเตอรี่ไฟฟ้าจากการเสียบปลั๊กชาร์จไฟฟ้าอย่างเดียว         และสุดท้าย ยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV, Fuel Cell Electric Vehicle) เป็นยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้พลังงานจากเซลล์เชื้อเพลิง (fuel cell) โดยเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนจากภายนอก สามารถจุพลังงานจำเพาะได้สูงกว่าแบตเตอรี่ในปัจจุบัน แต่สถานีเชื้อเพลิงไฮโดรเจนยังมีน้อยมาก         นอกจากการรู้ว่ารถยนต์ไฟฟ้ามีแบบไหนบ้างแล้ว ก่อนจะซื้อผู้บริโภคควรต้องศึกษาหาข้อมูลให้มากและพิจารณาองค์ประกอบหลายด้าน ตั้งแต่จุดประสงค์ในการใช้งาน ถ้าทำอาชีพเซลล์ต้องขับระยะทางไกลๆ ติดต่อกัน การวางแผนชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้มีพลังงานเพียงพอตลอดก็อาจยุ่งยากกว่าคนที่ใช้แค่ขับไปทำงานทั่วไป         เมื่อเป็นรถยนต์ไฟฟ้าผู้บริโภคจำเป็นต้องเข้าใจความจุของแบตเตอรี่กับระยะทางที่วิ่งได้ไกลที่สุด ระยะเวลาในการชาร์จเพราะการชาร์จไฟกระแสสลับกับกระแสตรงกินเวลาต่างกัน รวมถึงพิจารณาหัวจ่ายไฟฟ้าที่ใช้กับรถ เพราะรถยนต์ไฟฟ้าบางรุ่นออกแบบที่ชาร์จแบตเฉพาะของตนทำให้หาหัวชาร์จยากจึงอาจทำให้ไม่สะดวก ขณะเดียวกันก็ต้องสำรวจด้วยว่าในเมืองที่ตนพักอาศัยมีแหล่งชาร์จจุดใดบ้าง         ส่วนการบริการหลังการขายเป็นสิ่งที่ผู้จำหน่ายต้องให้ความสำคัญอยู่แล้ว ผู้บริโภคมีสิทธิถามเพื่อรับสิทธิประโยชน์ส่วนนี้     ศึกษาและวางแผนก่อนซื้อ         ปารัช ทวีศักดิ์ ยอมไม่มีรถขับอยู่หลายปีเพื่อรอซื้อรถไฟฟ้า สาเหตุเพราะน้ำมันมีราคาแพงและเธอเชื่อว่ามันจะเป็นนวัตกรรมที่เข้ามาแทนที่รถยนต์น้ำมัน เธอเล่าว่า         “ใช้เวลานานเหมือนกัน ยอมที่จะไม่ใช่รถเลย น่าจะประมาณหกเจ็ดปีได้ แต่หมายถึงว่าเราก็ใช้รถกับแฟน เราให้เขาใช้โดยที่ไม่ซื้อคันใหม่ เก็บเงินไว้ก่อนเพื่อรอรถไฟฟ้าอย่างเดียวเพราะเรารู้ว่ารถไฟฟ้าเข้ามาแล้ว แล้วทั่วโลกให้การยอมรับ ระหว่างนี้ก็ศึกษาเรื่องระบบไฟว่าต้องเติมยังไง ก็ค่อยๆ ศึกษา สอบถามจากพนักงานขาย เสิร์ชดูบ้าง เข้าไปอยู่ตามกลุ่มเฟสบุ๊ค เป็นกลุ่มรถของยี่ห้อนี้ ยี่ห้ออื่นด้วย ค่อยๆ หาข้อมูลไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะรับรถ”         รถยนต์ไฟฟ้าที่ปารัชซื้อมาในเวลานั้นไม่ได้อยู่ในช่วงที่มีการสนับสนุนจากรัฐบาล เธอจึงซื้อมาในราคาล้านต้นๆ แต่เมื่อนำมาคำนวณแล้วเธอคิดว่าคุ้มเมื่อเทียบกับการจ่ายค่าน้ำมัน เธอยกตัวอย่างว่าถ้าวิ่ง 2,000 กิโลเมตรต่อเดือนเธอจะจ่ายค่าไฟแค่ 1,000 บาท แต่ถ้าเป็นรถยนต์น้ำมันตัวเลขจะขยับขึ้นไปถึง 6,000 บาท         สำหรับคนที่ลังเลกับการซื้อรถไฟฟ้า หนึ่งในความลังเลใหญ่คือจุดชาร์จ เพราะต่อให้เป็นการชาร์จที่บ้าน ปารัชก็ยังรู้สึกยุ่งยากเนื่องจากต้องไปทำเรื่องกับการไฟฟ้าเพื่อนำมิเตอร์มาติด         “มิเตอร์มีสองแบบด้วย แบบทีโอยูกับแบบธรรมดา ธรรมดาก็ราคาปกติ จ่ายเท่าที่เราจ่ายค่าไฟ แต่ถ้าเป็นทีโอยู หลังสี่ทุ่มถึงเก้าโมงเช้าเรทราคาจะลดไปครึ่งหนึ่ง แต่จะเสียค่าหม้อแปลงเพิ่ม นี่เลือกแบบทีโอยูแล้วติดเฉพาะรถไฟฟ้าอย่างเดียว แยกหม้อกับของที่บ้านเลย”         ปารัชยอมรับว่าหลังจากหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าแล้วก็ไม่อยากกลับไปใช้รถยนต์น้ำมันอีกเลย ส่วนหนึ่งคงเพราะเธอสามารถปรับตัวกับการใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้แล้ว ใช่ การเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้าสิ่งสำคัญไม่ใช่แค่การศึกษาข้อมูล แต่สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือการปรับวิธีคิด (mindset) ปรับ mindset         การเติมพลังงานให้แก่รถยนต์ไฟฟ้าแตกต่างจากรถยนต์น้ำมัน ผู้บริโภคจำเป็นต้องปรับพฤติกรรมและวางแผนพลังงานที่จะใช้กับรถของตนให้เพียงพอ ชัยภวิศร์ ธวัชชัยนันท์ อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสินค้าและบริการ สภาองค์กรผู้บริโภค กล่าวว่าการชาร์จที่บ้านถือว่าคุ้มค่าที่สุดเพราะสามารถเลือกได้ว่าจะชาร์จเวลาใด ช่วงไหน ควรติดตั้งมิเตอร์แบบใด         “เราควรชาร์จไฟรถเวลาไหนอย่างไร ชาร์จให้เต็มพอดีๆ แล้วก็ตัดหรือถนอมแบตเตอร์รี่ มันก็ต้องคิดว่าถ้าจะถนอมให้ใช้ได้นานก็ควรหลีกเลี่ยงการชาร์จกระแสตรงถ้าไม่จำเป็น บริหารการชาร์จกระแสสลับที่บ้าน เป็นวิธีคิดที่อาจจะต้องเรียนรู้ซึ่งผมคิดว่าไม่ยาก เพียงแต่จะซับซ้อนกว่าการเติมน้ำมัน”         แม้ปัจจุบันจะมีจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นและจะมากขึ้นอีก แต่ก็ยังมีจำกัดกว่าปั๊มน้ำมัน ผู้ขับขี่จำเป็นต้องบริหารความเสี่ยงให้รัดกุม ต้องวางแผนไว้ล่วงหน้าว่าถ้าแบตใกล้หมดจะเติมจุดไหน อย่างไร เพราะต่อให้มีจุดชาร์จก็อาจใช้ไม่ได้ เนื่องจากกำลังซ่อมแซม มีคนจองไว้ หรือหัวชาร์จใช้ไม่ได้กับรถที่ขับ         ประเด็นนี้สอดคล้องกับปารัช เธอเล่าว่าเราจะต้องหาจุดเติมไฟใกล้บ้าน ต้องคำนวณว่ารถจะต้องวิ่งได้กี่วัน เพราะตัวรถแต่ละรุ่นไม่เท่ากัน รถของเธอวิ่งได้ประมาณ 500 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง แต่ก็มีคำแนะนำว่าถ้าชาร์จแบบเร็วไม่ชาร์จเต็มถึง 500 กิโลเมตร และถ้าต้องเดินทางออกจากบ้านและชาร์จไฟระหว่างทางก็ต้องรอทำให้ต้องคำนวณเรื่องเวลาด้วย เธอสรุปว่า         “มีรถยนต์ไฟฟ้าต้องมีการวางแผนค่อนข้างเยอะ ไม่เหมือนรถน้ำมันที่วิ่งเข้าปั๊มเติมปุ๊บปั๊บเสร็จ”         การขับด้วยความเร็วเป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมที่ต้องปรับเปลี่ยน คนขับรถยนต์น้ำมันจะรู้รอบเครื่องเมื่อเร่งความเร็วซึ่งเป็นการเตือนผู้ขับให้รู้ตัวว่าขับเร็วเกินไปหรือไม่และชะลอความเร็วลง ในทางกลับกัน ความเงียบของรถยนต์ไฟฟ้าทำให้ไม่มีเสียงเตือนจากเครื่องยนต์ ผู้ขับอาจไม่รู้ตัวจึงเสี่ยงทั้งต่ออุบัติเหตุและการทำผิดกฎจราจร        ความเงียบยังก่อความไม่ราบรื่นอีกประการหนึ่ง หากเป็นการขับในชุมชน คนที่สัญจรไปมา สัตว์จร หรือสัตว์เลี้ยงอาจไม่รู้ตัว แม้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าบางรุ่นจะสร้างเสียงเทียมขึ้น แต่ก็ใช่ว่าจะดังเพียงพอต่อการได้ยิน จึงเป็นหน้าที่ของผู้ขับที่ต้องคอยระมัดระวังในส่วนนี้ ความยุ่งยากของผู้บริโภคในเวลานี้         นอกจากความคิดและพฤติกรรมที่ต้องปรับยังมีประเด็นที่แผ่กว้างกว่าเรื่องเชิงปัจเจก ตัวอย่างเช่นเบี้ยประกัน ชัยภวิศร์ กล่าวว่า         “ถ้ารถมูลค่าเท่าๆ กัน ในความเข้าใจผม เบี้ยประกันรถไฟฟ้าจะสูงกว่ารถน้ำมันระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ถึงขนาดสองสามเท่า ประกันภัยในช่วงแรกที่ปีล่าสุดจะแถมประกันภัยประเภท 1 มาให้ ส่วนปีที่ 2 เราจ่ายเองบางทีค่าประกันสูงทำให้ผู้บริโภคตกใจได้ ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เราต้องรณรงค์คุยกันว่าค่าประกันภัยจำเป็นต้องแพงขนาดนี้หรือไม่         “หรือถ้ามีอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยรถที่เรียกว่า active safety ทำยังไงไม่ให้รถเกิดอุบัติเหตุเสียก่อน ไม่ว่าจะเบรกเองอัตโนมัติ มีระบบเลี้ยวหักหลบอัตโนมัติ อะไรก็แล้วแต่ ซึ่งช่วยลดอุบัติเหตุ จะช่วยลดเบี้ยประกันได้หรือไม่ เรื่องนี้ต้องไปทำงานเชิงนโยบายกัน แต่ ณ ขณะนี้ยังไม่ทำให้เบี้ยประกันลดลงมา เพราะฉะนั้นผู้บริโภคต้องเผื่อเงินไว้สำหรับการซื้อประกันภัยรถในปีต่อๆ ไป”         อะไรอีก? เบื้องต้นการชาร์จนับเป็นจุดยุ่งยากที่สุดในเวลานี้ นอกจากเรื่องหัวชาร์จที่ไม่เหมือนกันแล้ว ตู้ชาร์จบางแห่งเขียนว่า low priority แปลว่าถ้าไฟบริเวณนั้นตกตู้นั้นจะชาร์จไม่ได้เร็วตามที่ระบุไว้ โดยเฉพาะที่ห่างไกลหรือชนบท ซึ่งจะทำให้ระยะเวลาการชาร์จยาวนานออกไป         และเนื่องจากตู้ชาร์จไฟมีหลายแบรนด์แต่ละแบรนด์มีแอปพลิเคชันของตนเอง ผู้บริโภคต้องโหลดแอปฯ จำนวนมากเพื่อใช้กับตู้ชาร์จแต่ละเจ้าทำให้เกิดความยุ่งยาก บางแอปฯ ยังขอข้อมูลผู้บริโภคจำนวนมากทั้งที่ไม่น่าเกี่ยวข้องกับการรับบริการ เช่น ขอที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หรือแม้กระทั่งบัตรประชาชน มันเป็นการล่วงละเมิดสิทธิมากไปมั้ย แค่จะจ่ายเงินซื้อไฟ ทำไมต้องรู้ที่อยู่ เบอร์โทร บางแอปฯ ถึงกับต้องรู้เลขบัตรประชาชนโดยไม่จำเป็น         อีกเรื่องที่เกี่ยวข้องก่ำกึ่งว่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่ก็คือ จุดชาร์จในห้างสรรพสินค้าหลายแห่งเป็นกระแสสลับและคิดค่าชาร์จเป็นชั่วโมง ไม่ได้คิดเป็นจำนวนหน่วยกระแสไฟ ทำให้บางครั้งผู้บริโภคชาร์จไฟให้ห้างสรรพสินค้า 3 ชั่วโมงแต่ได้ไฟไปเพียง 30 กิโลวัตต์ แต่ค่าชาร์จชั่วโมงละ 40 บาท ทั้งที่เงิน 120 บาทถ้าชาร์จตามจุดชาร์จข้างนอกเรียกว่าได้พลังงานแทบจะเต็มสองรอบ         ประเด็นต่างๆ เหล่านี้คาดว่าต้องอาศัยเวลาพูดคุย แลกเปลี่ยน ถกเถียง เพื่อสร้างระบบที่เป็นมาตรฐานเดียวกันเพื่อลดความยุ่งยากและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภค เตรียมรับมือพลวัตจากนวัตกรรมรถยนต์ไฟฟ้า         มิติสุดท้ายที่จะกล่าวถึงเป็นเรื่องกฎหมาย ต้องยอมรับว่ากฎหมายที่เกี่ยวกับการจราจรทางบกมุ่งจัดระเบียบรถยนต์น้ำมัน เมื่อรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มปริมาณขึ้น กฎหมายมีความจำเป็นต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกันไปหรือไม่         ชัยภวิศร์คิดว่ากฎหมายเดิมส่วนใหญ่ยังคงใช้ได้ เช่น การจำกัดความเร็ว เมาแล้วขับ เป็นต้น มีเฉพาะเรื่องเสียงที่เขาเห็นว่ามีความจำเป็นต้องเขียนกฎหมายกำกับว่าในที่ที่ใช้ความเร็วต่ำหรือในเขตชุมชน เสียงเทียมควรจะดังหรือมีลักษณะกระตุ้นเตือนทั้งคนและสัตว์ได้มากพอเพื่อลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากความพลั้งเผลอ         นอกจากนี้ อนาคตที่รถยนต์เปลี่ยนไปเป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้น หากเกิดอุบัติเหตุว่าเจ้าของรถหรือบริษัทรถยนต์จะเป็นฝ่ายรับผิดชอบ นี่ก็เป็นประเด็นทางกฎหมายที่ต้องตระเตรียมแนวทางเอาไว         สุดท้ายของท้ายสุด แบตเตอรี่ การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ของไทยค่อนข้างหละหลวม ตรงนี้จะกลายเป็นจุดอ่อนสำคัญที่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมหากไม่เตรียมการรับมือ        “เรื่องนี้ฝรั่งคุยกันเยอะ เขาทำก่อนเรา เห็นปัญหาก่อนเรา เพราะฉะนั้นแบตเตอรี่ตอนนี้มีหลายชนิดและกำลังปรับอยู่เรื่อยๆ กระบวนการจัดการของเสียที่จะเกิดขึ้นถูกเอาไปรียูสได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องดูให้ครบ life cycle ว่าจะเอากลับไปใช้ใหม่ได้กี่รอบ กี่ครั้ง และถึงจุดที่ต้องถูกทำลายจะทำยังไง ต้องบอกว่าบ้านเราการจัดการของเสียพวกนี้ยังด้อยมากๆ แต่ไม่ใช่แค่แบตรถไฟฟ้าอย่างเดียว แต่เป็นของเสียอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดยังไร้ประสิทธิภาพ ไม่มีการพูดคุย และยังผลักภาระเป็นของสาธารณะ ไม่ใช่ของผู้ประกอบการ         “บางประเทศผู้ประกอบต้องมีแผนเอาแบตเตอรี่มือถือของตัวเองออกจากตลาดอย่างไร จัดการยังไง เป็นความรับผิดชอบของผู้ผลิตซึ่งเมืองไทยยังทำน้อยมาก ต้องมีมาตรการ แรงจูงใจ สนับสนุนผู้ประกอบการที่จัดการเรื่องพวกนี้ได้ดี รวมถึงออกแบบนวัตกรรมที่แบตเตอรี่หรือตัวเครื่องสามารถรีไซเคิล รียูสในเปอร์เซ็นต์สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ในโลกหลายรุ่นจุดขายคือใช้วัสดุเหลือใช้มาผลิตตัวรถ แบตเตอรี่ เอามาเป็นจุดขายว่ารีไซเคิลง่ายขึ้น”         ชัยภวิศร์เสนอข้ามไปอีกขั้นว่า รัฐอาจออกมาตรการสนับสนุนหรือสร้างแรงจูงใจให้การผลิตและใช้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นได้ เช่น ส่งเสริมการใช้วัสดุที่มาจากการรีไซเคิ้ล การรับจัดการแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพแล้วของผู้ประกอบ หรือตู้ชาร์จไฟฟ้าที่ใช้พลังงานหมุนเวียน เป็นต้น         อย่างไรก็ตาม รถยนต์ไฟฟ้าเป็นนวัตกรรมที่ยังคงมีพลวัตต่อเนื่อง ผู้ใช้หรือผู้ที่กำลังคิดจะซื้อควรศึกษาข้อมูลข่าวสารให้ละเอียดรอบคอบ ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลก็ได้เวลาต้องปรึกษาหารือว่าจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหลักสำคัญ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 ติดตามผลการรักษาสุขภาพตนเองได้ ด้วย EVER Healthcare

        โรคภัยไข้เจ็บเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากพบเจอ แต่ทุกคนต้องเคยเจ็บป่วยแน่นอน อย่างน้อยก็โรคไข้หวัดธรรมดา ที่ทำให้เกิดอาการเป็นไข้ น้ำมูกไหล ปวดหัว ตัวร้อน ซึ่งทุกคนก็หวังว่าการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจะเป็นเพียงการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้เท่านั้น         เมื่อมากล่าวถึงโรคภัยไข้เจ็บที่รุนแรงที่เป็นภัยเสี่ยงอาจทำให้เสียชีวิตได้มีอยู่หลายโรค จะเห็นได้จากการประชาสัมพันธ์ของบริษัทประกันชีวิตเกี่ยวกับโรคร้ายแรง ซึ่งได้แก่ โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคปอดอักเสบ โรคปอดเรื้อรัง โรคไตวายเรื้อรัง โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคเกี่ยวกับตับ โรควัณโรค เป็นต้นโรครุนแรงเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยี ยาและแพทย์เฉพาะทางในการรักษา ซึ่งการแพทย์สมัยใหม่สามารถรักษาโรคร้ายแรงให้หายได้และวิทยาการทางการแพทย์ก็พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เพียงแต่ต้องหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ทำให้เพิ่มโอกาสรักษาให้มากขึ้น         เมื่อโรครุนแรงมาเยือนและจำเป็นต้องทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง การเข้าถึงข้อมูลการรักษาและทราบถึงประวัติการรักษาของตนเองและครอบครัวก็มีความสำคัญ ฉบับนี้ขอมาแนะนำแอปพลิเคชั่นที่สามารถทำให้ติดตามผลการรักษาทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน ที่มีชื่อว่า EVER Healthcare         แอปพลิเคชั่น EVER Healthcare เป็นเครื่องมือที่ช่วยบันทึกข้อมูลสุขภาพ จัดเก็บ และสามารถส่งต่อข้อมูลการรักษา และการเพิ่มความรู้ทางด้านสุขภาพ โดยผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลการรักษาตนเองผ่านโทรศัพท์มือถือได้ พร้อมเชื่อมโยงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลต่างๆ มาให้คำปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ขอพบแพทย์ผ่านแอปพลิเคชั่น และการสั่งยาแบบออนไลน์         การเชื่อมต่อข้อมูลในครั้งแรกต้องมีการลงทะเบียนด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชน ชื่อนามสกุล และยืนยันตัวตนด้วยการถ่ายภาพคู่กับบัตรประจำตัวประชาชนผ่านทางแอปพลิเคชั่นจนครบขั้นตอน หลังจากเข้าสู่ระบบจะปรากฎรายการนัดหมายที่กำลังจะมาถึงของผู้ใช้ ในส่วนนี้จะช่วยย้ำเตือนนัดหมายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ภายในแอปพลิเคชั่นจะมีหมวดต่างๆ ปรากฎ ได้แก่ หมวดพบเภสัชกรเพื่อสั่ง หมวดพบแพทย์ทันที ใน 2 หมวดนี้จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถเลือกและเข้าถึงบริการเพื่อซื้อยา และจัดส่งยาถึงบ้าน รวมถึงการเลือกพบแพทย์ตามอาการที่ต้องการปรึกษาได้ทันที         ถัดไปจะเป็นหมวดประวัติการรักษา ในหมวดนี้ผู้ใช้สามารถเข้าไปดูบันทึกการรักษารวมทั้งผลการตรวจแล็บที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งได้ด้วยตนเอง หมวดค้นหา ซึ่งแบ่งเมนูตามแผนกของโรคเพื่อความสะดวกในการใช้งาน หมวดบันทึกสุขภาพ ช่วยให้ผู้ใช้บันทึกข้อมูลเก็บไว้ดูย้อนหลังได้ หมวดแบบประเมินสุขภาพ เพื่อช่วยประเมินสุขภาพเบื้องต้นโดยการตอบคำถามในแต่ละข้อในระบบ         แอปพลิเคชั่น EVER Healthcare นี้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ใช้ดูข้อมูลย้อนหลังการรักษาได้ทุกที่ และเป็นข้อมูลที่ดีที่สุดสำหรับผู้ใช้ที่ต้องถูกส่งตัวต่อไปยังโรงพยาบาลอื่น อีกทั้งช่วยทำให้เข้าใจและเข้าถึงการรักษาของตนเองได้อย่างต่อเนื่อง         อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นไปได้ ผู้เขียนอยากให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดี ไม่เป็นโรคร้ายแรง ดังนั้นหมั่นตรวจเช็คสุขภาพ ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงจะดีที่สุด

อ่านเพิ่มเติม >