ฉบับที่ 259 เรียนรู้จาก Forex 3D เพราะการลงทุนไม่มีทางลัด

Time line เหตุการณ์        ·  ตุลาคม 2561 ขาดสภาพคล่อง เริ่มระส่ำระส่าย จ่ายช้า แต่ยังพอมีเงินหมุนเวียน        ·  ธันวาคม 2561 ใช้วิธีหลอกล่อโดยให้กำไรมากกว่า 20% หลายๆคนคิดว่าเทรดจริงและเดือนนี้ได้กำไรยอะกว่าทุกเดือน หลายๆคนเพิ่มทุนเข้าไปอีก และได้ลูกค้าใหม่อีกหลายร้อยคน เพิ่มความน่าเชื่อถือด้วยทีมหน้าม้า แปะสลิปรับโอนปะปนกับคนที่ได้เงินคืนจริงด้วยอยู่เสมอ        ·  ต้นปี 2562 เริ่มจ่ายช้าลงอย่างเห็นได้ชัด        ·  พฤษภาคม 62 บางส่วนเข้าไปเจรจากับบริษัททางบริษัทเริ่มปิดข่าวไม่ได้ ก็เจรจาว่าจะโอนคืนให้ แต่ต้องเงียบห้ามโวยวาย        ·  บริษัทเริ่มปล่อยข่าว เงินติดแบงค์ชาติ, ผู้ถือหุ้น เพื่อนสนิท คนในบริษัทโกง เทสระบบปรับเปลี่ยนคลาส เพื่อให้จุดโฟกัสของนักลงทุน เบี่ยงเบียนไปจากเรื่องเงิน        ·  หลัง ก.ค. เงียบ ทำให้ผู้เสียหายตั้งกรุ๊ปไลน์รวมตัว เริ่มเข้าแจ้งความ แต่ทางบริษัทสร้างกลุ่มประจาน ข่มขู่ ผู้เสียหาย และผู้บริหาร ยังพูดจาให้ความหวังอยู่        ·  ต่อมาผู้บริหารไปปิดบัญชี โอนเงิน ถอนออกก้อนสุดท้ายที่ถอนหมดบัญชี ในเดือนกันยายน 62        ·  พฤศจิกายน 2562 DSI รับเป็นคดีพิเศษ        ·  ธันวาคม 2562 เริ่มยึดทรัพย์ อายัตบัญชี        ·  ปี 2563 ตีเช็คเงินสดให้ผู้เสียหาย มีการปล่อยข่าวคนใกล้ชิดโกงเงิน โทษกระบวนการทางราชการที่ทำให้จ่ายเงินเครือข่ายไม่ได้จากเพจ "รวบรวมผู้โดนโกง จาก Forex 3d"เวลานี้น่าจะมีน้อยคนที่ไม่เคยได้ยินชื่อ Forex 3D ขบวนการแชร์ลูกโซ่ที่ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอคาดว่ามูลค่าความเสียหายอาจสูงกว่า 4 หมื่นล้านบาท มีบุคคลในวงการบันเทิงเข้าไปพัวพันด้วยจำนวนมากและประชาชนเกือบหมื่นคนที่เป็นผู้เสียหาย         ย่อความให้เห็นที่มาที่ไปกันสักนิด อภิรักษ์ โกฎธิ ก่อตั้งบริษัท RMS Famelia Co. Ltd. และสร้างเว็บไซต์ Forex 3D ขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2558 ตามมาด้วยกระบวนการเชื้อเชิญประชาชนให้เข้ามาร่วมร่ำรวยกับ Forex 3D ด้วยการโอนเงินเข้าไปยังบริษัทจากนั้นก็แค่รอรับดอกเบี้ยเดือนละ 10-15 เปอร์เซ็นต์โดยไม่ต้องทำอะไร        อภิรักษ์อ้างว่าตนเองมีทีมงานที่เชี่ยวชาญการวิเคราะห์เศรษฐกิจโลก ค่าเงิน และยังมีโปรแกรมเอไอช่วยอีกแรง ซึ่งในช่วงต้นผู้ที่ลงทุนกับ Forex 3D ก็ได้รับดอกเบี้ยกลับมาจริงดังที่กล่าวอ้าง กระทั่งปลายปี 2561 ดอกเบี้ยก็หยุดจ่ายผู้ที่ขอคืนเงินต้นก็ไม่ได้คืน แล้วความฝันก็พังทลายลง ลูกไม้เดิมๆ ที่ไม่มีวันหมดอายุ         ทำไม Forex 3D สามารถสร้างความเสียหายทั้งในแง่ทรัพย์สินและจำนวนได้มากมายขนาดนี้?         ถ้าพูดด้วยภาษาของคนที่คลุกคลีในแวดวงการลงทุนและตลาดหุ้นต้องบอกว่า มนุษย์ขับเคลื่อนด้วยความโลภและความกลัว ในกรณี Forex 3D ชัดเจนว่าความโลภทำงานอย่างเต็มที่ ซึ่งก็ว่าไม่ได้เพราะถ้ามีหนทางสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำโดยไม่ต้องลำบากและยังได้รับถ่ายทอดความคิดจากกลางกระแส passive income เป็นใครก็คงไม่ปฏิเสธแต่นั่นยังไม่เพียงพอในการสร้างความน่าเชื่อถือ ดังนั้น กระบวนการปั่นความน่าเชื่อถือของ Forex 3D จึงเกิดขึ้น เริ่มตั้งแต่การมีที่ตั้งบริษัทอยู่บนถนนรัชดาย่านธุรกิจของกรุงเทพ การจ่ายผลตอบแทนในอัตรา 10-15 เปอร์เซ็นต์จริงตามที่โฆษณา หมายความว่าถ้าคุณลงทุนกับบริษัทนี้ 1 ล้านบาท คุณจะได้ผลตอบแทนกลับมา 100,000-150,000 บาททุกเดือน แม้ว่าในช่วง 3 เดือนแรกจะไม่สามารถถอนเงินต้นได้ก็ตาม แต่การได้รับผลตอบแทนขนาดนี้จะทำให้คนยินดีรอเพราะเชื่อว่าแค่ 10 เดือนก็จะคืนเงินต้น จากนั้นก็เป็นกำไรล้วนๆ         ตรงนี้จะสร้างกระแสเล่าลือแบบปากต่อปากดึงดูดเหยื่อเข้ามา ยิ่งถ้าสามารถหาสมาชิกใหม่เข้ามาเพิ่ม ผลตอบแทนที่ได้รับก็ยิ่งสูงขึ้นกลเม็ดอีกประการคือการแสดงความร่ำรวย การโชว์พอร์ต โชว์ผลตอบแทนที่แท้จริง การจัดสัมมนา พาไปดูบริษัทหรือสินทรัพย์ที่มีตัวตน สมาชิกถ่ายรูปคู่กับสินทรัพย์ราคาแพงอย่างรถสปอร์ตหรือบ้านแล้วเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย เดือนสิงหาคม 2561 อภิรักษ์ยังเปิดตัวโชว์รูมรถ RKK Auto Car ที่ขายเฉพาะรถหรูระยับเท่านั้น การมีรูปถ่ายและความสัมพันธ์กับดาราที่มีชื่อเสียง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประชาชนจะหลงเชื่อ         ที่แปลกคือทั้งหมดนี้ล้วนเป็นวิธีการเดิมๆ ซ้ำๆ ของเหล่ามิจฉาชีพ ใช้เกณฑ์ ก.ล.ต. ตรวจหาสิ่งผิดสังเกต         กระแสการลงทุนที่ได้รับความสนใจมากในปัจจุบันคือคริปโตหรือสินทรัพย์ดิจิทัล มีทั้งที่ถูกกฎหมายได้รับการอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และไม่ได้รับอนุญาตซึ่งมักปรากฎโฆษณาบ่อยครั้งตามโซเชียลมีเดียต่างๆ         ภญ.ชโลม เกตุจินดา อุปนายกสมาคมผู้บริโภคสงขลา กล่าวว่า ก.ล.ต. และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องพยายามออกกติกาการกำกับดูแลเนื่องตอนนี้มีการโฆษณาการลงทุนออนไลน์จำนวนมาก ซึ่งการลงทุนที่น่ากังวลคือการลงทุนในเงินหรือสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งยังไม่เทียบเท่ากับเงิน         “เพราะฉะนั้นมันจะขึ้นๆ ลงๆ พอเราลงทุนไปแล้ว เราจะไม่รู้ว่าค่าเงินที่แท้จริงคืออะไร เลยต้องมีการกำกับโฆษณาไม่ให้เกินจริงหรือกำกับอินฟลูเอนเซอร์ที่โดนจ้างให้มาโฆษณา เราจะเห็นว่าการกำกับโฆษณาเกินจริงในสินค้าอื่นมี สคบ. (สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) ดูแล ในผลิตภัณฑ์อาหารและยามี อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) ดูแล แต่สำหรับผลิตภัณฑ์นี้มันเริ่มยาก ก.ล.ต. ต้องมากำกับดูแล         “บริษัทที่ได้รับอนุญาตจาก กลต. จะมีการคุมเข้มมาก มันกลายเป็นกรอบกติกาว่าถ้าโฆษณานอกเหนือจากเว็บไซต์หรือช่องทางที่เป็นทางการของคุณแล้วถือว่าผิด พื้นที่การโฆษณาโดนกระชับพื้นที่เยอะมาก ถ้าเราเห็นโฆษณาลงทุนเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ ให้เราเอาชื่อไปเช็คจากเว็บไซต์ของ ก.ล.ต. ถ้ามันไม่ใช่ก็โฆษณาไม่ได้ไม่ว่าจะน่าเชื่อถือขนาดไหน”         ทั้งนี้ทาง ก.ล.ต. ได้ออกประกาศปรับปรุงหลักเกณฑ์การโฆษณาและการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา มีเนื้อความว่า         1. ต้องโฆษณาไม่เกินความจริง                2. มีการแสดงข้อมูลด้านบวกหรือโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนและต้องมีการแสดงข้อมูลด้านลบหรือความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลควบคุม (balanced view)         3. กำหนดให้โฆษณาคริปโตทำได้ในช่องทางทางการของผู้ประกอบธุรกิจ (official channel) เท่านั้น (กรณีโปรโมตธุรกิจเรื่องอื่นๆ ที่ไม่เจาะยี่ห้อเหรียญยังสามารถโฆษณาผ่านสื่อทั่วไปได้ทั้งหมด) และสำหรับผู้ประกอบการรายใดมีการเผยแพร่โฆษณาอยู่ก่อนแล้ว เช่น โฆษณาบนบิลบอร์ด เป็นต้น ต้องถอนออกภายใน 30 วันนับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ โดยได้ส่งหนังสือและสั่งให้แต่ละบริษัทดำเนินการตามกำหนดและทำตรารับรองส่งกลับมาให้ ก.ล.ต. การลงทุนทุกอย่างมีความเสี่ยง         ธนัช ธรรมิกสกุล หัวหน้าฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำผู้บริโภคอีกว่า กรณีที่มีการชักชวนให้ลงทุน ผู้บริโภคควรบันทึกเสียงเอาไว้เพราะผู้ชักชวนจะต้องแจ้งชื่อและรหัสการขายเสมอ หากมีการการันตีว่าสามารถทำผลตอบแทนได้เท่านี้ภายในระยะเวลาเท่านี้ เมื่อถือเวลาไม่สามารถทำได้ อย่างน้อยก็มีหลักฐานสำหรับการร้องเรียน เขายังแนะนำอีกว่า        “ก่อนอื่นเราต้องดูว่าการที่เขามาพูดหรือชักชวนนั้น สมมติลงทุน 100 บาทได้ 10 บาทภายในระยะเวลา 1 เดือน เราอาจจะต้องฉุกคิดก่อนนิดหนึ่งว่ามันมีความเป็นไปได้ขนาดไหน ผมเข้าใจว่าเราต้องการเงินมาหล่อเลี้ยงชีวิต ถ้าเรามีเงินเหลือใช้จริง เราก็ลงทุนส่วนหนึ่ง แล้วก็เก็บอีกส่วนหนึ่งโดยไม่ไปกระทบกับส่วนอื่นๆ และต้อหาข้อมูลก่อนจะดำเนินการต่อไปเพราะต้องเจอจิตวิทยาของผู้ตั้งวงอยู่แล้วในกลุ่มมวลชน เราก็ไม่รู้ว่าเขาปั่นหรือเปล่า ก้อนแรก ก้อนสองได้อยู่แล้ว แต่พอเราลงทุนหนักเข้าไปสิ เราเริ่มติดเบ็ดเขา สู้ลงทุนก้อนแรกแล้วเราถอยเลย         “การลงทุนทุกอย่างมีความเสี่ยง แต่ถ้าเกิดแล้วเราก็ต้องเก็บรวบรวมพยานหลักฐานทุกอย่าง แม้กระทั่งสลิปการโอน อบรมโดยใคร เพื่อจะได้โยงโดนตัวผู้กระทำความผิดให้ได้ทั้งหมด แล้วนำเรื่องเหล่านี้ไปร้องเรียน ไม่ว่าจะแจ้งตำรวจหรือหน่วยงานมาช่วยกระพือ ติดต่อสื่อเพื่อให้เขารีบประชาสัมพันธ์ เพื่อไม่ให้เกิดผู้เสียในวงกว้างกว่านี้” ผลตอบแทนสูงในระยะเวลาสั้น ต้องระวัง!         คราวนี้เรามาฟังคำแนะนำจากกูรูด้านการลงทุนกัน สิ่งแรกที่ต้องพิจารณาคือ         “ให้ดูลักษณะผลตอบแทน ผลตอบแทนอะไรที่ดูดีเกิน ยกตัวอย่าง ลงทุนไปร้อยบาทปันผลยี่สิบบาท พวกนี้ให้เริ่มระมัดระวัง ถ้าลงทุนในหุ้นเก่งๆ 20 เปอร์เซ็นต์ต่อปีก็ถือว่าเก่งมากแล้ว อย่างวอร์เรนต์ บัฟเฟตต์เองหรือใครก็ตามที่เป็นนักลงทุนระดับโลก 20 เปอร์เซ็นต์ 23 เปอร์เซ็นต์ 27 เปอร์เซ็นต์ (เป็นผลตอบแทนต่อปีในระยะยาว) คือเก่งสุดแล้ว ซึ่งตรงนี้เป็นจุดหนึ่งเลยที่นักลงทุนหลายคนหรือว่าคนที่อยากลงทุนมองข้าม” คำเตือนจากธนัฐ ศิริวรางกูร เจ้าของเพจคลินิกกองทุน         ก่อนการลงทุน สิ่งแรกๆ ที่ควรตรวจสอบก่อนคือผลตอบแทนว่ามีความเป็นไปได้จริงหรือไม่ กรณี Forex 3D ที่อ้างว่าจ่ายผลตอบแทน 10-15 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน ลองคำนวณดูว่าลงทุน 1 ล้านบาท แล้วได้ผลตอบแทน 10 เปอร์เซ็นต์ทุกเดือนตลอด 1 ปีหรือ 1.2 ล้านบาท คิดเป็นอัตราผลตอบแทน 120 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ขณะที่นักลงทุนเก่งๆ ระดับโลกต้องอาศัยเวลา 5 ปีถึง 10 ปีขึ้นไปแล้วนำผลตอบแทนมาหารเฉลี่ยเป็นผลตอบแทน 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ต่อปี         เมื่อใดก็ตามที่มีผู้อ้างว่าสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงๆ ในระยะเวลาอันสั้นให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นการหลอกลวง         “ที่ต้องดูคู่กันคือ platform นั้นได้มาตรฐานจากทาง กลต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) หรือเปล่า คืออย่างน้อยมี กลต. มาคั่นก็ปลอดภัยระดับหนึ่ง”         อย่างไรก็ตาม พบว่าการกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐยังตามไม่ทันการลงทุนหลากหลายรูปแบบที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาของเทคโนโลยี กลไกกำกับดูแลภาครัฐยากจะตามทัน         Forex 3D เป็นกรณีตัวอย่างที่ชัดเจน ธนัฐอธิบายว่า Forex หรือ Foreign Exchange Market หรือตลาดซื้อขายอัตราเงิน ซึ่งเป็นการเก็งกำไรจากค่าเงิน ทาง กลต. ไม่ได้เป็นผู้กำกับดูแลแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยเพราะส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงค์ชาติในการควบคุมเข้าออกของเงินสกุลต่างๆ         “แต่สินทรัพย์ Forex เป็นการลงทุนประเภทหนึ่ง ฉะนั้น กลต. จะเป็นคนดูแล แต่ว่า กลต. ไม่ได้ไปควบคุมเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน ฉะนั้นมันจึงเทาๆ นิดหนึ่ง ถามว่าใครผู้ดูแลหลักผมให้น้ำหนักไปที่แบงค์ชาติ”         สรุปได้ว่าตลาด Forex ไม่ถูกและไม่ผิดกฎหมายเพราะยังไม่มีกฎหมายกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ มันจึงอยู่ในพื้นที่สีเทา อย่างไรก็ตาม ทาง ธปท. ได้ชี้แจงว่าตามกฎหมายควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน การทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินตราต่างประเทศต้องทำกับผู้ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเท่านั้น ซึ่งประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อของผู้ได้รับใบอนุญาตได้ทางเว็บไซต์ของ ธปท. (www.bot.or.th) และในปัจจุบันทาง ธปท. ก็ยังไม่มีการให้ใบอนุญาตแก่บุคคลหรือนิติบุคคลที่ไม่ใช่ธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์ในการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศทางอินเทอร์เน็ต         นอกจากนี้ ธปท. ยังไม่อนุญาตให้ทำการโอนเงินไปต่างประเทศเพื่อชำระธุรกรรมซื้อขายเงินตราต่างประเทศหรือ Forex ในเว็บไซต์ต่างประเทศ การฝ่าฝืนจะเป็นความผิดตามกฎหมายควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ส่วนบุคคลที่แนะนำหรือโฆษณาเชิญชวนให้ประชาชนเข้ามาซื้อขายเงินตราต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตก็อาจมีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน         ธนัฐให้ความเห็นว่าไม่มีทางที่หน่วยงานรัฐจะสามารถออกเกณฑ์การกำกับดูแลได้ทันท่วงที ถือเป็นจุดบอดประการหนึ่ง เนื่องจากเกิดสินทรัพย์ใหม่ๆ ขึ้นตลอดเวลา หนทางที่ดีที่สุดคือการให้ความรู้แก่ประชาชน         “ทำได้มากที่สุดก็คือฝั่งนักลงทุนต้องศึกษาหาข้อมูลก่อนทุกครั้ง ก็คือเป็นเรื่องธรรมดาปกติ ไม่อยากบอกเลยว่าต้องดูแลตัวเอง” กลับสู่พื้นฐาน investment literacy         เขาเสริมว่า investment literacy เป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องทำ ต้องเข้าใจสินทรัพย์ที่จะลงทุนเป็นอย่างดีก่อน ต้องรู้ว่าที่มาที่ไปของผลตอบแทนของสินทรัพย์นั้นมาอย่างไร กลไกสร้างผลตอบแทนมาจากไหน ยกตัวอย่าง Forex ที่โฆษณาว่าให้ผลตอบแทน 10 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน นักลงทุนต้องถามว่ามันมาอย่างไร เป็นไปได้หรือไม่ที่ค่าเงินที่เทรดจะสม่ำเสมอทุกเดือน เป็นต้น         “ผมอยากให้ทุกคนกลับมาที่เบสิค การบริหารจัดการทางการเงิน ฉันไม่อยากจน อยากมีชีวิตที่ดี ถ้าอยากทำแบบนั้นมันไม่มีทางอ้อม ไม่มีทางลัด มันมีแต่ทางฟันฝ่าว่าเราต้องทำบัญชีกระแสเงินสดของตัวเองก่อน ลองบริหารจัดการและเอาเงินที่เหลือไปลงทุน และการที่เราใช้เงินที่หามาอย่างยากลำบากไปลงทุนก้อนนี้มันมีค่ากับเรานะ แล้วเราจะศึกษาเยอะขึ้นแล้วเอาเงินที่เราหาไปลงทุนมากขึ้น เพราะเงินที่หามาได้มันเหนื่อยจริงๆ คนส่วนใหญ่ที่ผมเจอ คนที่มีการเก็บออมแบบตั้งใจจริงๆ เขาจะไม่เข้ามาทางนี้เพราะว่าเขาได้มายาก เขาลงทุนอะไรสักอย่างก็ต้องคิดเยอะ ฉะนั้น กลับไปที่เบสิค ลองปรับตัวเองทำรายรับรายจ่าย เราจะเข้าใจตัวเอง การลงทุนแบบที่รู้ที่มาที่ไปเป็นอย่างดี มันจะปลอดภัยกับตัวเรามากขึ้น”        ประโยคที่ว่า ‘การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน’ ยังใช้ได้เสมอ ห้ามลืมเป็นอันขาด

อ่านเพิ่มเติม >