ฉบับที่ 255 รู้จัก เข้าใจ ภาวะ Long COVID

        องค์การอนามัยโลก ออกประกาศนิยามภาวะ  Long COVID เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ที่ระบุว่า เป็นอาการผิดปกติเกิดขึ้นใหม่หรือต่อเนื่องภายหลังการติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ 3 เดือนนับหลังจากวันตรวจพบเชื้อ และมีอาการต่อเนื่องอย่างน้อย 2 เดือน โดยอาการเกิดขึ้นได้หลายระบบซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นไม่สามารถ อธิบายได้ด้วยการวินิจฉัยสาเหตุอื่นๆ ได้แก่ ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น ภาวะเหล่านี้มักไม่รุนแรงแต่เรื้อรัง อาการจะเป็นๆ หายๆ ได้         “นิตยสารฉลาดซื้อ” จึงได้รวบรวมข้อมูลที่เผยแพร่โดย “กรมการแพทย์” ทำให้พอสรุปได้ว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 แต่ละคนจะมีการแสดงอาการที่แตกต่างกันออกไป และเมื่อหายป่วยร่างกายก็จะมีความสามารถในการฟื้นฟูตัวเองแตกต่างกัน บางคนใช้เวลาไม่นานก็กลับมาเป็นปกติ แต่บางรายเมื่อหายจากการป่วยโควิด-19 แล้วยังหลงเหลือกลุ่มอาการ Long Covid อาทิ อาการเหนื่อยง่าย อ่อนแรง อ่อนเพลียเรื้อรัง ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม รู้สึกแน่นๆ หน้าอก ไอและปวดศีรษะ ท้องร่วง มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ ปวดตามข้อ รู้สึกจี๊ดๆ ตามเนื้อตัว หรือปลายมือ ปลายเท้า มีภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส อ่อนเพลีย มีไข้ ซึ่งมักพบมากในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภาวะอ้วน น้ำหนักตัวมาก เนื่องจากลักษณะของอวัยวะต่างๆ ของร่ายการที่เสื่อมถอยร่วมกับมีการอักเสบจากการติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ผู้ป่วยบางรายมีอาการต่อเนื่องได้นานมากกว่าคนปกติ         จากการสำรวจภาวะ long covid ผ่านทางเว็บไซต์กรมการแพทย์ พบว่าอาการ ส่วนใหญ่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง อาการที่พบบ่อย 10 อันดับแรก ได้แก่  อ่อนเพลีย หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย ไอ  นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ผมร่วง เวียนศีรษะ วิตกกังวล/ เครียด ความจำสั้น เจ็บหน้าอก         ทั้งนี้ แพทย์หญิงเปี่ยมลาภ แสงสายัณห์ หัวหน้ากลุ่มงานอายุรศาสตร์ปอด สถาบันโรคทรวงอก กล่าวว่า ถ้าพูดถึงข้อบ่งชี้ภาวะ long covid จะนับหลังจากหายป่วยโควิดไปแล้ว 3 เดือน บางคนถึง 6 เดือนขึ้นไป แต่ส่วนมากจะจบที่ 6 เดือน ซึ่งจากการรักษาผู้ป่วยที่ผ่านมา พบว่า  มักจะมีปัญหาเหนื่อยอ่อนเพลีย หายใจไม่อิ่ม นอนไม่หลับ ภาวะสับสน  ส่วนใหญ่จะเจอปัญหาการนอนไม่หลับ สับสน เป็นอันดับต้นๆ          ถ้าถามว่ามีปัญหาหรือไม่ เมื่อมีการดูเรื่องการทำงานของอวัยวะจริงๆ เช่น กรณีผู้ที่หายป่วยแล้ว บ่นว่าหายใจไม่อิ่ม เหนื่อยมากนั้น เมื่อมีวัดออกซิเจนในเลือกก็ปกติ เอ็กซเรย์ปอดก็ดี ดังนั้นอาจเป็นเพราะอยู่ในช่วงที่ปอดกำลังฟื้นตัว หลังเกิดการอักเสบจากการติดเชื้อ อาจจะรบกวนชีวิตรบกวนชีวิตช่วงต้นแต่นานๆ ไปก็จะดีขึ้น         “การฟื้นตัวของปอดนั้นเป็นคนละเรื่องกับ long covid ซึ่งคนป่วยที่ปอดอักเสบรุนแรงจะต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวอาจจะต้องใช้ออกซิเจนไประยะหนึ่งแล้วค่อยลดระดับออกซิเจนลง แต่ยังไม่ได้นับว่าเป็น long covid เพราะ long covid จะนับ 3-6 เดือนขึ้นไปซึ่งคนที่ฟื้นตัวจากปอดอักเสบ”         สำหรับการดูแลภาวะ long covid นั้น ถ้ามีอาการมากก็ต้องตรวจวินิจฉัยว่ามีโรคร่วมหรือไม่ เพราะภาวะ long covid บางครั้งอาจจะไม่ถึงขั้นว่าจะต้องใช้ยาช่วย ส่วนมากที่มีปัญหาเนื่องจากพื้นฐานของโรคประจำตัวเดิม ส่วน long covid อาจจะเป็นเรื่องของความรู้สึกมากกว่า ซึ่งใช้การออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับให้ดี หลับสนิท ไม่เครียด ก็จะทำให้ดีขึ้นเอง         “อย่างไรก็ตาม เมื่อไหร่ก็ตามที่มีอาการเกิดขึ้นหลังจากติดโควิดไปแล้ว 3 เดือน หากประชาชนมีอาการที่ก็ยังไม่สามารถบอกตัวเองได้ว่าเกิดจากอะไร ก็แนะนำให้ตรวจเช็คกับแพทย์ เพราะบางครั้งอาจจะมีโรคอื่นที่มีอยู่แล้วโดยไม่รู้ตัว พอเจอโควิดเข้ามามันก็เหมือนเป็นการผสมโรงทำให้โรคที่เป็นอยู่เดิมมีอาการรุนแรงขึ้น มองเห็นชัดขึ้น เมื่อเรามีปัญหาโรคเดิมอยู่ก็ไปจัดการตรงนั้น”           ขณะที่ แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ภาวะ long covid แม้จะเป็นอาการทางกายหลายๆ อาการ แต่กลับกลายเป็นว่าเป็น “ความรู้สึก” เช่น รู้สึกเหนื่อย รู้สึกวิตกกังวล ใจสั่น รู้สึกหายใจติดขัด อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ซึ่งเมื่อตรวจร่างกายทั่วไปแล้วอาจจะพบร่องรอยของโรคในแบบที่ชัดเจนว่าเป็นโรคอะไร เป็นอาการที่ไม่มีความจำเพาะ เพราะฉะนั้นมีความสุ่มเสี่ยงมากที่คนจะเข้าใจว่าตัวเองเป็น long covid  จากความกังวล         อย่างไรก็ตาม ในขณะที่เจ้าตัวจะรู้สึกเป็นทุกข์ที่ไม่ได้รับความเข้าใจ และหวาดกลัวว่าทำอย่างไรถึงจะหาย ในมุมนี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องช่วยกันให้ข้อมูลกับคนไข้ ว่าอาการหลายอย่างจะเกิดขึ้นและอยู่นาน ทั้งๆ ที่ดูเหมือนจะแข็งแรง แล้วแต่ศักยภาพทางร่างกาย ความรู้สึก ความมั่นใจจะยังไม่เท่าเดิม จึงต้องให้เวลากับตัวเอง ในช่วงแรกหลังหายป่วยต้องพักผ่อนให้เต็มที่ ใช้ชีวิตอย่างมีสุขอนามัยที่ดี เช่น กินอาหารถูกส่วน ดื่มน้ำเพียงพอ นอนหลับให้ดี และส่งเสริมให้ตัวเองได้ออกกำลังกายเบาๆ และเพิ่มความหนักขึ้น จนสอดคล้องกับสภาพร่างกาย หากมีอาการอะไรที่เป็นแล้วเป็นนาน หรือหากไม่มั่นใจก็สามารถปรึกษาแพทย์ หรือแม้แต่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ใกล้บ้าน แต่ส่วนใหญ่อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป         “ที่น่าเห็นใจ เนื่องจากมีอาการทางกายเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่กว่าครึ่งหนึ่งจะถูกเข้าใจว่าเป็นปัญหาทางจิตใจ เป็นสภาพที่เจ้าตัวก็รู้สึกทุรนทุราย คนอื่นก็เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง อาจจะกลายเป็นว่าสมาชิกในครอบครัวเดียวกันอาจจะรู้สึกว่าผู้ที่หายป่วยขาดความสนใจกับคนอื่น หมกมุ่นกับความเจ็บป่วย คนในที่ทำงานก็อาจจะมองว่าเกลียดเกียจคร้านหรือเปล่าเพราะเขาอ่อนแรง แกล้งป่วยหรือเปล่า อะไรทำนองนี้ การไม่ได้รับความเข้าใจจากคนรอบข้าง แล้วตัวเองก็เกิดความสงสัยด้วย ก็จะเรียกว่า long covid ทางใจที่เสริมเข้าไปอีกบนพื้นฐานร่วมทางกายที่มีอยู่ระดับหนึ่ง”         อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสังคมไทย แม้ว่าจะอยู่ในบรรยากาศที่มีการระบาดของโรคจำนวนมาก ซึ่งอาจจะทำให้มีข้อจำกัดบางเรื่อง แต่ในภาพรวมแล้วประชาชนได้รับการดูแลที่ดี โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 กลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) หลายคน ที่ติดเชื้อก็รู้สึกว่าตัวเองได้รับความรู้เรื่องโรคที่เป็นอยู่มากขึ้น มีความเข้าใจว่าจะดูแลตัวเองในสถานการณ์โควิดอย่างไร ประกอบกับสังคมไทยมีเครือญาติ เพื่อนฝูง เพื่อนบ้านที่เข้าใจโอกาส ที่จะมีปัญหาทางสภาพจิตใจจึงไม่มากเท่ากับที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ         ด้าน พญ.สายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กล่าวว่า การกินอาหารให้ถูกหลักโภชนาการจะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย และมีความสำคัญในการป้องกันและลดความรุนแรงของโรค และทำให้ร่างกายสามารถฟื้นตัวได้เร็ว สอดคล้องกับที่ “องค์การอนามัยโลก” มีคำแนะนำล่าสุดปี 2563 ว่า          1. กินอาหารให้หลากหลาย รวมทั้ง ผักและผลไม้ทุกวัน ควรรับประทานธัญพืชเต็มเมล็ด กินโปรตีนทั้งจากพืชและสัตว์เลือกชนิดไม่ติดมัน กินปลา ไข่และนม         2.ลดการบริโภคเกลือ ควรได้รับไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน ใช้เกลือไอโอดีน จำกัดการบริโภคน้ำตาล จำกัดการบริโภคของหวานและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้และเครื่องดื่มน้ำผลไม้         3.กินไขมันและน้ำมันในปริมาณปานกลาง เลือกแหล่งอาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัว เช่น ปลา ถั่ว น้ำมันมะกอก น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน         4.เลี่ยงการกินอาหารแปรรูปหรือเนื้อสัตว์แปรรูป ซึ่งจะมีปริมาณไขมันและเกลือที่สูง และดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้ว หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์         สำหรับอาหารที่แนะนำเป็นอาหารที่ย่อยง่ายให้ร่างกายสามารถดึงพลังงานจากอาหารไปใช้ได้เร็ว และช่วยหลีกเลี่ยงอาการจุกเสียดแน่นท้องได้         “ไข่ต้มสุก” สารต้านอนุมูลอิสระ และวิตามินชนิดต่างๆ ที่มีส่วนช่วยเสริมภูมิคุ้มกันในร่างกายได้อย่างดี         “ซุปและน้ำแกง” เมนูที่ผู้ป่วยสามารถซดน้ำได้ แต่ไม่ให้มีรสชาติจัดจ้าน ไม่ควรมีน้ำมัน เพราะอาจทำให้เกิดอาการคันคอ ไอหนักขึ้นได้         “ผัก ผลไม้” ที่มีวิตามินซีสูง จะมีส่วนช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับโควิด19ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และผักและสมุนไพร ผ่านการปรุงเป็นอาหารหรือเครื่องดื่มได้ตามความเหมาะสม แต่ไม่แนะนำให้ปรุงอาหารแบบผัดด้วยน้ำมัน เพราะจะกระตุ้นให้เกิดอาการระคายคอได้          “ส่วน 10 อาหารบำรุงปอด ได้แก่  1.ขิง ช่วยต้านการอักเสบ 2.พริกหวาน ช่วยต้านอนุมูลอิสระ 3.แอปเปิ้ล มีใยอาหาร วิตามินซี 4.ฟักทอง มีสารอาหารบำรุงปอด 5.ขมิ้นชัน สารเคอร์คูมิน ดีต่อปอด 6.มะเขือเทศ ช่วยลดการอักเสบ 7.ธัญพืช มีเส้นใยสูง ดีต่อปอด 8.น้ำมันมะกอก ป้องกันโรคทางเดินหายใจ  9.หอยนางรม มีแร่ธาตุที่ดีต่อปอด และ10.เบอร์รี่ ต้านอนุมูลอิสระได้ดี”  

อ่านเพิ่มเติม >