ฉบับที่ 260 กระแสต่างแดน

 แน่นจนน่ากลัว         เหตุการณ์ที่อิแทวอนทำให้ผู้โดยสารรถไฟไต้ดินของกรุงโซลเริ่มวิตก เพราะในชั่วโมงเร่งด่วนมีผู้คนหนาแน่น เบียดเสียดกันทั้งในสถานีและในขบวนรถเช่นกัน         โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเส้นทางสาย 1 ช่วงระหว่างสถานีกูโรและสถานีกิล การสำรวจโดยบริษัท SK Telecom  พบว่า มีความหนาแน่นของผู้โดยสารถึงร้อยละ 252 หรือเท่ากับ 403 คนต่อคัน (ทั้งที่ควรเป็น 160 คนเท่านั้น)         รายงานระบุว่าผู้ประกอบการรถไฟใต้ดินมีแผนจะแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มระบบแจ้งความหนาแน่นในตัวรถ รวมถึงจำกัดจำนวนผู้โดยสารที่จะผ่าน “ประตู” สถานีเข้ามา ด้านนักวิชาการเสนอให้มีการปรับปรุงตารางรถ ไม่ให้รถไฟเข้าชานชาลาพร้อมกัน รวมถึงเพิ่มเส้นทางรถเมล์ด้วย          ระหว่างนี้เขาจะใช้มาตรการชั่วคราวไปก่อน ด้วยการจัดเจ้าหน้าที่มา “ยืน” ให้มากขึ้น นักวิชาการของเกาหลีบอกว่าแผนนี้ใช้ได้ เมื่อคนเกาหลีเห็นเจ้าหน้าที่ ก็จะเกรงใจและขึ้นลงอย่างเป็นระเบียบมากขึ้น ไม่เบียด ไม่ผลัก และไม่พยายามแทรกเข้าขบวนรถที่เต็มแล้ว ตั๋วเดือนกลับมาแล้ว         ผลตอบรับที่ดีของ “ตั๋ว 9 ยูโร” ในฤดูร้อนที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลเยอรมนีเตรียมขาย “ตั๋วเดือน 49 ยูโร”  (ประมาณ 1,800 บาท) ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ตามแผนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวและการปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนให้น่าใช้มากขึ้น         ตั๋วที่ว่านี้สามารถใช้ได้กับขนส่งสาธารณะทั่วประเทศ ทั้งรถราง U-Bahn (รถไฟใต้ดิน)  S-Bahn (รถไฟในเมือง) และรถไฟข้ามเมืองของ Deutsche Bahn เช่นเดียวกับตั๋ว 9 เหรียญ         ตั๋วเอื้ออาทรนี้ใช้เงินอุดหนุนประมาณ 3 ล้านยูโร โดยรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นร่วมกันจ่ายคนละครึ่ง   นอกจากนี้เยอรมนียังเตรียมขยายระบบขนส่งมวลชนโดยจัดสรรงบประมาณไว้ปีละหนึ่งพันล้านยูโร (และเพิ่มให้อีกร้อยละ 3 ต่อปี         ผลโพลล์พบว่าร้อยละ 55 ของคนเยอรมันชอบตั๋วแบบนี้มากถึงมากที่สุด เพราะทุกวันนี้จ่ายอยู่เดือนละ 80 - 100  ยูโร แต่ก็มีถึงร้อยละ 23 ที่ไม่ชอบแนวคิดนี้         บ้างก็ว่าราคานี้ยังแพงไป ที่พวกเขาต้องการจริงๆ คือ “ตั๋วปี” ในราคา 365 ยูโรรถสะอาด อากาศดี         ฝรั่งเศสเล็งเพิ่มพื้นที่ “มลพิษต่ำ” จาก 11 พื้นที่ในปัจจุบันเป็น 43 พื้นที่ภายในสิ้นปีหน้า         พื้นที่ดังกล่าวไม่อนุญาตให้รถรุ่นเก่าเข้ามาวิ่ง หรือวิ่งได้เพียงบางช่วงเวลา และรถที่จะเข้าพื้นที่ได้ต้องมีสติกเกอร์ Crit’Air ซึ่งทางการจะออกให้หลังตรวจประเมินระดับการปล่อยมลพิษ (ระดับ 0 ถึง 5) การขับรถที่ไม่มีสติกเกอร์เข้าเขตดังกล่าวจะมีค่าปรับระหว่าง 68 ถึง 750 ยูโร         รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมกล่าวว่าการบังคับใช้กฎหมายขณะนี้ยังไม่ดีพอและไม่มีมาตรฐาน แต่เขากำลังจะเปลี่ยนเป็นระบบอัตโนมัติโดยใช้กล้องวงจรปิดเข้ามาช่วยในเร็วๆ นี้         ด้านประชาชนที่เปลี่ยนมาใช้รถพลังงานไฟฟ้า (ค่ามลพิษระดับ 0) จะได้ “โบนัส” 7,000 ยูโร โดยรถที่เข้าข่ายได้รับการสนับสนุนต้องมีราคาระหว่าง 7,000 - 47,000 ยูโร โดยเจ้าของจะต้องใช้รถอย่างน้อยหกเดือน หรือขับอย่างน้อย 6,000 กิโลเมตร ก่อนจะขายต่อได้         ความนิยมรถไฟฟ้าในฝรั่งเศสเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขการจดทะเบียนในครึ่งแรกของปีนี้อยู่ที่ 93,344 คัน  รีวิวหลอกดาว         อเมซอนยื่นฟ้องบริษัทนายหน้าจัดหาผู้มารีวิวสินค้าในประเทศสเปนและอิตาลี หลังพบว่า “ลูกค้า” ที่เข้ามารีวิวสินค้าในอเมซอนไว้อย่างเลิศเลอนั้นไม่ใช่ลูกค้าตัวจริง         อเมซอนบอกว่าเขาตรวจสอบได้ว่าใคร “ถูกจ้าง” โดยทั่วไปลูกค้าจะได้เงินคืนก็ต่อเมื่อไม่ได้รับสินค้า สินค้าที่ได้รับมีความชำรุดบกพร่อง หรือไม่เป็นไปตามความคาดหวัง แต่กรณีนี้ผิดสังเกต เพราะลูกค้าที่พึงพอใจมากกลับทำเรื่องขอเงินคืน แล้วก็ได้คืน “เต็มจำนวน” เสียด้วย สุดท้ายพบว่าเงินดังกล่าวคือค่าตอบแทนนั่นเอง         บริษัทที่เป็นจำเลยอ้างว่า พวกเขาเพียงแต่เลือกคนที่พวกเขารู้ล่วงหน้าแล้วว่ายินดีจะซื้อสินค้า และจะมีความพึงพอใจขนาดโพสต์รีวิวให้ถึงห้าดาว วิธีการแบบนี้แพร่หลายมากขึ้นช่วงโควิดระบาดที่ผู้คนนิยมเดินห้างออนไลน์ ก่อนหน้านี้อเมซอนยุโรป ได้ส่งคำเตือนไปยังเว็บไซต์ 5 เว็บในเยอรมนี ให้หยุดการกระทำดังกล่าว ซึ่งเว็บเหล่านั้นก็ยินยอมเพราะไม่ต้องการถูกฟ้อง   ร้อน แล้ง เครียด         ปัจจุบันจำนวนคนชั้นกลางที่มีฐานะดีและต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์นมมีจำนวนมากขึ้นทั่วโลก แต่อากาศที่ร้อนแล้งขึ้นทุกปีส่งผลให้วัวให้น้ำนมได้น้อยลงเพราะ “ความเครียด” และการขาดแคลนทุ่งหญ้าที่อุดมสมบูรณ์ ผลผลิตจากนมวัวจึงมีแนวโน้มจะลดลงและมีราคาแพงขึ้น         มีการคาดการณ์ว่าปีนี้ผลผลิตจากนมวัวของออสเตรเลียจะลดลงไปถึงร้อยละ 50 เนื่องจากเกษตรกรจำนวนมากต้องเลิกกิจการไปเพราะเจอกับคลื่นความร้อนหลายปีติดต่อกัน  ด้านอเมริกาก็มีรายงานว่าหากสถานการณ์โลกร้อนยังไม่ดีขึ้น ก่อนถึงสิ้นศตวรรษที่ 21 อุตสาหกรรมวัวนมที่นั่นอาจขาดทุนถึงปีละ 2,200 ล้านเหรียญ         ในขณะที่ฝรั่งเศสประกาศหยุดผลิตชีสยอดนิยมที่เรียกกันว่า  Salers เพราะไม่มี “วัตถุดิบ” เพียงพอ วัตถุดิบที่ว่านั้นคือน้ำนมจากแม่วัวที่กินหญ้านั่นเอง         ส่วนอินเดียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำนมวัวรายใหญ่ที่สุดของโลก สถานการณ์ก็ย่ำแย่เช่นกัน เกษตรกรรายย่อย จำเป็นต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อนำมาลงทุนติดตั้งอุปกรณ์หรือสร้างโรงเรือนเพื่อทำความเย็นให้กับวัวนั่นเอง     

อ่านเพิ่มเติม >