ฉบับที่ 246 น้องชมพู่กับขน 3 เส้น

        เว็บ https://workpointtoday.com เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564 มีหัวข้อข่าวเรื่อง “สรุปคดีลุงพลทุกมิติ โพสต์เดียวจบ” ตอนหนึ่งของบทความกล่าวว่า “...หลังจากผ่านไป 1 ปีเต็ม พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวในวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 ว่า “คดีน้องชมพู่ยังไม่จบ แต่เรามีคำตอบให้แน่นอน ช้าเร็วอยู่ที่เรา และผมเชื่อว่ามีคำตอบที่สังคมพอใจแน่ เอาอย่างนี้แล้วกัน” โดยมีรายงานว่าตำรวจค้นพบ เส้นขนจำนวน “3 เส้น” อยู่ในจุดที่เกิดเหตุ โดยหลังจากตรวจ DNA แล้ว สามารถชี้ชัดได้ว่า ใครที่อยู่ใกล้ชิดกับน้องชมพู่ในวันนั้น         ประเด็นที่น่าสนใจคือ การใช้เส้นขนจำนวน 3 เส้น ซึ่งตกอยู่ข้างศพเด็กเพื่อตรวจหา DNA ว่าเป็นของใครนั้นจะตรวจสอบได้อย่างไร        วันที่ 2 มิถุนายน 2564 รายการข่าวสามมิติ ของสถานีโทรทัศน์ดิจิตอลช่อง 33 รายงานประมาณว่า หลักฐานสำคัญในการคลี่คลายคดี คือ พยานหลักฐานทั้งหมด 16 ชิ้นได้จากที่เกิดเหตุโดยหลักฐานสำคัญ คือ เส้นผมทั้งหมด 36 เส้น ความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ซึ่งตรวจพบดีเอ็นเอของน้องชมพู่ และ เส้นขนไร้ราก 3 เส้น  จากนั้นจึงนำเส้นขนนี้ไปตรวจด้วยเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน ที่มีความละเอียดระดับนาโนเมตร (synchrotron นั้น google translate อ่านออกเสียงตามภาษา phonetic ว่า sing-kruh-traan หรือประมาณว่า ซิ้ง-โคร-ตรอน ซึ่งผู้อ่านสามารถเลือกอ่านได้ว่า ให้คนที่รู้ภาษาอังกฤษรู้เรื่อง หรือ ให้เป็นไปตามการกำหนดการอ่านออกเสียงแบบไทย ๆ คือ ซิน-โคร-ตรอน)         แสงซินโครตรอน คืออะไร ในเว็บของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ให้ข้อมูลว่า เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเช่นเดียวกับแสงที่มาจากดวงอาทิตย์ แต่แสงซินโครตรอนนั้นคือ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากอนุภาคที่มีประจุ เช่น อิเล็กตรอน ที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงเกือบเท่าความเร็วแสง และถูกบังคับให้เลี้ยวโค้งด้วยสนามแม่เหล็ก ทำให้อิเล็กตรอนสูญเสียพลังงานบางส่วน และปลดปล่อยออกมาในรูปของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เรียกว่า “แสงซินโครตรอน”         ส่วน Wikipedia ให้ข้อมูลเพิ่มเติมประมาณว่า จริงแล้วในการเลี้ยวโค้งในสนามแม่เหล็กของอิเล็กตรอนนั้น เส้นทางการวิ่งไม่ได้ทำเป็นวงกลมเสียทีเดียวแต่เป็นรูป polygon คือ มีหลายมุมมากจนดูคร่าว ๆ เป็นวงกลม การเกิดมุมบนเส้นทางวิ่งโค้งของอิเล็คตรอนนั้น ส่งผลให้อิเล็คตรอนสูญเสียพลังงานบางส่วนออกมาในรูปของแสง ซึ่งมีหลายรูปแบบ (เมื่อเสียความเร็วแล้วเข้าใจว่าอีเล็คตรอนจะถูกเร่งความเร็วใหม่ด้วยสนามแม่เหล็กอีก เป็นอย่างนี้ไปตลอดเส้นทาง...ผู้เขียน) เช่น ในรูปของแสงเอ็กซ์เรย์กำลังสูง ซึ่งมีการนำไปใช้ประโยชน์ในทางต่างๆ ในแนวทางเดียวกับการหาโครงสร้างของดีเอ็นเอในวิธีการที่เรียกว่า X-ray diffraction crystallography เมื่อเกือบ 70 ปีก่อน (ซึ่งมีเครื่องกำเนิดแสงเอ็กซ์เรย์แล้ว เพียงแต่มีกำลังต่ำกว่ามาก)         วิธีการของ X-ray diffraction crystallography นั้น James Dewey Watson และ Francis Harry Compton Crick ได้ใช้เป็นกระบวนการในการหาโครงสร้างของ DNA โดยประกาศว่า มีลักษณะเป็น double helix ในปี 1953 ผลงานดังกล่าวทำให้เขาทั้งสองและ Maurice Hugh Frederick Wilkins ได้รับรางวัล Noble Prize สาขา Physiology or Medicine ในปี 1962         ไทยรัฐออนไลน์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2563 มีบทความเรื่อง การตรวจ DNA จากเส้นผม เมื่อไม่เจอรากผม "ไมโทคอนเดรีย" คือความหวัง ท่านผู้อ่านพึงทราบว่า โดยทั่วไปแล้วเป็นที่เข้าใจโดยทั่วกันว่า ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตนั้นมี DNA อยู่ 2 ลักษณะคือ nucleus DNA (ซึ่งทั่วไปเรียกว่า DNA) และ mitochondrial DNA (ซึ่งมักเรียกกันว่า mDNA) โดย nucleus DNA นั้นมีอยู่ 2 ชุด (ชุดละ 2 สายพันกันอยู่เป็นเกลียว) ซึ่งเรียกแต่ละชุดว่า แท่งโครโมโซม (chromosome) ส่วน mDNA นั้นอยู่ในไมโตคอนเดรีย ซึ่งเป็น organelle ซึ่งทำหน้าที่ในการผลิตสารให้พลังงานสูง (ATP) แก่เซลล์ และมี DNA ของตัวเองขนาดเล็ก (ซึ่งทำหน้าที่ต่างไปจาก nucleus DNA) ประเด็นที่น่าสนใจคือ ยิ่งเซลล์นั้นต้องทำงานมากเท่าไร จำนวนไมโตคอนเดรียต้องมีมากขึ้นเท่านั้น         ไทยรัฐออนไลน์ เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2564 อีกเช่นกัน มีข่าวเรื่อง ผู้เชี่ยวชาญแจง "น้องชมพู่" ไม่ใช่คดีแรก ที่ใช้เทคนิคซินโครตรอน โดยเนื้อข่าวส่วนหนึ่งกล่าวว่า “ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนเปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า ลักษณะของการตรวจด้วยแสงซินโครตรอนไม่เหมือนการตรวจดีเอ็นเอ (ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ลำดับการเรียงตัวของเบสของกรดนิวคลิอิก..ผู้เขียน) แต่เป็นการตรวจข้อมูลทางกายภาพอื่น ๆ เพื่อนำไปประกอบในการสืบคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ต้องมีข้อมูลหลากหลาย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องสืบสวนว่า ใครทำอะไรอยู่ตรงไหน เกิดอะไรได้ขึ้น จากนั้นจึงนำข้อมูลในด้านต่างๆ มาประกอบจนได้ข้อสรุป แต่ข้อสรุปดังกล่าวจะถูกต้องและน่าเชื่อถือได้ขนาดไหนก็อยู่ที่ดุลยพินิจของศาล ทางสถาบันซินโครตรอนมีหน้าที่ให้ข้อมูลส่วนหนึ่งที่นำประกอบในสำนวน”         ประเด็นที่ต้องคำนึงคือ นักวิทยาศาสตร์คงต้องพยายามอย่างหนักในการอธิบายถึง ผลที่ได้จากการใช้แสงซินโครตรอนสามารถพิสูจน์เอกลักษณ์ที่เหมือนกันระหว่าง mDNA ในไมโตรคอนเดรียของตัวอย่างขนและ mDNA ในไมโตคอนเดรียจากขนของแม่ของผู้ต้องสงสัยในคดีนี้ให้ศาลเข้าใจและยอมรับได้นั่นเอง         แล้วสิ่งที่ท่านผู้อ่านควรรู้ก็คือ mDNA นั้น มนุษย์ทุกคนได้มาจากแม่เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับพ่อ เพราะในการผสมกันระหว่างไข่และอสุจินั้น ส่วนของหางอสุจิจากพ่อ ซึ่งมีไมโตคอนเดรียต้องหลุดไป ไม่ได้เข้าไปในไข่ของแม่ (มีแค่โครโมโซมของพ่อเท่านั้นที่เข้าไปได้) ดังนั้นเมื่อการผสมของเซลล์ทั้งสองเสร็จ ได้เซลล์ที่เรียกว่า zygote นั้น ไมโตคอนเดรียที่ zygote ใช้ในการสร้างพลังงานเพื่อการแบ่งตัวจึงมาจากแม่อย่างเดียว ความรู้นี้สร้างประเด็นที่เป็นคำถามคือ ในเส้นขนหรือเส้นผมซึ่งขาดรากหรือหมายความง่ายๆ ว่า ไม่มีตัวเซลล์อยู่นั้นมี mDNA ด้วยหรือ และเส้นขนนั้นไม่ใช่ส่วนของร่างกายที่ต้องการพลังงานสูงนัก จึงไม่น่ามีจำนวน mDNA สูงแต่อย่างใด         มีหลายเว็บที่เป็นภาษาไทยอธิบายความหมายของส่วนของเส้นขน ซึ่งภาษาอังกฤษคือ hair shaft คลาดเคลื่อนว่า “เป็นเซลล์ส่วนที่ตายแล้ว ไม่มีชีวิต และความรู้สึก เป็นส่วนที่งอกเจริญยาวออกมาปกคลุมศีรษะ” ทั้งที่จริงแล้ว hair shaft นั้นในตำราหลายเล่มกล่าวว่าเป็น a protein filament that grows from follicles found in the dermis. ซึ่งแปลง่ายๆ ว่า เป็นเส้นใยโปรตีนที่เติบโตจากรูขุมขนที่พบในผิวหนังชั้นหนังแท้         หลายบทความวิชาการทางนิติวิทยาศาสตร์ได้กล่าวว่า ส่วนของเส้นขนหรือเส้นผมที่ไม่มีราก (hair shaft) นั้นมี mDNA ด้วยทั้งที่ไม่ได้เป็นเซลล์ เช่น บทความเรื่อง Forensic applications of mDNA ในวารสาร Trends in Biotechnology หรือ Tibtech ของเดือนเมษายน 1998 ได้อธิบายถึงการใช้ mDNA ในส่วนของเส้นขนที่ไม่มีราก (hair shaft) ในการพิสูจน์หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ได้ ซึ่งผู้เขียนเข้าใจจากการอ่านบทความว่า ไมโตคอนเดรียนั้นถูกดันออกไปพร้อมโปรตีนที่ทำให้เส้นผมยาวออกไปเรื่อยๆ         แต่บรรดาแถลงข่าวเกี่ยวกับการใช้แสงซินโครตรอนเพื่องานด้านนิติวิทยาศาสตร์นั้น  ไม่มีการกล่าวถึงรายละเอียดแต่อย่างใดในการพิสูจน์ mDNA ดังนั้นผู้สนใจในเรื่องนี้อาจต้องมโนเองว่า มีการเพิ่มจำนวน mDNA ที่สกัดได้จากเส้นขนแค่ 3 เส้น ด้วยวิธีการในห้องปฏิบัติการ ซึ่งน่าจะเป็นวิธีการที่เรียกว่า PCR (Polymerase chain reaction) จนได้ mDNA มากพอที่จะตกผลึกได้ จากนั้นจึงนำผลึกไปใช้ในการศึกษาด้าน X-ray diffraction crystallography (แบบที่ Watson และ Crick เคยอธิบายเมื่อเกือบ 70 ปีมาแล้ว) ด้วยแสงซินโครตรอนเพื่อให้ได้ภาพถ่าย mDNA จากขนที่เป็นวัตถุพยานไปเทียบกับภาพถ่ายของ mDNA จากขน (ซึ่งน่าจะเป็นเส้นผม) ของแม่ของผู้ต้องสงสัยว่า อยู่ในบริเวณที่พบศพผู้เคราะห์ร้าย ซึ่งเรื่องนี้ต้องใช้ความสามารถระดับสูงเป็นอย่างยิ่ง         ดังนั้นผู้ที่สนใจข่าวนี้ในแง่ของการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไขปัญหาคดีการฆาตกรรมนั้น ควรมีความอดทน อย่าเบื่อและอย่าลืม ติดตามผลสุดท้ายของคดีนี้ ซึ่งจะเป็นการพิสูจน์ความมหัศจรรย์ของการใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เพื่อไขความจริงในคดีฆาตกรรมอีกครั้งหนึ่งในประเทศไทย

อ่านเพิ่มเติม >