ฉบับที่ 260 อากาศดีต้องมีได้

        มลภาวะทางอากาศเป็นอีกปัญหาระดับโลกที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน ทุกวันนี้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพราะอากาศที่ไม่สะอาด ไม่ต่ำกว่า 7 ล้านคนต่อปี ในขณะที่ฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5 หรือฝุ่นจิ๋ว) จากไอเสียรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม ควันไฟจากการหุงต้มหรือการให้ความอบอุ่น รวมถึงพื้นที่ทะเลทรายที่เพิ่มขึ้นและไฟป่าที่รุนแรงขึ้นเพราะภาวะโลกร้อน ก็มีแนวโน้มจะเพิ่มปริมาณขึ้น         เดือนกันยายนปี 2564 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศปรับเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศ ลดเพดานค่าฝุ่นจิ๋วที่ยอมรับได้ลงมาที่ไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรใน 24 ชั่วโมง (จากเดิม 25 ไมโครกรัม)  การตรวจวัดโดย IQAir  บริษัทสัญชาติสวิสที่วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฟอกอากาศ พบว่ามีเพียง 222  เมืองจาก 6,475 เมือง ใน 117 ประเทศเท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์องค์การอนามัยโลก แต่มีถึง 93 ประเทศที่มีอากาศที่เลวร้ายเกินเกณฑ์ถึงสิบเท่า           จากรายงานดังกล่าว ในบรรดา 50 เมืองที่อากาศเลวร้ายที่สุดในโลกในปี 2564 มีถึง 46 เมืองที่อยู่ในภูมิภาคอินเดียกลางและอินเดียใต้ โดยมีบังคลาเทศรั้งตำแหน่งประเทศที่อากาศเป็นพิษที่สุดในโลก ด้วยค่าฝุ่นจิ๋ว 76.9 ไมโครกรัมต่อหนึ่งลูกบาศก์เมตร ประเทศอื่นในอันดับต้นๆ ได้แก่ แชด ปากีสถาน ทาจิกิสถาน อินเดีย โอมาน คีร์กีสถาน บาห์เรน อิรัก และเนปาล         ส่วนประเทศที่อากาศสะอาดที่สุดคือ นิวคาลิโดเนีย ซึ่งเป็นเกาะในทะเลแปซิฟิกใต้ (ค่าฝุ่นจิ๋ว 3.8 ไมโครกรัมต่อหนึ่งลูกบาศก์เมตร) ตามด้วยเวอร์จินไอแลนด์ เปอโตริโก เคปเวิร์ด ซาบา ฟินแลนด์ เกรนาดา บาฮามาส์ ออสเตรีย และเอสโตเนีย         อย่างไรก็ตาม บริษัท IQAir บอกว่าปัจจุบันเขายังไม่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศครอบคลุมทั่วทุกประเทศ จึงอาจมีเซอร์ไพรส์เกิดขึ้นได้ทุกปี เช่น ก่อนปี 2564 ไม่เคยมีชื่อประเทศแชดปรากฏ แต่เมื่อมีสถานีตรวจวัด ประเทศนี้คว้าอันดับประเทศที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดอันดับสองของโลกไปเลย          เมืองหรือประเทศที่ประสบปัญหาเรื่องคุณภาพอากาศ มีแผนลดมลพิษหรือควบคุมมาตรฐานอากาศกันอย่างไร เราลองไปสำรวจกัน         เริ่มจากฟินแลนด์ซึ่งเป็นแชมป์โลกด้านอากาศสะอาด ก็ยังมีค่าฝุ่นจิ๋วเกินเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ (ค่าฝุ่นจิ๋วของฟินแลนด์คือ 5.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) และในเขตตัวเมืองเฮลซิงกิก็ยังคงมีไนโตรเจนไดออกไซด์เกินมาตรฐานถึงสามเท่า ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยโรคหัวใจ หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจอันมีสาเหตุมาจากมลภาวะปีละไม่ต่ำกว่า 2,000 ราย      เทศบาลเมืองร่วมกับมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ องค์กรกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานด้านอุตุนิยมวิทยาของเมือง ได้ริเริ่มโครงการ HOPE (Healthy Outdoor Premises for Everyone) ที่ให้ประชากรมีส่วนร่วมติดตามคุณภาพอากาศในพื้นที่กลางแจ้ง โดยอาสาสมัครอย่างน้อย 150 คนจะพกอุปกรณ์ตรวจวัดติดตัวไปด้วยตามเส้นทางที่ใช้ประจำวัน มหาวิทยาลัยเชื่อว่าอุปกรณ์ดังกล่าวจะเก็บข้อมูลได้แม่นยำที่สุดในโลก         ส่วนประเทศที่คุณภาพอากาศเลวร้ายที่สุดในยุโรปอย่างโปแลนด์ ซึ่งมีถึง 36 เมืองที่ติดอันดับ “เมืองอากาศแย่ที่สุด 50 เมืองในยุโรป” และมีประชากรเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพราะมลพิษทางอากาศมากถึง 47,000 คนทุกปี ก็กำลังรณรงค์อย่างจริงจัง รวมถึงออกมาตรการจำกัดการใช้ถ่านหินและการใช้ฟืนหุงต้มหรือสร้างความอบอุ่น และมีแผนเพิ่มการติดตั้งเซนเซอร์ให้ทั่วถึงเพื่อให้เอื้อต่อการกำกับดูแลให้เป็นไปตามกฎหมายด้วย          โปแลนด์ซึ่งเป็นประเทศที่มีการทำเหมืองถ่านหินมากที่สุดในยุโรปรองจากเยอรมนี ยังพึ่งพาถ่านหินเป็นหลักในอุตสาหกรรมต่างๆ ในขณะที่บ้านเรือนทั่วไปก็ยังใช้เตาผิงแบบดั้งเดิมเพื่อให้ความอบอุ่นด้วย         ในภาพรวมสหภาพยุโรปซึ่งมีประชากรประมาณ 450 ล้านคน กำลังผลักดันให้มีกฎหมายว่าด้วยการจำกัดปริมาณฝุ่นจิ๋วภายในปี 2573 และตั้งเป้าว่าภายในปี 2593 จะต้องไม่มีสารก่อมลพิษในอากาศเลย  เป้าหมายนี้ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง เพราะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ผู้คนต้องกลับไปพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลกันมากขึ้น         ข้ามทวีปไปอเมริกาใต้เพื่อดูความพยายามของโบโกตา เมืองหลวงของโคลัมเบียกันบ้างพิษส่วนใหญ่ของโบโกตาซึ่งมีประชากร 500,000 คน มาจากการเดินทางขนส่ง (ที่เหลือเป็นควันจากไฟป่าในประเทศข้างเคียง)         คลอเดีย โลเปซ นายกเทศมนตรีของโบโกตาประกาศตั้งเป้าว่าโบโกตาจะลดมลภาวะลงให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 10 ภายในปี 2567 โดยมีแผนเปลี่ยนรถเมล์ทั้งหมดให้เป็นรถพลังงานไฟฟ้า 100% เพื่อให้ระบบขนส่งสาธารณะของเมืองนี้เป็นระบบที่สะอาดที่สุดในโลก         เมื่อต้นปี 2565 โบโกตามีรถเมล์ไฟฟ้าให้บริการรวม 655 คันในหกเส้นทาง และจากคำนวณพบว่าการมีรถเมล์จำนวนดังกล่าววิ่งรับส่งผู้โดยสารในเมืองสามารถทำให้อากาศสะอาดขึ้นเทียบได้กับการปลูกต้นไม้ 148,000 ต้น ทางเมืองจึงมีแผนจะจัดหารถดังกล่าวมาให้บริการเพิ่มอีก 830 คันภายในสิ้นปี และโบโกตายังประกาศจะเป็นเมืองที่มีรถเมล์พลังงานไฟฟ้าให้บริการมากที่สุดในโลกรองจากจีนด้วย         มาที่กรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ โซลเผชิญกับมลภาวะที่เข้าขั้นวิกฤตเช่นกัน งานวิจัยคาดการณ์ว่าหากไม่มีการลงมือแก้ไขโดยด่วน ประชากรกว่า 10 ล้านคนในมหานครแห่งนี้จะมีอายุสั้นลง 1.7 ปี        นอกจากไอเสียจากรถยนต์แล้ว กรุงโซลและอีกหลายพื้นที่ในเกาหลีใต้ยังได้รับผลกระทบจาก “ฝุ่นเหลือง” ที่เคยเชื่อกันว่าถูกพัดพามาจากทะเลทรายในจีนและมองโกเลีย แต่ต่อมีการศึกษาที่ยืนยันว่ามีฝุ่นเหลืองจากเขตอุตสาหกรรมของเกาหลีมากกว่าที่พัดมาจากประเทศจีนด้วยซ้ำ ที่สำคัญเกาหลีใต้ยังมีโรงไฟฟ้าถ่านหินถึง 61 โรง ที่ทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าสนองร้อยละ 52.5 ของความต้องการไฟฟ้าในประเทศ         แผนรับมือของเกาหลีใต้เริ่มจากการประกาศเพิ่มจำนวนสารอันตรายควบคุมในอากาศเป็น 32 ชนิด (จาก 18 ชนิดในกฎหมายฉบับก่อนหน้า) เมื่อปี 2563 นอกจากนี้ยังมีกฎหมายห้ามรถเครื่องยนต์ดีเซลเข้ามาวิ่งในเขตเมือง ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป และรัฐบาลเกาหลีใต้ยังได้ร่วมมือกับรัฐบาลจีนในการทำฝนเทียมเพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นเหลือง และร่วมมือกับเอกชนที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาหุ่นยนต์วัดคุณภาพอากาศ ที่สามารถซอกแซกเข้าไป “ตรวจ”​ โรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก โดรนตรวจการณ์พื้นที่ชายฝั่ง รวมถึงใช้ดาวเทียมของตัวเองในการตรวจวัดคุณภาพอากาศให้บ่อยขึ้น และตรวจวัดปริมาณสารก่อมลพิษถึง 7 ชนิด        กรุงเทพมหานครที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของประชากรไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคนของเรานั้น ตามแผน  “Green Bangkok 2030” ที่ประกาศไว้เมื่อปี 2562 เราได้ให้คำมั่นไว้ว่ากรุงเทพฯ จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประชากร จาก 7.30 ตารางเมตรต่อคน เป็น 10 ตารางเมตรต่อคนภายในปี 2573 และพื้นที่เหล่านี้ต้องสามารถเข้าถึงได้จากที่อยู่อาศัยในระยะไม่เกิน 400 เมตร หรือใช้เวลาเดินไม่เกิน 5 นาทีด้วย แผนนี้เน้นไปที่ “เครื่องฟอกอากาศ” เป็นหลัก ยังต้องจับตาดูกันต่อไปว่าจะมีกฎระเบียบหรือนโยบายใหม่ๆ ออกมาเพื่อจัดการกับต้นตอของมลพิษในเมือง    https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-03-22/every-country-is-flunking-who-air-quality-standard-report?leadSource=uverify%20wallhttps://thecitizen.plus/node/51769https://thl.fi/en/web/thlfi-en/-/the-tightened-recommendations-for-air-quality-by-who-pose-new-challenges-even-to-finlandhttps://innovationorigins.com/en/selected/helsinki-citizens-help-measuring-air-pollution/https://www.unep.org/news-and-stories/story/five-cities-tackling-air-pollutionhttps://bogota.gov.co/en/international/2023-bogota-will-have-biggest-electric-fleet-after-chinahttps://www.koreatimes.co.kr/www/world/2022/11/501_338651.htmlhttps://www.privacyshield.gov/article?id=Korea-Air-Pollution-Control

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 “เรากำลังหยิบยื่นมลพิษทางอากาศให้กับประชาชน คือส่งคนไปตายเพื่อแลกกับความเติบโตของทางเศรษฐกิจ”

เมื่อครั้งที่นิตยสารฉลาดซื้อแถลงข่าวเรื่องประสิทธิภาพเครื่องฟอกอากาศ ครั้งที่ 2 วันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมานั้น เราได้ฟังรายละเอียดเรื่อง พ.ร.บ.อากาศสะอาด จาก ดร.นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สํานักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นักวิชาการด้านสังคมและสุขภาพ ซึ่งพบว่าน่าสนใจจนต้องขอนำมาเผยแพร่ผ่านฉลาดซื้ออีกครั้ง “เรื่องมลพิษทางอากาศมันซับซ้อนต้องจัดการร่วมกันหลายระดับตั้งแต่ระดับครอบครัวจนถึงระดับสังคม รวมถึงต้องปกป้องสุขภาพของประชาชนไปพร้อมกันการหาทางจัดการที่ต้นเหตุด้วย” สิทธิผู้บริโภคข้อหนึ่งคือสิทธิที่จะได้รับข้อมูลรวมถึงเรื่องอากาศ         เราไม่ได้รับการปกป้องสิทธิพื้นฐานเรื่องอากาศ คือสิทธิที่จะรู้ รู้ข้อมูลของอากาศที่เราหายใจอยู่เพื่อเราจะได้ปกป้องตัวเองได้ ซึ่งข้อมูลของอากาศที่เราหายใจอยู่ก็มีพวก Application ต่างๆ ตอนนี้ที่มีคนไปใช้ Air Visual กันเยอะๆ หรือว่า AQI CN ซึ่งเป็นการรายงานข้อมูลแบบ Real Time  แต่ไม่ได้เป็นข้อมูลที่ได้รับการพัฒนาจากรัฐ แนวคิดของรัฐมองว่าประชาชนทุกคนเหมือนกัน คือทุกคนเป็นคนปกติ ออกไปหายใจอากาศที่มันมีมลพิษสูงแป๊บเดียวคงไม่เป็นไร แต่ลืมคิดไปว่ามลพิษทางอากาศสูงขนาดนี้ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยง กลุ่มที่เจ็บป่วยเกิดอาการรุนแรงหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ เพราะฉะนั้นสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เรียกว่ารัฐยังละเลย         แล้วก็เวลามีการเรียกร้องของภาคประชาชนรัฐก็จะบอกว่าก็เป็นแค่ประชาชนบางกลุ่มเท่านั้นเอง เราจะต้องยึดตามมาตรฐานคือการรายงานค่ามลพิษทางอากาศ 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นมาตรฐาน เพราะฉะนั้นรัฐก็จะยึดกฎระเบียบ สิ่งที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ก็คือ พลังของภาคประชาชน ที่จะต้องเรียกร้องสิทธิที่จะรู้ข้อมูลคุณภาพของอากาศ ไม่ใช่ว่าประชาชนต้องลงทุนเองเพื่อให้ได้อากาศสะอาด อย่างการลงทุนไปซื้อเครื่องมาฟอกอากาศ คือประชาชนจะต้องปกป้องตัวเองเพื่อจะให้มีอากาศสะอาดที่จะหายใจ         สิ่งที่เครือข่ายอากาศสะอาดพยายามจะเรียกร้องมาตลอดคือ ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาด เพราะฉะนั้นรัฐจะต้องดูแลให้เขาได้รับอากาศสะอาดที่หายใจเข้าไปจริงๆ อย่างการปกป้องมาตรฐานของสินค้าอันนี้คือเครื่องฟอกอากาศก็เป็นเรื่องหนึ่งนะครับ มันยังมีสินค้าอื่นๆ อีกมากมายตอนนี้ที่ออกมาอย่างเช่น หน้ากากหรือว่าเครื่องวัดฝุ่น มีอีกเยอะมากเลยที่เอกชนเขาอาศัยความเป็นห่วง โดยเฉพาะพ่อแม่ที่เป็นห่วงลูกอันนี้ชัดเจนที่สุด พ่อแม่ยอมลงทุนนะครับ พวกสินค้าหน้าตาดูสวยงาม ยี่ห้อดูดี แต่ว่าอะไรคือ มาตรฐาน อย่างผลทดสอบวันนี้ผลออกมาแล้วน่าเสียใจ เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะใช้ผลการทดสอบนี้เป็นจุดเริ่มต้น ประชาชน ฉลาดซื้อ เครือข่ายนักวิชาการร่วมกันเป็นยามเฝ้าระวัง ติดตามสิ่งที่รัฐไม่เฝ้าระวัง ติดตามในสิ่งที่รัฐไม่ยอมติดตามให้เรา ผลการทดสอบถึงมาตรฐานการควบคุมสินค้าต่างๆ ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเอาตรงนี้มาให้รู้ว่านี่คือสิ่งที่ประชาชนกำลังได้รับผลกระทบ โดยที่รัฐควรจะดูแลให้ดีขึ้นครับ         และยิ่งไปกว่านั้นเราจะต้องมาร่วมกันติดตามและก็เรียกร้อง “มาตรฐานคุณภาพอากาศ” มีเครื่องมือที่รายงานให้ประชาชนรู้และควรจะมีการรายงานที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม รวมทั้งกลุ่มเปราะบาง กลุ่มคนเจ็บป่วย ประเทศไทยขาดอะไรที่ทำให้ต้องจมอยู่กับปัญหาฝุ่นอย่างนี้ทุกปี         จริงๆ เป็นคำถามที่ดีมากครับเรามีกฎหมายเยอะ เรามีหน่วยงานเยอะมาก เรามีอะไรดีๆ เยอะครับ แต่ว่าปัญหามันคือกระจัดกระจายและขัดแย้งกันเอง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องการก็คือการที่ภาครัฐประสานทำงานร่วมกันแล้วก็ยึดเอาประโยชน์ของประชาชนการปกป้องสุขภาพเป็นตัวตั้ง ตอนนี้นโยบายและทิศทางของการพัฒนาจะยึดเอาการพัฒนาเศรษฐกิจ การเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศเป็นที่ตั้ง สุขภาพของประชาชนมาทีหลัง ที่เราคุยกันในเครือข่ายก็คือว่า เรากำลังหยิบยื่นมลพิษทางอากาศให้กับประชาชน คือส่งคนไปตายเพื่อแลกกับความเติบโตของทางเศรษฐกิจ         กรณีตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือในขณะที่ประเทศจีนมีการควบคุมมลพิษอย่างมาก ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยมลพิษร้ายแรงหลายๆ อย่างต้องย้ายฐานออกจากประเทศจีน ประเทศไทยก็เปิดรับครับให้มาลงทุนตั้งโรงงานเหล่านี้ในประเทศไทย และก็มีการแก้กฎหมายโรงงาน ทำให้โรงงานบางอย่างไม่จำเป็นจะต้องรายงานว่าเป็นโรงงานด้วยซ้ำไป  และเราก็ยังไม่มีกฎหมายที่ควบคุมว่าประชาชนมีสิทธิรู้ว่าไอ้โรงงานที่ตั้งอยู่ข้างบ้านปล่อยมลพิษอะไรบ้าง จริงๆ แล้วสิ่งเหล่านี้นะครับ องค์ความรู้มีอยู่ กลไกรัฐมีอยู่พอสมควร แต่ต้องการการบริหารจัดการที่มันมีการเชื่อมประสานกันของทุกหน่วยงาน นี่ก็เลยทำให้เครือข่ายอากาศสะอาดตอนนี้พยายามเสนอร่าง “กฎหมายอากาศสะอาด” ฉบับที่เน้นเรื่องของการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด เพื่อสุขภาพของประชาชน ขณะนี้กำลังรณรงค์เพื่อรวบรวมรายชื่อประมาณ 10,000 รายชื่อซึ่งตอนนี้ก็ได้ไปเป็นหลักพันนะครับ สาระสำคัญของ พ.ร.บ.กฎหมายอากาศสะอาดและจะลงชื่อหรือร่วมทำอะไรได้บ้าง         กฎหมายอากาศสะอาดเป็นกฎหมายที่เรียกว่าเริ่มต้นจากในประเทศอเมริกานะครับ เขามีกฎหมายอากาศสะอาด กฎหมายน้ำสะอาด เป็นกฎหมายที่ต้องการให้เกิดระบบการจัดการที่ควบคุมตั้งแต่ต้นกำเนิดจนถึงปลายทางก็คือลดมลพิษที่แหล่งกำเนิดแล้วก็มีการปกป้องสุขภาพของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นนี่คือสิ่งที่เราได้เรียนรู้มาจากต่างประเทศ เริ่มต้นที่สหรัฐอเมริกาและในอีกหลายๆ ประเทศที่มีกฎหมายอากาศสะอาดแล้วนะครับ คำว่ากฎหมายอากาศสะอาดนี้ในประเทศไทยเองก็มีผู้เสนอหลายกลุ่ม แล้วทำไมเครือข่ายอากาศสะอาดถึงจะต้องมีการเสนอร่างกฎหมายขึ้นมาอีกฉบับหนึ่ง เนื่องจากอย่างนี้ครับ         ร่างกฎหมายของเครือข่ายอากาศสะอาดเรียกว่าเป็นร่างกฎหมายที่มุ่งเน้นเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของการบริหารจัดการ ก็คือเราเห็นแล้วว่าในกลไกของภาครัฐ ณ ปัจจุบันมีกฎหมายอยู่เยอะแล้ว มีองค์กรอยู่เยอะแล้ว แต่สิ่งที่ขาดคือการเชื่อมประสานให้เกิดการทำงานร่วมกัน และให้มีการปกป้องสุขภาพของประชาชนเป็นหลัก เพราะฉะนั้นสิ่งที่กฎหมายฉบับนี้เน้นก็คือ เรื่องของการปกป้องสิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาด เพราะฉะนั้นนี่คือจุดเน้นของกฎหมาย แล้วก็เป็นกฎหมายภาคประชาชน ซึ่งขณะนี้การรวบรวมรายชื่อ เนื่องจากว่ามันมีการออกกฎหมายอากาศสะอาดมาแล้วมันก็มีการรวบรวมรายชื่อไปหลายครั้ง แต่สำหรับฉบับนี้สิ่งที่อยากจะมุ่งเน้นก็คือว่าให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการมองในเรื่องการบริหารจัดการว่าต้องการแก้ไข แต่อันหนึ่งที่สำคัญในทีมของเครือข่ายอากาศสะอาดก็คุยกันและก็รู้ว่ากฎหมายภาคประชาชนนี่ยากมากที่จะผ่าน แต่เราจะใช้กระบวนการการร่างกฎหมายเพื่อให้ประชาชนได้มาสนใจในเรื่องนี้ แล้วได้มาร่วมเรียนรู้ว่าปัญหาของประเทศเราในเรื่องมลพิษทางอากาศมันอยู่ตรงไหนบ้าง และเราจะไปพ้นจากการพูดถึงเรื่องอากาศสกปรกเรื่องของมลพิษในอากาศไปสู่อากาศสะอาดอย่างไร         เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยากจะเชิญชวนคืออยากจะเชิญชวนให้เข้าไปศึกษาเนื้อหาของกฎหมายที่เว็บไซด์ของเครือข่ายอากาศสะอาด Thailandcan.org  Can คือ clean care network ตรงนี้เข้าไปจะมีตัวกฎหมายแล้วก็มีสื่อต่างๆ ที่จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องว่าสิ่งที่เราต้องการจะให้เกิดขึ้นจากกฎหมายนี้ กฎหมายฉบับนี้มันแตกต่างจากกฎหมายฉบับอื่นๆ อย่างไร เพราะว่ามีคนออกมาพูดเรื่อยๆ ว่ากฎหมายก็มีอยู่แล้วดีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราต้องการจัดการก็คือเรื่องของการบริหารจัดการ เพราะฉะนั้นก็อยากเชิญชวนนะครับไปร่วมกัน ถ้าเห็นด้วยก็ร่วมกันเป็นผู้เสนอชื่อเพื่อเสนอกฎหมายได้นะครับ              วิธีการคือ ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม ถ่ายเอกสารสำเนาบัตรประชาชน เนื่องจากระบบกลไกของการเสนอกฎหมายในประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศไทย 4.0 แต่ระบบเสนอกฎหมายยังเป็น 1.0 อยู่เลย ก็คือต้องเอกสารตัวจริง เพราะฉะนั้นก็เชิญชวนร่วมกันสร้างการเคลื่อนไหวของประชาชนที่ตื่นรู้เพื่อการจัดการคุณภาพอากาศในประเทศไทย เพื่ออากาศสะอาดครับ กฎหมายที่เรียกว่า PRTR        กฎหมายที่เรียกว่า PRTR (Pollutant Release and Transfer Register) ก็คือเป็นกฎหมายซึ่งต้องการบังคับให้ผู้ประการที่เกี่ยวข้องกับการขนย้ายสารมลพิษและการปล่อยมลพิษรายงานต่อรัฐว่ากิจการของตัวเองมีการขนย้ายและการปล่อยสารมลพิษอะไรบ้าง ซึ่งในประเทศไทยมีการเรียกร้องกันมาค่อนข้างนานแล้ว โดยเฉพาะมูลนิธิบูรณะนิเวศน์ที่ติดตามเกี่ยวกับเรื่องมลพิษในอุตสาหกรรม ซึ่งตรงนี้ทางกรมโรงงานก็บอกว่ามีการดำเนินการแล้วเป็นคล้ายๆ กับ มอก.เลยครับคือเป็นแบบสมัครใจ เพราะฉะนั้นเขาไม่รายงานก็ไม่ผิด สิ่งที่มันเกิดขึ้นก็คือว่าการที่ไม่มีกฎหมายมาบังคับให้เขาทำสิ่งนี้    ทำให้ ณ ปัจจุบันคนกรุงเทพฯ ก็ยังไม่รู้เลยครับว่าโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่รายรอบกรุงเทพมหานครที่ปล่อยมลพิษเข้ามาในกรุงเทพฯ มีอะไรบ้าง         เมื่อไม่มีการรายงานทำให้นักวิชาการที่ทำการศึกษาวิจัยเพื่อจะหาว่ามลพิษที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครมาจากแหล่งไหนบ้าง ไม่มีข้อมูลที่จะมาใช้ในการคำนวณว่าสัดส่วนของมลพิษจากภาคอุสาหกรรมมีมากแค่ไหนในอากาศกรุงเทพมหานคร เพราะฉะนั้นกฎหมายนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในกฎหมายอากาศฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด ที่เราเรียกร้องให้มีสิ่งนี้ที่เป็นภาคบังคับเพื่อสิทธิที่จะรู้ของประชาชนที่จะรู้ว่ามลพิษทางอากาศที่หายใจอยู่ ต้องย้ำนิดหนึ่งว่า PM2.5 มีอยู่ในธรรมชาติ แต่ปัญหาของ PM2.5 ที่มันเยอะขึ้นเราไม่รู้ว่ามันมาจากธรรมชาติหรือมันมาจากแหล่งอะไร และอันที่สองคือ PM2.5 ที่มันเป็นพิษทั้งตัวขนาดของมันเองและองค์ประกอบที่เป็นสารพิษที่มีอยู่หลายร้อยชนิดใน PM2.5 นั้น เพราะฉะนั้นคนที่ทางภาคเหนือที่ต้องทนกับเรื่องนี้มานานกับคนที่สมุทรสาครที่ตอนนี้เผชิญหน้ากับโควิด แต่จริงๆ มันมีสารพิษมากมายที่ชาวบ้านที่นั่นต้องหายใจอยู่และเป็นไปได้ว่าที่เขาป่วยด้วยโควิดกันมากๆ นี่เพราะว่าปอดของเขาเสียหายจากการได้สูด PM2.5 และสารพิษมากมายอยู่มานานแล้วครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 PM 2.5 กลับมาและกลับมา ขออากาศสะอาดให้พวกเรา

เหมือนจะเป็นเหตุการณ์ประจำไปแล้วในช่วงปลายปีต่อต้นปีที่ฝุ่น PM 2.5 จะแผ่ปกคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล สร้างผลกระทบต่อสุขภาพชนิดร้ายลึก (ไม่นับด้านเศรษฐกิจ) ยิ่งสำหรับคนที่ร่างกายไวต่อมลพิษ แค่เดินออกไปข้างนอกไม่นานก็อาจเกิดอาการคันยุบยิบตามตัว มิพักต้องพูดถึงพ่อค้า แม่ค้า หรือคนที่ต้องทำงานกลางแจ้งว่าจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง         ไล่เรียงเส้นเวลากลับไปก็ชวนคิดว่า ฝุ่น PM 2.5 เป็นสถานการณ์ที่เพิ่งเห็นชัดในช่วงสามสี่ปีมานี้เอง         คำถามที่เลี่ยงไม่ได้คือถ้าถอยกลับไปนานกว่านั้น เราไม่มีปัญหานี้เลยหรือ? แล้วฝุ่น PM 2.5 มาจากไหน? มันวนซ้ำเป็นวัฏจักรมาสามสี่ปีเหตุใดจึงยังไม่เห็นการแก้ปัญหาใดจากภาครัฐ?         เราจะค่อยๆ หาคำตอบร่วมกันต่อจากนี้ ฝุ่น PM 2.5 คืออะไร         ก่อนอื่นเรามาทบทวนสั้นๆ ว่าฝุ่น PM 2.5 คืออะไร         มันคือฝุ่นละอองที่มีอนุภาคเล็กกว่า 2.5 ไมครอน จนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่มันมีปริมาณสูงมากเช่นที่เป็นอยู่เราจะเห็นมันเหมือนหมอกหรือควัน ถ้าคุณถูกโอบล้อมด้วยมันโดยไม่มีเครื่องป้องกัน คุณอาจมีอาการแสบตา ไอ จาม เป็นไข้ ผิวหนังอักเสบ และด้วยขนาดที่เล็กมากมันจึงสามารถลอดผ่านการกรองของขนจมูกเข้าสู่หลอดลม เดินทางไปถึงถุงลมปอด และซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดมะเร็งปอด ปอดอักเสบ หรือหัวใจขาดเลือด         สาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดฝุ่น PM 2.5 มาจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ในที่นี้คือรถ ควันบุหรี่ การเผาขยะ การเผาเพื่อการเกษตรหญ้า หรือการเผาเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น แม้ว่าฝุ่น PM 2.5 มีอันตรายต่อสุขภาพโดยตัวมันเองอยู่แล้ว แต่ยิ่งอันตรายมากขึ้นเนื่องจากมันสามารถรวมตัวกับสารพิษอื่นๆ เช่น ไฮโดรคาร์บอน ไดออกซิน ยาฆ่าแมลง และโลหะหนัก ฝุ่น PM 2.5 ในไทย สาหัสติดอันดับโลก         ย้อนกลับไปที่รายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทยประจำปี 2562 ของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่า สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ครองแชมป์อันดับ 1 ที่ต้องเฝ้าระวังมากที่สุด เพราะฝุ่น PM 2.5 ฝุ่น PM 10 และก๊าซโอโซน มีแนวโน้มเกินค่ามาตรฐานมากกว่าปี 2561 อีกทั้งผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศใน 34 จังหวัดที่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศอัตโนมัติ มีจำนวนวันในรอบปีที่มีปัญหาคุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐานมากกว่าร้อยละ 20 ใน 8 จังหวัดคือ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน ลำปาง ลำพูน แพร่ ขอนแก่น และสระบุรี         รายงานสภาพคุณอากาศพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยกรมควบคุมมลพิษ ณ วันที่ 24 มกราคม 2564 พบว่า คุณภาพอากาศอยู่ในระดับคุณภาพดีถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยตรวจพบฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานที่บริเวณตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี, ริมถนนดินแดง เขตดินแดง, แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม, ริมถนนสุขาภิบาล 5 เขตสายไหม จ.กรุงเทพฯ, ริมถนนนวมินทร์ แยกบางกะปิ เขตบางกะปิ และริมถนนเลียบวารี เขตหนองจอก         มองในแง่ความร้ายแรงนี่คือสถานการณ์เร่งด่วนยิ่งยวดเพราะเราทุกคนต้องหายใจ เกิดเป็นวาระแห่งชาติในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองและการจัดทำแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในกรุงเทพ มหานครและปริมณฑล เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 โดยแบ่งเป็นระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง (พ.ศ.2562-2564) และระยะยาว (พ.ศ.2565-2567)ว่าแต่เรารู้เห็นความคืบหน้าอะไรบ้างยังคงเป็นคำถามคาใจ         ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ไม่ใช่สถานการณ์เฉพาะในไทย องค์การอนามัยโลกประกาศให้มลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ จำนวนมาและส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 7 ล้านคนต่อปี         ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกวางเกณฑ์ค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5 ไว้ โดยค่าเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงคือ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่ค่าเฉลี่ยรายปีของไทยในปี 2560 อยู่ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรและค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงคือ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดถึง 2 เท่าและการวิเคราะห์ข้อมูลใน State of Global Air ระบุว่า ฝุ่น PM 2.5 ก่อให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในประเทศไทยประมาณ 37,500 คน ในปี 2558        ตัวเลขล่าสุดเมื่อปลายปี 2563 จากการวัดคุณภาพอากาศของ World Air Quality Index พบว่า ประเทศไทยมีฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนติดอันดับที่ 3 จาก 96 ประเทศทั่วโลก โดยมีค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 190 หน่วย ซึ่งเป็นระดับที่อันตรายต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ มันมาจากไหน?         ดร.นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สํานักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า         “ความร้ายแรงของฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ความเข้มข้นและความเปลี่ยนแปลงตามสภาพอากาศ ที่ตอนนี้มีคำอธิบายว่าเป็นฝาชีครอบ ผมมักเปรียบเทียบกับการจุดธูปในห้องพระ ถ้าวันหนึ่งเราปิดประตูหน้าต่างควันธูปก็จะฟุ้งอยู่ในห้อง ในลักษณะเดียวกัน สถานการณ์ความเข้มข้นมันเกิดจากลักษณะอากาศว่าไหลเวียนดีแค่ไหน ในช่วงนี้ที่สถานการณ์ดูจะรุนแรงขึ้นเนื่องจากอากาศไหลเวียนไม่ดี จุดนี้การพยากรณ์อากาศจะช่วยได้”         เนื่องจากอากาศเย็นทำให้ความกดอากาศสูง ฝุ่นที่อยู่ในอากาศไม่สามารถลอยขึ้นข้างบนได้ ขณะเดียวกันกรุงเทพฯ ก็มีแหล่งกำเนิดฝุ่นหลักจากรถยนต์ ซ้ำเติมด้วยสภาพอาคารและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ทำให้เกิดสภาพห้องที่ปิดประตูหน้าต่าง และยังซ้ำเติมด้วยฝุ่นที่มาจากพื้นที่อื่น เช่น การเผาในพื้นที่ภาคกลาง หรือฝุ่นควันที่มาจากกัมพูชา ควันจากโรงงานอุตสาหกรรมในสมุทรสาคร สมุทรปราการ สระบุรี เป็นต้น         แต่กรุงเทพฯ ไม่ใช่ประเทศไทย ในพื้นที่อื่นๆ ก็เผชิญปัญหาฝุ่น PM 2.5 ด้วย เช่นในพื้นที่ภาคเหนือซึ่งก็มีอันตรายเหมือนกัน หากพื้นที่กรุงเทพฯ ฝุ่น PM 2.5 มาพร้อมกับสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมและเครื่องยนต์ ในภาคเหนือมันก็มาพร้อมกับสารเคมีทางการเกษตร และการที่มันเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งก็เกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โรงงานอุตสาหกรรม การเผาป่า การเผาพื้นที่เกษตร ปริมาณรถยนต์ หรือการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ล้วนเพิ่มมากขึ้น ฝุ่น PM 2.5 จึงมีปริมาณเพิ่มขึ้นตามไปด้วย         ดร.นพ.วิรุฬ เปิดเผยอีกว่า ประเทศไทยมีการตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 มาประมาณ 10 ปี แต่ไม่มีการนำข้อมูลมาเปิดเผยต่อสาธารณะ ประมาณสองสามปีที่แล้วภาคประชาชนและกรีนพีซจึงเรียกร้องให้มีการนำฝุ่น PM 2.5 เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจวัดคุณภาพอากาศโดยกรมควบคุมมลพิษ สิ่งที่ต้องแก้ไขและสิ่งที่เราทำได้         ทั้งที่มีวาระแห่งชาติออกมา แต่เรากลับไม่เห็นความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา เป็นเพราะอะไร ตอบแบบรวบรัดที่สุดเพราะ ‘ระบบราชการ’ ดร.นพ.วิรุฬ อธิบายว่า             “เป็นปัญหาเรื่องการจัดการของกลไกภาครัฐ ประเทศไทยมีกรมควบคุมมลพิษซึ่งควรจะทำหน้าที่นี้จึงตกเป็นเป้าการโจมตีซึ่งส่วนหนึ่งก็มีปัญหา แต่อีกส่วนหนึ่งก็น่าเห็นใจเพราะว่ากรมควบคุมมลพิษทำได้แค่การประกาศมาตรฐาน ส่วนการจัดการกับต้นกำเนิดอย่างเช่นโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษไม่ได้มีอำนาจเข้าไปจัดการ         “แล้วหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลโรงงานก็มีหน้าที่สนับสนุนอุตสาหกรรม ไม่ได้มีหน้าที่จัดการเรื่องมลพิษจึงเกิดความย้อนแย้งกันในตัว เพราะต้องการส่งเสริมการลงทุน ส่งเสริมอุตสาหกรรม แต่ถ้ามีมาตรการควบคุมมลพิษมากขึ้นอุตสาหกรรมก็ไม่เติบโต มันเป็นปัญหาในเชิงระบบ ถ้ามาคุยกันจริงๆ แต่ละคนก็จะบอกว่าต้องการช่วย แต่ไม่มีอำนาจเพราะอำนาจในการควบคุมมันกระจัดกระจายและทิศทางของประเทศเองก็เน้นเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ ดังนั้น มันจึงเป็นปัญหาเชิงระบบ”         ดังนั้น ในภาพรวมจึงต้องแก้ไขระบบการจัดการมลพิษทางอากาศ โดยเชื่อมโยงอำนาจ เชื่อมโยงการทำงานของหน่วยงานทั้งหลายให้ไปในทิศทางเดียวกัน เป็นการแก้ไขจากข้างบนลงข้างล่าง อย่างไรก็ตาม ดร.นพ.วิรุฬ แสดงทัศนะว่า         “การแก้ปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศ ผมคิดว่าต้องทำ 2 ทางคือทำจากข้างบนลงมาและทำจากข้างล่างขึ้นไปด้วย ซึ่งการทำจากข้างบนก็ต้องการแรงผลักดันจากข้างล่างที่เรียกร้องให้ข้างบนแก้ไข มีการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อผลักดันกฎหมาย”         ส่วนการทำจากข้างล่างขึ้นไป...         “ผมเคยเสนอว่าต้องทำใน 4 ระดับ ระดับที่ 1 คือตัวเราเองที่ต้องเข้าใจและปกป้องตัวเองก่อน ต้องติดตามสถานการณ์ เป็น active citizen ที่ดูแลตัวเอง ต้องรู้ว่าตัวเราไวต่อปัญหาคุณภาพอากาศหรือไม่ ระดับที่ 2 คือปกป้องคนในครอบครัว อย่างผมมีลูกเล็กๆ และมีผู้สูงอายุที่บ้าน ผมก็ต้องรู้ว่าลูกคนไหนไวเป็นพิเศษเพราะแต่ละคนแต่ละวัยได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน เช่นดูแลบ้านของเราให้มีห้องปลอดฝุ่นสำหรับผู้ที่ไวต่อมลพิษทางอากาศเป็นห้องที่ปิดประตูหน้าต่าง ถ้าดีขึ้นมาหน่อยก็มีเครื่องฟอกอากาศ         “ระดับที่ 3 คือการทำงานร่วมกับชุมชนหมายถึงการร่วมกันดูแลครอบครัวอื่นๆ ที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน เช่น บางครอบครัวมีฐานะดีหน่อย มีเครื่องฟอกอากาศเกินก็อาจจะให้อีกครอบครัวหนึ่งยืมหรือมีระบบที่ช่วยซื้อเครื่องฟอกอากาศราคาถูกที่ทุกคนพอจะซื้อได้หรือหาหน้ากากที่เหมาะกับเด็กในโรงเรียน ส่วนระดับสุดท้ายคือระดับสังคมที่ต้องร่วมกันเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ” พ.ร.บ.อากาศสะอาด อากาศสะอาดคือสิทธิในการมีชีวิต        จากที่เห็นแล้วว่าการจัดการปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาเชิงระบบอันเนื่องจากความซ้ำซ้อน การทำงานแยกเป็นเอกเทศ และขาดการบูรณาการของหน่วยงานราชการ จึงมีการเสนอ ร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ (ฉบับประชาชน) ซึ่งเป็นกฎหมายที่เสนอโดยเครือข่ายอากาศสะอาดที่ ดร.นพ.วิรุฬ เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย เขาอธิบายว่า         “เป้าหมายของการเสนอกฎหมายนี้เพื่อจัดการคุณภาพอากาศ ระบบการจัดการ และมีเป้าหมายชัดเจนว่าเป็นการจัดการเพื่อสุขภาพ โดยหลักการเราเน้นการจัดการแบบมีส่วนร่วม เป้าหมายจึงไปพ้นจากเรื่องมลพิษ แต่มีเป้าหมายในการปกป้องสิทธิที่จะหายใจอากาศที่สะอาดของประชาชนซึ่งเป็นสิทธิที่มีอยู่คู่กับสิทธิที่จะมีชีวิต มันเป็นสิทธิติดตัว ไม่ใช่ว่าทำให้อากาศในพื้นที่สะอาดขึ้นแล้วก็จบ แต่เป็นการมุ่งเน้นไปที่ประชาชนแต่ละคนว่าเขาจะต้องหายใจด้วยอากาศที่สะอาด กลไกของกฎหมายจะเข้าไปแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของกลไกราชการและเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน”         ปัจจุบัน ร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ในขั้นตอนการรวบรวม 10,000 รายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายต่อรัฐสภา ตัวเลขที่ได้ขณะนี้อยู่ที่ประมาณหลักพันกว่า (สามารถร่วมลงชื่อได้ที่ thailandcan.org)         ดร.นพ.วิรุฬ อธิบายว่า กระบวนการออกกฎหมายเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้คนทำความเข้าใจกับปัญหา เพราะว่าสุดท้ายแล้วไม่ว่ากฎหมายจะผ่านหรือไม่ แต่มันจะกระตุ้นให้ประชาชนตั้งคำถามกับการจัดการมลพิษทางอากาศโดยรัฐ เกิดเป็น active citizen ที่เข้าใจเรื่องนี้และเป็นแรงผลักดันจากข้างล่างขึ้นมา         อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือพลังของผู้บริโภค ดร.นพ.วิรุฬ เสนอความคิดว่า ควรมีการ air pollution footprint เช่นเดียวกับ carbon footprint คือดูว่ากระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์ หรือบริการของภาคธุรกิจสร้างมลพิษทางอากาศมากน้อยแค่ไหน         “เช่นผู้บริโภคต่อต้านบริษัทรถยนต์ที่ไม่ติดตั้งอุปกรณ์กรองอากาศให้กับรถหรือต่อต้านบริษัทผลิตอาหารที่ส่งเสริมการปลูกแบบอุตสาหกรรมแล้วมีการเผา ผมคิดว่าพลังของผู้บริโภคจะเป็นพลังอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ต้องจัดการกับกระบวนการผลิตของตนซึ่งจะช่วยให้การจัดการต้นกำเนิดมลพิษเป็นไปได้มากขึ้นแทนที่จะรอภาครัฐอย่างเดียว”         การมีอากาศสะอาดให้หายใจคือสิทธิในการมีชีวิต ดังนั้น ขออากาศสะอาดให้พวกเรา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 ความเคลื่อนไหวเดือนกุมภาพันธ์ 2562

ท้อง 3 เดือนแรก และ 6 เดือนขึ้นไปไม่ควรนวด             ข่าวหญิงท้อง 6 เดือน ช็อกคาร้านนวดทำให้แท้งลูกส่วนตัวเองมีอาการเจ้าหญิงนิทรานั้น รองโฆษก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข แนะนำว่า ผู้หญิงตั้งครรภ์นั้นสามารถนวดได้เพียงแต่ต้องดูอายุครรภ์และนวดกับหมอนวดผู้ชำนาญ        โดยหากอายุครรภ์ตั้งแต่เริ่มจนถึง 3 เดือน ไม่ควรนวด เพราะการนวดจะไปกระตุ้นให้มดลูกรัดตัว เสี่ยงแท้งลูกได้ อีกช่วงที่ต้องระวังคือ อายุครรภ์ 6 เดือนขึ้นไป การนวดอาจทำให้มดลูกไปกดเส้นเลือดดำ เส้นเลือดแดงในท้อง ในลำไส้ อาจเกิดภาวะช็อกหมดสติ ไม่ควรไปนวดตามร้านนวดทั่วไป หากเลือกที่จะนวดเพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อย ควรเลือกใช้บริการกับหมอแผนไทยที่มีการร่ำเรียนมา 800 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย เพราะการนวดเป็นเรื่องที่ผู้ให้บริการต้องผ่านการอบรม และสอบจนผ่านการรับรองจากทางราชการ รถจดทะเบียนใหม่ใน กทม. สูงขึ้นทุกปีสวนทางวิกฤตฝุ่นจิ๋ว        ไม่น่าแปลกใจที่ค่าฝุ่นพิษใน กทม. จะเพิ่มขึ้น เมื่อสถิติรถจดทะเบียนใหม่ใน กทม. สูงขึ้นทุกปี จากการเปิดเผยสถิติปริมาณรถยนต์ที่จดทะเบียนในปี 2551 - 2560 โดยสำนักงานจราจรและขนส่ง กทม. พบว่า รถยนต์ส่วนบุคคลมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น 8% ต่อปี ส่วนรถบรรทุกส่วนบุคคล เพิ่มขึ้น 3.5% ต่อปี โดยการที่กรุงเทพฯ มีปริมาณรถส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้นนี้ ส่งผลให้ความเร็วเฉลี่ยของพื้นที่ชั้นนอกลดลง 22% พื้นที่ชั้นกลางลดลง 17% และพื้นที่ชั้นในลดลง 11%         ขณะที่กรมการขนส่งทางบก รายงานข้อมูลจำนวนรถที่จดทะเบียนสะสมในกรุงเทพฯ ณ วันที่ 31 มกราคม 2562 พบว่า มีรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ทั้งหมด 4,529,691 คัน รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล 1,378,623 คัน รวม 5,908,314 ซึ่งในจำนวนนี้กว่า 2.2 ล้านคัน หรือ 38.73% เป็นรถที่ใช้น้ำมันดีเซล        ทั้งนี้การแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก จำเป็นต้องแก้ปัญหาจราจรติดขัดเพื่อลดมลพิษทางอากาศ ที่มีแหล่งกำเนิดมาจากไอเสียของเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งประกอบไปด้วย PM 2.5 มากกว่า 90% และควรเพิ่มการใช้งานระบบขนส่งมวลชน และรถโดยสารประจำทาง ขณะเดียวกันให้จำกัดรถยนต์ในพื้นที่ที่มีการจราจรติดขัด จึงจะเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้ส่งเสียงถึง คกก.วัตถุอันตราย ทบทวนลงมติแบน 'พาราควอต'        มูลนิธิชีววิถี องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้องคณะกรรมการวัตถุอันตราย ลงมติทบทวนการใช้พาราควอต ในรอบการประชุมที่จะมีการพิจารณาคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม สามารถให้ประชาชนทราบได้ว่าใครตัดสินอย่างไร  และเรียกร้องให้กรรมการที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจสารเคมีลาออก        นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าวถึงปัญหาพาราควอตอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ 1. เป็นสารเคมีที่มีความเป็นพิษเฉียบพลันสูง 2. ก่อให้เกิดโรคพาร์กินสัน และ 3. มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว         ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) แสดงความเห็นว่า ควรประกาศยกเลิกการใช้สารเคมีก่อน จนกว่าผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จะสามารถหาหลักฐานมาพิสูจน์ได้ว่าสารเคมีเหล่านี้ปลอดภัย ไม่เป็นพิษ และไม่ทำให้คนป่วยหรือเสียชีวิตดับฝันคอนโดให้เช่ารายวัน จับปรับ “เจ้าของห้อง-นิติบุคคลฯ”        “ศาลจังหวัดหัวหินถึงเพชรบุรี” ตัดสินคดีตัวอย่างเชือดเจ้าของห้องชุดปล่อยเช่ารายวันผิด กม.โรงแรม จำคุก 6 เดือน ปรับ 5 พัน-1 หมื่น          จากภาวะบูมของตลาดคอนโดมิเนียมนำไปสู่การตลาดแนวใหม่ที่หันไปเน้นลูกค้าซื้อลงทุนปล่อยเช่ามากขึ้น โดยปกติเน้นการปล่อยเช่าแบบรายเดือน อย่างไรก็ตาม ช่วงไม่ต่ำกว่า 4-5 ปีที่ผ่านมาเริ่มหันมาเน้นปล่อยห้องชุดเช่ารายวันมากขึ้น กลายเป็นคู่แข่งของโรงแรมและเป็นการทำผิดกฎหมายโรงแรมโดยตรง        ล่าสุด การนำห้องชุดมาปล่อยเช่ารายวันได้มีคำพิพากษาถูกลงโทษหนักทั้งปรับและจำคุก คำพิพากษาของศาลจังหวัดหัวหิน คดีดำเลขที่ 50/2561 คดีแดงเลขที่ 59/2561 วันพิพากษา 5 มกราคม 2561 จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ. 2547 มาตรา 4, 15, 59 รับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งตาม ปอ.ม.78 ปรับ 5,000 บาท และปรับรายวัน วันละ 500 บาท เป็นเวลา 20 วัน เป็นเงิน 10,000 บาทกับคดีดำเลขที่ 107/2561 คดีแดงเลขที่ 106/2561 วันพิพากษา 16 มกราคม 2561 จำเลยมีความผิดตามฟ้อง รับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งคงปรับ 5,000 บาท ปรับรายวัน วันละ 100 บาท เป็นเวลา 81 วัน เป็นเงิน 8,100 บาท        อีกตัวอย่างการนำห้องชุดปล่อยเช่ารายวันและรายสัปดาห์ ทำเลชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยศาลจังหวัดเพชรบุรี คดีดำเลขที่ 277/2561 คดีแดงเลขที่ 900/2561 มีการนำห้องชุดปล่อยเช่ารายวัน ค่าเช่าวันละ 4,990 บาท ผิด พ.ร.บ.โรงแรมฯ พิพากษาจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท ปรับอีกวันละ 1,000 บาท        “กรณีนี้เป็นการป้องปรามไปยังกรรมการนิติบุคคลด้วย เพราะเริ่มมีตัวอย่างจากหลายนิติฯ ที่มีตัวแทนกลุ่มผู้ซื้อลงทุนปล่อยเช่า ส่งตัวแทนมาเป็นกรรมการนิติฯ และพยายามออกระเบียบให้ปล่อยเช่ารายวันได้ ที่หนักข้อสุดน่าจะเป็นตัวแทนลูกค้าจีน ซึ่งซื้อในโควตาต่างชาติ 49% แล้วส่งตัวแทนมาเป็นกรรมการ ดังนั้น คำพิพากษาลงโทษเจ้าของห้องชุดมีผลผูกพันกับนิติบุคคลในฐานะรับฝากเช่ารายวันที่จะทำผิดกฎหมายด้วยเช่นกัน” ร้องเรียนปี 61 พบปัญหาโฆษณาเกินจริงมากที่สุด        มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยตัวเลขการให้คำปรึกษาและรับเรื่องร้องเรียนผู้บริโภค จากเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ทั่วประเทศ ประจำปี 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,545 เรื่อง โดยพบว่า เรื่องร้องเรียนด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ มากเป็นอันดับหนึ่ง จำนวน 1,505 ราย ส่วนอันดับสอง ด้านบริการสาธารณะ 930 ราย และอันดับสาม ด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข 705 ราย        โดยเรื่องร้องเรียนด้านอาหารฯ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องโฆษณาหลอกลวงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อาจก่อให้เกิดอันตรายซึ่งเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ค และทางช่องเคเบิ้ลทีวี รวมไปถึงวิทยุท้องถิ่น ส่วนหมวดบริการสาธารณะ พบปัญหาเกี่ยวกับการขนส่งทางบกได้รับการร้องเรียนมากที่สุด โดยเป็นเรื่องการชดเชยเยียวยาจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ และการร้องเรียนพฤติกรรมพนักงานผู้ให้บริการ เช่น พูดจาไม่สุภาพ สูบบุหรี่ขณะขับรถ ขับรถหวาดเสียว        สำหรับหมวดบริการสุขภาพและสาธารณสุข ส่วนใหญ่เป็นการสอบถามเรื่องการย้ายและสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะสิทธิบัตรทอง ซึ่งนอกจากการไม่รู้สิทธิแล้ว ยังมีปัญหาอื่นๆ อีก เช่น การไม่ได้รับความสะดวกตามสมควรหรือไม่ได้รับการปฏิบัติตามสิทธิ การได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล และการถูกเรียกเก็บค่าบริการจากการใช้สิทธิกองทุนฉุกเฉิน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 วิธีรับมือฝุ่นและมลภาวะเพื่อผิวสดใส

ในวิกฤตฝุ่นขนาดเล็กที่เราเผชิญอยู่ หลายคนอาจไม่มีอาการข้างเคียงที่จับได้ว่ากระทบกับสุขภาพ ซึ่งอาจเพราะเคยชินกับสภาพแวดล้อม แต่บางทีถ้าวิกฤตฝุ่นเริ่มส่งผลกระทบกับผิวพรรณอันนี้เชื่อว่าคุณผู้อ่านที่รักสวยรักงามน่าจะจับสังเกตได้ง่าย เช่น เริ่มมีสิวผุดขึ้น ทั้งที่ไม่ปรากฏมานานแล้ว หรือผิวเกิดผื่นคันยุบยิบๆ ผิวหมองทั้งที่บำรุงอยู่ตลอด ทั้งนี้ก็เพราะฝุ่นควันหรือมลภาวะทางอากาศนั้นทำร้ายผิวได้ไม่น้อยไปกว่าแสงแดดเลย          ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผิวพรรณไม่ได้มาจากวัยที่เพิ่มขึ้น แสงแดดหรือความเครียดเท่านั้น มลภาวะทางอากาศคือสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ซ้ำยังเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ผิวเหี่ยวย่น เกิดริ้วรอยตามจุดต่างๆ ไปจนถึงจุดด่างดำ ยิ่งฝุ่นที่มีอนุภาคเล็กๆ มากๆ PM 2.5 ยิ่งก่อให้เกิดปัญหากับผิวได้โดยตรง เพราะสามารถแทรกซึมเข้าไปทางผิวหนังได้          “ผลกระทบที่ฝุ่นละออง PM 2.5 มีต่อผิวพรรณของมนุษย์นั้น ผศ.นพ.ชูชัย ตั้งเลิศสัมพันธ์ กรรมการสมาคมแพทย์ความงาม ให้สัมภาษณ์กับทางบีบีซีไทยว่า สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ระดับ กล่าวคือ ผลลัพธ์ทันทีจะก่อให้เกิดอาการแพ้และระคายเคือง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (atopic dermatitis) หรือโรคผิวหนังอักเสบบริเวณที่มีต่อมไขมันเป็นจำนวนมาก ซึ่งสองโรคนี้พบเห็นได้บ่อยครั้งผลระยะยาว อนุภาคของฝุ่นจะแทรกผ่านเข้าผิวหนังแล้วทำลายเซลล์ผิว โดยเฉพาะผู้ที่เสริมความงามด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ฉีดโบท็อกซ์ หรือศัลยกรรม ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะรอยที่ผิวหนังจะทำให้ระคายเคืองได้ง่าย และหากแกะเกาจนเกิดแผล ก็อาจจะติดเชื้อ” (ที่มา https://www.bbc.com/thai/thailand-46890563)รับมืออย่างไรดี          1.หมั่นทำความสะอาด ถ้าออกไปอยู่ในพื้นที่โล่งนานๆ อย่างน้อยเข้าบ้านหรือในอาคารก็ควรล้างมือ หรือถ้าล้างหน้าได้ก็ควรทำ แต่ต้องเพิ่มการบำรุงด้วยเพราะผิวที่โดยชะล้างบ่อยจะแห้งกร้าน ควรเพิ่มครีมหรือโลชั่นเพื่อบำรุงผิว กักเก็บความชุ่มชื้น          2. เพิ่มกระบวนการสร้างสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย ซึ่งแค่การบำรุงผิวจากเครื่องสำอางอาจจะได้ผลน้อย ควรเพิ่มการรับประทานผัก ผลไม้สด ซึ่งอุดมด้วยแร่ธาตุและวิตามินให้มากขึ้น          3.ถ้าไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีการสะสมฝุ่นละอองขนาดเล็กสูง อยู่ในพื้นที่โล่งแจ้งให้น้อยลง โดยเฉพาะผู้ที่ทำศัลยกรรมความงาม เช่น ฉีดโบท็อกซ์ ควรจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ          4.ติดตามข่าวสารเรื่องสภาวะอากาศอย่างใกล้ชิด ป้องกันแค่ผิวพรรณยังไม่พอ ควรเพิ่มการใช้หน้ากากกันฝุ่นด้วย เพราะจะส่งผลกับสุขภาพโดยรวม          5.ช่วยกันรณรงค์และงดใช้รถยนต์ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของมลภาวะฝุ่นละอองขนาดเล็ก ด้วยการใช้รถสาธารณะเพิ่มขึ้น 

อ่านเพิ่มเติม >