ฉบับที่ 275 เบอร์มือถือ...สูญได้...งอกได้ "...ภาพสะท้อนความหละหลวมของผู้ให้บริการ"

        ชายคนหนึ่งประสบเหตุการณ์ระดับ “แจ็กพ็อต” เกี่ยวกับเบอร์มือถือภายในระยะเวลาห่างกันเพียงเดือนเศษ เริ่มจากที่จู่ๆ ในช่วงเย็นวันหนึ่งปลายเดือนพฤษภาคม เขาได้รับ SMS หรือข้อความสั้นว่ามีการลงทะเบียนเบอร์ที่ใช้งานอยู่ตามปกติของเขาโดยบุคคลอื่น จากนั้นซิมการ์ดมือถือของเขาก็ใช้ไม่ได้ขึ้นมา เมื่อติดต่อบริษัทผู้ให้บริการจึงทราบว่าเบอร์ของเขากลายเป็นของคนอื่นแล้ว ดีที่เขาจัดการเรื่องอย่างค่อนข้างรวดเร็วจนเบอร์ดังกล่าวถูกโอนกลับมาเป็นชื่อของเขาอีกครั้งหนึ่งในวันถัดมา แต่ภายในเวลาเพียงคืนเดียวนั้น เบอร์ดังกล่าวก็ถูกนำไปทำธุรกรรมซื้อสินค้าและบริการต่างๆ รวมถึงการเปิดใช้บริการกระเป๋าเงินออนไลน์ รวมทั้งมีการแจ้งย้ายค่ายมือถือแล้วด้วย         ต่อมาในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ชายคนเดิมนี้ก็ประสบปัญหาอีกลักษณะหนึ่ง นั่นคือถูกเรียกเก็บเงินค่าบริการมือถือในส่วนของเบอร์ที่เขาไม่ได้เปิด ซ้ำร้าย ปลายเดือนเดียวกันยังถูกเรียกเก็บเงินค่าบริการมือถือเพิ่มเติมอีกเบอร์หนึ่งด้วย ซึ่งเป็นเบอร์ที่เขาทั้งไม่ได้เปิดและไม่ได้ใช้งานเช่นเดียวกัน         นั่นหมายความว่า ในเดือนกรกฎาคมเพียงเดือนเดียว ชายคนนี้ถูกเรียกเก็บเงินค่าบริการมือถือถึง 3 เบอร์ ทั้งๆ ที่เขาใช้งานมือถือเพียงเบอร์เดียวและเครื่องเดียว แต่มีเบอร์งอกแฝงมาถึง 2 เบอร์         ทั้งกรณีเบอร์งอกและเบอร์สูญต่างนำมาสู่การเสียทรัพย์ และดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับการฉ้อฉลหรือมิจฉาชีพทั้งคู่ โดยในกรณีเบอร์งอกเป็นเรื่องของการถูกอ้างชื่อใช้บริการโทรคมนาคมแล้วโยนหนี้ให้ ส่วนใหญ่แล้ว กว่าผู้ถูกแอบอ้างใช้ชื่อเปิดเบอร์จะรู้ตัวก็ต่อเมื่อถึงรอบชำระค่าบริการและถูกเรียกเก็บค่าบริการมาในนามของตน ผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคที่ประสบปัญหาเช่นนี้จึงมีภาระต้องลุกขึ้นมาร้องเรียนปัญหา ซึ่งหากเป็นจริงเช่นนั้น คนกลางอย่างผู้ให้บริการมือถือก็มักยกเว้นหนี้ให้         อย่างไรก็ตาม นอกจากปัญหาค่าบริการแล้ว การถูกแอบอ้างเปิดเบอร์ยังอาจก่อให้เกิดความเสียหายอื่นๆ ตามมาได้ไม่ต่างจากกรณีถูกฉกเบอร์ นั่นคืออาจมีการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือแล้วสร้างหนี้ไว้ให้ หรือซ้ำร้ายกว่านั้น อาจมีการทำธุรกรรมในลักษณะที่ผิดกฎหมายซึ่งทำให้ผู้ถูกแอบอ้างชื่อต้องพลอยติดร่างแหไปด้วย         นอกจากนี้ ทั้งเรื่องเบอร์สูญและเบอร์งอกต่างก็เป็นเรื่องที่ผู้ใช้บริการไม่อาจระมัดระวังได้เอง และไม่มีแนวทางที่จะดูแลตัวเองได้มากนัก หลักๆ แล้วเป็นเรื่องที่ขึ้นกับกระบวนการขั้นตอนการทำงานของบริษัทผู้ให้บริการ ที่จะต้องมีแนวปฏิบัติที่รัดกุมและมีมาตรการควบคุมให้ผู้ปฏิบัติและผู้เกี่ยวข้องทำตามโดยเคร่งครัด ในขั้นตอนการลงทะเบียนใช้บริการ         ทั้งนี้ ตามประกาศ กสทช. เรื่อง การลงทะเบียนและการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีการกำหนดเอาไว้ชัดเจนให้เป็นหน้าที่ของบริษัทผู้ให้บริการที่จะต้องบริหารจัดการการลงทะเบียนผู้ใช้บริการที่จุดบริการ ซึ่งมีความหมายครอบคลุมถึงศูนย์หรือสำนักงานให้บริการลูกค้าของผู้ให้บริการ และร้านค้าหรือจุดให้บริการต่างๆ ที่เป็นตัวแทนในการจัดจำหน่ายสินค้า ทำการตลาด หรือให้บริการใดๆ ในนามบริษัทผู้ให้บริการ         ประกาศฉบับนี้มีการกำหนดเงื่อนไขที่สำคัญๆ ในการลงทะเบียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของเอกสารหลักฐานแสดงตัวตน เช่น ในกรณีของบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทย อย่างน้อยต้องแสดงเอกสารหลักฐานเป็นบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริง หรือข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดที่ใช้แทนบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริง โดยที่ผู้ให้บริการต้องมีการออกแบบมาตรฐานและวิธีการในการลงทะเบียน ให้จุดบริการต่างๆ ต้องตรวจสอบหลักฐาน รวมทั้งพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลของผู้ใช้บริการ ด้วยความรอบคอบ เคร่งครัด รัดกุม         ในกรณีของชายผู้ประสบเหตุถูกลอบเปิดเบอร์ในชื่อของเขาถึง 2 เบอร์ภายในเดือนเดียว ตามที่เล่าข้างต้น ผลจากการร้องเรียนทำให้พบว่า ต้นเหตุเกิดจากร้านค้าที่เป็นตัวแทนของบริษัทผู้ให้บริการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของบริษัทฯ และหลักเกณฑ์ตามที่ กสทช. กำหนด ซึ่งในที่สุด บริษัทผู้ให้บริการก็ได้ยกเลิกสัญญากับร้านค้าดังกล่าว รวมถึงยกเว้นค่าบริการให้แก่ชายที่ร้องเรียน         อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดก็เป็นเรื่องของการตามแก้ไขคลี่คลายปัญหาในภายหลัง โดยที่ผู้ใช้บริการที่ไม่ได้ทำอะไรผิดต้องเผชิญปัญหาและได้รับผลกระทบบางประการไปแล้ว         ส่วนในกรณีเบอร์สูญนั้น นอกจากจะเกี่ยวข้องกับเรื่องความรอบคอบ เคร่งครัด และรัดกุมในการลงทะเบียนแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องกระบวนการขั้นตอนการโอนกรรมสิทธิ์ในเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งเท่ากับเป็นการยกเลิกบริการของคนหนึ่งและเข้าสู่บริการของอีกคนหนึ่ง ดังนั้นจึงควรต้องมีความรอบคอบ เคร่งครัด และรัดกุม เช่นเดียวกัน แต่ในมิติด้านนี้ กสทช. ยังไม่ได้วางกติกาที่ชัดเจน         สำหรับในรายของชายคนดังกล่าว ปรากฏว่า บริษัทผู้ให้บริการมือถือได้ชี้แจงว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้จดทะเบียนผ่านช่องทางแอปพลิเคชันของผู้ให้บริการ ซึ่งขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้จดทะเบียนเป็นผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านช่องทางแอปพลิเคชันจะมีเพียงเฉพาะผู้จดทะเบียนเท่านั้นที่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากจะต้องเข้าสู่ระบบด้วยวิธีการกรอกรหัส OTP ส่วนในขั้นตอนการแสดงตนใหม่ ทางบริษัทผู้ให้บริการก็ได้กำหนดให้ผู้ใช้บริการใหม่ต้องถ่ายรูปบัตรประชาชนและถ่ายภาพเซลฟี่ตนเองเพื่อเป็นการยืนยันตัวตนด้วย ทั้งนี้ ทางบริษัทผู้ให้บริการยืนยันว่า ขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้จดทะเบียน หรือขั้นตอนการลงทะเบียนแสดงตนใหม่ผ่านทางแอปพลิเคชันนั้นมีความปลอดภัย และถือได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาของเจ้าของเลขหมายที่ประสงค์จะโอนย้ายเลขหมายหรือเบอร์ให้แก่บุคคลอื่น         จากข้อชี้แจงดังกล่าวของบริษัทฯ สะท้อนถึงมุมคิดที่น่าจะมีความผิดพลาดและขาดความสมดุลระหว่างเรื่องการอำนวยความสะดวกกับความปลอดภัย           ความผิดพลาดอาจเกิดขึ้นตั้งแต่ที่บริษัทฯ มีมุมมองว่านี่เป็นเพียงเรื่องของการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้จดทะเบียน ทั้งที่ความหมายแท้จริงเป็นเรื่องของการโอนกรรมสิทธิ์ในเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเกิดจากความยินยอมของเจ้าของหรือคนครอบครองเดิมอย่างชัดเจน การยอมให้ใช้ช่องทางแอปพลิเคชันจึงนับว่าหละหลวมเกินไป เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการสวมรอยโดยบุคคลอื่นเข้ามาแอบอ้างขอเปลี่ยนชื่อและลงทะเบียนใหม่         เช่นเดียวกับเรื่องการยกเลิกบริการที่จำเป็นต้องมีกระบวนการขั้นตอนพิสูจน์ตัวตนของผู้ที่ใช้บริการให้ชัดแจ้งว่ามีความประสงค์เลิกใช้เลขหมายดังกล่าวแล้วจริงๆ ดังนั้น กระบวนการและขั้นตอนในการยกเลิกบริการจึงควรต้องเข้มงวดไม่น้อยกว่าขั้นตอนจากการสมัครหรือลงทะเบียนเข้าสู่การใช้บริการ หรืออาจควรเข้มงวดกว่าด้วยซ้ำไป เนื่องจากในยุคสมัยปัจจุบัน เลขหมายมือถือกลายเป็นสิ่งที่ผูกกับตัวตนของผู้ใช้บริการอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง         การอำนวยความสะดวกเรื่องการเปลี่ยนชื่อคนครอบครองเลขหมายมือถือผ่านแอปพลิเคชันของทางค่ายมือถือจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและควรยกเลิก เพราะตราบเท่าที่เปิดช่องทางนี้ไว้ก็เท่ากับเปิดช่องโหว่ให้เกิดปัญหาการสูญเบอร์ขึ้นได้ โดยที่ฝั่งผู้ใช้บริการไม่มีทางที่จะป้องกันหรือปกป้องตัวเองได้เลย จะรู้ตัวก็ต่อเมื่อเหตุเกิดขึ้นแล้วเท่านั้น         ทั้งนี้ จะว่าไปแล้ว เรื่องการเปลี่ยนชื่อแล้วลงทะเบียนใหม่ได้ทันทีเช่นนี้เท่ากับรวมเอาทั้งกระบวนการขั้นตอนการยกเลิกบริการและกระบวนการขั้นตอนการลงทะเบียนเข้าสู่บริการเข้ามาเป็นขั้นตอนเดียว จึงไม่ควรเป็นเรื่องปล่อยให้ทำได้อย่างง่ายๆ และขาดการตรวจสอบที่รอบคอบ เคร่งครัด รัดกุม อย่างที่สุด เพราะมิเช่นนั้นก็จะเกิดการฉกหรือช่วงชิงเบอร์กันได้ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการประกอบอาชญากรรมอื่นๆ ตามมาได้อีกมาก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 ระบบการแจ้งเตือนภัย

        กระแสเสียงการถามหาระบบการแจ้งเตือนภัยเหตุฉุกเฉินกลับมาดังกระหึ่มอีกครั้งหลังเกิดเหตุการณ์ร้ายที่พารากอน ห้างใหญ่และหรูหราใจกลางเมืองหลวงของประเทศ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ที่ผ่านมา         เกิดประเด็นคำถามประเภทที่ว่า จะดีแค่ไหนหากประเทศไทยเรามีระบบเตือนภัยแบบที่ส่งข้อความตรงถึงประชาชนอย่างรวดเร็วทางเครื่องมือสื่อสารอย่างโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือ “มือถือ” ที่ผู้คนต่างพกติดตัวอยู่แล้ว เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบถึงความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติหรืออาชญากรรมรุนแรง และจะได้สามารถปฏิบัติตัวได้ถูกต้องในการเตรียมพร้อมรับมือ หรือป้องกันหรือหลีกเลี่ยงจากภยันตรายและความเสียหาย         ตามด้วยคำถามสำคัญว่า เหตุใดประเทศไทยจึงยังไม่มีระบบเตือนภัยดังกล่าวดังเช่นนานาอารยประเทศ         หน่วยงานอย่าง กสทช. ได้รับการคิดถึงพร้อมกับการต่อว่าต่อขาน ส่วนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส (DES) รวมถึงรัฐบาล ดูจะไม่ถูกเรียกร้องเท่า อาจเพราะว่ามีการออกมาตอบสนองเร็ว ให้ข่าวและให้ข้อมูลว่ากำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำระบบการแจ้งเตือนภัยแบบเจาะจง พร้อมอธิบายทั้งเรื่องของระบบ กระบวนการดำเนินงาน ความคืบหน้า ฯลฯ         สาระสำคัญคือการบอกว่า ในระยะเร่งด่วนภายใน 1 เดือนนั้น จะมีระบบส่ง SMS (Location Based Service) ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ จากเดิมที่มีใช้อยู่แล้วอย่างไม่ครอบคลุม และใช้ระบบอย่างไม่บูรณาการ ตลอดจนใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ส่วนในระยะปานกลางและยาวจะเป็นระบบ Cell Broadcast ซึ่งเป็นระบบการส่งข้อความแบบส่งตรงจากเสาส่งสัญญาณสื่อสารในพื้นที่ ไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่และเครื่องมือสื่อสารทุกเครื่องที่อยู่ในพื้นที่ให้บริการนั้น พร้อมกันในคราวเดียว         ว่ากันว่า ข้อดีของระบบ Cell Broadcast ก็คือการส่งข้อมูลที่รวดเร็วและครอบคลุมทั้งพื้นที่โดยไม่ต้องการเบอร์โทรศัพท์ รวมทั้งสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ทางด้านประสิทธิภาพก็สูงกว่าระบบ SMS นั่นคือสามารถจะแจ้งเตือนแบบเจาะจงได้ทันที ในขณะที่ระบบ SMS จะใช้เวลาประมาณ 15-20 นาทีในการประมวลผลว่ามี SIM โทรศัพท์หมายเลขใดอยู่ในพื้นที่บ้าง และใช้เวลาอีกประมาณ 1–20 นาทีในการส่งข้อความไปยังกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ให้ครบ นอกจากนั้น Cell Broadcast ยังมีการเตือนได้หลายรูปแบบ เช่น การสั่นของโทรศัพท์เคลื่อนที่และเครื่องมือสื่อสาร การเด้ง pop -up ของข้อความ         ดีอีเอสอ้างว่า Cell Broadcast เป็นระบบที่ทั่วโลกใช้ ดังนั้นประเทศไทยจึงควรจะต้องพัฒนาระบบนี้ขึ้นมา ทั้งนี้ได้ประกาศกรอบเวลาด้วยว่า คาดว่าจะใช้เวลาเร็วที่สุดภายใน 6 เดือน และอย่างช้าไม่เกิน 1 ปี         นอกจากทางดีอีเอสแล้ว ทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ก็เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ออกมาให้ข้อมูลในเรื่องนี้อย่างเป็นกิจจะลักษณะ โดยพูดถึงการพัฒนาแพลตฟอร์ม “ทราฟี่ฟองดูว์” (Traffy Fondue) เพื่อให้กลายเป็น Traffy Fondue Plus นั่นคือการเพิ่มในส่วนของเมนู “การแจ้งเหตุ-เตือนภัย” เพื่อให้ประชาชนสามารถคลิกเพื่อรับข่าวสารฉุกเฉินและแจ้งเหตุฉุกเฉินได้ ซึ่งรวมถึงสภาพอากาศและสภาพการจราจร         อย่างไรก็ตาม ถ้าติดตามข่าวสารอย่างลงรายละเอียดจะพบว่า ทั้งรัฐบาลโดยดีอีเอสและ กทม. ต่างมีการประสานงานและหารือกับ กสทช. ไม่ว่าจะเป็นระบบส่ง SMS แบบ Location Based Service หรือระบบ Cell Broadcast ล้วนเป็นระบบแจ้งเตือนภัยที่ กสทช. ได้ดำเนินการพัฒนามาก่อนแล้ว กรอบระยะเวลาที่ดีอีเอสประกาศออกมาก็เป็นไปตามกรอบระยะเวลาแล้วเสร็จของการดำเนินการของ กสทช. นั่นเอง         เท่าที่มีการให้ข่าวสารข้อมูลจากทางฟาก กสทช. กลไกและการทำงานของระบบ Cell Broadcast จะประกอบด้วย 1) การทำ command center เพื่อให้โอเปอร์เรเตอร์หรือผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรู้ว่าต้องรับคำสั่งจากใคร ส่งอย่างไร ซึ่ง กสทช. จะออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง 2) การอัปเดตซอฟต์แวร์ที่กระจายส่งสัญญาณให้ใช้ cell broadcast ได้ นอกจากนั้นจะต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์และปรับเปลี่ยนซอฟต์แวร์ของเสาสัญญาณที่อยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ส่วนนี้จึงเป็นต้นทุนของทางผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การพัฒนาระบบที่ผ่านมาล่าช้า อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดกระแสเสียงเรียกหาระบบเตือนภัยขึ้นมาในระลอกล่าสุดนี้ กสทช. ก็ตั้งใจที่จะใช้งบประมาณจากกองทุน USO หรือกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ สนับสนุนในเรื่องนี้         ดูเหมือนว่า ด้วยการยืนยันของรัฐบาลนำโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอสและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ ทำให้กระแสเสียงเรียกร้องแผ่วจางไป ส่วนหนึ่งอาจถือว่าขณะนี้เป็นช่วงเวลาของการรอคอยให้ถึงกำหนดเวลา         แน่นอนว่า หากถึงเวลาที่กำหนดและระบบแจ้งเตือนภัยเหตุฉุกเฉินของประเทศไทยเกิดขึ้นได้จริง ย่อมเป็นเรื่องที่น่ายินดีและไม่มีอันใดต้องโต้แย้ง แต่หากพิจารณาจากสิ่งต่างๆ เท่าที่รัฐบาลและหน่วยงานรัฐให้ข้อมูล จุดเพ่งเล็งอยู่ที่ระบบในเชิงเทคนิคเป็นหลัก แต่ในส่วนของระบบการบริการจัดการข้อมูลข่าวสาร รวมถึงระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กลับไม่ได้มีการให้น้ำหนัก         มีเพียงรองผู้ว่า กทม. ผศ. ทวิดา กมลเวชช ที่กล่าวถึงมิติงานในด้านต่างๆ อย่างครบถ้วน ทำนองว่า ในส่วนการบริหารจัดการฝั่งผู้ให้บริการทางเทคนิคจะมี กสทช. เป็นแกนกำหนดมาตรฐานการดำเนินงาน รวมถึงการสนับสนุนทางผู้ให้บริการในเรื่องการเชื่อมต่อระบบและการกระจายสัญญาณ แต่ในส่วนการสั่งการ ภาครัฐยังต้องไปหารือกันว่าจะเป็นใครหรือหน่วยงานใด โดยเฉพาะงานสำคัญอย่างการคัดกรองข้อความแจ้งเตือน และอีกส่วนที่สำคัญคือ การบริหารจัดการคนและพื้นที่เกิดเหตุให้สามารถรองรับได้         ปัญหาคือ หากเป็นการดำเนินการโดย กทม. ตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ก็คงทำได้ไม่ถึงระบบแห่งชาติ         ประเด็นข้อความต้นทางที่จะสื่อสารออกไปถือเป็นเรื่องสำคัญและมีความละเอียดอ่อนหลายมิติ จำเป็นต้องมีการคัดกรอง ไม่เพียงแต่ว่าจะเป็นเนื้อหาลักษณะใด หากแต่ต้องเลือกสรรตั้งแต่ในระดับว่าจะแจ้งเรื่องใดบ้าง แต่ละเรื่องเป็นลักษณะการเตือนภัยแบบใด ล่วงหน้าหรือฉุกเฉินย่อมต่างกัน         ส่วนข้อความก็ต้องมีทั้งความแม่นยำ ความน่าเชื่อถือ มีเนื้อหาอยู่ในกรอบที่สมดุลและเหมาะสม ในความหมายที่ว่ามีการให้ข้อมูลเพียงพอที่จะเป็นการเตือนภัยและให้คำแนะนำที่จำเป็น แต่ไม่ก่อให้เกิดความตระหนกตกใจจนเกิดความสับสนอลหม่าน ยังไม่นับเรื่องปลีกย่อยเช่นเรื่องภาษาที่จะใช้ในการแจ้งและเตือนภัย         ยังไม่นับถึงต้นทางความมีอยู่ของข้อมูล ซึ่งสำหรับประเทศไทยอาจจัดได้ว่ายังมีความบกพร่องไม่น้อย ในบางด้านจัดได้ว่ายังขาดแคลนอยู่มาก ยกตัวอย่าง ในส่วนของอุบัติภัยด้านมลพิษและเคมี ยามที่เกิดไฟไหม้หรือการระเบิดในโรงงาน หน่วยงานรัฐไม่ได้มีฐานข้อมูลที่จะทราบได้โดยทันทีว่า โรงงานแห่งนั้นๆ มีสารเคมีใดอยู่บ้าง หรือเป็นแหล่งก่อเกิดมลพิษชนิดใด โดยทั่วไปข้อมูลพื้นฐานเช่นนี้ไม่ได้มีอยู่อย่างสมบูรณ์ เท่าที่มีก็เป็นส่วนๆ กระจัดกระจายอยู่กับหน่วยงานต่างๆ ดังนั้นการจะไปถึงขั้นให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติตัวหรือป้องกันอันตรายแก่ผู้ประสบเหตุ ซึ่งต้องการข้อมูลเชิงองค์ความรู้ที่มากขึ้นไปอีก ยิ่งเป็นเรื่องเกินจะทำได้จริง         เหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ทั้งในกรณี “โรงงานหมิงตี้ฯ” และ “โรงงานอินโดรามาฯ” ล้วนเป็นประจักษ์หลักฐานที่เด่นชัดถึงความขาดพร่องในเรื่องข้อมูลด้านนี้ การพัฒนาระบบ PRTR (Pollutant Release and Transfer Register) หรือข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ จึงเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งในขณะนี้ประเทศไทยยังไม่ได้เริ่มกระทั่งนับหนึ่ง เนื่องจากร่างกฎหมายที่เคยมีการนำเสนอก็ถูกนายกรัฐมนตรีคนก่อนปัดตกไป ในขณะที่ยังไม่เห็นวิสัยทัศน์ใดๆ ในเรื่องดังกล่าวของรัฐบาลนี้         ความพร้อมในส่วนของเนื้อหาและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องจึงไม่ใช่สิ่งที่จะมองข้ามได้ เพราะถ้าประเทศไทยจะมีระบบแจ้งเตือนภัยเหตุฉุกเฉินของประเทศเพียงส่วนของระบบสื่อสาร แต่ไม่มี “สาร” ดีๆ และเหมาะสมที่จะส่งออกไป ระบบดังกล่าวก็คงไม่มีความหมาย         เรื่องของการจัดทำระบบแจ้งเตือนภัยเหตุฉุกเฉินของประเทศจึงไม่ใช่เพียงเรื่องของ กสทช. หรือแม้แต่ดีอีเอส แต่ต้องการการบูรณาการหลายหลากหน่วยงาน และต้องการเจ้าภาพที่ชัดเจนซึ่งดูแลงานในมิติต่างๆ อย่างรอบด้าน โดยต้องเริ่มจากการมีเจตจำนงที่ชัดเจนของรัฐบาล รวมถึงต้องมีความรู้ความเข้าใจครบถ้วนด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 ความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน 2566

ทิ้งขยะในพื้นที่เขตทางหลวงบทลงโทษถึงติดคุก         เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 66 ที่ผ่านมา กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กระทรวงคมนาคม ได้เตือนประชาชนถึงกรณี ห้ามทิ้งขยะในพื้นที่เขตทางหลวง ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความเดือดร้อนต่อคนที่ต้องสัญจร ไป-มา เช่น การทิ้งขยะออกจากรถที่แล่นอยู่ เทน้ำเสียบนถนน ทิ้งเศษวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ การบรรทุก หิน ดิน  ทราย  หรืออื่นๆ โดยไม่ใช้อุปกรณ์ผูกมัดให้ดีทำให้มีสิ่งของร่วงหล่นบนทางจราจร ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุแก่ผู้ใช้เส้นทางจราจรได้นั้น เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 45 “ห้ามมิให้ผู้ใดทิ้งขยะมูลฝอย  สิ่งปฏิกูล น้ำเสีย น้ำโสโครก เศษหิน ดิน ทราย หรือสิ่งอื่นใดในเขตทางหลวงหรือการกระทำด้วยประการใด ๆ เป็นเหตุให้ขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล เศษหิน ดิน ทราย ตกหล่นบนทางจราจรหรือไหล่ทาง” หากฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา 72 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรมโรงงานจับมือสคบ. ห้ามโฆษณาขาย “ไซยาไนด์” ทางออนไลน์         หลังมีข่าวเกี่ยวกับการใช้ “ไซยาไนด์” ในทางที่ผิดเพื่อก่ออาชญากรรมนั้น 1 มิ.ย.66 อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้เผยว่า โพแทสเซียมไซยาไนด์ จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นผู้รับผิดชอบดูแล ขณะนี้ทางกรมฯ ออกมาตรฐานเร่งด่วนเพื่อยกระดับการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด โดยเชิญผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตฯ เกี่ยวกับสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ มารับฟังการชี้แจงเกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแลและรับทราบมาตรการพิเศษที่ออกแนบท้ายใบอนุญาตแล้ว และจะใช้ไปจนกว่าคดี "แอม สรารัตน์" จะมีคำพิพากษาถึงที่สุด         ในเรื่องการโฆษณา ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ขอความร่วมมือจากทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ออกประกาศเพื่อห้ามมิให้มีการโฆษณาและจำหน่ายโพแทสเซียมไซยาไนด์ทางช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์ ซื้อ-ขาย สินค้าทุกประเภท พร้อมกับเร่งยกร่างประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเงื่อนไขการโฆษณาและนำเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย เนื่องจากตามกฎหมายกรมโรงงานกำกับดูแลเฉพาะเรื่องการนำไปใช้ที่ผิดวัตถุประสงค์ อนึ่งสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ คือ วัตถุตรายชนิดที่ 3 หากผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย ผู้ใช้ นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์มีโทษต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ระวังมิจฉาชีพมาในรูปแบบ “งานเสริม”         สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เปิดเผยข้อมูลของศูนย์บริหารรับแจ้งความออนไลน์ของเดือนมีนาคม 66 ที่ผ่านมาว่า มีประชาชนถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานเสริมเป็นจำนวนมากกว่า 37,900 ราย เสียหายกว่า 4,590 ล้านบาท โดยใช้วิธีการส่งข้อความทาง SMS หรือโทรหาเหยื่อโดยตรง และโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ในออนไลน์  ซึ่งลักษณะงานช่วงแรกจะเป็นงานง่ายๆ ไม่ซับซ้อน และเหยื่อได้รับเงินจริง หลังจากนั้นจะมีการดึงเข้ากลุ่มไลน์และอ้างว่าให้ทำภารกิจพิเศษพร้อมได้ค่าคอมมิชชัน แต่ต้องโอนเงินเข้าระบบเป็นการวางมัดจำก่อนนั้น         ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่ามี 10 งานเสริมที่มิจฉาชีพนำมาใช้หลอกลวง ดังนี้ 1.พนักงานกดรับออเดอร์สินค้า แอบอ้างแพลตฟอร์มสินค้าออนไลน์ เช่น Shopee Lazada Amazon 2.กดไลก์ ถูกใจ ตาม Facebook TikTok Instagram หรือกดแชร์ กดโหวตภาพยนตร์  3.รับชมคลิปวิดีโอเพิ่มยอดวิวใน YouTube TikTok 4.งานรีวิว ทดลองใช้สินค้าหรือบริการ เช่น รีวิวสถานที่พัก โรงแรม ร้านอาหาร 5.รับจ้างนอนโรงแรม อ้างแค่นอนหลับก็มีรายได้ 6.งานแพ็กของต่างๆ เช่น สบู่ ยางมัดผม พวงกุญแจ 7.งานฝีมือทำได้ที่บ้าน เช่น ร้อยลูกปัด ทำริบบิ้น ฉีกเชือกฟาง พับนกกระดาษ พับดาว พับเหรียญโปรยทาน 8.ลงทุนส่งเสริมการโปรโมทสื่อสังคมออนไลน์ในสังกัด ตามเรทราคาต่างๆ 9.ถ่ายรูปเซลฟี่ไม่ต้องเห็นใบหน้า หลังจากส่งเสื้อผ้าให้ ไม่จำกัดส่วนสูงน้ำหนัก 10.ตัดต่อวิดีโอสั้น ไม่ต้องมีประสบการณ์ สอนให้ฟรี มพบ. ชี้ ร้านค้าตั้งเงื่อนไขไม่รับเคลมสินค้า เข้าข่ายสัญญาไม่เป็นธรรม         จากกรณีที่มีร้านค้าบางรายที่จำหน่ายสินค้าในช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์ มีการตั้งเงื่อนไข กำหนดการรีวิวสินค้า เช่น การรีวิวต่ำกว่า 5 ดาว สินค้าที่ซื้อจะหมดประกันทันที ในกรณีเกิดปัญหาจะไม่รับเคลม และไม่รับคืนสินค้า พร้อมทั้งอีกกรณีคือการเอาเปรียบผู้บริโภคโดยต้องรีวิว 5 ดาว ร้านค้าถึงจะขยายเวลารับประกันให้ หรือการระบุข้อความว่า #กรุณาถ่ายวิดีโอขณะเปิดกล่องพัสดุ #ไม่มีหลักฐานงดเคลมทุกกรณีไว้ที่หน้ากล่องนั้น        นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมายมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชี้ว่า วิธีการกำหนดเงื่อนไขไม่รับเคลมข้างต้น เข้าข่าย “ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม” เพราะเป็นสัญญาที่ฝ่ายหนึ่งได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งมากเกินสมควร ประกอบกับคู่สัญญาไม่ได้รับความยินยอมในสัญญาตั้งแต่ต้น ซึ่งเป็นไปตามพ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 วรรคสาม โดยระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวมีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น ดังนั้นการที่ผู้ขายใช้เงื่อนไขบีบบังคับผู้ซื้อด้วยข้อความ “ไม่ถ่ายคลิปตอนเปิดพัสดุเคลมไม่ได้” จึงถือเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม         ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ. ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 กำหนดเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคว่า ให้ผู้บริโภคมีสิทธิเลิกสัญญาโดยส่งหนังสือแสดงเจตนาภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับสินค้าหรือบริการ ไปยังผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง (มาตรา 33) เมื่อผู้บริโภคใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจต้องคืนเงินเต็มจำนวนที่ผู้บริโภคจ่ายไปคืนภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแสดงเจตนาเลิกสัญญา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 แก็งคอลเซ็นเตอร์ระบาด เมื่อ กสทช. เชื่องช้า และผู้บริโภคต้องดูแลตัวเอง

        ‘ฉลาดซื้อ’ เคยนำเสนอเรื่องราวของ SMS หลอกลวงแพร่ระบาดสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้บริโภคมาแล้วครั้งหนึ่ง ไม่รู้ว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขไปอย่างไรบ้างเพราะทุกอย่างช่างเงียบเชียบ         ห้วงเวลาปัจจุบัน SMS หลอกลวงล้าสมัยเสียแล้ว ข่าวคราวที่นำเสนอบนหน้าสื่อ มิจฉาชีพใช้วิธีโทรศัพท์หาเหยื่อโดยตรง และโดนกันถ้วนหน้าตั้งแต่นักเล่าข่าวชื่อดัง เจ้าหน้าที่ตำรวจ จนถึงอัยการ ผู้พิพากษา         ปัจจุบัน โทรศัพท์ฉลาดแทบจะเป็นอวัยวะชิ้นหนึ่งของมนุษย์ ทุกคนจึงมีโอกาสที่มิจฉาชีพจะเข้าถึงตัว พินิจพิจารณาปัญหานี้เราจะพบ 2 คำถามใหญ่ หนึ่งคือหน่วยงานรัฐซึ่งน่าจะมีกฎหมายและอำนาจจัดการที่ต้นทางหรือแกะรอยจึงไม่สามารถคลี่คลายปัญหาได้ และสอง-มิจฉาชีพนำข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์มาจากไหนเสียงจากผู้เดือดร้อนสะท้อนความไร้ประสิทธิภาพ         เอ (นามสมมติ) ร้องเรียนเข้ามาที่เพจของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ว่าได้รับ SMS หลอกลวงบ่อยมากวันละ 4-5 ข้อความ มีเนื้อหาเกี่ยวกับพนันออนไลน์หรือหลอกให้กดรับเงิน ต่อมา SMS ซาลง เปลี่ยนเป็นการโทรถึงเธอโดยตรง มุขที่มิจฉาชีพใช้เป็นมุขดั้งเดิมอย่างการหลอกว่ามีพัสดุผิดกฎหมายส่งถึงหรือไม่ก็ชวนลงทุน         แน่นอนว่าตัวเธอไม่ได้หลงเชื่อ แต่ประเด็นที่เธอเป็นห่วงคือคุณตาและคุณพ่อหรือก็คือผู้สูงอายุโดยทั่วไปที่อาจหลงเชื่อ         “พ่อก็เคยได้รับเหมือนกัน ตอนนั้นอยู่ด้วยกัน พ่อก็งงว่าไม่ได้สั่งของแต่ดีเอชแอลโทรมา ลองนึกว่าถ้าเป็นคนแก่แบบคุณตาเรา อยากให้ SMS หลอกลวงหมดไปเลยดีกว่า บล็อกไปเลยได้ไหม พนันออนไลน์ หรือชวนให้กู้ยืมนี่นั่น”         ไม่นานมานี้ที่เว็บไซต์ www.change.org มีผู้ใช้รายหนึ่งชื่อ หนู ซึ่งถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกให้โอนเงินไปถึง 4 ล้านบาท เธอได้ทำแคมเปญ ‘ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปิดช่องโหว่ไม่ให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์มีที่ยืนในสังคม!’ เนื้อหาระบุว่า         “ดิฉันถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกเอาเงินไป 4,016,000 บาท ซึ่งเป็นเงินที่ดิฉันทำมาหากินและเก็บมาทั้งชีวิต ดิฉันมีอาชีพเป็นเจ้าของธุรกิจร้านอาหาร เลี่ยงเรื่องการเปิดเผยเบอร์โทรศัพท์ไม่ได้ และไม่สามารถเลี่ยงไม่รับเบอร์แปลกได้ ดิฉันไม่รู้ว่าเงินทั้งชีวิตของใครจะต้องตกเป็นเหยื่อของแก๊งพวกนี้อีก ดิฉันกินข้าวทั้งน้ำตามาหลายมื้อ ยืนก็ร้อง นั่งก็ร้อง มันสุดแสนทรมานใจ ดิฉันเข้าใจความรู้สึกสูญเสียว่ามันฆ่าชีวิตคนบริสุทธิ์ได้เลย         “รอบนี้เป็นรอบที่ 4 ที่ ดิฉันถูกแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์หลอก เหมือนกับแก๊งเหล่านี้ลิสต์เอาไว้ว่าดิฉันไม่สนใจเบอร์อะไรแล้วไม่ใช้เบอร์นั้นโทรมาอีก จนถึงเบอร์ล่าสุดที่มีแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรหาดิฉัน ในรอบนี้พวกเขาให้ดิฉันวิดิโอคอลกับชายแต่งเครื่องแบบเหมือนตำรวจที่พูดด้วยน้ำเสียงข่มขู่ ซึ่งเป็นการหลอกที่ต่างจากทุกครั้ง และแสดงให้เห็นว่าวิธีการก่อเหตุของแก๊งคอลเซ็นเตอร์พัฒนามากขึ้นแล้ว         “หลังโอนเงินแล้วดิฉันเริ่มหาข้อมูลจนพบว่านี่น่าจะเป็นการหลอกจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ดิฉันจึงไปธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นธนาคารที่ดิฉันเปิดบัญชีไว้เพื่อขอให้ระงับการโอนเงินทันที แต่เจ้าหน้าที่ธนาคารบอกว่าดิฉันต้องมีใบแจ้งความมาแสดง เมื่อดิฉันนำใบแจ้งความมาแสดงถึงจะอายัดได้ ธนาคารยังบอกว่าขอส่งใบแจ้งความตัวจริง (ทางไปรษณีย์) เผื่อไปตรวจสอบบัญชีของผู้ร้าย รอหน่วยงานที่มีอำนาจตรวจสอบ ส่งไปส่งมา เงินมันก็ลอยไปถึงไหนแล้ว แค่ร้องทุกข์ผ่านคอลเซ็นเตอร์ของธนาคารต่างๆ ยังรอสายเป็นชั่วโมง เป็นระบบที่แย่มากจริงๆ”         ผู้จัดแคมเปญรายนี้เรียกร้อง เธอใช้คำว่า ‘ขอวอน’ ไปยังหน่วยงานต่างๆ ว่า        1. ตำรวจควรเร่งจับคนรับเปิดบัญชีปลอม ถ้าไม่มี แก๊งมันก็ทำงานไม่ได้ และประชาสัมพันธ์ถึงโทษทางอาญาและอัตราปรับของการเปิดบัญชีปลอมอย่างทั่วถึง        2. ธนาคารควรให้ความร่วมมือลูกค้าและรีบอายัดบัญชี เงินเข้า-ออกปลายทางทั้งหมดของผู้เกี่ยวข้อง ดิฉันเข้าใจว่าดิฉันผิดพลาดที่โอนเงินเอง แต่ถ้ามีสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นในบัญชี เช่น ลูกค้าคนนี้อยู่ๆ โอนเงินเยอะจนหมดบัญชี หรือมีบัญชีที่เงินโอนเข้าจำนวนเยอะๆ แล้วโอนออกภายในไม่กี่วินาที จนเงินในบัญชีเหลือหลักหน่วย ธนาคารควรมีมาตรการตรวจสอบไม่ใช่หรือ?        3. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมควรรวบรวมข้อมูลของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เช่น บัญชีธนาคาร หมายเลขโทรศัพท์ และชื่อ-สกุล ที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นส่วนหนึ่งของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไว้เป็นฐานข้อมูลให้ประชาชนตรวจสอบได้โดยง่าย         “ดิฉันเป็นประชาชนคนหนึ่งที่อยากได้ความปลอดภัย ไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับใครแล้ว จึงขอให้รัฐและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปิดช่องโหว่ทุกอย่างที่ทำให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ทำงานได้และแก้ไขขั้นตอนที่ยุ่งยากเวลาเจออาชญากรรรมนี้เพื่อปกป้องประชาชนต่อไป”         เสียงจากหนึ่งในผู้เดือดร้อนจำนวนมากที่ส่งถึงรัฐโดยตรงสามารถสะท้อนประสิทธิภาพการทำงานของรัฐได้เป็นอย่างดีกสทช. ต้องทำงานเชิงรุก         หน่วยงานหนึ่งด้านโทรคมนาคมที่ ‘ฉลาดซื้อ’ ได้เอ่ยถึงไปแล้วในสกู๊ปก่อนหน้านี้คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นหน่วยงานแรกๆ ที่น่าจะบรรเทาปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมก็ยังไม่แอคทีฟอย่างที่ควรจะเป็น         สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ Collaborative Fact Checking หรือ Cofact ประเทศไทย กรรมการนโยบายสภาองค์กรผู้บริโภค และอดีต กสทช. กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นงานของ กสทช. โดยตรงที่ต้องกำกับดูแลให้เกิดการบริการที่ไม่ละเมิดสิทธิของผู้บริโภค         เธอแสดงทัศนะว่าสิ่งที่ กสทช. ทำได้ ณ เวลานี้คือการตรวจดูกฎ กติกา และประกาศล่าสุดต่างๆ ของ กสทช. ว่ามีจุดใดที่ล้าสมัย ต้องแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการในด้านการบังคับผู้ได้รับใบอนุญาตหรือว่าค่ายมือถือในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ เช่น การทำกลไกป้องกันตั้งแต่ต้นทางโดยให้ผู้บริโภคแสดงความจำนงไม่รับข้อความ SMS ที่ไม่พึงปรารถนา รวมถึง SMS ที่มาจากเบอร์ที่ไม่รู้จัก หรือไม่ใช้เบอร์ที่มีนิติบุคคลรองรับเป็นทางการ เช่น โรงพยาบาล ธนาคาร เป็นต้น         “แต่ตรงนี้ กสทช. อาจจะอ้างว่าต้องแก้กฎหมาย ต้องรีวิวก่อนว่ามีกฎหมายอะไรที่ยังไม่เอื้อ ทั้งในประกาศที่อยู่ในอำนาจของ กสทช. เองหรือที่ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ เช่น การรับส่งสแปมข้อความที่ไม่พึงประสงค์ทั้งหลาย ต้องไปดู กฎ กติกาก่อนว่ามีอะไรเป็นอุปสรรคที่ไม่สามารถจะบังคับใช้ได้ ส่วนอะไรที่บังคับใช้ได้แล้ว เอกชนยังไม่ทำก็ต้องมีบทลงโทษที่เด็ดขาด”         นอกจากการจัดการแก้ไขสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันแล้ว สุภิญญาเห็นว่า กสทช. ควรมีวิสัยทัศน์ทำงานเชิงรุกไปข้างหน้าโดยอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเช่นในต่างประเทศ เธออธิบายว่า กสทช. อาจจะทำระบบหลังบ้านให้ผู้บริโภคสามารถกดร้องเรียนเบอร์มิจฉาชีพคล้ายๆ การรีพอร์ตของโซเชียลมีเดีย โดยร่วมกับผู้ให้บริการมือถือหรือ กสทช. ทำระบบขึ้นเอง         “เวลาคนได้รับ SMS เบอร์ไม่พึงประสงค์ เบอร์มิจฉาชีพ ทำยังไง จะกดโทร ร้องเรียนได้ทันที โดยแจ้งเบอร์นั้นไปที่ Database ของรัฐ มันเป็นข้อมูลหลังบ้าน เป็น Data Center แล้ว กสทช. ก็ประมวลข้อมูล วิเคราะห์ โดยใช้ AI หรือใช้คน และหาที่มาว่าต้นตอมาจากไหน จะได้เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปแก้ไข เช่น ให้ตำรวจไปดำเนินการสืบสวนสอบสวนต่อ ในขั้นนี้อาจทำงานร่วมกับตำรวจก็ได้         “ให้ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนเข้าสู่ระบบ สมมติเบอร์นี้มีคนร้องเรียนเกินพันหรือหมื่น เวลาเขาโทรไปเบอร์ใครจะได้ขึ้นเตือนอัตโนมัติได้ว่าเบอร์นี้ให้ระวัง เป็นมิจฉาชีพ ซึ่งตอนนี้ประชาชนก็สามารถดาวน์โหลดแอพฯ Whoscall มาทำลักษณะนี้ได้ซึ่งเป็นของเอกชน ประเด็นคือทำไมภาครัฐไม่ทำเอง โดยเอาข้อมูลจากหลังบ้านตรงนั้นไปวิเคราะห์เพื่อหาทางป้องกันแก้ไขต่อไป เพราะว่าคนที่มีฐานข้อมูลเบอร์โทรมากที่สุดคือค่ายมือถือและ กสทช.”         การนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อให้เกิด        1. การบูรณาการการทำงาน        2. ทำให้สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างทันท่วงที และ        3. สร้างช่องทางให้ประชาชนสามารถร้องเรียนได้อย่างรวดเร็ว         “ไม่ใช่พอถูกมิจฉาชีพโทรมา ต้องวางหู ต้องโทรไป 1200 กสทช. รอนาน แล้วต้องส่งเลขที่บัตรประชาชน ต้องให้รายละเอียด จากนั้นโทรไปธนาคาร จากนั้นโทรไปสถานีตำรวจ ต้องโทรไปนั่นไปนี่ มันไม่เวิร์ค มันควรต้องมีการทำระบบ One Stop Service มีการบันทึกหลักฐาน แจ้งร้องเรียน โดยที่ตัวตนของผู้ร้องเรียนก็ผูกกับเบอร์มือถืออยู่แล้ว มันก็ไม่จำเป็นต้องใช้บัตรประชาชนเหมือนที่ต้องทำทุกวันนี้”         สุภิญญาย้ำว่า กสทช. ควรทำงานเชิงรุกเพราะมีศักยภาพที่จะทำจุดนี้ได้ เงินกองทุนที่เก็บจากผู้ให้บริการเครือข่ายควรนำมาจัดทำระบบดังกล่าว นอกเหนือจากการปรับปรุงกฎหมายและกำหนดบทลงโทษให้ทันสมัยขึ้นจึงจะรับมือมิจฉาชีพยุค 5G ได้ เธอย้ำว่าปัจจุบันการจัดสรรคลื่นทำไปมากแล้ว กสทช. ควรเน้นบทบาทการกำกับดูแลให้มากขึ้น         อีกส่วนที่เป็นอำนาจ กสทช. โดยตรงต่อไปคือการกำกับดูแลไม่ให้ฐานข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลไปสู่ มิจฉาชีพ ซึ่งตรงนี้สามารถใช้เทคโนโลยีตรวจสอบได้และต้องสร้างระบบตรวจสอลผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลเป็นระยะ         การทำงานของ กสทช. ที่ผ่านมามีกระบวนการค่อนข้างล่าช้า เน้นตัวบทกฎหมาย ทั้งที่ตนเองมีอำนาจและทรัพยากรในมือให้กระตุ้นการทำงานหรือลงโทษผู้ให้บริการอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นบทบาทที่หายไปของ กสทช.สิทธิของผู้บริโภคและ PDPA ในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล         อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ผู้บริโภคควรรู้ซึ่งจะมีส่วนช่วยป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลคือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือ PDPA ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 นี้ (ถ้าไม่ถูกเลื่อนออกไปอีก) ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดให้ผู้ควบคุมและผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลต้องคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคและไม่นำไปใช้นอกเหนือขอบเขตของความยินยอมและสัญญา (อ่านเพิ่มเติมได้จากบทสัมภาษณ์ ผศ.ศุภวัชร์ มาลานนท์: ทำความรู้จักกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลก่อนใช้จริง ฉลาดซื้อ|นิตยสารออนไลน์ - ฉบับที่-252-ผศ.ศุภวัชร์-มาลานนท์:-ทำความ... (chaladsue.com) )         ผศ.ศุภวัชร์ มาลานนท์ จากบัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กล่าวในเชิงแนะนำว่า         “ผมเชื่อว่าพอกฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับจริงๆ พวก Direct Marketing จะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบในแง่ที่ว่า การทำงานจะต้องมีขั้นตอนกระบวนการมากขึ้น อย่างทุกวันนี้เวลาใครโทรมาขายของกับผม ผมจะถามว่าคุณเอาข้อมูลผมมาจากไหน สอง          ผมจะบอกว่าผมไม่สนใจสินค้าและบริการนี้ กรุณาถอดรายชื่อผมออกจากบัญชีลูกค้าหรือบัญชีคนที่คุณจะติดต่อ อันนี้คือวิธีการที่ผมตอบไปกับคนที่โทรมาขายของ         “ถ้ากฎหมาย PDPA ใช้บังคับ หลักการประมวลผลต้องมีฐานทางกฎหมาย คนที่โทรมาต้องตอบได้ว่าเขามีสิทธิอะไรถึงเอาข้อมูลเรามาใช้ เราตั้งคำถามได้ทันทีเลยว่าเอาข้อมูลของเรามาจากไหน ทุกวันนี้ธนาคารกับค่ายมือถือเขาใส่ใจเรื่องนี้อยู่แล้ว เพราะรู้แล้วว่าการทำ Direct Marketing มีข้อจำกัด เขาจะทำอย่างระมัดระวัง คราวนี้ก็ยังอาจจะมีผู้ประกอบการอีกจำนวนหนึ่งซึ่งอาจจะยังไม่รับรู้หรือตระหนักมากนัก และอาจจะต้องให้เวลาเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับภาคธุรกิจบางส่วน”         เมื่อกฎหมายบังคับใช้เต็มรูปแบบ ผู้บริโภคสามารถตั้งคำถามกับทุกองค์กรได้ว่านำข้อมูลส่วนตัวของตนมาใช้ได้อย่างไร เอามาจากไหน และมีสิทธิให้องค์กรนั้นๆ ยุติการประมวลผลและลบข้อมูลของตน         นอกจากความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ PDPA แล้ว การรวมตัวกันของภาคประชาสังคมเป็นชุมชนคอยย้ำเตือน สอดส่อง ทำระบบร้องเรียน และเชื่อมโยงเครือข่ายผู้บริโภคกับหน่วยงานรัฐก็น่าจะเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ช่วยบรรเทาปัญหาได้         สุดท้ายแล้ว ปัญหานี้ยังเชื่อมโยงกับ Technology Literacy หรือการรู้เท่าทันเทคโนโลยีและ Cyber Literacy หรือการรู้เท่าทันด้านไซเบอร์ของผู้ใช้ที่ต้องหมั่นเรียนรู้วิธีใช้เทคโนโลยี การตั้งค่าอุปกรณ์ การทำความเข้าใจลักษณะสัญญาก่อนคลิก และอื่นๆ         อีกหนทางหนึ่งที่น่าจะส่งผลดีและป้องกันได้คือชะลอชีวิตให้ช้าลงก่อนจะกดปุ่ม 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 SMS หลอกลวง’ และโลกดิจิตอลในมือผู้บริโภค

317 ล้านบาทคือมูลค่าความเสียหายจาก SMS หลอกลวงต่างๆ 131 Sender Name ที่ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) แถลงร่วมกันเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564        เป็นตัวเลขไม่น้อย แต่เชื่อเถอะว่ามูลค่าความเสียหายจริงที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้สูงกว่าหลายเท่า                  ปัญหา SMS หลอกลวงไม่ใช่เพิ่งเกิด มันวิวัฒนาการเรื่อยมาตามความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี แค่คุณเผลอคลิกลิงค์แปลกที่ปรากฏในกล่องข้อความ ข้อมูลส่วนบุคคลของคุณก็สามารถถูกแฮ็กได้         ถามว่านี่เป็นความรับผิดชอบของใคร ถ้าคำตอบของคุณคือผู้กำกับดูแลและผู้ให้บริการเครือข่าย คำตอบของคุณไม่ผิด แต่ก็ไม่ถูก เพราะเอาเข้าจริงเรื่องนี้มีผู้เล่น 4 ฝ่ายที่นอกจากจะมี 2 รายชื่อแรกที่กล่าวไปแล้ว ยังมีผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือและผู้ใช้        ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์บอกว่าคนที่มีบทบาทมากที่สุดก็คือผู้ใช้หรือตัวคุณนั่นเอง ความเดือดร้อนของผู้บริโภค         SMS หลอกลวงมาในหลายรูปแบบ เช่น การแอบอ้างธนาคาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ ไปรษณีย์ แอปกู้เงิน ไปจนถึงเว็บการพนัน เว็บที่มีเนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่ เป็นต้น ทั้งหมดนี้เรียกร้องให้คุณโอนเงินกลับไปไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ไม่ก็พยายามล่อหลอกความอยากรู้อยากเห็น ความโลภ หรือใช้ความเดือดร้อนให้คุณคลิกลิงค์เข้าไปก่อนจะตกเป็นเหยื่อในที่สุด         “SMS ปล่อยกู้ก็มีบางคนลองกู้แต่เงินที่ได้ก็ไม่ครบ เมื่อคลิกลิงค์มันจะให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น และจะมีวิธีให้ผู้ใช้ลงทะเบียนเพื่อตรวจสอบสินเชื่อ บางคนก็โดนหลอกว่าถ้าลงทะเบียนผิดต้องปลดล็อคช่วยโอนเงินมาเพื่อปลดล็อค ประเด็นคือพอสมัครไปมันจะให้เราอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์ พอกู้เงินเสร็จก็จะมีคนโทรเข้าไปบอกคนอื่นว่าเราเป็นหนี้หรือไปทวงหนี้กับคนอื่น หรือบางทีก็เอารูปผู้กู้ เนื่องจากตอนที่กู้ต้องส่งรูปบัตรประชาชนให้ มันก็เอาไปขู่” นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าว         ในมุมของนฤมล กสทช. ในฐานะผู้กำกับดูแลหลักดูจะย่อหย่อนและเชื่องช้ากับหน้าที่ส่วนนี้ สิ่งที่เธอเห็นว่า กสทช. ควรทำและสามารถทำได้ทันทีคือการสั่งผู้ประกอบธุรกิจกิจการโทรคมนาคมบล็อกไม่ให้มิจฉาชีพเข้าถึงโทรศัพท์ของผู้รับได้ ต้องสร้างระบบที่ผู้บริโภคต้องให้ความยินยอมก่อน ไม่ใช่ให้ค่ายโทรศัพท์มือถือนำเบอร์ไปใช้ทำธุรกิจหรือส่งให้ผู้ผลิต Content Provider อื่นๆ         กสทช. ควรบังคับใช้อย่างจริงจังตามอำนาจที่ตนเองมีสั่งปรับค่ายมือถือ มิใช่ปล่อยให้ผู้เสียหายเป็นฝ่ายร้องเรียนไม่จบสิ้น         “แต่ก่อน กสทช. ออกหมายเลขดอกจัน 137 เพื่อยกเลิกข้อความ” นฤมล เล่าถึงปัญหาที่ไม่ถูกแก้ไข “แต่สักพักก็กลับมาอีก เป็นภาระของเราหรือเปล่า มันแก้ปัญหาไม่ได้ก็ร้องเรียน กสทช. ก็จัดการแค่ไกล่เกลี่ย ทั้งที่บางคนถูกละเมิดสิทธิ์เอาข้อมูลเขาไปใช้ทำให้เสียหาย หรือเอาข้อมูลของเขาไปหลอกลวงคนอื่นอีกที”         แต่เรื่องนี้ซับซ้อนกว่าที่คิด Business Model ของการส่ง SMS         นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวว่า เพราะตัวละครมีหลายชั้นการบล็อกข้อความจึงไม่ง่าย เขายกตัวอย่างว่ามีการหารือกับค่ายมือถือเรื่องนี้ ปรากฏว่ามีผู้ใช้บริการไม่ได้รับหมายเลข OTP ที่ใช้เป็นรหัสผ่านจากหน่วยธุรกิจต่างๆ ติดร่างแหด้วย การเข้าใจประเด็นนี้ เขาบอกว่าต้องเข้าใจ Business Model ของการส่ง SMS         ผู้ให้บริการโทรคมนาคมขาย SMS 2 รูปแบบ รูปแบบแรกคือขายเหมาให้แก่หน่วยธุรกิจที่นำไปใช้งานโดยตรง เช่น ธนาคาร ห้างสรรพสินค้า โรงแรม แล้วธุรกิจเหล่านี้จะทำการส่ง SMS ออกไป         รูปแบบที่ 2 คือการขายเหมาผ่านคนกลางซึ่งต้องมีใบอนุญาตจาก กสทช. ตัวอย่างเช่น บริษัทเอซื้อ SMS เหมาจำนวน 50,000 ข้อความ เพื่อขายต่อให้แก่หน่วยธุรกิจอื่นๆ เช่น บริษัทบีซื้อ SMS 10,000 ข้อความ นอกจากบริษัทเอจะขายให้แล้วยังบริการส่งข้อความให้เสร็จสรรพ จุดนี้เองที่มิจฉาชีพสอดแทรกเข้ามา         “เขา (ผู้ที่รับซื้อเหมาไปขายต่อ) บอกว่าจริงๆ แล้วเขาไม่รู้ว่าข้อความที่ส่งมาหลอกลวงหรือเปล่าเพราะโดยหลักแล้วมันเหมือนจดหมาย เขาทำหน้าที่เป็นแค่ไปรษณีย์ ไม่มีอำนาจเปิดซองอ่านข้อความ ตอนนี้ปัญหาเกิดขึ้นอีกชั้นหนึ่งคือคนที่ซื้อเหมามาขายต่ออาจจะไม่ได้ขายกับลูกค้าโดยตรง แต่มีมือสามมือสี่มาซื้อต่อซึ่งพวกนี้ไม่ได้อยู่ภายใต้ใบอนุญาตของ กสทช. พวกมือสามมือสี่ก็ยิ่งไม่ต้องกรองลูกค้าเพราะกำไรมาจากการขายอย่างเดียว จะขายมิจฉาชีพก็ไม่สน หลักการเดียวกันเขาจะอธิบายว่าข้อความนั้นเขาไม่รู้ว่าเป็นมิจฉาชีพเพราะเขาเปิดไม่ได้มีหน้าที่แค่อำนวยความสะดวกในการส่ง ปัญหามันก็เลยยิ่งแก้ยากขึ้นระดับหนึ่ง” นพ.ประวิทย์ อธิบาย หลายหน่วยงาน หลายกฎหมาย หลายขั้นตอน         เรื่องหน่วยงานกำกับดูแลก็ทำให้การแก้ปัญหาไม่เป็นเอกภาพ นพ.ประวิทย์ กล่าวยอมรับว่า หน้าที่ของ กสทช. จริงๆ คือรับหน้าเสื่อผู้บริโภคและการจัดการกับผู้ให้บริการเครือข่าย รวมถึงผู้ให้บริการลำดับถัดไป ไม่มีอำนาจดูแลเนื้อหาในส่วนโทรคมนาคม        กรณีแอปเงินกู้หลอกลวงหรือคิดดอกเบี้ยผิดกฎหมาย ส่วนนี้อยู่ในความดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย         กรณี SMS ที่หลอกให้คลิกลิงค์แล้วถูกแฮ็กข้อมูล ส่วนนี้อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ซึ่งมีกระทรวงดิจิตอลดูแลอยู่         นอกจากนี้ การเอาผิดมิจฉาชีพก็ยังติดขัดในแง่กระบวนการทางกฎหมายที่ต้องมีเจ้าทุกข์ร้องเรียน การค้นหาต้นทาง SMS สามารถทำได้ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินคดีได้ต้องมีผู้เสียหายมาแจ้งความ ซึ่งกรณี SMS หลอกลวงส่วนใหญ่มีการร้องเรียน แต่ไม่มีการแจ้งความ         “เพราะไม่รู้ว่าแจ้งความแล้วจะได้อะไรขึ้นมา ยกตัวอย่างเป็น SMS หลอกลวงว่าเป็นธนาคาร จริงๆธนาคารนั้นต้องเป็นผู้เสียหายเพราะถูกแอบอ้างชื่อปรากฏว่าธนาคารก็ไม่ยอมเป็นผู้เสียหายมาแจ้งความ เพราะถ้าแจ้งความจะเป็นภาระต้องไปดำเนินคดีต่อและเสียภาพลักษณ์ซึ่งจะทำให้ลูกค้าเสียความมั่นใจ ธนาคารจึงทำไม่รู้ไม่เห็น ทำเรื่องให้เงียบที่สุด”         ยิ่งไม่ต้องพูดถึงกรณีผู้เสียหายเป็นผู้บริโภครายบุคคล ซึ่งการเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายมีต้นทุนสูงเกินกว่าจะยอมรับ             “ดังนั้น ปัญหา SMS จึงต้องมานั่งวิเคราะห์ว่ามีกี่แบบเพราะแต่ละแบบมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เหมือนกัน” นพ.ประวิทย์ กล่าว หนทางออก         อ่านแล้วเหมือนไม่มีหวัง ก็ไม่เชิง มีมาตรการบางอย่างที่ กสทช. ทำได้เพื่อป้องปรามและป้องกัน นพ.ประวิทย์ บอกว่า         “หนึ่งใครที่ขายต่อ SMS ต้องขออนุญาตทุกคน และสองกำหนด ID ผู้ส่งหรือ ID Sender ต้องมีการลงทะเบียนกลาง ถ้าใครจะมาส่งในนามของธนาคารต้องมีเอกสารหลักฐานถูกต้อง ไม่ใช่เหมือนตอนนี้ที่ใครจะตั้งอะไรก็ได้ ดังนั้น มิจฉาชีพก็ไปซื้อจากค่ายนี้ตั้งชื่อหนึ่ง ไปซื้อจากอีกค่ายก็ตั้งอีกชื่อหนึ่ง บล็อกชื่อหนึ่งมันก็ยังโผล่มาอยู่ดี    “ถ้าเราจัดการเรื่อง ID ของผู้ส่งได้ต่อไปมิจฉาชีพก็จะสวมรอยไม่ได้หรือส่งมาก็จะถูกบล็อก ID ของผู้ส่งนี้ก็จะหายไป พอรู้ว่า ID นี้ส่ง SMS หลอกลวงค่ายมือถือก็บล็อกไม่ให้ส่ง ถ้าจะขอ ID ผู้ส่งใหม่ก็ต้องไปพิสูจน์กันใหม่ มีการยืนยันตัวตน ถ้าทำระบบนี้สุดท้ายตำรวจจะจับได้เพราะขึ้นทะเบียนไว้หมดแล้วว่าใครส่ง แต่ตอนนี้ ID ผู้ส่งเป็นเสรีภาพอยากจะใช้ชื่ออะไรค่ายไหนก็ได้ ถ้าทำlv’ข้อนี้ผมคิดว่าปัญหาจะลดลงไปส่วนหนึ่ง ที่เหลือก็คือเรื่องการดำเนินคดี ประสานกับผู้เสียหายอาจจะต้องมีการอำนวยความสะดวกให้”        ย้อนกลับไปที่นฤมล เธอเรียกร้องการแก้ปัญหา 3 ข้อ ได้แก่        1. กสทช. ต้องตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจและมีคำสั่งให้ทำเอกสารให้ผู้บริโภคยินยอมในการรับส่งข้อมูล         2. การบังคับใช้กฎหมายของ กสทช. ต้องทำอย่างจริงจัง ไม่ใช่รอให้มีเรื่องร้องเรียนแล้วจึงบังคับใช้กฎหมาย        3. บังคับใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562         “พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคลจะทำให้ทาง Operator และ Content Providers ทั้งหลายรวมทั้งร้านค้าออนไลน์มีความระแวดระวังต่อข้อมูลของลูกค้ามากขึ้นในการที่จะเอาไปให้ Third Party ทำธุรกิจหรือทำ Big Data Analytics  หรือการส่งโปรโมชั่นการขาย” ปริญญา หอมเอนก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ในคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าว         หัวใจหลักของกฎหมายฉบับนี้ก็คือการที่หน่วยธุรกิจจะนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ทำธุรกิจหรือให้แก่หน่วยธุรกิจอื่นจะต้องได้รับความยินยอม (Consent) จากเจ้าของข้อมูลเสียก่อน มิฉะนั้นจะถือว่าผู้ที่นำข้อมูลไปใช้โดยไม่ได้รับความยินยอมกระทำผิดกฎหมาย         ปริญญา ย้ำด้วยว่าเจ้าของข้อมูลมีสิทธิที่จะให้หรือไม่ให้ก็ได้ หน่วยธุรกิจไม่สามารถกำหนดว่าต้องยินยอมเพียงอย่างเดียว         พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 จึงเป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่จะมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหา SMS หลอกลวง อย่างไรก็ตาม ยังต้องรอดูการบังคับใช้และเจตจำนงทางการเมืองของรัฐด้วยว่าจะเป็นไปเพื่อคุ้มครองหรือเพื่อความมั่นคงของฝ่ายรัฐ Digital Literacy เพราะการควบคุมอยู่ในมือผู้ใช้         ดังที่กล่าวไปตอนต้น ปัญหา SMS หลอกลวงมีผู้เล่น 4 ฝ่าย เราจะเก็บผู้ใช้ไว้หลังสุด ตอนนี้มาดูกันก่อนว่าผู้เล่น 3 ฝ่ายมีบทบาทหน้าที่อย่างไร ปริญญา อธิบายตัวอย่างว่า         หน้าที่ของผู้ผลิตคือเปิด Default หรือค่าตั้งต้นทุกอย่างไว้เพื่อให้ผู้ใช้ปิดเองว่าต้องการกรองข้อมูลใดให้เข้ามาหรือไม่ หรือผู้ผลิตร่วมมือกับ Third Party ในการกลั่นกรองสแปม         หน้าที่ของผู้ให้บริการเครือข่ายซึ่งมีเทคโนโลยีที่ทำให้รู้ว่าแหล่งที่มาของสแปมมาจากที่ไหน ทำให้สามารถบล็อกจากแหล่งที่มาได้เลย และขึ้นเป็น IP Blacklist ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการเครือข่ายที่ทำได้         หน้าที่ของผู้กำกับดูแลอาจออกกฎว่าถ้ามี SMS สแปม ผู้ให้บริการเครือข่ายต้องลงทุนใช้เทคโนโลยีอะไรบ้างในการบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน         แต่ถึงที่สุดแล้ว ปริญญากล่าวปัญหา SMS หลอกลวงไม่มีทางแก้ได้แบบหมดจด 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเมื่อใดที่ทำแบบนั้นหมายความว่า SMS ทั่วไปจะถูกบล็อกด้วย         “ผู้ใช้เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ วันนี้ผู้ใช้โทรศัพท์สามารถควบคุมได้เกินกว่าครึ่ง แต่เราไม่เคยรู้ก็เลยคิดว่าเป็นหน้าที่ของคนอื่น ต้องเข้าใจว่าพลังอำนาจในการควบคุมกลับมาอยู่ในฝั่งผู้บริโภคหรือผู้ใช้ ผู้ใช้ต้องรู้ว่าตนเองมีสิทธิ์ ต้องรู้ว่าอำนาจในการควบคุมทุกอย่างอยู่ที่ตนเอง ประการที่สองคือเมื่อตอบตกลงไปแล้วสามารถเปลี่ยนได้”         ปริญญาเน้นย้ำกลับไปที่ประเด็น Cyber Literacy หรือ Digital Literacy หรือความรู้เท่าทันในเทคโนโลยีดิจิตอลของผู้บริโภคที่ต้องเรียนรู้และเพิ่มทักษะด้านนี้ติดตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งถือว่ามีความสำคัญยิ่งไม่ใช่เฉพาะเรื่อง SMS หลอกลวงเท่านั้น         ส่วนคำแนะนำเบื้องต้นที่ปฏิบัติได้ทันที นฤมลบอกว่าถ้าได้รับข้อความแปลกจากเบอร์ที่ไม่รู้ อย่าคลิกเข้าไปอ่าน ลบ และบล็อกเบอร์นั้นทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 ระวัง! SMS ชวนหารายได้เสริมแบบใหม่ สูญเงินเกือบ 3 แสน

        “สวัสดี เรามาจากกระทรวงพาณิชย์ของ shopee เราขอเชิญคุณทำงานเสริมที่บ้าน หาเงินง่ายๆ วันละ 3,000 บาทด้วยมือถือ แล้วเงินเดือนออกวันเดียวกัน สนใจสมัครแอดไลน์มาได้เลย ID:863690”         นี่เป็นข้อความ SMS หลอกลวงในรูปแบบใหม่อีกแล้ว หากใครได้รับละก็ แนะนำว่าอย่าหลงเชื่อและให้ลบทิ้งไปเลย ไม่อย่างนั้นคุณอาจต้องสูญเงินแสนเหมือนอย่างคุณพรรณีก็เป็นได้         เมื่อปลายปี 2564 คุณพรรณีได้รับข้อความ SMS เชิญชวนนี้ก็สนใจ เธอจึงแอดไลน์ไอดีนั้นไป ปรากฏข้อความขึ้นว่า ”สวัสดีฉันชื่อเทสซ่า คุณมาสมัครงานใช่หรือไม่?” แล้วแนะนำว่าเป็นแพลตฟอร์มของ shopee ต้องการพนักงานจำนวนมาก เพื่อช่วยผู้ค้าเพิ่มปริมาณการทำธุรกรรม พร้อมกับส่งลิงค์มาให้ลงทะเบียน เธอกรอกชื่อ-สกุล เบอร์ติดต่อ และกำหนดรหัสผ่านลงไป จากนั้นก็ได้รับบัญชีเพื่อทำภารกิจ งานที่ว่านี้ก็คือ การกดคู่สินค้าในแอปพลิเคชั่น เพื่อรับกำไร 7% จากราคาสินค้าต่อชิ้นที่จับคู่ได้ แต่มีเงื่อนไขว่าเธอต้องเติมเงินก่อนเริ่มทำภารกิจ โดยโอนเข้าบัญชีของบุคคลหนึ่ง (ชื่อบัญชีนายชัยศักดิ์ เสาวิบูลย์ ) เมื่อทำภารกิจเสร็จสิ้นก็จะถอนเงินจากบัญชีได้         ว้าว! เพียงครั้งแรกก็ได้กำไรมาเหนาะๆ เกือบ 300 บาท เมื่อเห็นว่าทำง่ายได้เงินจริง เธอจึงเติมเงินเพื่อทำภารกิจต่อ แต่ครั้งนี้แอดมินแจ้งเงื่อนไขใหม่ว่าจะต้องทำภารกิจทั้งหมด 30 ด่านก่อน ถึงจะถอนเงินจากบัญชีได้ เธอก็ทำตามนั้นโดยได้โอนเงินไปรวมทั้งสิ้น 279,607.49 บาท แต่หลังจากจับคู่สินค้าครบ 30 ภารกิจแล้ว เธอกลับถอนเงินออกมาไม่ได้ ครั้นสอบถามไป แอดมินก็แจ้งว่าเธออาจกดลิงค์ผิด ดังนั้นต้องทำเพิ่มอีก 20 ภารกิจถึงจะถอนเงินได้ เธอคิดว่าน่าจะไม่ชอบมาพากลซะแล้ว จึงไม่ได้ทำตามเงื่อนไขใหม่นี้ หลังจากนั้นแอดมินไลน์ก็เงียบหายเข้ากลีบเมฆไปเลย คุณพรรณีเป็นกังวลมากจึงขอความช่วยเหลือมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค   แนวทางการแก้ไขปัญหา         มูลนิธิฯ แนะนำให้คุณพรรณีรีบไปแจ้งความ โดยรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องในการทำธุรกรรมนี้ทั้งหมด ได้แก่ หลักฐานข้อความสนทนากันในไลน์ สลิปการโอนเงิน โดยในสลิปจะมีชื่อบุคคลที่รับโอนเงิน ซึ่งข้อมูลตรงนี้สามารถให้ตำรวจเรียกบุคคลดังกล่าวมาพบ และอาจขอให้ตำรวจทำหนังสือถึงธนาคารให้ระงับบัญชีดังกล่าวได้         อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อกลลวงจาก SMS ในลักษณะที่ต้องโอนเงินไปให้ก่อนเด็ดขาด เพราะในที่สุดแล้วก็จะได้ไม่คุ้มเสีย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 สถานการณ์ผู้บริโภค ปี 64

ปี 2564 ยังคงเป็นปีแห่งช่วงเวลาที่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาการระบาดของโควิด 19 ระลอกแล้วระลอกเล่า ซึ่งไม่เพียงชีวิตต้องปรับเปลี่ยนสู่วิถีใหม่และอยู่กันอย่างหวาดระแวงโรคภัย กรณีปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิผู้บริโภคเองก็ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบตามเข้ามาสู่ชีวิตวิถีใหม่ด้วยเช่นกัน หากเราเผลอไผลไม่ทันระวังตัว หรือแม้จะระวังมากแล้วก็ตาม ปัญหาก็อาจเกิดขึ้นได้ กล่าวคือหากเขาจะโกง อยู่เฉยๆ เขาก็โกง ผู้บริโภคจึงต้องเรียนรู้ที่จะใช้สิทธิและไม่ปล่อยให้ “ผู้ร้ายลอยนวล” ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ทำตัวเองให้กลายเป็นเหยื่อเพราะความละโมบหรือไม่ทันเกมคนโกง         มาดูกันว่า ปี 2564 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนอะไรบ้าง (สถิติ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 15 ธันวาคม 2564) ปัญหา SMS ก่อกวน พุ่งอันดับ 1         อันดับหนึ่งของปี 2564 คือ ปัญหาด้านสื่อและโทรคมนาคม 1,816 ราย คิดเป็นร้อยละ 55 รองลงมา คือ ปัญหาด้านการเงินการธนาคาร/ประกัน ร้องเรียนเข้ามา 740 ราย คิดเป็นร้อยละ 22 และอันดับที่ 3  คือ ปัญหาด้านสินค้าและบริการทั่วไป จำนวน 400 ราย คิดเป็นร้อยละ 12 (จากจำนวนผู้ร้องเรียนทั้งหมด 3,321 ราย)         ร้อยละ 55 ของจำนวนผู้ร้องเรียนทั้งหมดนั้น ส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่พบจากการได้รับข้อความ SMS ก่อกวน ที่มีเนื้อหาหลอกลวงให้ใช้บริการแอปฯ กู้เงิน ผิดกฎหมาย และเว็บพนัน รวมถึงเนื้อหาอนาจาร ทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญและเสียทรัพย์สินได้ เบื้องต้นทาง กสทช.สั่งค่ายโทรศัพท์มือถือบล็อกข้อความแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้า ทำให้มีผู้ร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนและตุลาคม 2564  ปัญหาหนี้และทวงหนี้ไม่เหมาะสม ประกันและประกันโควิด เข้าป้ายมาเป็นอันดับสอง         ปัญหาด้านการเงินการธนาคาร/ประกัน ร้องเรียนเข้ามา 740 ราย คิดเป็นร้อยละ 22 นั้น ประกอบไปด้วยหนี้จาก ธุรกิจเช่าซื้อ หนี้นอกระบบ สินเชื่อและบัตรเครดิต เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19         โดย “ประกันโควิด” เป็นปัญหาที่มีผู้เสียหายมากและเป็นประเด็นในสังคมที่กำลังร้อนแรง คือ การจ่ายค่าสินไหมประกันโควิดแบบ “เจอจ่ายจบ” ล่าช้าเกินกว่า 15 วัน ขัดกับคำสั่งของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) หรือบริษัทประกันบอกยกเลิกสัญญา และบริษัทประกันถูกเพิกถอนใบอนุญาต ต้องขอรับชำระหนี้กับกองทุนประกันภัยวินาศภัยที่เข้ารับช่วงจ่ายค่าสินไหมทดแทนต่อจากบริษัทประกัน         กรณีในเรื่องของประกันภัย มพบ.ยังพบปัญหามิจฉาชีพหลอกให้ผู้บริโภคต่อประกันรถยนต์ทางโทรศัพท์แต่ไม่ได้รับกรมธรรม์ โดยมีผู้เสียหายที่มาร้องเรียน 14 คน กล่าวว่า มีการแอบอ้างเป็นบริษัทประกันโทรมาแจ้ง เรื่องอู่รถยนต์ที่อยู่ในเครือบริษัทประกันไม่ครอบคลุมกับอู่ใกล้บ้าน ทำให้ต้องไปซ่อมที่ไกลๆ ทำให้ต้องยินยอมต่อกรมธรรม์         นอกจากนี้ แอปพลิเคชันกู้เงินผิดกฎหมาย ก็เป็นปัญหาที่มีผู้ร้องเรียนเข้ามามากเช่นเดียวกัน โดยร้องเรียนเข้ามามากขึ้นในเดือนตุลาคม (เป็นช่วงเวลาเดียวกับการเกิดปัญหาเอสเอ็มเอสกวนใจ) ลักษณะของแอปฯ กู้เงิน คือ ต้องจ่ายเงินก่อนกู้ หรือ มีดอกเบี้ยสูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด ต้องชำระคืนภายใน 6-7 วัน ถ้าลูกหนี้จ่ายหนี้ไม่ครบหรือไม่จ่ายหนี้ เจ้าหนี้จะโทรหาทุกคนที่มีรายชื่อในโทรศัพท์ อันดับสาม คือ ปัญหาด้านสินค้าและบริการทั่วไป         ผู้บริโภคที่ร้องเรียนเข้ามาพบปัญหาสินค้าชำรุดบกพร่อง ไม่ได้มาตรฐานมากที่สุด จำนวน 76 เรื่อง รองลงมา คือ มีปัญหาการขอเงินคืน ไม่พอใจบริการ การโฆษณาเกินจริง ซึ่งเป็นปัญหาเกิดจากการซื้อสินค้าในช่องทางออนไลน์ เมื่อจัดส่งสินค้ามาให้พบว่าสินค้าชำรุด และไม่ตรงปก ดังนั้นผู้ให้บริการตลาดออนไลน์ควรต้องเป็นผู้แก้ไขจัดการร้านค้าออนไลน์ที่พบปัญหา การแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค         จากประเด็นปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนข้างต้น มพบ. และ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาโดยแจ้งปัญหาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขและเยียวยาความเสียหายให้กับผู้บริโภค เช่น กรณีผู้บริโภคได้รับข้อความ SMS ก่อกวนนั้น มพบ.ได้เข้าพบกับรองเลขาฯ กสทช. ติดตามความคืบหน้าและยื่นข้อเสนอให้        1. เปิดเผยคำสั่งของ กสทช. ที่กำหนดให้ค่ายมือถือแก้ไขปัญหา SMS         2. ออกคำสั่งให้ผู้ประกอบการจ่ายค่าเสียหายให้กับผู้ร้องเรียน 1,000 บาท/ข้อความ        3. ลงโทษตามกฎหมายสูงสุดกับผู้ประกอบการเช่นเดียวกับกรณีบริษัทประกันโควิดจ่ายค่าสินไหมล่าช้า มพบ.พาผู้เสียหายเข้าพบ คปภ. เร่งให้บริษัทประกันดำเนินการ        1. เร่งรัดบริษัทจ่ายค่าสินไหมให้กับผู้ซื้อประกันทุกรายทันที        2. ตรวจสอบและลงโทษบริษัทประกันที่ประวิงเวลาจ่ายค่าสินไหม        3. พิจารณาออกคำสั่งให้บริษัทประกันรับเอกสารเคลมค่าสินไหมผ่านช่องทางออนไลน์ประเด็นปัญหาแอปฯ กู้เงินผิดกฎหมาย มพบ. เสนอให้        1. ธปท.ควรจะให้ผู้ประกอบธุรกิจเปิดเผยข้อมูลการจดทะเบียนอนุญาต โดยทำเป็นเครื่องหมายสัญลักษณ์        2. ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กวาดล้างหรือระงับไม่ให้เปิดแอปฯ กู้เงินผิดกฎหมายทั้งหมด         ต่อกรณีปัญหาการซื้อสินค้าในช่องทางออนไลน์ มพบ.ได้ประสานงานกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 21 ข้อ ร่วมกัน 19 องค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการในตลาดออนไลน์ สร้างความปลอดภัยทางเศรษฐกิจดิจิตอล และติดตามผู้ให้บริการตลาดออนไลน์และหน่วยงานให้ดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ         ทั้งนี้ปัญหาผู้บริโภคที่พบทั้งหมด ภาครัฐจะต้องมีมาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและรวดเร็ว ทุกฝ่ายจะต้องแจ้งเตือนผู้บริโภคให้ทราบถึงภัยที่เกิดขึ้น รวมทั้งจะต้องมีแหล่งเพื่อให้ผู้บริโภคได้ตรวจเช็คข้อมูลที่เชื่อถือได้โดยเร็วที่สุดการดำเนินคดีเพื่อผู้บริโภค                     ในปี 2563 ต่อเนื่องมาถึง 2564 มีสถานการณ์หรือปรากฎการณ์ที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิผู้บริโภคหลายกรณี ซึ่ง มพบ. มีการฟ้องคดีทั้งลักษณะคดีปกครอง ได้แก่ การควบรวมธุรกิจ ระหว่าง บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด กับบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งก่อให้เกิดอำนาจเหนือตลาดอย่างสมบูรณ์ มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มสูงขึ้น มากกว่าร้อยละ 83.97 ของส่วนแบ่งตลาด กรณีดังกล่าวนี้จะทำให้ผู้ขอรวมธุรกิจใช้อำนาจที่เหนือกว่าในการต่อรองเชิงผลประโยชน์ด้านราคา ทำให้ผู้บริโภคขาดโอกาสในการเลือกซื้อสินค้าได้อย่างอิสระ และทำให้ผู้ประกอบธุรกิจตลาดร้านค้าส่ง รวมถึงห้างสรรพสินค้า ที่กำลังจะเข้าสู้ตลาดในอนาคต ไม่สามารถแข่งขันได้อย่างเสรีและเป็นธรรม      ดังนั้นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 เพื่อเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ที่อนุญาตให้มีการควบรวมธุรกิจ (คดีอยู่ระหว่างดำเนินการ)         คดีทั่วไป ได้แก่ การฟ้องคดีฉ้อโกงขายที่นอนยางพารา การฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายจากอุบัติเหตุรถชน การฟ้องคดีผู้บริโภคกรณีอสังหาริมทรัพย์ และการช่วยเหลือด้านคดีแก่กลุ่มสามล้อผู้เสียหายจากการถูกสหกรณ์ฉ้อโกง เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 วุ่นวายมากไปไหมกับการจ่ายค่าโทรศัพท์แบบไร้ใบแจ้งหนี้

        คุณนิดดูแลบ้านพัก 3 หลัง จึงใช้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านหลายเลขหมาย โดยทุกเลขหมายมีชื่อผู้ใช้บริการเป็นชื่อเธอคนเดียว  ซึ่งแต่ละเลขหมายจะแยกจ่ายตามคนที่อยู่อาศัยหลักๆ ของบ้านนั้นๆ  ตัวเธอเองรับจ่ายค่าบริการของบ้านที่ดินแดง น้องสาวจ่ายค่าบริการของบ้านที่ราชเทวี ส่วนน้องชายจ่ายของบ้านที่บางเขน เวลาไปจ่ายเงินก็ใช้เพียงการบอกบ้านเลขที่บ้าน ไม่เคยต้องถือใบแจ้งหนี้ค่าใช้บริการไปให้ยุ่งยาก เพราะเธอรักษ์โลกช่วยลดการใช้กระดาษจึงระบุต่อผู้ให้บริการว่า ขอไม่รับใบแจ้งค่าใช้บริการแบบกระดาษ  ให้ทางบริษัทฯ ส่ง SMS แจ้งค่าบริการมาแทน         วันหนึ่งของเดือนที่อากาศร้อนมากๆ แต่วันนั้นอากาศค่อนข้างเย็นสบาย คุณนิดจึงเดินออกจากบ้านตอนบ่ายแก่เพื่อไปจ่ายเงินค่าใช้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านหลังที่เธอรับผิดชอบที่ร้านรับจ่ายค่าบริการโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งย่านอนุเสาวรีย์ชัย  เมื่อถึงร้านเธอจดเลขที่บัตรประชาชนเหมือนเคย แล้วบอกว่า จ่ายค่าอินเทอร์เน็ตบ้านเลขที่ 9999 (เลขสมมติ) เขตดินแดง... พร้อมกับส่งบัตรเครดิตให้พนักงาน         คุณพนักงานของร้านก้มหน้าสักพัก พร้อมยื่นใบเสร็จกลับมาให้ คุณนิดอ่านดูรายละเอียดเห็นเป็นบ้านเลขที่น้องสาว จึงบอกว่า “ไม่ใช่ค่ะน้อง ทำอย่างไรดีคะ อันนี้มันเป็นค่าใช้จ่ายที่บ้านน้องสาวที่ราชเทวี ไม่ใช่บ้านเลขที่ของพี่”  พนักงานตอบว่า “ระบบของเราดูรายละเอียดค่าใช้จ่ายแยกตามบ้านเลขที่ที่ใช้งานไม่ได้ ถ้าจะดูรายละเอียดได้ คุณลูกค้าต้องไปที่สำนักงานของบริษัทที่ตั้งอยู่ในห้างต่างๆ ร้านเรามีแต่ยอดที่เป็นยอดรวมตามชื่อลูกค้า เนื่องจากเป็นร้านดีลเลอร์ ไม่ใช่ร้านที่เป็นสาขาของบริษัทโดยตรง”           คุณนิดจึงแย้งว่าตนเองแจ้งเลขที่บัตรปรระชาชนพร้อมกับเลขที่บ้านให้แล้วนะ ทำไมคุณพนักงานไม่บอกหรือแจ้งข้อจำกัดนี้ให้ทราบก่อน พนักงานกล่าวขอโทษพร้อมกับทำเรื่องคืนเงินให้คุณนิด พร้อมกับแจ้งว่าหากคุณนิดมีรหัสลูกค้าจะทดลองจ่ายอีกรอบก็ได้ ทางเจ้าหน้าที่จะทำคืนเงินให้หากไม่ใช่บ้านเลขที่ของคุณนิด         คุณนิดค้นเลขรหัสลูกค้าที่มี SMS มาที่เธอ  2 หมายเลขให้กับทางเจ้าหน้าที่ไป เมื่อเจ้าหน้าที่ส่งใบเสร็จให้เธออีกครั้ง คราวนี้ทั้ง 2 บิล แจ้งรายละเอียดว่า บ้านที่ใช้บริการเป็นเลขที่บ้านน้องสาวที่ราชเทวีเหมือนเดิมแม้ว่าตัวเลขบนบิลจะไม่ใช่ยอดเงินเดียวกันก็ตาม  อย่างไรก็ตามพนักงานได้รีบทำเงินคืนให้คุณนิดตามที่เขารับปากไว้  คุณนิดนั้นรับบัตรเครดิตคืนมาแบบหงุดหงิดเพราะแค่จ่ายบิลก็ไม่สำเร็จ หลังตรวจสอบวงเงินในบัตรเรียบร้อยว่าครบถ้วน เธอก็เก็บของเตรียมกลับบ้าน แต่ก็ฝากเรื่องกับพนักงานไว้ว่า เดี๋ยววันนี้ขอกลับไปโทรคุยกับคอลเซ็นเตอร์ก่อน           คุณนิดถึงบ้านอีกครึ่งชั่วโมงถัดมา เธอโทรปรึกษาคอลเซ็นเตอร์บอกเรื่องราวที่เกิดขึ้น  น้องน้ำหวานพนักงานรับสายแจ้งว่า  “ระบบของเรา สามารถบอกรายละเอียดได้นะคะ หน่วยงานที่เป็นสถานที่รับชำระเงินทั้งที่เป็นสาขาของเราและดีลเลอร์ต่างๆ สามารถแจ้งรายละเอียดกับลูกค้าได้ค่ะ  และคุณลูกค้าสามารถจ่ายค่าบริการผ่านแอปของเราได้นะคะ กดเลือกบ้านเลขที่ที่ต้องการได้เลยนะคะ คุณลูกค้ามีเรื่องสอบถามเพิ่มเติมไหมคะ” คุณนิดไม่มีเรื่องแจ้งเพิ่ม เพียงแต่ย้ำกับน้องน้ำหวานไปถึงเรื่องการให้บริการของบริษัทที่ควรจะมีมาตรฐานเดียวกัน ไม่ต้องให้ผู้บริโภคเสียเวลาแบบที่คุณนิดเจอมา           หลังจากดำเนินการด้วยตนเองไปแล้ว คุณนิดก็คิดได้ว่าน่าจะมาเล่าประสบการณ์ให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภครับทราบไว้ด้วย เพื่อจะได้ช่วยดำเนินการย้ำกับผู้ประกอบการบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์ว่า ไหนๆ ก็มีทางเลือกในการจ่ายหนี้แบบไม่ใช่ใบแจ้งหนี้ (กระดาษ) ก็ช่วยทำให้ทุกช่องทางได้มาตรฐานเดียวกันด้วย        แนวทางแก้ไขปัญหา        ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รับเรื่องราวของคุณนิดไว้และพร้อมจะดำเนินการนำข้อเสนอของคุณนิดสู่ผู้ประกอบการต่อไป 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 ความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน

ขนส่งทางบกขยับใช้เทคโนโลยีแก้โกงแท็กซี่         15 มิถุนายน นายจักรกฤธ  ตั้งใจตรง  ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก  เปิดเผยผ่านแอปพลิเคชั่น Clubhouse ของสื่อมวลชน The Transport Talk ในหัวข้อเสวนา “แท็กซี่บุคคลผ่านแอปฯ vs แท็กซี่เดิม ความคาดหวังของผู้บริโภค”  ว่า ขนส่งฯ มีนโยบายแก้ไขปัญหาและยกระดับบริการของแท็กซี่ โดยหาแนวทางในการนำเทคโนโลยีมาดูแลให้ผู้ขับแท๊กซี่ปฏิบัติตามกฏหมาย ป้องกันการโกงมิเตอร์ ปฏิเสธผู้โดยสาร หรือการขับรถเร็ว โดยจะเริ่มมีการนำจีพีเอสมาติดแท๊กซี่เพื่อพัฒนาแอปพลิเคชั่น TAXI OK  พิจารณาปรับขึ้นค่าโดยสารให้สอดรับกับต้นทุนค่าจีพีเอส กสทช. เตือนระวัง SMS หลอกลวง ป้องสูญเงิน-ล้วงข้อมูลส่วนตัวไปใช้         นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า มีประชาชนได้รับข้อความสั้นหรือ  SMS  แอบอ้างว่าส่งมาจากธนาคาร หน่วยงานราชการหรือหน่วยงานรัฐบาล ซึ่งผู้ส่งตัวจริงคือมิจฉาชีพที่แอบอ้างใช้วิธีการส่งลิงก์ประกอบข้อความ ในลักษณะคล้ายการแจ้งเตือนแบบระบบ อี-แบงกิ้ง หรือ SMS แจ้งสถานะทางการเงิน ทั้งนี้ประชาชนที่ได้รับข้อความอาจไม่เคยทำธุรกรรมใดกับธนาคารนั้นๆ มาก่อนหรือติดต่อกับหน่วยงานมาก่อน เป็นการหลอกให้ประชาชนกดลิงก์แนบเพื่อเข้าไปกรอกข้อมูลส่วนบุคคล หรือทำให้สูญเสียเงินหรือถูกนำข้อมูลไปใช้ในคดีทางอาชญากรรมจนเกิดการความเสียหาย         นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน กล่าวว่า กสทช. ขอให้ประชาชนระมัดระวัง เมื่อได้รับ SMS ที่มีลิงก์ลักษณะดังกล่าวขอให้ตั้งสติหรืออย่าเพิ่งเชื่อข้อความที่ได้รับ แต่ให้ตรวจสอบแหล่งที่มาของ SMS  สังเกตลิงก์ก่อนกด หากเป็นมิจฉาชีพ Url จะมีลักษณะแปลก ไม่ตรงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่อ้างใน SMS หากสงสัยอย่าไปกดลิงก์ ให้โทรสอบถาม Call Center ของหน่วยงานแทน ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. สั่งการให้ผู้ประกอบการโทรมานาคมทุกรายตรวจสอบดูแลการส่ง SMS ที่ผ่านระบบของผู้ใช้บริการ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนหรือเกิดกรณีหลอกลวง ขายประกันจำไว้ ถ้าถูกปฏิเสธภายใน 6 เดือนห้ามตื้อขายอีก        นายจอม จีระแพทย์ ผู้ช่วยเลขาธิการสายตรวจสอบคนกลางประกันภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบการธุรกิจ เปิดเผยว่า ได้ยกร่างประกาศใหม่ สำหรับแนวทางปฏิบัติหลักเกณฑ์วิธีการออกและเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย และดำเนินการของตัวแทน นายหน้า และธนาคาร พ.ศ.2563  เพิ่มเติมจากประกาศเสนอขายฉบับใหญ่เดิม โดยประกาศเดิมอาจมีถ้อยคำที่มีความยืดหยุ่นให้ธุรกิจไปปฏิบัติแต่บางเรื่องภาคธุรกิจยังมีความเห็นไม่ตรงกัน เพื่อให้ประชาชนและผู้เอาประกันภัยได้รับความเป็นธรรม คปภ. จึงยกร่างแนวปฏิบัติใหม่ เปิดรับความคิดเห็นภาคธุรกิจ ซึ่งปิดรับฟังความคิดเห็นภายในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้         นายจอม กล่าวว่า  “ร่างใหม่จะเป็นไกด์ไลน์ข้อแนะนำในการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ถ้าเกิดกรณีมีความผิดปกติ หรือมีลักษณะทุจริต เราก็อ้างอิงแนวปฏิบัติจากตรงนี้ได้ ซึ่งจะเป็นเวอร์ชั่นที่ คปภ.พยายามกำหนดเกณฑ์ปฏิบัติแก้ไขส่วนที่ยังคลุมเครืออยู่เพื่อลดข้อโต้แย้ง”สำหรับแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเสนอขายประกันภัยใหม่1.ปลดล็อกขายยูนิตลิงก์ผ่านช่องทาง2.เปิดกว้างใช้วิธีเห็นชอบด้วยกฎหมาย ยืนยันลูกค้าประสงค์ทำประกัน3.ห้ามเสนอขายประกันนอกเหนือวันและเวลา (วันจันทร์-วันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 08.30-19.00 น.) เว้นแต่มีนัดหมายล่วงหน้าและลูกค้ายินยอม4.หากลูกค้าไม่ประสงค์ทำประกันภัยจะต้องล่วงพ้นไปแล้ว ไม่น้อยกว่า 6 เดือนนับจากวันปฏิเสธถึงเสนอขายใหม่ได้ห้ามใช้ถ้อยคำดูหมิ่น ข่มขู่ หรือไม่สุภาพ5.ใช้คำว่า ชำระเบี้ยประกันทุกครั้ง ห้ามใช้คำว่า ฝาก หรือ ฝากเงิน หากมีการระบุว่าเป็นการออม ระบุชัดว่าเป็นการออมในรูปแบบการประกันชีวิต      จับฉลากออนไลน์ ขายหวยไม่มีใบรางวัลที่ 1 ให้ครูชัยภูมิ         จากกรณีครูชาวชัยภูมิ ซื้อลอตเตอรี่จากแพลตฟอร์มออนไลน์ถูกรางวัลที่ 1 ผู้ขายไม่ได้ให้ใบสลากและขอจ่ายเงินรางวัลเพียง 1 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะแบ่งจ่ายเป็นเช็คให้งวด 500,000 บาทจนครบ โดยอ้างว่าสลากที่ถูกรางวัลถูกพนักงานในบริษัทขโมยงัดตู้เซฟนั้น         พ.ต.อ. บุญส่ง จันทรีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการซื้อขายหมายเลขโดยไม่มีสลากมอบให้กับผู้ซื้อ แต่อ้างอิงผลสลากกินแบ่งรัฐบาล เข้าข่ายความผิด พ.ร.บ. การพนัน พ.ศ.2478 จึงมอบอำนาจให้นิติกรไปร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้กระทำความผิดทุกฐานความผิดจากพฤติกรรมดังกล่าว ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ทำการประชาสัมพันธ์เตือนผู้ซื้อสลากกินแบ่งผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ หากไม่ได้รับสลากมาครอบครองอาจไม่สามารถนำสลากมารับเงินรางวัลได้ และเตือนตัวแทนจำหน่าย การนำสลากไปขายต่อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และเว็บไซต์เป็นการกระทำผิดเงื่อนไขในสัญญา หลักเกณฑ์การรับสลากไปจำหน่าย   มพบ.เสนอรัฐจัดการปัญหารถรับส่งนักเรียนป้องกันเหตุสลดซ้ำซาก         จากกรณีอุบัติเหตุรถสองแถวหกล้อรับส่งนักเรียนโรงเรียนดงบังพิสัยนวการนุสรณ์ เสียหลักพลิกคว่ำรับเปิดเทอมบริเวณสามแยกด้านหน้าทางเข้าโรงเรียน ตำบลดงบัง อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 ทำให้มีเด็กนักเรียนบาดเจ็บกว่า 37 คน อาการสาหัสอีก 4 คนนั้น นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ประสานงานโครงการขนส่งมวลชนที่ปลอดภัยและเป็นธรรม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า สถานการณ์อุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนในปีนี้มีความรุนแรงมากกว่าปีที่ผ่านมา จากข้อมูลการเฝ้าระวังสถานการณ์รถรับส่งนักเรียนไม่ปลอดภัย โดยศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคระบุว่า เพียง 6 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม-มิถุนายน) เกิดอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนมากถึง 8 ครั้ง มีนักเรียนบาดเจ็บมากถึง 134 คน และเสียชีวิต 2 คน เกือบทั้งหมดมีสาเหตุจากความประมาทของผู้ขับรถรับส่งนักเรียน และสภาพรถรับส่งนักเรียนที่ไม่ปลอดภัย         “เฉพาะกรณีล่าสุดที่จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งนอกจากจะมีสาเหตุจากการขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสแล้ว ยังพบว่ารถคันดังกล่าววิ่งรับส่งนักเรียนโดยไม่ได้ขออนุญาตเป็นรถรับส่งนักเรียน รวมถึงสภาพรถยังไม่มั่นคงแข็งแรง กล่าวคือ โครงสร้างรถที่ส่วนควบกระเด็นออกจากตัวรถไม่สามารถป้องกันแรงกระแทกให้กับนักเรียนที่โดยสารมาได้ ส่วนนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นักเรียนได้รับบาดเจ็บรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการปล่อยให้นักเรียนนั่งบนหลังคารถเป็นทั้งสิ่งที่ผิดกฎหมายและเป็นอันตรายร้ายแรงสูงสุดที่ต้องห้ามโดยเด็ดขาด”         จากปัญหาที่เกิดขึ้นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอเรียกร้องกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงคมนาคมในฐานะหน่วยงานที่กำกับมาตรฐานความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียนต้องแสดงความรับผิดชอบต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น พร้อมทบทวนมาตรการกำกับความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียนขั้นสูงสุด ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพราะมีการสูญเสียกันมามากพอแล้ว         ข้อเสนอต่อกระทรวงศึกษา มีดังนี้        1. ต้องกำหนดยุทธศาสตร์และแผนความปลอดภัยเพื่อการเดินทางของนักเรียน เพื่อเป้าหมายความปลอดภัยสูงสุดของนักเรียนที่ต้องเดินทางด้วยรถรับส่งนักเรียน        2. กำหนดบทบาทให้โรงเรียนเป็นจุดจัดการงานรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย โดยมีภารกิจสนับสนุนองค์ความรู้ และแนวทางการจัดการรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยให้กับครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งแนวทางติดตามประเมินผลการปฏิบัติการในทุกภาคเรียนการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบการทบทวนมาตรการให้เหมาะสมต่อไป        3. สนับสนุนนโยบายให้รัฐเป็นผู้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางของนักเรียน โดยถือว่าหนึ่งในสวัสดิการด้านการศึกษาที่รัฐต้องจัดให้ เพื่อให้เด็กทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษาที่เป็นบริการของรัฐได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม         สำหรับข้อเสนอต่อหน่วยงานอื่นๆ เพื่อการบูรณาการคือ ให้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงคมนาคมบูรณาการความร่วมมือเพื่อปรับปรุงข้อกฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติ และข้อมูลของสองหน่วยงานให้มีความสอดคล้องกันสามารถใช้ปฏิบัติได้จริง ต้องกำหนดการเดินทางที่ปลอดภัยของนักเรียนให้เป็นแผนงานหลักของหน่วยงานระดับจังหวัด เช่น สำนักงานขนส่งจังหวัดหรือโรงเรียน เป็นต้น และให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนมีมาตรการให้ทุกจังหวัดมีแผนยุทธศาสตร์หรือคณะทำงานด้านความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียน โดยให้กำหนดโครงสร้างการเน้นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย อีกทั้งต้องกำหนดตัวชี้วัดด้านความปลอดภัยการเดินทางของนักเรียน หากจังหวัดใดเกิดเหตุซ้ำซากต้องมีมาตรการลงโทษโดยทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 SMS ขอหักเบี้ยประกันพ่วงบัตรเอทีเอ็ม

        บ่ายวันหนึ่งขณะที่คุณมธุรสกำลังนั่งดูละครโทรทัศน์เพลินๆ ก็ได้รับข้อความ SMS จากบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งว่า จะมีการหักเงินเบี้ยประกันจำนวนหนึ่งจากบัญชีเงินฝากของคุณมธุรส เนื่องจากครบรอบปีที่ได้ทำประกันไว้         คุณมธุรสงงไปสักพักว่าฉันไปทำประกันภัยไว้เมื่อไร  แต่หลังจากนึกอยู่พักหนึ่งก็พอจะจำได้ว่า ช่วงเดียวกันนี้เมื่อปีที่แล้ว ตนเองได้เคยเปิดบัญชีและทำบัตรเอทีเอ็มกับธนาคารแห่งหนึ่งไว้ ซึ่งตอนทำบัตร พนักงานธนาคารได้ขายประกันพ่วงบัตรเอทีเอ็มให้กับตนด้วย ทั้งๆ ที่ก่อนทำบัตรเอทีเอ็มเพื่อความสะดวกในการเบิกถอนเงิน คุณมธุรสได้สอบถามกับพนักงานว่า ขอทำบัตรเอทีเอ็มธรรมดาแบบไม่มีประกันพ่วงได้หรือไม่ ตอนนั้นพนักงานธนาคารได้อ้างว่า เพราะคุณมธุรสทำสัญญาเงินกู้กับธนาคารไว้ จึงมีความจำเป็นต้องทำประกันพ่วงบัตรเอทีเอ็มด้วย โดยพนักงานได้แจ้งหักเบี้ยประกันปีแรกจากเงินในบัญชีของคุณมธุรสเลย แต่ไม่ได้มีการชี้แจงรายละเอียดความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยอะไรมาก บอกเพียงแต่ว่าหากผู้เอาประกันเสียชีวิตก็จะได้เงินประกัน ด้วยความจำเป็นเพราะเป็นลูกหนี้ของธนาคาร คุณมธุรสจึงตกลงทำบัตรเอทีเอ็มแบบพ่วงประกันไป         เมื่อโดนการเตือนว่าจะมีการหักเงินเพื่อเป็นค่าเบี้ยสำหรับปีถัดไป คุณมธุรสรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมสักเท่าไรนัก เธอจึงโทรศัพท์มาปรึกษาว่าสามารถทำอะไรได้บ้างไหมเพื่อยกเลิกการทำประกันภัย แนวทางการแก้ไขปัญหา         กรณีนี้ พนักงานธนาคารไม่สามารถบังคับให้ผู้บริโภคทำบัตรเอทีเอ็ม หรือ บัตรเดบิต ที่พ่วงประกันได้ หากผู้บริโภคไม่ได้มีความประสงค์จะทำด้วยความสมัครใจ โดยผู้บริโภคมีสิทธิขอทำบัตรเอทีเอ็ม หรือ บัตรเดบิต แบบธรรมดา ซึ่งธนาคารควรมีบัตรแบบธรรมดาไว้ให้บริการ หากผู้บริโภคพบว่าพนักงานธนาคารบังคับให้ทำบัตรแบบที่พ่วงประกัน สามารถร้องเรียนไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) สายด่วน 1213 ได้         นอกจากนี้ พนักงานธนาคารที่ขายประกัน จะต้องมีใบอนุญาตนายหน้าประกันชีวิตหรือประกันวินาศภัย รวมถึงต้องชี้แจงรายละเอียดความคุ้มครองตามกรมธรรม์ให้กับผู้บริโภคทราบด้วย         หากผู้บริโภคต้องการขอยกเลิกประกัน หลังจากที่พิจารณาเงื่อนไขความคุ้มครองอย่างละเอียดภายหลังแล้วพบว่าไม่เป็นไปตามที่รับทราบมา ก็สามารถบอกเลิกสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด (15 หรือ 30 วัน กรณีทำผ่านทางโทรศัพท์) หรือตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ หลังจากได้รับกรมธรรม์ ซึ่งผู้บริโภคจะได้รับเงินคืนตามจำนวนเบี้ยที่จ่ายไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 แค่เผลอกดลิงก์ SMS ก็โดนหักค่าบริการ

        ผู้บริโภคหลายคนคงเคยได้รับข้อความสั้น หรือ SMS ในโทรศัพท์มือถือ ที่มักส่งข้อมูลโปรโมชันสินค้าหรือนำเสนอเชิญชวนให้สมัครบริการต่างๆ เช่น ข่าว ดูดวง เล่นเกมส์ หรือ การพนันออนไลน์ เช่นเดียวกับคุณสกลที่วันหนึ่งก็ได้รับข้อความ SMS ที่มีลิงก์เชิญชวนเกี่ยวกับบริการเพลงคาราโอเกะเข้ามายังโทรศัพท์มือถือ         ด้วยความที่คุณสกลเป็นคนที่ชอบร้องเพลงคาราโอเกะมาก จึงได้กดลิงก์เข้าไปเพื่อที่จะดูว่าบริการดังกล่าวมีรายละเอียดอย่างไร แต่เพียงกดลิงก์เข้าไป ก็กลายเป็นสมัครบริการโดยอัตโนมัติไปเสียแล้ว หลังจากวันนั้น คุณสกลก็ถูกหักค่าบริการวันละ 10 บาทมาเรื่อย ๆ แม้จะพยายามลองกด *137 เพื่อยุติบริการ แต่ก็ไม่สามารถยกเลิกได้ แนวทางแก้ไขปัญหา         หากผู้บริโภคพบเจอปัญหาเช่นเดียวกับคุณสกล ก็ให้กด *137 เพื่อยกเลิก SMS กวนใจที่เผลอกดสมัครไปโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่หากยังไม่สามารถยกเลิกได้ ให้รีบโทรไปที่คอลเซ็นเตอร์เครือข่ายมือถือที่ใช้บริการอยู่ ขอให้พนักงานยกเลิกบริการดังกล่าว และขอเงินที่ถูกหักไปคืนมา เนื่องจากผู้บริโภคไม่ได้มีเจตนาที่จะสมัครใช้บริการโดยสมัครใจแต่แรก แม้ว่าอาจโดนหักค่าบริการไม่กี่สิบบาท แต่หากรวมมูลค่าความเสียหายจากผู้บริโภคหลายรายที่ไม่ได้ตั้งใจสมัครใช้บริการแล้ว อาจเป็นเงินจำนวนไม่น้อย ดังนั้นการใช้สิทธิขอคืนเงินจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้บริโภคควรช่วยกันรักษาสิทธิ         ข้อเตือนใจ เมื่อได้รับข้อความ SMS ที่เป็นลิงก์ใด ๆ ผู้บริโภคอาจหลีกเลี่ยงที่จะไม่กด หากไม่มั่นใจแหล่งที่มาของลิงก์ เพราะนอกจากอาจเป็นการสมัครใช้บริการโดยไม่ตั้งใจแล้ว ยังอาจตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพที่หลอกเอาข้อมูลของเราไปทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 204 ต้นตอ ปัญหาบริการ sms ขี้โกง แอบคิดเงินโดยไม่รู้ตัว

ปัญหาถูกคิดเงินจากบริการเสริม sms ข้อมูล ข่าวสาร ที่ไม่ได้สมัครใช้บริการ เป็นหนึ่งในปัญหาที่มีมานาน และนับวันดูจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ลองถามคนใกล้ๆ ตัวคุณดู ผมว่า ต้องมีอย่างน้อยสักคนสองคนที่เคยโดนคิดเงินจากบริการเสริม sms สมัครเล่นเกมส์  โหลดคลิป ดูดวง ทายผลบอล โดยที่เจ้าตัวก็ไม่รู้ว่าเคยไปสมัครใช้บริการพวกนี้ไว้ตั้งแต่เมื่อไร ประเด็นที่น่าสนใจ คือ เมื่อเทียบกับการร้องเรียนบริการโทรคมนาคมอื่น ๆ อย่างบริการอินเทอร์เน็ต และบริการโทรศัพท์ เราจะพบการร้องเรียนที่หลากหลาย เช่น บริการที่ได้รับไม่ตรงตามสัญญาหรือโฆษณา  หรืออาจจะมีบ้างที่ร้องเรียนว่าไม่ได้สมัครใช้แต่ถูกคิดเงิน แต่กับการร้องเรียนบริการเสริม sms มันชัดเจนมากว่า ผู้ร้องเรียนแทบจะทุกคนยืนยันว่าไม่เคยสมัครใช้บริการเสริม sms พวกนี้ และไม่ปรากฏว่ามีการร้องเรียนในว่าสมัครไปแล้วได้บริการไม่ครบ หรือบริการเสริม sms ที่ได้รับไม่ตรงตามที่โฆษณา  ตรงนี้ผมว่า มันสะท้อนให้เห็นว่า ระบบการสมัครใช้บริการของบริการเสริม sms ต้องมีปัญหาอย่างแน่นอน เพราะจะเป็นไปได้อย่างไรที่ผู้ร้องเรียนนับพันคน จะจำไม่ได้ว่าเคย แสดงเจตนาสมัครใช้บริการเสริม sms เหล่านี้   “สัญญา จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคู่สัญญาได้แสดงเจตนาเสนอสนองถูกต้องตรงกัน” หลักกฎหมายว่าไว้อย่างนี้ คือ ต้องมี 3 องค์ประกอบ ทั้ง คำเสนอ คำสนอง และ “การแสดงเจตนาที่ต้องชัดเจน ถูกต้องตรงกัน” คำถามก็คือ แล้วการสมัครใช้บริการเสริม sms ที่ผ่านมาและในปัจจุบัน มันมีระบบที่ให้ผู้ใช้บริการแสดงเจตนา หรือยืนยันว่าต้องการสมัครใช้บริการจริงๆ หรือไม่ และเป็นระบบที่มีความปลอดภัยทางอิเล็กทรอนิกส์เพียงพอหรือไม่   ที่ผ่านมา ก็คงมีผู้บริโภคบางคนเผลอไปกดปุ่มสมัครใช้บริการโดยไม่เจตนา แต่ก็มีไม่น้อยที่ถูกกลโกงเขียนโปรแกรมดักไว้ให้สมัครใช้บริการเพียงแค่มือไปโดนป้ายข้อความโฆษณา แม้กระทั่งผู้เชี่ยวชาญด้าน cyber security ก็ยังเคยถูกเรียกเก็บค่าบริการเสริม sms ทั้งที่เจ้าตัวไม่เคยสมัครใช้บริการมาก่อน ซึ่งเป็นกลโกงของผู้ประกอบการ content partner บางรายที่ใช้วิธีเขียนโปรแกรมดักผู้ใช้บริการ เพียงแค่ลากมือผ่านป้าย banner ของบริการเสริมเหล่านี้ ก็จะมีผลเป็นการสมัครใช้บริการแล้ว ดังนั้น ยิ่งผู้คนใช้สมาร์ทโฟน หน้าจอทัชสกรีนมากขึ้น ปัญหาถูก sms คิดเงินโดยไม่ได้สมัครใช้บริการก็พุ่งสูงขึ้นสอดคล้องกัน อย่างมีนัยสำคัญ ถ้าเทียบกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ในปัจจุบัน ก่อนที่เงินจะออกจากกระเป๋า จะต้องมีการกรอกรหัส แสดงตัวตน ยืนยันความเป็นเจ้าของก่อนทุกครั้งที่จะทำธุรกรรมไม่ว่าจะเป็นการโอนเงิน หรือการซื้อสินค้า ผ่าน mobile payment ผ่าน QR Code ในขณะที่การสมัครบริการเสริม sms ไม่มีขั้นตอนนี้ ให้ผู้ใช้บริการต้องกรอกรหัสแสดงตัวตนและยืนยันเจตนาสมัครใช้บริการ จึงเปิดโอกาส ให้มีการเขียนโปรแกรมเข้ามาโกงผู้ใช้บริการได้ง่าย ดังนั้น ถ้าจะแก้ปัญหาบริการเสริม sms คิดค่าบริการโดยไม่ได้สมัครให้ตรงจุดที่สุด ก็ต้องแก้กันที่ต้นเหตุ ทำให้ระบบการสมัครบริการมีความชัดเจน ทั้งในแง่เนื้อหาที่โฆษณา ที่ต้องไม่กำกวม เพราะหลายบริการอ่านแล้วก็งง เช่น กด *xxxx ใช้ฟรี 7 วัน” บางคนอาจจะแค่อยากทดลองใช้ฟรี แต่เมื่อกดไปแล้วกลับกลายเป็นการสมัครใช้ และหลังจากนั้นจะได้ใช้ฟรี 7 วัน ถ้าจะพูดให้ชัดเจนจริงๆ ก็คือ สมัครใช้บริการแล้วจะได้แถมฟรี 7 วัน และที่สำคัญ จะต้องมีระบบที่มีความปลอดภัย ให้ผู้บริโภคต้องกรอกรหัสยืนยันตัวตน และแสดงเจตนาสมัครใช้บริการอย่างชัดแจ้ง ไม่ใช่แค่การคลิกเลือกช่องสมัครใช้บริการ ซึ่งแม้จะต้องคลิกหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถป้องกัน bot (โปรแกรมอัตโนมัติ) ได้  ในขณะที่ภาครัฐและภาคธุรกิจ พยายามกระตุ้นและสนับสนุนให้ ประชาชนทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ อยากจะให้สังคมไทยเป็นสังคมไร้เงินสด แต่ถ้าระบบความปลอดภัย ยังไม่น่าเชื่อถือ ประชาชนก็คงไม่กล้าใช้บริการ  ก่อนจะเดินหน้าประเทศไทยยุค 4.0 แก้ปัญหาซ้ำซากอย่างเรื่อง  sms โกงเงิน กันก่อนดีไหม ครับ - CPA มีการเขียนโปรแกรมดัก ให้ mouse over มีผลเป็นการสมัครใช้บริการ- ขั้นตอนการสมัครใช้บริการ sms ข้อมูลข่าวสารในปัจจุบัน ไม่มีความปลอดภัย และรัดกุม เพียงพอ เปิดโอกาสให้มีการ เขียนโปรแกรม โกงผู้ใช้บริการได้ แม้จะมีการต้อง คลิกเลือกในหลายขั้นตอนก็ตามข้อเสนอเพื่อการแก้ปัญหา  ทำให้การสมัครใช้บริการ sms ข้อมูล ข่าวสาร ต้องมีกระบวนการขั้นตอน ให้ผู้ใช้บริการแสดงเจตนาสมัครใช้บริการที่ชัดเจน และมีความรัดกุม ปลอดภัย ในทางอิเล็กทรอนิกส์  เทียบกับธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ ในปัจจุบัน ก่อนที่เงินจะออกจากกระเป๋า จะต้องมีการกรอกรหัส แสดงตัวตน ยืนยันความเป็นเจ้าของก่อน ทุกครั้งที่จะทำธุรกรรม ในขณะที่การสมัคร บริการ sms ไม่มีกระบวนการในขั้นตอนนี้ ทำให้เปิดโอกาส ให้มีการเขียนโปรแกรมเข้ามาโกงผู้ใช้บริการได้ง่าย รูปธรรมในการแก้ไขปัญหา sms คิดเงินโดยไม่ได้สมัครใช้บริการ ใช้อำนาจ กสทช. ตามประกาศ กสทช. เรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ข้อ 5 (6) กำหนดให้บริการโทรคมนาคม ที่ไม่มีระบบสมัครใช้บริการ ที่ให้ผู้ใช้บริการแสดงตัวตนและเจตนาที่ชัดแจ้งในการสมัครใช้บริการ ถือว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ประกาศ กสทช. เรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ฯ ต่อกรณีปัญหา sms คิดเงินโดยไม่ได้สมัครใช้บริการ  ประกาศ กสทช. เรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ฯ ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 มีสาระสำคัญ ที่กำหนดลักษณะการกระทำของผู้ให้บริการและตัวแทนที่เข้าข่ายเป็นการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค อาทิ ข้อ 5 (3 )การโฆษณาเกินความจริง ที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับบริการ , ข้อ 5 (1)การไม่แจ้งรายละเอียดของบริการให้ครบถ้วน ถูกต้อง ,ข้อ 5 (5) การละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวส่งข้อความโฆษณา sms โดยมิได้รับอนุญาตหรือความยินยอมจากผู้บริโภค จนก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ เป็นต้น  เมื่อมีการร้องเรียนว่า ผู้ให้บริการโทรคมนาคม มีพฤติการณ์ที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค หากคณะกรรมการพิจารณาแล้ว เห็นว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคจริงและมีคำสั่งให้ระงับการกระทำดังกล่าว บริษัทฯ ผู้ให้บริการจะต้องห้ามกระทำการในลักษณะนั้นกับผู้ใช้บริการทุกราย และถ้ายังไม่หยุดการกระทำเอาเปรียบผู้บริโภคก็จะมีโทษปรับทางปกครองไม่เกิน 5 ล้านบาท และจะปรับต่อไปเรื่อย ๆ อีกวันละไม่เกิน 1 แสนบาท จนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการ  มาตรการนี้ จะเป็นผลดีต่อการคุ้มครองผู้บริโภคในภาพรวม เพราะการร้องเรียนของผู้บริโภค 1 คน จะส่งผลช่วยให้ผู้ใช้บริการคนอื่น ๆ ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้บริการด้วยโดยอัตโนมัติ และมีผลห้ามมิให้เกิดการกระทำผิดซ้ำในลักษณะเดียวกันอีก  การเสนอเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหา sms คิดเงินโดยไม่ได้สมัครใช้ ให้ กสทช. พิจารณา หลายกรณี เข้าข่ายเป็นการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่ง กสทช. ควรที่จะพิจารณาใช้อำนาจตามประกาศข้างต้น สอบสวนข้อเท็จจริง และสั่งห้ามกระทำการในลักษณะดังกล่าวอีกเป็นการทั่วไป เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ แต่การพิจารณาเรื่องร้องเรียนของ กสทช. ก็จะหยุดอยู่แค่การแก้ปัญหา case by case ให้แก้ผู้ร้องเรียน  แม้ว่า อนุกรรมการ คุ้มครองผู้บริโภค ด้านกิจการโทรคมนาคม และกสทช. สายคุ้มครองผู้บริโภค จะได้พยายามเสนอให้มีการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ปัญหา sms คิดเงินโดยไม่ได้สมัครใช้ ในแง่มุมของการบังคับใช้ ประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ในกิจการโทรคมนาคมแล้วก็ตาม แต่ก็มีการขัดขวาง ตัดตอนเรื่องร้องเรียน ให้หยุดอยู่แค่การแก้ปัญหาในระดับบุคคล 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 ปัญหา SPAM / SMS กวนใจ กับ พ.ร.บ. คอมฯ ฉบับใหม่

ปัญหา sms ขยะ ที่ส่งข้อความโฆษณามาชวนให้ซื้อสินค้า หรือสมัครใช้บริการต่างๆ ทั้ง sms ชวนสมัครเล่นเกมส์  โหลดคลิป ดูดวง ทายผลบอล เข้ามายังโทรศัพท์มือถือวันละหลายๆ ครั้ง หรือข้อความโฆษณาขายครีม ขายอาหารเสริมที่ส่งมาทาง Line หรือโพสฝากร้านค้าผ่าน Facebook หรือ Instagram ที่โพสซ้ำๆ จนเป็นน่ารำคาญ นับเป็นปัญหาที่พูดกันมานานในสังคมไทย มีการออกกฎหมายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อจัดการปัญหา SPAM มาโดยตลอด  ล่าสุด พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560 ได้มีการแก้ไข เพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับ ปัญหา SPAM โดยในมาตรา 11 กำหนดว่า “ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่นอันมีลักษณะเป็นการก่อให้เกิด ความเดือดร้อนรําคาญแก่ผู้รับข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับ สามารถบอกเลิกหรือแจ้งความประสงค์เพื่อปฏิเสธการตอบรับได้โดยง่าย ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน สองแสนบาท   ให้รัฐมนตรีออกประกาศกําหนดลักษณะและวิธีการส่ง รวมทั้งลักษณะและปริมาณของ ข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไม่เป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรําคาญ แก่ผู้รับ และลักษณะอันเป็นการบอกเลิกหรือแจ้งความประสงค์เพื่อปฏิเสธการตอบรับได้โดยง่าย” ปัจจุบัน ประกาศ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง ลักษณะและวิธีการส่ง และลักษณะและปริมาณของข้อมูล ความถี่และวิธีการส่งซึ่งไม่เป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้รับ พ.ศ. ๒๕๖๐ มีผลบังคับใช้แล้ว ผู้ที่สนใจก็สามารถ Download ข้อมูลกฎหมายดังกล่าว มาศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ https://www.prachachat.net/ict/news-8775  สาระสำคัญโดยย่อของกฎหมายนี้ก็คือ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตามกฎหมายนี้ ครอบคลุมทั้ง การส่งข้อความ sms , e- mail , line โฆษณาขายของ การโฆษณาในลักษณะฝากร้านใน facebook , Instragram   การส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ในเชิงพาณิชย์ไปยังผู้รับ จะต้องได้รับความยินยอมจึงจะไม่เป็นความผิด และข้อมูลที่ส่งไปนั้น จะต้องระบุช่องทางหรือวิธีการในการปฏิเสธการรับข้อมูล เช่น ต้องแจ้งเบอร์โทรศัพท์ โทรสาร e-mail หรือ มีระบบตอบรับอัตโนมัติที่ผู้รับจะแจ้งยกเลิกการรับข้อมูลได้โดยง่าย   หากแจ้งปฏิเสธการรับข้อมูลไปแล้ว ยังมีการฝ่าฝืนส่งข้อมูลโฆษณาต่าง ๆ มาอีก ผู้บริโภคก็จะต้องแจ้งเตือนไปยังผู้ส่งเป็นครั้งที่ 2 ให้ชัดเจนว่าทางผู้ประกอบการได้รับทราบถึงการปฏิเสธนี้อย่างชัดแจ้งแล้ว ถ้ายังฝ่าฝืนส่งมาอีกคราวนี้ ก็จะถือว่าผู้ส่งมีความผิดตามมาตรา 11 มีโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท  นอกจากนี้ ก็จะมีบทบัญญัติว่าด้วยข้อยกเว้น ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ เช่น การส่งข้อมูลเพื่อเรียกคืนสินค้า(Recall) เนื่องจากความชำรุดบกพร่องของสินค้า การส่งข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา องค์กรการกุศล หรือการส่งข้อมูลซึ่งไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์  กฎหมายฉบับนี้ ออกแบบมาตามหลักการ Opt-Out คือ ผู้บริโภคต้องแสดงเจตนาว่าจะไม่รับข้อความโฆษณาต่างๆ ไปยังผู้ประกอบการ เมื่อปฏิเสธไปแล้ว ยังมีการฝ่าฝืนส่งข้อความมารบกวนอีกจึงจะถือว่า ผู้ประกอบการมีความผิด  ในต่างประเทศ ที่ใช้ระบบ Opt-Out ควบคุมการทำตลาด โฆษณา ประชาสัมพันธ์ มิให้รุกล้ำสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ฮ่องกง จะมีสิ่งที่เรียกว่า Do not call register ซึ่ง อาจจะแปลเป็นไทยว่า “ระบบลงทะเบียนห้ามโทร” ซึ่งจะเป็นระบบกลางที่จัดขึ้นเพื่อให้ผู้ที่ไม่ประสงค์จะรับข้อความโฆษณาต่าง ๆ ได้มาลงทะเบียนไว้ และในกรณีที่บริษัท ห้างร้าน จะทำการส่งข้อความโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ก็จะต้องมาตรวจสอบข้อมูลกับ Do not call list ก่อน ถ้าเกิดบริษัท ส่งข้อความโฆษณา ไปยังผู้ที่มาลงทะเบียนปฏิเสธไว้ ก็จะถือว่ามีความผิดทันที   ส่วนของไทย ณ ขณะนี้ ยังไม่มีระบบกลาง ผู้บริโภคก็ต้องขวนขวายแจ้งไปยังผู้ประกอบการแต่ละรายเอง แถมยังต้องมีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า ผู้ประกอบการได้รับทราบคำปฏิเสธแล้วยังฝ่าฝืนส่งข้อความโฆษณามา จึงจะถือว่าเป็นความผิด ก็ไม่รู้ว่า กฎหมายที่มีลักษณะเขียนเสือให้วัวกลัว แบบนี้ จะกำราบผู้ประกอบการให้หยุดส่ง SPAM ได้นานสักเท่าไร ปิดท้าย กันด้วยเกร็ดความรู้ของคำว่า SPAM ซึ่งเป็น คำแสลง ในภาษาอังกฤษ ที่ใช้เรียก การพยายามยัดเยียดส่งข้อความโฆษณาไปยังผู้รับจนเกิดความรำคาญ ซึ่งไทยเราก็เรียก ทับศัพท์ตามว่า “สแปม” คำนี้มีที่มาจาก เนื้อหมูกระป๋องยี่ห้อ SPAM ซึ่งเป็นสินค้าขายดีในชีวิตประจำวันของพวกฝรั่ง ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังมีหมูกระป๋องยี่ห้อนี้ขายอยู่ตามซูเปอร์มาร์เก็ต ส่วนเหตุที่ SPAM กลายมาเป็น ศัพท์แสลงก็ต้องย้อนกลับไป เมื่อ 40 กว่าปีก่อน ในยุค 70 มีรายการโทรทัศน์ของประเทศอังกฤษ ชื่อ Monty Python ซึ่งเป็นรายการตลกสั้นๆ มีอยู่ตอนหนึ่ง ตัวเอกของเรื่องเข้าไปในร้านอาหารแห่งหนึ่ง ซึ่งทุกเมนูล้วนแต่มีส่วนผสมของ “SPAM หมูกระป๋อง” แม้ลูกค้าจะบอกว่าไม่ต้องใส่ SPAM ได้ไหม ก็ไม่วายที่พนักงานของร้านจะพยายามยัดเยียด ให้ลูกค้ากิน SPAM ให้จงได้ จนเกิดเป็นความโกลาหล ปนฮาขึ้น ลองเข้าไปชมคลิปรายการ Monty Python ตอน SPAM ทาง YouTube แล้วจะเห็นภาพชัดเจน https://www.youtube.com/watch?v=anwy2MPT5RE  เข้าใจว่า พวกฝรั่ง คงจะอินกับมุขตลกนี้มาก ดังนั้น ต่อมา เมื่อมีการพยายามส่งข้อความโฆษณา ขายสินค้าต่างๆ ให้ผู้บริโภค จนรกหูรกตา หน้ารำคาญ จึงเรียกพฤติกรรมนี้ว่า SPAM

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 175 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2558“Eco Sticker” คู่มือคนซื้อรถยนต์ตั้งแต่ 1 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป รถยนต์ที่ผลิตขึ้นใหม่ทุกคันทั้งนำเข้าและผลิตเองในประเทศจะต้องติด “Eco Sticker” หรือป้ายแสดงข้อมูลรถยนต์ตามมาตรฐานสากล เพื่อให้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนซื้อรถยนต์ ข้อมูลที่แสดงอยู่บน Eco Sticker  จะบอกข้อมูลอัตราการใช้น้ำมันว่า มีปริมาณมากน้อยเพียงใด เรื่องของความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การสร้างมลพิษ และมาตรฐานเรื่องความปลอดภัยโดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานการเบรก ซึ่งอิงกับเกณฑ์ระดับสากล Eco Sticker จะควบคุมดูแลโดยกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงการคลัง เชื่อว่าการออกข้อกำหนดให้รถยนต์รุนใหม่ๆ ที่จะวางจำหน่ายในประเทศทุกคันต้องติดป้าย Eco Sticker จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้บริโภคในการมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ไว้สำหรับเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจซื้อรถยนต์สักคัน ส่วนทางฝั่งผู้ผลิตรถยนต์ก็จะพัฒนารถของตัวเองให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ผลิตรถยนต์ที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะต่อไปเชื่อว่านอกจากเรื่องสมรรถนะและความปลอดภัยแล้ว เรื่องของการประหยัดพลังงานและไม่ทำลายสภาพแวดล้อมจะเป็นอีกองค์ประกอบสำคัญที่ผู้บริโภคใช้เป็นข้อมูลก่อนตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์สักคัน “คีนัว” - “เมล็ดเชีย” คุณค่าทางอาหารเท่าธัญพืชไทยเพราะเดี๋ยวนี้คนไทยเรารักสุขภาพกันมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกินที่หลายๆ คนให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เรียกว่ามีอะไรใหม่ๆ มาที่เขาว่ากินแล้วดีต่อสุขภาพเป็นต้องหามาลองเพราะอยากจะมีสุขภาพดีอย่างที่เขาโฆษณาล่าสุดก็เกิดกระแสการบริโภค “คีนัว” และ “เมล็ดเชีย” ธัญพืชที่ว่ากันว่านำเข้ามากจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นประเทศแถบอเมริกาใต้ ซึ่งมีคุณค่าทางอาหารหลายอย่าง ทั้ง โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระ แม้จะฟังดูคุณค่าทางอาหารสูง แต่ว่าราคาที่ขายก็สูงด้วยเช่นกัน ซึ่ง ผศ.อาณดี นิติธรรมยง อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกมาเตือนคนไทยว่าอย่าตื่นตัวกับ ข้าวคีนัว และ เมล็ดเชีย มากกันจนเกินไป เพราะจริงๆ แล้วธัญพืชของไทยเราก็มีคุณค่าทางอาหารไม่ได้ด้อยไปกว่ากัน ไม่ว่าจะเป็น ลูกเดือย ถั่วแดง งา ข้าวไรซ์เบอรี่ ฯลฯ เพียงแต่หลายคนมองข้ามเพราะอาจจะมองว่าเป็นของที่อยู่ใกล้ตัวหาทานได้ทั่วไป ที่สำคัญคือราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับข้าวคีนัว และ เมล็ดเชีย ใครที่พอมีทุนทรัพย์อยากจะหามารับประทานก็ตามความสะดวก แต่ยังไงการทานอาหารให้ได้ประโยชน์สูงสุดก็คือการรับประทานอาหารให้หลากหลายครบทั้ง 5 หมู่ ลาขาด SMS กวนใจหลังจากที่ปล่อยให้บรรดา SMS ขายของ ชิงโชค ดูดวง เป็นปัญหากวนใจคนใช้โทรศัพท์มือถือมานานแสนนาน ในที่สุด กสทช. ก็ได้ฤกษ์ออกประกาศห้ามผู้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือทุกค่ายส่งข้อความโฆษณาที่สร้างความรำคาญหรือทำให้ต้องเสียค่าบริการเพิ่มกับผู้ใช้มือถือ นอกจากที่เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้บริการโดยข้อห้ามดังกล่าวถูกกำหนดไว้ในประกาศของ กสทช. เรื่อง “การกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม โดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควรหรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ พ.ศ. 2558” ซึ่งในประกาศฉบับนี้ยังมีข้อกำหนดอื่นๆ ที่ห้ามไม่ให้ค่ายผู้ให้บริการมือถือเอาเปรียบผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น ห้ามโฆษณาเกินจริง ห้ามกำหนดเงื่อนไขในการคิดค่าบริการที่ไม่เป็นธรรม จำกัดโอกาสการเลือกใช้บริการ ฯลฯ ซึ่งหากค่ายผู้บริการมือถือไม่ทำตามประกาศฉบับนี้จะมีโทษปรับทางปกครองสูงสุดถึง 5 ล้านบาท แล้วถ้ายังไม่ทำการแก้ไขก็จะมีโทษปรับอีกสูงสุดวันละ 1 แสนบาทโทลล์เวย์ต้องลดราคา หลังศาลบอกสัญญาไม่เป็นธรรมศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้มติที่ประชุมของคณะรัฐมนตรีปี 2549 และ 2550 ที่เห็นชอบให้แก้ไขสัญญาสัมปทานทางหลวง อนุญาตให้ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด เก็บค่าผ่านทางเพิ่มพร้อมทั้งขยายอายุสัมปทานเพิ่มอีก 27 ปี เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นธรรมและเอาเปรียบผู้บริโภค สร้างภาระให้กับประชาชน เพราะในสัญญาเอื้อให้ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด สามารถกำหนดราคาล่วง หน้า และขึ้นราคาได้โดยไม่ต้องขออนุญาต จากมติดังกล่าวของศาลปกครองกลาง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาล ดำเนินการออกคำสั่งบังคับให้ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด กลับไปใช้อัตราค่าผ่านทางเดิมก่อนแก้ไขสัญญา ที่ปรับเพิ่มขึ้นมา 5 – 15 บาท และให้เรียกเงินคืนเงินจากบริษัทที่สร้างภาระเกินสมควรกับผู้บริโภคจากการเรียกเก็บค่าผ่านทางเพิ่มจากมติที่ไม่ชอบดังกล่าวจำนวน  4 พันล้านบาท พร้อมขอให้รัฐบาลอย่าอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลาง เพราะศาลได้พิจารณาแล้วว่าการทำสัญญาระหว่างภาครัฐกับเอกชนครั้งนี้ เป็นสัญญาที่ทำให้ประเทศชาติเสียผลประโยชน์และสร้างภาระอย่างมากให้กับประชาชนสั่งถอดโฆษณา “ประกันสุขภาพสูงวัย” ทำผู้บริโภคเข้าใจผิดศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ให้ข้อมูลกับสื่อมวลชน ถึงความไม่ตรงไปตรงมาของการประกันสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งมีการโฆษณาเชิญชวนให้ซื้อประกันผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะทางทีวีเป็นจำนวนมาก ในโฆษณาจะให้ข้อมูลแค่ว่าสมัครได้โดยไม่ต้องตรวจสุขภาพ จ่ายเบี้ยประกันเฉลี่ยวันละไม่กี่บาท ได้ผลตอบแทนจากวงเงินประกันสูง แต่กลับพบปัญหาเมื่อไม่สามารถเรียกร้องค่าชดเชยจากการรักษาพยาบาล เนื่องจากบริษัทประกันอ้างว่า ผู้เอาประกันเป็นโรคร้ายแรงมาก่อนจะสมัครซื้อประกัน แถมยังมีการยกเลิกสัญญาประกันตามมาด้วย เพราะบริษัทประกันอ้างว่าผู้ซื้อประกันปกปิดข้อมูล ซึ่งถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างชัดเจน หลังจากที่เรื่องดังกล่าวถูกเผยแพร่ไปยังสื่อต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคตื่นตัวกับปัญหานี้เป็นอย่างมาก ทำให้สมาคมประกันชีวิตไทย ต้องออกมาประกาศให้บริษัทประกันชีวิตทุกบริษัทถอดโฆษณาขายประกันสำหรับผู้สูงอายุออกทั้งหมด แล้วให้ไปทำการปรับปรุงและเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงข้อความในโฆษณาให้มีความชัดเจน โดยต้องมีการแจ้งให้ผู้จะซื้อประกันทราบด้วยว่า ถ้าเกิดกรณีผู้ประกันเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยภายใน 2 ปีแรก บริษัทจะคืนเบี้ยประกันภัยพร้อมเงินเพิ่ม 2-5 เปอร์เซ็นต์ให้กับผู้เอาประกัน แต่ถ้าผ่านพ้นไปหลัง 2 ปีแล้วจะได้รับเงินคืนทั้งหมดตามทุนประกันที่ทำไว้กับบริษัทประกันชีวิต และต้องแจ้งเงื่อนไขในการทำประกันที่ว่าไม่ต้องตรวจสุขภาพนั้นมีเงื่อนไขอื่นแฝงอยู่หรือไม่ เช่นไม่จ่ายชดเชยกับโรคร้ายแรงบางโรคหรือมีเงื่อนไขในการจ่าย เพื่อไม่ให้เป็นปัญหากับผู้บริโภคในภายหลัง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 146 มันมาในรูปของ sms

มีเรื่องร้องเรียนเรื่องถูกส่ง sms มารบกวน และต้องจ่ายค่าบริการเยอะมาก  และที่มากไปกว่านั้นยังมีการโฆษณาสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคสมัครเข้ามารับบริการ เช่น หากสนใจกดหมายเลข .... แต่ไม่มีการให้ข้อมูลว่าหากต้องการยกเลิกจะกดอะไร ? ได้บ้าง  สิ่งที่เห็นคือเมื่อสมัครไปแล้วต้องการยกเลิกแทบไม่มีช่องให้ทำได้  หรือทำได้ก็มีการกำหนดขั้นตอนให้ยุ่งยากซับซ้อน ยากลำบากในการใช้สิทธิขอเลิกใช้บริการ ซึ่งอาจคาดเดาว่านี่คงเป็นยุทธศาสตร์เพื่อให้ผู้บริโภคเบื่อหน่าย และยอมจ่ายเงินไปเรื่อยๆองค์กรที่กำกับดูแล ก็เหมือนไม่ใยดีกับปัญหาที่ผู้บริโภคกำลังเผชิญกับการเอารัดเอาเปรียบของผู้ประกอบการ แถมองค์กรกำกับของเรายังมีพฤติกรรมคล้ายๆ กรรมการห้ามมวยปล้ำที่มักเอนเอียงไปทางด้านผู้ประกอบการซะอีก  ทั้งที่ผู้ประกอบการหลายมีพฤติกรรมแบบว่า ออกแนว ขี้โกงสารพัด  มากกว่าจะยึดกติกาที่เป็นธรรม(ที่กสทช.กำหนดขึ้นมาเองแต่ไม่บังคับใช้)   หากประเทศไทยก้าวเข้าสู่การบริการ 3G เต็มรูปแบบ และองค์กรกำกับยังเป็นอย่างนี้   เราคงต้องร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรกันต่อไปที่กล่าวมาข้างต้นคงสื่อให้เห็นปัญหากันบ้างแล้ว    สาเหตุของปัญหาจริงๆ มันอยู่ตรงไหน   หากนำปัญหาเรื่องร้องเรียนต่างๆ มาสังเคราะห์ อาจจะทำให้เห็นภาพของต้นเหตุได้ชัดเจนพอสมควร   เช่น กรณีมีผู้บริโภคร้องเรียนมาว่า  ต้องการยกเลิกข้อมูลที่ส่งมาแล้วถูกเก็บเงินโดยไม่เคยเปิดใช้บริการ  คำตอบที่ได้มาชวนให้คิดต่อได้มาก  คือ บริการเสริมเหล่านั้น ไม่เกี่ยวกับบริษัทผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตแต่เป็นบริการเสริมจากผู้ประกอบการรายอื่น(contantprovider) คำตอบนั้น เป็นเรื่องจริงหรือโกหกคำโตกันแน่?     เพราะข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนคือ   ผู้ให้บริการเสริมไม่ได้มาเรียกเก็บเงินจากผู้บริโภคโดยตรง  แต่เป็นการจ่ายผ่านระบบบริการ ทั้งระบบเติมเงินและรายเดือนของทั้ง  เอไอเอส,ดีแทค,และทรู “ทั้ง 3 ผู้ประกอบการได้นำเลขหมายที่ขายให้ผู้บริโภคแล้ว ไปขายให้กับผู้ให้บริการเสริมเพื่อให้ได้กำไรหลายต่อหรือไม่?”เพราะหากเป็นเรื่องจริง ปัญหานี้ต้องได้รับการแก้ไข  กสทช.ต้องไม่ปล่อยให้บริษัทผู้ประกอบการนำเลขหมายที่เป็นสิทธิส่วนบุคคลของผู้บริโภค  ไปค้าขายทำกำไร 2 ต่อ คำถามตามมาคือ หากองค์กรกำกับฯ (กสทช.)  ละเลยไม่กำกับดูแลตามหน้าที่  ผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ จะลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิกันอย่างไร? 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 111 สาวใหญ่โดน SMS ลามก

“พี่สาวได้รับเอ็มเอ็มเอสเป็นภาพลามกค่ะ”น้องตู่(นามสมมติ) ร้องเรียนเข้ามาทางเว็บไซต์ของมูลนิธิฯ“ได้ติดต่อไปทางคอลเซนเตอร์ 1175 บริษัทเอไอเอสที่เป็นเจ้าของเครือข่ายที่พี่สาวใช้อยู่บอกว่าทำอะไรไม่ได้ ขอให้เราไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อน พอแจ้งเสร็จก็ไปที่บริษัทเอไอเอสสาขาสุราษฎร์ธานี พนักงานไม่ยอมรับเรื่องค่ะ บอกว่าต้องพาเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับพันโทมาด้วย พนักงานถามอยู่คำเดียวจะบล็อกหมายเลขมั้ย และลูกค้าก็ต้องจ่ายเองจำนวนสามสิบบาท แล้วเราถามไปถามมา พนักงานบอกว่าบล็อกได้แต่สายโทรเข้า“เขาไม่สนใจว่าจุดประสงค์ของเราคือ ต้องการทราบว่าใครเป็นคนส่งมา เพราะพี่สาวไม่เคยมีเรื่องกับใคร”การบล็อกเบอร์ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา เพราะไปอ่านเจอตามเว็บต่างๆ หลายคนก็เจอปัญหาแบบนี้เหมือนกัน ต้องทนกล้ำกลืน นี่ยังไม่รวมบรรดาเอสเอ็มเอสขยะทั้งหลาย ทำอะไรได้บ้างคะ แนวทางแก้ไขปัญหากรณีที่ร้องเรียนมาถือว่าเป็นการกระทำผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2540 มาตรา 14 (4) มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ(1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน (2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความ ตื่นตระหนกแก่ประชาชน (3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา (4) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ (5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1)(2) (3) หรือ (4)เรื่องนี้เป็นความผิดทางอาญาเบื้องต้นต้องไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและให้แจ้งข้อกล่าวหาตามที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อแจ้งความแล้วให้นำหลักฐานการแจ้งความไปยื่นร้องเรียนกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือไอซีที เมื่อเป็นคดีความแล้วไอซีทีสามารถไปสืบค้นข้อมูลกับบริษัทผู้ให้บริการมือถือว่าใครเป็นคนปล่อยข้อมูลมาเข้าเครื่องของเราได้ การไปร้องเรียนโดยตรงกับบริษัทมือถือ บริษัทมือถือจะทำได้แค่การช่วยบล็อกเบอร์โทรศัพท์ที่มีปัญหา แต่ไม่สามารถจะแจ้งข้อมูลของคนที่ส่งเอสเอ็มเอสต่อบุคคลที่สามได้ เพราะอาจจะมีความผิดเรื่องการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและไม่ปกปิดข้อมูลของลูกค้า ใครที่ประสบปัญหาในลักษณะนี้แนะนำให้ทำตามขั้นตอนที่ว่ามาหากต้องการสืบหาคนกระทำผิดอย่างจริงจังครับ

อ่านเพิ่มเติม >