ฉบับที่ 245 ฟ้าทะลายโค (วิด)

        มีผู้โพสต์คลิปบ้างและจัดรายการสดบ้างใน YouTube แนะนำให้ผู้บริโภคที่เริ่มสงสัยตนเองว่าติดเชื้อก่อโรค covid-19 กินสมุนไพรฟ้าทะลายโจรบรรจุในแคปซูล โดยวิธีการกินนั้น กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้แนะนำไว้ (ในเอกสารรูปแบบ pdf เรื่อง คำแนะนำการใช้ฟ้าทะลายโจร-บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเข้าไปดาว์นโหลดได้ที่ https://thaicam.go.th/26042020)         ประมาณว่า “สำหรับผู้ที่ได้รับการตรวจพบเชื้อโควิด-19 แล้วแต่ยังไม่มีอาการป่วย ควรกินสารสกัดฟ้าทะลายโจรที่มีสารแอนโดรกราโฟไลด์ (andrographolide) ปริมาณ 20 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เช้า กลางวัน และเย็น (รวม 60 มิลลิกรัมต่อวัน) ติดต่อกันนาน 5 วัน ส่วนผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงและไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงอื่นๆ มีคำแนะนำให้กินสารสกัดฟ้าทะลายโจรที่มีสารแอนโดรกราโฟไลด์ปริมาณ 60 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เช้ากลางวัน และเย็น (รวม 180 มิลลิกรัมต่อวัน) ติดต่อกันนาน 5 วัน”         สำหรับในการแถลงข่าวทางโทรทัศน์และสิ่งพิมพ์ออนไลน์ต่างๆ กระทรวงสาธารณสุขโดยอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้ให้ข้อมูลว่า แม้สมุนไพรฟ้าทะลายโจร ไม่สามารถนำมาใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคโควิด-19 ได้ แต่สารแอนโดรกราโฟไลด์ในสมุนไพรฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ฆ่าไวรัสและแบคทีเรีย ลดไข้ ลดอาการอักเสบ ส่งเสริมภูมิคุ้มกัน โดยมีผลการทดลองจากโรงพยาบาล 9 แห่งพบว่า การให้สมุนไพรฟ้าทะลายโจรจำนวน 180 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งเป็นสามมื้อให้กับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการน้อยจำนวน 304 ราย กินต่อเนื่องเป็นเวลา 5 วันแล้วมีอาการดีขึ้นและไม่มีอาการข้างเคียงรุนแรง อย่างไรก็ดีได้มีคำแนะว่า หลังผู้เริ่มป่วยกินทันทีเมื่อมีไข้แล้ว หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วันให้รีบพบแพทย์        นอกจากนี้ใน www.bangkokbiznews.com ยังมีบทความเรื่อง ไขข้อสงสัย 'ฟ้าทะลายโจร' รักษา - ป้องกัน 'โควิด-19' ได้หรือไม่ ซึ่งให้ข้อมูลว่า หลายหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับโรงพยาบาลสมุทรปราการศึกษาในผู้ป่วยที่ติดเชื้อกลับจากต่างประเทศแล้วถูกกักตัวใน State Quarantine นั้นพบว่า ผู้ป่วยที่กินสารสกัดฟ้าทะลายโจรมีอาการดีขึ้นตั้งแต่วันที่ 3 ของการได้รับสารสกัดโดยไม่มีอาการข้างเคียงซึ่งตรวจวัดได้จากค่าการทำงานของตับและไตที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ         ฟ้าทะลายโจรที่มีวางขายอย่างแพร่หลายในลักษณะยาสมุนไพรนั้น มักเป็นการนำใบแห้งมาบดเป็นผงบรรจุแคปซูลขนาด 500 มิลลิกรัม ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยแล้ว ควรพบสารแอนโดรกราโฟไลด์ราว 20 มิลลิกรัม อย่างไรก็ดีในการโฆษณาขายยาฟ้าทะลายโจรนั้น ในบางกรณีอาจก่อให้เกิดความสับสนแก่ผู้บริโภค เพราะยาฟ้าทะลายโจรบางยี่ห้อนั้นโฆษณาว่า เป็นสารสกัดฟ้าทะลายโจร ซึ่งโดยทั่วไปแล้วน่าจะหมายถึง การนำเอาฟ้าทะลายโจรแห้งมาบดสกัดในตัวทำละลายเช่น แอลกอฮอล์ 95% ก่อนแล้วจึงนำสารที่สกัดได้ในรูปของเหลวไปทำให้กลายเป็นผงแห้ง น่าจะทำให้ได้สารแอนโดรกราโฟไลด์ในปริมาณที่เข้มข้นขึ้นกว่าการกินในลักษณะผงที่ได้จากการบดใบแห้ง ผู้บริโภคจำเป็นต้องสอบถามความชัดเจนจากเภสัชกรที่เป็นผู้ขายก่อนว่า สินค้าที่ขายนั้นเป็นผงใบแห้งหรือสารสกัดจากใบ และต้องกินเท่าใดจึงจะได้แอนโดรกราโฟไลด์ตามที่กรมการแพทยแผนไทยและการแพทย์ทางเลือกแนะนำ ข้อมูลในลักษณะนี้อาจขาดหายไปเมื่อสินค้านั้นถูกขายออนไลน์ (ดูคำแนะนำการใช้ที่ กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ)         ข้อมูลเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2552 จากเว็บของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์กล่าวว่า ฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรที่มีชื่อวิทยาศาสตร์วา Andrographis paniculata (Burm.f.) Nees นอกจากนี้ยังมีชื่อสามัญอื่น ๆ อีกว่าฟ้าทะลาย หญ้ากันงู น้ำลายพังพอน สามสิบดี คีปังฮี เป็นต้น ฟ้าทะลายโจรส่วนของต้นเหนือดินมีสารสำคัญกลุ่มไดเทอร์ปีนแลคโตน (diterpene lactones) หลายชนิด ได้แก่ แอนโดรกราโฟไลด์ (andrographolide), นีโอแอนโดกราโฟไลด์ (neoandrographolide), ดีออกซีแอนโดกราโฟไลด์ (deoxyandrographolide), 14-ดีออกซี-11,12-ไดดีไฮโดรแอนโดรกราโฟไลด์ (14-deoxy-11,12-didehydroandrographolide) ซึ่งสารสำคัญเหล่านี้มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาแตกต่างกันไป         Wikipedia ให้ข้อมูลที่น่าสนใจประการหนึ่งว่า อนุพันธุ์หนึ่งของแอนโดรกราโฟไลด์ที่ได้จากการสังเคราะห์ในห้องปฏิบัติการชื่อ Xiyanping (ซิ-เหยีน-ผิง) ได้ถูกผลิตในประเทศจีนเพื่อใช้ในรูปยาฉีดเพื่อต่อต้านไวรัสหลายชนิดนั้น ให้ผลในลักษณะเดียวกับสารแอนโดรกราโฟไลด์ธรรมชาติ แต่อาจก่ออาการแพ้ได้ เช่น มีผื่นแดงและตุ่มคันรอบ ๆ บริเวณที่ฉีด ตลอดไปจนถึงก่อให้เกิดปฏิกิริยาแพ้อย่างรุนแรง  จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตและที่น่ากังวลคือ พบว่าซิเหยีนผิงทำให้สัตว์ทดลองแท้งลูก ดังนั้นจึงไม่เหมาะสำหรับการใช้ในสตรีมีครรภ์ ซึ่งข้อมูลจาก Wikipedia นี้เป็นการยืนยันถึงข้อห้ามการใช้สมุนไพรฟ้าทะลายโจรในหญิงมีครรภ์ดังกล่าวข้างต้น         ข้อมูลเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของฟ้าทะลายโจรนั้นมีผลการศึกษาหลายเรื่อง ที่น่าสนใจ เช่น งานวิจัยจากประเทศอินเดียเรื่อง Immunostimulant Agents From Andrographis Paniculata ตีพิมพ์ใน Journal of Natural Products ของปี 1993 กล่าวว่า สารสกัดฟ้าทะลายโจรด้วยเอทานอล 95% สามารถกระตุ้นการสร้างแอนติบอดีเพื่อการตอบสนองต่อเซลล์เม็ดเลือดแดงแกะ (SRBC) ที่ฉีดเข้าสู่ร่างกายหนูอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และมีการกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันเป็นแบบไม่เฉพาะเจาะจง (nonspecific immune response) กล่าวคือ เมื่อดูการเพิ่มจำนวนเซลล์แมคโครฟาจและการเพิ่มจำนวนของเซลล์เม็ดเลือดขาวในม้ามนั้น ปรากฏผลว่า สารสกัดฟ้าทะลายโจรสามารถกระตุ้นกระตุ้นการเพิ่มเซลล์ดังกล่าวในลักษณะเดียวกันของแอนโดรกราโฟไลด์บริสุทธิ์ (เมื่อปรับปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ให้เท่ากัน) เพียงแต่ผลจากสารสกัดนั้นสูงกว่าซึ่งชี้ให้เห็นว่า สารธรรมชาติอื่นที่ไม่ใช่แอนโดรกราโฟไลด์ที่มีอยู่ในสารสกัดอาจมีส่วนในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้วย         ในการศึกษาเพื่อดูว่าองค์ประกอบใดในฟ้าทะลายโจรที่ควรนำไปพัฒนาเป็นยาต้านการรุกรานของไวรัสที่ก่อโรค covid-19 นั้นบทความเรื่อง Computational investigation on Andrographis paniculata phytochemicals to evaluate their potency against SARS-CoV-2 in comparison to known antiviral compounds in drug trials ในวารสาร Journal of Biomolecular Structure and Dynamics ของปี 2020 ได้ศึกษาโดยใช้รูปแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ดูความสามารถของสารพฤกษเคมี 4 ชนิด ซึ่งพบได้ในฟ้าทะลายโจร ได้แก่ andrographolide, 14-deoxy 11,12-didehydro andrographolide, neoandrographolide และ 14-deoxy andrographolide ในการเข้าจับกับเป้าหมายหลักซึ่งเป็นโปรตีน 4 ชนิดของไวรัสซึ่ง สองชนิดเป็นเอ็นซัมโปรตีเอส หนึ่งชนิดคือเอ็นซัม RNA-direct RNA polymerase (เอ็นซัมสำคัญในการเพิ่มปริมาณองค์ประกอบของ SARS-CoV-2) และหนามโปรตีน (spike protein) ของไวรัส ซึ่งข้อมูลจากการศึกษาในภาพรวมชี้ให้เห็นว่า neoandrographolide น่าจะถูกใช้เป็นยาสำหรับการบำบัดการติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศกำลังพัฒนา เพราะมีผลในการจับรูปแบบโปรตีนของไวรัสดีที่สุด         ในการทบทวนเอกสารเกี่ยวกับสารธรรมชาติที่น่าจะมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อไวรัสก่อ covid-19 นั้น มีบทความเรื่อง Combating COVID-19: The role of drug repurposing and medicinal plants ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Infection and Public Health ของปี 2021ให้ข้อมูลว่า แอนโดรกราโฟไลด์ในฟ้าทะลายโจรนั้นมีฤทธิ์ต้านการอักเสบและเป็นสารต้านไวรัสแบบไม่จำกัด (broad spectrum) โดยยับยั้งเชื้อไวรัส Influenza A virus (H9N2, H5N1 และ H1N1), ไวรัส Hepatitis B และ C, ไวรัส Herpes simplex, ไวรัส Epstein–Barr, ไวรัส Human papilloma, ไวรัส HIV และไวรัส Chikungunya         ส่วนในกรณีของการต้านไวรัส SARS-CoV-2 นั้นมีรายงานผลการวิจัยที่เป็นความร่วมมือของหลายคณะในมหาวิทยาลัยมหิดลและโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ตีพิมพ์ในวารสาร bioRxiv เมื่อ 8 ธันวาคม 2020 เรื่อง Anti-SARS-CoV- 2 activity of Andrographis paniculata extract and its major component Andrographolide in human lung epithelial cells and cytotoxicity evaluation in major organ cell representatives ที่ให้ข้อมูลว่า ทั้งสารสกัดฟ้าทะลายโจรด้วยเอทานอล 95% หรือแอนโดรกราโฟไลด์บริสุทธิ์นั้นสามารถยับยั้งการเจริญของไวรัส SARS-CoV-2 ในเซลล์ปอดมนุษย์ (Calu-3) ที่เลี้ยงในหลอดทดลอง ข้อควรรู้เกี่ยวกับยาฟ้าทะลายโจรที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ  1) ห้ามใช้ยาฟ้าทะลายโจรในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร2) ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการไข้เจ็บคอจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มีตุ่มหนองในคอ มีไข้สูง หนาวสั่น3) ห้ามใช้ในผู้ที่เคยมีประวัติแพ้ฟ้าทะลายโจร หากไม่เคยมีประวัติแต่เมื่อใช้ยาแล้วมีอาการแพ้ เช่น เกิดผื่น ลมพิษ หน้าบวม ริมฝีปากบวม หายใจลำบาก ให้หยุดใช้ยาทันที4) ควรระวังในผู้ที่ใช้ยาที่มีผลต่อเลือดเช่น วาร์ฟาริน แอสไพริน โคลพิโดเกรล ยาลดความดันโลหิต เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >