ฉบับที่ 254 ปีกว่าที่ว่างเปล่า สิทธิการทำแท้งที่ปลอดภัยในระบบราชการไทย

        กว่า 60 ปี การทำแท้งเป็นสิ่งผิดกฎหมายในสังคมไทย ผู้หญิงไม่มีสิทธิบนเนื้อตัวร่างกายและเลือกหนทาง มิพักต้องพูดถึงแนวคิดล้าหลังที่ซุกอยู่ในกฎหมายทำแท้งที่มุ่งเอาผิดผู้หญิงเป็นหลัก โดยเฉพาะมาตรา 301 และมาตรา 305 ในประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง          ปี 2561 พญ.ศรีสมัย เชื้อชาติ แพทย์อาสาของเครือข่ายอาสาเพื่อการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย กรมอนามัย ถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 302 ที่ระบุว่าผู้ใดทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ใครจะรู้ว่านี่เป็นเหตุการณ์ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่          ในฐานะผู้ที่ผลักดันการแก้กฎหมายทำแท้งคนหนึ่ง พญ.ศรีสมัย ใช้เหตุการณ์นี้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 ที่ระบุว่า ‘หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนเองแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ’ ขัดรัฐธรรมนูญ เกิดแรงกระเพื่อมต่อเนื่องเป็นการแก้กฎหมายอาญามาตรา 301 และมาตรา 305 ในที่สุด          โดยในมาตรา 301 ที่ได้รับการแก้ไขแล้วระบุว่า ผู้หญิงสามารถทำแท้งได้ในอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ หากเกินกว่านี้จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นอัตราโทษที่เบากว่ากฎหมายเดิม          ส่วนมาตรา 305 อนุญาตให้ผู้หญิงทำแท้งได้ ดังนี้         1. จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากหากหญิงตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงกับการได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกายหรือใจของหญิงนั้น         2. จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากมีความเสี่ยงอย่างมากหรือมีเหตุผลทางการแพทย์อันควร เชื่อได้ว่าหากทารกคลอดออกมาจะมีความผิดปกติถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง         3. หญิงยืนยันต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่าตนมีครรภ์เนื่องจากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ         4. หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์         5. หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ภายหลังการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศ กำหนดโดยคำแนะนำของแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น          ไม่มีปฏิเสธว่าเป็นชัยชนะก้าวสำคัญ เมื่อพูดเช่นนี้ก็หมายความว่ายังมีก้าวอื่นอีกที่ต้องไปต่อ  ผู้หญิงยังเข้าไม่ถึงสิทธิการทำแท้งที่ปลอดภัย          เป้าหมายสูงสุดของภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวประเด็นนี้คือการยกเลิกโทษอาญาของการทำแท้ง การทำแท้งต้องไม่ใช่ความผิด และผู้หญิงที่ทำแท้งไม่ใช่อาชญากร การทำแท้งต้องเป็นทางเลือกด้านสุขภาพของผู้หญิงและมีกระบวนการครอบคลุม ครบถ้วน โดยคำนึงถึงสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้หญิง         อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ขับเคลื่อนตระหนักดีว่าบางเรื่องก็ต้องค่อยๆ ขยับไปข้างหน้า แต่สิ่งที่ทำความเข้าใจได้ยากคือผ่านมาปีกว่าแล้วนับตั้งแต่ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2564 ผ่านไปปีกว่าประกาศกระทรวงสาธารณสุขสำหรับวางแนวทางรองรับกลับยังไม่ถูกประกาศใช้         สมวงศ์ อุไรวัฒนา ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ สายด่วน 1663 ที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้หญิงที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อม เล่าว่าที่ผ่านมา 3 สิ่งที่เอื้อต่อการทำงานคือการแก้กฎหมายอาญาว่าด้วยการทำแท้งซึ่งทำให้สังคมเปิดกว้างมากขึ้น หน่วยบริการมีมาตรฐานมากขึ้น สอง-มีคณะกรรมการตาม พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ที่ให้การคุ้มครองและช่วยเหลือให้วัยรุ่นได้รับสิทธิและเกิดคณะทำงานขับเคลื่อน ประการสุดท้าย ในช่วงโควิดก็มีนโยบาย Telemedicine หรือโทรเวชกรรม ส่งยาให้กับผู้ที่จำเป็นเพื่อยุติการตั้งครรภ์ทำให้เข้าถึงบริการที่ปลอดภัย          แต่ยังมีช่องว่างอยู่ เป็นเพราะผู้คนในสังคมจำนวนหนึ่งยังไม่ทราบถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ระบบบริการไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือผู้หญิงที่ต้องการท้องต่อหรือต้องการยุติการตั้งครรภ์ก็ยังไม่ครอบคลุมต่อปัญหาและยังไม่ครอบคลุมพื้นที่อย่างเพียงพอ บริการบางอย่าง เช่น การยุติการตั้งครรภ์ยังไม่เป็นบริการในระบบปกติของหน่วยบริการ ทั้งยังมีวัยรุ่นและผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมเข้าไม่ถึงสิทธิและถูกละเมิดสิทธิ พร้อมกับที่ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนก็มีไม่มากพอและไม่เป็นมิตรสำหรับผู้ที่ท้องไม่พร้อม          จากการเก็บข้อมูลการให้บริการท้องไม่พร้อมของสายด่วน 1663 ตั้งแต่ตุลาคม 2564 ถึงมีนาคม 2565 มีจำนวนพผู้ปรึกษาทั้งหมด 21,397 เป็นผู้ที่ตั้งครรภ์ร้อยละ 81 หรือ 17,416 คน จำนวนผู้ที่ตั้งครรภ์และมีปัญหาซับซ้อนต้องได้รับการช่วยเหลือร้อยละ 15 หรือ 2,634 คน มีผู้หญิงที่ประสงค์ทำแท้งไปขอรับบริการจากโรงพยาบาลแต่ถูกปฏิเสธและไม่ส่งต่อ 116 ราย อายุต่ำกว่า 20 ปี 37 ราย มากกว่า 20 ปี 79 ราย          “เกิดคำถามว่าเป็นเพราะทัศนคติหรือนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขไม่ชัดเจนถึงทำให้เกิดความลักลั่นในทางปฏิบัติ” สมวงศ์ ตั้งคำถาม          ระบบราชการทำ สธ. ประกาศกระทรวงไม่ได้          ผู้รับบริการสุขภาพในฐานะผู้บริโภคยังต้องเผชิญอุปสรรคในการเข้าถึงบริการ สืบเนื่องจากระบบราชการแบบไทยๆ ที่มักติดขัดเรื่องอำนาจหน้าที่         ความเดิมมีอยู่ว่า หลังจากแก้กฎหมาย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อยกร่างประกาศใช้เป็นแนวทางการให้บริการ ผ่านไปประมาณ 1 ปี คณะกรรมการยกร่างประกาศเสร็จสิ้น ประกอบด้วย 3 หมวด ได้แก่         หมวดที่ 1เรื่องการให้การปรึกษาทางเลือก         หมวดที่ 2 การดูแลกรณีที่เลือกตั้งครรภ์ต่อ         หมวดที่ 3 กระบวนการขับเคลื่อนประกาศกระทรวง          กรมอนามัยนำส่งร่างต่อไปยังสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้รัฐมนตรีลงนามบังคับใช้ ทาง สธ. เพื่อลงนามบังคับใช้ ทว่า กองกฎหมายของสำนักงานปลัดกระทรวงฯ ทักท้วงว่า ตัวร่างในหมวดที่ 2 และ 3 อาจจะเกินขอบเขตที่มาตรา 305 ระบุให้กระทรวงสาธารณสุขปฏิบัติหรือไม่ เนื่องจากกฎหมายระบุเพียงให้กระทรวงฯ ออกหลักเกณฑ์ว่าด้วยการปรึกษาทางเลือกเท่านั้น          “ทางกรมอนามัยจึงหารือกับคณะกรรมการยกร่าง” นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าว “ทางคณะกรรมการก็ยืนยันว่าร่างที่ยกน่าจะมีประโยชน์ในการบังคับใช้เพราะครอบคลุมกระบวนการดูแลอย่างครบถ้วน ข้อที่ว่าเกินอำนาจที่จะทำได้หรือเปล่า ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีส่วนร่วมในการยกร่างตั้งแต่แรกก็อธิบายว่า แม้ในมาตรา 305 จะให้ออกประกาศการให้การปรึกษาทางเลือกอย่างเดียว แต่ว่าทางกระทรวงสาธารณสุขก็มีฐานอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินที่จะออกหมวดสองและสามได้”          คำอธิบายข้างต้นไม่สามารถเบาบางข้อวิตกกังวลของกองกฎหมาย สำนักปลัดฯ ได้ เพราะถ้าระบุลงไปแล้วในทางปฏิบัติทำไม่ได้ นอกจากจะผิดประกาศกระทรวงแล้ว ยังอาจถูกตีความว่าผิดประมวลกฎหมายอาญาด้วย ทางสำนักปลัดฯ ต้องให้ประกาศสั้น กระชับ และตรงประเด็น เพื่อให้ในทางปฏิบัติไม่ต้องมีข้อถกเถียง          นพ.บุญฤทธิ์ กล่าวว่า เมื่อทั้งสองฝ่ายยืนกรานจึงจบลงด้วยบทสรุปที่ให้ตั้งคณะกรรมการยกร่างขึ้นอีกชุดเพื่อยกร่างประกาศใหม่โดยอ้างอิงมาตรา 305 โดยตรงและใช้ร่างเดิมเป็นตัวตั้งต้น          กรณีโรงพยาบาลประกันสังคมบางแห่งไม่รับผิดชอบ         เวลาที่ยืดเยื้อออกไปส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้หญิง สมวงศ์เล่าถึงกรณีหนึ่งว่ามีผู้หญิงรายหนึ่งเป็นโรคหัวใจและตั้งครรภ์ เธอฝากครรภ์โดยใช้สิทธิประกันสังคม ปรากฏว่าทั้งแพทย์สูตินรีเวชและแพทย์ด้านหัวใจบอกตรงกันว่าไม่ควรตั้งครรภ์ต่อเพราะมีอันตรายต่อชีวิต ซึ่งขณะนั้นอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์แล้ว          “เขาโทรมาหาเรา เราบอกว่าเป็นเรื่องสุขภาพคุณควรได้รับการดูแลจากโรงพยาบาลประกันสังคมของคุณ เขาก็เลยกลับไปที่โรงพยาบาล ทางนั้นบอกว่าไม่มีบริการทำแท้งจึงปฏิเสธและไม่รับฝากท้องด้วยเนื่องจากเขาเป็นโรคหัวใจ เขาจึงกลับมาปรึกษาเราอีกครั้งหนึ่งว่าโรงพยาบาลประกันสังคมไม่ดูแลเขา          เราจึงติดต่อโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยร่วมกับเครือข่าย ปรากฏว่าโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยรับทำให้และยืนยันว่าเคสนี้อันตรายถึงชีวิตจริงและมีความจำเป็นต้องทำอย่างเร่งด่วน จึงแนะนำให้กลับไปที่โรงพยาบาลประกันสังคมนำประวัติการรักษาทั้งหมดมาและทำหนังสือส่งตัวเพื่อไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 5 หมื่นบาท อันนี้เป็นเรื่องการรักษา เป็นเรื่องสุขภาพจริงๆ ปรากฏว่าโรงพยาบาลประกันสังคมตัดสินใจทำใบส่งตัวให้ แต่ไม่ส่งตัวไปให้ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย แต่ส่งไปให้อีกโรงพยาบาลหนึ่งในเครือข่ายของเขา         วิธีส่งตัวคือทำเอกสารขึ้นมาใบหนึ่งแล้วให้ผู้รับบริการเดินไปรับบริการเอง ไม่มีการประสานส่งตัว ผู้รับบริการก็เดินไปที่โรงพยาบาลแห่งนั้น แต่ทางนั้นก็บอกว่าไม่ได้เป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย ก็ปฏิเสธ สุดท้ายก็จำเป็นต้องรับบริการจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยและเสียค่าใช้จ่าย ตอนนี้เรากำลังดำเนินการฟ้องร้องให้ประกันสังคมต้องรับผิดชอบ โรงพยาบาลต้องรับผิดชอบ จะปฏิเสธค่าใช้จ่ายไม่ได้ ทำให้เห็นว่าแม้แต่เรื่องสุขภาพก็ไม่ได้รับบริการ”          การรับบริการทำแท้งที่ปลอดภัยเป็นเรื่องชนชั้น          สุพีชา เบาทิพย์ จากกลุ่มทำทาง องค์การภาคเอกชนที่ขับเคลื่อนการทำแท้งที่ปลอดภัย เปิดรายงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ สปสช. ปี 2564 พบว่า ในปี 2563 สปสช. ตั้งเป้าการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยไว้ที่ 23,000 ราย แต่ทำได้จริงเพียง 4,924 ปี 2564 จึงตั้งเป้าต่ำลงคือ 12,000 ราย แต่ก็ทำได้จริงเพียง 5,294 ราย          “แต่เราคาดว่ามีการทำแท้งประมาณ 3 แสนคนต่อปีจากการวิจัยครั้งล่าสุดเมื่อปี 2540 คำถามคือที่เหลือไปไหน” สุพีชา กล่าวอีกว่า เหตุผลที่ผู้หญิงยังเข้าไม่ถึงบริการในอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ ร้อยละ 15 เพราะไม่รู้จะไปรับบริการที่ไหน ร้อยละ 16.5 รู้ว่ามีบริการแต่ไม่มีเงินเข้ารับบริการ และร้อยละ 2.9 ไม่มีเงินค่าเดินทางไปรับบริการ เมื่อวิเคราะห์ปัญหาที่พบเจอ กลุ่มทำทางแจกแจงออกเป็น 5 ประการ ประกอบด้วย          1. การเข้าไม่ถึงข้อมูลบริการและสถานที่ยุติ ประชาชนและส่วนหนึ่งก็เป็นเจ้าหน้าที่เองที่ไม่รู้ว่ากฎหมายเปลี่ยน ไม่ได้รับมอบหมายนโยบายจึงไม่รู้ว่าจะปฏิบัติอย่างไรเมื่อมีผู้มาขอรับบริการ ประชาชนจึงไม่รุ้ว่าจะไปรับบริการได้ที่ไหน บริการเป็นอย่างไร         2. จำนวนสถานบริการมีไม่เพียงพอ ทำให้ต้องเดินทางไกลเพื่อเข้ารับบริการ สุพีชาบอกว่าในประเทศไทยมีโรงพยาบาล 1,300 แห่ง มีโรงพยาบาลและคลินิกที่ขึ้นทะเบียนให้บริการทำแท้งปลอดภัย 149 แห่ง แต่ให้บริการจริงเพียง 91 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นของเอกชน 21 แห่ง เปิดให้บริการใน 38 จังหวัดเท่านั้น          “เงื่อนไขที่โรงพยาบาลตั้งขึ้นเป็นเองก็แตกต่างกันและเป็นอุปสรรค” สุพีชา อธิบาย “ค่าบริการแตกต่างกัน บางแห่งต้องผ่านคณะกรรมการ บางแห่งให้บริการเฉพาะคนในจังหวัดหรืออำเภอเท่านั้น บางที่ให้บริการเฉพาะวัยรุ่นเท่านั้น และวัยรุ่นต่ำกว่า 20 ปีต้องมีผู้ปกครองซึ่งขัดกับประกาศกระทรวงสาธารณสุข สถานบริการมีน้อยมากบวกกับถึงรู้แล้วว่าที่ไหนให้บริการก็ใช่ว่าจะได้รับบริการ ถ้าไม่เข้าเกณฑ์ ผลคือต้องเดินทางไกลเพื่อเข้ารับบริการ”          3. ผู้รับบริการจำนวนไม่น้อยมีปัญหาค่าใช้จ่ายในการรับบริการ ค่าเดินทาง ค่าอาหารระหว่างเดินทาง ค่าผ้าอนามัย ค่าใช้จ่ายของคนที่มาด้วย ค่าจ้างคนดูแลลูก ค่าบริการปรึกษาด้านจิตใจ และสูญเสียรายได้จากการหยุดงานหรือบางรายที่ทำงานไม่ให้หยุด          “การรับบริการเป็นเรื่องชนชั้น คนรวยจะมีหนทางเยอะแยะ เลือกรับบริการได้เร็ว ดีที่สุด สบายใจ สบายตัวที่สุด แต่ถ้าคุณตกงาน เป็นนักเรียนนักศึกษา ทำงานโรงงาน ทางเลือกของคุณมันตีบตันมากและเราก็พบว่าคนเหล่านี้เป็นคนส่วนใหญ่ที่เข้ามารับคำปรึกษา”          4. พบว่าผู้รับบริการถูกปฏิเสธ ไม่มีการส่งต่อ ถูกตีตรา เลือกปฏิบัติ และพบเจอบริการที่ไม่เป็นมิตร          5. ผู้ให้บริการถูกตีตรา มือเปื้อนเลือด เห็นแก่เงิน ไร้จริยธรรม เนื่องจากภาครัฐขาดการประชาสัมพันธ์ การถูกตีตรายังมีอยู่อย่างรุนแรง สุพีชา กล่าวว่า          “อย่าปล่อยให้หมอที่ให้บริการต้องเคว้งคว้าง การประชาสัมพันธ์คือการคุยกับสังคมว่ารัฐบาลสนับสนุน กฎหมายสนับสนุน และไม่จำเป็นต้องมีกฎกระทรวง สุพีชายังเสนออีกว่านโยบายของกระทรวงสาธารณสุขต้องมีความชัดเจน ทำงานร่วมกันกับโรงพยาบาลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมายและสามารถปฏิบัติได้ตามกฎหมาย ต้องเผยแพร่ข้อมูลที่ตั้ง เงื่อนไข ค่าใช้จ่าย และสิทธิในการทำแท้งให้ประชาชนทราบ สถานบริการที่ไม่ต้องการบริการจำเป็นต้องส่งต่อ          และจำเป็นต้องมีการกำหนดงบประมาณให้เพียงพอ ขยายจำนวนสถานบริการให้ครอบคลุมโดยเฉพาะต้องมีแผนงาน งบประมาณเพื่อปรับทัศนคติของผู้ให้บริการ มีการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นประโยชน์ต่อผู้รับบริการ จัดให้มีบริการใช้ยาด้วยตัวเองและโทรเวชกรรมเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง          รอดูกันว่าสิ้นปีนี้ระบบราชการไทยจะผลักประกาศกระทรวงสาธารณสุขออกมาได้หรือไม่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนมกราคม 2560ย้ายค่ายใช้เบอร์เดิมภายใน 3 วันไม่เป็นจริงนพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ร้องเรียนปัญหาทางด้านการให้บริการในประเทศไทยปี 2559 ระบุปัญหา เรื่องการย้ายค่ายเบอร์เดิม ถูกร้องเรียนเพิ่มขึ้นมากที่สุด จำนวนเรื่องร้องเรียนด้านโทรคมนาคมปี 2559 ทำลายสถิติเดิม ด้วยจำนวนกว่า 4,200 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีเพียง 2,913 เรื่อง เกือบ 50% โดยประเด็นเรื่องร้องเรียนที่เพิ่มกว่าพันเรื่องนั้นส่วนใหญ่เป็นปัญหาบริการคงสิทธิเลขหมาย (ย้ายค่ายใช้เบอร์เดิม) ซึ่งแม้ว่า กสทช. จะกำหนดให้การย้ายค่ายต้องแล้วเสร็จใน 3 วันทำการก็ตาม แต่ผู้บริโภคเกินกว่าครึ่งก็ไม่สามารถย้ายค่ายได้ใน 3 วัน หรือถูกปฏิเสธการย้ายค่าย ในประเด็นเรื่องการย้ายค่าย สาเหตุมาจากปัญหาการช่วงชิงผู้บริโภคที่ซิมจะดับเมื่อต้นปี 2559 ด้วยช่องทางบริการคงสิทธิเลขหมายนั้น ถือเป็นกลไกการแข่งขันที่สร้างตัวเลือกให้แก่ผู้บริโภคที่ซิมจะดับว่า จะเลือกใช้บริการค่ายไหนดี แต่ปัญหาก็เกิดเพราะมีการเปิดช่องทางย้ายค่ายผ่านร้านสะดวกซื้อ เพียงรูด หรือเสียบบัตรประชาชนกับเครื่องอ่านบัตร ซึ่งโดยปกติธุรกรรมต่างๆ มักจะต้องมีการเซ็นชื่อพิสูจน์ตัวบุคคลร่วมกับการแสดงบัตรประชาชน จึงเกิดปัญหาความชอบด้วยกฎหมายของช่องทางดังกล่าวตามมา ทำให้เกิดการปฏิเสธการโอนย้ายจำนวนมหาศาล และเกิดกรณีการใช้บัตรประชาชนโอนย้ายโดยเจ้าของไม่ได้ยินยอม ซึ่งขณะนี้ กสทช.ได้ดำเนินการออกแนวปฏิบัติในการย้ายค่ายใหม่ให้สะดวกและรัดกุมยิ่งขึ้น โดยจะเริ่มมีผลในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้กรมแพทย์เตรียมเปิด “สถานดูแลคนแก่” เช้าไปเย็นกลับ พร้อมจัดทำแนวทางมาตรฐานการดูแลผู้สูงอายุกรมการแพทย์เตรียมเปิด “สถานดูแลผู้สูงอายุ” แบบเช้าไปเย็นกลับ ภายในปี 2560 รับดูแลผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้าน ชนชั้นกลาง ก่อนถอดบทเรียนจัดทำเป็นแนวทางมาตรฐานสถานดูแลผู้สูงอายุระดับประเทศ ให้เอกชนนำไปเป็นแบบ หากทำได้ออกใบรับรองการันตีทันที              นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านราว 2% ของจำนวนประชากรผู้สูงอายุทั้งประเทศ ซึ่งกลุ่มผู้สูงอายุติดบ้านจะมีอาการป่วยบ้าง แต่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้และในช่วงกลางวันมักต้องอยู่คนเดียว ไม่มีคนดูแล เนื่องจากลูกหลานออกไปทำงาน แต่ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ไม่ต้องการที่จะไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ ทั้งนี้ กรมฯ เตรียมที่จะจัดตั้งสถานดูแลผู้สูงอายุในเวลากลางวัน (Day Care) โดยใช้พื้นที่บริเวณอาคารของกรมภายในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อเป็นสถานที่ต้นแบบในการดูแลผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านดังกล่าว โดยจะเป็นลักษณะการดูแลแบบเช้าไปเย็นกลับ ลูกหลานสามารถมาส่งในตอนเช้าและมารับกลับในตอนเย็นเหมือนกับสถานดูแลเด็กเล็ก บริการนี้จะใช้เวลาประมาณ 1 ปี เพื่อถอดบทเรียนและจัดทำเป็นมาตรฐานประเทศในเรื่องสถานดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งภาคเอกชนสามารถนำไปดำเนินการต่อได้ “นอกจากนี้ กรมฯ ยังเตรียมที่จะจัดหลักสูตรอบรมผู้ดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้บุคคลทั่วไปที่สนใจเข้ารับการอบรม เพื่อที่จะเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุที่มีการรับรองการผ่านการอบรมที่จะมีใบการันตีจากกรมการแพทย์ด้วย” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวกรมอนามัยเตรียมปฏิบัติการเพื่อให้เด็กไทยสูง ด้วยนมวันละ 2 แก้วกรมอนามัย ตั้งเป้าเพิ่มความสูง รูปร่างสมส่วน “เด็กวัยเรียน” ชี้ ปี 2579 เพศชายสูงเฉลี่ย 163 ซม. เพศหญิง 164 ซม. เผยดื่มนมคู่อาหารครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายแบบมีแรงกระแทก นอนหลับสนิท 8 - 10 ชั่วโมง ช่วยเพิ่มความสูงได้ เล็งเพิ่มการดื่มนมเด็กเป็นวันละ 2 แก้ว “การศึกษาวิจัยในต่างประเทศหลายแหล่ง พบว่า การดื่มนมมีความสัมพันธ์กับความสูงของเด็ก และล่าสุด ในปี 2555 สถาบันประวัติศาสตร์สังคมนานาชาติ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ศึกษาวิจัยเรื่องการดื่มนมที่มีผลต่อความสูงของเด็กวัยเรียนใน 7 ประเทศ พบว่า การดื่มนมวันละ 245 มิลลิลิตร ร่วมกับการกินอาหารในปริมาณที่เหมาะสมกับวัย ทำให้ส่วนสูงเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 0.4 เซนติเมตรต่อปี อย่างมีนัยสำคัญ”คอบช.  เสนอรัฐบาลเร่งมีองค์กรคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ตามรัฐธรรมนูญองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน(คอบช.) เสนอรัฐบาลเร่งมีองค์กรคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคที่มีพลัง ตามมาตรา 46 แห่งรัฐธรรมนูญ เผยหนึ่งปีที่ผ่านมามีผู้บริโภคร้องเรียนจำนวน 3,622 เรื่อง เป็นปัญหาด้านบริการสาธารณสุข การเงินการธนาคาร และบริการสาธารณะมากที่สุดจากองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 11 มกราคม ผศ.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองประธาน คอบช. ระบุปีที่ผ่านมา สามารถช่วยเหลือผู้บริโภคได้เป็นจำนวนมาก จากผลงานเรื่อง ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ การเปลี่ยนบัตรโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดิน การควบคุมราคาจำหน่ายก๊าซหุงต้มทั่วประเทศ การเสนอให้มีกฎหมายคุ้มครองสินค้าใหม่ที่ชำรุดบกพร่อง (Lemon Law) และความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนในการควบคุมการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย และอื่นๆ ในส่วนของสถิติการร้องเรียนในปี 2559 ที่ผ่านเข้ามาทาง คอบช. นั้น มีกรณีร้องเรียนรวมทั้งสิ้น 3,622 เรื่อง แยกเป็นปัญหาด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุขจำนวน 680 เรื่อง ปัญหาด้านการเงินการธนาคาร 626 เรื่อง ปัญหาด้านบริการสาธารณะ 553 เรื่อง ปัญหาด้านสื่อและโทรคมนาคม 54 เรื่อง ปัญหาด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ 450 เรื่อง สินค้าและบริการทั่วไป 372 เรื่อง และปัญหาที่อยู่ที่อาศัยจำนวน 38 เรื่อง ซึ่งทุกเรื่องจะมีทั้งการแก้ไขปัญหาทั้งแบบปัจเจกและถูกยกระดับขึ้นเป็นงานรณรงค์ด้านนโยบายทั้งระดับจังหวัดและระดับประเทศ  ยกตัวอย่างเรื่อง สภาผู้บริโภคจังหวัด เช่น จังหวัดพะเยา สามารถจัดตั้งสภาผู้บริโภคโดยมีรูปแบบคณะทำงานที่เป็นทางการ สามารถขับเคลื่อนงานผู้บริโภคในจังหวัดพะเยา ได้อย่างเป็นระบบ หรือที่จังหวัดเพชรบุรีมีการร่วมกันกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จัดสภาผู้บริโภคจังหวัดในประเด็นการรู้เท่าทันการโฆษณาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพเกินจริง จนเกิดเป็นคณะทำงานจัดทำข้อเสนอเพื่อสร้างมาตรการในการจัดการปัญหาดังกล่าวในระดับจังหวัดขึ้นมา  เช่นเดียวกับที่ จังหวัดสมุทรสงคราม ภาคประชาชนสามารถทำงานร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จัดสภาผู้บริโภค ในประเด็นอาหารปลอดภัย และมีนโยบายผลักดันการใช้ฉลากโภชนาการอาหารแบบสัญญาณไฟจราจรการมีสภาหรือองค์กรผู้บริโภคที่เป็นอิสระ จึงมีความสำคัญเพราะจะช่วยสนับสนุนให้เกิดองค์กรผู้บริโภคในระดับจังหวัดที่เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันด้วยการทำงานของ คอบช. สามารถสร้างองค์กรผุ้บริโภคที่เข้มแข็งได้ถึง 44 จังหวัดแล้ว  คอบช. จึงขอเสนอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการจัดตั้ง องค์กรผู้บริโภคที่เป็นอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีสถานะทางกฎหมายให้ได้ในเร็ววัน เพื่อเป็นตัวแทนของผู้บริโภคในการประสานนโยบายและดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนได้อย่างเต็มที่

อ่านเพิ่มเติม >