ฉบับที่ 251 จับตาให้ดี ยุบไม่ยุบ สถานีรถไฟหัวลำโพง

        จำข่าวใหญ่ส่งท้ายปี “ปิดตำนานหัวลำโพง” กันได้ไหม ที่กระทรวงคมนาคมตั้งเป้าจะย้ายรถไฟทุกขบวนที่เข้าออกสถานีหัวลำโพงไปเริ่มต้นใหม่ที่สถานีกลางบางซื่อ ต่อด้วยข่าวลือยุบสถานีหัวลำโพงทำเมกะโปรเจค ผุดห้างสรรพสินค้า อาคารพาณิชย์ ตลอดจนตึกสูงเสียดฟ้าท่ามกลางชุมชนโดยรอบพื้นที่เดิม  พร้อมเหตุผลความจำเป็นที่ต้องให้รถไฟทุกขบวนไปใช้ที่สถานีกลางบางซื่อ ส่วนสถานีหัวลำโพงเดิมจะถูกแทนที่ด้วยการพัฒนาพื้นที่ใจกลางเมืองให้มีความทันสมัยเป็นประโยชน์ต่อคนทุกคน โดยที่ยังคงรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ความงดงามของสถาปัตยกรรมดั้งเดิมให้คงอยู่         แต่แผนนี้กลับไม่ง่ายอย่างที่คิด ทันทีที่กระแสข่าวโยกย้ายขบวนรถไฟไปสถานีกลางบางซื่อ พร้อมภาพสถานีหัวลำโพงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตออกมาสู่สายตาการรับรู้ของสังคมแล้ว นอกจากกลุ่มทุนที่เชียร์ให้สร้างแล้ว ก็แทบไม่มีใครออกมาสนับสนุนอีกเลย ขณะที่เสียงคัดค้านจากทุกสารทิศต่างพุ่งตรงไปที่กระทรวงคมนาคมโดยไม่ได้นัดหมาย พร้อมตั้งคำถามดังๆ ว่า ปิดหัวลำโพงนี้เพื่อการพัฒนาหรือผลักภาระให้ประชาชนกันแน่ โดยเฉพาะเสียงสะท้อนของผู้คนรากหญ้าจำนวนไม่น้อยในทุกกลุ่มวัยที่ยังจำเป็นต้องใช้รถไฟชานเมืองประเภทบริการสังคมผ่านหัวลำโพงเข้าออกเมือง ไม่ว่าจะเป็นเด็กนักเรียน ข้าราชการชั้นผู้น้อย พนักงานบริษัทเอกชน ตลอดจนพ่อค้าแม่ขายที่ต้องอาศัยรถไฟเพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวัน         ที่ผ่านมาหากกลุ่มผู้ใช้บริการหลักต้องเดินทางจากรังสิตถึงหัวลำโพงด้วยรถไฟชานเมืองประเภทบริการสังคมจะเสียค่าโดยสารเพียง 6 บาทเท่านั้น ถ้ากระทรวงคมนาคมยืนยันให้จอดส่งผู้โดยสารแค่ที่สถานีกลางบางซื่อ ผู้โดยสารที่จำเป็นต้องเดินทางเข้าหัวลำโพง ต้องต่อรถโดยสารประจำทางและจะต้องเสียค่าโดยสารและเวลาเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว หรือหากจะเลือกเดินทางเข้าเมืองที่หัวลำโพงด้วยรถไฟฟ้า MRT แม้ว่าจะสะดวกสบายขึ้น ค่าโดยสารจะเพิ่มขึ้นจาก 6 บาท เป็น 46 บาท หรือมากกว่าเดิมถึง 700% เลยทีเดียว         ไม่เพียงผู้ใช้บริการรถไฟชานเมืองประเภทบริการสังคม เราไม่อาจมองข้ามชีวิตของประชาชนคนรายได้น้อยที่ต้องทำมาหากินรอบบริเวณสถานีหัวลำโพง ชีวิตพวกเขาเหล่านี้ต่างถูกนำเสนอผ่านสื่อทุกช่องทาง เพราะพวกเขาคือ คนที่เดือดร้อนที่สุด ถ้าสถานีหัวลำโพงถูกปิด         หนุนเสริมด้วยพลังของภาคประชาชน นักวิชาการ นักการเมือง และขาดไม่ได้เลย คือ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทยที่ประกาศคัดค้านการหยุดให้บริการรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง เพราะจะทำให้ประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน รวมถึงแผนการพัฒนาที่ดินสถานีรถไฟหัวลำโพงอาจไม่ชอบด้วยกฎหมายอีกด้วย         อาจเป็นไปได้ว่ากระทรวงคมนาคมคงคาดไม่ถึงว่าแผนที่ตระเตรียมมาอย่างดีนี้ จะถูกกระแสคัดค้านที่สะท้อนออกมารุนแรงและขยายวงกว้างจนเกินกว่าที่จะต้านทานไหว เพราะอย่าลืมว่าหัวลำโพงไม่ใช่หมอชิตที่ใครคิดจะทำอะไรก็ทำได้ แต่หัวลำโพงเป็นมากกว่าแค่สถานีรถไฟเก่า หัวลำโพงคือพื้นที่แห่งประวัติศาสตร์และความทรงจำ หัวลำโพงยังเป็นพื้นที่แห่งชีวิตของคนหลายกลุ่มหลายเชื้อชาติ และหัวลำโพงคือรากเหง้าการคมนาคมที่ผูกพันผู้คนและชุมชนจากทั่วทุกสารทิศมานานกว่า 100 ปี         ดังนั้นเราจึงได้ข่าวจากกระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางรางเจ้าภาพหลักว่า จะยอมถอยเปลี่ยนเกมส์เป็นคนกลางเปิดวงสาธารณะรับฟังความเห็นจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง และยืนยันว่าจะไม่มีการทุบและปิดสถานีหัวลำโพงแล้ว         อย่างไรก็ตามหลายคนที่ติดตามก็ยังไม่เชื่อเพราะข่าวการยุบสถานีรถไฟหัวลำโพงนั้น ภายนอกอาจจะถูกสื่อสารต่อสังคมให้เป็นเรื่องของการพัฒนาระบบคมนาคมทางรางเพื่อประโยชน์ของคนทั้งมวล รวมถึงการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟหัวลำโพงให้มีความทันสมัยเป็นชุมทางเศรษฐกิจใหม่ สร้างรายได้ให้กับชุมชนรอบหัวลำโพงและแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง แต่เบื้องหลังก็เต็มไปด้วยภาพมายาผสมกับความเคลือบแคลงสงสัยถึงผลประโยชน์อันมหาศาลของกลุ่มทุน ที่จะมาทำให้สมดุลของพื้นที่กับชุมชนเปลี่ยนไป กลายเป็นช่องว่างความเหลื่อมล้ำเหมือนเช่นหลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานครที่เปลี่ยนไปเมื่อความเจริญทางวัตถุเชิงพาณิชย์เข้ามาแทนที่         อีกทั้งกระทรวงคมนาคมยังแสดงออกถึงความต้องการให้ทุกอย่างเป็นไปแผน ด้วยการยื้อเวลาหาทางออกแบบเนียน ๆ ว่าจะนำข้อมูลการรับฟังความคิดเห็นไปปรับปรุงพัฒนา แต่เชื่อเถอะหากจะพัฒนาก็เป็นการพัฒนาแบบมีธงปักไว้แล้ว เพราะเมื่อปัจจุบันสถานีกลางบางซื่อถูกสร้างเสร็จพร้อมใช้งาน และที่สำคัญสถานีกลางบางซื่อได้ถูกวางตัวให้กลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางรางที่ใหญ่สุดในอาเซียนแล้ว เมื่อเป็นแบบนี้สถานีหัวลำโพงจึงแทบไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเป็นศูนย์กลางชุมทางรถไฟแบบเดิมอีกต่อไป           ขณะนี้เมื่อกระทรวงคมนาคมยังยุบสถานีหัวลำโพงตามแผนไม่ได้ ขั้นตอนต่อจากนี้ก็ต้องลดบทบาทความสำคัญให้น้อยลง ด้วยการโยกย้ายขบวนรถไฟให้ออกเริ่มต้นทางที่สถานีกลางบางซื่อแทน ซึ่งอาจจะเริ่มขยับจากกลุ่มรถไฟทางไกลประเภทเชิงพาณิชย์ก่อน ส่วนกลุ่มรถไฟชานเมืองประเภทบริการสังคม เชื่อว่ายังคงเป็นโจทย์ใหญ่ของกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานในสังกัดที่ต้องคิดทบทวนให้ดี เพราะขึ้นชื่อว่าประเภทบริการสังคมที่ส่วนใหญ่คนใช้บริการคือคนรายได้น้อย ถ้ากระทรวงคมนาคมตัดสินใจผิดพลาด นอกจากจะไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นแล้ว แผนการพัฒนาระบบขนส่งทางรางที่ตั้งเป้าหมายไว้ก็อาจจะล้มไม่เป็นท่า เพราะคิดผิดก้าวพลาดไปนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >