ฉบับที่ 274 สิริลภัส กองตระการ: จากวันที่หัวใจแบกรับความเจ็บปวดไม่ไหวสู่การเป็นเสียงเพื่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

        โรคซึมเศร้าเป็นเรื่องส่วนบุคคลจริงหรือ? มันเป็นความอ่อนแอก็แพ้ไปของคนคนหนึ่งเท่านั้นหรือไม่? คนที่ฆ่าตัวตายเพราะโรคซึมเศร้าเป็นคนคิดสั้นหรือ? ฯลฯ ในสังคมไทยมีคำถามมากมายที่ผลักไสโรคซึมเศร้าให้เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ไม่เข้มแข็ง เปราะบาง เป็น loser เป็นคนที่ไม่ประสบความสำเร็จ ยังมีตราประทับอีกอย่างชิ้นที่สังคมและคนที่ไม่เข้าใจพร้อมจะแปะให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า         ถ้าเป็นอย่างที่กล่าวมาข้างต้น เหตุใดจึงยังมีมหาเศรษฐี ดารา นักร้องที่ประสบความสำเร็จฆ่าตัวตายเพราะโรคซึมเศร้า สิ่งนี้อาจบอกเป็นนัยๆ ว่าโรคซึมเศร้าไม่ใช่โรคของคนขี้แพ้หรืออ่อนแอ แต่มีปัจจัยที่ซับซ้อนกว่านั้นมาก         “คนไม่ป่วยไม่รู้ มันเป็นทั้งความรู้สึกที่ทั้งอัดอั้นทั้งเจ็บปวด” เป็นคำพูดของ สิริลภัส กองตระการ ส.ส.พรรคก้าวไกล กรรมมาธิการสาธารณสุขสภาผู้แทนราษฎร กล่าว         เธอคือผู้ที่ลุกขึ้นอภิปรายงบประมาณประจำปี 2567 ด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าว่าจำนวนเงินไม่สอดคล้องกับขนาดของปัญหาที่ดำรงอยู่ เนื่องจากงบประมาณส่วนนี้มุ่งให้ความสำคัญกับผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติด แต่ให้ความสำคัญกับผู้ป่วยจิตเวชอื่นๆ น้อยเกินไป สิริลภัสอภิปรายในสภาว่า ผู้ป่วยสุขภาพจิตที่เกิดจากสารเสพติดมีจำนวน 2 แสนกว่าคน ขณะที่ผู้ป่วยทางสุขภาพจิตอื่นๆ มีจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน แตกต่างกันถึง 5 เท่า โดยในส่วนผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ปีล่าสุดมีมากถึง 360,000 คน         อีกทั้งงบประมาณปี 2567 ของกรมสุขภาพจิตได้รับก็เป็นเพียงร้อยละ 1.8 ของงบกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด ทั้งที่กรมสุขภาพจิตของบประมาณไป 4,300 ล้านบาท แต่ได้รับจัดสรรงบมาเพียง 2,999 ล้านบาท เรียกว่าโดนตัดไปมากกว่าร้อยละ 69.4         ทำไมสิริลภัสผู้เคยครองตำแหน่งรองชนะเลิศอันดับ 2 มิสทีนไทยแลนด์ ประจำปี 2546 ผ่านเข้ารอบ 12 คนสุดท้ายบนเวทีการประกวดมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส 2552 และนักแสดง ก่อนจะผันตัวสู่สนามการเมืองจึงใส่ใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ         นั่นก็เพราะเธอเคยผ่านประสบการณ์การเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่พยายามฆ่าตัวตาย โรคที่คนไม่เป็น (อาจ) ไม่มีวันเข้าใจความเจ็บปวดของโรคนี้         “หมิวยังจำวันที่ทำร้ายตัวเอง วันที่พยายามจะจบชีวิตตัวเองได้เป็นอย่างดี เพราะเราไม่อยากเจ็บที่ใจอีกแล้ว เจ็บที่ใจไม่ไหวแล้ว หมิวขอไปโฟกัสความเจ็บตรงอื่นบ้างได้มั้ย เราแบกรับความรู้สึกอารมณ์ที่บีบอัดในใจเราไม่ไหวอีกแล้ว เราพยายามตะเกียกตะกายเอาชีวิตรอดจากความรู้สึกที่ดําดิ่งแล้ว เหมือนคนที่กําลังจมน้ำแล้วมีหินถ่วงตลอดเวลา แต่ ณ วันนั้นเรารู้สึกว่าเราแบบตะเกียกตะกายยังไงเราก็ขึ้นมาหายใจไม่ได้สักทีก็เลยอยากปล่อยทุกอย่างไปเลย” ในวันที่หม่นมืด         สิริลภัสได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่ามีแนวโน้มจะเป็นโรคซึมเศร้าจากกรรมพันธุ์ที่ถูกส่งต่อมาจากมารดา ในที่สุดเธอก็ต้องเผชิญกับมันด้วยตัวเองจริงๆ เธอเข้ารับการรักษามาเกือบ 10 ปีแล้ว นับจากวันที่เริ่มมีอาการนอนไม่หลับ ใจหวิว เครียดจนทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ หลังจากทานยาและรับการบำบัดผ่านไประยะหนึ่งอาการก็ดีขึ้นเธอจึงหยุดยาเอง ซึ่งนี่เป็นข้อห้ามที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่รู้หรือรู้แต่ก็เลือกที่จะหยุด มันทำให้อาการของเธอเหวี่ยงไหวกลับมาหนักหน่วงกว่าเดิม         “ภายในระยะเวลาประมาณหนึ่งปีก็ทําให้อาการแย่ลงกว่าเดิม แล้วก็ไปเจอกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เข้ามาณตอนนั้น เลยทําให้อาการกลับมาค่อนข้างแย่ลงกว่าเดิมในช่วงประมาณสามถึงสี่ปีที่แล้ว ช่วงนั้นเป็นช่วงที่หนักมาก ไปหาหมอบ่อยมาก ค่าใช้จ่ายสูง”        เธอจึงหาคลินิกเอกชนที่คิดค่าบริการถูกลงเพื่อลดภาระส่วนนี้ ทานยาต่อเนื่อง รับการบำบัด สร้างแรงจูงใจโดยการหาเป้าหมายให้ชีวิต อาการของเธอจึงดีขึ้นถึงปัจจุบัน         “แต่ก็ยังต้องทานยาเพื่อที่จะเมนเทนตัวเองไปเรื่อยๆ แล้วก็พูดคุยกับจิตแพทย์เพื่อให้คอยประเมินเพราะบางทีเรามาทํางานการเมืองด้วยนิสัยเราเป็นคนชอบกดดันตัวเองว่าอยากให้ประสิทธิภาพของงานออกมาดี เราอยากแก้ปัญหานี้ให้ได้ มันก็จะมีความใจร้ายกับตัวเองอยู่บ้าง คุณหมอก็ให้ยามาเพื่อช่วยลดความเครียด คลายวิตกกังวล ซึ่งตอนนี้หมิวรู้สึกว่ามันค่อนข้างคงที่แล้ว ส่วน pain point ที่เราเจอน่าจะเป็นเรื่องค่ารักษานี่แหละเพราะว่าครั้งหนึ่งก็เกือบหลักหมื่น ต่ำสุดก็เป็นหลักหลายพัน” สวัสดิการสุขภาพเชื่องช้าและไม่ครอบคลุม         ‘ฉลาดซื้อ’ ถามว่าทำไมเธอจึงไม่ใช่สิทธิสวัสดิการสุขภาพที่มีอยู่ คำตอบที่ได้คงเหมือนกับผู้ป่วยคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคใดนั่นคือต้องใช้ระยะเวลารอนานกว่าจะได้พบแพทย์เฉพาะทาง เธอยกตัวอย่างแม่ของเธอที่ใช้สิทธิข้าราชการในโรงพยาบาลรัฐ เมื่อพบจิตแพทย์ครั้งหนึ่งแล้ว นัดครั้งต่อไปคืออีก 6 เดือนข้างหน้า แต่ยาที่ได้รับมีผลข้างเคียงค่อนข้างมากจนต้องเลือกว่าจะหยุดยาหรือจะทานต่อไปอีก 6 เดือนเพื่อพบจิตแพทย์         จากประสบการณ์ข้างต้นเธอจึงเลือกใช้บริการคลินิกเอกชนที่ไม่ต้องรอนานและได้พบแพทย์เพื่อติดตามอาการทุกอาทิตย์ เพราะด้วยอาชีพนักแสดงสภาวะจิตใจย่อมส่งผลต่อการทำงาน เธอจึงไม่สามารถรอและอยู่กับยาที่ส่งผลข้างเคียงได้ ซึ่งต้องแลกด้วยค่ารักษาพยาบาลที่สูงกว่าเพื่อแลกกับประสิทธิภาพในการรักษา         แน่นอนว่าสำหรับคนที่ไม่มีกำลังพอก็ต้องเลือกรับการรักษาตามสิทธิที่ตนมี แต่สิทธิประโยชน์ที่ได้ก็ยังไม่ครอบคลุม สิริลภัสยกตัวอย่างสิทธิประกันสังคมว่า บางครั้งการรักษาที่มีประสิทธิภาพผู้ป่วยจะต้องพบจิตแพทย์และนักจิตวิทยาควบคู่กัน แต่สิทธิที่มีนั้นครอบคลุมเฉพาะการพบจิตแพทย์เท่านั้น ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่ออกแบบมาอย่างเหมาะสม         “หมิวอภิปรายให้เห็นตัวเลขไปแล้วว่าจํานวนผู้ป่วยจิตเวชที่เกิดขึ้นจากยาเสพติดกับจํานวนผู้ป่วยจิตเวชอื่นๆ มันต่างกันยังไง พอไปดูในงบโครงการต่างๆ ก็เป็นโครงการบําบัดรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยที่เกี่ยวกับยาเสพติดโครงการป้องกันไม่ให้เยาวชนเค้าถึงยาเสพติด คือโครงการต่างๆ เน้นหนักไปที่ผู้ป่วยจิตเวชที่เกิดจากยาเสพติด แต่ผู้ป่วยจิตเวชอื่นๆ ก็เป็นปัญหาเหมือนกัน อย่างที่ได้อภิปรายไว้ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงหลายหลายครั้งสาเหตุเกิดจากผู้ป่วยจิตเวชและผู้ป่วยคนนั้นขาดยา มีอาการหลอนแล้วก็ออกมาก่อความรุนแรง” โรคซึมเศร้าไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคล         นอกจากนี้ ตัวเลขอัตราการฆ่าตัวตายสําเร็จก็สูงขึ้นทุกปี กลุ่มสํารวจที่พยายามฆ่าตัวตายจำนวนมากเป็นวัยรุ่นต่อด้วยคนวัยทํางาน         “กลุ่มคนเหล่านี้กําลังจะเป็นบุคลากรที่ทํางานจ่ายภาษีให้กับรัฐเพื่อนำเงินมาพัฒนาประเทศต่อไป เราเห็นรัฐบาลชุดนี้ส่งเสริมเรื่องการมีบุตรเพื่อเติบโตมาเป็นบุคลากรทางสังคม ทํางาน เสียภาษี ในขณะที่มีผู้สูงวัยเยอะขึ้น แต่ปัจจุบันคุณไม่ได้มองปัญหาว่าเรามีบุคลากรที่เป็นวัยรุ่น วัยทํางาน ที่กําลังเสียภาษีให้คุณอยู่ แต่กลุ่มคนเหล่าส่วนหนึ่งที่ป่วย มีปัญหาสุขภาพจิต และจํานวนหนึ่งมีความพยายามฆ่าตัวตาย”         สิริลภัสเสริมว่าในการสำรวจกลุ่มวัยรุ่นใช้เกณฑ์อายุที่ 15 ปี แต่ปัจจุบันเด็กอายุตั้งแต่ 14 ลงไปที่ต้องพบกับการกลั่นแกล้งรังแก ความรุนแรงในครอบครัว ความกดดันและความคาดหวังจากครอบครัว และสังคมรอบข้างที่ทุกคนต่างพยายามนำเสนอชีวิตด้านดี ด้านที่ประสบความสำเร็จของตนผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ก็ยิ่งเพิ่มแรงกดดันลงบนบ่าของวัยรุ่นกลุ่มนี้โดยที่พวกเขาอาจไม่รู้ว่าเบื้องหลังภาพชีวิตกินหรูอยู่ดี 1 ภาพอาจไม่ได้สวยหรูดังที่เห็น         แต่ภาพที่เสพมันได้หล่อหลอมให้พวกเขาต้องพยายามผลักดันตัวเองให้เป็นเช่นภาพที่เห็น อยากมีชีวิตที่ดีขึ้น ตั้งเป้าหมายไว้สูง ตามค่านิยมต่างๆ ในสังคม กลุ่มวัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 15 ลงไปจึงอาจเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าที่ตกสำรวจ หมายความว่าตัวเลขผู้ป่วยซึมเศร้าอาจมีมากกว่าที่ปรากฏในผลสำรวจ         “ส่วนวัยทํางานก็เช่นเดียวกัน ตื่นเช้ามาฝ่ารถติดไปทํางาน ทํางานเสร็จหมดวันต้องฝ่ารถติดกลับบ้าน แล้วก็วนลูปเป็นซอมบี้ในทุนนิยม แล้วบางคนต้องส่งเงินกลับไปเลี้ยงดูคุณพ่อคุณแม่ที่บ้าน อย่างหมิวมีครอบครัว เราต้องดูแลครอบครัวเราด้วย ดูแลพ่อแม่ด้วย นี่คือภาวะแซนด์วิช ทุกอย่างมันกดทับเราไว้หมดเลย สุดท้ายแล้วบางคนหมดแรงจูงใจในการใช้ชีวิต ไม่มีเวลาแม้กระทั่งนั่งนิ่งๆ แล้วหายใจกับตัวเองดูว่าวันนี้ฉันทําอะไรบ้าง ฉันเหนื่อยกับอะไร เพราะแค่ต้องฝ่าฟันรถติดกลับบ้านก็หมดพลังแล้ว”         เมื่ออยู่ในภาวะเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล และหมดไฟเป็นเวลานาน คนกลุ่มนี้ก็เสี่ยงต่อการเป็นผู้ป่วยจิตเวช แต่ถ้ารับการดูแล ป้องกัน และรักษาแต่เนิ่นๆ หรือมีความรู้สามารถดูแลตัวเองได้ก่อนย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ปัญหาคือขณะนี้ระบบสาธารณสุขมีบุคลากรด่านหน้าไม่เพียงพอที่จะสร้างภูมิคุ้มกันทางใจ ด่านหน้ายังอ่อนแอ         แม้ทางภาครัฐจะพยายามพัฒนาและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้เข้าใจและเข้าถึงการใช้บริการแอปพลิเคชั่นอย่างหมอพร้อม มีแบบประเมินสุขภาพจิตด้วยตนเอง แต่จากประสบการณ์ของสิริลภัสพบว่าระบบไม่เป็นมิตรต่อการใช้งาน        “ขอโทษนะคะหมิวพยายามเข้าแอปหมอพร้อมแล้วนะ ต้องลงลงทะเบียน ใส่รหัสเลขประจําตัวประชาชน หมิวไม่รู้ว่าของคนอื่นเป็นยังไงนะ แต่จะต้องลงทะเบียนว่าแบบเกิดปีที่เท่าไหร่ต้องไปไล่ปีเอาเอง บางทีก็รู้สึกว่ามันตอบโจทย์หรือเปล่า มันออกแบบมาได้โอเคแล้วหรือยัง แต่เขาบอกว่ามีแบบประเมินในหมอพร้อมก็ถือเป็นเรื่องดี”นะคะอะย้อนกลับมาตรงบุคลากรสายด่วนสุขภาพจิต”         ส่วนสายด่วนสุขภาพจิต สิริลภัสเล่าว่าเคยให้ทีมงานที่ทําข้อมูลทดลองโทร กว่าจะมีคนรับสายต้องรอนานถึง 30นาที เธอบอกว่าคนกําลังจะตัดสินใจฆ่าตัวตายแล้ว แค่นาทีเดียวเขาอาจจะไม่รอแล้ว อีกทั้งค่าตอบแทนของบุคลากรสายด่วนสุขภาพจิตก็ได้รับเพียง 50 บาทต่อครั้งและเงื่อนไขว่าจะจ่ายเฉพาะรายที่สามารถพิสูจน์ตัวตนได้ หมายความว่าผู้ที่โทรเข้าไปต้องบอกชื่อนามสกุล หมายเลขบัตรประจําตัวประชาชนถ้าผู้ใช้บริการเพียงแค่ต้องการปรึกษา ไม่สะดวกแจ้งข้อมูล แสดงว่าบุคลากรด่านหน้าจะไม่ได้รับค่าตอบแทนใช่หรือไม่         ยังไม่พูดถึงประเด็นคุณภาพในการให้บริการ เพราะถ้าผู้ให้บริการให้คําปรึกษาแบบลวกๆ จะเกิดอะไรขึ้น จากการตรวจสอบเสียงสะท้อนการใช้บริการสายด่วนสุขภาพจิตพบปัญหาว่า หนึ่ง-รอนาน สอง-โทรไปแล้วรู้สึกดิ่งกว่าเดิมหรือได้รับการให้คําปรึกษาที่ไม่ได้ทําให้ดีขึ้น เธอจึงเสนอให้ต้องพัฒนาทักษะความสามารถของบุคลากรด่านหน้าและเพิ่มตอบแทนเพื่อสร้างแรงจูงใจ เพิ่มบุคลากร         “และมันไม่ควรจบแค่นี้ ควรจะมีเซสชั่นอื่นๆ ที่ทําให้คนที่รู้สึกว่าชั้นอยากจะได้รับการรักษาหรือได้รับการบําบัด มีทางเลือกให้เขาเข้าถึงด้วย ซึ่งปัจจุบันนี้ยังมีน้อยมาก ทีนี้พอผ่านบุคลากรด่านหน้าไปแล้วถ้าจะต้องส่งถึงจิตแพทย์จริงๆ ก็พบอีกว่าจิตแพทย์ในประเทศไทยก็มีน้อยมากและกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพ”         ตัดมาที่ภาพในต่างจังหวัด กรณีต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลศูนย์ซึ่งอาจอยู่ไกลจากบ้านมาก ทำให้มีต้นทุนด้านค่าเดินทางสูงเพราะระบบขนส่งสาธารณะในต่างจังหวัดไม่ครอบคลุม         “เสียค่าเดินทางไม่พอยังเสียเวลาอีก กว่าจะหาหมอได้แต่ละครั้งคือรอคิวนานมาก ย้อนกลับไปที่ประเด็นแรกเลยว่าถ้ายามีเอฟเฟคก็ต้องเหมือนรีเซ็ตระบบการรักษาตัวเองใหม่ ซึ่งทําให้การเข้าถึงบริการการรักษาปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนมีน้อยและจํากัดมาก ทําให้จํานวนตัวเลขผู้ป่วยที่มีอยู่เพิ่มมากขึ้น เพราะเราต้องมองว่าผู้ป่วยหนึ่งคนกว่าที่เขาจะเข้ารับการบําบัดรักษาฟื้นฟูมันไม่สามารถประเมิน เพราะมันคือเรื่องความรู้สึก มันต้องประเมินร่วมกันระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์หรือนักจิตวิทยาที่จะต้องทํางานควบคู่กันไป ซึ่งต้องใช้เวลา”         ทันทีที่ผู้ป่วยหลุดออกจากระบบเท่ากับว่าอัตราการป่วยยังคงอยู่หรือแม้แต่ผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดฟื้นฟูจนสามารถใช้ชีวิตปกติได้ก็ใช่ว่าจะไม่กลับมาป่วยอีก เพราะหากเจอเหตุการณ์ที่กระตุ้น (trigger) อารมณ์ความรู้สึกก็สามารถป่วยซ้ำได้ สิริลภัสจึงเห็นว่าถ้าสามารถเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์หรือบุคลากรด่านหน้าได้มากก็จะช่วยป้องกันไม่ให้จํานวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นและเพิ่มจำนวนผู้ที่กลับมาใช้ชีวิตปกติได้มากขึ้น โดยต้องคำนึงถึงว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเองก็มีความหลากหลายทั้งด้านเพศ อายุ สถานภาพ ชาติพันธุ์ การศึกษา การมีบุคลากรที่เพียงพอจึงเป็นแนวทางแรกที่จะโอบรับความหลากหลายได้         สิริลภัสได้รับข้อมูลล่าสุดจากรองอธิบดีกรมสุขภาพจิตว่าจะมีทุนเพื่อผลิตจิตแพทย์เพิ่มขึ้นเป็น 50-70 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยเพิ่มจำนวนจิตแพทย์เป็น 1.8 คนต่อประชากรแสนคนจากเดิมที่อยู่ประมาณ 1.2 ต่อประชากรแสนคน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขข้างต้นก็ยังต่ำกว่าเกณฑ์ที่ควรจะเป็น ยังไม่นับว่าต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างนานกว่าจะผลิตจิตแพทย์ได้ 1 คน         นอกจากปัญหาการผลิตบุคลากรสาธารณสุขแล้ว ปัจจุบันยังมีนักบำบัดที่สามารถดูแลสุขภาพจิตให้แก่ผู้มาใช้บริการได้ แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการมอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพให้แก่คนกลุ่มนี้ทำให้ไม่สามารถตั้งสถานประกอบวิชาชีพเองได้ ทั้งที่นักบำบัดเหล่านี้ถือเป็นด่านหน้าอีกด่านหนึ่งที่ช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพจิต         ถึงกระนั้น การบำบัดหลากหลายรูปแบบที่มีอยู่ตอนนี้ก็มีราคาค่อนข้างสูง สิริลภัสคิดว่าถ้าสามารถนำการบำบัดต่างๆ เข้าสู่ระบบสวัสดิการสุขภาพได้ย่อมดีที่สุดสําหรับผู้ป่วย เธอยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าการที่ค่าบริการการบำบัดยังสูงอยู่เพราะผู้ให้บริการยังมีน้อย ขณะที่ผู้ต้องการใช้บริการมีมาก ราคาจึงเป็นไปตามกลไกตลาด         “หมิวเชื่อว่าราคาจะถูกลงกว่านี้ได้ถ้ามีมากขึ้น การออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจะทําให้ซัพพลายเพิ่มมากขึ้น คือตอนนี้เรามีนักบําบัด แต่เขาต้องไปแปะตัวเองอยู่กับคลินิกหรือสถานที่ใดสักที่หนึ่งเพราะเขาไม่สามารถเปิดสถานที่บําบัดของตนได้ พอเป็นแบบนี้มันก็จะนําไปสู่การเกิดลัทธิต่างๆ เพราะเมื่อเข้าเซสชั่นบำบัดไปขุดเจอปมในใจเข้า ผู้ใช้บริการก็รู้สึกว่าคนนี้นี่แหละที่นําแสงสว่างมาให้ แล้วก็กลายเป็นลัทธิบูชาตัวบุคคลไปเลย” ความหวัง         สิริลภัสแสดงความเห็นอีกว่าต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดรับฟังเสียงจากประชาชน เพื่อตอบสนองให้ตรงกับความต้องการที่แท้จริง เช่น ควรเพิ่มยาที่มีประสิทธิภาพและมีอาการข้างเคียงน้อยกว่าเข้าไปในบัญชียาหลักแห่งชาติซึ่งจะช่วยลดภาระค่ายาของผู้ป่วย         จากทั้งหมดนี้จึงกล่าวได้ว่าระบบสวัสดิการสุขภาพที่มีอยู่เวลานี้ไม่เพียงพอในการรับมือปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนที่กำลังเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงต้องผลักดันทั้งเชิงนโยบายของภาครัฐและการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่สังคมในวงกว้าง         “เราอยากเห็นการจัดสรรงบที่ตรงจุด ตอนนี้เราควรให้ความสําคัญกับการทํายังไงก็ได้ให้ประชาชนที่เป็นแล้วเข้าถึงการรักษาได้มากที่สุด ไม่เพิ่มจํานวนผู้ป่วย และลดจํานวนผู้ป่วยที่มีอยู่เดิม”         โรคซึมเศร้าไม่ใช่ปัญหาเชิงปัจเจกเพียงลำพัง หากมีปัจจัยแวดล้อมทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ระบบบริการสาธารณสุข หรือแม้กระทั่งระบบขนส่งสาธารณะ การจะจัดการปัญหาทั้งระบบพร้อมๆ กันย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย         สิ่งที่เราต้องการมากๆ เวลานี้อาจจะเป็น ‘ความหวัง’ เพราะหัวใจมนุษย์แตกสลายเองไม่ได้หากไม่ถูกทุบทำลายจากภายนอก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 ความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2562

องค์กรผู้บริโภค และ ETDA จับมือผู้ประกอบการ ทำ MOU ซื้อขายออนไลน์ปลอดภัย        19 กันยายน องค์กรผู้บริโภค และ ETDA จับมือผู้ประกอบการ ทำ MOU ซื้อขายออนไลน์ปลอดภัย หวังคุ้มครอง เยียวยาผู้บริโภคจากการถูกหลอก         คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย บริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด บริษัท แอลเอ็นดับเบิ้ลยู จำกัด และบริษัท บิวตี้ นิสต้า จำกัด ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง “การคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการในตลาดออนไลน์” ณ ห้อง 201 ชั้น 2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมี นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว         โดยนายณัฏฐชัย ศรีรุ่งสุขพินิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้แทนรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ที่มาของความร่วมมือในครั้งนี้เกิดจากองค์กรผู้ร่วมลงนามและพยานทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคในการซื้อขายออนไลน์ จึงร่วมกับ ETDA และผู้ประกอบการออนไลน์ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการในตลาดออนไลน์” นี้ขึ้น เพื่อเป็นกรอบในการทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกัน ทำให้การซื้อขายออนไลน์มีความปลอดภัย น่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น         ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ความร่วมมือในการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ซื้อขายออนไลน์ในครั้งนี้ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างองค์กรผู้บริโภค หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการตลาดออนไลน์หลายครั้ง เพื่อให้เกิดระบบและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการซื้อขายออนไลน์ ซึ่งบันทึกความร่วมมือนี้จะคลอบคลุมสาระสำคัญทั้งหมด 7 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการตรวจสอบร้านค้าที่ร่วมจำหน่ายสินค้าหรือบริการ 2. ด้านการแสดงข้อมูลของร้านค้าที่ร่วมจำหน่ายสินค้าหรือบริการ 3. ด้านการมีระบบให้ข้อมูลจำเป็นแก่ผู้บริโภค 4. ด้านระบบรักษาความปลอดภัยทางการเงิน โดยมีระบบ “คนกลาง” 5. ด้านนโยบายความเป็นส่วนตัว 6. ด้านการมีช่องทางร้องเรียน และระบบติดตามเรื่องร้องเรียน และ 7. ด้านการมีนโยบายความพึงพอใจ การคืนสินค้าและการเยียวยาแก่ผู้บริโภค          ขณะที่นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า ผลสำรวจของ ETDA พบว่า มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซ เพิ่มสูงขึ้น จาก 2.7 ล้านล้านบาทในปี 2560 เป็น 3.2 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน ส่วนบีทูซี (B2C) ของประเทศไทยก็สูงเป็นอันดับที่ 1 ของอาเซียน และเมื่อเทียบมูลค่าระหว่างปี 2559 กับปี 2560 พบว่า มีมูลค่าเพิ่มถึงกว่า 1 แสน 6 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อมั่นในเทคโนโลยี ระบบอีเพย์เมนท์ (e - Payment) ที่สะดวกมากขึ้น การขนส่งที่รวดเร็ว ทำให้คนหันมานิยมซื้อของออนไลน์สูงขึ้น ท่ามกลางการทำธุรกรรมทางออนไลน์ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด กลับพบปัญหา การโกง ฉ้อฉล เอารัดเอาเปรียบผู้โภคอย่างต่อเนื่อง        จากสถิติศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ (1212 OCC) พบว่า ในปี 2560 มีการร้องเรียนจำนวน 9,987 ครั้ง และเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในปี 2561 ที่พบเรื่องร้องเรียนสูงถึง 17,558 ครั้ง เฉลี่ย 1,463 ครั้งต่อเดือน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการซื้อแล้วไม่ได้รับสินค้า สินค้าไม่ตรงตามสเปกที่ตกลง สินค้าผิดกฎหมาย ไม่มีมาตรฐาน ซึ่งการลงนามครั้งนี้จะเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต  เผย “บุหรี่ไฟฟ้า” ลดสูบไม่เกิน 10%        การประชุมการขับเคลื่อนเชิงนโยบายการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทย โดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล เผยผู้ที่นำบุหรี่ไฟฟ้ามาเป็นทางเลือกเพื่อเป็นตัวช่วยเลิกบุหรี่นั้น จากข้อมูลพบว่าผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีอัตราการเลิกบุหรี่เพียงร้อยละ 5-9และหากคนที่สูบบุหรี่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นตัวช่วยเลิกบุหรี่เทียบกับคนที่ไม่ได้ใช้ โอกาสเลิกบุหรี่ยังลดลงไปกว่าเดิมถึง 27% (ผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าในตลาดมากกว่า 95% มีสารนิโคตินเป็นส่วนผสมอยู่ในสารน้ำ ซึ่งทำให้ติดสารนิโคตินได้)        ด้าน ภญ.ดร.อรลักษณ์ พัฒนาประทีป คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า จากการประมาณค่าความสูญเสียที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้าในเชิงเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข พบว่า ผลกระทบจากค่าใช้จ่ายในการรักษาและค่าเสียโอกาสในการเกิดโรคต่อปีเท่ากับ  534,571,710 บาท ซึ่งเป็นความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์และสุขภาพของเยาวชนและประชาชนไทยที่ต้องแบกรับภาระจากบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์         ที่ประชุมจึงได้เสนอความเห็นเพื่อการคงไว้ซึ่งมาตรการห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า  ห้ามขาย หรือให้บริการ ตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 ซึ่งกำหนดโทษสำหรับผู้ประกอบธุรกิจทั่วไป ให้จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ที่กระทำผิดเป็นผู้ประกอบธุรกิจในฐานะผู้ผลิต ผู้สั่ง หรือผู้ที่นำเข้ามาเพื่อขาย ต้องรับโทษเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ1 ต.ค. นี้ กระทรวงสาธารณสุขให้ผู้ป่วยไปรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านได้         ต้นเดือนตุลาคม 2562 นี้ กระทรวงสาธารณสุขจะเริ่มดำเนินนโยบายลดความแออัดของโรงพยาบาล โดยให้ผู้ป่วยสามารถนำใบสั่งยาจากแพทย์ไปรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านได้ เพื่อลดเวลารอคิวรับยาในโรงพยาบาลและเพิ่มความสะดวกสบายแก่ประชาชนมากขึ้น หากเข้าเกณฑ์ 4 เงื่อนไข ดังนี้ (1) ใช้สิทธิ์บัตรทอง (2) ป่วยด้วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด หรือโรคทางจิตเวช (3) แพทย์วิจัยฉัยแล้วว่าผู้ป่วยสามารถรับยาที่ร้านยาได้ และ (4) ผู้ป่วยยินดีไปรับยาที่ร้านยา เริ่มนำร่องในโรงพยาบาล 50 แห่ง และร้านยาที่ได้มาตรฐานกว่า 500 ร้านทั่วประเทศ        ดูรายชื่อร้านยาที่เข้าร่วมโครงการได้ที่        https://www.nhso.go.th/FrontEnd/page-contentdetail.aspx?CatID=MTI4OA%3D%3D ป.ป.ส. เตือน ระวังตกเป็นเหยื่อขนส่งยาทางพัสดุไปรษณีย์         พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล รองเลขาธิการ ป.ป.ส. เตือนประชาชน ระวังตกเป็นเหยื่อนักค้ายาเสพติด ฉวยโอกาสขนส่งยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายผ่านพัสดุไปรษณีย์ เป็นเหตุให้ถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย         “ปัจจุบัน นักค้ายาเสพติดเลือกใช้บริการรับ-ส่งพัสดุภัณฑ์ในการขนส่งยาเสพติดมากขึ้น ซึ่งหากพบว่าบุคคลใดมีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าในฐานะผู้ให้บริการขนส่ง หรือผู้รับพัสดุไปรษณีย์ ล้วนมีความผิดตามกฎหมาย โดยผู้ส่งมีความผิดฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ และผู้รับพัสดุภัณฑ์มีความผิดฐานครอบครอง หรือครอบครองเพื่อจำหน่าย ขึ้นอยู่กับปริมาณของกลางยาเสพติด...ดังนั้นขอให้ประชาชนระมัดระวังตนเองและคนในครอบครัว กรณีผู้รับสินค้า เมื่อทราบจากพนักงานส่งพัสดุภัณฑ์ว่าจะมีการส่งพัสดุนั้น ขอให้สอบถามและตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนว่า ตนเองหรือคนในครอบครัวมีการสั่งสินค้า หรือจะได้รับพัสดุภัณฑ์โดยที่ไม่สั่งสินค้าหรือไม่ หากพบการแอบอ้างชื่อในการส่งสินค้า หรือเห็นความไม่ชอบมาพากล ขอให้แจ้งตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยลงบันทึกไว้เป็นหลักฐาน หรืออาจเก็บหลักฐานไว้แสดงถึงเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ และยืนยันตนว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง”         แจ้งเบาะแสได้ที่ สายด่วน ป.ป.ส. โทร. 1386 ตลอด 24 ชั่วโมง สถิติการฆ่าตัวตายปี 2562 ของไทย เฉลี่ย 14.4 คนต่อคนไทย 1 แสนคน         คนไทยฆ่าตัวตายเป็นอันดับ 32 ของโลก  เฉลี่ย 14.4 คนต่อคนไทย 1 แสนคน ข้อมูลจากผลสำรวจซึ่งแถลงในวันที่ 10 กันยายน ซึ่งองค์การอนามัยโลก ได้กำหนดให้เป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก(World Suicide Prevention Day)         องค์การอนามัยโลก(WHO) ได้รายงานสถานการณ์การฆ่าตัวตายโลก โดยระบุว่ามีคนเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายทุกๆ 40 วินาที และการฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของวัยรุ่น(อายุ 15-29 ปี) มากที่สุด รองลงมาจากอุบัติเหตุบนท้องถนน แม้ว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกจะเพิ่มมาตรการ และนโยบายป้องกันการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังต้องการการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆรายงานการจัดอันดับประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในโลก ประจำปี 2562 โดย World Population Review ที่สำรวจ และพิจารณาข้อมูลการฆ่าตัวตายขององค์การอนามัยโลกปี 2561 ทั้งหมด 183 ประเทศ พบว่า ประเทศไทย มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุด ติดอันดับ 32 ของโลก เฉลี่ย 14.4 คนต่อประชากร 1 แสนคน      โดยห้าอันดับแรกได้แก่ อันดับ 1 ลิทัวเนีย อันดับ 2 รัสเซีย อันดับ 3 กายอานา อันดับ 4 เกาหลีใต้ อันดับ 5 เบลารุส

อ่านเพิ่มเติม >